เทศน์บนศาลา

ร่มโพธิ์ร่มธรรม

๘ พ.ย. ๒๕๔๖

 

ร่มโพธิ์ร่มธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๖
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราเป็นผู้เห็นภัยนะ ใครเป็นผู้เห็นภัยคนนั้นจะเป็นมงคลกับชีวิตของตัวเอง ถ้าคนไม่เห็นภัยจะเพลินอยู่ในโลกไง อยู่กับโลกเข้าไป เกิดมาแล้วก็ต้องตายไปตามธรรมชาติอันนั้น แล้วเราเกิดมามีธรรม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชำแรกเข้าไปทุกสิ่ง ทุกอณูของจิต เราต้องการหาที่พึ่ง หาร่มโพธิ์ร่มไทร

เราเกิดมาเป็นเด็ก แล้วเราก็เป็นผู้ใหญ่ แล้วเราก็เป็นคนแก่คนเฒ่าไปข้างหน้า แล้วเราทั้งหาที่พึ่งด้วย ทั้งต้องปกป้องลูกหลานของเราด้วย แล้วเราก็ต้องแก่เฒ่าไป ทั้งๆ ที่เราหาที่พึ่งนะ ร่มโพธิ์ร่มไทร

ร่มโพธิ์ร่มไทรนี้เป็นที่พึ่งอาศัย มีความร่มเย็นเป็นสุขมาก ถ้าเราเกิดมาพบสิ่งที่ว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ ความเห็นที่ถูกต้อง เราก็จะมีความสุขกันชั่วอายุขัย แต่ถ้าเราเกิดมาด้วยกรรมพาเกิด เกิดมาแสนทุกข์แสนยาก นี้ก็เหมือนกัน เราพยายามหาทางออกของชีวิต ถ้าชีวิตเราเข้าไปถูกหมู่คณะที่เป็นหมู่คณะที่ดี เราจะมีร่มโพธิ์ร่มไทร เราเกิดมาพบหลวงปู่มั่นเป็นผู้ที่บุกเบิกนะ บุกเบิกทั้งๆ ที่มีธรรม

พระอานนท์เสียใจ เวลาพระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน แม้แต่พระอานนท์นี้เป็นพระโสดาบันยังเสียใจมาก “ดวงตาของโลกจะดับแล้ว”

เรายังมีกิเลสอยู่ ร้องไห้คร่ำครวญอยากให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ หวังพึ่งไงร่มโพธิ์ร่มไทร หวังพึ่งสิ่งนั้น ทั้งๆ ที่พระอานนท์นี้เป็นพระโสดาบัน แล้วพวกเรานี่เป็นอะไรกัน ทำไมเราไม่หาทางออก ทำไมเราไม่ขวนขวาย

แต่พระอานนท์หวังพึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ชี้นำ เรายังมีกิเลสอยู่ ในหัวใจเรายังมีกิเลสอยู่ ยังต้องการผู้ชี้นำทาง ยังต้องการผู้ที่ว่าเป็นร่มโพธิ์ร่มไทร เป็นที่พึ่งอาศัย แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ต้องปรินิพพานไป แล้วพระอานนท์ก็พยายามค้นคว้าหามา “ร่มโพธิ์ร่มธรรม”

ถ้าธรรมเกิดในหัวใจของพระอานนท์ขึ้นมา พระอานนท์ก็เป็นผู้ที่มีความสุข ชำระกิเลสออกไปจากใจ กิเลสนั้นจะไม่มี ความเป็นสุข เป็นธรรมทั้งหมด ร่มโพธิ์ โพธิ คือ ใจ ต้องแสวงหาสิ่งนั้น ถ้าเราทำสิ่งนั้น ปัญญามันเกิด เกิดจากหัวใจ ปัญญาในการใคร่ครวญ ปัญญาในการพิจารณา เราจะชำระกิเลส เราจะออกจากสิ่งนี้ เราต้องเกิดปัญญา ปัญญาในพุทธศาสนาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกแล้ว

“อานนท์ ถ้าเราปรินิพพานไปแล้ว ธรรมและวินัยจะเป็นศาสดาของเรา เป็นศาสดาของสาวกทั้งหลาย”

ธรรมและวินัยก็เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของเรา ไม่ใช่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ร่มโพธิ์ร่มไทรของเราไม่มี เราจะว้าเหว่นะ

ถ้าเราเจอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะชี้ทางเรา จะบอกให้เราประพฤติปฏิบัติ ให้เราเข้าถึงทางได้ง่าย เพราะเราศรัทธา เราก็หวังสิ่งที่ดีที่สุด เพราะเราศรัทธา เรามีความเชื่อ แต่เราชาวพุทธมองไปในสังคมโลกสิ เขาเชื่อไหม? เขาศรัทธาในความเป็นไปไหม? เขาไม่เชื่อ เขาไม่ศรัทธาของเขา เขาบอกว่าเราเป็นชาวพุทธ ก็นับถือพุทธตามพ่อแม่ที่ว่าเป็นชาวพุทธ เราก็ถือตามๆ กันมา

พระพุทธเจ้าจะสอนอะไรมันลึกซึ้ง มันละเอียดจนไม่ใช่หน้าที่ของเราชาวพุทธ เป็นหน้าที่ของพระ เป็นหน้าที่ของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติต้องทรงธรรมทรงวินัยไว้เพื่อให้สืบต่อมาถึงลูกหลาน แล้วเราก็ไม่สนใจ นั่นล่ะร่มโพธิ์ร่มไทรจากข้างนอกมันเป็นเรื่องของข้างนอกนะ เรื่องของโลกเราต้องพึ่งพาอาศัยพ่อแม่แน่นอน พึ่งพาอาศัยครูบาอาจารย์ เป็นที่พึ่งพาอาศัย สิ่งนี้พึ่งพาอาศัยกันแต่เรื่องภายนอกเพื่อให้มันละเอียดเข้ามา ละเอียดเข้ามาเป็นเรื่องภายใน

ถ้าเป็นเรื่องภายใน มันก็ออกมาจากภายในนี้ ออกมาเป็นกิริยา เป็นความคิด เป็นความปรุงความแต่ง ก็มองจากการแสดงออกของกิริยาท่าทางนั้น ดูใจไง ถ้าใจคึก ใจคะนอง การแสดงออกมามันก็คึกคะนองไปตามอำนาจของกิเลสในหัวใจนั้น ถึงจะเป็นข้างนอก เราก็ต้องมีทาน ศีล มีภาวนา เพื่อจะให้ใจเรานี้อ่อนโยนลง ใจควรแก่การงาน ดูที่เขาจะปั้นโอ่งปั้นไห ดินเขาต้องขยำ ต้องทำดินนี้จนควรแก่การปั้นโอ่งปั้นไห

หัวใจเราก็เหมือนกัน เราจะทำงานในการชำระกิเลส เราเห็นภัยในวัฏฏะ ผู้ที่เห็นภัยในวัฏฏะแล้วพยายามแสวงหาทางออก ผู้นี้เป็นผู้ที่ประเสริฐนะ เป็นผู้ที่ประเสริฐจากการประพฤติปฏิบัติ แล้วทรงธรรมทรงวินัยในหัวใจของเรา หัวใจของเรามีความร่มเย็นเป็นสุขแล้วยังเป็นที่พึ่งอาศัยของคนอื่นได้ด้วย เป็นที่พึ่งอาศัยนะ ไม่เบียดเบียนตนและไม่เบียดเบียนผู้อื่น

การประพฤติปฏิบัติมันต้องเบียดเบียนกิเลสไปก่อน ถ้าเราไม่เข้าใจ เราก็ว่าเป็นการเบียดเบียนตนด้วย ถ้าเบียดเบียนตน จะทำอะไรเราก็ไม่มีกำลังใจ เราจะทำอะไรไม่ได้ สิ่งที่เราทำไม่ได้ เพราะกิเลสมันแสดงตัว กิเลสมันหลอกว่าสิ่งนี้มันเป็นการอัตตกิลมถานุโยค เพราะว่าอัตตกิลมถานุโยคพระพุทธเจ้าบอกว่าไม่ให้ทำ กิเลสมันก็เสี้ยมเข้าไปว่าไม่ให้ทำสิ่งนี้

สิ่งที่ไม่ให้ทำเพราะว่าสิ่งนี้จะชำระกิเลส สิ่งนี้จะฆ่ามัน สิ่งนี้จะหาทางให้เข้ามากำจัดภัยจากภายในหัวใจ ภัยมันเผาลนใจอยู่ เราก็รู้อยู่ว่าเราทุกข์ยาก เราเกิดมานี่ ถามตัวเองว่าทุกข์ไหม? ถ้าเราทุกข์ยาก เราอยากเกิดอีกไหม? ถ้าเราไม่อยากเกิดอีก เราก็ต้องแสวงหาทางออก ถ้าเราไม่เชื่อเรื่องเกิด เรื่องตาย

คนที่เขาไม่เชื่อเรื่องเกิด เรื่องตาย เขาไม่เชื่อเขาก็ไม่ต้องทำ เขาพยายามแสวงหาเรื่องทางโลก เขาว่านะ เขาคาดหมายว่าสิ่งนั้นเป็นความสุข สิ่งนั้นทำแล้วจะสมความปรารถนา สิ่งนั้นเป็นที่พึ่งอาศัยของเขา เขาคว้าสิ่งต่างๆ แล้ว จะไม่มีสิ่งใดๆ ติดไม้ติดมือเขาไปเลย คนที่สละอย่างพวกเรา เรานักประพฤติปฏิบัติ เราสละสิ่งต่างๆ สละออกไป.. สละออกไป.. สิ่งนั้นจะติดไม้ติดมือไป

ผู้ที่สละทานออกไป ใครทำคนนั้นได้ โลกนี้ไม่มีความลับไง ความลับในโลกนี้ไม่มี เพราะใจดวงนั้นเป็นคนทำ เวลาเราไม่ได้ทำ เราอยากได้บุญกุศลของเรา เราจะนึกเอาของเรา มันก็นึกไม่ได้เพราะมันไม่มีเหตุให้นึก มันไม่มี มันต้องการ มันก็ไม่ได้ สิ่งที่เราทำอยู่ในหัวใจของเรา เราจะปฏิเสธว่าไม่มีมันก็ไม่ได้ มันเป็นสัจจะ มันเป็นความจริงของมันอยู่แล้วในหัวใจของเรา

ในหัวใจของเรามันยืนยันกัน แต่กิเลสมันขับไส กิเลสมันไม่ต้องการให้เราพ้นออกไปจากกิเลส มันถึงพยายามปั้นแต่ง มันพยายามปรุงแต่งของมันในหัวใจ ให้มันพลิกแพลงไป ให้มันอยู่ไปกับทางโลกเขา โลกนี้มันจำเป็นต้องแสวงหาก็ต้องแสวงหา จะแสวงหาไปอย่างนั้นก่อนแล้วเราค่อยประพฤติปฏิบัติทำทีหลัง นี่มันพยายามจะหาเรื่องผัดวันประกันพรุ่ง

เราเข้าใจไหมว่าชีวิตเราจะยืนยงตลอดไป เวลาหายใจเข้าแล้วไม่หายใจออก หายใจออกแล้วไม่หายใจเข้า แค่ลมหายใจนะ ลมหายใจขาดเมื่อไร เวรกรรมของเราที่สร้างสมมา มันต้องเป็นไปตามนั้นเด็ดขาด นั้นคือคนที่หมดโอกาส ขณะที่มีลมหายใจอยู่ พยายามตื่นตัว พยายามตั้งสติของเราไว้ อย่าให้นอนใจ ถ้าเรานอนใจ เราทำสิ่งใดทำด้วยความเคยชิน

