เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๙ พ.ค. ๒๕๕๕

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม ฟังธรรมนะ เราตั้งสติไว้ เสียงนั้นมันจะมาหาเราเอง เห็นไหม เวลาทำบุญกุศลไง เราว่าเราทำบุญกุศล เพราะบุญเป็นที่พึ่งอาศัย เราหวังบุญกุศลเป็นที่พึ่งอาศัยให้ชีวิตเรามีความร่มเย็นเป็นสุขนะ เวลาชีวิตเรา เราอยากมีความร่มเย็นเป็นสุข แล้วเวลาเราไม่ทำบุญทำทาน เราว่าเราขาดสิ่งใดไป ถ้าเราได้เสียสละแล้วเป็นบุญกุศล

ทีนี้บุญกุศล เราก็บอกเราทำบุญแล้วเราอยากจะได้บุญ แล้วทำไมมันยังทุกข์ยากขนาดนี้? การทุกข์ยากขนาดนี้ เห็นไหม เวลาทำบุญขึ้นมา เวลาเราทำบุญ เวลาเสียสละขึ้นมาจิตใจเราเป็นแบบใด? แต่ถ้าเราไม่ได้ทำบุญ ไม่ได้เสียสละมันอึดอัดขัดข้องไปหมด นี้ทำบุญกุศลเพื่อให้เป็นทางออกไง

“บุญ” บุญคือความสงบสุข บุญคือความสุขของใจ สิ่งที่เวลามีความสุขสงบระงับแล้ว ถ้าใจเราดีนะ เราจะเจอวิกฤติขนาดไหน เราจะเจออุบัติเหตุขนาดไหนจิตใจเรามั่นคง แต่ถ้าจิตใจเราอ่อนแอนะ เรื่องเล็กน้อยมันก็เป็นปัญหาไปหมดแหละ แต่ถ้าจิตใจเราเข้มแข็งขึ้นมา นี่เข้มแข็งเพราะเหตุใด? เข้มแข็งเพราะมันมีธรรม ธรรมะคืออะไร?

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เห็นไหม อาสวักขยญาณ สิ่งที่เป็นอวิชชา ตัณหาความทะยานอยากในหัวใจมันได้สิ้นสลายไปในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เวลามันมีตัณหาความทะยานอยาก มันพร่องอยู่เป็นนิจไง ตัณหาความทะยานอยาก ตัณหามันล้นฝั่ง มันล้นฝั่งของมันตลอดเวลา มันคาด มันหมายของมันไป แต่มันไม่เคยสมหวังของมันสักอย่างหนึ่ง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาตรัสรู้ธรรม อาสวักขยญาณทำลายอวิชชา ทำลายความไม่รู้ของมันไง

ฉะนั้น สิ่งที่ว่ามีธรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เพราะเรามีปัญญาไง ชีวิตมันเป็นแบบนี้ นี่ดูชีวิตมันลุ่มๆ ดอนๆ แต่เพราะเราไปให้ค่ามัน เพราะเราไปยึดมั่นถือมั่นมันเองเราถึงได้มีความทุกข์ไง ทุกข์เพราะแบกเพราะหามไง ก็เพราะเราวางไม่ได้ไง ถ้าเราวางได้เราจะเอาอะไรไปวางมัน? บุญกุศล สิ่งที่เป็นบุญ บุญก็คือบุญ เวลามาทำบุญ เห็นไหม ถ้าการเสียสละคือบุญแล้ว ทำไมพระไม่ดูแล? คำว่าพระดูแลนะ บุญถ้าเราเสียสละแล้วมันเป็นเจตนาที่สะอาดบริสุทธิ์ สิ่งที่ว่าดูแล สะอาดบริสุทธิ์อย่างนั้นแล้ว สิ่งนี้คือการจาคะ คือการเสียสละของเขา

