เทศน์บนศาลา

วิปัสสนาธุระ

๔ มิ.ย. ๒๕๕๕

 

วิปัสสนาธุระ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา เป็นวิสาขบูชา เป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมนะ วางธรรมวินัยนี้ไว้ให้เราได้ศึกษา ถ้าเราได้ศึกษานะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน “อานนท์ เธอบอกเขาเถิด ให้ปฏิบัติบูชา อย่าบูชาเราด้วยอามิสเลย” การปฏิบัติบูชา เห็นไหม นี่การปฏิบัติบูชา เราก็เข้าใจว่าเป็นการปฏิบัติ เพราะเวลาคนเข้าถึงศาสนา มันต้องเข้าถึงศาสนาด้วยการประพฤติปฏิบัติ

เห็นไหม การศึกษาเล่าเรียนทุกคนก็รู้ว่าเป็นทฤษฎี ทุกคนก็รู้ว่าเป็นธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศึกษาไว้ๆ ศึกษาไว้เพื่อให้เป็นความรู้ ความรู้อย่างนี้มันเป็นความเป็นคันถธุระ เป็นความรู้เพื่อเข้าใจในศาสนา พอเราเข้าใจในศาสนา เพราะเราจะเอาศาสนาสอนประชาชน ถ้าสอนประชาชนนะ สิ่งที่เราไม่เข้าใจเลย ประชาชนเขาโต้แย้งขึ้นมา เราจะไม่มีสิ่งใดที่เราจะสื่อสารกับเขา ฉะนั้น การสื่อสารกับเขานี่การสื่อสารกับโลกนะ แต่ถ้าการสื่อสารกับตัวเองล่ะ ถ้าการสื่อสารกับตัวเองนะ สิ่งที่เราศึกษามานี่เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่ใช่ธรรมของเรา ถ้าเราจะปฏิบัติบูชาล่ะ เราจะปฏิบัติบูชาอย่างใด

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศึกษามา นี่เห็นโทษเห็นภัยนะ เห็นโทษเห็นภัยในการที่ไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ เห็นไหม เขาปฏิญาณตนว่าเขาเป็นพระอรหันต์ทั้งนั้นน่ะ แต่มันเป็นความจริงหรือเป็นความไม่จริงล่ะ? มันเป็นความไม่จริง ความไม่จริงเพราะอะไร เพราะมันไม่สามารถชำระกิเลสได้จริง

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา สิ่งนี้ชำระกิเลสได้จริง ชำระได้จริงเพราะมันเป็นความจริงไง ความจริง เวลาจะเผยแผ่ธรรมไป เผยแผ่ธรรมให้ผู้ปฏิบัติได้จริง วุฒิภาวะของเขา เขามีวุฒิภาวะจะรับได้แค่ไหน เวลาเผยแผ่ธรรม เห็นไหม ถ้าเป็นพวกคฤหัสถ์ของเขา ก็ “อนุปุพพิกถา” ให้เขาเสียสละทาน ให้เขารู้จักเสียสละ ให้เขารู้จักการให้อภัย ให้จิตใจของเขามีหลักมีเกณฑ์ของเขา

ในการศึกษา ศึกษามาเพื่อสื่อสารกับฆราวาส บริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ภิกษุก็เหมือนกัน ภิกษุผู้บวชใหม่ ผู้ที่ยังไม่เข้าใจสิ่งใดเลย ก็ต้องศึกษามาเพื่อเป็นความรู้ของเรา เพื่อพูดในภาษาเดียวกัน เวลาเป็นภิกษุขึ้นมา บวชเข้ามาต้องขอนิสัย การขอนิสัยครูบาอาจารย์ก็เพื่อจะให้ได้นิสัย คำว่า “ได้นิสัย” ภิกษุบวชใหม่เป็นผู้ที่ฟังคำสั่งสอนได้ยาก เพราะอะไร เพราะเราอยู่กับโลกมาไง โลกคือความอิสระ คือความพอใจของเรา แต่พอธรรมวินัยขึ้นมาแล้ว ธรรมวินัยมันมีอาวุโส ภันเต มันมีสิ่งใดที่ดูแลผู้ที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาให้มีหลักมีเกณฑ์ใช่ไหม

ฉะนั้น เวลาเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ศึกษามาเพื่อปฏิบัตินะ ฉะนั้น เวลาศึกษามาเพื่อปฏิบัติ เวลาเราจะปฏิบัติกัน ถ้าเราไม่มีครูบาอาจารย์ล่ะ? เราก็ปฏิบัติด้วยความรู้ความเห็นของเรา ถ้าเราปฏิบัติด้วยความรู้ความเห็นของเรานะ เวลาปฏิบัติด้วยความรู้ความเห็นของเรามันคืออะไรล่ะ? มันคืออวิชชา คือความไม่รู้นั่นไง

ความรู้ความเห็นของเรา แล้วมันไม่รู้ได้อย่างไรล่ะ? มันไม่รู้เพราะมันมีกิเลสอวิชชาปกคลุมจิตใจนี้ไว้ เวลาปฏิบัติมาก็ว่าศึกษามาตามความเป็นจริงนั้น ถ้าตามความเป็นจริงนั้นนะ คำว่า “พุทธพจน์ๆ” ตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม “ธรรมะเป็นธรรมชาติ สรรพสิ่งเป็นความว่าง ทุกอย่างเป็นความว่าง”...มันก็เหมือนเรานี่แหละ ดูสิ เวลารัฐเขาทำสิ่งใดขึ้นมา เราเห็นความบกพร่องของเขา เจ้าหน้าที่เขาคอรัปชั่น เราจะไปร้องเรียน เรามีสิทธิร้องเรียนไหม? ไม่มี ไม่มีหรอก มันเป็นความเสียหายแก่รัฐ ถ้าเป็นความเสียหายแก่รัฐ คนที่จะกล่าวโทษได้ต้องเป็นอัยการ ประชาชนไม่มีสิทธิไปกล่าวโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐ เว้นไว้แต่เราร้องเรียนไปที่อัยการ อัยการเขาจะกล่าวโทษ เขาจะร้องเรียนของเขา

นี่ก็เหมือนกัน คำว่า ”พุทธพจน์ๆ” เรื่องของศาสนานะ เห็นไหม เราศึกษาธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็นพุทธพจน์ แล้วเวลาเราปฏิบัติ เราจะปฏิบัติตามนั้น เราปฏิบัติตามนั้นมันก็ไม่ได้ความเป็นจริงตามนั้น

ถ้าความเป็นจริง เห็นไหม ดูสิ ธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันเป็นสิ่งที่ว่าเป็นกรอบ แล้วความจริงของเราล่ะ ความจริงของเราที่เราจะเข้าสู่กรอบนั้น ถ้าเราเข้าสู่กรอบนั้นไม่ได้ เราจะเอาความจริงมาจากไหน ฉะนั้น การศึกษามาเป็นปริยัติ มันเป็นสัญญา เป็นความจำได้หมายรู้ มันเป็นเรื่องของโลกียปัญญา เป็นเรื่องของโลก ทางวิชาการที่โลกเขาศึกษากันๆ เห็นไหม แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าเราจะทำความเป็นจริงของเราขึ้นมานะ ถ้าเราทำความสงบของใจเราได้ ถ้าใจมันสงบได้ มันเป็นความจริงขึ้นมาได้ เห็นไหม นี่วิปัสสนาธุระ

คันถธุระ คือการศึกษามา ศึกษามาเพื่อให้เรามีความรู้ มีความรู้เรื่องธรรมและวินัย มีความรู้ เห็นไหม “ธรรมะเป็นธรรมชาติ สรรพสิ่งเป็นธรรมชาติ” พอเป็นธรรมชาติ เราก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง กิเลสก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง ถ้าเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง เห็นไหม

เวลาประพฤติปฏิบัติไปก็ “ทำไมพูดอย่างนั้น ทำไมปฏิบัติอย่างนั้น”

“อ้าว! นี่พุทธพจน์นะ”

แล้วพุทธพจน์มาจากไหนล่ะ “พุทธพจน์”

นี่ไง เวลากฎหมายนี่ก็หน้าที่ของอัยการเขา ความเสียหายก็เป็นความเสียหายของรัฐ ไม่ใช่ความเสียหายของเรา เวลาเราได้ผลประโยชน์ล่ะ เวลาเราขัดแย้ง เราเป็นผู้กล่าวโทษ ถ้าเราเป็นผู้กล่าวโทษ เห็นไหม เรามีความสุขความทุกข์ เรามีความเสียหาย เราเป็นผู้กล่าวโทษ ถ้าเรากล่าวโทษ เขาจะเข้ามาเยียวยาความเสียหายนั้น แต่ถ้าเรากล่าวโทษไม่ได้ เพราะเราไม่มีสิทธิกล่าวโทษ

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าบอกว่า ศึกษาธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ธรรมนี้เป็นธรรมชาติๆ” ธรรมชาติมันก็เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะก็คือธรรมชาติ สรรพสิ่งเป็นธรรมชาติ เห็นไหม แต่ถ้าเราปฏิบัติธรรม นี่เราเสียหาย เราเป็นผู้ทุกข์ เราเกิดมา จิตนี้มีอวิชชาครอบงำมันอยู่ เรามีความทุกข์ความยาก เราจะประพฤติปฏิบัติเพื่อจะแก้ทุกข์ของเรานี่ ถ้าแก้ทุกข์ของเรา เห็นไหม นี่วิปัสสนาธุระ

คันถธุระ คือการศึกษาว่า พุทธพจน์ แล้วห้ามที่จะโต้แย้งกับพุทธพจน์...มันไม่มีใครโต้แย้งพุทธพจน์หรอก แต่เวลาปฏิบัติไป มันจะต้องงอกเงยขึ้นมา มันจะเป็นความจริงของใจนั้นขึ้นมา เห็นไหม เราเป็นผู้เสียหาย เพราะเราเป็นผู้ทุกข์ผู้ยาก

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ท่านปรินิพพานไปแล้ว ท่านประพฤติปฏิบัติได้จริงของท่าน ท่านทำจริง ท่านถึงได้เอาคำสั่งสอนนี้มาสั่งสอนเรา เพราะเอาคำสั่งสอนนี้วางธรรมและวินัย แล้วเราศึกษาสิ่งนี้มา มันเป็นปริยัติ เป็นคันถธุระ คันถธุระเขาดูแลรักษาปกครอง แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาก็บอก “สิ่งนี้เป็นธรรมๆ ถ้าใช้ปัญญา ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา เราจะไปทำสมถะ เราจะไปทำพุทโธๆ นี่เป็นสมถะ มันไม่มีปัญญาขึ้นมา มันไม่เป็นปัญญา มันไม่เป็นวิปัสสนา” นี่เขาว่าอย่างนั้น

ถ้าวิปัสสนาของเขาล่ะ วิปัสสนาของเขานี่มีปัญญารู้ตัวทั่วพร้อม มีปัญญารู้ไปหมด นี่คือปัญญาของเขา แล้วใครเป็นผู้เสียหายล่ะ เพราะอะไร เพราะเวลาปัญญาของเขาก็ปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง ก็คือมันเป็นธรรมวินัย มันอยู่ในพระไตรปิฎก พุทธพจน์ๆ มันเป็นเรื่องของรัฐ เป็นเรื่องของธรรม เป็นเรื่องของพุทธศาสนา นี่มันเป็นเรื่องธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วของเราล่ะ ของเราอยู่ไหน

เพราะว่าถ้าเป็นคันถธุระ แล้วเราศึกษามาโดยเถรตรง โดยเถรส่องบาตร จะให้เป็นความจริงตามนั้น แต่ความจริงตามนั้นมันก็เป็นเรื่องของรัฐไปหมดเลย ไม่ใช่เป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่ใช่เป็นเรื่องของเรา พอเราศึกษาไปแล้ว เราทำสิ่งใดมันก็กุดด้วน มันไม่มีอะไรสืบต่อไง

แต่ถ้าเป็นวิปัสสนาธุระ วิปัสสนาธุระนะ มันเริ่มต้นจากครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านศึกษาของท่านมาเหมือนกัน ธรรมวินัยใครจะศึกษาไม่ได้ ใครก็ศึกษาได้ทั้งนั้นน่ะ ศึกษามาทำไม

