กิเลสมัดมือชก
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ตั้งใจฟังธรรม ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม วางธรรมและวินัยไว้นี้ให้พวกเราก้าวเดินตาม เราเกิดมาพบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ พบพระพุทธศาสนา มีคุณค่ามาก คุณค่าในชีวิต ถ้าชีวิตมีคุณค่านะ เราจะเห็นธรรมนี้ประเสริฐมาก ถ้าเห็นธรรมนี้ประเสริฐมากนะ ชีวิตเราเกิดมาทำไม
เวลาเราเกิดมา เห็นไหม เกิดมาเราจะทุกข์จะยากขนาดไหน นี่เราถามหัวใจเราเอง หัวใจเรามันเศร้าหมอง มันผ่องใส มันอัดอั้นตันใจขนาดไหน ชีวิตนี้เป็นอย่างนี้หรือ แล้วเราแก้ไขสิ่งใดไม่ได้เลยหรือ เราต้องเผชิญกับสิ่งนี้ตลอดไปใช่ไหม ถ้าเราจะต้องเผชิญสิ่งนี้ตลอดไป ชีวิตเรานี้จะทุกข์ยากขนาดไหน ถ้าไม่มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันก็จะเป็นแบบนี้
ถ้าประสบนะ โลกก็คือโลก ปัจจัยเครื่องอาศัย ถ้าเราหาได้ก็คือหาได้ แต่หัวใจมันเร่าร้อน มันไม่มีที่พึ่งที่อาศัยหรอก แล้วถ้าไม่มีที่พึ่งอาศัย เราจะมานอนใจอยู่กับสิ่งนี้ไม่ได้ เราจะต้องหาทางออกของเรา แล้วทางออกของเรามันอยู่ที่ไหนล่ะ
เวลาเราเชื่อในพุทธศาสนานะ ศาสนานี้ก็เป็นเรื่องของพระ เรื่องของคนอยู่วัดอยู่วา เราอยู่บ้านอยู่เรือน หน้าที่ของเรา เราก็ทำบุญกุศลส่งเสริมพุทธศาสนาไป สิ่งนี้มันก็เป็นงานที่เป็นภาระหนักพอสมควรแล้ว ชีวิตนี้ต้องกระเสือกกระสนไป นั้นเป็นคนที่ไม่เข้าใจชีวิต ไม่เข้าใจเรื่องธรรมะเลย
ธรรมะ ธรรมโอสถนะ ถ้าธรรมโอสถ สิ่งที่ว่าแก้โรคภัยไข้เจ็บ เราต้องใช้ยารักษาของเขา จิตใจที่มันมีโรคกิเลส เห็นไหม โรคกิเลสนี้เป็นโรคประจำตัว ถ้าโรคกิเลสประจำตัว มันถึงเวียนตายเวียนเกิดไง ถ้าโรคกิเลส มันเวียนตายเวียนเกิดเพราะมันมีอวิชชา เพราะความไม่รู้ มันถึงเกิดมาเป็นมนุษย์นี้ พอเกิดเป็นมนุษย์นี้ ถ้ายังเกิดเป็นมนุษย์ ถ้ายังแก้ไขเราไม่ได้ เราก็จะเวียนตายเวียนเกิดไปอย่างนี้ ยืนยันในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ นี้ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสรู้เองโดยชอบ
เวลาตรัสรู้เองโดยชอบ เห็นไหม จิตดวงหนึ่งไปได้มากมายมหาศาล เวลาย้อนอดีตชาติไปไม่มีที่สิ้นสุด จิตดวงหนึ่ง จิตดวงหนึ่งเกิดตายได้มากมายขนาดนี้เชียวหรือ แล้วจิตดวงหนึ่งถ้ามันยังไม่สิ้นสุด มันจุตูปปาตญาณต้องไปข้างหน้า นี้เห็นชัดเจนมาก แล้วอาสวักขยญาณที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เอาสิ่งนี้มาสั่งสอนเรา เราจะจริงจังของเราไหม ถ้าเราไม่จริงจังกับเรา เราก็ปล่อยโอกาสทองของเราหลุดมือไปในชาตินี้ แล้วก็จะต้องเวียนตายเวียนเกิดกลับมาทุกข์ๆ ยากๆ อย่างนี้อีก มาอั้นตู้อยู่อย่างนี้ ต้องเผชิญกับความเป็นจริงอย่างนี้ นี่ความเป็นจริงนะ เป็นจริงของโลกไง
แต่ถ้าเป็นความจริงของธรรมล่ะ ถ้าเป็นความจริงของธรรมนะ ถ้าเราไม่มีความศรัทธา ไม่มีความเชื่อ คนที่เจ็บไข้ได้ป่วยแล้วเขาบอกว่าไม่มีหมอรักษาเขา ไม่มียารักษาโรค เขาก็ต้องทนทุกข์ ทนความเจ็บไข้ได้ป่วยของเขาไปตามแต่กรรมของคน อันนี้ก็เหมือนกัน เวลาบอก เราจะอั้นตู้ของเราไปอย่างนี้ใช่ไหม ถ้าชีวิตเรา เราจะเป็นอย่างนี้ใช่ไหม เราไม่มีความสามารถที่เราจะแก้ไขตัวเราเองเลยได้หรือ เห็นไหม ถ้ามันคิดกันอย่างนั้น เขาก็ไม่สนใจ
แต่ถ้าเรามีโอกาสของเรา เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา ถ้ามันเกิดมาพบพระพุทธศาสนา ถ้าเรามีสติมีปัญญาของเรา นี่กิเลสมันมัดมือชกนะ กิเลสนี่มันมัดมือชก มันมัดมือชกว่า เราเกิดมาเป็นมนุษย์ใช่ไหม เราจะรู้หรือไม่รู้ กิเลสมันมัดมือชกแล้ว มัดมือชกหมายความว่า กำเนิด ๔ ถ้ากำเนิด ๔ เห็นไหม ดูจิตมันเวียน กำเนิดในครรภ์ ในไข่ ในน้ำครำ ในโอปปาติกะ นี่กำเนิด ๔ มันมัดไว้แล้ว ต้องเกิดแน่นอน ต้องไปตามกำลังของกรรม นี่กิเลสมันมัดมือชก
เวลามันเกิดมานี่ก็เกิดมาพร้อมกับกิเลสทั้งนั้นน่ะ ทีนี้เกิดมาพร้อมกับกิเลส กิเลสคือความไม่รู้ ทีนี้ความไม่รู้เป็นอวิชชา อวิชชา ถ้าเราทำดีทำชั่วล่ะ คนเราทำคุณงามความดีของมัน ทำดีมาบ้าง เวลาเกิดขึ้นมามันก็มีบุญกุศล เกิดมาประสบความสำเร็จในชีวิต เกิดมามีทุกอย่างมีความเพียบพร้อมไปหมด นี่จะเกิดด้วยกุศล จะเกิดด้วยอกุศล จะเกิดด้วยสิ่งใดก็แล้วแต่ หัวใจมีทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริงเป็นพื้นฐาน จะมีสิ่งใดประสบความสำเร็จก็ประสบความสำเร็จทางโลก ประสบความสำเร็จเพราะบุญกุศล มันเป็นเรื่องของวัฏฏะ มันเป็นเรื่องของโลกเขา
เรื่องของโลก หมายความว่า มันต้องเกิดต้องตายแบบนี้ ทีนี้มันต้องเกิดต้องตายแบบนี้เราก็ทำบุญกัน ทำบุญกุศล เราสร้างบุญกุศล สร้างต่างๆ นี่เป็นอามิส เป็นอามิสมันก็เป็นเรื่องของโลกไง เป็นอามิส เป็นแรงขับ นี่บุญ กุศล อกุศล จะทำให้เกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม นรกอเวจี มันก็เวียนตายเวียนเกิดอยู่อย่างนี้ มันเวียนตายเวียนเกิดโดยสัจจะ โดยข้อเท็จจริงนะ
แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมนี่มันแจ่มแจ้ง มันเห็นหมดว่ากิเลสมันมัดมือชกมาตั้งแต่เริ่มต้น กิเลสมันมัดมือชกว่า เพราะจิตนี้เวียนตายเวียนเกิดมาตั้งแต่เริ่มต้น เวลามาเกิดเป็นมนุษย์แล้ว กิเลสมันก็มัดมือชก เห็นไหม ทั้งๆ ที่มีความเชื่อความศรัทธา มีการศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ศึกษาด้วยกิเลส ศึกษาด้วยความเห็นของตัวไง ถ้าความเห็นของตัว กิเลสมันมัดมือชก ทั้งๆ ที่ธรรมอันนี้ ธรรมโอสถนะ ธรรมโอสถขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมา พูดไว้ในพระไตรปิฎก เราเป็นคนที่วาสนาน้อย น้อยในภัทรกัปนี้ อายุแค่ ๘๐ ปี วางธรรมวินัยไว้อีก ๕,๐๐๐ ปี นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ อายุ ๘๐,๐๐๐ ปี เวลามาฆบูชา มันจะมีสงฆ์ จาตุรงคสันนิบาตแต่ละหน แต่ละองค์ๆ ไป เราเกิดมา เรามาเป็นพระพุทธเจ้า เรามีอำนาจวาสนา อายุเราแค่ ๘๐ ปี
คำว่า ๘๐ ปี เพราะสร้างบุญญาธิการมาไง สร้างบุญญาธิการมามากมาน้อย ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย คำว่า อสงไขย สร้างมามหาศาลขนาดไหนถึงได้มีอำนาจวาสนามาตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม เวียนตายเวียนเกิดมาขนาดนี้ แล้ววางธรรมและวินัยนี้ไว้ เวลาเราศึกษาขึ้นมา เราก็ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราศึกษาโดยอะไร? ศึกษาโดยกิเลสตัณหาความทะยานอยากของตัว ก็ตีความตามเข้าข้างตัวเองของตัว นี่มันมัดมือชก มันมัดมือชกว่า มันให้รู้ได้แค่นี้ไง มันรู้ได้ เห็นไหม
ดูสิ เราอยู่บ้านอยู่เรือนของเราขึ้นมา เรามาบวชเป็นพระเป็นเจ้าเหมือนกัน นี่เวลาบวช ในสังคมในปัจจุบันนี้เขาอยากบวชสะดวกสบายขึ้นมานะ ตกเย็นขึ้นมาจะขบจะฉันอะไรก็ได้ เวลามาบวชเป็นธรรมยุติ ทำอะไรก็ลำบากลำบนไปทั้งหมด ยิ่งอยากออกประพฤติปฏิบัติด้วยยิ่งต้องถือธุดงควัตร ยิ่งลำบากเข้าไปใหญ่เลย นี่ไง มันมัดมือชกอย่างนี้ไง มันมัดมือชกว่า ทำอะไรก็ไม่ได้ มันลำบากลำบนไปเสียหมด
ถ้าปฏิบัติธรรม...แน่! เห็นไหม สะดวกสบาย ปฏิบัติธรรมแล้ว เพราะธรรมะเป็นธรรมะ เราประพฤติธรรม ธรรมต้องให้ความสะดวกสบายกับเรา ต้องมีความสุข ความสงบระงับ... นี่กิเลสมันมัดมือชก มันมัดมือชกว่ามันให้รู้ได้แค่นี้ มันให้รู้ได้เท่าที่มันจะให้รู้ แล้วมันก็บอก สิ่งนี้เป็นธรรมๆ นี่มันมัดมือชก เห็นไหม เริ่มต้นเรามีความรู้สึกนึกคิดแบบนี้ พอเริ่มต้นเรามีความรู้สึกนึกคิดอย่างนี้ เราก็จะไปฆ่ากิเลสไหม ในเมื่อกิเลสมันเป็นคนจูงจมูกเราไปเอง กิเลสนี่มันจูงจมูกเรามาศึกษาธรรม กิเลสมันจูงจมูกมา...
