เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๒ ก.ค. ๒๕๕๕

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาเข้าสังคม เขาต้องไปฝึกเข้าสังคม การเข้าสังคม เห็นไหม เพื่อให้เราคุมเกมได้ การเจรจาต่างๆ เราจะเข้าใจของเราได้ แต่ถ้าเป็นทางธรรมนะทางแห่งความเสื่อม ทางแห่งความเสื่อมคือการคลุกคลี คือการมักคุยกัน คือการขี้เกียจ คือการนอนไม่ตื่น ทางแห่งความเจริญมีแต่ความเข้มแข็ง มีแต่ความขยันหมั่นเพียร ทางแห่งความเสื่อม ทางแห่งความเสื่อม เราคลุกคลี เราคุยกันทั้งวันทั้งคืนนี่ทางแห่งความเสื่อม เสื่อมเพราะอะไร? เสื่อมเพราะเราไม่มีเวลาทำเรื่องส่วนตัวของเราเลย

เรื่องส่วนตัวนะ เวลาเราขอพักส่วนตัวของเรา นี้เรื่องส่วนตัวของเรา แต่เรื่องส่วนตัวเรา อยู่คนเดียวนะจิตใจมันจะคิดมาก จิตใจมันจะดีดดิ้นมากในหัวใจ นี่อยู่คนเดียวให้ระวังความคิด ทีนี้ความคิดเกิดขึ้นมา ความคิดมันเกิดขึ้นมา เห็นไหม นี่ทางแห่งความเจริญนะ มักน้อย สันโดษ ขัดเกลา ธุดงควัตรเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส แต่ตัวมันเองชำระกิเลสไม่ได้ นี่ถ้าตัวมันเองชำระกิเลสได้ กฎหมายก็ต้องทำให้คนดีได้สิ กฎหมายบังคับไม่ให้คนทำผิด ถ้าคนทำผิด นี่มันผิดกฎหมายต้องต้องโทษ

นี่ก็เหมือนกัน ธุดงควัตร ๑๓ เป็นกติกา เป็นกติกาที่ให้พระประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เป็นเครื่องขัดเกลากิเลส ใครมีความพอใจ ใครเห็นคุณประโยชน์ เราทำตามสิ่งนั้น ทำสิ่งนั้นมันก็เป็นการขัดเกลา เห็นไหม ขัดเกลากิเลส แล้วถ้ามีปัญญาขึ้นมาล่ะ? ถ้าเรามีปัญญาขึ้นมาเราจะเห็นคุณของเขา เห็นคุณของกฎหมาย เห็นคุณของกติกา เห็นคุณของศีลธรรมจริยธรรม ศีลธรรม จริยธรรมมันเป็นกฎ เป็นกรอบ เป็นกติกา แต่การกระทำของเรา เห็นไหม การกระทำมันจะเพิ่มขึ้นมา

ฉะนั้น ทางแห่งความเสื่อม นี่ถึงเวลามาก็สุมหัวคุยกัน หัวนี่ปักเข้าไปกลัวจะคุยไม่ได้ยิน แล้วใครทำสิ่งใดก็ขัดขวางเขาไปหมด เห็นไหม ทางแห่งความเสื่อม แต่ถ้าทางแห่งความเจริญ ทางแห่งความเจริญนี่หลีกเร้น หลีกเร้นเพื่อดูใจตัวเอง ถ้าหลีกเร้นขึ้นไปมันดิ้นรนของมัน มันดิ้นรนของมัน นี่ใครไม่เห็นความดีของเราเลย ใครไม่เห็นความดีของเราเลย ความดีต้องอวดใคร? นี่เพราะความดี อยากให้เขาเห็นความดีมันถึงได้ทุกข์ยากกันอยู่นี่ไง แย่งชิงความดีกัน ทำว่าสิ่งนั้นเป็นความดี แล้วถ้ากิเลส กิเลสมันก็เป็นความดี แล้วความดี ดีของใคร?

