ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ธรรมมีมูลค่า

๒๓ ก.พ. ๒๕๕๖

 

ธรรมมีมูลค่า
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ข้อ ๑๒๗๑. เรื่อง “ไม่มีคำถามครับ แต่อยากเข้ามายืนยันว่าหลวงพ่อพูดนั้นจริงโคตรๆ เลย” (เขาว่าอย่างนั้นนะ)

กราบนมัสการครับ นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้เข้ามาในเว็บไซต์นี้ ต้องบอกว่าตัวกระผมนั้นฝึกปฏิบัติธรรมมาประมาณเกือบ ๗-๘ ปี ได้ปฏิบัติตามที่ต่างๆ มาประมาณ ๕-๖ ที่ และปฏิบัติตามหนังสือบ้างเท่าที่จะศึกษาได้ แต่โดยมากหากนับเป็นเปอร์เซ็นต์ ก็ต้องบอกว่า ๘๕ เปอร์เซ็นต์เป็นการปฏิบัติแบบตามความเข้าใจของตัวเองล้วนๆ ระยะต่อมาที่ปฏิบัติได้มีโอกาสสอบถามผู้ที่คิดว่าท่านน่าจะให้คำแนะนำได้ ๒-๓ ครั้งเท่านั้นเอง เพราะปฏิบัติเอง เข้าใจเอง โดยไม่มีครูบาอาจารย์คอยแนะนำ

ครั้งหนึ่งทำให้กระผมแทบเป็นคนวิกลจริต มีอาการต่างๆ เกิดขึ้นกับตัวผมมากมายจนขนาดทำให้ผมต้องเลิกปฏิบัติธรรมไป (เขาบอกว่า) เพราะรู้ว่ายิ่งปฏิบัติยิ่งโง่

ตอบ : เขารำพันมาเยอะมาก ยาวมาก ทีนี้พอคำว่ายาวมาก มันมีการปฏิบัตินะ

ถาม : กระผมเหมือนมานพน้อยผู้ที่แสวงหา แสวงหาก็เจอครูบาอาจารย์ที่ต่างๆ (เขารำพันมา) หลวงพ่อพูดถูกว่าสมาธินั้นเป็นเรื่องจำเป็น หลวงพ่อได้ปฏิเสธคำพูดที่ว่าสมาธิไม่จำเป็น ใช้สมาธิแค่ระดับขณิกสมาธิก็ใช้ได้ ซึ่งนี่เป็นแนวทางสอนในปัจจุบันที่แพร่หลายและลัดสั้นที่สุด หลวงพ่อบอกสมาธินั้นมีความสำคัญ นั่นหลวงพ่อเน้นถึงความสงบถึงฐีติจิต

ตอบ : คำว่าถึงฐีติจิต อันนี้คำว่าฐีติจิตคือจิตเดิมแท้ ฉะนั้น ถ้าใครจะบอกว่าต้องถึงฐีติจิตมันเป็นไปได้ยาก แต่พูดถึงถ้ามันถึงตรงนี้แล้วมันแบบว่าถึงจิตใต้สำนึกคือถึงเป้าหมายเลย ตรงนี้หลบหลีกไม่ได้ แต่คนเข้าถึงตรงนี้ไม่ได้ จะบอกว่ารอให้เข้าถึงฐีติจิต คนเรากว่าจะได้ใช้ปัญญามันยังอีกนาน ฉะนั้น ถ้าจิตสงบแล้วใช้ปัญญาได้ ทีนี้คำว่าฐีติจิตมันเป็นคำพูดของหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นบอกว่าอวิชชาเกิดจากอะไร? สรรพสิ่งในโลกนี้มีที่เกิด ที่ดับ สิ่งทุกๆ อย่างมันมีที่มาที่ไป มีเหตุมีผล แล้วอวิชชามันลอยมาจากไหน? อวิชชามันลอยมาจากฟ้าหรือ? อวิชชาเกิดที่ไหน? อวิชชาเกิดที่ฐีติจิตนี่ไง

ฉะนั้น ถ้าเราเข้าไปถึงฐีติจิต เห็นไหม ถ้าใครภาวนาแล้วมีปัญหา ใครภาวนาแล้วภาวนาไม่ได้ ใครปฏิบัติแล้วไม่รู้ไม่เห็นต่างๆ ทำความสงบเข้าไปถึงจิตใต้สำนึก คือไปถึงฐีติจิต ไปถึงก้นบึ้งของใจเลย ไปรื้อค้นที่นั่น แต่พอถึงก้นบึ้งของใจแล้ว ถ้ามันเป็นรวมใหญ่นะมันใช้ปัญญาไม่ได้ แต่เข้าถึงก้นบึ้งของหัวใจไปตรวจสอบกันว่าเราควรจะพิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต เราควรพิจารณาสิ่งใด ทุกคนมาจะถามว่าผมจะพิจารณาอย่างไรครับ? ผมควรปฏิบัติอย่างไรครับ? ถ้าเข้าไปถึงนี่มันจะไปรื้อค้นของมันตามข้อเท็จจริง แต่เข้าถึงได้ยาก

ฉะนั้น เขาบอกว่าถ้าเข้าถึงฐีติจิตแล้วถึงใช้ปัญญา ไม่ใช่ ไม่ใช่ นี่เขาอ้างว่าคำพูดของเราไง ฉะนั้น เขาบอกเขาเคยจิตเสื่อมมาแล้วทรมานมาก นี่เขียนมายาวมาก เพราะเขาบอกว่าเขาไม่ต้องการคำตอบนะ ไม่มีคำถาม ไม่ใช่คำถาม แต่เป็นสิ่งที่พรรณนามา ฉะนั้น คำพรรณนามา เห็นไหม

ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อ นี่เป็นครั้งแรกที่ผมเข้ามาในเว็บไซต์นี้ ต้องบอกว่าตัวกระผมนั้นฝึกปฏิบัติธรรมมาเกือบ ๗-๘ ปี ในการปฏิบัติไปที่ต่างๆ ประมาณ ๕-๖ ที่ และปฏิบัติตามหนังสือมาบ้าง

ตอบ : ฉะนั้น สิ่งที่พูดนี่เราจะบอกว่าสิ่งที่ปฏิบัติมันต้องมีมูลค่า มันมีความเป็นจริงของมัน ถ้าไม่มีความเป็นจริงของมัน เห็นไหม เพราะปฏิบัติไปแล้วมันเป็นกิเลสพาปฏิบัติ มันปฏิบัติไปโดยอวิชชา ปฏิบัติไปโดยความไม่รู้ ถ้าปฏิบัติโดยความไม่รู้ เขาว่า

