เทศน์พระ

บวชพระ

๒ ส.ค. ๒๕๕๕

 

บวชพระ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม เราฟังธรรมเพราะเตือนสติ เตือนสติเพราะวันนี้วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา แม้แต่คฤหัสถ์ญาติโยมเขายังมีการตื่นตัว เขามีความตื่นตัว เห็นไหม แม้แต่รัฐบาลยังให้เป็นวันหยุดเพื่อให้คนได้ทำบุญกุศล บุญกุศลนั้นเพื่อให้สังคมร่มเย็นเป็นสุข สังคมมีแต่ความเร่าร้อนนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ในสโมสรสันนิบาต ทุกดวงใจว้าเหว่” แต่นี้เป็นสโมสรสันนิบาตไหม การเป็นหมู่ชนรวมกันขึ้นมามันก็เป็นสโมสร ในเมื่อการเป็นสโมสรขึ้นมา การคลุกคลี การอยู่ด้วย ความอบอุ่นของโลกเขา แต่ทุกดวงใจว้าเหว่ เห็นไหม

แม้แต่คฤหัสถ์ญาติโยมเขายังรู้ เขายังหาทางออกของเขา เราเป็นพระนะ เราเป็นพระเราเห็นภัยในวัฏสงสาร คนที่เห็นภัยในวัฏสงสารถึงออกมาเป็นภิกษุเพื่อปฏิบัติพรหมจรรย์ เพราะในวัฏสงสารเวียนตายเวียนเกิดมีแต่ความเร่าร้อนทั้งนั้น ถ้าความเร่าร้อนนั้น เราเกิดมาเป็นคนทำไม การเกิดเป็นคนเป็นอริยทรัพย์เพราะเราได้บุญกุศล เพราะเราเกิดเป็นคน ถ้าไม่เกิดเป็นคน จิตนี้ไม่มีเว้นวรรค มันต้องเกิดของมันแน่นอน เกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม ก็มีความสงบสุขร่มเย็น เกิดไปในนรกอเวจีมันก็มีความเร่าร้อน เกิดมาเป็นคนเป็นอริยทรัพย์ เพราะเป็นคนถึงมีสติปัญญาเพื่อจะประพฤติปฏิบัติได้

เราเห็นภัยในวัฏสงสารเราถึงมาบวช เราบวชพระนะ เขาบวชกันนะ เขาบวชกล้วย บวชเผือก บวชมัน เห็นไหม เขาบวชเสร็จแล้วก็เสร็จ เขาบวชเสร็จแล้วมันก็เป็นอาหารกินมื้อหนึ่ง เห็นไหม การบวชอย่างนั้นเพราะมีวัตถุดิบ มันก็ทำมาบวชกล้วย บวชเผือก บวชมัน บวชได้ทั้งนั้นน่ะ เขาบวชอาหาร บวชสิ่งที่เป็นผลไม้ บวชต่างๆ มาเป็นอาหารการกิน

แต่เราบวชพระ การบวชพระ เห็นไหม เราเห็นภัยในวัฏสงสารเราถึงมาบวช การบวชพระบวชสำเร็จยัง สำเร็จจากการบวช นี่สมมุติสงฆ์ บวชมาจากสงฆ์ สงฆ์ยกเข้าหมู่นะ ญัตติจตุตถกรรมยกเข้ามาเป็นสงฆ์ นี่บวชแล้ว

เขาบวชกล้วย บวชมัน เขาบวชเสร็จก็คือเสร็จ เวลาเราบวชพระขึ้นมา เราบวชเสร็จหรือยัง เราบวชเสร็จแล้ว บวชเสร็จแล้วได้สมมุติไง สมมุติสงฆ์ บวชแล้วเป็นพระไหม? เป็น เป็นพระขึ้นมาเพื่อเหตุใด เป็นพระเวลาลงสังฆกรรมนี้มันได้สะอาดบริสุทธิ์ไง

ถ้าเป็นพระขึ้นมา เป็นพระบวชไม่สมประกอบ บวชต่างๆ สิ่งต่างๆ ใครทำสิ่งใด เห็นไหม ภิกษุ นานาสังวาส ถือศีลต่างกัน ถ้าลงอุโบสถร่วมกัน เป็นโมฆียะ เป็นโมฆะ สิ่งต่างๆ ขึ้นมา มันไม่เป็นประโยชน์ขึ้นมา เห็นไหม

ฉะนั้น พอเราบวชแล้ว มาเป็นสงฆ์ไหม? เป็น เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะเวลาเข้าหมู่สงฆ์นี่ไง การเข้าหมู่สงฆ์ไม่เป็นโมฆะ ถ้าเป็นโมฆะขึ้นมา เห็นไหม นี่ทำแล้วไม่ได้สิ่งใดติดไม้ติดมือเลย แต่เราทำขึ้นมาเพื่อเหตุใดล่ะ

เขาบวชอาหาร เขาบวชเสร็จแล้วเขากินเป็นอาหารนะ เขาได้อิ่มมื้อหนึ่ง จะผิดจะถูกก็เพื่อดำรงชีวิตของเขา แต่เราบวชพระขึ้นมาแล้วเราเป็นพระหรือยัง ถ้าเราเป็นพระขึ้นมาเป็นสมมุติสงฆ์ ถ้าเป็นพระแล้ว เขาว่าบวชพระนี้เป็นธรรมและวินัย “เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด เธออย่ามีอย่างอื่นเป็นที่พึ่งเลย เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด” เราบวชเป็นพระแล้วเรามีที่พึ่งหรือยัง

ถ้าเรามีที่พึ่ง เราต้องมีความร่มเย็นสิ ถ้าเราบวชเป็นพระแล้วทำไมมันเร่าร้อนล่ะ เวลาเขาบวชกล้วย บวชเผือก มันร้อนไหม? มันร้อนต่อเมื่อเขาทำมาเสร็จมันร้อน เก็บไว้มันก็เย็นของมัน มันไม่รู้สุขรู้ทุกข์ของมัน แต่เราบวชมาแล้ว เราบวชมาเป็นพระมาแล้ว เรามีความร่มเย็นหรือยัง ถ้าเรายังไม่มีความร่มเย็น เราบวชแต่กาย เรายังไม่ได้บวชหัวใจของเรา ถ้าเราจะบวชหัวใจของเรา เราจะมาบวชกันอยู่นี่ ถ้าบวชอยู่นี่ เห็นไหม

วันนี้วันสำคัญทางพุทธศาสนา พรุ่งนี้เป็นวันเข้าพรรษานะ ถ้าวันเข้าพรรษาแล้วเขาจะถือธุดงควัตรกัน ธุดงควัตรมันคืออะไร? ศีลในศีล เห็นไหม เวลาบวชมาแล้วมันมีศีลโดยธรรมชาติของการบวช บวชภิกษุขึ้นมานี่ต้องถือศีล ๒๒๗ ศีลในปาฏิโมกข์ที่เราจะสวดปาฏิโมกข์กันข้างหน้าอยู่นี่ แล้วถ้าเป็นคฤหัสถ์ล่ะ เขาถือศีล ๑๐ ก็ได้ ศีล ๘ ก็ได้ ถือศีล ๕ ก็ได้ เห็นไหม เขาถือศีลของเขา ถ้าเขาถือศีลของเขา

