ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ภาวนาติด

๒๓ ก.ย. ๒๕๕๕

 

ภาวนาติด
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ๑๑๕๑. เรื่อง “ทำไมภายหลังทำสมาธิแล้ว รู้สึกมีอาการเพ่งที่บริเวณจมูกและหน้าอกเกือบตลอดเวลา”

กราบนมัสการหลวงพ่อ ผมได้ฝึกนั่งภาวนามาประมาณ ๕ ปีกว่า โดยใช้คำบริกรรมพุทโธพร้อมดูลมหายใจ ทุกวันนี้เวลาที่ผมใช้ในการนั่งภาวนาประมาณ ๑-๒ ชั่วโมงขึ้นไป อยู่กับว่าวันไหนรู้สึกว่าตัวเบา จิตเบาก็นั่งนานหน่อย ผมจะไม่ค่อยเห็นนิมิต แต่มักจะมีความคิดผุดขึ้นมาบ่อยๆ แต่ผมใช้สติกำหนดรู้ลงที่ใจเท่านั้นโดยไม่ตามความคิดไป และตอนนี้ผมมีปัญหาข้องใจมาเกือบ ๒ อาทิตย์แล้วครับ ที่ผ่านมาผมได้ลองพยายามแก้ปัญหาด้วยตัวเอง แต่แล้วก็ยังแก้ไม่ได้ ผมจึงอยากขอความเมตตาจากหลวงพ่อด้วยครับ

๑. ตอนที่นั่งภาวนาไปผมรู้สึกว่ามีอาการตึงบริเวณจมูกบ้าง เพดานช่องปากบ้าง หน้าอกบ้าง เหมือนกับจิตมันไปเพ่งนะครับ แต่อาการเหล่านี้มักจะเป็นๆ หายๆ ในช่วงแรกเป็นเฉพาะตอนนั่งภาวนา แต่พักหลังมานี้ แม้ไม่ได้นั่งภาวนาก็มักจะรู้สึกได้เกือบตลอดเวลา ก่อนที่ผมจะเป็นแบบนี้มีอยู่คืนหนึ่งตอนที่นั่งสมาธิแล้วเกิดปีติ ขนลุกขนพองแรงมาก ซึ่งเมื่อปีติเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป และเกิดดับอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ประมาณ ๑๐ กว่านาทีได้ (จากความรู้สึก)

แล้วจากนั้นมา ผมนั่งภาวนาไม่นานผมก็มีความรู้สึกว่ามันวูบลง ๒-๓ ที แล้วก็จะมีสติชัดขึ้นมาทันที แล้วอาการตึงหรือเพ่งก็จะเกิดขึ้นเร็วมาก แต่ไม่ได้เกิดตลอดการนั่งนะครับ และไม่นานมานี้ผมนั่งภาวนาไปจิตมันพูดขึ้นมาว่า “หลวงปู่มั่น” หลังจากนั้นก็ปรากฏภาพหลวงปู่มั่นท่ายืนขึ้นมา (ผ่านไปได้แค่วันเดียว ได้เห็นรูปหลวงปู่มั่นจากหนังสือเล่มหนึ่งที่รุ่นพี่เอามาให้อ่านเหมือนในนิมิตที่เห็นขณะนั่งภาวนา)

เมื่อภาพหลวงปู่มั่นหายไป สักพักก็ปรากฏนิมิตพระพุทธรูปขึ้นมา ซึ่งนิมิตพระพุทธรูปก่อนหน้านี้มักเห็นบ่อย หลังจากนั้นอาการความคิดก็เกิดขึ้นแล้วดับไปอย่างต่อเนื่อง จนถึงที่สุด อยู่ๆ ก็เกิดได้ยินเสียงหัวใจเต้นแรงมาก ผมมีความกลัวเกิดขึ้น แต่ก็กำหนดรู้อยู่ตลอด ระยะเวลาหนึ่งอาการก็หายไป แล้วผมก็ลืมตาขึ้น อีกประมาณ ๒ วันถัดมาผมก็ได้ยินเสียงลมออกหูดังมาก ซึ่งในขณะนั้นเหมือนมีลมวิ่งวนอยู่ในศีรษะ และมีอาการเสียวนิดหน่อย

ทีนี้กลับมาที่อาการเพ่งนะครับ อาการนี้มักจะทำให้ผมนอนไม่ค่อยหลับ ขณะนอนลงหลังจากหลับตาจะเกิดอาการตึงขึ้นมาทันที และมีอยู่ครั้งหนึ่ง ขณะนั่งกินข้าวอยู่ผมได้ลองนึกพิจารณาแยกแยะการเกิดขึ้นของอาการนี้ กายและจิตจนเกิดปีติขึ้น หลังจากนั้นอาการนั้นก็หายไป แต่ก็ไม่หายขาด จนผมมีความรู้สึกว่ามันเป็นอุปสรรคต่อการภาวนา และการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก ไม่รู้ว่าเป็นเพราะกรรมหรือเปล่า ซึ่งตอนนี้ผมกำลังคิดว่าจะลองเลิกนั่งภาวนาไปสักระยะหนึ่ง เพื่อรอดูว่าอาการนี้จะหายไปไหม? หลวงพ่อโปรดเมตตาชี้แนะด้วย

๒. ผมเป็นคนนอนดึกประมาณตี ๒ ตี ๓ และมักจะตื่นเมื่อนอนไปสักประมาณ ๕ ชั่วโมงกว่า ซึ่งเมื่อตื่นมาแล้วผมก็จะนอนภาวนาไปจนกว่าจะหลับอีก แต่พอเวลาเคลิ้มๆ จะหลับจะมีอาการขยับตัวไม่ได้เหมือนผีอำ (คิดไปเอง) จนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในช่วงเช้าผมเกิดอาการแบบที่กล่าวมา แต่พอลืมตาขึ้น ได้มองเห็นประตูห้องน้ำเปิด-ปิดเอง จนผมคิดว่าคงมีวิญญาณเข้ามาในห้องผม ผมจึงได้ตั้งจิตอุทิศส่วนบุญให้ ทันใดนั้นเองก็ปรากฏภาพผู้ชายพุ่งออกมาจากห้องน้ำเข้ามาหาผมอย่างรวดเร็วและขอบคุณครับ หลังจากนั้นก็มักจะรู้สึกตัวขยับไม่ได้ในช่วงเช้าเกือบทุกวัน บางทีก็รู้สึกว่าได้ยินเสียงผู้หญิง ผู้ชายมาเรียกชื่ออยู่ในหู ซึ่งผมก็อุทิศบุญให้ อาการก็หายไป แต่ผมรู้สึกว่าเป็นบ่อยๆ อย่างนี้ไม่ไหวครับ ผมควรจะทำอย่างใด?

ตอบ : นี่เริ่มต้นจากการภาวนา “ผมภาวนามา ๕ ปีครับ” ๕ ปีกว่าแล้วกำหนดอยู่ การกำหนดมา คำว่าภาวนา ๕ ปี เห็นไหม กำหนดพุทโธ พุทโธพร้อมลมหายใจเข้า-ออกแล้วมันดีขึ้น พอดีขึ้นการภาวนามันก็เป็นเครื่องอยู่ ถ้าเป็นเครื่องอยู่ของใจ ใจถ้ามันมีหลักมีการภาวนาอยู่ มันก็มีหลักให้ใจมันได้มีที่พัก มันก็มีเครื่องอยู่ ถ้ามีเครื่องอยู่ ภาวนาไปๆ การภาวนา เห็นไหม คนภาวนาถ้ามีสติต้องมีปัญญา ถ้าไม่มีสติปัญญา อาการอย่างนี้เขาเรียกว่าติด

