ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เอ็นจีโอ

๗ พ.ค. ๒๕๕๕

 

เอ็นจีโอ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๘๘๖. ข้อ ๘๘๗. มันไม่มี

ถาม : ข้อ ๘๘๘. เรื่อง “กราบขอบพระคุณครูบาอาจารย์”

หลวงพ่อเมตตาตอบปัญหาของหนูได้อย่างมหัศจรรย์ เพราะตัวเองก็ไม่รู้ว่าตัวเองมีปัญหา แต่หลวงพ่อทราบและตอบ ทำให้เข้าใจขึ้นมาก ไม่อย่างนั้นก็คงปฏิบัติแบบแบบฝึกหัดต่อไป และคิดไปเองว่าแบบฝึกหัดจะหมดไปในที่สุด ถ้าเราชำนาญการจัดการ แต่ตอนนี้ตามที่อาจารย์ตอบ เมื่อได้ฟังบอกตัวเองเลยว่า “ใช่ ใช่เลย อาจารย์รู้ก่อนเราอีก” ขอบพระคุณครูบาอาจารย์มาก

เดินต่อไปให้ชัดขึ้น เข้าใจแล้วว่ากำลังไม่พอ ต้องกลับมาทำความสงบ ทำสมาธิให้มากกว่านี้ กำลังพอค่อยออกใช้ปัญญา พยายามกำหนดพุทโธให้ต่อเนื่องตลอดเวลา เพื่อให้สติเข้มแข็งกว่านี้ ความเพียรมุมานะเท่าที่หนูต้องเดินต่อ กราบขอบพระคุณอาจารย์จากกำลังใจของหนู (แล้วก็เขียน “กราบ กราบ กราบ” เต็มไปหมดเลย)

ตอบ : เพราะอะไร? เพราะว่าถ้าคนมันยังไม่ยอมรับ หรือคนเรายังไม่รู้ถูกรู้ผิดมันก็จะเข้าใจว่าตัวเองถูก ทีนี้พอเข้าใจว่าตัวเองถูก พอพิจารณาไปแล้ว พอพิจารณาไปก็เหมือนกับทำให้ครบสูตร เราก็ศึกษากันมาแล้วใช่ไหม? ปริยัติ นี่ให้ปฏิบัติ เราก็ศึกษาปริยัติมาแล้ว นี่ไงบอกว่าพิจารณากาย กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็ว่ากันไป สติปัฏฐาน ๔ นี่ทำสติปัฏฐาน ๔ แล้วสติปัฏฐาน ๔ เราก็ทำได้

เราพูดถึงอสุภะเหมือนกัน นี่เขาบอกว่าทำอสุภะนะก็มีภาพอสุภะมาแจกกัน ให้ดูภาพอสุภะ ภาพอสุภะมันเป็นภาพอยู่ในกระดาษ ภาพในกระดาษ เราไปถ่ายไว้มันทำให้คนนะ อย่างเมื่อก่อนนี่ในสมัยพุทธกาล มันไม่มีตำรับ ตำรา มันไม่มีหนังสือ ไม่มีตำราเลยนะ ทุกอย่างจำมา นี่ปากต่อปาก มุขปาฐะต่อเนื่องกันมา ทีนี้พอต่อเนื่องกันมามันก็ต้องให้ท่องให้ชัดเจน พอชัดเจน เวลาเขาสวดกัน ถ้าใครผิดมันจะขัดแย้งกันเลย

ฉะนั้น พอถึงเวลา ๓๐๐ กว่าปี สังคายนาเมื่อ ๓๐๐ กว่าปีถึงได้เริ่มมีกระดาษ ถึงได้มีการพิมพ์กัน พอการพิมพ์กัน พอพิมพ์มันมีหนังสือแล้ว การที่เราจะถนอมรักษา เราจะท่องกันไว้เราวางใจไหม? ธรรมดา ในเมื่อมีตำราแล้วใช่ไหมเราก็วางใจ พอเราวางใจแล้ว ไอ้คนที่มันจะท่อง ไอ้คนที่มันจะรักษาไว้มันก็ไม่เข้มข้นแล้ว มันไม่เข้มข้นเหมือนเดิม

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าพูดถึงอสุภะๆ ถ้ามันรู้ มันเห็นขึ้นมา นี่มันรู้ มันเห็นจริง เห็นขึ้นมาจากความเป็นจริง แต่นี่เราก็จะช่วยเหลือเจือจานกันใช่ไหม? ไม่ต้องไปเที่ยวป่าช้าหรอก เราไปถ่ายซากศพมาให้เลย หนังสืออสุภะมาแจกกัน พอมาแจกกันนะ เออ ได้อสุภะหรือยัง? ได้ ได้ที่ไหน? ได้หนังสือเล่มหนึ่งนี่ไง ไปถึงฉันจะหนีบอสุภะมาด้วย ไปไหนก็หนีบหนังสืออสุภะเล่มหนึ่ง แล้วมันเป็นจริงข้างในไหม? มันไม่เป็นจริง

อันนี้ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติขึ้นมานี่สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ ที่ไหน? ถ้าสติปัฏฐาน ๔ นะจิตมันต้องสงบ พอจิตมันสงบแล้วมันรู้กาย เห็นกาย อย่างเวทนา เวทนานี่ถ้าสติปัฏฐาน ๔ เอ็งเห็นเวทนาหรือ? เวลานั่งไปทุกคนเวทนาเจ็บปวดทั้งนั้นแหละ เกือบเป็นเกือบตาย เอ็งเห็นเวทนาหรือ? ไม่ใช่หรอก เวทนามันข่มขี่เอา เวทนามันทำลายเรา เวลานั่งสมาธิขึ้นไป พอเวทนา อู๋ย ปวด ไม่ไหว ๕ นาที ๑๐ นาที โอ้โฮ ไม่ไหวแล้ว ไม่ไหวแล้ว เอ็งเห็นเวทนาหรือ?

นี่ไม่ใช่เห็นเวทนานะ นี่เวทนาขี่คอต่างหาก ถ้าเราพิจารณาเวทนา พิจารณาเวทนาหรือกำหนดพุทโธเข้าไป ถ้าจิตมันสงบเข้ามานะ พอจิตสงบเข้ามาแล้ว ถ้ามันออกรู้เวทนา เห็นไหม ออกรู้เวทนา ถ้าออกรู้เวทนา จิตมันมีกำลังขึ้นมามันจับเวทนาได้ มันก็เหมือนเรานี่แหละ ถ้าเรามีเครื่องมือ อย่างเช่นเรามีเครื่องมือ เราจะคีบถ่าน คีบไฟ เราจับได้หมดเลย เวลาเขาหลอมทอง เขาหล่อทอง เขามีอะไรล่ะ? เพราะเขามีเครื่องมือเขาก็หยิบได้ ทองขึ้นมา เขาเผาทอง เขาหลอมทอง เขาควบคุมของเขาได้เพราะอะไร? เพราะเขามีเครื่องมือ

จิตก็เหมือนกัน จิตถ้ามันสงบเข้ามานะ จิตสงบเข้ามา ถ้ามันมีหลักมีเกณฑ์ มันออกไปจับเวทนาได้ เห็นไหม จับเวทนาก็จับไฟไง จับไฟๆ จับเวทนา เวทนามาจากไหน? เวทนาเป็นอย่างไร? มันพิจารณาเวทนาได้ แต่ถ้าเรายังไม่มีเครื่องมือเลย เราไม่มีอะไรเลย ไม่มีอะไรเลย พอเราเข้าไปเวทนา เวทนาก็ขี่เอา เหมือนกับไฟ เราไม่มีอะไรไปจับมันเลย เอ็งลองไปแตะมันสิมือพองหมดเลย อะไรโดนไฟตรงนั้นก็ไหม้ แขนโดน ตัวโดน มือโดน เล็บโดน อะไรโดนไฟ โดนไหม้หมด แต่ถ้าเรามีเครื่องมือที่จะไปคีบ เราต้องการเอาไฟไปใช้ที่ไหน เรามีอะไรต่อเนื่องมันไป ตัวเราไม่โดนไฟ

