ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

วัดกับบ้าน

๒๘ ต.ค. ๒๕๕๕

 

วัดกับบ้าน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๑๑๙๑. เนาะ

ถาม : ๑๑๙๑. เรื่อง “ง้างไม้ป้องกันตัว”

(เขาถามมานะ) ง้างไม้ป้องกันตัว ถือเป็นมาตุฆาตหรือไม่?

ตอบ : เพราะว่าเขาถามเรื่องมาตุฆาตมา พอตอบเรื่องมาตุฆาตไป นี่คนสงสัยกันไปหมดเลย

ถาม : นมัสการหลวงพ่อครับ ผมมีเรื่องคาใจเกี่ยวกับสมัยที่เป็นวัยรุ่น คือพ่อแม่จับได้ว่าแอบไปเล่นการพนัน ท่านจึงด่าว่า และพ่อก็ปรี่เข้ามาจะตีเรา เราก็คว้าไม้แล้วบอกว่าอย่าเข้ามา การกระทำแบบนี้ถือว่าเป็นมาตุฆาตหรือไม่เพราะยังไม่ได้ตี ทำเพื่อเหมือนปรามไม่ให้พ่อเข้ามา ด้วยอารมณ์ชั่ววูบจะเป็นการปิดกั้นนิพพานหรือไม่ครับ หลังจากนั้นได้ทำการกราบขอขมาท่านเพื่อสำนึกในการกระทำ เพราะนรกมีอยู่จริงๆ ทำให้ไม่สบายใจ กังวลว่าเป็นการปิตุฆาตหรือไม่ ขอนมัสการหลวงพ่อตอบด้วย

ตอบ : ถ้าบอกว่าจะไม่เป็นเลยนี่มันเป็นมโนกรรม คือเราคิดไง เราคิด มันเป็นอารมณ์ชั่ววูบ เราคิดออกมามันก็มีการกระทำ มันก็เป็นสิ่งที่ว่าเศร้าหมอง มันไม่ดี แต่เป็นปิตุฆาตไหม? ไม่ ปิตุฆาตคือการฆ่าบิดา มารดา แต่เราไม่ได้ฆ่า ทีนี้เราไม่ได้ฆ่า เพียงแต่ว่าสังคมไทยเขาบอกว่าไม่ให้เถียงพ่อ เถียงแม่ สังคมไทยเราสอนมาเรื่องกตัญญู เรื่องเห็นบุญคุณของพ่อแม่ เวลาในบทเพลง เห็นไหม แม้แต่เอาน้ำทะเลเป็นหมึก เอาอะไรเป็นปากกา เอาหมึกนั้นเขียนจนหมดน้ำทะเลนั้น ยังทดแทนบุญคุณพ่อแม่ไม่ได้หมดเลย

บุญคุณพ่อแม่มีเพราะอะไร? มีเพราะให้ชีวิตเรามา ถ้าให้ชีวิตเรามา อย่างน้อยเรากตัญญูกตเวที หลวงตาท่านบอกว่า แม้แต่พ่อแม่เราผิดเราก็ไม่ควรไปโต้ ไปแย้ง เพราะการโต้แย้งนั้น เพราะว่าโต้แย้งนั้นโต้กับผู้มีพระคุณ อย่างไรเราก็เศร้าหมอง ถึงท่านจะผิดนะแต่ท่านไม่ผิด นี้พอเราเล่นการพนันมาท่านไม่ผิด ทีนี้ท่านปรี่เข้ามาจะตี เราก็เอาไม้กันไว้ อันนี้ก็คือสัญชาตญาณการป้องกันตัว ถ้าสัญชาตญาณการป้องกันตัวเป็นมาตุฆาตไหม? ไม่เป็นหรอก ไม่เป็น

มาตุฆาต เห็นไหม เขาข่มขู่ เขาบีบบังคับ เขาทำลาย อย่างนั้นเป็นมาตุฆาตหรือยัง? อันนั้นก็เป็นสิ่งที่เศร้าหมอง แต่ถ้าชีวิตมารดา-บิดา ตกล่วงนั่นล่ะมาตุฆาต ถ้ามาตุฆาตมันมีผลกับการที่ว่าปิดกั้นมรรค ผล นิพพานไง แต่นี้มันเป็นอารมณ์ชั่ววูบ มันปิดกั้นนิพพานไหม? ไม่ ไม่ปิดกั้นนิพพาน แต่เวลาภาวนานี่สบายไหม? เวลาภาวนา เพราะสิ่งใดที่เป็นบาปเป็นกรรม มันจะเข้ามาเป็นตะกอนในใจ พอเข้ามาเป็นตะกอนในใจแล้วมันภาวนาไม่สะดวก นี่ถ้าเราเกิดความสงสัย เกิดนิวรณ์เราจะทำความสงบได้ง่ายไหม? มันก็ไม่ได้

มันไม่ถึงกับปิดกั้นมรรคผล แต่ทำลำบาก ทำลำบากเพราะอะไร? เพราะกรรม กรรมดี เห็นไหม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทำคุณงามความดีมันจะส่งเสริมสิ่งที่ดีๆ ทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าทำความชั่วมันไปกระทบ จะว่าส่งเสริม ไม่ใช่ส่งเสริมมันก็ส่งเสริมในตัวมันเองนั่นล่ะ นี่ว่าไม่ได้ส่งเสริม มันก็ส่งเสริมในตัวมันเอง เพราะว่าเราก็ไปวิตกกังวล ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเราง้างไม้แล้วมันเป็นสิ่งที่คาใจ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า

“สิ่งใดทำแล้วระลึกถึงภายหลังเสียใจ สิ่งนั้นไม่ดีเลย”

สิ่งใดทำแล้วภายหลังระลึกได้เสียใจ นี่ก็เหมือนกัน เราทำไปแล้วมันคาใจ นี่มันคาใจ เขาก็ทำแล้ว ได้กราบขอขมาลาโทษท่านแล้ว อย่างนี้สุดยอดเลย เพราะส่วนใหญ่แล้วคนเราไม่กล้ายอมรับความจริง ไม่ค่อยกล้านะ ทั้งๆ ที่ใจคิดว่าเราผิด แต่ไม่กล้าพูดออกมา ไม่กล้าขอโทษ ถ้าขอโทษแล้ว คำว่าขอโทษมีคุณค่ามาก นี้คนเราบอกขอโทษไม่ได้ ขอโทษเสร็จแล้วเสียศักดิ์ศรี

คำว่าเสียศักดิ์ศรีนั้นอย่างหนึ่ง แต่เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกอริยวินัย ผู้ใดทำความผิดแล้วสำนึกได้ สุดยอด ทำความผิดแล้วสำนึกได้ พอสำนึกได้แล้วก็ขอโทษ นี่ขอขมาลาโทษแล้ว สิ่งนี้มันก็เบาใจแล้วแหละ เราได้ยอมสารภาพ เวลาพระเราทำผิดยังปลงอาบัติเลย

ฉะนั้น เขาถามว่า

ถาม : สิ่งนี้เป็นมาตุฆาตไหม?

ตอบ : ไม่

ถาม : ปิดกั้นมรรค ผล นิพพานไหม?

ตอบ : ไม่ นี่เพราะเขาห่วงไง ห่วงว่าจะปิดกั้นมรรค ผล นิพพานเขา ภาวนาเถอะ ภาวนาให้มันได้ ถ้ามันได้ขึ้นมานะพิสูจน์ได้ คำว่าพิสูจน์ได้นี่เราพูดถึงหลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่เจี๊ยะเคยพูดให้ฟังทีหนึ่ง นี่อยู่ที่วัดอโศฯ มั้ง ท่านบอกว่ามีคนมาถามธรรมะ ท่านก็อธิบายธรรมะไป ทีนี้พออธิบายไปๆ อธิบายธรรมะ ทีนี้อธิบายธรรมะใช่ไหม มันก็สะอาดบริสุทธิ์อยู่แล้ว แต่เวลาเขากลับไปแล้ว ท่านบอกว่าท่านก็ระลึกขึ้นมาว่า เอ๊ะ เราพูดอวดอุตริไปหรือเปล่า? นี่ท่านคิดของท่านเองนะ ท่านก็บอกว่าสงสัย สงสัยท่านก็อธิษฐานเลย

“คืนนี้เราจะนั่งภาวนา ถ้าจิตมันลงก็ถือว่าจบ ถ้าจิตไม่ลงมันก็จะมีปัญหาแล้ว”

ฉะนั้น พอท่านนั่งไปนะ พอท่านพุทโธ พุทโธ พุทโธของท่านไปนะ พอจิตมันลงนะท่านบอกว่าลง แล้วสว่างหมดเลย ท่านออกมาท่านบอกว่า โอ้โฮ สบายใจ สบายใจมากมันไม่มีสิ่งใด ฉะนั้น การที่เราว่ามันจะปิดกั้นมรรคผลหรือเปล่า มันจะดูกันตรงนี้ มันจะไปปิดกั้นมรรคผลหรือไม่ปิดกั้นมรรคผลนะเราปฏิบัติของเรา แล้วถ้ามันเป็นขึ้นมา มันจะเป็นความจริงขึ้นมา ถ้าเป็นความจริงขึ้นมามันก็จบ มันเป็นความจริงจิตมันสงบ แต่โดยสัจจะแล้วไม่ปิดหรอก เพราะว่าเราไม่ใช่มาตุฆาต

