นักรบ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๔๖
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ตั้งใจ ตั้งใจฟังธรรมนะ ตั้งใจฟังธรรม ภาวนาไปด้วย กำหนดเสียงธรรมนั้นมากระทบหู เสียงธรรมนั้นมากระทบหูเราเอง เราตั้งสติไว้ ถ้ามีสติสัมปชัญญะ เราจะเป็นนักรบ เราจะรบกับกิเลสของเรา เราต้องหาชัยภูมิที่เหมาะสมกับการรบกับกิเลส ในเมื่อได้ชัยภูมิที่เหมาะสมแล้ว เราต้องพยายามทำตัวของเราให้ชนะกิเลสให้ได้ เพราะกิเลสเป็นนามธรรม เราจะไม่เห็นกิเลสของเราเลย เพราะเราไม่เข้าใจเรื่องกิเลสของเรา กิเลสของเรามันถึงมีอำนาจเหนือเรา
สิ่งที่เราไม่เข้าใจ แล้วมันอยู่ในความรู้สึกของเรา มันถึงเป็นเรื่องที่ลึกลับซับซ้อนมาก ความลึกลับซับซ้อนของกิเลสนี้มีอำนาจให้สัตว์โลกนี้เกิดตายในวัฏวนนี้มาตลอด สัตว์โลกนี้อยู่ใต้อำนาจของกิเลส สิ่งนี้มีอำนาจเหนือกว่า เพราะถ้าว่าเป็นธรรมะ ธรรมก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่งเหมือนกัน มันถึงขับไสไปโดยธรรมชาติอันนั้น
สัจจะของโลก ทางวิทยาศาสตร์ ทฤษฎีต่างๆ นั้น ก็เป็นสัจจะเป็นความจริงอันหนึ่ง ใครค้นคว้าสิ่งใดได้ก็เข้าใจสิ่งนั้น สิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์กับโลกถ้าใช้เป็นประโยชน์ ถ้าใช้ทางทำลาย มันก็เป็นสิ่งที่ทำลายเหมือนกัน อย่างเช่นอาวุธ ใช้อาวุธเป็นการป้องกันตัวก็เป็นประโยชน์กับเรา แต่มันก็ทำลายเขาเหมือนกัน
กิเลสในหัวใจของสัตว์โลกก็เป็นแบบนั้น มันมีคุณ คุณของมัน เห็นไหม เช่น กามคุณ ๕ รูป รส กลิ่น เสียง เป็นเรื่องของกามคุณ ๕ เป็นคุณเพราะเป็นการให้สัตว์โลกเกิดสืบต่อ ไม่ให้สูญเผ่าพันธุ์ไป โลกเป็นแบบนั้น ไม่ให้สูญเผ่าพันธุ์ตามเรื่องของโลก
แต่ธรรมเป็นเรื่องของความรู้สึก เป็นเรื่องภายในของใจ เกิดมาในโลก คุณงามความดีของโลกเป็นศีลธรรมจริยธรรม แต่เรื่องนี้มันลึกลับซับซ้อน มันเป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรม เห็นไหม ถ้านักรบจะรบกับกิเลสของตัวเอง มันต้องมีวัตรปฏิปทาเพื่อมาขัดเกลา ขัดเกลาสิ่งนี้ขึ้นมา กิเลสมันขัดข้องหมองใจ มันแสดงตัวของมันออกมา
ทหารเขาจะออกศึก เขาต้องมีการฝึกฝน เขาต้องมีการศึกษาตามตำราก่อน แล้วก็ออกฝึกภาคสนาม ฝึกฝนขนาดไหนแล้วแต่ เวลาออกรบ ถ้าชัยภูมิของเขาไม่ดี ในการโจมตี จะต้องโดนยิงตายตลอดไป เพราะข้าศึกอยู่ที่ชัยภูมิดีกว่า มันมีโอกาส มันได้เลือกเป้าหมาย ยิงได้แม่นยำกว่า
แต่เราเป็นนักรบ รบกับนามธรรม เราพยายามจะค้นคว้าสิ่งที่เป็นนามธรรม แล้วนามธรรมมันยิ่งกว่าข้าศึกที่จะยิงนะ เวลาข้าศึกเขายิงกัน เขาใช้กระสุนยิงกัน มันก็ต้องตายไป เพราะกระสุนนั้นทำลายอวัยวะต่างๆ แล้วก็ตายไป แต่เวลากิเลสมันยิงเรา เหมือนเราพ่ายแพ้ไป พอพ่ายแพ้ไปก็ตกอยู่ในอำนาจของมัน แล้วเราไม่ตาย มันก็มีแต่ความเจ็บปวดแสบร้อน มีความทุกข์ในหัวใจ นี่ข้าศึกที่เป็นนามธรรมในหัวใจของเรามันมีอยู่ ถ้ารบกับสิ่งนี้ เราถึงต้องพยายามทำของเราให้ได้ พยายามค้นคว้าสิ่งที่เป็นนามธรรมให้ได้ มันถึงเป็นความลำบาก เพราะเป็นความลำบาก เราถึงต้องมีสัจจะ เราถึงต้องตั้งความเพียรของเรา เราถึงมีความเพียรเพื่อจะมุ่งมั่นกับเรา
สัตว์อยู่ในป่ามันก็ดำรงชีวิตในป่า เขาเอาไปเลี้ยงเป็นสัตว์ในฟาร์ม สัตว์ในบ้านของเขา เขาเลี้ยงไว้ การใช้ชีวิตมันก็ต่างกัน สัตว์ป่าใช้ชีวิตในป่า วันหนึ่ง เริ่มต้นตั้งแต่มันหากินแต่เช้า มันต้องดำรงชีวิตของมัน หาที่หลบที่ซ่อนภัยที่จะทำลายมัน สัตว์ป่ามันถึงดำรงชีวิตของมันอยู่ได้ แต่สัตว์ที่อยู่ในฟาร์ม ที่เขาเอาไปเลี้ยง เขาต้องพยายามดูแลมันรักษามัน เวลาเขาเอาไปทำเป็นอาหาร เนื้อมันก็ต่างกัน เพราะความเป็นอยู่มันต่างกัน
ของเรานี้ก็เหมือนกัน เราเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เราออกจากเรือนมา เรามาอยู่ป่าอยู่เขา เพื่อเป็นชัยภูมิ เพื่อเราจะรักษาใจเรา เรามีชัยภูมิที่สมควรแล้ว เราต้องมีความตื่นตัวตลอดเวลา เรามีสติ มีความตื่นตัวอยู่ มันจะเป็นความเพียรของเรา ถ้าเราไม่มีสติ เราใช้ชีวิตอยู่ในป่า เราพยายามอยู่ในป่าของเรา แล้วเราใช้ชีวิตไปวันหนึ่งๆ มันเหมือนสัตว์ป่า สัตว์ป่ามันไม่มีสมอง มันไม่มีความคิด เรามีสมอง สมองของเรามันเป็นสมอง มีความคิด ความคิดของเรามันมีปัญญา ปัญญาของเราใคร่ครวญขึ้นมา เห็นไหม มนุษย์เขายังมีอำนาจเอาสัตว์ไปใช้งานได้ เพราะเขามีปัญญา แต่ปัญญาของโลกเขามันเป็นโลกียปัญญา มันถึงไม่ให้ผลกับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ
ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ในการใช้สมองนั้นมันเป็นสุตมยปัญญา การศึกษาในภาคปริยัติ เราศึกษาได้ คนเรามีปัญญามากกว่าสัตว์ เราใช้สมองของเรามีอำนาจเหนือกว่าสัตว์ได้ ใช้ควบคุมเขาได้ แต่ไม่สามารถใช้ควบคุมตัวเองได้ สิ่งนี้มันเหมือนกับที่ว่า กิเลสเหมือนกัน กิเลสเป็นสภาวะของธรรมชาติ มันอยู่กับจิต ปัญญาก็เหมือนกัน ถ้าเป็นปัญญาในสิ่งที่ดี มีคุณธรรม มีศีลธรรม คนนั้นจะประพฤติปฏิบัติตัวดี
แต่ถ้ามันมีกิเลส เห็นไหม คนหยาบคนหนาขึ้นมา มันไม่ฟังกฎหมายหรอก มันไม่ฟังว่าสังคมจะเดือดร้อนขนาดไหน มันทำลายสังคมนั้น นั่นน่ะสมอง สิ่งที่เป็นสมองมันใช้ในเรื่องของโลก เราก็ใช้สมองนั้นเป็นประโยชน์กับเรา ใช้ในทางสุตมยปัญญา สุตมยปัญญาคือการศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่าละเอียดลึกซึ้งนั่นน่ะ เราเป็นคนหยาบ เราก็ศึกษาหยาบๆ ไปก่อน เราจะต้องค้นคว้าศึกษาในทางที่หยาบ เพราะเราจะค้นคว้าสิ่งนั้นเข้าไป เห็นไหม ศึกษาธรรมมาเพื่อความซึ้งใจ เพื่อความสุขใจ มันจะซึ้งใจนะ ความคิดที่มันไม่เคยชนะตัวเองได้เลย เราศึกษาสุตมยปัญญาขึ้นมา มันจะเข้าใจว่าสิ่งนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายับยั้งได้ เราก็ต้องยับยั้งสิ่งนี้ได้ นี่มันเป็นความเข้าใจ เป็นสมบัติยืมมา เราเข้าใจสิ่งนั้นมา แต่มันไม่เป็นผลกับเรา ไม่เป็นสิ่งที่มีอำนาจเหนือกิเลส เพราะมันไม่ใช่ภาวนามยปัญญา
เราศึกษามาแล้ว เราศึกษามาเพื่อเป็นประโยชน์กับเรา แล้วเราก็ออกประพฤติปฏิบัติ เวลาออกประพฤติปฏิบัติ เราก็ต้องอาศัยชัยภูมิที่สมควรที่จะชำระกิเลส สนามฝึกซ้อมก็มี ทหารเขาออกรบ เขาออกค่ายก่อน ออกฝึกซ้อมก่อน ถ้าเขาซ้อม เขามีความชำนาญมาก เวลาเขาออกรบจะมีความชำนาญมาก เราก็เหมือนกัน เราจะฝึกซ้อมของเราก่อน แล้วเราค่อยไปต่อสู้กับกิเลส ฝึกซ้อมคือฝึกซ้อมกับเรา การฝึกซ้อมคือเอาชนะตนเองให้ได้ เราชนะตนเองคือเรามีกติกาของเรา เรามีข้อวัตรปฏิบัติ เราเอาชนะตนเองได้ ข้อวัตรปฏิบัติเป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม ธรรมและวินัยนี้เป็นที่อยู่ของเรา ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา เราเชื่อธรรมและวินัย เราฝึกซ้อมกับธรรมและวินัย เรายังไม่ได้ต่อสู้กับกิเลส เรายังไม่ได้ออกสนามรบ
ถ้าเราออกสนามรบ เราพยายามทำความสงบของเราเข้ามา ให้มันเข้าไปถึงใจ พอเข้าไปถึงใจ เราเห็นข้าศึก เราต่อสู้กับข้าศึก อันนี้มันเป็นการขับไสของเรา ในสนามฝึกซ้อม เพียงแต่เรากางแผนที่ กางธรรมและวินัยนี้เป็นเครื่องดำเนิน เราก็จะมีการต่อสู้ เราก็เข้าป่าเข้าเขา อยู่ป่าอยู่เขาเพื่อจะประพฤติปฏิบัติ ในข้อวัตรปฏิบัติ เรามีสิ่งนั้นมาเป็นเครื่องฝึกซ้อมของเราขึ้นมา ให้มันพอใจ ถ้าใจมันพอใจ มันฝึกซ้อมดี การฝึกซ้อมดี เห็นไหม หมู่คณะ การอยู่ร่วมกัน มันต้องมีความเห็นอกเห็นใจกัน ใจเขาใส่ใจเรา ถ้ามีใจเขา-ใจเราขึ้นมา มันจะอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ถ้าไม่เอาใจเขาใส่ใจเรา เราคิดเอาแต่ของเราคนเดียวขึ้นมา เราจะไม่เห็นประโยชน์เลย
มันจะมีประโยชน์มากนะ คำพูดหรือกิริยาของคนอื่นที่มันขัดใจเรา มันทำให้เห็นกิเลส นี่สนามฝึกซ้อมเพื่อจะค้นคว้าหากิเลส ถ้าหากิเลส คือหาความรู้สึกของเรา ถ้าใจเราเกิดขุ่นมัวขึ้นมา ใจของเรามีการกระทบกระทั่งขึ้นมา เห็นไหม ใจขุ่นมัว น้ำใสถึงจะเห็นตัวปลา แต่ใจของเราขุ่นมัวขึ้นมา ขุ่นมัวขึ้นมาเพราะอะไร เพราะน้ำไม่ใส วัตรปฏิบัติมันถึงต้องการให้น้ำใส พยายามให้น้ำใส การอยู่ของเรานี่ให้น้ำใสขึ้นมา ใจเขา-ใจเรา ช่วยกันรักษา ถ้าเรารักษาใจของเราเข้ามา ต่างคนต่างรักษา ต่างคนต่างทำให้น้ำใสขึ้นมา ความใสของใจมันจะใสเข้าไป แล้วมันจะเห็นตัวปลา
