มรรคหยาบ มรรคละเอียด
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์บนศาลา วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๔๖
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
วันนี้วันพระ เราต้องพยายามทำใจของเราให้เป็นพระ พระเป็นผู้ประเสริฐ ถ้าใจของเราประเสริฐ เราจะควบคุมใจของเราได้ ถ้าใจของเราไม่ประเสริฐ ใจของเราเป็นพาลนะ มันหาแต่ความเร่าร้อนมาเผาตัวเอง ความเร่าร้อน เพราะเราเกิดเป็นชาวพุทธ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนนะ วางธรรมไว้ให้เราก้าวเดินตาม ค่าของน้ำใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ แล้วเราทำไมไม่ทำตาม
เวลาเราทำตามกัน เราก็ทำตามในความคิดของเรา ในความเห็นของเรา มรรคหยาบๆ เราว่าเราเป็นมรรคแล้วนะ เราสร้างมรรค ทุกคนเวลาประพฤติปฏิบัติ ใจของเราต่ำต้อย แต่เราไม่รู้เลยว่าใจเราต่ำต้อย ทุกคนมีทิฏฐิ มีมานะ มีความเห็นของตัวเอง
ความเห็นของตัวเอง คิดขนาดไหน นั้นคือความถูกต้อง มันถูกต้องไปตลอด ตามความยึดมั่นถือมั่นของใจ แต่เวลาประพฤติปฏิบัติไป ไปเห็นความจริงเข้า มันจะเห็นว่าทำไม เมื่อก่อนเราทำไมไม่เห็นแบบนี้.. ทำไมไม่เห็นแบบนี้.. นี่ความยึดมั่นถือมั่นของใจมันจะเริ่มปล่อยวางไปจากเรื่องหยาบๆ แล้วเราจะเข้าไปสู่ความละเอียด เราถึงว่าเราปฏิบัติไม่ตรงกับความเป็นจริงไง เพราะเรามีกิเลสอยู่
ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ประเสริฐมาก ประเสริฐจริงๆ นะ เพราะว่ามันเป็นความลึกซึ้งมาก ละเอียดอ่อนมาก มรรคหยาบ มรรคละเอียด คำว่ามรรค โลกของเขาก็มีอยู่แล้ว เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา มันจะไม่ใช่มรรคไปที่ไหน มันเป็นมรรคแน่นอน เพราะว่าตีความตามตัวอักษร ความดำริชอบ ความดำริคือความคิด ความคิดเราก็มี งานชอบเราก็ทำงานชอบ สติชอบ สมาธิชอบ เราก็ว่าเรามีสติ เรามีสมาธิ เราคิดของเราไป
กิเลสพาตีความ กิเลสพาคิด แล้วมันก็ยึด แล้วอ้าง กิเลสมันจะอ้างนะ อ้างเหตุผลมัน ใส่ความเห็นของกิเลส แล้วเราก็ว่าเราเป็นปัญญาชน เรามีการศึกษา ศึกษาทางโลกเราก็ศึกษามา ศึกษาทางธรรมเราก็ได้ศึกษามา ศึกษามาแล้วก็คิดยึดมั่นถือมั่น ตามความเห็นของตัวว่าเป็นสากลนะ เทียบออกไปถึงสากลเลย จะสากลขนาดไหน มันก็เรื่องของโลก
เรื่องของโลกคือความคิดความเห็นของเรา สิ่งที่เป็นโลกคือเป็นวัฏฏะ มันมีไง มันพิสูจน์ได้ มันเป็นสากล แต่สากลของโลก แต่ไม่เคยเห็นสากลของผู้ที่มีธรรมในหัวใจ ผู้ที่มีธรรมในหัวใจ มันจะเป็นสากลของมัน มันเป็นระดับชั้นของมันขึ้นไป ถึงที่สุดแล้วเรื่องของโลก นี่โลกบัญญัติ แล้วก็เรื่องของธรรม
ธรรมนี้เป็นวิมุตติหลุดพ้น ใจอันนั้นต่างหากเป็นธรรมเสมอกัน พระอรหันต์มีจิตเสมอกันทั้งหมด ความสะอาดในใจดวงนั้นจะมีความเสมอกัน แล้วจะมีความสุขนะ ความสุขเพราะมันไม่เผาตัวเองไง มันไม่มีความลังเลสงสัย มันไม่มีความอาลัยอาวรณ์ มันไม่มีสิ่งใดๆ เลยที่ทับถมใจดวงนั้น