ถ้าดีของมัน ดีความจริง นี่กลิ่นของศีลจะหอมทวนลมนะ ถ้ากลิ่นของศีล กลิ่นของธรรม อยู่ที่ไหน หลวงปู่มั่นนะท่านอยู่ในป่าในเขา เห็นไหม ท่านอยู่ในป่าในเขาเพราะอะไร? นี่เวลาหลวงปู่ขาวเวลาอยู่ที่วัดเหมือนกัน เวลาโยมไปรถบัสเข้าไปหลายๆ คันนะท่านขึ้นไปอยู่บนเขา พอเย็นท่านถึงลงมา

พระก็ถามว่า “ทำไมหลวงปู่ทำอย่างนั้นล่ะ?”

ท่านบอกว่า “นี่มันอยู่คนละมิติกัน เรื่องของโลก เราพูดธรรมะให้เขาฟังเขาไม่รู้เรื่องหรอก แล้วเหนื่อยมาก”

คนที่เขามีคุณธรรมของเขานะ เขาหลีกเร้นของเขา หลวงปู่มั่นท่านอยู่ในป่าในเขาของท่าน ท่านสร้างคุณประโยชน์ของท่าน ท่านพูดกับหลวงตานะ ท่านไม่มีเวลาว่างเลย ทั้งวันทั้งคืนนะเทวดามาฟังเทศน์ ทุกอย่างจะมา ท่านทำประโยชน์กับสามโลกธาตุ แต่เรามองไม่เห็นนะ เรามองเห็นแต่เวลามาก็สุมหัวคุยกัน คลุกคลีกัน เห็นอกเห็นใจกัน กลัวจะทุกข์จะยากกัน มันทุกข์ยากจนตาย แต่ถ้ามันมีสติปัญญานะมันยับยั้งของมัน แยกแยะออกไป นี่ใครทำคุณงามความดี ความดีก็เป็นความดีของบุคคลคนนั้น

หลวงปู่มั่นท่านอยู่ในป่าในเขาของท่าน เห็นไหม ท่านอยู่ในป่าในเขาตลอด แล้วท่านถือธุดงควัตรนะ ถือผ้า ๓ ผืน ถือผ้า ๓ ผืน ถือผ้าบังสุกุล ผ้าบังสุกุลหมายความว่าไม่รับผ้าที่คหบดีถวายมา ท่านเก็บของท่าน จนคนเขารู้กันก็เอาผ้าไปแขวนไว้ตามต้นไม้ต่างๆ ท่านใช้ของท่านมาอย่างนั้นตลอด ท่านใช้ของท่านมา ท่านถือของท่านมาให้เป็นคติเป็นแบบอย่าง ท่านทำความดี ท่านไปเรียกร้องเอาความดีมาจากใคร? หลวงตาท่านฟังนะ ท่านบอกว่าเวลาหลวงปู่มั่นอยู่กันตัวต่อตัว เพราะหลวงตาท่านไปทำข้อวัตรของท่านเวลากลางคืน เห็นไหม แล้วท่านคุยธรรมะ

ถ้าเป็นคุยธรรมนะ คุยธรรมะหมายความว่าถ้าไว้ใจใคร พูดแล้วเป็นประโยชน์ หลวงตาท่านก็จะไปถาม เวลาคุยธรรมะไปแล้วมันจะมีประเด็น มันจะเกี่ยวเนื่องกับความประพฤติปฏิบัติของท่าน ท่านบอก เวลาท่านเล่าของท่านนะว่าไปอยู่ที่ไหนมันทุกข์ลำบากมาขนาดไหน คำว่าลำบากท่านเป็นคติตัวอย่าง แต่ท่านไม่ได้เรียกร้องให้ใคร หลวงตาท่านบอกท่านฟังเสร็จแล้วนะท่านต้องเบือนหน้าเข้าสู่ข้างกุฏิ น้ำตาไหลอยู่คนเดียว แต่หลวงปู่มั่นท่านพูดของท่านด้วยปกติ ท่านเล่าของท่านเป็นเรื่องธรรมดา แต่ไอ้คนฟังมันสะเทือนใจนะ แต่ท่านเป็นทุกข์ไหม?

