ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

รวยน้ำใจ

๔ พ.ค. ๒๕๕๖

 

รวยน้ำใจ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๑๓๐๙. เนาะ

ถาม : ๑๓๐๙. เรื่อง “เรียนสอบถามความสงสัยบางประการครับ”

กราบนมัสการพระอาจารย์ ขออนุญาตสอบถามความสงสัยที่อาจจะไม่สำคัญเท่าไร แต่รู้สึกคาใจ และไม่สามารถจะหาคนตอบได้ คือผมสงสัยว่าพระพุทธเจ้าท่านกล่าวไว้ว่า

คนจะรวยได้ต้องทำทานมากๆ ทานนั้นจะมีผลมากก็ด้วย

๑. วัตถุทาน

๒. จิตผู้ให้

๓. จิตผู้รับ

คำถามก็คือ ประเทศในแถบเอเชียซึ่งมีพุทธศาสนารุ่งเรืองที่สุด คนปฏิบัติธรรมเยอะที่สุดก็มองว่าจิตของผู้ให้น่าจะสมบูรณ์ ในขณะที่ผู้รับคือภิกษุสงฆ์ก็เป็นเนื้อนาบุญที่ดีที่สุด ก็อยู่ในประเทศแถบเอเชียเช่นกัน

คำถามก็คือ ทำไมคนในแถบเอเชียไม่รวยเท่า ไม่มีบุญวาสนาเท่าคนในแถบประเทศฝรั่งเขาเลยครับ ทั้งๆ ที่องค์ประกอบของเหตุปัจจัยมันน่าจะสมบูรณ์มากกว่าด้วยทุกประการ

ตอบ : คำถามนี่ถาม เวลาเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดเป็นอย่างนั้น ผู้ที่ร่ำรวย ผู้ที่ทำบุญกุศล บุญกุศลจะให้ผลมากที่สุดคือปฏิคาหก ผู้ให้ให้ด้วยความบริสุทธิ์ ผู้รับเป็นผู้ที่บริสุทธิ์ จะมีบุญกุศลมาก ทีนี้บุญกุศลมาก นี่บุญกุศล ทำไมทุกคนคิดแบบนี้ ถ้าบุญกุศลเกิดขึ้นมาแล้วมันก็ต้องคิดว่าคนทำบุญแล้วมันก็ต้องร่ำรวย เราต้องร่ำรวยกว่าทางยุโรป ทำไมคนยุโรปเขานับถือศาสนาอื่นทำไมเขาร่ำรวย ทำไมชาวพุทธเราทำบุญมหาศาลเลย แล้วสิ่งที่พระไตรปิฎกเขาบอกว่าจะต้องเป็นผู้ร่ำรวย ทำไมไม่ร่ำรวยเหมือนทางยุโรปเขา

อันนี้เป็นความคิดทางโลก มันตอบได้ ๒ ประเด็น ประเด็นหนึ่งคือทางโลก ทางโลกหมายถึงว่าร่ำรวยทางวัตถุ ถ้าทางธรรม ทางธรรมร่ำรวยทางจิตใจ ถ้าร่ำรวยทางจิตใจนะ เพราะถ้าพูดถึงทางธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ ครูบาอาจารย์ของเราเป็นพระอรหันต์ ถ้าคำว่าเป็นพระอรหันต์นะ ในมหายาน ในเมืองจีน เมื่อก่อนนั้นเราก็เชื่อว่ามีพระอรหันต์ ถ้ามันมีพระอรหันต์ขึ้นมา เขาทำของเขา สังคมเขานะ ขณะที่ว่าสังคมเขาร่มเย็นเป็นสุข ศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองมาก แต่ถ้ามีการรบราฆ่าฟันกัน มีศึกสงครามขึ้นมา ศาสนาก็ล้มลุกคลุกคลานไปด้วย

ทีนี้ความร่ำรวย ร่ำรวยทางไหนล่ะ? ถ้าร่ำรวยทางธรรม ในเมื่อสติปัญญาของคนเรายังแบบว่าสติปัญญาของคนนะมันไม่ได้แบก ไม่ได้หาม ความรู้ของคนมันอยู่ในสมองของคน อยู่ในจิตใจของคน แต่ถ้าทางเป็นวัตถุล่ะ? วัตถุมันต้องแบกต้องหาม มันต้องมีที่เก็บ มันต้องมีวัตถุเพื่อคำนวณเก็บว่าสมบัติมีมากน้อยแค่ไหน นี่ถ้าพูดถึงคิดแบบนั้น ทีนี้พอเราคิด เห็นไหม นี่ปัญหามันไม่สำคัญ ปัญญาไม่สำคัญเท่าไร แต่มันคาใจ มันคาใจเพราะว่าเราศึกษาแล้วเรามีความรู้สึกนึกคิดอย่างนี้ว่าถ้าเราเอาตามสัจจะ ตามสัจจะในพุทธศาสนา ตามสัจธรรมเลย ผู้ที่ทำบุญกุศล นี่ปฏิคาหกผู้ให้ให้ด้วยความบริสุทธิ์ ผู้รับรับด้วยความบริสุทธิ์ นี้คือบุญยิ่งใหญ่นัก

ถ้าบุญยิ่งใหญ่นัก เห็นไหม เขาบอกว่าทำทานมากๆ มันจะได้ร่ำรวย ทำทานมากน้อยขนาดไหน ทำทาน ที่ทำทานมากก็พระสีวลี พระสีวลีพอเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาแล้ว จะไปที่ไหน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะธุดงค์ไปทางไหน ถามว่าถ้าไปทุรกันดารพระสีวลีไปด้วยหรือไม่ ถ้าพระสีวลีไปด้วย นี่มันจะไม่อัตคัดขาดแคลนถ้าพระสีวลีไม่ไปด้วย

ทีนี้พูดถึงพระสีวลีมีที่มาที่ไปอย่างไร? พระสีวลีเป็นผู้ที่เป็นหัวหน้าทำบุญ เป็นผู้บุกเบิก เป็นหัวหน้ากองบุญตลอดมา บุญได้สร้างสมมามหาศาล นี่เขาจะไม่เคยขาดแคลนเลย แต่เวลาพระอรหันต์ในสมัยพุทธกาลที่ว่าฉันข้าวไม่เคยอิ่มเลยก็มี นี่เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน แต่ไม่เคยกินข้าวอิ่มเลย นี่ประวัติของเขา เขาเป็นคนตระหนี่ขึ้นมา แต่เขาไม่ได้ทำบุญกุศลของเขามากมายนัก แต่เวลาเขาทำคุณงามความดีของเขา ในทางปัญญาของเขา เขาก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้เหมือนกัน

