ถ้ามีตา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ปัญหาที่หนึ่งเนาะ
ถาม : ข้อ ๑๒๕๑. เรื่อง สงสัยครับ (เขาเขียนอย่างนี้ สงสัยครับ)
จิตของเราแท้จริงมันต้องการอะไรครับ? แล้วที่ทุกดวงจิตว้าเหว่ เพราะจิตมันมีความต้องการ มีตัณหา ถูกกิเลสเลี้ยงด้วยขันธ์ใช่หรือเปล่าครับ ขอบคุณหลวงพ่อมากครับ
ตอบ : ถ้าคนไม่มีตานะ คนหยาบเขาก็คิดด้วยความรู้สึกนึกคิดของเขานั่นแหละ เขาว่าความรู้สึกนึกคิดของเขา เขาคิดของเขาไปประสาโลกๆ แต่ถ้าคนมีตานะ ทุกดวงใจว้าเหว่ ทุกดวงใจว้าเหว่ นี่เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพุทธพจน์ ท่านพูดไว้ในพระไตรปิฎกเวลาท่านเทศนาว่าการไง นี่บอกว่าทุกดวงใจว้าเหว่ แม้แต่ในสโมสรสันนิบาตทุกดวงใจว้าเหว่
ขนาดที่ว่าคนเรามีความสุข ความรื่นเริงในสโมสรสันนิบาตทุกดวงใจว้าเหว่ ทุกๆ ดวงใจว้าเหว่เพราะดวงใจมันพึ่งตัวมันเองไม่ได้ไง ถ้าดวงใจมันพึ่งตัวมันเองไม่ได้ เพราะเราก็จะถามว่าแท้จริงมันต้องการอะไร? แล้วมันต้องการอะไร? แท้จริงต้องการอะไร? ต้องการเงินก็หาเงิน ต้องการชื่อเสียงบารมีก็ต้องหาสิ่งนั้น แล้วหามามันสมความปรารถนาไหมล่ะ? หามาขนาดไหนมันถมไม่เต็ม ใจมันถมไม่เต็ม ตัณหาความทะยานอยากมันถมไม่เต็ม
ฉะนั้น ถามว่าแท้จริงมันต้องการอะไร? แท้จริงต้องการอะไร เพราะเรายังงงกันอยู่ เราก็ว่าแท้จริงต้องการอะไรไง แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านรู้ของท่านแล้ว แท้จริงเพราะมันหิวโหย จิตมันหิว มันกระหาย พอจิตมันหิวกระหายเราต้องทำความสงบของใจ พอทำความสงบของใจจิตมันอิ่ม มันมีกำลังของมัน พอมีกำลังของมันมันก็จะรื้อค้นของมัน มันใช้ปัญญาของมัน ถ้าใช้ปัญญาของมัน นี่มันก็เห็นว่าถูกกิเลสเลี้ยงด้วยขันธ์
นี่ความคิดหยาบๆ เราเริ่มหัดปฏิบัติใหม่ใช่ไหม? พอเราเห็นขันธ์ เห็นขันธ์คือเห็นรูป เห็นเวทนา เห็นสัญญา เห็นวิญญาณ คือเห็นกิริยา เห็นวิถีของจิต จิตมันเป็นพลังงาน เวลามันเสวย มันเสวยคือมันเสวยขันธ์ไง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ขันธ์มันแสดงตัวต่อเมื่อมันหมายออกไปข้างนอกไง หมายชื่อเสียง หมายเกียรติศัพท์ หมายเกียรติคุณ ตัณหาความทะยานอยากมันหมายอะไรล่ะ?
มันหมายอะไรมันก็ทำสิ่งนั้น มันคิดเรื่องอะไรมันก็ทำอย่างนั้น มันคิด มันจินตนาการอะไรมันก็ทำอย่างนั้น เห็นไหม นี่รูป รส กลิ่น เสียง รูป รส กลิ่น เสียง ขันธ์สิ่งนั้นมันถึงแสดงตัว แต่ถ้าเวลามันทิ้งจากรูป รส กลิ่น เสียง มามันก็เป็นตัวขันธ์ ตัวขันธ์คือว่า เห็นไหม เวลาขันธ์ที่มันสะอาดบริสุทธิ์ ขันธ์ของพระอรหันต์ สอุปาทิเสสนิพพาน ภารา หเว ปัญจักขันธา
นี่สอุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ถ้ามีเศษส่วน คือมีขันธ์นี่แหละ แต่ขันธ์สะอาดบริสุทธิ์ไง ขันธ์ที่ไม่มีกิเลส กิเลสมันไม่ครอบงำ แต่บอกว่าถ้าเราเป็นปุถุชน ขันธมารๆ ขันธ์มันมีกิเลสครอบงำ พอขันธ์มีกิเลสครอบงำ พอจิตมันเสวยขันธ์ ขันธ์มันก็หมายออกไปข้างนอก หมายออกไปโลกธาตุ หมายออกไปจักรวาล หมายออกไป ความหมาย ความยึด ความมั่นหมาย ความยึดมั่นถือมั่น นี่แล้วมันก็เป็นกระแสไปตลอดเลย พอกระแสไปตลอดเลย แล้วเราเห็นอะไรล่ะ? จิตถูกเลี้ยงด้วยขันธ์
จิตใครจะไปเลี้ยงมัน ใครจะไปเลี้ยงอะไร? ขันธ์จะไปเลี้ยงอะไรจิต? จิตมันหิวมันโหยต่างหากมันถึงออกมาเสวยขันธ์ ออกมาเสวยอารมณ์ ออกมายึดมั่นถือมั่น ออกมาวิถีของมัน เป็นพลังงานของมัน เป็นกระแสของมัน ทีนี้มันออกมาก็ยึดออกมาแล้ว พอมันยึดออกมามันก็หมายออกมาข้างนอก นี่ถ้าจิตมันหยาบๆ คนเราไม่มีตา ไม่มีตาในมีแต่ตาเนื้อ พอมีตาเนื้อขึ้นมา นี่ทางวิทยาศาสตร์ เขาพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ทางจิตแพทย์เขายังพิสูจน์ได้ ทางจิตแพทย์เขาก็รู้ของเขานะ อีโก้ต่างๆ เขาคิดของเขา เขาขุดได้นะ คนเจ็บไข้ได้ป่วยเขาขุดถึงจิตใต้สำนึกเลย
จิตใต้สำนึกนี้มันก็เป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์ใช่ไหม? ทางการแพทย์ของเขา แล้วเขาก็มียา มียาช่วยบรรเทาต่างๆ นี่ทางวิทยาศาสตร์เขาพิสูจน์ของเขา แล้วทางธรรมล่ะ? จิตมันบกพร่องในตัวมันเอง มันไม่ได้ถูกเลี้ยงด้วยอะไรหรอก มันบกพร่องในตัวมันเอง พอมันบกพร่องในตัวมันเองเพราะมันมีอวิชชา มันไม่เข้าใจตัวมันเอง มันเป็นอวิชชา มันบกพร่องในตัวมันเอง มันก็เสวยขันธ์ ขันธ์มันก็หมายมั่นไปข้างนอก แล้วมันหยาบๆ มันก็ออกไปข้างนอก แล้วถ้าเรามีสติ มีปัญญาเราทำความสงบของใจเข้ามา มันจะรู้เท่าเห็นตามความเป็นจริง
ถ้าเห็นตามความเป็นจริง แม้แต่ความสงบของใจ ใจมันสงบเข้ามา เห็นไหม นี่เข้าไปสู่ขันธ์ ขันธ์มันสงบระงับ พอสงบระงับแล้ว แล้วสงบระงับมันแก้ไขอย่างไรล่ะ? แล้วอะไรถูกเลี้ยงด้วยอะไรล่ะ? เราจะบอกว่าวุฒิภาวะ ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาท่านเทศนาว่าการ พุทธพจน์ท่านสอน สอนเพื่อบอกเป็นแนวทางให้เราเข้าใจ ถ้าบอกเป็นแนวทางเข้าใจนี่คือปริยัติ คือเราศึกษาแล้วเราเข้าใจตามนั้น แต่เราไม่เห็นตัวจริงไง คือเราได้แต่ชื่อมันไง เราได้แต่ชื่อ แต่เราไม่ได้ตัวจริง เราไม่ได้ตัวจริงเราต้องหัดปฏิบัติ เราต้องตั้งสติของเรา