นี่ความดีท่านเรียกร้องจากใครไหม? ท่านไม่เรียกร้องจากใครเลย แต่ความดีของท่านทำไมเทวดา อินทร์ พรหมยังเชื่อถือล่ะ? ความเชื่อถืออันนั้น เห็นไหม เชื่อถือเพราะมันเป็นความจริง ความดีของเราไม่ต้องไปอวดใครหรอก นี่ทำความดี ใครจะว่าดีว่าร้ายเรื่องของเขา เราทำคุณงามความดีของเรา เราทำของเรานะ เขาจะติฉินนินทาเรื่องของเขา กรรมของสัตว์ กรรมของสัตว์นะ เรายิ่งทำความดีขนาดไหนยิ่งบาดตาเขา บาดตาเขาเพราะอะไร? เพราะเอ็งทำดีเกินหน้าข้าไง เอ็งทำไมไม่ทำเหมือนข้าล่ะ? ข้าทำตัวอย่างนี้ เอ็งก็ทำตัวอย่างข้าสิ เอ็งทำตัวล้ำหน้าข้าไปได้อย่างไร?

ทำคุณงามความดีมีใครเขาพอใจบ้าง? แล้วบอกทำความดีจะให้มีคนเชื่อถือศรัทธา แต่ไอ้สุมหัวคุยกัน นินทากาเล นี่นินทากาเลเรื่องอะไรกัน? เรื่องชาวบ้านทั้งนั้น เรื่องคนอื่นทั้งนั้น เรื่องตัวเองไม่ได้อะไรเลย อย่างนั้นดี มีสัมมาคาราวะ อู๋ย! มีสัมมาคาราวะนะ ช่วยเหลือเจือจานกัน ช่วยเหลือเจือจานกันก็ช่วยกันนินทาคนอื่นไง แต่ตัวเองไม่เป็นความจริงของเรา แต่จะเรียกร้องนะ เรียกร้อง เห็นไหม ทำดีไม่ต้องเรียกร้องใครหรอก

นี่เหตุของความเจริญ เหตุความเสื่อม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้หมดแล้ว ตระกูลใดถ้ารู้จักเก็บหอมรอมริบ ซ่อมแซมเครื่องใช้ไม้สอยของเรา ตระกูลนั้นจะมั่นคง ตระกูลใดสุรุ่ยสุร่าย จับจ่ายใช้สอยโดยที่ไม่รู้จักประหยัดมัธยัสถ์ สิ่งใดใช้แล้วก็โยนทิ้งๆ ตระกูลนั้นจะอยู่ไม่ได้เลย นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดไว้หมดแล้วล่ะ เวลาสอนฆราวาสก็สอนฆราวาส เวลาสอนพระนะ เวลาสอนพระ เห็นไหม นี่พุทธกิจ ๕ นี่เวลาสอนพระ เพราะพระมีบริขาร ๘ สิ่งที่บริขาร ๘ เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง จะหวังพึ่งสิ่งใดไม่ได้เลย มีแต่อำนาจวาสนาของบุคคลคนนั้น

พระสีวลีไปไหนนะมีแต่ร่ำรวยมหาศาล เพราะพระสีวลีได้เสียสละมามาก เวลาทำบุญที่ไหน เป็นหัวหน้ามาตลอด มีพระองค์หนึ่งเป็นพระอรหันต์ด้วย นี่ไปบิณฑบาตมาไม่เคยฉันอิ่มแม้แต่วันเดียว พระอรหันต์เหมือนกันนะไม่เคยฉันข้าวอิ่ม แล้วร่ำลือในวงใน จนพระสารีบุตรไปถามส่วนตัวเลยว่า

“เป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือ?”

“เป็นอย่างนั้นจริงๆ”

“นี่เป็นเพราะเหตุใดล่ะ? เขาไม่ใส่บาตรหรือ?”

