ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ผลบุญผลกรรม

๑ ม.ค. ๒๕๕๖

 

ผลบุญ ผลกรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๑๒๒๙. เนาะ

ถาม : ๑๒๒๙. เรื่อง “กำเนิดเทวดา” (คำถามนะ เรื่องกำเนิดเทวดา)

ผู้ที่ปฏิบัติตามลัทธิความเชื่ออื่นๆ ที่นอกจากพระพุทธศาสนา สามารถจะเกิดเป็นเทวดาได้หรือไม่? เพราะเท่าที่ฟังคำครูบาอาจารย์ ก็บอกว่ามีเทวดามิจฉาทิฏฐิมากมายที่มาฟังธรรมครูบาอาจารย์นั้นๆ อย่างเช่นหลวงปู่มั่น มีเทวดาจากยุโรปมาฟังธรรมจากท่าน และในพระไตรปิฎกก็มีเรื่องเทวดาประจำบ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐีที่บอกว่า “ไม่ต้องไปทำบุญกับพระพุทธเจ้า”

แสดงว่าผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติตามพระพุทธศาสนา แต่ปฏิบัติตามความเชื่อของตนเองที่อาจขัดต่อหลักพระพุทธศาสนา เช่นบางลัทธิสอนว่าการฆ่าสัตว์ไม่บาป จะกินอาหารก็ต้องฆ่าสัตว์ด้วยตนเองถึงจะกินได้ เขาก็ทำตามโดยคิดว่าเป็นบุญไม่เป็นบาป ตามคำสอนของลัทธิเขา เขาก็มีปีติตามคำสอนนั้น เวลาตายไปเขาจะไปเกิดเป็นเทวดาได้หรือไม่?

ตอบ : นี่คำถามเนาะ นี่คำถามว่าถ้าเขาตามความเชื่อของเขา แล้วเขาฆ่าสัตว์ แล้วเขาไปเกิดเป็นเทวดานี่ไม่ได้ ไม่ได้หรอก การฆ่าเขา ทำลายเขาไปเกิดเป็นเทวดาไม่ได้หรอก แต่เขาเคยฆ่า เคยทำลาย บางคนเขาก็ไม่ฆ่า เขาก็ไม่ทำลาย บางคนเขาไม่ทำ เขาให้คนอื่นทำแทนเขา เพราะจิตใจคนไม่เหมือนกัน

ฉะนั้น เวลาเขาทำความดีเขาไปเกิดเป็นเทวดาได้ แต่บอกว่าถ้าเขาเชื่อการฆ่าสัตว์ แล้วเขาปีติในการฆ่าสัตว์ ปีติในการฆ่าสัตว์ก็ไปเกิดเป็นเทวดาไม่ได้ การฆ่าสัตว์ เพราะการฆ่า การทำลายมันไปเกิดเป็นเทวดาได้อย่างไรล่ะ? แต่ในลัทธิใดก็แล้วแต่เขาก็มีทำความดีความชั่วเหมือนกัน ถ้าเขาทำความดี ทำดีก็ต้องได้ดี ทำชั่วก็ได้ชั่ว มันเป็นสัจจะ แต่ถ้าทำดีแล้วเชื่อในพุทธศาสนานั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ เป็นอีกเรื่องหนึ่งเพราะการเกิดเป็นเทวดาแล้ว ถ้าเป็นเทวดาที่มีรัตนตรัย กับเทวดาที่ไม่มีรัตนตรัยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ

เกิดเป็นเทวดาแล้ว เทวดามิจฉาทิฏฐิ มันเป็นเทวดามิจฉาทิฏฐิเพราะมีความเห็นผิดไง มีคนที่เห็นผิด คนที่มีทิฐิมานะมาก แต่ แต่ไปทำบุญนะ ไปทำบุญกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปทำบุญกับใคร หรือทำผลประโยชน์สิ่งใดแล้วมันซาบซึ้ง ทำความดีเขาไปเกิดเป็นเทวดาได้ เพราะเทวดาเป็นผู้ดูแลบาตร เป็นผู้อุปัฏฐากบาตรองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นเอง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาแสดงธรรมขึ้นมา เทวดา อินทร์ พรหม ปกป้อง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่เป็นพระพุทธเจ้า พอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ดูเวลาไปไหนจะมีเทวดา ดูองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน เห็นไหม ดอกไม้จากสวรรค์ที่เทวดาเอามาบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เทวดาก็เหมือนมนุษย์นี่แหละ ถ้าบอกว่าเป็นเทวดาเป็นมนุษย์ ไม่ใช่ เราจะบอกว่าเทวดาเหมือนมนุษย์นี่แหละ คำว่าเหมือนมนุษย์คือสถานภาพของมนุษย์ เทวดาเขาก็สถานภาพของเทวดามันก็เป็นโลกหนึ่ง มันก็เป็นเทวดา เทวดาก็คือเทวดา

ฉะนั้น การเกิดเป็นเทวดาได้ไหม? ถ้าบอกว่าได้ การฆ่าสัตว์แต่ปีติแล้วไปเกิดเป็นเทวดาไม่ได้ แต่เขาฆ่าสัตว์เหมือนกัน แต่เขาทำคุณงามความดีเหมือนกัน แล้วถ้าเวลาเขาคิดถึงคุณงามความดีของเขา นั่นล่ะเขาไปเกิดเป็นเทวดาได้ การไปเกิดเป็นเทวดา มันไม่ใช่ว่าใครจะบังคับให้ใครไปเกิดเป็นเทวดาหรือไม่ไปเกิดเป็นเทวดาหรอก มันอยู่ที่เหตุไง ถ้าเหตุใครสร้างมาสมบูรณ์อย่างนั้นแล้ว เหตุสมควรอย่างนั้นแล้วเขาต้องไปเกิดตามสถานะนั้น เขาไปเกิดสถานะนั้น นี่พูดถึงว่าในเมื่อเขาฆ่าสัตว์นะ

นี่คำถามว่า

ถาม : ผู้ที่ปฏิบัติตามลัทธิความเชื่อที่นอกจากพุทธศาสนา สามารถจะไปเกิดเป็นเทวดาได้หรือไม่?

ตอบ : นี่นับถือนอกศาสนา ถ้าพูดถึงเรานับถือศาสนา เรานับถือศาสนาพุทธ แต่ถ้าเราไม่เชื่อ เราเชื่อหรือเราทำบาป ทำอกุศลมันก็ไปเกิดนรกอเวจีเหมือนกัน แต่ถ้าเราทำคุณงามความดีเราก็ไปเกิดเป็นเทวดาเหมือนกัน

นักปฏิบัตินะ ลูกศิษย์กรรมฐานเขาไม่ต้องการไปเกิดเป็นเทวดา เขาต้องการเกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นมนุษย์ เพราะเกิดเป็นมนุษย์แล้วมันได้ประพฤติปฏิบัติไง เพราะเกิดเป็นเทวดาแล้วกลัวจะพลั้งเผลอไป พลั้งเผลอไปก็เสวยสุขจนลืมไป แล้วก็ไป มันก็เวียนไปไง แต่ถ้าทุกคนเวลา เราปฏิบัติใช่ไหมเราตั้งใจว่าเวลาเกิดชาติหน้าแล้วขอให้เกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วขอให้พบพุทธศาสนา ขอให้วงการปฏิบัติมั่นคงเข้มแข็ง แล้วเราได้ปฏิบัติด้วย เพราะทุกคนปรารถนาว่าจะพ้นจากทุกข์ไง เขาปรารถนาตรงนี้ไง เพราะไปเกิดเป็นเทวดานะ ๙ ล้านปี

ในพระไตรปิฎกมันมีพวกนางฟ้าเขาไปเที่ยวสวนกันไง พอเที่ยวสวนมันมีคนหนึ่งหายไป พอหายไปเขานึกว่าไปแอบซ่อนอยู่ ก็ไปเก็บดอกไม้เพื่อจะกลับไปวิมานของเขา ฉะนั้น คนที่หายไปนี่หายไป พอหายไปพักหนึ่งนะ ไปตั้งแต่เช้าใช่ไหม? พอบ่ายๆ เขามาแล้ว เขากลับมา เขาถามว่าไปไหนมาล่ะ? ไปเกิดเป็นมนุษย์ชาติหนึ่ง ๑๐๐ ปีของเราเท่ากับเขา ๑ วัน นี่เขาคำนวณในทางวิชาการ ๑๐๐ ปีของมนุษย์ เห็นไหม ที่ว่าเป็นทิพย์ๆ ที่ว่าเป็นกัปๆ

