เทศน์บนศาลา

บกพร่องทางธรรม

๑ ก.ย. ๒๕๕๕

 

บกพร่องทางธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ฟังธรรมนะ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างบุญบารมีมานะ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย การสร้างบารมีมาเป็นอสงไขยๆ พยายามสร้างบารมีมาเพื่อให้บารมีเต็ม เพราะอยากได้โพธิญาณ

ได้โพธิญาณมา วางธรรมและวินัยนี้ไว้ สิ่งนี้จะได้มานี่ คำว่า “ฟังธรรมๆ” สัจธรรมความจริงหาได้ยาก แต่ถ้าคำว่าฟังธรรมของเรา สัจธรรมอันนี้ที่เราแสวงหาอยู่ ถ้าสัจธรรมอันนี้แสวงหาอยู่ สิ่งนี้มันเตือนใจเรา เพราะสิ่งที่สัมผัสธรรมได้คือหัวใจเท่านั้น คือความรู้สึก สิ่งอื่นสัมผัสธรรมไม่ได้ สิ่งที่เขาว่าสัมผัสธรรมๆ สิ่งนั้นเป็นความรู้สึกนึกคิดของเขา

ฉะนั้น เราฟังธรรม ฟังธรรมเพื่อสะเทือนหัวใจของเราไง ถ้าใจของเราสะเทือนนะ สะเทือนใจของเรานี่มันทำให้เราได้คิด ถ้ามันไม่สะเทือนหัวใจของเรา เห็นไหม เราคิดแต่เรื่องนอกๆ เวลาเราเกิดมา เราว่าเรามีความทุกข์ความยาก แล้วเราจะไปแก้ไขกันที่ไหนล่ะ ถ้าทางพ่อแม่ พ่อแม่ก็บอกว่า แก้เพราะเรามีหน้าที่การงานทำของเรา ถ้าประสบความสำเร็จสิ่งนี้แล้วเราก็จะมีความสุขของเรา นี่พ่อแม่ก็สอนอย่างนั้น

แต่ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะได้เป็นกษัตริย์ นี่คำว่า “เป็นกษัตริย์” ทางโลก ในเมื่อเป็นกษัตริย์ เป็นจักรพรรดิ มันก็สูงที่สุดในทางโลกแล้วล่ะ แต่ทำไมถ้าได้เป็นอย่างนั้นแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าเราก็ยังเกิดในยังตายอยู่ ก็จะมารื้อค้นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง

ถ้าเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้นด้วยบุญญาธิการ คนอื่นรื้อค้นไม่ได้ คนอื่นจะรู้เห็นสิ่งนี้ไม่ได้ มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระปัจเจกพุทธเจ้าเท่านั้นที่ตรัสรู้เองโดยชอบ คำว่า “ตรัสรู้เองโดยชอบ” เพราะท่านมีอำนาจวาสนาบารมีขนาดนั้น แล้วอย่างเราล่ะ อย่างเรา เราสร้างสิ่งใดกันมา? นี่เราได้สร้างบุญกุศลของเรามา เราถึงได้มาเกิดเป็นมนุษย์ พอเกิดเป็นมนุษย์แล้วได้พบพระพุทธศาสนา พบพุทธศาสนาแล้วเรายังมีศรัทธา มีความเชื่อ มีศรัทธาความเชื่อว่าเราจะประพฤติปฏิบัติของเรา เห็นไหม นับถือพุทธศาสนาเหมือนกัน ความเชื่อของเขา

ก็แค่ทำหน้าที่การงานของเรา แล้วเราก็นับถือศาสนาไว้เป็นที่พึ่งอาศัยเท่านั้น แต่ของเรานี่เรามีเจตนา เรามีความตั้งใจของเรา เราจะประพฤติปฏิบัติของเราให้ได้ความเป็นจริงอันนั้น ถ้าได้ความเป็นจริงอันนั้น เราถึงเสียสละกันมาเพื่อประพฤติปฏิบัติ

ประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม ตบะธรรม บำเพ็ญเพียรภาวนาเพื่อให้จิตใจนี้ได้สัมผัสธรรม ถ้าได้สัมผัสธรรมตามความเป็นจริง มันก็จะเป็นคุณประโยชน์กับเรา คุณประโยชน์นะ คุณประโยชน์หมายความว่า ถ้าเราได้สัมผัสปฏิบัติบูชา ถ้าปฏิบัติบูชา จิตใจนี้ได้สัมผัส จิตใจนี้ล้มลุกคลุกคลาน ใครก็ได้ผ่านประสบการณ์อันนี้มาทั้งนั้น จิตใจที่ประสบความสำเร็จ จิตใจที่สงบระงับ จิตใจที่มันเกิดปัญญาขึ้นมา สิ่งนี้ถ้าจิตได้สัมผัส เห็นไหม ไม่มีสิ่งใดที่จะสัมผัสธรรมได้ เว้นไว้แต่หัวใจของสัตว์โลก

ถ้าหัวใจสัตว์โลก สัตตะผู้ข้อง เราเป็นสัตว์ตัวหนึ่ง สัตว์ประเสริฐ สัตว์มนุษย์ เราได้มาเกิดเป็นมนุษย์ นี่สิ่งที่สัตตะเป็นผู้ข้อง

ฉะนั้น ถ้าเราศึกษาของเรา เราประพฤติปฏิบัติของเราตามความเป็นจริงของเรา มันจะได้ประโยชน์กับเรานะ นี่ฟังธรรมเพื่อเตือนอันนี้ ฟังธรรมเพื่อให้ย้อนกลับมา ทวนกระแสเข้ามา ถ้าทวนกระแสเข้ามาสู่ใจ ถ้าสู่ใจนะ ใจนี้ที่จะสัมผัสธรรมๆ นี่มันเป็นแบบใด

นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่วางธรรมและวินัยนี้ไว้ เขาบอกว่าเราต้องศึกษาปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เราศึกษามาเป็นปริยัติ ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่เราศึกษา พอเราศึกษาขึ้นมา ถ้าศึกษาแล้วมันเป็นความรู้ไหม? มันเป็นความรู้ของเรานะ ถ้าเป็นความรู้ของเรา นี่สิ่งที่เป็นความรู้ของเรา แล้วเราจะปฏิบัติไหม ถ้าเราว่าเราอยากจะปฏิบัตินะ

สัจธรรม ถ้าเป็นความจริง มันต้องเป็นความจริง ถ้าสัจธรรมไม่เป็นความจริงนะ มันบกพร่อง เห็นไหม ถ้าสิ่งใดเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติ สัจธรรม ธรรมชาติที่มันเป็นความจริงของมัน มันจะเป็นผลของวัฏฏะ มันเวียนไปตามเวรตามกรรม แต่ถ้ามันพร่องนะ ถ้าธรรมชาติมันพร่อง มันบิดเบือนของมัน ไม่เป็นความจริงนะ มันจะให้ผลสิ่งที่การกระทำนั้นให้ผิดพลาดไป ฉะนั้น ถ้าพูดถึง เราพร่องทางธรรมนะ ถ้าธรรมมันพร่อง ถ้าพร่องทางธรรมมันก็ไม่เป็นธรรมชาติ ไม่เป็นธรรมดา มันพร่องมันก็แปลกแยกไปกับเขา

ฉะนั้น เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามานี่ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเราศึกษามา เราศึกษามาด้วยสิ่งใด? เราศึกษามาด้วยสัญญา ด้วยการศึกษาทางโลก โลกียปัญญา

ปัญญาอย่างนี้มันเกิดจากจิต เห็นไหม จิตของเรา ธรรมชาติของมนุษย์มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕...ขันธ์ ๕ คือการสื่อภาษากัน ใครจะเกิดสัญชาติใด ชนชาติใด เขาก็สื่อภาษาของเขาในสัญชาติของเขาตามภาษาของเขา การศึกษาภาษา ภาษามันสื่อสารกันเพื่อให้ความเข้าใจใช่ไหม นี่เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเป็นบาลี บาลีมันเป็นพระไตรปิฎก ถ้าแปลเป็นภาษาไทย เราก็ศึกษาเข้าใจของเรา ศึกษานั่นศึกษาจากอะไร? ศึกษาจากความรู้สึกนึกคิดของเรา

ถ้าศึกษาความรู้สึกนึกคิดของเรา นี่เรารู้ เราเข้าใจ ความรู้ความเข้าใจมันเป็นเงาของจิต มันเป็นเงาไง ถ้ามันเป็นเงาของเรา เราศึกษามานี่มันเป็นเงาของเรา เราข้ามพ้นเงาของเราไปไม่ได้ ถ้าเราข้ามพ้นเงาของเราไปไม่ได้ นี่ปริยัติ นี่มันเป็นเงา มันเป็นอาการของใจ มันไม่ใช่ใจ ถ้าเป็นอาการของใจ ไม่ใช่ใจ ศึกษานี่ใจมันก็สงสัยไปวันยังค่ำ

ถ้าการศึกษาปริยัติ ศึกษามาเพื่อปฏิบัติ ในทางปฏิบัติขึ้นไปแล้ว เราศึกษามาแล้ว เราก็บอกว่า ในการปฏิบัตินะ ถ้าบกพร่องจากทางธรรม ถ้าบกพร่องทางธรรม เห็นไหม เราเกิดเป็นมนุษย์ใช่ไหม เรานับถือพุทธศาสนาใช่ไหม เรามีศรัทธาความเชื่อ เราจะประพฤติปฏิบัติใช่ไหม เราอยากจะพ้นทุกข์ใช่ไหม นี่ถ้าเราอยากพ้นทุกข์เพราะอะไร เพราะเรามั่นใจว่ามรรคผลนิพพานมันมี

ถ้ามรรคผลมี ถ้ามรรคมันคืออะไรล่ะ? มรรค เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เองโดยชอบ ครูบาอาจารย์ของเรานะ ถ้าประพฤติปฏิบัติไป จะบรรลุธรรมโดยชอบ ถ้าโดยชอบธรรมมันก็เป็นสัจจะความจริง

แต่ถ้าคนเรา ถ้ามันบกพร่อง จิตใจมันบกพร่อง จิตใจมันไม่มั่นคงของมัน เวลาศึกษาขึ้นมานะ ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเพื่อประพฤติปฏิบัติ ทีนี้พอศึกษาไป ศึกษามากเท่าไรยิ่งลังเลสงสัยเท่านั้น ถ้าศึกษาเข้าไปนะ ศึกษาจนว่ามรรคผลนิพพานไม่มี ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เป็นพระอรหันต์ นี่พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ที่ทำสังคายนานี่เป็นพระอรหันต์ แล้วพอศึกษาขึ้นไป ศึกษาจนว่ากึ่งพุทธกาลไม่มีมรรคไม่มีผลน่ะ มันหมดกาลหมดเวลา ถ้าหมดกาลหมดเวลา นั่นด้วยการศึกษานะ ปฏิบัติ เห็นไหม แล้วบอกว่า ปริยัติก็ต้องปฏิบัติ แล้วปฏิบัติก็ปฏิบัติกันเป็นพิธี

ในเมื่อความเชื่อบอก มรรคผลมันไม่มี ดูสิ เวลาเราจะทำการเกษตร ถ้าเมล็ดพันธุ์พืชนั้นมันลีบ เมล็ดพันธุ์พืชนั้นมันบกพร่อง มันปลูกไม่ขึ้นน่ะ ถ้ามันปลูกไม่ขึ้น มันก็ปฏิบัติไปแล้วมันไม่ได้ผลน่ะ มันไม่ได้ผลเพราะอะไรล่ะ เพราะเรามีความเชื่ออย่างนั้น เรามีความเชื่อว่า ในเมื่อมันกึ่งพุทธกาลแล้ว ในสมัยปัจจุบันนี้มรรคผลนิพพานไม่มี แต่เราเกิดมาเป็นชาวพุทธ พบพระพุทธศาสนา ฉะนั้น การปฏิบัติเราก็ปฏิบัติพอเป็นพิธี

แล้วเวลาความรู้สึกนึกคิด เวลาเราศึกษามาในทางปริยัติ ในทางปริยัตินะ ศึกษามาเพื่อตีฝีปากกันไง ศึกษาไว้เพื่อตีฝีปากกัน ปากเปียกปากแฉะใช่ไหม เวลาถกธรรมะกัน สิ่งที่ถกธรรมะ ธรรมะมันคืออะไรล่ะ ธรรมะที่ศึกษามาโดยสัญญา สัญญาความจำได้หมายรู้ สัญญา สังขาร ความจำได้หมายรู้ เห็นไหม ศึกษามาสิ่งนี้แล้วก็ถกเถียงกัน นี่บกพร่องทางธรรม

ถ้าบกพร่องทางธรรม เพราะมันบกพร่อง จิตใจมันบกพร่องตั้งแต่เริ่มต้น เพราะจิตใจมันมีกิเลส เห็นไหม นี่ถ้าจิตใจเรามีกิเลส กิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจนี่ มันพาเราล้มลุกคลุกคลานตามแต่กิเลสที่มันขับไสไป

