ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ไปวัด

๖ ก.ค. ๒๕๕๖

 

ไปวัด
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันข้อ ๑๓๔๖. ยกเลิกคำถามเนาะ นี้มันตอบไปแล้วไง

ข้อ ๑๓๔๗. เขาเขียนมาใหม่

ถาม : ข้อ ๑๓๔๗. เรื่อง “โชคดีจังที่ยกเลิกคำถามไม่ทัน”

ตอบ : เพราะตอบไปแล้ว ยกเลิกคำถามกลับ ยกมาไม่ทันก็ตอบไปแล้ว จบ

ถาม : ข้อ ๑๓๔๘. เรื่อง “ยึดติดในพ่อแม่”

กราบนมัสการท่านอาจารย์ที่เคารพ โยมมีพ่ออายุ ๘๕ เป็นโรคพาร์กินสัน แม่อายุ ๘๓ ทุกวันทำอาหารให้ท่าน ช่วยอาบน้ำให้ท่าน จัดยา พาท่านนั่งรถเข็น จิตของโยมภาวนาก็เห็นแต่ทุกข์ในการมีขันธ์ ๕ ขันธ์ตัวเราเอง ขันธ์ของพ่อแม่และสามี ลูก ๑ คน ขันธ์ทั้งหลายล้วนเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ตามมา แต่โยมก็ยังตัดอาลัยตรงนี้ไม่ได้ ถ้าวันใดพ่อแม่จากไป โยมจะปลงใจได้อย่างไรเจ้าคะ ทุกวันนี้โยมใช้ดูจิต ดูลมหายใจ กราบนมัสการด้วยความเคารพอย่างสูงค่ะ

ตอบ : ฉะนั้น สิ่งที่ว่า ในเมื่อเรามีพ่อ พ่ออายุ ๘๕ แม่อายุ ๘๓ ทุกวันทำอาหารให้ท่านทาน ช่วยอาบน้ำให้ท่าน จัดยา พาท่านนั่งรถเข็น จิตของโยมภาวนาเห็นแต่ทุกข์ในการมีขันธ์ ๕ นี่มีตัวมีตนไง มีพ่อมีแม่ไง พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก เพราะพ่อแม่ เวลาเกิด เกิดจากไข่ เกิดในครรภ์ของมารดา เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ การเกิดมามีพ่อมีแม่เป็นแดนเกิด ถ้ามีพ่อแม่เป็นแดนเกิดขึ้นมามันมีขันธ์ ๕ ถ้าไม่มีขันธ์ ๕ จิตวิญญาณมันไม่มีตัวตน มันเป็นนามธรรม ถ้านักภาวนามี เห็นเป็นภวาสวะ เห็นเป็นภพ เป็นจิตวิญญาณเห็น แต่ในโลกวิทยาศาสตร์ไม่เห็น โลกวิทยาศาสตร์เห็นแต่เรื่องกาย เรื่องวัตถุ เรื่องสิ่งสสารที่จับต้องได้ แต่นามธรรมๆ วิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ พิสูจน์ไม่ได้ แต่จิตวิทยาเขาพยายามพิสูจน์กันอยู่

ฉะนั้น สิ่งที่ว่ามีขันธ์ ๕ ถึงมีตัวมีตน มีตัวมีตน เราก็อุปัฏฐากดูแลอยู่ อุปัฏฐากดูแลอยู่ แต่ดูที่ขันธ์ ๕ นั่นน่ะ แต่กระทบกับจิตวิญญาณของพ่อของแม่ มีความสุขมีความทุกข์ มีความต่างๆ นี่ขันธ์ ๕ ทุกข์เพราะมีขันธ์ ๕ ทุกข์เพราะมีรูปมีร่าง ทุกข์เพราะมีต่างๆ เห็นสิ่งต่างๆ มันมีความสัมพันธ์ มีความผูกพัน แต่เพราะเรามีศาสนาพุทธไง พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ พอธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ เราก็เลยเห็นว่าสิ่งนี้เป็นทุกข์ๆ แต่สิ่งนี้เป็นทุกข์ ในเมื่อมีแรงขับอยู่ มันเวียนตายเวียนเกิดอยู่ มันก็ต้องมีประสบการณ์อย่างนี้ตลอดไป ถ้ามีประสบการณ์ตลอดไป เวลาเราจะพ้นจากทุกข์ถึงบอกว่า “ตัวของเราเอง ขันธ์ของพ่อของแม่ ขันธ์ของสามี ขันธ์ของลูก ขันธ์ทั้งหลายเป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ แต่โยมยังตัดอาลัยตรงนี้ไม่ได้ ถ้าวันใดพ่อแม่จากไป โยมจะปลงใจได้อย่างใด”

คำว่า “ปลงใจ” เพราะยังตัดกิเลสไม่ได้ มันก็มีความผูกพันทั้งนั้นแหละ ถ้ามีความผูกพัน เพราะว่าเรามีศาสนา ศาสนาสอน สอนถึงเรื่องความกตัญญู เรื่องกตเวที เรื่องบุญคุณพ่อบุญคุณแม่ ทำกรรมสิ่งใด ได้ดูพ่อแม่ที่ดี ต่อไปเรามีสามี มีลูกคนหนึ่ง ลูกเห็นเราอุปัฏฐากพ่อแม่ ลูกก็มองเป็นตัวอย่าง แต่เวลาเราแก่เราเฒ่าขึ้นไป ลูกก็จะดูแลเรา มันเป็นวัฒนธรรม มันเป็นสิ่งที่ว่าได้สะสมมา การทำแบบนี้ การทำแบบนี้มันอยู่ที่การกระทำ นี่กรรมดี กรรมดีมันก็มีแบบอย่างให้ลูกได้เห็น ลูกได้เห็น ลูกก็ได้ฝึกฝนขึ้นไป แล้วต่อไปเวลาเราแก่เราเฒ่ามาก็เป็นแบบนี้ ถ้าเป็นแบบนี้ เราศึกษาธรรมๆ

“วันใดถ้าพ่อแม่จากไป จะปลงใจได้อย่างไร”

ปลงใจอย่างไรมันก็มีความโศกเป็นธรรมดา ของรักพลัดพรากจากไปมันก็มีโศกมีเศร้าเป็นธรรมดา ทีนี้ความโศกเศร้าเป็นธรรมดา เราศึกษาธรรมแล้วเราต้องปฏิบัติธรรม ถ้าปฏิบัติธรรมจะเข้ามาตรงนี้แล้ว ถ้าเป็นธรรมดา “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับไปเป็นธรรมดา” แต่มันไม่ธรรมดาเพราะว่าเรามีกิเลสไง เรายึดมั่นถือมั่นของเรามันก็ไม่ธรรมดา แล้วเวลามันเกิดมันดับเป็นธรรมดาของมัน

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับเป็นธรรมดา” แต่หัวใจ ความรู้สึกมันไม่ยอมดับตามไง มันยึดมั่นถือมั่นไง ถ้าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา แต่หัวใจมันไม่ธรรมดา หัวใจมันเป็นของเรา

“วันใดถ้าพ่อแม่ต้องจากไป เราจะปลงใจได้อย่างไร”

นี่ยังไม่ได้พลัดพรากเลย มันไปเอาความทุกข์ในอนาคตมาเป็นความทุกข์ตอนนี้แล้ว ไปเอาความทุกข์ในอนาคตเลยนะว่าพ่อแม่จากไปมันจะมีความทุกข์อย่างใด แล้วก็เอามาผูกพันไว้ มันเกิดมามันยังไม่ได้ดับเลย เราไปทุกข์ก่อนแล้ว ถ้ามันทุกข์ก่อนแล้ว ถ้ามันศึกษาแล้วมันต้องปฏิบัติ พอปฏิบัติขึ้นมาแล้วมันรู้เท่าตามความเป็นจริงแล้ว สิ่งนี้มันจะหลอกไม่ได้ นี่กิเลสมันหลอก มันไปเอาอดีตอนาคตมาหลอก แล้วปัจจุบันมันก็ยังหลอกอยู่

แล้วมันหลอกอยู่ พ่อแม่ไม่ใช่ของจริงหรือ? จริง พ่อแม่เป็นของจริง เนื้อหนังมังสาพ่อแม่เป็นของจริงทั้งนั้นแหละ สรรพสิ่งในวัฏฏะเป็นของจริงทั้งนั้นแหละ จริงตามสมมุติ พอจริงตามสมมุติแล้วมันเวียนตายเวียนเกิด เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราถึงได้วิตกกังวลไง ว่าวันใดพ่อแม่ต้องจากไป เพราะเรารู้ว่าวันใดวันหนึ่งพ่อแม่ต้องจากไป เพราะชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด เราก็ศึกษาธรรมมา เราก็รู้ได้หมด แต่กิเลสมันไม่รู้ด้วยน่ะสิ กิเลสมันขวางอยู่ไง ถ้ากิเลสมันขวางอยู่ เราจะแก้อย่างไร นี่พูดถึงว่ายึดติดในพ่อแม่

“พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก” เราก็อุปัฏฐากดูแล คติตามความเป็นจริงมันต้องเป็นแบบนั้น ถ้าคติตามความเป็นจริง เราก็ดูแลของเราถึงที่สุด เราพยายามของเรา เราชักนำ เราเปิดใจพ่อแม่ให้ได้ ถ้าเปิดใจพ่อแม่ได้ พ่อแม่ฝึกหัดประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าพ่อแม่ เวลาจะจากพลัดพรากกันไปก็โบกมือลานะ ไอ้แม่ก็โบกมือลา ลูกก็สาธุ เพราะอะไร เพราะพ่อแม่ก็ทำใจได้ ลูกก็ทำใจได้ ต่างคนต่างทำใจได้ ต่างคนต่างมีธรรมในใจ สิ่งนี้เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องธรรมดานะ จิตใจมันเหนือ เห็นไหม

