ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ใจสูง ใจต่ำ

๑๔ เม.ย. ๒๕๕๖

 

ใจสูง ใจต่ำ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๑๓๐๑. นะ

ถาม : ข้อ ๑๓๐๑. เรื่อง “อยากถามแนวความคิด และให้หลวงพ่อเทศน์สอน”

๑. หลวงพ่อครับ ชีวิตของเรามันคือหัวใจใช่ไหมครับ หรือจริงๆ แล้วมันเป็นสมมุติทั้งหมด ทั้งที่ใจและนอกใจ เพราะชีวิตผมโดนกระทบเยอะครับช่วงนี้ แต่มีความคิดว่าชีวิตมันคือใจ ส่วนที่เราดำเนินในชีวิตประจำวันมันเป็นสถานการณ์ที่เข้ามา เพราะต้องอยู่และทำไปตามความจริงตามหน้าที่

๒. บางทีผมเจอคนที่มีฐานะทางการเงินดี แต่เขายังเอาของคนอื่นโดยที่ไม่มีความเกรงใจ และเหมือนเขาไม่รู้สึกอะไรเลย หลวงพ่อมีวิธีมองคนลักษณะนี้อย่างไรครับ

ขอบคุณ อยากให้หลวงพ่อชี้แจง

ถาม : ข้อ ๑. หลวงพ่อครับ ชีวิตเรามันคือหัวใจใช่ไหมครับ หรือจริงๆ แล้วมันเป็นสมมุติทั้งหมด ทั้งใจนอกและใจใน

ตอบ : นี่ชีวิตจริงๆ ชีวิตจริงๆ ทุกคนถ้าเราไม่ศึกษาธรรม ถ้าเราศึกษาธรรมะ ธรรมะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ธรรมขึ้นมาจากวิชชา ๓ บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ ช่วงนี้มันแจ่มแจ้ง แจ่มแจ้งว่าชีวิตนี้มาจากไหน ชีวิตนี้คืออะไรไง เห็นไหม ว่าชีวิตคนเรานี่คืออะไร? ชีวิตคนเรา ทางศาสนาก็บอกว่ามีกายกับใจ ถ้ามีกายกับใจ ทางวิทยาศาสตร์เขาบอกว่าเรื่องของใจ ระหว่างวิทยาศาสตร์กับธรรมะมันจะขัดแย้งกัน ขัดแย้งทางวิทยาศาสตร์ต้องพิสูจน์เป็นรูปธรรม

นี้รูปธรรม ความรู้สึกมันเป็นนามธรรม พอเป็นนามธรรม ทีนี้นามธรรมมันจะมีการเกิดและการตาย หรือไม่มีการเกิดและการตาย วิทยาศาสตร์เขาบอกว่าถ้ามันเชื่องมงายไป นี้ความเชื่องมงายไป อย่างเช่นถ้าเรายืนยันกันว่าพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้แจ้งแทงตลอดชัดเจนมาก แต่ชัดเจนมาก ทีนี้เวลาศาสนาเผยแผ่มามันมี แม้แต่พระไปเข้าทรงเองมันน่าเศร้า พระนี่ประทับทรงเอง เราจะบอกว่าถ้าชีวิตนี้มันเป็นเรื่องของหัวใจๆ ที่เขาเข้าทรงทรงเจ้ากันอยู่นั่นอะไร? นี่เวลาเขาประทับทรงกัน นั่นใช่เรื่องของจิตวิญญาณไหม?

เราเองเราก็มีจิตวิญญาณอยู่แล้วเพราะเรามีจิตของเรา จิตของเราปฏิสนธิเกิดมาเป็นเรา เราก็มีจิตในร่างกายเราอยู่นี้แล้ว จิตวิญญาณเราก็มีอยู่แล้ว ทำไมเขาไปประทับทรงกันอีกล่ะ? ถ้าบอกว่าเรื่องของชีวิตเป็นเรื่องของจิตใจ แล้วจิตวิญญาณที่เร่ร่อนอยู่นั้น นั่นเป็นคนหรือเปล่าล่ะ? มันก็ไม่ใช่ มันก็ไม่ใช่ เห็นไหม นี้เรื่องของจิตวิญญาณ ทีนี้เรื่องของวิทยาศาสตร์ต้องพิสูจน์กันให้ชัดเจนว่ามันมีที่มาที่ไปอย่างไร แต่ก็พิสูจน์ไม่ได้ไง พอพิสูจน์ไม่ได้ ความเชื่อเขายังไม่แน่ใจของเขา แต่ในศาสนาคนจะเชื่อได้หรือเชื่อไม่ได้ ในลัทธิศาสนาอื่นๆ เขาก็ว่าของเขาไป นั้นเป็นเรื่องความเห็นของเขา แต่ถ้าเป็นเรื่องความเห็นของพุทธศาสนา

ถ้าพุทธศาสนา บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ อาสวักขยญาณ ที่มาที่ไป แล้วเขาบอกว่าจิตนี้มันมาจากไหน? มันไม่มีต้นไม่มีปลาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช้คำนี้ คำว่าไม่มีต้นไม่มีปลาย คือว่ามันจะสาวไปมันไปได้เรื่อย อย่างเช่นในสมัยพุทธกาลนะ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ พระบางองค์ระลึกอดีตชาติได้ ๑ ชาติ บางคนได้ ๒ ชาติ บางคนได้ ๕ ชาติ บางคนได้ ๑๐ ชาติ ไอ้คนที่ระลึกอดีตได้ ๑ ชาติ แล้วชาติที่ ๒ ที่ ๓ ไปมันจะเป็นอย่างไร? นี่ด้วยคุณสมบัติของจิต คุณสมบัติของจิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพราะบางองค์ระลึกได้ ๕ ชาติ ๑๐ ชาติ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าระลึกได้ไม่มีต้นไม่มีปลาย คือมันไม่มีที่สิ้นสุดเลยขนาดนั้น

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเวลาว่าจิตนี้มาจากไหน? แล้วเวลาเกิดมาเป็นเราแล้ว ความรู้สึกนี้เป็นอย่างไร นี้ทางวิทยาศาสตร์พยายามพิสูจน์เรื่องสมอง ทางวิทยาศาสตร์พยายามพิสูจน์เรื่องความรู้สึก ทางวิทยาศาสตร์เขาพยายามจะใช้ อย่างเช่นคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ตอนนี้เขาจะสร้างหุ่นยนต์นะ หุ่นยนต์ที่ตอบสนองได้ หุ่นยนต์ที่มีความรู้สึกนึกคิด เพราะว่าตอบสนองได้มันใช้เซ็นเซอร์ของเขาจับว่าเข้าไปแล้วมันมีผลตอบรับ นี่ทางวิทยาศาสตร์พยายามพิสูจน์ แต่ แต่เราไม่เชื่อ เราไม่เชื่อเพราะสิ่งที่พิสูจน์ได้มันเป็นเทคโนโลยี มันเป็นวัตถุใช่ไหม เวลาเราสร้างสิ่งใดขึ้นมามันเสื่อมสภาพ มันก็แค่นั้นไง มันไม่ส่งต่อ

มันส่งต่อ อย่างจิตพวกเราที่เวียนตายเวียนเกิดมันมีเวรมีกรรมกับจิตนี้มาใช่ไหม จิตมันเวียนตายเวียนเกิดมาแต่ละภพแต่ละชาติ มันสะสมของมันมา อย่างเช่นพระโพธิสัตว์ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย ความดีมันต่อเนื่อง ความดีต่อเนื่องกันมา แต่เทคโนโลยี อย่างวิทยาศาสตร์ อย่างพวกเซ็นเซอร์ต่างๆ พอมันชำรุดเสียหายเขาก็โยนทิ้ง เขาก็ทำใหม่ พอทำใหม่ขึ้นมามันมีเวรกรรมอะไรต่อเนื่องกันล่ะ? นี่มันไม่มีไง ที่ว่าเราไม่เชื่อๆ เพราะมันไม่เป็นสิ่งที่ต่อเนื่อง สิ่งที่จิตนี้เวียนตายเวียนเกิดของมันไป