เรากำหนดพุทโธ พุทโธนี่ก็ขันธ์ พุทโธ พุทโธ เห็นไหม นี่ถ้าเราไม่ระลึก พุทโธมันจะมีไหม? ถ้าเราระลึกพุทโธ พุทโธ พุทโธมันสมบูรณ์ มันมีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เพราะเราระลึกอยู่ วิตก วิจาร พุทโธ พุทโธมันก็ขันธ์ทั้งนั้นแหละ แต่เวลามันจะสงบเข้ามามันทิ้งไง มันทิ้งเข้าไป จะพุทโธไม่ได้ ถ้าพุทโธไม่ได้มันก็สักแต่ว่า จิตนี่สักแต่ว่าเลย สักแต่ว่าพร้อมทั้งสตินะ ไม่ใช่สักแต่ว่าจะตกภวังค์นะ พอสักแต่ว่าทั้งสติมันไม่เสวยขันธ์ นี่มันอยู่ของมันเป็นเอกเทศอารมณ์เดียว เอกัคคตารมณ์ จิตตั้งมั่นๆ
ถ้ามันเสวยขันธ์ไปแล้ว มันเสวยอารมณ์ เสวยขันธ์ไปแล้ว รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณมันมีรสชาติแตกต่าง รูปมันก็สมบูรณ์ในอารมณ์ความรู้สึก เวทนา พอใจไม่พอใจ รังเกียจเดียดฉันท์ อารมณ์มันแปรปรวน มันมีหลากหลาย สัญญา สัญญามันหมายไปแล้วนะ เข้าใจผิดเข้าใจถูก นี่สัญญา เข้าใจผิด เขาบอกอย่างนี้ ไพล่ไปรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง นี่สัญญา เข้าใจผิด เข้าใจถูก สังขารมันก็ปรุง ปรุงมันก็ยุแหย่ไง เรื่องนั้นเรื่องนี้ เรื่องนี้เรื่องนั้น วิญญาณก็รับรู้ในความรู้สึก นี่มันก็เป็นอารมณ์ไป เป็นอารมณ์ไป แล้วไอ้ความบกพร่องของจิตที่มันไปรู้มันก็กลมกลืนกันไป
อู้ฮู สนุกคึกครื้น คิดมันไปเลย โอ้โฮ อารมณ์นี้สุดยอด แล้วตรึกในธรรมมันก็ว่าบรรลุธรรมนะ รู้ธรรมนะ ไปไปเลย เห็นไหม นี่จิตคนที่ยังไม่มีหลักมีเกณฑ์ ถ้าจิตคนมีหลักมีเกณฑ์ก็ใช้สติปัญญาไล่เข้ามาๆ นี่ปัญญาอบรมสมาธิ ความรู้สึกนึกคิดนี่สมบัติบ้าทั้งนั้นเลย สมบัติบ้า เพราะจิตมันบกพร่องมันก็บ้าสมบัติของมันไป เหมือนคนบ้าหยิบฉวยเอาเป็นของเราหมดเลย นี่พอปัญญาอบรมสมาธิเข้าไปมันก็ปล่อย ปล่อยสมบัติบ้ามันก็จะเป็นคนหายบ้า คนหายบ้าเพราะมันปล่อยขันธ์เข้ามา พอปล่อยขันธ์เข้ามา นี่ปัญญาอบรมสมาธิ
สมาธินี่ ถ้าจิตลงถึงอัปปนาสมาธิเวิ้งว้างไปหมดเลย อย่างนี้อะไรเลี้ยงมันล่ะ? ต้องมีขันธ์เลี้ยงมันไหม? ไม่ต้องเลี้ยงมัน เพราะมันมีสติ มีปัญญา มันเลี้ยงไง นี่สมาธิธรรม ปัญญาธรรม สติ สมาธิ ปัญญาเลี้ยงใจนี้ เลี้ยงใจนี้ให้เข้มแข็งขึ้นมาได้ ถ้าใจนี้เข้มแข็งขึ้นมาได้ นี่แค่สัมมาสมาธิเท่านั้นเอง แล้วพอพิจารณาไปมันจะไปอีกเยอะไง
ฉะนั้น คำถามถามมาเฉยๆ เพียงแต่ว่าเวลาเราใช้ปัญญาพิจารณาไปมันจะมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไรขึ้นมา แล้วพอรู้สึกนึกคิดมาก็เขียนมาถามไง ถามแล้วก็ตอบเท่านี้เพราะมันไม่ได้ถามมาเป็นปัญหาใหญ่โต
ถาม : ข้อ ๑๒๕๒. เรื่อง บริกรรมออกเสียง
คือหนูนึกพุทโธในใจไม่ออก จึงต้องออกเสียงชัดๆ อยากทราบว่าถูกต้องไหมคะ?
ตอบ : ถูก ถ้าคนที่นุ่มนวล คนที่จิตใจอ่อนไหว ผู้ที่จิตใจเขาไม่กระด้างมันนึกในใจก็ได้ แต่ถ้าเรานึกในใจไม่ได้เราออกเสียงไปก่อนก็ได้ ออกเสียงพุทโธ พุทโธ พุทโธไป ถ้าเราออกเสียง นี่ออกเสียงเบาๆ ก็ได้ แต่ถ้าเราอยู่ส่วนตัวตะโกนก็ได้ ไม่มีใครเขาว่าหรอก เพียงแต่ว่าถ้าคนเขาเข้าใจว่าเราทำความดีนะ แต่ถ้าคนเขาไม่เข้าใจเขาคิดว่าคนนี้ใกล้เสียสติแล้ว อยู่ดีๆ ก็นั่งตะโกนอะไรก็ไม่รู้
คนนี่ความคิดมันหลากหลาย แต่เราไม่เอาโลกธรรมเป็นใหญ่ นินทา สรรเสริญเราไม่เอามาเป็นอารมณ์ เราตั้งใจทำคุณงามความดีของเรา ถ้าพุทโธในใจได้ก็พุทโธในใจ ถ้าพุทโธในใจไม่ได้ เราออกเสียงชัดๆ ก็ได้ ออกเสียงชัดๆ
ถาม : อยากทราบว่าถูกต้องไหม?
ตอบ : ถูก เพราะว่าดูสิการแข่งขันยิงปืน มีปืนสั้น ปืนยาว มียิงช้า ยิงเร็ว แม้แต่แข่งขันยิงปืนยังมีชนิดกีฬาหลากหลายเลย แล้วเรานึกพุทโธ พุทโธ จริตนิสัยของคนมันก็หลากหลาย ทีนี้การหลากหลาย เขาเล่นกีฬากันเขายังแบ่งเป็นประเภทๆๆ
นี่ก็เหมือนกัน พุทโธเราก็แบ่งเป็นประเภทๆ ประเภทคือจริตนิสัย ถ้าคนจริตนิสัยนุ่มนวล ทำอย่างไรก็ประสบความสำเร็จก็ดีไป ถ้าจิตใจของเรามันยังหยาบกระด้างอยู่ก็ต้องออกเสียงชัดๆ ก่อน แต่ออกเสียงชัดๆ แล้ว ถ้าจิตใจมันนุ่มนวลขึ้นมาแล้วนะเดี๋ยวมันจะเบาไปเอง คำว่าเบาบางไปนะมันจะเป็นพุทโธในใจก็ได้ แต่ แต่จะพุทโธในใจ พุทโธออกเสียงชัดๆ อะไรก็แล้วแต่ ถ้ามีสติมันถึงจะเป็นความเพียรชอบนะ ความเพียรคือมีสติ มีสติสัมปชัญญะ ถ้ามีสติสัมปชัญญะนี่ถูกต้อง ถูกต้องหมด แล้วมันหยาบ มันละเอียดขึ้นมานี่เรารู้เอง
อย่าเบื่อ อย่าเบื่อหน่าย อย่าเบื่อหน่าย อย่าไปซีเรียสกับมัน เราอาศัยสิ่งนี้เป็นวิธีการเพื่อเข้าไปสู่จิตสงบ เราอาศัยคำบริกรรม อาศัยการตั้งสติ อาศัยการบำเพ็ญเพียรเพื่อความสุข ความสงบระงับข้างหน้า เราอาศัยสิ่งนี้เป็นวิธีการผ่านเข้าไปสู่ความสงบของเราเท่านั้น เราไม่เอาวิธีการเป็นเป้าหมาย แต่เราต้องการจิตเราเป็นเป้าหมาย เราถึงใช้วิธีการนี้เพื่อไปสู่เป้าหมายของเรา เราจะมีเป้าหมายของเราที่จิตมันสงบอันนั้น
ฉะนั้น สิ่งที่ทำมานี่ถูกไหม? ถูก ฉะนั้น ถูกแล้วบอกว่าหลวงพ่อ พุทโธในใจก็ถูก พุทโธเสียงดังก็ถูก พุทโธอะไรก็ถูก เวลาถูกก็ถูกไปหมดเลย เวลาหลวงพ่อบอกว่าผิดก็ผิดไปหมดเลย คำว่าถูก วิธีการที่เราทำนี่ เห็นไหม วิธีการ แต่ถ้าคำว่าผิด ผิดหมายความว่าพุทโธ พุทโธ แล้วพุทโธมันหายไป พุทโธ พุทโธแล้วพุทโธสักแต่ว่าคือขาดสติ คือพุทโธนี่ทำโดยไม่รอบคอบ ถ้ามันผิดมันผิดตรงนั้น มันผิดที่ว่ากิเลสมันสอดแทรกเข้ามา ถ้าบอกว่าผิดนะ อ้างอะไรมาก็ผิดทั้งนั้นแหละถ้ามันผิด ถ้าบอกว่าถูกนะ อะไรก็ถูกไปหมดเลย