“ใส่ ชาวบ้านเขาใส่ทั้งนั้นแหละ”

เวลาใส่บาตร เห็นไหม พรรษาน้อยอยู่ข้างหลัง เวลาเขาตักมา พอถึงข้างหลังข้าวก็หมดเสียก่อน นี่พระที่ไปด้วยกันเขาจะช่วยเหลือกันใช่ไหม? บอกว่าพรุ่งนี้ให้อยู่ข้างหน้าเลย ไอ้คนตักบาตรก็ว่าเมื่อวานตักบาตรแล้วนะ องค์ข้างหลังไม่ได้ วันนี้ข้างหน้าไม่ใส่ ไปใส่ข้างหลัง ไอ้พระก็บอกให้อยู่ข้างหน้าเลย ข้างหน้าก็ไม่ได้อีก นี่เวลาได้ข้าวมาเต็มบาตรนะ เวลาฉันไปๆ ข้าวมันอันตรธานหายไปเอง ไม่เคยอิ่มสักมื้อหนึ่ง

วันนั้นพระสารีบุตรไปนะ นี่บิณฑบาตของพระสารีบุตรมา แล้วท่านจับบาตรของท่านไว้ ถ้าพระสารีบุตรปล่อยบาตร ข้าวนั้นก็อันตรธานไป แล้วท่านก็จับบาตรนั้นไว้ บอกให้ฉัน ฉันจนอิ่มนะ พอฉันจนอิ่มวันนั้นก็นิพพานเลย นี่ไงนี่มันเวรกรรม ถ้าเรามีบริขาร ๘ ใช่ไหม? นี่เราเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง เราทำตัวของเรา เรามาเพื่ออะไร? เราบวชเพื่ออะไร? เราบวชเพื่อขัดเกลากิเลส เราบวชเพื่อจะชำระกิเลส เราไม่ใช่บวชมาเพื่อสะสมความสุข ความมั่งมี ไม่ได้บวชมาเพื่อแบบนั้น เราไม่ได้บวชมาเพื่อแบบนั้น เราบวชมาเพื่อชำระกิเลสนะ สิ่งใดที่จะได้นี่ตามมีตามได้

ตามมีตามได้ ยิ่งทำ เห็นไหม หลวงตาท่านพูดประจำ เวลาพระปฏิบัตินะท่านอยากเห็น อยากดูว่าพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แล้วความดำรงชีวิตดำรงชีวิตไม่ได้ คือไม่มีใครดูแล ท่านอยากเห็นนัก ถ้าเวลาปฏิบัตินะ แต่ถ้าปฏิบัติไปแล้วมันก็มี เหรียญมันมี ๒ ด้าน ความเห็นของคนไม่เหมือนกันทั้งนั้นแหละ นี่เราทำดีขนาดไหนท่านบอกว่า ประชาชนนะว่ามันทำเกินไป ทำไมต้องอดอาหาร ทำไมต้องผ่านอาหารด้วย แม้แต่ฉันมื้อเดียวมันก็ฉันมื้อเดียวอยู่แล้ว ทำไมต้องไปผ่อนอาหารอีก?

นั่นล่ะความเห็นของเขา เขาเป็นห่วง เขาเป็นใย เขาสงสารนะ แต่พระเวลาฉันมื้อเดียวนะ ถ้าฉันมื้อเดียวโดยไม่มีสติ โดยที่ไม่รอบคอบนะ เวลาฉันเสร็จแล้ว พอไปนั่งภาวนาก็สัปหงกโงกง่วง ก็ทุกข์ใจ เสียใจ ทำไมปฏิบัติแล้วไม่ก้าวหน้า? ถ้ามันผ่อนอาหารผ่อนลง เห็นไหม นี่ผ่อนลงเพราะธาตุขันธ์ นี่เวลาร่างกายมันได้สิ่งใดมันเสริมเข้าไป ธาตุขันธ์มันได้มีกำลังของมัน นี่มันทับจิต มันทับจิตหมายถึงว่าความรู้สึกนึกคิดมันไม่ปลอดโปร่ง ถ้าเวลาเราผ่อนอาหารของเรา เห็นไหม นี่ธาตุขันธ์มันเบา มันเบาเพราะอะไร? เพราะอาหารมันไม่เหลือเฟือ พลังงานมันไม่เหลือใช้ เวลาไปปฏิบัติขึ้นมามันก็ปฏิบัติได้ง่าย แต่เวลาร่างกายล่ะ? ร่างกายมันหิวโหยก็เป็นเรื่องธรรมดา

