ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ปัญญาส่งออก

๑o มิ.ย. ๒๕๕๕

 

ปัญญาส่งออก
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๙๓๒. ถึงข้อ ๙๓๙. เนาะ ข้อ ๙๔๐. มันไม่มี

ถาม : ข้อ ๙๔๑. เรื่อง “จินตมยปัญญากับภาวนามยปัญญาแตกต่างกันอย่างไร?”

กราบเรียนหลวงพ่อเจ้าค่ะ

๑. จินตมยปัญญากับภาวนามยปัญญาแตกต่างกันอย่างไร? ทั้งที่ก็มาจากความคิดข้างในเหมือนกัน

๒. ฆราวาสสามารถมีพระบรมสารีริกธาตุไว้บูชาที่บ้านได้ไหมเจ้าคะ เพราะมีคนบอกว่าไม่ควรเอาไว้ในบ้าน น่าจะเอาไปไว้ในวัด หรือให้คนส่วนใหญ่ได้กราบไหว้

ตอบ : นี้คำถามที่ ๑ นะ จินตมยปัญญากับภาวนามยปัญญาแตกต่างกันอย่างใด? ความเข้าใจของผู้ถามว่า

ถาม : ทั้งๆ ที่มันก็มาจากความคิดภายในเหมือนกัน แล้วมันแตกต่างกันอย่างใดล่ะ?

ตอบ : มันแตกต่างกัน มันแตกต่างกันเพราะเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้ธรรม ไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ อาฬารดาบส อุทกดาบส นี่การันตีพระพุทธเจ้าเลยบอกว่ามีความรู้เสมอเรา มีความเห็นเหมือนเรา ก็นี่ไง นี่เขาได้ฌานสมาบัติ เขาได้ความสงบร่มเย็นเหมือนกันหมด เขาว่าเหมือนเราเลย นี้เหมือนเรามันแบ่งแยกกันไม่ถูกไง

นี่ถ้าไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่มีเรื่องอย่างที่ว่าสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา สุตมยปัญญาคือการศึกษาแบบนักศึกษา สุตมยปัญญาคือการศึกษาค้นคว้า จินตมยปัญญาคือจินตนาการ จินตนาการที่มีสมาธิด้วยนะ มันแก้กิเลสไม่ได้หรอก แล้วภาวนามยปัญญามันเป็นแบบใด?

นี่ถ้าไม่มีคนรู้จริงใช่ไหม? ไม่มีคนรู้จริง ไม่มีคนที่ทดสอบตรวจสอบแล้ว เราจะแบ่งแยกอย่างไรว่าอันใดเป็นจินตมยปัญญา อันใดเป็นภาวนามยปัญญา จินตมยปัญญามันสร้างภาพ มันสร้างได้ดีกว่า เหมือนสินค้าลิขสิทธิ์ ดูสิที่เขาทำลอกเลียนแบบ เขาทำเหมือนไหม? เขาทำสวยกว่าอีกด้วย แต่เขาไม่ได้คิดค้นขึ้นมานะ เขาก็อปปี้มา แต่คนที่เข้าคิดค้นขึ้นมา ดูสิเจ้าของลิขสิทธิ์เขาต้องคิดค้นขึ้นมา เขาต้องออกแบบมา กว่าเขาจะทำสินค้าของเขาได้แต่ละชนิด นี่เขาออกแบบ เขารู้จักที่มาที่ไปเขาขึ้นรูปอย่างใด แต่ถ้าคนไปเลียนแบบมามันอย่างหนึ่ง

นี่พูดถึงการเลียนแบบ จินตมยปัญญามันเลียนแบบเพราะอะไร? มันเลียนแบบเพราะเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาจิตมันรวมลง จิตมันเป็นนะมันเป็นอย่างที่เป็นนี่แหละ นี่มันเป็นจินตมยปัญญา มันไม่ใช่คนที่คิดค้นขึ้นมาเอง ถ้าไม่ใช่คนคิดค้นขึ้นมาเองมันไม่ได้มาจากต้นขั้วไง มันแก้กิเลสไม่ได้

ฉะนั้น

ถาม : มันมาจากข้างในเหมือนกัน

ตอบ : ใช่ มันมาจากข้างในเหมือนกัน นี่เวลาเริ่มต้นของการศึกษา เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยไว้ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ต้องมีปริยัติ ต้องมีการศึกษา ถ้าไม่มีการศึกษาเราเรียนอย่างใด? แต่การศึกษานั้นพอมาเป็นจินตมยปัญญามันก็สร้างภาพ เหมือนหมด ดีหมด ดีจนบอกว่าแม้แต่นิพพานแล้วนะมันยังมีสุขาวดีเหนือนิพพานอีก นิพพานมันยังมีสูงกว่านิพพานอีก มันจินตนาการกันไป นิพพานมันมีแบ่งแยกอีกหรือ? มันไม่มีหรอก

ฉะนั้น เวลาจินตมยปัญญามันไปหมดเลย กิเลสมันหลอก กิเลสมันหลอกมันเป็นไปไม่ได้ แล้วถ้าภาวนามยปัญญาล่ะ? ภาวนามยปัญญานะ จิตสงบแล้ว จินตมยปัญญาจิตสงบบ้าง จิตสงบ ในเมื่อมันยังไม่สะอาดบริสุทธิ์มันก็เกิดจินตนาการ มันเกิดเป็นของมัน มันเกิดปัญญาแบบจินตมยปัญญา ปัญญาที่ยังมีสมุทัย ยังมีกิเลสเจือปน ถ้ายังมีกิเลสเจือปนอยู่มันสะอาดบริสุทธิ์ไม่ได้ มันสะอาดบริสุทธิ์ไม่ได้ แต่ แต่จะบอกว่าอย่างนี้นะ เราจะบอกว่าแบ่งกันเลยบอกว่า เราจะเอาแต่ภาวนามยปัญญาโดยที่ไม่เอาจินตมยปัญญา ไม่เอาสุตมยปัญญา ไม่ได้