กรณีอย่างนี้มันก็เหมือนที่ว่ากรรมหนัก กรรมหนักเรื่องทำสังฆเภท เรื่องทำกรรมหนัก สังฆเภทคือว่าทำเป็นสังฆเภท ไม่หรอก เพราะสังฆเภท พระเท่านั้นที่ทำสังฆเภทได้ พระเท่านั้น นี่ยุแหย่ให้สงฆ์แตกแยกกันมันถึงเป็นสังฆเภท แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเรา สงฆ์มีปัญหากัน แล้วท่านพยายามพูดให้ออมชอมกัน พยายามพูดให้ดีกัน พยายามพูดให้สงฆ์ที่ปฏิบัติผิดทางไปให้ถูกทางไม่สังฆเภทหรอก เขากำลังหลงทางกันไป เราทำให้เขาถูกทาง ทำให้ดีงามมันเป็นสังฆเภทที่ไหน? เขาอยู่กันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข สงฆ์กำลังเป็นเอกภาพ แล้วเราไปสร้างปัญหา เราไปยุแหย่ให้เขาแตกเป็นสองฝักสองฝ่าย แล้วต้องครบ ๔ องค์ขึ้นไปมันถึงเป็นสังฆเภท นั่นล่ะมันปิดกั้น สิ่งนี้มันจะปิดกั้นนี่กรรมหนัก

นี้เรื่องพ่อแม่ เรื่องพ่อแม่เป็นคนใกล้ตัว เรื่องคนใกล้ตัว เราก็ไม่ได้คิดอย่างนั้น เราไม่ได้ทำอย่างนั้น แต่เหตุการณ์คนที่อยู่ใกล้ชิด อยู่ด้วยกันมันมีการกระทบกระทั่งเป็นธรรมดา ทีนี้กระทบกระทั่งเป็นธรรมดา เรามีสติ เวลาพลั้งเผลอไปสติมันฟื้นมา เราระลึกสิ่งนี้ได้ แล้วมันจะไม่เป็นปัญหาอย่างนี้หรอก จบเนาะ ไม่เป็นสังฆเภท ไม่เป็นมาตุฆาต ไม่เป็นปิตุฆาต ไม่เป็น ไม่ได้ทำร้ายไม่เป็น

ทีนี้คำว่าเป็นหรือไม่เป็น มีพระเขาโต้แย้งมาเหมือนกัน บอกว่า

“หลวงพ่อพูดนี่หลวงพ่อเอาอะไรประกัน? สิ่งใดว่าผิด-ไม่ผิด หลวงพ่อเอาอะไรมาเป็นประกัน หลวงพ่อไปประกันเขาได้หรือ?”

ฉะนั้น สิ่งที่ประกันหรือไม่ประกัน เพราะว่ามันห่างจากหลักความจริง อย่างเช่นภาษาบาลี เห็นไหม ธรรมวินัย ถ้าใครศึกษา พอเข้าใจแล้วมันไม่เข้าองค์ประกอบเลย มันจะเป็นได้อย่างไร? มันไม่เข้าองค์ประกอบเลย ถ้ามันเข้าองค์ประกอบนะ เขาจะบอกว่าเป็นหรือไม่เป็น มันก็เป็นตามความจริงนั้นแหละ นี่บอกคำว่าไม่เป็นเพราะมันไม่เข้าองค์ประกอบ มันไม่ครบองค์ประกอบของมันมันถึงไม่เป็น

ฉะนั้น ไม่เป็นปั๊บ เพียงแต่เราศึกษามาเลือนๆ รางๆ หรือเราได้ยินมาแล้วเราก็ตกใจ ได้ยินมา ได้ยินมาแต่มันไม่ชัดเจน เพราะคนอื่นเขาทำรุนแรงกว่าเรา เพราะจิตใจเขาต่ำกว่าเรา เขาถึงทำได้ขนาดนั้น จิตใจของเรา เห็นไหม เราไม่ต่ำขนาดนั้น แต่เหตุการณ์มันบังคับขึ้นมา เหตุการณ์บังคับมา คือมันเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาแล้วเราป้องกันตัว นี่จิตใจเราไม่ต่ำอย่างนั้น เราเลยคิดว่าอันนี้เป็นแบบนั้น ถ้าไม่เป็นแบบนั้น ก็คือว่าอันนี้จบ

ถาม : ข้อ ๑๑๙๒. เรื่อง “การทำบุญผ้าป่า กฐิน”

ตอบ : อันนี้เขาถาม ทีนี้เขาถามพยายามให้เป็นวิทยาศาสตร์ ถามให้เป็นกลางไง

ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อด้วยความเคารพอย่างสูง กระผมมีปัญหาคาใจมานานเรื่องการทำบุญผ้าป่า กฐิน ในพุทธประวัติเป็นการถวายผ้าแต่พระสงฆ์ แต่ปัจจุบันนี้บุญผ้าป่า กฐินเป็นเรื่องของเงิน เป็นการถวายเงิน เช่นร่วมผ้าป่าสร้างศาลาวัด หรือกฐินสามัคคีสร้างห้องน้ำ สร้างโรงเรียน หรือปัจจุบันโรงเรียนสร้างห้องสมุด ก็เชิญทำบุญผ้าป่าสร้างห้องสมุดให้โรงเรียน การทำบุญผ้าป่า ผ้ากฐินแบบนี้เป็นพุทธบัญญัติ สงฆ์บัญญัติ หรือสาวกบัญญัติครับ ถ้าจะสร้างศาลาหรืออะไรของวัด เชิญทำบุญสร้างศาลาไปเลยไหมครับ

ถามปัญหาครับ

๑. การอ้างผ้าป่า ผ้ากฐินเพื่อสร้างศาลาหรืออะไรของวัดมีที่มาอย่างไร? ถูกต้องตามพุทธบัญญัติไหมครับ เพราะการทำบุญผ้าป่า ผ้ากฐินเป็นเรื่องของผ้า การร่วมเงินมาทำบุญผ้ากฐิน ผ้าป่าได้ไหมครับ เหมือนการใส่บาตรให้ใส่ข้าวปลาอาหาร ไม่ให้ใส่เงินไหมครับ

๒. การเป็นเจ้าภาพผ้าป่า ผ้ากฐิน ต้องถวายเงินเยอะๆ หรือถวายผ้า หรือเข็ม หรือเงิน หรือปัจจัยต่างๆ เป็นเจ้าภาพด้วยไหมครับ ได้บุญต่างกันไหมครับ

๓. ฆราวาสควรปฏิบัติอย่างไรเกี่ยวกับผ้าป่า ผ้ากฐิน

อีกคำถามขอรบกวนหลวงพ่อเรื่อง “เอาของวัดเป็นบาป” มีคนเล่าให้ฟังว่าพระฉันอาหารแล้วล้างบาตรไป เกิดเป็นต้นพริก นกมากินพริกแล้วไปขี้ในป่า ชาวบ้านไปเอาพริกมากินแล้วตกนรกเพราะเอาของวัดไปไม่ขออนุญาต สมัยก่อนคนมาทำบุญ ดินวัดติดไปบ้าน ต้องเอาดินมาก่อกองทรายคืนวัด

๑. เอาของวัดไปเหมือนพริกกับดินบาปไหมครับ

๒. มาวัดเล่นหิน เล่นดินวัดบาปไหมครับ หักต้นไม้วัดเล่นบาปไหม ทิ้งขยะในวัดบาปไหม

๓. ทำอย่างไรมาวัดได้บุญ แต่ไม่ให้ได้บาปติดตัวไปโดยไม่รู้ตัว

ข้าพเจ้ากราบขอขมา หากคำพูดคำใดๆ ล่วงเกินต่อพระรัตนตรัย วัด และบุคคลอื่นๆ ขออย่าให้มีโทษ มีภัยครับ

ตอบ : ขอให้อย่ามีโทษมีภัย แล้วก็เอาโทษภัยมาให้คนตอบใช่ไหม? ตัวเองอย่าให้มีโทษมีภัย แล้วก็เอาโทษภัยมาแขวนคอ นี่เวลาเราพูด เห็นไหม มันรู้ถูก รู้ผิดนะ แต่ตัวเองไม่ให้มีโทษมีภัย แต่เอาโทษภัยไปให้คนอื่นพูด (หัวเราะ) อันนี้เขาถามมามันเป็นอย่างนั้น

ทีนี้พูดถึงบุญกฐินผ้าป่าก่อน บุญกฐินผ้าป่ามันเกิดมาเป็นพุทธบัญญัติ เรื่องผ้ากฐินเกิดจากพระ พระเวลาออกพรรษาแล้วจะไปกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บางองค์ไปผ้าขาดวิ่น ผ้าชุ่มน้ำมาเพราะออกจากหน้าฝนมา พระพุทธเจ้าถึงบัญญัติไง พระพุทธเจ้าเห็นแล้วสงสาร เพราะสมัยพุทธกาลเทคโนโลยียังไม่มี การทอผ้าอะไร ผ้าเขาต้องทอด้วยมือ ฉะนั้น ของนี่มันก็ไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนสมัยนี้หรอก

ทีนี้พระเราทำสิ่งใด นี่ถ้าพระจะปฏิบัติเขาก็จะขวนขวายประพฤติปฏิบัติของเขา แล้วเก็บเอา เก็บผ้าบังสุกุล เก็บเอาตามที่เขาห่อศพไปทิ้ง แล้วเอามาซัก มาล้าง แล้วมาเย็บเอา แล้วนี่ถึงเวลาแล้วผ้ามันขาดมันวิ่นขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงให้มีผ้ากฐิน กฐินหมายถึงสะดึงที่ดึงผ้า แล้วเอาผ้านี้มาเย็บไง แล้วพระจะช่วยกันเย็บ เพราะสมัยนั้นไม่มีจักรมันเย็บมือ

