ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ใจหลวงปู่มั่น

๑๕ ธ.ค. ๒๕๕๕

 

ใจหลวงปู่มั่น
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๑๒๑๕. เนาะ

ถาม : ๑๒๑๕. เรื่อง “ทาน”

กราบนมัสการหลวงพ่อ หนูพยายามปฏิบัติธรรมบ้างตามโอกาสและเวลาอำนวยค่ะ ส่วนมากมักฟังธรรมจากเว็บไซต์ของหลวงพ่อ และมีพี่ที่ทำงานปฏิบัติธรรมจากที่ต่างๆ และมักพูดคุยกันเรื่องธรรมะต่างๆ ความคิดจึงแตกต่างกันพอควร ซึ่งอาจเนื่องมาจากความไม่รู้จริง ทำให้หนูมีปัญหาเรื่องการทำทานมาเรียนถามหลวงพ่อ เพราะความเห็นของหนูแตกต่างจากพี่เขาที่ปฏิบัติธรรมมานานมากกว่า จึงขอเรียนถามหลวงพ่อดังนี้ค่ะ

๑. การที่เราใส่บาตรกับพระ ซึ่งเรารู้ว่าพระดื่มเหล้าและมีวัตรอื่นๆ ที่ไม่เหมาะสม หนูคิดว่านั่นคือการส่งเสริมคนผิด และไม่เกิดประโยชน์ใดๆ แต่เพื่อนมีความเห็นว่าถ้าเรายังหวังประโยชน์อยู่ เราจะละกิเลสได้อย่างใด?

๒. เมื่อมีการทอดผ้าป่าในหน่วยงาน ซึ่งจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ แต่เรารู้ข้อมูลมาว่าเงินที่ได้มาผู้บริหารนำไปซื้อรถสำหรับผู้บริหารใช้ นำไปก่อสร้างสิ่งต่างๆ ที่ไม่ได้แก้ปัญหาเพื่อผู้ป่วยอย่างจริงจัง และเกิดประโยชน์แก่ผู้ป่วยน้อย แต่ได้ประโยชน์เป็นเงินใต้โต๊ะของบางคน หนูควรเลือกที่จะทำผ้าป่าร่วม หรือเลือกที่จะบริจาคเพื่อแก้ปัญหาที่มันเกิดขึ้นตอนนั้นจริงๆ เช่นเสื้อผ้าผู้ป่วย แต่พี่ที่ทำงานบอกว่าเราควรทำบุญผ้าป่าไป และไม่ควรคำนึงถึงว่าเขาจะนำไปใช้ในสิ่งใด มีเหตุอื่นๆ อีกคล้ายๆ เหตุการณ์นี้ จนหนูรู้สึกว่าสิ่งที่หนูทำเป็นมิจฉาหรือไม่คะ

ตอบ : นี่ความเห็นของโลก ความเห็นของโลก จิต เห็นไหม ในเมื่อจิตใจของคนมันแตกต่างหลากหลายมาก ความรู้ ความเห็นต่างๆ มันถึงแตกต่างหลากหลาย แม้แต่ในสมัยพุทธกาลนะ เวลาพระกัสสปะทำสังคายนา พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ทำสังคายนาในวงการพระทั้งหมด ว่าต่อไปนี้ เวลาพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว พระอานนท์บอกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสั่งไว้ว่า “วินัยถ้าผิดเล็กน้อยให้ตัดทอนเสียบ้างก็ได้”

ฉะนั้น เวลาพระกัสสปะท่านประชุมสงฆ์ ท่านบอกว่าในลัทธิ ในศาสนาอื่น เวลาศาสดาเขาตายไปแล้ว มันจะมีปัญหาเรื่องอย่างนี้มาก แล้วประชาชนเขาติฉินนินทา ฉะนั้น ในพุทธศาสนา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านปรินิพพานไปแล้ว ถ้าเรามาสังคายนากันแล้ว เราตัดสิ่งใดที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้บัญญัติไว้ แล้วจะหาว่าแม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้แต่เพิ่งปรินิพพานไป นี่ลูกศิษย์ลูกหาก็ทรงสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานไว้ให้ไม่ได้ ถึงได้ลงประชามติกันว่า

“สิ่งใดที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติไว้แล้วเราจะไม่ตัดทอนกัน”

ไม่ตัดทอนกันเพื่อไม่ให้ประชาชนเขาเสียใจไง นี่เวลาลัทธิศาสนาอื่น เวลาศาสดาเขาตายไป เห็นไหม นี่มันมีแต่ปัญหาในศาสนาของเขาทั้งนั้นเลย มีการแตกเป็นก๊ก เป็นเหล่า เป็นต่างๆ ฉะนั้น เวลาศาสนาพุทธ นี่ความปรารถนาดีของพระกัสสปะกับพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ที่ทำสังคายนากัน ความปรารถนาหวังว่าอยากให้ประชาชน อยากให้สังคมมีความอบอุ่นหัวใจว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ลูกศิษย์ลูกหาก็ยังรักษามรดกตกทอดของท่านมาได้

ฉะนั้น สิ่งใดที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าวินัยบางข้อที่มันเล็กน้อยให้ตัดออกบ้างก็ได้ พระกัสสปะให้สงฆ์ลงประชามติกันว่าเราจะไม่ตัดสิ่งใดเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติสิ่งใดไว้ก็ให้นับถือสิ่งนั้น เวลาพระกัสสปะทำสังคายนาเสร็จแล้ว นี่จำชื่อไม่ได้ มีพระอีกองค์หนึ่งเป็นผู้อาวุโสมาก ได้จะมางานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาถึงที่นั่น พระกัสสปะกับพระอรหันต์ทั้ง ๕๐๐ องค์ได้บอกเขาว่า บัดนี้พระอรหันต์ทั้ง ๕๐๐ องค์ ลูกศิษย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทำสังคายนากันแล้ว ให้ลงมติกันเห็นชอบอย่างนี้

พระองค์นั้นบอกว่าสิ่งที่สังคายนากันแล้วก็นับถือกันไป แต่ที่เขาได้ฟังมาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเขาจะนับถือของเขาไปเอง เห็นไหม แม้แต่สังคายนาเสร็จเดี๋ยวนั้นก็ยังมีคนเห็นต่างเลย ความเห็นต่างอย่างนี้ นี่สังคมมันเป็นแบบนี้ นี่พูดถึงน้ำใจของคน ถ้าน้ำใจของคน ความเห็นต่าง ความรู้สึกนึกคิดของคนมันแตกต่างหลากกหลาย

นี่เวลาความปรารถนาดีของพระกัสสปะ ของพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์นั้นว่าในลัทธิศาสนาอื่นๆ เวลาศาสดาเขาเสียชีวิตไป ในหมู่คณะของเขารักษามรดกของอาจารย์ไว้ไม่ได้ เราก็พยายามจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ นี่พระกัสสปะบอกว่า

“เราจะทำสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติไว้ แล้วทำให้มันถูกต้องดีงาม”

ฉะนั้น ทำให้ถูกต้องดีงามถึงได้ลงประชามติกัน ลงฉันทามติเลยบอกว่าเราจะไม่แก้ไขๆ ก็เลยกลายเป็นเถรวาทมา เถรวาทคือเถระ พระเถระ ๕๐๐ องค์นั้นเป็นผู้ทำสังคายนา เขาเลยเรียกว่าเถรวาท เชื่อตามที่พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์นั้นสืบต่อกันมา

การสืบต่อกันมา เห็นไหม ฉะนั้น สิ่งที่เป็นแบบนี้ แล้วเวลาเป็นแบบนี้ เวลา ๒๐๐-๓๐๐ ปีมาแล้วถึงได้จดจารึกไง แล้วมันก็แตกออกมาเป็น ๑๘ นิกาย แตกออกมาเพราะอะไร? เพราะความเห็นต่างๆ ความเห็นต่างต่างๆ แต่ความเห็นต่างที่เราเก็บไว้ในใจเราไม่ได้มาสร้างเป็นกลุ่ม เป็นก้อนมันก็ไม่เป็นนิกายขึ้นมา การจะเป็นนิกายขึ้นมาคือเป็นกลุ่ม เป็นก้อน พระเป็นกลุ่ม เป็นก้อนขึ้นมาก็เป็นนิกายขึ้นมา

