ต้องซ้ำๆ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : ข้อ ๑๓๖๔. เรื่อง ผมควรปฏิบัติอย่างไรต่อไป ต้องไปฝึกสมาธิให้แน่วแน่ก่อน หรือเจริญปัญญาต่อไปในแนวทางใด ขอความเมตตาหลวงพ่อด้วยครับ
(โอ้โฮ! นี่หัวข้อคำถามยาวเหยียดเลย)
ก่อนอื่นผมขอเล่าการปฏิบัติที่ผ่านมาก่อนครับ การทำสมาธิส่วนใหญ่ ผมจะได้เพียงแค่สงบระงับ ไม่ฟุ้งไปภายนอก รับรู้สิ่งต่างๆ อยู่ แต่ไม่เข้าไปกวนถึงจิต เคยทำจนเป็นสมาธิสมบูรณ์ คือทุกอย่างดับไปหมดเพียงครั้งเดียว แต่ดีใจไปหน่อย เลยหลุดออกมาจากอารมณ์สมาธิ หลังที่สงบตามกำลังอันน้อยนิดพอสมควรแล้ว กระผมก็พิจารณาร่างกายเลย โดยแล้วแต่บางวันจะพิจารณาต่างๆ กันไป แต่จะอธิบายตามลำดับที่สะดุดใจมากๆ นะครับ
๑. กระผมพิจารณาร่างกายเป็นธาตุ ๔ แบ่งเป็นธาตุดินใส่ถังใบหนึ่ง ธาตุน้ำใส่ถังใบหนึ่ง ลม ไฟ ใส่ถังใบหนึ่ง ทำไปเรื่อยๆ จนมันรู้สึกเมตตาไปหมด พอเห็นว่าสิ่งต่างๆ เป็นธาตุไปตามๆ กัน เหมือนกันหมด เราเหมือนเขา เขาเหมือนเรา จนบัดนี้ ๔-๕ ปีแล้วยังไม่คิดจะตบยุงหรือบี้มดเลยครับ มันรู้สึกเหมือนฆ่าคนคนหนึ่งเลย
๒. เมื่อพิจารณาร่างกายไปเรื่อยๆ โดยปกติเวทนาร่างกายมันก็มากวน กวนหนักๆ ก็ประมาณชั่วโมงที่ ๒ ที่ ๓ ไปแล้วนะครับ แรกๆ ก็พยายามสู้กันอยู่ แต่ไม่ไหว ล้มไปหลายสิบรอบ ปวดขา นอนดีกว่า จนไปได้กำลังใจจากหนังสือของหลวงปู่ขาว จึงฮึดสู้เอาตายเป็นตาย พอเจอกับมันทีไร เราตายทุกที (ลงหมอน) แค้นอยู่ลึกๆ โดยปักใจว่าวันนี้อย่างไรก็ต้องรู้หน้ามันให้ได้ ตายช่างมัน เราทำสมาธิตายก็ให้มันตาย ตายในขณะที่ทำสมาธิ อย่างน้อยกูก็ไปสวรรค์วะ กราบขออภัยที่เป็นคำที่คุยกับตัวเองครับ
หลังจากนั้นมาเริ่มจากปวดตุบๆ ที่ขาจนรู้สึกเหมือนโดนไฟเผาทั้งตัว ปวดแสบปวดร้อนจนรู้สึกว่าตัวสั่นไปหมด ใจก็จะพิจารณาแยกกาย จิต เวทนา ออกจากกันดังนี้ ขณะที่จิตขณะนั้นจิตสงบมาก มากกว่าปกติ ทั้งที่กายยังสั่นอยู่ เวทนาก็รุมพริบๆ เหมือนไฟเผาเลยครับ เลยรู้ว่าไอ้ทุกข์นี้มันไม่ใช่เราจริงๆ หรือ ไฟทั้งกองนี่ยังเอามาเป็นเราอีกหรือ จะโง่ไปถึงไหน ไฟนี้ไม่เห็นหรือ
ส่วนจิตมันก็นิ่งอยู่อย่างนั้น มีแต่กายกับทุกข์มันดิ้นใส่กัน พิจารณาไปเรื่อยๆ โดยไม่คิดว่าจะถอย เพราะมอบตายไว้แล้ว จนพอถึงที่ปุ๊บ มันสว่างวูบ ไฟที่เป็นทุกข์ที่เผาตัวอยู่มันหายวับไปเลย น้ำตาร่วง พังเลยนะครับ ทั้งปีติ ทั้งสลดในความโง่ของตัวเอง ของอยู่กับตัวมา ๒๐ กว่าปี ทำไมไม่รู้ ทำไมเพิ่งเห็นไฟทั้งกอง ทำไมถึงกอดมาตั้งนาน นึกถึงพระคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าไม่มีท่าน เราก็ไม่มีทางรู้ได้เลย กราบพื้นอยู่คนเดียวครับ น้ำตาเต็มหน้าเลยครับ แต่หลังจากนั้นก็ไม่รู้จะจับหลักตรงไหนต่อ กราบขอเมตตาช่วยแนะนำทางที่เหมาะสมกับความโง่เง่าของผมด้วยครับ
ตอบ : นี่คือคำถามนะ ถ้าเป็นคำตอบนะ คำตอบเวลาถามมาทางเว็บไซต์ ถามมาทางเอกสาร เราก็เหมือนศาลเนาะ ศาลเขาจะพิพากษาตามสำนวน ถ้านอกสำนวน เขาไม่ให้เอาเข้ามาในสำนวน นี่ก็เหมือนกัน เขียนมาอย่างนี้ก็ต้องตอบภาษานี้ แต่มันมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกเยอะแยะ ถ้ารายละเอียดปลีกย่อย เราจะรู้ได้อย่างไร ฉะนั้น ถ้าเป็นศาล ศาลเขาตัดสินตามสำนวนที่ตำรวจ ที่อัยการส่งมา แล้วศาลก็ต้องตัดสินตามนั้น
นี่ก็เหมือนกัน จะพูดก่อนไง ไม่ใช่ว่าเขาเขียนมาอย่างไรก็ตอบอย่างนั้น เขาเขียนมาอย่างไร จริงไม่จริงก็ไม่รู้ หลวงพ่อก็ แหม! พอนั่งเทียนได้ก็ใส่ใหญ่เลย ฉะนั้น จะบอกว่า ถ้าศาลเขาตอบตามสำนวน สำนวนอย่างไร เขาตอบตามนั้น นี่ก็เหมือนกัน ตอบตามสำนวนนั้น
ฉะนั้น ถ้าการปฏิบัตินะ การปฏิบัติมันจะมีเหตุมีผลของมัน ฉะนั้น ถ้าปฏิบัติจะมีเหตุมีผลของมัน จะตอบเป็นข้อๆ
ข้อที่ ๑ อารัมภบท พอทำจิตของเรา พอความสงบ ความสงบพอมันจะไม่ฟุ้ง แล้วเราก็พิจารณาไปเลย นี่มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าจิตมันสงบต่างๆ ที่โลกเขาทำกันๆ อยู่นี่ ที่โลกเขาทำบอกว่าใช้ปัญญาๆ มันปัญญาโลกๆ ทั้งนั้นแหละ ปัญญาโลกๆ คือตรึกในธรรม ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรามาตรึก มาใคร่มาครวญกัน มันก็ซาบซึ้งๆ อย่างที่ว่า อันนี้มันเป็นปัญญาทางโลก โลกียปัญญา คือจิตมันยังไม่มีหลักมีเกณฑ์ของมัน ถ้าจิตมีหลักมีเกณฑ์นะ มันจะมีความเห็นภาวนามยปัญญาไปอีกเรื่องหนึ่งเลย ฉะนั้น ไปอีกเรื่องหนึ่ง คนภาวนาแล้วมันจะรู้ของมัน
อย่างเช่นแม่ครัว ของที่เอามาทำครัว เราเอามา อะไรสุกอะไรดิบ เรารู้ แล้วเราจะเอามาผสมกันให้มันเป็นอาหาร เราจะมาทำครัวให้เป็นอาหารแต่ละชนิดๆ เราต้องมีส่วนผสมแตกต่างกันไป เพราะอาหารมันแตกต่างกัน วัตถุดิบแตกต่างกัน อาหารก็แตกต่างกัน ชื่อเรียกก็แตกต่างกัน
ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ถ้าเรายังใช้ความรู้สึกนึกคิดของเราอยู่อย่างนี้ มันก็เป็นโลกๆ ความรู้สึกนึกคิดของเรา เราว่าเป็นปัญญาๆ มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าครูบาอาจารย์ที่ท่านทำเป็น ท่านจะรู้เลยว่าปัญญาอบรมสมาธิมันมีผลของมันแค่ไหน ผลของมันก็คือสมถะ ผลของมันก็คือสมาธิ ผลของมันก็คือการปล่อยวาง สมถะคือการปล่อยวาง สมถะคือสมาธิ สมถะคือการปล่อยวางจากความฟุ้งซ่าน ปล่อยวางจากความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์นั้นมันก็ปล่อยวาง มันก็เป็นสมถะเข้ามา