ธรรมะเหนือโลก เหนือธรรมดา ธรรมะเหนือธรรมชาติ ถ้าเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี อกุปปธรรมเหนือกุปปธรรม อกุปปธรรม อฐานะ อฐานะที่จะสั่นไหวไปกับการพลัดพราก อฐานะที่จะสั่นไหวไปกับการแปรปรวน อฐานะ แต่ถ้าเราไม่ปฏิบัติมันก็เป็นอย่างนี้

นี่พูดถึงว่า “เราจะปลงใจได้อย่างไร”

ปลงใจได้ มีธรรมโอสถ ปลงใจได้ต่อเมื่อเรามีธรรมโอสถ มันเป็นอย่างนี้ หมายถึงว่า มันเป็นเช่นนี้เอง แต่จิตใจมันไม่เป็นเช่นนี้เองหรอก จิตใจมันสั่นไหว ถ้ามันเป็นเช่นนี้เอง จิตใจมันรู้เท่ารู้ทัน มันปล่อยวางนะ ถ้าปล่อยวางมันก็เป็นความจริงของมัน นี่มันต้องปฏิบัติไง

สิ่งที่เรารู้เราเห็น สิ่งที่เราประพฤติปฏิบัติกันตามธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันก็เหมือนการศึกษา ปริยัติ ศึกษามาแล้ว จบแล้ว มีใบประกาศมาคนละใบ ได้ประกาศติดรอบบ้านเลย แต่หัวใจมันสั่นไหว ถ้าพระป่า พระปฏิบัติ ไม่มีใครให้ประกาศนียบัตรสักใบหนึ่ง

พระปฏิบัตินะ เวลาครูบาอาจารย์ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติมา ไม่มีใครมาให้ใบประกาศได้ สัจธรรมเวลามันกังวานขึ้นกลางหัวใจ เวลามันชำระล้างขึ้นมาในหัวใจ อันนั้นเป็นความจริง ไม่ต้องมีใครมาให้ใบประกาศ เพราะใบประกาศมันเป็นอามิส สิ่งที่ทำบุญกุศลเป็นอามิส แต่ถ้าปฏิบัติขึ้นมาเป็นสัจจะเป็นความจริง นี่สัจจะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม เกิดในธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ “อานนท์ เธอต้องบอกบริษัท ๔ นะ ถ้าเรานิพพานไป ถ้าคนเขาไม่เข้าใจ เขาจะไปเพ่งโทษกับนายจุนทะ”

ที่ว่า “เราฉันอาหารของนางสุชาดา เราถึงซึ่งกิเลสนิพพาน เราฉันอาหารของนายจุนทะ เราได้ถึงซึ่งขันธนิพพาน”

กิเลสนิพพาน ขันธนิพพาน เวลากิเลสนิพพาน ชำระล้างกิเลสในหัวใจ เวลาชำระล้าง ขันธ์ ๕ ไง ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ขันธนิพพาน คือขันธ์มันมีอยู่กับเราไง เราสลัดขันธ์นี้ทิ้งไปไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสลัดขันธ์ทิ้งเป็นเศษส่วน สอุปาทิเสสนิพพาน เศษส่วนที่ยังมีเหลืออยู่ สลัดทิ้ง

“เธอจงบอกเขา บุญในพระพุทธศาสนาที่ใหญ่มีอยู่ ๒ คราว คราวหนึ่งเราฉันอาหารของนางสุชาดา เราถึงซึ่งกิเลสนิพพาน ชำระล้างกิเลสในหัวใจทั้งหมด”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพอชำระล้างกิเลสเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาแล้ว จะไม่สั่นไหว จะไม่ต้องปลงใจ จะไม่ต้องไปทุกข์ร้อนอะไรกับใคร เพราะใจมันเหนือธรรมชาติ เหนือทุกอย่างแล้ว

แต่เราศึกษาธรรมๆ ธรรมะเป็นธรรมชาติ ทุกอย่างเป็นธรรมชาติ เราก็ศึกษามา ทฤษฎีต่างๆ ทฤษฎี เข็มทิศต้องชี้ไปทางทิศเหนือต่างๆ มันเป็นข้อเท็จจริงทั้งหมด แต่ข้อเท็จจริงโดยวัฏฏะมันเปลี่ยนแปลง กาลเวลามันเปลี่ยนแปลงหมดล่ะ

ฉะนั้น ความเปลี่ยนแปลง เวลาศึกษา เราปฏิบัติของเราถึงที่สุดแล้ว เหนือธรรมชาติ เหนือทุกอย่างเลย แล้วสิ่งที่ว่าเรายึดติด เราศึกษาธรรมมาแล้วทำไมเป็นแบบนี้ล่ะ ทำไมจิตใจเรายังสั่นไหว เราจะปลงใจได้อย่างไรเมื่อวันที่พ่อแม่จากไป จะปลงใจได้อย่างไร เพราะอะไร เพราะเรากตัญญู เรารักของเรา เราก็รักของเราจริงๆ เราก็ดูแลของเรา ถึงที่สุดแล้วมันเป็นอย่างนี้ ชำระล้างกิเลสแล้ว พอกิเลสมันสิ้นไปแล้ว ไอ้เรื่องอย่างนี้มันจะไม่มี ถ้าไม่สิ้นไป เราก็พยายามปฏิบัติของเราให้รู้ตามความเป็นจริงของเรา

ถ้าธรรมโอสถรักษาใจแล้ว สิ่งที่ถามมา นี่กังวล เพราะพ่อแม่ก็รัก สามีก็สามี แล้วก็ลูกอีก ติดขันธ์ไปหมดเลย นี่ขันธ์ที่เป็นทุกข์ นี่เป็นภาระ เป็นทุกข์ เป็นที่เกิดของทุกข์ทั้งหมดเลย แต่มันก็ต้องมีของมัน เราสละทิ้งได้อย่างไร ถ้าเราเข้าใจแล้ว สิ่งนี้จะเข้าใจ แล้วมันจะวางได้ตามความเป็นจริง นี่พูดถึงเรื่อง “ยึดติดพ่อแม่” เนาะ

ถาม : เรื่อง “สอบถามระเบียบปฏิบัติเวลาไปวัดครับ”

เนื่องจากกระผมไปวัดนี้แล้วศรัทธาในพระพุทธศาสนา สถานที่ และท่านหลวงพ่อ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่เข้าใจว่าระเบียบของสถานที่ว่าเป็นอย่างไรบ้างครับ เห็นมีพี่ผู้ชายคอยบอกว่าต้องทำตัวอย่างไรบ้าง เช่น

๑. ถ้ามีเด็ก ขณะหลวงพ่อเทศน์ให้นำเด็กออกไปนอกศาลา

๒. วันนั้นพี่เขาแจ้งว่าหลวงพ่อจะมีเทศน์ต่อหลังจากฉันเช้า ถ้าใครไม่ได้ฟังเทศน์แล้วให้กลับได้เลย (ทำไมต้องรีบขนาดนั้นด้วยครับ)

๓. เห็นแจ้งเรื่องการปิดโทรศัพท์ แต่เวลาพี่เขาพูด จิตผมไปยุ่งกับพี่เขาเองครับ รู้สึกว่าพี่เขาไม่สำรวมกายและวาจา เป็นไปได้ไหมครับ แทนที่จะเดินบอก ทางวัดมีระเบียบปฏิบัติอย่างใดก็ติดประกาศบอกไปเลยครับ ให้ผู้มาใหม่และผู้เก่าก็จะได้เข้าใจตรงกันครับ

ตอบ : นี่คำถามเนาะ เริ่มต้นจากอารัมภบท

“เนื่องจากผมไปวัดนี้แล้วศรัทธาในพระพุทธศาสนา สถานที่ หลวงพ่อ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่เข้าใจระเบียบสถานที่ว่าเป็นอย่างไรบ้างครับ”

ถ้าเราไปวัดแล้ว สถานที่สิ่งใดที่มันเจริญศรัทธา เราก็จะศรัทธาในพระพุทธศาสนา แต่ถ้าเราไปสถานที่ใด ไปวัด วัดใดวัดหนึ่ง วัดนั้นเป็นวัดธุรกิจ วัดนั้นเป็นวัดที่เขาแสวงหาผลประโยชน์ เราไปเห็นแล้วเราก็ไม่อยากเข้าวัดนั้น ถ้าเราไปวัดไหนนะ ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าสิ่งที่เทวดาถามว่า “ควรทำบุญที่ใด”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “เธอควรทำบุญที่เธอพอใจ”

ที่เธอพอใจ เธอไปวัดไหน ที่ไหนมันเจริญศรัทธา มันไปแล้วมันชื่นใจ ให้ไปทำบุญที่นั่น เพราะอะไร เพราะศรัทธาเวลามันเกิดขึ้นแล้วต้องรีบทำ ถ้าศรัทธาไม่เกิดขึ้นมันจะเกิดความสงสัย มันจะเกิดโต้แย้ง จริงหรือเปล่า ดีหรือเปล่าต่างๆ แล้วมันทำให้เราไม่อยากทำ

ถ้าเธอพอใจที่ไหน ทำบุญที่นั่น ถ้าเธอพอใจที่ไหน ทีนี้จิตใจของคนมีสูงมีต่ำ บางคนก็ชอบความสะดวกสบาย บางคนก็ชอบที่อำนวยความสะดวก บางคนก็ชอบที่มันเป็นธรรมชาติ บางคนก็ชอบที่มันเป็นข้อเท็จจริง บางคนก็ชอบที่ว่ามีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ นี่ความชอบของคนมันไม่เหมือนกัน