๑ ชาติ ๑๐๐ ปีของเราเท่ากับเทวดาวันเดียว แล้วเขาไปเกิดเป็นเทวดา ๑ ชาติ แล้ว ๕,๐๐๐ ปีเรา ลงจากเทวดามานะ กำลังเกิดกลียุค ลงมาเกิดเป็นเทวดา ลงจากเทวดาไปเสวยชาติเทวดาชาติหนึ่ง กลับมาโลกมนุษย์ภูเขาไฟกำลังระเบิด โลกกำลังปรับพื้นที่ ลงมาเจอแต่ลาวาไง มาทุกข์อยู่ที่ลาวานั่นน่ะ นี่ผู้ที่มีสติปัญญาเขาถึงไม่ปรารถนาไปเกิดเป็นเทวดา อยากเกิดเป็นมนุษย์ มนุษย์ มนุษย์ มนุษย์

ของอย่างนี้ไม่ใช่เราพูดเอง ไม่ใช่ว่าใครบัญญัติเอง ใครจะเข้าใจเอง ของมันมีอยู่อย่างนี้ นี่ธรรมะมีอยู่นี้ ภพชาติ วัฏฏะเป็นอย่างนี้ เพียงแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้เรื่องอย่างนี้ แล้วเอามาเปิดเผยให้พวกเราดู เอามาเปิดเผยให้พวกเราหูตาสว่าง เอามาเปิดเผยให้พวกเราเข้าใจ ไม่ใช่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างโลก ไม่มีใครสร้างโลก ไม่มีใครทำทั้งสิ้น มันเป็นของมันอยู่อย่างนี้ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้ไง มาเปิดหูเปิดตา แล้วเอาสิ่งที่รู้ที่เห็นมาสั่งสอนพวกเรา ให้พวกเราให้มีความเกรงกลัว ให้มีความสำนึก ให้มีคุณงามความดี

ฉะนั้น ของที่มันมีอยู่อย่างนี้ นี่วันเวลาที่เราเกิดเราตายกัน นี่ถามว่า

ถาม : ถ้าเขาถือนอกพุทธศาสนาเขาจะเกิดเป็นเทวดาได้ไหม?

ตอบ : ได้ ไม่ใช่พุทธศาสนาปิดกั้น หรือใครจะไปบังคับบัญชาอะไรทั้งสิ้น ไม่มี มันเป็นสัจจะ เป็นความจริง ถ้าเขาทำคุณงามความดีของเขา เพราะคนลัทธิอื่นนะที่เขาไม่นับถือพุทธศาสนา แล้วมีชาวพุทธเราไปใช้ชีวิตเมืองนอก เขากลับมาบอกว่า โอ้โฮ เป็นคนดีมากๆ คนนั้นเป็นคนดีมาก นี่เขาทำความดีของเขา แต่ความเชื่อทิฐิของเขาเป็นอย่างนั้น เขาก็เชื่อของเขาเป็นอย่างนั้น ทิฐิของเขา

ฉะนั้น สิ่งที่ทิฐิของเขา ความเป็นสายเลือด ความฝังใจของเขา ฉะนั้น เวลาเขามาปฏิบัติแล้วเขาต้องมาแก้ไขตรงนี้ของเขาเหมือนกัน อย่างเช่นเวลาเขามาปฏิบัติเขาก็บอกว่าพอเป็นสมาธิเขาก็ไม่เชื่อ ไม่เชื่อก็ปล่อยให้เสื่อม พอเสื่อมแล้วทำใหม่ อยู่อย่างนั้นแหละ เพราะอะไร? เพราะมันเป็นนามธรรม ถ้านามธรรม ถ้าวุฒิภาวะ ถ้าสติเราไม่ดีพอ เราจะพิสูจน์อย่างไรว่าอะไรเป็นสมาธิ อะไรไม่เป็นสมาธิ

นี่อารมณ์เป็นสมาธิได้อย่างไร? เพราะอารมณ์นะ จิตกับอารมณ์มันเป็นสองอยู่แล้ว จิตกับความคิดมันก็เป็นสองอยู่แล้ว สมาธิคือหนึ่ง คือพลังงานเฉยๆ นั่นคือสมาธิ แต่มันรับรู้ นี่มันบอกว่าว่างๆ ว่างๆ อารมณ์สองแล้ว เพราะพลังงานกระทบกับความว่างมันเป็นสมาธิได้อย่างไร? ของคู่มันเป็นหนึ่งได้อย่างไร? ของหนึ่งก็ต้องเป็นหนึ่งสิ สมาธิคือหนึ่ง ตั้งมั่นคือหนึ่ง แต่เวลาว่างๆ ก็ของคู่ ใครรู้ว่าว่างล่ะ? ก็ผู้รู้มันรู้ว่าว่าง แล้วว่างอย่างไรล่ะ? ก็ว่างๆ ว่างๆ ตอนนี้ก็เป็นตรรกะแล้วนะ ว่ากันไปนะ ไอ้คนฟังก็ซาบซึ้งๆ ว่ากันไป นี่ผู้ไม่รู้ไง แต่ถ้าผู้รู้ล่ะ? ผู้รู้เป็นความจริงอันหนึ่ง

ฉะนั้น ถ้าเขาบอกว่า

ถาม : เขาไม่ได้นับถือพุทธศาสนาเขาเป็นเทวดาได้ไหม?

ตอบ : เขาจะเกิดเป็นเทวดา ได้ ได้ทั้งนั้นแหละ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แต่ดีของใคร? ดีของโลก ดีของธรรม ดีของพระอริยเจ้า นี่ดีคนละชั้นนะ เพราะคนที่สูงกว่าจะเห็นเลย เห็นคนดีข้างล่าง ดียังติดอยู่ ยังติดอยู่ แต่บอกแล้วยังไม่เข้าใจหรอก แต่ถ้าเขาพัฒนาขึ้นมาแล้วนะเขารู้ของเขาเอง ถ้าเขารู้แล้วนี่ซาบซึ้ง มันรู้จากภายในเลย

ฉะนั้น ถ้าเขาจะนับถือศาสนาอะไรก็แล้วแต่ แต่เขาทำคุณงามความดีของเขา คุณงามความดีของเขานะ แต่อย่างที่ว่านี่ทิฐิ ทิฐิมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะเป้าหมายมันแตกต่างกันไป ฉะนั้น ถ้าเป็นเทวดาของพุทธศาสนามีรัตนตรัย คำว่ามีรัตนตรัยนะ มีพระธรรม เห็นไหม พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระธรรมคือสัจธรรม สัจธรรมคือสัจจะความจริง ฉะนั้น เทวดาในพุทธศาสนาจะเลื่อนชั้น จากจาตุมขึ้นไปดุสิต จากดุสิตขึ้นไปๆ นิมมานรตี ก็จะเลื่อนชั้นได้ เพราะเขาทำคุณงามความดีได้ไง

พระธรรม คือเรารู้สัจจะ เรารู้ เรารู้ที่สูงที่ต่ำ คนรู้ที่สูงที่ต่ำจะขึ้นสูงหรือขึ้นต่ำล่ะ? แต่ถ้าคนเขาไม่รู้เขาคิดว่าเขาเป็นเขา มีอันเดียว นี่ถ้าเทวดาโดยทั่วไปไม่มีรัตนตรัย เขาก็ว่าเราเกิดเป็นมนุษย์เราว่ามีมนุษย์ชาติเดียว นรก สวรรค์ไม่มี อะไรไม่มี พอไปเกิดเป็นเทวดาเขาบอกว่าก็มีเทวดาชาติเดียวเหมือนกัน มนุษย์ก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี ตัวเป็นเทวดาก็เป็นเทวดา

นี่มันตายตัวไง ถ้าเป็นเทวดาของลัทธิต่างๆ เขาไม่มีรัตนตรัย ถ้าเทวดาในพุทธศาสนามีรัตนตรัย มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สัจธรรม พระธรรมอันนั้นสำคัญ พระพุทธ พระพุทธคือพุทธเจ้า พระสงฆ์คืออริยสงฆ์ พระธรรมคือสัจจะความจริง ฉะนั้น เป็นเทวดาถ้าเขามีสัจจะ เขารู้สัจจะอันนี้ นี่รัตนตรัย แต่เขารู้สัจจะแต่เขาไม่ใช้ เขาลืมไป เขาเผลอ เผลอที่ว่าฟังธรรม ไม่ฟังธรรมมันก็อีกเรื่องหนึ่ง