ในการใช้ปัญญาๆ ที่เราพิจารณาใช้ปัญญากันไป ปัญญาพอประมาณ ระงับความฟุ้งซ่าน ใช้ปัญญาของเราไป มันก็เป็นปัญญา นี่ฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาในโลกียปัญญา ผลของมันก็คือสมถะ ผลของมันก็คือสมาธิ จะปฏิเสธสมาธิไม่ปฏิเสธสมาธิ ผลของมันก็คือสมาธิ เพราะมันเป็นขั้นตอนระหว่างที่จิตจะก้าวเดินผ่านอย่างนี้ไป
ฉะนั้น ถ้ามันไม่ฟุ้งซ่าน พิจารณาของมันไป มันก็ถูกต้อง ถูกต้อง แต่แล้วถูกต้อง ถ้ามีครูบาอาจารย์ก็จะต้องบอกว่า เออ! ทำไป แล้วซ้ำไป เวลามีปัญหาต่างๆ เขาไปถามหลวงตาว่าควรทำอย่างไรต่อไป ท่านบอกให้ซ้ำๆ
ซ้ำ หมายความว่า คนคนนั้นถ้าทำสิ่งใดเป็นมันก็มีพื้นฐานตรงนั้นไป ถ้าซ้ำก็ทำแบบนั้นมันก็เจริญงอกงามขึ้นไป แต่พอเราปฏิบัติสิ่งใดแล้ว เราว่าเรารู้เราเข้าใจแล้ว เราก็จะกระโดดข้ามไป จะเอาไอ้นั่น จะปีนดวงดาว จะขึ้นก้อนเมฆ จะไปดวงจันทร์กันน่ะ...ไม่ต้องไปหรอก เขาสำรวจดวงจันทร์ เขายิงจรวดจากฐานจากโลกนี่แหละ เขาจะไปดาวอังคาร ไปไหน ฐานยิงจรวดมันก็อยู่ในโลกนี่แหละ นี่ก็เหมือนกัน มันก็อยู่ในใจเรานี่แหละ ถ้าอยู่ในใจเรา ถ้าทำความสงบของใจเข้ามา ค้นคว้ากันที่ใจนั้น ถ้าคิดอย่างไร นั่นเป็นไป
นี่พูดถึงว่า เขาทำความสงบ พอไม่ฟุ้งซ่านก็ใช้ปัญญาของเขาไป
จิตมันไม่ควรใช้ปัญญาไป พยายามทำจิตให้มันสมบูรณ์ขึ้นมา พอขณะที่จิตมันสมบูรณ์ เคยดับความรู้สึกได้หนหนึ่ง ดับได้ครั้งเดียว แต่ดีใจไปหน่อย พอมันจะลง จะลง มันจะดับ มันจะลงสู่อัปปนาสมาธิ อัปปนาสมาธิมันรวมใหญ่ มันลงได้ ถ้าลงได้ขึ้นไป ส่วนใหญ่แล้วมันมหัศจรรย์ นี่ดีใจไปหน่อย ออกเลย นี่ดีใจไปหน่อย
คนที่ชำนาญเรื่องนี้ ถ้ามันชำนาญของมันนะ พุทโธๆๆ เราจะรู้เลยว่าพุทโธมันพุทโธขนาดไหน แล้วพุทโธละเอียดอย่างไร พุทโธมันจะคลายตัวอย่างไร พุทโธจนพุทโธไม่ได้ คำว่า พุทโธไม่ได้ มันเป็นหนึ่ง
คนเรามันมีอารมณ์เป็นสอง คือธรรมชาติที่รู้หนึ่ง คือธาตุ ธาตุรู้คือความรู้สึกนี้หนึ่ง แล้วความคิด ถ้าไม่มีความคิด ความรู้สึกนี้มันก็ไม่ชัดเจน ถ้ามันปล่อยวาง ปล่อยวางความคิดจนมาเป็นธรรมชาติที่รู้ สัมมาสมาธิ อัปปนาสมาธิ มันชัดเจนของมัน มันรู้ของมันนะ แล้วถ้ามันรู้ของมัน มันเห็นของมัน มันทำของมันได้ มันจะทำของมันได้บ่อยๆ นี่ชำนาญในวสี ถ้าชำนาญได้ มันจะเข้าไปพักได้ นี่คนที่มีกำลัง
กองทัพ เวลาเขารบทัพจับศึก ถ้ากองทัพใด เสบียงกรัง น้ำมันสมบูรณ์ ลูกกระสุนสมบูรณ์ อาวุธสมบูรณ์ หน่วยซ่อมกำลังสมบูรณ์ กองทัพนั้นมันไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีขอบเขต
กองทัพไหนออกไปนะ พอไปถึงกลางทางนะ เสบียงหมด อาหารก็หมด น้ำมันก็ไม่มี รถก็เศษเหล็กไง อาวุธที่แบกมา ปืนก็เป็นเศษเหล็กหมดเลย เพราะมันไม่มีกระสุนไง นี่ไง ถ้าไม่มีสมาธิ ไม่มีสมาธิ ไม่มีกำลัง ไม่มีสติ สมาธินะ กองทัพไปไม่รอดหรอก ไปไม่ได้หรอก
แหม! พอออกจากค่ายนะ แหม! เตรียมพร้อมเลย อาหารสมบูรณ์ แหม! มีความคึกคัก ไปถึงครึ่งทาง มันใช้จ่าย มันกินจนหมด กระสุนก็ยิงเล่นกันไป ถึงข้างทางเจอนกเจอไม้ก็ยิงเล่น ฝึก ฝึกเพื่อความชำนาญ เดี๋ยวเจอข้าศึกจะได้ยิงมัน อู๋ย! เก่งมาก ยิงนกตกปลาไปเรื่อย ไปเจอข้าศึกจริงๆ ก็กระสุนหมด แล้วจะไปรบกับใคร
สัมมาสมาธิ ถ้าคนบอกว่า สมาธิไม่สำคัญ สมาธิไม่เป็นอะไร
ไม่เคยปฏิบัติหรอก ถ้าคนเคยปฏิบัติมาไม่กล้าพูดอย่างนั้น ผู้ที่เคยออกรบเขาจะเตรียมความพร้อมของเขา สิ่งที่เป็นเสบียงกรังของเขา เขาต้องพร้อมของเขา กองทัพฝึกหัดมาเข้มแข็ง นักรบนี่สุดยอดเลย ไปถึงมีมือเปล่าไป จะไปรบกับข้าศึก เป็นไปไม่ได้หรอก จะกองทัพมากน้อยขนาดไหน ตายหมด เป็นไปไม่ได้
แต่ถ้าเป็นไปได้นะ เสบียงกรังของเรา อาหารการกินมันไปฆ่าใคร มันจะไปยิงใคร ข้าศึก จะเอาอาหารไปทุ่มให้มันตาย มันไม่ตายหรอก แต่ของเราต้องกิน เราไม่มีกิน เราก็ไม่มีแรงไปฆ่าเขา เราจะไปฆ่าเขา เราก็ต้องมีอาหาร อาหารไม่ฆ่าใครหรอก แต่มันมาเพิ่มกำลังให้เรา เราจะไปฆ่าเขามันเป็นลูกปืนนะ อาวุธต่างๆ ที่จะไปหาข้าศึก แต่ถ้าเราไม่มีกำลัง เรายกปืนก็ยังไม่ไหว ยิงใครก็ยิงไม่เป็น แล้วบอกว่าจะรบทัพจับศึก มันเป็นไปได้อย่างไร เขาบอกอาหารไม่จำเป็นหรอก มันต้องมีระเบิดนิวเคลียร์...นิวเคลียร์ เดี๋ยวมันจะระเบิดตายคามือ เพราะมันไปยิงใครไม่เป็น
ฉะนั้น สัมมาสมาธิถึงสำคัญนะ ถ้าสำคัญขึ้นมา เราทำของเรา ถ้าใครมีพื้นฐานที่ดี เขาจะทำของเขาได้
ฉะนั้น คำถาม ๑. กระผมพิจารณาร่างกายลงเป็นธาตุ ๔ แยกเป็นธาตุดินใส่ถังหนึ่งใบ ธาตุน้ำใส่ถังหนึ่งใบ ธาตุลม ธาตุไฟใส่ถังอีกใบหนึ่ง ทำไปเรื่อยๆ จนมันรู้สึกเมตตาไปหมด เพราะเห็นว่าสิ่งต่างๆ มันเป็นธาตุไปตามๆ กัน เหมือนกันทั้งหมด เราก็เหมือนเขา เขาก็เหมือนเรา บัดนี้ ๔-๕ ปีแล้วยังไม่คิดจะตบยุงหรือบี้มดแม้แต่ตัวเดียวครับ เพราะมันรู้สึกเหมือนฆ่าคนคนหนึ่ง