นี่ถ้าภาวนาติดนะ พอภาวนาติดใช่ไหม ภาวนาพุทโธ พุทโธแล้วกำหนดลมหายใจ พร้อมกับลมหายใจ หรือกำหนดลมหายใจอย่างเดียว หรือภาวนาอย่างเดียวนี่ภาวนาไปได้ แล้วถ้ามันเกิดปีติ เกิดอาการต่างๆ พอเกิดขึ้นมา ถ้ามันไม่ติด มันไม่ติดนะ สิ่งที่เกิดขึ้นมามันรู้ไง สิ่งใดที่เรารู้เราเห็นนี่รู้ได้หมด รู้แล้ววาง รู้แล้ววางแล้วกำหนดพุทโธต่อไป มันจะละเอียดต่อไป มันจะละเอียดเข้าไป แต่เราไปติด คำว่าติดนะ คำว่าติดเพราะเราไม่รู้ถึงติด ถ้าเรารู้เราไม่ติดหรอก อย่างเช่น เราบอกว่าถ้าเราทำสิ่งใดที่มันผิดกฎหมายเราไม่อยากทำหรอก แต่ที่เราทำไปเพราะเราประมาทโดยที่เราไม่รู้เราถึงทำไป พอทำไปแล้วถึงว่า อ๋อ อันนี้ผิดกฎหมาย ผิดกฎหมาย

อันนี้ก็เหมือนกัน คำว่าภาวนาติดๆ เพราะจิตมันติด พอจิตมันติดขึ้นไป พอภาวนาไป กำหนดพุทโธพร้อมกับลมหายใจ แล้วพอจิตมันเบา มันนานหน่อย แล้วก็มักจะมีความคิดผุดขึ้นมา แล้วผมก็ใช้สติกำหนดรู้ที่ใจเท่านั้น พอรู้ที่ใจเท่านั้นนี่ปล่อย พอกำหนดพุทโธหรือลมหายใจอานาปานสติ ให้จิตมันเกาะอยู่ที่อานาปานสติ ถ้าจิตมันสงบเข้าไป จิตมันละเอียดเข้าไป นี่ลมหายใจจะละเอียดเข้าไป ถึงกับลมหายใจไม่มีเลย แต่มันรู้ตัวมันชัดเจน มันไม่มีช่องว่างให้กิเลสมันเข้ามาสอด

พุทโธ พุทโธ พุทโธ นี่พุทโธจนพุทโธละเอียด พุทโธจนพุทโธมันละเอียดจนจะนึกไม่ออกเลย แต่ความรู้สึกเราชัดเจน พอความรู้สึกเราชัดเจน เห็นไหม เราพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธจนพุทโธไม่ได้เลย แต่สติกับจิตมันแน่น มันรู้ตัวตลอดเวลา นี่กิเลสมันเสียบเข้ามาไม่ได้ แต่ถ้าพุทโธ พุทโธ พุทโธแล้วเบื่อ เมื่อย เครียด วางพุทโธ นี่ช่องนี้จะเป็นช่องให้กิเลสมันเข้ามา

พอมันละเอียดเข้ามา เห็นไหม เขาบอกว่า

ถาม : ผมพุทโธพร้อมกับลมหายใจ พอจิตมันเบา พอมีความคิดเกิดขึ้นผมก็ปล่อย นี่ปล่อยพุทโธ ผมก็ปล่อย เห็นไหม คือมันปล่อยบ่อยๆ ผมใช้สติกำหนดรู้เข้าไป

ตอบ : คำว่าสติกำหนดรู้ที่ใจ กำหนดรู้ที่ใจ หลวงตาท่านบอกว่าท่านภาวนาพุทโธ พุทโธนี่นะแล้วเรียนหนังสือไปด้วย ๗ ปีจิตมันรวมได้ ๓ หน แต่พอออกไปปฏิบัติจริงๆ ขึ้นมาท่านก็กำหนดรู้ลงที่ใจ นี่จิตมันก็เป็นสมาธิได้ แต่พอเวลามันเสื่อมแล้ว ๑ ปีกับ ๕ เดือนทุกข์เกือบตาย นี่พอมันดูที่จิต มันกำหนดรู้เฉยๆ กำหนดรู้ที่ใจ กำหนดดูจิตนี่แหละ กำหนดรู้ กำหนดดู กำหนดรู้ กำหนดดูนี่มันเผลอได้ พอมันเผลอได้ ความรู้สึกนึกคิดที่มันเกิดขึ้นมา นี่มันโผล่ออกมา พอมันโผล่ออกมา เห็นไหม โผล่ออกมาไม่โผล่ออกมาธรรมดานะ พอโผล่ออกมาแล้วติด พอติดขึ้นมาแล้ว พอติดขึ้นมาก็มีอาการอย่างนี้เกิดขึ้น

นี่ภาวนาติด พอภาวนาติดขึ้นมาแล้วใครจะแก้ล่ะ? ใครจะแก้ มันก็ต้องจิตดวงนั้นเป็นผู้แก้ แก้อย่างไรล่ะ? แก้ก็กลับมาที่พุทโธไง พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่อย่าทิ้ง พุทโธ พุทโธไป หรือกำหนดลมหายใจไป อาการที่มันบอกว่า รู้นั้นรู้นี้มันจะรู้ไม่ได้ รู้ไม่ได้เพราะอะไร? เพราะจิตมันอยู่กับพุทโธ มันเกาะพุทโธไว้ มันรู้เฉพาะตัวแล้วชัดเจน ถ้าไม่ชัดเจนนะจิตมันจะละเอียดเข้ามาไม่ได้

อย่างเช่นพุทโธ พุทโธ พุทโธแล้วละเอียดขึ้น หรือลมหายใจละเอียดขึ้น ละเอียดเพราะอะไร? ละเอียดเพราะจิตมันจับอยู่ จิตมันมีคำบริกรรม จิตมันมีอานาปานสติเป็นที่อาศัย จิตมันต้องมีที่อาศัย พอจิตมีที่อาศัย มันอาศัยสิ่งนี้เข้าไปบ่อยๆ จนมันละเอียดเข้าไป จนเป็นสมาธิมันก็เป็นสมาธิ พอเป็นสมาธิขึ้นมา แต่ถ้าพอเป็นสมาธิแล้วมันเกิดนิมิต นิมิตก็ติดนิมิตอีก

ถ้าติดนิมิต เห็นไหม นี่พอบอกว่าเวลาพุทโธ พุทโธไปเกิดว่าเป็นภาพหลวงปู่มั่นขึ้นมา เกิดภาพได้ทั้งนั้น ถ้าหลวงปู่มั่นนะ เราพุทโธ พุทโธ หรือว่าเรากำหนดจิตจนละเอียดเข้ามาเห็นภาพหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นมาว่าอย่างใด? หลวงปู่มั่นมาให้เห็น มาให้เห็นบอกว่าเอ็งกำลังจะปล่อยพุทโธนะ เอ็งกำลังจะมีปัญหาในหัวใจนะ ถ้าหลวงปู่มั่นมา ถ้าด้วยนิมิตเราตีความว่าอย่างใด? แต่ถ้าครูบาอาจารย์ของเรานะ เวลาหลวงปู่มั่นมา หลวงปู่มั่นสื่อความหมายกับผู้ที่จิตสงบนั้นได้ด้วย หลวงปู่มั่นจะสื่อความหมายเลย สื่อว่าจะทำอย่างไร? ควรทำอย่างไร? เราจะถามว่าเราจะปฏิบัติอย่างไร?

