ธรรมทับจิต
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ตั้งใจฟังธรรมนะ ตั้งใจฟังธรรม ฟังธรรมให้ธรรมนี้มันสัมผัสที่ใจ ถ้าสัมผัสที่ใจใจจะมีที่เกาะ ใจเราไม่มีใครดูแลนะ ทั้งๆ ที่เราเดินไปเดินมากันอยู่นี่ แต่หัวใจมันเป็นอิสระ ไม่มีใครควบคุมมันได้ ฉะนั้น ถ้าเราฟังธรรมให้มันมีที่เกาะ ให้ใจเรามีที่พึ่งที่อาศัย ถ้าใจไม่มีที่พึ่งที่อาศัย มันมีกิเลสเป็นที่พึ่งที่อาศัย
กิเลส เห็นไหม กิเลสคือความไม่รู้สึกตัวมันเอง แต่ธรรมชาติของสันตติ ธาตุรู้ ธรรมชาติของมัน มันจะเกิดต่อเนื่องกันไป เกิดต่อเนื่องกันไป แล้วมันแสดงตนออกมาด้วยความรู้สึกนึกคิด สัญชาตญาณของมันแสดงออกไป นี่ถ้ามีธรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เห็นไหม เขาจะมีที่อบอุ่นใจของเขา ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด เราเกิดมามีชีวิตนี้ เราจะปล่อยให้ชีวิตนี้ดับไปโดยที่เราไม่มีสิ่งใดเป็นสมบัติของเราไปเลยหรือ
สมบัติของเรานะ สิ่งที่เราหา เราพยายามแสวงหากันอยู่นี้เราคิดว่าเป็นสมบัติของเรา มันเป็นสมบัติทางโลก มันเป็นสมบัติสาธารณะ สมบัติที่เป็นของเราจริง มันเป็นบุญและบาปที่จะไปกับใจเรา เราทำสิ่งใดขึ้นมามันเป็นกุศล เห็นไหม กุศล อกุศล สิ่งที่เป็นบุญกุศลมันก็ทำให้จิตใจนี้เวียนตายเวียนเกิดไปในวัฏฏะ เวียนตายเวียนเกิดไปในวัฏฏะไม่มีที่สิ้นสุด
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าระลึกถึงบุพเพนิวาสานุสติญาณ เป็นเครื่องยืนยันว่าสิ่งนี้การสะสมมาๆ การเวียนตายเวียนเกิด เห็นไหม เวียนตายเวียนเกิดโดยมีสติมีสัมปชัญญะแบบพระโพธิสัตว์ เวียนตายเวียนเกิดเพื่อสร้างคุณงามความดี ของเราก็ปรารถนาว่าเราอยากจะเป็นคนดี เราอยากจะสร้างสมบุญญาธิการของเรา เพราะเราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเหมือนกัน เราเชื่อไง เชื่อเรื่องการเกิดและการตาย ถ้าเราไม่เชื่อเรื่องการเกิดและการตาย ชีวิตของเรามันพัฒนาขึ้นมาได้อย่างใด
ชีวิตนี้พัฒนาขึ้นมาเพราะอะไร เพราะเรามีสติปัญญาพัฒนาขึ้นมาจนเป็นมนุษย์ เป็นสัตว์ประเสริฐ สัตว์ประเสริฐมีสิ่งใดเป็นที่พึ่งอาศัย มีสิ่งใดเป็นสมบัติล่ะ? สมบัติของเรามีธรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ธรรมะมันคืออะไรล่ะ? ธรรมะคือเราศึกษา เห็นไหม เขาบอกธรรมะเป็นธรรมชาติ เราศึกษาธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ว่าเป็นธรรมๆ ศึกษาเป็นธรรมแล้ว ยิ่งศึกษา ศึกษามาด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ศึกษามาด้วยอวิชชา ศึกษาขึ้นมาเท่าไรก็งงเท่านั้นแหละ ยิ่งศึกษามากเท่าไรก็งงเท่านั้น
คำว่างงเท่านั้น งงคือว่ามันไม่เข้าใจจริงไง แต่ว่าเข้าใจ แต่จริงๆ ในจิตใต้สำนึกมันก็ไม่รู้หรอก ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเป้าหมาย เป็นเป้าหมายถึงบอกว่านี่เราเกิดมาชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด ฉะนั้น เราแสวงหาสมบัติของเรา สมบัติทางโลกนี่สมบัติเป็นปัจจัยเครื่องอาศัย สมบัติของใครนะ ใครเกิดมามีอำนาจวาสนา ทำสิ่งใดจะประสบความสำเร็จ ชีวิตนี้จะมีจุดยืน จะมีหลักมีเกณฑ์ แต่บางคนเกิดมา ทั้งชีวิตนะมีแต่ความขาดๆ แคลนๆ มีแต่ความทุกข์ความยาก ทำไมชีวิตเราลำบากลำบนมาขนาดนี้ เขาว่า นี่ก็เพราะการทำมาๆ ไง
ใครสร้างบุญกุศลมา สิ่งนั้นจะเป็นสมบัติของเขา เขาทำสิ่งใดประสบความสำเร็จของเขา เราสร้างเวรสร้างกรรมมา แต่เราก็มีบุญกุศลที่เกิดมาเป็นมนุษย์นี่ เราทำสิ่งใดก็ไม่เคยประสบความสำเร็จสักที สิ่งอย่างนี้เพราะว่าขาดการทำบุญกุศล ขาดกุศลของเรา เราก็พยายามสร้างบุญกุศลของเรา พอสร้างบุญกุศลของเรา ทุกคนจะน้อยเนื้อต่ำใจ เราก็ทำบุญทุกวัน ตักบาตรทุกวัน ทำไมชีวิตนี้มีความทุกข์อย่างนี้ ทุกข์มันเป็นอริยสัจไง
ทุกข์ เห็นไหม ดูสิทุกข์นี่ทุกคนก็มี ทุกคนมีลมหายใจไหม? มี มีลมหายใจเข้ามันต้องสูดลมหายใจไหม? ต้องสูด สูดลมหายใจเหนื่อยไหม? ต้องเหนื่อย นี่ต้องตั้งใจ ต้องต่างๆ ทีนี้มันเป็นสัญชาตญาณไง เห็นไหม สัญชาตญาณของมนุษย์ มนุษย์เราเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมามันก็หาทางรักษาเพื่อความหายเจ็บไข้ได้ป่วย เวลาเรานั่งนานก็ขบก็เมื่อย มันก็เปลี่ยนท่าเปลี่ยนทาง มันก็เป็นสัญชาตญาณเป็นความเคยชินไป มันก็เลยเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดา สูดลมหายใจมันก็เหนื่อยนะ มันก็เรื่องธรรมดา สิ่งที่ว่าชีวิตนี้เป็นทุกข์ๆ มันเป็นทุกข์หยาบทุกข์ละเอียด มันเป็นทุกข์ของมันอยู่อย่างนั้นแหละ แต่ใครไปยึดมั่นไม่ยึดมั่นล่ะ
เห็นไหม คนที่ขยันหมั่นเพียรนะ เขาบอกว่ามาบวชพระ บวชพระแล้วเป็นคนขี้เกียจ ไม่ทำมาหากิน ไม่ทำสิ่งใดเลย นี่เวลาเขาคิดของเขานะ เขามองของเขาว่าเขาเป็นคนขยันหมั่นเพียรนะดีกว่าพระอีก พระวันๆ ไม่เห็นทำอะไรเลย เขาเหนื่อยสายตัวแทบขาด นี่เขาภูมิใจนะ เขาภูมิใจว่าเขาเป็นคนขยันหมั่นเพียร แต่เขาไม่รู้หรอกว่าพระนะ พระปฏิบัติ เวลาครูบาอาจารย์ของเราเดินจงกรมทั้งวันทั้งคืน ๒๔ ชั่วโมงตั้งสติตลอดเวลาเพื่อรักษาใจของตัวเองไว้ เขาไม่เข้าใจหรอกว่างานของพระมันลำบากลำบนขนาดไหน กว่าจะเป็นผู้ประเสริฐขึ้นมาได้
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปแสวงหากับเจ้าลัทธิต่างๆ ๖ ปีน่ะทุกข์ยากขนาดไหน เวลาทรมานตนนะว่ากิเลสมันอยู่ที่เราใช่ไหม กิเลสมันอยู่ที่เราก็ทรมานตนไปนอนบนตะปูนะ ปัจจุบันนี้ในอินเดียยังมีอยู่นะ ที่เขาประพฤติวัตรเป็นสัตว์ ประพฤติต่างๆ พวกโยคี พวกฤๅษีชีไพรที่เขาทำกันอยู่ ยังมีอยู่นะ ความเชื่ออย่างนี้ยังมีอยู่ แต่สมัยนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไปศึกษากับเขา ๖ ปีนะทรมานตัวเอง ทรมานทุกอย่างเลย เพราะกิเลสอยู่กับเรา จะฆ่ากิเลส จะย่าง จะเผา จะทำลายกิเลสนะ ทุกข์ยากขนาดนั้นน่ะ
แล้วเวลาเราบวชพระขึ้นมา บวชพระขึ้นมาแล้วเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อยไว้ให้เราเรียบร้อยหมดแล้วล่ะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ มาจนหมดหนทางแล้วล่ะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะมารื้อค้นในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง เวลามารื้อค้นในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสำเร็จเป็นพระอรหันต์ เป็นศาสดา เป็นครูสอนตั้งแต่เทวดา อินทร์ พรหมลงมา แล้ววางธรรมและวินัยนี้ไว้ให้เรา ย่อยให้เราเรียบร้อยแล้วนี่ เราจะมีปัญญาไหม
เรามาศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม เราก็เชื่อ เชื่อมรรคผลนิพพาน แล้วจริงๆ แล้วมันเชื่อไหมล่ะ แล้วจริงๆ แล้วมันสงสัยมรรคผลนิพพานไหม? มันก็สงสัย เห็นไหม มันสงสัยเพราะอะไรล่ะ? มันสงสัยเพราะว่าเรามีอวิชชา มีกิเลส มีพญามารอยู่ในใจ ถ้าเรามีกิเลสมีพญามารอยู่ในใจ นี่มาร มารมันไม่ยอมให้ใครพ้นจากมือมันไปหรอก เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมานะ
มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา เราจะไม่ดำริถึงเจ้าอีกแล้ว เจ้าจะเกิดบนหัวใจของเราไม่ได้อีกเลย
มารนี่ไม่มีอยู่ในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาเกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เห็นไหม นั่นแหละมี ยังมีมารอยู่ ขนาดเป็นโพธิสัตว์ สร้างบุญญาธิการมาขนาดไหนก็มีมารอยู่ทั้งนั้นแหละ เพราะอะไร เพราะมารนั่นแหละ มารมันอยู่กับจิต เพราะมารนั่นแหละทำให้เกิดให้ตาย ถ้าไม่มีมาร ไม่มีอวิชชา เราจะเกิดจะตายไหม
ในเมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เกิดมาจากนางสิริมหามายา มันก็ต้องอวิชชาเป็นธรรมดา มารก็คุมอยู่ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้หักเรือนยอดของมัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทำลายมันไปแล้ว แล้วทำลายไปแล้ว ในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงเอาประสบการณ์อันนั้นวางธรรมวินัยนี้ไว้ให้เราศึกษาไง
พอเราไปศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา เราศึกษามาใช่ไหม เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา เรามีอำนาจวาสนา เราจะมีหูตาที่สว่างไสว เราไม่ใช่มีหูมีตาหลับใหลไปกับทางโลกเขา ดูสิชาวโลกเขานะปฏิญาณตนว่าเป็นชาวพุทธๆ นี่ชาวพุทธเขาทำอะไรกันล่ะ ชาวพุทธเหนื่อยสายตัวแทบขาด ชาวพุทธพยายามแสวงหา
นั่นเขาเป็นชาวพุทธของเขา นั่นเป็นพุทธเพราะเขามีศาสนา เขานับถือศาสนาพุทธ เราก็นับถือศาสนาพุทธเหมือนกัน แต่เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาศึกษาไปแล้วนะ ถ้าใครศึกษาไปแล้วมันจะซึ้งมาก ซึ้งมากเพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชี้มาที่อารมณ์ความรู้สึกของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกชี้เข้ามาในความรู้สึกนึกคิดของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชี้ถึงการปลดเปลื้องทุกข์ของเรา
ทีนี้เราไปศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราว่าเราเข้าใจ เราเข้าใจธรรมะ เวลาเราปฏิบัติกันว่าเราปฏิบัติธรรมะๆ ไง นี่ธรรมทับจิต ธรรมทับจิต เพราะเอาธรรมมา แล้วธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วทับลงไปบนจิต พอทับไปบนจิตเลยไม่รู้อะไรเลย จิตมันเลยไม่รับรู้อะไรเลย แต่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ นี่เวลาสนทนาธรรมกันนี่ปากเปียกปากแฉะ อธิบายธรรมะนี้ได้เต็มที่เลย แต่ถามหัวใจว่ามีธรรมจริงอยู่ในหัวใจไหม?
