เทศน์บนศาลา

กิเลสบอด

๑๖ เม.ย. ๒๕๔๖

 

กิเลสบอด
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๔๖
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจ ตั้งใจฟังธรรม ฟังธรรมนะ ฟังธรรมให้ธรรมเข้าถึงหัวใจ ถ้าธรรมเข้าถึงหัวใจ ที่ธรรมนี้ผ่าน ผ่านหูเฉยๆ ผ่านหู อายตนะกระทบ สุดท้ายแล้วต้องรวมลงที่ใจ ถ้าใจมีความสัมผัส ใจรับรู้สิ่งต่างๆ อายตนะกระทบจะเข้าใจถึงใจ ถ้าใจไม่รับรู้ สักแต่ว่าเหม่อ สักแต่ว่าลอย สักแต่ว่าเหม่อ สักแต่ว่าลอยก็เป็นสภาวะแบบนั้น กิเลสมืดบอด

สมัยนี้กิเลสมันต้องไม่มืดบอด เพราะอะไร เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมถึงชี้ไง ชี้ว่าเรื่องของกิเลส กิเลสนี้เป็นสิ่งที่ติดมากับใจ กิเลสนี้มีโดยสภาวะโดยดั้งเดิม สภาวะธรรมชาติ สิ่งที่เป็นธรรมชาติถึงเข้าใจสิ่งนี้ได้ แต่สภาวะของกิเลสนี้มีมาโดยดั้งเดิม แล้วจะมีตลอดไป สิ่งที่มีตลอดไป คือขับไสให้ดวงใจนี้เกิดตายโดยธรรมชาติของมัน จะไม่มีทางออกเลยนะ จะไม่มีทางเป็นไปได้ถ้าไม่มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมนี้เป็นเรื่องที่แสนยากมาก จะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้แต่ละครั้งๆ ต้องสร้างสมมา ต้องเป็นพุทธวิสัย พุทธวิสัย สร้างสมเป็นพุทธภูมิมา สิ่งที่เป็นพุทธภูมิ สร้างสมคุณงามความดี ปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วต้องสร้างสมมา จนถึงที่สุดแล้ว ถึงชาติสุดท้ายแล้ว ปรารถนาพุทธภูมิ ยังต้องค้นคว้า ต้องแสวงหาธรรมอันนี้

ธรรมอันนี้ ธรรมที่ว่าเป็นศาสนธรรม ศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ชอบแล้ว สิ่งนี้เป็นคุณสมบัติที่ว่าเป็นสภาวธรรมที่เข้าถึง แต่กิเลสมันมืดบอด มันไม่เข้าใจสิ่งนั้นนะ กิเลสนี้บอดมาก หนาแน่นเท่าสิ่งต่างๆ จะเชื่อไปตามความเห็นของตัวเอง ความเห็นของตัวเองคิดว่าอย่างไรก็เชื่อตามสิ่งนั้นไป แล้วก็หมุนออกไปนะ หมุนออกไปคือว่า คิดตามความเห็นของตัว ทำตามความเห็นของตัว จะไม่เข้าสัจธรรม

นี่มืดบอดกันขนาดนั้นนะ ทั้งๆ ที่ว่าเสียงธรรมดังอยู่ตลอดเวลา เสียงธรรมนี่ สภาวธรรมมีอยู่ทั่วไป ถ้าคนมีปัญญา คนมีปัญญาใคร่ครวญศึกษาขึ้นมา สภาวธรรมจะเตือนตัวเราเองตลอดเวลา แม้แต่เจ้าชายสิทธัตถะนะ เห็นความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ยังสะเทือนใจมาก สะเทือนใจว่า สิ่งนี้มีอยู่ และมีอยู่เป็นธรรมดา ทุกสัตว์โลกก็นอนจมกับสิ่งนี้ ยอมรับสภาวะสิ่งนั้นไป ไม่มีสัตว์ตัวใดที่จะพ้นออกไปจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายสิ่งนี้ได้เลย

ถ้ามีสิ่งนี้ได้ มันก็ต้องมีสิ่งที่ตรงข้าม นั่นน่ะ สภาวธรรมมีอยู่โดยดั้งเดิม มีอยู่โดยธรรมชาติของเขาอยู่แล้ว แต่ไม่มีใครเขาสามารถเข้าถึงได้ เพราะไม่เข้ามาค้นคว้าตรงนี้ไง ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ที่ไหนมีความเกิด ชาติปิ ทุกขา ชาติการเกิด เกิดขึ้นแล้ว ต้องมีความทุกข์ไปโดยธรรมชาติของมัน ธรรมชาติของมัน มีความเกิด มีสภาวะรับรู้ นี่จิตเกิดแล้ว เกิดในปฏิสนธิในครรภ์ ก็ทุกข์อยู่ในครรภ์ ๙ เดือนคลอดออกมา คลอดออกมาแล้ว เกิดออกมาแล้วก็มาทุกข์มายากตามประสาของสัตว์โลกที่เกิดขึ้นมา เป็นสิ่งที่โลกเขาชื่นชมกัน เป็นสิ่งที่โลกนี้รื่นเริง ว่าชีวิตเกิดขึ้นมาแล้ว นี่โลกเป็นแบบนั้น

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้วพูดสอนให้คนออกจากโลก ว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ทำลายโลกๆ ขอให้มันทำลายได้จริงเถอะ ทำลายสิ่งที่ว่า ในหัวใจนี่ ทำลายไปแล้ว มันไม่ตายหรอกคนเรา กิเลสตายเฉยๆ แต่ชีวิตยังมีอยู่ แล้วจะไม่ต้องไปสร้างสมเกิดอีกในภพหน้าต่อไป

ในภพชาติต่างๆ ในการสะสม ในการเกิดขึ้นมา มีสภาวะ ชาติปิ ทุกขา เกิดขึ้นมาแล้วมีแต่ความทุกข์ ความทุกข์ของเรา ความทุกข์ของโลก เวลามันบีบคั้นขึ้นมาก็อยากจะหาทางออกกัน หาทางออกกัน แล้วเวลาศึกษาเล่าเรียน ศึกษาธรรมๆ ครูบาอาจารย์สอนธรรม ครูบาอาจารย์สอนถูกต้องก็เป็นธรรม กิเลสมันสว่างขึ้นมา กิเลสมันไม่มืดบอด ถ้ากิเลสมันมืดบอด มันไม่เชื่อ

ดูผู้ที่เป็นชาวพุทธเราสิ การประพฤติปฏิบัติจะมีมากหรือมีน้อยขนาดไหน จะไม่สนใจเรื่องการประพฤติปฏิบัติ จะไม่สนใจเลย ตื่นแต่โลก ตื่นแต่สงสาร ความเป็นโลก ความเป็นสงสาร โลกสงสารคือวัฏวน ตื่นแต่เรื่องวัฏวนนะ ตื่นแต่เรื่องของโลกเขา แล้วอยู่กับโลกเขาอยู่อย่างนั้นตลอดไป แล้วก็คร่ำครวญว่าทุกข์ๆ แต่ไม่มีทางออก ไม่เข้าใจ ทั้งๆ ที่สภาวธรรมก็ดังอยู่ตลอดเวลา ถ้าสภาวธรรมดังอยู่ตลอดเวลา แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมไว้แล้วด้วย แล้วเราชี้ธรรมด้วย ธรรมมีอยู่ แต่เราเอาขึ้นมาในหัวใจของเราได้หรือเปล่า

ถ้าเราเอาขึ้นมาในหัวใจของเราได้ เอาขึ้นมาในหัวใจ ธรรมกังวานในหัวใจส่วนหนึ่ง ธรรมกังวานอยู่ในตำรับตำราส่วนหนึ่ง ตำรับตำรามีสภาวธรรม อ่านเข้าไป ใครไปอ่านไปศึกษาขึ้นมา มันจะเข้าใจตามสภาวธรรมนั้น มันจะตื่นเต้นนะ สิ่งนี้มีอยู่แล้วๆ ทั้งๆ ที่ความเข้าใจของเรามันมีอยู่โดยดั้งเดิม แต่กิเลสมันบิดเบือนสิ มันบิดเบือนความเห็นนะ ความเห็นของเราควรจะเป็นตามความเป็นจริง ควรจะเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ตามความเป็นจริงว่าเข้าถึงธรรม นั่นน่ะกิเลสมันมืดบอด มืดบอดอย่างนั้น มันบิดเบือน มันปิดบังใจไว้ไง ปิดบังใจไว้

ในการประพฤติปฏิบัติ เวลาพยายามทำความสงบของใจ เราพยายามทำใจขึ้นมา ให้ยืนขึ้นมาให้ได้ เป็นเอกัคคตารมณ์ จิตยืนตัวได้น่ะ จิตยืนตัวไม่ได้ จิตจะล้มเหลวๆ จิตจะคลุกกลิ้งไปตามประสาอารมณ์ เป็นไปอย่างนั้น สัตว์โลกทุกข์ ทุกข์เพราะเหตุนั้นไง ทุกข์เพราะยืนตัวเองไม่ได้ ทรงตัวเองไม่ได้ ถ้าทรงตัวเองได้ ทำความสงบของใจขึ้นมา กำหนดพุทโธๆ เข้ามา นั่นน่ะกิเลสมันไม่มืดบอด มันจะเริ่มลืมตาได้ ถ้ากิเลสลืมตาได้ สภาวธรรมเกิดขึ้นแล้ว

“สภาวธรรม” สิ่งที่เป็นธรรมเกิดกับหัวใจ เป็นความสัมผัสของใจ ใจต้องรู้สภาวธรรมนั้นตามความเป็นจริง มันจะปลดเปลื้องสิ่งต่างๆ ปลดเปลื้องความทุกข์สิ่งต่างๆ ความทุกข์ ทุกข์เพราะว่าแบกหามภาระต่างๆ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ติดมากับใจตลอดเวลา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รับรู้สิ่งต่างๆ มันก็รับรู้แต่เฉพาะหน้าที่นะ แต่รวมลงแล้ว รวมลงที่ใจทั้งหมด

ใจนี้ต้องแบกรับภาระตั้งแต่ ๔-๕ ประตูเข้ามานี่รับทั้งหมดเลย แล้วถ้านอนหลับอยู่ มันก็ยังฝัน นั่งเฉยๆ มันก็ยังคิด คิดประสาของมัน มันถึงว่ารับรู้สิ่งต่างๆ รับแบกรับภาระไว้ในหัวใจนี้มหาศาลเลย นี่มันเป็นเรื่องน่าสลดสังเวช น่าสลดสังเวชว่า สิ่งนี้มันเกิดขึ้นมากับหัวใจเรา แล้วถ้ามืดบอดก็ไม่มีทางจะเยียวยาได้ คิดแต่หาทางออกๆ แล้วตื่นในการประพฤติปฏิบัติกัน ตอนนี้ตื่นการประพฤติปฏิบัติว่าจะออกจากธรรม ว่าจะออกจากธรรมก็คิดว่าจะออกจากธรรม แล้วทำสมควรไหม

มัชฌิมาปฏิปทา ความเป็นกลาง กลางขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างหนึ่ง แต่กลางของเขา กลางของสัตว์โลก กลางของความคิดของกิเลสที่มันคิดออกไป มันไม่เป็นกลางอย่างนั้นหรอก มันคิดเห็นแต่ว่าความเห็นของตัว มีความเห็นของตัว ไม่เข้าถึงความสงบของใจ ถ้าใจไม่มีหลัก ถ้าใจไม่มีหลัก ความคิดเห็นของใจนั้นมันต้องคาดหมายไป

ความคาดหมายของใจ ความคาดหมายของใจก็คือความคาดหมายของกิเลส สิ่งที่กิเลสเพราะกิเลสมันอยู่ที่หัวใจ เวลามันขยับพลิกแพลงขึ้นมา ความคิดพลิกแพลงขึ้นมาจะมีกิเลสสวมมาด้วย สวมความคิดของเราออกไปตลอดเวลาเลย ว่าสิ่งนั้นเป็นไปอย่างนั้นๆ เป็นความคิดเพราะมันเป็นธรรมชาติ สิ่งนี้เป็นธรรมชาติถ้าเราคิดออกไป

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม กิเลสนะ “มารเอย เธอเกิดจากความดำริ” พอเราคิดขึ้นมามันก็พร้อมแล้ว ความคิดพร้อมไป กิเลสมันพร้อมไปกับความคิดเรา มันเป็นไปโดยตลอดแล้วมันพร้อมไป มันก็หมุนเวียนออกไป หมุนออกมาก็เป็นอะไร? ก็เป็นสิ่งที่ว่าขัดอกขัดใจไม่สมความปรารถนา เวลาปฏิบัติแล้วอยากจะให้มันสงบให้มันสมความปรารถนา นั่นน่ะสมความปรารถนา ปรารถนาของใคร ถ้ากิเลสมันมีอยู่ในหัวใจ มันก็อยากให้สมความปรารถนาของมัน มันก็เร่าร้อนของมันอยู่แล้ว นั่นน่ะ ความเห็นนะ

