เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๖ พ.ค. ๒๕๕๕

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาเราเกิดมาเราก็ปรารถนาความสุขกัน ทุกคนปรารถนาความสุขนะ แต่ความสุขของโลก เห็นไหม ความสุขพอประทังชีวิตไปเท่านั้นแหละ แต่ความสุขจริง ถ้าความสุขจริง เพราะความสุขอย่างนี้เราหามามันเป็นสุขเวทนา ทุกขเวทนา

เวลาประพฤติปฏิบัติกันไปถึงที่สุดแห่งทุกข์ มันวิมุตติสุข วิมุตติสุขมันไม่ใช่สุขเวทนา ถ้าไม่สุขเวทนามันจะมีความสุขได้อย่างไร ความสุขที่ความอิ่มเต็ม ที่มันไม่ต้องขยับเขยื้อน ไม่ต้องขวนขวาย เห็นไหม นี่เสวยอารมณ์ ธรรมธาตุ ถ้ามันจะแสดงออกมาเป็นธรรมธาตุ

หลวงตาท่านบอกว่า “เวลาคิดมันเหมือนกับแบกหามท่อนซุงเลย ถ้ามันไม่คิดนะ มันไปอยู่ในสัจจะของเขา อยู่ในธรรมธาตุอันนั้น นั่นแหละความสุขอย่างนั้นมันไม่ต้องแบกต้องหาม”

แต่เวลาเราจะมีความคิดมันต้องเสวยอารมณ์ ความเสวยอารมณ์ เพราะคนเขามีสติปัญญา เขาเห็นว่าจิตมันเสวยอารมณ์ จิตมันทำงานอย่างไร แต่เวลาของเรา เราเป็นปุถุชนใช่ไหม เราไม่ได้เสวยอารมณ์ เราแบกมันไว้เลย อารมณ์ความรู้สึกมันเป็นเราหมดเลย ถ้าเป็นเราขึ้นมา เห็นไหม เจ็บปวดแสบร้อนมันก็มีความทุกข์ไปกับมัน ถ้ามีสิ่งใดมาหล่อเลี้ยงมันให้มันมีความพอใจของมัน มันก็มีความสุขของมัน มันพอใจของมัน มันพอใจของมันแล้วเดี๋ยวมันก็ไม่พอใจอีกแล้ว มันไม่พอใจ มันเกิดดับๆ โดยธรรมชาติของมัน

ทีนี้เราต้องการความสุขๆ ความสุขในพระพุทธศาสนา ถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้วมันจบไง ถ้ามันจบแล้วมันจบได้ ถ้ามันไม่จบ มันเป็นแบบนี้ มันเป็นแบบนี้คือว่าเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลง มันเป็นธรรมชาติของมัน เห็นไหม นี่ผลของวัฏฏะ ผลของวัฏฏะเพราะเหตุใด ผลของวัฏฏะเพราะเราทำคุณงามความดีของเรามา ถ้าเราไม่ได้ทำคุณงามความดีของเรามา เราไม่ได้มาเกิดเป็นอิสรภาพแบบนี้นะ

เกิดเป็นมนุษย์ ภพที่มันเป็นอิสระ ทำดีก็ได้ ทำชั่วก็ได้ ถ้าเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานเขาก็อยู่ในอำนาจของมนุษย์ เกิดในนรกอเวจีเขาก็อยู่ในใต้ปกครองของพญายม ถ้าเกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหม เทวดา อินทร์ พรหมเขามีพระอินทร์คุ้มครองเหมือนกัน เขามีการปกครองเหมือนกัน เขามีของเขาไปตลอด

แต่เราเกิดเป็นมนุษย์ เราจะเลือกพอใจสิ่งใดก็ได้ ถ้าเลือกพอใจสิ่งใดก็ได้ เห็นไหม เราเลือกพอใจ แต่ถ้าพอใจในสิ่งที่เราไม่เข้าใจล่ะ เราไม่เข้าใจเพราะเราเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์กับเรา เป็นประโยชน์กับเราเพราะเรารู้ได้แค่นี้ไง ถ้าเรารู้ได้แค่นี้ก็ว่าสิ่งนี้เป็นประโยชน์กับเรา สิ่งนี้เป็นประโยชน์ แต่ประโยชน์ข้างหน้าเรามองไม่เห็นไง แต่เวลาคนมองการณ์ไกลเขาเห็นประโยชน์ข้างหน้า ประโยชน์ข้างหน้าเขาจะละเว้นไว้ตรงนี้ ละเว้น เห็นไหม

