ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

มีธง

๑o มี.ค. ๒๕๕๖

 

มีธง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๑๒๘๑. นะ ข้อ ๑๒๘๑. นี่สอบถามเฉยๆ

ถาม : ๑๒๘๑. หลวงพ่อครับ เราจะทราบได้อย่างไรว่าทิฐิของเรานั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ หรือเราจะทราบได้อย่างไรจากการที่มรรคตัวอื่นๆ มันสมบูรณ์ เพราะผมคิดว่าในมรรคตัวหนึ่งก็ประกอบด้วยมรรคตัวอื่นๆ คล้ายๆ กับขันธ์ที่รูปก็ประกอบไปด้วยเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ผิดถูกอย่างไรขอความกรุณาหลวงพ่อชี้แนะด้วยครับ

ตอบ : นี่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าทิฐิของเราเป็นสัมมาทิฏฐิหรือไม่ เราจะรู้ได้อย่างไร? ส่วนใหญ่แล้ว ถ้าเราปฏิบัตินะ ถ้าเรากำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าจิตมันเป็นสมาธิ มันปล่อยวางอะไรเข้ามานี่เป็นสัจจะ แต่ถ้ามันยังไม่ปล่อยวางเข้ามาเรารับรู้ได้อย่างไรล่ะ?

นี่ถ้าอะไรเป็นสมาธิ อะไรไม่เป็นสมาธิ แต่เราก็เข้าใจว่าเป็นสมาธิ แต่เวลาเป็นสมาธิเราเห็นส่วนใหญ่ ส่วนมากเลยคำว่าเป็นสมาธินั่งหลับทั้งนั้นเลย เพราะว่าเขาเข้าใจว่าเขามีสติพร้อมไง เวลาขาดสติ เวลามันตกภวังค์ไปแล้วเขาไม่รู้ตัว แต่พอเขารู้ตัวอีกทีเขาว่าสิ่งนั้นเป็นสมาธิ ถ้าเป็นสมาธิก็เป็นอยู่อย่างนั้น คาอยู่อย่างนั้นมันไม่ก้าวหน้า

อันนี้ก็เหมือนกัน เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นสัมมาทิฏฐิล่ะ? ถ้าเราเป็นสัมมาทิฏฐิเพราะอะไร? สรรพสิ่งเป็นเราไง นี่สรรพสิ่งเป็นเราใช่ไหม? ความคิดความเห็นก็เป็นเรา ถ้าความคิดความเห็นเป็นเรา เราคิดว่าเราถูกต้อง ความถูกต้องก็เป็นเรา ถ้าสรรพสิ่งก็เป็นเรา นี่ไม่เป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว มันพอใจ มันพอใจกิเลส กิเลสมันพอใจมันถึงว่ามันเป็นสัมมาทิฏฐิ แต่นี้ถ้ามันไม่ใช่สัมมาทิฏฐิแล้วมันเป็นอะไรล่ะ?

นี่เหมือนเทศน์ตอนเช้า ตอนเช้าจะบอกว่าถ้าเป็นสามัญสำนึก เห็นไหม ถ้าสามัญสำนึกที่ดีมันก็เป็นทิฐิ ฆราวาสธรรม ฆราวาสคิดได้แค่นี้ โดยปุถุชนคิดได้แค่นี้ ถ้าปุถุชนคิดได้แค่นี้มันถูกต้องไหม? ถูก ถ้าถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิไหม? เป็น เป็นอะไร? เป็นของฆราวาสไง ฆราวาสธรรม ธรรมของฆราวาส เขาบอกว่านี่มรรค ๘ มรรค ๘ สัมมาอาชีวะทุกคนเลี้ยงชีพชอบ ทุกคนทำหน้าที่การงานถูกต้อง นี่เลี้ยงชีพชอบ เลี้ยงชีพชอบเลี้ยงปากไง แต่ถ้าเป็นมรรคในการแก้กิเลสล่ะ?

มรรคในการแก้กิเลส เวลาเป็นมรรคแก้กิเลสนะ เลี้ยงชีพชอบ ถ้าเลี้ยงชีพชอบคืออารมณ์ อารมณ์ความคิด เพราะจิตมันเสวยอารมณ์ ถ้าจิตมันเสวยอารมณ์ ถ้าอารมณ์นั้นถูกต้องดีงาม เห็นไหม นี่เลี้ยงชีพชอบ ถ้าอารมณ์นั้นอารมณ์โกรธล่ะ? อารมณ์เราโกรธ อารมณ์ขุ่นมัว อารมณ์ที่มันฟุ้งซ่าน นี่เราเอาสิ่งที่เป็นพิษเลี้ยงใจเรา พอเลี้ยงใจเรามันก็ขุ่นมัว นี่เลี้ยงชีพไม่ชอบ เลี้ยงชีพชอบจากฆราวาสคือสัมมาอาชีวะ หน้าที่การงานเลี้ยงชีพชอบ แต่เลี้ยงหัวใจชอบ เลี้ยงหัวใจชอบมันก็คือการปฏิบัติเข้าไป ถ้าปฏิบัติเข้าไป นี่มันจะละเอียดเข้าไป เป็นชั้นเข้าไป

ฉะนั้น ว่าถูกไหมล่ะ? นี่ถ้าถามว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ ถ้าทิฐิอย่างนี้มันถูกไหม? ทิฐิที่ว่าเรามาวัดมาวา เราประพฤติปฏิบัติถูกไหม? ถ้าสัมมาทิฏฐิมันก็ทิฐิแค่นี้ไง การปฏิบัติ สิ่งที่ดีกว่านี้ ความดีที่ดีกว่านี้ยังมีอยู่ ความดีที่ดีกว่านี้ยังมีอยู่ มันต้องพัฒนาขึ้นไป

ฉะนั้น

ถาม : เราจะทราบได้อย่างไรว่าความคิดเราเป็นสัมมาทิฏฐิ

ตอบ : นี่เพราะเราเข้าใจว่ามรรคตัวหนึ่งมันก็สมบูรณ์ไปด้วย ความคิดมันก็เหมือนกับประกอบไปด้วยขันธ์ ไอ้ที่ว่าขันธ์ ขันธ์ในขันธ์ใช่ไหม? รูปมันก็มีเวทนา มีต่างๆ นั้นมันมีโดยข้อเท็จจริง แล้วสติปัญญาเราไม่ทันเราก็ไม่รู้ไม่เห็นเหมือนกัน แต่พอสติปัญญาเราทัน เราทำความสงบของใจ แล้วเราจับอาการของใจ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณขึ้นมาพิจารณา เวลาพิจารณาด้วยสติปัญญามันรู้ มันเห็น มันก็เข้าใจ มันก็แยกแยะได้ แต่พอเป็นสัมมาทิฏฐิล่ะ?

