ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เส้นทางธรรม

๑๕ มิ.ย. ๒๕๕๖

 

เส้นทางธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ข้อ ๑๓๓๑. เรื่อง “การบวช”

กราบพระอาจารย์ครับ ผมถามพ่อกับแม่ว่าผมจะขอท่านบวชตลอดชีวิต ท่านจะว่าอย่างไร ท่านบอกว่าที่ท่านส่งเสียให้เรียนมาจนถึงปัจจุบันนี้ ท่านเหนื่อยยากมาก ท่านอยากให้ผมบวชแบบเป็นประเพณีมากกว่าบวชตลอดชีวิต

ผมรบกวนขอคำแนะนำจากพระอาจารย์ครับว่าผมควรทำงานตอบแทนบุญคุณท่านก่อนดีไหมครับ แต่ผมก็ไม่รู้ว่าตัวเองจะตายเมื่อไหร่ ผมกลัวว่าจะเสียโอกาสที่จะได้บวชในชาตินี้ครับ

ตอนนี้ผมอายุ ๒๕ กำลังจะเรียนจบสิ้นปีนี้ ผมเป็นพี่คนโต ผมมีน้องชาย ๑ คน น้องสาว ๑ คน เรียนจบแล้วทั้ง ๒ คนเลยครับ ถ้าผมบวชแล้วให้น้องชาย น้องสาวดูแลพ่อแม่ จะอกตัญญูไหมครับ ผมไม่รู้ว่าควรจะทำอย่างไรดีครับพระอาจารย์ ขอบพระคุณครับ

ตอบ : ตั้งใจใหม่ไง ตั้งใจว่า โดยธรรมชาติเราเป็นชาวพุทธ เราเป็นชาวพุทธแล้วได้ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกคนก็อยากได้ อยากได้มรรคอยากได้ผลทุกคน ทุกคนนะ ถ้าเราจิตใจเป็นธรรม จิตใจที่มันฝักใฝ่ที่ดี คิดถึงมรรคถึงผล คิดถึงมรรคถึงผล มรรคไง มรรคคือมรรคญาณ ผล ผลคือการปฏิบัติจนเป็นอกุปปธรรม ถ้าเป็นอกุปปธรรม

เพราะเราศึกษา เราเข้าใจได้ สุขทุกข์ สุขกับทุกข์ทางโลกมันเป็นเรื่องหนึ่ง แต่วิมุตติสุข เราปรารถนาความสุขเหนือโลก ความสุขที่เป็นความสุขความจริง เราปรารถนาอันนั้น แต่คนจะถึงสิ่งนั้นได้ต้องมีอำนาจวาสนาบารมีพอสมควร ถ้าไม่มีอำนาจวาสนาบารมีนะ คนมีความตั้งใจอย่างนี้เยอะมาก เวลาบวช ทุกคนตั้งใจบวชมาก แต่เวลาบวชไปแล้วทำไมทำตัวให้ถึงที่สุดไม่ได้ล่ะ

เวลาทำถึงที่สุดไม่ได้ เวลาบวชเป็นพระไปแล้ว เวลาปฏิบัติไปแล้ว ปฏิบัติไปแล้วยังไปค้างๆ กันอยู่ ทุกข์มากนะ มันทุกข์มาก ทุกข์เพราะต้องเร่งความเพียร ทุกข์เพราะกิเลสมันเหยียบหัวเอา ทุกข์เพราะสังคม สังคมเขาคาดหวังกับเรา ทุกข์ไปหมด นี่ความทุกข์

เราบวชเป็นพระแล้ว ทุกคนมาบวชเป็นพระแล้วสุขสบาย ถ้าบวชเป็นพระ บวชหนีทุกข์ บวชแบบไม่ต้องการสิ่งใดเลย มาบวชเพื่อดำรงชีวิต นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง

แต่ถ้าคนบวชเพื่อพ้นจากทุกข์นะ พ้นจากทุกข์ ดูสิ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านอยู่ในป่าในเขามาตลอด ครูบาอาจารย์ของเราเวลาท่านเอาจริงเอาจังขึ้นมา ท่านหันหน้าเข้าป่านะ ท่านไม่ออกมายุ่งกับสังคมเลย สังคมมันมีแต่ความทุกข์ทั้งนั้นน่ะ ความทุกข์อย่างไร ทั้งหิวทั้งกระหาย ทั้งอดทั้งอยาก ทั้งอ่อนเพลีย ทั้งภาวนา นี่พูดถึงเวลาปฏิบัติตามความเป็นจริงนะ

ฉะนั้น ถ้าตามความเป็นจริง คนจะปรารถนาวิมุตติสุขมันต้องมีอำนาจวาสนาพอสมควร ถ้าไม่มีอำนาจวาสนา มันจะไม่มีความเข้มแข็ง มันจะดำรงเพศสมณะตลอดรอดฝั่งยาก แต่ถ้ายาก ทำไมพระอยู่เต็มประเทศไทยเลย

อันนั้นบวชมา บวชเพื่อการศึกษา บวชเพื่อสร้างบารมี บวชมามาเอาจริงเอาจังขนาดไหน บวชมาทางวิชาการ ศึกษากันให้จบดอกเตอร์ ยังดีนะ ต่อไปจะมีศาสตราจารย์ พระศาสตราจารย์ ถ้าเป็นอาจารย์แล้ว ความดีทางวิชาการเป็นศาสตราจารย์ แต่นี่บวชมาเป็นดอกเตอร์ เป็นอะไรต่างๆ ก็ว่ากันไป แล้วพูดถึงความรู้จริงล่ะ ความรู้จริงมีไหม ถ้าความรู้จริงมีนะ มันสงบระงับในหัวใจ ถ้าความรู้จริงสงบระงับอย่างนี้

เราจะบอกว่า สิ่งที่บอกว่าเราปรารถนาจะบวช แล้วเราบอกเราอยากจะบวชตลอดชีวิต เพราะว่า “ผมไม่รู้ว่าตัวเองจะตายเมื่อไหร่”

ถ้าคิดอย่างนี้ได้ มรณานุสติ เราคิดถึงความตาย มันไม่เห่อเหิมจนเกินไป แต่เราก็ไม่ใช่อายุสั้นจนว่าเราจะไม่มีโอกาสหรอก ฉะนั้น ถ้าเราไม่อายุสั้นขนาดนั้น ในเมื่อพ่อแม่พูดมาอย่างนี้ใช่ไหม พ่อแม่ส่งเสียมา ท่านเหนื่อยยากมาก ท่านอยากให้บวชประเพณี ถ้าคำว่า “บวชประเพณี” เราจะบวชหรือไม่บวช เราก็ทิ้งไว้ก่อน ทำหน้าที่การงานดูแลพ่อแม่ไปก่อน

พระกัสสปะ ดูสิ พ่อแม่มีลูกชายคนเดียว เป็นมหาเศรษฐีเลย พ่อแม่ก็อยากจะให้ลูกดำรงเผ่าตระกูลไป ไอ้ลูกก็อยากบวชมาก สุดท้ายมันมีอำนาจวาสนานะ เวลาพ่อแม่พระกัสสปะไปขอลูกสะใภ้ให้ ลูกสะใภ้ก็มีความคิดอันเดียวกัน พอมีความคิดอันเดียวกัน เราจะเป็นสามีภรรยากันในนาม แต่เราจะอยู่กันโดยพรหมจรรย์ แล้วก็เอาดอกไม้ตั้งไว้ ดอกไม้ตั้งไว้ที่บนหัวนอน ดอกไม้ไม่เหี่ยวไม่เฉาเลย ดำรงชีวิตอยู่อย่างนั้นน่ะ จนพ่อแม่ตายหมดนะ

พอพ่อแม่ตายหมด พระกัสสปะแจกทรัพย์สมบัติอยู่ ๗ วัน แล้วพอไปถึงทางสองแพร่ง ภรรยา ภรรยาในนาม เพราะอยู่กันโดยพรหมจรรย์ ให้ภรรยาไปบวชเป็นนางภิกษุณี พระกัสสปะมาบวชเป็นพระ สุดท้ายแล้วพระกัสสปะบวชเมื่อแก่ ก็ไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกอยากประพฤติปฏิบัติให้ถึงสิ้นสุดแห่งทุกข์ ได้อุบายจากพระพุทธเจ้าไป ถือธุดงควัตรเข้มแข็ง ธุดงควัตรๆ เข้มแข็งมาก เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา พอเป็นพระอรหันต์ก็ดำรงธุดงควัตรต่อไป จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามเลย “กัสสปะเอย เธอมีอายุเท่าเรา เธอก็เป็นพระอรหันต์แล้ว ทำไมต้องดำรงธุดงควัตรต่อไป”

“ข้าพเจ้าถือธุดงควัตรนี้ไว้เพื่อเป็นคติแบบอย่างกับอนุชนรุ่นหลังได้อ้างอิงเป็นแบบอย่าง”

