เทศน์เช้า วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
การเกิด ครอบครัวไหนมีเด็ก ครอบครัวนั้นไม่ว้าเหว่ ถ้ามีเด็ก เพราะมีเด็กมันไร้เดียงสา มันน่ารักมาก ทีนี้คำว่าน่ารักมาก เห็นไหม พ่อแม่เป็นครูคนแรก นี่พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก เพราะพ่อแม่ให้ชีวิตนี้มา เลี้ยงมาตั้งแต่ตีนเท่าฝาหอยกว่ามันจะโตขึ้นมา แล้วถ้ามันประสบความสำเร็จ พ่อแม่ขอเพียงแค่นี้ ขอเพียงแค่ให้ลูกเราได้มีที่ยืนในสังคมเท่านั้น พ่อแม่ไม่ต้องการสิ่งใดเลย ความรักของพ่อแม่เป็นความรักที่สะอาดบริสุทธิ์นะ
แต่ถ้าความรักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าล่ะ? เวลาเรากราบ เราระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แก้วสารพัดนึกนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เห็นไหม เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดมาจากใครล่ะ? เกิดมาจากพ่อจากแม่เหมือนกัน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเกิดในธรรมนะ มาเกิดในธรรม ตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยายามค้นคว้าอยู่ ๖ ปี นี่พยายามค้นคว้านี่นะ พยายามประพฤติปฏิบัติมันมีอุปสรรค
คำว่าอุปสรรคคือกิเลสตัณหาความทะยานอยากมันขวางหน้าไว้ ถ้าการขวางหน้าไว้นะเราต้องหาช่องของเราไปให้ได้ การหาช่องของเราไป ใครประพฤติปฏิบัติจะเข้าใจได้ว่า คำว่ากระเสือกกระสน มันกระเสือกกระสนขนาดไหน? เวลากระเสือกกระสนนะ ทางที่เขามีทางเดินนะ เวลามีทางเดินเขายังหลงทางกัน แล้วทางที่ไม่มีทางเดินในหัวใจ ใครมันจะเดินไปได้
ฉะนั้น เวลาเราเคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เคารพถึงปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความเมตตาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั่นคือพระอรหันต์ของสาธารณะไง แต่ถ้าเราเป็นพ่อเป็นแม่นะ เป็นพระอรหันต์ของลูก เวลาลูกได้ชีวิตมา เห็นไหม สิ่งที่มีค่าที่สุดคือชีวิต ถ้ามีค่าที่สุดคือชีวิตนะ การเกิดมีค่าที่สุดเพราะเราเป็นมนุษย์สมบัติ แต่เวลาเกิดมาแล้วเราต้องพยายามยืนในสังคมให้ได้ เรามีความทุกข์ความยากของเรา เรามีการกระทำของเรา
ถ้ามีการกระทำของเรา เห็นไหม นี่ทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริง แต่ถ้ามีธรรมะขึ้นมามันหล่อเลี้ยงหัวใจอันนี้ ทุกข์มันก็เป็นสัจจะเป็นความจริงอันหนึ่ง แต่หัวใจที่มันเข้มแข็งกว่า หัวใจที่มันมีจุดยืนมากกว่า มันบริหารจัดการทุกข์อันนั้น ตัวทุกข์อันนั้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าจิตใจมันอ่อนแอนะ ทุกข์อันนั้นมันเหยียบย่ำหัวใจนะ ทุกข์อันนั้นมันเหยียบย่ำหัวใจจนหัวใจมันทุกข์ร้อนมากนะ