สัมมาทิฏฐิ สิ่งที่เราแยกได้มันเป็นสัมมาทิฏฐิไหม? มันก็เป็น แล้วมันขาดไหมล่ะ? มันไม่ขาด มันก็ยังไม่ถึงเวลา มันยังไม่ถึงเวลามันก็ยังไม่ถึงอีกระดับหนึ่งคือสมุจเฉทปหาน คือขณะจิต ขณะจิตนะจากปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล นี่ขณะจิตนะ ขณะจิตที่มันขาดไปแล้วอกุปปธรรม อฐานะที่จะลงมา แต่ถ้าเป็นโสดาปัตติผลแล้วมันไม่มีมาเป็นโสดาปัตติมรรคอีกเด็ดขาด

นี่ถ้ามันเป็นสกิทาคามิผล อนาคามิผลล่ะ? ถ้ามันเป็นผล แต่ถ้ามันเป็นมรรค เห็นไหม อรหัตตผล อรหัตตมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค ถ้ามันเป็นมรรค มรรคมันเจริญแล้วเสื่อม มันยังไม่ถึงของมัน ถ้าถึงผลเมื่อไหร่ปั๊บ นั่นล่ะสัมมาทิฏฐิ ถูกต้อง ชัดเจน แล้วมันมีหนเดียว แต่ถ้าก่อนที่จะถึงตอนนั้นมันต้องพัฒนาของมันขึ้นไป

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ ฉะนั้น เราจะพิจารณาว่ามรรค ๘ มันมีอะไรบ้าง? มีดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ เวลาทำงานไปมรรคนี่มันรวมตัว เวลามรรคสามัคคีมันรวมตัว มันละเอียดเข้าไป เวลามันปล่อยวางเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป อย่างนี้มันอยู่ที่เราพิจารณา อยู่ที่การประพฤติปฏิบัติ ถ้าในการประพฤติปฏิบัติมันเจริญรุ่งเรืองเข้าไปมันถึงจะรู้ จะเห็นไง

เหมือนกับคนทำงานจบแล้ว มาทบทวนเราจะรู้เลยว่าเราเริ่มต้นทำงานอย่างไร ท่ามกลางระหว่างทำงาน ที่สุดมันเป็นอย่างไร? แต่ถ้าเราฝึกงาน เราเริ่มต้นทำงาน แต่งานเรายังไม่เคยเสร็จสักที ไม่เคยเสร็จสักที นี่สัมมาทิฏฐิ สิ้นกระบวนการของมันเราถึงรู้ไม่ได้ เรารู้ไม่ได้ เรารู้ไม่ได้ปั๊บมันก็เหมือนกับเราตั้งธงไว้ พอเราตั้งธงไว้ในการประพฤติปฏิบัติจะล้มลุกคลุกคลานนะ เพราะโดยธรรมชาตินะ มีคนมาถามบ่อยมาก นี่มรรคสามัคคี มรรครวมตัวมันใช้น้ำหนักของสมาธิเท่าไร สติเท่าไร ปัญญาเท่าไร แล้วก็คิดว่าจะชั่งน้ำหนักให้เสมอกัน นี่มันเป็นการทดลองวิทยาศาสตร์แล้ว เป็นการผสมเคมีแล้ว ถ้าสารเคมีผสมอย่างนั้นเขาจะออกมามันเป็นอีกตัวหนึ่งไง

ฉะนั้น ทุกคนคิดเป็นแบบนั้น แต่ถ้าเป็นทางธรรมไม่ใช่ ไม่ใช่เพราะว่าจริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน กิเลสอย่างหยาบ กิเลสอย่างกลาง กิเลสอย่างละเอียดของคนไม่เหมือนกัน มันเหมือนกับกินอาหาร คนชอบอาหารรสชาติของมันแตกต่างกัน แม้แต่กินอาหารชนิดเดียวกัน แต่รสชาติเข้มข้นก็แตกต่างกัน ความแตกต่างกัน ถ้าถูกใจตัวเองก็ว่าอร่อย ถ้าไม่ถูกใจตัวเองก็ว่าไม่อร่อย

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันสมดุล สมดุลระหว่างจิตของใคร จิตของใครหยาบ พิจารณาซ้ำพิจารณาซาก กว่าจะรู้ได้ลำบากลำบนเหลือเกิน จิตของใครปานกลางนะพิจารณามันก็พอไปได้ ถ้าคนที่จิตนุ่มนวล จิตที่ละเอียด เห็นไหม เขาทำของเขา ขิปปาภิญญาทีเดียวเขารู้ไปเลย แล้วสิ่งนี้เอาสิ่งใดมาเป็นบรรทัดฐาน นี่ไงบรรทัดฐานของการปฏิบัติ มันถึงว่าอริยสัจมีอันเดียว ถ้าใครรู้จริง เห็นจริงเหมือนกันมันก็เหมือนกัน แต่ขณะที่ปฏิบัติ นี่ด้วยจริตนิสัย ด้วยอำนาจวาสนาบารมีของคนมันแตกต่างกันตรงนั้น ถ้าแตกต่างตรงนั้นนะเราปฏิบัติของเราไป

นี่ด้วยมรรคไง ถ้าเราพิจารณามรรคนะ อะไรเป็นสติ อะไรเป็นปัญญามันก็พิจารณาได้ แต่ถ้าพิจารณามรรคแล้วมันจะสามัคคีไหมล่ะ? แต่ถ้าเราพิจารณาขันธ์ เห็นไหม เข้าใจว่าในขันธ์ ในรูป ในเวทนา ในสัญญา สังขาร วิญญาณมันก็มีขันธ์หยาบ ขันธ์ละเอียด มันก็มีเหมือนกัน อย่างนั้นเราพิจารณาได้ เพราะว่าขันธ์ ธาตุขันธ์มันตายตัว เวลาสิ้นกิเลสไปแล้ว ภารา หเว ปัญจักขันธา นี่เวลาที่ครูบาอาจารย์ท่านเทศนาว่าการ ท่านอาศัยขันธ์ สัญญา ความคิด ความปรุง ความแต่งก็ต้องมี นี่มันมีแต่มันเป็นขันธ์ที่สะอาดบริสุทธิ์ มันไม่มีมาร ไม่มีกิเลส แต่ถ้าปุถุชนนะมันเป็นขันธมาร

