ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

แค่พิธี

๗ ก.ค. ๒๕๕๖

 

แค่พิธี
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ข้อ ๑๓๕๒. เรื่อง “การอุทิศบุญกุศลแก่ผู้ล่วงลับ”

กราบนมัสการหลวงพ่อ ที่รบกวนถามในเรื่องที่ไม่ใช่การภาวนาครับ คือกระผมมีความสงสัยเกี่ยวกับบุญกุศลที่อุทิศให้ญาติที่ตาย โดยวิธีการฝังและการเผาครับ กล่าวคือ ถ้าทำพิธีฝัง จิตวิญญาณนั้นจะอยู่ที่ตรงนั้นไปไหนไม่ได้ ไม่สามารถมารับบุญที่เราอุทิศให้ได้ ได้รับแต่ของที่เราไปไหว้ตอนเทศกาลเท่านั้นหรือเปล่าครับ แต่ถ้าพิธีเผาลอยอังคาร จิตวิญญาณนั้นจะมีอิสระรับบุญของเราได้ตลอด ขอความกรุณาหลวงพ่อให้ความเข้าใจด้วยครับ

ตอบ : เห็นไหม ไม่เป็นเรื่องเลยเนาะ แต่เป็นเรื่อง ไม่เป็นเรื่องเลย เพราะเรื่องมันคือพิธีเผาศพหรือฝังศพ ทีนี้เพียงแต่ว่ามันเป็นวัฒนธรรม ที่เขาฝัง ที่เขาฝังอย่างที่สมัยที่ศาสนายังมาไม่ถึง สมัยโบราณเขาฝังกันมา ถือผีถือสาง เขาก็ฝังของเขา ทีนี้พอพระพุทธศาสนามา พระพุทธศาสนามา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะนิพพาน จะนิพพานนะ พระอานนท์ถามเลย “ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพานไปแล้วจะทำอย่างไร”

“ทำแบบกษัตริย์”

“กษัตริย์เขาทำอย่างไร”

“เขาใช้น้ำมัน ใช้น้ำมันแล้วพันด้วยผ้าขาว แล้วทาด้วยน้ำมัน พันด้วยผ้าขาวถึง ๗ หน แล้ววางบนรางเหล็ก วางบนรางเหล็กเผา ใช้น้ำมันเผา”

“แล้วให้ทำอย่างไร”

ถามตลอดนะ พระอานนท์ถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอด เพราะพระอานนท์วิตกกังวลมากว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว สรีระขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทำอย่างไร จะทำอย่างไร

มันเป็นวัฒนธรรมไง เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เผา เผาไปแล้ว ทีนี้พระพุทธศาสนาให้เผา เพราะเผาไปแล้วมันเป็นการหมดเรื่องที่จะวิตกกังวลกันไป

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาสอนพระนะ ธรรมวินัยๆ ธรรมวินัยเพื่ออะไรล่ะ ก็เพื่อเป็นศีล มันเป็นรั้วบ้าน เป็นกรอบ ไม่ให้จิตใจมันส่งออก ไม่ให้จิตใจมันเพ่นพ่าน ให้มันมีศีลระงับไว้ ทีนี้ศีลมันก็เป็นข้อบังคับ แต่เวลาใจมีข้อบังคับ มันฟังไหม? มันไม่ฟัง แต่ท่านก็พยายามทำเป็นแบบอย่างไง

ฉะนั้น วิธีการเผาศพก็เหมือนกัน ถ้าพระพุทธศาสนาเขาเผา ถ้าเผาแล้ว ความกังวลต่างๆ มันจบสิ้นกันไป แล้วถ้าฝังล่ะ ถ้าฝังนะ ถ้าถือผีถือสาง เขาก็ฝังของเขา ถ้าเขาฝัง แล้วลัทธิอื่นเขาฝังของเขา ฝังทำไม ฝังไว้รอพิพากษาข้างหน้า

มันพิพากษากันที่ไหนล่ะ มันไม่มีหรอก เพราะในพระพุทธศาสนานะ เวลาตายแล้วจิตออกจากร่างก็จบแล้ว ทีนี้พอจบแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฉันอาหารของนางสุชาดาแล้วถึงซึ่งกิเลสนิพพาน เพราะกิเลสมันไม่มีแล้ว กิเลสไม่มี จิตนั้นเวลาจิตสะอาดบริสุทธิ์ มันก็ไม่ใช่ธรรมธาตุ ธรรมธาตุมันไม่มี ธรรมธาตุไม่มี มีเหมือนไม่มี ไม่มีเหมือนมี นั่นคือนิพพาน มันไม่มีอยู่แล้ว ไม่มีอยู่แล้ว มันไม่มีความกังวลใดๆ ทั้งสิ้น มันไม่มีอะไรแล้ว นี่พูดถึงว่าสอุปาทิเสสนิพพาน ผู้ที่สิ้นกิเลสแล้วนะ แต่มันเหลือเศษส่วน เศษส่วนคือร่างกาย

ร่างกาย เวลาพระอรหันต์สมัยพุทธกาลเวลาเสียชีวิต องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคนไปเผาเองนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเผาให้เองเลย พวกนี้เป็นพระอรหันต์ เผาให้เลย เผาให้เลย ไม่ให้เก็บไว้ให้มันเป็นบาปเป็นกรรมต่อใคร ทีนี้เป็นบาปเป็นกรรมต่อใคร เวลาเผาแล้ว เวลาเผา นี่ถ้าเผาแล้ว เวลาตาย จิตออกจากร่างไปก็จบแล้ว จะฝังหรือจะเผานี่จบแล้วแหละ

ทีนี้เพียงแต่ว่า บอกว่า ถ้าไปฝังแล้ว จิตวิญญาณหยุดอยู่ที่นั่น มันไม่ไปไหน

เรื่องอย่างนี้มันเป็นเรื่องเวรเรื่องกรรม เรื่องแอ็กซิเดนต์ แอ็กซิเดนต์มันมีบ้าง แอ็กซิเดนต์มันมีบางกรณี โดยธรรมชาติ จิตออกจากร่างไปมันไม่มีเว้นวรรค มันเสวยภพเสวยชาติแล้ว เป็นสัมภเวสี ตกนรกอเวจี ไปสวรรค์ กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ มันไปแล้วไม่มีเว้นวรรคหรอก มันจะไปอยู่ที่ซากศพนั้น มันจะไปเฝ้าอยู่ที่นั่น ไม่มีหรอก ไม่มี ไม่มีแล้วทำไมเวลาพวกไสยศาสตร์มีล่ะ ทำไมพวกไสยศาสตร์ถือผีถือสางเขามีของเขาล่ะ

จิตวิญญาณมีอยู่ทุกอณู หลวงปู่ดูลย์บอกนะ ในปรมาณูหนึ่งมีจิตอยู่ ๘ ดวง จิตมันมีอยู่ทุกที่ จิตวิญญาณของคนมันซ้อนอยู่เต็มไปหมดนะ ที่แสวงหาที่เกิด แสวงหาที่เกิด สิ่งนั้น แล้วคนที่ตายไปเป็นอย่างนั้นไหม มันเป็นอย่างนั้นไหม ถ้ามันไม่เป็นอย่างนั้น เวลาจิตออกจากร่างนี้ไปมันเสวยภพเสวยชาติไปแล้ว เสวยภพเสวยชาติไปแล้ว

ทีนี้การที่อุทิศส่วนกุศล ที่ว่า ถ้าคนที่ฝังแล้วนะ เขาจะมารับได้ตอนที่เราไปไหว้ในเทศกาลเท่านั้น แต่เวลาเผาแล้วเขาเป็นอิสระ เขาจะมารับของเราได้ตลอดไปจริงหรือ อ้าว! เวลาเผาไปแล้วจะมารับได้ตลอดไปหรือ ถ้าเขาเกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหมไปแล้วเขาจะมารับเราไหม เขาตกนรกอเวจี เขาจะมารับเราไหม

เวลาอุทิศส่วนกุศล อุทิศส่วนกุศลให้เปรต ที่ว่า ในพระไตรปิฎกว่ามีเปรตชนิดหนึ่งที่รับส่วนบุญส่วนกุศลได้ นอกนั้นรับไม่ได้ รับไม่ได้เพราะอะไรล่ะ

