เทศน์บนศาลา

รู้จริงเป็นอิสระ

๒ ม.ค. ๒๕๔๖

 

รู้จริงเป็นอิสระ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒ มกราคม ๒๕๔๖
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เรื่องของเรา เอาเลย มานั่งภาวนา ภาวนาให้ได้นะ ภาวนาให้ได้มันจะมีหลักใจ ถ้าภาวนาไม่ได้ ไม่มีหลักใจ คนไม่มีหลักแล้วยืนโดยขาตัวเองไม่ได้ เราไม่มีจุดยืน ถ้าเราไม่มีจุดยืน เราก็ต้องฟังคนอื่น เกาะหวังพึ่งคนอื่นตลอดไป ถ้าเราหวังพึ่งคนอื่นตลอดไป เราจะไม่สมหวังเลย เพราะตัวเราเอง เรายังพึ่งตัวเราเอง ไม่ได้ เราจะหวังพึ่งใคร เราต้องหวังพึ่งตัวเราเอง

ในการประพฤติปฏิบัติ เราต้องหวังพึ่งตัวเอง พยายามทำของเราให้ได้ ถ้าทำของเราได้ เห็นไหม มันประสบความสำเร็จ ประสบความสำเร็จขนาดไหนมันก็เป็นความสำเร็จของเรา ประสบความสำเร็จ คือความสุขของใจเป็นเครื่องยืนยัน สิ่งที่เป็นความทุกข์ที่สุดคือความลังเลสงสัย ความอาลัยอาวรณ์ ความลังเลสงสัย ตัวสุดท้ายนี้เป็นเรื่องที่ว่าเป็นสิ่งที่ยอกใจที่สุดเลย เพราะความลังเลสงสัย เราถึงได้ไม่กล้าทำสิ่งใดเลย จะทำสิ่งใดกลัวความผิดพลาด กลัวความพลั้งเผลอในการที่เราลังเลสงสัยนั้น แล้วมันอยู่ในหัวใจของเรา ถ้าเราลังเลสงสัย เราจะเอาตัวเรารอดไม่ได้เลย

ฉะนั้นเราต้องเชื่อธรรมไง ศรัทธาความเชื่ออันนี้สำคัญมาก ถ้าเรามีศรัทธาเรามีความเชื่อขึ้นไป เราจะเอาตัวรอดได้ ถ้ารู้จริงเป็นอิสระได้ ถ้ารู้ไม่จริง รู้ไม่จริงครอบงำด้วยกิเลสไง กิเลสครอบงำในความคิดของเรา แล้วมันจะมีความลังเลสงสัยเจือปนไปตลอดเวลาเลย แล้วมันครอบงำนะ ปฏิบัติขนาดไหนก็ไม่พ้นจากกิเลสได้ เพราะกิเลสมันครอบงำ รู้ไม่จริง

ถ้ารู้จริงของเรา จริงในความรู้สึกของเรา จริงในหัวใจของเรา ในหัวใจของเราที่ความรู้สึกอันนี้ อันที่มันพาเกิดพาตายอยู่นี่ มันทุกข์ มันทุกข์ตรงนี้ ทุกข์ตรงหัวใจของเรามันไม่รู้สิ่งใดใด แล้วมันลังเลสงสัย ลังเลสงสัย แล้วก็จับนู้นจับนี้ จับสิ่งต่างๆ แล้วก็ไม่สมประโยชน์กันหมด ไม่สมประโยชน์ทั้งๆ ที่ประพฤติปฏิบัตินะ ว่าเป็นธรรมๆ ทั้งหมด เห็นไหม ทานก็เป็นธรรม การให้เป็นทาน เรามีจิตเป็นกุศลนี้ก็เป็นธรรม สิ่งที่เป็นธรรมนี้มันก็ขับเคลื่อนมาให้เราทำคุณงามความดี แต่ทำคุณงามความดีนี้ คุณงามความดีนี้อย่างเด็กๆ คุณงามความดีอย่างของผู้ใหญ่ คุณงามความดีอย่างนักปราชญ์ นักปราชญ์มีความรู้มาก มีความศึกษาเล่าเรียนมามาก จะทำอะไรต้องทำแล้วต้องมีเหตุมีผล

เหมือนกัน หัวใจถึงที่สุดแล้วมันต้องมีเหตุมีผล ให้กับปัญญา เห็นไหม ปัญญาของใจมันมีเหตุมีผลสอนใจได้ ถ้าสอนใจได้ ใจจะมีจุดยืนขึ้นมาได้ มีจุดยืนขึ้นมามันก็ยืนหลักของเราขึ้นมา ยืนหลักของเราขึ้นมา มันก็ยืนตัวของมัน เป็นสิ่งที่ว่าเป็นคุณประโยชน์ต่อไป ถ้าใจเราไม่มีหลักของใจ ไม่มีสัมมาสมาธิ จะทำสิ่งใดก็ทำไป แล้วเราก็ทำสิ่งนั้นกันอยู่ เพราะเราประพฤติปฏิบัติ เราพยายามทำความสงบของใจ

เริ่มต้นพื้นฐานของใจต้องให้สงบ ต้องให้แน่นปึ๋ง ใจแน่นปึ๋งได้ ใจสงบแน่นปึ๋งนี้เป็นสัมมาสมาธิ เพราะมันสงบเข้าไปบ่อยครั้งเข้า สงบครั้งหนึ่งก็มีความสุขครั้งหนึ่ง เพราะเวลาปล่อยจากความยึดมั่นถือมั่น ปล่อยจากความเป็นห่วง เป็นภาระความรุงรังของใจ ใจจะมีความสุขมาก มันจะมีความสุขของมัน นั่นน่ะ รู้ส่วนหนึ่ง

รู้ส่วนหนึ่ง รู้ส่วนที่ว่ามันจะเป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์ควรแก่การงาน เราไม่ควรจะสุกเอาเผากินไง ไม่รอบคอบ สุกเอาเผากิน พอเจอธรรมอะไรขวางหน้าหน่อยก็ว่าเป็นสภาวธรรมๆ สภาวธรรมจะอยู่ตื้นๆ ขนาดนี้หรือ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก ลึกซึ้งมาก เป็นสิ่งที่ว่า ค้นคว้าด้วยความยากลำบากมาก มันอยู่เป็นความลึกซึ้งในหัวใจ เพราะใจนี้มันประหลาด มันมหัศจรรย์ สมบัติใดๆ ในโลกนี้เราเข้าไปเจอสมบัตินั้นก็เห็นว่าเป็นสมบัติ เพชรนิลจินดาเราเห็นได้ง่าย ขนาดเพชรนิลจินดายังต้องขุดออกมาจากเหมือง ดินมันจะกลบไว้ ดินวัสดุสิ่งต่างๆ จะกลบสิ่งนั้นไว้ เราต้องไปขุด ไปค้นคว้ามา แล้วต้องมาเจียระไน

เจียระไนคือว่า มันจะเป็นเพชร เป็นเหลี่ยมมุมสวยงามขนาดไหน มันจะเป็นขนาดนั้น แล้วหัวใจของเรามันจะมีความง่ายดายขนาดนั้นเชียวหรือ พอมันสงบเข้าไปมันมีความเวิ้งว้าง อันนี้จะเป็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง นี่กิเลสมันครอบไว้ไง รู้ไม่จริง กิเลสมันจะครอบไว้ ตกอยู่ในอำนาจของกิเลส

กิเลสนี้ เวลาคำว่า “กิเลส” กิเลสมันคืออะไร กิเลสมันคือความเคยใจของเรา มันฝังมาอยู่ในหัวใจ แล้วหัวใจนี่ เพราะสิ่งนี้เป็นอวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา มันถึงพาเกิดพาตายมา แล้วมันมาเกิดตายขึ้นมาแล้ว เกิดขึ้นมาเป็นมนุษย์ขึ้นมา มันก็มีความคิด ความผูกพัน ความยึดมั่นถือมั่นของมัน อันนั้นมันก็เกิดตายในสิ่งที่มีชีวิตอยู่อีก

เกิดตายในวัฏฏะ เกิดตายในสภาวะความเป็นจริง เกิดตายในภพชาติเลย นั้นส่วนหนึ่ง นั้นเป็นหลักใหญ่ของวัฏวน แล้วเกิดตายในความคิดเห็นไหม ความคิดมันเป็นสิ่งที่ว่าเราไม่พอใจสิ่งใด ความคิดที่มันขัดขวางในหัวใจ เราปลดเปลื้องมันได้ๆ มันก็เกิดตายๆ ในหัวใจของเรา เกิดตายในวัฏฏะ เกิดตายในภพส่วนหนึ่ง เกิดตายคือทุกลมหายใจ เกิดตายอยู่ทุกเวลา แล้วทำให้เราปรารถนา ความคิดนี้ปรารถนาสิ่งใดจะต้องฉุดกระชากลากให้มีความคิดขึ้นมาก่อน มโนกรรมเกิดขึ้น เกิดการกระทำขึ้นมา

มันปรารถนาสิ่งใดเราก็แสวงหาสิ่งนั้นมาปรนเปรอมัน ปรนเปรอเข้าไปขนาดไหน นั่นน่ะ ทำอยู่ในระเบียบของกิเลสเห็นไหม กิเลสมันวางกฎวางระเบียบให้เราทำขนาดนั้นเลย แล้วอย่างนี้เราทำตามกิเลสไหม ถ้าเราทำตามกิเลส นี่มันเป็นกิเลสที่มันครอบงำอยู่ในหัวใจ เราทำตามกิเลสไป มันจะสมความปรารถนาตรงไหนล่ะ มันถึงต้องฝืนไปตลอด นี่ถึงมีธุดงควัตรไง พระเราบวชมาแล้วต้องมีธุดงควัตร ผู้ที่ไม่ปฏิบัติธุดงควัตรก็ไม่ปรับอาบัติ

แต่ถ้าเป็นอาบัติเห็นไหม ความผิดพลาดในวินัยนี่ปรับอาบัติทั้งหมด ธุดงควัตรนี้ไม่ปรับ แล้วแต่จริตนิสัย คนจะถือได้กี่ข้อก็แล้วแต่ เห็นไหม มันเป็นการฝืน มันต้องมีสิ่ง มีฝืน มีหนัก มีเบา สิ่งที่มีหนักมีเบา ในพรรษาต้องตั้งกติกาขึ้นมาเพื่อจะให้เราพยายามดัดแปลงตนของเราได้ ดัดแปลงตนคือดัดแปลงหัวใจ คือการฝืนใจ ต้องฝืนมัน กิเลสต้องฝืนมัน ไปตามมันไม่ได้ ถ้ากิเลส ไปตามมัน ทำแต่ความเป็นพอสบายๆ ทำแต่พอเป็นพิธีกรรม เป็นพิธีที่เราทำกันอยู่อย่างนี้ เราทำกันไปประสาเราว่ามันเป็นคุณงามความดีแล้ว คนอื่นเขาไม่ประพฤติปฏิบัติเหมือนเรา เขายังอยู่สุขอยู่สบายในโลก เขายังอยู่ของเขาได้

อันนั้นมันคนมืดบอด ทำไมเราไปเอาคนมืดบอดมาเป็นครูเป็นอาจารย์ล่ะ ทำไมเราไม่เอาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เอาครูบาอาจารย์เราเป็นหลักชัยล่ะ ครูบาอาจารย์ของเราทำมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกข์ยากขนาดไหน ๖ ปีนี้ขนาดสลบถึง ๓ หน ไม่มีใครทำได้ขนาดนั้นนะ ในความเพียรนี้ไม่มีใครทำได้อุกฤษฏ์เท่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย ทดลองมาทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วทดลองนั้นเหมือนครูบาอาจารย์เรา พยายามแสวงหาหนทางให้เราก้าวเดินที่สะดวกสบายที่สุด แล้วก็ทำสิ่งที่ว่า

ในกรรมฐาน ๔๐ ห้อง ให้กำหนดพุทโธๆ พยายามทำกรรมฐาน กำหนดพุทโธ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ มรณานุสติ ความระลึกความตายก็ได้ ระลึกความตายไป แต่ทำไมมันเบื่อหน่าย เวลาทำไปแล้วมันเบื่อหน่าย งานมันไม่ต่อเนื่อง แต่งานทางโลกทำไมมันพอใจทำล่ะ เพราะมันเห็นผลประโยชน์ใช่ไหม ถ้าเราทำไปแล้วมันจะมีสิ่งแลกเปลี่ยนมา มันจะได้เงินได้ทองมาสมความปรารถนา ถ้าเราทำจบสิ้น นั่นน่ะ มันเข้าทางกิเลส ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

กิเลสมันต้องการสิ่งนั้น ต้องการปิดบังให้เรามืดบอด ต้องการให้เราไม่เข้าไปค้นหาตัวมันเอง ไม่ให้เข้าไปเจอตัวกิเลส มันหลอกให้ทำงานเปลือกๆ ซะ งานของโลกเขา งานในวัฏฏะนี้ใครก็ทำได้ งานประกอบสัมมาอาชีวะ สิ่งที่ประกอบสัมมาอาชีวะนี้เรื่องของโลก วิชาการทางโลกมันเป็นวิชาการทางโลก แล้วมีปัญญานะ คนนี้ฉลาด คนนี้ทำแล้วประสบความสำเร็จ เขามีบุญวาสนาของเขา เขาถึงประสบความสำเร็จ โอกาสจังหวะเขาพอดี เขาทำโอกาสจังหวะเขา เขาได้ทำออกไป มันสมประโยชน์ไปทั้งหมดเลย