ตัวปลาคือตัวกิเลส สิ่งที่เป็นกิเลสมันอยู่ในใจของเรา มันทำให้น้ำขุ่นตลอดเวลา ถ้ามันขยับตัวเมื่อไหร่นะ ปลาเวลามันว่ายไป มันต้องว่ายวนไปในน้ำ ทำให้น้ำนั้นขุ่น น้ำขุ่นคือความขัดใจของเรา สิ่งที่ขัดใจ สิ่งที่ไม่พอใจ สิ่งที่ทำให้เรามีความเศร้าหมอง สิ่งนั้นเป็นเรื่องของกิเลสทั้งหมดเลย ถ้าเป็นเรื่องของกิเลส เราต้องดูสิ่งนี้เข้ามา
ความฟุ้งซ่าน จิตฟุ้งซ่านออกไป จิตคิดออกไป ไม่มีความสงบของใจ ถ้าใจนี้ไม่สงบเข้ามา มันไม่มีสัมมาสมาธิ เห็นไหม สัมมาสมาธิ มันจะเห็นเป็นภาคปฏิบัติ แต่ถ้าน้ำใสแล้วเห็นตัวปลา มันเป็นข้อวัตรปฏิบัติ มันเป็นการเตือนใจ สิ่งที่เตือนใจเป็นโลกียะหรือเป็นโลกุตตระ สัมมาสมาธิ-มิจฉาสมาธิ
ความตั้งมั่นของผู้ที่เป็นโจรเป็นภัย เขาก็ต้องตั้งมั่นของเขา คิดวางแผนเพื่อจะทำงานของเขา งานของเขาคือการทำลายกัน งานของเขาคือการส่งเสริมกิเลส ให้กิเลสมีอำนาจเหนือกว่าดวงใจดวงนั้น ใจดวงที่ว่าความคิดหยาบช้าตัวนั้น ใจของเขาก็ให้โทษกับใจของเขา ใจของเรา เราเห็นคุณค่า เห็นคุณค่าของธรรมจนเราวางหมด วางเรื่องโลก
เรื่องของโลกเป็นสมบัติสาธารณะ ใครอยู่ในโลกนี้มีสมบัติสาธารณะ อยู่กับโลกของเขาได้ตลอดไป นักบวช เราบวชเป็นพระ เราเป็นนักรบ บวชมาแล้วเป็นจตุตถกรรม ญัตติมาเป็นสงฆ์ พร้อมที่จะประพฤติปฏิบัติ สิ่งนั้นเป็นสมบัติสาธารณะ เราถึงไม่สนใจมัน เพราะสิ่งที่เป็นเรื่องของโลกเราวาง เรามีศีลมีธรรม ศีลธรรมเป็นเครื่องดำเนิน ประกาศตนว่าเป็นนักรบ ต้องรบกับกิเลสของเราให้ได้ ถ้าเราประกาศตนว่าเป็นนักรบแล้วเราไม่สามารถรบกับกิเลสของเรา นี่เราแพ้ เห็นไหม ทหารออกรบแพ้กลับมา เขายึดบ้านยึดเมือง ไอ้ชีวิตของเรา ถ้าเราแพ้ขึ้นมา เราก็เศร้าหมอง ไม่มีความรื่นเริง ไม่มีความอาจหาญในหัวใจ
แต่ถ้าเราเอาใจของเราไว้อยู่ในอำนาจของเรา เราจะมีความรื่นเริง เราจะมีความอาจหาญ เราจะมีความสุข เห็นไหม ความสุขเกิดขึ้นจากจิตนี้สงบ จิตสงบตัวเข้ามาครั้งหนึ่ง มันจะมีความสงบเข้ามา เป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา สงบบ่อยครั้งเข้า สติตั้งไว้ ถ้ามันเสื่อมไป เวลาเราไม่มีสติ เราไม่มีความชำนาญ มันจะเสื่อมไป เสื่อมไป เราก็ตั้งคำบริกรรมของเราขึ้นมาใหม่ คำบริกรรมสำคัญมาก ถ้าเราขาดคำบริกรรม มันขาดการสืบต่อ เราดูจิต เราพยายามดูจิต เรากำหนดจิตของเราให้มันสงบเข้ามาๆ มันเป็นการกำหนดอยู่ มันไม่มีเครื่องเกาะ
แต่ถ้าเรามีคำบริกรรม มันมีเครื่องเกาะ มันเหมือนภาพชัดเจน ความชัดเจนของใจ ใจมันเป็นนามธรรม เราหากิเลส หาข้าศึกในภาคปฏิบัติ มันหายากกว่าเรื่องของโลกเขา เรื่องของโลก ออกรบ ลาดตระเวนกัน มันเจอแน่นอน ถ้าเกิดสงครามมันเจอแน่นอน เขาต้องปะทะสงครามกัน สิ่งนั้นมันเจออยู่แล้ว เพราะมันเป็นระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ที่ต่อสู้กัน
แต่ระหว่างนามธรรมต่อสู้กับนามธรรมในหัวใจ นักรบประเสริฐ คือนักรบจะรบกับกิเลส ที่จะพ้นออกไปจากกิเลสของเราให้ได้ แต่กิเลสมันเป็นนามธรรม กิเลสมันซ่อนอยู่ในหัวใจของเรา วิธีการค้นคว้ามันถึงต้องทำความสงบของใจ ฝืนให้ได้ พยายามฝืน ให้มีความสงบของใจเข้ามา กางแผ่ใจของเราออกมา ให้เห็นความซุกซ่อนของมัน เห็นไหม มันมีหลบมีหลืบมีเหลี่ยมอยู่ในหัวใจของเรา กิเลสมันถึงซ่อนตัวอยู่ได้ มันซ่อนตัวอยู่ในใจของเรา แล้วก็ย่ำยีมาตลอดนะ เวลาย่ำยีใจของเราขึ้นมา เราก็ทุกข์ของเราตลอดไป ทุกข์มาก ทุกข์มากในชีวิตของเรา ในความเป็นอยู่ของเรา
ดูอย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาสิ ๔๕ ปี ไม่มีความทุกข์เข้าไปเบียดเบียนใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังประพฤติปฏิบัติ ยังมีพุทธกิจ ๕ กิจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อจะรื้อสัตว์ขนสัตว์
เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา ธรรมและวินัยมีอยู่แล้ว เราถึงต้องพยายามทำให้มันเข้ามากับใจ เราทำใจของเราตลอดไป เราวางใจของเราให้สมควรนะ ให้เข้ากับสิ่งนี้ได้ มันจะทำสิ่งนี้ให้มันมีความเข้ากันได้ ความเข้ากันได้ นี่เข้ากับใจ ธรรมกับใจเราต้องเปิดให้กว้าง ถ้าใจเราเปิดกว้างขึ้นมา ธรรมจะเข้ามาสู่หัวใจของเรา ถ้าเราไม่เปิดใจของเราให้กว้าง มันเป็นเรื่องของกิเลสหมักหมมไว้ เห็นไหม น้ำขัง แล้วน้ำนั้นจะเสียจะเน่าตลอดไป น้ำไหลไปเรื่อยๆ น้ำนั้นก็ไม่เสีย สิ่งที่เกิดกับน้ำ สิ่งที่อยู่ตามชายฝั่งก็จะได้อาศัยน้ำนั้น มีความชุ่มชื่น มีความร่มเย็น
ใจก็เหมือนกัน ถึงบอกว่าต้องเปิดให้กว้าง ให้มันไหลออกไป สิ่งใดที่มันเกาะเกี่ยว สิ่งใดที่มันทำเป็นความเคยใจ มันเป็นอดีตแล้ว ปล่อยให้มันไหลไป แต่ใจเราชอบไปคิดสิ่งนั้น สิ่งที่เป็นอดีตก็คิดเกาะเกี่ยวตลอดไป พอคิดสิ่งนั้น มันไม่แผ่กว้างออกมาให้เห็นหลืบของกิเลสที่มันหลบซ่อนอยู่
กิเลสมันมีอำนาจมาก มันหลบซ่อนอยู่แล้วมันใช้เราให้เป็นเครื่องมือของมัน แล้วเราก็คิดนะ เราคิด เราพยายามฝึกฝนขึ้นไป เหมือนกับคนเก็บของไว้แล้วหาของนั้นไม่เจอ ถ้าเราเก็บ วางของไว้แล้วหาไม่เจอ เราจะค้นคว้าอยู่อย่างนั้น หาไม่เจอแล้วก็ขุ่นมัวใจ นี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่เข้าใจเรื่องของกิเลส เราค้นหากิเลสของเราไม่เจอ เราจะขุ่นมัวใจ เราจะงกๆ เงิ่นๆ เดินตามกิเลส ให้กิเลสอยู่ในหัวใจ แล้วคิดตามไป
ทำไมไม่ปล่อยไป ไม่ปล่อยให้สิ่งที่ล่วงมาแล้วมันผ่านไป เราพยายามทำปัจจุบัน เริ่มต้นปัจจุบัน กำหนดพุทโธๆ ขึ้นมา พยายามกำหนดคำบริกรรมของใจ รักษาใจไว้ เราจะไม่ไปขุ่นมัวกับสิ่งที่มันทำให้ใจเราฟุ้งซ่านไป
เราเป็นนักรบ เราจะรบกับกิเลส ไม่ใช่ให้กิเลสข่มขี่เรา ให้เราเป็นทาสของมันตลอดไป มันข่มขี่เรานะ ข่มขี่ใจให้งกๆ เงิ่นๆ ไปตามอำนาจของมัน แล้วก็มีความทุกข์ ความฟุ้งซ่านในหัวใจตลอดไป สิ่งนี้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ โดยสัจจะมันเป็นอย่างนั้น ถ้ากิเลสมีอำนาจในหัวใจ เรื่องของกิเลสจะเป็นแบบนั้น เราถึงต้องใช้บริกรรม บริกรรมเข้ามา พุทโธๆ เข้ามา เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ทำอันนี้ให้เป็นกิจของเราตลอดไป ใน ๒๔ ชั่วโมง ให้มีคำบริกรรมตลอด เพื่อรักษาใจของเราไว้ เวลาเราเข้าทางจงกรม เวลาเราเข้านั่งสมาธิภาวนามันก็ทำได้ง่าย เพราะเราดูแลรักษาใจของเราตลอด ผู้ที่มีสติจะเป็นแบบนั้นตลอด เรารักษาตัวเราไว้ตลอดจะเป็นประโยชน์กับเรา
เราไม่รักษาตัวเราเอง สติเราปล่อยไป วันคืนล่วงไปๆ สติจะมีเฉพาะเวลาเรากำหนดภาวนา ถ้าถึงเวลาทำข้อวัตรต่างๆ มันจะเผลอไปตามสิ่งนั้น เราจะปล่อยไปได้อย่างไร ถ้าเราจะปล่อยสิ่งนี้ออกไป เราไม่ใช่นักปฏิบัติ เราไม่ใช่นักรบ เราเผลอแล้ว ข้าศึกยิงเอาๆ เห็นไหม พอเราเผลอสตินะ ข้าศึกมันยิงแล้ว มันยิงเรา ถ้าโดนที่ไม่สำคัญ เราก็บาดเจ็บ โดนที่สำคัญ เราก็ตาย นี่ทหารเขารบกันอย่างนั้น แต่นี่เราเผลอ มันยิงเรา เราก็ไม่รู้ตัว เราไม่รู้ตัวเลย แล้วเราก็เผลอตลอดไป เราเป็นนักรบ แต่เราก็ไม่สมควรได้ชื่อว่าเป็นนักรบ เพราะเราไม่ระวังตัวเราเอง เราปล่อยให้กิเลสมันมีอำนาจเหนือกว่าเรา
เราถึงต้องตั้งสติ ถ้าตั้งสติไว้ นักรบที่มีสติ เรารักษาตัวเราเองตลอดเวลา จะยิงมาอย่างไรเราก็หลบหลีก พอเขาจะยิงมามันต้องมีภาพอะไรให้เราเข้าใจว่าเขายิงมาแล้ว นี่กิเลสมันแสดงตัวแล้ว ทำอย่างนี้ มันมีสติอยู่ตลอดไป แล้วมันจะเริ่มต้นเข้ามาหา วนเข้ามาจากภายใน เข้ามาหาภายใน มันยิงมาจากไหน ถ้ามันไหวออกมา เราก็สังเกตสอดเข้าไป สังเกตสอดเข้าไป เราจะสอดรู้ในความรู้สึกเราตลอดไป นี่มันมีปัญญาใคร่ครวญเข้าไป เห็นไหม มันมีสุตมยปัญญา ศึกษามาเท่านั้น แต่เวลาเราฝึกซ้อมของเราเองขึ้นมา เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันจะฝึกซ้อมมาอย่างนี้ ถ้าฝึกซ้อมเข้าไปๆ เราจะเห็นเข้ามาเป็นจินตมยปัญญา จนเกิดเป็นภาวนามยปัญญา เกิดเป็นวิปัสสนาขึ้นมา
