ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เพราะอยากได้

๙ มิ.ย. ๒๕๕๕

 

เพราะอยากได้
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๙๒๙. เนาะ ข้อ ๙๒๙. เขายกเลิกคำถาม แล้วก็ถามต่อไปว่าเรื่อง “เราเผลอ เขาฉวยโอกาส” เรื่องเก่านั่นแหละ ทีนี้คำถามเราไม่อ่านเลย มันผ่านไปแล้ว นี่จะมาข้อที่เขาถาม

ถาม : ๑. ถ้ามีพระสงฆ์ที่พาโยมทำในสิ่งที่ผิดพุทธบัญญัติ เพื่ออ้างเหตุผลว่าเป็นการช่วยคนให้พ้นทุกข์ และโยมมารู้ตัวตอนหลังว่าไม่ใช่ทาง และมันเป็นกรรมต่อเนื่อง โยมควรจะตีตัวออกห่างจากพระสงฆ์ ก็ได้มาประกาศตนในภายหลังว่าเป็นผู้พ้นทุกข์

ตอบ : อันนี้เราจะบอกว่า เพราะเราอยากได้ เพราะเราอยากได้ เพราะเราอยากเป็น แต่เราไม่มีผู้ชี้นำใช่ไหมเราก็แสวงหา พอแสวงหา พอไปเจออย่างนี้ ไปเจอผู้นำของเรา เริ่มต้นจากที่เราไม่มีพื้นฐานเลย พอเราเห็นสิ่งใดเราก็ว่าสิ่งนั้นถูกต้องดีงามไปหมด แต่ถ้าพอเรามีพื้นฐานขึ้นมา สิ่งนี้มันก็จะผิด มันก็จะไม่ใช่ทาง ถ้ามันไม่ใช่ทางปั๊บเราก็จะรู้ของเรา

ถ้าเรารู้ของเรานะเรารู้ของเรา ทีนี้เพียงแต่รู้ของเรามันจะเกิดคิดขึ้นมาว่า คิดแบบวิทยาศาสตร์ไงว่าขาวกับดำ ถ้ามันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องมันก็ควรจะให้ผู้อื่นรู้ด้วย มันควรจะเปิดโปงว่าพระที่สอนพูดผิดพุทธบัญญัติ อ้างเหตุอ้างผลในทางที่ผิด นี่สิ่งนี้ถ้าเรารู้ได้ไง เราก็อยากจะให้คนอื่นรู้ด้วย ทีนี้ให้คนอื่นรู้ด้วยมันเป็นไปได้ยาก คำว่าสังคม สังคมมันมีคนดีและคนเลว แล้วเราบอกว่าทุกคนเป็นคนดีหมด อีกคนก็ว่าอีกคนหนึ่งเลว แต่เลว เลวอย่างไรล่ะ? แล้วดี ดีอย่างไรล่ะ? ความดีความเลวใครเป็นคนชี้ว่าเป็นความดีความเลวล่ะ?

ฉะนั้น เขาก็ว่าของเขาดีของเขา เพราะเขาคิดว่าเขาเป็นพระ แล้วเขาได้สั่งสอนคน นี่สั่งสอนคน เขาได้เป็นผู้นำ แต่ถ้าเราไม่มีพื้นฐานเราก็ว่าสิ่งนั้นมันเป็นความถูกต้อง แต่ถ้าเราไปพิสูจน์แล้ว เราปฏิบัติของเราแล้ว เราจะแยกเองว่าผิดหรือถูก ทีนี้เราแยกเพราะอะไร? เพราะเรามีประสบการณ์กับพระองค์นั้น เราไปรู้ว่าพระองค์นั้นทำถูกหรือทำผิด ฉะนั้น พอเราเข้าไปรู้เอง เห็นเองเราก็เข้าใจได้ แต่คนข้างนอกเขาไม่รู้ไม่เห็นขึ้นมาเขาจะคิดอย่างไรกับเรา?

นี่เพราะเราอยากได้ อยากดี อยากให้คนชี้นำ แต่พอชี้นำที่ผิดไป พอเราไปแล้วเรารู้ว่าผิด ถ้ารู้ว่าผิดแล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป? นี่มันต้องมาแก้ที่ใจเรา คำนี้เป็นคำสอนหลวงตานะ เราจะมาแก้ที่ใจของเรา เรากลับมาแก้ที่ใจของเราว่าเราโดน จะบอกว่าโดนหลอกก็ได้ เราโดนหลอกอะไรมา คำว่าโดนหลอกของเขานะ แต่ทางพระนั้นเขาคิดว่าเขาพัฒนา จากคนที่ไม่สนใจสิ่งใดเลยเขาก็ดึงเข้ามาในศาสนา แต่ถ้าจะเดินต่อไปข้างหน้าเขาก็ไม่รู้เหมือนกัน พอไม่รู้ก็เหมือนว่าเราโดนหลอก

เราโดนหลอกแล้วเราจะแก้ไขอย่างไรล่ะ? เราแก้ไขที่ใจของเรา เราแก้ไข เพราะสิ่งนั้นแบบว่าเวรกรรมไง ใครทำใครได้ ใครทำคนนั้นได้ แต่ถ้าเราจะบอกว่าเราจะไปเปิดโปง เราจะอะไรนี่ มันเป็นการสาดน้ำใส่กัน มันเดือดร้อนไปหมด แต่ถ้าเรารักษาใจของเรานะ เรารักษาใจของเรา เราหาทางออกของเรา แล้วถ้าเรามีจุดยืนของเรา เราไม่หวั่นไหวไปกับใครทั้งสิ้น ถ้าเราไม่หวั่นไหวไปกับใครทั้งสิ้นเราเอาความจริง ถ้าเอาความจริงมันต้องพิสูจน์ด้วยความจริง ความจริง นี่ทองคำ เห็นไหม ไฟจะเผาขนาดไหนนะ ยิ่งเผามันยิ่งสุก

นี่ก็เหมือนกัน ความจริงมันทนการพิสูจน์ มันพิสูจน์ได้ทุกที่ จะพิสูจน์ที่ไหนก็ได้ ถ้าเราจะเอาความจริงกันไง ทีนี้เราจะพิสูจน์เขา เขาพิสูจน์กับเราไหมล่ะ? ถ้าเขาไม่พิสูจน์กับเรามันก็ไม่ใช่ความจริงเพราะเขารู้ตัวของเขา ถ้ารู้ตัวของเขาเราก็ดูแลรักษาใจเรา สังคมมันซับซ้อนนัก โลกนี้มันซับซ้อนนัก ใส่หน้ากากเข้าหากันทั้งนั้น ฉะนั้น ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา เราก็รักษาใจของเรา เราดูแลใจของเรา เวรกรรมมันมี เดี๋ยวมันต้องให้ผลของมันแน่นอน

นี่พูดถึงว่าพระองค์นั้นไง พูดถึงเขาว่ามันจะทำอย่างไรต่อไป? แล้วทีนี้เราดูแลใจเรานะ ให้ใจเรามั่นคง ให้ใจเรามั่นคงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราค้นคว้าได้ เราแยกแยะได้ เราหาของเราได้ แล้วเรื่องนั้นให้จบไป

ข้อ ๙๓๐. เนาะ ข้อ ๙๓๐. นี่คำถามนะเขาว่า “จาวมะพร้าว” เขาถามเนาะ คำถามไง “จาวมะพร้าว” เอ๊ะ ถ้าจาวมะพร้าวมันต้องไปหาที่ประจวบคีรีขันธ์เนาะ แถวกุยบุรีนี่เยอะ แถวกุยบุรี แถวชุมพรนี่เยอะ เอ๊ะ จาวมะพร้าวมันไม่เกี่ยวกับเราเลยนะ มันน่าจะไปถามชาวสวนมะพร้าวที่เขาปลูกมะพร้าว ว่าจาวมะพร้าวมันเป็นแบบใด? ไอ้นี่มันเป็นคำถาม

ฉะนั้น ภาษาเรานะ คำว่าจาวมะพร้าวเราเปรียบเทียบถึงลูกมะพร้าวมันเป็นบุคลาธิษฐาน มันเป็นการยกตัวอย่าง ทีนี้การยกตัวอย่างของเรา ว่าจิตของเรามันเปรียบเหมือนลูกมะพร้าว ถ้าเราปอกเปลือกออกได้หมด คือเราทำสังโยชน์ขาดไป ๓ ตัวจะเป็นโสดาบัน แล้วถ้าเราสามารถใช้วิปัสสนาญาณทำลายกะลามะพร้าวออกไปเป็นสกิทาคามี จิตมันสะอาดเป็นชั้นๆ เข้าไป

แล้วเนื้อมะพร้าว เนื้อมะพร้าวมันจะมีคุณค่าที่เนื้อของมะพร้าว เพราะเนื้อมะพร้าวเขาทำอาหาร เขาทำต่างๆ ถ้าเราทำลายตรงนี้ได้ เพราะอนาคามีหมายถึงว่าอสุภะ การกำเนิดของสัตว์โลก การกำเนิดนะ กามราคะมันเป็นเรื่องให้จิตนี้ติดมาก ถ้าทำลายเนื้อมะพร้าวจะเป็นพระอนาคามี แล้วมันเหลือน้ำมะพร้าวหรือจาวมะพร้าว ถ้าทำลายจาวมะพร้าว หรือน้ำมะพร้าวหมดนี่เป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์คือว่าทำลายหมด

จิตนี่เป็นภวาสวะ จิตนี้เหมือนลูกมะพร้าว แล้วทำลายเป็นขั้นเป็นตอนไง พระโสดาบันทำอย่างไร? นี่เราปอกเปลือกมะพร้าว เราเป็นคนปอกนะ ดูสิคนปอกมะพร้าวเขาเหงื่อไหลไคลย้อย ที่รับจ้างปอกมะพร้าว เขาเหนื่อยขนาดนั้น เขารู้ไหมว่าเขาปอกเปลือกมะพร้าว รู้ พระโสดาบันนี่นะ เวลามันวิปัสสนาไปจนขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ มันหลุดออกไปจากจิต โอ้โฮ มันมหัศจรรย์มาก ฉะนั้น คำว่ามหัศจรรย์นั้นมันจะแตกต่างกับโลกนี้มหาศาล เพียงแต่เราเอามาเปรียบเทียบว่ามันมีการกระทำหรือไม่มีการกระทำ

ถ้ามีการกระทำ เห็นไหม เปลือกมะพร้าวถ้าได้ปอกเปลือกแล้ว มันปอกออกไปนี่เป็นโสดาบัน ถ้าได้กะเทาะกะลามะพร้าวออกไปแล้วเป็นสกิทาคามี แล้วถ้าทำลายเนื้อมะพร้าวทั้งหมด เนื้อมะพร้าวทั้งหมด นั่นเป็นพระอนาคามี แล้วถ้าทำลายจาวมะพร้าวหรือน้ำมะพร้าวนั้น พระอรหันต์ทำลายสิ้นหมด อันนั้นเป็นความจริง

