ผู้ถึงฝั่ง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๕
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ตั้งใจฟังธรรม อุตส่าห์นะ.. เราตั้งใจกัน ค้นหาสิ่งที่วิเศษที่สุด เกิดเป็นมนุษย์นี้แสนยาก การเกิดเป็นมนุษย์ เกิดมานี้บุญพาเกิด ถ้าบุญไม่พาเกิด สัตว์เดรัจฉาน สัตว์ต่างๆ เกิดในวัฏฏะนี้ เกิดวนเวียนกันตลอด เห็นไหม เกิดวนเวียนในวัฏสงสาร
วันนี้วันลอยกระทง ลอยกระทงเหมือนชีวิตเราลอยไปในวัฏสงสาร ลอยไปในวัฏสงสารเหมือนกับเขาลอยกระทง ลอยกระทงปล่อยให้ลอยออกไปแล้วแต่ว่าอำนาจวาสนา แล้วแต่ว่าคลื่นลมจะแรงขนาดไหน ชีวิตเราก็เหมือนกัน เกิดนานในวัฏสงสาร เปรียบเหมือนลอยกระทง ลอยกระทงลอยไปตามเวรตามกรรม ถ้าตามเวรตามกรรมเราทำอย่างนั้น เราทำอย่างไรมา มันไม่เข้าใจแล้วก็เวียนไปเวียนเกิดตามแต่วัฏฏะ แล้วแต่กระแสของกรรมพาไป
นี่เราจะข้ามพ้นจากกิเลส พ้นจากความทุกข์ความยากเราต้องฟังธรรม
จะฟังธรรม ธรรมนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก ธรรมของคฤหัสถ์ คฤหัสถ์เห็นไหม เราเป็นคฤหัสถ์ เรามีฟังธรรมของเรา แค่เรามีบุญกุศล ทำบุญทำกุศลทำเพื่อเรา ทำเพื่อกระทงใบนี้ให้ไม่เจอคลื่นลมแรงจนเกินไปนัก เจอแต่ความเป็นไปตามกระแสของโลกเขา ทำคุณงามความดี ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว ทำดี! เราต้องฝืนทำคุณงามความดี นี่คฤหัสถ์ทำอย่างนี้ ทำแต่ว่าตามแต่ธรรมของคฤหัสถ์
เราทำของเราได้ขนาดไหน เราก็จะได้ของเราขนาดนั้น เราจะได้ของเรา เราปรารถนาความสุข ถ้าเราไม่ทำความสุข เราไม่ฝืนความคิดของตัวเราเอง เราจะทำตามกระแสของกิเลส กิเลสในหัวใจของสัตว์โลก มันต้องการตามอำนาจของมัน มันต้องการทำความพอใจของมัน แล้วเราก็ไม่สามารถจะไปบังคับยับยั้งมันได้เลย
ธรรมของคฤหัสถ์.. ศีล สมาธิ ปัญญา.. เรามีศีล มีสมาธิ มีปัญญา เราก็พยายามดัดแปลงตน ดัดแปลงความคิดของเรา ดัดแปลงความเห็นของเราให้อยู่ในกรอบ ในกรอบของคุณงามความดี คุณงามความดีของคฤหัสถ์ก็เป็นของคฤหัสถ์ไปก่อน ทำบุญทำกุศลเพื่อเรา.. เพื่อเรา.. จนกว่าเราจะออกประพฤติปฏิบัติ
เราออกประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม เราประพฤติปฏิบัติ พยายามสร้างสมคุณงามความดีจากภายในของเราขึ้นมา บ้านร้าง! ถ้าบ้านร้างนี่มันจะผุพังโดยเร็ว ถ้าบ้านมีคนอยู่อาศัย คนอยู่อาศัยในบ้านหลังไหน บ้านหลังนั้นเรารักษาบ้านหลังนั้น บ้านหลังนั้นจะเสื่อมสภาพไปตามธรรมชาติของเขา แต่มันก็แบบว่ามีคนอยู่ คนรักษาบ้านนั้น ชีวิตมันก็เหมือนกัน เรามีชีวิตของเรา เราเกิดมาเป็นมนุษย์ ใจอยู่กับเรา ถ้าเรารักษาใจของเรา เราจะมีใจอยู่ในร่างของเรา ร่างกายนี้เปรียบเหมือนบ้าน และหัวใจเปรียบเหมือนเจ้าของ ถ้ามีเจ้าของอยู่อาศัย มันก็จะอยู่อาศัย
แต่เราไม่ได้อยู่อาศัย เรามีบ้านอยู่หลังหนึ่ง แล้วเราก็ไม่สนใจบ้านของเราเลย เราคิดออกไปประสาของเราตามโลกเขา นั่นน่ะ กระแสของความคิดต้องเป็นแบบนั้น เหมือนกับบ้านร้าง รักษาแต่ตัวบ้านแต่ไม่เคยเห็นตัวใจ ไม่เคยเห็นคุณค่าของเจ้าของบ้าน ถ้าเห็นคุณค่าเจ้าของบ้าน เราต้องกลับมาดูเรา แล้วย้อนกลับมาจากภายใน ถ้าย้อนกลับมาภายใน มันจะเจอเจ้าของบ้าน เจ้าของบ้านคือตัวหัวใจ
สิ่งที่เป็นหัวใจ หัวใจคือความรู้สึก ความทุกข์-ความสุขนี้อยู่ที่ความรู้สึกทั้งหมด
ผู้ข้ามพ้นไง.. ผู้ถึงฝั่ง ผู้ที่จะถึงฝั่งได้นี่ต้องทวนกระแส
กระแสของโลกเขานั้นลอยไปตามกระแสของโลกเขา
ผู้ถึงฝั่ง ทวนกระแสกลับเข้ามา ใจเท่านั้นจะเป็นผู้ถึงฝั่งได้
เรื่องของร่างกาย เรื่องของวัตถุสิ่งของ มันเป็นไปตามสภาวะของเขาอย่างนั้น เรื่องของกระทงนะ เรื่องของร่างกายมันต้องเกิดต้องตายตามประสาอำนาจอย่างนั้น เกิดมาอยู่ชั่วคราว ๑๐๐ ปีเป็นอย่างมากแล้วเราก็ต้องตายไป กระทงนี้ต้องทิ้งไป แต่เจ้าของกระทงอยู่ที่ไหน? เจ้าของร่างกายอยู่ที่ไหน?
เรือนของใจ.. เราอยู่ในหัวใจ หัวใจเราอยู่ในเรือนของกายนี่ ย้อนกลับมาที่ตรงนี้ กระทงให้มีเจ้าของ เราหาเจ้าของของเราแล้วผู้พ้น.. ผู้ถึงฝั่ง จะถึงฝั่งด้วยการประพฤติปฏิบัติ จะถึงฝั่งด้วยการเข้าใจ การเกิดศรัทธา
เขาพยายามตามกระแสโลก โลกเป็นแบบนั้น เรื่องของโลกหมุนไปตามกระแสโลก แล้วหมุนออกไปตามกระแสของเขา นี่ความเป็นไปของโลก ความครึกครื้น ความสนุกสนาน นี่มันเป็นประเพณีวัฒนธรรมเพื่อคุณงามความดี
คุณงามความดีนะ การลอยกระทงนี่เพื่อคุณงามความดีของเรา ลอยกระทงหนหนึ่ง เห็นไหม บูชาพระพุทธเจ้า คิดถึงพระพุทธเจ้า ไหลเรือไฟ บูชาพระพุทธเจ้า คิดถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากดาวดึงส์นี่ เราลอยกระทงเพื่อสิ่งนั้น เพื่อระลึกถึงคุณ ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ถ้าระลึกถึงพระพุทธเจ้า ใจคิดถึงก็เป็นบุญกุศล สิ่งที่เป็นบุญกุศล ทำเพื่อบุญกุศล แต่ทำกันไปทำไปเป็นประเพณีวัฒนธรรม นั่นก็ออกไปเป็นความสนุกสนาน เป็นความเพลิดเพลินเป็นของโลกเขา
เราไม่เป็นอย่างนั้น! เราดูตัวใจของเรา เราย้อนกลับมาที่เรา ถ้าย้อนกลับมาที่เราแล้วเรารักษาใจของเรา มันหมุนไป อารมณ์มันเกิดขึ้น มันหมุนตามกระแสของความคิดไป มันลอยไปขนาดไหน ใจนี้ลอยไม่มีสติ ถ้ามีสติขึ้นมา มันจะยับยั้งรู้สึกตัวขึ้นมา เราอยู่ขึ้นมา เรารักษาใจของเราขึ้นมา ถ้ามีสติขึ้นมา นี่เราเห็นเจ้าของกระทง แล้วเราพยายามให้เจ้าของกระทงนี้ย้อนกลับเข้าไปอีก ย้อนกลับมาให้ลึกเข้ามา ลึกเข้ามาเพื่อตัวของเรา เพื่อความเห็นของเรา
สิ่งที่ว่ามันหมุนออกไปข้างนอนนั้นมันเป็นอาการเฉยๆ ทีนี้ย้อนกลับเข้ามา ถ้าย้อนกลับเข้ามาที่ใจได้ มันจะทำความสงบของใจได้ ใจจะสงบขึ้นมาแล้วมันจะปล่อยวางสิ่งโลกๆ ได้ สิ่งที่โลกๆ ทุกคนเกิดมาแล้ว มันเป็นโลกทั้งหมด เราเกิดมาในโลก เราก็อยู่กับโลก อยู่กับโลกก็เป็นไปตามโลกเขา โลกเขามีมหรสพสมโภชต่างๆ มันมีโดยดั้งเดิม
แล้วในนวโกวาทเห็นไหม ถ้ามีเสียงกลองที่ไหนเราไปที่นั่น เสียงการเล่นอยู่ที่ไหนเราไปนั่น เราเพลินไปกับโลก.. โลกเป็นแบบนั้น สิ่งที่เพลินไปกับโลก เราก็หมุนไปกับโลกเขา นั่นน่ะ เรือนว่าง นี่บ้านร้าง.. บ้านนี้ร้างเพราะไปตามกระแสโลกเขา โลกเขาดูดไปหมดเลย
แล้วถ้าพูดถึงเรือนว่างในการประพฤติปฏิบัติล่ะ ประพฤติปฏิบัติถึงที่สุดแล้วมันก็เป็นเรือนว่าง ใจนี้จะปล่อย เห็นไหม เป็นผู้ที่ไม่มีเรือน ปล่อยร่างกายทั้งหมด แล้วปล่อยขันธ์ทั้งหมด จนเป็นใจล้วนๆ นั้นเป็นความว่างต่างกัน
ความว่า เรือนว่าง เรือนว่างของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ มันเข้าใจตามความเป็นจริง สิ่งที่เข้าใจตามความเป็นจริงในหัวใจแล้วปล่อยวาง ปล่อยวางธาตุ ปล่อยวางขันธ์จนใจนี้เป็นอิสระเสรีภาพเข้ามา เป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา อันนั้นเป็นความว่าง นี้การประพฤติปฏิบัติ มันต้องถึงตรงนั้นแล้วมันจะเข้าใจว่าความที่ว่าเป็นเรือนว่างในธรรมเป็นอย่างไร
แต่เรือนว่างของผู้มีกิเลสไง เรือนว่างของพวกเรา เราว่างเราไม่สนใจ เราว่าเราปล่อยวาง เราว่างหมด พระพุทธเจ้าสอนว่า ให้ปล่อยวาง อย่าให้ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใด ถ้าการยึดมั่นถือมั่นเป็นสิ่งที่มีกิเลส นี่มันไปขัดกับมรรคไง มรรคเห็นไหม ความเพียรชอบ ความเพียรในการชำระกิเลส ความเพียรของเราจะเกิดขึ้นมานี้เราต้องมีสติ สิ่งที่มีสติจะเป็นความเพียร แล้วเพียรเข้ามา ย้อนกลับเข้ามาเพื่อทำใจของเราให้หยุดนิ่งให้ได้ ถ้าทำใจของเราหยุดนิ่งได้ มันจะเป็นประโยชน์กับเรา เราจะเข้าใจสิ่งต่างๆ ว่ามันจะเป็นประโยชน์
สิ่งที่เป็นประโยชน์เกิดจากตรงนี้ เกิดจากที่ว่าเรามีต้นทุน
การจะทำงานต่างๆ ต้องมีต้นทุน ต้องมี.. เห็นไหม มีแรงงาน เราจะทำสิ่งใดถ้าเรามีแรง เราจะทำสิ่งนั้นได้ ถ้าเราไม่มีแรง เราจะทำสิ่งนั้นไม่ได้เลย แล้วแรงของความคิด แรงของกิเลสมันเป็นแรงส่วนที่ว่ามันเป็นความเคยชินของใจ ใจจะเคยชินกับแรงดึงดูดของโลกเขา ความคิดต่างๆ กิเลสเอาไปกินทั้งหมดเลย
