ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เพื่อพ้นทุกข์

๑๑ ส.ค. ๒๕๕๕

 

เพื่อพ้นทุกข์
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๑๐๓๙. ถึงข้อ ๑๐๔๔. มันไม่มี มันข้อ ๑๐๔๕.

ถาม : ๑๐๔๕. เรื่อง “การปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์”

กราบนมัสการท่านอาจารย์ เข้าวัดปฏิบัติมานานแต่ไม่จริงจัง รู้สึกเสียดายเวลามาก เสียดายที่มีครูบาอาจารย์อันประเสริฐ รู้แจ้งเห็นจริง แต่ไม่ทำจริงจึงไม่มีคำถาม มาถามพรรษานี้ตั้งใจจะปฏิบัติให้มาก อยากเรียนถามอาจารย์ดังนี้ค่ะ

๑. เริ่มตั้งแต่จะสวดมนต์ไม่ให้ขาดทั้งเช้าและเย็น

๒. เดินจงกรมทั้งเช้าและเย็น ประมาณมีการกำหนดครั้งที่เดินไปกลับ หรือกำหนดชั่วโมง เพื่อให้รู้ว่าทำงานเสร็จ ถูกต้องหรือเปล่าคะ? ควรจะเริ่มต้นครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมงน้อยไปไหมคะ? (กำหนดพุทโธพร้อมนับครั้ง)

๓. การนั่งสมาธิโดยการท่องพุทโธให้ชัดๆ ไม่กำหนดลมหายใจตาม แต่มีการนับครั้งที่ทำถูกต้องไหมคะ? หรือให้รู้ว่างานเสร็จว่างเมื่อไหร่ก็กำหนดทันที

๔. ถือศีล ๘ มานานประมาณ ๓ ปี มีเว้นช่วงไปต่างประเทศประมาณ ๒ อาทิตย์ แต่ก็คิดว่ายังไม่ดีพอ เพราะยังมีความคิดไม่ดีบ้าง พูดผิดบางที อาจทำให้ใครคิดมากหรือเผลอไป สำรวจแล้วยังไม่ดีพอ ตั้งใจจะพูดให้น้อยลง ท่านอาจารย์แนะนำด้วยค่ะ

๕.พระพุทธองค์ตรัสว่า “ปฏิบัติให้ใกล้ความพ้นทุกข์ก็ต้องออกจากโลก” แต่ตอนนี้มีพระอรหันต์ที่บ้านให้ดูแลอยู่ จำเป็นไหมคะที่ต้องออกจากโลก (ท่านหมายถึงบวชใช่ไหมคะ แต่ปัจจุบันมีแต่บวชชี)

๖. ขอให้อาจารย์แนะนำให้ผู้เริ่มปฏิบัติจริงเพิ่มเติมด้วยค่ะ จะพยายามปฏิบัติเพื่อบูชาตลอดพรรษานี้ ปฏิบัติแทนพระคุณ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และครูบาอาจารย์ที่เคารพทุกองค์

ตอบ : นี่ความเห็นเขา เห็นไหม เพราะเพิ่งเขียนมาถามเมื่อ ๒-๓ วันนี้ แล้วเราตอบไป พอตอบไปทีนี้ก็ถามกลับมา เพราะความตั้งใจ ความเห็น

ถาม : นี่เข้าวัดปฏิบัติมานานแต่ไม่จริงจัง รู้สึกเสียดายเวลามาก เสียดายที่มีครูบาอาจารย์อันประเสริฐ รู้แจ้งเห็นจริง แต่ไม่ทำจริง จึงไม่มีคำถาม แต่พรรษานี้ตั้งใจจะทำ

ตอบ : ทีนี้ตั้งใจจะทำ ถ้าตั้งใจทำมันตื่นตัวไง เวลาปลุกปลอบ เวลาอยู่กับครูบาอาจารย์นะ ครูบาอาจารย์ท่านจะให้กำลังใจ ท่านจะคอยปลุกปลอบตลอดเวลาให้เราตื่นตัว แม้แต่เวลาอยู่กับหลวงปู่มั่นนะ ครูบาอาจารย์อยู่กับหลวงปู่มั่น เวลาเดินขาดสติท่านช็อตทันที ท่านปั๊บทันทีเลยเพื่อจะให้ไง คือเหมือนกับเรามันรับไม่ได้

อย่างเช่นหลวงตาท่านพูดอยู่นะ เวลาอยู่ที่บ้านตาดท่านเดินไปตรวจตามกุฏิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสมัยพุทธกาลนะ ถึงเวลาจะเดินตรวจไปตามกุฏิ ไปดูว่าพระอยู่อย่างไร? พระปฏิบัติตัวอย่างไร? พระพุทธเจ้าจะเดินตรวจสำรวจตลอด หลวงปู่มั่นท่านก็ทำอย่างนั้น นี่หลวงปู่มั่น แล้วถ้ากลางคืน เห็นไหม ดูสิที่รู้วาระจิต นี่จะเห็นเลย เห็นเงาลางๆ หลวงปู่มั่น เพราะหลวงปู่มั่นส่งจิตไปดูพระ พระนอนอย่างไร? พระทำตัวอย่างไร? ส่งไปดูเลยนะ

นี่แม้แต่ร่างกายไปตรวจก็ได้ เอาใจไปดูก็ได้ หลวงตาท่านก็ไปตรวจกุฏิ ท่านก็ไปดูตามที่พระอยู่ ท่านเห็นนะ ไปเห็นพระ พระบอกว่าถือแปรงสีฟัน ถืออยู่อย่างนั้นแหละ ท่านบอก นี่ท่านเห็นแค่นี้นะท่านบอกว่าเป็นการขาดสติ ท่านบอกกิริยาอย่างนี้หรือ? คนอย่างนี้หรือจะต่อสู้กับกิเลส? ท่านรับไม่ได้นะ แค่เห็นพฤติกรรม เห็นกิริยาของเรา คนที่ปฏิบัติเขารับไม่ได้แล้ว ถ้าเขารับได้นะมันต้องแบบว่ามีสติพร้อม มันจะเตรียมตัวพร้อม ถ้าอย่างนั้นได้

นี่ไงเวลาอยู่กับครูบาอาจารย์ ถ้าเป็นอย่างนั้นนะโดนทันที โดนเพราะอะไร? โดนเพราะเราไปอยู่กับท่านแล้วเราขอนิสัย การขอนิสัยคือขอให้ท่านสั่งสอนเรา ขอให้ท่านบอกเรา ถ้าไม่ขอนิสัยนะ ถ้าไม่ขอนิสัยเราก็ไม่กล้าบอกเหมือนกัน เพราะอะไร? เพราะว่าเราไม่มีสิทธิไง แต่ถ้าเขาขอนิสัยแล้ว เหมือนกับเขามาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ พอฝากตัวเป็นลูกศิษย์ แล้วเราไม่สอนลูกศิษย์เรา เรานี่ผิด แล้วถ้าเขามาฝากตัวเป็นลูกศิษย์แล้วเขาขอนิสัย ให้เราคอยบอกเขา ถ้าเขามีความพลั้งเผลอนี่ได้เลยๆ เพราะใส่เลย ใส่เพื่ออะไร? ใส่เพื่อให้เขาได้มีสติ ให้กลับมาพร้อมที่จะต่อสู้กับกิเลส

ทีนี้ย้อนกลับมาที่คำถามนี่ไง คำถาม เห็นไหม

ถาม : นี่เข้าวัดมานาน แต่ไม่จริงจัง รู้สึกเสียดายเวลามาก รู้สึกเสียดายเวลามาก

ตอบ : ถ้ารู้สึกเสียดายเวลามันก็เสียไปแล้ว แต่ถ้าไม่มีความรู้สึกเลยมันก็ไหลตามไป เออ เราก็เป็นคนดี นี่มีคำโต้แย้งของกิเลสบ่อยมาก เราก็เป็นคนดีแล้วทำไมต้องไปวัด? เราก็เป็นคนดี อยู่บ้านเป็นคนดีแสนดีเลย มีพระอรหันต์ในบ้านด้วย ดูแลพ่อ ดูแลแม่ ทำดีหมดเลย แล้วทำไมต้องไปวัด ก็คนดีแล้ว ดีอย่างนี้มันดีหยาบๆ ไง

ถ้าดีอย่างนี้ คำว่าไปวัด ทำไมต้องไปวัด? นี่ไปวัดมันไปชาร์ตไฟ เวลาเที่ยวธุดงค์ เห็นไหม ธุดงค์ไป นี่เวลาเข้าพรรษา ออกพรรษาแล้วพระจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกือบทั้งนั้นเลย เวลาไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามคำแรกเลย ภาวนาอย่างไร? เลี้ยงดูหัวใจตัวอย่างไร?

