ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ธรรมตรง ใจคด

๖ ม.ค. ๒๕๕๖

 

ธรรมตรง ใจคด
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๖ มกราคม ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๑๒๓๔. ใช่ไหม? ข้อ ๑๒๓๔. เลย

ถาม : ๑๒๓๔. เรื่อง “ขอบพระคุณหลวงพ่อมาก” (เขาขอบคุณเรื่องนี้นะ)

ฟังคำถามที่ยกเลิกแล้ว แต่หลวงพ่อยังแนะนำยอดเยี่ยมเลย

ตอบ : ขอบคุณมากๆ เขาเขียนนะ เขายกเลิกนั่นน่ะ แล้วเราตอบไปแล้ว

ถาม : ๑๒๓๕. เรื่อง “สำนึกผิด”

กราบนมัสการหลวงพ่อสงบด้วยความเคารพยิ่ง กระผมเคยเรียนถามเรื่องพิจารณากายติดต่อกันมา คราวนี้ไม่ได้เรียนถามอันใดครับ แต่สำนึกและเข้าใจที่หลวงพ่อบอกแล้วครับว่ากระผมฟังมาก จับคำสอนครูบาอาจารย์ท่านต่างๆ มาปะติดปะต่อเอาเอง แล้วมาเรียนถามหลวงพ่อ โดยที่กระผมไม่เข้าใจเองจากภาคปฏิบัติ จึงส่งคำถามที่ไม่เหมาะสม กระผมขอโอกาสฟังธรรมหลวงพ่ออยู่เช่นเดิมครับ คราวหน้าถ้ามีคำถามจะเป็นคำถามที่ติดข้องจากการปฏิบัติจริงๆ กระผมจะไม่ถามมั่วซั่วอย่างนี้อีกแล้วครับ กระผมสำนึกผิดและกราบขอขมาหลวงพ่อด้วยความเคารพ ขอหลวงพ่อเมตตาอดโทษให้กระผมด้วยครับ

ตอบ : นี่คำถามเป็นอย่างนี้ เขาบอกว่า “คราวนี้ไม่ได้เรียนถามอันใดครับ” นี่เขาเขียนมาแบบนี้ ไม่ใช่คำถาม ไม่ใช่คำถามเดี๋ยวเราจะตอบ ทีนี้เพียงแต่ว่าก่อนจะตอบเราจะบอกว่า

ถาม : กระผมสำนึกผิด และกราบขอขมาหลวงพ่อด้วยความเคารพ ขอหลวงพ่อเมตตาอดโทษให้กระผมด้วย

ตอบ : คืออดโทษแล้วไง คือว่าสิ่งที่ผ่านไปแล้วก็คือผ่านไปแล้ว ผ่านไปแล้วนะ สิ่งที่ผ่านไปแล้วใช่ไหมเราไม่ได้ผูก ไม่ได้เอามาเป็นการผูกโกรธ แต่เรายกโทษให้แล้ว เราไม่มีโทษ ไม่มีภัย ไม่คิดสิ่งใดอยู่แล้ว สิ่งที่ผ่านมาก็คือผ่านมา ทีนี้เวลาคำตอบ เดี๋ยวตอบแล้วเดี๋ยวจะหาว่าหลวงพ่อบอกว่าให้อภัยแล้วทำไมหลวงพ่อเล่นซะแรงเลย ไม่นะ คำจะอธิบายต่อไปข้างหน้า มันจะอธิบายให้เห็นถึงว่าสังคมเป็นแบบใด การปฏิบัติเป็นแบบใด ธรรมเป็นแบบใด โลกเป็นแบบใด มันไม่เหมือนกันหรอก นี่หลวงตาจะบอกโลกกับธรรม โลกกับธรรมตลอดเวลา

ฉะนั้น ถ้าเราตอบไปแล้วผู้ถามจะบอกว่าสำนึกผิดแล้ว เห็นโทษแล้ว เข้าใจแล้ว แล้วต่อไปคำถามจะเป็นคำถามภาคปฏิบัติ จะไม่จับคำสอนของครูบาอาจารย์เอามาปะติดปะต่อแล้วเอามาถาม นี่สิ่งนี้จบแล้ว ฉะนั้น สิ่งที่ว่าความเข้าใจนี่เข้าใจแล้ว แล้วว่าพอขอขมาลาโทษแล้วเรายกให้หมดว่าอย่างนั้นเลย ฉะนั้น ยกให้หมดแล้ว เพียงแต่จะมาบอก จะมาอธิบายให้ฟัง อธิบายด้วยเหตุด้วยผลว่าธรรมะ สัจจะความจริงมันก็เป็นสัจจะความจริง

ถ้าสัจจะความจริงนะ นี่ธรรมตรงแต่ใจคนมันคด ถ้าใจคนมันคด เวลาอธิบายธรรมะ เวลาอธิบายธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่หัวใจมันคด ถ้าหัวใจมันคดมันไม่เข้าใจธรรมตามความเป็นจริงหรอก ถ้ามันไม่เข้าใจตามความเป็นจริง แต่อธิบายธรรมะใช่ไหม? อธิบายธรรมะก็อธิบายโดยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยพระไตรปิฎก โดยอ่านหนังสือ โดยการศึกษา โดยการค้นคว้า

การศึกษา การค้นคว้ามาต่างๆ เป็นเรื่องโลกๆ ทั้งนั้นแหละ ถ้าเป็นเรื่องโลกๆ ทั้งนั้น นี่ถ้าใจมันคด ถ้าใจคดแสดงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามามันบิดเบือนทั้งนั้นแหละ ถ้ามันบิดเบือนไปแล้ว นี่พูดถึงใจมันคดนะ แต่ถ้าใจคนตรงล่ะ? นี่ถ้าพูดถึงว่าธรรมะตรง แล้วใจเข้าสู่ธรรม สัจธรรมความเป็นจริง ผู้ที่แสดงธรรมแบบนั้น หลวงตาท่านบอกว่าคนที่มีธรรมนะจะพูดธรรมะเข้ามา จะพูดอย่างไรก็แล้วแต่จะมีธรรมะนั้นออกมา คนที่ไม่มีธรรมนะ นี่ไม่มีธรรมพูดอย่างใดมันก็ไม่มีหรอก มันเป็นเสียงลม เสียงแล้งเฉยๆ

