นี่ปฏิบัติ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เราเอาอันนี้ก่อนเลยเนาะ ไอ้ที่ว่า
ถาม : หลวงพ่อคะ อยากถามปัญหา คืนวันหนึ่งโยมภาวนาตอนหัวค่ำ ภาวนาอารมณ์ไม่พอใจค่ะ พอตกดึกทำไมมันถึงด่าออกมาล่ะคะ
ตอบ : ถ้าตอบนะ อารมณ์ไม่พอใจมันก็เป็นกิเลสอยู่แล้ว แล้วเราไปพิจารณามันอีกไง เราพิจารณาความไม่พอใจ ไปกระตุ้นมัน ยิ่งกระตุ้นมันก็ยิ่งแรง ถ้ายิ่งกระตุ้นก็ยิ่งแรง เวลาจำเป็นต้องใช้ ต้องใช้นะ อย่างเช่น เช่น เวลาหลวงตาท่านพิจารณาอสุภะ พิจารณาอสุภะจนไม่มีเลย เงียบหมดเลย แล้วมันไม่มีเหตุไม่มีผลไง ท่านบอกอย่างนี้ไม่เอา เพราะอะไร เพราะท่านศึกษามาจนเป็นมหา พิจารณาอสุภะจนปล่อยอสุภะหมดเลย แต่มันไม่มีเหตุมีผลไง ถ้าไม่มีเหตุผล ท่านก็เอาสุภะ
โดยทางโลกเขาพิจารณาอสุภะ เขาไม่ได้พิจารณาสุภะหรอก ถ้าพิจารณาสุภะแล้วเสียคนเลย เพราะพิจารณาสุภะแล้วมันก็ยิ่งรักยิ่งชอบ ยิ่งไถลไปเลย ถ้าใครพิจารณาแต่ความสวยความงาม เพราะคนมันชอบอยู่แล้ว มันตรงกับกิเลส มันก็ไป
ทีนี้เราปฏิบัติธรรม เราปฏิบัติธรรมมันก็พิจารณาอสุภะ ท่านบอกพิจารณาอสุภะมันปล่อยวางหมด ปล่อยวางหมดเลย เงียบ มันจะไม่มีอะไรเลย พอไม่มีอะไรเลย ท่านบอกว่า อย่างนี้ไม่เอา เพราะมันไม่มีเหตุมีผล
ผลของการศึกษามันมีประโยชน์ตรงนี้ ประโยชน์ตรงที่ว่า เวลาถึงที่สุดแล้ว ถ้ามันสงสัยนี่ไม่เอา ไม่เอา พอไม่เอาแล้วทำอย่างไรดี ทำอย่างไรดี หันรีหันขวางอยู่ไง ก็เลยเอาสุภะ เอาสุภะคือเอาที่มันชอบใจ เอาที่มันชอบใจ เอาที่มันสวยงาม เอาขึ้นมามัดไว้กับใจ ท่านบอกวันสองวันแรกมันก็ยังอึดอัด พอวันที่ ๓ ขยับเลย ขยับคือมันรับรู้แล้ว นี่ไง ไหนว่าไม่มี ไหนว่าไม่เจอมันไง ขยับก็ออกมารับรู้ไง มันเสพอารมณ์แล้ว พอมันจะเสพอารมณ์ นี่กามฉันทะ แล้วกามราคะมันก็ไปเสพข้างนอก นี่พูดถึงว่าเวลาเอามาใช้ประโยชน์
เราจะบอกว่า เทคนิคมันมีนะ ขณะเทคนิคหยาบๆ มันก็เรื่องหนึ่ง พอละเอียดขึ้นมา โอ๋ย! มันมีเล่ห์มีกล กิเลสมันก็ต้องใช้เฉพาะ ใช้เฉพาะแล้วใช้ตรงกับเวลาที่มันเป็นมันถึงได้ประโยชน์ ถ้าใช้ไม่เป็น ตอนนี้เราบอกว่าพุทโธๆ กันอยู่นี่ เราพยายามจะให้มันสงบ แต่มันไม่สงบ แล้วทำไมมันใช้ไม่ได้ประโยชน์ๆ ล่ะ
แต่ถ้าเวลาคนเป็นแล้วนะ พุทโธนี่ระลึกปั๊บ ได้เลย ได้เลย ชำนาญมาก ชำนาญมาก ชำนาญเพราะเขาทำจนชำนาญ ชำนาญมันก็ใช้ตรงประเด็นใช่ไหม แต่นี่บอกว่าเราไปพิจารณาความไม่พอใจ มันก็เป็นกิเลสอยู่แล้ว แล้วพอดึกขึ้นมามันก็กระตุ้น มันกระตุ้นมันก็ยิ่งแรงขึ้นไป พอแรงขึ้นไปก็ด่าออกมาเลย พอด่าออกมาเลย ทำอย่างไรล่ะ
ถ้าด่า เวลาไม่พอใจ เราพิจารณา เราไม่ได้พิจารณาความไม่พอใจ เราพิจารณานี่หลงไปแล้ว เวลาเราพิจารณาไม่พอใจ เรารู้ว่าเรากินยาพิษไปแล้ว เราต้องคายทิ้ง การพิจารณา เขาพิจารณาเพื่อถอดเพื่อถอน เพื่อคายมัน ไม่ใช่พิจารณากระตุ้นให้อารมณ์มันฝังใจ
ถ้ามันฝังใจ มันด่าออกมา ถ้าด่าออกมาแล้ว ปล่อยวางแล้ว กลับมาที่พุทโธ ไม่ต้องไปพิจารณามัน ถ้าพิจารณามัน มันใช้จังหวะ มันเป็นที่ว่าจังหวะนี้ โอกาสนี้ไม่ใช่การพิจารณากระตุ้นอารมณ์ เพราะจิตใจเราอ่อนแอ ถ้าจิตใจเราอ่อนแอ เราต้องเสริมสร้างกำลังของใจก่อน คือพยายามให้มันสงบก่อน ถ้ามันสงบได้ พอสงบได้ มันก็ไม่พิจารณาความไม่พอใจหรอก เพราะอะไร เพราะมันสงบ พอสงบแล้วมันสุข มันสุขแล้วมันพอใจ มันพอใจมาก ความสุขความสงบเป็นแบบนี้ แล้วมันจะไปพิจารณาความไม่พอใจไหม
คนเราพอมันสงบแล้ว มันมีความสุขแล้ว มันจะไปพิจารณาความทุกข์ไหม ความไม่พอใจไหม? มันก็ไม่ไป แต่นี้พอเราพิจารณาไป พิจารณาความไม่พอใจไป ไปกระตุ้นมัน มันก็เต็มที่น่ะสิ
จะบอกว่ามันใช้ไม่ได้เลย มันก็ไม่ใช่ จังหวะที่มันต้องใช้นะ เวลาแบบว่ามันไปติดสุข มันสงบจนมันไม่เอาไหนเลย ติดสุขจนไม่ขยับเลย ก็เอาอันนี้ไปเปรียบเทียบ มันเปรียบเทียบ การปฏิบัติมันต้องเป็นจังหวะ จังหวะและโอกาสที่การใช้งาน เวลาใช้สมาธิ เวลาต้องการสมาธิ ต้องทำความสงบให้ได้ เวลาออกใช้ปัญญาต้องออกใช้ปัญญาให้เป็น งานมันคนละหน้าที่กัน งานมันคนละอย่างกัน แต่มันก็ต้องก้าวเดินไปพร้อมกัน ฉะนั้น เวลาทำมันต้องทำอย่างนี้
นี่พูดถึงว่า ทำไมพิจารณาไปแล้วมันถึงด่าออกมาเลยล่ะ
การด่าออกมาอย่างนี้เพราะเรากระตุ้น เราพิจารณาของเรา แต่เวลาคนที่เขาพอเข้าใกล้พระแล้วจิตใจเขาต่อต้าน อันนั้นกรรมเก่า ถ้ากรรมเก่านะ กรรมเก่าคือจิตดวงนี้เวลาเวียนตายเวียนเกิดไม่มีต้นไม่มีปลาย ไม่รู้ว่าชาติใดหนใดเราเคยไปมีความบาดหมางอะไรกับใครไว้ เวลามันฝังใจมา พอฝังใจมานะ พอมาปฏิบัติ มันมีพระสมัยพุทธกาล ไปนั่งอยู่ที่ไหนจะมีเงาของผู้หญิงนั่งอยู่ข้างหลัง จนเขาร่ำลือนะ