ฉะนั้น คำว่าจาวมะพร้าวมันเป็นตัวอย่าง มันเป็นหนังตัวอย่าง เป็นหนังสารคดี แต่คนถ้าไม่มีความจริงก็จะไปจับข้อเท็จจริงจากหนังสารคดีนั้น ก็เลยถามว่าแล้วจาวมะพร้าวล่ะ? จาวมะพร้าวมันก็ต้องที่กุยบุรี ที่กุยบุรี หรือที่ประจวบคีรีขันธ์ ที่นั่นเขาปลูกมะพร้าวกันไง เขาจะชำนาญเรื่องนี้มาก เพราะมันเรื่องของมะพร้าว แต่เราพูดเรื่องจิต เราไม่ได้พูดเรื่องมะพร้าว แต่เราเอาเรื่องของมะพร้าวมาเป็นบุคลาธิษฐาน มาเป็นตัวอย่าง มาเป็นตัวอย่าง มาเป็นแบบอย่าง ไม่ใช่เป็นความจริง

เวลาเขาจะสอนเด็ก ก.เอ๋ย ก.ไก่ เขาไม่เอา ก.ไก่มาสอนเด็ก เขาไปเอาไก่ทั้งตัวเลยบอกว่านี่ไก่ เห็นไหม ไก่ มันเป็น ก.เอ๋ย ก.ไก่ เขาก็เอาแม่ไก่มาเลยนะ แม่ไก่อูเลย นี่ไก่เป็นอย่างนี้ เพื่อจะสื่อว่าเขาจะสอนอักษรตัวว่า ก.ไก่ นี่ก็เหมือนกัน ไอ้มะพร้าว ไอ้จาวมะพร้าวอะไรนี่ต้องไปถามที่กุยบุรี จะมาถามเราเราไม่รู้เรื่อง เพราะเราไม่ใช่ชาวสวน เราเป็นพระ (หัวเราะ) เราไม่ใช่ชาวสวนนะ เราเป็นพระ

นี่คำถามมายาวยืดเลย สรุป

ถาม : วันหนึ่งจู่ๆ มันก็พับลง เหมือนจิตนี้ดิ่งทิ้งตัวไปอยู่ การที่จิตมันลอยไป

ตอบ : นี่เห็นไหม เหมือนจู่ๆ คำว่าจู่ๆ มันฟ้องไง คำว่าจู่ๆ เหมือนกับนักมวย นักมวยเวลาเขาต่อยกันนะ มวยนี่คนหนึ่งโดนคู่ชกต่อยจนเซซวนไปตลอดเลย มันฟิตขึ้นมานะมันเหวี่ยงหมัดไปหมัดหนึ่งนะ ไปโดนคู่ต่อสู้ลมไปเลย จู่ๆ ไง มันหมดทางสู้แล้ว ไม่มีทางไปนะมันก็เหวี่ยงหมัดมันไปแบบส่งเดช มันไปโดนคู่ต่อสู้หงายท้องไปเลย จู่ๆ ไง นี่พอมันหงายท้องไปทำอย่างไรล่ะ? หงายท้องไปเดี๋ยวมันก็ลุกขึ้นมาอีก

คำว่าจู่ๆ มันเป็นการประพฤติปฏิบัตินะ ในการปฏิบัติมันมีขั้นมีตอนของมันเยอะแยะไปหมดเลย ฉะนั้น ในการปฏิบัติ เห็นไหม นี่เมื่อคำถามที่แล้วบอกว่าไปเห็นพระสงฆ์องค์หนึ่งสอนพุทธบัญญัติก็ผิด สอนทุกอย่างสอนผิดหมดเลย แล้วเวลาเราปฏิบัติแล้วเราไปรู้เข้า แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป? อันนั้นบอกว่าเพราะเราอยากได้ เราถึงต้องไปหาเขา ให้เขาสอน ให้เขาบอกวิธีการ เขาก็บอกวิธีการเราไปในทางที่ผิดๆ เพราะเขาก็ไม่รู้จริง

ฉะนั้น เวลาเราปฏิบัติ ด้วยความอยากได้ของเรา เห็นไหม ด้วยความอยากได้ของเรา เราก็ปฏิบัติไป เราอยากได้ เราให้ค่ามากเกินไป แล้วสิ่งใดที่มันให้ขึ้นมามันก็จะเป็นจาวมะพร้าว จะเป็นอะไร จาวมะพร้าวมันก็เรื่องชาวสวน เรามันจะเป็นนักปฏิบัติ เราเป็นนักปฏิบัติ เราปฏิบัติไปให้มันเป็นความจริง แล้วนี่พิจารณาไป จู่ๆ มันก็ปั๊บ มันก็หมดเลยนะ มันทิ้งตัวมันไม่มีเลย มันจะมีเลยหรือไม่มีเลยก็แล้วแต่ เห็นไหม มันเป็นแบบว่าเวลากิเลสมันขี่หัวมันก็สู้ไม่ได้ มันฮึดขึ้นมามันก็เหวี่ยงมือไปโดนกิเลสล้มไปหน่อยหนึ่ง แล้วมันจะเป็นจาวมะพร้าวไหมล่ะ?

มันยังไม่ทำอะไรเลยนะเนี่ย การภาวนานะมันต้องทำจิตสงบ ถ้าจิตมันสงบแล้วมันจะเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง ถ้าเห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง หมายถึงว่านักมวยขึ้นไปบนเวที กรรมการคือสัจจะ อริยสัจจะ เขาให้เอาปลายนวมมาเป็นสุภาพบุรุษ มาแตะกันก่อน แล้วถอยออกไป แล้วต่างคนต่างต่อสู้กันด้วยความสามารถของตัว

จิต! จิตถ้ามันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ตามความเป็นจริง เหมือนนักมวยที่กรรมการคืออริยสัจ สัจจะความจริงให้เราไปเผชิญหน้ากัน พอเผชิญหน้ากันแล้วแยกออกจากกันไป แล้วให้ต่อสู้กันในกติกา ในกติกาของมวยว่ากี่ยก

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงนะ ถ้าเห็นกายนี่ขนพองสยองเกล้า ถ้าเห็นจิต จิตนี่จิตผ่องใสหรือจิตเศร้าหมอง นี่เห็นเวทนา เวทนาเจ็บปวดนัก เจ็บปวดนัก แล้วเราใช้ปัญญาต่อสู้แยกแยะตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริง อริยสัจมันเริ่มต้นที่นี่ เริ่มต้นที่ว่ารู้จริง เห็นจริง นี่วิปัสสนาจริง ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าจับพลัดจับผลูหงายท้องไปลุกขึ้นมา อืม เป็นโสดาบัน เพิ่งฟื้นมานี่เป็นโสดาบัน

มันไม่มี มันไม่เป็นจริงอย่างนั้น ถ้ามันเป็นจริงอย่างนั้นมันต้องรู้จริง เห็นจริง เห็นกายนี่เห็นกายอย่างใด? จับต้องกายอย่างใด? แล้ววิปัสสนาไป เวลามันเป็นไตรลักษณ์มันเป็นไตรลักษณ์อย่างไร? มันวางอย่างไร? มันปล่อยอย่างไร? ถ้ามันปล่อยแล้ว มันปล่อยแล้วมันปล่อยชั่วคราว นี่ในยกที่ ๑ เราสามารถต่อยกิเลสล้มไปเลย กรรมการนับ ๘ แล้วระฆัง เก๊ง! ช่วยมันไว้ยกที่ ๒ จะต่อสู้อย่างใด? ยกที่ ๒ กิเลสนี่พี่เลี้ยงให้น้ำมันเต็มที่แล้ว พอยกที่ ๒ มา อู้ฮู มันแข็งแรงมากเลย มันแค่เดินผ่านนะ ลมมันพัดมานี่เราล้มแล้ว เรายังไม่ได้สู้กับมันเลย

ฉะนั้น ในการที่เวลาใช้ปัญญา ปัญญาแต่ละครั้ง แต่ละรอบมันเป็นแบบใด? นี่แล้วเวลาหลวงตาท่านบอกว่าให้ซ้ำๆ ซ้ำเพราะเหตุนี้ไง พอวิปัสสนาไปมันก็ปล่อย มันก็ปล่อย เหมือนกับการต่อสู้มันก็มีความผิดพลาด มีความเพลี่ยงพลั้ง เรามีโอกาสที่ดีกว่า ในการต่อสู้มันยังมีต่อไปอีกเยอะแยะไปหมด

ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้น ผลที่เกิดขึ้น เขาบอก

ถาม : ผลที่เกิดขึ้นไม่มีอะไรเลยในความรับรู้ แต่สติสัมปชัญญะ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ จึงอยากเรียนถามหลวงพ่อว่า

๑. ไอ้ตัวที่มันอยู่กลางพลังงาน มีลักษณะพุ่งออกมาจากกลางอกนั้นเป็นนิจ มันคือจาวมะพร้าวที่พาเราเกิด เราตายใช่หรือไม่ครับ

ตอบ : จาวมะพร้าวต้องไปถามที่กุยบุรีเนาะ ไปถามที่ชุมพรนู่น เราไม่รู้ เรารู้แต่จิต จิตผ่องใส จิตเศร้าหมอง แต่จาวมะพร้าวเขาเอาไว้กวนทำอาหาร เราไม่รู้จักจาวมะพร้าวนะ ถ้าจาวมะพร้าวต้องไปถามที่กุยบุรี แถวประจวบฯ แถวชุมพรเนาะ

ถาม : ๒. ผมว่าวัฏฏะวนเป็นอนัตตา เพราะขณะที่ปล่อยตัวที่มันพุ่งออกจากอกไปนั้นมันไม่ปรากฏวัฏฏะแม้แต่น้อยเลย เช่นนี้จริงหรือไม่ครับ

ตอบ : โอ้โฮ ถ้าวัฏฏะมันเป็นอนัตตา พระพุทธเจ้าจะสอนอะไรล่ะ? พระพุทธเจ้าสอนอนัตตา วัฏฏะนี่มันเป็นอัตตา วัฏฏะ เพราะว่านรก สวรรค์ นี่นรก สวรรค์ นี่วัฏฏะคือกามภพ รูปภพ อรูปภพ สิ่งนี้มีอยู่โดยดั้งเดิม มีอยู่แบบเหมือนอัตตาเลย มันเป็นอนัตตาตรงไหน? มันเป็นอนัตตาตรงไหน?

