ถิ่นเกิด
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : ข้อ ๑๓๒๙. เรื่อง สมาธิกับปัญญา
กราบเรียนหลวงพ่อค่ะ นี่เป็นหนที่ ๒ ที่เขียนมาถาม ครั้งแรกเคยถามเรื่องการฝึกภาวนาพุทโธ แล้วก็หลับฝันไปเรื่องช็อปปิ้ง หลวงพ่ออาจจะจำได้ ครั้งนั้นหลวงพ่อตอบดีมากค่ะ หนูก็ได้นำคำสอนครั้งนั้นมาปฏิบัติ
ณ ตอนนี้ เกือบทุกคืนหนูจะสวดมนต์บทยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก และบทคาถาชินบัญชร อุทิศบุญให้บิดามารดาและเจ้ากรรมนายเวรของท่าน จากนั้นก็นั่งสมาธิภาวนาพุทโธ สังเกตว่า บางครั้งก็สงบ บางครั้งก็ไม่สงบ ถ้าไม่สงบก็จะพยายามปล่อยวางไป แล้วก็จะเข้าถึงความสงบบ้าง แต่ไม่ใช่ทุกครั้งไป บางทีรู้สึกว่าภาวนาพุทโธแล้วมันไม่ไปไหน ก็จะเปลี่ยนไปใช้กำหนดดูที่ลมหายใจเข้าออกบ้าง สลับกับพุทโธบ้าง อันนี้ถูกต้องไหมคะ
หนูได้อ่านหนังสือที่หลวงพ่อเขียนว่า การมีสมาธิไม่สามารถตัดกิเลสได้ ตัวตัดกิเลสคือปัญญา แล้วเราจะฝึกอย่างไรให้มีปัญญาคะ ต้องภาวนาอย่างไร อีกอย่าง หนูสังเกตอารมณ์และสติของตนเองตั้งแต่ฝึกทำสมาธิภาวนา บางครั้งเวลาที่มีเหตุการณ์ หรือมีคนอื่นมาทำให้รู้สึกโกรธ โมโห ใจหนูจะพยายามข่มความรู้สึกโกรธ ซึ่ง ณ เวลานั้นมันดูเหมือนจะข่มได้ แต่สุดท้ายก็ข่มความโกรธนั้นไม่ได้เลย ความโกรธนั้นยิ่งแสดงตัวตนรุนแรงขึ้น ยิ่งรู้ก็เหมือนยิ่งทำ คล้ายกับยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งทำอะไรอย่างนี้ ทำไมถึงเป็นแบบนี้คะ
ตอบ : ก่อนนอนเขาว่าเขาฟังเทศน์ประจำ อันนี้พูดถึงสมาธิหรือปัญญา ถ้าปัญญานะ อย่างเช่นว่าเราสวดมนต์ สวดมนต์แล้วบางครั้งเราทำของเรา บางครั้งถ้ามันไม่สงบเราจะปล่อยวาง คำว่า ไม่สงบ ถ้าเราปล่อยวาง แต่คำว่า ปล่อยวาง มันก็ต้องมีลมหายใจเข้าออก หรือปล่อยวางกำหนดพุทโธไว้ ไม่ใช่ปล่อยวางแล้วทิ้งไปเลย
คำว่า ปล่อยวาง ถ้าเราเคร่งเครียด เรากำหนดพุทโธ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ หรือเรากำหนดอานาปานสติ เราต้องการการดูลมหายใจเพื่อให้ความสงบ แต่วิธีการเปลี่ยนแปลงไป อย่างนี้ถูกต้อง วิธีการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงสลับกันไปว่าทำอย่างนั้นทำอย่างนี้มันเป็นอุบาย เพราะกิเลสมันรู้ทันเข้า มันก็พยายาม มันจะสร้างเหตุการณ์ให้เราภาวนาได้ยาก แต่ถ้าเรามีอุบายวิธีการสับเปลี่ยนๆ ถ้าสับเปลี่ยนไป มันก็พอทำของมันได้
ฉะนั้น สิ่งที่สงสัยไง หนูได้อ่านหนังสือที่หลวงพ่อเขียนว่า การมีสมาธิไม่สามารถตัดกิเลสได้ ตัวตัดกิเลสคือปัญญา แล้วจะฝึกอย่างไรให้มีปัญญาคะ ต้องภาวนาอย่างใด
การภาวนาของเราก็ภาวนาพุทโธๆ นี่แหละ เรากำหนดพุทโธๆ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราต้องทำสมาธิก่อน คำว่า ทำสมาธิก่อน สมาธิไม่สามารถตัดกิเลสได้...ใช่ สมาธิไม่สามารถตัดกิเลสได้ แต่ถ้าไม่มีสมาธิก็ไม่เกิดปัญญาขึ้นมาได้ ปัญญาที่เราเกิดขึ้นมามันเป็นโลกียปัญญา
เขาบอกว่าทำพุทโธๆ กำหนดพุทโธหรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันเป็นสมถะ มันไม่ใช้ปัญญาๆ พระพุทธศาสนาสอนให้ใช้ปัญญาๆ แต่คนที่ไม่เคยภาวนาก็บอกว่าปัญญาๆ ปัญญาคือความรู้สึกนึกคิดอันนั้นไง
แต่ถ้าเป็นปัญญาแท้ๆ ปัญญาในภาวนามยปัญญา ปัญญาต้องเกิดจากความสงบ คนเราไม่เคยภาวนาจะไม่เห็นความแตกต่างอย่างนี้นะ แต่คนที่ภาวนาจะเห็นความแตกต่าง ความแตกต่าง หมายความว่า เวลาเราใช้ปัญญาๆ เราตรึกโดยปัญญา เราใช้ปัญญาของเรา เราก็ซาบซึ้งของเรา เราก็มีรสชาติของเราเหมือนกัน แต่รสชาติอย่างนี้มันเป็นรสชาติของสามัญสำนึก รสชาติของมนุษย์ รสชาติของปุถุชน
แต่ถ้าเราทำสมาธิเข้ามา พอจิตมันสงบเข้ามาแล้วมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง ถ้าเห็นตามความเป็นจริง ถ้ามันเกิดปัญญาขึ้นมา มันเกิดนะ ถ้ามันเกิดปัญญา
ถ้าไม่เกิดปัญญาเพราะว่าสมาธิตัดกิเลสไม่ได้ สมาธิฆ่ากิเลสไม่ได้ พอทำความสงบเข้ามาก็สงบอย่างนั้นแหละ ความเข้าใจผิดก็คิดว่าความสงบนั้นเป็นนิพพาน ถ้าความสงบนั้นเป็นนิพพาน จิตมันก็ไม่ออกฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้ามันถอยออกมามันก็ถอยไปสู่ปัญญาสามัญสำนึก ปัญญาของปุถุชนนั้นเสีย แต่เวลาสงบเข้ามามันก็สงบเข้ามาว่าที่นี่คือเป้าหมาย ที่นี่คือสูงสุดแล้วมันไปอีกไม่ได้ มันก็เลยไม่เกิดปัญญา ถ้าปัญญามันเกิดขึ้นๆ ถ้าจิตสงบแล้วมันต้องฝึกหัดไง
อำนาจวาสนาคนมันแยกตรงนี้ไง อำนาจวาสนาของคน บางคนสงบแล้วสงบเฉยๆ แต่บางคนสงบแล้วมันจะเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ถ้ามันสงบแล้วเห็น ถ้าสงบแล้วไม่เห็น ไม่เห็นก็ต้องรำพึงขึ้นมา พยายามค้นคว้าขึ้นมา ถ้าค้นคว้าขึ้นมา นี่เกิดภาวนามยปัญญา ปัญญาที่ว่าปัญญาชำระกิเลสๆ
การฝึกหัด ทำอย่างไรถึงให้เกิดปัญญาคะ
ปัญญาคือภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากความสงบอันนั้นไง ถ้าไม่มีความสงบอันนั้น เวลาปัญญามันเกิด มันก็เป็นปัญญาสามัญสำนึก ปัญญาของโลก เป็นโลกียปัญญา
ฉะนั้นว่า ถ้ามันจะทำสิ่งใดก็แล้วแต่ กิเลสมันเกิดที่ไหน? มันเกิดที่ใจ ใจมันอยู่ที่ไหน ใจมันอยู่ ถ้าจิตไม่สงบเข้ามา ถ้าจิตสงบก็สงบเข้าสู่ใจ นี่มันถิ่นเกิด ถ้าเราเข้าไปสู่ถิ่นเกิด เราจะกลับบ้านของเราไง เราจะเข้าบ้านของเรา ถ้าเราไม่เข้าบ้านของเรา เราจะทำความสะอาดบ้านของเราไม่ได้
เวลาเราทำความสะอาดบ้านของเราใช่ไหม เราชำระล้างกิเลสของเรา มันต้องเข้าไปสู่ใจของเรา ถ้าใครเข้าสู่ใจของเรา นั่นคือสมาธิไง ถ้าใครไม่ทำสมาธิ มันไม่เข้าไปสู่ถิ่นเกิด มันไม่เข้าไปถิ่นกำเนิดของความรู้สึกนึกคิด ถ้าไม่เข้าสู่ความรู้สึกนึกคิด มันก็เป็นอาการ มันเป็นเงา แต่เป็นเงา ที่ว่า ทำสมถะแล้วมันไม่เกิดปัญญา ทำสมถะแล้วแก้กิเลสไม่ได้
มันก็แก้กิเลสไม่ได้จริงๆ นั่นแหละ แต่ถ้าไม่มีสัมมาสมาธิ ไม่มีถิ่นเกิด ไม่มีฐานที่ตั้ง ไม่เข้าไปสู่จุดเริ่มต้น จุดที่กิเลสมันเกิด จะไปทำอะไรกัน สิ่งที่ทำๆ นั้นมันเป็นปัญญาสามัญสำนึก มันเป็นปัญญาโลกไง ปัญญาโลก เห็นไหม
โดยธรรมชาติบอกว่า สมาธิฆ่ากิเลสไม่ได้...จริง สมาธิฆ่ากิเลสไม่ได้ แต่ถ้าไม่มีสมาธิ ภาวนามยปัญญาไม่มี ถึงเวลาพูดถึงว่า สติปัฏฐาน ๔ จริง สติปัฏฐาน ๔ ปลอมไง ถ้าสติปัฏฐาน ๔ ปลอม คือว่าความรู้สึกนึกคิดเอง คิดขึ้นมาเอง สร้างภาพเองว่าเป็นสติปัฏฐาน ๔ มันไม่เป็นสติปัฏฐาน ๔ จริงขึ้นมา เพราะจิตมันไม่สงบ มันไม่มีถิ่นเกิด มันไม่มีต้นบัญชี มันไม่มีเจ้าของ มันไม่มีผู้รับรู้ มันไม่มีลูกหนี้ เจ้าหนี้ พอมันไม่มีขึ้นมามันก็แก้กิเลสไม่ได้ พอแก้กิเลสไม่ได้มันก็ทำเป็นสามัญสำนึกเท่านั้นเอง แต่ถ้ามันทำความสงบของใจเข้ามา เข้าสู่ถิ่นเกิด
ดูสิ เวลาชนชาติใด เราสัญชาติใด ชนชาติใด เราจะรู้ของเรา เราเกิดมา เราจะปฏิเสธเชื้อชาติของเราหรือ เราจะปฏิเสธใช่ไหม เราไปอยู่ประเทศใด เราก็จะเป็นชนชาตินั้นๆ มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันต้องโอนสัญชาติ ถ้าโอนสัญชาติ มันยังมีกฎหมายรองรับเลย
นี่เหมือนกัน ธรรมรองรับๆ ถ้ามันทำสมาธิแล้ว สมาธิแก้กิเลสไม่ได้ ไม่ได้ แต่ตัวสมาธินั่นแหละมันเข้าไปสู่ถิ่นเกิด เข้าไปสู่รากฐานของที่อยู่ของกิเลส แล้วถ้ามันฝึกหัดใช้ปัญญาได้ มันจะเกิดเป็นสติปัฏฐาน ๔ จริงๆ สติปัฏฐาน ๔ ในการชำระ สติปัฏฐาน ๔ ในอริยสัจ สติปัฏฐาน ๔ ในความเป็นจริง ถ้าเป็นสติปัฏฐาน ๔ ในความเป็นจริงมันก็เป็นความจริง
แล้วเราจะฝึกหัดอย่างไรคะ เราจะสร้างปัญญาขึ้นมาอย่างไรคะ
สร้างปัญญา ปัญญาที่เราใช้กันอยู่ ปัญญาที่เราภาวนาอยู่ ปัญญาที่เราสวดมนต์ สวดมนต์ใช้ปัญญาไหม เราอุทิศส่วนกุศลให้พ่อให้แม่นี่ใช้ปัญญาไหม ปัญญาทั้งนั้นแหละ แต่ปัญญาอย่างนี้มันเป็นปัญญาของโลก ปัญญาของโลกเพราะเรามีพ่อมีแม่ แต่โดยเป็นธรรม เวลาเราตรัสรู้ธรรม เราบรรลุธรรม ใครเป็นคนตรัสรู้ แต่เวลาเกิด ไม่มีพ่อไม่มีแม่มาเกิดได้ไหม? ต้องมีพ่อมีแม่ถึงเกิดมา เราว่าเกิดในธรรมๆ เกิดจากอะไร? เกิดจากมรรค เกิดจากอริยสัจ เกิดจากความจริง ถ้าความจริงอันนั้นมันจะเป็นความจริงอันนั้น
ปัญญา ปัญญาที่เราคิดถึงพ่อถึงแม่ มันก็เป็นปัญญาโลกียปัญญา แล้วเราก็ผูกพันของเรา เราก็มีตัณหาความทะยานอยาก มีสมุทัย มีกิเลสมันผูกมัดอยู่ แต่ถ้าเราพิจารณาของเรา พอจิตมันสงบเข้ามา เราพุทโธๆ จิตสงบเข้ามาแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา มันจะเห็นเองว่าอะไรเป็นโลกียปัญญา อะไรเป็นโลกุตตรปัญญา โลกียปัญญาคือปัญญาโลกๆ ปัญญาโดยกิเลส โลกุตตรปัญญา โลกุตตระมันจะพ้นจากโลก ปัญญาจะทำลายโลก แล้วฝึกหัดอย่างไรล่ะ
ฝึกหัดก็ทำจิตสงบ ให้จิตมันสงบมีพื้นฐานเข้ามา แล้วฝึกหัดใช้ปัญญา แล้วฝึกหัดใช้ปัญญาถ้าใช้เป็น ใช้เป็น ในวงกรรมฐานเขาเรียกว่า ภาวนาเป็น ถ้าคนภาวนาเป็นมันจะเริ่มก้าวเดินไปแล้ว โสดาปัตติมรรคมันจะไปสรุปลงสู่โสดาปัตติผล ถ้าไม่มีโสดาปัตติมรรคมันก็เป็นโลก เป็นโลกียปัญญา ปัญญาโลกๆ นี่แหละ มันไม่เข้าสู่โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติมรรคจะเกิดขึ้นจากกัลยาณปุถุชน
ปุถุชนคนหนาด้วยกิเลส คนหนาด้วยกิเลสก็พยายามทำความสงบของใจเข้ามา มันก็เป็นกัลยาณปุถุชน กัลยาณปุถุชนทำจิตสงบมั่นคงขึ้นได้ง่าย ออกฝึกหัดใช้ปัญญาได้ง่าย
พอใช้ได้ง่ายขึ้นมา คำว่า ง่าย ง่ายคือว่ามันชำนาญ แต่มันทุกข์ยากมาตั้งแต่เริ่มต้นขึ้นมา แต่คำว่า ง่าย คือมันฝึกฝนจนชำนาญ พอชำนาญขึ้น มันจะเป็นโสดาปัตติมรรค เป็นบุคคล ๔ คู่ สังฆรัตนะ บุคคล ๔ คู่ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล บุคคล ๔ คู่ บุรุษ ๘ มันจะผ่านอันนี้ไป ถ้าผ่านไปมันก็เป็นการฝึกหัด