ขันธ์ก็มีของมัน ธรรมชาติของมัน แต่มันมีกิเลสไง กิเลสอ้างใช้ กิเลสอ้างเอาขันธ์มา เวลาเขาใช้ความคิดเขาก็ใช้ขันธ์ ถ้าทำหน้าที่การงานเขาใช้ธาตุ นี่แล้วมันมาจากไหน? ก็มาจากจิต จิตถ้ามีอวิชชา ตัวที่จิตมีอวิชชามันคิดผิด เห็นผิด หลงผิด แล้วการทำไปมันก็ผิดพลาดของมันไป เราเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนากันอยู่นี่ก็เพื่อจะย้อนกลับเข้าไปหาตัวจิต ถ้าเข้าไปสู่จิต จิตมันสงบระงับขึ้นมา เห็นไหม กิเลสมันก็สงบตัวลง ถ้ากิเลสสงบตัวลงเราก็มีโอกาสใช้ปัญญา ใช้ปัญญาถึงที่สุดเราก็ต้องกลับมาชำระล้างมัน

ถ้ามันสะอาดบริสุทธิ์ ขันธ์ที่สะอาดบริสุทธิ์มันถึงว่าเป็นสัจจะ เป็นสิ่งที่มีอยู่ แล้วกิเลสมันเอาสิ่งนี้ไปใช้ เราก็พิจารณาเข้าไป เราพิจารณาแยกธาตุ แยกขันธ์ แยกธาตุ แยกขันธ์ เราไม่ได้แยกธาตุ แยกขันธ์ เวลามันทำลายลงทำลายด้วยญาณ ญาณหยั่งรู้ แต่จริงๆ แล้วมันก็มีอยู่ พอถึงที่สุดแล้วพระอรหันต์นะ ภารา หเว ปัญจักขันธา นี่สอุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ที่ยังมีธาตุขันธ์ ธาตุขันธ์ที่สะอาดบริสุทธิ์ก็เอาสิ่งนี้มาใช้ประโยชน์

แต่ของเราถ้าจิตเรายังมีอวิชชา ยังมีมารอยู่ มารมันก็ใช้เหมือนกัน มารใช้เหมือนกันแต่ใช้ออกไปหาผลประโยชน์ ใช้ออกไปทำโทษ ใช้ออกไปทำความบาปอกุศลให้กับใจ แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่ตบะธรรม เห็นไหม นั่งสมาธิภาวนาทรมานธาตุ ทรมานขันธ์ ทรมานมัน ความคิดที่มันจะคิดเราก็บังคับไม่ให้มันไปตามอำนาจของมัน เราต้องมีสติปัญญายับยั้งไว้ เราก็บังคับมัน บังคับธาตุ บังคับขันธ์ บังคับให้มันสงบระงับเข้ามา แล้วก็ใช้ปัญญาพิจารณาเข้ามา เราเอาสิ่งนี้มาแยกแยะ แยกแยะมา นี่มันถึงเป็นมรรค

ฉะนั้น มรรค เห็นไหม เวลาอรหัตตมรรค อรหัตตผล เวลามันสมดุลทำลายกันแล้วมรรคไปอยู่ไหน? ทำลายหมดเลย ทำลายทุกอย่างหมดเลย นี่มรรคทำลายหมดเลย แต่ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ทำลายแล้วยังอยู่กับเรา แต่มรรคนี่เราพยายาม นั่งสมาธิ ภาวนา ที่เดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนาบังคับตัวเองกันอยู่นี้ บังคับตัวเอง บังคับขึ้นมาเพื่อพิจารณาธาตุขันธ์ พิจารณาจิต พิจารณาให้มันถึงที่สุด พอที่สุดแล้วมรรคสามัคคีจบ แล้วถ้ามันเป็นความจริงเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าเราตั้งธง เราตั้งธงว่าจะเป็นอย่างที่เราวางสเต็ปไว้ ทีนี้พอทำไปแล้วมันเป็นกรอบ

ฉะนั้น ทางโลกเขาบอกให้คิดนอกกรอบ ถ้าคิดในกรอบกิเลสมันหัวเราะเยาะนะ เพราะกิเลสมันสร้างกรอบไว้ใช่ไหม? แล้วเราก็เป็นมดแดงไต่พวงมะม่วง เห็นไหม มดแดงไต่ขอบกระด้งมันก็วนอยู่นั่นน่ะ นี่ตั้งธงไว้ กิเลสมันตั้งธงไว้ แล้วเราก็ไต่ขอบกระด้งหมุนอยู่อย่างนั้นแหละไม่จบ แต่ถ้าเราไม่ตั้งธง คิดนอกกรอบเลย เป็นปัจจุบันตลอด อะไรเกิดขึ้นพิจารณาโดยสัจจะของเรา ถ้ามันเป็นจริง เป็นจริงเดี๋ยวนี้ เห็นเดี๋ยวนี้ รู้เดี๋ยวนี้ วางเดี๋ยวนี้ เข้าใจเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องไปเอาเมื่อวานนี้ สิ่งที่เคยทำมาแล้ว ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นเอามาเทียบ มาเคียง นี่มันคิดในกรอบไง คิดในกรอบกิเลสมันก็หัวเราะเยาะ ถ้าเราคิดนอกกรอบ โลกเขาบอกว่าคิดนอกกรอบมันเป็นจริง

นี่ก็เหมือนกัน เราเป็นปัจจุบันธรรม ปัจจุบันธรรมเราอย่าไปตั้งธง ถ้าเรามีธงไว้แล้วนะ การปฏิบัติมันก็มีปัญหาแล้ว ถ้าเราฟังของครูบาอาจารย์มา เห็นไหม นี่เป็นอุบาย เป็นอุบาย เป็นการโน้มนำให้เราปฏิบัติให้ได้อย่างนั้น แต่ขณะที่มันเป็นจริงมันเป็นจริงโดยสัจจะของเรานะ มันไม่ได้เป็นจริงเพราะเราทำตามครูบาอาจารย์แบบนั้นทั้งหมดนะ ถ้ามันเป็นจริงมันจะเป็นจริงของเรา เราทำของเราเพื่อประโยชน์กับเราเนาะ นี้พูดถึงว่ามันผิดหรือถูก