ถ้าเราเคยชินทำสิ่งใด มันจะเป็นความเคยชิน วัตรปฏิบัติ ปฏิปทาเครื่องดำเนิน คือสิ่งที่จะออก มันต้องมีปฏิปทาเครื่องดำเนิน หัวใจมันอยู่ในร่างกายของเรา เวลามันคิดสิ่งต่างๆ มันคิดออกไป แล้วมันไม่มีขอบเขต วัตรปฏิบัติมีขอบเขตจำกัดขึ้นมา สิ่งนี้เราจำกัดไว้ เพื่อเราจะให้มีเครื่องดำเนิน ถ้าเรามีเครื่องดำเนินออกไป เราพยายามแสวงหาสิ่งนั้นออกไป

โลกเขาทำงาน เขาก็ต้องใช้ความคิดเหมือนกัน ผู้ที่บริหารเห็นไหม นักบริหารเขาก็ต้องใช้ความคิดของเขา แล้วเขาก็สั่งงานของเขาออกไปให้ผู้ที่กระทำ แต่ในตัวของเรามันมีพร้อมอยู่เลย หัวใจเป็นคนคิด “หัวใจนี้ สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง” มันคิดตลอดไป มันคาด มันหมาย มันต้องการจินตนาการต่างๆ มันสร้างเหตุ สร้างผลของมัน

ถ้าเป็นมรรค เป็นบุญกุศลมันก็มรรค เป็นฝ่ายดี ถ้าเป็นอกุศลมันก็ทำให้เราคลาดเคลื่อนออกจากหลักความจริง หลักความจริงคือหลักของใจ ถ้าใจมีหลัก คนนั้นมีหลัก คนนั้นพึ่งพาตนเองได้ นี่ร่มโพธิ์ร่มไทรเกิดจากตรงนี้ไง “เกิดจากพุทธะ เกิดจากผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เกิดจากจิตนี้ตั้งมั่น” ถ้าจิตนี้ตั้งมั่น งานของมันจะเป็นประโยชน์ของมัน

ถ้าจิตนี้เราไม่ตั้งมั่น มันไม่ตั้งมั่นมันก็คลอนแคลน พอมันคลอนแคลนมันก็ไม่เชื่อสิ่งใดเลย มันไหลไปตามกิเลส กิเลสคาดหมายไปสิ่งใด การประพฤติปฏิบัติก็เป็นการคาดการหมาย จะประพฤติปฏิบัติ ศึกษาเล่าเรียนมา ฟังธรรม ถ้าเรานั่งฟังธรรม เวลาสิ่งที่มากระทบกับโสตประสาทของเรา เรารับรู้ไว้แล้วเราพยายามทำใจให้สงบ เรากำหนดใจของเรา ใจจะเป็นอย่างไร ใจจะรวมลงหรือไม่รวมลง มันอยู่ที่อำนาจวาสนา อยู่ที่ความเป็นไปของเรา

จิตสงบเห็นไหม เราประพฤติปฏิบัติก็เพื่อความสงบของเรื่องความสงบร่มเย็นของใจ ถ้าใจมันสงบ ปล่อยให้มันสงบไป แต่เราศึกษา เราฟังธรรม เราอยากรู้ เราอยากจะใคร่ครวญไป เราจะเข้าใจตามนั้น พยายามตั้งใจฟัง ตั้งใจมาก ตั้งใจคิดออกไป นี่สิ่งนี้ตั้งใจ แล้วยังใคร่ครวญนะ เทียบเคียงไง

ถ้าเทียบเคียงสิ่งนั้นเข้ามา เทียบเคียงสิ่งต่างๆ เข้ามา จะให้เป็นไปอย่างนั้น มันไม่เป็นไปอย่างนั้นหรอก ใจที่สูงกว่าจะบอกชี้นำใจที่ต่ำกว่าได้ เวลาครูบาอาจารย์เทศน์ เทศน์เพื่อเป็นแนวทาง ถ้าเป็นแนวทางเรามีปัญญาใคร่ครวญสิ่งนั้น มันเป็นปัจจุบันธรรม เราก็ยอมรับสิ่งนั้น แต่ไม่ต้องคาด ไม่ต้องหมายว่าต้องให้เป็นแบบนั้น

เวลาประพฤติปฏิบัติ เราก็คาด ก็หมายต้องการให้เป็นแบบนั้น สิ่งที่เป็นแบบนั้น มันจะเป็นแบบนั้นได้อย่างไร มันเป็นคนละคน ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเห็นไหม ครูบาอาจารย์ล้มลุกคลุกคลานมาขนาดไหน มันใช้ประสบการณ์อันนั้นพยายามขับเคี่ยว กับความคิดความเห็นของครูบาอาจารย์นั้นเพื่อจะให้สงบตัวลง

แต่ของเรา เวลาเราพิจารณาของเราเพื่อจะให้สงบตัวลง อันนี้เป็นบาทเป็นฐาน เราก็ไพล่คิดไปว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม เพราะมันเป็นความว่าง ความว่างของใจ ใจมันปล่อยสิ่งต่างๆ เข้ามา มันเป็นความว่าง ความว่างนี้มันเป็นความว่างในวงของสมถะ มันเป็นวงของจิตมันสงบเข้ามา

ถ้าจิตมันสงบเข้ามามันเป็นความสุข มันเป็นความว่างมาก สิ่งที่เป็นความว่าง นี่สัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวธรรมของเราต้องเสื่อมสภาพ มันจะแปรสภาพของมันไปตามธรรมชาติของมัน ธรรมชาติของมันนะ กำลังส่งขนาดไหน เราทำให้สงบขนาดไหน ถ้าเราไม่รักษาไว้ เดี๋ยวมันก็ต้องคลายตัวออกมา สิ่งที่คลายตัวออกมามันก็เป็นความคิดอันเดิมของเรานี้ล่ะ เป็นการเกาะเกี่ยวไป

สิ่งที่เกาะเกี่ยว มันเกาะเกี่ยวไปในรูป ในรส ในกลิ่น ในเสียง เราต้องการร่มโพธิ์ร่มไทรของหัวใจ ถ้าร่มโพธิ์ร่มไทรของหัวใจ มันมีความร่มเย็นเป็นสุข มันจะมีที่พึ่งมีที่อาศัย พอมันคลายตัวออกมา มันมีแต่ความทุกข์ความร้อน มันมีแต่ความเกาะเกี่ยวไปกับสิ่งต่างๆ มันก็ทำให้เราเหมือนกับลมกรรโชก กรรโชกให้ต้นไม้นั้นสั่นไหวไปหมดเลย ความรู้สึกของเราจะสั่นไหว

ทำไมหัวใจของเรามันทุกข์ร้อนขนาดนั้น การประพฤติปฏิบัติมันต้องมีความร่มเย็นเป็นสุขสิ ทำไมประพฤติปฏิบัติแล้วมันมีแต่ความเร่าร้อน ความเร่าร้อนอันนั้นเพราะ เราเคยเข้าไปดื่มกินไง เราเคยทำใจของเราสงบไง ความสงบอันนั้นมันก็เลยฝังใจของเรา แล้วเราต้องการสิ่งนั้น ต้องการด้วยความอยาก ตัณหาความทะยานอยากของใจ

ตัณหาความทะยานอยากของใจเคยสิ่งใด เหมือนกับเรามีเงิน เวลาเราทำงานเงินเดือนออกเต็มกระเป๋าเลย เวลาสิ้นเดือนเงินมันจะหมดอยู่แล้ว เราจะให้มันเต็มกระเป๋าอยู่แบบตอนเงินเดือนออก เป็นไปไม่ได้! เพราะเราใช้สอยออกไป นี้ก็เหมือนกัน ใจมันเกาะเกี่ยว มันใช้พลังงานของมัน พลังงานคลายตัวออกมา สิ่งนี้มันออกไป มันเสื่อมสภาวะออกไป มันจะกลับมาสู่สิ่งที่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของใจได้ มันต้องมีการกำหนดพุทโธ มันต้องมีเหตุ เหตุที่เราจะกำหนดพุทโธ เหตุที่เราตั้งสติของเราไว้

ตั้งสติของเราให้จิต มันมีอาหารของมัน มีที่เกาะเกี่ยว อย่าให้มันไปตามอำนาจของตัณหาความทะยานอยาก แม้แต่เราอยากจะมีสมาธิ เราอยากจะมีความสุข เราอยากสงบของใจ อันนั้นมันก็เป็นความอยาก มันอยากก็เหมือนเราต้องการสิ่งนั้นโดยไม่มีเหตุมีผล มันจะไม่มีสิ่งใดๆ ลอยลมมาหรอก

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “เหตุเท่านั้น เราต้องสาวไปหาเหตุ” เวลาทุกข์เราก็ต้องสาวไปหาเหตุ แต่เราจะทำความสงบของใจ เราต้องการความสุข เราก็ต้องสร้างเหตุ เพราะเราสร้างเหตุ ผลของมันจะเป็นความสุข จะทุกข์จะยากขนาดไหน การประพฤติปฏิบัติ การต่อกรกับกิเลส การต่อสู้กับกิเลสนี้ เป็นเรื่องงานอันใหญ่โตมาก

เขาเกิดสงครามกัน เขาเกิดการต่อสู้กัน เขาประหัตประหารกัน อันนั้นมันเป็นเรื่องภายนอก พลาดพลั้งเข้ามาเขายังถึงตายได้ แต่ในการที่จะชำระกิเลส เราจะฆ่ากิเลสนะ แต่กิเลสมันพยายามสร้างเหตุการณ์ให้เราล้มลุกคลุกคลาน ความเพียรของเราโดนเหยียบย่ำทำลาย มันตายจนไม่เหลือซาก ซากของคุณงามความดีของการประพฤติปฏิบัติมันแทบไม่เหลือเลย เพราะอะไร เพราะมันทำให้หัวใจเราเศร้าหมอง ทำให้หัวใจเราทุกข์ยากไป

งานการต่อสู้จะล้มลุกคลุกคลานขนาดไหน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติมา ๖ ปีนะ สลบถึง ๓ หน กลั้นลมหายใจ สลบถึง ๓ หน บุญญาธิการขนาดนั้นยังต่อสู้ด้วยความหมั่นเพียรขนาดนั้น อย่างเรานี่ชุบมือเปิบ! เพราะธรรมวินัยนี้เป็นศาสดาของเรา เราเกิดมาธรรมวินัยก็มีแล้ว สิ่งนี้มีอยู่ เพียงแต่ว่าเราตีความผิด เราประพฤติปฏิบัติแล้วเราตีความของเราตามกิเลสที่มันตีความ

สิ่งที่กิเลสตีความ มีตัวตนของเราไปตีความ เราถึงว่าสิ่งที่ตีความนั้นวางไว้ ไม่ให้เชื่อความคิดเรา ไม่ให้เชื่อตัวตนของเรา ให้พยายามทำของเรา สิ่งที่มันเกิดต้องตรวจสอบ ต้องทดสอบตลอดเวลา สิ่งที่เราทดสอบของเรา คือเราไม่เชื่อกิเลสของเรา สิ่งที่เกิดขึ้น ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ถ้าสมควรแก่ธรรม ธรรมนั้นจะคุ้มครอง”

ผู้ถือศีล ๕ ไม่ทำความผิดต่างๆ มันก็คุ้มครองอยู่แล้ว จะไม่ตกมาในที่ต่ำหรอก มีศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ปฏิบัติโดยมีศีลบริสุทธิ์ มันจะไปทำสิ่งที่ผิดพลาดไปได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้ ยิ่งเราตั้งสติ พยายามทำใจของเราให้สงบ เรามีสติ เราไม่ประมาทกับสิ่งใดเลย มันจะผิดพลาดไปไหน เราสร้างเหตุของเราอย่างนี้ แล้วผลของมัน ผู้ที่ปฏิบัติธรรม ผลของมันมันต้องเป็นไปตามกำลังของใจดวงนั้น ถ้าใจดวงนั้นมีกำลังขนาดไหน ความสงบร่มเย็นมันต้องเกิดขึ้น