เป็นคติแบบอย่างไงว่าถือธุดงค์ทำอย่างนี้ๆๆ นี่ทั้งๆ ที่เป็นพระอรหันต์นะ จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสาธุนะ สาธุว่าพระกัสสปะถือธุดงควัตร ถือผ้าบังสุกุลไง ผ้านี่ไม่รับจากคหบดีจีวร ไม่รับจากใคร จะเก็บเอาตามถนนหนทาง เก็บเอาจากซากศพ

ทีนี้ผ้ามันเก่า มันไม่ได้ดั่งใจหรอก ก็มาปะมาชุน สังฆาฏิ ๗ ชั้น หนา ปะแล้วปะอีก ทีนี้เวลาลงอุโบสถ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นอย่างนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขอแลก “พระกัสสปะเอย เธอก็อายุ ๘๐ เท่าเรา เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน ทำไมต้องถือธุดงควัตรอีก”

“ข้าพเจ้าพอใจ”

ถ้าอย่างนั้น พอใจ ขอแลก เอาสังฆาฏิขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแลกกับพระกัสสปะ นี่มีองค์เดียว แล้วเป็นเอตทัคคะในทางธุดงควัตร บวชเมื่อแก่ๆ

นี่มันมีตัวอย่าง ถ้าตัวอย่างที่คนขวนขวายในสมัยพุทธกาลก็มี ในสมัยปัจจุบันนี้ก็มี เราอยู่ในวงการพระ พระที่ว่าออกบวชแล้วพ่อแม่ไม่เห็นด้วย พ่อแม่พยายามอะไรก็มี แต่เวลาคนที่เขามีโอกาสบวช เขาไม่บวชกันนะ คนที่มีโอกาส คนที่เขาส่งเสริม มันก็ไม่ค่อยเอากัน ไอ้คนจริงคนจัง คนจริงคนจัง คนดีจากภายนอก เวลาบวชเป็นพระ เป็นพระที่ดี ถ้าคนเกเรจากข้างนอกมาบวชเป็นพระก็เป็นพระเกเร ว่าอย่างนั้นเลย มันมีนิสัยใจคอไง

ฉะนั้น ถ้าเราว่าเราอยากบวช เราก็อยากบวช มีนะ มีเวลาบวชเข้าไปแล้วอยากบวชมาก พอบวชเข้าไปแล้วไม่สมความปรารถนา สึกออกไปก็เยอะ

ฉะนั้น ถ้าเราจะบวชใจของเราก่อนไง ถ้าเราจะเอาประโยชน์นะ เอาประโยชน์ เราก็ดำรงชีวิตของเรา เลี้ยงดูพ่อแม่ ดูแลพ่อแม่ไป เราก็หาโอกาสของเรา ถ้าเราจะบวชของเรา เราปฏิบัติทางฆราวาสก็ได้ ถ้าบวชประเพณีก็บวชประเพณีก่อนก็ได้ ไปบวชประเพณีพรรษาหนึ่ง ลองไปบวชประเพณี พอบวชเสร็จ “อืม! รู้แล้ว ไม่บวชอีกแล้ว อยู่กับพระ อู้ฮู! พระเรื่องมาก เออ! อยู่เป็นฆราวาสดีกว่า ฆราวาสก็ปฏิบัติได้” คนเราไปเจอประสบการณ์แล้วเดี๋ยวมันจะรู้ไง

นี่พูดถึงนะ ถ้าเราจะบวช พ่อแม่อยากให้บวชประเพณีมากกว่า ถ้าเราบวชประเพณี ถ้าบวชประเพณีก็บวช ถ้ายังไม่บวช จะรักษาสิทธิ์ไว้ว่าเราจะไปบวชเอาข้างหน้าก็ได้ ถ้าไปบวชเอาข้างหน้านะ เราบวชตั้งแต่บวชใจก็ได้ พยายามรักษาใจของเรา

เพราะมี เวลาอยู่กับครูบาอาจารย์นะ มีคนไปขอบวช บางคนท่านเห็นแล้วท่านก็ให้ บางคนท่านบอกไม่ให้นะ คือว่าขอบวช เขาจะลาออกจากราชการมาบวชตลอดชีวิตไง

บางคนท่านบอก เออ! ท่านก็เห็นดีด้วย บางคนท่านบอกว่าให้อยู่ไปก่อน ให้อยู่ไปก่อน ให้อยู่ไปก่อนแสดงว่าให้ปฏิบัติในการเป็นฆราวาส เพราะคนเราอำนาจวาสนาคนไม่เหมือนกันหรอก เวลาคิดอย่างนี้คิดได้นะ “ถ้าพูดอย่างนี้แล้วทำไมไม่ส่งเสริม คนอยากบวชก็ต้องบวชให้หมดเลย คนขนาดเขาไม่บวชยังพยายามไปดึงให้เขามาบวช แล้วคนมาบวชแล้วมาพูดอย่างนี้”

คนที่เขาจะบวช บวชเพื่อเป็นประโยชน์มันก็ดี แต่คนที่มีภาระรับผิดชอบ คนที่มีสิ่งใดอยู่ เราก็ต้องดูตรงนั้นด้วย แล้วถ้าบวช มันบวชได้หลายวิธีการ ถ้าบวช เราก็บวชของเรานะ

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า เราเป็นลูกคนโตใช่ไหม มีพี่มีน้อง มันก็ได้ ถ้าคำว่า “อกตัญญูไหม” ถ้าคำว่า “อกตัญญู” นะ อกตัญญูคือไม่รับผิดชอบ ไม่ดูไม่แล แต่นี้ถ้าเราเป็นคนดีนะ เรารับผิดชอบอยู่แล้ว ถ้าบวชเป็นพระแล้วนะ แม้แต่มีลูกชายคนเดียว มันมี ที่มีข่าว ข่าวที่ว่าพระที่บวชแล้วไปดูแลพ่อแม่

พระ พูดถึงว่าถ้าบวชแล้วนะ มีสมัยพุทธกาลไง พระบอกว่าต้องสึกไปดูแลพ่อแม่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนุญาตให้เอาพ่อแม่มาเลี้ยงเลย ในสมัยพุทธกาลก็มี แม้แต่โลกเขายังรักพ่อรักแม่ของเขา แล้วถ้าไปบวชเป็นพระแล้ว อุปัชฌาย์เป็นอุปัชฌายะ ครูบาอาจารย์เป็นอุปัชฌาย์ แล้วพ่อแม่ของเราก็มี ทำไมเราเทศน์สั่งสอนให้คนเขากตัญญูกับพ่อแม่ของเขา แล้วเราก็เป็นพระ ทำไมเราจะดูแลพ่อแม่เราไม่ได้ เราก็ดูแลได้ ถ้าพูดถึงว่ามันเป็นธรรมนะ

ฉะนั้น คำว่า “อกตัญญู” มันจะอกตัญญูที่ไหน คำว่า “อกตัญญู” หมายถึงว่า มันไม่รับผิดชอบ เห็นไหม นี่รับผิดชอบอยู่ แต่เราจะเอาทรัพย์ที่ละเอียด ทรัพย์ที่เป็นธรรมไง แล้วทรัพย์ที่เป็นธรรม เราทำอย่างนี้พ่อแม่ก็ได้บุญไปด้วย เรากลับเลี้ยงดูด้วยบุญด้วยกุศล แล้วสิ่งนี้ถ้าเราระลึกถึงลูก ระลึกถึงพระ

นี่พูดถึงคำว่า “อกตัญญู ไม่อกตัญญู” มันอยู่ที่มุมมอง ถ้ามุมมองของเขา เขาบอกว่า “ไม่รับผิดชอบ ไม่ดูแลพ่อแม่นี่เป็นอกตัญญู” แต่เราบอกเราดูแลพ่อแม่ แล้วเราดูแลพ่อแม่แล้วเรายังให้พ่อแม่ระลึกถึงศาสนาอยู่ตลอดเวลา ถ้าระลึกถึงลูกนะ ถ้าระลึกถึงในแง่บวกนะ ถ้าระลึกถึง นี่มันเป็นเรื่องผลของวัฏฏะ มันเป็นเรื่องเวรเรื่องกรรมเหมือนกัน

ฉะนั้น สิ่งนี้มันเป็นปัญหาสังคม ปัญหาโลก แต่ถ้าเราเป็นไปได้นะ มันต้องเข้มแข็ง ทุกคนที่บวชมันมีประสบการณ์ทั้งนั้นน่ะ ประสบการณ์ว่าจะได้บวชไม่ได้บวช พอบวชมาแล้วเอาจริงเอาจังขนาดไหน ถ้าไม่เอาจริงเอาจังนะ กิเลสเวลามันขี่หัว เราจะเรียกร้องเอาจากใครไม่ได้เลย เวลากิเลสเรา มันมี มีคนที่มาบวชแล้วนะ พอบวชมาแล้วคาดหมายไว้สูงมาก แต่พอไปทำแล้วทำไม่ได้ เขาก็สึกออกไปๆ ก็มี แต่คนที่ทำได้จริงก็มี