ฉะนั้น เทวดา นี่กามภพ รูปภพ อรูปภพ วัฏฏะ วัฏวนจิตมันเวียนตายเวียนเกิด นั่งอยู่นี่ทุกคนเคยผ่านมาหมด ที่นั่งอยู่นี่ คนที่นั่งอยู่นี่ ถ้าไม่เคยผ่านมานะจะไม่กลัวผี ทำไมมันกลัวผีล่ะ? กลัวผี แต่สวรรค์ชอบ เพราะอะไร? เพราะมันเคยผ่านมา มันมีสัญญา มีความรับรู้ นี่แต่บอกว่าภูมิของโสดาบัน ภูมิของสกิทาคามี ภูมิของอนาคามี ภูมิของพระอรหันต์ ไม่มีปุถุชนคนไหนคาดได้ คาดหมายไม่ถึง แต่ถ้าตั้งแต่พรหมลงมา ทุกดวงจิตคาดได้ ถ้ามันจะคาดให้เชื่อนะคาดได้ แต่ถ้าเขาไม่เชื่อเขาก็ลบเลย

ฉะนั้น จิตที่เรานั่งกันอยู่ นี่ทุกดวงใจเลย ในวัฏวนนะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าการเวียนตายเวียนเกิด จิตดวงหนึ่งที่เวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะ นี่มันเคยเกิดมาเป็นญาติ เป็นพี่ เป็นน้องกันมา เคยเป็นญาติกันมา ถ้าไม่เป็นญาติกันมา มันจะมีสายบุญสายกรรมด้วยกันมา มันยาวไกลขนาดไหน? ถ้ามันยาวไกลขนาดไหน เวลามันเวียนตายเวียนเกิดมันถึงได้ผ่านวัฏฏะนี้มา

แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านยังบอกว่าท่านเคยตกนรก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ผ่านนรกมา ผ่านวัฏฏะมาเหมือนกัน แต่พอปรารถนาเป็นพุทธภูมิ ปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์ สร้างแต่คุณงามความดีไป พอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยากรณ์แล้ว เห็นไหม ไม่เกิดต่ำกว่านกแขกเต้า นกกระจอก นี่ไม่ต่ำกว่านั้น แต่อย่างพวกเรานี่นะเกิดเป็นเล็น เป็นไร ยังเวียนตายเวียนเกิด มันขนาดนั้นนะ

ฉะนั้น สิ่งที่จิตเราเคยเป็นขึ้นมามันถึงมี นี่ที่ว่าย้ำคิดย้ำทำจนเป็นจริต เป็นนิสัยนี่ไง นี่พันธุกรรมของจิต พันธุกรรมของจิต เราว่าเป็นพันธุกรรมของร่างกายนะ มันมีพันธุกรรมดีเอ็นเอก็ตรวจกันมา แต่พันธุกรรมของจิตมันเกี่ยวพันกันมา มันเคยมีทิฐิมานะ เคยมีบาดมีหมางกันมา มันมีเวรมีกรรมกันมา มันต้องมาชดใช้กัน คำว่าชดใช้ ชดใช้ก็เป็นหนี้สินน่ะสิ? แต่นี่ไม่ใช่หรอก มันเป็นผลของวัฏฏะที่มันเป็น นี่กรรมเป็นอจินไตย

นี้พูดถึงว่า

ถาม : ลัทธิอื่นๆ เขาเกิดเป็นเทวดาได้ไหม?

ตอบ : ได้ แต่เกิดเป็นเทวดาแล้วก็ไม่เหมือนกัน ทุกอย่างไม่เหมือนกันทั้งนั้นแหละ เพราะเหตุมันมาต่างกัน ผลต้องต่างกันแน่นอน เหตุมาต่างกัน ความเชื่อต่างกันมันก็ไปต่างกัน แต่สิ่งที่เวลามันให้ผลคือว่าผลคุณงามความดี ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว อันนั้นแหละมันให้ผล

นี่จะบอกว่า ในเมื่อเขาบอกว่า

ถาม : เทวดาที่เป็นมิจฉาทิฏฐิมีมากมายที่มาฟังธรรมจากครูบาอาจารย์นั้นๆ อย่างเช่นหลวงปู่มั่นมีเทวดาจากยุโรปมาฟังธรรมจากท่าน ในพระไตรปิฎกมีเทวดาประจำบ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐีที่บอกว่า “ไม่ต้องให้ทำบุญกับพระพุทธเจ้า” แสดงว่าผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนาก็ปฏิบัติตามความเชื่อของตนที่อาจขัดต่อหลักพุทธศาสนา

ตอบ : ไอ้อย่างที่ว่าขัดต่อหลักพุทธศาสนา ไม่ต้องขัดต่อหลักพุทธศาสนาหรอก เทวดาในพุทธศาสนามันก็ขัด ในเมื่อคนมีกิเลส คนมีทิฐิ นี่เวลาที่ว่าเทวดาที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ส่วนใหญ่แล้วเป็นเทวดา ทุกคนนะถ้ามีความเผลอ เทวดาก็มีความเผลอของเขา ถ้าเขาเกิดเป็นเทวดาเขาจะเสวยทิพย์ พอเสวยทิพย์ก็คิดว่ามีความสุขๆ แล้วเวลาเทวดาจะตาย เห็นไหม แสงมันจะเริ่มจางลงๆ

เวลาที่ว่าพระอินทร์มาใส่บาตรพระกัสสปะ นี่ปกครองเทวดาด้วยกัน แต่เขามีแสงมากกว่า เขามีทรัพย์สมบัติมากกว่า ก็แปลงเป็นคนจนมาใส่บาตรพระกัสสปะ เห็นไหม เวลาออกจากฌานสมาบัติ นี่เวลาพระกัสสปะพอเขาใส่บาตรแล้ว ก็เทวดามาใส่บาตรมันจะเป็นอาหารของมนุษย์ได้อย่างไรล่ะ? มันก็แปลกอยู่แล้วล่ะ พอแปลกอยู่แล้ว กำหนดจิตดูเป็นพระอินทร์

“มหาบพิตร มหาบพิตรอย่าขี้โกงสิ นี่เขาจะมาโปรดคนทุกข์ คนจน คนร่ำ คนรวยมันก็เรื่องของเขา นี่คนทุกข์ คนจน อยากโปรดคนทุกข์ คนจน”

“ข้าพเจ้านี่จนมาก”

“จนอย่างไรล่ะ?”

“จนเพราะว่าปกครองเทวดาที่เขามีบุญมากกว่า”

มันเป็นผู้ปกครองที่มีอิทธิพลน้อยกว่า มีความสามารถน้อยกว่า มันก็ต้องมีความน้อยใจเป็นธรรมดา เห็นไหม นี่มันจนตรงนั้นน่ะ ถ้ามันจนตรงนั้นขึ้นมา ฉะนั้น เวลาเทวดาแสงมันเริ่มต่างๆ มันจะตาย โอ๋ย ทุกข์มาก ฉะนั้น เวลาเทวดาที่ไม่มีสติปัญญา เขาถือว่าตัวเขาแน่ ตัวเขายอด ตัวเขาเยี่ยม เขาไม่มาฟังธรรมหรอก แต่ถ้าเทวดามิจฉาทิฏฐิที่มาฟังธรรม มาฟังพระพุทธเจ้า มิจฉาทิฏฐิคือความเห็นเขาผิดอยู่แล้วแหละ แต่ที่เขามาฟังธรรมๆ เพราะเขาหูตาสว่างแล้วเขาถึงมาฟังธรรม

นี่เวลาจะมากันเขามากันอย่างไร? หัวหน้าเทวดาพามา ถ้าหัวใจเทวดาพามา นี่มาด้วยความดีใจ มาด้วยความเต็มใจ มาเพราะว่าหมู่คณะไปก็ไปตามหมู่คณะ เราถึงบอกว่าสังคมเทวดากับสังคมมนุษย์ก็จิตเหมือนกันนั่นแหละ แต่สถานะมันแตกต่างกันเท่านั้นเอง

