ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เข้าใจไปเอง

๙ ธ.ค. ๒๕๕๕

 

เข้าใจไปเอง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๑๒๑๓. เนาะ

ถาม : ๑๒๑๓. เรื่อง “พิจารณากายให้มาก”

กราบนมัสการหลวงพ่อ กระผมปฏิบัติธรรม และฟังธรรมของพ่อแม่ครูจารย์สายหลวงปู่มั่นอยู่เสมอด้วยความลงใจ และฟังธรรมหลวงพ่อรู้สึกว่าถึงอกถึงใจมาก เพราะในยุคนี้หาครูบาอาจารย์ที่ทรงธาตุขันธ์อยู่น้อย ท่านที่จะเมตตาแจกแจงสภาวธรรมให้ละเอียดอย่างหลวงพ่อ กระผมขอโอกาสกราบนมัสการธรรมะดังนี้

๑. พระโสดาบันที่ท่านเข้ามาทางจิตตานุปัสสนา เห็นชัดว่าขันธ์ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ขันธ์ แต่ท่านก็ยังไม่ได้วางกาย ดังนั้นการพิจารณาของท่านต่อไป ท่านต้องพิจารณากายให้มากใช่ไหมครับ

๒. ขันธ์อย่างหยาบที่ผมเข้าใจหมายถึงกายกระทบสัมผัสรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ เกิดเวทนากาย พระโสดารู้เท่าอาการเหล่านี้ แต่ยังละอุปาทานในกายนี้ไม่ได้ใช่ไหมครับ

๓. พ่อแม่ ครู อาจารย์ส่วนมากท่านสอนว่า “ในขั้นต้นให้พิจารณากายให้มากเพื่อละอุปาทานในขันธ์หยาบ” ในความหมายของคำว่ากายนี้หมายถึงเฉพาะธาตุ ๔ อย่างเดียว หรือหมายถึงเวทนากายที่อาศัยรูปเกิดขึ้นด้วยครับ (นี่ ๓ ข้อ)

ฉะนั้นที่ว่า

ถาม : ข้อ ๑. พระโสดาบันที่ท่านเข้าทางจิตตานุปัสสนา เห็นชัดว่าขันธ์ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ขันธ์ แต่ท่านยังไม่ได้วางกาย ดังนั้นการพิจารณาของท่านต่อไป ท่านต้องพิจารณากายให้มากใช่ไหมครับ

ตอบ : ถ้าพระโสดาบันจะไม่ถาม ถ้าพระโสดาบันจะไม่ถามอย่างนี้ พระโสดาบันเป็นพระโสดาบัน แต่นี้ไม่ใช่พระโสดาบันเลยถามแบบนี้ เพราะไม่ใช่พระโสดาบันเลยงง เลยไม่รู้ ไม่เข้าใจไง คำว่าพระโสดาบัน พระโสดาบันเขาต้องละสักกายทิฏฐิ ถ้าละสักกายทิฏฐิมันก็ละกาย สักกายทิฏฐิคือทิฐิความเห็นผิดในกาย

ฉะนั้น ถ้าเป็นพระโสดาบันแล้ว นี่กายมันขาดไปแล้ว สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส สังโยชน์ ๓ ตัวมันขาดไป ถ้าสังโยชน์ ๓ ตัวมันขาดไป สักกายทิฏฐิ เห็นไหม ตัวหลักของพระโสดาบันคือละสักกายทิฏฐิ คือความเห็นผิดไง ทิฐิความเห็นผิดในเรื่องของกาย ถ้ามันพิจารณาความเห็นผิดในเรื่องของกาย

ฉะนั้น

ถาม : พระโสดาบันที่เข้าทางจิตตานุปัสสนา

ตอบ : ถ้าเข้าทางจิตตานุปัสสนา ถ้าเข้าทางเวทนานุปัสสนา จะเข้าทางกาย เข้าทางจิต เข้าทางธรรม มันก็พระโสดาบันเหมือนกัน ถ้าเป็นพระโสดาบันแล้วนะ นี่มันละขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ เด็ดขาด ถ้ายังละไม่ได้ไม่เป็นพระโสดาบัน

ฉะนั้น ว่า

ถาม : พระโสดาบันเข้าทางจิตมันยังไม่ละทางกายใช่ไหม?

ตอบ : พระโสดาบันถ้าเข้าทางจิตมันก็ละกาย พระโสดาบันเข้าทางเวทนาก็ละกาย หลวงตาท่านเข้าทางเวทนา ท่านเป็นพระโสดาบันโดยการพิจารณาตลอดรุ่ง หลวงตาบรรลุธรรมขั้นโสดาบันด้วยการพิจารณาเวทนา ท่านเป็นสกิทาคามีด้วยการพิจารณากาย ด้วยการเป็นพระอนาคามี ด้วยการพิจารณาอสุภะ ด้วยการเป็นพระอรหันต์พิจารณาจิต

นี่หลวงตาท่านแปลกประหลาดตรงนี้ไง แปลกประหลาดที่ว่าท่านพิจารณาจนเกือบจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ เลย แต่ถ้าหลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่เจี๊ยะท่านเป็นพระโสดาบันโดยการพิจารณากาย หลวงปู่เจี๊ยะเป็นพระสกิทาคามีโดยการพิจารณากาย หลวงปู่เจี๊ยะเป็นพระอนาคามีโดยการพิจารณากาย หลวงปู่เจี๊ยะเป็นพระอรหันต์โดยการพิจารณากาย พิจารณากายหมดเลย หลวงปู่คำดี หลวงปู่ชอบ นี่พิจารณากายทั้งนั้น แล้วกาย ๑ ๒ ๓ ๔ หมดเลย แต่หลวงตาท่านมหัศจรรย์มาก

ส่วนใหญ่แล้ว ถ้าใครพิจารณาสิ่งใดแล้วมันเป็นความถนัด อย่างเช่นชาวนาก็ทำนาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ชาวนาชำนาญในการทำนา ชาวสวนชำนาญในการทำสวน ชาวประมงชำนาญในการประมง ถ้าใครชำนาญสิ่งใด งานที่เขาชำนาญคล่องตัวมากเลย ให้ชาวประมงมาทำนานะ มันต้องมาศึกษาการทำนาอีกนานเลย ถ้าให้ชาวนาไปลงทะเลนะ ชาวนามันไม่รู้จะวางอวนอย่างไร มันวางไม่เป็น

การพิจารณากาย พิจารณาจิต พิจารณาธรรม แต่หลวงตาท่านพิจารณาของท่านนะ ท่านผ่านเวทนา แล้วหลวงตาท่านพิจารณาเวทนาตลอดรุ่ง แล้วพอพิจารณาเวทนา จนเวทนา นี่มันจะเอาเวทนาหน้าไหนมาหลอกเราอีกวะ? ถ้าเราจะตายมันจะเอาเวทนาไหนมาหลอกเราอีก? แล้วท่านองอาจกล้าหาญมาก ขึ้นไปรายงานหลวงปู่มั่น ว่านี่พิจารณาของท่านมาขนาดนี้ หลวงปู่มั่นท่านภูมิใจมาก บอกว่า

“อืม ใช่ จิตมันไม่เกิดอีก ๕ อัตภาพหรอก มันเกิดอัตภาพเดียวแหละ ได้หลักแล้ว ได้หลักแล้ว”

นี่เวลาพระกรรมฐานเขาคุยกันแค่นี้ คนเป็นกับคนเป็นเขาคุยกันคำเดียว เขาไม่คุยเยิ่นเย้อ คุยฟุ้งซ่าน คุยไปร้อยแปดหรอก ท่านพูดแค่นี้

“เออ ใช่แล้ว ถูกต้องแล้ว จิตมันไม่ตาย ๕ อัตภาพหรอก มันตายแค่หนเดียวเท่านั้นแหละ เต็มที่เลย เอาให้เต็มที่เลย”