สิ่งที่ว่าเราศึกษาเรามีปัญญาขนาดไหน ปัญญาเห็นแก่ตัว ปัญญาโกง.. โกงสัจจะความจริง โกงสัจจะความจริง ต้องการปรารถนาสิ่งที่ให้สมความปรารถนาของตัว ปัญญาของเราเป็นปัญญาอย่างนั้น การศึกษาธรรม การปฏิบัติธรรมก็เป็นปัญญาอย่างนั้น คาดหมายไป.. สิ่งที่คาดหมายไปสร้างความเห็นของเราขึ้นมา แล้วสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นมาตามความเห็นของอันนั้น นั่นน่ะ อาการของใจนี้มันเป็นไปตามที่ว่าสิ่งที่บังคับบัญชา.. กิเลสบังคับบัญชา กิเลสนี้บังคับบัญชาใจอยู่ ใจก็เป็นอาการแบบนั้น
ถ้า ธรรมบังคับบัญชา ต้องทำความสงบของใจเข้ามา ให้ธรรมบังคับบัญชา สิ่งที่ธรรมบังคับบัญชาเพราะมันจะประสบกับสิ่งนี้ ประสบกับความรู้สึก ประสบกับความสัมผัสของใจ ใจจะสัมผัสธรรมเข้าไปแล้วจะเป็นปัจจัตตัง
สิ่งที่เป็นปัจจัตตังกับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่จะถึงฝั่ง ผู้ที่จะเข้าหาฝั่ง ใจตัวนี้มันต้องสัมผัสตัวนี้ให้ได้ ถ้าสัมผัสตัวนี้ได้จะพาใจตัวนี้ให้มันเกิดปัญญา สิ่งที่เกิดปัญญา ปัญญาในความแน่ใจไง นี่ปัจจัตตังความแน่ใจ จิตสงบขึ้นมา มันจะมีพื้นฐาน มีความสุขของใจ แล้วใจปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง ปล่อยวางแม้แต่ธาตุขันธ์ก็ได้เวลาจิตสงบขึ้นมานี่.. จิตของเราสงบขึ้นมานี่ มันจะปล่อยวางสิ่งต่างๆ ปล่อยวางหมดเลย นั้นปล่อยวางด้วยหินทับหญ้าไว้ สิ่งที่หินทับหญ้าไว้เพราะมันปล่อยวางด้วยอำนาจของสมาธิ สิ่งที่เป็นอำนาจของสมาธิ อันนั้นเป็นต้นทุน แล้วถ้ามีอำนาจวาสนา เราจะเอาสิ่งนี้ให้ทำประโยชน์ให้ได้
ถ้าเอาสิ่งนี้ทำประโยชน์ไม่ได้ สัพเพ ธัมมา อนัตตา.. สภาวะของธรรม นั่นน่ะ สภาวะของธรรมเกิดขึ้นมากับใจของเรา เราสัมผัสธรรมด้วยความจริงตามที่ว่าเราประสบสัมผัส เป็นปัจจัตตัง สิ่งที่เป็นปัจจัตตัง กิเลสก็คาดหมายตามปัจจัตตังอันนั้นด้วย สิ่งที่เป็นกิเลสเพราะหินทับหญ้าไว้ กิเลสไม่ได้หลุดลอยออกไปจากใจแม้แต่น้อย กิเลสยังอยู่ในหัวใจ กิเลสนั้นก็ต้องสร้างสถานการณ์ว่า สิ่งนี้เป็นธรรม สิ่งนี้เป็นธรรม.. เราก็จะหลงไปเป็นสิ่งนั้น
ผู้ถึงฝั่ง เราจะถึงฝั่งเราต้องไม่เชื่อกิเลส ต้องมีการตรวจสอบ มีการใคร่ครวญว่าสิ่งนั้นเป็นความจริงไหม สิ่งนี้เป็นสัจจะความจริงไหม? เป็นสัจจะความจริงของส่วนหนึ่งที่เราสัมผัส แล้วก็กิเลสเอาไปใช้ กิเลสเอาสิ่งนี้ไปใช้หมด เราไม่สามารถชำระกิเลสได้ ไม่สามารถเอาชนะกิเลสได้ เราถึงต้องย้อนกลับเข้ามา ทำความสงบของใจนี้บ่อยครั้งเข้า.. บ่อยครั้งเข้า.. จนมันตั้งมั่นได้
สิ่งที่ใจสงบ.. สงบได้ เราทำสงบได้ เห็นไหม เราเกิดมาชีวิตนี้ว่าทุกข์ยากมาก การเกิดนี้แสนยาก การเกิดเพราะบุญกุศลพาเกิดแล้วมันยังแสนยาก แต่การดำรงชีวิตนี้ ในชีวิตเรานี่จะมีความทุกข์ ความกระทบของใจตลอดไปเลย การสะสมคุณงามความดี การทำความสงบของใจก็เหมือนกัน การสะสม การสร้างนี่เหมือนกับเราเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดเป็นในธรรม เกิดมาพบสัมมาสมาธิ จิตนี้เป็นสมาธิ ได้สัมผัสกับสมาธิ แล้วก็ล้มลุกคลุกคลานไป ต้องพยายามสร้างสมขึ้นมา
การรักษาชีวิตของเรานี้ให้รอดพ้นจากความทุกข์ มันเป็นสิ่งที่ว่าเป็นไปไม่ได้เลย มันต้องประสบทุกข์มาก-ทุกข์น้อยแล้วแต่ชีวิตของเราที่ประสบกัน ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน การเกิดขึ้นมาแล้วมันก็ต้องแปรสภาพไป รักษาไว้ การรักษาไว้ถึงต้องทำความสงบบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า.. ทำสงบอยู่อย่างนั้น รักษาใจของเราให้สงบเข้ามาเพื่อเป็นฐานให้มั่นคง
สัมมาสมาธิ สิ่งที่เป็นสมาธิขึ้นมาแล้วมันตั้งมั่นขึ้นมา แล้วมันจะเป็นงานของเรา เราจะเกิดขึ้นมาเป็นงานของเรา เราต้องพยายามรื้อค้นไง รื้อค้นเพื่อผู้ที่จะให้ถึงฝั่ง ถึงฝั่ง! ฝั่งของเราอยู่ที่ไหน? ฝั่งของเรามันอยู่ที่ใจ ใจตัวนี้เป็นถึงฝั่งได้ ฝั่งคือธรรม
ถ้าจิตใจนี้เข้าถึงพื้น ตีนเหยียบพื้นได้ นั้นเป็นสิ่งที่ว่าเราจะเข้าหาสัจจะความจริง เหยียบพื้นได้ มันเข้าใจแล้ว ไม่ต้องตะเกียกตะกายอยู่ในโอฆะ ในวัฏฏะ เห็นไหม ในวัฏฏะเราโดดลงไปในทะเล แล้วเราก็ต้องว่ายอยู่ในทะเลนั้นตลอดไป ใจนี้ก็เหมือนกัน ใจนี้ต้องอยู่ในโลก ในสังสารวัฏนี้มันเป็นสถานะ สถานะของบุญกุศล ถ้าทำคุณงามความดี ผลคุณงามความดีให้ผลนั้น เราจะเกิดมีความสุข สุขในสถานะของภพชาติมันเป็นเรื่องน่าพิจารณา พิจารณาว่าชีวิตนี้คืออะไร? ชีวิตนี้เกิดตายๆ ขึ้นมา เราเกิดตายเฉพาะชาตินี้ เราก็ว่าชีวิตนี้เป็นชาตินี้เท่านั้น
ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่ครูบาอาจารย์ เห็นไหม บุพเพนิวาสานุสติญาณ จิตนี้ย้อนอดีตไปได้ตลอดไป ใจนี้ย้อนกลับเข้าไปตลอดว่าภพชาติสะสมมาที่ใจ.. สะสมมาที่ใจ.. ใจเกิดตายตลอด.. เกิดตายมาตลอด.. นั้นน่ะ เวลาเราโดดลงในวัฏฏะ โดดลงน้ำไปแล้วเราพยายามตะเกียกตะกายอยู่ในน้ำนั้น นั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีโอกาสเพราะมันหมุนไปตามกระแส หมุนไปตามอำนาจวาสนาของใจดวงนั้น
แต่ปัจจุบันนี้เราศึกษา เราปฏิบัติธรรม เราเข้าใจธรรมของเรา แล้วเราศึกษาธรรมเข้ามา เรามีโอกาส เรามีโอกาสเราต้องพยายามว่ายเข้าฝั่ง พยายามหาจุดยืนให้ได้ ถ้าเราได้เข้าฝั่ง เห็นไหม เท้าเหยียบถึงพื้น การรักษาตัวไว้ในโอฆะนี้มันก็เป็นความสบายตัวขึ้นมาหน่อยหนึ่ง แต่ถ้าเท้าเราไม่ถึงพื้น เราต้องพยายามว่ายอยู่ตลอดไป นั้นเป็นสิ่งที่ว่าเรื่องของโลกเป็นหมุนไป หมุนไปอย่างนั้นเราต้องประคองตัว มันถึงว่า ชีวิตนี้มันเป็นสิ่งที่ว่าเราเกิดมาแล้วเราจะได้ประโยชน์จากการเกิดไหม?
นั่นน่ะ เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา พบธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราไม่นอนจม เราไม่นอนใจกับความเป็นไปของโลก เราถึงต้องพยายามหาทางออกของเรา เราต้องหาทางออก พยายามหาทางออก.. ออก.. ออกจากไหน? ออกไปเรื่องของโลกเขา มันก็เป็นเรื่องของโลก ใครช่วยใครไม่ได้ ความจะออกของเราต้องสร้าง สร้างสมขึ้นมาในหัวใจของเรา นี่ธรรมะละเอียดอ่อนขนาดนั้น ละเอียดอ่อนว่า สิ่งที่จะเป็นประโยชน์ทั้งหมดนี้เป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรม สิ่งที่ว่าจับต้องไม่ได้เลย เราจะจับต้องขึ้นมาให้ได้ การทำสมาธินี้กับสิ่งเป็นนามธรรมให้เป็นการยืนยันกับใจของเรา
ใจของเราจะยืนยันในความสงบของใจ ความสงบของใจว่า นี้คือใจ
สิ่งที่เป็นใจนี้อยู่ที่ความคิดตลอดไป ว่าสิ่งนั้นเป็นกายกับใจนี้ อยู่โดยเข้าใจ โดยความเป็นจริงว่า มันมีกายกับใจอยู่โดยธรรมชาติของอันนั้น สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เป็นธรรมที่ศึกษามา มันเป็นธรรมแล้วเข้าใจตามนั้น เข้าใจกว่าความสัมผัส นานๆ จะสงบสักทีหนึ่ง ภาวนากันความเพียรไม่ต่อเนื่อง ถ้าความเพียรต่อเนื่องเราทำตลอดไป สิ่งนี้ต้องปรากฏ ในเมื่อเกิดความร้อนที่ไหน ความร้อนเห็นไหม เราความรู้สึกความร้อนต้องมี อันนี้ความรู้สึกเลยว่าร้อนเราต้องเข้าใจ นี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราพยายามทำของเรามันต้องประสบความสำเร็จของเรา มันสงบได้
สรรพสิ่งโลกนี้ มืดต้องมีสว่าง สิ่งที่ว่าฟุ้งซ่านมันตรงข้ามกับความสงบ ใจมันฟุ้งซ่าน ใจมันคิดไปตลอดไป พิจารณาธรรมขนาดไหน ตรึกขนาดไหน ถ้ามันฟุ้งซ่าน พยายามตั้งสติไว้ มันต้องหยุดของมันได้สักครั้งหนึ่ง หยุดของมันได้สักครั้งหนึ่งพอหยุดแล้วมันก็จะเป็นการยืนยันกับใจว่า สิ่งนี้เราก็สามารถทำได้ สิ่งนี้หยุดมาอยู่ในหัวใจของเรา
นั่นมันหยุดให้เราเห็น นั่นปัจจัตตัง ปัจจัตตังคือใจสัมผัสแล้วเข้าใจตามความเป็นจริงว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์ของเรา แล้วจะซึ้งใจมาก บางคนถึงกับน้ำตาร่วง น้ำตาไหลว่า ทำไมสิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ แล้วมีคุณค่ามาก แล้วเราจะตื่นกับโลกไปทำไม?
