เทศน์พระ

อึ่งอ่าง

๒o พ.ค. ๒๕๕๕

 

อึ่งอ่าง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมนะ ฟังธรรมเพื่อเตือนสติ เวลาคนอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองจะไม่เห็นว่าตัวเองมีความผิดพลาดอย่างใด แต่ถ้ามีใครชี้ให้เราเห็นว่า สิ่งนั้นเป็นความผิดพลาดของเรา สิ่งนั้นจะไม่เสียเวลาไง

ถ้าเราจะค้นคว้าหรือเราจะพิจารณาของเราเองว่า สิ่งนี้เป็นความถูกต้องของเราเห็นไหม นี่เราจะเสียเวลามาก เสียเวลาเพราะสติของเรามันไม่ละเอียดพอ จับอารมณ์ความรู้สึกของเราว่า ความรู้สึกนึกคิดอันนี้เป็นความรู้สึกนึกคิดที่ไม่ถูกต้อง แต่ถ้ามีสติปัญญานะ มันจะรู้ว่าความรู้สึกนึกคิดอย่างนี้ มันไม่ถูกต้อง ไม่ถูกต้องเพราะเหตุใด ไม่ถูกต้องเพราะมันทำให้เรามีความเร่าร้อน ถ้ามีความรู้สึกนึกคิดขึ้นมา มันจะเผาใจเราก่อน ถ้ามันเผาใจเราแล้วมันจะไปเผาคนอื่นต่อไป

ฉะนั้น ถ้าเรามีสติ ฟังธรรมเพื่อเตือนสติ พอมีสติ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ถ้าตนเห็นความผิดของตน สิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์มาก แต่ถ้าคนบอกว่า เรามีความผิดอย่างนั้นๆ เราจะมีเหตุผลโต้แย้งว่า เราไม่ได้เป็นอย่างที่เขาพูดเลย เรามีสติ เรามีปัญญาขนาดนี้ ความผิดเล็กน้อยอย่างนี้ ทำไมเราเห็นไม่ได้ นี้พูดถึงว่า เวลาอวิชชาความไม่รู้ของเรา มันปิดบังตาเรานะ

ฉะนั้นฟังธรรมก็ฟังเรื่องของเรานี่แหละ ฟังเรื่องของเรา เรื่องความรู้สึกนึกคิดนี้ เพราะความรู้สึกนึกคิดนี้ มันไปกว้านเอาความเร่าร้อนมาเผาตัวมันเอง แต่ถ้าเป็นทางโลกนะ เราเกิดมาธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ มนุษย์เรามีความรู้สึกนึกคิด เวลาเราศึกษาเราจะเอาอะไรไปศึกษา เราเอาความรู้สึกนึกคิดนี้ไปศึกษา ไปเล่าเรียน เพื่อให้จิตใจนี้มันฉลาดขึ้นมา

เวลาเราทำหน้าที่การงานของเรา เราก็เอาประสบการณ์ เอาความรู้สึกนึกคิดนี้ ว่าประสบการณ์นั้นถูกหรือผิด มันเป็นประสบการณ์ในการทำงานของเรา ฉะนั้นฟังธรรมๆ ก็ฟังเรื่องของเรา ถ้าเรื่องของเรานะ ของมันใกล้ตัวเกินไปจนเรารู้เห็นไม่ได้ว่าสิ่งนี้เป็นความผิด แต่ถ้าเป็นความผิดของคนอื่น เราจะมองเห็นได้ง่ายดายเลยว่าสิ่งนั้นเป็นความผิด เพราะ เพราะเราเป็นคนมอง เราเป็นคนไปมองเข้าไป แต่เวลาเจ้าตัวคนที่เป็นผู้ที่กระทำนั้นไม่เห็นความผิดของตัวเพราะ เพราะเราทำเอง เราคิดเอง เรามีความเร่าร้อนเอง เราว่าสิ่งนี้มันเป็นความนึกคิดของเรา มันไม่ละเอียดพอ

เหมือนมือของเราจะจับต้องสิ่งใด จับต้องสิ่งใด มันจะจับต้องสองอย่างสามอย่างพร้อมกันเป็นไปไม่ได้ มันต้องจับทีละอย่างๆ ความรู้สึกนึกคิดของเรา มันก็เกิดขึ้นมาจากจิต มันทำให้จิตจับได้เต็มไม้เต็มมือ เห็นไหม จิตเสวยอารมณ์ นี่สัญชาตญาณของมนุษย์ทำงานอย่างนี้ เรามีความใฝ่ดีกัน เรามีเป้าหมายที่ดีกัน แต่เราพยายามขวนขวายของเรา การกระทำของเราทำไมมันไม่ประสบความสำเร็จ มันไม่ประสบความปรารถนาของเรา มันเพราะสิ่งใด มันขาดตกบกพร่องสิ่งใดๆ เราทำสิ่งใดมันถึงไม่ประสบความสำเร็จ

ความสำเร็จของใคร ถ้าเอาความสำเร็จทางโลกมันมีความสำเร็จของมัน แต่ตัณหาความทะยานอยากมันพร่องอยู่เป็นนิจ มันไม่เคยมีความสำเร็จของมัน มันถึงดิ้นรน มันดิ้นรนของมันในหัวใจของเรา พอมันดิ้นรนมันก็ทำให้เราเดือดร้อน นี่มันดิ้นรนในหัวใจของเราแล้วทำให้หัวใจของเราเดือดร้อน พอมันดิ้นรน มันก็ฟาดงวงฟาดงาในใจของเราเห็นไหม นี่ฟังธรรมเพื่อเหตุนี้ ถ้าเหตุนี้มันเป็นความจริงนะ

ดูสิ ฤดูกาลมันเปลี่ยนแปลงไป วันเวลามันเปลี่ยนแปลงไป วันเวลามันเคลื่อนไป วันเวลาที่มันล่วงไปแล้ว เราจะเรียกร้องกลับมาไม่ได้อีกเลย แต่ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา ทุกวินาที ทุกวันของเราจะเป็นประโยชน์กับเรา เป็นประโยชน์เพราะอะไร เพราะชีวิตนี้มีการพลัดพรากกันเป็นที่สุด คนเราถึงที่สุดแล้วมันต้องพลัดพรากจากชีวิตนี้ไป มันต้องตายไปอนาคตแน่นอน แต่ในปัจจุบันนี้เรายังมีสติมีปัญญาอยู่ ยังลุกได้นั่งได้ มีความรู้สึกนึกคิดได้ ถ้าเราขวนขวายของเรา มันจะเป็นประโยชน์กับเรานะ

ถ้าเราไม่ขวนขวายของเรา ก็ขวนขวายอยู่แล้ว ทำทุกอย่างเต็มความสามารถอยู่แล้ว ทำไมครูบาอาจารย์บอกเราไม่ขวนขวาย ถ้าขาดสติ การทำอย่างนั้นเป็นการทำสักแต่ว่าทำ แต่ถ้ามีสติขึ้นมาเห็นไหม การกระทำสิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์กับเราถ้ามีสติปัญญาของเรานะ ถ้าเราขาดสตินะ

ดูสิ ดูอึ่งอ่าง เวลาฝนมันตก ฝนตกอึ่งอ่างมันจำศีลนะ นี่เวลามันอยู่ของมัน มันจำศีลของมัน ดูสิ มันอยู่ในรูของมัน มันอยู่ในโพรงของมัน มันจำศีลของมัน มันอยู่ของมันโดยความสงบสุขของมัน

เวลาฝนตกน้ำเจิ่งนองไป ถ้าฝนตกน้ำไม่เจิ่งนองนะ นี่อึ่งอ่างมันก็ไม่ออก มันไม่ออกเพราะมันไม่กระตุ้นธรรมชาติของมัน แต่ถ้าฝนตกจนถึงน้ำนองไปหมดแล้ว มันไปกระตุ้นธรรมชาติของมัน เวลาธรรมชาติของมัน มันออกมาเล่นน้ำของมัน ธรรมชาติทำให้มันเป็นแบบนั้น อึ่งอ่าง