แต่เราเป็นคนทุกข์คนยากทำอะไรไม่สมความสำเร็จของเรา ทางโลกก็ไม่ประสบความสำเร็จ มีความทุกข์ยากต้องลำบากร่ำร้อนไปตามประสาของเรา นั้นเพราะเราสร้างมาอย่างนี้ นี่อำนาจวาสนามันถึงสร้างสมมาไม่เหมือนกัน สิ่งที่สร้างสมมาไม่เหมือนกันจะให้เหมือนกันไม่ได้ นั้นเป็นงานทางโลก แล้วก็พอใจทำกัน เพราะพอใจทำสิ่งนี้ มันเป็นเครื่องเชิดชูได้ มันเป็นวัตถุที่อวดกันได้ว่า ฉันมีของฉันมาก เห็นไหม วัตถุข้าวของนี้เอามาปรนเปรอกันว่า ฉันมีมาก ฉันมีน้อย ฉันมีขนาดไหน นั่นน่ะ สังคมยกย่องกันตรงนั้น สังคมยกย่องกัน แต่ธรรมไม่ยกย่อง สังคมยกย่องนั้นคือกิเลสมันหลอก สิ่งที่กิเลสหลอก กิเลสจะดึงไปตามความเห็นของกิเลส กิเลสจะดึงเราไปในวัฏฏะนี้ ให้เราติดข้องอยู่ในวัฏฏะ ให้มืดบอด ให้ตกอยู่ในอำนาจของมาร มารจะคุมใจเราไปตลอด มาร กิเลสครอบใจไว้ตลอดเลย

เรารู้ไม่จริง ถ้าเรารู้จริง เราต้องรู้เข้าว่าสิ่งนี้มันเป็นประโยชน์ขนาดไหน เราก็เห็นอยู่ เห็นไหม สภาวธรรมสอนอยู่ตลอดเวลา คนเกิดมาแล้วต้องตายต่อหน้าเรา เราก็เห็นนะ ยมทูตทั้ง ๔ สิ่งที่เกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ตลอดไป เราก็รู้ ทุกคนก็รู้ แต่ทุกคนยอมรับสภาพเห็นไหม ยอมรับสภาพให้กิเลสมันมีอำนาจเหนือเรา สิ่งที่มีอำนาจเหนือเราแล้วเราก็ทำงานบูชากิเลสทั้งนั้นเลย แล้วเราประพฤติปฏิบัติ เราพยายามมีศรัทธา มีความเชื่อ เราศรัทธาในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเราเกิดมาเราเป็นคนมีหูตาสว่าง เราไม่มืดบอดไปกับกระแสโลก

โลกมืดบอดไปตามกระแสเขาแล้วมันก็ชักลากให้สัตว์โลกนี้ต้องมืดบอดไปอย่างนั้น ปิดตาของใจไว้มืดมิดเลย แข่งกันสะสมแต่กองทุกข์ แล้วก็บ่นกันว่าทุกข์ ว่าทุกข์นะ ทุกคนบ่นว่าทุกข์ แต่ทุกคนไม่รู้ว่าทุกข์เกิดจากตรงไหน ทุกข์ดับจากตรงไหน เกิดมาในสภาวะมีแต่ทุกข์ ทุกข์เกิดมาจาก ชาติปิ ทุกฺขา มีการเกิดขึ้นมารับสภาวะรู้สิ่งใดแล้วสิ่งนั้นเป็นตัวทุกข์ที่สุดเลย เพราะมีสภาวะรับรู้เขาแล้ว แล้วถ้าแก้ทุกข์มันต้องแก้ตรงนี้ แก้ตรงที่ว่า ตายแล้วจะไม่เกิดอีกเลย

ตายนี้ต้องตายแน่นอน เพราะเราเกิดมาแล้วเรามีสภาวะร่างกาย เรามีหัวใจ หัวใจเราเกิดมาในร่างกายของเรานี้ จะต้องพลัดพรากจากกัน สักวันใดก็วันหนึ่ง แล้วทำไมมาตื่นกับเรื่องของโลกล่ะ ทำไมมาตื่นกับงานของโลก ตื่นกับงานสิ่งที่ว่า มันเป็นสิ่งที่เครื่องอยู่อาศัยของโลกเขา มันเหมือนกับว่าเป็นสิ่งที่อาศัยกันวันนี้ วันพรุ่งนี้อาศัยไม่ได้ เหมือนกันเลย มันอาศัยในภพชาตินี้ไง สิ่งที่ในภพชาตินี้เราต้องอาศัยแน่นอน ปัจจัยเครื่องอยู่อาศัยนี้เราต้องใช้มัน แต่เราใช้มันด้วยคนมีปัญญาสิ เราหามันด้วยความจำเป็น เราหามาเราก็หามาด้วยมีความจำเป็นของเรา หามาด้วยปัจจัย ๔ แล้วเราก็ใช้ไปในวันนี้ พรุ่งนี้เราจะเอาอะไรใช้

นี่ก็เหมือนกัน ตายไปแล้ว เราจะเอาสมบัติอะไรไปข้างหน้า ตายแล้วก็เกิดอีก ตายแล้วก็เกิดอีกเพราะอะไร เพราะหลงไปไง หลงไปที่ว่า ชาติปิ ทุกฺขา การเกิด เพราะมันตายแล้วเกิดอีกแล้ว ตายแล้วก็เกิดอีกแล้ว เกิดมาก็ว่ามีภพชาติเดียว เพราะมันเกิดมาก็เป็นเรา เกิดมาก็เป็นเรา เราก็ไม่รู้สิ่งใดเลย นี่กิเลสมันปิดบังตาไว้เห็นไหม

ถ้าเราทำความสงบของใจ เราพยายามจะทำความสงบของใจ ให้มันเห็นหลักใจของความสงบ มันจะมีความสุขขึ้นมานะ ความสุขเกิดขึ้นจากใจ เกิดขึ้นจากใจ ใจนี้ทุกข์ยากแสนยากนี้ทุกข์ตลอดไป ใจนี้เป็นผู้ที่เกิดแก่เจ็บตาย เกิดแก่เจ็บตายในวัฏฏะ แต่มันไม่เคยแก่ คนแก่ขนาดไหน ความคิดก็ยังเหมือนกับคนวัยรุ่น สดใสอยู่ตลอดเวลา มันเบื่อ มันทุกข์ยากเฉพาะร่างกายมันไปไม่ไหว แต่ความคิดมันพอใจจะไป แก่ขนาดไหนความคิดมันก็พอใจ มันจะไปของมัน แต่มันไปไม่ได้ เพราะสภาวะของร่างกายมันไม่อำนวยเท่านั้น นั่นน่ะ เวลามันแก่หง่อมขึ้นมาเป็นอย่างนั้น แล้วเราจะเอาไว้แก่หง่อมค่อยเข้าวัดหรือ แก่หง่อมค่อยประพฤติปฏิบัติหรือ

“ภิกษุบวชเมื่อแก่ ผู้ที่สอนง่ายไม่มี” ภิกษุบวชเมื่อแก่เป็นคนที่ว่าไม่ยอมฟังครูอาจารย์ เพราะว่าเขามีความเห็นของโลก โลกะ เรื่องของโลก เขาอยู่ในโลกมานาน เขานึกว่าเขามีปัญญา มีความเห็นของโลก นี่กิเลสมันปิด ๒ ชั้น ชั้นหนึ่ง ตัวเองหลงไปจนถึงกับแก่หง่อม จนจะไม่มีเวลาก็ยังไม่รู้สึกตัวเลย นี่กิเลสชั้นหนึ่งแล้ว เรานี้มาสาย สายมากๆ เลย ถ้าเรามาแต่เช้า เรามาตั้งแต่มีกำลังวังชาเรายังสมบูรณ์อยู่ การประพฤติปฏิบัติเราก็คล่องแคล่วว่องไว เรามาสายก็กิเลสปิดชั้นหนึ่งแล้ว ยังมาอวดรู้อีกนะ “ฉันอยู่ในโลกมา ฉันเข้าใจสิ่งต่างๆ มา ภิกษุที่บวชอยู่ในวัดจะรู้สิ่งใด จะรู้สิ่งใด”...รู้เรื่องสภาวะใจ รู้การชาติปิ ทุกฺขา ขอให้มันรู้จริงเถอะ ถ้ารู้จริงกิเลสมันก็ครอบงำไม่ได้ นี้กิเลสมันครอบงำมา มันปิดบังตามา ยังมาอวดรู้เห็นไหม อวดรู้ว่าฉันรู้ รู้ว่าผู้ที่อยู่ในโลกมานาน รู้อย่างนั้นมันรู้ประโยชน์อะไร เพราะสิ่งนี้ใครๆ เขาก็เรียนตามทันกันได้ แต่ตามกันทันเมื่อไหร่แล้วก็จะมาถึงที่สุด ต้องมาพลัดพรากจากชีวิตนั้นไป จะไม่ได้ประโยชน์สิ่งนั้นเลย

สิ่งนี้เรามาสายแล้วเราต้องพยายามฝึกฝนของเรา พยายามทำของเราให้ได้ พยายามทำความสงบของใจให้ได้ ต้องดับชาติปิ ทุกฺขา ดับชีวิต ดับการเกิด ดับสิ่งที่มันจะไปเกิดต่อข้างหน้า ดับสิ่งนี้ได้แล้วมันก็จะตายแล้วไม่ต้องเกิดอีก นั่นน่ะ มันจะรู้จริงเข้าไป จะดับได้ต้องมีวิธีการดับ วิธีการมีอยู่แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้แล้ว มรรคอริยสัจจัง สัมโพชฌงค์เห็นไหม ธัมมวิจยะ เราต้องวิจัยธรรม

ธรรมคืออะไร? ธรรมคือเกิดขึ้นกับเราตลอดมา เราเกิด เราตื่นขึ้นมาก็ธรรมเกิด ธรรมก็เกิดแล้วเห็นไหม ตื่นขึ้นมาต้องล้างหน้า ต้องทำความสะอาดร่างกาย นั่นน่ะ สิ่งนี้มันเกิดขึ้นมามันเป็นสภาวะที่ว่า สิ่งนี้เราต้องจมอยู่กับสิ่งนี้ คือร่างกายของเรามันเป็นสภาวะที่ว่ามันต้องแปรสภาพ มันต้องเสื่อมสภาพไป เสื่อมสภาพไปทุกวัน ทุกเวลา ทุกนาทีของมัน มันสะสมสิ่งที่เป็นมูตรเป็นคูถออกมา ออกมาทางทวารต่างๆ

เรานี่สภาวธรรมมันก็เกิดแล้ว มันก็เห็นสภาวธรรมก็เกิดแล้ว แต่เราไม่สามารถจับสิ่งนี้มาเป็นประโยชน์ เพราะมันเป็นความชินชา สิ่งที่เกิดทุกวันๆ กับเรา เป็นความชินชา เราถึงไม่ได้ประโยชน์กับมัน สิ่งที่จะได้ประโยชน์กับมัน เราต้องมีสติสัมปชัญญะ มีสติ มีสตัง สิ่งต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นมา ทำงานทางโลกเขาก็ต้องใช้สติ ถ้ามีสติงานนั้นก็จะประสบความสำเร็จของเขา ถ้าไม่มีสติ ความพลั้งเผลอไป งานนั้นก็เสียไป

แล้วนี่เราทำงานของธรรม มันเป็นงานเหนืองานของโลกมากเลย งานของธรรม ธรรมสมบัติ สมบัติของธรรม ถ้าจะเข้าถึงใจแล้วมันจะปลดเปลื้องความทุกข์ของใจออกไปได้

ความลังเลสงสัยเหล่านี้มันก็มีอยู่ในหัวใจเต็มร้อยเลย กิเลสครอบอยู่โดยมิดชิด ไม่ให้เห็นสิ่งใดๆ เกิดแสงสว่างขึ้นมาเลย เหมือนเราเข้าไปอยู่ในถ้ำ แล้วถ้ำก็จะพังทลายทับเราลงมาอีก นี้ก็เหมือนกัน เราอยู่ในร่างกายเห็นไหม หัวใจอยู่ในร่างกายเหมือนถ้ำอันหนึ่ง แล้วมันก็ต้องแปรสภาพไป มันต้องหมดเวลาไป กาลเวลาหมดชีวิตไป ต้องหมดชีวิต ต้องตายไป นั่นน่ะ ถ้ำมันก็พังทับลงมา แล้วก็เงียบ จิตนี้โดนหินทับมาก็ต้องตายไป แล้วก็ต้องไปเกิดใหม่ๆ นี่เห็นสภาวะแบบนี้แล้วมันสะท้อนใจ นี้สภาวธรรมเกิดขึ้นมา

เราต้องเป็นคนที่หาทางออก มันจะไม่ประสบความเป็นธรรมเหมือนกับเราเกิดมาชาตินี้หรอกนะ ชาตินี้เราเกิดมาแล้วเราพบพระพุทธศาสนา แล้วพุทธศาสนากำลังเจริญรุ่งเรือง องค์หลวงปู่มั่นก็พบพระพุทธศาสนาเหมือนกัน แล้วทุกข์ยากมากเพราะไม่มีครูบาอาจารย์ องค์หลวงปู่มั่นยังสามารถพยายามฝึกฝนตัวเองจนหลุดออกไปจากวัฏฏะได้ เพราะพระธาตุที่พิพิธภัณฑ์นั้นเป็นเครื่องยืนยัน ธรรมะที่สั่งสอนลูกศิษย์มาก็เป็นเครื่องยืนยัน

ลูกศิษย์ที่ว่าเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่นประพฤติปฏิบัติขึ้นมา แล้วเวลาประพฤติปฏิบัตินี้ ประพฤติปฏิบัติด้วยตรงไหน? ก็ด้วยธรรมนี่ไง ด้วยธรรมที่ว่าฟังหลวงปู่มั่นเทศนาว่าการ เหมือนกับเปิดโลก เห็นไหม เปิดให้เราเห็นทางออก เปิดให้เห็นสภาวธรรม เพราะท่าน ต้องทุกข์ ต้องยาก ต้องแสวงหามา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกข์ยากหามาแล้วเป็นเวลา ๒,๕๐๐ กว่าปี ไม่มีผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ มันก็เป็นตำราไว้ในตำรา พระไตรปิฎกก็เต็มตู้อยู่ ทุกคนศึกษาแล้วก็งง งงในความคิดของเรา