ถ้ามีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ การบริกรรมสมบูรณ์ ทำไมมันถึงไม่สงบ นั่งตะโกนพุทโธอยู่นี่มันไม่สงบอะไรเลยจะถูกได้อย่างไร? ถูกสิ เพราะวิธีการมันครบสมบูรณ์ มันถูกหมด แต่จิตมันยังไม่สงบ ถ้ามันละเอียดเข้าไป เดี๋ยวมันจะสงบเข้าไป แต่ถ้ามันผิด พุทโธเลยนะแล้วนั่งคุยกัน พุทโธแล้วก็ชวนกันไปเที่ยว อย่างนี้ผิด ถ้าผิดมันก็คือผิด ถ้าถูก ผิดหรือถูกมันอยู่ที่สติปัญญา อยู่ที่ความชอบธรรมไหม? แต่วิธีการนี่ถูก ถ้าวิธีการถูก แต่ถ้าพอจิตมัน พุทโธ พุทโธแล้วตกภวังค์อย่างนี้ถูกได้อย่างไร? พุทโธ พุทโธจนหายไปหมดเลย ทุกอย่างไม่มีอะไรเหลือเลยอย่างนี้ถูกหรือ? เวลาพุทโธถูกไหม? ถูก เวลาตกภวังค์นี่ผิด
ฉะนั้น เวลาผิดมันผิดที่ผลลัพธ์มันไม่มี ถ้ามันถูกต้องมันก็ถูกต้องไปหมดใช่ไหม? ฉะนั้น ที่ทำมานี่ถูก วิธีการถูกหมด แต่ผลลัพธ์ของมันคือว่าทำแล้วมันได้ผล แต่ถ้าถูกแล้วทำไมหนูทำมา ๒ ปีไม่เห็นสงบสักที วิธีการมันถูก แต่เราไปใช้ในเวลาที่ผิด เราไปทำอะไรผิดมันก็ผิดเหมือนกัน แต่อันนั้นถึงว่าผลลัพธ์มัน แต่วิธีการนี่ถูก
ถาม : ข้อ ๑๒๕๓. เรื่อง เมื่อความคิดแรง
๑. เรื่องของความคิดว่าเมื่อขณะที่เราออกจากอารมณ์ทางโลกในชีวิตประจำวัน เช่นอยู่กับงานมาทั้งวัน หรือดูหนัง ฟังเพลง หรือคลุกคลีกับคนในสังคมเป็นต้น หลังจากที่จบจากอารมณ์ทางโลกในชีวิตประจำวันกระผมจะเริ่มปฏิบัติกลับพบว่าความคิดมันมีความแรงของมันมาก จนกระทั่งผมไม่รู้ว่าจะพุทโธดี หรือว่าจะใช้ปัญญาอบรมสมาธิดี เพราะจากที่เคยได้ฟังการถามปัญหาในกัณฑ์เทศน์ สมาธิที่ถูกต้องในตอนหนึ่งว่าควรพุทโธก่อนไหม หรือควรใช้ปัญญาอบรมสมาธิ
ตอบ : เราจะบอกว่า นี่เวลาคำตอบนะ เราจะบอกว่าถ้าเราจะกำหนดพุทโธ เราต้องกำหนดพุทโธไปเรื่อยๆ เช่นนั้น ตอนเช้าเราก็เริ่มปฏิบัติเลย กำหนดพุทโธ พุทโธตลอดไปเลย แล้วถ้ามันไม่ดี พอตอนเย็นเราก็มาใช้ปัญญาบ้าง ใช้ความคิดไล่ไปเลย เอาอันใดอันหนึ่ง อย่าเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะกิเลสมันจะหาช่องว่างตรงนี้มาหลอกเรา
ถาม : กระผมก็ได้ปฏิบัติตามนั้น แต่อาจจะไม่ตรงตามเวลาที่หลวงพ่อบอก เช่นวันนี้ผมจะพุทโธอย่างเดียวเป็นต้น แต่เมื่อความคิดมันแรงกระผมไม่สามารถพุทโธได้ กระผมไม่อยากเปลี่ยนไปเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เพราะคิดว่ากิเลสกำลังจะหาช่องว่างให้เปลี่ยนการปฏิบัติ กราบเรียนหลวงพ่อช่วยชี้แนะแนวทางการปฏิบัติของผมด้วย
๒. เรื่องตกภวังค์ เวลาปฏิบัติในทางจงกรม ในการ เดิน ยืน สามารถพุทโธได้ตลอด แต่พอหลังจากเดินและยืนจึงเปลี่ยนมาเป็นการนั่ง เริ่มนั่งพุทโธไปสักพักทีไรตกภวังค์ทุกที กราบเรียนหลวงพ่อมีแนวทางแก้ไขอย่างใดครับ
๓. เรื่องพุทโธ ขณะที่ผมพุทโธในทางจงกรมไปเรื่อย เริ่มแรกก็พอไปได้ดี โดยมีเสียงหลวงพ่อช่วยกำกับ เวลาพุทโธกายเป็นสักแต่ว่า โดยมีคำกำกับว่าให้พุทโธชัดๆ หรือมีคำสอนของหลวงปู่เจี๊ยะมาให้ว่าพุทโธเร็วๆ บ้าง จนบางครั้งมันมีช่องว่างให้พุทโธได้เร็วๆ ชัดๆ ได้ในช่วงหนึ่ง แต่พอพุทโธไปสักพักกลับพบว่าการที่จะพุทโธต่อทำไมมันถึงรู้สึกหนัก พุทโธไม่ไป แน่นไปหมด รู้ว่ายังพุทโธได้อยู่แต่มันหนักและแน่นไปหมด มีความรู้สึกว่าจะไปต่ออย่างไรดี
กราบเรียนหลวงพ่อช่วยชี้แนะแนวทางให้อีกสักข้อครับ โดยเป็นปัญญาที่เชื่อมกันระหว่างข้อ ๒ ข้อ ๓ เพราะคิดว่าเพราะเดินพุทโธแล้วรู้สึกหนักและแน่น แล้วไปต่อไม่ได้จึงเปลี่ยนไปเป็นนั่งแล้วหนักกว่าเก่าคือตกภวังค์ไปเลย
ตอบ : นี่คำถามยาว เอาข้อที่ ๑ ข้อที่ ๑ เขาบอกว่าความคิดมันหนักแน่น หมายความว่าเวลาเขาคิดทางโลก คนที่อารมณ์รุนแรง คนที่อารมณ์รุนแรงนะ เวลาคิดสิ่งใดอารมณ์จะรุนแรงมาก แต่เขาอารมณ์รุนแรงเราต้องตั้งสติ พยายามตั้งสติระงับไว้ อารมณ์รุนแรงกดไว้ก่อน อย่าให้ออกมา อย่าให้ออกมาคืออย่าคิดตามไป นี่มีสิ่งใดต้องใช้ขันติ ต้องใช้ขันติตัดเลย ใช้ขันติอดทนเอาๆ อดทนเอาบ่อยครั้งเข้าๆ พออดทนแล้วมันมีสติขึ้นมา พอมีสติขึ้นมา เราจะเอาสิ่งนี้มาเตือนเราเลย
เวลาที่เราเกิดมีอารมณ์รุนแรง อารมณ์ที่มันเกิดขึ้น แล้วถ้าเราปล่อยไปเลยมันก็ต้องเกิดกระทบกระทั่งกัน กระทบกระทั่งกับคนอื่นมันก็เป็นผลกับข้างนอก ถ้ากระทบกระทั่งกับวิธีการปฏิบัติของเรา กระทบกระทั่งกับอารมณ์ความรู้สึกของเราเอง เวลาอารมณ์มันฉุนเฉียว ฉุนเฉียวมันกระทบกับอารมณ์ฉุนเฉียวมันก็ยิ่งกดดันในตัวเองตลอดเวลา ถ้ายิ่งกดดันตัวเองเราใช้ขันติ ใช้ขันติเลย ใช้ขันติว่าไม่คิด ไม่ไปตามมัน มันจะรุนแรงขนาดไหนเราใช้ขันติอดกลั้นไว้ๆ แล้วอดกลั้นไว้พอมันเบาบางลงแล้วเราค่อยมาพิจารณา ถ้าเรามาพิจารณามันจะเห็นโทษเลย ขณะที่อารมณ์มันรุนแรง ถ้าอารมณ์มันฉุนเฉียว เราทำอะไรไปมันขาดสติ คนที่ขาดสติ เวลาทำสิ่งใดไปมันมีแต่ผลเสีย มันไม่มีผลดีหรอก
ฉะนั้น เวลามันอารมณ์รุนแรง แล้วเราก็ตามอารมณ์มัน แต่ถ้ามันทำหน้าที่การงาน ถ้าเราทำหน้าที่การงานมาตลอด นี่ความคิดมันแรงๆ เวลาหน้าที่การงานเราก็ตั้งสติไว้ในเรื่องงาน ฝึกหัดใจตัวเอง ถ้าใจตัวเองไม่ฝึกหัด ยิ่งปล่อยนะมันยิ่งไปไกลเลย ไปไกลเหมือนกับมันเคยชิน มันเคยชิน นี่เราทำของเราจนเคยชิน แต่คนที่เขาไม่เคยชิน เขามองดูเรา ฮึ ทำไมทำอย่างนั้น ทำไมทำอย่างนั้น? คนที่เขามองเราเขาเห็นไง แต่เราไม่เห็นเพราะเราทำอยู่ทุกวันๆ จนเป็นความเคยชิน ฉะนั้น เราใช้ขันติอดทนเอา ยับยั้งมันๆ