จิตก็เหมือนกัน จิตถ้ามันสงบเข้ามา ต้องจิตสงบก่อน จิตสงบก่อนนี่ไง ถ้าจิตสงบก่อนออกรู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม นั้นถึงเป็นสติปัฏฐาน สติปัฏฐาน ๔ เกิดตรงนี้ แต่ในเมื่อจิตยังไม่สงบก่อน มันก็ไม่มีเครื่องมืออะไรเลย กายก็คือกายเราดิบๆ เวทนาก็เวทนาขี่คอเอา จิตก็คือจิต ยิ่งธรรม ธรรมก็ปากเปียกปากแฉะอยู่นี่ไง แล้วเวลาปฏิบัตินะบอกว่ารู้ตัวทั่วพร้อม รู้ธรรมนี่เป็นวิปัสสนา วิปัสสนึกหมด แต่ถ้ามันเป็นความจริงนะ เป็นความจริง ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ทำอย่างนั้นมันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าอบรมสมาธิมันก็คือสมถะไง

เราถึงได้พูด เห็นไหม เราพูดบ่อยว่าการปฏิบัติทั้งหมด วิปัสสนาไม่มี ผลของมันคือสมถะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว นี่การใช้ปัญญา ถ้าไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มีลัทธิศาสนาอยู่โดยดั้งเดิม ฤๅษีชีไพรเขาก็มีของเขาอยู่แล้ว เขาก็ทำความสงบทั้งนั้นแหละ เขาทำความสงบเหมือนกันหมดเลย แต่มันไม่มีปัญญาไง พอไม่มีปัญญา นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเรียนกับเขามาหมดแล้ว มันไม่มีปัญญา แต่พอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามารื้อค้น รื้อค้นด้วยอาสวักขยญาณ นี่คือมรรค ๘

พอมรรค ๘ ขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เพราะอันนี้ขึ้นมา ปัญญาอันนี้ ปัญญาอันนี้แต่มันต้องใช้ความสงบอย่างนั้นมามันถึงจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ เราถึงบอกว่าสติปัฏฐาน ๔ ปลอมกับสติปัฏฐาน ๔ จริง สติปัฏฐาน ๔ ปลอมคือนึกคิดกันเอาเอง สติปัฏฐาน ๔ ปลอมคือเรานึกคิด เราวาดภาพ เรามีการศึกษา เรามีที่มาที่ไปในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเอาสิ่งนั้นมานึกคิดกันว่าสิ่งนั้นเป็นสติปัฏฐาน ๔ มันถึงเป็นความจอมปลอม จอมปลอมที่คนๆ นั้นจะรู้จริง ชำระกิเลสได้จริง มันเป็นความจอมปลอม

แต่ถ้าเป็นความจริง เห็นไหม นี่ความจริงจิตมันต้องสงบเข้ามา พอสงบเข้ามา พอไปเห็นกายนะ เห็นกาย ทำไมมันเห็นกาย? โดยวิทยาศาสตร์ ร่างกายมนุษย์ เวลาเก็บไว้ ๒ วัน ๓ วันมันจะเริ่มผุพอง เริ่มเน่า เพราะอะไร? เพราะมันไม่มีพลังงาน ไม่มีตัวไฟหล่อเลี้ยงไว้ ตัวจิตคือตัวพลังงาน พลังงานมันหล่อเลี้ยงเพื่อไม่ให้ร่างกายนี้..มันจะเสียหาย มันจะเสื่อมสภาพตามธรรมชาติของมัน แต่มันก็สร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมา สร้างอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา เพื่อรักษาโครงสร้างของร่างกายนี้ไว้จนกว่าจะหมดอายุขัย นี้คือเวรกรรม นี้คือภพหนึ่งของมนุษย์ ภพของมนุษย์เป็นแบบนี้

ฉะนั้น เวลาจิตมันสงบแล้ว เวลาจิตสงบมันพิจารณาเห็นกาย โอ๋ย มันสะเทือนหัวใจมากนะ พอมันสะเทือนหัวใจแล้ว ดูสิเวลามันทันนะมันบอกว่ารำพึง ดูสิการใช้ปัญญาพิจารณากาย ถ้ามันแปรสภาพมันพั่บ พั่บ พั่บ เร็วยิ่งกว่า เวลาหลวงตาท่านพิจารณากาย เห็นไหม ท่านพิจารณากายมันแปรสภาพไปหมดเลย ทีนี้มันก็เหลือแต่ของที่แข็ง คือเหลือแต่เศษกระดูกไว้ พอเหลือเศษกระดูกท่านบอกว่าเอาไฟเผา ไฟนี้มันเผาทันทีเลยนะ ละลายหมดเลย

พอพิจารณาซ้ำอีกรอบหนึ่ง พออีกรอบหนึ่งพิจารณาไป พอมันเหลือแต่โครงกระดูกให้กลายเป็นดิน คำว่าดินมันพั่บ นี่มันเร็วขนาดนั้น แล้วเวลาบอกให้มันแปรสภาพนี่นะมันจะพุพอง มันจะอืดขึ้นมา วืด เราถึงบอกว่าเหมือนคนเหล็กๆ ไง เวลาคนเหล็กมันละลายลง คำว่าคนเหล็กเขาบอกว่าหลวงพ่อ หลวงพ่อรู้จักคนเหล็กด้วยหรือ? เพราะเห็นเวลาคนเหล็กมันเป็นโครงสร้างใช่ไหม? แล้วมันละลายลงๆ มันเร็วขนาดนั้นนะ ถ้ามันเร็วขนาดนั้น นี่วิทยาศาสตร์เป็นอย่างนั้นไหม?

นี่ธรรมมันถึงเหนือไง ธรรมมันเหนือโลกทุกๆ อย่าง ถ้าเราจับได้นะ พอมันเห็นแล้วเราจับ นี่การเห็นนะมันแสนยาก คำว่าแสนยากนะ เพราะลูกศิษย์กรรมฐาน พวกเราปฏิบัติกันมาเยอะมาก พอจิตสงบแล้วมันก็เห็นกาย พอเห็นกายแล้วนี่ เห็นไหม เห็นกายนะมันเห็นกาย ก็เหมือนเรานี่แหละ เรานั่งกันอยู่นี่นะ เราพยายามจะสร้างเรื่องเศรษฐกิจของเราให้เข้มแข็งใช่ไหม? ถ้าเราสร้างเศรษฐกิจเราเข้มแข็ง เราจะมีเงินสะสม เราจะมีเงินออม มีทุกอย่างพร้อม แล้วเงินออมเราจะมีมาก มีน้อยแค่ไหนล่ะ?

ในการภาวนาก็เหมือนกัน ถ้าเราทำสมาธิ เราทำจิตใจเราเข้มแข็ง พอจิตใจเข้มแข็ง เรามีเงินออม เศรษฐกิจเรามี เราสามารถที่จะซื้อสินค้า หรือเราต้องการสิ่งใด เราจะแลกเปลี่ยนสิ่งนั้นมาได้ ทีนี้พอแลกเปลี่ยนสิ่งนั้นมาได้ จิตมันสงบเข้ามาแล้ว จิตมันมีฐานขึ้นมา เวลามันเห็นกาย นี่ไงมันต้องอาศัยเงินออม อาศัยเงินทองของเราแลกเปลี่ยนมา

นี่พูดถึงทางโลกเอามาเปรียบเทียบ แต่มันไม่เป็นอย่างนี้หรอก เดี๋ยวบอกอย่างนี้ธรรมะก็ซื้อขายเอาอีกแล้ว เพราะเราปฏิเสธการซื้อขายมาตลอด เพราะมันเป็นไปไม่ได้ แต่เอามาเปรียบเทียบให้มันเห็นว่าเวลามันทำมันยากง่ายอย่างไรไง มันยากง่าย ถ้าเป็นสติปัฏฐาน ๔ จริงมันจริงอย่างไร? แล้วมันต้องลงทุนอย่างไรมันถึงจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ จริง ถ้าสติปัฏฐาน ๔ จริง เห็นไหม เรามีเงินออม เรามีเงินของเรา เราจะแลกเปลี่ยนสินค้าสิ่งใดก็ได้ แต่ถ้าจิตมันสงบแล้วนี่คือการแลกมา แลกมาด้วยความสงบนั่นไง