ถ้าจิตดีนะ ถ้ามันเป็นสัมมาทิฏฐิ มันเป็นแบบว่าธรรมะมาสอน ธรรมะมาสอน ธรรมะมาเตือน ธรรมะมาบอก ถ้าธรรมะมาบอกมันจะเป็นแง่บวก แง่บวกให้คนที่ภาวนาเจริญงอกงาม มีเชาวน์ มีปัญญา แต่ถ้าเป็นหลวงปู่มั่นมา แล้วยิ่งมายิ่งงง ยิ่งมายิ่งแปลกใจ นี่อย่างนี้มันมาทางลบ ทางลบหมายความว่ากิเลสมันสร้างภาพ ถ้ากิเลสมันสร้างขึ้นมา สร้างภาพแล้ว ก็สร้างภาพว่าเป็นภาพอย่างนั้น เป็นภาพอย่างนั้นแล้วติดภาพตัวเอง ติดภาพ เห็นไหม ทางโลกเขาบอกว่า “เจตนาดีแต่ประสงค์ร้าย”

เจตนาดีนะ เราเห็นภาพหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นเป็นกรรมฐาน เป็นครูเป็นผู้นำของเราใช่ไหม? เป็นอาจารย์ใหญ่ในสายกรรมฐาน ถ้าเราเห็นภาพหลวงปู่มั่นเราก็ อู้ฮู เห็นหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นต้องมาเชิดชูเรา หลวงปู่มั่นต้องมาส่งเสริมเรา ถ้าเราเห็นภาพหลวงปู่มั่นนะ เจตนาดีแต่ประสงค์ร้าย ประสงค์ร้ายคือกิเลสไง เพราะกิเลสมันสร้างภาพ สร้างภาพว่าเป็นภาพหลวงปู่มั่น แต่กิเลสมันสร้างภาพ มาร เห็นไหม มารมันมาในรูปแบบใด? ถ้ามารมันมาในรูปแบบใดมันทำให้เราติดไง

ถ้าภาวนาติด ถ้าภาวนาติดนะ เวลาจิตเราสงบใช่ไหม? ถ้ามันสว่าง ภาวนาอยู่ ๕ ปี นี่มีความสุข มีความสงบหมดเลย แล้วภาวนามาเพราะอะไร? เพราะมันเคยชิน พอมันเคยชิน มันคุ้นชิน พอมันคุ้นชิน เห็นไหม เขาบอกว่า

ถาม : ผมก็เลยกำหนดสติดูลมเท่านั้น

ตอบ : ถ้าดูลมเท่านั้นนะ มันไม่เกาะไว้ พอมันเกิดปัญหาขึ้นมาแล้วเราจะแก้อย่างไร? ถ้าเราจะแก้อย่างไรนะ พุทโธ พุทโธ พุทโธจนไม่มีช่องว่างเลย พุทโธจนมันละเอียด พุทโธจนจิตตั้งมั่น เอกัคคตารมณ์ จิตตั้งมั่น ถ้ามันไม่ตั้งมั่นเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ถ้าไม่ตั้งมั่นแต่ทำงานได้เราก็ทำงาน เช่นวันนี้เรามีเงินอยู่ในตัว ๒๐๐ บาทต่อวันนี้ เราก็ใช้ ๒๐๐ บาทในวันหนึ่ง วันนี้เรามีเงินอยู่ในตัวเราหมื่นบาท นี่เงินหมื่นบาท เราจะใช้หมื่นบาทหมดไหม? เราจะใช้ดำรงชีวิตวันละหมื่นเชียวหรือ? ก็ไม่ถึงใช่ไหม?

นี่ก็เหมือนกัน ขณิกสมาธิ นี่มีเงิน ๒๐๐ บาท เราก็ใช้ชีวิตของเราแค่ ๒๐๐ บาท แต่ถ้าวันนี้อุปจาระ เห็นไหม เรามี ๕,๐๐๐ ถ้ามันลงอัปปนา มันมีหมื่นหนึ่ง มีแสนหนึ่งเราจะใช้อย่างไร? นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันเข้าไปถึงสมาธิก็คือเงิน แต่เราจะใช้ชีวิตอย่างไร? เราจะเอาเงิน ๒๐๐ บาทนี้เพื่อประโยชน์กับเราอย่างใด?

จิต จิตถ้ามันสงบแล้ว มันสงบเป็นขณิกสมาธิไม่ต้องลงลึก ไม่ถึงขนาดว่า มันจะรู้ขนาดไหน แต่ถ้ามันมี ๒๐๐ บาท แต่การดำรงชีวิตเราจะใช้จ่ายอย่างไร? อะไรเป็นค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าพาหนะ เราจะใช้ ๒๐๐ บาทดำรงชีวิตอย่างไร? ขณิกสมาธิถ้าจิตมันมีกำลังของมันเราก็พิจารณาได้ เราใช้ปัญญาได้ ถ้าใช้ปัญญาได้จิตมันก็สงบขึ้นมา สงบขึ้นมา ทีนี้สงบอย่างนี้มันก็ไม่ไปติดข้องไง ภาวนาติดมันจะติดไปหมดเลย ติดแล้วแก้ไม่ได้

นี่เวลาคนที่ว่าเขาภาวนาติด ติดในขั้นของสมาธิ ติดในขั้นของปัญญา แล้วจะไปติดตรงไหนล่ะ? ถ้ามันติดไปแล้วนะ พอมันติดนี่เจตนาดีแต่ประสงค์ร้าย ติดขึ้นมาก็เป็นธรรม ก็เป็นสมาธิเหมือนกัน แต่ทำไมมันเป็นโทษล่ะ? เป็นโทษคืออะไร? คืองงๆ ไง คือขยับไปก็ไม่ได้ ขยับมาก็ไม่ได้ เพราะ เพราะ

ถาม : ๑. ตอนที่นั่งภาวนารู้สึกว่ามีอาการตึงที่บริเวณจมูกบ้าง เพดานช่องปากบ้าง หน้าอกบ้าง แล้วจิตนี้มันก็เพ่งไป แต่อาการเหล่านี้จะเป็นๆ หายๆ

ตอบ : เริ่มต้น เริ่มต้นมันจะเป็นๆ หายๆ แต่พอเป็นๆ หายๆ แล้วงงไง สงสัยว่านี่มันคืออะไร? พอสงสัย ไอ้ที่ว่ามันตึง มันปวด มันเจ็บมันก็จะชัดเจนขึ้น แล้วพอชัดเจนขึ้น จากเป็นๆ หายๆ มันก็เป็นตลอดเวลา พอมันเป็นตลอดเวลา แม้แต่ภาวนาออกมาแล้วมันก็ยังเป็นอยู่ นี่มันเป็นอยู่ไปเลย ทีนี้พอเป็นอยู่ไปเลย ทีนี้ก็ภาวนา ภาวนาแล้วมันต้องดีขึ้น ต้องสุขสบาย ทำไมภาวนาแล้วตึงเครียดไปหมดเลย ทำไมภาวนาแล้วหนึ่งมันตึง มันทำให้เจ็บปวด มันทำให้ชีวิตนี้ มันใช้ชีวิตปกติไม่ได้เลย

จิตนี่มันเจตนาดี เราเจตนาจะภาวนา แต่มันประสงค์ร้าย ประสงค์ร้ายทำให้เรางง ทำให้เราส่งออกไปตามแต่สิ่งนั้น แต่ถ้าเรากลับมาที่พุทโธนะ เจตนาดีต้องให้ผลดี ถ้าเจตนาดีนะ ครูบาอาจารย์ของเรา เวลาภาวนาอยู่ ถ้ามีข้อใดสงสัยนะ อย่างเช่นหลวงปู่ขาว หลวงปู่ขาวท่านเล่าให้หลวงตาฟัง ว่าเวลาท่านอยู่ของท่านนะ ถ้าวันไหนท่านวาง แม้แต่วางบริขารไว้ผิดที่

คำว่าวางบริขารผิดที่ พระกรรมฐานเวลาเขาเข้าไปที่พักนะ บาตรนี่เขาจะเอาไว้ตรงหัวใช่ไหม มีบาตร มีผ้าครอง เขาจะวางของเขาเป็นที่เป็นทาง ถ้าวันไหนวางของไว้ผิดที่ คืนนั้นนะท่านบอกว่าท่านภาวนานะ หลวงปู่ขาวท่านพูดนะว่าคืนนั้นท่านนั่งภาวนา หลวงปู่มั่นจะมาเตือนเลย นี่การทำอย่างนี้มันไม่ถูกต้อง การทำที่มันถูกต้องต้องไว้เป็นที่เป็นทาง แล้วเป็นที่เป็นทาง แล้วเราเป็นอาจารย์เขา เป็นผู้ใหญ่เราต้องทำเป็นตัวอย่าง เราไม่ควรทำสิ่งใดที่ลูกศิษย์เห็นแล้วเอาไปเป็นตัวอย่างที่ผิด