นี่ศึกษามาไว้เพื่อเป็นคันถธุระ เพื่อปกครอง เพื่อดูแล อันนั้นศึกษามาเพื่อสังคม แต่ถ้าเราศึกษามา นี่ไง เราเป็นผู้เสียหาย เราศึกษามาเพื่อจะแก้ไขกิเลสของเรา เราศึกษามาเพื่อจะประพฤติปฏิบัติ เราศึกษามาจะเป็นวิปัสสนาธุระ

วิปัสสนาธุระ คือเริ่มกำหนดว่า เรื่องของบุคคล เรื่องของเรา เรื่องของจิต พอจิตเกิดมา เราเกิดมาเป็นมนุษย์ มีความสุขความทุกข์ตามแต่อำนาจวาสนาของจิตนั้น เพราะเราเห็นโทษเห็นภัยในวัฏสงสาร เราถึงมาบวชเป็นพระเป็นเจ้ากัน พอบวชเป็นพระเป็นเจ้าขึ้นมา เราศึกษามา ศึกษาจากครูบาอาจารย์ ศึกษาจากภาคปฏิบัติ ถ้าศึกษาจากภาคปฏิบัติ เราขอนิสัยจากครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ของเราก็เป็นผู้พาทำ วางข้อวัตรปฏิบัติไว้ แล้วเราประพฤติปฏิบัติตามนั้น ถ้าเราประพฤติปฏิบัติตามนั้น จิตใจมันจะดิ้นรน มันจะกวัดแกว่ง “ทำไมต้องเป็นแบบนั้น เราเป็นคฤหัสถ์มา ก่อนบวช เราก็เป็นคนมีศักยภาพ เราก็มีศักดิ์ศรีของเรา ทำไมเราต้องมาเชื่อฟัง”...มันเชื่อฟังเพราะครูบาอาจารย์ท่านรู้จริง ท่านเอาเรื่องของเรา เอาการปฏิบัติของเราที่เราปฏิบัติ

เห็นไหม คำว่า “ปฏิบัติ” เวลาเราจะเริ่มทำความสงบของใจนะ ถ้าใจมันสงบระงับเข้ามา นี่เราจะกล่าวโทษแล้ว เราจะกล่าวโทษ เราจะฟ้องสัจจะ ฟ้องธรรม ว่ากิเลสมันครอบงำหัวใจของเรา กิเลสมันทำลายหัวใจของเรา เราจะไม่ให้กิเลสมันเหยียบย่ำเรา ถ้ากิเลสมันเหยียบย่ำเรานะ มันเหยียบย่ำเรา แล้วมันแอบอยู่ มันบังเงาอยู่ในจิตของเรา แล้วมันบอกว่าสิ่งนี้เป็นพุทธพจน์ๆ เราเข้าใจหมด เขาว่าสิ่งนี้เป็นวิปัสสนา สิ่งนี้เป็นปัญญาในพุทธศาสนา ในความเห็นของคันถธุระ ในการประพฤติปฏิบัติของเขาที่เขาประพฤติปฏิบัติกัน

แต่เวลาเป็นวิปัสสนาธุระของเรา ครูบาอาจารย์ของเราไม่สอนอย่างนั้น ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สาธุ! ศึกษามาแล้ว แล้ววางไว้ แล้วเราพยายามทำความสงบของใจให้ได้ ถ้าใจเราสงบระงับเข้ามา เห็นไหม วิถีแห่งจิต ถ้าจิตมันมีการกระทำของมัน

ถ้าจิตไม่มีการกระทำนะ นี่ปฏิสนธิจิต เวลามันลงในไข่ ในครรภ์ ในน้ำครำ ในโอปปาติกะ มันได้กำเนิด พอกำเนิดขึ้นมา นี่มันกำเนิดโดยที่เราไม่รู้ว่าเราเกิดมาจากไหน พอเราไม่รู้ว่าเราเกิดมาจากไหน เราเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ดูสิ เกิดมาก็ออดอ้อนจากพ่อจากแม่ พ่อแม่เลี้ยงเรามา เวลาจะบวชขึ้นมา อุปัชฌาย์นี่ยกเข้าหมู่ พอยกเข้าหมู่ เราก็ศึกษาโดยรูปแบบ รูปแบบธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่วางไว้ นี่ไง เราศึกษาได้แค่นี้ เรารู้จิตได้แค่นี้

แต่เวลาเราไปอยู่กับครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม “วิปัสสนาธุระ” วิปัสสนาธุระนะ ให้ฝึกหัด ให้ตัดเย็บ ฝึกหัดให้รู้จักรักษาบริขาร คำว่า “รู้จักรักษาบริขาร” นั้นคือข้อวัตรนะ นี่รู้จักรักษา รักษาสิ่งนี้ขึ้นมา เพราะการดำรงชีวิตด้วยบริขาร ๘ สิ่งที่เป็นบริขาร เราจะเก็บ เราจะพับ เราจะดูแลของเราอย่างใด ถ้าเราเก็บเราพับ นั้นคือการฝึกหัดสติ นั้นคือการดูแลหัวใจ ไม่ให้หัวใจมันส่ายแส่ออกไปสู่โลก ออกไปสู่เรื่องของโลกธรรม ถ้าจิตใจเราไม่มีใครดูแล จิตใจมันจะแส่ส่ายออกไปสู่โลกธรรม

ติรัจฉานวิชา วิชาของโลกไง เอาวิชาของโลกมาศึกษากัน เอาวิชาของโลกมาให้จิตมันไปอาศัยกัน แต่ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ของเรา ครูบาอาจารย์ของเรานี่ให้มีข้อวัตรปฏิบัติ ให้จิตใจอยู่ในข้อวัตร อยู่ในการกระทำ นี่ปฏิปทาเครื่องดำเนิน พอมันมีเครื่องดำเนิน มันรักษาใจไว้ให้ใจมีเครื่องอยู่ มีที่อาศัย พอมีที่อาศัย เราเริ่มทำความสงบของใจกัน ถ้าทำความสงบของใจ มันจะไปสู่วิปัสสนาธุระ

ถ้ามีคนบอกว่า “พุทโธๆ สิ่งต่างๆ มันเป็นสมถะ มันไม่มีปัญญา มันไม่เป็นปัญญาในพุทธศาสนา” นี่ไง ที่ว่าเวลาที่เขาปฏิบัติปัญญารู้ตัวทั่วพร้อม เขาว่าสิ่งนั้นเป็นวิปัสสนาๆ “เขาว่า เขาว่า” แต่มันเป็นเรื่องความเสียหายของรัฐ เป็นเรื่องความเสียหายในพุทธศาสนา ในเรื่องที่ว่า ถ้ายกให้ศาสนา ยกให้พุทธพจน์ แต่ตัวเองไม่ได้ผลประโยชน์สิ่งใดเป็นประโยชน์กับตัวเอง...เป็นประโยชน์นะ ถ้ามันเป็นประโยชน์ ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก ใจมันไม่รู้จริงเห็นจริง มันก็อ้างสิ่งนั้นแล้วพยายามให้กิเลสมันเหยียบย่ำ เหยียบย่ำว่าสิ่งนี้เป็นธรรมๆ โดยที่ว่าตัวเองไม่มีหลักเกณฑ์ ไม่มีความจริงในหัวใจ เวลาแสดงธรรมออกมา มันถึงแสดงธรรมโดยเลื่อนลอย ไม่มีอะไรเป็นน้ำหนัก ควรหนักควรเบามันไม่มี

แต่ถ้าเป็นวิปัสสนาธุระนะ ครูบาอาจารย์ของเราสอนให้รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน ให้หัวใจนี้มันเปิดกว้าง พอมันเปิดกว้างขึ้นมา มันจะทำคำบริกรรมพุทโธหรือปัญญาอบรมสมาธิ มันจะทำให้จิตนี้ เห็นไหม จากธรรมและวินัย จากข้อวัตรปฏิบัติเป็นธรรมและวินัย เป็นกรอบ แต่มันมีเราไง มันมีวิถีแห่งจิต จิตนี้มันจะเริ่มรู้จักตัวของมันเอง

จิตนี้เวลามันเกิดปฏิสนธิขึ้นมา มันเกิดมาเป็นเรา มันมีแต่ความทุกข์ความร้อน ความเหยียบย่ำในหัวใจ หัวใจจะแบกหามแต่สัญญาอารมณ์ มีแต่ความทุกข์ยาก แต่ไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้จักตัวเองไง แต่เวลาทำขึ้นมา นี่อ้างอิงพุทธพจน์ๆ อ้างอิงว่าสิ่งนี้ อภิธรรม รู้หมด เป็นรูป เป็นนาม สู่สิ่งที่ว่ามันเป็นไปตามหลักวิชาการ แต่ตัวเองไม่เห็น ตัวเองไม่รู้

แต่เราพยายามทำความสงบของใจนะ ถ้าใจมันสงบ วิถีแห่งจิต มันปล่อยวางเข้ามา มันพุทโธๆ เห็นไหม สิ่งที่มันจะออกไปสู่เรื่องของโลก ออกไปสู่สัญญาอารมณ์ มันจัดอยู่ในข้อวัตร ในการฝึกหัดบังคับจิต แต่พอเรามากำหนดพุทโธๆ สิ่งที่มันจะส่งออก นี่ให้มันอยู่ที่พุทโธ เห็นไหม “พุทธานุสติ” เราฝึกหัดสติตั้งแต่เรามีวัตรปฏิบัติ เรามีข้อวัตรปฏิบัติจากครูบาอาจารย์ ถือนิสัยมา แต่เวลากำหนดพุทโธๆ ของเรา จากที่ว่าเรารักษาหัวใจของเรามา ถ้าจิตใจมันเร่าร้อนนะ สิ่งใดก็แล้วแต่ มันจะทิ้งๆ ขว้างๆ...การทิ้งๆ ขว้างๆ มันเป็นอาบัติทั้งนั้นน่ะ มันเป็นอาบัติทุกกฏ คำว่า “ทุกกฏ” คือความไม่ดีงาม สิ่งที่เราทำโดยไม่มีสติสตัง ทุกกฏทั้งนั้นน่ะ

แต่ถ้าเราทำด้วยความมีสติ เรารักษาของเรา เราพับเราเก็บด้วยความเรียบร้อย เวลาเราจะมานั่งสมาธิภาวนา จากข้อวัตรปฏิบัติสิ่งนั้น การฝึกหัดสติจากข้อวัตร มันก็มาฝึกหัดสติจากพุทธานุสติ พุทธานุสติให้จิตมันสงบระงับเข้ามา พอจิตมันสงบระงับเข้ามา วิถีแห่งจิตมันปล่อยมา เห็นไหม มันปล่อยสิ่งต่างๆ เข้ามา ถ้ามันปล่อยสิ่งต่างๆ เข้ามา เรามีสติมีปัญญาของเรา ถ้ามันสงบระงับเข้ามา แล้วเราจะเริ่มออกสู่วิปัสสนา

เวลามรรค ๔ ผล ๔ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมนะ วางธรรมและวินัยไว้ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ถ้ามรรค ๔ ผล ๔ มรรคมันอยู่ที่ไหน ถ้าไม่มีมรรค มันจะเอาผลมาจากไหน เพราะมันไม่มีมรรค มันไม่มีการกระทำไง สิ่งใดที่มันเป็นเหตุ มีความขัดแย้ง มีความขัดข้องต่างๆ ยกให้กับอัยการ ต้องให้อัยการเป็นผู้ฟ้อง ประชาชนไม่มีสิทธิในการฟ้อง แล้วเวลาอ้างพุทธพจน์ๆ นั่นล่ะคือสิ่งที่อ้างธรรม อ้างวินัย อ้างพุทธพจน์

แต่เวลาเราเดือดร้อน เราเดือดร้อนนะ ถ้าเราเดือดร้อน เราต้องฟ้องเอง เราเดือดร้อน เราต้องหาเหตุหาผลว่าทำไมมันเดือดร้อน ถ้าเราฟ้องเอง มันจะมีการไต่สวน มีการสืบสวนว่ามันถูกหรือผิด ถ้าจิตใจของเรา วิปัสสนาธุระนี่มันเอาจิตใจนี้เข้าไปสู่การให้ตีแผ่ว่ามันเป็นจริงหรือไม่เป็นจริง