นี่เรื่องของธาตุขันธ์ แต่เรื่องจิตมันชัดเจนของมัน มันแจ่มแจ้งของมัน เวลาคนปฏิบัติเขาเลือกเขาเฟ้นของเขา นี่เขาบวชมาเพื่ออะไร? ถ้าบวชมาเพื่อมรรคเพื่อผล บวชมาเพื่อขัดเกลากิเลส เห็นไหม เราไม่ต้องบวชเป็นฆราวาสเขาก็หาอยู่หากินของเขาได้ เขาจะกินของเขาขนาดไหน เขาจะกินอาหารประเสริฐเลอเลิศขนาดไหนเขาก็กินของเขาได้ การอยู่การกินมันชำระกิเลสได้ไหมล่ะ? มันไม่ได้ แต่การไม่กินนี่สิมันจะชำระได้ เพราะการไม่กินมันฝืนกับความรู้สึกของเราไง

โอ๋ย! ถ้าไม่กินแล้วมันตาย โอ๋ย! ไม่กินแล้วมันหิวนะ โอ๋ย! ถ้าไม่กินแล้วมันไม่ได้เสพสุขนะ โอ๋ย! ไม่กินแล้วมันจะอยู่ได้อย่างไรนะ นี่พอเราไม่กินปั๊บเราก็เอากิเลสขึ้นเผาบนตบะธรรม ตบะธรรมคือสัจธรรม เห็นไหม เอากิเลสมันขึ้นมาแผดเผา พอมันโดนกิเลสแผดเผามันก็ดิ้นรนของมัน แต่เวลาถ้าเรากินอิ่มนอนอุ่นนะ โอ๋ย! ญาติโยมเขาศรัทธา สิ่งนั้นก็เป็นประโยชน์ สนองศรัทธาเขานะ กิเลสนะมันไม่โดนแผดเผา มันก็นอนอยู่ก้นหัวใจ อิ่มหมีพีมันของมัน มันนอนอยู่ในก้นหัวใจนะ สุขสบาย ไม่มีใครมาสะกิดมันเลย อย่างนี้ดี แต่ถ้าเราถือธุดงควัตร เห็นไหม นี่มักน้อยสันโดษ

นี่เวลาถือสันโดษได้มาแล้วยังมักน้อย จะฉันก็ฉันแต่พอดำรงชีวิตเท่านั้น นี่กิเลสมันไม่ได้ดั่งใจของมัน พอกิเลสไม่ได้ดั่งใจของมัน มันก็โดนแผดเผา พอมันโดนแผดเผามันก็ดิ้นรน พอดิ้นรนแล้วมันก็ตีโพยตีพายในใจแล้ว แล้วเราจะมีสติปัญญาสู้มันไหมล่ะ? นี่เวลาเราปฏิบัติกันเราอยากจะเห็นกิเลส เราอยากจะต่อสู้กับกิเลส เราอยากชำระกิเลส แล้วกิเลสมันอยู่ไหนล่ะ? กิเลสมันอยู่ไหน? หากิเลสไม่เจอ แล้วสิ่งใดปัจจัย ๔ อะไรก็ปรนเปรอมันไง

