ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

งานของสมณะ

๑๖ มี.ค. ๒๕๕๖

 

งานของสมณะ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๑๒๘๓. เนาะ

ถาม : ๑๒๘๓. เรื่อง “ทำงานกับพระ” (ปัญหานะ เรื่อง “ทำงานกับพระ”)

กราบเรียนหลวงพ่อ ดิฉันเคยเขียนคำถามมาถามหลวงพ่อแล้ว ท่านได้เมตตาตอบไว้ในเรื่อง “พุทธกับผี” กราบขอบพระคุณมากค่ะ ตอนนี้ดิฉันมีเรื่องรบกวนอยากถามท่านอีก หวังว่าท่านจะเมตตาตอบให้อีกครั้ง

ดิฉันทำงานด้านสถาปัตยกรรม ที่ทำงานของดิฉันนั้นเป็นหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับงานสำคัญระดับชาติเช่นอาคารสถานที่ทางราชการ วัดสำคัญต่างๆ โบราณสถาน อนุสาวรีย์งานศิลปกรรมชั้นสูง ในความเป็นจริงเราต้องทำงานให้องค์กรต่างๆ ฟรี คือไม่มีค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น แต่มักจะมีเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานไปอ้างชื่อของหน่วยราชการแห่งนี้ เพื่อรับเป็นงานส่วนตัว โดยเฉพาะการทำงานให้กับทางวัด โดยคิดค่าใช้จ่ายที่แพงมากในระดับหลักล้าน คำถามคือ

๑. ในกรณีที่ทางวัดติดต่อมาให้เราทำงานให้เป็นการส่วนตัว อาทิเช่นงานออกแบบสถาปัตยกรรมการตกแต่งภายใน ตลอดจนงานศิลปกรรมต่างๆ โดยให้เราคิดค่าใช้จ่ายกับทางวัดนั้น การเรียกเก็บเงินกับวัดนี้ ถือว่าเป็นการทำบาปหรือไม่?

๒. ดิฉันเห็นคนในที่ทำงาน ที่ไปรับเงินของวัดมักจะมีจุดจบในบั้นปลายชีวิตที่ไม่ดีสักคน มีบางคนบอกว่าเป็นเพราะไปหากินกับเงินบริจาคของประชาชน หรือไม่ก็เป็นเพราะไปหากินกับของสาธารณะซึ่งเป็นของสำคัญระดับประเทศชาติ ที่เขากล่าวอย่างนั้นจริงหรือไม่คะ

๓. มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างไรว่าค่าใช้จ่ายที่เราคิดกับทางวัดนั้นเหมาะสมแล้ว เพราะพระส่วนใหญ่ไม่เคยปฏิเสธที่จะจ่ายเงินให้เลยแม้ว่าเป็นราคาในระดับร้อยล้าน พันล้าน (นี่คำถามนะ)

ตอบ : ฉะนั้น สิ่งที่ว่าคำถามนี่มันเกี่ยวกับการทำงานของวัด ทีนี้เริ่มต้นยิ่งทำงานแบบนี้ ทำงานเรื่องสถาปัตย์ ทำงานเรื่องศิลปะต่างๆ เรื่องนี้เขาเรียกอารมณ์ศิลปะ ทำงานอารมณ์ศิลปะ ถ้าเขามีอารมณ์เขาจะทำงานของเขาด้วยรูปสวยงามมาก แต่ถ้าเขาไม่มีอารมณ์นะเขาทำไม่ได้หรอก นี่งานศิลปะ ถ้างานศิลปะมันเกี่ยวกับความรู้สึก เกี่ยวกับต่างๆ เขาบอกว่างานศิลปะจะกล่อมเกลาจิตใจของประชาชนให้นุ่มนวล จิตใจเราแข็งกระด้างเพราะเราไม่เคยเสพงานศิลปะ

สิ่งที่งานศิลปะเขาต้องมีสิ่งที่ว่าเขาทำมาเพื่อให้จิตใจอ่อนโยน สิ่งนี้มันมีความสำคัญ ถ้าความสำคัญอย่างนี้มันเป็นเรื่องของทางโลก แต่ถ้าเป็นทางธรรม ถ้าทางธรรมมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าทางโลกนะ สิ่งที่ทำกันอย่างนั้น เวลาภาพเขียนแต่ละภาพเป็นร้อยๆ ล้าน พันๆ ล้าน ภาพเขียนที่ว่ามีราคา ทำไมเขาซื้อกันล่ะ? เขาประมูลงาน เห็นไหม ประมูลงานต่างประเทศเป็นพันๆ ล้านนะต่อภาพหนึ่ง ทำไมเขาประมูลแข่งกัน อันนั้นเพราะว่ามันเป็นสิ่งที่มีค่า มีค่าในทางศิลปะ มีค่ากับทางโลก มีค่ากับความเห็นของโลกที่ว่ามาขัดเกลาจิตใจของสังคม ให้สังคมอ่อนโยน สังคมเป็นที่น่าอยู่อาศัย อันนี้เป็นเรื่องของทางโลกๆ นี่ศิลปะงานต่างๆ

ฉะนั้น เวลาเรื่องของศาสนา ถ้าเรื่องงานของพระ ถ้างานของพระนะ ถ้างานของพระเวลาพระบวชมา เวลาพระบวชมาอุปัชฌาย์บอกอะไร? อุปัชฌาย์บอกเกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ แล้วให้อยู่รุกขมูล ให้อยู่ในป่า ในเขา ให้ดัดแปลงจิตใจของตัว นี่พูดถึงงานของพระ เพราะโยมเขียนว่า “ทำงานกับพระ” แต่เราไม่เห็นด้วย เราไม่เห็นด้วยว่าทำงานกับพระ ถ้าทำงานกับพระ พระที่ทำงานอย่างนั้น นั่นเป็นพระที่บวชมาเพื่อสร้างบารมี มันไม่ใช่งานของพระโดยตรง มันเป็นงานของพระที่ดูแลถาวรวัตถุในศาสนา ถาวรวัตถุในศาสนาพระเป็นผู้ดูแล เพราะพระบวชเข้ามาแล้ว พระต้องมีข้อวัตร กิจของสงฆ์ ๑๐ อย่าง

กิจของสงฆ์ ๑๐ อย่างคือ ๑. กวาดลานเจดีย์ อย่างเช่นของในวัด แม้แต่พระเรา เห็นไหม ในวินัยบัญญัติไว้เลย ของๆ สงฆ์ ถ้าพระเอาไปใช้แล้วไม่เอาไปเก็บ จากไปโดยไม่บอกให้ใครเก็บก็ดี หรือไม่เก็บรักษาก็ดี เป็นอาบัติปาจิตตีย์ เป็นอาบัติเลย เพราะในสมัยพุทธกาลเรื่องวัดเรื่องวามันไม่เป็นแบบนี้ เดี๋ยวนี้เราสร้างวัดเป็นกิจจะลักษณะ แล้วพระก็อยู่วัดจำเจไปเลยใช่ไหม สมัยพุทธกาลนะ เวลาออกพรรษาแล้วพระต้องธุดงค์ไป แล้วเวลาไปมันเหมือนกับพระเราที่ธุดงค์ เราธุดงค์ไปทางอีสานนะมันจะมีในป่า ในเขา บนภูเขามันจะมี ถ้าแบบเราก็มีศาลาริมทาง เขาเรียกแคร่ เรียกร้าน มีคนจะไปปลูกทิ้งไว้

เวลาพระธุดงค์ไปก็ไปพักที่นั่น นี่ในสมัยพุทธกาลในพระไตรปิฎกบอกว่าตั่งคือโต๊ะ ตั่งคือว่าพระไปที่ไหนเอามานอน ถ้าตั่งนั้นไม่เก็บขึ้นปลวกมันกิน ถ้าปลวกมันกิน ภิกษุเอาของๆ สงฆ์มาใช้ เอามากางนอน เอามุ้ง หมอน เขาจะมีมุ้งนะ มีหมอน หมอนนี่เขาจะผูกเชือกไว้ ผูกเชือกแขวนไว้ แล้วเวลาพระมาพระก็จะมาแกะใช้สอย พอใช้สอยเสร็จแล้วพระจะจากไปต้องเก็บ ซักแล้วตากผึ่งให้ดีแล้วเก็บแขวนไว้ให้ดี แล้วตัวเองก็ธุดงค์ไป