เราก็ว่าเราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา ในเมื่อมันบกพร่องทางธรรม มันมีความเชื่อมันของมันว่ามรรคผลนิพพานไม่มี แล้วปฏิบัติไปทำไมกัน? ปฏิบัติไปตามกระแสโลกไง ปฏิบัติไป ปฏิบัติเพื่อสิ่งใด? ปฏิบัติไว้เพื่อเป็นอำนาจวาสนาบารมีในอนาคต...คิดกันอย่างนั้น นี่ถ้าบกพร่องทางธรรมมันเป็นแบบนี้ ถ้าบกพร่องทางธรรม ปฏิบัติมันก็ไม่เป็นธรรม เพราะจิตใจมันบกพร่องมาตั้งแต่ต้น

ถ้าจิตใจมันบกพร่องมาตั้งแต่ต้น ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามานี่ ศึกษามาโดยอาการของใจ ศึกษามาโดยเงาของจิต ถ้าเงาของจิต มันก้าวพ้นล่วงเงาของตัวเองไปไม่ได้ ก้าวพ้นล่วงความลังเลสงสัยของตัวไปไม่ได้ ถ้าก้าวข้ามพ้นความลังเลสงสัยของตัวไม่ได้ ประพฤติปฏิบัติไป นี่เกาะไว้ไง นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อภิธรรม พยายามต้องศึกษา ต้องมีความเข้าใจ

นี่ไง ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันผิดไปไหน? ไม่ผิดหรอก ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมและวินัยนะ เวลาหลวงปู่มั่นท่านพูดอยู่ พูดประจำ เห็นไหม เวลาปฏิบัติไป ถ้าศึกษามาแล้ว ศึกษามาเป็นแนวทาง แต่ให้วางไว้ก่อน แล้วถ้าประพฤติปฏิบัติไปถึงที่สุดแล้วนี่อันเดียวกัน อันเดียวกันต่อเมื่อทำแล้วได้ความเป็นจริงขึ้นมาไง อันเดียวกันต่อเมื่อมันเป็นสัจธรรม

แต่ถ้ามันไม่เป็นความจริงขึ้นมา เห็นไหม มันพร่อง พอมันพร่อง มันลีบ มันปลูกไม่ขึ้น มันทำแล้วมันไม่ได้ผล มันไม่เป็นความจริง แต่เวลาปฏิบัติไปก็ปฏิบัติพอเป็นพิธีกันไป ปฏิบัติเป็นพิธีนะ แล้วว่า สบายๆ...ความสบายๆ มันเป็นเรื่องโลกๆ นะ เวลาทุกข์นี่เราทุกข์จนเข็ญใจ แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติหรือเราทำสิ่งใดขึ้นมา ทำธุรกิจการค้าขึ้นมาสิ่งใด เราได้ผลตอบแทนมานี่ก็เพื่อดำรงชีวิต สิ่งนี้มันเป็นเรื่องโลกๆ อยู่แล้วล่ะ

จิตใจก็เหมือนกัน เวลามันบีบคั้นขึ้นมา มันเครียด มันมีแต่ความเจ็บแสบในหัวใจ ถ้าเรามีปัญญาของเรา ตรึกในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “มันเป็นเช่นนั้นเอง มันเป็นเช่นนั้นเอง”

“มันเป็นเช่นนั้นเอง” แล้วเป็นเช่นนั้นด้วยอะไรล่ะ เป็นเช่นนั้นด้วยไม่มีเหตุมีผลเลยเหรอ

แต่ถ้าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเรามองโลกนะ โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ ทุกคนเกิดขึ้นมาเขาก็มีทุกข์ประจำธาตุขันธ์ของทุกๆ คน ถ้าเราเห็นว่าทุกข์คนก็มีความทุกข์เหมือนเรา ทุกคนเขาแบกรับภาระเหมือนเรา ความทุกข์ของเรามันก็เบาบางลง นี่มันเบาลง เห็นไหม นี่เราใช้ปัญญาอย่างนี้ ที่ว่ามันสบายๆ สบายอย่างนี้

เวลาไปศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เหมือนกัน ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องดับเป็นธรรมดา” เห็นไหม สิ่งใดๆ ในโลกนี้เป็นอนิจจัง พอเป็นอนิจจังมันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราทำไมต้องไปยึดมั่นมัน นี่ศึกษามันก็วางอย่างนี้ นี่เงาของใจทั้งนั้น มันก้าวล่วงพ้นจากเงาของมันไปไม่ได้ เวลาถกธรรมะกันนะ เพราะศึกษามาแล้ว เห็นไหม ตีฝีปากกันนะ เวลาตีฝีปาก ตีฝีปากได้ชัดเจนมาก

นี้เวลาความเชื่อไง ความเชื่อว่า ถ้ามันบกพร่องโดยธรรม บกพร่องเพราะว่าบกพร่องด้วยกิเลสหนา มันก็ปฏิบัติของมันโดยไม่ได้ผลของมัน แต่ถ้าเราเอาความจริงของเรานะ เราจะประพฤติปฏิบัติด้วยข้อเท็จจริง เราปฏิบัติของเรานะ เราทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบระงับเข้ามานะ มันเป็นสัมมาสมาธิ มันได้พักผ่อน ถ้าจิตมันมีความสงบนี่มันมีที่พึ่งที่อาศัยนะ ถ้าจิตเราไม่เคยสงบเลยน่ะ มันเร่ร่อน มันทุกข์มันยากของมัน

ถ้ามันเร่ร่อน มันทุกข์มันยาก เพราะอะไร เพราะเวลากิเลสมันเฟื่องฟูขึ้นมาในหัวใจนะ ธรรมะนี่มันยุบยอบลง แต่ถ้าเราเชื่อมั่นในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเชื่อมั่นในความเพียรของเรา เราตั้งใจทำของเรานะ นี่ตั้งใจทำ

พอตั้งใจทำ นี่สติ เห็นไหม เราฝึกสติของเรา ถ้าสติมา สติมันอยู่ในหัวใจของเรา สิ่งที่ว่ามันเป็นความรู้สึกนึกคิด ที่มันเหยียบย่ำหัวใจของเรานี่ มันเกิดไม่ได้หรอก สตินี่ยับยั้งได้ ถ้าสติยับยั้งได้ สิ่งที่เราทำขึ้นมามันก็จะเป็นประโยชน์กับเราแล้ว ถ้าประโยชน์กับเรานะ เราใช้คำบริกรรมให้จิตมันมีที่เกาะที่อาศัย ไม่ปล่อยจิตให้เร่ร่อน เพราะเราปล่อยจิตของเราเร่ร่อนไง กิเลสมันถึงได้ช่อง มันถึงได้ข่มขี่หัวใจของเรา

แต่ถ้าเรามีสติปัญญาของเรานะ ความคิดความอ่านต่างๆ มันก็มีของมันโดยธรรมชาติของมัน แต่เพราะมันขาดสติยับยั้ง มันถึงมีกำลังของมันฉุดลากหัวใจนี้ไป แต่ถ้าเรามีสติยับยั้ง สิ่งที่กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันจะฉุดกระชากหัวใจของเราไป มันเกิดมาจากไหนล่ะ เพราะจิตใจเรานี่มันมีคำบริกรรม มันมีที่พึ่งที่อาศัย มันมีที่เกาะไว้ก่อน แต่ถ้าเราปล่อยจิตเราตามธรรมดานะ จิตของเรามันก็เร่ร่อนไปตามแต่กิเลสตัณหาความทะยานอยาก

ฉะนั้น ถ้ามันบกพร่องโดยธรรม ถ้ามันไม่เชื่อด้วย มันก็คิดของมันอย่างนั้น ปฏิบัติของมันอย่างนั้น แล้วก็คิดว่าสิ่งนี้เป็นอย่างนี้ แต่โดยจิตใต้สำนึก โดยโลกทัศน์ของเขา เขาบอกว่ามรรคผลนิพพานมันไม่มีหรอก ในปัจจุบันนี้ปฏิบัติไปเพื่อสร้างอำนาจวาสนาบารมีของเขา เขาคิดของเขาอย่างนั้น นี่ถ้ามันบกพร่องโดยธรรม

ธรรมความเป็นจริง ธรรมมันคืออะไรล่ะ ในเมื่อเรามีจิตใช่ไหม เรามีความรู้สึกใช่ไหม ความรู้สึกนี้มันได้สัมผัส มันจะเป็นสัมผัสธรรม ความรู้สึกอันนี้มันจะเป็นภาชนะรองรับธรรม ถ้ามันเป็นภาชนะรองรับธรรม เราทำความจริงของเราขึ้นมาสิ เราทำให้มันได้มรรคได้ผลขึ้นมาสิ

เรากรรมฐาน เรามีครูมีอาจารย์ใช่ไหม ครูบาอาจารย์ของเราประพฤติปฏิบัติมาใช่ไหม ถ้าครูบาอาจารย์ของเราประพฤติปฏิบัติมา ครูบาอาจารย์ของเรามีข้อวัตรปฏิบัติมา คอยชี้นำเรามา ถ้าชี้นำเรามา เราประพฤติปฏิบัติตามความจริงอันนั้น ถ้าความจริงอันนั้น ถ้ามันเป็นความจริง มันก็เป็นมัชฌิมาปฏิปทาตามความเป็นจริงอันนั้น ถ้ามันไม่เป็นตามความเป็นจริงอันนั้นล่ะ

คนเรานะ ถ้าบกพร่องโดยธรรม โดยบอกว่ามันหมดกาลหมดเวลา มันจะเป็นสัจจะความจริงที่เข้าถึงมรรคผลนิพพาน อันนั้นมันเป็นเรื่องที่ว่าเราคาดหมายกันไปเอง เห็นไหม เพราะอะไร เพราะเขาคิดของเขา เขาต้องใช้ปัญญาของเขา เราประพฤติปฏิบัติโดยกรรมฐานของเรา เราต้องมีคำบริกรรมเพื่อความสงบระงับของเราเข้ามา ถ้ามีความสงบระงับเข้ามา เห็นไหม เราถึงบริกรรมพุทโธกัน ต้องมีคำบริกรรม นี่บริกรรม จิตมันบริกรรม จิตมันมีการกระทำ

ถ้าเราไม่บริกรรม เราคิดของเรานะ นี่เงาของจิต มันตื่นเงาของมัน มันก้าวล่วงพ้นเงาของมันไปไม่ได้ ถ้ามันก้าวล่วงพ้นเงาของมันไปไม่ได้ มันไปติดเงาของมันใช่ไหม พอติดเงาของตัวเอง เงาของตัวเองไปศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศาสนาพุทธนี้เป็นศาสนาแห่งปัญญา การที่ล่วงพ้นทุกข์ต้องล่วงพ้นทุกข์ด้วยปัญญา แต่ปัญญามันเกิดจากอะไรล่ะ? มันปัญญามันต้องเกิดจาสัมมาสมาธิ ปัญญา เห็นไหม ดำริชอบ มันต้องงานชอบ เพียรชอบ สติชอบ สมาธิชอบ ความระลึกชอบ มันถึงจะเป็นความชอบธรรม

แต่ในเมื่อมันบกพร่องทางธรรม จิตใจมันไม่มีหลักมีเกณฑ์ จิตใจมันมีความบกพร่องของมัน มันก็ถืออหังการ บอกว่า “เราใช้ปัญญาของเรา เราจะปฏิบัติทางปัญญา เราถึงไม่ต้องมีคำบริกรรม” บกพร่องโดยธรรม เมล็ดพันธุ์มันก็เลยลีบ เมล็ดพันธุ์นั้นก็ปลูกไม่ขึ้น เมล็ดพันธุ์ นี่สิ่งนี้ หน่อของพุทธะจะเกิดจากใจนั้นมันก็เกิดขึ้นมาไม่ได้ เห็นไหม บกพร่องโดยธรรม

ทีนี้พอเรามีสติปัญญาของเรา เรามีครูบาอาจารย์ของเรา เราเป็นกรรมฐาน เราเชื่อมั่นครูบาอาจารย์ของเรา เราเคารพพ่อแม่ครูจารย์ของเรา บอกว่า ให้ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน ทำความสงบของใจเพื่อเหตุใด ทำความสงบของใจเพราะหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านทำความสงบของใจท่านเข้ามา แม้แต่ใจมันสงบเข้ามาแล้วยังต้องหาทาง หาฝึกหัดใช้ปัญญาให้ปัญญามันเกิดขึ้นมา นี่ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา แต่ปัญญาที่เกิดขึ้นจากสัมมาสมาธินี่เป็นภาวนามยปัญญา

ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ...ปริยัติศึกษามา แล้วก็ทำกันพอเป็นพิธี แล้วบอกว่าสิ่งนี้เป็นการประพฤติปฏิบัติ แล้วศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ก็ใช้ปัญญากันไป เมล็ดพันธุ์มันก็เลยลีบ เห็นไหม บกพร่องโดยธรรม

แต่เราจะประพฤติปฏิบัติของเราด้วยความเป็นจริงนะ เรามีครูบาอาจารย์ของเรา เราก็มีคำบริกรรมของเรา เราปฏิบัติของเรา แต่ถ้าอำนาจวาสนาของเรามันไม่เป็นไปตามนั้น เวลาจิตสงบแล้ว ถ้าจิตสงบแล้วถ้าเราไม่มีสติสัมปชัญญะพอ เราไม่สามารถให้ใจของเราพัฒนาขึ้นไป จิตสงบแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้าปัญญามันขึ้นตามความเป็นจริง มันจะเป็นความจริงนะ แต่ถ้ามันบกพร่องโดยธรรม พอจิตมันสงบ