จะรับได้หรือรับไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่เราอุทิศส่วนกุศล เป็นเจตนาที่ดี เวลาเราทำบุญนะ เราทำบุญเพื่อเรา เราทำบุญ เราทำกุศล อุทิศส่วนกุศล ปู่ย่าตายาย อุทิศเจาะจงไปหมดเลย ถ้าเขาตกทุกข์ได้ยาก ถ้าเขารับสิ่งนี้ได้ก็เป็นบุญกุศลของเขา

แล้วถ้าสิ่งที่เราเสียสละไป เราเสียสละตั้งแต่พวกสัมภเวสีที่เขาทุกข์เขายาก เราเสียสละไป สพฺเพ สตฺตา สัตว์ทั้งหลาย ไม่ใช่ว่าเจาะจงก็เจาะจงแต่ญาติพี่น้องของเรา แต่ถ้าเป็นสัตว์ที่มันตกทุกข์ได้ยาก ถ้าเขารับส่วนบุญส่วนกุศลนั้น ถ้าเขารับได้ เขามีจังหวะได้ ก็อุทิศส่วนกุศลให้เขา เพราะวัฏฏะ จิตนี้เวียนตายเวียนเกิด ถ้าเวียนตายเวียนเกิด สิ่งนี้ที่ว่าเวลาเขาถือผีถือสาง บอกมีจิตวิญญาณอยู่ที่นั่น มีอยู่ที่นั่น

พระพุทธศาสนาไม่ได้เชื่ออย่างนั้นเลย ยิ่งถ้าเป็นพระโสดาบันนะ ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องตลกเลยล่ะ ถ้าเป็นพระโสดาบันนะ พระโสดาบันเชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เชื่อในอริยสัจ ไม่เชื่อเรื่องอย่างนี้หรอก เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องของวัฏฏะ เขาถือผีถือสางกันเขาถึงเชื่อ เพราะพระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้เชื่อเรื่องอย่างนี้ พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้เชื่อเรื่องอย่างนั้น

พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้เชื่ออย่างนั้น ทีนี้พระพุทธศาสนาสอน อทาสิ เม อกาสิ เม เวลาเขาไปสวดงานศพ แต่ก่อนตั้งแต่โบราณกาลมา คนยังโง่เขลาอยู่ ก็บูชาภูเขา บูชาพระอาทิตย์ พระจันทร์ บูชาไฟ แต่บัดนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้แจ้งโลกนอกและโลกใน เวลามีญาติพี่น้องของเราเสียไป อย่าร้องไห้ อย่าคร่ำครวญ อย่าเสียใจ เรื่องนี้มันเป็นเรื่องสัจจะความจริง ให้ทำคุณงามความดีแล้วอุทิศส่วนกุศลให้ถึงกัน ให้หัวใจนึกถึงกัน หัวใจกับหัวใจมันถึงกัน เราเป็นมนุษย์ เราก็มีหัวใจ เขาไปเกิดเป็นภูตผีปีศาจเขาก็มีหัวใจ เขาไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เขาก็มีหัวใจ เพราะหัวใจเป็นผู้ไปเกิด เขามีหัวใจ

ทีนี้หัวใจเรา เราคิดถึงกันนะ เราคิดถึงพ่อถึงแม่ถึงปู่ถึงย่าถึงยายของเรา มันเสียหายตรงไหน ไม่เสียหายหรอก เราคิดแล้ว เราคิดแล้วเขาบอกคนเราจะเจริญได้ต้องรู้จักชาติตระกูลของตัว ชาติตระกูลของตัวมาจากไหน แล้วมาจากไหนนะ เราจะดำเนินชีวิตของเราต่อไปอย่างใด ใครรู้ประวัติศาสตร์ชาติตระกูลของตัว มันจะมีจุดยืนของเรา ถ้าคนไม่รู้จักชาติตระกูลของเรา ก็มีเราคนเดียวไง เราเกิดมาจากกระบอกไม้ไผ่ไง เราไม่มีที่มาที่ไปเลยไง เราก็ไม่มีชาติไม่มีตระกูลอะไรของเราเลยหรือ

ฉะนั้น อุทิศส่วนกุศลมันคิดแบบนี้ ในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าสอนแบบนี้ สอนว่า เรามีชาติมีตระกูล พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก พ่อแม่ของเราเป็นพระอรหันต์ของเรา พ่อแม่ของเราให้ชีวิตของเรามา แล้วถ้าเรามีครอบมีครัวล่ะ เราก็มีลูกมีเต้าของเราไป สายบุญสายกรรมมันมีอย่างนี้ พระพุทธเจ้าให้เชื่อกรรมๆ เชื่อกรรมเชื่ออย่างนี้ เรามีเวรมีกรรมต่อกัน เราทำคุณงามความดีอุทิศส่วนกุศลให้กัน ไม่เสียหาย

เวลาบวชมาเป็นพระ เขาบริหารทิศๆ ศึกษาแล้ว เป็นทิศ เป็นบัณฑิต บัณฑิต ครูบาอาจารย์เราอยู่เบื้องบน พ่อแม่อยู่เบื้องหน้า หมู่คณะอยู่เบื้องซ้ายเบื้องขวา บริษัทบริวารอยู่เบื้องล่าง เราบริหารทิศของเราอย่างไร พระพุทธเจ้าสอนหมดเลย

แล้วเวลาเผาศพก็เหมือนกัน เวลาพิธีการฝังหรือพิธีการเผา ถ้าเผาไปแล้วมันไม่เป็นภาระไง มันไม่เป็นหน้าที่ ลอยอังคารไปแล้วมันมีแต่นามธรรม มีแต่ความระลึกถึง มีแต่คุณงามความดีของเรา คุณงามความดี เราคิดถึงพ่อแม่ของเรา ไอ้ที่ฝังไว้มันก็เป็นประเพณีวัฒนธรรมของเขาใช่ไหม เทศกาลหนึ่งก็ โอ้โฮ! รถติดกันเป็นแพเลยเนาะ จะไปไหว้ศพ ไปไหว้บรรพชน

อันนี้ก็เป็นความเชื่อนะ เป็นความเชื่อ เป็นวัฒนธรรม เราไม่ได้พูดดูหมิ่นดูแคลนใครนะ วัฒนธรรมของเขา วัฒนธรรมของเขาเป็นพันๆ ปีมา เราก็เคารพ แต่ทีนี้ตามความเชื่อของเราบอกว่า ถ้าฝังอยู่แล้วมันจะไปไหนไม่ได้ มันต้องอยู่ที่นั่น แต่ถ้าเผาแล้วเขาจะมารับส่วนบุญกุศลเราตลอดไป...มันไม่ใช่ทั้ง ๒ ฝ่าย

๒ ฝ่าย หมายความว่า ถ้าเราเผาแล้ว ถ้าไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม ครูบาอาจารย์ หลวงตาท่านบอกเลย ไม่ต้องมาอุทิศให้นะ พร้อมแล้ว พอแล้ว ไม่เอาของใคร หลวงตาไม่เอาของใครหรอก อุทิศไปท่านก็ไม่เอา ท่านไม่รับของใครทั้งสิ้น แล้วอุทิศไหม

เราก็อุทิศกันอยู่ เราก็คิดถึงของเราอยู่ แต่ท่านบอกเอง บอกว่าไม่ต้องๆๆ ไม่ต้องอุทิศให้เรานะ ไม่ต้องมาทำบุญให้เรานะ ไม่ต้องทั้งนั้นเลย แต่เราคิดถึงไหม? คิดถึง เพราะเป็นอาจารย์ของเรา เราก็คิดถึง เราก็อุทิศให้ เพราะเราอุทิศ อยากทำบุญถึงครูบาอาจารย์ อยากทำบุญถึงเวลามรณภาพ เราก็อยากทำบุญกุศล เราระลึกถึงของเรา ผิดตรงไหนล่ะ ระลึกถึงของเราก็เพื่อเราไง

ถ้าหัวใจเราระลึกถึง หัวใจเรามีชาติมีตระกูลไง เรามีจุดยืนของเราไง เราทำเพื่อเราไง เราทำเพื่อเรา อุทิศส่วนกุศล อุทิศให้พ่อแม่ปู่ย่าตายายของเรา แต่ท่านไปเกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหม อู๋ย! สมบัติของท่านดีกว่าเราเยอะเลย สมบัติของท่านละเอียดลึกซึ้งมาก ของเรานี่หยาบๆ เลย ข้าวอย่างนี้เทวดาเขาไม่กินหรอก เขากินอาหารทิพย์ เขาไม่กินข้าวบูดๆ อย่างพวกเรากินหรอก เรากินข้าวบูดๆ กินแกงเขียวหวาน เทวดาเขาไม่กินด้วยหรอก เขากินอาหารทิพย์ แต่เราก็อุทิศให้เขา แล้วมันเสียหายตรงไหนล่ะ