ถ้าผิดหรือถูกเราพิจารณาของเราไป มันเป็นปัจจุบันของเรา นี้เพียงแต่ว่าเอามาเทียบเคียงไง เอามาเทียบเคียงว่าถ้าระหว่างมรรคกับขันธ์ ๕ มันจะเป็นเหมือนกันหรือเปล่า? ขันธ์ ๕ มันมีกิเลสรวมตัวมา แต่มรรคนี่สติเราต้องฟื้นฟูมา สมาธิ ปัญญา แล้วปัญญา ถ้าปัญญามันใช้บ่อยเข้ามันก็เป็นสัญญา นี่ถ้าเป็นสัญญาขึ้นมาเราก็ต้องวางแล้วกลับไปทำความสงบของใจ เราทำของเราเอง อย่าให้มีธง เราอย่ามีธงไว้ แล้วเราทำโดยข้อเท็จจริงของเรา มันจะเป็นประโยชน์กับเรา

ข้อ ๑๒๘๒. นะ

ถาม : ๑๒๘๒. เรื่อง “ตะกอนใจ”

กราบนมัสการหลวงพ่อเจ้าค่ะ ลูกเป็นชาวอุดรฯ ตามคำเทศน์หลวงพ่อมา ตอนหลวงพ่อเทศน์งานหลวงตา “คิดถึงพ่อ พ่ออยู่กับเจ้า คิดถึงหลวงตา หลวงตาอยู่กับเรา” จนได้ไปวัดหลวงพ่อเมื่อวันมาฆะฯ ที่ผ่านมานี้ ลูกมีโอกาสถาม ๒ ข้อค่ะ

๑. ลูกสนใจธรรมะมา ๖ ปี เข้าวัดตอนหลวงตาอยู่ หลวงตาละขันธ์ก็มีหลวงปู่เชอรี่สอนเพิ่ม แต่ท่านบอกเสมอว่าไม่อยากให้ติดสวยงาม อาจเพราะลูกติดกามราคะมากด้วยค่ะ แต่ลูกอยากแปลงเพศค่ะ ใจก็ลังเลว่าแปลงไปแล้วบวชไม่ได้ หรืออาจพอใจในรูปร่างที่เดี๋ยวเกิดเป็นกระเทยอีกชาติหนึ่ง แต่ถ้าไม่แปลงก็ โอ๋ย จะไปปฏิบัติธรรมก็ไม่รู้จะอยู่ฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิง จะใกล้พระก็ไม่ได้ จะใกล้ชีก็กลัวทำท่านผิดศีล เราแก่มาจะอยู่อย่างใด ลูกหลานก็ไม่มี จะเป็นเรื่องครึ่งๆ กลางๆ แบบนี้น่ะหรือ? จะตัดผมเป็นชาย ใจมันก็ไม่เอาแล้วค่ะ ลูกติดตรงนี้ค่ะ (นี่ข้อ ๑ นะ)

๒. ตอนนี้ลูกทำงานที่ลูกชอบค่ะ คือทำหนังสือธรรมะที่สำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง คือมีนักเขียนเขียนมา แล้วเราก็ทำเป็นเล่มออกไปกระจายให้คนอื่นได้อ่าน แต่พอมาระยะหลังๆ ลูกคิดว่าต้นฉบับบางเล่มเป็นธรรมะที่ไม่ไพเราะ เหมือนนักเขียนใช้ความคิดตัวเองเขียน หรือบางฉบับก็ทำเรื่องพระที่ท่านมีชื่อเสียง แต่ลูกสงสัยว่าในปฏิปทาท่านว่าท่านไม่ใช่พระแท้ หรือบางเล่มก็ทำเรื่องพ่อแม่ครูบาอาจารย์สายหลวงปู่มั่น ซึ่งท่านสอนให้ทานธรรมเสมอ ลูกจึงอดสงสัยไม่ได้ว่าเรามีส่วนรู้เห็นในธรรมที่ผิด หรือเอาธรรมไปเร่ขายแบบนี้ และหากธรรมเหล่านี้สอนคนผิด หากพระที่เราเผยแผ่นั้นท่านปฏิบัติสอนผิดเราจะบาปไหมคะ?

ลูกทำงานทั้งๆ ที่ดีใจได้ทำงานที่ชอบ ดีใจที่ใกล้ชิดธรรมะ แต่อดคิดไม่ได้ว่าเราขายธรรมหรือเปล่า เงินเดือนเราก็มาจากจุดนี้ และธรรมแบบของเก๊ ถ้าหากเรามีส่วนเผยแพร่จะเป็นอะไรไหม? เพราะลูกไม่มีหน้าที่คัดกรองต้นฉบับ มีแต่คอยรับคำสั่งว่าเล่มนี้นะเจ้าค่ะ แต่ในแต่ละเดือนลูกพยายามทำทานให้หัวใจของตัวด้วย

ตอบ : นี่พูดถึงเขาถามมาเรื่อยๆ นะ

ถาม : ปล. ด้วย กราบบูชาธรรม คิดถึงคำสอน คิดถึงคำสั่ง คิดถึงแนวทางปฏิบัติหลวงตาจะอยู่กับเรา มีโอกาสลูกจะไปปฏิบัติธรรมที่วัดหลวงพ่อเจ้าค่ะ

ตอบ : นี่เขาถามนะ เวลาไปเทศน์ ถ้าคนฟังเป็นประโยชน์ก็เป็นประโยชน์นะ นี้ปัญหาเขาถามมาว่า ข้อ ๑. ในเมื่อเขามีความรู้สึกนึกคิดอย่างนี้ แล้วเขาคิดว่าอยากจะปิดอบายภูมิในชาตินี้ให้ได้ อยากจะประพฤติปฏิบัติไง การประพฤติปฏิบัตินะ เวลาเราปฏิบัตินะ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ เวลาเราถือศีล ๕ ใช่ไหม? เราถือศีล ๕ เราก็ประพฤติปฏิบัติได้ ถ้าศีล ๕ ศีล ฐานของผู้ที่ปฏิบัติศีล ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ แล้วเวลาศีล ๒๒๗ ล่ะ?