ดูสิ ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่ามีพราน ๒ คนเขาไปเที่ยวป่ากัน เขาแบกมูตรแบกคูถมาด้วยกัน พอคนหนึ่งเขาไปเจอเหล็ก เขาก็ทิ้ง เขาแบกเหล็กมา อีกคนหนึ่งเขาเห็นเขาบอกแบกมาแต่ไกลแล้ว เขาจะแบกมูตรแบกคูถของเขาตลอดไป พอคนแบกเหล็กไปเจอข้างหน้า เขาไปเจอเงิน เขาก็ทิ้งเหล็กของเขา เขาเอาเงินกลับบ้าน พอเดินไปข้างหน้า เขาไปเจอทองนะ เขาทิ้งเงินของเขา เขาแบกทองของเขา เขากลับบ้านไป เขาเอาทองไปให้ครอบครัวเขา ครอบครัวเขามีแต่ความสุขมีความพอใจนะ

แต่อีกคน คนที่มาด้วยกันนะ เขาแบกมูตรแบกคูถมาตั้งแต่ต้นทาง แล้วเขาไม่ทิ้งนะ เขาบอกเขาแบกมาไกลแล้ว เขาแบกเขาหามไปถึงบ้านนะ เวลาฝนมันตกมานะ มูตรคูถมันไหล มันเลอะตัวหมดเลย กลับบ้านไปได้อะไร ครอบครัวได้แต่มูตรแต่คูถ

นี่ก็เหมือนกัน ความรู้สึกนึกคิดของเราไง เราเป็นปุถุชน เรารู้สึกนึกคิดของเรา แล้วเราก็แบกมูตรแบกคูถ แบกมูตรแบกคูถคืออารมณ์ความรู้สึกเราไง ความโลภ ความโกรธ ความหลงในหัวใจ เห็นไหม มูตรคูถมันถ่ายรดหัวใจของเรา แต่คนที่เขาฉลาดขึ้นมา เขามาเจอเหล็ก เหล็กมันมีค่าแค่ไหน เขาก็ทิ้งของเขา เหล็กมันมีน้ำหนัก พอเขาไปเจอเงิน เขาทิ้งเหล็ก เขาเอาเงินของเขา พอไปเจอทอง เขาทิ้งเงินของเขา เอาทองไป เขาได้ทองคำของเขาไปนะ ทองคำมันมีค่าขนาดไหน

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีสติปัญญา เห็นไหม จริตนิสัยของคนมันไม่เหมือนกัน อารมณ์ความรู้สึก คนเข้มข้น คนหยาบ คนเข้มข้นหมายถึงว่า เหมือนน้ำเสีย น้ำเสียที่มันมีสารพิษปนเปื้อนมา น้ำเสียเวลาเขารีไซเคิลของเขา เขาทำความสะอาดของเขา เขาต้องใช้ต้นทุนสูงมาก เวลาคน ความรู้สึกนึกของเขาปกติธรรมดา แล้วความรู้สึกของคนที่มันสะอาดบริสุทธิ์ล่ะ ที่มันสะอาดบริสุทธิ์หมายถึงว่ามันใสนะ “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้หมองไปด้วยอุปกิเลส”

ในเมื่อมันยังมีความผ่องใส มันสะอาดขนาดไหนนะ มันก็ระเหยของมัน มันต้องเป็นของมัน นี่ผลของวัฏฏะไง ผลของวัฏฏะคือมันมีการเปลี่ยนแปลงของมันตลอดเวลา นี่พอมันเปลี่ยนแปลง เห็นไหม

“จิตนี้ไม่เคยตาย จิตนี้ไม่เคยตาย” ครูบาอาจารย์ท่านพูดบ่อยว่า “จิตนี้ไม่เคยตายนะ” เวลาเกิดในนรกอเวจีขนาดไหน บีบคั้นขนาดไหนมันก็ไม่เคยตายของมัน หมดจากเวรจากกรรมขึ้นมามันก็มาเกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นต่างๆ นี่จิตมันไม่เคยตาย