นี่คนเป็น พระโสดาบัน พระโสดาบันจะผ่านกายก็เป็นพระโสดาบัน ละสักกายทิฏฐิเหมือนกัน พระโสดาบัน อย่างเช่นหลวงตาท่านผ่านเวทนาท่านก็ละสักกายทิฏฐิ เพราะถ้ามันมีทิฐิเรื่องกาย เวทนามันก็เกิด แต่จุดเด่นท่านไปพิจารณาเวทนา เวทนามันอยู่ที่ไหน? เพราะนั่งไปตลอดรุ่งเวทนามันเกิดบนหัวเข่า เวทนาของท่าน ท่านบอกท่านนั่งไปตลอดรุ่งนะ เริ่มต้นมามันก็เหมือนไฟเผาท่อนกระดูกเลย ไฟมันแผดเผาไปหมดเลย เพราะเวทนามันเกิดบนกายนี่ไง เวทนามันเกิดวิกฤติมาก มันเกิดจนเต็มที่

ฉะนั้นพิจารณาจนปล่อยเวทนา พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะเริ่มตั้งแต่หัวค่ำเวทนาก็เริ่มเกิดแล้ว นี่พอจิตมันลงใช่ไหม? พอจิตมันสงบมันก็พิจารณาของมัน พอไป ๓-๔ ชั่วโมง ท่านบอกเลยนะลูกเวทนามันมาแล้ว จากหลานเวทนามาเป็นลูกเวทนา ๗-๘ ชั่วโมงไปพ่อเวทนามาแล้ว พ่อเวทนามาแล้ว เพราะมันเจ็บมากขึ้น พอถึง ๑๒ ชั่วโมงปู่เวทนามันมา ท่านพิจารณาต่อสู้มาตลอด พิจารณาเวทนา พอเวลามันปล่อยๆ จนถึงที่สุดมันขาดไง เพราะคำว่าขาดท่านถึงมีจิตใจคิดว่า มันจะเอาเวทนาหน้าไหนมาหลอกเราวะ? ก็มันจบกระบวนการของมันแล้วไง

ถ้ามันไม่ขาดไม่กล้าพูดหรอก เพราะจะเอาเวทนาหน้าไหนมาหลอกเราวะ พอพูดจบมันก็มาทันทีเลยแหละ ถ้ามันไม่ขาดนะ พอบอกจะเอาเวทนาหน้าไหนมาหลอกเราวะ พูดจบปั๊บพ่อเวทนามันก็ขี่คอ ก็ปวดอีกไง แต่มันพิจารณาจนจบกระบวนการแล้วมันจะเอาเวทนาหน้าไหนมาหลอกเราอีกวะ ถ้าตายมันก็เวทนาขนาดนี้แหละ เราพิจารณาจนรอบหมดแล้ว มันปล่อยวางหมดแล้ว

นี่ด้วยความมั่นใจท่านถึงขึ้นไปรายงานหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านภูมิใจมาก ท่านดีใจมาก เพราะ เพราะครูบาอาจารย์องค์ไหนก็แล้วแต่ ถ้าเราปั้นลูกศิษย์ขึ้นมาได้แต่ละองค์นะมันปลื้มใจมาก เพราะอะไร? นี่ศาสนทายาท ถ้าผู้รู้จริง เห็นจริงแล้วจะเป็นศาสนทายาท เป็นทายาทโดยธรรม ถ้าเป็นทายาทโดยธรรมจะเป็นประโยชน์กับสังคมมาก นี่เพราะมันจะเป็นผู้ชี้นำ เป็นผู้คอยบอกกล่าวกับสังคมที่ประพฤติปฏิบัติ

ฉะนั้น ถ้าเป็นพระโสดาบัน โสดาบันโดยจิตตานุปัสสนา จะโดยเวทนา โดยกาย โดยจิตมันเหมือนกัน คำว่าเหมือนกัน ฉะนั้น คำถามมันขัดแย้งกัน ขัดแย้งว่า

ถาม : พระโสดาบันที่ท่านเข้ามาทางจิตตานุปัสสนา เห็นชัดว่าขันธ์ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ขันธ์ แต่ท่านยังวางกายไม่ได้

ตอบ : แต่ท่าน ถ้าแต่ท่านยังวางไม่ได้ก็ไม่ใช่โสดาบัน ถ้าเป็นโสดาบันมันขาดหมด มันขาด มันสมุจเฉทปหาน มันถึงจะเป็นพระโสดาบัน ถ้ามันเป็นตทังคปหาน คือการพิจารณากายแล้วปล่อยวาง การพิจารณาจิตแล้วปล่อยวาง การพิจารณากายแล้วปล่อยวาง การพิจารณาเวทนาแล้วปล่อยวาง การพิจารณาธรรมแล้วปล่อยวาง การปล่อยวางนั้นคือตทังคปหาน การปล่อยวางมันไม่สมุจเฉท มันมีเยื่อใย

มันมีเยื่อใย มีความผูกพัน มีความรำพึงถึงอยู่ มันยังไม่ขาด ถ้ายังไม่ขาดไม่เป็นพระโสดาบัน แต่มันเป็นโสดาปัตติมรรค คือการเดินมรรคระหว่างโสดาบันอยู่ แต่มันยังไม่สมุจเฉทปหาน ไม่ตัดเยื่อใยทั้งหมดไง เวลาสมุจเฉทปหานมันตัดเลยไม่มีเยื่อใยต่อกัน ขาดเด็ดขาด อย่างนั้นถึงเป็นพระโสดาบัน ถ้าเป็นพระโสดาบันพิจารณาจิต พิจารณาจิตนี่แหละ แต่เวลามันขาดก็ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕

พิจารณากายนี่แหละ เวลามันขาด นี่ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ เพราะกายมันก็รูป ถ้าเป็นเวทนาก็รูป เวทนา ถ้าเป็นจิต จิตมันก็มีวิญญาณ ขันธ์ ๕ มันก็มีวิญญาณ ถ้าเป็นธรรม ธรรมมันก็เป็นธรรมารมณ์ในขันธ์ ๕ นี่ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ถ้าเราพิจารณากาย กายมันก็คือรูป เวทนามันก็คือเวทนาในขันธ์ ๕ จิต จิตมันก็วิญญาณในขันธ์ ๕ นี่เวลามันขาดออกไปแล้ว เพราะมันขาดไปแล้ว เวลาพิจารณาขันธ์ ๕ ขาดไปแล้ว แต่จิตมันก็ยังอยู่ เพราะมันมีขันธ์อย่างหยาบ ขันธ์อย่างกลาง ขันธ์อย่างละเอียด ขันธ์อย่างละเอียดยังมีของมันอยู่

ฉะนั้น คำถามมันเข้าใจผิดว่าพระโสดาบัน แต่ท่านยังวางกายไม่ได้ ไม่มี พระโสดาบันต้องวางได้หมด วางกายได้แต่ความเป็นจริง แต่วางกายได้ด้วยการพิจารณาจิตตานุปัสสนา ถ้าวางกายได้โดยการพิจารณากายานุปัสสนา พิจารณากายานุปัสสนา เพราะพระโสดาบันมันถึงมีหลายประเภทไง พระอรหันต์ก็มีหลายประเภทไง เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ มันมีอีกหลายประเภทไง แต่เวลาพิจารณาไปแล้วอริยสัจมีอันเดียวไง อริยสัจก็มีกาย เวทนา จิต ธรรม

นี่อริยสัจมันมีหนึ่งเดียว แต่วิธีการ เพราะคำว่าวิธีการมันคือจริตนิสัย คือความชอบ ความถนัด ถ้าความชอบ ความถนัดนั่นคือวิธีการ แต่ถ้าวิธีการทำอย่างไรก็แล้วแต่ ผลของมันก็เป็นอริยสัจเหมือนกัน อริยสัจเหมือนกัน นี่ไงมันสำคัญตรงนี้ สำคัญที่ว่าถ้ามีครูบาอาจารย์ที่เป็นจริงท่านจะสอนเฉพาะจิตดวงนั้นตามความเป็นจริง ก้าวเดินตามความถนัดของจิตดวงนั้น แต่ถ้าครูบาอาจารย์ไม่เป็นความจริงนะ บอกว่า “จิตสงบก็พิจารณากายสิ จิตสงบก็พิจารณากายสิ”

“แล้วพิจารณาอย่างไรล่ะ?”