เวลาพระนี่ศีล ๒๒๗ ถ้าศีล ๒๒๗ มันก็เหมือนเวลาหลวงตาท่านเอามาอุปมา อุปมาบ่อยมาก เหมือนทองคำกองนี้ ๕ บาท ทองคำกองนี้ ๑๐ บาท ทองคำกองนี้ ๒๒๗ บาท ให้ทุกคนเลือกเอาจะเอาทองคำกองไหน? ทุกคนก็จะเอา ๒๒๗ บาทเพราะมันกองใหญ่ แต่เวลาถือศีล ศีล ๕ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ มันจะเอากอง ๕ นั่นล่ะ มันไม่เอากองใหญ่ มันจะเอากอง ๕ นั่นน่ะ

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติให้พ้นจากทุกข์ นี่แล้วพ้นจากทุกข์มันถือพรหมจรรย์ ถ้าถือพรหมจรรย์เรื่องเพศนี่นะมันจบแล้ว ถ้าถือพรหมจรรย์เราก็ถือพรหมจรรย์ของเราอยู่แล้ว ฉะนั้น พอถือพรหมจรรย์ของเรา ถ้าเวลาเรื่องเพศ นี่บอกว่าหนูจะไปผ่าตัดแปลงเพศ แล้วแปลงเพศแล้วก็กลัวจะไม่ได้บวช แล้วไม่ได้บวช ไปปฏิบัติไปอยู่กับพระก็เข้าใกล้ไม่ได้ ไปอยู่กับแม่ชีก็กลัวแม่ชีผิดศีล อ้าว คิดไปเลย

ไอ้เรื่องปัจจุบันนี่นะ ปัจจุบันที่เราเป็นอะไรเราก็เป็นแบบนั้นแหละ ในปัจจุบันนี้ เห็นไหม นี่ประชาธิปไตยๆ ธรรมาธิปไตย ทุกคนสิทธิเสรีภาพของเขา ใครมีสิทธิเสรีภาพอย่างไรก็เป็นสิทธิเสรีภาพของเขา แต่ขณะที่ว่าเราอยากจะปิดอบาย เราอยากจะปฏิบัติ เราปฏิบัติเราก็ต้องปฏิบัติของเราตามความเป็นจริงเข้าไป เราจะไม่ไปติดข้องตรงนี้ไง ไอ้นี่มันติดข้องตรงนี้

ถาม : หนูอยากจะปิดอบายภูมิ หนูอยากจะได้โสดาบัน แต่หนูอยากไปแปลงเพศ

ตอบ : อ้าว แล้วมันเรื่องอะไรกัน ก็อยากได้โสดาบัน อยากปิดอบาย แล้วทำไมอยากแปลงเพศล่ะ? อ้าว เราได้มาอย่างนี้ใช่ไหม? เราได้ของเรามาอย่างนี้ นี่อดีตชาติสิ่งที่ทำสิ่งใดมา เราทำของเรามา ในปัจจุบันนี้เราได้มาอย่างนี้ ถ้าเราได้อย่างนี้แต่เรามีเป้าหมาย มีความมุ่งหมาย เราก็จะเอาเป้าหมายเราเป็นที่ตั้ง ถ้าเป้าหมายเป็นที่ตั้ง แล้วจะไปแปลงเพศทำไมล่ะ? เราก็อยู่ของเราไป เพราะอะไร? เพราะนี่คิดอยู่ปฏิบัติมา ๖ ปี แล้วจะแปลงเพศก็กลัวไม่ได้บวช ถ้าแปลงเพศแล้วมันก็จะสมความปรารถนา ใจปรารถนา แล้วอยากจะพ้นจากทุกข์ แล้วอยากจะมีธรรมในหัวใจ

นี่มันอยู่ที่ต้นทุนไง อย่างเช่นผู้ที่ชัดเจน มันปฏิบัติไปก็ยังล้มลุกคลุกคลานเลย อย่างของเรานี่ยังจะแปลงเพศ ยังจะห่วงบวช อ้าว นี่มันจะเอาทั้งสองทางเลย บวชก็อยากบวช อยากใกล้พระ อีกใจหนึ่งก็ ถ้าอย่างนี้แล้วจิตใจไม่เป็นเอกภาพ จิตใจไม่เป็นเอกภาพ เวลาพุทโธ พุทโธ เวลาหลวงตาท่านพูดนะ ถ้าเราพุทโธเหมือนมีเรากับพุทโธ โลกนี้เหมือนไม่มี ถ้าโลกนี้เหมือนไม่มีมันชัดเจน ถ้ามันชัดเจน ตั้งใจชัดเจน เราจะปฏิบัติของเราตามความชัดเจนของเรา นี่จิตมันไม่วอกแวกวอแว มันก็มีโอกาสทำความสงบของใจได้ง่ายขึ้น

สิ่งที่เป็นความคิดนอกจากพุทโธ นอกจากปัญญาอบรมสมาธิ เวลาออกมาแล้วมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เห็นไหม แต่ถ้าเอาเรื่องนั้นเป็นตัวตั้ง นี่เรามีเป้าหมายใช่ไหมว่าเราอยากประพฤติปฏิบัติ มีเป้าหมายว่าเราอยากจะพ้นจากทุกข์เราก็ทำของเราไป ไอ้เรื่องอย่างนี้เรื่องปลีกย่อยแล้ว เพราะอะไร? เพราะเวลาถือปฏิบัติไปแล้วหญิงหรือชาย นี่เวลาลงสมาธิแล้วไม่มีหญิงหรือชาย จิตเป็นสมาธิก็คือจิตเป็นสมาธิ

เวลาสิ้นสุดแห่งทุกข์ นางอุบลวรรณาเป็นเอตทัคคะ เป็นผู้ที่เลิศทางอะไรจำไม่ได้ แต่เป็นเอตทัคคะนางอุบลวรรณา ใน ๘๐ องค์เอตทัคคะก็มีภิกษุณีด้วย มีภิกษุ ด้วยมีภิกษุ ถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้วมันเหมือนกัน ถ้าเหมือนกันนั่นคือเป้าหมาย นั่นคือพรหมจรรย์ ถ้าพรหมจรรย์แล้วเราตั้งที่พรหมจรรย์ ทีนี้จบแล้ว แล้วนี่จบเลย แล้วที่ว่าจะไปแปลงเพศ ไม่แปลงเพศ หาเงินเถอะ นี่เงินทั้งนั้นแหละ เอาเงินไปโปะตรงนั้นน่ะ แต่ถ้าเราอยากปฏิบัตินะสิ่งนั้นวางไว้ เราหาอยู่หากิน ถ้าหาอยู่หากินเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง แล้วมีเวล่ำเวลาแล้วเราจะทุ่มเทในการประพฤติปฏิบัติ

เราจะหาอริยทรัพย์ ทรัพย์จากภายนอกเราใช้ร่างกาย ใช้สมองเราหา ทรัพย์จากภายในเราใช้สติปัญญา ภาวนามยปัญญาของเราหา เราหาของเราด้วยความเป็นจริงของเรา เราทำของเราเพื่อประโยชน์กับเรา ถ้าทำตรงนั้นได้ นี่ตรงนั้นมันก็วางได้