ฉะนั้น เราเองในชีวิตเรา ใช่ บอกว่าเราเกิดมาแล้วเราจะตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เราก็อยากทำให้ชาตินี้ได้จริงได้จัง ความคิดถ้ามันมั่นคงก็ดีไปนะ แต่ถึงเวลาถ้ามันท้อแท้ขึ้นมา ฉะนั้น พอท้อแท้ขึ้นมา ในวงกรรมฐานเราจะมีครูบาอาจารย์ เวลามีครูบาอาจารย์คอยช่วยเหลือกัน คอยเจือจานกัน ใครจิตเสื่อม ใครจิตตก จิตตกก็ให้เข้าป่าให้เข้าเขาไป จิตตกแล้วให้อยู่กับเสือกับสาง พอมันคิดไปมันก็กลัวไง ไปอยู่ในป่าในเขามันกลัวผีกลัวสาง แต่ถ้าอยู่คนเดียวมันคิดร้อยแปด

คนเราจิตมันเจริญก็ได้ เสื่อมก็ได้ ถ้ามีหมู่คณะ เขาจะชักจูงกัน เขาจะดูแลกัน มันอยู่ที่บุญกุศล หมู่คณะที่ดี ถ้าเจอหมู่คณะที่ดี ดีมากเลย ถ้าไปเจอหมู่คณะไม่ดี เจอหมู่คณะไม่ดี เราจะทำคุณงามความดี มันก็มีปัญหาเหมือนกันนะ ทางโลกเขาว่า ทำดีแต่อย่าเด่น ทำดีแล้วเด่นมันจะเป็นภัย

แต่ถ้าทำดีของเรา ถ้าครูบาอาจารย์ท่านเป็นจริงนะ เราสู้ความดีครูบาอาจารย์ไม่ได้หรอก อย่างเช่นหลวงปู่มั่น “ให้ปฏิบัติมาๆ” เราปฏิบัติให้เป็นพระอรหันต์ ๒ องค์ยังเท่าหลวงปู่มั่นไม่ได้เลย ทำดีได้ ๒ เท่าด้วย เพราะหลวงปู่มั่นท่านสร้างบุญญาธิการมาเป็นพระโพธิสัตว์ ท่านปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้ามา ดูสิ ดูผลงานของท่านสิ ท่านชักนำสังคมให้ย้อนกลับมาในภาคปฏิบัติเลย แล้วท่านยังสั่งสอน รื้อสัตว์ขนสัตว์ให้ลูกศิษย์ลูกหา หลวงปู่ขาว หลวงปู่แหวน หลวงปู่บัว ครูบาอาจารย์ หลวงปู่คำดีต่างๆ หลวงปู่ตื้อ พระอรหันต์ทั้งนั้นเลย

แล้วพูดถึงว่า ถ้าครูบาอาจารย์ท่านพยายามรื้อสัตว์ขนสัตว์ ท่านพยายามจะทำให้เราถึง ท่านจะไม่เมตตาเราได้อย่างไร ท่านเมตตาเรานะ แต่มีสมัยหลวงปู่มั่น พระเข้าไปแล้วหนีหลวงปู่มั่นออกมาก็มี บอกเข้มข้นเกินไปก็มี

ถ้าเราทำคุณงามความดีสองเท่าสามเท่ายังสู้ท่านไม่ได้เลย ฉะนั้น สิ่งที่ว่าถ้าเจอครูบาอาจารย์ที่ดีนะ ท่านจะเปิดทาง ท่านจะทำให้เต็มที่เลย แต่ถ้าไปเจอครูบาอาจารย์ที่ไม่เป็นธรรม ทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย ภาวนาขึ้นมาเดี๋ยวจะยุ่ง ภาวนาขึ้นมาเดี๋ยวมันจะเกินหน้าอาจารย์แล้ว มันจะแซงไปแล้ว ถ้าอาจารย์คิดอย่างนั้นนะ เรามีเวรมีกรรม

แต่ถ้าอาจารย์ถ้าเป็นอาจารย์จริงๆ นะ ท่านจะยุยงส่งเสริม หลวงปู่มั่น ถ้าพระองค์ไหนจิตเสื่อมนะ ให้ไปอยู่กับช้างที่นั่น ให้ไปอยู่ป่านั้น เพราะว่าป่าในประเทศไทย หลวงปู่มั่นท่านเดินมาหมดแล้ว ท่านจะรู้เลยว่าที่ไหนมันมีสัตว์อะไร ที่ไหนมีหมี ที่ไหนมีเสือ

เวลาจิตเราตก ท่านจะให้ไปอยู่ที่นั่นเลย พอให้ไปนะ เราก้าวไม่ออกแล้ว ทีนี้อาจารย์สั่งกับเรา จะเอาอย่างไร ไม่กล้าไปหรอก เพราะจิตมันตก ถ้าจิตมันตกไปอยู่อย่างนั้นนะ จิตฟูหมดแหละ จิตมันจะฟื้นเลย ฟื้นเพราะอะไร เพราะมันจะคิด จิตตกเป็นเพราะอะไร เพราะมันคิดเรื่องอกุศล ถ้าไปอยู่กับเสือ อกุศล เดี๋ยวเสือมันจะคาบหัวเอา มันก็ไม่กล้าคิดไง พอไม่กล้าคิด มันก็มาคิดพุทโธไง

อุบายของครูบาอาจารย์เราท่านเยอะแยะที่เป็นธรรม ถ้าครูบาอาจารย์เป็นธรรมนะ ท่านจะดูแลพวกเราสุดยอดเลย แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่เป็นกิเลสนะ อย่าเด่นนะ อย่าเด่น เดี๋ยวจะเป็นภัย ปฏิบัติเกินหน้าเกินตาไม่ได้นะ ไม่ได้

แต่ครูบาอาจารย์เรามันจะเกินหน้าเกินตาไปได้อย่างไร ครูบาอาจารย์เราเกินหน้าเกินตาได้ไหม ครูบาอาจารย์ของเราท่านเป็นธรรมแล้ว มึงปฏิบัติมาเถอะ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นสมบัติของมึง เป็นสมบัติของคนปฏิบัติ ใครปฏิบัติได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พอพระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปลื้มใจมาก “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ”

คือคนที่ทำอะไรก็แล้วแต่ เขาต้องการพยาน ต้องการคนรู้เห็นจริงเหมือนกัน ถ้าคนที่เขารู้จริงเห็นจริง เขาต้องการให้ของเรามีคุณค่า มันต้องมีคนรู้ด้วยเห็นด้วย คนที่รู้จริงตามเรามันจะทำให้สิ่งนั้นมีค่า

เรามีค่าอยู่คนเดียว เรากอดอยู่คนเดียวว่าเรามีธรรมๆ แล้วคนอื่นเขาบอกว่าเขาไม่เห็นด้วย ธรรมมันจะชัดเจนได้อย่างไร แต่ถ้าวันใดขึ้นมา คนที่เขามีดวงตาเห็นธรรมเขาบอก อู้ฮู! อู้ฮู! มันจะส่งเสริมคุณค่ากันไง เวลาพระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สงฆ์องค์แรกเกิดแล้ว “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ” มันมีพยานแล้ว เราไม่ใช่พูดคนเดียวแล้ว เราไม่ใช่ว่าเราจะพูดอยู่คนเดียว มีพยานๆ นี่ก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ของเราท่านปฏิบัติ ท่านต้องการให้พวกเราปฏิบัติให้เป็นความจริงจริงๆ อันนี้เป็นประโยชน์มาก

แต่ถ้าเราบวชแล้ว ด้วยเวรด้วยกรรม เราชื่นชมอาจารย์องค์นี้ อาจารย์องค์นี้ แหม! สุภาพอ่อนโยน นิ่มนวล อ่อนหวาน ช้อบชอบ ช้อบชอบ นั่นล่ะ ปฏิบัติเกินหน้าเกินตา เดี๋ยวเถอะ เดี๋ยวจะช้อบชอบ

แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์นะ ท่านถากท่านถางพวกเรานะ ต้นไม้มันคด ท่านจะถากจะถางให้มันตรง เวลาถากไปเจ็บทั้งนั้นแหละ แต่เจ็บเพราะนั่นมันเป็นปม เป็นปม เป็นคด เป็นงอ ท่านถากให้ตรง นี่ครูบาอาจารย์ที่ดี

นี่พูดถึงว่า อยากบวชไง อำนาจวาสนา บอกชาตินี้เดี๋ยวมันจะบวชไม่ทัน ครูบาอาจารย์มี เราก็สาธุนะ แต่ถ้าคนเรามันมีเวรมีกรรม ถ้าพ่อแม่คิดอย่างนี้ เราก็ดูน้ำใจกันไปก่อนไง เราจะไม่หักพร้าด้วยเข่า เว้นไว้แต่ใครมีอำนาจวาสนาขนาดไหน กรณีอย่างนี้มันอยู่ที่เวรกรรม เวรกรรมของใคร เวรกรรมมาถึง มันจะทำของมันได้ นี่พูดถึงการบวช

ถาม : ข้อ ๑๓๓๒. เรื่อง “การแก้ไขปัญหาจิตตกภวังค์”