เริ่มต้นฝึกปฏิบัติ กิเลสมันก็ออก ออกหน้าแล้วๆ ยิ่งใช้ปัญญาเท่าไร มันก็ออกหน้าขนาดนั้น เว้นไว้แต่ถ้ามีสติพอ เราใช้ความคิดนี้ยับยั้งๆๆ ยับยั้งอย่างนั้นมันยับยั้งเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญา ขั้นของความสงบถ้าไม่มีสัมมาสมาธิ ถ้าจิตไม่ยืนตัวขึ้นมา มันจะทำงานสิ่งใด ถ้ามันล้มลุกคลุกคลานอยู่ มันทำงานออกไป มันทำงาน นี่อันนี้บอด มืดบอดเพราะยิ่งปฏิบัติยิ่งออกไกล ออกไกลออกไป ไกลจากหลักการความเป็นจริง

สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน มันต้องมีสมถกรรมฐานเพื่อความสงบของมันขึ้นมา ถ้าใจสงบเข้ามา สงบเข้ามา ความสงบของใจ ถ้าใจเข้ามา ใจเป็นผู้ทำงาน ถ้าไม่สงบของใจ กิเลสเป็นผู้ทำงาน เพราะใจมันยังยืนตัวไม่ได้ เราไม่รู้ ความสุขในการปล่อยวาง เราไม่เข้าใจ ไม่มีสิ่งใดมีความสุข มีแต่ความทุกข์ๆ เราปฏิบัติแล้ว มันมีแต่ความเครียดมีแต่ความเร่าร้อน นั่นน่ะมันเป็นเพราะกิเลสมันเป็นฝ่ายทำงาน

ถ้าธรรมจะพาทำงานขึ้นมา เราต้องทำความสงบของใจ ใจสงบเข้ามาๆ มันเป็นอุปจารสมาธิ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ เป็นสมาธิใจจะร่มเย็นเข้ามา ใจจะร่มเย็นเข้ามา นั่นน่ะมันถึงว่าเริ่มออกมา เริ่มจะยืนตัวขึ้นมาได้ ใจยืนตัวขึ้นมาได้ ใจจะสัมผัสสิ่งต่างๆ สัมผัสความรู้สิ่งต่างๆ นั้น ไม่รับรู้สิ่งต่างๆ อันนั้นเป็นนิมิต เป็นความเห็นต่างๆ ของใจที่มันจะหลอกลวงออกไป นั่นน่ะ ถ้าเราออกนี้ ถ้าเราตามสิ่งนั้นไปเป็นภาวนาส่งออก

เห็นไหม ความรู้ของเรามันส่งออกไปไหน ส่งออกตามกระแสสิ่งที่มันอยากให้รู้ไง รับรู้เห็นภาพ เห็นนิมิต เห็นต่างๆ ออกไปน่ะ มันรับรู้สิ่งเหล่านั้น แล้วมันจะออกไปข้างนอก มันไม่เป็นตัวมันเอง ถ้าเป็นตัวมันเองต้องปล่อยวางทั้งหมด การสละ การปล่อยวางนั้นเป็นผลของการประพฤติปฏิบัติ เพราะเราแบกหามมาเต็มที่แล้ว เราถึงเป็นทุกข์เป็นยากอยู่นี้ แบกหามอารมณ์ตัวเองนี่แบกหามนะ ความคิดที่มันเป็นความทุกข์ อยากจะปล่อยวาง มันก็ปล่อยวางไม่ได้ นี่มันแบกหามอย่างนั้น ไม่รู้เข้าใจวิธีการปล่อยวาง

แต่คำบริกรรมของเรา เราใช้คำบริกรรมกำหนดพุทโธๆ นี่อาหารใหม่ จิตนี้หิวโหยมาก รับรู้ หิวโหย แล้วสิ่งใดผ่านมาจะต้องคว้าไว้เพื่อประทังความหิวของตัว จะกินทุกอย่าง สัมผัสน่ะ ไม่มีสิ่งใดๆ มันก็คิดของมันเอง มันสะสม มันอุ่นกินของมันในหัวใจของมันได้ อุ่นกินความคิดความเห็นของตัวเองในหัวใจตลอดเวลา นั่นน่ะ ออกไป อุ่นกิน ความคิดนี่อาหารของมัน

แล้วอาหาร คำบริกรรมเป็นอาหารใหม่ อาหารที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้แล้ว ให้กำหนดคำว่าพุทโธ คำบริกรรมนี้สำคัญมาก สำคัญกับจิตนี้เวลาคำบริกรรม ถ้าบริกรรมได้ต้องบริกรรมตลอดเวลา เพื่ออะไร? เพื่อจะให้จิตนี้ อาหารของใจให้เปลี่ยนเป็นอาหารที่ว่าไม่เป็นพิษเป็นภัยไง สิ่งที่ว่ามันคว้ามากิน กิเลสมันพาคว้าพากิน พอคิดขึ้นมามีอารมณ์ความรู้สึก พอเราคิดขึ้นมา อารมณ์ความรู้สึกจะเกิดขึ้น ขึ้นกับสิ่งที่เราคิดนั่นน่ะ แล้วมันจะคิดออกไป สืบต่อออกไป เป็นอารมณ์เป็นความคิดออกไป

เป็นความคิด ถ้ามันคิดไม่พอใจ มันจะโกรธ มันจะมีความเร่าร้อน มันจะมีความทุกข์ใจ ถ้ามันคิดถึงความเป็นสุข ก็สมมุติว่ามันจะเป็นสุข มันก็ไม่มีความเป็นสุขตามความเห็นนั่นน่ะ ความสุขคือความต้องการสมความปรารถนา คิดจินตนาการสิ่งต่างๆ แล้วเราจะได้ตามสิ่งนั้น สิ่งนี้มันเป็นอนิจจัง โลกสมบัติ โลกมนุษย์มันเป็นเรื่องของอนิจจังอยู่แล้ว วัฏฏะนี้เป็นอนิจจัง ชีวิตนี้ก็เป็นอนิจจัง แล้วสมบัติใดมันจะเป็นของจริงล่ะ

แต่เราหาอยู่หากินกัน ใช้มาก ใช้สมบัติออกไปจนมันขาดแคลนไป เป็นหนี้เป็นสินออกไป เราต้องหากินกับมัน นั่นน่ะ มันต้องขนาดว่ามันไม่สมความปรารถนา มันเป็นความทุกข์ นั้นก็เป็นส่วนหนึ่ง แล้วความทุกข์ของใจ ความทุกข์ของใจไง ไม่สมความปรารถนาของความคิดนั้น นั้นก็เป็นความคิดอีกส่วนหนึ่ง นี่ตัณหาความทะยานอยาก สิ่งนี้มันเผาลนใจตลอดเวลา คำบริกรรมยับยั้งสิ่งนี้ไง พยายามยับยั้ง แย่งพื้นที่ในหัวใจกัน

หัวใจมันออกไปใช้ความคิดอย่างนี้ มันคิดออกไป เนื้อที่กิเลสเอาไปกินหมดเลย แล้วสภาวธรรมที่เอาไปกิน คำบริกรรมจะไปกิน ตรงไหนบ้างล่ะ นี่เราได้ดื่มกินธรรม คำบริกรรม เราตั้งใจบริกรรม มีสติ ตั้งใจบริกรรม บริกรรมพุทโธๆๆ แล้วมันสงบเข้ามา เป็นอุปจาระ เป็นอะไรก็แล้วแต่เข้าไป เวลามันออกมา เวลาออกมา เพราะคำบริกรรมได้ เราต้องใช้คำบริกรรมทันที เพื่ออะไร? เพื่อให้จิตเข้าไปอีก ให้สงบเข้าไปๆ

แต่ความประพฤติปฏิบัติของเรา กิเลสมืดบอด ไม่เข้าใจสิ่งนี้ แล้วก็เอาสิ่งนี้เป็นว่า เราคำบริกรรมแล้วมันนอนนะ เปิดทางเอาไว้ให้กิเลส ว่าต้องคำบริกรรมจะจางไป คำบริกรรมนี้จะหาย ตามตำรับตำราว่าไว้อย่างนั้น นี่ตีความธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผิด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่ากำหนดพุทโธๆ แล้วถ้าถึงพุทโธแล้ว พุทโธกับจิตนี้จะเป็นอันเดียวกัน สิ่งที่เป็นอันเดียวกัน มันจะลึกลับมหัศจรรย์ มันจะปล่อยวางหมดเลย สักแต่ว่ารู้ อันนั้นมันเป็นสภาวะตามความเป็นจริง

แต่เวลาปฏิบัติกิเลสมันหลอก หลอกว่าต้องปล่อยวาง ต้องวางออกมา พยายามปล่อย ทำให้มันหายไป ไม่นึกคำบริกรรมได้ มันเปิดทางให้ตกภวังค์ไง สิ่งที่ตกภวังค์ไป มันจะหายเงียบไปเลยนะ เพราะว่าสติไม่พร้อม สติไม่พร้อม คำบริกรรมมันก็จางลงๆ แล้วมันจะลงออกไป มันไม่เข้าหลักหรอก ถ้าเข้าหลักมันต้องมีสติตลอดเวลา จะระลึกรู้อยู่ตลอดเวลาว่าจิตจะลงขนาดไหน จิตจะลงสมาธิขนาดไหน จะเข้าขั้นไหน จะเข้าสมาธิ จะออกจากสมาธิ จะรู้ตัวตลอดเวลา สืบเนื่องตลอดเวลา จะเข้าใจตลอด

นั่นน่ะ มันจะมีความชุ่มชื่นมาก นี่ปล่อยวาง นี่อาหารตามความเป็นจริง กิเลสไม่มืดบอด มืดบอดเพราะมันไม่เข้าใจสิ่งนี้ แล้วมันก็ตีความผิดไป แล้วยิ่งปฏิบัติ ยิ่งออกไปข้างนอกนะ ในเมื่อสมถะพื้นฐานของเราไม่ดี พื้นฐานในการยกขึ้นวิปัสสนาของเราไม่มี แล้วเราจะวิปัสสนาสิ่งใด ว่าสิ่งนั้นเป็นวิปัสสนา สิ่งนี้เป็นวิปัสสนา นั้นเป็นการปลอบใจกัน เพื่อที่ว่าให้เข้าถึงไง ให้เราไม่ต้องดิ้นรนจนเกินไปนัก ถ้าเราดิ้นรนเกินไปนัก ว่างานนั้นยังไม่ทำ งานนี้ยังไม่ทำ

ทำแต่สมถกรรมฐาน แล้ววิปัสสนากรรมฐานเรายังไม่ทำ เมื่อไหร่เราจะทำได้ เมื่อไหร่จะทำได้ ก็ให้ใจมันสงบก่อน สิ่งที่ใจมันสงบก่อน งาน เห็นไหม งานแล้วแต่ว่าถ้ามันเป็นประโยชน์ จะช้าจะเร็วก็แล้วแต่ ถ้ามันเป็นงานสมกับเป็นประโยชน์ ถ้ามันไม่สมประโยชน์ งานแล้วทำแล้วมันจะเป็นโทษอีกด้วย ทำให้เร็ว ทำให้มันเป็นไป ใจร้อนด่วนได้ไง ใจเร็วด่วนได้ ซื้อก่อนขาย อยากได้มา ซื้อก่อนขาย เรายังไม่มีอะไร ซื้อมาๆ

มันออกมาแล้ว ขายก่อนซื้อเพราะไม่มีของเลย ไปขายก่อนๆ จนเราไม่มีสิ่งใดเลย เราต้องซื้อมาก่อน ซื้อ มีของเราแล้วเราค่อยขาย มีของ เรามีของเราแล้ว เราทำสัมมาสมาธิขึ้นมาได้ เราทำของเราเข้ามาได้ มันเป็นหลักของใจขึ้นมา แล้วเราค่อยขายออกไป สิ่งที่ขายออกไป วิปัสสนาไง สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน เราไม่มีสิ่งใดเลย เราจะไปขายอะไร เราจะเอาอะไรไปขาย เราขายก่อนซื้อ เราขายไปๆ ตลอดเวลา

มันเป็นความเห็นของกิเลส กิเลสในหัวใจ มันน่าสงสารนะ เวลาพูดเรื่องกิเลส กิเลส ทำไมยกให้กิเลสทั้งหมดเลย แล้วกิเลสมันก็อยู่ในใจของเรา แล้วเราจะทำอย่างไร เพราะมันยากอย่างนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ตรัสรู้ธรรมขึ้นมาต้องสร้างสมบารมีขึ้นมา คนไม่มีสร้างสมบารมี ไม่มีบารมี จะไม่รู้สิ่งนี้ เพราะมันเป็นสิ่งที่ว่าไม่สนุกสนาน ถ้าตื่นโลกตื่นสงสารไป เข้ากับกิเลสได้ มันจะสนุกสนานนะ ปฏิบัติไปเข้ากับโลก เข้ากับกิเลส จะสนุกสนาน จะมีสิ่งที่เป็นไป