อืม! ก็สงสัยนะ อืม ก็ลังเลนะ
เวลาทุกข์ไหม? ทุกข์ ทุกข์แน่นอน ทุกข์ที่ไหน? ทุกข์ที่ว่าตายแล้วจะไปไหน
ไม่เห็นตัวจิตของเราจริงๆ เราไม่รู้หรอกว่าเราจะไปไหน ทั้งๆ ที่เกิดมานั่งอยู่นี่พ่อแม่ตั้งชื่อให้ เรามีชื่อมีเสียงนะ พอเราบรรลุนิติภาวะ เราแสวงหาทรัพย์สมบัติของเรามา เราจดทะเบียนไว้สมบัติของเรามหาศาลเลย สรรพสิ่งนี้เป็นของเราๆ แล้วของเราเป็นของใครล่ะ แล้วเวลาเราตายไปนะ เราไม่พลัดพรากจากเขา เขาต้องพลัดพรากจากเราแน่นอน สมบัติของเรา เห็นไหม ถ้าเราใช้สอยทุกวันไปเราก็ใช้สอยของเราไป ถ้าเราตายไปสมบัติมันก็กองอยู่นี่ นี่มันเป็นของเราจริงหรือ
นี่เราหาสิ่งใดๆ มา จดทะเบียนแล้วเป็นของเราหมดเลย สรรพสิ่งนี้เป็นของเราหมดเลย แล้วเป็นของเรามันก็เป็นชั่วคราว เป็นที่ความตระหนี่ถี่เหนียวมันยังยึดว่าเป็นของมัน แต่ถ้าจิตใจของเราเป็นธรรม เห็นไหม เราเสียสละ เราทำสิ่งใดเพื่อประโยชน์กับเรา เราจ่ายออกไปแล้ว นี่ไม่ใช่เป็นของเราแล้ว เราได้ทำคุณประโยชน์ให้กับใจนี้ เราได้สร้างบุญกุศลให้กับใจนี้ เราเสียสละวัตถุสิ่งต่างๆ ไป แต่ได้บุญกุศลขึ้นมา ได้ความรับรู้ขึ้นมาจากใจของเรา ใจมันรับรู้ขึ้นมา เห็นไหม นี่ทำบ่อยครั้งเข้าๆ ความตระหนี่ถี่เหนียวมันจะเบาบางลง พอเบาบางลงแล้วทำอย่างไรต่อไปล่ะ
นี่เพราะเราเป็นชาวพุทธ เราเป็นชาวพุทธ เราอยากจะพ้นจากทุกข์ อยากจะพ้นจากทุกข์ต้องปฏิบัติธรรมถึงจะพ้นจากทุกข์ การบำเพ็ญเพียรภาวนา ตบะธรรมแผดเผากิเลสอวิชชาในหัวใจเราให้สูญสิ้นไป ถ้าสูญสิ้นไป ทำอย่างไรให้มันสูญสิ้นไปล่ะ
ฉะนั้น เรามีความเชื่อมีความศรัทธา เราเป็นลูกศิษย์ของครูบาอาจารย์ เราเป็นลูกศิษย์พระป่า พระป่าเขาสอน เห็นไหม สอนให้ทำความสงบของใจ ทำความสงบของใจก่อน ถ้าใจมันสงบขึ้นมา เพราะใจมันสงบระงับขึ้นมามันก็จะเป็นอิสระ มันก็จะมีความสุขความสงบพออยู่พอกิน แต่ถ้ามันเกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมามันจะชำระล้างกิเลสของเราไป ถ้าวิปัสสนาญาณมันทำลายล้าง ชำระกิเลส ฆ่ากิเลสแบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่หักเรือนยอดของมาร หักเรือนยอดของมาร
หักเรือนยอดคือตัวพญามาร คือตัวอวิชชา แล้วลูกหลานของมันล่ะ ลูกหลานของมัน นี่ลูกเต้าเหล่ากอของกิเลสมันอยู่ในหัวใจเราเต็มไปหมดเลย หยิบจับไปตรงไหนเป็นกิเลสไปหมดเลย จิตของเรานี่อวิชชามันครอบงำตั้งแต่ฐีติจิตออกมา แล้วความรู้สึกนึกคิดออกมา มันคิดออกมาจากอวิชชาคิดออกมา มันเป็นเรื่องของมารหมดเลย เอามาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เอากิเลสมาศึกษา เอากิเลสมาจำ ใครจำได้เก่ง ใครจำได้แม่น คนไหนจำได้ดีจะจบ ๙ ประโยคตั้งแต่เป็นสามเณร สามเณรเรียนจบ ๙ ประโยคตั้งแต่ยังอายุไม่ถึง ๒๐ เห็นไหม
นี่เวลาคนที่เขาเรียนขึ้นมา เรียนซ้ำเรียนซาก สอบแล้วตก ตกแล้วสอบ สอบแล้วสอบย้ำอยู่อย่างนั้นแหละ มันไม่ผ่านสักที นี่ก็ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เชาวน์ปัญญา แต่ถ้าเขาศึกษาด้วยเชาวน์ปัญญา เขาศึกษามา ๙ ประโยค ๑๐ ประโยคออกมาแล้ว แล้วทำอย่างไรต่อไปล่ะ มันมีจริงหรือ ปัญญาก็มากมายขนาดนี้ จบหมดทุกอย่าง ในพระไตรปิฎกเข้าใจหมดเลย นี่ธรรมทับจิต ธรรมมันทับนะทับหมดเลย ทับอะไร ทับด้วยความสงสัยไง ทับด้วยว่า มันมีจริง มรรคผลมันมีจริงหรือ มรรคผลมันมีหรือ มันหมดกาล หมดสมัยหรือยัง แต่ธรรมรู้หมดนะ เพราะในพระไตรปิฎกที่ศึกษามา ๙ ประโยค มันบอกอยู่แล้ว นิพพานทำอย่างไรถึงจะนิพพาน นี่บอกหมด บอกวิธีการหมดเลย แต่ทำไม่ได้ ทำไม่เป็น นี่ธรรมทับจิต
แล้วเรามาศึกษาของเรา เห็นไหม เรามาศึกษา เรามาประพฤติปฏิบัติของเรา เราจะมาปฏิบัติธรรมบำเพ็ญเพียรของเราเพื่อชำระล้างกิเลสของเรา เวลาเรามากำหนดพุทโธ พุทโธตามที่ครูบาอาจารย์เราสอน บอกทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันไม่สงบขึ้นมา เวลาศึกษาธรรมขึ้นมามันมีโลกียปัญญา มันเป็นปัญญาโลก มันเป็นสุตมยปัญญา ปัญญาอย่างนี้ การศึกษามา ศึกษามาเพื่อความเข้าใจในศาสนาเป็นแผนที่เครื่องดำเนิน แล้วเราต้องประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เรามีแผนที่ดำเนินแล้วเราจะเดินตามแผนที่นั้นเข้าไปสู่ใจของเรา ถ้าเข้าไปสู่ใจของเรา เราจะไปตรวจสอบใจของเรา เราจะทำ
นี่ปฏิสนธิวิญญาณ ปฏิสนธิวิญญาณ วิญญาณอันละเอียดที่ปฏิสนธิเกิดในไข่ ในน้ำครำ ในโอปปาติกะ สิ่งที่มันเกิดมากำเนิด ๔ แล้วตอนนี้มันมาอุบัติในไข่ในครรภ์ของมารดา มันเกิดมาเป็นเรามานั่งกันอยู่นี่ พอนั่งอยู่นี่เราก็มีจิต เห็นไหม เรามีจิต ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ มนุษย์มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ พอมีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ สิ่งนี้ปฏิสนธิจิต เราไม่เห็นมัน เราจับต้องไม่ได้ นี่ตำราบอกไว้ ตำราบอกไว้หมดแหละ เขียนไว้หมดแหละ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ เห็นไหม นี่ปัจจยาการ อารมณ์ความรู้สึกมันจะต่อเนื่องกันไปอย่างนั้น ต่อเนื่องอย่างนั้น...เอ๊! แล้วมันเป็นอย่างไรล่ะ
ถ้าคนเวลาปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม ปฏิบัติเพราะเราศึกษามา ศึกษามานี่ธรรมทับจิต เวลาปฏิบัติขึ้นไปเขาว่าหินทับหญ้าๆ หินทับหญ้านะ เขาว่าทำสมาธิแล้วมันเป็นหินทับหญ้า แต่ถ้าธรรมทับจิตนี่มันไม่รู้อะไรเลย นี่คิดถึงธรรมะ ตรึกในธรรมได้หมดเลยนะ เข้าใจหมดเลย แต่ไปไหนไปไม่ถูก แผนที่มันก็ชี้แล้วนะบอกให้ทวนกระแสเข้ามา ให้ทวนกระแสเข้ามา แผนที่ก็ชี้ให้ทวนกระแสเข้ามาสู่ใจนี่ แต่มันไปไม่เป็น มันไปไม่ได้ มันส่งออก เพราะอะไร เพราะความคิดมันส่งออก ถ้าไม่ตรึก ไม่คิด สังขารไม่ปรุงไม่แต่งมันก็ว่าไม่มีปัญญา พอสังขารมันจะปรุงมันจะแต่ง จิตมันก็เข้าไปปรุงแต่ง
นี่ขันธ์ ๕ เกิดจากจิต ความรู้สึกนึกคิดเกิดจากจิต สัญญาเกิดจากจิต พอเกิดจากจิต จิตมันคืออวิชชา พอมันส่งออกมา นี่ส่งออก พอมันส่งออก ส่งออกมันเป็นความรู้สึกนึกคิดไป มันก็เลยไม่เห็นตัวจิตสักที แต่รู้สึกธรรมะนะ ธรรมทับจิต เห็นไหม ธรรมทับจิต แต่เวลาเรากำหนดพุทโธ พุทโธ เราปฏิบัติของเรา เราอยากปฏิบัติ เราอยากปฏิบัติตามความเป็นจริง เพราะเราเชื่อมั่นในครูบาอาจารย์ของเรา ในเมื่อครูบาอาจารย์ของเราท่านปฏิบัติมานะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถ้าไปรื้อค้นกับเจ้าลัทธิต่างๆ รื้อค้นด้วยความมุ่งมั่นนะ ความมุ่งมั่น เพราะตอนไปเที่ยวเห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย นี่ยมทูตมาแสดงให้เห็นมันสะเทือนใจมากนะ
เราก็ต้องเป็นแบบนี้หรือ
เห็นไหม นี่เวลาผู้สร้างบารมีเต็มมาแล้วนะ เราก็ต้องเป็นแบบนี้หรือ เราก็ต้องตายเหมือนเขาหรือ นี่เราก็ต้องตาย ถ้าเราต้องตายมันสะเทือนใจมาก พอสะเทือนใจมากมันต้องมีฝั่งตรงข้ามที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ในเมื่อมีการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย มันต้องมีฝั่งตรงข้ามไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย มันลุกโชนขึ้นมาในใจนะ มันคิดอยู่ตลอดเวลา จนจะหาทางออก ออกไปแสวงหาสิ่งที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ กันมา ก็ศึกษามาเพื่อความไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย เขาว่าเขาปฏิญาณตนเป็นพระอรหันต์ทั้งนั้นแหละ ไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ เขาว่าเขารู้ เขาสอนให้สิ้นสุดแห่งทุกข์ได้ เขาสอนจนหมดกระบวนการของเขาแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไม่ใช่ เพราะว่ามันยังมีความรู้สึกนึกคิดอยู่ มันเกิดดับๆ ในใจอยู่ มันไม่จบหรอก
ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแสวงหาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ตั้งแต่อานาปานสติ นี่อานาปานสติกำหนดลมหายใจเข้าและลมหายใจออก จิตมันสงบเข้ามา นี่จิตสงบเข้ามามันไม่ส่งออก มันไม่รู้สึกนึกคิดสิ่งใดมันถึงสงบเข้ามา ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิบัติถึงที่สุดแห่งทุกข์ เวลาครูบาอาจารย์ของเราปฏิบัตินะ ก็รื้อค้นอย่างนี้ รื้อค้นแล้วพยายามทำตัวเองให้ได้ ถ้าทำตัวเองให้ได้ เพราะท่านทำตัวเองได้แล้วท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านสอนเรา สอนเราบอกว่าให้ทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบแล้วนะ ถ้าใจมันสงบแล้วมันจะมีความสุข
สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี
แต่ในปัจจุบันนี้จิตของเรามันฟุ้งซ่าน แล้วไม่ฟุ้งซ่านธรรมดาด้วยนะ จิตที่มันฟุ้งซ่านมันมีอวิชชากระตุ้น มันมีอวิชชา มีมารน่ะ มาร เห็นไหม ปกติเวลานั่งเราก็ปวดเมื่อยเป็นธรรมดา คนเราเจ็บไข้ได้ป่วย เวลานั่งมันยิ่งปวดเมื่อยเป็น ๓ เท่า ๔ เท่านะ เพราะมันเจ็บไข้ได้ป่วยใช่ไหม นี่เวลาธรรมชาติของจิต คนเราเกิดมา ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด คือคนเราต้องแก่ชราคร่ำคร่า แล้วก็ต้องตายไปเป็นธรรมดา
นี่ไงเวลาเกิดมา คนเรามันก็มีพญามารครอบงำในหัวใจเราเป็นธรรมดา มันก็มีความทุกข์เป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้วแหละ ทีนี้มีความทุกข์เป็นธรรมดามันยังมีมารมาแผดมาเผาอีก มันยังมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากมากระตุ้นอีก มันยังมีโทสะ มีโมหะ มีจริตนิสัยเข้ามาขับไสอีก มันมีแต่ทำให้กิเลสฟูไปหมดเลย แล้วศึกษาธรรมะแล้วบอกว่าสุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี นี่แล้วมันจะสงบอย่างไรล่ะ มันจะสงบอย่างไร
นี่ก็ไปตรึกในธรรมะ พอตรึกในธรรม ตรึกในธรรมนะ เวลาตรึกในธรรมมันก็ เออ! จิตใจไปอยู่กับธรรมะ ถ้ามันไม่คิดเรื่องอื่น แต่นี่มันก็ฟุ้งซ่านของมันอยู่แล้ว มารมันก็ขับไส ทีนี้พอไปตรึกในธรรมะ คิดในธรรมะ ศึกษาธรรมะ เห็นไหม ธรรมะทับจิต ธรรมะทับจิตไง ตรึกในธรรมะ ตรึกในธรรมะมันเป็นความคิดไหม? เป็น แล้วความคิดมาจากไหน มาจากจิตใช่ไหม? ใช่ แล้วมันก็ออกมาจากจิต นี่ออกมาจากจิต ตรึกธรรมะ ธรรมก็ทับจิตไง
แต่ถ้าครูบาอาจารย์สอนนะ บอกว่าให้กำหนดพุทโธ พุทโธ ทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบพุทโธ พุทโธ พุทโธนะ เวลาทำความสงบให้ใจมันสงบเข้ามา ถ้ามีความสงบ นี่สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี ถ้ามันสงบได้ แต่ที่มันไม่สงบอยู่นี้เพราะอะไรล่ะ เวลามันไม่สงบ เห็นไหม มันไม่สงบ มันอยู่ที่อำนาจวาสนาของคน
อำนาจวาสนานะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเรา เป็นครูเอกของเรา ท่านรู้ถึงว่าคนทำบุญทำบาปกันมาแต่ละคนไม่เหมือนกัน จิตนี้เวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะมา เห็นไหม เรามาเกิดเป็นพี่เป็นน้องกันในพ่อแม่เดียวกันนี่แหละ ทำไมนิสัยมันไม่เหมือนกัน เรามาเกิดเป็นหมู่เป็นคณะกัน เป็นเพื่อนรักกัน นี่รักกัน ถือน้ำสาบานกันเลย แต่ทำไมจริตนิสัยมันไม่เหมือนกัน เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นถึงจิตที่เวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะนี้ สร้างบุญกุศล สร้างบุญสร้างบาปมาแตกต่างกัน ทีนี้การสร้างบุญสร้างบาปมาแตกต่างกัน จริตนิสัย ความรู้สึกนึกคิดของเขาถึงแตกต่างกัน
ทีนี้ความรู้สึกนึกคิดแตกต่างกัน พระพุทธเจ้าถึงวางกรรมฐาน ๔๐ ห้องไง การทำความสงบของใจ ความแตกต่างกัน ความชอบ จริตนิสัย หรือทำแล้วได้ประโยชน์และไม่ได้ประโยชน์ วิธีการเพื่อจะให้จิตนี้มีที่เกาะ มีคำบริกรรม มีปัญญาอบรมสมาธิเพื่อซักฟอกจิต ฟอกให้มันปล่อยวาง ฟอกจิตให้ปล่อยวางความรู้สึกนึกคิด ฟอกนะ เห็นไหม ฟอก พุทโธ พุทโธนี่ความคิดไหม มันก็เป็นความคิดนะ ไม่นึกพุทโธจะมีพุทโธไหม ไม่นึกพุทโธ นี่บอกว่าไม่ต้องพุทโธหรอก พุทโธมันมีความสำคัญขนาดไหน
พุทโธนี่สะเทือนสามโลกธาตุ พุทโธนี่นะ จะสุขจะทุกข์ขนาดไหน ถ้ามีพุทโธนี่มีพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง มีพุทธานุสติ เราอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราอยู่กับศาสดาของเรา เอาศาสดารักษาปกป้องดูแลหัวใจของเรา นี่เป็นลูกมีพ่อมีแม่ ลูกมีพ่อมีแม่ ลูกกตัญญูกับพ่อแม่ ลูกคิดถึงพ่อแม่ นี่พ่อแม่ในครอบครัวมีความสุขมาก ลูกเป็นคนดี พ่อแม่ก็ปลื้มใจ พ่อแม่ก็มีความสุข ลูกก็มีความสุข เราคิดถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทโธ พุทโธ พุทโธ เราเป็นชาวพุทธนับถือพุทธศาสนา แล้วเราระลึกถึงศาสดาของเรา นึกถึงศาสดาของเรา ไม่ได้นึกถึงสิ่งอื่นเลย ถ้าไม่นึกถึงสิ่งอื่นเลย จิตใจมันจะไปเที่ยวที่อื่นไหม มันจะเร่ร่อนไหม มันจะเที่ยวให้มารมาหลอกไหม
นี่เพราะเด็ก เห็นไหม จิตใจเรามันเหมือนอนุบาล จิตใจนี่สันตติ มันเกิดดับๆ มาตามธรรมชาติของมัน แล้วมันเร็ว แล้วมันก็คิดร้อยแปดพันเก้าไปเลย แล้วคนมีจริตนิสัยก็คิดตามแต่จริตนิสัยของตัว แล้วก็ย้ำคิดย้ำทำจนเป็นจริต จนเป็นนิสัย จนเป็นความเคยชินไป นี้เราบังคับ ใหม่ๆ ต้องบังคับเลยล่ะ บังคับให้อยู่กับพุทโธ บังคับให้อยู่กับพุทโธเลย ให้อยู่กับพ่อ อยู่กับแม่ อยู่กับศาสนาของเรา
เห็นไหม นี่ทำไมต้องพุทโธด้วยล่ะ? ก็พุทโธเพื่อแย่งกันไง พุทโธก็บังคับจิตไม่ให้ไปสู่โลก จะบังคับจิตเข้ามาสู่ธรรมไง จะบังคับจิตของเราให้มันแสดงตัวของมันเต็มที่ของมันไง ให้พลังงานสิ่งที่เคลื่อนที่ที่เร็วที่สุดให้มันหยุดนิ่งไง ถ้ามันหยุดนิ่ง หยุดนิ่งโดยที่ไม่ต้องไปคิดอย่างอื่นไง มันอยู่ของมันไม่ได้ มันต้องคิด มันต้องมีความรู้สึกนึกคิดตลอดไป ทั้งๆ ที่คิดธรรมะนี่แหละ ตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันก็เป็นความคิดอันหนึ่งเหมือนกันนั่นแหละ แล้วคิดโดยเร่ร่อน คิดโดยที่ไม่มีสติปัญญา ธรรมมันเลยทับจิตไง
แต่ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา เห็นไหม เรามีสติมีกำลังของเรา บังคับ บังคับเลย ต้องพุทโธ ต้องพุทโธ ทำไมต้องพุทโธล่ะ? เดี๋ยวจะรู้กัน นี่บอกมาเลย ท้าทายมาเลย เดี๋ยวจะรู้กัน ทำไมต้องพุทโธล่ะ? พุทโธนะ พุทธานุสติ นี่สิ่งนี้ดูเรานะ
เขาเจาะน้ำมันกัน เขาต้องแสวงหาน้ำมัน ที่ไหนมีแหล่งน้ำมัน เขาเจาะขึ้นมา พอเขาเจาะขึ้นมาได้เขาจะดูดน้ำมันขึ้นไป ดูดขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของเขา เราก็หาจิตของเรา เราไม่เคยเจอจิตเราสักทีหนึ่ง ถ้าไม่เจอจิตสักทีหนึ่ง เราจะหาจิตของเรา ถ้าหาจิตของเรา ทั้งๆ ที่เราก็รู้ๆ อยู่นี่แหละ ของอยู่ซึ่งๆ หน้า แต่ไม่รู้จักกัน ของอยู่กับเราแต่ไม่รู้จักกัน ไม่รู้จักกันนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้กำหนดพุทโธ พุทโธนี่แหละ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธไป เห็นไหม นี่แสวงหาน้ำมัน แสวงหามันอยู่ที่ไหน มันอยู่ที่ไหน แสวงหาน้ำมัน ถ้ามันแสวงหา นี่ไงเขาหาน้ำมัน เขาใช้คลื่นแม่เหล็ก เขาแสวงหาว่าที่ไหนมันมีน้ำมัน แต่เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีมันเจริญขึ้นมา มันใช้ดาวเทียมส่งมันรู้หมด
นี่ก็เหมือนกัน เราอยู่ที่ไหน จิตของเรา โลกทัศน์ โลกก็คือเรา มนุษย์เป็นสัตว์โลก นี่เราก็จะหาความดีของเรานะ พุทโธ พุทโธ พุทโธ ถ้ามันเริ่มพุทโธของมัน ถ้ามันเริ่มพุทโธ พุทโธ ถ้ามันมีสติมันก็นึกพุทโธได้เต็มปากเต็มคำ เต็มปากเต็มคำ ถ้าเป็นเต็มปากเต็มคำ พลังงานก็อยู่ที่นี่ ถ้ามันพุทโธสักแต่ว่าไง เขาว่าต้องพุทโธนะ ก็นึกพุทโธ สักแต่ว่านึกว่าเหมือนความคิดนอกๆ นี่ไง นี่จิตมันก็เร่ร่อน นี่สักแต่ว่าทำ แต่ถ้าเขาบอกบังคับ ตั้งใจ เห็นไหม เต็มปากเต็มคำ พลังงานนั้นก็อยู่กับพุทโธ นี่อยู่กับพุทโธ
พุทโธนี้เป็นพุทธานุสตินะ แต่เวลาพุทโธ พุทโธถ้ามันละเอียดขึ้นมา ตัวมันเอง ตัวมันเองเป็นพุทโธ มันนึกพุทโธไม่ได้ นี่เวลาถ้าเราไม่บังคับเราก็คิดพุทโธไม่ได้ใช่ไหม เพราะพุทโธมันจืดชืด พุทโธแล้วเครียด พุทโธแล้วไม่มีประโยชน์อะไรเลย นี่มันเป็นการยุแหย่ของมาร มารมันอยากอิสระ มันจะทำตามความพอใจของมัน มันก็คิดประสามันนั่นแหละ แต่ถ้าเราพุทโธเลย พุทโธเลย แล้วพุทโธมันก็แบบว่าลูบๆ คลำๆ พุทโธสักแต่ว่า พุทโธสักแต่ว่าทำ มันก็มีช่องว่างที่ให้จิตมันหลบหลีกได้ แต่เราพุทโธเต็มปากเต็มคำ แล้วพยายามทำของเรา
พุทโธเต็มปากเต็มคำ เห็นไหม นี่สิ่งนี้มันไม่มีช่องวางไปสิ่งใดเลย พุทโธ พุทโธ พุทโธ มันพุทธานุสติ แล้วมันก็จบที่นั่น พุทธานุสติเป็นคำบริกรรม จิตมันเกาะไว้ ถึงเวลาพุทโธ พุทโธจนมัน นี่นาโนนะ เราซ้อนๆๆ จนมันตั้งมั่นขึ้นมา ถ้ามันตั้งมั่นขึ้นมา ขณิกสมาธิจะเกิดนะ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิมันเป็นไปได้เลยล่ะ แต่ถ้ามันเป็นไปได้ เห็นไหม คนเป็นไปได้มันรู้มันเห็นของมัน