ภาวนาไม่เป็น หมายถึง วิปัสสนาไม่ได้ ถ้าเราวิปัสสนาไม่ได้ เราเผลอสติ แล้วกิเลสมันก็ยิง ยิงมาเหมือนกับว่า เราภาวนาไปสักแต่ว่าภาวนา ภาวนายังไม่เป็น ภาวนาไม่ติด ถ้าภาวนายังไม่ติดมันก็ล้มลุกคลุกคลาน แล้วเราก็เบื่อหน่ายๆ ความเบื่อหน่ายสะสมเข้าๆ เพศของเรารักษาไว้ได้ไหม ถ้าเพศของเรารักษาไว้ได้ เราต้องมีสติ ต้องพยายามรักษาปัจจุบันนี้ให้ได้ วันนี้ดี พรุ่งนี้ก็ดี
ความเบื่อหน่ายมันสะสมขึ้นมาแล้วมันทำให้เราเบื่อหน่าย ทำให้เราท้อถอย ถ้าเราท้อถอยบ่อยครั้งเข้ามันก็ทำให้เราถอยไปตลอด แต่ถ้าเราตั้งสติขึ้นมา มันเป็นความคิด ใครมันไม่ทุกข์ไม่ยาก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างสมบารมีมา ออกประพฤติปฏิบัติ ๖ ปี ทำทุกข์กว่าเรา เวลาอยู่กับปัญจวัคคีย์ ปัญจวัคคีย์อุปัฏฐากอุปถัมภ์ตลอดเวลา สิ่งที่คลุกเคล้ากันมันไม่เป็นประโยชน์ พระพุทธเจ้าพยายามทำตามความเคยชินแบบที่เขาทำกันมา ตั้งแต่ทำทุกรกิริยาต่างๆ มันก็ไม่เป็นประโยชน์ แต่ย้อนกลับมาฉันอาหาร เพราะได้สติสัมปชัญญะ ความคิดภายในเห็นเรื่อง เห็นกิเลส รู้จักว่ากิเลสมันอยู่ที่ใจ จะเข้าไปชำระกิเลส เริ่มต้นจะย้อนกลับเข้าไปถูกที่
แต่ผู้ที่เข้าใจเรื่องของโลก ปัญจวัคคีย์เห็นว่าเป็นผู้ที่กลับมามักมาก ทำทุกรกิริยาอยู่ ยังไม่สำเร็จเลย แล้วจะมากินข้าวอยู่อย่างนี้ มันจะสำเร็จได้อย่างไร นี่กลับมาเป็นผู้มักมาก ถึงกับทิ้งไปนะ พอทิ้งไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่องค์เดียว ย้อนกลับเข้ามา ถ้าคืนนี้นั่ง โสตถิยพราหมณ์ให้หญ้ามาแล้ว ถ้าเรานั่งคืนนี้ไม่สำเร็จจะต้องตายไป แล้วไม่มีใครมายุ่งกับเรา อยู่องค์เดียว อยู่ในที่สงัด
นี้ก็เหมือนกัน เราแสวงหาที่สงัด ความเป็นอยู่คลุกคลีกันมันก็เป็นความเป็นอยู่คลุกคลีกัน เพราะว่าสังคมเป็นแบบนั้น แต่เราก็ต้องย้อนกลับมาดูใจของเรา ทุกข์ขนาดไหนเราก็ทุกข์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้นำของเรา ผู้นำของเราทุกข์มาก่อน ทุกข์ขึ้นมาเพื่อจะย้อนกลับมาให้เห็นกิเลสจากภายใน ถ้าเห็นกิเลสจากภายใน นี่นักรบ นักรบในศาสนาของเรารบกับกิเลสเท่านั้น
กิเลสเป็นนามธรรม การรบของเรา เครื่องมือก็ต้องหา ปืนผาหน้าไม้เราต้องหาขึ้นมาเอง เราจะสร้างมัคคาขึ้นมา เห็นไหม จะทำสัมมาสมาธิ นี่มันเป็นส่วนหนึ่ง สติ สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา จะเข้าไปชำระกิเลส มันต้องสร้างสิ่งนี้ขึ้นมา เราต้องสร้างสมของเราขึ้นมาทั้งหมด ถ้าเราสร้างสมขึ้นมา มันถึงจะเป็นมรรคเครื่องดำเนิน นี่ถ้าเรามีมรรคจากหัวใจ
ถ้ามรรคจากภายนอก การเลี้ยงชีวิตชอบ เราบิณฑบาตมาเลี้ยงชีวิต เราเลี้ยงร่างกาย สิ่งนี้ก็เป็นความชอบส่วนหนึ่ง เพราะเรารักษาชีวิตของเราไว้ เพื่อจะย้อนกลับเข้ามาให้เป็นศีลเป็นธรรมเกิดขึ้นมาจากหัวใจ ถ้ามันจะตายก็ตายไปพร้อมกับมีธรรมในหัวใจ มันจะพ้นจากกิเลส ไม่ต้องมาตายเกิดอีก แต่ถ้าเราไม่รักษาชีวิตอันนี้ไว้ เราตายไป กิเลสเต็มหัวใจอย่างนี้มันต้องทุกข์ยากไป ความเกิด เกิดอย่างนี้ ชีวิตเป็นแบบนี้ เวลานี้เป็นแบบนี้ วันคืนล่วงไปๆ เป็นแบบนี้โดยธรรมชาติ สิ่งนี้เป็นแบบนี้ ของเก่าแก่ เราเคยเกิดเคยตายมาพบแบบนี้ตลอดไป แต่เพราะความคิดของโลก เห็นไหม มีชีวิตอยู่ มันได้มีความสุขของมันไป มันพยายามดึงชีวิตของมันไป การเลี้ยงชีวิตชอบ เลี้ยงร่างกาย เลี้ยงชีวิตไว้เพื่อจะเลี้ยงชีวิตภายใน เลี้ยงชีวิตจากภายนอกคือการดำรงชีวิตอยู่เท่านั้นเอง แล้วมันก็พออยู่พอไป เราบิณฑบาตมาหนหนึ่ง เราฉันหนเดียว ถือธุดงควัตร มันพออยู่พอไป พอเลี้ยงชีวิตได้แล้ว นี่เลี้ยงแต่ร่างกาย แต่ชีวิตของหัวใจ เรื่องนามธรรม เรายังเลี้ยงไม่ได้
ถ้ามีสัมมาสมาธิ นี่เราเริ่มเลี้ยงชีวิตชอบ เห็นไหม กำหนดพุทโธๆ เข้ามา ให้เห็นความสงบของใจ สิ่งที่เป็นนามธรรม มันจะตื่นเต้น มันจะแปลกประหลาด เวลามันสงบขึ้นมา มันมีสติรู้พร้อมอยู่ สติตั้งมั่น ความสงบของใจ ใจนี้ตั้งมั่นเป็นเอกัคคตารมณ์ เป็นอารมณ์หนึ่งเดียว สิ่งที่เป็นหนึ่งเดียวมันพร้อมไปเลย มันมีความสุขมาก นี่เลี้ยงชีวิตชอบขึ้นมาจากส่วนหนึ่ง ส่วนหนึ่งเท่านั้นนะ เริ่มมีมรรคขึ้นมา เห็นไหม มีสัมมาสมาธิ แล้วถ้างานชอบล่ะ เราชอบจากภายใน
งานชอบจากภายนอก เราเกิดเป็นคนขึ้นมา เห็นไหม นกยังมีรวงมีรังของมันเป็นที่อาศัย ของเราก็มีกุฏิ มีที่อยู่ที่อาศัย เราก็รักษาของเรา งานจากภายนอก งานการเคลื่อนไหวไป การทำข้อวัตรต่างๆ เราก็มีสติสัมปชัญญะ นี้ก็เป็นงานชอบ ชอบอยู่ เพราะเราทำตามข้อวัตรปฏิบัติ แต่งานภายในล่ะ ใจของเรามันเคลื่อนไหวอย่างไร มันเห็นไหม เห็นสิ่งที่เป็นกิเลสในหัวใจของเรา สิ่งที่มันหลบเหลื่อม มันอาศัยขันธ์ ๕ อาศัยความคิดออกไป แล้วก็ไปเกาะเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ เกาะเกี่ยวนะ เกาะเกี่ยวกับสิ่งที่เราเคยพบเคยเห็น เกาะเกี่ยวกับสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรา แต่สิ่งที่ไม่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรามันคิดออกไปไม่ได้ ถ้ามันคิดออกไปได้ มันเกาะเกี่ยวได้
เราศึกษาธรรม เห็นไหม เวลาใจเราทรงมรรคทรงผลขึ้นมา เราอยากให้เป็นแบบนั้น อยากจะมีคุณธรรม อยากจะถึงที่สุดของกิเลส ให้กิเลสมันสิ้นไปจากใจ เราก็นึกไม่ได้ เราเกาะเกี่ยวสิ่งนั้นไม่ได้ เราจะเกาะเกี่ยวได้เฉพาะสิ่งที่เรารู้เราเห็น เห็นไหม ความเกิดของใจเกิดแบบนั้น ในภพชาติต่างๆ มันก็เกิดตายๆ อยู่อย่างนั้น มันเป็นสภาวะแบบนั้นทั้งนั้น มันถึงเกาะเกี่ยวกับสิ่งนั้นได้
นรกสวรรค์ นี่เคยเป็นไป จินตนาการได้ คาดการณ์ได้ แต่นิพพานคาดการณ์ไม่ได้ นิพพานเป็นธรรมที่สูงสุด สูงสุดที่มีอยู่ เป็นธรรมที่มีอยู่ แต่ธรรมที่สูงสุดนั้นมันเป็นสาธารณะ มันเป็นของที่มีอยู่แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เป็นสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาปรินิพพานไป อานนท์ เราไม่ได้เอาธรรมของใครไปเลย เราไม่ได้เอาสิ่งที่เป็นสาธารณะของใครไปเลย เราเอาธรรมของเรา ธรรมคือนิพพานในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ ดับขันธ์ไปพร้อมกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แต่ของเรา ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราจะรู้ขึ้นมาจากหัวใจของเรา
หัวใจที่มืดบอด หัวใจที่ไม่เข้าใจ ลังเลสงสัยไปทุกอย่าง เกิดขึ้นมาจากใจก็ลังเลสงสัย สิ่งที่เคยสงบแล้วมันเสื่อมไปก็ลังเลสงสัยว่า ทำไมมันเคยสงบขึ้นมา เคยตั้งขึ้นมาแล้วมันเสื่อมไป สิ่งที่เสื่อมไปนั้นมันเป็นธรรมชาติของมัน แล้วก็ลังเลสงสัย ไม่มีปัญญาการตัดความลังเลสงสัยนี้ออกไปเลย เพราะมันเป็นกิเลสในหัวใจ มันอาศัยสิ่งนี้เป็นเครื่องมือของมัน
เครื่องมือของมันที่ดำเนินอยู่ เราใช้ปัญญาประพฤติปฏิบัติ เราพยายามเข้ามา ปัญญาเกิดขึ้นมา มันทำให้สิ่งนี้เปิดเผยขึ้นมาที่ใจ สิ่งที่เป็นปัจจัตตัง เวลามันเปิดเผยขึ้นมาที่ใจ เราก็ซับขึ้นมา เราก็รู้ขึ้นมาเป็นปัญญาของเรา เห็นไหม มันถึงเป็นสมบัติของเรา เป็นปัจจัตตัง
สิ่งที่มีกิเลสในหัวใจขึ้นมามันมีความมืดบอด แล้วทำให้ใจดวงนั้นเศร้าหมอง ทำให้ใจดวงนั้นทุกข์ยาก สิ่งที่ทุกข์ยากเพราะกิเลสมันบังคับบัญชา แต่เวลามันเปิดเผย มันสว่างขึ้นมา มันเข้าใจขึ้นมา เพราะว่าปัญญาของเราใคร่ครวญ ปัญญาของเราแยกแยะสิ่งนั้นเข้ามา ปัญญาแยกแยะเข้ามามันก็ตั้งมั่นเข้ามาๆ แล้วทำงานชอบ งานของใจมันจะชอบแบบนั้น เคลื่อนไหวชอบ ถ้าเคลื่อนไหวชอบ มันจะเห็นสติปัฏฐาน ๔ เห็นไหม กาย เวทนา จิต ธรรม
สิ่งที่เป็นเวทนา เราก็ไม่อยากสู้มัน ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา เราจับสิ่งใดไม่ได้ เวทนาเกิดขึ้นมาเราก็หลบหลีกๆ ถ้าเราไม่หลบหลีก เวลาเรานั่งอยู่หลายๆ ชั่วโมง เวทนามันต้องเกิดขึ้น ต่อสู้ไปกับมัน ถ้ากำลังเราพอ ถ้ากำลังเรามี เราจะแยกแยะเรื่องเวทนานี้ได้ ถ้ากำลังเราไม่พอ เวทนาเหนือกว่า เราแพ้ เห็นไหม กิเลสมันยิงเอาอีกแล้ว...ล้ม พอล้ม เราก็ขยับ เราก็หนี เพราะกิเลสมันยิงเอา ยิงมาอีกแล้ว เพราะพื้นฐานกำลังเราไม่พอ ถ้ากำลังไม่พอ เราก็ต้องตั้งใหม่ สู้ใหม่ หัดอยู่อย่างนั้น อย่างนี้เรียกว่า วิปัสสนา