ฉะนั้น ออกพรรษาแล้วถึงให้มีบุญผ้ากฐิน ผ้ากฐินคือว่า นี่กฐิน เห็นไหม ผู้ที่จำพรรษาแล้ว ผู้ที่ฉลาด มาติกา ๘ คือกะ วัด ตัด เย็บ ย้อมให้ได้สี ถึงจะมีบุญ มีอานิสงส์ของกฐิน บุญอานิสงส์กฐิน เพราะการกระทำแบบนั้นพระจะสามัคคีกัน ถ้าทำคนเดียวมันไม่เสร็จภายใน ๑ วันไง นี่ถ้าผ้าจีวรตัวหนึ่ง เราเย็บด้วยมือมันจะเสร็จภายใน ๑ วันไหม? แล้วพระถ้าไม่มีการสามัคคีกัน พระแตกแยกกัน มันจะร่วมมือทำกันไม่ได้ไง

นี่มันทำร่วมมือกัน มันถึงมีบุญกุศล หนึ่งมีความสามัคคี หนึ่งมีความร่วมมือกัน แล้วทำสิ่งนั้นเสร็จพร้อมกันภายในวันเดียว แล้วพอทำเสร็จย้อมเสร็จภายในวันเดียว แล้วก็จะไปกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปฟังธรรม คือใครปฏิบัติมาแล้วติดขัดสิ่งใด ปฏิบัติมาแล้วใครมีคุณธรรมอย่างไรก็ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือไปถามธรรมไง ไปถามว่าถูกไหม ในพรรษานี้ที่ปฏิบัติมาถูกต้องไหม? ผิดถูกอย่างไรพระพุทธเจ้าจะได้แก้ไขไง แก้ไขเพื่อปฏิบัติต่อไป นี่พูดถึงเหตุที่เกิดกฐิน

ผ้าป่า ผ้าป่าถ้าสงฆ์มันไม่ครบนะเขาเกิดผ้าป่าคือชักบังสุกุล ก็ผ้าบังสุกุลเหมือนกัน ถ้าพูดถึงเรื่องผ้าใช่ไหม? ใช่ ทีนี้พอเรื่องผ้าใช่ไหม ทีนี้พอใช่ไหมมันเป็นวัฒนธรรมมา เพราะมัน ๒,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว ฉะนั้น มันเข้าไปในสังคมใดล่ะ? ถ้าบุญกฐินล่ะ? บุญกฐินเรา เราไปเมืองจีนมีกฐินไหม? ในพระเกาหลีมีกฐินไหม? พระเกาหลี มหายานเขามีกฐินไหม? มหายานแบบว่าเขาเชื่อตามอาจริยวาท แต่มันเป็นวัฒนธรรมไง วัฒนธรรมคือว่าอยู่ในชุมชนใด หมู่ชนใด แล้วมันเป็นเรื่องวัดราษฎร์ วัดราษฎร์คือประชาชนในชุมชนท้องถิ่น

ถ้าชุมชนท้องถิ่นขึ้นมา เห็นไหม นี่เวลาบุญกฐินเขาทีเขาก็เก็บ ผู้ที่เป็นชาวไร่ ชาวนาเขาก็เอาพืชพันธุ์ธัญญาหารของเขาเข้ามาในกองกฐิน เสร็จแล้วเขาก็แลกเปลี่ยนไป พอได้เงินมาแล้วเขาก็เอามาซ่อมแซมบำรุงวัตถุในวัดที่มันเสียหาย เมื่อก่อนมันเป็นบุญกฐิน แล้วมันเป็นท้องถิ่นใช่ไหม ท้องถิ่นนิยม คือในชุมชนใดมันเป็นความสามัคคีในชุมชนนั้น ชุมชนนั้นช่วยกันดูแลวัดวาอารามของเขา แล้วถ้าชุมชนนั้นเขาไม่มีปัจจัย ไม่มีสิ่งที่เขาจะมาดูแลวัตถุในวัดของเขา เขาก็เอาสิ่งที่เหลือจากกฐินไปแลกเปลี่ยนมา แล้วหาสิ่งใดมาซ่อมแซมในวัดวาอารามของเขา นั่นมันเป็นอย่างนั้น

นี่เริ่มต้นมันก็ด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ไง แต่ถ้าพอมันเริ่มเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีมันมี เห็นไหม มีการเชิญชวนกันมา ถ้าทำแล้วมันได้ผลไง มันได้ผลเขาก็ให้ความดีความชอบต่างๆ พระเขาขวนขวายกัน ถ้าพระขวนขวาย ถ้าทำอย่างนั้นก็ทำเพื่อประโยชน์ นี่ประโยชน์ชุมชนไหม? ใช่ ทำเพื่อประโยชน์ชุมชนได้หน้าได้ตา วัดวาอาราม แหม มันขยายใหญ่โต เป็นเรื่องชุมชนไหม? ใช่ แล้วพระก็ได้ด้วย พระก็ได้ความดี ความชอบไป มันก็เกิดเบี่ยงเบนกันไปไง

ถ้าเบี่ยงเบนกันไปมันก็มีปัญหาไป ถ้าพูดถึงว่าเขาไม่สะอาดบริสุทธิ์นะ แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ของเราที่สะอาดบริสุทธิ์ เรื่องอย่างนี้มันเป็นเรื่องเปลือกๆ ไง เปลือกๆ เพราะอะไร? เพราะพระป่าเขาอยู่ป่าเพื่อประพฤติปฏิบัติไง เรื่องผ้ากฐิน เรื่องอะไรต่างๆ หลวงตาท่านบอกว่า ถ้าไม่มีโครงการช่วยชาติท่านจะไม่รับกฐิน

ที่รับกฐินนี่ท่านฝืนรับนะ ฝืนรับเพื่อโครงการช่วยชาติ ถ้าไม่มีโครงการช่วยชาติท่านไม่รับหรอก ไม่รับเพราะอะไร? ไม่รับเพระว่าสิ่งที่ได้มามันเป็นส่วนเกินไง เพราะอะไร? เพราะเราไม่ต้องการ เราไม่ปรารถนาไง เราปรารถนาศีล สมาธิ ปัญญาไง เราอยากมีศีล เราอยากมีสมาธิ เราอยากมีปัญญาเพราะเราอยากจะหลุดพ้น เราอยากได้อริยทรัพย์ นี่พระป่าเขาปฏิบัติกันอยู่ในป่าในเขา ของแบบนี้มันเป็นเรื่องโลกๆ เป็นประเพณีวัฒนธรรมไม่ใช่ธรรม เป็นประเพณีวัฒนธรรม

ฉะนั้น บุญผ้าป่า บุญกฐินที่เขาทำกัน ที่ว่าถ้าเขาจะสร้างห้องสมุดก็สร้างห้องสมุดไปเลย ทำไมต้องเป็นผ้าป่าแล้วมาทำห้องสมุด ถ้ามันเป็นห้องสมุดเขาก็ไม่สร้าง เขาก็ไม่เข้าใจเพราะมันเป็นวัฒนธรรม วัฒนธรรมหมายถึงว่าถ้าเป็นผ้าป่า เป็นกฐินทุกคนจะพอใจ นี่มันเป็นวัฒนธรรมไง วัฒนธรรมคนมันเชื่อว่าอย่างนั้นเถอะ ถ้าบอกว่าผ้าป่า ผ้ากฐินคนทำด้วยความสบายใจ ถ้าบอกว่าเป็นการสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใดคนเขาต้องคิดแล้ว มันจะจริงหรือเปล่า? แล้วมันจะเป็นไปหรือเปล่า? เขาก็ว่ากันไปใช่ไหม

ฉะนั้น ถ้าซื่อสัตย์ ซื่อสัตย์หรือจะว่าเถรตรงดีล่ะ ถ้าเถรส่องบาตรมันก็ต้องพูดตรงๆ ไง ทีนี้พูดตรงๆ คำว่าตรงๆ เป็นศีลนะ เป็นศีล เป็นศีลธรรมจริยธรรม ตรงไปตรงมานี่ถูกต้อง แต่เวลากิเลสมันก็มีลึกลับซับซ้อน มันต้องมีอุบาย ถ้าไม่มีอุบาย บอกตรงๆ ยิ่งบอกตรงๆ คนนั้นยิ่งผิดพลาดไปมากขึ้นก็มี นี่มันอยู่ที่นิสัย อยู่ที่จริตนิสัยเหมือนกัน

ฉะนั้น คำถามนี่ถามว่า

ถาม : ถ้าจะสร้างห้องสมุดก็ควรห้องสมุดไปเลย จะสร้างอะไรก็บอกเขาว่าสร้างอย่างนั้นไปเลยใช่ไหม?