แล้วพอพระเขาสงสาร เขาไปแจ้งพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าปเสนทิโกศล ไปแจ้งพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินเขาก็ตามย่องไปดูไง ไปแอบดูท่าน แล้วท่านย่องเข้าไปดู เห็นจริงๆ เห็นพระองค์นี้นั่งอยู่นะ มีผู้หญิงนั่งอยู่ข้างหลัง ก็ย่องเข้าไปดู
เขาเป็นกษัตริย์ เขาไม่เชื่อ ก็เข้าไปดู พอเข้าไปใกล้ ไม่มี พอเข้าไปใกล้ ไม่มีนะ ก็ถอยหลังออกมา พอถอยออกมา เห็นอีกแล้ว พอเห็นก็เดินเข้าไปอีก เข้าไปใกล้ ไม่มี พอไม่มี ท่านรู้แล้ว มันเป็นเงา พอเป็นเงาปั๊บ ก็ไปถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกว่า ในอดีตชาติเขาเคยใส่ไคล้พระเรื่องมาตุคาม แล้วพอใส่ไคล้ พอเขามาเกิดในชาติในสมัยพระพุทธเจ้ามาบวช กรรมอันนั้นมันให้ผลมา
พระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นกษัตริย์ พอเป็นกษัตริย์นะ เขาสงสารมาก พอสงสารมากก็เลยไปสร้างกุฏิไว้ในราชวัง แล้วนิมนต์พระองค์นี้ไปอยู่ที่นั่น เพราะถ้าพระองค์นี้อยู่ในสังคมนะ สังคมต้องติฉินนินทาไปตลอด นี่มันเป็นกรรมของเขาที่เขาสร้างกรรมของเขามา มันก็จะให้ผลอย่างนั้น นี่เรายกตัวอย่างขึ้นมาเฉยๆ
ทีนี้พอยกตัวอย่างขึ้นมาเฉยๆ เวลาพวกเรา มีคนจะมาถามมาก เวลาจิตมันสงบหรือว่าเข้าใกล้พระ ทำไมมันมีอาการต่อว่าต่อขาน คือด่า ด่าเรื่องศาสนา ด่าเรื่องนั้นเรื่องนี้
นี่มันมีเวรมีกรรมมา ถ้ามีเวรมีกรรมมาอย่างนี้ เราต้องอโหสิกรรม คือว่าทำวัตร รตนตเยฯ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขอขมาลาโทษ เพราะสมัยที่ทำมามันขาดสติ มันทำไปแล้ว ในปัจจุบันนี้เราเกิดมาเป็นชาวพุทธ เราได้สร้างบุญญาธิการมาในพระพุทธศาสนา เราจะขอขมาลาโทษ ขอขมาลาโทษให้มันอ่อนลง ให้จิตใจมันเบาบางลง จิตใจเบาบางลง เบาบางลงเพราะว่ามันเป็นการฝังใจ แล้วสิ่งที่ว่ามันด่า มันโต้แย้งออกมา มันจะเริ่มแก้ไขๆ ไป เพราะมันเป็นเรื่องสุดวิสัย มันเป็นเรื่องกรรม
เรื่องกรรมนะ มันเป็นอจินไตย มันลึกลับมหัศจรรย์ ไม่รู้ว่าเป็นช่วงไหนตอนไหนที่มันจะมาตอบสนองเรา แล้วเราพยายามผ่อนคลายๆ เพราะในปัจจุบันเรามีสติ แต่ถ้าเราขาดสติไปนะ มันก็ตีโพยตีพายไป นับถือพระพุทธศาสนาแล้วก็ยังมาทุกข์ร้อนในใจ ตอนนี้ก็เป็นคนดี เป็นชาวพุทธ ออกมานับถือพระพุทธศาสนา พอนับถือพระพุทธศาสนาแล้วเราเข้าไปใกล้พระแล้วก็มีการโต้แย้งในใจ
มันไม่โทษถึงกรรมที่ทำมานู่นเลยนะ มันโทษเรื่องศาสนาเลยนะ โทษเรื่องเราใกล้พระ
นี่พูดถึงว่า ถ้ามันด่าออกมาอย่างนั้นอีกเรื่องหนึ่ง แต่นี้มันเป็นเรื่องที่เราไปขุดคุ้ยขึ้นมาเอง อันนี้ถ้าเราแก้ไขอย่างนี้มันก็จบตรงนี้
ถาม : หลวงพ่อคะ ไม่ทราบว่าความโกรธกับความกลัวเป็นอารมณ์เดียวกันไหมคะ ที่พระท่านไปอยู่ป่าช้าก็เพื่อแก้อารมณ์นี้ใช่ไหมคะ
ตอบ : ความโกรธนะ เวลาความโกรธมันเป็นโทสะ เป็นความโกรธ เวลาความกลัว เพราะเรามี จิตใต้สำนึกมันกลัว ถ้ามันกลัวนะ เวลาคนกลัวผีกลัวสาง นี่ความกลัว
ความกลัว เวลาแก้นะ ความกลัวมันจะเป็นประโยชน์ ความกลัวเป็นประโยชน์ตรงไหน ตรงที่ขณะที่ว่าเราไม่กลัว เราก็คิดฟุ้งซ่านไปทั่ว แต่ถ้าเรากลัว เราไม่กล้าคิดอะไรเลย ฉะนั้น เวลาเขาไปเที่ยวป่าช้า ไปอยู่ในป่าในเขา เวลาสิ่งที่มันกลัว มันกลัวต่างๆ ถ้ากลัวแล้วหาที่พึ่งที่ไหน ถ้ากลัวก็มาอยู่กับพุทโธๆๆ พุทโธจนสงบได้
ไปอยู่ป่าอยู่เขานะ ธรรมดาธรรมชาติของสัตว์ สัตว์ก็กลัวมนุษย์ ธรรมชาติของสัตว์ สัตว์มันไม่เข้ามาใกล้มนุษย์หรอก แต่พอเราไปอยู่ป่าอยู่เขาปั๊บ เราก็กลัวมันเป็นธรรมดา เพราะว่าเราไม่มีสิ่งใดป้องกันตัว อาศัยบุญอาศัยกรรม ถ้ามีบุญมีกรรมต่อกัน มันก็มีเหตุร้ายต่อกัน ถ้าเราไม่มีเวรมีกรรมต่อกัน เขาก็ไม่มาใกล้ชิดเรา ทั้งๆ ที่เขาก็กลัวมนุษย์เหมือนกัน นี่อาศัยความกลัวเพื่อเป็นประโยชน์ เพื่อประโยชน์กับการกำหนดพุทโธ
ถ้าเราอยู่โดยปกติ มันเร่ร่อน มันไม่ค่อยจริงจัง ก็อาศัยความกลัวนั้น ถ้าความกลัวนั้น เวลาจิตมันสงบแล้วมันปล่อยวางความกลัวได้ เวลาจิตสงบแล้วมันปล่อยวางความกลัว
ฉะนั้น ความโกรธกับความกลัวนี้เป็นอันเดียวกันหรือเปล่า
มันเกิดจากจิตเหมือนกัน แต่จะว่าเป็นอันเดียวกันมันก็ไม่ใช่ เพราะเวลาเราโกรธ โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ โกรธเพราะอะไร โกรธเพราะมันกระตุ้นมาจากสิ่งปฏิฆะ สิ่งที่มันขัดแย้งใจ มันขัดแย้งกับความพอใจของเรา มันก็โกรธขึ้นมา