ศึกษาแล้วก็รู้ไม่จริง เพราะเราเอากิเลสเราเข้าไปศึกษา เราศึกษาธรรมมา กิเลสเราก็ศึกษาไปด้วย แล้วเราก็มาตีความ งงไปหมดเลยว่าต้องทำอย่างไร ทางออกมากมายเลย เหมือนกับทาง เหมือนกับเส้นใยแมงมุม เราเลยไปไม่ถูกเลยว่าทางไหนจะเป็นทางออก

สอนพระสารีบุตรก็อย่างหนึ่ง สอนพระโมคคัลลานะก็อย่างหนึ่ง สอนลูกศิษย์แต่ละองค์ๆ ก็เป็นวิธีการอย่างหนึ่ง เพราะจริตนิสัยคนไม่เหมือนกัน คนเราจริตนิสัยไม่เหมือนกัน ความเห็นไม่เหมือนกัน มันก็ต้องสอนแนะวิธีการแต่ละองค์ตลอดไป แล้วของเราจะเอาวิธีการใดก็งงขึ้นมาอีกเห็นไหม นี่ความลังเลสงสัย รู้ไม่จริง กิเลสมันครอบงำ

เราโดนกิเลสครอบงำแล้วเราก็รู้ทางออกไม่ได้ แต่ปัจจุบันนี้ครูบาอาจารย์อยู่ หลวงปู่มั่นมาฟื้นฟูใหม่อีกรอบหนึ่ง หลวงปู่มั่นเป็นผู้ที่ฟื้นฟูออกไป เหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เลย แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้นี้ไม่มีธรรมอยู่ องค์หลวงปู่มั่นนี้มีธรรมอยู่ แต่ก็ยังค้นคว้าทุกข์ยากออกไป ต้องแสวงหา ต้องดิ้นรนไป

เวลาทุกข์ เวลาที่ยังมีความลังเลสงสัยอยู่ ไปปรึกษาหลวงปู่เสาร์ นั่นน่ะ ปัญญาของหลวงปู่มั่นมาก ต้องหาเอง หลวงปู่เสาร์ไม่รู้จัก ไม่เห็นภาวะของจิตที่มันคึกคะนอง ก็จิตที่ว่าเวลามันรวมลงแล้วมันมีความแปลกประหลาดต่างๆ นั่นน่ะ ตัวเองมีอยู่ก็ต้องพยายามบังคับสิ่งนี้มา เรานี่มีครูมีอาจารย์คอยแนะนำ แต่เราก็ยังชอบสิ่งนั้นเห็นไหม ชอบสภาวะที่เกิดขึ้นกับใจ สิ่งที่เกิดขึ้นกับใจนั้นเป็นนิมิต เป็นความรู้ต่างๆ นั้นเป็นสิ่งเครื่องล่อทั้งนั้นเลย ล่อให้เราหลงออกจากนอกทาง

เราจะเข้าทางของเรา คือทางมรรคอริยสัจจัง ความสงบของใจ ถ้าใจไม่สงบเข้ามา มันจะเป็นสิ่งที่ว่า อาการภายนอก อาการภายนอกเหมือนกับเงา เงากับร่างกาย ร่างกายมีอยู่ สภาวะจิตมีอยู่ สภาวะจิตมีอยู่นี่ความรู้สึกอยู่ที่จิตนั้นใช่ไหม แล้วเวลาเราโดนแดด เราจะมีเงาของร่างกายของเรา นี้ก็เหมือนกัน ความเห็นของใจ ความคิดของใจนั้นเป็นเงาเท่านั้น ไม่ใช่เป็นร่างกาย ไม่ใช่ตัวจิต อาการของใจเป็นอาการของใจ ใจเป็นใจอย่างหนึ่ง

นี้การประพฤติปฏิบัติเริ่มต้น เริ่มต้นกิเลสมันแผ่กิ่งก้านสาขานี้มันกว้างขวางมาก มันยึดมั่นถือมั่นไปหมด นี้ความสงบของใจเข้ามามันถึงทำยาก เริ่มต้นยากยากตรงนี้ ยากตรงเริ่มต้นก้าวแรกนี่ ถ้าก้าวแรกก้าวผ่านไปแล้ว ก้าว ๒ ก้าว ๓ เราจะก้าวตลอด ก้าวได้ง่ายขึ้น การศึกษาเล่าเรียนเหมือนกัน พื้นฐาน การปูพื้นฐาน เด็กๆ นี่การเรียนพื้นฐานต้องปูมาหลายปีเลย กว่าจะสะกดตัวอักษรได้ต่างๆ แต่พอเขียนได้แล้วมันจะคล่องแคล่วว่องไว หลับตาเขียนก็เขียนได้ ถ้าคนขีดเขียนแล้วด้วยความชำนาญ

นี่เหมือนกัน มันจะเกิดขึ้นมาได้ตรงที่ว่าเราจะฝึกหัดใจของเราขึ้นมาให้มันสงบเข้ามา ถ้าสงบเข้ามาแล้วมันจะเป็นประโยชน์กับเรา เป็นประโยชน์กับใจดวงนั้น ใจดวงนั้นจะมีความสุขก่อน ความสงบของใจนี้คือความสุขของใจเกิดขึ้นจากใจ หัวใจมันมีความเร่าร้อน มีความต้องการแสวงหา แล้วเราก็แสวงหาสิ่งต่างๆ เพื่อความพอใจของมัน คิดว่าสิ่งนั้นเป็นที่พึ่งของใจ คิดว่าความพอใจ คิดว่าสิ่งที่ว่าเป็นที่พึ่งนั้นจะสมประโยชน์กับใจให้มีความสุข

ไม่ใช่เลย เราต้องละต่างหาก ธรรมนี้คือต้องละ ต้องวาง ถ้าต้องละต้องวางแล้วสิ่งนั้นมันเป็นประโยชน์เห็นไหม มันเป็นประโยชน์กับโลกเขา แต่ไม่เป็นประโยชน์กับเราเลย บางอย่างนี่ปัจจัย ๔ เครื่องอยู่อาศัยนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ปฏิเสธ แต่สิ่งที่เกินกว่านั้นมันไม่ใช่เครื่องอยู่อาศัย มันเป็นสิ่งกดถ่วง ถ้าเราไปเอาสิ่งนั้นมากดถ่วงใจ มันก็จะเป็นอารมณ์ที่ว่า ทำให้เป็นภาระรุงรังไป

สิ่งที่เป็นภาระรุงรังจะไม่สะดวกในการประพฤติปฏิบัติ เราถึงต้องให้มีบริขาร ๘ พระนี้เหมือนนก บิณฑบาตฉันที่ไหนแล้วธุดงค์ไป เหมือนนกบินไปเลย นี่ชีวิตเป็นแบบนั้น อิสระขนาดนั้นนะ แต่อิสระจากภายนอก อิสระจากธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าห่วงนะ รื้อสัตว์ขนสัตว์นี้อยากให้สัตว์พ้นไปมาก ถึงวางธรรมไว้ให้เราก้าวเดินไง

แต่กิเลสเราไปคว้าเอาเอง สิ่งใดก็เป็นความจำเป็นๆ ถ้าสิ่งใดก็เป็นความจำเป็นมันก็สะสม สะสมมันก็ทำให้สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เป็นภาระไปตลอดเลย แล้วถ้ามันเป็นภาระแล้ว หัวใจมันก็ต้องมีการแบกหาม แล้วมันจะทำความสงบเข้ามาได้อย่างไร นั้นก็มีความจำเป็น นี้ก็มีความจำเป็น ออกไปข้างนอกหมดเลย แต่มันจะย้อนกลับขึ้นมา มีความจำเป็นของโลกเขา ให้เป็นความจำเป็นของโลกเขา ไม่ใช่ความจำเป็นของเรา

ความจำเป็นของเราคือการดำรงชีวิตนะ หยอดน้ำมันเหมือนกับให้ล้อเกวียนมันเคลื่อนไหวไปเท่านั้นเอง ชีวิตนี้อยู่เท่านั้น อยู่เพื่อต้องการชำระกิเลส อยู่เพราะต้องการทำลาย ชาติปิ ทุกฺขา ชาติความเกิดเป็นทุกข์อย่างยิ่ง แล้วเครื่องมือที่จะทำลายมันจะไปอยู่ที่ไหน นั่นน่ะ เครื่องมือที่จะทำลายต้องมีความสงบของใจ มันถึงจะออกจากโลก สิ่งที่จะออกจากโลกนี้เป็นโลกุตตระ สิ่งที่เป็นโลกุตตระมันต้องเป็นธรรมเหนือโลก สิ่งที่เราทำกันอยู่นี้เป็นธรรมในโลกไง

ธรรมออกมาจากใจ ใจนี้ธรรมเคลื่อนไหวออกมามันก็เป็นเงาของใจ เงาของใจเป็นอาการของใจ นี้มันเป็นเรื่องของโลก โลกเขาทำอย่างนั้น ผู้ที่เป็นนักบริหารก็ใช้ปัญญาเหมือนกัน เขาบริหารงานของเขา เขาใช้ปัญญาของเขา เขาก็ใช้ปัญญาอย่างนี้เหมือนกัน นี่ปัญญาของโลกเขา

เรื่องของโลกมันเป็นเรื่องของโลก เราถึงทำความสงบของใจขึ้นมา เปลี่ยนจากโลกให้เป็นธรรม เปลี่ยนจากโลก ความคิดของโลกเป็นสุตมยปัญญา มันต้องก้าวเดินจากตรงนี้ พื้นฐานนี้ออกไป รู้จากตรงนี้แล้วให้มันจริงตลอดไป แล้วจะพ้นจากความครอบงำของกิเลส รู้จากตรงนี้ แล้วธัมมวิจัย เห็นไหม ตรึกธรรมๆ ตรึกความคิดของเรา คิดธรรมขึ้นมาข้อหนึ่ง แล้วก็ตรึกใคร่ครวญประสาธรรม มันก็เป็นธรรมส่วนหนึ่ง แต่เป็นธรรมส่วนหยาบ ธรรมเพื่อจะพ้นออกจากโลก ตรึกธรรม วิจัยธรรม มันเป็นโพชฌงค์เหมือนกัน แต่มันตรึกธรรม วิจัยธรรม เพื่อจะให้ใจมันถอดถอนเข้ามา ถอดเสี้ยนถอดหนามให้มันเย็นสงบใจเข้ามา

เพราะใจนี้มันเร่าร้อน ใจนี้มันเป็นสิ่งที่เป็นกระหาย ใจที่มันรับรู้สิ่งต่างๆ แล้วมันแบกรับเป็นความภาระรุงรังโดยธรรมชาติของมัน โดยธรรมชาติของใจเป็นแบบนั้น ใจเป็นธาตุรู้ รู้สิ่งต่างๆ แล้วยึด ยึดตลอดไป เพราะมันหิวโหย มันไม่เคยอิ่มเคยเต็มมา มันหิวโหย มันเป็นสิ่งที่ธรรมชาติที่ว่ามันซึมซับไปทุกๆ อย่างเลย แล้วยึดของมันๆ ยึดต่างๆ แล้วเราก็ยึด

พอศึกษาธรรม เราก็รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม พอยึดธรรมมันก็ปล่อยวางส่วนหนึ่งๆ มันปล่อยวางเพราะอะไร เพราะมันปล่อยวางจากโลก ปล่อยวางจากความคิดของโลกมาเป็นความคิดของธรรม ธรรมอันนี้เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก เราศึกษามาแล้วเราเข้าใจมา แล้วมันก็ปล่อยสิ่งนั้น จากโลกเป็นธรรม แต่ก็เป็นอาการของเงาเหมือนกัน

เงาไง เงาปล่อยจากสิ่งหนึ่งไปยึดอีกสิ่งหนึ่ง แต่ต้องอาศัยสิ่งนี้เป็นพื้นฐาน ปล่อยจากอารมณ์โลกมาเป็นอารมณ์ของธรรม แต่มันก็ยังเป็นเงาอยู่ ก็ยังเป็นเงาอยู่ เป็นการก้าวเดิน พยายามทำพื้นฐานนี้ให้แน่น สิ่งที่แน่นมันสงบตัวบ่อยครั้งเข้าๆ จนเป็นสัมมาสมาธิ ความสงบครั้งหนึ่งเป็นความสงบของใจครั้งหนึ่ง มันก็มีความชุ่มเย็นใจครั้งหนึ่ง แล้วมันก็เสื่อมไป

สิ่งที่มันเสื่อมไปเพราะเรายังไม่มีความชำนาญ เรามีความชำนาญในวสี ในการทรงใจไว้ เราพยายามทำใจของเรา พยายามตั้งสติไว้ แล้วเราใส่ความเพียรเข้าไป ความเพียรนี้เร่งเข้าไปๆ เร่งตลอดไป แล้วมันจะเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาให้ได้ มันเป็นไปได้ ในเมื่อเราอยู่ในท่ามกลางของแสงแดด มันต้องมีอากาศ มันต้องร้อนแน่นอน เราพยายามใช้ตบะธรรมแผดเผาหัวใจ ทำไมหัวใจมันจะสงบไม่ได้ หัวใจมันต้องสงบได้สิ

ความทุกข์ของมัน ความขุ่นข้องของใจ มันติดอยู่สิ่งนั้น มันเป็นอารมณ์ดิบๆ สิ่งที่มันเป็นดิบๆ กิเลสดิบๆ ครอบคลุมไว้อย่างมิดชิด เพราะเราก็รู้สภาวธรรม แต่ไม่ใช่สภาวธรรมที่จะเพิกสิ่งนี้ออกได้ มันถึงว่ามันถึงสงบไม่ได้ วิจัยธรรมก็วิจัยธรรมไปอย่างนั้น ปล่อยวางเข้ามาๆ เดี๋ยวมันก็ออกไปรับรู้สิ่งต่างๆ รับรู้ตลอดไป รับรู้คือว่าอารมณ์โลก ออกไปโลก เพราะใจมันยังเป็นโลกอยู่ สิ่งที่ใจเป็นโลกอยู่นี้ กำลังของมันมาก กำลังของมันมากมันต้องฉุดลากไป แล้วคิดออกไป