ผมอยากจะขอคำแนะนำจากการปฏิบัติครับ คือว่าผมสนใจในภาวนาด้วยการอ่านจากตำราแล้วลงมือปฏิบัติตาม โดยใช้วิธีนั่งสมาธิ แล้วต่อด้วยการยกกระดูกขึ้นมาพิจารณาให้เป็นธาตุดิน ผมพบปัญหาดังนี้คือ

๑. เวลานั่งสมาธิไปสักพักแล้วรู้สึกวูบลง เกิดอาการเบลอๆ คล้ายกำลังหลับฝันอยู่ แต่ก็ยังรู้ตัวอยู่ อยากทราบว่าอาการดังกล่าวใช่อาการจิตตกภวังค์ใช่หรือไม่

๒. ผมทำงานโรงงาน เวลาว่างจะกำหนดดูลมหายใจเข้าออก เพียงไม่กี่ครั้งก็จะมีอาการวูบลงเหมือนกับอาการที่เกิดขึ้นในข้อที่ ๑ ทำให้ดูเหมือนแอบหลับเวลางาน อยากทราบว่าจะแก้อาการที่ตกภวังค์ได้อย่างไรครับ

๓. มีอยู่ครั้งหนึ่งตอนกลางคืนผมนั่งสมาธิ ตอนเช้าไปทำงาน วันทั้งวันผมรู้สึกมีอาการเฉยๆ ทั้งวัน คล้ายๆ ไม่เดือดไม่ร้อน ไม่กระวนกระวาย แต่ไม่สามารถกำหนดรู้ลมหายใจ กับไม่สามารถพิจารณากระดูกได้ เพราะใจมันเฉยๆ อยู่อย่างนั้น อาการอย่างนี้จะให้ทำอย่างไรต่อไปครับ

๔. ผมพิจารณาดูกระดูกโดยไม่ต้องหลับตา เห็นได้เพียงลางๆ เท่านั้น แต่สามารถย่อขยายหรือกำหนดให้กระดูกแปรสภาพอย่างไรก็ได้ตามใจนึกคิด อาการอย่างนี้เรียกว่าเห็นโดยอนุมาน หรือว่าผมคิดไปเองครับ

๕. ในฝัน ผมสามารถรู้ตัวได้ว่าตัวเองกำลังฝันอยู่ และถ้าอยากจะตื่น ผมจะกำหนดดูลมหายใจเข้าออก ก็จะตื่นขึ้นมาเอง อยากทราบว่าขณะนี้เป็นนิมิตหรือเปล่าครับ

๖. ในแต่ละวันจะมีช่วงที่จิตตกอยู่พักหนึ่ง ผมพยายามแก้ไขด้วยการกำหนดดูลมหายใจ แต่ไม่ได้ผล ผมควรทำอย่างไรครับ

ตอบ : อันนั้นอยากบวช อันนี้อยากปฏิบัติ

“๑. เวลานั่งสมาธิไปสักพักหนึ่ง รู้สึกตัววูบลง เกิดอาการเบลอๆ คล้ายหลับฝันอยู่ แต่ก็ยังรู้ตัวอยู่ อยากทราบว่าอาการอย่างนี้ใช่อาการของจิตตกภวังค์ใช่ไหมครับ”

ใช่ ใช่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลย อาการเบลอๆ คำว่า “เบลอๆ” โดยสามัญสำนึกของมนุษย์ ทุกคนจะเข้าข้างตัวเอง ทุกคนจะว่าเรารู้ตัวอยู่ เราจะเข้าใจอยู่ ทั้งๆ ที่มันหลับไปแล้ว หลับไปแล้ว พอตื่นขึ้นมามันยังว่ามันรู้ตัวอยู่เลย โดยสามัญสำนึกของคนเข้าข้างตัวเองหมด แล้วนี่เขียนมาว่ามันเบลอๆ...๑๐๐ เปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว เบลอๆ ทั้งนั้นแหละ มันเบลอๆ อยู่แล้ว

จิตนี้มันมหัศจรรย์นะ คำว่า “มหัศจรรย์” จิตนี้ไม่เคยตาย ถ้าจิตนี้ไม่เคยตาย เวลาปฏิบัติไป จิตอาการอย่างนั้นน่ะ ดูสิ นี่ปัญหาของทั่วไปนะ ดูสังคมสิ จิตของคนถ้าแบบว่ามันมีอาการต่างๆ ทุกคนจะเข้าข้างตัวเองว่าตัวเองไม่เป็นไร ตัวเองยังสติสมบูรณ์อยู่ แต่เขามีอาการแล้วแหละ ทีนี้อย่างนี้เวลาคนถ้ามีอาการ ถ้ามีหมู่มีคณะ มีเพื่อนมีฝูง เขาจะพาไปหาจิตแพทย์ ให้จิตแพทย์ช่วยควบคุมดูแล ควบคุมดูแลนะ

เพราะธรรมชาติของโลกเขาเรียกว่าบ้า ๕๐๐ จำพวก คนเรามีกิเลส บ้าทั้งนั้นแหละ บ้ามากบ้าน้อย บ้าทั้งนั้นน่ะ ไม่บ้าอะไรต้องบ้าอย่างหนึ่ง ทางโลกเขามีชมรม ชมรมบ้า ชมรมอะไรก็ชมรมบ้านั่นแหละ ชมรมไหนก็ชมรมนั้น บ้าเรื่องนั้นน่ะ มานั่งคุยกันทั้งวัน ปีทั้งปีไม่คุยเรื่องอะไร คุยเรื่องที่มันชอบนั่นแหละ วิจารณ์ นั่นล่ะชมรมบ้า บ้า ๕๐๐ จำพวก แต่มันมากน้อยแค่ไหน

ฉะนั้น เวลาเรามาปฏิบัติ คำว่า “มันเบลอๆ” มันไปแล้วแหละ คำว่า “มันเบลอๆ” นะ

ฉะนั้น เวลาคำถามถามว่า “กระผมอ่านจากตำราแล้วลงมือปฏิบัติเอง”

ถ้าอ่านจากตำรานะ ตำรามีมากมายใช่ไหม แล้วตำราก็มีมากมายแบบว่าแล้วแต่คนจะถนัด อันนั้นเป็นจริตนิสัย เหมือนวิชาชีพ วิชาชีพมีหลากหลายเลย แต่ผลของมัน ทุกคนหาเลี้ยงชีพ วิชาชีพ ทำหน้าที่การงานเพื่อหาเลี้ยงชีพ

นี่ก็เหมือนกัน การปฏิบัติทุกๆ วิถีทาง ผลของมันคือต้องการให้ใจสงบ ผลของมันคือต้องการให้ใจสงบ ทีนี้คำว่า “ใจสงบ” มีครูบาอาจารย์บอกว่าใจสงบ เวลาผลของมันคือจิตสงบเข้ามา ถ้าจิตสงบเข้ามา นั่นคือสัมมาสมาธิ

แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์หรือผู้ที่เราอ่านตำรามา ทุกคนเขียนตำราก็ไม่เคยปฏิบัติเหมือนกัน คนเขียนตำรามาก็จินตนาการมา คนเขียนตำรามาก็รวบรวมประมวลมาจากครูบาอาจารย์ที่เทศน์ แล้วมีความเข้าใจก็เขียนออกมา พอเขียนออกมานะ ก็ว่าเขียนตามนั้น

ตอนนี้มีมากเลย หนังสือตำราการปฏิบัติก็ประมวลมาจากครูบาอาจารย์ แล้วก็ใช้ความเห็นของตัวเขียนออกมา พอเขียนออกมา เขาไม่รู้จักอะไรเลย พอเขาไม่รู้จักอะไรเลย เขาก็ไม่รู้จักว่าโลกียปัญญาเป็นอย่างไร โลกุตตรปัญญาเป็นอย่างไร

โลกียปัญญา ปัญญาที่ว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา มันก็คือปัญญาๆ ปัญญาก็ทางวิชาการนี่ไง ก็คือปัญญา แต่ในภาคปฏิบัติ ในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าไม่ต้องการปัญญาอย่างนั้น ปัญญาอย่างนั้น พระพุทธเจ้าตอนที่เป็นราชกุมาร ไปเรียนมาทางวิชาการการปกครอง ๑๘ วิชาการ นั่นก็มีปัญญาแล้ว ปัญญาอย่างนั้นมี แต่มันแก้กิเลสไม่ได้

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาบวชขึ้นมาแล้วละทิ้งหมดเลย แล้วพอทำความสงบของใจขึ้นมา ไม่ใช่เอาปัญญาจากการศึกษานั้นมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติเลย ไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ มา ปัญญาอย่างนั้นก็ใช้ไม่ได้ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาเกิดปัญญาขึ้นมา อาสวักขยญาณ เกิดขึ้นมาจากจิตที่สงบ อานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้าออกจนจิตมันสงบระงับเข้าไป ไปรู้อดีตชาติก็ไม่ใช่ อนาคตก็ไม่ใช่ เวลาเกิดอาสวักขยญาณขึ้นมา ปัญญาอย่างนั้นน่ะ