ฝึกอย่างไรถึงจะเป็นปัญญา
มันเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญานี้มันจะเกิดขึ้นมากับเรานะ
อีกอย่างหนึ่ง หนูสังเกตว่าสติของตัวเองตั้งแต่ฝึกทำสมาธิมา บางครั้งเวลามีเหตุการณ์หรือคนอื่นมาทำให้รู้สึกโกรธ โมโห หนูจะพยายามข่มความรู้สึกโกรธ ซึ่ง ณ เวลานั้นดูเหมือนจะข่มได้
ดูเหมือนจะข่มได้ แต่จริงๆ มันข่มไม่ได้ การข่มได้คือขันติธรรม ถ้ามันรู้สึกโกรธ คนเราจะแปลกใจว่าแต่ก่อนเวลาเราโกรธ หรือเรามีความรู้สึกต่างๆ ทำไมมันไม่เห็นชัดเจน เดี๋ยวนี้ทำไมเป็นคนขี้โกรธ เวลาคนภาวนาแล้วมันต้องจิตใจดีขึ้น ทำไมภาวนาแล้วโกรธ
สิ่งนี้มันเป็นระหว่าง ถ้าเรานะ เราไม่เป็นนักโทษ เราไม่โดนจับ เราก็สบายใจ ถ้าวันไหนเราเป็นนักโทษนะ เราโดนจับ พนักงานสอบสวนจะเรียกเราไปสอบสวน เรากลัวนะ เราระแวงตลอดเวลา เราหงุดหงิดเลย แต่เวลาสอบสวนไปแล้วจนสะอาดบริสุทธิ์ สอบสวนไปแล้วเราไม่เป็นผู้ร้าย ผู้ทำความผิด เราจะพ้นจากโทษ
นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตของเรา เราไม่เคยสอบสวน เราไม่เคยดูแลมันเลย มันก็อยู่ไปวันๆ หนึ่ง แต่ขณะที่เวลาเรากำหนดพุทโธ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราทำความสงบของใจของเรามา มันจะเป็นอย่างนี้ มันจะเป็นอย่างนี้ หมายความว่า ชวนมันดีไง
จากคนที่ไม่สนใจสิ่งใดเลย มันก็ปล่อยไปตามกระแส ปล่อยไปตามความเร่ร่อนของกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แต่พอเรากำหนดพุทโธ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิขึ้นมา มันหงุดหงิดๆ มันหงุดหงิดเพราะเหตุใดล่ะ มันหงุดหงิดเพราะว่าผ้ามันเริ่มซักสะอาดขึ้นมา ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าผ้า ถ้าผ้าขาวเวลามันเลอะสกปรก เราจะเห็นได้ชัดเจนเลย แต่เป็นผ้าขี้ริ้ว ผ้าขี้ริ้วไว้เช็ดเท้า เช็ดแล้วเช็ดอีก เช็ดแล้วเช็ดอีก ไม่เป็นไรหรอก จิตใจของเรากิเลสมันเหยียบย่ำ มันเช็ดแล้วเช็ดอีก เช็ดแล้วเช็ดอีก มันไม่เคยเป็นอะไรเลย มันจะมีอารมณ์อย่างไร มันจะทำอย่างไรมันก็ไม่ค่อยมีปัญหาเลย
แต่พอมาซักให้สะอาดนะ พอซักให้สะอาด พอมันสกปรกขึ้นมา มันสกปรก มันไม่สกปรก มันหงุดหงิดไง จิตใจของเรา ถ้าเราดูแลรักษา ระหว่างที่ปฏิบัติมันจะมีอารมณ์อย่างนี้ ถ้ามีอารมณ์อย่างนี้ มันหงุดหงิดๆ หงุดหงิดแต่เราดูแลของเราไปเรื่อยๆ ดูแลให้ดีขึ้นมา มันจะดีของมันขึ้นไป พอมันดีขึ้นไป มันผ่านอันนี้ไป อันนี้มันเป็นระหว่างที่ผ่านไป ไม่ต้องไปสงสัย
เขาบอกว่า เวลามันโกรธขึ้นมา สุดท้ายแล้วความโกรธนี้ข่มไว้ไม่ได้เลย ความโกรธนี้ยิ่งแสดงตัวตนรุนแรงขึ้นมา ยิ่งรู้เหมือนยิ่งทำ คล้ายกับยิ่งห้ามเหมือนยิ่งทำ ทำอย่างนี้ ทำไมถึงเป็นแบบนี้ ทำไมเป็นแบบนี้
เวลาเด็ก เด็กที่ปล่อยมันเล่นตามสบาย มันก็อยู่ของมัน เด็ก ถ้าเราพยายามจะจำกัดขอบให้มัน มันก็ดิ้นรนของมัน แต่ถ้าเราฝึกหัดจนเด็กมันชำนาญ เด็กมันเข้าใจ เด็กมันเห็นความปลอดภัย มันพอใจของมัน
จิตเวลาฝึกหัดมันจะดิ้นรนอย่างนี้ ถ้ามันไม่มีการฝึกหัดเลย ถิ่นกำเนิดของมัน ถิ่นกำเนิดของจิต ถ้าเราไม่รู้จักจิตขึ้นมาเลย ไม่มีสมาธิ มันจะเกิดปัญญาขึ้นมาได้อย่างไร สิ่งที่ว่าทำสมาธิแล้วตัดกิเลสไม่ได้
ตัดไม่ได้ แต่ต้องอาศัยกัน มันอาศัยกันมันถึงเป็นมรรค ๘ มรรค ๘ คือสัมมาสมาธิ
บอกว่า สัมมาสมาธิไม่มีความจำเป็น ทำไปเลย
ทำไปเลย มันอยู่ระหว่างปัญญาโลกๆ ทั้งนั้นแหละ แล้วถ้ามันทำความสงบของใจเข้ามา ทำความสงบของใจก็ต้องใช้ปัญญาเหมือนกัน ปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาใคร่ครวญให้จิตเข้ามาในสมาธิ พอเป็นสมาธิขึ้นมาแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา มันเป็นโลกุตตรปัญญา มันเป็นภาวนามยปัญญา มันก็เป็นปัญญาชำระล้างกิเลส
แล้วอย่างกรณีที่ว่ามันโกรธๆ โกรธมันก็รู้ว่าโกรธ ถ้ารู้ว่าโกรธ เรามีสติปัญญานะ เราดูแลรักษาใจเรา โกรธอย่างไรเราก็ดูแลรักษาของเรา รักษาของเรา โกรธเพราะมันระงับได้ด้วยปัญญา ระงับได้ด้วยเหตุด้วยผล ถ้าด้วยเหตุด้วยผล เราแผ่เมตตาของเราไว้ มนุษย์เป็นสัตว์ร่วมโลก เป็นสัตว์ด้วยกันทั้งสิ้น สพฺเพ สตฺตา ทั้งนั้นน่ะ เขาทำสิ่งใดผิดพลาดมา เราคิดของเราอย่างนี้ เราเผื่อหัวใจของเราไว้ ถ้ามีสิ่งใดเกิดขึ้นมามันก็เบาบางลง นี้พูดถึงความโกรธ
แล้วถ้าความโกรธมันเกิดขึ้น เกิดขึ้นก็เรื่องธรรมดา ในเมื่อมีการกระทบ โทสจริตมันจะเป็นอย่างนี้ตลอด ผู้ที่มีธาตุไฟ ผู้ที่มีปัญญา มันจะมีอย่างนี้กระเทือนใจตลอดเวลา ถ้าธาตุดิน ธาตุดินของเขาอีกเรื่องหนึ่ง ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ นี่โดยธาตุนะ โดยธาตุคือสถิติ สถิติที่ว่าบุคคลเกิดอย่างนี้ ทำอย่างนี้จะมีอารมณ์รุนแรงอย่างนี้ นี่โดยธาตุ นี่ศึกษากันโดยธาตุ แต่ถ้าโดยจริตนิสัย โดยหัวใจ โดยกรรม มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วโดยการภาวนา