แล้วถ้ายับยั้ง เห็นไหม แล้วเวลาจะมาปฏิบัติ เวลาจะปฏิบัติ ที่ถามมาบอกว่าก็ทำเท่าที่หลวงพ่อว่า นี่สมาธิที่ถูกต้อง หลวงพ่อบอกเองบอกว่าให้พุทโธก็ได้ ตอนเช้าพุทโธไปก่อน แล้วใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ก็เลยทำให้ตัวเองงง ให้คนปฏิบัติงง จะเอาพุทโธ พุทโธคือพุทธานุสติ พุทโธคือสมาธิอบรมปัญญา นี่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ใช้ปัญญาไล่ไปเลยเป็นปัญญาอบรมสมาธิ จะเอาสมาธิอบรมปัญญา หรือปัญญาอบรมสมาธิ อันนี้เราเลือกเอา เราเลือกเอาหมายความว่าถ้าเราทำสิ่งใด เราจะทำอะไรแล้วมันได้ผลประโยชน์
ฉะนั้น พอได้ผลประโยชน์ พอเราปฏิบัตินะ คนที่ปฏิบัติ ความสงบของใจมันก็ทำได้ยากอยู่แล้ว ฉะนั้น เวลามันมีปัญหา นี่ความคิดที่แรงต่างๆ มันจะโต้แย้งไง เห็นไหม อะไรก็ได้ๆ ปฏิบัติไม่ได้ผลสักที อะไรก็ได้ๆ ปฏิบัติไปแล้วทุกข์ทุกที นี่กิเลสมันจะแทรกเข้ามาไง หลวงตาท่านสอนว่าการปฏิบัติ ธรรมะที่ไม่ให้โทษใครเลย ธรรมะมีแต่คุณทั้งนั้นแหละ แต่สิ่งที่ให้โทษคือกิเลส สิ่งที่ให้โทษคือมาร แล้วเราปฏิบัติ เราปฏิบัติจะชนะมาร
ฉะนั้น เวลาจะชนะมาร สิ่งที่มันโต้แย้งมาคือกิเลสทั้งนั้นแหละ กิเลสมันโต้แย้งมาไง นี่ปฏิบัติมาตั้งแต่หนุ่มจนแก่แล้วนะ ปฏิบัติมาจนจะเดินไม่ไหวอยู่แล้วนะ ปฏิบัติไปแล้วพรุ่งนี้ก็ไม่มีเวลาทำงานนะ นี่กิเลสมันสอดเข้ามาตลอด ทีนี้เราบอกว่าเราปฏิบัติแล้วทำไมไม่ได้ เอ๊ะ เราปฏิบัติแล้วทำไมมันทุกข์ยาก เอ๊ะ เราปฏิบัติแล้วทำไมมีแต่ปัญหา ปัญหาคือว่าเราเริ่มจะปฏิบัตินะ เราเริ่มจะต่อสู้ ต่อกรกับกิเลสในหัวใจของเรา
กิเลสมันนอนอยู่ห่างเราใช่ไหม? แล้วมันก็ใช้อุบายหลอกเรามาตลอดเลย ถ้าไปหลอกเรา เราจะตามไปไหม? นี่ที่บอกว่าใช้ขันติอดทนไง อย่าไปยุ่งกับมัน ความคิดนี่เคยคิดมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่ฝึกหัดทำงานจนป่านนี้ก็คิดอยู่ความคิดเดิมๆ นี่แหละ ฉะนั้น เวลาจะคิดนี่ไม่คิดวางไว้ แล้วมากำหนดพุทโธของเรา แล้วถ้ามันจะใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิของเรา เราใช้ของเรา
ฉะนั้น สิ่งที่บอกว่าเวลาตอนเช้าเราพุทโธ แล้วพอตอนเย็นขึ้นมาเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เวลาใช้ปัญญาอบรมสมาธิแล้ว เวลาเราทำอยู่ นี่เวลาความคิดนี้เกิดขึ้นมา เห็นไหม ก็เลยคิดว่ามันจะเป็นช่องว่างที่ให้มันเปลี่ยนแปลงการทำความสงบของเรา เราไม่ทำตาม อันนี้ก็เห็นด้วย เห็นด้วยนะ เวลาโยมขับรถไปนะ แล้วโยมเห็นสุนัขมันวิ่งอยู่ต่อหน้ารถเลย โยมต้องถามเราก่อนไหม?
หลวงพ่อจะชนมันหรือจะหลบมัน เวลาขับรถไปหมามันวิ่งมาชนเลยล่ะ หลวงพ่อ จะเบรกดีหรือจะชนมันก่อนดี แล้วค่อยกลับมาถามหลวงพ่อว่า หลวงพ่อ หมามันตายไปแล้วเอามันคืนได้ไหม? เราจะบอกว่าอุบายมันเป็นเฉพาะหน้า เป็นปัจจุบัน เราต้องฝึกของเราขึ้นมาไง หมามันวิ่งตัดหน้ารถ เราคิดว่าถ้าเราเบรกหรือเราหักหลบเราจะมีอุบัติเหตุไหม? ต้องคิดนะ การตัดสินใจขณะปัจจุบันสำคัญ
นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติพุทโธ พุทโธ พุทโธไป เราจะเปลี่ยนมาเป็นปัญญาอบรมสมาธิ นี่เวลาเราบอกว่าเราพุทโธ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ทุกคนคิดนะว่าในการปฏิบัติของเรา ทุกคนว่ามีปัญญา เหมือนการศึกษา พอศึกษาจบแล้ว ได้ปริญญามาแล้วก็คือมีปัญญาไง แล้วปัญญานี่เราได้กระดาษมาใบหนึ่งแล้ว คือเราจบปริญญาแล้ว แต่ในการปฏิบัตินะ คราวนี้เป็นสมาธิ พรุ่งนี้มาไม่เป็นหรอก อ้าว แล้วปริญญาหายไปไหนล่ะ? ปริญญาเขายึดคืนไปหรือ? ทางมหาลัยเขาเรียกคืนใช่ไหม? เพราะมันทำไม่ได้ เดี๋ยวได้ เดี๋ยวไม่ได้
นี่ปฏิบัติธรรมมันเป็นแบบนี้ มันไม่เหมือนกับทุกคนจะคิดไงว่าเคยทำได้ เคยทำสมาธิได้ สมาธิจะอยู่กับเราตลอดไป ถ้าเราทำอะไรได้เราต้องทำได้อยู่ตลอดไป ไม่ใช่ๆ นี่ภาคปฏิบัติมันเป็นปัจจุบันธรรม ปัจจุบันทำได้ก็คือได้ คนที่ทำสมาธิได้นะ เวลามันเสื่อมไม่มีเหลือเลย วิธีการนี่รู้ แต่จะเอาจริงๆ ขึ้นมามันไม่มี มันไม่มีหรอก ถ้ามันไม่มีจะเอาอย่างไรล่ะ? จะเอาอย่างไรก็ต้องตั้งใจ ตั้งใจฝึกหัด ต้องตั้งสติฟื้นมันให้ได้ ถ้าฟื้นมันได้ ฟื้นได้แล้วทำอย่างไรต่อ? ฟื้นได้แล้วต้องรักษาอีก รักษานะ ถ้ารักษาไม่เป็นมันก็เสื่อมหมด
นี่เวลาปฏิบัติ เพราะมันเป็นความรู้สึกทั้งนั้น มันเป็นนามธรรมทั้งหมด ใจเป็นนามธรรม ความทุกข์ก็เป็นนามธรรม เห็นไหม เพชรมันมีความทุกข์ไหม? เพชรมันเป็นแร่ธาตุมันไม่ทุกข์หรอก เพชรมันไม่มีชีวิตด้วย แต่เจ้าของเพชรทุกข์ เจ้าของเพชร นี่ก็เหมือนกัน ใจนี่ ใจที่เป็นนามธรรมๆ มันไม่เหมือนเพชร เพชรมันเป็นรูปธรรม มันเป็นแร่ธาตุ
นี่ก็เหมือนกัน ทางวิชาการมันเป็นทฤษฎี ทฤษฎีเป็นอย่างนั้นๆ แต่เวลาปฏิบัติขึ้นมามันต้องใช้ปัจจุบันธรรมตลอด นี่ใช้ปัจจุบันธรรม เห็นไหม เราถึงบอกว่าเวลาขับรถไปเจออุบัติเหตุทำอย่างไร? นี่ไปข้างหน้า ถนน ถ้าเราไปถนนไฮเวย์เหยียบได้เต็มที่เลย ไปถนนลูกรังสิ ไปถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อสิจะไปอย่างไร? นี่การปฏิบัติมันเป็นแบบนี้ไง ถ้าการปฏิบัติเป็นแบบนี้เราค่อย เวลาเทศน์นะ ครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ ถ้าคนไม่เป็นฟังไม่รู้เรื่อง ถ้าคนเป็นจิตนี่จะตามไปเลย