แต่ถ้าจะชำระกิเลส ธรรมเป็นน้ำสะอาด น้ำจืดสนิท แต่ให้ผลเป็นคุณค่ากับร่างกาย ให้ผลคุณค่ากับหัวใจ ถ้าหัวใจมีธรรม น้ำอมฤตธรรมเข้าไปชำระล้างหัวใจ หัวใจจะปลอดโปร่ง หัวใจจะมีความสุขมาก ความสุข อยู่กับโลกเขาโดยเก้อๆ เขินๆ อย่างนั้น โลกเป็นโลก ใจเป็นใจ ใจที่เป็นธรรมนี้จะไม่เข้ากับสิ่งนั้น จะสะเทือนสิ่งนั้นไม่ได้เลย แล้วก็มีอยู่

แต่ขณะปัจจุบันนี้ ใจก็มีอยู่ แต่ใจเป็นทุกข์ทั้งหมดเลย ทุกข์ในหัวใจนั้น แล้วมันมืดบอดไปกับโลกเขานะ มันมืดบอดได้ มันถึงว่า มันตื่นโลกตื่นสงสาร ตื่นโลกตื่นสงสารในกิเลสมันก็ตื่นของมันอยู่แล้ว ในการประพฤติปฏิบัติธรรมว่าเป็นธรรมก็ตื่นโลกตื่นสงสาร ตื่นไปอย่างนั้น ไม่ให้มันมีแสง มีความสว่าง มีเบิกตาขึ้นมา ให้เดินตามครูตามอาจารย์ ถ้าเดินตามครูตามอาจารย์ไป มีสติพร้อม มีทำความเพียรพร้อม แล้วทำหน้าที่ของเรา หน้าที่ของเราคือทำความเพียรไป ความเพียรนี้จะชำระกิเลส

เราต้องสร้างเหตุ หน้าที่ของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติต้องสร้างเหตุ เหตุคืออะไร? เหตุคือมรรคอริยสัจจัง เหตุคือมรรค แล้วเกิดผลก็คือนิโรธะ แล้วมันเป็นโทษอยู่ถึงปัจจุบันนี้มันเป็นที่ไหน มันเป็นฝ่ายผูกมัด อริยสัจฝ่ายผูกมัด มันเป็นสมุทัย สิ่งที่เป็นสมุทัยเป็นตัณหาความทะยานอยาก สิ่งที่เป็นตัณหาความทะยานอยาก มันมีธรรมชาติมันเป็นไป

สภาวธรรมก็เป็นธรรมชาติ กิเลสก็เป็นธรรมชาติ แต่สภาวธรรมที่เป็นธรรมชาติอันนี้มันจะทำให้ใจพ้นจากธรรมชาติด้วยเหตุผลอันนี้ ด้วยเหตุผลที่ในหัวใจ สิ่งที่มันมีอยู่แล้วเป็นตัณหาความทะยานอยาก แล้วที่ทำอยู่นี่ไม่เป็นตัณหาความทะยานอยากเหรอ มีความลังเลสงสัยขึ้นมาทันทีว่า ถ้าเราทำขึ้นมามันเป็นตัณหาความทะยานอยาก สิ่งที่เป็นตัณหาความทะยานอยากก็เป็นพื้นฐาน อยาก เราอยากในเหตุมันเป็นความถูกต้อง ถ้าเราอยากแล้วไม่ทำ มีแต่ความอยาก มีแต่ความต้องการ มีแต่ความปรารถนา นั้นคือสมุทัย

สิ่งที่เป็นสมุทัยคือเป็นตัณหา แล้วว่าทำไม่ได้ด้วย ถ้าทำแล้วมันเป็นกิเลส สิ่งที่ทำเป็นกิเลส เราเลยสักแต่ว่าทำ สักแต่ว่าทำ ผลเลยเป็นสักแต่ว่าผล ผลมันไม่สมความปรารถนา ไม่ตามความเป็นจริง เพราะเราไม่มีความจงใจ สติตั้งมั่น มีสติ มีความจงใจขึ้นมา ถ้ามีความจงใจขึ้นมา เราทำของเราขึ้นมา มันเป็นธรรมฝ่ายเหตุ เราต้องทำของเราไป เหมือนกับคนโง่ๆ เลยล่ะ ทำของเราโดยไม่ต้องปรารถนาสิ่งใด ให้มันเป็นเอง

สภาวธรรมเป็นสภาวะธรรมชาติที่เกิดขึ้นเอง สิ่งที่เกิดขึ้นเองต้องเป็นเอง เป็นตามสภาวธรรม ไม่ใช่เป็นการคาด การหมาย การจินตนาการ ถ้าเป็นการคาด การหมาย การจินตนาการ จะไม่เป็นปัจจัตตัง สิ่งที่เป็นปัจจัตตังจะมีขณะจิตที่รับรู้ไปตลอด สิ่งที่รับรู้ เป็นนามธรรม มันเป็นนามธรรมยกขึ้นเป็นรูปธรรมให้เราจับต้อง ให้เราคาด เราจับต้อง เราสืบต่อเข้าไปในหัวใจของเรา สืบต่อเข้าไปในหัวใจ ไม่ใช่สิ่งนี้รับรู้สิ่งต่างๆ แล้วส่งออก

นี่รับรู้สิ่งต่างๆ รับรู้สิ่งเฉพาะที่เราทำขึ้นมาแล้วส่งออกไป รับรู้สิ่งนั้นๆ ยิ่งภาวนายิ่งออกนะ ยิ่งออก ออกไปมันจะบอด บอด ๒ ชั้น ๓ ชั้นนะ ไกลจากหลักความเป็นจริง ถ้าถูกต้องขึ้นมา จะสงบตัวเข้ามาๆ สงบตัวเข้ามาจนถึงฐานของมันน่ะ มีฐานตั้งมั่น พอฐานตั้งมั่น ออกขึ้นมา มันจะวิปัสสนาได้ ถ้าวิปัสสนาได้จะเป็นผลงาน ผลงานในการประพฤติปฏิบัติ อันนี้นี่ธรรมฝ่ายเหตุ เราถึงต้องสร้างเหตุของเราขึ้นมา สร้างเหตุในการประพฤติปฏิบัติ

นั่งสมาธิภาวนาเป็นการสร้างเหตุอยู่แล้ว เป็นการสร้างเหตุ สร้างเหตุด้วยการนั่งสมาธิภาวนา กายสงบแล้วใจสงบไหม นั่นน่ะเหตุจากภายนอก แล้วก็เหตุจากภายใน ภายนอกสงบแล้ว นั่งอยู่ ไม่ทำกิริยาของเรา ไม่มีสิ่งใดๆ เข้ามากระเทือนในนี้เลย แต่ทำไมหัวใจมันไม่สงบล่ะ ถ้าหัวใจไม่สงบ คำบริกรรมของเราไม่พอ สติของเราไม่พอ ต้องยับยั้ง พยายามสร้างขึ้นมา นี่มันทำได้

ทุกคนต้องมีอำนาจวาสนา ถ้าไม่มีอำนาจวาสนา การประพฤติปฏิบัติของเราจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร การสนใจในการประพฤติปฏิบัติ คนที่ไม่สนใจต่างหาก นั่นน่ะกิเลสมันถึงมืดบอด ถ้ากิเลสมันลืมตาขึ้นมา เราให้กิเลสลืมตาขึ้นมา เป็นสภาวธรรมขึ้นมา มันจะสนใจเรื่องสิ่งนี้ ถ้าสนใจเรื่องสิ่งนี้ นี่อำนาจวาสนา ไม่ต้องให้กิเลสเข้ามาคิดอีกเลย มันเป็นการต่อสู้กันไปตลอดเวลานะ

ความคิดฝ่ายหนึ่งจะทำให้ความคิดของเราหยุดเลิก มีความเลิกเถอะ ถ้าทำไปแล้วมันไม่สมความปรารถนา ความคิดส่วนหนึ่ง มรรคผลนิพพานไม่มีแล้ว ถึงกาลถึงเวลาหมดไปแล้ว สิ่งนี้ไม่ใช่อำนาจวาสนาของเรา เราจะไม่มีโอกาสได้ทำ ถ้าไม่เชื่อสิ่งนั้น ถ้าเราไม่เชื่อความเป็นจริง สิ่งนี้มันมีอยู่จริง มรรคผลนิพพานมีอยู่จริง เพราะอะไร เพราะสภาวะทุกข์มีอยู่จริง สภาวะทุกข์มีอยู่จริง สภาวะของใจมีอยู่จริง จริงทั้งหมดเลย สิ่งนี้มันเข้ากันได้ มันถึงมีจริงไง

ไม่ให้กิเลสมันเข้ามาตัดสินไปก่อนว่าไม่มี แล้วไม่เชื่อ แล้วไม่มีการประพฤติปฏิบัติ นั้นมืดบอดไป แล้วทำให้ใจดวงนั้นเกิดตายในวัฏฏะ เวียนตายในวัฏฏะ ถ้าเขาทำคุณงามความดีในสถานะที่เขาทำได้ก็เป็นบุญกุศลของเขาที่เขาไปเกิดสถานะที่ดี ถ้าเขาทำความชั่วเอาไว้ ในความคิดของเขา ยิ่งทำยิ่งไม่เชื่อ ยิ่งทำความชั่ว เพราะถ้าไม่เชื่อแล้วมันจะทำตามความพอใจของตัว พอใจของกิเลส กิเลสมันจะพอใจสิ่งใดมันก็ต้องคิดตามประสาของมัน แล้วทำตามแต่อำนาจของมัน มันจะเป็นสภาวะแบบนั้น แล้วเป็นอย่างนั้นไป แล้วผลมันจะเป็นแบบใด

เห็นไหม มันถึงว่า ถ้าไม่เชื่อมันก็เป็นสภาวะแบบนั้น ถ้าเราเชื่อมรรคผล เชื่อมรรคผล ชีวิต การดำรงชีวิต เราก็ใช้ชีวิตของเราไปตามสถานะที่เรามีอยู่ ถ้าเรามีเวลาปฏิบัติธรรมบ้าง เรามีปฏิบัติธรรมบ้าง แล้วปฏิบัติธรรมจนออกประพฤติปฏิบัติ ออกบวช พระออกบวชเป็นผู้นักบวช นักบวชเป็นผู้ที่พร้อมแล้ว พร้อมที่ว่า เรื่องสิ่งต่างๆ ความเป็นกังวลใจนี่ปล่อยวางไว้เป็นเรื่องของโลกเขา หน้าที่ของเราคือการประพฤติปฏิบัติอย่างเดียว

หน้าที่ของเราคือการทำความเพียร เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ๒๔ ชั่วโมง ให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ สิ่งที่ทำได้ ความสืบต่อมันต้องเป็นไปได้ ถ้าเราทำ สร้างเหตุขึ้นมา เหมือนกับเราเติมไฟขึ้นไปเพื่อจะต้มน้ำ หน้าที่ของเราต้องดูแลไฟ ต้องใส่เชื้อไฟ แล้วดูแลไฟเพื่อให้น้ำนี่มันเดือด นี่ก็เหมือนกัน ธรรมฝ่ายเหตุ หน้าที่ของเราคือทำความเพียร ผลของมันต้องเกิดขึ้นมา โดยตามความเป็นจริง ถ้ามีเหตุแล้วต้องมีผล

แต่เหตุของเรา ถ้ามันไม่เข้าใจผล ประพฤติปฏิบัติแล้วเชื่อกิเลสไป มันจะหมุนออกๆ หมุนออกไป ถึงที่สุดแล้วไม่ใช่วิปัสสนา เข้าใจสิ่งต่างๆ แล้วปล่อยวาง เป็นปัญญาอบรมสมาธิแล้วเข้าใจว่าเป็นธรรม ถ้าเข้าใจว่าเป็นธรรม มันเป็นธรรม สภาวธรรม แล้วเชื่อสิ่งนั้น แล้วก็สร้างผลนะ เป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคา อนาคา สร้างสถานะขึ้นมาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา แต่ไม่มีขณะจิต ไม่มีความรับรู้ไง

ถ้ามีความรับรู้ เห็นไหม เป็นปัจจัตตัง ถ้าเป็นตามเป็นจริง เวลาพิจารณา มันต้องปล่อย มันปล่อยวางเข้ามา มันเป็นความปล่อยวาง สิ่งที่ปล่อยวางไม่มีขณะที่จะเป็นไป สิ่งที่เป็นขณะเป็นไปมันต้องยกขึ้นวิปัสสนา สิ่งที่วิปัสสนา ปัญญาการชำระกิเลส เป็นปัญญาการชำระกิเลสส่วนหนึ่ง ปัญญาในการใคร่ครวญ ในการอบรมสมาธิ ตะล่อมเข้ามา มันเป็นปัญญาในการใคร่ครวญ ปัญญาที่ว่าตะล่อมขันธ์เข้ามาไง

ขันธ์คือความคิด ความปรุง ความแต่ง เป็นอารมณ์ของใจตลอดเวลา แล้วมันฟุ้งออกไป เวลาพิจารณาเข้ามามันก็ปล่อยวาง สิ่งที่ปล่อยวางๆ นี่อาการของปล่อยวางเข้าใจว่าเป็นผลไง นี่ล่ะ กิเลสมันมืดบอดอีกชั้นหนึ่ง การประพฤติปฏิบัติจะเข้าทาง สิ่งที่มันปล่อยวางเข้ามา มันเป็นการปล่อยวางเข้ามา แล้วเราตั้งมั่น ใจมันจะตั้งมั่น ถ้ามีสติสัมปชัญญะนะ มีสติอยู่ มันปล่อยวางเข้ามาๆ ทำอย่างนี้ถูกส่วนหนึ่ง ถูกในการทำสมาธิไง ถูกในการปล่อยวาง แต่มันไม่ฆ่ากิเลส