“ไม่ได้” หมายความว่าในเมื่อเราเกิดมาเป็นมนุษย์ใช่ไหม? เราเกิดมาเรามีกิเลส เรามีอวิชชา เราปฏิเสธได้ไหม? ไม่ได้หรอก เราปฏิเสธสถานะความเป็นมนุษย์เราไม่ได้นะ เราปฏิเสธจิตของเราไม่ได้หรอก แต่จิตของเรามันไม่สะอาดบริสุทธิ์ใช่ไหม? เราต้องทำความสงบของใจให้มันสะอาดบริสุทธิ์เข้ามาให้ได้ นั่นเขาเรียกว่าสมาธิ สมาธิคือกิเลสมันสงบตัวลงชั่วคราว แต่มันไม่ได้ชำระล้าง พอไม่ได้ชำระล้าง เวลามันพัฒนาขึ้นมา จากสุตมยปัญญามันก็จะเป็นจินตมยปัญญา

ทีนี้พอถึงจินตมยปัญญามันแก้กิเลสไม่ได้ มันแก้กิเลสไม่ได้แต่มันเทียบเคียงได้ มันเทียบเคียงทำให้เหมือนได้ แต่มันไม่เห็นกิเลสจริง มันไม่ได้แก้กิเลสได้จริง พอแก้ไม่ได้จริงเราก็หมั่นเพียร หมั่นเพียรเข้าไป จากจินตมยปัญญา ถ้าเราหมั่นเพียรโดยที่เราไม่ทอดธุระ เราไม่ทอดธุระ เราไม่เคลมว่ามันเป็นธรรมๆ แล้ว เราพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ โดยที่มีเป้าหมาย มันจะเข้าไปสู่ภาวนามยปัญญา เราจะบอกว่ามันก็มาจากจินตมยปัญญา เพราะมันจินตนาการ เพราะมันจะหักห้ามไม่ได้

คือคนเรามันมีกิเลสอยู่ มันมีความสงสัยอยู่ มันมีความอยากรู้ อยากดี อยากใคร่ อยากเป็น มันมีความใคร่รู้ อยากรู้ อยากดี อยากเป็น มันมีของมันอยู่แล้ว พอมีของมันแล้วมันมีอย่างนี้เจือปนมาโดยที่ห้ามได้ยากมาก แต่เพราะสิ่งที่อยากได้ อยากมี อยากเป็น มันทำให้การภาวนาล้มลุกคลุกคลาน แล้วมันเข็ดขยาด เวลามันเสื่อมมันก็เสื่อมจากตรงนี้ มันเสื่อมจากอยากมีอยากเป็นนี่แหละ เวลามันเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญมันอยู่ขั้นตอนของมันเป็นอย่างนั้นแหละ จนมันเสื่อมจนเราล้มลุกคลุกคลานจนมันทุกข์ยากมาก จนมาหาเหตุหาผลมันเป็นเพราะอะไร? อ๋อ มันเป็นเพราะอยากได้ใคร่ดีนี่แหละ

ฉะนั้น เราปฏิบัติของเราไปด้วยเหตุด้วยผล “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” เราดูที่เหตุนั้นแหละ เวลามันพัฒนาขึ้นไปมันไม่มีสิ่งนี้เจือปนเข้ามา มันก็จะเข้าสู่ภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญาคือปัญญาเกิดจากการภาวนาล้วนๆ ไม่ใช่เกิดจากข้อมูลจำมา ไม่ใช่เกิดจากจินตนาการ ไม่ใช่เกิดจากสิ่งใดทั้งสิ้น มันเกิดจากความสมดุลของมันไง มรรคสามัคคี ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการภาวนาล้วนๆ ไม่มีสิ่งใดเจือปน ถ้ามีสิ่งใดเจือปนขึ้นมามันมรรคสามัคคีไม่ได้ มันสมุจเฉทปหานไม่ได้ มันจะเป็นปหานชั่วคราว มันจะเป็นของมันอยู่อย่างนั้นแหละ

ฉะนั้น จินตมยปัญญากับภาวนามยปัญญา นี่เวลาบอกว่ามันก็เป็นความคิดจากภายในเหมือนกัน แล้วมันต่างกันอย่างไรล่ะ? มันต่างกันโดยที่ว่าคุณภาพ คุณค่าของมันต่างกัน คุณภาพของมันต่างกัน แล้วมันก็ทำลายกิเลสแตกต่างกัน ถ้ามันเป็นเหมือนกันพระพุทธเจ้าไม่แยกไว้อย่างนี้ พระพุทธเจ้าแยกไว้เพราะมันแตกต่างกันไง ทีนี้พอมันแตกต่างกัน คนไม่เป็น คนที่ภาวนาใหม่ๆ จะแบบว่าอึดอัดมาก อึดอัดกับครูบาอาจารย์ ไม่เป็น มันไม่จริงๆ มันเบื่อหน่ายนะ แต่มันเบื่อหน่ายเพราะเรามีกิเลสไง แต่ถ้าเราตั้งใจของเรา เราทำของเราไป พอเราเป็นจริงนะเราก็จะพูดแบบครูบาอาจารย์ที่เป็นจริงพูดกับเรานั่นแหละ

มันเหมือนน้ำนะ อย่างน้ำ เห็นไหม ดูสิน้ำสะอาดบริสุทธิ์กับน้ำกลั่นแตกต่างกันอย่างไร? น้ำสะอาดเขาเอาไว้ใช้ประโยชน์ได้ไหม แต่น้ำกลั่นล่ะ น้ำกลั่นนี่มันสะอาดจนมันใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้นะ นี่ก็เหมือนกัน แล้วมันมาจากไหนล่ะน้ำกลั่น? มันก็มาจากน้ำนั่นแหละ

นี่ก็เหมือนกัน

ถาม : จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญามันแตกต่างกันอย่างไร?

ตอบ : มันแตกต่างกัน มันแตกต่างกันโดยคุณภาพ โดยเวลาพูดออกมาไง คนที่พูดเวลามันพูดบอกว่าภาวนาแล้วเป็นอย่างนั้น ครูบาอาจารย์ฟังรู้หมดแล้วแหละ ฟังแค่นี้ก็รู้แล้วว่ามันปัญญาขั้นใด มันเป็นตทังคปหาน มันปล่อยขนาดไหน มันปล่อยชั่วคราว มันปล่อยอยู่อย่างนั้นแล้วมันเสื่อม เวลาเสื่อมมาแล้วนะ กลับมาปุถุชนไม่มีอะไรเลย ขณะที่มันก้าวเดินไม่ถึง นี่ขณะที่ก้าวเดินขึ้นไป เวลาภาวนานะ เวลามันดีขึ้นมาเป็นชั้นเป็นตอน ถ้ายังไม่ถึงที่สุด ถ้าย้อนกลับมา เวลาหลวงตาท่านพิจารณาเวทนาจนถึงที่สุด เห็นไหม