ดูสิ ดูเราเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย เราจูงมันไปกินหญ้า มันเล็มหญ้าของมันไป คนจูงมันไป นี่ก็เหมือนกัน เวลากิเลสมันมัดมือชก มันบอกว่า ศึกษาธรรมแบบนี้ รูปแบบนี้ นี่รู้ตามมันไป มันให้ว่า ปฏิบัติธรรมต้องสะดวก ปฏิบัติธรรมต้องสบาย การปฏิบัติแล้วมันต้องมีความร่มเย็นเป็นสุข ร่มเย็นเป็นสุข เป็นสุขอย่างไร
เราทุกข์เราร้อน เราเข้าร่มไม้เราก็เย็น ถ้าเข้าร่มไม้ก็เย็น แล้วเราคิดถึงความที่เราพอใจ มันก็ร่มเย็น ถ้าร่มเย็นอย่างนี้เหรอ อย่างนี้เหรอถึงว่าเป็นธรรมๆ นี่ไง กิเลสมันมัดมือชกมันเป็นแบบนี้ ทำอะไรก็จะเอาแต่ความพอใจของตัว เวลาปฏิบัติธรรม สิ่งนั้นเป็นเรื่องยุ่งยาก
ถ้าเป็นเรื่องยุ่งยากนะ เราก็ไปโต้แย้งกับกิเลส กิเลสมันมักง่าย กิเลสมันพอใจ กิเลสมันทำอะไรสะดวกสบายของมัน ถ้าเราทำสิ่งใด เราเริ่มต่อต้านกับมัน เราเริ่มจะขัดแย้งกับมัน เราจะเริ่มหาทางออกของเรา เราไม่ยอมจำนนอยู่กับการครอบงำของมัน ถ้าเราไม่ยอมจำนนอยู่กับการครอบงำของมันนะ นี่มันครอบงำชีวิตนี้ มันครอบงำให้จิตนี้เวียนตายเวียนเกิดมาไม่มีต้นไม่มีปลาย
แต่ในปัจจุบันนี้เราเกิดมา ถึงจะทุกข์จะยาก ใครจะเกิดมาในครอบครัวที่สูงส่ง ใครจะเกิดมาครอบครัวปานกลาง ใครจะเกิดมาครอบครัวสิ่งใดก็แล้วแต่ แต่เราก็เกิดมามีชีวิตหนึ่งเหมือนกัน เราเกิดมาเป็นมนุษย์เหมือนกัน เรามีร่างกายและจิตใจเหมือนกัน ถ้าเรามีร่างกายและจิตใจเหมือนกัน จิตใจอันนี้ที่มันจะประเสริฐ มันประเสริฐที่นี่ไง ถ้ามันประเสริฐที่นี่นะ ถ้ากิเลสมันไม่มัดมือชกเสียอย่างหนึ่ง ถ้ากิเลสมันจะมัดมือชก มันเป็นเรื่องธรรมชาติของกิเลสมันเป็นแบบนั้น
เห็นไหม ในทางลัทธิศาสนาอื่นเขาบอกว่า เป็นซาตาน พระเจ้าจะคุ้มครองเรา พระเจ้าจะดูแลเรา ซาตานมันทำลายเรา ซาตานมันทำลาย...แล้วซาตานมันเป็นใคร
แต่ในพุทธศาสนานี้สอนเรื่องกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เห็นไหม อวิชชาคือความไม่รู้ เพราะความไม่รู้ของเราเองนั่นน่ะคือซาตาน เพราะความไม่รู้ไม่เห็นของเรานั่นแหละมันทำให้ชีวิตเราต้องจมปลักอยู่กับความทุกข์ความยากอันนี้ ถ้าความทุกข์ความยากอันนี้ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ถึงบอกว่าไม่ให้เชื่อสิ่งใดๆ เลย ไม่ให้เชื่ออินทร์ พรหม ยม ยักษ์ อะไรไม่ให้เชื่อทั้งนั้นน่ะ
มันเป็นดีเพราะดี เราทำดี มันจะชั่วเพราะเราทำชั่ว ถ้ามันจะประพฤติปฏิบัติก็ความจริงมันก็อยู่ที่เรา ถ้าเราทำจริงขึ้นมามันก็จะเป็นความจริงขึ้นมา ถ้าเราปฏิบัติมาเหลวไหล มันก็เป็นความเหลวไหลของเราเอง จะไม่โทษคนอื่นเลย ถ้าไม่โทษคนอื่นเลย แล้วเริ่มต้นเราจะประพฤติปฏิบัติของเราอย่างไรล่ะ
ถ้าเรามีความเชื่อของเราใช่ไหม เรามีความเชื่อ เรามีความศรัทธาของเรา ถ้ามีความเชื่อความศรัทธา เราศึกษาแล้ว เห็นไหม ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ในการศึกษานะ มันเป็นปริยัติ ปริยัติแล้วต้องปฏิบัติ ปฏิบัติถึงจะเป็นปฏิเวธ ถึงที่เราจะล่วงพ้นทุกข์ไปได้ ทีนี้เราศึกษาในภาคปริยัติ เราศึกษามาแล้ว เราศึกษาขึ้นมา ถ้ากิเลสมันมัดมือชก มันก็ว่าสิ่งนี้เป็นธรรมๆ ว่าสิ่งนี้เป็นธรรมก็อ้างแล้ว
อ้างว่า นี่เป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพุทธพจน์ เราเป็นคนต่ำต้อย เราเป็นสัตว์โลก สัตว์ประเสริฐ ถึงจะเป็นมนุษย์ แต่เราจะเอาสิ่งใดอาจเอื้อมที่จะไปไตร่ตรองธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเราก็ต้องเชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องทำตามนั้นๆ นี่กิเลสมันมัดมือชกไปเรื่อยล่ะ
ทั้งๆ ที่เริ่มต้นมา เวียนตายเวียนเกิดมาก็มืดบอดมาตลอด มันก็ควบคุมชีวิตมาทั้งนั้น ถึงจะเกิดดี เป็นอามิส ทำบุญกุศลก็เกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม มันก็พาเกิด มันก็มีกิเลสตัณหาความทะยานอยากไปกับเราตลอดเวลา หมดอายุขัยในภพชาตินั้นเราก็เวียนตายเวียนเกิดของเรามา ถ้าเวียนตายเวียนเกิดมา นี้ดีนะ เราได้สร้างบุญกุศลของเรามา ถ้าไม่สร้างบุญกุศลของเรามา เราจะไปเกิดเป็นสิ่งใด
ในเมื่อเราเกิดเป็นมนุษย์แล้ว มนุษย์ ชีวิตก็เป็นแบบนี้ ทุกคนก็ได้ชีวิตมนุษย์มา ๑ ชีวิตเหมือนกัน เราทำมาเราจะสงสัยสิ่งใดอีก ถ้าเราไม่สงสัยสิ่งนั้นนะ แล้วสิ่งใดที่มันมีค่าไปมากกว่านี้ล่ะ
ถ้าเรามีค่ามากกว่านี้นะ ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแล้วใช่ไหม สิ่งที่เราจะประพฤติปฏิบัติ เราจะปฏิบัติอย่างใด ถ้าเราจะปฏิบัติอย่างที่เราศึกษามาเป็นปริยัติ ถ้ามันปฏิบัติก็ปฏิบัติโดยปริยัติ มันเป็นปริยัติ
ปริยัติมันคืออะไร? ปริยัติคือการศึกษาสุตมยปัญญา สุตมยปัญญาคือทางวิชาการ ถ้าทางวิชาการ เราจะต้องทำตามนั้น ทำเหมือนนั้น นี่กิเลสมันมัดมือชกนะ กิเลสมันมัดมือชกว่า เพราะมันก็อปปี้ มันทำตามแบบอย่างนั้นมา แล้วมันจะเป็นจริงไหม? มันไม่เป็นจริงเพราะอะไร เพราะสิ่งที่เราทำตามแบบนั้นมาเป็นสัญญา เราสร้างภาพหมด
แล้วเวลาเวียนตายเวียนเกิด คนก็ไม่เห็นจิตของตัวเอง เวลาจิตของตัวเองนะ เวลามันทุกข์มันร้อน อะไรมันทุกข์ร้อน? ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นไฟ โทสัคคิ โมหัคคิ ไฟมันแผดเผา เวลามันแผดเผา เราก็ว่าเราโกรธ เราหลง เราไม่เข้าใจ เรารู้ได้แต่สัญญาอารมณ์ เรารู้ได้แต่อารมณ์คือความรู้สึกเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ แต่เราไม่รู้หรอกว่าที่หัวใจที่มันโดนเผาลนจนเราเร่าร้อนอยู่นี่มันอยู่ที่ไหน มันอยู่อย่างไร แล้วมันเป็นอย่างใด ถ้าไม่รู้ว่าสิ่งใดเป็นอย่างไร เราเข้าใจแต่ตามสัญญาอารมณ์ของเรา
ทีนี้เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันก็ต้องเป็นแบบนั้น เวลาศึกษามาเป็นปริยัติ ปริยัติเราสร้างภาพขึ้นมามันก็เป็นแบบนั้น นี่ความมหัศจรรย์ของจิตไง จิตเวลามันจะเป็นนะ เวลามันจะเป็นของมัน เวลาจิต นี่คนคิดดี ดีจนเป็นเทวดานะ
ถ้าจิตมันคิดชั่วคิดร้ายนะ มันยิ่งกว่าสัตว์เดรัจฉาน มนุสสติรัจฉาโนเลยล่ะ มนุสสเปโต มนุษย์เดรัจฉาน มนุษย์เปรต มนุสสเทโว มนุษย์เทวดา เห็นไหม จิตเวลามันดี มันดีขนาดที่เป็นเทวดาได้ล่ะ เวลามันชั่วมันร้ายนะมันยิ่งกว่าสัตว์ แล้วมันอยู่ไหนล่ะ
เวลามันเกิดมันตายขึ้นมามันอยู่ที่ใจของเรา แล้วเราก็ทำของเรา เราปฏิบัติของเรา เวลาเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันก็เหมือนกัน สิ่งนั้นเป็นธรรมๆ เราก็ว่า เราเป็นธรรม มันก็เป็นพรหมเลยล่ะ เพราะเรารู้ธรรมๆ วิหารธรรม เรารู้ทุกอย่างทั้งหมดล่ะ แล้วเราก็ทำแบบนั้น เพราะว่าเราศึกษาแล้วไง พอเราศึกษาแล้วเราเข้าใจไง
ในภาคปริยัติ ปริยัติที่เขาศึกษากันมา เขาต้องศึกษาจนเข้าใจนะ นักธรรมโท นักธรรมเอก เขาต้องมีเรียงความ แต่งธรรมะนะ ต้องมีเรียงความในธรรม ต้องมีความเข้าใจในธรรม สิ่งนั้นเป็นธรรม นี่ศึกษาแบบนี้ ศึกษามาเพื่อเป็นปริยัติ ศึกษามาเพราะเราเป็นชาวพุทธ แต่อย่าให้กิเลสมันมัดมือชก เวลามันมัดมือชก สิ่งนี้เป็นธรรมๆ เพราะเราศึกษาธรรม อย่างนี้เป็นธรรม เวลาปฏิบัติต้องปฏิบัติตามนี้ เพราะถ้าเราไม่รู้ชื่อ ไม่รู้สถานที่
เขาบอกว่า ถ้าไม่มีปัญญา ปฏิบัติไม่ได้ เพราะเราไม่รู้จัก เราจะปฏิบัติไปหาใคร ก็ปฏิบัติไปหากิเลสไง ก็กิเลสมันขุดบ่อล่อไว้แล้วไง ธรรมะจะเป็นแบบนั้น ธรรมเป็นอย่างนั้น เวลาปฏิบัติก็เป็นแบบนั้นไง เป็นแบบนั้นแล้วรู้จักชื่อ รู้จักชื่อ รู้จักตัว รู้จักสถานที่หมดเลย แล้วทำแล้วเป็นอย่างไรล่ะ ปฏิบัติแล้วเป็นอย่างไรล่ะ ปฏิบัติไปแล้วมันก็มีความสุข มีความเข้าใจไง เขาบอกว่า ปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน พอประจำวันเขาประพฤติปฏิบัติกันอย่างนั้น ถ้าปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันก็ปฏิบัติธรรมให้เป็นมนุษย์อยู่อย่างนี้ใช่ไหม
แต่ถ้าปฏิบัติธรรมนะ ปฏิบัติธรรมตามความเป็นจริง ถ้าปฏิบัติตามความเป็นจริงนะ เวลาเราปฏิบัติกัน ถ้าทางโลก กิเลสมันก็มัดมือชกเรา เราก็ล้มลุกคลุกคลานกันมา โดยทางสัจธรรมนะ ในทางสัจธรรมที่ชีวิตมันเป็นแบบนี้ ชีวิตมันเป็นอริยสัจ ชีวิตมันเป็นความจริง แต่เราก็สร้างภาพในใจของเราว่าให้เป็นอริยเจ้าเลย ให้เป็นพระอริยเจ้า เป็นความจริงตั้งแต่ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี้เป็นอย่างนั้นเลย แล้วเราก็ว่าเราก็พอใจ อุ่นกินอยู่อย่างนั้น
นี่มันมัดมือชก หมายความว่า มันหลอก มันลวง มันสร้างภาพ มันต้องการให้อยู่ในอำนาจของมันตลอดไป นี่ถ้าเราไม่มีครูบาอาจารย์นะ นี้เราเกิดมา เราเกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา แล้วยังมีอำนาจวาสนานะ เรามีหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น มีครูบาอาจารย์ของเรา ท่านค้นคว้า ท่านบุกเบิกมา...ท่านค้นคว้า ท่านบุกเบิกมา ท่านไม่ศึกษามาเหรอ
สังคมเขาติฉินนินทากันว่า ครูบาอาจารย์ของเรา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านประพฤติปฏิบัติ เป็นพระป่าอยู่ป่าอยู่เขาจะเอาความรู้มาจากไหน ในเมื่อไม่มีการศึกษาไม่มีการเล่าเรียนมานี่จะมาสอนใคร ดูสิ เขาเป็นนักปราชญ์กันอยู่ทางโลก เขาศึกษามาจนจบตู้พระไตรปิฎก เป็นพระไตรปิฎกเคลื่อนที่เลย อย่างนี้ต่างหากเขาถึงจะสอนคนได้ เขาถึงสอนศากยบุตรพุทธชิโนรสให้ปฏิบัติธรรมได้ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเรา ไม่ได้ศึกษาสิ่งใดมา ถ้าศึกษาก็ศึกษาตามประเพณีท้องถิ่นที่เขาทำกันมา แล้วจะมาสอนได้อย่างไร จะมาสอนได้อย่างไรไม่มีการศึกษา
แต่ถ้ากิเลสไม่มัดหัวใจนะ เพราะเราเกิดมาเป็นชาวพุทธ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาเป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติมาด้วยอาสวักขยญาณ ทำลายอวิชชา ทำลายกิเลสตัณหาความทะยานอยากในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนหมดสิ้น เสวยวิมุตติสุข สุขที่ละเอียด สุขที่เป็นสุขแท้ นี่เสวยวิมุตติสุข แล้วถึงจะออกมาเผยแผ่ธรรมไง นี่สิ่งๆ นี้ต่างหากที่เป็นคุณธรรมๆ