เราถึงว่า บางทีถึงกับโมโหตัวเองนะ เวลาเราทำประพฤติปฏิบัติ ทำไมเราไม่ต้องการสิ่งนี้ ทำไมมันเกิดกับเราได้ เราทำไมหักห้ามใจของเราไม่ได้ ไม่ต้องการ รู้ว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผิดพลาด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สอนไว้แล้วว่าให้มีสติสัมปชัญญะ สิ่งใดที่เป็นมโนกรรม สิ่งที่คิดเป็นอกุศลต้องปล่อยวาง...ก็รู้ รู้เหมือนกัน แต่รู้ด้วยการครอบงำของกิเลส รู้ แต่ไม่สามารถปัดป้องได้ ถึงต้องมีการฝึกฝนไง การฝึกฝน การทำสมาธิ การทำจิตให้สงบนี้มันเป็นการฝึกฝน การฝึกฝนนี้เป็นมรรค เป็นความเพียรชอบ เราขาดตรงนี้กันทั้งหมด

ระยะทางของการก้าวเดินไป ถ้าเราได้ก้าวเดินก้าวแรก ระยะทางจะสั้นมาจากก้าวแรกนั้นจะสั้นเข้ามาๆ ระยะทางจะสั้นเข้ามาเพราะเราก้าวเดินตลอดไป จะทุกข์ยากขนาดไหน หน้าที่ของเราคือก้าวเดิน จะเป็นอย่างอื่น จะเลือกอย่างอื่นนั้นมันเป็นสภาวะของเขา เรื่องของเขา เรื่องของเราคือเรื่องของใจเรา เรื่องของเราคือเรื่องแก้ไขเรา

เราเท่านั้นจะปลดเปลื้องหัวใจของเรา ธรรมจะเกิดขึ้นมานะ มรรคอริยสัจจังจะเกิดขึ้นมาท่ามกลางหัวใจของเรา ถ้าหัวใจของเราเกิดขึ้นมาในความสงบของใจ ชำนาญเข้ามาๆ ชำนาญจนประคองได้ สิ่งที่ประคองได้มันถึงจะยกขึ้นเป็นงานได้ ถ้ามันไม่สามารถ เรารักษาใจของเราไม่ได้ สมาธิของเราไม่มั่นคง เราจะทำงานไปตรงไหน

ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ วิจัยธรรมก็เหมือนกัน เราพยายามวิจัยธรรมขึ้นมา ธรรมข้อไหนก็ได้ ใจติดเกี่ยวกับสิ่งใด ปลดเปลื้องสิ่งนั้นด้วยสติ ปลดเปลื้องสิ่งที่มันคิดนั่นน่ะ ปลดเปลื้องเงาอันนั้นน่ะ ปลดเปลื้องเงาออกไป เวลามันคิดสิ่งใด สิ่งนั้นก็คิดตามไปโดยสติสัมปชัญญะ พอสิ้นสุดของความคิดมันก็จบ จบแล้วมันก็คิดใหม่ บางทีก็คิดเรื่องเดิมซ้ำอยู่ บางทีก็คิดเรื่องใหม่ นี่ธรรมวิจัย วิจัยเข้ามาอย่างนั้น ให้มันรู้ความเป็นไปของจิตอย่างนั้น มันจะเห็นความมหัศจรรย์ของมัน อ้อ! มันเป็นเหมือนเครื่องยนต์ที่มันหมุนไปรอบหนึ่งก็มีพลังงานไปรอบหนึ่ง

พลังงานก็คือความที่ว่าเราคิดสิ่งใดแล้วเราก็มีอารมณ์ไปร่วมไง ดีหรือไม่ดี พอใจหรือไม่พอใจ อารมณ์ร่วมอันนี้มันพลังงานรอบหนึ่ง พลังงานตัวนี้ ถ้าเราพอใจ เราเผลอ มันก็คิดรอบใหม่ต่อไปๆ ถ้ามันหยุดได้โดยธรรมชาติของมัน แล้วสติเรายับยั้งได้ เห็นไหม นี่หยุดเหมือนกัน หยุดสิ่งนี้ ปัญญาอบรมสมาธิเป็นปัญญาวิมุตตินี้ สมาธิจะไม่ลึกเหมือนกับเจโตฯ

ถ้าเจโตฯ ต้องทำความสงบของใจ ใจต้องกำหนดพุทโธๆ สงบของใจเพื่อพิจารณากาย สิ่งที่พิจารณากายนั้นเป็นเรื่องของจริตนิสัย เรื่องของอำนาจวาสนา ถึงสติปัฏฐาน ๔ แล้วแต่ความเป็นไป ถ้าเป็นพิจารณากายนั้นต้องทำความสงบของใจ ชำนาญในวสี จนจิตสงบเข้ามาตั้งมั่น จนตั้งมั่นแล้วยกขึ้นวิปัสสนากาย แต่ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติ พิจารณาธรรมวิจัย ใจนี้วิจัยธรรมเข้ามาแล้วมันจะปล่อยวางเข้ามาๆ

สังเกตเอา สังเกตเอานี้คือความรอบคอบ ไม่สุกเอาเผากิน ต้องตรวจสอบ ต้องรอบคอบกับการประพฤติปฏิบัติของเราตลอดไป มันจะละเอียดเข้ามาขนาดไหน หน้าที่ของเราคือมีสติแล้วใคร่ครวญตลอดไป นี้คืองานของเรา งานของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจะยากเข็ญขนาดไหน มันเป็นความหยาบ แล้วมันจะละเอียดเข้ามาๆ จากงานหยาบๆ ของโลกเขา คือการใช้พลังงานใช้ร่างกายทำ นั้นเป็นงานของโลก

แต่งานของธรรม คืองานทำเรื่องของใจ ทำเรื่องของใจต้องใช้สติ มันละเอียดอ่อนเข้ามา เป็นงานภายใน จะเหนื่อยมาก จะตั้งสติ แล้วเวลาเพ่งอยู่นี้เป็นความเหนื่อยมาก เรานั่งสมาธิอยู่ บางทีเหงื่อแตกเป็นเม็ดๆ เลย นี่เป็นการพลังงานของใจทำงาน มันมีความเหนื่อยมาก แต่มันเป็นความละเอียดอ่อนที่ต้องใช้สติ แล้วพยายามใคร่ครวญตลอดไป

ใคร่ครวญสิ่งนี้เข้ามา ปล่อยวางสิ่งนี้เข้ามาๆ มันติดสิ่งใด จับอารมณ์ของตัวให้ได้ ติดในเรื่องของอาหารก็ดูว่าสิ่งนี้ทำไมสิ่งนี้ต้องทาน สิ่งใดเป็นอาหารต้องฉันมันอย่างนั้นหรือ ถ้าเราไม่ฉันอย่างนั้นได้ไหม เราเพียงหาแง่ให้เราได้ใคร่ครวญ ถ้าเราไม่มีแง่มีมุมให้เราเริ่มต้นตรงไหน เราจะเริ่มต้นไม่ได้ อาหารมันเป็นสิ่งที่ว่าจำเป็นกับร่างกาย ถูกต้องไหม? จริง มันเป็นความจำเป็นกับร่างกาย เพราะมันต้องใช้พลังงานให้ร่างกายนี้ทรงอยู่ได้

แต่มันมีความกังวลในอาหารนั้นน่ะ มันเป็นอุปาทาน สิ่งที่กังวลในอาหารนั้น ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วไม่กินก็ได้ เป็นมื้อเป็นคราวไป ไม่ตายหรอก เราจะดัดกิเลส เราจะฝืนกิเลสนี่ ไม่กินก็ได้ อยากกินสิ่งใด สิ่งนั้นเอาวางไว้ แล้วไม่กิน ไม่ฉันสิ่งนั้น วางสิ่งนั้นไว้ เราไปฉันอย่างอื่น พอทรงชีวิตอยู่ได้ แล้วพอเราผ่านสิ่งนี้ไป มันจะมีความภูมิใจไง นี่เราฝืนกิเลสได้แล้ว เราฝืนกิเลส ถ้าฝืนกิเลสได้ กิเลสมันก็จะเริ่มขยับตัว เริ่มไม่ควบคุมเรา

นี่รู้จริง รู้จริงจากการประพฤติปฏิบัติ ไม่ใช่รู้จริงจากตำรา รู้จริงจากตำราอย่างหนึ่ง รู้จริงจากการประพฤติปฏิบัติ การชนะตนเองเป็นครั้งเป็นคราวไป ชนะตนเองนะ สามารถฝืนว่าไม่ใช้พลังงานอันนั้นก็ได้ แล้วร่างกายก็ไม่เห็นแตกดับ สิ่งที่ไม่แตกดับมันจะสอนใจ สอนใจไปเรื่อย นี่ใจได้กินธรรม ธรรมของผู้ประพฤติปฏิบัติ มันอาจหาญรื่นเริง รื่นเริงตรงนี้ไง

รื่นเริงตรงเราชนะเราหนหนึ่ง เราก็มีความภูมิใจของเรา แล้วเราจะทำต่อไป พยายามต่อไป จนเห็นไง เห็นว่าสิ่งที่เกาะเกี่ยวนี้มันเกาะเกี่ยวด้วยรูป รส กลิ่น เสียง ต่างหาก ใจเกาะเกี่ยวรูป รส กลิ่น เสียง แล้วจิตนี้มันถึงไม่ตั้งมั่น เราถึงไม่สามารถเดินการงานได้ งานของเราถึงไม่ได้ก้าวเดินไปโดยสมความประสงค์ของเรา เพราะใจของเรามันวกวนกับสิ่งนี้ มันเกาะเกี่ยวกับสิ่งนี้ มันถึงเป็นปุถุชน ปุถุชนนี้ติดไปทุกอย่าง ติดกับอาการต่างๆ ติดกับรสชาติของอาหาร ติดกับรูป รส กลิ่น เสียง ติดพอใจไปทุกอย่างเลย

แล้วเวลาสิ่งนั้นกระทบทีหนึ่งก็กระเพื่อมหัวใจ หัวใจก็เคลื่อนตามสิ่งนั้นไปตลอด สิ่งนั้นก็ฉุดกระชากหัวใจไปตลอด เดี๋ยวสงบ เดี๋ยวฟุ้งซ่านอยู่อย่างนั้น เราต้องพยายามใคร่ครวญ พยายามไล่ต้อนเข้ามา ดูใจของเราด้วยสติเข้าไป ควบคุมใจเข้าไปตลอดเวลา งานของเราอยู่อย่างนี้ แล้วมันจะเห็นส่วนที่ติดเลย พอเห็นส่วนที่ติดมันจะปล่อยวางสิ่งนั้นได้ด้วยอุปาทาน พอปล่อยวางสิ่งนั้นได้ด้วยตามความเป็นจริง นั่นน่ะ กัลยาณปุถุชน นี่มันถึงจะมีสัมมาสมาธิ ควบคุมสมาธิได้ง่าย เพราะว่ามันจะตัดบ่วงของมาร บ่วงของมารที่ทำให้ใจของเราติดข้องไปกับรูป รส กลิ่น เสียง

รูป รส กลิ่น เสียงนี้เป็นอาหารของใจ แล้วจะล่อใจให้กินอาหาร แล้วใจนี้มันก็กินอาหารของมันมาโดยกี่ภพกี่ชาติก็ไม่รู้ มันเป็นธรรมชาติของมัน เหมือนกับขั้วบวก ขั้วลบของไฟ มันเข้าหากันไม่ได้ มันต้องสปาร์กกันทันทีเลย

นี้ก็เหมือนกัน รูป รส กลิ่น เสียงนี้เป็นอาหารของใจ ใจมันต้องกินอาหารสิ่งนี้เป็นธรรมชาติของมัน มันเคยใจอยู่แล้ว มันก็ต้องเสวยอารมณ์กันไปตลอดเวลา สิ่งที่เสวยอารมณ์กันไปนี่มันก็เป็นเหยื่อ เป็นเหยื่อ เป็นบ่วงของมาร ทำให้ใจนี้เกาะเกี่ยวกับสิ่งนั้นไปตลอด เราชนะบ่อยครั้งเข้าๆ ปล่อยเห็นสภาวะตามนี้ จนมันปล่อยวางโดยสมุจเฉทปหาน สมุจเฉทปหานโดยธรรมชาติเลยนะ

นี้เป็นการดับอุปาทาน มันจะเป็นกัลยาณปุถุชน สิ่งนี้จะเป็นกัลยาณปุถุชน แล้วควบคุมใจได้โดยธรรมชาติเลย สิ่งนี้ควบคุมใจได้โดยธรรมชาติ นี่สัมมาสมาธิเกิดตรงนี้ไง สิ่งนี้เป็นใจตั้งมั่น เพราะใจนี้จะไม่ไปตามรูป รส กลิ่น เสียงนั้นแล้ว เพราะสติสัมปชัญญะพร้อมมูลเลย แล้วยกขึ้นวิปัสสนา ดูใจของเราอีกทีหนึ่ง ถ้ารู้จริง กิเลสมันจะครอบคลุมขนาดไหน เราก็พยายามใช้ความรอบคอบของเรา ย้อนกลับเข้ามา

ถ้าย้อนกลับเข้ามา ตรงนี้จะเริ่มเป็นงานแล้ว งานในการวิปัสสนากาย เราจิตตั้งมั่นแล้ว เราพิจารณากายได้ เราพิจารณากายไป ถ้าจิตตั้งมั่นอย่างนี้แล้ว มันมีความชำนาญแล้ว เราก็พิจารณาจิตก็ได้ จิตคือขันธ์ที่มันติดข้องไปน่ะ ความคิด ถ้าธัมมวิจยะ ดูความคิดที่มันคิดออกมา มันคิดออกมาได้อย่างไร