“มันจะเอาเวทนาหน้าไหนมาหลอกเราอีกวะ”

เวทนาถึงที่สุดมันก็เท่านี้แหละ เวทนาคือว่าปล่อยวางชำระเวทนาขาดหมด แล้วขึ้นไปรายงานหลวงปู่มั่น

“เออ จิตมันไม่เกิด ๕ อัตภาพเว้ย นี่มันเกิดหนเดียวเท่านั้นแหละ”

นี่ได้หลักแล้ว ฟังทีเดียวมันก็รู้ คนฟังเป็นบอกทีเดียวรู้หมดนะ แล้วถ้ามันรู้แล้วมันก็จบไง นี่เวลาเราฟังมาใช่ไหม? จินตนาการ เวทนาเป็นอย่างนั้น พิจารณาเป็นอย่างนั้น แต่เวลามันเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาล้วนๆ ที่เกิดจากการภาวนานะ มันแยกมันแยะ นี่มันจะเจ็บปวดขนาดไหน? มันจะฝังลึกอยู่ในจิตใต้สำนึกขนาดไหน? เวลามันชำระล้างมันหมดเลย แล้วมันจะเอาเวทนาหน้าไหนมาหลอกเราอีกวะ ตั้งแต่ลูกเวทนา หลานเวทนา พ่อเวทนา ปู่เวทนาก็ได้ชำระล้างหมดแล้วมันก็จบ

นี่ภาวนามยปัญญามันแตกต่างกันอย่างนี้ มันแตกต่างกันกับจินตมยปัญญา ถ้าจินตมยปัญญาก็เป็นอย่างหนึ่ง นี่พูดถึงว่ามันแตกต่างกันอย่างใด ทั้งๆ ที่มาจากข้างในเหมือนกัน นี่ไงถึงว่าทวนกระแสไง นี่ปัญญามันส่งออก ปัญญาเวลาโดยธรรมชาติ เห็นไหม พลังงานมันส่งออก ความคิดของคนมันส่งออก ฐานที่ยิงจรวดออกไปคือภวาสวะ คือภพ จิตที่มันคิดมันก็คิดเรื่องที่กระทบ เรื่องที่ออกมาข้างนอก แล้วปัญญาก็เหมือนกันปัญญามันส่งออก แต่ถ้าเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาในตัวของมันเองมันไม่ส่งออก นี่ปัญญาที่ทวนกระแสกลับเข้าไปชำระล้างกิเลส เพราะกิเลสมันอยู่จิตใต้สำนึก

ทีนี้พอบอกมันก็มาจากความคิดเหมือนกัน ความคิดนั่นแหละมันส่งออก ถ้าเราไม่คิดขึ้นมาความคิดมันอยู่ไหน? เวลาเราคิดขึ้นมาความคิดมาจากไหน? นี่มันส่งออกไปสู่ความคิด ส่งออกไปสู่สิ่งที่เราคิด ความคิดคิดเรื่องอะไร? คิดเรื่องรถ จินตนาการเรื่องรถ แล้วมันไปถึงตัวรถ นี่ไปตัวรถ ไปจับรถ นี่วัตถุส่งออกมาจากความคิด อายตนะ พอออกไปถึงตัวรถเลย นี่มันส่งออกหมด แล้วเวลาภาวนามยปัญญามันไม่ส่งออกมาเลย ธรรมจักรมันหมุนติ้วๆ ปัญญาหมุนอยู่ในตัวมันเอง ละเอียดเข้าไปจากภายใน

นี่พิจารณากายของมัน มันไม่ส่งออก จินตมยปัญญามันส่งออก ทุกอย่างส่งออก ปัญญาส่งออกหมด แล้วปัญญาที่ย้อนกลับ ปัญญาที่ทวนกระแสกลับเข้าไปชำระกิเลสเป็นอย่างไร? อ้าว นี่มันจะแยกกันอย่างไรล่ะ? แต่ที่มามันก็มาจากการฝึกหัดนั่นแหละ มาจาก นี่เราจะตัด เหมือนกับสะพานเราจะตัดช่วงหนึ่งว่าสะพานนั้นต่อกันไม่ได้ เราจะเดินไปสู่อีกฟากหนึ่งไม่ได้

นี่ก็เหมือนกัน สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา มันก็เหมือนกับสะพานที่ต่อเชื่อมกันไป แต่สะพานถ้ามันขาดช่วงมันก็ไปสู่อีกฝั่งหนึ่งไม่ได้ ฝั่งของสมมุติกับฝั่งของวิมุตติ ถ้าฝั่งของสมมุติ เห็นไหม สุตมยปัญญา ระหว่างกลางสะพานก็จินตมยปัญญา ถ้ามันไปสู่ภาวนามยปัญญาไม่ได้มันก็ข้ามไปสู่ฝั่งวิมุตติไม่ได้ มันข้ามไปไม่ได้หรอก แต่ถ้ามันจะข้ามไปมันต้องแตกต่าง ถ้าไม่แตกต่าง ชื่อมันยังแตกต่าง สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา แล้วภาวนามยปัญญาเป็นอย่างไร?

นี่อ้างกันว่ามีปัญญาๆ ไง ปัญญาส่งออก แต่ถ้าปัญญาเป็นความจริงมันไม่ส่งออกอย่างไร? แล้วมันหมุนกลับมา จักรมันหมุนกลับมา ธรรมจักรหมุนกลับมาชำระกิเลสอย่างไร? หมุนกลับมาตัดสังโยชน์อย่างไร? เครื่องจักรเวลามันทำงานนะ จะระบบใดก็แล้วแต่มันก็ต้องเคลื่อนของมันไป เคลื่อนไหวของมันไป มีแรงอัดของมัน มีพลังงานของมัน แรงงานปฐม

จิตก็เหมือนกัน เวลาจะทำอะไร มึงจะภาวนา ภาวนากาย เวทนา จิต ธรรม พิจารณาสติปัฏฐาน ๔ จะพิจารณาเหมือนกัน อริยสัจมีอันเดียว ถ้าอริยสัจมีอันเดียวมันรู้ได้ มันเหมือนกัน มันเข้ากันได้ ถ้าบอกได้มันก็เป็นความจริง อันนี้พูดถึงปัญญาส่งออก กับปัญญาที่เป็นธรรมจักรที่หมุนกลับเข้าไปชำระกิเลสนะ ถึงเป็นภาวนามยปัญญา มันแตกต่างกันอย่างนี้ มันแตกต่างกัน เพราะมันแตกต่างกัน คุณภาพมันให้ผลแตกต่างกัน