ความสงบ จิตที่มันสงบมันจะแลกมาด้วยสิ่งที่เห็น สิ่งที่รู้เห็น ที่เห็นกายนั้น เห็นกายนั้นเป็นนิมิต เป็นไหม? เป็น แต่เป็นนิมิตจริงๆ ไม่ใช่เป็นนิมิตที่มันเป็นอย่างนั้น พอเป็นนิมิตจริง พอจับแล้วมันพิจารณาของมัน พอเวลาเป็นนิมิตนะ พอเห็นกายปั๊บ แว็บ ด้วยความที่ไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นมันจะตกใจ มันจะสะเทือนใจ ถ้ามันสะเทือนใจ แต่ถ้าคนมีหลักนะ พอมันรู้มันเห็นขึ้นมามันจะสะเทือนกิเลส สะเทือนหัวใจ พอสะเทือนหัวใจ หัวใจนี่มันจะพองขึ้น มันจะฟูนะ มันจะฟูมันจะพองเต็มที่เลย พอมันพองเต็มที่มันสะเทือนไง

นี่ไงที่ว่ามันสะเทือนเลื่อนลั่นเลย พอมันสะเทือน อ้าว ก็ต้องรู้เห็นกิเลสใช่ไหม? กิเลสมันอยู่ที่ใจใช่ไหม? พอใจมันรู้มันเห็น พอเห็นตัวมันใช่ไหมมันก็กระเทือนตัวมัน ถ้ากระเทือนตัวมันก็จะไปถึงมัน นี่ไงที่เราบอกว่าเราเป็นหนี้ เราจะใช้หนี้ ต้องใช้ให้ถูกเจ้าหนี้ ถ้าใช้ถูกเจ้าหนี้คือใช้ถูกที่กิเลส ถูกที่ใจ ถ้าถูกที่ใจมันก็จะชำระล้างกัน ถ้าเราจะใช้หนี้ไปใช้ที่ไหนล่ะ? ใช้ที่สัญญาไง จำเอามา คิดกันเอามา สร้างภาพกันมา นี่ไงสติปัฏฐาน ๔ ปลอมไง มึงใช้หนี้โดยที่ไม่ถึงเจ้าหนี้ แล้วถ้านี่เป็นความจริง พอจิตมันสงบลง เห็นไหม พอจิตมันสงบลงมันรู้มันเห็นอย่างนี้

ทีนี้ลูกศิษย์กรรมฐานเราเยอะมาก ส่วนใหญ่นะเห็นกายคนละครั้ง ๒ ครั้ง แล้วไม่เห็นอีกเลย เราฟังอย่างนี้มาเยอะ พอคนเห็นกายไปแล้วนะ โอ้โฮ ตื่นเต้นมากเลย พอตื่นเต้นมากมันเป็นส้มหล่น ส้มหล่นหมายถึงว่าเรามีเงินออม เงินออมแล้วเราไปซื้อหุ้น หุ้นมันขึ้นเต็มที่เลย เราได้ปันผลมามากเลย ต่อไปนี้เราก็จะซื้อหุ้นอีก พอไปซื้อหุ้นอีก หุ้นมันลงนะหมดตัวเลย คือการปฏิบัติมันได้ได้ยากไง เวลาไปซื้อหุ้นนะ แล้วหุ้นมันขึ้นนะ โอ้โฮ ได้ปันผล แหม กำไรมากเลย ซื้อใหญ่เลยนะ มันมีแต่ขาดทุนๆ พอขาดทุน ปฏิบัติไปแล้วมันไม่เห็นกาย มันไม่เป็นอย่างนั้น ท้อแท้ อ่อนแอ หมดกำลังใจ

นี่ผู้ที่ปฏิบัติมาอย่างนี้เยอะ รู้เห็นหน ๒ หน แล้วพยายามอีกๆ เพราะความพยายามนั้นเป็นตัณหาซ้อนตัณหา โดยธรรมชาติของเราเราก็อยากได้ อยากดีอยู่แล้ว แล้วพอเราไปเห็น ไปรู้เข้า เราอยากได้อย่างนั้น ตอนที่มันได้จริงๆ มันเป็นความจริง แต่ความจริงมันก็เป็นอดีตไปแล้ว มันผ่านไปแล้ว แต่ทีนี้เราก็ไปอุปาทานไง อุปาทานว่าอยากได้อย่างนั้น อุปาทานคืออะไร? คือตัณหาซ้อนตัณหา พอตัณหาซ้อนตัณหา การปฏิบัตินั้นมันยิ่งเฉไฉ มันยิ่งออกนอกลู่นอกทาง เราก็ต้องวางหมดเลย ปฏิบัติแบบคนโง่

หลวงตาท่านสอนอย่างนี้จริงๆ นะ เวลาหลวงปู่มั่นก็สอนหลวงตามาอย่างนี้ เวลาหลวงตาท่านไปหาหลวงปู่มั่นนะ หลวงปู่มั่นสอน หลวงตาท่านมาคิดว่า โอ้โฮ เวลาสอนเรานี่สอนเหมือนเด็กๆ เลยเนาะ เหมือนคนไม่รู้อะไรเลยเนาะ นี่จิตมันเสื่อมนี่นะ จิตนี่มันต้องกินอาหาร เหมือนเด็กมันต้องการอาหาร ถ้าจิตมันเสื่อมนะเราไม่ต้องไปสนใจกับมัน เรากำหนดพุทโธ พุทโธไว้ เด็กนะพอมันหิวอาหารมันต้องกลับมาเอง

ท่านก็พุทโธ พุทโธจนจิตมันฟื้นมาเอง ท่านบอกว่าเหมือนสอนเด็กๆ เหมือนสอนเด็กๆ อันนี้ก็เหมือนกัน สิ่งที่เวลาจิตมันเสื่อม เห็นไหม จิตที่เวลาเราพุทโธ พุทโธมันมีกำลังของมันแล้วมันก็รู้ของมัน พอรู้ของมันเราก็ไปคิดถึงตรงนี้ไง พอคิดถึงตรงนี้เราก็อยากได้ตรงนี้ไง นี่ก็เหมือนกัน เวลาหลวงตาท่านจิตเสื่อม จิตเสื่อมนะ เวลาไปหาหลวงปู่มั่น

“นี่จิตมันเสื่อมมันก็เสื่อมไปแล้ว จะไปเสียใจกับมันทำไม?”

จิตนี้มันเหมือนเด็กมันต้องกินอาหาร กำหนดพุทโธ พุทโธไว้โดยไม่สนใจมันนะ พอพุทโธ พุทโธไม่สนใจอะไรเลยนะ ไม่สนใจสิ่งใดทั้งสิ้นนะมันกลับมาเอง ท่านบอก โอ้โฮ ทำแล้วมันทึ่งมาก

อันนี้ก็เหมือนกัน เวลาเห็นกายแล้วมันเห็นเพราะอะไรล่ะ? เห็นเพราะจิตมันสงบ จิตมันสงบ จิตมันได้หลักได้ฐาน เราก็อยากเห็นกาย พอเห็นกายแล้วมันก็ฝังใจ อยากได้อันนี้ อยากได้อันนี้ ก็ไปอยู่ตรงนี้ไง นี่ต้องทิ้งเลย นี่หลวงตาท่านถึงบอกว่า

“เวลากำหนดพุทโธนะ ต้องกำหนดพุทโธแบบว่ามีเรากับพุทโธเท่านั้น โลกนี้เหมือนไม่มี ในจักรวาลนี้ ในสรรพสิ่งนี้ ในสมบัตินี้ ในความรู้สึกนี้ ในความนึกคิดนี้ ไม่ยุ่งกับมันเลย พุทโธชัดๆ เลย”