เห็นไหม ถ้าจิตใจเป็นธรรม จิตใจเป็นธรรม ปัญญาอบรมสมาธิ เอาธาตุดินใส่ถังหนึ่ง ธาตุน้ำใส่ถังหนึ่ง ธาตุไฟใส่ถังหนึ่ง ธาตุลมใส่ถังหนึ่ง มีคนปฏิบัติอย่างนี้เยอะ ถ้าคนปฏิบัติอย่างนี้เยอะนะ ครูบาอาจารย์หลายองค์ที่ท่านสอนว่า ให้ท่องเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ
เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ท่องไปเรื่อยๆ บางคนท่องเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ท่องบริกรรมไปเรื่อยๆ มันก็สงบได้ พอสงบได้ บางคนบอกสงบได้แล้วมันจะมีฤทธิ์มีเดชด้วย รู้โน่นรู้นี่ รู้ไปทั่ว นี่เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ
เกสา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มันเป็นดิน น้ำ ลม ไฟหรือเปล่า? มันก็เป็น เห็นไหม ถ้าพูดถึงคนภาวนาเป็นนะ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ธาตุ ๔ กรรมฐาน มันเป็นคำบริกรรมทั้งนั้นน่ะ มันเป็นคำบริกรรม ทีนี้เราพิจารณาของเรา เราเอาดินถังหนึ่ง น้ำถังหนึ่ง ลมถังหนึ่ง ไฟถังหนึ่งแยกออกจากกันๆ เราแยกออกจากกันเรื่อยๆ ปัญญามันเกิด ปัญญามันมีของมัน ทีนี้ปัญญามี เดี๋ยวนี้ ๔-๕ ปีแล้วจิตใจมันดีมาก แม้แต่ว่ายุงก็ไม่กล้าตบ แม้แต่จะบี้มดตัวหนึ่งก็ไม่ทำ เพราะคิดว่ามันเหมือนกับฆ่าคนคนหนึ่ง
ถ้าจิตใจของคนนะ เวลามันดี มันดีอย่างนี้ เขาเรียกเจริญ ถ้ามันไม่เจริญ มันมีเสื่อมไหม โดยปกติน้ำไม่ขึ้นไม่ลง เราจะรู้น้ำขึ้นน้ำลงได้ไหม ถ้าสุญญากาศ น้ำอยู่ในหลอดแก้ว มันไม่ไปไหนหรอก อยู่ในนั้นแหละ นี่ก็เหมือนกัน โดยธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้นแหละ แต่ถ้าเป็นน้ำ หน้าน้ำหลาก น้ำขึ้น เวลาหน้าแล้ง น้ำลง แล้งจนไม่มีน้ำกินน้ำใช้
นี่ก็เหมือนกัน เวลามันเจริญ ๔-๕ ปีมันเจริญตลอด ยุงตัวหนึ่งก็ไม่กล้าตบ มดตัวหนึ่งก็ไม่กล้าบี้ ไม่บี้เลย เพราะมันเหมือนฆ่าคนคนหนึ่ง
ถ้าจิตใจของคนมันดีขึ้น แล้วมันมีการบำรุงรักษา มันก็จะดีของมันอยู่ ถ้าไม่รู้จักบำรุงรักษา เวลามันเสื่อมนะ หมดเลย อย่างนี้ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ความดีความชั่วมันเป็นอนัตตา เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ชั่ว เดี๋ยวก็ร้าย ถ้าปฏิบัติอยู่อย่างนี้มันก็อยู่อย่างนี้ ๔ ปี ๕ ปีก็อยู่อย่างนี้
ถ้าทำการภาวนาของเรา ภาวนาฝึกหัดปฏิบัติธรรม ตบะธรรมเพื่อจะแผดเผากิเลส ถ้าตบะธรรมแผดเผากิเลส ถ้ามีหลักมีเกณฑ์นะ มันจะลึกซึ้งเข้าไป ถ้าเราใช้พิจารณาปัญญาอบรมสมาธิ เราพิจารณาอย่างนี้ พิจารณาให้มากขึ้น เวลามันปล่อย มันปล่อยอย่างไรล่ะ แล้วถ้ามันจับให้ได้สิ ถ้าจับให้ได้นะ ปล่อย ถ้าปล่อยแล้วนะ พิจารณาซ้ำเข้าไปๆ รักษาไว้ให้ดี รักษาไว้ให้ดี ถ้าเวลามันเสวย มันจะไปตบยุง มันมีเมตตา เหมือนฆ่าคนคนหนึ่ง แล้วฆ่าคน คนคือใคร ยุงคือใคร สิ่งต่างๆ คือใคร ถ้ามันจับได้ มันรู้มันเห็นของมันได้ มันจับได้มันก็พิจารณาได้ ถ้าพิจารณาได้มันก็เป็นอริยสัจ
อริยสัจคืออะไร? อริยสัจคือจิตเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง ถ้าอริยสัจนะ ถ้ายังไม่อริยสัจ มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิ สมาธิเกิดจากอะไร? เกิดจากจิต แล้วสมาธิมันมั่นคงไหมล่ะ สมาธิเกิดจากอะไร? เกิดจากคำบริกรรม สมาธิเกิดจากปัญญาอบรมสมาธิ มันต้องมีเหตุไง ถ้ารักษาเหตุไว้ได้ สมาธิมันก็เป็นไปได้ ถ้าจิตใจยังเป็นธรรมอยู่ จิตใจยังไม่เสื่อมอยู่ พิจารณาได้มันก็เป็นอย่างนี้ แล้วเป็นอย่างนี้เป็นอย่างไรต่อไป? ก็แค่นี้แหละ ก็แค่นี้แล้วทำอย่างไรต่อไป
มันก็อยู่ที่ปัญญาคนไง อยู่ที่ครูบาอาจารย์ท่านจะยกขึ้นไง นี่ข้อที่ ๑
๒. เมื่อพิจารณากายไปเรื่อยๆ โดยปกติเวทนาในร่างกายมันก็จะมากวน กวนหนักๆ เข้าเป็นชั่วโมงสองชั่วโมง มันเกิดขึ้น
นี่มันแพ้มาตลอดไง แต่ถ้าเราจับเวทนาได้ แล้วเราพิจารณาเวทนาของเราไป ถ้าเราพิจารณาเวทนาของเราไป พอพิจารณาของเราไป ถ้ามันสู้ได้ สู้ได้เพราะอะไร สู้ได้ ทีแรกมันแพ้มาตลอดเลย เราแพ้มันมากี่ปีแล้ว จนเรามั่นใจ เราจะสู้ ต่อไปนี้เราจะสู้ ตายเป็นตาย ให้มันตายกับสมาธินี่แหละ เวลามันตายเป็นตาย พิจารณามัน เพราะจิตมัน พอคำว่า ตายเป็นตาย พอจิตมันสงบแล้ว ถ้ามันจับเวทนาได้ ถ้าจับเวทนาได้ ถ้าจิตเราไม่เข้มแข็ง มันจะเป็นจะตายเอาเลยล่ะ
ถ้ามันจะเป็นจะตายนะ เพราะสมาธิมันไม่เข้มแข็ง ถ้าสมาธิไม่เข้มแข็ง พอจิตมันสงบแล้วมันจับเวทนาได้ มันพิจารณาเวทนานะ เวลามันปล่อย มันปล่อยหมดเลย แต่นี่มันพิจารณาเวทนาไป พอพิจารณาเวทนาไป มันปวดตุ๊บๆ ตั๊บๆ มันปวดไปหมด อันนี้มันเป็นการแบบว่าเหมือนมดสู้กับช้าง เหมือนกับคนที่เล็กกว่าสู้กับคนที่ใหญ่กว่า จิตของเรามันอ่อนด้อยกว่า แต่เวทนามันใหญ่มาก มารน่ะ มารเอาเวทนามาข่มขี่เรา แต่เราก็ยังสู้ ใจเราสู้ สู้ๆๆ พอสู้ขึ้นมา มันก็เหมือนกับมดมันเข้าไปกัดหูช้าง มดมันเข้าไปงวงช้าง ช้างมันก็ร้อง