แล้วเราปฏิบัติ เราจะปฏิบัติอย่างใด? เราปฏิบัติ เราศึกษามา ก็กิเลสมันก็มัดมือชกมาตลอด มันเป็นเรื่องโลกๆ ทั้งนั้นน่ะ แล้วเวลาปฏิบัติก็ปฏิบัติกันโดยโลก เพราะไม่มีผู้รู้จริงคอยบอกคอยสอน กิเลสมันมัดมือชกในการศึกษา ในการกระทำ ในการดำรงชีวิต ในการกระทำมาตลอด ทีนี้เราก็ทำของเราอยู่อย่างนี้ เวลาปฏิบัติขึ้นมาก็ปฏิบัติโดยแบบ
ดูสายพันธุ์นะ สายพันธุ์ของสัตว์แต่ละชนิด เวลาสายพันธุ์ที่มันถูกต้อง เห็นไหม เขาจะตีตราสายพันธุ์ของเขา สายพันธุ์นี้ ลักษณะนี้ รูปแบบนี้จะเป็นสายพันธุ์นี้ ถ้ามีลักษณะแตกต่างไปอีกสายพันธุ์หนึ่ง มันก็จะแตกต่างกันไป
ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ในการปฏิบัติของครูบาอาจารย์ของเรา ในกรรมฐานของเรา ตั้งแต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านเป็นผู้นำมา เห็นไหม เวลาท่านเป็นผู้นำมา เวลาท่านปฏิบัติของท่าน ท่านรู้ความจริงของท่าน ท่านเห็นจริง เห็นข้อเท็จจริงว่า ในสายพันธุ์ก็แล้วแต่ สิ่งที่เป็นพันธุกรรมจะต้องเป็นสายพันธุ์นั้น แต่จิตใจ ความรู้สึกของสายพันธุ์จะเหมือนกันเป็นไปไม่ได้ ในความรู้สึกนึกคิด สายพันธุ์ใดก็แล้วแต่ สิ่งที่เป็นพันธุกรรมของเขาต้องเป็นแบบนั้น แต่ความรู้สึกนึกคิดของสายพันธุ์มันไม่เหมือนกันหรอก มันเป็นไปไม่ได้ที่มันจะเหมือนกัน เห็นไหม ถ้ากิเลสมันไม่มัดใจไว้ มันจะรู้ว่าวิธีการประพฤติปฏิบัติควรทำอย่างใด
ฉะนั้น เรามีครูบาอาจารย์ของเรา มีหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านประพฤติปฏิบัติ ท่านเห็นตามความเป็นจริงของท่าน เวลามีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ถึงจะคอยดูแลพวกเรา คอยบอก คอยสอนพวกเราให้พวกเรามีทางออกไง เห็นไหมจากภาคปริยัติจะมาเป็นภาคปฏิบัติ
ถ้าภาคปริยัติ ในการศึกษา ในสังคมของเรา เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เราเกิดมาในสังคมโลก กิเลสมันก็มัดมือชกมาตลอด กิเลสมันมีอำนาจข่มขี่ทุกดวงใจนะ กิเลสมีอำนาจข่มขี่อยู่ในใจของสัตว์โลก แล้วมันก็ปลิ้นปล้อนหลอกลวง ทำลาย ทำความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับจิตดวงนั้น ทำลายความเจ็บช้ำน้ำใจ เพราะมันเป็นงานของกิเลส หน้าที่ของกิเลสมันเป็นธรรมชาติของมันเป็นแบบนั้น
แต่เพราะเราเกิดมา เราเกิดมาเป็นชาวพุทธ พบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนา ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยบุญอำนาจวาสนา ด้วยเมตตาคุณ ด้วยปัญญาคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วางธรรมและวินัยนี้ไว้
นี่ผู้เฒ่าผู้แก่ในสังคมของชาวพุทธเราเป็นผู้ที่ฉลาด ถึงได้นับถือพุทธศาสนา พอนับถือพุทธศาสนา มันถึงเป็นประเพณีวัฒนธรรม เป็นประเพณีวัฒนธรรมของชาวพุทธ เห็นไหม พอเป็นประเพณีวัฒนธรรมของชาวพุทธ นี่เราเกิดอยู่กับโลก ในเมื่อเกิดในประเพณีวัฒนธรรมของชาวพุทธ เราเกิดมาในสังคมของชาวพุทธ เราถึงนับถือพุทธศาสนา นี่มันเป็นเรื่องโลกๆ ไง
เวลาที่บอกว่า เวลามันเหยียบย่ำทำลายให้เราทุกข์ยากในหัวใจ นั้นคือกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แต่เพราะเราเกิดในสังคมที่มีการทำบุญกุศล ประเพณีวัฒนธรรม นี่จะชักนำให้เราเป็นคนดีไง เพราะในศาสนาสอน สอนว่า กุศล-อกุศล ทุกคนมีสิทธิเลือกได้ จะทำดีก็ได้ทำชั่วก็ได้
ถ้ามีสติปัญญา ครูบาอาจารย์ หรือสังคมเราก็บอก สั่งสอน ปู่ย่าตายายก็จะสั่งสอนลูกเราให้ทำแต่คุณงามความดี ให้กลัวบาปกลัวกรรม ให้พยายามทำกุศล สิ่งที่เชิดชู สิ่งที่สร้างบุญญาธิการให้ใจนี้มันมีปัญญา มีต่างๆ เพื่อจะเอาตัวรอดได้ นี่ไง สิ่งนี้เป็นประเพณีวัฒนธรรมในสังคมของโลก เห็นไหม กิเลสมันก็มัดมือชก
เพราะว่า เวลาทำสิ่งใด เวลากิเลส เรามีสติปัญญา เรามีความเข้มแข็ง กิเลสมันก็สงบตัวลง แต่ถ้าเราอ่อนแอ กิเลสมันก็จะมีอำนาจมากกว่า มันก็ทำให้เราล้มลุกคลุกคลานมาอย่างนี้ตลอดไป มันไม่ให้เราเป็นอิสรภาพได้ นี้พูดถึงสังคมทางโลกนะ
ทีนี้พอเราจะปฏิบัติขึ้นมา พอเราปฏิบัติ ปฏิบัติเพราะเรามีความเชื่อ เรามีอำนาจวาสนาของเรา เราอยากจะพ้นทุกข์ของเรา เราถึงจะประพฤติปฏิบัติ เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา นี่เราปฏิบัติ พอเราจะปฏิบัติขึ้นมามันก็แล้วแต่สายพันธุ์ คือการกระทำสายไหน การประพฤติปฏิบัติโดยวิธีการอย่างใด
ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ของเรา วงกรรมฐานของเรา ครูบาอาจารย์ของเราบอก ต้องทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบเข้ามาก่อน เราทำความสงบของใจเข้ามาเพื่อให้เรามีที่พัก เพื่อให้จิตใจของเราร่มเย็น เพื่อให้จิตใจของเรามีบาทมีฐาน เห็นไหม สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน
เราเกิดมานะ เวลาเราเกิดมา พ่อแม่จะบอกว่า เราเกิดเมื่อใด ตั้งชื่อให้เป็นอย่างไร อย่างนี้เราเกิดมาโดยเวรโดยกรรม เราเกิดมาด้วยสายบุญสายกรรมของพ่อของแม่และของเราเกิดมาร่วมกัน เราก็ว่าการเกิดแบบนั้นมันเกิดโดยวัฏฏะ มันต้องเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราไม่มีสมถกรรมฐาน เราไปทำงานกันที่ไหน
ดูการประพฤติปฏิบัติตามสายพันธุ์สิ ถ้าครูบาอาจารย์ของเรา ต้องทำความสงบของใจเข้ามาก่อน แต่ถ้าสายพันธุ์อื่นเขาบอก ไม่ต้องทำ เรารู้ตัวทั่วพร้อม เรารู้จริงเพราะเราศึกษาธรรมะมาแล้ว เรารู้ชื่อรู้นาม เรารู้ทุกอย่างพร้อมแล้ว เราต้องใช้ปัญญา ปัญญาอยู่กับความจริงของเรา ความจริงที่มันเกิดขึ้น
แต่สิ่งที่เวลาครูบาอาจารย์ของเราบอกว่า ให้ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน กำหนดพุทโธๆ เขาบอกว่า สิ่งนี้มันไม่ใช่ความจริง มันเป็นความนึกคิด
แต่ถ้าบอกว่า ถ้าเรามีปัญญาของเรา เพราะเราศึกษามาแล้วไง นี่กิเลสมันมัดมือชก มันมัดมือชกนะ เพราะเรารู้มาแล้ว เรารู้ชื่อรู้นาม รู้สถานที่ เรารู้ทุกอย่างพร้อมอยู่แล้ว ถ้าเรารู้แล้ว เราก็อยู่กับความรู้นั้น ถ้าความรู้นั้นมันก็เป็นข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงมันก็เป็นปัญญา ปัญญามันก็เป็นวิปัสสนา มันก็เป็นความจริงตลอด...จริงเหรอ ความจริง จริงๆ เหรอ นี่ความรู้สึกนึกคิด นึกคิดตามความเป็นจริง แล้วนึกให้ตามความเป็นจริง แล้วนึกอย่างไรล่ะ แล้วรู้ตัวทั่วพร้อม รู้ในอะไรล่ะ รู้แล้วไปไหนต่อ นี่ไง สายพันธุ์ในการปฏิบัติ เห็นไหม สายพันธุ์ใด ในทางพันธุกรรมมันจะเป็นอย่างนั้น
แต่ความรู้จริง ความรู้จริงคือนิสัยใจคอ คือความเป็นจริงในธรรม พระพุทธศาสนาสอนลงที่ใจ ถ้าสอนลงที่ใจนะ แต่ถ้าเป็นกรรมฐานนะ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านพยายามจะปลดเปลื้องไม่ให้กิเลสมันมัดใจ ถ้ากิเลสมันมัดใจนะ มันปลดเปลื้องใจไม่ได้ ถ้ากิเลสมันมัดใจอยู่ มันจะปลดเปลื้องไปไม่ได้นะ ถ้าทางโลก กิเลสมันมัดมือชก มัดมือชกมาตลอด จะทำอย่างใดจะอยู่ใต้อำนาจของกิเลสทั้งนั้น ศึกษาธรรม ปฏิบัติอย่างไรก็แล้วแต่ อยู่ใต้อำนาจของอวิชชา เพราะจิตโดยธรรมชาติของมันเป็นแบบนั้น แต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นของเราท่านพยายามจะปลดเปลื้องมัน จะปลดเปลื้องให้เป็นความเป็นจริง ความเป็นจริง
เขาบอก ถ้าเป็นสายพันธุ์อื่น เขาจะบอกว่า รู้ตัวทั่วพร้อม รู้สถานที่ รู้ถูกรู้ผิด รู้เพราะมีปัญญารู้ มันถึงรู้ตามความเป็นจริง รู้ความเป็นจริงนั้นจะใช้ปัญญา ปัญญานั้นจะพาไปสู่ความกิเลสรัดหัวใจ
แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ของเราท่านจะบอกว่า ให้กำหนดพุทโธ ให้ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ
ถ้าใช้พุทโธๆ เข้าไป เขาบอกสิ่งนี้ไม่ใช่ความจริง เพราะมันเป็นความนึกคิด แต่ถ้ามันเป็นความรู้จริงของเขา ความรู้สึกนึกคิดของเขา เขาบอกอันนั้นเป็นความจริง...ความจริงมันไหลไปตามกิเลส ไหลไปตามแต่มันจะรู้จะเห็น แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านบอกว่าให้กำหนดพุทโธๆๆ เขาบอก สิ่งนี้มันเป็นความนึกคิด ไม่ใช่ความจริง
มันไม่ใช่ความจริงๆ แต่เรามีสติ เรามีสติที่จะบังคับ บังคับว่า ในเมื่อธาตุรู้มันธรรมชาติที่รู้ พอธรรมชาติที่รู้มันก็รู้มาที่อารมณ์ พอรู้มาที่อารมณ์ ความรู้สึกเราก็เกิด เราก็บอกว่า นี่เรารู้ตามความเป็นจริง สิ่งนี้เป็นความจริง สิ่งนี้เป็นความจริง นี่กิเลสมันมัดใจไว้
แต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านพยายามบอกให้เราปลดเปลื้อง ทำให้จิตนี้เป็นอิสระ เป็นสมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน ฐานที่จะเข้าไปสู่ธรรม ฐานที่จะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ท่านให้กำหนดพุทโธๆ เขาบอกว่า สิ่งนี้เป็นความนึกคิด
แต่ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านแนะนำว่าสิ่งนี้เป็นการวิตก วิจาร ระลึกพุทโธขึ้นมาเป็นการนึกขึ้นมา นึกขึ้นมาจากจิตที่มีสติสัมปชัญญะ เราระลึก พุท แล้วก็นึก โธ พุทโธ ระลึกขึ้นมา เวลาระลึกขึ้นมาให้รับรู้ขึ้นมา รับรู้สิ่งใด? รับรู้ในพุทธานุสติ
พอรับรู้ในพุทธานุสติ พุทโธๆๆ นี่วิตก วิจาร พอวิตก วิจารขึ้นไป เขาบอก รู้ตัวทั่วพร้อม รู้ชื่อ รู้สถานที่ นั้นเป็นความจริง นี่มันเสวยอารมณ์มาแล้ว มันเป็นความจริงที่ไหน มันเป็นเงาทั้งนั้นน่ะ มันเป็นอาการทั้งหมด ถ้าบอกรู้ตัวทั่วพร้อมแล้วมันดับ มันก็ดับเข้าไปสู่ฐาน แล้วสู่ฐาน ไปสู่ทำอะไรล่ะ สู่ฐานแล้วเอาฐานทำสิ่งใดต่อ
แต่ถ้าเป็นพุทโธๆๆ นี่จะปลดเปลื้องไม่ให้กิเลสมันมัดใจ ถ้าปลดเปลื้องไม่ให้กิเลสมัดใจนะ พุทโธๆ ตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงมันจะเป็นจริง เห็นไหม ถ้าพุทโธๆ จิตมันมีสติไปพร้อมกับคำบริกรรม ถ้ามันบริกรรมพุทโธๆ จิตมันสงบเข้ามา ถ้าจิตสงบเข้ามา สงบจนมันนึกพุทโธไม่ได้ ถ้านึกพุทโธไม่ได้ มันชัดเจนไหม?