ดูสิพระพุทธเจ้า ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย ภัทรกัป พระศรีอริยเมตไตรยจะมาตรัสรู้ข้างหน้า แล้วมันจะเป็นสูญกัป มันจะเว้นวรรคไป ขาดช่วงไปนานมาก แล้วอนาคตวงศ์อีก ๑๐ องค์ข้างหน้า นี่ก็ผลของวัฏฏะไง ผลของวัฏฏะคือพระพุทธเจ้าที่พยากรณ์ไว้แล้ว จิตที่มันจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าไปข้างหน้ายังมีอีกมหาศาลเลย แล้วมันเป็นอนัตตาตรงไหน? นี่ไงความเห็นมันเห็นก็แตกต่างกันไป ถ้าเห็นแตกต่างกันไปมันก็จบกันไป

ถาม : นี่ผมว่าวัฏวนมันเป็นอนัตตา

ตอบ : เราบอกไม่ใช่ เพราะนรก สวรรค์มันมีอยู่แล้ว นี่สิ่งที่นรก สวรรค์นะ ที่เขาบอกว่านรก สวรรค์ไม่มี นรก สวรรค์ไม่มี หลวงตาบอกว่า

“นรก สวรรค์ถ้าทำลายได้ พระพุทธเจ้าทำลายแล้ว”

แล้วถ้ามันสร้างได้ พระพุทธเจ้าสร้างมามันก็ไม่ใช่ พระพุทธเจ้า เห็นไหม เวียนตาย เวียนเกิดมา แล้วพระพุทธเจ้ามาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แล้วพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา พอตรัสรู้ขึ้นมา นี่วันไปโปรดพระมารดา เห็นไหม ลงมาจากชั้นดุสิตลงมา เปิดหมด นรก สวรรค์ ภพมนุษย์ โลกธาตุนี้เปิดหมดเลย คนอยู่ที่ราชคฤห์จะเห็นไปหมดเลย

นี่มันมีอยู่ คือของมีอยู่โดยดั้งเดิมไง คือพระพุทธเจ้าไม่สามารถสร้างภพ กามภพ รูปภพได้ แล้วพระพุทธเจ้าก็ไม่สามารถทำลายได้ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสามารถทำลายกิเลสในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ทำลายภวาสวะ ทำลายภพ ทำลายผู้ที่จะไปเกิดในวัฏฏะนี้ได้ แต่วัฏฏะมันก็อยู่ของมันอย่างนั้นแหละ นรกมันก็มีนรกของมันอยู่อย่างนั้นนะ พระพุทธเจ้ามาชี้เองบอกของมันมีอยู่

ของมันมีอยู่นะ เราทำชั่วตกนรกนะ เราทำดีเราจะไปสวรรค์นะ ของมันมีอยู่ พระพุทธเจ้ามาสอนของที่มีอยู่ พระพุทธเจ้าไม่ได้มาสร้างขึ้นมานะ พระพุทธเจ้าไม่ได้สร้างวัฏวน ไม่ได้สร้างภพขึ้นมาใหม่ ของมันมีอยู่โดยดั้งเดิม แล้วพระพุทธเจ้ามาเกิดในวัฏฏะนี้ได้สร้างขึ้นมาเป็นพระโพธิสัตว์ แล้วพระพุทธเจ้าก็ตรัสรู้ขึ้นมาเป็นพระพุทธเจ้า แล้วก็มาบอกนี่ของมันมีอยู่นะ ของมันมีอยู่นะ เหมือนเรา นี่เราออกไป เห็นไหม เราออกไปในสังคม สังคมมันมีอยู่อย่างนั้นนะ ของมันมีอยู่ ของมันมีอยู่ ถ้าเราไม่ศึกษาเราก็ไม่รู้

นี่ก็เหมือนกัน วัฏวนมันเป็นอนัตตา เออ เราก็งงเว้ย อนัตตาคือมันแปรสภาพ แล้วมันแปรหรือ? วัฏฏะมันแปรหรือ? มันเป็นอย่างนั้นแหละ แต่ชีวิตเราสิแปร นี่อันนี้ความเห็นของเขาเป็นอย่างนั้นไง อันนี้เราถึงบอกว่า ไม่ใช่ ถ้าเขาบอกว่าใช่ก็เรื่องของเขา นี่เขาบอกว่าสิ่งที่วัฏวนเป็นอนัตตา อันนี้ปล่อยพ่วงออกไป นี้ความเห็นของเขา นี่มันไปยึดไป คืออยากได้อยากดีไปก่อน อยากได้อยากดีแล้วให้ค่า

หลวงตาใช้คำว่า “ให้คะแนนตัวเอง” เวลาปฏิบัติไปเนาะ เราทำข้อสอบเสร็จ เต็ม เต็ม ไปให้ครู ครูมันไม่ให้ผ่าน โอ๋ย ครูนี่แกล้ง ครูนี่ไม่รักเราจริง แต่ทำเสร็จแล้วเต็ม โอ้โฮ คราวนี้นะจะเอาเหรียญทอง อยากได้เกินไปนะ แต่ถ้ามันไม่อยากได้เกินไป อะไรที่ทำมาเราเข้าใจได้ เราเข้าใจว่าในการปฏิบัตินี่แสนยาก เราปฏิบัติแสนทุกข์ แสนยากมาก นี้แสนทุกข์ แสนยากขนาดไหนมันก็อยู่ที่อำนาจวาสนานะ ขิปปาภิญญาทีเดียวก็เป็นเลยนะ ถ้าเราไม่เป็นเราก็ทำของเราไป ไม่ใช่ว่ามันจะเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างนั้น

แล้วอย่างที่ว่าเราพูดนี่เราพูดเป็นตัวอย่าง เราพูดเป็นบุคลาธิษฐาน จิตนี้เป็นนามธรรม ความรู้สึกนึกคิดของคนเป็นนามธรรม ทีนี้ผู้ที่มีปัญญาเขาจะเอานามธรรม เอาความรู้สึกมาเป็นสเต็ปให้ดูเลยว่ามันจะเป็นอย่างนี้นะ ความคิดหยาบๆ จะเป็นอย่างนี้นะ ความคิดละเอียดเป็นอย่างนี้นะ ความคิดที่มันละเอียดลึกซึ้ง มันจะเป็นญาณเลย มันไม่มีสิ่งใดที่จับต้องได้ มันจะเป็นอย่างนี้นะ นี่ก็เอาเลยนะมันเป็นอย่างนั้นนะ มันเป็นอย่างนั้น

นี่ไงถึงบอกว่าความเห็นของคนมันไม่เหมือนกัน นี่มันถึงบอกว่าถ้าพระที่เขาสั่งเขาสอน เราอยากให้สั่งให้สอน แต่ถ้าพระที่เขาสอนถูกต้องเราก็พยายามจะบอก พยายามจะเหนี่ยวรั้งให้เป็นไปอย่างนั้นมันก็ไม่เป็นนะ

ถาม : ๓. ผมจะพิจารณาซ้ำๆ ไอ้ตัวที่พุ่งจากพลังงานหน้าอก หลวงพ่อว่าดีหรือไม่ครับ แล้วผมจะพ้นจากตัวนี้ไปได้ มันมีอะไรอยู่ข้างหน้าอีกครับ

ตอบ : โฮ้ นี่ปฏิบัติไปเถอะ เพราะว่าเวลาหลวงปู่มั่นท่านพูดถึงเหตุ ไม่เคยพูดถึงผล เพราะคนมันจะเอาผลนั้นไปโฆษณาหากิน เห็นไหม หลวงปู่มั่นบอกว่ามันไม่เอาตัวอย่าง ไม่ทำแบบเราเลย มันไม่เอาเยี่ยงอย่าง แต่มันจะเอาผลจากที่หลวงปู่มั่นว่า กิเลสมันเป็นอย่างนั้น ฉะนั้น การสั่งการสอนเขาไม่บอกหรอก เขาไม่บอก บอกไปนะมันก็เป็นแล้วไง

นี่ไงถ้าบอกก็จาวมะพร้าวอีกไง จาวมะพร้าวมันก็นู่นน่ะไปชุมพรนู่น ไปถามลูกชาวสวนนู่น เพราะว่าเขาไม่ได้พูดถึงเป็นวัตถุอย่างนั้น แต่ในวัตถุนั้นมันแบ่งภาพได้ ภาพ เห็นไหม เปลือก กะลา เนื้อมันเข้ากันกับอริยสัจ มรรค ๔ ผล ๔ พอดี เขาก็เอามาเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าการกระทำมันจะเป็นอย่างนี้ เห็นเป็นรูปธรรม เป็นรูปธรรมว่าในการปฏิบัติมันต้องทำอย่างนี้ มันต้องมีเหตุมีผลอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าเราจะปั้มเอาเลย เอาจิตเราเป็นอย่างนี้มันไม่ใช่ จิตมันไม่เป็นอย่างนี้หรอก แต่ถ้าเราทำมันจะเป็นแบบนี้

นี่ก็เหมือนกัน เราทำต่อไปๆ ทำไปเถอะ ทำไป แล้วเป็นอย่างไรเดี๋ยวมันจะเป็น (หัวเราะ) เป็นจาวมะพร้าวแล้วมันจะยุ่งกันไปใหญ่ อันนี้อันหนึ่งนะ เดี๋ยวขอยก ๒-๓ ข้อ แล้วจะมาเอาปัญหาพวกเราเนาะ

ข้อ ๙๓๑. เนาะ

ถาม : ๙๓๑. เรื่อง “พระอริยเจ้าขั้นพระอรหันต์ กิจวัตรประจำวันท่านทำอย่างใด?”

๑. ออกบิณฑบาต

๒. ฉันเอกา

๓. ชุมชนใกล้เคียง (นี่เขาพูด เขาไปเจอพระมา)

ถาม : พระอริยเจ้าขั้นพระอรหันต์ปฏิบัติกิจอย่างไร?

ตอบ : เราจะไม่พูดเลยนะ เพราะว่าเราไม่เชื่อ เราไม่เชื่อ แล้วผู้ถามนะไม่ต้องไปยุ่งกับเขา ถ้าเราไปยุ่งกับเขานะ คือเราต้องไปแบกรับภาระไง คือพระ นี่เขาพูดถึงว่าเขามีสำนักสงฆ์ แล้วพระที่อยู่ในสำนักสงฆ์เขามีปัญหาแล้วเขาหนีไป พระองค์นี้ก็ไปอยู่แทน แล้วเขาก็บอกว่าเขาออกบิณฑบาตเป็นวัตร ฉันมื้อเดียว เวลาเทศน์สอนก็เทศน์สอนทุกอย่าง แต่ แต่ได้เงินมาไปซื้อเครื่องเสียง ไปเปิดเสียงดังๆ แล้วก็บอกว่าเขาเป็นพระอรหันต์แล้ว เขาไม่ต้องปฏิบัติ

อืม เรื่องของพระสงฆ์เนาะ แต่เราไม่เชื่อ เราไม่เชื่อเลย แล้วพูดอย่างนี้เราฟังไม่ขึ้น เราฟังไม่ขึ้นเลย ถ้าพูดถึงวัดนั้นเขามีปัญหา แล้วถ้าเราเข้าไปอยู่เราก็อยู่ประสาเราสิ เรื่องของโยมก็เรื่องของโยมเขา เรื่องของโยมนะ ถ้าเราไปอยู่ที่นั่น ถ้าโยมในวัดนั้นเขาต้องการผลประโยชน์เราก็หนีซะ เราก็หนีไปอยู่ที่อื่นก็ได้ ทำไมเราต้องไปอยู่กับเขา ถ้าพอเขาต้องการผลประโยชน์ แต่เราไปขัดขวางเขา เขาก็กลั่นแกล้ง กลั่นแกล้งมันเรื่องของเขานะ เพราะเรื่องอย่างนี้สังคมโลกมันมีอย่างนั้นจริงๆ พอมีอย่างนั้นจริงๆ แล้วเราจะประชดชีวิตอย่างนั้นหรือ?