ฉะนั้น สิ่งที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์นี้อีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเป็นธรรมะ เห็นไหม เขาถามว่าชีวิตของเรามันคือหัวใจใช่ไหม? แต่ถ้าผู้ที่ปฏิบัติละเอียดแล้วจะยอมรับว่าสิ่งนี้ใช่ ถ้ายอมรับนะ แต่ทีนี้ถ้ายอมรับ ในสังคมนะ ครูบาอาจารย์หรือพวกเราถ้ามีประสบการณ์ ถ้าไปทางโลกนะเขาบอกว่าถ้ามันเป็นเรื่องของใจก็คิดเอาเองสิ คิดว่ากินข้าวแล้วก็ไม่ต้องกิน คือแบบว่าไม่ต้องมีวัตถุเลย ให้เราจินตนาการกันเอาเอง แล้วให้ดำรงชีวิตไปให้ได้

ไอ้นี่มันก็เอาสีข้างเข้าถูเหมือนกัน เพราะอย่างที่ว่านี่กวฬิงการาหาร อาหารของคำข้าว อาหารของคนที่มีร่างกายและจิตใจไง นี่วิญญาณาหาร วิญญาณาหาร อย่างนรกอเวจีเขากินอาหารอะไร นี่เขากินอะไรของเขา เขาถึงดำรงชีวิตของเขาได้ แล้วเทวดาเขาอยู่ของเขาอย่างไร พรหมเขาอยู่ของเขาอย่างไร นี่เวลามันเวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะมันมีอาหารแต่ละชนิดเหมือนกัน

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเทวดา อินทร์ พรหมเขากายทิพย์ เขาไม่มีร่างกาย เขากินวิญญาณาหารเขาก็ไม่มีคำข้าวเหมือนกัน แต่มนุษย์เรามันมีกายกับใจ เห็นไหม เวลาใจมันเสพใช่ไหม อาหารที่ถูกใจมองเห็นนี่ โอ้โฮ อันนี้น่าจะกินได้ น้ำลายไหลยืดเลย ยังไม่ได้นะ ใจมันกินก่อนไง ใจมันนึกแล้ว แหม อันนี้น่าจะอร่อย ใจมันกินแล้ว แล้วเวลาเราไปกินขึ้นมาลิ้นมันกระทบ แหม อร่อยมาก อร่อยมากเข้าไปร่างกายมันก็ได้สารอาหาร เพราะร่างกายขาดอาหารไม่ได้ ขาดออกซิเจนไม่ได้ ร่างกายนี้ตายนะ

นี่มนุษย์มันมีร่างกาย ร่างกายต้องการอาหาร แต่เวลาเป็นเทวดา อินทร์ พรหมเขาไม่มีร่างกาย เขาไม่มีร่างกาย เขาเสพด้วยวิญญาณาหาร เขาเสพของเขา วิญญาณาหารอาหารเป็นทิพย์ของเขา นี่พูดถึงถ้าบอกกายกับใจๆ นี่พุทธศาสนา ถ้าพูดถึงว่าถ้าเป็นเรื่องที่นักปฏิบัติ เรื่องเป็นเข้มข้นขึ้นมานี่ใช่ ในพระไตรปิฎกพระสารีบุตรพูดกับนักบวชนอกศาสนาไง ชีวิตนี้คืออะไร? เขาตอบไม่ได้ พระสารีบุตรบอก

“ชีวิตนี้คือไออุ่น ไออุ่นคือธาตุรู้ คือพลังงาน ชีวิตนี้คือไออุ่น ไออุ่นตั้งอยู่บนกาลเวลา”

ถ้าไออุ่น ไออุ่นมันเกิดดับ มันจบแล้วก็ไม่มีชีวิตต่อเนื่องน่ะสิ ถ้าชีวิตต่อเนื่องมันต้องตั้งอยู่บนเวลา ไออุ่นนี้ตั้งอยู่บนกาลเวลา เวลาสืบต่อเนื่องชีวิตมันก็ต่อเนื่องกันไป ชีวิตเป็นอย่างนี้ นี่พูดถึงมุมมองของพระสารีบุตรเลย แล้วเป็นเรื่องจริงด้วย นี้พอเรื่องจริง ถ้าเราอยู่กับโลก นี่เขาถามว่า

ถาม : ชีวิตนี้คืออะไร เรื่องของหัวใจใช่ไหม?

ตอบ : ใช่ ถ้าเรื่องของหัวใจ นี่พระบวชมา ถ้าพูดถึงบวชมา ศึกษานักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอกยังต้องศึกษาบาลีเพื่อเอาความรู้ แล้วถ้าเราปฏิบัติล่ะ? นี่เราจะบอกว่าถ้าชีวิตนี้มันเป็นไออุ่น ทำไมพระบวชมายังต้องเรียน เรียนเสร็จแล้วต้องปฏิบัติ ถ้าปฏิบัตินะ ถ้าครูบาอาจารย์ของเราสายปฏิบัติขึ้นมา ถ้าบวชมาแล้วให้ปฏิบัติเลย ปฏิบัติคือว่าเข้าไปเจอความจริงเลย เข้าไปเลย สิ่งที่เราทำขึ้นมาเป็นความจริงมันก็เกี่ยวกับเรื่องหัวใจแล้ว ถ้าหัวใจมันเข้มแข็งนะนั่งตลอดรุ่ง ถือเนสัชชิกไม่นอนกี่วันๆ ๓ เดือน กี่เดือนไม่นอนตลอด เป็นปีนะไม่นอน ไม่นอนจะสู้กันอย่างไร? เพราะเวลาไม่นอนขึ้นมา เวลาอดอาหารร่างกายมันก็หิวโหยแล้ว แล้วเราจะทำอย่างไร เพราะว่าพอร่างกายมันก็วิตกกังวลไปด้วย

เราจะบอกว่า เขาบอกว่าชีวิตนี้มันเป็นเรื่องของหัวใจใช่ไหม? ถ้าปฏิบัติเข้มข้นใช่ แต่ถ้าเราอยู่กับโลก ถ้าไปพูดอย่างนี้ปั๊บ ถ้าเราบอกว่าชีวิตนี้เป็นหัวใจใช่ไหม? อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ เขาก็พูดถึงเรื่องจิตวิญญาณสิ เรื่องของการเข้าทรงทรงเจ้า สิ่งนั้นเป็นชีวิตไหม? การเข้าทรงทรงเจ้านั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องของหัวใจล้วนๆ อย่างเช่นกองทัพธรรมๆ หลวงปู่มั่น นี่กองทัพธรรมตั้งแต่สกลฯ มา ลงมาขอนแก่นมาปราบผี มาปราบคนที่เขาถือผี ผีนั้นเป็นเรื่องของหัวใจไหม? นั่นเป็นชีวิตไหม? แล้วมีชีวิตไปปราบทำไม? ทำไมแก้ไขให้พวกถือผีมาถือพุทธ

ถ้าถือพุทธ พุทธศาสนาสอนเรื่องอะไร? พุทธศาสนาสอนเรื่องทาน ศีล ภาวนา ทานคือการฝึกหัดใจ เรามองว่าทานเป็นการเสียสละวัตถุๆ นี่เรามองเป็นวัตถุ มองแบบวิทยาศาสตร์ไง แต่ถ้ามองแบบพระพุทธเจ้า การเสียสละทานฝึกหัดใจ ถ้าไม่มีเจตนา ดูสิเวลาเราศรัทธาครูบาอาจารย์องค์ใด เราอยากจะไป เราอยากจะทำบุญของเรามันมาจากไหนล่ะ? มาจากความรู้สึกนึกคิด ถ้าเราไม่มีศรัทธา ไม่มีความเชื่อเราจะไปทำบุญของเราไหม?