นี่พูดถึงความทุกข์อันนี้เป็นอริยสัจ ทุกข์นี้เป็นความจริง เวลาแม้แต่ชีวิตของเราเรายังต้องต่อสู้ ต่อสู้เอาอะไรไปต่อสู้ล่ะ? ถ้าเราไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีครูบาอาจารย์เราเป็นแบบอย่าง เราไปต่อสู้กับอะไร? เวลาเราต่อสู้นะเราก็ฟาดงวงฟาดงา อยากจะชำระกิเลส เห็นไหม ก็บอกว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นอวกาศ ธรรมะเป็นความว่าง ความว่าง มึงจะเอาอะไรไปทำลายความว่างล่ะ? ความว่างนี่เราจะเอาอะไรไปทำลายมัน? เราจะเอาอะไรไปทำลายความว่าง แต่ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามาจิตมันสงบ
พอจิตมันสงบ นี่ที่ว่าทางโลกเขาเป็นความว่างๆ แต่ความว่างมันมีคนบริหารจัดการ ความว่างมันมีเจ้าของ ความว่างของใครความว่างของมัน ความว่างคือมีสติใช่ไหม? สติเราก็บริหารของเราใช่ไหม? ดูสิแก้ว แหวน เงิน ทองของเรา เราเป็นเจ้าของ เราเป็นผู้บริหารใช่ไหม? ถ้าเราบริหารจัดการขึ้นมา นี่แก้ว แหวน เงิน ทองนั้นมันก็จะงอกงาม มันจะพอกพูนขึ้นมาใช่ไหม? ถ้าเราไม่ได้บริหารจัดการมันนะ วางไว้เขาก็ลักเขาก็ขโมยไป
จิตเวลามันสงบร่มเย็นเข้ามา ถ้าเราไม่ออกใช้ปัญญาของมันนะ เดี๋ยวมันก็เสื่อมไปต่อหน้าเรา พอมันไปต่อหน้าเราเข้าไปแล้วนะ มันหายไปไหน? มันหายไปไหน? เวลาเราทำความสงบของใจเข้ามาเราก็พยายามกระเสือกกระสน เราต้องดิ้นรนของเราเข้ามา ถ้าดิ้นรนเข้ามานี่เราต้องบริหารจัดการ เพราะเราบริหารจัดการหมายความว่า มันมีสติมีปัญญานะ พอมีสติมีปัญญา ถ้าความว่างเป็นสัมมาสมาธิ
นี่สัมมาสมาธิ เห็นไหม เวลาหลวงตาท่านพูดกับหลวงปู่มั่น เวลาติดสมาธิ บอกว่า นี่มันเป็นความว่างๆ มันเป็นความสุขสงบ
หลวงปู่มั่นท่านบอกว่า ความสุข ความสงบอย่างนี้มันเท่ากับเศษเนื้อติดฟัน มันไม่ใช่เป็นความสงบแท้จริง
แล้วถ้ามันไม่เป็นความสงบแท้จริง แล้วสัมมาสมาธิจะให้เดินทางใดล่ะ?
หลวงปู่มั่นท่านบอกว่า สัมมาสมาธิขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันเป็นสัมมาสมาธิที่มันมีสติปัญญา สัมมาสมาธิของท่านมันมีตัณหาความทะยานอยาก มันมีสมุทัยบวกเข้ามาไง
นี่ว่าความว่างๆ มันมีตัณหา มันมีสมุทัย สมุทัยคือตัณหาความทะยานอยากมันบวกกับความว่างนั้นอยู่ มันเลยไม่เข้าใจว่าความว่างนั้นควรจะเจริญเติบโต ควรจะเจริญงอกงามอย่างไรต่อไป ถ้ามันมีสติปัญญานะ ความว่างนั้น สัมมาสมาธินั้นเป็นมรรคในองค์ ๘ ใช่ไหม? นี่ในมรรค ๘ มีสัมมาสมาธิเป็นพื้นฐาน ถ้ามีสัมมาสมาธิเป็นพื้นฐานมันไม่เห็นแก่ตัว ถ้าคนเห็นแก่ตัวมันก็ฟุ้งซ่าน คนเห็นแก่ตัวมันตระหนี่ถี่เหนียว มันทำให้จิตใจนี้เดือดร้อนนัก
เวลาจิตใจมันเป็นสาธารณะ มันปล่อยวางหัวใจแล้วจิตใจก็เป็นความว่าง ถ้าความว่างนี่เป็นสัมมาสมาธิ เป็นมรรคหนึ่งในองค์ ๘ เป็นพื้นฐาน แล้วถ้ามันบริหารจัดการขึ้นมา มันเกิดปัญญาขึ้นมา เห็นไหม ถ้ามันเกิดปัญญาขึ้นมา ปัญญามันเกิดที่ไหนล่ะ? ปัญญามันจะไปหาแก้ว แหวน เงิน ทองมาหรือ? แก้ว แหวน เงิน ทองมันเป็นสมบัติสาธารณะ เป็นสมบัติของโลก นี่พอเราได้ตำแหน่งใดใช่ไหม? เดี๋ยวเราก็เกษียณใช่ไหม? พอเดี๋ยวถ้าเราไม่เกษียณเราก็ต้องตายไปใช่ไหม? นี่มันเป็นสมบัติของโลกไง