แล้ววิปัสสนาเป็น เห็นไหม ถ้าต่อสู้เป็น เห็นกายก็ได้ เห็นจิตก็ได้ ถ้าเราจะต่อสู้กับเวทนา มันเป็นสิ่งที่ว่ารุนแรงมาก เราก็หลบไปพิจารณากายเสีย ให้เห็นกายขึ้นมา ถ้าจิตสงบขึ้นมามันจะเห็นกาย ถ้าไม่เห็นกาย เราก็รำพึงขึ้นมา รำพึงกาย รำพึงขึ้นมาคือให้จิตมันน้อมนึกไปให้เห็นสิ่งนั้น น้อมนึกได้
เวลาควรน้อมนึกมันไม่น้อมนึก เวลามันเป็นความฟุ้งซ่านของใจ ทำไมมันเกาะเกี่ยว ทำไมมันน้อมนึกสิ่งนั้นได้ สิ่งใดที่ฝังใจจะน้อมนึกสิ่งนั้นตลอดไป แล้วก็ว่าน้อมนึกขึ้นมาแล้วให้โทษกับใจ มันก็ทำได้ แต่เวลามันเป็นประโยชน์ เพราะอะไร เพราะเราไม่เข้าใจว่าควรน้อมนึกตรงไหน
ให้มันสงบขึ้นมา เวลามันสงบแล้วไม่มีสิ่งใดทำ เวลาสงบขึ้นมานี่มันสงบ แล้วเราไม่รู้จะทำสิ่งใด ขณะนั้นให้น้อมนึกไปที่กาย ถ้ามันเห็นกายคือกำลังมันพอ ถ้ามันไม่เห็น มันน้อมนึกไปไม่ได้ เราก็อยู่กับความสงบเสีย แล้วน้อมนึกไป นี้ยังดี ยังดีเพราะเราไม่เห็นนิมิต ถ้าเราเห็นนิมิต เห็นภาพต่างๆ มันจะออกไปอีกอย่างหนึ่ง เราก็ย้อนกลับมาที่ผู้รู้ตลอด สิ่งใดที่เกิดขึ้น สิ่งใดที่ประสบพบเห็นขึ้นมาจากภายใน ถ้ามันไม่เป็นคุณประโยชน์ เราต้องอยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธตลอด ย้อนกลับมาที่ผู้รู้นั้น สิ่งนั้นจะดับ
คนเราสร้างคุณงามความดีมาก็มาก ทำความผิดพลาดไว้ก็มี ฉะนั้น เวลาจิตสงบขึ้นมา มันเข้าถึงข้อมูลเดิมของใจ สิ่งนี้บางทีมันเปิดเผยออกมา ถ้ามันลังเลสงสัย เราวางไว้ๆ เพราะอะไร เพราะสิ่งนี้มันทำให้เนิ่นช้า
เราจะเข้าไปต่อสู้ เราเป็นนักรบ เราค้นคว้าหากิเลส แต่นี้มันเป็นเครื่องกำบัง กิเลสมันหลบซ่อนตัวอยู่ เราจะไปหาสิ่งนั้นให้มันเสียประโยชน์ทำไม เห็นไหม สิ่งที่เป็นที่กำบังของกิเลส กิเลสมันสร้างที่กำบังเป็นที่หลบภัย นั่นเขาสร้างให้เข้มแข็ง อาวุธยิงเข้าไปก็ยิงไม่เข้า ไม่เป็นประโยชน์ เห็นไหม
นี่ก็เหมือนกัน เราไปเจอความเห็นต่างๆ ในใจของเรา แล้วเราก็ใช้สิ่งนั้น เราใคร่ครวญสิ่งนั้น เราใช้ปัญญาไปกับสิ่งนั้น เอ๊! ทำไมเป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้ขึ้นมาเพราะอะไร ภาพอย่างนี้เกิดขึ้นมา เรามีความคิดอย่างไรมันถึงเกิดขึ้นมาอย่างนี้ เราอยากเข้าใจ อยากจะเปิดเผย นี่เราใช้ความคิดไป ใช้พลังงาน เห็นไหม ใช้ความคิดของเราไป นี่เราหลงกลกิเลสแล้ว
เรายิงที่กำบัง ยิงป้อมปราการของกิเลสแล้วยิงไม่เข้า ยิงไม่เข้าคือว่าใช้พลังงานไปแล้วมันไม่ได้ประโยชน์อะไร มันก็ใช้พลังงานไป พลังงานนั้นก็เสื่อมถอย พลังงานเสื่อมถอยขึ้นมา เราเสื่อมถอย ภาพนั้นก็หายไป ความร่มเย็นของเราก็หายไป สิ่งต่างๆ จะหายไป กลับมาเป็นความเร่าร้อนของใจ เราถึงต้องกลับมากำหนดพุทโธๆ ที่ผู้รู้
ถ้าเราอยู่กับผู้รู้ ผู้รู้คือเรา คือตัวฐานของพลังงาน มันจะไม่สูญเสียพลังงานไป ไม่เสียพลังงานที่ใช้ไปโดยเปล่าประโยชน์ ไม่เสียไปโดยความคิดที่เราฟุ้งซ่านออกไป คิดในทางที่ผิดออกไป มันจะไม่เกิดถ้าเรากลับมาที่พุทโธ กลับมาที่ผู้รู้ตลอด สิ่งใดที่เห็นแล้วไม่เป็นประโยชน์กับเรา กลับมาที่ผู้รู้ตลอด สติตั้งไว้ เอาพลังงานนี้ให้มันมากขึ้นมา แล้วค่อยน้อมออกไปใหม่ๆ นี่ค้นคว้าหากิเลส หาข้าศึก ถ้าหาข้าศึกเจอ วิปัสสนาเกิดขึ้น ถ้าวิปัสสนาเกิดขึ้น เห็นไหม งานมันเกิดขึ้นมา จับต้องได้แล้ววิปัสสนาขึ้นไป แยกแยะขึ้นไป
ในการต่อสู้กัน จากเดิมไม่มีงานทำ มันจะทำให้เราคิดแต่ความเป็นไปของเราตลอดไป แต่ถ้ามันมีงานทำขึ้นมา ความคิดมันออกต่อสู้แล้ว การต่อสู้แพ้บ้างชนะบ้าง สู้กับกิเลส สู้กับอำนาจที่มันเหนือกว่า การทำสงคราม ถ้ากำลังเราน้อยกว่า เราโดนโจมตี เราต้องหาที่กำบัง หาที่หลบขึ้นมา
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าวิปัสสนาไปแล้วมันไม่ปล่อย มันทื่อๆ เราย้อนกลับมาเลย ย้อนกลับมาที่พุทโธ แล้วกลับไปสู้กันใหม่ แต่ถ้ากำลังเรามากกว่า มันจะปล่อย เห็นไหม วิปัสสนาไป กายนี้ไม่ใช่เรา เรานี้ไม่ใช่กาย กายมันแปรสภาพไป ให้มันแปรสภาพไป มันจะเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ ให้มันเป็นไปตามสภาวะของมัน มันจะปล่อยนะ ปล่อยๆ นั่นกำลังเรามากกว่า เราเป็นฝ่ายชนะ เห็นไหม
ถ้าเมื่อไหร่เราชนะ เราจะมีความสุขมาก ความสุขแต่เดิมเป็นความสุขของสัมมาสมาธิ แต่ความสุขของวิปัสสนาคือการใช้ปัญญาญาณ เห็นไหม มันชำระกิเลส กิเลสมันสงบตัวลง มันเริ่มแพ้ มันแพ้ธรรมของเรา
แต่เดิมนั้นเราศึกษาธรรมมา เราจำธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาทั้งนั้นเลย แต่ขณะที่เราวิปัสสนาคือธรรมของเราแล้ว คืองานของเราแล้ว เราต่อสู้กับกิเลสซึ่งๆ หน้า แล้วกิเลสมันแพ้ธรรมของเราแล้ว มันแค่หลบฉากเท่านั้นนะ มันมีความว่าง ความสงบของใจ เพราะกิเลสนี้มันมีอำนาจเหนือใจ มันไม่เคยแพ้ใครเลย ขณะที่มันหลบไป มันแพ้ธรรมของเราแล้ว ธรรมของเราที่เกิดขึ้นมามันจะมีความสุข มันมีความพอใจของเรา จะรื่นเริงอาจหาญในความสุขของเรานะ ความสุขอยู่กับใจเรา มันเป็นปัจจัตตังในหัวใจของเรา ในหัวใจของเรามันก็มีความรื่นเริง มีความอาจหาญ เห็นไหม
ความคล่องตัวของวิปัสสนาเกิดขึ้นจากใจ ใจมีวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นมา มันก็ต้องต่อสู้ มันจะแพ้เหลี่ยมกิเลสก็ตรงที่ว่า เวลากิเลสมันหลบตัวไปแล้วเราเข้าใจว่างานเราสิ้นสุดแล้วนะ แล้วก็มีความสุข ทรงความสุขอันนี้อยู่นะ ว่ามันจะเป็นความสุขของเรา เราจะทรงธรรมของเรา แต่ธรรมอันนี้เพราะกิเลสมันหลบตัวเฉยๆ มันแค่หลบตัวไป แล้วธรรมอันนี้มันก็อยู่กับใจของเรา เราก็เจอจริงๆ แล้วเหลี่ยมของมันก็รักษาให้เราไม่ก้าวเดินต่อไป มันจะเสื่อมไปนะ จะค่อยๆ เสื่อมไป พอเสื่อมไป เรามารู้ทีหลังว่าจิตเราเสื่อม ตอนเราสุขอยู่ มันเพลินกับความสุข สติเราก็ไม่พร้อม เพราะมีความสุขอยู่ มันเพลิน คนเพลินต้องเป็นแบบนั้น เวลามันเสื่อมไปแล้ว ถึงเวลามันทุกข์ร้อนขึ้นมา มันถึงได้สติ พอได้สติ มันก็ถอยร่นมาจนไกลแล้ว เราถึงต้องทำสัมมาสมาธิของเราขึ้นใหม่ ไม่ต้องไปทุกข์ร้อนกับความเสื่อมไป
สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สิ่งใดมีความเกิดขึ้น สิ่งนั้นต้องแปรสภาพ ต้องเสื่อมสลายไปโดยธรรมชาติของมัน การนี้เราสร้างขึ้นมาแล้วมันเป็นนามธรรม เห็นไหม ของที่เป็นวัตถุมันไม่เน่าไม่เสีย เราเก็บไว้ขนาดไหนก็เก็บได้ ของที่เน่าได้เสียได้ เราต้องเก็บในที่มีอุณหภูมิที่มันพอเก็บได้
แต่นี้มันเป็นนามธรรม มันเป็นเรื่องที่ว่าเดี๋ยวนั้นๆ เป็นปัจจุบันธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า แล้วพอวันเวลาเข้ามา มันเสื่อมถอยเข้ามา แล้วเราต้องเริ่มต้นใหม่ เราก็ต้องพยายามทำความสงบของเราใหม่ เพราะเราจะต่อสู้กับกิเลส เราชนะกิเลสส่วนหนึ่ง จนกิเลสมันปล่อยวาง แต่เพราะเราเผลอ เพราะเราไม่เข้าใจ เราถึงว่าเราชนะแล้วเราก็กลับแพ้ เพราะไม่เป็นอกุปปธรรม
ถ้าเป็นอกุปปธรรม ชนะแล้วจะไม่มีวันแพ้เลย
สงครามต่อสู้แล้วต่อสู้กันไป ขนาดว่าแพ้ชนะขึ้นมามันก็มีโอกาสได้ทำสงครามกันใหม่ เพราะผู้แพ้นั้นก็ไปรวมสมาชิกของเขา แล้วเข้ามาต่อสู้ใหม่ แต่อันนี้มันยังไม่ถึง มันก็ต่อสู้กันเป็นแบบนั้นเหมือนกัน มันไม่เป็นอกุปปะ
ถ้าเป็นอกุปปะแล้วจบสิ้น ในเมื่อจบสิ้นแล้วมันจะไม่มีวันเสื่อม เราจะรู้ว่าเป็นความสุขอันแน่นอนเลย แต่ที่มันเสื่อมมานี้เพราะว่าเราไม่เข้าใจสิ่งนั้น กิเลสมันมีเหลี่ยมหลบ ทำให้เราหลงเชื่อมัน เราถึงถอยร่นมา แล้วเราก็ทำของเราใหม่ ตั้งความคิด ตั้งสติสัมปชัญญะ สิ่งที่เสื่อมไปแล้วก็เสื่อมไป เพียงแต่เรารู้ เราเคยเข้าใจ เราเคยเจริญขึ้นมาจนกิเลสมันหลบไป จนปล่อยวางขนาดไหน อันนี้มันเป็นครูของเราตลอดไป แล้วเราก็สร้างสมขึ้นมาใหม่ ทำขึ้นมาใหม่ ทำได้ สิ่งที่เราเคยทำแล้วกิเลสมันก็เคยแพ้เราไป หลบฉากเราไป มันเป็นเครื่องยืนยันว่าเราทำได้ เรามีสัจจะ เรามีความจริง เราก็ต้องทำของเราขึ้นไปใหม่ วัตรปฏิบัติเป็นเครื่องอยู่ของใจ ให้ใจอยู่กับสิ่งนี้ ถ้ามันเศร้าสร้อย เศร้าหมอง มันจะไปทางอื่น ก็ให้มันอยู่กับวัตรปฏิบัติ ให้มันอยู่กับคำบริกรรม ถ้ามันไม่พอใจสิ่งใด ให้มันอยู่กับคำบริกรรม
เราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าคำบริกรรมพุทโธๆ ให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าช่วยเราด้วย ช่วยเราด้วย เห็นไหม เรียกร้องเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าช่วยเราด้วย เราเรียกร้องอยู่อย่างนั้น เราบริกรรมอยู่อย่างนั้น มันต้องกลับมาโดยสัจจะ เพราะว่าใจมันเป็นเรื่องนามธรรม สิ่งใดที่มันทรงตัวมันอยู่ มันทรงตัวด้วยอะไร
เห็นไหม เวลากิเลสมันเกิดขึ้นมามันก็เกิดขึ้นมาชั่วคราว แล้วมันก็จางไป ความคิดมันหมุนเวียนตลอด อันนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราไปตามอำนาจของกิเลส กิเลสมันหมุนไปตามอำนาจของมัน เรากำหนดพุทโธๆ ขึ้นมา เห็นไหม คำบริกรรมมันเป็นอาหารของใจอันใหม่ เป็นธรรมส่วนหนึ่ง พุทโธๆ นี้เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นชื่อขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทโธ พุทธจริต แล้วจริตนิสัยของเรา เราพยายามทำสิ่งนี้ขึ้นมา มันก็เกาะเกี่ยวกับสิ่งนี้ขึ้นมา
มันกลับได้ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา มันต้องสลายเป็นธรรมดา แต่มันก็ต้องเป็นธรรมดาเหมือนกันที่เราจะฟื้นขึ้นมาได้ เพราะด้วยความเพียรของเรา เราจะฟื้นสิ่งนี้ขึ้นมาถ้าเรามีความเพียร ความเพียรของเราเพียรขึ้นมาแล้วเพียรถูกต้อง เพียรถูก เพียรชอบ ความเพียรชอบ สิ่งใดที่เป็นงานแบกหามต่างๆ ปล่อย ไม่เกี่ยว เราทำสิ่งนั้น วันเวลาจะล่วงไปกี่เดือนกี่วันไม่สำคัญ สำคัญว่า สติของเราพร้อมสมบูรณ์ตลอด อยู่กับสิ่งนี้ มันก็กลับมา มันต้องกลับมาเป็นความสงบของเราโดยพื้นฐาน ถ้าเรากลับมามันก็มีพลัง เห็นไหม สิ่งที่เป็นพลัง เป็นสัมมาสมาธิ เราก็ค้นคว้าใหม่ เราก็แยกแยะใหม่
เราจะไม่เก็บสิ่งนี้ไว้ให้มันเสื่อมสภาพไปอีก เราจะต้องทรงไว้ตลอดไป ฝึกฝน เห็นไหม ความผิดพลาดของเรามันจะสอนเราว่าสิ่งนี้เป็นความทุกข์มาก เวลามันเสื่อมถอยไปเป็นความทุกข์จริงๆ แต่เวลามันกลับคืนมาแล้วเราจะไม่ให้มันเสื่อมมันถอย ถ้าไม่ให้มันเสื่อมมันถอย เราก็ต้องตั้งสติไว้ตลอด ตั้งสติอยู่กับพุทโธ ถ้าเราตั้งสติอยู่กับพุทโธ มันเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันจะเสื่อมไปไหน เพราะมันอยู่กับสิ่งนี้ ถ้ามันไม่อยู่กับตรงนี้ มันจะเสื่อม มันคิดออกไป มันคิดแล้วมันไปเตลิดเปิดเปิง มันสืบต่อไป
แต่พุทโธนี้คิดอยู่กับที่ ทับซ้อน ยับยั้งไว้ตลอดไป เราเน้นย้ำอยู่ตรงนี้ ถ้าเราเน้นย้ำๆ ตลอด มันไปไหนไม่ได้หรอก มันต้องอยู่ตรงนั้น เพราะเราเน้นย้ำ เหมือนกับเรามีคอกของเรากั้นสัตว์ไว้ สัตว์ก็อยู่ในคอก อันนี้เราพุทโธๆ เราเน้นย้ำตลอดเวลา แล้วนามธรรม ความรู้สึกมันจะไปไหนล่ะ? มันก็ต้องเน้นย้ำอยู่ตรงนั้น มันอยู่ในนั้น ถ้าอยู่ในนั้นมันต้องสงบ มันต้องมีพลังงาน มันเป็นอย่างนั้นมันก็ตั้งมั่น เห็นไหม พอมันตั้งมั่น เราชำนาญ เราเข้าใจ เราเห็นว่าใจของเราอยู่กับเราตลอดไป มันจะออกรบขนาดไหนมันก็ทำได้ ออกรบ ออกวิปัสสนา มันแยกแยะได้ตลอดไป แล้วพลังงานนี้พอย้อนกลับมามันก็ย้ำอยู่ตรงนั้นอีก มันก็เป็นตลอดไป นี่ความชำนาญ
ความเสื่อม ความผิดพลาดออกไป มันก็เป็นครูสอนเรา เราก็เข็ดขยาดกับความเสื่อมถอยของเรา เราถึงอยู่กับเราตลอดไป มันเน้นย้ำตลอดไป มันก็ทำให้พลังงานเต็มจำนวนของมันตลอดไป พอพลังงานมันเต็มแล้วมันก็ออกทำงานได้ ออกทำงานได้มันก็เป็นวิปัสสนา
วิปัสสนาแยกไปๆ ทำอยู่อย่างนั้น ย้ำอยู่อย่างนั้น จะกี่หนไม่สำคัญ บางทีเราจะถามว่ากี่หนมันถึงจะเป็นผลงานของเรา...กี่หนก็แล้วแต่ เพราะเวลาวิปัสสนาไป เวลากิเลสมันปล่อยกาย มันปล่อยความยึดมั่นของมัน มันก็มีความสุขหนหนึ่ง มันจะมีความสุขตลอดไป เราประพฤติปฏิบัติ เราจะมีความสุข มีเครื่องดำเนินตลอดไป แต่เวลาทุกข์นะ เราไม่มีเหตุไม่มีผล เราทุกข์ร้อนตลอดไป
แต่นี้มันเป็นการประพฤติปฏิบัติ มันมีผล ผลของมันคือการปล่อยวางตลอดไป พอมันปล่อยทีหนึ่งมันก็ว่างทีหนึ่ง เห็นไหม ว่าง มีความสุข ความสุขอันนั้นเป็นเครื่องดำเนิน แล้วทำไมเราจะวิปัสสนาอีกไม่ได้ เพียงแต่เราชะล่าใจ เราปล่อย เรารักษาใจแล้วเราก็ปล่อย รักษาใจแล้วเราก็ปล่อย เราไม่รื้อค้น ถ้าเราไม่รื้อค้น กิเลสมันก็หลบซ่อนอยู่แถวนั้น หลบซ่อนอยู่ในใจของเรา ถ้ากิเลสซ่อนอยู่ในใจของเรา ข้าศึกยังมีอยู่ในใจของเรา สักวันหนึ่งเขาก็ต้องแข็งข้อขึ้นมา เขาจะไม่ยอมแพ้เราตลอดไปหรอก เราจะต้องวิปัสสนาไป กี่ครั้งก็ไม่สำคัญ ทำอยู่อย่างนั้น ถ้าเราทำได้ เราวิปัสสนาได้ เวลาพิจารณาไปมันก็ปล่อย ปล่อย เวลามันปล่อย มันปล่อยเฉยๆ เห็นไหม
แต่ถ้าเวลามันขาด มันจะมีความรู้สึก ความเห็นว่ากายแยกออกไป จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ แยกออกไป มันไม่ใช่ปล่อย ถ้ามันปล่อย มันกำปั้นทุบดิน เวลาปล่อย กายเป็นกาย ปล่อยกายไปมันก็ว่างหมด ปล่อยจิตมันก็ว่างหมด ปล่อยขันธ์ก็ว่างเหมือนกัน ปล่อยกายก็ว่างเหมือนกัน มันว่างอย่างนั้น เราไม่ชำระกิเลส เราไม่เห็นกิเลส เราไม่ได้ยิงข้าศึก ข้าศึกไม่ตายไปจากเรา
แต่ถ้าเราวิปัสสนาไป เราย้ำอยู่อย่างนั้น การย้ำไปมันก็ปล่อย มันก็วิปัสสนาได้อีก มันก็ย้ำได้อีกๆ มันก็ปล่อยๆ พอถึงจุดหนึ่ง ถึงที่สุดมันจะขาดเลยนะ กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ เห็นไหม นี่เป็นอกุปปะ
สิ่งที่เป็นอกุปปะ เพราะกิเลสมันตาย มันตายเลย มันขาด การขาดคือการสมุจเฉทปหาน ถ้าเกิดการสมุจเฉทปหาน เราวิปัสสนา นี่กิเลสมันตาย ตายออกไปจากใจ ใจดวงนั้นถึงเป็นอริยภูมิขึ้นมา ถ้าใจนั้นเป็นอริยภูมิขึ้นมา มันจะไม่มีวันเสื่อม เสื่อมอีกไม่ได้ จิตนี้จะไม่มีวันเสื่อมอีกเลย นี่เพราะการย้ำคิดย้ำทำของเรา
ถ้าเราไม่ย้ำคิดย้ำทำของเรา มันเจริญแล้วเสื่อม มันเจริญแล้วเสื่อมอยู่อย่างนั้น เพราะเชื้อของกิเลสมันหลบอยู่ในใจ มันรวมพลของมันได้ มันก่อตัวขึ้นมาให้มันมีกำลังเข้มแข็งขึ้นมาได้ แล้วมันก็ทำลายเรา ทำลายเราตลอดไป
แต่เวลาวิปัสสนาเข้าไป เพราะเราไม่เชื่อกิเลส เราไม่เชื่อมัน เราไม่เชื่อเหตุผลของมัน เราเชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พยายามทำอยู่อย่างนั้น เน้นย้ำอยู่อย่างนั้น จนถึงที่สุดมันแยกออกไป แล้วกิเลสมันตายต่อหน้า เห็นไหม นั่นล่ะอกุปปธรรม ความสุขเกิดขึ้นมาจากใจอันนี้คงที่ นี่นักรบ รบกับกิเลส แล้วกิเลสตายต่อหน้าเรา
ทรงธรรมทรงวินัย พระเราต้องทรงธรรมทรงวินัย เพราะพระเราเป็นนักรบ เราต้องทรงธรรมอันนี้ในหัวใจของเราขึ้นมา ถ้ามันทรงธรรมอันนี้ในหัวใจของเราขึ้นมา เรามีพื้นฐานเลย การวิปัสสนา การประพฤติปฏิบัติธรรมของเราจะก้าวหน้าตลอดไป ก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะการกระทำของเรามันมีเหตุมีผลแล้ว สิ่งที่มีเหตุมีผลคือวิปัสสนาเป็น ทำงานเป็น
แล้วงานนี้ ฝึกงานนะ การทำงาน คนเรียนจบมาต้องฝึกงาน ต้องให้เป็นงาน เขายังต้องไปฝึกฝน อันนี้เราเป็นพระ เราเป็นนักปฏิบัติ เราก็ฝึกงาน ศึกษาฝึกซ้อมจากข้อวัตรปฏิบัติ จากธรรมวินัย ฝึกซ้อมขึ้นมาจนเป็นธรรมของเรา เราฝึกงานจนเป็นงาน เราเป็นงานแล้ว คนเป็นงานจะทำงานที่ไหน เขาต้องการตัวทั้งนั้นล่ะ เพราะเป็นงาน ทำงานได้เลย ไม่ต้องไปฝึกไปซ้อม
วิปัสสนาก็เหมือนกัน ถ้าเราเป็นงานแล้วเราก็ต้องก้าวเดินต่อไป ก้าวเดินต่อไปเพื่อให้มันสูงขึ้นไป งานของเราคือพ้นจากกิเลส กิเลสมันตายไป นั้นกิเลสส่วนหนึ่ง กิเลสในความเห็นผิดในกายส่วนหนึ่งที่กายกับเรานี้เป็นอันเดียวกัน เราเห็นว่ากายเป็นเรา เราเป็นกาย เราถึงยึด พอเรายึดขึ้นมา เราก็ทุกข์ยากไป แต่เวลาเราปล่อยกายแล้ว กายนี้ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย กายนี้ก็อาศัยกันไป เพราะสิ่งนี้มันเป็นสมบัติของเรา มนุษย์สมบัติ กายนี้เป็นสมบัติของเรา แต่มันพ้นออกไปเพราะธรรมเห็น พอธรรมเห็นว่ากายนี้ไม่ใช่ของเรา มันก็รักษากายนี้ไว้เพื่อจะสืบต่อๆ ไป การยึดมั่นถือมั่นว่ากาย มันยึดด้วย แบกหามด้วย แล้วมีความทุกข์ด้วย เพราะไม่เข้าใจ