นี่ไง ถ้าทำความสงบของใจได้ ใจจะมีที่พึ่งที่อาศัย ทีนี้พอทำความสงบของใจได้ ใครทำความสงบของใจได้ด้วยสติสัมปชัญญะ มีสติพร้อม มันจะเห็นว่าจิตสงบเป็นแบบนี้ แต่เวลาทำแบบส้มหล่น เห็นไหม มันเป็นของมัน เป็นของมัน แต่มันเป็นอย่างไรล่ะ ทีนี้พอมันว่างๆ มันมีความสุขของมัน แล้วทำอย่างไรต่อไปล่ะ ทีนี้พออยากได้ขึ้นมา เห็นไหม พออยากได้ขึ้นมานี่พยายามของเรา ตั้งใจของเรา นี่ตัณหาซ้อนตัณหาแล้ว เขาบอกว่าปฏิบัติโดยความอยากไม่ได้นะ เพราะมีความอยากปฏิบัติมันเป็นกิเลสนะ กิเลสเป็นความอยากทั้งนั้นแหละ
จิตใต้สำนึกของคนมันมีความอยากทุกคนแหละ เห็นไหม เวลาธรรมทับจิตนะ เวลาถ้าเรามีศรัทธาความเชื่อ เราก็ว่าเราอยากจะสิ้นสุดแห่งทุกข์ เราอยากจะเป็นพระอรหันต์ อยากจะนิพพานไป นี่เราก็อยากของเราทั้งนั้นแหละ เพราะเราศึกษาแล้วเรารู้ใช่ไหม เราก็มีความอยากของเรา ความอยากอย่างนี้นี่ตัณหาซ้อนตัณหา ตัณหาซ้อนตัณหาเพราะเราศึกษาแล้วเรารู้ไง
นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราปฏิบัติของเรา จิตเราสงบ เรารู้ของเรา พอเรารู้ของเรา เราอยากได้อย่างนี้ อยากได้อย่างนี้ นี่ความอยากอย่างนี้มันเป็นตัณหาความทะยานอยาก แต่จิตใต้สำนึกของคนอยากดี นี่ฉันทะ ความพอใจ กามฉันทะ กามราคะ สิ่งที่เป็นกามราคะมันเป็นเรื่องโลกๆ เลยล่ะ แต่กามฉันทะ จิตมันมีของมันอยู่จิตใต้สำนึกนะ ถ้าจิตใต้สำนึก นี่ความวิริยะ ความอุตสาหะ ความเพียรของเรามันมีความพอใจ มีกามฉันทะ นี่มันมีความอยากลึกๆ อยู่ อย่างนี้เราแก้ไขไม่ได้ แต่ที่ว่าเราอยากได้อยากดี อย่างนี้ถ้ามันอยากได้อยากดี นี่ตัณหาซ้อนตัณหาทุกข์มากเลย
ทีนี้พอปฏิบัติไปๆ มันไม่ได้ เห็นไหม มันไม่ได้ต่างๆ นี่ธาตุขันธ์ทับจิต เวลาธาตุขันธ์ทับจิต เห็นไหม โดยธรรมของเรา เราทำของเรานี่จับต้นชนปลายไม่ได้ ดูนักมวยเวลาขึ้นชกใหม่ๆ นะ นักมวยที่ฝึกหัดใหม่แล้วขึ้นชกใหม่ เขาจะเก้ๆ กังๆ ทั้งๆ ที่ฝึกมาดีนะ พอขึ้นไปชกนี่เขาตื่นเต้น ขึ้นไปชกแล้วคนเชียร์ เขาทำผิดทำถูก เขาทำไม่ได้ดั่งใจเลย
อันนี้ก็เหมือนกัน นี่เวลาฝึกหัดใหม่ ผู้ฝึกหัดใหม่เป็นเรื่องธรรมดา มันก็เก้ๆ กังๆ เป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้ามันทำของมันได้ขึ้นมา เห็นไหม นี่เป็นปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก มันรู้มันเห็นของมัน พอมันรู้มันเห็นของมัน มันอยากได้อย่างนี้ๆ เห็นไหม อยากได้อย่างนี้ นี่นักมวยที่ขึ้นชก นักมวยที่ฝึกหัดใหม่ขึ้นไปเก้ๆ กังๆ แล้วเขาทำอย่างใดเขาถึงจะไม่เก้ๆ กังๆ ล่ะ? เขาต้องมีความชำนาญของเขาใช่ไหม เขามีประสบการณ์ของเขา เขาทำของเขา เขาจะรู้ว่าประสบการณ์ของเขา เขาเจอคู่ต่อสู้แต่ละคนมันก็ไม่เหมือนกัน
ในการปฏิบัติของเราก็เหมือนกัน เวลาพุทโธ พุทโธของเราถ้าจิตมันสงบได้ จิตที่ดี กิเลสมันยังไม่ตื่นนอน กิเลสมันยังไม่รู้ทัน จิตใจมันก็สงบได้ แต่ถ้ากิเลสมันรู้เท่ารู้ทันนะว่าเราทำสิ่งใด กิเลสมันจะทำให้ความประพฤติปฏิบัติเรายากขึ้นมา ปฏิบัติขึ้นมา นี่ถ้าเป็นวัตถุไม่มีชีวิต เราจับไปวางไว้ไหน เราจะประกอบสิ่งใดให้เป็นเฟอร์นิเจอร์ เราจะประกอบสิ่งใดให้เป็นสิ่งที่เราพอใจ เราทำได้เลย เพราะมันไม่มีชีวิต มันไม่ต่อต้านเราหรอก มันมีแต่ฝีมือเราทำได้หรือไม่ได้เท่านั้นแหละ
แต่ถ้าความรู้สึกมันมีมาร มันมีกิเลส มันปลิ้นปล้อน เร่ร่อน มันมีเล่ห์มีเหลี่ยม แล้วเราจะทำอย่างไรกับมันล่ะ ถ้ามันไม่ตื่นนอนนะ ทำสิ่งใดนี่เราอยากปฏิบัติก็ได้ เราพุทโธก็ได้ ทำสิ่งใดมันได้กับเราไปหมดน่ะ แต่พอเห็นผลขึ้นมามันจะต่อต้านนะ ทีนี้ทำไปนะ โอ้โฮ! มันทำไปแล้วนี่ก็ทำมาแล้ว ปฏิบัติมาแล้วก็ไม่เห็นได้อะไรเลย นี่เวลามันตื่นนอนนะ มันบอกว่าปฏิบัติไปแล้วเดี๋ยวเจ็บไข้ได้ป่วย โอ๋ย! ร้อยแปดเลย อืม! เราก็เชื่อนะ
ตอนนี้มีอยู่คำหนึ่งที่เขาพูดกันมากเลย ไม่มีอาจารย์ปฏิบัติไม่ได้นะ เดี๋ยวบ้า เดี๋ยวบ้านะ ไม่มีครูบาอาจารย์
หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านเอาครูบาอาจารย์มาจากไหน ท่านก็พยายามฝึกฝนของท่าน หลวงปู่เสาร์ท่านฝึกฝนมากับใครล่ะ นี่เราอยู่กับครูบาอาจารย์นี่แสนดีมากเลย ถ้าครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรมนะท่านจะชี้นำเราได้ แล้วมันจะอยู่กันตลอดไปได้ไหม เราออกวิเวกบ้าง อะไรบ้างเราก็ต้องฝึกหัดของเราทั้งนั้นแหละ เราจะต้องสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาให้เราบรรลุนิติภาวะขึ้นมาให้ได้ เราจะโตขึ้นมาให้ได้ ถ้าเราโตขึ้นมาให้ได้ ถ้ากิเลสมันตื่นนอนขึ้นมา กิเลสมันต่อต้าน การต่อต้านขึ้นมา การปฏิบัติเรานี่ล้มลุกคลุกคลาน
นี้เขาบอกทำไมต้องพุทโธ ทำไมต้องพุทโธ แม้แต่พุทโธนี่นะ จะเคลียร์พื้นที่การเป็นสมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน มันยังแสนยาก แต่แสนยากขนาดไหนมันก็ไม่สุดวิสัยนักปฏิบัติเราใช่ไหม ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามา ใจมันสงบมาได้ เราอยากได้อย่างนี้อีก นี่พออยากได้อย่างนี้อีก เรารู้ว่าสิ่งนี้เป็นผล จิตสงบเราเข้าใจว่าสมาธิเป็นผลที่เราเคยได้สัมผัส แต่ถ้าจะเข้าเป็นสมาธิอีก มันไปไม่ได้เพราะเหตุใดล่ะ
ธาตุขันธ์ทับจิต ธาตุขันธ์ทับจิต ขันธ์ๆๆ ขันธ์คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สังขารความคิด ความปรุง ความแต่ง เห็นไหม สัญญา สัญญาคือความจำได้หมายรู้ว่าจิตมันเคยสงบอย่างนั้น มันอยากได้อย่างนั้น นี่เวทนามีความสุขไง สุขเวทนา ทุกขเวทนา แต่สมาธิมันนิ่ง เวิ้งว้าง มีความสุข นี่เวลามันทุกข์ ทุกข์เวลามันทำสมาธิไม่ได้ มันฟุ้งซ่าน อึดอัดขัดข้อง ทุกข์ไปหมดเลย เห็นไหม นี่ขันธ์ ขันธ์คือนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรมมันคิด มันแก่กล้า เพราะมารมันส่งเสริม นี่ธาตุขันธ์ทับจิต
ธาตุคือร่างกายของเรา กินอิ่มนอนอุ่นมันมีกำลังของมัน เราก็ผ่อนกันนะ นักปฏิบัติฉันแต่น้อย กรรมฐานเรานี่กินน้อย นอนน้อย ขยันหมั่นเพียรมาก ทำเพื่อประโยชน์กับเรา แล้วถ้าขยันหมั่นเพียรมากแล้วมันก็ยังไม่ได้ เรากินน้อย นอนน้อย ขยันหมั่นเพียรแล้วมันก็ยังไม่ประสบความสำเร็จอีก นี่เราต้องมีอุบาย มีอุบายวิธีการของเรา เราจะไม่ให้ธาตุขันธ์ทับจิต ถ้าไม่ให้ธาตุขันธ์ทับจิต เวลาคนอดอาหาร คนผ่อนอาหารนะ มันจะเบา ตัวมันจะเบา เดินจงกรมตัวปลิวนะ หลวงตาว่าเดินจงกรมนี่ตัวปลิวเลยนะ เวลาฉันข้าวเข้าไปนี่อืดอาดเหมือนเรือเกลือเลย มันขยับขยายไม่ได้เลย แต่คนมันก็ต้องมีอาหาร ก็ต้องพยายามดูความสมดุล ดูความสมดุลว่าเราพอได้ขนาดไหน ทำนี่ไม่ให้ธาตุขันธ์ทับจิต
ถ้าไม่ให้ธาตุขันธ์ทับจิต เราศึกษาของเรา เราหาประสบการณ์ของเรา นี่ควบคุมได้ดูแลได้ เพื่อให้จิตของเรา ให้การปฏิบัติต่อเนื่อง ถ้าการปฏิบัติต่อเนื่องโดยสติสัมปชัญญะ เห็นไหม ถ้ามันสงบเข้ามา นี่จิตสงบเข้ามา จิตสงบเข้ามามันจะมีความสุข พอจิตสงบเข้ามาเราก็ฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้าฝึกหัดใช้ปัญญา เพราะจิตมันสงบ มันฝึกหัดใช้ปัญญา มันจะเข้าสู่โลกุตตรปัญญา
ถ้าปัญญาเกิดขึ้นมาจากการวิปัสสนา ปัญญาเกิดขึ้นจากจิตสงบ คำว่าจิตสงบนะ เวลาจิตมันสงบ มันโล่ง เวลามันใช้ปัญญาไปแล้วมันจะลึกซึ้ง คิดเรื่องกายเหมือนกันนี่แหละ แต่ถ้าธรรมะทับจิตนะ เวลาคิดเรื่องกายเหมือนกัน เรื่องกายนะ เรื่องกายใครจะมีความชำนาญยิ่งกว่าทางการแพทย์เขา ทางการแพทย์ ตั้งแต่เรียนแพทย์เขาก็เรียนจากอาจารย์ใหญ่ ซากศพนี่ผ่าแล้วผ่าอีก เขาก็ศึกษาจากตรงนั้น แล้วเขาจะคัดเด็กที่มีปัญญามาศึกษาทางการแพทย์ ศึกษามาทำไม? ศึกษามารักษาคนไข้ ศึกษามาเพื่อรักษาชีวิตของคน แต่เวลาเราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราศึกษาเรื่องกาย ศึกษาเรื่องกายจากจิต ถ้าจิตมันสงบเข้ามาแล้วเห็นกาย มันไม่เหมือนกับทางการแพทย์ที่เขาศึกษาอาจารย์ใหญ่มา
เวลาเขาเป็นแพทย์ฝึกหัด เขาศึกษาจากคนไข้ เขาศึกษาจากสิ่งที่มีชีวิต เขาเรียนเฉพาะทางจนเขามีความชำนาญของเขา เขามองเห็นภาพหมดเลย อย่างนั้นมันยังเป็นวิชาชีพ เห็นไหม นี่เป็นโลกๆ คำว่าโลกๆ ธรรมทับจิตๆ ถ้าแพทย์ที่เขาเป็นสัมมาทิฏฐิ เขาเป็นคนดี เขาจะทำเพื่อสังคม แพทย์ที่เขาเอาสิ่งนี้เป็นวิชาชีพของเขา เขาหาเงินหาทองนะ เขาหาเงินหาทอง เขาหาผลประโยชน์จากเรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วยของมนุษย์ นี่มันก็อยู่ที่คุณธรรมในใจของแพทย์ แต่เวลาเราปฏิบัติขึ้นมามันอยู่ที่คุณธรรมของธรรมหรือของกิเลสล่ะ