จิตมันไม่เคยตาย เห็นไหม “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส” ผ่องใสขนาดไหนนะ มันก็คงที่ไม่ได้ มันต้องแปรสภาพของมันตลอดไป จะผ่องใส จะปนเปื้อนเข้มข้นขนาดไหนนะ มันมีโอกาสไง นี่ไง มูตรคูถเราจะทิ้งหรือไม่ทิ้ง ถ้าเราจะทิ้งมันนะ จะทิ้ง ทิ้งอย่างไร เราจะทิ้งของเรานะ มันมีผลประโยชน์ สิ่งใดที่มันจับต้องแล้วมันเป็นประโยชน์กับเราทั้งนั้นแหละ นี่ปัญญาเรามีเท่านี้

ทีนี้เราเชื่อในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราถึงมีศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเรามีศีลของเรา มีความปกติของใจ ความปกติของใจนะ สิ่งใดที่มันจะหยิบจะฉวย เวลาคิดมันหยิบฉวย หยิบฉวยเพราะมันคิด เสวยอารมณ์ มันหยิบฉวยของมัน หยิบฉวยอารมณ์สิ่งใดมา ถ้าเรามีศีลขึ้นมา เราตบมือไว้

หลวงตาท่านบอกว่า ตบมือไว้ ตบมือไว้ ตบหัวใจไว้ มืออย่าไปหยิบมันมา อย่าไปหยิบมันมา

แต่มันจะตบมือมันได้มันต้องฝึกหัด ของมันเคย มันเคยหยิบจับของมันตลอดเวลา แล้วเราบอกไม่ให้มันหยิบมันจับ มันไม่หยิบจับ ทำอย่างไรไม่ให้หยิบจับล่ะ

ไม่หยิบจับ เราก็ต้องมีปัญญาเห็นโทษของมันสิ หยิบจับทีไรก็เผาไหม้มือทุกที หยิบจับขึ้นมาทีไรก็แสบร้อนทุกที แต่มันก็หยิบจับตลอดไป ทำไมมันโง่ขนาดนี้ นี่ถ้าเรามีสติปัญญา เราจะทิ้งมูตรทิ้งคูถ ทิ้งมูตรทิ้งคูถมาแล้วเราหยิบจับสิ่งใดล่ะ หยิบจับเหล็ก หยิบจับเงิน หยิบจับทอง ถ้าหยิบจับเงิน หยิบจับทอง นี่ประโยชน์ เห็นไหม

ดูสิ เวลาบอกว่าน้ำเสียที่มันเข้มข้นขึ้นมา มันสกปรก มันส่งกลิ่นเหม็น แต่เวลาที่น้ำใสสะอาดล่ะ น้ำใสสะอาดมันก็ระเหยของมัน ชีวิตของเราเป็นมนุษย์ ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด เราจะทำคุณงามความดีของเราสิ่งใด

คุณงามความดี เห็นไหม ดูสิ กตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี นี่เป็นเครื่องหมายของคนดี คนจะกตัญญู คนจะอย่างไรก็แล้วแต่ ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุดทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันน่าเสียดายไง

ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบได้นะ อืม! นี่ไง ตัวตนเราเป็นแบบนี้ ชีวิตมันเป็นแบบนี้ ที่เราแสวงหากัน ที่ว่าความสุขมันอยู่ที่ไหน อะไรมันเป็นความสุข เราก็แสวงหามาตลอดเวลา เราก็ไม่เคยเจอความจริงสักที แต่พอจิตมันสงบเข้ามา อืม! ความจริงมันเกิดแล้ว มันเกิดเพราะอะไร เพราะสุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี จิตมันเข้าไปรู้ตัวตนของมันไง นี่ปัจจัตตัง มันปล่อยวางสิ่งใดๆ มา มันเป็นอิสรภาพของมัน เห็นไหม