ใจดวงนั้นเป็นใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นไก่ตัวแรกที่เจาะฟองกิเลส ฟองไข่เจาะออกมา นั่นเป็นพระศาสดาของเรา เป็นผู้ที่มีความวิมุตติหลุดพ้นออกมาจากใจของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ มีความเมตตามาก มีความเอ็นดูมาก มีความรักใคร่นะ อยากให้บริษัท ๔ ต้องให้ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เวลาจะเริ่มต้นจากมีภิกษุก็แสนยาก เพราะใครจะมีพื้นฐานของความเห็นแบบนี้ พื้นฐานของโลก ทุกคนเกิดมาในโลกก็มีความเห็นของโลกแล้วก็ว่าเป็นสากล
สิ่งที่เป็นสากล เพราะยึดมั่นถือมั่นด้วยกิเลสทุกๆ คน ยึดมั่นถือมั่นความเห็นของตัว นี่เรื่องโลกเป็นเสมอกันหมด แต่ใครจะมีพื้นฐานล่ะ ทำความสงบของใจ ปัญจวัคคีย์อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ ๖ ปี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ พยายามค้นคว้าอยู่ ๖ ปี ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมีความเป็นสมาธิเพราะมีศีล มีธรรมอยู่ในหัวใจเหมือนกัน พยายามประพฤติปฏิบัติ ศีลธรรมของโลกนะ ไม่ใช่ศีลธรรมตามความเป็นจริง
ถ้าศีลธรรมตามความเป็นจริงต้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาก่อน ธรรมความเป็นจริงจากใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นวิมุตติหลุดพ้นออกมา นั้นธรรมในศาสนาพุทธ เกิดจากมรรคอริยสัจจัง มรรคอันละเอียดอ่อนนั้นชำระกิเลสออกไปจากใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อน ถึงได้เอาอันนี้มาสอนพระปัญจวัคคีย์
พระปัญจัควัคคีย์มีพื้นฐานของใจ เพราะประพฤติปฏิบัติอุปัฏฐากกันมา มันต้องมีการทำความสงบของใจ สิ่งที่ใจสงบ มีความสงบ แต่สงบขนาดไหนก็มีกิเลส เห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าละจากการบำเพ็ญตบะธรรม ละจากการทรมานตน ออกมาฉันอาหารของนางสุชาดา ว่านั่นเป็นคนมักมาก นี่สากล
สากลของกิเลสมันเหยียบย่ำใจของสัตว์โลกทุกๆ ดวง คนจะสั่งสอนเราก็เหนือเรา ต้องมีความรู้เหนือเรา ต้องมีธรรมะเหนือเราทั้งนั้น แล้วออกมาฉันอาหาร ออกมามักมาก กิเลสมันไม่ยอมรับ สิ่งที่ไม่ยอมรับ นี่สากลของโลก มันก็มีสากลของกิเลสเจือปนไปด้วย สิ่งที่เป็นกิเลสนั้นมันมีอยู่ในหัวใจทุกๆ ดวงใจรับรู้ไง ความไม่พอใจ ความขัดเคืองใจ เพราะธรรมไม่สมกับความเห็นของเรา เราคิดไง กิเลสพาคิด คิดว่าผู้ที่จะประพฤติปฏิบัติธรรม ผู้ที่ว่าจะล่วงพ้นได้ต้องเหนือมนุษย์ไง ต้องเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง ทำความเพียรอันอุกฤษฏ์ ทรมานตนให้ถึงที่สุด
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากลั้นลมหายใจ ถึงกับสลบ ๓ หนแล้ว สลบแล้วฟื้น สลบแล้วฟื้นถึง ๓ ครั้ง เขาก็เห็นอยู่ปัญจวัคคีย์ก็เห็นอยู่ นี่ส่งเสริมกันไง ส่งเสริมในอัตตกิลมถานุโยค เพราะทรมานร่างกาย ทรมานธาตุ ๔ แต่เรื่องของกิเลสมันอยู่ที่ใจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรมานมาขนาดนี้ มันถึงมีพื้นฐานของใจ เป็นโลกเหมือนกัน มรรคหยาบเหมือนกัน มรรคของโลกทำได้แค่นี้ ถึงว่าสิ่งนี้มันเป็นความทุกข์ในหัวใจ แล้วมันก็ไม่ได้เจือจางไปเลย เพียงแต่มันละเอียดอ่อนเท่านั้นเอง มันละเอียดอ่อน มันสงบไง