“อ้าว ก็พิจารณากายสิ”

“แล้วพิจารณาอย่างไรบอกมาสิ “

“ก็พิจารณากายสิ”

“อ้าว พิจารณากายสิ”

“แล้วพิจารณาอย่างไรล่ะ?”

“ก็พิจารณากายสิ”

“แล้วพิจารณาอย่างไรล่ะ?” บอกไม่ถูก บอกไม่เป็นไง

ถ้าครูบาอาจารย์ไม่เป็น พอมันติดตรงนี้ แล้วพอติดตรงนี้ นี่ขนาดพิจารณากายอย่างเดียวนะ แล้วถ้าจิตเขาพิจารณากายโดยนามธรรม พิจารณากายโดยนามธรรมแบบหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์ท่านพิจารณากายโดยปัญญา แต่หลวงปู่ชอบ หลวงปู่คำดี หลวงปู่หลุยท่านพิจารณากายโดยกายานุปัสสนา ท่านพิจารณาโดยเห็นกาย นี่พิจารณากายโดยเห็นกาย โดยเห็นกายโดยจิต จิตนี่พิจารณาสงบแล้วมันเห็นกาย เห็นกายเป็นภาพเลย แล้วพิจารณาของมัน นี่เป็นพิจารณากาย

แต่ถ้าพิจารณากายโดยนามธรรมแบบหลวงปู่ดูลย์ ท่านก็พิจารณากายของท่าน แต่ท่านใช้ปัญญา หลวงปู่ดูลย์บอกท่านพิจารณากายโดยไม่ต้องเห็นรูป ไม่ต้อง ใช้ปัญญาเทียบเคียงเลย นี่ถ้าเป็นแล้วนะ เวลาพิจารณากายๆ พิจารณากายอย่างไรล่ะ? พิจารณากายนี่พิจารณากายอย่างไร? ถ้าใครพิจารณากายโดยปัญญา พิจารณาไปเลย ใช้ปัญญาเทียบเคียงไปเลย แล้วเวลามันสำรอก มันคายพิษก็เหมือนเรารักษาคนไข้ เวลาคนไข้หายก็หายเหมือนกัน จะรักษาด้วยโรค โรคอย่างนี้รักษาด้วยยา หมอให้ยาแตกต่างกัน แต่ยาใกล้เคียงกันมันก็หายได้เหมือนกัน ถ้ามันหายแล้วมันก็คือจบ นี่ถ้าเป็นความจริงมันจะไม่มีผลอย่างนี้ แต่ถ้าไม่เป็นความจริง

นี่คำถามเพราะถามโดยความไม่รู้ แล้วถ้าถามโดยความไม่รู้ ถ้าปฏิบัตินะความเข้าใจไปเองเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ ถ้าเราเข้าใจไปเอง เพราะเราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นทฤษฎีมาแล้ว แล้วเราปฏิบัติไปมันก็เกิด เกิดจินตมยปัญญา เกิดความรู้ ความเห็นของเรา แล้วเข้าใจไปเอง เข้าใจไปเองไม่เป็นความจริงไง ถ้าเป็นปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก เข้าใจไปเอง คำว่าเข้าใจไปเองมันจะมีความสงสัยนะ เข้าใจไปเองมันน่าจะ หรือว่า หรือว่า น่าจะ

นี่ถ้าเข้าใจไปเองมันจะมีตรงนี้อยู่เบื้องหลัง เพราะ เพราะหลวงตานะท่านออกบวชครั้งแรก ท่านคิดว่าบวชแล้วสัก ๒-๓ พรรษาแล้วจะสึก แต่พอบวชไปแล้ว ศึกษาไปแล้วมันดูดดื่ม มันซาบซึ้งมาก แล้วท่านพิจารณาของท่านไป เห็นไหม ท่านปฏิบัติของท่านไปด้วย ภาวนาของท่านไปด้วย เราจะบอกว่าท่านปฏิบัติด้วย แล้วท่านศึกษาด้วย พอเป็นมหาขึ้นมาจบแล้ว นี่อ่านพระไตรปิฎกไป ทีแรกก็อยากจะไปเกิดบนสวรรค์ พอสวรรค์แล้วมันยังเป็นอนิจจังก็อยากไปเกิดบนพรหม พอเกิดบนพรหมมันก็ยังเป็นอนิจจัง พอถึงนิพพานก็อยากไปนิพพาน

นี่ท่านมีเป้าหมายของท่านหมด แต่เวลาท่านจะออกปฏิบัติท่านก็ยังสงสัยว่านิพพานมีจริงหรือเปล่า ถึงอธิษฐานนะ ถ้าออกปฏิบัติแล้วถ้ามันได้ผลจริง อธิษฐานว่าถ้าคืนนี้ถ้านั่งแล้วขอได้เห็นสิ่งใด ถ้าไม่ได้เห็น นอนก็ให้ฝันว่าออกปฏิบัติจะได้ผลหรือไม่ได้ผล ฝันว่าเหาะไปในนครใหญ่ ๓ รอบ เวลาไปเจอหลวงปู่มั่น ให้หลวงปู่มั่นแก้ให้ว่านิพพานมีจริงหรือไม่มีจริง ยังสงสัยอยู่ พอหลวงปู่มั่นท่านพูดชัดเจนขึ้นมา นี่อาจารย์ของเรา อาจารย์ของเรา ต่อไปนี้ความสงสัยท่านเคลียร์ให้หมดแล้ว เราจะเอาเป็นเอาตายเข้าแลกเลย

นี่เราจะศึกษาขนาดไหนมันสงสัย แล้วถ้าปฏิบัติไปมันก็สงสัย ถ้ามันสงสัยไม่ใช่ ถ้ามันสงสัยไม่ใช่ แต่ถ้ามันเด็ดขาดล่ะ? เพราะมันหายสงสัยดั่งแขนขาดไง เวลากิเลสขาดนี่ดั่งแขนขาด เราตัดแขน ตัดขาเรานี่มันชัดเจนขนาดนั้นนะ เวลาปฏิบัติชัดเจนอย่างนั้นจริงๆ เวลากิเลสขาดดั่งแขนขาด เราตัดแขนทิ้ง ไม่รู้ได้อย่างไรว่าตัดแขนทิ้ง เป็นไปไม่ได้หรอก คนแขนขาดไม่รู้ว่าแขนขาดที่ไหนมี เวลาชำระกิเลส แล้วถ้าคนมันแขนขาด ขาดต่อหน้าเรา นี่เราจะสงสัยไหม? มันไม่สงสัยหรอก สิ่งนั้นถึงเป็นความจริง

นี้ถ้าเป็นพระโสดาบันจริง นี่ยังเป็นพระโสดาบันเดา เราเดาของเราเองไงว่าพระโสดาบันท่านพิจารณาเข้ามาทางจิตตานุปัสสนา แต่ท่านยังไม่วางกาย ดังนั้นท่านต้องพิจารณาอย่างไรต่อไป? จะพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม พิจารณาแล้วมันปล่อยวาง คำว่าปล่อยวาง ถ้าเราเป็นเวไนยสัตว์ การปล่อยวางมันเป็นทางผ่าน ถ้าเรายังไม่เคยปล่อยวางเลย เราจะรู้ว่าปล่อยวางมันเป็นแบบใด? แต่เวลาปล่อยวางแล้ว นี้มันยังไม่ใช่ผลสรุปไง นี่มันวัดผลแล้วมันยังมีสิ่งเหลือ มันยังมีเยื่อใย เราต้องซ้ำเข้าไป กาย เวทนา จิต ธรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

คำๆ นี้หลวงปู่มั่นเทศน์ไว้ในมุตโตทัย ในมุตโตทัยท่านบอกว่าการทำนาเขาก็ทำนาที่นั่น หมั่นคราด หมั่นไถซ้ำแล้วซ้ำเล่า หลวงปู่มั่นท่านย้ำตรงนี้มาก แล้วมาหลวงตานะ ใครไปถามปัญหาหลวงตา หลวงตาจะย้ำว่า

“ถูกต้องไหม?”

“ถูก”

“แล้วทำอย่างไรต่อไป?”

