เทศน์บนศาลา

กองทัพกิเลส กองทัพธรรม

๓o ต.ค. ๒๕๔o

 

กองทัพกิเลส กองทัพธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๐
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

…เป็นขุมทรัพย์ที่ใครจะเปิด เราเองต่างหากไม่มีภาชนะที่จะไปตักทรัพย์สมบัติอันนี้ออกมา พระพุทธศาสนานี้เปรียบยิ่งกว่าทะเล น้ำทะเลมหาศาลขนาดไหน แล้วแต่ใครจะตักใครจะจ้วงเอา

ในพระพุทธศาสนาสอน สอนตั้งแต่คฤหัสถ์ สอนคฤหัสถ์นะ ให้การดำรงชีวิตของคฤหัสถ์ ทิศไง ทิศ ๘ การบริหารทิศ พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ญาติ คนใช้อยู่ในบริหารทิศทั้ง ๘ สอนคฤหัสถ์ สอนนักบวช สอนเทวดา สอนหมดนะ พระพุทธเจ้าสอน พระพุทธเจ้าเป็นผู้พบพระพุทธศาสนา แล้วเอาพระพุทธศาสนาวางไว้ วางไว้หมายถึงว่ามีตำรา มีคนสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้

แล้วเราเกิดเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เกิดเป็นมนุษย์แล้วได้พบพระพุทธศาสนาเป็นบุญกุศลอย่างมหาศาล เพราะมนุษย์เกิดมาในโลกนี้หลายพันล้าน เราเป็นหนึ่งในหลายๆ พันล้านนั้นที่เกิดในประเทศไทยที่มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ มีการส่งเสริม รัฐบาลส่งเสริมพระ รัฐบาลส่งเสริม สังคมนี้ตรวจสอบ สังคมนี้เป็นสังคมของชาวพุทธ เคยตรวจสอบไปว่าพระกับผู้ปฏิบัติจะอยู่กันถูกต้องขนาดไหน เราเป็น ๑ ใน ๖๐ ล้านคนในประเทศไทยที่มีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แล้วพบครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติเป็นแนวทาง

ถึงว่า แล้วเราจะเอาสมบัติอะไร?

“ทาน ศีล ภาวนา” เราได้ทำทาน เราเชื่อในบุญกุศล เราก็ได้ทำทาน “ทาน” ได้ทำบุญทำกุศล ผู้สละออก สละวัตถุออกไปเป็นบุญกุศล มันเป็นวัฒนธรรมประเพณี ประเพณีของชาวพุทธ เราอยากเป็นคนดี เราอยากจะให้สังคมยอมรับว่าเราเป็นคนดี เราทำตามวัฒนธรรมประเพณีของชาวพุทธ ให้มีการสละ มีการจาคะ มีถึงคราวทำทาน ถึงคราวนักขัตฤกษ์ต้องนิมนต์พระ ต้องให้พระสวดไง สวดอะไร สวดมงคล ๓๘ ประการ สวดวิรูปักเข สวดสูตรต่างๆ นี้เป็นธรรมะของพระพุทธเจ้า สวดเพื่อให้เราเข้าถึงธรรม การฟังธรรม การฟังคำสวดคือคำสอน การเรียนภาคปริยัติ

ให้ทำทานแล้วได้ศึกษาเป็นสุตมยปัญญา แล้วให้ประพฤติปฏิบัติ ประพฤติปฏิบัติเพื่อให้เป็นสมบัติ เป็นปัจจุบันสมบัติ เป็นปัจจุบันนะ ปัจจุบันที่เกิดขึ้นท่ามกลางหัวใจ การทำบุญกุศลมันก็เป็นปัจจุบันแค่ส่วนหนึ่ง ปัจจุบันที่เราได้รับความสุข ได้รับความอิ่มใจในการทำบุญกุศลนั้น แต่บุญกุศลนั้นส่งต่อไป เห็นไหม เราสร้างบุญกุศลไว้จนเต็มเม็ดเต็มหน่วย เราตายไปเราจะเกิดในสวรรค์ จะชั้นไหนก็แล้วแต่ แล้วแต่แรงขับของบุญกุศลในความบริสุทธิ์ของการทำบุญกุศลของเรา มันต้องเป็นอดีตด้วย มันถึงได้เป็นอนาคต จากปัจจุบันแล้วส่งผลให้ความสุขส่วนหนึ่ง แล้วส่งผลในอนาคตอีกส่วนหนึ่ง เพราะว่าปัจจุบันนี้เป็นความสุข ตายไปก็จะพบความสุข สุคโตปัจจุบันนี้

แต่การประพฤติปฏิบัติไม่ต้องไปหวังตรงนั้น ไม่หวังไปอนาคต หวังในปัจจุบันนี้ การประพฤติปฏิบัติ การสำรวมกาย วาจา แล้วใจมันสำรวมไหม สำรวมกาย วาจาเพื่อนั่งสมาธิ ทำจิตให้ตั้งมั่น ปัจจุบันธรรมจะเกิดขึ้นในเวลาจิตมันสงบ พอจิตสงบ มันพ้นจากความฟุ้งซ่าน

ความสงบแท้ๆ ความสุขเกิดขึ้นจากภายใน “สมาธิธรรม” ใครมีสมาธิ ใครมีความสงบของใจ ความสุขใดๆ ในโลกนี้จะมีความสุขเท่ากับใจสงบนี้ไม่มี สงบหยาบๆ นะ สงบแท้คือสิ้นกิเลส สงบจริงเลย นั่นจิตหมดจากกิเลส อันนั้นสุขเหนือโลก เหนือสมมุติ เหนือทุกอย่างที่การคาดหมาย เราคาดหมายไม่ถึงตรงนั้นเลย

มนุษย์นี้เก่งนักเก่งหนาในการสมมุติ กฎหมายโลก กฎหมายสากล กฎหมายประเทศไทยสมมุติขึ้นมาจนงงไปหมดเลย อยู่กันด้วยสมมุติไง ระเบียบกติกาต่างๆ นี้มนุษย์คิดขึ้นมา เกิดมาท่ามกลางสมมุติแล้วเก่งสมมุติจริงๆ เก่งการประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมานะ กติกาสังคมนี่สมมุติทั้งหมดแต่เป็นจริง จริงตามสมมุติไง วันนี้ออกกฎหมายมามาตรานี้ ใช้ไปชั่วกาลชั่วคราวหนึ่งเปลี่ยน สมมุติเปลี่ยนไปแล้ว นี่มนุษย์เก่งในความสมมุติ

แล้วว่าสมมุติๆ ทำตามสมมุติไปแล้วมันสุขหรือมันทุกข์ล่ะ มันสุขจริงตามความเป็นจริงไหม สมมุติต้องเปลี่ยนตลอดเวลาเพื่อให้ทันกาล เพราะกิเลสมันเหนือสมมุติ เกิดมานี้ก็เกิดท่ามกลางสมมุตินะ จริงตามสมมุติเพราะมันเป็นของชั่วคราว

“เกิด” คนเกิดมาต้องแก่ทั้งหมด คนแก่ต้องตายทั้งหมด...สมมุติไหม? สมมุติจริง แล้วก็สมมุติซ้อนขึ้นมาอีก แล้วเราปฏิเสธไม่ได้ด้วย ทำความผิด ผิดเด็ดขาด ติดคุกเด็ดขาดเลย ว่าสมมุติๆ นี่ลองไปทำร้ายใครสิ “สมมุติ” กฎหมายให้อภัยไหม นี่มนุษย์เก่งในการสมมุติ เก่งในการผูก เก่งในการมัดคอตัวเองให้จมไป แต่มนุษย์ไม่รู้จักการเปลื้องออก

การเปลื้องตัวเองออกจากสมมุติ มันไม่ได้เปลื้องที่กายออกจากสมมุติ มันเปลื้องหัวใจไง เปลื้องหัวใจ เปลื้องใจนี้ปล่อยวางไว้ทั้งหมด ปล่อยวางตามความเป็นจริง ไม่ใช่ปล่อยวางสักแต่ว่า นี่กองทัพกิเลส กองทัพกิเลสแม้แต่ปฏิบัติธรรมอยู่ นั่งสมาธิอยู่กิเลสมันก็เสี้ยม

“การประพฤติปฏิบัติตามประเพณีวัฒนธรรม” เราชาวพุทธ เราอยากจะปฏิบัติ เราต้องมี เป็นนักปฏิบัติ ไปไหนต้องมีชุดปฏิบัติ ต้องมีผ้าสไบเฉียง เห็นไหม อยากได้รูปแบบของการปฏิบัติ เราเป็นชาวพุทธ เราได้ทำบุญทำกุศลแล้ว แล้วเรายังเป็นนักปฏิบัติด้วย แล้วขณะปัจจุบันนี้เราก็ปฏิบัติจริงๆ ด้วย เราก็นั่งปฏิบัติอยู่ด้วย แล้วกิเลสมันสงบไหม

กิเลสมันไม่กลัวการปฏิบัติหรอก กิเลสมันไม่กลัวเครื่องแบบนักปฏิบัติหรอก กิเลสมันไม่กลัวพระที่ว่านุ่งเหลืองห่มเหลืองหรอก พระนุ่งเหลืองห่มเหลืองมา บวชมาพร้อมแต่ออกมาจากโบสถ์เป็นพระโดยสมมุติเหมือนกัน ได้รูปแบบมาเหมือนกัน ได้รูปแบบเหมือนกับปฏิบัติมาเหมือนกัน ได้รูปมา แบบมา ได้สมมุติ จริงตามสมมุติมาเป็นสมมุติสงฆ์ สงฆ์โดยสมมุติไง แต่ไม่เกิดอริยสงฆ์ขึ้นมาท่ามกลางหัวใจ เรายังไม่เกิดความประพฤติปฏิบัติเข้าไปให้ใจมันเสพธรรม