การภาวนา การแก้กรรมๆ มันจะแก้ด้วยการภาวนาถึงที่สุดแห่งทุกข์ ถ้าถึงที่สุดแห่งทุกข์มันก็จบ ถ้ามันจบตรงนี้ได้มันก็จบ นี่พูดถึงว่า สมาธิกับปัญญา
สมาธิก็เป็นสมาธิ ปัญญาก็เป็นปัญญา มันเกี่ยวเนื่องกัน ถ้ามีสมาธิทำให้เกิดปัญญานี้ลึกซึ้ง ปัญญานี้เป็นปัญญาในศาสนา ถ้าไม่มีสมาธิ ปัญญาที่เกิดขึ้นเป็นปัญญาโลกๆ เป็นวิชาชีพ เป็นสิ่งที่ ดูสิ นักวิชาการที่เขาศึกษา เขาค้นคว้ากันเป็นวิชาชีพของเขา เขาทำประโยชน์กับโลกนะ เขาคิดทางวิทยาศาสตร์ เรื่องต่างๆ ขึ้นมาเพื่อให้เป็นคุณภาพชีวิต เพื่อให้คนใช้ชีวิตได้สะดวกสบายง่ายขึ้น เพื่อประโยชน์กับโลก เพราะเขาทำมาเป็นสินค้า นี่วิชาชีพ
แต่ถ้าเป็นปัญญาทางธรรมล่ะ ปัญญาทางธรรมมีสมาธิขึ้นมาแล้วเกิดปัญญาทางธรรม ปัญญาทางธรรม ถ้าปัญญาทางธรรมมันเป็นปัญญาภาวนามยปัญญา ปัญญาของจิต แล้วมันแก้ไขเฉพาะจิตดวงนั้น ถ้าแก้จิตดวงนั้นแล้ว เวลาประโยชน์ขึ้นมา เราเทศนาว่าการ หรือเวลาเราบอกธรรมะคนอื่น เราบอกกล่าว มันจะเป็นประโยชน์ตรงนั้น แต่วิชาชีพมันได้ประโยชน์ทางโลกเลย
นี่สมาธิหรือปัญญา สมาธิกับปัญญามันจะเกี่ยวเนื่องกัน มันจะเกี่ยวเนื่องกัน มันจะใช้ประโยชน์ต่อกัน แล้วมันจะได้ประโยชน์อย่างนั้น นี่พูดถึงสมาธิหรือปัญญานะ
ถาม : ข้อ ๑๓๓๐. เรื่อง ลัทธิฝึกยิ้ม
นมัสการหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูงยิ่ง โดยโยมทราบจากการบอกเล่าจากแม่ชีท่านหนึ่งที่วัดของหลวงพ่อ เขาฝึกสติอย่างเดียว ไม่เอาพุทโธ เขาฝึกยิ้มตลอดเวลา พูดก็ยิ้ม เดินก็ยิ้ม นั่งก็ยิ้ม เวลาทุกข์ก็ยิ้ม สุขก็ยิ้ม โยมจึงขอกราบเรียนหลวงพ่อว่าการฝึกแบบนี้เป็นลัทธิของพระพุทธศาสนาหรือไม่ ขอหลวงพ่อชี้แนะด้วยว่าการฝึกแบบนี้ให้คุณหรือให้โทษอย่างไรคะ
ตอบ : คำถามอย่างนี้มันเป็นคำถามที่ใช้ไม่ได้ คำว่า ใช้ไม่ได้ เพราะเขาใช้คำว่า โยมได้ทราบจากการบอกเล่า ถ้าจากการบอกเล่า มันไม่มีหลักฐาน การบอกเล่ามันก็โลกธรรม ๘ ไง เป็นการนินทากันไง ของที่นินทาเอามาถามทำไม อ้าว! ถ้าใครทำอย่างไร ทำอย่างนั้นก็ต้องบอกว่าใครเป็นคนทำ มันก็มีหลักฐานมาใช่ไหม ไอ้นี่อ้างการบอกเล่า อ้างการบอกเล่า การบอกเล่ามันก็ฟังเสียงนกเสียงกามา หลวงพ่อ ทำไมอีกามันร้องกาๆ ล่ะ อ้าว! ก็อีกามันก็ร้องอย่างนั้น นกมันร้องก็ร้องภาษานกที่มันร้องนั่นน่ะ แล้วนกมันคือนก นกมันจะมีประโยชน์อะไรล่ะ
การบอกเล่า บอกเล่ามาทำไม การบอกเล่า การบอกเล่ามันเป็นบัตรสนเท่ห์ มันไม่มีผู้เสียหาย ไม่มีตัวตน อ้าว! บัตรสนเท่ห์ใบหนึ่งมันจะทำลายคนทั้งคนเลยหรือ บัตรสนเท่ห์ใบเดียว กระดาษแผ่นเดียวทำให้คนนี้เสียหายไปเลยหรือ อย่างนี้มันก็ใช้ไม่ได้ มันก็ต้องบอกสิ พูดอะไรให้มันชัดเจน มันจะได้บอกว่าอะไรผิดอะไรถูกใช่ไหม ไอ้นี่มันไม่มีอะไรผิดอะไรถูก เป็นคำบอกเล่า บัตรสนเท่ห์ บัตรสนเท่ห์มันก็ทำลายกันน่ะสิ ถ้ามันทำลายกัน สังคมมันจะอยู่ร่มเย็นเป็นสุขได้อย่างไรล่ะ สังคมจะร่มเย็นเป็นสุขไม่ได้นะ ถ้าเรามีปัญหา เราไม่ตกลงกัน ไม่คุยกัน ไม่เคลียร์ปัญหา มันอยู่ไม่ได้หรอก นี่เล่นบัตรสนเท่ห์ เป็นการบอกเล่า นี่การบอกเล่านะ
ฉะนั้น การบอกเล่า มันเป็นเพราะว่าสำนักปฏิบัติสำนักหนึ่งมันมีหัวหน้า เจ้าอาวาสเป็นหัวหน้านั้น ถ้าเจ้าอาวาสเป็นหัวหน้านั้น เจ้าอาวาสเหมือนนักกีฬา โค้ชนักกีฬา เวลาโค้ช ถ้านักกีฬาไม่เชื่อฟัง เขาไม่ให้นักกีฬาลงนะ ฟุตบอลเขาไม่ให้ลงเลย เขาไม่ส่งตัวลง ถ้าไม่ส่งตัวลงก็อดเล่น ถ้านักกีฬาเขาจะปรึกษากันได้ แต่เขาไม่ใช่โค้ช ถ้าเขาไม่ใช่โค้ช เขาไม่มีสิทธิ์ เขาไม่มีสิทธิ์จะจัดตัวนักกีฬาลงแข่งขัน โค้ชเท่านั้นจะเป็นคนส่งให้นักกีฬาลงแข่งขัน
สำนักหนึ่ง สำนักหนึ่งก็มีเจ้าอาวาส เจ้าอาวาสเขาเป็นผู้นำ วิธีการสอนเขาจะบอกของเขาเอง เขาจะดูแลเอง เพราะว่าเขารับผิดชอบ เขารับผิดชอบ ผิดถูก เจ้าอาวาสเป็นผู้รับผิดชอบ ฉะนั้น รับผิดชอบ
ฉะนั้น บอกว่า ได้ยินแม่ชีท่านหนึ่งที่วัดหลวงพ่อ ที่วัดหลวงพ่อนะ เขาฝึกสติอย่างเดียว ไม่เอาพุทโธ เขาจะยิ้มตลอดเวลา พูดก็ยิ้ม เดินก็ยิ้ม นั่งก็ยิ้ม เวลาทุกข์ก็ยิ้ม สุขก็ยิ้ม
อันนี้ถ้าพูดอย่างนี้นะ นี่พูดถึงว่าบัตรสนเท่ห์ๆ นี่บัตรสนเท่ห์ แต่ถ้าพูดถึง เวลาสิ่งนี้มันเป็นเรื่องประโยชน์ไง เรื่องประโยชน์กับสังคมสงฆ์ สังคมของปฏิบัติ ไก่ป่าขันตัวเดียว เวลาครูบาอาจารย์ของเรานะ ไก่ป่าขันตัวเดียว ไก่ป่ามันจะมีหัวหน้า แล้วหัวหน้ามันจะคุมฝูงมัน มันจะพาฝูงมันให้อยู่ในความปลอดภัยจากนักล่า จะมีนักล่าคอยล่าสัตว์ป่า ถ้าหัวหน้าเป็นหัวหน้าฝูง มันฉลาด มันจะพาฝูงมันให้ปลอดภัย ถ้าพาฝูงให้ปลอดภัย
