นักหลบ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : ข้อ ๑๓๓๓. เรื่อง การปล่อยวาง
โยมข้อมืออักเสบ เคลื่อนไหวแล้วมีเวทนา จึงคิดได้ว่ามีมือเหมือนไม่มี แล้วจึงไม่สนใจ และไม่ใช้มือข้างนั้น ถ้านำมาใช้กับจิตได้หรือไม่ เป็นมีจิตเหมือนไม่มี จะทำให้ปล่อยวางหรือทิ้งจิตได้หรือไม่
ตอบ : ตอนนี้เราปฏิบัติ ในเชิงการปฏิบัติ เพราะเราคิดอย่างนี้ การปฏิบัติ เขาถามคำถามว่าการปล่อยวาง ถ้าการปล่อยวาง เขาเคยข้อมืออักเสบ แล้วมันมีเวทนา แล้วเขาใช้ความคิดคิดว่าเหมือนมันไม่มี พอเหมือนมันไม่มี มันปล่อยวางได้ ฉะนั้น การปล่อยวางได้อย่างนั้น สิ่งนี้เอามาใช้กับจิตได้หรือไม่ ใช้กับจิตว่าจิตเหมือนไม่มี จิตนี้เหมือนไม่มี มันจะปล่อยวางได้หรือไม่
เวลาการปฏิบัตินะ มันสำคัญที่เรามีครูบาอาจารย์หรือไม่ ถ้ามีครูบาอาจารย์หรือไม่ ครูบาอาจารย์ที่ท่านมีประสบการณ์มา ท่านจะรู้ว่าเล่ห์เหลี่ยมของกิเลส เล่ห์เหลี่ยมมันมากมายขนาดไหน ถ้าเล่ห์เหลี่ยมมากมายขนาดไหน ในการปฏิบัติถ้าจะรู้เล่ห์เหลี่ยมของกิเลส ถ้าเล่ห์เหลี่ยมของกิเลสมันหลอก หลอกเด็กๆ หลอกเล็กๆ น้อยๆ มันหลอกอย่างนี้ เราก็ชนะมันได้ แต่ถ้ามันเข้มแข็งขึ้นมา จิตใจนี้จะเป็นอิสระจากมัน เทคนิคการหลอกมันจะหลอกมากกว่านี้
ถ้ามันหลอกมากกว่านี้จนเราเชื่อมัน จนเราหาตัวมันไม่เจอ เราก็คิดว่าเราสามารถชำระกิเลสได้ เวลานักปฏิบัติส่วนใหญ่เขาคิดกันแบบนี้ พอคิดแบบนี้ พอทำไปแล้วมันก็มั่นใจตัวเอง พอมั่นใจตัวเอง คิดว่าตัวเองมีคุณธรรม พอเวลาปฏิบัติไปๆ หรือปฏิบัติไปข้างหน้า มันเสื่อมหมด พอมันเสื่อมหมดนะ มันท้อแท้ มันน้อยเนื้อต่ำใจ มันคิดของมันไป เอ๊! ปฏิบัติแล้วทำไมเป็นแบบนี้ สุดท้ายสรุป มรรคผลไม่มี ถ้ามรรคผลมี เราต้องได้สิ มรรคผลมี เราทำมาแล้วมันต้องประสบความสำเร็จสิ นี้ทำมาแล้วทำไมมรรคผลมันเป็นแบบนี้ แสดงว่ามรรคผลไม่มี นี่พูดถึงเวลาปฏิบัติไปโดยที่ไม่มีครูบาอาจารย์คอยเป็นหลักชัยนะ
แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์เป็นหลักชัย อย่างเช่นหลวงปู่มั่น ท่านจะสอนมาเป็นชั้นเป็นตอน เป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา เป็นชั้นเป็นตอนเพราะอะไร มันเหมือนหมอเลย เวลาหมอนะ ดูสิ ทางสาธารณสุข อสม. เขาจะไปตามหมู่บ้านนะ เขาจะไปหาตามชุมชนของเขา เขาจะไปดูแลของเขา ความเป็นอยู่ของเขา ความเป็นอยู่ของเขาเพราะอะไร เพราะว่านั่นแหละโรคภัยไข้เจ็บมันเกิดจากตรงนั้น ถ้าโรคภัยไข้เจ็บเกิดจากตรงนั้นนะ เขาจะเริ่มแบบว่า ต้องกินอยู่อย่างใด ต้องออกกำลังกายอย่างใด ต้องทำตัวอย่างใดเพื่อจะไม่ให้มันเจ็บไข้ได้ป่วย
ครูบาอาจารย์ที่ท่านผ่านมา ท่านก็คิดของท่านอย่างนั้น ท่านก็เห็นของท่านอย่างนั้น เพราะท่านมีอุปสรรคของท่านมา ท่านถึงได้วางข้อวัตรไว้ ท่านถึงให้ทุกคนให้มีสติไว้ ให้ทุกคนมีพื้นฐานที่ดี ถ้ามีพื้นฐานที่ดีในการปฏิบัติไป มันปฏิบัติไปข้างหน้า มันมีอุปสรรคสิ่งใดๆ เรามีพื้นฐานของเรา มันจะแก้ไขกิเลสของเราได้เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป แต่ในปัจจุบันนี้ปัญญาชนๆ ทุกคนก็อยากประพฤติปฏิบัติ ทุกคนอยากปฏิบัติธรรม
การปล่อยวางไง ในเมื่อข้อมือมันอักเสบ มันเป็นเวทนาขึ้นมา เราก็คิดว่าเหมือนมันไม่มี มันก็ปล่อยวางได้ พอมันปล่อยวางได้ เราก็มาเทียบใช้กับจิตเลย จิตเรา เราจะคิดอย่างนี้ได้ไหม คิดว่ามันไม่มี มันไม่มีมันก็ปล่อยวางได้
กรณีอย่างนี้จะบอกว่ามันผิด มันก็เป็นแบบว่า อสม. เวลาเขาไปหาประชาชนตามบ้าน มันก็แค่ความเป็นอยู่ เขาให้ดูความสะอาด สุขลักษณะในบ้าน เขาให้ดูน้ำอย่าให้มันขังนะ เดี๋ยวยุงลายมันไข่ เดี๋ยวยุงลายมันจะเกิดโรคไข้เลือดออก มันพื้นฐานทั้งนั้นน่ะ แต่เราเห็นว่ามันไม่จำเป็น แต่เวลาเกิดไข้เลือดออกแล้วส่งโรงพยาบาลไปรักษากันที่ปลายทางนั่น
นี่ก็เหมือนกัน ปล่อยวางได้ไหม ปล่อยวางได้ไหม จะเอาปลายทางเลยไง จะเอาปลายทางเลยนะ โรคไข้เลือดออกต้องไม่มี ไข้เลือดออก พวกเราไม่มีไข้เลือดออกเพราะพวกเราแข็งแรง แต่มันปฏิเสธยุงลายไม่ได้ มันปฏิเสธน้ำไม่ได้ ถ้ามีน้ำนิ่ง ยุงลายมันไข่ ถ้ายุงลายมันไข่ เดี๋ยวมันก็ฟักตัว พอฟักตัวขึ้นมา ถ้ามันกัดคนป่วย เดี๋ยวมันก็มากัดเรา ถ้ามันกัดเรานะ เราจะบอกว่า ในการภาวนามันต้องมีสติ มีสมาธิ แล้วก็มีปัญญา แล้วถ้ามีปัญญา ปัญญาที่เราใช้กันมันใช้ได้ไง