แต่ถ้าความกลัว ความกลัวมันก็เกิดจากจิตใต้สำนึก เกิดจากความไม่รู้เท่าต่างๆ ก็กลัว กลัวในที่มืด กลัวต่างๆ กลัวเหตุการณ์เฉพาะหน้า มันวิตกกังวลไปหมดเลย อันนี้ก็เป็นอีกอันหนึ่ง ถ้าเป็นอีกอันหนึ่ง สิ่งนี้มันจะแก้ไขได้ด้วยมีปัญญา
ถ้าเรามีปัญญา เราพิจารณาของเรา อย่างเช่นความโกรธ ความโกรธ ถ้าเราว่าโกรธไปแล้วมันได้ประโยชน์อะไร เวลาเราโกรธ เราได้ประโยชน์อะไร? ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย หนึ่ง ถ้าเราปล่อยตามอารมณ์นั้นก็กระทบกระเทือนกัน แต่ถ้าเราไม่ปล่อยตามอารมณ์นั้น เราพยายามข่มไว้ ข่มไว้มันก็ทำให้เกิดความเครียด ให้ร่างกายนี้มันเกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ มันไม่มีประโยชน์อะไรเลย แต่เราก็โกรธ
ฉะนั้น ความกลัว ความกลัวก็ไม่มีเหตุมีผลอะไรเลย แต่ถ้ามีสติปัญญาแล้วมันมีเหตุมีผลนะ เวลาโกรธนะ นี่บ้าแล้ว เวลากลัวนะ กลัวนี้เสียความรู้สึกไปแล้ว ถ้ามันมีสติปัญญานะ มันแก้ไขมา มันต้องแก้ไข พอแก้ไขขึ้นมา ความกลัวนั้นจะเบาลงๆ จนมีสติปัญญาเท่าทัน ถ้าเท่าทันนะ
ถ้าทำสิ่งใดไม่ได้เลย ยังไม่ต้องใช้ปัญญา กำหนดพุทโธไปเรื่อยๆ ก่อน ถ้ามีกำลังขึ้นมา พอพุทโธ จิตมันสงบแล้ว พอมันจะใช้ปัญญา มันจะเห็นได้ แต่ถ้าจิตไม่สงบ เวลาใช้ปัญญา ปัญญายิ่งไปกระตุ้นความกลัวมากขึ้น
คนกลัวอยู่แล้วใช่ไหม ไปคิดถึงผี ก็วาดภาพผีเสียใหญ่โตไปเลย แต่ถ้าคนมันมีสติปัญญาใช่ไหม พอกลัวถึงผี เราก็ผีตัวหนึ่ง ใจเราเวลาตายไปก็เป็นผี ทำไมไม่กลัวตัวเอง ทำไมกลัวคนอื่น มันก็เริ่มเบาลง เออ! ก็จริงนะ นี่พอมันจริงขึ้นมา
เวลาโกรธขึ้นมา โกรธอย่างนี้เมื่อก่อนก็โกรธมาแล้ว เมื่อวานก็โกรธมา วันนี้ก็โกรธอีกแล้ว ความโกรธมันซ้ำๆ ซากๆ สมบัติเก่าๆ ทำไมยังพอใจความโกรธอยู่ล่ะ อืม! ก็จริงเนาะ เออ! โกรธอยู่เรื่อยเลย โกรธอยู่เรื่อย มันหลั่งสารมา มันก็ทำลายให้เราเจ็บไข้ได้ป่วย โกรธมาทำไม นี่พอมันมีปัญญาขึ้นมา
พูดมันพูดง่าย โยมอย่ากระดุกกระดิกนะ เดี๋ยวเวลาเราโกรธ เอาเดี๋ยวนี้เลยนะ เวลาสอนคนอื่นให้ไม่โกรธๆ ไอ้เรานี่แหละเดี๋ยวพุ่งก่อนเลย ฟิวส์ขาดก่อนเลย
กรณีอย่างนี้ถ้ามีสติปัญญามันรู้เท่า แล้วจะใช้เพื่อประโยชน์อะไร หลวงตาท่านบอกนะ น้ำสกปรกสาดไปที่ไหนมันมีแต่ความสกปรก น้ำที่สะอาดบริสุทธิ์ชำระล้างสิ่งใดๆ ได้ กิริยาการแสดงออกเราก็ดูแต่ว่าโกรธๆ ไง แต่ถ้ากิริยาแสดงมาเพื่อประโยชน์ล่ะ มันเป็นประโยชน์นะ สิ่งใดต้องมีหนักมีเบาไง เราเอาแต่โอ้โลมปฏิโลมกันอยู่ มีแต่โอ๋กันอยู่อย่างนี้ แล้วมันก็ไม่ได้สำนึกกันสักที มันก็ต้องลงค้อน ลงหนักลงเบา นี่เวลาครูบาอาจารย์ท่านใช้ ท่านใช้อย่างนั้น
ฉะนั้น ถามว่า โกรธกับกลัวนี้เป็นอันเดียวกันไหม เป็นอารมณ์เดียวกันไหม
ไม่ใช่ มันไม่ใช่อยู่แล้ว แล้วเวลาถ้าไปอยู่ป่าอยู่เขา เขาไปแก้ใช่ไหม แก้ทุกอย่าง เพราะความกลัวมันก็กลัวแบบพื้นๆ พอมันแก้ไข พอมันชำระล้างไปได้นะ เดี๋ยวมันก็มีความกลัวอย่างละเอียด ถึงที่สุดแล้วนะ มันไปเฉา ไปเหงา ไปหงอยในใจของตัวเองนะ กลัว กลัวตัวเองจะไม่พ้นทุกข์อีก เวลามันกลัว มันก็กลัวไปร้อยแปด มันเป็นไปได้ทั้งนั้นแหละ นี่พูดถึงความกลัว ฉะนั้น ถ้าเวลามันพิจารณาไปแล้ว มันจะปล่อยวางเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป อันนี้จะเป็นประโยชน์กับเรา
มันต้องถึงว่า มันกลัว กลัวเรื่องอะไร ถ้าว่าแก้เรื่องกลัว มันต้องมีเหตุมีผลของมันไง ถ้ามันกลัวเรื่องอะไร แล้วพิจารณาไป กลัวตาย เพราะเวลาคนคิดว่าเวลากลัวแล้วนะ พอพิจารณาไปแล้วมันปล่อยนะ คิดว่าตัวเองได้มรรคได้ผล...ไม่ใช่ ความกลัวก็คือความกลัว ไม่ใช่สังโยชน์
สังโยชน์คือสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ปฏิฆะ กามราคะ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา ไม่ใช่ความกลัว ความกลัว เดี๋ยวก็กลัว เดี๋ยวก็หายกลัว ความกลัว แล้วถ้าหายกลัวแล้วเดี๋ยวก็กลัวใหม่อีก เพราะเชื้อไขมันไม่ได้แก้ไข มันไปแก้ไขที่ปลายเหตุ ความกล้า ความกลัว มันแก้กิเลสไม่ได้
แต่ถ้าเป็นปัญญา พอมันแก้กิเลสไปแล้ว เวลามันชำระล้างกิเลส สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา นี่สังโยชน์ ถ้าฆ่าสังโยชน์ได้มันถึงจะชำระล้างกิเลสได้ตามความเป็นจริง นี่พูดถึงอารมณ์
จะตอบอันนี้
ถาม : ข้อ ๑๓๕๘. เรื่อง ไม่ก้าวหน้า
เรียนถามหลวงพ่อ เวลาเดินหรือนั่งจะชอบหลับตานึกถึงนิ้วมือ เท้า ขา แขน หัว ซี่โครงที่เป็นกระดูกของตัวเอง เหมือนกับที่เห็นแขวนอยู่ที่วัด และจะเพลินเย็นใจ เป็นอย่างนี้นานแล้ว เคยถามพระภาคอีสานนานมาแล้วว่าจำเป็นต้องพิจารณาอาการ ๓๒ หรือปฏิจจสมุปบาทหรือไม่ ท่านบอกไม่ต้อง แต่ตัวเองกลัวเสียเวลา