มันดีตรงที่เรามีน้ำใจ มันดี ในพระไตรปิฎกบอกว่าอุทิศไม่ได้ อุทิศไปทำไมกัน อย่างนี้ไม่ใช่ชาวพุทธ อย่างนี้ถือว่าไม่เข้าใจในเรื่องศาสนา...เข้าใจ สิ่งที่รับได้ รับได้ตามความเป็นจริงก็รับได้ สิ่งที่รับไม่ได้ มันเป็นเครื่องแสดงออก เป็นน้ำใจของเรา ทีนี้เป็นน้ำใจของเรา บอกว่า เวลาเผาไปแล้วเขาจะรับได้ตลอด มันก็ไม่จริง เวลาฝังศพไว้แล้ว ถ้ามันต้องอยู่ที่นั่นก็ไม่จริง ไม่จริงหรอก

มันจริงที่ว่าเวลาจิตออกจากร่างไป เขาก็เสวยภพเสวยชาติของเขา แต่จิตวิญญาณที่เรารู้เราเห็น ที่เห็นนิมิตเห็นต่างๆ มันเป็นความจริงอย่างนั้นไหม มันไม่เป็นความจริงอย่างนั้นก็ได้ ถ้าไม่เป็นความจริงนะ ถ้ามันเป็นความจริง คนจะมีสายบุญสายกรรม มี ตระกูลหนึ่งมีพี่น้อง ๓-๔ คน เวลาพ่อแม่เสียไปแล้วจะมาเข้าฝันคนคนเดียว อีก ๓-๔ คนไม่เข้าฝัน

ไอ้ลูกๆ ก็บอกว่าพ่อแม่ลำเอียง ไม่มาเข้าฝันเราเลย ไปเข้าฝันคนคนหนึ่ง ไอ้คนคนนั้นที่เขาเข้าฝัน แสดงว่าพ่อแม่เขาสื่อแล้วเขาได้ผลประโยชน์กับเขา แต่ไอ้ ๓-๔ คนนั้นมันไม่คิดถึงพ่อแม่มันเลย เวลามันไม่เคยทำบุญเลย มันไม่เคยอุทิศส่วนกุศลให้ใครเลย แล้วพ่อแม่จะเข้าฝันทำไมล่ะ เข้าไปแล้วมันก็ไม่ได้ให้อะไรเลย

ตัวเอง เวลาน้อยใจยังคิดว่าไปน้อยใจตัวเอง แต่ไม่ได้คิดพฤติกรรมของตัวเองทำอย่างไรพ่อแม่ถึงไม่มาเข้าฝันเลย

มีบางคนนะ ในตระกูลหนึ่ง คนคนหนึ่งจะฝันถึงพ่อถึงแม่ตลอดเลย อีก ๓-๔ คนไม่เคยฝันถึงพ่อถึงแม่เลย ทำไมไปโทษพ่อแม่ว่าไม่มาเข้าฝันตัว แต่ไม่โทษว่าตัวเองทำดีหรือทำไม่ดี ไม่โทษตัวเองเลย นี่คนคิดเข้าข้างตัวเองหมด นี่พูดถึงว่าความเห็นของเขา

ถ้าความเห็นของเขาอย่างนั้น ที่ว่า “ถึงบุญกุศลของญาติ ถ้าโดยพิธีการฝังและพิธีการเผา ถ้าพิธีการฝัง จิตวิญญาณนั้นจะอยู่ตรงนั้น ไปไหนไม่ได้ ไม่สามารถรับบุญที่อุทิศให้ได้ จะรับได้แต่ตอนที่เราเอาไปไหว้ตอนเทศกาล”

ตอนเทศกาลนะ ดูหน้าเราสิ เวลาเราพูด ต้องให้ดูหน้าเราก่อน เรานี่เจ๊กทั้งขี้เลยล่ะ แล้วบอกเทศกาลไปไหว้ๆ ไหว้ไหม เราเองเราเชื้อจีนนะ พ่อมาจากซัวเถา จีนนอกเลยแหละ แม่เป็นจีนในนี้ นี่จีนทั้งขี้เลยล่ะ ฉะนั้น เวลาพูดถึงพิธีกรรมๆ ตระกูลเราก็ทำอย่างนั้นมา แต่พอเราบวชแล้ว เราปฏิบัติแล้ว เราเห็นเรื่องอย่างนั้นเป็นเรื่องประเพณีวัฒนธรรมของเขา ถ้าจิตใจเขาคิดอย่างนั้นก็เรื่องของเขา เราเคยไปบอก แต่บอกแล้ว ธรรมดา วุฒิภาวะของจิตมันแตกต่างกัน

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าไปไหว้เทศกาลต่างๆ เทศกาลก็คือเทศกาล ของเรานะ ของเราชาวพุทธ เราก็มีเทศกาลสงกรานต์ นี่เป็นประเพณี เทศกาลสงกรานต์ เทศกาลเข้าพรรษาก็เป็นเทศกาลเหมือนกัน แต่เทศกาลเพื่อทำคุณงามความดีไง ไอ้นี่เทศกาลเวลาไปไหว้เคารพศพกันมันก็เป็นเทศกาลของเขา แต่ถ้าพูดถึงข้อเท็จจริง มันเป็นการชุมนุมญาติ มันก็เป็นวัฒนธรรมอันหนึ่ง แต่ถ้าเรื่องเป็นความจริง ไม่เป็นความจริง

ความจริง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่งอยู่โคนต้นโพธิ์องค์เดียว ตรัสรู้อยู่โคนต้นโพธิ์ในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง เราก็เหมือนกัน พวกเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าเราอยู่ที่ไหน จิตเราสงบที่ไหน ความสงบนั้น จิตเราสงบเอง แต่เราเคยสงบที่ไหน เราจะระลึกถึงสถานที่นั้นได้ว่าเราเคยสงบที่ไหน เราเคยชำระกิเลสที่ไหนเป็นขั้นเป็นตอนมา มันจะฝังใจมาก

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เขาถึงคราว เขาไปไหว้ไปอะไรกัน เทศกาลของเขา แล้วเขาบอกจะได้รับตอนนั้น

ไม่หรอก ถ้าเราอุทิศส่วนกุศลของเราตลอดเวลา มันได้ตลอดเวลา การอุทิศส่วนกุศลนะ ทีนี้อุทิศส่วนกุศลมันเป็นสิ่งที่มันเหมือนกับในพระพุทธศาสนาสอนให้เสียสละ สอนให้สังคมมีการเสียสละ ให้อภัยต่อกันต่างๆ สังคมจะร่มเย็น แต่นี่เราเสียสละ ใน ๓ แดนโลกธาตุเลย ตั้งแต่กามภพ รูปภพ อรูปภพเลย ๓ โลกธาตุ มีความสมานสามัคคีกัน โอ๋ย! มันยิ่งมีความสุขใหญ่เลย นี่อุทิศส่วนกุศลเพื่อเหตุนี้

แต่บอกว่า “อุทิศไม่ได้ มันคนละภพคนละชาติ มันคนละสถานะกัน”

อันนั้นมันเป็นข้อเท็จจริง แต่ถ้าใครคิด ใครอุทิศส่วนกุศลได้มากขนาดไหน ค่าของน้ำใจมันแผ่ไป ๓ โลกธาตุ มันกว้างขวาง ระลึกถึงพรหม ระลึกถึงต่างๆ มันเป็นผลของค่าน้ำใจของเรา น้ำใจของผู้ที่อุทิศ ถ้าอุทิศ ใจนี้มันไปได้ มันจินตนาการไปได้หมด มันไปได้ทั่ว ฉะนั้น อุทิศอย่างนี้เพื่อหัวใจของเรา แต่ข้อเท็จจริงว่าอุทิศได้ไม่ได้ นั่นเป็นข้อเท็จจริงระหว่างผลที่ได้ แต่ให้จิตใจเป็นสาธารณะเพื่อประโยชน์กับเรานี้นะ