เวลาเป็นอึ่งอ่าง ดูสิ อึ่งอ่างมันออกมามันร้องของมันด้วยธรรมชาติของมัน มันมีความสุขของมัน แต่คน มนุษย์ เห็นว่ามันเป็นอาหาร ไปจับมันนะ ชีวิตมันเสียไปเพราะอะไร เพราะธรรมชาติของมัน ด้วยความดิ้นรนของมัน มันไม่รู้ตัวของมันเองเลยนะ นี่มนุษย์ฉลาดกว่า ด้วยสิ่งที่ว่าฝนตก ธรรมชาติของอึ่ง มันจะออกเมื่อน้ำเจิ่งนอง พอน้ำเจิ่งนองขึ้นมา มันก็ร้องของมัน นี่มันเรียกร้องให้มนุษย์เอามันมาเป็นอาหาร มนุษย์ฉลาดก็เอามันมาเป็นอาหาร แต่ความรู้สึกมันเป็นอย่างนั้นไหม? ไม่ มันไม่ได้คิดว่ามันเกิดมาเป็นอาหารของใครนะ มันก็เกิดมามีชีวิตหนึ่งเหมือนกัน มันก็จิตหนึ่งเหมือนกัน มันก็มีสิทธิจะมีชีวิตเหมือนกัน

ถ้ามันมีสิทธิมีชีวิตของมัน ทำไมมนุษย์คิดว่ามันเป็นอาหารของมันล่ะ นี่ภพชาติ เวลาเกิดมาเป็นภพชาติของใคร ก็คิดว่าภพชาติของตัวประเสริฐกว่า เห็นไหม ประเสริฐกว่าคนอื่น สิ่งที่เราแสวงหาสิ่งนั้นมาเป็นอาหาร อาหารมันเป็นอาหารของร่างกาย แต่ถ้าคนที่เขามีศีลมีธรรมของเขา เขาทำของเขาเพื่อประโยชน์ของเขา เขาไม่ทำอย่างนั้น

เวลาอึ่งอ่างมันร้อง มันพองตัวของมัน มันคิดว่ามันใหญ่นะ ในพระไตรปิฎก แม่อึ่งกับลูกอึ่ง ไปฟ้องว่า “โคมันจะเหยียบหนูๆ” มันใหญ่แค่ไหนๆ พองตัวไปเรื่อยๆ พองตัวจนแตกเห็นไหม แตกแล้วมันก็ตายน่ะ คิดว่ามันจะทำได้เพราะมันพองได้ มันพองตัวได้โดยธรรมชาติของมัน

กิเลสในใจของเราก็เหมือนกันนะ ถ้าเรามีสติปัญญาของเรานะ เราทำของเรานะ ใช่! จิตหนึ่ง เราเป็นมนุษย์ เราไม่ใช่อึ่งอ่าง อึ่งอ่างสัญชาตญาณของมัน ธรรมชาติของมันเป็นแบบนั้น นี่เป็นแบบนั้น มนุษย์ที่ฉลาดกว่าก็เอาสิ่งนั้นเป็นสัญญาณที่ว่า ถึงเวลาสัญญาณว่าเราจะได้อาหาร เราก็ไปจับมันมา

แต่คนที่เขามีศีลมีธรรมของเขา เขาไม่ทำของเขา สัตว์ของเขาก็เรื่องของเขา นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตของเรา ถ้ามีสติปัญญา ธรรมชาติของมัน ถ้าเรามีสติปัญญามันไม่เป็นอึ่งอ่างไง มันเป็นความจริงของมันขึ้นมา อึ่งอ่างโดยสัญชาตญาณ ดูสิ ในการประพฤติปฏิบัติตามแบบที่เขาทำกันอยู่นี่มันอึ่งอ่าง ดูสิ รู้ตัวทั่วพร้อม มีสติปัญญาพร้อม ทุกอย่างเป็นปัญญาพร้อมแล้วมีความสุขความสบาย

อึ่งนะ เวลามันออกมาจากรูของมัน ออกมาจากโพรงของมัน มันได้ร้องของมัน มันมีความสุขของมัน นี่ก็เหมือนกัน เวลาประพฤติปฏิบัติของเราปฏิบัติตามรูปแบบ พอครบรูปแบบแล้วก็มีความสุข มีความสบาย มีความสุขมีความสบายอย่างไร

เวลาความรู้สึกนึกคิด เวลามันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันเป็นตัวขับดันนะ มันจินตนาการของมันไป มีตัณหา วิภาวตัณหา อยากได้ อยากเป็น อยากใหญ่ อยากให้เขานับหน้าถือตา นี่ตัณหาความทะยานอยาก

แต่ถ้าเวลาคนเขาทำตามหน้าที่การงานของเขาโดยสัจจะของเขา เขาทำคุณงามความดีของเขา เขาไม่ต้องการปรารถนาอย่างนั้น นี่มันเป็นอึ่งอ่างไหม? มันไม่เป็นอึ่งอ่างเพราะว่าหน้าที่การงานมันเป็นแบบนั้น

ฉะนั้น เวลาเราบอกทำหน้าที่การงานนี้เป็นกิเลสเหรอ ไม่ใช่ ไม่ใช่กิเลสนะ เพราะคนเราจะดีไม่ดีอยู่ที่ผลงาน เราทำงาน ดูสิ เวลากลิ่นของศีลหอมทวนลม กลิ่นดอกไม้ กลิ่นหอมต่างๆ มันไปตามลม ลมพัดขจรขจายไป แต่กลิ่นของศีลมันหอมหวนทวนลมเลย เพราะเราทำคุณงามความดีไง เราทำความดีมันเป็นตัณหาความทะยานอยาก มันเป็นอึ่งอ่างไหม? ไม่ใช่ เราทำคุณงามความดีของเรา แต่เราไม่ต้องการ เราไม่ปรารถนา แต่มันเป็นสัจจะ มันเป็นความจริง

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุไง” เราไม่ใช่อึ่งไง อึ่งมันมีแต่เปล่งของมัน ร้องอยู่นั่นแหละ แล้วมันทำอะไรเป็นประโยชน์กับตัวมัน เพราะปากของมัน เพราะการกระทำของมัน เพราะสัญชาตญาณของมัน เพราะความสุขของมันทำลายตัวมันเองไง

นี่ก็เหมือนกัน เราคิดว่าเราทำตามรูปแบบ เราคิดว่าเราทำอย่างนั้น มันจะเป็นธรรม มันจะเป็นไหมล่ะ มันไม่เป็นธรรม มันไม่เป็นหรอก ถ้ามันจะเป็นธรรม มันเป็นอย่างไร เป็นธรรม เห็นไหม สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน

ดูสิ คนจะทำสมถกรรมฐาน คนจะทำความสงบระงับ เวลาของหยาบๆ เขาก็เห็นกันได้ เช่น วัตถุแก้วแหวนเงินทอง ทุกคนก็จับต้องได้ คุณงามความดี ดูสิ เวลาคนทำงาน เขาผ่านหน้าที่การงานของเขาจนเกษียณอายุราชการไป เขาผ่านโลกมาตั้งเยอะแยะขนาดไหน เขารู้ไปหมดล่ะ เขารู้ เขาผ่านมาแล้ว เขาวางแล้ว นี่เรื่องโลกเป็นแบบนั้น เขารู้ของเขา เขาวางของเขา แล้วจิตใจของเขาไม่ตื่นเต้นไปกับสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นเขาก็ได้ผ่านมาแล้ว เขาวางหมดแล้ว แต่ของเราเข้าไป เรายังไม่เคยเป็นเห็นไหม สิ่งนั้นเราอยากปรารถนา อยากต่างๆ มันได้ขึ้นมาแล้ว ถ้าเราได้ขึ้นมาแล้วทำคุณงามความดีก็เป็นความดีเพื่อใจของเรา

แต่ถ้าเราทำของเราไม่ดีล่ะ มันเอาสิ่งนั้นมาเป็นประโยชน์กับตัวมันล่ะ ที่มันเป็นอึ่งหรือไม่เป็นอึ่งอยู่ตรงนี้ไง นี่ถ้าเราทำของเรา เราจะเป็นอย่างนั้นเชียวเหรอ เราจะพองตัวเราให้มันไปเบียดเบียนคนอื่นเลยเหรอ เราจะส่งเสียงให้ไปรบกวนกันไหม? ไม่