ฉะนั้น ในสำนักปฏิบัติก็เหมือนกัน ในสำนักปฏิบัติ เวลาวิธีการสอน วิธีการภาวนา ที่บอกว่า ในการประพฤติปฏิบัติ เวลาการปฏิบัติ การภาวนา สิ่งที่ว่าการภาวนา เวลาสิ่งที่ปฏิบัติพอเป็นพิธี หลวงตาใช้คำว่า ปฏิบัติพอเป็นพิธี พอปฏิบัติเป็นพิธี เขาจะมีสูตรสำเร็จของเขา กำหนดรู้ตัวทั่วพร้อม มีปัญญาขึ้นมา รู้เท่าทันแล้วจบหมด พูดถึงความโกรธๆ เมื่อกี้นี้ เวลาคนที่โกรธจัดๆ ถ้าไปกำหนดรู้โกรธหนอๆ โกรธนี่หยุดนะ โกรธนี่หายเหมือนกัน โกรธมันเบาลงเพราะอะไร เพราะมันตั้งสติขึ้นมาไง โกรธหนอๆๆ ไอ้นี่มันบอกโกรธเกือบเป็นเกือบตาย แล้วภาวนาพุทโธไปยิ่งโกรธใหญ่ ระงับไม่ได้เลย ระงับไม่ได้
ความโกรธนะ โลภ โกรธ หลง พระอนาคามีถึงจะระงับได้ ถึงจะตัดได้จริง ถ้าตัดไม่ได้ มันมีของมันอยู่ในใจ เพียงแต่ว่ามันจะรู้แบบไม่รับผิดชอบไง โกรธหนอๆๆๆ จนมันหายไปเลย แล้วปัญญามันอยู่ตรงไหนล่ะ ปัญญาอะไรมันถึงรู้ว่าโกรธไม่โกรธล่ะ โกรธมันมาจากไหน มันมีเหตุมีผลของมัน แต่ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามา มันจะโกรธนะ โกรธนี่ก็คืออารมณ์ของมัน ถ้าเรารู้ทันของมัน รู้ทันมันก็จบ รู้ทันมันก็จบ ถ้าเราจิตสงบแล้วเราเห็นสติปัฏฐาน ๔ เราจับตรงนั้นไปแล้วพิจารณาไป มันเป็นการฆ่ากิเลสเป็นชั้นเป็นตอนๆ เข้าไป เดี๋ยวมันจะไปเห็นปฏิฆะ-กามราคะ นั่นแหละตัวจริงของมัน นี่พูดถึงถ้าโค้ชเขาจะฝึกหัดของเขา
ฉะนั้น บอกว่ามาฝึกยิ้มๆ
ฝึกยิ้มอย่างนี้มันต้องไปโรงเรียนนาฏศิลป์ โรงเรียนนาฏศิลป์เขาเป็นวัฒนธรรมนะ เราไม่ใช่ไปดูถูกดูแคลนเขานะ สิ่งที่เป็นกุลสตรีเขาไปศึกษา เขาไปเรียนกัน มารยาทสังคม ถ้ามารยาทสังคม นาฏศิลป์เวลาเขาเรียนมาแล้วเขาเป็นวิชาชีพได้ เขาเผยแผ่วัฒนธรรมประเพณีได้ อันนั้นเป็นเรื่องโลก ประเพณีวัฒนธรรมของเขา โรงเรียนนาฏศิลป์เขาทำอย่างนั้น
แต่ถ้าพูดถึงการชำระล้างกิเลส มันมาฝึกยิ้มๆ อะไรกันอยู่ ถ้าใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็เรื่องหนึ่ง ถ้าเป็นพุทโธก็เรื่องหนึ่ง ถ้าเราจะทำความสงบของใจเข้ามา เป็นสมาธิอบรมปัญญา ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าปัญญาอบรมสมาธินะ มันก็ใช้ปัญญาไล่เข้ามาเพื่อความสงบระงับ ปัญญาไล่เข้ามาเลย เป็นปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าปัญญาอบรมสมาธิก็อย่างหนึ่ง ถ้ามันเป็นคำบริกรรม พุทโธๆ ไป ถ้าพุทโธไป นี่คือการภาวนา นี่คือการจะชำระล้างกิเลส จะถอดถอนกิเลสในการปฏิบัติภาวนา
ไก่ป่าๆ ไก่ป่าที่เขาฝึกเขาสอน ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นจริง หลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นนะ เวลาท่านสอน ท่านสอนกำหนดพุทโธด้วย เวลาท่านสอนหลวงปู่อ่อน ท่านให้ใช้คำบริกรรมยาวๆ ด้วย เช่น หลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์นี่ก็ลูกศิษย์หลวงปู่มั่น หลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่มั่นก็เป็นคนสอนปัญญาอบรมสมาธิ นี่มันสอน นี่โค้ชกีฬาที่เขาเป็น เขารู้ว่านักกีฬาคนใดควรจะลงเล่นตำแหน่งไหน มีความสามารถเฉพาะตัวอย่างใด
นี่ก็เหมือนกัน ปฏิบัติ จิตใจของคนมันแตกต่างหลากหลาย คำว่า แตกต่างหลากหลาย โดยพื้นฐานนักกีฬานะ อ้าว! เช้าขึ้นมาจะเล่นกีฬาอะไรก็แล้วแต่ เขาต้องออกกำลังกายทั้งนั้นน่ะ เพื่อเรียกความฟิตของตัวเอง
นี่ก็เหมือนกัน เราทำความสงบของใจๆ เขาจะเรียกความฟิตของหัวใจขึ้นมา ถ้าใจมันไม่มีความฟิตขึ้นมา มันไม่มีความองอาจกล้าหาญขึ้นมา มันจะปฏิบัติสิ่งใดล่ะ แล้วถ้าเกิดใช้ปัญญา เดี๋ยวถ้ามันภาวนาเป็นนะ ถ้าคนภาวนาเป็นจะเข้าไปหาครูบาอาจารย์ตลอด เข้าไปหาครูบาอาจารย์เพื่ออะไร? เพื่อขออุบาย เราจะยกขึ้นวิปัสสนาอย่างไร วิปัสสนาไปแล้วมันจะมีปัญหาอย่างไร
ไอ้นี่มันปฏิบัติเบสิก ทุกคนยังทำกันไม่ได้เลย เรียกความฟิตของใจมันยังทำกันไม่ได้เลย ถ้าเรียกความฟิตของใจมันมีเบสิกขึ้นมาแล้วน่ะ มา! ใครมีพรสวรรค์อย่างไร จะลงเล่นกีฬาชนิดใด ลงเล่นตำแหน่งใด เขาจะดูพรสวรรค์ของจิตนั้น ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นท่านจะรอตรงนี้ไง รอตรงที่ว่าเวลาคนมีพื้นฐานขึ้นมาแล้ว เวลาจะยกขึ้นวิปัสสนา จะยกขึ้นวิปัสสนาอย่างไร มันจะเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป
ไม่ใช่ว่า แหม! วัดอะไรมีแต่พุทโธๆๆ อยู่นั่นแหละ วัดอะไรมีแต่ปัญญาอบรมสมาธิ ไม่เห็นก้าวหน้าสิ่งใดเลย
มันจะไปไหนล่ะ ในเมื่อเรายังทำอะไรกันไม่ได้เลย
ถิ่นเกิดๆ ทำสมาธิขึ้นมา ถิ่นเกิดของมัน ถิ่นเกิดของความรู้สึก ถิ่นเกิดของความรู้สึกนึกคิด ถิ่นเกิดของจิต ถิ่นเกิดของที่อยู่มันอยู่ไหน หาถิ่นเกิดของตัวเองกันให้เจอก่อน ถ้าหาถิ่นเกิดของตัวเองให้เจอ มันจะชำระล้างกิเลสได้ตามความเป็นจริง