นี่เราเรียกร้อง เรียกร้องอิสรภาพ เราเรียกร้องความเป็นธรรม เราเรียกร้องมาตลอดเลย แต่เวลากิเลสตัณหาความทะยานอยากมันข่มขี่เหยียบย่ำเรา เราไม่เคยเรียกร้องเลย เวลากิเลสตัณหาความทะยานอยากมันข่มขี่เรานะ พอใจ แต่เวลาข้างนอกเราเรียกร้องอิสรภาพ เรียกร้องความเสมอภาค เราเรียกร้องทุกอย่างเลย แต่เวลาใจของเรา เห็นไหม เพราะใจของเราเวลามันโดนข่มขี่ มันโดนเหยียบย่ำโดยกิเลสนี่มันทุกข์

เวลามันมีความสุขของมัน มันเป็นอิสรภาพชั่วคราว มันมีความสุขของมัน ความสุขเพราะมันพอใจ มีความพอใจมันก็มีความสุขของมัน แต่ถ้าเรามีคำบริกรรมของเรา มีปัญญาอบรมสมาธิของเรา มันปล่อยวางของมันนะ มันไม่ใช่พอใจและไม่พอใจ นี่มันเป็นเหตุ

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” มันมีเหตุ มีปัจจัย มันมีเหตุมีผลของมัน มันถึงปล่อยวางของมันได้จริง

แต่นี่มันไม่มีเหตุมีผลใช่ไหม มันไม่มีเหตุผลตามความเป็นจริงขึ้นมา เราก็บอกว่าจะปล่อยวาง จะปล่อยวาง เราจะบังคับมันให้ได้ด้วยความพอใจของเรา มันเป็นไปไม่ได้หรอก ดูสิ เราเห็นแก้วแหวนเงินทองเยอะแยะไปหมด เราหยิบฉวยเอาได้ไหม เราไม่มีสิทธินะ แต่ถ้าเราทำหน้าที่การงานของเรา ผลตอบแทนมันมา “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” ในเมื่อมีเหตุมีผล เงินนั้นมันก็ไหลมาเทมา แต่ถ้ามันไม่มีเหตุมีผล เงินเราไปหยิบฉวยเอามานี่ติดคุกนะ เราไปหยิบฉวยของเขามา เราทุจริตของเขามา มันไม่เป็นประโยชน์กับเรา

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา เราเห็นโทษของมัน เรามีคำบริกรรมของเรา เรารักษาจิตของเราด้วยเหตุด้วยผล “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” ถ้าไม่มีเหตุของมันขึ้นมา ถ้าเหตุมันสมควร นี่ธรรมทั้งหลาย ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ถ้ามันสมควรแก่ธรรม มันมีเหตุมีปัจจัย มันสมควรของมัน มันเป็นของมัน เห็นไหม ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เหตุมันสมควรแล้วมันต้องเป็นแบบนั้นจริงๆ

แต่เราปฏิบัติกันไม่ถึงเหตุถึงผลไง พอไม่ถึงเหตุถึงผลเราก็เรียกร้องให้มันเป็นไปตามความเป็นจริงของเรา เรามีความลังเลสงสัย มีต่างๆ เห็นไหม นิวรณธรรมกางกั้นนะ เรามีแต่ความสงสัยของเราว่ามันไม่เป็นจริง ไม่เป็นจริงสักที เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าเป็นจริงอย่างนี้ เราก็ปฏิบัติเต็มที่แล้ว

เต็มที่ของเราไง เต็มที่ของเรามันเจือปนไปด้วยสมุทัย มันเจือปนไปด้วยการคาดหมาย มันเจือปนไปด้วยความต้องการ มันเจือปนไปหมดนะ มันไม่เป็นธรรมหรอก แต่ถ้าเรามีความจริงของเราขึ้นมานะ เราพุทโธของเราโดยเนื้อหาสาระ เราใช้ปัญญาของเราโดยเนื้อหาสาระ เราไม่ให้สิ่งนั้นมันเจือปนเราเข้ามา

ถ้ามันไม่เจือปนเราเข้ามา “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” ถ้าเหตุมันสมควรตามความเป็นจริงแล้วมันจะหนีไปไหน มันหนีจากความเพียรไปไม่ได้หรอก มันหนีจากความเพียรไม่ได้

แต่นี้เราก็เพียรเต็มที่แล้ว ทุกคนบอกว่าเพียรเต็มที่ ทำเต็มที่ทุกคน แต่เพียรเต็มที่ เพียรโดยที่เหตุมันไม่สมควรไง เหตุมันไม่เป็นตามข้อเท็จจริงอันนั้นไง เหตุมันเป็นตามความเป็นจริงด้วยสมุทัยของเราไง เหตุโดยสมุทัย เหตุโดยตัณหาความทะยานอยาก เหตุโดยการคาดหมาย เหตุที่ความต้องการของเรา มันถึงไม่เป็นความเป็นจริง