เราทำหน้าที่การงานของเรา แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา ที่มันไม่เป็นๆ เพราะอะไร ไม่เป็นเพราะเรามีสติปัญญาของเรา การเคลื่อนไหวนะ เวลาเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาก็เพื่อให้จิตใจมันสงบระงับ ถ้าจิตใจมันสงบระงับเข้ามาได้เห็นไหม จิตใจมันไม่คึกคะนอง ถ้าจิตใจมันคึกคะนอง มันคิดของมันไป มันเดือดเนื้อร้อนใจของมันไป นี่มันอึ่งอ่างล่ะ อึ่งอ่างมันคันไง เวลาจิตใจมันคัน มันอยู่ของมันไม่ได้ จิตใจมันดิ้นรนของมัน พอดิ้นรนของมัน มันเบียดเบียนตนก่อน พอเบียดเบียนหัวใจนั้น หัวใจนั้นคิดก็มีการกระทำ ไม่มีสิ่งใดถูกใจไปสักอย่างหนึ่ง นี่เบียดเบียนตัวเองไม่พอนะ จะไปเบียดเบียนคนอื่นนี่มันเป็นอึ่งอ่าง

แต่ถ้ามันเป็นประโยชน์กับเรานะ มันไม่เป็นอึ่งอ่าง มันเป็นสัตว์ประเสริฐไง สัตว์ประเสริฐ มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ สัตว์ประเสริฐเพราะเราต้องทำประโยชน์เพื่อเราเอง มันไม่เบียดเบียนใคร เขาเห็นคุณงามความดีนะ พอทำไป คนทุกคนน่ะดีก็รู้ ชั่วก็รู้นะ คนเรารู้ดีรู้ชั่วทั้งนั้นน่ะ ถ้าสิ่งนั้นมันเป็นประโยชน์ เราอ่านครั้งแรก สองครั้งแรก เราอาจจะไม่รู้ได้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์กับเรา

แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราจะทำปฏิบัติขึ้นมา ทำไมทุกอย่างมันสงบระงับ ทำไมทุกอย่างมันเอื้อการปฏิบัติ เห็นไหม มันเป็นใจไปทั้งนั้นเลย นี่ที่สงบสงัด ไม่มีใครมารบกวนต่างๆ นั่นน่ะครั้งแรก ครั้งสอง ครั้งสาม พอเรารู้ไป อ๋อ! นี่ไง เขาทำเพื่อเรา เขาไม่กวนเรา เขาเปิดโอกาสให้เรา เห็นไหม นี่คุณงามความดีของเขา เราระลึกได้ ดีชั่วทุกคนรู้ล่ะ แต่ถ้ามันยังไม่เข้าใจ พอมันซ้ำแล้วซ้ำเล่ามันจะเห็นความดีของเขา ถ้าเห็นความดีของเขา มันสะเทือนใจไหม? มันต้องสะเทือนใจ

แต่ถ้ามันเป็นกิเลสนะ มันไม่เห็นอย่างนั้นไง มันคัน จิตใจมันฟาดงวงฟาดงาในหัวใจ แล้วมันก็เบียดเบียนหัวใจเรานะ เพราะเราเดือดร้อน มันเร่าร้อนในใจ มันไม่สงบระงับ ไม่สงบระงับ เราก็มีการกระทำ

หมาขี้เรื้อน หมาขี้เรื้อนมันก็คัน มันก็เกา พอเกามันก็ทำเสียงดัง พอการเกามันก็มีส่งเสียงขึ้นมา มันก็กระทบกระเทือนกันไปหมดน่ะ ถ้ากระทบกระเทือนไป นี่อึ่งอ่างเป็นแบบนี้ อึ่งอ่างมันทำตัวมันเอง มันทำตัวมันเองนะ แล้วมันเบ่งของมัน มันอ้า มันก็ไปทำลายคนอื่น เห็นไหม นี้พูดถึง นี้มันเป็นธรรมชาติของเขานะ

แต่เรามีสติมีปัญญา เอานี่มานึกมาคิดไง เห็นไหม คติธรรม มันได้คติธรรมนะ คติธรรมว่าสิ่งที่มันเป็นไปนะ โดยสัญชาตญาณของมัน มันไม่รู้เรื่อง อึ่งอ่างมันไม่รู้เรื่องหรอก อึ่งอ่างมันก็เป็นสัตว์ อึ่งอ่างมันก็ใช้ชีวิตของมันไปอย่างนั้นน่ะ แต่คนที่มีปัญญาไง เห็นไหม ในสมัยพุทธกาลนะ ดูพระนาคิตะอุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วออกมาวิเวก เวลาคนเขาไปเที่ยวสนุก ที่ไปดูมหรสพสมโภช เห็นไหม เขาขับร้อง ร้องเพลงกันไป

พระนาคิตะเดินจงกรมอยู่ “เขามีความสุขนัก เขาร้องเพลง เขาขับกล่อม เขามีความสุขเนาะ เรามีความทุกข์อยู่คนเดียว” เห็นไหม เรามีความทุกข์ นี่เรามองไม่เห็น เห็นเขาเพลิดเพลินกัน เขาคิดว่าสิ่งนั้นเป็นความสุข นี่มันหยาบๆ ไง

เทวดามายับยั้งกลางอากาศนะ “คนที่เขาขับร้องเพลงกัน ที่เขามีความสุขๆ นั่นล่ะปลามันกินเหยื่อ” เหยื่อคือมหรสพสมโภชไง มันเป็นเหยื่อ แล้วปลามันก็กินเบ็ด พอกินเบ็ดแล้วมันก็ว่ามันมีความสุขของมัน เวลามันไปแล้วมันรู้ว่าโทษของมัน มันก็ดิ้นรนนะ ปากมันฉีก เลือดมันออกเต็มปาก นั่นน่ะปลามันกินเหยื่อ “ท่านต่างหากเป็นคนที่ประเสริฐ ท่านต่างหากเป็นคนที่ประเสริฐ”

เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา เดินจงกรมอยู่ เขาขับร้องเพลงไป เราก็ได้ยิน หูมันไปได้ยินเสียงของเขา พอได้ยินเสียงของเขามันก็คิดเอง เดือดร้อนเอง แต่เวลาเทวดามายับยั้งกลางอากาศ “ท่านต่างหากเป็นผู้ประเสริฐ ท่านต่างหากเป็นผู้ที่เห็นโทษของวัฏสงสาร ท่านต่างหาก...” นี่มันเตือนสติ พอมันเตือนสติขึ้นมามันก็มีสติขึ้นมา พอมีสติขึ้นมา สติมันก็มายับยั้งความคิด เห็นไหม

ความคิดที่น้อยเนื้อต่ำใจไง “เขามีความสุขเนาะ เขามีรื่นเริงกันเนาะ เราเป็นคนทุกข์คนยาก เราเป็นคนที่ไม่มีค่า ไม่มีราคา เราพยายามเป็นคนที่ถือพรหมจรรย์ มันแห้งแล้ง เขามีแต่ความชุ่มไปในความสุข ความสะดวกของเขา...” นี่เวลามันหลงไปมันหลงไปอย่างนั้นนะ นี่ขนาดพระนาคิตะนะ เกิดสมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ที่อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ

กิเลสมันไม่ไว้หน้าใครเลย มันไม่ไว้หน้าใครว่าใครเป็นจักรพรรดิ ใครเป็นกษัตริย์ ใครเป็นเศรษฐีกุฎุมพี ใครทุกข์ใครยาก...กิเลสมันไม่เคยไว้หน้าใครเลย มันระรานทุกดวงใจ มันขี่ทุกดวงใจ แม้แต่พระนาคิตะนี่เป็นผู้อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันยังไม่ไว้หน้าเลย นี่เข้ามาหลอกมาล่อจนพระนาคิตะคิดไปได้อย่างนั้นเหมือนกัน

แต่เวลาเทวดามายับยั้งกลางอากาศ เขาได้คิดขึ้นมา พอได้คิดขึ้นมาก็ย้อนกลับขึ้นมา เห็นไหม พิจารณาคืนนั้น ทำความสงบของใจเข้ามา พอใจมันสงบระงับแล้วพิจารณาออกไปในสติปัฏฐาน ๔ คืนนั้นพระนาคิตะเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาได้ เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาได้เพราะว่ามีเทวดานั้นมาเตือนสติ ทั้งๆ ที่ตัวเองปฏิบัติอยู่นะ

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราปฏิบัตินะ เราเห็นของเรา เห็นไหม ฤดูกาลมันเป็นแบบนั้น เวลาฤดูกาลมันฝนตก ดูสิ ปลาใหม่ ปลามันได้กลิ่นน้ำใหม่ น้ำที่มันตกมาใหม่ มันชะกลิ่นโคนมา กลิ่นต่างๆ มา กลิ่นของน้ำใหม่ ปลามันจะกระเสือกกระสนขึ้นไปหาน้ำใหม่นั้น นี่ธรรมชาติของมัน ธรรมชาติของสัตว์มันเป็นแบบนั้น ทีนี้ธรรมชาติของสัตว์เป็นแบบนั้นใช่ไหม นี่ธรรมชาติของมันเป็นแบบนั้น แล้วจิตใจเราเป็นแบบนั้นไหม นี่ถ้ามันเทียบเคียงขึ้นมา มันจะได้ประโยชน์นะ มันจะได้ประโยชน์