เรื่องของโลกหมุนไปตามกระแสของโลก หมุนไปตามกระแสของเขา ตื่นไปตามกระแสของเขา แล้วก็หมุนตามกันไป เราก็ตื่นอยู่อย่างนั้นตลอดไป นั่นเขาไม่ศึกษา เขาไม่เข้าใจของเขา เขาก็วนเวียนในวัฏฏะของเขา เป็นความทุกข์ความร้อนของใจดวงนั้น
แต่การหาความสงบของใจ หาความสุขของใจ นั่นนามธรรมในใจเราไง สิ่งที่เป็นนามธรรม อาการของใจ จะตั้งมั่นได้ จะสมความปรารถนาได้ ถ้าเราจงใจของเรา แล้วเราทำความเพียรของเรา สงบเข้าไปแล้วจะพบเห็นสิ่งใดก็แล้วแต่ เป็นอำนาจวาสนาของแต่ละบุคคล จะเกิดนิมิต เกิดความเห็นนั้น สิ่งนั้นเกิดมาชั่วครั้งชั่วคราวในความเห็น แล้วนิมิตมันก็มีนิมิตต่างๆ กันไป บางคนนิมิตเป็นเรื่องเป็นราวมากมาย บางคนนิมิตเป็นภาพต่างๆ
สิ่งนั้นเป็นนิมิต เราไม่ต้องการ เราเข้าใจแล้วปล่อยวางไว้ ปล่อยวาง เอาใจเราปล่อยวาง สิ่งนั้นก็ดับไป ถ้าสิ่งนั้นดับไปเรากลับมาที่ พุทโธ กำหนด พุทโธ ปั๊บ พุทโธ พุทโธ ดึงความรู้สึกมาอยู่ที่ พุทโธ ทั้งหมด ภาพนั้นจะหายไปเพราะจิตนี้รู้หนึ่งเดียว สภาวะรู้อันนั้นมันจะเป็นสภาวะ พุทโธ อยู่ ถ้ากลับมาที่ พุทโธ ผู้นั้นจะไม่มี แล้วเราทำความสงบของใจจนกว่าจะเกิดเป็นภาพขึ้นมา
ถ้าเกิดเป็นภาพให้เกิดเป็นกาย เราให้เกิดเป็นกายได้แล้วตั้งภาพกายนั้น วิเคราะห์วิจัยสิ่งนี้
ผู้จะถึงฝั่ง ฝั่งคือความติดข้องของใจ ความติดข้องในตัวเราเอง เราติดข้องตัวเราเอง เรายึดมั่นถือมั่นในตัวเราเอง ความไม่เข้าใจของใจ ทุกคนจะเอาตัวรอดไง สิ่งที่จะเอาตัวรอด จะเอารักษาชีวิตไว้เพื่อจะเอาความสุขของตัว แล้วจะไม่มีใครรอดได้เลย การยึดมั่นถือมั่นเรานี้ก็เพื่อจะรักษาสงวนเราไว้ เพื่อจะให้เรานี้อยู่มีความสุขตลอดไป แต่เพราะความยึดมั่นหาที่พึ่ง ที่พึ่งอันนี้เป็นเรื่องของวัฏฏะ
สิ่งที่เกิดขึ้นมาในธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ นี้ได้มาเพราะเราเกิดเป็นมนุษย์ สิ่งที่เกิดเป็นมนุษย์นี้เป็นธรรมชาติในการที่ว่า เป็นผลของกรรม ผลของบุญกุศล เห็นไหม กรรมดี-กรรมชั่วสร้างสมมาแล้วมันเป็นสิ่งนี้เป็นสภาวธรรมอันหนึ่ง เป็นความจริงธรรมอันหนึ่ง สิ่งที่ธรรมอันหนึ่งแต่เป็นจริงโดยความชั่วคราว แล้วไปยึดมั่นถือมั่นให้มีความสุขไป จะพลัดพรากสิ่งใดก็มีความทุกข์
เราต้องพลัดพรากจากเขาไป สิ่งนี้เป็นความกังวลใจทั้งหมดเลย
สิ่งที่กังวลใจ ถึงว่ามันจะพลัดพราก ต้องยึดไว้เป็นของเรา ถ้าเป็นของเราแล้วมันอุ่นใจ สิ่งที่อุ่นใจ อุ่นใจว่าเป็นของเรากลับเป็นที่พึ่งไม่ได้ แต่ถ้าเราวิเคราะห์วิจัยในความเป็นจริงว่า ให้จิตนี้เข้าใจ ให้สิ่งนี้ จิตเข้าใจว่าสิ่งสภาวะตามความเป็นจริงนั้นจริงไหม? จริงในสภาวะแบบใด?
ธรรมบอกว่า สิ่งนี้เป็นสมมุติ สิ่งนี้เป็นอนิจจัง สรรพสิ่งทั้งหลายเป็นอนิจจังทั้งหมด สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ กาลเวลาก็เป็นอนิจจัง ความทุกอย่างเป็นอนิจจัง เราอยู่ในกาลเวลาอยู่ในมิติ เห็นไหม ๑ วัน... ๒๔ ชั่วโมงเป็น ๑ วัน เราอยู่ของเราอยู่อย่างนี้ แล้วภพชาติต่างๆ เขาก็อยู่ของเขา กาลเวลาก็ต่างๆ กันไป
สิ่งต่างๆ เรื่องนี้เป็นวัฏฏะ เป็นสมมุติเป็นสภาวะที่ใจนี้ไปเสวยภพชาติตรงนั้นเท่านั้น สิ่งที่เป็นสภาวะเสวยภพชาติเท่านั้น สิ่งนี้เป็นที่ซึ่งอาศัยชั่วคราว เป็นจริงโดยสัจจะ โดยสมมุติสัจจะ แต่ไม่ได้จริงโดยธรรม
ถ้าจริงโดยธรรม สรรพสิ่งต่างๆ นี้เป็นไตรลักษณ์ทั้งหมด สรรพสิ่งต่างๆ นี้เป็นสิ่งที่ว่าเราอาศัยชั่วคราวทั้งหมดเลย แล้วถ้าเราเริ่มเห็นสภาวะตามความเป็นจริง มันต้องใคร่ครวญกลับมาสิ่งนี้ ถึงต้องให้เห็นสภาวะของกาย ให้เห็นสภาวะของเวทนา สภาวะของจิต สภาวะของธรรม
สภาวะที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง กับ สภาวะที่เกิดเป็นความทุกข์ที่เราเกิดกันอยู่อย่างนี้ เราเป็นความทุกข์ มันเป็นอดีต อนาคต ทุกคนเลยจะมีความทุกข์เวลาเราพลัดพรากหรือเราไม่พอใจสิ่งใด สิ่งนั้นจะเกิดอยู่กับใจแล้วก็อาลัยอาวรณ์กับสิ่งนั้น
สิ่งนี้มันเป็นอดีต อนาคต ไม่เป็นปัจจุบันเห็นไหม ไม่เป็นปัจจุบันเพราะใจมันไม่เห็นตามสภาวะนั้น เป็นสภาวะผล ผลคือเราทุกข์แล้ว เรารำพึงรำพันว่า เราทุกข์ เรายึดมั่นถือมั่นสิ่งนั้น มันไม่สมความปรารถนา เราทุกข์...
เราทุกข์นี้เราเห็นสภาวะอย่างนั้นมันไม่เป็นความจริง แต่ถ้าเราเห็นสภาวธรรม เราเห็นสภาวะเวทนา เห็นสภาวะการเกิดขึ้นแล้วจับสิ่งนี้ไว้ ถ้าจับสิ่งนี้ไว้ มันจะตื่นเต้นกับความรู้สึกของเรามาก ถ้าเป็นปัจจุบันมันจะขนพอง มันจะความสยดสยองใจเข้ามาถึงใจ สะเทือนหัวใจตลอดไป
ถ้าเห็นสภาวธรรมมันสะเทือนหัวใจ เพื่อให้หัวใจนี้เข้าใจตามความเป็นจริง เข้าใจสิ่งนี้ว่าสิ่งนี้เป็นอนิจจัง สิ่งนี้เป็นสภาวะไตรลักษณ์ที่ไม่มีสิ่งใดพึ่งได้เลย สิ่งที่พึ่งไม่ได้เลย เราพึ่งสิ่งนั้น เรายึดสิ่งนั้น เราก็จะมีความทุกข์กับสิ่งนั้น สิ่งต่างๆ ที่ยึดนี้ต้องเป็นความทุกข์ทั้งหมด
สิ่งที่เป็นความทุกข์เพราะไม่สมความปรารถนา แล้วสิ่งที่เป็นความสุขเกิดจากตรงไหนในเมื่อสิ่งนั้นเป็นความทุกข์ สิ่งที่เกิดเป็นความสุขเพราะสิ่งเห็นตามความเป็นจริงว่าสิ่งนี้มันเป็นสิ่ง
ไตรลักษณ์ มันเป็นเรื่องสมมุติ เห็นตามความจริงแล้วปล่อยวางเป็นครั้งเป็นคราว
สิ่งที่จิตปล่อยวางธาตุขันธ์เป็นครั้งเป็นคราวเป็นอิสรเสรีภาพ นั่นสภาวะของธรรม จิตของผู้ประพฤติปฏิบัติสูง สูงขึ้นอย่างนี้ ถ้าจิตของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติสูงขึ้นมา จะเห็นสภาวะต่างๆ นี้เป็นคุณธรรม เป็นธรรม เป็นคุณ เป็นความกระทบขึ้นมาให้กระทบเข้ามาถึงใจ สภาวะต่าง ๆ มองเห็นสภาวะต่างๆ แล้วย้อนกลับมาที่ใจ เปรียบเทียบ...เปรียบเทียบว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างไร
แต่ถ้าหัวใจเราไม่พัฒนาขึ้นมา โลกเป็นอย่างนั้น โลกเห็นเรื่องต่างๆ เรื่องของโลกมันก็เป็นเรื่องของโลก เวลาพระออกไปบิณฑบาต ออกไปบิณฑบาตตอนเช้าอย่างนี้ สภาวะของโลกเขาเกิดสิ่งต่างๆ เขามีสิ่งต่างๆ พระจะจับสภาวะสิ่งนั้นแล้วให้เข้ามาปลงธรรมสังเวชของใจ ให้ใจเห็นสภาวะแบบนั้นว่ามันเป็นเรื่องน่าสลดสังเวช สังเวชเพราะสิ่งต่างๆ นี้มันเป็นวัฏวน วนไปตามสภาวะแบบนั้น แล้วเราก็ต้องสภาวะ...เราเห็นสภาวะนั้น ย้อนกลับมาที่ใจ
ถ้าจิตของคนสูงขึ้นมา พิจารณาขึ้นมา สิ่งใดๆ จะเป็นธรรมทั้งหมดเลย พิจารณาสิ่งใดก็เป็นธรรม สะเทือนหัวใจ สะเทือนหัวใจ นี่ปัญญามันออกก้าวเดินอย่างนี้ สภาวะของปัญญาก้าวเดิน ก้าวเดินตามสภาวะที่เกิดขึ้น แล้วสลัดปล่อยทิ้งเข้ามา ปล่อยทิ้งเข้ามา ปล่อยทิ้งสภาวะต่างๆ เข้ามา
ฉะนั้น ผู้ถึงฝั่งจะถึงฝั่งอย่างนี้ ถึงฝั่งเพราะว่าสิ่งที่เป็นนามธรรมยึดแล้ว ยึดสิ่งที่เป็นวัตถุ ธาตุขันธ์ เห็นไหม ธาตุ ๔ นี้เป็นวัตถุทั้งหมดเลย เป็นสิ่งที่ว่าเป็นสิ่งที่จับต้องได้ สิ่งที่เป็นของเรา ร่างกายของเรา ความคิดของเรา ต่างๆ นี้ต้องเป็นเรา
แต่ความจริงแล้วสิ่งนี้เกิดดับเท่านั้น ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของๆ เรา แล้วมันอาศัยชั่วคราว ชั่วคราวเท่าสิ่งที่อาศัยอยู่ เราต้องอาศัยสิ่งนี้เป็นการดำรงชีวิตนี้โดยธรรมชาติความจริง นี่ความลึกซึ้ง ลึกซึ้งตรงนี้ ธรรมะลึกซึ้ง ลึกซึ้งที่ว่าให้เราเข้าใจสภาวะของเรา แม้แต่สิ่งที่ติดอยู่กับเราก็ไม่ใช่ของเรา
ถ้าไม่ใช่ของเรา ให้เห็นมันปล่อยวาง จิตนี้เห็นสภาวะตามความเป็นจริงแล้วปล่อยวาง ปล่อยวาง ปัญญาก้าวเดินไปเรื่อย ก้าวเดินไปเรื่อยจนกว่าถึงที่สุด ถึงที่สุดเท้าเหยียบพื้นขึ้นมา มันจะปล่อยวางสิ่งนี้ สิ่งนี้ปล่อยวางหลุดออกไป
สิ่งที่ปล่อยวางหลุดออกไป ปล่อยวางเพราะสภาวะของปัญญา ปัญญาพอคมกล้าขึ้นมาจะสมุจเฉทปหานสิ่งนี้ขาดออกไปจากใจ จะต้องขาดออกไปจากใจ เรื่องของสภาวะตามความเป็นจริงของของเรานี่แหละ สิ่งที่เป็นวัตถุนี่มันจะปล่อยวางได้ พอจิตปล่อยวางสิ่งนี้แล้วความสุขของใจ มันปล่อยวางในความยึดมั่นถือมั่น
พอปล่อยความยึดมั่นถือมั่น มันก็เป็นอิสรเสรีภาพของมันใช่ไหม จิตนี้ไม่ใช่กาย กายนี้ไม่ใช่จิต ต่างอันต่างอยู่ ต่างอันต่างตามความเป็นจริง ปล่อยวางเวิ้งว้าง เวิ้งว้างจากความยึดมั่นถือมั่นทั้งหมด เวิ้งว้างจากความลังเลสงสัย เวิ้งว้างจากความเกาะเกี่ยวต่างๆ ปล่อยวางเป็นอิสระเข้ามาเป็นตัวของตัวเอง ไม่ได้เกาะเกี่ยวสิ่งใด ไม่ต้องอาศัยสิ่งใดเลย ทำไมมีความสุขล่ะ?