ศีลในศีล ถ้าเราถือธุดงควัตร เพราะอะไร เพราะเราบวชร่างกายกันมา เราบวชมาเป็นสมมุติสงฆ์ แล้วเราจะบวชหัวใจของเรา ถ้าเราจะบวชหัวใจของเรา เราจะถือธุดงควัตร ศีล เห็นไหม ธุดงควัตรเป็นเครื่องขัดเกลา มันเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส มันไม่ใช่ตัวชำระกิเลส ตัวชำระกิเลส เห็นไหม

เราที่จะมาบวชใจกันอยู่นี่ เราบวชร่างกายกันมา เราบวชมาเป็นพระไหม? เป็น เป็นพระ เป็นสมมุติสงฆ์สมบูรณ์แบบ เพราะว่าสมบูรณ์แบบขึ้นมาแล้วเราเข้าหมู่สงฆ์มันถึงเป็นสมานสามัคคีไง เป็นสมานสังวาส มันเป็นสังวาสเดียวกัน มันอยู่ร่วมกัน มันเป็นชนชั้นเดียวกัน มันมีสถานะเสมอกัน ถ้าสถานะเสมอกัน บวชสถานะเสมอกัน เสมอกันแล้วเราฟังธรรมวินัย เราฟังธรรมมันสะเทือนหัวใจเราไหม

ถ้ามันสะเทือนหัวใจเรา ดูสิ เวลาเขาบวชกล้วย บวชเผือก น้ำร้อนไหม เขาใส่กล้วย เขาใส่น้ำตาล เขาใส่กะทิลงไป มันเดือดไหม มันกลมกล่อมไหม มันเป็นอาหารขึ้นมา มันสุกไหม? สุก นี่ก็เหมือนกัน เรามีศีลของเรา เราบวชของเรา เราทำความสงบของใจเข้ามา ใจมันสงบไหม ใจมีที่พึ่งที่อาศัยไหม ถ้าใจมันมีที่พึ่งอาศัย มันก็สมควรแก่เราที่เราจะบวชไง คือมันต้องมีเหตุมีผล มีหลักมีเกณฑ์ มันเป็นวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ทั้งนั้นน่ะ ถ้ามันพิสูจน์ได้ มันพิสูจน์ได้

ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสองพันห้าร้อยกว่าปีมาไง “อานนท์ ถ้าผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์เลย” นี่ถ้ามีผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แล้วสมควรอย่างไร

เราบวชใหม่ๆ ขึ้นมา เราก็เห็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ “โอ้โฮ! เอาเป็นเอาตายขนาดนั้นเชียวหรือ นั่งตลอดรุ่งเชียวหรือ อดอาหารกันทำไม มันทุกข์มันยากขนาดนั้น แม้แต่ว่าบวชนี่ก็ทุกข์ยากพอแรงแล้วแหละ กว่าจะบวชได้ก็ละล้าละลัง ตัดสินใจผิดตัดสินใจถูกอยู่นี่ จะเอาไม่เอาอยู่นี่ บวชมาแล้วยังต้องทำขนาดนั้นอีกเชียวหรือ” นี่มันเห็นมันก็ท้อใจไง มันท้อใจเพราะอะไรล่ะ เห็นไหม

ฆราวาสธรรม เราเป็นฆราวาส เราเป็นโลก เวลาโลกเขาทำบุญกุศลกัน เวลาทำกุศลนะ รวยๆ รวยๆ รวยๆ ขึ้นมาแล้วมันไม่มีความสุขขึ้นมารวยมันทำไม รวยขึ้นมา ตกอยู่ในขุมนรกน่ะ รวยขึ้นมามีแต่ความเร่าร้อน รวยขึ้นมารวยอะไร บุญมันเป็นอย่างนั้นเหรอ บุญมันเป็นความร่มเย็นเป็นสุขต่างหากล่ะ

บุญคือในครอบครัวของเราร่มเย็นเป็นสุข ยิ้มแย้มแจ่มใส พูดกันรู้เรื่อง เชื่อฟังกันต่างๆ บุญมันคืออันนั้น บุญคือความเข้าใจกัน บุญคือมันเรื่องของหัวใจนะ ไม่เร่าร้อน ไม่กระเสือกกระสน ไม่บีบคั้นหัวใจของตัว นี่ไง บุญมันเป็นแบบนั้นไง แล้วสิ่งที่มันมีบุญขึ้นมาแล้วนะ สิ่งที่มันจะตามมา เห็นไหม คนเราร่มเย็นเป็นสุข ทำสิ่งใดแล้วมันก็ไม่มีความเดือดร้อนนะ จิตใจมันมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา

เราทำหน้าที่การงานของเราก็หน้าที่การงานของเรา โลก คนอื่นเขาจะเดือดร้อนแทนนะ “ทำไมเอ็งไม่ขวนขวายเลยเนาะ ทำไมเอ็งเฉื่อยชาขนาดนั้นเนาะ ทำไมเอ็งไม่ตักตวงผลประโยชน์เนาะ” นี่โลกเขาบอกโง่ แต่ไอ้คนที่ฉลาดๆ น่ะมันเอาอะไรมาใส่ตัวมัน? เอาแต่ความเร่าร้อนมาใส่หัวใจมัน แต่ถ้าของเรา เราก็ทำของเรา มีสติปัญญาของเรา

เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมานะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ความเพียรชอบ” ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะของคน ถ้าปฏิบัติมันจะเฉื่อยชาขนาดนั้นเชียวเหรอ จะเป็นคนโง่เง่าเต่าตุ่น คนที่ไม่แอคทีฟตัวเอง จะปฏิบัติก็จะบรรลุธรรมเหรอ...มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้หรอก

คนบรรลุธรรมเขาจะมีสติปัญญาของเขา แล้วสติ มหาสติ ปัญญา มหาปัญญา ปัญญาที่ชำระกิเลสมันมาอย่างใด โง่ๆ เซ่อๆ แล้วเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเหรอ ทำอะไรเอาหัวชนกันขึ้นมาแล้วรู้ธรรมๆ เหรอ เอาสมองชนสมองแล้วมันจะถ่ายเทปัญญาเข้ามาอีกสมองหนึ่งเหรอ มันไม่มีหรอก มันไม่มีแล้วทำอย่างไร เราจะบวชหัวใจของเรา เราต้องมีสติปัญญาของเรา

ความเห็นของโลก “เราบวชขึ้นมาแล้วจะต้องทำขนาดนั้นเชียวเหรอ”