เวลาว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา แต่ปัญญาอย่างไร ปัญญาของใคร ถ้าคนไม่มีสติปัญญา คนไม่เข้าใจอย่างนี้ จะไม่รู้จักว่าปัญญาภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นมาได้อย่างไรเลย

ฉะนั้น เวลาขณะที่ว่า ปัญญาก็ไม่รู้จักปัญญา จิตก็ไม่รู้จักจิต ไม่รู้จักอะไรเลย แต่ครูบาอาจารย์ของเรา ท่านก็ไม่รู้จักมาก่อนเหมือนกัน แต่เวลาท่านปฏิบัติขึ้นมา ท่านรู้จักของท่านเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นมา แล้วท่านสอนพวกเรา ท่านถึงพยายามเน้นพวกเราให้ทำความสงบของใจ ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน ถ้าใจมันสงบเข้ามา นี่เวลาใจมันสงบเข้ามา

เวลาปฏิบัติตามตำราก็คือตามตำรา ทีนี้ปฏิบัติจริง พอปฏิบัติจริงขึ้นมา มันเกิดอาการแล้ว อาการเบลอๆ เบลอๆ เบลอๆ เพราะอะไร เบลอๆ เพราะว่าธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เหตุมันชัดเจนขึ้นมา คนขับรถ ถ้าใครหลับใน มันลงข้างทาง เวลาคนหลับ คนง่วงนอนเขาให้แวะที่พักรถ นอนก่อน ตื่นแล้วค่อยขับไป ง่วงนอน อย่าขับรถ ดื่ม อย่าขับ ง่วง อย่าขับ ไอ้นี่ผมทำงานทั้งวันเลย แล้วผมก็ภาวนาด้วย

ไอ้นี่ไม่ใช่ง่วงหรอก ไอ้นี่มันตื่น มันเพิ่งตื่นมา มันจะทำงานทั้งที่มันหลับนั่นน่ะ แล้วมันบอกว่า “อ้าว! ก็ตามตำราไง ผมดูตามตำรา ผมปฏิบัติตามตำรา”...อ้าว! ตำราก็ทำกันไป ทำกันไป แล้วผลมันล่ะ

ฉะนั้น เวลาจะปฏิบัติ ครูบาอาจารย์บอกให้ทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใช้ปัญญาก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ คำว่า “ปัญญาอบรมสมาธิ” คือสมถะ ปัญญาอบรมสมาธิคือทำใจให้สงบ ปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาที่ปฏิบัติกันอยู่ โลกๆ ที่ว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา นั่นคือปัญญาอบรมสมาธิ ถ้ามันสงบระงับเข้ามาก็เป็นสมถะ

แต่ถ้าเราพุทโธๆ พอพุทโธขึ้นมา อาการเบลอๆ มันเกิดไม่ได้ อาการเบลอๆ อาการเบลอๆ มันเป็นไปแล้วแหละ คือว่าหลับใน ขับรถหลับในแล้วก็เหยียบเต็มที่เลย ยังดี ไม่ลงข้างทาง ถ้าลงข้างทาง มันได้แผลไง ถ้าไม่ได้แผลมันก็บาดเจ็บสาหัส

ทีนี้ทางโลกเป็นแบบนั้น แต่ทางใจมันไม่มีไง เบลอๆ ไปแล้ว เดี๋ยวตื่นขึ้นมาก็ “ฉันปฏิบัติ แหม! เกือบเป็นพระอรหันต์แล้วแหละ เกือบได้พระอรหันต์แล้ว แหม! เกือบได้เลย”

มันหลับเพิ่งตื่นนะ เบลอๆ ขึ้นมา พอตื่นขึ้นมา “แหม! เมื่อกี้นี้เกือบลง โอ้โฮ! เกือบเป็นพระอรหันต์เลย”

คนหลับในนะ รถตกข้างทางถึงกับเสียชีวิต แต่ในการปฏิบัตินะ เวลามันผิดพลาดไป ทิฏฐิมานะมันเกิดขึ้น เกิดการหลงไป เกิดการเห็นผิดไป แล้วยังว่าตัวเองถูกต้องดีงาม นี่ไง เพราะขาดครูขาดอาจารย์

ถ้ามีครูบาอาจารย์ท่านจะคอยบอก เพราะอะไร เพราะครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติมาแสนทุกข์แสนยาก ปฏิบัติมาแสนทุกข์แสนยากนะ ถ้าแสนทุกข์แสนยาก ท่านถึงเป็นห่วง หลวงปู่มั่นท่านพูดประจำอยู่ในหมู่คณะ “ภิกษุให้ปฏิบัติมาเถอะ แก้จิตแก้ยากนะ ผู้เฒ่าจะแก้ว่ะ” แก้จิตแก้ยากนะ เพราะอะไร เพราะท่านล้มลุกคลุกคลานมาก่อน ปฏิบัติมามีทางออกไม่ได้ ปฏิบัติมาแล้วตัวเองมีประสบการณ์นะ ไม่มีใครบอกได้ก็ไปปรึกษาเจ้าคุณอุบาลีฯ เพราะเจ้าคุณอุบาลีฯ ท่านอยู่กับทางวิชาการเยอะ แล้วท่านก็ปฏิบัติด้วย

ท่านปฏิบัติขนาดไหน ท่านไปไม่รอด ท่านไปปรึกษาเจ้าคุณอุบาลีฯ แล้วออกมาประพฤติปฏิบัติเอง แล้วทีนี้พอท่านปฏิบัติไป ท่านเห็นถึงความทุกข์ยาก เห็นถึงการแก้ไขจิตมันลำบากขนาดไหน ฉะนั้น เวลาคนปฏิบัติท่านถึงบอกว่า “แก้จิตแก้ยากนะ ผู้เฒ่าจะแก้ว่ะ” เพราะท่านกว่าจะหาคนแก้ กว่าจะหาคนตบให้เข้าทางมา ท่านผ่านมาเต็มที่

นี่พูดถึงว่ามันเบลอๆ แล้วมันจะฝัน “มันเบลอๆ มันคล้ายฝัน แต่ก็ยังรู้ตัวอยู่ อยากทราบว่าอาการนี้มันเป็นการตกภวังค์ใช่หรือไม่”

ใช่ ใช่แน่นอน ทีนี้พอใช่แน่นอน แก้อย่างไร แก้ก็ต้องมีสติ แล้วถ้าพุทโธชัดๆ แล้วพอมีสติ การปฏิบัติเริ่มต้นเหมือนเด็ก เด็กให้ทำงาน ทำได้แสนยากมาก เด็กอนุบาลกว่าจะเรียนหนังสือได้ เขาต้องหัดให้เขียน ก.ไก่ ก.กา อู๋ย! มันจับปากกาจะตก อู๋ย! จับยากไปหมดเลย การฝึกหัดทีแรกก็เป็นอย่างนี้ทั้งนั้นแหละ ล้มลุกคลุกคลาน

ทีนี้ล้มลุกคลุกคลาน ล้มลุกคลุกคลาน “พระป่า พวกปฏิบัติอัตตกิลมถานุโยค ลำบากไปหมด สู้ไปปฏิบัติทางทั่วๆ ไป เขาก็เดินย่องกันอยู่อย่างนั้นน่ะ เดินเป็นแถว จัดแถวแล้วก็เดิน อย่างนั้นง่าย มันจะยากตรงไหน เดินตามกันไป ง่ายๆ แล้วก็ แหม! สบายมาก อู๋ย! โล่งหมดเลย ดีหมดเลย”...ปฏิบัติพอเป็นพิธีไง ปฏิบัตินึกว่ามันง่าย เพราะทุกคนอยากได้ผลกันง่ายๆ ทีนี้อยากได้ง่ายๆ อย่างนั้นปฏิบัติเป็นประเพณีวัฒนธรรม

ในเมื่อศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา เราเป็นชาวพุทธ เราก็อยากจะมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา เราก็คิดของเรา เราก็ปฏิบัติของเรา อันนั้นปฏิบัติพอเป็นพิธีในพระพุทธศาสนา ปฏิบัติเป็นพิธีในพระพุทธศาสนา มรรคผลมันมีจริงหรือเปล่า แต่ถ้ามีจริงมันต้องมีครูมีอาจารย์ มันจะเข้ามา ผ่านจากเบลอๆ เข้ามา ผ่านจากความจริงเข้ามา มันรู้แจ้ง ชัดเจน แจ่มใส ปฏิบัติรู้ไปหมด นี่ข้อที่ ๑

“๒. ผมทำงานโรงงาน เวลาว่างจะกำหนดดูลมหายใจเข้าออก เพียงไม่กี่ครั้งมันก็เกิดวูบลงเหมือนกับอาการที่เกิดขึ้นในข้อที่ ๑ ทำให้ดูเหมือนแอบหลับเวลางาน อยากทราบว่าจะแก้อย่างไร”