นี่พูดถึงความร่ำรวยทางจิตใจ เพราะสิ่งที่ร่ำรวยทางจิตใจ จะมีอะไรสูงส่งไปกว่าความสิ้นกิเลส ถ้าความสิ้นกิเลสนี่ร่ำรวยทางธรรม ถ้าร่ำรวยทางโลกล่ะ? ทีนี้ร่ำรวยทางโลก ผู้ที่ทำบุญกุศลแล้วต้องร่ำรวยๆ ต้องประสบความสำเร็จ แล้วเขาไม่ได้ทำบุญแบบเรา ทำไมเขาประสบความสำเร็จล่ะ? นี่เรามองที่วัตถุนะ เราไม่มองที่มาที่ไป ถ้ามองที่มาที่ไปนะ สมัยล่าอาณานิคมใครเป็นคนล่าอาณานิคม แล้วเวลาสมัยทุนนิยม ทุนนิยมเขารุกด้วยอะไร? ถ้าเขาลุกได้ด้วยทุน ถ้าลุกได้ด้วยทุน ทุกอย่างแปรเป็นทุน ทุกอย่างแปรเป็นสินค้า เป็นค่าของเงิน

นี่เดี๋ยวนี้ทุนนิยมเขาต้องมีธรรมาภิบาลนะ ถ้าธรรมาภิบาลเพื่อความไม่เอารัดเอาเปรียบจนเกินไป แล้วนี่เอารัดเอาเปรียบเกินไปไหมล่ะ? ถ้าเป็นทุนนิยม ถ้าเป็นทุนนิยมร่ำรวยด้วยความถูกต้อง ร่ำรวยด้วยสติปัญญา หรือร่ำรวยด้วยการเบียดเบียนกันล่ะ? นี่พูดถึงร่ำรวยนะ ถ้าจิตใจเป็นธรรมมันจะไม่คิดอย่างนั้น นี่พูดถึงวัตถุนะ ถ้าพูดถึงวัตถุ วัตถุเป็นแบบนี้ แล้วถ้าเป็นแบบนี้นะ สมัยล่าอาณานิคม สมัยทุนนิยมขึ้นมา ผู้ที่มีทุน ผู้ที่ถือทุน ผู้ที่มีอำนาจเขาก็ทำผลประโยชน์ของเขาได้ แต่ต่อไปถ้าอำนาจลมเปลี่ยนทิศ

ถ้าลมเปลี่ยนทิศ ทีนี้ลมเปลี่ยนทิศ ทางธุรกิจทางตะวันออกกำลังจะขึ้น ถ้ากำลังจะขึ้น เดี๋ยวดูสิว่าเศรษฐีโลก ตอนนี้เศรษฐีโลก เมื่อก่อนเขาถามบ่อย ว่าทำไมเศรษฐีโลกไม่ใช่ชาวพุทธ แล้วตอนนี้เศรษฐีโลก เมืองจีนเศรษฐีโลกเป็นชาวพุทธ ชาวพุทธกำลังจะมา เราบอกร่ำรวยทางโลก เห็นไหม ร่ำรวยทางโลกมันอนิจจัง มันแปรปรวน มันไม่มีสิ่งใดคงที่หรอก ทีนี้ถ้าร่ำรวยทางโลกมันก็เป็นเรื่องหนึ่งนะ ถ้าร่ำรวยทางธรรม ถ้าร่ำรวยทางธรรม ปฏิคาหก คำว่าร่ำรวยทางธรรมเป็นอย่างไร?

นี่ปฏิคาหก ผู้ให้ให้ด้วยความบริสุทธิ์ ผู้รับถ้าไม่บริสุทธิ์ เห็นไหม ทำทานเยอะๆ ใครทำบุญมากๆ ได้บุญมากๆ นี่ถ้าผู้รับไม่บริสุทธิ์เขาก็ตักตวงของเขา ถ้าผู้รับบริสุทธิ์นะ ผู้รับบริสุทธิ์ หลวงตา โครงการช่วยชาติหลวงตา เวลาใครให้มากๆ หลวงตาบอกว่าแก้วแหวนเงินทองมันไม่ใช่น้ำทะเล ถ้าคนที่ให้แล้วก็รู้จักบันยะบันยัง ท่านบอกเลยนะว่าท่านทำความบอบช้ำให้กับลูกศิษย์ของท่าน ความบอบช้ำเราต้องขวนขวายหาปัจจัยของเรามา ถ้าเราหาปัจจัยของเรามาด้วยความเคารพ ด้วยความบูชา เราก็อยากจะถวายท่าน ถวายท่านเพื่อจะค้ำจุนชาติ

ถ้าใครให้มากๆ ท่านบอกเลยนะบอกว่ารู้จักคิดสิ ให้อะไรทุกวันๆ ที่ท่านพูดอยู่นี้พูดถึงคนที่ไม่ให้ พูดถึงคนที่มี เขามีศักยภาพที่ควรจะทำได้ ทำประโยชน์ได้ แต่เขาไม่ทำ เวลาท่านพูดท่านพูดอย่างนั้น นี่ผู้รับที่บริสุทธิ์ ถ้าผู้รับบริสุทธิ์ บริสุทธิ์หมายความว่าผู้ที่ให้มันวางใจได้ ถ้าผู้ให้วางใจได้ เพราะคำว่าบริสุทธิ์ วัตถุก็เป็นวัตถุนะ น้ำใจของคนมันยิ่งใหญ่

ถ้าน้ำใจของคนยิ่งใหญ่ คนพยายามแสวงหามาเพื่อถวายท่านๆ ท่านยังบอกเลยท่านเห็น เห็นถึงความบอบช้ำของคน เห็นถึงความบอบช้ำของการเราแสวงหามา ถึงการเราแสวงหามาเพื่อถวายท่าน ท่านเห็นถึงความบอบช้ำนั้น แต่ความบอบช้ำนั้นท่านก็พอใจ พอใจเพราะความบอบช้ำนี้มันเป็นประโยชน์กับผู้ให้ เป็นประโยชน์กับผู้ให้เพราะว่าสิ่งที่ท่านได้รับไปแล้วมันเป็นประโยชน์ทั้งหมด แต่ถ้าผู้ให้ไม่บริสุทธิ์ล่ะ? ผู้ให้ไม่บริสุทธิ์ล่ะ? ผู้รับไม่บริสุทธิ์ล่ะ? ถ้าผู้รับไม่บริสุทธิ์ ผู้รับก็จะแสวงหาโดยความพอใจใช่ไหม?

ฉะนั้น บอกว่าถ้าผู้ให้ให้ด้วยความบริสุทธิ์ ผู้รับรับด้วยความบริสุทธิ์ คำว่าผู้ให้ให้ด้วยความบริสุทธิ์ และผู้รับรับด้วยความบริสุทธิ์ เพราะผู้รับบริสุทธิ์รู้ รู้ว่าสิ่งที่ให้นี้เป็นวัตถุ วัตถุนี่มันจะให้ได้มันต้องมีน้ำใจ แล้วน้ำใจ น้ำใจของคนปรารถนา คนที่มีกิเลสอยู่ปรารถนาอย่างไร ก็ปรารถนาโดยสมุทัย ปรารถนาโดยมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ฉะนั้น เวลาผู้รับล่ะ? สิ่งที่เป็นวัตถุรับแล้วมันต้องภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเกิดการภาวนา ศีล สมาธิ เห็นไหม ศีลการภาวนา การเป็นตบะธรรม ถ้าผู้ที่จะพ้นจากกิเลสได้ ผู้ที่จะพ้นจากกิเลสตัณหาความทะยานอยากได้มันต้องการประพฤติปฏิบัติ