ถาม : ครั้งหนึ่งกระผมแทบเป็นคนวิกลจริต มีอาการต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย

ตอบ : ฉะนั้น พอมีอาการต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ถ้าเราไม่มีครูบาอาจารย์เราก็ว่าสิ่งนั้นปฏิบัติแล้ว การปฏิบัติธรรมมันต้องเป็นธรรม ปฏิบัติแล้วต้องมีคุณประโยชน์ ทำไมปฏิบัติแล้วทำไมเครียด ปฏิบัติแล้วทำไมแทบจะเป็นคนวิกลจริต ถ้าวิกลจริตนะ ถ้ามีครูบาอาจารย์ท่านจะเปลี่ยนคำบริกรรมให้

คำบริกรรมนะ ถ้าเราใช้คำบริกรรม หรือเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถ้าปฏิบัติไปแล้วกิเลสมันรู้ทัน แล้วกิเลสมันมีกำลังมากกว่า ครูบาอาจารย์ท่านจะให้เปลี่ยน มีอุบายพยายามหลบหลีกมันก่อน หลบหลีกจนกว่าจิตมันจะสงบได้ ถ้าจิตมันสงบได้นะเราจะมารู้เห็นตามความเป็นจริงที่ว่ากาย เวทนา จิต ธรรม ตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงมันเป็นข้อเท็จจริง ถ้าข้อเท็จจริงแล้วกิเลสมันไม่เข้ามาเสี้ยม ถ้าไม่ใช่ข้อเท็จจริงมันเป็นอุปาทาน พออุปาทานเราไปรู้เห็นสิ่งใด เราว่าไปเห็นภูต ผี ปิศาจ ไปเห็นต่างๆ หรือไปเห็นสิ่งใดก็แล้วแต่มันมีอุปาทาน อุปาทานของคนมันไม่เท่ากัน

อุปาทานของคนนะ ถ้าคนหนา อุปาทานบอกว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม เห็นอะไรก็ว่าเป็นธรรม เห็นอะไรก็ว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์หมดแหละ แต่ถ้าคนปานกลางเขาก็แยกแยะของเขาว่ามันเป็นจริงหรือไม่เป็นจริง แต่ถ้าคนเบาบางนะ โอ๋ย ก็แค่นิมิต ก็แค่นิมิต นิมิตนี้ในเมื่อจิตสงบแล้วถ้าจริตนิสัยเป็นแบบนั้นมันจะรู้ จะเห็นของมัน ก็แค่นิมิต นิมิตก็วางก็จบ ของถ้าเราจับมันก็มี ถ้าเราปล่อยมันก็จบ แต่มันปล่อยไม่ได้ มันอยากจะปล่อยมันยิ่งยึด พออยากจะปล่อยมันยิ่งบอกนี่ของเรา นี่เป็นความจริงมันยิ่งไปยึด ยิ่งอยากจะปล่อยมันยิ่งไม่ปล่อย

ถ้าครูบาอาจารย์นะไม่ต้องไปปล่อยอะไรทั้งสิ้น ตั้งสติไว้กำหนดพุทโธ ถ้าบริกรรมพุทโธพอจิตมันอยู่กับพุทโธมันหลุดไปเอง เพราะเราเปลี่ยนมือมาหยิบของใหม่ เรามาอยู่ที่พุทโธมันก็จบ ถ้าครูบาอาจารย์ท่านเป็นนะ เพราะกรณีอย่างนี้มันเป็นวิถีแห่งจิต คือกิริยาของมันเป็นแบบนี้ กิริยาของจิตการเวียนไป สัญชาตญาณนะธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ธรรมชาติของมนุษย์เป็นอย่างนี้ เพียงแต่คนมีสติปัญญาทันไหม?

ถ้าพุทโธ พุทโธ พุทโธ พอมันไม่เสวยสิ่งใดมันสงบตัวมันเอง แต่พุทโธมันก็วิตก วิจารขึ้นมา พุทโธ พุทโธ พุทโธ วิตก วิจารมันก็เหมือนความคิดนี่แหละ แต่มันไม่ให้คิดเรื่องอื่น ให้มันระลึกถึงพุทโธไว้ แล้วพอเราบังคับให้มันระลึกพุทโธมันไม่ยอม ถ้ามันคิดเรื่องความโลภ ความโกรธ ความหลงมันพอใจ มันสนุก มันคึกครื้นของมันไปนะ แต่บังคับบอกพุทโธไม่เอา แล้วมันดื้อด้วย แล้วบอกมันเป็นสมถะ มันไม่มีประโยชน์ พอมันจะกินยาบอกไม่มีประโยชน์นะ แต่มันไปกินของที่เป็นพิษมันบอกนี่อร่อย

โดยธรรมชาติของจิตมันเป็นแบบนี้ ถ้าครูบาอาจารย์ท่านเคยปฏิบัติของท่านมานะ คนที่ปฏิบัติมานะ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เวลาท่านออกไปค้นคว้าอยู่ ๖ ปีมันก็เหมือนกับพวกเราล้มลุกคลุกคลาน ครูบาอาจารย์ของเราที่ปฏิบัติมาทุกองค์ก็เริ่มต้นจากปุถุชนนี่แหละ เริ่มต้นจากคนหนาแบบเรานี่แหละ แต่ทำไมท่านมีสติปัญญาพาจิตของท่านรอดพ้นจากการครอบงำของอวิชชาไปได้ แล้วเวลาเราปฏิบัติของเราทำไมเรายึดมั่นถือมั่น ทำไมเราติดขัดไปหมดเลย

ติดขัดเพราะนี่พันธุกรรมของจิต วุฒิภาวะของจิตมันอ่อนแอ พอมันอ่อนแอมันเจออะไรมันก็ตะครุบๆ ของเราๆๆๆ แต่ถ้าครูบาอาจารย์ท่านเป็นธรรมนะ ท่านเจอสิ่งใดนะท่านบอกอันนี้ใช่หรือไม่ใช่ อันนี้จริงหรือไม่จริง อันนี้ต้องพิสูจน์ก่อน ท่านไม่ตะครุบเอา ตะครุบเอาไง แต่เราพอไปเจออะไร พอปฏิบัติก็แสนยากนะ ทำมาปฏิบัตินี่แสนยาก ทำสิ่งใดก็อยากให้มันสมความปรารถนา พอมีลมพัดลมเพมาตะครุบเลยนะของเราๆ

แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์นะ ลมพัดลมเพมา ลมพัดมาก็ อืม เวลาลมพัดมามันก็มีความร่มเย็น เวลาอยู่กลางแดดมันก็ร้อน เวลาจิตไปยึดมั่นถือมั่น ไปเห็นสิ่งใดก็ต้องพิสูจน์ก่อนว่าสิ่งนั้นเป็นจริงหรือไม่เป็นจริง ชีวิตนี้กว่าจะเกิดมามันก็ทุกข์ยากแสนเข็ญพอแรงแล้ว แล้วเวลาเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วยังต้องทำมาหากิน สละทางโลกมาบวชแล้วยังจะต้องมาติดขัดอีก มันลำบาก ลำบนไปทั้งนั้นเลย

ฉะนั้น การทำสิ่งใดก็ต้องมีสติปัญญาไม่ให้ไปจับพลัดจับผลูไปหยิบของที่ไม่ใช่ของเราขึ้นมาอีก นี่เห็นสิ่งใดก็พิจารณา พันธุกรรมของจิต คือจิตที่มีกำลัง จิตที่ได้สร้างบุญญาธิการมา จิตที่สร้างบุญกุศลมา วุฒิภาวะเขาจะมั่นคงของเขา สังเกตได้ไหม เด็กบางคนผู้ใหญ่ไปชักนำอย่างไรมันก็ไม่เชื่อ เด็กบางคนผู้ใหญ่ไม่ต้องไปชักนำหรอกมันวิ่งตามเลย

จิต จิตถ้ามันมีวุฒิภาวะสิ่งใดมามันพิสูจน์ก่อน กาลามสูตรไม่ให้เชื่อว่าเรารู้ ไม่ให้เชื่อว่าเราเห็น ไม่ให้เชื่อว่าเป็นของเรา ไม่ให้เชื่อทั้งสิ้น เงินในกระเป๋าของเรา เราแสวงหามาเป็นของเราแล้ว มันอยู่ในกระเป๋าเราแล้วมันจะเป็นของคนอื่นไปไหม? ไม่มีทาง แต่เงินที่ไม่ใช่ของเรา เราจะไปฉ้อฉลเขามา ไปโกงเขามา ไปฉกลักเขามานะ เราเอามาใช้ได้อยู่ แต่ไม่ใช่ของเราหรอก มันมีเวรมีกรรม

ถ้าจิตเราไปรู้ไปเห็นสิ่งใด ถ้ามันเป็นของเรานะ เราพิสูจน์ตรวจสอบอย่างไรแล้วมันก็เป็นของเรา แต่ถ้าไม่เป็นของเรานะ พอตั้งสติหายแล้ว พอตั้งสติแค่นั้นแหละมันไปแล้ว สตินี่มันยับยั้งได้ทุกอย่างเลย พอตั้งสติมันไม่มีแล้ว แล้วว่าของเราๆ ไปไหนล่ะ? นี่เพราะอะไร? เพราะเราเชื่อในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กาลามสูตรต้องตรวจสอบก่อน ถ้าตรวจสอบเสร็จแล้วมันก็จะเป็นความจริงขึ้นมา

ถ้าเป็นความจริงมา ครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติมาอยู่ที่จริตนิสัย คำว่าจริตนิสัยบางคนจะรู้ จะเห็นต่างๆ จิตที่คึก จิตที่คะนองนะมันจะรู้ มันจะเห็น มันจะพิสดารมาก จิตปานกลางนะมันก็จะสงบรู้เห็นบ้าง ไม่รู้เห็นบ้าง จิตที่ละเอียด จิตที่ไม่มีสิ่งใดรบกวนนะมันจะสงบไปเฉยๆ แสงสว่างก็ไม่เคยเห็น นิมิตก็ไม่เคยรู้จัก อะไรมันก็ไม่มี แล้วเวลาจิต ๓ ระดับเวลานั่งคุยกัน จิตที่คึกคะนองเขาก็บอกว่าจิตเขาสงบแล้วรู้เห็นไปหมดเลย ไอ้จิตที่ละเอียดนะ เอ๊ะ เราไม่เคยมี มันจะเป็นอย่างนั้นหรือ?

ถ้าครูบาอาจารย์นะ วุฒิภาวะที่แตกต่างกัน เวลามานั่งคุยธรรมะกัน ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ใครที่มีประสบการณ์สิ่งใดมาคุยกัน นี่มันจะย้อนไป แต่ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่นะ พระจะไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็นอย่างนั้นจริงหรือ? องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะบอกเลยว่า เมื่อชาตินั้นๆ เขาเคยทำแบบนั้น เขาทำเหตุนี้มา เพราะเหตุอันนั้นมันถึงจะได้ผลอย่างนี้ๆ พระพุทธเจ้าจะบอกหมดเลย

อนาคตังสญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์สร้างสมมามาก ไอ้พวกเราแค่จะปฏิบัติมันก็ยังไม่กล้า แล้วพอไปรู้ก็อยากจะรู้ อยากจะเห็น อยากจะเป็นอย่างเขา อยากจะเป็นจริงมันต้องเป็นที่ต้นทุน ต้นทุนคือศรัทธา คือความเชื่อของเรา จิตของเรานี่ต้นทุนของเรา ต้นทุนของเรามีมากมีน้อยขนาดไหนเราก็พยายามของเรา ถ้าเราเชื่อมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราเชื่อมั่นในบรรพบุรุษของเราที่มีความฉลาด นับถือพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แล้วเราเกิดมาเป็นชาวพุทธ เราเกิดมาแล้วเรามีสติปัญญา สติปัญญาคือเราอยากปฏิบัติของเรา

ฉะนั้น คำว่า

ถาม : ครั้งหนึ่งกระผมแทบเป็นคนวิกลจริต เพราะมีอาการต่างๆ เกิดขึ้นกับผมมากมาย จนขนาดว่ามีคนเตือนให้หยุด ยิ่งปฏิบัติธรรมยิ่งโง่