ถ้าบอกว่า เริ่มต้นการฝึกหัดของเรา ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เราก็ตรึกในธรรมๆ พอตรึกในธรรมนะ สมองมันจะคิดได้ปราดเปรื่องมาก มันจะเห็นตามความเท่าทันของความรู้สึกนึกคิด มันรู้มันเห็นไปหมดเลย แล้วมันก็จะมีความสุข แล้วมันก็จะตื่นเต้น อู้ฮู! พระพุทธเจ้าสอนไว้อย่างนี้เอง พระพุทธเจ้าสอนไว้อย่างนี้เอง ทั้งๆ ที่นั่นยังไม่ได้วิปัสสนาเลยนะน่ะ ยังไม่ได้ภาวนาอะไรกันเลยน่ะ แต่เวลาความคิดมันเกิดขึ้น ปัญญามันเกิดขึ้น เกิดขึ้นเพราะอะไร เกิดขึ้นเพราะมันมีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราศึกษา เราสัญญา เราจำมา แล้วเราใคร่ครวญของเราไปเอง
ขณะจิตนี้มันใคร่ครวญธรรมะเหมือนกินยา กินยาเข้าไป โรคภัยไข้เจ็บมันก็หาย แต่เชื้อโรคมันหายไหม ถ้ามันเป็นโรค ต้องผ่าตัด ต้องบายพาสต่างๆ มันหายไหม มันไม่หายหรอกถ้ามันยังไม่ได้ผ่าตัด ไม่ได้ทำความพิการนั้นให้มันหายไป
นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่า ข้อมือ เวลาข้อมือ เราคิด ข้อมืออักเสบมันมีเวทนาขึ้นมา แล้วก็คิดว่าเหมือนมันไม่มี มันปล่อยวางได้
การปล่อยวางได้มันเป็นพื้นฐาน จะบอกว่าผิดเลยมันก็ไม่ใช่ ปัญญาอบรมสมาธิ เราก็ตรึกในธรรมทั้งนั้นน่ะ แต่เวลาถ้าจิตมันสงบแล้วมันไปรู้ไปเห็นของมันนะ ไปรู้ไปเห็นของมัน เช่น เวทนา ความเป็นเวทนา มันมีลูกเวทนา หลานเวทนา มีหลานเวทนา มีลูกเวทนา มีพ่อเวทนา มีปู่เวทนา
หลวงตาท่านพูดอย่างนี้ เวลาท่านนั่งตลอดรุ่งนะ ๒-๓ ชั่วโมงไป หลานมันมาแล้ว ความปวดมาแล้ว ความปวดมา ถ้ามีปัญญามันจับติด จับติดคือจับเวทนาได้ พิจารณาได้ มันจะปล่อยของมัน พอปล่อย มันก็ว่าง พอมันว่างขึ้นมา ๔-๕ ชั่วโมงนะ ลูกเวทนามันมาแล้ว ลูกเวทนามันมา ถ้าสติปัญญาสู้มันๆ ถ้าสติปัญญามันทันนะ ถ้าสติปัญญาทันมันก็ปล่อย พอมันปล่อยขึ้นไป พอ ๖-๗ ชั่วโมงนะ พ่อเวทนามันมาแล้ว ถ้าพ่อเวทนามันมานะ เดี๋ยวมันหนักขึ้นไปกว่านี้ เดี๋ยวถ้าปู่เวทนามันมานะ ปู่เวทนาเพราะอะไร เพราะเวทนา เวลาปฏิบัติเข้าไปเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป แบบว่ากิเลสมันจะเอาสิ่งที่มาต่อรองกับเรา มันก็คิดว่ามันมีคุณภาพแล้ว แต่ถ้าสติ สมาธิเราดีกว่า ปัญญาเราดีกว่า เราพิจารณามันปล่อยวางได้ มันก็ต้องหาสิ่งที่หนักแน่นกว่า มันก็เอากิเลสที่มีคุณภาพมากกว่ามาต่อรองกับเรา มันเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไปอย่างนั้นน่ะ
ท่านบอกว่าท่านต่อสู้กับเวทนา ถ้าวันไหนนะ พิจารณาเวทนามันปล่อย มันปล่อยนะ จับติด พิจารณาปล่อยนะ วันนั้นเช้าขึ้นมา ลุกไป จะลุกขึ้นจากภาวนา ร่างกายสดชื่นมากเหมือนกับไม่ได้นั่งภาวนาเลย มันเบาไปหมด
แต่ถ้าวันไหนนะ เวลาเวทนามันมา กำลังเราอ่อนกว่ามัน คืนนั้นสู้กัน สู้กันเต็มที่เลย กำลังเราอ่อนกว่า เราประมาท เราขาดสติ สติเราไม่สมบูรณ์ ต้องสู้กันเต็มที่เลย แล้วสู้กันเต็มที่เพราะอะไร เพราะมีสัจจะว่าเราจะไม่ถอยมัน พอสัจจะไม่ถอยมัน เวลาพิจารณาไปแล้ว ถึงที่สุดแล้วมันปล่อยได้ มันวางได้ เพราะอะไร เพราะเรามีขันติธรรม เรามีความอดทน แต่ร่างกายมันบอบช้ำมาก บอบช้ำมาก ท่านบอกวันไหนถ้าจับแล้วนะ ถ้าเวทนามันแรง ถ้ามันสู้ไม่ได้ วันนั้นแหละบอบช้ำมาก เวลาจะลุกนะ ออกจากภาวนามา ถ้าลุกก็ล้มเลย ท่านบอกต้องนั่งอยู่ก่อนนะ แล้วเอามือจับเท้ายืดออกไปก่อน ให้มันยืดออกไปก่อน วางไว้ให้เลือดลมมันเดินให้ดีก่อน พอเดินให้ดีแล้วถึงจะลุกได้ ถ้าไม่อย่างนั้นล้มเลย
ในการภาวนา ในการภาวนาแต่ละคราวมันก็ไม่เหมือนกัน ฉะนั้น เวลามันจับเวทนา จับเวทนาได้ พิจารณา มันพิจารณาความเป็นจริง แต่นี้เราบอกว่า เราจึงคิดว่าเหมือนมันไม่มี
ถ้าเหมือนมันไม่มี มันเป็นการปฏิเสธ มันเป็นการหลบ ถ้าเป็นนักหลบ นักหลบมันเป็นวิธีการอันหนึ่งในการที่เราจะให้จิตใจเราได้หลบหลีก ถ้าจิตใจเราเจออุปสรรคที่เข้มแข็ง เราเจอเวทนา เจอความไม่พอใจ เจอกิเลสแรงๆ เราสู้ไม่ได้หรอก ถ้าเราสู้ไม่ได้ เราจะฝืนสู้ไปนะ เหมือนเด็กสู้กับผู้ใหญ่ เด็กสู้ผู้ใหญ่ไม่ไหวหรอก เด็กอย่างไร ผู้ใหญ่ก็รู้ทันว่าเด็กคิดอย่างไร เด็กจะใช้ปัญญา จะใช้กำลัง จะใช้อะไรก็สู้ผู้ใหญ่ไม่ได้หรอก
ฉะนั้น ธรรมะของเรา สติ สมาธิ ปัญญาของเรา เราเพิ่งฝึกหัด พอเราเพิ่งฝึกหัดขึ้นมา เราจะสู้กับกิเลส เราสู้ไม่ได้หรอก แต่ทีนี้บอกว่า เราคิดว่าเหมือนมันไม่มี ทำไมมันไม่มีล่ะ
นั่นล่ะกิเลสมันบังเงา มันใช้วิธีการบอกอย่างนี้มันปล่อยได้ พอปล่อยได้ เหมือนเด็ก เด็กมันบอกว่ามันไม่ต้องทำอะไรเลยได้ไหม มันไม่รับผิดชอบอะไรเลยได้ไหม
ถ้าบอกว่าได้ มันก็ไม่รับผิดชอบอะไรเลย แล้วเด็กคนนั้นโตขึ้นมาก็โตขึ้นมาเป็นคนที่ไม่มีการศึกษา โตขึ้นมาด้วยความที่ไม่มีวุฒิภาวะ โตขึ้นมาเป็นภาระสังคม โตขึ้นมาโดยไม่มีประโยชน์อะไรเลย อย่างนี้เป็นประโยชน์ไหม