แต่นี้ไม่ใช่ พุทโธ โอ้โฮ พรุ่งนี้ต้องกลับบ้านเนาะ พุทโธ โอ๋ย เดี๋ยวยังไม่ได้ทำงานเลย พุทโธ พุทโธ อู๋ย รถจอดไม่ดี มันไปนู่น พุทโธมันมีอะไรแทรกเข้ามาตลอดเลย นี่ไงตรงนี้แหละทำให้เราภาวนากันไม่ก้าวหน้า แต่ถ้ามันจะก้าวหน้า มีเรากับพุทโธเท่านั้น โลกนี้เหมือนไม่มี โลกจะถล่ม ฟ้าจะทลาย โลกนี้จะระเบิดช่างมัน พุทโธ พุทโธ พุทโธอยู่อย่างนั้นแหละ เหมือนเด็กๆ แต่มันซื่อสัตย์ ซื่อตรงกับการกระทำ ผลมันจะออกมาอย่างนั้น แต่นี่เราไม่ซื่อสัตย์ ทั้งๆ ที่ตั้งใจนะ ทั้งๆ ที่ตั้งใจ ทั้งๆ ที่อยากทำ แต่มันไม่ซื่อสัตย์ด้วยกิเลส ไม่ใช่ซื่อสัตย์ด้วยเรา ไม่ซื่อสัตย์เพราะสิ่งที่เราคุมไม่ได้

จิตใจสิ่งที่มันคุมไม่ได้มันจะแถออกๆ พอมันแถออกไป นี่ตรงนี้ แล้วทำแล้วก็ไม่ได้ ทำแล้วก็ไม่ได้ เพราะเราฟังมาเยอะ เพราะการเห็นกาย เห็นกายแล้ว พอเห็นกาย สิ่งที่มันเห็นกาย คนไม่เห็นพูดไม่ได้ คนไม่เห็นมันพูดแล้วนะ เหมือนเรานี่ไม่เจออุบัติเหตุ เราเห็นเขาเล่าให้ฟังก็จำได้ เอามาเล่าได้ต่อ แต่ไม่เหมือนเรานะ เหมือนเราเป็นเอง ถ้าเราประสบอุบัติเหตุเอง แหม มันขนพองสยองเกล้า จิตรู้เอง เห็นเองนี่ขนพองสยองเกล้า แล้วจะจำไปอย่างนั้น

นี่ไงที่ว่ามิลินทะไปถามพระนาคเสน “พระอรหันต์ลืมในสิ่งใด? และไม่ลืมในสิ่งใด?”

“พระอรหันต์ลืมในสมมุติบัญญัติ”

สมมุติ สมมุติคือภาษา ชื่อนี่สมมุติบัญญัติ พระอรหันต์ลืมได้ แล้วพระอรหันต์ไม่ลืมในสิ่งใด? พระอรหันต์ไม่ลืมในอริยสัจ ในสัจจะความจริงที่จิตเห็น จิตรู้ สิ่งนี้ไม่มีวันลืม สิ่งที่มันรู้ มันเห็น สิ่งที่มันเป็นจริง เป็นอริยสัจ สัจจะความจริงในใจไม่มีลืม ตายไปอยู่กับจิตตลอด ไม่มีขยับไปไหนเลย แต่ลืมได้ในสมมุติบัญญัติ ภาษาพูด ภาษาพูดสิ่งในโลกนี้ เพราะมันออกมาใหม่ๆ ใครไปรู้อะไรมัน? ภาษาพูดนะ ยิ่งภาษาวัยรุ่นที่มันพูดกันเดี๋ยวนี้ ผู้ใหญ่ยังไม่รู้เลย นี่ภาษาพูดนี้ไม่ได้

นี่พูดถึงถ้าปฏิบัติจริงรู้จริงมันจะเป็นแบบนี้ ถ้าปฏิบัติไปเริ่มต้น แต่เริ่มต้นก็ต้องเป็นแบบนี้ ที่ว่าแบบฝึกหัด วันนั้นตอบไปเรื่อง “แบบฝึกหัด” ภาวนาแบบแบบฝึกหัด ถ้าแบบฝึกหัดเราจะฝึกหัดกันอยู่อย่างนี้ แล้วถ้าเป็นทางวิชาการใช่ไหม? ก็เราทำครบสูตร เราทำถูกต้องตามธรรมและวินัย ธรรมและวินัยพระพุทธเจ้าบัญญัติไว้อย่างนี้ แล้วเราทำถูกต้องตามธรรมวินัยอย่างนี้ทั้งหมด แล้วผลอยู่ไหนล่ะ?

ผลของมันนะ ผลของมันก็คือความสบาย เพราะอะไร? เพราะเราควบคุมหัวใจของเราไว้อยู่ในธรรมวินัย ฟังนะ ควบคุมใจของเราไว้อยู่ในธรรมวินัย แต่ในดวงใจนั้นมันมีอวิชชา เราควบคุมใจเราไว้อยู่ในธรรมวินัย ก็อยู่ในธรรม แต่ตัวมันไม่เป็นธรรม ตัวใจไม่เป็นธรรม เพราะตัวใจมีกิเลส แต่ถ้าจิตสงบแล้ว เวลาพิจารณานี่ตัวใจมันรู้ มันเห็น มันสำรอก มันคายออกที่ใจ มันสำรอก มันคายออกที่ใจ สำรอกสังโยชน์ออกจากใจมันถึงเป็นธรรมไง

มันถึงเป็นธรรมนะ เป็นธรรมส่วนบุคคล ธรรมะของใจดวงนั้น แต่ที่เราศึกษา นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นธรรมสาธารณะ เป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าวางธรรมและวินัย เป็นสาธารณะเพื่อประโยชน์สังคมโลก แล้วเราก็ไปศึกษาแบบอย่างนั้นมา แล้วเราก็ไปทำตามแบบอย่างนั้นด้วยความเคารพบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าถ้าทำนอกจากนี้ไปมันจะไม่เคารพบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันก็เลยกลายเป็นแบบฝึกหัด แล้วก็ทำซ้ำทำซาก แต่จิตใจดวงนั้นไม่ได้แก้ไขอะไรเลย

แต่ถ้าเราทำความสงบของใจเราเข้ามานะ ใจเราสงบของเราเข้ามา แล้วใจนี่มันรู้ มันเห็น พอมันรู้ มันเห็น มันพิจารณาของมัน นี่มันจะเป็นอริยสัจ เป็นมรรคญาณของใจดวงนั้น เพราะมรรคมันเกิดที่ใจ มรรคมันเกิดที่ใจนะ มรรคหาซื้อไม่ได้ มรรค ๘ หาซื้อที่ไหนไม่มีขาย มรรค ๘ ต้องใจดวงนั้นทำ สติก็ต้องใจดวงนั้นสร้างขึ้นมา สมาธิ ปัญญาก็ใจดวงนั้นเป็นผู้ฝึกหัด ค้นคว้าขึ้นมา

แล้วถ้ามันรู้ขึ้นมา ใจดวงนี้รู้ขึ้นมา ใจดวงนี้จะไม่กล้าพูดความจริงที่เกิดขึ้นกับใจดวงนี้ไหม? พูดเมื่อไหร่ก็ได้ พูดอย่างไรก็ได้ ถ้าใจดวงนั้นเป็นความจริง นี่ไงถึงเป็นความจริง ฉะนั้น สิ่งที่ว่าแบบฝึกหัดมันเริ่มต้น แบบฝึกหัดมันเป็นพื้นฐานที่เราปฏิบัติ เราก็มีแบบฝึกหัดนี่มา แต่ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ก็คอยชี้นำอย่างนี้เข้ามา ถ้ามีครูบาอาจารย์ชี้นำมานะ แล้วถ้าเราทำได้มันจะเป็นประโยชน์กับเรา

นี่พูดถึงว่าเขากราบขอบพระคุณมา เพราะว่าเขาบอกว่าเขาปฏิบัติมา มันจวนเจียนเต็มทีหลวงพ่อ ทำไมมันไม่ผ่านสักที? หลวงพ่อ ไม่ผ่านสักที เวลาเราก็บอกเขาบอกว่าต้องทำให้ลึกเข้าไปๆ แต่คำว่าลึกเข้าไป ความรู้สึกของเด็ก แค่นี้มันก็ลึกแสนลึกแล้วแหละ มันจะมีลึกกว่านี้อีกหรือ? ถ้าเด็กนะ เด็กมันทำงานก็บอกว่าแค่นี้ก็แสนเข็ญแล้ว มันจะมีลึกกว่าแค่นี้อีกไหน? แต่มี ปฏิบัติไป พอมันลึกเข้าไป มันลึกเข้าไปจนกลายเป็นอีกมิติหนึ่ง มิติของโลกกับมิติของธรรม