นี่สมัยพุทธกาลเป็นแบบนี้ แต่ทีนี้พอศาสนามั่นคงขึ้นมา เขาก็สร้างวัดสร้างวาเป็นกิจจะลักษณะ พระก็อยู่วัด ถ้าพระมีสติก็พระอยู่วัดเพื่อประพฤติปฏิบัติ ถ้าพระไม่มีสติมันก็เหมือนหมูเลยนะ เลี้ยงกันอย่างดีเลย ถ้าเลี้ยงอย่างดีมันก็ไม่ นี่งานของพระๆ ไง ฉะนั้น ถ้าพระที่สมัยพุทธกาล เวลาออกพรรษาแล้ว อย่างเช่นในวัดเรานี่ พอออกพรรษาพระเราไม่ออกธุดงค์นะ ชาวบ้านเขาจะมาว่า อ้าว ออกพรรษาทำไมไม่ไป ออกพรรษาแล้วก็ต้องไปวิเวกสิ

สมัยพุทธกาลเป็นอย่างนี้เลยนะ เวลาพระออกพรรษแล้วเขาจะออกวิเวก ออกฝึกหัดแบบที่อุปัชฌาย์สอนมา เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี่พิจารณาสิ่งนี้ พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนังเพื่อให้เป็นพระที่แท้จริง นี่พูดถึงประเพณี รากเหง้าของศาสนา แต่ในปัจจุบันนี้พอมาเป็นกิจจะลักษณะแล้วมันก็มีเรื่องวัดเรื่องวา อย่างที่ว่าเรื่องศิลปกรรม สถานที่ราชการ วัดสำคัญๆ โบราณสถาน อนุสาวรีย์ นี่ศิลปกรรมชั้นสูง เขาว่า

ถ้าศิลปกรรมชั้นสูงเราก็เห็นด้วย เราเห็นด้วยนะ เราเห็นด้วยหมายความว่าในเมื่อมันเป็นชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ในเมื่อเป็นองค์ของชาติ เราเป็นชาวพุทธใช่ไหม? ศาสนา ดูสิเวลาหลวงตาออกมาช่วยชาติๆ เขาบอกไม่ใช่กิจของสงฆ์ นี่กิจของสงฆ์ ชาติ ศาสนา ชาติคือกลุ่มชนรวมกันก็เป็นชนชาติ เห็นไหม ชนชาติใด เผ่าพันธุ์ใด ถ้ามีศาสนาก็ไปกล่อมเกลา มันก็รวมกันเป็นชุมชน เป็นชุมชนก็ต้องมีศิลปะ มีวัฒนธรรม มีประเพณี ไอ้อย่างนี้เราก็เห็นด้วยนะ เห็นด้วยคือการทำงานกับพระแบบนั้น คือพระแบบนั้นเขาบวชมาเพื่อการสร้างอำนาจวาสนาบารมี แต่เวลาเราเป็นพระป่ากันไง เราเป็นพระป่า เวลาพระป่าคือก่อนบวชเราจะเลือกสิ่งใดล่ะ?

เราศึกษา เราค้นคว้า เราเกิดมาเป็นคนเหมือนกัน เราก็มีอาชีพหน้าที่การงานเหมือนกัน ทีนี้เราจะมาบวชเราแสวงหาสิ่งใด? แสวงหาสิ่งใดเราก็ศึกษาสิ ในแนวทางประพฤติปฏิบัติมันก็มีหลายแนวทางใช่ไหม? ฉะนั้น พอเราศึกษาเราก็ศึกษา ก่อนบวชเราทำอย่างนั้นจริงๆ เราศึกษาเลยนะแนวทางของครูบาอาจารย์องค์นี้เป็นอย่างไร แนวทางของครูบาอาจารย์องค์นี้เป็นอย่างไร เราดูตามแนวทางแล้วอะไรมันจะเป็นไปได้จริงหรือเป็นไปไม่ได้จริง

พอมาศึกษาประวัติหลวงปู่มั่น อืม อย่างนี้เราทำได้ เราทำได้เพราะอะไร? เพราะท่านอยู่แบบมนุษย์ธรรมดานี่แหละ ท่านอยู่แบบมนุษย์ธรรมดา อยู่โคนไม้ บิณฑบาตเป็นวัตร ไม่ต้องไปบิณฑบาตกับเทวดา อินทร์ พรหม ไม่ต้องอวดฤทธิ์อวดเดช ไม่มี หลวงปู่มั่นท่านใช้ชีวิตปกติธรรมดานี่แหละ แต่อยู่กันแบบอ่อนน้อมถ่อมตน อยู่กันแบบสมณะ นี่เราศึกษาแล้วเราทำมา ทีนี้หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านไม่เคยพาก่อสร้าง

หลวงปู่มั่นนะ เวลาถ้าธรรมดาของมนุษย์ใช่ไหมมันต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัย ปัจจัย ๔ ของมนุษย์ แม้แต่พระ นี่พระต้องมีเครื่องนุ่งห่มคือไตรจีวร มีที่อยู่อาศัย มีบ้านเรือนก็คือกลด มีอาหารก็คือบาตรออกเลี้ยงชีพ มียารักษาเจ็บไข้ได้ป่วยก็น้ำมูตรเน่า ก็ปัจจัย ๔ ต้องมีทุกคน ทีนี้ในเมื่อมีปัจจัย ๔ พระบวชมาแล้วก็ต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัย ทีนี้ปัจจัยเครื่องอาศัย เวลาอยู่แล้วมันก็ต้องมีร้าน มีรวง มีที่พัก มีที่อาศัย ถ้ามีที่พัก ที่อาศัย มันก็ต้องมีชำรุดเสียหายเป็นเรื่องธรรมดา มันก็ต้องซ่อมแซม

ถ้าจะซ่อมแซมที่พักอาศัยนะ หลวงปู่มั่น หลวงตาท่านเล่าให้ฟังประจำแหละ เราเกิดไม่ทันหรอก หลวงปู่มั่นเสียไปแล้วเรายังไม่เกิดเลย หลวงปู่มั่นเสียปี ๙๒ เราเกิด ๙๔ เรายังไม่เกิด เราไม่เคยเห็นหรอก แต่หลวงตาท่านเล่าให้ฟัง หลวงปู่เจี๊ยะท่านเล่าให้ฟัง เพราะหลวงตากับหลวงปู่เจี๊ยะท่านอุปัฏฐากหลวงปู่มั่นมาด้วยกัน มากันคนละยุคคนละคราว หลวงปู่เจี๊ยะอุปัฏฐากก่อน แล้วก็มาหลวงตาอุปัฏฐากต่อเนื่องมา ท่านบอกนะเวลาจะซ่อมแซมที่อยู่อาศัย จะให้ซ่อมแซมได้ตอนทำข้อวัตร ตอนทำข้อวัตรหมายถึงว่าตอนฉันน้ำร้อนแล้วประมาณบ่ายโมง บ่ายโมงพระจะลงมาฉันน้ำร้อนพร้อมกัน ฉันน้ำร้อนพร้อมกันหมายถึงว่าพระนี่ออกมาจากที่ภาวนาด้วยกันทั้งหมด

ฉะนั้น ก่อนหน้านั้น ตั้งแต่ฉันเสร็จแล้ว ฉันเสร็จแล้วก็จะมีการนั่งสมาธิ ภาวนา เดินจงกรมกัน เขาต้องการความสงบสงัด เขาจะไม่มีเสียงรบกวนกระทบกระเทือนกัน ฉะนั้น ในข้อวัตรของหลวงปู่มั่น ถ้าจะซ่อมแซม ที่อยู่อาศัยเราชำรุดเราต้องตอกตะปู เราจะต้องใช้เสียงดัง ท่านจะให้ทำเฉพาะในเวลาบ่ายโมงถึงเวลาฉันน้ำร้อนเสร็จเท่านั้น หลวงปู่มั่นให้ทำเท่านั้น เสียงเคาะ เสียงในวัดจะไม่ให้มีเกิดขึ้นเลย ไม่ให้มี ถ้าใครมีคนนั้นต้องมีเหตุผล ไม่อย่างนั้นก็แบบว่า