เคยพยายามพิจารณาตัดชิ้นส่วนร่างกายเหมือนหลวงปู่เจี๊ยะ แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เลยไปดูล้างป่าช้า เผาศพกลางแจ้ง อสุภะแบบต่างๆ การผ่าศพที่อธิบายเกี่ยวกับเอ็น ทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจ เกี่ยวกับภายในร่างกายต่างๆ ว่าทำงานอย่างใด สลับกับการฟังธรรมทางอินเทอร์เน็ต แต่ถ้าว่าง ไม่ทำอะไร ก็จะชอบดูกระดูกเหมือนเดิม ทำไมจึงชอบดูกระดูก ไม่ไปที่อื่น
ตอบ : นี่พูดถึงคำถามเรื่อง ไม่ก้าวหน้า
คำว่า ก้าวหน้า นะ อย่างการปฏิบัติ นี่คือการปฏิบัติ สิ่งที่เราศึกษามาๆ ทฤษฎีทั้งนั้นแหละ ทีนี้คือการปฏิบัติมันอยู่ที่อำนาจวาสนาไง ถ้าคนมีอำนาจวาสนา ขิปปาภิญญา ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย แต่คนที่เวไนยสัตว์ เราต้องถูต้องไถกัน ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ การอาบเหงื่อต่างน้ำ แต่ทำแล้วประสบความสำเร็จ มันก็ยังได้เป็นประโยชน์ นี่คือการปฏิบัติ การปฏิบัติมันเกิดตามข้อเท็จจริง
แต่ถ้าเป็นภาคปริยัติ การศึกษามา แล้วทางโลกปฏิบัติ ปฏิบัติโดยที่ไม่มีครูบาอาจารย์ ก็ปฏิบัติกันไปโดยความเข้าใจ ความเข้าใจของตัวเองด้วย ความเข้าใจของครูบาอาจารย์เราด้วย ถ้าครูบาอาจารย์มีความเข้าใจอย่างนั้นก็สอนกันตามแบบนั้น แล้วพอทำถึงกับครบกระบวนการมาแล้วก็บอกว่านั่นคือการปฏิบัติ แล้วปฏิบัติแล้วได้ผลอะไร? ได้ผลว่าต่างคนต่างไม่เข้าใจอะไรเลย
แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ของเรา ครูบาอาจารย์ของเราท่านปฏิบัติของท่านมาแล้ว แล้วท่านชำระล้างกิเลสเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นมา ท่านจะรู้เลยว่า ถ้าจิตมันไม่สงบขึ้นมา ปัญญาอย่างนั้นมันเป็นโลกียปัญญา ถ้าดีที่สุดมันก็เป็นจินตมยปัญญาเท่านั้น
จินตมยปัญญามันก็มีความซาบซึ้ง มันก็มีความพอใจของมัน ความพอใจเพราะคนอ่อนด้อย มันไม่มีอำนาจวาสนาบารมี มันก็เข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นธรรมๆ พอสิ่งนั้นเป็นธรรม พอทำอย่างนั้น พอเข้าใจสิ่งนั้นว่าเป็นธรรม มันก็ชะล่าใจ พอมันชะล่าใจ เดี๋ยวก็เสื่อม พอมันเสื่อมขึ้นมาก็เสียใจทุกที พอมันเสื่อม มันเสื่อมไปแล้วไง ปฏิบัติขึ้นมาสูงส่งได้แค่นั้นแหละ เสร็จแล้วมันคาราคาซังกันอยู่อย่างนั้นแหละ ถ้าคาราคาซัง นี่ทางธรรมนะ
ถ้าทางโลก ปฏิบัติมาขนาดนั้น คาราคาซังได้อย่างไร ปฏิบัติมามันมีความสุข มันมีความพอใจ มันก็ซาบซึ้งๆ
ซาบซึ้งมันก็ซาบซึ้งเป็นธรรม วัฒนธรรมประเพณีก็เป็นแบบนั้นน่ะ คนทำคุณงามความดี ดูสิ เวลาเราพลัดพรากจากกัน เวลาเราเจอกัน เราก็ซาบซึ้งเหมือนกัน ซาบซึ้งแล้วเดี๋ยวก็พลัดพรากกันอีก นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติธรรมไปเจอ ไปสัมผัส เดี๋ยวก็พลัดพรากจากกัน เพราะมันไม่เป็นความจริงไง
เราจะบอกว่า นี่ปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติมันต้องเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก ถ้ามันไม่เป็นปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก ปฏิบัติแล้วจะเริ่มต้นอย่างไร
ฉะนั้น เขาถามไง เขาถามว่า เขาปฏิบัติขึ้นมา เขาชอบหลับตา ชอบพิจารณาเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ถ้าพูดอย่างนี้ ถ้าเห็นอย่างนี้ แล้วเวลาปรึกษา ไปปรึกษาพระ พระก็ตอบไม่ได้ แต่ตัวเองกลัวว่าตัวเองจะเสียเวลา กลัวเสียเวลาก็พยายามจะพิจารณา ถ้าพิจารณา นี่ปฏิบัติ ปฏิบัติมันอยู่ที่ข้อเท็จจริงไง ถ้าจิตมันสงบได้ เวลามันรู้มันเห็นของมันได้ มันจะซาบซึ้งกว่านี้
เวลาบอกว่า เวลาพิจารณาไปแล้วมันเข้าใจ มันดี แต่มันไม่ก้าวหน้า
มันไม่ก้าวหน้าก็ต้องกลับมา ถ้าพิจารณานะ นี่หลวงปู่เจี๊ยะท่านสอนอย่างนี้ สอนว่า ให้ไปตามกระดูกข้อ ตั้งแต่กระดูกนิ้วมือ กระดูกข้อนิ้วมือ ข้อนิ้วมือเข้าไปถึงกระดูกข้อ กระดูกข้อศอกขึ้นไปหัวไหล่ ขึ้นไป ขึ้นไปบนศีรษะแล้ววนออกมา วนอยู่อย่างนี้ ท่านบอกว่า วนอยู่อย่างนี้เป็นสมถะ เป็นสมถะก็เหมือนกับท่องพุทโธนี่แหละ เป็นสมถะเพราะอะไร
เป็นสมถะเพราะว่าเวลาจิตมันเดินอยู่ตามข้อ ถ้ามีสติ มันอยู่ตามข้อ ก็เหมือนพุทโธอยู่กับเรา เรากำหนดพุทโธๆๆ พุทโธก็อยู่กับเรา แต่เวลาพุทโธๆ แล้วมันเผลอไง มันไปคิดอย่างอื่นแล้วพุทโธหายไป