ถ้าเป็นความเป็นจริงขึ้นมา ความเป็นจริงเราปฏิเสธขนาดไหนมันก็เป็นจริงอย่างนั้น เราปฏิเสธความเป็นจริงไม่ได้หรอก ข้อเท็จจริง สัจจะ อริยสัจจะ อริยสัจจะมันต้องเป็นแบบนั้น

ดูสิ คนเราปฏิเสธได้ไหมว่าเราเกิดมาแล้วเราไม่ตาย เกิดตายนี้เป็นผลของวัฏฏะนะ แต่เวลาถ้าเกิดอริยทรัพย์ขึ้นมา มันจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เพราะเวลาเกิดมา เห็นไหม เกิดมามีหน้าที่การงาน คนเรามีคุณภาพเพราะความรับผิดชอบ คุณภาพของคนมันอยู่ที่ผลของงาน เราทำงานอย่างไร แล้วผลมันตอบแทนอย่างไร คุณภาพมันอยู่ที่นั่น ถ้าคุณภาพอยู่ที่นั่น มันจะวัดผลกันได้เลยว่าคนเราทำแล้วมันได้ผลได้มากน้อยแค่ไหน

ถ้ามากน้อยแค่ไหน เห็นไหม เรามีสติปัญญาของเรา เราไม่น้อยเนื้อต่ำใจ เราไม่น้อยเนื้อต่ำใจเลย สิ่งทั้งหลายมันมาจากการกระทำ มันต้องมีเหตุมาสิ ถ้ามันไม่มีเหตุมา มันจะทำให้จิตใจเราเป็นแบบนี้หรือ ถ้าจิตใจเราเป็นแบบนี้นะ เราเห็นโทษของมัน ทำไมเราไม่แก้ไขล่ะ ถ้าเราแก้ไข เราเปลี่ยนแปลงนะ เราฝืนทนเอา ฝืนทนเอาเพราะเราทำมาเอง ถ้าฝืนทนเอามันเจ็บปวดแสบร้อนไหม

ดูสิ เวลาหลวงตาท่านพูดครั้งแรกนะ เวลาท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เวลากิเลสมันขี่หัวเอา เห็นไหม ท่านสู้มันไม่ได้ ท่านถึงน้ำตาร่วงนะ “เออ! คราวนี้กูแพ้มึงนะ คราวหน้ากูจะเอาให้ได้ คราวหน้ากูจะเอาให้ได้” เห็นไหม ท่านใช้ความเข้มแข็งของท่านแล้วต่อสู้ นี่ความเข้มแข็งของท่าน

เวลาเริ่มต้น เรารู้ๆ อยู่นี่แหละ เห็นๆ อยู่ว่าจะเอาชนะมัน แต่สู้มันไม่ได้ น้ำตาตกนะ เหมือนเรารู้ว่าสิ่งนี้มันควรจะทำ แต่เราทำไม่ได้ เราทำไม่ได้ มันเสียใจมากนะ เสียใจมากขนาดไหนมันก็ยังมีเหตุมีผล มีเหตุมีผล ถ้าเราฝึกความเข้มแข็งของเราขึ้นมา เราทำของเราขึ้นมา

นี่ก็เหมือนกัน ทำไมใจเราเป็นแบบนี้ ทำไมสิ่งที่เราจะให้เข้มแข็งมันเป็นแบบนี้

มันเป็นแบบนี้ก็มันเป็นมาแล้ว เราไปแก้ไขประวัติศาสตร์ไม่ได้ เราแก้ไขอดีตไม่ได้หรอก ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้แก้ไขปัจจุบัน แต่แก้ไขปัจจุบัน สิ่งที่มันเป็นมา เห็นไหม เป็นมาทำไมคนอื่นเขาคิดไม่เหมือนเรา ทำไมคนอื่นเขามีความรู้สึกนึกคิดไม่เหมือนเรา ทำไมคนอื่นเขาแยกแยะเหตุผลอย่างนี้ได้