ถ้าเสียงลม เสียงแล้งเฉยๆ แต่คนไปฟัง เห็นไหม คนฟัง นี่คนฟังเขาฟังแล้วมีความเข้าใจว่านี้เป็นธรรม เป็นธรรมเพราะอะไร? เพราะพูดธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมือนพูดศัพท์ พูดภาษาเราก็สื่อสารภาษากันได้ แต่ภาษามันโกหกก็ได้ พูดโกหกมดเท็จก็ได้ พูดจริงก็ได้ แต่ภาษาก็คือภาษา เราพูดแล้วเราเข้าใจใช่ไหม? ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถ้าใจมันคดนะ มันก็พูดแบบนั้นแหละเพราะใจมันคด พูดธรรมะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เราเข้าใจด้วยไม่ได้หรอก

ถ้าเราเข้าใจด้วยไม่ได้ เห็นไหม ฉะนั้น เราไปฟังมา เพราะใจเราเราเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติใหม่ เรามีกิเลสแน่นอน เรามีกิเลสแน่นอน แม้แต่ศัพท์ในธรรมะ ถ้าเราผู้ที่ศึกษาใหม่ พอเจอศัพท์ธรรมะก็งงแล้ว เวทนาคืออะไร? รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สัญญาคืออะไร? สัญญาก็คือเขาทำสัญญาซื้อขายกันนู่นไง เขาไม่ได้ว่าสัญญาคือความจำ เห็นไหม สังขาร สังขารก็คือร่างกายไง แต่ถ้าสังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง สังขารเป็นความคิด ถ้าคนปฏิบัติไปมันจะเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป แม้แต่ศัพท์ คนที่ยังไม่เคยศึกษามาฟังศัพท์ในพุทธศาสนาก็งงแล้วแหละ

ฉะนั้น พอเราคุ้นเคยกับศัพท์ เวลาเขาพูดธรรมะเราก็จับตรงนี้ได้ เราก็เข้าใจได้ เราเข้าใจได้นี่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีวันเสื่อม ไม่มีวันเสื่อม ใครจะทำลายไม่ได้ ธรรมะไม่เคยเสื่อม ธรรมะเป็นความจริงอยู่อย่างนั้น แต่เวลาคนศึกษานี่ใจมันคด ถ้าใจคนมันคดนะ ใจคนมันคด เพราะคนที่ปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ของเรานะ อย่างเช่นหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติมา ท่านหัวหกก้นขวิดมา ท่านลำบากลำบนมาขนาดไหน ท่านรู้ของท่าน

เวลาหลวงปู่มั่นท่านพิจารณากายของท่าน พิจารณากายไปแล้วออกมามันก็เหมือนเดิมๆ สุดท้ายแล้วท่านมาลาโพธิสัตว์ของท่าน แล้วท่านปฏิบัติไป พอเวลาเข้าพิจารณากาย เห็นกายแล้วพิจารณาไปแล้วมันปล่อยวางเข้าไป อืม อย่างนี้ใช่

คำว่าอย่างนี้ใช่เพราะอะไร? เพราะพิจารณากายเหมือนกัน พิจารณากายเริ่มต้น พิจารณากายด้วยบารมีของพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ได้ฌานโลกีย์ พระโพธิสัตว์จะเข้าสู่อริยสัจไม่ได้ พระโพธิสัตว์จะพิจารณาเข้าสู่มรรค เพราะเข้าสู่มรรคมันจะเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี พระโพธิสัตว์จะต้องสร้างบุญญาธิการไป ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย ถ้ามันเข้าสู่โสดาบัน เข้าสู่โสดาบันก็ ๗ ชาติเท่านั้น มันจะสืบต่อไปเป็นพระโพธิสัตว์ได้อย่างไร? ฉะนั้น พระโพธิสัตว์จะเข้าสู่อริยสัจไม่ได้ ถ้าพระโพธิสัตว์จะเข้าสู่อริยสัจไม่ได้ก็ได้ฌานโลกีย์

ฉะนั้น พระโพธิสัตว์ที่สร้างบุญญาธิการมามหาศาล พระโพธิสัตว์ที่สร้างมาฌานจะเข้มแข็งมาก จะรู้เรื่องวาระ จะรู้เรื่องจิตวิญญาณ จะแก้ไข เพราะพระโพธิสัตว์จะช่วยเหลือเจือจานอย่างนี้ พระโพธิสัตว์จะเริ่มต้นปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ จิตใจยังไม่มั่นคงขึ้นมา นี่สมาธิคือพื้นฐานของใจยังอ่อนด้อย นี่ถ้าอ่อนด้อย พอเล็งญาณสิ่งใด พิจารณาสิ่งใดโดยใช้จิตจะดูสิ่งใดมันยังมีความผิดพลาดอยู่มาก มีความผิดพลาด พระโพธิสัตว์ก็ยังมีระดับของพระโพธิสัตว์ เพราะพระโพธิสัตว์สร้างบุญญาธิการมากน้อยขนาดไหน ฉะนั้น เวลาพระโพธิสัตว์ถึงจะเข้าสู่อริยสัจไม่ได้

หลวงปู่มั่นท่านปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์มา หลวงปู่มั่นท่านปรารถนาพุทธภูมิมา แต่หลวงปู่เสาร์ท่านปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้ามา ฉะนั้น พอมาประพฤติปฏิบัติก็จะสร้างบุญญาธิการไป แต่หลวงปู่มั่นท่านพิจารณาของท่านเองว่าท่านติดโพธิสัตว์ ท่านถึงลาพระโพธิสัตว์ของท่าน ท่านบอกว่าการปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ ปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาสร้างสมบุญญาธิการไป พอเวลาสิ้นสุด เวลาเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาก็เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน แต่มีบุญญาธิการมาเพราะได้สร้างสมบุญญาธิการมามาก แต่ถ้าในชาติปัจจุบันนี้ ถ้าประพฤติปฏิบัติจนถึงที่สุดแห่งทุกข์ก็เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน

ฉะนั้น ท่านถึงเห็นว่าถ้าเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน ในเมื่อมันสะอาดบริสุทธิ์ ก็คิดตัดสินใจ ตัดสินใจท่านก็เลยลาพระโพธิสัตว์ของท่าน เวลาลาพระโพธิสัตว์ของท่านแล้ว เวลาท่านปฏิบัติไป พิจารณากายเหมือนกัน เห็นไหม พิจารณาเหมือนกัน พิจารณากายครั้งแรก พิจารณากายไปแล้วมันไม่ผ่าน มันไม่ทะลุไป แต่พอพิจารณากายอีกครั้ง เวลาลาพระโพธิสัตว์ พอพิจารณากายไป มันถอดมันถอน มันถอดมันถอนคนจะรู้ได้ พอคนรู้ได้ นี่สิ่งนี้ถูกต้อง ถูกต้อง

พิจารณากายครั้งแรก พิจารณากายไปแล้วออกมาเป็นปกติ ออกมาเป็นปกติเพราะว่าจิตใจมันมีบารมีการถือพระโพธิสัตว์อยู่ เวลาโพธิสัตว์แล้วมันถึงเป็นความจริง นี่เวลาภาวนาไปมันยังรู้ได้เลยว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด ถ้าใจคนตรงนะพอพิจารณามันเทียบเข้ามาในหัวใจของเรา ถ้าเทียบมาในหัวใจของเรามันเป็นจริงหรือไม่เป็นจริง ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมา เวลาพิจารณาไปแล้วมันจะเป็นจริง ถ้าเป็นจริงขึ้นมา พิจารณาไป นี่เวลาเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามีมันมีเหตุมีผล ทำไมถึงเป็นโสดาบัน ทำไมถึงเป็นสกิทาคามี ทำไมถึงเป็นอนาคามี ทำไมถึงเป็นพระอรหันต์

นี่มันต้องมีเหตุมีผลสิ ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโกมันรู้จริง เห็นจริงใช่ไหม? ถ้าเราไม่รู้จริงเห็นจริงเราจะเป็นได้อย่างไร? เราเป็นไม่ได้หรอก ถ้าเราเป็นไม่ได้ขึ้นมา นี่พอเป็นไม่ได้ พอปฏิบัติไปสงสัยไหม? สงสัย นี่ใจคด ถ้าสงสัยแล้ว ถ้าคนปฏิบัติไปนะถ้ายังสงสัยอยู่ เวลาบอกกล่าว เวลาแก้ไข เวลาบอกธรรมะมันถึงคลาดเคลื่อนไง มันคลาดเคลื่อนได้ด้วยการที่แสดงออกมา ว่าพิจารณาอย่างนี้ พิจารณากายอย่างนี้ เป็นโสดาบันอย่างนี้ มันถึงผิดมาตลอดไง

มันผิดเพราะอะไร? เพราะว่าใจคดๆ ถ้าใจคดมันไม่มีความจริงในหัวใจ ถ้าไม่มีความจริงในหัวใจ เวลาพูดธรรมะมาก็พูดธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฉะนั้น เวลาคนไปฟัง ไปฟังมาก็เข้าใจได้ๆ พอเข้าใจได้ นี่เป้าหมายผิดแล้ว ผิดเพราะอะไร? เพราะแผนที่มันชี้ไปที่ผิด แผนที่ชี้ไปที่ผิดเพราะเขาบอกวิธีการที่ผิดไง เขาบอกวิธีการที่ผิด เห็นไหม นี่พระโสดาบันที่พิจารณาทางจิตที่ยังละกายไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้ไง มันเป็นไปไม่ได้ว่าพระโสดาบันพิจารณาเป็นพระโสดาบันด้วยทางจิต แล้วยังละกายไม่ได้มันไม่มี ไม่มีหรอก

พระโสดาบันนะจะพิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรมในสติปัฏฐาน ๔ เวลาพิจารณาไปแล้วละกายเหมือนกัน ละกายคือละสักกายทิฏฐิ มันเป็นทิฐิที่มันลงสู่กาย นี่ยึดมั่นถือมั่นว่ากายนี้เป็นของเรา ฉะนั้น พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม จะพิจารณาสิ่งใดมันไปละที่สักกายทิฏฐิ ทีนี้ว่าพิจารณากายแล้วถึงจะละสักกายทิฏฐิ พิจารณาเวทนาไม่ละสักกายทิฏฐิไปละเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรมมันไม่ละกาย มันละสักกายทิฏฐิ ทิฏฐิมานะมันเป็นความรู้สึก มันไม่ใช่เป็นเรื่องของกายที่จะมาย่อยสลายกัน

ฉะนั้น เวลาพิจารณาไปมันถึงเป็นความจริง ถ้าเป็นพระโสดาบันจริง เขาจะรู้ตามความเป็นจริง ถ้าเป็นพระโสดาบันไม่จริง เวลาอธิบายออกมาแล้ว นี่ผู้ที่ไปฟัง เห็นไหม ธรรมะนี่ตรง ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีคลาดเคลื่อนเลยถ้าใครเข้าสู่ความจริงนะ แต่ถ้าใจมันคด เพราะใจมันคดมันไม่เข้าใจความเป็นจริงอันนั้น เวลาอธิบายออกไปมันถึงเป็นแบบนั้น ถ้าเป็นแบบนั้น นี่พูดถึงเวลาผู้แสดง ผู้ที่แสดงมา แล้วผู้ที่ได้ยินมาล่ะ?