มิติของโลกคือโลกียปัญญา ปัญญาที่เกิดจากขันธ์ ๕ ปัญญาที่เกิดจากความรู้สึกนึกคิด มิติของธรรม มันทะลุผ่านขันธ์ ๕ เข้าไป ผ่านทะลุสัญญา สัญญาคือนิสัยใจคอของตัว พอนิสัยใจคอของตัว ทำความสงบเข้ามาแล้ว ถ้าปัญญามันเกิดขึ้น มันจะทำลายผ่านทะลุจากนิสัยใจคอเข้าไป เข้าไปสู่สิ่งที่เป็นอวิชชาจากภายในใจ แล้วสำรอกออก สำรอกแล้วสำรอกเล่า ตทังคปหานคือปล่อยแล้วปล่อยเล่า ปล่อยแล้วปล่อยเล่า แต่คนที่ไม่เคยปฏิบัติจะไม่เข้าใจ

คำว่าปล่อยแล้ว ปล่อยก็คือขาด เขาเข้าใจว่าปล่อยก็คือจบไง ก็เหมือนเรานี่ เราสัญญาว่าจะใช้หนี้ แต่เรายังไม่มีเงินพอครบมูลหนี้จะใช้หนี้ เราไปเจอเจ้าหนี้ ได้ตกลงกับเจ้าหนี้แล้ว เจ้าหนี้ก็ปล่อยเรา ให้เราได้หาเงิน หาทอง มันก็ปล่อย ก็สบายพักหนึ่ง ปล่อยก็คือปล่อยวางๆ ปล่อยแล้วปล่อยเล่า ฉะนั้น ใครถามปัญหาหลวงตา หลวงตาจะตอบคำนี้บอกว่า

“ถูกต้องไหม?”

“ถูก”

“แล้วทำอย่างไรต่อไป?”

“ให้ซ้ำ”

นี่ไงปล่อยแล้วปล่อยเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำจนมีความชำนาญเต็มที่ พอถึงที่สุดนะมันสรุปด้วยขาด สรุปด้วยสมุจเฉทปหาน ถ้าสมุจเฉทปหาน นั่นแหละอกุปปธรรม กุปปธรรมคือสัพเพ ธัมมา อนัตตา ในธัมมจักฯ เห็นไหม ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ทุกอย่างนี้เป็นอนัตตา ถูกต้อง วิธีการ การก้าวเดินไปมันจะเป็นอนัตตา เพราะมันพัฒนา

คำว่าเป็นอนัตตา มันพัฒนาให้สูงก็ได้ พัฒนาให้ดีขึ้นก็ได้ นี่ไงนี่เป็นอนัตตา แต่พอมันสรุปลงแล้วมันเป็นอนัตตาไม่ได้ เพราะถ้าการเป็นอนัตตา คือมันยังพัฒนาการของมันอยู่ ยังพัฒนา นี่วัฒนธรรม พัฒนาการของธรรมมันเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ มันจะพัฒนาอยู่อย่างนั้น แต่พอเวลามันขาดผลัวะ! อกุปปธรรมคงที่แน่นอน คงที่แน่นอน ต้องพัฒนามันอีกไหม? ต้องเป็นอนัตตาอีกไหม? ไม่ต้อง อกุปปธรรม นี่ถ้าทำไปมันจะเป็นแบบนั้น

ฉะนั้น สิ่งที่รู้ ที่เห็น สาธุนะดีใจด้วย ดีใจ ฉะนั้น สิ่งที่เขาเข้าใจ นี้เขาเข้าใจเราก็ดีใจด้วย ถ้าเขาเข้าใจนะ เพราะถ้าเข้าใจแล้วมันจะภูมิใจ มันจะปฏิบัติต่อ แต่ถ้าไม่เข้าใจนะ อย่างไรๆ ก็ผิด อาจารย์อย่างไรก็ไม่ยอมรับ อาจารย์ไปยอมรับ อาจารย์ไม่ยอมรับมันเป็นประโยชน์ของใครล่ะ? อาจารย์ยอมรับหรือไม่ยอมรับมันก็ไม่เกี่ยวอะไรกับเราเลย เราปฏิบัติเข้าไป เราเองต่างหากเป็นผู้รู้ดี รู้ชั่ว รู้ถูก รู้ผิด รู้คุณธรรม เราเองต่างหากจะได้ผล เราเองเราก็ปฏิบัติของเราไปมันก็จบไง

ฉะนั้น อาจารย์จะมาบอกว่าให้คุณธรรมของเราเสื่อมไป ให้ทุกอย่างในหัวใจเราด้อยค่าไป เป็นไปไม่ได้หรอก อาจารย์ก็คอยชี้นำ ถ้าเราทำได้นะมันก็เป็นประโยชน์กับเรา นี้พูดถึงว่า “กราบขอบพระคุณ” เนาะ จบ

อันนี้สิ ข้อ ๘๘๙. เฮ้อ ว่าจะไม่พูดนะ แต่เขาถามมาเนาะ

ถาม : ๘๘๙. เรื่อง “ธุดงค์กลางเมือง”

กราบเท้าหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูง ผมอยู่ต่างประเทศ ชอบธรรมะของหลวงพ่อ เมตตาโปรดญาติโยม พระ เณร โดยอาศัยฟังจากเว็บไซต์ ส่วนข่าวสารบ้านเมืองไม่ค่อยได้ติดตาม วันนี้ผมเองเพิ่งดูข่าวย้อนหลังทางอินเตอร์เน็ต เป็นข่าวพระธุดงค์ วัดที่อ้างความถูกต้องชอบธรรมต่างๆ มากมาย อ้างว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นด้วยกับการจัดกิจกรรมนี้ และเชิดชูศาสนา ยังกล่าวอีกว่าพระทุกรูปที่เข้าโครงการจะถือธุดงควัตร ๒ ข้อ คือการฉันมื้อเดียวเป็นวัตร และการอยู่เสนาสนะตามที่เขาให้เป็นวัตร

ผมเห็นแล้วรู้สึกเศร้าสลดใจมาก (เขาใช้คำนี้จริงๆ นะเราไม่ได้พูด) เอาศาสนามาขายกินกันอย่างนี้ ที่เขียนมาผมไม่มีคำถามครับ แต่ผมกราบขออาราธนาหลวงพ่อได้โปรดเมตตาเทศน์สอนญาติโยมต่อไปทุกๆ เรื่องที่หลวงพ่อจะเมตตาสั่งสอน เพื่อเป็นหลักใจให้กับลูกนกลูกกาที่มืดบอดได้ฟังเทศน์หลวงพ่อ จะได้หูตาสว่างขึ้นมาบ้าง คนที่ประพฤติปฏิบัติกำลังจะเข้าด้ายเข้าเข็มจะได้ทะลุไป ควรหรือไม่ควรแล้วแต่หลวงพ่อจะเมตตาครับ

ตอบ : นี่เขาถามถึงการธุดงค์ใช่ไหม? แล้วก็อ้างว่าได้ถือธุดงควัตร ๒ ข้อ เราจะพูดอย่างนี้นะ เราจะพูดว่าธุดงค์ โดยธรรมชาติของพระ พระเราบวชมานี่ศีล ๒๒๗ โดยสมบูรณ์ แล้วพอบวชมาแล้วอุปัชฌาย์จะบอกว่านิสสัย ๔ อกรณียกิจ ๔ นิสสัย ๔ สิ่งที่ควรทำ ๔ อย่าง และสิ่งที่ไม่ควรทำ ๔ อย่าง สิ่งที่ไม่ควรทำ ๔ อย่างคือปาราชิก ๔ คำว่าปาราชิก ๔ เพราะทำแล้วมันขาดเลย มันเป็นพระอีกไม่ได้เลย มันขาดโดยธรรมชาติของมัน ไม่ต้องมีใครพูด