ตอบ : นี่ถ้าปฏิบัติธรรมไปแล้ว เห็นไหม ปฏิบัติธรรมให้เป็นพุทธศาสตร์ ไม่ให้เป็นไสยศาสตร์ ถ้าเป็นไสยศาสตร์ สิ่งที่รู้ที่เห็น แม้แต่ฌานโลกีย์ อย่างฌานโลกีย์ อภิญญา อภิญญามันเป็นไสยศาสตร์ไหม? มันเป็นไสยศาสตร์ทำไมมันมีจารึกอยู่ในพระไตรปิฎกล่ะว่านี่อภิญญา ๖ อภิญญาเป็นอย่างไร? ถ้าอภิญญา ถ้าจิตมันสร้างสมมาเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าครูบาอาจารย์ถ้าเป็นผู้รู้จริงนะท่านจะพยายามใช้อุบาย ให้เอากำลังที่เป็นอภิญญาพลิกกลับมาเป็นศีล สมาธิ ปัญญา ให้พลิกกลับมาเป็นมรรคให้ได้ ถ้ามันพลิกกลับเป็นมรรคจะแก้อย่างไร? จะพลิกอย่างไรให้มันกลับมาเป็นมรรค

ถ้าพลิกกลับมาเป็นมรรค ถ้าตั้งสติไว้ รั้งไว้ ดึงไว้ แล้วถ้ามันจะเข้า จะออกอย่างไรดูแลจิตของเราไว้ ถ้าดูแลจิตไว้ พอมันรั้งไว้ให้เข้ามาสู่มัชฌิมาปฏิปทา มัชฌิมาปฏิปทาไม่ออกไปสู่กามสุขัลลิกานุโยค อัตตกิลมถานุโยค อัตตกิลมถานุโยคคือความลำบากเปล่า กามสุขัลลิกานุโยคคือมันสุข มันพอใจของมัน มันสะสมแต่ว่ามันชอบของมัน นี่ดึงกลับมา ถ้าดึงกลับมานะ แล้วถ้ามันลงสู่มัชฌิมาปฏิปทา เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคมันก็เกิดมรรค เกิดมรรคขึ้นมา มรรคญาณ มรรคญาณเกิดขึ้นมา

มรรค เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพานนะ มีมานพที่ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บอกศาสนาไหนก็ดี ศาสนาไหนก็ดี ศาสนาไหนก็ว่าของเขายอดเยี่ยม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลย

“ภัททิยะ เธออย่าถามให้เสียเวลาเปล่าไปเลย ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล”

ศาสนาไหนไม่มีมรรคคือดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ ถ้าศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล แล้วเราดูในวงการปฏิบัติในปัจจุบันนี้มีมรรคไหม? มีมรรคหรือเปล่า? มีดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบจริงหรือเปล่า? มีปัญญาชอบไหม? ปัญญาที่บอกปัญญาๆ ปัญญาที่ปฏิบัติกันปัญญาของใคร? ปัญญากิเลสทั้งนั้น มันเป็นปัญญาของใคร? มันเป็นมรรคไหม?

ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล แต่ในปัจจุบันนี้ลัทธิไหน หมู่ปฏิบัติไหนที่ไม่มีมรรค หัวหน้าที่พาปฏิบัติที่ว่าไม่มีมรรค ไม่มีมรรคก็ไม่มีผล ถ้ามันจะมีผลมันต้องมีมรรคญาณ ถ้ามรรคญาณ นี่ถ้ามันจะวิกลจริต ถ้ามีครูบาอาจารย์ท่านจะดึงกลับมา ดึงกลับมามันก็หายโง่ไง ถ้าหายโง่มันก็ย้อนกลับมาได้

ฉะนั้น สิ่งที่พูด

ถาม : นี่หลวงพ่อพูดว่าสมาธิเป็นเรื่องจำเป็น หลวงพ่อได้ปฏิเสธคำพูดที่ว่าสมาธิไม่จำเป็น แล้วพอสมาธิที่ไม่จำเป็นแล้วทำแค่ขณิกสมาธิมันก็เป็นไปได้

ตอบ : นี่มันไม่มีมรรค ไม่มีมรรค ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ เวลาอัปปนาสมาธิก็บอกปัญญาจะเกิดเองมันก็ไม่ใช่ ปัญญาจะเกิดเองไม่ได้ ปัญญาจะเกิดเองนี่ปัญญากิเลสทั้งนั้น มันผุดขึ้นมา เวลาผุดขึ้นมาเป็นธรรม เป็นธรรมนะ ธรรมเกิดไม่ใช่มรรค ธรรมเกิดนะ สัจธรรม กุศลเกิด

กุศล เห็นไหม อกุศลคือความทุกข์ยากมันเกิด เวลามันเกิดความดีขึ้นมามันกุศลเกิด กุศลเกิด เกิดก็ดับ แค่ธรรมเกิดก็เท่านั้น แล้วถ้ามันเป็นมรรคล่ะ? ถ้าเป็นมรรค สมาธิชอบ สติชอบ ปัญญาชอบ ขณิกสมาธิเป็นสมาธิชอบหรือไม่ชอบ อุปจารสมาธิเป็นสมาธิชอบหรือไม่ชอบ อัปปนาสมาธิเป็นสมาธิชอบหรือไม่ชอบ สมาธิชอบกับสมาธิไม่ชอบมันเป็นแบบใด? ถ้าสมาธิชอบมันก็มัชฌิมาปฏิปทา ถ้าสมาธิไม่ชอบมันก็ลงในทางที่มันเป็นความพอใจของมัน แล้วว่าขณิกสมาธิก็พอ

โอ้โฮ รถเบนซ์คันนี้ ๒ บาทก็พอ เดี๋ยวไปโชว์รูมนะเอาเงิน ๒ บาทซื้อรถเบนซ์ออกมาเลย เพราะเราเป็นคนตั้งราคาเอง รถเบนซ์ในโชว์รูมที่เขาขายรถเบนซ์ใครตั้งราคา ผู้ขายเป็นคนตั้งราคาใช่ไหม? ถ้าเรามีเงิน ๒ บาท เราบอกเราจะซื้อรถเบนซ์คันนี้ รถเบนซ์คันนี้เราให้ ๒ บาทเอารถเบนซ์ออกมาเลย นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันเป็นมรรค ขณิกสมาธิก็พอ ตั้งราคาเองเลยเนาะ เออ ขณิกสมาธิปัญญาแค่นี้ก็พอ ขณิกสมาธิก็ฆ่าปัญญาได้ มันก็บอกว่าแค่ขณิกสมาธิก็เป็นปัญญาแล้วฆ่ากิเลสได้