ฉะนั้น “แต่ถ้าลอยอังคาร เวลาเผาแล้วลอยอังคาร จิตวิญญาณนั้นจะมีอิสระรับบุญของเราได้ตลอด”

เวลาจิตที่เผาแล้วนะ คนที่ทำบาปอกุศล เวลาเผาแล้วนะ เขาตกนรกอเวจี เขาโดนจองจำไว้นะ เขาจะมีอิสระมารับบุญของเราไหม จิตวิญญาณนั้นจะเป็นอิสระรับบุญของเราได้ตลอดเวลา...ถ้าจิตมันมีกรรม มันจะมีอิสระตรงไหน

กมฺมพนฺธุ กมฺมปฏิสรโณ มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมมันครอบงำไว้ มันจะไปรับที่ไหน

พูดถึงเวลาเผานะ เวลาเผาเวลาฝังมันอีกเรื่องหนึ่ง แต่ทีนี้ถ้าพูดถึงว่า เราก็เห็นว่าเผาดีกว่าฝัง เพราะเผาแล้วมันไม่เป็นภาระแล้ว แต่ถ้าฝังไว้ เราจะต้องไปดูไปแล มันเป็นภาระ

แต่ถ้าเราเผาของเรานะ เราเผาแล้ว อย่างสรีระ สรีระมันก็เป็นธาตุ ๔ เผาแล้ว สิ่งที่เหลือก็อุทิศไป ลอยอังคารไป แต่คุณงามความดี ความผูกพันระหว่างญาติพี่น้องมันไม่ขาดสูญไปไหนหรอก มันอยู่กับเรา มันเป็นนามธรรม แต่ถ้าฝังไว้ นั่นเป็นวัฒนธรรมของเขา นั่นเขาฝังไว้ ทีนี้ฝังไว้แล้ว สิ่งที่ว่าเขาฝังไว้ อย่างของเราฝังไว้ก็จบใช่ไหม แต่ลัทธิอื่นเขาฝัง เขาฝังรอคำพิพากษานะ เขาฝังรอฟื้นขึ้นมานะ เห็นไหม ความเห็นของศาสนาอื่นมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ ผู้ที่เรานับถือศาสนาใด เรามีครูบาอาจารย์อย่างไร ต้องคิดถึงตรงนั้น นี่พิธีการฝังหรือเผา มันเป็นแค่พิธีกรรม

ถาม : ข้อ ๑๓๕๓. เรื่อง “เพียงคำเดียว”

(คำถามเนาะ) กราบนมัสการหลวงพ่อ ลูกเริ่มปฏิบัติภาวนามาตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ มีการพัฒนาจิตมาเป็นลำดับ จากพุทโธพร้อมลมหายใจ แล้วเหลือแต่ลมหายใจอย่างเดียว แล้วต่อมาก็ไม่ต้องใช้อะไรเลยก็ได้ (มันเป็นไปของมันเอง ไม่ได้ไปบังคับให้ไม่ใช้นะเจ้าคะ) แต่เดิมลูกก็ไม่เข้าใจ มาเข้าใจตอนฟังเทศน์หลวงพ่อ จิตจะละเอียดขึ้นเรื่อยๆ ลูกก็ เอ๊ะ! มันเป็นอย่างนี้นี่เอง

เมื่อวันที่ ๒๖ ลูกฟังเทศน์เรื่อง “สมาธิเป็นฐาน” วันที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๓ ลูกโหลดธรรมหลวงพ่อฟังตลอด ในเรื่องนี้ก็ฟังมากี่รอบไม่เคยนับเจ้าค่ะ แต่ก็ไม่เคยสะดุดใจ เพิ่งมาสะดุดใจวันนี้เองเจ้าค่ะ หลวงพ่อพูดคำว่า “กำหนดรู้ก็ยังหยาบเลย กลับมา พับ! ใครเป็นคนกำหนด ใครเป็นคนส่งออก แล้วย้อนกลับมันมา”

คำกล่าวอ้างคำเดียวของหลวงพ่อได้สร้างชีวิตเพิ่มพลังจิตของลูกมาแล้วด้วยคำว่า “มีครูบาอาจารย์ที่ดี ตักใส่ช้อนแทบป้อนเข้าปากก็ไม่เอา โง่ตายห่า” (นี่พูดถึงเทศน์เรา เขาว่า คำถาม)

หลวงพ่อโปรดเมตตาป้อนลูกอีกคำ คือย้อนกลับมาแล้วยังมีต่อใช่ไหมคะ คำระลึก ลูกกราบแสดงความกตัญญูด้วยความเคารพ

ตอบ : นี่เขาปฏิบัติแล้วเขาได้ผล เวลาเขาได้ผล เขาก็ยกตูดมา เวลาเขาไม่ได้ผล เขาก็กระทืบซ้ำมา นี่เวลาตอบปัญหาไปนะ

ทีนี้เพียงแต่ว่ามันเป็นประเด็นที่เราจะตอบ ตอบที่ว่า แต่เดิมภาวนามาหลายปีแล้ว แล้วจิตมันละเอียดขึ้น เมื่อก่อนไม่เข้าใจว่ามันละเอียดอย่างไร พอมันอ๋อ! อ๋อ! อย่างนี้เองที่จิตมันละเอียด นี่คนภาวนาจะเป็นแบบนี้

คนภาวนานะ เริ่มต้นภาวนาไปเห็นสิ่งใดมันก็มหัศจรรย์ไปหมด แล้วก็บอกว่าสิ่งนี้เป็นอย่างไร จะให้ต่อยอดขึ้นไปๆ แต่เวลาทำไปแล้วล้มลุกคลุกคลาน แต่ถ้ามันปฏิบัติเข้าไป พอมันปล่อยอันนี้เข้าไป มันละเอียดเข้าไปนะ มันจะรู้ พอรู้แล้วมันจะสังเวชตัวเอง ทำไมเมื่อก่อนเราเซ่อขนาดนั้น ทำไมเมื่อก่อนเราไปทิฏฐิ เรามีความเห็นอย่างนั้น พอมันปล่อยเข้ามานะ ถ้าปล่อย

ถ้าไม่ปล่อยนะ มันจะยึดความเห็นอย่างนั้นแหละ แล้วก็ยืนกระต่ายขาเดียว “หลวงพ่อลำเอียง ครูบาอาจารย์ไม่รักกันจริง อู๋ย! อะไรก็ไม่ใช่ๆ” ถ้ามันยืนกระต่ายขาเดียวนะ มันจะเถียงวันยังค่ำเลย แล้วมันก็ยึดความเห็นมันเป็นที่ตั้ง

แต่ถ้ามันปฏิบัติไปนะ พอมันปล่อยไป ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า เวลาเราเดินทางไกลไปเจอมูตรเจอคูถ เราก็แบกหามมา พอมากัน ๒ คน แบกมูตรแบกคูถมา พอมากลางทางนะ คนนั้นเขาไปเจอเหล็ก เขาทิ้งมูตรทิ้งคูถ เขาแบกเหล็กไป เออ! ไอ้คนที่มันแบกมูตรแบกคูถมา มันบอกแบกมาไกลแล้ว ไม่อยากทิ้ง มันก็แบกของมันไป

พอเดินทางไปอีกนะ ไอ้คนที่แบกเหล็กมามันไปข้างหน้าไปเห็นเงินนะ มันทิ้งเหล็ก มันจะแบกเงินต่อไป ไอ้คนแบกมูตรแบกคูถมาบอก เออ! ยิ่งไกลมากกว่านี้อีก ยิ่งไม่ทิ้งเลย มูตรคูถแบกมาไกลแล้ว เสียดาย แบกต่อไป

ไอ้คนที่พอเดินไปๆ มันแบกเงินมานะ พอไปเจอทอง มันเห็นทอง มันทิ้งเงินเลยนะ มันเอาทองแบกกลับบ้าน ไอ้คนแบกมูตรแบกคูถมาบอก อู๋ย! ยิ่งไกลใหญ่เลย ยิ่งไม่ทิ้งเลย อู๋ย! แบกมานานแล้ว ทิฏฐิมันเกิดนะ

ไปถึงบ้าน ไอ้คนแบกมูตรแบกคูถมานะ มันมีแต่มีมูตรมีคูถไป ภรรยาที่บ้าน โอ๋ย! เอ็ดเลยนะ ทำไมโง่ขนาดนี้ ไอ้คนที่มันแบกทองมา ไปถึงบ้าน แหม! ภรรยาชอบใจ ได้ทองคำ โอ๋ย! มันดีใจใหญ่เลย