นี่ถ้าจิตมันสงบแล้วไม่ใช่ปัญญาอย่างนั้น ปัญญาอย่างนั้นเขาเรียกว่าโลกียปัญญา ปัญญาอย่างนั้นคือปัญญาหาสมบัติมาดำรงชีพ ปัญญาในพุทธศาสนา ปัญญารอบรู้ในกองสังขาร สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง เห็นไหม นี่ปัญญารอบรู้ในความรู้สึกนึกคิดของเรา นี่ความรู้สึกนึกคิดที่มันควบคุมไม่ได้ ที่มันเกิดดับๆ ที่มันผุดขึ้นมาแล้วเราควบคุมมันไม่ได้ เราจะจัดการบริหารมันอย่างไร?
ถ้าเราจัดการบริหารกับมันนะ จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม จิตเห็นจิต นี่เวลาจิตสงบแล้วนะ จิตเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นไหม สติปัฏฐาน ๔ มันมีจิตด้วย จิตผ่องใส จิตเศร้าหมอง มันรู้มันเห็น ถ้ามันรู้มันเห็น นี่ปัญญาอย่างนี้ ถ้ามันจับได้มันถึงจะมีปัญญาขึ้นมา นี่สติปัฏฐาน ๔ จริง คือมีผู้เป็นเจ้าของ ผู้ที่บริหารจัดการ ธรรมะส่วนบุคคล ธรรมะสำหรับใจดวงนั้น แต่ที่เราศึกษากันอยู่นี้เป็นธรรมะสาธารณะ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา
เราศึกษาทางวิชาการ นี่เราเรียนมา ทางวิชาการเราเรียนหมดเลย แล้วเราได้ทำผลงานของเราขึ้นมาบ้างหรือยัง? ถ้าเราทำผลงานของเรา นี่ธรรมะที่เป็นธรรมะส่วนบุคคลก็คือธรรมะของเราไง ธรรมะของใจดวงนั้น ธรรมะของใจที่ทุกข์ๆ ดวงนั้น ใจดวงนั้นมันทุกข์ยาก ใจดวงนั้นจะเป็นผู้บุกเบิก ใจดวงนั้นจะเป็นผู้แยกแยะออกมาให้กิเลสตัณหาความทะยานอยากไป
นี้คือปัญญาในพุทธศาสนา ปัญญาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยากให้เราค้นคว้ากัน เราถึงต้อง เห็นไหม เรามาปฏิบัติกัน เราทำความสงบของใจขึ้นมา เพื่อใจสงบแล้วให้มันออกฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาอย่างนั้นเป็นโลกุตตรปัญญา ปัญญาที่ชำระกิเลส ปัญญาที่ชนะตัวตนของเรา ปัญญาที่ชนะความรู้สึกนึกคิดของเรา
เราแพ้ความรู้สึกนึกคิดของเรานะ เวลามันรู้สึกนึกคิดขึ้นมาด้วยความพอใจ สิ่งนี้ถูกต้อง แล้วมันก็กระชากหัวใจนี้ไป แต่ถ้าจิตมันสงบเข้ามา มันสงบระงับเข้ามามันเป็นสัมมาสมาธิ เวลามันจับนะ จับอาการของใจ จับความรู้สึกนึกคิดที่มันมีกำลังเหนือใจ จับมาพิจารณา คิดแล้วคิดเล่า นี่ทำตามความคิดนี้แล้วทำตามความคิดนี้เล่า แล้วมันได้ประโยชน์สิ่งใดมา? มันไม่เห็นได้อะไรเป็นประโยชน์กับเราเลย
ถ้ามีสติ ตรงนี้สำคัญมากนะ สำคัญว่าถ้ามีสติปัญญานะ เราจะเทียบเคียงกับความรู้สึกนึกคิดของเรา ภาวนาแล้วมันได้สมบัติขึ้นมาไหม? ภาวนาแล้วมันจะเจริญงอกงามขึ้นมาไหม? ไม่ใช่ภาวนาแล้วก็อยู่กับที่ ย้ำอยู่กับที่ ซอยเท้าอยู่กับที่ มันไม่พัฒนาเพราะเหตุใด? ถ้ามันพัฒนา พัฒนาเพราะเหตุใด? นี่มันมีเหตุมีผลนะ ถ้ามันไม่พัฒนา ทำไมมันถึงไม่พัฒนา? ถ้ามันถูกต้องทำไมไม่พัฒนา?