มันชัดเจนเพราะอะไร เพราะมันเป็นสัมมาสมาธิ เพราะมีสติ เพราะมีการกำหนดรู้อยู่ นี่ถ้ามีสติ มีกำหนดรู้อยู่ ถ้ามันละเอียดเข้ามาเราก็รู้ว่าละเอียดเข้ามา เห็นไหม ละเอียดเข้ามา มันจะบดบี้กิเลส บดบี้ความเป็นตัวตนของเรา มันปล่อยหมด ทุกสิ่งทุกอย่างเข้ามา นั้นมันคืออะไรล่ะ? มันเป็นสมถะ
แล้วถ้าเป็นสมถะ มันมีสติปัญญาพร้อมรู้พร้อม เห็นไหม เขาบอก รู้ตัวทั่วพร้อม รู้ทุกอย่างพร้อม นั่นเป็นความจริง แต่ถ้าสติกำหนดพุทโธระลึกเข้ามาจนเข้าไปสู่เนื้อของใจ เข้าไปสู่ตัวพุทโธ เข้าไปสู่ธาตุรู้เสียเอง ธาตุรู้สึกตัวธาตุรู้เสียเอง ธาตุรู้รู้ธาตุรู้ รู้ธาตุรู้เป็นธาตุรู้เอง นี่ไง มันจะปลดเปลื้องไง มันจะปลดเปลื้องกิเลสที่มันมัดใจไว้ ถ้าปลดเปลื้องกิเลสที่มันมัดใจไว้ เรามีสติมีปัญญา เรามีที่พัก เรามีความร่มเย็นเป็นสุขของใจ
ถ้าใจมันมีความร่มเย็นเป็นสุข คนที่ไม่มีอำนาจวาสนา หรืออำนาจวาสนาต่ำ ก็ว่าสิ่งนี้มันเป็นนิพพาน สิ่งนี้เป็นความว่าง สิ่งนี้ต่างๆ นี่จะพูด ครูบาอาจารย์ท่านจะพูด พยายามจะชักนำ พยายามจะชี้นำ พยายามจะดึงจากจิตที่มันต่ำให้สูงขึ้นมา ถ้ามีอำนาจวาสนาก็จะก้าวเดินตาม
ถ้าไม่มีอำนาจวาสนานะ บอกว่านี้ก็ใช่ เพราะเราใช้ปัญญามาแล้ว ขณะเรากำหนดพุทโธๆ เราก็เห็นกาย เราก็พิจารณา พอกำหนดพุทโธถ้าจิตมันสงบแล้วมันจะออกรู้เห็นต่างๆ ถ้าออกรู้เห็นต่างๆ มันก็ว่าสิ่งนั้นพิจารณาแล้ว แล้วก็ปล่อยวางแล้ว สิ่งนั้นว่าเป็นธรรม...นี่พื้นฐานของอำนาจวาสนา นี่อินทรีย์แก่กล้า
ถ้าอินทรีย์มันอ่อน ความอ่อนแอ ถ้าปฏิบัติมาได้ขนาดนี้มันก็เป็นว่าเริ่มต้นปฏิบัติมันเป็นอำนาจวาสนาบารมี เวลาว่าอำนาจวาสนาบารมี เราจะสร้างมาจากไหน? ก็สร้างมาจากจิตที่มันสัมผัสนี่แหละ
เวลาเราทำบุญกุศลกัน เราอุทิศส่วนกุศล อุทิศเพื่อกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร ให้สรรพสัตว์ต่างๆ แล้วก็อุทิศส่วนกุศลให้กับตัวเอง แต่ถ้าเราทำของเราเอง เรารู้ของเราเอง สิ่งนี้มันสัมผัสเป็นความจริง เห็นไหม ทาน ศีล ภาวนา การภาวนานี่มันฝึกหัดจิตใจให้เข้มแข็ง จิตใจที่มันคลอนแคลน จิตใจที่หวั่นไหวในโลกธรรม จิตใจที่มันหวั่นไหวไปกับวัฏฏะ แต่พอมันมีสติปัญญาขึ้นมา สติปัญญานี่กำหนดพุทโธๆ จนจิตมันสงบระงับเข้ามา มันจะไปหวั่นไหวไปกับอะไร วัฏฏะก็มาจากใจดวงนี้ โลกธรรมก็ออกรับรู้จากใจดวงนี้ สิ่งต่างๆ มันก็เกิดจากใจดวงนี้ทั้งนั้น ถ้ามีสติปัญญาเข้ามาถึงใจดวงนี้ ใจดวงนี้มันควบคุมใจของเราได้ นี่สัมมาสมาธิ
ถ้าผู้ใดปฏิบัติธรรมจิตสงบเป็นสัมมาสมาธิ จะพออยู่พอกิน หลวงตาท่านใช้คำว่า พออยู่พอกินนะ คำว่า พออยู่พอกิน คือมันร่มเย็น มันไม่เหมือนกับที่ว่า เราเกิดเป็นมนุษย์แล้วมันทุกข์ยาก กิเลสมันมัดมือชก ลุ่มๆ ดอนๆ ล้มลุกคลุกคลาน อยู่ทางโลกก็ทุกข์ มาประพฤติปฏิบัติมันก็ล้มลุกคลุกคลาน มันก็ทุกข์
แต่ถ้าพอเรามีความเข้มแข็งของเรา เรามีความเพียร เรามีความวิริยะ เรามีความอุตสาหะ แล้วไม่ใช่ปฏิบัติธรรมด้วยมืดบอด ด้วยจิตที่มืดบอด ปฏิบัติธรรมนะ ปฏิบัติธรรมด้วยอาการ ด้วยความแบบว่ารู้ตัวทั่วพร้อม รู้ทุกอย่าง เพราะสิ่งนั้นมันเป็นความจริง เห็นไหม นี่ปฏิบัติไปแบบนั้น
แต่ขณะที่เรากำหนดพุทโธๆๆ ของเรา ถ้าจิตมันสงบระงับเข้ามา นี่มันรู้มันเห็นของมัน มันเข้าใจของมัน ถ้ามันเข้าใจ มันจะปลดเปลื้องไอ้สิ่งที่ว่ากิเลสมันรัดใจไว้ให้มันรู้จักตัวเอง มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก พอมันเป็นปัจจัตตัง มันจะไม่หวั่นไหว นี่ถ้าจิตอ่อนแอมันเห็นนิมิต เห็นสิ่งต่างๆ มันเห็นด้วยอำนาจวาสนาของจิตที่มันไม่มีกำลัง ถ้ามีกำลัง มันกลับมาที่พุทโธ กลับมาที่สติ สิ่งนั้นมันจะวางได้หมด
ดูสิ ดูนักกีฬา ถ้าเขาไม่เข้มแข็ง เขาฟิตของเขา เขาวิ่งของเขา เขาออกกำลังกายของเขา ร่างกายของเขาจะเข้มแข็งขึ้นมา แต่ถ้าเขาปล่อย ร่างกายมันก็กลับไปสู่ความเสื่อมถอยของเขา นี่ก็เหมือนกัน จิตใจถ้าเรามีสติ เรากำหนดพุทโธ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าจิตใจมันเข้มแข็งขึ้นมา มันจะรู้เห็นสิ่งใดนี่มันวางได้ มันจะรู้นะ เราจะออกรับรู้ก็ได้ ในเมื่อมันเป็นจริต มันเป็นสัญชาตญาณที่รู้เห็นโดยจิตสงบมันจะเห็นของมัน ถ้ามันสร้างอำนาจวาสนามาแบบนี้ แต่ถ้าเราเห็นเราก็รู้เห็น แต่เราก็ไม่หลงใหล ไม่ตื่นเต้น ไม่ให้สิ่งที่รู้เห็นนี้ชักนำให้จิตนี้คึกคะนองไป เรารู้เราเห็น เราก็วางไว้
ถ้าจิตมีกำลัง จิตมีกำลัง หมายความว่า มีสติ มีคำบริกรรม สามารถจะฟิตจิตขึ้นมาให้เข้มแข็งก็ได้ ถ้าจิตมันเริ่มใช้กำลังคือมันออกรับรู้ ออกรับรู้ก็เหมือนที่ร่างกายของเราทำงาน เราก็ต้องเหนื่อยอ่อนเป็นธรรมดา
จิตที่มันออกรู้ จิตที่มันออกรับรู้ต่างๆ มันใช้พลังงานออกไป มันก็เหนื่อยอ่อนเป็นธรรมดา ถ้าเหนื่อยอ่อนเป็นธรรมดา ไม่มีสติมันก็ตามไป มันพอใจกับสิ่งนั้น แล้วพอมันเสื่อมไปๆ มันก็จะไหลตามไป แล้วก็มานึกน้อยเนื้อต่ำใจว่า เราไม่มีอำนาจวาสนา เราไม่มีอำนาจวาสนา ว่าอำนาจวาสนามันจะมาจากไหน? อำนาจวาสนามันก็มาจากการกระทำของเรา
ถ้าเรามีอำนาจวาสนา พอมันเสื่อมถอย มันไปเพราะอะไร เพราะเราขาดสติ เราปล่อยให้จิตเราออกไปกับสัญญาอารมณ์ ออกไปกับสิ่งล่อ ฉะนั้น ถ้าเรามีสติขึ้นมา เรากำหนดพุทโธของเราขึ้นมาใหม่ พอมันเคยออกไปแล้วเสื่อม เรามีสติมีปัญญา เราก็รักษาไว้ ถ้ามันออกรู้อีกเราก็วาง เราไม่ตามนั้น ถ้ามันไม่ไปตามนั้น จิตมันก็เข้มแข็งขึ้น จิตมันก็มีกำลังขึ้น จะโลกธรรม จะแรงเสียดสี จะอยู่กับหมู่คณะ มันอยู่หมู่คณะเห็นไหม อะไรกระทบกระเทือนกันนี่เรารักษาใจเราได้ รักษาใจได้ เห็นไหม
พอรักษาใจได้ ถ้าจิตสงบแล้วออกหัดใช้ปัญญา ออกฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาที่การศึกษา ปัญญาที่เราศึกษา เห็นไหม ดูสิ ถ้ากิเลสมันมัดมือชก เราก็บอก เราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็รู้ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะคิดนอกกรอบออกไป มันก็จะเป็นเรื่องของกิเลส เรื่องของมนุษย์ เรื่องของคนๆ หนึ่งที่มีกิเลสจะไปสามารถไปวิจัยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างไร อย่างนี้เราก็ไม่กล้าขยับเขยื้อนสิ่งใดเลย
แต่เวลาถ้าเรามีครูบาอาจารย์ของเรา เราจะต้อง อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตน ถ้ายังไม่มีปัญญา ตน ถ้าไม่มีสติ ไม่มีมรรค ๘ ไม่มีดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ ตนๆ นั้นจะรื้อค้น จะทำให้ตน คนนั้นพ้นจากกิเลสไปได้อย่างไร ฉะนั้น เวลาจิตมันสงบขึ้นมาแล้ว ถ้าเราฝึกหัดใช้ปัญญา มันจะเกิดโลกุตตรปัญญา มันจะเกิดปัญญาของเรา เกิดปัญญาวิปัสสนาญาณ วิปัสสนาญาณมันจะเข้ามาชำระล้างกิเลส
เวลากิเลส ถ้าเรายังเริ่มประพฤติ เราเริ่มปฏิบัติทางโลก เราอยู่กับโลก มันก็มัดมือชก เวลาจิตเราสงบขึ้นมาแล้ว ทำจิตของเราให้สงบ กิเลสมันก็มัดหัวใจนะ มันมัดหัวใจว่าเรารู้แล้ว เราเข้าใจแล้ว เราเห็นสิ่งต่างๆ เราเข้าใจไปหมดเลย นี่สิ่งที่...เพราะอะไร เพราะความอ่อนแอ เพราะอำนาจวาสนาบารมีของจิตมันไม่เข้มแข็ง
ถ้าบารมีของจิตมันไม่เข้มแข็ง รู้ รู้เรื่องอะไร ธรรมะที่ศึกษามานี่ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งนั้น เวลาจิตสงบขึ้นมามันก็ปล่อยวาง มันก็มีความร่มเย็นเป็นสุข แล้วความร่มเย็นเป็นสุข เวลามันเสื่อมออกมา มันถอยออกมา มันก็กลับมาสู่ปุถุชนธรรมดา ถ้ามันกลับมาสู่ปุถุชนธรรมดา แล้วสิ่งนี้เราจะรักษาได้อย่างไร
ปุถุชน กัลยาณปุถุชน ถ้าเรามีสติปัญญา แล้วเราเทียบเคียงของเรา เราฝึกหัดของเรา มันจะเห็นความว่า ถ้าเราเป็นปุถุชน สิ่งใดที่มันกระทบกระเทือนบ่อยๆ รูป รส กลิ่น เสียง สิ่งที่พอใจ มันกระทบ ไปหมดเลย แต่ถ้าเราใช้ปัญญาของเรา เราแยกแยะของเรา จิตของเรา เรามีความฟิตของเรา เรามีสติปัญญาของเรา เราเห็นความเสื่อมถอยไปแล้ว เราพยายามตั้งสติของเรา