นักปฏิบัติเป็นอย่างนั้นทั้งหมด มันแบกทิฏฐิมานะโดยที่มันไม่รู้ตัว เพราะมันไม่รู้ตัว มันถึงแบกทิฏฐิมานะว่ารู้ว่าเห็นอย่างนั้น ว่าปฏิบัติอย่างนั้นเป็นธรรมๆ มันจะแบกของมันอยู่อย่างนั้น แต่ถ้ามันรู้มันจริงนะ มันจะทิ้งมัน ทิ้งมูตรทิ้งคูถมาแบกเหล็ก ทิ้งเหล็กไปแบกเงิน ทิ้งเงินไปแบกทอง เอาทองคำเข้าบ้าน

นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติมา ถ้าจิตละเอียดๆ มันจะเป็นอย่างนั้น ทีนี้ถ้าละเอียดตามความเป็นจริงนะ แต่ที่เราจะพูดมันมีประเด็นหนึ่ง ประเด็นที่ว่า “แต่เดิมกำหนดพุทโธพร้อมลมหายใจ แล้วก็เหลือแต่ลมหายใจอย่างเดียว ต่อมาไม่ต้องใช้อะไรเลยก็ได้”

นี่ประมาทแล้ว ตรงนี้ต้องระวังที่สุด

คนเราเวลาปฏิบัตินะ ปฏิบัติไม่ได้สิ่งใดเลยก็อยากหาที่พึ่ง พอมีที่พึ่งนะ พอมีที่พึ่ง ที่พึ่งมันอยู่ที่ชายตลิ่ง อยู่ที่ตลิ่งนะ มันมีลูกมะพร้าวเกาะมันก็สบายทั้งนั้นแหละ มันออกทะเลใหญ่ไม่ได้หรอก ออกไปทะเล เรือไปเจอพายุ ล่มทั้งนั้นแหละ นี่ก็เหมือนกัน เวลามีลมหายใจเข้าออกนี่ดี๊ดี เมื่อก่อน เดี๋ยวนี้ไม่ต้องอะไรเลย ออกทะเลไป เดี๋ยวเจอไอ้หลามมันกินหมด

เราจะบอกว่า คำบริกรรมและลมหายใจทิ้งไม่ได้ นักปฏิบัติห้ามทิ้ง อย่าทิ้ง หลวงปู่มั่น หลวงตา ท่านสั่งประจำ “อยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธไม่เสีย” จำคำนี้ไว้ให้ดี “อยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธ อย่าทิ้งพุทโธเด็ดขาด นักปฏิบัติห้ามทิ้งพุทโธเด็ดขาด ให้พุทโธชัดๆ ไว้”

เวลาหลวงตาท่านพิจารณาอสุภะนะ เวลาพิจารณาหาสิ่งใดไม่เจอ พิจารณาธาตุ ๔ มันละลายหมดแล้วล่ะ ทำลายไปหมดเลย แล้วหาสิ่งใดก็ไม่ได้ ติดอยู่ ๕ ปี

หลวงปู่มั่นถาม “จิตดีไหม”

“ดีครับ ดีครับ”

“มันดีอะไร มันดีเศษเนื้อติดฟันนั่นน่ะ มันดีอย่างนั้น”

“อ้าว! มันไม่ดีได้อย่างไร นี่มันสัมมาสมาธิ”

“สัมมาสมาธิของพระพุทธเจ้าไม่มีสมุทัย สัมมาสมาธิของท่านมีสมุทัยทั้งนั้น เห็นไหม”

ก็เลยออกค้นหา ค้นหาเจออสุภะ พอเจออสุภะ ทีนี้ใช้ปัญญาไปใหญ่เลย อู้ฮู! อยู่ในสมาธิ สมาธิโง่ตายห่า สมาธิไม่มีประโยชน์อะไรเลย เดี๋ยวนี้ออกใช้ปัญญาแล้ว ปัญญาไปเตลิดเปิดเปิงเลย ขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น บอกว่า “ติดสมาธิก็ติดสมาธินะ ตอนนี้ออกใช้ปัญญาแล้วแหละ ออกใช้ปัญญาจนไม่ได้หลับไม่ได้นอนเลย อู๋ย! ปัญญามันจะเอาเป็นเอาตายเลยน่ะ”

“นั่นน่ะไอ้บ้าสังขาร”

“อ้าว! บ้าได้อย่างไร ถ้ามันไม่บ้า มันไม่ใช้ปัญญามันก็แก้กิเลสไม่ได้น่ะสิ”

“นั่นแหละไอ้บ้าสังขาร”

เอาไม่อยู่ เอาไม่อยู่ ต้องกลับมาพุทโธ พุทโธแบบเด็กฝึกหัดเลย ถ้าไม่พุทโธ มันออกใช้ปัญญาทันที ต้องรั้งไว้ กำหนดพุทโธๆๆ พุทโธแบบฝึกหัดใหม่ พุทโธจนเอาจิตสงบได้ พอจิตสงบได้ มันได้พัก พอได้พัก ท่านบอกเหมือนถอดเสี้ยนถอดหนาม พอได้พัก มันมีกำลัง พอมีกำลัง มันกลับมาใช้ปัญญา คราวนี้ปัญญามันมีศีล มีสมาธิรองรับ มันก็เป็นสัมมาสมาธิ มันก็เป็นภาวนามยปัญญา มันก็เจริญงอกงาม

แต่ใช้ปัญญาจนไม่มีสมาธิรองรับ ท่านบอกว่า “นี่มันจะตายแล้วนะ มันใช้ปัญญาจนไม่ได้นอนเลย โอ๋ย! ปัญญานี่”

“อ้าว! นั่นแหละบ้าสังขาร”

“บ้าอย่างไรล่ะ ถ้าไม่ใช้ปัญญามันก็ชำระกิเลสไม่ได้ มันก็ใช้ปัญญาไง ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาๆ”

ท่านบอกว่า “นั่นแหละไอ้บ้า นั่นแหละไอ้บ้าปัญญา ไอ้บ้า”

“เออ! น่าจะจริง”

พอน่าจะจริง ท่านมากำหนดพุทโธ

เราจะบอกว่า อนาคามิมรรคยังต้องกำหนดพุทโธ นี้คืออนาคามิมรรค ยังไม่เป็นอนาคามิผล แม้แต่อนาคามิมรรคยังต้องกำหนดพุทโธ ฉะนั้น พุทโธอย่าทิ้ง จะขั้นไหนก็แล้วแต่ ถ้าทำแล้วมันไม่สะดวก มันก้าวหน้าไม่ได้ กลับมาที่พุทโธทันที พุทโธนี่แหละมันจะเป็นตัวถอดเสี้ยนถอดหนาม ถอดความเบื่อหน่าย ถอดความละล้าละลัง ถอดความวิตกกังวลในใจ ตัวพุทโธนั่นล่ะจะมาเคลียร์ปัญหาในใจของเราได้ทั้งหมด แล้วถ้ามันมีปัญญาขึ้นมามันจะเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากสมาธิเป็นพื้นฐาน แล้วมันจะเป็นภาวนามยปัญญาที่คมกล้าที่เขาเอาไปชำระกิเลสเป็นชั้นเป็นตอน

ฉะนั้น เวลาปฏิบัติขึ้นไป เริ่มต้นจะเป็นอย่างนี้ “แต่ก่อนกำหนดพุทโธพร้อมลมหายใจเข้าออก ตอนนี้ไม่ต้องใช้อะไรเลยก็ได้”

นี่มันประมาทแล้วล่ะ เพราะไม่ต้องใช้อะไรก็ได้ นักกีฬานะ ถ้าลงแข่งขัน ถ้าเป็นการแข่งขันที่มีกรรมการ กรรมการเป่าปรี๊ดๆ จนเดี๋ยวนี้ฟุตบอลมันต่อยกันทุกวันเลย กรรมการเป่าไม่ถูกใจ ฟุตบอลมันตีกันตลอดเลย กรรมการเป่าไม่ถูกใจไง