ไม่ต้อง...ทำปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เราฝึกหัดใหม่ใช่ไหม เราฝึกหัดใหม่เราก็มีสติปัญญาของเรา ถ้าเรามีสติปัญญา ปัญญา มีสติปัญญาแค่ไหน โอ้โฮ! สติเต็มที่เลย ปัญญารอบรู้ไปหมดเลย

เวลาในพระไตรปิฎกนะ เวลาภิกษุออกไปธุดงค์กลับมา ไปวิเวกกลับมา มาพูดถึงว่าบ้านนั้น ตำบลนั้น เขาทำอาชีพนั้น บ้านนั้น…

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “นี่ติรัจฉานวิชา ติรัจฉานวิชา”

แต่เขาไปแปลกันว่าเดรัจฉานวิชา เดรัจฉานวิชานั่นอย่างหนึ่งนะ ติรัจฉานวิชาคือวิชาที่ทำให้เนิ่นช้าไง วิชาอะไร? วิชาประกอบสัมมาอาชีวะ “ที่นั่นดินดี ที่นั่นสมบูรณ์” ที่นั่นก็เรื่องโลก ที่นั่นก็คือทำมาหากินใช่ไหม ทำมาหากินเพื่อเลี้ยงปากใช่ไหม แล้วเวลาเขาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องกัน แล้วปฏิบัติมันจะเลี้ยงหัวใจ ถ้าเลี้ยงหัวใจ เราไปเห็นคนที่เขาทำมาหากินกันแล้วไปตื่นเต้นกับเขาเหรอ แล้วศีล สมาธิ ปัญญา ในหัวใจของเราอยู่ที่ไหน เวลาเราไปวิเวก เราไปวิเวกเพื่อหัวใจของเรา เราไม่ใช่ไปศึกษานี่

ไปศึกษานะ “ที่ตำบลนี้เขาทำอาชีพอะไร ที่ตำบลนู้นเขาทำงานอะไร” อันนั้นเป็นอริยสัจเหรอ? อันนั้นเป็นที่เราต้องออกไปธุดงค์ใช่ไหม? ก่อนที่เราจะบวชนี่เราก็โตขึ้นมาจนอายุ ๒๐ เราเกิน ๒๐ ขึ้นมา เรามีอาชีพมา เราก็ได้ทำอาชีพนั้นมาแล้ว อาชีพทางโลกเราก็ได้ทำของเรามาแล้ว เราบวชเป็นพระแล้ว เราจะต้องไปดูว่าเขาทำอาชีพอะไรกันอีกเหรอ...มันไม่ใช่

ออกไปวิเวก ออกไปเพื่อความสงบสงัด เพื่อความระงับหัวใจ เพื่อความสงัดของหัวใจ สถานที่วิเวก กายวิเวก จิตวิเวก ถ้าออกวิเวกก็เอาสิ่งนั้นเพื่อเป็นสติปัญญา ดูสิ เขาอาบเหงื่อต่างน้ำ ในครอบครัวหนึ่งเขามีความร่มเย็นเป็นสุขของเขา ในครอบครัวหนึ่งเขามีแต่ปัญหาไปทั้งนั้นเลย เช้าเราก็บิณฑบาตออกไป ถ้าครอบครัวเขามีความสุขนะ เขาใส่บาตรด้วยความร่มเย็นเป็นสุขของเขา เขาใส่ด้วยความชุ่มชื่นของเขา บางครอบครัวนะ เขาไม่รู้จักการใส่บาตร เขาไม่ต้องการสิ่งใด เขาเห็นครอบครัวที่ใส่บาตร เขายังบอกว่าใส่ทำไม ทำไมเขาทุกข์ยากขนาดนี้ เขาหาอยู่หากินยังไม่พอกินของเขาเลย เอ็งทำไมเอาอาหารไปใส่บาตรพระอีก แล้วไปบ้านบางครอบครัว...นี่ออกไปวิเวกเพราะเหตุนี้ไง

เหตุนี้ ให้ดูวุฒิภาวะของหัวใจของคนมันแตกต่างหลากหลายกัน แล้วหัวใจเราก็เป็นแบบนี้ เราก็เคยคิดเห็นแก่ตัวมาก่อน เราเห็นแก่ตัวมาแล้ว ทีนี้เราเห็นแก่ตัวเราก็ไปแข่งขันกับโลกเขาใช่ไหม แต่เวลาเราปฏิบัติขึ้นมา เขาบอก “เห็นแก่ตัว” เห็นแก่ตัวอะไร เราเสียสละสถานะทางโลก สิทธิความเป็นมนุษย์ จะทำอะไรก็ได้ที่ไม่ผิดกฎหมาย เราเป็นพระขึ้นมาเสียสละหมดเลย เพราะว่าเรามีธรรมวินัย

พอเป็นสงฆ์ขึ้นมา ศีล ๒๒๗ ถ้ามีศีลมีธรรมของเราขึ้นมา ถ้ามันเป็นจริงของเราขึ้นมา เราเสียสละสิ่งนั้นมา เราเสียสละสิ่งนั้นมาแล้วเราไปศึกษาเขาอีกทำไม เราไปดูอะไรของเขา ก็เราเสียสละมาเอง พอเราเสียสละมาแล้วเราจะแสวงหาอะไร ถ้าเราแสวงหา แสวงหาธรรม อริยสัจ ความเป็นจริงในพุทธศาสนา

“เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด เธออย่ามีบุคคลอื่นหรือบุคคลใดเป็นที่พึ่งเลย”

แต่ถ้าบุคคลที่จะเป็นครูบาอาจารย์ของเราท่านเคยมีประสบการณ์ของท่านมา ท่านมีประสบการณ์ของท่านมา คนก็มาจากคนเหมือนกันทั้งนั้นน่ะ คนก็เกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่เหมือนกัน ทุกคนก็เป็นทารกมาทั้งนั้น พอจะโตขึ้นมาประสบการณ์ของคนมันก็แตกต่างกันไป พอแตกต่างกันไปแล้ว เราจะทำอย่างไรขึ้นมาล่ะ

นี่ก็เหมือนกัน เวลามาปฏิบัติก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ของเราทั้งนั้นน่ะ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ปุถุชนทั้งนั้น เกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นคน มันปุถุชนทั้งนั้นแหละ แล้วเขาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ทำไมเขาทำของเขาขึ้นมา ทำไมเขามีความร่มเย็นเป็นสุขของเขาล่ะ ความร่มเย็นเป็นสุขมันมาจากไหน? ก็มาจากเขาทำความเพียรของเขาโดยความเพียรชอบ ความเพียรชอบ ความเพียร ความวิริยอุตสาหะด้วยความเป็นจริง แล้วความเพียรชอบ ความวิริยะอุตสาหะด้วยความเป็นจริง มันจริงอะไรล่ะ? มันก็จริงตามอริยสัจไง มันไม่จริงตามโลกไง