โธ่ หลวงปู่เทสก์ท่านไปอยู่ที่ภูเก็ตท่านโดนกระทำมากกว่านี้ แล้วหลวงปู่ลีวัดอโศฯ ที่ลงมากองทัพธรรมๆ ที่มาอยู่ที่จักราช เย็บผ้าอยู่ แล้วเขาจ้างนักเลงเอามีดมาฟัน นั่งอยู่ใต้จักรไง มีดมาฟันโดนจักรแล้วมันไม่ถึงตัวพระไง โอ้โฮ เขาร่ำลือกันเลยว่าพระหนังเหนียว ฟันไม่เข้า แต่ครูบาอาจารย์บอกว่าพอดีเย็บจักรใช่ไหม แล้วเราเอามา กรีดผ้าอยู่ที่จักรไง เขาเอามีดฟันเลยนะ แล้วฟันมานี่มีดมันก็ไปพาดที่จักร มันไม่ถึงตัวเราไง หลวงปู่ลี วัดอโศฯ สมัยนั้น

ครูบาอาจารย์ของเรานี่นะ เวลากองทัพธรรมลงมามันไปขัดแย้งกับผลประโยชน์ เรื่องนี้มหาศาลนัก แต่ท่านไม่ไปประชดประชันกับเขาไง คือท่านไม่ประชดประชัน ไม่ไปสู้รบตบมือกับญาติโยมหรอก ทีนี้เรื่องของญาติโยมนะ เรื่องเขาแสวงหาผลประโยชน์นั่นเป็นเรื่องกิเลสทั้งนั้น เป็นเรื่องความจริงของโลกเป็นอย่างนั้น ถ้าหากว่าญาติโยมที่เขาเป็นธรรม เขาดีกับพระ เขาส่งเสริมพระ อันนั้นมันก็อยู่ที่วาสนาของพระ แต่ถ้ามันเป็นอย่างนั้นปั๊บเราจะไปสู้รบตบมือกับเขา แล้วเอามาถามเรานี่เราไม่เห็นด้วยนะ

ฉะนั้น บอกว่าเขาเป็นพระอรหันต์แล้วเขาออกบิณฑบาตเป็นวัตร ฉันเอกาเป็นวัตร ตอนนี้เขาเดินธุดงค์ในกรุงเทพฯ เสร็จแล้วเขาทำอะไรรู้ไหม? เราดูทีวีอยู่ เขาทำเป็นหุ่นยนต์ แล้วก็ไปหมุนอยู่นั่นน่ะ แล้วก็ให้คนไปโรยกุหลาบกันอยู่นะ ถ้าใครโรยที่พระธุดงค์ไม่ทัน มาโรยที่ไอ้ไม้หมุนนี่ก็ได้ เขายังหาเงินกันอยู่ นี่เวลาเขาทำมา เขาทำมาแล้วผลประโยชน์มันต่อเนื่องไปเรื่อยๆ อันนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อบิณฑบาตเป็นวัตร ฉันเอกา ฉันหนเดียว พระอดอาหารก็มี

แล้วอย่างเช่นพวกเรา นี่เวลาพระอดอาหาร ก็บอกว่าถ้าอดอาหารอัฟริกาเขาไม่มีกินเขาเป็นพระอรหันต์หมดแล้ว แล้วเขาบอกว่าพวกเราถือเนสัชชิกไม่นอน ถือธุดงควัตรนะ เขาบอกว่าแขกยากมันเฝ้ายามมันเป็นพระอรหันต์หมดแล้ว ไอ้แขกยามมันไม่ได้นอนเลย มันนั่งเฝ้าทั้งวันเลย นั่นก็เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน นี้มันไม่เป็นแบบนั้น เขาอดนอนผ่อนอาหารเป็นอุบายเท่านั้นเพื่อให้จิตมันมั่นคง แล้วจิตมั่นคงนี้ก็มาฝึกหัดใช้ปัญญา เขาจะใช้ปัญญา แต่นี่มันเป็นการเสริม เสริมให้จิตมันเข้มแข็ง จิตมั่นคง ไม่ใช่ว่าพอบอกว่าอดอาหาร อดนอนแล้วก็เป็นดีไปหมด

นี่ไงบิณฑบาตเป็นวัตร ฉันเอกาเป็นวัตร โฮ้ แขกยามมันก็ไม่ได้นอน อัฟริกามันไม่มีจะกิน ไม่มีจะกินมันทุกข์ยากมาก แต่ของเรานี่บิณฑบาตมามี แต่กิเลสมันกินก่อน กิเลสมันอยากดิบอยากดี นี่ไม่กิน นั่งมองแล้วไม่กิน ต่อสู้กับกิเลส เวลาอดนอนแขกยามมานั่งเฝ้าทั้งคืนเลยเพื่อเงินเดือนของเขา ไอ้เรานี่นะนอนแล้วก็ต้องนอนเล่า ยิ่งนอนก็ยิ่งง่วง ยิ่งง่วงก็ยิ่งนอน ยิ่งนอนมันก็ยิ่งขี้เกียจ ยิ่งขี้เกียจมันก็ยิ่งอยากเป็นพระอรหันต์ อดนอนสู้กับมัน

พออดนอนใหม่ๆ นี่ง่วงมาก ง่วงๆๆ ไปถึงที่สุดแล้วมันใสเลยนะ ถ้าอย่างนั้นนะ พอใสแล้วเป็นพระอรหันต์ไหม? ไม่เป็น ถ้าใสเป็นพระอรหันต์ พระอาทิตย์เป็นพระอรหันต์ พระอาทิตย์นี่ใสเลยล่ะ พระอาทิตย์ใส มันเป็นพระอรหันต์ไหม? ไม่เป็น มันต้องมีปัญญา ใสขนาดไหนก็ไม่เป็นพระอรหันต์หรอก จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส ความผ่องใส ความต่างๆ มันต้องมีปัญญาแก้ไขตัวมัน มันถึงข้ามพ้นไป

ฉะนั้น บอกว่า อู๋ย เขาจะเป็นอะไรไปนะ อันนี้เราไม่พูดถึง เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะมันเป็นปัญหาสังคม พอเป็นปัญหาสังคมแล้วมันจะกระทบกระเทือนกันไปหมด นี่เรื่องพระสงฆ์นะ

แล้วก็ข้อ ๙๓๒. ถึงข้อ ๙๓๙. ไม่มี ข้อ ๙๔๐. นี่ยกเลิกเนาะ อันนี้เราพูดถึงว่าความอยากได้อยากดีทำให้คนเสียหายได้ขนาดนี้ ฉะนั้น อันนี้เป็นปัญหาในเว็บไซต์ ทีนี้เอาปัญหาเป็นปัจจุบันเลยล่ะ โอ๋ย เอาอันนี้ก่อน อย่างนี้ดีที่สุดเลย เขียนตัวโตๆ แล้วชัดๆ อย่างนี้อ่านยากน่าดูเลย เขาถามว่า

ถาม : หลวงพ่อ ให้อธิบายยกตัวอย่างเปรียบเทียบชัดๆ ระหว่างสมาธิและสติ หลวงตาเทศน์ให้เลือกสัมมาสมาธิและสัมมาสติเท่านั้นในการภาวนาสัมปยุตกับกิเลส

ตอบ : นี่คนเขียนผิด ในการภาวนาสัมปยุตกับกิเลส มันก็เป็นอันเดียวกับกิเลสน่ะสิ มันต้องต่อสู้กับกิเลสต่างหาก แหม ไปสัมปยุตกับกิเลส ก็กิเลสเป็นเราไงสัมปยุตกับกิเลส ฉะนั้น ในการสัปปยุตอย่างนี้ได้ สัมปยุต สัมปยุตคือการ วิปปยุต สัมปยุต วิปปยุตเข้าไป สัมปยุตคลายออก ไอ้นี่มันมีของมันนะ

ฉะนั้น หลวงตาท่านใช้คำว่า “สติ” ถ้าการปฏิบัติทั้งหมดต้องมีสติ สติคือความระลึกรู้ อย่างเช่นเรากำหนดพุทโธครั้งแรกสติจะพร้อม เราตั้งใจพร้อมๆ นะ นึกพุทโธครั้งแรกสติสมบูรณ์มากเลย พุทโธ พุทโธ พุทโธไปเรื่อยๆ สติมันจะอ่อนไปเรื่อยๆ สติคือการระลึกรู้ ระลึกรู้มันตื่นตัว การตื่นตัวมันจะอยู่ของเราตลอดไปได้ไหม?

นี่พอการตื่นตัว พอเรื่องการตื่นตัว นั่นแหละเขาต้องการสติ พอเริ่มมีสติ ทำสิ่งใดมันก็เป็นสัมมาเพราะมีสติสัมปชัญญะ ทำสิ่งใดก็จะถูกต้อง จะถูกต้องไปหมด แต่ถ้าขาดสติทำสิ่งใดสักแต่ว่าทำ สักแต่ว่าทำมันทำแบบจับจด ผลประโยชน์มันจะไม่ได้เต็มที่ อย่างเช่นคำว่าพุทโธ พุทโธเราก็ เออ พุทโธ พุทโธทุกวันเลย พุทโธเป็นสมาธิหัวตอ พุทโธแบบเลื่อนลอย เราเคยพุทโธจนคุ้นชิน วันนี้จะปฏิบัติแล้วเว้ย มาถึงก็พุทโธก็หลับไปเลย นี่ขาดสติ

ทีนี้คำว่าพุทโธคือส่วนพุทโธ สติก็คือส่วนสติ ถ้าสติมันดี พุทโธก็ชัดเจน ถ้าสติไม่ดี พุทโธก็ เอ้อ เอ๋อไปเลย ฉะนั้น ทุกอย่างต้องอยู่ที่สติ นี่คือตัวสติ สติก็คือสติ ขอบเขตของสติมีเท่านี้ แล้วพอมีสติปั๊บสติมันต่อเนื่อง สติมันต่อเนื่อง แล้วกำหนดพุทโธต่อเนื่อง พื้นฐานมันมี เพราะคำบริกรรมมันสะสม สะสมจนเป็นสมาธิ สมาธิหมายถึงว่าจิตตั้งมั่น จิตตั้งมั่นมันไม่คิดวอกแวกวอแว เห็นไหม ของเรานี่เราแว็บๆ แว็บๆ มันขาดสมาธิ คำว่าสมาธิ สมาธิคือไม่วอกแวก สติคือระลึกรู้ แต่สมาธิคือการไม่วอกแวกวอแวใช่ไหม?

ฉะนั้น เพราะมันขาดสมาธิมันถึงแฉลบไปเรื่อยๆ นี่จิตมันแฉลบไปเรื่อย เราพุทโธ พุทโธ พุทโธจนมันมั่นคงของมันขึ้นมา มั่นคงขึ้นมา นี่ถ้าตัวตั้งมั่นคือตัวสมาธิ สติคือสติ สมาธิคือสมาธิ ถ้าสติดี สติดีมันเหมือนกับน้ำผสมด้วยสีอะไร? นี่สีกับน้ำนั้นก็เป็นอันเดียวกัน สติก็คือสติ เพราะน้ำนี่เราสามารถแยกสีออกจากน้ำนั้นได้ ด้วยการสังเคราะห์อย่างนั้นเราสามารถแยกสีออกจากน้ำนั้นได้

สติก็เหมือนกัน สติก็คือสติ สมาธิก็คือสมาธิ แต่สติกับสมาธิถ้ามันรวมตัวกัน มันรวมตัวหมายถึงมันเป็นแบบว่าเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นเนื้อเดียวกันมันก็อยู่ด้วยกัน ทีนี้แยกอย่างไรไง นี่ก็เหมือนกับอาหาร อาหารที่ปรุงเสร็จแล้ว เราจะบอกว่าในอาหารนี้มันมีผงชูรส มันมีเกลือ เราแยกอย่างไร? มันเป็นอาหารแล้วแต่เราเติมมันเข้าไป

นี่ก็เหมือนกัน เวลาแยกนี่พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ สติเป็นอย่างนี้ ศีล สมาธิ ปัญญาไง ทีนี้พอพูดถึงเรื่องของสติใช่ไหม? แล้วเรื่องของสมาธิ สมาธิก็คือสมาธิ สมาธิไม่เกิดปัญญา สมาธิคือสมาธินะ แต่ถ้าไม่มีสมาธิ เวลาเกิดปัญญามันก็เป็นโลกียะ (นี่ดูมันมีอยู่อันหนึ่งถามใช่ไหม? เดี๋ยวจะต่อตรงนั้น) มันเป็นโลกียปัญญา โลกียะหมายถึงว่ามันมีกิเลส อย่างเช่นสติกับสมาธินี่ไง ถ้ามันมีกิเลสคือความไม่รู้ของเรา เราไม่รู้หลายๆ เรื่องในชีวิตเรา เรามีความรู้หลายเรื่อง แต่เราก็ยังมีความไม่รู้หลายเรื่อง

ฉะนั้น เวลาเราใช้ปัญญาของเรา ปัญญาสิ่งที่เรารู้ เรารู้ของเราหลายเรื่องใช่ไหม? เราก็เทียบเคียงว่ากิเลสมันเป็นแบบนั้นๆ เราเทียบเคียงด้วยปัญญาของเราว่ามันเป็นแบบนั้น นี่เขาเรียกว่าโลกียะ คืออนุมานเอา อนุมานว่าควรจะเป็นอย่างนั้น ทุกอย่างจะเป็นอย่างนั้น นี่ด้วยความไม่รู้ ทีนี้ความไม่รู้มันเป็นปัญญาไหม? นี่ที่ว่าโลกียปัญญา โลกียปัญญานี่ไง คือปัญญาที่เรารู้ได้ ปัญญาที่เราศึกษามา เราก็เอาสิ่งนี้อนุมานเอาว่ากิเลสจะเป็นอย่างนั้น ทุกอย่างจะเป็นอย่างนั้น แล้วมันเป็นไหมล่ะ?