เวลาจิตมันเดินตามกระดูกข้อนิ้วมือ มาข้อแขน ข้อศอก ถ้ามีสติ มันก็เดินตามข้อ แต่พอขาดสติ มันก็แฉลบ นี่ท่านบอกเป็นสมถะ เดินตามข้อนี่เป็นสมถะ เรานึกถึงข้อกระดูกแล้วให้จิตอยู่ หลวงปู่เจี๊ยะท่านจะเน้นตรงนี้มาก เพราะเราฟังหลวงปู่เจี๊ยะ ท่านบอกว่าต้องให้อยู่อย่างนี้เป็นชั่วโมงๆ นะ ถ้าจิตมันอยู่ตามข้อ ตามข้อในโครงสร้างของกระดูกเป็นชั่วโมงๆ ก็คือกำหนดพุทโธเป็นชั่วโมงๆ ไง ถ้าเรากำหนดพุทโธเป็นชั่วโมงๆ นะ เวลาสงบก็สงบสัก ๕ นาที ถ้าพุทโธๆ ๒ ชั่วโมงนะ เวลาสงบ สงบครึ่งชั่วโมง ถ้าพุทโธๆ สัก ๓ ชั่วโมง เวลาสงบมันสงบเกือบๆ ชั่วโมง มันอยู่ที่เหตุไง ถ้าเหตุเราดี ผลมันจะตามมา
ฉะนั้น หลวงปู่เจี๊ยะท่านบอกว่าให้พิจารณา ให้พิจารณาไปตามข้อ ให้จิตอยู่อย่างนั้น ท่านบอกเป็นสมถะ พอจิตมันสงบแล้ว เวลามันรู้มันเห็นของมัน จิตมันเห็นมันรู้ มันเห็นข้อนั้น แต่นี้เวลาเรากำหนดจิต เราอยู่ตามข้อ เพราะจิตของเราอยู่ตามข้อ อยู่ตามกระดูก บังคับจิตให้มันอยู่ ถ้าอยู่อย่างนี้มันก็เหมือนพุทโธต่อเนื่อง พุทโธต่อเนื่อง
เหมือนกัน เวลาภาวนาไป คำว่า เหมือนกัน กรรมฐาน ๔๐ ห้อง นี่ปฏิบัติ แล้วแต่จริตนิสัยของคน ใครจะทำมามากน้อยขนาดไหน ถ้าจิตกำหนดพุทโธก็ได้ ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ กำหนดตามข้อ กำหนดสิ่งต่างๆ ถ้ามีสติ สติมันก็เป็นการวิตก วิจาร มันก็เป็นองค์ของสมาธิ ถ้ามันเข้ามาได้มันก็เข้ามา ถ้าเข้ามาไม่ได้มันก็ได้แค่นั้น ได้แค่นั้นมันก็บอกว่านี่ปฏิบัติ
ปฏิบัติมันอยู่ที่อำนาจวาสนา อยู่ที่คนมีอำนาจวาสนาบารมีมากน้อยแค่ไหน อยู่ที่มีสติปัญญามากน้อยแค่ไหน ถ้ามีสติปัญญามากน้อย มีสติปัญญาดี มันก็เข้าสู่ธรรม เข้าสู่สัจธรรม
ศีล สมาธิ ปัญญา ศีล เราถือให้เป็นปกติมันก็มีศีล เวลาถ้าเราปฏิบัติแล้วมันก็เกิดสมาธิ สมาธิกับจิตเป็นอันเดียวกัน จิตเป็นสมาธิ สมาธิเป็นจิต เวลาถ้าสมาธิมันเสื่อมไป จิตก็ยังอยู่ จิตเสื่อม เวลาจิตกับสมาธิเป็นอันเดียวกัน จิตมันมีสมาธิ เวลาสมาธิเสื่อมไป จิตมันก็ยังอยู่ จิตมันก็ฟุ้งซ่าน จิตมันก็ทุกข์ของมัน ถ้าทุกข์ของมัน นี่อยู่ที่อำนาจวาสนา ถ้าอำนาจวาสนาของคนมันมี มันจะเข้าไปอยู่ที่นี่ อยู่ที่จิต อยู่ที่จิต จิตมันก็พยายามจะกำหนด พยายามจะทำของมันให้ตามความเป็นจริง แต่จิตที่ไม่มีอำนาจวาสนา เวลาทำมันก็สักแต่ว่าทำ ทำไปโดยขาดสติ ทำไปโดยพลั้งเผลอ พลั้งเผลอแล้วก็จะมาเรียกร้องเอาสัจจะเอาความจริงกันมา
ถ้าเราจะทำความจริง เราทิ้งเลย ทิ้งผลทั้งหมด แล้วมาอยู่กับเหตุ ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ อยู่กับเหตุ สร้างเหตุให้มันสมบูรณ์ของมัน ผลมันต้องตามมาแน่นอน เหมือนหลวงตาท่านพูด เวลาท่านจิตเสื่อม ไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นบอกว่า เป็นไงล่ะ
จิตมันเสื่อม
อ๋อ! จิตนี้มันเหมือนเด็กๆ มันไปเที่ยว เด็กมันต้องกินอาหาร ฉะนั้น ไม่ต้องไปตามนะ ยิ่งวิ่งตามเด็กนะ เด็กมันก็วิ่งหนีไปไกลมากขึ้น ปล่อยมันไปนะ แล้วกลับมาดูแลอาหารของเด็ก คือมาพุทโธๆๆ อย่างนั้นแหละ ถ้าจิตมันหิว เดี๋ยวมันกลับมาเอง ถ้าจิตมันหิว เดี๋ยวมันกลับมาเอง
ท่านก็ทิ้งเลยนะ จิตเสื่อมอยู่นาน เดือดร้อนมาก สุดท้ายไปฟ้องหลวงปู่มั่น ว่าอย่างนั้นเลย หลวงปู่มั่นบอก อืม! จิตมันเหมือนเด็กๆ มันไปเที่ยวเล่น ไม่ต้องไปตามมัน ยิ่งตามมัน มันยิ่งหนี ให้ดูแลอาหารของมัน คือพุทโธไว้ๆ ถ้าเดี๋ยวมันหิว เดี๋ยวมันก็กลับมาเอง
ท่านก็พุทโธของท่านไปเรื่อย พุทโธๆๆ สุดท้ายแล้วพอพุทโธๆ พอจิตมันสงบ จิตมันหิวไง มันหิวมันกระหายมันก็ฟุ้งซ่านไปไง พอพุทโธๆ อาหารมันเต็มที่มันก็วิ่งกลับมาไง มันสงบหมดนะ พอสงบแล้วท่านพูดเอง นี่หลวงตาท่านเล่าให้ฟัง ท่านบอกว่า เวลาเราภาวนาไม่เป็น จิตเสื่อมก็ไม่รู้ว่าจิตเสื่อม ไปหาท่าน ไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านสอนแบบเด็กอนุบาลเลย สอนเหมือนทารกเลย ท่านสอนเลยบอกว่า มันหิวมันกระหาย มันก็ฟุ้งซ่านของมันไป ยิ่งตามมันไป ยิ่งตามไปมันก็ยิ่งหนีเราไปไกล ให้รักษาอาหารมันไว้ พุทโธไว้ พอพุทโธๆ ถึงที่สุดมันกลับมา เวลาสงบมันก็สงบขึ้นมา ท่านบอกว่าท่านสอนเหมือนเด็กๆ เลย นี่เวลาเริ่มต้นการภาวนา
อันนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราจะพิจารณาของเรานะ ถ้าเราคิดว่าเราหลับตาแล้วเห็นข้อเท้า ข้อแขน เราพิจารณาเรื่องซี่โครงกระดูก แล้วถ้ามันดีของเรามันก็ไม่เสียหาย มันก็พิจารณาของมันไปได้ ฉะนั้น เวลาพิจารณาไปได้ เวลาไปถามพระ พระเขาบอกว่าต้องพิจารณา แล้วพิจารณาอย่างไรล่ะ? พิจารณาอาการ ๓๒ เขาก็พูดตามตำราไง
ถ้าเราจะพิจารณาของเรา ถ้าจิตเราสงบแล้วเราเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิตตามความเป็นจริง เราค่อยพิจารณา ถ้าเราพิจารณาตอนนี้ เราก็พิจารณาเป็นปัญญาอบรมสมาธิ พิจารณาแบบหาเหตุหาผลว่า จิตทำไมมันไม่สงบ ถ้ามันไม่สงบ เราก็ตั้งสติปัญญาของเรา