ฉะนั้น เวลาพระกรรมฐาน เวลาเขาตรวจสอบกันเขาฟังตรงนี้ไง เขาฟังที่บอกว่าผม ขน เล็บ ฟัน หนังมันก็เป็นอริยสัจ แล้วเวลาพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรมมันก็เป็นอริยสัจ อืม ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ไม่เป็นอริยสัจ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เขาเอาไว้เผาทิ้ง ซากศพเขาเอาไว้เผาทิ้ง แต่จิตไปเห็น กาย เวทนา จิต ธรรม เห็น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ตามความเป็นจริง จิตรู้ จิตเห็น จิตแยก จิตแยะ จิตคิด จิตใคร่ จิตครวญ จิตวิปัสสนาจนเป็นไตรลักษณ์ อันนั้นถึงเป็นอริยสัจ แต่ตัวผม ขน เล็บ ฟัน หนังมันเป็นแร่ธาตุ ไม่เป็น

นี่มันวัดถึงวุฒิภาวะของคนพูดไง ถ้าคนพูดมีวุฒิภาวะ พูดถึงวุฒิภาวะมันพูดธรรมะมันจะเกี่ยวกันไง เกี่ยวกันตั้งแต่อวิชชา ตั้งแต่ธรรมะ แล้วธรรมะจะมาตัดอวิชชาอย่างไรมันจะเกี่ยวเนื่องกัน แต่ถ้าเป็นจำมามันพูดเฉพาะส่วน พูดจุดใดจุดหนึ่ง มันไม่เกี่ยวเนื่องกันมันก็ไม่กระเทือนถึงกิเลสไง นี่ฟังชัดๆ ฟังง่าย คนไม่เป็นพูดมันไม่เกี่ยวเนื่องกัน เหมือนสายสัมพันธ์มันไม่เข้าไปถึงต้นขั้ว มันไม่เข้าถึงอวิชชา มันแก้กิเลสไม่ได้

ถาม : ๒. ฆราวาสสามารถเอาพระบรมสารีริกธาตุไว้บูชาที่บ้านได้ไหม?

ตอบ : มันเป็นวัฒนธรรมนะ คนโบราณเขาไม่ค่อยเอาเข้าไปไว้ แต่เดี๋ยวนี้พอคนเราแบบว่ามันพัฒนาขึ้น ทุกคนก็เอาสิ่งที่ว่าพระธาตุต่างๆ ไปบูชากัน อันนี้มันอยู่ที่จิตใจของคนสูง คนต่ำนะ ถ้าจิตใจเราสูงส่ง จิตใจเราเห็นสาธารณะประโยชน์เราเอาไปไว้วัด แต่พอไว้วัดนะ คนไปวัดมันก็ขโมยไปไว้บ้านมันอีก (หัวเราะ) เอาไปไว้วัดไม่มีใครดูแลนะ ไอ้คนที่เอาก็ลักของนั่นไปไว้บ้านซะ ไอ้เราจิตใจเป็นสาธารณะก็อุตส่าห์ไปไว้วัด

นี่จิตใจคนเดี๋ยวนี้มันเห็นแก่ตัวทั้งนั้นเลย ถ้าจิตใจคนดีขึ้นมา ถ้าเราคิดดี เราคิดดีมันก็เป็นความดีของเรา นี่มันเป็นแบบว่านานาจิตตัง ใครพูดอะไรฟังไว้แต่อย่าเพิ่งเชื่อ เราพิจารณาหาเหตุ หาผล ฉะนั้น สิ่งที่ไม่ไว้บ้านเราก็เห็นด้วย บางคนนะอย่างเช่นพระธาตุมันเหมือนสิ่งที่มีชีวิต บางคนเอาไปเลี่ยมแขวนคอไว้ เวลาทำสิ่งไม่ดีอันตรธานหายไปนะ อันตรธานหายไปได้ แต่ถ้าทำไว้ที่ไหนเพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ เพราะของนี้เป็นของประเสริฐใช่ไหม?

แต่เราทำ เราเอาที่ท่านประพฤติปฏิบัติมาจนท่านเป็นพระอรหันต์ ถ้าเราอยากได้อยากดี เราก็เอาข้อวัตร เอาการประพฤติปฏิบัตินั้นจะมีคุณค่ามากกว่า เราพยายามทำดี พยายามรักษาจิตใจของเรา สิ่งนี้สำคัญกว่า แล้วถ้าเดี๋ยวของเราเป็นพระธาตุเองไง เดี๋ยวกระดูกของเราจะเป็นพระธาตุเอง แล้วเราเอาพระธาตุของครูบาอาจารย์มาแขวนไว้ กับกระดูกของเราเป็นเองมันแตกต่างกันอย่างใด? นี่ไม่ใช่ลบหลู่นะ นี่พูดด้วยความเคารพนะ เพียงแต่ว่าเราทำใจของเรา เราเข้าใจอย่างนี้แล้ว ไม่ใช่เอาเรื่องพระธาตุของครูบาอาจารย์ พระบรมสารีริกธาตุมา แล้วก็มาวิจารณ์กันเรื่องอย่างนั้น แล้วเรื่องของเราล่ะ? เรื่องการประพฤติปฏิบัติของเราล่ะ? เรื่องที่ว่าเราจะเป็นจริง ไม่เป็นจริงอันนี้อีกเรื่องหนึ่ง

ฉะนั้น พูดแค่นี้ นี่วางไว้นะ

ข้อ ๙๔๒. ไม่มีนะ

ถาม : ข้อ ๙๔๓. เรื่อง “กราบขอบพระคุณหลวงพ่อค่ะ”

กราบขอบพระคุณหลวงพ่อที่เมตตาตอบคำถามหนู ข้อ ๘๙๓. เรื่อง “เกี่ยวกับการนั่งภาวนา” ซึ่งหลวงพ่อตอบได้ชัดเจนและแจ่มแจ้งมากๆ ค่ะ หนูกลัวจิตรวมมา ๒-๓ ปีแล้ว และได้ค้นหาคำตอบจากหลายท่านที่เป็นฆราวาส บางคนหาว่าเคร่งเครียด เล่าให้ใครฟังเขาหาว่านั่งจนเพี้ยน บ้า จนหนูเข้าไปเรียนอภิธรรมก็ยังหาคำตอบไม่พบ ไม่มีคำตอบที่ตอบว่าจิตรวมดิ่งเข้าไปเรื่อยๆ แล้วจะเจออะไรบ้าง ไม่คิดว่าแค่การนั่งภาวนาพุทโธจะสามารถไปอีกมิติหนึ่งซึ่งบรรยายไม่ถูก ลึกซึ้งมากๆ มหัศจรรย์ยิ่งนัก ยากจะอธิบายต้องเจอเอง แต่หลวงพ่อสามารถตอบคำถามหนูได้แสดงว่ารู้จริง