หาถิ่นเกิดของตัวเองไม่เจอ ไม่รู้จักที่ไหน ไม่รู้จักตัวตนของตน ไม่รู้จักเรา ไม่รู้จักที่มาที่ไป ไม่รู้ว่าเราเป็นลูกใครเลยหรือ ไม่รู้เลยว่าเราเป็นลูกใคร
นักเลงเขาถามนะ เอ็งรู้จักพ่อกูไหม เอ็งรู้จักพ่อกูไหม
มันเองยังไม่รู้จักเลย ไปเที่ยวหาเขานะ มึงรู้จักพ่อกูไหม มึงรู้จักพ่อกูไหม แล้วมึงมาถามกูทำไมล่ะ อ้าว! ก็มึงยังไม่รู้จักพ่อมึงเลย แล้วมึงจะรู้จักตัวมึงได้อย่างไร
นี่ก็เหมือนกัน เราจะปฏิบัติมันต้องกำหนดความสงบของใจเข้ามา เราจะรู้จักตัวตนของเรา โอ้โฮ! จิตเป็นอย่างนี้เนาะ อู้ฮู! สมาธิมันมีความร่มเย็นอย่างนี้เนาะ โอ้โฮ! ทำไมมันมหัศจรรย์ขนาดนี้เนาะ มันมีความสุข มันมีตัวตนของมัน มันรู้จักตัวตนของมัน มา! ถ้าอย่างนั้นน่ะ มหัศจรรย์เลยล่ะ พอมหัศจรรย์ขึ้นมาแล้วมันยกขึ้นวิปัสสนาอย่างไร ถ้ามันยกขึ้นวิปัสสนา มันทำของมันได้นะ มันก็เป็นประโยชน์ของมันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป ถ้าฝึกอย่างนี้ ทำอย่างนี้ไง นี่ไก่ป่า ไก่ป่าเขาดูแลฝูงของเขา
ฉะนั้น เรามาประพฤติปฏิบัติ ในเมื่อเป็นสังคมนะ สัปปายะ หมู่คณะเป็นสัปปายะ เราปรึกษา เราคุยกันได้ เราคุยกัน เราปรึกษากันได้ แต่ความรู้เราเป็นจริงหรือยัง ความรู้เป็นจริงหรือยัง เราพูดออกไปมันจริงหรือ เวลาเราสนทนาธรรมกัน เราแลกเปลี่ยนกันได้ เวลากลับไปแล้วไปนั่งคิดเลย เอ๊ะ! พูดไปนี่เขาเชื่อหรือเปล่านะ
นั่นน่ะ เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านไม่นิยมให้คุยกันเพื่อจะเอาชนะคะคานกัน เพราะเวลาเรากลับไปแล้วมันจะไปวิตกกังวลไง นี่เขาเรียกติดตัวเอง
หลวงตาบอกว่าถ้าไม่ติดเรานะ คือถ้าตัวตนของเรา เราชำระล้างของเราแล้ว เราพูดคำไหนคำนั้นนะ มันถูกต้องหมด แล้วไม่หวั่นไหวด้วย แต่ถ้ามันติดตัวเองใช่ไหม ติดตัวเอง คือตัวเองยังสงสัยใช่ไหม เวลาพูดไป ขณะที่สมาธิเราดี เราก็พูดได้ละเอียดลึกซึ้ง พอพูดได้ แหม! ลึกซึ้งมากเลย คิดว่าใช้ได้หมดเลย แต่พอเราไปภาวนาขึ้นไป จิตเราดีขึ้นไป อ้าว! มันยังไปได้อีก มันก็เกิดความกังวลแล้ว พอเกิดความกังวล เกิดความสงสัย เกิดสีลัพพตปรามาส เกิดความลูบคลำ ภาวนาไปมันติดขัดหมด
ถ้าเราไม่พูดเสีย เรารู้เห็นสิ่งใดนะ เราเก็บไว้ในใจ แล้วปฏิบัติต่อเนื่องไปๆ เวลามันลึกซึ้งเข้าไป อ๋อ! อันนี้มันหยาบ มันยังละเอียดกว่า มันยังชัดเจนกว่า มันยังไปได้อีก
ทีนี้ครูบาอาจารย์ท่านรู้หมด ท่านรู้ของท่านแล้ว เวลาท่านบอก บอกแค่ตามความจำเป็น แล้วบอกมากกว่านั้นมันจะเป็นวิปัสสนึก บอกมากกว่านั้นมันจะเป็นวิปัสสนึกเพราะครูบาอาจารย์บอกร่องรอยไว้แล้วเราก็นึกตาม ถ้าเป็นวิปัสสนึกมันก็เป็นสัญญา ถ้าเป็นสัญญาแล้วเกิดสมุทัย เกิดตัณหา เกิดความยึดมั่น มันก็บอกว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม มันติดอีกนะ การบอกที่ไม่เป็นประโยชน์ บอกแล้วผู้ที่ปฏิบัติกลับเป็นโทษ เป็นโทษเพราะไปสร้างจินตนาการ แล้วยึดมั่นถือมั่นความที่เป็นจินตนาการนี้ไว้ เขาเรียกว่า ติด เวลาติดขึ้นมา แกะยากมาก
เวลาสวะมันไหลไปตามน้ำ มันไปติดที่ไหนนะ เวลามีแรงกระเพื่อม มีแรงลม มันจะทำให้สวะนั้นหลุดลอยไปได้ แต่ความทิฏฐิที่มันเห็นผิด มันยึดของมัน ติดอันนี้แก้ยากมาก มันต้องทำให้จิตดวงนั้นเห็นโทษ พอเห็นโทษขึ้นมามันถึงจะคลายตัวมันเอง พอมันคลายตัวมันเอง มันก็จะหลุดจากการที่มันเป็นทิฏฐิอันนั้นออกมา ถ้ามันหลุดทิฏฐิอันนั้นออกมา มันก็เจริญก้าวหน้าต่อไป
ผลของการบอกที่ผิดนะ ครูบาอาจารย์ ถ้าท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่จริง ท่านสงสารพวกเรา ท่านจะไม่บอกมากเกินกว่าความจำเป็นไป แต่ถ้าเวลาท่านเทศน์ของท่าน เวลาเทศน์ศาลา มันก็บอกเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล มันเป็นสเต็ปขึ้นไป เพราะจิตของคนไม่เหมือนกัน
เวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศนาว่าการ หลวงตาบอกเลยนะ เริ่มต้นตั้งแต่ทำสมาธิเลย พอสมาธิสงบเข้าไปแล้วก็เดินโสดาปัตติมรรค ถ้าสำเร็จก็เป็นโสดาปัตติผล ยกขึ้นสู่สกิทาคามิมรรค ถ้าสำเร็จก็เป็นสกิทาคามิผล ยกขึ้นสู่อนาคามิมรรค พอถ้าสำเร็จก็เป็นอนาคามิผล ยกขึ้นสู่อรหัตตมรรค สำเร็จก็เป็นอรหัตตผล
ทำไมต้องยกขึ้นล่ะ
ถ้าไม่ยกขึ้นมันจะไม่เห็นกิเลส เพราะกิเลส โสดาปัตติมรรคกับสกิทาคามิมรรคมันแตกต่างกัน กิเลสระหว่างเป็นโสดาบัน สังโยชน์ ๓ ตัว กับกามราคะ-ปฏิฆะอ่อนลง มันแตกต่างกัน มันคนละโจทย์ โจทย์มันคนละข้อกัน กิเลสมันหยาบละเอียดแตกต่างกัน คำว่า ต้องยกขึ้น ถ้าไม่ยกขึ้น มันจะไปเห็นกิเลสที่ละเอียดกว่าไม่ได้ สกิทาคามิมรรค ถ้าไม่ยกขึ้น ติดตรงนั้นก็ว่าเป็นนิพพาน