“ให้ซ้ำ ให้ซ้ำ”

คือให้ชำนาญเข้าๆ ถ้ามันเป็นตทังคปหาน คือพิจารณาแล้วมันปล่อย นี่มันปล่อยมันก็ถูกแล้วแหละ แต่มันไม่จบ มันยังมีเยื่อใย คือเรารักษาแต่ยังไม่หาย ต้องรักษาซ้ำเข้าไปๆ จนถึงที่สุดมันขาด ถ้าถึงที่สุดนะ ถ้าขาดก็โสดาบัน ถ้ายังไม่ขาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยอำนาจวาสนาของเรา ในเมื่อมีอำนาจวาสนาขนาดนี้ก็ต้องพยายามขยันหมั่นเพียรขนาดนี้

ถาม : ๒.ขันธ์อย่างหยาบที่ผมเข้าใจหมายถึงกายกระทบสัมผัสรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ เกิดเวทนากาย พระโสดารู้เท่าอาการเหล่านี้ แต่ยังละอุปาทานในกายนี้ไม่ได้ใช่ไหมครับ?

ตอบ : อันนี้มันเป็นการฝึกหัดเริ่มต้นนะ ในเมื่อสิ่งที่กระทบ อายตนะกระทบเราก็รับรู้ได้ทั้งนั้นแหละ ถ้าเรารับรู้ได้มันก็เป็นสามัญสำนึกของมนุษย์ไง แต่ถ้าจิตมันสงบเข้าไป นี่มันเห็นกายก็คือกาย เห็นเวทนาก็คือเวทนา เห็นจิตก็คือจิต เห็นธรรมก็คือธรรม ถ้าเห็นกายนะมันเห็นกาย ถ้าพิจารณากายโดยปัญญาโดยที่ไม่เห็นรูป พิจารณากายด้วยการเปรียบเทียบด้วยปัญญา แต่ถ้าจิตสงบแล้ว คำว่าจิตสงบมันลึกเข้ามาในตัวของจิต จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม

ถ้าจิตเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม นี่จิตพิจารณาเข้าไป นั่นล่ะเป็นข้อเท็จจริง เป็นเนื้อหาสาระ แต่ถ้ามันสัมผัสออกมาข้างนอกมันเป็นเรื่องโลกๆ ไง ถ้าเป็นเรื่องโลกๆ นะ สิ่งที่เป็นโลกๆ เวลาเราทำภาวนาของเรา ถ้ามันไม่สงบมันรับรู้อยู่ภายนอก นี่อายตนะมันรับรู้ รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร แต่มันวางหมดเป็นสมาธิ วางรูป รส กลิ่น เสียงหมดมันเป็นสมาธิ พอสมาธิมันวางรูป รส กลิ่น เสียงหมดเลยมันถึงเป็นตัวมันเอง ถ้ามันเป็นตัวมันเอง นี่มันเป็นสมาธิ แล้วสมาธิมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมมันละเอียดกว่านี้ไง

ถ้าละเอียดกว่านี้ ฉะนั้น ถ้าพระโสดาบันรู้เท่าอาการเหล่านี้ มันจะรู้เท่ามากกว่านี้นะ มันรู้เท่าตั้งแต่จิตมันจะคิด เวลาจิตมันเสวยอารมณ์ จิตมันจะกระเพื่อม ถ้าจิตมันจะกระเพื่อม พระโสดาบันต้องรู้ที่นี่ ถ้าพระโสดาบันรู้ที่นี่ รู้ตั้งแต่จิต มันเสวยอารมณ์ๆ ถ้ามันจะเสวยอารมณ์ รู้ที่นี่ รู้ที่จิต ฉะนั้น รู้ที่อายตนะ วิธีการกระทบมันเป็นเรื่องข้างนอก แต่เป็นเรื่องข้างนอกมันคนละระดับกัน คนละชั้นกัน

ถ้าเป็นความจริงนะรู้ด้วยความสัมผัส แต่ถ้ารู้ด้วยจิต จิตมันรู้ นี่ถ้ามันรู้นั่นล่ะโสดาปัตติมรรคก็จะรู้แล้วล่ะ ถ้าเราเดินโสดาปัตติมรรคนะ มันก้าวเดินของมันไปนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วถ้ามันออกมาสัมผัส ออกมา นี่เวลาจิตมันเสื่อมออกมามันก็ออกมาสัมผัสแบบนี้ ถ้าสัมผัสแบบนี้จิตมันเสื่อม เราก็ทำจิตสงบเข้ามาอีกหน่อยหนึ่ง มากเข้ามา แล้วเวลามันพิจารณาเข้ามามันก็ย้อนกลับ นี่ทวนกระแสเข้าไปที่จิต มันจะไปแก้กันข้างในนั้น ถ้ามันเข้าไปแก้ข้างในนั้นมันถึงจะเป็นความจริง

คำว่ารู้เท่าๆ อันนี้เราคาดหมายนะ เราเข้าใจของเรา ผู้ที่ปฏิบัตินะ ผู้ที่มีการศึกษามา เวลาศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ว่าเข้าใจระดับนั้น เข้าใจระดับนั้นมันก็เข้าใจมาจากวิชา เข้าใจมาจากโลก เข้าใจมาจากความเห็นของเรา มันเป็นโลกียปัญญา แต่เวลาปริยัติมันเป็นอย่างนั้น เวลาปฏิบัตินะ เวลาปฏิบัติจิตมันสงบ จิตมันรับรู้ของมัน จิตมันพัฒนาของมัน นี่เวลาปฏิบัติมันจะรู้จริงกันตอนปฏิบัติ ภาคปฏิบัติคือจิตมันสัมผัสเลย เป็นข้อเท็จจริงในใจเลย

ถ้าเป็นข้อเท็จจริงในใจ นี่ผิดก็คือผิด ถูกก็คือถูกรู้เลย แล้วตำรานี่เป็นชื่อ แล้วเราก็เทียบเคียงกับตำรา เทียบเคียงกับปริยัติ เทียบเคียงกับความเป็นจริง แต่นี้พอเทียบเคียงขึ้นมา มันให้คะแนนตัวเองมากขึ้นไง ตัวเองให้คะแนนตัวเองสูงส่งเลย นี่พระโสดารู้เท่าอาการเหล่านี้ พระโสดาบันจะรู้อาการของจิต รู้ความรู้สึกเลย รู้ว่าจิตมันเสวย จิตมันจะกระดิกรู้ทันหมดเลย สติมันพร้อมขนาดนั้น แต่ที่มันรู้ออกมา นี่ไฟ เห็นไหม ดูสิเครื่องปั่นไฟมันส่งกระแสไฟฟ้ามา แล้วเรามาเปิดไฟที่บ้านเรา เราเปิดไฟที่บ้านเรา ถ้าเวลาเราปิดสวิตซ์ของเราแล้วไฟไม่มีใช่ไหม?

นี่ก็เหมือนกัน จิตที่มันจะส่งออกมาถึงสัมผัสอายตนะ สัมผัสที่ว่ารับรู้โผฏฐัพพะ รับรู้กลิ่น รับรู้ นี่มันมาไกลแล้ว แต่ถ้าเป็นพระโสดาบันเขารู้ตั้งแต่เครื่องปั่นไฟนู่นน่ะ นี่เครื่องปั่นไฟ พอมันกำเนิดไฟฟ้า กำเนิดไฟฟ้าก็มีสายส่งมา สายส่งมามันก็ส่งไฟฟ้ามา เราก็ต่อเข้าบ้านเรา ต่อเข้าบ้านเรายังมีมิเตอร์ ต่อเข้าไปแล้วยังมีคัตเอ้าท์ ต่อเข้าไปยังมีสวิตซ์ ต่อเข้าไปถึงจะเกิดเป็นไฟ

นี้เปรียบเทียบไง เราจะเปรียบเทียบให้เห็นว่าถ้าเราบอกการสัมผัสรูป รส กลิ่น เสียงนี้พระโสดาบันรู้เท่า มันก็เปิดไฟ ปิดไฟ แต่เปิดไฟ ปิดไฟมันมาจากไหน? พระโสดาบันจะรู้ตั้งแต่เครื่องกำเนิดไฟฟ้านั้น รู้ที่จิตนั้น รู้ที่ว่าจิตนี้เร็วมาก จะเห็นตั้งแต่ตรงนั้นเลย ถ้าเห็นตรงนั้นแล้วจบ จะไม่สงสัยตรงนี้