ความศรัทธา ความเชื่อมันมาจากไหน? มันมาจากใจ มันไม่ใช่มาจากร่างกาย แต่ไอ้ใจนี้ก็อยู่ในร่างกายนั้น ถ้าอยู่ในร่างกายนั้น นี่ถ้าสังคม ถ้าอยู่กับสังคมนะ สังคมมันมีเปลือก มีกระพี้ มีแก่น ทีนี้มีเปลือก มีกระพี้ มีแก่น ถ้าเราอยู่ในสังคมแล้วเราจะเอาแต่เรื่องหัวใจอย่างเดียว ถ้าเรื่องหัวใจอย่างเดียวมันสิทธิเสรีภาพของเรา เป็นสิทธิ์ เป็นสิทธิ์ที่เราจะคิดอย่างนั้น เป็นสิทธิ์ที่หัวใจเราดี เป็นสิทธิ์ที่หัวใจเราเข้มแข็งเราต้องคิดแบบนั้น เราจะทำให้จิตใจของเราอ่อนแอ จิตใจของเราไหลไปกับโลก

สังคมกับโลกนะเอาวัตถุเป็นใหญ่ พอเอาวัตถุเป็นใหญ่ สิ่งที่เป็นวัตถุ เขาว่าศิลปะ สิ่งที่ว่าเป็นศิลปะขับกล่อมทำให้จิตใจของคนนุ่มนวล ก็จริงอยู่ศิลปะทำให้หัวใจมันอ่อนโยน ทำให้จิตใจดีงาม แต่จิตใจดีงามมันก็เวียนในวัฏฏะ ถ้าอ่อนโยนแล้วทำอย่างไรต่อ นี่ถ้าสิ่งที่มันเป็นศีลธรรมวัฒนธรรมนั่นก็เป็นเรื่องหนึ่ง ทีนี้ถ้าสังคมอย่างนั้น เราอยู่กับสังคมแบบนั้นเราต้องยอมรับไง ฉะนั้น ถ้าคนที่ปฏิบัติแล้วมันมีธรรมะเก่าแก่ โลกธรรม ๘ สิ่งที่ผลกระทบ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศเป็นธรรมดา

นี้เขาถาม เขาถามว่า

ถาม : ชีวิตนี้มันเป็นเรื่องของหัวใจใช่ไหม?

ตอบ : ถ้าบอกว่าใช่ขึ้นมา แล้วเรื่องถือผีล่ะ? แล้วเรื่องจิตวิญญาณล่ะ? แล้วเรื่องการเข้าทรงทรงเจ้ามันเป็นเรื่องของชีวิตหรือเปล่าล่ะ? นี่ชีวิตซ้อนชีวิตไง เพราะว่าเวลาผู้ที่ประทับทรงๆ เขาก็มีความรู้สึกอีกอันหนึ่งมาครอบงำไง นี่จิตใจเราก็มี จิตใจที่เราเข้มแข็งประทับทรงไม่ได้ รับขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ เข้าไม่ได้ แต่ถ้าไปรับขันธ์ ๕ ที่จิตใจอ่อนแอ นี่สิ่งนี้ก็ประทับทรงได้ มันแบบว่ามันเป็น ๒ เจ้าของไง จิตใจเราก็มีอยู่ เวลาคนประทับทรง ประทับทรงไปแล้วพอทำสิ่งใดก็ไม่รู้ตัว พอเขาออกไปแล้ว เขามาถามว่าได้ทำอย่างนั้นไปหรือเปล่า? ทำอย่างนี้หรือเปล่า? ไม่รู้ ไม่รู้ ทำไปแล้วไม่รู้ นี่พูดถึง เพราะโลกความเชื่อในโลกนี้หลากหลาย

ทีนี้ถ้าบอกว่าชีวิตนี้เป็นเรื่องของหัวใจใช่ไหม? ถ้าเป็นนักปฏิบัติ ถ้าเป็นธรรมะปฏิบัติมันใช่อยู่แล้วแหละ ใช่ ถ้าใช่แล้วทำไมหลวงพ่อพูดอย่างนี้ล่ะ? พูดอย่างนี้เพราะว่าผู้ที่ถามเขาเป็นนักศึกษาอยู่ในสังคม ถ้าเรามีความคิดของเราอย่างนี้ แล้วเราประพฤติปฏิบัติตัวเราอย่างนี้ เราอยู่กับสังคม เราจะโดนผลกระทบของสังคมมาก ในเมื่อสังคมมันหลากหลาย ความรู้สึกนึกคิดของเขาเป็นแบบนั้น เราอยู่กับสังคมเราต้องรักษาสิทธิของเรา

เรามีความเชื่อของเรา เราปฏิบัติของเรา สิ่งนี้มันต้องรักษาไว้ในใจของเรา แล้วถ้าเรามีโอกาสปฏิบัติของเรา เราก็ปฏิบัติของเรา แต่ แต่ในการดำรงชีวิตเราจะต้องศึกษา เราจะต้องอยู่ในชุมชน เราจะต้องอยู่ในกลุ่มสังคม ดูสิเวลาหลวงตาท่านพูด เวลาท่านเรียนมหาอยู่ไง เวลาท่านเรียนนะแล้วแบบว่าดูหนังสือมากๆ มันก็เครียด มันก็แบบว่าตึงเครียดมากท่านก็แอบมาเดินจงกรมไง พอแอบมาเดินจงกรม นักศึกษาด้วยกัน พระที่เรียนด้วยกันมา

“นี่ทำอะไรอยู่?”

“เดินจงกรม”

“อ๋อ จะไปนิพพานหรือ?”

โดนเข้าไปอีกดอกหนึ่ง ท่านบอกว่าเออ เซ่อไปหน่อยหนึ่ง พอคราวนะเวลาท่านศึกษาเสร็จ ท่านพักผ่อนของท่าน ท่านมาเดินจงกรมของท่าน พอเพื่อนมาเจอท่านทำอย่างไร? อ๋อ มาเปลี่ยนอิริยาบถ เดินจงกรมอยู่ยังต้องเปลี่ยนอิริยาบถเลย ไปพูดตรงๆ เข้ามันก็โดนอีกดอกหนึ่ง

ฉะนั้น นี่ก็เหมือนกัน เราอยู่ในสังคมเราทำดีของเรา ถ้าพูดอย่างนี้บอกว่าหลวงพ่อ หลวงพ่อเป็นพระกรรมฐาน ทำไมไม่ปกป้องพระกรรมฐานด้วยกันล่ะ? ปกป้องพระกรรมฐานปกป้องโดยสิทธิ์ของเรา เราทำของเรา ความดีมันเป็นของเรา ไม่ใช่ไปอวดใคร ไม่ใช่ทำความดีแล้วสังคมจะต้องยอมรับว่าเราเป็นคนดี เราเดินจงกรมแล้วทุกคนต้อง แหม ส่งเสริมนะ คนที่เดินจงกรมนะรถต้องจอดให้หมดเลย เข้าไปใกล้ไม่ได้เขากำลังเดินจงกรมอยู่ ที่นี่เขากำลังปฏิบัตินะเราอย่าส่งเสียงดังนะ เขากำลังปฏิบัติอยู่มันเป็นบาปนะ แล้วอย่างนั้นหาเจอไหมล่ะ? นั่งปฏิบัติอยู่ รถมันวิ่งไปวิ่งมาถนนแทบทรุด เขาผ่อนให้ไหมล่ะ?