ตอบ : เราก็ว่าใช่อยู่ เราก็อยากจะคิดอย่างนั้น ทำอย่างนั้นเหมือนกัน ใจเราเราก็คิดอย่างนั้นแหละ แต่ แต่เราต้องมองถึงหัวใจคนอื่น หัวใจของสัตว์โลก หัวใจของคนที่เขาอ่อนแอ เขาไม่มีศรัทธาเขาไม่คิดอย่างนั้นนะ นี่พูดถึงเราจะบอกว่าเรื่องธรรมะมันมีเปลือก มีกระพี้ มีแก่น มีเปลือก เห็นไหม ทาน ศีล ภาวนา นี่มันเป็นเปลือกๆ แต่เปลือกๆ ถ้าบอกว่าเราตัดเปลือกทิ้งหมดเลยนะ ลอกเปลือกทิ้งหมดเราจะเป็นแก่นไม้กัน เราจะเป็นต้นไม้ใหญ่ เราก็ลอกเปลือกต้นไม้ทิ้งหมดเลย เราจะรอให้เป็นแก่น ไม้ก็ตายหมดเลย

ในสังคมนี้ เด็กเล็กเด็กน้อยกว่าจะเข้าวัด พ่อแม่ก็ต้องชักนำกันเข้ามา เราก็สร้างเด็กๆ เข้ามาให้มันสืบทอด แล้วถ้าเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา เขารู้ว่าอะไรมันลึกซึ้งกว่ากัน เขาก็จะวางสิ่งที่เล็กน้อยนั้นมาเอาสิ่งที่ละเอียดขึ้นมา ถ้าเราคิดได้อย่างนี้นะ เราคิดได้อย่างนี้ เพราะว่าจิตใจเขายังอ่อนด้อย จิตใจเขาจะทำบุญกุศลเขาก็ต้องบอกว่ากฐิน ผ้าป่าจะได้บุญมหาศาล

โฆษณากันไป ๕ ปีนะ จะทอดผ้าป่าทีหนึ่งบอกว่าได้เป็นเทวดา ๕ รอบ ไอ้คนจะทำโอ้โฮ ชื่นใจมากเลย ได้เป็นเทวดา ๕ ครั้ง แหม ทำบุญผ้าป่า โอ๋ย ควักสตางค์ใหญ่เลย กว่าจะทอดผ้าป่าได้เขาต้องประชาสัมพันธ์เลยนะ โอ๋ย จะได้ไปเกิดเป็นเทวดาชั้นนั้น โอ้โฮ จะได้ไปชั้นนู้น อู๋ย โฆษณาไป ๕ ปี ไอ้นั่นก็ควักสตางค์กันใหญ่เลยนะอยากจะเป็นเทวดา นิพพานไม่เอาใช่ไหมล่ะ? อยากจะเป็นเทวดากัน นิพพานไม่เอา นี้พูดถึงสังคมโลก

ฉะนั้น กรณีอย่างนี้ถ้าเรามองว่าเป็นกระพี้ เป็นเปลือก เป็นแก่นนั่นก็เรื่องหนึ่ง แต่ถ้าจิตใจที่สูง แล้วจิตใจของเราเองเราต้องพัฒนาของเรา เราจะจมอยู่ที่นั่น หรือเราจะขึ้นมา นี้พูดถึงปัญหาสังคมนะ เรื่องผ้าป่า กฐินมันเรื่องสังคม วัฒนธรรม เราจะดูถูกวัฒนธรรมของกันไม่ได้ แต่ถ้าเราจะเอาความจริงกันนะ เราจะเอาความจริงกันเราต้องพูดอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าจะเอาความจริงกันต้องพูดเรื่องความจริงล้วนๆ แต่นี่เราพูดเรื่องโลก เห็นไหม

วัดกับบ้าน วัดอยู่อย่างหนึ่ง บ้านอยู่อย่างหนึ่ง แล้วเราเป็นนักวิทยาศาสตร์ เราเรียนมาเรามีการศึกษามาเราจะเป็นวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ขึ้นมา วิทยาศาสตร์นั้นก็ทำลายเรา ทำลายตรงไหน? ทำลายเราที่จะให้เข้าสู่ธรรมเข้าไม่ได้เลย มันเป็นวิทยาศาสตร์ต้องเป็นถูกต้องอย่างนั้น แล้วถ้ามันเป็นความจริงล่ะ วิทยาศาสตร์แก้กิเลสไม่ได้ เพราะมันเป็นรูปแบบ มันเป็นกรอบตายตัว แต่กิเลสมันมีชีวิต กิเลสมันหลบหลีกไปตามซอก ตามตรอก ตามมุม นี่ธรรมะคือสติปัญญาต้องไล่เข้าไปๆ

ธรรมมันละเอียดลึกซึ้งกว่าวิทยาศาสตร์หลายเท่านัก วิทยาศาสตร์คือวิทยาศาสตร์ ทฤษฎีพูดมาถูกต้องก็ถูกต้องแล้ว ทดสอบอย่างนั้นก็เป็นอย่างนั้นแล้ว แล้วนามธรรมเป็นอย่างนั้นไหม? แล้วทุกอย่างเป็นอย่างนั้นไหม? นี่พูดถึงความเห็นนะ

ฉะนั้น

ถาม : ๑. การอ้างผ้าป่า กฐินเพื่อสร้างศาลาหรือของวัดมีที่มาอย่างไร? ถูกต้องตามพุทธบัญญัติไหม? การทำบุญผ้าป่า กฐินเป็นเรื่องของผ้า การเอาเงินมาทำบุญผ้ากฐิน ผ้าป่าได้ไหมครับ เหมือนการใส่บาตรให้ใส่อาหาร ไม่ให้ใส่เงินใช่ไหมครับ

ตอบ : อันนี้เวลาพระ นี่โย ปน ภิกฺขุ ชาตรูปรชตํ อุคฺคณฺเหยฺย วา อุคฺคณฺหาเปยฺย วา อุปนิกฺขิตฺตํ วา สาทิเยยฺย (เวลาพูดเร็วๆ พูดไม่ทัน) ชาตะรูปะระ ภิกษุห้ามหยิบเงินและทอง ฉะนั้น พอใส่เข้าไปมันเป็นเงินและทองไม่ให้หยิบ แต่ถ้าให้การกสงฆ์ นี่ถวายเป็นปัจจัย ถวายปัจจัยที่สมณะควรบริโภค นี่อยู่กับไวยาวัจกร ถ้าต้องการสิ่งใดให้ไปบอกไวยาวัจกรเอา นั่นล่ะท่านแบบว่าไม่ให้ยินดีในเงินและทอง แต่ให้ยินดีสิ่งที่เกิดขึ้นจากเงินและทองที่สะอาดบริสุทธิ์ สิ่งที่เกิดขึ้นคือแลกเปลี่ยนมา แต่ตัวเงินและทองไม่ให้ยินดี แต่ให้ยินดีสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าไม่อย่างนั้นเราใช้สอยสิ่งใดไม่ได้เลย นี่พูดถึงเรื่องเงินนะ

ฉะนั้น พอเรื่องเงินปั๊บ มันก็ใส่บาตรไม่ได้มันก็ถูกต้องอยู่แล้ว ใส่บาตรไม่ได้ เขาให้ใส่ข้าวปลาอาหาร ฉะนั้น เรื่องผ้าป่า กฐิน นี่พูดถึงถ้ามันยังมีความเห็นอย่างนี้ ก็เป็นความเห็นอย่างนี้ไปก่อน แต่พอเข้ามาเป็นเอง เข้ามาอย่างไรแล้วมันจะเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไรไง เพราะว่าชีวิตนะมันต้องใช้หลายอย่างมาก อย่างเช่นชีวิตเราต้องการอาหาร แต่ชีวิตมันก็ต้องการปัญญาด้วย มันต้องการศิลปะเพื่อให้จิตใจมันละเอียดอ่อนด้วย ต้องการสัจธรรม ต้องการ อู๋ย ชีวิตนี่ต้องการเยอะมาก แต่ถ้าโดยการดำรงชีวิตก็ปัจจัย ๔ แต่ปัจจัย ๔ แล้วมันดำรงชีวิตไว้ทำไม? ถ้าเวลาต้องการมันจะมีมรรค มีอะไรต่างๆ ขึ้นไปอีกมากเลย

ถาม : ๒. การเป็นเจ้าภาพผ้าป่า กฐินต้องถวายเงินเยอะๆ หรือถวายผ้า หรือเข็ม หรือเงิน หรือปัจจัยเป็นเจ้าภาพด้วยไหม? ได้บุญต่างกันอย่างไร?