ถาม : ๓. พ่อแม่ ครู อาจารย์ส่วนมากท่านสอนว่า “ในขั้นต้นให้พิจารณากายให้มากเพื่อละอุปาทานในขันธ์หยาบ” ในความหมายของคำว่ากายนี้หมายถึงเฉพาะธาตุ ๔ อย่างเดียว หรือหมายถึงเวทนาด้วย

ตอบ : ถ้าพูดถึงคำว่ากาย ถ้าเป็นชัดๆ เลย กายก็คือกาย กายก็หมายถึงกายหยาบๆ นี่แหละ แต่ถ้าพูดถึงเวทนา เวทนาก็ตั้งอยู่บนกาย ถ้าพูดถึงจิต จิตถ้าไม่มีร่างกายนี้ จิตอาศัยอยู่บนอะไร? ถ้าไม่มีธรรมนะ ฉะนั้น มันอยู่ที่ว่าผู้พิจารณาไง ถ้าพิจารณาจิต พิจารณาเวทนา พิจารณาธรรม พวกนี้ต้องสร้างปัญญามาก เพราะมันละเอียดอ่อน มันเป็นนามธรรมที่ลึกซึ้งเข้าไปกว่านั้น แต่พิจารณากาย เวลาจิตสงบมันเห็นกายเขาเรียกมหาภูตรูป รูปใหญ่ มันเป็นวัตถุที่จับต้องได้ชัดๆ อยู่แล้ว เรายังจับพลัดจับผลู เพราะเราจับมาเป็นโลก

จับมาเป็นโลก จับมาแบบว่าเหมือนกับสามัญสำนึกเลย ถ้าจับมาแบบธรรม จิตสงบแล้ว จิตสงบแล้วจิตรู้ จิตเห็น สามัญสำนึกคือเราคาดหมายได้ เราจินตนาการได้ เราอนุมานเอาได้ แต่ถ้ามันเป็นความจริงนะเราอนุมานไม่ได้ อนุมานไม่ได้หมายความว่าถ้าจิตเราไม่สงบ เราไม่เห็นกายตามความเป็นจริง เราก็ไม่รู้หรอกว่าการเห็นกายตามความเป็นจริงเป็นแบบใด แต่จิตของกายสงบเข้าไปแล้วเราเห็นกาย เห็นภาพกายเลย เห็นภาพกายของเรา แล้วกายนี้มันย่อยสลายเลย เป็นไตรลักษณ์ กายนี้วิภาคะ กายนี้เปลี่ยนแปลง นี่ถ้าคนเห็นอย่างนั้น คนเห็นอย่างนั้นมันละเอียดขนาดนั้น

ฉะนั้น สิ่งที่สามัญสำนึก สามัญสำนึกทุกคนคาดหมายได้ ทุกคนอนุมานเอาได้ แต่อย่างนั้นอนุมานเอาไม่ได้ ฟังเทศน์กันทุกวัน แล้วคิดว่ามันจะเป็น มันเป็นจินตนาการสร้างภาพขึ้นมาเลย พอสร้างภาพขึ้นมา คุณค่าของมัน มันก็ไม่เป็นความจริง แต่ถ้าจิตมันสงบ มันเห็นของมันจริงมันขนพองสยองเกล้า มันสะเทือนกิเลส มันสะเทือนจิตใต้สำนึก มันไปเขย่าขั้วหัวใจ มันไปเขย่ากิเลส อันนั้นแหละถ้าคนเป็นจริงมันรู้อันนั้น มันเห็นอันนั้นไง ถึงอนุมานเอาไม่ได้ไง แต่ผู้รู้จริงรู้ พูดทีเดียวรู้

หลวงตาบอกอ้าปาก เออ ไม่ต้องพูดหรอก เรารู้แล้ว เรารู้แล้ว นี่ถ้าคนเป็นมันจะพูดถึงจุดนั้นเลย มันพูดถึงการย้อนกลับทวนกระแส แต่คนไม่เป็นมันพูดส่งออกโลกไง ถ้าส่งออกโลกไปมันก็เป็นเรื่องโลกๆ

ฉะนั้น มันพยายามจะแบ่งแยกให้เห็นว่าความรู้แบบปริยัติ ความรู้แบบโลกคือการเข้าใจเอา กับความรู้แบบปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก แบบปฏิเวธ แบบรู้จริงมันรู้อย่างใด ความรู้ของเรา ความรู้จริงกับความรู้จำมันแตกต่างกันอย่างใด ฉะนั้น สิ่งที่ปฏิบัติมันก็ต้องรู้จำมาก่อน จะไม่ถึงบอกว่ามันจะผิดพลาด มันจะไม่ถูกต้อง แต่ด้วยจิตที่คนมีกิเลสมันก็ต้องรู้อย่างนี้แหละ แต่รู้อย่างนี้แล้วถ้ามีครูบาอาจารย์ของเราคอยบอกว่า อย่างที่หลวงตาท่านพูด คอยตีมือไว้เลยนะ ตีมือคือตีความคิด อย่าหยิบมัน อย่ายึดมัน ตีให้ปล่อย ตีให้ปล่อย ตีมือไว้เลย อย่าเอาๆ

นี่ก็เหมือนกัน จิตเวลามันรู้แล้วมันก็ว่านี่ของฉันๆ ฉันรู้แล้วๆ มันเลยไม่รู้อะไรต่อไปข้างหน้าไง นี่คอยตีมือไว้ๆ ให้ปล่อย ให้ปล่อยแล้วพิจารณาไป เดี๋ยวจะรู้จริงขึ้นมาๆ ถ้ารู้จริงขึ้นมามันจะเป็นความจริงของมันขึ้นมา อันนี้เป็นการพิจารณาเนาะ

ถาม : ข้อ ๑๒๑๔. เรื่อง “หลักการใช้ชีวิตที่เหลือ”

กราบนมัสการหลวงพ่อครับ กระผมใช้ชีวิตในวัยเด็กจนถึงวัยกลางคนแบบไม่ค่อยได้ทำบุญ ทำทาน แถมทุศีลด้วย ศีลหมดทั้ง ๕ ข้อ ผมไม่ได้เชื่อตามพุทธศาสนา จนย่างเข้า ๓๗ ปีจิตใจเริ่มเชื่อ พร้อมมุ่งทำบุญทานและถือศีล ๕ อย่างเคร่งครัด และภาวนาตามโอกาสอำนวย จนบัดนี้อายุก็ ๔๔ ปีแล้ว จึงอยากกราบเรียนถามหลักการใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ให้ถูกต้องเพื่อเป็นปัจจัยสู่นิพพาน และภพชาติต่อๆ ไปดังนี้ครับ

๑. จะต้องทำอย่างใดจึงจะให้ได้เกิดเป็นมนุษย์อีกในชาติหน้า เพื่อจะได้มีโอกาสภาวนายิ่งๆ ขึ้นไป กระผมรู้ตัวก็เกือบสาย รู้สึกเสียดายเวลาครับ แต่ขนาดรู้ว่าสาย ใจก็ยังไม่เข้มแข็งพอที่จะมุ่งการภาวนา อย่าไหลไปตามกิเลสอยู่บ่อยๆ มีโอกาสภาวนาก็ยังผัดวันประกันพรุ่งอยู่ ผมตระหนักได้ว่ากิเลสนี้ร้ายนัก อย่างที่หลวงพ่อบอกจริงๆ ครับ

๒. จะต้องทำอย่างใดให้มีสัมมาทิฏฐิและพบพระพุทธศาสนาอีกในชาติหน้าครับ เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลาในช่วงของชีวิตอีกครับ