นี่ชีวิตของเรา เวลาเราว้าเหว่ เราทุกข์ยากของเรานะ ชีวิตนี้มันเกิดขึ้นมามันเบื่อหน่าย เวลาคิดถึงความทุกข์มันเบื่อหน่าย แต่มันก็ไม่มีทางออกนะ ถ้าเราเบื่อหน่ายขนาดไหน โลกเราเวลาทุกข์ยากขึ้นมา เบื่อหน่ายจนถึงกลับทำลายตนเอง ฆ่าตัวตาย ทำลายให้ชีวิตนี้หมดไป เพราะจะหนีพ้นจากความเบื่อหน่ายของใจ

มันหนีไม่พ้นหรอก เพราะมันฆ่าได้แต่ชีวิตนี้ แต่หัวใจมันต้องเกิดในสถานะใหม่ หัวใจนี้ก็ต้องรับทุกข์อันนั้นตลอดไป ทุกข์นั้นจะฝังไปกับใจ ไม่มีใครสามารถทำลายหัวใจได้ ไม่มีใครสามารถทำลายกิเลสในหัวใจกับหัวใจที่มีทุกข์อยู่นั้น มันจะต้องเสวยภพชาติของมันในวัฏฏะ ไปตามธรรมชาติอันนั้น

แต่เพราะความคิดของกิเลส เวลาเบื่อหน่าย ความคิดของเรามันทำได้ขนาดนั้นนะ ถ้ามันทำได้ขนาดนั้น นั่นล่ะกิเลสมันทำลายตน ทำลายทุกอย่างที่จะเป็นคุณงามความดี เราถึงต้องไม่เชื่อเราไง เราต้องสร้างเหตุของเรา สร้างเหตุของเราตามกำลังความสามารถของเรา จะล้มลุกคลุกคลาน จะเริ่มต้นนับหนึ่งขนาดไหน เราก็ต้องนับหนึ่งไป เราจะไม่สนใจว่า กองเงินกองทองของเราจะสูงขนาดไหน ไม่สนใจ ถ้าเราเริ่มสะสมไป มันต้องเป็นกำลังของเราขึ้นมา

ใจไม่มีกำลังจะเอาอะไรไปทำงาน ?

ใจของเราไม่มีกำลังเลย มันก็คิดตามกระแสโลกไป มันก็เหมือนคนเราไม่มีกำลังเลย ให้เขาทำงาน ยิ่งคนป่วยคนไข้ลุกไม่ไหว จะให้ทำงานจะทำงานอย่างไร จะทำงานไม่ได้เลย นี้ก็เหมือนกัน หัวใจของเรามันเป็นสภาวะแบบนั้น แต่นี้เรามองไม่เห็น เราเห็นแต่ว่าเราคิดได้ เราปรุงแต่งได้ เราทำได้ เราก็ทำแต่หน้าที่การงานของเรา เราทำของเราได้

แต่งานของใจ มันต้องมีหลัก มีมาตร มีพลังงาน มีฐานของมัน ถ้ามีฐานของมันขึ้นมา มันสงบตัวขึ้นมามันมีฐาน ถ้ามีฐาน “ฐานที่ตั้งควรแก่การงาน” งานนี้กรรมฐาน จะเกิดจากตรงนี้ไง เราไม่ได้ทำกรรมฐาน เราทำแต่เรื่องของโลก ปัญญาคิดก็คิดแต่เรื่องของโลก คิดออกไปอย่างนั้น แล้วก็ว่าเราทำความเพียร สติมันไม่มี นี่เวลาเขาเดินกันเห็นไหม โลกเขาก็เป็นไป เดินจงกรมก็ไม่มีสติ เวลานั่งสมาธิก็ไม่มีสติ

ถ้าไม่มีสติ ความเพียรนั้นไม่ถือว่าเป็นความเพียรชอบ ความเพียรชอบกับความเพียรมิจฉา แล้วเราจะทำอย่างไรจะให้เท่ากับความเพียรชอบ เราก็ต้องตั้งสติ มันจะล้มลุกคลุกคลานขนาดไหน ก็หมั่นเพียรไป ไม่มีสิ่งใดจะทนกับความเพียรของเราได้ ไม่มีสิ่งใดเลย ทีนี้ความเพียรของเราย้ำลงที่ใจของเรา เพราะสติเกิดขึ้นมาจากใจ มันเกิดขึ้นมา เราระลึกขึ้นมา สติเราเกิดพร้อม ถ้าเราปล่อยไปมันก็จะจางไป แล้วมันก็คิดแวบออกไปตากกระแสโลก

เพราะกิเลสเริ่มต้นมันมีกำลังมาก เพราะกำลังของกิเลส กับกำลังของใจเรามันเป็นอันเดียวกันเลย มันเป็นพลังงานอันเดียวกัน แล้วเราพยายามใช้สติ ใช้คำบริกรรมขึ้นมาเพื่อยับยั้งสิ่งนี้ให้กิเลสมันสงบตัวลง ถ้ากิเลสมันสงบตัวลงจนถึงความสงบของใจ เราจะเห็นพลังงานของเรา สุขหนอ.. สุขหนอ.. มีความสงบนี่พออยู่พอกิน เพราะจิตมันสงบ จิตมันมีฐานของมัน มันจะไม่คิดฟุ้งซ่านไป แล้วอารมณ์สิ่งใดเข้ามา มันก็มีสติ เริ่มแบ่งแยก

อารมณ์อย่างนี้ ความคิดอย่างนี้เคยให้ความเร่าร้อนกับเรา เราไม่เอา เราปฏิเสธได้ แต่เดิมขึ้นมา ความคิดสิ่งใดเกิดขึ้น โดยธรรมชาติของมันเหมือนไฟ ไฟมันเข้าไปถึงเชื้อที่ไหน มันเผาทุกอย่างที่ขวางหน้ามันทั้งหมด เชื้อของไฟ ไฟติดแล้ว มันจะเผาไหม้สิ่งนั้น แต่เดิมกิเลสมีมันก็เป็นแบบนั้น มันเป็นความคิดสิ่งใด สิ่งความคิดอย่างใดที่มันบาดหมางใจ สิ่งที่บาดหมาง สิ่งที่ฝังใจ เป็นความสะเทือนใจนั้น สิ่งนั้นสะกิดขึ้นมา มันจะคิดทันทีเลย สิ่งนี้คิดตลอดไป แล้วก็ยับยั้งไม่ได้นะ

แต่ถ้าเราทำความสงบของใจ จิตมันเคยตั้งมั่นขึ้นมา เวลาเรามีสติขึ้นมา สิ่งนี้เรายับยั้งได้บ้าง ยับยั้งไม่ให้คิดก็ได้ ถึงว่าจะคิด กำลังมันมากคิด เราก็มีสติยับยั้งมัน ยับยั้งสิ่งนี้ เราถึงไม่เป็นขี้ข้าของมันไง กำลังของมันถึงได้อ่อนลง อ่อนลงเพราะเรามีธรรมขึ้นมาในหัวใจ ถ้าเรามีธรรมในหัวใจขึ้นมา พลังงานสิ่งนี้เกิด มันเริ่มแบ่งแยกแยะว่าสิ่งนี้เป็นภัย สิ่งนี้ไม่สนใจ

สิ่งที่เป็นคุณของเรา คือปัญญาใคร่ครวญ สิ่งใดใคร่ครวญ สิ่งใดที่มันสะเทือนใจ อะไรก็ได้ที่มันจับต้องแล้วมันสะเทือนหัวใจมาก สะเทือนความรู้สึกเรานะ ถ้ามันสะเทือนของเรานั้นมันเป็นเรื่องที่ว่าเราจะเริ่มแยกแยะไง เริ่มค้นคว้าหาว่ากิเลสมันเกิดขึ้นมาจากตรงไหน กิเลสที่มันมีอำนาจเหนือหัวใจของเรามันมีอำนาจขึ้นมา แล้วมันทำให้เราพาเกิดพาตายในวัฏฏะนี้ ชีวิตของเรามันน่าเบื่อหน่าย ทุกข์ยากมาก แล้วก็ไม่รู้ว่าเริ่มต้นมาจากไหน แล้วก็จะไปสิ้นสุดที่ไหน ไม่สิ่งใดจะพยากรณ์สิ่งนี้ได้เลย

แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ สิ่งที่ว่าเราไม่เข้าใจสิ่งนี้ มันจะเกิดความรู้แจ้งขึ้นมาในหัวใจ หัวใจต้องรู้แจ้งสิ่งนี้ทั้งหมด สิ่งที่ว่ามันต้องพาเกิดพาตาย อะไรพาเกิดพาตาย การเกิดการตายในปัจจุบันนี้เพราะบุญกุศลพาเกิด การเกิดเป็นมนุษย์นี้แสนยาก จิตในดวงวิญญาณในวัฏฏะนี้มีมหาศาลพร้อมที่จะเกิด เกิดขึ้นมาแล้วก็เกิดทุกข์เกิดยาก เกิดขึ้นมาแล้วเขาก็ไม่สนใจในการประพฤติปฏิบัติ

เราเป็นคนที่ว่า เกิดมาแล้วเรามีความสนใจในการประพฤติปฏิบัติ เรามีศรัทธาความเชื่อในหลักของศาสนา อำนาจวาสนาเกิดขึ้นมา โอกาสเราเปิดกว้างมากเลย พอโอกาสเราเปิดกว้า เราก็เริ่มต้นพยายามจะค้นคว้าเข้ามา มันเป็นสิ่งที่ว่าเราทุกข์เรายากเพราะมันมีสิ่งนี้ติดอยู่ในหัวใจ

ถ้าสิ่งนี้ติดอยู่ในหัวใจ เราต้องเริ่มแยกแยะ พอมันเริ่มแยกแยะ สิ่งที่สะเทือนหัวใจเข้ามา รูป รส กลิ่น เสียง มันเป็นบ่วงของมาร เป็นบ่วงทำให้หัวใจต้องไหลตามมันไป เวลาไฟมันเผาเชื้อ เชื้อคือความคิดต่างๆ มันจะพุ่งออกไปตามนั้น มันพุ่งออกไปทั้งหมดเลย แล้วเราก็มีความสะเทือนใจ สิ่งที่สะเทือนใจ เราเผลออีกแล้ว เราพลาดพลั้งไปอีกแล้ว คิดไปจนทุกข์ขึ้นมาแล้วยับยั้งสิ่งนั้นไม่ได้

ใคร่ครวญสิ่งนี้เข้ามาบ่อยครั้งเข้า.. บ่อยครั้งเข้า.. มันจะทัน รูป รส กลิ่น เสียง เราใช้ปัญญาใคร่ครวญบ่อยครั้งเข้า จนถึงที่สุดมันปล่อยวาง ขาดนะ รูป รส กลิ่น เสียง มันสักแต่ว่าอยู่เก้อๆ เขินๆ นี่กัลยาณปุถุชน จิตนี้ควบคุมสติ ควบคุมความสงบได้ง่ายขึ้น

แต่เดิมความสงบของใจ รากฐานของใจที่มันมีอยู่ มันควบคุมไม่ได้ มันจะไปตามอำนาจของกิเลสตลอด ขนาดว่ากิเลสมันเสี้ยมมาขนาดไหน เราก็เชื่อมันไป เพราะว่าเราไม่เห็นตามความเป็นจริง แต่ในเมื่อเราพิจารณาของเรา มันสะเทือนหัวใจ จนน้ำตาไหล น้ำตาร่วงขึ้นมา เราสะเทือนหัวใจ แล้วเราก็พิจารณามันบ่อยครั้งเขาจนถึงที่สุดมันปล่อยนะ

รูป รส กลิ่น เสียง มันเป็นบ่วงของมาร จิตนี้มันปล่อยวางเข้ามาโดยธรรมชาติของมัน นี่ใจมันก็ควบคุมได้ง่ายขึ้น ได้ง่ายขึ้นเพราะมันปล่อยวางกันโดยสัจจะความเป็นจริง สิ่งที่ปล่อยวางโดยสัจจะความจริง นี่จิตตั้งมั่น เราก็ควรแก่การงาน