นี่ก็เหมือนกัน สู้กับเวทนา เวทนามันตุ๊บๆ ตั๊บๆ อย่างไรก็สู้กับมันไปเรื่อย ถึงที่สุด พอถึงที่สุดมันปล่อย ถึงที่สุดนะ มันวูบหมดเลย แสงสว่าง สว่างโพลงเลย สว่างโพลงไปหมดเลย ซาบซึ้ง ซาบซึ้งในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โอ๋ย! น้ำตาไหลพราก กราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะอะไร เพราะเราได้ฟังธรรมจากครูบาอาจารย์มา เวลาครูบาอาจารย์มา พุทธ ธรรม สงฆ์รวมเป็นหนึ่ง น้ำตาร่วงน้ำตาไหล น้ำตาชำระล้างภพชาตินั้นเรื่องหนึ่งนะ น้ำตาทุกข์น้ำตายากมันไหลทุกวัน น้ำตาทุกข์น้ำตายากมันไหลแล้วไหลเล่า
นี่เหมือนกัน ธรรมมันซาบซึ้ง น้ำตามันร่วงต่างๆ มันก็เป็นความซาบซึ้งอันหนึ่ง ถ้าซาบซึ้ง ธรรมมันสังเวชไง มันเกิดความสังเวช เกิดอย่างนี้ มันเป็นเท่านี้ ถ้ามันเป็นเท่านี้เพราะอะไร เพราะการต่อสู้อย่างนี้ นี่ศาลนะ ศาลเขาพิจารณาโดยเอกสาร ไอ้นี่มันมีเอกสารมาอย่างนี้ ก็พิจารณาตามเอกสารนะ ตามเอกสาร พอมันน้ำตาร่วงน้ำตาไหลนะ โอ๋ย! มันซาบซึ้งๆ ซาบซึ้งแล้วทำอย่างไรต่อ ซาบซึ้งแล้วทำอย่างไรต่อ
ถ้าคนไม่มีครูบาอาจารย์นะ ซาบซึ้ง ซาบซึ้งมันก็ก็อปปี้หลวงตาเลย หลวงตาท่านพิจารณาจุดและต่อมของท่าน เวลาท่านถอดเสี้ยนถอดหนามในใจของท่าน อู๋ย! น้ำตาไหลพราก พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์รวมเป็นหนึ่งเดียว กราบแล้วกราบเล่า กราบจากความซาบซึ้งของท่าน อันนั้นท่านถอดท่านถอนตามความเป็นจริง
แต่ทีนี้เอกสารเหมือนๆ กัน นี่ไง เรามีของครูบาอาจารย์ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โอ๋ย! กราบซาบซึ้ง มันก็ซาบซึ้งจริงๆ ซาบซึ้งของเด็กกับซาบซึ้งของผู้ใหญ่แตกต่างกัน
คนเรา อย่างเรา เราเป็นกรรมกรแบกหาม โอ้โฮ! ถ้าไปถูกหวยรางวัลที่ ๑ อู้ฮู! อยู่ไม่สุขเลยล่ะ จะแจกๆ แจกอย่างเดียวเลย แต่คนที่เขามั่งมีศรีสุข เศรษฐีโลกเขามีเป็นแสนๆ ล้าน เขามีเงิน เขากำของเขาอยู่เป็นแสนๆ ล้าน เขาไปตื่นเต้นอะไรกับเงินล้านสองล้าน แต่เรามันคนไม่เคยมี อย่าว่าแต่ล้านเลย แค่เงินแสนเราก็ อู๋ย! ขนหัวลุกแล้ว หัวตั้งเลย โอ๋ย! มีเงินแสนนะ จับเงินแสนเหมือนกันน่ะ
จิตใจของคนมันแตกต่างกันไง ความซาบซึ้ง ความเข้าใจของคนมันแตกต่างกัน ความเข้าใจของคนที่เขามีเงินเป็นแสนๆ ล้าน เงินล้านหนึ่งมันก็คือล้านหนึ่ง มันมีค่า คนที่มีเงินเป็นแสนๆ ล้านนะ คนที่เป็นเศรษฐีเขาต้องรู้จักมัธยัสถ์ เขารู้จักเก็บใช้สอยของเขา ถ้าคนไม่รู้จักเก็บ ไม่รู้จักดูแลรักษาทรัพย์ ทรัพย์ของเขาจะเป็นแสนๆ ล้านขึ้นมาไม่ได้หรอก คนที่มีทรัพย์เป็นแสนๆ ล้านเขาต้องรู้จักเก็บรู้จักรักษาของเขา เขาจะมีเงินของเขา ไอ้ของเรามีเก็บ คนเศรษฐีมันมีร้อยล้านสองร้อยล้าน มันก็ใช้จ่ายจนหมด มันไม่เคยเก็บเงินได้เลย
ฉะนั้น คนที่มีเงินแสนๆ ล้านเขาไม่ดูถูกดูแคลนเงิน ๑ บาทหรอก เขาไม่ดูถูกดูแคลนเงินล้านหรอก เขาไม่ดูถูกดูแคลน เพราะเขาเป็นคนรู้จักเก็บรู้จักรักษา เขาถึงมีเป็นแสนๆ ล้าน แต่ทีนี้จำนวนของเงินแสนล้านกับเงินล้านมันต่างกันไหม? มันต่างกันแน่นอน
นี่ก็เหมือนกัน คุณธรรม ธรรมในหัวใจ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราซาบซึ้งๆ ถ้าซาบซึ้ง ถ้ามันเป็นโดยเอกสาร โดยเอกสาร ทำไมหลวงตาท่านบอกว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์รวมเป็นหนึ่งเดียว ทำไมชาวพุทธเชื่อถือศรัทธาหมดเลย ของผม ผมภาวนาไป พิจารณาเวทนาไป เวลามันรวมลง มันซาบซึ้งในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เลย ผมก็ร้องไห้ ผมก็กราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เหมือนกัน ผมก็น้ำตาไหลเหมือนกัน ทำไมผมไม่เป็นธรรมล่ะ ของเราทำไมไม่เป็นธรรมล่ะ...มันไม่เป็นเพราะมันไม่มีเหตุผลไง
คนเราไม่ต้องภาวนาหรอก คนเราแม้แต่จิตใจที่เขาอ่อนโยน เขาก็ซาบซึ้งในรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เหมือนกัน เวลาวันนักขัตฤกษ์ คนที่คิดดีๆ คนที่มีความซาบซึ้งหัวใจ น้ำตาไหลเหมือนกัน เราเห็นงานวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เราเห็นแล้วเราซาบซึ้งนะ น้ำตาเราร่วงเหมือนกัน น้ำตาเราก็ไหลเหมือนกัน เราเห็นเราก็เป็นไปได้เหมือนกัน
คำว่า น้ำตา มันก็เป็นธาตุ ๔ โยมบอกเอาดินไว้ถังหนึ่ง เอาลมไว้ถังหนึ่ง เอาไฟไว้ถังหนึ่ง เอาน้ำไว้ถังหนึ่ง ถังน้ำนั้นมันกระฉอกออกมา มันก็ออกมาได้ น้ำตาไหล น้ำตาไหล น้ำตาใครก็ไหลได้ น้ำตานะ
ทีนี้น้ำตาละภพละชาติ เขาบอกจังหวะไง จังหวะที่พิจารณาปฏิจจสมุปบาท พิจารณาอริยสัจ พิจารณาจุดและต่อม พิจารณาของมันไป ถึงที่สุด การพิจารณาอย่างนั้นมันกระเทือนไง โลกธาตุมันหวั่นไหว โลกธาตุคือธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟมันสะเทือน พอมันสะเทือน มันก็กระฉอก มันก็หก แต่นี่มันเป็นความจริง
ของเรามันก็กระเทือนเหมือนกัน แต่กระเทือนแบบเป็นหวัด ของเราเป็นหวัดคัดจมูก ฮัดเช้ย! อู้ฮู! มันไหลมาเต็มเลย ขี้มูก ขี้มูกไหล มันไม่ใช่ซาบซึ้ง คือหายใจไม่ออก หายใจไม่ออก มันอึดอัด อู๋ย! พอมันจามทีเดียว อู้ฮู! ขี้มูกไหล อู้ฮู! หายใจโล่งเลย มันต่างกันไหม