การประพฤติปฏิบัติ ประพฤติปฏิบัติในรูปแบบ รูปแบบในการประพฤติปฏิบัติ นี่คือกิเลส กิเลสส่วนหนึ่ง เป็นมรรคส่วนหนึ่ง มรรคคือการอยากทำไง อยากทำใช่ไหม อยากทำอยากประพฤติปฏิบัติ มีรูปแบบในการประพฤติปฏิบัติ แต่มันไม่เข้าไปถึงตัวธรรมะจริงในการที่ว่าธรรมะนี้เป็นทรัพย์สมบัติ เป็นขุมทรัพย์อันมหาศาล

เราไม่สามารถเปิดฝาโอ่งได้ ไม่สามารถตักน้ำธรรมนั้นได้ เราไม่สามารถเปิดสิ่งที่ปกคลุมใจอยู่ได้ เราไม่สามารถสยบกิเลสได้ เราไม่สามารถสงบความฟุ้งซ่านของใจให้มันสงบตัวลงได้ เราก็ไม่ได้น้ำอมตธรรมอันนั้น เห็นไหม ถ้าความเป็นจริง อริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ทุกข์มันเป็นความจริง

สมุทัยมันก็เป็นความจริงอันหนึ่ง

นิโรธ ความดับทุกข์ก็เป็นความจริงอันหนึ่ง

อริยมรรค มรรคะ มรรคหยาบๆ มรรค อริยมรรค มรรค ๔ ผล ๔

นี่เครื่องมือในการดำเนิน เครื่องมือในการเปิดฝา ในการเปิดน้ำอมตธรรม

ทีนี้เราทำขนาดไหน เราถึงเข้าไม่ถึง เพราะในการประพฤติปฏิบัติ “กิเลส” กองทัพกิเลสมันมาพร้อมกับการประพฤติปฏิบัติ มันเสี้ยมออกมา เราเปิดน้ำมาจากต้นน้ำจากก๊อกก็แล้วแต่ น้ำนั้นไหลออกมา น้ำนั้นสกปรกหรือสะอาด น้ำสะอาดนั้น น้ำนั้นเป็นคุณประโยชน์หมดเลย ถ้าน้ำนั้นสกปรกล่ะ น้ำสกปรกนั้น น้ำนั้นก็เป็นน้ำ มันให้ความชุ่มชื้นอยู่ แต่น้ำนั้นสกปรกให้โทษกับผู้เสพ ผู้ดื่ม ผู้กิน กิเลสมันยังอยู่ในหัวใจของเรา การประพฤติปฏิบัติ เราเปิดน้ำออกมา น้ำอันนี้สะอาดหรือบริสุทธิ์ น้ำนี้สะอาดหรือไม่สะอาด เห็นไหม กิเลสบางทีมันรุนแรง ออกมานี่จะออกมาด้วยความคิดที่รุนแรงมาก

เวลามันจางออกไป น้ำอันนี้ออกมาด้วยความเข้มข้นของพิษหรือความเจือจางของพิษ นี่ถึงว่าประพฤติปฏิบัติที่ยังไม่ได้ผลเพราะตรงนี้ เราถึงต้องมีการฝืน ฝืนเพื่อให้น้ำนี้มีเจตนาของความคิดหรือเจตนาของการปฏิบัติให้มันอ่อนตัวลงๆ คือว่าให้มีเจตนาในการอยากปฏิบัติ เจตนาในการอยากนั่ง เจตนาในการใส่เหตุ อันนี้เป็นมรรค มรรคคือการสร้างเหตุ เราไม่หวังในผลนั้น

การประพฤติปฏิบัติมันถึงว่ามันยังมีส่วนของกิเลสจะร่วมออกมาด้วย ตามน้ำมาตลอดเวลา เราถึงว่าเราประพฤติปฏิบัติ เราเป็นนักปฏิบัติ เราเป็นนักประพฤตินักปฏิบัติ เป็นผู้ทำความเพียร ท่ามกลางของความเพียร ธรรมมันส่วนหนึ่ง ธรรมฝ่ายเหตุกับธรรมฝ่ายผล

“ธรรมฝ่ายเหตุ” เร่งความเพียร การงานชอบ การงานในการบังคับใจให้อยู่ ไม่ใช่การงานการประกอบอาชีพงานข้างนอกนั้น การงานชอบ จิตแก้จิต ความคิดแก้ความคิด ความเหนี่ยวรั้ง สติความระลึกรู้อยู่ เหนี่ยวรั้งความคิดที่มันแย็บออกไป ถ้าความระลึกรู้อยู่นี่ก็เกิดขึ้นมาจากความระลึก เกิดขึ้นมาจากจิตตัวนั้น แล้วก็เหนี่ยวรั้งให้จิตตัวนั้นไม่ให้กระแสนั้นคิดออกไป

“ความคิด” ถ้าคิดออกไปมันเป็นความคิดที่มันเป็นตามสภาวะของมันต้องเป็นอย่างนั้น เพราะจิตเป็นการส่งออก เป็นพลังงานตัวหนึ่ง ถึงได้ต้องให้กำหนดพุทโธไง มันจะหยุดคิดเลยไม่ให้มีส่วนความรู้สึกเลยเป็นไปไม่ได้ เพราะมันเป็นพลังงานที่ต้องมีความรับรู้อยู่ ความรับรู้อยู่แบบเด็กอ่อน ต้องเกาะผู้อื่นดำเนินต่อไป ให้ยืนอยู่ตัวเองก็ยืนอยู่ไม่ได้ ต้องเกาะอารมณ์ความรู้สึกอยู่ เกาะอารมณ์ความรู้สึกอยู่ก็เกาะอารมณ์ที่เป็นพิษ เกาะอารมณ์ที่ให้โทษแก่ตัวเอง นี่ธรรมฝ่ายเหตุ ถึงเป็นกรรมฐาน ๔๐ ห้องไง

กรรมฐาน ๔๐ ห้องก็พุทโธ ธัมโม สังโฆ เทวตานุสติ ระลึกถึงความตาย มรณัสสติ ถึงได้เอาส่วนนี้มา เวลาระลึกรู้ออกไปก็ไม่ระลึกด้วยอารมณ์ความเป็นพิษ ให้ระลึกรู้อยู่ด้วยอารมณ์ความเป็นธรรม ถึงให้กำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ กำหนดกรรมฐาน นี่ธรรมฝ่ายเหตุ แต่มันไม่กิน กิเลสมันไม่ชอบ กิเลสมันชอบรสแสบๆ รสเผ็ดๆ รสที่มันพอใจ ถึงว่าอารมณ์ที่เป็นพิษนั้นมันถึงเข้ากับกิเลส การประพฤติปฏิบัติอยู่ กิเลสถึงเสี้ยมอยู่ มันตามออกมาด้วยไง มันถึงไม่ได้เป็นผล นี่กิเลสมันตามออกมา

แม้แต่การนั่งประพฤติปฏิบัติอยู่ เพราะมันเริ่มต้นออกมาจาก อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ที่ออกมาจากต้นขั้วของความคิด ออกมาจากต้นขั้วของใจ ต้นขั้วที่ออกมา นี่ถึงว่ากิเลสมัน...เรานั่งประพฤติปฏิบัติอยู่ กิเลสมันก็อาศัยการประพฤติปฏิบัตินี้ออกมาด้วย ถึงจะเข้าไปเสพรสของธรรมไม่ได้ตามความเป็นจริง คือว่าขุมทรัพย์อันมหาศาลเลย เราเปิดยังไม่ได้ ขุมทรัพย์นะ อริยทรัพย์มหาศาลในศาสนาพุทธในตัวศาสนา ศาสนธรรมไง

“ใจเป็นธรรม” ถ้าใจนี้เข้าถึงธรรม เปิดภาชนะได้เป็นธรรมล้วนๆ นะ เป็นบ่อน้ำทิพย์ เป็นบ่อแห่งความสุข เป็นความสุขที่ไม่เจือจางว่าอย่างนั้นเลย เป็นสุขตลอด แต่มันเปิดอย่างไร เราถึงว่าการประพฤติปฏิบัติอยู่ต้องมีความเข้มแข็ง ต้องเกาะธรรมะฝ่ายเหตุ การงานชอบ ความเพียรชอบ การประพฤติปฏิบัติที่ชอบ กิเลสมันจะตามมานี่เป็นเรื่องสุดวิสัย เพราะเราเกิดมาท่ามกลางของกิเลสพาเกิด เป็นเรื่องสุดวิสัย มันถึงว่ามันมีอยู่แล้วโดยเริ่มต้น จิตเดิมแท้ จิตตัวเกิดตัวนั้นมันเป็นตัวของมันเองอยู่แล้ว

ทีนี้การชำระล้างเข้าไป ถ้าไม่มีตรงนี้ ไม่มีการเกิด ไม่มีจิตและไม่มีร่างกาย การประพฤติปฏิบัติตรงนี้ก็ไม่เกิด การที่ว่าเกิดเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา เป็นวาสนาอันอย่างมากๆ ก็ไม่ได้เกิด มันถึงว่าการเกิดมามันมีสิ่งที่ดีและสิ่งที่ไม่ดีปนกันมาไง “กรรมทำจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างกัน” การเกิดของเรา เกิดมารูปสวย รูปไม่สวย เกิดมามีทรัพย์สมบัติ เกิดมาอัตคัดขัดสน เกิดมาสวย เกิดมารูปงามแต่ขัดสน เกิดมามีทรัพย์มากแต่ร่างกายไม่สวยไม่งาม เห็นไหม อันนี้เปลือก