ฉะนั้น ที่ว่า

ถาม : เทวดามิจฉาทิฏฐิมาฟังธรรมหลวงปู่มั่น

ตอบ : นี่ฟังธรรมที่ว่าเทวดาในบ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐีเขาเห็นอย่างนั้นจริงๆ แต่สุดท้ายแล้วที่เขาเห็นอย่างนั้นแล้วเขาโดนแบบปราบพยศ เทวดาที่บ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ต้องไปเอาทรัพย์สมบัติของอนาถบิณฑิกเศรษฐีคืนมา ต้องมาขอขมาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าถ้าเขาสำนึกได้ ตรงนี้มันอยู่ที่ความสำนึก ความทิฐิมานะของคน มานะทิฐิของเทวดา อันนี้พูดถึงว่าถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐินะ มิจฉาทิฏฐิก็คือสิ่งที่มีกิเลสอยู่ไง

อย่างเช่นเราเป็นชาวพุทธเราก็มีทิฐิของเรา ก็เป็นมิจฉามันถึงให้เราปฏิบัติไม่ได้ มันถึงให้เราเข้าถึงความจริงไม่ได้ ถ้าเข้าถึงความจริงวันไหนได้นะ นี่สีลัพพตปรามาส ไม่ลูบคลำ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสต้องจบ จบตรงไหนล่ะ? จบในขั้นของสักกายทิฏฐิ แต่ความลูบคลำ ความสงสัยในขั้นของสกิทาคามีมันยังมี ขั้นของอนาคามียังมี ขั้นของพระอรหันต์ยังมี ถ้ามันเข้าใจมันก็เข้าใจขั้นโสดาบันนั่นล่ะ

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องดับเป็นธรรมดา”

แล้วดับอย่างไร? รู้อย่างไร? เห็นอย่างไร? ชัดเจนมาก ถ้าชัดเจนมากมันก็พ้นจากการเป็นมิจฉาทิฏฐิไง แต่ถ้าเรายังอยู่อย่างนี้เราก็ยังมิจฉาทิฏฐิอยู่ ธรรมของพระพุทธเจ้าอย่างหนึ่ง เราเห็นขัดเห็นแย้งเราถึงได้ปฏิบัติธรรม แล้วไม่สมควรแก่ธรรม ถ้าเราเห็นจริงแล้วปฏิบัติได้จริงนะมันก็เป็นสัมมาทิฏฐิ พอสัมมาทิฏฐิ เห็นไหม นี่สัมปยุตเข้าไป วิปปยุตคลายออก สัปปยุตเข้าไป มรรครวมตัว มรรคสามัคคีรวมตัว รวมตัวสมุจเฉทปหานขาดออก

นี่เวลาพูดถึงว่าอรหัตตมรรค อรหัตตผล เวลามันจบแล้วมันจะแบกอรหัตตมรรค อรหัตตผลไปด้วยหรือ? ไม่ใช่ อรหัตตมรรค อรหัตตผล นิพพาน ๑ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ นิพพานกับอรหัตตผลเป็นอันเดียวกันหรือเปล่า? นี่มันเป็นอย่างไร? มันเป็นอย่างไรมันจะเข้าใจของมันเต็มที่ของมัน มันถึงไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ถ้าว่ามิจฉาทิฏฐินะมันจะเป็นดำไปเลย นี่คนเขามีความดีอยู่เหมือนกัน แต่มีมิจฉาทิฏฐิ ยังมีความเห็นผิดอยู่ ยังมีความเห็นต่างอยู่ ยังไม่รวมลง ยังไม่สามารถเป็นความจริงได้

นี่พูดถึง

ถาม : พอมิจฉาทิฏฐิแล้วตีความได้แค่ไหน? เช่นบางลัทธิศาสนาสอนให้การฆ่าสัตว์

ตอบ : อันนี้มันเป็นศาสนาของเขา ทำของเขา มันทำของเขาไปอย่างหนึ่งนะ เขาทำเพราะความเชื่อของเขา แล้วมันผู้นำ ผู้นำเห็นว่าสิ่งนี้มันเป็นอาหาร สิ่งนี้มันเป็นประโยชน์ มันไม่เป็นความผิด แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ อนาคตังสญาณเห็นหมดว่าสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตทุกดวงจิต รักสุข เกลียดทุกข์เหมือนกัน รักชีวิตของตัวเหมือนกัน ไม่มีใครปรารถนามาเป็นอาหารใคร ทุกคนก็อยากจะเป็นอิสระ อยากอยู่ด้วยอิสรภาพของตัวทั้งนั้นแหละ

แต่ แต่ในเมื่อเขาเกิดมาอย่างนั้น แล้วกฎของโลก กฎของโลก ความเห็นของโลกเขาทำกันอย่างนั้น นี่เขามายอมจำนนกับความที่เขาช่วยตัวเขาเองไม่ได้ เขาเกิดเป็นสัตว์เขาถึงได้ทุกข์ไง แต่ถ้าคนมีเมตตาเขาทำอย่างนั้น แต่เขาคิดอย่างนั้นก็เรื่องของเขา เพราะมันเป็นความเชื่อของเขา เพราะศาสดา ศาสดาถ้ามันมองไม่รอบ

นี่หลวงตาท่านบอกว่า “ศาสดาผู้มีกิเลส กับศาสดาผู้สิ้นกิเลส”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิญาณตนว่าสิ้นกิเลส สิ้นกิเลส นี่ถ้าศาสดาของเขาศาสดาที่ยังมีกิเลสอยู่ แต่ด้วยตรรกะของเขา ด้วยความคิดของเขา คิดออกมามันก็เลยโต้แย้งกับสัจจะความจริงไง แต่เขาเชื่ออย่างนั้น แต่เขาทำความดีก็ได้ เพราะการเวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะมันเป็นธรรมชาติของจิตอยู่แล้ว จิตนี้เวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะ เห็นไหม ผลของวัฏฏะ ผลของวัฏฏะ แล้วมันก็เวียนไปในวัฏฏะ แต่ถ้าเราปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนามันเหนือธรรมชาติ มันพ้นวัฏฏะนะ

มันพ้นวัฏฏะ มันพ้นวัฏฏะแล้วมันพ้นอย่างไร? มหัศจรรย์มาก มหัศจรรย์มาก นี่ถ้าพูดไปก็บอกว่าศาสนาพุทธยอดที่สุด เยี่ยมที่สุด คนก็ถาม แล้วชาวพุทธทำไมทุกข์กันขนาดนี้ล่ะ? ชาวพุทธนี่ยอดเยี่ยมที่สุด ไม่เห็นชาวพุทธมีความสุขกันเลย ทำไมทุกข์ขนาดนี้? อ้าว พุทธศาสนาสอนเรื่องทุกข์เป็นอริยสัจนะ ทุกข์เป็นความจริง ฉะนั้น เราต้องเผชิญกับมัน สู้กับมัน แล้วมันถึงจะยอดเยี่ยม ถ้ายอดเยี่ยมยอดเยี่ยมตรงนั้น

ถาม : ข้อ ๑๒๓๐. เรื่อง “การกินเดนพระ”

ตอบ : นี่พวกเราเป็นสัมมาทิฏฐิหรือเป็นผู้ที่มีความปรารถนาดี แต่ในเมื่อพอมันมีกิเลสครอบงำหัวใจมันมีความเห็นอย่างนี้ แล้วความเห็นนี้มันจะขัดแย้งกัน

ถาม : ได้ไปวัดป่ามาหลายที่ สังเกตเห็นว่าพวกญาติโยมมักจะนั่งเฝ้ารอแย่งกันกินก้นบาตรของพระเถระที่ตนคิดว่าเป็นพระอริยะ จนหลายครั้งภาพที่เห็นนั้น เหมือนดั่งเหล่าสุนัขนั่งเฝ้ารอแย่งกันกินอาหารที่เจ้าของทานเหลือแล้วให้สุนัขกินต่อ ทั้งที่บางครั้งพระรูปนั้นๆ ก็ยังฉันไม่เสร็จ ก็ไปนั่งเฝ้ารอ บางคนก็โกยเศษอาหารนั้นใส่ภาชนะที่เตรียมมากับบ้าน เอาไปบูชาหรืออย่างไรไม่ทราบได้ ไม่ทราบว่าการแย่งกันกินเดนเศษอาหารพระ ถึงแม้จะเป็นพระอริยะจริงๆ นั้นได้อานิสงส์ใดๆ บ้าง? (แล้วก็เครื่องหมายคำถามเต็มเลย) แล้วทำไมพระถึงไม่อบรมญาติโยมกับการแย่งเศษอาหารที่ตนกินเหลือ