คือที่มามันต่างกัน ที่มาของครูบาอาจารย์ท่านพิจารณาปฏิจจสมุปบาท พิจารณาอวิชชา ท่านพิจารณาของท่าน มันขนาดกระเทือนโลกธาตุ จะถอนพญามาร จะชำระพญามาร ไอ้ของเราพิจารณาเวทนา เวทนามันเป็นหลานของมาร มันมีลูกของมาร มีพ่อของมาร มีปู่ของมาร ไอ้หลานของมาร เราจับแล้วเรายังสู้มันไม่ได้ ไอ้หลานของมารมันยังทำให้เรางงๆ อยู่นี่ ยังล้มลุกคลุกคลานอยู่นี่
ทีนี้ล้มลุกคลุกคลาน สิ่งที่เป็น มันเป็น เราจะบอกว่า เวลาภาวนา ถ้าเราสู้จริง ถ้าจิตมันมีกำลังนะ มันจับได้ มันสู้ได้ ถ้าสู้ได้ พิจารณาได้ เขาก็ใช้ปัญญาของเขา ในเมื่อเราจะมาจมอยู่กับสิ่งที่อยู่กับเรา แล้วยึดว่าเป็นของเรา เวลาปัญญามันใคร่ครวญ มันพอ มันปล่อยปั๊บ สว่างวูบ สว่างหมดเลย ปล่อยวางหมดเลย ซาบซึ้งหมดเลย นี่การพิจารณาเวทนาหนหนึ่ง ถ้าการพิจารณาเวทนาหนหนึ่ง เวลาคนที่ภาวนาได้ขนาดนี้จะมีความองอาจ จะมีความมหัศจรรย์ เพราะอะไร เพราะเราได้ลิ้มรสของธรรม ได้ลิ้มรสของธรรม ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ในพระไตรปิฎก แล้วเรา เราได้ลิ้มรส คือจิตมันได้ดื่มกิน จิตมันได้พิจารณา จิตมันได้รับรส มันสัมผัส โอ๋ย! มันมหัศจรรย์มาก
มนุษย์เราไปร้านอาหารไหนก็มีแต่เมนูอาหารแขวนไว้เต็มไปหมดเลย ไม่เคยได้กินอาหารแม้แต่คำเดียว เห็นไหม คนคนนี้เขามีเมนูอาหารด้วย แล้วเขาทำอาหารขึ้นมาด้วย แล้วเขาได้กินของเขาด้วย คนได้กินอาหารกับคนที่ไปอ่านเมนูอาหารมันแตกต่างกัน
ฉะนั้น พอคนที่มันได้กินอาหารมันก็ได้รับรสแล้ว มันก็มีความซาบซึ้ง ไปถามหลวงตา คนภาวนาอย่างนี้จะไปถามหลวงตา พิจารณาแล้วเป็นอย่างนี้ แล้วให้ทำอย่างไรต่อไป
หลวงตาท่านจะบอกว่า ให้ซ้ำ ให้ซ้ำ ซ้ำลงไป
อาหารที่ได้กินนี่ได้กินคำเดียว แต่ถ้าเราเข้าครัว เราพยายามปรุงอาหารชนิดนี้ ปรุงบ่อยๆ ครั้งเข้า รสชาติเราควบคุมได้เลย รสชาติเราควบคุมได้ว่าจะเอารสชาติอย่างใด จะเข้มข้นอย่างใด จะปานกลางอย่างใด ถ้าวันนี้เราอยากกินรสชาติที่มันจืดหน่อย มันเบาบางหน่อย เราก็ใส่เครื่องปรุงน้อยหน่อย เราปรุงแต่งรสได้เลย ปรุงแต่งรส เราก็กินอย่างไรก็ได้ จะทำอย่างไรก็ได้ให้มีความชำนาญ พอชำนาญขึ้นมาจนชำนาญการของมัน นี่ไง ต้องซ้ำ
เขาถามว่า แล้วสิ่งที่มันปล่อยแล้วจับตรงไหนไม่ได้เลย หลังจากนั้นก็ไม่รู้ว่าจะจับหลักตรงไหนต่อ
ก็จับไอ้เวทนาน่ะ พิจารณาเวทนา พอมันปล่อยวาง สว่างวูบเลย ลองนั่งสักชั่วโมงหนึ่ง เวทนามันก็มา มันไม่มีความรู้สึกหรือ? มี เวทนาก็เวทนา เวทนามันปล่อยมันก็คือปล่อยไป มันปล่อยก็ปล่อยชั่วคราว เวทนาก็ยังอยู่ อ๋อ! ไม่มีความรู้สึกเลยเนาะ
ไอ้ที่สงสัยไม่ใช่ความรู้สึกหรือ ไอ้ที่เขียนมานี่ไม่ได้ตั้งใจหรือ ก็เวทนาทั้งนั้นแหละ เวทนากาย เวทนาจิตไง เวทนากายก็มี เวทนาจิตก็มี ก็จับเวทนาอีกนั่นแหละ
จับเวทนาก็ได้ จับกายก็ได้ จับจิตก็ได้ จับธรรมก็ได้ จับสิ่งใดก็ได้ ต้องจับอีก มันมี ในเมื่อยังมีความรู้สึกนึกคิด เพราะยังเขียนหนังสือมาได้นี่มันมี ใครเป็นคนตั้งใจเขียนมา คนเขียนมามันมี คนเขียนมามันมี มันก็มีความรู้สึก ความรู้สึกมันมี มันมี จับเวทนาอีก
ทีนี้เป็นความเข้าใจไง ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ เราคิดว่าเราพิจารณาเวทนาแล้วมันปล่อยหมดเลย มันสว่างโพลงหมดเลย โอ๋ย! แล้วมันก็ซาบซึ้ง น้ำหูน้ำตาไหล ไหลพราก ขณะที่ว่าเราพิจารณาดินเป็นถังหนึ่ง ไฟถังหนึ่ง ลมถังหนึ่ง น้ำถังหนึ่ง มันก็ซาบซึ้งมา ๔-๕ ปี ขนาดว่าแมงตัวหนึ่ง มดตัวหนึ่งยังไปตบไม่ได้เลย นี่ถ้าใจเป็นธรรมมันเป็นอย่างนั้น แต่ใจเป็นธรรมก็คือเป็นธรรม ธรรมแบบนี้ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมแบบโลกๆ ธรรมแบบโลกๆ เราถือศีล เราปฏิบัติธรรมกันไป เราก็อยู่ในศีลในธรรม มันธรรมแบบโลก แต่ถ้ามันเป็นความจริง มันจะเป็นจากภายใน มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ฉะนั้น พอเป็นโลกๆ ๔-๕ ปี เวลามันสู้ขึ้นมาจริงๆ นี่พิจารณาเวทนา ถ้าจริงๆ มันปล่อยได้ ปล่อยได้โดยข้อเท็จจริง ปล่อยได้โดยอริยสัจ ปล่อยได้โดยกำลังของจิต ปล่อยได้โดยปัญญา ปล่อยได้โดยจิต จิตมันปล่อยเวทนา มันถึงได้รับรสของธรรมอย่างนี้
ถ้าจิตมันเป็นสัญญา มันวาดภาพ มันสร้างภาพ ปล่อย ปล่อยหมดแล้ว ว่างหมดแล้ว จิตที่มันสร้างภาพมันก็ได้รสอีกอย่างหนึ่ง ถ้าสร้างภาพขึ้นมา ต้มยำก็เป็นอย่างนี้ เห็นว่าต้มยำเคยกิน อ๋อ! ต้มยำก็เป็นต้มยำไง แต่ถ้าซดน้ำต้มยำอีกเรื่องหนึ่ง ซดน้ำต้มยำนี่ขนลุกขนพองเลย
นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันพิจารณาของมันไป ถ้ามันสร้างภาพ มันก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเราจับเวทนาได้ จิตต้องมีกำลังนะ ถ้าจิตไม่มีกำลังก็เหมือนครั้งแรก นั่นแหละ แพ้มันทุกที แพ้ทุกที กิเลสมันเหนือใจ มันแพ้ทุกที
แต่ถ้ามันมีขันติธรรม มีความจงใจ มีความตั้งใจ มันสู้ได้ ถ้ากำลังพอนะ สู้ได้ ถ้าไม่ได้ สู้ไม่ได้นะ ถ้าพิจารณาจนกำลังมันไม่พอ สติมันยังไม่พอ มันสักแต่ว่า ถ้าสักแต่ว่า มันชาๆ สักแต่ว่านี่มันปล่อย มันปล่อยแบบมันไม่รับรู้ มันปล่อย การปล่อยแบบไม่รับรู้คือเสมอ คือยันไว้ การยันไว้คือว่ามันยันไว้ เวทนาก็ไม่ใช่เวทนา ปวดก็ไม่ปวด เจ็บก็ไม่เจ็บ แต่มันก็ไม่ปล่อย ถ้าเวทนาสักแต่ว่ามันเป็นแบบนั้น เวทนาสักแต่ว่าเพราะอะไร