นี่ก็เหมือนกัน บอกว่า ถ้าเราคิดว่าเหมือนมันไม่มี เราทิ้งไปเลย เราไม่เคยฝึกหัด ไม่มีสติไม่มีปัญญา เราจะโตขึ้นมาโดยเป็นคนที่ไม่มีคุณภาพ มันเป็นไปได้ไหม การฝึกหัดปฏิบัติ ถ้าจิตเราโตขึ้นมาโดยการที่ไม่มีคุณภาพ เราโตขึ้นมาด้วยส้มหล่นอย่างนี้ มันจะเป็นประโยชน์ไปได้ไหม
นักหลบ เห็นไหม มันเป็นวิธีการอันหนึ่ง เวลาเราปฏิบัติเริ่มต้น ถ้ากำลังยังไม่พอ หลบได้ หลบได้หลีกได้เพื่อจะกลับไปให้มันกำหนดพุทโธ กลับไปปัญญาอบรมสมาธิให้มันมีกำลัง ให้จิตมันมีกำลัง ให้เป็นสมาธิที่มั่นคง แล้วเรากลับมาจับพิจารณาต่อไป
ถ้าจับพิจารณาต่อไป มันต้องจับพิจารณาต่อไป ต้องมีไง ถ้าบอกว่ามันไม่มี มันไม่มี ก็นี่บอกมันไม่มี ถึงบอกว่า ธรรมะมันมีอยู่แล้ว ทุกอย่างมีอยู่แล้ว อย่างนี้คือว่ามันไม่มีที่มาที่ไป ถ้ามันไม่มีที่มาที่ไป ปฏิบัติไปแล้ว ปฏิบัติไปเป็นพิธี ปฏิบัติไปพอว่าปฏิบัติ ปฏิบัติไปให้กิเลสมันหลอก
แต่ถ้ามันเป็นจริงนะ กรณีที่บอกว่า คิดว่าเหมือนมันไม่มี แล้วมือข้างนี้มันก็ว่างไปหมด อันนั้นมันเป็นครั้งเป็นคราวที่มันจะทำได้ แต่ถ้ามันอักเสบ มันเจ็บมากกว่านี้ ข้อมือนะ มันปล่อยวางอย่างไรก็ไม่ได้หรอก เพราะมันปล่อยวางโดยการที่ไม่รับรู้ ปล่อยวางด้วยการปฏิเสธ มันไม่มีผลตามความเป็นจริง
แต่ถ้ามีผลตามความเป็นจริงนะ จิต ทำไมมันถึงเวทนา ทำไมมันถึงปวด ถ้าปวดมากนะ เราหลบมันก่อน เรามาพุทโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ใช้ปัญญาใคร่ครวญว่า มันก็เป็นอย่างนี้เอง เพราะมันอักเสบ พอมันอักเสบ มันก็มีความปวดเป็นธรรมดา ถ้ามีความปวดเป็นธรรมดา เราคิดพิจารณาเลยนะ กระดูกข้อมือมันปวดได้ไหม เส้นเอ็นมันปวดได้ไหม เนื้อมันปวดได้ไหม เลือดมันปวดได้ไหม มันปวดไม่ได้ เพราะสิ่งนี้มันเป็นธาตุ มันปวดไม่ได้ แล้วอะไรไปปวดล่ะ เพราะจิตเราไปรับรู้ว่ามันปวด ถ้าใช้ปัญญาอย่างนี้ปั๊บ มันก็ปล่อยเหมือนกัน
ถ้ามันปล่อยเข้ามา มันปล่อยเข้ามา ถ้าจิตสงบแล้ว ถ้าจิตสงบแล้วมันจับเวทนาได้ มันก็สู้ของมันได้ นี้การพิจารณาเวทนา แต่เวลาการที่ว่าปฏิเสธโดยความไม่มี มันก็เป็นไปได้ พอเป็นไปได้ปั๊บ จะมาปฏิเสธว่าจิตไม่มี เพราะปฏิเสธว่าจิตไม่มีนี่ไง
ถ้าเรานำมาใช้กับจิตได้ไหม หรือเป็นที่ว่าจิตเหมือนไม่มี ถ้าทำอย่างนี้ปล่อยวางหรือทิ้งจิตได้หรือไม่
แล้วมันจะทิ้งได้หรือไม่ เราไม่เห็นตัวตนของเรา เราจะทิ้งอะไรของเราได้ ถ้ามันทิ้งได้นะ มันก็เป็นมิจฉา สิ่งที่ปฏิบัติเป็นมิจฉา จะบอกว่าเป็นมิจฉา เริ่มต้นปฏิบัตินะ ถ้าเริ่มต้นพื้นฐาน สิ่งนี้มันเป็นการหลบหลีก หลบหลีกเพื่อเราจะมาฟื้นฟูตัวเรา
ในคนเริ่มปฏิบัติใหม่ คนปฏิบัติใหม่นะ ถ้ามันเผชิญกับสิ่งที่กิเลสรุนแรง เราจะสู้ไม่ได้ เราก็หลบหลีกไว้ก่อน หลบหลีก อย่างเช่นเราพุทโธๆ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราก็หลบหลีกมา หลบหลีกมาให้จิตใจมันเข้มแข็ง ให้จิตใจเป็นเอกเทศ ให้จิตใจเอกัคคตารมณ์ จิตตั้งมั่น พอจิตตั้งมั่น เราจะเข้าไปขุดคุ้ยหากิเลส แล้วเราจะต่อสู้กับกิเลสเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป
พระกรรมฐาน ในการประพฤติปฏิบัติมันมีสมถะ มันมีวิปัสสนา สมถะคือความสงบของใจ ทำใจให้สงบ แล้วพอใจสงบแล้วมันก็มีใจ เพราะอะไร ถ้าการทำภาวนาก็เหมือนกัน ถ้าบอกว่า ไม่มีสิ่งใดเลย ไม่ต้องพุทโธ มันมีอยู่แล้ว ไม่ต้องกำหนดพุทโธ ไม่ต้องตั้งสติ ไม่ต้องทำอะไรเลย สมาธิมันมีอยู่แล้ว
มันก็บอกในเมื่อเราเกิดมาเป็นคนใช่ไหม เราก็มีกายกับใจใช่ไหม ในเมื่อใจเราก็มีอยู่แล้ว ใจเรามีอยู่แล้ว ใจมีอยู่แล้ว แต่มันเป็นใจเรื่องปุถุชน มันเป็นใจเรื่องโลก เพราะใจเรื่องโลก ใจมันก็เหมือนทางการแพทย์ ทางการแพทย์ผ่าตัดหัวใจๆ ผ่าตัดหัวใจๆ มันเป็นหัวใจ แต่เวลาภาวนา มันเป็นจิตใจ ถ้าจิตใจเป็นนามธรรม
ทีนี้มันมีอยู่แล้วๆ เวลาเขาผ่าตัดเข้าไปเขายังไปทำบายพาส เขาเปลี่ยนหัวใจ เขาทำของเขา เขายังทำได้ แต่เวลาจิตใจ จิตใจที่เราจะไปรื้อไปค้น สมถะ จิตใจของเรา เราหาจิตใจเราไม่เจอ ถ้าเราหาจิตใจเราไม่เจอ มันจะทิ้งได้ไหม? มันทิ้งไม่ได้หรอก แล้วเป็นสมาธิมันก็ไม่เป็นสมาธิด้วย เป็นมิจฉา มิจฉาสมาธิ คือบอกว่าว่างๆ เราบอกว่าว่างๆ จิตใจมันบอกว่าว่างๆ เพราะมันไม่มีสิ่งใดเป็นข้อมูล ไม่มีสิ่งใดเป็นชิ้นเป็นอัน มันก็บอกว่างๆ ว่างๆ