เป็นกิเลสมันตลบหลังเอาไง แต่ถ้ามันเป็นปัญญานะ กิเลสมันจะไปรู้ ไปเห็นของมันตามความเป็นจริงตามความเป็นจริงมันคืออะไร? กิเลสนี้เป็นนามธรรมนะ กิเลสเป็นความรู้สึก ความรู้สึกนึกคิดเรานี่เหมือนกิเลส เห็นไหม มันเป็นความคิด มันเป็นนามธรรม นี้พอเป็นนามธรรมมันอยู่ที่ไหนล่ะ? อ้าว มันเป็นตัวตนอย่างไรล่ะ? แล้วเราจะจับมันอย่างไร? เราจะพิจารณามันอย่างไร? แล้วจะฆ่ามันอย่างไรล่ะ?

ฉะนั้น กิเลสเป็นนามธรรม นามธรรมมันอาศัยอยู่บนอะไรล่ะ? อาศัยอยู่บนกาย เวทนา จิต ธรรม เราก็เอากาย เอาเวทนา เอาจิต เอาธรรมมาพิจารณาแยกแยะๆ นี่ว่ากายมันเป็นอะไร? เวทนามันเป็นอะไร? จิตมันเป็นอะไร? ธรรมมันเป็นอะไร? พอมันแยกออกไปแล้วมันก็เหมือนกับสีที่อยู่ในน้ำ พอน้ำมันระเหยหมดแล้วมันเหลืออะไร? ก็เหลือสีที่ตกค้างอยู่ นี่ไงพอพิจารณากายทั้งหมด กายก็ไม่มี เวทนาก็ไม่มี อ้าว จิตมันก็ไม่มี เพราะมันเป็นนามธรรม อ้าว แล้วมันเหลืออะไรล่ะ?

นี่ถ้าพูดถึงปัญญา นี่คำว่าชำระกิเลสไง กิเลสมันคือปัญญา ถ้าชำระกิเลสต้องใช้ปัญญา แต่ปัญญามันต้องมีตรงนี้ มันต้องมีสติ มันต้องมีสมาธิ เพราะ เพราะมรรค ๘ มรรคสามัคคี มรรคสามัคคีนะ เห็นไหม มรรคสามัคคีมันรวมตัว มันเหมือนทุกอย่างเรา นี่หลวงตาบอกว่า เวลาแม่ครัวซื้อผักซื้อปลามานะก็ปล่อยให้มันเน่าเลย นี่มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา แล้วก็ปล่อยให้มันเน่า เพราะมันไม่ใช่วิปัสสนา วิปัสสนา พอวิปัสสนามันรวมกัน พอรวมกันนี่มรรคสามัคคี มันรวมตัวแล้วมันสมุจเฉทปหาน พอมันรวมกันมันเป็นอาหารขึ้นมาสำเร็จนะมันก็ฆ่ากิเลสได้

นี่ก็เหมือนกัน ปลาก็ปล่อยไว้นั่นนะ กะทิก็ไว้นู่นนะ เครื่องแกงก็ไว้นั่นนะ เพราะหามาทีละอย่างไง มีสติก็สติชัดเลย มีสมาธิก็สมาธิดีเลย ปัญญาก็ปัญญากองไว้ พอกองไว้มันก็เสียไปหมดเลย พอจะเอามารวมกัน ไอ้นู้นอายุมันสั้นกว่ามันเน่าแล้ว อันนี้อยู่ในตู้เย็นยังไม่เน่า นี่ก็เหมือนกัน เดี๋ยวก็สติดี เดี๋ยวก็สมาธิดี เดี๋ยวก็ปัญญาดี จับพลัดจับผลูกันอยู่อย่างนี้ แต่เขาฝึกหัดบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า มรรคสามัคคี ความสามัคคี ความรวมตัว สมุจเฉทปหานอยู่ตรงนี้ไง

นี่ไงที่เราปฏิบัติกันปฏิบัติตรงนี้ไง มีความชำนาญ แล้วใช้ปัญญาของเรา พอรวมตัวขึ้นมาก็เหมือนกับเอาผัก เอาแกงใส่กระทะ เอาน้ำใส่ แหม มันเดือดปุๆๆ เป็นอาหารสำเร็จ แหม สุดยอดเลย มรรคสามัคคี ถ้ามรรคสามัคคีเป็นอย่างนั้น ต้องฝึกหัด นี่เวลาพูดพูดง่ายๆ ถ้าอย่างนั้นมานะ หลวงพ่อ เมื่อกี้หนูผ่านร้านข้าวแกงมา ข้าวแกงเยอะแยะเลย พระอรหันต์อื้อเลย พูดตัวอย่างอย่างหนึ่งมันตีความไปอีกอย่างหนึ่งนะ เดี๋ยวพรุ่งนี้กูต้องตอบปัญหาเรื่องร้านข้าวแกงแน่ๆ เลย

เมื่อกี้ขับรถผ่านร้านข้าวแกงอาหารเต็มเลย สงสัยพระอรหันต์เยอะ พระอรหันต์นั่งกินข้าวแกงกันอยู่ไง โลกมันไปไกล โลกมันซับซ้อนนัก มันซับซ้อนนัก อันนี้อย่างหนึ่งนะ จบ เรื่องสมาธิ เรื่องสติ สมาธิ

ถาม : อันนี้กราบนมัสการนะ หนูอยากขอถามปัญหาจิตรวมสงบ ละเอียดจนแทบไม่มีพุทโธ จู่ๆ จิตพลิกกลับมากะทันหัน และมาเจออะไรก็ไม่รู้อย่างหนึ่ง สมมุติว่าชื่อดำ ต่างคนต่างก็ตกใจ เก้อๆ เขินๆ สักพักหนึ่งไอ้ดำก็หลบไป

(คำถาม) มันคืออะไร? ถ้าเจออีกจะทำอย่างไร?

ตอบ : นี่ถ้าจิตของเรานะ ถ้ามันกำหนดพุทโธ พุทโธหรือจิตมันรวมลง นี่คนเราจะเห็นสิ่งต่างๆ ขึ้นมาได้ มันอยู่ที่อำนาจวาสนาของคน คนเรามีอำนาจวาสนาไม่เหมือนกัน ความรู้ ความเห็นไม่เหมือนกัน จิตนี้มหัศจรรย์นักนะ ดูสิเราก็สงสัยใช่ไหม? ว่าจิตของคนเวลามีอภิญญา ทำไมเขารู้ เขาได้ยินเทวดาคุยกัน เขาคุยกันอยู่ไกลแสนไกลทำไมหูมันได้ยิน จิตนี้มันมหัศจรรย์นะ ฉะนั้น ความมหัศจรรย์ของจิต นี่พูดถึงอภิญญา

ทีนี้พอจิตเราสงบ พอจิตเราสงบมันไปเห็นสิ่งที่เป็นก้อน เป็นกลุ่มควันดำคนก็เคยเห็น บางทีจิตสงบไปแล้วมันจะรู้มันจะเห็นสิ่งต่างๆ อันนี้มันก็เหมือนกับรสชาติ เหมือนลิ้น ลิ้นนะถ้ารสของอาหารอย่างใด สัมผัสลิ้น ลิ้นจะรู้รสนั้น ทีนี้ลิ้นรู้รสนั้นเราก็ตื่นเต้นกับรสนั้น

จิต จิตมันได้สัมผัสสิ่งใด มันรู้สิ่งใดนะ ถ้าคนมีสติ เราเป็นคนตักอาหารใส่ปากใช่ไหม? ลิ้นเราต่างหากใช่ไหมที่มันกระทบกับรสชาติของอาหาร จิต จิตถ้ามันสงบแล้ว มันรู้สิ่งใดก็จิตรับรู้ใช่ไหม? ถ้าจิตรับรู้ ถ้าลิ้นเรากระทบรสใช่ไหม? เราดูแลลิ้นเรา เราควบคุมลิ้นเรามันก็จบ เออ รสนี้เป็นอย่างนี้ โดยธรรมชาติมันเป็นแบบนี้ เพราะลิ้นมันมีต่อมรับรู้รส มันก็รู้รสเป็นธรรมดา รู้แล้วก็วางไว้ แล้วเดี๋ยวพรุ่งนี้จะกินอาหารใหม่ จะเอารสดีๆ ก็ได้ รสอย่างไรก็ได้ ถ้าเราคุมสติได้ ถ้ามีสติ สติทำสิ่งใดมันจะถูกต้องไปหมด

จิต จิตถ้ามันพุทโธ พุทโธจนมันรวมลงนะ ถ้ามันพลิกกลับ มันพลิกกลับมันไปรู้สิ่งใด มันออกรู้นิมิตอะไรนี่ เรากลับมาที่พุทโธก็ได้ เราค่อยๆ วางไว้

ถาม : (คำถาม) มันคืออะไรคะ? ถ้าเจออีกจะทำอย่างไร?