นี่เวลาถ้าเราไม่มีหลัก เวลาพูดไปมันไม่เป็นธรรม ถ้าไม่เป็นธรรมมันมีความโต้แย้งได้ ถ้ามันเป็นธรรมนะ เป็นธรรมเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นพยานกับจิตเราเลย พยานที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ถ้าพยานที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงมันถึงจะเป็นจริง นี่มูลค่าของธรรม ธรรมถ้ามีมูลค่านะมันมีค่ามาก ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นตถาคต แล้วถ้าเห็นตถาคตแล้ว คุณธรรมอันนั้นถ้าคนที่มีธรรม ธรรมนี่มีค่ามากเลย จะไม่เห็นสิ่งใดมีค่าไปกว่าธรรม

ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ของเรา หลวงตาท่านบอกเลยนะ สิ่งที่ทางโลกๆ ทางโลกกับทางธรรม ถ้าทางโลกเป็นเรื่องของโลก นี่โลกเป็นธุรกิจทั้งนั้นแหละ โลกคือการแสวงหา โลกคือการได้สิ่งใดมา ถ้าทางธรรมล่ะ? ทางธรรมเปิดโล่งเลย สิ่งใดเป็นธรรมนะ ทุกคนจะดูแลกัน ทุกคนจะเจือจานกัน เพราะใจมันเป็นธรรม ใจเป็นธรรมมันมีแต่ความเมตตา มันมีแต่ความให้อภัยต่อกัน นั้นพูดถึงถ้าเป็นธรรม ถ้าเป็นโลก นี่พูดถึงเป็นขณิกสมาธิก็พอ แค่นี้ก็ใช้ได้แล้ว แค่นี้ก็ใช้ได้แล้วนี่เราพูดของเราเอง แต่ถ้าเป็นความจริงนะ ความจริงมันเป็นความจริงอันหนึ่ง มันไม่เป็นอย่างที่เราคิดหรอก

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าสมาธิมันเป็นความสงบของใจ ถ้าสมาธิเป็นความสงบของใจแล้วมันจะเห็นกิเลส มันจะรู้เท่าทันกิเลส ถ้ามันรู้เท่าทันกิเลสนะ เห็นกายก็เห็นกายตามความเป็นจริง ถ้าเห็นกายตามความเป็นจริงนะมันพิจารณาของมันไป มันแยกแยะของมันไป นั่นแหละมันฝึกหัดใช้ปัญญา เห็นไหม ปัญญาที่เกิดขึ้นเอง ถ้าเกิดสมาธิแล้วปัญญามันจะเกิดเองเป็นไปไม่ได้ ถ้าปัญญาที่เกิดขึ้นเอง นี่เขาบอกว่าจิตเดิมแท้นี้ผ่องใส ถ้าความผ่องใสเป็นนิพพาน เป็นนิพพานมาเกิดอีกทำไม? เป็นนิพพานมาเกิดอีกทำไม? อ้าว เป็นนิพพานก็ไม่ต้องมาเกิดแล้วไง

นี่ถ้ามันผ่องใส มันผ่องใสขนาดไหนมันก็คืออวิชชา ถ้ามันเป็นอวิชชา ฉะนั้น สิ่งที่ว่ารอให้ปัญญามันเกิดเองมันก็เกิดจากตรงนั้นแหละ ถ้ามันเกิดจากตรงนั้นมันจะเป็นปัญญาของใครล่ะ? ก็ปัญญาของอวิชชาไง ถ้าเป็นปัญญาของอวิชชามันฆ่ากิเลสตรงไหน? มันฆ่ากิเลสไม่ได้ ฉะนั้น ปัญญาเกิดเองปัญญาจากอวิชชา แต่ถ้าเป็นปัญญาเกิดจากมรรคล่ะ? ปัญญาเกิดจากมรรคนะมันพิสูจน์ตรวจสอบแล้วพิสูจน์ตรวจสอบอีก ถ้ามันเห็นกายแล้วมันพิจารณากาย เพราะกายมันแยกแยะของมัน

ถ้าจิตพิจารณากาย เวลาพิจารณากายนะ หลวงปู่ชอบ หลวงปู่คำดี หลวงปู่ขาว หลวงปู่เจี๊ยะ พิจารณากายเหมือนกันแต่ไม่เหมือนกันเลย ไม่เหมือนกันเลย ไม่เหมือนกันตรงไหน ไม่เหมือนกัน ถ้าคนพิจารณากายนะ พิจารณากายโดยปัญญา นี่หลวงปู่ดูลย์ท่านพิจารณาโดยปัญญา ปัญญาแยกแยะแล้วมันมาถอนถอนที่ใจ มันรู้เห็นมันปล่อยเลย นี่เวลาหลวงปู่คำดีท่านพิจารณาของท่าน พิจารณากายไป ถ้ากายมันย่อยสลายไปล่ะ? แล้วพิจารณากาย พิจารณากายของหลวงปู่เจี๊ยะล่ะ? หลวงปู่เจี๊ยะท่านตั้งกายของท่าน แล้วมันย่อยสลายของท่าน

เราจะบอกว่าการพิจารณากายเหมือน เหมือนทุกคนกลับเข้าครัวของตัวเอง ในบ้านของตัวเอง แล้วไปแกงคนละหม้อ แกงเหมือนกันเลย แต่เวลาสุกมามันพร้อมกันไหม? แล้ววิธีทำแกงหม้อนั้นใครทำอย่างไร ความชำนาญของใคร ใครต้องการรสชาติอย่างใด เขาต้องปรุงให้ได้รสชาติที่เขาพอใจจริงไหม? ถ้ามันปรุงรสชาติที่พอใจ ก็นี่อย่างนี้ถูกปากเรา อย่างนี้เราชอบ แต่ถ้าคนอื่นมาปรุงให้เราไม่ชอบ

นี่ก็เหมือนกัน พิจารณากายๆ พิจารณากายของใครมันไม่มีทางเหมือนกันหรอก มันไม่เหมือนกันเลย ถ้ามันไม่เหมือนกัน นั่นผู้ที่มีหลักมีเกณฑ์เขาเป็นมา นี่มูลค่ามันมี ถ้ามูลค่ามันมีคือมันถึงใจเรา พอมันถึงใจเรานะ พอใครแกงหม้อนั้นมา นี่มรรคญาณมันเกิด เครื่องปรุงมรรค ๘ เรียบร้อยสมดุลของมัน อร่อยถูกใจมาก มีความสุขมาก แต่ถ้าแกงชนิดเดียวกันแต่คนอื่นทำให้ ไม่ถูกใจๆ พิจารณากายเหมือนกันแต่ไม่เหมือนกัน คำว่าไม่เหมือนกัน ฉะนั้น สิ่งที่ไม่เหมือนกันมันจะให้สูตรสำเร็จให้เหมือนกัน ให้เป็นที่ว่าเราให้ค่าเองเป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ เราต้องเป็นความจริงของมันนะ