นี่จิตใจของคนมันแตกต่างหลากหลาย เราจะทำคุณงามความดีของเราเราก็ทำของเรา ถ้าคนที่ในสังคมเดียวกัน เรานักปฏิบัติด้วยกันเราจะรู้กัน เราจะคุยกันได้ แต่ในสังคม เราอยู่ในสังคม สังคมที่เขาไม่เห็นด้วยกับเรา สังคมเขาไม่เชื่อ สังคมเขาหาว่าเราเป็นคนสติฟั่นเฝือน แหม เขาอยู่กันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข กินข้าววันละ ๒๐ มื้อ เที่ยวพักผ่อนตามสบาย ไอ้เราต้องมาถือศีล แหม ถือพรหมจรรย์ ถือศีล ๘ เขาหัวเราะเยาะ แต่คนที่หัวเราะเยาะนะ ถึงเวลามันทุกข์ขึ้นมา

คนเราไม่เจ็บไข้ได้ป่วยไม่คิดถึงยา ใครเจ็บไข้ได้ป่วยมันจะคิดถึงยา คนเราไม่เจ็บช้ำน้ำใจ มันยังไม่รู้หรอกว่าไอ้กิเลสที่มันเหยียบย่ำหัวใจมันให้โทษขนาดไหน วันใดถ้าหัวใจของเขาโดนโรค โรคของกิเลสมันครอบงำ โรคของกิเลสมันเผยแผ่เข้ามาในใจ มันจะทุกข์ยาก มันอยากจะหายามันก็ต้องมาฝึกสติแบบเรานี่แหละ พอมันจะหายานะ ก็นี่ศีล สมาธิ ปัญญามันก็จะวิ่งมาทำแบบพวกเรานี่แหละ แต่เวลามันไม่เชื่อนะ มันดูถูกเหยียดหยามด้วย

นี้เขาจะดูถูกเหยียดหยามอย่างไรมันเป็นสิทธิ์ของเขา เราไม่มีความสามารถที่จะพูด หรือจะมาชี้แจงให้เขาเห็นตามเราได้ทั้งหมด แต่เราก็ไม่ยอมเสียสิทธิของเรา ไม่ยอมเสียคุณงามความดีของเรา เราก็รักษาใจของเรา เห็นไหม นี่เวลาพูด เวลาเรามีสติปัญญาเราคิดอย่างนี้ ทำอย่างนี้แล้วเราทำรักษาใจเราด้วย ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ

“อย่าดูถูกความนิ่งอยู่ของพระอริยเจ้า เพราะพระอริยเจ้าเขารู้อยู่ว่าจิตใจเขาคิดอะไร”

ความนิ่งอยู่ แล้วพอความคิดเขาไม่ปล่อยออกไปกระทบคนอื่นด้วย ถ้าพูดถึงความนิ่งอยู่ของพระอริยเจ้า คิดอย่างไร กระทบไปอย่างนั้นใช่ไหม เราเห็นเขาทำความผิดพลาด เราเป็นคนดีนะเราจะไปชี้แจงเขา จะไปชักนำเขา เขาหัวเราะเยาะเราในใจไง แต่ถ้าความนิ่งอยู่ของพระอริยเจ้า พระอริยเจ้าท่านนิ่งของท่านอยู่ ท่านปฏิบัติของท่านอยู่ ไอ้พวกที่มันวิ่งเต้นเผ่นกระโดด พอมันมอง เอ๊ะ ทำไมท่านไม่สนใจอะไรกับเราเลย เอ๊ะ ทำไมท่านไม่เดือดร้อนไปกับเราเลย นี่ถ้าเขาจะมาศึกษา เออ อันนั้นเป็นประโยชน์แล้ว เอ๊ะ ทำไมเขานิ่งอยู่ได้ล่ะ? ดูสิเขาเดือดร้อนขนาดนี้ เขาทุกข์ยากขนาดนี้ ทำไมท่านนิ่งอยู่ได้

ท่านนิ่งอยู่เพราะอะไร? ท่านนิ่งอยู่เพราะอะไรล่ะ? อ้าว ก็รู้อยู่ว่าสิ่งนั้นมันเป็นโลกธรรม โลกธรรม เห็นไหม มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มันก็หมุนเวียนไปอย่างนั้นแหละ โลกมันเป็นอยู่อย่างนี้ มันเป็นอยู่อย่างนี้มาแต่ดั้งเดิมแล้ว เป็นอยู่อย่างนี้มาจนปัจจุบันนี้ แล้วข้างหน้ามันก็จะเป็นอยู่อย่างนี้ ถ้าเป็นอย่างนี้เรารักษาใจเราแล้ว เราไม่ไปยุ่งกับมัน เรารักษาใจเราได้ เราอยู่กับเขา อยู่กับโลกโดยไม่เดือดร้อน เขาเริ่มสนใจ ถ้าสนใจนะทีนี้เราจะช่วยเหลือเขาได้แล้ว

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า

ถาม : ชีวิตนี้คือหัวใจใช่ไหม?

ตอบ : ใช่ ใช่ในสังคมปฏิบัติ ใช่ในสิ่งที่ความเป็นจริง เพราะ เพราะเวลาจิตเวลาพิจารณาไปแล้วมันจะเห็นจิตของตัวเอง ถ้าเห็นจิตของตัวเองก็สัมมาสมาธิ ถ้าสัมมาสมาธิมันออกรู้ ออกเห็นกันมา เห็นไหม นี่เวลาครูบาอาจารย์ ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเขาคุยกัน คนที่ว่าเขาเล่น ดูสิชมรมต่างๆ ชมรมสิ่งใดก็แล้วแต่ ถึงเวลาแล้วเขาก็จะไปในชมรม เขาจะถกแต่สิ่งที่ในชมรมเขารัก เขาชอบ

นี่ก็เหมือนกัน ในนักปฏิบัติด้วยกัน เวลาเราปฏิบัติมาแล้ว เรามีสิ่งใด ธมฺมสากจฺฉา เราก็จะมาถกกัน นี่นักปฏิบัติกับนักปฏิบัติถกกัน ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ใครมีแง่มุมอย่างใดของใจ กิเลสอย่างไรที่มันหลอกลวง กิเลสอย่างไรที่มันชักจูงให้ใจให้มันหลงใหลไป ปฏิบัติไปแล้วมันมีอุปสรรคขัดข้องอย่างใด แล้ววิธีการแก้ไข วิธีการรักษาทำอย่างใด

นี่เขาพูดออกมา พูดออกมาแล้วมันก็เป็นทางวิชาการแล้ว มันเป็นสมบัติของบุคคลที่พูดออกมาจริง แต่เราจะมาใช้จริงกับใจเราได้จริงหรือเปล่า ถ้าจิตใจเรามีปัญหาขึ้นมาเราจะใช้อย่างนี้ได้จริงไหม? ถ้าได้จริงไหมมันก็เป็นประโยชน์กับเรา อันนี้มันเป็นปริยัติคือการศึกษามา คือฟังมา แต่ถ้าเราทำได้จริงมันปฏิบัติขึ้นมาก็เป็นความจริงของเรา นี่ความจริงของเรามันก็มีผลขึ้นมาตามความเป็นจริง

ฉะนั้น ชีวิตนี้เป็นเรื่องของหัวใจใช่ไหม? มันใช่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์นั่นแหละ แต่นี้พอใช่แล้วเราต้องมอง แบบว่าถ้าคนมีสติปัญญามันต้องเข้าใจโลกด้วยไง เข้าใจธรรมแล้วเข้าใจโลก ถ้าเข้าใจโลก ทำไมโลกเขามีมุมมองอย่างนั้น ทำไมโลกเขามีความเชื่ออย่างนั้น มันก็เป็นแบบว่าวุฒิภาวะของจิตใจที่มันสูง มันต่ำ ถ้าจิตใจที่มันต่ำๆ มันมีสิ่งใดมามันก็มหัศจรรย์ มันก็เชื่อเขาไปแล้ว อย่างเช่นที่เขาเข้าทรงทรงเจ้ากันอยู่นั่นน่ะ ทำไมคนเขาไปเชื่อ ถ้าเชื่อแล้วเขาบอกเขาได้ผลจริง ได้ผลจริง ถ้าเรามีสติ มีปัญญาของเราเราก็ทำได้จริงทั้งนั้นแหละ

ไอ้อย่างนั้นอุปาทานหมู่เยอะแยะไปเลย ถ้าอุปาทานหมู่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วเขาสร้างกันขึ้นมานะ เพราะในพุทธศาสนาไม่ถือมงคลตื่นข่าว ไม่ถือนอกจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้านอกจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราขาดจากไตรสรณาคมน์ นี่ขาดจากเณรเป็นพระไม่ได้ พุทธมามกะต้องถืออะไร? นี่เราเป็นชาวพุทธเราจะถืออะไร?