ตอบ : ถ้าเจออีกนะ การเจอนิมิต ถ้าเจอแล้วมันเป็นสติปัฏฐาน ๔ ถ้าเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นเวทนาคือความเสียใจ ดีใจในจิตนั่นแหละ จิตเศร้าหมอง จิตผ่องใส จิตดี จิตไม่ดี นี่สิ่งนั้นมันเป็นสติปัฏฐาน ๔ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน แล้วก็นี่เวลามันเจอเวทนา เจอจิต เจอธรรม ถ้าเจออย่างนั้นเราจับ เราจับไปที่สติ เราเอาความรู้สึกจับไว้แล้วพิจารณา นี่ใช้ปัญญาได้ แต่ถ้ามันเจอนอกจากนี้ถ้ามันเจอสิ่งใด เรามีสติเรากลับมาพุทโธวาง มือเรา ถ้าเราควบคุมมือเราไม่ให้จับต้องสิ่งใด เราจะไม่มีสิ่งใดติดมือเรามา

จิต จิตถ้าเรามีสติปัญญาควบคุมได้นะ เจออะไรที่มันตกใจขนาดไหน กลับมาที่พุทโธ ไม่รับรู้นะหายทันที เวลาเห็นภาพ หลับตาจะเห็นภาพนั้นไหม? ลืมตาจะเห็นภาพ หลับตาจะเห็นภาพนั้นไม่ได้ จิต ถ้ามีสติปั๊บจิตมันกลับมาพุทโธ จิตมันไม่ออกรับรู้ จบ ถ้ามันเจอสิ่งที่เราไม่ต้องการนะ กลับมาที่พุทโธตั้งสติไว้ เรื่องนี้อาการมันมี ความรับรู้มันมี ดูสิในโลกนี้วัตถุต่างๆ ร้อยแปดพันเก้าเต็มไปหมดเลย เราจะดูอะไรล่ะ? เราอยากรับรู้เรื่องอะไรล่ะ? ถ้าเราไม่รับรู้เรื่องอะไรมันก็จบใช่ไหม? แต่ถ้าเรารับรู้เรื่องสิ่งใดนะยุ่งเลย

ในตู้เซฟนี้มันมีเงิน เงินนี้เป็นเงินของใคร? เงินนี้ได้มาถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง เงินนี้ โอ้โฮ ไปเลย นี่พอไปรับรู้มันต่อเนื่องไง นี่คืออะไร? ไอ้นี่มันมาจากไหน? ไอ้ที่มานี่มันมาเพราะเวรกรรมอย่างใด? โอ๋ย ไปไม่จบ แต่ถ้าพุทโธ กลับมาที่พุทโธนะไม่รับรู้ ไม่รับรู้ เงินของใครเรื่องของเขา จิตของเราเรารักษาจิตของเรา จบ แต่ถ้าได้รับรู้นะไม่จบ แล้วไม่จบไม่จบธรรมดานะ โอ้โฮ มันลากไปเหนื่อยตายเลย แล้วพอเหนื่อยขนาดไหนเก่งนะ แหม วันนี้ภาวนาดี แหม วันนี้ภาวนายอดเยี่ยมเลย ไม่รู้หรอกว่ากิเลสมันลากไปเกือบตาย กลับมานี่มันหอบเลยนะ เกือบตาย แหม วันนี้ภาวนาดี สนุกมาก

นี่เวลามันหลอกเอานะ ถ้าอย่างนี้เรากลับมา กลับมาที่พุทโธ พุทโธมันจะหายหมด ไม่ใช่หายไม่มีนะ หายพร้อมกับความมั่นคงของจิต จิตเราจะมั่นคง ของอย่างนี้นะพูดน่ะง่าย แต่เวลาทำนี่มันยาก มันยากเพราะอะไร? เพราจิตมันไว มันเร็วมาก มันแว็บไปแล้ว จะรั้งไว้ก็ไม่ทัน ทีนี้ก็ต้องฝึกอย่างนี้มันจะดีขึ้นเรื่อยๆ อันนี้จบนะ

ถาม : ขอเมตตาชี้แนะในเรื่องการปฏิบัติด้วยค่ะ

๑. ในการภาวนา พอจิตสงบนิ่ง ลมหาย เพ่งดูที่กาย

ตอบ : เราจะพูดอย่างนี้ก่อนนะ คำว่าลมหายๆ เราจะบอกว่าอย่างนี้ เราบอกว่าจริงๆ มันไม่หาย ถ้ามันไม่หายนะเรายังต่อเนื่องได้ แต่ถ้าลมหาย พอลมมันหาย เราไปปล่อยให้หายก่อน พอปล่อยให้หายก่อนปั๊บมันจะไปรู้เห็นสิ่งต่างๆ แต่ถ้าพุทโธ พุทโธจนลมหายนี่นะ ถ้าลมมันหายจริงๆ นะมันสักแต่ว่ารู้ไม่เห็นอะไรเลย ไม่เห็นหรอก มันลงอัปปนาสมาธิ แต่ถ้ามันยังเห็นอยู่มันไม่ใช่อัปปนาสมาธิ มันออกรับรู้เป็นอุปจาระ ถ้าอุปจาระพอลมมันหายนี่ออกดูที่กาย

ถาม : ผอมเหลือแต่กระดูก และกระดูกเป็นทั้งซ้ายทั้งขวานะ ชัดเจนมาก เป็นอยู่ ๒ ครั้ง จะทำอย่างไรต่อไปคะ

ตอบ : นี่ถ้าเราพุทโธ พุทโธนะ ถ้ามันหายอย่างที่พูดเมื่อกี้เริ่มต้น ที่พูดว่าถ้าจิตมันสงบแล้ว ถ้ามันจับกาย จับเวทนาได้จริง อันนี้ก็เหมือนกัน เขาว่าเคยเป็น ๒ ครั้ง เคยเป็น ๒ ครั้งมันเหมือนส้มหล่น เหมือนส้มหล่นเพราะจิตมันสงบระงับ พอพุทโธ พุทโธ พอลมหายปั๊บมันก็ไปเลย พอไปเลยมันไร้ทิศทาง ไม่มีการควบคุม แต่เรากำหนดลมหายใจจนจิตมันสงบ เราตั้งมั่น แล้วเรากำหนดดูที่กาย หรือจิตสงบตั้งมั่นแล้วกายมา กายมาจิตมันก็จับที่กายใช่ไหม? พอจับที่กายนะ พอมันจับเห็นกายใช่ไหม? พิจารณาให้มันแยกแยะๆ ให้มันเป็นไปตามข้อเท็จจริงไง

มันจะเป็นน้ำ เป็นดิน เป็นลม เป็นไฟ มันจะเน่า มันจะเปื่อย มันจะพุ มันจะพอง มันจะเป็นอย่างไรให้มันเป็น ถ้ามันยังเป็นไปได้แสดงว่าเราควบคุม นี่วิปัสสนาเป็นแบบนี้ วิปัสสนาเหมือนกับเราควบคุม เราบริหารจัดการ เราสั่งให้มันเป็นไปได้ตามที่เราต้องการ แต่ถ้าเราพิจารณาไปแล้วนะมันไม่เป็นไปตามต้องการ คือเราจะให้มันแปรสภาพมันไม่แปร จะให้มันเป็นอย่างไรมันไม่เป็น นั้นคือสมาธิไม่มี สมาธิไม่มีกำลัง ถ้าสมาธิมีกำลังนะ พอให้มันแปรสภาพนะมันจะแว็บลงเลย ถ้าสมาธิดีๆ ให้เป็นอย่างไรจะเป็นแบบนั้นเลย ฟ้าบๆ เร็วมาก แต่ถ้าเรารำพึงให้มันเป็นนะมันไม่เป็น นั่นแหละแสดงว่าสมาธิไม่พอแล้ว

ถ้าสมาธิไม่พอนะ ขืนทำไปเรื่อยๆ มันจะทำให้การภาวนาเรา ต่อไปเราจะฟั่นเฟือน ทิ้งเลย คนเป็นจะทิ้งเลยแล้วกลับมาพุทโธ พุทโธ กลับมากำหนดลม กลับมากำหนดลมให้ลมชัดๆ ขึ้น แล้วมันจะบริหารอย่างนี้ ไอ้ที่บอกว่าเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ตามความเป็นจริงมันจะจับได้ มันจะพิจารณาได้ เหมือนขับรถ ขับรถนี่เราจะขับรถไปทางไหน เราจะเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวาเราเป็นคนควบคุมพวงมาลัย

จิต จิตถ้ามันสงบ จิตมีกำลังนะมันจะควบคุมมัน มันจะพิจารณา มันจะแยกแยะของมัน ตามข้อเท็จจริงของมัน นี้พูดถึงถ้าทำต่อไปนะ พื้นฐานมันคือจิตมันมีกำลัง จิตมันกำหนดลมแล้วลมมีกำลังมันถึงจะเห็นอย่างนั้นได้ เห็นอย่างนี้ได้ เราจะบอกว่าที่เห็น ๒ ครั้ง เห็นโดยที่เราบริหารจัดการไม่ได้ เห็นโดยส้มหล่น แต่ถ้าเราฝึกหัดจนชำนาญ พอมันเห็นนะ พอจิตมีกำลัง พอมันเห็นมันจับ มันจับแล้วมันพิจารณา มันแยกมันแยะอย่างที่เราพูดเมื่อกี้นี้

ถาม : ๒. บางครั้งจิตสงบลงลมหายเห็นกาย ไม่มีความรู้สึกชัดเจนตรงกลางหัวอก เป็นอยู่ ๒-๓ ครั้ง จะทำอย่างไรต่อไปเจ้าคะ

ตอบ : เหมือนกัน เหมือนกันหมายถึงว่าเราจะต้องกำหนดลมหายใจจนมันชำนาญ แล้วพอมันไปเห็นกายมันก็จะวิปัสสนา คือใช้สติปัญญา

คำว่าสติปัญญานะ ทางโลกสติปัญญาเขายังทำงานกันได้ แต่เราปฏิบัติต้องมีสติปัญญาที่มั่นคง พอมั่นคงแล้วมันพิจารณา นี่สติปัญญาของปุถุชน สติปัญญาของโสดาปัตติมรรค สติปัญญาของสกิทาคามิมรรค สติปัญญาของอนาคามิมรรคนี้เป็นมหาสติ มหาปัญญา สติปัญญาของอรหัตตมรรค เห็นไหม สติปัญญามันละเอียดลึกซึ้งแตกต่างกัน อย่างเช่นเงิน ๑๐๐ บาท เงิน ๕๐๐ บาท เงิน ๑,๐๐๐ บาท กระดาษเหมือนกัน แต่ราคาแตกต่างกัน

นี่สติ สมาธิ สติ สมาธิเหมือนกัน แต่เป็นสติ สมาธิแล้วก็เป็นมหาสติ มหาสมาธิ เห็นไหม มันแตกต่างกัน นี่พอมันแตกต่างกันปั๊บ ไอ้สิ่งที่เราไปรู้ ไปเห็น ที่มันเป็นครั้ง ๒ ครั้งที่เราบริหารไม่ได้ พอมันมีพื้นฐานแล้วมันจะบริหารได้ ที่มันเป็นนี่มันบริหารไม่ได้เพราะกำลังมันไม่พอ ต้องฝึกหัดตรงนี้

ถาม : ๓. เคยได้ยินเสียงหลวงตา และหลวงพ่อพุธเทศน์ (อะไรนะ? อ๋อ เคยได้ยินเสียง)

ตอบ : ได้ยินเสียงนี่เป็นสิ่งที่ดี ถ้าได้ยินเสียงนะ ขณะที่เราภาวนาไป บางคนภาวนาไปจิตสงบนะ ได้ยินเสียงมโหรีขับกล่อม มันอยู่ที่วาสนาของคนนะ ถ้าคนมีวาสนาเป็นไปได้ เพราะว่าครูบาอาจารย์ของเรา เวลาจิตสงบแล้ว ครูบาอาจารย์มาสอนนี่มี ถ้ามีอย่างนี้ได้สาธุ

ถาม : ๔. เมื่อเช้าขณะที่มีเศษ อะไรนะ บางครั้ง

ตอบ : ไอ้อย่างนี้เขาเรียกอะไรนะ ต้องสมมุติฐานคือเดา อะไรนะ เขาเรียกอะไรนะ สันนิษฐาน อย่างนี้ต้องสันนิษฐานเพราะอ่านไม่ออก กูอ่านไม่ออก กูต้องสันนิษฐานเอา คือเดาแล้ว เดาว่าเขียนเรื่องอะไร? สันนิษฐานเอานะตอนนี้ เดา อ่านไม่ออกเว้ย

ถาม : เมื่อเช้าขณะเศษ (เศษนี่มันได้) เศษของชนิดหนึ่ง

ตอบ : อ่านไม่ออก อ่านไม่เข้าใจ มันหวัดจนเราอ่านไม่ได้

ถาม : เมื่อเช้าขณะขึ้นศาลา มองเห็นคนใส่ชุดขาว

ตอบ : เออ เขานั่งอยู่นี่เต็มเลย จบแล้ว กูต้องใช้สันนิษฐานเอาเลยนะ กูจะเดาเอาแล้ว (หัวเราะ) นี่ทั้งหมดเลยเราจะมาตอบอันนี้ต่างหาก ทั้งหมดเลยจะมาตอบอันนี้

ถาม : ถ้าเป็นผู้หญิงจะปฏิบัติธรรมอย่างไรให้ถึงพระนิพพาน หากติดขัดไม่สามารถถามปัญหาจากผู้รู้ได้จะทำอย่างไรคะ? ไปบวชโดยพ่อแม่ไม่ทราบผิดหรือไม่?