ฉะนั้น ถ้าไปวัดไหนแล้วถ้าเราศรัทธาในพระพุทธศาสนา เราอยากไปวัดนั้น เราก็ต้องปรับตัวเราเข้าวัดนั้น เพราะหลวงปู่ฝั้นท่านบอกว่า เวลาไปวัด ไปวัดใจของตัว ไปวัดใจไง ไปวัดว่าใจของเราจะกระเพื่อมมากน้อยแค่ไหน ใจของเรามีความเข้มข้นแค่ไหน ถ้าไปที่ไหนแล้วมันเป็นประโยชน์ๆ ไปวัดเพื่อไปขัดเกลากิเลสของเรา ถ้ามันเป็นประโยชน์ สิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์

ถ้าไปวัดแล้วมันไปส่งเสริมกิเลสไง ไปวัดแล้ว ทำอะไรสิ่งใดก็ต้องเชิดหน้าชูตากันไป ไปไหนแล้วก็ต้องมี ไอ้อย่างนั้นมันไปเพื่อเสริมกิเลส ถ้าเสริมกิเลส เราไปวัดไม่ใช่ไปเสริมกิเลสนี่ ไปวัดเพื่อไปชำระล้างกิเลส แล้วมันก็สำคัญว่าเป็นผู้นำ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ใครเข้ามาในวัดนะ แม้แต่มีอยู่คราวหนึ่ง มันเป็นสัทธิวิหาริกของพระสารีบุตร เวลาไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะไปศึกษาธรรมกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถาม ถามพระว่า นั้นเขามีเรื่องอะไรกัน

เวลาเขาจะมาเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่มาแล้วเขาจัดที่อยู่ที่อาศัยกัน เสียงมันดังมาก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามว่า นั่นเขาทำอะไรกัน เหมือนชาวประมงเขาหาปลากัน ให้ไล่ออกเลยนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยไล่พระออกจากวัดเลย ถ้าไม่สำรวมระวัง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไล่ออก

พอไปไล่ออก พอไล่ไปแล้วนะ พอไล่ไปแล้วเทวดามาเลย ตอนกลางคืนเทวดามาว่า พระใหม่ที่เขาจะมาเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะมาศึกษาข้อวัตรปฏิบัติ เขาเป็นพระใหม่ เขาบวชใหม่ เขาไม่รู้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด่วนไล่เขาไป มันไม่เกิดประโยชน์ ก็เลยให้พระไปตามกลับมา พอให้พระไปตามกลับมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการว่ามันสมควรไม่สมควร ไปวัด นี่เป็นสถานที่อยู่ของผู้ทรงศีล

พอผู้ทรงศีลแล้วไปส่งเสียงดัง พระนี่ พระไปส่งเสียงดัง พระเป็นสัทธิวิหาริกของพระสารีบุตรด้วย จะมาเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้พระไล่ออกไป ไล่ออกไปเลย ไล่ออกไป ทีนี้เพียงแต่เทวดาเขารู้เขาเห็นของเขา เขาก็มาเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บอกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำอย่างนี้ไม่ถูก เพราะอะไร เพราะว่าผู้ที่เขามาเข้ามานี้เขามาใหม่ เขามาใหม่เขายังไม่รู้กติกา ไม่รู้สิ่งใด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ให้พระไปตามกลับมา แล้วเทศน์สอน เทศน์สอนจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ นี้อยู่ในพระไตรปิฎก

ฉะนั้น สิ่งที่เราไปวัดๆ ถ้ามันไปวัดใจ ไปสิ่งต่างๆ มันก็จะเป็นประโยชน์ ถ้าเป็นประโยชน์มันก็เป็นความจริง ถ้ามันไม่เป็นประโยชน์มันก็ไม่เป็นประโยชน์กับใครเลย ถ้ามันไม่เป็นประโยชน์นะ ถ้าไม่เป็นประโยชน์แล้วทุกคนจะทนรับสภาพอย่างนี้ แล้วมันจะพัฒนาอะไรดีขึ้นล่ะ

ฉะนั้น มาที่คำถาม “๑. ถ้ามีเด็ก ขณะที่หลวงพ่อเทศน์ ให้นำเด็กออกไปนอกศาลา”

ทำไมถึงทำอย่างนั้นล่ะ ทำอย่างนั้นเพราะเวลาเทศน์นะ เทศน์กรรมฐาน เทศน์จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง เทศน์จากความรู้สึกเลย แล้วมันจะเข้าสู่ความรู้สึกที่จะมาฟังเทศน์ ฉะนั้น คนที่มาวัด คนที่เขาอยากไปฟังเทศน์ ฟังเทศน์ที่เป็นพระป่า พระป่าเทศน์ออกมาจากใจ พระป่าเทศน์ออกมาจากใจ ธรรมะมันจะเข้าสู่ใจผู้ที่เปิดรับ

ฉะนั้น สิ่งที่เทศน์อย่างนี้ เวลาครูบาอาจารย์ หลวงปู่มั่นก็เหมือนกัน หลวงปู่มั่นเวลาท่านเทศน์นะ หลวงตาท่านเล่าให้ฟัง บอกว่าถ้าพระมา หลวงปู่มั่นท่านเทศน์เองเลย แต่ถ้าเป็นพวกโยมมา ท่านจะให้หลวงตา หลวงตาท่านเป็นมหา บอก “มหาจัดการ” เพราะอะไร เพราะโยมที่เขามาวัด เขาก็แค่ระดับของบุญของทาน ระดับของบุญ บุญกุศล แต่ถ้าเป็นพระ พระต้องการอริยสัจ อริยสัจคืออะไร ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์มันอยู่ที่ไหน สมุทัยมันคืออะไร นิโรธๆ อะไรมันดับทุกข์ แล้วมรรคมันอยู่ที่ไหน

เวลาถ้าพูดถึงพระมาฟังเทศน์ หลวงปู่มั่นท่านเทศน์น้ำไหลไฟดับเลย หลวงปู่มั่นเวลาท่านเทศน์เรื่องอริยสัจ เทศน์เรื่องปฏิบัติน้ำไหลไฟดับ แต่ถ้าเทศน์เรื่องบุญกุศลนะ เรื่องระดับทานนะ เงอะๆ งะๆ จนหลวงตาท่านถามหลวงปู่มั่น ทำไมเป็นแบบนั้นล่ะ ทำไมเวลาเทศน์เรื่องอริยสัจ เทศน์เรื่องพระ ๓ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมง หลวงปู่มั่นท่านเทศน์น้ำไหลไฟดับเลย

ท่านบอกว่า ไอ้นี่เป็นของถนัด มันเป็นปลาในสุ่ม ปลาในสุ่ม หมายถึงว่า มันเป็นเรื่องในหัวใจ

หัวใจหัวใจหนึ่งมันมีอวิชชา หัวใจหัวใจหนึ่งมีแต่ความทุกข์ แล้วเวลาเทศน์ถึงการทุกข์ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ทุกข์ดับ วิธีการดับทุกข์ มันถนัดมาก พระที่ปฏิบัติมา พระที่ปฏิบัติมาด้วยหัวใจมันถนัดมาก แต่ถ้าเทศน์เรื่องทานนะ เขาว่าปลานอกสุ่ม หลวงปู่มั่นท่านบอกว่าเป็นปลานอกสุ่ม ถ้าปลาในสุ่ม เอาสุ่มครอบไว้ แล้วจับปลาในสุ่มมันง่าย เพราะมันมีสุ่ม มันมีอริยสัจ แต่ปลานอกสุ่มมันเป็นทะเล เป็นแม่น้ำลำคลอง ปลามันกระจายไปทั่ว ถ้าเรื่องของทานมันเป็นอย่างนั้น ท่านบอกว่าท่านไม่ถนัด ท่านไม่ถนัด ท่านให้หลวงตาท่านเทศน์ หลวงตาท่านบอกถ้ามีโยมมา หลวงปู่มั่นบอก “มหาจัดการ” ท่านเข้ากุฏิเลย แต่ถ้าเป็นพระมา ท่านจัดการหมด

ทีนี้เขาบอกว่า “ถ้ามีเด็กมา ขณะที่หลวงพ่อจะเทศน์ ให้นำเด็กออกไปนอกศาลา ออกนอกศาลา”

คนที่ตั้งใจ คนที่ตั้งใจมาวัด คนที่ตั้งใจเขาก็มาแล้วเขาได้สิ่งใดสะเทือนใจเขา เวลาถ้าเทศน์ วันไหนเทศน์ดีๆ นะ เราเห็นของเราเอง เวลาเทศน์ดีๆ บางคนน้ำตาไหล นั่งบนศาลานี่แหละ บางคนน้ำตาไหลเลย บางคนขนลุกขนพองเลย เพราะอะไรล่ะ เพราะเครื่องรับเขาดี หัวใจของเขา เขาต้องการธรรมะ เขาต้องการธรรมะ ฉะนั้น เวลาจะฟังเทศน์มันต้องให้เครื่องรับเครื่องส่งมันเข้าถึงกัน แล้วมันมีคลื่น คลื่นที่เข้ามาคอยกระแทกให้เครื่องรับนั้นมันรับคลื่นนั้นไม่ได้ มันเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษ มันเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษ

เด็ก เวลาถ้ามีเด็ก หลวงพ่อจะเทศน์ ให้เด็กออกนอกศาลาไปก่อน เพราะเด็กมันควบคุมตัวเองไม่ได้ เอาเด็กมาวัดนี่สมควรไหม ดีไหม? ดี ดีมากๆ เลย เพราะอะไร เพราะสายบุญสายกรรมระหว่างพ่อแม่กับลูก พ่อแม่คนไหนไม่รักลูก เป็นไปไม่ได้หรอก แล้วพ่อแม่คนไหนก็อยากให้ลูกเป็นคนดี ถ้าลูกเป็นคนดี ลูกจะดี ดีที่ไหน? ดีที่หัวใจ ถ้าลูกดีที่หัวใจ หัวใจที่มันจะดีขึ้นมา มันต้องมีเครื่องอะไรที่เข้าไปเกลี้ยกล่อมให้หัวใจนั้นเป็นหัวใจที่ดี ก็มีศีลธรรม ศีลธรรมมันอยู่ที่ไหน ศีลธรรมมันอยู่ที่วัด ถ้าศีลธรรมอยู่ที่วัด เราพาลูกเราไปวัด ไปวัดเพราะอะไร เพราะเด็กมันยังเข้าใจไม่ได้ ให้เด็กเข้าไปได้ซึมซับศีลธรรม ข้อวัตรปฏิบัติ ให้ไปรู้ไปเห็น แต่ขณะที่จะฟังเทศน์ ฟังเทศน์ เครื่องรับ ผู้ใหญ่เขามีทุกข์ในหัวใจ ฉะนั้น สิ่งที่ผู้ใหญ่มีทุกข์ในหัวใจ มันต้องมีอริยสัจเข้าไปสู่หัวใจนั้น

ฉะนั้น เราเอาลูกมา มาซึมซับประเพณีวัฒนธรรม แต่ขณะที่หลวงพ่อจะแสดงธรรม เราควรเอาเด็กของเราออกนอกสถานที่นั้นไป เพราะขณะที่ว่าเครื่องรับ เวลาหลวงพ่อจะแสดงธรรมเหมือนเครื่องส่ง แล้วเครื่องรับเขารับอยู่ แล้วมีคลื่นเสียงของลูกเราไปกวนเขา มันเป็นบุญหรือเป็นบาป มันเป็นความดีหรือความเลว

ถ้าในเมื่อเรามาวัด เรามาเพื่อความดี แล้วเพื่อความดีแล้ว สิ่งใดที่มันจะเป็นความดีกับลูกของเรา เราเอาลูกของเราออกจากศาลาไปชั่วครู่ชั่วยาม มันมีความเสียหายตรงไหน มันเป็นเรื่องความดีกับความดีส่งเสริมกัน ถ้าเราไปวัดนะ ลูกของเรา เราไปวัดเพื่อซึมซับวัฒนธรรมประเพณี แต่หัวใจของผู้ใหญ่ หัวใจผู้ที่เขาต้องการธรรม เขามีความเร่าร้อนในหัวใจ เขาต้องการธรรมของเขา เราควรให้หัวใจที่เขามาฟังธรรมควรได้รับธรรมะของเขาด้วยความเต็มเม็ดเต็มหน่วยของเขา

ลูกของเรามันเป็นคลื่น เสียงของลูกของเรามันจะไปกระทบกระเทือนกับเสียงของครูบาอาจารย์ ไปกระทบกระเทือนเครื่องรับที่มีความไวของจิตมันรับเสียงนั้นอยู่ แล้วเสียงของลูกเราไปกระเทือนไอ้คลื่นนั้นน่ะ มันเป็นบุญหรือเป็นบาป แล้วถ้าเราเอาลูกของเราออกไปจากศาลาเพื่อให้เวลาแค่นั้นมันเป็นประโยชน์ เพราะวัดเป็นที่สาธารณะ

บ้าน วัด โรงเรียน บวร วัด ถ้าวัดเป็นที่สาธารณะ มันเป็นที่ของทุกๆ ดวงใจที่มาได้สิทธิประโยชน์ที่จะมาเอาผลประโยชน์กับสิทธิของใจดวงนั้น ใจของผู้ใหญ่ที่เขามาฟังธรรม ใจของเขาพร้อม เขาต้องการฟังธรรม ธรรมโอสถ คนไข้ คนไข้เวลาเขาเป็นเอดส์เป็นต่างๆ เขาต้องการยา ยาเพื่อรักษาไข้นั้นให้หาย

นี่ก็เหมือนกัน จิตใจของคนมันมีทุกข์ในหัวใจ คนที่เขามีทุกข์มียากของเขาอยู่ เขาก็อยากฟังธรรมให้มันกระเทือนหัวใจนั้น ให้มันสลัด ให้มันเขย่า เขย่าให้ความทุกข์ความยากนั้นออกไปจากใจ ฉะนั้น จิตใจที่เขาพร้อมมา เขาต้องการสิ่งนั้น แล้วเราเอาลูกของเรามา เราก็ต้องการประโยชน์กับลูกของเรา แล้วประโยชน์มันขัดแย้งกัน แค่ที่เราจะหลบหลีกกัน มันเป็นประโยชน์หรือมันเป็นโทษ

“แต่เราไปวัดทั่วๆ ไป ไปวัดทั่วๆ ไป ลูกเราจะส่งเสียงดังก็ได้ เขาจะเปิดเครื่องเสียงดังขนาดไหนก็ได้ พระเขาก็เทศน์ของเขาไป เขาไม่เห็นเดือดร้อนเหมือนหลวงพ่อเลย ทำไมหลวงพ่อเดือดร้อน จะเทศน์สักทีทำไมมันเดือดร้อนกันไปหมดเลย ทำไมมันวุ่นวายขนาดนี้หลวงพ่อ”

มันวุ่นวายเพราะหัวใจของคนมันวุ่นวาย หัวใจของสัตว์โลกมันทุกข์ยากนัก แล้วธรรมโอสถที่มันจะเข้าถึงใจนั้นมันหาได้ยากนัก แล้วจิตใจที่เขาทุกข์เขายากมา เขาต้องการ เขาต้องการความจริงเข้าสู่ใจดวงนั้น แต่เวลาเขาไปวัดไปวาทั่วไป เขาเปิดเครื่องเสียงดังตลอดไป เขาจะมีมหรสพสมโภช เขาจะมีรถวิ่งไปวิ่งมา เขาจะมี อันนั้นเขาอ่านหนังสือ เขาอ่านหนังสือนะ เขาพูดอย่างไรเขาก็พูดได้ ลองให้เขาพูดสิ

เวลาเขามีการประชุม รถวิ่งผ่านไป เขายังไม่อยากให้รถเข้าไปใกล้เลย แล้วกรณีอย่างนั้นมันเป็นวัดตลาด ถ้าวัดตลาด ถ้าเราจะไปวัดตลาด เราก็ควรไปวัดตลาด แล้วมันไม่ต้องมาพูดเรื่องเด็กเลย จะไปบีบแตรที่หน้าศาลาเขายังไม่ว่าเลย วันหลังเอาเด็กไปนะ ไปวัดที่เราพอใจ แล้วไปจอดที่หน้าศาลา แล้วก็เปิดเครื่องเสียงเข้าไปในนั้น แล้วลูกเราก็เล่น โอ๋ย! สนุกครึกครื้น มันก็ได้ มันก็ได้ไง อยู่ที่เราจะเลือกไง

ฉะนั้น ถ้าเอาเด็กไปวัด ขณะที่หลวงพ่อเทศน์ ทำไมต้องเอาเด็กไปนอกศาลา

เอาไปนอกศาลา เพราะหัวใจของคนมันมีคุณค่า หัวใจของคน พุทธะ พุทธะในร่างมนุษย์ทุกร่างมี ๑ พุทธะ พุทธะนี้มีค่าเสมอกัน แล้วพุทธะนี้กำลังจะต้องการธรรมโอสถ ต้องการสัจธรรม ฉะนั้น มันมีคุณค่าที่นี่ไง มันมีคุณค่าขณะที่จะเทศน์แค่นั้นแหละ วันๆ หนึ่งหลวงพ่อเทศน์ไม่กี่เวลา ถ้าเทศน์เช้าก็ ๑๐ กว่านาที ถ้าตอบปัญหา เทศน์บนศาลาก็เป็นชั่วโมง เทศน์พระ เวลาที่เทศน์ต้องการความสงบ ต้องการความสงัด เพราะมันเป็นเวลาเข้าด้ายเข้าเข็ม มันเป็นเวลาที่ออกศึก ขณะเวลาที่จะออกศึก เข้าด้ายเข้าเข็ม ต้องให้มันได้ผลประโยชน์มากที่สุด

ฉะนั้น เด็ก เวลาออกไปนอกศาลา เด็กจะได้บุญด้วย เด็กจะได้บุญเพราะเด็กไม่ไปกวนใคร เด็กไม่ไปทำร้ายจิตใจของใคร พ่อแม่ที่เอาลูกมาวัดก็อยากให้ลูกเราเป็นลูกที่ดี แล้วลูกที่ดี จิตใจคนที่จิตใจเขาทุกข์ยาก เขาอยากฟังธรรมของเขาด้วยคลื่นความรู้สึกของเขา แล้วลูกของเราไปกระเทือนเขา เรามาวัดเราก็อยากได้บุญ แล้วเราไปกระทบกระเทือนกันทำไม