การเสียสละ เสียสละเพื่อสิ่งใด? เสียสละไป เสียสละเพื่อความละความตระหนี่ถี่เหนียว เสียสละไปเพื่อสิ่งที่มันเป็นความพร่องอยู่ในหัวใจนั้น เห็นไหม เวลาทำบุญใหม่ๆ มันก็จะมีความปลื้มปีติมาก พอนานไปมันชิน มันชา มันชิน มันชา ทำแล้วมันปกติ มันปกติเพราะมันชิน มันชา ความเสียสละของมันเพื่อความมั่นคงของใจ ถ้าใจมันเสียสละขึ้นมา มันเห็นประโยชน์กับส่วนรวม ประโยชน์กับสาธารณะ ประโยชน์กับหัวใจของเขาเอง

ถ้าประโยชน์ของเขาเอง เห็นไหม เขาเริ่มทำความสงบของใจ นี่บุญก็คือบุญ ถ้าเราทำความสงบของใจของเราเข้ามา ถ้าจิตใจเราตั้งมั่น จิตใจเรามันสงบระงับ มันสงบระงับเพราะเหตุใด? เพราะมันวางไง มันวางภาระรับผิดชอบที่มันแบกมันหามด้วยตัณหาความทะยานอยากนั้นไง อยากประสบความสำเร็จ อยากไปทุกอย่างเลย แต่ถ้าเราอยากแล้วเราตั้งเป็นอธิษฐานบารมี เราตั้งเป้าไว้ การทำธุรกิจของเรา เราตั้งเป้าของเรา เราทำเกินเป้าด้วย เวลาทำไปแล้วมันทะลุเป้าไปเลย ทะลุเป้าเพราะเราทำของเรา

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราอธิษฐาน เราตั้งใจของเรา นี่อธิษฐานบารมี แล้วเราทำของเราไป ถึงก็ได้ ไม่ถึงก็ได้ แต่หน้าที่ของเราคือเหตุ น้ำหยดลงหินทุกวันหินมันยังกร่อน เราตั้งสติของเรา เราทำภาวนาของเรา เราเสียสละของเรา เพื่อประโยชน์ของเรา มันจะเป็นบุญกุศลหรือไม่เป็นบุญกุศลเรื่องของมัน แต่ถ้าเราทำของเราไปนะมันเป็นความจริงขึ้นมา

“เหตุและผลรวมลงเป็นธรรม”

ถ้าเหตุมันพร้อมแล้วมันต้องถึงเป็นธรรมดา ถ้าเหตุมันไม่พร้อม เหตุมันไม่พร้อม พุทโธคำหนึ่งก็คิดไปรอบโลก เวลาปฏิบัติทีหนึ่งก็ล้มลุกคลุกคลาน แล้วบอกว่า “ปฏิบัติแล้วไม่ได้ผล ปฏิบัติแล้วไม่ได้ผล” ก็ปฏิบัติสักแต่ว่าทำ คนสักแต่ว่าทำมันจะได้ผลไหม? คนถ้ามันทำจริงทำจังมันก็ได้ผลของมันขึ้นมา ลูบๆ คลำๆ แล้วก็เรียกร้องเอาผล จะเรียกร้องเอามาจากไหน? แต่ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา ไม่เรียกร้องมันก็มาเอง

หลวงตาท่านบอกนะ เวลาท่านไปอยู่กับหลวงปู่มั่นใหม่ๆ เวลาจิตมันเสื่อม เวลาหลวงปู่มั่นท่านสอนนะ จิตนี่เหมือนเด็กๆ มันต้องการอาหารของมัน เด็กนะเวลามันเที่ยวเล่นของมัน มันเพลิดเพลินตามเพื่อนมัน มันก็ไปตามเพื่อนของมัน แล้วใครจะให้อาหารมันกิน? ไม่มีหรอก พอไม่มีอาหารมันจะไปไหนล่ะ? มันก็ต้องกลับมาหาพ่อแม่ของมัน นี่ก็เหมือนกัน เราพุทโธ พุทโธของเราไป เวลาเด็กมันเที่ยวเล่นของมันไป มันเสื่อม มันเร่ร่อนของมันไป เวลามันหิวกระหายมันต้องกลับมา พุทโธ พุทโธ พอจิตมันขึ้นมาเสวยพุทโธ พอมันอิ่มเต็มของมัน มันก็อยู่ของมันได้