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าคนเป็นนะเวลาพูดจะเข้าใจได้หมดเลย ทีนี้ถ้าคนยังไม่เป็น นี่หลวงพ่อจะเอาอย่างไร? สมาธิที่ถูกต้องของหลวงพ่อว่าอย่างนี้ แล้วผมก็ทำตามหลวงพ่อ ทำตามหมดเลย เวลาเจอหมามันจะตัดหน้านะ อย่าเพิ่งขับนะโทรมาถามก่อน แล้วจะบอกว่าเลี้ยวตอนไหน ปัจจุบันธรรม การปฏิบัติมันต้องฝึกหัดขึ้นมา แล้วมันจะเป็นของมันขึ้นมานะ นี้ข้อที่ ๑
ถาม : ๒. เรื่องตกภวังค์ เวลาปฏิบัติไปในทางจงกรม ในการเดิน ยืนสามารถพุทโธได้ตลอด แต่พอหลังจากเดินและยืนจึงเปลี่ยนมาเป็นการนั่ง พอเริ่มนั่งพุทโธไปสักพักทีไรตกภวังค์ทุกที กราบเรียนหลวงพ่อมีแนวทางแก้ไขอย่างใด
ตอบ : มีแนวทางแก้คือเราพยายามเดินของเรา ถ้าเราเดินดีนะ เดินจงกรม ยืนก็ได้ แล้วถ้าไปนั่ง นั่งแค่ผ่อนคลายอิริยาบถ แล้วลุกขึ้นมาเดินต่อ เพราะนั่งทีไรตกภวังค์ทุกที แล้วก็จะไปนั่งทุกที ถ้าไปนั่งทุกทีก็ตกภวังค์ทุกที แล้วไม่จำเป็นนี่ มันไม่จำเป็น เห็นไหม ครูบาอาจารย์นะ อาจารย์สิงห์ทองท่านเดินจงกรมจนทางเป็นร่องเลย ครูบาอาจารย์นี่ชมนักชมหนาเลย เพราะว่าท่านถนัดในทางเดินจงกรม หลวงปู่ตื้อนั่งสมาธิทีหนึ่ง ๗ วัน ๗ คืน นั่งอย่างเดียวไม่ทำอะไรเลย นั่งเฉยๆ นี่คนถนัดมันไม่เหมือนกัน หลวงปู่ตื้อนั่งสมาธิ ๗ วัน ๗ คืนเลยล่ะ เราว่านั่งกันทั้งวันๆ ท่านนั่งของท่านได้ คนถนัดทางใดทางนั้น
ฉะนั้น ถ้าพูดถึงว่าไปนั่งทีไรตกภวังค์ทุกทีเลย กิริยานั่งนั้นใช้ให้น้อยที่สุด ใช้ให้น้อยที่สุด แล้วเราไปเดิน ถ้าเดินนะ เพราะการทำความสงบของใจนะ ถ้าจิตขณะเดินจงกรมจิตสงบนะ นั่นล่ะเสื่อมยาก เพราะดูสิขนาดเคลื่อนไหวยังสงบ แล้วเวลานั่งสงบนั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเราเดินจงกรมแล้วจิตสงบได้นะ หรือยืน นี่เอาท่านั้น แล้วท่านั่งเอาไว้เปลี่ยนอิริยาบถไง เวลาเดินจนเพลีย จนเหนื่อย จนเมื่อยแล้วก็มานั่ง แล้วอย่าเผลอนะ เผลอตกภวังค์ นั่งสักพักลุกเดินต่อ
นี่วิธีการแก้ นี่วิธีที่หนึ่ง วิธีที่สองถ้ามันตกภวังค์นี่นะ การตกภวังค์เขาจะผ่อนอาหารทันที การผ่อนอาหารและการนอนให้น้อย การอดนอนผ่อนอาหารจะแก้พวกนี้ได้ทั้งหมดเลย แต่เวลาเราอดนอนผ่อนอาหารมันแก้ไม่ได้ เพราะเราไปติดที่อดนอนผ่อนอาหาร พออดนอนก็ง่วงนอน พอผ่อนอาหารก็หิวๆ นี่จิตมันไปจ่อตรงนั้นไง ไอ้อดนอนผ่อนอาหารเพื่อจะให้ธาตุขันธ์มันเบา มันจะได้ไม่กดทับ พอไม่กดทับปั๊บ อดนอนผ่อนอาหารแล้วเราก็กลับมาเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนาเหมือนเดิม แต่จิตใจที่มันเบามันจะไม่กดทับ
ทีนี้พอเราอดนอนผ่อนอาหารไปแล้ว ส่วนใหญ่พออดนอนแล้วก็ไปอยู่ที่ง่วงนอนๆๆ พออดอาหารก็หิวๆๆ ไปอยู่ตรงนั้นแหละ มันไม่ได้บอกว่าอดนอนผ่อนอาหารนี่เป็นวิธีการ เป็นวิธีการเปิดให้จิตนี้ธาตุขันธ์มันไม่ทับ มันไม่หนักไม่หน่วง พอไม่หนักไม่หน่วง พอเรากำหนดพุทโธหรือนั่งสมาธิ มันไม่หนักไม่หน่วงมันก็ไม่ลงภวังค์ง่ายไง คือมันเบา มันเบาของมัน มันมีโอกาสของมัน พอมีโอกาสของมันเราก็กำหนดพุทโธเหมือนกันนี่แหละ กำหนดสติดีๆ นี่แหละ แล้วมันไม่กดถ่วง ไม่กดถ่วงโอกาสที่ตกภวังค์มันน้อยลง
นี่ถ้ามันมีสติ มีปัญญา มีอุบายนะ เราใช้ทุกๆ อย่างเข้ามาช่วยเหลือในการปฏิบัติ ฉะนั้น ถ้าทำอย่างนี้ปั๊บ ไอ้เรื่องการตกภวังค์มันก็น้อยลง เบาลง ถ้ามันเป็นจริงนะ
ถาม : กราบเรียนหลวงพ่อช่วยแนะนำวิธีแก้ไข
ตอบ : วิธีแก้ไข สติ สติดีๆ สติของเราดีๆ นะ แล้วถ้าเป็นพระ นี่เป็นโยมก็ได้ เป็นโยม เห็นไหม เราทำงานก็ส่วนทำงานใช่ไหม? พอทำงาน ตกเย็นถ้าเราจะภาวนา อาหารเราให้เป็นเรื่องของเบาๆ ไว้ไง อย่าให้มีเนื้อสัตว์ เนื้อสัตว์นี่อาหารหนัก พวกผักพวกหญ้านี่ดี พวกผักพวกหญ้าพวกนี้ดี พวกผักกินพวกนี้แล้วมันจะเบาลง เราทำได้ เราแก้ไขของเรา การตกภวังค์ เราเคยตกมาเหมือนกัน เราตกมาเยอะมาก สุดท้ายหายมาด้วยการผ่อนอาหาร ฉันแต่น้อย วันละคำสองคำ คำสองคำ หิวไหม? หิว แต่ขณะที่จิตมันดีนะ หิวนี่เป็นเรื่องปลีกย่อยมากเลย
ไอ้เรื่องอาการของร่างกาย อาการของร่างกายมันจะโหยหาเหมือนกัน แต่จิตใจนี่โอ้โฮ เด่นชัดมาก แล้วแก้ไขได้มันภูมิใจมาก มันยิ่งฮึกเหิมนะ เพราะอะไร? เพราะเวลาตกภวังค์มันหายไปเลย แล้วพอรู้ว่าผิด รู้ว่าผิดจิตใต้สำนึกมันรู้ผิดอยู่แล้ว แล้วจะแก้ แก้ไม่ได้ พอแก้ไม่ได้ อาการแก้ไม่ได้มันกดทับทันทีเลยนะ กดทับนี่เราทำอย่างไรก็ไม่ได้ เหมือนเราทำงานไม่เสร็จ ทำอย่างไรก็ไม่เสร็จ ทำอย่างไรก็ไม่เสร็จ เครียดนะ
นี่ก็เหมือนกัน ปฏิบัติอย่างไรก็ไม่พ้น ปฏิบัติอย่างไรก็ไม่พ้น แต่สุดท้ายแล้วนะผ่อนมาเรื่อยๆ ผ่อนมาเรื่อยๆ พอมันพ้นนะ โอ้โฮ มันฮึกเหิมมาก แล้วองอาจมาก องอาจมากนะ ฉะนั้น การตกภวังค์แก้ด้วยหลายวิธี หลายวิธีหมายความว่าจริตนิสัยของคนมันตรงทางไหนไง ฉะนั้น การตกภวังค์ไม่ควรให้ตก เพราะตกไปแล้วนะ พอตกภวังค์ คราวนี้ตกภวังค์ ๕ นาที ต่อไป ๑๐ นาที ๒๐ นาที เป็นชั่วโมง เป็นวันนะ
เพราะมีบางคน นักปฏิบัติบางคนนั่งทั้งคืนเลย ตกภวังค์จนกรนเลยล่ะ กรนคร่อกๆ เลยนะ นี่ตกภวังค์ แล้วเขานั่งทั้งคืนเขาภูมิใจนะ เขาภูมิใจว่าเขานั่งตลอดรุ่ง แต่นั่งหลับ เขานั่งหลับนะ พอหลับแล้วเขาไม่รู้ตัว พอเขาไม่รู้ตัวนะเขายังออกมาพูดด้วยความภูมิใจว่าเขานั่งได้ตลอดรุ่งๆ เขาคุยอย่างนี้ตลอด สุดท้ายแล้วต้องพิสูจน์กัน ก็นั่งด้วยกัน จนกรนเขายังไม่รู้ตัวเลยว่าเขาหลับจนกรนเลยนะ นั่นแหละคือตกภวังค์ แต่เขาไม่รู้ตัวเลยนะ