คำว่านิกายขึ้นมา นี้พูดถึงเราจะชี้ให้เห็นว่าสังคมโลก ๒,๕๐๐ กว่าปีมามันมีปัญหาสิ่งใดมาบ้าง แล้วมาในปัจจุบันนี้ เห็นไหม นี่ถามเรื่องทาน ถามเรื่องการทำบุญ ทำทาน ทานในพุทธศาสนา แล้วทำทานแล้ว เราทำบุญกุศล ทำแล้วเราต้องมีบุญกุศล เราต้องมีความสุขสิ ทำไมทำทานแล้วว่า “หนูมีปัญหาเรื่องที่ทำงานค่ะ” อ้าว ทำทานแล้วทำไมที่ทำงานมีความขัดแย้งกันล่ะ? ความขัดแย้งอย่างนี้แล้วมันเป็นมุมมองไง มันเป็นมุมมอง เป็นความเชื่อ

ฉะนั้น บอกว่าในที่ทำงานของเรา มีพวกพี่ๆ เขาทำบุญกุศลมาก่อน เขาฟังธรรมะมามาก เวลาเขาทำเขาให้ทำไปเลย อย่าไปหวังผลประโยชน์สิ่งใด นั่นความเห็นของเขา ถ้าเขาทำใจเขาได้ เขาทำใจเขาได้เขาก็เหมือนผู้ถามนี่แหละ ผู้ถามเมื่อก่อนพวกพี่ๆ เขาเป็นอย่างนี้ เขาก็มีความเห็นอย่างนี้เหมือนกัน แต่พอเขามีประสบการณ์ของเขา เขามีความรู้ ความเห็นของเขา เขามีความรู้เห็นของเขา เขาก็ทำของเขาไป

ถ้าทำของเขาไปนะ นี่ใครทำของใครได้ ใครทำได้เป็นของบุคคลคนนั้น นี่พุทธศาสนา เห็นไหม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทำได้มาก ได้น้อยเท่าไหร่? แต่นี้เวลาความรู้สึกนึกคิดของเรา เราเป็นผู้ที่ทำทาน เราเป็นผู้ที่รู้ ที่เห็น เห็นว่าเป็นอย่างนั้นๆ แล้วเราทำไม่ได้อย่างเขา อันนี้มันก็เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเถรวาทเรานี่แหละ ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าใครทำบุญที่ไหนแล้วได้บุญมาก ได้บุญน้อยนี่ไง

ถ้าจะได้บุญมหาศาล บุญมากที่สุดคือทำบุญกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเป็นเนื้อนาบุญที่ดีที่สุด แล้วรองลงมาก็พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอัครสาวก แล้วก็พระอรหันต์ พระอนาคามี พระสกิทาคามี พระโสดาบัน แล้วถ้าไม่มีก็ทำสังฆทาน ทีนี้ทำสังฆทาน สังฆทานมันก็เป็นสังฆะใช่ไหม? เป็นการรวม เป็นพระ เป็นสงฆ์รวมกัน ๔ องค์ขึ้นไปถึงเป็นคณะสงฆ์ ทำสังฆทานคือทำแด่คณะสงฆ์ นี่คณะสงฆ์ ในเมื่อไม่มีพระอริยบุคคล ทำคณะสงฆ์ก็จะได้บุญมากขึ้นมา นี่ความเห็นอย่างนี้มันก็มีอยู่ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่แสดงไว้นั่นแหละ

ฉะนั้น เวลาเขาทำกันแล้ว ถ้าเขาคิดถึงบุญกุศล เขาคิดต่างๆ เขาก็คิดของเขาไปแบบนั้น นั่นก็ความคิดของเขา เขาคิดแบบนั้นได้ แต่ถ้าความคิดแบบเราคิดแบบโลก คิดแบบวิทยาศาสตร์ คิดแบบวิทยาศาสตร์ หนึ่งบวกหนึ่งต้องเป็นสอง ทำบุญต้องทำกับพระดีๆ ทำบุญก็ต้องทำที่ให้เรารู้ เราเห็น ทำบุญของเราแล้วก็ต้องใช้ประโยชน์ตามนั้น นี่คิดทางวิทยาศาสตร์ไง

ถ้าคิดทางวิทยาศาสตร์เพราะคนบวชใหม่ๆ ก็เป็นอย่างนี้ ใครทำบุญใหม่ๆ ก็เป็นอย่างนี้ทั้งนั้นแหละ ในเมื่อเราไม่เชื่อเรื่องศาสนาเราว่าทำไปทำไม? ของๆ เรา เราทำไปเพื่อเหตุใด? เราก็ใช้เพื่อประโยชน์กับเราสิ แต่เวลาเราเชื่อในศาสนา ศาสนาถึงบอกให้สังคมร่มเย็นเป็นสุขคือการเสียสละ สังคมที่มีทิฐิมานะ ที่มีความรู้ ความเห็นขัดแย้งกัน ที่มีความเห็นแตกต่างกันไปก็เกิดจากตรงนี้ไง เกิดจากตรงนี้ เกิดจากความรู้ ความเห็นของคนที่มันแตกต่างกัน แล้วก็ย้ำคิดย้ำทำ แล้วเอาความรู้ ความเห็นมาขัดมาแย้งกันไง

แต่ถ้าคนบอกว่าเขาจะล้างพฤติกรรม ล้างความรู้ ความเห็น เขามีสติปัญญาขึ้นมาเขาก็เข้ามาระหว่างเรื่องของศีล เรื่องของสมาธิ เรื่องของปัญญา เรื่องของทาน เรื่องของปริยัติ เรื่องของปฏิบัติ เรื่องของปฏิเวธ นี่การปล่อยวางปล่อยวางอย่างไร? เวลาพี่เขาบอกว่าถ้าเรายังหวังประโยชน์อยู่อย่างนี้มันก็ไม่ได้บุญ ถ้าเราไม่หวังประโยชน์อยู่ ไม่หวังประโยชน์อยู่ แต่ถ้ามันมีสติปัญญามันก็ต้องเลือกเป็นเหมือนกัน มันอยู่ที่ความเห็นของคน ถ้าความเห็นของคน

ฉะนั้น ในที่ทำงานของเรา ในที่ทำงานทุกๆ ที่ มนุษย์ ๒ คนขึ้นไปมีความเห็นต่างแน่นอน ในเมื่อมนุษย์ ๒ คนขึ้นไปมีความเห็นต่าง แต่ความเห็นนั้นเราก็พิจารณาของเรา เราอย่าไปยึดติด ยึดมั่นจนเป็นทุกข์สิ เวลาต่างคนต่างพูดเสร็จนะ เหมือนผู้ใหญ่พูดกับเด็ก ผู้ใหญ่เขาจะให้ปัญญาเด็ก เขาพูดแบบว่าให้สติให้ได้คิดไง ไอ้ผู้ใหญ่พูดเสร็จแล้วผู้ใหญ่ก็นอนสบายนะ ไอ้เด็กมันไปคิดอยู่ ๗ วัน โอ้โฮ อกแทบระเบิด

นี่ผู้ใหญ่เขาพูด เขาพูดให้ได้คิด พูดให้ได้ฉุกคิด พูดให้เราได้ฝึกหัดปัญญา ไอ้เด็กที่มันรับแล้วมันรับไม่ไหว อันนี้มันประสบการณ์ ประสบการณ์ ฉะนั้น พี่ที่ทำงานเขาพูด เขาพูดแล้วก็จบ เขาพูดก็เพราะหวังดี เขาพูดแล้วเขาก็ไม่ได้คิดเอามาเป็นความวิตกกังวล ไอ้เรานี่ว่า “หนูมีปัญหาที่ทำงาน” พูดเสร็จแล้วมองหน้าใครไม่ได้เลย ใครก็พูดให้เราขัดใจไปหมดเลย ความขัดใจนั้นมันเป็นโลกธรรม ๘ สรรเสริญ นินทา สรรเสริญก็ชอบ นินทาก็เจ็บช้ำน้ำใจ