การภาวนาอย่างไร คือเลี้ยงดูแลหัวใจของตัว ถ้าใครเลี้ยงดูหัวใจของตัวมันจะทำผิดไหม? คนมันปล่อยใจตัวเองไง แต่ไปปรารถนาลาภสักการะ ไปปรารถนาชื่อเสียง ปรารถนาผลงาน ปรารถนาจะทำอะไรเพื่อศาสนาไง ไปปรารถนาข้างนอกไง แล้วก็ลืมหัวใจตัวไง มันก็คิดเหยียบย่ำตัวอยู่นี่ไง แต่เวลาไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านไม่เคยถามอย่างนี้เลย ในพระไตรปิฎกทั้งนั้นแหละ เวลาออกพรรษาแล้วพระจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามว่า

“เธออยู่กันอย่างไร? ความทุกข์นี้พอทนได้อยู่ไหม? เพราะเรื่องทุกข์มันเป็นความจริงอยู่แล้ว ทุกข์นี่เธอพอทนได้อยู่หรือ? เธออยู่กันอย่างใด? แล้วถ้าภาวนาเป็นนะ นี่ปฏิบัติอย่างใด?”

พระโสณะ พระกัจจายนะอยู่ทางตะวันตกของประเทศ อยู่ชนบทของประเทศ นี่แล้วไปเผยแผ่ธรรม ทีนี้เผยแผ่ธรรม นี่รองเท้า ๒ ชั้น รองเท้าเหลือชั้นเดียว ท่านเดินบนเขาแล้วมันไม่สะดวก ก็ให้พระโสณะมาขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้อยู่ในวิหารเดียวกัน คือให้อยู่ในกุฏิเดียวกันเลย พออยู่ในกุฏิเดียวกันแล้วนะ คืนนั้นให้พระโสณะบรรยายธรรมให้ฟัง ก็นี่ไงที่ว่าเวลาเราขึ้นไปหาหลวงปู่มั่นแล้วหลวงปู่มั่นตรวจสอบ เวลาไปหาหลวงตา

“ภาวนามาเป็นอย่างไร? ปฏิบัติมาเป็นอย่างไร?”

นี่ก็เหมือนกัน พอไปอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโสณะ พระกัจจายนะให้พระโสณะมาขอ ขอเรื่องรองเท้า ขอเรื่องพระ ๕ องค์ ถ้าในชนบทประเทศให้บวชได้ นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้พระโสณะอยู่ในวิหาร คืออยู่ในกุฏิเดียวกัน แล้วคืนนั้นให้พระโสณะบรรยายธรรมให้ฟัง ก็คือบรรยายการปฏิบัติให้ฟังไง นี่พระโสณะเรามั่นใจว่าเป็นพระอรหันต์ เพราะบรรยายธรรมขึ้นมาพระพุทธเจ้าสาธุ สาธุ

มันก็เหมือนครูบาอาจารย์เรา นี่ครูบาอาจารย์ของเราเวลาธัมมสากัจฉา เวลาไปเที่ยวป่ากลับมาขึ้นไปรายงานหลวงปู่มั่น นี่เราไปลาหลวงตาออกไปเที่ยว กลับมาปั๊บหลวงตาถามว่าไปอยู่ที่ไหนมา? ปฏิบัติอย่างไรมา? นี่การกระทำมันเป็นแบบนี้ พอเป็นอย่างนี้ปั๊บลูกศิษย์จะตื่นตัวมาก จะตื่นตัวมาก นี่มันจะไม่ปล่อย ไม่เสียเวลาที่ผ่านไป

นี่เขาว่า

ถาม : รู้สึกเสียดายเวลามาก

ตอบ : ถ้ารู้สึกเสียดายเวลามาก เรามีสติของเรา เราพยายามทำของเรา อย่าให้เวลานี้เสียไป แค่รู้สึกตัวอันนี้คืออริยทรัพย์ นี่ความผิดของเรา ใครบอกเรา ใครทำเรา ถ้าเราเห็นความผิดของเรา เราแก้ไขของเราได้ สิ่งที่เรามีปัญหากันอยู่นี้เพราะทุกคนเป็นคนดีหมดไง ทุกคนก็ว่าดีทั้งนั้น เอาความดีกับความดีโต้แย้งกัน เอาความดีกับความดีขัดแย้งกัน เพราะไม่เห็นความผิดของเราไง

นี่ความดีของเรา ใช่มันเป็นความดี เห็นไหม เราเป็นคนดีแล้วทำไมต้องไปวัด? แล้วไปวัดมันได้อะไรขึ้นมา? ไปวัดไม่เห็นทำอะไรกันเลย ไปวัดไปทำอะไร? อ๋อ ที่เขาทำนะ เวลาไปวัดทำนะเขาอาบเหงื่อต่างน้ำ ไอ้นั่นเขาทำนวกรรม การก่อสร้าง การทำสิ่งใด อันนั้นเพื่อที่อยู่อาศัย เขาทำนะ ดูสิเวลาหลวงตาท่านวิเวกไป พอชาวบ้านเขารู้ปั๊บเขาก็มาสร้างร้านให้ ๒ วัน ๓ วันก็เสร็จ นี่สร้างร้านให้คือว่ามาถึงก็แคร่ไง ผูกแคร่ มุงหลังคาให้ก็เท่านั้นแหละ ถ้าไปไหน ถ้าเขาทำให้มันเรื่องบุญกุศลของเขา น้ำใจของเขา เราก็ไม่ติดข้องกับสิ่งใดเวลาไปพักที่ไหน

นี่เวลาไปวัดไปทำอะไรกัน ถ้าไปทำอย่างนั้นเขาทำที่อยู่อาศัย ทำเพื่อปัจจัยเครื่องอาศัย แต่ถ้าเวลาเขาทำในใจล่ะ? ไม่เห็น เวลานั่งเฉยๆ พระทำอะไร? พระทำอะไร? โอ้โฮ พระทำอะไร? เกือบตาย พระเกือบตาย อดอาหารนะ ตั้งสตินะ โอ้โฮ เอาใจตัวเองไว้นะ พยายามดึงไว้นะเกือบตาย เขาว่าพระทำอะไร? พระไม่เห็นทำอะไรอยู่เฉยๆ โอ้โฮ อยู่เฉยๆ ใจมันดิ้นโครมๆๆ อยู่นี่อยู่เฉยๆ จะเอาใจอยู่นี่ พระทำอะไร?

นี่ไปวัดไปวากัน ถ้าคนเอาจริงเอาจัง เห็นไหม เราก็อยู่ในทางจงกรมของเรา นั่งสมาธิของเรา เพื่อรักษาหัวใจของเราถ้าดูแลใจของเราได้ ถ้าดูแลใจของเราได้ นี่เรามีเงิน มีทองเราจะทำสิ่งใดก็ได้ ถ้าจิตใจร่มเย็นเป็นสุข เราคิดหรือเราปรารถนาสิ่งใด เราทำสิ่งใดมันก็สมความปรารถนา นี่พูดถึงเรื่องโลกนะ แล้วพอมีสิ่งใดมาขุ่นข้องหมองใจ ในใจเรามันก็ไม่ไปติดไป ไม่ติดใจเพราะอะไร? เพราะนี่มันของเก่าแก่ คือของมันมีอยู่แล้ว การนินทา

นินทาแล้ว นี่เขานินทาจริงหรือไม่จริงยังไม่รู้เลย แล้วว่าเขานินทา นินทาจริงหรือเปล่า? เขาเข้าใจอะไรผิดหรือเปล่า? โอ๋ย มันหลายชั้นมากเลย ฉะนั้น พอนินทามามันก็เหมือนกับ (ฟู่) เหมือนเสียงลม ลมพัดใบไม้ไหว เออ มันก็ไหวสิ ใบไม้ไหว กูไม่ไหว เออ ใบไม้มันก็ไหวไปสิ ลมพัดใบไม้ก็ไหวไป ไม่สน เราไม่สนได้เพราะอะไร? เพราะเราไม่เดือดร้อนไปกับเขา นี่เห็นไหม มันไม่จริงอย่างที่เขาว่า ถ้ามันจริงอย่างที่เขาว่า เขาว่าจริงหรือเปล่า? จริงอย่างไร? ถ้าจริงเราก็แก้ไขของเรา มันก็จบนะ

นี่พูดถึงว่าถ้าเรายังเสียดาย เรายังสำนึกตัวเองได้ เห็นไหม การสำนึกตัวเองได้ใครก็สั่งสอนได้นะ ที่สั่งสอนกันไม่ได้เพราะเขาไม่สำนึกตัวเขา เขาว่าเขาเป็นคนดี ดีจนดีเหนือโลกไง แต่ถ้าเขาสำนึกตัวเขาได้ นี่เพราะสำนึกได้ เราคุยกันได้ ถ้าคุยกันได้ นี่เริ่มต้น เขาบอกว่า

ถาม : จะเริ่มต้นสวดมนต์ไม่ให้ขาดทั้งเช้าและเย็น

ตอบ : ถ้าทำได้มันก็เป็นสมบัติของเรา เวลาเราตักบาตร เห็นไหม เราตักบาตรเราก็ได้บุญของเรา เวลาเขาตักบาตรดอกไม้ นี่เขาว่าเครื่องของหอมเขาก็ตักบาตรดอกไม้ เราสวดมนต์ สวดมนต์เช้า สวดมนต์เย็น เราสวดมนต์ของเราก็เหมือนคำบริกรรมของเรา ถ้าเรามีสติปัญญา การสวดมนต์นั้นก็ราบรื่น ถ้าเราคิดนอกเรื่องนอกราว การสวดมนต์มันก็ล้มลุกคลุกคลาน

การสวดมนต์มันก็เหมือนคำพุทโธเหมือนกัน ถ้าสวดมนต์ก็พุทโธ เห็นไหม ฉะนั้น เวลาสวดมนต์ก็สวดมนต์ แต่เวลาพุทโธ พุทโธ ถ้าพุทโธมันสงบแล้วเราไม่ต้องมาห่วงว่าต้องสวดมนต์ เวลาสวดมนต์นะ เวลานั่งภาวนาไม่ดีเลย นั่งมาทั้งวันเลย แหม จิตใจนี้ไม่ดีเลย แต่เวลาจะสวดมนต์ อู้ฮู ใจก็จะดีแล้วนะ แหม มันก็จะลงพอดีเลย ไอ้สวดมนต์ก็ต้องไปสวดมนต์แล้วนะ โอ๋ย กิเลสนี่มันร้ายนะ เวลานั่งทั้งวันไม่ดีหรอก แต่พอได้เวลาสวดมนต์นะ แหม จิตจะลงๆ ไอ้สวดมนต์ก็จะสวดมนต์นะ มันโต้แย้งกันแล้ว แล้วจะทำอะไรล่ะ?