นี่สิ่งที่มีปัญหาคือผู้ได้ยินมา พอได้ยินมา เราเองมีกิเลสอยู่แล้วใช่ไหม? เราเองมีความสงสัยอยู่แล้ว แล้วเวลาไปฟังธรรม ฟังธรรมเราจับประเด็น จับประเด็นได้หรือไม่ได้ก็แล้วแต่เราก็สงสัยของเราแล้ว นี่เราสงสัยของเรา แล้วไปเจอธรรมที่เวลาพูดถึงความคลาดเคลื่อนอย่างนั้น แล้วเราก็ไปเชื่อของเรา ฉะนั้น เราถึงไม่เชื่อ เราไม่เชื่อเลยใครจะพูดสิ่งใดมันเป็นเรื่องของเขา มันเป็นเรื่องของเขา คำว่าเรื่องของเขาคือกรรมของสัตว์ไง

กรรมของสัตว์ ธรรมะนี่ตรงอยู่แล้ว ถ้าใครเป็นธรรมนะ พูดธรรมะถ้าเป็นธรรมจริง ตรงอันเดียวกันไม่มีคลาดเคลื่อนเลย แต่ถ้าพูดถึงถ้าใจคนมันคด เวลาพูดธรรม เวลาแสดงธรรมขึ้นมา เพราะใจมันคด คำว่าใจคดนะ ใจคดใช่ไหม? เพราะใจคดมันมีเล่ห์มีกล มันมีเล่ห์มีเหลี่ยม พอมีเล่ห์มีเหลี่ยม แสดงธรรมขึ้นมามันแสดงธรรมออกไป ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ตัวที่แสดงมันหวังผลอะไร? เวลาแสดงธรรมนะ แสดงธรรม พูดถึงว่าตั้งแต่เริ่มต้น ท่ามกลาง ที่สุด ไม่พูดกระทบใคร ไม่พูดเพื่อหวังลาภ ไม่พูดเพื่อสิ่งใดทั้งสิ้น

แต่นี้ถ้าไม่พูดกระทบใคร เวลาหลวงตาท่านพูดถึงการแสดงธรรมของท่าน เวลาท่านพูดถึงผู้ที่ปฏิบัติท่านบอกว่าไม่ได้พูดกระทบคนที่อยู่บนศาลานี้นะ พูดถึงผู้ที่อยู่ตรงข้ามฝั่งโขงไปนู่น เห็นไหม ถ้ามันพูดถึงตัวบุคคล ตัวบุคคลคือไม่กระทบสิ่งใด ไม่กระทบสิ่งใด แต่เวลาท่านพูดท่านพูดกระทบกิเลสไง ท่านพูดกระทบกิเลส

ในเมื่อใจของสัตว์โลก ใจของคนมันมีกิเลส ถ้าพูดถึงกิเลส ไม่ได้พูดถึงบุคคล ไม่ได้เสียดสีใคร แต่ทิฐิมานะ กิเลสตัณหาความทะยานอยากของคนมันมีไหม? มี ถ้าพูดแทงเข้าไปอยู่ที่กิเลสตัณหาความทะยานอยากนั้นมันพูดกระทบกิเลสไง ก็พูดถึงความเป็นไปของใจ ถ้าพูดถึงความเป็นไปของใจมันต้องพูดถึงตามความเป็นจริง

นี่ถ้าพูดถึงมีความเป็นจริง เวลาแสดงธรรม แสดงธรรมตั้งแต่เริ่มต้น ท่ามกลาง ที่สุด เสมอต้นเสมอปลาย แล้วมันมีเหตุมีผลของมัน นั่นเป็นความจริงของมันถ้าใจไม่คด แต่ถ้าใจคดมีเล่ห์มีเหลี่ยม เรื่องออกไปมันก็ผิดแล้วแหละ ผิดเพราะอะไร? ผิดเพราะใจคด คนที่ใจคดนะ อย่างเช่นเรายกหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นเวลาท่านพิจารณากายที่ไม่ได้ท่านก็รู้ว่าไม่ได้ ท่านไม่ได้ท่านถึงลาพระโพธิสัตว์ เวลาท่านพิจารณากายของท่านได้มันไปแล้ว มันไปแล้ว

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าคนพิจารณานะ คนที่ปฏิบัติเวลาพิจารณาแล้วมันไม่ไปมันรู้ มันพิจารณาไปมันรู้แล้วแหละว่ามันไม่ไป ถ้ามันซื่อสัตย์ มันซื่อสัตย์มันก็จะพูดอย่างนั้นไม่ได้ ถ้าซื่อสัตย์เราพิจารณาไปแล้วมันปล่อยอย่างไร? ถ้ามันปล่อยแล้ว มันปล่อยก็ปล่อยไปเรื่อยๆ ถ้าคนพิจารณาแล้วเคยปล่อยก็คือเคยปล่อย แต่เคยปล่อยแต่ไม่เคยขาด ถ้าเคยปล่อยไม่เคยขาดมันก็รู้ถึงอาการปล่อย ถ้าคนพิจารณาไปแล้วมันปล่อยนะมันปล่อย เราพิจารณา เหมือนกับเราสงสัยสิ่งใดอยู่แล้วเราใช้สติปัญญามันเข้าใจ เข้าใจมันก็หมดความสงสัย ก็เท่านั้นแหละ

นี่ก็เหมือนกัน พิจารณาเวลามันปล่อยก็คือปล่อยนั่นแหละ ปล่อยแล้วมันรู้อะไรต่อ? มันจบอย่างไรล่ะ? เห็นไหม เพราะมันไม่เคยขาด แต่เวลามันขาดนะ เวลาพิจารณาไป พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม เวลามันขาด นี่ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย เวลามันขาด กาย เวทนา จิต ธรรมมันแยกออกจากกัน แล้วจิตมันรวมลง จิตรวมลงจิตมันรวมแล้วมันรู้อย่างใด? เวลามันขาดแล้วมันเหลืออะไร? เวลาเหลือสิ่งนั้นมันจะชัดเจนมาก พอมันชัดเจนขึ้นมา เห็นไหม ถ้าธรรมะก็ตรง ใจก็ตรงนะ คนที่ไปประพฤติปฏิบัติมันจะมีประโยชน์มาก