ข้อ ๒ สิ่งที่เรามีอาชีพ เรามีอาชีพสิ่งนี้นะ ถ้ามีอาชีพสิ่งนี้แล้วเราก็เห็น เราเห็นใช่ไหม? นี่ถ้าเราเห็นเรามีอาชีพ ทำงานอยู่ที่สำนักพิมพ์ ทำหนังสือธรรมะ แล้วถ้าเราทำหนังสือธรรมะในสำนักพิมพ์มันก็จะเห็นแล้ว ขนาดเราไม่ใช่สำนักพิมพ์เลย เราเป็นพระยังมีคนพิมพ์หนังสือแล้วมาให้แจกเยอะแยะไปหมดเลย แล้วหนังสือส่วนใหญ่นะหนังสือสวดมนต์

หนังสือสวดมนต์เพราะอะไร? หนังสือสวดมนต์เพราะ เพราะสังคมของเรา สังคมของชาวพุทธที่จะตรงเข้าสู่การปฏิบัติน้อยมาก แต่ถ้าสังคมชาวพุทธนะ ถ้าบอกว่าเคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สวดมนต์สวดพร อย่างนี้ทุกคนเข้าใจได้ แล้วตลาดมันใหญ่ คนที่หนังสือสวดมนต์ หนังสือธรรมะที่เป็นพื้นฐานนี่ตลาดมันกว้าง แล้วตลาดมันกว้าง แล้วสิ่งนี้ถ้าแจกจ่ายออกไปมันจะเป็นไปได้ง่าย แต่ถ้าเป็นธรรมะที่เริ่มเป็นหลักปฏิบัติขึ้นมา เริ่มงงแล้ว ถ้าเริ่มงง

ฉะนั้น ในเรื่องการตลาด เรื่องทางโลกเขาก็ทำกันอย่างนั้น นี่ถ้าเป็นอาชีพ ถ้าอาชีพโลกเป็นอย่างนั้นแหละ แล้วถ้าบอกว่าเวลาเขาทำไปปฏิบัติแล้วมันผิด แล้วเราจะมีส่วนไหม? ถ้าเรามีส่วนไหม? พูดถึงเรื่องกรรมนะ การกระทำทุกอย่างมันมีผลดีและผลเสียหายทั้งนั้นแหละ มีผลดีและผลเสียในตัวมันเอง เพียงแต่ว่าเวลาสัมมาอาชีวะเราจะเลือกสิ่งใด เลือกทำที่ใด ถ้าเลือกทำที่ใด ทีนี้บางคนนะแบบว่ามันจนตรอก ถ้าจนตรอกหมายความว่าจำเป็นต้องทำ

คำว่าจำเป็นต้องทำนะ มีหลายคนมากเขามาหาเรานะ บอกว่าที่บ้านเขา เขามีเรือประมง แล้วเขาต้องรับมรดกตกทอด เพราะเขาเป็นลูกคนเดียว แต่เขาไม่ต้องการ เขาไม่อยากทำ จะทำอย่างใด? คำว่าเวลามันจนตรอก จนตรอกหมายถึงว่าเราเป็นลูกคนเดียว แล้วเราต้องรับมรดกของครอบครัว แล้วครอบครัวเราทำแบบนี้ เขามาปรึกษาเราหลายคน หลายคนมากเลย เพราะว่าทางครอบครัวมีเรือ ๓ ลำ ๔ ลำ มีกี่ลำ แต่ละบ้านมีกี่ลำ ทีนี้พอเขาทำอย่างนั้นเขาก็มาปรึกษา แล้วปรึกษาแล้ว แต่เขาตัดใจแล้วว่าเขาจะไม่ทำ เขาจะไม่รับ พอเขาจะไม่รับ แต่มันเป็นสมบัติของตระกูลเรา เราจะทำอย่างใด นี่อันนั้นเวลามันยอมจำนนใช่ไหม?

ฉะนั้น สิ่งที่ทำนี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราว่าเราจะทำสำนักพิมพ์ ในพระไตรปิฎกนะมันมีที่ว่าสามีเป็นพรานป่า แล้วภรรยา นี่เพราะว่านายพรานออกหามา ก็ออกหามาเพื่อเลี้ยงครอบครัว แล้วหน้าที่ของภรรยา เวลานายพรานเขาจะออกไปล่าสัตว์เขาต้องเตรียมอาหาร เตรียมเครื่องมือไว้ให้สามีออกไปล่าสัตว์ แต่เวลาเขาทำแล้วนะ เพราะด้วยความจำนนของเขา เพราะสามีกับภรรยา เพราะสามีอาชีพเขาก็คือนายพรานป่า ภรรยาก็อยากจะพ้นทุกข์ อยากจะประพฤติปฏิบัติ แต่หน้าที่การงานของเขา เขาก็ทำของเขา แต่เขาตั้งเจตนาว่าไม่เคยเห็นด้วยเลยกับหน้าที่นี้ ไม่เคยเห็นด้วยเลย

หน้าที่หุงหาอาหารให้สามีนี่เห็นชอบด้วย แต่สามีไปล่าสัตว์กลัวมีบาป มีกรรมไง เขาก็ตั้งว่าไม่เห็นด้วยทั้งนั้น ไม่เห็นด้วยทั้งนั้น นี่จิตใจเขาชัดเจนของเขา เวลาครอบครัวนี้ตายลงนะ เวลาภรรยาประพฤติปฏิบัติมาก ประพฤติปฏิบัติมาก แต่เขาต้องทำใจของเขานะ เพราะหน้าที่ไม่เห็นชอบด้วยเลยกับที่ทำอย่างนั้น เวลาตายไปแล้วนะสามีตกนรกอเวจีเพราะฆ่าสัตว์ ฆ่ามาเพราะเป็นนายพรานป่า ภรรยานี่ทำงานร่วมกัน แต่จิตใจไม่เห็นด้วยมาตลอด แล้วตั้งสติดีๆ แล้วประพฤติปฏิบัติ ภรรยานี่เป็นพระโสดาบัน ถ้าพระโสดาบันมันปิดอบายอยู่แล้ว ไม่ลงนรกอเวจีอยู่แล้ว แต่คนมีสถานะอย่างนี้ ทำอย่างนี้ต้องจิตใจเข้มแข็ง แล้วต้องมีปัญญาชัดเจน