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันทำจริงของมันมันเป็นอย่างนั้น แล้วเวลาเราทำจริงของเรา ขณะที่เราเริ่มปฏิบัติเราก็ไม่รู้เรื่องของเราใช่ไหม? เวลาทำขึ้นไปมันก็ลุ่มๆ ดอนๆ จับพลัดจับผลูไปอย่างนั้นแหละ แต่ครูบาอาจารย์ของเราท่านดูแลใจของเรา เห็นไหม ดูแลให้ทำแบบนั้น ไอ้เราก็ว่าเราก็ทำจริงทำจังของเราแล้วแหละ เราก็ทำจริงทำจัง เราก็ทำเต็มที่ของเราแล้ว ทำไมมันไม่เป็นแบบนั้น? ทำไมไม่เป็นแบบนั้น? แต่ถ้าบอกว่าทำแต่สักแต่ว่าๆ สักแต่ว่าอย่างไรก็จริงของเรา จริงของใคร?

เวลาเด็กนะ เด็กมันเล่นของมัน มันก็ว่าจริงจังของมันนะ เวลาผู้ใหญ่เรานี่อาบเหงื่อต่างน้ำเราก็จริงจังของเรานะ เวลาเด็กมันไม่รู้สิ่งใดมันก็ว่าจริงจังของมัน เวลาประพฤติปฏิบัติใหม่เป็นแบบนั้น หญ้าปากคอก ทำสิ่งใดก็ไม่รู้ถูกรู้ผิด แต่ก็พยายามจะดิ้นรน พยายามจริงจังของเรา แต่จริงจังได้แค่ไหน? แต่ฝึกหัดไปเหมือนนักกีฬา นักกีฬาเริ่มต้นหัดครั้งแรก เรื่องทักษะมันก็ต้องไม่ชำนาญเป็นธรรมดา แต่ถ้าฝึกฝนบ่อยครั้งเข้าๆ สิ่งนั้นจะเป็นจริงขึ้นมา

เวลาทำบุญๆ ก็เพื่อบุญ แต่เวลามีธรรมไง เวลามีธรรมมีปัญญา เวลามีธรรมมันมีปัญญา มันคัดเลือก มันแยกแยะ รู้ของเราเอง มันแยกแยะนะสิ่งใดควรและไม่ควร ถ้าสิ่งใดไม่ควรนะ ถ้าเราจับเข้าไปเราก็ร้อน ถ้าสิ่งใดมันไม่ควรนะ เราวางซะเราก็เย็น ถ้าสติปัญญาของเรานี่ความคิดแบบนี้ สิ่งที่มันตอกย้ำในหัวใจของเราแบบนี้ นี่มันให้แต่ความทุกข์ความร้อน ทำไมมันโง่ขนาดนั้นล่ะ? ทำไมเราปฏิเสธมันไม่ได้? ปฏิเสธไม่ได้เพราะจิตใจมันอ่อนแอ จิตใจมันไม่ได้เคยฝึกฝนก็เป็นแบบนี้ ถ้าจิตใจมันฝึกฝนขึ้นมา มันเข้มแข็งขึ้นมามันปฏิเสธได้นะ มันปฏิเสธความรู้สึกอย่างนี้ มันปฏิเสธได้ มันวางได้ มันวางได้เพราะอะไรล่ะ? เพราะมันฝึกฝนขึ้นมา

ทุกคนบอกว่าธรรมะนี่เราเข้าใจหมดแหละ ดูสิเวลาพระเรา เวลาเรียนปริยัติกัน ศึกษาธรรมะจนจบสิ้นกระบวนการ แต่งบาลีได้ เขียนอะไรได้ทุกๆ อย่างเลย ศึกษามา ถ้าไม่ได้ปฏิบัติขึ้นมาก็งงนะ ธรรมะพระพุทธเจ้ารู้หมดเลย เข้าใจได้ เขียนได้ แต่งได้ แต่ในหัวใจทำไมมันว้าเหว่ขนาดนี้ล่ะ? ทำไมหัวใจมันลังเลสงสัยขนาดนี้ล่ะ? มันลังเลสงสัยเพราะอะไร? เพราะมันไม่อิ่มเต็มในตัวของมัน