แล้วเรามีจิตใจที่เป็นสาธารณะ เพราะเราเอาลูกมา ประโยชน์ของลูกก็ประโยชน์ของเราด้วย เราได้มาทำบุญแล้ว แล้วเราเอาลูกของเราออกจากนอกศาลาไป เพื่อให้หมอรักษาคนไข้ เพื่อให้คนไข้กับหมอเขาตรวจโรคกัน เขาดูแลรักษากัน ไม่ควรให้ลูกเราเข้าไปทำให้หมอนั้นจะรักษาไข้นั้นด้วยความรับผิดชอบหลายๆ แง่มุม มันทำให้ไม่ชัดเจน แค่นี้ มันเป็นประโยชน์ไปหมด ถ้าคนเข้าใจถึงประโยชน์ไง

แต่ถ้าเราไม่เข้าใจประโยชน์ เราก็ตีโพยตีพายไง “โอ้โฮ! เอาเด็กมาวัดวุ่นวายไปหมดเลย แหม! ต้องเอาเข้าเอาออก โอ๋ย! ทำไมมันยุ่งขนาดนี้ ไปวัดอื่นดีกว่า”

สาธุ! ไปเลย เชิญตามสบาย ที่ไหนที่เขาชอบ ที่เขาชอบเด็กๆ ที่เขาชอบคลุกคลี เชิญเลย ไม่ได้จ้างมา ไม่ได้เอารถไปรับมาด้วย ไม่เคยโฆษณาชวนเชื่อให้มา ไม่ได้ขอร้องให้มา ไม่ได้ขอร้องเลย เชิญเลย เชิญที่ตัวเองพอใจ ที่ไหนที่ดี เชิญที่นั่นครับ ขอเชิญ

“๒. วันนั้นพี่เขาแจ้งว่าหลวงพ่อจะเทศน์หลังจากฉันเช้า ถ้าใครไม่ฟังเทศน์ให้กลับได้เลย ทำไมต้องรีบขนาดนั้นด้วยครับ”

เวลาของคนมันมีน้อย เวลาของคนมีน้อย แล้วเวลาของคนมีน้อย คนที่เขามีธุระ เขาว่าในปัจจุบันนี้โลกธุรกิจ โลกธุรกิจ เวลาเป็นเงินเป็นทอง เวลานี่เป็นเงินเป็นทองนะ เป็นชั่วโมงนะ จ้างเป็นชั่วโมง จ้างเป็นวินาทีเลยล่ะ เวลาเป็นเงินเป็นทอง

ฉะนั้น เวลาเป็นเงินเป็นทอง เวลาพวกโยมมาตอนเช้า ตอนเช้าเราเทศน์เลย เราเทศน์ ทุกคนขยับไม่ได้ เพราะทำบุญแล้วต้องคอยรับพร เทศน์นั้นเพื่อให้เขาได้ประโยชน์ตรงนั้นของเขากลับไป เพราะอะไร เวลาทำบุญ บุญก็คือบุญนะ แต่ถ้าหูตามันสว่างนะ ฟังเทศน์เข้าไปแล้ว แล้วมันเข้าใจสิ่งใดนะ หูตามันสว่างโพลงของมัน ถ้าตาสว่างโพลงของมัน นั่นล่ะมีคุณค่าที่สุด

แล้วทำไม ถ้าใครไม่ฟังเทศน์ ทำไมต้องรีบกลับด้วยล่ะ

ตอนเช้าเราเทศน์ก่อนเลย เทศน์เสร็จแล้วนะ เวลาเป็นเงินเป็นทอง ทุกคนต้องรีบกลับบ้าน ทุกคนต้องมีหน้าที่การงาน ให้เขากลับไป แล้วใครที่จะอยู่ต่อ จะตอบปัญหา เวลาต่อไปเราจะตอบปัญหา ตอบปัญหา ถ้าใครมีปัญหาขึ้นมา เขาจะรอฟัง นี่เขาจะรอฟัง

คนที่จะรีบกลับ เพราะเวลาเป็นเงินเป็นทองของเขา เขาจะรีบกลับของเขา ก็ให้เขากลับไป ทีนี้เวลาจะกลับไปก็ร่ำลากัน สั่งเสียกัน แล้วไอ้คนที่เขาจะรอฟังเทศน์ต่อไปล่ะ

มันควรรีบไป ถ้าจะอยู่ก็อยู่เสีย ถ้าจะกลับก็กลับเสีย มันก็เท่านั้นน่ะ

นี่ไง ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ควรส่งเสริมคนที่ควรส่งเสริม ควรกดคนที่ควรกด คนพาลนี่ต้องกดมัน คนพาล อย่าให้เข้ามาใกล้ ไอ้บัณฑิตเราต้องส่งเสริมมัน คนไหนเป็นบัณฑิต คนไหนเป็นคนดี ต้องส่งเสริมคนนั้น คนไหนเป็นคนที่เห็นแก่ตัว คนไหนเป็นคนที่ทำลายคนอื่น คนคนนั้นต้องบังคับเขาไว้

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจะกลับก็กลับ จะอยู่ก็อยู่ มันก็ง่ายๆ ไม่มีอะไรเลย อ้าว! ถ้าจะรีบกลับใช่ไหม ตัวเองก็ต้องรีบกลับก็กลับเสีย เขาจะได้มีกิจกรรมต่อไป กิจกรรมที่เขาจะต่อไป เขาก็รอ รอให้คนอื่นกลับก่อน ไอ้กิจกรรมเขาจะมีต่อไป ไอ้คนที่จะกลับก็เอ้อระเหย “หูย! อุตส่าห์มา มาจากกรุงเทพฯ ๑๐๐ กว่ากิโล เสียเวลามาทั้งวันเลย ก็อยากจะผ่อนคลาย อยากจะผ่อนคลายแล้ว ทางวัดจะมีอะไรทำก็เชิญทำทางวัดไป ทำไมจะต้องมาไล่กันขนาดนี้ล่ะ”

ทางวัดเขาจะมีกิจกรรมต่อไป เสียงคุย เสียงร่ำลา มันก็ไม่พ้นขึ้นไปบนศาลา เวลาเสียงเด็กกระทบกระเทือนก็กระเทือน แต่นี่เขาจะมีกิจกรรมต่อไป เรากลับก็ควรกลับ ของแค่นี้นะ ถ้าคนเราใฝ่ดีด้วยกัน บัณฑิตด้วยกันนะ อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา ถ้าเราเป็นบัณฑิต บัณฑิตเขามีเหตุมีผล เหตุผลเขาสมบูรณ์ ถ้าเหตุผลเขาไม่สมบูรณ์ วัดเขาไม่ทำอย่างนั้นหรอก

วัดเป็นที่อยู่ของใคร เป็นที่อยู่ของสมณะ สมณะ สมณะที่เขาจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เขาไม่มีเหตุมีผลเลยหรือ ที่เขาให้อยู่ให้ไป เขาไม่มีเหตุมีผลเลยใช่ไหม เวลาเขาให้ไป เขาไล่เราแบบไม่มีเหตุมีผลอะไรเลยหรือ

เขาไม่ได้ไล่ ในเมื่อคนจะไปก็ควรไป คนจะอยู่ก็ควรอยู่ ในเมื่อคนควรจะไปแต่ไม่ไป แล้วไอ้คนควรจะอยู่ เขาจะอยู่เพื่อประโยชน์ต่อไป ไอ้คนควรจะไปก็มาค้ำคอเขาอยู่ แล้วมันจะรีบหรือไม่รีบล่ะ เวลาจะอยู่ก็บอกเวลาเป็นเงินเป็นทอง ฉันไม่มีเวลา ฉันจะรีบกลับ เวลาจะให้กลับ ทีนี้ให้กลับก็ว่าทำไมต้องรีบกลับ

ก็เอ็งจะกลับก็กลับไปสิ ก็จะกลับแล้วจะอยู่ทำไมล่ะ ก็จะกลับ เวลาจะกลับก็จะอยู่ เวลาจะอยู่ก็อยากจะกลับ เห็นไหม ดูกิเลสสิ คนที่ปฏิบัติไม่ได้เพราะเหตุนี้ เวลาอยากปฏิบัติอยากนัก เวลามาปฏิบัติจริงๆ ปฏิบัติไม่ได้

กิเลสนี้ร้ายนัก เวลาจะอยู่หรือ เขาจะฟังธรรมกันอยู่ “โอ๋ย! ไม่ได้ หลวงพ่อพูดแต่เรื่องธรรมะ เราอยากจะร่ำอยากจะรวย อยากจะบอกวิชาชีพของเรา อยากอย่างนั้น เออ! ถ้าบอกเลยว่า ถ้ารวยขนาดไหน อย่างไรได้ เราก็จะอยู่ แต่หลวงพ่อไม่ได้บอกเลย บอกให้ละ ให้วาง ให้ปล่อย ให้วาง ว้าว! กลับดีกว่า” แล้วไอ้จะกลับหรือก็อยากจะอยู่ ไอ้อยากจะอยู่หรือก็อยากจะกลับ กิเลสเป็นแบบนี้ ก้ำๆ กึ่งๆ ไม่มีอะไรจริงจังสักอย่าง

บารมีธรรมของคนนะ ถ้าบารมีธรรมของคน

๑. ซื่อสัตย์สุจริต

๒. ตรงต่อเวลา

สังเกตได้ ครูบาอาจารย์เราที่สิ้นจากทุกข์ไปจะเป็นคนตรงต่อเวลามาก พูดคำไหนคำนั้น เวลาหลวงตาท่านชมหลวงปู่ขาวว่าหลวงปู่ขาวจิตใจซื่อสัตย์ กัดเพชรขาด เพชรนี่เคี้ยวกินได้เลย บอกเลยนะ เวลาจะออกจากปฏิบัติ ออกมาปฏิบัติ เวลาบวชแล้ว จะร่ำลาญาติโยมไปปฏิบัติ ญาติโยมบอกไปทำไม เป็นพระเป็นเจ้าอยู่วัดก็สุขสบายดีแล้วอยู่นี่ ไปทุกข์ไปยากทำไม