๓. กระผมอยากทราบว่าถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์แล้ว จะเวียนเกิดเป็นมนุษย์อีกเรื่อยๆ จนกระทั่งมีกรรมใหญ่มาเปลี่ยนให้ขึ้นลง จึงไปเกิดในภพภูมิที่สูงหรือต่ำกว่ามนุษย์นั้น ซึ่งผมรู้สึกว่าขัดแย้งกับคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่าเกิดเป็นมนุษย์นั้นแสนยากที่สุด คือมีโอกาสเพียงหนึ่งชาติในช่วงเวียนว่ายตายเกิดยาวๆ ช่วงหนึ่ง ประเด็นนี้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างใดครับ

ตอบ : นี่ถ้าพูดถึงเวลาไม่เชื่อนะ ไม่เชื่อก็คิดว่าตัวเองฉลาด แล้วคนที่ทำบุญทำทาน คนที่เชื่อเรื่องศาสนาเป็นคนที่มีปัญหา ส่วนใหญ่ถ้าคนไม่เชื่อนะจะเกิดทิฐิ แล้วก็ว่าตัวเองเป็นผู้ฉลาด ผู้ที่ไปเชื่อ ไปเชื่อเรื่องศาสนา ไปเชื่อเรื่องต่างๆ ผู้นั้นเป็นคนที่มีปัญหา ผู้นั้นเป็นคนที่ไม่มีหลักเกณฑ์ในชีวิต นี้เวลาไม่เชื่อนะกิเลสมันอยู่ในหัวใจ มันยุ มันแหย่ มันเสริมค่ามันไปเรื่อย แต่พอเชื่อแล้ว คนเชื่อแล้วมันเกิดธรรมสังเวช

ทุกคนนะถ้าเชื่อเรื่องบาปกรรม เรื่องสัจธรรมสังเวชนะ มันสังเวชว่าโลกนี้มันเป็นผลของวัฏฏะ มันเวียนตายเวียนเกิด มันเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ แล้วเราก็เป็นส่วนหนึ่งของมัน มันเรื่องที่ว่ายิ่งคนเห็นธรรมด้วยมันยิ่งสลดสังเวช นี่ถ้าสลดสังเวชแล้วมันจะเกิดความรู้สึกอย่างนี้ เกิดความรู้สึกว่าสิ่งที่มีค่าที่สุดคือความรู้สึก คือใจมีค่าที่สุด เพราะสิ่งต่างๆ มันเป็นวัฏฏะ คือมันเป็นอนิจจัง มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มันไม่มีอะไรเป็นของใครเลยในโลกนี้

เศรษฐี มหาเศรษฐีขนาดไหน เป็นเศรษฐีชาตินี้ ถ้าไม่ผิดพลาดเลยเขาก็เป็นเศรษฐีไปทั้งชาตินะ เป็นเศรษฐีไปทั้งชาติ เวลาเขาตายไป ถ้าเศรษฐีทำความดีเขาก็ไปเกิดดี ถ้าเศรษฐีทำความชั่ว เขาก็ไปเกิดนรกอเวจีเหมือนกัน คำว่าเศรษฐี เงินทองมันจะให้คุณค่าประกันจิตของเขาไหมว่าจะสูงส่งตลอดไป มันก็ไม่ได้ประกันว่าจิตของเขาจะต้องดีตลอดไป เห็นไหม แม้แต่ขนาดว่าเป็นเศรษฐีทั้งชีวิตนะ แล้วถ้าเกิดเป็นเศรษฐี แล้วเกิดอย่างอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นเศรษฐีแล้วเงินหายไป ต้องมากินข้าวกับน้ำผักดอง อนาถบิณฑิกเศรษฐี นี่ชีวิตนี้มันลุ่มๆ ดอนๆ ทั้งนั้น

ฉะนั้น ถ้าเรามีจิตใจมีธรรมนะมันจะมองอย่างนี้ แล้วมันสลดสังเวช ถ้าสลดสังเวชขึ้นมานี่เกิดธรรมสังเวช เกิดธรรมสังเวชมันก็ย้อนกลับมาถ้าเราจะทำของเราได้ ฉะนั้น ถ้าย้อนกลับมา

ถาม : ๑. จะต้องทำอย่างใดจึงจะได้เกิดเป็นมนุษย์อีกในชาติหน้า เพื่อจะได้มีโอกาสยิ่งๆ ขึ้นไป

จะต้องทำอย่างใดอีกนะ มนุษย์สมบัติคือศีล ๕ ศีล ๕ เราถือศีล ๕ ต้นเหตุของมนุษย์สมบัติ ถ้ามีศีลของเรานะ มีศีล ๕ นี่มนุษย์สมบัติ ถ้าเรามีศีลของเรา เราทำคุณงามความดีของเรา มันเกิดตามบุญ ตามกรรม ถ้าตามบุญนะ อันนี้มนุษย์สมบัติเราเกิดอยู่แล้ว ทีนี้เราเกิดอยู่แล้ว จิตเวียนตายเวียนเกิดอยู่แล้ว แต่เกิดในสถานะไหน เกิดในนรกอเวจี เป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหมมันเวียนตายเวียนเกิด แต่ถ้ามีศีล ๕ ศีล ๕ ของเรามันก็จะเกิดตามเหตุผล เหตุกับการกระทำนั้นเกิด ถ้าเกิดเป็นมนุษย์

ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ เห็นไหม นี่อย่างเช่นพระโพธิสัตว์ เกิดเป็นมนุษย์ๆ ขึ้นมาเลย แต่มันก็มีลัทธิหนึ่งที่เขาสอนว่าเกิดชาติใดก็ต้องเป็นอย่างนั้น ไม่มีทาง ถ้าเกิดชาติใด เกิดเป็นมนุษย์แล้วต้องเป็นมนุษย์อีกโดยที่ว่าทำอย่างไร ทำดีทำชั่วก็เกิดเป็นมนุษย์นี่ไม่ใช่ เกิดเป็นมนุษย์ ทำความชั่วมันก็ตกนรกอเวจีไป มันจะเกิดเป็นมนุษย์ได้อย่างไร? ถ้าเกิดเป็นมนุษย์มีศีล ๕ มันก็เกิดมาเป็นมนุษย์ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ สร้างคุณงามความดีมันก็เกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม มันเกิดตามค่า ตามบุญกุศล ตามค่าของบุญกุศล คือค่าของการกระทำ มันเกิดตามนั้น ถ้าเกิดตามนั้น

ฉะนั้น นี่พูดถึงว่าถ้าจะเกิดเป็นมนุษย์อีกเราถือศีลของเรา เรามีศีล ๕ ของเรา เราจะเกิดเป็นมนุษย์อีก

ถาม : ๒. จะทำอย่างใดให้มีสัมมาทิฏฐิ พบพุทธศาสนาในชาติหน้า เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลา

ตอบ : ถ้าเกิดในพุทธศาสนานะ นี่ดูการเกิดและการตายสิ ในโลกเรานี่เกือบ ๗,๐๐๐ ล้านแล้วนะ แล้วชาวพุทธมันมีกี่เปอร์เซ็นต์ คำว่าชาวพุทธมีกี่เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าชาวพุทธนับถือพุทธศาสนา แล้วก็นับถือลัทธิอื่นๆ ก็เกิดเป็นมนุษย์เหมือนกัน ทำไมเขาไม่นับถือศาสนาล่ะ?