นี่ก็เหมือนกัน ลองไม่ต้องกำหนดพุทโธ ลองไม่ต้องกำหนดลมหายใจ ไม่ต้องมีกรรมการ โอ้โฮ! มันเล่นตามสบายใจของมัน ฟุตบอลมันชนะหมด มันจะจับลูกวิ่งเข้าไปวางในประตูฝ่ายตรงข้ามตลอด ใครจะทำอย่างไรไม่สน หนีบลูกได้ วิ่งไปเลย วางแล้ว ๑ ประตู หนีบลูกได้ วิ่งไปเลย ๒ ประตู

ถ้าไม่กำหนดพุทโธ ไม่กำหนดลมหายใจ มันจินตนาการไง มันคิดธรรมะเองไง มันไปของมันเองไง หนทางทำให้เสีย แต่ถ้ามีพุทโธ มันมีกรรมการ ค่าตัวจะกี่หมื่นล้านกี่แสนล้าน กรรมการเป่าจุดโทษได้ทั้งนั้นแหละ มึงจะใหญ่ขนาดไหนมา ปรี๊ด! มึงต้องหยุด มึงต้องหยุด ไม่หยุด ไล่ออก ใบแดง ไล่ออกเลย

พุทโธไว้ พุทโธ พุทธานุสติ มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่กับเรา หลวงปู่มั่น หลวงตา ท่านเน้นประจำ “อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ” เวลาหลวงปู่มั่นท่านเสีย หลวงตาไปนั่งอยู่ปลายเท้า “จิตดวงนี้มันดื้อนัก มันไม่เคยฟังใคร คนที่มันฟังก็นิพพานไปแล้ว” เสียอกเสียใจ นั่งร้องไห้คร่ำครวญหลายชั่วโมง

สุดท้ายเวลามันคิดได้ ในเมื่อบัดนี้คนสอนเราก็ไม่มีแล้ว แต่คำสอนเป็นหลักของท่าน ท่านสอนบอก ถ้ามีสิ่งใดที่มันเป็นความสงสัย ให้เข้าสู่ภายใน อย่าส่งออก ถ้ามีสิ่งใดที่ปฏิบัติแล้วมันสงสัย มันอันตราย อย่าตามไป อย่าส่งออก ให้เข้าข้างใน ให้อยู่กับผู้รู้ ให้อยู่กับพุทโธ ท่านเน้นอย่างนี้ แล้วก็กราบ กราบศพหลวงปู่มั่น เอานี้เป็นเป้าหมาย เป็นคติ เป็นตัวอย่าง แล้วปฏิบัติต่อไป

นี่ก็เหมือนกัน เพราะคำนี้ คำนี้อันตรายมาก “แล้วต่อมาไม่ต้องใช้อะไรเลย ไม่ต้องใช้อะไรเลย” ไม่ต้องใช้อะไรเลย กรรมการไม่มีแล้ว ถ้ากรรมการไม่มี ไม่มีใครควบคุมนะ ปฏิบัติไป มันไปตามจินตนาการเลย

อยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธ แล้วสิ่งใดถ้าเกิดขึ้น เอาผู้รู้ถอดเสี้ยนถอดหนาม แล้วใช้ปัญญาของเราไป อันนี้สำคัญมาก สำคัญที่ว่า “ทำไมต้องพุทโธ ทำไมต้องพุทโธ”

พุทโธคือพุทธานุสติ พุทโธคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถ้ามันจะเฉไฉไปไหนก็ให้มันอยู่กับผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ให้มันอยู่กับพุทโธของเรา ถ้าไม่เกิดปัญญาก็ยังไม่เสียหาย เรายังได้อยู่กับพระพุทธเจ้าอยู่

แต่ถ้ามันเกิดปัญญาโดยกิเลส กิเลสมันพาแฉลบออกไปหมดเลย ยุ่งตายเลย แล้วยุ่งตาย ใครได้ประโยชน์ ใครได้โทษ? ก็ใจเราเอง ใจคนที่ปฏิบัติเอง ใจของเรานี่แหละมันร้าย มันรู้ธรรมะ มันรู้หมด มันรู้ของพระพุทธเจ้าหมด แล้วมันสร้างภาพหมด แล้วมันไปเลย

ฉะนั้น อันนี้เพราะเขียนมาอย่างนี้ เขาเขียนมาชัดๆ เลย “แล้วต่อมานี้ไม่ต้องใช้อะไรเลย”

แหม! มันมั่นใจมาก มันมั่นใจมาก มันจะไม่มีกรรมการแล้วแหละ มันจะเล่นตามใจตัวแล้ว ฉะนั้น ต้องพุทโธ พุทโธไว้นะ

ทีนี้ต่อไป ต่อไปแล้วเขาดีขึ้นมา เขาบอกว่า “หลวงพ่อพูดว่ากำหนดรู้ก็ยังหยาบ กลับมาปั๊บ ใครเป็นคนกำหนดรู้”

อันนี้เวลาจิตมันละเอียดแล้ว จิตที่มันมีหลักเกณฑ์ มันจะเป็นไปได้ ถ้าจิตเรายังไม่มีหลักมีเกณฑ์ เรากำหนดพุทโธของเราไป แล้วพัฒนาของเราไป ฉะนั้น ที่ว่า ที่กำหนดรู้ ที่มันยังหยาบอยู่ กลับมาปั๊บ กลับมาผู้รู้

ถ้ากลับมาผู้รู้นะ ผู้รู้ คนถ้ามีสติ มีความชำนาญ ถ้าชำนาญในวสี มันจะทำได้ ถ้าเรายังไม่มีความชำนาญนะ เวลาทำสมาธิ ทุกคนทำสมาธิ เวลาสมาธิดี มีความสดชื่นมาก มีความสุขมาก เวลาจิตเสื่อม ทุกคนเสียใจมากๆ พอเสียใจ มันส่งออกแล้ว แล้วมันไปอยู่กับเสียใจ ไปอยู่กับผลที่เป็นอดีตไง มันส่งไปแล้ว ไม่รู้ตัวนะ

แต่ถ้ามันวางหมดเลย กลับมาที่พุทโธ กลับมาที่พุทโธ กลับมาที่ปัจจุบัน เพราะปัจจุบัน ใครเป็นคนระลึกรู้ ปัจจุบัน คำบริกรรม ใครเป็นคนบริกรรม มันเป็นปัจจุบัน เพราะปัจจุบันจิตมันไม่ส่งออก มันอยู่ที่นี่ พออยู่ที่นี่ปั๊บ มันพุทโธตลอด เดี๋ยวมันก็ลงได้

แต่ส่วนใหญ่พอจิตมันเสื่อมแล้วมันไม่อยู่ที่นี่ มันไปอยู่ที่อารมณ์เคยเป็นสมาธิ มันไปอยู่ที่ผลของเคยได้ มันไม่อยู่กับปัจจุบัน เราก็เสียใจๆ เสียใจยิ่งส่งออกไปใหญ่ ยิ่งทุกข์เข้าไปใหญ่ มันยิ่งทุกข์ยิ่งส่ง ยิ่งทุกข์ยิ่งไป มันก็กำลังจะสติขาดแล้วล่ะ แต่ถ้ากลับมาๆ ทิ้งหมดเลย แล้วกลับมาพุทโธ นี่พูดถึงนะ กลับมาที่ผู้รู้

บอกว่า สิ่งที่กำหนดพุทโธนี้มันก็ยังหยาบปั๊บ กลับมาที่ผู้รู้ ผู้รู้ ถ้ามีสติมีปัญญานะ ถ้ามันพุทโธจนพุทโธไม่ได้ มันอยู่ที่ผู้รู้ ละเอียดเข้าไป อัปปนาสมาธิก็เรื่องของมัน สักแต่ว่ารู้ แต่ถ้ามันคลายออกมา ต้องพุทโธใส่เข้าไปเลย พุทโธทันที พุทโธได้ เว้นไว้แต่เวลามันออกใช้ปัญญา ออกใช้ปัญญามันคนละวาระกัน วาระที่กำหนดพุทโธๆ ให้จิตสงบ เวลาจิตออกใช้ปัญญา มันไม่ใช้พุทโธ มันใช้ปัญญาแล้ว เรารู้ได้ รู้ได้ที่ว่า เวลาใช้ปัญญาไปแล้ว ปัญญามันจะคมกล้า มันพิจารณาสิ่งใดมันจะเป็นไปได้ พิจารณากาย กายมันจะแตกสลายไป พิจารณาสิ่งใดมันจะเป็น นั่นแหละสมาธิดี แต่ถ้าพิจารณาไปแล้วมันไปไม่ได้ รู้เลย นี่สมาธิอ่อนแล้ว เรากลับมาที่พุทโธ กลับมาสร้างสมาธิ อันนี้มันเป็นอย่างนั้น