ถ้าตั้งสติของเรานี่ เวลาจิตมันสงบเข้ามานะ รูป รส กลิ่น เสียง มันก็กลับเข้ามากระทบอีก กลับเข้ามารับรู้อีก ถ้ากลับเข้ามารับรู้อีกนะ รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร มันกระทบแล้วเราจะหลงใหลไปกับมันทำไม เห็นไหม เวลาจิตมันรับรู้สิ่งต่างๆ มันก็วิ่งไปกับเขามาตลอด รูป รส กลิ่น เสียง ไปกับเขามาตลอด มันก็เป็นปุถุชนคนหนา แต่ถ้ามันเห็นโทษของมัน มันวางได้ พอมันวางได้ มันยิ้มเลยนะ มันวางได้ รักษาจิตได้ รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร นี่มันหลอกมันล่อ
ถ้ามันหลอกมันล่อ เวลาจิตสงบแล้วมันรู้มันเห็น ถ้ายิ่งจิตสงบนะ เวลานักภาวนา ถ้าใครทำความสงบของใจ ใจมันจะสงบมาก ใครเดินมาใกล้ๆ ใครส่งเสียงดังที่ไหน มันรับรู้หมดน่ะ นี่ชวนะ ความรับรู้ อายตนะนี่เร็วมาก แล้วสิ่งนี้จะกวนใจมาก ถ้าสิ่งนี้กวนใจมาก เห็นไหม
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าพอเวลาเราเห็นอย่างนั้นปั๊บ เวลาจิตเราสงบเข้ามา เรารับรู้ได้ ถ้าเรารับรู้ได้นะ เรามีสติปัญญาแยกแยะได้ เสียงก็คือเสียง รูป รส กลิ่น เสียง มันไม่ใช่กิเลส รูป รส กลิ่น เสียง จะวิจิตรสวยงามขนาดไหน ไม่ใช่กิเลส ตัณหาความทะยานอยากของจิตต่างหากมันเป็นกิเลส
รูป รส กลิ่น เสียง มันก็เป็น รูป รส กลิ่น เสียง โดยธรรมชาติของมัน แต่เพราะตัณหาความทะยานอยากของใจต่างหากเป็นกิเลส เพราะไปน้อมไปหาเขา กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันน้อมไปหาความพอใจ มันพอใจ มันรับรู้ มันอยากปรารถนา มันอยากได้ ถ้าเรามีปัญญา เราแยกแยะของเรา มันเห็นโทษของมันนะ ทำไมเราโง่ได้ขนาดนี้ ทำไม... นี่ไง กิเลสที่มันรัดหัวใจไว้ ถ้าเรามีสติปัญญานะ เวลามีสติปัญญามันจะบอกเลย ทำไมเราโง่ขนาดนี้ ของแค่นี้ทำไมเราเป็นขี้ข้าเขา ทำไมเราเป็นธาตุเขาได้ขนาดนี้ นี่มันยิ่งเห็นมันยิ่งสังเวช มันยิ่งเห็นมันยิ่งสำรอก
พอมันสำรอก มันเห็นโทษของมัน มันตัดนะ รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร รูป รส กลิ่น เสียง เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร จะเข้ามาสู่ใจนี้ไม่ได้เลย พอเข้าสู่ใจนี้ไม่ได้ นี่กัลยาณปุถุชน พอกัลยาณปุถุชน มันจะมีสติปัญญา นี่ไง สมถกรรมฐาน สมถกรรมฐานแล้วก็ต้องมีแยกแยะ นี่ครูบาอาจารย์เราสอน สอนให้ทำความสงบของใจเข้ามา
ถ้าใจมันสงบอย่างนี้ นี่ไง เราไม่ได้ไม่เคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราจะวิเคราะห์วิจัย เขาบอกว่า ไม่เคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราศึกษา รู้ชื่อ รู้นาม รู้เสียง รู้ต่างๆ แล้ว เป็นความจริง เรารู้ตัวทั่วพร้อมมันก็ดับ มันก็ปล่อยวาง ปล่อยวางเข้าไปสู่ฐานของจิต จิตมันก็จะรู้ของมันไป ปฏิบัติไปเพื่ออำนาจวาสนา มรรคผลนิพพานมันไปเอาชาติหน้า ชาติต่อไป ปฏิบัติไปเรื่อยๆ นี่ไง พูดถึง กิเลสมันมัดใจไว้ แต่ครูบาอาจารย์ของเราไม่ทำอย่างนั้น ครูบาอาจารย์บอกว่า ให้ทำความสงบของใจเข้ามา เพราะถ้าทำความสงบของใจ มันเป็นข้อเท็จจริงไง
เวลาทุกข์แสนทุกข์ ไม่รู้ว่ามันเกิดมันดับที่ไหน เวลาประพฤติปฏิบัติเข้าไปเห็นว่าทุกข์สิ่งต่างๆ มันเป็นสัจจะ มันเป็นธรรมชาติ มันเป็นธรรมชาติเองเลยนะ ความรู้สึกนึกคิดนี่ ขันธ์ ๕ ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ โดยมนุษย์มันมีโดยธรรมชาติของมัน แล้วธรรมชาตินี่มันเป็นกิเลสไหมล่ะ ธรรมชาติเป็นกิเลสไหม? ตัณหาความทะยานอยากต่างหากมันเป็นกิเลส นี่ไง กิเลสมันมัดใจไว้น่ะ
ตัณหาความทะยานอยากมันเป็นกิเลส ถ้าตัณหาความทะยานอยากมันเป็นกิเลส มันก็ยุแหย่ตะแคงรั่ว ยุแหย่หัวใจให้ไปกับเขา แล้วใจมันเป็นนามธรรมไง พอมันศึกษามาแล้ว สิ่งนี้เป็นธรรมพระพุทธเจ้าๆ นี่กิเลสมันมัดใจไว้
แต่ถ้าพอจิตสงบ มันจะสงบเข้ามา แล้วพอมันเสื่อมมันถอย เราก็พิจารณาของเราอย่างนี้ รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร ใช้สติปัญญา มันตัดขาด พอตัดขาดนี่เป็นกัลยาณปุถุชน กัลยาณปุถุชนนะมีสติ แล้วมีปัญญา พอมีสติมีปัญญานะ รูป รส กลิ่น เสียง เข้ามากระทบ มันรู้ทัน มันผลักไว้ มันกันไว้ไม่ให้เข้ามา มันกันไว้เลยนะ เพราะเราไม่รับรู้ไง เราไม่รับรู้โดยที่ว่า ไม่ใช่ไม่รับรู้โดยไม่มีปัญญานะ เราไม่รับรู้เพราะเรามีสติปัญญาต่างหาก เราเห็นโทษ เห็นไหม
ดูสิ ไฟ เวลาไฟป่ามันมา เขาดับไฟป่าด้วยการไปทำทางดักกันไฟ ถ้าไปทำทางกันไฟนะ ไฟมันถึงทางนั้นมันก็ดับ นี่ก็เหมือนกัน นี่ไม่ใช่เราไม่รู้ เรารู้เลยว่าไฟมันจะเผาเข้ามา แล้วเราไปทำทางกันไฟไว้เพื่อไม่ให้ รูป รส กลิ่น เสียง มันเข้ามาสู่ใจเรา
แต่ถ้าไม่มีสติปัญญานะ ไม่ได้ ถ้าคนไม่รู้จักทางกันไฟไว้ ไฟมันเผาไหม้หมด แล้วไฟมันเผาไหม้หัวใจ ศึกษาธรรมะพระพุทธเจ้านะ กิเลสมันรัดไว้ไง ศึกษาธรรมพระพุทธเจ้า รู้ทันหมด นี้คือกิเลส อันนี้คือธรรม อันนี้เป็นกุศล อันนั้นเป็นอกุศล แต่เวลาไฟมันเผามานะ เผาไหม้หมดเลย
แต่เวลาเราฝึกปฏิบัติของเราอย่างนี้ ตามที่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น วงกรรมฐานสอนกันไว้ นี่สอนแล้วเราทำตามกันมาๆ ทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบแล้วพิจารณา รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร ถ้ามันขาด นี่ทางกันไฟๆ เราทำทางกันไฟไว้ ถ้าทำทางกันไฟไว้
ถ้าพอจิต... ทางกันไฟนี้ ไฟมันจะเผาโลก เห็นไหม อยู่กับโลก โลกนี่มันมีโลกธรรม ๘ มันเผาลนทุกๆ ดวงใจ แต่ดวงใจของเรา เราทำทางกันไฟไว้ แล้วเราจะฝึกหัดใช้ปัญญาของเราแล้วล่ะ แล้วถ้าปัญญาอย่างนี้มันเกิดขึ้นมา นี่ไง มรรคญาณมันเกิด ถ้ามรรคเกิด มัคโค มรรคคือทางอันเอก ถ้าจิตมันไม่มีทางเดินของมัน จิตนี้มันจะชำระกิเลสได้อย่างใด
จิตนี้ประพฤติปฏิบัติไปรู้ตัวทั่วพร้อม รู้สถานที่ รู้ทุกอย่าง พอรู้แล้ว รู้ความจริง เป็นวิปัสสนา วิปัสสนาแล้วสิ่งใดเกิดขึ้นต้องดับไป ดับไปแล้วความรู้สึกกลับมาที่ฐานของใจ ฐานของใจแล้วทำอย่างไรต่อไป มันก็เกิดอีกก็พิจารณาของมันไป รักษากันไปแบบนี้ รักษาจนกว่าจิตมันจะพ้นจากกิเลส แล้วพ้นเมื่อไหร่ พ้นไปในอนาคตไง เพราะกึ่งพุทธกาลมรรคผลนิพพานมันไม่มี เราต้องไปข้างหน้า เห็นไหม กิเลสมันมัดมือชก
แต่ครูบาอาจารย์ของเราไม่เป็นอย่างนั้น ครูบาอาจารย์ของเรานะ ศึกษามาแล้วนี่สาธุ! ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเรา ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรานะ เป็นศาสดา นี้เราเคารพศาสดา เราศึกษาทางแผนที่เครื่องดำเนิน แล้วเราประพฤติปฏิบัติ เราวิเคราะห์วิจัยให้จิตใจของเรารู้ จิตใจของเราเห็น จิตใจของเราจับต้อง จิตใจของเราเห็นความเป็นจริงว่าปัญญาที่เกิดกับเรา ปัญญาที่เป็นปัญญาญาณที่กำลังจะเกิดต่อไปข้างหน้านี้เป็นโลกุตตรปัญญา มันจะเกิดขึ้นมาได้อย่างใด
ถ้ามันจะเกิดขึ้นมา เห็นไหม เราทำทางกันไฟไว้หมดแล้ว จิตใจของเรามันก็ร่มเย็น พอร่มเย็น เราออกใช้ปัญญา เพราะจิตใจนี้เป็นนามธรรม นามธรรมจะไปรู้สิ่งใด เราฝึกหัดใช้ปัญญาของเรา เขาบอกว่า กายก็รู้แล้วไง กายก็จับต้องได้ เห็นไหม รู้ตัวทั่วพร้อม รู้กายก็เป็นกายานุปัสสนา รู้เวทนาก็เป็นเวทนานุปัสสนา รู้จิตก็เป็นจิตตานุปัสสนา รู้ธรรมก็เป็นธัมมานุปัสสนา นี่กิเลสมันมัดมือชก
มันมัดมือชก หมายถึงว่า เป็นสามัญสำนึก เป็นความรับรู้ของเรา ถ้าความรับรู้ของเรานี่เป็นโลกียปัญญา ในเมื่อความรับรู้ของเราเป็นแบบนี้ ถ้าเรารู้ตัวทั่วพร้อม รู้กายยานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา เรารู้อยู่แล้วนี่ไง ถ้าเรารู้อยู่แล้วเราก็เข้าใจได้ เพราะสติมันมีจริงๆ ไง พอมีจริงๆ เราเทียบเคียง เทียบเคียงด้วยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันก็ปล่อยวางใช่ไหม