ตอบ : ได้บุญ อย่างนี้ได้บุญน้อยที่สุดเลย ได้บุญน้อยที่สุดเพราะอะไร? เพราะพยายามจะวัดค่าว่าบุญอันไหนมากไง เวลาทำบุญก็นั่งพิจารณาเลยนะ เออ อันไหนบุญมากล่ะ? เข็ม ถ้าเป็นเข็มธรรมดากับเข็มทองคำ คนถวายเข็มธรรมดากับเข็มทองคำใครจะได้บุญมากกว่ากัน? เออ ถ้าถวายเข็มทองคำมา เข็มทองคำมันเย็บผ้าไม่ได้ เพราะเย็บไปแล้วมันอ่อน ถ้าเข็มธรรมดามันเย็บผ้าได้ อ้าว เข็มธรรมดาได้บุญมากกว่า นี่เพราะมานั่งคิดอยู่ว่าใครได้บุญมากกว่าไง ฉะนั้น เลยกลายเป็นประกวดบุญ

เขาประกวดนางสาวไทย เขาไม่ได้ไปประกวดบุญหรอก ถึงเวลาก็นั่งประกวดบุญเลยนะ อ้าว รอบที่หนึ่งใครจะได้บุญมากกว่ากัน รอบที่สองใครจะได้บุญมากกว่ากัน อ้าว รอบที่สาม สุดท้ายแล้วไม่มีใครได้บุญเลย เพราะเขาไปทำบุญ เขาไม่ได้ไปประกวดบุญ ถ้าเขาไปทำบุญ เห็นไหม ปฏิคาหก ผู้ให้ให้ด้วยความบริสุทธิ์ ผู้รับรับด้วยความบริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์สะอาดนั้น ปฏิคาหกอันนั้นบุญสูงสุด บุญสูงสุดคือเขาให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจของเขา แต่ให้ด้วยความจับผิดเขา ให้ด้วยความวัดค่าเขา อย่างนี้มันจะเอาบุญมาจากไหนล่ะ มันเผาไฟมาตั้งแต่บ้าน

ไปวัดวันนี้จะไปนั่งพิจารณาดูว่าใครจะให้มากกว่าใคร ใครจะเข้าใกล้หลวงพ่อ หรือใครจะห่างจากหลวงพ่อ เออ ใครจะได้นั่งตรงไหน ใครจะนั่งชั้นหน้า คนนั้นได้บุญมาก ไอ้คนนั่งชั้นหลังไม่ได้บุญ อย่างนี้มันไม่ได้บุญหรอก มันทุกข์ทั้งวันเลย มันเป็นเปรตไปเฝ้าศาลาคอยวัดบุญคนอื่น มันไม่ได้ดูบุญตัวมันเอง เห็นไหม แต่ถ้ามันเข้าใจนะ ปฏิคาหก ทีนี้เราไปศึกษามาแล้วด้วยทิฐิของเรา เราก็เอาสิ่งนี้เที่ยวไปวัดคนอื่น

ความวัดคนอื่นนะ เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ก็แตกต่างกัน ความคิดคนมันแตกต่างหลากหลาย เด็กมันเข้ามาอย่างนี้ มันเข้ามาร้องเสียงดัง มันเข้ามาขอสิ่งใดเราจะไปเอ็ดมัน ว่ามันไหม? เราก็ว่าไม่ได้ใช่ไหม? เด็กมันไร้เดียงสาเราก็ให้มันไป ลองผู้ใหญ่เข้ามาสิ ผู้ใหญ่เข้ามามันจะมาเรียกร้องอะไรล่ะ? ผู้ใหญ่รอสิ เป็นผู้ใหญ่แล้วใช่ไหม? เป็นผู้ใหญ่ ถึงเวลาแล้วจะกินข้าวก็รอสิเดี๋ยวกินพร้อมกัน ผู้ใหญ่เขามีสติปัญญาของเขา เขาก็ยับยั้งตัวเขาได้ เด็กมันยับยั้งไม่ได้เราจะไปฆ่ามันทิ้งไหม? เด็กมันทำผิดฆ่ามันทิ้งเลย มันก็ไม่ใช่

เด็กเราก็ต้องดูแลมันไปก่อน ถ้าโตขึ้นมาบอกว่าหนูทำอย่างนี้ไม่ได้นะ โตขึ้นไป ยิ่งหนูเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาหนูก็ทำอย่างนี้มันใช้ไม่ได้นะ พอโตขึ้นไปเขาจะรู้ เขาจะไปสอนลูกเขาต่อไป นี่จิตใจของคนมีหยาบ มีละเอียด จิตใจของคนเราต้องให้เวลาเขา ให้เขาศึกษาของเขา เพื่อประโยชน์ของเขา นี่พูดถึงถ้าคิดให้เป็นนะ แต่ถ้าพูดถึงโดยหลัก ปฏิคาหกโดยหลักนะ

ฉะนั้น สิ่งที่ให้เงินมาก เงินน้อยมันไม่สำคัญ สำคัญว่ามันสะอาดบริสุทธิ์ไหม? เขาให้ด้วยความจริงใจไหม? แล้วเขาเข้าใจเรื่องบุญไหม? ถ้าเขาไม่เข้าใจเรื่องบุญ เขาคิดว่าเงินนั้นเป็นบุญ เงินนั้นเป็นกระดาษมันเป็นบุญขึ้นมาได้อย่างใด? กระดาษมันมีชีวิตหรือ? กระดาษมันไม่มีชีวิตหรอก ตัวกระดาษมันเป็นบุญไหม? ไม่เป็น หัวใจของคนที่สละต่างหากเป็นบุญ หัวใจของคนให้ต่างหากมันเป็นบุญ ไม่ใช่กระดาษมันเป็นบุญ

ถ้ากระดาษ เห็นไหม ดูสิเวลาทุคตะที่ชนะ เวลาสละผ้านี่ละล้าละลังๆ กว่าจะสละได้ พอสละได้ ชิตังเม (นี่คิดตั้งนาน) ชนะแล้วๆ ชนะความตระหนี่ ชนะอะไรนั่นน่ะ จนกษัตริย์ต้องไปถามนะ ผ้าผืนเดียว ผ้าที่นุ่งอยู่ ผ้าเก่าๆ ผืนหนึ่ง เพราะเป็นคนทุคตะไม่มีสิ่งใดเลย คิดอยู่ตั้งครึ่งวัน จะสละแต่สละไม่ได้ไง สุดท้ายตกลงใจว่าจะไปสละ ก็เลยไปเก็บใบไม้มานุ่งแทน เย็บใบไม้มานุ่งแทน แล้วสละผ้าผืนนั้นถวายพระพุทธเจ้า

นี่พระพุทธเจ้าบอกถ้าถวายตั้งแต่ทีแรกได้บุญมากกว่านี้อีก แต่นี้ละล้าละลังอยู่นั่นล่ะ พอตกลงใจก็ไปเอาใบไม้มาเย็บ เย็บเสร็จก็นุ่งใบไม้ แล้วก็เอาผ้าผืนนั้นไปถวายพระพุทธเจ้า นี่พระพุทธเจ้าบอกชนะแล้ว กษัตริย์นั่งอยู่นั่นว่าชนะอะไร? คนถวายมากก็นั่งอยู่นี่ ถวายตั้ง โอ้โฮ กษัตริย์ถวายทีหนึ่งสิบล้อใส่ไม่หมด ไม่เห็นชนะสักที ก็ไปถามว่าชนะอะไร?

เขาบอก อู้ฮู รู้ไหมกว่าจะถวายได้ คิดถึงเมียที่บ้าน เพราะมีผ้าผืนเดียว ออกจากบ้านมาก็สามีนุ่งมา กลับไป เวลากลับบ้าน เวลาภรรยาออกไปภรรยานุ่งมา มีผ้าผืนเดียว ในบ้านมีผ้าผืนเดียว ผลัดกันนุ่งออกมาจากบ้าน ถ้าอยู่ในบ้านแล้วต้องนุ่งห่มใบไม้ แล้วถ้าเสียสละไปกลับบ้านเมียเอาตายเลย เพราะผ้าผืนเดียว กลับไปบ้านเมียไม่มีผ้าใช้

อู๋ย คิดแล้วคิดอีก คิดแล้วคิดอีก สุดท้ายแล้วมันชนะไง อ้าว เป็นอย่างไรเป็นกัน ตายก็ตาย กลับบ้านไปเมียฆ่าก็ช่างมัน ตกลงถวายพระพุทธเจ้าไป ทีนี้พอกษัตริย์ถาม เล่าให้กษัตริย์ฟัง โอ๋ย กษัตริย์เห็นใจมาก กษัตริย์ให้เงินนะ ๘๐ ชั่ง ให้ผ้าให้ผ่อนให้เต็มเลย นี่ชนะแล้ว นี่พอเขาชนะ ชนะใจของเขา กว่าจะชนะใจตัวเองได้นี่แสนยากนะ

ฉะนั้น เราทำบุญกุศล เราคิดมา เราศึกษามา ศึกษามาเพื่อวัดใจของเรา ไม่ใช่ศึกษามาเพื่อจับผิดคนอื่น ถ้าศึกษามาจับผิดคนอื่นนะทุกข์ตายเลย เพราะนานาจิตตัง มองไปสิ มองไปชาวพุทธที่เป็นนิกายอื่นเขามีกฐินไหมล่ะ? เขามีผ้าป่าไหมล่ะ? เขามีอย่างเราไหมล่ะ? นี่วัฒนธรรมมันแตกต่างกันไง

ถาม : ๓. ฆราวาสควรปฏิบัติอย่างใดเกี่ยวกับผ้าป่าและกฐิน

ตอบ : ฆราวาสก็ศึกษาแล้วมีปัญญา ถ้าเราเห็นควรกับเขาเราก็ทำกับเขา ถ้าเราไม่เห็นควรกับเขา เราก็บอกว่าเรามีความจำเป็น เรายังไม่ทำเป็นไรไป? เราจะทำเราทำที่ไหนก็ทำได้ เราจะทำอย่างไรเราก็ทำของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา ถ้าเพื่อประโยชน์กับเรามันก็เป็นประโยชน์กับเรา นี่พูดถึงว่า “ฆราวาสควรปฏิบัติอย่างไร?”