แต่ถ้าเวลาของเราผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินะ เรามีความลังเลอยู่แล้วโดยธรรมชาติเรามีความลังเลอยู่แล้ว แล้วเราปฏิบัติไปเรารู้สิ่งใดก็แล้วแต่ เรารู้นี่มันรู้โดยสามัญสำนึก แต่จิตใต้สำนึก สามัญสำนึกกับจิตใต้สำนึก สามัญสำนึกมันรู้ แต่จิตใต้สำนึก ขณะที่สามัญสำนึกมันรู้ จิตใต้สำนึกมันก็หยุดของมัน แต่พอเวลาสักพักหนึ่ง พอสามัญสำนึกมันชักรวนนะ จิตใต้สำนึกมันยิ่งสงสัยไปใหญ่เลย แต่เวลาพิจารณาเข้าไป สามัญสำนึก นี่เวลาโลกียปัญญา เวลาพิจารณาไปจิตใต้สำนึกเลยล่ะเวลามันพิจารณาเข้าไปด้วยกาย เวทนา จิต ธรรม เวลามันคลายออกนะจบเลย ถ้าจบสิ่งนั้น สิ่งที่ธรรมะก็ตรง ใจคนก็ตรง ใจคนไม่คด ถ้าใจคนคดมันเป็นแบบนั้น

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเริ่มต้นที่ถามมา เห็นไหม คำถามมาระบุคนนั้นๆ มาเราไม่พูดถึงเลย เราไม่พูดถึง เพราะว่ามันเป็นสิทธิส่วนบุคคล นี่มันเป็นสิทธิ์ของใครก็แล้วแต่ ใครมีวุฒิภาวะอย่างใดก็เป็นสิทธิ์ของเขา แต่ใครแสดงออกมาแล้ว ถ้าผู้ที่ได้ยินได้ฟังเขารู้ของเขา นี่เขารู้แล้ว ผู้รู้มี หลวงตาท่านพูดบ่อย จะพูดสิ่งใด จะแสดงสิ่งใด ถ้าเราไม่รู้นะเราพูดไปด้วยความไม่รู้ ผู้รู้เขามี ถ้าผู้รู้เขามีเขาเข้าใจได้ ถ้าเขาเข้าใจได้ เขาจะรู้ถึงวุฒิภาวะของผู้พูด ว่าผู้พูดมันมีมากน้อยแค่ไหน นี้พูดถึงโดยข้อเท็จจริงนะ ข้อเท็จจริง

ฉะนั้น ในใจของคน ถ้ามันมีธรรมอยู่แล้วมันรู้ตั้งแต่เริ่มต้นแล้วแหละ ทีนี้รู้เริ่มต้นแล้ว เพียงแต่ว่าคนที่ไปได้ยินได้ฟังมา แล้วถือว่าสิ่งนั้นเป็นความจริงไง พอถือสิ่งนั้นเป็นความจริงแล้วเราก็ยึดมั่น เรามั่นใจของเรา พอมั่นใจของเรา เห็นไหม ทำให้เราเขว ฉะนั้น เวลาฟังธรรม นี่ฟังธรรมแล้ววางไว้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดถึงกาลามสูตร ไม่ให้เชื่อแม้แต่อาจารย์ของเรา ไม่ให้เชื่อใครทั้งสิ้น แต่ขณะที่เรามีศรัทธาความเชื่อมันเข้ามาฟัง ฟังแล้วศึกษาไงอย่าเพิ่งเชื่อ แล้วปฏิบัติของเราไป

ถ้าเราทำของเราได้จริงนะ นี่มันจะพิสูจน์กับอาจารย์ของเราว่าอาจารย์ของเราทำถูกต้องไหม? ถ้าถูกต้องมันเป็นอันเดียวกัน แต่ถ้าเราทำแล้ว นี่ถ้าอาจารย์ไม่ถูกต้อง เราไม่ถูกต้องก็เป็นอันเดียวกัน แต่ถ้าวันไหนเราถูกต้อง เห็นไหม เห็นเลยว่าอาจารย์ผิดอย่างไร? นี่แล้วถ้าเขาผิดอย่างไร เขาถูกอย่างไร มันก็สิทธิของเขา สิทธิของเขา อำนาจวาสนาของคนไม่เหมือนกัน แล้วถ้าเรากาลามสูตร เราวางไว้หมดเลยแล้วเราพิสูจน์ของเรา เราไม่เสียหายไง แต่ถ้าเราเชื่อสิ่งใด เรายึดมั่นสิ่งใดนะมันคือเป้าหมาย

ถ้าเรารู้เป้าหมาย นี่ปัจจุบันนี้เราว่าพิจารณาไปแล้ว ผู้ที่ปฏิบัติมันรู้โจทย์อยู่แล้ว พอรู้โจทย์อยู่แล้วนะ นี่สักแต่ว่า ไม่มีสิ่งใดเลย มันยังไม่ได้ทำเลยมันเป็นสักแต่ว่าแล้ว เห็นไหม ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรง แต่ใจมันคด พอใจมันคด อ้างอิงธรรมอย่างนั้น ปกติแล้วเราเป็นปุถุชน เราไม่ได้ปฏิบัติเราก็ว่าเราเป็นคนหนา พอเราปฏิบัติขึ้นมาแล้วเราก็เอาธรรมะมาเป็นหน้าฉาก แล้วกิเลสมันก็ยิ่งพองตัวเข้าไปใหญ่

คนที่เขาไม่ปฏิบัติเขายังมีความละอายแก่ใจ ไอ้นี่เราปฏิบัติอยู่แล้ว กิเลสในหัวใจเต็มหัวใจเลย แล้วเราเอาธรรมะมาเป็นหน้าฉากไว้ หน้าฉากไว้นะมันยิ่งเสริมกิเลสให้สูงขึ้นไปอีก เห็นไหม แต่ถ้าเราซื่อสัตย์ของเรา เราปฏิบัติของเราตามความเป็นจริงของเรา เราจะเห็นคุณประโยชน์กับเรานะ