ในใจหลวงปู่ขาวบอกเลย ตั้งสัจจะเลยนะ “ตั้งแต่ก้าวเท้าออกจากวัดนี้ไป ถ้าไม่ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์จะไม่หันหน้ากลับมา”

เพราะอะไร เพราะทุกคนยับยั้ง ทุกคนไม่ให้ไป ทุกคนปิดกั้นหมดเลย หลวงปู่ขาวท่านตั้งสัจจะในใจของท่าน นี่หลวงตาท่านเล่าให้ฟัง เริ่มต้นตั้งแต่ก้าวขาออกจากวัดนี้ไป จะไม่หันหน้ากลับมาถ้าไม่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วท่านก็ออกของท่านไป แสวงหาของท่านไป ไปกับหลวงปู่แหวน ไปหาหลวงปู่มั่นที่เชียงใหม่ หลวงปู่มั่นฝึกหัดจนท่านได้ของท่าน ท่านเป็นความจริงของท่าน

ถ้าคนที่จะมีบารมีธรรมมันต้องมีสัจจะ มีเหตุมีผล พูดแล้วเด็ดขาด ไม่มีเหลาะแหละ ได้หน้าลืมหลัง ได้หลังลืมหน้า จะไปก็ไม่ไป ไอ้ไม่ไปก็จะอยู่ ไอ้จะอยู่ก็จะไป ไอ้จะปฏิบัติแล้วก็อยากจะเลิก ไอ้อยากจะเลิกก็อยากจะปฏิบัติ ครึ่งๆ กลางๆ พวกนี้ปฏิบัติลุ่มๆ ดอนๆ

คนจริงกับคนจริงไง แล้ววัดปฏิบัติมันเป็นวัดที่จริงจัง แล้วเรามา เรามาวัดของเขา เราต้องจริงจังตามเขา ไอ้นี่มาวัดจริงจังตามเขา “โอ้โฮ! ทำไมต้องไล่กันขนาดนั้น ทำไมต้องรีบกันขนาดนั้น”

ก็เขามีกิจกรรม ก็เขายังจะแสดงธรรม แล้วเรามาครึ่งๆ กลางๆ อยู่ มันเป็นประโยชน์อะไร ก็ไหนบอกไง บอกมาวัดแล้วมันดี ชื่นใจมาก วัดนี้ดีมาก มาแล้วเลื่อมใสในศาสนา แล้วทำไมกิเลสในหัวใจมันคันขนาดนี้ล่ะ ถ้ามันเลื่อมใสในศาสนา ศาสนาเขาทำอะไรกันล่ะ แล้วเราจะมาขวางอยู่อย่างนี้มันจะเป็นธรรมได้อย่างไรล่ะ ให้มันเป็นความจริงสิ

เพราะถามมาให้พูด วันนี้พูดเต็มที่เลยว่าเหตุใดมันเป็นแบบนี้ เหตุใดมันเป็นอย่างไร นี่พูดถึงข้อที่ ๒

“๓. เห็นแจ้งเรื่องปิดโทรศัพท์ แต่เวลาพี่เขาพูด จิตผมไปยุ่งกับพี่เขาเองครับ รู้สึกว่าพี่เขาไม่สำรวมกายและวาจา เป็นไปได้ไหมครับ แทนที่จะให้มาเดินบอก ทางวัดมีระเบียบปฏิบัติอย่างใดก็ปิดประกาศบอกไปเลยครับ ให้ผู้มาใหม่ ผู้มาเก่าจะได้เข้าใจตรงกันครับ”

แล้วจริงไหมครับ ถ้าเขียนแล้วจะทำจริงหรือเปล่าครับ ถ้ามันเขียนแล้วทำจริง กฎหมายเขียนออกมาแล้ว เมืองไทยจะต้องไม่มีโจรสิ เห็นโจรเต็มประเทศไทย ธรรมาภิบาลๆ ทุกคนจะปราบคอร์รัปชั่น แล้วมันเลิกคอร์รัปชั่นกันหมดหรือยัง ประเทศไทยไม่มีคอร์รัปชั่นเลยเพราะมันจะธรรมาภิบาลกัน ประกาศแล้วประกาศอีกไง รัฐบาลออกมาว่าจะปราบคอร์รัปชั่น จะธรรมาภิบาล จะโปร่งใส จะสะอาดบริสุทธิ์ แล้วมันสะอาดไหมล่ะ มันสะอาดหรือเปล่า

นี่ก็เหมือนกัน บอกว่า ปิดประกาศสิ

เรานี่เป็นคนไม่ปิดเอง เพราะเรารับไม่ได้ เราบอกสังคมเสื่อม มันถึงต้องประกาศกัน แล้วประกาศนะ ทุกวัดปิดโทรศัพท์ ห้ามใช้โทรศัพท์ แล้วมันก็เปิดใช้กันทั้งวัน ในวัดก็เปิดใช้กันหมด มันก็เขียนไว้ ฉะนั้น สิ่งที่ปิดประกาศคือสังคม กฎหมายมันบังคับใช้ไม่ได้ พอกฎหมายบังคับใช้ไม่ได้ การปิดประกาศ วัดอื่นทั่วไป นี่ไง ที่บอกว่าไปวัดไหนก็ได้ที่เขาเชิดชู เขาส่งเสริม วัดไหนพอใจไปวัดนั้น แล้วไปดูสิ เขาปิดประกาศทุกวัด สถานที่ราชการ หรือโรงพยาบาลติดประกาศหมด ห้ามใช้โทรศัพท์ ให้ปิดโทรศัพท์ แล้วมันปิดจริงไหม

๑. ไม่ปิดนะ

๒. ทุเรศด้วย

เราเทศน์อยู่บางที มันเปิดแว็บๆ แว็บๆ ขึ้นมา มันทุเรศ มันทุเรศเพราะอะไรรู้ไหม มันทุเรศเพราะมันเป็นมารยาทสังคม เราเข้าไปในสังคมใด เราก็รู้แล้วว่าสังคมใดควรและไม่ควร ถ้าไม่ควร มันก็ควรจะปิดโทรศัพท์ไปแล้ว แต่นี่เปิดไว้นะ พอเปิด ไม่เปิดเปล่านะ พอโทรศัพท์ดังขึ้นมา แหม! เอากระมิดกระเมี้ยนนะ โอ๋ย! พูดแอ๊ก แหม! เท่ห์ เท่ห์มาก ดูสิ ทุกคนเขาไม่มีโทรศัพท์ ฉันโทรศัพท์ดังอยู่คนเดียว ฉันเป็นคนที่มีศักยภาพ

กิเลส ไม่รู้จักกิเลสคนหรอก กิเลสคนมันอยากดังอยากใหญ่ อยากนั่งอยู่บนหัวคน วันใดถ้าโทรศัพท์ของมันดังขึ้นมา มันจะควักโทรศัพท์มันขึ้นมา แล้วทำพูดกระมิดกระเมี้ยนว่ามันมารยาทไม่ควรไง แต่ก็ยังอยากจะอวดเขา ทำพูดกระซิบกระซับๆ...กระซิบกระซับอะไรมันดังคับศาลา

เราเจอเหตุการณ์นี้บ่อย แล้วเหตุการณ์นี้นะ เวลาเทศน์ เทศน์มันกำลังแบบว่า หลวงตาบอกว่า ในเมื่อธรรมะมันกำลังเดินอยู่ กำลังดีมากเลย แล้วเวลามันมีเสียงกระทบ มันก็ต้องเริ่มต้นใหม่ เสียงนั้นจะจบไป สิ่งที่ธรรมะมันไหลออกมามันจะจบไป แล้วก็ต้องตั้งต้นใหม่

ไอ้คนที่เปิดโทรศัพท์แล้วโทรศัพท์ดังขึ้นมา มันควรจะสำนึกว่าความผิดของมัน มันไม่สำนึก มันเอาขึ้นมาพูดนะ แล้วทำเป็นพูดกระมิดกระเมี้ยนด้วยนะ กระมิดกระเมี้ยน แต่เสียงดังคับศาลา เราเจอปัญหานี้ เราเจอบ่อยมาก แล้วเวลาเราพูดออกไปก็ว่า “หลวงพ่อนี่ดุ หลวงพ่อนี่ดุ”

เอ็งเหยียบย่ำหัวใจคนทั้งศาลา เอ็งไม่ได้คิดเลยหรือ เอ็งนะ เอ็งให้โทรศัพท์เอ็งดังขึ้นมา แล้วคนทั้งศาลาเขาตั้งใจฟังธรรมอยู่นี่ เอ็งว่าคนที่เขาตั้งใจฟังธรรมอยู่นี่ หัวใจของเขาไม่มีค่าเลยใช่ไหม คนทั้งศาลาไม่ใช่คนใช่ไหม มันเป็นคนเฉพาะคนที่รับโทรศัพท์อยู่คนเดียวนั้นหรือ คนที่กำลังคุยโทรศัพท์อยู่ คนคนนั้นเป็นเทวดาที่อยู่บนหัวใจ อยู่เหนือหัวใจของคนทั้งศาลาใช่ไหม ทำไมคิดไม่เป็น ทำไมไม่คิด

แล้วเวลาพูดไป เพราะอะไร เพราะเราด่าอย่างนี้ไปเยอะมาก เราด่าอย่างนี้มันก็เหมือนกับพี่เขาที่เขาบอกว่าทำไมต้องปิดโทรศัพท์ด้วยล่ะ