เพราะแต่เดิมถ้าเราไม่มีกำลังเลย สมาธิเราไม่พอ จับเวทนา โอดโอย โอยๆ นั่นล่ะสู้ไม่ได้เลย ถ้าแพ้เป็นแบบนั้น ถ้าแพ้ สู้เวทนาไม่ได้ ถ้าเวทนามีกำลังเหนือกว่า ตาย ตายกับตาย สู้ไม่ได้ ต้องลุก ไม่ก็ต้องชักเท้าหนีเลย
แต่ถ้าเรามีกำลังพอนะ กำลังเริ่มพอ มันเสมอ ยันไว้ได้ เวทนาสักแต่ว่าเวทนา เอ๊ะ! มันก็ไม่เจ็บไม่ปวด แต่มันก็ไม่ปล่อย เอ๊ะ! มันเป็นอะไร มันชาๆ ยันไว้ นี่เวทนาสักแต่ว่าเวทนา
แต่ถ้าสติมีกำลังมากขึ้น มีกำลังมากขึ้น ถ้าพิจารณาไป เวลามันปล่อย ตทังคปหานปล่อยอย่างนี้ ปล่อยตทังคปหาน ปล่อย ปล่อย ถ้ามันปล่อยนะ มันปล่อยแล้วปล่อยซ้ำปล่อยซากๆ พิจารณาซ้ำๆ ซากๆ ถึงที่สุดเวลามันขาดนะ เวทนาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เวทนา เวทนาไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่เวทนา บอกมาเป็นอย่างไร
แล้วถ้าพิจารณากายนะ กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ มันแยกออกจากกัน แยกออกจากกันแล้วจิตมันรวมลง แล้วรวมลง ใครเป็นคนรับรู้ว่ารวมลง แล้วมันเหลืออะไร โอ๋ย! มันยังมีที่ไปอีกเยอะ ถ้าความจริงมันจะไปอีกไง
นี่พูดถึงตามเอกสารนะ เอกสารเขียนมาอย่างนี้ แล้วบอกเอกสารเขียนมาอย่างนี้ นี่ก็ใช้ได้ คำว่า ใช้ได้ หมายความว่า ถ้าพูดถึงเป็นเอกสาร อย่างที่ว่าผู้ที่เขียน ผู้ที่ถามปัญหา เพราะของครูบาอาจารย์ก็มี แล้วอารมณ์เรามันละเอียดอ่อน ที่ว่าเราตั้งสิ่งนี้ขึ้นมาไม่ได้ก็มี ฉะนั้น สิ่งที่ทำไม่ได้ เวลาทำได้ อย่างนี้ที่มันปล่อยวางอย่างนี้มีคนทำได้เยอะมาก มีคนทำได้ พอทำได้แล้วมันจะมีความสุขอยู่ใน ๒-๓ วัน มีความสุขและมีความพอใจอยู่ ๒-๓ วัน แต่พอสักพักหนึ่งมันก็ออกมาเป็นปกติปุถุชนเหมือนเดิม ถ้าเหมือนเดิมมันจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร
ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ท่านผ่านมาอย่างนี้ เพราะคนที่พิจารณาไป ถ้ามันไม่ใช่ขิปปาภิญญานะ เป็นอย่างนี้ แล้วมันก็ถอย ถอยแล้วก็พยายามดันขึ้นมาๆ
สวะ น้ำขึ้นก็ขึ้นตาม น้ำลงก็ลงตาม กิเลสมันอยู่บนใจ ใจดีขึ้นมันก็ดีขึ้น พอใจมันเสื่อม มันก็ลงไปอยู่อย่างนั้น กิเลสมันก็อยู่บนน้ำนั่นแหละ มันไม่ไปไหนหรอก พิจารณาอย่างนี้ เวลาน้ำสูงขึ้นมา กิเลสมันก็อยู่สูงขึ้นมา มันปล่อย ปล่อย มันก็ยังอยู่ไง สวะมันยังมีอยู่ไง แต่ถ้ามันทำลายล่ะ มันทำลาย พิจารณาซ้ำๆ ต้องซ้ำ
ซ้ำๆ คืออะไร ซ้ำก็กลับมา ถ้ามันจับไม่ได้ มันสู้ไม่ได้ กลับมาที่สมาธิ กลับมาที่พุทโธ กลับมาที่อัปปนาสมาธิ กลับมาที่ปัญญาอบรมสมาธิ จิตมันสงบมากขึ้น มากขึ้นแล้วเวลาจับเวทนาก็จับเวทนาอีก จับเวทนาในแง่มุมอื่นไง ในแง่มุมอื่น มันจะเวทนาอะไร เวทนามันเกิดที่ขา เวทนามันเกิดที่กลางทรวงอก เวทนามันเกิดที่ความรู้สึก เวทนามันเกิดที่ไหน ถ้าเป็นรูป รูป ความรู้สึกนี้มันคิดอะไร ถ้าเป็นธรรม ธรรม เวทนามันเกิดขึ้นมาแล้วมีผลอย่างไร ถ้าเป็นจิต จิตมันเศร้าหมอง จิตมันสู้ไหม จับซ้ำแล้วซ้ำเล่า พลิกไปพลิกมา พลิกไปพลิกมา สู้มันอยู่บ่อยๆ ครั้งจนกว่าถึงที่สุด จนกว่าถึงที่สุด
หลวงปู่มั่น หลวงตาท่านจะบอกว่า ท่านไม่บอกก่อน ถ้าบอกก่อนแล้วมันเป็นการคาดการหมาย คือสัญญานั่นน่ะ ถ้าเป็นสัญญา มันทำให้คนที่ปฏิบัติยากขึ้น เหมือนกับว่าเราเป็นหนี้อยู่ร้อยหนึ่ง แล้วอาจารย์ก็บอกว่ากู้ให้อีก ๕๐๐ ก็เป็น ๖๐๐
๖๐๐ นี้ดอกก็ต้องมากขึ้นใช่ไหม เออ! ถ้าเรากู้มาร้อยหนึ่ง กูก็ใช้หนี้แค่ร้อยเดียว ดอกเบี้ยก็ร้อยเดียวอยู่นั่นน่ะ มันก็ง่ายขึ้นใช่ไหม
ร้อยนี้ใช้อย่างไรล่ะ ร้อยนี้ก็ไปหาเงินมาสิ หาเงินมาแล้ว เดี๋ยวเราก็ใช้ได้ไง ก็ไปกู้มาอีกร้อยหนึ่งก็เป็น ๒๐๐ อ้าว! ๒๐๐ ทีนี้ดอกเบี้ยมันก็ ๒ เท่า
ครูบาอาจารย์ท่านบอกก่อนนะ ไอ้คนภาวนานั่นล่ะมันเป็นโทษกับคนภาวนา อาจารย์ที่ฉลาดท่านไม่บอกผลก่อนหรอก ถ้าบอกผลก่อน เพราะเราก็ไปกู้มาเพิ่ม เออ! คราวนี้ยังใช้หนี้เขาไม่หมดก็ อ้าว! เป็นหนี้เขาร้อยหนึ่ง ก็ยังไม่ใช้หนี้ ก็กู้มาอีกร้อยหนึ่งเป็น ๒๐๐ ก็ยังไม่ได้ใช้ก็เป็น ๓๐๐ ๔๐๐
ฉะนั้น ถ้าปัจจุบันเราเป็นหนี้อยู่ ๑๐๐ คือเราเป็นหนี้กรรม เราเป็นหนี้กิเลสในใจเราอยู่แล้ว ทีนี้เราปฏิบัติไป มันก็เป็นเวรเป็นกรรมจากใจของเรา ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นมหาเศรษฐีโลก ท่านมีเงินมีทองของท่านมหาศาล แล้วท่านพยายามจะช่วยเหลือเจือจาน เราได้อยู่ร่มเย็นเป็นสุขเพราะธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันไม่ใช่ของเรา เราต้องใช้หนี้ของเรา เราเป็นหนี้อยู่ ๑๐๐ เราก็ต้องใช้หนี้ของเรา
แล้วของครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติมา ท่านก็เป็นเศรษฐีธรรมขึ้นมา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์เป็นเศรษฐีธรรมๆ ท่านก็เป็นเศรษฐี ท่านก็ร่ำรวยมหาศาลในธรรมะของท่าน แล้วท่านใช้หนี้ของท่านในใจของท่านหมดแล้ว ท่านก็เป็นเศรษฐีธรรมของท่าน แล้วเวลาท่านบอกเราๆ เราจะไปกู้หนี้ยืมสินมา เราก็เป็นทุกข์ขึ้นมาอีก เราก็พยายามของเรา