เตือนสติเรานะ ถ้าเราเตือนสติ ดูสิ เดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนาเป็น ๕ วัน ๑๐ วันนะ ถ้ามันมีสติคิดสิ่งใดได้ขึ้นมานี่แหม มันจะมีความสุข มันจะมีความชื่นใจ เห็นไหม เราก็มีปัญญา ปัญญาเพื่อดึงใจของเราไว้ในอำนาจของเรา แต่ถ้ามันไม่มีสติไม่มีปัญญานะ เดินจงกรมเป็นความเพียร ความเพียรนี้เป็นพลังงาน พลังงานที่มันจะสงบหรือไม่สงบ แต่ถ้าปัญญามันเกิดขึ้นมา นี่พลังงานนั้นมันได้ประโยชน์ขึ้นมา มันเกิดวิปัสสนาขึ้นมา มันจะถอดมันจะถอนของมัน ถ้าถอนขึ้นมา มันจะเป็นการกระทำของเราไง นี่ถ้าจิตใจเรามีสติปัญญาอย่างนี้ เราฟังธรรม ฟังธรรมเพื่อเหตุนี้กันนะ ฟังธรรมเพื่ออะไร? เพื่อเกิดสติ เกิดปัญญาจากภายใน

ดูสิ ดูหน้า เห็นหน้า แต่ไม่รู้ใจ หน้านี่เราเพื่อนกัน รู้จักกัน อยู่ด้วยกัน เห็นหน้าเห็นตากัน คุยกัน แต่ไม่รู้หรอก หัวใจมันเร่าร้อนแค่ไหน หัวใจมันมีสิ่งใดเป็นปมขึ้นมาในใจนะ มันคิดดี คิดชั่ว คิดเอารัดเอาเปรียบ คิดเผื่อแผ่ คิดเพื่อผลประโยชน์ของเราและของหมู่คณะ มันคิดแตกต่างกันอย่างใด เห็นไหม เราอยู่ด้วยกัน เราอยู่ด้วยกันเป็นหมู่คณะกัน ถ้าเป็นหมู่คณะกันนะ มันจะเอื้อต่อกัน

ดูสิ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า คนเกิดมาในวัฏฏะนี้ไม่เป็นญาติ เป็นพี่เป็นน้องกันเลย ไม่มี เพราะการเกิดการตายมันเวียนตายเวียนเกิดมามากมายมหาศาล มันจะต้องเป็นพี่ เป็นน้อง เป็นญาติกันมาชาติใดชาติหนึ่งแน่นอน เห็นไหม ถ้าเป็นพี่ เป็นน้อง เป็นญาติของเรา เรามีความผูกพันไหม

นี่เหมือนกัน เวลาเราเกิดมาเป็นมนุษย์ เราบวชมาในพุทธศาสนา เราเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรสด้วยกัน เราเป็นพระด้วยกัน เราเป็นผู้ถือศีล ๒๒๗ เหมือนกัน เราจากบ้านจากเมืองมานะ เราเสียสละมา นี่สมบัติสาธารณะ สิทธิของมนุษย์ที่เขาจะอยู่กันในทางโลก เห็นไหม เราเสียสละมาเพื่อพรหมจรรย์ เราอยู่แบบพรหมจรรย์ อยู่เพื่อเรา เพื่อหัวใจของเรา

ถ้าเพื่อหัวใจของเรานะ เราเป็นหมู่เป็นคณะกัน มันจะเห็นอกเห็นใจกัน เพราะอะไร ดูสิ ไม้ดิบๆ ฆราวาสเขาเป็นไม้ดิบๆ พอไม้ดิบๆ กว่าเขาจะติดไฟ กว่าเขาจะต่างๆ เขาต้องตากให้มันแห้งก่อน เขาจะทำให้มันเป็นประโยชน์ก่อน ดูสิ ในการก่อสร้าง ถ้าไม้มันไม่แห้งสนิท มันก็ต้องไปอบ อบเพื่อไม่ให้มันแตก ไม่ให้มันอ้า นี่ก็เหมือนกัน ในทางฆราวาสเขานี่ไม้ดิบๆ ถ้าไม้ดิบๆ มันก็อยู่ทางโลก นั่นน่ะชุ่มไปด้วยกาม

เราเห็นภัยในวัฏสงสาร เราเสียสละออกมา เสียสละสิทธิเสรีภาพอย่างนั้นน่ะ ฉะนั้น เราจะไม่ไปแย่งชิงกับเขา เห็นไหม ทางฆราวาสนี่ทางคับแคบ ทางของพระเรานี่ทางกว้างขวาง ถ้าทางกว้างขวางขึ้นมา พอกว้างขวางขึ้นมา เราจะประพฤติปฏิบัติของเรา เวลาจะประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา กิเลสมันก็ต่อต้าน ล้มลุกคลุกคลานกันอยู่นี่

นี่รู้หน้า ไม่รู้ใจ เห็นกันอย่างนี้ เห็นปกติสุขอยู่อย่างนี้ แต่หัวใจล่ะ หัวใจมันดิ้นรนอย่างไร หัวใจมันทุกข์ร้อนขนาดไหน หัวใจมันเร่าร้อนขนาดไหน มันละล้าละลังไปอดีตอนาคต อดีตที่เราผ่านมาแล้วก็มาหลอกมาล่อ อนาคตหรือมันก็คิดจินตนาการไป มันจะสมความปรารถนาทั้งนั้นถ้าคิดตามกิเลสนะ

แต่ถ้าพอกิเลส เรามีสติ วางกิเลสไว้ เราจะปฏิบัติ เราจะให้เป็นปัจจุบันธรรม ถ้าจิตมันสงบระงับได้ มันก็เป็นประโยชน์กับเรา เห็นไหม ถ้าเป็นประโยชน์กับเรา เวลามรรคมันเกิด จิตมันสงบแล้วมันใช้สติปัญญา สติปัญญามันพิจารณาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม อย่างนี้ นี่งานมันจะเกิดแล้ว ดูสิ เวลาอึ่งอ่าง เวลาครอบครัวของมัน มันต้องมีลูกมีเต้าของมันขึ้นมา มันถึงจะดำรงเผ่าพันธุ์ของมัน

นี่ก็เหมือนกัน ในหัวใจของเรา ถ้าเราไม่มีธรรมของเรา ไม่มีสิ่งต่างๆ ให้หัวใจเราได้ดื่มกินเลย ไม่มีความสงบระงับให้ใจได้สัมผัสเลย มันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก จิตใจมันจะอยู่กันได้อย่างไร

เวลาเราบอก ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ แล้วมันเกิดนิโรธ นิโรธเกิดด้วยมรรคญาณ แต่เวลาถ้าจิตมันสงบระงับ มันมีความสุขล่ะ นี่มันต้องมีความสุขสิ มันต้องมีความสุขของมัน เรามีเป้าหมาย ถ้าเราจะพ้นจากทุกข์ เรามีเป้าหมาย เราบวชมานะ บวชมาเพื่อพ้นจากทุกข์ ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในอริยสัจ ถ้าเราปฏิบัติของเราขึ้นมา เราจะชำระกิเลสของเราเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป แล้วกิเลสมันอยู่ไหนๆ

หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ท่านธุดงค์ไป ดูสิ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลวงปู่มั่นไปหมด ไปมาหมด “คนที่จะสอนเราอยู่ไหน คนที่จะสอนเราอยู่ไหน” นี่หาคนที่จะคอยชี้แนะเราๆ คอยชี้แนะเพราะอะไร เพราะศึกษาพระไตรปิฎก ไปถามใครมันก็ตอบไปตามแต่สัญญาอารมณ์ ตอบด้วยโวหาร

โวหารนี้มาจากไหน? โวหารนี้ก็มาจากธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระไตรปิฎกมันมี ในตำรับตำรามันมี พอมี...นี่จิตสงบแล้วก็ต้องพิจารณากายๆ...แล้วพิจารณาอย่างไร ทำอย่างไร พิจารณานี่พิจารณากายอย่างไร นี่ก็รู้ตัวทั่วพร้อม ก็เห็นหมด นี่รู้ตัวมันก็เป็นจิต เป็นกาย จิตนี้มันพิจารณากายของมันอยู่แล้ว เพราะมันรู้จักกายอยู่แล้ว นี่มันกำปั้นทุบดิน มันเป็นสามัญสำนึกน่ะ แล้วมันรู้อย่างไร แล้วมันละอย่างไร แล้วมันวางอย่างไร