แต่ถ้าหัวใจเกิดมา เกิดมาในร่างของมนุษย์ แล้วพบพระพุทธศาสนา นี่วาสนาเกิดแล้ว เพราะโอกาสมันมี โอกาสการประพฤติปฏิบัติมันมี โอกาสการเจอครูบาอาจารย์ การที่ว่าในหมู่ของชาวพุทธ ในหมู่ของฝ่ายที่เกิดสร้างเหตุ สร้างเหตุให้เป็นไปไง มีโอกาส มีหมู่คณะ มีการชักดึงกันไป เป็นโอกาสหรือไม่เป็นโอกาส เป็นบุญหรือไม่เป็นบุญ เป็นอำนาจวาสนาหรือไม่เป็น

ถึงว่าถ้าไม่มีการเกิด ไม่มีหัวใจและไม่มีร่างกายนี้ เราก็ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ พอประพฤติปฏิบัติก็มาขัดกับว่าทำไมกิเลสมันถึงได้มาเสี้ยมเราขนาดนี้ ความเป็นจริง ข้อเท็จจริงมันเป็นข้อเท็จจริงโดยความเป็นจริงในการเป็นสมมุติของโลก ในวัฏวนที่เป็นแบบนี้ เราเกิดท่ามกลางความสมมุติ เราปฏิเสธสิ่งนี้ไม่ได้ หน้าที่ของเราคือหน้าที่กำจัด หน้าที่จะให้พ้นจากทุกข์นี้ออกไป

แล้วทุกข์ กิเลส กิเลสคือทุกข์ กิเลสทำความขัดใจให้ตัวเอง กิเลสเป็นความไม่พอใจของตัว เพราะเรามีกิเลส เรามีความทุกข์ในหัวใจ ศาสนานี้ถึงแก้ทุกข์ ทุกข์เป็นผล ความขัดข้องหมองใจนี้เป็นผลเกิดจากสมุทัย สมุทัยความทะยานอยาก ความขัดสน ความไม่พอใจ ความจะเอาแต่ใจ ความต้องการให้สิ่งที่พอใจ-ไม่พอใจเกิดดับในความพอใจของตัว

เพราะเกิดความยึด ความยึดเพราะเรายึดเอง เราคาดเอง เราหมายเอง เราปรารถนาเอง แต่มันไม่ตามความเป็นจริง เพราะสิ่งที่ตามความเป็นจริงนี้มันก็เป็นอนิจจัง สิ่งที่เราคาดเราหมายเรานึกเอง อันนั้นยิ่งเป็นอนิจจังซ้อนอนิจจังเข้าไปใหญ่เลย มันถึงเป็นทุกข์ๆๆๆ ๒ ชั้น ๓ ชั้น ทุกข์เพราะอยากให้ผลเป็นตามความคิดของตัว แล้วตัวนี้มันก็ว่าเป็นตัวพลังงานที่ออกมาจากเราเป็นนั่นล่ะ แต่เราก็ศึกษากันมา เราก็เล่าเรียนกันมาว่าเป็นแบบนั้น แต่เราไม่สามารถชำระล้างได้ เพราะเราจับตัวปัจจัยตัวนี้ไม่ได้ คือเราไม่เห็นตามความเป็นจริง เราไม่เห็นความเกิดดับในหัวใจในความคิดนี้ในตามความเป็นจริง เราไปเห็นแต่ผลของทุกข์ตลอด ทุกข์เป็นผล อารมณ์ความรู้สึกที่ว่าเป็นทุกข์ๆ อันนั้นมันยิ่งกว่าผลแล้ว มันเป็นวิบากอีกต่างหาก

แต่เราว่าเราก็ศึกษาธรรมะ เราก็ปฏิบัติธรรม ทำไมเราไม่ได้ผล เราไม่ได้ผล

“ผล” ผลคือธรรม เราเข้าไปเสพธรรม “เสพธรรม” ปฏิบัติธรรมเพื่อธรรม ไม่ใช่ปฏิบัติธรรมเพื่อกิริยา ไม่ปฏิบัติธรรมเพื่อวัฒนธรรม “การปฏิบัติธรรม” การประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อให้ได้แค่เปลือกเหรอ การประพฤติปฏิบัติเป็นสิ่งที่ดี ดีแน่นอน เพราะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะพ้นออกไป เป็นแนวทาง เป็นวิธีการที่เราจะออกจากทุกข์

แต่นี่เวลาทำแล้วถึงว่าไม่ให้นอนใจ ให้บึกบึน ให้ส่งกระแสถึงการออกไป ใจนี้ให้เคลื่อนไป เคลื่อนที่ออกไป ไม่ใช่ปฏิบัติอยู่ตรงนั้นแล้วปฏิบัติสักแต่ว่าปฏิบัติ การปฏิบัติต้องให้เคลื่อนที่ออกไป ต้องเป็นไปได้

ผลมีจริง ผลมี ผลของความสุข ผลของการชำระกิเลส ที่ไหนมันมีเหตุต้องมีผลสิ มืดคู่กับสว่าง ความเป็นไปไม่ได้ต้องคู่กับความเป็นไปได้ สิ่งใดที่เป็นไปไม่ได้ ถึงจุดหนึ่งต้องเป็นไปได้ มีเหตุผลพอถึงเป็นไปได้ เหตุผลด้วยมรรคอริยสัจจัง ความเห็นชอบ ความเห็นในการแก้ไข ความเห็นในการหักกลับมา ความเห็นในการรูปของใจ จับตัวความสุขความทุกข์อันนี้ได้ ความเห็นตรงนี้ ความเห็นว่าผู้ที่รับผลมันมี

พอปฏิบัติมันก็ลังเล พระพุทธเจ้าตายมาแล้ว ๒,๕๐๐ กว่าปี ผลยังมีอยู่หรือ จะปฏิบัติเสียเปล่าหรือเปล่า การประพฤติปฏิบัติมากี่ปีมันยังไม่ได้ผล นี่เราจะปฏิบัติเสียเปล่าหรือเปล่า แล้วพระที่ปฏิบัติมา พระที่บวชมาทั้งชีวิต ฟังสิ! ใช้ชีวิตอยู่ในเพศพรหมจรรย์ ใช้ชีวิตอยู่ในการประพฤติปฏิบัติ แล้วจะไม่เสียชีวิตเปล่าหรือ ฟังสิ! แล้วเราปฏิบัติ เราจะหวังผล-ไม่หวังผล ผลมันมีแต่ถ้าเราไปคาดผลผิด ปักใจให้เชื่อถึงว่าผล ผลของการชำระกิเลส ผลของครูบาอาจารย์ที่ยืนยันมาเป็นหลักก็มี

ในพระไตรปิฎก พระสารีบุตรสำเร็จที่เขาคิชฌกูฏ ในถ้ำที่เขาคิชฌกูฏ นี่ชัดๆ เลย เป็นผู้ชำระกิเลสที่ถ้ำนั้นที่เขานั้น ครูบาอาจารย์หลายๆ องค์ว่าที่วัดนั้นๆ ที่ตรงนั้นเลย นี่การชำระกิเลสมันชำระกันซึ่งๆ หน้าปัจจุบันธรรม เห็นการสิ้นไปของกิเลสจากใจ นี่มันเป็นการยืนยันว่ามี ผลการสำเร็จ ผลของการชำระกิเลสเป็นไปได้ ถ้าเราเชื่อว่าผลมันมีอยู่ เหตุในการเต็มใจ การเต็มใจ การมุมานะ การพยายาม การขวนขวายมันจะเต็มรูปแบบ เราตั้งใจว่าเราขวนขวาย เราพยายามทำเต็มที่ แต่กิเลสที่มันนอนเนื่องมาในหัวใจมันแบ่งไปกินแล้วครึ่งหนึ่ง

ความไม่แน่นอน ความลังเล ความสงสัย ความไม่จริง จริงก็จริงสักแต่ว่าต้องเก็บเผื่อไว้พรุ่งนี้ทำงานบ้าง เก็บเผื่อไว้เดี๋ยวจะกลับไปที่บ้านจะไปนอน เห็นไหม มันก็จริงตั้งใจมาเต็มที่เลย แต่มันเผื่อไว้ก่อนปฏิบัติแล้วด้วย ว่านั่งแล้วเดี๋ยวจะทำอย่างนั้นๆ ต่อ พลังงานนี้ต้องเก็บไว้ใช้อย่างนั้นต่อ มันไม่ปักเต็มร้อย

เหมือนการกระทำหลายๆ สิ่ง เราทุ่มไปเต็มๆ เลย เราทุ่มไปทั้งหมด มีเท่าไรทุ่มไปให้หมดเลย เพราะอาการของใจมันไม่ใช่เหมือนวัตถุ มันใช้เท่าไรมันก็ไม่หมดหรอก เหนื่อยนักพักเดี๋ยวก็หาย พลังงานอันนี้ใช้ได้ตลอดเวลา แต่เราไปห่วง เราไปพะวงกันซะเอง เราไม่ยอมใช้เต็มที่ กลัวจะเหนื่อย กลัวจะเสีย เวลาสร้างเหตุนะ เวลาทุกข์บีบคั้นจนเจ็บแสบ จนคอตก ทำไมไม่คิดถึงมันบ้าง