ถ้ามันสงบแล้วเราก็พยายามรำพึงให้เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง ถ้าตามความเป็นจริง มันก็เป็นการปฏิบัติ นี่ปฏิบัติ ปฏิบัติมันจะมีเหตุมีผล ปฏิบัติแล้วมันมีข้อเท็จจริงของมัน ถ้ามีข้อเท็จจริง สันทิฏฐิโก ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโกมันจะเกิดกับเรา แต่ถ้าไม่เกิดกับเรา ปฏิบัติแล้ว เราปฏิบัติพอเป็นพิธี ปฏิบัติพอเป็นพิธีมันไม่มีเหตุมีผล
คนที่มีเหตุมีผลมันพูดได้ คนที่มีเหตุมีผลเข้าใจได้ ถ้ามีเหตุมีผลแล้วกิเลสหลอกไม่ได้ แต่ถ้าเพราะไม่มีเหตุมีผล กิเลสมันยังหลอกเอาไง หลอกเอาก็ล้มลุกคลุกคลาน ล้มลุกคลุกคลานอยู่อย่างนี้ นี่ปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติมันจะเป็นแบบนี้ เป็นแบบนี้
เพียงแต่ถามมา มันไม่ก้าวหน้า แล้วจะทำก้าวหน้าอย่างไรล่ะ
ถ้าก้าวหน้ามันก็ต้องก้าวหน้าเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโกกับใจดวงนั้น ถ้ามันก้าวหน้านะ แล้วก้าวหน้าไปไหน ถ้าเราบอกพุทโธๆ พุทธานุสติ แต่ถ้าเรากำหนด กำหนดเป็นข้อกระดูก เป็นแขน เป็นขา ถ้าเรากำหนดได้ กำหนดไปเรื่อยๆ ใครจะว่าอย่างไรมันเรื่องของเขา แต่เราเป็นคนกำหนด กำหนดแล้วจิตเราดีใช่ไหม จิตเราถ้ามันอยู่ เห็นไหม
เวลาเขาไปสวดศพ ไปเที่ยว ไปอยู่ป่าช้า เขาก็ไปเพื่อให้จิตสงบ เวลาไปเที่ยว กาย เวทนา จิต ธรรม เพื่ออย่างนั้น แล้วเรากำหนดอยู่อย่างนี้ มันไม่ออกนอกเรื่องนอกราว มันเป็นประโยชน์กับเราแล้ว เราทำแล้วได้ประโยชน์ ใครจะว่าอย่างไรมันเรื่องของเขา นั้นมันเป็นเรื่องของว่า ไปถามพระ พระก็ตอบไปอย่างหนึ่ง ถ้าไปถามพระที่เป็น เขาก็ตอบไปอีกอย่างหนึ่ง ถ้าพระที่ไม่เป็นเขาก็พูดไปตามทฤษฎีไง จิตสงบแล้วก็พิจารณากายสิ ทำให้จิตสงบ จิตสงบแล้วก็พิจารณากาย
แล้วถาม พิจารณาอย่างไรล่ะ
ก็พิจารณากายสิ
แล้วพิจารณาอย่างไรล่ะ
ก็พิจารณากายสิ
เราเจอไอ้เถรส่องบาตรมาเยอะ จิตสงบแล้วก็พิจารณากายสิ
สงบ เขายังไม่รู้ว่าสงบเป็นอย่างไรเลย แล้วพิจารณากายพิจารณาอย่างไรล่ะ ถ้าพิจารณากายก็เหมือนหมอ นักศึกษาแพทย์มาเรียนกับอาจารย์ใหญ่ พิจารณากายอย่างนั้นสิ...ไอ้นั่นมันวิชาชีพ พูดน่ะมันง่าย แต่เวลาทำ ถ้าคนไม่เป็น มันไม่มีเทคนิค วิธีการทำอย่างไร แต่ถ้าคนเป็นนะ มันบอกได้หมด
แล้วพอพิจารณากาย พิจารณากายเป็นส่วน พิจารณากายเป็นทั้งร่างกาย พิจารณากายเฉพาะอวัยวะ อู๋ย! พิจารณากายนี้มันแตกแขนงไปอีกเยอะมากเลย แม้แต่พิจารณากายองค์เดียวนั่นแหละ แต่ละครั้งแต่ละคราวก็ไม่เหมือนกัน ไม่มีเหมือนกันหรอก มันทำแตกต่างกันเยอะมาก เวลาคำพูดมาได้แค่นี้ จิตสงบก็พิจารณากายสิ แล้วพิจารณากายอย่างไรล่ะ
นี่ปฏิบัติมันรู้ได้ มันรู้ได้เลยว่าคนพูดมันพูดออกมาจากความจริงหรือพูดออกมาจากความจำ ถ้าพูดออกมาจากความจำก็พูดออกมาเพื่อจะแก้หน้ากันไปอย่างนั้นแหละ ก็บอกเขาไปว่าผมไม่เคยเป็น ผมแก้ไม่ได้ อย่างเช่นหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่เสาร์เวลาหลวงปู่มั่นไปถามท่านนะ หลวงปู่เสาร์ท่านบอกเลย ผมแก้ท่านไม่ได้หรอก เพราะท่านมั่นท่านมีปัญญามาก ท่านต้องแก้ตัวเอง นี่สุภาพบุรุษมากนะ แต่ถ้าเราเป็นอาจารย์ ลูกศิษย์มาถามมันก็ต้อง อู้ฮู! แถไปเรื่อยล่ะ
นี่หลวงปู่เสาร์ท่านพูดเลย เราแก้ท่านไม่ได้หรอก ท่านต้องแก้ตัวเอง เพราะท่านปัญญามาก หลวงปู่เสาร์พูดกับหลวงปู่มั่นอย่างนี้ ถ้าไม่เป็นก็บอกเขาสิว่าผมไม่เป็น ไปหาคนเป็นสิ
จิตสงบก็พิจารณากาย จิตสงบแล้วพิจารณากาย...มันจะรู้อะไร
นี่พูดถึงมันไม่ก้าวหน้า เราทำของเราไปแล้วจะก้าวหน้าของเราเอง
ถาม : ข้อ ๑๓๕๙. เรื่อง เรื่องที่เล่ามีทั้งคำถาม แล้วแต่หลวงพ่อจะตอบหรือสรุปก็ได้ค่ะ
ตอบ : จะสรุปเอาเนาะ เพราะว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่อยากเอามาเป็นที่สาธารณะ
ถาม : หลวงพ่อคะ หนูได้มีโอกาสไปกราบหลวงพ่อ ฟังเทศน์หลวงพ่อตอนเช้ากับหลวงพ่ออยู่ ๒ ครั้ง ครั้งแรกที่ไป ไม่รู้การปฏิบัติของวัดป่าสักเท่าไร จนหลวงพ่อเทศน์ก่อนฉันอาหารและหลังฉันอาหาร จึงได้รู้เรื่อง เข้าวัดฟังธรรมมา ๒ ครั้ง ทำให้จิตหนูคิดถึง
ตอบ : แน่ะ คิดถึงนี่ไม่พูดแล้ว เขาคิดถึง คิดถึงครอบครัวของเขา คิดถึงสิ่งที่เขาเคยเป็น พรรณนามาจนจบ
ถาม : และมีอีกเรื่องค่ะ ถามถึงตัวหนูเองค่ะ (โทรหาสิ่งที่เขาพูดถึง นี่เขาพูดถึงนะ สิ่งที่เขาเป็นข้อสรุป) เรื่องที่เล่านี้มีทั้งคำถาม แล้วแต่หลวงพ่อจะตอบและข้อสรุปค่ะ