สวดมนต์ก็คือสวดมนต์ ถึงเวลาเราจะนั่งพุทโธของเรา ถ้าพุทโธได้ก็พุทโธไป นี่มันมีหยาบ มีละเอียดไง ความดีอย่างหยาบๆ แล้วมันจะละเอียดขึ้นไป ความดีเริ่มต้น ท่ามกลาง และที่สุด ถ้าเราทำของเราได้มันก็เป็นประโยชน์กับเรา ถ้าทำได้นะ แล้วดูความจำเป็น นี่ความจำเป็น ถ้าอะไรที่ดีกว่า ที่ดีกว่าเราทำสิ่งนั้น

ถาม : ๒. เริ่มเดินจงกรมทั้งเช้าและเย็นประมาณ มีการกำหนดครั้งที่เดินไป-กลับ กำหนดเป็นชั่วโมงเพื่อให้รู้ว่าทำงานเสร็จ ถูกต้องหรือเปล่าคะ? ควรจะเริ่มต้นครึ่งชั่วโมงหรือ ๑ ชั่วโมงน้อยไปไหมคะ?

ตอบ : อันนี้มันอยู่ที่กำหนดนะ เวลา ถ้าเราตั้งเวลา อย่างคนภาวนาเรานักปฏิบัติอาชีพ เห็นไหม ภิกษุเป็นทางกว้างขวาง เวลาฉันข้าวเสร็จแล้ว ๒๔ ชั่วโมงปฏิบัติทั้งวัน ถ้าปฏิบัติทั้งวัน เวลาเดินแล้วจะเดินแบบครึ่งชั่วโมง ๒ ชั่วโมงมันอาจจะน้อยไป ก็จะเดินจงกรมครึ่งวัน ค่อนวัน ถ้าครึ่งวัน ค่อนวัน ถ้าเราตั้งเวลาปั๊บมันก็จะมองไปที่เวลาแล้ว

ฉะนั้น พอเดินจงกรมมันก็เดินจงกรม เดินจงกรมครึ่งชั่วโมง เดินจงกรม ๒ ชั่วโมง เดินจงกรม ๓ ชั่วโมง นี่จิตใจมันไปฝักใฝ่อยู่กับเรื่องเวลา แต่ถ้าเราเดินจงกรมของเรานะเราตั้งไว้ ๓ ชั่วโมง ถ้าเราเดินของเราไปเท่าไร ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง อย่าไปสนใจมัน นี่ถ้าจิตมันลงมันจะลงได้ ถ้าลงไม่ได้มันก็กังวล ถ้าลงไม่ได้นะ เวลามันตึงเครียด เวลามันเหนื่อย มันอ่อน มันเพลีย มันอยากให้ถึงเวลาเลยมันก็ว่าเมื่อไหร่มันจะ ๓ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมงมันอยากจะทุบนาฬิกาทิ้งเลย นาฬิกามันเดินช้า อันนี้มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะการปฏิบัติใหม่มันก็เริ่มต้นกันอย่างนี้ทั้งนั้นแหละ

ฉะนั้น เราจะบอกว่าเวลานะมันเป็นประโยชน์กับการที่ว่าเราจะต้องหมั่นเพียร ต้องตั้งระยะเวลาให้เราไม่จับจด แต่เวลานั้นมันก็ไม่ใช่ว่าปฏิบัติเพื่อเอาเวลาเหมือนกัน นี่ปฏิบัติ ๓ ชั่วโมง เดิน ๓ ชั่วโมงจบแล้ว ๓ ชั่วโมง ได้อะไรมา? ได้ความภูมิใจมา ปฏิบัติ ๓ ชั่วโมง แต่จิตใจมันลงไหมล่ะ? แต่ถ้าปฏิบัตินะ พอเวลาปฏิบัติไป ๑๐ นาที ๒๐ นาทีแล้วจิตมันลงวูบ หายไปทีหนึ่ง ๓-๔ ชั่วโมง วูบไปไม่ใช่หายนะ หายหมายถึงว่าหายในการปฏิบัติ แต่ว่ามันมีสติพร้อม มันรวมลงทีหนึ่ง ๓ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมง ออกมานี่มันสดชื่นกว่าไง

ฉะนั้น เวลาปฏิบัติ ปฏิบัติเพื่อความร่มเย็นเป็นสุข เวลานี่เป็นแค่กำหนดให้เราไม่อ่อนแอ กำหนดให้เราอย่าไปกังวล ถ้ากังวลแล้วนี่ จิตนี้แปลก เวลาเรานั่งกันปกตินี่ปกตินะ พอเรานั่งแล้วกลืนน้ำลายสิ เท่านั้นเอง เดี๋ยวก็อึก แล้วทำอย่างไรให้มันหยุดล่ะ? จิตนี่พอมันเกาะอะไรปั๊บมันเป็นทันทีเลย ฉะนั้นพยายามวางไว้เป็นปกติ ถ้ามีสิ่งใดมาก็วางไว้ นี่พอกลืนน้ำลายอึกมันก็จะกลืนอึก อึกตลอดไป ให้ทำไม่รู้ไม่ชี้ กลืนน้ำลาย กลืนแล้วก็กลืน ไม่ไปสนใจมัน เดี๋ยวมันก็จะคายไป เดี๋ยวมันก็จะปล่อยวางไป แต่ถ้าเราไปสนใจหรือไปกังวล ทำไมมันเป็นอย่างนี้? มันยิ่งชัดเจนแล้วแก้ยาก

นี่ใจ เห็นไหม ยางเหนียวติดไปหมด แปะอะไรเป็นติด แปะอะไรเป็นติด อะไรเข้ามาเป็นติดหมดเลย ฉะนั้น เราตั้งสติของเรา แล้วเรากำหนดของเรา สิ่งที่ว่าเวลากำหนดไป นี่เดินจงกรมทั้งเช้าและเย็น ถ้าเราทำได้นะ นี่ในพรรษานี้จะปฏิบัติให้ดี จะทำให้จริงจัง นี่เขาถามมาเพื่อว่าในพรรษานี้จะเอาให้จริงจัง ได้ ทำสิ่งนี้ไปได้ เพราะข้อ ๒. มันจะอยู่กับข้อ ๓.

ถาม : ๓. การนั่งสมาธิโดยท่องพุทโธให้ชัดๆ ไม่กำหนดลมหายใจ แต่มีการนับครั้งถูกต้องไหมคะ?

ตอบ : เดินจงกรม ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง เห็นไหม ถ้าเรากำหนดลมหายใจก็ได้ แต่นี่เพียงว่ากำหนดลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธเป็นการฝึกหัดใหม่ การฝึกหัดใหม่เราพูดกันเรื่องจิต เรื่องกายกับจิต กายกับจิต ก็บอกว่านี่เป็นโวหารหรือเปล่า? เรื่องจิต เรื่องนรก-สวรรค์ มีจริงอยู่หรือ? กายก็คือกายเรานี่แหละ

นี่ก็เหมือนกัน ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเรื่องจิตมันเป็นนามธรรม มันจะจับต้องได้อย่างไร? มันจับต้องอย่างไร คนมันก็แบบว่าลูบคลำ พอลูบคลำไปมันทำอะไรมันก็ไม่ชัดเจนทั้งนั้นแหละ พอไม่ชัดเจนแล้ว ผู้ที่ปฏิบัติใหม่ถึงให้หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ให้พุทโธ พุทโธให้มันชัดเจน ชัดเจนเพราะเป็นรูปธรรม พอรูปธรรมปั๊บ พอถ้าเราปฏิบัติไป ถ้าผู้ปฏิบัติมาเก่าแก่ ถ้ามันเก่าแก่นี่หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธมันเหมือนกับเริ่มต้นฝึกหัดใหม่ การฝึกหัดใหม่ต้องเป็นรูปธรรมเพื่อให้จับต้องได้