นี่ไง แต่ถ้าเวลาครูบาอาจารย์ของเรา เวลาท่านธุดงค์ของท่านไป ท่านแสวงหาของท่านไป หา...หาอะไร? หาอะไร? หาสิ่งที่ใจมันสงบได้ ถ้าใจมันสงบได้มันก็เกิดงานขึ้นมาได้ ถ้ามันเกิดงานขึ้นมา ถ้ามันมีการกระทำงานขึ้นมา มันถอดมันถอนนะ เวลามันสำรอก มันคายออก จิตใจของเรามันแตกต่างกันไปกับสิ่งที่มันหมักหมมไว้ในหัวใจที่จิตใจมันดิบๆ อยู่นี้

ดูสิ ฆราวาสเขาเป็นไม้ดิบๆ เราถือพรหมจรรย์ เราจะทำไม้ให้เราแห้ง แล้วเราบวชมา พอเราบวชมาแล้วอุปัชฌาย์ยกเข้ามาเป็นพระ ยกเข้ามาเป็นพระด้วยอะไรล่ะ? ด้วยญัตติจตุตถกรรม ยกขึ้นมาเป็นพระ พอเป็นพระขึ้นมาแล้วไม้มันแห้งหรือยังล่ะ เป็นพระแล้วไม้มันแห้งหรือยัง นี่ถือพรหมจรรย์ไม้มันแห้งหรือยัง

ถ้าไม้มันไม่แห้ง ไม้มันดิบนะ จุดไฟมันก็ไม่ติด พอจุดไฟไม่ติดมันก็เผาลนนี่ไง พยายามจุดไฟอยู่ ดูสิ อึ่งอ่างมันร้อง เวลาฝนมันตก มันร้องขึ้นมา เพราะอะไร เพราะมันเจิ่งนองไปด้วยน้ำ มันอยากเล่นน้ำของมัน นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราพยายามจุดไฟของเราให้เราติดขึ้นมา เราพยายามปฏิบัติขึ้นมาให้ใจมันสงบขึ้นมา เพื่อทำไม้ดิบๆ ให้มันเป็นไม้แห้งๆ ให้มันจุดไฟได้ ถ้าไม้มันแห้ง มันจุดไฟ มันก็จะเผาไหม้มัน ถ้าไม้มันสดๆ เผาเข้าไปขนาดไหนไฟมันไม่ติด ไฟมันไม่ติด

เราก็ต้องพยายามของเรา ศีล ความปกติของใจ มันจะกลั่นกรองของมัน มันจะดูแลใจของมัน ถ้าดูใจของมันนะ ถ้าไม้มันแห้งขึ้นมา พอไม้มันแห้ง มันก็ควร มันควรแก่การจุดไฟได้ ถ้ามันควรแก่การจุดไฟได้นะ เราก็มีโอกาสไง ถ้ามันจุดไฟไม่ได้ เราก็จะจุดของมันอยู่อย่างนี้ เราก็จะจุดไฟ พยายามจุด เราจุดไฟ แต่ไม้มันไม่แห้ง มันไม่สมควร

นี่ก็เหมือนกัน ในการปฏิบัติ เห็นไหม ควรและไม่ควร ถ้ามันไม่ควร ต้องย้อนกลับทันทีเลย กลับมาดูความปกติของเรา กลับมาดูศีลของเรา กลับมาดูความเพียรของเรา ชอบหรือไม่ชอบ ถ้ากลับมาดูความเพียรของเรา เห็นไหม เราต้องย้อนกลับไง ถ้าทำไปๆ ก็ดันไปอย่างนั้นน่ะ ไม้มันจะเปียกขนาดไหน เอาชุบน้ำแล้วยังจะจุดไฟอยู่อย่างนั้น ขี้โคลนก็เป่ากันไป มันเป็นไปไม่ได้หรอก

ถ้ามันเป็นไปไม่ได้ เราก็มาน้อยเนื้อต่ำใจ ปฏิบัติแล้วไม่ได้ผล ในการปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ของเราท่านทำของท่านมา มันถึงมีผลไง ทีนี้ถ้าปฏิบัติสักแต่ว่าทำกัน โลกว่าปฏิบัติๆ เราก็จะปฏิบัติโลกกันใช่ไหม เราเป็นนักรบนะ นักรบเป็นผู้บุกเบิก ถ้าเป็นผู้บุกเบิกนะ เราจะต้องมีธรรมเป็นอาวุธ เราจะต้องมีความเป็นจริงของเรา ถ้าจิตเราสงบนะ ถ้าใครทำความสงบของจิต จิตมันสงบได้ เราใช้พุทโธหรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ จิตสงบเข้ามาได้ เราก็รู้ว่าจิตเราสงบเป็นอย่างนี้ แล้วถ้าจิตมันไม่สงบ เราก็เคยรู้มาว่ามันก็ไม่สงบใช่ไหม มันไม่สงบเพราะอะไร เพราะมันเร่ร่อน แต่ถ้ามันสงบนี่เพราะเหตุใด

นี่ทำจนชำนาญในวสี ชำนาญในวสี ทำความสงบของใจ สุดท้ายมันก็คลายออกมาแล้วทำความสงบบ่อยๆ ครั้ง ทำสงบบ่อยเข้าจนเป็นสมาธิ จิตตั้งมั่น พอจิตตั้งมั่น เรารู้ของเราได้นะ พอจิตตั้งมั่น เราใช้ปัญญาได้ไหม เราฝึกหัดใช้ปัญญาได้อย่างไร นี่ไง พระเราถ้ามีคุณธรรม พระเราถ้ามีคุณธรรมในใจ มันรู้มันเห็นของมันไง

พอเรามีคุณธรรมในใจใช่ไหม สมมุติว่าเราทำความสงบของใจเข้ามา เราใช้ปัญญาอย่างไร ปัญญามันเกิดขึ้นมา เกิดภาวนามยปัญญาขึ้นมา แล้วเราย้อนกลับไปดูเวลาที่เราผิดพลาดมาสิ เวลาเราผิดพลาดขึ้นมา เราทำแล้วมันล้มลุกคลุกคลาน เราก็รู้ใช่ไหม แล้วเราก็มองกลับไปที่โลกสิ เวลาโลกเขาปฏิบัติกัน เห็นไหม รู้ตัวทั่วพร้อมๆ มันดิบๆ ทั้งนั้นน่ะ มันไม้ดิบๆ ถ้าไม้ดิบๆ มันก็อึ่งอ่างนั่นน่ะ อึ่งอ่างๆ อยู่อย่างนั้นน่ะ มันจะเป็นประโยชน์อะไรขึ้นมา ถ้าไม้ดิบๆ เพราะอะไร เพราะมันไม่มีความสงบของใจ ไม้มันไม่แห้ง มันจุดไฟได้อย่างไร

ว่าถือพรหมจรรย์ เขาว่าเขาถือแล้วเขาก็มีศีลเหมือนกัน เห็นไหม ดูสิ เขานุ่งขาวห่มขาวเหมือนกัน เขาก็บวชพระบวชเจ้าเหมือนกัน แล้วเขาภาวนามันจะผิดตรงไหน? รูปแบบมันไม่ผิดหรอก รูปแบบก็คือรูปแบบไง แต่ผลของมันล่ะ ผลของมันมีไหม ถ้าผลของมันไม่มี มันปฏิบัติไม่ได้ นี่ถ้าเราปฏิบัติเราจะรู้ทันที เราปฏิบัติขึ้นมานี่เรารู้ใช่ไหม ถ้าจิตเราไม่สงบ เวลามันใช้ปัญญาขึ้นไปมันก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาก็คือปัญญาโลกไง ปัญญาสามัญสำนึกไง ปัญญาของมนุษย์นี่ไง ปัญญาที่เกิดกับเรานี่ไง

แล้วเกิดปัญญา ปัญญาอย่างนี้มันตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม “อริยสัจเป็นอย่างนั้น แล้วมรรคเกิดอย่างนั้น พระพุทธเจ้าสอนอย่างนั้น”...รู้ไปหมด รู้ทุกอย่างเลย รู้จากอะไรล่ะ? ถ้าไม่มีต้นแบบ ไม่มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรารู้จากอะไร? เราก็รู้จากต้นแบบนั้น แต่ความรู้จริงของเราล่ะ