แต่ถ้ากายเป็นของเราโดยธรรม เห็นไหม เพราะความรู้จริงมันเห็นแล้ว กายนี้ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย มันใช้กันไปโดยสักแต่ว่าใช้ รักษาสิ่งนี้ไว้ ไม่มีความแบกหามให้กายนี้หนักหน่วง นี่งานข้างหน้าที่พิจารณาขึ้นไป เห็นไหม ความยึดมั่น ความเห็นผิด สิ่งที่เห็นผิด อุปาทานในกาย มันยึดอยู่ของมัน เราพยายามทำลายมันขึ้นไป นักรบยึดพื้นที่ของข้าศึกได้มันก็ต้องรุกเข้าไป รุกเข้าไปเรื่อยจนจะถึงเมืองหลวงของมัน ยึดเข้าไปจนถึงเจ้าวัฏจักรของมัน คือตัวอวิชชาที่อยู่ข้างใน อันนี้เราทำลายป้อมปราการของเขาส่วนหนึ่งเข้าไป เราก็ต้องรบ เราต้องรุกเข้าไป รุกเข้าไปมันก็ลึกเข้าไป เห็นไหม สมาธิอย่างปกติ สมาธิ-ปัญญา สติ-ปัญญา มหาสติ-มหาปัญญา มันจะเกิดขึ้นมาจากภายใน มันจะลึกเข้าไป รุกล้ำเข้าไป นี่ฐานของจิต
จิตนี้ลึกล้ำมากอยู่ในหัวใจของเรา แล้วเราค้นคว้าหาไม่เจอ หาไม่เจอก็หากิเลสไม่ได้ อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราจะรุกล้ำเข้าไป เราพยายามค้นคว้าหาข้าศึก แล้วทำลายข้าศึกที่เป็นชั้นเป็นตอนที่มันดักไว้ ดักจะไม่ให้เราเข้าไป คอยหวังจะทำลายเรา สิ่งที่หวังทำลายเรานี้ทำให้ธรรมของเราไม่เจริญ ทำให้การประพฤติปฏิบัติของเราล้มลุกคลุกคลาน
ความสุขส่วนหนึ่งในหัวใจมีอยู่เป็นพื้นฐาน แต่การต่อสู้กับกิเลสสูงขึ้นไป เราต้องทำความสงบให้เหนือเข้าไป เราถึงต้องใช้คำบริกรรมเหมือนกัน
สมถกรรมฐาน-วิปัสสนากรรมฐาน มันเป็นคนละส่วนกัน ส่วนของการใช้ไปแล้วก็คือการใช้ไปแล้ว ส่วนของที่เราจะทำให้เกิดขึ้นมาเป็นปัจจุบันธรรมเพื่อจะเข้าไปชำระกิเลส เข้าไปจับต้องกิเลสแล้วทำลายกิเลส นั้นเราต้องทำไป แล้วย้อนกลับเข้าหา
พิจารณากายไป มันจะเป็นธาตุ ความเป็นไปของธาตุขันธ์ จิตนี้มันจับได้ ถ้ามันจับได้มันก็เป็นงาน ถ้าจิตจับไม่ได้ เราหาไม่เจอ เราต้องขุดคุ้ยหาจนเจอ จับตรงนี้ได้ ขันธ์อย่างกลางก็จับได้ จับร่างกายได้ก็เป็นสิ่งที่เป็นร่างกาย จับเวทนาก็ได้ เหมือนกันทั้งหมด แล้วแยกมันออกไป ถ้ามันวิปัสสนา วิปัสสนากายก่อน ปล่อยกายขึ้นมา ไปเอาเวทนาก็ได้ ถ้ามันจับได้
จับได้ตรงไหนนั้นเป็นงานทั้งหมด จับได้คือจับข้าศึกได้ จับได้คือจับตัวกิเลสได้ กิเลสอาศัยสิ่งนี้แสดงตัวไง
กิเลสเป็นนามธรรม การวิปัสสนาไปก็เป็นนามธรรม งานของใจนี้เป็นเรื่องของนามธรรม ใจกับใจมันทำลายกัน มันต่อสู้กัน ทำลายสิ่งนั้นเข้าไป มันเป็นเรื่องของนามธรรมทั้งหมดเลย ต่อสู้กันภายใน สิ่งนี้มันไม่เห็น โลกเขาถึงไม่เห็น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเห็นสิ่งนี้แล้วชี้นำสิ่งนี้ วางสิ่งนี้ให้เราก้าวเดินตามนั้น มันถึงเป็นนามธรรมของเรา มันถึงจับต้องแล้ววิปัสสนาไป
มันเป็นงานนะ พอวิปัสสนาเป็น มันเห็นงาน เห็นงานการต่อสู้ของเราขึ้นมา
การต่อสู้ต้องมีพลังงาน พลังงานคือความสงบของใจ งานการต่อสู้คือปัญญา ปัญญานั้นคือกระสุน คืออาวุธ อาวุธเข้าไปทำลายข้าศึก นี่ปัญญานำ แต่เวลาพลังงาน เห็นไหม หาปืนต้องใช้สมาธินำ สมาธินี้คือการที่เราหาปืนหาอาวุธของเราขึ้นมา เราต้องทำความสะอาดอาวุธของเราเพื่อให้มันใช้งานได้ตลอดไป ไม่ใช่ว่าถึงเวลาจะใช้อาวุธขึ้นมามันก็ติดขัด เพราะเราไม่รักษา นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่รักษาใจด้วยสัมมาสมาธิ เราไม่รักษาใจของเรา เราไม่รักษาอาวุธของเรา เราก็ไม่มีอาวุธที่จะไปทำให้เกิดปัญญา เกิดปัญญาคืออาวุธ คือกระสุนที่จะออกไปทำลาย ออกไปต่อสู้กับกิเลส เราต้องฝึกฝนฝึกซ้อมของเราตลอดเวลา ฝึกขึ้นมามันก็เป็นตลอดไป
ถ้าทำความสงบของใจมันก็เป็นงาน ทำความสงบของใจ พักใจไว้ ถ้าเรายังไม่เจอข้าศึก แต่พอเราเจอข้าศึก เราก็ใช้ปัญญาเข้าไป
เจอข้าศึกคือเจอสติปัฏฐาน งานนี้ลงที่สติปัฏฐาน ๔ แล้วจิตนี้มันก็จะเป็นอริยสัจ คือเป็นความที่มันมีอยู่แล้ว เห็นไหม ลงไปในสติปัฏฐาน ๔ ในอริยสัจ ๔ แล้วจิตเป็นเครื่องดำเนินทั้งหมด เวลาจิตเป็นเครื่องดำเนิน มันพ้นออกมาจากอริยสัจ
ทุกข์ควรกำหนด สิ่งที่เป็นทุกข์เป็นยากขึ้นมาเราควรกำหนด กำหนดสิ่งนี้ขึ้นมา แล้วสมุทัยควรละ ละด้วยอะไร? ละด้วยมรรค มรรคจะเกิดขึ้นมา มรรคคือปัญญาญาณ มรรคคือสัมมาสมาธิมารวมตัวกันตลอดไป สิ่งที่รวมตัวนี้มันทำตลอดไป มันจะเกิดนิโรธ นิโรธคือการปล่อยวาง สิ่งที่เป็นนิโรธนี้มันออกมาจากอริยสัจ สิ่งที่เป็นอริยสัจมันเป็นความจริงขึ้นมา แต่งานต้องงานชอบ งานชอบมันก็ต้องงานในสติปัฏฐาน ๔
ความคิด เห็นไหม เราคิดเรื่องในอริยสัจเหมือนกัน เราคิดเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ คิดเป็นทางโลกมันก็เป็นอริยสัจได้เหมือนกัน แต่มันไม่ลงที่ฐานของใจ เพราะกิเลสมันอยู่ที่ใจ สติปัฏฐาน ๔ มันเป็นฐานของใจ กิเลสมันซุกตัวอยู่ที่นี่ มันซุกตัวอยู่ในสติปัฏฐาน ๔ ซุกตัวอยู่ที่จิตของเรา แต่เวลาเราคิดออกไปเป็นเรื่องภายนอก มันจะหมุนออกไปภายนอก สิ่งนั้นเราคิดไปในทางอริยสัจก็ได้ พอเราคิดอริยสัจมันก็เป็นเรื่องของภายนอกไป แต่ถ้ามันคิดเรื่องภายในขึ้นมา มันจะย้อนกลับเข้ามาๆ
เวลาปัญญามันเกิดขึ้นมา ย้อนดึงเข้ามาๆ มันจะวนเข้ามาจากภายใน เห็นไหม จากวงรอบนอกจะย้อนเข้ามาวงรอบใน วิปัสสนาไปมันก็จะปล่อยเหมือนกัน ถึงปล่อยขนาดไหนเราก็ต้องซ้ำของเราตลอดไป หมั่นคราดหมั่นไถ งานของเราต้องคราดต้องไถจนสิ่งนี้ทำลายออกไป พอทำลายออกไป เห็นไหม กายเป็นกาย จิตเป็นจิต มันจะแยกออกจากกัน มันจะมีความสุขอย่างมหาศาล เวิ้งว้างไปหมดเลย จิตนี้ปล่อยวาง มันปล่อยวางสิ่งนี้ มันจะมีความสุขมาก สุขในการประพฤติปฏิบัติ
ชีวิตของเรา นักรบรบกับกิเลส ชีวิตของเราทั้งชีวิตเลย ในการทำความพากความเพียรขึ้นมาเพื่อจะชำระสิ่งนี้ แล้วมันก็ได้ผลสมบูรณ์กับใจขึ้นมา ใจปล่อยวางสิ่งนี้มันถึงมีความสุข สุขมาก เวิ้งว้างไปตลอด มีความสุขอยู่อย่างนั้น รักษาสิ่งนี้ไว้จะเป็นความสุขอยู่อย่างนั้นตลอดไป จนติดความสุขอันนี้ไง
ความสุขอันนี้ เห็นไหม เราชำระกิเลสมันถึงเป็นความสุข มันจะไปติดทำไม เพราะเราชำระกิเลสมา อันนี้เป็นผลของการที่เราชำระกิเลสมา...ถูกต้อง อันนี้ถูกต้อง แต่กิเลสที่เหนือกว่า ที่เป็นเจ้าวัฏจักรอยู่ในเมืองหลวงของเขา เรายังเข้าไปหาสิ่งนั้นไม่ได้ ถ้าเราเข้าไปหาสิ่งนั้นไม่ได้ ภพชาติของเราไม่สิ้นสุด เห็นไหม
การประพฤติปฏิบัติธรรม ผู้ทรงธรรมในหัวใจถึงที่สุดแล้วจะสมบูรณ์ จะไม่มีการขาดตกบกพร่องในหัวใจนั้น ในหัวใจนี้สมบูรณ์ แต่นี่มีความสุข ความสุขของเรา เราว่าสมบูรณ์ กิเลสอันละเอียดมันหลอกว่าให้เราอยู่แค่นั้น ไม่ให้ก้าวเดินเข้ามาในหัวใจ เข้าไปเห็นเจ้าวัฏจักรในหัวใจ กิเลสตัวอวิชชา คือตัวกษัตริย์อยู่ข้างใน ตัวแม่ทัพอยู่ข้างหน้า แม่ทัพนี้มันต้องมีทหารรายล้อมรักษาแม่ทัพไว้ เพราะแม่ทัพนี้เป็นผู้นำทัพ แต่แม่ทัพกับกษัตริย์ กษัตริย์ผู้ที่สั่งการ ผู้ที่เป็นเจ้าของวัฏจักรนั้นสั่งแม่ทัพออกมารบ
ความโลภ ความโกรธ ความหลงนี้เป็นแม่ทัพ กามราคะเป็นแม่ทัพ แม่ทัพมีผู้รักษาไว้ สิ่งที่เป็นนามธรรมมันรักษาสิ่งนั้น เราถึงหาสิ่งนั้นไม่ได้ รักษาด้วย แล้วพรางด้วย พรางให้เราไม่เห็น ถ้าเราไม่เห็นอสุภะ เราก็ไม่เห็นกามราคะ เราก็ชำระกิเลสไม่ได้ นี่มันพรางให้เราไม่เห็นสิ่งนี้ พอพรางให้เราไม่เห็นสิ่งนี้ เราก็หลงไปสิ หลงไปในความสุขของเรา
สิ่งที่เป็นความสุขของเรา เรามีความสุข ผลของการประพฤติปฏิบัติสมควรแก่เหตุนั้นเป็นความสุขแน่นอน แต่สิ่งที่เจริญขึ้นไป เราหลงสิ่งนั้น หลงสิ่งที่ละเอียดกว่า หลงสิ่งที่สูงกว่า ข้าศึกอยู่ที่สูงกว่า แล้วหลบตัวไม่ให้เราเห็นด้วย เราอยู่ต่ำกว่าข้าศึก นี่ข้าศึกในขั้นของกามราคะ แต่สูงกว่าข้าศึกในขั้นของจิตมันปล่อยกายออกมา มันปล่อยออกมาแล้วมันจะกลับเข้าไปเป็นเหมือนเดิมอีกไม่ได้ จะเข้าไปสืบต่อกันเหมือนเก่าไม่ได้ เพราะมันขาดออกมา มันปล่อยวางมา อันนี้สมบูรณ์