ฆราวาสก็มีสิทธิอยู่แล้ว ของๆ เรา ทีนี้ก็อีกแหละ เวลาเขามาชวนทำบุญก็พูดโกหกไม่ได้ ไม่อยากทำก็พูดไม่ได้นะ ไม่อยากทำบุญ แต่เห็นเขาทำอยู่ นี่ฆราวาสจะทำอย่างไร? พอเขามาชวนทำบุญบอกว่า อ้าว ทำอย่างไรล่ะ? ก็เถรส่องบาตรไง พอเขามาบอกทำบุญแล้วได้บุญนะ ใจก็ไม่เชื่อนะ แต่กลัวรักษาหน้า กลัวหน้าตัวจะแตกไง ก็ควักสตางค์ให้เขา พอควักสตางค์ให้เขาก็มานั่งคิด เอ๊ะ ฆราวาสควรทำอย่างไร? ฆราวาสควรจะทำบุญอย่างไร? ควักสตางค์ให้เขาไปแล้ว ยังกลับมาคิดอีกว่าฆราวาสควรทำอย่างไร?

นี่ไงปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ ขณะให้ก็สงสัย ยังคิดว่าฆราวาสต้องทำอย่างไร ให้ไปแล้วก็ยังนั่งปวดหัวอยู่นะ ฆราวาสจะทำอย่างไร เขาเอาเงินไปแล้ว เขาถวายพระไปแล้วนะมันยังกลับไปคิดว่ากูทำบุญหรือเปล่า ได้บุญหรือเปล่า นี่ฆราวาสควรทำอย่างใด เขาสวดกฐินเสร็จแล้ว มันยังคิดปวดหัวไม่จบเลยว่าเงินมันจะได้บุญหรือไม่ได้บุญ (หัวเราะ) ฆราวาสควรทำอย่างใด?

ฆราวาส นี่เราดูของเรา ถ้าเราดูของเรา เป็นประโยชน์กับเรานะ เราไม่เห็นด้วยเราก็ไม่ทำ เราทำสิ่งที่เห็นด้วย นี่เทวดาไปถามพระพุทธเจ้าไง

“ควรทำบุญที่ไหน?”

“ควรทำบุญที่เธอพอใจ”

“แล้วถ้าเอาประโยชน์ล่ะ?”

ถ้าเอาประโยชน์ก็ต้องมาพูดกันอีกทีหนึ่ง ประโยชน์มันก็มีใช่ไหม? นี่ปฏิคาหกไง เนื้อนาดีหรือไม่ดีอยู่ที่นั่น แล้วเนื้อนาดีก็คิดถึง เขาบอกว่าถ้าเนื้อนาดีแล้วถ้าพูดล่ะ? รัตนตรัยนะ ฉะนั้น ฆราวาสควรจะทำอย่างไร? มันอยู่ที่วุฒิภาวะของเรา ประสบการณ์ของเรา ถ้าเราดีขึ้นมา เรามีประโยชน์ขึ้นมามันจะเป็นประโยชน์กับเรา

นี้เป็นคำถามล็อตแรกนะ ถามสองล็อตเลยล่ะ ล็อตที่สอง

ถาม : ๑. เอาของวัดไปเหมือนพริกกับดินบาปไหมครับ

ตอบ : นี่เขาบอกว่าถ้าเขาศึกษามาไง ว่ามีพระล้างบาตร แล้วเศษอาหารเกิดเป็นต้นพริก แล้วนกคาบไปแล้วไปกิน อันนี้พูดถึงมันเป็นของสงฆ์ไหม? มันก็เป็นอยู่ แต่ถ้าเป็นของสงฆ์ เห็นไหม เวลาเช้าขึ้นมา เราบิณฑบาตมาเป็นของสงฆ์ไหม? เป็น นี่เป็นของพระ เป็นของบุคคล แล้ววางไว้ โยมกินนี่กินได้ไหม? กินได้ กินได้เพราะอะไร? เพราะเราถวายพระมาแล้ว ถวายพระมาแล้วใช่ไหม พระได้เอาของพระไว้แล้ว แล้วพระมีความเมตตายกให้โยมไง ยกให้พวกเราได้กิน ยกให้ ของให้มันเป็นของสงฆ์ไหม? เขาให้แล้ว สงฆ์ให้แล้วมันเป็นบาปไหม? ไม่

นี่ไงถ้าเป็นของวัดแล้ว สิ่งที่เป็นพริก เป็นดิน สิ่งที่เป็นพริกนี่นะ ถ้าสงฆ์ให้ สิ่งที่ว่าสงฆ์ได้เอาแล้ว แล้วสงฆ์ให้แล้วไม่มีบาป แล้วถ้ามันเป็นดินในวัดล่ะ? ดินในวัดเราก็เดินไปธรรมชาติของมัน นี่เดินธรรมชาติของมัน เราไม่ตั้งใจ ไม่มีเจตนา บาปไหมล่ะ? เราต้องเข้ามาอยู่ในวัด ถ้าเป็นบาปนะ ถ้าเป็นบาป พระอยู่ในวัดตลอดเวลา พระบาปกว่าโยมอีก เพราะพระก็อยู่ในวัด

ฉะนั้น สิ่งที่เป็นของสงฆ์ เอาไปนี่บาปไหม? ฉะนั้น กรณีอย่างนี้มันเป็นวัฒนธรรมของเราเพื่อจะไม่ให้สิ่งนี้ติดไป ไม่ให้สิ่งนี้เป็นบาปกับเรา ถ้าเป็นบาปกับเรานะ ถ้าเถรตรงหมดเราจะทำสิ่งใดไม่ได้เลย ถ้าทำสิ่งใดไม่ได้เลยมันก็ไม่มีอะไรเจริญ และไม่มีอะไรเสื่อมเลย ถ้ามันจะเจริญนะ ไปวัดเราก็ไปวัดสิ ไปวัดเหมือนพริก พริกนั้นเพราะว่าพระเขาไม่ได้ให้ แล้วสิ่งที่กามันคาบไป กามันไปขี้แล้วมันเกิดเป็นต้นขึ้นมา แต่สิ่งนั้นมันไม่รู้ นั่นมันเรื่องสุดวิสัย เรื่องสิ่งที่สุดวิสัยในโลกนี้มีเยอะมากเลย

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการนะ ท่านบอกว่าพระไตรปิฎกนี่ใบไม้ในกำมือ ข้อเท็จจริงบอกว่าใบไม้ในกำมือ ใบไม้ในป่า เหตุการณ์ต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าได้บัญญัติยังอีกมากมายมหาศาลเลย แล้วเราก็จะไม่ให้มีความผิดพลาดสิ่งใดเลยมันจะทำได้อย่างใด? ทีนี้ไม่ให้มีความผิดพลาดเลยทำได้อย่างไร แล้วจะตั้งใจทำผิดมันก็ไม่อยากให้ผิด ไม่อยากให้ผิดเราก็พยายามทำสิ่งที่ถูกไง ขอเอา ของวัดนี่ขอเอา

สิ่งที่แบบว่าขอ ถ้าขออนุญาตแล้วจบหมดนะ แม้แต่ของของสงฆ์นี่นะ เวลาถวายผ้ากฐิน เห็นไหม นี่พระอุปโลกน์ให้พระนี้เป็นผู้ทรงผ้ากฐิน แล้วสิ่งที่ได้มาให้เสียสละ ให้แจกกัน คำว่าเสียสละ อย่างนี้สะอาดบริสุทธิ์หมดเลย ของของสงฆ์นี่นะ เพราะสงฆ์อุปโลกน์แล้วเพื่อสงฆ์ นี่ของเป็นส่วนกลางแล้วเรามาแจกกัน แจกกันหมายความว่าแบ่งส่วนให้เท่าๆ กันเพื่อประโยชน์ไง ไม่ใช่สิ่งที่ถวายนี้มาเป็นอาหาร แล้วก็เก็บไว้ให้มันเน่า ทำไมล่ะ? เดี๋ยวมันจะเป็นบาป

อาหารนี่มหาศาลเลย เอามานะแล้วกินอยู่คนเดียว กินไม่หมดก็เก็บไว้ให้มันเน่า เพราะให้ไม่ได้ไง เดี๋ยวคนกินแล้วมันจะเป็นเปรต มันจะเป็นบาปไง พระพุทธเจ้าสอนอย่างนั้นหรือ? พระพุทธเจ้าสอนให้ทำประโยชน์ใช่ไหม? ถ้ากรณีอย่างนี้คิดกันไปนะมันเยอะมาก

ฉะนั้น กรณีอย่างนี้ก็เหมือนกัน

ถาม : ๒. มาเล่นหิน เล่นดินในวัดบาปไหมครับ? หักต้นไม้เล่นในวัดบาปไหม? ทิ้งขยะในวัดบาปไหม?