ฉะนั้น นิสสัย ๔ อกรณียกิจ ๔ อุปัชฌาย์จะบอก พออุปัชฌาย์บอกแล้วเรามีศีล ๒๒๗ ฉะนั้น พอศีล ๒๒๗ นี่สมบูรณ์ พระทุกองค์สมบูรณ์ด้วยอย่างนี้ แต่เรื่องธุดงควัตร ธุดงควัตรมันเป็นศีลในศีล ศีลในศีล แบบว่าใครไม่ถือธุดงค์มันก็ไม่เป็นอาบัติไง มันไม่มีการปรับโทษเป็นอาบัติ มันไม่เป็นอาบัติ คือไม่มีกฎหมายปรับโทษ แต่ธุดงควัตรนี่ศีลในศีล ศีลในศีลพระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ บัญญัติไว้ให้กับภิกษุที่เห็นภัยในวัฏสงสาร เป็นเครื่องมือ เป็นเครื่องมือขัดเกลากิเลส

ธุดงควัตรนี้เป็นเครื่องมือขัดเกลากิเลสนะ ธุดงค์ ๑๓ ถือผ้า ๓ ผืน ฉันอาหารมื้อเดียว ฉันอาสนะเดียว นี่อยู่ในที่เรือนว่าง เห็นไหม ถือเนสัชชิกไม่นอนตลอดคืน นี่มันเป็นเครื่องมือ เป็นเครื่องขัดเกลากิเลส แต่ถ้าผู้ที่มีใจรักไง ผู้ที่มีใจรักเห็นภัยในวัฏสงสาร จะเอาการถือธุดงควัตรเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส ถือไว้เป็นเครื่องขัดเกลากิเลส มันแก้กิเลสไม่ได้ ถ้าบอกว่าถือธุดงควัตรแล้วดีอย่างนู้น ดีอย่างนี้ ปรับเลยนะ

อย่างเช่นอดอาหาร พระพุทธเจ้าบอกว่าห้ามอดอาหาร อดอาหาร เพราะคนที่ไม่มีปัญญา เวลาอดอาหารนึกว่าอดอาหารเป็นประโยชน์ จะอด อดก็ตายเปล่าไง ทีนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าห้ามอดอาหาร เว้นไว้แต่ เห็นไหม เว้นไว้แต่ถ้าผู้ใดอดอาหารเพื่อเป็นเครื่องมือชำระกิเลส เราตถาคตอนุญาต แต่ถ้าใครอดอาหารมาเพื่ออวดอ้าง เพื่ออวดโชว์ เพื่อเรียกร้องความศรัทธา เพื่อว่าฉันนี้อดอาหารนะ โอ๋ย พระองค์นี้เก่งกว่าพระองค์นั้นนะ ปรับอาบัติทุกกิริยาการเคลื่อนไหว

ธุดงควัตรเขามีไว้เพื่อขัดเกลากิเลส เขาไม่ได้มีไว้โชว์กัน ถ้าเขามีไว้โชว์กันนะ เราจะพูดถึงเอ็นจีโอ เอ็นจีโอ พวกกรีนพีซ เห็นไหม เวลาเขาไปต่อต้านการล่าปลาวาฬ การล่าปลาวาฬ ในต่างประเทศเขาล่าปลาวาฬกัน ในชาติหนึ่งเขาบอกว่าเป็นวัฒนธรรมของเขา เขาศึกษามาตั้งแต่โบราณ เพราะว่าในญี่ปุ่นเขาอยู่ทะเลเหนือ ทะเลมันกว้างขวาง รอบเกาะของเขา นี่วัฒนธรรมของเขาเป็นแบบนี้

ฉะนั้น เวลาเขาล่าวาฬ ล่าต่างๆ แต่เอ็นจีโอ นี่ทางโลกเห็นแล้วบอกว่า มันแบบว่าเราสงวนพันธุ์เพื่อสภาวะแวดล้อม ไม่ควรจะใช้ทรัพยากรจนมากเกินไป แต่มันยังตกลงกันไม่ได้ ใช่ไหม เขาก็จับด้วยวัฒนธรรมของเขา กรีนพีซเขาเห็นว่าการล่าวาฬ การทำต่างๆ มันเป็นการฆ่าสัตว์ใหญ่ เขาพยายามต่อต้าน เวลาเขาต่อต้านนะ นี่ดูทางสารคดีสิ เวลาเรือประมงเขาออก เรือเขาใหญ่มาก นี่เขาเอาเรือเล็กเข้าประกบนะ เขาสละชีวิตของเขา เขาต่อต้านการล่าวาฬ เขาสละชีวิตของเขาเลย เพราะว่าถ้าเรือเล็ก เรือยางเข้าไป ถ้าเรือใหญ่มันเบียดมันจมนะ

เขาเสียสละชีวิตของเขา เขาทำของเขา เขาทำเพื่ออะไรล่ะ? เขาทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ เขาทำเพื่อคุณงามความดี ถ้าเอ็นจีโอที่ดีเขาดีอย่างนั้น แต่ถ้าเอ็นจีโอนี่นะ โดยทั่วไปมันก็มีเหมือนกัน อย่างเช่นกรีนพีซเราเอามาดูเป็นสารคดี เราก็ อืม กรีนพีซนี่เขามีน้ำใจ เขาทำเพื่อสาธารณะ เขาทำเพื่อมวลชน เขาทำเพื่อโลกนะ เราก็เห็นใจเขา แต่คนที่จะทำอย่างนั้นดูค่าน้ำใจเขาสิ เขาต้องมีน้ำใจอย่างนั้น เขาถึงทำอย่างนั้นได้

เอ็นจีโอที่อยู่ทางโลกนะ ในโลกนี้เอ็นจีโอเดี๋ยวนี้เพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อธรรม คนที่ดีก็ดีนะ คนที่ดีก็คือว่าจิตใจเขาดี เขาทำเพื่อผลประโยชน์จริงๆ แต่คนที่เขาทำ นี่เขาทำเพื่อใครล่ะ? เขาทำเพื่อตัวเขาก็มี แต่บางคนทำเพื่อผลประโยชน์เลย ในกลุ่มชนทุกกลุ่มชน นี่ในเอ็นจีโอก็มีเอ็นจีโอที่ดีมากๆ ที่เขาเสียสละชีวิตทั้งชีวิตของเขาเลยเพื่อสภาวะแวดล้อมของโลก เขาเสียสละหมด เขาทำเพื่อใครล่ะ? เขาทำเพื่อโลก ทำเพื่อสาธารณะ แต่เอ็นจีโอที่เขาทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของเขา เขาหาของเขาเพื่อเป็นการดำรงชีวิตของเขา เอ็นจีโอที่เขาหาผลประโยชน์เพื่อตัวเขาเองเลย อ้างเอ็นจีโอเลย นี่มันก็เป็น

ทีนี้ย้อนกลับมาธุดงค์ ในธุดงค์ก็เหมือนกัน ถ้าพระธุดงค์ที่ดีนะ ในกรุงเทพฯ พระที่เคยธุดงค์จะรู้ สมัยก่อนพระธุดงค์มาก แล้วพระธุดงค์ที่แบบว่ามีเป้าหมาย เขาไม่กล้าเดินในกรุงเทพฯ หรอก เขาไม่กล้าเดินบนถนน เราเคยธุดงค์มานะ ถ้ามาถึงที่ถนนนะเราขึ้นรถดีกว่า เราจะธุดงค์เราธุดงค์ในป่า เวลาเราธุดงค์ เห็นไหม เราออกไปเลย อย่างเช่นทางเมืองกาญจน์ก็ไปเลย นี่เข้าป่าไปเลย ถ้าออกมาในเมืองไม่ธุดงค์ มันมีความละอายแก่ใจ ความละอายไง อายเขา

นี่เราเป็นศากยบุตร เราเป็นลูกของกษัตริย์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นกษัตริย์ของแคว้นสักกะ นี่เป็นกษัตริย์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นกษัตริย์นะ เป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส เราเป็นลูกของกษัตริย์ แล้วในเมื่อเรามีศักดิ์ศรีขนาดนี้ เราทำไมจะต้องมาเจาะแจะกับพวกญาติโยมเขา เรามีความละอายแก่ใจ ถ้าจะเข้าสู่ป่าสู่เขา เข้าสู่ป่าสู่เขาก็เพื่อหากิเลสเรา เพื่อค้นคว้าหาใจเรา