นี่บอกวิทยาศาสตร์ทางจิต วิทยาศาสตร์การประพฤติปฏิบัติ วิทยาศาสตร์ทางธรรม เห็นไหม นี่ทำทางธรรมให้เป็นวิทยาศาสตร์ ให้มันจับต้องได้ ถ้าจับต้องได้มันเป็นวิทยาศาสตร์ มันเป็นสสาร มันเป็นสิ่งที่ทดสอบกันทางโลก มันก็เป็นเรื่องโลกกันไปหมดเลย มันก็ชัดเจนไปหมดเลย ถ้าชัดเจนไป กลัวไม่ชัดเจนมันก็เริ่มหงุดหงิด หงุดหงิดไปเดี๋ยวก็นั่งหลับแล้ว นั่งหลับเพราะอะไร? เพราะมันหน่วงกัน พอมันหน่วงกันนะ พอเวลาปฏิบัติไปแล้วให้ทิ้งอันใดอันหนึ่ง

พุทธานุสติกับอานาปานสติ กำหนดลมหายใจเป็นอานาปานสติ กำหนดพุทโธเป็นพุทธานุสติ ถ้าเรากำหนดพุทธานุสติ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ นี่อย่างนี้ปั๊บไม่ให้จิตมันแฉลบ อย่างนี้ก็ถูกต้อง แล้วถ้าเรากำหนดลมหายใจชัดๆ ลมอย่างเดียว สิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ชัดเจน สิ่งใดให้มันชัดเจน บอกว่า

ถาม : กำหนดพุทโธโดยไม่กำหนดลมหายใจตามถูกหรือไม่?

ตอบ : ถูก เพียงแต่ว่าถูก ถ้ามันเอาลมหายใจกับพุทโธมาพ่วงกัน มาให้เป็นรูปธรรม ให้เป็นสิ่งที่จับต้องได้ง่าย แต่จับต้องได้ง่ายมันก็เป็นความรับรู้สึกหลายทาง ทั้งพุทโธด้วย ทั้งอานาปานสติด้วย เวลากำหนดลมพะวงให้ลมเข้าพุท ลมออกโธให้มันชัดเจน เสร็จแล้วพอสติมันอ่อนล้า พออ่อนล้าปั๊บมันก็จะหายแว็บ แล้วก็หลับ ตกภวังค์ คนปฏิบัติส่วนใหญ่จะเป็นแบบนี้ ลมหายใจเข้าพุท ลมหายใจออกนึกโธนี่ พยายามอยู่กับมัน เสร็จแล้วมันก็จะหายแว็บไปเลย ไม่ก็ตกวูบหายไปเลย นั้นคือภวังค์ ตกภวังค์หายหมด

ฉะนั้น ถ้าเราจะให้ชัดเจนนะ พอเราวางอันใดอันหนึ่ง จับปลาสองมือ จับปลาตัวเดียวจับให้มั่นคั้นให้ตาย พุทโธก็พุทโธชัดๆ พุทโธ พุทโธ พุทโธ เร็วก็ได้ เร็วถ้าจิตมันแฉลบ จิตนี่ถ้าวันนี้อารมณ์ดี วันนี้ทำสิ่งใดดีหมดเลย เวลาพุทโธนี่ แหม พุทโธดีมากเลย เราก็พุทโธพอประมาณ แต่ถ้าวันนี้นะเราออกไปโดนคนติเตียน ออกไปแล้วไปเจอผลกระทบที่จิตใจนี้มันขุ่นมัวหมดเลย วันนี้พุทโธมันจะคิดแต่เรื่องนั้นแหละ คิดแต่สิ่งที่จิตใจมันขุ่นมัว ฉะนั้น ต้องพุทโธ พุทโธ พุทโธ คือไม่ให้มันคิดไง

ฉะนั้น คำว่าพุทโธมันช้าได้ เร็วได้ มันเร่งได้ไง ถ้าวันไหนจิตใจดีนะ พุทโธนุ่มนวลเลย พุทโธ พุทโธ โอ๋ย จิตใจดี มันก็อยู่ได้ แต่ถ้าวันไหนจิตใจมันกระทบมารุนแรงนะ พุทโธไม่อยู่หรอก ต้องพุทโธ พุทโธ พุทโธ ไล่เข้าไปเลย รัวเป็นปืนกลได้ไม่มีเสียหาย เพราะมันชัด เพราะมันชัดมันอยู่กับพุทโธไง เพราะไม่ให้จิตมันแฉลบออกข้างนอก ถ้ามันพุทโธได้อย่างนี้ นี่พุทโธมันมีประโยชน์ตรงนี้ไง ประโยชน์ที่ช้าก็ได้ เร็วก็ได้ แต่ถ้ากำหนดพร้อมลมนะ เร่งได้ไหม? ไม่มีสิทธิ์

พุทเข้า ออกโธ แล้วเวลากระทบมารุนแรง พุทโธ โอ้โฮ เมื่อกี้คนนั้นมันว่าเรา พุทโธ อู้ฮู มันทุกข์ใจมาก พุทโธ นี่มันแฉลบตลอด พุทโธเพราะลมเป็นตัวกำหนดไง ถ้าเราวางลมใช่ไหม? เราพุทโธชัดๆ หรือถ้าคนปฏิบัตินะวางพุทโธเอาลมชัดๆ วางพุทโธแล้วเอาลมชัดๆ เลย สิ่งใดสิ่งหนึ่งถูกต้อง แล้วเวลาพุทโธกับลมหายใจนี่ผิดหรือ? ไม่ผิด ไม่ผิดสำหรับผู้ปฏิบัติใหม่ ผู้ปฏิบัติใหม่ แบบเรานี่ เห็นไหม อย่างหลวงตานะเวลาท่านออกพิจารณาอสุภะ หลวงปู่มั่นนะเวลาดึงออกมาจากติดสมาธิ ๕ ปี พอดึงออกจากสมาธิ

“นี่มหา จิตดีไหม?”

“ดีครับ ดีครับ”

“ดีอย่างไร?”

“อ้าว ก็มันว่างหมด มันปล่อยหมด”

“โอ๋ย ดีอย่างนั้นมันดีเศษเนื้อติดฟัน เพราะมันดีกว่านี้ยังมี”

“อ้าว ถ้าอย่างนั้นอย่างนี้มันผิดตรงไหนล่ะ? นี่มันเป็นมรรค มรรค ๘ มันเป็นสัมมาสมาธิ”

“อ้าว สัมมาสมาธิของพระพุทธเจ้ามันไม่มีสมุทัยเว้ย สัมมาสมาธิของท่านมันมีสมุทัย สมุทัยคือความไม่รู้ไง”

จนหลวงตาท่าน อืม จริง พอจริงก็ออกมาพิจารณา พอพิจารณามันใช้ปัญญา มันเป็นอสุภะ นี้ปัญญามันหมุนเร็วมาก มันไปเต็มที่เลย มันเหนื่อยมาก นี่พอมันเป็นมหาปัญญา ปัญญาที่มันพิจารณาของมัน มันเหมือนน้ำป่ามันรุนแรงมาก ขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น

“นี่บอกว่าให้พิจารณาๆ ตอนนี้มันก็พิจารณานะ ไม่ได้หลับ ไม่ได้นอนเลย มันจะตายแล้วล่ะ”

“ไอ้บ้าสังขาร”

“แล้วบ้าสังขารแล้วทำอย่างไรล่ะ? นี่เวลาออกใช้ปัญญาทำอย่างไรล่ะ?”

“ทำอย่างไรก็ต้องหยุดมันให้ได้ไง”

“หยุดทำอย่างไรล่ะ?”

“กลับมาพุทโธไง” ท่านบอกต้องกลับมาพุทโธ พุทโธ พุทโธ

นี่เวลาใจนะถ้ามันไปแล้วมันไม่มีทางไป กลับมาพุทโธ มาเกาะพุทโธไว้ เกาะพุทโธ พุทโธ เพราะบังคับไว้ เพราะมันออกไปพิจารณาอสุภะ มันเต็มที่ไปเลย มันจะเอาแต่งาน มันพอใจของมัน แล้วมันไปทางเดียว พอไปทางเดียวท่านต้องรั้งมาทางพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธจนมันสงบลง พุทโธจนมันเบาลง จนมันได้พัก ท่านบอกมันได้พัก พอพักแล้วนะเหมือนกับรั้งไว้ พอปล่อยก็พุ่งเข้าใส่อสุภะเลย พุ่งเข้าใส่อสุภะเลย เพราะการที่พุ่งใส่อสุภะนั่นเป็นงาน แต่การที่กลับมาพุทโธนั้นเป็นการพักผ่อน เป็นการพักจิต ถ้าไม่ได้พักจิตมันจะตาย

นี่ขนาดพิจารณาขนาดนั้นท่านยังต้องมาที่พุทโธเลย พุทโธเพื่อให้ได้พักจิต ถ้าจิตมันได้พัก เห็นไหม มันได้พักมันก็ก้าวเดินไป สมถกรรมฐานวิปัสสนาไปด้วยกัน ทีนี้ไปด้วยกัน ขนาดที่ว่าพิจารณาเป็นมหาสติ มหาปัญญาแล้วยังต้องกำหนดพุทโธเพื่อพักจิต ฉะนั้น พอพักจิต จิตมันได้พักแล้วมันจะก้าวเดินไปด้วยความถูกต้อง

ฉะนั้น เวลาของเรา เห็นไหม ของเราที่ว่า

ถาม : เรากำหนดลมหายใจกับพุทโธ ถ้าเราแยกจากกันถูกหรือผิด? ใช่ไหมคะ?