ครั้งแรกที่ผมเห็นพฤติกรรมแบบนี้ คือสมัยที่หลวงตามางานเผาและเก็บอัฐิหลวงปู่เจี๊ยะ ญาติโยมแย่งกันกินข้าวก้นบาตรของหลวงตา และบางคนเข้าไปแย่งกันขอชานหมากที่เคี้ยวแล้ว ผมตกใจและแปลกใจว่าทำไมผู้ที่ศรัทธาพระป่าจึงมีพฤติกรรมแบบนี้ ซึ่งผมไม่เคยพบในวัดอื่นๆ มาก่อน แต่ครั้งนั้นหลวงตาท่านได้พูดว่า

“จะเอาไปทำไม? มันสกปรก เอาธรรมะไปดีกว่า”

ทำให้ผมซาบซึ้งในองค์หลวงตาตั้งแต่นั้นมาจนปัจจุบันนี้ ผมเห็นเป็นภาพชินตาไปแล้วกับการที่ญาติโยมนั่งเฝ้ารอแย่งเศษอาหารของพระเถระกัน (โดยเฉพาะภาพถ่ายที่ออกอากาศในช่องหลวงตาตอนเช้าๆ มีท่านอาจารย์คอยแจกยาคูลท์ที่ถวายสิ่งของแล้วเหลือ พอหลวงพ่อลุก พวกข้างๆ ก็เดินเข้าไปแย่งยาคูลท์กันชุลมุนเลย)

ตอบ : นี่เขาเขียนมา เห็นไหม สิ่งที่เขาเขียนว่าเห็นคนไปแย่งเศษอาหารจากพระ กินของเศษเดนจากพระ ผมตกใจเลย ผมตกใจเลย ความตกใจของเขา เพราะเขาอยู่ในสังคมของเขา เขาไม่เคยเห็นสังคมของพระป่า สังคมของพระป่านะ พระที่เขาเคารพบูชากัน เขาเคารพบูชากันที่หัวใจ ถ้าเขาเคารพบูชาที่หัวใจ อย่าว่าแต่เศษอาหารเลย ของที่บริขารเราดูแลกัน

สมัยหลวงปู่มั่นนะ หลวงตาท่านรักหลวงปู่เจี๊ยะ รักหลวงปู่เจี๊ยะ เพราะหลวงตาท่านได้อุปัฏฐากหลวงปู่มั่น หลวงปู่เจี๊ยะท่านได้อุปัฏฐากหลวงปู่มั่นมาก่อน แล้วหลวงตาท่านก็เข้าไปอุปัฏฐากหลวงปู่มั่นต่อจากหลวงปู่เจี๊ยะมา แล้วเวลาหลวงตาท่านไปเช็ด ไปเก็บบริขาร ที่นอน ผ้าเช็ดเท้า ผ้าต่างๆ บริขารของใช้ของหลวงปู่มั่นท่านเก็บ ท่านเช็ด นี่วางผิดที่เป็นหงายท้อง ของอะไรที่ทำแล้วคลาดเคลื่อนจากที่เคยทำ เรียบร้อย ฟ้าผ่าลั่นวัดเลย หน้าแตก

ฉะนั้น ใครจะเข้าไปฝึกฝนกับหลวงปู่มั่นต้องมีสติ ต้องรู้ว่าควรวางอย่างไร ควรเก็บอย่างไร ควรรักษาอย่างใด แล้วหลวงตาท่านโดนฟ้าผ่า ฟ้าผ่านะ หลวงตาท่านเล่าประจำ เวลาถ้าปูที่นอน ปูที่นอนหลวงปู่มั่น นี่ท่านบอกว่าแทบจะเอาชอล์กขีดเอาไว้เลย ปูที่เดิมนั่นแหละ ปูที่เก่านั่นแหละ พอปูเสร็จหลวงปู่มั่นเข้ามานะ ปูผิดๆ ปูผิดรู้ไหมนี่มันผิดนะ

ใหม่ๆ หลวงตาท่านไม่รู้ท่านก็งงนะ ท่านก็งงว่า เอ๊ะ เอาชอล์กขีดไว้เลย ปูที่เดิมไม่ให้ขยับแม้แต่องศานิดเดียวก็ไม่ให้ขยับเลย พอหลวงปู่มั่นเข้ามาจับกระชากเลย มันผิดๆๆๆ แล้วหลวงตาท่านก็บอกว่า แล้วก็ปูที่เก่านั่นล่ะ ปูตรงนั้นล่ะ พอหลวงตาท่านปฏิบัติไปแล้วท่านมาเข้าใจว่ามันผิดที่หัวใจเราไง มันผิดที่เรา มันไม่ได้ผิดที่ปูนอน ที่นอนมันอยู่ที่นอนนั่นล่ะ ถ้าจิตใจมันเคารพบูชา แล้วเราวางไว้ ถ้าจิตใจเรามันมีสิ่งใด ขาดสติ ทำด้วยความพลั้งเผลอ ทำด้วยความไม่เคารพ ที่นอนท่านว่าปูผิดๆๆ

คนใหม่ๆ ก็งง ทุกคนก็งงเพราะคิดแบบวิทยาศาสตร์ เอาชอล์กขีดไว้เลย เอาชอล์กขีดไว้เลย ไม่ให้ขยับเลย เพราะโดนทุกวัน โดนจนน่วม โดนจนขยับไม่ถูก หันไปไหนก็ผิดหมด แล้วทำอย่างไรล่ะ? พอสุดท้ายท่านสำนึกได้ อ๋อ ผิดที่ใจเราเอง พอผิดที่ใจเราทำให้ถูกต้องนะ ถูก ถูกแล้ว ปูที่เก่ามันถูก ปูตรงไหนก็ถูก แต่ถ้ามันผิดที่ใจเรา ปูตรงไหนก็ผิด

นี้คือจิตใจคนที่เคารพบูชา แล้วก็มีคนนะ พระที่เขาปฏิบัติไปทำไม่ดีเข้า แต่หลวงปู่มั่น ถ้าคนไหนลงใจแล้วพร้อมที่จะเอาเหตุผล เอาคุณธรรมท่านจะสอน ถ้าคนไหนปฏิบัติแล้วไม่ได้เรื่องท่านก็จะไม่พูดถึง มีพระที่ไปทำ แล้วทำนี่ไม่ได้ทำด้วยความเคารพ ขึ้นไปแล้วไปเหยียบที่นอนอะไร ทำไปโดยขึ้นไปเหยียบ มีพระอุปัฏฐากของหลวงตา ท่านก็ไปบอกหลวงตาบอกว่ามีพระองค์หนึ่งทำอะไรที่ว่ามันทำแล้วมันเหยียบหัวใจผมมากเลย คือมันเหยียบย่ำหัวใจผมมาก ผมทนไม่ได้

หลวงตาท่านได้รับรายงานอย่างนั้นปั๊บท่านก็ไปยืนดู ท่านก็ไปสังเกตดูไง ก็เห็นจริงๆ เห็นจริงๆ พอเห็นจริงๆ หลวงตาท่านเข้าไปเลย ท่านเข้าไปต่อว่าเลย บอกว่าคุณ ถ้าคุณไม่เคารพบูชานะคุณก็ไม่ต้องทำก็ได้ เพราะการเก็บบริขารหลวงปู่มั่น นี่พระลูกศิษย์ลูกหาท่านเคารพบูชาของท่าน ท่านอยากทำ คนที่อยากอุปัฏฐากเยอะมาก อยากที่จะเข้ามาอุปัฏฐากเพื่อเอาบุญๆ เอาบุญจากหลวงปู่มั่น เอาบุญจากที่เราได้อุปัฏฐากครูบาอาจารย์เยอะมาก ถ้าท่านไม่เคารพ ทำด้วยความไม่เคารพท่านอย่าทำเลย มันเหยียบหัวใจพวกกระผม มันเหยียบย่ำหัวใจพวกกระผม เห็นไหม เวลาท่านทำอย่างนั้น