สิ่งที่สรรเสริญ นินทา นี่โลกธรรม โลกธรรมเป็นธรรมะเก่าแก่ ธรรมะเก่าแก่คือมันมี เหมือนฤดูกาลมันเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา สิ่งต่างๆ มันเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา แต่ แต่เราจะใช้ฤดูกาล คำว่าใช้ฤดูกาลคือเราปรับตัวเราเข้ากับฤดูกาล เห็นไหม เราทำสิ่งใดเราดักหน้า อย่างเช่นการทำนาเขาก็ทำนาในหน้าฝน หน้าฝนมันมีน้ำเขาก็ทำนาในหน้านั้น หน้าแล้งเขาทำนา เวลาถึงฤดูกาลแล้วเขาก็ไปเก็บเกี่ยวเอาหน้าหนาว หน้าที่มันน้ำแห้ง นี่เขาคำนวณของเขาได้

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่มีประโยชน์นะ เพราะว่ามันมีปัญหามาก ปัญหาในที่ทำงาน ทุกคนในที่ทำงานแล้วจะมีความอึดอัดขัดข้องกันไปหมด ฉะนั้น ถ้าเราปรับปรุงตรงนี้ซะ มันเป็นคุณประโยชน์กับชีวิตเรานะ มันเป็นประโยชน์กับชีวิตเรา ถ้าชีวิตเราเราเป็นผู้ที่ลืมหู ลืมตา แล้วเรามีธรรมเป็นที่พึ่ง แล้วเราพยายามประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา

ในที่ทำงานของเรา ที่ทำงานก็ที่ทำงานเดิมนี่แหละ ถ้าจิตใจเราดี จิตใจเรามีหลักมีเกณฑ์นะ จิตใจของเรา เราทำงานด้วยความสุข เราทำงานด้วยความไม่อึดอัดขัดข้อง แต่ถ้าจิตใจเรานะมันมีสิ่งใดที่ฝังใจอยู่ๆ ในที่ทำงานที่เดียวกันนั่นแหละ จิตใจเราเป็นอย่างนั้นปั๊บเราอึดอัดขัดข้องไปหมดเลย นี้เป็นปัญหาในที่ทำงาน ปัญหานะ

ถาม : ๑.การที่ใส่บาตรพระที่เรารู้ว่าพระท่านดื่มเหล้า และมีวัตรอื่นๆ ที่ไม่เหมาะสม หนูมีความคิดว่านั่นคือการส่งเสริมคนผิด และไม่เป็นประโยชน์ใดๆ แต่เพื่อนเห็นว่าถ้าเราหวังประโยชน์อยู่ เราจะละกิเลสได้อย่างใด?

ตอบ : ฉะนั้น นี่มันเป็นปัญหาสังคม ปัญหาสังคมหมายความว่า หนึ่งเราอยากใส่บาตร ทุกคนอยากใส่บาตร ใส่บาตรแล้วก็อยากได้บุญ เพราะเราปรารถนาบุญ เราใส่บาตรกันเพื่อหวังบุญกุศล เราก็อยากให้พระดีๆ มารับบาตรของเรา มารับไทยทานของเรา แต่พระที่ดีเรารู้ว่าดีมาก ดีน้อยแค่ไหนล่ะ?

ฉะนั้น คำว่าดีมาก ดีน้อยแค่ไหนเรารู้ด้วยไม่ได้ ฉะนั้น พระที่เขาปรารถนานะ เขาปรารถนาของเขา พระที่บวชมาเพื่อหวังจะพ้นทุกข์ เขาจะไม่เข้ามายุ่งเรื่องอย่างนี้ เขาจะออกป่า ออกเขา ออกในที่สงบสงัดของเขา เพราะเขาบิณฑบาตมาเพื่อดำรงชีวิต แต่ความมุ่งหมายของเขาคือเขาอยากปฏิบัติธรรมของเขา เขาอยากทำสมาธิของเขา เขาอยากฝึกหัดใช้ปัญญาของเขาเพื่อเอาศีล สมาธิ ปัญญา มรรคญาณนี้มาชำระล้างกิเลสของเขา เขาจะอยู่ในที่สงัด ในที่วิเวก เขาจะรักษาตัวของเขาเพื่อเป็นคุณประโยชน์ของเขา

เพราะศีลไง ถ้าศีลมันทุศีล การทุศีลทำสมาธิขึ้นมาก็ได้ยาก ถ้าศีลมันบริสุทธิ์ ศีลสะอาดบริสุทธิ์ การปฏิบัติของเขามันก็จะง่ายขึ้นมา เขาจะรักษาศีลของเขา เขาจะดูแลตัวของเขา เขาจะทำประโยชน์ของเขา อย่างนั้นเพราะเขามีเป้าหมายจะพ้นจากทุกข์ แต่พระที่เขาบวชมา พระที่บวชเข้ามาเพื่อหลีกหนีจากทุกข์ทางโลกมา แต่เขาคิดว่าการบวชแล้วคือการดำรงชีวิต

ฉะนั้น พระที่เขาทำตัวอย่างนั้น เพราะว่าอะไร? เพราะว่าเขาไม่มีเป้าหมายว่าเขาจะพ้นจากทุกข์ เขามีเป้าหมายว่าเขาบวชมาเพื่อความสุขในชาตินี้ เขาบิณฑบาตของเขา ๘ โมง ๑๐ โมง เที่ยงคืนเขายังบิณฑบาตกันอยู่ อย่างนั้นมันก็น่าเกลียด คำว่าน่าเกลียด ทำไมสังคมสงฆ์ไม่จัดการ สังคมไม่จัดการ? สังคมสงฆ์จัดการก็ไปจับพระที่บิณฑบาตเที่ยงคืนมันมา พอจับพระที่บิณฑบาตบ่ายโมง ๔ โมง ๕ โมง บิณฑบาตไปตามถนนหนทาง นี่ธุดงค์มาเดือดร้อน เจ็บไข้ได้ป่วยไปออดอ้อนเขาทั้งวันเลย จับมาแล้วมันก็ไม่มีโทษประหารไง เพราะอะไร? เพราะพระบิณฑบาต พระทำผิดมันเป็นอาบัติอะไรล่ะ?

ส่วนใหญ่เรารู้ว่าพระดื่มเหล้า ดื่มเหล้าก็เป็นอาบัติปาจิตตีย์ มันไม่มีโทษถึงกับให้สึกได้ไง มันไม่มีโทษ เพราะโทษสึกมันก็ปาราชิก ๔ สังฆาทิเสสมันก็ไม่ถึงกับสึก อนิยต ๒ นิสสัคคีย์ ๓๐ ปาจิตตีย์ ๗๒ เสขิยวัตรอีก ๙๐ นี่คือโทษของมันลงโทษโดยที่จะให้พระองค์นี้ไม่มีพฤติกรรมอย่างนี้ มันไม่มีถึงขนาดนั้น ฉะนั้น เวลาบวชมาแล้ว เห็นไหม บวชมาเขาจะต้องถือนิสัย ถือนิสัยโดยอุปัชฌาย์ อุปัชฌาย์เขาจะฝึกนิสัย การอยู่ การเหยียด การคู้ อุปัชฌาย์จะฝึกหัด พอฝึกหัดได้ ๕ ปีแล้วถึงจะดำรงชีวิตของเขาได้ นี่ฝึกหัดนิสัยว่าอย่างนี้ทำได้ อย่างนี้ทำไม่ได้ อย่างนี้ควรทำ อย่างนี้ไม่ควรทำ นี่เขาบอกว่าฝึกหัดนิสัย

ฉะนั้น ฝึกหัดนิสัย เวลาเราไปใส่บาตร เราเจอพระอย่างนี้ นี่รู้ทั้งรู้แล้วเราคิดว่าเป็นการส่งเสริม มันจะส่งเสริมเราคัดเลือกเอาไง คนที่เขาทำใจได้ เขาไม่ทำใจได้ เราจะบอกว่าเราจะไม่พูดว่าเราเข้าข้างคนผิดนะ ในเมื่อพระดื่มเหล้ามันเป็นอาบัติอยู่แล้ว มันผิดเด็ดขาด นี้ความผิดเด็ดขาดแล้วทำไมไม่จัดการหรือทำให้มันสงบเรียบร้อยไปเสียที ปัญหาสังคมมันไม่จบหรอก มันไม่จบ ถ้ามันไม่จบ พระที่ทำดี พระที่ปรารถนาดี พระที่เขาหวังดี เขาก็ทำดีของเขาเพื่อตัวเขา ตัวพระเองมันก็อยู่ที่ตัวพระด้วย ถ้าตัวพระที่หวังดีเขาจะทำอย่างนี้ไหมล่ะ?

เวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วย เราไปโรงพยาบาล เราอยากหาหมอที่ไม่เป็นรักษาเราไหมล่ะ? เราก็อยากหาหมอดีๆ รักษาเราทั้งนั้นแหละ นี่เราเป็นไข้ใจ เราป่วยขึ้นมาเราอยากได้ธรรมโอสถ เราก็อยากได้ธรรมโอสถ ธรรมะที่ดีๆ ทั้งนั้นแหละ ใครก็อยากได้ยาดีรักษาตัวทั้งนั้นแหละ ถ้าพระบวชมา พระอยากปฏิบัติพระก็อยากได้มรรคญาณ พระก็อยากได้สมุจเฉทปหาน พระก็อยากฆ่ากิเลสเหมือนกันนั่นแหละ แล้วพระมาดื่มเหล้าเป็นเพราะอะไรล่ะ? มันก็เป็นเรื่องที่เขาไม่เอื้อเฟื้อในวินัย เขาไม่ได้คิดอย่างนั้น ฉะนั้น ไม่คิดอย่างนั้นแล้ว

นี่ถ้าพูดไปก็เหมือน ถ้าพูดถึงเรื่องทางศาสนาก็ว่าเข้าข้างพระ ถ้าพูดเรื่องทางโลก ทางโลกก็ เออ ไม่เห็นแก่หน้าพระ เพราะเราไม่มีตำแหน่งในการปกครองนะ แต่เราพูดถึงปัญหาสังคม มันเป็นปัญหาสังคมนะ ถ้าปัญหาสังคมมันตัดสินขึ้นไปมันเป็นปัญหาสังคม อย่างเช่นถ้าพระทำแบบนี้แล้ว เราจะไม่ให้มีพระอย่างนี้ ไม่มีพระอย่างนี้เลยเราจะตัดสินได้อย่างไร ในเมื่อโทษมันไม่ถึงกับจะต้องให้สึกไป

นี่เวลามีปัญหา เวลาไปถามพระ แล้วพระบอกว่าโทษเล็กน้อย พวกประชาชนจะบอกเลยว่าพระเข้าข้างกัน พระเข้าข้างกัน นี่พระเข้าข้างกันอีกแล้ว ทำไมไม่จัดการให้เรียบร้อย ก็โทษมันเป็นเท่านั้นจริงๆ พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้อย่างนั้น ทีนี้มันเป็นโลกวัชชะ ถ้าโลกเขาติเตียนนะ อันนี้พระพุทธเจ้าปรับหนักมาก เพราะเขาเรียกว่าทำศรัทธาไทยให้ตกล่วง ถ้าทำศรัทธาไทยให้ตกล่วง เขาปรารถนาดี เขาหวังดีกับพระกับวัด แล้วพระไปทำอย่างนี้ อย่างนี้ทำลายศรัทธาเขา คือทำลายน้ำใจเขาว่าอย่างนั้นเถอะ

ถ้าพระไปทำลายน้ำใจญาติโยม โทษอันนี้จะมี แต่โทษอันนี้มีแล้วบัญญัติไว้อย่างไรล่ะ? เขาเรียก “โลกวัชชะ” โลกติเตียนไง ถ้าโลกติเตียนพระพุทธเจ้าจะบอกว่า “โมฆะบุรุษ” ทำไมทำอย่างนั้น ทำให้โลกเขาสะเทือน ทำให้โลกเขามีความรู้สึก ทำไมโมฆะบุรุษไปทำลายความรู้สึกของเขา แต่ถ้าพูดถึงกฎหมาย นี่มันก็เท่านั้นนะ

ฉะนั้น ถ้าเราเห็นว่าส่งเสริมคนผิดเราก็ไม่ส่งเสริมสิ ถ้าเรารู้ว่าอะไรถูก อะไรผิดก็ของอยู่ในมือเราไง เราจะใส่บาตรของอยู่ในมือเรา เราก็เลือกใส่เอา ถ้าอันไหนเราคิดว่าเป็นประโยชน์กับเรา เราก็ใส่บาตรไป ถ้าอันไหนไม่เป็นประโยชน์กับเรา เราก็หาใส่ที่อื่น แต่ถ้าเป็นที่เพื่อนเขาบอกว่า “ถ้ายังหวังประโยชน์อยู่เราจะละกิเลสได้อย่างไร?”

ลึกๆ มันก็หวังทุกคน แต่ในเมื่อมีความจำเป็น กรณีอย่างนี้มันกรณีความจำเป็น ความจำเป็นหมายความว่าอย่างเช่นเรานี่วันนี้เราจะต้องมีงานขึ้นบ้านใหม่ หรือเราต้องมีงานอะไรสักอย่างหนึ่งก็แล้วแต่ ต้องมีพระ ๗ องค์มาสวดในงานบ้านเรา แล้วไม่มีพระสักองค์ทำอย่างไร? อ้าว เราก็ต้องหาของเรา แล้วพระ ๗ องค์นี้มาดื่มเหล้าหมดเลย เราจะเอามาสวดงานบ้านใหม่เราไหม? เออ (หัวเราะ) อย่างนั้นงานขึ้นบ้านใหม่ก็ไม่ต้องจัด

เวลาเกิดถึงเวลาที่มันมีความจำเป็น พอมีความจำเป็นนะเราก็คิดว่าเราทำเพื่อรัตนตรัย เราทำเพื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระสงฆ์ที่ว่าสังฆทานๆ คือสังฆะ ถ้ารวมกันเป็นสงฆ์ เราถือว่าสงฆ์นั้น แต่ถ้าเวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกนะ ถ้าเป็นโสดาบันนั่นแหละสงฆ์จริง ฉะนั้น เป็นสงฆ์จริง เห็นไหม ถ้าเราหวังประโยชน์อยู่ เพื่อนเขาคิดอย่างนั้นไง ถ้าเวลาจำเป็น จำเป็นหมายความว่าในปกติเราต้องหายใจตลอดเวลา ถ้าเราขาดอากาศหายใจ ขาดออกซิเจน ๕ นาทีสมองตายแล้ว

ฉะนั้น ถ้าเราจะทำบุญกุศลของเรา เราอยากทำบุญกุศลของเรา แต่ไม่มีพระให้ทำเลย ไม่มีพระให้ทำเลยเราจะทำอย่างใด? ถ้าไม่มีพระให้ทำเลยเราก็เอาของๆ เราอธิษฐานถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราอยากทำของเรา คือเราอยากมีออกซิเจนเลี้ยงสมองเรา เราอยากจะไม่ให้ชีวิตนี้ขาดด้วนไป คือไม่อยากเสียชีวิต เราอยากรักษาศรัทธาของเรา เราก็รักษาของเรา แล้วเราอธิษฐานของเราว่าเราถวายพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่พระดื่มเหล้าข้างหน้าเรานี่เราไม่อยากให้เลย แต่เราอาศัยอย่างนี้ทำไปได้ไหม?

นี่พูดถึงเวลาคนที่หัวใจเขาพัฒนาแล้วนะ คือว่าเวลามันจำเป็น เหตุจำเป็นเท่านั้นแหละ แต่ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์นะ ก็หนูรู้อยู่ว่าเขาดื่มเหล้า หนูจะใส่บาตรเขาไม่ลง อันนี้เป็นทางโลก เป็นความคิดทางโลก ถ้าความคิดทางโลกมันเถรตรง ถ้าเถรตรงอย่างไร ถ้าใจเรา กาลเวลามันจะพัฒนาใจเรานะ

ฉะนั้น มันเป็นปัญหาสังคม พระที่เป็นผู้ปกครองเขาก็อยากปกครองสงฆ์ที่สะอาดบริสุทธิ์ พระที่ปกครองเขาก็อยากปกครองพระที่ดีๆ แล้วพระที่ดีๆ มันก็ไม่มาปกครองด้วย มันก็มีแต่พระดื่มเหล้ามาให้ปกครอง ไอ้คนปกครองมันก็เลยปวดหัว แล้วจะจัดการอย่างไรไปมันก็จัดการไม่ได้ เพราะสิ่งที่มีชีวิต สัตว์มีชีวิตเรายังไม่ฆ่า ไม่ทำลายมัน นี่สิ่งมีชีวิตนะ แต่เราก็ตัดสินไปตามธรรมวินัยนั่นแหละ นี่พูดถึงว่าหนูรู้ไง นี้จะให้เห็นปัญหาโลก ปัญหาธรรม