ถ้ามันบกพร่องทางธรรมชาติ ดูสิ ต้นกล้วย พันธุ์ไม้ต่างๆ เวลามันผิดแปลกจากธรรมชาติ กล้วยมันจะเกิดปลีกลางต้น สิ่งที่เป็นการเกษตรกรรม ถ้าธรรมชาติมันบกพร่อง มันจะให้ผลผิดแผกแตกต่างกับพืชพันธุ์ของเขา แล้วคนก็ตื่นเต้นนะ ถ้าเห็นต้นกล้วยมีปลีออกที่กลางต้น เห็นสัตว์เผือก เห็นปลาไหลเผือก เห็นต่างๆ...นี่มันผิด มันบกพร่องตามธรรมชาติของมัน ยีนของมันทำให้มันออกเป็นสภาวะแบบนั้น ถ้าสภาวะแบบนั้นมันเป็นธรรมไหมน่ะ? มันไม่เป็นธรรม แต่ทำไมคนตื่นเต้นล่ะ? ตื่นเต้นเพราะว่าเขาว่าสิ่งนั้นเป็นของแปลกประหลาด

เรามาปฏิบัติธรรมกันนะ ถ้าบกพร่องทางธรรมมันจะทะลุกลางปล้อง สิ่งที่จะเป็นธรรมมันก็ไม่เป็นธรรม สิ่งที่จะเป็นความจริงมันก็ไม่เป็นความจริง ไม่เป็นความจริง เห็นไหม ดูสิ เวลาสิ่งที่เขาแสดงตัวแสดงตนกันว่าปฏิบัติอย่างนั้นรู้ง่าย ปฏิบัติอย่างนั้นทางลัด ปฏิบัติต่างๆ น่ะ นั่นน่ะ มันบกพร่องทั้งนั้นน่ะ บกพร่องเพราะมันไม่เป็นมัคโค มันไม่เป็นทางอันเอก

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาธัมมจักฯ เห็นไหม เทฺวเม ภิกฺขเว ทางสองส่วนเธอไม่ควรเสพ อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค...มัชฌิมาปฏิปทาเป็นอย่างไร มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางในพุทธศาสนา ถ้าทางสายกลางเป็นมัชฌิมาปฏิปทา แล้วมันกลางตรงไหน

เวลาถ้าบกพร่องทางธรรมด้วยความไม่เชื่อถือ ก็บอกว่าเป็นอย่างนั้น นี่เมล็ดพันธุ์มันลีบ มันก็ปลูกไม่ได้เลย ปลูกไม่ขึ้นเลย แล้วก็บอกว่า มรรคผลไปเอาข้างหน้านู่น ปฏิบัติเพื่อสร้างสมบารมีกันไป แล้วปฏิบัติทางปัญญาซะด้วยนะ แต่ถ้าพูดถึงคำบริกรรม พวกที่กำหนดพุทโธ พวกนี้ไม่มีปัญญาๆ ทั้งนั้นน่ะ

ถ้าผู้ที่บกพร่อง เวลามันบกพร่อง ทำแล้วมันไม่ได้สมความปรารถนา ทำแล้วจิตใจมันไม่พัฒนาขึ้นมา ถ้าจิตใจไม่พัฒนาขึ้นมานะ ถ้ามันเป็นการฉ้อฉล ถ้าเป็นเล่ห์กลก็แสดงตน แสดงตนตามแต่จริตนิสัยที่แสดงออกไป แล้วมันเป็นขุยไผ่ ถ้าขุยไผ่ ไผ่ต้นไหนมันออกขุยไผ่ มันจะทำลายต้นของมัน ทำลายกอไผ่ กอไผ่หมดอายุนี่มันจะเกิดขุยไผ่

นี่เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติของเรา ถ้าบกพร่องทางธรรม นี่พอจิตมันไปรู้ไปเห็นสิ่งใด จิต ครูบาอาจารย์ของเราประพฤติปฏิบัติมา เราศึกษามา สิ่งนั้นมันไม่เป็นความจริง แต่ถ้ามันบกพร่อง เราเอาสิ่งนั้นมา แล้วแอบอ้างสิ่งนั้นไป เห็นไหม นี่ขุยไผ่ ขุยไผ่มันทำลายกอไผ่ อันนี้กิเลส ความบกพร่องของธรรมมันจะทำลายหัวใจของเราไง มันจะทำลายผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินั้นให้ไม่พัฒนาขึ้นมา ไม่ให้ก้าวไปสู่สัจจะความจริงอันนั้น ถ้าไม่ก้าวไปสู่สัจจะความจริงอันนั้นนะ แล้วมันทำลายใคร

ถ้ามันทำลายใคร ถ้าบกพร่องทางธรรมชาติ สิ่งใดที่มันออกมาผิดแผกจากธรรมชาติ ทุกคนแตกตื่น ทุกคนไปกราบไหว้ ไปเคารพบูชา ไปหาลาภกับสิ่งอย่างนั้น แล้วเวลาจิตใจที่มันบกพร่องทางธรรมๆ ถ้ามันบกพร่องทางธรรมมันก็เป็นแบบนั้นน่ะ มันผิดแผกจากความเป็นธรรม มันผิดแผกจากความเป็นจริง แต่โลกชอบนะ โลกชอบ พอชอบอย่างนั้นมันก็เสียหาย นี่เริ่มต้นตั้งแต่ผู้ที่กระทำนั่นน่ะ นี่ขุยไผ่มันทำลายกอไผ่นั้น ผู้ที่บกพร่องทางธรรมมันจะเป็นสัจธรรมไปไม่ได้ ถ้ามันเป็นสัจธรรมไม่ได้ มันทำลายหัวใจดวงนั้น ถ้าหัวใจดวงนั้นแสดงตัวแสดงตนออกไป มันทำลายทั้งนั้นน่ะ นั่นเพราะมันบกพร่องทางธรรม

แล้วถ้ามันไม่บกพร่องล่ะ? มันไม่บกพร่อง เห็นไหม เราต้องมีความเพียร เราต้องมีสติปัญญาของเรา ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา เราทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบแล้วเราฝึกหัดใช้ปัญญาได้ มันไม่ใช่ว่าต้องใจสงบจนเป็นอัปปนาสมาธิ ต้องใจสงบจนลึกซึ้งแล้วเราค่อยมาพิจารณาของเรา

มนุษย์มีเท้า ๒ เท้า เดินไปพร้อมกัน สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน...สมถกรรมฐาน ถ้าไม่มีปัญญา มันจะเอาความสงบระงับมาจากไหน แล้วถ้ามันมีปัญญา ปัญญาอย่างนั้นมันก็ฝึกฝน มันก็ปฏิบัติ มันก็ฝึกหัดของมันขึ้นไป เราไปเจอสิ่งใด ดูสิ คนที่เขาตื่นเต้นของเขา เห็นความผิดธรรมชาติ เขาตื่นเต้นของเขา แต่ถ้าคนที่เขามีปัญญาของเขา เขารู้ว่าสิ่งนี้มันผิดธรรมชาติเพราะว่ามันมีเหตุมีผลของมัน ไม่ตื่นเต้นหรอก ถ้าเราไม่ตื่นเต้น เราก็ไม่หลงทางไปกับเขา

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตของเรา เราจะทำความสงบของใจเราเข้ามาใช่ไหม ถ้าใจมันสงบ เราก็ฝึกหัดใช้ปัญญาของเรา ทีนี้คำว่า “ฝึกหัดใช้ปัญญา” เราไม่ต้องไปตื่นเต้นว่าจิตสงบแค่ไหนถึงจะใช้ปัญญา ถ้าเราทำความสงบของใจ เรากำหนดพุทโธๆๆ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เพราะเราต้องการให้จิตมันหยุด จิตมันสงบ ถ้าจิตมันสงบ มันจะได้พักผ่อน มันจะได้ไม่เครียด แต่ถ้าจิตใจของเรามันฟุ้งซ่าน จิตเป็นปกติของเรา

ทุกคน มนุษย์เกิดมามีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ความคิดในใจทุกคนมีอยู่โดยธรรมชาติของมัน ทีนี้ ในใจของเรามีความคิดเป็นธรรมชาติ แต่มันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากของจิต อวิชชาในหัวใจ นี่ตัวขับดัน

จริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน คนที่ผลกระทบแล้วสิ่งที่มันแสดงออกก็แตกต่างกัน คนใจเย็น คนใจร้อน คนหลงง่าย คนต่างๆ นี่มันแตกต่างกัน สิ่งนี้มันเป็นตัวเสริมความคิดไง ถ้าใครมีความรู้สึกนึกคิดนี่ มันมีความรู้สึกนึกคิดเป็นธรรมดา แต่มันมีตัณหาความทะยานอยากที่คอยกระตุ้นให้สิ่งนี้มันแสดงออกมา ฉะนั้น สิ่งที่แสดงออกมา ถ้าเราไม่มีสติปัญญา มันก็แสดงออกไปจนเป็นความเคยชินของมัน ฉะนั้น เป็นความเคยชินของมัน เห็นไหม

เราเกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา แล้วมีศรัทธาความเชื่อ อยากจะประพฤติปฏิบัติของเรา ถ้าอยากประพฤติปฏิบัติน่ะ เราต้องระงับสิ่งนี้ ความคิดมันมีโดยธรรมดา ความคิดของคนมันมีอยู่แล้ว แต่ที่มันตึงเครียด ที่มันมีปัญหา เพราะตัณหาความทะยานอยาก เพราะอยากได้ อยากมี อยากเป็นตามนั้น แต่มันไม่เป็นตามจริง ถ้าไม่เป็นตามจริง แล้วเราจะเริ่มประพฤติปฏิบัติของเรา

ทรัพย์สินข้าวของเงินทองจากโลก เราก็มีหน้าที่การงานแสวงหามาเพื่อดำรงชีวิต เราก็ทำมาแล้ว ฉะนั้น สิ่งที่ทำมาแล้วนะ ทำมาเพื่อความมั่นคงของชีวิต ความมั่นคง การดำรงอยู่ของเรา แต่ขณะที่มันมั่นคงหรือมันไม่มั่นคงขนาดไหน จิตใจเรามันก็เหงา มันก็ว้าเหว่ มันก็มีความทุกข์ มันก็มีสิ่งลังเลสงสัยในหัวใจ ถ้าสิ่งลังเลสงสัยในหัวใจ นี่ไง ธรรมะอยู่ตรงนี้ไง ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะมาถมเต็มไอ้ความลังเลสงสัย ไอ้ความทุกข์ความยากในหัวใจของเรานี่ไง

หน้าที่หนึ่ง หน้าที่เราหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเพื่อความมั่นคงของชีวิตของเรา แล้วเราเกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา พุทธศาสนาสอนสัจธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ มันจะเป็นประโยชน์กับหัวใจดวงนี้ ถ้ามันจะเป็นประโยชน์กับหัวใจดวงนี้ คนที่มีความเชื่อ มีความศรัทธา เขาถึงจะมาค้นคว้า มาทำงานสิ่งนี้กัน

แต่ถ้าคนที่ไม่เชื่อไม่ศรัทธานะ เขามาทำนะ ทำเพื่อหวังร่ำหวังรวย หวังเพื่อประสบความสำเร็จของเขาทางโลก ถ้ามันทำได้เขาก็ทำอาศัยเพียงเท่านั้น แต่ถ้าเรามีสติมีปัญญาของเรา เราจะหาความจริงของเรา หน้าที่การงานของเรา เราก็ทำ แต่เวลาประพฤติปฏิบัติของเรา เราก็จะเอาจริงเอาจังของเรา

ถ้าเอาจริงเอาจังของเรา เห็นไหม สิ่งที่มันฟุ้งซ่านอยู่ สิ่งที่มันเป็นโลกียปัญญา มันความคิดดิบๆ ไง ไม้ดิบจุดไฟติดได้ยาก ไม้นี่เขาตัดแล้วเขาผึ่งมันให้มันแห้ง พอแห้งแล้วก็จุดไฟ มันก็จุดไฟได้ง่าย จิตใจนี่มันดิบๆ จิตใจของเราดิบๆ เลยนี่ กิเลสดิบๆ เลย แล้วเวลากิเลสดิบมันก็คิดของมันอยู่อย่างนี้ แล้วพอตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่มันก็ดิบๆ พอมันดิบๆ มันเป็นโลกียะไง ความดิบๆ มันดิบด้วยสมุทัย ด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก

ฉะนั้น เราถึงตรึกในธรรม พอตรึกในธรรมนะ ตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เห็นโทษเห็นภัย เพราะเราจะไม่ทำด้วยความบกพร่อง เราจะทำด้วยสติปัญญาของเรา เพราะเขาทำด้วยความบกพร่องของเขา ทำด้วยความเชื่อของเขา เขาถึงตรึกในธรรมอย่างนั้น เขาถึงก้าวไม่พ้นเงาของใจของเขา

แต่เวลาเราใช้ความคิดเหมือนกัน เราใช้ความคิดในหัวใจของเรานี่ แต่เรามีสติปัญญาของเรา เห็นไหม ตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้มันสลดสังเวช

เห็นไหม รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร

รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร ความรู้สึกนึกคิด ถ้าไม่มีรูป รส กลิ่น เสียง มันคิดเรื่องอะไร? มันก็คิดเรื่องนั้นน่ะ ถ้าเรามีสติปัญญานะ ตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม เสียงก็คือเสียง เสียงใกล้ เสียงไกล เสียงให้โทษให้คุณ นี่เสียงก็คือเสียง เราไปตื่นเต้นอะไรกับเสียง รูปก็เห็นมาตั้งแต่เกิด รูปมันยังเห็นมาจนปัจจุบันนี้ ตายไปแล้วรูปก็อยู่อย่างนี้ เห็นไหม

รูป รส กลิ่น เสียง ถ้าเรามีสติพิจารณาไป มันปล่อย มันปล่อย ถ้ามันปล่อยเข้ามา พอมันปล่อยก็เป็นสัมมาสมาธิ มันปล่อยมันก็มีสติปัญญาของมัน มีสติ มีความรู้สึก แล้วเดี๋ยวมันก็คิดอีก พิจารณาของมันไป นี่ไง มันพิจารณาของมันไป พิจารณาซ้ำไป

ถ้าจิตมันสงบแล้วให้ฝึกหัดใช้ปัญญา การฝึกหัดใช้ปัญญา เห็นไหม เราจะไปด้วยกัน

ถ้าเราบอกว่า “จิตสงบจนอัปปนาสมาธิ...”