ความรู้จริง เห็นไหม ดูสิ ดูทางธุรกิจ ถ้าเขาสร้างธุรกิจของเขาขึ้นมาไม่ได้ คือว่าเขาทำธุรกิจของเขา เขาค้าขายได้ เขาวางบิลได้ เขาเก็บเงินได้ เขามีกำไรขาดทุนในบริษัทนั้น ถ้าบริษัทนั้นเดินไปได้ เขาประสบความสำเร็จของเขา ถ้าบริษัทนั้นเดินไปไม่ได้ล่ะ เดินไปไม่ได้ มันจะมีอะไร นี่ก็เหมือนกัน ทำธุรกิจมันก็มีตำราสอนทั้งนั้น จะทำสิ่งใด ไปสิ กระทรวงพาณิชย์เขาให้จดทะเบียนเลย เขามีเจ้าหน้าที่แนะนำด้วย แล้วคนจดทะเบียนแล้วมันมีความสำเร็จแค่ไหน บริษัทที่มันขาดทุนจนปิดบริษัทมีมากขนาดไหน แล้วบริษัทที่มันประสบความสำเร็จ ประสบความสำเร็จอย่างไร

นี่ก็เหมือนกัน ย้อนกลับมาในการปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติขึ้นมา ถ้ามันมีผล ถ้ามันเกิดความสงบระงับขึ้นมา แล้วเกิดถ้าใช้ปัญญาขึ้น ปัญญาที่มันเกิดการชำระกิเลส มันไม่เป็นอึ่งอ่าง มันเป็นความจริง ถ้าความจริง เห็นไหม ดูสิ เราเป็นความจริงขึ้นมา มันมีอาหารของมัน มันมีผลลัพธ์ของมัน มันมีทุกอย่างของมันพร้อม ถ้ามันเป็นอึ่งอ่าง มันรอให้เขาจับไปเป็นอาหารนะ นี่ก็เหมือนกัน ปฏิบัติแล้วว่าง สบายๆ นั่นแหละมันจะเป็นอาหารของกิเลส

กิเลสมันหัวเราะเยาะ มารมันยิ้มเลย บอกเหยื่อของมันทำไมมันเยอะขนาดนี้ ทำไมอาหารของเรามันเต็มโลกธาตุ ทำไมมันจับไปตรงไหนเป็นอาหารของกิเลสหมดเลย นี่ไง อึ่งอ่างทั้งนั้นน่ะ ถ้ามันเป็นอึ่งอ่างๆ ร้องอยู่อย่างนั้นนะ มันจะไม่เป็นประโยชน์ของมัน แต่ถ้าเราปฏิบัติเรามีความจริงขึ้นมา แม้แต่จิตสงบเราก็ต้องรู้แล้ว

ถ้าจิตสงบ จิตมันสงบมานะ มันแตกต่างไง ในบริษัทของเรา ต้นทุนของเรา ทุนของเราก็พร้อม แล้วสายป่านเรายาวมาก ทุกอย่างเรามีพร้อมที่เราจะแข่งขันในทางธุรกิจ เราทำได้ทุกอย่างเลย บริษัทนั้นยั่งยืนมาก บริษัทนั้น บริษัทไหน ทุนไม่มี ทุกอย่างไม่มีเลย นี่กู้ยืมมาทั้งนั้น ดอกเบี้ยทบต้นทบดอกๆ บริษัทมันอยู่ได้อย่างไร

นี่ก็เหมือนกัน เวลาปัญญามันไม่มีจริงของมันขึ้นมา มันไม่มีทุนตั้งแต่ความสงบของใจ ใจไม่สงบขึ้นมา ใจไม่สงบ มันใช้ปัญญามันก็เป็นสัญญา สัญญาก็กู้ยืม กู้ยืมมาจากอะไร? กู้ยืมมาจากธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่เป็นต้นทุน ธรรม สัจธรรม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ธรรมมา ก็วางธรรมวินัยอันนี้ไว้อยู่ในพระไตรปิฎก เป็นธรรมและวินัย เป็นศาสดาของเรา

ทีนี้ศาสดา เป็นศาสดาของเรา แต่เราปฏิบัติเข้ามาแล้วเราต้องมีคุณธรรมขึ้นมา ไม่ใช่เป็นศาสดาของเราแล้วก็เหมือนลูกที่เลี้ยงไม่โต พ่อแม่เลี้ยงลูกไม่โตนะ มันต้องดูแลมันไปตลอดชีวิต มันจะต้องมาแบมือขอไปตลอดชีวิตนะ นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติธรรมขึ้นมา สิ่งนั้น สิ่งที่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งนี้เป็นต้นแบบ

ต้นแบบนั้น...ใช่ เป็นศาสดาของเรา แต่เราต้องประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ต้องให้มันเป็นรู้จริงขึ้นมา ถ้ารู้จริงขึ้นมา ลูกเลี้ยงโตแล้วมันแยกบ้านแยกเรือนออกไป มันจะไปตั้งตัวของมันขึ้นมาได้ ถ้าตั้งตัวของมันขึ้นมาได้มันก็เป็นประโยชน์ขึ้นมา นี่พูดถึงทางโลกนะ แต่ถ้าเป็นทางธรรมมันเป็นในหัวใจ ถ้าเป็นในหัวใจนะ ถ้าผู้ที่มีคุณธรรมในหัวใจ มันเป็นปัจจุบันธรรม เวลามันพูดขึ้นมา มันมีรสมีชาติ มันมีความรู้สึก มันสะเทือนหัวใจ มันสะเทือนกิเลสไง

เวลาครูบาอาจารย์ที่มีธรรมจะเทศนาว่าการ กิเลสมันหลบนะ มันไม่กล้าเผชิญหน้า มันกลัว แต่ถ้าครูบาอาจารย์ที่ไม่มีธรรมนะ เวลาแสดงธรรมไปกิเลสมันหัวเราะเยาะ “แหม มันเหมือนกันน่ะ กิเลสเหมือนกัน” พอมันเหมือนกัน มันก็เหมือนกับบริษัทที่เขาทุจริตกันน่ะ มันทำผิดมาด้วยกัน เวลาทำผิดมาด้วยกัน มันก็รู้กัน นี่ก็เหมือนกัน เวลากิเลสนี่แสดงธรรมพระพุทธเจ้า กิเลสมันหัวเราะเยาะ

แต่ถ้าเป็นความจริงนะ กิเลสมันสะเทือน ถ้ากิเลสมันสะเทือนนะ เพราะมันทิ่มเข้าหัวใจนะ นี่ถ้ามันมีธรรมจริง ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริง จิตสงบก็รู้ว่าจิตสงบ ถ้าจิตสงบ จิตมันไม่สงบนะ เราก็ยอมรับว่าจิตไม่สงบ แล้วจิตถ้ามันดื้อ เวลาจิตถ้ามันดื้อมันต้องมีอุบายนะ เวลาเราไม่ปฏิบัติมันก็อยากปฏิบัตินะ เวลาเราคิด เราศึกษาด้วยสติปัญญาของเรา เราก็อยากจะพ้นทุกข์ เราก็รังเกียจนักทุกข์นี่ เราก็เบื่อหน่ายเต็มที ชีวิตใคร ใครจำเจกับมัน ใครพอใจกับความเป็นอยู่อย่างนี้ เราก็อยากจะพ้นจากสิ่งนี้ เราก็อยากจะหวังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าวิมุตติสุขๆ สุขแท้ๆ น่ะ

ไอ้สุขของเรามันสุขเป็นเวทนา สุขเวทนา มันได้สิ่งใด มันเสพสิ่งใดมันก็ว่าสุขชั่วคราว เวลามันชินชานะ มันก็เบื่อหน่าย มันก็อยากได้ใหม่ต่อไป มันไม่มีสิ่งใดจะให้มันสุขแล้วมันพอใจ มันไม่มีเลย นี่มันได้แค่ชั่วครั้งชั่วคราว แล้วมันก็ต้องแสวงหาเพิ่มมากขึ้นไปไม่มีวันที่สิ้นสุด มันทุกข์ยากอยู่อย่างนี้ แล้ววิมุตติสุข สุขที่มันอิ่มเต็ม ที่มันจะไม่ต้องการสิ่งใดไปเพิ่มเติมมันอีกเลย มันเป็นอย่างไร เราก็มีความปรารถนา เราก็มีความต้องการแบบนั้น ถ้ามีความต้องการแบบนั้น เห็นไหม เราก็อยากได้ความจริง ถ้าอยากได้ความจริงนะ เราก็ต้องมีสติ เราก็ต้องมีสติ มีการเลือกเฟ้น

ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ถ้าเธอศรัทธา อยากทำบุญที่ไหน เธอศรัทธาที่ไหนก็ทำบุญที่นั่น” ควรทำบุญเพื่อให้ศรัทธามันงอกงามขึ้นมา เพื่อให้ศรัทธา ให้ความเชื่อมั่นไง ศรัทธาคือความเชื่อมั่น ความเชื่อ ศรัทธาความเชื่อ ถ้ามีความเชื่อมั่น มันก็มีการกระทำ มันก็มีกำลังขึ้นมา พอมีกำลัง อยากประพฤติปฏิบัติขึ้นมา

เวลาเราปฏิบัติ เห็นไหม กาลามสูตร อย่าเชื่อนะว่าอาจารย์เธอสอนแบบนี้ อย่าเชื่อนะว่าสิ่งนี้มันเข้ากับความรู้สึกของเราแล้วมันกลมกลืนกัน อย่าเชื่อนะว่าเราสามารถคำนวณได้ว่ามันน่าจะเป็นไปได้ อย่าเชื่อนะว่าเราทำสิ่งนี้แล้วมันจะมีประโยชน์กับเรา อย่าเชื่อ อย่าเชื่อ

แต่ถ้าเรามีศรัทธาความเชื่อ แล้วความตั้งมั่นของเราขึ้นมา เราต้องพิสูจน์ สงบจริงหรือเปล่า ที่ว่าสงบๆ นี่สงบจริงไหม ที่เป็นสมาธิๆ มันพิสูจน์ได้อย่างใด แล้วถ้าเป็นปัญญาๆ ปัญญาที่มันจะฆ่ากิเลส ปัญญาที่มันพร้อมกับศีล สมาธิ ปัญญา เวลามันเกิด ถ้ามีศีลที่สะอาดบริสุทธิ์ มันจะเกิดสัมมาสมาธิที่เป็นประโยชน์

สัมมาสมาธิ ถ้าเกิดปัญญาขึ้นมา ปัญญาเกิดสัมมาสมาธิ มันจะเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากสัมมาสมาธินี้มันจะเข้าไปสำรอก มันจะไปคายกิเลสออก มันจะไปฟาดฟัน มันเป็นธรรมาวุธที่จะเข้าไปต่อสู้กับกิเลส นี่ถ้ามันเกิดขึ้นมามันเป็นของมัน มันรู้ของมัน

แล้วพอพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ เวลากิเลสมันขาด ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ดั่งแขนขาด” ดั่งแขนขาดนะ ดั่งแขนขาด เวลาตัดแขนทิ้งเลย “ดั่งแขนขาด” เวลากิเลสมันขาดออกไปจากใจ มันขาดออกไป สมุจเฉทปหาน ดูสิ สังโยชน์มันขาดออกไป มันแยกออกไปต่างหากเลย เห็นไหม ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕

ขันธ์ ๕ ก็ไม่ใช่เราแล้ว แล้วขันธ์ ๕ ยังไม่ใช่ทุกข์อีก นี่ขันธ์ ๕ คือความรู้สึกนึกคิดของเรา มันไม่ใช่เราแล้วไม่ใช่ความทุกข์นี่มันเป็นแบบใด มันจะรู้ของมัน เห็นไหม อย่างนี้มันถึงจะไม่เป็นอึ่งอ่าง ถ้าเป็นอึ่งอ่างมันก็อึ่งอ่างๆ เห็นไหม มีสติทั่วพร้อม...สติทั่วพร้อมมันเป็นบาทฐานนะ หลวงปู่มั่นท่านก็บอก เวลาในมุตโตทัย เห็นไหม จะดื่ม จะกิน จะเคลื่อนไหวต้องมีสติ การมีสติแบบนี้มันเป็นการเริ่มต้นว่า ถ้าคนขาดสติ มันจะควบคุมความคิดอย่างใด ถ้ามันควบคุมความคิด ถ้ามันเป็นสัมมาสมาธิ ถ้ามันเป็นสัมมาทิฏฐิ มันเป็นความถูกต้องดีงาม ถ้ามันควบคุมแล้วมันต้องสงบลง

ถ้ามันสงบลงแล้ว มันสงบแล้วนะ ปุถุชน กัลยาณปุถุชน ปุถุชนนี่คือคนหนา ปุถุชน เห็นไหม สิ่งใดมา ถ้ามันถูกต้องชอบทำ อย่างเช่น พระ พระไปบิณฑบาตมา เขาใส่บาตรมาเต็มบาตร เขาชอบธรรมไหม? ชอบธรรม

ฉันให้หมดบาตรนะ ฉันให้หมด...ก็ไม่ฉัน เพราะมันฉันหมดไม่ได้ สิ่งที่ชอบธรรมไหม? ใช่ มันชอบธรรม แต่มันชอบธรรมแล้วเราก็ยังต้องมาดูอีกว่าเราฉันไปแล้วเราจะนั่งสัปหงกโงกง่วงไหม อาหารมันตรงกับธาตุขันธ์เราไหม สิ่งที่เราได้มาแล้ว ดูสิ เวลาเขาใส่บาตรมา ถ้าเป็นเนื้อดิบเราก็ฉันไม่ได้ ถ้าสิ่งที่ต้องกัปปิยะ ไม่มีใครกัปปิให้ เราจะฉันได้ไหม เราบิณฑบาตมา บิณฑบาตมาเอาน้ำใจคน คนเขาใส่มาด้วยน้ำใจของเขา เราก็รับของเขามา แต่เสร็จแล้วเราก็ต้องพิจารณาว่าสิทธิของพระ ธรรมวินัยบัญญัติไว้ เรามีสิทธิจะฉันสิ่งนี้ไหม

นี่ถ้ามันต้องกัปปิยะ ไม่มีใครทำให้ เราก็ฉันไม่ได้ ถ้าเป็นเนื้อดิบที่เขาไม่รู้ เขาใส่มา เราเอามาแล้วเราก็ต้องคัดแยกออก แล้วถ้าเราฉันอาหารที่เราได้มาโดยความเป็นธรรม เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง เราบิณฑบาตมา เราจะฉันกี่คำ ๕ คำ ๑๐ คำ เรามักน้อยสันโดษ เราก็ตั้งกติกากับเราขึ้นมาเป็นธุดงควัตร สิ่งนี้ สิ่งที่ได้มาชอบธรรมๆ แล้ว สิ่งที่ได้มาชอบธรรมไหม? ชอบธรรม พอชอบธรรมขึ้นมาแล้ว เวลาฉันขึ้นมา ฉันให้ท้องแตกเลยเหรอ? มันก็ทำไม่ได้

พอมันทำไม่ได้ขึ้นมา นี่ความชอบธรรมมันชอบธรรมแค่ไหน สิ่งที่เราได้มามันชอบธรรมไหม นี่ก็เหมือนกัน เวลาสิ่งที่เรามีสติมีปัญญาของเรา รู้ตัวทั่วพร้อมนี่ชอบธรรมไหม? ชอบ คนมีสติมันผิดตรงไหน มันก็ดีทั้งนั้นน่ะ แต่มันดีขึ้นมาแล้วมันไปไหนต่อ มันดีขึ้นไปกว่านี้อีกไหม มนุษย์เป็นมนุษย์อยู่นี่ แล้วเวลาเป็นปุถุชน แล้วเป็นกัลยาณปุถุชน มันไม่พัฒนาขึ้นมาเป็นกัลยาณปุถุชนเหรอ

ถ้าเป็นกัลยาณปุถุชน เห็นไหม รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร กัลยาณปุถุชน เห็นไหม รูป รส กลิ่น เสียง เสียงที่เขาติเขาเตียน ถ้ากัลยาณปุถุชนเขารู้เท่ารู้ทัน เขาไม่มาเป็นอารมณ์ความรู้สึก แต่ถ้าเป็นปุถุชนนะ ใครว่า ตามไปบ้านมัน ใครว่า ตามไปกุฏิมัน มันจะวิ่งไปหาเขาเลยนะ นี่ไง นี่ปุถุชน