แต่เดิมหาความสุขเพราะต้องให้เป็นเพื่อนเป็นมิตร เห็นไหม ที่เราทำความสงบของใจไม่ได้เพราะใจเป็นคู่ ใจนี้เป็นเพื่อนสอง เพื่อนสองคือความคิดกับใจนั้นเป็นคู่เคียงกันไป สิ่งที่คู่เคียงกันไปถึงกระทบกระเทือนกันตลอดไป เรา-เขา ขันธ์กับจิตกระทบกระเทือนกันแล้วความคิดเกิดขึ้นปรุงแต่งกันตลอดไป
แต่ถึงที่สุดทำความสงบของใจแล้วจะเป็นหนึ่งเดียว นี่สัมมาสมาธิเป็นหนึ่งเดียวขนาดนั้น ปล่อยวางทั้งหมด ปล่อยวางโดยอำนาจของสมาธิ กับ การปล่อยวางด้วยนามธรรม จิตนี้ปล่อยวางธาตุขันธ์ นี่ความปล่อยวาง ปล่อยวางออกมาจนไม่ต้องอาศัยสิ่งใด จะเป็นอิสระของตัวเอง
ขณะที่ว่าเป็นอิสระในขณะนั้น นี่ความสุขเกิดขึ้นอย่างนี้ เกิดขึ้นจากความเวิ้งว้าง เกิดขึ้นจากความว่าง เกิดขึ้นจากความไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นตัวตนว่าเป็นเรา ไม่ถือว่าร่างกายนี้เป็นเรา ร่างกายนี้เป็นสิ่งที่อยู่อาศัย สิ่งที่เครื่องอยู่อาศัย อาศัยกันไปเท่านั้น สิ่งนี้อาศัยกันไปเพราะเรายังมีชีวิตอยู่ก็ต้องอาศัยสิ่งนี้ นี่เข้าใจตามความเป็นจริง ธรรมนี้จะเข้าใจสภาวะนี้ทั้งหมดเลยด้วยปัญญา
สิ่งที่ด้วยปัญญา ปัญญาของแต่ละบุคคล ปัญญาของบุคคลคนนั้นเกิดปัญญาขึ้นมาก็เป็นสมบัติของบุคคลนั้น ธรรมะเกิดจากใจดวงไหน ใจดวงนั้นเป็นสิ่งที่ว่าเข้าใจเรื่องอย่างนี้ เข้าใจเห็นสภาวะตามความเป็นจริงแล้วปล่อยวาง...ความสุขเกิดจากตรงนี้ไง
ผู้เข้าฝั่ง เข้าถึงฝั่งแล้วพยายามยกตัวเองขึ้นสูงขึ้นไป ทวนกระแสเข้าไปจนขึ้นถึงฝั่ง ฝั่งของหัวใจไม่ใช่ฝั่งของโลกเขา ฝั่งของโลกเขามีขอบเขต เป็นฝั่ง อันนี้มันเป็นฝั่งของหัวใจ หัวใจนี่ น้ำเวลากระเพื่อมออกไป ลูกคลื่นกระเพื่อมขนาดไหน มันจะซัดเข้าหาฝั่ง ซัดเข้าหาฝั่งแล้วมันก็เกิดคลื่นตลอดไป ในหัวใจก็เหมือนกัน ความคิดของใจ ในกิเลสในหัวใจ มันก็เกิดคลื่นในหัวใจตลอด ถ้าคลื่นในหัวใจเกิดขึ้นมา เราต้องจับสภาวะอันนั้นให้ได้ จับสภาวะคลื่นในใจว่าคลื่นในใจนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร สิ่งที่เป็นคลื่นในใจเกิดขึ้นมาสภาวะแบบไหน?
นั่นความคิดอันอย่างละเอียด กิเลสอย่างละเอียดในหัวใจมันจะเกิดความปั่นป่วนในใจของมันขึ้นมา ความสุขอันเป็นความสุขนั้นมีความสุขมาก แล้วมีความปรารถนา ความปรารถนาจะเข้าถึงฝั่งให้ได้ พยายามแสวงหาของตัวเอง สิ่งที่แสวงหาของตัวเอง นั่นความคิดต่างๆ เกิดขึ้น มันก็ต้องเกิดการกระทำ
ในเมื่อเราสร้างสมขึ้นมา เราตั้งใจขึ้นมาแล้ว เรากระทำสิ่งที่ว่าเราจะสร้างสมขึ้น สร้างมรรคขึ้นมาให้ได้ ความเป็นมรรคขึ้นมาเกิดขึ้นมาจากใจ เราต้องทำความสงบของใจขึ้นมาให้ลึกซึ้งเข้าไป มรรค ๔ ผล ๔
มรรคอย่างหยาบ เราใช้ผลงานไปแล้ว มันจะหมดพ้นออกไป เราต้องสร้างมรรคตัวใหม่ขึ้นมา มรรคตัวใหม่ของเรา คือสกิทาคามรรค สิ่งที่เป็นสกิทาคามรรคต้องสูงขึ้นไป ความสงบของใจก็ต้องสูงขึ้นไป สิ่งที่สูงขึ้นมาเราต้องสร้างสม กำหนดรักษาหัวใจ ตั้งมั่นให้ได้ ถ้าใจตั้งมั่นได้ มันจะเริ่มมีผลงานของเรา ผลงานของใจ
ถ้าใจไม่มีผลงาน ย่ำอยู่กับที่ มันมีความเบื่อหน่าย การประพฤติปฏิบัตินี่ สิ่งที่ไม่ได้ผลขึ้นมามีความเบื่อหน่าย เราต้องพยายามสร้างกำลังใจของเราขึ้นมา สร้างกำลังใจ สร้างโอกาสของใจ สิ่งที่ว่ามันไม่ได้ผลเพราะเราความเพียรไม่พอ เพราะอำนาจวาสนา เพราะจังหวะของเราไม่ได้
ถ้าเราทำของเราพอดี เห็นไหม มัชฌิมาปฏิปทา ความเป็นกลาง กลางของใจ ไม่ใช่กลางของเรา กลางของเรา เราปรารถนา ปรารถนาว่าให้สมประโยชน์ของใจ ถ้าเรานี้เป็นกลาง เราคาดหมายว่าสิ่งนั้นจะเป็นกลาง สิ่งนี้จะเป็นกลาง ขณะกระทำนี่เป็นกลางของแต่ละบุคคล เราเดินจงกรม เห็นไหม เดินจงกรมนั่งสมาธินี่มันก็ต่างกัน กริยาต่างกัน ความสงบของใจก็ต่างกัน ความเป็นกลางก็ต่างกัน
สิ่งที่เป็นความสงบของใจในการเดินจงกรม เราตั้งสติไว้ แล้วเราเดินไป เดินไปให้ร่างกายมันหมุนทำงานของมันไป แต่หัวใจเดินจงกรมเพื่อเอาความสงบของใจ ร่างกายเคลื่อนไหวให้เคลื่อนไหวไป ตั้งสติไว้ มันก็เป็นกลาง เป็นกลางในการเดินจงกรม นั่งสมาธิกำหนดตั้งสติไว้ กำหนด พุทโธ ก็ได้ กำหนด ความรู้สึกอานาปานสติ นี่มันก็เป็นกลาง เป็นกลางของการนั่งสมาธิ
การเป็นกลางแต่ละอย่างก็ไม่เหมือนกัน แล้วความเป็นกลางของเราแต่ละครั้งก็ไม่เหมือนกัน จิตสงบแต่ละครั้งก็ต้องแตกต่าง ผลขนาดไหนจิตนั้นสงบได้ มันก็เป็นกลางของครั้งนั้นต่อไป สิ่งนี้ก็เป็นอดีตไปแล้วถ้ามันพ้นจากอดีตไป เราก็ต้องตั้งปัจจุบันของเราตลอดไป เราไม่คาดหมายต้องการปรารถนาสิ่งใด
ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเป็น จะทำหน้าที่ตามความเพียรของเราเท่านั้น แล้วจิตจะสงบเอง จิตสงบเองๆ ตั้งมั่นๆ ขึ้นมาแล้วยกขึ้นวิปัสสนาอย่างเดียว วิปัสสนาด้วยใช้ปัญญา ปัญญาอย่างหยาบ-ปัญญาอย่างกลาง-ปัญญาอย่างละเอียด-ปัญญาอย่างละเอียดสุด มันจะพิลึกพิลั่นออกไป ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจะเห็นสภาวะสิ่งนี้ สภาวะปัญญาสิ่งนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร? มันเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งมาก ลึกซึ้งที่ว่ามันเป็นชั้นเข้ามา เป็นละเอียดเข้ามา
วุฒิภาวะของใจ ใจสูงขึ้นเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไปเพราะการประพฤติปฏิบัติ เพราะในการแยกแยะเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ เรื่องธาตุเรื่องขันธ์เท่านั้น สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ว่ามันเกิดดับในหัวใจ มันเป็นสิ่งเครื่องอาศัย เหมือนกับวัตถุ เห็นไหม เครื่องยนต์กลไก เครื่องยนต์กลไกทุกอย่างเวลามันใช้งานของมันไป มันใช้งานของมันไป มันต้องหมดอายุ สิ่งที่มันหมดอายุ เราก็ซ่อมแซมตลอดไป
ร่างกายเราก็เหมือนกัน มันต้องหมดอายุขัยของมัน เราก็จะซ่อมแซมร่างกายของเราเพื่อจะให้เราดำรงชีวิตอยู่ แต่เครื่องยนต์กลไกมันไม่มีหัวใจ ร่างกายของเรามีหัวใจ มีอยู่ส่วนภายใน ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ นี้ก็เหมือนเครื่องยนต์กลไกนั่นล่ะ มันทำงานของมันตลอดเวลา ทำงานแล้วมันสะสมมันมาให้มาอยู่ที่อายตนะ ทุกข์ต่างๆ กระทบแล้วมันต้องสะสมลงมาที่ใจ
ใจจะรับรู้สิ่งนี้ รับรู้สิ่งนี้ รับรู้แล้วสะสมไว้ที่ใจ สะสมไว้ที่ใจ...เวลาใจมันถึงไม่อาศัยอายตนะ มันก็คิดของมันได้ ตา หู จมูก ลิ้น กายไม่ต้องเห็นสิ่งใด อยู่เฉยๆ ใจมันก็คิดของมันเพราะมันมีข้อมูลเดิม สิ่งที่เป็นข้อมูลเดิมนี้ มันเกิดขึ้นมาจากใจ แล้วกิเลสมันชอบสิ่งใดมันก็เอาสิ่งนั้นขึ้นมาคิดตลอด สิ่งที่คิดตลอดขึ้นมา มันก็กวนใจตลอดไป นั้นเป็นสิ่งที่ย้อนกลับเข้ามา เราต้องชำระสิ่งนี้ มันถึงว่าเครื่องยนต์กลไกที่เขาใช้อยู่นั้นเป็นเครื่องยนต์กลไก
ถ้าเราทำเป็นชีวิตเราเหมือนเครื่องยนต์กลไก เราก็ติดอยู่แต่ในขันธ์ ตามความคิดออกไป อยู่แต่ในขันธ์ไม่ย้อนกลับเข้ามา เราจะมีตัวใจอีกตัวหนึ่ง ตัวใจจากตัวขันธ์ไม่ใช่ใจ ขันธ์กับใจเป็นคนละส่วนกัน เราย้อนกลับเข้ามา เครื่องยนต์ให้เป็นเครื่องยนต์ เราซ่อมแซมแล้วรักษาไป แล้วเราดูการเกิดดับ สิ่งที่เฝ้ามองการเกิดดับอย่างนั้น เราจะเห็นสภาวะของใจอีกชั้นหนึ่ง
ถ้าเห็นสภาวะของใจอีกชั้นหนึ่งนั้น ปัญญาจะเกิดขึ้น ปัญญาจะเกิดขึ้นจากการเราเห็นสภาวะแบบนั้น แล้วเราก็ต้องแยกแยะสิ่งนั้น แยกแยะจนเข้าใจ เข้าใจว่าสภาวะเกิดดับมันเป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้ แล้วสิ่งใดเกิดก่อน สิ่งใดเกิดหลัง มันจะเห็นสภาวะเกิดดับ สิ่งใดเกิดก่อน สิ่งใดเกิดหลัง เกิดดับแบบเครื่องยนต์กลไกนั่นมันแบบนั้น
แต่นี่มันเป็นสิ่งที่มีชีวิต สิ่งที่มีกิเลสขับเคลื่อน ขับเคลื่อนให้สิ่งนี้ผูกมัดไปกับความรู้สึกของเรา เราจะรู้สึกต่างๆ แล้ววนกลับมายึดมั่นถือมั่นในความสิ่งนั้น อุปาทานไม่เข้าใจในสิ่งนั้นแล้วก็หลอกลวงตัวเอง การคาดหมายตัวเอง ตัณหาความทะยานอยากเป็นสมุทัย สิ่งที่เป็นสมุทัยเป็นกิเลสในหัวใจนี้มีอยู่โดยดั้งเดิม เราจะปฏิบัติธรรมหรือไม่ปฏิบัติธรรมมันก็มีอยู่ ถ้าไม่ปฏิบัติธรรมมันก็ยิ่งมีอำนาจรุนแรงไปตามประสาของมัน แต่ถ้าเราปฏิบัติธรรม เราบังคับ เราพยายามฝืน ฝืนนี้คือฝืนกิเลส ถ้าเราฝืนได้มากขนาดไหน คนนั้นมีโอกาสมากที่สุด