พุทธมามกะก็ถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เหมือนกัน ถ้าเราเชื่อนอกจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราขาดอันนั้นไป แล้วถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นไปจนเป็นพระโสดาบัน ถ้าจะเป็นพระโสดาบันไม่สีลัพพตปรามาส ไม่ลูบคลำในศีล ถ้าไม่ลูบคลำมันรู้ชัดของมัน อะไรเป็นธรรม อะไรไม่เป็นธรรม ถ้าเราต้องการความเป็นจริง เราอยู่กับธรรมของเรา เราจะไม่ไปนอกจากธรรมะ นี้เป็นอธรรม อธรรมมันก็ไหลไป

ฉะนั้น ถ้าอธรรม ที่พูดอย่างนี้เพราะโลกมันมีมุมมองเยอะ ถ้ามุมมองของเขาใช่ไหม? ถ้าเราคุยกันในหมู่ปฏิบัติก็ใช่ เรื่องใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา นี่มีหัวใจเป็นต้นเหตุ มีหัวใจเป็นต้นเหตุ มีความรู้สึกนึกคิดเป็นต้นเหตุ ถ้ามันจะทุกข์จะยากมันก็ทุกข์ยากจากใจทั้งนั้นแหละ ถ้าเรารักษาใจที่นี่

ในสมัยพุทธกาลเวลาพระจะไปสึกกับพระพุทธเจ้าบอกจะสึก พระพุทธเจ้าถามว่า

“จะสึกหรือ?”

“โอ้โฮ วินัยเยอะไปหมดเลย นู่นก็ผิด นี่ก็ผิด”

พระพุทธเจ้าถามว่า “รักษาวินัยข้อเดียวได้ไหม?”

“ได้”

พระพุทธเจ้าบอกให้รักษาใจ รักษาใจเสร็จแล้วข้ออื่นไม่ผิดหมดเลยเพราะไม่มีเจตนา รักษาใจไว้ อย่างอื่นรักษาใจไว้ รักษาศีลข้อเดียวรักษาใจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกแล้วให้รักษาใจ เราดูแลใจของเรามันก็จะเป็นประโยชน์กับเรา

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า

ถาม : ชีวิตนี้เป็นหัวใจใช่ไหม? มันเป็นสมมุติทั้งหมดทั้งที่เป็นใจและนอกใจ แล้วชีวิตผมโดนกระทบมาเยอะ

ตอบ : นอกใจก็คือความคิด เห็นไหม จิตส่งออกๆ ทั้งนอกใจเป็นสมมุติ ปฏิบัติไปนะ เริ่มต้นปฏิบัติมันยังปุถุชน กัลยาณปุถุชน ปุถุชนคือทำสมาธิได้ยาก กัลยาณปุถุชนคือมีเหตุมีผล นี่รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร รูป รส กลิ่น เสียง รูปอันวิจิตร เสียงอันไพเราะ สิ่งที่ดีมันเป็นเครื่องล่อ เป็นพวงดอกไม้ล่อให้เราไปติด พอเราไปติดแล้วนะมันก็เป็นบ่วง เป็นบ่วงรัดคอ แล้วมันก็ดึงอยู่นั่นแหละ เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร คือล่อให้มา เวลาปกติมันก็ล่อให้ไปแล้ว ติดนู่น ติดนี่ไปกับเขา นี่พวงดอกไม้แห่งมาร พอไปแล้วนะเป็นบ่วงแล้วรัดคอเลย

“รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร”

ถ้าเราใช้ปัญญาพิจารณา ปัญญาอบรมสมาธิพิจารณา เห็นไหม เสียงก็คือเสียง เสียงจะดีขนาดไหน ชั่วขนาดไหนก็คือเสียงทั้งนั้นแหละ นี่รูป รสวิจิตรขนาดไหนมันก็เสียงนั้นแหละ รูป รส กลิ่น เสียงอันวิจิตรไม่ใช่กิเลส ตัณหาความทะยานอยากของใจต่างหากเป็นกิเลส ถ้าเป็นกิเลสเราทำแล้วมันตัด พอตัดปั๊บจะเป็นกัลยาณปุถุชนแล้ว กัลยาณปุถุชนคือไม่ติดในรูป รส กลิ่น เสียง แต่ตัวมันเองมันก็ยังมีแรงขับ มีตัณหาอยู่ พิจารณามันจะทำสมาธิได้ง่าย ถ้าทำสมาธิได้ง่ายมันจะรู้เห็น นี่ใจนอกใจในไง ถ้าเป็นใจนอกมันก็เข้ากับสิ่งนั้น ถ้าเป็นใจใน ใจในของเราก็รักษาใจของเราได้

ฉะนั้น เราบอกว่า

ถาม : นี่มันเป็นสมมุติใช่ไหม?

ตอบ : สมมุติบัญญัติทั้งหมด แต่ถ้ามันถึงที่เป็นพระโสดาบันนั่นแหละอกุปปธรรมขั้นของโสดาบัน สกิทาคามีเป็นอกุปปธรรมขั้นสกิทาคามี อนาคามีเป็นอกุปปธรรมขั้นอนาคามี ถึงที่สุดนะอกุปปะ อกุปปะคืออฐานะที่จะเปลี่ยนแปลง พระโสดาบันคงที่ คงที่ในขั้นของโสดาบัน ฉะนั้น ถึงว่ามันเป็นสมมุติใช่ไหม? ถ้ามันยังเป็นกิเลสอยู่มันเป็นสมมุติ แต่ถ้าเป็นอกุปปธรรมมันเป็นธรรม ธรรมที่ไม่เป็นสัพเพ ธัมมา อนัตตา

เขาว่าสัพเพ ธัมมา อนัตตา สรรพสิ่งทั้งหลายเป็นอนัตตา มันเป็นไปไม่ได้หรอก อนัตตาคือสภาวะที่เปลี่ยนแปลงที่ให้เป็น ให้เป็นอกุปปะ ถ้าเป็นอนัตตามันถึงแปรสภาพเป็นอันนั้น ถ้าเป็นอันนั้นแล้วก็จบ ถ้าจบแล้วมันก็เป็นขั้นตอนที่เต็มที่

ถาม : ถ้าเป็นสมมุติได้ไหม?