ถาม : ทำอย่างใดจะให้เกิดเป็นมนุษย์ แล้วพบพุทธศาสนาอีก

ตอบ : ถ้านับถือพุทธศาสนาอีก เราก็ประพฤติปฏิบัติของเรานี่ไง เราประพฤติปฏิบัติของเรา เราศึกษาธรรมะของเรา ถ้าเราเชื่อในพุทธศาสนา เราเชื่อในพุทธศาสนา จิตใจเราเกี่ยวพันพุทธศาสนา มันก็จะเกิดในสังคมพุทธศาสนา ถึงจะไปเกิดที่อื่น เกิดที่ไหนมันก็มีจิตใจฝักใฝ่กับพุทธศาสนา ถ้าจิตใจฝักใฝ่พุทธศาสนา เห็นไหม นี่เกิดมาพบพุทธศาสนา แล้วเราได้ประพฤติปฏิบัติของเราต่อไป

ถ้าต่อไปมันอยู่ที่บุญกุศลนะ เพราะบุญกุศลมันค้นคว้า มันเชื่อของมัน ถ้ามันเชื่อของมัน ดูสิพันธุกรรมของจิตๆ เวลาเขาปฏิบัติกันไป ถ้าคนฟังพระพุทธเจ้าแล้วเข้าใจเลยล่ะ บางคนฟังแล้วฟังอีกฟังไม่เข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจ ไม่ใช่ไม่เข้าใจธรรมดานะ ในสมัยพุทธกาล คนที่พยายามจะต่อต้าน คนที่มาต่อต้านกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มีของเขา

อันนั้นที่ว่า

ถาม : เราทำอย่างไรจะได้เกิดมาพบพุทธศาสนา

ตอบ : อธิษฐานเลยล่ะ แล้วเราทำบุญกุศลของเรา อธิษฐานให้เราเกิดมาพบ เกิดมาเป็น แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ อยู่แล้ว เพราะสิ่งที่ทำอยู่นั้นมันเป็นผลอยู่แล้วแหละ ผลของวัฏฎะเกิดจากตรงนั้นแหละ เกิดจากการกระทำนั่นล่ะ ฉะนั้น เราเกิดมานี่เกิดมาโดยเวร โดยกรรมที่เกิดมาโดยผลบุญของเรา

ถาม : ๓. กระผมเคยทราบมาว่า ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์แล้วจะเวียนเกิดเป็นมนุษย์อีกเรื่อยๆ จนมีกรรมใหญ่

ตอบ : นี่เขาก็บอกว่าเขาเองเขาก็ไม่เชื่อ เพราะมันขัดกับคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่มันมีลัทธิอยู่ ใครเกิดเป็นสัตว์ก็จะเป็นสัตว์ตลอดไป ใครเกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นมนุษย์ตลอดไป ฉะนั้น ใครเกิดมาเป็นสัตว์ก็เกิดมาเป็นอาหารของมนุษย์ตลอดไป เออ แล้วเกิดเป็นมนุษย์ก็มีสิทธิกินสัตว์ตลอดไป เขาว่าของเขานะ มันมีความเชื่อ เราไม่อยากอ้างว่าศาสนาใด เดี๋ยวมันเกี่ยวกับเรื่องศาสนา นี่ใครเกิดเป็นสัตว์ก็เกิดเป็นสัตว์ตลอดไป

ฉะนั้น เกิดเป็นสัตว์ สัตว์มีหน้าที่เกิดมาเป็นอาหารของมนุษย์ ความเชื่อเขาเป็นอย่างนั้นนะ แล้วถ้าฆ่าสัตว์แล้วไม่ผิดด้วย เพราะสัตว์มันเกิดมาเป็นอาหารของมนุษย์ นี่ไงศาสดาที่มีกิเลสคิดได้แค่นี้ไง แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านบอกเลย บอกว่า

“สรรพสิ่ง สิ่งมีชีวิตทั้งหมดเกลียดทุกข์ รักสุข ปรารถนาความสุขทั้งนั้น”

สัตว์ทุกชนิดรักชีวิตของตัวเอง ไม่มีสัตว์ชนิดใดไม่รักชีวิตตัวเอง ฉะนั้น สิ่งที่รักชีวิตตัวเอง แล้วเราไปทำลายสิ่งที่มีค่าที่สุด มันเป็นการทำลายน้ำใจกัน ไม่มีทาง เป็นไปไม่ได้ ฉะนั้น สิ่งที่ว่าการเกิดเป็นมนุษย์ อย่างที่ว่ามนุษย์สมบัติคือศีล ๕ ทำคุณงามความดีของเรา แล้วอธิษฐานมาเกิดเป็นมนุษย์ เพื่อจะประพฤติปฏิบัติถึงที่สุด ฉะนั้น ในพุทธศาสนาบอกว่าขัดแย้งกับคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าการเกิดเป็นมนุษย์นี้แสนยาก

การเกิดเป็นมนุษย์นี้แสนยาก ถ้าเกิดเป็นมนุษย์นี้แสนยากเพราะการทำกรรมกันไว้มันเยอะ แล้วถ้าเกิดเป็นมนุษย์นะเราปรารถนา ใครก็อยากเกิดมามั่งมีศรีสุข ใครก็อยากเกิดมามีแต่ความสุข สังเกตได้ว่าคนร่ำรวยมีลูกยาก คนทุกข์ คนจน โอ๋ย ลูกเยอะแยะไปหมดเลย แม้แต่เกิดเป็นมนุษย์เรายังมาเกิดทุกข์ๆ ยากๆ นะ นี้การเกิดทุกข์ๆ ยากๆ ทุกข์ยากขนาดไหน ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาการเกิดมันเกิดตามเวร ตามกรรม ตามที่เราทำมา แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านแสดงอริยสัจ แสดงความจริงนะท่านแสดงว่า

“คนเราไม่ใช่ดีเพราะการเกิด”

คนเราจะดี จะชั่วอยู่ที่การกระทำ การเกิดและการตายมันเป็นผลของวัฏฏะ ผลของเวร ของกรรม แต่เกิดมาแล้วทำดี ทำชั่วต่างหาก อันนี้ถึงเป็นอริยสัจ อันนี้เป็นความจริง เพราะการเกิดมันเป็นเวร เป็นกรรม มันเป็นกรรมเก่าที่เราสร้างมา เราจะไปปรารถนา ไปต้องการให้สมความปรารถนามันไม่มี แต่การกระทำของเรานี่เราทำได้ การกระทำ การประพฤติปฏิบัติของเรานี่ทำได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านเน้นย้ำตรงนี้ ท่านไม่ใช่เน้นย้ำว่าคนเราดีเพราะการเกิด ไม่ใช่ คนเราดีเพราะการกระทำ

ถ้าคนเราดีเพราะการกระทำ เห็นไหม นี่คำสอนของพระพุทธเจ้า การเกิด การเกิดเพราะการสร้างคุณงามความดี การทำความดีของเรา นี่เรามาสำนึกกันเราก็ภูมิใจแล้ว แล้วเรายังอยากเกิดอย่างนี้อีก ถ้าอยากเกิดอย่างนี้เราภาวนาพุทโธ พุทโธ เราฝังไว้ ฝังไว้ในพุทธศาสนา ดูสิเวลาเราหาเงิน หาทองได้มา เห็นไหม เลี้ยงพ่อ เลี้ยงแม่สลึงหนึ่ง ใช้จ่ายในชีวิตสลึงหนึ่ง เก็บไว้ทำทุนสลึงหนึ่ง เหลืออีกสลึงแล้วฝังไว้ในศาสนา ฝังไว้ คำว่าฝังดินๆ ฝังไว้ในศาสนา ทำบุญกุศล นี่มันจะเกี่ยวพันกัน เกี่ยวพันกันไป อย่างนี้เราจะมาเกิดอีก เวียนตายเวียนเกิดอีก

ถ้าเวียนตายเวียนเกิดอีก เราเกิดอย่างนี้เกิดมาเพื่อบุญกุศล นี้ผลของวัฏฏะนะ ผลของวัฏฏะ แต่เวลาผลของวัฏฏะ นี่มีคนมาถามมาก เวลาเกิดมาแล้วทำไมจิตใจคิดถึงพระ คิดถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันจะมีความโต้แย้ง อันนี้มันก็มีกรรม กรรมของคน แรงปรารถนา แรงการกระทำ อะไรที่มันทำแล้วมันผิดพลาดเราขออโหสิ เราอโหสิต่อกันนะ สิ่งที่อโหสิต่อกัน มันผิดไหม? ผิด แต่ไม่ให้มีการอาฆาต ไม่ให้มีการผูกพันกันไป