สิ่งที่ควรแก่การงาน คือยกขึ้นค้นคว้า ค้นคว้าในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม “ในกาย” เห็นไหม ความคิด พลังงานต่างๆ เหมือนไฟฉาย เราฉายออกไป มันออกจากตัวของไฟฉายนะ ความคิดนี้มันก็ออกมาจากใจ ใจที่มีสัมมาสมาธินี่มันปล่อยวางขึ้นมา มันเป็นฐานของมัน แล้วเวลามันออกไป มันไปรับรู้สิ่งใด มันไปรับรู้แล้วมันไปยึดมั่นต่างๆ มันยึดมั่นที่กาย กายนี้เหมือนกับไฟฉายนั้น

สิ่งที่เป็นไฟฉายนั้น มันพุ่งออกไปเป็นลำแสงไปกระทบสิ่งต่างๆ นี้ก็เหมือนกัน มันติดที่ตรงนี้ก่อน เราเห็นว่าสิ่งที่ข้างนอก เราไปติดต่างๆ ติดเรื่องกายข้างนอก ติดเรื่อง รูป รส กลิ่น เสียงต่างๆ มันออกไปจากกายนี้ เราถึงต้องพยายามค้นคว้าหากายนี้ ถ้าจิตมันสงบมันตั้งมั่นขึ้นมา ถ้ามีอำนาจวาสนามันจะเห็นกาย

ถ้าไม่เห็นกาย เราก็ใช้ความใคร่ครวญของเราว่า กายของเรา เห็นไหมความคิดมันเกิดมาจากไหน ความคิดมันเกิดขึ้นมาจากหัวใจของเรา แต่มันอาศัยกายนี้ออกไป แล้วกายนี้ที่อาศัยกันอยู่นี้ มันเป็นสิ่งที่ว่าเราควรยึดมั่นถือมั่นไหม? สิ่งนี้มันเป็นของเราไหม? ความคิดของมัน จิตถ้ามันคิดอยู่กับสิ่งนี้คือมันเป็นงานไง งานอย่างนี้เป็นงานการใคร่ครวญเข้ามา ถ้ามันใคร่ครวญเข้ามาปัญญามันจะเกิด

เกิดจากความเห็นจริง เกิดจากการใครครวญสิ่งนี้ ในชีวิตนี้เกิดมาเป็นมนุษย์ มีร่างกายมา ร่างกายนี้เป็นบุญกุศล เป็นอริยทรัพย์จากภายใน ถ้าเราค้นคว้า เราแยกแยะกายของเรา เราจะค้นคว้าสมบัติของเรา เราจะเอาสมบัติของเรามาเปิดเผยให้ใจเราเห็น

แต่สมบัติภายนอก “กายนอก” เราพิจารณาจากกายนอก รูป รส กลิ่น เสียงภายนอกเห็นไหม กายของคนเจ็บไข้ได้ป่วยจากข้างนอก เห็นแล้วมันสลดสังเวชเข้ามา คนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย เห็นแล้วสลดสังเวช นี่มันปล่อยเข้ามา ปล่อยอย่างไรก็แล้วแต่ เราต้องมาเห็นค้นคว้ากายของเรา เพราะเป็นสมบัติของเรา มันติดที่นี่ ร่างของคนอื่นที่เราไปติดเพราะเราติดของเราก่อน เราถึงไปติดของเขา ถ้าเราไปติดของเขา เราไปเห็นของเขา แม้แต่ข้างนอกเรายังไปติดเลย

เหมือนเงิน เงินสมบัติของคนอื่น เราไปยุ่งทำไม สมบัติของคนอื่น แล้วมันก็เป็นผลของคนอื่นที่เจ้าของเขาควรจะเก็บรักษาของเขาเอง เจ้าของเขาควรจะพิจารณาของเขาเอง แต่เงินของเรา กายของเรา สมบัติของเรา เราก็ต้องใคร่ครวญของเรา เราก็ต้องเก็บรักษาของเราเอง ถ้าสิ่งนี้เราแยกแยะ เราจำแนกออกมาได้ เราจะเห็นสมบัติของเรา

เหมือนการซื้อขาย การทำธุรกิจ ถ้ามีการซื้อขาย เราจะได้ผลกำไรเข้ามา อันนี้ก็เป็นการงานไง ระหว่างหัวใจที่มันสงบเข้ามายกขึ้นพิจารณากาย พิจารณาความเห็นให้ ให้เห็นสภาวะของกายตามความเป็นจริง มันจะได้กำลังขึ้นมา กำลังจะมีมหาศาลเลย ถ้ามันปล่อยวาง.. ปล่อยวาง.. พิจารณาเข้าไปแล้วมันจะเห็นว่าจับไปที่ตรงไหนมันก็เป็นสิ่งที่สภาวะเสื่อมสภาพไปตลอด ไม่มีสิ่งใดคงที่

เราเกิดจากเด็กขึ้นมา มันพัฒนาเป็นผู้ใหญ่ แล้วก็พัฒนาเป็นคนแก่ แล้วก็ต้องตายไป ถ้าตายอย่างนั้นตายโดยไม่มีคุณค่า ตายโดยที่เราใช้ชีวิตๆ หนึ่งหมดคุณค่าไป แต่เราพิจารณาของเราให้เห็นตามความเป็นจริง มันเห็นแล้วมันจะปล่อยวาง สิ่งที่ปล่อยวาง เพราะใจมันเห็นเป็นภาระรุงรัง

การยึดมั่นถือมั่น การเห็นผิด สิ่งที่เห็นผิด จิตใต้สำนึกเห็นผิด การศึกษาธรรมมาว่ากายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กายนี้เป็นสัญญา เป็นสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ธรรมและวินัยนี้เป็นศาสดาของเรา” สมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่าไปยึดว่าเป็นของเราสิ! ทำไมมันหน้าด้านอย่างนั้นล่ะ ไปยึดว่าเป็นของเรา จะเป็นของเราได้อย่างไร ถ้าเป็นของเรา เราต้องจำแนกได้ เราต้องแยกแยะได้ว่ามันจะเป็นสภาวะไม่ใช่เราอย่างไร

สิ่งที่กายไม่ใช่เรา ไม่ใช่เราอย่างไร อันนี้เรายึดมา เราไปจำตำรามา แล้วเราก็ว่าตามตำรา แล้วกิเลสมันบอกว่า “เราก็เข้าใจ” ความเข้าใจอย่างนั้น มันเป็นการเข้าใจแบบชาวพุทธ ชาวพุทธมีศาสดา มีธรรมและวินัยเป็นศาสดา มีตำราอย่างนั้น เราก็ศึกษา เราก็จำมา มันเป็นสภาวะแบบนั้น มันถึงมีความจำเป็นมาก ต้องแยก ต้องแยะ ต้องทำให้เห็นว่าสภาวะมันเสื่อมสภาพอย่างไร มันปล่อยวางสภาวะกายอย่างไร ถ้าสภาวะกายมันปล่อยแล้ว มันมีเหตุผลไหม? ถ้ามันไม่มีเหตุผล ปัญญาเราอยู่ไหน?

ในเมื่อปัญญาของเรายังไม่เกิด นี่กำไรของเรา ผลงานของเรายังไม่เกิด ในเมื่อปัญญาของเราเกิดขึ้นมา มันจะเห็นสภาวะกายแปรสภาพไป มันไม่ใช่ มันไม่มีที่พึ่ง มันปล่อย พอมันปล่อย มันจะเกิดสภาวะตื่นเต้นมาก มีความสุขมาก ปล่อยบ่อยครั้งเข้า จนถึงที่สุด “กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย” จิตมันปล่อยนะ “ทุกข์ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ทุกข์” ตามสภาวะแบบนั้น

พิจารณาธาตุขันธ์ก็เหมือนกัน พิจารณากาย พิจารณาขันธ์มันก็จะเป็นสภาวะแบบนั้น สิ่งที่เป็นสภาวะ ถ้ามันปล่อยเข้ามาอย่างนั้น มันปล่อยตามความเป็นจริงนะ สังโยชน์จะขาดออกไป สิ่งที่มันขาดออกไป เพราะมันไม่ใช่ มันเป็นความยึดมั่นถือมั่น มันสอดรัดไว้ นี่สักกายทิฏฐิ ความเห็นผิด ทิฏฐิความเห็นผิด ในเมื่อมันเป็นความเห็นถูกต้อง มันก็ขาดออก

วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย สีลัพพตปรามาส ความลูบคลำมา เขาว่าสีลัพพตปรามาส การประพฤติปฏิบัติของพระธุดงค์กรรมธาตุนี้เป็นเรื่องสีลัพพตปรามาส ลูบๆ คลำๆ กัน เพราะว่ากิเลสมันบอกว่า ลูบๆ คลำๆ มันถึงไม่ได้ผลไง

เราทำของเรา คนที่เขาแสวงหาสมบัติของเขา เขาพยายามค้นคว้าของเขา แล้วมันจะเป็นการผิดพลาดบ้าง มันก็เป็นการผิดพลาด แต่ถ้าสมบัตินั้นมีอยู่ เขาต้องได้สมบัติของเขา เพราะเขาค้นคว้าของเขาอยู่ ในการประพฤติปฏิบัติของผู้ที่ปฏิบัติเหมือนกัน ว่าเป็นการลูบคลำ

สิ่งที่ลูบคลำ กิเลสมีอยู่ มันก็ลูบคลำไปก่อน ลูบคลำอย่างนั้น ลูบคลำเพื่อจะชำระไม่ให้มันลูบคลำ ถึงว่าไม่ต้องไปสงสัยว่า เราจะเป็นการสีลัพพตปรามาส เป็นการลูบคลำ เวลามันไปเห็นการปล่อยวางตามความเป็นจริง มันถึงเข้าใจว่า “สีลัพพตปรามาสเป็นอย่างนี้หนอ..” เวลามันปล่อยนะ มันไม่มีความลังเลสงสัยแล้วมันขาดออกไป ความจริงจังของใจ เพราะมันถึงรัตนตรัย

“อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุทานขึ้นมา สงฆ์องค์แรกเกิดขึ้นมา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ความเข้าใจของใจนั้น มันเข้าใจถึงพระรัตนตรัย แล้วมันจะลูบคลำไปไหน สภาวธรรมตามความเป็นจริงของใจเกิดขึ้นมาแล้ว มันมีความเห็นอันนั้นที่ถูกต้อง

สิ่งที่ถูกต้องเป็นธรรมสมบัติของใจดวงนั้นไง นี่ร่มโพธิ์ร่มธรรมเกิดขึ้นมาแล้ว จากร่มโพธิ์ร่มไทร จากภายนอก ร่มโพธิ์ร่มไทรที่เราพึ่งพาอาศัยจากครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่งพาอาศัย ครูบาอาจารย์เป็นผู้ชี้นำ อยู่กับครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์จะเริ่มชี้นำออกมา แล้วเราก็สร้างออกมาเป็นร่มโพธิ์ร่มธรรมของเราในหัวใจ ถ้าใจมีธรรมอันนี้ ใจจะมีความสุขมาก

ในการประพฤติปฏิบัติ เราก็ก้าวเดินต่อไป สิ่งที่ก้าวเดินต่อไปเพื่อจะให้ใจดวงนี้เข้าถึงที่สุด ถ้าถึงร่มธรรมอันถูกต้อง ใจดวงนี้จะมีความสุขมาก แล้วการเบื่อหน่ายในชีวิต การเบื่อหน่ายในวัฏฏะนี้จะไม่ต้องพูดถึงเลย การเบื่อหน่ายเพราะมันมีรากฐานให้เบื่อหน่าย มันมีกิเลส มีความเศร้าหมอง