ตอบ : เรื่องการทิ้งขยะเราก็รู้อยู่ แม้แต่ทางโลกทิ้งขยะ เดี๋ยวนี้เขายังมีแบบว่าแยกขยะแล้ว เห็นไหม อะไรควร ไม่ควร ในวัดขึ้นมาเราก็เก็บของเรา เราก็ทิ้งของเราเป็นกิจจะลักษณะ มันจำเป็น มันมีของมัน นี่สิ่งที่ว่าหักต้นไม้บาปไหม? ภิกษุพรากของเขียวเป็นอาบัติปาจิตตีย์ ใบไม้นี่ถ้าภิกษุทำให้หลุดจากขั้วไปเป็นอาบัติปาจิตตีย์ ทีนี้ปาจิตตีย์ ของของสงฆ์ เราจะปล่อย นี่ของของสงฆ์นะ ต้นไม้มันเกิดขึ้นมา แล้วก็ให้มันพันไปทั้งศาลานี่เลยนะ ไอ้เรามาเราก็รอดเข้ามานะ ปีนเข้ามา มุดต้นไม้กันเข้ามา โอ้โฮ พวกนี้ไม่เป็นบาป โอ้โฮ พวกนี้เป็นคนดีหมดเลย มันเป็นอย่างนั้นไหมล่ะ? มันก็ไม่เป็น

ฉะนั้น พอไม่เป็นปั๊บ พระจะบอกว่าให้โยมช่วยตัดให้ เขาเรียกว่ากัปปิยะ เพราะเวลาบวชเป็นพระนี้อยากพ้นจากทุกข์นะ ภิกษุใช้น้ำที่มีตัวสัตว์เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ภิกษุพูดให้เขาทำบาปเป็นปาจิตตีย์ ภิกษุพรากของเขียวเป็นปาจิตตีย์ ภิกษุใช้ให้คนอื่นพรากของเขียว ภิกษุก็เป็นปาจิตตีย์ ฉะนั้น ภิกษุเขาจะบอกว่าให้โยมช่วยพิจารณาให้หน่อย เขาใช้อุบายไม่ได้บอกให้ตัดไง

นี่ดูต้นไม้ให้หน่อย ดูต้นไม้ให้หน่อย เออ ดูแล้วก็กลับ เฮ้ย เขาให้ตัดไอ้ห่าเอ้ย ดูต้นไม้ให้หน่อย มันก็ไปดูนะ ไปแล้วก็มอง ก็หลวงพ่อให้ดูไง ก็ดูให้แล้วไง พิจารณาต้นไม้ให้หน่อย พิจารณา อ้าว ก็พิจารณาแล้วมันเป็นต้นไม้ที่ดี เขาเรียกว่า “กัปปิยะโวหาร”

นี่พระต้องการความบริสุทธิ์ พระที่ต้องการความบริสุทธิ์ ฉะนั้น วินัยมันบัญญัติไว้อย่างนี้จริงๆ นะ ภิกษุทำเองก็ดี ใช้ผู้อื่นทำก็ดี เป็นอาบัติเหมือนกัน ภิกษุทำเองก็ดี ใช้ผู้อื่นทำก็ดี ในพระไตรปิฎกพูดอย่างนี้จริงๆ ฉะนั้น ภิกษุทำไม่ได้ ก็ต้องให้ฆราวาสทำให้ ทีนี้เวลาฆราวาสทำให้ นี่ดูให้หน่อย ส่วนใหญ่เราก็พูดอย่างนี้ ดูให้หน่อย พอดูเสร็จมันก็กลับ

นี่เขาต้องฝึก คนที่มันจะอุปัฏฐากพระเขาต้องมาฝึกก่อนว่าอุปัฏฐากพระอย่างไร ถ้าพออุปัฏฐากพระนะ ดูนี่ให้หน่อย พอดูให้หน่อยนะดูก็คือตัด พอตัดเสร็จแล้วคือช่วย เขาเรียกบำรุงของสงฆ์นะ ภิกษุไม่ดูแลของสงฆ์ก็เป็นอาบัติ ภิกษุมีตั่งอยู่ โบราณเขาสร้างวัด ตามทางเขาจะมีแคร่ เขาเรียกตั่ง ซ้อนๆๆ กันอยู่ เวลาพระธุดงค์มาเขาจะเอามานอน นอนเสร็จภิกษุไม่เก็บเองก็ดี ไม่ให้ใครเก็บก็ดี เป็นอาบัติปาจิตตีย์ แล้วตั่งนั่นน่ะเวลาไม่เก็บมันจะเกิดปลวก เกิดต่างๆ หมอนเขาจะผูกเชือกไว้ตามแคร่ ตามอะไร พระไปใช้ต้องทำอย่างนั้นนะ พระต้องมีผ้าปูนอน

พระนี่ถือวินัยละเอียดกว่าโยมไป แต่ถ้าพระแอ๊คชั่นอยากจะอวดโยมนะ แหม ฉันถืออย่างนั้นๆ ไอ้นั่นถือไว้เพื่ออวดกัน แต่พระเขาจะมีของเขา อยู่ในสายเลือดของเขา เขาจะรู้ของเขา เพราะอะไร? เพราะว่ามันเป็นนิวรณธรรมไง ถ้าเรามาปฏิบัตินะ ถ้าเราโกหกตัวเอง แล้วเรามานั่งพุทโธ พุทโธไม่ลงหรอก มันเป็นนิวรณ์ มันภาวนาไม่ได้หรอก ฉะนั้น เวลาบอกเขาถึงบอกอย่างนั้น

ฉะนั้น เวลาถามว่า

ถาม : ไปหักต้นไม้เล่นในวัดล่ะ?

ตอบ : ถ้าหักต้นไม้เล่นในวัดนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าไปตัดไม้ เราไปบำรุงรักษา เห็นไหม นี่เราไปบำรุงรักษาของของสงฆ์ เพื่อให้มันเกิดประโยชน์ขึ้นมา เราได้บุญหรือได้บาป? ได้บุญสิ เพราะของของสงฆ์ ของที่มันควรจะเป็นของความมั่นคง เพื่อประโยชน์ เพื่อคนอื่นมาใช้สอย แล้วเรารักษาของที่เป็นสาธารณะที่คนอื่นมาใช้สอย เราได้บาปตรงไหน? แต่ถ้าเราไปทำลายมันสิ เราไปทำลายมัน เราทำให้มันเสียหายขึ้นไป

กรณีอย่างนี้ อย่างเช่นต้นไม้มันขึ้นตามโบสถ์ ตามวิหาร เราต้องไปเอาออกหรือไม่ต้องไปเอาออกล่ะ? ถ้าเราไปเอาออกเราก็เป็นอาบัติปาจิตตีย์ อ้าว ไม่ต้องเอาออกโบสถ์ก็พัง นี่ความพอดีไม่มี มัชฌิมาปฏิปทาไม่มีไง

ถาม : ถ้ามาเล่นหิน เล่นดินในวัดบาปไหม?

ตอบ : ถ้าเด็กไร้เดียงสามันก็เล่นทั้งนั้นแหละ เวลาเล่นพ่อแม่ก็จะบอกขออนุญาต เขาเล่นก็เล่นกันไป เด็กบางคนไม่รู้นะ มันเอาหินกลับไปบ้านมันนี่พ่อแม่เอามาคืน ถนนนั้นน่ะเอาใส่กระเป๋าไป พ่อแม่ไปเจอในวัดนะรีบเอากลับมาคืน พ่อแม่รู้ เด็กๆ ไม่รู้ ทีนี้พ่อแม่รู้ เห็นไหม ใจมันคนละใจ เด็กมันไม่รู้ ถ้าไม่รู้ขึ้นมามันก็คือไม่รู้ ถ้าไม่รู้ขึ้นมา ความผิดก็เหมือนกัน

ฉะนั้น โดยธรรมชาติเราเองเราเป็นหัวหน้า เราเป็นเจ้าอาวาส บริษัทใดก็แล้วแต่เขาต้องมีผู้จัดการบริษัท มีผู้ดูแลบริษัทนั้น วัดคือเจ้าอาวาสเป็นผู้ที่มีอำนาจเต็ม เกิดอธิกรณ์ เกิดใดๆ ในวัดนั้น เจ้าอาวาสนั้นจะเป็นผู้จัดการ เจ้าอาวาสเป็นทุกอย่างในวัดนั้น ฉะนั้น สิ่งที่ของในวัดนี่เราอนุญาต สิ่งที่มันเป็นสิ่งที่แจกได้นะ แต่สายไฟฟ้าไม่อนุญาต ของๆ วัดไม่อนุญาต แต่เรื่องพวกพืชพันธุ์ พวกของกิน ของใช้อนุญาต แต่สายไฟไม่อนุญาต เดี๋ยวมันแอบมาตัด ไม่อนุญาต นี่มันได้ มันเป็นไปได้

เวลาศึกษาธรรมะแล้วเรามาเทียบเคียงกับความเป็นจริง นี้ถ้าพูดถึงทางโลกเขาเรียกว่าผู้ชำนาญกฎหมายนะ เขาจะรู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด แล้วมันจะไปขัดแย้งกันไปหมด ฉะนั้น พระนี่ถ้ารู้นะมันจะรู้ว่าอะไรควร-ไม่ควร แต่ไม่ใช่เลี่ยงบาลีนะ ถ้าบอกว่าถ้ารู้มากก็จะเลี่ยงบาลี ไม่ใช่ มันมีโทษ มันมีข้อห้าม แต่มันมีข้อยกเว้น ข้อนี้ข้อห้าม แล้วถ้าทำอย่างนี้ ทำต่อไปมันมีการยกเว้นๆ มีทั้งข้อห้าม มีการยกเว้น มียกเว้นเพราะอะไร? เพราะทำถูกต้องแล้ว นี่อย่างนี้มันจะหมดไปๆๆ เพราะมันต้องละเอียดขึ้นไป

มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียดนี่ไง ที่พูดบ่อยๆ ว่ามรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด พอใครมีความรู้ความเห็นขึ้นมานะ โอ๋ย ตัวเก่งๆ มันก็เลยกลายเป็นตอไม้ไปเลย ขยับไม่ได้ แข็งทื่อไปเลย นี่วิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์เป็นกรอบอย่างนี้ แต่ถ้าเป็นความจริงนะมันไปอีกเรื่องหนึ่งเลย มันจะไปของมันอีกเรื่องหนึ่งเลย แล้วถ้าความจริง ใครเป็นความจริงล่ะ? ถ้าเป็นความจริงแล้วจะเข้าใจเรื่องอย่างนี้