พอเขาไม่รู้ตัว พอไปบอกเขาบอกว่าการภาวนานั้นผิด เขาโกรธมาก โกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงเลย เพราะเขามั่นใจของเขาว่าเขานั่งตลอดรุ่งได้ นั่งตลอดรุ่งได้แต่มันตกภวังค์ไม่มีประโยชน์เลย ไม่มีประโยชน์แล้วมันกลับเป็นโทษ เป็นโทษเพราะมันเกิดทิฐิมานะ เกิดอหังการว่าตัวเองทำได้ๆ แต่ความจริงมันเป็นมิจฉาทิฏฐิ มันทำผิดหมด คนที่เขาทำมากกว่านี้มี นี่อาการการตกภวังค์มันเป็นขวากหนามของนักปฏิบัติ เพราะจิตของเรามันจะผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ไปมาก
ฉะนั้น จะบอกว่าคนก็เป็น เราก็เป็น เราเคยเป็นมาทั้งนั้นแหละ ทีนี้เป็นมาก เป็นน้อย พอเป็นแล้ว เคยเป็นมาก่อนใช่ไหม? พอเคยเป็นมาแล้ว พอแก้ไขแล้วมันถึงเห็นโทษไง ตอนก่อนที่มันยังไม่รู้ว่าตัวเองเป็นนะก็มีความเข้าใจเหมือนกันว่าตัวเองปฏิบัติได้ แต่พอมันมาจับทางได้ว่าไม่ใช่ โอ้โฮ เสียใจมาก เสียใจเพราะว่ามันเสียเวลามาไง แล้วยังดีไม่หลง หลงเกิดมีความภูมิใจว่าเราทำได้ แล้วถ้ามีความภูมิใจ เวลาใครบอกว่าผิดนะ โอ๋ย เถียงหัวชนฝาเลย
ฉะนั้น เวลาหลวงตาท่านขึ้นไปหาหลวงปู่มั่นท่านก็บอก เห็นไหม เวลาเราปฏิบัติไปเราก็มีของเรา หมายความว่าเรามีประสบการณ์ของเรา เราปฏิบัติของเราแล้วเรามีเหตุมีผลของเรา ฉะนั้น จะถูกจะผิดมันก็ต้องขอพูด คือว่าขอเทียบเคียงให้เห็นความบกพร่อง ไม่ได้พูดด้วยทิฐิมานะ แต่พูดเพราะเรามีความเห็นอย่างนี้ เรารู้อย่างนี้ เหมือนเราใช้ปัญญาอย่างนี้ เรามีความเห็นอย่างนี้ แล้วครูบาอาจารย์มีความเห็นอย่างไร แล้วเทียบเคียงกัน แล้วทีไรก็แพ้ทุกทีเหมือนกัน
นี่ก็เหมือนกัน เราตกภวังค์ เวลาถ้ามันไม่รู้มันก็ภูมิใจมาก แต่พอรู้แล้วเสียใจมาก เสียใจมากว่าเรานี่เสียเวลา แล้วยังดี ยังดีที่ว่าไม่ถือผิด
ถาม : ๓. เรื่องพุทโธ ขณะที่กระผมพุทโธในทางจงกรมไปเรื่อย เริ่มแรกก็พอไปได้ โดยมีเสียงหลวงพ่อช่วยกำกับ ให้พุทโธชัดๆ คำสอนมาด้วยให้พุทโธเร็วๆ
ตอบ : ฉะนั้น คำถามก็คือว่าถ้าพุทโธไปแล้วมันหนัก พุทโธไปแล้วมันหนัก มันแน่น แล้วมันไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป ถ้ามันหนักมันแน่นก็พุทโธให้เบาๆ ลง บางทีในสำนักที่ปฏิบัติทั่วไป เราฟังมาตลอดเวลาใครสอนอย่างไร เขาจะบอกว่าอย่าเครียด วางใจให้เป็นกลาง วางใจไว้สบายๆ อย่าเครียดๆ เพราะเขาเห็นว่ากำหนดพุทโธ การตั้งใจเป็นความเครียด ถ้าความตั้งใจ ถ้าตั้งใจดีมันก็ถูกต้อง แต่ถ้าเวลามันหนัก เวลากำหนดพุทโธ พุทโธไปมันหนักมันแน่น แล้วมันอย่างใดก็แล้วแต่มันเป็นอุปสรรค
เวลาพุทโธ พุทโธ บางทีพุทโธแล้วพุทโธไม่ได้ พุทโธแล้วมันติดขัดไปหมดเราก็วางสบายๆ เราไม่ให้มันแน่น ถ้ามันแน่นนะเราก็ไปพุทโธไว้ อย่าให้กลับไปที่แน่น เวลาพุทโธ พุทโธ มันหนักมันหน่วง มันหนักมันหน่วงใช่ไหม เวลาเราพุทโธ พุทโธนี่วิตก วิจาร ปีติ เวลาเกิดปีติมันมีของมันนะ ฐานมันใหญ่ ร่างกายมันคาบเกี่ยวกันว่าถ้ามันเป็นปีติ ปีตินี่ตัวมันจะพองขึ้น ใหญ่ขึ้น เห็นไหม บางทีตัวนี่จะกลวงไปหมดเลย วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ องค์ของสมาธิ
นี่เวลาจิตมันจะเปลี่ยนแปลงขึ้นไป ถ้ามันหนัก หนักอย่างไร? หนักเราก็กำหนดพุทโธของเราไว้ ถ้ามันแน่น ถ้ามันแน่นก็ยิ่งดี พุทโธแน่น พุทโธชัดเจน แต่พุทโธหนักแน่นด้วยความแบบว่าเป็นกิเลส หนักแน่นอย่างนี้มันไม่ดี แต่ถ้ามันเป็นปีติล่ะ? เราแยกได้ไหมว่าถ้ามันเป็นความหนัก ความมั่นคง ฉะนั้น ว่าเราพุทโธแล้วจะไม่มีอะไรเลย มันจะเป็นแบบว่าอวกาศเลย จะเวิ้งว้างไปหมดเลย จะไม่มีอะไรเลย อันนั้นมันเป็นผลถึงที่สุด แต่ถ้ามันหนักมันแน่น ถ้ามันเครียด เครียดนี่ผิดแน่นอน
ผิดหมายความว่าปฏิบัติไปแล้ว ดูสิเราจะทำอะไรก็แล้วแต่ เริ่มต้นเราอาจจะมีอุปสรรคบ้าง อาจจะมีสิ่งใดบ้างมันก็ต้องฝึกหัดของเราไป ถ้ามันหนักมันแน่นเราก็พุทโธไว้อย่าไปรับรู้มัน แต่ถ้ามันเป็นความจริง เป็นปีติใหม่ๆ นะ ปีติมันจะอู้ฮู เนื้อตัวมันหนักหน่วงไปหมดเลย แล้วมันขยายใหญ่โตไปหมดเลยนะ ไอ้อย่างนี้มันเป็นปีติ พอปีติเริ่มต้นเป็น พอครั้งสอง ครั้งสามมันจะจางลงๆ เพราะปีติมันจะเป็นความสุข จากปีติมันจะเป็นความสุขนะ พอความสุขมันปล่อยปีติเข้ามา ปีติจะหายไป จางไป แต่เป็นความสุข แล้วถ้าตั้งมั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
นี่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีก็เรื่องหนึ่ง แต่ถ้ามันหนักมันแน่นอะไรนี่ ที่มันทำให้เรา ถ้ามันชาล่ะ? บางทีนั่งไปแล้วมันชาล่ะ? มันมีสิ่งต่างๆ ไป อันนี้ก็อีกเรื่องหนึ่งนะ โอ้โฮ เรากำหนดพุทโธไว้ อย่าเข้ามาตรงนี้มันก็จบ
ทีนี้ข้ออีกข้อหนึ่ง ปัญหาที่เชื่อมต่อกันระหว่างข้อ ๒ กับข้อ ๓ นี่เวลาข้อ ๓ พุทโธไปแล้วมันหนักมันแน่นใช่ไหม? เวลาข้อ ๒ มันจะตกภวังค์ใช่ไหม? อารมณ์นะ เวลาปัญหาข้อแรกเลยบอกว่าอารมณ์มันรุนแรง ถ้ารุนแรงอย่างนั้นเราก็ระงับมา แต่พอมาข้อ ๒ มันจะตกภวังค์ พอข้อ ๓ มันจะหนัก มันจะหน่วง แล้วมันเกี่ยวเนื่องกันมา แล้วถามว่าหลวงพ่อให้ทำอย่างไรล่ะ?