นี่มันมีเหตุมีปัจจัย ในเมื่อมันมีเหตุแล้ว มันมีปัจจัยมีเหตุมันต้องมีผลของมัน ทีนี้มีผลของมัน นี่ปัญญามันจะเกิดขึ้นเรามาทบทวนของเรา แล้วเราแก้ไขของเรา เราต้องมีทางออกให้ได้ ถ้ามีทางออกได้ นี้คือปัญญาของเรานะ นี่ปัญญาในพุทธศาสนา แต่เวลาที่คนเราเกิดมา เห็นไหม เกิดมาก็ทุกข์ก็ยาก ความทุกข์ยากนี่มันเป็นผลของวัฏฏะ
เวลาผลของวัฏฏะ เราเกิดมาแล้วนะ เราเกิดมาเป็นพ่อเป็นแม่ เวลาเราเกิดมา เราเกิดมาเป็นลูกเป็นเต้าเราก็พยายามขวนขวายขึ้นมาจนเรามีครอบครัวของเรา เวลาเราเกิดเรามีลูกมีเต้าขึ้นมา ลูกเต้า เห็นไหม ลูกเต้านะมันจะบอกว่า ปะป๊า มาม๊าอย่าร้องไห้ ปะป๊า มาม๊าอย่าร้องไห้ เพราะอะไร? เพราะเด็กมันไม่รู้ เด็กมันไม่รู้หรอก แต่เรารู้นะ
เราจะบอกว่าเราอยู่บนเขาควายนะ เขาควายคือว่าทุกข์หนึ่งคือทุกข์ประจำชีวิตของเรา อีกทุกข์หนึ่งเราจะต้องเป็นแบบอย่างให้ลูกหลานของเรา ให้มันมีแบบอย่าง ความแบบอย่างของเรา ลูกหลานมันจะดูจากพ่อแม่นั่นแหละ ถ้าพ่อแม่มีหลักมีเกณฑ์ นี่เราจะสั่งสอน เราทำเป็นตัวอย่าง ความเป็นตัวอย่างนั้นเราไม่ต้องไปเถียงกับลูกเลยว่า ทำไมมาม๊าทำอย่างนี้? ทำไมปะป๊าทำอย่างนี้? นี่เวลาเราทำนะเรามีเหตุมีผลอ้างอิงไปหมดเลย แต่เวลาลูกมันทำนี่ไม่ได้นะ ผิดนะ ผิดนะ
นี่เราอยู่บนเขาควาย เขาควายหมายความว่า ในชีวิตจริงของเรามันก็ทุกข์ยากแสนเข็ญอยู่แล้วล่ะ แล้วเรายังต้องเป็นตัวอย่างให้ลูกเราอีกนะ ถ้าเราเป็นตัวอย่างให้ลูกเรานะ ตัวอย่างอย่างไร? ตัวอย่างนี่ศีลธรรมใช่ไหม? ความดีใช่ไหม? มันมีกรอบใช่ไหม? มันมีแบบอย่างใช่ไหม? แล้วลูกมันก็เรียนมา ทำไมปะป๊า มาม๊าสอนลูกทำแบบนี้? ทำไมปะป๊า มาม๊าไม่ทำให้ลูกเห็นอย่างที่ปะป๊า มาม๊าสอน?