ถาม : ๒. มีการทอดผ้าป่าในหน่วยงานซึ่งจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ แต่เรารู้ข้อมูลว่าเงินที่ผู้บริหารเอาไปใช้เขาใช้ผิดประเภท (ว่าอย่างนั้นเลยนะ)

ตอบ : ถ้าใช้ผิดประเภท ถ้าเราจะคิดมันก็เหมือนกรณีข้อแรกเหมือนกัน ทีนี้อันนี้มันเป็นโยมนะ มันเป็นผู้ที่เราคิดกันเอง เราทำกันเอง ฉะนั้น เราเลือกที่จะบริจาคสิ่งที่แก้ปัญหาได้จริง อันนี้เราก็คิดไว้ถูกต้องดีงามนั่นแหละ เราก็เห็นนะ เวลาเราทำบุญกับพระ เราทำบุญกับหลวงตา หลวงตาท่านก็สร้างโรงพยาบาลเหมือนกัน ท่านก็สร้างเครื่องมือแพทย์เหมือนกัน แต่ท่านได้ผ่านสงฆ์นะ แต่ในปัจจุบันนี้ ในคณะกรรมการต่างๆ ที่เวลาสร้างโรงพยาบาลเขาก็อยาก เพราะการทำโรงพยาบาลมันเป็นสาธารณะประโยชน์แน่นอน เป็นสาธารณะประโยชน์ แต่ผ่านโดยคณะกรรมการ ผ่านโดยฆราวาส คำว่าฆราวาส เราจะบอกว่าจิตใจของฆราวาสกับจิตใจของพระ จิตใจของใครสูงกว่า?

จิตใจของสังฆะ สงฆ์ กับจิตใจของฆราวาส นี่เราคิดของเราอย่างนั้น ถ้าอย่างนั้นอะไรมันน่าปลอดภัยกว่า นี้เราจะพูดถึงปัญหาสังคมเลยล่ะ ฉะนั้น ถ้าเราคิดว่าเราทำของเราได้เพราะอะไร? เพราะเราเป็นคนๆ เดียวไง คนๆ เดียวมันเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เป็นหน่วยหนึ่งของสังคม แต่สังคมมันกว้างขวางไง ดูสิเวลาผู้ที่เขาเป็นหัวหน้า เขาต้องปกครองหน่วยงาน เขามีคนให้บริหารจัดการเยอะแยะเลย ไอ้เรานี่เราคนเดียว เราบริหารจัดการใจของเราคนเดียว มันทำสิ่งใดมันตัดสินใจได้เลย แต่ถ้าเวลาเป็นคณะบุคคลขึ้นมาแล้ว เราจะทำสิ่งใดต้องประชุมกัน ต้องโอ๋ย มีปัญหาไปหมดเลย

นี่มันก็เหมือนกับปัญหาข้อแรก ปัญหาข้อแรกคือว่าสิ่งนั้น ปัญหาอย่างนั้นมันจะตัดสินโดยเด็ดขาด โทษในทางวินัยสงฆ์มันก็ไม่รุนแรงถึงกับต้องให้สึกไป แต่ถ้าเป็นโลกวัชชะมันก็มีโทษ มันผิดแน่นอน แต่ความผิดของเขามันมากน้อยแค่ไหน มันมากน้อยในวินัยสงฆ์นะ แต่ปัญหาในที่ทำงาน ในหมู่คณะ ถ้าเวลาตัดสินขึ้นมาก็ต้องประชุมกัน ต้องเห็นในทางเดียวกัน หรือว่าเขาต้องประชุมกัน เขาก็ประชุมกันคนเดียว

ในการทำงาน เราอยู่ในหน่วยงานนั้นเราจะรู้ว่าเขาทำกันอย่างไร ถ้าเราคิดอย่างนี้ เราทำอย่างนี้ เราเห็นด้วยนะ เราเห็นด้วยกับความคิด ปัจเจกบุคคลที่คิดว่าเราอยากทำความดีจริงๆ เราอยากทำประโยชน์จริงๆ แต่เวลาเราทำไปแล้วสิ่งนั้นมันไม่เป็นประโยชน์จริงตามที่เรารู้ เราเห็น เราก็หลีกเลี่ยงของเรา โดยส่วนบุคคลของเรา แต่นี้บุคคล ปัจเจกบุคคล ในเมื่อมันอยู่ด้วยกันมันต้องเป็นสังคมขึ้นมา นี้สังคมขึ้นมา สังคมมีความกระเทือนกันมากน้อยแค่ไหน มันก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง เรายังไม่เป็นผู้นำนะ ถ้าวันไหนเราเป็นผู้นำขึ้นมา เราจะพาองค์กรนี้ไปอย่างใด?

เราจะพาองค์กรของเราให้มันประสบความสำเร็จ ทำงานแล้วได้ผลงานขึ้นมา เราจะพาองค์กรของเราไปอย่างไร? นี้เวลาความคิดนะ ถ้าพูดอย่างนี้ หลวงพ่อ เวลาอย่างนี้หลวงพ่อไม่ฟันธง เวลาเราฟันธงนะเราจะฟันธงเรื่องปฏิบัติ เพราะเรื่องปฏิบัติมันเป็นเรื่องความรู้สึกของเรา ในหัวใจของเรา มันเป็นเรื่องกิเลสนะกับธรรมะต่อสู้กัน

ถ้าเป็นเรื่องกิเลสกับธรรมะต่อสู้กันในใจของเรา มันเป็นเรื่องของเรานะ ถ้าเรื่องของเรานี่เราทำได้เลย เราทำได้ แต่พอเป็นเรื่องของสังคม เรื่องของสังคม เราจะเอาความรู้ ความเห็นของเราเป็นบรรทัดฐานสังคมเลยหรือ? สังคมก็เรื่องของสังคมเขา แต่ถ้าเป็นความเห็นของเรา ความเห็นของเราคือการปฏิบัติโดยตัวของเรา เพื่อชำระกิเลสของเรา อันนี้ต้องเข้มแข็งแล้วทำจริงของเราขึ้นมา

อันนี้มันเป็นปัญหา ปัญหาอันนี้เราตอบแค่นี้ เราตอบแค่นี้ เพราะถ้าพูดถึงนะ พูดถึงมันเป็นปัญหานี่มันเป็นปัญหาโลก มันไม่เป็นปัญหาปฏิบัติเลย แต่นี้มันเกี่ยวกับเรื่องตักบาตร เรื่องของพระก็เลยมาถึงเราจนได้

ข้อ ๑๒๑๖. เนาะ

ถาม : ๑๒๑๖. เรื่อง “ครูบาอาจารย์”

ตอบ : เขาพูดถึงว่าเขามาปฏิบัติแล้วเขาเคารพครูบาอาจารย์มาก เราจะบอกว่าอย่างนี้ การว่าปฏิบัตินะ เรื่องของครูบาอาจารย์ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการกับภิกษุไง ภิกษุใดอยู่ถึงตะวันตก อยู่ชายขอบของประเทศ ในชมพูทวีป ถ้าประพฤติปฏิบัติตามเรา เหมือนจับชายจีวรเราไว้ แต่ภิกษุอยู่ใกล้เคียงกับเรา แต่ไม่ปฏิบัติตามเรา เหมือนอยู่ห่างไกล อันนี้มันเข้ากันได้ เข้ากันได้ว่าถ้าเขาเห็นถึงว่ามาปฏิบัติที่นี่แล้ว ปฏิบัติอย่างไรแล้ว มีครูบาอาจารย์แล้วเป็นที่พึ่งได้ นี่ปฏิบัติตามนั้น ปฏิบัติตามนั้นจะได้ประโยชน์อย่างนั้น ถ้าได้ประโยชน์อย่างนั้นแล้วมันเป็นน้ำใจ น้ำใจจะอยู่ใกล้ อยู่ไกลขนาดไหน นี่มันไม่สามารถปิดกั้นได้ มันไม่สามารถปิดกั้นได้