แต่กัลยาณปุถุชน พอเขาว่า อืม! เขาว่าเหรอ เขาว่าจริงๆ เหรอ เขาเข้าใจผิด หรือเราเข้าใจผิด เขาว่านี่เขามีข้อมูลจริงหรือเปล่า เขาว่านี่เขาว่าไง ถ้าข้อมูลจริงก็ว่าด้วยที่นิสัยของเขา นี่มันปล่อย มันไม่เอามาเป็นอารมณ์ความรู้สึกไง นี่กัลยาณปุถุชน

ปุถุชน กัลยาณปุถุชน นี่รู้ตัวทั่วพร้อมๆ รู้ตัวทั่วพร้อมแล้วมันมีปัญญาขึ้นไหม ถ้ารู้ตัวทั่วพร้อมแล้วมันเป็นปัญญาขึ้นมา มันเป็นกัลยาณปุถุชน จิตมันละเอียดกว่านี้ ถ้าจิตมันละเอียดขึ้นไปแล้ว เวลาปัญญาขึ้นมา ดูสิ มันเกิดปัญญาขึ้นมา มันจะเกิดมรรคญาณ ถ้าเกิดมรรคญาณ งานชอบ เพียรชอบ มรรค ๘ ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ มันเกิดมรรคญาณ เกิดธรรมจักร

ถ้าจักรมันหมุนออกไป หมุนไปในอะไร ถ้าจักรมันจะหมุน ถ้าไม่มีกาย ไม่มีเวทนา ไม่มีจิต ไม่มีธรรม มันจะหมุนไปในอะไร เห็นไหม เวลากงจักร กงจักรมันเจอสิ่งใด มันจะชำระล้างไปหมดเลย กงจักรมันจะเลื่อยเอาสิ่งที่เป็นวัตถุให้ขาดต่อหน้ามันไปทั้งหมด แต่ถ้าเป็นธรรมจักรล่ะ ธรรมจักร กงล้อของธรรมจักรมันจะบีบบี้สิ่งใด ถ้ากงล้อของธรรมจักรมันสร้างขึ้นมาไม่ได้ กงล้อธรรมจักรมันจะบดอะไร มันจะบดกิเลส บดกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจ มันไปบดที่ไหน ถ้ามันยังไม่มีวิปัสสนาญาณที่เห็นจริงตามเป็นจริง มันจะบดอะไร แล้วถ้ามันบดได้ บดในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม

บดกาย บดทำไม บดเวทนา บดทำไม บดจิต บดทำไม...เพราะกิเลส ตัณหาความทะยานอยากมันอาศัยสิ่งนี้ ตัณหาความทะยานอยากมันอยู่ที่นี่ ตัณหาความทะยานอยาก กิเลสมันเป็นนามธรรม แล้วนามธรรมแสดงตัวอย่างไร ดูความรู้สึกนึกคิดสิ มันนึกคิดมาจากไหน? ความรู้สึกนึกคิดมันก็มาจากสมอง มาจากต่างๆ ที่มันแสดงตัวออกมา เป็นศูนย์ประสาทที่มันสมอง แต่สมองมันจะคิดได้อย่างไร

เวลามันใช้ปัญญาขึ้นมา มันใช้ มันบดของมันไป นี่ธรรมจักร ถ้าจักรมันเคลื่อน มันหมุนออกไป มันมีปัญญาของมันนะ ถ้าทำแบบนี้ ทำความเป็นจริง มันไม่ใช่อึ่งอ่าง ถ้าทำแบบอึ่งอ่าง มันก็ทำตามรูปแบบ รู้ตัวทั่วพร้อม ทุกอย่างพร้อม...จะว่าผิดมันก็ไม่ผิด แต่เวลาพูดถึงผลลัพธ์ พูดถึงอริยสัจ พูดถึงสัจจะความจริง พูดถึงผลในศาสนา

ผลในศาสนานี่เราเกิดมาหวังมรรคหวังผล เวลาเราปฏิบัติขึ้นมา ทุกคนก็หวังมรรคหวังผล แต่มันถึงไหมล่ะ? ถ้ามันทำได้นะ มีอำนาจวาสนาบารมีมันก็ทำของมันได้ ทำเหมือนกัน คนเรานี่ทำเหมือนกัน เวลาเท่ากัน คนคนหนึ่งไปถึงอริยภูมิได้ ผ่านพ้นไปได้ คนคนหนึ่งทำซ้ำทำซาก แต่บารมีก็ทำได้อยู่ แต่ผลมันแตกต่างกัน อำนาจวาสนามันวัดกันไม่ได้ วัดกันไม่ได้ที่การกระทำกันมา เห็นไหม นี่พันธุกรรมของจิต

จิตนี้สร้างสมบุญญาธิการมามากมาน้อย ถ้าสร้างมามากนะ มันจะมีจุดยืน มีหลักเกณฑ์ จะมีสิ่งใดกระทบมันก็ไม่หวั่นไหวไปกับเขาจนเกินไปนัก จิตใจถ้ามันอ่อนแอ สร้างบุญญาธิการมาน้อย เขาไม่ต้องพูดหรอก มันตื่นไปก่อนแล้ว มันเสียงอะไรมา มันวิ่งไปก่อน จิตนี้วิ่งไปตกใจจนจิตตกไปอยู่ตาตุ่ม จิตหายไปหมดแล้ว ถ้าจิตคนมีอำนาจวาสนานะ สิ่งใดมากระทบนะ มันมีปัญญาไตร่ตรอง ใคร่ครวญ ดูแล สิ่งนี้มันเกิดมาจากไหนน่ะ? เกิดมาจากผลของวัฏฏะ คือการกระทำที่มันเกิดมาเวียนตายเวียนเกิด มันมีมาอย่างนี้ มันเป็นสิ่งที่เราทำกันมาเอง

แต่เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตีแผ่ ตีแผ่อำนาจวาสนา ตีแผ่กรรมดี การกระทำ ตีแผ่สิ่งนั้นมาให้เป็นความจริง แล้วครูบาอาจารย์ของเราที่ประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริง ท่านรู้ท่านเห็นของท่าน ท่านรู้ท่านเห็นของท่านแล้ว ธรรมะนี่เป็นธรรมะส่วนบุคคล สิ่งที่เราศึกษากันมา ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม ธรรมและวินัย ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคารพศรัทธานะ เพราะมีธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พวกเราถึงได้พยายามประพฤติปฏิบัติตามแบบนั้น ปฏิบัติจนเรามีความรู้จริงขึ้นมา แล้วความรู้จริงนี้มันจะชำระกิเลสของเราตามความเป็นจริงนั้น

แต่ถ้าเราทำตามรูปแบบนั้น อยู่กับรูปแบบนั้น เพราะกลัวการผิดพลาด จิตใจน่ะ ดูสิ เวลาเขาก่อสร้าง เห็นไหม ทรายหยาบ ทรายละเอียด เขามีตะแกรงร่อนไป มันแยกประเภทได้ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันไม่ละเอียดลงไป จากทรายหยาบนะ แล้วไม่มีทรายละเอียด ทรายละเอียดที่เขามาฉาบ มาทำให้งานมันจบได้ มันจะจบไหม? มันไม่จบหรอก จิตใจคนมันต้องจากหยาบ จากละเอียด มันจะพัฒนาของมันขึ้นไป

ไอ้นี่รู้ตัวทั่วพร้อมแล้วนะ ทั้งทรายหยาบ ทรายละเอียด มันคลุกเคล้ากันอยู่อย่างนั้นน่ะ มันแยกออกไม่ได้ แล้วก็ว่างๆ ว่างๆ แต่แยกประเภทไม่ถูก อะไรหยาบ อะไรละเอียด มันแยกประเภทไม่ได้ นี่โลกเป็นแบบนั้น มันก็เลยกลายเป็นอึ่งอ่างๆ กันอยู่อย่างนั้นนะ นี่เป็นคติ เป็นเตือนใจ แล้วเราพยายามเอาสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังนี้มาเปรียบเทียบกับหัวใจของเรา สอนใจของเราให้มีหลักมีเกณฑ์ ให้มันเติบโตขึ้นมา อย่าให้มันเป็นทารกเด็กน้อยอยู่ตลอดไป

ทารกเด็กน้อยนะ แล้วพัฒนาให้มันวิ่งได้ ให้มันทำงานของมันได้ มันเป็นหนุ่มเป็นสาวขึ้นมานะ มันจะแบกหามสิ่งใดๆ ก็ได้ แล้วมันจะเป็นประโยชน์กับตัวมัน เห็นไหม ใจเราต้องฝึกต้องหัด เพื่อเป็นประโยชน์กับเรา เอวัง