นี่เวลาปรนเปรอกิเลส แล้วกิเลสก็อิ่มหมีพีมันอยู่ในใจไง โอ๋ย! ภาวนาอย่างนี้ดี แต่เวลามันขัดสน เวลาเราผ่อน เราไม่ปรนเปรอมัน พอไม่ปรนเปรอมันนะมันก็ดิ้นรน พอมันดิ้นรนนะ มันดิ้นรนถ้าเรามีสติปัญญา ดิ้นรนก็ดิ้นรนไป เพราะเราจะชำระล้างมันอยู่แล้ว พอมันดิ้นรนขนาดไหนเรามีสติปัญญาของเรานะ เวลามันสงบลง เห็นไหม พุทโธ พุทโธ ปัญญาอบรมสมาธิถ้ามันสงบลงนะ

พอจิตมันสงบนะ นี่ไง นี่เพราะอะไร? เพราะเราอดนอนผ่อนอาหาร เพราะเรามีกติกากับใจของเรา เห็นไหม มันเบา มันปล่อย มันวาง อย่างนี้มันมาจากไหนล่ะ? นี่เวลาเราปฏิบัตินะ ใครก็อยากปฏิบัติ ใครก็ทำเต็มที่ของเราเลย แต่เราไม่ได้มองเลย ทำไมเราต้องถือศีล? นี่ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ทำไมต้องถือศีล? เพราะมันถือศีลแล้วมันเป็นกรอบ เป็นกฎหมายที่บังคับใจไว้ ใจนี้ไม่ได้ไปเบียดเบียนใคร ใจนี้ไม่มุสา โกหกมดเท็จกับใครมา นี่ของของเรา เราก็ไม่ได้ไปหยิบฉวยของใครมา ศีลก็ศีลของเรา สมบัติก็สมบัติของเรา มันนั่งแล้วมันสบายใจ แต่ถ้ามันมีความผิดมา นั่งนะ พุทโธ เอ็งโกหกตัวเอง เมื่อกี้ยังทำผิดอย่างนั้นเลย เห็นไหม มันวิตกกังวลไปหมด

เรามีศีล มีศีลเพื่อความปกติของใจ ถ้าใจมันปกติ มีศีล พอมีศีลแล้วเวลาเรากำหนดของเรา พุทโธ พุทโธ ถ้าจิตมันสงบเข้ามา จิตมันสงบเข้ามานี่มันสงบเพราะอะไร? มันมีเหตุมีผลของมัน ไอ้นี่ภาวนาๆ ภาวนา ภาชนะนะถ้ามันสกปรก อาหารสิ่งใดในภาชนะนั้น อาหารนั้นใช้ไม่ได้เลย ถ้าภาชนะชนิดใดเราชำระล้างจนสะอาด เราได้อาหารสิ่งใดมานะอาหารนั้นก็เป็นประโยชน์

นี่เราทำใจของเราให้ผ่องแผ้ว เรามีศีลมีธรรมของเรา มีศีลสิ่งนี้คือกฎกติกา คือศีลธรรม จริยธรรม นี่มันก็เป็นภาชนะ แต่เราพุทโธ พุทโธ หรือปัญญาอบรมสมาธิขึ้นมา ถ้ามันมีจริงขึ้นมา เห็นไหม สิ่งที่เกิดขึ้นมาในภาชนะนั้นมันก็เป็นความจริง แต่นี่ทุศีล เป็นคนที่ทุศีล คนที่ทำหยาบช้ามากๆ ทำสมาธิได้ไหม? ได้ แต่จิตใจต้องเข้มแข็งนะ พอทำสมาธิได้เพราะอะไร? เพราะสิ่งใดที่เกิดขึ้นมันองอาจกล้าหาญทำของมันไป แต่พอจิตมันเป็นสมาธิขึ้นมา เห็นไหม เป็นมิจฉา มิจฉาเพราะอะไร? เพราะมันทำแต่สิ่งที่ความพอใจของมันมา มันทำสิ่งใดก็ได้มันก็เป็นมนต์ดำ พอมนต์ดำนี่ทำคุณไสย ทำสิ่งต่างๆ มันออกนอกลู่นอกทางไป มันไม่เป็นสัมมาสมาธิ