“ถ้าเป็นผู้หญิงจะปฏิบัติธรรมอย่างไรให้ถึงพระนิพพาน?”

ตอบ : ปฏิบัติธรรมก็ปฏิบัติธรรมโดยที่ครูบาอาจารย์เราสั่งสอน ต้องทำความสงบของใจเข้ามาก่อน ถ้าใจสงบได้ เวลาเกิดปัญญาขึ้นมาเราจะซาบซึ้งจนน้ำตานี่ไหลพราก แต่ถ้าเวลาเราเกิดปัญญาอย่างนี้คือปัญญาที่เกิดจากสมอง ปัญญาจากการศึกษาอย่างนี้คือปัญญาแบบโลก พอปัญญาแบบโลกขึ้นมาเราก็คิดขึ้นมาว่าเราอยากจะสิ้นกิเลส เราอยากจะไม่เกิดอีก เราอยากจะปฏิบัติ แต่ แต่มีอุปสรรคมหาศาล ทั้งครอบครัว ทั้งสังคมโลก ทั้งหมู่คณะ จะติฉินนินทาไปหมดเลยว่าเราเป็นคนที่ไม่สู้สังคม เราเป็นคนเห็นแก่ตัว เราเป็นคนที่หนีปัญหา เราเป็นคนที่ไม่รับผิดชอบ ถ้าเราปฏิบัติ โลกเขาจะติเตียนกันอย่างนั้น

นี่คือปัญหาทางโลกนะ ถ้าปัญหาทางโลกเรามีจิตใจที่เข้มแข็ง เรามีจิตใจที่เข้มแข็งแล้วเราสามารถรู้โดยสัมมาทิฏฐิว่าเรามีความคิดถูกต้อง เรายืนบนหลักนี้ได้ เราจะผ่านวิกฤติอย่างนี้ไป พอผ่านวิกฤติไป พอเราบวชไปแล้ว หรือว่าเราจะปฏิบัติไปมันจะมีปัญหาแล้ว ปัญหาหมายความว่าเวลาเราอยากจะหลีกเร้น เราจะไปในความสงบสงัด เราแสวงหาชอบสิ่งนี้มาก พอเราหลีกเร้นมาปั๊บ มาอยู่ในความสงบปั๊บกิเลสมันขี่หัวแล้ว

อืม เราทิ้งสังคมมา เราเป็นคนไม่รับผิดชอบ หลายเรื่องเลยที่ยังไม่ได้ทำ มันจะกลับไปไง ทีแรกมาก็บอกมันจะสิ้นกิเลสนะ พอมาปฏิบัติปั๊บมันก็จะหวนกลับแล้ว อืม ตั้งแต่เกิดมาประโยชน์สังคมก็ยังไม่ได้ทำ พ่อแม่ก็ยังไม่ได้เลี้ยง สิ่งใดที่จะดูแลก็ยังไม่ได้ดูแล โอ้โฮ มันตีกลับนะ เราจะบอกว่าก่อนที่ยังไม่ได้ออกมามันก็อยาก มันก็คิดตามธรรม นี่กิเลสเรามีสติปัญญาก็พอตัว แต่พอเราออกมาแล้วมันจะคิดกลับแล้ว โอ๋ย นู่นก็ยังไม่ได้ทำเลย ชีวิตนี้ก็ยังไม่ได้สร้างสมอะไรกับโลกไว้เลย พ่อแม่ก็ยังไม่ได้ดูแลเลย อู๋ย เดือดร้อนอีก (หัวเราะ)

ฉะนั้น พอมันเดือดร้อน นี่เราจะบอกว่ากิเลสนะ ปัจจุบัน กิเลสในปัจจุบันเราฆ่ากิเลสที่นี่ เวลาเราอยู่นี่ปั๊บเราก็คิดถึงว่าเราอยากจะสิ้นกิเลส เราทำอย่างไรถึงจะนิพพาน เวลาเราไปอยู่ในสถานะของนักปฏิบัติขึ้นมามันก็บอก นี่กิเลสมันก็บอกว่าถ้าปฏิบัติแล้วมันก็ถึงมรรคถึงผลได้ มันก็หวนกลับไง นี่กิเลสมันย้อนศร มันย้อนศรก็ไปอีกเรื่องหนึ่งใช่ไหม? ไปเรื่องปัญหานี้ยังไม่ได้ทำ คนเรานี่ตั้งใจอยากจะปฏิบัติ อยากจะพ้นจากกิเลสกันทั้งนั้นเลย แต่เวลามาปฏิบัติแล้วทำไมพระก็สึกไป ทุกอย่างเราก็ต้องกลับไปอยู่กับโลก เพราะกำลังเรา นี่กำลังเราไม่พอ แล้วเราไม่สามารถจะยืนเผชิญกับสิ่งที่ชีวิตนี้ประสบได้

ชีวิตนี้ ชีวิตประจำวันที่เราประสบกับสิ่งนี้เราจะเผชิญกับมันอย่างใด? ถ้าเผชิญ นี่พูดถึงชีวิตประจำวันนะ เขาบอกว่าปฏิบัติธรรมเพื่อชีวิตประจำวัน ปฏิบัติธรรมเพื่อชีวิตประจำวัน แต่ของเราไม่ใช่ เราปฏิบัติเพื่อชำระกิเลส ชีวิตประจำวันก็เป็นแบบนี้ แต่ถ้าชีวิตประจำวันแล้วนี่ แล้วเราจะควบคุมใจเราอย่างไร? ถ้าเราควบคุมใจเราได้ เห็นไหม

ถาม : ถ้าเป็นผู้หญิงจะปฏิบัติธรรมอย่างไร?

ตอบ : จะปฏิบัติธรรม เพราะปฏิบัติธรรมมันก็คืออริยสัจ คืออริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ถ้ามรรคญาณเกิดขึ้นมันก็นิพพานหมดแหละ นี้เพียงแต่ว่าขณะที่ทำอยู่เรายังมีใครส่งเสริม เห็นไหม

ถาม : หากติดขัดปัญหา ถามปัญหาจากผู้รู้จะทำอย่างไรคะ?

ตอบ : จะทำอย่างไรคะ เดี๋ยวนี้ง่าย เดี๋ยวนี้ง่ายเนาะ เพราะมันมีเว็บไซต์ไง เดี๋ยวนี้ง่ายเขาก็ถามปัญหา ขอให้มันเป็นปัญหาจริงเถอะ ถ้าปัญหาจริงนะ แล้วอย่างว่า นี่อย่างที่ว่าตั้งแต่เริ่มต้น เราไปอยู่กับใคร? แล้วเขาจริงจังแค่ไหน? ถ้าเขาจริงจังนะ นี่มันเป็นประโยชน์สาธารณะ ครูบาอาจารย์ของเราถ้าเป็นธรรมนะมันเป็นประโยชน์สาธารณะ จะไม่เห็นแก่ตัว จะไม่ทำเพื่อตัวเอง จะไม่มีสิ่งใดเพื่อตัวตนนะ มีสิ่งใดจะเป็นเหมือนพ่อแม่ พ่อแม่ไม่กักตุนอาหารไว้กินคนเดียว พ่อแม่จะให้ลูกได้กินก่อน พ่อแม่นี่รักลูกจะให้ลูกหลานได้กินอาหาร ได้ดูแลก่อน ถ้าลูกหลานอยู่สุขสมบูรณ์แล้วพ่อแม่ถึงจะนั่น

นี่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์จริงนะ จะบอกว่า

ถาม : หากติดขัดปัญหา จะสามารถถามปัญหาที่ใคร?

ตอบ : ถ้าถามปัญหา ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ที่รู้จริง แต่นี้มันอยู่ที่วุฒิภาวะไง กึ๋นเราผู้ปฏิบัติใหม่กึ๋นไม่มี กึ๋นทางธรรมนะ กึ๋นทางธรรมคือความรู้ทางธรรม วุฒิภาวะทางธรรมไม่มีหรอก ถ้าวุฒิภาวะทางธรรมไม่มี พอเขาพูดอย่างไรก็เชื่อ เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะใครก็ได้พูดธรรมะพระพุทธเจ้าได้หมด

พระไตรปิฎกคือธรรมของพระพุทธเจ้า ใครก็พูดได้ คนพูดธรรมะได้หมด แต่รู้จริงหรือเปล่า? ถ้าไม่รู้จริงไม่สามารถบอกวิธีการการแก้กิเลสได้ แต่พูดธรรมะได้ แต่ไม่บอกถึงเหตุให้เกิดการเกิดธรรมะนั้นไม่ได้ เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้ามีอยู่แล้ว แล้วศึกษาธรรมของพระพุทธเจ้ามามันก็พูดได้ แต่เหตุที่ให้เป็นแบบนั้นน่ะ เหตุที่ให้เป็นแบบนั้น แต่ถ้าเป็นหลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเรา เหตุที่ให้เป็นเพราะท่านทำมาก่อน ท่านทำมาก่อน ท่านถึงจะเป็นได้ไง

ฉะนั้น สิ่งที่ทำนี่เราปฏิบัติของเราไปจนเรามีวุฒิภาวะ เราปฏิบัติไปใช่ไหม? นี่สิ่งที่ถามว่า

ถาม : ถ้าจะปฏิบัติให้ถึงพระนิพพาน

ตอบ : ได้ เพราะสมาธิไม่มีหญิง ไม่มีชาย โสดาบันไม่มีหญิง ไม่มีชาย นิพพานไม่มีหญิง ไม่มีชาย ในเอตทัคคะ นางภิกษุณีเป็นเอตทัคคะ เป็นลูกศิษย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหลายองค์มาก ผู้หญิง ผู้ชายนี้เป็นสมมุติ เป็นสมมุติหมายถึงว่าเราเกิดมาได้สถานะนี้แล้ว แต่จิตใจถ้ากลับไปสู่ความรู้สึกแล้วไม่มีหญิง ไม่มีชาย ฉะนั้น ถ้าทำไปอย่างนั้นได้มันเป็นความจริงอย่างนั้น

ถาม : ถ้าไปบวชโดยพ่อแม่ไม่ทราบผิดไหมคะ?