หนึ่งตัวอย่างดีกว่าร้อยคำสั่ง
ถ้าหนึ่งตัวอย่างดีกว่าร้อยคำสั่ง ถ้าเรามีปัญญาขึ้นมาเราจะเข้าใจสิ่งนั้น ฉะนั้น ถ้าเข้าใจสิ่งนั้นเราจะเห็นเลยว่าโลกียปัญญาเป็นแบบใด โลกุตตรปัญญาเป็นแบบใด ถ้าโลกียปัญญานี่เราต้องทันโลก ไม่ใช่ว่าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติแล้วจนปล่อยวางโลก จนไม่เข้าใจสิ่งใดเลย ไม่ใช่นะ มันไม่ใช่เพราะอะไร? เพราะถ้าโลกียปัญญามันจะฉุดกระชากลากใจของเรามาให้เป็นโลก เราเกิดมานี่เป็นโลกหมดแล้ว เวลาเราบริหารจัดการมันเป็นเรื่องโลกๆ เลย
เรื่องโลกๆ เห็นไหม นี่มันเครียด มันทุกข์มันร้อน มันเบียดเบียนหัวใจนี้นัก แล้วจะหาความสงบระงับเพื่อพักใจอย่างไร? นี่เวลาเรากำหนดพุทโธ พุทโธ หรือปัญญาอบรมสมาธิขึ้นมา พอมันปล่อยวางเข้ามา นี่มันเข้าไปสู่พลังงานนั้น เข้าไปสู่ความจริงอันนั้น แล้วฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้าใครฝึกหัดใช้ปัญญาไม่ได้ วิปัสสนาไม่เป็น ถ้าใครฝึกหัดใช้ปัญญาได้ จิตนี้จะก้าวเดินออกสู่วิปัสสนา ถ้าก้าวเดินออกสู่วิปัสสนา นี่โลกุตตรปัญญา ปัญญาอย่างนี้ไงที่ว่าภาวนามยปัญญา มันไม่อ้างอิงอะไรทั้งสิ้น
เวลาเราใช้ปัญญาของเรา เห็นไหม เราต้องอ้างอิงฐานความคิดมันมีของมัน แต่เวลาภาวนามยปัญญา ถ้าฐานความคิดคืออวิชชา เพราะอวิชชามันอยู่กับจิต อวิชชามันอยู่พลังงานอันนั้น ถ้ามันเกิดความคิดออกมาจากตรงนั้น มันก็เกิดความคิดออกมาจากอวิชชา แต่ถ้าเราภาวนาของเราจนจิตมันสงบระงับมาแล้ว ถ้าจิตมันสงบระงับ อวิชชามันสงบตัวลง ถ้ามันสงบตัวลงไม่ได้ สัมมาสมาธิเกิดไม่ได้ สัมมาสมาธิเกิดเพราะว่าอวิชชาสงบตัวลง
หลวงปู่มั่นบอกกับหลวงตา เห็นไหม สัมมาสมาธิมันไม่บวกด้วยสมุทัย สัมมาสมาธิมันไม่บวกด้วยตัณหาความทะยานอยาก แต่สัมมาสมาธิของท่านมันมีสมุทัยเว้ย
สัมมาสมาธิของท่าน เห็นไหม ของท่านคือของเราที่เราคาดเราหมายของเราเอง เรายึดมั่นของเราเองว่าเราใช่ เราใช่ไง ถ้าเราใช่ เวลามันก้าวเดินออกไปมันต้องก้าวเดินออกไปได้สิ ถ้ามันใช่ทำไมมันไม่ก้าวเดิน? เพราะตัณหาความทะยานอยากมันคาดหมาย มันคาดผลไว้หมดแล้ว ถ้าคาดผลไว้หมดแล้วจิตมันจะก้าวเดินไปไหน? แต่ถ้ามันเป็นความจริงนะ พอมันเป็นสัมมาสมาธิมันปล่อยวางหมด มันก็เหมือนเด็กอ่อนนี่ไง มันเลี้ยงตัวมันเองไม่ได้นะ เด็กเกิดมา พ่อแม่ไม่เลี้ยงตายหมด เด็กเกิดมาต้องพ่อแม่เลี้ยงเท่านั้น