ถ้ามันจริงตามโลกเราก็คิดอยู่นี่ไง ทุกคนก็เรียนกันหมดแล้ว ทุกคนก็รู้หมดน่ะ พระไตรปิฎกนี่ทะลุปรุโปร่งหมดเลย แต่ในหัวใจรู้อะไร? ไม่รู้ จะมีปัญญาขนาดไหนก็แล้วแต่ สงสัย จะมีความรู้สึกนึกคิดขนาดไหนก็แล้วแต่ ลังเล มันไม่จริงไม่จังหรอก มันเอาจริงเอาจังไม่ได้ มันเอาจริงเอาจังได้ก็ต่อเมื่อหลับตา

หลับตา กำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ทำไมเอ็งโง่ขนาดนี้ ทฤษฎี ธรรมะ มันก็มีอยู่เต็มไปหมด ครูบาอาจารย์ของเราตั้งแต่หลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่นลงมา ท่านก็ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนสิ้นกิเลส มุตโตทัยก็มี ธรรมของหลวงปู่มั่นเยอะแยะไปหมด เราก็ศึกษาทั้งนั้นน่ะ แล้วสงสัยไหม แล้วเป็นจริงไหม? ไม่จริงสักอย่าง ไม่จริงสักอย่างเลย

ปริยัติ การศึกษามาเพื่อเป็นแนวทาง ถ้าแนวทางแล้วถ้าเราปฏิบัติไม่ได้ขึ้นมาก็คือไม่ได้ ถ้าเราปฏิบัติได้ขึ้นมาก็คือได้ แล้วปฏิบัติได้หรือไม่ได้ มันเป็นอย่างไรล่ะ

นี่ไง “เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด เธออย่ามีอย่างอื่นเป็นที่พึ่งเลย” แล้วธรรมมันเป็นอย่างไรล่ะ? สติธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม ถ้าเรามีสติธรรม มีสมาธิ มีปัญญาธรรม เห็นไหม “เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด เธออย่ามีอย่างอื่นเป็นที่พึ่งเลย” แล้วสติธรรม สมาธิธรรม มันอยู่ที่ไหน มันอยู่ในตำราไหม มันอยู่ในทฤษฎีไหม มันอยู่ที่ไหน ที่อื่นมันก็มีแต่ชื่อทั้งนั้น แล้วตัวจริงมันอยู่ไหน?

ตัวจริงหาไม่ได้ ตัวจริงหาไม่ได้ก็เอาสมองชนสมองใช่ไหม แล้วถ่ายความรู้มา ถ่ายความรู้มาใส่สมองฉัน ฉันจะรู้ไปหมดเลย ก็ศึกษาเอาสิ ศึกษาเอา เอาไฟฟ้าช็อตด้วย ให้สมองมันจำให้ได้ ให้มันรับรู้ให้ได้ แล้วให้มันตรึกธรรมขึ้นมาให้ได้ มันเป็นจริงไหมล่ะ? มันเป็นไปไม่ได้ เพราะผู้ที่ปฏิบัติจริงเขารู้

เราก็คิดกันไป ทำอย่างนั้นก็ดี ทำอย่างนี้ก็ดี เห็นไหม นี่ไง ทารก เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาทุกคน ครูบาอาจารย์ของเราก็เหมือนกัน เกิดจากปุถุชนทั้งนั้นน่ะ เกิดจากสิ่งที่ไม่รู้ทั้งนั้นน่ะ ศึกษามาขนาดไหนก็ไม่รู้ แต่เพราะด้วยความเพียรของท่าน ด้วยความเป็นสุภาพบุรุษ ด้วยความประพฤติปฏิบัติทำความเพียรชอบ ถ้ามันชอบธรรมขึ้นมามันก็ร่มเย็น ถ้ามันไม่ชอบธรรมขึ้นมา มันก็เร่าร้อน มันดีดดิ้นในหัวใจ ใครจะพูดอย่างไรนี่อยู่ที่ลมปาก คารม อารมณ์ อย่ามาโม้ โม้ขนาดไหนนะ คนปฏิบัติธรรมเขารู้ทั้งนั้นน่ะ คำพูดออกมามันไม่เหมือนหรอก

ดูสิ เวลาเสือมันคำรามขึ้นมาน่ะเป็นเสือ แต่หมานี่มันอยากเป็นเสือ มันเอาหนังเสือห่มมันนะ เวลามันเห่าออกมามันจะเป็นเสียงเสือไหมล่ะ มันเป็นไปไม่ได้ หมามันจะคำรามเหมือนเสือ มันไม่มี จิตที่มีกิเลสในหัวใจแสดงธรรมออกมาให้เป็นความจริง เป็นไปไม่ได้ ไม่มี ไม่มีหรอก

แต่เขาแสดงกันแสดงออกมาเพื่ออะไรล่ะ โลกก็คือโลกไง เพราะความรู้ของโลกใช่ไหม โลกเขารู้ธรรมไม่ได้หรอก ถ้ารู้ธรรมไม่ได้ เวลาเขาฟังกันเขาก็เคลิบเคลิ้มกันไป เคลิบเคลิ้ม มันเป็นปรัชญา มันเป็นตรรกะ แล้วก็ว่ากันไป คิดตรึกได้ แต่ความรู้จริงมันไม่มี ถ้ามันไม่มี เห็นไหม มันไม่ได้บวชใจไง

เราบวชพระนะ เราบวชพระกันมาแล้ว เราเป็นพระขึ้นมาไหม ถ้าเราเป็นพระ พระเป็นผู้ประเสริฐ หัวใจเราประเสริฐไหม ถ้าหัวใจประเสริฐ ถามมันนะ “ทำไมเอ็งทำกูเร่าร้อนขนาดนี้ ทำไมเอ็งทำให้กูเดือดร้อนขนาดนี้” ถามใจตัวเอง ถามใจตัวเองที่ทุกข์ๆ ยากๆ อยู่นี่ ใครทำ ถามมัน ถามมันสิว่ากูเกิดมานี่ทำไมกูทุกข์ขนาดนี้ ถามหัวใจตัวเอง ถ้าพระเป็นผู้ประเสริฐ เราประเสริฐจริงหรือเปล่า

ถ้าเราประเสริฐไม่จริง ถามมันดู ใครทำให้ เกิดมานี่เวรกรรมมันก็พาเกิด จิตดวงนี้มันปฏิสนธิมาเกิดเอง พ่อแม่ก็เป็นพระอรหันต์ของลูกก็เกิดในชาตินี้เท่านั้นเอง แต่การเกิดนี่ใครจะบังคับได้ การเกิดนี่ใครจะบิดเบือนมันได้ มันเป็นไปไม่ได้ ถ้ามันเป็นไปได้ ก็ใครทำมัน ใจดวงนี้ใครทำมัน? ก็เวรกรรมที่มันสร้างของมันมา ถ้าเวรกรรมสร้างของมันมา

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาวางธรรมและวินัยนี้ไว้ไง “เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด” ถ้าจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด เราจะทำอย่างไร