ฉะนั้น สิ่งที่เป็นประโยชน์ก็เป็นประโยชน์ไง ฉะนั้น โดยหลักถ้าบอกว่า

ถาม : สำนึกผิดแล้ว คราวนี้ไม่ได้มีคำถามใดๆ ทั้งสิ้น มีความสำนึกแล้ว ต่อไปถ้าเป็นคำถามก็จะเป็นคำถามในภาคปฏิบัติ จะส่งคำถามมาตั้งแต่ความเป็นจริง จะส่งความจริง

ตอบ : ฉะนั้น ขอขมาลาโทษ เรายกโทษให้แล้ว เราไม่ติดใจสิ่งใดนะ เราไม่ติดใจ เพียงแต่ให้เห็นว่ามันเป็นโอกาสที่จะพูดไง ให้เห็นว่าสิ่งที่เราฟังมาๆ คนเรานะสังคมทางโลกเขาจะมีชื่อเสียงสูงส่งขนาดไหน อันนั้นมันเป็นโลกไง

หลวงตาท่านบอกว่า “ในโลกนี้คนโง่มากหรือคนฉลาดมาก”

คนโง่มากกว่าคนฉลาด สังคมเขาเชื่อถือศรัทธาขนาดไหนมันเรื่องของสังคม ไม่ใช่เรื่องของธรรม ถ้าเรื่องของธรรมมันจะเป็นความจริง ถ้าความจริงขึ้นมา คนปฏิบัติแล้ว ได้ความจริงแล้วมันถึงจะสัมผัสได้ ถ้าคนเราปฏิบัติยังไม่ถึงความจริงมันสัมผัสไม่ได้

ฉะนั้น ใครจะมีชื่อเสียงเรียงนามก้องระบือไกลไปขนาดไหนมันเรื่องของเขา ความจริงในหัวใจมันมีมากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่มีเลยนะเราก็ไม่ต้องเอาสิ่งนั้นมาเป็นแบบอย่าง แต่ถ้ามันมีความจริงขึ้นมา เราจะเอาความจริงนั้นมาเป็นประโยชน์กับเรา นี้พูดถึงเวลาฟังธรรมเนาะ เวลาภาคปฏิบัติ ไม่ภาคปฏิบัติ จบ

ข้อ ๑๒๓๖. เนาะ

ถาม : ๑๒๓๖. เรื่อง “การปฏิบัติธรรม”

ตอบ : เขาถามคำถามมาว่าเขาพิจารณาของเขา เขาถามคำถามมาแล้วเขายกเลิก เขายกเลิกไม่ตอบ ไม่ตอบเพราะว่าเขาก็พูดของเขาไปอย่างนั้น

แล้วก็ข้อ ๑๒๓๗. ไม่มีใช่ไหม?

ข้อ ๑๒๓๘. นี้เขาเขียนเข้ามาบอกว่าในเว็บไซต์พิมพ์ผิด แล้วเขาพิมพ์ถูกแล้ว

ข้อ ๑๒๓๙. ยกเลิกคำถามปฏิบัติไง ยกเลิกคำถามปฏิบัติ เพราะเขาถามมาแล้ว แล้วเขายกเลิก ยกเลิกต่อๆ เนื่องมา นี้เขายกเลิกเพราะเขาบอกว่า “ขอบคุณหลวงพ่อ เข้าใจแล้วเพราะได้อ่านหนังสือ” เขาได้ไปอ่านหนังสือ

๑. “ปัญญาอบรมสมาธิ” ของหลวงตา

๒. “สู้ตาย” ของหลวงปู่เจี๊ยะ

๓. “แก่นธรรม” ของหลวงปู่คำดี

๔. “เอโกมัคโค” ของหลวงปู่เจี๊ยะ

นี่พูดถึงเวลาครูบาอาจารย์ถ้าเป็นความจริง เราอ่านนะเราอ่านหนังสือของครูบาอาจารย์ เวลาอ่านหนังสือครูบาอาจารย์พยายามคิด เราปฏิบัติใหม่ๆ เราได้ธรรมชุดเตรียมพร้อมครั้งแรก แล้วเราออกปฏิบัติในป่า เราอ่านวันละหน้า-สองหน้าเท่านั้นแหละ แล้วเราพยายามคิดว่าครูบาอาจารย์ของเรา ท่านแสดงธรรม ธรรมนี้สะอาดบริสุทธิ์ แล้วในหัวใจของเรามันมีแต่กิเลสตัณหาความทะยานอยาก เราพยายามทำความเข้าใจกับสิ่งที่ครูบาอาจารย์ท่านเทศน์มา ธรรมที่ออกจากใจที่เป็นธรรม แล้วใจของเราใจที่มีกิเลส พอใจที่มีกิเลสเราพยายามปรับปรุงใจเราไง

เราคิดสิ คิดว่าคำพูดของท่านว่าท่านหมายถึงอะไร ท่านพยายามจะชี้นำสิ่งใดให้เราเข้าใจ แล้วเราพยายามปรับปรุงใจของเรา มันก็พัฒนาขึ้นนะ นี่เพราะเราปฏิบัติใหม่ๆ มันยังไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นมาในใจของเรา แต่เวลาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านอยู่ทางเชียงใหม่นะท่านปฏิบัติของท่าน แล้วเวลาท่านลงมากรุงเทพฯ นี่พระผู้ใหญ่ถาม หลวงตาท่านเล่าให้ฟังว่าพระผู้ใหญ่ถามว่า

“พระที่อยู่ในกรุงเทพฯ เป็นนักวิชาการทั้งนั้น เพราะว่ามันมีสำนักเรียน มันมีตำรับตำรามหาศาลเลย ท่านบอกว่าเราอยู่กับตำรับตำรา ธรรมะมีอยู่มากมายเลย เรายังค้นคว้าอยู่ทุกวัน เรายังสงสัยเลย แล้วหลวงปู่มั่นท่านอยู่ในป่า ท่านไปศึกษากับใคร? ท่านไปศึกษากับใคร?”