ถ้ามันจะฆ่ากิเลส มันต้องเป็นชั้นของปัญญา ปัญญาจะฆ่ากิเลส จิตสงบแล้วยกขึ้นวิปัสสนาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ในกาย ยกกายซ้ำขึ้นมา พิจารณากายโดยนามธรรม พิจารณากายในนามธรรม พิจารณาคาดหมาย การคาดหมาย การพิจารณากายว่ากายนี้เป็นสิ่งที่ว่า เป็นเทียบเคียงว่ามันเป็นอนิจจัง มันเป็นทุกขัง สิ่งนี้เป็นการคาดหมาย

ถ้าพิจารณากายโดยธรรมชาติของการพิจารณากาย เห็นกายโดยการยกขึ้นมา จะเห็นเป็นโครงกระดูก เห็นกายเป็นส่วนใดส่วนหนึ่ง อันนั้นยกขึ้นมาตั้ง นี่เป็นอุคคหนิมิตไปก่อน แล้วทำวิภาคะ วิภาคะไปนี่ แยกส่วนบ่อยๆ ครั้งเข้า มันจะปล่อย ถ้ากำลังมันพอนะมันจะปล่อย ถ้ากำลังไม่พอมันแยกไม่ได้ สิ่งที่แยกไม่ได้ เราตั้งดูไว้ ตั้งดูไว้มันต้องหลุดมือไป ให้เห็นผลไง ให้เห็นความผิดพลาด

ถ้าคนเราไม่มีความผิดพลาด ความถูกต้องมันมาจากไหน? มันต้องมีความผิดพลาด วันนี้ทำแล้วไม่ได้ผล วันนี้ทำแล้วมันผิดพลาดไป พรุ่งนี้ทำใหม่ วันต่อไปทำใหม่ ทำอย่างนี้จนถูกต้อง จนเราทำขึ้นมาแล้ว ความเพียรอยู่ตรงนี้ไง ความเพียรอยู่ที่เราทำบ่อยครั้งเข้า ความผิดขึ้นมา มันผิดแล้วเราพยายามแก้ไขๆ ถ้าแก้ไขขึ้นมา มันจะถูกต้องเข้ามา ถูกต้องเข้ามามันก็ปล่อยวางได้

สภาวะปล่อยวางจากอารมณ์ส่วนนอกอันหนึ่ง สภาวะปล่อยวางจากการวิปัสสนาส่วนหนึ่ง ความสงบของใจมันจะไปลึกซึ้งต่างกัน ความสงบของใจที่มันปล่อยวางอารมณ์ มันเป็นความสงบในขั้นของสมถะ แต่ในการปล่อยวาง มันมีความปล่อยวางกิเลสด้วย สิ่งที่ปล่อยวางกิเลสด้วย นี่มันจะเวิ้งว้างมากกว่าสิ่งนั้น สิ่งที่เวิ้งว้างมากกว่ามันก็เห็นอาการปล่อยวางเหมือนกัน อาการปล่อยวางกับอาการปล่อยวาง มันก็ยังไม่เป็นผล เพราะมันฆ่ากิเลสไม่ขาด มันถึงต้องซ้ำไง

การซ้ำคือขั้นของปัญญา มันกว้างขวางมาก ยกขึ้นมา แล้วตั้งขึ้นมา แล้วพิจารณาไปเรื่อย หน้าที่ของเราคือการแยก การแยะ การพิจารณาสิ่งต่างๆ ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม แยกแยะสิ่งนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสภาวธรรม เป็นสภาวธรรมแล้วนะ สภาวธรรมจากใจดวงนั้น เพราะใจดวงนั้นจับต้อง ใจดวงนั้นเห็น ถ้าใจดวงนั้นเห็นขึ้นมามันถึงวิปัสสนาได้ ถ้าใจดวงนั้นไม่เห็น สิ่งนั้นไม่เห็น มันเป็นความสงบของใจเข้ามา มันวิปัสสนาไม่ได้ วิปัสสนาได้เพราะมันไม่มีงานทำ มันจะปล่อยวาง ปล่อยวางเข้ามา

แล้วเราทำไม่ได้ เราทำไม่เป็น ทำไม่เป็นเพราะว่าอำนาจวาสนา ถ้าไม่มีอำนาจวาสนา มันต้องฝึกฝนไง เริ่มต้นเวลาเราประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราคิด เราเทียบเคียง เราว่าเราจะเป็นสัญญา เราถึงใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้ามา แล้วพอมันว่างเข้ามา เราจะไม่มีขึ้นมา เราจะยกขึ้นมาไม่ได้ เพราะมันจะเป็นสัญญา เราคิด เรากลัวไปไง ขั้นตอนส่วนหนึ่ง มันเป็นสัญญาเพราะมันฟุ้งซ่าน สิ่งที่เป็นฟุ้งซ่านเหมือนกับฟืน เหมือนกับไฟไหม้ป่าอย่างนี้ ถ้าเราใส่ฟืนเข้าไป มันจะลุกขึ้นมา มันจะฟุ้งซ่าน

ถ้าในปัญญาอบรมสมาธิ เราต้องการชักฟืนออก เราต้องการทำความสงบของใจ ถ้าเราเติมฟืนเติมไฟ ไฟมันจะลุกโชติช่วง...ถูกต้อง นี่มันเป็นสัญญา ถ้าเป็นสัญญาคือสัญญาคิดแล้ว มันคือเหมือนกับเราเติมไฟเข้าไปๆ มันจะลุกโชติช่วง อันนั้นมันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เราต้องการตะล่อมเข้ามา นั้นพยายามดึงไฟออก

แล้วพอมันสงบเข้ามาแล้ว เราจะต้องการจุดไฟเพื่อจะเป็นปัญญา เราก็ต้องใช้สัญญา คือว่าใช้ความคิดขึ้นมาให้มันขึ้นมาเป็นสัญญาก่อน น้อมนำมันขึ้นมาไง ให้เห็นกาย ให้เห็นเวทนา ให้เห็นจิต ให้เห็นธรรม เห็นสภาวะแบบนั้น ถ้าเห็นขึ้นมา สภาวะจากภายใน มันจะตื่นเต้น สภาวะที่เกิดขึ้นมามันจะสะเทือนหัวใจมาก สะเทือนหัวใจไปตลอดๆ เพราะกิเลสมันอยู่ที่ใจ

พอกิเลสมันอยู่ที่ใจ เราเห็นกิเลส จากกิเลสที่มันมืดบอด เราไม่เชื่อเรื่องศาสนา เราไม่เชื่อว่ามรรคผลมันมีจริง ทำแล้วจะสมความปรารถนาไหม เวลาทุกข์มันเป็นความจริง แต่สุขนี่ไม่สามารถจะเข้าหาได้ มันจะเริ่มมีดวงตาเห็นธรรมไง ถ้าวิปัสสนาตรงนี้จะมีดวงตาเห็นธรรม สภาวะของกิเลสอย่างหยาบมันจะต้องทำลายไป ทำลายไปด้วยสภาวธรรมตามความเป็นจริงของใจ

สภาวธรรมที่เกิดขึ้นมานี่แยกแยะวิปัสสนา แยกบ่อยครั้งเข้าๆ มันจะปล่อยวางๆ ถ้าปล่อยวางแล้วต้องซ้ำ คนเราปล่อยวางแล้วเข้าใจว่าเป็นธรรมนะ พอปล่อยวางมันจะเวิ้งว้างมาก แล้วจะมีความสงบมาก มันแปลกประหลาดมหัศจรรย์ ความมหัศจรรย์ของมัน คิดว่าสิ่งนี้เป็นผล ถ้าคิดว่าสิ่งนี้เป็นผล นั้นน่ะมันจะทำให้เราเสื่อมถอย สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องแปรสภาพต้องแปรไปเป็นตามธรรมดา

อาการที่ปล่อยวาง มันปล่อยวางแล้วแต่ เดี๋ยวมันก็ไปยึดมั่นถือมั่นใหม่ มันยึดมั่นถือมั่นใหม่เพราะกิเลสมันยังมีอยู่สิ่งนั้น มันต้องปล่อยวางๆ จนถึงจุดหนึ่งมันจะขาดออกไป ขาดออกไป ขณะจิตมันจะรับรู้เลย รับรู้นะว่ากายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ แยกออกจากกัน แยกออกจากกันนั้นคือกิเลสขาด เป็นอกุปปธรรม

ขณะที่กิเลสเกิดขึ้น นี่สภาวธรรมเกิดอย่างนี้ สภาวธรรมความเป็นจริง ขณะจิตมันพลิกไป จะรู้ขึ้นมาจากปัญญาญาณ ปัญญาญาณจะรู้ตัวเองว่า ขณะนี้ปล่อยวางหมดแล้ว ปล่อยวางขาด ไม่ใช่ปล่อยวางธรรมดา ปล่อยวางขาดออกไป จิตเป็นจิต ขันธ์เป็นขันธ์ ทุกข์เป็นทุกข์ แยกออกจากกันโดยธรรมชาติของมัน นี้เป็นผลของการประพฤติปฏิบัติ

นี่เป็นผลของการที่ว่า เราไม่เชื่อกิเลส กิเลสมันจะดึงไปขนาดไหน เราก็ฝืนมัน ฝืนมัน ฝืนมันด้วยปัญญา ปัญญาการใคร่ครวญของเราขึ้นมา ย้อนกลับเข้ามา ย้อนกลับเข้ามาทำงานของใจ งานของต่างๆ งานของโลกเขานี่ทำแทนกันนะ ให้คนอื่นทำแทนได้ ฝากฝังกันทำแทนได้ แต่งานของใจเราต้องทำของเรา แล้วงานของใจเราต้องทำงานของเรา เราถึงจะต้องมีความประณีต มีความละเอียดอ่อน

มีความละเอียดอ่อน ใคร่ครวญสังเกตให้ดี จะจับสิ่งนี้แล้ววิปัสสนาแยกออกไปๆ ซ้ำๆ ไป จนผลมันเกิดขึ้นเป็นขณะจิตอันนี้ เป็นขณะจิตที่มันเป็นไปนี้ เป็นผลของใจดวงนั้นโดยสมบูรณ์ ใจดวงนั้นจะเข้าใจธรรม จะไม่ลังเลสงสัยในสภาวธรรมแล้ว จิตนี้เป็นที่พึ่งของตัวเองได้ แล้วก้าวเดินต่อไป ก้าวเดินในการวิปัสสนา ในการทำสมถะขึ้นมา เพื่อเป็นอริยสัจที่ละเอียดเข้าไปๆ ละเอียดเข้าไปจนกว่าดวงใจนี้จะพ้นออกไปจากความยึดมั่นถือมั่นนะ จากความยึดมั่น

ถ้าไม่พ้นจากความยึดมั่นถือมั่น มันก็จะรวนเรไง จะรวนเรไปอย่างนั้น เวลาที่ว่าผู้ปฏิบัติติด ติดอย่างนี้ไง ติดที่ว่า พอมีความรู้ต่างๆ มีความเห็นตามสภาวะตามความเป็นจริง เห็นแล้วจะทำอย่างไรต่อไป จะไม่เข้าใจสิ่งนั้นขึ้นมา นี่มีครูมีอาจารย์ ถ้ามีครูบาอาจารย์อยู่ สิ่งที่การประพฤติปฏิบัติมันต้องก้าวเดินต่อไปเป็นชั้นเป็นตอน

มรรค ๔ ผล ๔ มรรคขั้นที่ ๑ เราเข้าใจตามความเป็นจริง มรรคขั้นที่ ๑ ถ้าเราเข้าสิ่งนี้ได้ มีดวงตาเห็นธรรมขึ้นมา เราจะก้าวเดินขึ้นไปโดยที่ว่า เราทำมีแบบอย่าง มีแบบอย่างมีการดำเนินแล้วเราจะก้าวเดินต่อไป เราก็ต้องทำความสงบของใจเข้าไปอีก ทำความสงบของใจ เพราะผลของความปล่อยวาง ความว่างอันนั้นมันเป็นความว่าง เป็นความว่างจากใจ เป็นความว่าง เป็นผลของใจ

มรรคขั้นที่ ๑ รวมตัวกันไปแล้ว มันปล่อยวางไปแล้ว มันเป็นความว่าง แต่ใจ สิ่งที่ละเอียดเข้าไป กิเลสอย่างละเอียดเข้าไป มันก็อยู่ในสภาวะของใจ ต้องย้อนกลับเข้าไป ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม อันนี้เหมือนกัน ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรมจนถึงที่สุด เพราะมันอยู่ที่นี่ ที่อยู่ของกิเลส กิเลสมืดบอดจะไม่ให้เห็นมันเลย แต่จะเห็นสภาวะ เห็นที่อยู่ของกิเลสด้วย วิปัสสนาจนกว่ากิเลสมันขาดออกไปด้วย