พอจิตมันสงบ มันปล่อยวางได้ชั่วครั้งชั่วคราว เดี๋ยวมันก็ออกมารับรู้สิ่งนั้นอีก ถึงว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ ทรมานตนมาขนาดไหนได้แต่พลัง สิ่งที่เป็นพลังคือสัมมาสมาธิ ได้พลังงานของใจขึ้นมา แล้วเริ่มต้น สิ่งที่ประพฤติปฏิบัติมาอุกฤษฏ์ขนาดไหน ก็ทำถึงที่สุดแล้ว มันไม่เป็นไปสักทีหนึ่ง นี่กิเลสมันอยู่ที่ใจ ถึงต้องย้อนกลับไง ย้อนกลับมาทำอานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้าออก ลมหายใจเข้าก็รู้ ลมหายใจออกก็รู้ สติตั้งอยู่ตรงนั้น
ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ธาตุ ๔ เพราะจมูกของเรามีธาตุ ๔ ร่างกายของเรา มันผ่านร่างกายของเรา แต่จิต ความรู้สึก ลมหายใจเข้าออก แล้วความรู้สึกนั้นขึ้นมา เริ่มสงบตัวลง สงบตัวลงมีพลังงาน พลังงานมีอยู่แล้ว สิ่งนี้ขึ้นมามันสะเทือนใจไง บุพเพนิวาสานุสติญาณเพราะอำนาจวาสนาสร้างมาขนาดนั้น มันต้องสอดส่องดูว่าสิ่งใดผิด สิ่งใดถูก
ออกไปขนาดไหนนั้น อดีตชาติไม่มีที่สิ้นสุด อันนี้ไม่ใช่ ย้อนกลับมา ย้อนกลับมาถึงฐานของใจ สรรพสิ่งเกิดจากตรงนี้ บุพเพนิวาสานุสติญาณใครเป็นผู้รู้ ใจนี้เป็นผู้รู้ ใจนี้ส่งออกไป รับรู้แต่ละภพ แต่ละชาติ ออกไปถึงที่สุดขนาดไหนก็ไม่มีที่สิ้นสุด แล้วเป็นความรู้ของใจดวงนั้น มีสติสัมปชัญญะดึงกลับมา อันนี้ก็ไม่ใช่ จุตูปปาตญาณออกไปรับรู้ ตายแล้วเกิดๆ
สัตว์ตัวไหนตายแล้วเกิดขนาดไหน สิ้นขนาดไหน เป็นไปทุกดวง ดวงจิตก็ไม่ถึงที่สุดจบสิ้น เพราะมันเป็นธรรมชาติของมัน จิตดวงนี้มันเคยเกิดเคยตายมาในอดีตชาติขนาดไหน มันสะสมพลังงานออกไป มันก็ต้องเป็นสภาวะแบบนั้น ความรู้อย่างนี้ มันก็เป็นความรู้เห็นไหม มรรคหยาบๆ รู้การเกิดการตายของสัตว์โลก
สิ่งนี้ที่ว่าเป็นอภิญญากัน รู้วาระจิต รู้สิ่งต่างๆ นี้เป็นเรื่องความเห็นของใจที่มันเป็นไป มันมีอำนาจวาสนา มันเป็นสภาวะแบบนั้น มันรู้ได้ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้ ไม่เกิดอาสวักขยญาณมา มันก็ยังเป็นไปไม่ได้ ถึงที่สุดแล้วย้อนกลับ สิ่งนี้มันเป็นอดีต อนาคต ย้อนไปก็เป็นอดีต เกิดแล้วตายที่ไหนรู้ไปอนาคต
สิ่งที่เป็นอดีต อนาคต เราก็วิ่งตามอดีต อนาคต ใจนี้มันก็หมุนไปตามวัฏฏะ วัฏฏะเป็นแบบนี้คือการเกิดและการตาย จิตนี้เกิดและตายไม่มีที่สิ้นสุด ถึงย้อนกลับมา อาสวักยขญาณ ญาณสุดท้ายขึ้นมาชำระกิเลส กิเลสเกิดจากใจ เกิดจากภวาสวะ เกิดจากกิเลส ภวาสวะ อวิชชาสวะ สิ่งที่เป็นอาสวะ สิ่งที่หมักหมมใจ ย้อนกลับเข้ามา ทะลุไป อาสวักขยญาณเกิดขึ้น เจาะฟองไข่ไง อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อวิชชาจนเป็นวิชชา ย้อนกลับตลอด แล้วทำลายมันทั้งหมดเลย นั้นวิมุตติไง ธรรมเกิดจากสภาวะแบบนี้
นี่สภาวธรรม จิตมันสงบเข้าไป ถึงจะเป็นแบบนั้น นี้เป็นธรรม ธรรมเกิดขึ้นจากการประพฤติ จากการปฏิบัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติเข้ามาถึงหัวใจ แล้วก็วางธรรมไว้ เริ่มตั้งแต่สั่งสอนมา สอนปัญจวัคคีย์ก่อน