การฝืนความรู้สึก การฝืนหัวใจ การฝืนความต้องการของเรา นั้นคือการฝืนกิเลสทั้งหมด ถ้าเราฝืนกิเลสบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า กิเลสนั้นมันก็ต้องเบาตัวลง เบาตัวลง เพราะมันได้รับการฝืน ฝืนโดยธรรม ธรรมนี้ฝืน ฝืนมาตลอดไป ตลอดไป สิ่งนี้ฝืนเข้ามา นั้นฝืนกิเลสแล้ว แล้วจับต้องสิ่งนี้ได้ แยกแยะกิเลสอีกชั้นหนึ่ง แยกแยะกิเลสว่าความผูกพันของกายกับจิต สิ่งที่ว่าปล่อยวางเข้ามานั้น ตัวตนของเราปล่อยวางสิ่งนั้นเข้ามา แต่หัวใจมันไม่เข้าใจตามสภาวะความเป็นจริง
พอแยกแยะเข้าไปเห็นสภาวะตามความเป็นจริง สิ่งนี้กลับคืนสภาวะของเขา ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ ธาตุ ๔ เป็นธาตุ ๔ ขันธ์เป็นขันธ์ แล้วใจที่เข้าไปรับรู้ต่างๆ มันก็จะปล่อยวาง ปล่อยวาง ปล่อยวางหลายครั้งเข้า หลายครั้งเข้า ต้องหลายครั้งเข้า ถ้าปล่อยวางครั้งหนึ่งมันก็จะปล่อยวางครั้งหนึ่ง แก่นของกิเลสมันจะจับต้องสิ่งนี้แล้วมันจะอยู่สภาวะของมัน นี้เป็นเรื่องของใจ เรื่องอย่างนี้มันเกิดดับในหัวใจของเรา ทำไมเราไม่รู้ ทำไมเราไม่เห็น
เราศึกษาธรรมเขาตลอดมา สิ่งนี้เกิดขึ้นมาตลอดเวลา มันสะเทือนได้ งานของเรามีแค่นี้ มีแค่ที่ว่าเราจับกายกับใจของเราแล้ววิปัสสนาใคร่ครวญออกไป ใคร่ครวญตามความเป็นจริงว่าให้มันสภาวะเกิดให้เห็นตามความจริง จนถึงที่สุดมันแปรสภาพกลับสภาวะเดิม ใจจะปล่อยวางสิ่งนี้ กายกับใจนี่ กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส จะอยู่ขั้นตอนนี้
ขั้นตอนที่ว่าระหว่างกายกับใจปล่อยวางกันโดยสัจจะความจริง กายนี้เป็นกาย จิตนี้เป็นจิต จะเวิ้งว้างหมดเลย ปล่อยสภาวะนี้ออกไป กามราคะปฏิฆะนี้อ่อนลง อ่อนลงจากหัวใจ หัวใจนี้อ่อนลงแล้วความรู้สึกของตัวปล่อยวางหมด นี่เก้อๆ เขินๆ อยู่ในหัวใจนั้น ติดพันได้ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติติดตรงนี้ มันจะปล่อยวาง ปล่อยวางสิ่งต่างๆ เข้ามา ที่เป็นวัตถุเข้ามาทั้งหมด แล้วมันจะเวิ้งว้างหมดเลย แล้วเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นธรรมไง
นี่จะเข้าฝั่ง จะพยายามให้ไปถึงฝั่ง แต่โดนคลื่นในหัวใจนี่กั้นไว้ กั้นว่าสิ่งนี้คือฝั่ง นี้เป็น
ฝั่งเทียม ฝั่งที่ใจสร้างขึ้น ฝั่งที่กิเลสสร้างขึ้นมาให้หัวใจหลงไปว่าสิ่งนี้เป็นฝั่ง ถึงฝั่งแล้ว ปล่อยร่างกายเข้ามาทั้งหมด ปล่อยวัตถุเข้ามาทั้งหมด หัวใจนี้เป็นอิสระ เป็นความว่างแล้ว อันนี้คือฝั่งของใจ ถ้าถึงฝั่งของใจ ก็ต้องรักษาความว่างนั้นตลอดไป สิ่งนี้เป็นความว่างแล้วรักษาตลอดไป รักษาความว่างไว้ เพราะกิเลสในหัวใจ มันคลื่นในหัวใจ มันเป็นคลื่นที่ละเอียดที่เราไม่เข้าใจ
แต่ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์บอกว่า สิ่งนี้ปล่อยวาง ปล่อยวางสิ่งต่างๆ เข้ามา แล้วที่ว่าขันธ์อันละเอียดในหัวใจนั้นมันอยู่ที่ไหน? สิ่งที่เป็นขันธ์อันละเอียด ย้อนกลับเข้ามา ถ้าย้อนกลับเข้ามา มันจะเข้ามาถึงคลื่น ถ้าเห็นคลื่นมามันก็จะเห็นสภาวะ ถ้าไม่เห็นคลื่นมันก็จะว่างอยู่อย่างนั้น แล้วสภาวะว่างนี้จะว่างหมด
งานในการประพฤติปฏิบัติในความว่างนี้ ว่างมีความสุขมาก เราต้องการความว่าง แต่ความว่างอันนี้มันเป็นความว่างที่ว่ากิเลสมันหลอกว่าว่าง กิเลสอันละเอียดนะ กิเลสอันอย่างหยาบนั้นมันเป็นสภาวะมันปล่อยวางมาจริง กิเลสอย่างละเอียดในหัวใจว่าสิ่งนี้เป็นความว่าง เข้าใจสภาวะแบบนั้น นี่จะหลงไปอย่างนี้ จะหลงไปแล้วก็ไปกับโลกเขา ไปกับโลก สิ่งนี้เป็นโลก โลกเพราะอะไร โลกเพราะเรื่องนี้มันยังเป็นเรื่องของการเกิดและการตาย สิ่งนี้ยังหมุนเวียนในโลก วัฏฏะยังมีอยู่ สิ่งการเกิดการตาย เชื้อของภพยังอยู่ในหัวใจทั้งหมด เชื้อของภพอยู่ในหัวใจ ใจนี้ต้องไปตามกระแสของเชื้อนั้น สิ่งที่เชื้อนั้นก็ต้องลากใจนั้นไป
แต่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติไม่เข้าใจสิ่งนั้น ก็รักษา รักษากิเลสไว้ด้วยความพอใจนะ เราพอใจความว่างของเรา เราพอใจความสุขของเรา เรารักษาสิ่งนั้นเข้าไป สิ่งนี้นี่กิเลสในการประพฤติปฏิบัติ จะเข้าถึงฝั่ง มันยังเข้าถึงมีฝั่งเทียมๆ เข้ามาให้กั้นเราได้
ถ้าเราไม่ใคร่ครวญ ไม่มีความละเอียดอ่อน ถ้ามีความละเอียดอ่อน รักษาไป รักษาไป มันต้องมีสิ่งต่างๆ สะเทือนหัวใจ ถ้าสะเทือนหัวใจ พอเรา กิเลสมันเกิด มันจะเกิดความรู้สึก ถ้าเกิดความรู้สึกได้มันจะปล่อยวาง ปล่อยวางด้วยอำนาจของการรักษานะ
ถ้ารักษาจิตใจไว้ เหมือนกับพระอรหันต์ เหมือนกับความไม่มีกิเลสในหัวใจเลย เพราะเราใช้สติรักษาใจให้มันว่างไว้ สิ่งที่เป็นความว่าง แต่เรื่องของกิเลสมันก็อยู่ในหัวใจ มันเกิดดับเกิดดับในหัวใจ มันมีความรู้สึกอยู่ในหัวใจ
ถ้าวันไหนเรามีสติแล้วเราค้นคว้าสิ่งนั้นเข้ามา สิ่งนี้ไม่ใช่ความว่าง สิ่งนี้มันมีตัวของกิเลสซ่อนอยู่ในความว่างนั้น ถ้าสิ่งที่มีกิเลสซ่อนอยู่ในความว่างนั้น จับเรื่องของกิเลสได้ นี่ถ้าจับเรื่องของกิเลสได้ กิเลสมันจะแสดงตัวมันอย่างเต็มที่เลย ถ้าเราไม่เห็นหน้าเขา เขาจะหลบซ่อนอยู่ในหัวใจของเรานี่ หลบซ่อนแบบมิดชิด แล้วก็ให้เราหลงใหลไปในความรู้สึกของเรา เข้าใจในความรู้สึกของเรา ให้เราเสียเวล่ำเวลาในการประพฤติปฏิบัติ ให้เราหมดโอกาสในการประพฤติปฏิบัติ
ในการประพฤติปฏิบัติต้องกลับเข้ามาจับต้อง การขุดคุ้ยหากิเลส อำนาจวาสนาของผู้ที่ปฏิบัติมันอยู่ตรงนี้ อยู่ตรงที่ว่าเราจะเริ่มงานของเราได้ไหม ถ้าเราเริ่มงานของเราได้ เราจะมีเกิดใช้ปัญญาในการฟาดฟันกับกิเลส ถ้าเราไม่ใช่เริ่มใช้ปัญญาฟาดฟันกับกิเลส เราเพียงแต่รักษาใจไว้ รักษาใจไว้
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเรียนกับอาฬารดาบส เห็นไหม ความสงบของใจ สมาบัติทำได้ทั้งนั้น เขาก็มีความสงบของใจ เขาก็มีความว่าง แต่เขาไม่สามารถชำระกิเลสของเขาได้เลย พระเทวทัตเจริญฌานโลกีย์จนเหาะเหินเดินฟ้าได้ แต่ก็ไม่ได้ชำระกิเลสเลย
กิเลสมันถึงละเอียดอ่อน ละเอียดอ่อนที่ว่าเราต้องพยายามเริ่มต้นงานของเราได้ ถ้าเราเริ่มต้นงานของเราได้ เราจับสิ่งนี้ได้ ปัญญาในการวิปัสสนาเกิดจากตรงนี้ เกิดจากการที่ว่าเราจับต้องกิเลสได้ เราขุดคุ้ยกิเลสจนจิตนี้เห็นสภาวะกาย เวทนา จิต ธรรมนั่นแหละคือตัวกิเลส
สิ่งที่กิเลสอาศัยอยู่สิ่งนี้ สิ่งนี้ก็เป็นกิเลสไปด้วย แต่ถ้าเราชำระกาย เวทนา จิต ธรรมจนสะอาดบริสุทธิ์ นั่น เวลามันเรือนมันว่าง มันก็ชำระสิ่งนี้ออกไปว่าง ถ้าว่างจากกิเลสด้วย สิ่งนี้ก็อยู่เก้อๆ เขินๆ ของเขา แต่ถ้ามีกิเลสอยู่ สิ่งนั้นต้องเป็นกิเลสแน่นอน เพราะกิเลสแสดงตัวจากตรงนี้ กิเลสแสดงตัวในธาตุในขันธ์เราเท่านั้น แสดงตัวจากตรงนี้แล้วก็ไปติดสิ่งต่างๆ
ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติ มันก็เป็นเรื่องของโลก การติดต่างๆ แล้วส่งกระแสออกไป แต่เพราะเราทวนกระแสกลับเข้ามาในเรื่องของรูป รส กลิ่น เสียงต่างๆ เราปล่อยวาง เราย้อนกลับเข้ามา สิ่งที่ย้อนกลับเข้ามา ย้อนกลับเข้ามาที่ใจ สิ่งที่ย้อนกลับเข้ามา มันก็ย้อนกลับเข้ามาจับภายใน นั่น ภายในคือตัวกิเลส
สิ่งที่เป็นกิเลส กิเลสคือความที่ว่าทำให้เราทุกข์ยาก กิเลสทำให้เราเกิดมา สิ่งที่มีกิเลสแล้วมันเป็นเรา กิเลสนี้เป็นเรา เราเป็นกิเลสอยู่ด้วยกัน เพราะใจนี้เกิดมามันพร้อมกับกิเลส เวลาเกิดขึ้นมา อวิชชา ปัจจยา สังขารา อวิชชากับใจนี้ต้องหมุนเวียนไปตลอดไป สิ่งนี้มีอยู่กับทุกดวงใจ เวลาชำระกิเลสต้องชำระออกจากดวงใจเหมือนกัน
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ตรัสรู้ธรรมเพราะฆ่ากิเลสหมดออกไปจากใจ ใจดวงนั้นก็มีอยู่ แต่ใจดวงนั้นไม่มีกิเลส กิเลสมันถึงทำให้สิ้นไปจากใจได้ จะออกไปจากใจทั้งหมด เราเกิดตายเกิดตายขึ้นมานี้ เราเกิดตายมาแต่เกิดตายมาด้วยบุญกุศล เกิดตายมาถึงที่สุดแล้วได้พบพระพุทธศาสนา มีการประพฤติปฏิบัติธรรมขึ้นมา
ถ้ามีการประพฤติปฏิบัติธรรม เกิดขึ้นจากที่ไหน?