เช่นศาลาที่พักอาศัย คือว่าศาลาเล็กๆ ที่หนองผือมีศาลาเล็กๆ อันหนึ่ง พอพระนั่งพอฉัน ถ้ามันชำรุดเสียหายซ่อมพร้อมกัน เพราะหลวงตาท่านบอกอยู่ ไปตัดไม้กันอยู่เหมือนกัน ให้โยมไปตัดไม้แล้วแบกมาทำที่บันได หน้าฝนทำมุงบันไดให้พ้นจากฝน นั่นล่ะถ้าทำอย่างนั้นพระต้องทำพร้อมกัน คือเราก็ทำที่พักอาศัยเหมือนกัน ไม่ใช่ไม่ทำหรอก แต่ทำแบบพอประมาณ ทำแบบพออยู่ได้ ทำแบบเป็นที่พึ่งอาศัย เป็นปัจจัยเครื่องอาศัยเท่านั้น นี่พูดถึงเวลาครูบาอาจารย์เราที่ท่านพาดำเนินมา นั่นหมายถึงว่างานของสมณะ นี่งานของพระนะ

ฉะนั้น บอกว่าโยมทำงานกับพระ ทีนี้ทำงานกับพระ พระที่เขาทำงานแบบนั้น ถ้ามันเป็นกลุ่มชน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ในป่าองค์เดียว เวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว เทศนาว่าการสาวก สาวกะ ดูสิกษัตริย์ เศรษฐี กุฎุมพีต่างๆ สร้างวัดสร้างวาถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามหาศาลเลย ในสมัยโบราณ เห็นไหม ดูสิมันเป็นเรื่องศิลปะ เป็นยุคเป็นคราวเลยที่ว่าสวยงามมาก สวยงามมาก นั้นเพราะว่าเขาศรัทธา

นี้เรื่องของโยมไง เรื่องของโยมเขาศรัทธา กษัตริย์เขาก็มีเงินมีทอง มีปัจจัยพร้อม เขามีข้าราชบริพารที่มีความสามารถทุกทาง เขาทำอย่างไรก็ทำได้ ถ้าเขาทำอย่างนั้นมาเป็นชนชาติ เป็นยุคเป็นคราวมาเราก็เห็นด้วย ฉะนั้น ว่าโยมทำงานกับพระ ทำงานกับพระแบบนี้ ทำงานกับพระที่ดูแลเรื่องศีลธรรม เรื่องศิลปกรรม เรื่องโบราณสถาน เราก็เห็นด้วย เพราะมันเป็นเรื่องของชาติ เรื่องของโลก เรื่องของวัฒนธรรมประเพณีของชาวพุทธ วัฒนธรรมประเพณีของชาวไทย วัฒนธรรมประเพณีของชาวไทย เราทำสิ่งนั้นเราก็ทำมา นี้พูดถึงเห็นด้วยนะ

ถ้าเราบอกว่าโยมทำงานกับพระ ทำงานศิลปกรรม ทำงานต่างๆ อู๋ย เราก็ชื่นชมไปเลยนะ เราไปชื่นชมทางโลกแล้ว เราสุดโต่งไปทางหนึ่ง แต่ในทางจริงๆ งานของพระอีกทางหนึ่ง งานจริงๆ ของพระนั่งสมาธิ ภาวนา เพื่อค้นคว้าหาใจของตัว ถ้าพระทำงานอย่างนี้เป็นที่ซื่อสัตย์ เป็นศากยบุตร พุทธชิโนรส เป็นการถือคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแนวทาง ถ้าเราศึกษาอย่างนี้ เราประพฤติปฏิบัติอย่างนี้เราถึงจะเป็นพระจริงๆ งานของพระมันอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่งานของพระไปอยู่ที่ศิลปะวัฒนธรรมอย่างนั้น

ฉะนั้น งานของพระที่เขาไปทำแบบนั้น นี้โลกเขาก็ทำกันได้ อย่างเช่นโยมบอกว่าหน่วยราชการของโยมทำงานที่ว่าเป็นงานสำคัญระดับชาติทั้งนั้นเลย งานสำคัญระดับโลก โยมเป็นอะไร? โยมเป็นโยม พระยังทำสู้โยมไม่ได้เลย เพราะโยมทำงานสำคัญระดับโลก แล้วพระจะไปทำงานอย่างนั้นไหม? แต่พระเป็นผู้ดูแลรักษา เพราะพระอยู่ในสถานที่นั้น ดูแลที่นั้น

ฉะนั้น ถ้าพระที่มีหลักมีเกณฑ์ ฉะนั้น เวลาพระที่ไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ ไปทำแบบนั้นทุกข์ใจนะ ทุกข์ใจเพราะว่าเรารักษาแล้ว เราเป็นคนดูแลรักษา แล้วงานนั้นมันจะเสียหายไป เราจะเป็นคนที่บกพร่องต่อหน้าที่ ก็เขาเป็นทุกข์เป็นร้อนของเขาไป นี่เห็นไหมงานข้างนอกเดือดร้อน นี่ถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บมันก็สัมผัสถึงว่าหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านธุดงค์ไปที่เชียงใหม่ ไปที่เชียงใหม่วัดร้างเยอะมาก หลวงปู่มั่นท่านไปนั่งภาวนาอยู่ พอจิตท่านลง จิตท่านเป็นสมาธิมันจะมีอยู่เจดีย์เก่าๆ ที่นั่นมันมีอยู่ ท่านบอกว่าเห็นพี่สาวเป็นชี น้องเป็นเณรหรืออย่างไรนี่แหละ เห็นวิญญาณ ๒ ดวงนี้มาเดินวนอยู่นั่นแหละ เดินวนรอบเจดีย์

หลวงปู่มั่นท่านภาวนาไปแล้วท่านเห็นของท่าน ท่านเห็นแล้วท่านก็สงสาร ก็เลยถามดู คุยกับเขาไงว่าทำไมถึงทำอย่างนี้ล่ะ? พี่สาวกับน้องชายบอกเลยนะ สองคนพี่น้องอยากจะได้บุญมาก อยากจะสร้างเจดีย์ไว้ในพุทธศาสนา ทีนี้สร้างไปๆ มันคงโรคระบาดหรืออย่างไรไม่รู้ สร้างไม่เสร็จ ตายทั้งคู่ พอตายทั้งคู่ก็มาเกิดเป็นเปรต เป็นเปรตเดินเฝ้าอยู่นั่นน่ะ ทีนี้หลวงปู่มั่นท่านเห็นแล้วท่านก็สงสารไง ท่านสงสารท่านก็เทศน์สอน เทศน์สอนเปรตพี่สาวกับน้องชาย

นี่ท่านเทศน์สอนนะ อยู่ในประวัติหลวงปู่มั่นหรือปฏิปทา บอกว่าสิ่งที่ทำแล้วมันก็ได้บุญไปแล้ว งานศิลปะ งานวัฒนธรรมต่างๆ เราทำแล้ว เราทำแล้วมันก็จบแล้ว เราทำแล้วเราไม่มีความกังวลกับมัน เราทำแล้วเราได้บุญแล้ว เจตนาเป็นบุญ การกระทำเป็นบุญ เราทำของเราแล้ว แต่มันเกิดวิบากกรรม ทำไม่เสร็จตายเสียก่อน นี้ใจเราตั้งเป้าไว้เสร็จใช่ไหม? แล้วทำไม่เสร็จพอตายไปก็ไปเกิดตรงนั้นล่ะ แล้วก็มาเดินวนอยู่นั่นล่ะ นี่หลวงปู่มั่นท่านเทศน์นะ เทศน์ให้คลาย ให้คลายความยึดมั่นถือมั่นของใจ

นี่จิตมันยึดมั่นถือมั่น มันก็ไปเกิดเป็นเปรตตรงนั้น พอเวลาบุญก็ได้แล้วนะ ได้บุญแล้ว แต่ทำไมได้บุญแล้วไปเกิดเป็นเปรต บุญคือสร้างถาวรวัตถุนี่ได้บุญแล้วแหละ แต่จิตที่มันไปผูกพันบอกว่าของกูๆ ทำแล้วต้องให้สมความปรารถนา นี่มันก็เลยยึดมั่น ยึดมั่นพอตายแล้วก็ไปเกิดที่นั่น พอหลวงปู่มั่นท่านเทศน์นะมันก็คลายออกที่ใจ พอใจมันคลายออกไปบุญมันก็มารับ ลอยขึ้นไปนะ ลอยขึ้นไปเกิดเป็นเทวดาทั้งคู่เลยพี่สาวกับน้องชาย นี่มันก็จบไป

นี่ถาวรวัตถุ ศิลปะต่างๆ มันเป็นประโยชน์ แต่ถ้าไปยึดมั่นถือมั่นมันก็เป็นโทษอย่างนั้นแหละ มันเป็นดาบสองคม ถ้าพูดถึงคนที่ไม่มีสติปัญญา ถ้าคนมีสติปัญญานะมันก็ไม่ไปติด ไปยึด เราทำเพื่อประโยชน์ใช่ไหม? อย่างที่ว่าทำอะไรก็แล้วแต่ ที่ว่าพูดไปแล้วคนก็รับไม่ได้นะ เพราะอยู่ในพระไตรปิฎก บอกทำบุญให้ทำทิ้งเหว ของนี่โยนลงเหว โยนทิ้งไป โยนทิ้งได้อย่างไร? อู๋ย ของฉันดีขนาดนี้ทิ้งได้อย่างไร?