ก่อนหน้าที่จะเจอหลวงพ่อ (นี่เขาพูดถึงหลวงตา เขาฝันถึงหลวงตา) หนูได้ก้มกราบท่านต่อตรงหน้า ตื่นขึ้นมาเกิดปีติมาก และแล้วก็มาเจอหลวงพ่อ หลังจากนี้จะพยายามค่ะ ในเมื่อหลวงพ่อบอกเป็นทางที่ต้องผ่าน หนูมาถูกทาง ก็จะลองดู รวบรวมจิตกล้าๆ ไหนๆ เกิดมาก็ต้องตายอยู่แล้วใช่ไหมเจ้าคะ จะกลัวอะไรถ้านั่งแล้วกลับมาไม่ได้ก็ให้มันรู้ไป ต่อไปนี้จะไม่ฉุดรั้งจิตเอาไว้อีกแล้ว ถ้าจิตรวมจะให้รวมไปเลย จะดิ่งก็ให้ดิ่งเข้าไป อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ขอบพระคุณเจ้าค่ะ

ตอบ : อันนี้พูดถึงว่าความลังเลสงสัย เพราะจิตของเขามันจะวูบลงแล้วเขาไม่กล้า กลัวมาก กลัวทุกๆ อย่าง ทุกคนกลัวตายไง ทุกคนพอกลัวตาย จิตมันจะวูบลงจะกลัวมาก กลัวมาก ทีนี้การกลัวนั้นน่ะมันก็กระตุกให้จิตนี้ขึ้นมา ถ้าจิตมันรวมลง ถ้ามีสติสัมปชัญญะนะ แต่ถ้าขาดสติ ถ้าคนเราสติฟั่นเฟือนแล้วมันวูบวาบไปมันเป็นการตกใจ จิตอันนั้นมันจะมีผลกระทบ แต่ถ้าจิตของเรามีสติสัมปชัญญะพร้อม ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ

อัปปนาคือรวมใหญ่ ถ้ามันจะรวมลงมันจะผ่านประสบการณ์ของมัน แล้วแต่จิตของใครจะเป็น จะรวมลงนะมันจะมีการที่กระเพื่อมมาก กระเพื่อมเข้าไปสู่ความสงบนะ นี่แต่มันกระเพื่อมอย่างนั้น ทุกคนจะกลัวมาก แต่ถ้าเรารักษาของเราไว้ รักษาของเราไว้ ถ้ามันรวมลง รวมลงนะมันจะไปเห็นข้อมูลเดิม ไปเห็นสมบัติเดิมของตัวเลย แล้วพอมันคลายออกนะ เวลารวมลงไปแล้วสักแต่ว่า

สักแต่ว่าคือว่ามันเป็นเรื่องตามบุญ ตามกรรมเลย แต่พอมันควบคุมตัวเองไม่ได้มันสักแต่ ควบคุมตัวเองคือควบคุมสติรู้จริงได้หมด แต่มันจะรักษาสิ่งนั้นไม่ได้จนมันคลายตัวออกมา พอคลายตัวออกมามันจะเป็นอุปจารสมาธิ พอคลายตัวออกมา อุปจาระคือมันรู้สิ่งกระทบได้ รู้สิ่งกระทบได้ มันพิจารณาสิ่งนี้ได้ พอพิจารณาสิ่งนี้ได้ นี่วิปัสสนาเกิดตรงนี้ แต่ทำไมต้องรวมลงล่ะ? รวมลงนี้เข้าไปพักเพื่อเอากำลัง

พอจิตเราสงบมันเป็นขณิกะ มันเป็นอุปจาระ มันจะรู้ มันจะเห็นต่างๆ แต่มันก็แฉลบ มันจะแว็บ มันไม่มีกำลังพอ ไม่มีกำลังพอมันก็ล้มลุกคลุกคลานอยู่อย่างนั้นแหละ จะเดินหน้าก็ไม่ได้ จะถอยหลังก็ไม่ได้ ทำอะไรมันติดขัดไปหมดเลย ถ้ามันกำหนดพุทโธไปเรื่อยๆ ถ้าอย่างนั้นเราพุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธจนเข้าไปถึงรวมใหญ่ เข้าไปถึงอัปปนา เข้าไปพักผ่อนให้สบาย เข้าไปพักผ่อนถอนเสี้ยน ถอนหนาม ถอนความวิตกกังวล ถอนทุกอย่างออกให้หมดเลย แล้วคลายตัวออกมา

พอคลายตัวออกมามันก็จะมาเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ตรงนี้มันจะทำงานได้ชัดเจนขึ้น ชัดเจนเพราะอะไร? เพราะมันได้เข้าไปพักผ่อนเต็มกำลังของมัน คือการพักผ่อนของจิตสูงสุดอยู่ตรงนี้ แต่ถ้าเวลามันเป็นขณิกสมาธิ เป็นอุปจารสมาธิเข้าไป อุปจาระมันก็รู้ มันก็เห็น มันก็พิจารณาของมันได้ ถ้าคนที่ไม่มีสิ่งใดมาโต้แย้ง ไม่มีสิ่งใดมาก่อกวนนักมันพิจารณาได้ แต่บางคนมันล้มลุกคลุกคลานตรงนี้ เดี๋ยวก็ได้ เดี๋ยวก็ไม่ได้ ล้มลุกคลุกคลานอยู่นี่ แล้วจะเสริมกำลังของตัวอย่างใด?