หลวงปู่มั่นท่านตอบทันทีเลยนะ

“ข้าพเจ้าฟังธรรมอยู่ตลอดเวลา ข้าพเจ้าฟังธรรมอยู่ตลอดเวลา”

คำว่าข้าพเจ้าฟังธรรมอยู่ตลอดเวลา หมายความว่าผู้ที่ปฏิบัตินะพอจิตมันสงบแล้วเวลามันผุดขึ้นมา ธรรมมันจะมีข้อธรรมะขึ้นมาในหัวใจตลอดเวลา สิ่งนั้นจะมาเตือนใจเราตลอดเวลา นี่ฟังธรรมอยู่ตลอดเวลา ฟังธรรมอยู่ตลอดเวลา นี่ถ้าธรรมมันเกิดขึ้นมาแบบนั้น แต่เราเป็นผู้ปฏิบัติใหม่ธรรมมันยังไม่เกิดขึ้น ถ้าธรรมยังไม่เกิดขึ้นเราก็ใช้ศึกษา ใช้อ่านตำรับตำรา

นี่ตำรับตำราของครูบาอาจารย์ ปัญญาอบรมสมาธิ สู้ตายของหลวงปู่เจี๊ยะ นี่ครูบาอาจารย์อย่างนี้ท่านพูดออกมา ท่านพูดออกมาจากใจของท่าน ถ้าใจท่านสะอาดบริสุทธิ์แล้ว เห็นไหม นี่ธรรมตรง ธรรมะตรง แล้วใจก็ตรง ถ้าใจก็ตรง ท่านพูดออกมา นี่ท่านพูดออกมาให้เป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเป็นประโยชน์กับเรา เราปฏิบัติ เราศึกษา

นี่เพราะเขาเข้าใจแล้ว เพราะได้อ่านหนังสือ อ่านหนังสือปัญญาอบรมสมาธิของหลวงตา สู้ตายของหลวงปู่เจี๊ยะ แก่นธรรมของหลวงปู่คำดี เอโกมัคโคของหลวงปู่เจี๊ยะ นี่ครูบาอาจารย์อย่างนี้ ครูบาอาจารย์ธรรมตรงแล้วใจก็ตรง พอใจตรงขึ้นมา แสดงธรรมขึ้นมามันมีคุณธรรม มีความจริง มีความจริงเราศึกษาของเรามันก็มาแยกแยะ แยกแยะความลังเลสงสัยของเรา แยกแยะขยะในใจของเรา ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมามันก็เป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเป็นประโยชน์กับเราเพราะเข้าใจแล้ว เข้าใจแล้ว สิ่งที่ถามมาก็เลยยกเลิกไง

ยกเลิกคำถามนะ แต่เวลาทีแรกถามมาก่อน ถามมาแล้วยกเลิกหมด ถ้ายกเลิกเราก็ต้องไม่ตอบ ไม่ตอบ ไม่ตอบแต่มันเป็นประโยชน์เพราะว่ามีครูบาอาจารย์ มีครูบาอาจารย์ที่เป็นจริง พอมีครูบาอาจารย์ที่เป็นจริง แต่เวลาเราไปศึกษา ครูบาอาจารย์ที่เป็นจริงมันจะเข้าสู่ธรรม น้ำฝนใสสะอาดไม่มีโทษ แต่น้ำสุรายาเมาต่างๆ มันมีรสมีชาติ โลกชอบกันอย่างนั้น นี่โลกชอบกันอย่างนั้น ดูสิถ้าธรรมะนะ ถ้าธรรมะเป็นนิยายธรรมะ ใครอ่านแล้วเข้าใจง่ายๆ นะ

นิยายธรรมะนี่เริ่มต้นมาเลย เวลาบอกจะสื่อธรรมะให้เด็กน้อยเข้าใจก็ต้องเป็นการ์ตูน ต้องเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาให้เด็กสนใจ นั่นล่ะนิยายธรรมะ แล้วพอเราโตขึ้นมาเราก็ยังอยากศึกษานิยายธรรมะอยู่ เรายังไม่ศึกษาธรรมะที่เป็นสัจจะความจริง เห็นไหม เรายังต้องการรสต้องการชาติอยู่ เวลาธรรมะแท้ๆ ใสสะอาดบริสุทธิ์ ไม่ให้โทษกับร่างกาย แต่เวลาดื่มกินขึ้นมาเราเห็นรสชาติเป็นอย่างไรล่ะ? แต่เราเข้าใจได้ว่ามันมีคุณค่า มันเป็นประโยชน์

ฉะนั้น เวลาเราโตขึ้นมา พอเวลาพูดถึงธรรมๆๆ ธรรมของใคร? ถ้าธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ จะเป็นประโยชน์กับเรา ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าปัญญาเกิดขึ้นนะ ปัญญาสุตมยปัญญา เรานี่สุตมยปัญญา พยายามศึกษา แม้แต่การฟังก็เป็นสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ฟังแล้วเราพิจารณาของเรา ใคร่ครวญของเรา แล้วเวลาปฏิบัติไปมันเกิดภาวนามยปัญญา

คนถ้าเห็นชัดเจนจะเข้าใจว่าสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา แล้วภาวนามยปัญญาเกิดขึ้น ถ้าใจมันตรงมันจะเป็นประโยชน์มาก ถ้าใจมันคด มันสร้างภาพ นี่ภาวนาอย่างนี้ยาก ภาวนามยปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ภาวนามยปัญญาของครูบาอาจารย์ของเรามันเป็นทางอ้อม เป็นทางไกล สู้ของเราดีกว่า ภาวนามยปัยญา เห็นไหม ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น แป๊บๆ แป๊บๆ มันจะได้เลย แล้วจะได้เลย