ทิ้งคือเสียสละแล้วไม่ไปติดมัน นั่นล่ะอย่างนั้นได้บุญมากที่สุด แต่นี้เราทำบุญนะเราเอาอาหารผูกไว้กับเชือก แล้วหย่อนลงไปในเหวแล้วดึงมัน ดึงลง ของเราไง เชือกไปผูกไว้ ยึดมั่นไว้ ไม่ทิ้งเหวไง ถ้าทิ้งเหวมันก็หายไปเลย ทีนี้พอจะทำบุญก็เอาเชือกผูกไว้ครึ่งหนึ่ง แล้วก็หย่อนลงไป ของฉันไง จับเชือกไว้ ดึงไว้ๆ ไม่ทิ้งเหว เชือกเห็นได้ง่ายๆ แต่ความผูกพันเห็นไม่ได้ ความยึดมั่นถือมั่นเห็นไม่ได้

ฉะนั้น สิ่งที่ถ้าพระเราอยู่ในสถานที่แบบนั้นเพื่อดูแลรักษานั่นก็เรื่องของเขา จะว่ามีความบกพร่องเพราะเราไม่ดูแลรักษามันเลยเสียหาย นี้พูดถึงว่างานของสมณะนะ งานของสมณะกับงานที่ว่าทำงานกับพระ เราเห็นแต่รูปแบบไง สมมุติสงฆ์ แต่งานจริงๆ งานของสมณะ สมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ สมณะที่ ๔ การได้เห็นสมณะเป็นมงคลอย่างยิ่ง นี้พูดถึงให้เห็นชัดๆ ว่างานอย่างใดเป็นงานในศาสนา งานอย่างใดเป็นงานของสมณะ แล้วถ้าสมณะที่ ๑ พระโสดาบัน สมณะที่ ๒ พระสกิทาคามี สมณะที่ ๓ เป็นพระอนาคามี สมณะที่ ๔ เป็นพระอรหันต์

การได้เห็นสมณะเป็นมงคลอย่างยิ่ง การได้เห็นสมณะนะ การได้อยู่ใกล้สมณะ การได้สนทนาธรรมกับสมณะเป็นมงคลอย่างยิ่ง เพราะสมณะมีธรรมในใจ จะพูดออกมาเป็นเรื่องคุณธรรม เป็นเรื่องคุณงามความดี เป็นเรื่องสิ่งที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา คือไม่ตกไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ตกไปในทางอัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค ไม่ตกไปในโลก ไม่ตกไปในทิฐิมานะ แต่ให้เป็นสัจธรรม เพราะศาสนานี้มีมรรคมีผล มีเหตุมีผล เพื่อประโยชน์กับการดำรงชีวิตทางฆราวาส ดำรงชีวิตในทางสมณะที่พยายามจะทำงานของตัวให้สำเร็จเป็นผลงานของตัว ถ้าสำเร็จเป็นผลงานของตัวมันจะเข้าใจเรื่องอย่างนี้หมดเลย

นี่เรามาอยู่เฉยๆ เรามาอยู่อาศัยโดยที่เราจะสร้างคุณงามความดีของเรา แล้วเราจะจากกันไปวันไหนก็ไม่รู้ ฉะนั้น เราทำเพื่อประโยชน์กับเรา แต่ถ้ากิเลสตัณหาความทะยานอยากมันแยกแยะไม่ได้ มันรวมหมด กรรมมันคลุกเคล้า คือดีชั่วมันยำ ยำเป็นอันเดียวกันหมดเลย ยึดมั่นถือมั่นยุ่งไปหมดเลย แล้วแยกไม่ออก อะไรเป็นอะไรแยกไม่ได้ พอแยกไม่ได้ขึ้นมา ทีนี้เถียงกันแล้ว งานของใครถูก งานของใครถูก ปฏิบัติสายไหนถูกต้อง ปฏิบัติสายไหนนะ สายไหนก็สายนั้นเถอะ แต่ถ้าทำไปแล้ว ถ้ารู้จริงขึ้นมาแล้วนะอริยสัจมีหนึ่งเดียว จะสายไหนมันต้องเข้ามาสู่สัจจะ สู่อริยสัจ แล้วถ้าสู่อริยสัจ เวลาสนทนาธรรมนะมันมีอันเดียว มันเหมือนกัน ถ้ามันขัดแย้งกันต้องผิดข้างหนึ่ง

ถ้ามันขัดแย้งกันนะ ฉะนั้น ถ้ามันขัดแย้งกันเราก็หาเหตุ หาผลสิ อะไรที่เป็นประโยชน์กับเราล่ะ? ถ้าเป็นประโยชน์กับเราเราเอาอันนั้น นี่พูดถึงงานของสมณะก่อน ถ้าไม่อย่างนั้นจะเหมารวมเลยว่าพระทำงานแบบนี้ พระทำงานแบบนี้ ไม่ใช่ ไม่ใช่ พระไม่ได้ทำงานแบบนี้ พระทำงานการบำเพ็ญธรรม นั่นงานของพระ ไอ้นี่งานดูแลศาสนวัตถุ งานดูแลศาสนวัตถุ ส่งเสริมศิลปะ วัฒนธรรม ไม่ได้ส่งเสริมธรรม ถ้าส่งเสริมธรรมนะเขาแบกกลด แบกบาตรเข้าป่าแล้ว เขาไปอยู่โคนไม้

นี่ไปอยู่โคนไม้ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย อยู่โคนไม้ก็สะพายบาตรออกไปบิณฑบาตมาฉัน ฉันเสร็จก็ภาวนา รับผิดชอบสติปัญญาเท่านั้นแหละ รับผิดชอบสติ สมาธิ ปัญญาของตัว นี่งานของสมณะ นี่งานแท้ๆ ของพระ ทีนี้พระบวชแล้วถ้าไม่มีงานแล้วพระทำอะไร? พระทำงานของตัวจบแล้ว สมัยพุทธกาลนะมีพระที่ว่าบวชมา ๗ พรรษาก็สำเร็จ ๗ ขวบ สามเณร ๗ ขวบก็เป็นพระแล้ว แล้วออกมาเป็นผู้รับผิดชอบกิจของสงฆ์ไง

นี่เป็นคนที่คอยรับกิจนิมนต์แล้วจัดพระไปฉัน เพราะว่าเป็นพระอรหันต์ พอพระอรหันต์มันก็ไม่มีลำเอียงไง แต่มีพระฉัพพัคคีย์ ไปทีไรไปเจอแต่คนจนทุกที ก็หาว่าพระองค์นี้ลำเอียง ชื่อพระทัพพมัลลบุตร ในพระไตรปิฎก เป็นพระอรหันต์ตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ แล้วพออายุ ๗ ขวบเป็นพระอรหันต์แล้ว งานของสมณะ งานของพระจบแล้ว ก็เลยพระพุทธเจ้าก็ตั้งให้เป็นพระมัคคุเทศก์ เป็นคนจัดกิจนิมนต์

พอจัดกิจนิมนต์มันมีพระอยู่ชุดหนึ่งเขาเป็นพวกกันอยู่ ๗ องค์ ฉัพพัคคีย์อะไรนี่ เพราะไม่เคยได้ฉันอาหารที่ดีๆ กับเขา พอถึงเวรของเขาจะได้ออกไปก็ไปเจอแต่คนทุกข์คนจนอะไรทำนองนั้น เขาก็เพ่งโทษพระทัพพมัลลบุตร เพ่งโทษพระองค์นี้ ก็พยายามหาเรื่องไง กล่าวตู่นะ เขาบอกว่าเขาไปตั้งชื่อให้เป็นกวาง กวาง ๒ ตัวมันมีผสมพันธุ์กัน ก็มาบอกว่าชื่อพระองค์นี้ไปตั้งให้เป็นกวาง แล้วกวางผสมพันธุ์ก็บอกว่าพระนี่เสพเมถุน แล้วก็โจษกันไป สุดท้ายข่าวไปถึงพระพุทธเจ้า พอถึงพระพุทธเจ้าเขาก็จะตัดสินไง

พระพุทธเจ้าบอกว่า “เธอพูดอย่างนั้นไม่ได้หรอก มันไม่มีหรอก”

“เพราะอะไร?”