เฮ้อ เวลาขับรถไปน้ำมันหมดหรือเปล่าก็ไม่รู้ น้ำมันจะหมดเลยมันร้อยแปดนะ ไอ้อย่างนี้มันเราอย่าไปซีเรียสกับความรู้สึกนึกคิดนะ ปล่อยวางให้หมด การปฏิบัตินี่ใครเสียสละมากคือคนนั้นได้ ใครวิตกกังวล อยากรู้ อยากเห็น อยากยึดไปหมดเลยนะ เริ่มต้นเวลาปฏิบัติเอาสมุดมาวางไว้เลยนะ พุทโธคำที่หนึ่ง พุทโธคำที่สอง จดไว้หมดเลย จิตเป็นอย่างไรจดไว้หมดเลย มันก็ไปกังวลหมดเลยว่า เฮ้ย อารมณ์อย่างนี้เดี๋ยวจะออกไปจดก่อน เดี๋ยวออกไปจดก่อนเดี๋ยวลืม
นี่ก็เหมือนกัน เดี๋ยวก็มันเครียด เดี๋ยวมันก็ตกภวังค์ เราไปยึดมั่นจริงจังกับมันหมดเลย มันเป็นประสบการณ์ทิ้งไปหมดเลย เสียสละหมด ไม่ต้องจด ถ้าเราไปจดอยู่นี่สมบัติบ้านะ เวลาคิดมันจะคิดจนเป็นบ้าได้ ไอ้นี่ปฏิบัติแล้วก็กลัวจะไม่รู้จริงก็เอาสมุดมาจดไว้เลยนะ อารมณ์เป็นอย่างนั้น อารมณ์เป็นอย่างนั้น มันก็เลยยึดมั่นถือมั่น มันก็เป็นอย่างนี้ไง วางให้หมดเลย เสียสละให้หมดเลย กำหนดพุทโธของเราไว้ ปัญญาอบรมสมาธิของเราไว้ สละให้หมด วางให้หมดมันก็จะโล่งว่างของมัน ถ้ามันโล่งว่างของมันมันเป็นจริง โล่งว่างแต่มีสตินะ โล่งว่างแต่มีสติสัมปชัญญะของเรา เราทำเพื่อประโยชน์กับเรา มันจะเป็นความจริงของเรา
ฉะนั้น ระหว่างข้อ ๒ กับข้อ ๓
ถาม : เพราะเดินพุทโธแล้วรู้สึกว่ามันหนักมันแน่น แล้วไปต่อไม่ได้ จึงเปลี่ยนแปลงไปนั่งแล้วหนักกว่าเก่า คือตกภวังค์ไปเลย
ตอบ : เฮ้อ ค่อยๆ ทำเนาะ เพราะเราจะบอกว่าทางวิชาการ ทางทฤษฎีเราคิดว่าเป็นอย่างนั้นๆ แล้วเราทำจะให้เป็นอย่างนั้น นี้ในภาคปฏิบัติไม่เป็นอย่างนั้น ภาคปฏิบัติมันต้องประสบการณ์จริง ถ้าประสบการณ์จริงแล้วมันจะเป็นความจริงของมัน ถ้าประสบการณ์ความจริงนะเราค่อยๆ ทำของเรา อันนี้พูดถึงการตกภวังค์นะ
อันนี้พูดถึงการตกภวังค์นะ ทีนี้ปัญหานี้
ถาม : เวลาภาวนาทำสมาธิจะรู้ได้อย่างไรว่าจุดไหนจะเริ่มต้นพิจารณาได้?
ตอบ : เฮ้อ จุดไหนจะเริ่มต้นพิจารณาได้ นี่เวลานั่งสมาธิ ถ้ามันเป็นสมาธิจะรู้ได้อย่างไร? รู้ได้อย่างไรต่อเมื่อถ้าเป็นสมาธิแล้ว ถ้าเรารักษาสมาธิไม่ได้สมาธิก็จะเสื่อม แต่ถ้าเรารักษาสมาธิได้ พอสมาธิมันดี วิธีรักษามันคืออะไร? ปัญญา จากการรักษาสมาธิได้ต้องมีปัญญา ถ้ามีปัญญาปั๊บ จุดเริ่มต้นของการพิจารณาเริ่มต้นที่ไหน? เพราะเราฝึกหัดใช้ปัญญา เห็นไหม พอเราฝึกหัดใช้ปัญญามันจะกลับไปรักษาให้สมาธิทำได้ดีขึ้น แล้วเวลาเราฝึกหัดใช้ปัญญา พอฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้ามันเป็นปัญญาอบรมสมาธิมันก็เป็นสมาธิ ถ้าฝึกหัดใช้ปัญญา พอปัญญามันไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิตมันสะดุ้งเลย เห็นกาย เอ๊อะๆ พอเห็น นั่นล่ะจุดเริ่มต้นอยู่ตรงนั้น
คำว่าจุดเริ่มต้นนะ เราบอกว่าทำความสงบของใจเข้ามาก่อน ถ้าใจสงบแล้วเข้าปากซอยได้ เข้าปากซอยได้หมายถึงว่าเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง เราอยากเข้าบ้านเรา นี่ถนนใหญ่ใช่ไหม? แล้วบ้านเราอยู่ในซอย ถ้าเราอยู่บนถนนใหญ่เราก็ผ่านปากซอยเข้าบ้านเราตลอด ไม่เข้าซอยไม่ได้ ถ้าเข้าซอยถูกใช่ไหม พอเข้าซอยถูกมันจะผ่านหน้าบ้านเข้าบ้านได้เลย นี่พอจิตสงบ เส้นทางไฮเวย์ แล้วเราจะเลี้ยวเข้าสู่ซอยบ้านเรา เลี้ยวซอยบ้านเรา พอจิตสงบแล้วมันออกฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้าเข้าซอยถูกมันจะเข้าสู่จิตเลย ถ้าเข้าซอยถูก แล้วจุดเริ่มต้นอยู่ตรงไหนล่ะ?
จุดเริ่มต้น เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริงมันบอก มันบอกเลยถ้าเห็นกาย เห็นกายนะ ทุกคน นี่หลวงปู่เจี๊ยะบอกเลยพิจารณากายๆ อยู่นี่ การเห็นกาย เห็นกายเป็นสมถะ เพราะเห็นกายแล้วมันปล่อยกายเข้ามาก็เป็นสมถะ แต่พอจิตมันเห็นกาย เห็นกายนะแล้วกายมันเป็นไตรลักษณ์ กายมันแปรสภาพให้เราดู อันนั้นถึงจะเห็นกาย เห็นกายนะ เห็นกายอันแรกเห็นกายเป็นสมถะ แต่จิตสงบแล้วเห็นกายมันถึงเป็นวิปัสสนา ถ้าเป็นวิปัสสนามันก็เป็นการพิจารณา
ฉะนั้น อันนี้นะมันบอกว่าจุดเริ่มต้นอยู่ตรงไหน? จุดเริ่มต้นอยู่ตรงไหน อันนี้มันก็เป็นจุดสตาร์ทแล้วว่าเวลาแข่งร้อยเมตรเขาต้องมีจุดสตาร์ทเท่ากัน แต่เวลาจุดเริ่มต้นของคนมันก็ไม่เหมือนกัน อำนาจวาสนาของคนไม่เหมือนกัน การพิจารณาของคนไม่เหมือนกัน การพิจารณาของคนไม่เหมือนกันนะ
ฉะนั้น จุดเริ่มต้นอยู่ตรงไหน? จุดเริ่มต้นจะเริ่มพิจารณา ถ้าจับได้เราพิจารณาได้ ถ้าพิจารณาไปแล้ว ผลของมันนะถ้าพิจารณาเป็นสมถะมันก็ปล่อยวางเข้ามา แต่ถ้ามันเป็นผลตามความเป็นจริงมันก็เป็นความจริงของมัน ได้ทั้งนั้น ฝึกหัดใช้ปัญญา เพราะปัญญามันต้องฝึกหัดใช้อยู่แล้ว ทีนี้เพียงแต่เราจะให้มันชัดเจนไงว่าอย่างนี้เป็นสมถะ อย่างนี้เป็นวิปัสสนา นี่จุดเริ่มต้นพิจารณา อย่างนี้มันวิปัสสนาแล้ว จุดเริ่มต้นของการพิจารณานะ พิจารณาไปแล้วนะ พอพิจารณาไปแล้วพอจิตมันอ่อน จิตมันไม่มีกำลังนะมันก็กลับมาทำสมาธิ กลับมาสมถะ
ฉะนั้น ในการปฏิบัติบอกว่าในสมถะก็มีวิปัสสนา ในวิปัสสนาก็มีสมถะ แล้วมีสมถะต้องเดินไปคู่กัน ถ้าเดินไปคู่กันเราก็ทำไปพร้อมกัน ทำไปพร้อมกันว่าทำได้ ทีนี้เพียงแต่ว่าเวลาทำสมถะทำสมาธินี่แหละ ทีนี้พอทำสมาธิปั๊บสมาธิมันดี พอสมาธิดีมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เห็นธรรมเป็นจริงๆ เห็นตามความเป็นจริงก็คิดว่านี่เป็นวิปัสสนาแล้ว แล้วเราก็จะทำนี้ไป พอมันเห็นทีเดียวเท่านั้นแหละ พอครั้งต่อไปมันทำไม่ได้แล้ว นี่แล้วจุดเริ่มต้นตรงไหนล่ะ?