สลัดทิ้งไปเลย สลัดทิ้งไปเลย เวลาทำงานก็ทำงานของเรา “ผมทำงานโรงงาน” หน้าที่การงานเราก็ทำงานเต็มที่ของเรา เอางานนั้นให้จิตจ่ออยู่กับงาน ทำงานให้จบเสีย จับปลาสองมือ จิตหนึ่งก็อยากทำงาน จิตหนึ่งเพราะหน้าที่การงานต้องทำงานให้ประสบความสำเร็จ เพราะเดี๋ยวทำผิดพลาดขึ้นมาเดี๋ยวโดนไล่ออกนะ

สอง ทำงานด้วยก็อยากจะปฏิบัติด้วย ปฏิบัติแล้วจะเป็นพระอรหันต์ด้วย เป็นพระอรหันต์ด้วย แล้วยังได้งานอีกด้วย

๑. เป็นพระอรหันต์ด้วย

๒. ได้เงินเดือนอีกด้วย

เวลาทำงาน ทำงานเต็มที่ไปเลย เวลาว่างจากงาน เวลาว่าง เวลาพักจากงาน พักเที่ยง พักต่างๆ เราก็กำหนดพุทโธของเรา แต่เวลางาน อยู่กับงานชัดๆ นั่นล่ะ อยู่กับงานชัดๆ งานจะแจ่มแจ้ง งานจะแจ่มใส จับให้มั่นคั้นให้ตาย งานก็คืองาน ได้ผลงานออกมา ทำงานประสบความสำเร็จสมบูรณ์เพราะมีสติมีปัญญาทำงาน งานก็สมบูรณ์ พองานสมบูรณ์ขึ้นมา เราทำงานสมบูรณ์ทุกอัน เจ้านายก็ต้องเห็นถึงความดีของเราทั้งนั้นน่ะ แล้วเวลาปฏิบัติ เราก็ปฏิบัติของเรา ปฏิบัติของเรา เราปฏิบัติที่บ้านของเรา เราปฏิบัติเวลาเราว่างงานของเรา เราปฏิบัติเป็นส่วนตัวของเรา นี้เป็นผลประโยชน์ส่วนตัว

เวลาทำงานขึ้นมา นายจ้าง ลูกจ้าง ทำงานแล้วประสบความสำเร็จตามหน้าที่การงาน เวลาปฏิบัติ ปฏิบัติโดยส่วนตัว มันเป็นผลงานของจิตของเราโดยส่วนตัวของเรา มันก็จบ อย่าเอาไปคลุกเคล้ากัน “เวลาผมทำงานที่โรงงาน ผมก็พุทโธไปด้วย ผมก็ทำงานไปด้วย” นี่ทุจริตนะ เวลาเงินเดือนออก ครึ่งหนึ่งต้องให้พุทโธ เพราะช่วยทำงาน

ทำงาน ทำงานเต็มที่ไปเลย ทำงานอยู่กับงานเลย พอเสร็จจากงานแล้ว มีเวลาว่างแล้วเราค่อยปฏิบัติของเราให้ชัดๆ ไปเลย อย่างนั้นมันแยกกันไม่ออก

“๓. มีอยู่ครั้งหนึ่งตอนกลางคืนผมนั่งสมาธิ ตอนเช้าไปทำงาน วันทั้งวันรู้สึกมีอาการเฉยๆ ทั้งวัน คล้ายๆ กับไม่เดือดร้อน ไม่กระวนกระวาย แต่ไม่สามารถกำหนดรู้ลมหายใจ กับไม่สามารถพิจารณากระดูกได้ เพราะใจมันเฉยๆ อยู่ อาการอย่างนี้จะให้ทำอย่างไรต่อไป”

เขาว่าพิจารณากระดูกได้เนาะ กระดูกได้ที่ว่ากำหนดพุทโธแล้วมันเห็นกระดูก แต่เขาว่าเขาเห็นโดยอนุโลมหรือเปล่า เห็นโดยอุปาทานหรือเปล่า

แต่ถ้าเห็นของมันนะ ถ้าจิตเป็นสมาธิเห็น เป็นคนละเรื่อง แล้วจะเข้าใจเรื่องนี้มาก ฉะนั้น ที่ว่าเวลานอนแล้ว เวลาทำสมาธิกลางคืน กลางวันทั้งวันมันเฉยๆ มันไม่รับรู้ต่างๆ

อาการมันจะมีร้อยแปดนะ อาการ ดูสิ เวลาหลวงตาท่านบอกว่าท่านฟังเทศน์หลวงปู่มั่น เทศน์หลวงปู่มั่นเทศน์ดีมาก จิตมันอิ่มเต็มของมัน มันรวมลงนะ ว่าจิตดับไป ๓ วัน คือมันไม่ออกรับรู้อะไรเลยนะ มันอิ่มของมันอยู่อย่างนั้น ๓ วัน นี่พูดถึงจิตที่เป็นสมาธิ

แต่ของเราจิตเฉยๆ เฉยๆ เฉยๆ มันไม่เป็นอะไรเลย เฉยๆ อาการคล้ายภวังค์ อาการเบลอๆ อย่างนั้นใช่ไหม เพราะจิตถ้ามันหนักเข้ามันเป็นอย่างนี้ มันเฉยๆ ทั้งวันเลย เหมือนไม่รู้อะไรเลย แล้วกำหนดลมหายใจไม่ได้ด้วย อันนี้วางไว้ เพราะเคยเป็น แต่ตอนนี้ไม่เป็นแล้ว ถ้าตอนนี้ไม่เป็นแล้ว เราก็ปล่อย ปล่อยอันนี้แล้วเรามาอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับปัจจุบันนะ เพราะข้อนี้มันทำให้ชักรู้ว่า เออ! มันก็แปลกๆ อยู่เนาะ

เราปล่อยเลย เพราะถ้าอาการมันเฉยๆ ทั้งวัน เฉยๆ ทั้งวัน เฉยๆ เราก็รู้ได้ เฉยๆ เรารู้ได้ทั้งนั้นแหละ นี้คำว่า “เฉยๆ” เพราะว่าเริ่มต้นตั้งแต่ว่าเราเรียนตามตำรามา ถ้าเรียนตามตำรามา สิ่งที่ปฏิบัติมาก็คิดว่าธรรมะคือความว่าง ถ้าอะไรมันว่างๆ ว่างๆ มันคือใช่ ว่างๆ โดยปฏิเสธก็มี ว่างๆ โดยไม่รับรู้อะไรก็มี คำว่า “เฉยๆ” มันก็เป็นความว่างอันหนึ่งไหม ที่เขาว่าว่างๆ เราก็ว่าว่างๆ อย่างนี้ ว่างๆ แบบไม่มีสติ ว่างๆ แบบไม่มีใครรับรู้ ไม่มีสัมมาทิฏฐิ ไม่ใช่ความเห็นจริง รู้จริงเห็นจริง

ถ้าความรู้จริงเห็นจริงนะ มันมีสติมีปัญญา มันควบคุมได้ เพราะอะไร เพราะศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเกิดมีสมาธิขึ้นมา สมาธิดีมันจะเกิดภาวนามยปัญญา มันจะส่งต่อกันขึ้นไป มันจะมีพื้นฐาน มันมีพื้นฐาน มีเทคนิคต่างๆ มันจะก้าวเดินของมันขึ้นไป

ไอ้นี่มันเฉยๆ เฉยๆ เฉยๆ มันก็ไม่เอาอะไร นี่ไง ที่บอกว่าเวลากำหนดพุทโธไปแล้วมันว่างๆ ว่างๆ ว่างๆ เพราะเหตุนี้ เฉยๆ นี่แหละ

เฉยๆ ไม่ได้ เฉยๆ ต้องพุทโธต่อไป พุทโธต่อไปมันก็จะลงลึกมากกว่านั้น ลงลึกมากกว่านั้น มันมีกำลังขึ้นมา เพราะทำสมาธิของเราทำเพื่อกำลัง เพื่อมีสมาธิ มีสมาธิ มีความตั้งใจ มีความจงใจ มีสติมีปัญญา เวลามันน้อมไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เห็นตามความเป็นจริง มันสะเทือนหัวใจ มันสะเทือนกิเลส

ไอ้นี่มันบอกครึ่งๆ กลางๆ กึ่งๆ ไปหมดเลย จะว่าธรรมก็ไม่ใช่ธรรม จะว่าไม่ใช่ธรรมก็จะเป็นธรรม มันก็เลยเฉยๆ

วางไว้ไง ถ้าสิ่งใดที่มันยังลังเลสงสัย วางไว้ ให้กำหนดพุทโธชัดๆ คำว่า “พุทโธชัดๆ” คือทำงานเต็มที่ ทำงานตามหน้าที่การงานขึ้นมา ให้มีกำลังขึ้นมา เดี๋ยวมันจะรู้ของมัน นี่วิธีแก้

“๔. ผมพิจารณากระดูกโดยไม่ต้องหลับตา เห็นได้เพียงลางๆ เท่านั้น แต่สามารถย่อขยายหรือกำหนดกระดูกให้แปรสภาพอย่างไรก็ได้ตามที่ใจนึกคิด อย่างนี้เรียกว่าเป็นอนุมานเอาหรือเปล่า”

แน่นอน

เพราะ “ผมพิจารณากระดูกโดยไม่ต้องหลับตา”