ฉะนั้น จะเสริมกำลังของตัวก็พุทโธให้มันลึกเข้าไปก็ได้ ถ้ามันเข้าไปแล้วก็ไปสู่อัปปนา แล้วถอยออกมาแล้ววิปัสสนา แต่ถ้าพิจารณาตรงนี้ก็พิจารณาได้ ถ้าเข้าไปถึงตรงนั้นมันเข้าไปถึงแบบอิ่มเต็ม น้ำเต็มแก้ว ต่อจากนั้นก็ล้นแก้ว แต่นี่ไม่ล้น มันเข้าไปสู่ความสงบของมันแล้วคลายออกมา ฉะนั้น ถ้าเป็นอย่างนั้นก็เข้าไป เข้าไปให้จิตนี้ได้สัมผัสทั้งหมด ไม่มีสิ่งใดติดข้องหมองใจ ไม่มีสิ่งใดที่จะมากวนใจ แล้วพอมันออกมาให้มันพิจารณาเต็มที่ของมันเลย นี่ใช้ปัญญาเต็มที่ วิปัสสนาเต็มที่ มันจะได้แก้ไขของมันเต็มที่

นี่โดยหลักไง แต่คนจะทำได้อย่างนี้มันมีน้อยคน ถ้าน้อยคน พอมันสงบแล้วมันพิจารณาได้ก็พิจารณาเลย สิ่งนั้นไม่เป็นปัญหา นี่พูดถึงการภาวนานะ ถ้ามันได้หลักก็อนุโมทนา

ข้อ ๙๔๔. ถึงข้อ ๙๕๒. มันไม่มี

ถาม : ข้อ ๙๕๓. เรื่อง “สงสัย” (คำถามเขียนว่าสงสัย)

คือกระผมอ่านในหนังสือมา เรื่องการบวชพระ ที่ว่าให้นับในครรภ์มารดาได้ ๖ เดือน อันนี้จริงหรือเปล่าครับ หมายถึงอายุบวชครับ ขอคำอธิบายด้วย

ตอบ : คำอธิบายมันแบบว่าเรื่องนี้มันอยู่ในอุปัชฌาย์ ใครได้เป็นอุปัชฌาย์ต้องไปเรียนไง เรียนอุปัชฌาย์เขาจะมีการนับคำนวณว่าอายุ ๒๐ ครบบวชครบอย่างใด? แต่ถ้าคนเรา นี่เราครบบวชของเรา เราครบบวชได้ ถ้ามันยังไม่ครบ ๒๐ เขานับเดือนกัน นี่สิ่งนี้เขามี เพราะอุปัชฌาย์ อุปัชฌาย์ต้องเรียนนะ ฉะนั้น ถ้าเราจะบวชเราก็รอให้มันครบ ๒๐ ก็ได้ ถ้าไม่ ๒๐ เขาจะนับให้ นี่ในอุปัชฌาย์เขามีตำราของเขา เขานับอยู่ในครรภ์ด้วย อันนี้มี แต่บอกว่า

ถาม : จริงหรือเปล่าครับ?

ตอบ : นี่มันก็เป็นจริงตามหลักวิชา แต่ถ้าของเรา ถ้าเรายังไม่แน่ใจของเราใช่ไหม? หรือเราไม่รีบ เรา ๒๐ เต็มของเรา การเกิดเป็นมนุษย์ ตั้งแต่วันเกิดนับไป ๒๐ ทีนี้ถ้ามันขาดไม่กี่เดือนเขาก็ทดเอาในครรภ์ไง เขาทดเอาในครรภ์ได้ ถ้าเขาทดเอานี่ก็ว่าบวชได้ ฉะนั้น บวชได้ ทีนี้การบวชแล้วมันอยู่ที่ผู้บวช ผู้บวชมันยังคาใจไหม? อะไรไหม? ถ้าคาใจเราก็รอ ๒๐-๒๑ ๖๐ บวชก็เยอะแยะไปเนาะ ๖๐, ๗๐ เขายังบวชกันอยู่ ฉะนั้น กรณีนี้เขาว่าเขาสงสัยเฉยๆ เราก็ตอบเฉยๆ เราตอบให้เข้าใจแค่นี้เองนะว่าเท่านี้

อันนี้พักไว้ก่อน มันจะมีอันหนึ่ง เอาไปไว้ก่อนเนาะ เพราะมีอันนี้

ถาม : เวลาเดินจงกรมแล้วเราภาวนาพุทโธ พุทโธ หรือเดินจงกรมพิจารณาไป หรือให้เดินสายปัญญา

ตอบ : เวลาเดินจงกรมให้ภาวนาพุทโธ พุทโธ ให้พุทโธไป หรือพิจารณาไปนะ พุทโธ เราเดินพุทโธ พุทโธ นี่คือคำบริกรรม นี่เวลานั่งก็พุทโธนะ พุทโธคือคำบริกรรม พุทโธ พุทโธ พุทโธเร็วๆ ก็ได้ แต่เวลาคนกำหนดลมหายใจเข้า-ออกนี่คืออานาปานสติ กรรมฐาน ๔๐ ห้อง การทำความสงบ ๔๐ วิธีการ

ฉะนั้น ถ้าพูดถึงการปฏิบัติใหม่ เริ่มต้นปฏิบัติใหม่แบบว่ามันเป็นนามธรรมที่เราจับต้องได้ยาก ให้หายใจเข้าแล้วนึกพุท หายใจออกให้นึกโธ คืออานาปานสติกับพุทโธนี้รวมกัน อานาปานสติกับพุทธานุสติเราเอามารวมกัน เพราะมันเป็นสิ่งที่เป็นวัตถุที่เราจับต้องได้ จิตมันจะได้มีที่เกาะได้ชัดเจน แต่เวลาพุทโธ พุทโธไป

มันพุทโธ เห็นไหม ถ้าพุทโธไวๆ พุทโธ พุทโธ พุทโธ หรือพุทโธโดยคำบริกรรมเราเร่งได้ เราพุทโธไวๆ ก็ได้ พุทโธพอประมาณก็ได้ พุทโธช้าก็ได้ เพราะว่าอยู่ที่อารมณ์กระทบ วันไหนที่มันอารมณ์กระทบแรงเราก็พุทโธไวๆ วันไหนที่จิตใจเราไม่ขุ่น พุทโธปานกลางก็ได้ แต่ถ้ามันไปบวกลม บวกลม เห็นไหม พอหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ เราจะเร่งพุทโธมันติดที่ลม