ทุกคนก็รู้ว่าร่างกายเวลาตายไปแล้วมันก็ต้องเน่าเหม็นทั้งนั้นน่ะ เวลาขี้เหงื่อขี้ไคลมันก็ต้องออกเป็นธรรมดา ทุกคนก็รู้ทั้งนั้นน่ะ อ้าว! รู้แล้วกิเลสมันต้องตายหมดเลยสิ แล้วกิเลสมันตายไหม กิเลสมันตายหรือเปล่า ในเมื่อเป็นความจริง ความจริงมันก็เป็นความจริง ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ มันก็เป็นความจริงของมันอยู่แล้ว แล้วความจริงมันความจริงอะไรล่ะ นี่เพราะว่ากิเลสมันมัดใจไว้ ใจก็เชื่อไง เวลาศึกษาธรรมก็เชื่อว่าธรรมะเป็นแบบนี้ เวลาปฏิบัติขึ้นมาก็ปฏิบัติธรรมก็รู้จริงเห็นจริงเป็นแบบนี้ แล้วมันแก้กิเลสสักตัวหนึ่งไหม? ไม่ได้แก้กิเลสสักตัวเลย
แต่เพราะเราเกิดมามีอำนาจวาสนานะ เราถึงมาเจอหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น แล้วหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ส่งต่อกันเป็นทอดๆ มา ส่งต่อมาด้วย ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ผู้ที่สนทนาธรรมนะ ครูบาอาจารย์กับลูกศิษย์เวลาสนทนาธรรมกัน นี่ใจดวงหนึ่ง ใจของครูบาอาจารย์ที่ไม่สูงกว่า ไม่สามารถจะดึงใจของลูกศิษย์ขึ้นมาสู่ที่สูงได้ แล้วเวลาศึกษามาแล้วมีการสนทนาธรรมกันมาตลอด คือกลั่นกรองกันมาตลอด พอกลั่นกรองขึ้นมา ส่งต่อกันมาเป็นทอดๆ นะ ส่งต่อที่ไหน? ส่งต่อที่ใจไง
ใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง ถ้าใจดวงที่มันไม่เป็น พูดอย่างไรมันก็ไม่เป็น ถ้าใจที่ไม่เป็นพูด นี่ก็รู้ตัวทั่วพร้อมไง กายานุปัสสนา จิตตานุปัสสนาก็ว่าไปไง แล้วข้อเท็จจริงล่ะ? ข้อเท็จจริงก็พระพุทธเจ้าสอนไว้อย่างนี้ มันก็อยู่ในพุทธพจน์...นี่กิเลสมันมัดใจไว้
ใช่ ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ใจมันไม่รู้จริง ถ้าใจมันรู้จริงนะ ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ รู้กาย รู้อย่างใด รู้กาย กายนอก กายนอกคือสามัญสำนึกของมนุษย์ สามัญสำนึกของสัตว์โลกก็เป็นแบบนี้ สามัญสำนึกของสัตว์โลก ถ้าพิจารณาแล้ว พิจารณาต่างๆ พิจารณากาย กายนอก จิตมันจะสลดสังเวช ถ้ามันสลดสังเวชถึงการแปรสภาพของกายนี้ มันก็จะปล่อยกายนี้เข้ามาสู่ความสงบ ถ้ามันปล่อยกายนี้มันเข้ามาสู่ความสงบ ถ้าจิตมันสงบจริงตามข้อเท็จจริงแล้ว จิตนี้ออกเห็นกาย
การที่ออกเห็นกาย นี่ความสลดสังเวชในสามัญสำนึก เวลามันเข้ามา หดเข้ามาสู่ใจนี้ ถ้าสู่ใจนี้ ถ้ากิเลสมันไม่มัดใจไว้ จิตมันเป็นสัมมาสมาธิ ถ้าจิตเป็นสัมมาสมาธิ ถ้าจิตออกรู้กาย มันถึงจะเห็นกายานุปัสสนา กายานุปัสสนาเพราะเหตุใด กายานุปัสสนาเพราะจิตดวงนั้น จิตดวงที่ทุกข์ที่ยาก เวียนตายเวียนเกิด เวลาธรรมเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่ใช่ธรรมของจิตดวงนี้ ถ้าจิตดวงนี้ จิตมันสงบระงับเข้ามาแล้วมันเห็นจริงของมัน ถ้าเห็นจริงของมัน มันก็สะเทือน สะเทือนที่ไหน? สะเทือนหัวใจ ถ้าสะเทือนหัวใจ มันสะเทือนอะไร? มันก็สะเทือนกิเลสไง
ถ้ากิเลสมันไม่มัดใจไว้ มันจะกลับมาสะเทือนสู่ตัวมัน มันจะเข้ามาสู่รวงรังของใจ ถ้ามันเข้าสู่รวงรังของใจ มันจะถอดจะถอนสังโยชน์ไง สักกายทิฏฐิ ทิฏฐิในกาย ทิฏฐิในความเห็นผิด ทิฏฐิในจิตใต้สำนึกที่มันยึดของมันไว้ จิตใต้สำนึกมันยึดของมันไว้ แต่เราใช้ปากของเรา เราใช้สัญญาของเรา ใช้ความรู้สึกนึกคิดของเราว่า ไม่ใช่เราๆ พระพุทธเจ้าบอกไม่ใช่เรา ก็กล่าวว่า ไม่ใช่เรา แล้วเป็นพระโสดาบันไหม เขียนคำว่า ไม่ใช่เรา แล้วก็เผาต้มน้ำแล้วกินเข้าไปเลย แล้วมันไม่ใช่เราไหมล่ะ? ไม่มีทาง
มันจะไม่ใช่เรา ไม่ใช่เราเพราะใครบอกไม่ใช่? สัญญาไหน ตัวอักษรไหน ใครจะทำลิขสิทธิ์กับใครว่าไม่ใช่เรา จะให้ใครเป็นคนตัดสินว่าไม่ใช่เรา ถ้าไม่ใช่จิตดวงนั้นตัดสิน ถ้าไม่ใช่จิตดวงที่มันสงบเป็นสมถกรรมฐาน แล้วมันออกรู้ของมัน ใครจะเป็นคนตัดสินว่าไม่ใช่เรา แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังรับรองใครไม่ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะพยากรณ์ตามนั้น ผู้ใดปฏิบัติตามความเป็นจริง ท่านจะบอก คนนั้นเป็นจริง ถ้าผู้ใดปฏิบัติธรรมไม่จริง คนนั้นท่านจะบอก ยังไม่ใช่ นี่ในพระไตรปิฎกมีมหาศาล
ที่พระไปถามว่า พระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์หรือเปล่า?
ท่านบอกว่า พระองค์นั้นไม่ใช่
ถ้าองค์ไหนเป็นพระอรหันต์ บอก องค์นี้ใช่ เป็นพระอรหันต์ องค์นี้เป็นพระอรหันต์
นี่ไง ท่านพูดตามความเป็นจริงของผู้ที่เป็นต่างหากล่ะ แล้วจิตของเราที่มันอยู่ในหัวใจของเรา ถ้ามันไม่ได้พิจารณาตามความเป็นจริง มันจะเอาความรู้จริงมาจากไหน ใครจะเป็นคนรับประกันว่าจิตดวงนี้มันละสักกายทิฏฐิได้ ใครจะเป็นคนบอก ถ้าไม่...ใครเป็นคนบอก ถ้ากิเลสมันรัดใจไว้ มันไม่รู้เหนือรู้ใต้
แต่ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมานะ จิตมันสงบแล้วมันออกพิจารณาของมัน ถ้ามันเห็นกาย เห็นกายตามความเป็นจริง มันก็ต้องเห็นตามความเป็นจริง เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ถ้าเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เพราะอะไร เพราะจิตมันสงบ มันไม่ใช่อยู่ในตำรานะ
กายานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน ๔ มันเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม มันกอดตำราไว้เลย เอาตำรามาแปะไว้หน้าผากเลย แล้วปฏิบัติไป มันเป็นจริงไหม มันเป็นจริงอย่างนั้นหรือเปล่า แต่ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมา เป็นจริงขึ้นมาอย่างไร
รู้ตัวทั่วพร้อมมันก็เป็นแล้วไง รู้ตัวทั่วพร้อมมันก็รู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรมเหมือนกัน สติปัฏฐาน ๔ ตามตำราไง นี่ไง กิเลสมันมัดมือชก นี่กิเลสมัดมือชกนะ เพราะจิตยังไม่สงบเลย จิตไม่เข้าสู่สมถกรรมฐาน แม้แต่สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน งานที่ตามความเป็นจริงมันยังไม่เกิด ถ้างานที่ตั้งเป็นความจริงขึ้นมา
เราถึงบอกว่า สิ่งที่เขาบอกว่า สิ่งนี้เป็นสมมุติ มันไม่เป็นความจริง เพราะเรานึกพุทโธ พุทโธมันไม่เกิดขึ้นมาจริง เรานึกขึ้นมาเอง เพราะนึกขึ้นมาเองด้วยความเคารพบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเคารพ เพราะเคารพเราถึงระลึกถึงพุทธานุสติ ระลึกถึงพุทธะพร้อมกับสติ ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมนี้เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พวกเรามันพวกขี้ทุกข์ พวกขี้ทุกข์เกิดมาอำนาจวาสนาน้อย ก็ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ระลึกถึงศาสดาของเรา ระลึกถึงคุณธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้เป็นที่พึ่งที่อาศัย พุทโธๆ ของเราไป ด้วยอำนาจวาสนาของเรา ด้วยความเชื่อของเรา ด้วยศรัทธาของเรา ด้วยความพยายามของเรา มันจะล้มลุกคลุกคลานแค่ไหนเราก็ทำของเราขึ้นไป
ถ้ามันสงบบ้าง ไม่สงบบ้าง ไม่สงบบ้างเราก็ใช้ปัญญาพิจารณาธรรม พิจารณาถึงอำนาจวาสนา พิจารณาถึงความมั่นคงของเรา พิจารณาถึงการประพฤติปฏิบัติ เราปฏิบัติมาขนาดนี้ เรายังไม่ได้เพราะเหตุใด เรามีทางออกอย่างใด เรามีการกระทำอย่างใดเพื่อจะผ่อนคลาย เพื่อให้การระลึกพุทโธมันก้าวหน้า เพื่อการกระทำของเรา ความก้าวหน้าคือจิตสงบละเอียดเข้ามา
ถ้ามันหยาบ มันก็ออกมาเป็นความเคยชินของเรา ถ้าเรามีสติปัญญา เราหาอุบาย หาวิธีการทำเพื่อความเจริญงอกงาม ความเจริญงอกงามในใจ ผลของใจใครจะรู้ แต่ครูบาอาจารย์รู้ ครูบาอาจารย์รู้เพราะว่าอะไร เพราะว่าครูบาอาจารย์แต่ละองค์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติมานี่ท่านรู้ว่าเริ่มต้นมาทุกข์ยากอย่างใด งานที่ไม่เคยทำ...
เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เราจะรู้เรื่องได้ทางวิทยาศาสตร์ เรื่องของโลก เรื่องของสถิติ เรื่องของทฤษฎี แต่เราไม่สามารถรู้จริงในข้อเท็จจริงที่ใจมันจะเป็นไปได้ แต่พอเราพยายามของเราขึ้นมา มัน...สิ่งงานที่ไม่เคยทำ ถ้างานทางโลกเก่ง งานทางโลกทำได้ งานทางโลก ทางวิชาการ ทางเอกสารเราเลือกดูได้ เราหาผู้สนับสนุน เราจ้างวานใครก็ทำได้ แต่ในตามความเป็นจริงของเรา มันอยู่ที่อำนาจวาสนาของเราเอง
เห็นไหม เกลือจิ้มเกลือ จิตแก้จิต มันต้องเอาจิตดวงนั้นทำให้จิตดวงนั้นสงบให้ได้ จิตดวงนั้นจะเอาทางหลีกเลี่ยงให้ใครช่วยแบ่งเบาภาระ ให้ใครช่วยชี้นำ ให้ใครช่วยยกสูงขึ้น เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์เราที่เป็นความเป็นจริงนะ ท่านจะใช้อุบาย ท่านพูดด้วยความเป็นจริง เราก็ไปก็อปปี้มาซะ มันก็เป็นสัญญาไป นี่ไง พอเป็นสัญญาขึ้นมามันก็เป็นกิเลสมัดหัวใจ พอกิเลสมัดหัวใจ มันก็ไม่เป็นอิสระ ไม่เป็นความรู้จริง
ถ้าเป็นความรู้จริง ครูบาอาจารย์ท่านจะมีอุบายบอกแนะชี้ทางวิธีการว่า มันควรจะเป็นแบบนี้ แล้วเราควรทำอย่างใด ถ้าควรทำอย่างใด มันก็จะเกิดขึ้นตามข้อเท็จจริงนั้น ถ้าข้อเท็จจริงนั้น จากที่ว่ามันทำด้วยความลำบากนัก ทำความสงบก็ทุกข์นัก เวลาปฏิบัติขึ้นมาก็ล้มลุกคลุกคลาน คอตกนะ
แล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ ไปอยู่กับเจ้าลัทธิต่างๆ เจ้าลัทธิต่างๆ สอนวิธีการอย่างไรก็ต้องไปเรียนกับเขา ไปทำกับเขา ๖ ปีนี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านท้อถอยบ้างไหม แล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนกลับมาถึงอานาปานสติ กำหนดด้วยอำนาจวาสนาบารมีขององค์ของท่านเอง แล้วท่านพิจารณาของท่าน ท่านทำมาขนาดไหน
ฉะนั้น เวลาเราน้อยเนื้อต่ำใจ เวลาเราทุกข์ยากขนาดไหน เราระลึกถึงครูบาอาจารย์ของเราสิ ครูเอกของโลก เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราย้อนมาถึงครูบาอาจารย์ของเราที่ท่านประพฤติปฏิบัติของท่านมา นี่เอาเรื่องอย่างนี้มาสร้างกำลังใจ ถ้าสร้างกำลังใจ เราทำของเราไป
ถ้าจิตมันสงบ พอสงบมีหลักมีเกณฑ์ มันพิจารณาออกไปมันจะเห็นของมัน เห็นนะ เห็นตามข้อเท็จจริง ถ้าเห็นตามข้อเท็จจริง มันก็จะเป็นอริยสัจ ถ้ามันเห็นหรือมันรู้ด้วยบารมี อันนั้นมันจะเป็นธรรม คำว่า ธรรม เวลากิเลสเกิด มันเกิดเป็นไฟเผาลนหัวใจ เวลาธรรมเกิดนะ มันเห็นธรรม เห็นเป็นข้อธรรม เห็นเป็นเรื่องของปัญญา ปัญญาสิ่งใดที่สงสัย สิ่งที่ปัญญามันจะเข้ามาชำระล้าง คือเข้ามาย่อยสลายความที่เป็นตะกอนในใจ โอ๋ย! มีความสุขมาก อย่างนี้เรียกว่า ธรรมเกิด
ธรรม คืออำนาจวาสนาของคน กำลังของคน คนนี้แทนด้วยจิต อำนาจวาสนาของจิต กำลังของจิต เวลาจิตมันสร้างอำนาจวาสนา มันภาวนา มันจะรู้จะเห็นของมัน อันนี้เป็นธรรม แต่เวลาเราใช้คำบริกรรมของเรา เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิของเรา เราใช้อุบายของเรา พยายามทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจสงบ เห็นไหม เรามีสติปัญญา เราเป็นคนบริหารจัดการ ถ้ามันมีสติ ถ้าจิตสงบแล้วเรารำพึงไปที่กาย เราพยายามพิจารณาเรื่องเวทนา พิจารณาเรื่องจิต พิจารณาเรื่องธรรม อันนี้เป็นอริยสัจ
อริยสัจที่ไหน? เพราะมีสติ มันก็สติชอบ สติรำพึง รำพึงให้เห็นกาย รำพึ่งเข้าไป รำพึง เห็นไหม งานชอบ ระลึกชอบ สติชอบ ปัญญาชอบ สิ่งความชอบธรรมมันเกิด นี่อริยสัจคือมรรค ๘ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ...นิโรธ นิโรธได้เพราะเหตุใด นิโรธได้ด้วยมรรคญาณ มรรคเห็นไหม นี่มรรค ๘ ถ้ามรรค ๘ การกระทำนี่เป็นมรรค ๘
มรรค ๘ คือ สติชอบ งานชอบ เพียรชอบ อย่างสมดุลของชอบ มันพิจารณา มันน้อมไปที่กาย เวทนา จิต ธรรม อริยสัจมันเป็นแบบนี้ อริยสัจมันมีการกระทำไง เห็นไหม ถ้าจิตไม่มีข้อเท็จจริง จิตไม่รู้ไม่เห็น จิตไม่ประพฤติปฏิบัติ มันจะสำรอก มันจะคายสังโยชน์ มันจะทำลายอวิชชา ทำลายความไม่รู้ของใจดวงนั้นได้อย่างใด
ใจดวงนั้น เห็นไหม ใจดวงใดก็แล้วแต่ที่มันทุกข์มันยาก แต่เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา งานของใจ นี่ไง งานของใจ ดูสิ ทางโลกบริหารจัดการคุมนโยบาย เขาใช้สมองของเขา เขาใช้ประสบการณ์ของเขา นั่นมันเป็นนามธรรมทั้งนั้นน่ะ แต่กรรมกรแบกหาม ดูสิ เขาใช้กำลังของเขา นั่นเป็นเรื่องของโลกนะ
เวลาเราเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา ร่างกายใช่ไหม ร่างกาย แต่จิตใจนี้อยู่ในร่างกายนั้น ฉะนั้น เดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตก นั่งจนก้นพอง นี่เป็นเรื่องของร่างกาย แต่เราไม่ได้นั่งเพื่อเอาร่างกาย เราต้องการหัวใจ ต้องการนามธรรมนี้ให้มันมีสติ มีบาทมีฐาน แล้วเราพิจารณาของเรา
ถ้ามันมีมรรค มีการกระทำ นี่ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เห็นไหม อริยสัจเกิดตรงนี้ นี่หัวใจของศาสนาเกิดที่นี่ หัวใจของศาสนาเกิดที่ไหน? เกิดบนสมถกรรมฐาน เกิดบนธาตุรู้ เกิดบนสถานที่ ภวาสวะ ภพไง สถานที่ เห็นไหม ดูสิ ปฏิสนธิวิญญาณ นี่เวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะ ถ้ามันสงบเข้ามามันก็สงบเข้ามาสู่ภวาสวะ สู่ภพ สู่หัวใจของตัว ถ้าสู่หัวใจของตัว แล้วเวลามันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันทำงานที่ไหน
เวลาจักรมันหมุน หมุนอย่างไร เวลาปัญญาที่มันหมุนติ้วๆๆ ปัญญา ปัญญาที่มันแยกแยะ ปัญญาถ้ามีกำลัง มีสติ มีสมาธิ เวลามันจับได้แล้วปัญญามันเคลื่อนไปอย่างไร นี่ต่างหากล่ะ ถ้ามันปลดล็อกของกิเลสที่มันมัดหัวใจไว้ นี่เวลาประพฤติปฏิบัติไปมันจะเกิดปัญญาของมัน เขาบอกว่า ถ้ารู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม นี่ก็เป็นสติปัฏฐาน ๔ นั่นล่ะ กิเลสมันมัดมือชก
แต่ถ้าพอเราทำความสงบของใจเข้ามาตามหลักกรรมฐานของครูบาอาจารย์ของเรา ตามหลักกรรมฐานที่จิตมันสงบแล้วออกใช้ปัญญาพิจารณาของเรา นี่โลกุตตรปัญญา ถ้าโลกุตตรปัญญานี่มันเกิดอย่างไร เวลามันเกิดขึ้นมา มันพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ เวลามันปล่อย ปล่อยก็โล่ง เวลาเราทำความสงบของใจ ใจนี่ปล่อยว่างหมดเลย พุทโธ จิตว่าง พิจารณาปัญญาอบรมสมาธินี่ว่างหมดเลย นี่คือนิพพาน เห็นไหม ถ้าจิตที่มันอ่อนด้อย จิตที่มันไม่มีกำลัง มันจะคาดหวังได้ว่าสมาธิก็เป็นนิพพาน
แต่ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ ถ้าสมาธินี้ ถ้ามีสติ มีปัญญา มันก็เป็นสัมมาสมาธิ ถ้าสติมันอ่อนแอ มันมีสมุทัยเข้ามาบวกเข้ามาด้วย สมาธินี้ก็เริ่มสั่นคลอน สมาธินี้ก็เริ่มหวั่นไหว แล้วถ้าความหวั่นไหว มันหวั่นไหวที่ไหน? มันหวั่นไหวที่หัวใจ ถ้าในเมื่อมันหวั่นไหวที่หัวใจ มันจะเป็นนิพพานได้อย่างใด
แต่ถ้ากิเลสมันมัดหัวใจไว้ มันก็ยังถือดี ยังว่าสิ่งนี้เป็นธรรมๆ ถือไว้เพื่อเป็นผลประโยชน์ของตัว คิดว่าเป็นผลประโยชน์ของตัว แต่ถ้าเป็นธรรม มันกลับเป็นโทษ มันกลับเป็นโทษเพราะอะไร เพราะว่าเราติดไง พอติดมันก็ไม่ก้าวหน้าใช่ไหม แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ปั๊บ พยายามจะบอกวิธีการว่าสิ่งที่ถ้าเข้ามาความสุข ความสงบของใจนั้น มันเป็นสมาธิ แต่สมาธินี้มันก็มีเจริญแล้วเสื่อม
เวลาเจริญแล้วเสื่อม ก็ธรรมชาติของสรรพสิ่ง สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สรรพสิ่งทั้งหลาย ไม่มีสิ่งใดคงที่ มันแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา เห็นไหม มันเป็นอนิจจังด้วย มันเป็นอนัตตาด้วย ฉะนั้น มันเป็นอนิจจังด้วย มันเป็นอนัตตาด้วย แล้วเราจะทำอย่างใดให้มันมั่นคง
ถ้ามันมั่นคง เราก็ต้องมีพุทธานุสติ มีปัญญาอบรมสมาธิต่อเนื่อง ต่อเนื่องด้วยเหตุ เห็นไหม ถ้าเราสร้างเหตุ เราตักน้ำใส่ภาชนะ น้ำในภาชนะต้องมีแน่นอน เราพุทโธๆๆ เราต่อเนื่องเข้าไป เราดูแลของเราเข้าไป มันจะเสื่อมถอยไปขนาดไหน เราทำของเรา จนมันชำนาญในวสี จะเข้าจะออก จะรักษาสมาธินี่ได้โดยพื้นฐานเลย