ทุกอย่างต้องมีเหตุมีผล เหตุและผลนี้คือธรรมะ อริยสัจอยู่ตรงนี้ไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ พระอัสสชิบอกพระสารีบุตร “ผลต่างๆ เกิดมาจากเหตุ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ระงับเหตุนั้น ตัดที่เหตุนั้น” เหตุที่ใจมันไปเกาะเกี่ยวกับร่างกาย กับจิตใจ มันเกิดอย่างไร

จิตมันกระเพื่อมออกมา มันออกมารับรู้ ถ้าเราจับต้องได้ เห็นอาการของใจกระเพื่อมออกมาซับที่ขันธ์ ที่สัญญาเกิดขึ้นก่อนแล้วสังขารปรุงแต่ง จับต้องสิ่งนี้ได้ มันก็เป็นการวิปัสสนา เป็นวิปัสสนาในการรู้แจ้ง รู้แจ้งแทงตลอด รู้จริง รู้แจ้ง แล้วกิเลสจะสิ้นออกไปจากใจ ถ้ารู้ไม่แจ้ง รู้จริง จริงส่วนหนึ่ง แต่ไม่แจ้งแทงตลอด สิ่งที่ไม่แจ้งแทงตลอดนี่กิเลสมันครอบงำได้

สิ่งที่กิเลสครอบงำอยู่ มันจะว่าง มันจะมีความรู้ขนาดไหน มันจะปล่อยวางขนาดไหน มันปล่อยวางมาในวงของกิเลสไง กิเลสมันยังอยู่ในหัวใจ ถ้ากิเลสขาดออกไปจากหัวใจ มันเป็นสัจจะความจริง ธรรมะนี้เป็นของจริงอยู่โดยธรรมชาติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้ธรรมนี้เท่านั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ประดิษฐ์ธรรมนี้ขึ้นมานะ ธรรมนี้มีอยู่แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ๆ ก็มาตรัสรู้สิ่งนี้เหมือนกัน นี้มันถึงเป็นสัจจะความจริง เป็นอริยสัจ เป็นความจริงอันสุดส่วนที่มีอยู่ในหัวใจของสัตว์โลก

ถ้าสัตว์โลกมีหัวใจอยู่ มันจะมีสภาวะสิ่งนี้อยู่ในหัวใจ แต่ไม่มีใครสามารถเข้าไปค้นคว้าได้ไง สิ่งนี้มันเกาะเกี่ยวอยู่ ถ้ามันปล่อยวาง กิเลสมันอยู่อย่างนี้ กิเลสอย่างหยาบ สิ่งนี้ยังเป็นกิเลสอย่างหยาบ แต่มันเป็นเหมือนกับสุดวิสัยพวกเราที่จะประพฤติปฏิบัติเลย มันจะสุดวิสัยไปไหน ในเมื่อมันบีบบี้สีไฟ มันก็เหมือนกับเราจับเชือกเห็นไหม ปลายเชือกนั้นผูกด้วยโค เรานี้เราดึงเชือกอยู่ เราจับเชือกเราลากโคมาได้ เราสาวไปนี่ต้องถึงตัวโค เพราะโคนี้ผูกอยู่ที่เชือก

อันนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราสามารถทำความสงบของใจ เราจับใจได้ จับใจคืออาการของใจ เป็นกัลยาณปุถุชน นั้นคือตัวใจ จับตัวหัวใจได้เป็นใจตั้งมั่น เป็นสัมมาสมาธิ ถ้าเราสาวเข้าไป มันก็จะไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม สิ่งนี้ต้องสาวเข้าไปได้ แต่ใช้วิปัสสนา ใช้ความใคร่ครวญของเรา ใช้ความรอบคอบของเรา พลิกแพลงสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นมาให้ได้

ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นมาได้ มันก็เป็นวิปัสสนา มันก็เป็นงาน นี่งานการรู้แจ้ง มันต้องรู้แจ้งด้วยเหตุด้วยผล ด้วยการปล่อยวางตามความเป็นจริงของเหตุของผลนั้น ไม่ใช่ปล่อยวางตามความเป็นจริงจากความนึกคิด ความเห็นของเรา ความเห็นของกิเลสมันจะสร้างสถานะ สร้างภาพของใจให้เป็นอย่างนั้น แล้วเราก็เออออไปไง นี่กิเลสทำให้เราเออออไปกับสิ่งนั้น

เพราะเขาสร้างภาพขึ้นมาเอง กิเลสเป็นผู้สร้างภาพเอง แล้วกิเลสก็มาเสนอเราเอง แล้วเราก็เชื่อกิเลสเราเอง มันไม่ใช่เป็นสภาวธรรมเลย ถ้าเป็นสภาวธรรม สภาวธรรมต้องมีการจับต้อง มันจับต้องขึ้นมา คือว่ามันเป็นมรรค สิ่งที่เป็นมรรค เป็นความเพียรชอบ เป็นงานชอบ ชอบตรงไหน งานชอบของสมถะ มันก็ชอบของสมถะ ชอบของสมถะคือการใคร่ครวญธรรมะเข้ามา นั่นล่ะเราใคร่ครวญธรรมะมันก็เป็นความชอบ ชอบในวงของสัมมาสมาธิ

ถ้ามันชอบในวงของวิปัสสนา ถ้าชอบในวงของวิปัสสนานี้มันต้องเป็นงานในการวิปัสสนา สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ ตามความเห็นของใจ ไม่ใช่สติปัฏฐาน ๔ ในตำรา ถ้าสติปัฏฐาน ๔ ในตำรา กาย เวทนา จิต ธรรม ทุกคนก็รู้ แต่เป็นอาการของโลกียะ เป็นอาการของโลกเขา ถ้าจิตมันไม่สงบพอ มันจะทำงานได้อย่างไร

ดูอย่างมีด อย่างเครื่องมือแพทย์ ถ้าเราไม่ได้ทำความสะอาด เราไปใช้งานได้ไหม เครื่องมือแพทย์ถ้าเราไม่ได้ทำความสะอาด เราไม่ได้อบมัน เราไปใช้นี่มันจะติดเชื้อ แล้วคนไข้นั้นจะติดเชื้อ คนไข้นั้นจะต้องเป็นโรคหนักเข้าไปกว่านั้นอีก มีโรคซ้อนเข้าไปหนักเข้าไปๆ เพราะอันนั้นติดเชื้อ

นี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อหัวใจของเรามันเป็นโลกียะ มันเป็นความคิด เป็นความผูกมัดของใจ ใจคิดอย่างนั้น ใจยึดมั่นอย่างนั้น ยึดในความเห็นของเรา แล้วเราเอาสิ่งนั้นวิปัสสนา มันก็ติดเชื้อ ติดเชื้อของกิเลส กิเลสก็สร้างภาพว่าปล่อยวางแล้ว ปล่อยวางอย่างนั้นแล้ว ภาพนั้นก็เกิดขึ้นมาจากหัวใจของเรา นี่กิเลสครอบงำไง รู้ไม่จริง ถ้ารู้ไม่จริง กิเลสครอบงำอยู่ มันจะไม่ได้ผลตามความเห็นของเรา

ถ้าเรารู้จริงขึ้นมา เรารู้จริงแล้วต้องรู้แจ้ง รู้จริงขึ้นมา จริงตามความเห็น คือเราปล่อยสภาวะสิ่งต่างๆ เข้ามา จากโลกียะ คือเอาเครื่องมือแพทย์ เอาเครื่องมือของเรา คือว่าธรรมมันจะเกิด เครื่องมือคือมรรคอริยสัจจัง ความเพียรชอบ การงานชอบ สติสัมปชัญญะชอบ ชอบสิ่งต่างๆ นั้นคือการทำจากเรื่องของโลกียะ คือเชื้อของมันที่ติดอยู่ในโลก ทำให้สะอาดเข้ามา

แล้วสะอาดเข้ามาแล้ว พอสิ่งนี้สะอาดเข้ามา เครื่องมือแพทย์ ถ้าแพทย์ไม่ใช้เครื่องมือนั้นผ่าตัด คนไข้จะหายไหม? คนไข้จะหายไม่ได้เลย ถ้าเราไม่ใช้เครื่องมือแพทย์นั้นผ่าตัดเพื่อทำลายให้คนไข้นั้นหาย อันนี้ก็เหมือนกัน เหตุกับผลมันอยู่ตรงนี้ไง อยู่ตรงที่ว่าเราจะใช้เครื่องมือของเรา คือมรรคของเราเกิดขึ้นไหม ถ้ามรรคของเราเกิดขึ้นมา คือเครื่องมือของเรามีอยู่ แล้วเราใช้มรรคของเราทำลายกาย ทำลายเวทนา ทำลายจิต ทำลายธรรม ทำลายให้มันเป็นอนัตตา สิ่งนี้เป็นอนัตตาโดยธรรมชาติของเขา

มันน่าสลดสังเวชว่าสรรพสิ่งนี้มันมีจริง ของจริงมีอยู่ตรงหน้า แต่เราไม่สามารถรู้จริงตามความเป็นจริง เรารู้ตามกิเลส เรารู้โดยความครองงำ ของสิ่งนี้มีอยู่ซึ่งๆ หน้าเลย แต่เราค้นคว้าไม่ได้ แล้วเราก็ทำไม่ได้ แล้วเราก็จะต้องเกิดต้องตายไปตามวัฏวน ตามสภาวะอย่างนั้น

ของอยู่กับเรา ทำไมเราทำไม่ได้ล่ะ เราทำไม่ได้เพราะเราไม่จริง ถ้าเราไม่จริง ความรู้จริงก็ส่วนหนึ่ง ความจริงก็ส่วนหนึ่ง ธรรมนี้เป็นความจริงสุดส่วน ความจริงอย่างนี้เป็นความจริงแน่นอน สภาวธรรมจริง เราเห็นธรรมสมควรแก่ธรรม เราต้องเห็นสภาวธรรม ถ้าเราเห็นสภาวธรรม เราเข้าใจสภาวธรรม เราจะไม่โดนกิเลสครอบงำ เพราะเรารู้แจ้ง

ถ้าเรารู้แจ้ง เราปล่อยวางทุกอย่างแล้ว สิ่งใดจะครอบงำเราได้ เพราะรู้หมด เรารู้หมดทะลุปรุโปร่งทุกอย่างเลย รู้ทุกส่วนของกิเลสที่มันจะหลอกด้วย มันสร้างสภาวะแบบนี้มันก็จะหลอกเราให้เราเชื่อมัน ถ้าเราเชื่อมัน เราก็อยู่ในใต้อำนาจของมัน เดี๋ยวมันก็เป็นอนิจจัง ถ้าอยู่ในอำนาจของกิเลส คืออยู่ในกฎของอนิจจัง สิ่งที่เป็นอนิจจังแล้วมันก็จะแปรสภาวะ มันก็เคลื่อนไปตลอด สิ่งที่เคลื่อนไปตลอดนั่นน่ะ มันก็ไม่เห็นสภาวะจริง เห็นไหม

เพราะเราไม่จริง ถ้าเราจริงขึ้นมา ทำความสงบของใจเข้ามาได้ มันก็จริงส่วนหนึ่ง จริงส่วนหนึ่งของโลกุตตระ แล้วโลกุตตระก็จะเห็นสภาวะตั้งร่างกายขึ้นมา สิ่งที่เป็นพิจารณากายจะเห็นกาย แล้วกายจะแปรสภาพถ้ากำลังพอ ถ้ากำลังไม่พอ ปล่อยวาง กลับมาทำความสงบของใจ สร้างฐานขึ้นมา เครื่องมือที่ต้องให้คม ต้องให้กล้า เครื่องมือมันทื่อ มีดมันไม่คม เราต้องลับให้คม คมแล้วต้องทำความสะอาดด้วย ต้องให้เป็นโลกุตตระตลอดไป

สิ่งที่เป็นโลกุตตระคือจะแยกออก แยกแยะออกสิ่งนี้ สิ่งที่เป็นปัญญาของเรา จำเอาไว้เลย ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติใหม่ ปัญญาที่เกิดขึ้นนี้เป็นโลกียะล้วนๆ เป็นเรื่องของโลกียะทั้งหมด มันจะใคร่ครวญธรรมขนาดไหน มันก็ใคร่ครวญเพื่อความปล่อยวาง เพราะเรายังไม่ได้จับ จับเรื่องกาย เรื่องเวทนา เรื่องจิตได้ นี่เราปล่อยวางสิ่งนั้นเข้ามาๆ ต้องคิดให้ลึกเข้าไปเรื่อยๆ คิดให้ลึกเข้าไปๆ เปลี่ยนสภาวะจากสิ่งที่ติดเชื้อนั้นให้เชื้อมันหมดออกไป

ถ้าเชื้อมีเชื้อแล้วมันจะครอบงำเรา ครอบงำเราแล้วเราก็ให้เราภาวนาอยู่ในสภาวะแบบนั้น มันกลับช้านะ เราอยากได้เร็ว อยากประพฤติปฏิบัติได้ผล มันกลับไม่ได้ผล เพราะเราสุกเอาเผากิน ถ้าเราสุกเอาเผากิน เราจะไม่ได้ประโยชน์ตามความเป็นจริง สิ่งที่เป็นจริง ต้องให้สภาวธรรม เกิดขึ้นตามความเป็นจริง

หน้าที่ของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติคือใส่ความเพียรอย่างเดียว หน้าที่ของเราประพฤติปฏิบัติใส่ความเพียรเข้าไป ความเพียรเข้าไปตบะธรรมแผดเผาเข้าไป ถึงเวลาอาหารนั้นจะสุก มันต้องสุกโดยธรรมชาติของมัน สุกโดยความพอดี ไม่ใช่สุกด้วยความคาดหมาย ถ้าสุกด้วยความคาดหมาย นี่โดนกิเลสครอบงำ กิเลสครอบงำถึงไม่เป็นอิสระไง