“แก่นของกิเลส” กิเลสมันมาพร้อมกับหัวใจ มันเกิดตั้งแต่ปฏิสนธิมาพร้อมกับใจอยู่ที่ใจ บีบคั้นหัวใจมาตลอด บีบคั้นนะ บีบบี้สีไฟหัวใจมาตลอดเลย เราไม่เห็นทุกข์อันนี้เลย แต่พอจะทำ เราว่ามาเห็นทุกข์ ทุกข์เปลือก ทุกข์กิริยา ไม่ได้ทุกข์เนื้อของจิตที่นอนเนื่องมา “ภวาสวะ” อนุสัยที่นอนเนื่องมากับใจพร้อมกับ “กิเลสสวะ” อาสวะ ๓ นอนเนื่องออกมาจากเนื้อของใจ เนื้อของใจอยู่ท่ามกลางร่างกายเรานี่ ร่างกายนี่เป็นแค่คูหานะ เป็นที่อยู่อาศัยของใจเท่านั้น เกิดเป็นมนุษย์ถึงได้ร่างของมนุษย์มา ร่างของกายมาแล้วมีหัวใจ เกิดเป็นเทพ เกิดเป็นผี เขามีแต่ใจล้วนๆ เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เราได้คูหาได้ถ้ำมาถ้ำหนึ่ง แล้วเราระเบิดออกได้ไหม

การจิตสงบตั้งมั่นจนเห็นกายภายในนะ กายจากตาธรรมเห็น ตาภายในเห็น พิจารณาจนคูหานี้ระเบิดออก จิตพ้นออกมาจากถ้ำ จิตเรานี่หลงเข้าไปในถ้ำ ปิดมืดหมดเลย เราไม่สามารถทำลายถ้ำนี้ได้เลย แล้วมีอยู่คราวหนึ่ง เราทำลายถ้ำ แสงสว่างพุ่งเข้ามาดูสิ อยู่ในความมืด อยู่ในถ้ำในที่อับชื้น อยู่ในความอึดอัด แล้วถึงคราวหนึ่งเราระเบิดออกไป ความสว่างหลุดเข้ามานะ ส่องแสงเข้ามานะ อากาศถ่ายเทนะ ความสดชื่น จิตนี้พ้นออก นี่การพิจารณากาย

นี่เราไม่ได้พิจารณา เรายอมจำนน อยู่ในถ้ำก็ไม่กล้าทำลายถ้ำ มันจะอับ มันจะชื้นอย่างไรก็ทนอยู่เอา กลัวทำไปแล้วมันจะกระเทือนร่างกาย กลัวทำไปแล้วเราจะเจ็บจะปวด นี่มันกลัวไปหมด มันไม่กล้า ถ้าเราไม่กล้า เราเป็นโรค เราไม่กล้าทำลายเชื้อโรคนั้น เราเป็นโรคที่ต้องทำการผ่าตัด เราไม่กล้าลงมีด มันสะเทือนเราไปหมด เราไม่กล้าลงมีด เราไม่กล้าทำลายเชื้อโรคที่อยู่ในตัวเรา เราว่าเราโง่หรือเราฉลาด อ้าว! ฟังสิ

เพราะความเห็นของกิเลส ความเห็นของเรามันจะเห็นอย่างนั้นไง เราไม่ได้เห็นตามความเป็นจริงที่พระพุทธเจ้าได้สอนไว้ พระพุทธเจ้าบอก “สิ่งนี้เป็นกิเลส สิ่งนี้เป็นความไม่จริง สิ่งนี้เป็นสิ่งที่พึ่งไม่ได้ สิ่งนี้เป็นสิ่งให้ระวัง”

แต่เวลาเราว่า “ไม่ได้ สิ่งนี้เป็นเรา ของนี่เป็นของเรา เราทำสิ่งนี้มันจะสะเทือนไป” มันไม่กล้าทำ เพราะความเห็นของเรา ความเห็นของเรา เราคือใคร? เราคือกิเลส เราคือมานะ เราตั้งป้อม นี่กิเลส กองทัพกิเลสในหัวใจมันขัดกับกองทัพธรรมของพระพุทธเจ้า คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ศาสนธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านะ อยู่ข้างนอก ยังไม่สามารถเอาธรรมนั้นเข้ามาในหัวใจเราได้

การศึกษา การอ่านตำรามายืมมาทั้งหมดเลย ยืมความคิดของพระพุทธเจ้ามา ยืมมาแล้วก็ไม่ได้เข้าไปแนบกับเนื้อของใจเป็นความเห็นของตัว ความเห็นยืมก็เหมือนกับสิ่งที่อยู่นอกบ้านของเรา แต่สิ่งที่อยู่ในบ้านของเราคือกิเลส กิเลสมันอยู่ที่กลางหัวใจ มันขับไส มันปฏิเสธโดยที่เราไม่รู้ตัวเลย

เราว่าเราเป็นชาวพุทธ เราเชื่อพระพุทธเจ้า เราเชื่อคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เราเห็นตามความเป็นจริงนั้นหรือเปล่า เห็นตามความเป็นจริงนั้นกิเลสต้องระเบิด ถ้ำนั้นต้องแตกออก ถึงจุดหนึ่งสิ่งที่เป็นวัตถุเราทำลายได้ด้วยสิ่งที่มีพลังงานที่เหนือกว่า คูหาของกายนี้ก็เหมือนกัน พลังงานของการวิปัสสนาต้องระเบิดได้ พลังงานของสมาธิธรรม

ตบะธรรม ตบะ “ตโป” ตบะ พระพุทธเจ้าได้สวดมนต์สอน “ตโป จ” “พฺรหฺมจริยญฺจ” ตโปคือตบะธรรม ตบะธรรมนี้เผาผลาญด้วยความเห็นถูกต้อง ไม่ใช่เผาผลาญด้วยความเห็นผิด “ความเห็นถูก” งานการเผาผลาญที่ถูกต้อง การพิจารณาจุดนั้นที่ถูกต้อง การทำความเพียร การทำถูกสม่ำเสมอ วิริยธรรม ต้องมีพลังงานของสมาธิด้วย

ถ้าสมาธิยังเป็นสมาธิอยู่ การวิปัสสนา การพิจารณาไปมันจะเป็นวงรอบ มันจะตัด มันจะเฉือนออกไป มันจะมองส่องเข้าไป ถึงมันไม่ได้ทำลายถ้ำนั้นมันก็มีเหมือนแสงเอ็กซเรย์มองผ่านถ้ำนั้นได้แล้ว ถ้าเป็นสมาธิ พลังงานตัวนี้ยังมีพลังงานอยู่ ถ้าสมาธิเบาลงมันมองเห็นไปเห็นแต่ก้อนหิน เห็นแต่มันผ่านทะลุด้วยแสงเอ็กซเรย์ไม่ได้ แสงเอ็กซเรย์เหมือนกับแสงของสมาธิ เป็นพลังงานของสมาธิ ฉะนั้น ถ้าสมาธิ จิตที่ตั้งมั่น จิตที่วิปัสสนาถูกต้องนี้ มันถึงว่าเป็นมรรค มรรคอริยสัจจัง

แต่ถ้าสมาธิไม่ถึงนะ สมาธิอ่อนตัวลง พลังงานนี้อ่อนตัวลง ความคิดนี้ก็อ่อนตัวลงตาม ความคิดนี้อ่อนตัวลงตามแล้วความคิดนี้ก็เป็นโลก เป็นโลกียะ เป็นความคิดแบบที่เราศึกษาเล่าเรียนกันมา มันไม่ใช่ภาวนามยปัญญา ปัญญาอันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากธรรมจักรของพระพุทธเจ้า พลังงานมันเกิดขึ้น เราส่งขึ้นไปแล้วมันก็เสื่อมลงมา ความเสื่อมลงมาเราต้องไสกลับขึ้นไป ต้องกลับมาทำความสงบของใจ ทำความสงบของใจเพื่อมาเพิ่มพลังงานของใจให้เป็นธรรมจักร พลังงานตัวนี้มันจะมาตัดแรงดึงดูดของกิเลส แม่เหล็กของใจ พลังงานกระแสดึงดูดของโลก เครื่องบินกระสวยอวกาศมันออกจากโลกไปไม่ได้เพราะมันติดแรงดึงดูดอยู่ มันต้องขับไสออกไปไม่ได้พลังงานไม่พอ

ธรรมจักรนี้มันหมุนไม่ได้เพราะแรงดึงดูดของกิเลส แรงดึงดูดของเรา เพราะแรงสมาธิ ตัวสมาธินี้มันไม่ตัด ตัวสมาธิตัวมาตัดแรงดึงดูดของกิเลสไง แรงดึงดูดของกิเลส แรงดึงดูดความเห็นแก่ตัว แรงดึงดูดของความคาดหมาย แรงดึงดูดตัวนี้ถ้ามันออกมาเป็นโลกียะ โลกียะหมายถึงการคาดหมายของตัวเอง ความเห็นของตัว มันต้องตัดความเห็นของตัวออกไปให้เป็นธรรมจักร เป็นความเห็นตามความเป็นจริง

ถ้าสมาธิอยู่ พลังงานตัวสมาธิพร้อมมันจะหมุนออกไป หมุนออกไปแต่เป็นธรรมจักร เป็นความเป็นจริงของการเกิดขึ้น เป็นปัจจุบันธรรมนั้น จนธรรมจักรนี้รวมกันไง เป็นสามัคคี รวมกันจนความหมุนไปพอ ระเบิดออก...