เวลาเราเกิดมา เราไม่รู้จักตัวเรานะ เราไม่รู้จักจิตหรอก เราไม่เคยเห็นจิต ถ้าจิตใครไม่เคยสงบ ยังไม่รู้จักตัวเอง เวลากำหนดว่ามีความรู้สึกนึกคิด ทันอารมณ์ความรู้สึกของตัว ยับยั้งความรู้สึกนึกคิดของตัวเองได้ อันนี้เป็นสติ มันเป็นสติ เรื่องโลกๆ ไง คนเรานี้ปฏิภาณไหวพริบมันมี แล้วเวลาศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สัญญาอารมณ์เป็นอย่างนั้น เราก็ตรึกในธรรม เราตรึกตาม เวลาเราตรึก เห็นไหม เป็นตรรกะ เราเข้าใจได้ แล้วพอเข้าใจได้ พอเข้าใจ มันปล่อยวาง ก็ว่าสิ่งนี้เป็นธรรมๆ...สิ่งนี้เป็นธรรมๆ ทำไมเราไม่มีเหตุไม่มีผลล่ะ

สิ่งที่เป็นธรรม เห็นไหม มรรค ๔ ผล ๔ มันต้องมีโสดาปัตติมรรค ถ้าไม่มีโสดาปัตติมรรค มันจะไม่มีผล วิปัสสนาธุระมันต้องมีเหตุมีผล ถ้าไม่มีเหตุไม่มีผล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่อาฬารดาบสรับประกันขนาดไหนก็ไม่รับ ไม่เอา ไม่เอา อาฬารดาบสบอกเลย “เจ้าชายสิทธัตถะมีความรู้เหมือนเรา มีความเห็นเสมอเรา ให้เป็นอาจารย์สอนได้” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เอา ปฏิเสธ เพราะใจเรายังทุกข์อยู่ เพราะมันไม่มีเหตุไง คือฟ้องด้วยตัวเองไม่ได้ ตัวเองยังยกใจนี้ขึ้นสู่วิปัสสนาไม่ได้ ถ้าวิปัสสนาไม่ได้ มันไม่มีสิ่งใดที่จะไต่สวนได้ อริยสัจมันเกิดมาไม่ได้หรอก

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่อานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออก จนจิตสงบแล้วพิจารณาของท่านไป นี่มันมีเหตุมีผลของมัน เพราะมีเหตุมีผล เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เสวยวิมุตติสุข แล้ววางธรรมและวินัยนี้ไว้ พอวางธรรมวินัยไว้ให้เราได้ก้าวเดินตามนะ

กึ่งพุทธกาลนี้ศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง แล้วเรามีครูบาอาจารย์ของเรา ครูบาอาจารย์ของเราท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนถึงที่สุดแห่งทุกข์ แล้วท่านก็มีข้อวัตรปฏิบัติให้เราได้ดำเนินตาม เราดำเนินตามด้วยจิตใจที่เป็นสุภาพบุรุษ จิตใจที่ยอมรับเหตุรับผล ไม่ใช่จิตใจที่ไหลไปตามแต่กิเลสตัณหาความทะยานอยากอ้างอิง อ้างอิงผลทั้งนั้นน่ะ เพราะกิเลสมันมักง่าย กิเลสมันไม่อยากลำบากลำบน มันก็อ้างธรรมๆ พออ้างธรรมนะ มันก็มีสัญญาอารมณ์แบบนั้น

เวลาเราอยู่ในโลก “สิ่งนี้เราไม่มีสิทธิฟ้อง สิ่งนี้เป็นเรื่องของอัยการ” เห็นไหม “สิ่งนี้เป็นพุทธพจน์ๆ เราไม่รับรู้ เราก็อยู่กับสังคมโลกไปอย่างนั้นน่ะ” นี่มันก็เป็นสิ่งที่ว่ามันก็เวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะไป

แต่ถ้าเราจะทำของเรานะ เรามีเหตุมีผลของเรา เราพยายามทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบนะ ปุถุชนคนหนา ปุถุชนคนหนาคือว่าทำใจให้สงบได้ยาก เราถึงต้องมีศีล เราเสียสละทานกันเพื่อให้จิตใจเป็นสาธารณะ แล้วเรามีศีลของเรา ศีลคือความปกติของใจ ศีลคือความปกติของใจนะ แต่พอเรามีศีลขึ้นมา เราบังคับไม่ให้ใจนี้มันคิดออกนอกลู่นอกทาง แล้วเรามีคำบริกรรมของเรา ถ้าไม่มีคำบริกรรม ไม่มีปัญญาอบรมสมาธิ จิตนี้เป็นสมาธิไม่ได้

ดูสิ เวลาตะกอนในน้ำ เวลาน้ำ ถ้านิ่ง ตะกอนในน้ำนั้นก็ตกลงสู่ก้นแก้ว เวลาเราขยับ ตะกอนนั้นก็ขึ้นมา จิตใจก็เหมือนกัน สิ่งที่เป็นสัญญาอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดมันมีของมัน เดี๋ยวพอมันสงบนิ่งอยู่ ตะกอนก็ตกอยู่ก้นแก้ว พอเดี๋ยวมันมีอะไรกระทบ มันก็ขึ้นอีก มันเป็นอย่างนั้นอยู่ตลอดไป

ฉะนั้น มีคำบริกรรมพุทโธๆๆ เราพยายามจะทำให้สิ่งนี้มันสงบระงับ ถ้าสิ่งนี้สงบระงับนะ สงบระงับแล้วมันจะเป็นกัลยาณปุถุชน รูป รส กลิ่น เสียง คือสิ่งที่กระทบจิต แก้วนี้เวลาขยับขึ้นมา สิ่งที่มีตะกอน เวลาขยับ น้ำมีการไหลเวียน ตะกอนนั้นมันก็จะฟูขึ้นมา ถ้ามันสงบขึ้นมา ตะกอนนั้นมันก็อยู่ก้นแก้ว

นี่ก็เหมือนกัน จิตใจ ถ้ามันไม่มีสิ่งใดไปกระทบ มันก็ว่ามันไม่มีสัญญาอารมณ์ ไม่มีความรู้สึกนึกคิด มันมีแต่ความสุข เวลามีสิ่งที่กระทบขึ้นมา มันก็มีสัญญาอารมณ์ มันก็กระพือขึ้นมา นี่ก็เหมือนกัน ฉะนั้น เรามีเหตุมีผลในการดูแลรักษา ถ้าเรามีพุทธานุสติ พุทโธๆๆ พุทธานุสติ เห็นไหม นี่มันเกาะไง มันเกาะ มันมีการบริหารจัดการ มันไม่ใช่ลอยมาจากฟ้า สมาธินี่

เดี๋ยวก็คิดดี เดี๋ยวก็คิดร้าย เดี๋ยวเราก็มีอารมณ์ความรู้สึกพอใจ เดี๋ยวเราก็มีอารมณ์ความรู้สึกขัดแย้ง มันมีของมันโดยธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้นน่ะ แต่ถ้าเราเอาพุทธานุสติบังคับไว้ มันมีที่มาที่ไป วิถีแห่งจิตมันต้องมีการดำเนินการของมัน มันต้องมีจุดเริ่มต้น มีการกระทำ พอมีการกระทำขึ้นมา ถ้าพุทโธๆ จนมันสงบขึ้นมา มันสงบได้นี่ ถ้าพอมันสงบแล้วเราฝึกหัดใช้ปัญญา ฝึกหัดใช้ปัญญาจนมันคล่องตัว จนมันใช้งานได้ ถ้าจิตสงบแล้ว ถ้ามันน้อมไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม นี่ถ้ามันน้อมไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันจะออกใช้ปัญญาตามความเป็นจริง ขณะที่จิตเราเริ่มสงบแล้วเราฝึกหัดใช้ปัญญาอย่างนั้น นี่คือใช้ปัญญาที่ว่าฝึกหัด ปัญญามันจะไม่เกิดขึ้นเอง

นี่บอก “จิตสงบแล้วมันจะเกิดปัญญา น้ำใสจะเห็นตัวปลา” นี้มันเป็นธรรม เป็นบุคลาธิษฐาน เป็นคำเปรียบเทียบ เป็นสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยายามจะชักจูงจิตของผู้ที่กระทำให้เห็นเหตุเห็นผล ฉะนั้น พอบอก “น้ำใสแล้วเห็นตัวปลา” เพราะถ้าจิตสงบแล้วมันใส มันมีปลาอยู่ในน้ำนั้น คือมันมีกิเลสอยู่ในหัวใจนั้น ฉะนั้น พอน้ำใสจะเห็นตัวปลา เราก็บอกว่า “รอให้น้ำใสแล้วจะเห็นตัวปลา” เราไม่ฝึกหัดใช้ปัญญา มันจะเกิดปัญญาขึ้นมาไม่ได้

นี่ไง วิปัสสนาธุระ วิปัสสนาธุระมันต้องมีการดำเนินการ เริ่มตั้งแต่จิตสงบแล้วออกฝึกหัดใช้ปัญญาอย่างใด การใช้ปัญญามันจะเป็นวิปัสสนาจริงๆ ไม่ใช่วิปัสสนาโดยพุทธพจน์ที่ว่าเป็นวิปัสสนา “ใช้ปัญญาแล้วเป็นวิปัสสนา เราใช้ปัญญาแล้ว” อันนี้มันเป็นเรื่องของความเสียหายของรัฐ มันไม่ใช่เรื่องความเสียหายของเรา ถ้าเป็นเรื่องความเสียหายของรัฐ มันก็เป็นเรื่องของอำนาจของอำนาจรัฐ

แต่ถ้าเป็นความเสียหายของเรา เราทุกข์เรายาก เราจะแก้ไขของเรา ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา เราต้องฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้ามันยังไม่สงบ เราก็ใช้ปัญญาพิจารณาเทียบเคียงๆ ให้จิตใจของเรามีหลักมีเกณฑ์ มีหลักมีเกณฑ์คือว่ามันพอใจในพุทโธไง มันพอใจในการกระทำ ถ้าจิตเราไม่พอใจ มันอึดอัดขัดข้องไปหมด ถ้าวันไหนเราพอใจ วันไหนเราภูมิใจ เราจะทำพุทโธได้ เราจะทำจิตสงบของเราได้ วันไหนมันอึดอัดขัดข้อง ทำสิ่งใดแล้วไม่มีสิ่งใดประสบความสำเร็จสักอย่างหนึ่ง อึดอัดไปหมดเลย นี่เราใช้ปัญญา มันแยกแยะตรงนี้ได้

ปัญญาว่า เรานั่งทำไม เรามาค้นหาอะไร ก็เราเกิดมาทุกข์ แล้วเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนถึงที่สุดแห่งทุกข์ แล้วที่สุดแห่งทุกข์มันแก้กันที่นี่ มันไม่ได้แก้กันที่ความจำ มันไม่ได้แก้กันที่การอ้อนวอนเอา มันไม่ได้แก้ที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์จะพยากรณ์ชี้เอาให้เราเป็นแบบนั้น มันไม่มี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ ท่านเป็นผู้ชี้ทางเท่านั้น ฉะนั้น ถ้าเราเกิดมาแล้วเราทุกข์ เราเกิดมาแล้วเราอยากจะมีความสุขด้วยความเป็นจริง เราก็ต้องแก้ไขของเรา ถ้าเราแก้ไขของเรา เราก็พอใจทำ

ถ้าเราพอใจทำ เห็นไหม การทำความสงบของใจ การใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราก็พอใจทำ พอใจทำนี่มันก็ราบรื่น พอราบรื่น เราทำสิ่งใดไป ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมา นี่เป็นจริงขึ้นมาถ้าจิตมันสงบบ่อยครั้งเข้าๆ จนมั่นคง พอมั่นคง นี่ปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน พอกัลยาณปุถุชน มันจะใช้ปัญญาพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม อันนี้จะเป็นโสดาปัตติมรรค มันต้องมีมรรค พอมีมรรค เห็นไหม มรรค ๘ พอมีมรรค มีการกระทำ นี่วิปัสสนาธุระ มันมีธุระจัดการของจิต จิตมันทำอย่างไรมันถึงเป็นวิปัสสนา มันถึงเป็นงาน มันถึงมีการกระทำ มันถึงมีการถอดถอนให้หัวใจนี้เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป เห็นไหม ถ้าจิตมันถอดถอน มันเบาอย่างไร เวลาจิตสงบแล้วมีความสุขอย่างไร เวลามันออกใช้ปัญญาแล้วมันมีการกระทำ มันว่าง มันโล่ง มันโถงอย่างใด