ฉะนั้น สิ่งที่เราเอามารวบรวมกัน เพื่อจะให้ผู้ปฏิบัติใหม่ปฏิบัติได้ง่าย แต่พอปฏิบัติไปแล้วมันต้องรู้วิธีการว่าให้วางพุทโธ หรือวางลมอย่างใดอย่างหนึ่ง เราวางพุทโธเลยนะ พุทโธไม่ต้องพุทโธก็ได้ กำหนดลมชัดๆ หายใจเข้ารู้ว่าหายใจเข้า หายใจออกรู้ว่าหายใจออก นี่เป็นอานาปานสติ แต่ถ้าเราทิ้งลมไปเลย ลมไม่ต้องไปกำหนดมัน เราท่องพุทโธ พุทโธ พุทโธ เวลาจิตที่มันไม่ลง หรือจิตที่มันอึดอัดบ้าง จิตที่มันมีอะไรกระทบ พุทโธไวๆ พุทโธ พุทโธ พุทโธไปเลย นี่รัวกันไปเลย เพราะต้องการดึงจิตไว้ไม่ให้มันออกคิดไง

นี่มันมีเทคนิคของมัน ทีนี้ผู้ที่ปฏิบัติใหม่เขาก็ต้องแบบว่ารถออกไหม? รถทีแรกออกก็ออกเกียร์ ๑ นะ แล้วก็ใส่เกียร์ ๒ เกียร์ ๓ เกียร์ ๔ แล้วเวลารถจะลงเขานะเขาต้องใส่เกียร์ต่ำเพื่อจะให้ดึงรถไว้ คนขับรถเป็นเขาจะรู้ว่าเขาใช้เกียร์อะไรเหมาะสมกับเขา นี่การภาวนาก็เหมือนกัน พอภาวนาไปแล้วมันติดขัดอย่างไร? มันเป็นที่จริตนิสัย รถของเรานะเราขับรถอยู่ในเมือง เราไม่เคยขึ้นเขาเลย เราไม่ต้องมี ๔ ล้อหรอก อย่างไรเราก็ไปได้ แต่ไอ้คนที่เขาอยู่บนเขาตลอดเขาต้องปีนเขา รถทางภาคเหนือนะ เวลาเขาไปเอาสินค้าเกษตรในภูเขา เขาไปของเขาลิ่วๆๆ การใช้งานไง

นี่ก็เหมือนกัน การใช้งานว่าต้องพุทโธ หรือว่าเดินสายปัญญา คำว่าเดินสายปัญญาเราสอนไว้เอง การเดินสายปัญญาเขาเรียกว่าปัญญาอบรมสมาธิ หลวงตาท่านก็สอนว่าปัญญาอบรมสมาธิ คำว่าปัญญาอบรมสมาธินี่ปัญญาชน พุทธจริต พวกนี้พุทโธไม่ได้ พุทโธแล้วก็นั่งหลับ พุทโธแล้วก็หัวทิ่มหมอน พวกพุทธจริตนี่พุทโธไม่ได้ เพราะพุทโธนี่นะมันต้องเป็นศรัทธาจริต ศรัทธาจริต พวกมีศรัทธามั่นคง พุทโธดี แต่ถ้าเป็นพุทธจริตคือพวกปัญญา มันพุทโธแล้วมันก็สงสัย พุทโธแล้วมันก็คิด พุทโธแล้วมันก็คอตก พุทโธแล้วมันก็ไม่เชื่อ (หัวเราะ)

มันไม่เชื่อหรอก พุทโธอะไรวะ อะไรก็พุทโธ พุทโธมากี่ปีแล้ว แล้วก็พุทโธอยู่นี่ เบื่อฉิบหายเลย พุทโธอะไรกันนี่ มันไม่ฟังหรอกเพราะปัญญามันจะเทียบเคียง พอเทียบเคียงปั๊บ นี่หลวงตาท่านสอนว่า พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่นะเหมือนเราโค่นต้นไม้ เราโค่นที่โคนต้น เวลาโคนต้นมันขาดต้นไม้มันจะล้มลง ตูม นี่คือพุทโธ

เวลามันลง จิตมันลง สมาธิมันจะดี สมาธิมันจะลึกซึ้ง เพราะเราโค่นที่โคนต้น เวลาต้นไม้มันล้มมันจะฟาดกับพื้น มันจะเสียงดังสนั่น แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธินะเราโค่นที่โคนต้นไม่ได้ เพราะสถานที่เราคับแคบ ต้นไม้มันจะฟาดสู่สิ่งปลูกสร้างของเรา เราจะขึ้นไปตัดทีละกิ่ง ปีนขึ้นไปต้นไม้นะแล้วก็ตัดลงมากิ่งเล็กๆ แล้วก็เชือกห้อยลงมา ตัดทีละกิ่งๆๆ ตัดทอนต้นไม้ลงมาเรื่อยๆ ลงมาเรื่อยๆ จนมาถึงโคนต้น

นี่มันต่างกันตรงนี้ไง ต่างกันที่ว่าถ้าเราใช้ความคิด เราใช้ความคิดนะ เราจะคิดเรื่องอะไรก็ได้ คิดเรื่องอะไรก็ได้ แต่ถ้าตรึกในธรรมนี่ดี ตรึกในธรรมะพระพุทธเจ้า ชีวิตนี้คืออะไร? เกิดมาทำไม? ทำไมความทุกข์มันมาจากไหน? ทำไมเรามีความเศร้าโศก ความโศกนี้มาจากไหน? ทำไมความไม่พอใจมันอยู่กับเรา นี่ใช้สติตามความคิดนี้ไป มันจะตัดกิ่ง ตัดก้าน ตัดความกังวลของใจ ถ้าคิดนะ ถ้ามีสติแล้วคิดเรื่องนี้นะมันจะมีคำตอบถึงที่สุด อืม มึงบ้า อืม มึงบ้า

คือเราบ้าอยู่คนเดียวไง ความคิดนี่เราไปให้ค่ามันทั้งนั้นแหละ พอบอก เออ มึงบ้ามันก็จบ เดี๋ยวคิดอีกแล้ว พอคิดไป อืม มึงบ้า คิดอีกแล้ว ความคิดจะเร็วมาก พอมันคิดก็ไล่ไปๆ ไล่ไปจนถึงที่สุดนะมันเริ่มชำนาญขึ้น ความคิดเกิดดับ ความคิดนะมันเกิดจากภพ เกิดจากจิต เกิดจากจิตแล้วมันคิดออกมาอย่างไรล่ะ? คิดออกมาเพราะขาดสติ เพราะความคิด เหมือนน้ำมันไหลมาเราจะกั้นน้ำอย่างไรล่ะ? แต่นายช่างที่เขาฉลาดนะ เขาเบี่ยงเบนทางน้ำ แล้วเขาก็สร้างเขื่อน แล้วพอเสร็จแล้วเขาก็ถม น้ำก็กลับมาอยู่เขื่อน เขื่อนก็กั้นน้ำขึ้นมาได้