(เทปขัดข้อง)

...การวิปัสสนาให้เห็นตามความเป็นจริง...

(เทปขัดข้อง)

...กิเลสมาอีกตัวมาเหนี่ยวรั้ง มันถึงว่าเป็นการทำงาน ๒ ซับ ๓ ซ้อนเข้าไปอยู่ในนั้น เพราะกิเลสมันจะเหนี่ยวมันจะรั้งไปทุกขั้นตอนในการประพฤติปฏิบัติ มันยุมันแหย่นะ มันจะไม่ให้ทำตามอย่างนั้น นี่ความเห็นของกิเลส

การประพฤติปฏิบัติ แม้แต่ทำความสงบมันก็ต่อต้านมาตลอด วิปัสสนามันก็ยุแหย่ไปตลอด มันเหนี่ยวมันรั้งไว้ตลอดเลย เหมือนกับเรา การทำงาน เราทำงานของเราอยู่ มีคนมาคอยทำให้งานนี้เสียตลอด นั่นล่ะคือกิเลส วิปัสสนานี้ก็เหมือนกัน งานที่การต่อสู้จริงๆ นะ มันก็เป็นงานที่ว่าหนักหนาสาหัสสากรรจ์แล้ว ยังมีการเหนี่ยวการรั้งของกิเลส การต่อต้านของกิเลส

นี่พูดอย่างนี้เพื่อจะให้ว่า “อย่านอนใจ” ไม่ใช่ว่าสุดวิสัยนะ พระพุทธเจ้าสอนแต่ผู้ที่มีกิเลสเท่านั้นล่ะ สอนที่ผู้อยากประพฤติปฏิบัติ อยากพ้นทุกข์ คนนอนอยู่ที่บ้านพระพุทธเจ้าไม่สอนนะ คนนอนอยู่นะ เพราะไปสอนมันทำไม คนมันเหมือนกับคนไม่มีค่า คนนี้ไม่ต้องการ คนที่ไม่สนใจไง

“ธรรมะพระพุทธเจ้า” ขุมทรัพย์อันนี้มันเป็นเรื่องของนามธรรม มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่อะไรก็ไปสัมผัสไม่ได้นอกจากหัวใจมนุษย์กับหัวใจของพวกเทวดา เพราะความสุขความทุกข์ภายในมันเป็นนามธรรม ธรรมะนี้ก็เป็นนามธรรม คนที่จะขวนขวาย คนที่จะแบมือ คนที่จะเปิดหัวใจรับ นี่ส่วนน้อยไง

ฉะนั้น เราเป็นผู้ปฏิบัติ ๑ แล้วเรายังเปิดใจ ๑ พระพุทธเจ้าจงใจสอนพวกเรา จงใจสอนพวกปฏิบัติ จงใจสอนพวกที่ต้องการ เราเป็นผู้หิวกระหายที่อยากจะพ้นทุกข์ ไม่ใช่หิวกระหายในสมบัติโลกนะ สมบัติโลกส่วนสมบัติโลก หิวกระหายในการพ้นทุกข์ หิวกระหายในการชำระกิเลสไง

อย่านอนใจ เกิดมา คนเกิดมา เกิดตาย เกิดตายทุกคน ไม่ใช่เกิดมาชาตินี้ชาติเดียวหรอก

พระพุทธเจ้าสอนว่า “การเกิดการตายมานี่ภพชาติซับซ้อนกันมาไม่มีที่สิ้นสุด”

“ถ้าเอาน้ำตาของเราทุกๆ ชาติมารวมกันแล้วน้ำทะเลสู้ไม่ได้”

“กองกระดูกที่ตายเกลื่อน ตายเกลื่อนนี่ เรานั่งตรงไหน เราก็นั่งทับบนกองกระดูกเก่าของเราทั้งนั้นเลย”

ฟังดูแค่นี้ว่าเราเกิดตายมากี่เท่า ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่นับ! การเกิดการตายไม่นับว่ากี่ชาติหรือกี่ล้านๆ ชาติ ไม่มีต้นไม่มีปลายไม่มีที่สิ้นสุด คือนับไม่ได้ แล้วจะเกิดตายต่อไปอีก จะเกิดตายต่อไปนะ ต้องเกิดและต้องตายต่อไปอีก แล้วทำไมไม่มุมานะเอาให้มันไม่ต้องไปเกิดไปตายไปเสียน้ำตาอีกล่ะ?

ถ้าจะชำระกิเลสจนสิ้นไป การตายการเกิด เพราะกิเลสมันตายแล้วไม่มีอะไรตายแล้ว แล้วก็ไม่มีอะไรเกิดอีก แต่คนที่ชำระกิเลสแล้วก็จะต้องตายไป ตายไปเพราะสละคราบทิ้งเท่านั้นเอง สละร่างกายของมนุษย์นี้หลุดออกไป หัวใจนั้นสิ้นแล้วมันไม่มีการเกิดการตาย เพราะมันรู้จักการเกิดการตายแล้วมันสลัดไอ้ที่ว่าขันธ์ ๕ ในหัวใจที่มันจะให้ผลออกไปแล้ว

ขันธ์ ๕ ทำบุญกุศล มันก็ซับลงที่ใจ การสร้างคุณงามความดี ใครคนไหนคนทำ คนนั้นเป็นคนทำคนนั้นต้องรู้ นั่นคือสัญญาลงที่ใจ การทำความชั่วแต่ชาติไหนมาก็ต้องลงที่ใจ ขันธ์ ๕ นี้สละออกแล้วเป็นตอของจิต แล้วไปสละตอของจิตออกไป เห็นการตายไปของกิเลสชัดๆ ต่อหน้าต่อตา เห็นการตายของกิเลสแล้ว เห็นการสมมุติที่ว่าโลกนี้สมมุติในการตายการเกิด ในสมมุติตามความเป็นจริง สมมุติตามความวัฏวน สมมุติในความเป็นจริงนะ แล้วก็มาสมมุติโลกไง เกิดในประเทศไทย เป็นประชากรของชาวไทย จะออกนอกประเทศไทยต้องมีบัตรผ่านแดน ต้องมีวีซ่า ต้องมีพาสปอร์ต นี่สมมุติของโลก

เราสละออกทั้งสมมุติโลกและสมมุติตามความเป็นจริงที่มันเป็น หัวใจนี้ถึงไม่มีการเกิดการตาย แล้วเรายังเกิดๆ ตายๆ อยู่นี่เราจะสงสารตัวเราเองไหม เพราะเราเห็นว่าเราต้องไปเกิดไปตายอีก แล้วไม่มีหนทางใดเลยที่จะเอาชนะตรงนี้ได้ จำกัดได้ก็ศาสนธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น “ศาสนธรรม” แล้วเราก็เดินมาๆ ตลอด ปฏิบัติมาตลอด...ทางอื่นไม่มี ทางอื่นไม่มีหรอก พลาดจากนี้ไปก็ไปเกิดไปตายอย่างเดียว พลาดจากนี้ไปนะ ไปแน่นอน เราจะพูดอย่างไร เราจะฝืนอย่างไรก็แล้วแต่ ความฝืนนั้นคือสมุทัย คือความคิด คือความปรารถนา คือความต้องการที่จะให้เป็นไป แต่ความจริงเป็นอีกอันหนึ่ง ความจริงอันหนึ่งเพราะว่าในหัวใจยังมียางเหนียวอยู่ มันไปเชื่อมต่อเอาขันธ์ ๕ มันเสียดายสมบัติที่เคยได้สร้างสมไว้

เกิดถ้าเราเคยสร้างสมคุณงามความดีไว้แต่อดีตชาติ ชาตินี้จะทำอะไรก็แล้วแต่ จิตมันก็ข้องอันนั้น อย่าว่าแต่มันจะไปติดในคุณงามความดี ติดในการทำชั่วทำดีในชาตินี้เลย การทำดีในชาติก่อนๆ มามันก็ฝังอยู่ที่ใจนั่นน่ะ มันก็ยังไปพะวงอยู่ตรงนั้น มันยังต้องไปเกิดอย่างนั้น ยังต้องหมุนไปอยู่ตลอดไปไง อย่าว่าแต่ชาติปัจจุบันนี้นะ ว่าจะสะสมมาขนาดไหน แล้วเวลาจะมาปฏิบัติมันยังยุแหย่

การสะสมมามากๆ สะสมมากๆ จนขนาดว่าพุทธภูมิ เวลาจะวิปัสสนามันยังอ้อยอิ่งยังเสียดายอยู่ภายในนะ เวลาเข้าไปถึงจุดแล้วมันจะรู้ เราหิวกระหายขนาดไหนก็แล้วแต่ เราเดินหาอาหารไม่มีที่กิน เราเข้าครัวเราสิ พอเปิดครัวเข้าไปนี่เรารู้ที่เลยล่ะ เปิดหม้อข้าวที่ไหน แกงอยู่ในตู้ไหน เอามากินทันที