นี่ไงใจมันคด ถ้าใจมันคด ถ้าคนที่ใจมันตรงนะ ถ้าพูดถึงลัดสั้น เป็นความจริง เห็นไหม อย่างยสะฟังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ หนเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๖ ปี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยายามรื้อค้นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาด้วยบุญญาธิการ เพราะธรรมะยังไม่มีใครเข้าใจ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ เวลาเทศน์ยสะ ยสะฟัง ๒ ทีเป็นพระอรหันต์เลย

ถ้าเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา เห็นไหม นี่เป็นความจริงเพราะพระยสะก็ได้สร้างบุญญาธิการมา แต่เป็นสาวก สาวกะต้องได้ยินได้ฟัง คำว่าได้ยินได้ฟัง นี่บุญญาธิการมันแตกต่างกัน ฉะนั้น พอแตกต่างกัน ผู้ที่ว่าลัดสั้น ผู้ที่เป็นความจริงเพราะเขาสร้างบุญญาธิการของเขามา พอสร้างบุญญาธิการของเขามานี่เขารู้ เขารู้เพราะอะไร? เพราะว่าเวลาเป็นขึ้นมาเขาจะรู้ว่าใจมันจะเป็นอย่างไร มันเป็นยาก เป็นง่ายอย่างใด

ฉะนั้น เวลาเขามาสอนใคร ที่ว่าลัดสั้นๆ ลัดสั้นแต่เขาก็ต้องมีวิธีการของเขาถ้าใจของเขาตรง แล้วมันเป็นความจริง เป็นความจริงเพราะมันมีอำนาจวาสนาบารมีมาเป็นตัวหนุน ถ้าคนใจตรง เวลาสอนสอนออกจากความจริง แต่ถ้าใจมันคด นี่ว่าลัดสั้นๆ เวลาบอกว่าสิ่งนั้นสิ่งที่ของครูบาอาจารย์มันเป็นทางอ้อม เป็นทางไกล อย่างนี้เป็นทางลัดสั้น ลัดสั้นมันมีผลประโยชน์จริงหรือเปล่า? ลัดสั้นมันมีคุณธรรมจริงหรือเปล่า? ถ้าลัดสั้นมันมีคุณธรรมจริงมันถึงเป็นผลประโยชน์จริง แล้วได้ประโยชน์จริง

คำว่าประโยชน์จริงนะเหมือนพ่อแม่กับลูก พ่อแม่คนไหนก็รักลูกทั้งนั้นแหละ พ่อแม่คนไหนไม่ต้องการให้ลูกออกไปสังคมแล้วไปเป็นเหยื่อของใครทั้งสิ้น พ่อแม่ก็อยากให้ลูกทุกคนมีสติ มีปัญญา มีปฏิภาณ มีความดีงามในใจ

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าลัดสั้นขนาดไหนถ้ามีคุณธรรม ถ้าเป็นความจริงเขาก็สอนได้ตามความเป็นจริง แล้วตามความเป็นจริง แล้วลูกของพ่อแม่แต่ละคนมันก็ต้องผู้ที่ฉลาด ผู้ที่มีความรู้ไม่เท่าเทียมกัน การสั่งการสอนมันจะเหมือนกันเอามาจากไหน? เอามาจากไหน? ทีนี้เอามาจากไหนมันก็ต้องมีความจริง นี่ถ้าธรรมตรงใจจะมีประโยชน์ มีคุณค่ามาก ถ้าธรรมตรงแต่ใจมันคด คนมันคดในข้อ งอในกระดูกในใจ มันจะทำให้คนเสียหายนะ ถ้าทำให้คนเสียหาย

นี่เราจะพูดเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะว่าคำถามมันถามกันมาเยอะ แล้วคำถามเขาถามกันมาเยอะแล้ว เวลาคำถามถามแล้วเราก็ไม่มีผู้ที่จะชี้แจง แล้วถ้าผู้ที่จะชี้แจงมันต้องเสียสละตัวเองนะ เสียสละตัวเองเพราะว่าในเมื่อกระแสสังคมมันรุนแรงขนาดนั้น แล้วสังคมก็ยอมรับกันอย่างนั้น แล้วเราไปชี้ถูกชี้ผิดมันก็ไปชี้ถึงผลประโยชน์ เวลาบอกชี้ถูกชี้ผิด ชี้ถูกชี้ผิดข้อเท็จจริงนะ แล้วถ้าคนไม่มีหลักเราจะแยกถูกแยกผิดอย่างใด? เวลาผู้พิพากษา ถ้าตาชั่งมันเอียง คู่ความเขาไม่อยากฟัง แต่ถ้าผู้พิพากษานะเราพูดตามข้อเท็จจริง นี่ตาชั่งไม่เอียง

ฉะนั้น เวลาตัดสินไปแล้วมันมีผู้แพ้ผู้ชนะ ถ้าผู้แพ้ ผู้แพ้ก็ต้องไม่พอใจเป็นธรรมดา ผู้ชนะก็ต้องชื่นชมศาลเป็นธรรมดา นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราจะชี้ถูกชี้ผิดมันต้องเสียสละตรงนี้ไง เสียสละว่าส่วนที่เขาไม่พอใจเยอะมาก เยอะมาก แต่ส่วนที่เขาพอใจล่ะ? ส่วนที่พอใจ เห็นไหม ส่วนที่พอใจเพราะเขาเชื่อใจ เชื่อใจในสัจจะความจริง เชื่อใจในสิ่งที่ว่าตาชั่งนั้นไม่เอียง อันนั้นจะเป็นประโยชน์กับเขา แต่กระแสสังคมนะ นี่ขนโคกับเขาโค คนโง่มากกว่าคนฉลาดแน่นอน

ฉะนั้น ผู้จะชี้ถูกชี้ผิดต้องเสียสละ เสียสละเรื่องโลกธรรมไง ติฉินนินทาแน่นอน โดนสาดโคลนแน่นอน ฉะนั้น ผู้ที่จะทำประโยชน์ต้องเสียสละ เอวัง