ตอบ : ใช่ ถ้าเราทำแล้วนะ การกระทำในการปฏิบัติมันเหมือนกับการฝึกทำอาหาร การทำสิ่งต่างๆ พอเราชำนาญแล้วเราจะทำสิ่งใดก็ได้ เราจะคล่องตัวมาก อาหารนี่เราทำได้ เราพลิกแพลงได้หมดเลย เห็นไหม เราเอาสูตรต่างๆ มาพิสูจน์ เอามาดัดแปลง พอดัดแปลงขึ้นมามันเป็นสูตรของเราใหม่ขึ้นมาเลย เป็นอาหารชนิดใหม่ เราคิดขึ้นมาเอง นี่ก็เหมือนกัน ปฏิบัติไปแล้วปัญญามันเป็นปัจจุบันตลอด ปัจจุบันตลอดมันทันของมันตลอด ถ้ามันทันตลอดมันก็ใช้ได้ ใช้ของมันได้

ฉะนั้น

ถาม : ๓. การนั่งสมาธิโดยการท่องพุทโธให้ชัดๆ ไม่กำหนดลมหายใจตาม

ตอบ : เห็นไหม ไม่กำหนดลมหายใจตามเพราะเขากลัวผิด ว่ากำหนดพุทโธด้วย ต้องบวกกับลมหายใจด้วย

ถาม : แต่มีการนับครั้งถูกต้องไหมคะ?

ตอบ : ใช่ พุทโธหนึ่ง พุทโธสอง พุทโธสาม ก็ได้ เป็นความแบบว่าให้สติมันชัดๆ นี่พุทโธด้วยการนับก็ได้ พุทโธหนึ่ง พุทโธสอง พุทโธสาม จนพุทโธพัน พุทโธหมื่น พุทโธไปเรื่อย นี่เวลาหลวงตาท่านคนที่ปฏิบัติเป็นนะเห็นคุณค่า พุทโธนี้สะเทือนสามโลกธาตุ พุทธะนี่สะเทือนไปหมดเลย สะเทือนที่ไหน สะเทือนที่หัวใจเรา แต่ของเราพุทโธเกือบตาย มันสะเทือนที่หมอนไง มันจะหลับอย่างเดียว ถ้าคนไม่เป็นมันก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่คนเป็นท่านพูดถึงคุณค่าของมัน คุณค่าของมันพุทโธนี่สะเทือนสามโลกธาตุ แล้วนี่ใครพูดล่ะ? พระอรหันต์พูด แล้วเราจะทำได้อย่างนั้นไหมล่ะ? เรายังไม่เห็นคุณค่าอย่างนั้นเราก็ไม่รู้ แต่ถ้าเราเห็นคุณค่าอย่างนั้นเราก็จะรู้ของเรา

ฉะนั้น

ถาม : สิ่งที่พุทโธโดยที่ไม่ต้องกำหนดลมหายใจถูกไหม?

ตอบ : ถูก เพียงแต่ว่า เห็นไหม เพียงแต่ว่าหมายถึงว่า ถ้ามันไปข้างใดข้างหนึ่งจนสุดโต่งแล้วไม่มีทางไป ไอ้ฝ่ายตรงข้ามเป็นการฝึกหัดพักจิตได้ ถ้าพุทโธอย่างเดียว หรือลมหายใจอย่างเดียว ถึงที่สุดแล้วมันเหนื่อยอ่อน มันเหนื่อยล้าแล้วเราก็มาพุทโธพร้อมลมหายใจบ้าง เพื่อให้มันได้พักผ่อนไง เหมือนกับเราวิ่งมา เราลงแข่งขันกีฬามาเต็มที่แล้ว มันล้าเต็มที่แล้ว เราก็มาวอร์มพักของเรา จิตมันต้องมีการวอร์ม การพักบ้าง เพื่อเวลาออกไปทำงานมันจะได้ชัดๆ ของมัน

นี่พูดถึงวิธีการนะ ข้อที่ ๔. นี่สิ

ถาม : ๔. ถือศีล ๘ มานานประมาณ ๓ ปี มีเว้นช่วงไปต่างประเทศ ๒ อาทิตย์ คิดว่ามันไม่ดีพอควรทำอย่างใด?

ตอบ : ไอ้ถือศีลนี่นะ ศีลถ้าเราถือของเรา ถ้ามันถือศีล ๘ มันดี ถ้ามันดีเพราะอะไร? เพราะเราประพฤติปฏิบัติของเราใช่ไหม? เราปฏิบัติของเรา ฉะนั้น สิ่งที่ว่ามันเว้นไป การพูดถูก พูดผิด คนเรานะพูดถึงเราเป็นปุถุชนมันขาดสติได้ การพูดถูก พูดผิด ถ้ามันไม่มีเจตนาทำให้ใครเสียหาย ไม่มีเจตนา ไม่มีผลได้เสีย ถ้าไม่มีผลได้เสีย ความผิดพลาดมันมีทุกคนแหละ ปุถุชนคนหนาด้วยกิเลส ยังเป็นคนหนาอยู่ จะทำทุกอย่างให้ถูกต้องโดยไม่มีความผิดพลาดมันเป็นไปได้ยาก แต่เราก็พยายามทำความจริงของเรา

เพียงแต่ว่าพอเราถือศีล เห็นไหม ถ้าเราถือศีลมา ๓ ปีดีหมดเลย มีช่วงยกเว้นไปบ้าง แล้วก็มีสิ่งที่พูดผิดบ้าง ไอ้เวลามันทำผิดมันจะไปลบล้างคุณงามความดีของเราไง เพราะเราตั้งใจถือศีลของเรามา เราตั้งใจทำคุณงามความดีของเรามา พอมันผิดปั๊บ พอผิดแล้วจะเลิกเลย ยกเว้นเลย เพราะเราผิดแล้ว เราทำอะไรไม่ได้แล้ว ผิดมันก็คือผิด ดูพระสิ พระเวลาลงอุโบสถ เพราะในอุโบสถสมัยพุทธกาลเขาไม่ได้ปลงอาบัติ เพราะ เพราะว่าเขาฟังเป็นภาษาบาลีใช่ไหม? พอเสร็จแล้วเขาสะกิดว่าตรงนี้เขาผิด นี่เดี๋ยวเขาจะปลงอาบัติของเขา แต่ทีนี้เราฟังบาลี บางทีฟังบาลีไม่ออกใช่ไหมเราปลงอาบัติไว้ก่อน ถ้าปลงอาบัติเสร็จแล้ว เวลามันเป็นสิ่งใดมันปลงอาบัติเพื่อลงอุโบสถ

นี่แม้แต่พระยังต้องมีการปลงอาบัติกัน เพราะมันมีความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดา ความผิดพลาด ความผิดพลาดโดยที่ไม่มีเจตนา เห็นไหม ถ้าไม่มีเจตนาจะบอกว่าไม่ผิดก็ได้ แต่ แต่มันก็มีความกังวลในใจ มันเกิดนิวรณธรรม เกิดต่างๆ เวลาปลงอาบัติแล้วก็เพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ เพื่อภาวนาให้ได้ ถ้าภาวนาได้มันก็ดีไป แต่ถ้ามันมีอะไรในใจ พุทโธนี่ไม่ลงหรอก มันทำของมันไม่ได้ ถ้ามันทำของมันได้มันจะเป็นประโยชน์กับมันนะ

นี่พูดถึงว่าถือศีล เราถือศีลเพื่อเป็นประโยชน์นะ สีเลนะสุคะติง ยันติ สีเลนะโภคะสัมปะทา ศีลมีโภคทรัพย์ ศีลให้โภคทรัพย์เพราะอะไร? เพราะเราถือศีลแล้วเราจะไม่จ่ายฟุ่มเฟือย เห็นไหม โภคทรัพย์มันเกิดขึ้นแล้ว ถ้าเราไม่ถือศีลเราทำสิ่งใดมันก็ปกติ นี่สีเลนะสุคะติง ยันติ มันเกิดความสุข เกิดความระงับไง ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมะย่อมคุ้มครอง คุ้มครองเพราะเราปฏิบัติธรรมไง ถ้าเราถือศีล นี่ธรรมะจะคุ้มครองเรา คุ้มครองเพราะด้วยศีล ด้วยธรรมจะคุ้มครองเรา ถ้าคุ้มครองเราถ้ามันผิดพลาดบ้างล่ะ? มันเป็นเรื่องธรรมดา นี่เป็นเรื่องธรรมดาแล้วปล่อยวางไว้

ถาม : ๕. พระพุทธองค์ตรัสว่า “การปฏิบัติให้ใกล้กับความพ้นทุกข์ต้องออกจากโลก” แต่ตอนนี้มีพระอรหันต์ที่บ้านให้ดูแลอยู่ จำเป็นไหมคะที่ต้องออกจากโลก (ออกจากโลกหมายถึงการบวช)