อันนี้ก็เหมือนกัน อำนาจวาสนาของเรา เราปฏิเสธที่ปาก อำนาจวาสนาในหัวใจ เข้าไปถึงจุดนั้นแล้วมันจะรู้กันเอง ถึงว่าจิตดวงไหนที่มันสะสมคุณงามความดีไว้ เวลามันจิตนี้ย้อนกลับเข้าไปถึงตรงนั้นก็เหมือนกับเราเข้าครัวไป มันจะเห็นอาหารของตัวเอง เห็นหม้อข้าวของตัวเองที่เคยได้สร้างไว้แล้ว หม้อข้าวเป็นวัตถุมันจะแปรสภาพไป มันจะเปื่อยมันจะเน่าไป แต่คุณงามความดีในหัวใจนี้มันเป็นอาการของใจ มันสะสมอยู่ลงที่ใจ มันเป็นความคิดในหัวใจ เวลาจิตสงบเข้าไปเจอถึงตรงนั้นแล้วมันถึงจะเป็นผลที่มันรับรู้ทันที นี่มันถึงว่าพาไปการตายการเกิด มันจะเสียดายแต่ปัจจุบันนี้ ว่าปัจจุบันนี้ว่าเราสร้างคุณงามความดีมา เราจะสร้างกันไป ยังเสียดายอยู่ว่ายังอยากเกิดอยากตาย สร้างมามากกลัวมันจะไม่ได้ผลเหรอ กิเลสมันยุ นี่กองทัพกิเลส แล้วว่าปฏิบัติธรรมไง

สิ่งใดที่สร้างมานี่มันปัจจุบันนี้ ไม่มีสิ่งใดเลยดีเท่ากับการออกจากทุกข์นี่ล่ะ ไม่มี! ไม่มี! เป็นเครื่องล่อทั้งนั้นนะ เหยื่อล่อปลา เบ็ดเกี่ยวปาก หวังไว้ไม่ได้นะ ต้องตัดให้ได้ ตัดความคาดความหมายไปข้างหน้า เวลาจะทำอะไรถ้าเรามุ่งมั่น เราทำตามจริงมันจะพ้นได้ๆ

หัวใจนี่มันแปลกประหลาดนะ หัวใจของมนุษย์นี่ เวลามันเข้มแข็งขึ้นมามันเต็มที่นะ เวลาเข้มแข็งเราให้กำลังใจหัวใจ มันไม่เคยกลัวอะไรเลยนะ ทำไมเวลาดูอย่างโลกภายนอกเขาสิ เขามีเหตุการณ์อะไรที่เขาว่าน่าจะแบบว่าคนนั้นไม่สามารถจะผ่านเหตุการณ์นั้นได้ แต่มันผ่านมาได้ตลอด วิกฤตบางอย่างคนๆ นั้นไม่น่าจะผ่านมาได้เลย ถ้าวิกฤตนั้นนะ ถ้าคนมีบารมี วิกฤตนั้นมันเป็นผัสสาหาร มันเป็นการทดลองจิตใจ มันเป็นการเพิ่มศักดิ์ศรีบารมีของใจดวงนั้นขึ้นมา นี่มันผ่านมาได้หมดนะ อำนาจของใจไง อำนาจของบุญกุศลที่เราสะสมมา

เรามองกันแต่วัตถุ วัตถุนิยม มองกันแต่สิ่งที่มองเห็นด้วยตาเนื้อเท่านั้นน่ะ กิเลสนี่มันตาเนื้อมองไม่เห็น กิเลสอธิบายไม่ได้ กิเลสคือความขัดข้องใจ กิเลสคือมันจะเอาแต่ใจมัน กิเลสมันไปนั่งอยู่บนหัวเรา กิเลสมันนั่งบนคอแล้วไสเราไปแบบกระบือ แล้วเราไม่คิด ทำไมไปยอมให้มันขี่คออยู่อย่างนั้นเหรอ มันขี่คอแล้วมันก็บังคับไสไปอย่างนี้นี่พอใจ พอใจให้กิเลสมันขี่หัว แล้วเราจะคว่ำมันลงมาบ้าง คว่ำมาไม่ได้นะ คิดดูสิ มันขี่คอแล้วมันไสเราไป แล้วตาเราอยู่ที่ไหน ตาเราอยู่บนกระหม่อมเหรอถึงได้มองเห็นกิเลสอยู่ข้างหลัง? ตาเราอยู่ข้างหน้า กิเลสขี่คออยู่ ตามองไปข้างหน้าก็ โอ้! นั่นสวยนะ รถรุ่นนั้นดี บ้านหลังนั้นสวย โลกยังเจริญอยู่

กิเลสอยู่ข้างหลังไม่ได้เห็น นี่ถ้าใจสงบมันเห็น เพราะเวลาจิตสงบขึ้นมา ตาธรรมมันเปิด ตาธรรมเหมือนตาสับปะรดไม่ใช่ตามนุษย์ เรามี ๒ ตาส่งไปข้างหน้า พอตาธรรมมันเปิด มันตารอบตัว กิเลสมาทางไหนรู้ทัน อันนี้กิเลสบอก เราประพฤติปฏิบัติอยู่อยากเลิก อันนี้กิเลสพูด ถ้าอยากเลิกกูนั่งอีก ๕ ชั่วโมง ถ้าอยากไปเราจะไม่ไป นี่ตาธรรมเกิด ถ้าตาธรรมเห็นกิเลสนะ

ถ้าตาเนื้อเราไม่เห็น มันขี่คอแล้วไสไป ถ้าตาธรรมมันจะมองกลับมา

อ้าว! คิดสิ ชีวิตๆ หนึ่ง อยู่ป่ามาตั้งแต่เกิดนะ ตั้งแต่ออกบวชพระพุทธเจ้า เจ้าชายสิทธัตถะตั้งแต่ออกประพฤติปฏิบัติ ชีวิตนั้นทั้งชีวิตอยู่แต่ในป่าในดง อยู่แต่โคนไม้มาตลอด ชีวิตนั้นมีความสุขได้อย่างไร ทำไมไม่เหมือนชีวิตเราล่ะ นั่งอยู่บนกองเงินกองทอง นั่งอยู่ในพาหนะอย่างประเสริฐ แล้วทำไมหัวใจมันทุกข์?

นี่ดูเอา เปรียบเทียบเอา ว่าถ้าใจสงบ ใจเป็นธรรมแล้วนะ อยู่โคนไม้ก็มีความสุข มีความสุขมหาศาล “สุขหนอ สุขหนอ” จนพระในสมัยพุทธกาลอุทานเลยล่ะ “สุขหนอ สุขหนอ” เพราะใจมันอิ่ม ใจไม่เคยหิวกระหายใดๆ ทั้งสิ้นเลย ใจอิ่ม ใจพอใจอยู่ ผู้ที่ชนะกิเลสที่กิเลสไม่สามารถขี่คอได้ ที่กิเลสไม่สามารถบังคับบัญชาจิตดวงนั้นได้ กับที่มันขี่คอแล้วไสเราไป นี่กองทัพกิเลส ปฏิบัติเพื่อเอากิเลสไม่ปฏิบัติเพื่อเอาธรรม

ถ้าปฏิบัติเพื่อกิเลส เพราะกิเลสมันขี่คอตั้งแต่ก่อนปฏิบัติอยู่แล้ว ขี่คอมาตั้งแต่เริ่มจาก อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ตอของจิตนั่นน่ะ เพราะข้อเท็จจริงเป็นแบบนั้นจริงๆ แล้วไม่มีทางใดแก้ไขเลย มีแต่ทางนี้ ทางนี้ฝืนเข้าไป ฝืนเข้าไป

ดูสิ อย่างเช่นทีมนักกีฬา นักกีฬานี้ลงมาเล่นนะ เราเล่นกีฬากับนักกีฬาฝ่ายตรงข้าม แต่เราต้องไปทำลายโค้ชมันก่อน โค้ชนี้มันอยู่นอกสนามกีฬา โค้ชนี้เป็นคนวางแผนมาให้เล่น โค้ชก็โค้ชก่อนลงสนาม ลงสนามมาโค้ชยังลงมาโค้ชอยู่ข้างสนาม

นี่เหมือนกันเลย เราลองออกมาประพฤติปฏิบัติ เรามานั่งประพฤติปฏิบัติ เรามานั่งสมาธิภาวนา ไอ้กิเลสมันคือโค้ชอยู่ในหัวใจ มันโค้ชออกมาตั้งแต่นู่นเลย นี่มันเป็นเรื่องเกือบจะสุดวิสัยในการจะเข้า นักกีฬาต้องเล่นกับนักกีฬาสิ ทำไมนักกีฬาต้องไปทำลายโค้ชนั้นก่อนล่ะ? ก็ต้องให้จิตสงบก่อน นักกีฬานี้มันเปรียบเทียบเหมือนกับเป็นกีฬาฝ่ายตรงข้าม มันเล่นกันได้แค่นี้ ระหว่างเรากับคู่ต่อสู้เท่านั้น นี่ถ้าระหว่างเรากับคู่ต่อสู้มันพอสมน้ำสมเนื้อ มันเป็นที่ว่าเป็นกติกาที่เขาให้เล่น นี่สมมุติ

แต่จริงๆ แล้วมันต้องไปทำลายโค้ชก่อน เพราะโค้ชคือ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา โค้ชนั้นมันอยู่ที่จุดเริ่มต้น ถึงต้องทำให้จิตสงบให้โค้ชนั้นไม่มีโอกาสเข้ามาสั่งที่ข้างสนาม เราทำลายโค้ชปั๊บ ทีนี้ก็เหลือการต่อสู้กับเราแล้ว ระหว่างนักกีฬาฝ่ายตรงข้ามกับเรา เห็นไหม ต้องทำลาย ต้องพยายามทำจิตให้สงบ ให้จิตนี้สงบเลย ให้โค้ชนั้นเข้ามาใกล้ในกีฬานี้ไม่ได้ ให้โค้ชนั้นอยู่ห่างออกไป พอจิตสงบมันก็พอมีการต่อสู้กัน