แต่ถ้ามันเป็นสมาธินะ เราเองเป็นคนว่าง ตัวตนนี่ว่างหมดเลย แต่มีเรา มีหมด นี่มันทิ้งไหม สัมมาสมาธิมันมีจิต มีเอกัคคตารมณ์ จิตตั้งมั่น แต่ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิ ตกภวังค์ไป หายไปเลย เหมือนนอนหลับ พอสะดุ้งตื่น โอ้โฮ! นี่ไง นั่งสมาธิมาครึ่งวันแล้ว โอ้โฮ! สุดยอดเลย สุดยอดเลย แต่เพลียมาก สุดยอดเลย แต่ไม่ชุ่มชื่น สุดยอดเลย แต่ไม่รู้อะไรเลย
แต่ถ้ามันเข้าอัปปนาสมาธินะ เป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ มันสักแต่ว่ารู้นะ หายไปหมดเลย แต่รู้อยู่ชัดเจน รู้อยู่มาก พอออกจากสมาธิมา โอ้โฮ! มันชัดเจนมาก นี่คือสัมมาสมาธิ นี่ไง ที่ว่ามันมีของมันไง สมาธิก็มีสมาธิ ถ้าเกิดปัญญาขึ้นมาเป็นภาวนามยปัญญา มันจะมีของมัน
แต่นี่บอกว่า ถ้าเราทิ้งเลย เราจะเอาสิ่งที่ว่าเหมือนมันไม่มีมาใช้กับจิตได้ไหม
ถ้ามันใช้กับจิต ถ้าจะเป็นลัทธิการสอนของใครก็แล้วแต่ เขาก็จะสอนอย่างนี้ก็ได้ ทำสิ่งนี้ไป แล้วพอเราไป พอมันปฏิเสธหมด มันไม่รับรู้สิ่งใดเลย มันเหมือนว่ามี แต่ไม่มี แล้วไม่ได้อะไรเลย ไม่มีสิ่งใดเลย
ถ้าไม่มีสิ่งใดเลย มันจะเป็นไสยศาสตร์ไปหมดแล้วล่ะ ถ้ามันเป็นไสยศาสตร์ มันถือผีถือสางกันไป อ้อนวอนขอกันไป แล้วก็ว่ากันไป แต่ถ้าเป็นอริยสัจ เป็นอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
ถ้าทุกข์ควรกำหนด รู้จักทุกข์ไหม ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ นิโรธ ความดับทุกข์ทั้งหมด นิโรธดับทุกข์ ดับด้วยอะไร? ดับด้วยมรรค ถ้าดับด้วยมรรค มรรคจะเป็นอย่างไร มันจะชัดเจนไง นี่พูดถึงการปล่อยวางตามความเป็นจริงนะ ถ้าปล่อยวางไม่ตามความเป็นจริงมันก็เป็นความคิดเอา จินตนาการเอาอย่างนี้
ฉะนั้น สิ่งที่ถามมา โยมข้อมืออักเสบ เคลื่อนไหวแล้วมีเวทนา จึงคิดว่ามีมือเหมือนไม่มี แล้วจึงไม่สนใจ และไม่ใช้ข้อมือนั้น ถ้านำมาใช้กับจิตได้หรือไม่ เป็นมีจิตเหมือนไม่มี จะทำให้ปล่อยวางหรือทิ้งจิตได้หรือไม่
นี่พูดถึงว่าถ้าเป็นการปฏิบัติ ถ้ารู้ได้จริงนะ แต่ถ้าเป็นความคิด ถ้ายังไม่ปฏิบัติ เราอธิบายอย่างนี้ว่าเป็นนักหลบ จะบอกว่านักหลบ ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ อย่างเรายก อสม. เลย อสม. เขาจะไปดูชาวบ้าน ไปดูความเป็นอยู่ ไปดู หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเรา เช่น หลวงตา หลวงตาอยู่บ้านตาดก็เหมือนกัน เวลาอยู่กัน พระท่านจะให้ฝึกสติ ท่านจะดูแลรักษาตั้งแต่พื้นฐานเลย เพราะอะไร เพราะมันจะเริ่มต้นจากนั้นเข้ามา
แต่ในปัจจุบันนี้เราไปคิดกันเองไงว่าพื้นฐาน อสม. ไม่ต้อง ทุกอย่างไม่ต้อง โรงพยาบาลมีอยู่แล้ว เราเข้าโรงพยาบาลไปเลย โรงพยาบาลมีแต่ผู้ชำนาญการทั้งนั้น ชำนาญการทั้งนั้น สิ่งที่ชำนาญการทั้งนั้น เขาก็รักษาตามนั้น รักษาตามนั้น นี่พูดถึงโรงพยาบาลเขายังรักษาได้จริงๆ นะ
แต่ถ้าบอกเหมือนไม่มี ใครจะรักษาใคร มันจะเอามาจากไหน มันไม่มีหรอก ทีนี้พอไม่มีปั๊บ เวลาปฏิบัติขึ้นมา ความมีอยู่จริงของกระทรวงสาธารณสุขเขาต้องมีนโยบาย เขาต้องมีงบประมาณ เขาต้องมีบุคลากร เขาต้องมีทุกอย่าง เขาต้องบริหารของเขาขึ้นมา มันถึงรักษาประชาชน รักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วยได้ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในการประพฤติปฏิบัติ มันก็มีพื้นฐานของมันเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา
แต่ในปัจจุบันเราก็จะบอกว่า อย่างนั้นก็หาย อย่างนี้ก็หาย อย่างนั้นก็ดี อย่างนี้ก็ดี แล้วคนเจ็บไข้ได้ป่วยเต็มประเทศเลย
เวลาการปฏิบัติก็ปฏิบัติกันอย่างนี้ จิตเหมือนไม่มี ทิ้งมันไปเลย ทุกอย่างมันไม่มีอยู่แล้ว ทุกอย่างมันเป็นนิพพานอยู่แล้ว แล้วตกลงเป็นอย่างไร ปฏิบัติไปแล้วเป็นอย่างไรกัน
แต่เวลาทำความเป็นจริง สิ่งที่กรรมฐานที่มีความมั่นคงขึ้นมา ก็หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น แล้วท่านทำของท่านมาขนาดไหน แล้วประสบการณ์ของท่านมาขนาดไหน ท่านฝึกของท่านมาเป็นขั้นเป็นตอนมา มันมีลูกศิษย์ลูกหามาเป็นชั้นเป็นตอนมา แล้วทำขึ้นมาเป็นความจริงไง
ฉะนั้น อยู่ที่คำถาม คำถามมาเฉยๆ เพียงแต่ว่าเรามองว่าปัจจุบันนี้สังคมนักปฏิบัติมันมีอย่างนี้กันเยอะมาก คือสะเพร่า มักง่าย จะเอาง่ายๆ ฉะนั้น สังคมมันเป็นอย่างนี้กันอยู่แล้ว แล้วเวลาเขียนมานะ สังคมจะเป็นอย่างนี้ได้ ของเทียมจะมีได้ต้องมีของจริง ไม่มีหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ไม่มีครูบาอาจารย์ทำความเป็นจริงขึ้นมา เมื่อก่อนมรรคผลไม่มีใครเชื่อ แต่เพราะครูบาอาจารย์ของเราท่านทำของท่านตามความเป็นจริงขึ้นมา จนวางหลักวางเกณฑ์กับสังคมได้ มันมีของจริงขึ้นมา มันถึงมีของปลอมขึ้นมาไง เพราะมันมีของจริง ของปลอมถึงตามมาเยอะแยะเลย ถ้าไม่มีของจริง มันจะเอาอะไรมาเป็นของปลอม ถ้าไม่มีของจริง ไม่มีใครเชื่อถือศรัทธา ความจอมปลอมมันจะมีประโยชน์อะไร แต่เพราะมีของจริง ของปลอมถึงตามมา