สิ่งที่เป็นความเศร้าหมอง สิ่งที่เป็นความทุกข์เวลามันเกิดขึ้นมาในหัวใจ มันจะมีสิ่งนี้เผาลนอยู่ตลอดไป ทุกข์อันอยู่ในหัวใจนี้มันจะเผาลน ความสุขที่เกิดขึ้นจากการประพฤติปฏิบัติ เวลาสภาวธรรมเป็นไป มันจะมีความสุขมาก มันปล่อยวางขาดออกไป จะเดินไปไหนเหมือนกับลอยไป มันเบา มันสบาย มันว่างหมดเลย สิ่งที่ว่างนั้นเป็นผลงานจากการประพฤติปฏิบัติ เป็นผลงานของผู้ที่มีธรรมในหัวใจ

ธรรมในหัวใจเกิดขึ้นมาจากไหน? เกิดขึ้นมาจากเราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราอาศัยครูบาอาจารย์เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของเรา สิ่งที่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรนี้ สิ่งนั้นอาศัยภายนอกเข้ามา เหมือนกับเราเข้าโรงเรียนเราก็อาศัยครูบาอาจารย์สอนเรามา แต่ปัญญาที่เราเกิดขึ้นมา เราทำผลงานของเราขึ้นมา อันนั้นเป็นปัญญาของเรา

สิ่งที่เป็นปัญญาของเราขึ้นมา เราก็สร้างของเราขึ้นมา แล้วเราก็ย้อนกลับเข้าไป เพราะเราต้องการผลงานอันละเอียดเข้าไป สิ่งที่เป็นผลงานอันละเอียด ทำความสงบของใจ สิ่งที่ก้าวเดิน เวลามรรคสามัคคีในการชำระกิเลส ในการปล่อยวางกาย มันจะเห็นความเป็นจริงว่า อ๋อ..ในเมื่อการใช้ปัญญา ในเมื่อการทำความสงบของใจ เราต้องพยายามส่งเสริมขึ้นมา เราตั้งขึ้นมาแล้วเราพิจารณาใคร่ครวญของเรา เราใคร่ครวญบ่อยครั้ง จนเห็นการรวมตัวของจิต

จิตนี้สามัคคีรวมตัวกันแล้วสมุจเฉทปหาน นี้เป็นรากฐาน ถ้าเป็นรากฐานอย่างนี้ เราถึงต้องพยายามยกขึ้น แล้วพยายามฝึกฝนของเราเข้าไป ถ้าเราปล่อยวางเฉยๆ แต่มันไม่ขาดออกมา มันไม่ปล่อยวางขาด เราจะไม่เห็นการรวมตัวของจิต เราจะไม่เห็นการรวมตัวของมรรคสามัคคี เราจะไม่เห็นธรรมจักร เราไม่เห็นจักรของหัวใจที่มันหมุนเคลื่อนออกไป

ถ้าจักรคือปัญญาญาณอันนี้เคลื่อนออกมา แล้วรวมตัวมรรคสามัคคี ทำลายกิเลสออกไป เราถึงจะเข้าใจว่านี้เป็นปัญญา นี้เป็นภาวนามยปัญญา มันถึงว่านี้เป็นพื้นฐาน แล้วเราถึงต้องทำความสงบของใจเข้าไป เพื่อยกขึ้นวิปัสสนาต่อ ถ้าวิปัสสนาต่อ กายภายในในหัวใจ กายภายในเราใคร่ครวญออกไป ถ้าเราใคร่ครวญกำลังเราพอ มันจะเป็นสภาวธรรม เราไม่คาด ไม่หมาย เราเคยทำผลงานเราได้สิ่งใด เราก็ต้องการว่าเราจะทำอย่างนั้น แล้วให้ได้สิ่งนั้น

ถ้าคิดอย่างนั้นแล้ว เป็นสัญญา ถ้าเป็นสัญญานั้น กิเลสมันใช้ ถ้ากิเลสใช้ การประพฤติปฏิบัติจะไม่ก้าวเดิน การประพฤติปฏิบัติจะคงที่หรือเสื่อมถอยเท่านั้น พอเสื่อมถอยขึ้นมา เราถึงรู้ว่ากิเลสมีอำนาจเหนือเรา กิเลสทำให้เราล้มลุกคลุกคลาน เราถึงต้องเริ่มต้น ตั้งต้นใหม่ แล้วพยายามตั้งสติทำความสงบของใจ ยกขึ้นใหม่ กิเลสจะมีการต่อต้านในการประพฤติปฏิบัติตลอดไป กิเลสจะพยายามทำให้ความเพียรของเราล้มลุกคลุกคลาน

ถ้าล้มลุกคลุกคลาน กิเลสก็มีลมหายใจ มีเวลาผ่อนคลาย มีเวลาตั้งเงื่อนไขออกมา เพื่อจะมาทำให้ความเพียรของเราล้มลุกคลุกคลานตลอดไป ถ้าเราอยู่กับร่มโพธิ์ร่มไทรคือครูบาอาจารย์จะคอยให้กำลังใจ จะคอยชี้แนะสิ่งนี้ ถ้าเราชี้แนะสิ่งนี้ เราก็จับสิ่งนั้นมาเป็นต้นทุน แล้วเราต้องใช้ปัญญาของเราเอง

สิ่งที่ปัญญาของเราเอง คือปัญญาของเรานี้มันเป็นมรรคในหัวใจของเรา มันจะชำระกิเลสของเรา ถ้ามรรคของเราเกิดขึ้นมานั้นคือผลงานของเรา เห็นไหม “จิตแก้จิต” ต้องอาศัยความเห็นของใจ ภายในจากเป็นมรรคะ

มรรคะคือความเป็นจริงของใจดวงนั้น วิปัสสนา ใคร่ครวญกับความเห็นของกาย ของขันธ์ ของใจ พิจารณาใคร่ครวญสิ่งต่างๆ แยกออกไป พยายามแยกให้ได้ แยกซ้ำแล้ว ซ้ำเล่าจนถึงจุดหนึ่ง มันจะแยกออกจากกันโดยสัจจะความจริง จิตนี้จะรวมหมดเลย กายกับใจจะขาดออกจากกัน

สิ่งที่ใจกับกายจะขาดออกจากกัน “กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส” ผู้ที่ติด ติดตรงนี้ไง กายเป็นโพธิได้อย่างไร ในเมื่อธาตุ ๔ มันไม่ใช่พุทธะ มันไม่ใช่ผู้รู้ เป็นโพธิที่ไหน กระจกใสเพราะมันว่าง มันถึงเป็นกระจกใส นี่ผู้ที่รู้แจ้งถึงไม่ยอมรับสิ่งนี้ไง อันนี้เป็นผลงานของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ แต่ความไม่รู้แจ้ง ร่มของธรรมจะต้องผ่านสิ่งนี้เข้าไปอีกมหาศาลเลย ถ้าติดตรงนี้ มันเป็นสิ่งที่ติด มันเห็นตามความเป็นจริง เพราะเราพิจารณากายสิ

สิ่งที่พิจารณากายเป็นรูปธรรม สิ่งที่เป็นรูปธรรมเวลาปล่อยออกไป “ต้นโพธิ์” ต้นโพธิ์นี้เป็นรูปธรรมเหมือนกัน เป็นสิ่งที่จับต้องได้ ก็เปรียบกายนี้เหมือนต้นโพธิ์ แล้วจิตนี้เปรียบเหมือนกระจกใส แล้วหมั่นเช็ดกระจกอยู่ทุกวันๆ แล้วฝุ่นมันยังเกาะอะไร มันก็เป็นความว่างอยู่อย่างนั้น สิ่งที่เป็นความว่าง นี่ติดสิ่งนี้

ถ้าสิ่งนี้ติดขึ้นมา กายเป็นธาตุ สิ่งที่เป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ โพธิความรู้แจ้งมันไปเกิดจากตรงนั้นได้อย่างไร แต่ในเมื่อปัญญาระดับนั้น การใคร่ครวญระดับนั้นก็จะเห็นผลความเป็นจริงระดับนั้น แล้วก็ติดอยู่ตรงนี้ไง แต่ผู้ที่หาครูบาอาจารย์ มีร่มโพธิ์ร่มไทร จะคอยชี้แนะไง ดูว่าอินทรีย์แก่กล้าไหม อินทรีย์มีความพร้อมไหม อินทรีย์คือความรู้ของใจ ฐานของใจที่มันพอจะรับสิ่งนี้ได้

ถ้ารับสิ่งนี้ได้จะต้องสะกิดให้ออกมา ออกมาใช้กำลังของใจ ใช้ความเห็นของใจ ดวงตาจากภายใน ออกใคร่ครวญ ออกแสวงหาสิ่งนั้น ถ้าออกแสวงหาสิ่งนั้น จะเริ่มเดินตัวเข้าไป ถ้าเดินตัวเข้าไป จับต้องสิ่งนี้ได้จะเกิดอสุภะ สิ่งที่เป็นอสุภะ คือ กายภายใน “กายนอก กายใน กายในกาย” มันจะละเอียดเข้าไปเป็นชั้นเข้าไป

สิ่งที่วิปัสสนา ความเบื่อหน่ายในชีวิต ถ้าเราเบื่อหน่ายในชีวิตนั้นเราเบื่อหน่ายเฉยๆ เหมือนเป็นหนี้แล้วไม่ใช้หนี้ มันเป็นไปไม่ได้หรอก เราเป็นหนี้เราต้องใช้หนี้ นี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราเบื่อหน่าย เราเบื่อหน่ายเราจะหาทางออกได้อย่างไร? เวลาจิตมันวิปัสสนาเข้าไป มันเห็นความเป็นไปของมันขึ้นมา มันจะเห็นเป็นความอสุภะ สิ่งที่เป็นอสุภะ อสุภังนี้เป็นความสกปรกโสมมของมัน มันมีความเบื่อหน่าย ความโลภ ความโกรธ ความหลวง ความรุนแรงอย่างนี้ มันเกิดจากตรงนี้ไง “จิตใต้สำนึก”

จิตใต้สำนึกมันเป็นธรรมชาติของมัน การเกิดและการตายของสัตว์โลกผ่านมาตรงนี้ทั้งหมดเลย สัญชาตญาณของสัตว์ สัตว์ป่ามันอยู่ในป่า ไม่มีใครสั่งสอนมัน สัญชาตญาณของมันก็ผสมพันธุ์สืบพันธุ์กันมาอยู่สภาวะแบบนั้น การเกิดและการตายของใจมันเป็นสัญชาตญาณ สิ่งนี้ไม่ต้องสอน มันรู้โดยสัญชาตญาณ รู้โดยตามความเป็นจริง มันถึงอยู่ลึกไง

สิ่งที่มันอยู่ลึกเราถึงใช้ปัญญาญาณเข้าไปไง แม้แต่มันปล่อย ปล่อยกายกับใจแยกออกจากกัน ปล่อยออกมาแล้วเป็นตัวของมัน ปล่อยจากสิ่งหยาบๆ เข้ามาเป็นความละเอียดเข้ามา ปัญญาญาณอันนี้มันเกิดขึ้น ธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าลึกลับมหัศจรรย์ขนาดนี้ ขณะที่เราประพฤติปฏิบัติมันรู้แจ้งขึ้นมาจากใจ

ใจผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินี้มันจะใช้ปัญญาญาณอย่างนี้ ถ้าปัญญาญาณอย่างนี้เกิดขึ้นมา นี่ธรรมและวินัยเกิดขึ้นมาเป็นธรรมในหัวใจของเรา ร่มของธรรม มีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข สิ่งที่ร่มเย็นเป็นสุขเพราะมันเวิ้งว้าง มันปล่อยวางสิ่งต่างๆ

งานของโลกเขาหาบเหงื่อต่างน้ำ เขาทำทุกข์ยากขนาดไหน เขาทำขึ้นมา สมบัติอันนั้นเขาต้องทิ้งไว้ในโลกแล้วเขา เขาจะไม่ได้สิ่งใดไปเลย เราต่างหากทำงานของเรา วิปัสสนา เดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนา ทั้งวันทั้งคืน ๒๔ ชั่วโมง จนเป็นเดือน เป็นปี การทำต่อเนื่อง ทำทั้งชีวิต!