ดูนะ ในทางโลก เวลาเขาส่งยานอวกาศขึ้นไปสู่อวกาศเพื่อทำสถานีอวกาศ เขามีสถานีอวกาศเพื่ออะไร? เพื่อทดลองทางวิทยาศาสตร์ แล้วเขาจะส่งคนขึ้นไป ส่งสัมภาระขึ้นไปอยู่บนสถานีอวกาศนั้น นี่ก็เหมือนกัน จิต ถ้าเป็นปุถุชน จิตที่เป็นโลก มันก็เป็นเรื่องอย่างหนึ่ง เราอยู่กับโลกนี่เราอยู่สุขสบายมากนะ เรากระโดดอย่างไร เราจะทำตัวอย่างไรนะ แรงดึงดูด แรงโน้มถ่วงมันไม่ให้เราหลุดออกไปจากโลกนี้หรอก เราจะทำอย่างไรก็ได้ แต่ถ้าเราทำความสงบของใจ พอใจมันสงบแล้วมันรู้มันเห็นของมัน ถ้ามันรู้มันเห็นของมัน นี่วิถีแห่งจิต ถ้าวิถีแห่งจิต มันจะเกิดวิปัสสนา การวิปัสสนา เห็นไหม วิปัสสนาในอะไร

ถ้าอยู่ในโลก แรงดึงดูดของโลก แรงโน้มถ่วงของโลก การทดลองทางวิทยาศาสตร์นั้นมันไม่สมบูรณ์ แต่ถ้าเขาไปทดสอบทดลองทางวิทยาศาสตร์กันในสถานีอวกาศ เพราะพ้นจากแรงโน้มถ่วง นี่ก็เหมือนกัน จิต ถ้ามันมีกิเลส มีอวิชชา มันมีความเห็น ตัณหาความทะยานอยาก มันเข้าข้างตัวมันเองตลอด นี่ไง ถ้ามีมรรคมีผล พอถ้าจิตเราสงบ เราเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เพราะจิตเราสงบ มันเหมือนกับอยู่บนสถานีอวกาศ มันไม่มีแรงโน้มถ่วง มันไม่มีสิ่งต่างๆ มันมีการกระทำของมัน แล้วมันเป็นแบบใด ถ้ามันเป็นแบบใด นี่พิจารณาซ้ำพิจารณาซาก พิจารณาของมันไปเป็นชั้นเป็นตอน เห็นไหม นี่วิปัสสนาธุระนะ

วิปัสสนาธุระ คืองานของใจ

วิปัสสนาธุระ คือมีมรรคมีผลของมัน

ถ้ามรรคผลของมันมีการกระทำของมัน มันจะเป็นความจริงของมัน

ไม่ใช่ว่าสิ่งที่ว่า “เราใช้ปัญญาแล้วนี่จะเป็นวิปัสสนา เราใช้ปัญญา” นี่เราอ้างกันเองไง เราอ้างว่า “เราใช้ปัญญาๆ แล้วพุทโธๆ พระป่ามันเป็นสมถะ มันไม่มีปัญญา”...มันไม่มีปัญญา มันสร้างฐานขึ้นมาได้อย่างใด

นี่วิปัสสนาธุระมันเกิดที่นี่ ครูบาอาจารย์ตามความเป็นจริงท่านทำของท่านอย่างนี้ มันเกิดโสดาปัตติมรรค เพราะเกิดโสดาปัตติมรรค มันก็เป็นสถานีอวกาศนะ สถานีอวกาศมีการกระทำของใจนั้น ใจดวงนั้นมันทดสอบของมัน มันเป็นปัญญาของใจดวงนั้น นี่ไง มันมีฐานของมัน มันมีวิถีแห่งจิต จิตที่มันมีการกระทำ ถ้าจิตมีการกระทำ มันถึงมีผล ถ้าจิตไม่มีการกระทำ เอาผลมาจากไหน มันไม่มีผล เห็นไหม มันเป็นแบบว่าพุทธพจน์ๆ อ้างอิงกันไป อ้างอิงสิ่งนั้น อ้างอิงนะ

ทีนี้เราปฏิบัติขึ้นไป พอเราปฏิบัติ พิจารณาซ้ำพิจารณาซาก พิจารณากาย เห็นไหม พิจารณาแยกแยะของมัน ถ้าแยกแยะนะ แยกแยะเพราะมันไม่มีแรงดึงดูดใช่ไหม ไม่มีแรงโน้มถ่วง ไม่มีสิ่งใดเข้ามากระทำ ถ้ามันปล่อยวางได้ๆ การทดลองทางวิทยาศาสตร์บนยานอวกาศ บนสถานีอวกาศ ทดลองเสร็จแล้วได้ผลไหม นี่ทดลองซ้ำๆ ทดสอบตรวจสอบๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนมันเป็นจริงตามนั้น ถ้ามันเป็นความจริงตามนั้นมันก็เป็นผลใช่ไหม ถ้ามีผลเกิดขึ้น ฉะนั้น เราจะทำให้จิตใจนี้ก้าวเดินต่อไป นี่จิตใจมันจะก้าวเดินต่อไปนะ

นี่วิปัสสนาธุระ มีการกระทำนะ จะไปถึงสถานีอวกาศ ถ้ามียานอวกาศ เขาจะขับเคลื่อนต่อไป เห็นไหม จิตมันสงบแล้ว ทำความสงบของใจ โสดาปัตติมรรคมันก็มีการกระทำของจิต มีสัมมาสมาธิ มีปัญญาของจิต วิปัสสนาญาณ วิปัสสนาธุระมันมีกำลังของมันในระดับของมัน ถ้าระดับของมัน พิจารณาแล้ว พิจารณาซ้ำจนมันถึงที่สุด มันขาด มันปล่อยมันวางของมันไป

งานต่อไป ถ้าจะเป็นสกิทาคามิมรรค ถ้าสกิทาคามิมรรค เห็นไหม จากสถานีอวกาศ เขาจะไปสู่ดวงจันทร์ ยานอวกาศนั้นจะขับเคลื่อนไปสู่ดวงจันทร์ เพื่ออะไร? เพื่อเป็นฐาน นี่วิปัสสนาธุระมันมีเหตุมีผลของมัน ไปสู่ดวงจันทร์นั้นไปทำไม? ไปสู่ดวงจันทร์เพื่อไปศึกษา ไปพิสูจน์การกระทำนั้น ถ้าไปสู่ดวงจันทร์นั้น อะไรไปสู่ดวงจันทร์นั้น? นี่โสดาปัตติมรรค สถานีอวกาศ สกิทาคามิมรรค ขึ้นไปสู่ฐานที่ดวงจันทร์นั้น มันจะขึ้นสูงขึ้นไป

นี่ไง วิปัสสนาธุระมันต้องมีเหตุ ถ้ามันไม่มีเหตุ มันจะเอาผลมาจากไหน นี่เหตุสมควร ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ผู้ใดด้นธรรมมันก็ได้ธรรมะด้นเดาทั้งนั้น ถ้าเรามีสัมมาสมาธิ ทำความสงบของใจเข้ามา จิตที่ว่าพิจารณาของเรา เห็นไหม ตั้งแต่สถานีอวกาศนั้นได้พิสูจน์ตรวจสอบกันแล้ว จนกระบวนการที่มันจบสิ้น พอจบสิ้นกระบวนการ เราไปต่อเนื่อง

เพราะจิตนี้มันหมุนเวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะ สิ่งที่เป็นวัฏฏะ กามภพ รูปภพ อรูปภพ มันยังเวียนตายเวียนเกิดไปถ้ามันมีแรงดึงดูดของมัน นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเรามีโลก เรามีจักรวาล เวลาพ้นจากโลกขึ้นไปสถานีอวกาศ เราพิจารณาของเรา เราจะพิจารณาต่อไป สกิทาคามิมรรคทำความสงบของใจให้มากขึ้น ถ้าใจมันสงบมากขึ้นนะ มันจะน้อมไปสู่กาย สู่เวทนา สู่จิต สู่ธรรม ถ้ามันพิจารณาแล้ว พิจารณาซ้ำพิจารณาซาก พิจารณา เห็นไหม นี่ไง วิถีแห่งจิตมันจะก้าวเดินต่อไป ถ้าวิถีแห่งจิตมันก้าวเดินต่อไป วิปัสสนาธุระมันมีเหตุมีผลของมัน

โสดาปัตติมรรคกับสกิทาคามิมรรค มันแตกต่างกันอย่างใด

ถ้าสกิทาคามิมรรค เวลามันจับกาย จับเวทนา จับจิต จับธรรมขึ้นมาแล้วมันพิจารณา พิจารณาอย่างใด พอพิจารณาแล้วมันปล่อย มันปล่อยวางอย่างใด การปล่อยวาง การกระทำของมัน มันมีเหตุมีผลของมัน ถ้ามีเหตุมีผลของมัน เห็นไหม ดูสิ เราพิจารณาแล้ว สิ่งที่เป็นอุปาทานในหัวใจ

ในหัวใจนะ เวลาที่มันเป็นปุถุชน มันทุกข์มันร้อนแค่ไหน เวลาเราพิจารณาของเราขึ้นมาบนสถานีอวกาศ พ้นจากความโน้มถ่วง พ้นจากแรงดึงดูด มันก็แตกต่างกันแล้ว จิตใจที่มันเป็นปกติ จิตใจที่มันอยู่กับโลกนี่จะทำอย่างไร จนเราหัวหกก้นขวิด มันก็อยู่บนโลกนี้ มันไม่ไปไหนหรอก ถ้ามันไม่ไปไหน มันเกิดมันตายที่นี่ มันก็จะเวียนในวัฏฏะนี้ แต่เพราะเราจะขับเคลื่อน เราจะเอาจิตของเราให้พ้นออกไปจากกิเลส พอพ้นออกไปจากกิเลส เราก็ทำของเรา ในความจริงของเรา

ในทางความเป็นจริง ทางวิทยาศาสตร์เขามีของเขาอยู่แล้ว เราพิจารณาของเรา พอจิตมันพ้น เป็นสัมมาสมาธิก็พ้นจากแรงดึงดูดของกิเลส มันก็เป็นสถานีอวกาศ มันขึ้นไปแล้วมันทำการตรวจสอบของมัน ตรวจสอบของมัน มันมีการกระทำของมันแล้ว นั่นล่ะคือโสดาปัตติมรรค พอมันถึงที่สุดของมรรค มันก็เป็นผล

พอถึงเป็นผล เราทำความสงบของใจเข้ามาอีก พอใจสงบแล้วเราออกพิจารณาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม สิ่งที่มันเป็นอุปาทานในใจ สิ่งที่เป็นอุปาทานในใจนะ พิจารณาซ้ำพิจารณาซาก พิจารณาซ้ำพิจารณาซาก มันก็ปล่อย เห็นไหม ความปล่อย ปล่อยบ่อยครั้งเข้าๆ บนดวงจันทร์นั้นมันมีสิ่งใด บนดวงจันทร์นี้เราขึ้นมาพิสูจน์เรื่องสิ่งใด? ในดวงจันทร์นั้นมันก็มีแต่แร่ธาตุ นี้มันเป็นธาตุ มันเป็นแร่ธาตุใช่ไหม แต่ในหัวใจล่ะ ในหัวใจ ในสิ่งที่เป็นกิเลสที่เป็นนามธรรมนี่ จิตที่เป็นนามธรรม

แต่ให้เห็นความแตกต่าง นี่วิปัสสนาธุระ วิถีแห่งจิตที่มันมีการกระทำ ความรู้สึกนึกคิด สิ่งที่ว่าเป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร รูปมันเป็นอย่างไร สัญญาเป็นอย่างไร สังขารเป็นอย่างไร วิญญาณเป็นอย่างไร แล้วมันเสวยอารมณ์อย่างไร ตัณหาความทะยานอยากมันร้อยรัดอย่างใด นี่พูดถึงความหยาบความละเอียดไง

ทีนี้พอมันขึ้นไปสู่ดวงจันทร์ มันก็พิสูจน์ของมัน พิจารณาของมัน พิจารณาสิ่งใด? พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม แยกแล้วแยกเล่าๆ เวลามันทำลายกันนะ มันทำลายดวงจันทร์นั้นทั้งดวงจันทร์นั้น มันทำลาย มันพิจารณาแล้วเวลามันขาดนะ โลกนี้ราบหมดเลย ไม่มีสิ่งใดในหัวใจนั้น ว่างหมด เห็นไหม ความว่างหมด สิ่งนี้มันเป็นผล

ถ้าสิ่งนี้เป็นผล นี่วิถีแห่งจิต จิตมันมีการกระทำของมัน จิตมันรับรู้ มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก มันรู้ว่าจิตใจดวงนี้มันพ้นสิ่งใดมา มันมีสิ่งใดที่เป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยากที่มันทับถมหัวใจนี้ แล้วมันได้ทำลายเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา นี่มันรู้ของมัน ถ้ารู้ของมัน