ฉะนั้น คำถาม “หลวงพ่อได้เมตตาป้อนลูกมาอีกคำเดียวคือย้อนกลับมาแล้ว แล้วยังมีอะไรต่อ”

มันมีอีกมากมาย สิ่งที่จะมีอะไรต่อ มันจะต่อไปอีกมากนะ คำว่า “ต่อไป” จิตสงบแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา ไอ้สิ่งที่ใช้ปัญญาอย่างนี้ ปัญญามันเกิดขึ้น ที่ว่า พอมีปัญญา จิตละเอียดเข้าไป เรารู้ได้ นี่เป็นประโยชน์แล้ว ทีนี้ถ้าจิตเราใช้ปัญญา สิ่งที่เวลาหลวงตาท่านเทศน์นะ เวลาใครไปถามปัญหา ท่านจะบอกว่า ท่านจะตอบไปไกลๆ ถ้าตอบอย่างไรแล้วมันเป็นสัญญาแล้ว แบบว่ามันรู้เท่า มันจะสร้างภาพ ถ้ามันตอบไปไกลๆ แล้วให้เราค้นคว้าขึ้นมา ถ้าเราค้นคว้าขึ้นมา มันจะเป็นความจริงขึ้นมา

อย่างเช่นที่เราบอกนี้ บอกว่าเมื่อก่อนไม่รู้เรื่องเลย ฟังเทศน์หลวงพ่อมา ฟังมาแล้วกี่ร้อยกี่พันหนก็ไม่รู้ แต่พอมาฟัง พอมันสะดุดใจขึ้นมา อ๋อ! ขึ้นมาเลยนะ อ๋อ! มันเป็นอย่างนี้เอง ที่ฟังหลวงพ่อว่าจิตมันละเอียดขึ้นๆ มันละเอียดอย่างไร จิตเวลามันละเอียดขึ้น มันมีมาตรฐานอย่างไร แต่พอเรารู้ปั๊บ มันรู้ขึ้นมาทันที นี่ถ้ารู้ขึ้นมาทันที

เวลาที่หลวงตาท่านพูด ไม่รู้ถามไม่ได้ ไม่รู้ก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน คนถามมันไม่มีความจริงมาถาม มันเอาสัญญามาถาม ถามอย่างไร ถามแล้วมันไม่ตรงกับความต้องการของใจหรอก แต่ถ้าใจมันเป็นนะ มันพูดออกมาจากใจนั้นเลย แล้วถ้าผู้ตอบฟังแล้วจะรู้ทันทีเลยว่านี้เป็นปุถุชน นี้เป็นกัลยาณชน

กัลยาณชน จิตมันสงบ มันรู้จักรูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร มันละรูป รส กลิ่น เสียงมา มันเป็นตัวของมันเอง แล้วถ้ามันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง นี่โสดาปัตติมรรค เห็นไหม จากปุถุชน กัลยาณปุถุชน โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล มันคนละขั้นตอนกันนะ มันละเอียดหยาบต่างกันมหาศาลเลย พูดออกมานี่รู้หมด ถ้าคนเคยผ่าน

ถ้าคนไม่เคยผ่านนะ มันเป็นอักษรเขียนเหมือนกันไง ปัญญาก็คือปัญญา ปัญญาคำเดียวก็คือปัญญา จะขั้นตอนไหนมันก็คือปัญญา ปัญญาอันเดียว แต่ไม่มีปัญญาที่หยาบละเอียด ไม่รู้ ปัญญามันมีหยาบมีละเอียดเยอะแยะไปหมด นี่พูดถึงถ้ามันละเอียดนะ

ฉะนั้น บอกว่า ป้อนมาสักคำหนึ่ง ถ้าจะป้อนคำหนึ่งก็ป้อนให้มีสติมีปัญญา มีสตินะ ถ้าสติเราปฏิบัติขึ้นมา เพราะผลของการปฏิบัติที่เราปฏิบัติมาได้ เรารู้ได้ขนาดนี้ดีมาก ดีมาก หมายความว่า ถ้าปฏิบัตินะ ปริยัติคือการเรียนรู้ ถ้าปฏิบัติมันเห็นมรรคหยาบมรรคละเอียด มรรคหยาบๆ ความเพียร ความขยันหมั่นเพียรนี้เป็นมรรค มรรคนี้เป็นฆราวาสธรรม ฆราวาสธรรมคือสัมมาอาชีวะ แต่เวลาพระเราปฏิบัตินะ เขาบอกว่า “พระวันๆ ไม่ทำอะไรเลย เดินไปก็เดินมา นั่งเฉยๆ ไม่เห็นทำงานเลย”

นั่นล่ะเขาทำงานภายใน มรรคหยาบคือทำงานหน้าที่การงาน มรรคอันละเอียดมันเป็นอาการของใจ อาการของใจเกิด นั่งเฉยๆ แต่ถ้าคนไม่มีมรรคอันนี้ นั่งทั้งวันนี่นั่งไม่ได้ เดินจงกรมทั้งวันทั้งคืนเดินได้อย่างไรถ้ามันไม่มีมรรค ไม่มีปัญญาที่หมุนอยู่ภายใน

เรานั่งอยู่ปกติ นั่งอยู่พักเดียว เราก็เบื่อแล้ว ให้เดินอยู่กับที่ วันๆ เดินได้ไหม? ไม่ได้หรอก แต่ครูบาอาจารย์ของเราเดินเป็นปีๆ กายมันเดินไป แต่ในปัญญามันหมุนติ้วๆ มันเกิดขึ้นมา ถ้ามรรคอย่างนี้มันเกิด ถ้ามันเกิด มันจะเกิดอย่างไร

ถ้าโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล แล้วโสดาปัตติมรรคกับสกิทาคามิมรรคแตกต่างกันอย่างไร สกิทาคามิมรรคกับอนาคามิมรรคแตกต่างกันอย่างไร แล้วมันมีสติ-มหาสติ ที่ว่าสติๆ เขาบอกว่า สติเวลาสร้างขึ้นมาจะหนาขึ้น อะไรขึ้น...นี่เป็นวัตถุ พูดเป็นวิทยาศาสตร์ ไอ้นี่เป็นปริยัติหมดแล้ว

แต่ถ้าเป็นปฏิบัตินะ สติ แล้วมหาสติกับสติมันแตกต่างกันอย่างไร สติระลึกรู้อยู่พร้อมเลย มหาสตินี่ โอ้โฮ! ละเอียดยิบ ดูสิ ความคิดเราเร็วขนาดไหน ความคิดน่ะ มันเร็วขนาดไหน สติมันยับยั้งได้หมด แล้วมหาสติ มึงอย่าแหยม ไอ้กิเลส มึงอย่าแหยม ขณะที่มันขึ้น มันแตกต่างกันตรงนั้น

ไม่ใช่ว่า แหม! สมาธิบาง สมาธิหนา

โอ้! คำพูดมันฟ้องแล้วว่าจริงหรือไม่จริง ถ้ามันจริงนะ มันเป็นความจริง มันจะจริงของมัน ถ้าไม่เป็นความจริงก็คือไม่เป็นความจริง อันนี้มันเป็นคำถามเนาะ ว่าขอคำเดียว เขาบอกว่า ป้อน ขอคำเดียว หลวงพ่อฟันธงคำเดียวเลย

ฟันธงทีเดียวก็ตั้งสติ ตั้งสติ ทำสมาธิแล้วทำต่อไป ทำต่อไปจะเป็นประโยชน์กับเราเนาะ

ขออีกข้อหนึ่ง

ถาม : ข้อ ๑๓๕๔. เรื่อง “กราบขอบพระคุณที่เมตตาตอบคำถามครับ”

กระผมไม่มีคำถามอีกครับ เพียงแต่ต้องการกราบขอบพระคุณหลวงพ่อเป็นอย่างสูงที่เมตตาตอบคำถามให้ครับ รวมทั้งคำอธิบายต่างๆ ที่เทศน์อบรมสั่งสอน ตอนนี้ผมรู้สึกเคลียร์ทุกอย่าง มันเป็นความรู้สึกที่ราบเรียบ เพราะผมเข้าใจแล้วว่าการปฏิบัติของผมที่ผ่านมามันเป็นของพื้นๆ มาก ต่อไปนี้ผมจะเริ่มต้นปฏิบัติใหม่ครับ ให้จิตมันสงบลงจนเป็นสมาธิให้ได้เสียก่อน แล้วหากมีเหตุขัดข้องประการใด กระผมจะกราบเรียนถามใหม่ครับ