นี้หลวงปู่ขาวเล่าให้หลวงตาฟังนะ แม้แต่ของที่วางผิดที่ หลวงปู่มั่นท่านนั่งภาวนานะ พอนั่งภาวนาแล้วจิตมันเป็นสมาธิ จิตมันเป็นกลาง พอจิตเป็นกลาง จิตที่มีคุณธรรม หลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านละกิเลสไปแล้ว ท่านนิพพานไปแล้ว แล้วท่านเอาอะไรมาสอนล่ะ? มโนสัญเจตนาหาร นี่สิ่งที่มาคอยบอก คอยสอนหลวงปู่ขาว เพราะหลวงปู่มั่น เวลาหลวงปู่มั่นท่านยังมีชีวิตอยู่ท่านก็บอกกับหมู่คณะนะ บอกว่าหลวงปู่ขาวได้คุยธรรมะกับท่านแล้ว หลวงปู่ขาวมีดีทั้งนอก ทั้งใน เพราะหลวงปู่มั่นรู้ว่าพระองค์ใดจะมีอำนาจวาสนาบารมีเป็นหลักให้คนอื่นได้เกาะ ให้คนอื่นได้อาศัย

ฉะนั้น ท่านจะมาเตือนหลวงปู่ขาวประจำ หลวงตา หลวงตาท่านไปอยู่ที่จันทบุรี นี่อยู่ที่น้ำตกพลิ้ว เวลาบิณฑบาต นี่พระบิณฑบาตในสวนก็ต่างคนต่างแยกไป แล้วท่านเดินกลับมา กลับมาแล้วพระเดินนี่ฝนมันตก พอฝนมันตก มันเดินเข้ามามันเป็นคลองเล็กๆ เขาเอาไม้ลำเดียววางไว้ พระเดินข้ามคลองนั้นแล้วพลาดตกน้ำ เปียกแฉะหมดเลย กลับมาคืนนั้นหลวงตาท่านนั่งภาวนา หลวงปู่มั่นมาเข้าในนิมิตเลย เป็นหัวหน้าแล้วเอาเปรียบให้พระเด็กๆ เดินแต่ไกลๆ แล้วหัวหน้าก็เดินแต่รอบๆ แค่วัดนี้เอง

นี่หลวงปู่มั่นท่านมาสอนหลวงตาตอนที่ไปอยู่น้ำตกพลิ้วนะ เพราะอันนั้น ตั้งแต่นั้นมาหลวงตาท่านบอกว่าที่ไหนที่มันเป็นทางไกลที่ลำบาก หัวหน้าต้องไปเส้นนั้น หัวหน้าต้องทำอย่างนั้นเป็นคติ เป็นแบบอย่าง ลูกน้องเอาไว้ข้างหลัง เหมือนเรา ลูกเราเราจะให้สะดวกสบาย ลูกเราจะให้อยู่ในที่ดีๆ แต่พ่อแม่มันจะหาอยู่หากินเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องลูกของมัน

นี่ก็เหมือนกัน เราเป็นหัวหน้านะ ถ้าหลวงปู่มั่นท่านมาเตือน ท่านมาเตือนให้เห็นมันเป็นสิ่งที่เป็นธรรม เป็นธรรมมันเป็นคุณ เป็นประโยชน์ แล้วคนที่ภาวนานะ ครูบาอาจารย์เยอะมาก เวลาภาวนาไปติดขัด นี่พอหลวงปู่มั่นมาชี้ทางเลย ต้องอย่างนี้ ต้องอย่างนี้ ต้องอย่างนี้ งงนะ หลวงตาท่านเป็นบ่อย อย่างเช่นเวลาท่านเดินจงกรม จิตนี่ว่างหมด สว่างไปหมดเลย มันก็มองไปสิ่งใดมันเวิ้งว้างไปหมดเลย สักพักเดี๋ยวธรรมะเตือน ธรรมะไง ธรรมนี่หลวงปู่มั่นเตือน ความสว่างไสวนั้นเกิดจากจุดและต่อม ความสว่างไสวจะสิ่งใดก็แล้วแต่มันต้องมีที่เกิด มันต้องมีที่ดับ ของสิ่งใดไม่มีจุดกำเนิด จุดเริ่มต้นถิ่นกำเนิด มันไม่มีสิ่งกำเนิดมันจะเกิดสิ่งนั้นขึ้นมาไม่ได้

ฉะนั้น สิ่งที่สว่างๆ มันสว่างมาจากไหนล่ะ? มันก็สว่างมาจากภวาสวะ สว่างมาจากภพ สว่างมาจากใจ มันสว่างมันส่งออกไป เห็นไหม พอมันส่งออกไปเราก็ว่าอู้ฮู สว่างไปหมดเลย อู๋ย เวิ้งว้างไปหมดเลย แหม ทำไมมันมหัศจรรย์ ส่งออกแล้ว จิตมันออกมาแล้ว นั่นแหละมารมันบังไว้ไม่ให้ทวนกระแสกลับไปเห็นตัวมัน นี่ธรรมะมาเตือนเลย สิ่งที่สว่างไสวขนาดไหนนะมันเกิดจากจุดและต่อม มันมีที่กำเนิด แต่ขณะนั้นนะหลวงปู่มั่นท่านเสียไปแล้วไง ท่านยังงงของท่านอยู่

สิ่งที่เป็นธรรม ถ้าเห็นแล้วมันเป็นเจตนาดี สิ่งที่เป็นคุณธรรม ผลก็จะเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าเป็นติด ติดโดยกิเลส คำว่าติดคือกิเลส กิเลสมันเป็นยางเหนียว ตัณหาคือยางเหนียว นี่เอาสิ่งนี้มาหลอกมาล่อ มาหลอกมาล่อว่าเห็นหลวงปู่มั่น เห็นภาพหลวงปู่มั่น แล้ววันรุ่งขึ้นก็มีคนเขาเอาหนังสือมาให้ดู นี่เหมือนกับที่เห็นในนั้นเลย เห็นแล้วทำไมมันตึงๆ ล่ะ? เห็นแล้วทำไมมันยังปวดหัวอยู่นี่ล่ะ? เห็นแล้วทำไมมันทุกข์อยู่นี่ล่ะ? เห็นแล้วทำไมเราไม่เข้าใจอะไรเลยล่ะ?

แต่ถ้าเห็นหลวงปู่มั่นตามธรรมนะ หลวงปู่มั่นมาก็จะเตือน จะเตือนนะ จะเตือนว่าอย่าทิ้งพุทโธ อย่าทิ้งคำบริกรรม ถ้าเราไม่ทิ้งคำบริกรรมนะ เหมือนเราจูงโค จูงวัวเราจูงด้วยเชือกไป เราจะจูงพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธจนเอาวัวนี้เข้าคอก ถ้าเอาวัวเข้าคอกได้มันก็จบใช่ไหม? นี่จูงมาๆ เสร็จแล้วก็ปล่อยมันกลางทาง วัวมันก็ไปกินหญ้า เล็มหญ้าอยู่ข้างทาง มันก็เข้าป่า เข้าเขาของมันไป มันก็หายไปเลย

นี่ก็เหมือนกัน เราทิ้งคำบริกรรม เราทิ้งกำหนดลมหายใจ ถ้าเราไม่ทิ้งลมหายใจ เราไม่ทิ้งคำบริกรรม สิ่งที่ว่ามันตึงมันจะค่อยๆ หายไป แล้วเราไม่ต้องไปสนใจมัน นี้เพราะไปสนใจ เจตนาดีไง พอภาวนาไปแล้วมันมีความสว่าง มันมีความเวิ้งว้าง ติดใจ พอติดใจขึ้นมา แล้วพอมันสะเทือนขึ้นมามันก็มาตึงตรงนั้น ตึงตรงนี้ แล้วพอตึงตรงนี้จิตมันข้อง มันยิ่งตึงยิ่งสนใจ ยิ่งตึงยิ่งพิจารณา ยิ่งพิจารณาก็ยิ่งตึงมากขึ้น ตึงมากขึ้นก็ยิ่งปวดมากขึ้น มากขึ้น จากมันเป็นๆ หายๆ กลายเป็นขนาดไม่ภาวนาก็เป็น จนบอกว่าตอนนี้จะเลิกภาวนาพักหนึ่ง