พอทีนี้ว่าจุดเริ่มต้นมีแล้วเราจะต่อเนื่องไป มันจะเป็นวิปัสสนาไปตลอด การพิจารณาไปตลอด มันใช้ปัญญาไปตลอด ไม่หรอก อาหารชนิดไหนก็แล้วแต่เราต้องมีข้าว ข้าวกับอาหารจะกินไปพร้อมกัน แล้วข้าว เห็นไหม ของคาวกับของหวานไปพร้อมกัน กินของคาวเสร็จก็กินของหวาน นี่ก็เหมือนกัน ของหวานสุดยอด นี่เวลากินของคาวเสร็จแล้วเรากินของหวาน
นี่ก็เหมือนกัน เวลาทำสมาธิแล้วมันก็มีวิปัสสนา ถ้ามีวิปัสสนามันไปได้ คือมันจะเอาตายตัวไม่ได้ มันจะเอาตายตัวว่าต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนั้นมันไม่มี แต่ถ้าคนที่ชำนาญแล้วนะ พอชำนาญแล้วนะไปได้หมด ทีนี้เพียงแต่นี่จะพูดทางวิชาการ ถ้าวิชาการก็ต้องบอกว่าพอจิตสงบแล้วฝึกหัดใช้ปัญญาๆ ถ้ามันใช้ปัญญาได้ พอใช้ปัญญาได้ ใช้ไปแล้วนะก็ไปไม่รอด พอใช้ปัญญาแล้วสักพักหนึ่งมันเอาแต่ปัญญา เพราะคนเวลาทำสมาธิ ทำสมาธิก็เกือบตายแล้ว เวลาพอใช้ปัญญาไป วิปัสสนาไปแล้วไม่กลับมาทำสมาธิเลย
อย่างที่เวลาหลวงตาท่านว่า เห็นไหม โฮ้ เวลาติดสมาธินะออกฝึกหัดใช้ปัญญา โอ้โฮ สมาธิมันนอนตายอยู่นั่นใช้ปัญญาไปเลย พอใช้ปัญญาไปเต็มที่ ไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นบอกว่านั่นล่ะสมบัติบ้าๆ นี่สมบัติบ้าเลย บ้าสังขารๆ ใช้แต่พิจารณา มันต้องกลับมาทำความสงบอีก มันก็ต้องกลับมาทำความสงบ มันจะไปทางใดทางหนึ่งโดยที่ไม่เกื้อกูลกันไม่มี พอมันเกื้อกูลกันแล้วมันถึงเป็นมรรค ๘ พอมรรค ๘ เพราะมรรคสามัคคีมันก็สมุจเฉทปหาน ถ้ามรรคไม่สามัคคี ไม่สมดุล ถ้ามรรคไม่สมดุล
นี้การฝึกหัดที่ว่าใช้สมาธิไปแล้ว เกิดใช้ปัญญาไปแล้วมันจะสมดุล มันไม่สมดุล ถ้าในสมาธิก็เป็นความสงบในสมาธิ ในใช้พิจารณา ถ้ามันสมดุลในการพิจารณามันก็เป็นตทังคปหานปล่อยวางชั่วคราว มันเป็นการฝึกหัด ถ้าถึงที่สุดแล้วถ้ามันสมดุลมรรคสามัคคี ความสมดุลของมรรค มรรครวมตัว มรรคมันรวมตัวนะ ทั้งมรรคด้วย อริยสัจด้วย เห็นไหม ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นี่ถ้ามันรวมตัว รวมตัวหมายความว่าพิจารณากายมันสมดุลของมัน พิจารณาเวทนาสมดุลของมัน พิจารณาจิตสมดุลของมัน พิจารณาธรรมมันสมดุลนะ ทั้งมรรคด้วย ทั้งเหตุให้พิจารณาด้วย
นี่เหตุให้พิจารณาคือเหตุผลของมันที่เราจะพิจารณา แล้วกิเลส เห็นไหม กิเลสกับธรรมด้วย ถ้ามันรวมตัวมันทำลายกันหมดเลย พอทำลายหมดเลย นั่นล่ะคือเป้าหมาย พอเป้าหมายแล้วมันก็จบไง
ฉะนั้น
ถาม : เวลาภาวนาทำสมาธิแล้ว จะรู้ได้อย่างไรว่าจุดไหนจะเริ่มใช้พิจารณา
ตอบ : เวลาหลวงตา หลวงตาท่านตัดทิ้งเลยล่ะ เพราะมันบอกไม่ได้ ที่พูดอยู่นี่มันเป็นอุปมาอุปมัยให้เป็นแนวทาง จะบอกตรงๆ ไม่ได้ บอกตรงๆ ไม่ได้เพราะอะไร? เพราะว่าจริตนิสัยคนไม่เหมือนกัน พอบอกตรงๆ มันเป็นปัจจุบันไง ถ้าบอกตรงๆ พอบอกปั๊บนะมันเคลื่อนแล้ว พอบอกปั๊บมันก็จะเอาตรงนี้ หลวงพ่อว่าอย่างนี้ นั่งเฝ้าเลยนะ กิเลสไปอยู่ข้างหลังนะ มันตีหัว มันเอาปืนยิงหัวล้มไปยังไม่รู้ตัวเลยนะ นั่งเฝ้า หลวงพ่อบอกให้เฝ้าตรงนี้ๆ กิเลสมันลุกขึ้นมายืนนะก็เอาปืนยิงหัวเลย มันต้องรู้ทันตลอด เพราะบอกปั๊บ กิเลสนี่มันร้ายนัก กิเลสของคนร้ายนัก แล้วพอมันรู้อะไรก่อนนะมันก็สร้างภาพ สร้างให้เป็นอย่างนั้น สร้างให้เป็นอย่างนั้น
ฉะนั้น มันต้องฝึกหัด นี่ภาคปฏิบัติ หลวงปู่มั่นท่านเทศน์มาตลอดชีวิตเลย ไม่บอกว่ามรรคผลอยู่ตรงไหน บอกแต่เหตุอย่างเดียว หลวงตาบอกว่าหลวงปู่มั่นไม่เคยบอกว่าโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามีไม่เคยพูดเลย พูดแต่วิธีการๆ แต่ลูกศิษย์หลวงปู่มั่นไม่เคยสงสัยในตัวหลวงปู่มั่นเลย ลูกศิษย์หลวงปู่มั่นไม่เคยสงสัยความเป็นจริงในใจหลวงปู่มั่นเลย ไม่บอก ท่านบอกบอกไม่ได้ บอกนี่กิเลสมันเอาไปเป็นดาบสองคมไง เอาธรรมของหลวงปู่มั่นไปเชือดคอมันเอง รู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้ จำมาทั้งนั้นแหละ พอจำมาเป็นจินตมยปัญญา จินตนาการสร้างภาพกันไป
การภาวนา นี่กิเลสมันร้ายนัก ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นอาจารย์จริงท่านต้องโดนกิเลสอย่างนี้หลอกมาก่อน ถ้าท่านโดนหลอกมาก่อน ท่านจะไม่ให้ลูกศิษย์ของท่านไปลำบากในใจของลูกศิษย์ แต่ลูกศิษย์ที่ฟังอาจารย์ว่านะ ไม่รักกันจริง ถ้ารักกันจริงมันก็ต้องเปิดเผยหมดเลย ถ้าอาจารย์รักหนูจริงอาจารย์ก็ต้องบอกมาเลยว่ากิเลสมันเป็นอย่างนี้ๆ แล้วฆ่ามันเลย อาจารย์ไม่รักหนู ถ้าอาจารย์รักหนูอาจารย์ต้องบอกเลย กิเลสมันเป็นอย่างนั้น มันซุกอยู่ตรงนั้น ไปจับมันออกมาแล้วเอามีดเชือดคอมันเลย นั่นล่ะอาจารย์จะรักหนู
นี่โลกคิดกันแบบนี้ พอโลกคิดกันแบบนี้ เวลามีครูบาอาจารย์ท่านใช้กลอุบายเพื่อจะให้ทันกิเลสของตัว กลับน้อยใจนะ กลับน้อยใจ กลับเสียใจว่าอาจารย์ไม่รัก อาจารย์ไม่รัก ทั้งๆ ที่เขาทะนุถนอมนะ เขาไม่ให้กิเลสมาหลอกมันนะมันยังไม่รู้ตัวมัน มันยังไปน้อยใจว่าอาจารย์ไม่รักมันนะ แต่อาจารย์ปลิ้นปล้อน หลอกลวงมันนะมันรักไง
อาจารย์บอกว่าเอ็งเป็นลูกศิษย์ที่ดีเนาะ เอ็งเป็นลูกศิษย์เอกเลยเนาะ เอ็งต้องให้เงินข้าวันละ ๕ ล้านเนาะ แล้วเอ็งจะได้เป็นลูกศิษย์เอกเลย รักเนาะ รักอาจารย์มากเลย แต่พออาจารย์บอกเรื่องจริงนะ อาจารย์ไม่รักหนู อาจารย์ไม่รักหนู แต่ถ้าบอกว่าเอ็งเป็นศิษย์เอกเลยเนาะ เดี๋ยวเอ็งต้องสร้างกุฏิให้ ๕ หลังนะ เอ็งต้องถอยรถให้ ๕ คันนะ โอ้โฮ ศิษย์เอก โอ้โฮ ชอบ รักอาจารย์องค์นี้มาก เพราะอาจารย์รักเราจริง แต่พออาจารย์พยายามจะบอกถึงความจริง ชี้ถึงเรื่องกิเลสในใจเรา เราไม่ชอบ เราไม่ชอบ
นั่นอาจารย์ที่แท้จริง เห็นไหม ถ้าอาจารย์ที่แท้จริงกับอาจารย์ที่ปอกลอกมันคนละเรื่องนะ อาจารย์ที่ปอกลอก เราหมดเนื้อหมดตัวนะ แต่ถ้าอาจารย์ที่เป็นจริงเขาจะรักษาเรา เขาจะดูแลเรา เพื่อประโยชน์กับเราเนาะ เอวัง