นี่ไง “พละ” พละคือกำลังของใจ กำลังของใจมันต้องสร้างมา ดูสิ เวลาหลวงปู่มั่นท่านบอกท่านปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์เหมือนกัน ท่านปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าเหมือนกัน เวลาท่านสร้างของท่านมา เวลาท่านปฏิบัติไป สิ่งนี้ก็มากางกั้นของท่าน หลวงปู่เสาร์ท่านก็ปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า แต่หลวงปู่มั่นท่านปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เวลาภาวนาไป ดูสิ ดูปัญญาสิ เวลาเริ่มต้นหลวงปู่เสาร์ท่านก็ฝึกฝนหลวงปู่มั่นมา พอหลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติไปแล้วท่านติดขัดของท่าน เพราะเป็นอาจารย์ใช่ไหม เราเป็นเด็กน้อย เรามีอาจารย์เราก็อยากถามอาจารย์ของเรา พอไปถามหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่เสาร์บอกว่า “เราแก้ท่านไม่ได้หรอก ปัญญาท่านเยอะมาก ท่านต้องแก้ตัวของท่านเอง”

หลวงปู่มั่นท่านต้องหันกลับมาแก้ไขตัวของท่านเอง พอแก้ไขตัวของท่านนะ นี่ไง บารมีธรรม บารมีสิ่งที่สร้างมา พอแก้ไขตัวท่านเสร็จแล้ว ท่านกลับไปแก้หลวงปู่เสาร์ เพราะหลวงปู่เสาร์เวลาท่านภาวนา เห็นไหม “ขอให้ธรรมมาสถิตที่ตา ขอให้ธรรมสถิต...” นี่ขอเอา คือสวดมนต์อ้อนวอนก่อน พอสวดมนต์อ้อนวอนก่อนเสร็จแล้ว แล้วค่อยประพฤติปฏิบัติใช่ไหม

หลวงปู่มั่นบอกว่า “ไม่ต้องสวดหรอก การขออ้อนวอนมันก็คือการปฏิบัติอ่อนๆ ถ้าเราปฏิบัติเลย เรากำหนดพุทโธเลย จิตใจมันเข้มแข็งกว่า จิตใจมันทำได้เต็มไม้เต็มมือกว่า เอาปฏิบัติเลย”

แก้ไขกันอยู่ ๓ ปี กว่าหลวงปู่เสาร์ท่านจะวางทิฏฐิอันนี้ คือวางความผูกพันของใจอันนี้ ที่ว่าไม่ได้ เวลาปฏิบัติต้องสวดมนต์ก่อน ต้องจัดการก่อน หลวงปู่มั่นท่านไปแก้

นี่พูดถึงบารมี พูดถึงสิ่งที่เราสร้างมา ทำไมจิตใจของคนมันไม่เหมือนกัน ถ้าจิตใจของคนไม่เหมือนกันนะ จิตใจคนไม่เหมือนกันแล้วเราจะไปเบิกเอาจากธนาคารไหน เราจะไปขุดเอาจริตนิสัยดีๆ มาจากไหน นิสัยดีๆ ความคิดดีๆ อยากจะไปขุดเอามันมาจากไหน จะเปิดเซฟไหนใส่มาในสมองเรา ถ้าเราไม่ได้ฝึกของเรามา

ในเซฟนั้นเราเป็นคนหาเงินหาทองเข้ามา แล้วเปิดเซฟ ไปเก็บไว้ในเซฟ แล้วเราปิดเซฟไว้ใช่ไหม ในเซฟนั้นถ้าเราไม่เอาแก้วแหวนเงินทองของเราไปใส่ไว้ในเซฟ มันก็จะมีเซฟเปล่าๆ ไง เปิดเซฟมาก็ไม่มีสิ่งใดเลย

นี่ก็เหมือนกัน จิตใจของเรา ถ้าเราไม่ได้สร้างของเรามา เราไม่ได้ทำของเรามา มันจะมาจากไหน ถ้าเราสร้างมาอย่างนี้ เห็นไหม นี่เซฟของเราเปิดมา