ถ้ามันอยู่ที่คุณธรรมของกิเลส ดูกิเลสมันมีคุณธรรมด้วยหรือ กิเลสมันเอาธรรมะไง เอาธรรมะมาอ้างอิง เห็นไหม นี่เป็นธรรมๆ ธรรมทับจิต ธรรมทับจิตหมายถึงว่ามันทับมา ก็อปปี้มาทับลงไปที่จิต แล้วจิตมันดิ้นรนอะไรไม่ได้เลย มันไม่มีความจริงขึ้นมาจากจิตนั้นเลย ถ้ามันไม่มีความจริงขึ้นมาจากจิตอันนั้น มีความรู้ขนาดไหน ดูสิทางการแพทย์ เขาเรียนจบแพทย์มา เขาไปทำวิชาชีพอื่นเยอะแยะไป เดี๋ยวนี้เขาจบแพทย์ แต่เขาไปทำธุรกิจ เขาไปทำการค้าต่างๆ เขาไม่เอาวิชาชีพมาใช้ เขาไปทำอาชีพอื่นเยอะแยะไปหมดเลย
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตใจมันมีสติสัมปชัญญะ เห็นไหม แล้วถ้ามันทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบเข้ามา มันลึกซึ้งเข้ามามันจะเป็นธรรมขึ้นมา นี่มันจะเป็นธรรมขึ้นมาจากจิต ถ้าจิตมันเป็นธรรมขึ้นมา มันจะเป็นธรรมขึ้นมาจากจิตใช่ไหม แต่นี่เอาธรรมะมาทับจิต เอาธรรมะมาทับจิต นี่มีทิฏฐิมานะอวดตัวว่ารู้ว่าแน่ อวดตัวว่าศึกษาธรรมมา มีธรรมในหัวใจ แต่ไม่มีความจริงในหัวใจแม้แต่น้อยเลย แต่ถ้าเป็นความจริงของมันขึ้นมาล่ะ
ถ้ามันจะเป็นความจริงขึ้นมา เห็นไหม นี่หลวงตาท่านจบมหามาเหมือนกัน เวลาท่านจบมหาแล้วท่านอยากจะประพฤติปฏิบัติของท่าน ท่านบอกเลยนะ จบมาท่านเรียนของท่านมหา ๓ ประโยค ๓ ประโยคเป็นแผนที่ดำเนินที่ไปได้แล้ว แต่ท่านก็ยังสงสัยว่า แล้วนิพพานมีจริงหรือเปล่า นิพพานจะเป็นจริงหรือเปล่า ทั้งๆ ที่ศึกษานิพพานมานั่นแหละ ฉะนั้น ถ้ามีอาจารย์องค์ใด ถ้ามีครูบาอาจารย์องค์ใดชี้นำเราได้ บอกชี้ถึงทางเดินของจิตให้หมดความสงสัยได้ จะถืออาจารย์องค์นั้นเป็นอาจารย์ของเรา เป็นผู้ชี้นำเรา
ไปหาหลวงปู่มั่น เห็นไหม หลวงปู่มั่นบอกว่า มหา มหามาหาอะไร มหามาหานิพพานใช่ไหม นิพพานไม่ได้อยู่ภูเขาเลากา นิพพานไม่อยู่ในสิ่งใดๆ หมดทั้งสิ้น นิพพานมันอยู่ที่ใจ
ทีนี้นิพพานอยู่ที่ใจ คนชี้ถูกที่ แล้วชี้เป็นด้วย แล้วเรียนมาก็เรียนมาจบแล้วเหมือนกัน เรียนมาเหมือนกัน แต่ไม่มั่นใจว่ามันอยู่ตรงไหน นี่หลวงปู่มั่นท่านพูดไว้ เห็นไหม ไม่ให้ธรรมทับจิต ธรรมทับจิต ถ้าธรรมทับจิต เราต้องดิ้นออกมาจากธรรมก่อนแล้วค่อยมาปฏิบัตินะ
มหา มหาเรียนมาเป็นถึงมหานะ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สาธุ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐ แต่เพราะกิเลส คุณวิเศษของกิเลสมันไปแย่งชิงธรรมอันนั้นมาว่าเป็นของเรา ถ้ากิเลสมันไปแย่งชิงว่าเป็นของเรา อวดรู้ว่ารู้ อ้างว่ารู้ว่าเข้าใจ เวลาเราปฏิบัติขึ้นมามันจะมาเตะ มาถีบกัน คือมันจะมาขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่มันจะเกิดขึ้นตามความเป็นจริงที่ใจเราจะเป็น
เพราะนั่นมันเป็นทฤษฎี นั่นเป็นสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ธรรมวินัยเป็นศาสดาของเรา ศาสดาของเรา มันเป็นสมบัติของศาสดา ศาสดาวางธรรมวินัยนี้ให้เราศึกษา ศึกษามาเพื่อประพฤติปฏิบัติ ไม่ได้ศึกษามาว่าเป็นของเรา ศึกษามาก็เป็นความจำอยู่แล้ว จำมาแล้วก็งง จำมาแล้วเดี๋ยวก็ลืม ลืมก็ทบทวน เดี๋ยวก็เปิดหนังสือ เปิดหนังสือ เปิดแล้วก็เป็นชื่อ เป็นชื่อมันก็นี่ธรรมทับจิต เห็นไหม
มหา ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สาธุ เทิดไว้บนศีรษะ เทิดไว้บนศีรษะ
เรามาศึกษากัน เราเป็นชาวพุทธ ถ้าไม่มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมและวินัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เราจะมีศาสนาพุทธมาให้เรานับถือหรือ ที่เรานับถือศาสนาพุทธ เรานับถือศาสนาพุทธเรา นี่ศาสดาของเราใช่ไหม สอนถึงการเกิดและการตายใช่ไหม ให้เราทำบุญกุศลอยู่นี่ นี่มีคุณมีบุญกุศลขนาดไหน เราจะไปดูถูกดูแคลนที่ไหน
ไม่ใช่ดูถูก ดูแคลนเลย แต่คุณวิเศษของกิเลสมันเอามาอ้างมาอิง คุณวิเศษของกิเลสมันจะมาทำร้ายเราใช่ไหม ฉะนั้น หลวงปู่มั่นท่านบอกว่า สิ่งที่ศึกษามาเทิดไว้บนศีรษะนะ แล้วใส่ลิ้นชักไว้ แล้วลั่นกุญแจมันไว้ มหา ให้ปฏิบัติไปก่อนนะ ถ้าปฏิบัติไป ถ้าความจริงมันเกิดขึ้นกับใจของเรา นี่พอธรรมมันเกิดขึ้นกับใจของเรา สิ่งที่เราศึกษามา ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เราใส่ลิ้นชักไว้ แล้วลั่นกุญแจไว้นั่นน่ะ มันจะออกมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เห็นไหม ไม่ให้ธรรมมาทับจิตก่อนไง
ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สาธุ แล้วใส่ลิ้นชักไว้แล้วลั่นกุญแจไว้ด้วย อย่าให้มันออกมาเทียบมาเคียง มาให้คะแนนตัวเอง มาเป็นประเด็นให้ตัวเองสงสัย มาเป็นประเด็นให้ตัวเองล้มลุกคลุกคลาน ไม่ให้ธรรมทับจิตไง ให้จิตมันเป็นธรรมขึ้นมา แล้วพอจิตเป็นธรรมขึ้นมา เห็นไหม นี่ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ทับจิต เราก็ปฏิบัติกันล้มลุกคลุกคลาน
ถ้าธรรมทับจิตนะมันเป็นการโอ้การอวดอยู่ในหัวใจนั่นล่ะ ฉันเรียนมา ฉันรู้ ฉันมีความเข้าใจ...แล้วตัวเองล่ะ ธรรมะมันทับดิ้นๆๆ ไม่หลุดเลย ธรรมะมันทับแบนแต๊ดแต๋อยู่ใต้ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย แต่ถ้าเราปฏิบัติของเรานะ สาธุ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเครื่องหมายชี้ทาง พอชี้ทาง ทางที่จะเกิดขึ้นจะเกิดขึ้นจากเรา ถ้าเกิดขึ้นจากเรา ทางมันอยู่ที่ไหนล่ะ มรรคเอก นี่ทางอันเอก มัคโคทางอันเอก เห็นไหม เราจะทำทางของเรา
นี่เวลาเราปฏิบัติกัน การศึกษาของเรา เขาบอกว่ามรรค ๘ สัมมาอาชีวะเราก็เลี้ยงชีพชอบ ทำชอบ นั้นมันเป็นการเลี้ยงชีพ เป็นการเลี้ยงชีพทางฆราวาส แต่เวลาเราจะปฏิบัติของเรา การเลี้ยงชีพ เห็นไหม จิตมันคิดอะไร? จิตมันคิดแต่ความโลภ ความโกรธ ความหลง นี่มันเลี้ยงชีพผิด ถ้าจิตมันคิดเสียสละ จิตมันคิดอยากมีคุณธรรม จิตมันมีสติสัมปชัญญะยับยั้ง เห็นไหม นี่สัมมาอาชีวะ ถ้าเราเลี้ยงชีพได้ถูก ความคิดที่ดี ศรัทธาความมั่นคงในใจมันพอใจจะทำ ถ้ามันทำของมันขึ้นมา มันทำด้วยความสดชื่น ชื่นบาน ความชื่นบาน ปฏิบัติด้วยความชื่นบาน ไม่ได้ปฏิบัติด้วยความคอตกนะ เวลาปฏิบัติด้วยความคอตกเลย ทุกข์อีกแล้ว จนเบื่อหน่ายไม่อยากเข้าทางจงกรม จนเบื่อหน่าย
นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติอยู่ ท่านก็ค้นคว้าของท่าน ท่านทำของท่าน ท่านเห็นนะเวลาจิตเสื่อม เวลาจิตมันดีจิตมันเสื่อม ความเศร้าหมองความผ่องใสในใจ ท่านรู้ของท่าน แล้วในวงกรรมฐานของเรา เรื่องอย่างนี้มันมี เห็นไหม เวลาจิตมันเสื่อม เสื่อมเพราะเหตุใด? เสื่อมเพราะเรารักษาไม่ถูก รักษาไม่เป็น แต่ถ้าจิตมันเสื่อมแล้วเจริญล่ะ มันเจริญขึ้นมา เห็นไหม นี่ไม่ให้ธาตุขันธ์ทับจิต มันต้องดูแลรักษาขนาดนั้น ถ้าดูแลรักษา สิ่งที่รักษายากที่สุดคือรักษาใจ
เพชรนิลจินดาเวลาไปเก็บไว้ในตู้นิรภัย เขาใส่กุญแจก็จบแล้ว แต่ถ้าของเราล่ะ นี่เดี๋ยวมันแฉลบ เดี๋ยวมันเร่ร่อน เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย รักษายากนัก เวลาดีก็ดีสุดๆ เลย เวลามันร้ายนะมันทำลายแม้แต่ตัวเองได้เลยล่ะ แล้วรักษาอย่างไร? ตั้งสติไว้ ให้กำหนดพุทโธไว้ ถ้ามันพุทโธไม่ได้ เรามีความรู้สึกนึกคิดมาก เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าปัญญาอบรมสมาธิ มันคิดสิ่งใด ตามมันไป พอตามมันไป เวลามันปล่อยวางขึ้นมา ปล่อยวางแป๊บ เดี๋ยวก็คิดอีกใหม่ๆ ถ้าเราชำนาญขึ้นๆ มันจะมีหลักของมันแล้ว ถ้ามีหลักของมันปั๊บ ปัญญาอบรมสมาธิมันก็ได้
พอปัญญาอบรมสมาธินะ ปัญญาอบรมสมาธิ มันเป็นสมาธิขึ้นมาเดี๋ยวมันก็ออกไปคิดอีก เราก็ใช้สติตามไป เห็นไหม มันทำบ่อยครั้งเข้าๆ มีความชำนาญมากขึ้นๆ ชำนาญมากขึ้นจนจิตมันสงบ จิตสงบมันเห็นของมันนะ เวลามันเสวยอารมณ์เราเห็นเลยล่ะ พอเราเห็น นี่สิ่งที่มันเสวยอารมณ์เพราะจิตสงบแล้วเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ถ้ามันเห็นนะ เวลาทางการแพทย์ เห็นไหม เขาเห็นกาย เขาฝึกกาย นี่แพทย์ฝึกหัดเขาก็ฝึกขึ้นมา ผู้ที่ชำนาญการแล้วผ่าตัดสมอง ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจต่อเส้นเลือดต่างๆ เขามีความชำนาญของเขา เขาทำของเขาจนมีความชำนาญ
ในการปฏิบัติของเราก็เหมือนกัน ถ้าในการปฏิบัติของเรา เห็นไหม ถ้าจิตมันสงบแล้วเวลามันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เห็นจากจิต พอเห็นจากจิตขึ้นมานะ เห็นเป็นนิมิต ถ้าเห็นเป็นนิมิต ถ้าจิตเราสงบ จิตมีกำลัง เห็นไหม นิมิตนั้น นี่เห็นกาย กายจะตั้งอยู่ ถ้ากำลังเราไม่พอมันแว็บๆ แว็บๆ มันเร็วขึ้นมามันเห็นผ่านๆ เห็นผ่านๆ แม้แต่จิตเราไม่มีกำลัง เวลาเห็นสิ่งใด มันเคลื่อนไป มันเคลื่อนที่ กำลังมันไม่พอ