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า เขาบอกเขาไม่เคยเชื่อเรื่องอย่างนี้ แล้วเขาเคยปฏิบัติมาแล้ว เวลาจิตมันเสื่อมมันทุกข์ยากมาก ทุกข์ยากมากเวลาจิตมันเสื่อม เห็นไหม ถ้าจิตมันเสื่อม การปฏิบัตินะ เวลาปฏิบัติเป็นสมาธิมันให้จิตสงบ จิตสงบแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา จิตถ้ายังไม่สงบ จิตถ้ามันสงบแล้วแต่มันไม่ลึกซึ้งถึงขนาดว่ามั่นคง เราก็ฝึกหัดใช้ปัญญาของเรา ปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาในการควบคุมจิตเราให้มันปล่อยวางสิ่งที่เป็นภาระรุงรังของใจ มันก็เป็นสัมมาสมาธิ ถ้าสัมมาสมาธิ พิจารณาบ่อยครั้งเข้า ความละเอียดไง ถ้าจิตมันจับต้องสิ่งใด พิจารณาอีก ถ้าจิตมันละเอียด เดี๋ยวมันจะเห็นตามความเป็นจริง

การฝึกหัดใช้ปัญญามันต้องมีพื้นฐานการฝึกหัดใช้ปัญญามาตั้งแต่ต้น แล้วเวลาปัญญามันละเอียดเข้าไปๆ เดี๋ยวมันก็จะเป็นมรรค ถ้าเป็นมรรคขึ้นมา มันเป็นมรรคญาณ นี่มันมีคุณค่าของมันเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป ฉะนั้น บอกฝึกหัดใช้ปัญญาจะต้องถึงฐีติจิต ถึงฐีติจิตนี้มันเป็นคำพูดของหลวงปู่มั่นในมุตโตทัย เราจำขี้ปากหลวงปู่มั่นมาพูด ทีนี้เราจำขี้ปากหลวงปู่มั่นมาพูดมันก็ต้องมีที่มาที่ไป

ฉะนั้น ถ้าบอกว่าถึงฐีติจิตเลยมันก็ต้องลงอัปปนาสมาธิเลยกว่าจะถึงตอนนั้น เพราะ เพราะผู้ที่ปฏิบัติทุกคนจะคิดมากว่าแล้วเมื่อไหร่หนอเราถึงจะได้ใช้ปัญญา เวลาเราใช้ปัญญาหลวงพ่อก็บอกว่ามันเป็นโลกียปัญญา เป็นปัญญาของกิเลส เวลาทำสมาธิขึ้นไปมันก็ถูลู่ถูกัง มันก็มีความทุกข์ยากพอสมควร ทุกข์ยากพอสมควร พอจิตมันสงบแล้วก็ฝึกหัดใช้ปัญญาเพื่อจะทำให้ความสงบนี้มันง่ายขึ้น เพื่อทำความสงบของเราให้มันสะดวกขึ้น เพราะมันมีปัญญามาแยกแยะ แล้วพอปัญญาแยกแยะ ปัญญาที่เกิดขึ้นนี้มันก็เป็นผลของสมถะ เพราะมันเป็นปัญญาที่แยกแยะมาเพื่อความสงบ

ความสงบนี้มันลึกซึ้งขึ้น ลึกซึ้งขึ้น มันใช้ปัญญาไปเรื่อยๆ ขึ้นไป เดี๋ยวมันก็จะเป็นโลกุตตรปัญญา แล้วมันจะเป็นเองได้อย่างไรล่ะ? มันเป็นเองเพราะจิตมันใคร่ครวญ จิตมันใช้ปัญญา มันพิจารณาแล้วมันสำรอก มันคลายออกไปเรื่อยๆ แต่บอกว่าถึงฐีติจิตเลย ใช่ถึงฐีติจิตเลย พิจารณากายโดยแบบหลวงปู่ชอบจิตสงบจนเห็นกายตามความเป็นจริง อย่างนั้นก็ถูกต้อง

ความถูกต้องแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน ถึงว่าเปิดทางไว้ให้กับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ใครมีความถนัดอย่างใด ใครมีกำลังมากน้อยแค่ไหน อำนาจวาสนาของคนที่มันไม่เท่ากันเราก็พยายามฝึกฝนของเรา เพราะเป้าหมายของเราคือแกงหม้อนั้นให้สุกขึ้นมาเป็นอาหารที่เราพอใจ เป็นอาหารที่เราเป็นคนปรุงขึ้นมา เราพอใจสิ่งใด เราต้องการสิ่งใด เราทำของเราขึ้นมาให้สมกับความพอใจของเรา นี้คือประโยชน์กับเรา

นี่พูดถึงความเห็นของเขาเนาะ เขาก็กราบขอบคุณมา เพียงแต่ยืนยันไง เขาปฏิบัติแล้วเขายืนยันว่าที่เราพูดนี่ถูกใจเขา แต่เดิมถ้ามันผิดมันไม่ถูกใจเขา เขาก็ไม่พอใจ แต่ถ้ามันถูกใจเขาแล้วมันก็เป็นที่ความพอใจของเขา นี่ความพอใจ ความไม่พอใจนะ จบ

ถาม : ข้อ ๑๒๗๓. เรื่อง “สงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติครับ”

เวลากำหนดลมหายใจ เราไม่ได้สนใจว่าลมจะกระทบจมูกแรงหรือเบา แต่สำคัญที่ความรู้สึกรู้ว่าเข้าหรือออกใช่ไหมครับ แต่ธรรมชาติของจิตมักจะสนใจอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในลมนั้นๆ ดังนั้นผมต้องฝึกไปเรื่อยๆ เพื่อมันจะมั่นคงกับความรู้ตรงนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วกลับมาได้ไวขึ้น เพราะตอนแรกเราคิดว่าเรารู้ว่าลมหายใจเข้าออก แต่พอทำความรู้ว่าจิตเราไม่ได้รู้ลมหายใจเข้าออกจริงๆ และพอมันไปรู้อาการมันจะมีการให้ค่าอาการออกมา คนเราให้ค่า ตีค่าทุกอย่างเลยครับหลวงพ่อ

ตอบ : เวลาเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิเรามีสติปัญญาของเรานะ แต่เวลาเราใช้กำหนดอานาปานสติ ถ้าเรากำหนดอานาปานสติ กำหนดพุทโธ นี่เขาเรียกคำบริกรรม ถ้าเราใช้คำบริกรรม เราอยู่กับคำบริกรรม เราไม่ต้องบอกว่าพุทโธมันคืออะไร พุทมันคือ โธมันคือ ลมมันคือ เพราะนี่มันให้ค่าไง