จิตใจมันลอกแลก มันไวมาก เราคุมได้ยากมากเลย แต่เราก็มีหลัก หลักในคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกาะอันนี้ไว้ แต่จิตใจเรามันก็ยังลอกแลกๆ ลอกแลกเพราะอะไร? ลอกแลกเพราะธรรมชาติมันเป็นแบบนั้น ธรรมชาติมันเป็นแบบนั้น อวิชชาความไม่รู้ของมัน มันก็เป็นอย่างนั้น เราเกาะไว้ เกาะไว้ เราศึกษาไว้แล้วเราภาวนาของเรา หัดภาวนา หัดพุทโธ ลมหายใจเข้าพุทโธ พุทเข้า โธออกนี่ เราเกาะของเราไว้อย่างนี้ มันจะไม่ไปไหนหรอก ถ้าอย่างนี้มันเกิดเป็นเชาวน์ เป็นปัญญา

คนเราเกิดปัญญาได้จากการภาวนา ภาวนานี่ทำให้คนฉลาด ทำบุญกุศลก็ทำกันไป ทำเพื่อให้จิตใจเข้มแข็ง จิตใจสมควรแก่ธรรม แต่เวลาคนจะมีปฏิภาณไหวพริบเกิดจากการภาวนา ถ้าเราภาวนาของเรา เราทำของเรามันจะเป็นประโยชน์กับเรา เห็นไหม ถ้าประโยชน์กับเราอย่างนี้เราไม่ต้องตกใจแล้ว อันนี้พอเราคิดว่าเราอยากเกิดเป็นคน เราอยากจะเกิดเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา แล้วเราก็วิตกกังวล สิ่งนี้มันจะทำให้เราโลเลเข้าไปอีก นี่เรามีหลักแล้ว เราทำของเราแล้ว ทำตามความเป็นจริงแล้ว เราเชื่อในพุทธศาสนาแล้ว เราทำเพื่อประโยชน์กับเรา นี่พูดถึงว่า “จะเกิดเป็นมนุษย์เพื่อพบพุทธศาสนาต่อไป”

ถาม : บุคคลได้โสดาบันแล้ว ละสังขารไป ชาติหน้าเกิดมาแล้วยังต้องละสักกายทิฏฐิ สีลัพพตปรามาสอีกครั้งหรือไม่ครับ?

ตอบ : ไม่เด็ดขาด ไม่ ถ้าละแล้วก็ละ ละชาติใดก็แล้วแต่ เป็นพระโสดาบันแล้วก็เป็นพระโสดาบัน มาเกิดเป็นมนุษย์อีกก็เป็นพระโสดาบัน เป็นพระโสดาบันแล้วจิตใจเขาจะเป็นโสดาบัน ทั้งเกิดเป็นเด็กเขาก็ไม่รู้ตัวของเขา แต่เขาจะไม่ทำสิ่งใดที่ผิดแปลกไปจากใจของเขา คือมันค้านไว้ในใจตลอดเวลา เหมือนใจเขาไม่ต้องการธรรม

ฉะนั้น ถ้าคำว่าปฏิบัติต่อไป เวลาเขาภาวนาไป นี่ที่ว่าขิปปาภิญญา หรือที่ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ถ้าเขามีพื้นฐานเดิมของเขาอยู่แล้ว เวลาเขามาเขาจะไปได้ทันทีเลย ถ้าละสักกายทิฏฐิไปแล้วคือจิตมันเป็นไปแล้ว พอจิตมันเป็นไปแล้ว เพราะเป็นไปแล้ว แต่ในเมื่อยังละกามภพไม่ได้ พระโสดาบันละกามภพไม่ได้ พระโสดาบันมาเกิดเป็นคนอีกก็ได้ พระโสดาบันไปเกิดเป็นเทวดาก็ได้ พระโสดาบันไปเกิดเป็นพรหมก็ได้ พระสกิทาคามีก็ยังมาเกิดเป็นคนอีกก็ได้ แต่พระอนาคามีแล้วไม่ พระอนาคามีไปเกิดบนพรหม แล้วก็สุกไปเลย ถ้าเป็นพระอรหันต์จบเลย ไม่มีการเกิดอีกแล้ว

ฉะนั้น

ถาม : พระโสดาบันละสังขารไปแล้ว มาเกิดใหม่ต้องมาละสักกายทิฏฐิอีกหรือไม่?

ตอบ : ไม่ ถ้ามันละได้มันก็ไปขัดแย้งกับคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าถ้าเป็นพระโสดาบัน อกุปปธรรม อกุปปธรรมหนเดียว อฐานะมันไม่เปลี่ยนแปลง ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงในชาตินี้ ชาติไหนมันก็ไม่เปลี่ยนแปลง ชาตินี้เป็นมนุษย์ เป็นพระโสดาบัน ตายไปมาเกิดเป็นพระโสดาบันอีก สักกายทิฏฐิมันก็ไม่มีอยู่แล้ว ไม่มี พอมันไม่มีอยู่แล้ว เวลาปฏิบัติไป ถ้าปฏิบัติ

นี่ไงพระโสดาบันเกิดอีก ๗ ชาติ แล้วถ้าพระโสดาบันเกิดชาตินั้นล่ะ? มันจบแล้ว ละสักกายทิฏฐิแล้วคือละแล้ว เป็นพระโสดาบัน เป็นพระโสดาบันตลอดไป จะไปเกิดชาติไหน มันไม่ไปเกิดชาติไหนเพราะมัน ๗ ชาติเท่านั้นเอง ถ้ามันเกิดมาปฏิบัติก็จบเลย เพราะเป็นพระโสดาบันแล้วมันมีพื้นฐาน ดูอย่างนางวิสาขา, พระโสดาบันที่อายุ ๗ ขวบเป็นพระอรหันต์ นี่มันมีพื้นฐานของเขามา เขามีพื้นฐานของเขามา อย่างใดก็แล้วแต่มันต้องมีที่มาที่ไป

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งเหตุและผล ศาสนาพุทธไม่ใช่ศาสนาที่อ้อนวอนขอเอา ศาสนาพุทธ ศาสนาพุทธะ แล้วพุทธะ เห็นไหม ดูสิเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นองค์ที่ ๔ องค์ต่อไปพระศรีอาริยเมตไตรย นี่เป็นยุค เป็นคราว เป็นยุค เป็นคราวมันเวียนตายเวียนเกิดในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๕ พระองค์ นี่หมุนเวียน เพราะจิตมันเวียนตายเวียนเกิด แล้วต่อไปข้างหน้า ต่อไปข้างหน้ายังมีอนาคตวงศ์อีก ๑๐ องค์ พระพุทธเจ้ายังมีต่อไปข้างหน้า ต่อไปข้างหน้า เพราะ เพราะคนที่สร้างคุณงามความดี ปรารถนาความดี สร้างความดีไว้มันมี พอมีขึ้นไปมันก็เวียนอย่างนี้ พอเวียนไปมันถึงที่สุดไง

ฉะนั้น

ถาม : บุคคลใดได้โสดาบันแล้วละสังขารไป ชาติหน้ามาเกิดแล้วยังต้องละสักกายทิฏฐิอีกไหม?

ตอบ : ไม่ต้อง ไม่มีการละอีกแล้ว มันไม่มีให้ละ เพราะมันขาดไปแล้วมันไม่มี มันไม่มี แต่มันมีกิเลสอย่างละเอียดไง มีกิเลส เห็นไหม พอละสกิทาคามี กามราคะ ปฏิฆะอ่อนลง ถ้าอนาคามีหมดเลย กามราคะ โลภ โกรธ หลง ความโลภ ความโกรธ ความหลงพระอนาคามีขาดแล้ว ทีนี้พอขาดไปแล้วมันก็เหลือแต่จิตเดิมแท้ผ่องใส เหลือแต่อวิชชา อวิชชานี่ตัวนุ่มนวล ตัวผ่องใส ตัวต่างๆ ตัวภพ ถ้าทำลายไปแล้วก็จบเลย แล้วถ้าจบแล้ว นี่จะเข้าใจเรื่องศาสนาทั้งหมด

ฉะนั้น ถ้ายังไม่เข้าใจเราก็ฝึกหัดของเรา ปฏิบัติของเราให้เป็นพระโสดาบันจริงๆ ไม่ใช่เข้าใจไปเอง นึกไปเอง อันนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเป็นจริงขึ้นมาแล้วนะ สรรพสิ่งในโลกนี้เข้าใจสิ่งนี้หมดเลย เอวัง