“เพราะเขาเป็นสติวินัย”

คือแบบว่าเขาเป็นพระอรหันต์ เขารู้ตัวทั่วพร้อม เขาทำอย่างนั้นไม่ได้หรอก เพียงแต่ว่าในเมื่อมันโจษขึ้นมาเป็นสิ่งที่เป็นกระแสแล้ว พระพุทธเจ้าจะไปบอกว่าไม่ใช่มันก็เหมือนกับว่าพระพุทธเจ้าลำเอียง ก็เลยประชุมสงฆ์ ประชุมสงฆ์แล้วก็ไต่สวนๆ ไต่สวนคนที่กล่าวตู่ เขาบอกว่าเป็นพระที่ไปมีเพศสัมพันธ์จริงหรือ? พอไต่สวนแล้วพระพุทธเจ้าไต่สวนเอง ก็บอกว่าเป็นกวาง แต่กวางชื่อนั้น เพราะเขาสมมุติกัน คือเขาพยายามจะหาเรื่อง

นี่พูดถึงว่าเวลาพระที่สิ้นเสร็จกิจแล้วทำอะไร พระเสร็จกิจแล้วจะทำอะไร จะทำสิ่งที่เป็นศิลปะ วัฒนธรรม พระเสร็จกิจแล้วทำอะไร? พระเสร็จแล้วก็เป็นหลักเป็นชัย เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของสมณะ ของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติต่อไป ฉะนั้น นี่พูดถึงงานของสมณะนะ เพราะว่าถ้าเขาคิดอย่างนี้ เขาเคยทำงานกับพระ กับอย่างนี้ เขาคิดว่านี้คืองานของพระ

ฉะนั้น เวลาถามมาตรงนี้มันทำให้เราคิด ฉะนั้น สิ่งนี้ชี้ให้เห็นก่อนว่างานของพระจริงๆ คืออะไร แล้วงานของการดูแลรักษาเรื่องโบราณวัตถุนั้นก็เป็นหน้าที่อีกหน้าที่หนึ่ง นี้ก็เป็นงานของผู้ดูแล แต่ถ้าเป็นงานของพระ งานของพระคืออุปัชฌาย์ให้งานมาตั้งแต่บวช เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ ให้พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนังของเรา และของคนข้างเคียง ของทุกๆ คนให้ทะลุปรุโปร่ง นี่ถ้างานของพระ ถ้าพิจารณาตรงนี้ทะลุปรุโปร่งแล้ว อย่างอื่นนะมันเป็นงานรองๆ ทั้งนั้นแหละ

ถ้าทำงานอย่างนี้ นี่งานของพระที่แท้จริง แต่ทำกันหรือไม่ทำกันล่ะ? เวลาอุปัชฌาย์ให้งานไปแล้วกรรมฐาน ๕ แต่เวลาเราบวชไปแล้วเราก็ต้องไปศึกษาอีก อู้ฮู เป็นนักธรรมเปรียญ นั่นศึกษาทางโลก ศึกษาแล้วออกไปเลย ศึกษาแล้วไม่กลับมาเกศา โลมา นขา ทันตา ตโจเลยนะ เวลาศึกษาแล้วออกไปเลย

ฉะนั้น งานทางโลก ถ้ามีครูบาอาจารย์คอยเผดียง เรามีหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นเป็นตัวอย่าง เป็นหลักชัย ท่านคอยเผดียงแล้วเราจะทำกันตามความเป็นจริง ถ้าทำงานของสมณะได้จริงมันจะเข้าใจเรื่องอย่างนี้ เข้าใจแล้วใครมีหน้าที่ ใครมีอำนาจวาสนา ใครมีจริตชอบทำอย่างใดก็อยู่ที่นิสัยของเขา แต่ถ้าเอางานจริงๆ พูดอย่างอื่นไม่ได้ เอางานจริงๆ งานของเราคืออริยสัจ งานจริงๆ ก็คือเข้ามาสู่สัจธรรม นี่งานของศาสนา งานของศาสนาแท้ๆ อยู่ที่นี่ งานอย่างนั้นเป็นงานรองๆ งานรองๆ ต่อไปที่ใครมีความชอบ ใครมีความถนัดทำไป นั้นพูดถึงงานของพระก่อน

ฉะนั้น สิ่งที่บอกว่า

ถาม : แล้วมักจะมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานอ้างชื่อหน่วยราชการนี้เพื่อรับเป็นงานส่วนตัว โดยเฉพาะการรับงานกับทางวัด โดยที่คิดค่าใช้จ่ายแพงมาก

ตอบ : อันนี้คำว่า หนึ่งหน่วยราชการของตัว กับการไปทำงานส่วนตัว การไปทำงานส่วนตัวมันมี ๒ อย่าง เพราะเราเคยเห็นอยู่ เราเคยเห็นอยู่นะคนที่แบบว่าใจเขาเป็นธรรม เขามาช่วยงานวัด ที่ใดมีการก่อสร้าง ที่ใดมีการกระทำต่างๆ แล้วเขาปวารณาตัวมาเพื่อช่วยโดยจิตใจที่เป็นธรรมนะ นี่บางคนลาออกจากงานเลยไปอยู่วัดแล้วไปช่วยงานต่างๆ ถ้าเขาทำอย่างนั้น ทำงานส่วนตัวของเขาในแง่บวก แต่ถ้าเขาเอาชื่อหน่วยราชการ แล้วไปรับเป็นงานส่วนตัว แล้วไปคิดค่าใช้จ่ายแพงๆ อันนี้เป็นทางลบ

ถ้าทางลบเพราะเขาเห็นแต่ผลประโยชน์ ถ้าเห็นผลประโยชน์ นี่มันก็เป็นการแสวงหาผลประโยชน์ของเขา แล้วเขาคิดว่าก็ธรรมดา เพราะอะไร? เพราะสังคมเป็นแบบนั้น เพราะสังคมนะ ถ้าสังคมของลัทธิอื่น สังคมทางยุโรปต่างๆ มันไม่มีประเพณีวัฒนธรรมของชาวพุทธ มันไม่อยู่กันมานาน เขาก็ไม่เห็นว่าพระทำกันอย่างไร นี่สังคมของสงฆ์เขาทำกันอย่างไร แล้วสังคมนี่เขาคิดไปอีกอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเป็นสังคมของพระนะ พอเราไปทำ เราคิดค่าใช้จ่ายแพงๆ ที่เขาคิดไปมันก็เป็นอีกอย่างหนึ่งนะ เพราะเขาหาผลประโยชน์ส่วนตัวของเขา

นี่พูดถึงว่าถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวนะ ถ้าเรื่องส่วนตัว แต่ถ้าเขาทำเพื่อสาธารณะอันนั้นก็เป็นบวก ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัว เขาหาประโยชน์ส่วนตัว อันนั้นก็เป็นลบ ถ้าเป็นลบของเขามันเป็นเรื่องส่วนตัว กรณีอย่างนี้มันเป็นเรื่องจริต เรื่องกิเลส เรื่องทิฐิของแต่ละจิตที่เราจะแบบว่าเอามาวัดว่าต้องทำอย่างนี้ๆ มันเป็นที่ว่าเขาทำกัน ในเมื่อมันมีกรรม มีการกระทำมันก็มีวิบาก มันก็มีผลของเขา ถ้าผลของเขามันก็จะเป็นผลที่เกิดขึ้น

ถาม : ๑. ในกรณีที่ทางวัดติดต่อมาให้เราทำงานให้เป็นการส่วนตัว อาทิเช่นการออกแบบสถาปัตยกรรม การตกแต่งภายใน ตลอดจนงานศิลปกรรมต่างๆ โดยให้เราคิดค่าใช้จ่ายกับทางวัด การเรียกเก็บเงินทางวัดอย่างนี้ถือว่าเป็นบาปหรือไม่?