ฉะนั้น ถ้าพระธุดงค์จริงๆ อย่างเช่นหลวงปู่มั่น เพราะว่าหลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเรา ในสังคมของพระธุดงค์นะ ถ้าในย่ามของใครมียา แสดงว่าเอ็งธุดงค์ จิตใจเอ็งยังไม่เข้มแข็ง ถ้าพระธุดงค์ของเราจะไม่มีสิ่งใดติดเนื้อติดตัวไปเลย ไปแต่ตัวเปล่าๆ เจอเหตุการณ์ข้างหน้าต้องเผชิญกันข้างหน้า นี่เผชิญหน้าคือเผชิญกับกิเลส

นี้ในวงกรรมฐานที่เราเที่ยวธุดงค์อยู่ เวลาธุดงค์แล้วกลับมา อย่างเช่นสมัยหลวงปู่มั่นก็เหมือนกัน สมัยหลวงปู่มั่นนะ หลวงปู่มั่นนี่เจ้าแห่งธุดงค์เลย เพราะอยู่ป่ามาทั้งชีวิต แล้วเวลาพระธุดงค์กลับมา ไปหาท่านท่านจะถามเลยว่า ไปธุดงค์มาเป็นอย่างไร? ได้ผลประโยชน์มาขนาดไหน? มีประสบการณ์มาอย่างไร? ติดขัดเรื่องอะไรหลวงปู่มั่นจะแก้ให้ทันทีเลย

นี่หลวงตา สมัยอยู่กับหลวงตา เวลาออกจากวัดไปธุดงค์ กลับมาท่านจะถามเลยว่า

“ไปธุดงค์คราวนี้ได้ธรรมะมาหรือได้ยาเสพติดมา?”

ถ้าได้ธรรมะมา ก็คือเข้าป่าเข้าเขาได้ประสบการณ์สิ่งใดมา? ถ้าได้ยาเสพติดก็คือว่าเข้าไปพักอยู่ในเมืองไง ไปพักกับบ้านนู้น กับพักกับโยมคนนี้ โยมคนนู้นพาไปส่งที่นั่น โยมคนนี้จะดูแลอย่างนี้ นี่ได้ยาเสพติดมา เสพติดเพราะไปเสพติดโยมไง ไปเสพติดบ้านโยมไง นี่เวลาวงการกรรมฐาน เขาเห็นว่าการธุดงค์มันยังต้องเข้าไปธุดงค์ในธุดงค์อีกชั้นหนึ่งเลย แล้วพอสมัยก่อนการธุดงค์มันก็มีพระธุดงค์กันเยอะมาก

ในหมู่ของเอ็นจีโอ มันก็มีเอ็นจีโอที่ดี และเอ็นจีโอที่ปานกลาง และเอ็นจีโอที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ในวงการพระนะ เมื่อก่อนธุดงค์นะพระนี่ปักกลดกันเต็มกรุงเทพฯ เลย กรุงเทพฯ มีสนามหญ้าที่ไหนก็ปักกลดที่นั่น นี่โยมไม่รู้เรื่องนี้หรอก จนสุดท้ายแล้วเถรสมาคม กับกรุงเทพฯ กทม. หรือว่ากระทรวงมหาดไทยไม่รู้ ออกกฎกระทรวง พระห้ามปักกลดในบริเวณกรุงเทพมหานคร ถ้าพระปักกลดในกรุงเทพมหานคร จับทันทีเลยนะ จับได้

ถ้าพระไม่มีกฎหมายกฎนี้นะ เมื่อก่อนหน้าธรรมเนียบกลดเต็มเลย เช้าขึ้นมาก็พระธุดงค์แขวน ๒ กลด ๓ กลด ๒ กลด ๓ กลด จนสุดท้ายนะเขาถึงออกกฎนี้ออกมา เมื่อก่อนพระธุดงค์ ธุดงค์จนฟั่นเฝือไง อ้าว พระธุดงค์มาใช่ไหม? ตรงไหนเป็นสนามหญ้าว่างๆ ก็แขวนกลดเลย ต่อไปพระธุดงค์จะไปแขวนกลดตามบ้านโยมที่มีสนามหญ้า บ้านใครมีสนามหญ้าหน้าบ้าน ฉันก็จะไปปักกลดนะ อ้าว ก็พระพุทธเจ้าบอกไว้ที่ว่าง จนเขามีกฎนะ มีกฎหมายแต่เป็นกฎกระทรวง ในกรุงเทพมหานครพระห้ามปักกลด จนเดี๋ยวนี้พระก็เลยไปซื้อบ้านกัน มีบ้านกันคนละหลังในกรุงเทพฯ เอาไว้มาพักในกรุงเทพฯ กัน นี่พูดถึงพระธุดงค์เนาะ

ฉะนั้น เราจะบอกว่าเรื่องธุดงค์กลางเมืองมันเป็นเรื่องแบบว่าสังคมไทย ในสังคมไทย กระบวนการข่าวสารเขาก็ลงกันเต็มที่แล้ว มีผู้ที่เห็นด้วยและผู้ที่ไม่เห็นด้วย ผู้ที่ไม่เห็นด้วยมันก็มีการขัดแย้งกันในสังคม ฉะนั้น เวลาเราพูดเรายกเอ็นจีโอขึ้นมานะ เอ็นจีโอ พวกกรีนพีซ กรีนพีซมันก็มีจริงไม่จริงเหมือนกันนะ ที่จริงๆ ไปดูสิเขาเสียสละชีวิตเลยนะ เวลาเขาต่อต้านสิ่งที่อิทธิพล สิ่งที่ทำลายสภาวะแวดล้อม เขาเสียสละชีวิตเขาเลย เพื่อประโยชน์กับสาธารณะ

ครูบาอาจารย์ของเรานะ เวลาท่านออกธุดงค์ เวลาท่านเข้าไปอยู่ในป่าในเขาท่านเสียสละทุกๆ อย่าง เสียสละ แม้แต่ชีวิตก็เสียสละ แม้แต่ชีวิตก็เสียสละ ผู้ที่แม้แต่ชีวิตนี้ก็เสียสละแล้ว เขาจะเห็นสิ่งใดมีคุณค่าอีกไหม? คุณค่าที่เป็นผลประโยชน์ทางโลก ถ้าคนที่ใจเป็นธรรมนะ แต่ถ้าใจไม่เป็นธรรม หมายถึงว่าเสียสละชีวิตแล้วเฉพาะเหตุการณ์นั้น แต่เดี๋ยวถ้ากิเลสมันยังไม่ชำระ ออกมานะเดี๋ยวมันก็พลิก ถ้ามีกิเลสอยู่นะ กิเลสมันจะเรียกร้อง เวลาเราปฏิบัติไปเต็มที่แล้ว กิเลสมันจะเรียกร้องเลย เราปฏิบัติมาขนาดนี้ มันน้อยใจไง เราปฏิบัติมาขนาดนี้ ทำไมไม่เป็นอย่างนั้น?

เหมือนกับพระเทวทัต พระเทวทัตนะเป็นลูกพี่ลูกน้องกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเหมือนกันหมดนะ ฉะนั้น เวลานางวิสาขามาเยี่ยม เห็นไหม พระอานนท์อยู่ไหน? พระนันทะอยู่ไหน? พอเวลานางวิสาขาไปวัดมันจะมีพวกน้ำปานะไปด้วย แล้วพระเทวทัตก็อยู่นั่น ทำไมไม่ถามหาพระเทวทัตสักที? ทำไมถามหาแต่พระองค์อื่น? พระเทวทัตทำไมไม่ถามหาสักที? ด้วยความน้อยใจ พอด้วยความน้อยใจ เป็นเพราะเหตุใดทำไมเขาไม่รู้จักเรา? ถ้าจะให้รู้จักเราทำอย่างไร? ก็เริ่มว่าจะแสดงฤทธิ์ไง พอเริ่มจะแสดงฤทธิ์ก็ไปแสดงฤทธิ์กับอชาตศัตรูก่อน เพื่อจะสร้างบริษัท บริวาร เพื่อให้คนเขาหันมามองไง