ตอบ : แล้วเวลาพระที่บวช ชีที่บวชเขาออกจากโลกไปไหมล่ะ? เขาก็อยู่ในโลกนี่แหละ การออกจากโลกมันออกจากโลกที่ไหนล่ะ? การออกจากโลก โลกทัศน์ ถ้าออกจากโลก จากใจ ใจมันเป็นโลก ถ้าออกจากโลกที่นี่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดานะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกจากโลกที่ไหน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็อยู่ในโลกนี้ อยู่ในโลกนี้แต่ใจของท่านเป็นพระอรหันต์ ถ้าใจของท่านเป็นพระอรหันต์ เห็นไหม ท่านไม่ติดข้องกับโลกนี้ แต่ท่านอยู่กับโลกนี้

ฉะนั้น ว่าการออกจากโลก ถ้าการออกจากโลกเราต้องเป็นอย่างนั้นๆ ถ้าการออกจากโลกเราอยู่ในบ้านของเราก็ได้ เห็นไหม บอกว่า

ถาม : ในบ้านมีพระอรหันต์ที่ให้ดูแลอยู่ จำเป็นไหมคะที่ต้องออกจากโลก

ตอบ : ถ้าพูดถึงออกจากโลกมันเป็นโอกาสไง อย่างเช่นที่ว่าเราบวชแล้วเราเป็นพระขึ้นมา เราเป็นพระ ถ้าเป็นพระขึ้นมานี่ทางกว้างขวาง ถ้าเป็นพระแล้วสถานที่ที่ปฏิบัติดี ๒๔ ชั่วโมง แต่ถ้าเราเป็นฆราวาสเราต้องมีหน้าที่การงาน เราจะต้องมีความรับผิดชอบ ฉะนั้น เวลารับผิดชอบ เสร็จจากงานแล้วเราถึงจะภาวนา นี่ทางคับแคบคับแคบตรงนี้ ถ้าคับแคบตรงนี้ แต่ถ้าเรามีความจำเป็น เรามีความจำเป็นต้องอยู่ในสถานะนี้ ถ้าสถานะนี้เราจะออกจากโลกจากใจของเราก็ได้ บวชหัวใจ ถ้าใจมันจะออกจากโลก มันก็ออกจากโลกที่นี่ก็ได้

ฉะนั้น เพราะใจมันข้องไง ใจมันข้อง ถ้าศีลนะ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ฉะนั้นเวลาเราปฏิบัติไปมันจะเป็นพระอริยบุคคลได้ไหม? ได้ ถ้าพระอริยบุคคล ดูสิถ้าอยู่ทางโลกนะ ถ้าเป็นพระอรหันต์พระเจ้าสุทโธทนะเป็นพระอรหันต์ นี่ไม่ได้บวชเป็นพระอรหันต์ สิ่งที่เป็นพระอรหันต์ในสมัยพุทธกาลมี มีที่ว่าเป็นคฤหัสถ์เป็นพระอรหันต์มี ฉะนั้น ถ้าเป็นพระอรหันต์นี่ออกจากโลกหรือยัง? ออกจากโลกแน่นอน ถ้าออกจากโลกแน่นอน

ทีนี้เราอยู่กับโลก เห็นไหม เราอยู่กับโลก จะออกจากโลกถือพรหมจรรย์ ถือพรหมจรรย์นะ เราถือศีล ๘ อยู่บ้าน นั่นแหละออกจากโลกแล้ว ถ้าศีล ๕ เราอยู่ในโลก เพราะศีล ๕ เราทำอะไรที่เป็นคู่ครองของเราไม่ผิดพลาด แต่ถ้าศีล ๘ ศีล ๘ จบแล้ว ถ้าศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ นี่ออกจากโลก นี่ถือพรหมจรรย์ ถือพรหมจรรย์ออกจากโลก ถ้าออกจากโลก โลกที่ไหน? โลกเพราะว่าเราบังคับใจเรา บังคับใจเราว่าเราอยู่ในสถานะนี้ ถ้าอยู่ในสถานะนี้ สิ่งที่โลกเขาว่าไม่เป็นความผิด เราผิด ผิดเพราะเราล่วงละเมิด

ถ้าเราไม่ล่วงละเมิด นี่ไงออกจากโลกมันตีความได้หลายอย่าง ทีนี้พอออกจากโลกแล้วจะต้องออกบวชอย่างเดียวใช่ไหม? พอออกบวชอย่างเดียวเราว่าพระอรหันต์ในบ้านต้องดูแลอยู่ มีความจำเป็นอยู่ เพราะถ้าความคิดนี่นะมันจะกลับมาทำให้เกิดความลังเลสงสัย ความคิดมันจะกลับมาให้เราปฏิบัติล้มลุกคลุกคลานไง นี่พอปฏิบัติ เสียงตุ๊กแก เสียงสิ่งใดในบ้านมันทักขึ้นมาก็บอกว่านี่ไงเพราะเราทำผิดอย่างนี้อยู่ จะทำอะไรพอมันทำผิดก็ว่า เออ เป็นอย่างนี้อยู่มันฝังใจ จะทำอะไรปั๊บก็เพราะตรงนี้ จะทำอะไรผิดก็เพราะตรงนี้ เพราะตรงนี้ไง เพราะฝังใจว่าต้องออกจากโลก ถ้าออกจากโลกอยู่บ้านก็ออกได้

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าถ้ามันออกได้จริง เวลาเราเสียสละได้ อันนั้นมันเป็นประโยชน์ มันเป็นโอกาส มันเป็นประโยชน์เพราะว่าเป็นโอกาสที่เราจะปฏิบัติได้เต็มที่ แล้วเวลาอยู่กับครูบาอาจารย์นะ นี่กรณีนี้มันเหมือนกับหลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ฝั้นท่านไปอยู่กับหลวงปู่มั่น ตอนนั้นหลวงปู่ฝั้นท่านเป็นมหานิกาย แล้วพอเป็นมหานิกายนะท่านไปอาศัยหลวงปู่มั่น เวลาหลวงปู่มั่นแบบว่าเทศนาว่าการ ได้ประโยชน์จากหลวงปู่มั่นมหาศาลเลย

ทีนี้เห็นพระไปอุปัฏฐากหลวงปู่มั่น เพราะหลวงปู่มั่นนะเช้าขึ้นมาพระจะไปอุปัฏฐาก จะไปเอาน้ำอุ่นให้ท่านล้างหน้า ต่างๆ ฉะนั้น นานาสังวาสมันทำไม่ได้ไง พอทำไม่ได้ท่านก็คิดของท่าน เรามาอาศัยท่าน เราได้ประโยชน์จากท่านมหาศาลเลย เราจะแทนคุณท่านด้วยการอุปัฏฐากท่านก็ทำไม่ได้ หลวงปู่ฝั้น ครูบาอาจารย์ก็เลยญัตติเป็นธรรมยุตไง เห็นไหม ญัตติเป็นธรรมยุตเพื่ออะไรล่ะ? พอญัตติเป็นธรรมยุตขึ้นมาแล้วก็เพื่อจะมาได้อุปัฏฐากไง เพราะท่านสอนเรา ท่านให้คุณธรรมเรา ท่านให้ปัญญาเรา ท่านให้เชาวน์ปัญญา ท่านสอนวิธีการหมดเลย แต่เราตอบสนองหยิบยาให้ท่านฉันก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้ไง

ฉะนั้น พอท่านญัตติเป็นธรรมยุตแล้ว นี่พอญัตติเป็นธรรมยุตแล้วก็เช้าขึ้นมาจะอุปัฏฐากหลวงปู่มั่น นี่ก็จะไปเอาน้ำอุ่น น้ำต่างๆ ให้ท่านล้างหน้า ให้ท่านต่างๆ ฉะนั้น ไปไม่ทันเขาอีกแล้ว เพราะว่าพอไปตี ๔ เขาไปตี ๓ พอไปตี ๓ เขาไปตี ๒ ไปรอก่อน หลวงปู่ฝั้นท่านมีโรคประจำตัวไง มีโรคประจำตัว เหมือนกับพระสารีบุตรก็มีโรคเจ็บท้องเป็นโรคประจำตัว หลวงปู่ฝั้นก็มีของท่าน ท่านก็เลยนั่งสละตาย นั่งสละตายเสียใจมาก

เพราะที่เราพูดนี้เราฟังมาจากหลวงตา เวลาท่านออกไปธุดงค์นะ เวลามันเป็นโรคเจ็บท้อง โรคประจำตัวปั๊บ ถ้าไปในป่า พอมันขึ้นมาปั๊บมันปวดมาก ท่านจะเอาผ้าปูนอนปูอยู่ในป่า นอน นอนกำหนดพุทโธ พุทโธจนมันบรรเทา บรรเทาก็เดินทางต่อ พอเดินทางต่อ ธุดงค์มาเป็นอย่างนี้ตลอด สุดท้ายท่านก็กำหนดสละตายนั่งตลอดรุ่ง สละตายเลย พอสละตาย เห็นไหม ธรรมโอสถรักษา พอรักษานี่โรคนี้หายขาด พอหายขาดเวลามันลงหมดมันเห็นเหมือนกวางออกจากตัวนี้ไป พออย่างนั้นปั๊บ พอโรคประจำตัวนี้ท่านเบาลงท่านมาอุปัฏฐากหลวงปู่มั่นทันหมู่คณะไง