ฉะนั้น ให้เสร็จแล้ว ให้แล้วเราควรจะปฏิบัติ ควรจะกำหนดพุทโธ ควรจะภาวนาของเราขึ้นมาเห็นไหม คือว่าบุญที่ละเอียดมากไปกว่านี้ยังมี เราบอกว่าเราน้อยเนื้อต่ำใจกันว่าเราไม่มีโอกาสได้ทำบุญเหมือนคนที่เขามีกำลังของเขา แต่ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าคนที่ฉลาด อนุโมทนาไปกับเขา เห็นเขาทำคุณงามความดีอนุโมทนาไปกับเขา ที่ไหนร่มเย็นเป็นสุขเราส่งเสริม อันนี้บุญมหาศาลเลย เราก็ได้บุญอยู่แล้ว ถ้าได้บุญอยู่แล้ว บุญกิริยาวัตถุแค่กิริยาความรู้สึกนึกคิดของเรา ถ้าเราบริหารจัดการได้มันก็เป็นบุญแล้ว

นี่ถ้าผู้บริสุทธิ์เขาไม่ทำความบอบช้ำให้คนจนเกินไปนัก ถ้าความบอบช้ำ บอบช้ำทางโลกนี่เวลาร่ำรวยทางวัตถุไง ถ้าร่ำรวยทางวัตถุมันก็วัดกันที่ค่าของจำนวน ค่าของเงินนั้น แต่ถ้าวัดกันการร่ำรวยทางหัวใจ เห็นไหม ดูสิเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่โคนต้นไม้ โคนต้นโพธิ์ เวลาสำเร็จเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมอันนั้นครอบโลกธาตุ ธรรมอันนั้นเจือจานมาจนในสมัยปัจจุบันนี้ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น หลวงตาท่านบรรลุธรรมขึ้นมาอยู่ในป่าในเขาทั้งนั้นแหละ แล้วท่านมีบริขาร ๘

นี่คนจนผู้ยิ่งใหญ่ เห็นไหม ดูสิท่านทำประโยชน์กับโลกมหาศาลเลยเพราะจิตใจท่านเป็นธรรม ถ้าจิตใจเป็นธรรมขึ้นมามันเป็นประโยชน์ ถ้าร่ำรวยทางวัตถุก็เป็นเรื่องหนึ่งนะ ร่ำรวยทางน้ำใจ ร่ำรวยทางหัวใจมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเป็นอีกเรื่องหนึ่งมันตอบได้เป็น ๒ กรณีไง

ฉะนั้น บอกว่า

ถาม : คำถามคือทำไมคนแถบเอเชียไม่รวยเท่า ไม่มีบุญวาสนาเท่าคนในประเทศฝรั่ง

ตอบ : นี่เวลาเขารวยเขาร่ำรวยทางโลก เห็นไหม จะบอกว่าเดี๋ยวนี้นะการท่องเที่ยวในเอเชีย ตอนนี้พม่ากำลังจะมาเลย เพราะเขาปิดประเทศมานาน นักท่องเที่ยวจะหลั่งไหลเข้าไปในพม่าเลย เขาไปดูอะไรกัน? เขาไปดูวัฒนธรรม เขาไปเที่ยวทางวัฒนธรรมของเขา ความร่ำรวยมันอยู่ทางนี้ มันอยู่ทางนี้ แต่ถ้าพูดอย่างนี้ ในกรีซเขาไปเที่ยวอะไรกัน? นั่นก็เป็นโบราณวัตถุเหมือนกัน ถ้าโบราณวัตถุการท่องเที่ยวของเขา

นี่ก็เหมือนกัน เวลาบอกว่าทำไมทางแถบเอเชียไม่ร่ำรวยเท่า ร่ำรวยเท่า แล้วจะร่ำรวยยิ่งกว่า เพราะลมกำลังเปลี่ยนทิศ เศรษฐกิจมันกำลังจะขึ้นคนละทาง แล้วถ้าการแข่งขันกันทางโลกมันเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ นี่พูดถึงทางโลก ถ้าร่ำรวยนี่ร่ำรวยทางหัวใจ ถ้าร่ำรวยทางหัวใจ เพราะไม่มี เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดกับสุภัททะ เวลาสุภัททะมาถามว่า

“ศาสนาไหนเขาว่าสุดยอด ศาสนาไหนก็สุดยอด”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “สุภัททะ เธออย่าถามอย่างนั้น เธออย่าพูดอย่างนั้น พูดอย่างนั้นไม่ได้ ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล มรรค ๘ ในศาสนาอื่นไม่มี ถ้ามรรค ๘ ในศาสนาอื่นไม่มี เขาไม่มีมรรค ผลมันเกิดขึ้นมาไม่ได้ เขาไม่มีเหตุไม่มีการกระทำ ผลจะเกิดขึ้นมาไม่ได้”

ฉะนั้น เวลาสุภัททะไปถามว่าศาสนาไหนก็ดี ศาสนาไหนก็ว่าดี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเธอพูดอย่างนั้นไม่ได้ ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล ฉะนั้น ให้พระอานนท์บวชให้ คืนนั้นสุภัททะเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา พระอรหันต์นี่เห็นไหม ความร่ำรวยอันนี้ อันนี้สำคัญ ในเมื่อศาสนาไหนไม่มีมรรค แล้วมีศาสนาไหนมีมรรค แล้วศาสนาพุทธมันอยู่ที่ไหน ศาสนาพุทธมันเจริญอยู่ที่ไหน? ถ้าศาสนาพุทธเจริญที่ไหน

นี่ความร่ำรวยมันร่ำรวยที่นี่ ถ้าร่ำรวยที่นี่ เวลาการประพฤติปฏิบัติ ดูสิในปัจจุบันนี้ทางตะวันตกเขามาบวชทางตะวันออกเราเยอะแยะมาก แล้วเวลาพุทธศาสนา ตอนนี้ครูบาอาจารย์ท่านจะพูดประจำว่าเวลาเขาไปธรรมทูตๆ กัน บอกฝรั่งเขาจะสนใจมาก แล้วเขาไม่สนใจประเพณี เขาสนใจสมาธิเลย เวลาเขาไปหาพระเขาอยากให้พระสอนให้เขาปฏิบัติเลย เขาฝักใฝ่ในการประพฤติปฏิบัติ เขาร่ำรวยอย่างนั้นแล้ว เขาทำไมต้องมาแสวงหาทางนี้ล่ะ? เพราะเขาจะร่ำรวยทางจิตใจไง เขาจะไม่ให้ทุกข์ร้อนไง เราไปมองแต่สมบัติภายนอกไง สมบัติภายนอก สมบัติทางวัตถุ คนถ้าจิตใจดีมันจะไม่เป็นฟืนเป็นไฟเผาเขานะ ถ้ามันจิตใจไม่ดีมันจะเป็นฟืนเป็นไฟเผาหัวใจ