มิจฉาสมาธิ สัมมาสมาธิ แล้วมันตกภวังค์เป็นอย่างไร? อจินไตย ๔ พุทธวิสัยคือปัญญาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธวิสัย วิสัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเราจินตนาการไม่ได้เลย เรื่องกรรม เรื่องโลก เรื่องฌาน เรื่องความสงบ มันแล้วแต่จริตนิสัย แล้วแต่อำนาจวาสนา แล้วแต่สิ่งที่สร้างสมมา ถ้าสร้างสมมานะ เวลาจิตมันสงบมันรู้ของมันไป มันเห็นของมันไป ไอ้คนที่ไม่มีวาสนามางงนะ เอ๊ะ ทำไมนั่งสมาธิแล้วเขารู้เขาเห็นอย่างนั้น ทำไมเราไม่เคยเห็นแบบเขา?

เวลาต้นทุนมันมาไม่เหมือนกัน เวลาลงทุนก็ลงทุนไม่เท่ากัน แต่เวลาผลตอบแทนมาจะเอาให้เสมอกัน เวลาอะไรก็ต้องประชาธิปไตย ต้องเป็นธรรม ต้องเสมอภาค ต้องได้เหมือนกัน ต้องได้เท่ากัน เท่ากันทำไมคิดไม่เหมือนกันล่ะ? เท่ากันทำไมความเห็นของคนไม่เหมือนกัน คนมันไม่เหมือนกันตั้งแต่จริตนิสัย ตั้งแต่กิเลสที่มันสร้างมาในใจอันนั้นแหละ เวลามันทำมาสิ่งนั้นมันก็ตอบสนองมา สิ่งนั้นตอบสนองมา แต่ถ้าเรามีสติปัญญา สิ่งที่เราทำมาสิ่งใด เราทำสิ่งใด แล้วเรามาปฏิบัติเพื่อสิ่งใด มันจะได้มากน้อยแค่ไหนนี่ก็คือที่เราทำมา

ถ้าเราทำมามันไม่มีใครทำให้เราได้หรอก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคนชี้ทางเท่านั้น ทำดีทำชั่วเราเป็นคนทำเองทั้งนั้นแหละ ถ้าเราทำดี ดีก็คือดี ทำชั่วมันก็คือชั่ว แล้วถ้าประพฤติปฏิบัติขึ้นไป ถ้ามันเป็นปัจจัตตัง มันเกิดปัญญาขึ้นมาก็ปัญญาของเรา ปัญญาของเราก็ชำระกิเลสของเรา ปัญญาของเขาก็ชำระกิเลสของเขา แล้วเวลาธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ต่างคนปฏิบัติมาก็มาคุยกัน มาหาแง่หามุมของกิเลสว่าใครจะมีอุบายวิธีการอย่างไร แลกเปลี่ยนกัน แลกเปลี่ยนกัน เห็นไหม นี่ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เขาคุยกันอย่างนี้ เขาคุยกันเป็นมงคล

แต่ถ้าสุมหัวกันมันไม่เป็นมงคลหรอก มันเป็นทางเสื่อม ทางเสื่อมก็มี ทางเป็นมงคลก็มี มงคลชีวิต มงคลที่จะเป็นประโยชน์กับเราขึ้นมา เห็นไหม ถ้าทำอย่างนี้ขึ้นมามันจะเป็นมงคลกับชีวิต ถ้ามงคลกับชีวิต เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา แล้วมันเป็นจริงขึ้นมา อเสวนา จ พาลานํ ไม่คบคนพาล พาลจากมนุษย์พาลกับหัวใจพาล หัวใจเราก็พาล

นี่ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา เราคบบัณฑิต บัณฑิตจะแนะนำถึงความว่าทำอย่างนี้ไม่ถูกต้อง ทำอย่างนี้ไม่ดีงาม นี่บัณฑิต เขาบอกถึงจุดบกพร่องของเรา แล้วถ้าบัณฑิต เห็นไหม บัณฑิตในหัวใจของเรา เรามักน้อย เราสันโดษของเรา มักน้อยมันก็ไม่ทุกข์ไม่ยาก สันโดษ สันโดษมันก็ไม่ต้องไปเอาพิษภัยมาจากใคร ไม่สันโดษนะ เดี๋ยวคนนู้นก็เอานินทากาเลมาใส่ให้ มันก็เอายาพิษมาเติมให้ คนนู้นก็เอายาพิษมาใส่ คนนี้ก็เอายาพิษมาใส่ ได้แต่ความเผาลนน่ะ