นี่เจตนาดีแต่ประสงค์ร้าย ประสงค์ให้เลิกภาวนา คนเราทำงานยังลำบากลำบนอยู่ไม่พอกิน บอกว่าไม่ทำงานแล้วมันจะพอกิน พอกินไหม? ทำงานอยู่ อาบเหงื่อต่างน้ำยังอดมื้อกินมื้อ มันบอกว่าไม่ต้องทำงานเลยนะ เดี๋ยวข้าวปลาอาหารจะไหลมาเลย นี่ก็เหมือนกัน ภาวนาอยู่ยังทุกข์ขนาดนี้ บอกเลิกดีกว่า แล้วเดี๋ยวมันจะดีขึ้น นี่เจตนาดีแต่ประสงค์ร้าย ภาวนาติดนี่นะ คำว่าติด ทุกคนภาวนามันก็เป็นอย่างนี้ นักกีฬาที่เขาฝึกหัดกัน เขาต้องฝึกหัดฟิตร่างกายแล้ว โค้ชเขาจะสอนเทคนิคต่างๆ สอนเทคนิคต่างๆ แล้วจะพัฒนาขึ้น สอนเทคนิคแล้วต้องมีความชำนาญ ต้องมีไหวพริบ ต้องมีปฏิภาณ ต้องมีต่างๆ เพื่อเอาชนะคู่แข่ง

การภาวนาของเรา เห็นไหม กิเลสมันเป็นคู่แข่ง กิเลสกับธรรมเป็นคู่แข่งขันในใจ นี่เราเกิดมาจากกิเลส ทีนี้เราภาวนาไป เราภาวนาไปเพื่อจะชำระกิเลส พอภาวนาเริ่มต้นกิเลสเห็นว่าผู้ปฏิบัติคนนี้ยังไม่มีโอกาส หรือยังไม่เห็นตัวตนของเราเขาก็ปล่อย เราก็ภาวนาแบบสะดวกสบาย แต่พอเรามีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมานะ เดี๋ยวมันก็หลอกล่อ เราซ้อมอยู่ เห็นไหม แชมป์สนามซ้อม แต่เวลาแข่งแพ้ทุกที แต่เวลาซ้อมเก่งทุกที

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราฝึกหัดของเราเป็นไปหมดเลย แต่พอเอาจริงเอาจังขึ้นมาเกิดปัญหาแล้ว เกิดปัญหา นี่ภาวนาแล้วติด แล้วที่ภาวนาเขาไม่ติดล่ะ? เขาไม่ติดนะเพราะเขาวางพื้นฐานมาดี วางพื้นฐานคือกำหนดพุทโธ พุทโธ หรือปัญญาอบรมสมาธิโดยความมั่นคง แล้วเวลาออกหัดใช้ปัญญา ปัญญามันมีสัมมาสมาธิ มันมีหลัก มีเกณฑ์ของมัน มันจะมีกำลังของมัน มันพิจารณาของมันไป มันก็เป็นขั้นเป็นตอนของมันไป คนที่ภาวนาน้อยมากที่จะไม่ติด มันต้องมีติด ไม่ติดสมาธิก็ติดปัญญา

ติดปัญญาคือหมายความว่าเวลามันใช้ปัญญาไปแล้วปัญญามันดีมาก มันเห็นผลประโยชน์มาก อย่างเช่นหลวงตา เห็นไหม ติดสมาธิ ๕ ปี เวลาออกไปใช้ปัญญาขึ้นมานี่กลับมาติดสมาธินะ สมาธิมานอนตายอยู่ตั้ง ๕ ปี สมาธิไม่มีประโยชน์อะไรเลย เราก็ใช้ปัญญาเต็มที่เลย พอใช้ปัญญาไปมันใช้ปัญญามากแล้ว มันไปไม่รอดไง นี่ขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นบอกไอ้บ้าสังขาร บ้าสังขาร ต้องให้กลับมาทำสมาธิไง อ้าว ถ้ามันไม่ใช้ปัญญาก็แก้กิเลสไม่ได้ไง ก็ติดสมาธิ ๕ ปีมันก็เข็ด พอเข็ด ถ้าไม่ใช้ปัญญามันก็แก้กิเลสไม่ได้

แล้วนี่ก็ใช้ปัญญาแล้ว เออ ปัญญาอย่างนี้ไอ้บ้าสังขาร อ้าว ถ้ามันไม่บ้ามันก็แก้กิเลสไม่ได้ นั่นยิ่งโคตรบ้าเลย อู๋ย มันได้คิด เห็นไหม กลับมาต้องได้คิด พอได้คิดขึ้นมามันต้องมีพื้นฐานไปด้วยกัน นี่จะบอกว่าเวลาติดขั้นปัญญามันก็ติด ติดขั้นของสมาธิก็ติด การภาวนาของเรา เราไม่เคยรู้เคยเห็น ทำสิ่งใดไปมันติดหมดแหละ ติดมาก ติดน้อย ถ้าติดน้อยมันก็พอจะแก้ไขตัวเองก็ได้ แต่ถ้าติดมากแก้ไขตัวเองไม่ได้มันต้องมีครูบาอาจารย์คอยแก้ไข

คำว่าครูบาอาจารย์คอยแก้ไข คือท่านจะให้โจทย์ไง ให้โจทย์ที่ตรงข้าม ให้โจทย์ที่แตกต่างกันไป ให้การกระทำที่แตกต่างจากที่เคยทำ แล้วพอเราทำไป เราทำสิ่งที่แตกต่างมันจะเห็นเอง เพราะสิ่งที่แตกต่างเราจะเทียบเคียงเลยว่าครั้งที่แล้วทำแบบนี้เป็นอย่างนี้ พอทำแตกต่างผลมันจะเป็นอย่างนี้ สิ่งที่ผลลัพธ์นั่นแหละเราเอามาเปรียบเทียบเราจะรู้เลยว่าอันนี้ผิด อันนี้มันไปไม่รอด อันนี้ถูก

นี่ถ้าพูดถึงความแตกต่างมันมี เราทำแล้วครูบาอาจารย์ท่านจะแก้ให้ ถ้าเราแก้ไม่ได้นะพุทโธของเราไปก่อน นี่พุทโธไป สิ่งที่ว่าเห็นหลวงปู่มั่น เห็นพระพุทธรูป เห็นก็เป็นนิมิต เห็นสิ่งใดก็คือเห็น แต่เห็นแล้วนะ ถ้ามันเป็นเห็นกาย เห็นกายก็เป็นสติปัฏฐาน ๔ ถ้าจิตมันสงบแล้วมันเห็นจิต เห็นธรรมนี่เห็นอย่างไร? ถ้ามันเห็นโดยโลกอันนั้นเห็นเป็นจินตนาการ การจินตนาการก็อย่างหนึ่ง ความจริงก็เป็นอย่างหนึ่ง นี่พูดถึงผู้ปฏิบัตินะ ปฏิบัติมา ๕-๖ ปีแล้ว ค่อยๆ ทำของเราไป นี่พูดถึงข้อที่ ๑

ทีนี้สิ่งที่เกิดขึ้น เวลาข้อที่ ๑ ที่ว่าเวลาเรานั่งภาวนาแล้ว ขณะกินข้าวอยู่เราใช้ปัญญาพิจารณาแยกแยะ อาการอย่างนี้ จิตอย่างนี้อาการปีติมันเกิดขึ้น อาการนี้มันค่อยๆ หายไป เพราะถ้ามันไปติดอยู่มันเป็นอย่างนั้น ขณะเราใช้ปัญญาขึ้นมา นี่เวลาที่เราแยกแยะ กินข้าวอยู่เอามาแยกแยะว่ามันเกิดขึ้นอย่างไร มันเป็นอย่างไรมันแยกแยะได้ พอแยกแยะได้ปัญญามันจะมาสอนใจ ถ้าใจมีปัญญามาสอนมันแล้วมันจะรู้เท่าทันของมัน พอรู้เท่าทันมัน มันก็เลิกติด เลิกติด กำหนดพุทโธก็พุทโธไป ปัญญาอบรมสมาธิก็ปัญญาอบรมสมาธิไป เราทำของเราไปตามข้อเท็จจริงนั้น แล้วมันจะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์เราจะรู้ของเราเอง แล้วมันจะเป็นของมันไปเอง นี่ข้อที่ ๑ นะ

ข้อที่ ๒. บอกว่า

ถาม : ผมเป็นคนนอนดึก ที่ว่านอนแล้วเคลิ้มคือเกิดผีอำ

ตอบ : คนปฏิบัติแล้วนี่นะ อาการของใจเป็นเรื่องหนึ่ง อาการที่ผีอำ เรื่องของโลกมันเป็นไปได้ เพราะโลกนี่นะ สิ่งที่เป็นนามธรรมคือเรื่องจิตกับวิญญาณ เวลาเรื่องเทพ เรื่องเทวดา อินทร์ พรหมต่างๆ ก็มี นรก อเวจีก็มี ทีนี้สิ่งนี้มันเป็นผลของวัฏฏะ ธรรมดานี่พรหมก็ต้องอยู่ชั้นพรหม เทวดาก็ต้องอยู่ชั้นเทวดา มนุษย์ก็อยู่ชั้นมนุษย์ สัมภเวสี ผีเปรตมันก็ต้องอยู่ในภพภูมิของเขา แล้วทำไมมันมาอำกันล่ะ?