โดยปัญญาของเรา เรามีปัญญา ดูสิ นักวิทยาศาสตร์ที่เขาพิสูจน์ของเขา เขาทดสอบของเขา เห็นไหม คนมีความเห็นแตกต่างกัน ถ้ามีความเห็นแตกต่างว่า สิ่งนี้เป็นถึงที่สุดแห่งทุกข์ เขาก็ติดของเขา แต่ถ้านักวิทยาศาสตร์ที่เขายังไม่ยอม ไม่ยอมรับว่าสิ่งนี้เป็นถึงที่สุด เพราะมันยังมีดวงอาทิตย์ มันมีจักรวาล มีสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ที่เรายังรู้ได้อยู่ ถ้าเรารู้ได้อยู่ เราจะก้าวหน้าไปอย่างใด

การจะก้าวหน้าขึ้นไป ถ้ามีครูบาอาจารย์ของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านจบรอบหมดแล้ว ท่านวางธรรมวินัยไว้หมดแล้ว แล้ววางธรรมวินัยไว้ เวลาเราอ้างพุทธพจน์กัน เราก็อ้างโดยตรรกะ เราอ้างว่าสิ่งนี้มันเป็นเหตุเป็นผลของพุทธพจน์ มันไม่ใช่เป็นเหตุเป็นผลของเรา นี่เราพูดธรรมะได้ แต่ในหัวใจของเราไม่มีสิ่งใดที่มันถลอกปอกเปิก ไม่มีสิ่งใดที่มันจะชำระล้างออกจากหัวใจของเราเลย

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเราพิจารณาแล้ว พอมันทำลาย โลกนี้ราบหมด มันมีแต่ความสุขนะ แล้วมันก้าวเดิน ถ้ารักษาไว้ มีสติปัญญา สิ่งนี้จะเป็นความสุขมาก แต่ถ้าเราจะดำเนินการต่อไป วิถีแห่งจิตที่มันจะดำเนินการต่อไป ถ้าทำความสงบของใจเข้ามานะ มันจะจับได้

โลก ดวงจันทร์ จักรวาลนี้มันอยู่ได้ด้วยอะไร? มันอยู่ได้ด้วยพลังงานของดวงอาทิตย์ เพราะดวงอาทิตย์มันให้พลังงาน มันให้สรรพสิ่งต่างๆ ให้สิ่งมีชีวิตในจักรวาลนี้ นี่เหมือนกัน ในความรู้สึกนึกคิดของเรา เห็นไหม กามราคะ สิ่งที่เป็นกามราคะ เพราะกามราคะมันถึงสร้างเผ่าพันธุ์ การมีเผ่าพันธุ์ เพราะเกิดจากกามราคะ

สิ่งที่กามราคะ ถ้าผู้ที่พิจารณา พิจารณาทำลายดวงจันทร์หมดแล้ว ทำลายสกิทาคามิมรรค มันทำลายอุปาทานในหัวใจหมดแล้ว มันว่างหมด ไม่มีสิ่งใดเลย พอว่างหมด เพราะว่าปฏิเสธไม่ยอมรับสิ่งใด มันก็ว่ามันไม่มี แต่ถ้าจิตมันสงบ พอจิตมันเริ่มสงบ มันจะเป็นมหาสติ พอมหาสติ ถ้ามันจับ มันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมโดยตามความเป็นจริง มันจะเป็นมหาปัญญา

นี่เหมือนกัน ความเร่าร้อนของดวงอาทิตย์ มันจะมีวัตถุสิ่งใดที่เขาจะเข้าไปพิจารณา ไปตรวจสอบดวงอาทิตย์ วัตถุสิ่งใดเข้าไปถึงดวงอาทิตย์ มันก็ย่อยสลายหมด เพราะดวงอาทิตย์ เห็นไหม ดูพลังงานของมัน ความร้อนของมันจะมีแรงมหาศาลขนาดไหน

ความโลภ ความโกรธ ความหลงในหัวใจของเรา มันเผา มันทำลายดวงใจดวงนี้ แต่ดวงใจดวงนี้ไม่เคยย่อยสลาย ไม่เคยเสียหาย ใจไม่เคยตาย มีความโลภ ความโกรธ ความหลงครอบงำใจดวงนี้ แล้วเอาใจดวงนี้เวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะ ถ้ามันพอใจ มันก็สร้าง มันก็ดำรงเผ่าพันธุ์ของมันต่อไป แต่ถ้าเราเป็นนักบวช เราเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติ เราถือพรหมจรรย์ เราถือพรหมจรรย์มันก็เผาเราในหัวใจจากภายใน ถ้ามันเผาหัวใจเราจากภายใน ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา มันจับได้ มันจะเป็นมหาสติ เป็นมหาปัญญา นี่จะเป็นอนาคามิมรรค ถ้าอนาคามิมรรคมันเกิดขึ้นมา มันพิจารณาของมัน นี่มันจับได้ เพราะดวงอาทิตย์มันส่งพลังงานมาอยู่แล้ว เพียงแต่เราปฏิเสธมัน

เวลาจิต โลกนี้ราบเป็นหน้ากลอง มันปล่อยวางหมดแล้ว เราปฏิเสธมันเอง เราไม่ยอมรับรู้ว่ามันมีอยู่ เพราะถ้าเรารับรู้ว่ามีอยู่ เราจะต้องไปทำงาน เราจะต้องไปพิจารณามัน เราจะต้องไปต่อสู้กับความโลภ ความโกรธ ความหลง กิเลสมันฉลาดนัก กิเลสมันบอกว่า “สิ่งนี้ไม่มี สรรพสิ่งนี้ไม่มี ที่เราประพฤติปฏิบัติมาแล้ว สิ่งนี้เป็นความถูกต้องทั้งหมด”

เห็นไหม กิเลสอย่างหยาบ กิเลสอย่างกลาง กิเลสอย่างละเอียด...กิเลสอย่างละเอียดมันทำลายหัวใจดวงนี้ให้ใจดวงนี้อยู่ในอำนาจของมัน แม้แต่มันประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม ดูสิ สถานีอวกาศก็ทำลายมาแล้ว ดวงจันทร์มันก็ได้ทำลายมาแล้ว มันบอก “สิ่งนี้ไม่มีแล้ว จบแล้ว”

แต่ถ้าเราพิจารณาของเรา จิตเราสงบขึ้นมา มันจับต้องดวงอาทิตย์ได้ ถ้ามันปฏิเสธดวงอาทิตย์ มันก็ว่าดวงอาทิตย์ไม่มี แต่ถ้ามันจับต้องดวงอาทิตย์ได้ เห็นไหม พลังงานของดวงอาทิตย์ ดูสิ เอาอะไรไปจับ? นี่ไง มหาสติ มหาปัญญา มันมีของมัน มันจับต้องได้ พอจับต้องได้ มันก็มีการกระทำ

“วิปัสสนาธุระ” ถ้าวิปัสสนาธุระ นี่มีการกระทำไง มีการกระทำ มีความเป็นไป มันมีความมหัศจรรย์ไง จิต ถ้ามีความมหัศจรรย์ขึ้นมา มันจะรู้ของมันว่าจิตนี้ได้ทำสิ่งใดมา

ถ้าจิตทำสิ่งใดมา ดูสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาท่านแสดงธรรมๆ เห็นไหม เวลายมกปาฏิหาริย์ ดูสิ ที่เขามาท้าพิสูจน์ลองฤทธิ์ลองเดช องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ให้ใครทำนะ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้รับท้าเอง นี่ทำยมกปาฏิหาริย์ แสดงกับเขา เวลาออกมานี่ มีไฟออกจากหูข้างหนึ่ง มีน้ำออกจากหูอีกข้างหนึ่ง มีไฟออกจากจมูกข้างหนึ่ง มีน้ำออกจากจมูกอีกข้างหนึ่ง

นี่ไง ถ้าจิตใจมันมหัศจรรย์ สิ่งที่มันทำประสบความสำเร็จมาแล้ว สิ่งต่างๆ ที่มันเข้าใจได้หมดแล้ว เรื่องอภิญญา ๖ มันเป็นเรื่องที่จิตมันทำได้ แต่ขณะที่มันยังทำไม่ได้ มันมีแต่ความเร่าความร้อนในหัวใจ มันแผดเผา แผดเผาด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ด้วยอวิชชา แผดเผาด้วยมาร แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่ เราจะประพฤติปฏิบัติมาด้วยธรรม

ถ้าประพฤติปฏิบัติด้วยธรรม เห็นไหม ดูสิ เวลาบอกว่ามีมหาสติ มหาปัญญา มันจะเข้าไปจับดวงอาทิตย์ เราบอกว่าสิ่งนี้มันเร่าร้อนเกินไปนัก มันจะมีสิ่งใดเข้าไปจับไปต้องมันได้ นี่ไง แต่ถ้ามันวิปัสสนาธุระ วิถีแห่งจิตที่มันทำได้ มันเห็นโทษของมัน มันจับของมันได้ ถ้ามันจับของมันได้ มันแยกแยะได้ มันพิสูจน์ได้...พิสูจน์อะไร พิสูจน์อะไร

เวลาจิตมันเป็นมหาสติ มหาปัญญานะ เวลามันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันเป็นอสุภะ สิ่งที่เป็นอสุภะ มันพิสูจน์ตรวจสอบกัน ดูสิ ในจักรวาลนี้ สิ่งที่ให้พลังงานมันคืออะไร? คือพลังงานจากดวงอาทิตย์ทั้งนั้นน่ะ พลังงานจากดวงอาทิตย์มันให้พลังงาน ให้สิ่งต่างๆ เพื่อชีวิต เพื่อเผ่าพันธุ์ เพื่อความเป็นไปของพืช ของมนุษย์ ของสัตว์ ของสิ่งต่างๆ เป็นอย่างนั้นหมดล่ะ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันเป็นกามราคะ สิ่งที่เป็นกามราคะมันแผดเผาตัวมันนะ สิ่งนี้แหละที่มันทำให้จิตรอดพ้นไปไม่ได้ สิ่งนี้มันทำให้จิต เห็นไหม

ดูสิ คนเกิดมาในจักรวาล ดวงอาทิตย์ดวงหนึ่งให้ผลประโยชน์ ให้ความอบอุ่น ให้แสง ให้ต่างๆ กับโลกกับจักรวาลนี้มากมายขนาดไหน นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิต ในจิตของเราที่มันเวียนตายเวียนเกิด เวียนตายเวียนเกิดเพราะใคร? เวียนตายเวียนเกิดเพราะความโลภ ความโกรธ ความหลง

สิ่งที่เวลาโกรธ เห็นไหม คนที่มีนิสัยนุ่มนวล เวลาโกรธ โกรธก็เผาลนในหัวใจของตัว นิ่มนวลนะ แต่พอโกรธขึ้นมาแล้วก็ต้องมีผลตอบสนอง มีผลกับหัวใจดวงนั้น เห็นไหม เวลาโลภ โลภขึ้นมาก็เผาลนของมัน ถ้าเวลามันหลงล่ะ นี่ความโลภ ความโกรธ ความหลง กามราคะ เพราะมีเหตุนี้มันถึงหมุนให้เป็นไป เพราะจิตมันผูกพันกับสิ่งนี้

พอจิตมันผูกพันกับสิ่งนี้ เวลาพูดถึงจักรวาลนี่มันใหญ่โตนัก แต่เวลาพูดถึงจิต พูดถึงนามธรรม สิ่งใดมันก็บรรจุไว้ในจิตได้ จิตนี้มันบรรจุได้ทั้งหมด ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันบรรจุอยู่ในหัวใจดวงนี้ ถ้าหัวใจดวงนี้มันบรรจุไว้ด้วยความทุกข์ความยาก มันบรรจุไว้ด้วยอวิชชา ความไม่รู้ตัวตนของมัน ถ้าเรามีสติปัญญา เวลามันออก มันจับได้ มันออกพิจารณานะ การพิจารณากามราคะ การพิจารณาอสุภะนี่ มันทำแล้วทำเล่า แล้วมันมีความหลอกลวง มันมีสิ่งที่มันจะรักษาสถานะของมัน