ฉะนั้น คำว่าให้ค่ามันจะเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าปัญญาอบรมสมาธิใช่ไหมความคิดมันเกิดขึ้น พอความคิดมันเกิดขึ้น ความคิดนี้คืออะไร? ความคิดนี้ ถ้าความคิดนี้ก็มันคิดถึงเรื่องสิ่งใดก็คือเรื่องนั้น ถ้าสติปัญญามันพร้อมนะเรื่องนั้นมันเป็นสมมุติมันก็วางเรื่องนั้นเข้ามา แล้วพอความคิดมันเกิดขึ้นมันคืออะไร? มันก็คือรูป คือเวทนา คือสัญญา คือวิญญาณ มันคือขันธ์ ขันธ์พอมันถูกใจมันก็มีอารมณ์อีก นี่พิจารณาเข้าไปนะ จากที่มันไปหมายข้างนอกมันก็ปล่อยเข้ามาที่ขันธ์ เวลามันปล่อยขันธ์เข้ามามันก็เป็นสมาธิ พอปล่อยแป๊บเดียวมันก็คิดอีก นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ

นี้การให้ค่าคือการพิจารณาด้วยสติปัญญา แต่เวลากำหนดคำบริกรรม ถ้าคำบริกรรมมันเป็นเจโตวิมุตติ เจโตวิมุตติกำหนดลมก็อยู่กับลมชัดๆ ลมเข้าก็รู้ว่าเข้า ลมออกก็รู้ว่าออก กำหนดพุทโธก็อยู่กับพุทโธ พุทโธ พุทโธ ไม่ต้องว่าพุทโธมันคืออะไร เวลาลมเข้ามา อ้าว ลมมันสั้น ลมมันยาว ลมมันอุ่น ลมมันเย็น ไอ้นี่มันไขว้เขวไง เอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งสิ พูดถึงถ้ากำหนดคำบริกรรมต้องอยู่กับคำบริกรรม เพราะคำบริกรรมจิตมันเกาะอยู่กับคำบริกรรมแล้ว คำบริกรรมมันเหมือนกับระเบียงบ้านที่เราจะฝึกหัดเดิน เราจะหัดเดินเราจะเกาะระเบียงนั้นไป

จิต จิตโดยธรรมชาติรู้สึกมันก็เกาะคำบริกรรมนี้ไป เกาะคำบริกรรมนี้ไปมันอยู่กับคำบริกรรมนั้น ทีนี้พอเราจะเกาะระเบียงบ้านนี้ไป ระเบียงบ้านนี้ทำจากไม้หรือทำจากปูน ระเบียงบ้านนี้ทาสีอะไร นี่การให้ค่ามันออกไปนู่นไง ถ้ามันบอกว่าลมหายใจเข้ามันเป็นอย่างนั้น ลมหายใจออกมันจะรู้ค่า มันจะรู้อะไร เรารู้ค่าก็ส่วนรู้ค่า แต่เราไม่ต้องไปยุ่งกับมัน เพราะขณะนี้เราใช้คำบริกรรม ถ้ามันจะรู้ค่าก็ใช้ปัญญาไล่เลย ถ้าปัญญาไล่เลยมันก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ

คำว่าปัญญาอบรมสมาธินี่นะ เวลาเราใช้พุทโธ ใช้คำบริกรรม ส่วนใหญ่แล้วกรรมฐาน ๔๐ ห้อง กรรมฐาน ๔๐ วิธีการ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ มรณานุสติ เทวตานุสติ แล้วเพ่งกสิณต่างๆ สิ่งนั้นมันเป็นการทำใจให้สงบ ถ้าเราทำใจให้สงบ นี่กรรมฐาน ๔๐ ห้อง ถ้ากรรมฐาน ๔๐ ห้อง การทำความสงบ ๔๐ วิธีการ

ฉะนั้น คำบริกรรมถ้าเพื่อความสงบของใจเราก็ใช้ความสงบของใจเข้ามา ฉะนั้น สิ่งนี้มันเป็นการทำความสงบของใจ ๔๐ วิธีการ ทีนี้พอคนทำแล้วมันทำไม่ได้ เพราะถ้าอย่างนี้เขาเรียกศรัทธาจริต คนถ้าจะทำสิ่งนี้ได้ต้องมีความเชื่อมั่น ต้องมีความจริงจัง แต่ในสมัยปัจจุบันนี้ว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา เราก็มีการศึกษาการศึกษากันมา เราก็มีปัญญากันมา แล้วเราจะมาถูลู่ถูกัง มาท่องบ่นอย่างนี้มันจะเป็นสมาธิได้อย่างไร? มันไม่ใช่ปัญญา

พอไม่ใช่ปัญญา นี่กิเลสมันเสี้ยม กิเลสมันแทรกซึมเข้ามา พอกิเลสมันแทรกซึมเข้ามามันก็ยิ่งทำให้ฟุ้งซ่านใหญ่เลย แล้วก็มากำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ คำบริกรรมอย่างนี้มันยิ่งเครียด มันเครียดแล้วมันก็เกิดความวิตกกังวล มันเกิดนิวรณธรรม เกิดความสงสัย นี่แล้วสมาธิ ทำสมาธินะ เวลาใช้ชีวิตทางโลกก็ทุกข์แสนทุกข์ เวลาจะมาปฏิบัติธรรม พอปฏิบัติธรรมไอ้กิเลสมันสอดเข้ามา มันสอดเข้ามาว่าเราเป็นคนมีปัญญา เราจะต้องมีเหตุมีผล ไอ้พุทโธ พุทโธ ไอ้คำบริกรรมนี่มันจะมีเหตุมีผลมีอะไร? มันก็เหมือนกับเครื่องยนต์กลไก มันก็หมุนของมันไปอย่างนี้ทั้งวันๆ มันจะเป็นอะไร นี่เวลากิเลสมันสอดแทรกเข้ามาไง