ตอบ : นี่พูดถึงคำถาม “กราบขอบพระคุณครับ”

เพราะคำถาม ทีแรกถามมาเรื่องที่เขารู้เขาเห็น เราก็ตอบไปหนหนึ่ง ตอบไปอย่างที่ว่า ตอบไปด้วยระหว่างภาคปฏิบัติด้วยกัน ด้วยการเห็นอกเห็นใจกัน ตอบไปนะ ตอบไปเพื่อให้มีกำลังใจ ตอบแล้วพยายามชี้นำ ทีนี้เขายังสงสัย เขาเลยถามกลับมาอีกรอบหนึ่ง ว่าที่เขาถามมานี้มันถูกต้องดีงามไหม เขาควรจะเป็นอย่างนั้น ควรจะเป็นอย่างนั้น เราถึงตอบครั้งหลังตอบแบบชัดเจนเคลียร์มาก

ตอบชัดเจนเลยว่า ถ้ามันเป็นโลกก็จะเป็นโลกอย่างนี้ ถ้าเป็นธรรมจะเป็นธรรม ถ้าเป็นโลกนะ มันจินตนาการ แล้วพอจินตนาการไป กิเลสมันร้ายนัก มันก็สร้างภาพอย่างนั้น นั่นอธิบายไปชัดมาก แล้วบอกว่าสิ่งที่ทำมาจะว่าผิดมันก็ไม่ผิด มันไม่ผิด หมายความว่า ผู้ที่เริ่มต้นประพฤติปฏิบัติใหม่จะเป็นอย่างนั้นทั้งนั้น มันเป็นเรื่องของโลกๆ

คำว่า “โลก” คือวิทยาศาสตร์ คือความจริงที่รู้ แบบพระที่มาบวช ที่เป็นวิทยาศาสตร์ ที่มีการศึกษามาก เขาพยายามจะเอาความรู้ความเห็นเขาเทียบเคียง ปฏิบัตินี้ยากมาก เพราะข้อมูลมันเยอะมาก บ้านหลังใหญ่ ความรู้เยอะ ความรู้มหาศาล จะทำอะไรก็สงสัย จะทำอะไรก็เปรียบเทียบๆๆ ทำได้ยากมาก

ฉะนั้น เวลาเขาปฏิบัติไปแล้ว เขาพยายามจะว่าสิ่งนั้นเป็นธรรมๆ เพราะบ้านเขาใหญ่ ปัญญาเขามาก เขาก็เทียบเคียงได้กว้างขวางมาก เทียบเคียงด้วยทางวิทยาศาสตร์ เทียบเคียงด้วยทางปัญญา มันจะกว้างขวางมากเลย แต่ไม่ลงสมาธิหรอก พอยิ่งเทียบเคียงไปมันยิ่งเห็นความละเอียด เห็นความกว้างขวางของธรรม เห็นคุณงามความดีของพระพุทธศาสนา โอ๋ย! มันยิ่ง “สิ่งนี้เป็นธรรม” ยิ่งไม่ใช่ใหญ่เลย

แต่ถ้าทำความสงบของใจเข้ามานะ พอใจสงบ สิ่งที่กว้างขวางคือจอมแห รวบกลับมาแล้วมันมีอยู่จุดเดียว จิตใจนี้มีหนึ่งเดียว พอมีหนึ่งเดียว จิตสงบแล้ว พอมันใช้ปัญญาของมันนะ มันใช้ปัญญา มันแยกแยะของมันนะ มันแตกต่างกัน ถ้ามันไม่แตกต่างกัน มันไม่มีโลกียปัญญากับโลกุตตรปัญญา

โลกียปัญญาคือปัญญาแบบวิทยาศาสตร์ ปัญญาที่เราศึกษากันอยู่นี่ มันเป็นปัญญาไหม? เป็น แต่เป็นโลกียปัญญา ปัญญาเกิดจากกิเลส ปัญญาเกิดจากภวาสวะ ปัญญาเกิดจากเรา ถ้ามันยังไม่สงบ ไม่สงบมันก็อยู่ในมิตินี้ พอมันสงบปั๊บ มันเป็นกลาง เป็นกลางจากโลกียปัญญา เป็นกลาง ถ้ามันซ้ายกับขวา ถ้ามันออกขวามันก็จะเป็นภาวนามยปัญญา ถ้าภาวนามยปัญญา มันก็จะเห็นความแตกต่างไป แต่ตรงนี้ เวลาคนถ้ายังไม่เป็น คนนั้นก็ยังไม่เข้าใจ

แต่ถ้าคนไหนเป็น อย่างเช่นปัญหาที่ว่าขอบคุณมา เขาเป็นอย่างนี้มา เราตอบครั้งแรกไป ตอบด้วยความให้กำลังใจ ด้วยความทะนุถนอม ด้วยการอยากให้นักปฏิบัติมันเจริญงอกงามไป ก็ตอบแบบไม่ฟันธง แต่พอถามซ้ำมา เพราะเราเห็นแล้วว่ามันจะออกนอกทางแล้ว เราก็เลยตอบแบบฟันธง ตอบแบบธรรมเลย ไม่มีลูบหน้าปะจมูกเลย

แล้วก็เป็นคำถามที่ว่า “ตอนนี้ผมเคลียร์ทุกปัญหาแล้วครับ การปฏิบัติของผมมันก็เป็นพื้นๆ มาก ต่อไปนี้ผมจะเริ่มต้นปฏิบัติใหม่”

ฉะนั้น สิ่งที่ตอบ พยายามบอก พยายามจะให้อยู่ในร่องในรอย การปฏิบัติแล้วให้มันเป็นธรรม ปริยัติให้ปฏิบัติ ปฏิบัติตามความเป็นจริง ฉะนั้น สิ่งที่ตอบนะ เวลาครูบาอาจารย์ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเราท่านจะทะนุถนอม ท่านจะดูแลพวกเรามาก ท่านจะสงสารมาก เพราะกิเลสมันร้ายนัก ท่านเคยผ่านมา ท่านเคยทุกข์เคยยากมามาก ฉะนั้น พวกเราจะกระเสือกกระสนไป เราจะเอาชนะกิเลสตัวนี้ เราจะทุกข์จะยากมาก

ฉะนั้น พ่อแม่เวลาเห็นลูกทุกข์ยาก พ่อแม่คนไหนก็ไม่อยากให้ลูกทุกข์ยากหรอก แต่ลูกก็ต้องทุกข์ยาก เพราะต้องเอาชนะกิเลสตัวเองให้ได้ ฉะนั้น เวลาจะทุกข์ยาก พ่อแม่ถึงจะทะนุถนอม จะทะนุถนอม เพราะคนจะภาวนาก็หายาก แล้วคนที่ภาวนาจะภาวนาได้เป็น ถ้าจะผ่านอุปสรรคไป ยิ่งยากใหญ่ พอยิ่งยากใหญ่ ครูบาอาจารย์ถึงจะต้องคอยประคอง คอยชี้แนะไป ฉะนั้น ถ้าเขาเคลียร์แล้วเราก็สาธุนะ

ฉะนั้น จะพูดนี้พูดเพราะเราก็สะเทือนใจไง สะเทือนใจว่า เวลาผมถามหลวงพ่อไป หลวงพ่อตอบทีแรกก็ แหม! มีกำลังใจนะ หลวงพ่อตอบครั้งที่ ๒ โห! ฝ่อเลย เพราะหลวงพ่อเล่นแรง

ก็ต้องการให้เราเผชิญกับความจริงไง ให้เราอยู่กับโลกความเป็นจริง ถ้าทะนุถนอมกันได้ ช่วยกันได้ก็จะช่วย แต่ถ้าถึงเวลาแล้วเห็นว่ามันไม่เป็นประโยชน์ ถึงจะต้องไม่ลูบหน้าปะจมูก จะต้องเด็ดขาด ถ้าเด็ดขาดแล้ว ถ้าเป็นประโยชน์อย่างนี้แล้วถือว่าได้ผลทั้งคู่ เอวัง