เกิดขึ้นจากความพอใจของเรา เราศรัทธา เราตั้งใจ เราก็จะได้ประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราศรัทธาแต่เราไม่ตั้งใจ สักแต่ว่าทำเห็นไหม เวลาประพฤติปฏิบัติ สักแต่ว่าทำกัน ให้กิเลสมันหลอก หลอกว่าเราต้องปฏิบัติธรรมแล้วปฏิบัติตามกิเลส กิเลสบังคับบัญชาไป ต้องนั่งภาวนาก่อน ต้องเดินจงกรมก่อนแล้วค่อยพักผ่อน นั่น กิเลสให้ทำชั่วครั้งชั่วคราว เราไม่ฝืนนี่ ถ้าเราฝืนของเรานะ กิเลสจะมีอำนาจเหนือเราไม่ได้ เรามีกิเลสอยู่ก็จริงอยู่ การประพฤติปฏิบัติเราไม่มีเวล่ำเวลา จะทำตั้งแต่ทำความเพียรไป มีขนาดไหนตั้งใจทำความเพียร ทำความเพียรของเราไป ทำไปตลอดไป
ถึงที่สุดถึงจิตจะปล่อยวาง จิตจะเวิ้งว้าง ปัญญาจะใคร่ครวญขนาดไหน หน้าที่ของเราคือหน้าที่ใส่ไฟเท่านั้น เราใส่ไฟไปแล้ว น้ำมันต้องเดือด เราต้มน้ำอยู่ เราพยายามประพฤติปฏิบัติ เราพยายามทำความเพียรของเรา เราตั้งสัจจะของเราแล้วทำไป ไม่ให้กิเลสมันหลอก กิเลสมันหลอกว่า ถึงตรงนั้นต้องเป็นอย่างนั้น ถึงตรงนั้นต้องเป็นอย่างนั้น
นั่น การคาดการหมาย มันจะไม่สมความปรารถนา
ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติต้องมีความคาด ความหมาย ความอยากโดยธรรมชาติ ความพลั้งเผลอ ความไม่เข้าใจของใจดวงนั้น ใจจะไม่เข้าใจตามความเป็นจริงถ้าไม่สมุจเฉทปหาน จะเข้าใจตามความจริงเมื่อสมุจเฉทปหานเป็นขั้นเป็นตอนเข้าไป ถึงว่าสภาวะความเป็นจริงเป็นอย่างนี้เอง เป็นอย่างที่เราเกิดขึ้นมาในหัวใจ
แต่ถ้าหัวใจยังไม่ เป็นอย่างนี้เอง ขึ้นมานี้ มันยังมีความคาดความหมายในหัวใจ สมุทัยอันละเอียดนั้นมันจะเริ่มปลิ้นปล้อนให้ใจเรานี้คาดออกไป มันจะไม่ให้เราเข้าถึงวงใน ถึงวงตัวฝั่งเทียมๆ นั้น ถ้าเราจับตัวฝั่งเทียมๆ ได้ นั่น การเกิดประโยชน์เกิดตรงนี้
การประพฤติปฏิบัติเกิดประโยชน์ในการวิปัสสนา วิปัสสนาที่เราทำกันอยู่ที่ว่าวิปัสสนา วิปัสสนานั้นมันเป็นชื่อ แต่วิปัสสนาในการประพฤติปฏิบัติในการชำระกิเลส มันต้องเห็นตัวกิเลส ต้องชำระกิเลสโดยการฟาดฟันกิเลส นี่ความละเอียดอ่อนที่ว่าเป็นชั้นเป็นตอน มรรค ๔ ผล ๔ มันเป็นอย่างนี้
สติปัญญาเราทำขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นชั้นเป็นตอน เห็นไหม มรรคข้างต้น สติปัญญาพอสมควร มรรคอย่างกลาง สติปัญญาต้องมากขึ้นกับสติปัญญาถึงเต็มที่ จนถึงที่สุด ต้องสติปัญญาร้อยเปอร์เซ็นต์ นั่นอัตโนมัติทั้งหมดเลย มันจะอัตโนมัติเข้าไป มันละเอียดเข้าไป เพราะกิเลสมันละเอียดไปเรื่อยๆ สิ่งที่ละเอียดมันลึกซึ้งเข้าไป กลอุบายของมันจะละเอียดมากขึ้นกว่าเก่า มากขึ้นแต่เริ่มต้นมา แต่มันอุบายวิธีการของเรา เราก็ทำของเราขึ้นไป ขึ้นไป จนกว่ามันจะทันกัน ถ้ามันทันกันมันก็ต้องต่อสู้กัน
ในหัวใจของเรา การวิปัสสนาคือวิปัสสนาในหัวใจของเรานะ ในหัวใจของเรา งานเกิดขึ้นที่นี่ เวลากิเลสมันนั่ง กิเลสมันชนะขึ้นมา ในหัวใจของเรามีแต่ความทุกข์ร้อน ทุกข์ร้อนในหัวใจของเรา ประพฤติปฏิบัติไปนี่ร้อนเป็นไฟเลย ว่าสิ่งนี้ทำไมมันเกิดขึ้น ว่าปฏิบัติธรรมมันต้องมีความร่มเย็น...มีความร่มเย็นต่อเมื่อธรรมมันเกิด
ถ้ามีความร้อนอันนี้มันเป็นความที่ว่ากิเลสมันรุนแรงกว่า มันก็มีความร้อนขับไสให้ใจดวงนี้ไม่สมความปรารถนา แต่ถ้าเราตั้งใจทำไป นี่ฝืนกิเลสอย่างนี้ ฝืนว่าไม่เชื่อมัน มันจะร้อนขนาดไหนว่าถ้าเราประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้ามันเย็นขึ้นมาถึงจะเป็นธรรม ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี้เป็นความร้อน... ไม่ใช่ เลิกซะ เลิกไว้ทำใหม่ ทำใหม่ นั่น เชื่อกิเลสไปแล้วเราก็จะไม่ได้ผลงานของเรา
จะร้อน จะเย็นก็ทำ สิ่งที่มันทำขึ้นมาเพราะเราฝืนกิเลส ฝืนให้มันอ่อนตัวลง กิเลสในหัวใจเราต้องอ่อนตัวลง อ่อนตัวลง ในเมื่อมีการกระทำอยู่ ไฟมันได้เชื้อ มันไหม้สิ่งใดแล้วมันต้องไหม้สิ่งนั้นหมด ถ้าเราจุดไฟของเราติด ไฟเป็นตบะธรรม สิ่งที่เป็นตบะธรรมแผดเผากิเลส ตบะธรรมในหัวใจของเรา เราสะสมขึ้นมาได้ไหม
ถ้าเราสะสมขึ้นมาไม่ได้ เราพยายามก่อขึ้นมา ก่อขึ้นมาให้มันเกิดขึ้นมาให้ได้ ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาจนกว่าเราจะลุกขึ้นมายืนได้ แล้วต่อสู้กับกิเลส ฟาดฟันกับกิเลส แยกแยะสิ่งนี้ออกไป กิเลสเป็นเรา เกิดจากเรา แต่มันเกิดขึ้นจากเรา แล้วมันทำไมมันไม่รักเรา ให้เห็นว่าให้สมความปรารถนา...มันไม่สมความปรารถนาเพราะมันไม่เป็นธรรม ธรรมกับกิเลสมันเป็นข้าศึกต่อกันตลอดไป
เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา เกิดขึ้นมาพบธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราประพฤติปฏิบัติธรรมขึ้นมา ธรรมเกิดขึ้นมาจากใจของเรา ธรรมเกิดขึ้นมาจากใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติสมความเป็นจริง ปัจจัตตัง ความสงบก็เป็นส่วนหนึ่ง ปัญญาก็เป็นส่วนหนึ่ง ส่วนที่เป็นความสงบกับเป็นปัญญานั้น เวลามันรวมตัวกันแล้วสมุจเฉทปหานเป็นอีกส่วนหนึ่ง ใจที่หลุดพ้นออกไปจากกิเลสเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามาก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง
ส่วนที่ความรับรู้สึกมันเป็นการต่างกัน มันเป็นสภาวะต่างกันที่ใจนี้รับรู้ขึ้นมา นั่นธรรมเกิดจากใจ เกิดจากใจที่ว่าเราสะสมแล้วมันปล่อยวางขึ้นมาอย่างนี้ ใจจะปล่อยวาง ปล่อยวางเข้ามา ปล่อยวางกิเลสเข้ามา ปล่อยวางกิเลสเข้ามา จากการเราฝืน เราพยายามต่อสู้กับกิเลสที่มันขับไสในการประพฤติปฏิบัติ
เวลาเราประพฤติปฏิบัติ มันขับไสด้วย เวลาเราประพฤติปฏิบัติ แล้วเราจะฆ่าเขาด้วย เราจะฆ่ากิเลสในหัวใจของเรา เพราะกิเลสนี้เป็นความหลงผิด กิเลสนี้เป็นนามธรรม เป็นความรู้สึกอยู่ในหัวใจ เราสร้างสมขึ้นมา เราแยกแยะขึ้นมา เพื่อจะให้เห็นเป็นตัวเป็นตน เพื่อจะได้ชำระไง เพื่อจะได้ประหัตประหารให้กิเลสนี้ออกไปจากใจ
เวลาวิปัสสนาเข้าไปเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป มันจะปล่อยวาง ปล่อยวาง การปล่อยวางถ้าปล่อยวางด้วยปัญญานะ ปัญญามันใคร่ครวญ ขันธ์นี้ไม่ใช่จิต จิตนี้ไม่ใช่ขันธ์ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนกันอยู่ในหัวใจนี้ เป็นความชุ่มไปด้วยกาม กามราคะมันติดไปในหัวใจอย่างนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นมานี้เพราะมันฉุดกระชากลากไป กำลังของเราไม่พอ กำลังของเราไม่พอ ความวิปัสสนาไปมันก็จะเคลื่อนไปตามความเห็นของจิต ความเห็นของกิเลสมันเคลื่อนไป มันจะเคลื่อนไป เคลื่อนไปตลอด
ถ้าเป็นความเห็นของธรรม มันจะชักกลับ มันจะดึงกลับเข้ามา ความนี้เกิดเป็นสิ่งที่เกิดในหัวใจ แล้วมันต้องดับไป สิ่งนี้เกิดดับในหัวใจ มันจะชุ่มไปด้วยกามขนาดไหน ก็ต้องใช้กำลังสมาธินี้ ใช้ปัญญาแยกแยะออกไป แยกแยะเรื่องกามราคะในใจนี่
สิ่งนี้เป็นเรื่องของกามราคะในหัวใจเกิดขึ้นมา แล้วชุ่มอยู่ในใจ ชุ่มอยู่ในใจของเรา เรามีความพอใจในความรู้สึกอันนี้ก่อน พอพอใจความรู้สึกอันนี้ก่อนแล้วมันก็ค่อยแผ่กิ่งก้านสาขาออกไปภายนอก แล้วเราพยายามตัดร่นสิ่งที่ว่าเป็นกิ่งก้านสาขาของมันเข้ามา เข้ามาสู่ใจ เข้ามาสู่ฐานของมัน ฐานที่มีความรู้สึกนี่ เห็นไหม กิเลสมันเกิดตรงนี้ก่อน
สิ่งที่เกิดขึ้นมา เกิดมาที่ใจเรา เพราะเกิดที่ใจเราแล้วก็เกาะเกี่ยวกับสิ่งอื่นต่อไป ฉะนั้น ใจเราถึงมีประโยชน์ ใจของเราถึงว่าไม่เหมือนกับเครื่องยนต์กลไก เครื่องยนต์กลไก สิ่งที่ใช้งานอยู่ เราเป็นผู้ที่ซ่อมบำรุงรักษาเขา สิ่งนี้มันเกิดขึ้นมา มันเป็นสิ่งที่ว่าเครื่องยนต์กลไก ธาตุขันธ์นี้มันเป็นกิ่งก้านสาขาที่แผ่ออกไป แต่ตัวของใจคือตัวผู้รับรู้ผล สิ่งที่ผลเกิดขึ้นมานั้น ผลเกิดขึ้นมาจากใจทั้งหมด สิ่งที่มีชีวิตนี้ถึงมีประโยชน์ตรงนี้ไง
มนุษย์นี้ยิ่งประเสริฐเข้าไปใหญ่เพราะมีกายกับใจ เพราะหัวใจตัวนี้เป็นตัวรับรู้ หัวใจตัวนี้เป็นผู้ที่ทุกข์ยาก หัวใจตัวนี้มีกิเลสขับไสมาตลอด หัวใจตัวนี้ถึงต้องเรียกร้องให้เราพยายามประพฤติปฏิบัติไง เรียกร้องให้เราประพฤติปฏิบัติเพื่อจะรักษาหัวใจตัวนี้ เพื่อให้หัวใจตัวนี้ปลอดพ้นจากสิ่งที่มีอำนาจเหนือกว่า
กิเลสมีอำนาจเหนือใจดวงนี้ มันถึงบังคับใจดวงนี้ได้ ถ้าเราชำระขึ้นมา เราพยายามวิปัสสนาเข้ามาเพื่อจะให้สิ่งนี้ให้ธรรมะของเราประหัตประหารกับสิ่งที่ว่ามันมีอำนาจเหนือใจเรา เราถึงพยายามทำของเรา ทำใจของเรา ทำประพฤติปฏิบัติ เป็นนามธรรม