ตอบ : อย่างนี้เราว่าไม่ เพราะทางวัดเขาติดต่อเรา ติดต่อเราไปออกแบบ ติดต่อเราไปทำต่างๆ ถ้าเราออกแบบมันก็อยู่ที่เรา เห็นไหม เราออกแบบ เราออกแบบแล้วเราจะคิดค่าใช้จ่ายอย่างไร ถ้าพูดถึงค่าใช้จ่ายที่ว่าราคาตลาด คือราคากลาง โลกเขาคิดกันอย่างนี้ ถ้าเขาคิดอย่างนี้เราว่าราคากลาง แต่บางคนเขาบอกฉันทำงาน คนๆ นี้เขาไบร์ทมาก เขาเขียนแบบได้สวยมาก เขาเขียนแบบมีคนต้องการมาก ราคาก็เป็นอีกราคาหนึ่ง

อันนี้พูดถึงราคาท้องตลาดก่อนนะ อย่างนี้ถือว่าเป็นบาปหรือไม่ ไม่ เพราะมันเป็นธุรกิจ เป็นเหมือนกับแลกเปลี่ยนในทางโลกเขามีของเขาอยู่แล้ว แต่ถ้าในทางธรรมนะ ในวินัยบอกเลยพระห้ามซื้อขายแลกเปลี่ยน ห้ามต่อรองราคาทั้งสิ้น แต่ถ้าการก่อสร้าง การทำต่างๆ เขามีคณะกรรมการของเขา คณะกรรมการเขาดูแลของเขา อย่างนี้ถือว่าบาปหรือไม่? เราถือว่าไม่ อย่างนี้เราไม่ถือว่าบาปนะ แต่ แต่ถ้าเขาคิดฉ้อฉลของเขา อันนั้นแหละเป็นบาป ถ้าคิดในราคาท้องตลาดถือว่าไม่บาป แล้วถ้าเป็นทางวัดเขาติดต่อมา เขาติดต่อมา วัดที่ติดต่อเขาดูแลของเขา นี่วัดเขาต้องการอย่างนั้น

เพราะในวงกรรมฐานเรา ครูบาอาจารย์ของเราที่เข้มแข็งท่านก็เป็นหลักเป็นชัยให้ เป็นหลักเป็นชัยหมายความว่าเป็นตัวอย่างให้ลูกศิษย์ลูกหาเอาเป็นตัวอย่างได้ แต่ถ้าครูบาอาจารย์ของเราถ้าไม่มีหลักมีเกณฑ์นะมันเป็นตัวอย่างไม่ได้ ถ้าเป็นตัวอย่างไม่ได้จะบอกว่ากรรมฐานถูกหมดมันก็ไม่มีหรอก แต่ถ้าครูบาอาจารย์ที่ถูก อย่างเช่นหลวงตา หลวงตาในวัดของท่านไม่มีอะไรเลย แต่เวลาท่านไปสร้างเรือนจำ สร้างตึกในเรือนจำ เรือนจำทัณฑสถานหญิงตั้งกี่ตึก แล้วท่านไปสร้างโรงพยาบาล โอ้โฮ ในประเทศไทยเยอะแยะไปหมดเลย

นี่เวลาท่านจะทำประโยชน์ ทำประโยชน์สาธารณะท่านไปทำนอกวัด ไปทำในสถานที่ที่เขาใช้ประโยชน์กัน แต่เป็นในวัดป่าบ้านตาดท่านกันไว้ให้เป็นสถานที่ภาวนา มันก็มีแค่ร้าน มีแค่ที่พักที่อาศัย นี่จิตใจที่เป็นธรรม จิตใจคนที่เป็นธรรมนะ เห็นผลประโยชน์สาธารณะ แล้วประโยชน์ของพระ งานของสมณะเขาไม่ต้องการทำงานแบบนั้น เขาต้องการทำงานในทางจงกรม ในทางที่นั่งสมาธิ ในการภาวนาในหัวใจของท่าน นี้พูดถึงว่าถ้าผู้ที่เป็นธรรมถึงจะเป็นหลักได้

นี่พูดถึงกรณีที่ว่าถ้าทางวัดเขาติดต่อมา ถ้าเขาติดต่อมา เป็นอาชีพของเรา เราทำของเรา เราทำแล้วนะมันมีหลายที่ ลูกศิษย์เรามี ลูกศิษย์เราเวลามาช่วยงานวัด อย่างเช่นวัดเรามีงานไหม? ไม่มีงาน แต่วัดเราต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัยไหม? ต้องมี อย่างเช่นเราเจาะน้ำ เราเจาะน้ำ เราใช้น้ำบาดาล ลูกศิษย์เขามานะเขาคิดครึ่งราคา เขาคิดครึ่งราคานะ ทั่วๆ ไปเขาก็เจาะกี่หมื่นๆ มาถึงเรานะเขาคิดครึ่งราคา

เราบอกไม่ได้หรอก อย่างน้อย โทษนะ เอ็งอย่าโกงวัดกูก็พอใจแล้วล่ะ เอ็งไม่ต้องมาผ่อนให้หรอก เพราะบางคนมามันโขกน่าดูนะ เพราะการเจาะน้ำคิดทีหนึ่งหลายๆ แสน แล้วมันมีน้ำ ไม่มีน้ำ เพราะของอย่างนี้ไม่มีใครเห็นหรอก นี่เพราะเราสัมผัสพวกนี้อยู่เหมือนกัน จิตใจที่เป็นธรรมนะ อย่างลูกศิษย์มีอยู่คนหนึ่งนะ มาถึงนะจะไม่เอาสตางค์อย่างเดียว จะไม่เอาสตางค์ท่าเดียวเลย แล้วไม่เอาสตางค์ได้อย่างไรล่ะ? มานี่น้ำมันก็น้ำมัน ไฟก็ไฟ ก็เจาะกันอยู่นี่ ก็พยายามจะให้เขา เขาก็จะคิดครึ่งเดียว

เราจะบอกว่าในสังคมมีทั้งคนดีและคนเห็นแก่ตัว ถ้าคนดีเขาก็ดีจริงๆ ใจเขาดีนะเขาจะช่วยเหลือด้วยความจริงใจ แต่ถ้าใจเขาไม่ดีนะเขาก็หาผลประโยชน์ของเขา นี่พูดถึง นี่เขาถามถึงว่าเจ้าหน้าที่ในที่ทำงานเขา ไม่ใช่ตัวเขา เจ้าหน้าที่ในที่ทำงานมันก็มีเยอะอย่างนี้ มันเรื่องธรรมดา ทีนี้ถ้าเราเป็นธรรมนะเราคิดได้ เราทำได้ สิ่งใดให้เป็นธรรม

ถาม : ๒. ดิฉันเห็นคนในที่ทำงานที่ไปรับเงินของวัดมักจะมีจุดจบในบั้นปลายชีวิตที่ไม่ดีสักคน มีบางคนบอกว่าเป็นเพราะไปหากินกับเงินที่บริจาคของประชาชน หรือไม่ก็เป็นเพราะไปหากินกับของสาธารณะซึ่งเป็นของสำคัญระดับประเทศชาติ ที่กล่าวมาอย่างนั้นจริงหรือไม่คะ