เวลาเราปฏิบัติขึ้นมา ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นธรรมะสาธารณะ นี่ที่ว่า “ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาติ” ธรรมะเป็นธรรมชาติก็อากาศไง เราก็หายใจเอาออกซิเจนเข้ามาในหัวใจของเราไง แต่ถ้ามันเข้าไปในปอดของเราแล้วล่ะ? มันไปฟอกเลือดของเรา เวลามันคายออกมาเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ แต่เวลาเข้าไปเป็นออกซิเจน นี่สิ่งต่างๆ มันเป็นเพราะเหตุใดล่ะ? ถ้าเราทำนี่เรารู้เราเห็นของเรา มันเป็นความรู้ความเห็น มันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก เป็นปัจจัตตังนะ เห็นไหม

เวลาบอกว่า “ต้องให้รับประกัน ต้องให้รับประกัน” หลวงตาบอก “ไม่ต้อง” สันทิฏฐิโกมันยืนยัน แต่มันยืนยันกับเรา เวลาเราปฏิบัติขึ้นมานี่ล้มลุกคลุกคลาน เราว่าสันทิฏฐิโกเป็นอย่างนี้ ทุกคนจะบอกว่าเวลาเราหิว กินอาหารแล้วก็อิ่ม แล้วมันจริงหรือเปล่าล่ะ? อิ่มเดี๋ยวมันก็หิวอีก ถ้ามันอิ่มจริง อิ่มจริงเป็นอย่างไรล่ะ? ถ้าอิ่มจริงมันมีหลักฐาน มันมีหลักมีเกณฑ์ใช่ไหม? ถ้ามีหลักมีเกณฑ์ นี่ฟังธรรม ของที่เราทำอยู่ทุกวันนี้แหละ แต่มันทำอยู่แล้วมันก็หลุดไม้หลุดมือไป ครูบาอาจารย์ก็บอกว่าจับให้มั่นคั้นให้ตาย จับให้มั่นๆ นะ

นี่เราก็บอกจับให้มั่นๆ นะ มันก็เป็นอัตตาไง มันปล่อยวางไม่ได้นะ อยากจะปล่อยวาง อยากจะโยนทิ้งไปไง แล้วโยนทิ้งได้ไหมล่ะ? จับให้มั่นคั้นให้ตาย นี่พอมันศึกษาไปๆ จับให้มั่น คั้นให้ตายมันเป็นนามธรรมไง จับให้มั่นคั้นให้ตายแล้วพิจารณามันนะ ถึงที่สุดแล้วมันละลายต่อในมือเราเลย เวลาพิจารณากาย เวลากายมันวิภาคะ มันละลายอยู่บนมือเราเลย มันหายไปบนมือเราเลย มันเห็นชัดๆ อย่างนั้น มันถึงไม่มีความสงสัยไง

นี่เวลาสักแต่ว่าทำ จับให้มั่นคั้นให้ตาย จับไว้ นี่เวลาว่างก็คิดความว่างไว้ก่อนเลยนะ เวลาไม่ปฏิบัตินี่ว่างๆ ว่างๆ ว่างๆ อย่างไรรู้ไหม? ว่างๆ แต่ไม่รู้เป็นอย่างไร? ว่างๆ ว่างๆ นี่มันใช้ไม่ได้ พุทโธ พุทโธ พุทโธ หรือปัญญาอบรมสมาธิ มันจะว่างขนาดไหน สติมันจะพร้อมตลอดเวลา ไม่มีเว้นวรรคเลยนะ เวลามันลง อืม อย่างนี้ใช่ อย่างนี้ใช่เพราะอะไร? เห็นไหม ดูสิเราแบกรับภาระอารมณ์ของเรามา ทุกอย่างที่เราแบกรับมา แล้วเราวางลงเราจะรู้ได้ไหม? เวลาเราแบกมาหนัก หามมาหนัก เรารู้ไหม? เวลาเราปล่อยวางไปนี่เรารู้ไหม?