สิ่งที่ทำทั้งชีวิตขึ้นมาเพื่อจะชำระสิ่งนี้ ถ้าสิ่งนี้โดนชำระออกไป ความเห็นภัย ไงภัยของโลกเกิดจากโลก โลกเจริญ โลกเสื่อมตามสภาวะแบบนั้น แต่ภัยของใจ กามราคะมันเบียดเบียนอยู่ สิ่งนี้มันเป็นปฏิฆะนะ “ปฏิฆะ กามราคะ” ปฏิฆะ คือ จิตใต้สำนึก มันพอใจ สิ่งนี้มันเกี่ยวเนื่องมากับใจ มันก็เป็นกามราคะ

ราคะ คือ ความพอใจของมัน แล้วมันก็เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง สิ่งนี้ซับซ้อนขึ้นมาจากใจดวงนั้น ใจดวงนั้นซับซ้อนสิ่งนี้ขึ้นมา เพราะมันพอใจความเห็นของมัน มันพอใจในอำนาจวาสนาของมัน เราเป็นคนที่ไม่มีอำนาจวาสนา จะอยู่กับใคร เขาข่มเหงรังแกเรา เราก็ต้องเชื่อฟังเขาจากภายนอก เพราะสิ่งภายนอกมันเป็นสิ่งที่จับต้องได้ แต่ในเมื่ออำนาจวาสนาของใจ

ในเมื่อความคิดของเรา เราจะต่ำต้อยขนาดไหน เราจะเป็นคนทุกข์เข็ญใจขนาดไหน เราก็คิดของเราได้ เราก็ปรุงแต่งของเราได้ เราก็พอใจในความเห็นของเราได้ จะมีอำนาจวาสนายศถาบรรดาศักดิ์สูงส่งขนาดไหน มันก็คิดจินตนาการเหมือนกัน ความคิดของใจ อันนี้มันถึงลึกลับ ไม่มีใครสามารถเข้าไปสอดส่องธรรมและวินัย แล้วธรรมเกิดขึ้นมาจากเรา เราสร้างความเห็นของเราถูกต้อง

ความเห็นของเราถูกต้องถึงเดินเข้ามาถึงตรงนี้ได้ ถ้าเดินเข้ามาถึงตรงนี้ ความลึกลับซับซ้อนของจิต จิตนี้ลึกลับซับซ้อนมาก แล้วการแก้ไข ถ้าไม่มีธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครจะเป็นคนที่ค้นคว้าสิ่งนี้ คือความลึกลับไง แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ยังเป็นความเบื่อหน่าย ไม่อยากสอนใครว่าใครมันจะรู้ได้

แต่ในเมื่อหลวงปู่มั่น ธรรมและวินัยมีอยู่โดยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งไว้ แต่ผู้ที่ค้นคว้า ผู้ที่พยายามฝึกฝนขึ้นมา มันก็เป็นการฝึกฝน แล้วเป็นการจินตนาการ ความเห็นของใจดวงนั้นมันก็ว่าเป็นธรรม มันก็เลยเสียโอกาส แต่ถ้าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมีอำนาจวาสนา ค้นคว้าขนาดไหนย้อนกลับเข้ามา นี่ร่มโพธิ์ร่มไทรของเรา พระกรรมฐานผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมันมีโอกาส มีอำนาจวาสนาสิ่งนี้ แล้วเราค้นคว้าของเราเข้ามา มันจะเห็นสภาวะความลึกลับซับซ้อนของใจของเรา แล้วมันก็พยายามใคร่ครวญ

ปัญญาแยกแยะ ปัญญาใคร่ครวญสิ่งนี้ ล้มลุกคลุกคลานขนาดไหนก็ขึ้นมาตั้งต้นใหม่ เพราะสิ่งนี้มันจะรุนแรงมาก ความรุนแรงของการประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติสิ่งนี้มันจะมีความรุนแรง แล้วมันย่ำยีใจมาก ใจจะย่ำยีสิ่งนี้ขึ้นมา กามราคะ กิเลสตัวนี้มันย่ำยี เพราะมันหลง ความหลงอันนี้มันไม่ใช่เราหลงเฉพาะว่าเราประพฤติปฏิบัติเข้าไปเจอ เพราะใจดวงนี้มันลึกลับมาขนาดไหน การเกิดและการตายของมัน มันซับซ้อนมามหาศาล จนเป็นจริต เป็นนิสัย

นิสัยสิ่งนี้มันสะสมมา นิสัยของมัน มันไปตามกระแสของมัน แล้วปัญญามันแยกออก ถ้ามันต่อสู้กันทัน มันก็ปล่อย ปล่อยสิ่งนี้มันก็ว่าง พอว่างขึ้นมา ความว่างอันนี้เราเข้าใจว่ามันจะเป็นผลของมัน แล้วพอมันเสื่อมออกมา มันก็เป็นอันเก่า อันเก่าคือว่ามันยังมีความรู้สึก มันยังกระทบสิ่งนี้ได้ นี่กามฉันทะความพอใจของมัน มันว่างขนาดไหน มันจับต้องสิ่งนี้ได้ จนต้องพยายามใช้ปัญญา ไม่สะเพร่า ไม่สุกเอาเผากิน จะต้องพยายามใคร่ครวญซ้ำเข้าตลอดไป

สิ่งที่ใคร่ครวญคืองานของเรามี ถ้าจับต้องสิ่งใดได้ จับต้องความรู้สึกของเราได้ ถ้ามันไม่มี มันว่างหมด พอมันว่างหมด มันไม่มีสิ่งใดเลย สิ่งที่มันเป็นความว่างมันเป็นความสุขของเรา มันมีคำตอบด้วย แต่ถ้าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เวลากิเลสมันทำงานของมัน มันจะให้ว่างก็ได้ มันปล่อยว่างเหมือนกัน แต่ว่างโดยไม่มีเหตุไม่มีผลไง ว่างโดยที่ไม่รู้ว่าสิ่งใด คำถามคำตอบของใจมันไม่มี สิ่งที่มันไม่มีเราก็สงสัย มันเป็นปัจจัตตังไหม? ในเมื่อมันไม่เป็นปัจจัตตัง เราถึงหาครู หาอาจารย์ หาร่มโพธิ์ร่มไทร

เป็นผู้ที่ชี้ว่าสิ่งที่ประพฤติปฏิบัติถูกต้องไหม? เวลาถามปัญหา ถามปัญหาให้ครูบาอาจารย์คอยชี้แนะ แล้วกิเลสมันก็ไม่ค่อยฟัง เพราะกิเลสมันเห็นการประพฤติปฏิบัติมา มันเห็นความเป็นจริงของมัน มันจะต่อต้านนะว่าเราประพฤติปฏิบัติมาแล้วถูกต้อง การประพฤติปฏิบัติมาเราทำของเรามาเอง เราเห็นของเรา เราประพฤติปฏิบัติของเรา เราใคร่ครวญของเรา แล้วมันก็ปล่อยออกมา ปล่อยเพื่อจะให้เราหลง

เราหลงในสิ่งนี้ เราก็วังวนไปกับอำนาจของมัน จะล้มลุกคลุกคลานกับสภาวะแบบนั้น เราก็จับขึ้นมาพิจารณาซ้ำอีกๆ ถ้าเป็นอสุภะ สิ่งที่เป็นอสุภะ คือ ความแปรปรวนของมัน มันจะแปรปรวนของมัน มันจะเยิ้มสภาวะแบบไหน มันจะเกิดดับขึ้นมา ถ้าปัญญาเราทันมันจะปล่อย.. ปล่อย.. ปล่อยจนมันว่างหมดนะ

มันปล่อยวางเราก็ซ้ำของเราขึ้นไป เพราะเราเคยหลงว่าเวลามันว่างแล้วมันไม่เป็นผลงานของเรา พิจารณาขันธ์ก็เหมือนกัน ขันธ์อันละเอียด ละเอียดมาก ละเอียดอยู่กับจิตนี้ ความรู้สึกนี้ คือ ตัวขันธ์ สิ่งที่กระทบ สิ่งที่จับต้องได้นั้นเป็นขันธ์ทั้งหมด

สิ่งที่เป็นขันธ์ทั้งหมดมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันละเอียด สิ่งที่ละเอียดมันฝังอยู่ที่ใจ ใคร่ครวญมันตลอดไป พลิกแพลงก็ได้ พลิกแพลงไปเพื่อเป็นการไม่ให้เสียเวลา ถ้ามันว่างมันจับต้องสิ่งใดไม่ได้ แล้วก็ยกขึ้นมาจับให้เป็นงานของเรา ให้ปัญญามันก้าวเดิน

สิ่งที่เป็นปัญญามันก้าวเดิน ตรงนี้มันจะเป็นมหาสติ มหาปัญญาเพราะมันรุนแรงกับหัวใจ เพราะสิ่งนี้พาเกิด พาตาย ถ้าทำลายสิ่งนี้ได้ จิตนี้จะไม่เกิดในกามภพ! สิ่งที่เป็นกามภพตั้งแต่เทวดาลงมา ใจนี้พาเกิดพาตาย แล้วไม่เห็นสภาวะตามความเป็นจริง จนพิจารณาซ้ำเข้าไป.. ซ้ำเข้าไป.. ปัญญาใคร่ครวญไปถึงที่สุดแล้วมันจะเข้าถึงตัวจิต จิตนี้จะปล่อยวางสิ่งนี้ทั้งหมด

ถ้าปล่อยวางสิ่งนี้ทั้งหมด มันจะว่างหมดเลย เหตุผลมันเกิดขึ้นมาเพราะขันธ์อันละเอียดมันขาดออกไปจากใจ ใจนี้ขาดออกไปเลย พิจารณาอสุภะ กายจากภายในจะต้องกลืนตัวทำลายจากจิตนี้ออกไป แล้วหมั่นฝึกซ้อมสิ่งนี้ออกไป ฝึกซ้อมไปเรื่อยๆ ร่มของธรรมจะเกิดขึ้นจากในหัวใจ จะมีความร่มเย็นเป็นสุขนะ จะมีความเป็นสุขขึ้นมา

การประพฤติปฏิบัติ ล้มลุกคลุกคลานนั้นเป็นจริตนิสัย เป็นเพราะว่าคนมีอำนาจวาสนามาก อำนาจวาสนาน้อย บุญญาธิการของคนไม่เหมือนกัน การประพฤติปฏิบัติเราต้องการให้ได้ผลขึ้นมา มันจะเป็นความสุขสิ่งนี้ เป็นเครื่องยืนยันกับใจดวงนั้น ใจดวงนั้นจะมีสิ่งนี้เป็นเครื่องประกันกับใจ แล้วความเบื่อหน่ายในชีวิตมันก็จะฝึกซ้อมสิ่งนี้ ฝึกซ้อมเข้าไปเพื่อจะให้มันว่าง ว่างขนาดไหนจนติดสิ่งนี้ได้

สิ่งที่มันว่าง ว่างนั้นคืออะไร ว่างนั้นมันไปไหนมันถึงว่าง ใจมันจะติดสิ่งนี้ จะดูสิ่งนี้ ติดสภาวะแบบนั้น ถ้าไม่มีร่มโพธิ์เราก็ติดสิ่งนี้ ถ้าเราดับขันธ์ตรงนี้ไป เราก็ไปเกิดบนพรหม เพราะตัวความรู้สึกมันมีอยู่ ถ้ามีร่มโพธิ์ของเรา ร่มโพธิ์ของเราจะพยายามเข้าไปหาความจริงว่าสิ่งนี้ ความรู้สึกมีไหม? มันเศร้าหมองไหม? มันผ่องใสไหม?

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส” ถ้าจิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้คือตัวอวิชชา ถ้าจิตนี้ย้อนกลับเข้ามาจับตรงนี้ได้ ย้อนกลับเข้ามานะ ถ้าจับตรงนี้ได้ นี่คือตัวโพธิ!