มรรคเดินตัว เวลามรรคอริยสัจจัง กำลังของสมาธิ กำลังของความสงบนี้เป็นพลังงาน พลังงานนี้จะมีเกิดขึ้นมามหาศาล มันจะมีพลังงานมาก แล้วจะแปลกประหลาดกับความเห็นของเรา แปลกประหลาดกับธรรมที่มันเกิดขึ้น สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ด้วยอย่างไร สิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
แต่ไม่สงสัย เพราะเราเป็นคนปฏิบัติเอง เราเป็นคนสร้างสมสิ่งนี้ขึ้นมาเอง แล้วเราจะไปสงสัยสิ่งนี้ขึ้นมาได้อย่างไร แต่มันเห็นความว่ามันมหัศจรรย์ มันปล่อยวาง มันปล่อยวางเวิ้งว้าง เวิ้งว้างจนเข้าใจหลงผิดได้ เวลาปล่อยวางครั้งหนึ่งก็ว่าสิ่งนี้เป็นผล สิ่งนี้เป็นผลไง มันจะมีความลึกซึ้ง มีความมหัศจรรย์ ให้ใจนี้มีความสุขแล้วพอใจกับความสุขนั้น เผอเรอไปกับความสุขนั้นสักพักหนึ่ง
ในเมื่อมันมีเชื้ออยู่ เชื้อมันแสดงตัวขึ้นมา อันนี้ก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ในการผลของมัน เราก็ต้องวิปัสสนาซ้ำเข้าไป คือจับอาการของขันธ์ ๕ จับอาการของอสุภะขึ้นมา ตั้งแล้ววิปัสสนาเข้าไป...สิ่งที่เป็นอสุภะมันปล่อยวาง ปล่อยวาง มันจับต้องได้ มันยังปล่อยไม่ได้ มันฝึกซ้อมได้
แม้แต่ขาดแล้วก็ยังฝึกซ้อมได้ สิ่งนี้ฝึกซ้อมใจตลอด ใจจะต้องฝึกซ้อมกับสิ่งนี้เข้ามาเพื่อให้มันร่นออกมา จนถึงกับ...ผู้ที่จะเข้าฝั่งถึงกับใจล้วนๆ ไง สิ่งที่เป็นธาตุเป็นขันธ์นี้ มันยังเป็นสิ่งที่กระทบกระเทือนกัน มันจับต้องได้ง่ายแล้วมันก็ต้องวิปัสสนากันไป มันจะเวิ้งว้าง มันจะปล่อยวางขนาดไหน มันปล่อยวางด้วยอำนาจของธรรม อำนาจของธรรมที่มันมีกำลังขึ้นมาแล้วมันวิปัสสนาเข้าไป
นี่กิเลสมันกลัวธรรม กลัวธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วกลัวธรรมของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติที่มันเกิดขึ้นมากับใจดวงนั้นแล้ว ใจดวงนั้นมีธรรม ถ้าใจดวงนั้นมีธรรมเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา มันจะมีกำลังสูงขึ้นไป สูงขึ้นไป เพื่อจะชำระกิเลสออกไปจากใจ นั่น เราถึงว่าหัวใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมันเกิดขึ้นมา มันเกิดขึ้นมาจากใจดวงนั้น ใจดวงนั้นถึงมีอำนาจวาสนาไง
แค่ ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น นะ เวลาจิตมันรวมตัว ถ้าจิตมันรวมตัว ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น มันสมุจเฉทปหานในวินาทีนั้น ถ้าในวินาทีนั้นมันสมุจเฉทปหานออกไป กิเลสมันตาย ตายตรงนั้นไง กามราคะขาดออกไปจากใจ ขาดออกไปจากใจอย่างนั้น ขณะที่มันรวมตัวที่มันเป็นไป
แต่เวลาสร้างสมขึ้นมามันทุกข์ยากตรงเราสะสม เราสร้างพลังงานของเราขึ้นไปเพื่อจะให้มันมีกำลังพอ กำลังพอแล้วมันรวมตัวกันเป็นสมุจเฉทปหาน ครืน! ในหัวใจนี่กิเลสขาดออกไปจากใจ กามราคะนี้ขาดออกไปจากใจ ครืน! ออกไปจากใจนะ
ใจจะเป็นผู้ที่ปล่อยวางหมด ปล่อยวางสิ่งต่างๆ เข้ามาทั้งหมด แล้วก็จะปล่อยวางเข้ามานะ นี่มันยังจับต้องสิ่งนี้ได้แล้วพยามยามฝึกซ้อม ฝึกซ้อมก็เพื่อให้มันปล่อยวางให้สิ้นซากออกไป เพราะสิ่งที่มันปล่อยวางเข้ามาแล้วมันมีเศษส่วนในหัวใจ เศษส่วนในหัวใจ ตรงนี้ตรงที่ว่าผู้ที่ปฏิบัติติด ติดกันตรงนี้ ติดที่ว่าเราปล่อยวางมรรค ๔ ผล ๔ ปล่อยวางสิ่งนี้แล้วเป็นมรรคขั้นที่ ๓ มรรคขั้นที่ ๔ คือขั้นต่อไป คือขั้นฝึกซ้อมแล้วปล่อยวางอีก ปล่อยวางอีก ปล่อยวางจนเวิ้งว้างหมดเลย
นั่น เข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ว่าเราปล่อยวางสิ่งต่างๆ ทั้งหมดแล้ว นี้คือฝั่งไง เข้าถึงฝั่ง ทั้งๆ ที่ว่าตัวนั้นเป็นสิ่งที่ว่าความรู้สึกของใจ ใจรู้สึกได้ มันจะเป็นฝั่งได้อย่างไร? สิ่งที่เป็นฝั่ง เห็นไหม ฝั่งของโลกคือฝั่งตรงข้ามสมมุติกับวิมุตติ สิ่งที่เป็นสมมุติเราโดดจากฝั่งๆ หนึ่ง แล้วเราจะพยายามตะเกียกตะกายข้ามพ้นเข้าไปอีกฝั่งหนึ่ง อีกฝั่งหนึ่งเป็นฝั่งวิมุตติ แต่นี้มันเป็นสมมุติในหัวใจทั้งหมด เพราะมันเป็นตอของจิต มันปล่อยวางสิ่งต่างๆ เข้ามา มันปล่อยวางเข้ามาหมดแล้ว มันถึงตัวของมันเอง มันก็เป็นฝั่ง เป็นฝั่งของกิเลส เป็นฝั่งของอวิชชา
สิ่งที่เป็นอวิชชาในหัวใจนั้น มันก็ว่าสิ่งนี้เป็นความว่าง เป็นความว่างไง มันว่างตลอด ถ้าใจเราทรงให้เป็นความว่าง จะเป็นความว่าง จะไม่ว่างต่อเมื่อกิเลสมันแสดงตัว มันจะผ่องใส มันจะเศร้าหมองขนาดไหน เราก็ไม่รู้ตัว เราตามนะ ตามรักษาสิ่งนั้นตลอดไป
ผู้ที่เข้าใจนะ มรรค ๔ ผล ๔ เราฝึกซ้อมกับกิเลส เราฝึกซ้อมกับธาตุขันธ์ที่มันเหลือเศษส่วนขึ้นมาแล้วเราปล่อยวางขึ้นมา สิ่งนี้คือการเราทำขบวนการมาครบถ้วนแล้ว ในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มรรค ๔ ผล ๔ เราได้ทำครบถ้วนแล้ว มันรวมขนาดไหนเราก็ปล่อยวางมาหมดแล้ว นั่นเป็นการที่ว่าเราอยู่กับสมมุติอีกตัวหนึ่ง สมมุติของใจที่มันละเอียดอ่อนนั้น
แล้วถ้าไม่มีครูบาอาจารย์สอน รักษาสิ่งนั้นไว้ เวลาตายไปจะเข้าใจเลยว่า อ๋อ! อ๋อ คือยังค้างอยู่ยังติดอยู่ในฝั่งของตัวเอง มันต้องทำลายฝั่งทั้งหมด ทำลายใจทั้งหมด ถ้าทำลายใจทั้งหมด เหมือนกับเรารักษาตัวตน เราเห็นตัวตนเป็นเรา เราเป็นตัวตน มันมีที่พึ่ง สิ่งที่มีที่พึ่ง เราพยายามรักษาไว้ แล้วมันเป็นที่พึ่งไม่ได้ มันเป็นที่พึ่งไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องของสมมุติ มันเป็นเรื่องของอำนาจของวัฏฏะ
วัฏฏะนี้มันหมุนไปแล้วมีสิ่งนี้เป็น รายได้ รายได้ที่เกิดในสภาวะไหนก็รายได้สิ่งนั้น
รายได้ กับ รายจ่าย
รายจ่ายคือชีวิตไง คือวันเวลาของเราที่ต้องหมดไป สิ่งที่หมดไป เราตายไปมันก็ต้องเป็นรายจ่ายที่ว่าต้องไปเกิดสภาวะทุกข์ยาก หรือสภาวะสุขสมบูรณ์ในเรื่องของการทำคุณงามความดี ในเพื่อสร้างกุศลอกุศลของเราตลอดไป นั้นเป็นผลรายจ่ายของใจดวงนั้น แต่นี้มันปล่อยวางเข้ามาแล้วมันไปติดตัวมันเอง สิ่งที่ติดตัวมันเองนี้ นั้นก็เป็นว่าถ้าตายไปมันก็จะเข้าใจตัวเอง ก็เป็นรายจ่าย รายจ่ายที่ว่าเราจะต้องไปสุขไปข้างหน้า รอวันเวลาไป
แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ...จะเข้าถึงฝั่ง ฝั่งของวิมุตติจะต้องไม่มีสิ่งใดๆ สิ่งใดๆ ที่รู้สึก สิ่งใดๆ ที่จับต้องได้นั้นเป็นตัวของใจ เป็นตัวของอวิชชา ปัจจยา สังขารา นั้นเป็นฝั่งของสมมุติไง ฝั่งของเป็นวัตถุที่จับต้องได้ไง สิ่งที่จับต้องได้ต้องย้อนกลับ ย้อนกลับเข้ามาดูใจของเรา
ในเรื่องเครื่องยนต์กลไกนั้นมันไม่มีหัวใจ มันก็สร้างคุณสมบัติ แล้วแต่คุณสมบัติของเขาจะมีคุณวิเศษขนาดไหน เขาก็สร้างของเขาได้ขนาดนั้น แล้วก็เป็นประโยชน์กับโลก เป็นประโยชน์กับผู้ใช้งานนั้น นั่นตัวของเครื่องยนต์กลไกนั้นเขาไม่ได้สิ่งใดๆ เลย เขามีหน้าที่ทำงานของเขาจนกว่าเขาจะชำรุดทรุดโทรมไป แล้วก็ต้องบุบสลายไป หมดเครื่องยนต์กลไกนั้นไป
แต่จิตดวงนี้ไม่เป็นแบบนั้น สิ่งต่างๆ นี้เป็นเครื่องยนต์กลไกที่เราทำมา เราสละเข้ามาทั้งหมด แล้วมันเหลืออะไรในหัวใจ เหลือสิ่งที่ว่า อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง วิญญาณะปัจจยา นามะรูปัง
รูป...รูปของใจ ความรู้สึกของใจอันละเอียดนั้น สิ่งต่างๆ อันละเอียดนั้น
เครื่องยนต์กลไกทำลายหมดแล้ว แต่ติดในข้อมูลของใจดวงนั้น นี่เป็นความลึกลับมหัศจรรย์มาก ลึกลับมหัศจรรย์ที่ว่าตั้งแต่ปล่อยวางสิ่งต่างๆ เข้ามาก็มหัศจรรย์ แล้วในความมหัศจรรย์ของตัวมันเองก็มหัศจรรย์ มหัศจรรย์ในตัวมันเอง ถ้าจับต้อง ถ้าเห็นสิ่ง ถ้าเห็นตัวตอของใจ
แต่ถ้าไม่เห็นตัวตอของใจนี้ โดนตัวตอของใจนี้หลอกลวง หลอกว่าสิ่งนี้เป็นผล สิ่งนี้เป็นผล นี่อำนาจวาสนา ๑ แล้วก็ส่วนที่ว่าครูบาอาจารย์ ๑ จะย้อนกลับเข้ามา พยายามย้อนกลับเข้ามา ย้อนกลับเข้ามาจนถึงจับตัวของใจได้
ถ้าจับตัวของใจได้ นี่มรรคอันสมบูรณ์ไง มรรคร้อยเปอร์เซ็นต์ สัมมาสมาธิกับปัญญาร้อยเปอร์เซ็นต์ สติร้อยเปอร์เซ็นต์ มรรคนี้จะร้อยเปอร์เซ็นต์มาก ร้อยเปอร์เซ็นต์ที่ว่ามันละเอียดอ่อน ละเอียดอ่อนจนว่าออกไปเป็นความกระทบไม่ได้เลย มันจะละเอียดอ่อนเข้ามาจนถึงที่สุดแล้วความเป็นไป ทำลายฝั่ง ทำลายสิ่งต่างๆ ทั้งหมด ไม่มีสิ่งใดเหลือหลอในหัวใจนั้น...เป็นวิมุตติ
ผู้ถึงฝั่งต้องถึงฝั่งด้วยสิ้นสุดขบวนการในการประพฤติปฏิบัติ จะประพฤติปฏิบัติก็เรานี่ เราจะไม่ไปเรื่องของโลกเขา เรื่องของโลกเขา เห็นไหม เขาจะลอยกระทง เขาจะทำสิ่งใดนั้น เขาก็สร้างบุญกุศล ทำความเป็นบุญเป็นกุศล แต่บุญกุศลของเราเพื่อจะให้เราเวียนตายเวียนเกิดตามกระแสของกระทงนั้น กระทงนั้นเวียนไป แต่ชีวิตของเรานี้ก็เปรียบเหมือนกระทงหนึ่ง เวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะมาตลอด หมุนไปตามอำนาจวาสนาสูงๆ ต่ำๆ เห็นไหม เกิดเป็นเทวดา เกิดเป็นพรหมนี่ สูงๆ ต่ำๆ เกิดเป็นนรกอเวจีนี้ตกต่ำไป มันก็เวียนไปในนั้น