วันนี้ตอบปัญหานี้ ไม่ได้ตอบปัญหาเฉพาะผู้ถาม สังคมเป็นแบบนี้ เป็นนักหลบ ไม่รู้จริงรู้จัง แล้วเอามักง่ายจะเอาความจริง แต่มันไม่ได้ความจริง นี้พูดถึงว่าการปล่อยวาง
ถาม : ข้อ ๑๓๓๕. เรื่อง ไม่มีคำถามค่ะ
กราบขอบพระคุณ ที่ท่านอาจารย์ตอบปัญหาสัพเพเหระของดิฉันนะคะ ดิฉันจะพยายามตั้งใจปฏิบัติให้มากขึ้นค่ะ
ตอบ : คำว่า ปัญหาสัพเพเหระ ถ้าพูดถึงโดยทั่วไปมันก็เป็นสัพเพเหระของผู้ที่มีหลักมีเกณฑ์ ผู้ที่ไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ ปัญหาสัพเพเหระก็เป็นปัญหาแบบภูเขาเลากาเหมือนกัน
คนเราจิตใจถ้าพื้นฐานนะ ลูกศิษย์กรรมฐานๆ เราบวชใหม่ๆ เราไปทางอีสานนะ ลูกศิษย์กรรมฐานเขาจะมีหลักมีเกณฑ์มาก มีหนังมีละครที่ไหนเขาไม่ไปเลย เขาไม่ไป เพราะอะไร เพราะเขาศึกษามา ในนวโกวาทก็มี ที่ไหนมีการละเล่น ที่ไหนมีการฟ้อนรำ เรามักจะไปที่นั่น นักเลง นักเล่น นักเลงการพนัน ที่ไหนเขามีการพนัน ไปถึงที่นั่น ที่ไหนมีเสียง ไปถึงที่นั่น นี่ไง ศีล ๘
ในปัจจุบันนี้การถือศีลอ่อนแอลงมาก สมัยที่เราไปเที่ยวอีสานใหม่ๆ นะ ตั้งแต่ปี ๒๑, ๒๒, ๒๓ เราขึ้นไปอีสาน เราไปเที่ยวแถวอีสาน ไปอยู่ตามนั้น ลูกศิษย์ของกรรมฐานนะ พวกคนวัดเขาจะเหมือนพระเลย เขาไม่ไหลไปตามเสียง ไม่ไหลไปตามรูป รส กลิ่น เสียง เขาจะมีหลักมีเกณฑ์ของเขา ถ้ามีหลักมีเกณฑ์ของเขา พอมีหลักมีเกณฑ์ปั๊บ สิ่งนี้ อย่างเรา ที่ไหนเขามีงานรื่นเริง ที่ไหนเขามีคอนเสิร์ต อยากไปไหม อยากทั้งนั้นน่ะ แต่เขาไม่ไปเลย เพราะอะไร ที่นั่นมันผิดศีลผิดธรรม เขารู้ของเขา แต่ในปัจจุบันนี้การถือศีลก็ถือศีล เวลาขอศีลก็เอา ๕ ข้อ ๓ ข้อ แล้วแต่ใครจะเลือกปฏิบัติ นี่ไง มันเป็นการคิดของคนไง
บอกว่าเป็นปัญหาสัพเพเหระก็ต่อเมื่อคนที่มีหลักใจ
ฉะนั้น เวลามีหลักใจ ลูกศิษย์กรรมฐาน ครูบาอาจารย์ท่านพยายามจะดึงเข้ามาวงกรรมฐาน ถ้าวงกรรมฐานนะ ไม่ถือมงคลตื่นข่าว ไม่เชื่อสิ่งใดๆ นอกจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สัจธรรม ถ้าเป็นลูกศิษย์กรรมฐานนะ เขาจะเชื่อสัจธรรม เชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยผ่านจากครูบาอาจารย์ท่านดำรงชีวิตให้เราดู พระกรรมฐานจะดำรงชีวิตไว้ ดูสิ ท่านอยู่ของท่านอย่างไร ท่านอยู่อย่างไร ท่านอยู่ของท่าน ท่านฉันมื้อเดียวของท่าน ท่านอยู่ของท่าน เพราะมีหลักอย่างนั้นถึงมองว่า เรื่องที่เราคิด เราจินตนาการ เราเป็นห่วงเป็นใยเป็นเรื่องสัพเพเหระ แต่ถ้าเราไม่มีหลักมีเกณฑ์นะ เรื่องสัพเพเหระมันเป็นภูเขาเลากาเลย มันกดทับหัวใจไง เรื่องมันใหญ่โตมาก มันเหยียบย่ำหัวใจ
มันอยู่ที่จิตใจเราพัฒนาหรือไม่พัฒนา ถ้าจิตใจเราพัฒนาขึ้น อ๋อ! โลกมันเป็นแบบนี้ โลกธรรม ๘ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มันเป็นธรรมดา มันเป็นธรรมดา เรารู้ทัน พอเป็นธรรมดาแล้ว จิตใจนี้มันไม่ลงไปแบกรับไง ถ้าจิตใจมันอ่อนแอ จิตใจมันไปแบกรับ พอแบกรับ สัพเพเหระมันก็เป็นภูเขาเลากา แต่ถ้าเราพัฒนาใจของเรามั่นคง ภูเขาเลากาก็วางไว้ที่ภูเขาเลากา ภูเขาก็ตั้งอยู่ที่ภูเขานั่น มันไม่เกี่ยวอะไรกับเรา เราก็อยู่ที่นี่ ใจเราก็อยู่กับใจเรา ภูเขามันก็อยู่ที่ภูเขานู่นน่ะ แต่นี้ไปยกภูเขามาไว้บนอก
เรื่องสัพเพเหระไง ถ้าสัพเพเหระ ถ้าจิตใจเราดีแล้ว สัพเพเหระ เราก็รู้ว่าเป็นสัพเพเหระ แต่ถ้าสัพเพเหระ เราก็บริหารไปตามนั้น เราถึงจะมีหลักมีเกณฑ์ของเรานะ เราเป็นลูกศิษย์กรรมฐาน ลูกศิษย์กรรมฐานต้องมีหลักมีเกณฑ์ ถ้ามีหลักมีเกณฑ์ จิตใจมันพัฒนาขึ้น มันจะเห็นว่าเป็นสัพเพเหระจริงๆ ไง ถ้าสัพเพเหระจริงๆ มันก็ขำๆ นะ
เมื่อก่อนถ้าเราไม่เคยเข้ามา เห็นอะไรก็เป็นเรื่องใหญ่โตไปหมดเลย พอจิตใจเราดีขึ้นมานะ ขำๆ ทำไมเมื่อก่อนเป็นแบบนั้น อะไรนู่นก็ไม่ได้ อะไรนี่ก็ไม่ได้ พอจิตใจมันดีขึ้นนะ โฮ้! ทำไมเมื่อก่อนเป็นแบบนั้น เดี๋ยวนี้ไม่เป็นเลย แต่ถ้ามันยังไม่ขำๆ มันทุกข์นะ มันแบกไว้ในใจ ทุกข์มาก แต่พอเราเข้าใจแล้วนะ ขำๆ หืม! เรื่องเล็กน้อย เราไปแบกรับทำไม นั่นสัพเพเหระนะ
ถาม : ข้อ ๑๓๓๖. เรื่อง การให้สุราผู้ป่วยก่อนตาย ทำได้หรือไม่คะ
กราบนมัสการหลวงพ่อ ดิฉันมีข้อสงสัยในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย หากผู้ป่วยอันเป็นที่รักต้องการจิบเบียร์ก่อนวาระสุดท้ายของชีวิต เราสามารถตามคำร้องขอของผู้ป่วยก่อนตาย หรือเราควรยึดศีล ๕ อย่างเคร่งครัด โดยอย่างไรก็ไม่ได้ ไม่ให้ดื่มค่ะ