ตอบ : สมมุติ เป็นสมมุติ มีสมมุติอย่างหยาบ สมมุติอย่างกลาง สมมุติอย่างละเอียด พ้นจากสมมุติไปเป็นวิมุตติ วิมุตติแต่ละขั้นแต่ละตอนขึ้นมา ถึงที่สุดวิมุตติแท้จริง อันนี้พูดถึงข้อที่ ๑

ถาม : ๒. บางทีผมเจอคนที่มีฐานะทางการเงินดี แต่เขาก็เอาของคนอื่นโดยที่ไม่มีความเกรงใจ และเหมือนเขาไม่รู้สึกอะไรเลย

ตอบ : อันนั้นจิตใจของคนไง จิตใจของคน เห็นไหม ถ้าจิตใจของคนที่ดีจะไม่ถือสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ การขโมยนะ การลักชิงมันถึงขาดศีล แต่ของที่ตกอยู่ พระ เวลาพระนะเห็นของที่ตกอยู่ ของที่ตกอยู่อย่างเช่นวินัยบางข้อได้รับการยกเว้นไป สมัยก่อนเวลาเกิดภัยพิบัติขึ้นมา พระพุทธเจ้าอนุญาตให้ เราเดินไปในป่านะเราไปเจอผลไม้ เราอยากจะกินไม่มีใครประเคนให้หยิบมา ให้หยิบผลไม้นั้นมา แล้วเดินไป ธุดงค์ไป ถ้าไปเจอบุคคลให้วางไว้ แล้วให้บุคคลคนนั้นให้ประเคนกลับมาให้เรา เพราะมันเป็นช่วงขาดแคลน แต่พอมันกลับมาปกติวินัยข้อนี้พระพุทธเจ้ายกเลิก

ฉะนั้น เวลาเราไปในป่า เราไปในป่า เห็นไหม เวลาของที่จะฉัน เมื่อก่อนเขาให้จับอย่างนั้น ให้บังสุกุลได้ แม้แต่ของที่เราไปเจอของตกอยู่ นี่เราต้องถือบังสุกุล เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ถ้าเจ้าของเขาไม่ให้ เราไม่บังสุกุลนะ เราจับสิ่งนั้นมันเคลื่อนที่ไปถือว่าเราเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ อันนี้สิ่งที่ว่าถ้าจิตใจมันละเอียด มันจะรู้ว่าสิ่งใดควรและไม่ควร ถ้าสิ่งใดไม่ควร ถ้าจิตใจเขาสูงเขาทำอย่างนั้นไม่ได้

ทีนี้ว่าบางคน คนที่เขามีฐานะการเงินดี เราเห็นว่าเขามีฐานะการเงินดี นึกว่าจิตใจเขาจะสูงไปด้วยไง เขามีฐานะการเงินดี เขามีฐานะการเงินดี แต่ แต่ทำไมเขาหยิบเอาของคนอื่นล่ะ? เขายังไปเอาของคนอื่นโดยที่ไม่มีความเกรงใจ แต่ของเรานี่ฐานะการเงินเราไม่ดี หรือฐานะการเงินเราพอปานกลาง ถ้าปานกลาง แต่เราก็ยังมีจิตใจที่เป็นธรรม จิตใจเราสูงกว่า เห็นไหม จิตใจเราสูงกว่า แม้แต่ว่าฐานะการเงินของเราด้อยกว่า วัตถุเราด้อยกว่า สรรพสิ่งเราด้อยกว่า แต่หัวใจเราสูงกว่า ถ้าหัวใจเราสูงกว่าเราทำอย่างนั้นไม่ลงหรอก

ดูเด็กที่ดีๆ เห็นไหม มันไปเจอของคนที่เดินมาทำของตกนะมันรีบเก็บแล้ววิ่งไปให้เจ้าของเลย นี่ๆ ทำไอ้นี่ตก ทำไอ้นี่ตก มันไม่เห็นเอาเลย เพราะจิตใจเด็กมันไร้เดียงสา มันเห็นของคนนั้นตกอยู่มันมีพื้นฐานมา มันบอกว่าสิ่งนี้เจ้าของเขาตกเขาควรเอาไปคืนเจ้าของ นี่จิตใจที่เขาสูง แม้แต่เด็กๆ จิตใจเขายังมีหลักเลย แต่ในเมื่อเจอคนที่มีฐานะการเงินดียังหยิบเอาของ นั่นจิตใจเขาต่ำ ถ้าจิตใจเขาต่ำนั่นเป็นเรื่องของเขา

ถ้าจิตใจเขาต่ำ เห็นไหม จิตใจเขาต่ำเขาก็ทำของเขาได้ เขาทำของเขาได้ เขาได้สิ่งนั้นมา แต่เขาก็รู้ ใครทำสิ่งใดคนนั้นรู้หมด เพราะความลับไม่มีในโลก ถ้าจิตใจเขาต่ำ เขาทำสิ่งใดเขาก็ทำของเขาได้ ถ้าทำของเขาได้แล้ว นี่บุญกรรมมันเกิดอย่างนี้ เวรกรรมมันเกิดอย่างนี้ ถ้าเวรกรรมมันเกิดอย่างนี้ ถ้าเวรกรรมมันเกิดอย่างนี้ เพราะมันมีไง มันมีคนแถวนี้เขาบอกเขาทำงานดีมากเลย พอเขาสะสมเงินได้ขนาดไหนนะเขาจะโดนขโมยเงินตลอดเลย เขาโดนมาตลอด

เขาก็แปลกนะ ชาติปัจจุบันเขาเป็นคนดีมากๆ เขาเป็นแม่ค้านะ เพราะเขาขายของเขาจะเก็บสะสมเงินของเขา เขาจะซื้อพวกเครื่องใช้ไฟฟ้า เขาบอกเก็บทีไรก็โดนขโมยทุกทีเลย โดนขโมยทุกทีเลย แล้วเพื่อนเขาก็พาไปหาอาจารย์ไท อาจารย์ไทเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ตื้อ อยู่ที่วัดพุนกเมื่อก่อน ไปถึงเขาก็ดูกรรมกันไง เขาบอกว่าอดีตชาติชาติใดชาติหนึ่ง ตัวเขาเองตัวผู้หญิงคนนี้เคยเป็นภรรยาของขโมย ของโจร เขาไม่ได้ทำหรอก แต่สามีเขาไปขโมยมาเอามาเลี้ยงครอบครัว เขาได้ใช้สอยสิ่งนั้น จนมาเขาเกิดในชาติปัจจุบัน

ในชาติปัจจุบัน คนในนี้แหละ มีตัวตนเรียบร้อยหมด เขาบอกว่าเขาทำงานๆ มาจะโดนขโมยงัด นู่นก็หาย นี่ก็หาย เขาก็ไปหาพระ พระบอกว่าในชาติหนึ่งเขาเคยเป็น อาจารย์ไทท่านเสียไปแล้ว ฉะนั้น นี่พูดถึงท่านพูดอย่างนั้น นี่พูดถึงว่าเวลาอาจารย์ไทท่านเป็นพระโพธิสัตว์ ท่านจะรู้ของท่านอย่างนั้น ถ้าอย่างนั้น นี่สิ่งที่เขาจะแก้ของเขาไง แล้วเขาก็แก้กรรมกัน แก้กรรมกัน พยายามขออโหสิกรรมต่อกัน แต่เขาว่าเขาดีขึ้น

คำว่าดีขึ้น นี่เอาตรงนี้มาเป็นหลักฐานว่าเจอคนที่เขามีฐานะการเงินดี แล้วเขาไปเอาของคนอื่น ถ้าเขาเอาของคนอื่นไป อนาคตข้างหน้า ของๆ เขา เขาวางไว้ก็จะมีคนมาเอาของเขาไปเหมือนกัน แล้วอย่างเรานี่เราอยากจะมีชีวิตที่สุขสงบ ของคนอื่นเราจะไปเอาทำไม พระนะ พระเรานี่เขาเรียกว่าถือวิสาสะ อย่างเช่นเรามีพระที่สนิทกันมาก เราสนิทคุ้นเคยกันมากเลย ของใช้ ของสอยเราหยิบเอาได้เลย ถือวิสาสะ