เห็นกิเลสด้วย แล้วเห็นกิเลสขาดออกไปด้วย ความเห็นต่างๆ มันถึงว่าไม่มีความลังเลสงสัย ใจดวงนั้นจะสมบูรณ์ในใจดวงนั้น จะไม่สงสัยในสภาวธรรมเลย เป็นเครื่องยืนยัน เป็นเครื่องยืนยันที่ว่า พระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกสงฆ์องค์แรกเกิดขึ้นมาในโลก สงฆ์องค์แรกเกิดขึ้นมาในโลก แล้ววิปัสสนาไป

อนัตตลักขณสูตร สอนเรื่องอนัตตลักขณสูตรว่า ขันธ์นี้ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ สิ่งนี้เป็นเราไหม? ไม่ใช่เป็น ทุกข์ไหม? ทุกข์ ทุกข์ทำไมไม่ปล่อยวาง ขันธ์อันละเอียด ทำไมไม่ปล่อยวางๆ ถ้ามันปล่อยวาง มันก็ต้องพยายามค้นคว้าเข้าไปให้จับต้องสิ่งนั้นได้ สภาวะความเป็นทุกข์ ทุกข์เพราะว่ามันสัมพันธ์กัน ถ้ามันมีอยู่ มันเกาะเกี่ยวกัน พอเกาะเกี่ยวกัน มันจะเป็นความรู้สึก เป็นความอารมณ์รู้สึกขึ้นมา เป็นความคิด ความปรุง ความแต่ง เกิดขึ้นจากใจ แต่มันเป็นสิ่งที่ละเอียดขึ้น

ถ้าสิ่งนี้มีอยู่ ความคิดยังมีอยู่ ถ้ายังมีอยู่นี่ย้อนกลับเข้ามาได้ แต่พอมันปล่อยวางใหม่ๆ มันจะเวิ้งว้าง มันจะว่าง มันจะแปลกประหลาดมหัศจรรย์ ว่าสิ่งนี้ไม่มีไง สิ่งนี้ไม่มีจนมันเสื่อมไป มันรับรู้ กระทบไป มันจะรับรู้สิ่งต่างๆ มันจะทุกข์ พอมันจะทุกข์มันจะเข้าใจสิ่งนั้นน่ะ มันจะเริ่มทำต่อไป เริ่มทำต่อไปก็ต้องใช้ปัญญา เวลามันเกิดขึ้นมาก็ต้องใช้คำบริกรรมเข้าไปให้มันสงบตัว สงบเข้าไป สงบตัวเข้าไป จนกว่ามันจะเข้าไปใคร่ครวญสิ่งนั้นได้ จับต้องสิ่งนั้นได้ ใคร่ครวญสิ่งนั้นได้

ทำเข้าไปบ่อยครั้งเข้า มันเป็นอุปาทาน สิ่งที่เป็นอุปาทานในกาย การปล่อยวางกาย สักกายทิฏฐิ ๒๐ ความเข้าใจผิด ความเห็นกายว่าเป็นเรา ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว “ชีวิตนี้มันเป็นของสมมุติ ทุกอย่างนี้เป็นสมมุติ” เราก็ศึกษาธรรมขึ้นมา แล้วเราก็เข้าใจธรรมขึ้นมา แล้วเราก็คาด เราก็หมายของเรา เวลากิเลสมันมืดบอดมันเป็นสภาวะแบบนั้น

แต่เวลาธรรม มันมีดวงตาเห็นธรรม กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย ตามความเป็นจริง เพราะเราใช้ปัญญาของเราใคร่ครวญวิปัสสนา มันไม่ใช่เรา เห็นการแตกดับออกไปโดยธรรมชาติ เห็นการเกิด มันแปรสภาพออกไป มันไม่ใช่เรา สักกายทิฏฐิ ๒๐ ถึงไม่ใช่เรา สิ่งที่ไม่ใช่เรา มันไม่ใช่เราตามความเห็นของใจดวงนั้น แต่ถ้ามันไม่วิปัสสนามา มันเป็นความจำมา มันเป็นความเห็นว่ามันเป็นความยึดความติด มันจะเป็นสภาวะยึดติดแล้วไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจ

ธรรมะมันถึงแปลกประหลาดตรงนี้ไง ตรงที่เป็นปัจจัตตัง รู้จำเพาะใจดวงที่เห็น ถ้าใจดวงที่ยังไม่เห็น ใจดวงที่ยังทำไม่ได้ผลเป็นอันนั้น มันก็ยังมีความลังเลสงสัยตลอดไป ทั้งๆ ที่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายืนยันมาแล้ว ๒,๐๐๐ กว่าปีนะ ทุกคนก็เข้าใจ ทุกคนก็ศึกษาธรรมมา แต่มันมืดบอดจนทำให้ผิดพลาดออกไป ยิ่งไกลออกไป ถ้าผิดพลาดจากขณะจิตที่มีนะ ไม่มีขณะจิตที่เป็นไป รับรู้สภาวะนี้ จะไม่เข้าทาง

แต่ถ้ามีขณะจิตนี้นะ ขณะจิตที่เป็นไปแล้วจะเข้าทาง พอเข้าทางมา ก็เดินหน้าต่อไป มันอยากจะหวังผลข้างหน้า ผลข้างหน้าที่จะเป็นไป มันจะเป็นผลต่อไป ยืนยันต่อไป การก้าวเดินจนถึงที่สุดไง กิเลสมันจะหดสั้นเข้ามาๆ หดสั้นเข้ามาด้วยสภาวธรรม ด้วยสภาวธรรมตามความจริงที่ประหัตประหารมัน มันปล่อยวางชั้นหนึ่งเข้ามาแล้ว มันก็ละเอียดเข้ามา หดสั้นเข้ามา เราก็ตามเข้าไป สิ่งที่เราตามเข้าไปต้องใช้งานของใจ งานของการภาวนามยปัญญา

ใจที่ว่าความคิด คิดของโลกเขา ไม่มีในหัวใจดวงนั้น ใจดวงนั้นจะคิดเป็นสภาวธรรมแล้วย้อนกลับเข้าตลอด ย้อนกลับตลอด ถ้าย้อนกลับก็ทวนกระแสเข้าไป จะจับต้องสิ่งนั้นได้ จับต้องสิ่งนี้ได้ สิ่งนี้ก็เป็น มันเป็นของอยู่ เป็นอนิจจังทั้งหมด “สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์” สิ่งนี้เป็นทุกข์อันละเอียดอยู่ในหัวใจ มันเป็นทุกข์ “สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา” แต่เราไม่เห็นความเป็นจริงเพราะเราไม่ได้วิปัสสนา

แต่ถ้าเราวิปัสสนาเราจะเห็นสิ่งที่เป็นอนัตตา เห็นพระไตรลักษณญาณ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา แม้แต่สภาวธรรมที่มันเกิดขึ้นมาเป็นธรรมดาแล้ว มันไม่มีกำลังพอ มันไม่สามารถสมุจเฉทปหานได้ ไม่สามารถสมุจเฉทปหานได้มันก็อยู่ในกฎของอนิจจังเหมือนกัน มันก็อยู่ในไตรลักษณ์นี่แหละ แต่เราไม่เห็นมัน เราไม่เห็นเพราะปัญญาของเราไม่พอ

การฝึกของเรา การยืนตัวขึ้นมาของใจมันไม่สามารถยืนด้วยกำลังของปัญญา เราถึงต้องฝึกฝนไง ฝึกฝนบ่อยครั้งเข้า ยืนตัวให้ได้ กำหนดสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิ เห็นไหม เป็นสัมมา สิ่งที่เป็นสัมมาเป็นความถูกต้องทั้งหมด สัมมาสมาธิเกิดขึ้นมานี่พัก พักใจเข้ามา แล้ววิปัสสนาออกไป

มันเหนื่อย การทำงานของใจ ผู้ที่บริหารจะรู้เลยว่าใช้ความคิดมันเหนื่อยมากขนาดไหน นั้นเป็นผู้ที่บริหารจากโลกนะ แต่ผู้ที่บริหารใจ ที่กำลังพิจารณาต่อสู้กับกิเลส มันกำลังใคร่ครวญอยู่ มันกำลังช่วงชิงกันนะ เป็นการช่วงชิง แล้วเราเคยเห็นการชนะของใจขึ้นมา มันมีกำลังใจ มันจะโถมตัวเองเข้าสู้กับกิเลสตลอด นี่ความเพียรมันถึงได้คมกล้าไง ความเพียรของเรา เราทำของเรา ความเพียรของเรา ทำแล้วแต่ที่ว่ามีกำลังใจขนาดไหนก็ทำได้ขนาดนั้น

แต่ผู้ที่เห็นผลอยู่ข้างหน้า เห็นผลอยู่ข้างหน้าเลย การต่อสู้เข้าไป มันทำต่อสู้ได้ ความต่อสู้ความเพียรมันถึงอุกฤษฏ์ อดนอนผ่อนอาหาร ฉันแต่น้อย เราพยายามประพฤติปฏิบัติ ให้มีแต่ ขออย่างเดียว อะไรก็ได้ขาดแคลนไม่สำคัญ ขอให้ความเพียรเราไม่ขาดแคลน ความเพียรของเรา ความเพียรของเราในการใคร่ครวญ เหตุมันเกิดพร้อมไปตลอด แยกแยะไปตลอด สิ่งนี้คือสภาวะเดิม นี่ธรรมมันเป็นสภาวะแบบนั้น เป็นความจริงอยู่แล้ว

กายนี้มันประกอบด้วยธาตุ ๔ เป็นดิน เป็นลม เป็นน้ำ เป็นไฟ สิ่งนี้เกาะเกี่ยวกันอยู่ในความรู้สึก เกาะเกี่ยวกัน เพราะกรรม กรรมนี้เราถึงได้เกิดขึ้นมา เกิดขึ้นมา เชื้อไขก็สืบต่อกันมา นี่เรื่องของกรรม เกิดสืบต่อ เกิดมาจากพ่อจากแม่ มันก็เป็นสภาวะออกมาเป็นมนุษย์ของเราขึ้นมา มนุษย์เราร่างกายประกอบไปด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ มีอยู่แค่นี้ สภาวะเดิมของมัน แต่มันไม่มี ความเห็นของมันเห็นจริงไม่ได้ เพราะธรรมไม่เกิด

แต่ถ้าธรรมเกิด มันเห็นสภาวะตามความเห็นจริง มันจะคืนสภาวะเดิมของมัน แยกออกนะถ้าพิจารณากาย ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ จะกลับคืนสภาวะเดิม แยกออกจากกัน มันไม่มีอะไรเลย แล้วอุปาทานเกาะเกี่ยวกับสิ่งใด เกาะเกี่ยวนี้ เกาะเกี่ยวยึดว่าเป็นเรา สิ่งนี้เป็นเรา เรามาเกิดจากไหน? เราไม่มี มีแต่ความรับรู้ รับรู้จิตนั้นรับรู้ ถ้าจิตนั้นรับรู้ จิตมันวิปัสสนาอยู่

จิตต้องสงบขึ้นมา แล้วจิตเป็นผู้วิปัสสนา แล้วเห็นสภาวะแบบนั้น มันจะปล่อย ปล่อยวางเข้า มันปล่อยวางเพราะมันจับต้องไม่ได้ มันไม่มีสิ่งใดเป็นสถานที่อยู่ได้ มันเกิดเป็นสภาวะเดิมหมด สภาวะเดิม นั่นน่ะ มันกลายเป็นดิน กลายเป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ ถ้าวิปัสสนา มันเป็นสภาวะ มันมหัศจรรย์มาก ความมหัศจรรย์ของธรรม ธรรมที่ขณะก้าวเดินอยู่นี้ก็มหัศจรรย์ แล้วทำให้ติด ทำให้หลงว่า มันไม่มีส่วนที่ว่ามันเป็นไป

แต่ถึงที่สุดแล้วนะ เราทำ เราย้ำเข้าไป วิปัสสนาใช้ปัญญาบ่อยครั้งเข้าๆ มันต้องเป็นปัญญาบ่อยครั้ง ทำแล้วทำเล่าอยู่อย่างนั้น จนถึงที่สุดมันขาดออกจากกัน จิตเป็นจิต กายเป็นกาย จะแยกออกจากกันโดยสภาวธรรมตามความเป็นจริง จริงอย่างนั้นน่ะ นั่นล่ะสมุจเฉทปหาน กามราคะ ปฏิฆะนี้อ่อนตัวลง วิปัสสนาจิตก็เหมือนกัน ขันธ์นี้เป็นขันธ์ ขันธ์นี้ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ มันจะปล่อยวาง นี่ปัญญามันจะเกิดเป็นชั้นเป็นตอน เป็นชั้นเป็นตอน เวลาต้องการความละเอียดอ่อน มันก็เป็นความละเอียดอ่อน แยกแยะใคร่ครวญอยู่อย่างนั้น จดจ่อกับตรงนั้นที่เดียว เพราะนี่ของปัญญา เวลาทำงานเรื่องของปัญญาใช้ปัญญาเต็มที่ เวลามันใช้ปัญญาเข้าไปแล้วมันฟั่นเฝือไม่เป็นไป เราถึงกลับมาทำความสงบของใจ จนถึงที่สุดแยกเหมือนกัน

พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม สิ่งใดสิ่งหนึ่งอันเดียว หน้าที่เราทีละครั้งเดียว สิ่งนั้นครั้งเดียว เวลารู้มันจะสะเทือนถึงหมด พิจารณากาย ก็รับรู้กาย เวทนา จิต ธรรม เหมือนกัน พิจารณาจิตก็เหมือนกัน เวลาพิจารณาแล้วมันจะปล่อยวางขาดออกไป ปล่อยวางขาดออกไป นั้นมันสมุจเฉทปหาน กายกับจิตจะแยกออกกันธรรมชาติ

ขณะจิตที่รับรู้ นี่เข้าทางตลอดเลย เวิ้งว้างมาก เวิ้งว้างสิ่งต่างๆ สิ่งที่ว่าเวิ้งว้างๆ มันจะลึกล้ำเข้าไป เวิ้งว้างมันมีอย่างกลาง มีอย่างหยาบ มีอย่างละเอียด ลึกเข้าไปเป็นชั้นๆ เข้าไป มันจะปล่อยวางสภาวะแบบนั้นด้วยความรับรู้ของใจไง ใจนี้จะรู้ตลอดว่าเราปล่อยวางสิ่งใดเข้ามา แล้วมันก็เข้าใจว่า ปล่อยวางเข้ามา มันจะให้ค่ามาก

กิเลสในหัวใจมันมีอยู่ สิ่งที่กิเลสในหัวใจมีอยู่จะให้ว่า เราปล่อยเข้ามาแล้ว มันจะเป็นสิ่งที่ว่า เป็นนิพพานเลยๆ มันจะเข้าใจว่าอย่างนั้นตลอดไป เพราะว่ามันยังไม่เห็นศัตรูอยู่ข้างหน้าไง ศัตรูอยู่ข้างหน้าคือว่าเรารุกล้ำเข้าไป เดินก้าวเดินเข้าไปจะต้องลึกเข้าไปในหัวใจ ก้นบึ้งของใจนะ ปฏิสนธิจิตมันอยู่ที่ไม่ใช่ขันธ์ สิ่งที่ความรับรู้อารมณ์นี้มันเป็นขันธ์ทั้งหมดเลย มันเป็นความหยาบๆ ของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเข้าใจแล้ว

แต่ผู้ที่ยังไม่เข้าใจ ผู้ที่ก้าวเดิน ธรรมดาจากผู้น้อยเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา มันก็ต้องพยายามทำหน้าที่ของเราขึ้นไป เพื่อจะให้ตำแหน่งหน้าที่ของเราสูงขึ้นไป นี้ก็เหมือนกัน ความรู้ของใจ ปัญญาของใจ ใจละเอียดอ่อนเข้าไป มันก็ต้องพิจารณาเข้าไป เป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป มันจะเข้าใจไง ติดพันอยู่ส่วนหนึ่ง จะเวิ้งว้าง จะเข้าใจว่านี่เป็นนิพพานได้ จะติดตรงนี้ไง แล้วจะมีความสุขอยู่ตรงนี้ มันเป็นประโยชน์ มันเป็นผล ผลของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ มันมีความเข้าใจแล้ว ถ้าตายไปก็เกิดอีกชาติหนึ่ง

ถ้าวิปัสสนาเข้าไป มันจะย้อนกลับเข้ามาตลอด จะย้อนกลับเข้ามาตลอดว่า สิ่งที่ว่ามันเป็นกามราคะอยู่ที่ไหน? กามราคะอยู่ในหัวใจ ถ้าเป็นอสุภะ จะจับอสุภะได้ จะพิจารณากามราคะ ทีแรกก็พิจารณากามราคะ กามราคะ มันไม่ต้องพิจารณาเป็นกามราคะหรอก มันพิจารณาเป็นสักกายทิฏฐิ ความเห็นกายผิด นั่นล่ะถูกต้อง ถ้าเราพิจารณาความเห็นกายว่าผิด เห็นผิดไง เห็นผิดว่ากายเป็นเรา เราเป็นกาย วิปัสสนาอย่างนั้นน่ะ มันจะปล่อยวางกายตามความจริง เป็นการละสักกายทิฏฐิ

แล้วเป็นการว่า พิจารณากาย พิจารณาเข้าไปอีก จนไปเห็นกาย จนปล่อยวางกาย ปล่อยวางกายเป็นธาตุ เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ ปล่อยออกไป ถ้าเข้าไปถึงกาย พิจารณาซ้ำตรงนี้มันจะเป็นอสุภะ สิ่งที่เป็นอสุภะ-อสุภัง สิ่งที่ทำให้สัตว์โลกเกาะเกี่ยวกัน สิ่งที่โลกสืบต่อได้เพราะเหตุนี้ เหตุนี้ฝังอยู่ที่ใจ เรื่องของกามราคะฝังอยู่ที่ใจ ใจนี้เป็นกามราคะโดยธรรมชาติของมัน แล้วมันฝังอยู่ที่นี่ แล้วมันถึงทำให้สัตว์โลกต้องอยู่ใต้อำนาจของมัน

กามราคะ สิ่งนี้เป็นเรื่องมีอำนาจบาตรใหญ่ในหัวใจของสัตว์โลก ของสัตว์โลก แม้แต่มนุษย์และสัตว์ทุกๆ อย่างต้องมีสิ่งนี้ในหัวใจตลอดไป สิ่งที่มีอยู่ในใจมีอำนาจเหนือกว่า แต่มันจะมีความหลบซ่อนอยู่ในหัวใจ จะไม่ให้เราเข้าใจเรื่องของนี้เลย ถ้าเราเข้าใจเรื่องเราเห็นความมีอำนาจเหนือกว่า เราจะไม่มีผู้ที่มีพญามารควบคุมไง แต่นี้เป็นมารในหัวใจของเรา เราไม่เห็นพญามารควบคุม มารนี้มันก็อยู่เบื้องหลัง แล้วใช้เรา ใช้เราให้สืบต่อ สร้างโลก สร้างสงสารไปตลอด

ผู้ที่ย้อนกลับเข้ามา พิจารณาเข้ามา ถึงจะเห็นโทษของมันไง เห็นโทษของมัน นี้คือเหยื่อ โลกนี้เหยื่อ เหยื่อของเขา เขาให้ความสุขเล็กน้อย แต่ความทุกข์นี้มหาศาล โลกนี้ให้ความสุข ที่นั่นจะเป็นสุข ที่นั่นจะเป็นสุข คาดหมายว่าจะเป็นสุข แล้วเรื่องของกามราคะก็ว่าเป็นสุขสุดยอดของโลกเขา โลกเขาว่าสิ่งนี้เป็นสุข...มันเป็นสุข มันก็ซ้ำๆ ซากๆ เราไม่เคยเกิดไม่เคยตายเหรอ เราไม่เคยผ่านสภาวะนี้มาแล้วเหรอ ทุกคนผ่านมาแต่ไม่มีความอิ่มเต็มไง

สิ่งที่จะอิ่มเต็ม สิ่งที่ว่าจะเสพแล้วพอ เป็นไปไม่ได้ มันจะต้องบกพร่องตลอดไป สิ่งที่บกพร่อง เติมก็ไม่เคยเต็ม สิ่งนี้เต็มไม่ได้ มันถึงว่าทำให้หัวใจนี้เร้าร้อนไง ถ้าย้อนกลับไป สิ่งนี้มันคุกรุ่นอยู่ในหัวใจ ที่ว่ามันว่างๆ อยู่ มันว่างครอบกามราคะไว้ โดยไม่รู้สึกตัวเลยว่าหัวใจที่เวิ้งว้างอยู่นี้มีกามราคะอยู่ไง

จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส ถ้าทำให้ใจนี้ใสสะอาดแล้วจะเห็นกิเลส สิ่งที่จะเห็นกิเลสนี้โดยธรรมชาติของมันเป็นไปไม่ได้เลย กิเลสนี้มันสะอาดกว่า มันละเอียดอ่อน มันใส มันใสกว่า มันใสกว่า มันละเอียดอ่อนกว่า มันซุกซ่อนอยู่ในความเวิ้งว้างอันนั้นน่ะ ความว่าง ว่างขนาดไหน กิเลสนั้นอยู่ที่นั่น ถ้ายังขุดคุ้ยหากิเลสไม่เจอ ถ้าหากิเลสไม่เจอ วิปัสสนาไม่เกิด

การวิปัสสนามันจะเกิดจากสมถกรรมฐาน ยกจิตขึ้นมา แล้วจิตขึ้นมาทำให้มีพลังงานขึ้นมา สมถกรรมฐานคือกำลังของจิต ถ้าสมถกรรมฐานคือความสงบตัวของใจ ถูกต้องในเริ่มต้นต่างๆ แต่เวลาทำขึ้นไปๆ แล้ว กำลังจะเกิดขึ้นมาจากสมาธิ สมาธิที่จิตทำความสงบของใจขึ้นมา แล้วค่อยยกขึ้นวิปัสสนา ยกขึ้นค้นคว้าไง ค้นคว้าขุดคุ้ย คุ้ยเขี่ยหากิเลสให้เจอ

ถ้าขุดคุ้ยหากิเลสเจอ มันจะเจอกามราคะ สิ่งที่เจอกามราคะ ตรงนี้จะเป็นอสุภะไง สิ่งที่เป็นอสุภะ อสุภะ ถ้าใจคิดถึง มันเป็นความสะอาด เป็นสุภะ ทุกคนมีความปรารถนาเกิดเป็นสุภะ ว่าร่างกายเรานี้เป็นของที่สะอาด ของสวยงาม ต้องบำรุงและรักษาไว้ แต่เพราะเป็นเราชาวพุทธ ตำราสอนไว้ ครูบาอาจารย์สอนไว้ว่ามันมีขี้ทั้งหมด ขี้หู ขี้ตา ขี้เหงื่อ ขี้ไคล ต้องชำระล้างตลอดไป เราก็ชำระล้างออกไป แล้วเราก็ติด ติด ติดด้วยความรู้สึก ติดด้วยหัวใจของเรา หัวใจของเราจะติดสิ่งนี้ พอติดสิ่งนี้ มันติดขึ้นมา มันถึงว่าเป็นสุภะไง

ที่ว่าเป็นสุภะเพราะความสวยความงาม ความพอใจของมัน ติดเพราะความพอใจ เพราะสวยงามถึงเป็นความพอใจ ว่าเป็นสิ่งที่ว่าน่าปรารถนารื่นเริง แต่ความจริงมันเป็นอสุภะ ถ้าเป็นอสุภะเพราะอะไร เพราะอำนาจของธรรม เพราะอำนาจของสัมมาสมาธิ เพราะอำนาจของกำลังของใจ ถ้ากำลังของใจจับตรงนี้ได้ จะเป็นผลงานอันมหาศาล ถ้ามันติด คนติดตรงนี้เพราะเชื่อว่าสิ่งนั้นมันเวิ้งว้าง สิ่งนั้นไม่มี มันถึงจับไม่ได้ ถ้าจับไม่ได้ก็ไม่มีโอกาสได้การวิปัสสนา

แต่ถ้าจับได้ จับสิ่งนี้ได้มันก็จะเป็นวิปัสสนา ถ้าวิปัสสนาได้ นั่นน่ะ ผลงานมันเกิด เกิดในการใคร่ครวญ ใคร่ครวญความเห็น ความเห็นผิดของใจ ใจนี้เห็นผิดอย่างนี้ถึงได้เวียนตายเวียนเกิด เพราะความเห็นผิดของใจถึงเวียนตายเวียนเกิด จนซ้ำๆ ซากๆ ภพชาตินี้ไม่มีต้นไม่มีปลาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพิจารณามาแล้วในบุพเพนิวาสานุสติญาณ ไม่มีต้นไม่มีปลายทุกดวงจิต แม้แต่จิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่มีต้นไม่มีปลาย

แล้วจิตของเราจะไม่มีต้นไม่มีปลายโดยธรรมชาติของมัน มันถึงเป็นการซ้ำๆ ซากๆ อยู่ในอารมณ์เดิม ในความเห็นเดิม ในความเห็นเดิมในความคิดเดิม แล้วมันก็จะเวียนตายเวียนเกิดเพราะความไม่รู้ของใจ แต่ใจมันจับต้องสิ่งนี้ได้ แล้วมันจะเกิดการพิจารณาของมัน พิจารณาว่าสิ่งนี้ทำให้เราติดข้อง เราเกิดเราตายอยู่นี้ก็เพราะสิ่งนี้ กามราคะทำให้เราเกิดเราตาย เราเกิดเราตาย ๑ เราเกิดเราตายมาจากกาม แล้วเราเอาไปวิปัสสนากาม เราจะพ้นออกจากกาม