ฉะนั้น มองอย่างนี้สิ มองถึง ทีนี้อย่างของผู้ถามมันคาใจ ปัญหามันไม่สำคัญหรอกแต่มันคาใจ เราทำไมไม่ร่ำรวยเหมือนเขา ร่ำรวยแต่ทุกข์บีบคั้นในใจมีประโยชน์อะไร? แต่ถ้าร่ำรวยด้วย แล้วหัวใจปลอดโปร่งด้วย หัวใจมีความสุขด้วย ร่ำรวยอย่างนี้ถึงจะมีประโยชน์ แล้วถ้าจิตใจเป็นธรรมขึ้นมา สิ่งที่เป็นวัตถุไม่มีค่าเลย สิ่งที่เป็นวัตถุ นี่โลกธรรม ๘ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ ที่ไหนมีติฉินนินทา

นี่ถ้ามีสรรเสริญก็มีนินทา โลกธรรม ๘ เป็นธรรมะเก่าแก่ มันมีธรรมะเก่าแก่คือมันมีมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เวลาถ้าจิตใจมันเหนือทุกๆ อย่างแล้ว อันนี้ร่ำรวยจริง ถ้าร่ำรวยจริงมันจะเป็นประโยชน์กับเรานะ เราจะไม่ไปคิดแบบนี้ แต่ธรรมดาคำถามมีคนถามบ่อยมาก เวลาพระเทศน์พระจะพูดอย่างนี้ไง ว่าปฏิคาหก ผู้ให้ให้ด้วยความบริสุทธิ์ ผู้รับรับด้วยความบริสุทธิ์ จะได้บุญมากๆ พอบุญมากเราก็คำนวณเลย ถ้าบุญมากกลับไปต้องได้รางวัลที่หนึ่ง ๕ ใบ เพราะมันทำบุญมาก ต้องได้รางวัลที่หนึ่ง ๕ ใบ ต้องได้รางวัลที่หนึ่ง ๑๐ ใบ แล้วพอได้รางวัลที่หนึ่งมาแล้วมันก็รักษาไว้ไม่ได้ เพราะไม่มีปัญญารักษาไว้

เราไปมองกันที่นั่น ทีนี้ถ้าเรามองกันที่ว่าถ้าการร่ำรวย ร่ำรวยด้วยหัวใจ ร่ำรวยด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ร่ำรวยที่ว่าถึงเมืองพอ อันนี้เป็นอันหนึ่ง ถ้าร่ำรวยทางวัตถุนั้น เราก็ยืนยันนะ เพราะสิ่งนี้มันแบบว่ามันต้องร่ำรวยทางหัวใจก่อน แล้วมันจะร่ำรวยทางวัตถุต่อไปข้างหน้า ถ้าหัวใจที่มันดีแล้ว มันทำสิ่งใดมันจะออกมาดีหมด ถ้าจิตใจมันทุกข์มันร้อน ทำสิ่งใดนะแบบว่ามันไม่ได้ออกมา อย่างเช่นเขาดูทางพวกศิลปะนะ ถ้าจิตใจของคนเป็นธรรมนะ ศิลปะของมันจะสวยงามมาก ถ้าศิลปะ เห็นไหม เขาไปดูศิลปะเพื่อจะขัดเกลาจิตใจของเขา แต่ในพุทธศาสนาเราขัดเกลาด้วยมรรคเลย ขัดเกลาด้วยสติ ด้วยปัญญาของเราเลย ไม่ได้ขัดเกลาทางวัฒนธรรม ทางศิลปะ ทางศิลปะมันก็ออกมาจากใจทั้งนั้นแหละ

ฉะนั้น บอกว่าจิตใจของคน ถ้าไม่พ้นจากทุกข์มันก็เป็นแบบนั้น แต่ถ้าพ้นจากทุกข์แล้วจบนะ พ้นจากทุกข์แล้วมันเกิดมานี่ เกิดมาพุทธศาสนาจะเห็นคุณค่าสิ่งนี้ ถ้าเห็นคุณค่าสิ่งนี้จะเป็นประโยชน์กับเรา นี่เป็นประโยชน์กับเรา นี่พูดถึงว่า “ความสงสัยบางประการ” นี่ความสงสัย

ข้อ ๑๓๑๐. นะ

ถาม : ข้อ ๑๓๑๐. เรื่อง “กราบเรียนเรื่องการภาวนาค่ะ”

กราบเรียนหลวงพ่อค่ะ หนูภาวนาพุทโธบ้าง ดูลมบ้าง ดูกายบ้างตามที่หลวงพ่อองค์หนึ่งท่านบอกว่าให้ทำเล่นๆ อย่าเครียดกับมัน หนูก็เลยสลับไปสลับมา แล้วแต่ว่าอะไรมันจะเด่นชัด จนวันหนึ่งหนูก็นอนดูลมพร้อมภาวนาพุทโธไปเรื่อยๆ เพราะมันมีอาการปวดขามากขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็ดูว่ามันปวดที่ตรงไหนดูมันไปเรื่อยๆ ก็ถามว่าตรงไหนมันเจ็บ แล้วหาตำแหน่งที่เจ็บ แล้วมันก็เห็นกระดูกหน้าแข้งกับกระดูกข้อเท้าขึ้นมาทั้ง ๒ ชิ้นลอยอยู่ แล้วกระดูกทั้ง ๒ ชิ้นก็แข่งกันตอบว่ามันเจ็บ ก็ถามมันต่อไปว่าแล้วอะไรเจ็บ ก็มีแสงสว่างระหว่างช่องกระดูกทั้ง ๒ ตอบว่าฉันเจ็บ ก็ถามต่อว่าเธอไม่มีตัวตน แล้วทำไมเจ็บ มันก็ท่องแต่คำว่าฉันเจ็บๆ ไม่ยอมหยุด จนเบื่อก็เลยออกมา

ต่อมาก็ชอบน้ำตาไหลโดยไม่มีสาเหตุอยู่หลายครั้ง แล้วมันก็เฝ้าถามตัวเองว่าจะเลือกเป็นขยะที่ลอยตามน้ำ หรือเป็นปลาตัวน้อยที่พยายามว่ายทวนกระแสน้ำที่ไหลแรง แล้วก็ถามตัวเองว่ากระแสน้ำที่ไหลแรงนั้นคือสิ่งที่มากระทบใจ หรือว่ากิเลสของตัวเองที่ไหลเชี่ยวแล้วเราต้องฝ่าขึ้นไป หรือเราต้องลอยตามน้ำเหมือนขยะดี แล้วก็ดูลูกปลาตัวเล็กที่พยายามว่ายทวนน้ำตั้งนานก็อยู่ที่เดิม แต่ก็ไม่ยอมแพ้ ว่ายจนลับสายตาไป

ก็ถามตัวเองต่อว่าปลามันยังรู้เลยว่าความตรงกลางของปลาก็ไม่ใช่กลางคลองที่น้ำเชี่ยว และก็ไม่ใช่ริมคลองที่มีแรงกระแทกของน้ำที่กระทบฝั่ง แต่ก็ว่ายไปตรงระหว่างกลางคลองและริมคลองเพราะน้ำเบาที่สุดต่างจากขยะที่ไหลตามน้ำกระทบนู่นบ้างนี่บ้าง แต่ก็ไม่เหนื่อยที่จะว่ายน้ำทวนกระแสตลอดเวลาเหมือนลูกปลา แล้วจิตมันก็วนเวียนอยู่กับคำถามเหล่านี้ แล้วน้ำตาก็ชอบไหลโดยไม่มีสาเหตุมาหลายวันแล้วค่ะ หนูควรทำอย่างไรดีคะ ทำไมน้ำตามันไหลเองโดยที่หนูไม่รู้ตัวมาหลายครั้งแล้วค่ะ โดยเฉพาะเวลานั่งสมาธิ (นี่คำถามนะ)