ตอบ : เราจะบอกว่าไม่จริงเลยก็ไม่ได้ เราจะบอกว่าจริงทั้งหมดก็ไม่ถูก ก็ไม่ถูกหมายความว่า เพราะว่าการที่กระทำ เห็นไหม เห็นว่าเขารับเงินของวัดมา เขารับเงินมา เขารับเงินจากใครมาล่ะ? มันมีผู้กระทำ ทำคนเดียวไม่ได้ว่าอย่างนั้นเลย มันต้องมีคนกระทำร่วมกันมา แต่บอกว่าเห็นบางคนบั้นปลายชีวิตไม่ดีสักคน อันนี้เห็นด้วย อันนี้เห็นด้วยแต่มันมีมาก มันมีเหตุ เพราะศาสนานะมันมีเหตุมีผล มันต้องมีที่มาที่ไปไง ถ้าที่มา ที่มาไม่ดีมันก็ต้องไม่ดีสักคน แต่ถ้าบางคนเขารับเงินของวัดมา ทำไมเขาไปดีล่ะ? ไปดีก็มี คำว่าไปดีเพราะเขาทำดีกับวัดไง ถ้าทำดีกับวัด รับเงินเหมือนกัน แต่รับเงินในเมื่อมันเป็นแบบว่ามีต้นทุน มีต่างๆ ก็รับแค่ต้นทุน บางทีลดให้ต่างๆ

ทีนี้สิ่งที่สังคมไทย สังคมไทยมีการแข่งขัน วัดหรือว่าผู้ที่มีการกระทำเขามีการแข่งขันจะต้องให้สวยงามต่างๆ กรณีอย่างนี้ทำให้พวกพ่อค้าที่เห็นว่าเรียกเงินกับวัด วัดไม่เคยต่อรองเลย ไอ้อย่างนี้มันก็กรณีหนึ่ง แต่ถ้ากรณีที่เขาทำดีแล้ว แล้วเป็นประโยชน์กับเขา แล้วบั้นปลายชีวิต บั้นปลายชีวิตของคนมันมีกรรมเก่า กรรมใหม่ อันนี้หนึ่ง สองในกรรมปัจจุบันนี่หนึ่ง แต่สิ่งที่ทำอย่างนี้แล้วบั้นปลายชีวิตไม่ดีสักคนอันนี้เห็นด้วย อันนี้เห็นด้วย แต่บอกว่าถ้าเป็นอย่างนี้ทั้งหมด มันก็เหมือนกรณีอย่างนี้ กรณีที่แบบว่าในต้นไม้นี่นะมันมีเทพารักษ์รักษาอยู่

ในสมัยพุทธกาลนะพระไปตัด เทวดาไปฟ้องพระพุทธเจ้าเลย พระพุทธเจ้าจะให้ไปพักที่อื่น แล้วดูเดี๋ยวนี้ป่าแทรกเตอร์มันไถหมดเลย ทำไมไม่หักคอพวกไปตัดไม้ทำลายป่า เออ เวลาคนไปตัดไม้ทำลายป่าทำไมเทพารักษ์ เทวดาที่อยู่ป่า ทำไมบ้านของตัวเองไม่รักษา ปล่อยให้มนุษย์ตัดหมดเลย มันถึงคราวนะ มันถึงคราวที่ว่ามันเป็นวิบัติ มันต่างๆ สังคมมันเป็นแบบนั้น ฉะนั้น สิ่งที่มันเป็นความดีนะ ความดีก็คือความดี เราเห็นด้วย บั้นปลายชีวิตไม่ดีสักคนเราเห็นด้วย แต่กรรมเก่า กรรมใหม่มันซับซ้อนกันมา นี่กรรมเป็นอจินไตย พอพูดอย่างนี้ปั๊บทำไมหลวงพ่อไม่การันตีเลยล่ะว่าถ้าทำอย่างนั้นต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนั้น

มันมีที่มามันแตกต่าง ที่มามันแตกต่าง ถ้าคนไปสร้างคุณงามความดีกันนะ อย่างเช่นเราจะบอกว่าคนถ้าเขาติดเขาติดไปหมดเลย แต่หลวงปู่มั่นสุดยอดมากนะ พระธาตุพนม หลวงปู่มั่นกับหลวงปู่เสาร์เป็นคนไปเจอก่อน ธุดงค์ไป แล้วหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์เป็นคนพัฒนาพระธาตุพนมขึ้นมา พอพัฒนาเสร็จแล้วท่านไปนิมนต์พระไปอยู่ แล้วท่านธุดงค์ต่อไป หลวงปู่มั่นท่านทำอย่างนี้ พระธาตุพนม หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์เป็นคนไปพัฒนาขึ้นมาเอง พัฒนาเสร็จแล้วก็ไปนิมนต์พระของเขามาอยู่ นี่คือสร้างให้กับสังคมตลอด สร้างให้สังคมมาตลอด

ถ้าคนที่ไม่ติดเป็นอย่างนี้ คือทำประโยชน์ให้กับสังคม ทำประโยชน์ให้กับโลก ตัวตนเราไม่มี เราไปของเราเรื่อย เราอยู่ด้วยความสงบสงัด เราอยู่ด้วยความวิเวก นี่เขาทำดีทำอย่างนี้ นี่เขาทำดีอย่างนี้ ผู้ที่ไปช่วยอุปัฏฐากกับหลวงปู่มั่น เพราะในประวัติครูบาอาจารย์บอกว่าไปเจอครั้งแรกนะก็เป็นแบบโบราณสถานที่มันมีเถาวัลย์ มีทุกอย่างปิดไปหมด ก็ไปชักชวนชาวบ้านมาตัดเถาวัลย์ นี่ทำอย่างนี้มันจะเป็นบาปไหม?

ถ้าทำอย่างนี้ ตัดเถาวัลย์เอย บูรณะ ปฏิสังขรณ์ให้มันดีขึ้นมา ถ้าทำอย่างนี้บั้นปลายชีวิตจะดีไหม? บั้นปลายชีวิตมันต้องดี เพราะอะไร? เพราะผู้นำที่ดีพาประชาชนทำฟื้นฟู บูรณะ ปฏิสังขรณ์สิ่งที่ว่างเปล่ารกร้างอยู่ในป่าให้เป็นที่เคารพบูชาของคนทั้งประเทศเลย มันจะได้ดีไหม? นี่เวลาคนพอดีขึ้นมาแล้ว คนไปแสวงหาผลประโยชน์ นั่นมันเรื่องของเขาแล้ว นั่นมันเรื่องของเขา

นี่พูดถึงสิ่งที่เขาว่า

ถาม : เป็นเพราะเขาไปหากินกับสิ่งที่เป็นสาธารณะ สิ่งที่เป็นสาธารณะซึ่งเป็นของสำคัญระดับประเทศชาติ ที่เขาว่านั่นจริงหรือเปล่าคะ?

ตอบ : ถ้าคำว่าไปแสวงหาเราว่าจริง ทีนี้การบูรณะ ปฏิสังขรณ์มันมีการทั้งส่งเสริม มันมองเหมือนกับทำลาย แต่ส่งเสริมทำให้มันดีขึ้น แต่สิ่งที่มันดีขึ้นอยู่แล้ว ไปแสวงหา ไปทำลายกัน อย่างนั้นจริง อันนั้นเห็นด้วย

ถาม : ๓. มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างไรว่าค่าใช้จ่ายที่เราคิดกับทางวัดนั้นเหมาะสมแล้ว เพราะพระส่วนใหญ่ไม่เคยปฏิเสธที่จะจ่ายเงินให้เลยแม้จะเป็นราคาระดับร้อยล้าน พันล้าน

ตอบ : พระไม่เคยปฏิเสธเลย พระมีแต่จะให้ แล้วเราเอาอะไรเป็นหลักเกณฑ์ล่ะ? เป็นหลักเกณฑ์ สิ่งที่ว่าถ้าเป็นร้อยล้าน พันล้านมันก็งานระดับชาติ งานที่ใหญ่โตมาก อันนั้นเป็นเรื่องของพระ ฉะนั้น สิ่งที่ว่าพระไม่เคยต่อรองเงินร้อยล้าน พันล้าน ร้อยล้าน พันล้านมันเป็นเงินของใครล่ะ? ถ้าเป็นเงินของพระ บาทหนึ่งคงจะต่อเนาะ ถ้าเป็นเงินของพระ บาทนั้นพระบอกว่า โอ๋ย บาทนี่ของฉัน ฉันเก็บยังไม่ให้ ถ้าเป็นเงินของพระนะ ถ้าเป็นเงินของประชาชน ร้อยล้าน พันล้านก็ไม่ต่อ เพราะพระเป็นคนกลางไง เอาเงินของประชาชนมา แล้วเอาเงินประชาชนไปให้กับผู้ที่เข้ามาทำงานให้อีกต่างหาก อันนั้นถึงไม่ต่อ ถ้ามันต่อ มันอะไร นี่พูดไปมันเป็นเรื่องของสังคมนะ