ถ้าเราเกิดเราตายมาจากกาม แล้วเราก็มาอยู่ในกามตลอดไป มันก็ยังต้องเกิดต้องตายอยู่ ขนาดวิปัสสนามาแล้ว เห็นสภาวธรรมมาแล้วยังต้องเกิด เพราะอะไร เพราะมันไม่ตัดกามภพ สิ่งที่เป็นกามมันเป็นภพ มันเป็นภาวะ มันเป็นภพรับรู้เลย รับรู้ให้จิตนี้อยู่กับสถานะนี้ ภพ สถานะของใจ ใจมีสถานะที่ไหน มีสถานะขนาดสูงก็เกิดสูง มีสถานะต่ำก็เกิดต่ำ แล้วแต่สถานะของใจ บุญกุศลของใจดวงนั้น

แต่นี้เป็นกามภพ ถ้าเราทำลายตรงนี้ได้ วิปัสสนาทำลายกามภพได้ จะพ้นจากตรงนี้ จะไม่กลับมาเกิดในกามภพอีกเลย ถึงต้องการแยกแยะไง นี่เป็นงานอันมหาศาล การวิปัสสนางานที่รุนแรงที่สุด คือรุนแรงตรงนี้ ตรงนี้จะเป็นการรุนแรงทำให้เราก้าวเดินไปไม่ได้ การวิปัสสนาก็มีการต่อต้าน การต่อต้านจากกิเลส จากความรู้สึกของใจ ใจคือความรู้สึกแล้วมันจะสร้าง

แต่เดิมวิปัสสนามามันจะต่อสู้กัน แยกแยะพยายามจะให้เห็นสภาวะตามความเป็นจริงไง สภาวธรรมที่เกิดขึ้น วิปัสสนานี่จริงเพราะมันปล่อยวาง ปล่อยวางออกไป อันนี้มันจะสร้างสถานะเลย สร้างเหตุการณ์ว่ามันปล่อยวางๆ เพราะมันจะรักษาตัวมันไง ปล่อยวางสร้างภาพลวง สร้างภาพลวงให้ใจเป็นไป ให้เป้า ให้ภาวนามยปัญญา ให้ปัญญาใคร่ครวญในความผิดพลาด ถ้าความผิดพลาด มันก็ปล่อยวาง มันก็เวิ้งว้างเหมือนกัน เวิ้งว้าง แต่กิเลสมันหลบตัวลง

กิเลสมันพลิกแพลง มันหลบตัว สภาวะแบบนั้นมันจะเป็นความหลงไป ใจนี้จะวิปัสสนาแล้ว มันจะไม่ถูกต้องตลอดไป เพราะการทำหน้าที่การงานในการทำงานของเรา มันทำงานแล้ว มันไม่มีใครต่อต้าน การงานของเรา งานบนโต๊ะ เวลาจะเขียนหนังสือ เราเขียนกับกระดาษเท่านั้น

แต่อันนี้เราทำงานกับใจ แล้วใจมันมีกิเลสอยู่ กิเลสมันพลิกแพลงสิ่งนี้ ให้สร้างสถานะให้หลอกลวงเรา มันจะหลอกลวง หลอกลวงให้เป็นภาพลวง ให้เป็นภาพลวง เราก็หลงไปๆ พอหลงไปเราก็หมุนออกไป หมุนออกไปสภาวะนั้น จนถึงว่าไปจนไกลสุดโต่งเลย แล้วย้อนมาว่าทำไมไม่เห็นผล ผลไม่เกิดขึ้น อันนี้เราออกมาไกลแล้ว ต้องย้อนกลับเข้ามา ย้อนกลับไปที่ว่า ที่ความรู้สึก ที่ภวาสวะ ที่ภพของใจนั้น ที่กามภพนั้น

ที่กามภพ ภพมันอยู่ที่ใจ งานอยู่ที่ใจ งานก็ขุดคุ้ยกันที่ใจ ย้อนสภาวะนั้นกลับมา กลับมาวิปัสสนา จับวิปัสสนาขึ้นมาใหม่ ให้เห็นเป็นอสุภะขึ้นมา ถ้าพิจารณากายนะ เห็นเป็นอสุภะ ตั้งเป็นอสุภะขึ้นมา อสุภะเป็นความสกปรกโสมม แล้วใจล่ะ ใจเป็นสุภะไหม อสุภะเกิดขึ้นมาจากไหน เกิดขึ้นมาจากใจเห็น นี่วิปัสสนาขึ้นไป จนมันเป็นส่วนหนึ่งนะ มันจะกลืนตัวมันเข้ามาๆ จนมันทำลายกัน มันจะทำลายกัน พ้นออกไป นั่นน่ะ ครืน! ในหัวใจเลยนะ นี่กามราคะ จะไม่มาเกิดในกามภพ เป็นสภาวะแบบนั้น

พิจารณาจิตก็เหมือนกัน เพราะสภาวะแบบนี้มันเป็นความพอใจ มันเป็นขันธ์ ขันธ์ที่ความละเอียดอ่อนของใจ มันพอใจสิ่งนี้ มันถึงทุกข์ยากอยู่กับสิ่งนี้ สิ่งนี้ทุกข์ยากอยู่ มันถึงทำให้เกิดให้ตาย ให้เกิดนะ สิ่งที่เกิด กามภพให้เกิด เกิดเพราะสิ่งนี้ เราจะทำลายการเกิด นี่กิเลสมันมืดบอดมาตั้งแต่สมัยไหน อันนั้นเป็นความเห็นของกิเลส แต่ขณะที่ธรรมมันเริ่มฉายแสงขึ้นมา จิตเดิมแท้นั้นผ่องใส จิตเดิมแท้นั้นสว่างไสว มันสว่างไสวอยู่ตลอดเวลา ความเห็นของปัญญามันจะใคร่ครวญ จนถึงที่สุดมันจะขาดออก ครืน! เหมือนกัน ใจนี้ขาดออกไป ขันธ์นี้ไม่ใช่จิต จิตนี้ไม่ใช่ขันธ์

ความรู้ความคิดของเรามันเป็นขันธ์ เวลาปล่อยวางสิ่งนี้เข้าไปมันเป็นธาตุรู้เฉยๆ มันจะว่างหมดเลยนะ สิ่งที่ว่ารับรู้ มันจะปล่อยวางหมด พอปล่อยวางไปมันจะมีความสุข มีความสุขมหาศาล แล้วก็ติดตรงนี้เหมือนกัน ติดตลอดไป เพราะสิ่งที่ละเอียดอ่อนภายในใจมันจะลึกซึ้งกว่า ความคิด เห็นไหม ความคิด ความปรุง ความแต่ง มันปล่อยวางหมดแล้วๆ ปล่อยวางจนสิ้นหมดเลย สิ้นไปแล้วตัวเองไปอยู่ไหน นั่นน่ะตอของจิตมันปล่อยวาง มันจะเวิ้งว้างของมันโดยธรรมชาติของมัน โดยธรรมชาติของมันจะหาสิ่งนี้ไม่เจอ ติดตรงนี้กัน

ถ้าผู้ปฏิบัติติดมาก ติดเพราะว่ามันคิดว่ามันไม่เห็นสิ่งใด ถ้าพิจารณาซ้ำเข้าไป มันซ้ำเข้าไปจนภวาสวะ ขันธ์อันละเอียดมันปล่อยวาง เศษส่วน เห็นไหม เศษส่วนของอาหาร เรากินอาหารมาแล้วมื้อหนึ่ง แล้วเรานึกถึงอาหารมื้อนั้นสิ เราก็ยังมีความพอใจ นี่เหมือนกัน กินอาหารคือการวิปัสสนา ขันธ์มันขาด ขาดเลยนะขันธ์จะขาด แต่มันฝึกซ้อมได้อีก ฝึกซ้อมสิ่งนี้

ตรงฝึกซ้อมนี่คนเข้าใจ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเข้าใจว่ามันเป็นมรรค ๔ ผล ๔ ไง ฝึกซ้อมเข้าไป แล้วก็ปล่อย ปล่อยเข้าไป มันฝึกซ้อมเข้าไป มันเป็นการฝึกซ้อมปล่อยให้จิตนี้ ความคิดอันละเอียดอ่อนนี้เวิ้งว้างหมดเลย ปล่อยวางจนหมด ฝึกซ้อมจนไม่มีอะไรฝึกซ้อมไม่ได้

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส” ตัวนี้ต่างหากเป็นตัวที่ข้ามพ้นกิเลส ตัวนี้ต่างหากเป็นจิตปฏิสนธิ จิตที่พาเกิดพาตาย เพราะตัวนี้พาเกิดพาตายมาตลอด เพราะตัวนี้มันมีธาตุมีขันธ์ควบคุมมัน มันถึงเกิดแล้วตายไป

แต่ตัวนี้มันทำลายเข้ามาจนถึงตัวมันเองแล้ว มันจับต้องสิ่งนี้ไม่ได้ มันถึงติดไง ความว่าง ความเวิ้งว้างของใจ ใจจะเวิ้งว้างมาก แล้วอยู่สภาวะอย่างนั้น รักษาไว้ ต้องรักษานะ ความว่างอันนี้ต้องรักษา แต่ถ้าเป็นความจริงแล้วไม่ต้องรักษา ความรักษานี้เป็นหน้าที่การงานไหม หน้าที่การงาน เพราะกลัวมันจะไม่ว่างไง รักษาใจไว้ๆ แล้วรักษาใจไว้ คิดว่าสิ่งนี้เป็นผล สิ่งที่รักษาไว้คิดว่าเป็นผล ก็รักษามันไว้

รักษานั้นก็เป็นงานอันหนึ่ง งานนั้นเป็นทุกข์ไหม ถ้าพูดถึงมันเป็นธรรมะอันละเอียดแล้ว ความทุกข์หยาบๆ มันไม่มี แต่การรักษาการงาน การรักษาใจมันก็เป็นงานอันหนึ่ง งานที่รักษาใจมันก็เป็นความทุกข์อันละเอียด สิ่งที่เป็นความทุกข์อันละเอียด มันเศร้าหมอง มันผ่องใส สิ่งที่มันเศร้าหมอง มันผ่องใส มันเฉา มันเศร้าหมอง มันผ่องใส มันอยู่ที่นี่ มันอยู่ที่ตรงภวาสวะ มันอยู่ที่ตรงภพนี้ นั่นน่ะ ความสว่างของธรรม นี่จะเห็นเรื่องของสภาวธรรม ย้อนกลับเข้าไป

ในการขุดคุ้ยหากิเลส ในการขุดคุ้ย ถ้าเจอกิเลสมันจะเป็นวิปัสสนา ถ้าไม่เจอกิเลส เราวิปัสสนาไป มันก็เป็นวังวนของขันธ์อันนั้น วังวนของขันธ์ แต่อันนี้มันไม่ใช่ขันธ์ มันเป็นจิตแล้ว มันเป็นจิตเฉยๆ ถึงต้องใช้ความละเอียดอ่อนของอรหัตตมรรคเข้าไปจับ สิ่งที่เข้าไปจับได้ พอเข้าไปจับได้จะเห็นสภาวะของใจ จะเป็นความแปลกประหลาดมหัศจรรย์ การขุดคุ้ยหากิเลสมันเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ตลอดมา แล้วความมหัศจรรย์ขั้นสุดท้ายจะมหัศจรรย์มาก จะทำให้เราตื่นเต้นมาก

เวลาเห็นกายครั้งแรกนะ มันจะสะเทือนหัวใจ เพราะกิเลสมันอยู่ที่หัวใจ พิจารณาแล้วมันจะปล่อยวางเข้ามาๆ ปล่อยวางมันเห็นความขาดออกไปจากใจตลอด มีผู้รับรู้ ก็ผู้นี้ไง ผู้ที่ว่าเข้าไป มันจะเซ่อของมันเลย มันเป็นสภาวะที่เป็นธรรมชาตินะ เป็นธรรมชาติที่จับต้องธรรมชาติได้ มันเป็นธาตุที่รู้จักธาตุได้ มันเป็นสิ่งที่ว่า มันเป็นอันเดียวมันเป็นสิ่งเดียวกัน รับรู้สิ่งเดียวกัน ไม่ต้องสิ่งกระทบ

สิ่งที่กระทบ ตากระทบรูป เราถึงจะรู้สึกขึ้นมา อันนี้เป็นความหยาบ แต่เราก็ยังเดินกันไม่ทัน เรายังเห็นกันไม่ได้ เสียงกระทบหู แต่อันนี้เป็นสิ่งที่ว่าสิ่งที่เข้าไปสะสมอยู่ที่นี่ทั้งหมดเลย แล้วเราเข้าไปหาสิ่งนี้ได้ จับต้องสิ่งนี้ได้ มันจะทำให้เราตื่นเต้นมาก แล้วเราใช้ปัญญาของเรา ปัญญาอันละเอียดอ่อน ไม่ใช่ปัญญาขันธ์ ปัญญาในการต่อสู้ของเราตลอดมานี้คือปัญญาในสังขาร สังขารถ้ามีสติสัมปชัญญะมันก็เป็นปัญญา สังขารถ้าไม่มีสมาธิ สติ สมาธิไม่พอ มันก็เป็นสัญญา ถ้าเป็นสัญญาน่ะกิเลสเอาไปใช้