เขาบอกเพราะไอ้คนหน้าด้านมันเยอะไง ไอ้คนหน้าด้านหน้าทนมันเยอะ ฉะนั้น ไอ้คนหน้าด้านหน้าทนเยอะ เขาบอก เขาบอกต่อหน้า ถ้ามันบอกต่อหน้าก็ความผิดซึ่งหน้า ดูสิ ถ้าไม่บอกซึ่งหน้า มันก็หน้าด้านหน้าทนของมันไป แล้วถ้ามันหน้าด้านหน้าทน “หลวงพ่อ ถ้าวัดหลวงพ่อดีจริง ทำไมไม่ปิดประกาศล่ะ”

ก็เขาปิดประกาศกันทั่วประเทศไทย แล้วมันได้ผลไหมล่ะ ก็เขาปิดประกาศกันทั่วประเทศไทย วัดหลวงพ่อเลยไม่ปิดไง ไม่ปิด แต่เราใช้คนพูดไง เพราะคนพูดเขามีจิตใจเขาดี จิตใจเขาเป็นคนวัด จิตใจเขาเป็นคนวัด เขามีสิ่งใด เขาเป็นคนรับหน้า เขาเป็นคนคอยบอกคอยเตือน เขาเป็นคนคอยบอกคอยเตือน

“ด้วยการเขาไม่สำรวมกาย ไม่สำรวมวาจา”

แล้วสำรวมนี่ยืนเป็นท่อนไม้แล้วค่อยพูดใช่ไหม คนพูดมันก็กิริยาของคน โดยมารยาท เวลาทานข้าว เขาไม่ให้ถ่ายภาพ เพราะการอ้าปาก เอาข้าวเข้าปาก เวลาทานข้าว เขาไม่ให้ถ่ายภาพนะ เพราะมันเสียมารยาท

กิริยาของการพูด เวลาเทศน์เขาจะบอกว่า “อู๋ย! ต้องเทศน์ให้นุ่มนวล กิริยาต้องนุ่มนวล ต้องมีมารยาท”

อันนั้นให้เขาพูดไปเถอะ แต่ของเราจะเป็นอย่างนี้ เราพูดภาษาเรานี่แหละ พูดก็คือพูดไง มันจะมีมารยาทอะไรอีกล่ะ มันจะมีความนุ่มนวลมาจากไหน นุ่มนวลก็นุ่มนวล นั่นมารยาทสังคมที่เขาฝึกไว้ กิเลสมันเป็นแบบนั้นแหละ กิเลสมันจะให้สิ่งนั้นมาบังเงา แล้วเวลามันเผาลนหัวใจมันก็เผาในใจ มันจะเป็นอะไรไป

นี่ไง บอกว่า “พี่เขาบอกให้ปิดโทรศัพท์ เพราะว่าหลวงพ่อจะเทศน์”

อ้าว! ก็เพราะคนหน้าด้านมันเยอะ คนที่มานี่คนหน้าด้านมันเยอะ เวลาคนหน้าด้านมันเยอะ มันก็ไม่ปิดของมัน เวลาไม่ปิดแล้วมันดังขึ้นมาก็ทำกระมิดกระเมี้ยน แล้วอย่างนี้มันก็ลูบหน้าปะจมูก วันๆ ก็เป็นอย่างนี้ เดี๋ยวใครมาก็ “ไม่เป็นไร ก็ครั้งแรกในชีวิต ก็แค่หนเดียว แหม! จะฆ่าจะแกงกันเชียวหรือ แหม! ก็ผิดพลาดแค่หนเดียว หลวงพ่อจะฆ่าจะแกงหรือ”

แต่มันมีผิดเยอะ เดี๋ยวคนนู้นก็ผิดที คนนี้ก็ผิดที แล้วเวลาผิด เวลาเข้าด้ายเข้าเข็มนะ เวลามันจะได้จะเสียกัน เวลาจะฟังเทศน์ วันไหนถ้าเทศน์ดีๆ ทุกคนก็รู้ ถ้าวันไหนเทศน์ดีๆ ทุกคนมันก็ได้ผลประโยชน์ คือจิตใจมันก็รื่นเริง เพราะมันได้ฟังธรรม แต่วันไหนถ้าเทศน์ไม่ดี หัวใจคนเทศน์มันไม่ดี ออกมามันก็ไม่ดี มันก็จืดชืด แต่ถ้าวันไหนถ้าเทศน์ดีๆ นะ ออกมาจากใจ ออกมาจากส่วนลึกเลย แล้วไอ้คนที่ฟังมันก็ฟังได้เต็มที่เลย

นี่ไง ที่หลวงตาท่านบอกเลย ในพระปฏิบัติ สิ่งสำคัญที่สุดคือการฟังเทศน์ เพราะฟังเทศน์ ก็ใจที่เป็นธรรมไง พระไตรปิฎกนะ พระไตรปิฎก ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีชีวิตอยู่นะ พระไตรปิฎกสดๆ ร้อนๆ ออกมาจากใจองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันสดกว่านี้เยอะ แต่นี้เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมไว้ แล้วเราก็จำกันไว้ พอจำกันไว้ เราก็มาจารึกกันไว้ พอจารึกกันไว้ มันก็เป็นทฤษฎี แต่เวลาเทศน์สดๆ ออกมาจากใจมันแตกต่างกัน นี่เวลาเขาฟังธรรมๆ เขาฟังกันตรงนั้นไง

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า ระเบียบปฏิบัติของวัด ทำไมไม่ปิดประกาศไว้

ปิดประกาศไว้มันก็หน้าด้าน ปิดประกาศไว้ เราเพียงแต่พูดว่าปิดประกาศไว้ เราจะได้รู้เสมอกัน แล้วมันทำจริงไหมล่ะ แล้วถ้าเอาคนมาพูด เอาคนมาบอกต่อหน้า ดูซิ มันจะหน้าด้านมากน้อยแค่ไหน มันจะหน้าด้านไหม แล้วมันเป็นการตอกย้ำ เป็นการตอกย้ำกันต่อหน้าว่าสิ่งนี้ผิด ไม่ต้องมากระมิดกระเมี้ยนกันอีก เวลามันกระมิดกระเมี้ยนกัน แหม! เราเห็นแล้วมันสังเวชมาก สังเวชนะ

ถ้าคนเขามีมารยาท เวลาโทรศัพท์มันดังขึ้นมาก็กดดับไปเลย แล้วถ้ามันจะมีคุณค่ามากน้อยแค่ไหน ประเดี๋ยวเสร็จแล้ว เทศน์จบแล้วเราไปข้างนอก ไปเปิดดู เราก็แก้ไขทัน แต่ขณะที่เขาเทศน์ ทำไมรับโทรศัพท์ล่ะ พูดแจ้วๆๆ เลยนะ แต่ทำกระมิดกระเมี้ยนนะ กระมิดกระเมี้ยนว่าฉันรู้ไงว่าผิด แต่ฉันก็จะพูด เออ! มันมีคุณค่าขนาดนั้นเชียวหรือ เจอปัญหานี้เจอเยอะมาก เจอเยอะมาก

มันเป็นความรู้สึกของคน คนที่เขามีความรู้สึก คนที่เขามีมารยาท คนที่จิตใจเขาเป็นธรรม เขาเสียสละได้ เราเสียสละเวลาของเรา เราอยู่บ้าน อยู่กรุงเทพฯ นะ อยู่ต่างจังหวัด เราอุตส่าห์เสียสละเวลา เราตั้งใจจะไปทำบุญ เราก็อุตส่าห์แสวงหาปัจจัย แสวงหาปัจจัย ๔ เพื่อจะไปทำบุญ เราเสียสละเวลาขับรถขับรากันมาเป็นหลายๆ ร้อยกิโล แล้วเวลามารับโทรศัพท์ ไอ้แค่ ๕ นาที ๑๐ นาที เราไปรับทีหลังไม่ได้หรือ

ถ้าคนมันคิดเสียสละ เราเสียสละมามากกว่านั้นนะ เราเสียสละจากบ้านจากเรือนมา เราเสียสละทรัพย์สมบัติเรามา แล้วเราเสียสละมาเพื่อทำบุญกุศลของเรา แล้วเวลาเราจะฟังเทศน์ฟังธรรม เทศน์สำคัญที่สุดเลย เห็นไหม ให้ธรรมเป็นทานชนะซึ่งการให้ทั้งปวง ให้ธรรมเป็นทาน ให้วิชาการ ให้ความรู้คนนี่เลิศที่สุด แล้วเวลามาถึงวัดแล้วเขาให้ธรรมเป็นทานเพื่อให้คนที่มาทำบุญได้รับธรรมอันนี้เพื่อเข้าถึงหัวใจอันนี้ นี่มาวัดเขามาเพื่อเหตุนี้

ทำบุญก็ทำบุญอยู่แล้ว แต่มาฟังธรรมขึ้นมา มันเป็นโอกาสไง พอเป็นโอกาส มันได้ธรรมกลับฝังใจไป กลับไปบ้านไปอุ่น ไปคิดขึ้นมา มันก็ยังได้สิ่งที่เป็นประโยชน์นะ เวลาเราทุกข์เราร้อนขึ้นมา เรานึกสิ่งนี้ขึ้นมา มันก็ยังอบอุ่นหัวใจ มันก็ยังมีช่องทางไป นี่มันเป็นประโยชน์ไปกับเขา แล้วมันเป็นประโยชน์ตรงนี้ไง ฉะนั้น เราถึงเปิดเข้ามา

ฉะนั้น ถึงบอกว่า “ทำไมไม่ปิดประกาศ จะได้รู้ตรงกัน”