จิต จิตถ้ามันเข้าไปถึงสัมมาสมาธิ เดี๋ยวมันก็คลายตัวออก แต่ถ้ามันออกก้าวเดินได้ นี่เด็กอ่อนมันจะเจริญงอกงามขึ้นมา มันจะเป็นหน่อแห่งพุทธะ ถ้าหน่อแห่งพุทธะนี้เป็นความจริงขึ้นมานะ เห็นไหม นี่เราจะเข้าใจได้เลย
ครูบาอาจารย์ท่านพูดบ่อย ถ้าสัจธรรมมันมีนะ จะพูดอย่างไร จะปิดบังอย่างไร มันก็ออกมาจากข้อเท็จจริงอันนั้น มันมี รู้ได้ แต่ถ้ามันไม่มีนะ มันรู้ไม่ได้
รู้ไม่ได้ พูดธรรมะนั่นแหละ แต่พูดธรรมะด้วยอวิชชา พูดธรรมะด้วยความไม่รู้ไง อวิชชาคือความไม่รู้ พูดธรรมะ แต่อวิชชาก็ในความไม่รู้นั้น แต่ถ้าเป็นความจริงนะ พูดธรรมะมันมีขั้นตอนของมัน มันมีการกระทำ เหมือนการก้าวเดิน จะย่างก้าวด้วยเท้าซ้ายหรือเท้าขวา เท้าซ้ายก็ได้ เท้าขวาก็ได้ แต่ย่างก้าวออกไปด้วยเท้าซ้ายเท้าขวาเราก็รู้ใช่ไหม?
นี่เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ เวลามันก้าวเดินออกไปจากใจมันจะรู้ของมัน มันจะมีประเภทของมัน ถ้าจิตมันก้าวเดินออกไป แล้วพอมันก้าวเดินออกไปมันใช้ปัญญาภาวนาของมัน แล้วเวลามันปล่อยวางเข้ามา เห็นไหม มันเป็นตทังคปหาน มันปหานกิเลสชั่วคราว พอปหานชั่วคราวมันปล่อยวางอย่างไร? มันละเอียดลึกซึ้งอย่างไร? แล้วถ้าเป็นสัมมาสมาธิมันมีความรู้สึกอย่างไร? มันเป็นอย่างไร?
มันรู้ได้ไง นี่คนเป็นมันรู้ได้ ถ้าคนเป็นมันรู้ได้ เวลาฟังผู้ที่มาถามปัญหา มันจะบอกเลยว่าวุฒิภาวะของจิตนั้นอยู่ตรงไหน? อ้าปากพูดมันจะฟ้องทันทีเลยว่าจิตนี้มีคุณภาพแค่ไหน จิตนี้มีระบบแค่ไหน เพียงแต่อาจารย์เหมือนพ่อแม่นี่แหละ นี่เรามีลูกหลายคน คนโตมันก็โตแล้ว ไอ้คนกลาง คนเล็ก คนเล็กมันจะมีความรู้เท่าคนโตมันเป็นไปไม่ได้ มันก็พยายามดูแลลูกของเราคนเล็กให้มันโตขึ้นมา ไอ้คนโต ไอ้คนโตมันต้องเรียน มันต้องศึกษา มันต้องปริญญาโท ปริญญาเอก มันต้องเรียนของมันขึ้นไป พ่อแม่ก็มีหน้าที่ดูแล นี่ครูบาอาจารย์ถ้าเป็นจริงนะ
ฉะนั้น ลูกศิษย์เวลาพูดถึงธรรมะ นี่พออ้าปากก็รู้เลยว่าวุฒิภาวะแค่ไหน แล้ววุฒิภาวะแค่ไหนนะ ครูบาอาจารย์ที่ดีจะให้กำลังใจ จะให้กำลังใจนะ โอปนยิโก เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม ถ้าจิตของลูกคนเล็กมันมีความรู้สึกอย่างนี้ ธรรมมันมีแค่นี้ ถ้าธรรมมันมีแค่นี้ นี่เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม คือเขามีของเขา แล้วเราจะดูแลอย่างไร? เราจะให้กำลังใจอย่างไร? เพื่อจะให้เขาเจริญงอกงามขึ้นไป เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป
ถ้าเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไปนะ ถึงที่สุดเวลาหลวงตาท่านอยู่ที่วัดดอยธรรมเจดีย์ เวลาขณะจิตที่มันพลิกภพพลิกชาตินะ ท่านลุกขึ้นแล้วกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กราบแล้วกราบเล่า กราบแล้วกราบเล่า มันกราบมาจากไหนล่ะ? มันกราบมาจากไหน? มันกราบออกมาจากความซาบซึ้ง เวลาคนรู้ถึงที่สุดแล้วนะมันเป็นอันเดียวกันไง มันกราบออกมาจากความซาบซึ้ง มันกราบออกมาจากเห็นบุญเห็นคุณ
ถ้าไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ไม่มีธรรมวินัยที่วางไว้ เราจะเอาอะไรก้าวเดินกัน? แล้วก้าวเดินมาก็ก้าวเดินมาด้วยตัณหาความทะยานอยาก ก้าวถูก ก้าวผิด ยึดมั่นถือมั่นว่าต้องเป็นแบบนั้น ต้องเป็นแบบนั้น แล้วก็ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด หลวงปู่มั่นท่านก็พยายามชี้นำ ท่านก็พยายามดูแล ท่านพยายามถนอมรักษา ถนอมรักษานะ ต้องคอยให้กำลังใจ ต้องคอยโอ๋
เหมือนพ่อแม่สอนลูกๆ เลย ถ้าลูกเรามันจะไม่มีกำลังใจก็ต้องให้กำลังใจมัน ถ้าลูกเราเดินทางผิดนะ เราก็ต้องหาเหตุผล หาเหตุผลอธิบายให้เขาเข้าใจให้ได้ แล้วคิดดูสิเวลาเราพูดกับลูก ลูกมันจะเข้าใจกับเราไหม? เข้าใจได้ง่ายๆ ไหม? นี้เหตุผลทางโลกนะ ยังไม่รู้จักเหตุผลของใจ เหตุผลของใจมันไปรู้ไปเห็น แล้วมันบอกว่าถ้ารู้ถ้าเห็นแล้วผิดอย่างไร? ทั้งๆ ที่รู้ที่เห็นมานี่ผิดหมด เพราะสิ่งที่รู้ที่เห็น เห็นจริงไหม? จริง แต่ความรู้เห็นเป็นจริงไหม? ไม่จริง ไม่จริงเพราะมันยังบวกด้วยตัณหาของเราอยู่ไง
นี่ครูบาอาจารย์ท่านทะนุถนอมขึ้นมาจนถึงที่สุด พอเวลาพลิกฟ้าคว่ำดินนะ กราบแล้วกราบเล่า กราบแล้วกราบเล่า กราบแล้วกราบเล่าเพราะมันซาบซึ้ง ซาบซึ้งจากบุญคุณอันนั้น แล้วของเราเวลากราบพระ เห็นไหม เวลากราบพระนะ ที่นั่นไม่สกปรกหรอกเราก็ไปปัดๆๆ กัน นี่ไงมันกราบไม่ถึงหัวใจไง มันกราบไปเพราะมันเป็นความไม่เข้าใจนะ แต่ถ้าคนเขามีคุณธรรมเขากราบมาจากความซาบซึ้ง กราบแล้วกราบเล่า มันเห็นบุญเห็นคุณไง
ฉะนั้น เราเกิดมาในโลกนี้ เห็นไหม นี่ถ้าเราเกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา เรานับถือรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อันนี้เป็นครูบาอาจารย์ของเรา แล้วพ่อแม่ของเราเป็นพระอรหันต์ของลูก ให้ชีวิตนี้มา เราก็ต้องดูแลพ่อแม่ของเรา ดูแลสรรพสิ่งนี้ให้เป็นประโยชน์กับเรา กตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี เรามีเครื่องหมายของคนดี เรารู้จักบุญรู้จักคุณ มีความกตัญญูกตเวที จะเป็นเครื่องหมายของคนดี เอวัง