แต่สิ่งที่เหนือกว่าเรา เห็นไหม เราถึงต้องฟังธรรม เราถึงต้องมีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ของเราจะพยายามแสดงธรรมออกมา ธรรมอยู่ที่สูงกว่า ดึงคนที่ต่ำกว่า เห็นไหม ธรรมเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา เราได้มาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมาจริงอยู่ เรามีความสุขจริงอยู่ แล้วเราก็ติดอยู่ในความสุขของเรา เราติดสุขไง คำว่า ติด นี้เป็นกิเลสหรือเป็นธรรมล่ะ สุขก็จริงอยู่ แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า พ้นออกไปจากดีและชั่ว ความสุขอันนี้เราจะไม่เกิดอีกเลย มันจะเป็นสุขล้วนๆ ไปข้างหน้า มันจะไม่ติดกับกิเลสนี้
แต่ความสุขอันนี้ มันยังเกิดขึ้น มันยังจับต้องได้ มันยังมีหัวใจรับรู้ความสุขอยู่นี่ มันมีฐานไง ภวาสวะ ภพของใจ ฐานของใจมันรับรองสิ่งนี้ไว้ สิ่งนี้ก็เป็นความสุขของเรา เราก็ว่า สุขหนอ สุขหนอ...สุขอย่างนี้สุขแบบหลอกกัน หลอกข้างหน้ามา หลอกเรา เราถึงต้องพยายามค้นคว้าขึ้นไปให้ได้
ครูบาอาจารย์ชี้นำ เคาะให้เราออก เราจะออกค้นคว้าอีก ถ้าค้นคว้าขึ้นไปข้างหน้าจะเจอกามราคะ สิ่งที่ค้นคว้า ตั้งสติไว้ แล้วพยายามสืบ สังเกตความรู้สึกของเรา ความรู้สึกของเรามันเกาะเกี่ยวกับสิ่งใด
ถ้าเกาะเกี่ยวกับกาย ภาพกายเกิดขึ้น นี่ไง ไหนว่าไม่มีไง ไหนว่าสุขหนอๆ กายของเราเป็นอสุภะ จับได้เป็นอสุภะ จิตเราจะตั้งมั่นเป็นอสุภะเลย เป็นอสุภะ-เป็นสุภะ มันจะหลอกอยู่อย่างนั้น เราต้องใช้ปัญญาฟาดฟัน ใช้ปัญญากางออกฟาดฟันว่า มันเป็นสิ่งใด มันเป็นอนิจจัง สิ่งที่เป็นอนิจจังมันเป็นอสุภะอยู่แล้ว ถ้าเป็นนิจจัง เป็นความพอใจ มันเป็นสุภะ นี่ภาพของกิเลสมันสร้างได้ มันแปรสภาพไปได้ เราทำของเราได้
กิเลสอยู่กับใจ ธรรมก็อยู่กับใจ ธรรมคือสภาวะที่เราสร้างสมขึ้นมา กำลังที่เกิดขึ้น มรรคที่มันเดินตัวไปนี้คือสภาวธรรม สิ่งที่เป็นสภาวธรรม เราเห็นของเรา เรารู้ของเรา เวลาเราทุกข์ เราทุกข์ของเรา เวลาธรรมเกิดขึ้นมาก็ธรรมของเราเกิดขึ้นมา แล้วสิ่งนี้กางออกไป จะเป็นสุภะหรือเป็นอสุภะเราก็ใคร่ครวญออกไป มันจะต้องทำลายลงๆ สิ่งที่มันทำลายลง เห็นไหม ปัญญามันก้าวเดินไปได้
ถ้ามันทำลายลงไม่ได้ มันมีอำนาจเหนือกว่าเรา เราต่อสู้ขนาดไหน บึกบึนไปขนาดไหน มันก็เป็นการสู้กัน ฝืนกันอยู่อย่างนั้น เราถึงต้องกลับมาทำความสงบของใจ กลับมาทำตัวพลังงาน ให้ย้ำอย่างที่เราเคยพุทโธๆ ย้ำอย่างนั้น
มันย้ำไม่ได้ เพราะมันเป็นความชำนาญของใจ ใจมันชำนาญ มันออกรับรู้ ออกวิปัสสนาไป เพราะมันเห็นคุณประโยชน์ของปัญญา ปัญญาจะทำงานตลอดไป คนเราทำงานจนเพลีย จนทุกข์ยากขนาดนั้น มันก็ยังฝืนทำๆ มันฝืนทำนะ เวลาสติเราไม่สมบูรณ์มันเป็นแบบนั้น การต่อสู้กับกิเลสมันมีเล่ห์เหลี่ยมของมัน เพราะกิเลสกับธรรมมันอยู่ในหัวใจของเรา มันแสดงตัวสิ่งไหน สิ่งใดที่มันมีอำนาจเหนือกว่า เราจะคิดไปตามนั้นทันทีเลย
เวลาเราฟังธรรมครูบาอาจารย์ เราบอกว่าเราจะตั้งใจ เราจะทำสิ่งนั้นให้ได้ แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติ มันเป็นการต่อสู้ของเรา เหมือนเด็กออกไปเที่ยวป่า เหมือนกับทหารออกฝึกซ้อม เราปล่อยทหารออกไปแล้วเราสั่งไป แล้วทหารไปฝึกซ้อม มันเข้าไปในป่าในเขา มันต้องไปผจญกับสิ่งใด มันเป็นปัจจุบันของเขา
นี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อใจเราออกวิปัสสนา มันเป็นการต่อสู้กันตลอดไป เราไม่มีครูบาอาจารย์มาคอยสั่งอยู่หรอกว่าอันนั้นผิด อันนั้นถูก เราต่อสู้ผจญภัยของเราไป มันผิดถูกขึ้นมา ผลมันแสดงออกมาแล้ว ถ้าผิด วิปัสสนาไปมันไม่ปล่อย เห็นไหม มันไม่ปล่อย บางทีมันหลอก กิเลสมันหลอกว่า ออกไป วนออกไป พอวนออกไป สิ่งนี้มันเป็นธรรมๆ นี่มันก็หลอกได้ หลอกว่าให้ปล่อยก็ได้ สร้างเหตุการณ์ให้ปล่อยก็ได้
กิเลสอันละเอียดนี้มันละเอียดมาก ละเอียด ปล่อยวางๆ ปล่อยแล้วหลบ ปล่อยแล้วหลบอยู่อย่างนั้น เราก็ผิดพลาดไป เราเข้าไปต่อสู้กับกิเลส เราพยายามต่อสู้กับมัน เราทำไปแล้วกิเลสมันก็ขุดหลุมพรางล่อลวงเราไปตามกระแสของมัน แล้วเราก็ใช้พลังงานไป ล่อลวงเรา แล้วเราก็ตามไปๆ พลังงานเราใช้หมดเลย แล้วมันก็ปล่อย มันก็ว่าว่าง เราก็ว่าว่าง พอว่าง เราก็เข้าใจว่าธรรม เห็นไหม เป็นความเข้าใจว่าธรรม มันไม่เป็นสภาวะตามความเป็นจริง
ถ้ามันเป็นสภาวะตามความจริง มันจะมีเหตุมีผลของมัน
อันนี้มันว่างขึ้นมาเหมือนหลุมพราง เหมือนเราตกไปในหลุมพรางของเขา แล้วเราก็ว่าง แล้วเราก็เชื่อของเรา เพราะมันเป็นประสบการณ์ตรง เป็นการวิปัสสนาของใจ ใจมันทำงานอยู่ แล้วมันปล่อยวาง เราก็เชื่อ ถ้าเราเชื่อสิ่งนั้น นั่นล่ะ มันก็จะติดไปอยู่พักหนึ่ง ว่างไปพักหนึ่ง พอสักพักหนึ่งมันก็แสดงตัวของมันขึ้นมาใหม่ อ้าว! แล้วนี่คืออะไร มันว่าง มันต้องไม่มีสิ่งนี้ มันจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร...เกิดอีก เราก็ต้องวิปัสสนาอีก จะเป็นอย่างนี้
เวลากิเลสมันต่อสู้กับธรรม กิเลสในฝ่ายวิปัสสนา เวลาเราวิปัสสนาเป็น เราภาวนาเป็น ไม่ใช่ภาวนาเป็นแล้วเราจะเจริญก้าวหน้า ถ้าธรรมสมควรแก่ธรรมจะเป็นความเจริญก้าวหน้า ถ้าธรรมสมควรนะ เราประพฤติปฏิบัติสมควรแก่ธรรม เหตุผลเป็นธรรมจริง เป็นสัจจะ เป็นอริยสัจ เป็นความจริงของใจนี้ นี่มันจะก้าวหน้าไป แต่ถ้าเราวิปัสสนาไป กิเลสมันหลอกขึ้นมา มันไม่สมควรแก่ธรรม เราวิปัสสนาจริงอยู่ เราใช้ปัญญาจริงอยู่ ปัญญาเราก้าวเดินออกไปเลย พิจารณาออกไปตลอดไป แล้วมันก็มีกิเลสพรางไว้ นี่มันเป็นความฉลาดของกิเลสต่างหาก มันพรางสิ่งนั้นไว้ให้เราเห็นว่าว่าง พอมันหลุดไปแล้วมันก็ว่างเหมือนกันจริงๆ นี่ว่างอย่างนั้น วิปัสสนาจะเป็นอย่างนี้ มันล้มลุกคลุกคลานอยู่อย่างนี้ มันถึงว่า ทำไมเราผิดพลาด เราไม่มีกำลัง วิปัสสนาไม่ได้ เราก็ผิดพลาดไปทางหนึ่ง เวลาเราวิปัสสนาไป กำลังเราเดินไป กิเลสมันหลอกให้เราถลำไป ก็เป็นอีกทางหนึ่ง สู้ไม่ไหว เราแพ้ แพ้ซึ่งๆ หน้าเลย นี่เป็นส่วนหนึ่ง
ขณะที่เราวิปัสสนาไป ถ้ากำลังเราพอ เราชนะ มันปล่อยวางนะ แต่ทำไมกิเลสมันไม่ขาดล่ะ? มันไม่ขาดเพราะว่ามันไม่มัชฌิมาปฏิปทา กิเลสมันฉลาดกว่า มันสร้างหลุมพรางไว้ให้เราหลงหลบออกไปทางนั้น มันก็ว่างได้ ความว่างของกิเลสสงบตัวลง หลบตัวลง กับ ความว่างของกิเลสขาด ต่างกัน มันต้องวิปัสสนาย้อนกลับเข้ามา ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตั้งขึ้นมาใหม่ๆ วิปัสสนาก็ตั้งใหม่
กลมายาของมันละเอียดอ่อนมาก พญามารอยู่ในหัวใจของเรามันละเอียดอ่อนขนาดนั้น มันถึงทำให้สัตว์โลกติด นี่นักรบรบกับกิเลสนี้หัวปั่นเลยนะ นักรบกับสงคราม นายทหารเขารบกันอีกอย่างหนึ่ง นั่นเขาก็รบของเขาเพื่อเป็นชัยชนะของเขา เพื่อความอยู่รอดของประเทศชาติ เพื่อให้ประเทศชาตินี้พ้นจากข้าศึก นั่นก็เป็นการรบกัน ต้องใช้สงคราม ใช้ทุนรอนมหาศาลเลย แต่การรบกับใจนี้สำคัญกว่า เห็นไหม เห็นว่าชนะแล้ว ไม่มีข้าศึกเลย ยึดพื้นที่ได้หมดเลย แต่กิเลสมันหลบไป มันหลบตัวลง เพราะมันเป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรมถึงต่อสู้ยาก เราต่อสู้ยาก เราก็ตั้งสติ มันว่าง เราก็อยู่กับความว่าง สุขนั้นมีความสุขมาก จนกว่าเมื่อไหร่ที่กิเลสแสดงตัวออกมา นั่นล่ะมันแสดงตัว
ถ้าไม่แสดงตัว เราก็ต้องดูว่าสิ่งนี้มันมีเหตุมีผลไหม สุภะ-อสุภะ ต้องเอามาตรวจสอบ มาทดสอบใจตลอดเวลา ใจของเราจะปล่อยสิ่งนั้นได้จริงไหม ถ้ามันไม่มีเหตุไม่มีผล เราทำอย่างนั้นอยู่ตลอดไป มันต้องแสดงตัว
ของมีอยู่ เราหาของมีอยู่ในหัวใจมันต้องเจอ มันจะซุกไว้ที่ไหน เราหมั่นเพียรหา หาแล้วไม่เจอ หาใหม่ หาแล้วไม่เจอ หาใหม่ เราทำของเราอย่างนั้นตลอดไป คนที่ไม่ประมาทกับกิเลสอันละเอียดในหัวใจที่มันหลอกเรา เราจะหาสิ่งนั้นเจอ ถ้าหาสิ่งนั้นเจอ นี่ไง กิเลส เจออีกแล้ว ถ้าเจออีกแล้วเราก็วิปัสสนาใหม่ ตั้งต้นกันใหม่ วิปัสสนาไปๆ ใช้ปัญญาว่า มันเป็นความจริงไหม ถ้ามันไม่จริง ตั้งเอาไว้ให้ดูก็ได้ ตั้งให้มันสอนใจเรา ตั้งอสุภะไว้ให้สอนใจเรา มันจะค่อยๆ แสดงตัว มันค่อยๆ เป็นอนัตตา มันจะแปรสภาพไป