กรณีอย่างนี้ พวกไสยศาสตร์เขาเลี้ยงผี เล่นผี เขาเลี้ยงผี เล่นผี เขาทำสิ่งนั้นมาเพื่อประโยชน์กับเขาเอง เพราะอะไร? เพราะว่าเป็นไสยศาสตร์ เป็นการนับถือผี หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ กองทัพธรรมได้พยายามดึงชาวพุทธเราให้กลับมาถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถือรัตนตรัย ถ้าถือรัตนตรัย เรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นแก้วสารพัดนึก เป็นที่พึ่งอาศัย ของสิ่งนี้ ของที่ว่าเป็นผีอำๆ นั่นเป็นเรื่องของเขา

ฉะนั้น บอกว่าเวลาเราภาวนาไป เรามองไปที่หน้าต่างมันเปิด-ปิดได้ เดี๋ยวนี้เขาใช้รีโมทเขาก็เปิด-ปิดได้ จะเข้าประตูบ้าน เขากดรีโมทมันก็เปิดเลย รีโมทมันก็เปิด-ปิดได้ ลมพัดมันก็เปิด-ปิดได้ ฉะนั้น ถ้ามันเปิด-ปิดได้มันก็เรื่องของเขา ทีนี้พอเราคิดไปอย่างนั้น พอเราคิดบอกว่ามันเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ มันมีภาพผู้ชายพุ่งเข้ามาหาเราเลย มีภาพผู้ชายก็คือภาพผู้ชาย กรณีอย่างนี้ เห็นไหม เราจะบอกว่าภาวนาติดมาตั้งแต่ต้น เวลาข้อที่ ๑ มันก็ติดมาแล้วใช่ไหม? พอติดขึ้นมา นี่มันติดขึ้นมามันก็เป็นอย่างนี้ แต่ถ้าเวลาไม่ติดล่ะ?

หลวงปู่จวนท่านไปภาวนาที่ภูเกล้า ภูเกล้าที่ขอนแก่น พอจิตมันสงบลงกลิ่นเหม็นมาหมดเลยนะ พอกลิ่นเหม็นมาเต็มที่มันก็เห็นเปรตมาสองคนพี่น้อง มาอ้อนวอน มากราบหลวงปู่จวน บอกให้หลวงปู่จวนช่วยเหลือเมตตาด้วย หลวงปู่จวนบอกว่าทำไมเป็นอย่างนี้ล่ะ? ก็บอกว่าเขาทำด้วยอาชีพของเขา เขาได้ทำอย่างนี้มาเขามาเกิดเป็นเปรต ขอให้หลวงปู่จวนเมตตา หลวงปู่จวนท่านก็บอกว่าเมตตา ท่านก็อุทิศส่วนกุศลนะ ท่านภาวนาของท่าน จิตของท่าน เพราะท่านเป็นผู้มีคุณธรรม ท่านแผ่เมตตาให้

นี่เปรตสองตนนั้นก็ลาไป สุดท้ายแล้วหลวงปู่จวนท่านภาวนาวันรุ่งขึ้นนะจิตท่านก็สงบลง เห็นผู้หญิงมาสองคน เป็นเทวดามาสองคนมากราบหลวงปู่จวน ขอบคุณๆๆ ว่าหลวงปู่จวนท่านได้แผ่เมตตาให้ จากเปรตสองตนนั้นได้ไปเกิดเป็นเทวดา ที่ภูเกล้าจังหวัดขอนแก่น อยู่ในหนังสือประวัติของหลวงปู่จวน ของอย่างนี้ถ้าจิตของหลวงปู่จวนท่านแผ่เมตตาให้ ท่านทำของท่านให้ แล้วเขาก็ได้ประสบความสำเร็จจากเปรตไปเกิดเป็นเทวดา จากเปรตกลายเป็นเทวดา อันนั้นเป็นข้อเท็จจริงของผู้ที่มีคุณธรรม

เราจะบอกว่าเรื่องของวัฏฏะ เรื่องของกามภพ รูปภพ อรูปภพมันมีอยู่จริง มันมีอยู่จริงด้วยคุณธรรมของจิตใจผู้ที่มีคุณธรรมมันก็เป็นจริง แต่ของเรามันขี้ทุกข์ ขี้ยาก เวลาเปิดขึ้นมาเห็นบานหน้าต่างมันเปิด เห็นลมพัดหน้าต่างมันไหว เห็นประตูมันเปิด ลมพัดมันก็เปิด นี่ลมแรงๆ ประตูนี่ปังๆ มันเปิดอยู่ทุกวันแหละ ไม่มีอะไรค้ำไว้ประตูมันตีตลอดแหละ กรณีนี้เราจะบอกว่าสิ่งนี้ไม่มีจริง เราว่ามันมีอยู่จริง ถ้ามีอยู่จริงแล้วมันจะมีประโยชน์ถ้าคนที่มีคุณธรรม แต่คนที่ยังไม่มีคุณธรรม สิ่งนี้เราไปตื่นเต้นอะไรกับเขา รู้แล้ววางไว้เฉยๆ

ในเรื่องของโลกของจิตวิญญาณของสัมภเวสีเขาก็มีกรรมของเขา เราก็มีกรรมของเรา เราเกิดมาเป็นมนุษย์ขี้ทุกข์ ขี้ยากอยู่นี่เราก็มีกรรมของเรา เราก็พยายามรักษาเราให้พ้นจากทุกข์อยู่นี่ เราภาวนาเราก็ภาวนาเข้าสู่อริยสัจสิ เราไม่ได้เข้าไปเป็นผู้วิเศษไปรู้เรื่องจิตวิญญาณ ไปรู้เรื่องผี เรื่องสาง เรื่องทำอะไรให้เป็นประโยชน์กับเขา ตัวเองยังเป็นประโยชน์กับตัวเองไม่ได้ แล้วมันจะเป็นประโยชน์กับใครล่ะ? เห็นไหม ภาวนาติด ของนี้มีอยู่จริง หลวงปู่จวนก็ทำได้ แล้วหลวงปู่จวนท่านทำที่ภูเกล้านะ อาจารย์สิงห์ทองท่านก็ทำได้ หลวงตาท่านบอกเทวดามาขอฟันท่านเลย

สิ่งที่คนที่เขาทำได้เขาทำได้จริงๆ เขามีคุณธรรมจริงๆ เขารู้ เขาเห็นกันตามความเป็นจริง แล้วมันจะไม่เป็นโทษกับใคร มันจะเป็นคุณทั้งนั้น เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาเป็นเทวะมนุสสานัง สอนเทวดา สอนอินทร์ สอนพรหม สอนทั้งหมด พระอรหันต์สอนตั้งแต่พรหมลงมา สอนได้ทุกชั้นเลย แล้วมันไม่เป็นโทษกับใครมันถึงสอนได้ เป็นอาจารย์เขาสอนเขาได้ แต่ของเรามันยังทุกข์ มันยังยาก แล้วพอไปเห็นสิ่งนี้