ถ้าวิสาสะอย่างนี้มันก็วิสาสะกันโดยที่ว่าเป็นเพื่อนที่สนิท วิสาสะหยิบเอาอย่างนี้เขาหยิบเอาใช้กันได้ เขาเรียกว่าวิสาสะ วิสาสะหยิบเอาเลยเพราะเราคุยกันแล้ว เว้นไว้แต่วันไหนไม่ชอบหน้า วิสาสะนี้เอาบ่อยมากเลย ต้องตั้งกติกา เลิกนะ เลิกๆ ห้ามมาหยิบนะ ถ้าไปหยิบปั๊บ ถ้าเกินบาทนะขาดจากการเป็นพระ

พระจะไปหยิบฉวยของคนอื่นมีค่าเกินบาทไม่ได้ แต่ถ้าวิสาสะ เหมือนกับปวารณากันไว้ เขาหยิบไปเราจะไปกล่าวโทษเขาไม่ได้ บางทีเราวิสาสะเราว่าเราสนิท เราคุ้นเคยกันเราก็บอกว่าถ้าจะหยิบ จะใช้ใช้ได้นะ แต่ถ้าวันใดแบบว่าเขาไม่เกรงใจ หรือเขาทำเกินกว่าเหตุ นี้เอาเรื่องในดงขมิ้นมาเล่าให้ฟัง ในวงการพระมี เพราะเราเที่ยวกันมา ชีวิตพระบวชทั้งชีวิตมันก็มีเพื่อน มีเพื่อน มีบุรุษที่เราคบกันมา สนิทคุ้นเคยกัน รักกัน มีสิ่งใดที่มันเคยบาดหมางกัน มันมีทั้งนั้นแหละ คนเราเกิดมามันมี

ถ้ามีอย่างนั้น นี่เราจะยกตัวอย่างขึ้นมาให้เห็นว่า ถ้าคนเขามีสติเขาไม่ทำแบบนี้ไง ถ้าบอกว่าเขามีฐานะการเงินดี แล้วเขายังไปหยิบของคนอื่นโดยที่เขาไม่เกรงใจ เขาไม่รู้สึกอะไรเลย ไอ้เราเป็นเพื่อนเป็นฝูงอยู่ด้วยกันเรายังสะเทือนใจ ถ้าเราสะเทือนใจ นี้เขาถามมา ถามมาว่าทำไมมันเป็นแบบนี้ ถ้าเป็นแบบนี้เราก็พูดถึงว่าใจสูง ใจต่ำ ถ้าใจสูง ใจต่ำเรามองสิ ใจสูง ใจต่ำมันไม่ใช่อยู่ที่รูปร่างหน้าตา ไม่อยู่ที่ฐานะ ไม่อยู่ที่สิ่งใดทั้งสิ้น มันอยู่ที่ในหัวใจนั้น

ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกเลย คนเราไม่ได้ดีเพราะการเกิด ดีเพราะการกระทำ คนเราจะทำดี นี่มันจะพ้นจากทุกข์ได้ด้วยการกระทำของเรา เรามีความมุมานะ เราทำคุณงามความดีของเรา ความดีก็คือความดี ความดีทางโลกก็เป็นความดีทางโลกก็เป็นความดีทางโลก เราเสียสละของเรา เราจุนเจือกันมันก็เป็นความดีอันหนึ่ง ถ้าเราปฏิบัติของเรา เราเสียสละเพื่อเรา นั่งสมาธิครึ่งวัน ค่อนวัน อู้ฮู เพื่อใคร? ก็เพื่อใจ ฝึกใจให้เข้มแข็งขึ้นมา แล้วถ้าใจเข้มแข็งขึ้นมา เวลานั่งสมาธิ ภาวนาขึ้นมามันจะเอาอย่างเดียวนะ เวลาจักรมันหมุนแล้ว

ดูสิขณะที่ว่าเวลามันพิจารณากามมันนอนไม่ได้ มันเหมือนกับคนเล่นการพนันแล้วโดนตำรวจจับ เหมือนคนที่ไฟไหม้บ้าน คิดดูสิไฟไหม้บ้านเราจะนอนหลับได้ไหม? ไฟไหม้บ้าน อู๋ย มันตกใจขนาดนั้น เวลาถ้าจิตมันหมุนเป็นอย่างนั้น เวลาปัญญามันหมุนติ้วๆ มันนอนไม่ได้เลยล่ะ มันนอนไม่ได้เพราะอะไรล่ะ? มันนอนไม่ได้เพราะว่ามันเป็นมหาสติ มหาสติเวลาธรรมมันเกิด ถ้าปัญญามันเกิดขนาดนั้น เกิดแล้วมันเข้ามาชำระขณะนั้น

นี่ถ้ามันภาวนา เวลานั่งกลางวัน นั่งกลางคืน ทั้งคืนๆ มันเจ็บ มันปวด อู๋ย มันจะเป็นจะตาย เวลาพอปัญญามันหมุนนะมันเดินจงกรม ๕ วัน ๗ วัน มันทำทั้งปีทั้งชาติทำอยู่อย่างนั้นแหละ อาจารย์สิงห์ทองเดินจงกรมจนทางจงกรมเป็นร่องเลย หลวงปู่เจี๊ยะก็ชม หลวงตาก็ชม หลวงปู่เจี๊ยะกับหลวงตาจะชมใครง่ายๆ จะชมมันต้องชมตามความเป็นจริง อาจารย์สิงห์ทองเดินจงกรม เขาบอกว่าทางจงกรมนี่เป็นร่องเลย เป็นร่องเหมือนรถวิ่งเป็นร่องเลย

นี่ต้องเดินขนาดไหน เดินเต็มที่เลย นั้นเพราะอะไร? เพราะเวลาปัญญามันหมุน เวลาจักรมันหมุนในหัวใจ นี่ถ้าหมุนในหัวใจแล้วมันจะเกิดขึ้น ถ้าคุณงามความดีอย่างนั้น ถ้าทำเพื่อเรา ประโยชน์กับเรามันเป็นอย่างนั้นถ้าหัวใจมันสูงส่ง แล้วทำให้ใครเห็นล่ะ? หลวงตาท่านบอกว่าถ้าเดินจงกรมแล้วมีใครเห็นนะ เสียหมดเลย เวลาเดินจงกรมท่านไปเดินในป่า อยู่หนองผือท่านไปทำทางจงกรมอยู่ในป่า

นี่เวลาทำความดีไม่มีใครเห็น หลวงตาท่านพูดนะ บอกว่าถ้าใครไม่เห็นเราภาวนา จะบอกว่าหลวงตาเป็นพระขี้เกียจ วันๆ ไม่ทำอะไรเลย ไม่เคยเห็นภาวนา ไม่เคยเห็นอะไรเลย แต่เวลาภาวนาก็ไปแอบทำอยู่ในป่าคนเดียว นั่งสมาธิก็นั่งอยู่คนเดียวในกุฏิของตัว ใครเห็นบ้างว่าพระทำคุณงามความดี แต่ถ้าพระไป ฮัลโหลๆ ปิดทองลูกนิมิตไปตามถนน โอ๋ย คนเห็นนะ โอ้โฮ เห็นนี่พระทำคุณงามความดี เอาลูกนิมิตวิ่งตามตลาดให้เขาปิด นี่พระทำคุณงามความดี แต่เวลาพระอยู่ในป่า นั่งสมาธิ ภาวนาไม่มีใครเห็นนะ ไม่มีใครเห็นเลยว่าพระทำอะไร นี่ถ้าทำความดีของเราไง เราทำของเราเพื่อประโยชน์กับเรา

ทีนี้พูดถึงว่าถ้าเขาคิดได้อย่างที่เราพูด สิ่งที่ว่าเขามีฐานะการเงินดี แล้วเขาไปหยิบฉวยของคนอื่นโดยที่ความไม่เกรงใจเขาจะไม่ทำ เว้นไว้แต่เพื่อนรักกัน หรือคนรู้จักกัน เรารู้ไหมว่าเขามีอะไรต่อกัน นี่พูดถึงว่าคนเขียนไง เขาเขียนมาเฉยๆ เพราะจริงๆ ไม่ใช่เรื่องของเขาเลย เขาบอกเขารู้เขาเห็นแล้วทำไมเขาทำอย่างนั้น แล้วเขาถามว่า

ถาม : หลวงพ่อมีวิธีมองคนลักษณะนี้อย่างไร?