เซฟเขาเปิดมามีแต่แก้วแหวนเงินทอง เซฟเราเปิดมานะ มันมีแต่ขี้หมูราขี้หมาแห้ง อ้าว! ก็เราเป็นคนพาล เราทำแต่สิ่งนี้มา มันก็ฝังใจเรามา เราเปิดเซฟเรามา เซฟเราเป็นอย่างนี้เราก็แก้ไขเซฟเราสิ แก้ไขในหัวใจของเรา

ถ้ามันจะเป็นไปอย่างไรเราปฏิเสธไม่ได้ คือเราอย่าไปน้อยเนื้อต่ำใจไง ทุกคนพอมองกลับมาที่เรานะ ขาอ่อนหมดเลย ทำไมเราเป็นแบบนี้ ทำไมคนอื่นดีกว่าเรา ทำไมคนอื่นเป็นอย่างนั้น

ก็เขาสร้างของเขามา เซฟของเขา เขาหาของเขา แล้วสะสมของเขา แล้วเขาปิดของเขา แล้วเขาก็มาเกิดในชาตินี้ของเขา เซฟคือใจของเขา เขาเปิดเซฟของเขามา เขาก็ได้คุณงามความดีของเขามา เซฟของเราเป็นแบบนี้ ความรู้สึกนึกคิดในใจของเราเป็นแบบนี้ ก็แก้ไขแบบนี้ เปิดมามีอะไรก็แก้ไขมัน ของเรามีอะไรเราก็แก้ไขมัน เราแก้ไขพัฒนาของเรา

ถ้าเราแก้ไขพัฒนา เห็นไหม โอปนยิโก เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูนิสัยเรา มาดูจริตเรา มาดูความรู้สึกนึกคิดเรา แต่ถ้าเราเป็นธรรมขึ้นมา เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม มาดูธรรมในหัวใจไง มาดูธรรมความรู้สึกนึกคิดของเราไง มาดูธรรมที่เราเปลี่ยนแปลงแก้ไขไง นี่เราได้เปลี่ยนแปลง เราได้แก้ไข เราได้ทำแล้วไง

แต่ถ้าใครยังไม่ได้เปลี่ยนแปลง ยังไม่ได้แก้ไข มันเป็นมูตรเป็นคูถอยู่ มันเหม็นนะ แต่ถ้ามันเปลี่ยนแปลงแก้ไข มูตรคูถเปลี่ยนแปลงเป็นเงินเป็นทองได้ไหม ดูสิ เขาขายปุ๋ยกัน เขาเปลี่ยนจากมูตรจากคูถมาเป็นเงินเป็นทองได้นะ

นี่ก็เหมือนกัน ความรู้สึกนึกคิดอย่างนี้เราก็เปลี่ยนได้ เปลี่ยนได้โดยศีลของเรา เปลี่ยนได้โดยการประพฤติปฏิบัติของเรา เปลี่ยนได้โดยความเห็นผิดของเรา เราเห็นว่าสิ่งนี้เป็นความผิดเราก็วางมัน เราไม่คิดถึงมัน เราไม่เอาสิ่งนี้มาเป็นความรู้สึกนึกคิดอีกแล้ว เราจะเปลี่ยนความคิดเราเป็นความคิดที่ใหม่ขึ้น นี่เราเปลี่ยนได้

มูตรคูถมันเปลี่ยนเป็นเงินเป็นทองได้ ถ้าคนรู้จักเอาไปเปลี่ยนแปลง คนรู้จักเอาไปแลกเปลี่ยนมา ถ้าไม่แลกเปลี่ยนมามันก็จะเป็นมูตรเป็นคูถ อยู่อย่างนั้นแหละ นี่ก็เหมือนกัน พอเรารู้สึกนึกคิดก็น้อยเนื้อต่ำใจ เราเป็นอย่างนี้ เราเป็นอย่างนี้ เราเป็นอย่างนี้

เราเป็นอย่างนี้แล้วเอ็งไม่เปลี่ยนล่ะ เราเป็นอย่างนี้ แต่เราไม่เปลี่ยน ก็ไม่มีใครเขาเปลี่ยนให้หรอก