นี่ก็เหมือนกัน ความคิดมันคิดออกมาจากจิต อ้าว แล้วเราจะยับยั้งอย่างไรล่ะ? เราจะยับยั้งอย่างไร? นี่ถ้าปัญญามันมีมันเห็นนะ เพราะเราขาดสติ พอมีสติ พอมันจะคิดนะ ถ้ามันทันขึ้นมา มันคิดบ่อยๆ ครั้งเข้ามันทันขึ้นมา พอมันจะคิดนะ นั่นแน่ะๆๆ มันไม่กล้าคิดนะ ถ้ามีสติปั๊บความคิดไม่มี แต่อย่าเผลอนะ เผลอแล้วไหลมาเลย เผลอไม่ได้ เผลอแล้วไหลมาเลย แต่ถ้าทันปั๊บมันหยุด ถ้าทันมันหยุด นี่คือใช้ปัญญาไง

เขาบอกว่าหรือหัดเดินใช้ปัญญา หัดเดินใช้ปัญญาคือปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธินะ ปัญญาอบรมสมาธิ จนสมาธิมันหยุดบ่อยครั้งเข้า หยุดมากเข้า หยุดจนมันชำนาญขึ้น หยุดจนมันตั้งมั่นได้ หยุดจนตั้งมั่นได้ ปัญญาอบรมสมาธิทำได้ พอหยุดจนตั้งมั่นได้ พอมันจะคิดอีกที จากที่มีสติมันก็ไม่คิด แต่พอเราให้มันคิด แล้วเราเห็นมันคิด ความคิด จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นความคิด จิตจับความคิดได้ ถ้าจิตจับความคิดได้ วิปัสสนาเกิดตรงนี้ ถ้าเป็นพุทโธ พุทโธนะ จิตสงบแล้ว จิตสงบแล้วเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม นั่นวิปัสสนาเกิดตรงนั้น

นี่มันเหมือนกัน มันเหมือนกันโดยอริยสัจ อริยสัจมีหนึ่งเดียว จะภาวนาทางไหน จะไปทางไหนนะมันต้องกลับไปสู่ฐาน สู่สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน เข้าไปสู่ฐานของจิต มันไปไหนไม่รอดหรอก มันไปไหนไม่พ้นหรอก มันกลับมาที่นี่แหละ

ฉะนั้น คำถามถามแค่นี้แหละ ตอบไปจนออกทะเลไปแล้ว ยังไม่ได้กลับมาคำถามเลย ที่ออกทะเลไปจะอธิบายให้เห็นว่า ถ้าการใช้ปัญญาไปมันเป็นหลักอย่างนี้ ถ้าการใช้พุทโธไปมันจะเป็นหลัก พุทโธจะเป็นเจโตวิมุตติ พอจิตพุทโธ พุทโธจนจิตสงบ จิตรวมลง แล้วจิตออกพิจารณา เห็นภาพเป็นอุคคหนิมิตแล้วขยายส่วน แยกส่วนเป็นวิภาคะ เป็นไตรลักษณ์ ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติ จิตสงบแล้วเห็นความคิด เห็นความรู้สึกเป็นรูปธรรมเลย เป็นจับต้องได้ พิจารณาได้ แยกแยะได้ นี่มันก็เข้ามาจินตมยปัญญา หรือภาวนามยปัญญา

จับต้องได้ แยกแยะได้ลึกซึ้งแค่ไหน? ถ้ามันไม่ลึกซึ้งก็เป็นจินตมยปัญญา ถ้าชัดเจน แยกแยะได้ด้วยความชัดเจน ด้วยความเป็นมรรคที่มันหมุนติ้วๆ อันนั้นจะเป็นภาวนามยปัญญา นี่มันเป็นระดับ วุฒิภาวะของจิตมันเป็นระดับ เป็นชั้นของมันเหมือนกัน เหมือนกัน ฉะนั้น คนภาวนาเป็นจะอธิบายอย่างนี้

ถาม : ๒. อย่างหลังนี้หมายความว่าอย่างไรคะ? จะได้ไปปฏิบัติพัฒนาต่อไปเจ้าค่ะ

ตอบ : อย่างหลังคือใช้ปัญญาอบรมสมาธิไง อย่างแรกก็พุทโธไง แล้วพิจารณาไป นี่ผู้ถามไง ถามอย่างนี้ก็ยังดีอยู่ เพราะว่ามันยังมีหลักมีเกณฑ์ไง เราปฏิบัตินะเริ่มต้นจากผ้าขาว ถ้ายังไม่มีสิ่งใดเลย ถ้าเราจับหลักที่ถูกต้องไป นี่เหมือนกับอนุบาล พื้นฐานถ้าวางไว้แข็งแรง ปฏิบัติไปข้างบนๆ มันก็จะง่ายขึ้น พื้นฐานปล่อยจนเละ แล้วจะเอานิพพาน เอานิพพาน เหยียบย่ำตัวเองกันอยู่นั่นแหละ

ฉะนั้น สิ่งที่ว่านี่จะเดินสายปัญญาหรือจะพุทโธ มันใช้ได้ทั้ง ๒ อย่าง ใช้ได้ ๒ อย่างหมายความว่าแล้วแต่โอกาสไง โอกาสไหนทำอย่างใดแล้วสะดวกเอาอย่างนั้น แล้วถ้าพออย่างนี้มันอั้นตู้ มันไปไม่ได้ อย่างพุทโธ พุทโธบางทีมันไปไม่รอดหรอก เราใช้ปัญญาพิจารณาซะ ถ้าปัญญาไปบ่อยๆ เข้ามันฟุ้งซ่าน กลับมาพุทโธบังคับเลย พุทโธ พุทโธ เราใช้แต่ละคราว ผลัดเปลี่ยนกันใช้ได้ คนเรามี ๒ เท้านะซ้ายและขวา มีเท้าเดียวมันใช้กระเถิบไปนะ แต่ถ้ามีซ้ายและขวามันเดินสลับเท้ามันจะเดินไปได้

การภาวนาก็เหมือนกัน พุทโธก็ได้ ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ ถ้าเป็นคราว เป็นกาลเพื่อจะให้การภาวนาของเรามันก้าวหน้า ถ้ามันก้าวหน้าได้เราก็ประสบความสำเร็จ เราก็ภาวนาได้เนาะ เอวัง