ปิดประกาศเขาปิดประกาศกันทั่วประเทศไทย คำว่า “ปิดประกาศ” เราจะบอกเหมือนกฎหมาย กฎหมายเขียนแล้วว่าห้ามทำชั่ว ห้ามคอร์รัปชั่น ห้ามคดห้ามโกง ห้ามทั้งนั้นแหละ แต่มันก็ทำกันทั้งนั้นแหละ มันทำ นี่พูดถึงมันเป็นเรื่องของสังคมนะ ฉะนั้น สิ่งที่คิดก็ส่วนที่คิดไป แต่ผู้ที่เขาจะรักษา เขาจะรักษาของเขาไป เขาจะรักษาวัดไว้

เวลาหลวงตาท่านสอนของท่านไว้ เราอยู่กับท่านสมัยที่ยังไม่ออกมาสังคม ท่านบอกว่าท่านไม่ค่อยตื่นเต้นไปกับใคร เพราะโดยทั่วไปแล้ววัดก็จะเป็นวัดทั่วไป วัดคือวัดที่จะเอาใจญาติโยม เอาใจญาติโยมเพราะกลัวญาติโยมจะไม่เข้าวัด

ทีนี้คำว่า “กลัวญาติโยมไม่เข้าวัด” เข้ามาทำไมล่ะ เพราะวัดเป็นที่อยู่ของผู้ทรงศีล ที่อยู่ของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ฉะนั้น สิ่งที่หลวงตาท่านรักษาของท่านไว้ แล้วมีคนมีความเห็นผิดก็จะบอกว่าวัดนี้แปลกประหลาด ไม่เหมือนวัดอื่น ท่านพูดเองที่วัดป่าบ้านตาดนะ แล้วท่านก็บอกว่า เราไม่ตื่นเต้นไปกับอะไรทั้งสิ้น เพราะท่านบอกว่าท่านไม่ได้คิดขึ้นมาเอง ท่านทำตามหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านอยู่ในป่าในเขา เวลาใครจะเข้าไปทำบุญ ท่านจะให้รีบทำแล้วรีบกลับ ไม่ให้มาคลุกคลีอยู่ในวัด แล้วหลวงตาท่านบอกว่าท่านทำตามครูบาอาจารย์ ท่านไม่ได้คิดของท่านขึ้นมาเอง ท่านถึงไม่หวั่นไหวใดๆ ทั้งสิ้น

ฉะนั้น เมื่อก่อนใครไปใครมา ถ้าผิดเวลา ไม่ให้เข้า ถ้าใครเข้ามาต้องอยู่ในกติกาหมด เพราะคนที่อยู่ในวัดเขาต้องการความสงบสงัดของเขา ฉะนั้น ท่านบอกว่า เปรียบวัดนี้เหมือนกับบึง เหมือนกับสระน้ำ ฉะนั้น ใครเข้ามา สัญญาอารมณ์ของเขาก็เหมือนกับมูตรกับคูถ จะมาขี้มาเยี่ยวอยู่ในสระน้ำนั้น แล้วใครเขาหิวเขากระหายมา เขาต้องการดื่มน้ำ พอมาเจอขี้เจอเยี่ยวลอยอยู่บนน้ำ เขากินไม่ลงหรอก

วัดทั่วไป ทำไมไม่ปิดประกาศไว้ เขาก็ปิดประกาศกันทั่ว แล้วก็อึกทึกครึกโครม มีทุกอย่างพร้อมหมดเลย ไอ้คนที่เขาทุกข์เขายากมา เขาไปเห็นแล้วเขาก็ไม่พอใจ วัดของเรา เราก็ปิดของเราไว้ ไม่ให้ใครมาขี้มาเยี่ยว ไม่ให้ใครมาเอามูตรเอาคูถมาลงในสระในบึงนี้ แล้วรักษาของเราไว้ รักษาของเราไว้ แล้วใครมาใครจะดื่ม ใครหิวกระหายมาก็ตักดื่มเอา แต่ใครมาแล้วบอกว่าเขาไม่หิวกระหาย เขามีเหล้ามีเบียร์ของเขาที่ดีกว่านี้ ก็ไปกินของเขา เรื่องโลกไม่เกี่ยว ไอ้น้ำใสน้ำสะอาดนี้ ถ้าเอ็งจะไม่กินก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าใครจะดื่มจะกิน เขาก็ต้องรักษาของเขาไว้ เขาก็รักษาไว้เพื่อประโยชน์กับคนคนนั้น เพื่อประโยชน์กับคนที่เขาต้องการดื่มน้ำสะอาดนี้

ฉะนั้น สิ่งที่ปิดประกาศๆ เขาปิดประกาศกันทั่ว แต่เขารักษาสระน้ำของเขากันไม่ได้ ฉะนั้น เวลาบอกว่าวัดนี้ไม่ปิดประกาศ

ก็เขาปิดประกาศกันทั่ว เขายังรักษากันไม่ได้ เราไม่ต้องปิดประกาศหรอก เราจะบอกให้โยมที่เขาเป็นคนบอก เขาเป็นคนที่คอยบอกว่าให้ปิดโทรศัพท์ เราจะรักษากันแบบนี้ รักษาแบบมีเวรมียามเฝ้า รักษากันแบบคนคอยบอกซึ่งๆ หน้า ถ้าเขาผิด ให้ผิดกันซึ่งๆ หน้า

เพราะมันเกิดเหตุการณ์ซ้ำๆ ซากๆ บ่อยมาก เรื่องเด็ก บางคนไม่เข้าใจ มาใหม่ๆ นะ พ่อแม่ที่มีลูกคนแรก มีอะไรต่างๆ เขาก็รักลูกของเขา เขาก็ไม่อยากให้ลูกของเขาไปตากแดดตากฝน ไปตากอะไรข้างนอก เขาก็อยากอยู่ในศาลา แต่ไอ้คนที่มาเก่าๆ นะ เด็กๆ เวลามันมา มันฝึกฝนมันนะ มันซึมซับวัฒนธรรมประเพณี

ไอ้ดีน่า ลูกหลานเด็กๆ ถึงเวลาเราจะเทศน์นะ “แม่ไปหรือยัง” เด็กมันรู้เวลานะ ถึงเวลามันออกไปเอง พอเทศน์เสร็จ มันกลับมาเอง กินข้าวเอง เสร็จแล้วมันก็มารับของแจกเอง มันมีวัฒนธรรมอะไรของมัน มันชื่นใจของมัน

ไอ้นี่พ่อแม่คิดไปเองไง ลูกเราไปข้างนอกก็ไม่ได้ ต้องอยู่ในที่ร่ม ลูกเราจะอะไรก็ไม่ได้ อย่างนี้ก็ไม่ได้ อย่างนั้นก็ไม่ได้ ก็อยู่ในห้องแอร์ที่บ้านก็จบ อยู่ที่บ้านก็ห้องแอร์อยู่แล้ว เราออกมาตากแดดตากฝนทำไม

แต่เราออกไปเราต้องเผชิญกับความเป็นจริงของโลก เราอยู่กับโลกความเป็นจริงนะ โลกนี้มันจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ลูกของเราจะโตมาเป็นผู้ใหญ่ ลูกของเราโตไปข้างหน้า เขาจะเป็นพ่อคนแม่คน เขาจะต้องรับผิดชอบ เขาต้องรู้กาลเทศะ รู้ความจริง อะไรควรไม่ควร แล้วเราก็เหมือนกัน สิ่งที่เขาเป็นแล้วนะ เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องปกติเรื่องธรรมดา

กรณีอย่างนี้มันเป็นกรณีของวุฒิภาวะ ใจที่คนสูง ใจที่คนไปวัดป่า มันเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องสิ่งที่ดี แต่ไอ้พวกที่มารยาทสังคม ไอ้เคยไปแต่วัดเจ้าฟ้าเจ้าคุณ ไอ้เคยไปแต่วัดที่ช่อฟ้าสูงๆ ใหญ่ๆ ไปถึงแล้วเขาก็ต้องมีมารยาท เขาต้องตั้งแถวรับ เขาต้องเชิญไปนั่งอย่างดิบอย่างดี ขอเชิญ ขอเชิญตามสบาย

ที่นี่พระป่า วัดป่า ใครมาวัดนี้แล้วมีสิทธิเสมอภาคเท่ากัน คนมีค่าเท่าคน เด็กมีค่าเท่าเด็ก ฉะนั้น คนมีค่าเท่าคน ต้องทำเหมือนกัน ต้องมีคนบอกเหมือนกัน เพราะว่าเวลามาเป็นผู้ดีทั้งนั้นแหละ แต่เวลาเขาทำ เขาทำออกมา โทรศัพท์ดังเขาก็รับ ผู้ดีทำไมเขาทำกันแบบนั้น

ฉะนั้น คนของเราจะคอยบอกคอยซ้ำ คอยบอก เราเป็นคนสั่งเอง ถ้าผิด ไม่มีใครผิด พระสงบเป็นคนผิด เพราะเราเป็นเจ้าอาวาสวัดนี้ เราเป็นคนคุมที่นี่ เราเป็นคนบอกให้ทำแบบนี้ ไม่ต้องไปติใครทั้งสิ้น ถ้าในวัดนี้มีดีมีชั่ว คนพูดนี้เป็นคนผิด เราเป็นคนผิด เราเป็นคนรับผิดชอบ ถ้าจะด่าก็ต้องด่าพระสงบ อย่าไปด่าใคร เพราะวัดนี้เราเป็นคนตั้งกติกานี้ขึ้นมาเอง เราเป็นคนวางกติกานี้ขึ้นมาเอง แล้วเราเป็นคนรับผิดชอบเอง ถ้าผิดก็คือพระสงบผิด เอวัง

;