ตอบ : อืม ถ้าไปบวชโดยพ่อแม่ไม่ทราบ ถ้าเป็นพระบวชไม่ได้เลยล่ะ ถ้าเป็นพระจะบวชพระต้องบอกพ่อแม่นะ นี่เป็นผู้หญิงใช่ไหม? ผู้หญิงเราไปบวชได้ ไอ้อย่างนี้อีกอันหนึ่งนะ ผิดหรือไม่? เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกจากราชวังไป พระเจ้าสุทโธทนะเสียใจมาก ในการที่เราออกประพฤติปฏิบัติพ่อแม่เสียใจไหม? เสียใจแน่นอน พ่อแม่เขาต้องการให้ลูกอยู่กับเรา แล้วก็เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็นั่งร้องไห้กอดคอกัน (หัวเราะ) พ่อแม่ก็สงสารลูก ลูกก็สงสารพ่อแม่ แล้วก็นั่งกอดคอกันอยู่อย่างนั้นแหละ

โลกคิดกันได้แค่นั้นไง แต่ถ้าเราจะออกไปปฏิบัติปั๊บพ่อแม่เสียใจไหม? เสียใจ แต่ถ้าเรามีคุณธรรมขึ้นมาเราจะสอนแม่เราได้ “แม่ อันนี้มันเป็นผลของวัฏฏะเนาะ การเจ็บไข้ได้ป่วยมันก็เป็นเพราะเราเกิดมาเรามีร่างกาย ร่างกายเป็นรวงรังของโลกเนาะ ถ้าจิตใจของเรา ถ้าเราปล่อยวางมันได้เราก็จะไม่ทุกข์กับมันมากจนเกินไปเนาะ” เห็นไหม ถ้าเราไปปฏิบัติจนเรามีวุฒิภาวะเราจะกลับมาเป็นประโยชน์ได้ ถ้าเป็นประโยชน์ได้จริงนะ แต่ถ้าเป็นประโยชน์ไม่จริงนี่เป็นปัญหาอย่างนี้

ถ้าอยู่กับโลกก็กอดคอกัน รักกัน ดูแลกัน แล้วก็กอดคอกันร้องไห้ ไม่รู้ใครจะสอนใคร? แต่ถ้าเราจะแยกตัวออกไป แล้วเพื่อจะเอาความจริงมา เจ็บไหม? เจ็บ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกบวช พระเจ้าสุทโธทนะเจ็บไหม? เจ็บ เวลาสามเณรราหุลมาบวชยิ่งเจ็บเข้าไปใหญ่ ถึงได้ขอกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ว่า “ต่อไปนี้ ถ้าลูกหลานใครจะบวชต้องให้พ่อแม่ได้อนุญาตก่อน ถ้าพ่อแม่ไม่อนุญาตมันเจ็บปวดแบบนี้ แบบนี้”

ฉะนั้น ต้นทุนมันมีแบบนี้ไง ต้นทุนของเราคือความรู้สึกนึกคิด ก่อนที่เราจะชำระล้างมันเราต้องหามันให้ได้ก่อน ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเป็นผู้หญิงปฏิบัติได้ไหม? ได้ทั้งนั้นแหละ ได้ แต่นี่สิ่งที่ติดขัดในการถามปัญหา มันไม่ติดขัดถ้ามีปัญหาจริงนะ ถ้าสมมุติเรามีปัญหาจริง นี่เราหาครูบาอาจารย์ อย่างเช่นหลวงตา เมื่อก่อนถ้าหลวงตายังอยู่ ถ้าเราเป็นของเราจริงเราต้องมีจังหวะ จังหวะที่จะเข้าไปถึงตัวท่านได้ แล้วถามปัญหาได้ ถ้าเรามีปัญหาเราจริงนะเราจะมีจังหวะแล้วเข้าไปถึงตัวท่าน

แล้วถ้าถามปัญหาแล้วนะ นี่ครูบาอาจารย์ท่านรอตรงนี้ ท่านรอปัญหาจริงๆ ท่านรอคนที่ปฏิบัติจริงๆ แต่นี่ส่วนใหญ่แล้วมันไม่เป็นจริง คือไม่มีปัญหา เราคิดของเราไปเองไง เราคิดว่าเป็นอย่างนั้นๆ แต่ความจริงไม่เป็น เราปฏิบัติมันแบบว่าเหมือนคนไม่เป็นโรค หมอเขาไม่ต้องรักษาหรอก หมอนี่เขารักษาคนที่เป็นโรค จิตใจของคนปฏิบัติถ้ามันมีปัญหาขึ้นมา เหมือนคนที่เป็นโรค หมอต้องรักษา แต่เราคิดว่าเราเป็นไง เห็นเขาเป็นโรคกันเราก็วิตกกังวลว่าเราเป็นๆ แต่เราไม่เป็น

นี่อย่างนี้ เราจะบอกว่าเรื่องของจิตมหัศจรรย์มาก เห็นเขาเป็นก็คิดว่าเป็นเหมือนกันจนเครียด จนเป็นได้เหมือนเขา จิตนี้ทำให้เราทุกข์ เรายากมาก ฉะนั้น ถ้าเรารักษาได้เราก็แก้ได้ มันจะเป็นประโยชน์กับเรานะ นี่พูดถึงวิธีการแก้

ถาม : ผู้หญิงจะปฏิบัติธรรมอย่างไรให้ถึงพระนิพพาน

ตอบ : ปฏิบัติธรรมอย่างไร? ก็ศีล สมาธิ ปัญญา มรรคนี่พยายามทำของเรา แล้วเราพยายามทำแล้วพิสูจน์ได้ถ้าจิตมันดีขึ้น

ถาม : ๒. หากติดขัดในการถามปัญหา อยากถามผู้รู้จะทำอย่างไร?

ตอบ : ก็ต้องหาจังหวะ อย่างเช่นเรานี่ เราบวชแล้วนะเราไปอยู่อีสาน เวลาเราจะคุ้นเคยกับใครเราจะไปอุปัฏฐากครูบาอาจารย์ นวดเส้นท่าน สรงน้ำท่าน แล้วพอคุ้นเคยท่านเห็นหน้าเรา ท่านเห็นความตั้งใจจริงของเรา ถามท่านเถอะท่านบอกหมด แต่ถ้าเราไม่จริงใจ ไม่อะไร เราไปอยู่ที่ไหนนะเราจะทำข้อวัตร ถ้าที่ไหนเขาสรงน้ำอาจารย์เราก็จะไปสรงกับเขา กลางคืนเขานวดเส้นเราก็จะไปอยู่กับเขา แล้วพอมันเห็นหน้านี่ อ๋อ ไอ้หน้าเจ๊กๆ อย่างนี้มันมาทำข้อวัตรตลอดเลย ไอ้หน้าเจ๊กๆ นี่มันขวนขวาย มันอยากรู้ ถ้ามันถามปัญหานี่ตอบทันที

เรานี่ไปล้วงไส้ล้วงพุงมาเยอะ ไอ้ที่โม้อยู่ทุกวันนี้เอามาจากไหน? ก็เอามาจากนี่แหละ เอามาจากที่ไปหาครูบาอาจารย์มา ไปอยู่กับท่านมา เวลาพูดนี่เพราะเราเกิดไม่ทัน หลวงปู่มั่นเสียตั้งแต่ปี ๙๒ กูยังไม่เกิดเลย แต่พูดเรื่องหลวงปู่มั่นทุกวันเลย (หัวเราะ) ไม่รู้เอามาจากไหน? ก็นี่แหละเพราะขวนขวาย เพราะใฝ่รู้ เพราะอยากทำ ได้ ถ้าเราจริงใจเราทำได้หมดแหละ

ถาม : ๓. การไปบวช พ่อแม่ไม่ทราบผิดไหม?

ตอบ : อันนี้มันอยู่ที่ความเข้มข้นของหัวใจเราเนาะ แล้วอีกอย่างหนึ่งก็อยู่ที่พ่อแม่ด้วย ถ้าพ่อแม่เขามีลูกหลายคน หรือว่าสถานะทางครอบครัวเขาอยู่กันได้เราไปแล้ว แต่ถ้าเรารับผิดชอบอะไรไว้มาก หรือเราดูแลเราก็ต้องดูแลไปก่อน เพราะ เพราะเราเกิดมากับท่าน ท่านมีคุณกับเราจริงๆ นะ แต่ถ้าท่านมีลูกหลายคน แล้วสถานะครอบครัวก็ไม่ค่อยเดือดร้อน กูแอบไปเลยล่ะ กูไปของกูก็ได้ คือเราก็มีสมอง เราก็คิดได้ว่าท่านเดือดร้อนหรือไม่เดือดร้อน แต่นี่ไอ้เรื่องความผูกพัน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ยิ่งรักคนไหน หวังคนไหน แล้วคนนั้นหนีไปนะเจ็บ เจ็บ แต่เพื่อประโยชน์คิดเอาเอง

นี่ไงผลของวัฏฏะ เกิดมาอย่างนี้ไง เกิดมาติดพันกันไปหมด เกิดมาติดกันไปทั้งพ่อ ทั้งแม่ ติดพันกันไปหมด แล้วเราจะแกะ เราจะปลด เราก็ต้องใช้ปัญญา นี่เราพูดเป็นกลางนะ เราไม่เข้าข้างใครทั้งสิ้น ไม่เข้าข้างทั้งพ่อแม่ และไม่เข้าข้างทั้งลูก เพราะเวรกรรมของคนมันมี เราไม่เข้าข้างใคร เราพูดเป็นกลาง แล้วคนที่อยากจะออก อยากจะคิดจะต้องหาทาง หาทาง เพราะสังคมพระเรานี่มี สมัยพุทธกาลพระรัฐปาล มีลูกชายคนเดียว พ่อแม่ไม่ให้บวช ไม่ให้บวช อดอาหาร อดอาหารเลย ทีนี้พออดอาหาร พ่อแม่มีลูกคนเดียวทำอย่างไรได้ ก็ไปพยายามเรียกลูก ชวนให้เพื่อนๆ ลูกเพื่อมากล่อมลูกชายตัวเอง กล่อมอย่างไรก็ไม่ยอม จนเพื่อนของลูกชายไปถามพ่อแม่เลย

“พ่อแม่รักลูกไหม?”

“รัก” “

“ถ้ารักต้องให้บวชนะ ถ้าไม่ให้บวชจะไม่เห็นหน้ากัน”

เพราะเพื่อนมันรู้จักนิสัยลูกไง สุดท้ายพ่อแม่ก็จำใจต้องให้ลูกบวช ถ้าไม่ให้บวช วันนั้นลูกอดข้าวจนตาย คือจะไม่ได้เห็นหน้ากันอีกแล้ว นี่ในสมัยพุทธกาลอย่างนี้ก็มี บางทีในสมัยปัจจุบันนี้พ่อแม่เข็นให้บวชมันก็ไม่ยอมบวชก็เยอะ ไอ้ที่ไม่เอาถ่าน พ่อแม่พยายามเข็นให้บวช เข็นให้มันบวชมันไม่ยอมบวชนะ แต่คนดีๆ ที่ไหนเขาก็ต้องการ ที่ไหนเขาก็อยากได้

กรณีอย่างนี้เราต้องใช้สติปัญญานะ อย่าทำอะไรผลีผลาม ทำอะไรใช้สติ แล้วคิดให้ดี แล้วคิดให้ดี ถ้าคิดดีแล้วเราทำอันนั้นแหละถูกต้อง คิดให้ดี ทำให้ดี เพราะว่าชีวิตเราต้องเดินไปข้างหน้าอีกนะ ชีวิตเราไม่ใช่มีแค่นี้เนาะ เอวัง