ถ้ากำลังไม่พอนะ ดูสิเราจะผ่าตัดคนที่ไม่ได้วางยาสลบได้ไหม เราจะผ่าตัดคนไข้ คนไข้ต้องวางยาสลบใช่ไหม พอวางยาสลบเขาจะผ่าตัดสมอง ผ่าตัดสิ่งใดเขาผ่าตัดของเขาได้ทั้งนั้นแหละ เพราะคนไข้วางยาสลบอยู่ คนไข้ไม่มีความรู้สึกอยู่ตอนนั้น เขาทำสิ่งใดก็ได้ แต่ถ้าคนไข้ที่ไม่ได้วางยาสลบ ลองผ่าไปสิ ดิ้นตายเลย แล้วเราผ่าไม่ได้หรอก มีแต่ความเสียหาย
จิตไม่สงบจริง จิตไม่มีหลักเกณฑ์จริง นี่เวลาเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันเหมือนกับไม่ได้วางยาสลบ มันไม่ชัดไม่เจนของมัน ถ้าไม่ชัดไม่เจนของมัน เราต้องกลับมาทำพุทโธของเรา กลับมาทำพุทโธของเรา ถ้าพุทโธของเรามันชัดเจน พุทโธกำลังมันพอขึ้นไป นี่เห็นภาพสิ่งใดนิ่ง ถ้านิ่ง เราพิจารณาของเราได้ พิจารณานี่มันจะเป็นไปของมันอย่างนั้น นี่พูดถึงความเป็นจริงนะ ความเป็นจริงของจิตที่มันรู้มันเห็นของมัน เห็นไหม
จิตมันจะเป็นธรรมขึ้นมามันมีเหตุมีผลของมัน ถ้าจิตมันจะเป็นธรรมขึ้นมา ไม่ใช่ธรรมทับจิต ถ้าธรรมะทับจิต เพราะจิตมันมีกิเลส มีอวิชชา มันทับลงไป มันไม่มีสิ่งใด แล้วอย่างที่ว่าวางยาสลบๆ ถ้ามันทับไป เรารู้ตัวทั่วพร้อมนี่มันสลบเลยล่ะ เพราะมันไม่ก้าวหน้า แต่ถ้าเป็นความจริงของเรานะ พอจิตมันสงบแล้วมันฝึกหัดใช้ปัญญา ทั้งๆ ที่เวลาเราใช้ปัญญา ธรรมทับจิตๆ ถ้ามีสติปัญญานะ มันจะเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ถ้ามีปัญญานะ เวลาพิจารณาของมันไป มันจะปล่อย พอปล่อย จิตมันจะปล่อยแล้วมันจะมีความสุขของมัน
ถ้ามีความสุขของมัน เพราะอะไร เพราะเวลาปล่อยแล้ว แล้วทำอย่างไรต่อไปล่ะ ทั้งๆ ที่ธรรมทับจิต เราศึกษามามาก เรารู้มามาก เวลามันปล่อยแล้วงงนะ ปฏิบัติไม่ได้ ธรรมทับจิตมันก็งง สงสัย เวลาถ้าทำขึ้นมาส้มหล่น เพราะมีความรู้มาก ความรู้อันนี้มันเป็นสัญญาจำขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา แล้วถ้าพิจารณาของเราไป จิตมีวาสนานี่มันส้มหล่น มันเป็นไป พอเป็นไปมันฟลุค มันฟลุคเพราะอะไร เพราะจิตมันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว
คำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็อาการของใจนี้ทั้งนั้นแหละ คำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ชี้เข้ามาที่การแก้กิเลสตั้งแต่ปุถุชน กัลยาณปุถุชน โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล นี่คำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะขึ้นต้นเป็นอย่างนี้ไปเลย
ตั้งแต่ปุถุชน ปุถุชน เห็นไหม ดูสิปุถุชนคนหนา พอคนหนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเทศน์อนุปุพพิกถาก่อน ให้เขามีศรัทธามีความเชื่อของเขา พอเขามีความเชื่อของเขา นี่พอเขามีความเชื่อของเขา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงเทศน์เรื่องอริยสัจ ถ้าจิตปุถุชน กัลยาณปุถุชน เพราะจิต เราทำจิตของเราสงบ เพราะจิตของเราเป็นปุถุชนคนหนา ทำความสงบได้ยาก
พอทำความสงบบ่อยครั้งเข้า นี่รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร ถ้าเรามีสติปัญญา เราพิจารณาของเราแล้ว รูปก็ส่วนรูป เขารู้รูปดีรูปชั่ว เสียง นี่รูป รส กลิ่น เสียง มันก็เป็นธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้นแหละ มันมีแก่นสารของมันในตัวของมันเองอยู่อย่างนั้นแหละ แต่เราไปให้ค่ามันมากขึ้นหรือน้อยลง เราไปให้ค่ามันเอง นี่มันบูชา เห็นไหม รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร
พอเรามีสติปัญญาขึ้นมา ปัญญาอบรมสมาธิ พิจารณารูป รส กลิ่น เสียง เวลามันเห็นโทษของมัน มันเห็นโทษมันก็ปล่อย ปล่อย พอปล่อยบ่อยครั้งเข้าๆ นี่รูป รส กลิ่น เสียง...อ๋อ! ที่มันฟุ้งมันซ่าน ที่มันทุกข์มันยากอยู่นี่ ก็รูป รส กลิ่น เสียงนั่นแหละมันมายุแหย่ มันมาเร่งเร้าให้จิตนี้คิดตามมันไป พอมีสติปัญญาเราก็เห็นโทษของมัน พอเห็นโทษบ่อยครั้งเข้าๆ ถึงที่สุดแล้วมันขาดนะ มันขาดเลยนะ รูป รส กลิ่น เสียง ก็เก้อๆ เลย เพราะรักษาจิตไว้ด้วยปัญญา จิตมันจะเป็นสมาธิเลย รูป รส กลิ่น เสียงไม่สามารถเข้ามา จิตมันไม่รับรู้ เสียงมาก็ผ่าน รูปมาก็ผ่าน ทุกอย่างผ่านหมด มันดูแลจิตของมัน เห็นไหม นี่กัลยาณปุถุชนคือรักษาสมาธิได้ง่ายไง
พุทโธ พุทโธ พุทโธ นี่ก็เหมือนกัน พุทโธ เห็นไหม รูป รส กลิ่น เสียง พุทโธมันก็คิดร้อยแปดนี่แหละ มันไม่ยอมพุทโธ ไม่ยอมพุทโธ มันก็คิดของมันไป แต่มีสติปัญญาพุทโธ พุทโธ พุทโธ จนเห็นโทษของมัน ถ้าอยู่กับพุทโธ เราไม่ได้ใช้ความคิดเปรียบเทียบ มันอยู่กับพุทโธ พุทโธ พุทโธถ้ามันเป็นพุทโธเสียเอง ถ้ามันเป็นพุทโธเสียเอง มันไม่ออกรับรู้รูป รส กลิ่น เสียง เห็นไหม ถ้าไม่ออกรับรู้รูป รส กลิ่น เสียง นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์อนุปุพพิกถาก็เพื่อให้จิตใจของคนควรแก่การงาน
เวลาเราปฏิบัติของเราเพื่อจะให้ใจของเราเป็นธรรมๆ ขึ้นมา จิตของเราต้องมีหลักมีเกณฑ์ของเรา ถ้าจิตของเราไม่มีหลักมีเกณฑ์ จิตของเราอยู่ใต้พญามาร อยู่ใต้ความรู้สึกนึกคิด อยู่ใต้กิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันคิด ตรึกธรรมะก็ตรึกธรรมะโดยคุณวิเศษของกิเลสมัน ทำสิ่งใดนะ ฉันรู้ ฉันเห็น ฉันทำ ฉันได้ประโยชน์ ฉัน ฉันหมดเลย กิเลสเป็นเรา เราเป็นกิเลสไง สรรพสิ่งเป็นเรา เราเป็นสรรพสิ่งไปหมดเลยไง แต่ถ้าจิตเราสงบเข้าแล้วมันไม่เป็นเราล่ะ นี่จิตเป็นจิต สมาธิเป็นสมาธิ พอจิตสงบเข้ามา สมาธิมันปล่อยอะไรล่ะ เพราะมารมันมายุแหย่ไม่ได้ มารมายุแหย่ไม่ได้จิตมันก็ไม่เกาะในรูป รส กลิ่น เสียง มันก็ปล่อยตัวมันขึ้นมาเป็นสัมมาสมาธิ
พอปล่อยมาเป็นสัมมาสมาธิ เห็นไหม นี่ถ้าคนไม่มีอำนาจวาสนา มันเป็นสัมมาสมาธิมันก็ว่าสัมมาสมาธินี้เป็นนิพพาน เพราะสมาธิเป็นความว่าง ความว่าง นิพพานเป็นความว่างมันก็ว่างของมัน เห็นไหม นี่ว่างอย่างนี้มันก็ว่างแบบหัวตอ มันว่างข้างนอก มันว่างจากจิตนี้ไม่ออกรับรู้รูป รส กลิ่น เสียง แต่ตัวมันว่างไหม? มันว่างจากความไม่ออกไปรับรู้รูป รส กลิ่น เสียง มันก็อยู่ของมัน เห็นไหม อยู่ของมันแล้วทำอย่างไรต่อ? พอเดี๋ยวมันจางลงมันก็ออกคิดอีก
เพราะธรรมชาติของมันเป็นอย่างนั้น นี่เวลามันเป็นสมาธิมันก็อยู่กับสมาธิ พอออกจากสมาธิมันก็เป็นเหมือนเดิม รูป รส กลิ่น เสียง มันก็มีอำนาจเหนือจิตดวงนี้ นี่เสียงเขาเรียกใช้ก็วิ่งแล้ว เห็นรูปที่พอใจมันก็วิ่งหา ทุกอย่างมันไปหมดเลย เห็นไหม นี่มันว่างจากข้างนอกเข้ามา ถ้าว่างจากข้างนอกเข้ามา มันปล่อยรูป รส กลิ่น เสียงมามันก็เป็นสัมมาสมาธิ พอสัมมาสมาธิ พอมันเห็นนะ เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม นี่ไงจิตจะเป็นธรรมขึ้นมานะ
จิตจะเป็นธรรม เป็นธรรมเพราะการฝึกหัด เป็นธรรมเพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเรียนกับเจ้าลัทธิต่างๆ มา ๖ ปี ใครๆ ก็ว่าเป็นศาสดา ใครๆ ก็ว่าเป็นพระอรหันต์ สอนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาหมดแล้ว นี่ธรรมทับจิต ธรรมของคุณวิเศษของกิเลสนะ ไม่ใช่ธรรมแท้ๆ ด้วย แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ให้ทับ ไม่รับรู้ พอปฏิบัติถึงที่สุดแล้วไม่มีคุณธรรมจริง ท่านทิ้งหมดเลย แล้วท่านมาศึกษาของท่านเองจนเป็นธรรมขึ้นมาจากในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พวกเราก็มาศึกษากันแล้วก็มาทับในหัวใจเรา รู้เห็นไปหมดเลย อธิบายนิพพานได้ทุกเรื่องเลย นิพพานมันยังมีขอบมีเขต ยังมีสุขาวดีบนนิพพานอีก นิพพานยังมีหลายชั้นหลายตอน อธิบายนิพพานไปเป็นคุ้งเป็นแควเลย แต่มันทับจิตไว้ จิตไม่รู้เรื่อง
แต่ถ้าเราปฏิบัติตามกรรมฐานของเรา เห็นไหม นี่เวลาจิตสงบแล้ว ถ้าจิตคนมีอำนาจวาสนานะ มันจะเกิดขึ้นทันที จิตสงบ น้ำใสจะเห็นตัวปลา จิตสงบแล้วจะเห็นฉลาม เห็นมาร เห็นต่างๆ ที่มันเคยชักนำจิตนี้ให้หลงใหลได้ปลื้มไปกับมัน ถ้าเราเห็นของเรา เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เพราะมันเห็น เห็นนั่นแหละคือเห็นกิเลส ถ้าเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันสะเทือนหัวใจไง สะเทือนหัวใจเพราะมันสะเทือนกิเลส
ถ้ามันพิจารณาของมัน เห็นไหม นี่โสดาปัตติมรรค มัคโคทางอันเอก โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติมรรคเพราะเหตุใด โสดาปัตติมรรคเพราะจิตสงบแล้วเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง
แต่ถ้าธรรมทับจิตนะ มันก็คิดถึงเรื่องกาย เรื่องเวทนา เรื่องจิต เรื่องธรรมเหมือนกัน แต่เหมือนกันโดยดิบๆ เหมือนกัน เห็นไหม ดูสิเวทนาคืออะไร? ก็สุขกับทุกข์ไง แล้วสุขกับทุกข์ไหมล่ะ กายก็เห็นกันอยู่นี่ไง นี่กาย เวทนา จิต จิตก็เดี๋ยวคิดดีคิดชั่วไง อ้าว ธรรมะ ธรรมะมันคิดให้ปล่อยวางก็ปล่อยวางไง เห็นไหม ธรรมะมาทับไม่เห็นตัวมัน
แต่ถ้าจิตมันเป็นอิสระ มันเป็นสัมมาสมาธินะ มันก็มีความสุขอยู่แล้ว แล้วถ้ามันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง อู้ฮู! มันขนพอง มันสะเทือนกิเลส พอมันสะเทือนกิเลส พอมันเห็น ถ้าจิตมีหลักมีเกณฑ์ มันพิจารณาของมันได้ มันแยกแยะของมันนะ แยกแยะ นี่ไงมรรค มรรคสามัคคี มรรคมันเริ่มออก เห็นไหม งานชอบ เพียรชอบ
มันมีงานชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ นี่ความชอบธรรมในการประพฤติปฏิบัติ พอมันชอบธรรมในการประพฤติปฏิบัติ นี่สิ่งที่ว่านักมวยใหม่ที่ออกเริ่มชกใหม่มันจะเก้อๆ เขินๆ ทำสิ่งใดก็ขาดตกบกพร่องไปหมด นักปฏิบัติใหม่ เวลาออกพิจารณา เห็นไหม เวลาเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมใหม่ๆ พิจารณาแล้วถ้านักมวยขึ้นชกครั้งแรกแล้วชนะน็อกมันก็ภูมิใจ ได้รางวัลด้วย เราพิจารณาจิตครั้งแรก พิจารณาบ่อยๆ ถ้าจิตเรามันปล่อย เห็นไหม มันปล่อยมันก็พอใจมาก นี่ถ้าพิจารณาแล้วมันปล่อย มันปล่อย ตทังคปหาน มันปล่อยมาแล้วก็มีความสุขไง
ความสุขจากจิตที่สงบ พุทโธ พุทโธนี่พุทธานุสติ ปัญญาอบรมสมาธิถ้าจิตมันปล่อยเข้ามามันก็เป็นพื้น เป็นฐาน สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน ฐานที่ตั้งแห่งการงานคือจิตสงบ จิตมีพื้นฐาน จิตมีพื้นฐานจิตก็ฝึกหัดทำงาน จิตฝึกหัดวิปัสสนา วิปัสสนา วิปัสสนาในสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส
สักกายทิฏฐิ ทิฏฐิความเห็นผิด ทิฏฐิมานะในใจ ทิฏฐิมานะอยู่ที่จิตใต้สำนึก จิตใต้สำนึก เห็นไหม นี่ที่ว่าจิตใต้สำนึกของคน เวรกรรมของคนสร้างมาไม่เหมือนกัน โทสจริต โมหจริต โลภจริต สิ่งที่เป็นจริตนิสัย ถ้าเป็นโทสะ เห็นสิ่งใดมีแต่ไฟ ถ้าเป็นโลภะ ไม่ต้องใครมานี่มันหลงไปแล้ว สิ่งที่มันหลง เวลามันพิจารณาไปมันจะรื้อจะถอนอวิชชา สิ่งที่เป็นพญามาร มารในหัวใจ สิ่งที่สังโยชน์ร้อยรัดจิตไว้ พิจารณาแก้ไข พิจารณาแยกแยะมันบ่อยครั้งเข้า
คำว่า แยกแยะ พิจารณาซ้ำแล้วมันเป็นไตรลักษณ์ อะไรเป็นไตรลักษณ์? นี่เป็นไตรลักษณ์ พระไตรลักษณ์เชียวนะ นี่ลักษณะ ๓ ลักษณญาณอยู่ในพระไตรปิฎก ศึกษามานี่ลักษณะของไตรลักษณ์จะเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างนั้น แล้วเวลามันเกิดขึ้นมันเร็วมากนะ พั่บๆๆ เลย ถ้ามันเร็วขึ้นมา แต่สติเราทันหมด มีสติมีปัญญา นี่เร็วขนาดไหนสติปัญญามันเร็วกว่า มันบริหารจัดการไป วิปัสสนามันปล่อยวางไป แล้วมันปล่อยวางอย่างไร มันแยกแยะของมันอย่างไร มันแยกแยะแล้วมันปล่อยวางของมัน
ปล่อยวาง ความปล่อยวางก็มีความสงบ ปล่อยวางเพราะจิตสงบนี้สงบจากวิปัสสนา เวลาจิตที่มันเป็นสมถะนะ พุทโธ พุทโธ ปัญญาอบรมสมาธิ เวลาปล่อยมานี่ว่างจากข้างนอก เห็นไหม ว่างจากข้างนอก ข้างในไม่ว่าง ข้างในนี่จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส นี่ตอของจิต จิตที่มันเป็นกิเลสล้วนๆ แต่มันสงบระงับเข้ามาจากสามัญสำนึก มันก็เป็นสมถะ มันเป็นสัมมาสมาธิ แต่เวลาจิตมันออกเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม นี้คือการเห็นกิเลส
การเห็นกิเลสนะ พอเราเห็นกายนี่มันขนพองสยองเกล้า มันสะเทือนกิเลส นี่ถ้าเวทนาเป็นเรา เราเป็นเวทนาใช่ไหม เวทนามันก็เจ็บปวดอยู่นี่ พิจารณาเวทนา เวลามันปล่อยเวทนามันก็เป็นอิสระ พอเป็นอิสระ พอจิตมันสงบแล้ว ถ้ามันจับเวทนา มันพิจารณาเวทนาอีก นี่จิต เห็นไหม จิต จิตจับเวทนา ถ้าจิตจับเวทนามันพิจารณาเวทนาได้ แต่ถ้าเวทนาเป็นเรา ถ้าเวทนาเป็นเรานะ เวลานั่งใหม่ๆ เวลามันเจ็บปวด ยิ่งอยากให้หายยิ่งปวดมากเลย เพราะเวทนากับจิตมันเป็นอันเดียวกัน แต่เราพิจารณาซ้ำพิจารณาซากจนมันปล่อยเวทนา ปล่อยวางเวทนา
เวทนาสักแต่ว่าเวทนา จิตสักแต่ว่าจิต แล้วถ้าจิตมันออกจับเวทนา นี่จิตออกจับเวทนา มันพิจารณา เวทนามันคืออะไร เวทนามันตั้งอยู่บนอะไร เวทนามันมาจากไหน เวลาเราไม่เจ็บปวดเวทนามันไม่มี...เวทนามันก็เป็นนามธรรมไง ทีนี้เป็นนามธรรม เห็นไหม ถ้าจิตมันจับเวทนาได้มันก็เป็นวิปัสสนา แต่ถ้าเวทนาเป็นเรามันก็เป็นสมถะ นี่เวลาพิจารณาเวทนาก็มีซับมีซ้อน เวทนานอก เวทนาใน เวทนา มันยังมีลูกเวทนา หลานเวทนา ปู่เวทนา ย่าเวทนา เวทนามีเวทนาที่เข้มข้น เวทนาที่เจือจาง นี่วิปัสสนาไปมันจะมีรายละเอียดอีกมหาศาลเลย
รายละเอียดอย่างนี้ไม่ต้องไปรู้ทั้งหมด เอาอย่างใดอย่างหนึ่งในปัจจุบัน ในปัจจุบัน ในเบื้องหน้าเรา สิ่งใดที่เราต้องพิจารณา สิ่งใดที่เกิดขึ้นมาจับสิ่งนั้นแล้วพิจารณาเลย ถ้าจิตมันมีหลักมีเกณฑ์นะ จับพิจารณา ถ้าจิตไม่มีหลักมีเกณฑ์ วาง จิตไม่มีหลักมีเกณฑ์หมายความว่าจับสิ่งใดแล้วมันก็ไม่สะดวกไปสักอย่างเลย ทำอะไรก็อึดอัดขัดข้องไปหมดเลย ทำอะไรก็จะไม่ได้ผลไปสักอย่างเลย วางไว้แล้วทำความสงบของใจก่อน คนเรานะเวลาเหนื่อยยาก อ่อนเพลีย จะไปทำสิ่งใดนี่ทำได้ ทำงานทำได้ แต่งานนั้นมันก็ไม่เรียบร้อยหรอก แต่ถ้าจิตใจนะ เวลาสมาธิมันไม่พอ ไปทำสิ่งใดแล้วมันจับต้นชนปลายนี่ทำไม่ถูกเลย แล้วไม่มีอะไรดั่งใจสักอย่างเลย แล้วถ้ากิเลสมันสวมเข้ามานะ คุณวิเศษของกิเลสมันสวมเข้ามานะ มันจะบอกเลยว่า เห็นไหม ปฏิบัติมาขนาดนี้ ทุกข์ยากขนาดนี้ ยิ่งปฏิบัติไปข้างหน้ามันจะทุกข์ยากไปกว่านี้อีกนะ นี่มันทำให้เราแหยงหมดเลย
แต่ถ้าเรามีอำนาจวาสนานะ ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด ไม่มีใครอยู่ค้ำโลกหรอก ทุกชีวิตนี้ต้องพลัดพรากไป แล้วสิ่งที่เราทำมา เราทำมาเพื่อเสริมสร้างบารมีของเรา ปฏิบัติแล้วถ้ามันจะขนาดไหนเราก็ได้ปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดมาเป็นชาวพุทธ เห็นไหม ชาวพุทธเขาเป็นชาวพุทธกันที่ทะเบียนบ้าน เขาไม่เคยทำสิ่งใดเลยในภาคปฏิบัติ ในภาคปฏิบัติหมายถึงเป็นเนื้อหาสาระของศาสนาพุทธเรา บำเพ็ญตบะ บำเพ็ญเพียรเพื่อชำระล้างกิเลส
นี่สติ สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เราฝึกหัด แล้วกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจเราก็ไม่รู้จักชื่อ เราก็ไม่เคยเห็นมาทั้งนั้นน่ะ สิ่งใดที่อึดอัดขัดข้อง สิ่งใดที่ทำแล้วมันมีแต่ความทุกข์ร้อน นั่นแหละมันคือกิเลส เห็นไหม เราได้ฝึกหัด ได้แยกแยะ ได้ทำความรู้จัก
จิตใจของเรา คนที่ได้รู้จักจิตใจของตัวเอง คนที่รู้จักทำความละเอียด ทำจิตใจของตัวเองให้เป็นระเบียบเรียบร้อย กับคนที่ไม่รู้จิตใจของตัวเอง แล้วให้พญามาร ให้กิเลสตัณหาความทะยานอยากเป็นคนบัญชาการจิตใจของคนคนนั้นให้วิ่งเต้น ให้เวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะตามแต่กิเลสมันบัญชาการ คนไหนจะมีประโยชน์มากกว่า เห็นไหม ถ้าจิตมันมีสติปัญญาขึ้นมา มันจะมีความรู้สึกนึกคิดอย่างนี้ขึ้นไป นี่กิเลสมันจนด้วยเหตุผลนะ มันก็เบาตัวลง
ถ้ากิเลส เราไม่มีเหตุผลของมันนะ ทำมาจนขนาดนี้ ปฏิบัติมาตั้งแต่หนุ่มจนแก่ แก่จนป่านนี้แล้วยังทำไม่ได้ เวลาพระสารีบุตรเป็นห่วงแม่มาก ว่าแม่มีลูกเป็นพระอรหันต์ตั้งหลายองค์ แต่แม่ยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ แล้วจะทำอย่างใด จะทำอย่างใด อยากจะให้ใครไปแก้แม่ อยากให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเอาแม่ เวลาตัวเองตรวจสอบแล้วก็ต้องเป็นตัวเองนั่นล่ะ
เวลาจะไปโปรดแม่ เห็นไหม นี่แม่คิดเลย บวชตั้งแต่หนุ่มยันแก่ วันนี้คงจะมาสึกที่บ้าน เพราะไม่เคยมา ไม่เคยมาที่บ้าน พอมาที่บ้าน แม่ของพระสารีบุตรคิดอย่างนั้นเลย เวลาคิดอย่างนั้น นี่พระสารีบุตรท่านรู้แล้วล่ะ แต่วันนี้จะเป็นวันที่ท่านจะสิ้นอายุขัย แล้วท่านจะมาสิ้นอายุขัยในห้องที่ท่านเกิดไง พอเข้าไปอยู่ในห้องนั้น เพราะท่านมีโรคประจำตัวคือโรคถ่ายท้อง คืนนั้นเทวดาลงมาอุปัฏฐาก เห็นแสงพุ่งเข้าไปในห้องไง อู๋ย! แม่ก็ตื่นเต้น ถามว่า ลูก ใครมาน่ะ
นี่เทวดา
ก็ยังปกติอยู่ แต่พอดึกขึ้นไปแสงมันสว่างขึ้น มันแจ่มแจ้งขึ้น วิ่งเข้าไปอีก
ถามว่า ลูก ใครมาน่ะ
พรหมมา
โอ้โฮ!