เวลาใครไปอุปัฏฐากนะ ครูบาอาจารย์ไม่ทันคนอื่น คนอื่นเขาตัก เขาช่วงชิงโอกาสไปก่อน เขาช่วงชิงไปตลอด เราทำไม่ทันเขาไง แข่งดีมันไม่เสียหายหรอก นี่พูดถึงเวลาครูบาอาจารย์ท่านเล่าให้ฟัง ท่านเล่าให้ฟัง เห็นไหม สิ่งที่เราอยู่กับครูบาอาจารย์เราได้ประโยชน์จากท่านมาก ก็อยากจะตอบแทนบุญคุณ ด้วยความเคารพ ด้วยความบูชา เราทำกันไปอย่างนั้น

อย่างเช่นเวลาบิณฑบาตกลับมา ครูบาอาจารย์ของเราบิณฑบาตกลับมา เราล้างเท้า เราทำอะไร เขาไม่ใช่ล้างเท้าโดยนั่นน่ะ เขาล้างเท้าด้วยหัวใจ เพราะหัวใจมันเคารพ หัวใจมันบูชา มันทำด้วยความเชิดชู มันอยากทำ อยากตอบแทนคุณ นี่มันทำมาจากหัวใจ ไม่ใช่ทำเป็นพิธีกรรม ไม่ได้ทำเป็นอย่างนั้น ถ้าไม่ทำเป็นอย่างนั้นนะ นี่สิ่งนี้เวลาเขาอยู่ด้วยกัน ความผูกพันกัน สิ่งนี่ที่เป็นพระปฏิบัติที่ได้ประโยชน์มันได้ประโยชน์อย่างนั้นไง

ฉะนั้น ถ้าเราออกจากโลก เราออกจากโลกมามันก็เป็นแบบนี้ มันเป็นโอกาส เป็นสิ่งที่เรามีโอกาส มีการกระทำ แต่ถ้ามีความจำเป็นอยู่ เรามีความจำเป็น พระอรหันต์ในบ้านก็อยู่ที่เรา เราต้องดูแลรักษา แล้วเราก็อยากปฏิบัติในพรรษานี้ เพราะเราปฏิบัติมานาน เราถือศีลมานาน เราก็ดูแลของเรา สิ่งนั้นมันก็ให้บุญกุศลเราเหมือนกัน เพราะชีวิตนี้ได้มาก็เพราะท่าน ท่านเป็นพระอรหันต์ของเราเราก็ดูแลท่านไป

เราศึกษานี่มันเป็นประโยชน์กับเราใช่ไหม? เราปฏิบัติได้เราก็ทำของเราไป อย่า อย่าให้คุณงามความดีเป็นดาบสองคม อีกคมหนึ่งกลับมาเชือดเฉือนเราไง ถ้าอีกคมหนึ่งไม่กลับมาเชือดเฉือนเรานะมันเป็นดาบ เป็นธรรมโอสถ เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่ถ้าเราใช้ไม่เป็นนะ มันใช้ไม่เป็น เวลาจิตใจดีนี่ แหม ดีที่สุดเลย พอใจมันตกนะ อืม ปฏิบัติธรรมตั้งนานแล้ว เดี๋ยวนี้ปัญญามันเกิดขึ้นแล้ว ว่าสึกไปหรือออกไปข้างนอกมันก็ทำประโยชน์ได้ (หัวเราะ) เวลาจิตใจมันสูงแล้วมันก็จะเข้ามา เวลาจิตใจมันท้อถอยนะ อืม ออกไปอยู่ข้างนอกก็ภาวนาได้

นี่กรณีอย่างนี้มันเกิดขึ้น เสื่อมแล้วเจริญ เจริญแล้วเสื่อม ความรู้สึกนึกคิดของคนมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทีนี้ปัจจุบันนี้ถ้าความรู้สึกนึกคิดเราดีเราทำเพื่อประโยชน์กับเรานะ เพื่อพ้นทุกข์ เพื่อพ้นทุกข์ไง

ถาม : ๖. ขอท่านอาจารย์แนะนำให้ผู้เริ่มปฏิบัติจริงเพิ่มเติมด้วยค่ะ จะพยายามปฏิบัติเพื่อบูชาตลอดพรรษานี้ เพื่อแทนคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

ตอบ : นี่เพิ่มเติมนะ เพิ่มเติมนี่ตั้งสติของเรา สิ่งใดเกิดขึ้นมาเป็นปัจจุบัน อย่าวิตก วิจารณ์กับอดีต อนาคต สิ่งที่ล่วงมาแล้วก็คือล่วงมาแล้ว เสียใจขนาดไหน ไม่พอใจขนาดไหนมันก็เป็นสิ่งที่ผ่านมาแล้ว เราไปแก้ไขประวัติศาสตร์ไม่ได้ ประวัติศาสตร์เขามีไว้ให้ศึกษา นี่ชีวิตของเราตั้งแต่เด็กจนโตเขามีไว้ให้ศึกษาว่าเราผิดอย่างใดมา เราผิดพลาด เราพลั้งเผลอสิ่งใดมา แล้วในปัจจุบันนี้เราก็พยายามจะตั้งสติไว้ แล้วพยายามทำคุณงามความดีของเรา

นี่เราไม่วิตกกังวลกับอดีต อนาคต อนาคตยังไม่มาถึง หลวงปู่หลุยบอกว่า “สมบัติบ้า” ท่านบอกอดีตเหมือนเสลดที่ขากทิ้งไป เสลดเราขากทิ้งไปนะ เราคายเสลดทิ้งไป ถ้าเป็นอดีตก็เหมือนกับเราไปเลียกินเสลดของเราเอง เสลดที่เราคายทิ้งไปเราไปเลียกินมันน่าขยะแขยงไหม? นั้นคืออดีต อนาคต อนาคตคือสมบัติบ้า สมบัติบ้าคือสมบัติที่ยังไม่เป็นจริง มันจินตนาการ

หลวงปู่หลุยท่านพูดเอง อดีตคือเสลดที่คายทิ้งไปแล้ว ถ้าเราไปคิดมันก็เหมือนเราไปเลียกินเสลดที่เราทิ้งไปแล้ว เสลดเราไปเลียกินไม่ได้ เราน่าขยะแขยงมากเลย แต่ความคิด แน่ะ คิดแล้วคิดอีกมันเหมือนกับเสลด แต่อร่อย ชอบ นี่อนาคตคือสมบัติบ้า สมบัติบ้าที่ยังมาไม่ถึง ถ้าสมบัติบ้าที่ยังมาไม่ถึงเราไม่ต้องไปกังวลกับมัน

ฉะนั้น พูดถึงว่าคำแนะนำของเราให้อยู่กับปัจจุบัน ปัจจุบันเรา ชีวิตนี้ได้มานี่มีค่ามาก มีค่าที่ยังมีสติสัมปชัญญะ ดูนะเวลาคนอื่นที่เขามองมาในศาสนา เห็นไหม ใช่ ในเมื่อสังคมที่มันมากขึ้นมันก็มีทั้งคนดีและคนชั่ว มองมานะ เวลามองมาในศาสนาแล้วนี่มีแต่ความต่อต้าน มีแต่ความไม่เห็นด้วย มีแต่ความผลักไส นั่นคืออำนาจวาสนาของเขา เพราะศาสนบุคคล บุคคลในศาสนามันก็มีแตกต่างหลากหลายไป แต่สัจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สัจธรรม ธรรมะที่มีอยู่โดยดั้งเดิมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามารื้อค้นขึ้นมา นี่ใครจะมีปัญญารื้อค้นได้

แม้แต่สมัยปัจจุบันนะ ถ้าไม่ใช่หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ นี่ปฏิบัติขึ้นมาอย่างไร? เพราะธรรมะก็มีอยู่แล้ว หลักเกณฑ์ เพราะวัดมีอยู่ทั่วประเทศไทย แล้วหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เพราะประวัติหลวงปู่มั่น หลวงตาท่านเขียนไม่จบไง ท่านไปหมด ไปพม่า ไปลาว ไปเขมร ไปหมด ไปทำไม? ไปหาคนสอน ตอนหลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติใหม่ๆ ท่านไปมาหมดแล้ว ที่ไหนมีผู้รู้จริง ที่ไหนมีคนบอกได้ขอให้บอกเถอะ เพราะอะไร? เพราะทุกข์ยากเหลือเกิน ไปมาทั่ว ไม่มี ไม่มี เหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปหาศาสดามา ไปหาคนสอนมา สอนไปสอนมาสอนให้ไม่รู้เรื่อง