นี่เราพูดมาซะยาวเลยเพราะเราอยากจะให้วางให้หมดไง คือไม่ให้ติด ไม่ให้ติดแม้แต่การปฏิบัติของเรา แล้วกำหนดคำบริกรรมไว้ชัดๆ จูงโค จูงวัวจะจูงเข้าคอก ต้องส่งที่ปากประตูคอกแล้วปิดประตูให้ดี อย่าจูงมาครึ่งทาง ค่อนทางแล้วปล่อยให้มันหลุดออกไป พอหลุดออกไปแล้ว พอโค ควายมันไปกินข้าวใคร กินถั่วเขียวใคร กินพืชไร่ของใครจะต้องไปใช้หนี้เขา

จิตเวลามันพุทโธ พุทโธมามันไม่เข้าถึงจิต มันหลุดออกไปกลางทาง ข้างทาง ออกไปรู้ ไปเห็นสิ่งที่เห็นมา แล้วก็มาเป็นโทษกับตัว เป็นเวรเป็นกรรมมาหลอกมาหลอนตัวเอง ให้ตัวเองจะต้องไปใช้ใคร วัวเราไปกินข้าวใครเขาก็ปรับค่าข้าวนั้น ไปกินถั่วเขียวใคร ไร่ถั่วเขียวใครเขาก็ปรับค่าไปกินไร่ถั่วเขียวเขา จิตออกไปรู้นู่น รู้นี่มันไปกินแล้ว มันไปรู้แล้ว เอาโค เอาควายเราเข้าคอกซะ มีคำบริกรรมพุทโธ พุทโธ พุทโธส่งมันเข้าคอกไป มีอานาปานสติกำหนดลมหายใจ เอาหัวใจเราส่งเข้าไปสู่ใจของเราเป็นสัมมาสมาธิไป อย่าปล่อยให้มันหลุดไป กินข้าว กินถั่ว กินพืชไร่ของคนอื่นให้มันเสียหายกับเรา นี่ถ้าภาวนาติดมันเป็นแบบนั้น ถ้าภาวนาไม่ติดนะมันจะเป็นประโยชน์กับเรา

ฉะนั้น

ถาม : แล้วหลังจากนั้นก็รู้สึกขยับตัวไม่ได้ตั้งแต่เช้าเกือบทุกวัน

ตอบ : ขยับได้ วางไว้หมดไง เวลาภาวนาเราก็ภาวนา ออกจากภาวนาเราก็เป็นปกติ หลวงตาท่านนั่งตลอดรุ่งนะ ท่านบอกว่าทีแรกไม่เข้าใจ นั่งเสร็จก็ลุกเลยล้มตึงเลย ล้มตึงเพราะอะไร? เพราะมันเหน็บชากินไง ฉะนั้น เวลาวันไหนถ้ากำหนดดีๆ มันลงดีนะ ร่างกายไม่บอบช้ำ ลุกไปได้เลย นี่ปกติ แต่ถ้าวันไหนภาวนาไม่ค่อยลง แบบว่ากิเลสมันต่อต้านมาก ต้องต่อสู้กันเต็มที่เลย

นี่จิตก็ลงเหมือนกัน เพราะนั่งตลอดรุ่งทั้งคืนมันต้องลง แต่ลงด้วยการต่อสู้กันด้วยความรุนแรง เช้าขึ้นมามันจะชาหมด เวลาท่านจะลุกนะ ท่านบอกว่าออกจากสมาธิแล้วขานี่ยกขาออกไปก่อน แล้วนั่งรอให้เลือดลมมันเคลื่อนไหวก่อน พอเสร็จแล้วลองขยับปลายเท้า พอปลายเท้าขยับได้ท่านถึงลุกขึ้นแล้วเดินออกไป

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเวลาภาวนา ถ้าวันไหนภาวนาดีมันจะไม่มีสิ่งใดเป็นโทษกับร่างกายเลย แต่ถ้าวันไหนภาวนาไม่ดี เห็นไหม มันจะเหน็บชา มันจะชาไปหมด ร่างกายชาไปหมด นี้พูดถึงเวลาที่เขาภาวนาต่อสู้กับกิเลสมาเขาเจอประสบการณ์แบบนั้น แล้วเราเวลาภาวนาไปแล้ว นี่เขาว่า

ถาม : หลังจากนั้นรู้สึกขยับตัวไม่ได้ เป็นเกือบทุกวัน

ตอบ : ขณะที่เราออกมาแล้วให้เป็นปกติ เวลาเข้าภาวนาก็ต้องสู้กันในภาวนานั้น นี่มันจะเวทนาเกิดขนาดไหน ถ้าจะสู้กันก็สู้กันให้จบ ถ้าเวทนาสักแต่ว่าเวทนา หรือเวทนามันดับลงหมดมันก็สู่สมาธิ แต่เวลาเราออกมาแล้วก็คือปกติ เราไม่ติดไง ไม่ติดว่าในเวลานั่งภาวนาก็คิดถึงเวลาจะนอน เวลาจะนอนก็คิดถึงอยากจะไปภาวนา เวลากินข้าวก็อยากนอน เวลานอนก็อยากกินข้าว มันมั่วไปหมดมันก็เลยไม่ได้ประโยชน์สิ่งใดๆ เลย นี่ภาวนาติด

ถ้าภาวนาติดนะ แม้แต่กลืนน้ำลาย คนนั่งปกติก็ปกตินะ พอกลืนน้ำลายแล้วจิตมันติด มันรับรู้กลืนน้ำลายนั้น เท่านั้นแหละกลืนน้ำลายอึก อึกอยู่นั่นแหละ เห็นไหม จิตมันติด เวลานั่งไปแล้วตัวโยก ตัวคลอนนะ จิตมันไปรับรู้ ตัวคลอนนะ ตัวโยกนะ นั่งก็โยกอยู่อย่างนั้นแหละ นี่จิตมันติด แล้วจะแก้ก็แก้พุทโธๆ ให้ชัดๆ นี่จิตมันติด ภาวนาติดมันจะเป็นแบบนี้ ค่อยๆ แก้ไป นี่พูดถึงบอกว่าภาวนาแล้วทำไมมันเป็นแบบนี้ พอเป็นแบบนี้ ภาวนานี่ถ้าดีก็ดีไป ถ้าดีแล้วพอมันติดก็เป็นแบบนี้ ถ้าติด ติดแล้วแก้ไข

จะบอกว่าถ้ามันติด นี่พุทโธ พุทโธจิตมันจะติดนิมิต พุทโธไม่ใช้ปัญญา นี่เขาบอกว่าพุทโธแล้วมันไม่มีปัญญาเลย พุทโธแล้วมันจะติดตลอดเวลา ติดนิมิตไปหมดเลย คนเราไม่ติดก็มี ติดก็มี คำว่าติดมันอยู่ที่อำนาจวาสนา แต่บอกว่าใช้ปัญญาไปเลยไม่ต้องกำหนดพุทโธเลย ไม่ต้องทำสมถะเลย อันนั้นมันเป็นสต๊าฟจิตไว้ สต๊าฟจิตไว้ในสมมุติ สต๊าฟจิตไว้ในโลก มันไม่เข้าสู่โสดาปัตติมรรค เข้าสู่โสดาปัตติมรรคไม่ได้ เพราะจิตมันโดนสต๊าฟไว้ สต๊าฟไว้ไม่ให้เกิดปัญญา สต๊าฟไว้ไม่ให้ลงสู่สัมมาสมาธิ อันนั้นก็เป็นอีกกรณีหนึ่ง เพราะว่ากรณีถ้าพุทโธ พุทโธเขาจะติเตียนตรงนี้มาก

ฉะนั้น ติเตียนตรงนี้มันก็เป็นเรื่องธรรมดาของคนทำงาน คนทำงานทุกคนต้องผิดมาก่อน ถ้าผิดแล้วเราก็แก้ไขให้ถูก คนทำงานมาไม่ผิดเลยนี่เอาที่ไหน? องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังผิดพลาดมาก่อน ปฏิบัติอยู่ ๖ ปี ค้นคว้าอยู่นี่มีธรรมไหม? แต่ตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วก็จบ นี่ก็เหมือนกัน เราปฏิบัติของเรา มันแก้ไขของเราไปให้เป็นประโยชน์กับเรา จบ