ถ้าจะยกขึ้นสู่อนาคามิมรรคนะ อนาคามิมรรคคือเห็นกามราคะ มันต้องยกขึ้น แล้วการยกขึ้นทำอย่างไร ใครไม่เคยยกขึ้นก็ไม่รู้ ใครไม่เคยขับรถเกียร์ธรรมดา มันจะไม่รู้ว่าการตบเกียร์ ๑ ๒ ๓ ๔ เป็นอย่างไร มันขับแต่รถเกียร์อัตโนมัติไง เหยียบแต่คันเร่งๆ เหยียบคันเร่งอย่างเดียวมันไปเลย เกียร์อัตโนมัติมันไปเลย แต่เกียร์อัตโนมัติเขาก็ทดเกียร์ของเขาไว้ ถ้าเป็นเกียร์ธรรมดา เขาต้องเหยียบคลัตช์ ตบเบรก เหยียบคลัตช์ ตบเกียร์ ๑ เหยียบคลัตช์ ตบเกียร์ ๒ เหยียบคลัตช์ ตบเกียร์ ๓ เหยียบคลัตช์ ตบเกียร์ ๔ มันถึงจะมรรค ๔ ผล ๔ แล้วเกียร์ ๔ เกียร์มันแตกต่างกันไหม เฟืองหยาบละเอียดมันแตกต่างกัน กิเลสก็แตกต่างกัน ถ้ากิเลสแตกต่างกัน ครูบาอาจารย์ท่านเป็น ท่านเห็นโทษกับตรงนี้ไง
ฉะนั้น เห็นโทษตรงนี้ มันถึงว่าจะสอนต่อเมื่อ ต่อเมื่อมีประโยชน์ ต่อเมื่อเขาติดขัดตรงนั้นๆ แล้วเราจะบอกอุบาย บอกตรงๆ มันก็ยึดนะ บอกตรงๆ มันก็บอกว่า โอ๋ย! ที่อาจารย์พูดมานี่หยาบมาก กระผมภาวนาดีกว่านี้อีก ปัญญากระผมกว้างขวางกว่าอาจารย์เยอะแยะเลย จินตนาการได้เพริศแพร้ว จินตนาการจนทะลุนิพพานไปนานแล้ว นี่เวลากิเลสมันสวมเขา กิเลสมันขี่คออยู่ มันคิดอย่างนั้นแหละ แต่เวลาภาวนาไปแล้วคอตกนะ คอตกต่อเมื่อจิตมันเสื่อมหมด ถ้ามันเป็นตทังคปหาน มันเป็นการปหานชั่วคราว มันเป็นการปล่อยวางชั่วคราว การปล่อยวางชั่วคราว การปล่อยวางโดยส้มหล่น คำว่า ส้มหล่น คืออำนาจวาสนาของคนเกิดเป็นครั้งเป็นคราว มันปล่อยวางโดยกรรม โดยกรรมคือทำไปแล้วโดยสิ้นสุดของกรรมมันก็วางอย่างนั้น แต่มันไม่ใช่อริยสัจ
แต่ถ้ามันเป็นอริยสัจนะ เป็นมรรคนะ เวลามันจับพิจารณาของมัน เวลามันปล่อยขนาดไหน มันปล่อยไม่มีเหตุไม่มีผล ถึงเวลาปล่อยแล้วปล่อยเล่าๆ เวลามันมีเหตุมีผลสมบูรณ์ของมัน เห็นไหม สัจจญาณ มีสัจจะความจริง กตญาณ กิจจญาณ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ถ้าญาณ ๑๖ นี้ยังไม่เกิดกับเรา เราไม่ปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์ ไม่ปฏิญาณตน มันเกิดสัจจะ กตญาณ ของที่มีอยู่ สัจจะความจริง กิจจญาณๆ ญาณที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงในธัมมจักฯ ถ้าทำอย่างนี้ เห็นสัจจะความจริงอย่างนี้มันถึงจะเป็นอริยสัจ
การว่าปล่อยวางๆ ปล่อยวางอย่างไร ถ้าครูบาอาจารย์ไม่ทำได้เป็นความจริง เรื่องอย่างนี้ไม่ชัดเจน แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์จริง อย่างนี้ชัดเจน แล้วมันเป็นวุฒิภาวะของจิต จิตแต่ละดวงไม่เหมือนกัน ปัญญาวิมุตติ เจโตวิมุตติ
ขณะที่ปัญญาวิมุตติ อย่างเจโตวิมุตตินะ เช่น หลวงปู่คำดี หลวงปู่ชอบ หลวงปู่เจี๊ยะ พวกนี้พวกพิจารณากายทั้งนั้นแหละ แต่เวลาพิจารณากายแล้วมันยังหยาบละเอียดแตกต่างกันเลย หลวงปู่บัวพิจารณากาย พิจารณากายเหมือนกันนี่แหละ แต่ไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกันโดยอุบาย โดยวาสนา โดยพฤติกรรมของจิตแตกต่างกันหมด ไม่เหมือนกันเลย แต่พิจารณาอริยสัจโดยพิจารณากายเหมือนกัน แต่การกระทำแตกต่างกันด้วยอำนาจวาสนา ด้วยกำลัง ด้วยบารมีของครูบาอาจารย์แต่ละองค์
ฉะนั้น ผู้ที่เป็นครูบาอาจารย์จริง หลวงปู่มั่นท่านเป็นคนสอนมาเอง ครูบาอาจารย์ของเรารุ่นที่ว่าหลวงปู่ชอบ หลวงปู่คำดี หลวงปู่บัว หลวงปู่มั่นสั่งสอนมาทั้งนั้นน่ะ หลวงปู่มั่นเป็นคนสั่งสอนเอง
ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสั่งสอนสาวกสาวกะ เอตทัคคะ ๘๐ องค์ พระอรหันต์ลักษณะเด่น ๘๐ จำพวก พระอรหันต์ลักษณะเด่น แล้วลักษณะเด่น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่แต่งตั้งเอง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะต้องมีคุณสมบัติเหนือกว่านั้นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องมีคุณสมบัติเหนือกว่าพระอรหันต์ ๘๐ ลักษณะเด่นนั้น แล้วตั้งลักษณะเด่นนั้นแต่ละประเภทๆ ขึ้นมา
นี่พูดถึงการปฏิบัติตามความเป็นจริงไง การปฏิบัติตามความเป็นจริงเขาจะสอน เขาจะบอกตามแต่อุบาย ตามแต่ขั้นตอนของจิตที่มันติด จริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ที่เป็น เห็นไหม เหมือนหมอเลย หมอ คนไข้เข้ามา วิเคราะห์วินิจฉัยโรคตามอาการของโรคนั้นเฉพาะคนๆ ทั้งๆ ที่เป็นโรคหวัดเหมือนกันนี่แหละ แต่ที่มาที่ไปมันแตกต่างกัน แยกแยะต่างกัน เหมือนกัน ฉะนั้น สิ่งที่ปฏิบัติมันต้องเป็นอย่างนี้ ถ้ามันเป็นอย่างนี้ปั๊บ มันถึงบอกว่า ไก่ป่าขันตัวเดียว ไก่ป่าขันตัวเดียวคือวิธีการที่รู้จริง ผู้รู้จริงมันจะจัดการของเขา
ฉะนั้น เหมือนกัน ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้น อันนี้มันเป็นประโยชน์ไง เป็นประโยชน์หนึ่ง สังคมจะอยู่ได้ ไอ้เรื่องการบอกเล่าต้องหาข้อเท็จจริงก่อน อย่าเอาเรื่องการบอกเล่า ถ้าเอาเรื่องการบอกเล่า บัตรสนเท่ห์ บัตรสนเท่ห์จะทำลายคน มันทำไม่ได้ บัตรสนเท่ห์เขียนแล้วก็ร้องเรียนตามบัตรสนเท่ห์นั้น ถ้าบัตรสนเท่ห์เขียนมาหลายๆ ใบ อืม! มันน่าจะมีเค้า