อย่างของพวกเรา เห็นไหม เราไม่มีอาชีพอย่างนั้น เราไม่ต้องทำอย่างนั้นเลย เราปฏิบัติล้วนๆ นี่เวลามาอยู่วัดปฏิบัติกันมันยังไม่เป็นพระโสดาบันสักที ของเขาทำแล้วมันต้องมีหน้าที่รับผิดชอบ มีทุกๆ อย่าง เขาพยายามฝืนทนของเขา นี่เวลาคนเรานะ เวลาเกิดมา เห็นไหม เกิดมา เกิดมาตามเวร ตามกรรม นี่ผลของวัฏฏะพัดเรามา พัดเรามา เราไปเกิดตรงไหน เกิดอย่างใด เกิดสถานะอะไร ถ้าเกิดมาเรามีสติปัญญามากน้อยแค่ไหนที่เราพยายามจะพาชีวิตของเราให้ราบรื่น เราพยายามจะดูแลชีวิตของเรา พยายามจะพาชีวิตของเราให้ถึงฝั่งให้ได้

ถ้าเราจะถึงฝั่งให้ได้ นี้อาชีพของเรา เห็นไหม เราต้องทำ เราอยู่สำนักพิมพ์ แล้วมีแต่เขาสั่ง เล่มนั้นๆ มีแต่เขาสั่ง เราไม่มีหน้าที่คัดกรอง เขาบอกเราไม่มีหน้าที่คัดกรองสิ่งใดเลย ก็หน้าที่ของเรามันเป็นพนักงานอย่างนี้ก็ทำอย่างนี้ไป นี่เพราะว่าใกล้ชิดไง นี่เขาบอกว่าเขาอยู่บ้านตาด เขาเป็นคนอุดรฯ อยู่ตั้งแต่สมัยหลวงตา พอหลวงตาเสียไปแล้ว ตอนนี้อยู่กับท่านอาจารย์เชอรี่ อาจารย์เชอรี่ก็อบรมสั่งสอนอยู่ เพราะอะไร? เพราะเราใกล้ชิดไง เราใกล้ชิดหลวงตา เราใกล้ชิดธรรมะ พอเราใกล้ชิดธรรมะ เห็นไหม นี่เขาเรียกได้นิสัย

เวลาพระบวชมา นี่หาครูบาอาจารย์ขอนิสัย ถ้าขอนิสัยอยู่กับครูบาอาจารย์ เห็นไหม นี้ครูบาอาจารย์ทำเป็นแบบอย่าง เป็นตัวอย่าง มันเห็นถูกเห็นผิดไง นี่ถ้าเราศึกษาเอง เราศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้าใช่ไหม? เราก็มาคัดเองว่าถ้าอะไรถูกใจเราก็ถูก ถ้าอะไรผิดใจเราก็ปฏิเสธไง แต่ถ้าเราพิจารณาของเราเอง นี่มันรู้ถูกรู้ผิด ถ้ารู้ถูกรู้ผิด ถ้าเราใกล้ชิดกับธรรมของครูบาอาจารย์มามันถึงมาเข้าใจนี่ไง แต่ถ้าไม่ใกล้ชิดธรรมของครูบาอาจารย์นะ เราอยู่สำนักพิมพ์เราอาจจะเชื่อสิ่งที่บอกว่าบางทีปฏิปทาก็ไม่เหมือนกัน บางเล่มก็เอาเรื่องนั้นมาเสนอ นี่เพราะเราใกล้ชิด เรามีข้อมูลอยู่แล้ว เราจะรู้ถูกรู้ผิดเลย ถ้ารู้ถูกรู้ผิด หน้าที่ก็คือหน้าที่ไม่เห็นด้วย ผิดก็คือผิด

เขาถามว่า

ถาม : ธรรมะที่ไปเร่ขายแบบนี้ หากเขาสอนผิด เขาปฏิบัติสอนผิดเราจะบาปไหมคะ?

ตอบ : มันก็เหมือนแผนที่เนาะ แผนที่ชี้ไปทางผิด แล้วคนจะเดินไปทางถูกมันจะเดินไปได้อย่างไร? แต่ถ้าระดับของทานเขาก็ทำทานของเขา อยู่ของเขาอย่างนั้น กรณีอย่างนี้ อาชีพนะ หน้าที่การงานก็หายาก เวลาหายากแล้วจะเอาความมั่นคงของเรามันก็อีกเรื่องหนึ่ง นี้ทางโลก แล้วถ้าเราจะเอาสะอาดบริสุทธิ์โดยที่ว่าไม่มีความมัวหมองเลยเราจะทำอย่างใด?

ถ้าทำอย่างใด เห็นไหม ดูสิเวลาคนที่มีธรรมๆ ทางโลกเขาบอกว่าคนโง่ ถึงเวลาที่จะตักตวงผลประโยชน์แล้วไม่เอา นี่โง่น่าดูเลย แต่ถ้าเป็นธรรมะนี่คนฉลาด คนฉลาดว่าถ้าสิ่งที่อะไรเป็นอกุศล สิ่งใดที่ทำให้มันเศร้าหมอง เราทำแล้วนะมันได้สิ่งนั้นมา แต่มันจะฝังใจไปทั้งชีวิตนะ แล้วเวลาคิดถึงทีไรแล้วมันก็ว่าเราทำผิด เราทำผิดอยู่ แต่ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา เห็นไหม เราไม่หลงตามเขาไป เราไม่ทำสิ่งนั้นไป เราก็จะเป็นประโยชน์กับเรา

นี่พูดถึงว่าแล้วมันเป็นบาปไหมคะ? เป็นบาปนะ คนอื่นเขาทำ ต้นสายเขาเป็นความคิดมา เรามีหน้าที่ทำหนังสือให้จบสิ้นไปเท่านั้นเอง นั่นมันเป็นอาชีพของเรา มันเป็นอาชีพของเรา ฉะนั้น เราไม่เห็นความผิดพลาดนั้น ถ้าความผิดพลาดนั้น แล้วเราจะทำอย่างไรล่ะ? เราจะทำอย่างใด? เราจะทำอย่างใดนะ เราเกิดมาเรามีสิทธิเสรีภาพที่จะเลือกเฟ้นของเรา แล้วสิ่งที่เป็นโลก นี่โลกกับธรรม

เรื่องโลกเขาต้องมีการแข่งขัน เรื่องโลกมีการแข่งขัน ที่ไหนเขามีการแข่งขัน แล้วการแข่งขัน เห็นไหม แข่งขันที่ว่าเอารัดเอาเปรียบกัน แข่งขันโดยที่ไม่สะอาดบริสุทธิ์ นั้นเขาแข่งขันกันด้วยเรื่องโลกๆ เขาไม่มองเห็นธรรม แต่เราฝึกฝนของเรามา เรามีธรรมของเรามา เราก็มีการแข่งขันเหมือนกัน เราทำได้มากได้น้อยแค่ไหนเราดูหัวใจเรา ถ้าหัวใจเรามันยังรับสิ่งนี้ได้เราก็ทำของเราไป ถ้าหัวใจเรามันรับสิ่งนี้ไม่ได้ เราก็ต้องหาทางออกของเรา