เวลาหลวงปู่มั่นนะ หลวงปู่มั่นท่านเทศนาว่าการอยู่ที่เชียงใหม่ อยู่ที่อีสาน แล้วท่านบอกว่ามีเทวดามาจากทางยุโรปมาฟังเทศน์ แล้วคนก็งงนะ ฉะนั้น เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาจะแก้พระโมคคัลลานะ เห็นไหม นั่งหลับอยู่นี่ไปด้วยฤทธิ์ ไปด้วยฤทธิ์ท่านบอกเหมือนเหยียดมือออกไป คู้มือเข้ามา ไปถึงได้เลย มันไม่มีระยะทาง นี่น้ำใจ ความรู้สึกมันไปได้ตลอดถ้ามันเป็นจริงนะ ถ้ามันเป็นจริง ฉะนั้น ความรู้สึกนึกคิดที่มันถึงกัน อันนี้มันเป็นประโยชน์กับเรา นี่เราปฏิบัติแล้วเหมือนใกล้กัน ถ้าใกล้กันมันก็จบ

ถาม : ข้อ ๑๒๑๗. เรื่อง “อยากบวชเพื่อความเจริญในธรรม”

กราบเรียนพระอาจารย์ด้วยเศียรเกล้า ตอนนี้เกล้าทำงานบริษัท โดยปฏิบัติธรรมไปด้วย เกล้ารักษาศีล ๕ เป็นนิจ เกล้าอายุ ๓๑ (โสด) เริ่มปฏิบัติจริงจังมาประมาณหนึ่งปี โดยใช้อานาปานสติและอาศัยเสียงธรรมของครูบาอาจารย์เป็นเข็มทิศทางเดิน ส่วนใหญ่จะฟังเทศน์หลวงปู่หล้า โดยก่อนปฏิบัติทุกครั้งจะตั้งจิตอธิษฐานเพื่อความพ้นทุกข์ในปัจจุบันจิต ปัจจุบันชาติ ทั้งที่นึกได้และนึกไม่ได้ก็ดี

จนมาถึงวันหนึ่งเกิดคำถามกับตัวเองว่า “เกล้าเกิดมาทำไม?”

ในใจก็ตอบตัวเองว่า “เกิดมาเพื่อแสวงหาทางพ้นทุกข์”

แล้วก็มีคำถามขึ้นมาอีกว่า เมื่อเกิดมาเพื่อแสวงหาทางพ้นทุกข์ แล้วตอนนี้เกล้าทำอะไรอยู่ ที่ทำอยู่ใช่ทางหลุดพ้นหรือไม่? ในเมื่อหน้าที่การงานของเราต้องมีสิ่งกระทบใจให้กระเพื่อมตลอด หาทางสงบได้ยาก จึงอยากจะหาเวลาทำความสงบใจก่อนนอนทุกวัน แต่ด้วยภาระหน้าที่ทางโลกเป็นเรื่องปลงวางได้ยาก ทำให้ผลที่เกิดความสงบในใจไม่เกิดผลของการปฏิบัติจึงไม่ก้าวหน้า เพื่อความเจริญก้าวหน้าในธรรมมากขึ้น เกล้าจึงอยากเรียนถามพระอาจารย์ว่า การที่เกล้าคิดอยากลาออกจากงาน แล้วไปอยู่ปฏิบัติในสถานที่สัปปายะแห่งหนึ่งก่อน ถ้าได้ผลเป็นที่พอใจก็อาจจะบวชตลอดชีวิต

การเกิดความคิดเช่นนี้ นี่คือธรรมเกิดใช่หรือไม่? แล้วเมื่อธรรมเกิดแล้วเกล้าควรจะออกบวชเพื่อความพ้นทุกข์เลยหรือไม่? กลัวกิเลสตั้งตัวได้จะไม่ได้ออกบวช จึงกราบเรียนถามมาเพื่อขอความเมตตาแนะนำ ด้วยความเคารพในรัตนตรัยอย่างหาประมาณมิได้

ตอบ : นี่พูดถึงอยากบวชนะ เวลาครูบาอาจารย์บางองค์ท่านบอกว่าใครอยากบวชไปหาท่าน ท่านจะไม่ให้บวช ไม่ให้บวช ถ้าเมื่อไหร่ไม่อยากบวชแล้วท่านถึงให้บวช (หัวเราะ) เวลาอยากบวชมาท่านไม่ให้บวชเลย ถ้าอยากบวชไม่ให้บวช ไม่ให้บวช ไม่ให้บวชจนอยากมันหายหมดแล้วนะ เออ ตอนนี้ให้บวชๆ ให้บวชแล้ว ให้บวชมันก็ไม่บวชเพราะมันไม่อยากบวชแล้ว เวลาอยากบวช ไปหาอาจารย์ อาจารย์บอก เออ ไม่ให้บวชๆ ถ้าอยากบวชไม่ให้บวช พอหายอยาก อ้าว ให้บวชแล้ว ไม่บวชแล้ว ไม่บวช

อารมณ์คนมันเคลื่อนไหวได้เร็วมาก มันเปลี่ยนแปลงได้ไวมาก ถ้าเปลี่ยนแปลงได้ไวมากนะ เพราะทุกคนถ้ามีจิตใจที่ดีก็อยากพ้นทุกข์ทั้งนั้นแหละ ทุกคนอยากจะสิ้นกิเลส ทุกคนอยากจะพ้นจากทุกข์ แต่การพ้นจากทุกข์ ในการประพฤติปฏิบัติมันต้องลงทุนลงแรง เว้นไว้แต่ขิปปาภิญญา ผู้ที่สร้างบุญญาธิการมา เวลาปฏิบัติไปนะ กรณีนี้เป็นกรณีแบบอาจารย์สิงห์ทอง อาจารย์สิงห์ทอง ญาติโยม ญาติของท่านเองสบประมาทน่าดูว่าอย่างไรๆ ก็บวชไม่ได้หรอก จนท้าทายกันนะ ถ้าบวชได้ครบ ๓ พรรษาให้มาขี้ใส่ที่นอนเลย แล้วท่านก็บวชไปโดยที่คนสบประมาทกันหมดเลยว่าเป็นไปไม่ได้ แต่เวลาท่านบวชไปแล้วนะ

นี่ประวัติท่านเล่าให้ฟังเอง ท่านบอกว่าบวชไปใหม่ๆ นะ นั่งสมาธิทีไรลงทุกที จะทำอะไรจิตมันดีไปหมดเลย พอจิตมันดีไปหมดแล้ว โอ้โฮ มันสุขขนาดนี้ ถ้าอย่างนี้ก็อธิษฐานว่าตั้งแต่วันนี้ไปจะบวชตลอดชีวิตไม่สึกแล้ว เท่านั้นแหละสมาธิไม่ลงเลย ทำอย่างไรก็ไม่ได้ ไปอ่านประวัติอาจารย์สิงห์ทองสิ ทำอย่างไรก็ไม่ได้ เพราะอะไร? เพราะก่อนหน้านั้นกิเลสบอกว่าดีไปหมดเลยใช่ไหม?

ตัวเองเป็นคนขนาดว่าญาติตัวเองก็ยังบอกว่าตัวเองบวชไม่ได้ แต่บวชไปแล้วด้วยบุญไง เพราะท่านสร้างมา ท่านเป็นพระอรหันต์ไปแล้ว ท่านเป็นพระอรหันต์ไปแล้วนะ แต่ด้วยบุญกุศล เพราะท่านเป็นพระอรหันต์ แต่ว่านิสัยใจคอของท่าน นี่คนอื่นว่าเป็นไปไม่ได้เลยแหละ แต่พอบวชไปแล้ว เพราะบุญกุศลของท่านมันดีไปหมดเลย แต่พอถ้าดีอย่างนี้ มันสุขอย่างนี้เราจะออกไปโลกทำไม เราก็บวชเลยสิ เราก็เป็นพระอรหันต์เลยสิ พอตัดสินใจว่าไม่สึกเท่านั้นแหละเสื่อมหมดเลย แล้วธรรมก็เข้าไม่ได้ด้วย

อู้ฮู นี่ท่านเล่าเองนะ เวลาบวชโดยที่ไม่มีกรอบ ไม่มีข้อบังคับ บวชโดยปกติไม่มีอะไรเป็นข้อต่อรองมันสบายนะ บอกไม่สึกเท่านั้นแหละ มีข้อต่อรองเท่านั้นแหละ มีกรอบเท่านั้นแหละกิเลสมันดิ้น กิเลสมันดิ้นแล้ว ทำอย่างไรก็ไม่ลง ทำอย่างไรก็ไม่ลง ตั้งแต่นั้นมาท่านเต็มที่ของท่าน

เพราะเราอยู่กับหลวงตามา อยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะมา อยู่กับครูบาอาจารย์มาหลายองค์ ท่านพูดเหมือนกันคำหนึ่ง อาจารย์สิงห์ทองเดินจงกรมทางเป็นเหวไปเลย ทุกคนชมอาจารย์สิงห์ทองเรื่องเดินจงกรมจนทางเป็นร่องเลย ท่านซัดของท่านเต็มที่ เห็นไหม ท่านทำของท่านจริงจัง มันเสื่อมแล้วท่านก็จริงจังของท่าน ท่านมีความมุมานะของท่าน ท่านมีสัจจะของท่าน ท่านทำของท่านจนประสบความสำเร็จ นี่ผู้ที่บวชใช่ไหม?