ฉะนั้น ถ้าไม่ใช่ความจริง เราคุยแบบวิทยาศาสตร์นะ โอ๋ย คนถามนี้เก่งมากเลย พูดได้ชัดเจนมากเลย ผิดไปหมดเลย แล้วกลายเป็นเถรส่องบาตร หลวงปู่มั่นพูดไว้ในประวัติหลวงปู่มั่น เวลามีคนมาเยี่ยมบ้านก็บอกว่าขึ้นมาบ้านนะ มันขึ้นไปบนหลังคาเลย บอกให้ลงมาสิ มันก็ลงไปใต้ถุนเลย ไม่ใช่ เขาให้ขึ้นบ้านดันขึ้นไปบนหลังคา นี่ไงสุดโต่งอย่างนี้มันก็คิดไปอีกอย่างหนึ่ง แต่ถ้ามัชฌิมาปฏิปทาเป็นอย่างไรล่ะ? อย่างนี้ต้องมีประสบการณ์ ต้องฝึกฝนไง ถ้าฝึกฝนแล้วมันจะดีขึ้น

ฉะนั้น มาเล่น นี่มาเล่น เราไม่ใช่มาเล่น เรามาทำบุญ เวลามาวัดเรามาช่วยทำความสะอาด การเก็บ การกวาดก็กวาดเศษหิน เศษดิน กวาดฝุ่น บางคนไม่กล้ากวาดนะ นี่ถ้ากวาดแล้วใยแมงมุม เดี๋ยวแมงมุมมันไม่มีที่อยู่ ไปสงสารแมงมุมอีก เขาสร้างวัดมาให้พวกเรามานั่งภาวนากัน เขาไม่ได้สร้างให้แมงมุมมาอยู่หรอก เออ กวาดวัดก็ไม่ได้ เดี๋ยวตุ๊กแก เดี๋ยวจิ้งจกมันไม่มีที่อยู่ ตุ๊กแก จิ้งจกเขาจะจับไปปล่อย จะไปปล่อยในป่านู่น แต่ถ้ามันมาอาศัยมันถือสิทธิ์ของมันเอง อันนั้นมันเป็นสัตว์ มันไม่รู้เรื่องพูดถึงถ้าถามอย่างนี้มันก็ตอบอย่างนี้

ถาม : ๓. ทำอย่างไรมาวัดให้ได้บุญ ไม่ให้ได้บาปติดตัวไปโดยไม่รู้ตัว ข้าพเจ้ากราบขอขมา ถ้าคำพูดคำใดล่วงเกินต่อพระรัตนตรัย วัด และบุคคลอื่นๆ

ตอบ : เราก็เห็นอย่างนั้น นี่เราก็เห็นว่า

ถาม : ถ้าข้าพเจ้าพูดคำใดล่วงเกินรัตนตรัย วัด และบุคคลอื่น อย่าให้มีโทษ มีภัย

ตอบ : อย่าให้มีโทษ มีภัย เพราะ เพราะเราต้องมีการศึกษา ต้องมีประสบการณ์ ถ้าไม่มีประสบการณ์ นี่อ่านกฎหมายออก แต่ว่าความไม่เป็น ขึ้นศาลก็ไม่ได้ กฎหมายอ่านออกนะ ฉันก็อ่านได้ กฎหมายมาอ่านออกทุกตัว แต่ความหมายมันนี่ตีความถูกไม่ถูกไม่รู้

นี่ก็เหมือนกัน เราศึกษาธรรมะนะ ถ้าไม่ศึกษาเลยก็เป็นคนสุดโต่ง เกิดเป็นชาวพุทธแล้วไม่สนใจพุทธศาสนา พอมาสนใจขึ้นมา สนใจแบบรัดคอตายเลย ต้องเป็นอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้จริงหรือ? ต้องเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้เพราะฝึกหัดไป พอฝึกหัดไปมีความชำนาญขึ้น มันเข้าใจ อ๋อ นี้เป็นอุบาย พระพุทธเจ้าบอกให้มาเสียสละทานไง เวลาเสียสละขึ้นไปแล้ว เข้ามาศึกษาธรรมแล้วอยากให้เราภาวนาไง พอภาวนาแล้ว เช้าขึ้นมา พอตี ๔ ก็ตกใจแล้วยังไม่ได้กดหม้อข้าว เดี๋ยวจะหุงข้าว

เวลานั่งภาวนาทั้งคืน เห็นไหม ไม่สงบหรอก พอตี ๔ ขึ้นมาจิตมันจะลงนะ แหม จะสง๊บ สงบเลย ไอ้ใจหนึ่งก็จะไปหุงข้าวใส่บาตรพระ อีกใจหนึ่งสมาธิก็กำลังจะลงๆ นี่ถึงเวลาแล้วเป็นอย่างนี้ กิเลสมันหลอกไปทุกเรื่องเลย อ้าว ทั้งคืนเลยนั่งไม่สงบ พอตี ๔ ต้องไปหุงข้าว จิตมันกำลังจะลงสมาธินะลุกไม่ได้ ลุกแล้วเดี๋ยวมันไม่เป็นสมาธิ แล้วพอนั่งไปมันก็ไม่ได้สมาธิอีก อืม ทำก็ไม่ได้ ไม่ทำก็ไม่ได้ นี่เวลาศึกษาไปแล้ว พอทาน ศีล ภาวนา ภาวนามันก็จะมีข้อขัดแย้งมา นี่พูดถึงว่าถ้ากิเลสมันอยู่ในหัวใจนะ มันก็จะทำให้เราล้มลุกคลุกคลานไปอย่างนี้

ถ้ามันจะทำอย่างไรมาวัดให้ได้บุญตลอด นี่ได้บุญตั้งสติไว้ แล้วพยายามปราบความรู้สึกนึกคิดให้มันหาเหตุ หาผลก่อน พระพุทธเจ้าพูดไว้อย่างนั้น ทำไมถึงพูดอย่างนั้น? นี่ถ้ากฎหมายในปัจจุบันนี้เขายังมีนิยามเลยว่ากฎหมายนี้เขียนมาเพื่ออะไร ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกข้อเลย มีพระทำผิดแล้วถึงได้บัญญัติขึ้นมา นิยามมานี่เหตุเป็นเพราะอย่างนี้ แล้วบัญญัติวินัยมาอย่างนี้เลย แล้วอนาบัติ คือไม่เป็นอาบัติถ้าเป็นอย่างนี้ๆๆ ไม่เป็นอาบัตินะ อนาบัติเลย ไม่ครบองค์ประกอบของมันจะไม่เป็นอาบัติๆๆ

นี่มันมีในวินัย ถ้าเราศึกษาหน่อยเดียวมันจะเข้าใจได้เลย แล้วพอเข้าใจได้แล้วนะเราจะทำตามนั้นไหม? แล้วพอเข้าใจแล้วเราก็มาดูประเพณีวัฒนธรรม อย่างเช่นบุญเดือนสิบ ทางใต้บุญเดือนสิบก็ไปอย่างหนึ่ง ทางอีสานก็ไปอย่างหนึ่ง บุญเดือนสิบเหมือนกัน แต่พิธีกรรมไม่เหมือนกัน นี่ทำบุญกุศลไม่เหมือนกัน แต่บุญอันเดียวกัน เห็นไหม มันอยู่ที่วัฒนธรรมประเพณีของพื้นที่ ในพื้นที่เขาทำอย่างใด ฉะนั้น เราปฏิบัติมา เราศึกษามาเราก็พยายามจะตั้งสติของเราขึ้นมาเพื่อประโยชน์กับเรา

ฉะนั้น การทำบุญผ้าป่า กฐินนั่นเป็นเรื่องหนึ่งนะ ที่วัดบ้านเขาทำกันไปนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย แล้วถ้าเราจะทำของเราก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง คำว่าเรื่องหนึ่ง เรื่องหนึ่งนี่ศาสนานี้แบ่งแยกแล้วหรือ? ไม่ใช่ นี่มันเป็นความเชื่อของท้องที่เขา เป็นความเชื่อของท้องถิ่นเขา แล้วท้องถิ่นเขาทำกันอย่างนั้น ถ้าเราทำกัน ถึงเทศกาลเราก็ทำของเรากันไป

ถ้าเราทำเทศกาลเพราะเราเห็นประโยชน์ เราเห็นความดีของเรา ถ้าทำได้ก็ทำ ถ้าทำไม่ได้เราก็ค้านไว้ในใจ ค้านไว้ในใจคือเราไม่ทำ เราทำที่เราพอใจ แล้วเรื่องในวัดในวานี่ศึกษาให้เป็นไปก่อน อย่างนี้เป็นทิฐิมานะของคน ทิฐิของคนไม่เท่ากัน ไม่เสมอกัน ฉะนั้น ในสัปปายะ ๔ ถ้าทิฐิเสมอกัน ความเห็นเหมือนกัน อยู่ด้วยกันจะมีความสุขมาก ทิฐิแตกต่างกันมันจะมีการพยายามหาเหตุหาผล แล้วเรื่องของเรายังเรื่องของเราอีกต่างหากนะ

ฉะนั้น เรื่องกิเลสในใจของเราสำคัญที่สุด ใครจะดี ใครจะชั่วเรื่องของเขา ใจของเรา ต้องรักษาใจของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา เอวัง