เรารู้สิ ถ้าเรารู้ก็นี่ไง ถ้ามันว่างมันต้องว่างอย่างนี้ มันมีเหตุมีผลมันว่างอย่างนี้ นี่สัมมาสมาธิ พอสัมมาสมาธิแล้ว เพราะอะไร? เพราะเรารู้เราเห็นของเรา ดูสิเงินทองในกระเป๋าของเรา เราจับต้องของเรา เราก็รู้ว่าเงินทองเรามีเท่าไหร่ เงินทองของเรานี่ไม่เคยดูแลเลย นู่นก็รวย คนนี้ก็รวย ไปดูแต่เงินทองคนอื่น

นี่ไงเวลาศึกษาธรรมๆ การศึกษาเป็นปริยัติ เป็นสุตมยปัญญา เวลาเราภาวนาขึ้นมา มันเกิดจินตนาการขึ้นมา จินตมยปัญญามันแก้กิเลสไม่ได้ เวลาเกิดภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญามันจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร? ภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นมาเพราะจิตมันสงบ แล้วจิตมันจะออกค้นคว้า จิตมันจะมีการกระทำของมัน ถ้าภาวนามยปัญญานี่ มันจะสำรอกกิเลสมันด้วยภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญามันเกิดจากจิต แล้วเวลามันสำรอก เวลามันคายออก มันคายออกที่ไหน? ก็ออกที่จิต เห็นไหม ปฏิสนธิจิตที่มาเกิดเป็นมนุษย์นี่แหละ

เราเห็นว่าเราเกิดมานี่เป็นคน เราเกิดมาเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหมนี่อะไรไปเกิดล่ะ? ก็จิตมันไปเกิด จิตไปเกิด จิตเป็นนามธรรม นี่สันตติ ธาตุรู้ ธาตุที่มีชีวิต ธาตุที่มันไม่เคยย่อยสลาย ธาตุที่มันมีอยู่ เวลาถ้าประพฤติปฏิบัติจนถึงที่สุดแห่งทุกข์ นิพพานก็มีอยู่ของมัน มีอยู่เพราะอะไร? เพราะสิ่งที่ไม่เคยย่อยสลาย สิ่งที่มีคงที่ของมันตลอดไป เวลามันไปสิ้นสุดกระบวนการของมันแล้วมันก็ไปจบในที่เดียวกัน ถ้าที่เดียวกันมันก็เป็นวิมุตติอยู่อันนั้นไง

แต่ในปัจจุบันนี้เราคาด เราหมาย เราต้องการ เพราะเราศึกษาธรรมของครูบาอาจารย์มาใช่ไหม? เราก็วาดภาพจินตนาการกันไป นี่สิ่งที่ฟังธรรม ฟังธรรมมาแล้วเตือนสติ เราก็ต้องทำแบบนั้นแหละ เวลาทำขึ้นมานี่ปริยัติ เห็นไหม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อริยสัจ ๔ มันก็เป็นแบบนี้ ต้องทำอย่างนี้จริงๆ แต่ทำให้มันเป็นตามความเป็นจริงไง เวลาเกิดมันก็เกิดจริงๆ เวลามีก็มีจริงๆ เวลาเราทุกข์เราทุกข์จริงๆ นะ แต่เวลาสุขขึ้นมานี่ แหม มันว่างๆ เดี๋ยวก็ทุกข์อีกแล้ว มันสุขไม่จริง สุขเวทนา ทุกขเวทนา แล้วเวลามันพ้นไปแล้วมันเป็นวิมุตติสุข มันวิมุตติสุขอย่างไร? ถ้าเป็นความจริงขึ้นมาแล้ว ความจริงต้องเป็นความจริงคงที่สิ

อฐานะ อกุปปธรรม ...อกุปปธรรม อฐานะที่มีการเปลี่ยนแปลงไอ้นี่มันกุปปธรรมไง สัพเพ ธัมมา อนัตตา...สัพเพ ธัมมา อนัตตา ใช่ สัพเพ ธัมมา อนัตตาเพราะมันเป็นกุปปธรรมไง กุปปธรรม อกุปปธรรม เวลาจากกุปปธรรมเราก็ศึกษา ศึกษาแล้วประพฤติปฏิบัติขึ้นไป แล้วถ้าเป็นจริงขึ้นมาแล้ว มันเป็นจริงขึ้นมา พอมันเป็นความจริงขึ้นมา เห็นไหม นี่ปฏิบัติก็ปฏิบัติแบบนั้นแหละ แต่ปฏิบัติเพื่อความเป็นจริง ถ้าเป็นจริงแล้วนะ เรารู้ของเรา เราเห็นของเรา แล้วมันเป็นความจริงของเรา นี่อาศัยครูบาอาจารย์นะ เราต้องอาศัยครูบาอาจารย์เป็นผู้ชี้นำ