นี่เพราะอะไร เพราะพราหมณ์เขาถือพรหมไง เขาถือว่าพรหมนี่สูงสุดไง แล้วพรหมยังต้องอุปัฏฐากลูกเรา ทำไมลูกเรามีอำนาจวาสนาขนาดนั้น นี่พระสารีบุตรเทศน์ถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเทวดา อินทร์ พรหมก็เป็นผู้ดูแลอุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เทศนาว่าการถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แม่ของพระสารีบุตรมีดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบันขึ้นมาเลยนะ
บวชตั้งแต่หนุ่มยันแก่ เดี๋ยวนี้จะมาสึกที่บ้าน แต่เวลามีดวงตาเห็นธรรมขึ้นมานี่ร้องไห้ ร้องไห้ว่า ลูกไม่รักแม่ ลูกไม่รักแม่ ถ้าลูกรักแม่ลูกต้องบอกแม่มานานแล้ว แต่ตอนเย็นเดินเข้ามาแม่ยังนึกว่าจะมาสึกเลยนะ นี่เวลาคุณของกิเลสมันมีขนาดนั้น มันปกปิดไปหมดเลย แล้วเวลาจะให้คุณของธรรมมันแสดงตัวออกมา เห็นไหม
ฉะนั้น ถ้าเราไปศึกษาธรรม ถ้าธรรมทับจิตมันก็ยิ่งกลายเป็นว่าธรรมนี่ปกปิดไปเลย แล้วเราก็ล้มลุกคลุกคลานกันอยู่ ฉะนั้น เราศึกษามา ในการศึกษา โลกนี้เจริญด้วยการศึกษา คนต้องมีปัญญาทั้งนั้นแหละ แต่มันเป็นปัญญาทางโลก ปัญญาทางวิชาชีพ แต่ในการประพฤติปฏิบัติ เราศึกษามาขนาดไหน กิเลสมันก็จองหองพองขน กิเลสมันก็ชูหางว่าฉันศึกษามามาก นี่ธรรมก็ทับจิต แต่ถ้าเราศึกษามาแล้วเราวางไว้ก่อน เราปฏิบัติของเราให้เป็นตามความเป็นจริงขึ้นมา จิตจะเป็นธรรม
จิตจะเป็นธรรมมันต้องเป็นตามความเป็นจริงขึ้นมา แล้วจิตจะเป็นธรรม ใครจะทำให้จิตนี้เป็นธรรมขึ้นมาล่ะ นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคนชี้ทางให้เท่านั้น พวกเราที่นั่งเจ็บๆ ปวดๆ โอยๆ กันอยู่นี่ต้องชนะ ต้องปฏิบัติจนกว่าความเจ็บความปวดมันจะปล่อยวางหมด ถ้าเวลามันปล่อยวางหมดนะ พิจารณาเวทนาจนสักแต่ว่าเวทนา นี่มันชาๆ ชาๆ นี่สักแต่ว่า คือจิตมันไม่เสวยเต็มปากเต็มคำ จิตมันแตะๆ ไว้ เห็นไหม นี่มันชานะ นั่งไปๆ มันชาหมดเลย นี่เวทนาสักแต่ว่าเวทนา มันไม่ไปลงที่จิต ไม่ไปลงที่สุข ไม่ลงไปที่ความปลอดโปร่ง และไม่ลงไปที่เจ็บ มันชาๆ อยู่ เวทนาสักแต่ว่าเวทนา
ถ้าเราพุทโธซ้ำ หรือเราใช้ปัญญาลึกเข้าไป เวลามันปล่อยวางเลย นี่มันปล่อยวางเลย ถ้ามันปล่อยวางนะมันก็เป็นความสุข นี่เวทนาไม่สักแต่ว่า ถ้าเวทนาสักแต่ว่ามันก็เสมอกัน แต่ถ้าเราพิจารณาจนมันปล่อยวางหมด มันปล่อยวางหมด เห็นไหม จิตนี้เด่นมาก เด่นจากวิปัสสนาญาณ เด่นจากจิตที่จะเป็นธรรม จิตที่จะเป็นธรรม พิจารณาซ้ำ พิจารณาซาก ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม พิจารณาบ่อยครั้งเข้ามันจะปล่อยบ่อยครั้งเข้า มันอยู่ที่วาสนาของคน
ขิปปาภิญญาปฏิบัติทีเดียวเป็นพระอรหันต์เลย แต่เวไนยสัตว์ ในเมื่อจริตนิสัยเราสร้างมาแบบนี้ เวลาเราปฏิบัติเราคิดอย่างนี้จริงๆ นะ เราปฏิบัติเราทุกข์ยากขนาดไหนก็แล้วแต่ เอาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับหลวงปู่มั่นเป็นกำลังใจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นกษัตริย์ ออกไปสมบุกสมบันอยู่ ๖ ปีทุกข์ยากขนาดไหน หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านทุกข์ยากขนาดไหน ความทุกข์ของเราไม่เท่าท่านหรอก เพราะความทุกข์ของเรา ทุกข์ขนาดไหนมันก็มีประวัติหลวงปู่มั่นให้ศึกษา มันก็เป็นวิธีการที่หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติมา ประสบความสำเร็จมาแล้ว เราเห็นร่องเห็นรอย เราเห็นทางเดิน
แต่ครูบาอาจารย์ของเรา ดูสิหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านมีพระไตรปิฎก มีธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่มีคนชี้นำ เรามีร่อง มีรอย มีทางเดิน เราต้องมีความมุมานะ มีความอุตสาหะ ถ้าเรามีความมุมานะ มีความอุตสาหะ ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี อย่างน้อยต้องเป็นพระอนาคามี อย่างมากเป็นพระอรหันต์เลย ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี ทำต่อเนื่องๆ มันจะทุกข์จะยากขนาดไหนกัดฟันทนแล้วทำเต็มที่เลย เพราะ เพราะนี้จะเป็นสมบัติของเรานะ
เราตั้งประเด็นขึ้นมาว่าถ้าเราตายแล้วจะไปไหน ถามตัวเอง เราตายแล้วจะไปไหน เราเชื่อไหมว่าเราตายแล้วจะไปไหน ถามตัวเองสิ นี่เพราะมันมีความสงสัย มันมีความไม่แน่ใจอยู่นั่นไง มันถึงต้องรีบค้นคว้า รีบประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าพอถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้ว นี่ถามมันว่าตายแล้วจะไปไหน
มันจะถามว่า แล้วใครตาย ใครตาย เพราะอะไร เพราะเวลามันชำระล้างกิเลส เวลากิเลสมันขาดไปแล้วนี่ใครตาย เวลากิเลสมันตายไปแล้ว ทั้งๆ ที่สอุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ที่มีชีวิตอยู่นี่ กิเลสสิ้นไปจากจิตมันจะไปตายที่ไหน อะไรมันจะตาย? นี่มันไม่มีอะไรตายเพราะกิเลส อวิชชา มารไม่มี ทุกอย่างไม่มี มันเป็นภาระหน้าที่ พอมันสลัดทิ้งก็จบ ถ้ามันสลัดทิ้งจบ มันตายแล้วไปไหนล่ะ ตายก็อนุปาทิเสสนิพพานไง จะได้ไปจบสิ้นกันทีไง
แต่ถ้ามันยังมีกิเลสอยู่ เห็นไหม ตายแล้วไปไหน คำว่าตายแล้วไปไหน ถ้ามันยังมีสิ่งใด ตายแล้วไปไหน สงสัยใช่ไหมต้องรื้อค้น ต้องรื้อค้น ต้องแก้ไข ต้องปฏิบัติของเรา เราต้องทำหน้าที่การงาน งานเรามีไง ถ้าถึงสิ้นสุดแห่งทุกข์แล้วงานมันไม่มีไง ถ้าเราปฏิบัติจนถึงสิ้นกิเลสแล้วงานมันไม่มี มันไม่มีมาร ไม่มีพญามาร ลูกมาร เหลนมาร หลานมารที่อยู่บนหัวใจของเรา ที่มันขับมันไสให้ใจนี้ต้องไปเกิดไปตาย มันทำให้สิ้นสุดแห่งทุกข์แล้ว มันไม่มีพญามาร ไม่มีลูกมาร หลานมาร เหลนมารคอยมาบังคับบัญชาให้จิตนี้ต้องเวียนตายเวียนเกิดตามอำนาจของมัน
เราพิจารณาของเรา พิจารณา ถ้าชนะมัน ชนะมันที่ไหน เห็นกิเลสเห็นกิเลสที่ไหน เพราะกิเลสนี้เป็นนามธรรม กิเลสนี้มีชื่อเป็นนามธรรม แล้วตัวมันอยู่ในอะไร? ตัวมันก็อาศัยกาย เวทนา จิต ธรรมเป็นเครื่องมือออกไปหาผลประโยชน์ของมัน
กาย เวทนา จิต ธรรม ธรรมารมณ์ อารมณ์ความรู้สึกนึกคิด แล้วกิเลสเป็นนามธรรมมันก็อาศัยความรู้สึกนึกคิดออกไป ออกไปเพื่อหาประโยชน์ เป็นคุณประโยชน์กับมัน คุณประโยชน์อะไร? ก็ทำตามที่มันพอใจไง มันพอใจสิ่งใดก็ทำตามมันไง แต่ถ้ามีสติปัญญาเราก็ยับยั้ง ยับยั้งให้จิตมันสงบเข้ามา พอจิตสงบเข้ามา เวลาใช้ปัญญาขึ้นมามันก็เป็นสังขารเหมือนกัน แต่สังขารที่มีสัมมาสมาธิ
ถ้าสังขารที่มีสัมมาสมาธิมันตรึกในธรรม ตรึกในธรรม ใช้ปัญญาขึ้นมา สังขารนี้ สัมมาสมาธิ มันก็เป็นมรรคไง ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบไง สมาธิชอบ นี่ดำริชอบ งานชอบ ความชอบธรรม ชอบธรรมก็เป็นมรรค พอเป็นมรรคขึ้นมามันก็ย้อนกลับมา ย้อนกลับมาชำระล้าง
ชำระล้าง เพราะเรามีงานต้องทำ เรามีหน้าที่การงานต้องทำ เพราะตายแล้วไปไหน มันสงสัยอยู่ แต่เราปฏิบัติขึ้นไปแล้ว เวลามันปล่อยขึ้นมา เห็นไหม เวลาสังโยชน์ขาด ๓ นี่เป็นพระโสดาบัน กามราคะ ปฏิฆะอ่อนลงเป็นพระสกิทาคามี พิจารณาขึ้นไปเป็นมหาสติ มหาปัญญา ทำลายกามราคะแล้วเป็นพระอนาคามี จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส ตอของจิต ทำลายตอของจิต ทำลายภวาสวะ ทำลายภพทั้งหมดแล้วมันจบสิ้นแล้ว
พอมันจบสิ้นขึ้นมาแล้วมันจะไปไหนล่ะ? มันไม่มีที่มาที่ไป เห็นไหม พอไม่มีที่มาที่ไปขึ้นมามันก็จบสิ้นของมันใช่ไหม ถ้าความจบสิ้นอย่างนี้ขึ้นมา เห็นไหม ถามตัวเองแล้วก็สบายใจ ถ้าเราถามตัวเองนี่ให้ถามตรงนี้ ถ้าถามตัวเองว่าตายแล้วจะไปไหน ถามตัวเองสิ
เรานี่ถามตัวเองเรื่องนี้มาตลอด เกิดมาจากไหน มาทำไม แล้วตายแล้วจะไปไหน
พอตายแล้วไปไหนนี่มันหวั่นไหวนะ มันหวั่นไหว เอ้ย! ตายแล้วไปไหน เอ๊! แล้วมาจากไหน ตายแล้วไปไหน...ถามตัวเอง! ถามตัวเอง! ถามมันเลย! แล้วถ้ามันหวั่นไหว มันมีอารมณ์ความรู้สึก นี่เอ็งยังมี เอ็งยังมีของมึงอยู่ ถ้ามีก็ต้องใส่กันเลย เพราะลูกมาร หลานมาร เหลนมาร พ่อมาร ปู่มาร
ถ้ามันพิจารณา โสดาบันนี่หลานมัน สกิทาคามีลูกมันตาย ถ้าเป็นกามราคะนี่พ่อแม่มัน พ่อแม่นี่รุนแรงมาก ถ้าเวลาพ่อแม่มันตาย มันมีปู่ เวลาพญามาร เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมามารนี่คอตกนะ
ลูกสาวพญามาร ความโลภ ความโกรธ ความหลง พ่อเป็นอะไร
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหลุดจากมือเราไปแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหลุดไปแล้ว
พ่ออย่าเสียใจ
นี่พ่อแม่มัน นี่ลูกมัน นี่ความโลภ ความโกรธ ความหลงบอกกับปู่ ปู่คือเจ้าวัฏจักร บอกว่า พ่อไม่ต้องเสียใจ เดี๋ยวจะไปล่อลวงเอง นางตัณหา นางอรดีไปฟ้อน ไปรำอยู่นะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่พ่อยังฆ่าแล้วเลย ลูกสาวมันจะมาทำอะไรได้
เวลาจิตใจถ้ามันมีหลักมีเกณฑ์แล้วมันรู้เท่าไปหมดนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา วางธรรมและวินัยนี้ไว้เพื่อปรารถนาจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีพระชนม์ชีพอยู่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเล็งญาณว่าใครมีอำนาจวาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไปเทศนาว่าการเอาบุคคลคนนั้นจนสิ้นกิเลสไป
แต่ในปัจจุบันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านนิพพานไปแล้ว ท่านวางธรรมและวินัยนี้ไว้ให้เราเป็นศาสดาของเรา เพื่อพวกเราจะได้ฝึกฝนฝึกหัดประพฤติปฏิบัติขึ้นมาให้เป็นสมบัติของเรา ถ้าเราศึกษาของเราด้วยคุณวิเศษของกิเลส ก็ศึกษาธรรมะมาให้กดทับจิตเรา ธรรมทับจิต แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติของเราตามความเป็นจริงของเราขึ้นมา จิตจะเป็นธรรม
ถ้าจิตเป็นธรรมนะ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยนี้ไว้เป็นศาสดาของเรา เราเคารพบูชาของเรา เราเคารพบูชาที่ไหน? เคารพบูชาที่หัวใจของเรา ถ้าหัวใจของเราเคารพบูชาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเคารพตัวตนของเรา เราถึงมีสัจจะกับเรา
ถ้าเรามีสัจจะในตัวเราเอง เห็นไหม เราตั้งสัจจะว่าเราจะภาวนา เราจะฝึกหัด เราจะทำของเรา ถ้ามีสัจจะของเรา เราฝึกหัดตัวเรา เราก็จะมีคุณธรรมขึ้นมาในหัวใจของเรา จิตใจของเราก็มีคุณธรรมขึ้นมา เห็นไหม ไม่ใช่ธรรมทับจิต จิตเป็นธรรมต่างหาก เอวัง