อันนี้ก็เหมือนกัน อย่างที่ว่าการปฏิบัติ ถ้าการปฏิบัติ ฝึกยิ้มฝึกต่างๆ มันมี เมื่อก่อนมีพระมาอยู่ที่นี่บอกว่า ไม่ต้องกำหนดพุทโธ เพราะพุทโธมันมีอยู่แล้ว
เราไล่ออกเลย เราไล่ออกจากวัดนี้ไปเลย เขาสอนกันไง เขาบอกว่า ในเมื่อพุทโธก็มีอยู่แล้ว ไม่ต้องกำหนดพุทโธ ไม่ต้องกำหนด
ถ้าเอ็งไม่กำหนดได้นะ แล้วเอ็งกำหนดได้จริงนะ ดูสิ อานาปานสติเขาก็ไม่ได้กำหนดพุทโธหรอก ปัญญาอบรมสมาธิเขาก็ไม่ได้กำหนดพุทโธหรอก ทำไมเราไม่ไล่เขาออกล่ะ เพราะนั่นเขาทำตามข้อเท็จจริง เพราะปัญญาอบรมสมาธิมันก็มีการกระทำ อานาปานสติมันก็กำหนดลมหายใจ มันมีสติเพื่อกำหนดลมหายใจนั้น เพื่อเป็นประโยชน์กับจิตนั้น คือมีการกระทำจริงไง แล้วบอกว่า ไม่ต้องพุทโธหรอก โยนมันทิ้งไปเลยเพราะพุทโธมันมีอยู่แล้ว นี่มันไม่มีการกระทำจริง มันไม่มีการกระทำจริง
กำหนดมรณานุสติ มีคำบริกรรม มีการกระทำ คนเรามีการเคลื่อนไหว มีการออกกำลังกาย ร่างกายมันก็จะแข็งแรงเป็นธรรมดาใช่ไหม เราบอกว่าเราไม่ต้องออกกำลังกายหรอก เพราะร่างกายเราแข็งแรงอยู่แล้ว อ้าว! มันไม่มีการกระทำเลย
นี่เหมือนกัน ถ้ากำหนดพุทโธ เขาบอกไม่ต้องทำเลย ถ้าเขาบอกว่าพุทโธก็ได้ ธัมโมก็ได้ เห็นไหม ไม่กำหนดพุทโธ กำหนดธัมโม สังโฆ กำหนดมรณานุสติ เทวดานุสติ นี่มันมีคำบริกรรม สิ่งใดก็ได้
คำสอนมันจะรู้เลย คำสอนถ้าถูกมันก็คือถูก ถ้าผิดมันก็คือผิด ผิดมันเป็นการปฏิเสธเลย ปฏิเสธ มันไม่มีที่มาที่ไป ถ้าไม่มีที่มาที่ไป มันจะเป็นการปฏิบัติได้อย่างไร มันก็เป็นการนอนอยู่ในโอฆะไง นอนอยู่ในกิเลสไง แต่สำคัญตนว่าเป็นการปฏิบัติไง ถ้าสำคัญตนเป็นการปฏิบัติ มันไม่มีประโยชน์หรอก เห็นไหม ถ้าคนเป็นก็เป็น
ทีนี้เพียงแต่ว่า สำนักไหนก็แล้วแต่ ถ้ามีครูบาอาจารย์มีชื่อเสียง เขามา เขามาเพราะเชื่อมั่นในการสั่งสอนของครูบาอาจารย์องค์นั้น เราอยู่ด้วยกัน เราจะมาพลิกแพลงว่าปฏิบัติตามเราๆ
ตามเรา ได้ถามครูบาอาจารย์หรือยัง เป็นนักกีฬา เราจะอยู่ในทีมฟุตบอล จะอยู่ในทีมนั้น เราได้แจ้งโค้ชหรือยังว่าเราเป็นนักฟุตบอลในทีมนั้น ยังไม่ได้พูดเลย ฟุตบอลทีมนั้นโค้ชเขาก็เป็นคนจัดตัวเอง เราไม่มีสิทธิ์หรอก เราจะไปจัดตัวแข่งกับโค้ช มันเป็นไปไม่ได้หรอก เอ็งจะตั้งทีมฟุตบอลซ้อนใช่ไหม สโมสรมีทีม ๑ ทีม ๒ ใช่ไหม จะมีทีมสำรองหรือ มันไม่ใช่ สโมสรเขามีทีมเดียว เขาแข่งในทีมเดียว แต่ทีนี้พวกนักกีฬาตัวที่เขาเอาไว้เปลี่ยนนั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้ามี ๒ ทีมมันไม่มีหรอก มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นไปไม่ได้
นี่คือประเพณีพระป่า พระป่า ไก่ป่าเขาขันตัวเดียว ไก่ป่าขันตัวเดียว หัวหน้าฝูงมันจะขัน มันจะพาฝูงของมันไป มันจะดูแลฝูงของมันให้ฝูงของมันปลอดภัยจากนักล่า แต่เรา เราจะมาล่ากันเองในฝูง ไม่มีประโยชน์หรอก เราจะมาล่ากันเองในฝูงใช่ไหม ฝูงนั้นเขามีหัวหน้านะ เขามีหัวหน้าฝูง หัวหน้าฝูงเขาจะพาฝูงของเขาไป เพราะหัวหน้าฝูงเขาเป็นสุภาพบุรุษ เขาให้เกียรติทุกๆ คน ให้เกียรติทุกคน คนที่อยู่ในฝูงนั้นต้องให้เกียรติกัน อย่าจิกตีกัน ทางโลกเขาบอกว่าไก่ในเข่งมันตีกันเอง เดี๋ยวมันตีกันทั้งเข่ง แล้วก็ให้พ่อค้าเป็ดไก่เขาเอาไปเชือด
นี่ก็เหมือนกัน เราจะประพฤติปฏิบัติ เราต้องดูหัวใจของเรา เราจะไม่จิกตีกันไง เราอยากจิกตีกิเลส แต่เราจะไม่อยากจิกตีไก่ด้วยกัน แต่เราอยากจิกตีกิเลสในใจเรา กิเลสในใจเราต้องจิกต้องตีมัน งานของเรามันอยู่ที่นี่ งานของเราต้องขุดคุ้ยหากิเลสของเรา ไม่ใช่หน้าที่ของเรา หน้าที่ของหัวหน้าฝูง การสอนการบอกมันหน้าที่หัวหน้าฝูง หัวหน้าฝูงเขาจะเคลียร์ของเขาเอง เขาจะดูแลเองว่าใครทำผิดใครทำถูก แล้วภาวนาผิดภาวนาถูก มาสิ
หลวงตาท่านพูดบ่อยนะ ท่านบอกว่าท่านสอนมาเยอะมากเลย ท่านก็รอฟังข่าวการปฏิบัติของลูกศิษย์ ไม่มีใครไปพูดให้ฟังสักคน
นี่ก็เหมือนกัน เทศน์อยู่นี่ เมื่อวาน ๓ รอบ ๔ รอบ ก็ฟังอยู่นี่ว่าใครภาวนาได้วะ ใครภาวนาแล้วจิตสงบมาพูดให้ฟังบ้าง แล้วกูจะแก้ว่ะ กูรอแก้อยู่นี่ ไม่เห็นมีใครมาให้แก้สักตัว แต่เวลาลับหลังนี่เก่งน่าดู สอนกันไปสอนกันมา แหม! มันเก่ง เก่งนอกเวทีไง เก่งนอกเวทีนี่เก่งมาก ในเวทีไม่เห็นเลย ไม่เห็นคนไหนมีแววเลยนะว่าจะเป็นไก่ที่มีคุณภาพ ไก่ที่แบบว่ามีราคาไง ไก่ชนะสังเวียนมา ตีชนะมามันจะมีราคามาก ไม่เห็นนะ มีแต่ไก่แจ้ ไม่มีประโยชน์อะไรเลย
นี่พูดถึงมันเป็นประโยชน์ มันเป็นประโยชน์ต่อเมื่อคำพูด เพราะเคลียร์ปัญหาสังคมของเราเอง ฉะนั้น คำบอกเล่า จริงๆ นะ บัตรสนเท่ห์ ไม่รับฟัง สอง การสอนผิดวิธีการก็รับไม่ได้ ฉะนั้น สิ่งที่จะผิดจะถูก เราเป็นหัวหน้า มันควรจะถึงที่หัวหน้าก่อน แล้วหัวหน้าจะตัดสินเองว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก เอวัง
gT