ฉะนั้น ถ้าพูดถึงเวลาพระกรรมฐานเขาเคารพบูชากันยิ่งกว่านี้นะ เห็นไหม เวลาไปเวลามา ถ้ามีครูบาอาจารย์ เพราะนี้มันอยู่ในบุพสิกขา ภิกษุที่อาวุโสยืนอยู่ ภิกษุที่พรรษาต่ำกว่า จะเข้ามาใกล้ภิกษุที่มีอาวุโสสูงกว่าได้ ๖ ศอก ถ้าภิกษุที่อาวุโสกว่าไม่ใส่รองเท้า ภิกษุที่ต่ำกว่าใส่รองเท้า คืออยู่ในที่สูงกว่า ภิกษุที่อาวุโสเข้ามาปรับอาบัติทุกกฏ ท่านยืนอยู่ในบริเวณปริมณฑล ๖ ศอก ไอ้นี่จำไม่ได้แม่นนะ แต่ปริมณฑล ภิกษุที่มีอายุพรรษาต่ำกว่าใส่รองเท้า ถ้าท่านไม่ใส่รองเท้า เราใส่รองเท้าเข้าไปในที่สูงกว่า ปรับอาบัติทุกกฏทันทีเลย

ในธรรมวินัยมันมีความละเอียดลึกซึ้งอย่างนี้เยอะมาก ถ้ามีเยอะมาก ทีนี้ผู้ที่เข้าไปอยู่ ลูกศิษย์กรรมฐานที่ลงครูบาอาจารย์ท่านไป ท่านจะเคารพบูชาของท่าน ฉะนั้น เวลาจะเข้าไปหาท่านจะเคารพมาก ท่านจะแบบว่ามีความลงใจมาก ฉะนั้น มีความลงใจมาก นี่สังคมกรรมฐานไง ถ้าสังคมกรรมฐานเขาเคารพบูชากันอย่างนั้นไง

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเคารพบูชา หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ฝั้นท่านเป็นมหานิกาย แล้วหลวงปู่ดูลย์ไปเทศน์เอาหลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ขาว ต่างๆ จากมหานิกายมาญัตติธรรมยุต ฉะนั้น ตอนที่ท่านเป็นมหานิกายท่านเข้าไปอุปัฏฐากหลวงปู่มั่น ท่านฟังเทศน์หลวงปู่ดูลย์ ฟังเทศน์หลวงปู่ดูลย์เสร็จแล้ว ตอนนั้นเป็นมหานิกายอยู่ก็ไปอยู่กับหลวงปู่มั่น ไปอยู่กับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านเทศนาว่าการมา โอ้โฮ มันซาบซึ้ง มันมีบุญคุณ

เพราะเป็นมหานิกายอยู่ เป็นวัดบ้านอยู่ ก็อยู่โดยธรรมชาติของพระ แต่พอฟังเทศน์หลวงปู่มั่น โอ๋ย มันซาบซึ้งเพราะมันเห็นช่องทาง เห็นช่องทางในการปฏิบัติ เห็นช่องทางได้มรรค ได้ผล เห็นช่องทางจะชำระกิเลส เห็นช่องทางที่เป็นประโยชน์หมดเลย อู๋ย ได้ประโยชน์ ได้ประโยชน์จากหลวงปู่มั่นมหาศาลเลย แล้วอยากจะตอบแทนบุญคุณหลวงปู่บ้าง อยากจะอุปัฏฐากหลวงปู่บ้าง ท่านทำไม่ได้ เพราะท่านเป็นมหานิกาย ท่านเป็นมหานิกายนะ ภิกษุนานาสังวาส จะอยู่ด้วยกัน กินด้วยกันไม่ได้

ฉะนั้น เวลาหลวงปู่มั่นท่านเจ็บไข้ได้ป่วย หลวงปู่ฝั้นท่านอยากจะเอายา อยากจะเอาอะไรไปถวายหลวงปู่มั่น ท่านทำไม่ได้ ท่านทำไม่ได้ นี่ในวงสงฆ์ของเราหลวงปู่ฝั้นท่านคิดอย่างนี้ท่านถึงมาญัตติเป็นธรรมยุต พอญัตติเป็นธรรมยุตแล้ว นี่ท่านไปฟังเทศน์หลวงปู่มั่นใช่ไหม? หลวงปู่มั่นเทศนาว่าการอย่างไร พอเทศนาว่าการท่านได้อุปัฏฐากไง

อย่างเช่นหลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่เจี๊ยะเวลาหลวงปู่มั่นเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่ที่เชียงใหม่ มาโรงพยาบาลแมคคอร์มิค แล้วหมอบอกว่าตายๆ นี่พอหมอบอกว่าตาย หลวงปู่มั่นบอกไม่ตายหรอก ไม่ตาย หลวงปู่มั่นท่านรู้ของท่าน แต่เสร็จแล้วท่านมาอยู่ที่บ้านหนานแดง หลวงปู่เจี๊ยะเป็นคนอุปัฏฐาก หลวงปู่เจี๊ยะนะตกค่ำขึ้นมาท่านจะไปกำ เอามือไปกำหลวงปู่มั่น เพราะธาตุไฟท่านอ่อน คนมีโรควัณโรค แล้วฉันมื้อเดียว ไม่ได้ฉันกำลังก็อ่อนแอ หลวงปู่เจี๊ยะท่านไปกำ กำเอาธาตุไฟของเราให้หลวงปู่มั่นให้แข็งแรงขึ้นมา ให้มีกำลังขึ้นมา

นี่ท่านกำ ท่านดูแล ท่านรักษาของท่าน พอเสร็จแล้วหลวงปู่มั่นท่านจะฟื้นฟู ออกมาพักฟื้น หลวงปู่เจี๊ยะบอกว่า ครูจารย์ๆ ครูจารย์คนแก่ คนเฒ่า เวลาเช้าๆ ขึ้นมาถ้าฉันอาหารไม่ได้เขาต้องฉันนม สมัยนั้นโอวัลตินไม่ต้องพูดถึง ฉันนม นี่หนานแดงใครให้เงินมา เอาเงินไปซื้อนมข้นหวาน แล้วพยายามมาชงให้หลวงปู่มั่นฉันตอนเช้า ท่านไม่ยอมฉันนะ ทำอย่างไรท่านก็ไม่ยอมฉัน เพราะฉันแล้วคนดูมันเป็นการอ่อนแอ หลวงปู่เจี๊ยะอ้อนวอน อ้อนวอน ขอร้อง นี่พูดถึงความเคารพ ความเคารพ ความลงใจมันเป็นอย่างหนึ่ง

ฉะนั้น พูดถึงสังคมของสงฆ์ สังคมของพระนะ ฉะนั้น สังคมของโลก ลูกศิษย์กรรมฐาน ฉะนั้น ที่เข้าไปแล้วก็อยากได้ แต่ในเมื่อคนมันมีกิเลส เราไปมองกันว่าแย่งอย่างกับสุนัข ไปเอากันอย่างนั้น เพราะเขาอยากได้ของเขา แต่ความอยากได้ของโลกมันก็ทำไม่เหมาะสม จะว่าเหมาะสมไหม? ไม่เหมาะสม แล้วอย่างถ้าในการประพฤติปฏิบัติ มันก็ต้องปฏิบัติตามความเป็นจริง มันอ้อนวอนขอไม่ได้ มันจะเอาธรรมะมาแลกกันไม่ได้ ฉะนั้น เราไปมองว่าเป็นการแย่งกัน เป็นการไม่สมควร มันไม่สมควรจริงๆ

ฉะนั้น เวลาหลวงตาท่านก็พูด เห็นไหม ของเศษทิ้ง ของไม่ควร แต่ถึงที่สุดแล้วถามว่าแล้วสิ่งนั้นได้อานิสงส์อะไร? ได้อานิสงส์อะไร? แม้แต่การเห็นสมณะ การเห็นสมณะเป็นมงคลอย่างยิ่ง ถ้าเราเชื่อมั่นของเราว่าท่านเป็นพระอรหันต์ เราได้แค่เห็นภาพ เห็นกิริยาท่าทาง เห็นจริยาวัตรของท่าน เห็นอำนาจวาสนาของท่าน อันนี้มันก็เป็นบุญแล้ว

ฉะนั้น คำว่าเป็นบุญ ธรรมดาคนที่มีกิเลสอยู่มันก็โลภ มันก็อยากได้บุญเยอะๆ มันก็อยากได้กินอาหารที่เหลือจากท่าน เพราะถ้าอาหารเหลือจากท่านแล้ว ถ้าพระแล้วมันยังมีโอกาสมากกว่านั้นนะ ยังได้อุปัฏฐาก ยังได้เช็ด ได้ถู ได้สรงน้ำ ตอนอยู่ใหม่ๆ นะ ที่บ้านตาด เวลาท่านบิณฑบาตกลับมา เวลารับบาตรแย่งกันนะ ขอคนละนิดหนึ่ง เอาบาตรแขวนคอมาคนละนิดหนึ่ง เพราะอะไร? เพราะเราภาวนากันไม่ค่อยได้ ถ้าไปทำบุญกุศลจากท่านมา คิดว่าคืนนี้ภาวนาอาจจะได้สมาธิบ้าง คืนนี้ภาวนาแล้วอาจจะมีปัญญาบ้าง แย่งกันนะ แย่งกันอยากจะอุปัฏฐาก อยากจะได้บุญจากท่าน ได้บุญมา