“รู้จริงเป็นอิสระ” จะเป็นอิสระจากกิเลสส่วนหนึ่งด้วยการแยกแยะออกไป แล้วสภาวธรรมนั้นเกิดขึ้น ถ้าพิจารณากายมันจะแปรสภาพปล่อยวางๆ พอปล่อยวางส่วนหนึ่ง ใจมันจะเป็นอิสระส่วนหนึ่ง นั้นน่ะ เหมือนกับเราผ่าตัดหนหนึ่งๆ แต่เชื้อมันไม่หมด เราต้องผ่าซ้ำผ่าซาก การผ่าตัดนั้นเขาผ่าหนเดียว เขาเย็บแผลแล้วมันก็จบกัน แต่ในการผ่าตัดนามธรรม เราผ่าได้เรื่อยๆ ผ่าได้ตลอดไป เพราะมันเป็นนามธรรม

สิ่งที่เป็นนามธรรม พอสัมมาสมาธิเราตั้งขึ้นมา เราก็ตั้งกายขึ้นมา นั่นก็เป็นการผ่าตัด เป็นการแยกแยะ เป็นการวิภาคะ วิภาคะให้เห็นสภาวะที่มันเป็นอนัตตา สิ่งนี้เป็นอนัตตา แต่มันโดนกิเลสครอบงำมันถึงเป็นตัวตนของเรา สิ่งที่เป็นตัวตนของเรา มันยึดมั่นถือมั่นโดยจิตใต้สำนึก เราก็ไม่อยากได้ เราก็อยากจะชนะตน ทุกคนอยากชนะตน อยากชนะกิเลสหมดเลย แต่ทุกคนแพ้ตัวเอง

ทุกคนแพ้ตัวเองเพราะกิเลสในหัวใจมีอำนาจเหนือเรา แล้วเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา การประพฤติปฏิบัติอยู่ขณะนี้เป็นการทำสภาวธรรมให้เกิดขึ้นจากใจ สภาวธรรมจะเกิดขึ้นจากใจ สภาวธรรม คือสัมมาสมาธิ คือปัญญาชอบ ทุกความเพียรเป็นความเพียรชอบ ทุกอย่างเป็นสิ่งที่ชอบอยู่ สิ่งที่ชอบอยู่นั้นเป็นอาวุธ เป็นธรรมาวุธ

สิ่งที่เป็นธรรมาวุธเป็นการต่อสู้กับกิเลสในหัวใจ ต้องชำระกิเลสในหัวใจ จนถึงที่สุดต้องทำให้มันปล่อยวางไปๆ ปล่อยวางซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนถึงที่สุดแล้วจะต้องขาด สิ่งนี้ขาด พิจารณากายก็เหมือนกัน พิจารณาจิตก็เหมือนกัน พิจารณาขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ เป็นสภาวะรวมตัวแล้วเป็นอารมณ์ สิ่งที่แยกแยะ แยกแยะสิ่งนี้ออกมาแล้วมันก็จะปล่อยวางออกมา ปล่อยวางเพราะว่ามันก้าวเดินไปไม่ได้

เราขัดเอาไว้ กงล้อหมุนไป เราเอาสิ่งต่างๆ ขัดไว้ วงล้อหมุนไปไม่ได้ สติสัมปชัญญะยับยั้งไว้มันก็หยุดแล้ว แล้วเราใช้สติ ใช้มีด ใช้มรรคนี้แยกออกจากกัน ขันธ์เป็นขันธ์ รูปเป็นรูป เวทนาเป็นเวทนา สัญญาเป็นสัญญา สังขารเป็นสังขาร ต่างอันต่างจริง ขันธ์ ๕ นี้ไม่ใช่มันรวมตัวกันโดยที่ว่าเป็นขันธ์ ๕ หรอก เกลียวเชือก ๕ เกลียวแล้วฟั่นเป็นเกลียวเดียวกัน เป็นตัวเชือกขึ้นมา เราแยกออกมาเป็นขันธ์ เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แยกออกจากกันแล้วทำลายมันๆ ทำลายคือมันแยกแล้วมันจะเป็นไปไม่ได้ อารมณ์เกิดขึ้นไม่ได้ มันก็เห็นสภาวะตามความเป็นจริง เห็นตามความเป็นจริง เห็นบ่อยครั้งเข้า มันก็ปล่อยวางๆ จนมันขาดออกไป นั่นน่ะ กิเลสครอบงำไม่ได้ รู้จริง สภาวะจริงส่วนหนึ่ง

ส่วนหนึ่งในความจริงของหัวใจ แต่ความจริงมันมีความจริงอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด เพราะนี้เป็นสัจจะ อริยสัจจะ ความจริง มรรค ๔ ผล ๔ นี้เป็นอริยสัจจะในเรื่องการประพฤติปฏิบัติ เราจะก้าวพ้นให้เป็นอิสระ พ้นออกไปจากการครอบงำของกิเลสทั้งหมด เห็นไหม เราพ้นออกไปจากส่วนหนึ่ง เรามีธรรมะส่วนหนึ่ง เรารู้จริงส่วนหนึ่ง การประพฤติปฏิบัติเราจะง่ายขึ้นมาแล้ว ง่ายขึ้นมาเพราะเราก้าวเดินได้ เราฝึกซ้อมขึ้นมา

จนเหมือนนักกีฬาเคยเล่นกีฬาสิ่งใดแล้ว เล่นกีฬาสิ่งนั้นซ้ำ เล่นได้ง่าย คนไม่เคยเล่นกีฬาเลย ต้องไปฝึกฝนกติกาก่อน แล้วว่ากติกาเขาควบคุมกันอย่างไร กีฬาชนิดนี้เขาเล่นกันอย่างไร อันนี้กีฬาชีวิตนะ กีฬาชำระกิเลสนะ กีฬาสำหรับฆ่ากิเลส แล้วทำไมเราไม่เป็นนักกีฬาที่เข้มแข็งล่ะ โค้ชของเราก็คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง วางไว้แล้ว แล้วเราพยายามสร้างสมขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงจะปรินิพพานไปแล้ว พระไตรปิฎกก็มีอยู่ อ่านพระไตรปิฎก เทียบเคียงพระไตรปิฎกนั้นวางไว้ก่อนๆ

เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี้คือกรรมฐานยอดเยี่ยม สิ่งนี้คือเป็นปริยัติที่ยอดเยี่ยมที่สุดแล้ว ถ้าเราทำลายสิ่งนี้แล้ว โค้ชพอใจนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะพอใจมากถ้าเราประพฤติปฏิบัติแล้วสมแก่ธรรม เราทำธรรมได้ในหัวใจของเรานี้ นี้เป็นสิ่งที่น่าปรารถนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องการรื้อสัตว์ขนสัตว์ ถ้าเรารื้อใจของเรา เราทำลายหัวใจของเรา กติกานั้น กีฬานั้นเราเป็นผู้ที่ชนะ เราทำแต้มได้ นี่เป็นสิ่งที่ว่าบูชาครูบาอาจารย์เลย บูชาคุณงามความดี บูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปฏิบัติธรรมเพื่อปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ไม่มีกำลังใจก็เอาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นครูเป็นอาจารย์เพื่อยึดเหนี่ยว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นครูบาอาจารย์ ท่านทุกข์มากกว่าเรา ท่านสละตั้งแต่สมบัติของท่าน ท่านสละครอบครัวของท่าน สละออกมาหมดเลย แล้วมาทุกข์มายาก สลบถึง ๓ หน ถึงสุดท้ายแล้วแทงทะลุไปหมด แทงกิเลสขาดออกไปจากใจจนหมด แล้ววางธรรมไว้ แล้วเราก็ก้าวเดินธรรมของเรา แล้วเราทำของเราขึ้นมาจนสมกับใจของเรา

ชำระกิเลสส่วนหนึ่ง เห็นไหม ส่วนหนึ่งต้องทำลายออกไป การก้าวเดินก็ง่ายขึ้นไป กีฬาสิ่งนี้เกิดขึ้นมาจากหัวใจแล้วเราก็ก้าวเดินต่อไปเพื่อจะชำระสิ่งที่ละเอียดเข้าไป พิจารณากายก็เป็นกาย พิจารณาจิตก็เป็นจิต ได้ทั้งหมด สติปัฏฐาน ๔ ได้ทั้งหมด ทำความสงบของใจเหมือนกัน ใจสงบสูงขึ้น สงบสูงขึ้นมันก็เป็นสัมมาสมาธิในส่วนสูงขึ้น สิ่งที่สูงขึ้นก็ชำระกิเลสที่ละเอียดขึ้นไป กิเลสที่ละเอียด ความพลิกแพลงของกิเลสมันก็ละเอียดกว่า

สิ่งที่ละเอียดกว่า ละเอียดกว่าเก่า พลิกแพลงกว่าเก่า เพราะเราเคยฆ่ากิเลสมาแล้วหนหนึ่ง กิเลสมันก็รู้ตัวแล้วว่าเพราะอุบายวิธีการใดมันถึงแพ้ สิ่งที่กิเลสแพ้มา กิเลสก็ถอยร่นออกจากใจ ให้เรายึดชัยภูมิในหัวใจของเราเป็นอิสระส่วนหนึ่ง หัวใจ ๔ ห้อง เราใช้ห้องหนึ่งที่เป็นห้องที่สะอาด เป็นฐานปฏิบัติการของเราไง

หัวใจอีก ๓ ห้องนั้นยังโดนกิเลสปกคลุมอยู่ เราทำลายไม่ได้ เราก็ต้องทำลายเข้าไปอีกห้องหนึ่งๆ จนทำลายถึง ๔ ห้องออกไป เป็นอิสรเสรีภาพทั้งหมดเลย มีอีกห้องหนึ่งเป็นอิสระ แต่อีก ๓ ห้องนั้นโดนกิเลสยึดครองอยู่ กิเลสในหัวใจยึดครองอยู่ ยึดครองในภพในชาติของใจดวงนั้น เราก็ต้องพยายามทำลาย พยายามตั้งขึ้นมา แล้วไม่ต้องไปทำลายที่ห้องนั้น ทำลายที่อวิชชา ทำลายที่ความไม่รู้ไง

สิ่งนี้ไม่รู้ในอะไร? ไม่รู้ในการอุปาทานของกาย ในการยึดจิตว่าเป็นเรา สิ่งนี้เป็นเราเหมือนกัน ความเป็นเรานะ ในการพิจารณากายปล่อยวางนั้น กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กายนั้น เป็นสักกายทิฏฐิ ทิฏฐิในกาย ทิฏฐิในจิตล่ะ ทิฏฐิในกาย ความเห็นกาย ความเห็นผิดไง แต่ด้วยใช้ปัญญาของเราจนไปเห็นความถูกต้อง มันถูกต้อง เห็นสภาวะตามความเป็นจริงแล้วรู้จริงจากจิตใต้สำนึก ปล่อยวางสิ่งนี้โดยธรรมชาติของมัน นั้นเป็นงาน

สิ่งที่เป็นงานแทงทะลุออกไปแล้ว มันเป็นงานที่ว่าเราเคยทำ จนกิเลสแพ้ถอยออกไป แล้วเราตามต้อนกิเลสเข้าไป เรารุกกิเลส รุกเข้าไป กิเลสมันต้องใช้วิธีการใหม่ เพราะมันเคยแพ้มาแล้ว แล้วมันถอนร่นเข้าไปแล้ว วิธีการใหม่ของมันก็ต้องเกิดขึ้น วิธีการของเราที่จะพลิกแพลงไป อุบายจะเกิดขึ้น นี่ปัญญาจะเกิดขึ้นต่อเมื่อการต่อสู้เกิดขึ้น เราต่อสู้เห็นไหม เวลาเราทุกข์เรายากขึ้นมานี่ เราเข้าไปในเหตุที่คับขัน เราจะใช้ความพยายามหาทางออกให้ได้เลย เพราะถ้าเราไม่คับขันถึงที่สุดนี่เราจะหวังพึ่งคนอื่น ใครจะช่วยเหลือเราได้ เราก็ใช้ปัญญาเต็มที่แล้ว ใครจะช่วยเหลือเรา นั่นปัญญาไม่เกิดไง

แต่เมื่อวิปัสสนาเข้าไปถึงจุดหนึ่ง เวลามันเต็มที่เข้าไปนี่ ความเหนื่อยยาก ความเพียรของเรามันสะสม อดข้าวอดอาหารนะ อดนอนผ่อนอาหารเพื่อจะเร่งความเพียร เร่งความเพียรเพื่อชำระกิเลส ชำระกิเลสออกจากใจเพื่อให้ใจนี้เป็นอิสระ แล้วมันจะมีความสุข มันจะมีความพ้นออกไปจากการโดนครอบงำ ขณะนี้กิเลสครอบงำเรา เราไม่รู้ตัวเราเองหรอก ทุกคนจะไม่รู้เราเลยว่านิสัยเราเป็นอย่างไร มันจะแสดงออกธรรมชาติของมัน จนกว่า...อย่างเช่น เป็นพ่อเป็นแม่ พ่อแม่จะรู้ว่าลูกนี้มีนิสัยอย่างไร แต่ตัวลูกนี้จะไม่รู้นิสัยหรอก ตัวเองไม่รู้นิสัย จนคนอื่นต้องบอกนะ แล้วเราสังเกตตัวเราเอง

อันนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อกิเลสมันแสดงออกอย่างนั้น เราก็ไม่รู้เลย สิ่งนี้เราไม่รู้หรอกว่ามันจะแสดงออกมาอย่างไร แต่เวลาปัญญามันส่องเข้าไป ปัญญามันส่องเข้ามานะ ความสว่างเกิดขึ้นที่ไหน มันจะเห็นสภาวะความว่ามันหลงไปได้อย่างไร สิ่งนี้หลงไปได้อย่างไร ตำราของพระพุทธเจ้าพูดไว้จริงหมดเลย ธรรมะพระพุทธเจ้าสอนไว้จริงหมดเลย ความจริงนั้นเป็นจริงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้จริง