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าครูบาอาจารย์ท่านเป็นธรรมๆ แล้วเราไม่ฟังท่าน มันจะเป็นธรรมได้อย่างไร ก็ต้องฟัง แต่ฟังแล้วก็วางไว้ ก็ปฏิบัติของเราขึ้นมาไง ให้ปฏิบัติซ้ำ ซ้ำในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ยืนยัน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ว่าต้องซ้ำ ถ้าซ้ำแล้วมันจะปล่อยแล้วปล่อยเล่า มันจะปล่อยมากกว่านี้ ตทังคปหานแล้วตทังคปหานเล่า มีความชำนาญมากขึ้น จนมีความชำนาญการ
เทฺวเม ภิกฺขเว ทางสองส่วนที่ไม่ควรเสพ อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค เวลามันทุกข์มันร้อนขึ้นมา อัตตกิลมถานุโยค เวลามันปล่อย น้ำตาไหลน้ำตาพรากก็เป็นกามสุขัลลิกานุโยค เวลามันปล่อยขึ้นมา โอ๋ย! มีความสุข พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โอ๋ย! กราบแล้วกราบเล่า กราบแล้วกราบเล่า กามสุขัลลิกานุโยค มันเป็นความสุข ความพอใจ มันก็เอียงไปข้างหนึ่ง เวลามันทุกข์ ยอมจำนน นอนดีกว่าๆ เวลามันปล่อยวางขึ้นมาก็กราบแล้วกราบเล่า กราบแล้วกราบเล่า มันยังมีตัวตนอยู่ไหม มันยังมีเราอยู่ไหม
ซ้ำ พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า
หลังจากนั้นไม่รู้จะจับหลักตรงไหนต่อ จึงกราบเมตตาขอคำแนะนำทางที่เหมาะสมกับความโง่เง่าของผม
สิ่งที่ทำมาแล้วก็คือทำมาแล้ว เราเป็นเด็กมาทุกคน เราเกิดมาเราเป็นทารก ดื่มนมมากันทุกคน พอโตขึ้นมา เราเป็นวัยรุ่น เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ อนาคตไป เราจะปฏิบัติตัวของเราไปอย่างไร
นี่ก็เหมือนกัน เวลาล้มลุกคลุกคลานก็เหมือนทารก ปฏิบัติล้มลุกคลุกคลาน ปฏิบัติไม่ได้ แต่เวลาโตขึ้นมา ปฏิบัติพิจารณาเวทนาจนมันปล่อย จนสว่างโพลงไปหมด แล้วทำอย่างไรต่อไป เราเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ขึ้นมา เราทำมาหากินขึ้นมา เรามีอาชีพขึ้นมา เราจะรักษาวิชาชีพของเรา เราจะรักษาอาชีพของเราอย่างไร จนถึงที่สุด เราทำจนเรามีเงินมีทองพอเลี้ยงชีพได้ทั้งชีวิต นั้นคือความจริงของเรา
ซ้ำๆ เข้าไปอย่างนี้ ทำซ้ำไปต่อเนื่อง
ซ้ำได้อย่างไร ก็เวทนามันไม่มี ก็มันปล่อยหมดแล้ว มันสว่างโพลงหมดแล้ว
นั่งน่า เวทนาไม่มี เดี๋ยวมาคิดสตางค์ที่นี่เลย ถ้านั่งไปแล้วเวทนาไม่มี มาคิดสตางค์ได้ เดี๋ยวจ่ายให้
เวทนามี มีแน่นอน แต่ตอนนี้ ใจนะ พอกิเลสมันถลำไปข้างหนึ่ง พอมันจะภาวนาไป กิเลสมันก็บังเงา ก็ปล่อยเวทนาไปแล้ว เวทนามันจะอยู่ที่ไหน มันหาไม่เจอ ทั้งๆ ที่มันอยู่กับใจนี่แหละ แต่ความคิดอย่างนี้ปั๊บ เวทนามันก็ไม่แสดงตัว พอได้สติปั๊บ ก็มึงอยู่นี่ไง โอ้โฮ! ปวดตายเลยนะ ปวดตายเลย
เวลาไม่เห็นมัน มันไม่มีหรอก เวทนาไม่มี เวทนาไม่มี พอหันมาเจอเวทนา โอ้โฮ! ตายเลย นั่งไม่ไหวเลย กิเลสเป็นแบบนี้ เราพยายามปฏิบัติของเรา ซ้ำเข้าไปนะ ทำซ้ำที่เดิมต่อไป ทำซ้ำให้มันเป็นความจริงขึ้นมา
ถาม : (นี่คือปัญหาครอบครัวนะ เพราะว่าปัญหาครอบครัว แล้วเขาเขียนมาว่ามีปัญหาครอบครัว ไปภาวนาแล้ว พี่ ป้า น้า อาเขาก็ติฉินนินทา เขามองไปในแง่ของว่าไปเที่ยวไปเตร่ ไปเสียเวลาเปล่า นี่เขาถามมา มันเขียนมาเยอะ แล้วเขาสรุปว่าหลวงพ่อไม่ต้องอ่านก็ได้ หลวงพ่อสรุปของหนูก็ได้ เพราะว่าปัญหาครอบครัวใครก็ไม่อยากให้ใครได้ยินเนาะ นี่ปัญหาครอบครัว เวลาไปวัด พ่อแม่ก็บอกว่าไปเที่ยวเล่น ชีวิตไม่จริงจัง ควรจะทำงานหน้าที่ของเราจริงจังขึ้นมาเพื่อการดำรงชีวิต)
ตอบ : อันนี้มันเป็นผลของวัฏฏะ ผลของวัฏฏะ เราเกิดมาในครอบครัวครอบครัวหนึ่ง มันก็จะมีความเห็นต่าง คนคนหนึ่ง อารมณ์ของเราคนเดียวมันยังมีความเห็นแตกต่าง อารมณ์ที่มันดีก็คิดที่ดีๆ อารมณ์ที่ไม่ดีมันก็คิดขัดแย้ง เวลาเรามีสติปัญญา เราแยกแยะของเรา พอมันแยกแยะมา มันปล่อยวางอะไรเข้ามาได้ มันก็จะผ่านสิ่งนั้นมา นี่เราคิดถึงอารมณ์ของเรา
แล้วเราคิดถึงอารมณ์ของในครอบครัวของเราสิ ในครอบครัวเขาก็มีความคิดอย่างนั้น ถ้ามีความคิดอย่างนั้น ถ้าเราจะปรารถนาให้คนในครอบครัวมีความคิดเหมือนเรา เราจะบ้าอยู่คนเดียว มันเป็นไปไม่ได้
ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เปรต เปรตมันอยู่ที่ศาลาพักร้อน แล้วเวลาที่ศาลาพักร้อนมันจะมีคนมานอนพักเยอะมากเลย แล้วเปรตเป็นเปรตที่ดีนะ เป็นเปรตที่สะอาด มันจะคอยจัดหัวของคน มันไปมองทางหัวนะ แล้วก็จัดคนนอนให้หัวนี้ตรงกันเปี๊ยะเลยนะ
พอมันจัดหัวเสร็จมันก็ไปจัดทางเท้า มันก็ไปเล็งที่เท้านะ เอ๊ะ! เท้าคนเท่ากันไหม ไม่เท่ากัน มันก็ไปดึงเท้าให้เท่ากันเปี๊ยะเลยนะ เออ! เท้านี้เท่ากันเปี๊ยะเลยนะ แล้วมันก็ เออ! เสร็จแล้ว คนนี้นอนเรียบร้อยมันก็ไปมองทางหัว อ้าว! หัวไม่เท่ากันอีกแล้ว มันก็ไปจัดทางหัวอีก เออ! หัวให้เท่ากัน โอ๋ย! จัดให้เปี๊ยะเลย เออ! เปี๊ยะเสร็จแล้ว เออ! หัวเท่ากันแล้ว เสร็จแล้วคนความคิดเหมือนกันไง มันก็ไปมองทางเท้าอีก เท้ามันไม่เท่ากันอีกแล้ว มันก็ไปจัดทางเท้า จัดทางหัว ไม่เท่ากันสักที