แล้วเราประพฤติปฏิบัติ ใช้ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฟาดฟันกับความเห็นของใจ ความเห็นของใจจากดั้งเดิมนั้นเป็นความเห็นของกิเลสบวกกับใจของเรา ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเราศึกษามานั้น กิเลสมันก็เอาไปใช้ซะหมด จนมันหลอกลวงให้เราประพฤติปฏิบัติจนล้มลุกคลุกคลานมา แล้วเราสะสมขึ้นมาให้เห็นตามสภาวะตามความเป็นจริง ใจนั้นเห็นสภาวะอย่างนั้นแล้วปล่อยวางเป็นตามความเป็นจริง มันจะลึกซึ้งแล้วมันจะเข้าใจ แล้วจะกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยความเคารพนบนอบ ด้วยความลึกซึ้งว่าทำไมถึงเข้าใจสิ่งนี้ไง
สิ่งนี้เป็นความละเอียดว่า ธรรมะกว้างแสนกว้างจนไม่สามารถจับต้องได้เลย
จะอธิบายธรรมขนาดไหนนะ ในวัฏฏะ ในความรู้สึกต่างๆ เห็นไหม ภพชาติต่างๆ เรื่องของธรรมะนี่มีสภาวธรรมเป็นธรรมะ ธรรมะต่างๆ เกิดในสภาวะไหน...มันกว้างไปหมดเลย แล้วจะทำอย่างไรให้มันแคบเข้ามา? นี่ทำสัมมาสมาธิเข้ามาให้มันจุดเดียว จุดเดียวคือจุดตรงกลางหัวใจ...ลึกมาก ลึกที่ว่าเราจะไม่สามารถเห็นกิเลสของเรา เพราะกิเลสมันอยู่ในหัวใจ มันลึกซึ้ง
น้ำใสแล้วจะเห็นตัวปลา ถ้าจิตนี้สงบแล้วเราจะเห็นกิเลสโดยธรรมชาติ นั่น เวลาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมา กิเลสมันเอาไปใช้อย่างนี้ ใช้ที่ว่าเราทำความสงบของใจ แล้วเราจะเห็นกิเลสโดยธรรมชาติเลย เพราะจิตสงบใสแล้วจะเห็นตัวปลา แต่ไม่เข้าใจว่ากิเลสมันลึกซึ้งกว่านั้น มันใสยิ่งกว่าน้ำ เราจะไม่เห็นปลาเลย ถ้าเราทำความสงบของใจ แล้วเราจะนั่งเฝ้ารอว่าให้เห็นตัวปลา นี่ผู้ที่ติดสมาธิจะเป็นแบบนี้ จะทำสมาธิของตนแล้วก็เฝ้ารอจะชำระกิเลส รอให้กิเลสมันเกิดมาเพื่อจะให้เราฟาดฟัน...มันเป็นไปไม่ได้
เราต้องขุดคุ้ยไง เราพยายามค้นคว้าขึ้นมา อย่างที่เราทำความสงบของใจขึ้นมา เห็นไหม ให้มีเห็นสภาวะกาย เห็นนิมิตขึ้นมา นิมิตต่างๆ นั้นมันเป็นเรื่องของโลก เป็นเรื่องของความเห็นต่างๆ เราไม่เอา เราจะเอาเรื่องของเห็นสภาวะกาย นั่น เห็นสภาวะกายนั้นคือเห็นตัวปลา
ถ้าเห็นสภาวะกาย เพราะเห็น เราเห็นกายมันจะเกิดขนพองสยองเกล้า จะเกิดความรับรู้ต่างๆ ขึ้นมา มันสะเทือนกิเลส เพราะ ไดโนเสาร์ กิเลสนี้มันเป็นการสะสมมาไม่มีต้นไม่มีปลาย อยู่ในหัวใจนั้นไม่มีใครเคยเห็นหน้ามัน แล้วเราไปเห็นหน้ามัน มันจะสะเทือนหัวใจมาก สะเทือนหัวใจเพราะเราเห็นหน้ากิเลส เห็นคนขโมย เห็นตัวโจรร้ายอยู่ในหัวใจของเรา
เราเห็นข้าศึกในใจของเราเอง เราทำไมไม่สะเทือนหัวใจ? มันสะเทือนหัวใจเพราะเราจะมีโอกาสชำระมัน นี่ถ้าเรามีโอกาสชำระมัน มันถึงว่าน้ำใสขนาดไหนนั้นเป็นความลึกซึ้ง เป็นความลึกมาก ธรรมะนี้ลึกมาก ลึกจนกว่าว่าเราทำให้เข้าไปจนเราจับตัวเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม คือเห็นตัวปลาได้
ตัวปลาคือตัวกาย ตัวเวทนา ตัวจิต ตัวธรรมที่มันอยู่ความลึกในหัวใจ เราดึงขึ้นมา ดึงขึ้นมา เพื่อในการชำระล้างเพื่อการวิปัสสนา ใจวิปัสสนาแล้วเข้าใจตามความเป็นจริงนั้น แล้วปล่อยวางตามความเป็นจริงเข้ามา ปล่อยวางตามที่ว่า จนเข้าถึงฝั่ง มันจะเห็นขั้นตอนของการประพฤติปฏิบัติ ว่ามันลึกซึ้งละเอียดอ่อนขนาดไหน สิ่งนี้เกิดขึ้นมาจากในหัวใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินั้นเอาใจของเราเข้าถึงฝั่งได้ ผู้ที่เข้าถึงฝั่งจะมีความสุขมหาศาล
ความสุขที่ว่าโลกนี้เป็นสุขของเวทนา สุขเวทนา-ทุกขเวทนา เรื่องของเวทนาเรื่องของขันธ์ สุข-ทุกข์ในเรื่องของขันธ์ ละเอียดอ่อนขนาดไหนก็เป็นเรื่องของขันธ์ จนทิ้งขันธ์หมดแล้วเป็น อวิชชา ปัจจยา สังขารา นั้นก็เป็นขันธ์อันละเอียดยิบ อันละเอียดยิบไง อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง นั้นเป็นขันธ์อันละเอียด เป็นสัญญาอันละเอียด
สิ่งที่ขันธ์อันละเอียดแยกแยะเป็นขันธ์ได้ แยกแยะเป็นขันธ์ละเอียดถ้าปัญญามันทัน ถ้ามันแยกแยะเป็นขันธ์ละเอียดไม่ได้ ปัญญาไม่ทัน จะชำระสิ่งนี้ได้อย่างไร จะแยกแยะสิ่งนี้ออกไปจากใจได้อย่างไร สิ่งที่เป็นความละเอียดอ่อนในหัวใจนั้นมันเป็นปัจยาการ มันเป็นสิ่งที่สืบเนื่อง กับขันธ์นี้เป็นสิ่งที่เป็นกอง เป็นสิ่งที่หยาบๆ สิ่งนี้เกิดขึ้นมาสภาวะของใจ และสภาวธรรมแยกแยะสิ่งนี้ทั้งหมด แล้วปล่อยวางสิ่งนี้ออกไปทั้งหมด สุข-ทุกข์มันถึงละเอียดอ่อนไง
วิมุตติสุขนี้ไม่ใช่สุขแบบสุขเวทนา-ทุกขเวทนา สุขเวทนา-ทุกขเวทนานี้เป็น ภารา หะเว ปัญจักขันธา เห็นไหม ขันธ์นี้เป็นภาระ เป็นความรู้สึก เป็นความรับรู้ แต่วิมุตติสุขนี้มันปล่อยวางทั้งหมด แล้วจะไม่มีสิ่งใดเข้าไปสะเทือนสิ่งนั้นได้เพราะมันตัดทำลายขันธ์ ตัดทำลายสะพานออกหมด สิ่งที่จะเข้าไปถึงหัวใจนั้นไม่ถึงหัวใจนั้น
ความทุกข์ของกายมีอยู่ ความรับรู้ของขันธ์มีอยู่ แต่ไม่สามารถสะเทือนหัวใจ เพราะหัวใจมันตัดสะพานขาดออกหมด สิ่งที่ขาดออกหมดนั้นเป็นสิ่งที่ว่าไม่มีใครไปกวนนั้น สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่สมบูรณ์ เป็นสิ่งที่เต็มเปี่ยมอยู่ตลอดเวลา ไม่ต้องการสิ่งใดไปเพิ่มเติม แล้วไม่มีสิ่งใดบกพร่อง นั้นคือวิมุตติสุข
วิมุตติสุข คือความที่ว่าไม่มีสิ่งใดเข้าไปเพิ่มเติมหรือขาดตกบกพร่อง สมบูรณ์พูนผลในใจดวงนั้น ฝั่งคืออย่างนี้ ผู้ถึงฝั่งคือผู้ที่เข้าถึงหัวใจของตน ทำลายอัตตานุทิฏฐิ ความเห็นต่างๆ ปล่อยวางสิ่งต่างๆ เข้ามาทั้งหมด แล้วก็มาติดตัวเอง ทำลายอัตตานุทิฏฐิ ในใจของตัวเองทั้งหมด ทำลายใจของความรู้สึก
สิ่งที่รับรู้ที่ว่าเครื่องยนต์กลไกทั้งหมดมันไม่มีหัวใจ แต่มนุษย์เครื่องยนต์กลไกธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ นี้มีหัวใจนี้ ทำลายทั้งเครื่องยนต์กลไกด้วย ทำลายสิ่งที่รับรู้เครื่องยนต์กลไกคือหัวใจในตัวของตัวเองด้วย ทำลายสิ่งนี้ทั้งหมดแล้วพ้นออกไป...นี้คือฝั่ง
ผู้เข้าถึงฝั่งโดยสมบูรณ์ต้องเข้าถึงฝั่งโดยไม่มีสิ่งใดๆ ข้องในหัวใจ สิ่งที่ข้องเกี่ยวในใจจะไม่มีในใจดวงนั้น ไม่มีความสงสัยในธรรม สิ่งที่เป็นธรรม เป็นการประพฤติปฏิบัติ จะไม่มีสิ่งใดๆ คาใจดวงนั้นเลย ใจดวงนั้นทะลุปรุโปร่งปล่อยวาง ถึงได้เต็มได้ไง ถ้ามีความคาใจ มีความลังเลสงสัย มันจะเต็มได้อย่างไร? มันเต็มไม่ได้เพราะมีความสงสัย อันนั้นเป็นสิ่งที่บกพร่อง สิ่งที่บกพร่องต้องเติมให้เต็ม ถ้าสิ่งที่เติมให้เต็มแล้ว มันเต็มแล้วมันจะไปสงสัยตรงไหน? มันไม่สงสัย นี่ไง ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา
เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเพื่อปรารถนาสิ่งนี้ เพื่อให้สมกับสิ่งนี้ เพื่อให้ดวงใจของเราเข้าถึงธรรมดวงนี้ ถ้าใจของเราเป็นธรรมขึ้นมาแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้ว มีความสุขบริสุทธิ์เหมือนกัน พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะมีความสะอาดบริสุทธิ์เหมือนกัน
สาวกะ-สาวกต่างๆ ปฏิบัติมาแล้วใจจะบริสุทธิ์ผุดผ่อง นี้ความเสมอกันด้วยความสุข ด้วยความสะอาด ต่างกันด้วยอำนาจวาสนาบารมีราวฟ้ากับดิน
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สร้างสมมา สละมาต่างๆ สละมามหาศาล นี่มันเป็นการสละมาที่มากกว่า ผู้ที่สละน้อยกว่าจะเอาสิ่งที่เสมอกันมันเป็นไปไม่ได้
เป็นไปไม่ได้เลยที่จะให้เสมอกันด้วยอำนาจวาสนา แต่เสมอกันได้ด้วยความบริสุทธิ์
ถ้าไม่เสมองถึงความบริสุทธิ์ ถ้าไม่เสมอกัน มันชำระกิเลสไม่ได้ มันต้องชำระกิเลสได้ด้วยความบริสุทธิ์ผุดผ่องของใจดวงนั้น นี่ผู้เข้าถึงฝั่งโดยสมบูรณ์ โดยความประพฤติปฏิบัติ มีทางเดียวนะ มีทางเดียวคือการเราทำนั่งสมาธิเดินจงกรม เพื่อเข้าถึงฝั่งได้ ถ้าอย่างอื่นนี้ไม่มี จะไปแสวงหาที่ไหน จะไปหาทางโลกเขาไม่มี
เรื่องของโลกเขาที่เขาส่งเสริมกันนั้น เป็นเรื่องของหลอกคนที่ติดในวัฏฏะ หลอกคนในโลกให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มันว่าไม่เป็นบุญกุศลมันก็เป็นของเขา เป็นบุญกุศลของเขาที่ว่าเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เป็นสมัครสมานสามัคคีกัน
แต่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินี้เรามีความลึกซึ้งมากกว่า เราพยายามเอาหัวใจของเราเข้าถึงฝั่ง เอาหัวใจของเราวิปัสสนาแล้วเข้าถึงฝั่งในหัวใจของเรา ในหัวใจของเรานั่น แล้วเข้าถึงใจของเราอีกชั้นหนึ่ง อีกชั้นหนึ่ง จนถึงที่สุดแล้วเข้าถึงฝั่งโดยสมบูรณ์ เอวัง