นี่เหมือนกัน ครูบาอาจารย์รู้จริง ครูบาอาจารย์ก็สอนเราให้เรารู้จริง เราฟังธรรมอยู่นี่ เราเหมือนจะก้าวเดินได้เลย เหมือนทอดสะพานไง ทอดสะพานให้จิตนี้เดิน จากจิตดวงหนึ่ง จิตดวงที่เคยชำระกิเลส ที่เคยฟาดฟันกับกิเลสมานี่ มันจะเห็นแง่มุมของกิเลส มันละเอียดมันลึกซึ้งมาก โทษของสิ่งใดในโลกนี้ ไม่มีใครเป็นโทษเท่ากับกิเลสครอบงำใจ

ความคิดของกิเลสนี้มันครอบงำใจ แล้วใจนี้เป็นผู้ที่สร้างโลก ในทางโลกว่ามนุษย์นี้สร้างโลกนะ กรรมกรเป็นผู้สร้างโลก โลกนี้อยู่ในน้ำมือของกรรมกร นั่นน่ะ แต่จริงๆ กรรมกรจะทำงานไม่ได้เลยถ้าไม่มีผู้สั่งการ ไม่มีผู้คิดวางแบบแผนให้เขาทำงาน

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อใจไม่คิดอะไรเลย งานต่างๆ จะไม่เกิดเลย กิเลส ความคิด ความทุกข์สิ่งต่างๆ ในหัวใจจะไม่มีเลย ถ้าสิ่งนี้ไม่ครอบงำ แล้วสิ่งนี้มันฝืนใจ นี่โทษของมัน มันอยู่ตรงนี้ อยู่ตรงกิเลสในหัวใจนี้ ถ้าชำระสิ่งนี้ได้ มันจะเป็นผลงานของเรา แล้วความสุขจะไปถามหาใครล่ะ ความสุขมันก็เกิดจากใจนั้น เวลาทุกข์นี่ไม่ต้องบอกใครเลย ทุกข์มาก ทุกข์จริงๆ ทุกข์แล้วไม่มีทางแก้ไข ขยับซ้าย ขยับขวาก็เหมือนกับคนไข้หนัก แล้วไปไหนไม่ได้นี่ พลิกไป พลิกมา มันก็อยู่กับความทุกข์ อยู่ตรงนั้นน่ะ

ใจเวลานี้เป็นอย่างนั้นไหม ถ้าเป็นอย่างนั้น เราพยายาม ทุกข์อย่างนั้นมันเป็นความทุกข์ที่ว่าจะต้องนอนจม จะต้องหมุนเวียนไปในวัฏฏะ ถึงจะพ้นจากกิเลสมาส่วนหนึ่ง ห้องหนึ่งว่างแล้วก็จริงอยู่ แต่ยังต้องเกิดต้องตายอยู่ ถ้าเห็นสภาวะแบบนี้ กำลังใจจากที่เราเคยประพฤติปฏิบัติมา เป็นส่วนหนึ่ง กำลังใจจากที่ว่าเราใช้ปัญญาเสริมเราเห็นไหม เสริมเราว่าเวลาคนทุกข์คนยาก เขาพยายาม ทุกข์อยู่อย่างนั้น เขาก็ทุกข์เพื่อจะเวียนไป แล้วเราใช้ความทุกข์นั้นเพื่อมาเป็นปัญญา เพื่อการชำระกิเลส ไม่ดีกว่าหรือ

มันพลิกได้ไง ถ้าพลิกอย่างนี้ปัญญามันเกิด ปัญญามันเกิดขึ้นมา เพราะจากเราพลิกขึ้นมาจากความอ่อนด้อย พลิกขึ้นมาจากความไม่รู้เดียงสาของใจให้มันเข้มแข็งขึ้นมา นี่ปัญญาเกิดอย่างนี้ แล้วปัญญามันเกิดขึ้นมามันก็สร้างสมขึ้นมาให้เราเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา เป็นผู้ที่ก้าวเดินไป ไม่ใช่ปัญญาเด็กๆ ปัญญาเด็กๆ ตั้งขึ้นมาก็ล้มไปๆ ไม่เป็นผู้ใหญ่เสียทีหนึ่ง เพราะว่าอะไร เพราะว่าเราไม่ทำสืบต่อ เพราะเราไม่มีความตั้งใจของเรา ถ้าเรามีความตั้งใจของเรา ปัญญาต้องเกิดได้ มรรคต้องเกิดในหัวใจของเราได้ สิ่งนี้เกิดได้หมดเลย เพราะมันเป็นสิ่งที่มีอยู่ สิ่งที่มีอยู่ สิ่งที่เป็นอยู่ เพียงแต่เราจัดการของเราไม่ถูกต้อง เราจัดการวิธีการของเราถูกต้อง มันก็จะเป็นสิ่งที่ถูกต้องขึ้นมา เป็นมรรคขึ้นมา เป็นมรรคอริยสัจจังในหัวใจ

มรรคอริยสัจจังในหัวใจมันก็เริ่มเคลื่อนตัวเห็นไหม เคลื่อนตัวเข้าไปชำระกิเลส ชำระกิเลสคือชำระความเห็นผิด ให้ใจนี้เห็นถูกต้อง ถ้าใจนี้เห็นถูกต้องมันก็รู้จริง รู้แจ้ง เป็นอิสระ รู้จริงรู้แจ้งเป็นขั้นตอนไป ความเพียรของเราจะหมุนเข้าไปๆ หมุนเข้าไปทำลายตรงนี้ ตรงความเห็นผิดของมัน สิ่งนี้ความเห็นผิด แล้วมันก็ต้องยึดเป็นสมบัติของเรา

หัวใจของเรามันยึดเราเป็นสมบัติ ยึดอาการของขันธ์ ยึดอาการความรู้สึกนี้เป็นสมบัติ เป็นความเห็นของเรา ไปยึดมั่นถือมั่น ทุกอย่างเป็นเรา หวังพึ่งไง หวังว่ามีสิ่งนี้แล้วอุ่นใจ ถ้ามีสิ่งนี้แล้วการเวียนตายเวียนเกิดมันก็เป็นสภาวะอันหนึ่ง นี่เวลามันหดสั้นเข้า มันหดสั้นเข้ามาอย่างนั้น เวลามันยื่นออกไปข้างนอก เวลามันออกไปนี่ออกไปตามกระแสของเขา คิดถึงเห็นไหม หวังพึ่ง หวังเกาะเกี่ยวกันตลอดไป สัตว์สังคม สัตว์มนุษย์เป็นอย่างนั้น

จิตของมนุษย์มันยิ่งกว่านั้น เพราะมันจะเป็นสัตว์สังคม มันก็เป็นสัตว์สังคมออกมาจากหัวใจ ถ้าหัวใจเป็นอย่างนั้น ทำไมความคิดไม่เป็นอย่างนั้น แล้วเราจะไปทำลายแต่รูปแบบภายนอก รูปเงาภายนอก มันทำแล้วมันก็จะไม่ได้ประโยชน์หรอก มันเป็นเรื่องเปลือกๆ เรื่องของโลกเขา จะทำลายต้องทำลายสภาวธรรม สภาวะที่กิเลสมันอยู่

กิเลสมันอยู่ที่ใจก็ย้อนกลับเข้ามาวิปัสสนา วิปัสสนาสติปัฏฐาน ๔ เท่านั้น สติปัฏฐาน ๔ เป็นสมรภูมิที่ชำระกิเลส กิเลสเกิดขึ้นจากใจ โดยความหลงผิดตรงนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ววางธรรมนี่ เป็นสิ่งที่ง่ายที่สุด สิ่งที่คับแคบที่สุด สิ่งที่ต้อนกิเลสเข้าไปจนมุมแล้วแค่ทำลายด้วยตบะธรรมเท่านั้น แล้วเราก็ต้องสร้างสมของเราขึ้นมา เราต้อนกิเลสของเราให้มันจนมุมในสติปัฏฐาน ๔ ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม สร้างสมขึ้นมาอย่างนั้น แล้วพลิกแพลงสิ่งนี้ ใคร่ครวญออกไป จนมันปล่อยวางขาดออกไป สิ่งนี้สมุจเฉทปหาน รู้แจ้งแทงตลอด เป็นอิสรภาพขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง เห็นไหม หัวใจ ๔ ห้องมันก็ทะลุเข้าไปเป็นห้องที่ ๒

ธรรมะคืบคลานเข้าไปในหัวใจของเรา ถ้าธรรมะคืบคลานเข้าไปจนเต็มหัวใจแล้ว เป็นเอโก ธัมโม จิตทั้งแท่ง พ้นอิสรภาพทั้งหมดเลย แต่นี้เป็นส่วนหนึ่งเห็นไหม กามราคะ ปฏิฆะอ่อนลง ถ้าอ่อนลงแล้วนี่การประพฤติปฏิบัติก็ง่ายขึ้น การทรงตัวของใจจะมีความสุข จะมีความพอใจในใจนั้น นี่เป็นผลงานในความสุขที่ในการประพฤติปฏิบัติ

เวลาทุกข์ยากแสนยากนี่ทุกคนรู้ ความทุกข์นี้มีประจำกาย ประจำจิตของสัตว์โลก ทุกคนรู้หมดเลย มีความทุกข์นี้ ทุกข์ไปจนถึงเทวดา จนอินทร์ จนพรหมนะ เพราะว่าเวลาเขาจะเป็นจะตายขึ้นมา เขาก็ต้องห่วง เขาก็ต้องอาลัยอาวรณ์ในชีวิตของเขา ทุกคนชีวิตเราเวลาจะพลัดพรากนี่มันต้องถึงที่สุดแล้วมันต้องเสียดาย มันต้องอาลัยอาวรณ์ในสภาวะแบบนั้น

เว้นไว้แต่ผู้มีธรรม ประพฤติปฏิบัติธรรม เห็นสภาวธรรมความเป็นจริง สิ่งนี้เป็นธรรมดา สิ่งนี้เป็นสภาวะอันหนึ่งที่ต้องเป็นไป เป็นธรรมชาติของมัน แล้วมันทำใจได้นั้นเป็นการอยู่ในกรอบของกิเลสนะ กิเลสครอบงำ นี้ไม่ใช่ทำใจได้ นี้ชำระขาดตั้งแต่มันด้วยสมุจเฉทปหาน ด้วยสภาวธรรมอันนั้น นั่นน่ะ มันเวิ้งว้างขนาดไหน ต้องไม่นอนใจ ถ้าสิ่งที่นอนใจนี่มันไม่เป็นอิสรภาพโดยสมบูรณ์ ต้องพยายามค้นคว้าขึ้นไป พยายามจับต้อง ค้นหา

ค้นหาสติปัฏฐาน ๔ ถ้าไม่ค้นหาสติปัฏฐาน ๔ นี่หลอกลวงได้ ในเมื่อจิตมันอยู่ใต้กรอบของกิเลส กิเลสยังครอบคลุมจิตอยู่ในความเห็นอันละเอียดอยู่นี้ มันต้องบอกว่า สิ่งนี้เป็นผล สิ่งนี้เวิ้งว้างแล้ว สร้างสถานะความว่างขึ้นมาให้ มันเป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้เลยถ้าไม่ได้ฆ่ามัน ถ้าไม่ฆ่ามัน กิเลสมันไม่ปล่อยให้เราเป็นอิสระได้หรอก กิเลสมันบอกว่าต้องยึดมั่นถือมั่นจนถึงที่สุด ถึงจะกำลังของธรรมมากขนาดไหน มันก็ยึดมั่น ยึดในหัวใจนั้น แล้วมันจะมีความทุกข์อย่างนั้น มีความละเอียดอ่อน มีความอ่อนโยนในหัวใจนะ ถ้าไม่เห็นตัวมัน

ถ้าเห็นตัวมัน กามราคะนี้รุนแรงมาก สิ่งที่รุนแรงนี้รุนแรงในหัวใจ ตรงนี้เท่านั้น หัวใจห้องที่ ๓ นี้เป็นหัวใจที่ว่าสูบฉีดเลือดทั้งหมดเลย สิ่งที่เป็นไป ความโลภ ความโกรธ ความหลง เกิดจากตรงนี้ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติใหม่ๆ เห็นไหม เวลาประพฤติปฏิบัติใหม่มา ฉันประพฤติปฏิบัติแล้วฉันละความโกรธได้ เดี๋ยวนี้ฉันมีความสุข มันจะละความโกรธไปไหน ในเมื่อมันไม่ตัดปฏิฆะ สิ่งที่เป็นปฏิฆะคือความผูกไว้ที่ใจ ใจมันหวังไง สิ่งที่หวัง คือสิ่งที่ปฏิฆะ คือความผูกไว้ ถ้ามันหวังอะไร? ก็หวังในกามราคะ

ถ้าปฏิฆะได้ ความหวังนั้นมันไม่มี ถ้ามันยังหวังอยู่แล้วไม่ได้ มันก็ต้องมีความโกรธ นี่โกรธเกิด เกิดตรงนี้ อาการของโกรธเกิดจากตรงนี้ อาการของโกรธ อาการของความยึดมั่นถือมั่น ความปฏิฆะนี้โกรธมาก ไม่สมใจ ถ้าหวังแล้วไม่สมหวังจะมีความโกรธ มีความรุนแรง นี่สูบฉีดเลือดด้วยความรุนแรง การต่อสู้นี้ต่อสู้ตรงนี้ เป็นสิ่งที่ยากมาก ยากเพราะการที่ว่า สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ว่า มันเป็นอำนาจ มันเป็นพลังงานที่เหนือมาก พลังงานตรงนี้เป็นพลังงานที่ใหญ่มาก