พอโดยพื้นฐานปั๊บ ถ้าเราไม่ออกใช้ปัญญา มันก็อยู่เท่านี้ แต่ถ้าเราออกใช้ปัญญาไป เห็นไหม ออกฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้าออกฝึกหัดใช้ปัญญา มันจะไปใช้ปัญญาที่ไหน ถ้ามันใช้ปัญญา ดูสิ ถ้ารู้ตัวทั่วพร้อมนี่มันเป็นสมมุติ มันเป็นปัญญาที่เกิดกับจิต มันเป็นเรื่องที่มีโดยสัญชาตญาณ แต่ถ้าเวลาจิตเราสงบเข้ามาแล้ว ถ้าเราจะใช้ปัญญาที่ไหน
เวลาพิจารณากาย พอไปเห็นกายครั้งหนึ่ง ครั้งต่อไปมันก็ไม่เห็น เวลาพิจารณาเวทนา เวทนามันก็ไม่เกิดสักที แต่เวลามันเกิดขึ้นมาก็เกิดแต่เวทนาหยาบๆ นี่เวลาจิต มันจิตอยู่อย่างไร นี่เวลาเราใช้ปัญญาแล้วมันล้มลุกคลุกคลานตรงนี้ไงเพราะการใช้ปัญญาอย่างนี้ มันเป็นจุดเริ่มต้นของวิปัสสนา สติปัฏฐาน ๔ มันเกิดเพราะจิตมันออกวิปัสสนา ถ้าไม่มีจิตออกรู้ ไม่มีจิตออกวิปัสสนา มันก็ไม่กลับมาชำระกิเลสของตัว ไม่กลับมาชำระที่ว่า สิ่งที่เราทุกข์เรายาก มันเผาลนเรานี่ เราทุกข์เรายาก เราเผาลนอยู่ในใจ ใจเศร้าหมอง ใจผ่องใส ใจอัดอั้นตันใจไปหมดเลย
ปฏิบัติธรรมนะ ปฏิบัติธรรมเป็นชีวิตประจำวัน มันก็แค่บรรเทา บรรเทาไว้ มีสติปัญญาควบคุมก็เบาๆ ดีๆ ดีๆ อย่างนี้มันดีๆ แบบโลกไง มันไม่ได้ดีแบบโลกุตตรธรรม ไม่ใช่ดีแบบว่าจะชำระกิเลส ถ้ามันชำระกิเลส มันต้องมีเหตุมีผลอย่างนี้ ถ้ามีเหตุมีผลอย่างนี้ พอถ้าจิตมันสงบ มันฝึกหัด มันใช้ พอเราใช้ พิจารณาแล้วมันปล่อย ถ้ามันปล่อยนะ มันปล่อยนี่เป็นตทังคปหาน
โดยการกระทำของเรา การฝึกหัดงาน การทำงาน เราทำงาน เราต้องทำงานเสร็จใช่ไหม คนเราทำงานบ่อยครั้งเข้าๆ เราอาจจะทำผิดมาบ้างก็ได้ แต่เราฝึกหัดด้วยความชำนาญขึ้นมา งานนี้เราต้องทำประสบความสำเร็จ แต่ในการทำประสบความสำเร็จอย่างนี้ เขาเรียกว่า ตทังคปหาน เพราะเราทำประสบความสำเร็จ แต่กิเลสมันเป็นแก่น แก่นของกิเลส กิเลสที่มันเหนียวแน่นในหัวใจ
ในเมื่อเราทำงานประสบความสำเร็จ คือเราพิจารณาแล้วมันเห็นจริงตามนั้น เห็นจริงตามนั้นด้วยกำลังของเรา แต่กิเลสที่มันเป็นแก่นของกิเลส ว่า กิเลสมัดใจไว้ กิเลสมัดใจไว้ กิเลสมันไม่มัดใจไว้ มันก็ทำให้ปัญญานี้เกิดขึ้นต่อเนื่องมา พอมันพิจารณาแล้วมันก็ปล่อย ธรรมก็เกิดต่อเนื่องมา ถ้าเกิดต่อเนื่องมา เห็นไหม แต่กิเลส ดูสิ กิเลสที่มันมัดมือชก กิเลสที่มัดใจไว้ กิเลสที่เป็นอวิชชา กิเลสที่เป็นซาตาน กิเลสที่เป็นสิ่งที่มันมีอำนาจมาก มันก็หลบซ่อน มันหลบซ่อน เวลาพิจารณา มันปล่อย มันหลบซ่อน มันหลบซ่อนเพราะอะไร
เพราะเราทำความสะอาดไม่ทั่วถึง การทำความสะอาดไม่ทั่วถึง เพราะเราพิจารณาก็ปล่อย ๆ นี่มันมีให้กิเลสมันหลบซ่อนได้ ในเมื่อกิเลสหลบซ่อนได้ ถ้ากิเลสมันบังเงา มันตีกลับนะ ถ้ามันตีกลับ มันบอก สิ่งนี้เป็นธรรม สิ่งนี้เป็นธรรม คำว่า สิ่งนี้เป็นธรรม เพราะสิ่งที่เราพิจารณาไปมันเป็นตทังคปหาน คือการปล่อยวางด้วยกำลัง ปล่อยวางด้วยองค์ประกอบที่เราใช้ปัญญานี้
แต่ในเมื่อกิเลสมันยังไม่ขาดนะ คนที่ไม่ละเอียดรอบคอบก็คิดว่าสิ่งนี้เป็นธรรม ชะล่าใจ พอชะล่าใจนะ มันก็กลับมาสู่ปุถุชน เพราะนี่คือโสดาปัตติมรรค เห็นไหม ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นี่มรรค ๘ นะ นี่การใช้ปัญญานะ แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์จะบอกว่า ต้องให้ขยัน ซ้ำเข้าไป ขยันซ้ำ คือพิจารณาซ้ำ คือพยายามทำซ้ำ ตรวจสอบทดสอบ ตรวจสอบทดสอบ พยายามทำซ้ำๆ เห็นไหม ทำซ้ำ
เพราะถ้าเราไม่ทำซ้ำ กิเลสมันอ้างอิงขึ้นมานี่มันบังเงา มันอ้างอิง แล้วมันบอกว่าสิ่งนี้เป็นธรรมๆ ถ้าเราเชื่อมัน เห็นไหม ดูสิ ดูว่ากิเลสมันลึกซึ้งขนาดไหน กิเลส ซาตานๆ ในใจ มันมีอำนาจขนาดไหน เราทำมา เราปฏิบัติมาล้มลุกคลุกคลานมาขนาดนี้ จนมีกำลังมาขนาดนี้ จะประสบความสำเร็จอยู่แล้ว มันก็ยังมาตัดรอนให้เราชะล่าใจ
ถ้าคนไม่มีสติปัญญา ไม่มีครูบาอาจารย์อยู่ มันจะถอยกลับไปเป็นปุถุชน จะเสื่อมหมด แล้วถ้าจะฟื้นฟูก็ต้องกลับมาดำเนินการอย่างนี้ขึ้นมาใหม่ จนมาถึงจุดนี้ จุดนี้คือจุดที่เราเคยทำมาถึงที่สูงสุด แล้วเราก็ตรวจสอบทำซ้ำๆๆ
ถ้ามรรคสามัคคี มรรค ๘ ดู รรค ๘ ที่มรรคสามัคคี นี่ไง ที่บอกว่า หน่วยกิต ๘ หน่วยกิต ถ้ามันสามัคคีกัน มันสมดุลอย่างไร สติชอบ งานชอบ เพียรชอบนี่มันสมดุลอย่างไร ธรรมจักรที่มันหมุนติ้วๆๆ มันปฏิบัติเข้ามา มันทำอย่างไร ถึงที่สุดแล้วถ้ามันมรรคสามัคคี คำว่า สามัคคี คือมรรค ๘ คือทางอันเอก มัคโคนี่มันราบหมด มันทำลายหมด มันไม่มีช่องให้ซาตานมันได้หลบหลีก
ถ้ามันไม่มีช่องให้ซาตานมันได้หลบหลีก เวลามันสมุจเฉทปหาน มันขาด! เวลาขาด ขาดอย่างไร ถ้าอย่างนี้ ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ในครูบาอาจารย์ของเรา ตั้งแต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านประพฤติปฏิบัติมานี่ท่านส่งต่อขึ้นมาเป็นชั้นตอนๆ มา ท่านมีเหตุมีผลของท่าน ทำอย่างไร ทำอย่างไร ถ้าพูดอยู่คนเดียวมันพูดได้ แต่ถ้าผู้รู้จริงเขามาตรวจสอบ เราจะพูดอย่างใด พูดอยู่ข้างเดียวมันพูดได้ทั้งนั้นน่ะ ใครพูดข้างเดียวพูดได้หมด แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเราเขาไม่พูดอย่างนั้น
เวลาหลวงปู่มั่นท่านอยู่เป็นประธานนะ พระที่ออกประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ออกกลับมาจากป่า จะมารายงานผลๆ เขาไม่พูดอยู่ข้างเดียว เขามีผู้รู้จริงคอยตรวจสอบ ถ้ามีผู้รู้จริงคอยตรวจสอบ กรรมฐานมันถึงมั่นคง มั่นคงเพราะอะไร มั่นคงเพราะมันเป็นความจริงทั้งหมด สิ่งที่มันเป็นความมั่นคงได้เพราะความจริงกับความจริงมันอยู่ด้วยกัน แต่ถ้ามันไม่มั่นคง เพราะความจริงกับความปลอม ความจอมปลอมมันไม่กล้าเผชิญหน้ากับความจริง
ถ้าไม่กล้าเผชิญหน้ากับความจริงนะ ก็นิพพานไปเอาข้างหน้าไง ปฏิบัติเพื่ออำนาจวาสนาบารมีนะ ธรรมะนี่ต้องพระอริยเจ้านั่น พวกเราเป็นมนุษย์ เป็นคนกิเลสหนา เราจะปฏิบัติกันได้ผลเชียวเหรอ เราก็ปฏิบัติธรรมบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปฏิบัติธรรมไว้เพื่อเป็นแนวทาง นี่ไง นี่พูดถึงว่าเวลากิเลสมันมัดมือชกนะ แล้วยังว่าเป็นปฏิบัติ
นี่ไง สายพันธุ์ใด คือการปฏิบัติในสายพันธุ์นั้น สายพันธุ์ที่มีข้อเท็จจริง สายพันธุ์นั้นจะอ้างอิงได้หมด ทั้งสายพันธุ์ ทั้งจริตนิสัย ทั้งความเป็นไปของอริยทรัพย์ ทั้งความเป็นจริงเกิดขึ้นจากหัวใจ ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา เห็นไหม นี่มันเป็นความจริงเพราะมันมีความจริงอยู่แล้ว ความจริงที่ครูบาอาจารย์ท่านทำน่ะมันมี ฉะนั้น ถ้าเราทำไม่ถึง เราทำยังไม่เป็นแบบนั้น เรายังมีลมหายใจเข้าออกนะ เรายังไม่สิ้นชีวิตไป ถ้าเราพยายามของเรา ขวนขวายของเรา
การเกิดในชาตินี้ เกิดมานี่เป็นอริยทรัพย์ เกิดเป็นมนุษย์ การเกิดมา พ่อแม่เลี้ยงมาตีนเท่าฝาหอย กว่าจะครบบวชได้ บวชขึ้นมา เห็นไหม ครูบาอาจารย์ท่านก็ดูแลกันมาขนาดนี้ สมัยก่อนนั้นจะประพฤติปฏิบัติ หาผู้รู้ผู้สอน หาไม่ได้ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านรื้อค้นกันขึ้นมา ท่านทุกข์ยากขนาดไหน ถ้าเวลาท่านพูดกันในวงใน คุยกันมา มันน่าสังเวช มันน่ากลัวมาก แต่พอครูบาอาจารย์ท่านพูดออกมาจนมันเป็นทฤษฎีที่คนได้ยินได้ฟังขึ้นมา มันก็เป็นเรื่องการจำมาๆ แล้วมาพูดกัน
ฉะนั้น สิ่งนั้นมันถึงไม่มีรสไม่มีชาติ ไม่เป็นสิ่งที่เป็นสิ่งประกันใจของเรา แต่ในเมื่อเราประพฤติปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ที่เป็นความจริงมี ถ้ามี เรามีสิ่งใด เราควรถาม ควรถาม ควรใฝ่รู้ เพื่อประโยชน์กับจิตของเรา อย่าให้กิเลสมันมัดมือชกว่าเราดี เราแน่ เรารับรู้แล้ว เรามีพระไตรปิฎก เรามีความรู้ เราไม่กลัวสิ่งใด อันนั้นมันจะทำให้เราเสียโอกาส ถ้าเราไม่เสียโอกาสนะ เราจะทำจริงของเราเพื่อประโยชน์กับเรา อย่าให้กิเลสมันมัดใจของเรา เอวัง