ตอบ : เอาคำถามข้างต้นก่อน ข้างต้นจะบอกว่าเวลาเขาดูลมไป เห็นไหม ดูลมหายใจไปแล้วเขาทำเล่นๆ ทำเล่น คำว่าทำเล่นๆ นี่นะ นี่เวลาครูบาอาจารย์ท่านอยู่ คำนี้ท่านไม่ให้ใช้เลย ท่านบอกว่าต้องมีสติ ต้องทำให้จริงจัง แต่ทำจริงจังโดยไม่เครียด ทำจริงจังเพราะเราจริงจัง เราเกร็งไปเราก็จะเครียด เราก็จะกดดันตัวของเรา ถ้าเราดูลมหายใจ เราดูกาย ไล่ไปตามกายแบบหลวงปู่เจี๊ยะสอน ให้ดูกายตามท่อนกระดูกขึ้นไป เราดูกายไปเรื่อยๆ ถ้าจิตมันสงบแล้ว จิตมันสงบแล้วถ้าเห็นกาย

การดูกายเราบังคับ เพราะเราดูโดยสามัญสำนึก เราคิดว่าเรื่องกายเป็นอย่างใด ให้ทำให้จริงจัง ไม่ใช่ทำเล่นๆ คำว่าทำเล่นๆ มันเป็นช่องทางให้กิเลส ให้สมุทัยมันได้ช่องไง นี้คำว่าทำเล่นๆ เราทำเล่นๆ เราทำสักแต่ว่าทำมันเป็นของสักแต่ว่า ให้ทำจริงๆ แต่ทำจริงๆ ไม่ได้ทำด้วยความเคร่งเครียด ไม่ใช่ทำจนเกร็ง ทำจริงๆ แต่จริงๆ ผสม อย่างเช่นตั้งสติก็พุทโธ พุทโธของเราไป ถ้าเราดูลมหายใจก็ดูลมหายใจด้วยความเป็นจริงของเราไป ถ้ามันเกิดสิ่งใดขึ้นมาให้ทำจริงอย่าทำเล่น แต่ทำจริงไม่ใช่ทำแบบเกร็ง ไม่ใช่ทำแบบเคร่งเครียด ถ้าทำจริงแล้วมันเคร่งเครียดนั่นมันธรรมดา เพราะกิเลสของคนมันจะกดถ่วง มันจะเคร่งเครียดของมัน เราก็ทำจริง

ถ้ามันทำเล่นๆ ทำเล่นมันก็เหมือนกับสะเปะสะปะ ถ้าสะเปะสะปะทำเล่นๆ มันจะลงสู่ภวังค์ คือมันจะหายไปเลย ทำเล่นๆ ทำพอเป็นพิธี ทำๆ ก็หายไปเลย อย่างนี้เราเสียเวลาเปล่าไง ให้ทำจริงๆ อย่าทำเล่น ทำเล่นๆ นี่ไม่ได้ให้ทำจริงๆ นะ แล้วทำไปๆ เราทำเล่นๆ แต่วันหนึ่งนะพอพุทโธไปเรื่อยๆ นี่เราบอกว่าพุทโธไปเรื่อยๆ พอเห็นตำแหน่งเจ็บมันดูของมันไป ถ้าจิตมันสงบของมันนะมันเป็นไปอย่างนี้ มันเป็นไป เห็นไหม เห็นเป็นกระดูกหน้าแข้ง กระดูกข้อเท้า ๒ ชิ้นลอยเด่นขึ้นมา แล้วมันบอกมันเจ็บๆ

ถ้าไปพูดอย่างนี้กับคนไม่ปฏิบัตินะ เขาบอกนี่คนอย่างนี้ต้องส่งโรงพยาบาลแล้ว ถ้าเห็นว่ากระดูกมันลอยมา กระดูกมันพูดได้แสดงว่าสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์แล้วแหละ คนๆ นี้ใกล้จะขาดสติแล้ว คนๆ นี้ควรจะไปโรงพยาบาล นี่ถ้าพูดกับทางวิทยาศาสตร์นะ อ้าว ก็มันเป็นไปไม่ได้ ไอ้นี่มันเป็นนามธรรม ถ้าเป็นนามธรรมเห็นกระดูกลอยมา กระดูกพูดได้ สงสัยสติไม่ดี สติไม่ดีต้องจับส่งโรงพยาบาล นี่ถ้าพูดถึงทางโลกนะ แต่ถ้าเป็นทางธรรม ทางธรรมนะคนปฏิบัติไปแล้วมันเกิดนิมิตได้ เกิดความเห็นจากภายในได้ ถ้าเกิดความเห็นจากภายใน เกิดความเห็นจากภายใน ถ้าสติสัมปชัญญะเราไม่ดี แล้วถ้าเราทำเล่นๆ เกิดความเห็นจากภายในมันเป็นอุปาทานก็ได้

สิ่งที่ว่าเห็นจริงไหม? เห็นโดยอุปาทาน นี่เห็นจริงๆ แต่ความเห็นนั้นไม่จริง แต่ถ้าจิตมันสงบนะ จิตมันสงบ นี่เราดูลมหายใจ เราพุทโธจิตมันสงบ เห็นจากภายในก็ได้ แล้วเห็นจริงๆ ด้วย เห็นจริงๆ หมายถึงว่ามันจับต้องได้ เห็นจริงๆ นี่เห็นจริงๆ จับต้อง มีความรู้สึก มีอารมณ์ต่างๆ จับต้องได้เลย จับต้องได้เพราะอะไร? เพราะจิตนี้เป็นนามธรรม

จิตนี้เป็นนามธรรม จิตมันมีไหมล่ะ? มี ความสุขความทุกข์มันมี ความสุขความทุกข์มี มันสุขมันทุกข์ทางโลก มันสุขมันทุกข์โดยสมุทัย มันสุขมันทุกข์โดยสัญชาตญาณ แต่เวลาจิตเราสงบขึ้นมาแล้วมันเห็นจริง มันมีความสุขความทุกข์ของมันมีจริงไหมล่ะ? มี มีเพราะจิตมันจริง มันจับต้องได้ อย่างเช่นเราเร่าร้อนนักเราก็ว่าอยากร่มเย็น แต่เราไม่ทำอะไรเลยมันก็อยู่แค่นี้แหละ ถ้าเราเร่าร้อนนักนะเราผ่อนคลายใช่ไหม เราอาบน้ำ เราเข้าสู่ห้องที่ร่มเย็นมันก็หลบจากความร้อนได้