กรณีนั้นเขาไว้ใช้อีกเรื่องหนึ่งไง เอาไว้ใช้ว่า ถ้าเราทำจิตสงบด้วยคำบริกรรมพุทโธๆๆๆ ถ้าจิตมันสงบเข้ามาๆ ทีนี้พอสงบเข้ามาแล้ว สิ่งนี้เราไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น พอจิตมันละเอียดเข้ามามันก็ตื่นเต้น มันก็มีสิ่งใดที่สัมผัสใจ พอสัมผัสใจนี่ เรากำหนดให้ดี เราไม่ต้องไปรับรู้อารมณ์ที่มันตื่นเต้น เพราะอะไร เพราะเราพุทโธๆๆ ถ้ามันสงบเข้ามา นั่นน่ะคือความรู้สึกของมัน ทีนี้ความรู้สึกแล้ว พอพุทโธๆ พุทโธถ้าจิตละเอียดเข้าไปๆ พุทโธไปเรื่อยๆ

ทีนี้ พอจิตเรากำหนดพุทโธ พอมีความรู้สึกละเอียดเข้าไป เราไปตื่นเต้นกับความละเอียดนั้นเข้าไป เราไปตื่นเต้นกับความละเอียดไง เราไปตื่นเต้นกับใจของเรานี่มันละเอียดเข้ามาแล้ว ถ้าเป็นทางโลกมันก็เหมือนกับวิตกกังวล นี่คอยดูว่ามันละเอียดหรือไม่ละเอียด มันพุทโธ มันจะปล่อยพุทโธหรือยัง

นี่ถ้าคนไม่เคยเป็น เหมือนเด็กฝึกหัดขี่จักรยาน เด็กที่ขี่จักรยานไม่เป็นนะ มันล้มลุกคลุกคลานของมันอยู่อย่างนั้นน่ะ แต่ถ้าใครขี่จักรยานเป็นนะ จะขี่เมื่อไหร่ก็ได้ จักรยานนี่หยิบขึ้นมามันก็ไปได้เลย เพราะคนขี่จักรยานเป็นก็คือเป็น

จิตของผู้ที่ภาวนา ถ้าเข้าสมาธิโดยชำนาญในวสีน่ะ เขาไปของเขาได้ แต่ถ้าเราฝึกหัดใช่ไหม ทำไมมันเหมือนเด็กขี่จักรยาน ล้มลุกคลุกคลานอย่างนั้นน่ะ นี่คนขี่เป็นเขาขี่ไปแล้ว ไอ้เรายังขี่ไปไม่ได้...ไม่ได้เพราะมันมีความวิตกกังวลนี่ไง

ฉะนั้น สิ่งที่มันจะผิดมันก็คือผิด มันไม่เป็นไรหรอก ถ้าผิดแล้วเราก็เริ่มต้นใหม่ ถ้าเริ่มต้นใหม่ เห็นไหม พุทโธๆๆ ถ้ามันละเอียดเข้ามาๆ มันจะละเอียดมาด้วยอะไรล่ะ

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” ถ้าไม่มีสติ ไม่มีคำบริกรรม จิตมันละเอียดมาจากไหน

ถ้าเป็นทางโลกนะ ถ้าเขาไม่บริกรรม ถ้าจิตมันปล่อยความคิด มันก็เหม่อลอย คำว่า “เหม่อลอย” เพราะขาดสติ นี่มีความคิดเหมือนกันใช่ไหม คนเราถ้าไม่มีความทุกข์นะ มันก็อยู่กับความคิด พออยู่ๆ ไป ความคิดมันหายไป เหม่อลอยนะ เหม่อลอยนี่เป็นสมาธิไหม? ไม่เป็น

แต่ของเรานี่ จิตเหมือนกัน ปล่อยความคิด แต่ไม่เป็นสมาธิ เป็นเหม่อ แต่ถ้าเรามีสติ เรากำหนดพุทโธๆ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิเป็นความคิด เราดูความคิดไง มันคิดเรื่องสิ่งใด นี่ตรึกในธรรม ก็คิดเรื่องธรรมะนี่แหละ คิดเรื่องชีวิตนี่แหะ ชีวิตนี่ก็คือธรรม เพราะว่า ธรรมารมณ์ สัจธรรมมันเกิดได้ถ้าเรามีสติปัญญา พอมันคิดขึ้นมา มันสลดสังเวช มันปล่อย เห็นไหม

มันปล่อยเพราะอะไรล่ะ? เรามีสติใช่ไหม สติตามความคิดไป พอสติตามความคิดไป พอคิดที มันเห็นโทษ มันก็ปล่อย มีสติพร้อมกับความรู้สึก เห็นไหม มีสติพร้อมกับความรู้สึกเพราะมันปล่อยมา พอมันปล่อยมาเรารู้ว่าปล่อย เพราะว่าสัญชาตญาณของจิตมันเร็วมาก พอปล่อยเดี๋ยวก็คิดอีก นี่เราก็ตามความคิดไป มันก็ปล่อย พอมันปล่อยขึ้นมา นี่มีสติกับความรู้สึกตลอด นี่มันจะละเอียดเข้ามาอย่างนี้ มันปล่อยมานี่มันมีสติพร้อมกับความรู้สึก นี่มันมีสติพร้อม มันเป็นอะไรล่ะ? มันก็เป็นสมาธิไง เพราะมันรู้ตัวมันตลอด แล้วมันเป็นอย่างไรๆ นี่ไม่ต้องถาม มันรู้ของมัน

แล้วถ้าใช้คำบริกรรม พุทโธๆๆ ก็เหมือนกัน ถ้าพุทโธๆ นะ ถ้าจิตมันพุทโธแล้วมันละเอียด คำว่า “ละเอียด” ถ้าละเอียดจริงๆ มันจะละเอียด แล้วพุทโธนี่ชัดเจน แล้วถ้ามันเป็นจะตกภวังค์นะ “พุทโธๆๆๆ...” เห็นไหม ละเอียดไหม? ละเอียดเพราะสติมันอ่อน

สติอ่อนกับความที่จิตละเอียดแตกต่างกันนะ

ถ้าจิตมันมีสติพร้อม “พุทโธๆๆๆ” พุทโธมันเบาเข้ามาๆ แต่ชัดเจน ชัดเจนคือมันไม่วูบหาย มันไม่ปล่อยวาง แต่ถ้ามันจะตกภวังค์นะ “พุทโธๆๆๆ...” นี่สติมันอ่อนลง คำบริกรรมนั้นเบาลง แล้วมันหายไป เห็นไหม ฉะนั้น ถ้าเราตั้งสติของเราชัดๆ แล้วกำหนดพุทโธชัดๆ ถ้าคำว่า “ชัดๆ” สติมันพร้อม

ถ้ามันพร้อมนะ พุทโธขนาดไหน ถ้ามันละเอียดเข้ามาๆ แล้วถ้ามันสงบเข้ามาแล้ว สงบก็อยู่กับความสงบนั้น แล้วพอมันออกรู้ ออกมารับรู้ ถ้าเรายังต้องการพักผ่อน ถ้าเราไม่มั่นใจตัวเรา เรากำหนดพุทโธต่อไป จิต พอมันกำหนดพุทโธแล้วก็จะละเอียดเข้ามาอีก แต่ถ้าเราเคยพักแล้ว แล้วพักแล้วมันไม่ก้าวหน้า ทุกคนจะบอกว่ามันปล่อยแล้ว ทำอย่างไรต่อ มันเป็นสมาธิแล้วทำอย่างไรต่อ

ถ้าเราจะเอาสมาธิให้มั่นคง เราก็พยายามของเรา แต่ถ้าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิแล้วนี่ฝึกหัดใช้ปัญญาได้ ถ้ามีความสงบแล้วใช้ปัญญาได้เลย แล้วปัญญาใช้อย่างไรล่ะ? ปัญญานะ เราก็ตรึก ถ้าเราปฏิบัติธรรม เราก็คิดว่าเราปฏิบัติเพื่อสิ่งใด เราปฏิบัติธรรม ถ้าปัญญามันแล่นนะ จิตมันสงบ ปัญญามันแล่น นี่ปฏิบัติธรรมเพื่อพ้นจากทุกข์ เห็นไหม

ถ้าพ้นจากทุกข์ “โอ้โฮ! เราจะพ้นจากทุกข์เชียวหรือ เราเกิดมานี่เราเกิดมาอย่างใด ถ้าเราพ้นจากทุกข์ไปแล้วเราจะไปอยู่กับใคร” นี่ถ้ามันเริ่มต้นมันจะคิดอย่างนี้ เราพ้นทุกข์ไปแล้วเราไปอยู่คนเดียวเหรอ เพราะอะไร เพราะความคิดแบบนี้คิดโดยกิเลสไง

เพราะมันยังมีกิเลสอยู่ใช่ไหม บอกว่าเราจะพ้นจากทุกข์ พ้นจากทุกข์แล้วพ้นไปอยู่กับใครล่ะ เราอยู่ที่นี่ เรามีพ่อแม่พี่น้อง เรามีหมู่คณะ เรามีพรรคพวก แล้วถ้าพ้นจากทุกข์ไปจะไปอยู่คนเดียวเหรอ เห็นไหม ถ้ามีกิเลสคิด มันคิดแบบนั้น แต่มันก็ต้องฝึกหัดใช้ปัญญาไป ถ้าไม่ฝึกหัดใช้ปัญญาไปเลยนี่ เราจะไม่รู้เลยว่าเราจะรู้สึกนึกคิดอย่างใด

ถ้าเราฝึกหัดใช้ปัญญาไป ถ้ามันคิดว่า เราจะพ้นจากทุกข์ เราปฏิบัติไปเพื่อจะพ้นจากทุกข์ ถ้าพ้นจากทุกข์ ต้องเริ่มต้นทำสิ่งใด ถ้าจิตมันมีหลักเกณฑ์ใช่ไหม พอจิตมันสงบ อืม! เริ่มต้นจากเราเห็นความแตกต่างของโลกกับธรรม นี่ถ้าความเป็นโลก เมื่อก่อนเราไม่เคยมีความรู้สึกนึกคิดแบบนี้ พอมันสงบเข้ามามันมีความรู้สึกนึกคิดอีกอย่างหนึ่ง

แต่ก่อนเราไม่เคยเห็นสิ่งนี้เป็นประโยชน์ เราก็คิดแต่หน้าที่การงานของเรา เราคิดแต่เรื่องโลก เราว่าเราเป็นคนมีปัญญา เราเป็นคนที่รักตัวของเราเอง แต่รักโดยโลก คือรักชีวิตของเรา แต่รักอย่างไร ชีวิตนี้มันก็ต้องพลัดพราก รักอย่างไรก็ต้องตาย รักอย่างไร เห็นไหม เรารักขนาดไหนมันก็ไม่สมความปรารถนาของเรา แต่เราก็รัก นี่รักแบบโลก

ฉะนั้น สิ่งที่รักแบบโลกมันไม่ให้ผลตามความเป็นจริงที่เหมือนกับเราต้องการหรอก ฉะนั้น เราเคยเป็นอย่างนี้มา แล้วเราเห็นคุณค่า เราเกิดเป็นชาวพุทธ พบพระพุทธศาสนา เราถึงมาประพฤติปฏิบัติ พอเรามาประพฤติปฏิบัติ จิตใจมันสงบเข้ามา มันละเอียดกว่าความคิดแบบโลกที่ว่าเรารักตัวๆ...รักขนาดไหนก็ต้องพลัดพราก

แต่พอเรามาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา สิ่งที่มันสงบมา เห็นไหม ความแตกต่างระหว่างโลกกับธรรม โลกียปัญญากับโลกุตตรปัญญา...โลกุตตรปัญญา พอจิตมันสงบแล้วมันฝึกหัดใช้ปัญญาของมัน ปัญญานี่เราต้องฝึกหัดใช้ ต้องก้าวเดินไปพร้อมกัน ถ้าก้าวเดินไปพร้อมกัน