ตอบ : ถ้าเราไม่ให้ดื่มนะ เพราะการดื่มเบียร์ ดื่มเครื่องของมึนเมามันเป็นการผิดศีล ถ้าเป็นการผิดศีลนะ ผู้ป่วยก่อนตายใช่ไหม ผู้ป่วยก่อนตาย ถ้าเราให้สติปัญญาเขา ถ้าให้สติปัญญาเขาได้ ให้สติปัญญาเขา ไม่ต้องคิดสิ่งใดเลย ให้คิดถึงพระๆ ให้คิดถึงพระไง พระพุทธรูปก็ได้ ให้คิดถึงพระถ้าเราเป็นชาวพุทธ ถ้าเป็นชาวพุทธนะ
ถ้าจิตใจของคน จิตใจของคนที่มีคุณงามความดี คิดถึงพระ ไม่ต้องมาเถียงกันว่าดีหรือไม่ดี เพราะพระคือตัวแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เราจะบอกว่าพระองค์นั้นดี พระองค์นี้ไม่ดี ธรรมอันนั้นถูกต้อง ธรรมอันนี้ผิด เรายังวิจารณ์กันไปทั่ว แต่ถ้าเราให้คิดถึงพระ ให้คิดถึงพระพุทธรูป ให้คิดถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าคิดถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พอเขาคิดถึงสิ่งนั้น ไอ้เรื่องที่เขาคิดถึงเบียร์มันก็จะเบาบางลงไป จิตใจของเขามันไม่มีที่คิดสิ่งใด เขาถึงคิดถึงสิ่งที่เขาเคยเป็น
คนเรานะ เวลาจะพลัดพรากสิ่งใด คือคนจะตายไง คนจะตาย ถ้าคนเราติดสุรา พอติดสุราอย่างไรก็แล้วแต่ ก่อนตายนะ ขอให้กินเป็นมื้อสุดท้าย ดูนักโทษประหารสิ นักโทษประหารเวลาเขาจะประหารใคร เขาจะให้อาหารมื้อสุดท้าย เขาถามว่านักโทษต้องกินอาหารอะไร เขาจะจัดอาหารมื้อสุดท้ายให้พอใจนักโทษนั้น เพื่อให้นักโทษนั้นมีความสุข ทีนี้มีความสุขนะ เพราะเขาคิดของเขาอย่างนั้น นี่ความคิดแบบโลกนะ
แต่ถ้าเราคิดแบบธรรม เราไม่บอกว่าเราจะให้หรือไม่ให้เบียร์นั้น แต่เราพยายามจะให้หัวใจของเขามีที่พึ่ง ถ้าหัวใจของเขามีที่พึ่ง เขามีพระเป็นที่พึ่ง มีพระเป็นที่พึ่ง มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง จิตใจนั้นจะไม่คิดถึงเบียร์เลย จิตใจนี้จะไม่คิดถึงว่าอาหารมื้อสุดท้ายจะมีค่าไม่มีค่าเลย เพราะอาหารมันกินมาทุกมื้ออยู่แล้วแหละ แต่มันเป็นสังคม มันเป็นปัญหาสังคม สังคม ในเมื่อคนคนนี้ นักโทษประหารเขาต้องสิ้นชีวิตในวันนี้ พอสิ้นชีวิตในวันนี้ เขาจะให้นักโทษประหารนั้นให้ขอศีลพระ นิมนต์พระมาเทศน์ให้ฟัง เทศน์ให้ฟังเสร็จแล้วเขาก็มีอาหารมื้อสุดท้ายให้นักโทษนั้นกิน แล้วเขาก็เอานักโทษนั้นไปประหาร นี่พูดถึงนักโทษประหารนะ
แต่นี้เราบอกว่าเป็นคนที่รัก คนที่รักเราป่วย คนที่รัก ก่อนจะถึงวาระสุดท้าย เขาขอจิบเบียร์ๆ เราจะให้เขาได้ไหม ถ้าเราจะให้เขาได้ เขาผิดศีลไหม
ถ้าเราให้ มันเป็นตัวเลือกระหว่างเขากับเราไง ถ้าเขา เขาอยากได้ เขาอยากได้เพราะอะไร เพราะสิ่งที่เขาเคยชิน สิ่งที่เป็นรสชาติที่เขาติดของเขา แต่เขาไม่มีรสของธรรม รสของธรรม เรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
เริ่มต้นเราจะบอกเลย ให้คิดถึงพระก่อนได้ไหม ให้คิดถึงพระๆ ให้คิดถึงพระพุทธรูปนะ อย่าคิดถึงพระองค์ไหนๆ ถ้าคิดถึงพระองค์ไหน พระองค์นั้นเห็นแก่ตัว พระองค์นั้นไม่ดี พระองค์นั้น มันวิจารณ์กันไปหมด
แต่ถ้าคิดถึงพระพุทธรูป พระพุทธรูปไม่มีชีวิต วิจารณ์พระพุทธรูปไม่ได้ อ๋อ! พระพุทธรูปหรือ พระพุทธรูปเป็นตัวแทนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้คิดถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทำดีมาขนาดไหน ท่านมีทุกอย่างพร้อม ท่านเสียสละมาอย่างไร แล้วท่านเสียสละ เสียสละชีวิตของท่าน แล้วท่านรื้อค้นของท่านจนเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเห็นผิดเห็นถูกไง เห็นผิดเห็นถูกนะ
ถ้าสิ่งที่เราผิดศีล ผิดศีลมันทำให้ขาดสติ ผิดศีลทำให้เราไม่มีสติปัญญา ในระหว่างเดินทางๆ ถ้ามันเดินทาง เรามีสติมีปัญญา เราจะเดินทางด้วยความปลอดโปร่ง ทีนี้ความปลอดโปร่ง ทีนี้คนเราคิดแบบโลกๆ คิดแบบวัฏฏะ คิดแบบวัฏฏะ คนเราจะเดินทางต้องสดชื่น คนติดสุรา ถ้าได้ดื่มสุราแล้วมันจะเดินทางได้สะดวก นี่คิดแบบโลกไง
เราจะบอกว่ามันเป็นปัญหาโลกแตก มันเป็นปัญหาของโลกกับปัญหาของธรรม ถ้าปัญหาโลกนะ ถ้าเขาสบายใจ เขาทำแล้วเขาได้ประโยชน์ คำว่า ได้ประโยชน์ คือเขาแช่มชื่นแจ่มใส เราต้องพิจารณาของเราไง
สิ่งที่เราคิดนะ เราคิดถึงทางโลกว่าถ้ามันสมควรไหม มันไม่ถูกต้องไหม? ใช่ ไม่ถูกต้องแน่นอน ไม่ถูกต้องนะ เราสอนเขา กับเขารู้เอง เราสอนเขามันเป็นความโต้แย้งระหว่างเขากับเรา ถ้าเราไม่ให้ เขาว่าเราไม่รักเขา เราไม่รักเขาจริง เราไม่เมตตาเขา ไม่มีน้ำใจให้เขา แต่เราบอกเขาเลย เราให้เขาคิดถึงพระ