นี่ก็เหมือนกัน พอจิตมัน เพราะความสงบร่มเย็น สิ่งที่มันร้อน เวลาเราอาบน้ำแล้วมันคลายความร้อนใช่ไหม? มันก็เป็นความเย็นเป็นธรรมดา สิ่งที่เป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรมมันพุทโธ พุทโธไป จิตมันไปรู้ ไปเห็นขึ้นมา นี่มันเห็นเป็นกระดูกข้อเท้ามันเห็นได้ เห็นได้เพราะอะไร? เห็นได้เพราะตาในมันเปิด เห็นได้เพราะตาในมันมี ทีนี้พอมันเห็นได้ ถ้าเห็นมันมีสติมันก็เห็น มันก็จับต้อง มันก็มี นี่มันตอบมันถาม อะไรมันเจ็บ แล้วมันก็บอกว่าฉันเจ็บๆๆ มันพูดของมันอยู่อย่างนั้นแหละ ฉันเจ็บๆ มันไหลไปตามกระแส

ถ้าไหลไปตามกระแสนะ ถ้าสติเราดีนะ นี่ฉันคือใคร แล้วฉันที่เจ็บมันเจ็บอย่างไร นี่มันจะไล่ไปมันก็ต่อเนื่องใช่ไหม? แต่เวลาว่าฉันเจ็บๆ มันไปไม่ได้แล้ว กำลังมันไม่พอ กำลังมีเท่านี้ ฉันเจ็บๆๆ พอฉันเจ็บแล้วมันก็จะเลือนรางลง เลือนรางลง แล้วจะมาทำอีกทำไม่ได้แล้ว ทำไม่ได้เพราะว่าสติเราไม่ดี สติ สมาธิเราไม่มั่นคง แล้วถ้าจะทำต่อไปอย่างไรก็กลับไปที่พุทโธ กลับไปที่พุทโธให้จิตสงบระงับเข้ามา จิตมันมีกำลังเข้ามา แล้วถ้ามันพิจารณาไป แล้วก็น้อมไปที่กาย ถ้ามันเห็น มันเห็นเป็นอย่างอื่นก็ได้ ทีนี้มันไม่เห็นเป็นข้อเท้าแล้ว มันไม่เห็นเป็นกระดูกข้อเท้าแล้ว มันจะเห็นเป็นหัวกะโหลกก็ได้ มันจะเห็นเป็นก้อนเนื้อก็ได้ มันจะเห็นเป็นรูขุมขนก็ได้

นี่เวลามันเห็นนะ ถ้าเห็นอย่างนี้เขาเรียกว่าเห็นปัจจุบัน แต่ถ้าเราเคยเห็นข้อเท้านะ ถ้าจิตสงบแล้วต้องเห็นข้อเท้า จิตสงบครั้งแรกเป็นความจริง จิตสงบครั้งที่ ๒ เป็นสัญญา เพราะมันจำมาจากครั้งแรก ครั้งที่ ๒ มันจะจำแบบครั้งแรก เพราะอะไร? เพราะมันมีสัญญาจำมันได้ แต่ถ้าจิตสงบแล้วเราน้อมไปเลย ถ้ามันมีสิ่งใดขึ้นมามันจะขึ้นมาตามความเป็นจริง อันนั้นจะเป็นความจริงขึ้นมา ถ้าความจริงอย่างนี้มันจะถูกต้อง นี่พูดถึงว่าเวลานั่งไปแล้วจิตมันจะร้องขึ้นมา

นี่เรียนถามการภาวนานะ นี้ถามการภาวนา ถ้าจิตมันสงบนะ สิ่งที่มันเป็นมันเป็นปัจจุบัน ถ้ามันเจ็บๆ อันนี้เป็นการยืนยัน เป็นการยืนยันว่าถ้าจิตเราสงบระงับขึ้นมามันจะรู้มันจะเห็นของมัน อันนี้ถ้าเราทำต่อไปนะ ไม่ต้องจับตรงนี้เป็นประเด็น ให้กลับไปที่ลมหายใจ กลับไปที่พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ เพราะสิ่งที่มันเป็นขึ้นมา พอจิตมันสงบแล้ว นี่ทำไปเรื่อยๆ พอจิตสงบแล้วมันเจ็บขึ้นมา แล้วเห็นกระดูกขึ้นมา นี่มันขึ้นมาโดยปัจจุบัน มันเป็นขึ้นมาโดยปัจจุบัน เพราะความเจ็บๆ มันเป็นกระดูกขึ้นมา มันเป็นระหว่างกระดูกข้อเท้า กระดูกหน้าแข้ง แล้วมันมี ๒ ชิ้นมันมีช่องว่าง ช่องว่างว่าฉันเจ็บๆ

สิ่งนี้ความรู้สึกแล้วมีสติ ถ้ามีสติปั๊บมันจะดับหมด สิ่งที่ว่ามันไม่เป็นความจริง มันจะกรองความจริง มันจะดับ แล้วถ้ามันเป็นความจริง ถ้าจับกระดูกมันเจ็บ กระดูกเจ็บ กระดูกให้แยกส่วนขยายส่วนกระดูก ถ้าแยกส่วนขยายส่วนกระดูกมันจะต่อเนื่องไป ถ้าการต่อเนื่องไปมันจะลงสู่ไตรลักษณ์ นี่พูดถึงปัญญาข้อที่ ๑ ว่าเวลากระดูกมันบ่นว่าเจ็บ พอกระดูกมันโต้แย้งมา มันทำอย่างนั้นจนเราเบื่อ เห็นไหม เราเบื่อมันทำต่อเนื่องไปไม่ได้เพราะกำลังมีเท่านี้ ถ้ากลับไปที่พุทโธ กลับไปที่ลมหายใจขึ้นมามันจะดีขึ้น

ถาม : ต่อมาชอบน้ำตาไหล มันไม่มีเหตุมีผลเวลาน้ำตาไหล เราเปรียบเทียบเหมือนปลาตัวน้อยมันว่ายไปตามกระแสน้ำ แล้วเราจะปล่อยตัวเราลอยไปตามน้ำ ไปตามกระแสน้ำเรายังมีความโง่กว่าปลาตัวนั้น ปลาตัวน้อยมันยังรู้จักหลบรู้จักหลีกขึ้นไป นี่ปลาตัวน้อยมันยังมีปัญญา แล้วเรานี่เราเป็นคน เราเป็นคน เราเป็นนักปฏิบัติ เราจะดูแลหัวใจของเรา ถ้าเราดูแลหัวใจของเรา เราเป็นคนขนาดนี้ ขนาดปลามันยังรู้จักหลบรู้จักหลีก ทำไมเราไม่รู้จักหลบรู้จักหลีก

ตอบ : ฉะนั้น เวลาเราบอกว่าต่อมาชอบน้ำตาไหล เวลายิ่งน้ำตาไหลมันชอบเวลานั่งภาวนา เวลานั่งสมาธิน้ำตามันจะไหล ถ้าน้ำตามันจะไหลเราตั้งสติของเราไว้ นี่เวลาคนนั่งไป ตัวโยก ตัวคลอน ตัวใหญ่ต่างๆ ทีนี้เวลาธรรมสังเวชไง ไอ้นี่มันสลด มันสลด มันสังเวช เราเคยทำอย่างนี้แล้วมันเกิดน้ำตาร่วงน้ำตาไหล พอเข้าไปสู่ร่องอารมณ์ความรู้สึกอย่างนี้มันก็กระทบความรู้สึกอย่างนี้ ถ้ากระทบความรู้สึกอย่างนี้มันก็เป็นของมันอีก ถ้าเรามีปัญญา เราใช้ปัญญาเคลียร์ทีเดียวก็จบแล้ว