เหมือนน้ำป่าเห็นไหม เวลาน้ำท่วมขึ้นมา พายุพัดขึ้นมา เวลาพายุพัดเอาไป โลกนี้ทั้งโลกมันจะพัดเอาราบเป็นหน้ากลอง เป็นไปหมดนะ บ้านเรือนนี้จะทำลายหมดเลยเวลามันพัดไป นี่ก็เหมือนกัน บ้านเรือนหมายถึงว่าความคิด ความดีไง ความดีของเราตั้งต้นในหัวใจ เราจะทำดี จะทำสิ่งนั้นจะทำสิ่งนี้ เวลาสิ่งนี้พายุมันเกิดขึ้นมา ความต้องการ ความโกรธขึ้นมา มันเกิดขึ้นมา มันเผาผลาญ มันทำลายสิ่งนี้หมดเลย จนราบเป็นหน้ากลองไปแล้ว ถึงได้สติกลับมา

นี่มันถึงต้องยับยั้งกันด้วยสัมมาสมาธิ ยับยั้งกันด้วยความคิดของเรา ยับยั้งสิ่งนี้ได้ จับต้องแล้วยับยั้งมัน จับต้องสิ่งนี้ให้ได้ จะสู้มันเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา แล้วเรายืนอยู่แบกครกไว้นี่ ครกมันจะไหลทับเราตลอดไป

นี่ก็เหมือนกัน เราจับต้องได้แล้ว เรามีครกอยู่แล้ว แล้วเราเข็นขึ้นภูเขา เข็นขึ้นภูเขาเพื่อจะทำลายมัน มันมีอำนาจเหนือกว่า จนกว่าเราพยายามทำใจของเรา จนปรับสภาวะพื้นดินที่ลาดชันให้มันเสมอกันเห็นไหม เสมอกันคือปัญญาของเราทัน พลังงานของเราพอนี่เราจะวิปัสสนาได้ ถ้าเราวิปัสสนา แยกแยะสิ่งนี้เหมือนกัน ขันธ์อันละเอียด อันนี้มันเป็นความผูกพันของใจ มันเป็นสิ่งที่ว่าสูบฉีดเลือด

สิ่งที่เป็นละเอียด ผู้ที่ใช้ปัญญา ผู้บริหาร สิ่งที่บริหารใช้ปัญญา เราเซ็นคำสั่งคำสั่งเดียวเท่านั้นล่ะ ลูกน้องทำงานไป ๕ วันก็ไม่เสร็จ นี้ก็เหมือนกัน สิ่งที่เกิดขึ้นจากตรงนี้ แล้วมันสืบต่อไปเป็นอาการของใจ กระเพื่อมออกไปถึงข้างนอก มันเป็นความรุนแรงมาก ถึงว่ามันเป็นขันธ์ละเอียด แต่มันให้ผลออกมาแล้วมันจะให้ผลรุนแรงกับสิ่งต่างๆ

ละเอียดในฐานะของปัญญาของมัน แต่ผลของมันให้ผลมาก สิ่งที่ทำงานจากข้างล่างเห็นไหม ทำงานจากกาย จากจิตนี่ พิจารณาเข้ามาปล่อยวางเข้ามา มันเป็นผลจากความอยาก ถึงเป็นสิ่งที่หยาบมาก เป็นสิ่งที่ว่าลำบากมาก แต่ทำลายแล้วมันก็ได้ผลเท่านั้นล่ะ แต่ผลอันนี้ ถ้าทำลายสิ่งนี้ จะไม่เกิดอีกเลย จะไม่เกิดในกามภพ เห็นไหม มันทำลายความเกิดได้ส่วนหนึ่งเลย

ทีนี้ถ้าพูดถึงทำข้างล่างได้มันต้องเกิดอีก ๗ ชาติ ๗ ชาติต้องหมุนไปใน ๗ ชาติ ถ้าไม่ได้ปฏิบัติมา แต่นี้ปฏิบัติขึ้นมาจนถึงกามราคะ ทำลายสิ่งนี้ได้ จะไม่เกิดในกามภพ นี้ถ้าไม่เกิดในกามภพ สิ่งที่จะไม่เกิดอีก ความอุบายวิธีการมันถึงพลิกแพลงมาก เราจะสุกเอาเผากินไม่ได้ มันจะสร้างสถานะ

การประพฤติปฏิบัติที่หลง หลงตรงนี้ หลงตรงที่ว่า มันทำแล้วมันสงบ มันเวิ้งว้าง เหมือนจริง ภาพนี้เหมือนจริง สิ่งนี้ปล่อยวางเหมือนจริง เพราะเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ เรามีพื้นฐานไง สิ่งที่พื้นฐานที่ว่าเป็นปัญญาของเรา กิเลสมันพลิกเป็นสมบัติของมัน กิเลสพลิกสิ่งที่ว่ามีข้อมูลของเราว่า เวลาเวิ้งว้างจะเวิ้งว้างนะ เรือนว่าง จิตเราจะไม่มีเลย มันจะปล่อยวางอย่างนั้น นี่กิเลสเอาตรงนี้มาเป็นอาวุธของเขา แล้วก็สร้างความเหมือนขึ้นมาในหัวใจ แล้วเราก็จะเชื่อสิ่งนั้น พอเราเชื่อสิ่งนั้น เราไม่ก้าวเดินต่อไป เราก็จะติดสิ่งนั้น แล้วก็สร้างเหมือนอย่างนี้หลายภาพๆ เราก็จะเป็นมรรค ๔ ผล ๔ เราก็จะปล่อยวางจนถึงที่สุด แล้วเราก็โดนกิเลสครอบไว้ รู้ไม่จริงในขั้นตอนนี้ กิเลสก็ครอบงำ รู้ไม่จริง กิเลสจะครอบงำต่อไป ถ้ารู้จริง ความรู้จริงจะครอบงำเราไม่ได้ เพราะเรารู้จริง รู้แจ้ง แทงตลอด

สิ่งนี้สภาวะของกิเลส ใช้ปัญญา นี่ฟังสิว่ากิเลสมันพลิกแพลงได้ขนาดไหน มันใช่เล่ห์กลของธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เราศึกษาเล่าเรียนมา เราใช้เล่ห์กลของธรรมครูบาอาจารย์ที่เทศนาว่าการสอนเราไว้ แล้วเราฟังธรรมๆ มา เราจำของเราไว้ จำไว้เพื่อเป็นธรรมาวุธเพื่อจะชำระกิเลส กิเลสมันพลิกอีกทีหนึ่งเป็นอาวุธของมันมาเชือดคอเรา ให้เราล้มลุกคลุกคลานไป แล้วเราก็ล้มลุกคลุกคลานไปเพราะกิเลสครอบงำ

เราไม่รู้แจ้งแทงตลอด กิเลสมันครอบงำเรา เราก็ไม่รู้แจ้งสิ่งนี้ เราจะต้องพลิกวิธีการของปัญญาขึ้นมา ให้ปัญญาขึ้นมาเป็นวิธีการใหม่ จนแยกแยะออกไปๆ เห็นไหม แยกแยะออกไปในหัวใจ “เห็นไหม” คือผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเห็นก็จะเห็น ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติไม่รู้สิ่งนี้ ฟังธรรมไว้เป็นเครื่องระลึก เป็นกำลังใจของเราว่า มรรค ๔ ผล ๔ เป็นสิ่งที่หัวใจที่มันมีอยู่ สมบัติที่มีอยู่นี้สามารถทำได้ พลิกแพลงไปจนบ่อยครั้งเข้าๆ จนมันขาดนะ ขาดออกไปจากใจ

สิ่งนี้ต้องขาดออกไปจากใจ รู้แจ้งแทงตลอด สิ่งนี้จะครอบงำไม่ได้เลย กามราคะครอบงำจิตนั้นไม่ได้ จิตนั้นจะมีความสุข จะมีความเวิ้งว้างมาก ปล่อยวางสิ่งต่างๆ เข้ามาเป็นอิสระ อิสระในกรอบของอวิชชา ไม่ใช่อิสระโดยธรรมชาติ อิสระในอวิชชานี้จะเวิ้งว้าง จะปล่อยวาง นี่เรือนว่าง ว่างนี้มีว่างหมดเลย แต่อันนี้มันอยู่ในว่าง อยู่ในบ้าน แล้วคนที่อยู่ในบ้านนั้นจะไม่เห็น เห็นแต่บ้านว่างตลอดไปอยู่อย่างนั้น จนกว่าปัญญามันจะเริ่มเอะใจ ปัญญามันจะเริ่มไหวเข้ามาว่า สิ่งนี้มันคืออะไรอยู่ แล้วย้อนกลับมาวิปัสสนามันได้

ถ้าย้อนกลับมา ย้อนกลับมาก็จับสิ่งนั้น สิ่งนี้เกิดดับๆ ในหัวใจ มันเป็นเกิดอย่างละเอียด ดับอย่างละเอียด จนแทบจะไม่รู้เรื่องเลย จนเป็นความว่างได้ นั่นน่ะ สิ่งนี้คือเป็นตัวมหาเหตุ สิ่งนี้ครอบงำวัฏฏะไว้ทั้งหมดเลย ปล่อยวางจากกามราคะแล้วไม่เกิดในกามภพก็จริงอยู่ แต่ยังต้องเกิดในพรหมอยู่เห็นไหม จนเราวิปัสสนาเข้าไปจับต้องสิ่งนี้ได้ วิปัสสนาด้วยปัญญาญาณ ปัญญาญาณเกิดขึ้นแล้วชำระกิเลสตรงนี้ขาดออกไป

นั่นน่ะ เป็นอิสรเสรีภาพโดยธรรมชาติ สิ่งนี้ขาดออกไปเห็นไหม จากจิตที่ปล่อยสิ่งต่างๆ เข้ามา ปล่อยขันธ์เข้ามา ปล่อยวางขันธ์ออกเป็นตัวจิต แล้วพอทำลายจิตเข้าไปแล้ว จิตปล่อยตัวมันเองแล้วมันจะมีเหลือสิ่งใดให้เป็นสิ่งที่ว่าเป็นปล่อยอีกล่ะ มันพลิกทีเดียวมันก็หมดสิ้นกันไป ไม่ต้องปล่อยสิ่งใดๆ อีกเลยเห็นไหม รู้จริงเป็นอิสรภาพ อิสรภาพจากอวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สิ่งที่เป็นอวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อันนี้คือความไม่รู้ของมัน

มันไม่รู้จริง มันรู้ตามสมมุติ รู้ตามอวิชชานั้น นี่เป็นธาตุรู้ รู้สึกตัวอยู่ แต่ไม่รู้ตัวเอง แล้วจนเป็นวิชชา พอวิชชามันก็ดับอวิชชานะ สุขเกิดขึ้นจากใจ ดับสิ่งต่างๆ ทั้งหมดในหัวใจ นี่รู้จริงตามมรรค ๔ ผล ๔ รู้จริงตามการประพฤติปฏิบัติ

เราประพฤติปฏิบัติมา ประพฤติปฏิบัติเพื่อหัวใจของเรา เพื่อหัวใจของเรา ธรรมของครูบาอาจารย์นั้นเป็นสิ่งที่ว่าเราฟังมาเพื่อเป็นการก้าวเดิน เราต้องก้าวเดินตามครูบาอาจารย์ไป ผู้ที่มีครูเห็นไหม จะประพฤติปฏิบัติไม่เสียหาย

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้มาก่อน แล้วเราประพฤติปฏิบัติมา เอาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เป็นต้นแบบ ครูบาอาจารย์ของเราเป็นปลีก เป็นย่อย เป็นกิ่ง เป็นแขนงต่อไป กิ่งแขนงนี้เป็นที่ว่าเราจะก้าวเดินเป็นกลอุบาย เป็นวิธีการ อุบายวิธีการถ้าตรงกับจริตนิสัยของเรา เราจะได้ประโยชน์ตรงนั้น ถึงว่าครูบาอาจารย์เราเป็นกิ่ง เป็นแขนง แต่ละกิ่งแต่ละแขนง คนชอบสิ่งใดตรงกับจริตนิสัยมันก็จะฟังครูบาอาจารย์องค์นั้น ครูบาอาจารย์องค์นั้นก็จะเป็นผู้ชี้นำให้เราพ้น ก้าวพ้นโดยความปลอดภัย ในการประพฤติปฏิบัติเรา มันจะปลอดภัยเลยนะ ถ้าไม่มีครูมีอาจารย์นะ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมาจะต้องเดินผิดพลาดมา ถึงมีครูมีอาจารย์คอยชี้อยู่

ควาญประจำช้างนั่งอยู่บนคอช้างนะ ช้างนี้ยังเดินตามอำนาจของมัน เพราะช้างนี้คือกิเลสที่มันดิ้นรนมาก เรามีหัวใจ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อยู่ในหัวใจของเรา มันดิ้นรนตลอดไป แล้วควาญช้างคือครูบาอาจารย์เรานี่ แต่ที่เราลงใจองค์ไหน ให้เป็นควาญช้างขึ้นขี่คอเรา เรายังดื้อไปประสาอำนาจของช้าง ช้างมันมีแรงมากไง มันไปประสามัน

นี่เหมือนกัน เรามีครูบาอาจารย์เป็นแขนง เป็นอะไร เพื่อเป็นประโยชน์กับเรา ตรงจริตนิสัยกับเรา เป็นประโยชน์กับเรา ต้นแบบคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ที่ปรินิพพานไปแล้ว สุขนี้เป็นวิมุตติสุข ครูบาอาจารย์ของเราตรัสรู้ธรรมเข้าไปแล้ว สิ้นสุดไป เป็นวิมุตติสุขจากครูบาอาจารย์เรา เช่นหลวงปู่มั่นลงมา ครูบาอาจารย์ลงมา แล้วเราก็ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เป้าหมายเราอยู่ตรงนี้ นี่อธิษฐานบารมี บารมีถึงที่สุด แล้วเราต้องทำมันถึงพ้นทุกข์ได้ แล้วประพฤติปฏิบัติไปก็ก้าวเดินไป ตามอำนาจวาสนาของเรา เอวัง