แล้วเวลาเขาใช้ปัญญาไป บอกว่า บกพร่องทางธรรม มันไม่ก้าวพ้นเงาของตัวเอง...เงาของตัวเองคือกิเลสตัณหาความทะยานอยากไง ศึกษาธรรมขึ้นมา แล้วเขาคิดอย่างนั้นมันไม่เป็นธรรมเหรอ? เขาคิดแบบนั้น คิดแบบดิบๆ ถ้าคิดแบบดิบ เพราะเมล็ดมันลีบ เพราะว่ามันบกพร่องธรรม มันจะไม่เกิดสิ่งใดเห็นความต่างกับความคิดโลกเลย

แต่พอเราทำความสงบของใจ เราบริกรรมพุทโธ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้ามา ถ้าจิตมันสงบแล้วเราฝึกหัดใช้ปัญญา ฝึกหัดใช้ปัญญาเพราะอะไร เพราะมันแตกต่างกับโลก แตกต่างกับโลกเพราะมีสติ เห็นไหม มรรค ๘ สติชอบ สมาธิชอบ ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ ความชอบธรรมมันเกิดขึ้น ถ้าความชอบธรรมมันเกิดขึ้น พอมันฝึกหัดใช้ปัญญาไป ปัญญาอันนี้มันแตกต่าง แตกต่างกับโลกียปัญญา ฉะนั้น ถ้ามันแตกต่าง แล้วใครเป็นคนสัมผัสล่ะ

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ถ้าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน จิตดวงนี้เป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเอง จิตดวงนี้เป็นปัจจัตตังเอง จิตดวงนี้สัมผัสได้เอง เห็นไหม สิ่งที่เป็นภาชนะที่จะใส่ธรรมๆ ก็ความรู้สึกนี่ ทีนี้ความรู้สึก พอมันเป็นธรรมขึ้นมา นี่มันจะเป็นธรรมแล้ว มันจะไม่บกพร่อง ถ้ามันเป็นธรรม เห็นไหม

ถ้ามันบกพร่องนะ ถ้าจิตมันเป็นนิมิต ถ้าพุทโธๆ จิตมีนิมิต เห็นไหม นิมิตนั้นเป็นนิมิตเรื่องอะไร ถ้านิมิตนั้น ถ้าเราเห็นนิมิตนั้นแล้วเราตกใจ เห็นนิมิตแล้วเราไม่เข้าใจกับสิ่งที่เราเห็น กลับมาที่พุทโธซะ ถ้ากลับมาที่พุทโธ สิ่งที่รู้ที่เห็นเพราะจิตมันรู้มันเห็น ถ้ากลับมาที่พุทโธๆๆ สิ่งนั้นจะเบาบางลง แล้วถ้าพุทโธมันยังเห็นอยู่ เราจะพิจารณาอย่างไรก็ได้ แล้วกลับมาถามที่ใจก็ได้ว่าสิ่งนั้นมันคืออะไร

แต่ถ้าพูดถึงเราออกรู้ล่ะ เราออกรู้เห็นกายล่ะ เห็นกายแล้วตรึกในธรรม สิ่งนี้เป็นประโยชน์ นี่เราใช้ปัญญาอย่างนี้ไปได้ แต่ถ้าเห็นเป็นนิมิตแล้วเราไม่เข้าใจ...วางไว้ เพราะจิตนี้เป็นได้หลากหลายนัก ถ้ากิเลสมันใช้จิต กิเลสมันคุมจิตนี้อยู่ ถ้ามันใช้จิตมันก็จะส่งเสริม มันจะกระพือให้จิตนี้หลงใหลไป ถ้ามันหลงใหลไปมันก็บกพร่องทางธรรม คือไม่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ไม่สมดุล ถ้าไม่สมดุล มันก็เอียงไป ไม่สมดุลเพราะอะไร ไม่สมดุลเพราะจิตใจเรามีมารอยู่

จิตใจของเรา ดูสิ เวลาเราคิดเริ่มต้น เรายังคิดว่าเราจะพ้นทุกข์ไปแล้วเราจะไปอยู่กับใคร ทั้งๆ ที่ถ้ามันเป็นความจริงแล้ว ถ้าเป็นพระอรหันต์นะ เขาไม่สงสัยเรื่องนี้เลย ถ้าพ้นทุกข์ พ้นทุกข์ที่ไหน? ก็พ้นทุกข์ที่ใจ ถ้าใจมันพ้นทุกข์ ที่มันปลดเปลื้องอวิชชาออกไปจากใจแล้ว มันจะไปสงสัยอะไร มันจะไปอยู่กับใคร มันรู้แจ้ง มันเห็นจริงตามความเป็นจริง

แต่ถ้าเรามีกิเลสอยู่ เราคิดว่าเราจะพ้นทุกข์นี่ มันมีข้อโต้แย้งเลย “พ้นทุกข์แล้วจะไปอยู่กับใคร เวลาว่างไปแล้วมันไปในอวกาศ แล้วเราจะไปอยู่ที่ไหน” เห็นไหม เวลาตรึกในธรรม พอตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ด้วยกิเลส มันมีความสงสัยอย่างนี้

แต่ถ้าเราปฏิบัติของเรา เราทำความจริงของเรา เราฝึกหัดใช้ปัญญาของเรา ปัญญามันจะแยกแยะไปเรื่อย ปัญญามันจะแยกให้จิตที่เป็นภาชนะที่ใส่ธรรม มันจะหงายภาชนะขึ้นมา มันจะมีคุณธรรมในหัวใจ ถ้าคุณธรรมในหัวใจนะ จิตสงบแล้วฝึกหัดใช้ปัญญาไป ถ้ามีปัญญาไปแล้ว มันจะไม่มาสงสัยในการทำความสงบไง เพราะจิตมันสงบแล้วเราจะรักษาอย่างใด จิตสงบแล้ว เวลาออกใช้ปัญญา ใช้ปัญญาไปแล้วมันถูลู่ถูกัง ใช้ปัญญาถ่ายเดียวไป แล้วพอสมาธิมันเสื่อมลง ปัญญาก็หาย สมาธิก็หาย มันเป็นอย่างไร

นี่เริ่มต้นการปฏิบัติ ถ้ามันจะพร่อง มันพร่องเพราะมีกิเลส มันถึงทำให้การปฏิบัติของเราไม่พัฒนาขึ้นไป ถ้าไม่พัฒนาขึ้นไป เราวางให้หมด ถ้าไม่พัฒนาขึ้นไปก็หยิบจับใหญ่เลย อันนั้นผิด อันนี้ผิด...ยิ่งจับผิดเอามาเทียบเคียงมันยิ่งผิดใหญ่เลย...วาง

ถ้ามันจับผิดแล้วจับสิ่งใดก็จับไม่ได้ จับไม่มั่น คั้นไม่ตาย แล้วไม่รู้ว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด...วาง วางไว้ก่อน ถ้าเราพิจารณาแล้วเรายิ่งจับ ยิ่งคิดมาก ยิ่งเป็นลิงแก้แห ยิ่งแกะยิ่งมัดตัวเอง นี่วาง วางให้หมดเลย แล้วกำหนดพุทโธใหม่ พุทโธๆๆ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิใหม่ เริ่มต้นใหม่ เราไม่ต้องไปห่วงไง

ฉะนั้น เริ่มต้นใหม่ “โอ้โฮ! เริ่มต้นใหม่ก็ต้องไปนับ ๑ ใหม่มาจากตั้งแต่เกิดเลยเหรอ” ไม่ใช่ ลิงแก้แห ถ้าลิงแก้แห ยิ่งคิดมันยิ่งมัดตัวมันเอง ถ้าปล่อยปั๊บ กำหนดพุทโธขึ้นมาปั๊บ แหนั้นจะหายหมดเลย ถ้าจิตสงบแล้ว แหก็หายไป เริ่มต้นจากที่ไหน? เริ่มต้นจากปัจจุบันไง มันไม่ใช่เริ่มต้นก็ไปเกิดใหม่จากท้องเลยนะ โตขึ้นมากว่าพ่อแม่จะเลี้ยงมา...นี่เวลากิเลสมันหลอก หลอกอย่างนี้

มันบอกเริ่มต้นใหม่ก็เหมือนกับ “โอ้โฮ! บอกเริ่มต้นใหม่อีกแล้ว เริ่มต้นใหม่ก็ต้องไปเริ่มต้นใหม่” เริ่มต้นใหม่เพราะเราภาวนามาแล้วไง คนทำงานเป็น ผู้ชำนาญการนะ เขาทำงานสิ่งใด ถ้าเขาขัดแย้ง เขาทำแล้วมันมีปัญหา เขาวาง แล้วหาเหตุหาผล เขาเริ่มต้นใหม่ เขาแก้ไขปัญหานั้นมาได้

นี่ก็เหมือนกัน จิต ถ้ามันเป็นลิงแก้แห คิดสิ่งใดมันก็มัดตัวเองหมดเลย...วาง แล้วกำหนดพุทโธๆๆ มันไม่ใช่เริ่มต้นใหม่จากท้องพ่อท้องแม่หรอก มันเริ่มต้นใหม่จากจิตของเรา เพราะจิตของเรามันงง จิตของเรามันไม่มีหลักเกณฑ์ มันยิ่งจับยิ่งพิจารณาจะหาความบกพร่อง มันยิ่งบกพร่องใหญ่...วาง แล้วกำหนดพุทโธๆๆ จิตมันมีกำลังอยู่แล้ว พอกลับมาพุทโธนะ สิ่งที่ความสงสัยต่างๆ มันถอนจากใจหมดเลย เพราะสุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี จิตมันสงบระงับไง แหที่มันพันๆ ตัวอยู่หายหมดเลย แล้วเราใช้ปัญญาของเราใหม่

นี่ถ้าเราใช้ปัญญาของเรา มันใช้ปัญญาในเรื่องอะไรล่ะ? ใช้ปัญญาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ถ้ามันพัฒนาขึ้นมามันก็เป็นความจริงของเราขึ้นมา ถ้าเป็นความจริง พิจารณาอย่างนี้ นี่การใช้ปัญญา ถ้าปัญญามันเกิดขึ้นมาอย่างนี้นะ มันก็ก้าวเดินขึ้นไป ทำสมาธิก็ทำได้ง่าย

เวลาทำแล้วฝึกหัดใช้ปัญญาไปแล้ว เห็นว่าปัญญาที่มันใช้แล้วได้ผลขึ้นมา ถ้าไม่ได้ผล รีบวาง กลับมาทำความสงบของใจ นี่พิจารณาไปมันจะเห็นชัดขึ้น ทำสมาธิก็ได้ง่ายขึ้น แล้วเวลาออกใช้ปัญญานะ ใช้ปัญญาฝึกหัดจนคมกล้า พอมันคมกล้า เดี๋ยวมันจะเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ตามความเป็นจริง

เวลาเราประพฤติปฏิบัติ เวทนามันก็มีอยู่กับเรานี่แหละ นั่งขึ้นมา เห็นไหม เวทนาเกิดขึ้นมาก็ทำให้เราไปปฏิบัติล้มลุกคลุกคลาน เวลาจะเอาเวทนา จับเวทนาจริงๆ เวทนากับเราก็เป็นอันเดียวกันซะ เราก็ทำจิตของเราสงบเข้ามาบ่อยครั้งเข้า พิจารณาจนมีความชำนาญเข้า พอจิตมันสงบตั้งมั่น คำว่า “ตั้งมั่น” คือมันพิจารณาบ่อยครั้งเข้า มันจะพัฒนาขึ้นมา พอพัฒนาขึ้นมา จิตนี่มันไปจับเวทนา เห็นไหม จิตไปจับเวทนา ไม่ใช่เวทนาเป็นเรา

ถ้าเวทนาเป็นเรานะ มันล้มลุกคลุกคลาน เวทนาเป็นเรานี่เจ็บมาก เจ็บมาก เสียใจมาก ทุกข์มาก เพราะเวทนาเป็นเรา เราเป็นเวทนา เราเป็นคนทุกข์ ทุกข์เป็นเรา เราเป็นคนทุกข์นี่ ทุกข์มาก เข็ญใจมาก แต่เราทำความสงบของใจเข้ามา แล้วเราฝึกหัดใช้ปัญญาของเรา พอฝึกหัดใช้ปัญญาของเรา มันมีหลักมีเกณฑ์

เห็นไหม จิตเห็นกาย จิตเห็นเวทนา จิตเห็นธรรม นี่ถ้าจิตมันไปเห็น มันก้าวพ้นล่วง มันก้าวพ้นเงาของตัว ถ้าเราไม่ก้าวพ้นเงาของตัวนะ ความรู้สึกนึกคิดนี้ไปศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เป็นเงา เป็นเงาทั้งหมดเลย เงาเป็นเรา ทุกอย่างเป็นเราหมดเลย แต่พอจิตเราสงบแล้ว แล้วเราฝึกหัดใช้ปัญญาบ่อยครั้งเข้าจนมันชำนาญ

รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร เห็นไหม เราตัดรูป รส กลิ่น เสียง ขาดหมด ดับหมด เป็นกัลยาณปุถุชน นี่เราฝึกฝนมา ใช้ปัญญาฝึกฝนมาจนมันชำนาญการเลย นี่รูป รส กลิ่น เสียงอันวิจิตร ไม่ใช่กิเลส กิเลสตัณหาความทะยานอยากของใจต่างหาก กิเลสตัณหาความทะยานอยากของใจที่ไปติดในรูป รส กลิ่น เสียงต่างหากเป็นกิเลส นี่พอเราปล่อย จิตมันสงบระงับ เห็นไหม พอมันจับขึ้นไป จิตเห็นกาย จิตเห็นเวทนา จิตเห็นจิต จิตเห็นธรรม นี่มันจับได้

พอมันจับได้ พอเราจิตสงบแล้วจับเวทนา เห็นไหม เวทนามันเกิดจากอะไร อะไรเป็นเวทนา เวทนากาย กายเป็นเวทนาได้เหรอ กายเป็นธาตุ ธาตุเป็นเวทนาได้อย่างไร ธาตุมันรับรู้อะไร ดิน น้ำ ลม ไฟ มันมีความรู้สึกเหรอ? มันไม่มี ถ้ามันไม่มี แล้วใครไปทุกข์ร้อนกับมันล่ะ? ก็หัวใจ หัวใจพิจารณา นี่เวทนากาย เวทนาจิต

ถ้าเวทนาจิต ถ้ามันมีความพอใจมันก็เป็นสุข ถ้ามันไม่พอใจมันก็เป็นทุกข์ แล้วเป็นทุกข์ ทำไมไปแบกรับมันล่ะ แบกรับมันเพื่ออะไรล่ะ? ก็เอ็งไม่เข้าใจมันน่ะ นี่พิจารณาบ่อยครั้งเข้าๆ ถ้ามันปล่อยได้ นี่มันปล่อย ความสงบระงับมันจะมีมากกว่านี้ ถ้าความสงบระงับ นี่ไง ถ้ามันเป็นธรรม มันเป็นจริงนะ มันเป็นสัจธรรม

แต่ถ้ามันบกพร่องทางธรรมน่ะ เราจะไปทางลัด เราจะเอาตามความพอใจของเรา แล้วพอปฏิบัติไม่ได้แล้วก็บังคับจะเอาให้ได้ พอบังคับจะเอาให้ได้นะ มันก็ทะลุกลางปล้อง ปลีกล้วยมันก็ออกกลางต้น เขาก็จุดดอกไม้ธูปเทียนมากราบไง แล้วมันเป็นประโยชน์อะไรกับใครล่ะ

แต่ถ้ามันเป็นความจริงนะ มันเป็นความจริง เราปฏิบัติของเรา

มันอยู่ที่อำนาจวาสนา ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ปฏิบัติง่ายรู้ยาก นี่มันมีของมัน แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงไว้ในธรรม เห็นไหม ถ้าเราประพฤติปฏิบัติโดยมัชฌิมาปฏิปทา โดยข้อเท็จจริงในการปฏิบัติ ถ้าเรามีความเพียรชอบนะ ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี อย่างน้อยพระอนาคามี

เราต้องทำของเราได้ ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี แล้วชีวิตเรานี่กี่ปี แล้วชีวิตที่มีกี่ปีมานี่มันก็ทุกข์ร้อนมาทุกข์ปี มันทุกข์ร้อนมาตลอดเวลานี่ ทำไมเราทนได้ล่ะ แต่เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ทำไมเราทนไม่ได้ล่ะ

เราปฏิบัติไป เราไม่ใช่บอก ถ้ามันพ้นจากทุกข์แล้วมันจะไปอยู่ที่ใคร ไปอยู่กับใคร อันนั้นกิเลสมันคิดนะ แต่ถ้าเราปฏิบัติของเรานะ มันจะปลดเปลื้องใจมาเป็นชั้นๆ ถ้าเราพิจารณาของเรา เวลาพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ หมั่นคราดหมั่นไถ

พอหมั่นคราดหมั่นไถ เวลามันขาดนะ พิจารณากายจนย่อยสลายลงไปทั้งหมด กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ เห็นไหม กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ นี่มันแยกออกจากกัน แล้วจิตมันรวมลง นี่ถ้าเวลาพิจารณากายมันปล่อยมาอย่างนี้เรื่อยๆ ปล่อยอย่างนี้เรื่อยๆ มันเป็นตทังคปหาน มันปล่อยมาขนาดไหนนะ แต่แก่นของกิเลสมันไม่ขาดง่ายๆ มันปล่อยวางขนาดไหนมันก็มีของมันอยู่ ถ้ามันมีของมันอยู่อย่างนั้นนะ พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ

เห็นไหม การซ้ำแล้วซ้ำเล่า นี่ปฏิบัติโดยสัจธรรม ไม่ให้มันบกพร่อง ไม่ให้มันบกพร่องทางธรรม บกพร่องทางธรรมชาติ บกพร่องทางโลก ถ้ามันบกพร่อง มันจะอิ่มเต็มได้อย่างไร ถ้ามันไม่อิ่มเต็ม มันก็บกพร่องใช่ไหม เราก็พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ หน้าที่ของเรา เรามีหน้าที่พิจารณาของเรา เวลามันขาด กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ นี่สมุจเฉทปหาน

ตทังคปหานคือมันปล่อยวางชั่วคราว โดยธรรมชาติของใจนะ ถ้าขิปปาภิญญาที่ปฏิบัติทีเดียวรู้เลยน่ะ นั่นอำนาจวาสนาของเขา แต่ถ้ามันไม่ได้น่ะ พิจารณาซ้ำๆๆ พิจารณาซ้ำคือทำบ่อยครั้งเข้า เหมือนการฝึกหัดงาน คนทำงานฝึกหัดงานจนชำนาญการ ผู้ชำนาญการทำสิ่งใดก็คล่องแคล่ว ถ้าผู้ชำนาญการทำแล้วมันล้มลุกคลุกคลานทั้งนั้นน่ะ

เวลาจิตของเราจับกายเดี๋ยวก็ได้เดี๋ยวก็ไม่ได้ พิจารณาแล้วเดี๋ยวก็ปล่อยเดี๋ยวก็ไม่ปล่อย มันเป็นอย่างนี้มา แต่ถ้าเราทำแล้ว เวลาเราพิจารณาดีมาก แต่มันไม่ขาด พอมันไม่ขาด พิจารณาแล้วเราชะล่าใจ เวลามันเสื่อมนะ...หมดครับ! เวลาเสื่อมก็เสื่อมหมด เสื่อม เราก็ทำของเราขึ้นมาใหม่ ถ้าทำขึ้นมาใหม่นะ เดี๋ยวก็เสื่อมอีก พอเสื่อมแล้วทำอย่างไร? ก็ทำของเราขึ้นมา พลิกแพลงของเรา

เพราะในการต่อสู้นะ ในการประพฤติปฏิบัติของเรานี่ มันมีกิเลสคอยโต้แย้ง กิเลสมันจะรักษาสถานะของมัน กิเลสมันอาศัยใจของสัตว์โลกเป็นที่อาศัย แล้วการเราประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อชำระล้างมัน เพื่อชำระล้างกิเลส

ฉะนั้น เวลาถ้ามันตทังคปหาน มันยังมีสิ่งใดคาหัวใจอยู่นี่ เราเคยผิดพลาดมา ถ้าใครผิดพลาดมานะ เวลามันเสื่อมขึ้นมา เหมือนไฟเผาเลยนะ นี่คนเราเคยมีของเรา แล้วมันอันตรธานไปจากใจ มันเหมือนไฟเผาหัวใจ ถ้าเผาหัวใจขนาดไหน ถ้าเรามีสติปัญญา เราต่อสู้ด้วยความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ ถ้าทำได้มันก็กลับมา ถ้าทำไม่ได้มันก็กรรมฐานม้วนเสื่อ คือเขาก็เลิกราไป...มี บุคคลที่ประพฤติปฏิบัติถึงที่สุดแล้วเลิกราไป แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์มากระตุ้นใหม่เขาก็กลับมาฝึกหัดใหม่ ถ้าฝึกหัดใหม่ มีการกระทำใหม่ นี่คือตทังคปหาน ถ้ามันยังไม่ขาด มันเป็นแบบนั้น ถ้ามันพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เพราะเวลาเราใช้ปัญญานะ ปัญญาทางโลก เราคิดถึงชีวิต คิดต่างๆ เพื่อความมั่นคงของชีวิต มันก็ไม่ได้ดั่งใจ เพราะมันต้องตาย พอเรามาใช้ปัญญาในทางธรรม ทางธรรมมันก็พัฒนาขึ้นมา ทีนี้ เวลาพัฒนาขึ้นมา ในการพัฒนาของมัน เราใช้ปัญญา มันก็มีกิเลสกับธรรมแข่งขันกัน ถ้ามันเป็นธรรม มันก็เป็นความสงบระงับ ถ้ามันพิจารณาไปมันก็ปล่อยวาง

แต่ถ้ามันเป็นกิเลส กิเลสมันใช้ปัญญานั้น เวลากิเลสมันใช้นะ พิจารณาไปนี่ล้มลุกคลุกคลาน แล้วมันก็ยื้อกันอยู่ในหัวใจ ทำความสงบของใจนี่มันก็ไม่ได้ดั่งใจสักอย่างหนึ่ง มันต้องวาง ต้องวางนะ แล้วหาอุบาย หาทางตัดทอนกิเลสให้มันมีกำลัง ด้วยการอดนอน ด้วยการผ่อนอาหาร ด้วยการกระทำของเรา ด้วยความเพียรของเรา ด้วยการถือเนสัชชิก ด้วยการต่างๆ พลิกแพลงไปตลอดล่ะ กิเลสมันมีเล่ห์เหลี่ยมอย่างไร เราก็ต้องมีคุณธรรมของเราเข้าไปเพื่อต่อกรกับกิเลสในหัวใจของเรา

ถ้ามันปล่อย ปล่อยก็เป็นประโยชน์กับเรา การปล่อยนั้นเป็นประสบการณ์ จิตถ้ามันปล่อยนี่เป็นประสบการณ์ของจิต แต่ถ้ามันไม่ปล่อย อันนั้นมันเป็นธรรมชาติอยู่แล้วที่ใครๆ ก็รู้ แต่ถ้ามันปล่อย เห็นไหม เป็นประสบการณ์ของใจ แล้วมันปล่อยแล้วทำไมมันไม่ถึงที่สุด ทำไมมันไม่สมุจเฉท นี่เราก็ต้องหาทางของเรา นี่ล้มลุกคลุกคลานก็สู้ สู้เพราะอะไร

สู้เพราะมีพยานหลักฐานไง มีหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น มีครูบาอาจารย์ของเราท่านประพฤติปฏิบัติ ท่านพ้นกิเลสไปแล้วไง ท่านพ้นกิเลสด้วยวิธีการสิ่งใด? ท่านพ้นกิเลสไปเพราะวิธีการที่ท่านไม่ยอมแพ้กิเลสไง ท่านล้มลุกคลุกคลานขนาดไหนท่านก็สู้ของท่าน สู้ด้วยอำนาจวาสนาบารมีของท่าน แล้วท่านก็ยืนยันกับเราว่าเราทำได้ มนุษย์ทำได้ ลูกศิษย์กรรมฐานต้องมีครูบาอาจารย์เป็นหลักเป็นชัย

เราปฏิบัติของเรา ถ้ามันถึงที่สุดเวลามันขาด ขาดกับไม่ขาดนี่มันพิสูจน์ได้ตรงนี้ไง ถ้ามันปล่อยเป็นตทังคปหาน การกระทำนี่มันปล่อยได้ แต่มันปล่อยนี่มันไม่ถึงที่สุด ถ้าไม่ถึงที่สุด เวลามันขาดไปแล้ว นี่สังโยชน์มันขาด สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ทิฏฐิความเห็นผิด ถ้ามันขาดแล้วมันไม่มีความเห็นผิด

จากความเห็นผิดมันเป็นความเห็นถูก ความเห็นถูกต้องชอบธรรม ถ้าความเห็นถูกต้องชอบธรรม มันเป็นธรรม เป็นสัจธรรม ถ้าสัจธรรมอันนี้มันประกาศขึ้นมากลางหัวใจนะ มันรู้รอบของมัน เห็นไหม นี่มีดวงตาเห็นธรรม ถ้าดวงตาเห็นธรรมนี่มันพาดเข้ากระแสแล้ว

จากจิตที่ดิบๆ จากจิตที่ไม่มีใครควบคุมมันได้ แต่ถ้าพอพิจารณาขึ้นมา พอเป็นอกุปปธรรม นี่ไง อฐานะที่มันจะเปลี่ยนแปลง จิตดวงนี้มีสถานะ ถ้าจิตดวงนี้มีสถานะ การทำสิ่งใด นี่เขาเรียก “คนเริ่มภาวนาเป็น” ถ้าภาวนาเป็นแล้วนะ มันจะพัฒนาของมันขึ้นไป