ถ้ามันแปรสภาพไป นี่เห็นตามความเป็นจริง นี่ไง มันไม่จริง มันต้องเห็นสภาวะแบบนั้น มันถึงครืน! ในหัวใจ ขาดออกไปจากใจนะ สิ่งนี้ขาดออกไปจากใจ วิปัสสนากามราคะมันก็ขาดออกไปจากใจ จะขาดออกไปจากใจ ขันธ์ไม่ใช่จิต จิตจะไม่ใช่ขันธ์ เวิ้งว้างหมดเลย นี่เป็นความถูกต้อง
นักรบชนะกิเลส มันต้องมีเหตุมีผล ชนะ กิเลสต้องขาดออกไปจากใจ ใจขาดออกไป เพราะกิเลส สิ่งที่เป็นอสุภะมันเป็นขันธ์อันละเอียด พอมันขาดออกไป เหลือแต่จิตล้วนๆ จิตนี้ไม่ใช่ขันธ์ สิ่งที่ไม่ใช่ขันธ์มันจะเป็นความว่างที่เหนือกว่าอีก นี่มันอยู่ชัยภูมิที่เหนือกว่า เห็นไหม
ธรรมเราสร้างขึ้นมาจนปล่อยกามราคะ ปล่อยกามราคะแล้วเราสูงส่งขนาดไหน จิตดวงนี้เป็นจิตที่สูงส่งมาก มีธรรมในหัวใจที่สูงส่งมาก แต่กิเลสที่มันละเอียดลึกซึ้งกว่ามันอยู่ในชัยภูมิที่เหนือกว่า เราจะตามสิ่งนั้นขึ้นไปไม่ได้เลย นี่เจ้าวัฏจักร สิ่งที่เป็นเจ้าวัฏจักรมันลอยตัวจนเหนือ เห็นไหม เรือนยอดของเรือน ๓ หลัง ยอดของมันรวมกันเป็นเจ้าวัฏจักร การที่เราจะเจอเจ้าวัฏจักรมันถึงต้องใช้ความละเอียดอ่อน ความสุขุมรอบคอบเข้าไป ธรรมของเราจะต้องเกิดขึ้นมาแบบนั้น
ติดในธรรมมันก็ติดในความว่างนั้น ว่างมากเลย แต่มันมีความรู้สึกว่าว่าง ความรู้สึกอันนี้มันทำให้เราฉงนใจ เราสนเท่ห์ ถ้าเราสนเท่ห์นะ เอ๊ะ! สิ่งนี้มันคืออะไร...นั้นล่ะคือตัวกิเลส นั้นคือตัวเจ้าวัฏจักร นั้นคือตัวพญามาร ละเอียดอ่อนมาก ลึกลับมากอยู่ในหัวใจของเรา
หรือถ้าเราประพฤติปฏิบัติ เรามีครูบาอาจารย์ ท่านจะชี้ตรงนี้เลย ตรงนี้คือตัวพญามาร ถ้าเราเชื่อครูบาอาจารย์ เราจะย้อนกลับ ถ้าเราไม่เชื่อครูบาอาจารย์ เราจะเกิดทิฏฐิมานะว่าของเราของจริง สิ่งที่เป็นของเรานี่ของจริง ถ้าครูบาอาจารย์พูดนั้นเรายกไว้ เราไม่ฟัง เราจะเสียโอกาสทันทีเลย เพราะเกิดมานะขึ้นมา
แต่ถ้าครูบาอาจารย์ฉลาด จะค่อยๆ ชี้นำ ตะล่อมขึ้นมาให้เราไม่เกิดมานะ ให้เราพยายามค้นคว้าของเราขึ้นมา ถ้าเกิดมานะก็ต้องทำให้เราเกิดการกระทบ จะต้องท้าทาย ท้าให้เราลองดูสิ่งนั้น เราต้องพิสูจน์ ถ้าเราพิสูจน์ขึ้นมา หรือว่า หรือว่ามันยังมีอยู่ เห็นไหม หรือว่า ก่อนนะ แล้วพอ หรือว่า มันก็เกิดการพัฒนาของฝ่ายมรรคขึ้นมา ฝ่ายมรรคเริ่มพัฒนาขึ้นมา ถ้าพัฒนา หรือว่า น่าจะ มันก็ย้อนกลับ สิ่งที่ย้อนกลับมันจะย้อนกลับเข้าไปหาเจ้าวัฏจักร
พอเจอเจ้าวัฏจักร เห็นไหม งานการขุดคุ้ยหากิเลสนี้มันถึงเป็นงานอันประเสริฐมาก ผู้ที่จะขุดคุ้ยหากิเลส กิเลสมันลึกลับซับซ้อนมาก ข้าศึกที่ลึกลับซับซ้อนอยู่ในหัวใจ มันลึกลับซับซ้อนอยู่มหาศาลเลย เราต้องพยายามค้นคว้าให้เจอ ถ้าเราค้นคว้าสิ่งนี้เจอ นี่เจอเจ้าวัฏจักร ถ้าเจอเจ้าวัฏจักร นี่คือตัวพญามาร สิ่งนี้อยู่ที่สูงสุด เราต้องเข้าไปทำลายสิ่งที่อยู่สูงสุดในหัวใจของเราให้ได้ ถ้าเราทำลายสิ่งที่สูงสุดที่อยู่ในหัวใจของเราได้ เราจะคว่ำเลยนะ เราจะพลิก อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ลงมาถึงที่สุด แล้วธรรมจะเหนือกว่า ถ้าธรรมเจริญถึงที่สุดแล้วมันเหนือกว่า นั้นถึงเป็นผู้รบแล้วมีธรรมในหัวใจไง ธรรมและวินัยจากใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นส่วนหนึ่ง นี่ธรรมของส่วนบุคคล นักรบรบกับกิเลสมาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา จนถึงที่สุดมีธรรมในหัวใจสมบูรณ์แบบ สมบูรณ์เต็มในหัวใจนั้นเลย นี่ทรงธรรมทรงวินัย
ถ้าเราไม่ทรงธรรมทรงวินัย ศาสนานี้จะมีธรรมและวินัยให้ใครก้าวเดินตาม ถ้าไม่มีผู้ที่จะก้าวเดินตาม เห็นไหม เพราะไม่มีผู้ชี้ทาง ถ้ามีผู้ชี้ทาง เราต้องประพฤติปฏิบัติ ธรรมและวินัยนั้นเป็นศาสดาของเรา เราประพฤติปฏิบัติ เราก้าวเดินตามของเราขึ้นมา เราดัดแปลงตน ดัดแปลงตนเข้าถึงธรรมวินัย จนธรรมนี้เป็นหัวใจของเรา ใจของเรากับธรรมเป็นอันเดียวกัน เราจะเป็นผู้ชี้นำคนอื่นต่อไป นี่ศาสนาเจริญรุ่งเรือง เจริญรุ่งเรืองในหัวใจของสัตว์โลก
มนุษย์เรามองแปลกนะ มองศาสนาเจริญรุ่งเรือง มองแต่เรื่องของโลกๆ ความเจริญของโลกนี้เจริญรุ่งเรือง แล้วก็ว่าศาสนาเจริญ แต่นักรบเรา ถ้าศาสนาเจริญรุ่งเรืองในหัวใจ นักรบกับนักรบรู้กันว่า ศาสนาเจริญรุ่งเรืองในหัวใจนั้นคือตัวธรรม ถ้าตัวธรรมในใจของเรามี ธรรมของเรา ผู้ทรงธรรมทรงวินัย เราเคารพกัน เราบูชากัน เราบูชาธรรมอันนั้นต่างหาก เราไม่ได้บูชาธาตุ ๔ ขันธ์ ๕
ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ของบุคคลนั้นต้องแตกสลายแน่นอน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว แม้แต่ศาสดาของเราก็เป็นตัวอย่าง ต้องตายไป ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ นี้เป็นเรื่องของโลก เป็นเรื่องเศษส่วน เศษส่วนสิ่งนี้มี เศษนี้มี สอุปาทิเสสนิพพาน แม้แต่สิ้นจากกิเลสแล้วก็มีเศษส่วนนั้น แต่ธรรมในหัวใจนั้นประเสริฐ สิ่งที่ประเสริฐจะไม่เวียนตายเวียนเกิดกับโลกเขาอีกแล้ว โลกนี้เป็นเรื่องของโลก ใจดวงนี้พ้นออกไปจากกิเลส นี่ทรงธรรมทรงวินัย เราเป็นนักรบ เราต้องทรงธรรมทรงวินัย ถ้าเราทรงธรรมทรงวินัยในหัวใจของเรา เราจะมีความสุขในใจของเรามาก ใจของเราจะเป็นความสุขล้วนๆ
สุขที่ว่าเราติดสุขของเรา เห็นไหม ติดสุขเพราะมันมีกิเลสที่มีความละเอียดอ่อนในหัวใจ แต่ถ้าเราเป็นสุขอย่างนี้ สุขโดยวิมุตติสุข ไม่มีคำกล่าวอ้างหรอก ไม่มีการคาดการหมาย ไม่มีสิ่งที่จะสื่อได้
แต่ในสมมุตินี้ก็ว่าสุขเหมือนกัน เห็นไหม ในสมมุตินี้ว่าสุข เราก็สื่อกัน ผู้มีธรรมสื่อได้ ไม่ผิดหรอก สื่อถูกต้องหมด เราไม่มีธรรมต่างหาก เราถึงสื่อผิดหมด ผิดหมดเพราะเราจะเข้าถึงแค่สุขของเวทนา สุขเวทนา-ทุกขเวทนา จะเข้าถึงอาการของใจเท่านั้น แต่ถ้าใจมันปล่อยขันธ์ทั้งหมด มันปล่อยไปทั้งหมด
เราจะพูดว่าสุขอันนั้นมันสุขจากเวทนา แล้วมันปล่อยเข้ามาถึงตัวของมันเอง มันก็เป็นความสุขของตัวมันเอง มันก็ยังเป็นสุขของมันเอง เป็นตอของจิต เราก็ยังรู้อยู่ แล้วมันปล่อยสิ่งนั้นออกไป มันถึงไม่มีสิ่งใดเลย แต่มันสุข สุขเพราะมันเป็นธรรม นี่ธรรมในหัวใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ
นักรบถึงต้องมีกำลังใจ ถ้ามีกำลังใจ เราจะก้าวเดินต่อไปได้ ถ้าเราไม่มีกำลังใจ เราจะท้อถอย ถ้าเราท้อถอยนะ เราจะแพ้ตลอดไป นักรบที่แพ้ต้องเป็นเชลย ต้องโดนเขาจับ จะไม่เป็นอิสระ แต่เราเป็นนักรบในนามธรรม เราเป็นนักบวช เราเป็นผู้ที่ต่อสู้กับกิเลส ถ้าเราแพ้ กิเลสมันมัดใจ แล้วเราก็มีความเศร้าหมอง เราก็มีความทุกข์ในหัวใจ เราพยายามประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราทำของเราขึ้นมา มันต้องเป็นไป นักรบรบขนาดไหน มันต้องชนะเข้าสักวันหนึ่ง นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรากำหนดพุทโธๆๆ ในหัวใจ คำบริกรรมย้ำอยู่อย่างนั้น มันต้องสงบแน่นอน
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา เป็นพระพุทธเจ้า ปรารถนามารื้อสัตว์ขนสัตว์ จะไม่บอกตำรา ไม่บอกวิธีการให้เราหลงผิด ให้เราเสียเวล่ำเวลา เป็นไปไม่ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกทางตรงเอาไว้แล้ว ทางตรงคือทางอันเอก คือมรรคอริยสัจจัง ทางอันเอกมีในศาสนาพุทธ แล้วเราก็ประพฤติปฏิบัติอันนี้ เราทำของเราขึ้นมา มันจะทรงธรรมในหัวใจของเรา เราถึงเป็นนักรบที่สมบูรณ์ เป็นผู้ที่ชนะข้าศึก ชนะกิเลสในหัวใจ พ้นไปจากหัวใจ แล้วทรงธรรมอันนั้นลึกๆ ลับๆ อยู่ในหัวใจ จะไม่มีใครรู้กับเรา เราจะรู้ของเราก่อน
จนกว่าคนที่ประพฤติปฏิบัติมา มาพูดธรรมกับเรา เราชี้ธรรมอันนั้นได้ เขาถึงจะเข้าใจ ถ้าไม่มีคนที่รู้ธรรมกับเราขึ้นมา เราพูดไปนะ รู้คนเดียว รู้ตามประสาคนเดียว คนอื่นเขาไม่รู้ด้วย เพราะความหมายมันต่างกัน
แต่ถ้าเป็นจริงแล้ว ความหมายมันหักทั้งหมด ทวนกระแสทั้งหมด ชี้เข้ามาที่หัวใจทั้งหมด เพราะกิเลสมันอยู่ที่หัวใจ แล้วพอเวลากิเลสมันขาดจากใจเป็นชั้นๆ ขึ้นไป มันก็เห็นชัดเจนตลอดทั้งหมด มันถึงรู้ขั้นตอนของกิเลสขาดเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป จนถึงที่สุด กิเลสไม่มีในหัวใจ มันต้องรู้ รู้หมดเลย แล้วมันถึงจะปล่อยกิเลสได้ นี่ปัญญาญาณมันละเอียดขนาดนั้น ถึงที่สุด กิเลสหมดไปจากใจ ถึงเป็นผู้ทรงธรรมทรงวินัย เอวัง