เราบวชพระมาแล้วนะ ไอ้นั่นก็บวชกล้วย บวชเผือก บวชมันกัน เขาจะกินอิ่มหนำสำราญ รสชาติดีขนาดไหนมันเรื่องของเขา ใครทำก็ได้ แต่ถ้าบวชหัวใจ ทุกดวงใจมันต้องบวชของมันเอง ถ้ามันบวชของมันเอง ถ้ามันเห็นคุณของมัน มันจะมีสติมีปัญญา มันจะมีความเพียร มันจะมีความวิริยะ มีความอุตสาหะ

แต่ถ้ามันไม่มีสติไม่มีปัญญา มันก็เลื่อนลอย พอเลื่อนลอยเสร็จแล้วนะ “เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย” เออ! เรามีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด เราก็ไปของเราเร่ร่อน เลื่อนลอย ไปนะ บวชร่างกายอยู่ในวัดนี้ จิตใจมันไป ๓ โลกธาตุ เข้าทางจงกรมพุทโธทีหนึ่งก็คิดไปรอบโลก มันก็มาโธ พุทแล้วมันก็ไปเที่ยวมาโลกธาตุเลย “พุท” แฉลบไปทั่วโลก กลับมา “โธ” อยู่อย่างนั้นน่ะ อานาปานสติก็แหม ลมหายใจเป็นอย่างนั้น ลมหายใจเป็นอย่างนี้นะ ลมมันก็คือลม

แต่ถ้ามีสติปัญญาขึ้นมา เพราะมีหัวใจของเรา เพราะมีหัวใจ โลกนี้มีเพราะมีเรา ถ้ามีสติมีปัญญาขึ้นมา หัวใจรับรู้หมดน่ะ พุทโธก็พุทธานุสติ ถ้ากำหนดลม อานาปานสติ กำหนดความตายก็มรณานุสติ ใครเป็นคนกำหนด นี่ไปดูตำรา เห็นไหม มรณานุสติคือคิดอย่างนี้ แต่เวลากำหนดขึ้นมา เราเป็นคนระลึกขึ้นมา

ดูสิ เวลาเราเข้าไปในร้านอาหาร มันมีเมนูอาหารมาให้ดูหมดเลย จะกินอะไร สั่งมา จะกินอะไร นี่ก็เหมือนกัน เวลานึกคิดขึ้นมามันก็เมนูทั้งนั้นน่ะ มันก็มีแต่ชื่อๆ เห็นไหม กำหนดความตายก็เป็นมรณานุสติ กำหนดลมก็เป็นอานาปานสติ แล้วก็คิดว่าลมอยู่ที่นู่น ลมอยู่ที่นี่ จินตนาการกันไป ส่งออกหมด

แต่ถ้าเรากำหนดจิต เรากำหนดลมหายใจ ใครเป็นคนกำหนดล่ะ? จิตเป็นคนกำหนด จิตเรากำหนด ถ้ากำหนดลม อานาปานสติอยู่กับลม พุทธานุสติอยู่กับพุทโธ นี่ถ้ามันอยู่เพราะมันมีจิต มีตัวรู้ไง แต่ชื่อก็คือชื่อนะ ในตำราก็บอกไว้ชื่อเป็นแบบนั้น ถ้าเราเอาชื่อเป็นแบบนั้น นี่เป็นเรื่องโลกๆ ถ้าโลกมันคิดกันอย่างนั้น ทำกันอย่างนั้น มันก็อยู่กับโลก

แต่เราปฏิบัติ “เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด” มีธรรมคือความรู้สึกนึกคิดนี้ไง มีธรรมก็คือทุกข์ยากนี่ เวลามันทุกข์มันสุขนี่มีธรรม ธรรมโอสถ มันมีธรรมของมัน มีธรรมโอสถของมัน มีความจริงของมันขึ้นมา ถ้ามีความจริงขึ้นมามันก็เป็นประโยชน์นะ มันเป็นประโยชน์กับใครล่ะ? ก็ประโยชน์กับจิตดวงนั้นน่ะ จิตที่มันเร่ร่อน จิตที่มันมีหลักมีเกณฑ์ มันมีที่ยึดที่เกาะ มันแสดงตัวออกมาแล้ว ถ้าแสดงตัวออกมามันจะแก้ไขที่นี่ไง ถามมันดูสิ ทุกข์ขนาดนี้ เอ็งพากูมาเกิด เอ็งทำให้กูทุกข์ยากขนาดนี้ อวิชชาความไม่รู้นี่มันอยู่ที่ไหน นี่มันต้องแก้เข้ามาที่นี่สิ นี่เราจะบวชใจแล้ว

จากบวชพระขึ้นมา บวชพระนี่อุปัชฌาย์ หมู่คณะยกเข้าหมู่สงฆ์ แล้วถ้าจะบวชใจล่ะ บวชใจก็สติปัญญาของเราขึ้นมาไง บวชใจขึ้นมาให้มันเป็นทรัพย์ขึ้นมาจากภายใน จิตไอ้ตัวทุกข์ๆ ยากๆ นี่แหละ สิ่งที่จะพิสูจน์ศาสนาได้ก็คือหัวใจของสัตว์โลก เห็นไหม เทวดา อินทร์ พรหม มาฟังเทศน์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสำเร็จเป็นแสน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการทีหนึ่งสำเร็จเป็น ๕๐๐-๖๐๐

ครูบาอาจารย์ของเรานะ ท่านเทศนาว่าการขึ้นมา หลวงตาท่านพูด อยู่กับหลวงปู่มั่น เวลาหลวงปู่มั่นเทศนาว่าการขึ้นมา นิพพานจะหยิบเอาได้เลย มันอยู่ข้างหน้านี่ หยิบเอาๆ หลวงปู่มั่นเทศน์จบนิพพานหายไปเลย เพราะมันอยู่ในใจหลวงปู่มั่นไง เพราะจิตใจที่เป็นจริง เวลาหลวงปู่มั่นท่านเป็นจริง ท่านเทศนาว่าการมาจากความจริงในหัวใจของท่าน เอามาให้เป็นแนวทางของเรา ไอ้เราก็จินตนาการตาม ไอ้เราก็จะเกาะกันไป นี่หยิบเอาได้เลย

พอท่านเทศน์จบ ไม่รู้ไปทางไหน หาทางออกไม่ได้ นี่ผู้รู้จริงท่านพูดออกมา เพราะความจริงของท่าน จะพูดเมื่อไหร่พูดอย่างไรก็ได้ แต่ไอ้คนที่ไม่รู้ พยายามจะทำให้ๆ ไม่ได้ เราก็ต้องมาทำของเรา เพราะมันก็ยังมีที่พึ่งอาศัย ยังมีครูบาอาจารย์ของเราเป็นที่พึ่งนะ ถ้าเป็นที่พึ่ง เราจะปฏิบัติของเรา ถ้าเราปฏิบัติของเรา เราตั้งสติของเรา