ถ้ามันพัฒนาขึ้นไป นี่ทำความสงบของใจให้ระงับมากขึ้น เพราะสิ่งนี้มันจะมายืนยันกับถ้าธรรมบกพร่องด้วยที่ก้าวไม่ล่วงพ้นเงาของใจ คือศึกษามาแล้วยึดสิ่งนั้นด้วยคิดว่ามรรคผลมันไม่มี มันก็มีความรู้สึกนึกคิดอย่างนั้น ฉะนั้น เวลาเราปฏิบัติขึ้นมา ถ้ามันบกพร่องด้วยกิเลสตัณหา ด้วยบกพร่องทางธรรมชาติ บกพร่องเพราะมันไม่เข้าสู่ธรรม มันก็เป็นไปอีกทางหนึ่ง

แล้วเวลาเราปฏิบัติขึ้นไป เราพยายามมีสติปัญญา บริหารใจของเราเข้ามา เข้าสู่สัจธรรม แล้วพิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม จนถึงที่สุด มันขาด นี่ความขาด พอขาดแล้วมันเป็นอกุปปธรรม ธรรมแท้ๆ นี่มันเทียบเคียงได้ไง เทียบเคียงว่า เวลาผิดมันผิดอย่างใด เวลาพิจารณาถูกทางเป็นโลกุตตรปัญญาขึ้นมา แต่ยังล้มลุกคลุกคลานอยู่นี่มันเป็นอย่างใด แล้วเวลามันพิจารณาไปแล้วเวลามันขาด มันแตกต่างกันอย่างใด มันแตกต่าง พอมันแตกต่างขึ้นมาแล้วมันมั่นคงในหัวใจ

ฉะนั้น เราเห็นมาตลอดทาง ความเห็นตลอดทางคือประสบการณ์ที่ว่าล้มลุกคลุกคลานมา ใจที่มันปฏิบัติไม่ได้ มันทำของมัน มันบกพร่องมาตลอดเพราะมันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากทำให้บกพร่อง แต่เราประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมาจนมันเป็นสัจธรรม มันเป็นความจริงขึ้นมา มันเป็นอกุปปธรรม อิ่มเต็มในสถานะของที่มีดวงตาเห็นธรรม ในการปฏิบัติ อันนี้มันมั่นคงมากไง พระโสดาบันไม่ถือมงคลตื่นข่าว พระโสดาบันมีหลักมีเกณฑ์ในหัวใจ ให้ถือลัทธิอื่นเป็นไปไม่ได้ ให้เชื่ออย่างอื่นเป็นไปไม่ได้

แต่ถ้ายังไม่เป็นพระโสดาบัน เห็นไหม สักกายทิฏฐิ ทิฏฐิ ความเห็นผิด สักกายทิฏฐิ ทิฏฐิในกายของเรา ในใจของเราก็เหมือนกับที่เราปฏิบัติ เรารักชีวิตของเรา เราไม่อยากเป็นไม่อยากตาย นี่ทิฏฐิของเรามันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นอย่างที่เราคิดไม่ได้ “เราจะมีความมั่นคงของชีวิต เราจะหาสิ่งใดๆ มาปรนเปรอมันให้มันมีความสุขตลอดไปเป็นอนันตกาล” มันเป็นไปไม่ได้ นี่สักกายทิฏฐิ ทิฏฐิความเห็นผิด

ทีนี้พอเราพิจารณาของเราขึ้นมาจนมันเป็นความจริงขึ้นมา มันเป็นความจริงขึ้นมานี่ละสักกายทิฏฐิ ถ้ามันละสักกายทิฏฐิแล้ว วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส มันจะไปสงสัยตรงไหน? มันไม่สงสัย ถ้าไม่สงสัย แล้วจะให้มันไปตื่นเต้นไปกับสิ่งใด ถ้ามันไม่ตื่นเต้นไปกับสิ่งใด เห็นไหม ความที่มันแตกต่างกัน ประสบการณ์ที่มันปฏิบัติมา มันจะเป็นปัญญาของจิตดวงนี้ ถ้าจิตดวงนี้เริ่มทำความสงบของใจมากขึ้น เพราะเราจะต้องก้าวเดินไป

ถ้าเราพ้นทุกข์ “ปฏิบัติจะพ้นทุกข์เชียวเหรอ พ้นทุกข์แล้วเราจะไปอยู่กับใคร” นี่เราอยู่กับใคร เพราะกิเลสมันหลอก กิเลสมันทำให้เคว้งคว้าง กิเลสทำให้เราลังเลสงสัย แต่พอเราพิจารณาของเราจนละสักกายทิฏฐิ พอละสักกายทิฏฐิ มันมีที่ตั้งของมันแล้ว มันเป็นอกุปปธรรมแล้ว มันพาดเข้าสู่กระแสแล้ว มันไปของมันได้ ถ้ามันไปของมันได้นะ เราทำความสงบของใจเข้ามามากขึ้น ถ้าใจมันสงบเข้ามามากขึ้น มันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เพราะมันเคยฝึกหัดมา

ถ้าเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม แล้วหมั่นพิจารณาแยกแยะมัน แยกแยะ เห็นไหม นี่มรรค เราใช้มรรคเพื่อตีแผ่สิ่งที่มันละเอียดกว่าอยู่ในหัวใจของเรา มันละเอียดกว่ามันก็ยึดของมันนะ ยึดของมัน เห็นไหม สิ่งที่รู้แล้วก็คือรู้มาแล้ว แต่สิ่งที่เราจะเอาผล เอาสิ่งที่เอาความสุขมากกว่านี้ เอาความสุขนะ ถ้ามันพิจารณาของมันไป เวลามันปล่อย มันก็มีความสุขเป็นเครื่องอาศัย เวลามีความทุกข์ ความทุกข์มันเหยียบย่ำหัวใจ

แต่เวลาปฏิบัติของเราไป ถ้าจิตมันสงบเข้ามามันก็มีความสุขของมัน แล้วถ้ามันจับกาย เวทนา จิต ธรรม มาพิจารณาเป็นการเป็นงาน นี่ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ภาวนามยปัญญาได้สัมมาสมาธิเป็นเครื่องหนุน มันจะแยกแยะของมัน แยกแยะความเห็นผิดของใจ ถ้าแยกแยะไปแล้วมันสู่สถานะเดิมของมัน

ถ้าพิจารณากายมันจะย่อยสลาย มันจะกลับไปสู่สถานะเดิมของเขา นี่ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ ถ้าพิจารณาจิต สิ่งที่เป็นจิต เห็นไหม จิตอย่างหยาบ จิตอย่างกลาง จิตอย่างละเอียด ขันธ์อย่างหยาบ ขันธ์อย่างกลาง ขันธ์อย่างละเอียด...ขันธ์อย่างกลางนี่มันไปติดอะไร? มันมีสิ่งใดที่ทำให้มันผูกพัน ถ้ามันผูกพัน ผูกพันไปทำไม ผูกพันปั๊บ เพราะความโง่ของจิต จิตมันยังไม่เข้าใจของมัน มันก็ผูกพันของมัน ถ้าผูกพันมันก็ไม่เป็นความจริง แต่ถ้ามันจะเป็นความจริง มันเป็นปัจจุบัน จิตมันสงบระงับ พิจารณาของมัน แยกแยะของมัน แยกแยะออกไป

มันผูกพันเพราะอะไร เพราะความไม่รู้เท่า ถ้าความไม่รู้เท่า ถ้ามันจะรู้เท่า ถ้าสติปัญญามันรู้เท่ามันก็ปล่อย เห็นไหม ถ้ามันพิจารณากายเข้าสู่สถานะเดิมมันก็ปล่อย ปล่อยก็พิจารณาซ้ำเข้าไป ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะเราเคยล้มลุกคลุกคลานมา ถ้าพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนถึงเวลามันขาดนะ กายกับจิตมันแยกออกจากกันโดยธรรมชาติของมัน โลกนี้ราบหมด ราบเพราะอะไรล่ะ ราบเพราะจิตมันปล่อยวาง เห็นไหม นี่จิตมันครอบงำไปหมดเลย จิตมันครอบงำสิ่งที่เป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันสลัดทิ้ง แล้วมันครอบงำนี่มันเวิ้งว้างไปหมด มันเวิ้งว้างเพราะอะไร

เพราะเราถอดถอนไง เห็นไหม เราชำระล้างป่า เราตัดป่าโดยที่ไม่ได้ตัดต้นไม้แม้แต่ต้นเดียว นี่สิ่งที่เป็นกิเลสรกชัฏหัวใจ เวลาเราใช้ปัญญาฟาดฟัน ปัญญาทำลายมัน เวลามันรวมลง มันปล่อยวางหมด ปล่อยวางหมด เวิ้งว้างไปหมดเลย นี่คืออะไรล่ะ? นี่คือความสุขไง นี่คือผลงานของเราไง นี่คือผลงานของจิต ถ้ามันเป็นสัจจะความจริง มันเป็นแบบนี้ มันไม่บกพร่องทางธรรม

ถ้าทางธรรมมันบกพร่อง มันก็ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด เห็นไหม นี่เราประพฤติปฏิบัติมาจนจิตใจมันอิ่มเต็มขึ้นมา มันเป็นสัจธรรม มันเป็นความจริง มันเป็นสมบัติของใจดวงนั้น ใจดวงนั้นเป็นภาชนะที่จะใส่ธรรม เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนมีคุณธรรมในหัวใจ ใจที่เป็นธรรมมันอยู่ในภาชนะนี้ อยู่ในหัวใจดวงนี้ หัวใจดวงนี้มันทุกข์มันยากอยู่นี่ หัวใจที่ว่าถ้าเราพ้นทุกข์ไปเราจะไปอยู่กับใคร แต่เวลามันอิ่มเต็มขึ้นมา มันจะไปอยู่กับใครล่ะ? มันก็อยู่กับจิตนี่ไง จิตที่มันอยู่ของมันได้มันก็มีความสุขของมัน

แล้วถ้ามันติดมันก็ติดของมันได้ แต่ถ้ามันมีครูบาอาจารย์นะมันจะออกของมัน แล้วถ้าคนมีหลักมีเกณฑ์ คนมีหลักมีเกณฑ์คือการศึกษามา เห็นไหม ภาคปริยัติมันจะเป็นประโยชน์ตรงนี้ ศึกษามานี่ มรรค ๔ ผล ๔ แล้วนี่มรรคที่ ๑ มรรคที่ ๒ โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค มันปฏิบัติมา แล้วมรรคที่ ๓ มรรคที่ ๔ มันอยู่ไหน

ถ้ามรรคที่ ๓ มรรคที่ ๔ ยังไม่มา เราก็ต้องค้นคว้า เราต้องหาของเราสิ เราจะมานอนจมอยู่กับความว่างอย่างนี้ได้อย่างไร สิ่งที่เป็นความว่างๆ ความว่างที่ปฏิบัติมามันมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมามันก็เป็นความว่างไง แต่กิเลสอันละเอียดเราไม่เห็นมันไง

ถ้ามันบกพร่องนะ มันบอก มันไม่มี ถ้าบกพร่องทางธรรม สัจธรรมที่เหนือกว่านี้ สัจธรรมที่ละเอียดกว่านี้มันมีของมัน เวลามันบกพร่อง บอกว่า “หมดแล้ว ปฏิบัติมาถึงที่สุดแล้ว นี่ไม่มีๆ” เวลาจิตบอกไม่มี กิเลสมันเป็นนามธรรม บอกไม่มี มันก็หลบซ่อน ถ้าบอกว่ามี มันก็ไม่ให้เห็นหน้าอยู่แล้ว แต่การขุดคุ้ยหากิเลสนี่เป็นงาน ถ้าจะไม่บกพร่องทางธรรม มันต้องขวนขวาย ต้องขุดคุ้ย ต้องพยายามของมัน

ถ้าเป็นทางโลก เป็นทางที่ว่าบกพร่องทางธรรม ทางที่ว่าธรรมะไม่มี เขาบอกว่าการขวนขวายนั้นมันเป็นของหยาบๆ มันจะขวนขวายไม่ได้หรอก มันทำอย่างนั้นมันจะไม่เป็นมรรค...นี่เวลากิเลสมันเอาธรรมะมาอ้างอิง เราก้าวไม่พ้นเงาของตัวเอง ก้าวไม่พ้นเงาของกิเลสที่ในใจที่มันหลอกลวง

แต่ถ้าเราเชื่อมั่นของเรา เราค้นคว้าของเรา ถ้ามันจับต้องได้นะ การขุดคุ้ยหากิเลสนี่เป็นงานอันประเสริฐมาก ผู้ที่ปฏิบัติแล้วไม่ได้ผลเพราะขุดคุ้ยหากิเลสไม่เจอ บอกกิเลสเป็นนามธรรม กิเลสมันไม่มี หาเท่าไรก็ไม่เจอ แต่ทุกข์ แล้วทุกข์มันมาจากไหน แต่ที่สงสัยนี่มันมาจากไหน สิ่งที่มันกวนใจอยู่นั่นมันมาจากไหน นั่นล่ะคือมันทั้งนั้นน่ะ

เวลามันกวนใจ มันทำให้เราล้มลุกคลุกคลาน มันทำให้ลังเลสงสัย บอกว่า อันนี้มันเป็นเช่นนั้นเอง มันเป็นเรื่องการเกิดดับของใจ...ไม่รู้หรอกว่านี่คือยาพิษ ไม่รู้หรอกว่านี่มันกำลังกล่อมอยู่นี่ กิเลสมันกำลังกล่อมใจอยู่นี่ นี่ยังไม่รู้จักมันเลย