ไม่ต้องหลับตา ไม่ต้องหลับตา ไม่ต้องหลับตาแล้วเห็นอะไร ตาเนื้อนี่นะมันจะเห็น ถ้าตาเนื้อเห็นนะ เราจะบอกเลย โทษนะ ถ้าเพศตรงข้ามเห็นกันด้วยตาเนื้อมันจะสร้างอะไรขึ้นมา ถ้าเพศตรงข้าม หญิงเห็นชาย ชายเห็นหญิง เห็นดีๆ เถอะ ยิ่งเห็น โดยไม่ต้องหลับตาไง

เวลาหลับตา เขาหลับตา เขาจิตเห็น จักขุวิญญาณ จกฺขุํ อุทปาทิ าณํ อุทปาทิ จักขุวิญญาณ เปิดตา เปิดตาใจ เขาไม่ได้เปิดตาเนื้อ ถ้าเปิดตาเนื้อนะ ใครตาพิการก็ไปหาจักษุแพทย์ เดี๋ยวเขาเปลี่ยนเลนส์ตาให้ พอเปลี่ยนเลนส์ตาให้ เป็นพระอรหันต์เลยนะ เพราะตาดีแล้วเห็น เห็นกิเลสเลย มันจริงไหมล่ะ

หลับตา ถ้าหลับตาแล้วมันเห็น เห็นจากจักขุวิญญาณ ใจเห็น แต่ถ้าลืมตา ลืมตาแล้วเห็นก็มี ลืมตาเห็น เพราะอะไร เพราะเดินจงกรม มีพระเราเยอะมากเดินจงกรมนะ เห็นโครงกระดูกอยู่ข้างหน้า เดินไปเห็นโครงกระดูกตลอดเวลาเลย แล้วพิจารณาจนโครงกระดูกย่อยสลายลงต่อหน้าเลย โครงกระดูกมันเริ่มยุบยอบลงเลย ต่อหน้านี่ แต่นั่นเพราะจิตดี จิตที่มีกำลังดี จิตมันเป็นไปได้ มันเป็นไปได้นะ แต่ถ้าโดยทั่วไปนะ หลับตาให้เห็นเถอะ หลับตานะ

ดูสิ ในวิสุทธิมรรคบอกให้ภิกษุไปเที่ยวป่าช้า พอเที่ยวป่าช้านะ อย่าไปใต้ลม ให้ไปเหนือลม ถ้าไปใต้ลม กลิ่นมันจะแรง การเที่ยวป่าช้าต้องไปเหนือลม พอไปแล้วให้ไปดูซากศพเก่าก่อน อย่าไปดูซากศพใหม่ ถ้าดูซากศพใหม่ ลืมตาๆ ไปเห็นซากศพใหม่ เดี๋ยวมันก็เกิดกามราคะ ให้ไปดูซากศพเก่าก่อน พอดูซากศพเก่าก่อน พอมันชำนาญแล้วให้ดูซากศพใหม่ก็ได้ ดูมันเขียว มันเน่ามันเปื่อย แล้วให้หลับตา เพ่งแล้วให้หลับตา หลับตาเห็นภาพนั้นไหม ถ้าหลับตาเห็นภาพนั้น นั่นล่ะมันตั้งได้แล้ว คือเห็นกายจักขุวิญญาณ เห็นกายจากตาเนื้อ แล้วให้กลับมาอยู่ที่อยู่ของตัว แล้วให้พิจารณาให้เป็นไตรลักษณ์ วิภาคะ แยกออกไป

แล้วถ้ามันเดินไปกลับ เดินไปเดินกลับป่าช้ากับที่อยู่มันไกลเกินไป ให้เอาซากศพนั้นมาไว้ใกล้ๆ ที่อยู่ แล้วอย่าเอามือจับนะ ให้เอาไม้คีบ ให้เอาสิ่งใดคีบมา เพราะอะไร เพราะถ้าไปทำความคุ้นเคยว่า โอ๋ย! พอจับมับ โอ๋ย! มันก็แค่เนื้อเละๆ ตั้งแต่นั้นอสุภะไม่เกิด มันเกิดยาก

ความคุ้นเคย ความชินชาหน้าด้าน ธรรมะนี่กลัวมาก ไปที่ไหนอย่าให้คุ้นเคย อย่าไปคุ้นเคย เพราะเราคุ้นเคยกับกิเลสเราไง เราว่าไม่เป็นไรๆ จะนอนก็ไม่เป็นไร จะกินก็ไม่เป็นไร จะตีลังกาก็ไม่เป็นไรๆ ไม่เป็นไรจนกิเลสหนาไง แต่ครูบาอาจารย์เราไม่ได้ ไม่ได้ ต้องมีสติ ต้องรับรู้ตลอด อย่าให้พวกนี้เข้ามาใกล้ ถ้าเข้ามาใกล้

ฉะนั้น เวลาคีบมา คีบมา ให้หลับตา คีบมาแล้วให้เพ่งดู คำว่า “เพ่งดู” หลับตาแล้วเห็นมันจะเกิดสมาธิ ถ้าไม่มีสมาธิ มันไม่เห็นภาพหรอก ถ้ามีสมาธิขึ้นมา เห็นภาพ เว้นไว้แต่ เว้นไว้แต่ผู้ที่ไม่มีอำนาจวาสนาพิจารณากาย ก็ไปพิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม คนที่พิจารณากายไม่ได้ก็มี คนพิจารณากายได้ก็มี คนพิจารณากายโดยไม่เห็นกายก็มี คนพิจารณาเวทนาก็มี คนเรามันไม่เหมือนกัน จริตนิสัยคนไม่เหมือนกัน

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า “เวลาพิจารณาเห็นกระดูกโดยไม่ต้องหลับตา เห็นเพียงลางๆ เท่านั้น แต่สามารถย่อขยายได้”

ถ้าย่อขยาย ย่อขยายมันก็เป็นกล้องจุลทรรศน์ไง เวลาเขาย่อขยาย เขาขยายเพาะเชื้อ นี่เป็นทางวิทยาศาสตร์ไง แต่ถ้าเป็นของเรา เราย่อขยายของเรา ขยายเพื่ออะไร ขยายเพื่อให้มันเน่าให้มันเปื่อย ให้มันเป็นไป ขยายไปเพื่อให้มันทำลายตัวมันเองให้มันเป็นไตรลักษณ์

“เมื่อกำหนดให้กระดูกเป็นภาพอย่างไรก็ได้ตามใจ”

ถ้าอย่างไรก็ได้ อย่างไรก็ได้มันก็เป็นสัญญาก็ได้ เป็นจินตนาการสร้างภาพขึ้นมาอย่างนั้นก็ได้ แต่ถ้ามันเป็นความจริงนะ มันเป็นความจริง มันสะเทือนหัวใจ

สะเทือนหัวใจ หมายความว่า ถ้าเราไปหาหมอ หมอบอกเราเป็นมะเร็ง พรุ่งนี้ตาย นั่นล่ะมันสะเทือนใจ ถ้าเราบอกว่าชีวิตนี้เราอยู่อีก ๑๐๐ ปี อู๋ย! เราประมาทชีวิตตลอดเลย เขาบอกพรุ่งนี้มึงตายแล้ว โอ๋ย! พรุ่งนี้ตายนะ ช็อกเลยนะ กลับบ้านต้องรีบเอาทะเบียนมาโอนทรัพย์สมบัติใหญ่เลย แล้วก็นั่งร้องไห้น้ำตาไหลเลยนะ เซ็นให้คนนู้น เซ็นให้คนนี้ เพราะพรุ่งนี้จะตายไง

นี่ก็เหมือนกัน พอจิตมันเห็น เห็นโดยจิตเห็นอย่างนั้น เห็นแบบพรุ่งนี้มันจะตาย มันสะเทือนใจ แต่ถ้าอนุมานเอา เห็นโดยสัญญา อีก ๑๐๐ ปีตาย มันไม่ใช่เซ็นให้เขา มันจะเอาของเขาด้วย มันจะโกงเขาอีก อีกตั้ง ๑๐๐ ปีจะตาย เราจะโกงสมบัติเขาหมดเลย โกงธรรมะไง ไม่เป็นความจริง

ถ้าเป็นความจริงนะ ทำความสงบของใจให้มากกว่านี้ ถ้าคำว่า “เบลอๆ” ทีนี้สิ่งที่เห็น ที่มันเฉยๆ อาการมันร้อยแปด เราจะบอกว่า คนถามนี่จิตมันแถ มันไปข้างทางเยอะมาก

ฉะนั้น ข้อที่ ๓ ที่ว่าเฉยๆ อันนี้ก็อาการอย่างหนึ่ง พอมาข้อที่ ๔ อาการเห็นกระดูก มันข้างๆ คูๆ ไปทุกเรื่องเลย มันไม่มีอะไรเป็นความจริงเลย

“๕. ในฝัน ผมสามารถรู้ตัวเองกำลังฝันอยู่และอยากจะตื่น ผมกำหนดดูที่ลมหายใจเข้าออกก็ตื่นขึ้นมาได้เอง อยากทราบว่าในขณะนั้นเป็นนิมิตหรือเปล่า ขณะที่ฝันเป็นนิมิตหรือเปล่า”