ฉะนั้น เวลาหลวงตา ครูบาอาจารย์ของเราท่านมีปัญญา ท่านถึงบอกว่าใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าใช้ปัญญาเพราะอะไร? เพราะโดยสัญชาตญาณของเรา เราถือตัวถือตนว่าเราเป็นคนที่มีปัญญา ถ้ามันพุทธปัญญา พุทธจริต ถ้ามันเป็นจริตของผู้ที่มีปัญญามันก็ต้องใช้ปัญญาไตร่ตรองความคิดของเราอีกทีหนึ่ง ถ้าปัญญาไตร่ตรองในความคิด เห็นไหม ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกปัญญาคือการรอบรู้ในกองสังขาร สังขารคือความคิด ความปรุง ความแต่ง มันก็ใช้ปัญญา

นี่ปัญญารอบรู้ในกองสังขาร ปัญญารอบรู้ในความคิด ความปรุง ความแต่ง นี่ถ้ามันใช้ปัญญาแยกแยะมันก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิมันเป็นอีกแขนงหนึ่ง เพราะมันเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ประเด็นที่ว่าถ้าทำความสงบ ๔๐ วิธีการนั้นมันเป็นความศรัทธา มันเป็นความเชื่อ แล้วเชื่อก็เชื่อมั่น แล้วทำพุทโธ พุทโธ พุทโธมันสงบเข้ามา ทีนี้พุทโธ พุทโธมันแฉลบไง จะให้ค่า จะคิด

ถ้าปฏิบัตินะเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ชัดๆ ถ้ามันชัดๆ แล้วนะ สิ่งที่เป็นประเด็นขึ้นมามันก็จะไม่เป็นประเด็น สิ่งที่มันเป็นประเด็นขึ้นมาเพราะ เพราะเวลาถ้าคนอื่นพูดมันก็เป็นเรื่องที่ว่าเราจะโต้แย้งได้ แต่พอใจมันแฉลบ กิเลสมันเป็นเรา เรากับกิเลสเป็นอันเดียวกัน จิตใต้สำนึกแค่มันชงเรื่องขึ้นมา หรือว่ามันจะเป็นอย่างนั้น นี่งงแล้วนะ พอเรากำหนดลมหายใจมันก็จะให้ค่า เอ๊ะ ลมเป็นอย่างนั้น เอ๊ะ ลมเป็นอย่างนี้ ถ้าได้เอ๊ะนี่เสร็จแล้ว เอ๊ะนี่เรียบร้อยเลย พอเรียบร้อยก็เริ่มสงสัย พอเริ่มสงสัยทีนี้ก็ปั่นป่วน ถ้าปั่นป่วนทำอย่างไร?

ฉะนั้น วางซะ ขณะที่เราทำความสงบของใจนี้ เราไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ที่จะมาทดสอบ ทดลองอะไร เราจะทดลองพุทธศาสตร์ว่าจิตนี้มันสงบได้จริงหรือไม่ได้จริง เราไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ที่มีปัญญามหาศาลที่จะต้องมาวิเคราะห์ วิจัยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าทำความสงบ ๔ วิธีการนี้ถูกหรือผิด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์จริงหรือเปล่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีปัญญาสอนเราหรือเปล่า นี่มันคิดไปนู่น ไม่ใช่หน้าที่ หน้าที่ของเราคือทำความสงบของใจ ถ้าใจเราสงบแล้วนะเรารู้จริงเห็นจริงนะ ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นตถาคต

เวลาถ้าปัญญามันหมุนขึ้นมา พอปัญญามันหมุนขึ้นมา นี่เวลาภาวนาไม่เป็นนะ เวลาฝึกหัดจะวิปัสสนามันก็ทำไม่ได้ แม้แต่สงบ ทำความสงบของใจมันก็นึกว่านิพพาน ทั้งๆ ที่นี่ปัญญาอบรมสมาธิเท่านั้นแหละ แล้วถ้าเกิดปัญญามรรคญาณนะ ธรรมจักรมันหมุนนะ ที่ว่าปัญญาหมุนติ้วๆๆ ติ้วๆ นี่จะเห็นเลยล่ะ จะซาบซึ้งในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย

เราจะบอกว่าถ้าโลกียปัญญา ปัญญาโดยสามัญสำนึกนี่ปัญญาของโลก แล้วจินตนาการได้ร้อยแปด เวลาเกิดภาวนามยปัญญาเอามาอธิบายไม่ได้เลย เอามาอธิบายกันไม่ถูก ปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัญญาที่เป็นธรรมจักรเอามาอธิบายไม่ถูก

ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงแบ่งปัญญาไว้เป็นสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา แล้วคนที่จะรู้เห็นภาวนามยปัญญาตามความเป็นจริง อย่างน้อยต้องเป็นพระโสดาบันถึงเป็นพระอรหันต์ ถึงจะเห็นภาวนามยปัญญาเป็นจริง เพราะว่ามันเกิดกับจิตดวงใด มันก็จะชำระล้างกิเลสในจิตดวงนั้น แต่ถ้ามันยังไม่เกิดกับจิตดวงใด มันเกิดแต่จินตมยปัญญา มันเกิดปัญญาจากจินตนาการ มันเกิดจากสามัญสำนึก เกิดจากโลกียปัญญา เกิดจากความรู้สึกนึกคิดของเรา ใครจะมีจินตนาการ ใครจะมีปัญญามากน้อยขนาดไหนมันเป็นปัญญากิเลสทั้งนั้นเลย

ฉะนั้น ที่พูดมานี้ให้เห็นว่าเพราะเขาสงสัยเองว่าถ้าเวลากำหนดลมหายใจแล้วมันก็จะให้ค่า มันก็จะแฉลบไปข้างนอก เวลาจะให้ค่าขึ้นมา คนเราก็มีแต่จะให้ค่า มันมีแต่ความทุกข์ ถ้าขึ้นต้นก็งงๆ ลงท้ายก็งงๆ แล้วปฏิบัติก็จะไปงงๆ อย่างนี้

ฉะนั้น ให้เชื่อมั่น ถ้าเป็นอานาปานสติ ถ้ากำหนดพุทโธ กำหนดคำบริกรรมนี้เป็นสมาธิอบรมปัญญา ไม่ต้องใช้ปัญญาใช้แต่สติ แล้วคำบริกรรมนั่นแหละคือตัวแทนปัญญาให้มันสงบตัวลง แล้วถ้ามันจะให้ค่า ใช้ปัญญามันก็ปล่อยเลยไม่ต้องไปกำหนดสิ่งใด ไล่ให้ปัญญามันเปิดเต็มที่เลย แล้วสติตามไป มีสติตามตลอด แล้วถ้ามันหยุด มันรู้ มันเห็น นี้เป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันก็มีปัญญาอบรมสมาธิ และสมาธิอบรมปัญญาเท่านั้น เอวัง