ฉะนั้น ของเราว่าเราจะบวช นี่เราเอาตัวย่างนี้มายกให้ฟัง (หัวเราะ) ไปหาอาจารย์อาจารย์บอกไม่ให้บวช ถ้าวันไหนบอกว่าอาจารย์ผมไม่บวชแล้ว เออ อย่างนั้นให้บวช ถ้ายังอยากบวชท่านไม่ให้บวชหรอก นี่เราคิดของเราใช่ไหม? เรายังไม่เจออุปสรรค อุปสรรคทางโลกนะ อย่างเช่นเราเจ็บไข้ได้ป่วยเราก็ยังไปหาหมอรักษาเราได้เลย อุปสรรคทางโลก ทำอาชีพ เจ็บไข้ได้ป่วย เจออุบัติเหตุ นี่มันมีคนมาช่วยเหลือเจือจาน ไม่มีก็บรรเทาสาธารณะภัยมันก็มารับไป แต่เวลาปฏิบัติ พอใจมันเป็นขึ้นมาใครจะช่วย?

เวลาจิตมันเสื่อมก็เสื่อมด้วยตัวเอง เวลาขาดสติ จิตมันก็ขาดด้วยตัวมันเอง เวลามันภาวนาไปล้มลุกคลุกคลาน จิตใจมันก็ทุกข์ยากในใจของมันเอง อาจารย์ก็บอกว่าสู้นะๆ ทางนี้ดีนะ ทางนี้ดีนะ อาจารย์ก็เอาน้ำเย็นลูบแล้วลูบอีก ไอ้เราก็ทุกข์เกือบตาย แต่ถ้าเป็นทางโลก ทางโลกมันช่วยเหลือเจือจานกันได้ มันยังช่วยเหลือเจือจานกันได้ เวลามาบวชจริงๆ บอกว่าบวชแล้วจะพ้นจากทุกข์ บวชแล้วดี อ้าว บวชแล้วดีแล้วอย่าร้องไห้นะ บวชแล้วดี เวลาทุกข์อย่ากัดหนองนะ

เราจะบอกว่ามันกัดหนอง หลวงปู่มั่นท่านทุกข์ขนาดไหน เวลาท่านพูดถึงความทุกข์ของท่าน แต่เพราะท่านมีหลักมีเกณฑ์ของท่าน ท่านมีหลักมีเกณฑ์จริงๆ นะ เวลาหลวงปู่มั่นท่านเล่าให้ฟัง หลวงตาท่านอุปัฏฐาก หลวงตาบอกเวลาท่านพูดถึงอุปสรรคของท่าน หลวงตาจะหันหน้าเข้าข้างฝาแล้วร้องไห้ หลวงปู่มั่นท่านเล่าถึงประสบการณ์ของท่าน หลวงปู่มั่นท่านเล่าเพราะอะไรไปสัมผัสแล้วท่านจะเล่าประสบการณ์ของท่าน หลวงตาเป็นคนฟังนะ ฟังเสร็จแล้วหันหน้าเข้าข้างฝาแอบร้องไห้ ทุกข์ไหม? ทุกข์ไหม?

นี่ของจริงเป็นแบบนี้ แล้วหลวงปู่มั่นท่านไม่เอามาประกาศโฆษณาว่าท่านทุกข์หรอก แต่เวลาลูกศิษย์ของท่าน หลวงตาอยู่กับท่าน ท่านพูดความจริงให้ลูกศิษย์ของท่านฟัง แต่ท่านไม่เคยออกมาโพทะนาเลยว่าฉันหลวงปู่มั่นลำบากมาก่อน หลวงปู่มั่นไม่เคยพูด หลวงปู่มั่นไม่เคยพูดเลย หลวงปู่มั่นไม่เคยออกมาพูดว่าฉันทุกข์ยากมา หลวงปู่มั่นไม่เคยพูด แต่หลวงปู่มั่นท่านจะเล่าให้ลูกศิษย์ลูกหาของท่านที่เป็นหัวแก้วหัวแหวนของท่านฟัง ว่าท่านจะได้อย่างนี้มา ท่านประสบวิกฤติชีวิตในการปฏิบัติมามากน้อยแค่ไหน แล้วเวลาท่านผ่านมา หลวงตาท่านฟัง

คิดคำว่าหลวงตา หลวงตาใจท่านเด็ดเดี่ยวไหม? หลวงตาใจท่านสูงส่งไหม? ท่านฟังหลวงปู่มั่นเล่าให้ฟังท่านบอกว่าหันหน้าเข้าข้างฝา แล้วแอบร้องไห้ นี่ชีวิตในการปฏิบัติ ชีวิตที่มันจะสู้มา ฉะนั้น เวลาเราคิดนี่เราคิดได้ นี่ก็เหมือนกัน ในความเห็นของเรา เราก็เห็นด้วยนะ บวชเป็นสิ่งที่ดีทั้งนั้นแหละ ในโลกนี้ไม่มีอะไรดีไปกว่าการบวช เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะบวชคือการศึกษา บวชมาเพื่อศึกษาค้นคว้า เพื่อให้จิตใจมีหลักมีเกณฑ์

การบวชมาคือการศึกษา โลกนี้เขาศึกษากัน นี่เขามีปัญญากันเพื่อความเจริญงอกงามของโลก ปัญญานี้จะทำให้เจริญรุ่งเรือง เราบวชมาเราก็บวชมาเพื่อศึกษา ศึกษาเรื่องใจของเรา ศึกษาเรื่องกิเลสตัณหาความทะยานอยากในใจของเรา มันขี้เหร่ไปที่ไหน? มันไม่ดีไปตรงไหน? มันดีทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าบวชมาแล้ว ปฏิบัติไปแล้ว ดูสิปฏิบัติแล้วมันก็ต้องมีอุปสรรคทั้งนั้นแหละ เวลาอุปสรรคขึ้นมา อ้าว ก็ไหนหลวงพ่อบอกว่าดีไง

เวลาเจ็บช้ำน้ำใจขึ้นมา เวลาเขาพูดชมเรา เราเข้าใจผิดก็หาว่าเขาว่าเรา แล้วก็เจ็บช้ำ แล้วก็จะบอกว่าแก้ให้ทีๆ ก็แก้อย่างไรก็เอ็งเข้าใจผิด เอ็งเข้าใจคำพูดของคนผิด เอ็งก็ไปเจ็บช้ำน้ำใจอยู่ แล้วเขาไม่มีใครเขาว่าเอ็งเลย เอ็งไปเอาเรื่องต่างๆ มาเจ็บช้ำน้ำใจ แล้วกูจะไปแก้มึงอย่างไรล่ะ? กูจะไปแก้มึงอย่างไร? ก็กิเลสมึงไปกว้านมาเอง แล้วกูจะไปแก้ใจมึงอย่างไรล่ะ? แล้วเวลาคนที่เจ็บช้ำน้ำใจ ก็อาจารย์บอกว่าบวชดีไง บวชดีไง เห็นไหม นี่มันไพล่ไปแล้ว

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเรื่องบวชดีไหม? ดี เพราะเราบวชมาศึกษา บวชมาศึกษา บวชมาค้นคว้า บวชมาวิจัยหัวใจของเรา แต่อุปสรรคมันเยอะ ถ้าอุปสรรคมันเยอะเราจะคิดอย่างไร? เราจะปฏิบัติที่อื่นก่อนได้ไหม? ถ้ามีหลักมีเกณฑ์แล้วเราค่อยคิดจะบวชตลอดชีวิต นี่เป้าหมายคนคิดดีทั้งนั้นแหละ ลูกศิษย์เราเยอะมากเลย เวลาบวชนี่บอกว่าหลวงพ่อ ตลอดชีวิต ตลอดชีวิต สึกไปหมดแล้ว ไอ้บวชตลอดชีวิตๆ สึกไปหมดแล้ว ไม่เห็นเหลือเลย ไอ้ที่เหลือๆ นี่บวช ๗ วัน บวช ๗ วัน บวชเดือนหนึ่ง เหลือมาอยู่ในวัดนี่ บวช ๗ วัน ๘ วันอยู่จนป่านนี้ ไอ้ตลอดชีวิตไปเกลี้ยงเลย ไม่เหลือสักองค์