ทีนี้การทำอย่างนั้นมันก็เป็นอย่างหนึ่ง ทีนี้เรื่องอาหารมันได้อานิสงส์อะไร เขาบอกว่าไปแย่งของอย่างนั้นได้อานิสงส์อะไร? เราคิดแบบวิทยาศาสตร์ไง แบบวิทยาศาสตร์ที่เขาคิดกันอยู่นี่ไง เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าให้ฉันยาดองน้ำมูตรเน่า เราก็บอกว่า ทางการแพทย์เขาบอกว่าน้ำปัสสาวะเป็นของเสียที่ขับออกมาจากร่างกาย มันจะเป็นของดีได้อย่างไร? นี่ของเสีย ของเสียแล้ว ของเสียแล้วเป็นประโยชน์ได้อย่างไร? แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้ฉันน้ำดองมูตรเน่า ถ้าน้ำดองมูตรเน่ามันแก้โรค แก้ภัยได้แล้วกันล่ะ ถ้ามันแก้โรค แก้ภัยได้

อันนี้ก็เหมือนกัน ของเศษ ของทิ้ง ฉะนั้น การปฏิบัติมันยังมีหลายอย่างที่จะเข้ามาเกื้อหนุนกัน มันไม่ใช่ว่าปฏิบัติแล้วนะ อย่างมหายานบอกว่าทำบุญไม่ได้บุญ ไม่ต้องทำบุญเลย นี่ทานไม่มีผลให้นั่งสมาธิไปเลย ให้นั่งสมาธิ แล้วเวลานั่งสมาธิไป มหายาน เห็นไหม เวลาปฏิบัติไปถึงที่สุดแห่งทุกข์ไหม? ก็บอกว่าปฏิบัติไปเพื่อชาติหน้า ปฏิบัติไปเพื่อไปตรัสรู้เอาชาติต่อไปเป็นพระโพธิสัตว์ แต่ของครูบาอาจารย์เราเอาชาตินี้ ถ้าเอาชาตินี้มันก็ต้องมีสิ่งต่างๆ มาเกื้อหนุนๆ

ทาน ศีล ภาวนา การเสียสละ เห็นไหม ดูทำข้อวัตรสิ ดูพระ นี่เวลาตกเย็นทำข้อวัตร เช็ดขี้ เช็ดเยี่ยว ล้างส้วม ล้างทุกอย่างพระทำหมด แล้วพระทำทำไมล่ะ? อ้าว มันก็กิจของสงฆ์ พอกิจของสงฆ์นะ จบกิจของสงฆ์แล้ว พอบอกว่าพระล้างห้องน้ำ โยมบอกว่าเข้าห้องน้ำไม่ได้ พระเขาล้างเดี๋ยวเป็นบาป อั้นขี้กลับไปขี้ที่บ้านนะ อย่าเข้านะ เวลาขี้นี่อั้นไว้กลับไปขี้ที่บ้าน มันเป็นกิจของสงฆ์ มันจบกันที่นั่น กิจของสงฆ์ กิจ ๑๐ อย่างของสงฆ์ กวาดลานเจดีย์ กิจของสงฆ์เขาทำความสะอาดของเขา ข้อวัตรของเขา โยมมาโยมก็ใช้เรื่องของโยมไป มันก็จบไป

นี่ก็ย้อนกลับมา กลับมาที่นี่บอกว่าอานิสงส์มันมีอะไร? อานิสงส์ก็ความรู้สึกนึกคิดของเขา แต่ที่เขาจัดให้เป็นประโยชน์ได้ก็เป็นประโยชน์ ถ้าที่ไหนเขา นี่พูดถึงว่าพระที่เป็นคุณธรรมนะ ทีนี้มันเป็นประเพณีวัฒนธรรมใช่ไหม? คนก็ทำตามกันไป ทำตามต่อๆ กันไป ถ้าพระที่ไม่มีคุณธรรม เขาทำอย่างนั้นมันก็ไม่สมควรทั้งนั้นแหละ

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าถ้ามันจริงหรือไม่จริง

ถาม : แล้วทำไมพระถึงไม่อบรมญาติโยมกับเรื่องการแย่งเศษอาหาร

ตอบ : อบรมแล้ว หลวงตาท่านไล่แล้วไล่อีกมันก็ไม่ไป หลวงตาไม่อบรมหรือ? หลวงตาด่าทุกวัน หลวงตาด่าทุกวัน แต่นี่ยิ่งด่ายิ่งชอบ ยิ่งด่ายิ่งทำ อ้าว เขาจะทำของเขา ฉะนั้น สิ่งที่ว่า นี่เราจะบอกว่าเรามองสังคมนะ สังคมมันก็ต้องมีเด็กเกิดใหม่ เด็กเกิดใหม่มันจะมีสิ่งใด ศรัทธาของคนนะ ศรัทธาใหม่ เห็นไหม ศรัทธาใหม่

เรามีอยู่ทีหนึ่ง เราอยู่บ้านตาด วันนั้นมันมีโยมมา เขาจัดอาหารให้สำรับให้ฉัน ให้ต่างคนต่างกิน พวกนั้นเขาก็อีโล้งโช้งเช้งเลย หลวงตาท่านลุกเลยนะ พอลุกขึ้นมาแล้วท่านก็นั่งลงบอกว่า เออ พวกนี้นะคงไม่เคยมา เขาไม่เคยมา ถ้าไม่เคยมา เข้าไปในบ้านตาดมีปัญหาทั้งนั้นแหละ พอเขาบอกว่า โอ้โฮ มาตั้งหลายร้อยกิโล พระก็ต้องเอาใจธรรมดา เอาใจสิ เดี๋ยวก็เอาใจให้ดูหรอก เดี๋ยวจะเอาใจให้ดู ท่านสอนอยู่นะท่านสอนอยู่ แต่มันสมควรสอนที่ใด ควรสอนไหม?

ท่านเคยพูดกับเราอยู่นะ ท่านเคยพูดกับเราว่า “ถ้าเขากล้ามาเราก็กล้าสอน” ท่านสอนหมดแหละ ขนาดที่เราอยู่กับท่านนะ ของสิ่งใดที่ได้มาแล้วมันจะเป็นประโยชน์ ทุกคนก็เอาไปใช้สอย แต่เวลาท่านถามเรา ท่านถามเราจริงๆ นะ คุยกับเราตัวต่อตัว

“หงบ อยู่กับเราได้อะไร?” เราก็งงไม่กล้าตอบ กลัวเจอไม้หน้าสาม

ท่านบอกว่า “หงบ อยู่กับเราได้อะไร?” เราไม่ตอบนะ เราซึ้งจนป่านนี้

ท่านบอก “ได้นี่ไง” ท่านตบอกท่าน

บอก “หงบ อยู่กับเราได้อะไร?”