อวิชชานะ เรื่องกามราคะ สิ่งนี้มันเป็นแม่ทัพใหญ่ แม่ทัพใหญ่นะ สิ่งที่ทำให้สัตว์โลกเราทุกข์ร้อนอยู่นี้ก็เป็นเพราะเหตุนี้ ถ้าเป็นเพราะเหตุนี้ การต่อสู้ การจะทำลายกัน เพราะจะทำลาย เห็นไหม ในกองทัพใดก็แล้วแต่ แม่ทัพเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าแม่ทัพที่ฉลาด เขาจะนำกองทัพนั้น จะขับเคลื่อนไปยึดต่างๆ ได้ทั้งโลกเลย เขาจะครองโลกกัน นี่พูดถึงเขาจะครองโลกนะ เขาจะครองโลกโดยโลกนี่มันครองได้ยาก เพราะอะไร เพราะเรื่องของความเห็นต่าง แต่ถ้าเราครองโลกในใจเรานี่มันครองได้ มันครองได้เพราะอะไร เพราะอวิชชามันควบคุมไว้หมดอยู่แล้ว นี่ความไม่รู้ในใจมันครอบครองใจดวงนี้อยู่แล้ว

ทีนี้ใจดวงนี้มันเวียนตายเวียนเกิด มันเป็นความลึกลับ มันเป็นความมหัศจรรย์ มันเป็นสิ่งที่ถ้าไม่มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่มีใครสามารถเข้าไปรู้เห็นเรื่องอย่างนี้ได้ แต่เพราะมีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

วันนี้วันสำคัญทางพุทธศาสนา เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา แล้ววางธรรมวินัยนี้ไว้ พอวางธรรมวินัย พอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา พอเทศนาว่าการขึ้นมา นี่รื้อสัตว์ขนสัตว์ เทศนาว่าการทีหนึ่ง เทวดา อินทร์ พรหม สำเร็จเป็นแสนๆ ล้านๆ นี่เทศนาว่าการทีหนึ่ง ดูสิ พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ เห็นไหม เวลาสำเร็จขึ้นมาเป็นร้อยเป็นพัน นี่ไง เพราะผู้ที่มีความจริงอันหนึ่งในหัวใจขึ้นมา มันจะเป็นประโยชน์มหาศาลขนาดนั้น

ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “อานนท์ บอกเขานะ ให้ปฏิบัติบูชาเถิด อย่าบูชาด้วยอามิสกับเราเลย” บูชาด้วยอามิสมันเป็นเรื่องของการฝึกหัดการฝึกฝน จากคนที่มันไม่เชื่อ จากคนที่ไม่มีหลักมีเกณฑ์ เขาก็ต้องฝึกหัดกันขึ้นมาแบบนั้น แต่ในการปฏิบัติของเรา เวลาเราปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม เวลาปฏิบัติขึ้นมา ถ้าไม่มีครูไม่มีอาจารย์ ไม่มีผู้ชี้นำ มันก็ปฏิบัติโดยกิเลสไง ปฏิบัติโดยกิเลส นี่ยกต่างๆ ยกเหตุยกผลไว้ให้กับความเห็นของรัฐ ความเห็นของธรรม แต่ไม่มีความเห็นของตัวเลย

แต่ถ้าเราปฏิบัติ เพราะเรามีอำนาจวาสนา เราถึงเกิดมากึ่งพุทธกาล มีครูมีอาจารย์ของเรานะ ครูบาอาจารย์ของเราท่านประพฤติปฏิบัติของท่านขึ้นมา ท่านมีเหตุมีผลของท่านขึ้นมา แล้วท่านวางข้อวัตรปฏิบัติ เราก็ทำตามนั้นจนจิตใจมันพัฒนาขึ้นมา มันจะรู้มันจะเห็นของมัน ถ้ารู้เห็นของมัน มันมีเหตุมีผลอย่างนี้ไง มันมีการกระทำจริงๆ แล้วมันเป็นการกระทำภายใน

ดูสิ เวลาฤทธิ์เวลาเดชของจิต ฤทธิ์เดชจากภายในมันมีของมัน เวลาปัญญาเราเกิด ใครจะรู้ใจของใคร ใครจะเห็นปัญญาของใครว่าปัญญาของใครหยาบ ปัญญาของใครละเอียด แต่ถ้ามันเป็นปัญญาละเอียด มันแสดงออก ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ การประพฤติปฏิบัติ นี่มันมีการคุยกัน ในเมื่อหมู่ชน ในกลุ่ม ในครอบครัวกรรมฐาน ในครอบครัวของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เขารู้เขาเห็นของเขานะ ถ้ารู้เห็น คนรู้ได้ขนาดไหนก็พูดได้ขนาดนั้น แต่ถ้าครูบาอาจารย์ของเรา ถ้าถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้ว ท่านรู้ขั้นตอนของจิตทั้งหมด ถ้ารู้ขั้นตอนของจิตทั้งหมด ท่านจะคอยดูแล คอยสั่งสอน คอยบอก

แล้วเราปฏิบัตินี่ล้มลุกคลุกคลาน แม้แต่เรารู้เราเห็นนะ เราเป็นมหาสติ มหาปัญญา...มหาสติ มหาปัญญาเป็นเรื่องใหญ่โตมาก คำว่า “ใหญ่โตมาก” เห็นไหม แม้แต่สติปัญญานี่เรากำหนด เริ่มต้นจากการปฏิบัติ เราก็ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด แต่เพราะเรามีการฝึกฝน มีความหมั่นเพียร มีการกระทำ มันก็พัฒนาขึ้นมาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา

แต่ขณะเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา ขณะที่ว่าเราเป็นมหาสติ มหาปัญญา มันไปเจอแม่ทัพของกิเลสไง ไปเจอแม่ทัพของอวิชชา แม่ทัพคือความโลภ ความโกรธ ความหลง มันเป็นนางตัณหา นางอรดี แต่ถ้าขึ้นไปจะไปเจอพญามาร พญามารนี้เป็นพ่อนะ แล้วมีลูก ๓ คน มีนางตัณหา นางอรดี ความโลภ ความโกรธ ความหลง ออกมาล่อ ออกมาลวง ถ้าเป็นผู้ชายก็เป็นแม่ทัพที่ออกไปยึดเมือง ยึดหัวใจนี้ไว้ให้อยู่ในอำนาจของกิเลสตัณหาความทะยานอยาก

แล้วเรามีสติมีปัญญา เราจะพยายามแยกแยะ พยายามต่อสู้ การต่อสู้นี่ พิจารณาซ้ำ เวลาพิจารณากาย มันเป็นอสุภะ ถ้าเป็นธรรม คำว่า “ธรรม” มีสติมีปัญญา เห็นไหม ดูสิ เราจะเข้าไปพิสูจน์ดวงอาทิตย์ ดวงอาทิตย์มันเป็นพลังงาน มันเป็นประโยชน์ทั้งหมดเลย แล้วมันเป็นประโยชน์อย่างใด

แต่ถ้าเราเข้าไปพิสูจน์ก็พิสูจน์ในหัวใจของเรา พิสูจน์ดวงอาทิตย์ในหัวใจของเรา พิสูจน์พลังงานของเรา พิสูจน์สิ่งที่ว่ามันเป็นประโยชน์ๆ ประโยชน์อะไร? มันเป็นประโยชน์กับโลก ประโยชน์กับโลกหมายถึงว่ามันเป็นเรื่องโลกๆ ไง แต่ถ้าเป็นธรรมล่ะ เป็นธรรมนี่ สิ่งใดมันมีอยู่ สิ่งนั้นเป็นอนิจจัง สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา

พระอาทิตย์มันอยู่ของมันไหม พระอาทิตย์มันจะอยู่ของมันยั่งยืนไหม ถ้าพระอาทิตย์มันอยู่ของมันยั่งยืน พระอาทิตย์นี้มันจะหมดอายุไหม? มันหมดแน่นอน นี่ก็เหมือนกัน จิตใจของเรามันจะอยู่อย่างนี้ใช่ไหม มันจะเป็นอย่างนี้ตลอดไป เราจะยั่งยืนอย่างนี้เหรอ? มันไม่ยั่งยืน ไม่ยั่งยืนแล้วมันทำกรรมดีกรรมชั่ว แล้วมันเวียนตายเวียนเกิดขึ้นมา มันก็ให้ผลกับใจดวงนี้ ถ้าใจดวงนี้มันยังมีสิ่งนี้อยู่ ยังเผาลนอยู่ มันจะปลอดภัยไปไม่ได้ มันจะมั่นคงไม่ได้ ถ้ามั่นคงไม่ได้ เราจะทำอย่างไรให้ใจของเรามั่นคง ถ้าใจเรามั่นคง เราก็ต้องทำลายพลังงานอย่างนี้ พลังงานอยู่นี่ไง นี่คือพลังงานดวงอาทิตย์นะ

แต่ถ้าเป็นธรรมล่ะ เห็นไหม มันเป็นอสุภะ มันพิจารณาซ้ำพิจารณาซาก พิจารณาบ่อยครั้งเข้า มันพิจารณาขนาดไหน กิเลสมันก็พลิกแพลงไง เดี๋ยวมันก็ล่อ เดี๋ยวมันก็ลวง เดี๋ยวก็บังเงา “สิ่งนี้เป็นธรรม สิ่งนี้พิจารณาแล้ว สิ่งนี้รู้แล้ว”...สิ่งที่มันล่อลวงขนาดไหน เหมือนกับเราใช้เครื่องมือของเรา ใช้มหาสติ มหาปัญญาเข้าไปพิสูจน์ดวงอาทิตย์นั้น นี่มันจะล่อจะลวงอย่างไรมันเป็นเรื่องของมัน

เราพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำของมันนะ พอถ้ามันเป็นจริง เห็นไหม มันปล่อย พอมันปล่อย มันก็มีความสุข พอมันปล่อย มันก็ว่าง มันก็มีความสุข ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนมีความชำนาญของมัน ต้องมีความชำนาญนะ ถ้าไม่มีความชำนาญ เพราะว่าพอปล่อยแล้วเดี๋ยวก็เกิดอีก พอปล่อยแล้วเดี๋ยวมันก็พลิกแพลงอีก

ถ้ามันเป็นอสุภะ คำว่า “อสุภะ” มันก็ปล่อย สุภะ อสุภะ แล้วมันพลิกมาเป็นสุภะได้ไหม? มันก็พลิกมาสุภะได้ เพราะอะไร เพราะว่าเรามีกิเลสมีตัณหาความทะยานอยากอยู่ในใจอยู่แล้ว นี่ของมันมีอยู่ พระอาทิตย์มีความร้อนไหม เราจะเอายานอวกาศอย่างใด เราจะเอาเครื่องมือสิ่งใดเข้าไปสู่ดวงอาทิตย์นั้น เพราะเข้าไปนี่มันหลอมละลายหมด สิ่งใดเข้าไปมันก็หลอมละลายทั้งนั้น แล้วเราจะพิสูจน์มันอย่างใด

ถ้ามันพิสูจน์ นี่เวลาพิจารณาแล้วมันเป็นอสุภะ พอมันเข้าไปหลอมละลาย มันก็เป็นสุภะ มันก็เป็นความพอใจของมัน พอสิ่งใดเข้าไปมันก็หลอมละลายอยู่ในดวงอาทิตย์นั้นน่ะ ออกมาไม่ได้หรอก เราคิดว่าออกมาไม่ได้ แต่ถ้าเราทำของเราบ่อยครั้งเข้าๆ เวลาดวงอาทิตย์มันควบแน่น รวมตัวลง ดับลง เห็นไหม รวมตัวแล้วมันยุบยอบลง มันเป็นอะไร? มันดึงตัวมันเองเข้าสู่ตัวมันเอง พอเข้าสู่ตัวมันเอง มันทำลายตัวมันเอง พอมันทำลายตัวมันเองมันก็ปล่อยหมด เห็นไหม

สิ่งที่ทำลายตัวมันเอง มันครืน! ในหัวใจนะ พิจารณาซ้ำพิจารณาซาก พิจารณาจนถึงที่สุด เห็นไหม เวลากามราคะ สิ่งที่ขันธ์อย่างละเอียดมันทำลายตัวมันเอง มันควบแน่น มันรวมตัว มันพลิกออกมา นี่กลายเป็นหลุมดำ มันดูดทุกๆ อย่าง เข้าไปสู่มันหมดเลย เราปล่อยหมด เห็นไหม นี่วิถีแห่งจิต มันพัฒนาของมันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป

วิปัสสนานะ “วิปัสสนาธุระ” มันต้องมีเหตุมีผลกับใจดวงนั้น ถ้าใจดวงนั้นไม่มีเหตุมีผลในการกระทำ มันเป็นความผิด มันเป็นผล มันเป็นเรื่องความเสียหายของรัฐ เป็นความเสียหายของวัฏฏะ ไม่ใช่ความเสียหายของจิตดวงนี้ ถ้าเป็นความเสียหายของจิตดวงนี้ จิตดวงนี้เป็นผู้หาเหตุหาผล จิตดวงนี้เป็นผู้ฟ้องร้องเอง ฟ้องร้องกับอะไร? การฟ้องร้องก็ฟ้องร้องโดยสัจจะนี้ไง ฟ้องร้องกันนี่

ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรคญาณ เห็นไหม ทุกข์เป็นความจริง ใครเกิดขึ้นมา ทุกข์เป็นความจริง ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ ทุกข์ดับไป เห็นไหม ความทุกข์นี้ดับไป ทุกข์เพราะอะไร มันดับไปเพราะอะไร? ดับไปเพราะอวิชชามันดับ ดับไปเพราะตัณหาความทะยานอยากมันดับ ดับไปเพราะสมุทัยมันดับ ดับด้วยอะไร มันดับเพราะเหตุใด? มันดับเพราะมีมรรคญาณ มรรคญาณมันเกิด เพราะอะไร? มันเกิดนิโรธคือการดับทุกข์

การดับทุกข์ นี่ไง เวลาฟ้องร้องนี่มีการกระทำ เพราะใจมันมีธรรม มันมีเหตุมีผลของมัน มันถึงเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก ฉะนั้น เวลามันทำลาย ทำลายถึงดวงอาทิตย์ ดวงอาทิตย์โดนย่อยสลายด้วยอำนาจของมรรค ด้วยอำนาจของมหาสติ มหาปัญญา มันทำลายหมด ทำลายหมด เห็นไหม รวมตัวหมด กลายเป็นหลุมดำ หลุมดำมันดูดทุกๆ อย่างไปในนั้นนะ

เวลาทำลายดวงอาทิตย์แล้ว นี่ไง สิ่งที่ว่า “วิถีแห่งจิต” จิตมันมีการกระทำ มีการพัฒนา มีการยกสถานะสูงขึ้น ความสูงขึ้นนะ มรรค ๔ ผล ๔ โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค เพราะอนาคามิมรรค มันทำลายของมัน มันเป็นความจริงของมัน มันถึงมีเหตุมีผลของมัน ถ้ามันมีเหตุมีผลของมัน มันก็เป็นความจริงของจิตดวงนี้ใช่ไหม ถ้าจิตดวงนี้มันไม่มีเหตุมีผล มันจะเอาความจริงมาจากไหน

นี่ไง ถ้าไม่มีความจริง ก็พุทธพจน์ไง ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้นแล้ว ปัญญานี้เป็นการศึกษา ปัญญานี้เป็นปัญญาที่ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ ที่เราศึกษาธรรมวินัยนี้ไว้เป็นเครื่องดำเนิน ถ้าเราศึกษาแล้ว เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา จิตใจมันจะพัฒนาขึ้นไป ถ้ามันศึกษาแล้วมันปฏิบัติขึ้นมา มันศึกษาขึ้นมา มันเป็นเรื่องของรัฐ เป็นเรื่องของธรรม แต่เราไม่ได้ เราไม่มี เราไม่เป็น เห็นไหม

นี่วิปัสสนาธุระๆ มันเป็นอย่างไร วิปัสสนาธุระ...คันถธุระมันมีอยู่แล้ว มันอ้างอิงตามทางวิชาการได้หมด ถ้าอ้างอิงตามทางวิชาการก็ปกครองกันตามนั้น ถ้าปกครองกันตามนั้น มันก็เป็นเรื่องโลกๆ เห็นไหม เรื่องโลกกับเรื่องธรรม เราเป็นนักปฏิบัตินะ เราเป็นพระเป็นเจ้า เราเป็นผู้เผยแผ่ แต่เราเผยแผ่แบบโลก เผยแผ่แบบทางวิชาการไง แต่ไม่ได้เผยแผ่แบบธรรม ถ้าเผยแผ่แบบธรรม มันต้องมีคุณธรรมในหัวใจ จิตใจนี้มันมีการพัฒนาของมันขึ้นมา มันปฏิบัติของมันขึ้นมา

เห็นไหม เราทำลาย ขนาดที่ว่าทำลายดวงอาทิตย์เลยล่ะ แล้วพอดวงอาทิตย์มันทำลายแล้ว มันกลายเป็นหลุมดำ ถ้าหลุมดำมันดูดขึ้นมานะ มันเกิดกาแล็กซีของมัน มันจะชนกันนะ นี่ก็เหมือนกัน มันทำลายดวงอาทิตย์แล้ว หลุมดำมันดูดทุกอย่างเข้าไป “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส”

สิ่งที่ทำให้เราเกิดในกามภพ ถ้าเกิดในกามภพ เห็นไหม ดูสิ เวลาจิต ถ้าพูดถึงวิปัสสนาจนทำลายกามราคะ คนที่มีอำนาจวาสนาเท่านั้นก็ไปเกิดบนพรหม นี่มันมีการเกิด เพราะมันมีจิต “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส” จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส ความผ่องใส เศร้าหมอง...ความผ่องใส เศร้าหมองนี่เรารู้เราเห็นได้ยาก รู้เห็นได้ยาก

“อนาคามิมรรค” สิ่งที่เป็นอนาคามิมรรค พิจารณาอนาคามิมรรค แล้วเวลาอนาคามิมรรคมันก็เป็นอนาคามิผล แล้วเป็นอรหัตตมรรคนี่มันหาที่ไหน สิ่งที่จะเป็นอรหัตตมรรคนี่ หลุมดำมันอยู่ไหน ใครค้นหาหลุมดำเจอ หลุมดำมันอยู่ไหน มันดูดสรรพสิ่งเข้าไปอยู่กับมันหมดนะ สิ่งใด วัตถุใดเข้าไปอยู่ใกล้เคียง หลุมดำมันดูดหมด นี่ก็เหมือนกัน ผ่องใสๆ ว่างหมด ไม่มีสิ่งใดเลย จับต้องสิ่งใดไม่ได้เลย แล้วมันอยู่ไหน มันอยู่ไหน

สิ่งที่จะเป็นโสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค มรรค ๔ ผล ๔ ถ้ามรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ เห็นไหม เวลาอรหัตตมรรค อรหัตตผล นี่ระหว่างการกระทำ แต่ถ้าเป็นผลล่ะ ทำไมมรรค ๔ ผล ๔ ต้องมีนิพพาน ๑ ด้วย ถ้ามันอรหัตตมรรค อรหัตตผล ก็จบ อรหัตตมรรค อรหัตตผล มันอยู่ระหว่างจิตที่มันพัฒนา จิตที่มันก้าว มันเปลี่ยนแปลงไป แต่ถ้ามันเปลี่ยนแปลงถึงที่สุด งานถึงที่สุดแล้วมันถึงจบสิ้นกระบวนการ

แต่จิตที่ยังไม่ถึงที่สุด เห็นไหม โสดาปัตติมรรค ถ้าเป็นโสดาปัตติผลแล้วเป็นอกุปปธรรม ไม่เสื่อมจากนี้ แต่ถ้ามันพัฒนาขึ้นมา มันจะเป็นสกิทาคามิมรรค ถ้าสกิทาคามิมรรค ถ้ามันไม่สมุจเฉทปหาน มันก็ไม่เป็นสกิทาคามิผล ถ้าสกิทาคามิผล มันจะก้าวเดินไปไหน ถ้ามันเป็นสกิทาคามิผล ผลนี้มันรองรับไว้ ถ้ารองรับไว้ เห็นไหม เดี๋ยวมันออกไปพิสูจน์ตรวจสอบ ถ้าตรวจสอบ มันก็ไปเจออนาคามิมรรค ถ้าไปเจออนาคามิมรรค มันก็ไปเจออนาคามิผล นี่สิ่งที่เป็นผล มันจะเป็นอกุปปธรรมๆ รองรับเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา แต่ถ้ามันเป็นหลุมดำแล้ว เราหาหลุมดำไม่เจอ มันก็คาอยู่อย่างนั้นแหละ แต่ถ้าเราเจอหลุมดำ มันก็เป็นอรหัตตมรรค

ถ้าเจอหลุมดำ จับหลุมดำได้ มันละเอียดลึกซึ้ง ละเอียดลึกซึ้งนะ จิตที่มันจะจับได้ มันจะเห็นได้นะ นี่วิปัสสนาธุระ มันจะเอาจิตดวงนี้ จิตดวงใดก็แล้วแต่ที่เป็นผู้เสียหาย จิตดวงใดก็แล้วแต่ที่เกิดมามีอวิชชา จิตดวงใดก็แล้วแต่ที่เกิดมามีพญามาร พญามารปกป้องคุ้มครองเจ้าของ ยึดมั่นกับจิตดวงนั้น

แต่เราเชื่อมั่น เพราะเราเกิดมาเป็นชาวพุทธ วันนี้วันสำคัญทางพุทธศาสนา เราปฏิบัติของเรา เราทำจริงจังกับการกระทำของเรา จิตเรามันจะพัฒนาขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป เป็นชั้นเป็นตอนเพราะมันมีจริง ถ้ามันไม่มีจริง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาสิ่งใดมาเป็นธรรมวินัยมาสั่งสอนเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทำได้จริง ทำได้จริงด้วยอำนาจวาสนาบุญบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้ววางธรรมและวินัย เพราะท่านจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ คือวางธรรมและวินัย คือวางทางทฤษฎี วางสิ่งที่เป็นธรรมวินัยให้เราก้าวเดิน นี่มันเป็นเรื่องของศาสนา เป็นเรื่องของความเสียหาย ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติก็เป็นเรื่องของวัฏฏะ

แต่ถ้ามันเป็นกิเลสของเราล่ะ มันเป็นกิเลสของเรา มันเป็นความเสียหายของเรา มันเป็นความทุกข์ของเราที่เราจะชำระล้างกิเลสของเรา เราก็ต้องทำของเรา ถ้าทำของเรา มันก็เป็นวิปัสสนาธุระ วิปัสสนาธุระเกิดที่ไหน? วิปัสสนาธุระเกิดจากใจ มันเป็นเรื่องของมรรค เรื่องของศีล สมาธิ ปัญญา เรื่องของปัญญาที่เป็นนามธรรม แต่เป็นนามธรรมที่เรามีเหตุมีผล มีการกระทำ จิตมีการกระทำ มันมีการกระทำ มีความเป็นจริง มีองค์ความรู้ มีความเห็นจริง ถึงจะได้บอกกล่าวกับ...เห็นไหม เป็นศาสนทายาท เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร เป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะก้าวเดินตาม

ที่เราก้าวเดินตามกันอยู่นี้ เราก้าวเดินตามใครมา? เราก้าวเดินตามหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นที่ท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ท่านมีองค์ความรู้ความเป็นจริง ท่านถึงได้วางข้อวัตรปฏิบัติ แล้วคอยชัก คอยนำ คอยประคอง คอยดูคอยแลเรากันขึ้นมา ถ้าเราขึ้นมา เราปฏิบัติขึ้นมา เราก็มีองค์ความรู้ เราก็มีวิปัสสนาธุระ

วิปัสสนาธุระ! วิปัสสนาธุระ! วิปัสสนาธุระ! เพราะมันมีจิตสงบ มันมีความเป็นจริงขึ้นมา แล้วมันทำเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา เห็นไหม มีการกระทำ มีสติ มีมหาสติ มีมหาปัญญา พอมีมหาสติ มหาปัญญา มันก็ใคร่ครวญๆ จนทำลายดวงอาทิตย์ไปแล้ว แล้วมันต้องมีสติปัญญาอัตโนมัติ

อัตโนมัติคือความที่มันเป็นไปเอง แต่ถ้ามันเป็นอัตโนมัติ คือสิ่งที่มันละเอียดลึกซึ้ง หลุมดำนะ สิ่งใดเข้าไปใกล้มัน จะทนแรงดึงดูดไม่ได้ จะโดนกลืนกินไปหมด สิ่งที่เป็นผ่องใสๆ มันก็ว่างหมด มันก็มองไปข้างนอก เห็นไหม ว่างข้างนอก หลุมดำมันว่างไหม? มันว่าง มันดูดกลืนกินสิ่งใดเข้าไป