น้ำตาถ้ามันไหลแล้วมันมีความรู้สึก แม่น้ำลำคลองมันก็ไหลอยู่ตลอดเวลา ในร่างกายของเราก็มีน้ำ มีเหงื่อ มีไคล มีเลือด นี่สิ่งที่บ่อน้ำตาในร่างกายเรามี แม้แต่เราขับรถจักรยานยนต์ รถเครื่อง เห็นไหม เราขับไปลมมันกระทบตา น้ำตามันก็ต้องไหล น้ำตาเพื่อจะหล่อเลี้ยง คนถ้าไม่มีน้ำตาหล่อเลี้ยง ตาแห้งหมอก็ต้องหยอดน้ำใส่ตาด้วย เพราะป้องกันดวงตา ดวงตามันจะเสีย ฉะนั้น สิ่งที่น้ำตาไหล ถ้าพูดถึงเราพิจารณาโดยทางวิทยาศาสตร์ ทางการแพทย์มันมีของมันอยู่อย่างนั้นอยู่แล้วแหละ แต่ทีนี้พอมันมีอย่างนั้นเพราะจิตใจ ความรู้สึกมันไปกระตุ้น มันกระเทือน น้ำตาก็ไหลพราก

น้ำตาไหล เห็นไหม น้ำตาไหลของคนที่เป็นความทุกข์ เวลามีความคับแค้นใจเขาน้ำตาร่วง น้ำตาไหลด้วยความทุกข์ความยากของเขา เวลาครูบาอาจารย์เวลาท่านพิจารณาธรรมของท่านไป เวลาธรรมสังเวชน้ำตามันร่วงมันไหล น้ำตาอย่างนี้มันน้ำตาชำระล้างภพชาติ ถ้าน้ำตาล้างภพชาติมันที่มามันต่างกันไง ที่มาของธรรม ธรรมสังเวชมันสะเทือนหัวใจน้ำตาไหลน้ำตาพราก น้ำตาไหลพรากมันสะเทือนโลกธาตุ มันจะทิ้ง มันจะสั่นไหว แต่เวลาคนที่ทุกข์ที่ยาก น้ำตาไหลน้ำตาร่วงขึ้นมา น้ำตาไหลน้ำตาร่วงด้วยความทุกข์ยาก ด้วยความเจ็บช้ำ นี่มันคนละเรื่องเลยล่ะ

ฉะนั้น ถ้ามันเป็นธรรมสังเวชนั่นก็เป็นเรื่องหนึ่ง ฉะนั้น เป็นธรรมสังเวช ถ้าเราใช้ปัญญาขึ้นไปเดี๋ยวมันจะไม่เกิดแล้วแหละ แต่ตอนนี้พออารมณ์ ความกระทบจิตมันกระทบอย่างนี้ พอมันจะนั่งสมาธิน้ำตามันก็ไหล เพราะ เพราะสิ่งนี้มันฝังใจ นี่ฝังใจมันเกิดเฉพาะตรงนี้แหละ เดี๋ยวพอจิตมันเปลี่ยนแปลงไปแล้วนะจบ ไอ้ตรงที่ว่าน้ำตามันจะไหล อยากให้มันไหลมันก็ไม่ไหลแล้ว อยากแสวงหามันมามันก็ไม่มาแล้วล่ะ แต่ตอนที่มันมา มาก็แปลกใจไง มาก็แปลกใจ นี่เขาเรียกว่าหญ้าปากคอก

เวลาปฏิบัติไปมันจะมีการกระทบอย่างนี้ เวลาคนปฏิบัติไปนะ เวลานั่งไปแล้วตกภวังค์ นั่งไปแล้วมันว่างมันหายไปเลย นั่งไปแล้วตัวโยกตัวคลอน นี่ก็เหมือนกัน พอจะนั่งไปน้ำตามันก็จะไหล มันก็อันเดียวกันนั่นแหละถ้าอันเดียวกันนะ นี่แล้วจะแก้อย่างไร? เพราะมันนั่งสมาธิแล้วจะเป็น มันเป็นการต่อรอง ถ้านั่งสมาธิก็น้ำตาจะไหล ถ้าไปเที่ยวเล่นน้ำตามันก็จะไม่มี นี่มันก็ต่อรองของมันไปนะ ต่อรองอย่างนี้ ขณะที่ปฏิบัติ ถ้าไม่ทำเลยมันก็ไม่มีสิ่งใดมารบกวน ถ้าจะปฏิบัตินะมันจะมีสิ่งใด มีข้อโต้แย้งไปหมดเลย ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้ แต่ถ้าไม่ทำนะไม่เป็นไรเลย

กิเลสมันเป็นแบบนั้น กิเลสมันจะพาให้เราออกไปข้างนอก ถ้ากิเลสมันพาให้เราออกข้างนอกมันก็จบไป แต่ถ้าเรามีสติปัญญาเราจะแก้ไขของเรา ถ้าแก้ไขของเรา น้ำตาก็คือน้ำตา น้ำตามันไหลนะ น้ำตามันมีหลายขั้นตอนมาก น้ำตาที่เป็นเรื่องการผูกพันทางโลกนั้นเป็นน้ำตาทุกข์ น้ำตายาก เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า จิตที่เวียนตายเวียนเกิดนี้ ในชีวิตๆ หนึ่งมีแต่ความทุกข์ยาก น้ำตาที่ไหลแต่ละภพชาติ ถ้าเก็บไว้เฉพาะจิตของเรา มากยิ่งกว่าน้ำทะเล ถ้าน้ำทะเล น้ำประจำโลก คนๆ หนึ่งนะ จิตดวงหนึ่งนี่แหละ น้ำที่ไหลออกมาจากตา เวลามันจะทุกข์มันจะยาก ถ้าเก็บไว้ทุกชาติๆ แล้วสะสมไว้เฉพาะจิตดวงเดียว นั้นมันจะมากมายขนาดนั้น

นี่ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็บอกไว้แล้ว ว่าการเวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะมันยาวไกลขนาดนั้น แล้วในปัจจุบันเราปฏิบัติน้ำตาเราไหลแล้วล่ะ พอน้ำตาเราไหล มันจะชอบไหลตอนนั่งสมาธิด้วย แล้วหนูจะแก้อย่างไร? หนูจะแก้อย่างไรหนูก็ต้องมีสติมีปัญญาของเรา สิ่งนี้มันเป็นเวรเป็นกรรมของสัตว์โลก คนอื่นจะเจออุปสรรคทางอื่น แต่เรามาเจออุปสรรคทางนี้ไง