นี่พูดถึงคนอื่นนะ แต่เวลาเราก็คิดอย่างนี้เหมือนกัน เวลาบวชเราตั้งเป้าเลย ไอ้ตั้งเป้ามันก็อยู่ที่ว่าเข้มแข็งมากน้อยแค่ไหน กรณีอย่างนี้มันกรณีอยู่ที่อำนาจวาสนาบารมีสร้างมา ถ้าคนมีอำนาจวาสนามานะ ดูสิหลวงปู่มั่น เวลาท่านบวชแล้วท่านก็สึกไป บวชเป็นเณรก่อนแล้วสึกไป หลวงปู่เสาร์ท่านบวชมาแล้ว ท่านสึกไปท่านไปรอเลยนะ แล้วท่านก็เอามาบวชใหม่ แล้วหลวงปู่เสาร์ท่านก็พาออกปฏิบัติไปทั่วด้วยกันนะ

เวลาหลวงปู่มั่นใจท่านตกใหม่ๆ ใจท่านตกเหมือนกัน พอใจท่านตก หลวงปู่เสาร์ท่านก็หาอุบายพาออกวิเวก พาออกเที่ยวในป่า ในเขาไป หลวงปู่เสาร์ท่านก็ดูแลของท่าน เวลาหลวงปู่เสาร์ท่านนิพพาน เจ็บไข้ได้ป่วย ข่าวนี้มาถึงท่าน ท่านส่งหลวงปู่เจี๊ยะไปรับที่พระตะบอง แล้วพอหลวงปู่เสาร์ท่านบอกท่านจะละขันธ์ หลวงปู่เจี๊ยะท่านเล่าให้ฟังท่านบอกไม่ได้ ที่นี่พระตะบองนี้ไม่ใช่ดินแดนสยาม ครูบาอาจารย์ควรกลับไปสิ้นที่ดินแดนสยาม หลวงปู่เจี๊ยะท่านเป็นคนตะลอนเอามากันเอง ข้ามขึ้นมาที่อุบลฯ เอามาเสียที่อุบลฯ

นี่หลวงปู่มั่นท่านส่งหลวงปู่เจี๊ยะไปรับหลวงปู่เสาร์กลับมาเมืองไทย แล้วพอหลวงปู่เสาร์ท่านเสียแล้ว หลวงปู่มั่น งานศพของแม่ท่าน งานศพแม่ของหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นไม่ได้ไป หลวงปู่มั่นบอกว่าในเมื่อผู้ที่เสียชีวิตแล้ว จิตมันก็พ้นไปแล้ว แต่เวลาศพของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นไปเผาศพหลวงปู่เสาร์

นี่ครูบาอาจารย์ท่านสร้างบุญกุศลมาร่วมกัน เริ่มต้นตั้งแต่หลวงปู่เสาร์ไปเอาหลวงปู่มั่นออกบวช แล้วพาออกวิเวก พาออก เวลามีทุกข์ มียากพาออกไป พยายามค้นคว้ากัน พอหลวงปู่มั่นท่านมีหลักมีเกณฑ์แล้ว ท่านกลับมาแก้ไขการภาวนาของหลวงปู่เสาร์จนสิ้นสุดไปด้วยกัน เพราะเป็นพยานต่อกัน เวลาหลวงปู่เสาร์ท่านเสีย หลวงปู่มั่นท่านให้หลวงปู่เจี๊ยะไปรับตั้งแต่ที่พระตะบองกลับมา พอเวลาทำศพ หลวงปู่มั่นท่านบอกให้หลวงตา บอกมหา มหารอที่นี่ก่อนนะ จะไปเผาศพท่านอาจารย์ ไปเผาศพหลวงปู่เสาร์ หลวงตาท่านเดินไปรับตั้งแต่นครพนมกลับมาด้วยกัน

นี่ความสัมพันธ์ การเคารพบูชากันในวงกรรมฐาน เขาเคารพบูชากันด้วยหัวใจ เขาเคารพบูชากันด้วยความเป็นจริงในใจ ถ้าเป็นความจริงในใจอย่างนี้ เห็นไหม นี่มันทำได้มันก็เป็นประโยชน์ ที่เราศึกษา เราบวชกันมาก็เพราะเหตุนี้ ถ้าจิตใจเราจะทำเราต้องพิจารณาให้มีความมั่นคงพอ ถ้าเราคิดว่าเราทำได้ แต่ในเมื่อยังไม่ทำได้ เราอยู่ทางโลกเราก็มีอาชีพของเรา แล้วเราก็ฝึกหัดภาวนาของเรา ถ้าเราจะบวชเราก็ไปให้ได้ ถ้าไปไม่ได้ ถึงที่สุดแล้วเราสึกออกไป

คนเรามีสองมือ สองเท้าเหมือนกัน เราก็หาอยู่ หากินของเราไป นี่มันจะบอกว่าสำเร็จหรือไม่สำเร็จมันอยู่ที่ความเข้มแข็ง อยู่ที่อำนาจวาสนาบารมี อยู่ที่เราสร้างมา เช่นอาจารย์สิงห์ทอง นี่ท่านสร้างวาสนาบารมีของท่านมา ท่านถึงเข้มแข็งของท่าน ทำถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ ฉะนั้น ถ้าบวชเพื่อถึงที่สุดแห่งทุกข์ อันนี้ประเสริฐมาก แต่ แต่ว่าเราปฏิบัติไปมันจะมีอุปสรรค มันจะมีต่างๆ เราจะรับกระบวนการอย่างนี้ได้ไหม? เพราะเวลามันเป็นมันเป็นเผาลนในใจนะ

เวลาสุภาษิตเขาบอก เห็นไหม คนจะออกลูกห้ามไม่ได้ พระจะสึกก็ห้ามไม่ได้ พระจะสึก เวลาจะคลอดลูก ที่ไหนมันก็จะคลอด เวลามันจะคลอด เวลาจะคลอดไปคลอดที่ไหนล่ะ? แท็กซี่มันก็คลอด ข้างทางมันก็คลอด คนจะคลอดลูกห้ามไม่ได้ พระจะสึกก็ห้ามไม่ได้ ฉะนั้น เวลาพระจะสึก เวลาพระมีปัญหาขึ้นมานะมันมี ฉะนั้น ถ้ามันมีขึ้นมา กรณีอย่างนี้เป็นเรื่องสุดวิสัย นี่มันเป็นเรื่องเวร เรื่องกรรม

ฉะนั้น สิ่งที่บอกว่าให้เราแนะนำ เราก็แนะนำ เราพูดมาตลอดให้เห็นว่าถ้าทางที่ดี เห็นไหม บวชมาศึกษา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านพ้นทุกข์ไปแล้ว แต่บวชมาถ้าปฏิบัติแล้วเราต้องเผชิญทุกข์ เผชิญยากเราก็ต้องคิดว่าเราเอาจริงหรือเปล่า? ในเมื่อมันจะมีความสุขมันต้องแลกมาด้วยอริยสัจ ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ แล้วมันจะได้ความจริงมา ถ้าเรามีความจริงขึ้นมา เราจะแลกมาด้วยสัจจะ ด้วยความจริงอันนั้น ถ้าอันนั้นถ้าจิตใจเราเข้มแข็งพอ อันนี้ประเสริฐที่สุด แต่ถ้าเราปฏิบัติมาแล้วถ้ามันแลกมาไม่ได้มันก็ท้อแท้ นี่มันก็เป็นความทุกข์ทั้งนั้น

ฉะนั้น อันนี้เราพิจารณาของเราเอง ถ้าบอกว่าให้เราแนะนำ แนะนำควรทำอย่างใด? นี่เราปฏิบัติให้เข้มแข็งขึ้นมา เข้มแข็งขึ้นมา ถ้าเป็นจริงแล้วเราตัดสินใจของเรา ตัดสินใจแล้วโทษใครไม่ได้ โทษการตัดสินใจของเรา เอวัง