แต่ถ้ามันเป็นปัญญา มีสติ มีสมาธิ มันจะเป็นปัญญา สิ่งที่เป็นปัญญา ขั้นของปัญญาคือการชำระกิเลส แต่ขั้นของการวิปัสสนาเรื่องแสงสว่างอันนี้ มันจะใช้อย่างนั้นมันเป็นสิ่งที่หยาบเกินไป มันจะเป็นความขลุกขลิกกันของความรู้อันเดียว สิ่งที่อันเดียวกับอันเดียวรู้กันเอง สิ่งที่ไม่มีสิ่งกระทบมันจะรู้กันเอง แล้วใช้ญาณอันนั้นใคร่ครวญ ถึงที่สุดนะ ถึงที่สุดพลิกคว่ำหมดสิ้นไปเลย ใจอันนี้จะพ้นออกไป

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส” ความผ่องใสคือปฏิสนธิจิต จิตปฏิสนธิตัวนี้คือตัวพาเกิดพาตาย ความผ่องใสอันนี้ทำลายความผ่องใส ไม่มีความผ่องใส ไม่มีสิ่งใดๆ ในหัวใจอันนี้ อันนี้เป็นอันรู้อันหนึ่ง พ้นออกไปจากสมมุติทั้งหมดเลย นี่ความสว่างของธรรม จากความมืดบอดของกิเลส

กิเลสมืดบอดเพราะไม่เชื่อธรรม แล้วก็ไม่เข้าใจสภาวธรรม แล้วก็ทำของเรา ยิ่งทำเท่าไรมันยิ่งไกลจากกิเลส เพราะมันไม่มีขณะจิตที่เปลี่ยนแปลงจากสมมุติเป็นบัญญัติ จากบัญญัตินี้เป็นวิมุตติ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้ขึ้นมา ใจไม่มีสภาวะรับรู้สิ่งต่างๆ แล้วมันจะเป็นสภาวธรรม เป็นปัจจัตตังได้อย่างไร สิ่งที่ไม่เป็นปัจจัตตังก็เป็นการคาด การหมาย การคาดการหมายนั้น กิเลส กิเลสมันมืดบอด เพราะไม่เชื่อธรรม การประพฤติปฏิบัติธรรมก็ให้กิเลสมันมืดบอด ให้มันสร้างสถานะ ให้มันสร้างเหตุการณ์ เชื่อในเหตุการณ์ของกิเลสสร้างขึ้น ธรรมะสร้างขึ้น ธรรมะจัดตั้ง ธรรมะจัดสรร เราจัดสรรขึ้นมาให้เป็นสถานะ ให้ใจได้รองรับ แล้วมันจะไม่เป็นความจริงเลย เพราะอะไร เพราะมันเป็นสมมุติทั้งหมด เป็นบัญญัติ บัญญัติของธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติขึ้นมา ธรรมที่ว่าเป็นภาวนามยปัญญานี้เป็นบัญญัติทั้งหมดเลย

บัญญัตินี้เป็นบัญญัติ บัญญัติมันก็เป็นสมมุติอันหนึ่ง แต่เราสร้างขึ้นมา เราสร้างขึ้นมาจากบัญญัติให้เป็นเนื้อหาสาระ เป็นมรรคอริยสัจจัง เป็นสัมมาสมาธิ เป็นความเพียรชอบ ความเห็นชอบ เป็นความชอบของใจ แต่ความชอบของใจมันเกิดขึ้นมา จนวิปัสสนา จนเกิดขณะจิตที่มันเป็นสภาวะ สิ่งที่เป็นสภาวะเป็นอกุปปะ สิ่งที่เป็นอกุปปะ นั่นน่ะเป็นความสว่างของธรรม

ปัญญาญาณนี้สว่างมาก ชำระล้าง ชำระแยกเข้าไปในดวงจิต ชำระแยกแยะเข้าไปในดวงจิตนะ จนทำให้กิเลสหลุดออกไป ขาดออกไปจากใจ เป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป เป็นชั้นเป็นตอนจนกว่าเห็นสภาวธรรม จนถึงที่สุดแล้วพลิกคว่ำไป นั้นเป็นธรรมล้วนๆ นะ เป็นธรรมล้วนๆ ของใจดวงนั้น ใจดวงนั้นจะเข้าใจสภาวธรรมตามความเป็นจริง ปล่อยวางสภาวะ ปล่อยวางสิ่งต่างๆ

ที่ว่าเป็นความว่าง เป็นความว่างต่างๆ ที่ว่าประพฤติปฏิบัติ พระพุทธเจ้าสอนให้ทำใจให้ว่างๆ เราก็ทำใจว่างแล้ว คนเข้าใจผิดก็มีมากมาย เราประพฤติปฏิบัติ เราทำใจว่าง มันก็เป็นผลแล้ว นั่นเป็นความว่างเพราะการคาดการหมาย เราคาดหมายว่าเป็นความว่าง เราทำให้เป็นความว่าง มันเป็นความว่างของหินทับหญ้าไว้

แต่ถ้าเราเป็นความว่างของการสมุจเฉทปหาน มันก็เป็นความว่างอีกชั้นหนึ่ง ความว่างของหินทับหญ้าไว้ ถ้าหินทับหญ้าไว้ หญ้ามันก็ไม่เกิด ความว่างของสติยับยั้งไว้ กดไว้ กดกิเลสไว้ นี่ธรรมมันแปลกประหลาดมหัศจรรย์ขนาดนั้น ถ้ามีอำนาจการกดกิเลสไว้มันก็ทำได้ กดกิเลสไว้เฉยๆ แต่ไม่ได้ชำระกิเลสเลย

แต่พอมันเกิดปัญญาขึ้นมา ตัวปัญญา ตัวความรู้ตามความมหัศจรรย์ตัวนั้น มันเป็นตัวมรรค สิ่งที่เป็นตัวมรรค ตัวชำระล้างๆ ทำผิดทำถูกขึ้นมามันจะมีความผิดพลาดออกไป ผิดพลาดเพราะอะไร เพราะมันไม่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ผิดพลาดเพราะกิเลสมันขับไส ผิดพลาดเพราะกิเลสมันต่อต้าน มันไม่มัชฌิมาปฏิปทา ตอนเราเข้าธรรม เป็นอัตตกิลมถานุโยค เป็นกามสุขัลลิกานุโยค อย่างนี้ นี่ธรรม ๒ ฝ่าย มันจะผิดถูกตลอดไป จนถึงถ้ามันมัชฌิมาเมื่อไหร่ พอมัชฌิมานั่นล่ะมรรคสามัคคี แล้วมันจะขาด

สิ่งที่มันขาดออกไปจากใจ กิเลสจะขาดออกไป เหลือสภาวะใจไว้ เหลือสภาวะใจขั้นหนึ่งก็เหลือความรับรู้ของใจ มันจะเป็นอริยบุคคลขึ้นมา เป็นชั้นๆ ขึ้นมา ใจรับรู้ตลอดไป ถึงที่สุดแล้ว ไอ้ตัวรับรู้นั่นน่ะต้องทำลาย ไอ้ตัวรับรู้นั่นคือตัวจิตปฏิสนธิ ตัวจิตปฏิสนธิ จิตที่มันไปเกิดไปตาย ปฏิสนธิจิตไม่ใช่ขันธ์ มันเป็นความรู้เฉยๆ รู้คืออวิชชาไง รู้ทุกอย่างแต่ไม่รู้ตัวเอง เป็นอวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สิ่งนี้มันถึงพาเกิดพาตาย

ตัวอวิชชาเป็นตัวละเอียดอ่อน แล้วมันไม่รู้ตัวมันเอง แล้วมันผ่านขันธ์ พอมันผ่านขันธ์ขึ้นไปะ นั่นน่ะพอผ่านขันธ์ขึ้นไป กิเลสมันก็เข้าไปผูกพันกับขันธ์ ความผูกพัน ความยึดมั่นถือมั่น นี่สังโยชน์มันเกิดอย่างนี้ไง เกิดในความยึดมั่นถือมั่น ในการผูกพันกันไป แล้วรับรู้ออกไปจากข้างนอก สังโยชน์ความผูกพันไป

สังโยชน์ ๑๐ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา รูปราคะ อรูปราคะ ว่างไหม มานะ อุทธัจจะ...เราเสมอเขา เราสำคัญว่าเสมอเขา เสมอเขาทำไมต้องไปสำคัญ? สำคัญสิ สำคัญเพราะมีกิเลสไง กิเลสตัวมานะ ตัวเทียบเคียง สิ่งที่เทียบเคียง

แต่ถ้ามันไม่มีมานะ มันเอาอะไรไปเทียบเคียง? ไม่มีการเทียบเคียง เขาก็เป็นเขา เราก็เป็นเรา สิ่งที่เป็นของเขานั้นเป็นเรื่องของเขา เรื่องของโลกเป็นเรื่องของโลก โลกคือหมู่สัตว์ จะหมุนเวียน เวียนเกิดเวียนตายอยู่ธรรมชาติของเขาอยู่อย่างนี้ตลอดไป แล้วใจของเราเมื่อก่อนมันก็เป็นโลก มันก็เวียนเกิดเวียนตายโดยสภาวธรรม โดยวัฏวนอยู่อย่างนี้ วัฏฏะนี้เป็นที่อยู่ของใจดวงนี้ตลอดไป

แต่ในสภาวธรรมที่ทำลายตัวเองตลอดแล้ว พ้นจากเรื่องของโลกแล้ว มันไม่มีสิ่งดึงดูด มันเป็นเรื่องของเรา เรื่องของเรา เราชำระขึ้นมา จากที่ว่าเป็นเรื่องของเราๆ จนต้องทำลายเรา แม้แต่สิ่งที่เป็นเรา เราที่รับรู้นี้ ทำลายสิ่งนี้แล้ว แม้แต่โลกก็เป็นเรื่องของโลก แม้แต่เรื่องของเราก็ไม่มี เรื่องของเราก็ไม่มีเพราะในตัวเรามันไม่มีตัวเรา สิ่งที่ตัวเราไม่มีเลย มันจะไปติดข้องกับสิ่งใด สิ่งนั้นก็ไม่ข้องกับเรา ข้องกับเราไม่ได้เพราะมันเข้าไม่ถึง

มันจะเข้าถึงขันธ์ได้ มันจะสื่อความหมายได้ มันจะเป็นเรื่องโลกได้ มันต้องผ่านสังขาร ผ่านความคิด ผ่านสัญญาการจำได้หมายรู้ มันสืบได้แค่ขันธ์ ขันธ์นี้กับจิตนี้มันขาดออกจากกัน มันสะเทือนกันไม่ได้ แล้วมันจะเข้าไปถึงดวงใจดวงนั้นได้อย่างไร เพราะดวงใจนั้นเข้าถึงไม่ได้ เพราะดวงใจนั้นก็ทำลายดวงใจดวงนั้นอีกชั้นหนึ่ง แม้แต่ดวงใจดวงนั้นก็ได้ทำลายตัวมันเองอยู่แล้ว มันยิ่งเข้าไม่ได้ใหญ่เลย พอเข้าไม่ได้ มันถึงไม่มีสิ่งใดสืบต่อได้ ถึงไม่มีภพไม่มีชาติ การเวียนเกิดเวียนตายจะไม่มีกับใจดวงนี้ ใจดวงนี้จะไม่เวียนเกิดเวียนตายกับโลกเขาอีกเลย

จากกิเลสมืดบอดนะ กิเลสธรรมดามันก็เป็นโลกออกไป กิเลสมืดบอดนี้เพราะมันมีธรรมอยู่ แล้วมันก็ยังมืดบอด มันยังไม่ยอมรับรู้ มันถึงมืดบอด แล้วเราทำลายความมืดบอดของกิเลสออกไปจากใจ จนมันสว่างไสว เป็นสว่างไสวนี้มันก็เป็นสิ่งที่ว่าเข้าไปเจอตัวมัน เพราะจิตเดิมแท้นี้สว่างไสว ทำลายจนมันสว่างไสว แล้วยังต้องทำลายความสว่างไสวนั้น เพราะความสว่างไสวนั้นคือตัวอวิชชา ทำลายตัวอวิชชาแล้วจบสิ้น นั้นเป็นความสุขของใจ

การประพฤติปฏิบัตินี้ เราชาวพุทธ ตักบาตรก็ว่าปรารถนาถึงนิพพาน ทุกคนปรารถนาถึงนิพพาน ต้องปรารถนาถึงนิพพาน เพราะว่าพระนิพพานนี้เป็นที่สุดของศาสนาพุทธ เป็นเป้าหมาย ถ้าเราไม่ปรารถนาเป้าหมาย เราปรารถนาแค่นรกสวรรค์ก็เท่านั้น ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะมันเป็นธรรมชาติของมันอยู่แล้ว เราทำของเรา ทำใจของเราปัจจุบัน ทำดีก็ไปสวรรค์ ทำชั่วก็ไปนรก เป็นธรรมชาติของมัน

แต่ในการประพฤติปฏิบัติ เราฝืน เห็นไหม ดีก็ไม่เอา ชั่วก็ไม่เอา ข้ามทั้งดีและชั่วนะ สวรรค์ก็ต้องทำลาย กามภพ เห็นไหม กามภพตั้งแต่สวรรค์ลงมา ทำลายหมดเลย ไปเกิดบนพรหม แล้วก็ต้องทำลายตัวที่จะไปเกิดบนพรหมจนสิ้นไป เอวัง