เรามาเจออุปสรรคต่อเมื่อเวลาจะนั่งสมาธิ เราจะภาวนาของเรา มันจะมีอุปสรรคของเรา แล้วถ้าเป็นอุปสรรคของใครมันจะใหญ่โตมากจากจิตดวงนั้น แต่คนนอกที่เขามองเข้ามา ปัญหาเล็กน้อยมาก ปัญหาหญ้าปากคอกแค่นี้ทำไมแก้ไม่ได้ แต่เวลาคนที่เป็นเจ้าของปัญหามันใหญ่โตมาก เหมือนผงเข้าตา ผงนี่เป็นผงเล็กๆ ละเอียดเล็กนิดเดียว เข้าตาใคร โอ๋ย คนนั้นเคืองตามากเลย ไอ้คนที่ไม่เข้าตามันไม่รู้สึกเลย

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เกิดกับเรา เราจะแก้ไขของเรา ถ้าเราแก้ไขของเรา เห็นไหม นี่หัวใจของเรา คนอื่นเขาจะสุขเขาจะทุกข์มันเป็นเรื่องของเขา แต่ถ้ามันสุขมันทุกข์ในหัวใจของเรา เราปฏิบัติของเรา มันจะเป็นประโยชน์กับเรา ถ้าประโยชน์เกิดตรงนี้มันจะเป็นประโยชน์ตรงนี้ ถ้าเป็นประโยชน์ตรงนี้มันก็เป็นปัจจัตตัง เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก ถ้าเป็นปัจจัตตังเกิดขึ้นมา มันจะเป็นภาคปฏิบัติ นี่กราบเรียนเรื่องการภาวนา

การภาวนาของคนนะ เริ่มต้นก็ล้มลุกคลุกคลานไปเรื่อยแหละ ถ้าใครล้มลุกคลุกคลานไปมันก็จะไม่ได้สิ่งใดมาเป็นปัจจัตตังคือเป็นเครื่องยืนยันกับจิต ปัจจัตตังคือจิตเข้าไปเจอเอง จิตเข้าไปเจอเองนะ กาลามสูตรไม่ให้เชื่อสิ่งใดทั้งสิ้น นี่เวลาฟังธรรม เห็นไหม ไปฟังครูบาอาจารย์มาท่านบอกนิพพานเลย ท่านบอกว่ามรรคอันละเอียดเลย ชำระล้างกิเลสเราก็ฟังเขาไป แต่เวลาใครมาปฏิบัติก็เริ่มต้นจากอย่างนี้ เริ่มต้นจากคนหนา เริ่มต้นจากจิต

เราฟังธรรมๆ เราศึกษามาเราว่าเป็นปัญญาชน เราศึกษาธรรมะ เราเข้าใจธรรมะมหาศาลเลย แต่จิตใจของเรามันยังด้าน จิตใจของเรามันยังไม่เป็นความจริง แล้วถ้าใครเป็นความจริงก็ต้องทำอย่างนี้ ใครเป็นความจริงก็ต้องทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจสงบแล้วนี่หญ้าปากคอก ก่อนจะสงบมันจะเจออุปสรรคอย่างนี้ รู้เห็นต่างๆ ไปที่มันจะเป็นอุปสรรค แล้วถ้ามันเข้าไปจนมันชำนาญในวสี เราเข้าออกจนชำนาญ พอเราเข้าออกจนชำนาญ นี่ปุถุชน กัลยาณปุถุชน

แล้วถ้าเห็นกาย เห็นกาย เห็นไหม นี่ว่าเห็นกระดูกๆ ถ้าไปเห็นกายตามความเป็นจริง นั่นล่ะโสดาปัตติมรรค ถ้าโสดาปัตติมรรค พิจารณาแยกแยะเข้าไปมันจะเป็นโสดาปัตติผล จากสกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ นี่ผลของการปฏิบัติ เป้าหมายของการปฏิบัติ ถ้าเป้าหมายของการปฏิบัติเราตั้งใจของเรา หน้าที่การงานในชีวิตของเรา เราก็ทำของเราแล้ว แต่หน้าที่การงานของหัวใจ หน้าที่การงานของจิตของเรา

จิตของเราเกิดมา เห็นไหม เวลาเทวดา อินทร์ พรหมก็เกิดไป เขาก็เสวยภพ เสวยชาติของเขา เวลาเราเกิดเป็นมนุษย์ คนที่ไม่สนใจศาสนาเขาก็มีความสุขของเขา เรานี่เราเหมือนกับคนแปลกเลยเนาะ หน้าที่การงานเราก็ต้องแบกหามเราอยู่แล้ว ยังต้องมีหน้าที่การงานของใจอีก ทำไมเราทำงาน ๒ หน้าที่ ทำไมโลกเขาทำงานหน้าที่เดียว เขาทำหน้าที่เดียวเขาก็อยู่กับโลกได้ เราก็ทำหน้าที่การงานของโลกแล้ว ทำไมต้องมาทำหน้าที่การงานของใจอีก เหมือนคนทำงาน ๒ หน้าที่ เสียเปรียบมากเลย

แต่ถ้าคิดเป็นธรรมนะ คนเขาทำงานหน้าที่เดียวเขาเสียเปรียบ เพราะเขามีใจด้วย แต่เขาทำงานหน้าที่แต่เพื่อร่างกายของเขา สถานะทางสังคมของเขา เขาไม่เห็นเรื่องความเป็นจริงในใจเลย เราต่างหาก เราต่างหากทำงาน ๒ หน้าที่ คือคนหูตาสว่างทำงาน ๒ หน้าที่ หน้าที่หนึ่งทางโลก หน้าที่หนึ่งทางธรรม เราทำเพื่อเราต่างหาก เขาทำงานหน้าที่เดียวแล้วเขามีความสุข สบาย ถามซิสบายจริงหรือเปล่า?

ถ้าสบายจริง สบายจริงเพราะว่าเขายังคิดไม่ได้ ระลึกไม่ได้เหมือนเรา ถ้าวันไหนเขาคิดได้ ระลึกได้ต่อเมื่อเขาสายแล้ว คือเขาจะเข้าโลงอยู่แล้ว เขามาคิดได้ว่า อืม หาเงินหาทองมาตั้งนาน แล้วตอนนี้ก็จะหาสมบัติส่วนตัวมันก็สายไปเสียแล้ว เขาจะมารู้ตัวได้ต่อเมื่อเขาจะไม่มีเวลา เรามีเวลาอยู่เราควรภูมิใจไง ถ้าควรภูมิใจ ไม่ต้องเสียใจว่าทำงาน ๒ หน้าที่ ถ้าทำงาน ๒ หน้าที่เราเสียเปรียบ แล้วคนทำหน้าที่เดียวเขาได้เปรียบไง นั่นเป็นความคิดของกิเลส เขาทำหน้าที่เดียว เขาไม่ดูแลใจของเขา

เราทำ ๒ หน้าที่ เราเห็นไง ตาหนึ่งคือตาของโลก ตาหนึ่งคือตาของใจ เราทำงาน ๒ หน้าที่เพื่อประโยชน์กับเรา เราไม่เสียเปรียบ แล้วเราเป็นคนที่หูตาสว่างด้วย คนที่เขาหูตาไม่สว่างนั่นล่ะเขาเสียเปรียบ เอวัง