ข้อ ๑๑๕๒. ไม่มี ถึงข้อ ๑๑๕๘. นะ

ข้อ ๑๑๕๙. เรื่อง “ปลากินมดหรือมดกินปลา” เขาได้จัดการแก้ไขแล้วเป็นมดกินปลา

ข้อ ๑๑๖๐. ไม่มี

ถาม : ข้อ ๑๑๖๑. เรื่อง “ทำอย่างไรสามีติดการพนัน”

กราบเรียนหลวงพ่อ จะมีทางแก้ไขปัญหาอย่างไร หรือปล่อยไปตามกรรม

ตอบ : นี่เวลาติดนะ ติดการพนัน บางคนนี่เกิดมาเริ่มต้นเป็นคนดีมากๆ เลย แต่พอมีเพื่อนฝูงหรือมีใครชวนไปเล่นการพนันแล้วติดการพนันนะ ในครอบครัวนั้นจะทุกข์ยากมาก แม้แต่สามีหรือภรรยาคนใดคนหนึ่งติดการพนัน เพราะการพนัน เห็นไหม เพราะขณะที่ว่าอ้างเล่ห์ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นักเลงพนัน นักเลงต่างๆ สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ผิดปกติหมด ถ้าผิดปกติมันมีปัญหาแล้ว ถ้ามีปัญหานะ คำว่าแก้ แก้เราก็แก้ที่ตัวเรา เห็นไหม คุยกันด้วยเหตุด้วยผลว่ามันเป็นคุณหรือมันเป็นโทษ แต่เขาก็บอกว่ามันเป็นของเล็กน้อย มันเป็นเรื่องของแบบว่าเสี่ยงดวง เรื่องให้ชีวิตมีรสชาติ

นี่เวลากิเลสมันหลอกมันหลอกอย่างนี้ แต่เวลามันถลำไปแล้วนะมันไม่เสี่ยงดวงน่ะสิ มันหมดเลย นี่ติดการพนัน คำว่าแก้ไข เขาถามปัญหาว่า

ถาม : จะแก้ไขอย่างไร? หรือจะปล่อยไปตามกรรม

ตอบ : ในเมื่อเรามีส่วนร่วม ถ้าสามีกับเราเป็นบุคคลคนเดียวกัน ในเมื่อเกิดหนี้สินมันก็เป็นหนี้สินเหมือนกัน ก็ต้องคุยกันด้วยเหตุด้วยผลถ้าเขาฟัง ถ้าเขาไม่ฟังมันก็อย่างที่ว่านี่ปล่อยไปตามกรรม ถ้าเขาไม่ฟังนะ ถ้าไม่ฟังมันก็ต้องดูเหตุผล ไอ้นี่มันอยู่ที่เวรกรรม

ข้อ ๑.สามีติดการพนันนะ แล้วถ้าเกิดว่าเราติดการพนันล่ะ? นี่เวลาคนติดการพนันเขาคิดอย่างไร? เขาเห็นอย่างไร? ใจเขา ใจเราไง คนเขาคิดอย่างไร? แล้วเราคิดถึงความรู้สึกอันนั้น แล้วเราค่อยๆ อธิบาย ถ้าอธิบายไม่ได้มันก็อย่างที่ว่านี่มันเป็นไปตามกรรม

ถาม : ข้อ ๑๑๖๓. เรื่อง “ผู้ที่รักษาศีล ๕ จะไปบำเพ็ญภาวนาที่วัดท่านได้หรือไม่?”

กราบนมัสการด้วยความเคารพอย่างสูง ดิฉันอยากไปภาวนาที่วัดท่านค่ะ แต่ไม่เคยไป ได้แต่ฟังธรรมทางอินเตอร์เน็ต ดิฉันเกษียณปีนี้ค่ะ เวลาเหลืออยู่อยากภาวนา แต่มีอุปสรรคที่สังขาร ถ้าเวลาหิวจะมีอาการสั่นเพราะเคยเป็นโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ แต่ขณะนี้หายแล้ว และต้องไปตรวจเช็คเป็นประจำ หลายปีมาแล้วได้ไปปฏิบัติที่วัดบ้านตาด และทุกวันนี้ปฏิบัติอยู่ค่ะ ถ้าที่นี่รักษาศีล ๕ ได้ดิฉันจะไปภาวนาค่ะ อยากไปภาวนาค่ะ

ตอบ : สาธุ ศีล ๕ ก็ศีล ๕ ถ้าพูดถึงผู้ที่มีความจำเป็น มันแบบว่ามาที่วัดแล้วเราจะยกเว้นให้ผู้ที่มีความจำเป็น อย่างเช่นคนที่เจ็บไข้ได้ป่วย คนที่ต้องกินยาอันนี้พอมีสิทธิ์ แต่มันต้องเป็นรายบุคคลไป เพราะ เพราะเวลาพูดถึงเงิน เงินทุกคนอยากได้เงินทองมากมาย แต่เวลาถือศีลมันก็เหมือนเงินทอง ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ เวลาให้ทอง ๕ บาท ทอง ๘ บาท ทอง ๑๐ บาท อย่าเอา ๑๐ บาท ให้เอา ๕ บาทนะ อย่าเอา ๑๐ บาท เวลาทองอยากได้ ๑๐ บาทไม่เอา ๕ บาท แต่เวลาถือศีลจะถือศีล ๕ ไม่เอาศีล ๑๐ เวลาถ้ามันเป็นประโยชน์คนจะเห็นไง

กรณีนี้มันอยู่ที่มาคุยกับเจ้าหน้าที่ แล้วถ้ามันมีความจำเป็น มีความจำเป็นเป็นเฉพาะรายบุคคลไง ไม่ใช่ถือศีลตายตัว ไม่ใช่ถือกฎตายตัว กฎของเรานี่เป็นเฉพาะกฎกติกาเพื่อคนกลุ่มชน เพื่อคนกลุ่มใหญ่ แต่ถ้าใครมีความจำเป็นเฉพาะบุคคลอนุญาตเฉพาะบุคคลๆ ไป ทีนี้บุคคลที่ควรจะทำได้ ควรจะมีประโยชน์ได้ เราก็ควรทำเพื่อประโยชน์กับตัวเอง ใครถือศีลที่มากกว่าเป็นประโยชน์กับตัวเองไง อย่างเช่นธุดงควัตรๆ พระป่าฉันมื้อเดียวกับไม่ฉันมื้อเดียวเขาไม่ปรับอาบัติหรอก แต่ทำไมเราฉันกันมื้อเดียวล่ะ? ทำไมพระอดอาหารล่ะ? เพราะเขาหวังดี หวังเพื่อประโยชน์กับเขา เขาหวังดี แต่มันต้องลงทุนลงแรงกันมา ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติก็ต้องคิดตรงนี้ไง

ฉะนั้น

ถาม : ถือศีล ๕ จะมาปฏิบัติที่วัดท่านได้หรือไม่?

ตอบ : จะบอกว่าได้มันก็เป็นกติกาไปเลยเนาะ เพราะกติกาของเรานี่ฉันมื้อเดียว กินกันมื้อเดียว แต่ถ้าผู้ที่มีความจำเป็น ผู้ที่ต้องการ มีความจำเป็น ต่อมไทรอยด์เป็นพิษอย่างนี้นี่คุยได้ คุยได้ คือถ้ามีเหตุมีผลแล้ว ธรรมะเป็นเหตุและผลรวมลงเป็นธรรม ถ้ามีเหตุมีผล เหตุผลฟังขึ้นใช้ได้ ถ้าเหตุผลฟังไม่ขึ้น ไม่ให้ แต่ถ้าเหตุผลฟังได้ใช้ได้ ถ้าเหตุผลใช้ได้นะ ถ้าเหตุผลใช้ไม่ได้ ไม่ได้ เพราะเหตุผลไม่ได้กิเลสมันอ้าง ถ้ากิเลสอ้างเล่ห์ พวกเราจะไม่มีที่พึ่งอาศัยนะ กิเลสอ้างเล่ห์พวกเราจะหวังแต่ความสุขสบาย แต่ไม่หวังมรรค หวังผล ถ้ากิเลสอ้างเล่ห์นี่ไม่ได้ แต่ถ้ามีความจำเป็น ถ้ามีความจำเป็นและมีเหตุมีผลฟังขึ้น ได้ เอวัง