เราไม่กล้าตอบ กลัวจะโดนไม้หน้าสาม

ท่านตบอกท่านเลยนะ บอกว่า “ได้นี่ อยู่กับเราได้นี่”

เราก็ไม่รู้นะ ยังไม่เข้าใจหรอก ตอนนั้นไม่เข้าใจ มาหลายปีเพิ่งมานึกได้ อย่างที่ว่านี่ได้หัวใจไง หัวใจสำคัญมาก ท่านถามเราเลย อยู่กับเราได้อะไร? ไม่กล้าตอบ เพราะตอบแล้วมันต้องแบบว่าตอบปัญหาต่อไป ถ้าตอบแล้วท่านต้องซัก แล้วต้องตอบให้ได้ ท่านถามว่าหงบ อยู่กับเราได้อะไร? เงียบ นั่งเงียบ ท่านตบอกท่านเองนะ ได้ไอ้นี่ ท่านว่าอย่างนี้ ได้ไอ้นี่ ตอนนั้นก็ยังไม่รู้ ไม่รู้หรอก แต่มารู้ตอนหลัง มารู้ทีหลัง อ๋อ จริงๆ ถ้าได้อย่างนี้แล้วจบ

ฉะนั้น สิ่งที่ถามมา ถึงว่ามันมีอานิสงส์อย่างใด? มันเป็นสังคม เป็นประเพณีวัฒนธรรม เป็นวัฒนธรรมที่ความเชื่อของสังคมของวัดป่า วัดป่าเขาเคารพครูบาอาจารย์ของเขา ทีนี้ในเมื่อเคารพครูบาอาจารย์ของเขา สิ่งที่เขาจะเข้าใกล้ชิดได้ก็อาหารที่ท่านฉันแล้วเหลือมา เหลือมา เห็นไหม แต่เขาเข้าถึงตัวท่านไม่ได้ เขาก็ขอเข้าถึงอาหารของท่าน เขาขอเข้าถึงอาหารของท่านเพื่อการเคารพบูชา ทีนี้การเข้าถึงอาหารของท่านมันเป็นสิ่งที่มีน้อย คนมีเยอะ มันก็แย่งกัน อย่างที่เขาเขียนมานี่ แย่งกันแบบสุนัข ถ้ามันแย่งกันแบบสุนัข นี่คือภาพมองของเขา

ฉะนั้น ถ้าภาพมองของเขา เราต้องเคารพสิทธิ์กัน ในเมื่อเขามีสิทธิมองเขาก็มองอย่างนั้นจริงๆ แล้วเราล่ะ? แล้วพวกเราจะทำอย่างไรกันเพื่อเป็นประโยชน์ เห็นไหม ในเมื่อเราเป็นประโยชน์มันก็เป็นประโยชน์ ฉะนั้น สิ่งที่ความคิดของเขาก็คือความคิดของเขา ความคิดของเรา เราต้องทำคุณงามความดีของเรา นี่มันเป็นผลบุญผลกรรมของคน มันเป็นทิฐิมานะ เป็นความเห็นนะ แล้วสุดท้ายเขาบอกว่าถ่ายทอดนะ มีพระถ่ายทอดสดที่บ้านตาด เช้าขึ้นมาก็เห็นหลวงพ่อให้ยาคูลท์ๆ

อันนั้นก็เป็นความเมตตาของท่าน เป็นการแสดงออกทางน้ำใจของท่าน ท่านจะแสดงน้ำใจออกว่าท่านเมตตา ท่านอยากให้ ทีนี้การว่าอยากให้ ในทางธรรมนะเขาบอกว่าให้เมตตาตน ถ้าเมตตาแต่คนอื่นไม่เมตตาตน จะทำให้เอ็นเราขาด ให้เอ็นเราขาด ฉะนั้น การเมตตาเขา นี่ท่านจะแสดงความเมตตาของท่าน ด้วยความเมตตาของท่าน

ฉะนั้น อย่างที่เราทำเราก็แสดงน้ำใจของเรานะ เด็กๆ นี่นะเราแสดงน้ำใจกับมัน มันรู้นะ แม้แต่สัตว์มันยังรู้เลยว่าเข้าไปอยู่ใกล้ใครเป็นคุณหรือเป็นโทษ ถ้าสัตว์ตัวไหนมันเข้าใกล้ใครนะ คนนั้นไม่ทำร้ายมัน มันจะเข้าใกล้คนนั้น คนๆ ไหนเป็นคนอำมหิต สัตว์มันไม่กล้าเข้าใกล้เลยล่ะ มันไม่เอา แต่ถ้าคนไหนมีน้ำใจสัตว์มันยังเข้าใกล้ มันยังรับรู้ได้เลย

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าท่านแจกยาคูลท์ๆ แล้วพอเสร็จแล้วก็ชุลมุนกัน เราจะบอกว่าถ้าเราจะจับผิดกันมันก็ผิดไปทั้งนั้นแหละ แล้วถ้าจับผิดกัน ใครจะมีคุณธรรมมากน้อยแค่ไหน? ถ้ามีคุณธรรมมากน้อยแค่ไหนเขาจะมองถึงรายละเอียด รายละเอียดว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ จริตนิสัยเขาเป็นแบบนี้ หรือว่าผู้นำเป็นแบบนี้ ถ้าผู้นำที่ดี ผู้นำที่ดี ทำไมผู้ตามเป็นแบบนี้? ผู้ตามกับผู้นำมันแตกต่างกันอย่างไร?

นี่ถ้าเรามองในสังคมของเขา แล้วถ้าความเห็นของเราล่ะ? เราว่าเรามีความซาบซึ้ง เราเห็นว่ามันถูกต้อง แล้วเราปฏิบัติถึงไหนล่ะ? นี่ในใจเรา ใจเราพ้นจากกิเลสแล้ว พ้นจากคุณงามความดี เรามีคุณงามความดีขนาดไหนเราถึงมาคิดอย่างนี้ล่ะ? ถ้าเราคิดแบบนี้ นี่ปัญหาอย่างนี้เราลบทิ้งก็ได้ ไม่ตอบก็ได้ แต่เขาถามมาเราก็เห็นประโยชน์ของเขา ประโยชน์ว่าใครก็แล้วแต่มองเข้ามาในสังคมของเรา แล้วเขามาถึงความบกพร่องของสังคมของเรา เราก็ควรเอาสิ่งนี้มาเพื่อเป็นประโยชน์กับพวกเราได้แก้ไข แล้วถ้าเขามองถึงว่าเขาแจกยาคูลท์อย่างนี้

อันนี้ถ้าเรามองถึงเขาแสดงออกทางน้ำใจล่ะ? เขามีน้ำใจต่อท่านอาจารย์ ท่านอาจารย์ก็มีน้ำใจต่อเขา ถ้ามีน้ำใจต่อเขา แต่เวลาท่านอาจารย์จะภาวนา ท่านอาจารย์ทำภาวนาของท่านที่กุฏิของท่าน ใครไปเห็นกับท่านบ้างล่ะ? ท่านก็ทำคุณงามความดีส่วนตัวของท่านเหมือนกัน ท่านก็ปฏิบัติของท่านเพื่อประโยชน์กับท่าน ฉะนั้น เรามองแล้วเราเอามาแก้ไขใจเราด้วย ไม่ใช่มองข้างนอกแล้วเราว่าเรามองถูกอยู่คนเดียวไง

เราไม่ได้มองอยู่คนเดียวนะ ในสังคมเรายังเข้าไม่ถึงหรอก ในใจที่เขาเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ใจที่เขาเป็นธรรมถึงกัน เขาเคารพบูชากันแค่ไหน? ถ้าการเคารพบูชา เขาไม่มีการหน้าไหว้หลังหลอก ไม่มีการเหยียบย่ำกันเบื้องหลัง ไม่มีการทำร้ายกันเพราะใจเป็นธรรม แต่ถ้าใจเป็นกิเลส เห็นไหม มองนี่มองคิดว่าเป็นธรรม แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่กลับมาทำร้ายใจเราหรือเปล่า มันกลับมาทำร้ายในหัวใจของเรา สิ่งที่เราจะปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมันยังไม่ได้

การที่ว่าเราคิดหรือเราคิดเป็นผลลบๆ ใจเรามันก็จะลบไปเรื่อยๆ แล้วมันจะไม่เป็นประโยชน์กับเรา ถ้ามันเป็นผลลบๆ ไปเรื่อยๆ เรานี่ตัวดีเลยแหละ พูดเรื่องลบๆ เราจะพูดเรื่องบวกหรือเรื่องลบก็แล้วแต่ เป็นการพูดเพื่อให้มีกำลังใจ เป็นการพูดเพื่อมีการแก้ไข เป็นการพูดเพื่อจรรโลง กับการพูดเพื่อการทำลายมันเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ ถ้าการพูดเพื่อทำลายมันไม่เป็นประโยชน์กับใครเลย แต่การพูดเป็นการจรรโลง เป็นการบอกกันเป็นการกล่าวเตือนกัน เป็นการบอกให้สังคมเรามีการแก้ไข มีการบำรุงรักษา สังคมนั้น หรือในหมู่สงฆ์นั้นจะเจริญขึ้นมาได้

ฉะนั้น ความเห็นของเขาก็เป็นความเห็นของเขา ถ้าความเห็นของเรานะมันเป็นผลบุญผลกรรม ผลบุญผลกรรมของแต่ละคน ผลบุญผลกรรมที่ดีจะทำให้จิตใจนี้มั่นคง ผลบุญผลกรรมที่ทำไม่ดี จิตใจนั้นจะไม่ได้เกิดเป็นเทวดา เอวัง