ข้อเท็จจริงมันเป็นแบบนี้ เราเข้าใจข้อเท็จจริงแล้วเราไม่ใช่เข้าใจเพื่อจะมืออ่อนตีนอ่อน เราเข้าใจเพื่อเราจะปฏิบัติให้ถูกทาง เราเข้าใจเพื่อปฏิบัติให้ถูกช่องทางที่จะตามความเป็นจริง ตามความเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าสอน ไม่ใช่การคาดการหมาย

“การคาด การหมาย” แล้วก็จะต่อสู้ในการคาดการหมาย

เหมือนเด็กเล่นขายของ เล่นเกมกด ยิงกันใหญ่เลย ในเกมนั่นน่ะ ยิงอะไร? ยิงจอทีวี มันไม่ได้ยิงที่หัวใจ นี่คาดหมาย แล้วเป็นอย่างนั้นหมดนะ “ทำสมาธิไปแล้วจะเกิดปัญญา ทำสมาธิไป ทำสมาธิไปเรื่อยๆ แล้วปัญญามันจะเกิด พอจิตสงบจะมีปัญญา จะเป็นไป” มันเล่นเกมกดอยู่นั่นล่ะ แล้วเกมกดมันเป็นหัวใจไหม เกมกดมันเป็นกิเลสไหม? เกมกดนั้นเป็นคนมีกิเลสคิดออกมาให้เราล่อ กิเลสมันล่อออกมา ๒ ชั้น ๓ ชั้นนะ คนคิดเกมขึ้นมา คนคิดเครื่องเล่นขึ้นมา แล้วให้เราไปเล่นกัน สมมุติโลกก็เป็นแบบนั้น สมมุติกันขึ้นมาให้ตื่นเต้น ให้เผ่นกระโดดตามไป

แต่จริงๆ มันคือหัวใจทุกข์ จริงๆ มันอยู่ที่ใจ กิเลสมันอยู่ที่ใจ

ว่าภาวนาให้จิตสงบแล้วมันจะเกิดปัญญา...ปัญญาอะไร จิตสงบจะเกิดปัญญาอะไร?

จิตมันจะสงบ จิตสงบต้องฝึกปัญญา “จิตสงบ” จิตสงบทำลายโค้ช ทำลายโค้ชเลย ออกไป จิตสงบ แล้วนักกีฬาที่ฝ่ายตรงข้ามล่ะ นักกีฬาเขาอยู่ที่ไหน เกมการเล่นนี้เขาวางแผนมาอย่างไร เขาจะออกมาในรูปแบบไหน

พอจิตสงบ โค้ชของเขาก็โค้ชมาแล้วให้เขาอยู่ต่างหาก แต่เกมที่เขาจะต่อสู้กัน นี่ปัญญา ปัญญาเริ่มอ่านเกมเขา อ่านเกมของการหลอกของกิเลส กิเลสมันจะหลอกออกรูปไหน ปฏิบัติไปอีก ๕ ปีจะได้ผล ปีนี้ยังไม่เอาจริง เมื่อนั้นๆ ค่อยเริ่มต้นกันใหม่ นี่ออกแล้ว เกมออกแล้ว ปัญญาก็ต้องต่อสู้สิ อีก ๕ ปีเอ็งยังมีลมหายใจอยู่หรือเปล่า พรุ่งนี้เอ็งตายแล้ว แล้วเอ็งจะเอาอะไรไปสู้เขา

จิตสงบแล้วต้องฝึกปัญญา ปัญญาในการไตร่ตรอง ปัญญาในการต่อสู้กับกิเลส ไม่ใช่ปัญญาที่ศึกษาเล่าเรียนมาเป็นสุตมยปัญญา คือปัญญาเดิม ปัญญาที่เน่าแล้ว ปัญญาในการต่อสู้กิเลสต้องคิดเดี๋ยวนั้น สู้เดี๋ยวนั้น เป็นปัจจุบันธรรม เราอยู่ในกาลในเวลาของเกมๆ นั้น ในเกมๆ นั้นมีเวลาอยู่เท่าไร เรามีกี่วินาทีที่จะต่อสู้กันในเกมนั้นเท่านั้น ปัจจุบันธรรมที่ปัญญาเกิด เกิดตรงนั้นไง

เวลาเราจนตรอก เวทนาเกิดแบบแรงกล้า การต่อสู้นี้ร่างกายกำลังอ่อนเพลีย เห็นไหม มันจนตรอก จนตรอกแล้วมันจะเกิดปัญญาไง คนเรากินอิ่มนอนหลับมันนอนใจ คนเรานี่โดนไฟเผา โดนเจ้าหนี้รุกมันจะหาทางแก้ไขสถานการณ์ รุกเข้ามา รุกเข้ามานี่ การนั่ง ความเพียร การนั่งตลอดรุ่ง การอดอาหาร การต่อสู้ นี่มันเป็นการไล่ต้อนเข้ามา ไล่ต้อนให้เราจนตรอก พอจนตรอก ปัญญาในการเอาตัวรอด ปัญญาในการต่อสู้กับความบีบคั้นของกิเลส นี่ปัญญาการฝึกฝน ถึงว่าเกิดสมาธิแล้วต้องหัดฝึกฝนให้เกิดปัญญาในการชำระกิเลสอีกชั้นหนึ่ง ถึงบอกว่าเป็นสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน

“สมถกรรมฐาน” สมถะทำใจตัวเองให้เป็นอิสระไม่เกิดแรงดึงดูดของกิเลสก่อนชั้นหนึ่ง แต่ไม่เกิดแรงดึงดูดของกิเลสชั่วคราว ไม่ใช่กำจัดกิเลส การให้พ้นจากแรงดึงดูดอย่างหนึ่ง กับการพ้นจากแรงดึงดูดแล้วหาทางต่อสู้ว่าให้มันหลุดออกจากวงโคจรของแรงดึงดูดอันนี้เลย นั้นคือปัญญา นี่วิปัสสนาปัญญา มันเป็นปัจจุบันธรรมที่จะแก้ไขกัน แล้วแก้ไขเดี๋ยวนั้น

เครื่องเสียเดี๋ยวนี้ เครื่องยนต์ดับและขัดข้องเดี๋ยวนี้ เราอยู่กลางอากาศ เราจะทำอย่างไรให้เครื่องบินนี้ไม่ตก ทำอย่างไรแก้ไขสถานการณ์ให้เครื่องบินนี้บินได้ต่อไปจนตลอดรอดฝั่ง นี่ปัญญาเวลาเกิด เกิดในปัจจุบัน ปัจจุบันแค่เครื่องบินที่อยู่กลางอากาศที่จะตกหรือไม่ตกตรงนั้นล่ะ ถึงว่าเวลาวิปัสสนาถึงจุดหนึ่งแล้วความเป็นไปได้เหมือนกับช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น

การไส การก่อฐาน การฝึกฝนมันฝึกฝนมานาน แต่สมุจเฉทปหานแค่ฟุบ สมุจเฉทปหานแค่งูแลบลิ้น นี่การแก้ไขจุดหนึ่งแล้วขาดออกไปเลย วิปัสสนาจะเป็นแบบนี้ วิปัสสนาการฝึกฝนการต่อสู้มาเป็นขั้นเป็นตอนมาตลอดนะ เป็นขั้นเป็นตอนในการฝึกฝนในการต่อสู้ ในการแยกแยะ

สิ่งใดเป็นกิเลส สิ่งใดเป็นธรรม?

สิ่งใดเป็นผลจากกิเลส สิ่งใดเป็นผลจากธรรม?

“ผลนะ” กิเลสให้ผลอีกต่างหาก

ธรรมประพฤติปฏิบัติ ธรรมฝ่ายเหตุแล้วให้ผลอีกต่างหาก ผลรวมลงอยู่ที่หัวใจผู้ปฏิบัติเท่านั้น ผู้ใดเปิดภาชนะแล้วตักขุมทรัพย์ สามารถเปิดภาชนะได้ สามารถเปิดขุมทรัพย์ เปิดตู้พระไตรปิฎก ตู้พระไตรปิฎกบรรจุธรรมะของพระพุทธเจ้าไว้เต็มตู้เลย แล้วเราสามารถแง้มเปิดตู้พระไตรปิฎกได้ เราจะศึกษาเท่าไรล่ะ ในตู้พระไตรปิฎกนี่ธรรมะพระพุทธเจ้าทั้งตู้เลย

วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก อภิธรรมปิฎก

วินัยข้อบังคับ ๒๑,๐๐๐ ข้อ สุตตันตปิฎก ๒๑,๐๐๐ ข้อ พระอภิธรรม ๔๒,๐๐๐

ข้อปฏิบัติ วินัยข้อบังคับนะ ข้อบังคับเครื่องดำเนินเป็นปฏิปทา

“สุตตันตปิฎก” คือการทดลอง การเปรียบเทียบ

“อภิธรรม” อภิธรรมเป็นสูตร เป็นทฤษฎีของหัวใจ เป็นทฤษฎี เป็นข้อเท็จจริงของใจ ภาวะของใจ แล้วค้นออกไปเป็นข้อเท็จจริงนะ เป็นสูตรทฤษฎีของหัวใจล้วนๆ

อย่างถ้าเป็น “วินัยปิฎก” วินัยปิฎกยังเป็นข้อวินัยข้อเปรียบเทียบของคฤหัสถ์ ของพระภิกษุ ภิกษุณี การเปรียบเทียบภิกษุณี ภิกษุทำผิดอย่างนั้นๆ เป็นบุคคล