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีสติมีปัญญาพร้อม มันจะเป็นอรหัตตมรรค ถ้าอรหัตตมรรค มันจะจับจิตของมันได้ จับตัวตนของตน ถ้ามันจับตัวตนของตน เห็นไหม ดูสิ หลุมดำนี่มันรู้จักตัวมันเอง หลุมดำมันดูดสิ่งต่างๆ เข้ามา มันกลืนกินทุกอย่างทั้งหมด ไม่มีวันอิ่มเต็ม ซับสรรพสิ่งทั้งหมดเข้าไปในหลุมดำ จะไม่มีสิ่งใดได้ออกมาเลย นี่สิ่งที่มันเป็นความจริงของมันขนาดนั้น ฉะนั้น ถ้าจิตเรามีอรหัตตมรรค เราจะเข้าไปจับความเป็นจริงอันนี้ แล้วสติปัญญาที่มันเป็นน้ำซับน้ำซึม มันไม่ใช่ขันธ์ไง

ขณะที่เราใช้ปัญญา เราเข้าไปสู่ดวงอาทิตย์ เรายังใช้เครื่องมือแล้วพิสูจน์กันด้วยสติ ด้วยปัญญา มหาสติ มหาปัญญา แต่เวลาเข้าไปเป็นปัญญาญาณ ปัญญาญาณที่จะเข้าไปพิสูจน์หลุมดำนั้น ถ้ามันทำลายหลุมดำนั้น ถ้ามันเป็นหลุมดำ มันมีกาแล็กซีของมัน มันจะไปชน มันจะทำลาย เพื่อเกิดบิ๊กแบง เกิดจักรวาลใหม่

แต่ถ้าเราใช้อรหัตตมรรค พอไปทำลาย มันไม่มีบิ๊กแบง มันทำลาย ทำลายมัน นี่ไม่กระเทือนใคร ไม่สร้างเวรสร้างกรรมให้ใคร ไม่สร้างสิ่งที่เป็นวัตถุกระทบกระเทือนไปส่งพลังงานไปในจักรวาลนั้นอีกแล้ว ถ้ามันไม่ส่งพลังงานไปในจักรวาลนั้น มันเข้าไปด้วยความซับซ้อนของมัน มันละเอียดลึกซึ้งของมัน ถ้าละเอียดลึกซึ้งของมัน นี่ไง สิ่งที่เป็นวิปัสสนาธุระ มันมีเหตุมีผล มีการกระทำ มีความเป็นไปของมัน มันถึงเป็นความจริงขึ้นมา ถ้าเป็นความจริงอย่างนี้ขึ้นมา เห็นไหม นี่ไง มันถึงเป็นวิปัสสนาธุระ

ไม่ใช่เป็นปัญญาที่ว่า วิปัสสนาปัญญา ปัญญาในพระพุทธศาสนาที่เขาว่ากันไป ว่ากันไปแบบนั้น สุดท้ายแล้วก็ยกให้พุทธพจน์หมดเลย นี่เป็นความเสียหายของรัฐ เป็นความเสียหายของธรรม แต่ตัวเองนะ จิตดวงนั้นมันก็เป็นเบี้ยล่าง เป็นสิ่งที่ว่าให้อวิชชาให้มารครอบงำไว้ แต่เอาธรรมะมาบังไว้ ธรรมะ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมและวินัยนี้มาบังเป็นฉากไว้ แต่กิเลสมันอาศัยสิ่งนั้นหาผลประโยชน์ อาศัยสิ่งนั้น จิตดวงนั้นไม่ได้แก้ไข ไม่ได้ทำลายสิ่งใดๆ เลย

แต่ถ้าเรามีสติมีปัญญาของเรา เราจะสร้างคุณงามความดีของเรา คุณงามความดีอันนี้เกิดจากความมุมานะ เกิดจากความเพียรชอบ เกิดจากความวิริยะ ความอุตสาหะที่เรามีสติมีปัญญาของเรา เราทำตามความเป็นจริงของเรานะ

เรื่องของโลกเป็นเรื่องของโลก เวลาเรานั่งภาวนากันอยู่นี่ เห็นไหม ใจดวงหนึ่ง ใจดวงหนึ่งในใจของใคร ใจดวงนั้นเราก็ต้องเป็นผู้รักษาเอง ใจดวงนั้นเราก็ต้องเป็นผู้ดูแลรักษา เรามีสติมีปัญญา เราใช้ปัญญาของเราขนาดไหน ใคร่ครวญอย่างไรให้เกิดประโยชน์กับเรา เห็นไหม นี่มันเป็นความเสียหาย มันเป็นผลประโยชน์ มันเป็นสิ่งเกิดขึ้นมาจากใจดวงนั้น ถ้าใจดวงนั้นพิจารณาขึ้นมา มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก

แล้วเวลาใจดวงนั้น ถ้ามีเหตุมีผลขึ้นมาโดยการวิปัสสนาญาณ วิปัสสนาธุระขึ้นมาอย่างนี้ด้วยเหตุด้วยผล มันกล่าวกันได้ ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เวลาลูกศิษย์หลวงปู่มั่น เห็นไหม หลวงปู่มั่นท่านอยู่ของท่าน ท่านดูแลของท่านด้วยอำนาจวาสนา ด้วยบารมีของท่าน เวลาท่านล่วงไปแล้ว สิ่งที่เรารับต่อกันมา เราจะตรวจสอบกัน คุยกัน ดูแลกัน ดูแลกันด้วยให้มันเป็นความจริงไง

เวลาครูบาอาจารย์ของเรานะ หลวงปู่มั่นท่านรู้ของท่านเอง เพราะมันไม่มีใครมีอำนาจวาสนาขนาดนั้นหรอก เวลาหลวงปู่ตื้อท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม เวลาหลวงปู่ตื้อกับหลวงปู่มั่นท่านมีอภิญญาเหมือนกัน ท่านพูดภาษาเดียวกัน ท่านเข้าใจของท่าน แต่ถ้าพูดถึงของเรานะ ปัญญาหรืออำนาจวาสนาของเราอ่อนด้อยกว่า ความรู้ความเห็นเราจะไม่ได้ขนาดนั้น ถ้าไม่ได้ขนาดนั้นนะ มันต้องคุยกัน ต้องดูแลกัน ต้องรักษากัน มันถึงจะเป็นความจริงของการประพฤติปฏิบัติ

ฉะนั้น ถ้าเราปฏิบัติของเราขึ้นมา มันมีความจริงขึ้นมาอย่างนี้ มันมีเหตุมีผล มันจับต้องได้ มันจับต้องแล้วเราเอามาดูแล ดูแลให้หัวใจของเรา ถ้าเรามีความจริงของเรา “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส” พอเรามีสติมีปัญญาของเรา เห็นไหม อรหัตตมรรค มันดูแล มันรักษา มันซึม มันซับ มันพลิกแพลงได้ มันทำลายได้ มันทำลายสิ่งนี้จบ

ดูสิ ในเมื่อจักรวาลนี้มันทำลายไปหมด ทำลายนี่ วัตถุมันทำลายแล้ว สสารมันก็เกิดสสารใหม่ แต่ในเมื่อจิตนี้เป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรม สิ่งที่อวิชชา มาร เรื่องของนามธรรม มันอยู่ในหัวใจนี้ หัวใจนี้กลั่นกรอง กลั่นกรองด้วยสติ ด้วยปัญญา ด้วยมรรคญาณ ด้วยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าด้วยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม มันทำลายในใจนี้นะ

เวลาเป็นอริยทรัพย์ เห็นไหม ทรัพย์สมบัติของเขา เขาต้องมีที่เก็บที่รักษา ทรัพย์สมบัติของใจ ถ้าใจมันยิ่งกระทำ นามธรรมนี้อยู่ในร่างกายนี้ ในร่างกายเรามองเห็นกันได้ แต่ในหัวใจ ใครจะเห็นใจของใคร แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติ ท่านมีความรู้เสมอกัน ท่านมีความเห็นเหมือนกัน เวลาท่านพูดคุยกัน มันจะเป็นความจริงที่ท่านรู้ท่านเห็น ท่านพิจารณาของท่านได้ ฉะนั้น สิ่งนี้เวลาครูบาอาจารย์ท่านสนทนาธรรมกัน เราถึงได้อยากได้ยินได้ฟังสิ่งนั้นเพื่อเป็นคติ เพื่อเป็นสิ่งที่ว่ามาหล่อเลี้ยงหัวใจให้หัวใจชุ่มชื่น ให้หัวใจของเราร่มเย็น เพราะสิ่งนั้นเป็นเป้าหมาย

สิ่งที่เป็นเป้าหมายของเรา ครูบาอาจารย์ท่านทรงไว้ ท่านรักษาไว้ ถ้าท่านทรงไว้ ท่านรักษาไว้ด้วยวิปัสสนาญาณของท่าน ท่านถึงได้เหตุผลนั้นมา ถ้าได้เหตุผลนั้นมา ท่านจะบอกกล่าวเราได้ ท่านจะสั่งสอนเราได้ ท่านจะคอยชี้ทางเราได้ ถ้าชี้ทางเราได้ เราถึงมีกำลังใจ เราถึงมีกำลังประพฤติปฏิบัติ เพราะท่านชี้ทางบอกเราได้ เราถึงลงใจท่านไง

ถ้าลงใจ เราจะฟังธรรม ถ้าใจของเราแข็ง ใจเรากระด้าง ธรรมนั้นมันเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา มันไม่เห็นคุณค่า แต่ถ้าจิตใจของเรามีวุฒิภาวะของจิตที่เรามีอำนาจวาสนา เราฟังสิ่งใดมันตกผลึกลงใจเรานะ มันตกผลึกลงในหัวใจของเรา ถึงเราจะทำยังไม่ได้ แต่เราก็มีเป้าหมาย เราก็มีทางวิชาการ มีสิ่งที่เราเคยได้ยินนี้คอยตรวจสอบ มันเป็นอย่างนั้นหรือไม่เป็นแบบนั้น ถ้ามันเป็นแบบนั้นนะ มันเป็นเหตุเป็นผลอันเดียวกัน มันจะสรุปอันเดียวกัน เห็นไหม อริยสัจมีหนึ่งเดียว

เวลาครูบาอาจารย์เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา จะเป็นเจโตวิมุตติหรือปัญญาวิมุตติ แต่ถึงที่สุดแล้วเป็นอริยสัจหนึ่งเดียว ไม่มีการโต้เถียง ไม่มีการขัดแย้งกัน ลงใจกันหมด แต่ถ้ามันไม่ลงใจ มันขัดมันแย้ง ที่บอกว่า วิปัสสนาธุระ เขาว่าวิปัสสนาจารย์ วิปัสสนาจารย์โดยคันถธุระ โดยความเห็น โดยพุทธพจน์ แล้วพอวิปัสสนาธุระนี่ เขาบอกว่า “สิ่งนี้มันเป็นสมถะ สิ่งนี้มันไม่มีประโยชน์ สิ่งนี้มันไม่เป็นปัญญา ไม่เป็นปัญญา”...แต่เวลามันมีเหตุมีผล เพราะมันเป็นเรื่องส่วนตน มันเป็นเรื่องของใจดวงนั้น พอใจดวงนั้นถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้ว ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ปฏิบัติถึงที่สุดแล้วอันเดียวกัน อันเดียวกัน สื่อสารกันได้ อันเดียวกันกับผู้ที่ปฏิบัติตามความเป็นจริงนะ แต่มันไม่อันเดียวกันกับวิปัสสนาธุระ กับวิปัสสนาจารย์ มันจะโต้แย้งกัน

เพราะอันหนึ่งมันเป็นทฤษฎี อันหนึ่งเป็นธรรมวินัยที่ศึกษามาด้วยสมอง ด้วยการศึกษา อันหนึ่งพิจารณามาด้วยนามธรรม ด้วยหัวใจที่ออกประพฤติปฏิบัติ มีเหตุมีผล มีการกระทำ เห็นไหม ทำลายแม้แต่หลุมดำ ทำลายทุกอย่างในหัวใจ ทำลายทั้งหมดแล้ว สิ่งนี้ถึงจะเป็นความจริงในหัวใจดวงนั้น

วันนี้เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนานะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้บรรลุธรรม เห็นไหม เกิดวันนี้ ตรัสรู้วันนี้ ปรินิพพานวันนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนปรินิพพาน นี่บอกพระอานนท์นะ “อานนท์ บอกบริษัท ๔ นะ ให้ปฏิบัติบูชาเถิด อย่าบูชาเราด้วยอามิสเลย” เอวัง