ตอบ : ข้อสรุป หมายความว่า สิ่งที่เขาถามมา เห็นไหม เวลาไปฟังเทศน์หลวงพ่ออยู่ ๒ ครั้ง ไม่รู้ถึงข้อปฏิบัติของวัดป่าเลย แต่เวลาหลวงพ่อเทศน์แล้ว เทศน์ก่อนฉันและหลังฉัน หนูถึงรู้เรื่อง
เวลาเราเข้าใจ เราคิดถึง เราเข้าใจกันเอง ไปวัดจะเป็นอย่างไร ไปวัดจะเป็นอย่างไร ฉะนั้น เวลาไปวัด ไปวัด วัดโดยทั่วๆ ไป วัด เขาบอก บวร วัด บ้าน โรงเรียน แล้วสรรพสิ่งสมัยโบราณ ทางวิชาการทั้งหมดอยู่ที่วัดหมด เพราะสมัยโบราณ การศึกษาเริ่มต้นเริ่มจากการศึกษาประชาบาล เริ่มต้นมาจากวัด เพราะประเพณีวัฒนธรรมของเราเป็นแบบนี้ แต่เวลาทางยุโรป ทางวิชาการเขาเจริญ เขาก็แยกโรงเรียนออกจากวัดไป ฉะนั้น พอเราเจริญขึ้นมา เราก็จะทำแบบนั้น แต่โบราณของเรา บวร วัด บ้าน โรงเรียนอยู่ด้วยกัน ฉะนั้น เวลาไปวัดมันจะมีทุกอย่าง ไปวัดมีทางวิชาการ มีศิลปวัฒนธรรม มีต่างๆ อยู่ที่วัด ไปศึกษากันอย่างนั้นมันก็เป็นวัดอย่างนั้น
ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาตรัสรู้ ตรัสรู้อยู่ในป่า ตรัสรู้อยู่โคนต้นโพธิ์ อยู่ในป่าเพราะอะไร เพราะต้องการความสงบความสงัด เพราะผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเขารู้ว่าจิตของเรามันจะเกาะเกี่ยว มันจะติดพันกันไปหมด ถ้าไม่แยกจิตนี้ออกไปเป็นส่วนตน การปฏิบัติเวลามรรคมันเริ่มต้น มรรคมันเริ่มเคลื่อนออกไป ปัญญามันเกิดขึ้น มันต้องการความสงบต้องการวิเวก มันแตกต่างกัน ฉะนั้น วัดป่าเขาต้องสงบสงัด วัดป่า เวลาเขาไปเขาจะเคารพกัน เขาจะหาที่วิเวกกัน เขาจะไม่กระทบกระเทือนกัน เวลาข้อวัตรปฏิบัติของวัดป่า
ฉะนั้น เขาบอกเวลาไปวัดใหม่ๆ เขาไม่เข้าใจเลย เพราะไปวัดก็คิดว่าไปวัด พอไปวัดขึ้นมาแล้ว เรามาวัด เราจากบ้านมาวัดแล้วนะ วัดเป็นสถานที่สาธารณะนะ วัดต้องอำนวยความสะดวกเพื่อให้โยมเขาติดใจ โยมจะได้ไปวัดบ่อยๆ นะ นี่โลกเขาคิดกันแบบนั้น
แต่เวลามันพัฒนาขึ้นไปแล้ว สิ่งที่ไปวัดๆ ก็ไปเป็นประเพณีวัฒนธรรม ไปเพื่อทำบุญกุศล แต่ถ้าวัดป่าๆ เขาจะปฏิบัติ เขาจะชำระล้างกิเลส มันก็ไปอีกเรื่องหนึ่งนะ เรื่องหนึ่งเขาก็ต้องมีข้อวัตร เขาต้องมีสถานที่ของเขาแยกส่วนกัน ใครภาวนาขนาดไหน ภาวนาขนาดไหน เขาจะกันกัน กันกัน หมายความว่า เขาจะไม่ให้คนอื่นเข้าไปรบกวน
ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นนะ ท่านจะให้คนปฏิบัติ ถ้าถึงจริงๆ แล้ว หลวงปู่มั่นเวลาอยู่ที่หนองผือ พระองค์นี้ควรจะไปอยู่ป่านั้น พระองค์นี้อยู่ถ้ำนั้น ท่านแยกออกไปเลย แล้วถ้าปฏิบัติแล้วถ้ามีปัญหาจะกลับมาถามท่าน ท่านจะแก้ให้เป็นชั้นเป็นตอน เพราะเวลามันพัฒนาอย่างนั้น มันพัฒนา พัฒนา เวลาจิตมันสงบมันพิจารณาของมันไปแล้ว ปฏิบัติแล้วมันติดขัดอะไร เข้ามาก็จะแก้ให้ๆ นี่พูดถึงว่าวัดป่าเป็นอย่างนี้ไง
ทำไมถึงต้องเป็นวัดบ้าน-วัดป่า ไปแยกอะไร วัดก็เหมือนวัด พระก็เหมือนพระ มันแยกกันตรงไหนล่ะ
มันแยกกันตรงที่ข้อวัตร มันแยกกันที่เจตนาเป้าหมาย เป้าหมายพระป่าๆ เขามีเป้าหมายว่าจะพ้นจากทุกข์ เป้าหมายของเขา เขาจะเกิดมรรคในหัวใจ เขาไม่ใช่วัดบ้าน วัดบ้านมีการศึกษา ศึกษาก็ศึกษาทางทฤษฎีใช่ไหม ศึกษามาแล้วก็วิเคราะห์วิจัย ขยายความย่อความเพื่อความชัดเจนของข้อมูลนั้น นั่นพูดถึงทางวิชาการ
เวลาวัดป่าๆ วัดป่าเขาศึกษามาแล้วเขาก็จะปฏิบัติในหัวใจขึ้นมา ถ้าหัวใจของเขาขึ้นมา เขาก็เกิดมีศีล มีสมาธิ มีปัญญาขึ้นมา มีมรรคมีญาณขึ้นมา เขาต้องมีครูบาอาจารย์ วิปัสสนาธุระๆ ครูบาอาจารย์เขาจะชี้นำของเขา ถ้าชี้นำของเขา เขาวัดกันที่หัวใจ วัดที่คุณธรรมในใจไง
มันถึงบอกว่า ไม่รู้เรื่องเลย ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้เรื่องดี
ดี หมายความว่า ตั้งสติไว้ ดูเขาก่อน ไปที่ไหน ดูประเพณีวัฒนธรรมของเขา เขาจะพากันไปไหน ถ้าเขาจะพากันวนอยู่ในวัฏฏะ เขาก็ศึกษามา ศึกษามาเพื่ออำนาจวาสนาบารมี ศึกษามาเพื่อความเข้าใจในศาสนา ว่าเรานี่เป็นชาวพุทธๆ
แต่ผู้ที่ปฏิบัติเขาจะออกจากวัฏฏะ เขาจะออกจากวัฏฏะ เขาพยายามจะเอาใจของเขาออกจากความผูกพัน ออกจากความยึดมั่นถือมั่นในใจ เขาต้องมีความสงบระงับมากกว่า เขาต้องมี เห็นไหม
มันก็เหมือนโรงพยาบาล โรงพยาบาลนะ โรงพยาบาลถ้าคนเจ็บไข้ได้ป่วยเข้ามาแล้ว คนไข้นอกมาถึงรับยาก็กลับบ้านๆ ถ้าคนไข้ใน อันนี้กำลังจะตายแล้ว ต้องฟื้นฟูเพื่อจะเอาเข้าห้องผ่าตัด ห้องผ่าตัดเขาต้องเป็นห้องปลอดเชื้อ ห้องปลอดเชื้อ เครื่องมือแพทย์เขาต้องมีการอบเพื่อไม่ให้มีเชื้อโรค นี่ก็เหมือนกัน เขาจะผ่าตัด เขาจะผ่าตัดกิเลส เขาจะต่างๆ เขาก็ต้องเข้มงวดกว่านั้น