หลวงปู่มั่นท่านไปหามาหมดแล้ว แล้วในปัจจุบันนี้เราชอบ ไปปฏิบัติที่นู่น ไปปฏิบัติ หลวงปู่มั่นท่านไปตรวจสอบมาหมดแล้วแหละ สุดท้ายแล้วต้องมาใช้ปัญญาขององค์ท่านเอง เพราะองค์ท่านเองท่านพิจารณาของท่านขึ้นมาจนถึงที่สุดแห่งทุกข์นะ ถ้าถึงที่สุดแห่งทุกข์ เห็นไหม นี่สิ่งที่ครูบาอาจารย์ท่านจะค้นคว้ามามันไม่ได้มาง่ายๆ หรอก แล้วเวลาปฏิบัติขึ้นมาเรามีแต่การต่อต้าน เรามีแต่การผลักไส ในสังคมมันก็มีอย่างนั้นแหละ แต่สังคมที่ดีล่ะ? สัจธรรมที่มันมีจริงอยู่ล่ะ? แต่ถ้าสัจธรรมที่มีจริงอยู่ เราเองต่างหากเรายังไม่รู้

นี่เราปฏิบัติไป เห็นไหม เวลาเราไปปฏิบัตินะ คนนู้นก็สอนอย่างนู้น คนนี้ก็สอนอย่างนี้ นั่นมันเรื่องของเขา แต่ความจริงจิตเราสงบจริงไหมล่ะ? จิตเรามันมีวุฒิภาวะรู้ได้ไหมว่าอะไรผิด อะไรถูก ถ้ามันรู้อะไรผิด อะไรถูก จิตของเราถูกแล้วหรือ? เป็นสมาธิจริงๆ หรือ? แล้วเป็นปัญญาขึ้นมาได้จริงหรือ? ถ้าเป็นปัญญาได้จริง ทำไมปัญญา มรรคญาณ ภาวนามยปัญญาทำไมมันไม่ชำระกิเลสล่ะ? ทำไมมันไม่ทำให้เรารู้แจ้งล่ะ? ถ้ามันทำให้รู้แจ้งได้ อันนั้นจะเป็นความจริงของเรา

นั่นพูดถึงว่าให้อาจารย์ช่วยแนะนำสิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะเริ่มต้นไง เริ่มต้นคือว่าไม่ต้องไปวิตกกังวลใดๆ ทั้งสิ้น เราสำนึกได้ เราปฏิบัติได้มันเป็นสมบัติของเรา เพราะ เพราะเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรม ก็เผยแผ่ธรรมให้คนรู้จักตัวเอง ให้รู้จักสำนึกไง ถ้ารู้จักสำนึกแล้ว ถ้าใครรู้จักสำนึกแล้วเขาจะเงี่ยหูลงฟัง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการนะ นี่เวลาคนที่สำนึกตัวเองแล้วจะอนุโมทนากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมือน เหมือนหงายภาชนะที่คว่ำอยู่ให้หงายขึ้น

ภาชนะที่คว่ำอยู่มันปิดหัวใจไง เราแน่ เราเก่ง เรารู้ ไม่ฟังใครหรอก แต่พอพระพุทธเจ้าบอกว่าเอ็งผิด เอ็งยังไม่เข้าใจมันถึงหงายภาชนะขึ้น หงายภาชนะนั่นคือฟังเหตุผลไง ฟังว่า เออ เปิดหูๆ พอเปิดหูฟังนะ พูดมา อืม ใช่ นี่พอใช่ เห็นไหม ถ้าเราสำนึกเหมือนเราหงายหัวใจเราขึ้นมา ถ้าเราได้หงายหัวใจเราขึ้นมาแล้ว ฝนตก แดดออกมันจะมีน้ำ มีต่างๆ อยู่ในภาชนะนั้น จิตใจของเราถ้ามันหงายขึ้นมา สำนึกตนได้ แล้วเราปฏิบัติไป ถ้ามันมีมรรคมีผล มันจะอยู่ในภาชนะเรา ภาชนะนี้มันจะรองรับมรรคผลในหัวใจของเรา มันจะเป็นประโยชน์กับเรา

“ปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์”

เขาบอกว่าเขาอยากปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ วิธีการปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ เพื่อพ้นทุกข์มันต้องมีสัจจะ มีความจริงขึ้นมา แล้วมันจะพ้นจากทุกข์ เอวัง

(เพิ่มเติมท้ายกัณฑ์)

ถาม : นั่งสมาธิแล้วมีเสียงพูดว่า “ใจเป็นสมมุติ” ครับ

ตอบ : ไอ้นี่มันธรรมเกิด นั่งสมาธิแล้วมีเสียงพูดว่า “ใจเป็นของสมมุติ” สมมุติในนี้มันเป็นสมุทัย ถ้ามันเป็นสมุทัยนะ สมุทัยคือความไม่รู้ในใจ แต่ตัวใจ ถ้าใจเป็นของสมมุติ ใช่มันเป็นจริงตามสมมุติ แต่ แต่ถ้าใจเป็นวิมุตติล่ะ? เราบอกว่าใจเป็นวิมุตติไม่ได้ เพราะว่าใจมันเป็นภวาสวะ ใจเป็นภพใจเป็นวิมุตติไม่ได้ แต่ตัวใจนั่นแหละมันจะเป็นธรรมธาตุได้

ฉะนั้น ถ้าบอกว่าใจเป็นสมมุติมันเป็นธรรมเกิด เกิดแล้วเราก็ดูแลรักษาของเราไป ถ้าใจเป็นของสมมุติ แล้วสมมุติทำไมเอ็งให้กูทุกข์มากขนาดนี้ล่ะ? ถามมันกลับ ถ้าถามมันกลับขึ้นไปมันจะเข้าใจได้ไง ถ้าใจเป็นของสมมุติ ถ้าของสมมุติก็เหมือนเขาเล่นหนัง เล่นละครเขาก็สมมุติบทบาทขึ้นมา พอเขาเล่นเสร็จแล้วเขาก็เลิก เขาเล่นเสร็จแล้วเขาได้สตางค์ แต่นี้ถ้าใจเราเป็นสมมุติ พอเอ็งเป็นสมมุติเอ็งหลอกแล้วเอ็งก็ต้องไม่ให้เป็นโทษสิ ทำไมมันเป็นโทษล่ะ?

นี่เวลามันเกิดมา ใช่ ถ้าคิดแบบเริ่มต้น ใจเป็นสมมุติ ถ้ามันเป็นธรรมมันผุดขึ้นมานะมันก็ดีใจ อืมจริง ถ้าจริงแล้วทำให้เราแบบว่าหัวใจมันก็ผ่องแผ้วพักหนึ่ง แต่ถ้ามันละเอียดเข้าไปล่ะ? ถ้ามันละเอียดเข้าไป เห็นไหม อย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ถ้าละเอียดเข้าไปมันก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง

ฉะนั้น จะบอกว่าใจเป็นสมมุติ อืม มันเป็นธรรมเกิดเฉพาะเป็นข้อความของผู้ที่มันผุดขึ้นมาเอง ถ้ามันเป็นสมมุติก็สมมุติว่าชาตินี้ เพราะว่าเวลามันตายไปแล้วมันไม่สมมุติหรอก มันไปอีก มันไปอีกเพราะจิตมันไม่เคยตาย ถ้าจิตเป็นสมมุติ สมมุติแล้วมันก็ต้องแบบว่าเหมือนกับที่ว่าเล่นหนัง เล่นละคร พอเลิกแล้วต่อกันก็ต้องจบกัน แต่ใจนี้มันไม่จบ มันไม่จบไง มันข้ามภพ ข้ามชาติ มันไปเกิดอีกไง ถ้ามันเกิดอีกมันเป็นผลของวัฏฏะ เวลาเกิดในโลกนี้มันเป็นผลของวัฏฏะ แต่ถ้าเวลาทำลายตัวมันแล้ว ทำลายภวาสวะ ทำลายภพ ทำลายใจ ใจทำลายแล้วมันเป็นธาตุ ธาตุอะไร? ธาตุรู้ เป็นธรรมธาตุ นั่นแหละใจที่ไม่เคยตายมันก็เป็นนิพพานอันเดียวกันที่ไม่เคยตาย

ตอบแค่นี้เนาะ ยังสงสัยไหม? มันเป็นแค่ “มีเสียงพูดว่า” คำว่ามีเสียงพูดว่ามันเหมือนธรรมเกิดไง มันเหมือนสิ่งที่เราสงสัย นี่ที่ฟังธรรม ตัวเองมันจะเป็นอย่างนี้ เสียงที่มันขึ้นมา พอขึ้นมามันเป็นอย่างนี้ปั๊บ มันก็เป็นแบบข้อความข้อความหนึ่ง เหมือนเรามีประเด็นใดประเด็นหนึ่ง เขามาตอบประเด็นนั้น แต่ประเด็นอื่นมันจะเกิดมาอีกข้างหน้า มันจะมีประเด็นมาเรื่อยๆ ถ้าประเด็นไปเรื่อยๆ มันก็จบ นี่มันยังมีเกิดมาอีก มันเป็นธรรมเกิด มันก็เหมือนกับเกิดดับๆ ไม่มีวันที่สิ้นสุด แต่ถ้าเป็นมรรคญาณเวลาพิจารณาไปแล้วมันจะสิ้นสุด เพราะมันพิจารณาแล้วมันปล่อยๆๆ จนมันขาด ขาดแล้วจบเลย เป็นอกุปปธรรม เอวังจริงๆ