ทุกคนมีศักยภาพเหมือนกัน โลก เวลาเขาพูดกันนะ สิทธิเสมอภาค ใช่ สิทธิเสมอภาค เราก็เกิดมาเป็นมนุษย์เหมือนกัน พอเกิดเป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่คนมันไม่เหมือนคนไง ดูสิ แม้แต่โครงสร้างของร่างกายมันก็ไม่เหมือนกัน นี่รูปสมบัติ รูปสมบัติของคนก็ไม่เหมือนกัน แล้วแต่เวรแต่กรรม แล้วแต่อายุขัยของคนก็ไม่เสมอกัน นี่มันอยู่ที่การทำมาของใจทั้งนั้น

พอการทำมาของใจทั้งนั้น ดูสิ ปฏิภาณไหวพริบของคน สิ่งที่เกิดขึ้นน่ะ มันมองไปมองต่างมุมกัน คนหนึ่งก็มองว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์ อีกคนหนึ่งบอกว่าอย่างนี้ประโยชน์นี้ของโลก ถ้าเป็นเรื่องบางอย่างนั่นเป็นโทษ เขาเห็นโทษนะ เขาเห็นโทษในคุณนั่นน่ะ ว่าเป็นคุณๆ เห็นไหม กามคุณ ๕

โลกเขาเป็นกามคุณ ๕ เพราะกามคุณนั้นทำให้ตระกูล ทำให้สังคมโลกเขาอยู่ของเขาไป มันหมุนเวียนไป แต่ถ้าเป็นพระ พรหมจรรย์ กามคุณ ๕ นั้นผิดทันทีเลย นี่ไง เราเห็นโทษในคุณของเขาเลยนะ เขามีคุณประโยชน์อย่างนั้นน่ะ แต่ถ้าเรามีปัญญาขึ้นมาเราเห็นโทษเลย พอเห็นโทษเราก็วาง เขาแสวงหากัน เขาแย่งชิงกัน เราเดินหนีเลย สิ่งนี้มันเป็นโทษ สิ่งนี้ทำให้เราตกต่ำไป นี่มันปฏิเสธของมัน เห็นไหม

แต่ถ้าเป็นโลกล่ะ โลกเขาแย่งชิงกัน ปัญญาเขาแค่นั้น ถ้าเขามีปัญญาแค่นั้น มันก็เรื่องของวุฒิภาวะ เห็นไหม นี่ไงเวรกรรมที่มันสร้างมาไง ถ้ามันสร้างมา ถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมาเราจะมีปฏิภาณ เราแก้ไขของเรานะ ถ้าเราแก้ไขของเรา เรากำหนดของเรา นี่ตำรับตำราอย่างไรมันก็เรื่องตำรับตำรา มันไม่เป็นจริงในหัวใจของเรา หัวใจมันเร่าร้อน หัวใจมันไม่มีที่พึ่ง

เวลายิ่งบวชใหม่ มันเหมือนกับคนติดคุก ขังตัวนี้ได้แต่ขังใจไม่ได้ ตัวนี้ขังไว้ ไปไหนไม่ได้ เพราะหัวโล้นๆ ห่มผ้าเหลืองออกไปเขาก็รู้ว่าเป็นพระ แต่หัวใจมันอยู่ไหม หัวใจเอามันไว้ได้ไหม ถ้าหัวใจมันเอาไว้ไม่ได้ ทำไมเราไม่ตั้งสติ นี่ไงเรื่องมรรคผลนิพพาน ใครบ้างที่ไม่อยากได้ ใครบ้างที่ไม่อยากได้มรรคผลนิพพาน เพราะเราเชื่อมั่นในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

วิมุตติสุข เราทุกคนอยากได้ทั้งนั้นล่ะ ทุกคนอยากได้ความสุขทั้งนั้นล่ะ แล้วความสุขมันหาได้ที่ไหน เราก็ตื่นกันไป ตะครุบเงากันไป อยู่ที่นั่นๆ แต่ความจริงมันอยู่ที่นี่ เห็นไหม เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม มาดูธรรมในหัวใจของเรานี้

แต่ในปัจจุบันนี้มาดูอะไร มาดูความเร่าร้อนไง มาดูความทุกข์ มาดูความบีบคั้น มันทุกข์ยากขนาดไหน แล้วใครทำให้

อาหารการกินเรายังเลือกกินนะ อะไรที่มันเป็นโทษกับร่างกาย เราก็จะไม่กินมัน เราจะกินแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่เวลามันเผาลน ถ้ามันไม่เป็นกิเลสมันจะเผาลนได้อย่างไร นี่เวลากิเลสมันเกิดขึ้นมานะ มันก็เอาน้ำมันราดเข้าไป เวลามันคิดขึ้นมา คิดแต่สิ่ง...

ถ้ามันไม่พอใจขึ้นมา นั้นล่ะอวิชชา สมุทัยเกิดแล้ว สมุทัย ตัณหาความทะยานอยากมันยุแหย่แล้ว มันก็ต้องดับสิ แต่เอาน้ำมันราดเข้าไปได้อย่างไร พอมันมี มันกระตุ้นขึ้นมา คิดซ้ำคิดซาก พอไฟติดขึ้นมาแล้วสาดแต่น้ำมันเข้าไปๆ แล้วบอกว่ารักตนๆ เอ้อ...เราก็งงนะ เอ็งรักตัวเองจริงๆ เหรอ บ้านเราไฟไหม้ เขาดับไฟ ไม่ใช่น้ำมันสาดเข้าไป น้ำมันสาดเข้าไปมันดับไม่ได้หรอก

นี่ก็เหมือนกัน ในหัวใจมันเร่าร้อน มันธรรมดา คนเรามันเคยอยู่สุขสบายของมัน ดูสัตว์นะ ดูช้างสิ เวลาเขาจะมาฝึก เห็นไหม เขาต้องเอาช้างบ้านประกบมันไว้ แล้วเอาเชือกผูกกับต้นไม้ไว้ แล้วถ้ามันยังดื้อ ไม่ให้กิน มันดื้อยังไม่ให้กิน มันหิวมันกระหายก็ให้มันกินทีเล็กกินทีละน้อย แล้วสั่งมัน ถ้ามันทำตามนะ เขาค่อยผ่อนคลายมัน นั่นช้างเขาฝึกของเขาอย่างนั้น แล้วหัวใจเราล่ะ หัวใจเรา เราจะเอาอะไรไปฝึกมัน