นี่พูดถึงว่า ถ้าเขาบอกมาวัด ๒ หนแล้วเข้าใจมากขึ้น อันนี้เห็นด้วย ถ้าเข้าใจมากขึ้นมันก็ดี ฉะนั้น สิ่งที่เข้าใจมากขึ้น นี่พูดถึงพระปฏิบัตินะ
แล้วเขาก็พูดถึงว่า มีพระของเขาบอกว่าการปฏิบัติต้องนั่งสมาธิไป ทำไมต้องไปอยู่ป่าอยู่เขา อยู่ป่าอยู่เขา นี่ไง เขาบอกว่าไปอยู่ป่าอยู่เขาเพราะว่ามันเสี่ยงกับความกลัวต่างๆ
เรื่องนี้ครูบาอาจารย์ท่านผ่านมาก่อนแล้ว แล้วถ้าบอกว่า อยากจะให้พระองค์นี้มาปฏิบัติกับเรา
อันนี้มันอยู่ที่วาสนานะ ถ้าอยู่ที่วาสนา ถ้าจิตใจของคน ถ้าจิตใจของคนมันฝักใฝ่ใฝ่ดี เหมือนเช่นสมัยที่ว่าหลวงตาท่านจะไปหาหลวงปู่มั่น ทุกคนก็บอกว่าหลวงปู่มั่นดุมาก ดุมาก
หลวงตาท่านมีความคิดในใจของท่านขึ้นมา ถ้าเสียงร่ำลือว่าหลวงปู่มั่นเป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์จะทำร้ายคนที่ไหนมันจะมี เขาจะร่ำลือกันมากว่าหลวงปู่มั่นดุมาก ดุมาก ใครๆ ก็ไม่กล้าเข้า แต่หลวงตาท่านจะเข้า ท่านอยากพิสูจน์ว่าในเมื่อคนที่มีคุณธรรมมันจะมีจิตใจลำเอียง จิตใจจะทำร้ายใคร มันจะเป็นไปได้อย่างไร
ท่านเข้าไป เข้าไปก็โดนเต็มๆ เลยล่ะ ผลัวะ! เต็มๆ เลยนะ มหามาหาอะไร ใส่เต็มที่เลย เพราะคนใฝ่ดี คนตั้งใจดี ผู้รับก็รับด้วยความเต็มที่ เต็มที่จริงๆ ถ้าใฝ่ดีแล้ว สิ่งที่เป็นครูบาอาจารย์ของเราท่านจะชี้แต่เรื่องดีๆ ถ้าเขามีความตั้งใจ มีความใฝ่ดี เขาแสวงหาเอง โยมไม่ต้องทุกข์ใจ
เขาทุกข์ใจมาก เขาทุกข์ใจว่าเขาอยากจะให้พระของเขามาศึกษากับเรา เขาเขียนว่าอย่างนั้นนะ แต่เขาไม่ยอมมา ไม่ยอมมาหรอก เพราะไม่อยากหน้าแตกไง ถ้าไปหาหลวงพ่อล่ะหน้าแตกอยู่แล้ว
หน้าแตกกับกิเลสแตก มันแตกต่างกันนะ ถ้าว่าหน้าแตก เราก็เกิดทิฏฐิมานะ แต่ถ้าเรามีความสำคัญผิด แล้วมีคนมาชี้ถึงความสำคัญผิดของเรา เราหน้าแตกหรือ
เราไม่ใช่หน้าแตกหรอก ทิฏฐิมานะของเราแตกต่างหาก ความทิฏฐิมานะอหังการว่าสิ่งนี้ถูกต้องดีงาม แล้วสิ่งที่เราเห็นผิด เราก็คิดว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ผิด เป็นมิจฉาทิฏฐิ แต่เวลาครูบาอาจารย์ท่านชี้มาเลยว่าสิ่งที่บอกว่ามิจฉาทิฏฐินั่นน่ะมันเป็นความถูกต้อง เป็นความถูกต้องตามธรรม แต่เพราะเรามีกิเลส กิเลสของเรามันไปสำคัญตน มันเลยไปยึดมิจฉาทิฏฐิว่าเป็นสัมมา แล้วเราก็ยึดความเป็นมิจฉาทิฏฐิว่าเป็นสัมมา แล้วเราก็ยึดของเราไว้ แล้วมีคนมาชี้บอกว่านั่นเป็นความถูกความผิด อย่างนี้เขาเรียกว่าหน้าแตกหรือ อย่างนี้มันกิเลสแตกต่างหาก แต่ถ้ากิเลสมันมาก มันยึดของมัน มันไม่กล้าไปหรอก
ฉะนั้น สิ่งที่โยมถามมาบอกว่า เขาไม่ยอมมาหาหลวงพ่อ เขากลัวหน้าแตก
ไม่ต้องมาหรอก ถึงเวลาแล้วมันเป็นเอง โยมไม่ต้องทุกข์ใจไป ไม่ต้องทุกข์ใจ
อีกเรื่องหนึ่ง คำถามของหนูนะ เขาบอกว่า สิ่งที่เขาโทรหากัน ปรึกษากัน
ถ้าสิ่งที่โทรหากันด้วยการปรึกษาธรรมะสิ่งต่างๆ เราว่ามันไม่ผิดหรอก แต่ถ้าโทรหากัน การพูดเลยเถิดไปมันก็ไม่ดีงาม
เพราะเขาแสวงหาธรรม พระของเราบวชไปแล้วเพื่อแสวงหาธรรมของเขา ถ้าเขาแสวงหาธรรมของเขา เขาปฏิบัติของเขา เขาปลอดโปร่งของเขา ถ้าเราพูดเพื่อประโยชน์นะ เพื่อประโยชน์ เพื่อส่งเสริมกัน ส่งเสริมคือพูดให้กำลังใจเขา ส่งเสริมว่าเราขอฟังธรรม ถ้าเขาปฏิบัติธรรมแล้วจะมาโปรดเราด้วย กระตุ้นให้เขามีความมุมานะ กระตุ้นให้เขาประพฤติปฏิบัติ
แต่ถ้าเราไปรำพันต่อกันนะ ฉันก็ทุกข์ พระก็ทุกข์ เออ! ทุกข์ก็ทุกข์ เราก็ไปอยู่ในกองทุกข์ เดี๋ยวมันก็วิ่งมากองกัน
เราอย่ามากองกันนะ เราแยกจากกันไป ถ้าแยกจากกันไป
เวลาพูด เขาถามว่า เวลาโทรศัพท์หากันผิดไหม
จะบอกว่าผิดมันก็ไม่ผิด เพราะอะไร เพราะว่าเขาเรียกว่าลับหูลับตา ถ้าลับหูลับตา อยู่ด้วยกัน มันก็ผิดเหมือนกัน มันผิดไง อนิยต ๒ อนิยต ๒ นะ ถ้าภิกษุอยู่กับผู้หญิงตัวต่อตัว ถ้ามีบุคคลที่เชื่อถือได้มาบอกเรื่องอาบัติข้อใด ให้ปรับข้อนั้น นี่อยู่ในอนิยต ๒ ฉะนั้น อยู่ในอนิยต ๒ แล้ว ถ้าอนิยต ๒
ทีนี้เราบอกว่าสิ่งนั้นมันเป็นพระกับเราเคยสนิทคุ้นเคยกันมา ถ้าเราบอกคุ้นเคยกันมา สิ่งที่สื่อสารมวลชน อย่างสื่อสารเขาสื่อกันอยู่แล้ว นี่เขาใช้กันโดยโลกใช่ไหม เราก็ใช้ได้ เราก็ใช้เป็นประโยชน์ไง คือเราจะเป็นผู้ที่มีสัมมาทิฏฐิ เราทำด้วยความเป็นธรรม เราว่าถูกต้อง ถ้าเราตั้งใจ สิ่งที่เวลาใช้โทรศัพท์คุยกับพระ ถ้าเราคุยด้วยความเป็นธรรม คุยด้วยการสื่อสาร ในเมื่อสื่อสารมันมีอยู่แล้ว เราก็ถือว่ามันไม่ผิด แต่ถ้าเราคุยเลยเถิดไปมันก็ให้โทษ มันให้โทษทั้งเราและเขา แล้วมันก็มีอนิยต ๒ มาเป็นบรรทัดฐาน ถ้ามีอนิยต ๒ เป็นบรรทัดฐาน ถ้าผิด ถ้ามันไม่สมควร เราก็ไม่ควรทำ แต่ถ้าเราคุยเพื่อเป็นประโยชน์ เราบอกว่าใช้ได้ เอวัง