นี่เราเป็นเจ้านายกับชีวิตเราเองนะ ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา เราจะดูแลชีวิตของเราเอง ถ้าเราดูแลชีวิตของเราเอง ชีวิตของเราถ้ามีสติปัญญาเราจะพาชีวิตเราไปประสบความสำเร็จ เราจะพาชีวิตเราไปสู่ที่ดีงาม สู่ที่ดีงาม พูดอย่างนั้นเลย นี่แม้แต่การเกิด เราเกิดมาในสถานะไหนอีกเรื่องหนึ่ง แต่เราเกิดมาแล้ว เราเกิดมา แล้วเราเข้าหา เราเข้าหาครูบาอาจารย์

เขาบอกว่า

ถาม : หนูอยู่บ้านตาดค่ะ อยู่ตั้งแต่สมัยหลวงตามีชีวิตอยู่ หลวงตาละขันธ์ไปแล้ว เดี๋ยวนี้ไปอยู่กับหลวงปู่เชอรี่

ตอบ : หลวงปู่เชอรี่ท่านก็สอนของท่านไป แล้วเราก็มาทำงานของเราด้วย ฉะนั้น ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา เราเกิดมาขนาดนี้แล้วนะ เกิดมาพบครู พบอาจารย์ แล้วนี่ฟังธรรม แสดงว่าเขาทำหนังสือเนาะ เขาถึงจำคำเทศน์เราได้หมดเลยนะ

“คิดถึงพ่อ พ่ออยู่กับเจ้า คิดถึงหลวงตา หลวงตาอยู่กับเรา”

เราพูดอย่างนั้นจริงๆ เราพูดอย่างนั้นเพราะว่าจิตวิญญาณ จิตวิญญาณ เห็นไหม ดูสิกามภพ รูปภพ อรูปภพ แต่หลวงตาท่านพ้นจากวัฏฏะ ท่านพ้นจากวัฏฏะไป พ้นจากวัฏฏะไป แต่ถ้าเราระลึกถึงท่าน เราระลึกถึงท่าน ดูสิอย่างที่ว่าสรุปลง สรุปลงที่เขาว่า

ถาม : “คิดถึงคำสั่ง คิดถึงคำสอน คิดถึงแนวทางปฏิบัติ หลวงตาอยู่กับเรา”

ตอบ : นี่เพราะว่าข้อวัตรปฏิบัติไง หลวงปู่มั่นท่านก็วางข้อวัตรปฏิบัติของท่านไว้ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม ดูสิหลวงปู่มั่นท่านวางข้อวัตรปฏิบัติไว้ แล้วข้อวัตรปฏิบัติมาจากไหนล่ะ? หลวงปู่มั่นท่านพยายามรื้อค้น ค้นคว้ามา ท่านมีเล็งญาณของท่านต่างๆ ค้นคว้าไปตั้งแต่สมัยว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างไร ห่มผ้ากันอย่างไร นี่ถ้าปฏิบัติไปแล้วก็ปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บูชาพุทธะ

นี่ก็เหมือนกัน คิดถึงคำสั่ง คิดถึงคำสอน หลวงตา หลวงปู่มั่น พระพุทธเจ้าท่านพ้นจากวัฏฏะไปแล้ว เป็นวิมุตติ พ้นไปจากวัฏฏะ พูดถึงสมมุติ พูดถึงคาดการคาดหมายไม่ได้ แต่ถ้าจิตใจท่าน ความเป็นจริงที่เหมือนกันท่านก็จะเหมือนกัน ถ้าเหมือนกัน เห็นไหม เราคิดถึงคำสั่ง คิดถึงคำสอน เรามีแนวทางปฏิบัติ

นี่หลวงตาท่านนิพพานไปแล้ว ท่านหมดจากวัฏฏะ เราจะจับร่องจับรอยท่านไม่ได้หรอก แต่คำสั่งคำสอนมันเป็นข้อวัตร คำสั่งคำสอนแล้วข้อวัตรท่านฝึกฝนมาจากหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นก็ค้นคว้ามาจากพระพุทธเจ้า เวลาประพฤติปฏิบัติแล้วเราก็ประพฤติปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าประพฤติปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็บูชาพุทธะ มันวนกลับมาไง มันวนกลับมา

ถ้าเราทำจริงเถอะหลวงตาอยู่กับเรา เราทำจริงเถอะธรรมะเกิดที่ใจเรา เราทำจริงเถอะ พุทธ ธรรม สงฆ์อยู่กลางหัวใจของเรา ถ้าเราทำจริงของเรามันอยู่ที่นี่ แต่ถ้าเราไม่ทำจริงนะ เรามัวแต่โหยหา เรามีแต่ความคิดถึง มันเป็นสัญญาอารมณ์ไง ตะครุบเงาไง เราเดือดร้อนอยู่แล้ว แล้วเราก็ตะครุบแต่ความเดือดร้อน แต่ถ้าเราทำประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม เราประพฤติปฏิบัติท่านอยู่กับเรา ท่านอยู่กับเรา ข้อวัตรปฏิบัติท่านสั่งสอนมาเราจำแม่นๆ แล้วเราทำ นี่อยู่กับเรา

เราทำของเรา เราเห็นหมดแหละมันทำได้ ถ้าทำได้มันจะเป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเขาทำได้จริงนะ ทำได้จริงมันจะเป็นประโยชน์กับเรา ถ้าประโยชน์อย่างนี้แล้วมันถึงจะแบบว่า ถ้าปฏิบัติตามคำเทศน์หลวงพ่อมา ฟังเทศน์หลวงพ่อตั้งแต่งานหลวงตา แล้วเพิ่งมาเมื่อวันมาฆะฯ วันมาฆะฯ มาที่นี่ มาที่นี่แต่ก็ไม่รู้ว่าคนไหน แต่เวลาปฏิบัติ นี่ฟังธรรมแล้วเขียนปัญหามาถามถึงความขุ่นข้องหมองใจของตัว แล้ววันนี้ตอบปัญหาความขุ่นข้องหมองใจ แล้วชีวิตเรานี่เราเลือกของเราเอง เรามีสติปัญญาพาชีวิตเราให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข เอวัง