ในความรู้ความเห็นของครอบครัวของเรา พ่อ แม่ พี่ ป้า น้า อา ความรู้สึกนึกคิดนั้นมันก็เหมือนคนคนหนึ่ง มีความสูงความต่ำแตกต่างกัน คนเราความรู้สึกนึกคิดมันสูงมันต่ำแตกต่างกัน แล้วเราจะจัดให้หัวเท่ากัน เท้าเท่ากัน มันเป็นไปไม่ได้หรอก ทีนี้มันเป็นไปไม่ได้ เราจะบริหารอย่างไรเท่านั้นเอง
เราจะบริหารความดีของเรา เราจะบริหารโอกาสของเรา เราบริหารของเรา เราจะไปห้ามว่าไม่ให้เขาติฉินนินทาเรา เป็นไปไม่ได้ ในเมื่อความสูงความต่ำไม่เท่ากัน จะให้คนมานินทาเรา เป็นไปไม่ได้เลย ถ้าจะไม่ให้คนมานินทาเรา เป็นไปไม่ได้เลย เราจะทำตัวเราอย่างไรต่างหาก เราจะทำตัวของเราให้มันเหมาะสมกับเขา เหมาะสมกับความที่เขารับได้ เหมาะสมกับความสุขความสงบในครอบครัวนั้น
เราเอง เราจะต้องเติมเต็มหรือแบ่งปันบางอย่างให้เขา แบ่งกันคนละครึ่งทาง อย่างนี้โอกาสจะปฏิบัติมันไม่กระทบกระเทือนกับใคร โอกาสไปวัดไปวามันก็ไม่กระทบกระเทือนกับใคร โอกาสของเขามันก็ไม่กระทบกระเทือนใคร ทั้งๆ ที่มีความหมอง มีความหมองแน่นอน เพราะความเห็นแตกต่างมันต้องมีความเศร้าหมองแน่นอน แต่ความเศร้าหมอง ความเศร้าหมองคือโอกาสของเรา เราจะรักษาโอกาสของเรา เราจะทำตัวของเราอย่างใด
นี่พูดถึงว่าให้สรุปไง เราจะสรุปของเราอย่างนี้
ฉะนั้น ถ้าสรุปอย่างนี้ เราจะบอกว่าเราไปวัดแล้วเราถูก เราไปทำบุญแล้วเราถูก คนอื่นเขาไม่มากับเรา เขาผิด
มันไม่ใช่ เขาอยู่บ้าน เขาอาจจะภาวนาดีกว่าเราก็ได้ เรามา เราเที่ยวเล่นกันอยู่นี่ เขาอยู่ที่บ้านของเขาแล้วเขาภาวนาของเขา เขาบอกเราไหมล่ะ ในเมื่อเขาเป็นพี่ ป้า น้า อา เขาบอกว่าเขาอยู่บ้านเขาก็ปฏิบัติได้ เขาอยู่ที่ไหนเขาก็ปฏิบัติได้ แล้วเรา เราจะปฏิบัติ ถ้าเราปฏิบัติจริง เราอยู่ที่ไหนเราก็ต้องปฏิบัติได้ ถ้าเราปฏิบัติได้ เรามาวัดเราก็ปฏิบัติได้ ถ้าเราอยู่บ้าน เราก็ปฏิบัติได้ ถ้าเราทำอย่างไรเราก็ปฏิบัติได้
เราจะบอกว่าเราต้องปฏิบัติแล้วทุกคนต้องเชิดชูเรา ก็นี่ไง ทุกคนบ่นประจำ ทำดีแล้วไม่ได้ดี ทำดีแล้วไม่มีใครชมเลย...อ้าว! ใครชมบ้างว่าคนไหนดี ไม่มีทาง
เมื่อใดเวลาเอาขึ้นเมรุแล้วไง เวลาอ่านประวัติ คนคนนี้สุดยอดคนเลย คนคนนี้ดีทุกคนเลย แต่เวลาขึ้นเมรุนะ อ่านประวัตินะ นายนี้เป็นคนดี ถ้าเอ็งตายแล้วเขาถึงพูดถึงความดีของเอ็ง ถ้าเอ็งอยู่ ไม่มีใครพูดถึงความดีเอ็งหรอก เขายังไม่อ่านประวัติ เอ็งยังไม่ดีหรอก
ฉะนั้น ความดีไม่ต้องให้ใครมาชม เราทำของเรา เราทำของเรา แล้วถ้าเราน้อยเนื้อต่ำใจก็เป็นเรื่องหนึ่งนะ ถ้าเราไม่น้อยเนื้อต่ำใจ ไม่น้อยเนื้อต่ำใจ ถ้ามีสติมีปัญญา เราจะเป็นนักปฏิบัติธรรม เราจะเป็นคนมีสติปัญญา
ถ้าเรื่องอย่างนี้เรายังคิดไม่ได้ เรายังยับยั้งใจเราไม่ได้ แล้วจะมานั่งภาวนา มีปัญหากันในครอบครัว แล้วไปวัดนะ จะไปปฏิบัติ พอไปนั่งที่วัดนะ อื้อฮือ! มันคิดแต่เรื่องที่บ้าน มันคิดแต่เรื่องที่ขัดแย้ง มันไม่ลง มันไม่ลง แต่ถ้าเราทำให้มันสมควร ทำให้มันดีแล้ว อยู่บ้านก็ปฏิบัติได้ มาอยู่วัดนะ เออ! ทุกคนชื่นชมให้มา ทุกคนไม่เดือดร้อน นั่งสมาธิมันก็สบาย เราก็ต้องวัดใจเราด้วย ไม่ใช่ว่าเราคิดว่าเราไปวัดไปปฏิบัติแล้วเป็นคนดีหมด
คนดีนะ ถ้าคนเป็นบัณฑิต เขาจะว่าคนที่ปฏิบัติธรรม สังคมของบัณฑิตเขาก็รู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว สังคมของพาล คนเรานะ บัณฑิต พระเรา ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นธรรม ท่านเป็นทุกข์มากเลย ทุกข์ที่ไหน? ทุกข์ที่อยู่กับคนพาลนี่แหละ ไอ้คนพาล คนเกเรมันแถ น่าเบื่อมาก เราทำอะไร คนอย่างนี้มันจะทำให้เสียหายทั้งนั้นน่ะ พาลนะ พาลจากสังคม พาลจากใจของเรา ใจที่เป็นพาลมันก็ทำให้เราเสียหายตลอดไป นี่เทียบอย่างนี้
จะโทษคนอื่นไม่ได้ เราจะต้องโทษใจของเรา เราเกิดมาอย่างนี้ เกิดมาจากพ่อจากแม่ เกิดมาจากสังคม เกิดมาจากตระกูลของเรา แล้วดูแลเอา ถ้าถึงที่สุดแล้วนะ คนถ้าเข้มแข็งขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาออกจากราชวัง พระเจ้าสุทโธทนะปรารถนาจะให้เป็นจักรพรรดิ พระเจ้าสุทโธทนะก็เสียใจเหมือนกัน
ครูบาอาจารย์ของเรานะ เวลาออกมา บางองค์กว่าจะบวชได้ มันก็มีความกระเทือนเหมือนกัน แต่ถ้าเราบวชแล้วเราต้องทำจริงของเรา ปฏิบัติจริงของเราเพื่อเป็นประโยชน์ของเรา ฉะนั้น มันอยู่ที่อำนาจวาสนา อยู่ที่เวรกรรม ถ้าเวรกรรมเป็นแบบนี้ ต้องเป็นแบบนี้
นี่เขาเขียนมาให้สรุป สรุปอย่างนี้ สรุปว่าเราเกิดมา ผลของวัฏฏะ แล้วเราพยายามขวนขวายทำคุณงามความดีของเรา ดีทางโลกก็ทำ ถ้าทางโลก โอกาสเราก็ทำดีทางโลก
ถ้าเรามีโอกาสประพฤติปฏิบัติของเรา จะดีทางอริยสัจ ดีคือดีทางนามธรรม ดีคือทางความรู้สึก ไม่มีใครรู้เห็นกับเรา เรารักษาใจของเรา เพราะดีทางความรู้สึก เพราะความรู้สึกอันนี้ ความรู้สึกอันนี้สัมผัสกับธรรม สัมผัสกับสุขกับทุกข์ สัมผัสกับอริยทรัพย์ สัมผัสกับคุณธรรมในใจของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา เอวัง
n