ฉะนั้น ว่า

ถาม : มีหลักเกณฑ์พิจารณาอย่างไรว่าค่าใช้จ่ายที่เราคิด

ตอบ : ก็คิดให้เหมาะสม ถ้าจิตใจเราเป็นธรรม อย่างที่เราพูด ลูกศิษย์มาเจาะน้ำให้จะเอาให้ฟรี แทงค์น้ำจะไม่เอาสตางค์ แทงค์น้ำที่มาตั้งนี่ บอกไม่ได้หรอก ต้นทุนเท่าไร อย่างน้อยต้องต้นทุนเอ็งต้องเอาไป ไม่เอา แทงค์น้ำที่มาตั้งให้นี่ไม่เอาสตางค์นะ ตั้งให้ฟรีๆ เลย เราบอกไม่ได้ ไม่ได้ คิดไป อย่างน้อยก็ต้องต้นทุน ถ้าใจเอ็งเป็นธรรมเอ็งจะช่วยวัดก็โอเค แต่ต้นทุนค่าใช้จ่ายเอ็งต้องเอาไป เราไม่ยอม เราไม่เอา

นี่เพราะว่าเขามีน้ำใจกับเราเนาะ เขาอุตส่าห์แสวงหา เขาอุตส่าห์ทำให้เนาะ แล้วจะให้เขาควักเนื้ออีกมันเกินไป เขาคิดดีกับเราเนาะ เราก็ควรจะแบบว่าไม่ให้เขาเดือดร้อน เราให้ๆ แต่ทีนี้ถ้าราคาร้อยล้าน พันล้าน ถ้าพูดถึงวัดนี้มีทำก็ทำ นี่ทำแต่สิ่งที่จำเป็น เช่นน้ำ เช่นสิ่งที่พักอาศัย ถ้าอย่างอื่นแล้วเราคิดว่าถ้าจิตใจของคนอ่อนแอเกินไป เห็นไหม เหมือนกับธรรมะบอกว่า

“เราเป็นเจ้านายเงิน หรือเราเป็นขี้ข้าเงิน”

บางคนหาเงินมาแล้วไม่รู้จักใช้ ไม่รู้จักจ่าย เป็นขี้ข้าดูแลรักษา ทุกข์ตายเลย แต่บางคนหาเงินมาแล้วเป็นเจ้านายเงิน รู้จักใช้จ่าย ใช้สอย เราเป็นเจ้านาย เราไม่เป็นทุกข์นะ เพราะเราบริหารจัดการเงิน แต่ถ้าเราหาเงินมาแล้วให้เงินเป็นเจ้านายเรานะ โอ้โฮ เป็นทุกข์ เป็นร้อน เงินมันขี่หัวใจ เงินมันกดขี่หัวใจเรา ทุกข์ร้อนมาก แต่ถ้าเราหาเงินมานะ แล้วเราใช้จ่ายตามที่เป็นธรรม อย่างนี้เป็นประโยชน์

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า

ถาม : มีหลักเกณฑ์พิจารณาอย่างใดค่าใช้จ่ายที่เราคิดกับทางวัดให้เหมาะสม

ตอบ : เหมาะสมก็เหมาะสม นี่เราก็คิดของเรา ทีนี้พอคิดมันอยู่ในสังคมอย่างนี้ เห็นไหม อย่างเช่นตอนนี้ที่เขากำลังนิยมกันนะ ไอ้ปัญจภาคี สมมุติเราเช่ามาล้านหนึ่ง เขาบอกองค์นี้ราคา ๒๕ ล้าน ไอ้คนที่ปล่อยไปล้านเดียว โอ้โฮ มันตกใจเลยล่ะ ราคาที่เหมาะสมไง นี่การก่อสร้าง ถ้าเราไปก่อสร้างให้เขา ราคานี่มันเหมาะสมแล้วแหละ แต่บอกว่าเรียกได้เลยร้อยล้าน ไอ้คนที่คิดทุกข์เลยนะ เสียใจเนาะเรียกเขามาล้านเดียว ถ้าเรียกเขาร้อยล้านเขาก็ให้ร้อยล้าน ทีนี้พอเรียกมาล้านเดียว เห็นไหม ราคาที่เหมาะสม

ฉะนั้น ราคาที่เหมาะสมมันเหมาะสมที่เราไง เพราะมีหลักเกณฑ์อย่างใดพิจารณาว่าราคาที่เราจะคิดกับทางวัดที่เหมาะสม เพราะเรารู้เองว่าค่าใช้จ่ายเท่าไร ในทางราคากลางของสังคมคิดกันเท่าไร เราก็คิดราคานั้นแหละ ฉะนั้น ในทางโลก เห็นไหม ในทางโลกถ้าเขาบอกว่าเราคิดได้อีกเป็นร้อยล้านเลย เพราะว่าพระเขาไม่รู้ พระเขาพร้อมจะจ่ายอยู่แล้ว ถ้าคิดอย่างนั้น นี่อย่างนั้นไม่เหมาะสม ไม่เหมาะสม

ถ้าเหมาะสมนะราคากลาง ราคาที่ตลาดเขาคิดคำนวณกันว่าราคาที่ตลาดเขาซื้อขายกันเท่าไร แล้วเราไปทำให้วัดก็ซื้อขายราคาเท่านั้น นี่ราคาอย่างนี้เหมาะสม เหมาะสม ถ้าเราทำให้วัดนะ แต่ถ้าเป็นศาสนาอื่นเขาไม่มีวัด เขาไม่มีพระให้เราไปทำธุรกิจกับเขา ไปซื้อขายกับเขา ปัญหานี้ก็ไม่เกิด แต่เพราะนี่เรามีวัด มีพระ แล้วเราเป็นชาวพุทธ เราอยู่กับสังคมพุทธศาสนา มันก็มีการเกี่ยวพันกัน มันก็มีปัญหานี้เกิดขึ้นมา

แต่ถ้าเราเริ่มต้น เราพูดตอนต้นว่างานของสมณะ ถ้างานของสมณะอย่างนั้น แล้วเราเป็นชาวพุทธ เรามีอาชีพอย่างนี้ เราได้คลุกคลีกับพระ เราก็สังเกตพระสิว่าพระที่เขาเป็นพระแท้ พระที่เป็นพระที่เรานับถือเป็นครูบาอาจารย์ กับพระที่ดำรงชีวิตเป็นพระที่อยู่ในสังคม ที่เราจะต้องสัมพันธ์กัน เราจะต้องอยู่ในสังคม เราก็มองพระอย่างนั้นเป็นพระที่เราอยู่ในสังคมด้วยกัน แต่พระที่เรานับถือเคารพเป็นครูบาอาจารย์ ถ้าเราเคารพเป็นครูบาอาจารย์เพราะอะไร? เพราะจิตใจท่านเป็นธรรม จิตใจท่านพ้นจากสิ่งที่เป็นฝักเป็นฝ่าย สิ่งที่เป็นผลประโยชน์ สิ่งที่มีปัญหาอย่างนี้ ท่านพ้นจากสิ่งนี้ไป นี่สิ่งนั้นถึงเป็นครูบาอาจารย์ของเรา

เราแสวงหาเอาเนาะ เพราะอะไร? เพราะนี่เป็นอาชีพ เพราะครั้งที่แล้วเขาบอกว่าเคยเขียนมาถามหลวงพ่อเรื่อง “พุทธกับผี” นี้ถามอีกค่ะ วันนี้ตอบให้เคลียร์เลยล่ะ เพราะสังคมมันมีเรื่องอย่างนี้กันอยู่ เพราะเราเป็นพระ บริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา อุบาสก อุบาสิกากับภิกษุมันอยู่ด้วยกัน มันสัมพันธ์กันมาตลอด พอมันสัมพันธ์มาตลอด เพราะมีคำถามนี้มา วันนี้เลยตั้งใจพูดให้สิ่งที่เป็นหลักเกณฑ์ไว้ว่าเราจะดำรงชีวิตอย่างไร? เราจะหาสิ่งใดเป็นประโยชน์กับเรา ไม่เป็นประโยชน์กับเรา เอวัง