ดูสิ เวลาหลวงปู่มั่นท่านไปหาหลวงปู่เสาร์ เวลาให้หลวงปู่เสาร์แก้ หลวงปู่เสาร์ยังแก้ให้ไม่ได้เลย ท่านต้องทำของท่านเอง พอทำได้แล้ว เราทำได้แล้วนะ เราเอามูตรเอาคูถไปเปลี่ยนเป็นเงินเป็นทองมา เราบอกคนอื่นได้นะ “เฮ้ย! เราก็เคยเป็นแบบนี้ เราก็เคยมีมูตรมีคูถอย่างนี้ กูไปเปลี่ยนมาเป็นเงินเป็นทอง กูเปลี่ยนมา เอ็งเห็นไหม เอ็งเห็นไหม”

ถ้าเราทำได้ เราไปสอนใครได้หมดแหละ ถ้าเรามีธรรมในหัวใจ นี่เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม ก็เราไปเปลี่ยนมาแล้ว เราเอามูตรเอาคูถไปเปลี่ยนเป็นเงินเป็นทองมาแล้วไง นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราเปลี่ยนนิสัยเราได้ เราทำของเราได้ เราทำของเราไป

มันเป็นจริตเป็นนิสัยนะ น้ำเสีย ถ้ามันเข้มข้นด้วยสารพิษ เวลารีไซเคิลมันก็ต้องลงทุนลงแรงกันหนักหน่อย น้ำที่มันมีความไม่เน่าเสียจนมากเกินไป รีไซเคิลมันก็จะสะอาดขึ้นมา แล้วร่างกายของเรา ดูสิ เราใช้สอยน้ำของเรา มันมีของเสียออกไปตลอดทุกวัน

นี่ก็เหมือนกัน หัวใจมันมีทั้งนั้นแหละ ถ้ายังไม่ได้สิ้นสุดแห่งทุกข์นี่มันมี เห็นไหม ดูสิ เวลาจิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส ความทุกข์ของมันคือความอาลัยอาวรณ์ไง ความผ่องใส ความคิดถึงกัน สิ่งนี้มันเป็นกิเลส กิเลสอย่างละเอียด แต่เวลามันมีความโลภ ความโกรธ ความหลง กิเลสหยาบๆ มันก็เหยียบย่ำใจ เวลาเราอาลัยอาวรณ์ต่อกัน คิดถึงต่อกัน นี่กิเลสอย่างละเอียด

แล้วถ้ามันรีไซเคิล มันทำความสะอาดทั้งหมดทั้งสิ้น แล้วมันจบสิ้นไป มันไม่เสวยอารมณ์ มันอยู่ของมันโดยธรรมชาติของมัน เพราะ ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์ ๕ คือสัญญาอารมณ์ มันเป็นขันธ์ มันไม่ใช่ตัวพลังงานตัวนั้น ถ้าตัวพลังงานตัวนั้นทำถึงสิ้นสุดแห่งทุกข์แล้ว เห็นไหม “ธรรมธาตุ”

สิ่งนั้นเป็นธาตุ ที่ไหนมีจิต ที่นั่นมีภพ แต่เวลาคุยกันภาษาสมมุติก็ต้องบอก บอกว่าจิตเป็นอย่างนั้น จิตเป็นอย่างนั้น...จิตคือความรู้สึกนึกคิด ทุกคนมีนะ แล้วเราจะมาแก้ไขของเรา

นี่คือฟังธรรม ธรรมแบบนี้เป็นอาหารของใจ เราแสวงหาปัจจัย ๔ เพื่อการดำรงชีวิต แต่ถ้าเราแสวงหาธรรมนะ โอปนยิโก เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม ดูหัวใจของเรา ดูความรู้สึกนึกคิดของเรา แล้วมันจะประเสริฐของเรา

เรามีธรรมในหัวใจ เห็นไหม สิ่งนี้ที่เราแสวงหากันเป็นความสุขแท้ เราจะทุกข์จนเข็ญใจจากปัจจัย ๔ แต่หัวใจเราอิ่มเต็มนะ เราอยู่ของเราได้ แต่คนเวลามีทุกอย่างเพียบพร้อมเลยนะ แต่หัวใจมันเร่าร้อนมันก็ทุกข์

ธรรมเป็นอาหารของใจ ปัจจัย ๔ เป็นอาหารของร่างกาย เราแสวงหามาเพื่อประโยชน์กับชีวิตนี้ เพื่อความมั่นคงของชีวิต เพื่อสัจธรรม ธรรมในหัวใจของเรา เอวัง