คำว่า คิดถึงพระ เพราะเรารู้ว่าจิต จิตถ้ามันเกาะสิ่งใดแล้วมันเกาะได้อย่างเดียว จิตคิดได้หนึ่งเดียว ถ้ามันคิดถึงพระ คำที่เขาคิดถึงเบียร์มันจะจบไป เขาจะรู้เองจากใจของเขา ถ้าเขารู้เองจากใจของเขา เขาต้องไม่เอาสิ่งที่เป็นโทษเป็นภัยของเขาแน่นอน เขาต้องเอาเป็นบุญเป็นคุณของเขา ถ้าเป็นบุญเป็นคุณของเขา สิ่งที่ว่าเราจะให้เขาหรือไม่ให้เขา จบ ถ้าเขารู้ของเขามันก็จบที่ตรงนั้นนะ ถ้าจบที่ตรงนั้นนะ มันเป็นที่ว่าพิจารณาไง
ฉะนั้น มันอยู่ที่มุมมอง มุมมอง ถ้าทางโลกนะ ดูสิ ในทางโลกนะ เวลาพ่อแม่ พ่อแม่เวลาอยู่ เวลาอุปัฏฐากมันก็ยังมีปัญหากัน ยิ่งเวลาพ่อแม่เสียไปแล้วนะ จัดงานยิ่งมีปัญหาใหญ่เลย คนนั้นจะเอาอย่างนี้ คนนี้จะเอาอย่างนั้น จิตใจของคนมันร้อยแปด นานาจิตตังทั้งนั้นน่ะ
แต่ทีนี้ถ้ามันเป็นคนที่รัก มันเป็นอยู่กับเรา เรารับผิดชอบ น้ำใจ น้ำใจนะ จิตใจของเรานะ เราเห็นเขา เรามีสติมีปัญญา เราเลือกของเราเอง เราไม่ตอบไง เราไม่ตอบว่าต้องให้จิบเบียร์ไหม หรือไม่ให้จิบเบียร์
เพราะว่าในสมัยพุทธกาลนะ มีนักรบเป็นกษัตริย์นะ แล้วเขาเป็นแม่ทัพไปออกรบกลับมา พอออกรบกลับมานะ กษัตริย์ให้รางวัลให้เป็นกษัตริย์ ๗ วัน เขากินเหล้าทั้งวันเลย เพราะเขาได้เป็นกษัตริย์ไง อยู่ในพระไตรปิฎก เราจำชื่อไม่ได้ เขาได้เป็นกษัตริย์นะ
ดูเราเป็นแม่ทัพ เราเป็นทหาร ถ้าเราได้เป็นกษัตริย์ เป้าหมายเราก็อยากเป็นกษัตริย์ อยากเป็นผู้นำใช่ไหม ทีนี้ไปรบทัพจับศึกเขามา ชนะกลับมา พอชนะกลับมา กษัตริย์ให้รางวัลให้เป็นกษัตริย์ ๗ วัน กินเหล้าทั้งวันเลย กินเหล้าแล้วก็พวกสนมนางในเต็มไปหมดเลย สนุกเขามาก
วันนั้นนะ วันนั้นเขากินเหล้าถึงวันที่ ๗ แล้วเขาไปเห็นภรรยาตายหรืออย่างไร ไปเห็นภรรยาตายวันนั้น กำลังเมาๆ เลยนะ สำเร็จเป็นพระอรหันต์ สำเร็จเลย กรณีอย่างนี้เหมือนภรรยาเขาตายเป็นประเด็นหนึ่งนะ หรือประเด็นเขาตายกลางคอช้างหรือยังไง ที่นั่งตายกลางคอช้าง นั่นกินเหล้าอยู่ตลอดเวลานะ
กรณีอย่างนี้มันเป็นกรณีที่ว่าถ้าจิตใจเขา เขามีบารมีของเขา เขามีปัญญาของเขา เพราะมันมีอยู่ในพระไตรปิฎก พระไตรปิฎก ชาวประมงเขาไปหาปลาทางทะเลนะ เขาไปหาปลาของเขาอยู่ แล้วเขากำลังจะเข้าฝั่ง พอกำลังจะเข้าฝั่ง เกิดพายุ พายุที่แบบว่าไม่รอด ไม่รอด ชาวประมงนั้นเขาอธิษฐานเดี๋ยวนั้นเลย เขาอธิษฐานในใจของเขาว่าเขาจะถือศีลบริสุทธิ์เวลาเดี๋ยวนั้น แล้วเรือนั้นก็จม แล้วเขาก็ตายในขณะนั้น เขาตายขณะนั้นนะ เขาไปเกิดเป็นเทวดา เขาไปเกิดเป็นเทวดา มันก็เกิดปัญหาขึ้นมา เขามาถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ในเมื่อเขาเป็นชาวประมง เขาล่าปลามา เขาผิดศีลมาตลอด แล้วผิดศีล คนทำบาปมามันต้องนรกสิ ทำไมเขาผิดศีลมามหาศาลเลย ทำไมเขาไปเกิดเป็นเทวดาล่ะ
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า คนเรานะ เวลาไปทำประมง เขาก็ไปหาสัตว์น้ำของเขามา นั่นล่ะคือการฆ่าของเขา แต่เวลาเขาเห็นภัย จิตใจมันเห็นภัย มันตัดได้ พอจิตใจมันเห็นภัย คือคนใกล้ตาย พอคนใกล้ตายอาราธนาศีล วิรัติเอาเดี๋ยวนั้นเลยว่าข้าพเจ้าขอถือศีล
ก่อนหน้านั้นมันเป็นอดีตมาแล้ว พอถือศีลโดยปัจจุบันนั้น แล้วเรือคว่ำเดี๋ยวนั้น ตายเดี๋ยวนั้น ตายเดี๋ยวนั้นนะ ไปเกิดเป็นเทวดา นี้แบบว่าถ้าคนที่เขาตัดใจได้ เขาตัดใจได้ เขาทำได้จริง นี่พูดถึงโดยทั่วไปคนทำอย่างนี้ได้ยาก แต่เวลาวิกฤติมันเกิดมาเดี๋ยวนั้น เขาทำของเขาได้ มันก็เป็นของเขาได้
นี้เพียงแต่เราจะบอกว่า สิ่งที่เราเห็นว่ามันผิดๆ สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺานา ผิดแน่นอน มันทำให้คนทำลายสุขภาพ มันทำลายคน ทำลายสติปัญญาของคน มันทำให้สังคมแตกแยก มันทำให้เกิดปัญหา มันไม่มีอะไรดีสักอย่างหนึ่งเลยล่ะ เรื่อง สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺานา ศีลข้อที่ ๕ มันทำให้เสียหายทั้งนั้นน่ะ มันผิดทั้งนั้นน่ะ แต่เวลาในสังคม คนเขาเป็นอย่างนั้น สังคมเขาชอบกันอย่างนั้น เวลาถึงที่สุดมันตัดขาดได้อย่างใด ถ้าผิดศีล มันผิด มันยกไปที่ อสม. เลยนะ อสม. ความดำรงชีวิตอย่างไร ทำอย่างไร มันผิดมาทั้งนั้นน่ะ
ทีนี้ผิดมาอย่างนั้น ทีนี้เพียงแต่ว่าสังคมมันมีความเห็น มันมีความต่างใช่ไหม ฉะนั้น ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา แล้วเรามีปัญญามากน้อยแค่ไหน แล้วถ้าคนมีความผิดอย่างนั้น มีปมด้อยอย่างนั้น จะปฏิบัติไม่ได้ คนมีอย่างนั้นแล้วจะบรรลุธรรมไม่ได้ ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้ แต่คนที่เขาสร้างบารมีมาอย่างที่ว่าเวลาภรรยาเสียชีวิต สังเวชนะ เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเดี๋ยวนั้นเลย เป็นขณะที่ยังเมาๆ อยู่นั่นน่ะ แต่มีอยู่คนเดียว ทั้งหมดที่เห็นมาในพระไตรปิฎกมีอยู่คนเดียว มีอยู่คนเดียว คนนี้หนึ่งเดียว แต่คนปฏิบัติที่เป็นพระอรหันต์มา เอตทัคคะต่างๆ ปฏิบัติมาเป็นพื้นฐาน เป็นพื้นฐานมาตลอด