“สุตตันตปิฎก” เป็นนิทาน เป็นการเปรียบเทียบ เป็นการฝึกฝนในการเป็นปัญญา ก็เป็นบุคคลอีก เอาอ้างบุคคล อ้างสถานที่

แต่ถ้า “อภิธรรม” นี่รวมลง คัดเอาแต่เรื่องภาวะของใจ ผู้ที่ปฏิบัติแล้วอาการเป็นไปของใจ อาการเป็นอย่างไร ไม่อ้างบุคคล อ้างหัวใจ อ้างทฤษฎีของใจล้วนๆ ไง แล้วเราเปิดตู้พระไตรปิฎก ตั้งแต่วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก อภิธรรม พ้นจากอาการไง พ้นจากทฤษฎีของใจ ใจนี้ได้ชำระ ใจนี้ได้ฝึกฝน ใจนี้ได้ทำให้เป็นไปในตามคำสั่งสอน แล้วเราผู้ปฏิบัติสมตามความเป็นจริง ปฏิบัตินะ ปฏิบัติให้สมความเป็นจริง ให้เป็นอภิธรรมเป็นความเป็นจริงหลุดพ้นออกไป เป็นความเป็นจริงจากการประพฤติปฏิบัติ ไม่ใช่เป็นความเป็นจริงแบบการศึกษาอภิธรรมแล้วมาจำ จำที่อภิธรรม ไม่ได้ปฏิบัติตามความเป็นจริง

การปฏิบัติมันเป็นไปตามความจริงโดยที่ว่าไม่ต้องศึกษาแต่เราเปิดตู้จริงๆ เปิดตู้คือเปิดธรรมะ เปิดใจ เปิดขุมทรัพย์ ตักขุมทรัพย์ ใจนั้นเป็นขุมทรัพย์เอง ไม่ใช่ศึกษาอภิธรรมมา จำมาแล้วเอามาท่องไง เป็นสุตมยปัญญา ปัญญาในการเปิดอ่านด้วยตาเนื้อ ไม่ได้เปิดตามความเป็นจริงจากหัวใจ เปิดตามความเป็นจริง ตู้พระไตรปิฎกอยู่ที่ใจ ตู้พระไตรปิฎก ธรรมะที่เราศึกษา ธรรมะที่เราตามความเป็นจริง ธรรมะที่เรารู้ ธรรมะที่เราเข้าไปเป็นเนื้อเดียวกับธรรม มันก็เหมือนกับพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม

ธรรมะมีอยู่ดั้งเดิม มีอยู่ตามความเป็นจริงแต่ใจของคนหยาบ ใจของคนเข้าไม่ถึง ใจของคนไม่มีความสามารถจะหยั่งรู้ได้ จนพระพุทธเจ้าเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ออกประพฤติปฏิบัติจนได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า เพราะบารมี การสั่งสมมาอยากได้โพธิญาณ การสั่งสมมา เปิดตู้รู้ตามความเป็นจริง แล้วก็วางพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมะ ศาสนธรรมคำสั่งสอน ศาสนธรรมวางลงมา พระสงฆ์ผู้ไปปฏิบัติรู้ตามความเป็นจริง นี่เป็นบันได เป็นรัตนตรัย เป็นแก้วอันประเสริฐของเรา พระปัจเจกพุทธเจ้าก็มาตรัสรู้มารู้อันเดียวกันนี่แหละ แต่ท่านรู้ธรรมตามความเป็นจริงของท่านแต่ไม่สามารถไง ผู้ที่จะรู้มีความสามารถจะยื่นมือมาให้เราต้องเป็นพระพุทธเจ้า มีหนึ่งเดียวเท่านั้น แล้วเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา มันคนไม่มีวาสนาตรงไหน

พระพุทธเจ้าตรัสรู้นะ โอกาสที่ว่า ๕,๐๐๐ ปีที่ท่านพยายามค้นคว้ามาแล้ววางไว้ตามความเป็นจริง เป็นโอกาส ๕,๐๐๐ ปี ศาสนาเรานี่ ๕,๐๐๐ ปี แล้วเราเกิดมาท่ามกลางเลย ท่ามกลางพระพุทธศาสนา ๒,๕๐๐ เศษๆ กำลังพอดี กำลังว่าถ้าเป็นอาหารกำลังออกมาจากเตา ควันกรุ่นๆ ออกมาเลย แต่เราไม่กิน ไม่ฮึด ไม่ทำได้ เราไม่สามารถเอาขุมทรัพย์อันนี้ได้

เราต้องติตัวเราเองนะว่าเราไม่มีวาสนา ว่าเราไม่ใช่เป็นคนจริงจัง เราทำสักแต่ว่าทำ คือว่ามันจะทำด้วยเป็นกองทัพธรรมหรือเป็นกองทัพกิเลส เพราะผู้ที่ค้นคว้ามา พระพุทธเจ้ากว่าจะได้มาอย่างนั้นนะ นี่ถึงว่าพระรัตนตรัยเป็นแก้วสารพัดนึก สารพัดนึกตรงไหน?

พระพุทธเจ้าตรัสรู้ก่อน สารพัดนึกตรงศาสนธรรมนี่สำคัญที่สุด “ศาสนธรรม” ธรรมความเป็นจริงนะ แล้วพระพุทธเจ้าทำออกมาให้เป็นปริยัติ ทำออกมาแบบจด ผู้ที่รู้แล้วจดจารึกคือว่าคำสั่งสอนนี่ออกมาให้เป็นทฤษฎี พระปัจเจกพุทธเจ้าทำตรงนี้ไม่ได้ รู้ตามความเป็นจริง สอนคนอื่นก็มองตากันเฉยๆ ท่านก็รู้จริงนะ

แต่พระพุทธเจ้าสอนมา สอนมาจนลูกศิษย์ลูกหานะ จนชฎิล ๓ พี่น้องเหาะกันขึ้นไปนะ เหาะขึ้นไปแล้วลงมา ในพระไตรปิฎกนะ เหาะขึ้นไปแล้วลงมา ตอนจะโปรดพระเจ้าพิมพิสารนะ เพราะเห็นว่าชฎิลนี่มีลูกศิษย์ ๕๐๐ น้องอีก ๕๐๐ รวม ๑,๐๐๐ แล้วพระพุทธเจ้ามาองค์เดียว

“ใครหนอเป็นอาจารย์หรือเป็นลูกศิษย์กันแน่”

ชฎิลต้องเหาะขึ้นไปบนอากาศแล้วเหาะลงมา เหาะขึ้นไปแล้วลงมา เหาะขึ้นไปลงมา แล้วก็มาก้มเอาเศียรซบพระบาทพระพุทธเจ้าเลย

“ข้าพเจ้าเป็นลูกศิษย์ พระพุทธเจ้าเป็นศาสดา เป็นผู้สั่งสอน”

ขนาดผู้ปฏิบัติธรรมนะ หัวใจเป็นธรรมแล้วนะ มีความสุขนะ ความสุขหมายถึงชำระกิเลสได้ ไอ้เหาะเหินเดินฟ้ามันเป็นผลพลอยได้ มันเป็นเครื่องข้างเคียง แต่เราก็ไปตื่นเต้นกับไอ้ผลข้างเคียง ใครแสดงอภินิหาร ใครแสดงอิทธิฤทธิ์ได้ว่าคนนั้นเป็นผู้วิเศษ ผู้วิเศษไม่ใช่พระอริยเจ้า

ความจริงคือการประพฤติปฏิบัติ การชำระกิเลสออกจากใจตามความเป็นจริงอันนั้นเท่านั้นประเสริฐ นั่นคือธรรมแท้ คือว่าธรรมแท้มันอยู่ที่ใจ ธรรมแท้คือผลของการประพฤติปฏิบัติชำระกิเลสได้ ธรรมแท้ไม่ใช่ว่าฤทธิ์เดชฤทธิ์คาถา อันนั้นเป็นผลข้างเคียงที่ได้ตามมาจากการประพฤติปฏิบัติที่ใจนั้นบริสุทธิ์แล้ว

ใจบริสุทธิ์ควรแก่การงาน ใจที่บริสุทธิ์มันนิ่มมันอ่อน มันจะทำอะไรก็ทำได้ แต่ไม่ทำเพราะอะไร เพราะเป็นเรื่องไร้สาระที่ว่าต้องไปทำให้ใจมันเป็นพลังงานขึ้นมาออกไปเป็นพลังงาน จิตที่อ่อนที่ควรแก่การงาน เหมือนกับผู้ดี คนนิสัยเรียบร้อย นิสัยผู้ดีเขานั่งที่ไหนเขาเรียบร้อย ไม่ใช่นิสัยหยาบ การจะออกฤทธิ์ออกเดชมันต้องไปออกเป็นนิสัยหยาบออกไปให้ใจนี้เกิดพลังงานขึ้นมา ให้มันหยาบออกไปแล้วถึงจะทำฤทธิ์ขึ้นมาไง แต่ใจที่ชำระกิเลสแล้ว ใจที่อ่อนควรแก่การงาน ใจที่เป็นผู้ดี ใจที่เรียบร้อย ใจที่นิ่มนวล ใจที่เป็นธรรม

ปฏิบัติธรรมเพื่อธรรม ธรรมของพระพุทธเจ้านะ

ถึงว่าปฏิบัติเอาอะไร ปฏิบัติเอากิเลสกับปฏิบัติเอาธรรม

ตั้งใจนะ วันนี้แสดงธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า จบ เอวัง