แต่ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ แล้วเราศึกษาภาคปริยัติ ธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มรรค ๔ ผล ๔ ถ้ามรรค ๔ ผล ๔ มรรคที่ ๓ ยังไม่มี มันจะไปไหนล่ะ นี่ถ้าจิตมันออกค้นคว้านะ มันทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจสงบแล้วมันจะเป็นมหาสติแล้ว

ถ้าจิตมันจะจับอสุภะได้ จะเป็นมหาสติ มหาปัญญา ถ้าเพราะจิตที่ละเอียด จิตที่มันเร็วขึ้นจะเป็นมหาสติ จากสติปัญญานี่ไล่ต้อนกันเข้ามา ต่อสู้กันเข้ามากับกิเลสกับธรรมต่อสู้กันเข้ามา จนถึงที่สุดมันสมุจเฉทปหานไป ถ้าต่อสู้ขึ้นไป ถ้าจิต มันต้องเป็นมหาสติ มหาปัญญา มันถึงจะจับกามราคะได้ ถ้ามันจับกามราคะ มันเป็นอสุภะ ถ้าจับจิตได้ เป็นกามฉันทะ นี่พิจารณาแยกแยะไป

แต่เล่ห์กลของมันนะ ล้มลุกคลุกคลานหมด เพราะเวลาเราใช้ปัญญาของเรา เราใช้ปัญญาใช่ไหม ปัญญาที่เป็นปัจจุบัน กิเลสมันจะหลบหน้า มันจะหลีกหนีไป พอหลีกหนีไป เราจะหาเหตุผลมาเพื่อความมั่นใจของเรา เราก็หาเหตุผลจากธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็อ้างธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเทียบเคียง พอเทียบเคียง กิเลสมันก็อ้างกลับไง อ้างกลับว่า “อย่างนี้เป็นธรรม อย่างนี้ปล่อยวางแล้ว อย่างนี้คือมันคลายตัวหมดแล้ว” ร้อยแปดพันเก้า

เราต่อสู้กับกิเลส คิดว่ากิเลสมันจะไม่มีกำลังกว่าเรานะ กิเลสนี่ร้ายกาจนัก มันอ้างธรรมะพระพุทธเจ้าจนเราเชื่อมันน่ะ “นี่นิพพานแล้ว นี่กิเลสสิ้นหมดแล้ว” นี่เวลาจับอสุภะได้ พิจารณาไปมันจะปล่อยนะ พอมันปล่อยขนาดไหน ปล่อย แต่มันไม่ขาดไง การปล่อยที่ไม่ขาดนี่นะ มันปล่อยแล้วมันอ้างว่าสิ่งนี้เป็นผลงานๆ ถ้าเราเชื่อนะ เราเชื่อมันก็อยู่ชั่วคราว พออยู่ชั่วคราวแล้วเดี๋ยวกิเลสมันก็แสดงตัว แล้วเราก็คอตก แล้วเราก็เริ่มต้นใหม่สู้กับมันๆ นี่มันจะเป็นอย่างนี้ ล้มลุกคลุกคลานอยู่ในการปฏิบัติในระหว่างกิเลสกับธรรม

ความบกพร่องของธรรมชาติกับสัจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันจะต่อสู้กันไปตลอด ถ้าเราต่อสู้ เห็นไหม กิเลสกับธรรมมันจะต่อสู้กันกลางหัวใจของเรานี่ ถ้าเรามีสติปัญญานะ นี่มันเป็นธรรม เราก็มีสติสัมปชัญญะ แล้วต่อสู้กับมัน เวลามันสู้ไม่ไหวก็ยันกันไว้ แต่ถ้าสู้ไม่ไหว วางไว้ กลับมาทำความสงบของใจ แล้วกลับไปสู้ใหม่ สู้อยู่อย่างนั้น มันจะบ่อยครั้งเข้า จนมีความชำนาญ เพราะพอมีความชำนาญ เราถึงเห็นว่าเราผิดพลาดมามาก เราเผลอไผลมามาก เราไปเชื่อให้กิเลสมันหลอกลวงมามาก

ฉะนั้น เรายิ่งมีความชำนาญ มันจะไม่เชื่อกิเลสแล้ว มันจะไล่เข้าไปๆ พอไล่เข้าไปก็ละเอียดขึ้นเรื่อยๆ จะไวมาก มหาสติ มหาปัญญา มันจะรวดเร็วมาก รวดเร็วขนาดไหนก็ยังต้องสู้กันไปบ่อยครั้งเข้าๆ จนถึงที่สุดนะ มันครืน! กลางหัวใจ มันทำลายหมดเลย พอทำลายหมด เห็นไหม จิตมันพิจารณาซ้ำเข้าไป เพราะว่ามรรค ๔ ผล ๔ ใช่ไหม นี่ปริยัติมันจะมีประโยชน์ตรงที่เราเอามาเทียบเคียงมรรค ๔ ผล ๔

มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ที่ว่า มรรคอย่างหยาบ มรรคอย่างกลาง มรรคอย่างละเอียด แล้วมรรคอย่างละเอียดสุดอยู่ไหน นี่เราพิจารณาซ้ำๆ เข้าไป นี่เศษส่วน นี่คนจะติดได้ ติดว่าพอมันทำลายครืน! ไปในหัวใจแล้วเราก็พิจารณาของเราไป เศษส่วนไง เศษส่วน เช่น เราเคยกินอาหารที่ไหน เราระลึกถึงอาหารนั้น เราก็อยากกินอาหารนั้น แต่ขณะกิน คือเราได้กินอาหารจริงๆ ขณะเรานึกถึงอาหาร เพราะเราเคยกิน เราถึงมีอาหารให้นึกภาพได้ นี่เวลาจิตมันชำระกิเลสแล้วนะ เวลามันครืน! กลางหัวใจแล้ว สิ่งนี้เป็นข้อเท็จจริง แต่สิ่งที่ละเอียดที่มันเป็นภาพความจำ มันมีของมัน

ถ้าพิจารณาซ้ำๆๆ เข้าไป อันนี้เราคิดว่ามรรค ๔ ผล ๔ ไง แต่ความจริงมันเป็นสิ่งที่หยาบและละเอียดในขั้นของอนาคามี ในขั้นของอนาคามีมันจะมีหยาบมีละเอียดของมันที่จะต้องไล่ต้อนเข้าไปจนถึงที่สุดนะ นี่ถ้าไม่ถึงที่สุด เดี๋ยวถ้ามันบกพร่องทางธรรมนะ เดี๋ยวมันจะทะลุกลางปล้องนะ เดี๋ยวหัวปลีมันจะออกกลางต้น แล้วว่าสิ่งนี้เป็นธรรมๆ แล้วเราจะกราบของเราเองนะว่านี่เป็นธรรมๆ แต่ถ้ามันมีสติปัญญา มหาสติ มหาปัญญา มันพลิกแพลงของมัน มันแก้ไขของมัน มันพิจารณาไปแล้วมันถึงที่สุด มันปล่อยหมด

เราเป็นคนปล่อยทุกๆ อย่างเข้ามา แล้วมันปล่อยมาแล้วก็ต้องจบใช่ไหม จิตมันได้ปล่อยกิเลสมาเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา มันปล่อยเป็นชั้นเป็นตอนจนถึงตัวมัน พอถึงตัวมัน มันจะมาเหลือสิ่งใดล่ะ แล้วมันจะรู้สิ่งใด มันจะไปรู้ของมันได้อย่างไร มันจะไปจับต้องสิ่งใด นี่ถ้าครูบาอาจารย์ของเราที่รอบคอบนะ ท่านจะให้อุบาย ท่านจะบอกเรา ถ้าบอกเรา เห็นไหม “มันเป็นจริงหรือๆ”

ทีนี้มันยืนยันกันด้วยผล ด้วยปัจจัตตัง ด้วยภาชนะที่ใส่ธรรมไว้ ด้วยภาชนะที่มันบรรจุธรรมไว้ แต่กิเลสมันละเอียด มันเป็นพญามารไง มันก็บอกว่านี่คือนิพพานๆ ก็ไม่มีอะไรๆ...ไม่มีอะไรเพราะมันไม่หันมาดูตัวมันไง มันปล่อยสิ่งต่างๆ เข้ามาทั้งหมดเลย แล้วมันถือตัวมันเองของมันไว้

ถ้ามันถือตัวมันเองไว้ แล้วตัวของมันเองมันจะเห็นตัวมันเองได้อย่างไร สิ่งที่ตัวมันเองจะเห็นตัวมันเองนี่มันไม่มีหรอก มันไม่มีพลังงานสิ่งใดที่มันจะทำลายตัวมันเอง แต่ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่มี เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอาสวักขยญาณ ได้ทำลายอวิชชามาแล้ว แล้วการทำลายอวิชชาทำอย่างไร ถ้าคนยังไม่ทำลายอวิชชา คนยังไม่ปฏิบัติขึ้นมา มันจะเข้ามาถึงความเป็นจริงอันนี้ได้อย่างไร

ฉะนั้น ถ้ามีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์จะบอก จะออกอุบาย จะวางให้มีการกระทำ

เพราะมีการกระทำ เห็นไหม ดูสิ เวลาปฏิบัติ เห็นไหม เราไม่ก้าวพ้นเงาของเราไปได้ เงาคือความรู้สึกนึกคิด แต่นี่มันไม่ใช่ความรู้สึกนึกคิด มันเป็นตัวจริง มันเป็นตัวเจ้าของเงา มันไม่ใช่เงา มันไม่ใช่ของเงา แล้วเงากับสิ่งที่มีรูป ที่ไหนมีแสงมันก็มีเงา แล้วมันไม่มีแสง ไม่มีต่างๆ แล้วมันอยู่ไหนน่ะ หามันไม่เจอหรอก แต่มันเข้ามา ถ้ามันมีอำนาจวาสนา ถ้ามีครูบาอาจารย์ให้อุบายมานะ มันจะย้อนกลับขึ้นมาได้

ถ้าย้อนกลับขึ้นมาได้นะ ถ้าจับตรงนี้ได้...ธาตุจับธาตุ จิตจับจิต มันจะลึกซึ้งมาก แล้วมันจะมีปฏิกิริยาที่รุนแรงมาก ถ้ามีปฏิกิริยารุนแรงมาก จับได้ นี่การขุดคุ้ยหากิเลส แต่เวลาใคร่ครวญ ไม่มีความรุนแรง ถ้าเป็นความรุนแรง นี่มรรคหยาบ มรรคหยาบจะไปชำระกิเลสอย่างละเอียดไม่ได้ นี่จากสติปัญญา มหาสติ มหาปัญญา แล้วปัญญาญาณมันละเอียดลึกซึ้ง ลึกซึ้งเข้าไปจนซับซ้อนเข้าไปๆ จนจิตนี้เป็นกลาง

ถ้าจิตไม่เป็นกลาง มันเอนเอียงแต่ข้างไป มันไม่ตั้งอยู่ระหว่างมรรคกับมารที่เข้าถ่วงกัน แล้วทำลายกัน พอมันทำลายกันจบ นี่ธรรมะที่สมบูรณ์แบบ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่สมบูรณ์แบบ มันเป็นสัจจะความจริง แต่ธรรมะนี่บกพร่องโดยธรรม ก็ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด บกพร่องทางธรรม มันล้มลุกคลุกคลานมา ถ้าบกพร่องตามธรรมชาติ มันก็เป็นของแปลกประหลาด แล้วคนสมมุติโลกเขาก็ตื่นเต้นไปกับเขา

เวลาถึงที่สุดแห่งทุกข์มันเป็นเรื่องปกติ มันเป็นเรื่องที่เป็นสัจธรรม ไม่มีสิ่งใดสั่นไหว อยู่กับจิตดวงนั้น อยู่กับธรรมธาตุอันนั้นด้วยสัจจะความจริง แล้วกิเลสมันหลอกไม่ได้ว่า ถ้าเราจะพ้นทุกข์เชียวหรือ พ้นทุกข์แล้วจะไปอยู่กับใคร ถ้าพ้นทุกข์แล้วจะอยู่กับใคร เราจะไปอยู่คนเดียวหรือ เราจะอยู่อย่างใด...นี้กิเลสมันหลอกให้เราไม่กล้ากระทำ

แต่พอกระทำถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้ว มันรู้แจ้ง รู้แจ้งตั้งแต่ภพชาติ กามภพ ตั้งแต่สวรรค์ลงมา กามภพ รูปภพ ตั้งแต่พรหม อรูปภพ นี่พรหมที่ไม่มีรูป รูปภพ อรูปภพ นี่วัฏฏะ แล้วมันพ้นจากวัฏฏะไป วัฏฏะนี้เป็นที่ท่องเที่ยวของจิต แล้วทำลายจิต จิตที่เป็นผู้ท่องเที่ยวในวัฏฏะนี้โดนทำลายแล้ว สัจธรรมนี้พ้นจากกามภพ รูปภพ อรูปภพ พ้นจากวัฏฏะไป มันเป็นอย่างใด

มันถึงไม่สงสัยว่า ถ้าสิ้นสุดแห่งทุกแล้วจะไปอยู่กับใคร เอวัง