สิ่งที่เป็นโพธิ ร่มโพธิ์มันเป็นที่ปกคลุมออกมาทั้งหมด ถ้าร่มโพธิ์ของกิเลสคืออวิชชา มันก็ควบคุมกิเลสออกไปเป็นสาย “อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ” เป็นสายออกไป เป็นภพ เป็นชาติออกไปยาวไกลเลยนะ

ร่มโพธิ์ร่มไทรเป็นที่พึ่งอาศัย ถ้ากิเลสมันปกคลุมอยู่ เราก็เวียนตายเวียนเกิด แล้วเราใช้ปัญญาญาณเข้าไปจับสิ่งนี้ได้ เราถึงจะเห็นร่มโพธิ์ร่มไทร จุดของวัฏจักร จุดของการเกิดและการตาย จักรวาลนี้เกิดจากจิตดวงนี้ จิตดวงนี้มีขึ้นมา มันถึงเวียนตายเวียนเกิดในจักรวาลทั้งหมด ในโลกธาตุทั้ง ๓ นี้ จิตดวงนี้พาเกิดพาตายออกไป นี่จุดของร่มโพธิ์ร่มไทร

ถ้าเราพลิกออกมาเป็นร่มของธรรม มันจะทำลายความเห็นต่างๆ ทำลายอวิชชาจนเป็นวิชชาขึ้นมาได้ ถ้าจับตรงนี้ได้ถึงเป็นอำนาจวาสนา ถึงบอกว่า “กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส” นั้นเป็นความเห็นผิดของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ มันถูกต้องขึ้นมาจนขนาดที่มันปล่อยกายกับจิต เพราะปัญญามีเท่านั้น ถ้าปัญญามีเท่านั้นก็จะเห็นว่ากายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส ตามความเป็นจริง ใจมันถึงปล่อยวาง

สิ่งที่มันปล่อยวางเพราะ ปัญญาญาณมันเป็นสภาวะแบบนั้น แต่ติดสิ่งนั้นขึ้นมา ถ้าเราวิปัสสนาขึ้นไปจนเราผ่านกามราคะขึ้นไป ทำลายฝึกซ้อมขึ้นไปจนละเอียดเข้าไปจนว่างหมด เวลาปล่อยกามราคะขึ้นมา มันมีเศษส่วนของมันอยู่ในหัวใจนั้น การใคร่ครวญ การประพฤติปฏิบัติ สิ่งที่ว่าปล่อยวางสิ่งนั้นออกมา จนถึงที่สุดถ้ามันไม่มีเหตุในการค้นคว้า ในการจับต้องได้ ถ้าเรามีเหตุในการจับต้องคือค้นหาอวิชชาเจอ

ถ้าค้นหาอวิชชาไม่เจอ ความว่างของเรา เรามีความว่างแล้ว เราก็ว่าสิ่งนี้เป็นความว่าง ธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างหนึ่ง แต่กิเลสมันอ่าน กิเลสมันยึดมั่นถือมั่น มันก็เป็นความว่างเหมือนกัน ใจเราก็ว่าง ว่างเพราะกิเลสมันหลบตัวอยู่ มันไม่ให้เห็นสภาวะแบบนั้น แต่ถ้าจิตมันย้อนกลับเข้ามา จับตัวอวิชชาได้

การจับตัวอวิชชาได้นี้เป็นงานอย่างมหาศาลนะ เคล็ดลับของมันคือการค้นคว้าเจอเหตุ “อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา” มันถึงต้องเกิดบนพรหมอีกต่อไป แต่ถ้าเราค้นคว้าขึ้นมา แล้วใช้ปัญญาอันละเอียดเข้าไป อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน ความขยันหมั่นเพียรในงานนั้นเป็นอุทธัจจะ เป็นสังโยชน์ตัวหนึ่ง ถ้าเราทำรุนแรงเกินไป มันก็จะเคลื่อนออกมา มันจะไม่เข้าสิ่งนั้น มันจะเป็นปัญญาญาณอันละเอียดมาก เข้าไปทำสิ่งนี้ ใคร่ครวญกับสิ่งนี้ ใคร่ครวญเข้าไป ใช้ปัญญาอันละเอียด

สิ่งที่ละเอียดเกิดขึ้นมาจากใจของเรา ใจของเราพัฒนาออกมาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา มันจะเห็นสภาวะแบบนี้ ถ้าเห็นสภาวะแบบนี้ มันถึงว่ามรรค ๔ ผล ๔ โดยความถูกต้องของธรรม ไม่ใช่ว่าเราคาดหมายออกมา แล้วเราก็คาดมรรค ๔ ผล ๔ ของเราไป

ถ้ามรรค ๔ ผล ๔ ของกิเลสมันก็เป็นความเห็นของเรา สิ่งนี้มันว่าง ว่างขนาดไหน เราก็พอใจในความว่างนั้น ความว่างนั้นมันมีสิ่งใดบอกเหตุ จิตพิจารณาต่างๆ แล้วจิตปล่อยเข้ามาต่างหาก จิตรู้ออกมาทั้งหมด เป็นปัจจัตตังทั้งหมด เป็นปัจจัตตังกับใจดวงนั้น

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาเป็นศาสดา ไม่มีใครพยากรณ์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ขึ้นมาได้ล่ะ? แล้วผู้ที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา หลวงปู่มั่นเวลาปฏิบัติขึ้นมา มันเกิดขึ้นมาจากไหนล่ะ? มันเกิดขึ้นมาจากหลักความจริงอันนี้ก่อน

ถ้าหลักความจริงอันนี้มันพลิกจากอวิชชา จากร่มโพธิ์เป็นร่มธรรม ถ้ามันพลิกจากร่มโพธิ์มาเป็นร่มธรรมขึ้นมา สิ่งนี้เกิดขึ้นมาเป็นปัจจัตตัง สิ่งนี้ทำลายออกหมด จิตนี้หมดสิ้นออกไป พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่กับจิตดวงนี้หมด ธรรมและวินัยอยู่ที่ใจดวงนี้ พลิกสิ่งนี้ออกไป เป็นร่มธรรมออกมาทั้งหมด นี้มีเหตุมีผล

สิ่งนี้จะไม่ไปเกิดในวัฏจักร ในวัฏจักรจะทำลายออกไปจากใจนี้ทั้งหมด ร่มของธรรมถึงจะเป็นร่มของความสุขมาก ใจมีธรรมในหัวใจ ใจจะเป็นความสุขนะ โลกเขาเกิดมา ในโลกของเขา ในโลก ในวัฏฏะนี้ ความเบื่อหน่ายในชีวิต เวลาดูโลกมันถึงน่าสลดสังเวชไง สลดสังเวชมาก แม้แต่คนเสียสติเขาก็มีจิตเหมือนกัน เขาถึงกับจิตของเขาทำลายไป แล้วเขาก็อยู่ของเขาในโลก เวียนไปตามกระแสโลก โดยที่ว่าเขาไม่ได้ทำคุณประโยชน์กับใจดวงนั้นเลย

เกิดมาเป็นมนุษย์เหมือนกัน พบพุทธศาสนาเหมือนกัน แต่ตัวเองไม่มีโอกาสเลย แต่เรามีสติ จิตของเรามันก็ไม่เป็นแบบเขา สติของมนุษย์ สมาธิของมนุษย์ เห็นไหมปุถุชน สติปุถุชน สมาธิปุถุชน เราก็สร้างสมของเราขึ้นมา มันจะย้อนเข้ามานี้

ถ้าย้อนเข้ามามันก็เริ่มเบื่อหน่าย ความเบื่อหน่าย ความไม่พอใจ หวังจะพ้นออกจากทุกข์ แต่เหตุของเราล่ะ? ถ้าเหตุของเรา ทำของเราขึ้นมาได้ มันคือสภาวะของมัน จะพัฒนาของมันขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอน นี่วุฒิภาวะของใจ

วุฒิภาวะของใจจะพัฒนาใจของเรา ถ้าเราทำเป็นสัมมา “สัมมาทิฏฐิ” ถ้าเกิดความถูกต้องขึ้นมา เราต้องยืนของเรา เขาจะว่านะ ผู้ที่แสวงหา ผู้ที่พยายามจะออกจากกิเลสนี้ เป็นผู้ที่ว่ามีทิฏฐิความเห็นผิด ความเห็นของโลกเขาต้องอยู่กับโลกเขาเป็นสภาวะแบบนั้น ถ้าโลกเขาเป็นอย่างนั้น โลกเขาจะเจริญไง

ความเจริญของโลกไม่ต้องไปกังวล คนที่มีอำนาจวาสนา คนที่อยู่ในโลกนี้มีอีกมหาศาล จะต้องเป็นสภาวะแบบนั้น เราเป็นคนๆ หนึ่งที่ไม่ต้องไปเบียดเบียน ไปแย่งใช้ทรัพยากรกับเขา ทรัพยากรของโลกเขาบอกว่าจะไม่พอกับโลก แล้วยังจะว่าให้โลกเจริญอีกเพื่อให้อยู่กันอย่างนั้น

เราเป็นคนที่ว่ามีสติ สติเป็นอัตโนมัติ เวลาจิตมันพลิกจากร่มธรรมขึ้นมา สติเป็นอัตโนมัติทั้งหมด การเคลื่อนไปของจิตมันจะรู้ตามสภาวะตามความเป็นจริงทั้งหมด สิ่งที่เป็นความจริงทั้งหมด มันพร้อมไง ชีวิตนี้เป็นชีวิตของคุณงามความดี ชีวิตนี้ไม่มีสิ่งใดจะเข้าไปให้เป็นความหมองของใจดวงนั้น

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้หมองไปด้วยอุปกิเลส”

ความเศร้าหมองสิ่งนั้นมันไม่มี ความผ่องใสก็ไม่มี เพราะมันข้ามพ้นทั้งความผ่องใสและความเศร้าหมองสิ่งนั้น สิ่งนั้นเป็นธรรมชาติของมัน

สิ่งที่เป็นธรรมชาติ เป็นสภาวะร่มธรรมอันนั้น ร่มเย็นเป็นสุขอย่างนั้น แต่ในเมื่อออกมาทางโลก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม แล้วก็ใช้ชีวิตมาอีก ใช้ชีวิต ใช้ธาตุขันธ์นี้เพื่อสั่งสอนโลก

ลูกศิษย์ของพระสารีบุตรจะมากราบเรียนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะมากราบคารวะ มาที่วัดแล้วส่งเสียงกันอึกทึกอยู่ในวัดนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามพระนาคิตะ

“นั้นใครส่งเสียงเหมือนชาวประมงเขาหาปลากัน”

“ลูกศิษย์ของพระสารีบุตรจะมากราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ไล่ออกไป พวกนี้ไม่มีสติ ประมาทเลินเล่อมากเหมือนกับชาวประมง ไม่ใช่สมณะ”

สมณะต้องมีสติ ต้องมีสัมปชัญญะ ต้องพยายามสำรวม ศีล สมาธิ ปัญญา ต้องอย่าให้มีความประมาท นี่ไล่ออกไป ไม่ใช่ความเศร้าหมอง ไม่ใช่ความเห็นผิด อันนี้เป็นการสั่งสอน ไล่ออกไปเพราะว่าต้องการเตือน

สิ่งที่เตือนถ้าออกมาเป็นโลกแล้ว มันจะเป็นภาระของใจ สิ่งที่เป็นภาระของใจ มันก็เป็นน้ำหนัก ในเมื่อคิดออกมาเป็นโลกแล้วมันก็หนัก เพราะว่ามันต้องแบกโลก โลกของเขา เขาก็เป็นจริตนิสัยของเขา ความเห็นของเขาก็เห็นเป็นสภาวะแบบนั้น แล้วเราต้องเปลี่ยนความเห็นของเขาทั้งหมด เพราะความเห็นของเขานั้นเป็นโลกียะ แล้วต้องเปลี่ยนให้ความเห็นของเขาเป็นโลกุตตระ