ฉะนั้น การให้สุราแก่ผู้ป่วยก่อนตายจะทำได้หรือไม่
ถ้ามันไม่ควรทำ มันไม่ควรทำมันต้องมีเหตุผลไง โดยศีลธรรมมันไม่ควร มันไม่ควรให้ แต่ถ้าโดยน้ำใจ โดยที่ความเห็นไป จิตใจของคนเข้มแข็งไม่เข้มแข็งนี้มันเรื่องของเขา แต่ถ้าเป็นเรา พวกเรา ถ้าในปัจจุบันนี้เราไม่กินสุรา ไม่กินเบียร์ตั้งแต่ปัจจุบัน ไม่ใช่ป่วย ปัจจุบันเราก็ไม่ทำอยู่แล้ว เราไม่เอาอยู่แล้ว เราไม่ทำสิ่งนั้นอยู่แล้ว ของสิ่งใดที่เป็นพิษกับร่างกาย เราไม่เอาเข้ามาอยู่แล้ว นี่เป็นผู้ที่มีสติมีปัญญา
แต่อันนี้มันถามมา มันถามมาเพราะว่าคนเป็นที่รัก คนเป็นที่รัก คนเป็นที่รักเราก็สงสารเพราะเป็นคนที่รัก แต่ถ้าไม่ใช่เป็นคนที่รัก เป็นคนทั่วไปทำ ผิดๆๆ ทำไม่ได้ ทำไม่ได้ แต่ถ้าเป็นคนที่รัก เขียนมาถามไง เป็นคนที่รัก ก่อนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต เขาต้องการจิบเบียร์ เราควรทำอย่างใด
คนเป็นที่รัก ทีนี้คนเป็นที่รัก เราถึงพูด เราจะไม่ไปแบบว่าครอบงำความคิดเขา หรือเราไปบอกเขา คนเป็นที่รักเขาก็หวังทั้งนั้นน่ะ คนใกล้ชิดนะ คนอื่นคนไกลเวลากระทบกระเทือนกันมันก็ไม่ค่อยเจ็บปวดเหมือนคนใกล้ชิด คนใกล้ชิดกันกระทบกระเทือนนี่เจ็บปวดมาก ฉะนั้น คนเป็นที่รัก ถ้าฝืนไม่ให้ เขาก็ว่าไม่รักเขา แล้วถ้าเวลาพูดสิ่งใดไปแล้วมันก็สะเทือนกัน แต่ถ้าเราชักนำได้นะ เราชักนำของเราไป เขารู้ของเขาเอง ถ้าเขารู้ของเขาเอง เราไม่ใช่เป็นการต่อรองกัน
ถ้าเป็นการต่อรองกัน เพราะต่อรองกันด้วยเรามีคติของเราว่ามันผิดศีล มันผิดศีล แต่ของเขา เขาทำจนเคย เขาทำจนเคยของเขา เขาทำดีมาทุกอย่าง แต่เขาบกพร่องตรงนี้ นี่มันต้องคิดของเรา คิดแล้วเราหาอุบายให้เขา ถ้าอุบายให้เขา เขาคิดได้ ถ้าเขาคิดได้เพราะอะไร เพราะคนใกล้ถึงวาระสุดท้ายมันหวังที่พึ่งทั้งนั้นน่ะ คนใกล้ถึงวาระสุดท้ายมันกลัวนะ คนจะตายนี่กลัวมาก ไม่รู้ว่าจะไปที่ไหน แล้วเป็นคนที่รักอยู่ข้างๆ อยากจะเอาคนข้างๆ ไปด้วย ไปด้วยกันเถอะ จะเอาคนข้างๆ ไปด้วย
ทีนี้ถ้าจะเอาคนข้างๆ ไปด้วย มันก็มีความผูกพันกัน เราก็ว่าเขาจะต้องเดินทาง เราก็ต้องให้เขาเห็นถึงพระ ให้เห็นถึงคุณงามความดี ให้เขาเห็นต่างๆ แล้วสิ่งนั้นจะเป็นความดีจริงๆ ความดีจริงๆ ผู้ที่ปฏิบัติเอง แต่บุคคลตรงข้าม แล้วเราจะบอกเขา ครอบงำเขา
หลวงปู่มั่นถึงพูด การแก้จิตแก้ยากนี่ไง การแก้จิตแก้ยากมาก เพราะจิตนี้มันเฉไฉ มันมีเล่ห์มีเหลี่ยม มันมีมารยาสาไถย แล้วมันคิดว่ามันถูกมันดีทั้งนั้นแหละจิตนี่ จิตนี้แก้ยาก แต่ครูบาอาจารย์ท่านจะแก้ของท่าน ท่านรู้ของท่าน ท่านสมควรแก่เวลา ถ้ามันยังดื้อยังดึงอยู่ ท่านก็คล้อยตามไปก่อน แล้วพยายามจะดึง เห็นไหม โคถึก จะเอาโคถึกให้อยู่ในร่องในรอย แก้ยากมาก แก้จิต
แล้วนี่เราเป็นคนที่รัก เราอยู่กันสองคน ความรู้สึกนึกคิดถนอมกันยากนะ ความรู้สึกนึกคิด ความเกรงใจ ความเข้าใจกัน ยากมาก นี่ขนาดคนสองคนนะ แล้วคนคนเดียว ใจเราเอง ยิ่งใจเราเอง อู้ฮู! ยิ่งเอาใหญ่เลย คิดเอง ดีเอง ถูกเอง ดีหมด ยิ่งภาวนายิ่งไปเลย แต่ถ้าเรามีครูมีอาจารย์นะ ครูบาอาจารย์ที่ท่านฉลาด ท่านรู้ใจเราก็เป็นแบบนั้น แล้วเราดูแลใจเรามา มันถึงเข้าใจเรื่องอย่างนี้ไง
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าได้หรือไม่ได้
ให้ ไม่สมควร แต่ถ้าฟันธงนะ ไม่ควร ไม่ได้ ไม่ได้ หมายความว่า ไม่ให้ผิดศีลผิดธรรม คนต้องเดินทาง ให้เขา แต่เราต้องทำให้ถูกต้องทำให้ดีงาม อย่าให้เขากระเทือนมากไปกว่านี้ ถ้าเขาไม่ได้ เขาก็บอกว่า เห็นไหม ของแค่นี้ยังขอไม่ได้ ไม่รักกันจริง ของแค่นี้ของเล็กน้อยยังขอไม่ได้
แต่เราไม่ได้ดูที่ของ เราดูที่หัวใจ เราดูที่ใจเขา เรารักเขา เรารักหัวใจของเขา เราอยากให้ใจเขาไปดี แต่เขาไม่ดูหัวใจของเขา เขาดูที่เบียร์กระป๋องเดียว
เบียร์กระป๋องเดียวซื้อที่ไหนก็ได้ แต่หัวใจคนยิ่งใหญ่ จิตนี้เวียนตายเวียนเกิด จะต้องไปตายไปเกิด จิตนี้ยิ่งใหญ่ แต่ถ้าเราเข้าใจ เราเข้าใจ ยิ่งใหญ่แล้วจะแก้กันอย่างไร ยิ่งใหญ่ จะดูแลรักษากันอย่างไร ยิ่งใหญ่ จะทำให้มันถูกต้องดีงามอย่างใด ถ้าดีงามอย่างไร เราถึงเชื่อธรรม เราเชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราทำคุณงามความดีกันเพื่อธรรม เอวัง
่