เวลาเขาฝึกช้าง เราเห็นเขาฝึกช้างเพราะเขาต้องการช้างมาเป็นประโยชน์ แต่ใจของเรานะฝึกไม่ได้เลย เพราะกูเป็นช้าง เป็นกูหมดเลย เป็นตัวเราทั้งนั้น มันไม่ยอมให้ผูกขามัน มันไม่ยอมให้ใครเข้ามาประกบมัน เขาจะเข้ามาประกบมันเพื่อจะให้เป็นประโยชน์ มันก็ว่าเป็นโทษ ใครจะทำอะไรเพื่อประโยชน์กับเราก็มองว่าเป็นโทษหมดเลย ใครเข้ามาใกล้ไม่ได้ ไม่พอใจทั้งนั้น แม้แต่สติก็ไม่ชอบ แม้แต่สมาธิก็ไม่เอา ยิ่งปัญญาอย่ามาพูดกัน เพราะฉันฉลาดอยู่แล้ว ฉันรู้ ฉันเข้าใจหมดเลย ปัญญาที่พูดกันๆ ไม่ต้องมาพูด ไม่ต้องมาสอน ไม่ต้องมาโกหก นี่เวลากิเลสมันครอบหัว เห็นไหม นี่มันยอมไหม แล้วช้างที่มันไม่ได้ฝึก มันจะเป็นช้างที่ใช้งานได้ไหม? เป็นไปไม่ได้

จิต ถ้าไม่ได้ฝึกฝน จิตไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ แล้วจะเอาความจริงขึ้นมามันจะเอามาจากไหน ไปหาที่ไหน มันก็เป็นช้างไม้ไง ช้างไม้ที่เขาแกะไว้ขาย ซื้อตัวหนึ่งมาตั้งไว้ที่บ้าน ฉันมีแล้วนี่ ไม่ดื้อเลย ช้างตัวนี้ แหม! เรียบร้อย แหม! สะดวก อู๊ย! สวยงาม คิดเอาทั้งนั้น! เพราะช้างไม้มันเป็นเครื่องประดับ มันไม่ใช่ความจริง มันอยู่นอกกายเรา มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะใช้ประโยชน์จากมัน

แต่หัวใจนี้ล่ะ ช้างเป็นๆ นะ สัตว์เป็นๆ ที่เราจะเอามาฝึกฝน ที่เราจะเอามาใช้งาน ถ้ามีสติปัญญาขึ้นมา เห็นไหม นี่บวชใจ

บวชพระมาแล้ว เราบวชมาแล้วเพราะเราเห็นภัยในวัฏสงสาร แล้วเราเกิดเป็นชาวพุทธนะ เราอยู่กับประเพณีวัฒนธรรมของชาวพุทธ ถึงเวลาทุกข์ยากขึ้นมา เห็นไหม หลบจากร้อนมาพึ่งเย็น หลบจากโลกเข้ามาสู่ธรรม โลกมันเร่าร้อนนัก มีแต่การเสียดสี โลกธรรม ๘ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มันมีของมันอยู่อย่างนั้น ธรรมะเก่าแก่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้หรือไม่ตรัสรู้ก็มีอย่างนั้น

ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว ไอ้ธรรมะเก่าแก่ก็ยังเข้ามาเสียดสีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงเตือนพระนะ “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเธอโดนโลกธรรมเบียดเบียน เธออย่าน้อยเนื้อต่ำใจ เธอให้ดูเราเป็นตัวอย่าง”

แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปบิณฑบาตที่ไหน เขาจ้างคนด่าทั้งนั้นน่ะ ไปอยู่ที่ไหนมีแต่คนทำลายทั้งนั้น แต่คนที่เคารพบูชาก็มี

ดูสิ ดูเทวทัต จ้างนายธนูมายิง ก็เหมือนในปัจจุบันที่เขาจ้างมือปืนมาเก็บ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องโดนอย่างนั้นด้วยเหรอ ในพระไตรปิฎกเราอ่านกัน เราดูศึกษา เราศึกษากันแต่แง่มุมที่เราศรัทธาไง

แต่เวลาแง่มุมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านเผชิญ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “เราเหมือนช้างศึก อยู่ท่ามกลางสงคราม ไม่กลัวลูกธนู ไม่กลัวสิ่งใดเลย ยิงเข้ามา ยิงเข้ามา ช้างตัวนั้นไม่โอดโอย ไม่เร่าร้อน ไม่ฉอเลาะ” เห็นไหม

นี่ไง เวลาช้างที่ได้ฝึกไว้ดีแล้วไง เราเปรียบเหมือนช้างศึกที่ออกสงคราม ไม่หวั่นไหว ไม่พรั่นพรึง แม้แต่ลูกธนูของข้าศึก เห็นไหม แต่ถ้าเรามองในแง่ของเราล่ะ ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติมาขนาดนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงยมกปาฏิหาริย์มหาศาลเลย ฤทธิ์เดชมีมหาศาล แต่ในเมื่อหัวใจของคนมันหยาบช้า จะทำสิ่งใดไปเขาจะฟังไหม

เว้นไว้แต่คนที่เขามีอำนาจวาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงจะไปโปรดไง พระโมคคัลลานะไปโปรดเยอะมาก เศรษฐีขี้เหนียว เห็นไหม ท่านไปโปรด จะทำอย่างไร ขนมเบื้องเอาออกมาไม่ได้หรอก เป็นแผ่นมาตลอด จะให้ชิ้นเดียวมันก็ติดมาเป็นแถบ ไอ้เศรษฐีขี้เหนียว แม้แต่พระโมคคัลลานะเข้าไปโปรดจนเขายอม ถ้ายอมจะถวายพระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะบอก “ไม่ได้ ถ้าจะถวายต้องไปถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

นี่เวลาถ้าจิตใจเขาพลิกได้นะ ครูบาอาจารย์ของเราท่านจะไปโปรดนะ โปรดเพราะอะไร เพราะว่าเวลาโปรดมันโปรดที่หัวใจไง โปรดที่ความรู้สึกนึกคิด โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ถ้ามันได้เปลี่ยนโปรแกรมแล้วนี้มันจะคิดใหม่ มันจะทำใหม่ หัวใจมันเปลี่ยนแปลงนะ ถ้าหัวใจเปลี่ยนแปลง คนเรามันอยู่ที่จริตนิสัย ถ้าจริตนิสัยมันมีข้อมูล เห็นโทษเห็นภัยนะ

ดูสิ ในทางการแพทย์สิ่งใดถ้าเป็นโทษเป็นภัยนะ การดำรงชีวิต เขาพยายามหลีกเลี่ยง ไอ้พวกเราชอบกินตามใจ ชอบอยู่ตามความสะดวก เสร็จแล้วนะมันก็เป็นไปตามอาการที่เราใช้ดำรงชีวิตไง เราดำรงชีวิตอย่างไร มันก็จะมีโรคภัยไข้เจ็บอย่างนั้นนะ แต่ทางการแพทย์เขารู้ของเขา เขาหลบหลีกของเขา สิ่งใดที่มันจะให้ผลกับเป็นโทษเป็นภัยกับชีวิตนี้ เขาจะหลบหลีกของเขา เว้นไว้แต่เขาก็มีกรรมเหมือนกัน แม้แต่ทางแพทย์เขาก็ป่วยไข้เหมือนกัน โลกนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด ไม่มีใครจะอยู่คงที่ได้ตลอดไป สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง

แม้แต่การบวชพระของเรา ออกพรรษาแล้วก็ต่างคนต่างไป อยู่กัน ๓ เดือนนี้เราจะเร่งความเพียรเรามากน้อยได้แค่ไหน ไม่มีสิ่งใดคงที่ ไม่มีสิ่งใดที่ไม่เปลี่ยนแปลง เราอย่าคิดว่าเราจะต้องดิ้นรนตั้งแต่ตอนนี้ ออกพรรษาแล้วก็ต่างคนต่างไป มันจะอยู่อย่างนี้กันไปตลอดหรือ

ฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจเรื่องสัจธรรม เรามีโอกาสแล้วเราต้องรีบขวนขวาย บวชใจ! บวชใจ! ต้องทำใจของเราให้สงบ ถ้าใจเราสงบแล้วให้เกิดปัญญาขึ้นมา ถ้าใครปัญญามันก้าวเดินได้นะ จะซึ้งธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก

แต่เวลาที่เขาแสดงธรรมกันอยู่นี้ เขาแสดงธรรมโดยกิริยา กิริยาคืออาการของใจ คือสิ่งที่เป็นสัญญา มันถึงไม่ซึ้งใจ ไม่ซึ้งหรอก แม้แต่ไม่ซึ้งนะ แต่เวลาเขาทำขึ้นมา ทางโลกเขายังซาบซึ้งกัน แต่มันไม่เข้าถึงกิเลสหรอก มันเข้าไปสั่นคลอนกิเลสในใจของสัตว์โลกไม่ได้

ถ้ามันจะเข้าไปสั่นคลอนหัวใจของสัตว์โลก มันจะเป็นปัจจัตตัง มันจะเป็นศีลสมาธิปัญญาของใจดวงนั้น แล้วใจดวงนั้นก็แก้เฉพาะใจดวงนั้นได้เท่านั้น ใจดวงนั้นมีประสบการณ์ของใจดวงนั้น เห็นไหม เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรแบบหลวงปู่เสาร์หลวงปู่มั่น เพราะท่านได้ปฏิบัติของท่านมา ในเมื่อหัวใจของท่านมันคงที่ของท่าน มีประสบการณ์ของท่าน ท่านแก้ไขเราได้หมด “ใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่งไง”

บอกเวลาเอาสมองชนกันแล้วถ่ายปัญญาของสมองหนึ่งไปสู่อีกสมองหนึ่ง มันเป็นไปไม่ได้ มันต้องฝึกให้สมองนั้นมีการจดจำ สมองนั้นมีการพัฒนาขึ้นมา สมองนั้นมันถึงจะมีปัญญาขึ้นมา

แต่เวลาใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง ทำไมมันทำได้ล่ะ จิตใจที่ผ่องแผ้ว จิตใจที่เป็นธรรม มันแสดงธรรมขึ้นมามันสะเทือนใจกับจิตใจที่มืดบอด จิตใจที่มืดบอด

คนตาดีพูดอย่างไร มันก็เห็นภาพตามความเป็นจริงนั้น คนตาบอด ตาบอดมันเถียงเก่ง ตาบอดมันจินตนาการสุดยอด ตาบอดมีแต่เรื่องจินตนาการออกมา ในเมื่อหัวใจมันบอด มันจะเอาความจริงมาจากไหน แต่ถ้าหัวใจมันสว่างไสว เห็นไหม จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง

ฉะนั้น เราเกิดมา เกิดมากึ่งกลางพระพุทธศาสนา เกิดมาเจอครูบาอาจารย์ของเรานะ เราจะบวชใจของเรา บวชพระ เราบวชมาในสังคม จากคฤหัสถ์ จากฆราวาสธรรมเป็นภิกษุ ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร นี้คือการบวชแบบโลก

ถ้าการบวชแบบธรรม มันต้องบวชด้วยมรรค ๘ มันต้องบวชด้วยศีล สมาธิ ปัญญา มันจะบวชในการนั่งสมาธิ เดินจงกรมของเรา เวลาเราบวชพระเราต้องไปโบสถ์นะ ต้องมีสงฆ์อย่างน้อย ๑๐ องค์ขึ้นไป นี่ญัตติจตุตถกรรมขึ้นมาให้เราเป็นสงฆ์

แต่เวลาเราบวชใจนะ เรานั่งอยู่คนเดียว อยู่โคนไม้ อยู่เรือนว่าง อยู่ในที่สงบสงัด บวชเอง! บวชด้วยความเพียรชอบ บวชด้วยความเพียรของเรา ไม่ต้องให้ใครเข้ามายุ่ง แล้วยังชอบอีกด้วย ชอบความสงบ ชอบความสงัด ชอบความวิเวก ชอบเพื่อเป็นประโยชน์กับเรา เห็นไหม นี่เราจะบวชใจของเรานะ

ถ้าเราบวชใจของเราได้ขึ้นมา เห็นไหม ถ้ามันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโกแล้ว อริยสัจมีหนึ่งเดียว ผู้ที่จะประพฤติปฏิบัติตั้งแต่สมัยพุทธกาล ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตั้งแต่กึ่งพุทธกาล ผู้ที่ปฏิบัติไปอนาคตข้างหน้า ในอนาคตข้างหน้าเวลาบรรลุธรรมอันเดียวกัน เห็นไหม ไม่มีกาล ไม่มีเวลา เขาบอกว่ากึ่งพุทธกาล ห้าพันปีไปแล้วมันจะไม่มีมรรคไม่มีผล ถ้าไม่มีมรรคไม่มีผลพระศรีอริยเมตไตรยจะมาตรัสรู้อะไร อนาคตวงศ์ พระพุทธเจ้าอีก ๑๐ องค์ข้างหน้า แล้วมันจะตรัสรู้อะไร ในเมื่อกาลเวลามันปิดกั้นไว้หมดแล้ว จะมาตรัสรู้อีกไม่ได้ แค่พวกเราจบก็จบแล้ว พระศรีอริยเมตไตรย ในอนาคตังสญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก แล้วมันจะมาได้อย่างไร มันถึงว่า “ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์เลย”

ฉะนั้น เราบวชพระกันมาแล้วนะ ต่อไปเราจะบวชหัวใจของเรา ๓ เดือน ออกพรรษาแล้วก็ต่างคนต่างไป ไม่ต้องคิดว่าจะไปตอนนี้ ไม่ต้องคิดว่าอยากไป เดี๋ยว ๓ เดือนแล้วมันต้องไปโดยธรรมชาติของมัน ไม่มีใครอยู่หรอก มันก็ต้องไปทั้งนั้น

ฉะนั้น ไม่ต้องให้กิเลสมันหลอก คิดร้อยแปดพันเก้าจะทำอย่างนั้น จะทำอย่างนี้ จะทำอย่างโน้น บอกมัน อีก ๓ เดือนมึงได้ไปแล้ว ออกพรรษาแล้วก็ต่างคนต่างไป ไม่ต้องมาดีดดิ้นตรงนี้ อย่ามาหลอกใจ อย่ามากระทืบกูนี่ ทุกข์ฉิบหาย เอวัง