แต่ถ้าเราสันโดษของเรา เราไม่เอายาพิษของใครมาเลยนะ ยาพิษของเขาก็ไว้บ้านเขา ใครมีสิ่งใดมาก็ไว้ในหัวสมองเขา เราไม่ต้องไปแบกรับความรู้สึกของใครหรอก ถ้าเราไม่เอาความรู้สึกของใครนะเราก็ไม่มียาพิษเข้ามาในใจเรา เห็นไหม นี่ถ้าเรามักน้อยสันโดษ มันเป็นประโยชน์ไปหมดเลย มันทางอันเจริญ เจริญอะไร? เจริญให้หัวใจเราไม่เศร้าหมอง เราไม่ต้องให้สิ่งใดมาตกผลึกในใจเรา เราไม่เก็บของใครๆ มาหมักหมมในหัวใจของเรา ในใจของเรามันก็เหลือล้นที่เราจะแก้ไขแล้ว ทุกข์ในใจนี้มันก็เหลือล้นเต็มที่ เกิดมาก็แสนทุกข์แสนยาก แสนทุกข์แสนยากแล้วเราจะมาแก้ไขกันอยู่นี่ไง

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมโอสถ เห็นไหม เราเจ็บไข้ได้ป่วยเราก็ไปโรงพยาบาลหาหมอ จิตใจมันเจ็บไข้ได้ป่วยก็หาธรรมโอสถของมัน หาความสงบระงับขึ้นมาในใจ ถ้าเกิดมีปัญญาขึ้นมา นี่สำรอกคายมันออก ถ้าคายมันออกขึ้นมานะมันจะรู้จริงไง ถ้ารู้จริง เห็นไหม ธรรมะไม่มีสิ่งใดสัมผัสได้ ตำรามันไม่มีชีวิต พิมพ์ไว้นะ ไฟไหม้มันก็สูญหายไป แต่ถ้ามันเกิดที่ในหัวใจ เป็นกุปปธรรม อกุปปธรรม

สัพเพ ธัมมา อนัตตา เป็นกุปปธรรม สภาวะที่มันเปลี่ยนแปลงที่มันเจริญรุ่งเรืองขึ้น ถึงจุดหมายมามันเป็นอกุปปธรรม คงที่ แน่นอน ตายตัว แล้วมันอยู่ที่ไหนล่ะ? มันอยู่ที่หัวใจของมนุษย์ที่ประพฤติปฏิบัติ มันเป็นของมันเป็นจริงขึ้นมา สัจจะมีจริง ธรรมะมีจริง ถ้าไม่มีจริงมันไม่เกิดเป็นมนุษย์ ไม่เกิดเป็นทุกข์เป็นยากเป็นเรานี่ เพราะมันทุกข์มันยากนี่ไงถึงได้แก้ไขดัดแปลงให้มันไม่ทุกข์ไม่ยาก ให้มันเข้มแข็งขึ้นมา ให้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเรา

อยู่กับเราแท้ๆ เราหาแต่เงินแต่ทอง แต่เราไม่หาทรัพย์สมบัติของใจ ถ้าใจมีทรัพย์สมบัติขึ้นมา อันนี้จะเป็นประโยชน์กับเราเองนะ ถ้าหูตาสว่าง เห็นไหม ทางอันเจริญ ไม่ใช่ทางอันเสื่อมที่เราเป็นกันอยู่นี้ เราจะหาทางเจริญ เราจะเจริญรุ่งเรืองกันไป เพื่อสุดท้ายเพื่อให้จิตนี้พ้นจากกิเลส เอวัง