นี่มันก็เกิดมาจากลาภ จากความที่ว่าเวลาจิตมันน้อยใจ พอน้อยใจนิดเดียวมันไปอีกเรื่องหนึ่งเลยนะ เวลามันน้อยเนื้อต่ำใจมันไปเลยแหละ ฉะนั้น เวลาธุดงค์แล้ว ถ้ามันไม่เป็นธรรมนะมันเป็นแบบนั้น แต่ถ้ามันเป็นธรรมนะ ชีวิตนี้ก็เสียสละมาแล้ว มันจะมีอะไรอีกไหมที่เราจะอยากได้? แม้แต่ชีวิตเรา เรายังเสียสละได้เลย แล้วอย่างอื่นมันจะมีอะไรอีกไหมที่เราจะเสียสละไม่ได้ นี่ที่ครูบาอาจารย์บอกธรรมะอยู่ฟากตาย ธรรมะอยู่ฟากตายไง

ฉะนั้น ถ้าธรรมะอยู่ฟากตายนะ ถ้าคนมีใจรักธุดงค์จริง หลวงปู่มั่นท่านมีใจรักธุดงค์นะ หลวงตาบอกว่าเห็นองค์เดียวที่ว่าถือผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต หลวงตาท่านเป็นคนอุปัฏฐากหลวงปู่มั่นอยู่ ถือผ้าบังสุกุลหมายถึงว่าเก็บผ้าตกมาเย็บใช้ ไม่เคยรับผ้าจากญาติโยมเลย แล้วถือฉันอาหารมาตลอด เราถึงย้อนกลับมาที่หลวงตา หลวงตาท่านเจ็บไข้ได้ป่วยขนาดไหน ท่านก็ลงมาฉันที่ศาลาตลอด นั้นคือธุดงค์ ธุดงค์ฉันในบาตร

ความจริงเราย้อนกลับไป หลวงตาท่านป่วยแล้วนะตอนปลายๆ ชีวิตท่าน ท่านยังต้องเข็นรถมาฉันที่ศาลาใช่ไหม? นี่ถ้าคนมีใจรักธุดงค์จริงเขาจะอยู่กับธุดงค์ ๑๓ โดยไม่ต้องอวดใคร ท่านทำ นี่เรามองหลวงตามาตลอด เรารู้ด้วยว่าที่หลวงตาทำท่านสอนเราด้วยชีวิตของท่าน แต่ใครมีดวงตา ใครมีความเก็บซับว่าที่หลวงตาท่านทำอยู่นั้นคืออะไร? ท่านฉันในบาตรจนถึงวาระสุดท้าย หลวงตานี่ท่านฉันในบาตรจนถึงวาระสุดท้าย แม้แต่มาไม่ได้ก็ยังต้องเข็นรถออกมาฉันที่ศาลา

เราพูดอยู่ที่นี่บ่อย ว่าเรานี่อยากจะไปหาหลวงตา แล้วบอกว่าให้หลวงตาฉันที่กุฏิ แล้วฉันโจ๊ก ฉันอาหารผู้เฒ่า ไม่ต้องมาลำบากอย่างนี้ไหม? แต่เราก็บอกอยู่ ถ้าไปพูดอย่างนี้นะท่านก็ถีบออกมาเลย เพราะมันเป็นเจตนาของท่าน เป็นจิตใจที่มั่นคงของท่าน ใจเป็นเพชร กัดกินทุกอย่าง ย่อยสลายทุกอย่างได้หมดเลย ถ้าจิตใจนี้เป็นเพชร แต่จิตใจของพวกเรานี้อ่อนด้อย นี่พูดถึงเราจะยกให้เห็นว่าถ้าธุดงค์จริง รักจริง มันจะทำแบบข้อเท็จจริง ไม่ใช่ทำแบบนี้ แม้แต่กรีนพีซมันยังเห็น ว่ากรีนพีซที่เขาทุ่มเทและไม่ทุ่มเท และแสวงหาผลประโยชน์

ธุดงค์มันเป็นธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นของสาธารณะ ใครจะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ แล้วใครจะทำหรือไม่ทำมันไม่ปรับอาบัติ แต่เวลาคนทำนี่ทำเพื่อประโยชน์ในการขัดเกลากิเลส หรือทำเพื่อเพิ่มพูนกิเลส แล้วเพิ่มพูนกิเลส เพิ่มพูนการตลาดเข้าไปอีก มันเลยหลายซับหลายซ้อนไง นี่เขาถามมาให้เราพูดไง เพราะเขาเห็นแล้วเขาสลดใจ คนสลดใจก็เยอะ แต่คนที่มีความเห็นอย่างนั้นเขาชื่นใจก็เยอะ เขาบอกว่าได้บุญม๊าก มาก ได้บุญม๊าก มากเลย เขาทำแล้วเขาได้บุญเยอะมากเลย ได้บุญของเขาเต็มที่

“ทำทานร้อยหน พันหน ไม่เท่ากับถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง ถือศีลบริสุทธิ์ร้อยหน พันหน ไม่เท่ากับทำสมาธิได้หนหนึ่ง ทำสมาธิร้อยหน พันหน ไม่เท่ากับการเกิดปัญญาญาณที่ชำระกิเลสเข้ามาแว็บหนึ่ง”

ฉะนั้น บอกว่าทำบุญอย่างนั้นนี่บุญม๊าก มาก ทำบุญร้อยหน พันหน ไม่เท่ากับถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง ถ้าเราถือศีล เรามีศีลของเราแล้ว เราจะรู้ว่าทานนั้นควรและไม่ควร ถ้าเรายังไม่มีศีล คือจิตเราไม่ปกติ จิตเราไม่มั่นคง บอกว่าทำทานๆ เขาทานเราก็ทานไปกับเขา แต่ถ้าเรามีศีลของเราขึ้นมา ศีลเราปกติขึ้นมา เราจะแยกแยะได้ว่าศีลนี้มันมาจากไหน? มันมาจากการเสียสละจากทานอันนั้น แล้วทานอันนั้นมันทำให้เกิดศีล ถ้าศีลมันสะอาดบริสุทธิ์ขึ้นมา ศีลที่มันดีมันจะเกิดสมาธิ แล้วเกิดสมาธิใช่ไหม ศีลที่ดี ศีลที่สะอาดบริสุทธิ์ ทำให้สมาธิปฏิบัติได้ง่าย

ถ้าสมาธิปฏิบัติได้ง่าย สมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิ สมาธิที่มีศีลแล้วมันจะทำให้เกิดปัญญา เกิดปัญญามันจะย้อนกลับไง ถ้าย้อนกลับมันจะรู้ อย่างเช่นเราปฏิบัติกันนี่ พอจิตเราพัฒนาขึ้นๆ เราจะรู้เลยว่าอะไรผิด อะไรถูก แล้วที่ทำมานี่อะไรชัดเจน อะไรไม่ชัดเจน มันจะย้อนกลับได้ แต่ถ้าปัญญาเรายังไม่ทะลุขึ้นไป เอ๊ะ ก็ศีลนี่โคตรศีลเลยแหละ ศีลนี่ยอดศีลเลยแหละ มันจะยกก้นมันไปอย่างนั้นเลยนะ แต่พอมันไปทำสมาธิ อ๋อ ศีลมันอยู่ที่ใจเนาะ ไอ้ที่เราวิตกกังวลมันก็แค่กิริยาเฉยๆ เวลาจิตมันผ่านไปแล้วมันจะย้อนกลับมา มันรู้ มันเห็นนะ ฉะนั้น พอมันรู้ มันเห็นขึ้นมามันจะปล่อยได้

ทีนี้เรื่องธุดงค์ก็เหมือนกัน เรื่องธุดงค์ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์เราทำมาแล้วนะ ท่านจะไม่ทำเพื่อให้กิเลสมันฟู ไม่มีกิเลสฟูที่ว่าบุญม๊าก มาก บุญม๊าก มากกิเลสมันฟูหรือกิเลสมันยุบยอบลง การปฏิบัติเขาต้องปฏิบัติให้กิเลสมันยุบยอบลง ไม่ใช่ให้กิเลสมันฟูขึ้นๆ ธุดงค์กิเลสฟูไม่เคยเห็น ธุดงค์มีแต่ขัดเกลากิเลส ธุดงค์กิเลสฟูไม่มีเนาะ เอวัง