สิ่งที่เป็นโลกุตตระ แล้วเขาจะพัฒนาจิตของเขาเข้าไปเห็นตามความเป็นจริง แล้วถ้าเขาเห็นตามความเป็นจริง เขาก็จะปล่อยวางกาย ปล่อยวางธาตุ ๔ ปล่อยวางกามราคะ แล้วก็ปล่อยวางทิฏฐิความเห็น ร่มโพธิ์อันนี้พลิกออกทั้งหมด ถ้าสิ่งนี้เป็นความจริงของเขา เขาจะได้ประโยชน์ของเขาขึ้นมา นี่คือหน้าที่ของร่มโพธิ์ไง

ถ้าร่มโพธิ์นี้เป็นเรื่องของโลก ถ้าร่มธรรม ถ้าใจดวงที่เป็นธรรม ธรรมดวงนั้นจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร ธรรมดวงนั้นเป็นสิ่งที่นิ่ง เป็นความสุขอันนั้น เพียงแต่ว่ามันต้องออกมาแบกโลกสิ ในเมื่อเป็นร่มโพธิ์ เป็นครูบาอาจารย์ต้องออกมาแบกโลก แบกไว้เป็นภาระ

มันเป็นภาระไง ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์นี้ก็เป็นภาระ การกิน การอยู่ก็เป็นภาระ แต่ถ้าเป็นปุถุชน การกินนี้เป็นความสุข การกิน การนอนนี้เป็นความสุขของเขา นี้เป็นอาหารอันหนึ่งของจิต แต่ผู้ที่เป็นภาระ สิ่งนี้เป็นภาระเพื่อจะดำรงธาตุขันธ์ไป จนถึงที่สุดเท่านั้น ถ้าร่มธรรมเกิดขึ้นมาในหัวใจ มันจะเป็นสภาวะแบบนั้น ถ้าใจถึงที่สุดหมดแล้ว มันจะเป็นพยานต่อกัน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมอยู่องค์เดียวนะ พอพระอัญญาโกณฑัญญะเข้าใจ “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ..” เป็นพยานต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัญจวัคคีย์ทั้งหมดสำเร็จออกไป จนถึงที่สุดพระยสะสำเร็จออกไป ๖๑ องค์แรกของโลกเป็นผู้ที่เผยแผ่ศาสนามาถึงมือของเรา

เราเป็นชาวพุทธ เรานับถือพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากไว้ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นเจ้าของศาสนา เราเป็นคนๆ หนึ่งที่เป็นเจ้าของศาสนา เหมือนกับอาหารมาตั้งอยู่ที่หน้าเรา เป็นสำรับของเรา เราจะกินไหม? ถ้าเรากิน เรารับสำรับนั้นเข้าปากเรา เราก็ประพฤติปฏิบัติ ถ้าเรากินขึ้นมา เราก็อิ่มขึ้นมาในหัวใจของเรา ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันก็จะเป็นธรรมของเราถ้าเรากินขึ้นมา ประโยชน์อันนั้นจะเกิดขึ้นมา

ถ้าเราไม่กิน ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา นี่พระพุทธเจ้าฝากไว้ แต่ไม่เอา! ถ้าไม่เอาแล้วมันจะเข้ามาถึงหัวใจได้อย่างไร

“จากใจดวงหนึ่งให้กับใจอีกดวงหนึ่ง” ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติในหัวใจ อาการของใจเกิดขึ้นอย่างใด พลิกแพลงขนาดไหน ใจดวงนั้นเท่าทันหมดเลย เพราะผ่านกิเลสออกมาก่อน เพราะผ่านมายาของกิเลสที่ในหัวใจนี้พลิกแพลงขนาดไหนเพราะต้องการปลดเปลื้องสิ่งนี้ ต้องทำความสงบของใจขึ้นมา จนเห็นมีกำลัง พลังงานขึ้นมา แล้วทำลายสิ่งนี้ ทำลายสิ่งที่เป็นมายาของใจ ปลดเปลื้องใจออกมาเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา ถึงเข้าใจมายาของมัน ถึงเข้าใจความเห็นผิดของมัน แล้วถึงว่าเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของเรา

ครูบาอาจารย์เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร ร่มโพธิ์ร่มไทรของเรา เราก็อาศัยสิ่งนั้นเป็นเรื่องภายนอก เพราะร่มโพธิ์ร่มไทรนี้มันเป็นเรื่องของธาตุ เรื่องของโลก แต่ร่มธรรมในหัวใจของท่าน เราจะไปรู้ในหัวใจของท่านได้อย่างไร เราจะไม่เห็นสภาวะแบบนั้น ถ้าเราพิจารณาของเราขึ้นมาในหัวใจของเรา มันก็เป็นร่มธรรมของเรา

ถ้าเป็นร่มธรรมของเราขึ้นมา มันก็เป็นพยานกัน มันเป็นพยานสิ่งนี้ สิ่งนี้ถึงว่าศาสนาเราเป็นศาสนาพุทธ พุทธะเห็นไหม ร่มโพธิ์ พุทธะในหัวใจของเรา นี่ให้มันเบิกบาน ให้มันผ่องใส ให้มันเกิดขึ้นมา เกิดปัญญาญาณ สิ่งนี้เราต้องก้าวเดิน ถ้าใจมันก้าวเดินขึ้นมา มันจะก้าวเดินเข้ามาด้วยนามธรรม

สิ่งที่เป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้ แต่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจะเห็นสิ่งที่เป็นนามธรรมนี้ชัดเจน ถ้าภาวนามยปัญญาไม่เกิด เราจะไม่เห็นมรรคะ เราจะไม่เห็นจักร เราจะไม่เห็นธรรมจักรของเราเคลื่อนเลย ถ้าธรรมจักรของเราเคลื่อนออกไป เห็นโดยความชัดเจนมาก แล้วทำลายกิเลสออกไปเป็นชั้นเป็นตอนชัดเจนตลอด รู้แจ้งตลอดไป

แต่ถ้าเป็นมายาภาพ มันไม่รู้แจ้ง มันคลุมเครือ สิ่งที่คลุมเครือนั้นต้องซ้ำ พยายามทำซ้ำขึ้นมา ซ้ำของเราขึ้นมาให้เห็นเป็นความแจ้ง สิ่งที่แจ้งขึ้นมา ไม่มีความลับในหัวใจเลย ถ้าความลึกลับในหัวใจของเรามีอยู่ อันนั้นต้องมีสิ่งที่เป็นกิเลสซ่อนอยู่ในใจ การประพฤติปฏิบัติของเรา จะไม่เข้าถึงหลักความจริง ถ้าเราพยายามทำความลึกลับของใจ เปิดเผยออกมาให้หมด ความลับไม่มีในโลกไง วัฏฏะนี้ไม่มีความปิดใจดวงนี้เลย รู้แจ้งโลกนอก โลกใน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สาวกะรู้แจ้งโลกในก็มี รู้แจ้งโลกนอกก็มี แต่ถ้ารู้แจ้งโลกในนี้ก็จบสิ้นแล้ว ถ้าจบจากโลกใน โลก คือ หมู่สัตว์ สัตว์ คือโลกหนึ่ง เราเกิดขึ้นมาก็โลกหนึ่ง โลกในความคิด ความยึดมั่นถือมั่นของเรา ความเห็นผิดของเรา ความเคลื่อนไปของเรา อยู่ในโลกของเราทั้งนั้นเลย

สัตว์โลก สัตตะ คือ ข้องอยู่ ใจเราข้องอยู่มันก็ไปไม่ได้หรอก เกี่ยวพันไปตลอดไป สิ่งนี้มันถึงสะสมเข้ามา จะเป็นบุญกุศล ถ้าเราติดมันก็ทำให้เราเนินช้า แต่ถ้าเป็นกุศล เป็นทางเดิน เป็นมรรค เราก็ต้องสร้างสมของเราขึ้นมา สิ่งที่เป็นมรรค เราก็เข้าใจอยู่ว่าเป็นมรรค สิ่งที่เป็นสัมมา ถ้าเป็นมิจฉาความเห็นผิด มันก็เป็นความเห็นผิดของกิเลสดวงนั้น กิเลสในใจดวงนั้น กิเลสเกิดจากใจ แล้วกิเลสก็ตายได้ ใจนี้สะอาดบริสุทธิ์ได้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกว่า ความเสมอภาคกัน เสมอภาคตรงนี้ไง พระอรหันต์สิ้นสุดของกิเลสแล้ว ความเสมอภาคถึงกันหมด อำนาจวาสนาของแต่ละองค์ไม่เหมือนกัน บางองค์เห็นไหม ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติไม่รู้แต่พูดได้ บางองค์รู้แล้วพูดได้ด้วย บางองค์รู้แล้วพูดไม่ได้ อำนาจวาสนาสิ่งนี้สะสมมาจากเบื้องหลัง เบื้องหลังคือสิ่งที่เราสะสมมาจากอดีต แล้วมาปัจจุบันนี้เราทำของเราขึ้นมา จะได้หรือไม่ได้ไม่สำคัญ สำคัญที่ว่าเราชำระกิเลสของเราได้ไหม? เราย้อนกลับเข้ามาในหัวใจของเราได้ไหม?

ถ้าเราทำของเราไม่ได้ เราเกิดมาพบพุทธศาสนา อาหารวางอยู่ต่อหน้า ทำไมเราไม่เปิบเข้าปากล่ะ ทำไมเราไม่อ้าปากของเรา มือของเราทำไมไม่ยื่นออกไปหยิบอาหารนั้นเข้าปาก นี้ก็เหมือนกัน ทำไมเราไม่ทำสติขึ้นมาให้หัวใจมันมีพลังงานขึ้นมาล่ะ? ทำไมเราไม่ค้นคว้าในหัวใจของเราขึ้นมาล่ะ?

สิ่งนี้เหมือนกัน เราพยายามพลิกแพลงของเราขึ้นมา ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง ทำสะสมของเราขึ้นมา มันต้องเป็นไปได้ เหตุทุกอย่าง ถ้ามีเหตุแล้วผลมันต้องเกิด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดไว้ ซึ้งใจมากนะ

“๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม ต้องได้ผลแน่นอน”

ได้ผลในการประพฤติปฏิบัติ แล้วชีวิตของเรา ๑๐๐ ปี แค่ ๗ ปีทำไมเราทำสิ่งนี้ไม่ได้ ถ้าเราทำสิ่งนี้ได้ เราต้องทำของเราขึ้นมาในหัวใจ เราตั้งมั่นของเรา แล้วเราจะสมประโยชน์ของเรานะ ถ้าเราสมประโยชน์ของเรา สมประโยชน์คือมันได้ผลขึ้นมา ถ้าไม่สมประโยชน์

การปฏิบัติบูชา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกแก่พระอานนท์ก่อนจะปรินิพพาน บอกพระอานนท์ว่า “ให้ปฏิบัติบูชาเถิด” เราปฏิบัตินี้ มันเป็นการบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ภพชาติจะสั้นเข้ามา.. สั้นเข้ามา.. ไม่ยาวไกลออกไปถึงกับไม่มีต้นไม่มีปลายหรอก

แต่เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถึงที่สุดแล้วก็ ๗ ชาติเห็นไหม ตามหลักความจริง ใจจะถึงเห็นสิ่งนั้น แล้วสิ่งนั้นจะกังวานในหัวใจ เข้าใจตามหลักความจริงอันนั้น แล้วใจดวงนั้นจะเข้าใจสิ่งนี้ รู้จริงๆ ขึ้นมาในหัวใจ เป็นตามจริงที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้เด็ดขาด แล้วใจนั้นก็ได้สัมผัส ดื่มกินธรรมดวงนั้น มีความสุขจากดวงนั้น จนเป็นร่มธรรมของใจดวงนั้น เอวัง