เป็น ถ้าในฝันนะ ในฝันมันเป็นนิมิตอยู่แล้ว ถ้าเราฝัน เรารู้ของเรา มันเป็นนิมิตของเรา แต่สติของคน ถ้าจิต จิตนะ จิตคึกจิตคะนองมันมีวิธีแก้อันหนึ่ง เวลาจิตคึกจิตคะนองทำอะไรไปแล้วมันจะมหัศจรรย์ มันจะรู้อะไรที่พิสดารๆ มากกว่าคนทั่วไป นั่นคือจิตพิสดาร จิตพิสดาร หมายถึงว่า พันธุกรรมของมันได้สร้างมาอย่างนั้น พันธุกรรมของจิตดวงนี้ไม่เหมือนกับพันธุกรรมของจิตทั่วๆ ไป จิตทั่วๆ ไปโดยพื้นฐานมันก็เป็นพื้นๆ แล้วแก้กันไปตามนั้น จิตพิสดารเขาแก้กันอีกอย่างหนึ่ง มันต้องมีครูบาอาจารย์ แบบว่าควาญช้างประจำช้างมันต้องมี ถ้าควาญช้างไม่ประจำช้างมันจะเป็นช้างป่า แล้วเดี๋ยวมันตกมันแล้วมันจะแทงคนอื่นตายหมดเลย นี่พูดถึงจริตนิสัย

“๖. ในแต่ละวันมีช่วงที่จิตตกอยู่พักหนึ่ง ผมพยายามแก้ไขด้วยการกำหนดลมหายใจ แต่ไม่ได้ผล ควรแก้อย่างไร”

“ในช่วงแต่ละวันที่จิตตกพักหนึ่ง ผมพยายามแก้ไขด้วยการดูลมหายใจ แต่มันไม่ได้ผล”

มันไม่ได้ผลเพราะมันจะไปตามอารมณ์ของมัน ถ้าจิตมันตกนะ กลับมาทำดูลมหายใจนี่ถูก กลับมาดูลมหายใจ กลับมาที่พุทโธชัดๆ ถ้าจิตมันจะตก ตกเพราะอะไร ตกเพราะมันเสวยอารมณ์ มันเสวยอารมณ์อย่างนั้น แล้วมันไม่พอใจอย่างนั้น มันก็เป็นอย่างนั้นไป ถ้าเรากำหนดลมหายใจ เราพยายามปฏิเสธอารมณ์นั้น เราปฏิเสธสิ่งที่เห็นนั้น กลับมาเกาะที่พุทธานุสติ อานาปานสติ กลับมาเกาะที่นี่ กลับมาเกาะ มาเพิ่มกำลัง ถ้าจิตมันเป็นอย่างไร กลับมาเกาะที่นี่ มันไม่ได้ผล มันไม่ได้ผลเพราะกิเลสมันมีกำลังมากกว่า นี่ถ้ามันไม่ได้ผล

เวลาผู้ปฏิบัตินะ เวลาครูบาอาจารย์ ถ้าไม่ได้ผล อดอาหาร เต็มที่กับมัน สู้กับมันเต็มที่เลย สู้กับมันนะ ถ้าสู้ได้มันก็ฟื้นขึ้นมาได้ ถ้าสู้ไม่ได้มันก็ลากไป ถ้าลากไป จิตก็เสื่อมไปเรื่อยๆ เวลาจิตเสื่อม เวลาแก้จิตเสื่อม แก้ต่างๆ มันมีของมัน นี่พูดถึงผู้ที่ปฏิบัตินะ เราต้องปฏิบัติตามความเป็นจริงของเรา เวลาจิตตกในแต่ละวันแต่ละช่วงมันก็แปลก มันก็มีเจริญแล้วเสื่อม เจริญแล้วเสื่อม มันแปลกอยู่

เราจะบอกว่า ผู้ที่ปฏิบัติ วันนี้เราตอบเต็มที่ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะว่าเขาบอกว่าอ่านจากตำราแล้วลงมือปฏิบัติ ถ้าอ่านจากตำรา มันเป็นความเห็นของเรา แล้วคำว่า “ตำรา” ตำราของใคร ตำราที่เขียนถูกนะ ดูสิ แม้แต่ประวัติหลวงปู่มั่น หลวงตาท่านบอกว่า เวลาท่านเขียนมามีแต่ครูบาอาจารย์อ่าน ไม่รู้เขียนไม่ได้ ไม่รู้ถามไม่ได้ แม้แต่ถามปัญหายังถามไม่ได้ โดยทั่วไปถ้าพูดถึงคนที่สติปัญญาที่ไม่มีวุฒิภาวะของใจ เวลาเขียนมันเขียนเป็นเรื่องโลกๆ แล้วเขียนโลกๆ ไปแล้วมันก็เป็นเรื่องจินตนาการ มันเป็นตำราอย่างนั้น ทีนี้พอเวลาปฏิบัติไปมันเกิดแล้ว เกิดอาการตั้งแต่ ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ทีนี้ ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ปั๊บ เราก็อ้างว่าเราได้ดูตำราแล้ว

ตำราก็คือตำรา ตำราใครเขียนล่ะ แต่นี้เวลาปฏิบัติไปแล้ว สิ่งที่ใครเขียนก็แล้วแต่ เราได้อ่านมาเพื่อศรัทธา เพื่อเจริญศรัทธา เพื่อมั่นคงในศาสนา แต่เวลาปฏิบัติไปแล้ว ถ้ามันปฏิบัติได้จริงนะ ผู้ถาม ถ้าปฏิบัติได้จริงนะ จะกลับไปเช็คตำราเลย เออ! ตำรากับความเป็นจริงในใจเราไม่เหมือนกัน เอ๊ะ! เราปฏิบัติแล้วทำไมมันดีกว่าตำราอีก ตำราทำไมชี้ผิดอีก มันจะเช็คได้เลย พอมันเช็คได้ หลวงตาท่านบอกว่า แม้แต่แผนที่ก็ยังผิด แล้วคนที่เดินทางอาศัยแผนที่นั้นจะถูกได้อย่างไร แม้แต่แผนที่มันยังผิด

ฉะนั้น เวลาคนปฏิบัติเขาจะรู้ของเขา ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก อริยสัจมีอันเดียว ถ้าปฏิบัติถูกต้องมันจะถูกต้อง แต่ถ้าแผนที่ที่ผิด ฉะนั้น คำว่า “ตำราๆ” ตำราอะไร ถ้าตำรามันก็ต้อง โอ๋ย! ครูบาอาจารย์นะ แต่ละองค์เขียนออกไปจินตนาการทั้งนั้น ถ้ามันไม่จินตนาการ ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมา แบบว่า ธรรมะจะรู้ได้ต่อเมื่อสนทนาธรรม ศีลจะรู้ได้ต่อเมื่อเราอยู่ด้วยกันนานๆ จะรู้เลยว่าใครมีศีลจริงไม่มีจริง

ธรรมะเวลาอ้าปากพูด มีกึ๋นไม่มีกึ๋น ไม่มีกึ๋นมันพูดมันขัดแย้งในตัวมันเอง เวลาพูดมันขัดแย้งกันไปหมดเลย “เมื่อกี้หลวงพ่อพูดอย่าง ตอนนี้หลวงพ่อพูดอย่าง หลวงพ่อพูดให้ชัดๆ ซิ หลวงพ่องงๆ แล้ว”

ตอบไปตอบมา เดี๋ยวกูก็ตอบไม่ถูกเหมือนกัน

นี่ไง ธรรมะจะรู้ได้ต่อเมื่อสนทนาธรรม แล้วยิ่งพูดมากๆ ยิ่งตายเร็ว ยิ่งพูดมากๆ หลักฐานยิ่งมาก ยิ่งพูดมากๆ นั่นล่ะปมอันนั้นจะมาเชือดคอ พูดไปพูดมา พูดไปไม่ถูก นี่พูดถึงถ้ามีธรรมนะ

นี่เขาบอกว่าอ่านจากตำรา อ่านจากตำรา เราจะเห็นว่าถ้าทางวิทยาศาสตร์ ทฤษฎีสำคัญมาก แต่ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์เขาต้องตรวจสอบ ทางวิชาการทางการแพทย์ทดลองแล้วยังต้องได้รับการรับรองจากสภาการแพทย์ จาก อย. จากทุกอย่าง แล้วถึงจะออกทางวิชาการได้

นี่เหมือนกัน แล้วนี่เขียนมา ใครรับผิดชอบ ใครรับผิดชอบอะไรบ้าง ไม่มีใครรับผิดชอบอะไรเลย ฉันรู้เองเห็นเองเป็นอย่างนี้ แล้วไปเชื่อมามันก็ใช้ไม่ได้นะ แต่มันใช้ไม่ได้ เราปฏิบัติแล้ว ไอ้การปฏิบัตินี้มันจะเป็นของเรา ตอบเต็มที่เลย แล้วก็จะเอวัง