ตอบ : คือว่าถ้าเราอยู่ในสังคมอย่างนี้เราก็อึดอัดนะ ของๆ เราโดนเบียดเบียนตลอดเลย แล้วของของเขาเราไม่กล้าเอาของเขา คือว่าเราจะใช้จะสอย อย่างนี้เพราะนักเรียนพวกเครื่องใช้ไม้สอยเราก็ให้เขาหยิบฉวยแต่ของเรา เราเองเราต้องไปซื้อหามาใหม่ เพราะจิตใจเราอย่างนั้นน่ะ แล้วมันทุกข์ เห็นไหม เพราะฐานะการเงินเขาดีกว่า อันนี้เราจะมีความรู้สึก เราจะมีวิธีมองคนอย่างนี้อย่างใด ถ้าเรามีวิธีมองคนอย่างนี้เราก็รักษาใจเรา รักษาใจนะ เหมือนวัยรุ่น วัยรุ่นมองตากันไม่ได้ ถ้ามองตากันเขาจะชักปืนยิงกัน ถ้ามองตากันไม่ได้เราก็หลบซะ ขอร้องเขา หลบ

ถ้าการหลบของเรา บางคนบอกว่าการหลบนี่ไม่มีศักดิ์ศรี เป็นคนที่ไม่สู้คน คนนั้นคนขี้ขลาด คนขี้ขลาดเวลาเขาถือว่าถ้ามีปัญหาหรือมองหน้ากันเราต้องเอาเขาก่อนเลย เพราะกลัวเขาจะทำเรา นี่คนขี้ขลาด ถ้าคนที่มีสติปัญญา เห็นไหม นี่เรามีปัญญา เราพาตัวเรารอดได้ พอมีสิ่งใดเรามีสติปัญญา คนไม่ใช่คนขี้ขลาดตาขาว มีสิ่งใดทำเขาก่อน แล้วว่าตัวเองเป็นคนกล้าหาญ แต่คนที่เขามีปัญญา เขาเผชิญกับความจริงตลอด ด้วยสติ ด้วยปัญญาแก้ไขวิกฤติซึ่งๆ หน้า แล้วแก้ไขผ่านพ้นไปได้

นี่ดูใจเรา ดูหัวใจของเรา เห็นไหม เราเห็นว่าคนที่มีการเงินดี เขาไปหยิบฉวยของคนอื่น หัวใจเรายังสั่นไหวจนต้องเขียนมาถาม แสดงว่าหัวใจเราไม่นิ่ง ถ้าหัวใจเรานิ่งนะเราจะดูแลของเราได้ นี่ลักษณะมองคนไง ลักษณะมองคนอย่างนี้ มองคนอย่างไร?

มองแล้วเราก็สลดสังเวช สลดสังเวชนะ ทุกคนทำสิ่งใดมาก็สร้างเวรสร้างกรรมทั้งนั้นแหละ ใครทำคุณงามความดี เขาสร้างคุณงามความดีของเขา ใครทำบาปกรรมของเขา เขาก็ได้บาปกรรมของเขาไป อันนี้เขามีมุมมองอย่างนี้เพราะว่าคนมีเวรมีกรรมต่อกันมา สถานะของเขา ถ้าใครคิดสิ่งใดได้มันจะวางหมดนะ วางสิ่งนี้ไว้ ฉะนั้น ถ้าวางสิ่งนี้ได้เราก็ดูแลใจเรา รักษาใจเรา ถ้าใจสูง ใจต่ำมันเป็นแบบนี้

ฉะนั้น ข้อที่ ๑ หัวใจ ชีวิตนี้คือหัวใจใช่ไหม? ข้อที่ ๒ ในเมื่อคนเขาทำอย่างนี้ แล้วเราจะรักษาใจของเราอย่างไร? ไอ้นี่มันเป็นเรื่องสังคม แต่ถ้าเรื่องของเรานี่เรื่องปฏิบัติ เรื่องปฏิบัตินะ ขณะเราอยู่กับสังคมมันยังวุ่นวายขนาดนี้ เวลาอยู่สังคม คน ๒ คน ๓ คนขึ้นไปมันมีกระแส มันมีการกระทบกระเทือนกัน ฉะนั้น เวลาพระที่ออกปฏิบัติ อยู่คนเดียวให้ระวังความคิด เข้าป่าเข้าเขาไป เวลาอยู่กับหมู่คณะ อู้ฮู ไม่มีเวลาปฏิบัติเลย มีแต่เรื่องยุ่งไปหมดเลย เวลาเข้าป่าไปคิดถึงเขานะ พอเข้าป่าไปนั่งคนเดียวเหงา อยากมีเพื่อนคุย เวลาเข้าป่าไปไม่มีใครเลย มันก็ไปคิดอยู่คนเดียว คิดทุกข์อยู่คนเดียว

นี่ถ้าเรารักษาใจเรา อยู่ในหมู่คณะเราก็รักษาใจของเรา ถ้าจำเป็นต้องอยู่ในหมู่คณะ แต่เวลาเรามีวิเวก เราออกไปมันมีการเปลี่ยนแปลง ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของใจ เราทำอยู่สถานะใดสถานะหนึ่ง จิตใจมันไม่พัฒนาเลย พอเวลาเราอยู่ในหมู่คณะมันมีการกระทบอย่างไร แยกออกไปแล้วมันมีความคิดอย่างไร มันไปกว้านอะไรมาเผาใจมันเอง นี่ใช้ความคิดใช้พิจารณาของเรา แล้วมันพัฒนาไป คนเรานี่ชีวิตนี้คือหัวใจใช่ไหม?

ฉะนั้น เวลาเราปฏิบัติมันก็วัดใจไง พิจารณาใจ ดูแลใจเรา หลวงตาสอนอย่างนี้ เรื่องของคนอื่นเขาเป็นเรื่องของคนอื่นเขา เรารับผิดชอบเขาไม่ได้ แต่เรื่องหัวใจเรานี่เป็นเรื่องของเรา เรารับผิดชอบได้ แต่เราเป็นคน อยู่ในสังคมเวลากระทบขึ้นมามันก็มีเหตุมีผลเราก็พิจารณาของเราไป แต่ผลที่สุดแล้วเราต้องรักษาใจเรา มีสติปัญญารักษาใจเรา เพื่อเอาหัวใจของเราให้ถึงมรรค ถึงผลเพื่อพ้นจากทุกข์ไป ไม่ต้องมาเวียนตายเวียนเกิดให้มาเจอสภาพที่ถามมา เจอแล้วเจอเล่า ทุกภพทุกชาติเจอสภาพแบบนี้ เจอมาแล้ว เราทำเองเจอเอง พิจารณาเอง แต่เสร็จแล้วเราก็ต้องเวียนกลับมาเจอซ้ำๆ ซากๆ ถ้าเราพิจารณาของเรา ใช้สติปัญญาของเรา เราจะช่วยเหลือใจของเรา แล้วทำให้ใจของเราสูงส่งพ้นไปจากการต้องมาพบปัญหาอย่างนี้อีก เอวัง