เวลาหลวงปู่มั่น หลวงตาท่านพูดประจำ “สาธุ แม้แต่อยู่หน้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ถาม”

ท่านไม่ถามเพราะอะไร? เพราะถามท่านก็ต้องพูดอย่างนี้เหมือนกัน ฉะนั้น ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมานะมันไม่ถาม แต่ไม่ถามแล้วแสดงออกอย่างไร? นี่แสดงออก เวลาพูด เวลาพูดถึงสัจจะมันบอกเหตุผล แต่ถ้าไม่จริง มันพูดสัจจะเหมือนกันแต่กิเลสมันแอบอ้าง กิเลสมันเกาะสัจจะนั้นมา ฟังออก คนเป็นฟังทีเดียวรู้หมด แต่ถ้าคนไม่เป็นนะก็พูดเหมือนกัน ทุกข์ก็ทุกข์เหมือนกัน ทำไมมันมีทุกข์หยาบทุกข์ละเอียดล่ะ? เวลาทุกข์ต่างๆ มันทุกข์ไม่เหมือนกัน ทุกข์ไม่เหมือนกัน อันนี้เราดูแลของเรา

ถ้าพูดถึงบุญกุศล เราทำขึ้นมาเป็นอามิสเพื่อชีวิตนี้ร่มเย็นเป็นสุข แต่ร่มเย็นเป็นสุขขนาดไหนมันเป็นอนิจจัง สิ่งใดเป็นอนิจจังสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา แต่ถ้าเราปฏิบัติเข้าไปแล้วเราจะเห็นความเป็นอนัตตา เห็นความเป็นไตรลักษณ์ในหัวใจของเรา ถ้าใจมันเห็นจริงๆ นะ เหมือนที่หลวงตาพูด เวลาเราจับปลา จับงูเห่าขึ้นมาเราคิดว่าปลาไหล เราดีใจมากเลยได้ปลาไหล แต่พอขึ้นมาซึ่งๆ หน้าเห็นเป็นงูเห่านี่สลัดทิ้งเลย

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเป็นอนัตตา เวลาเห็นตามความเป็นจริงของเราไง เห็นความเป็นจริงที่ว่าเรารู้เราเห็น ที่เรายึดมั่นถือมั่นนั่นแหละ เวลาถึงที่สุดแล้วมันสลัดทิ้งนั่นแหละ นั่นแหละอันนั้นเป็นความจริง นี่ถ้าความจริงเกิดขึ้นมาแบบนี้ เพราะใจเรามีธรรมเราต้องศึกษาของเรา เรามีหลักมีเกณฑ์ของเรา เพื่อประโยชน์กับเรานะ ทำบุญกุศลก็เพื่อสภาวะแวดล้อม

ศีล สมาธิ ปัญญา เห็นไหม เรื่องของทาน เสียสละขึ้นมาให้จิตใจมันเป็นสาธารณะ เวลาจิตใจเป็นสาธารณะแล้ว เรามีปัญญาขึ้นมามันถึงสำรอก มันถึงคายของมันมา ถ้าเรามีบุญก็บุญเพื่อโลก บุญเพื่อความร่มเย็นเป็นสุขในชีวิต แต่ถ้ามีธรรมมีปัญญาขึ้นมา มันจะพาหัวใจดวงนี้พ้นออกจากวัฏฏะ มันจะพาหัวใจดวงนี้พ้นจากตัณหาความทะยานอยากที่มันครอบงำอยู่

“มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา เราจะไม่ดำริถึงเจ้าอีกแล้ว เจ้าจะเกิดบนดวงใจนี้ไม่ได้อีกเลย” เอวัง