สอนปัญจวัคคีย์นี้ ไม่มีตำราเลย ไม่มีคำสั่งสอนของผู้ใดเลย โลกนี้ยังไม่มีพระสงฆ์ ถึงจะเริ่มเกิดบริษัท ๔ ขึ้นมา จะมีพระสงฆ์ขึ้นมา ไปเทศน์ธรรมจักร ทางที่ไม่ควรเสพ ๒ ทาง อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค อดีต อนาคตไม่ควรเสพสภาวะแบบนั้นทั้งหมด มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง ย้อนกลับเข้ามาดูใจ นี่ชำระกิเลส
ปัญจวัคคีย์ พระอัญญาโกณฑัญญะเข้าใจสภาวธรรม สิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับเป็นธรรมดา แล้วใครไปยึดความเป็นธรรมดานั้นล่ะ ใจนี้เป็นผู้ยึดไง ทำลายสิ่งนี้ออกไปจากใจ นี่พระสงฆ์เกิดขึ้นมาในโลก สั่งสอนอย่างนี้ออกไป แล้วสั่งสอนไปจนถึงเกิดภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาขึ้นมา วางรากฐานไว้ออกมา แล้วสั่งสอน จำตามๆ กันมา เวลาจะศึกษาเล่าเรียนกัน ก็ต้องศึกษาปากต่อปาก
สิ่งที่ศึกษาจากปากต่อปาก เรามีความลังเลสงสัย เรามีความยึดมั่นถือมั่นของเรา สิ่งที่ศึกษามา มันถึงว่า บางอย่างมันก็ไม่เป็นตามความเป็นจริงของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเห็นไหม พระสงฆ์ในสมัยพุทธกาล ก็มีบวชเหมือนกัน มีสึกเหมือนกัน ประสบความสำเร็จเหมือนกัน บางที่ไม่ถึงที่สุดก็อยู่ในศาสนาไป อย่างนั้นก็เป็นอำนาจวาสนาของบุคคลไง ของบุคคลการสร้างสมมา
แม้แต่ครั้งพุทธกาลนะ ผู้ที่เกิดพร้อมเป็นสหชาติ ต้องสร้างบุญมาก จะปรารถนาเป็นพุทธบิดา พุทธมารดา ก็ต้องปรารถนา อย่างนี้เป็นสิ่งที่ปรารถนาทั้งหมด อัครสาวกก็ต้องปรารถนา ปรารถนามาแล้วสร้างบุญกุศลขึ้นมา สิ่งที่สร้างบุญกุศล จะสะสมมาจากอดีตชาติ สะสมมาสิ่งนั้นก็มาในหัวใจ สิ่งนี้ถึงเกิดขึ้นมา แล้วก็ส่งต่อกันมา กาลเวลา ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ทุกข์สมัยพุทธกาล กับทุกข์สมัยปัจจุบันนี้ ก็อันเดียวกัน มรรคก็เป็นอันเดียวกัน
แต่ในสมัยปัจจุบันนี้ โลกมันเจริญ วิทยาศาสตร์เจริญ วิทยาศาสตร์เจริญขนาดไหน มันก็เป็นการยืนยันกับหลักศาสนาของเรา เพราะวิทยาศาสตร์สิ่งที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์นั้นเป็นสากลที่เป็นทฤษฎี ใครพิสูจน์สิ่งนั้นขึ้นมาได้ มันก็จะเป็นสภาวะแบบนั้น แต่ในการทำความสงบของใจ ทฤษฎีของเราจะเกิดขึ้นมา
ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่สองพันกว่าปี กำหนดนะ เรื่องอริยสัจ ทุกข์นี้ควรกำหนด ผลมันอยู่ที่ไหน? สิ่งที่เกิดขึ้นในความทุกข์อยู่ที่ไหน? เราบ่นกันว่าทุกข์ ว่าทุกข์ตลอดไป ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ ละด้วยอะไร ละด้วยมรรคอริยสัจจัง สิ่งที่ตีความกันว่ามรรค เกิดขึ้นถ้าความเห็น ความเข้าใจของปัญญาเกิดขึ้น มันจะเกิดนิโรธะไง
ความปล่อยวางทุกข์นั้น นั้นเป็นอริยสัจ แล้วเราศึกษาอย่างนั้นแล้ว นี่ในการประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่ทรงธรรม ทรงวินัยก็จะเป็นครู เป็นอาจารย์ของเรา แล้วมันถึงคราวศาสนาเริ่มยืนยาวออกไป สิ่งนี้ไม่มีใครสามารถคงความทรงธรรมตลอดมา ถึงต้องเราศึกษาจากตำรับตำรา สิ่งที่มีตำรับตำรานี้ ยังเป็นสิ่งที่ว่า เราสืบต่อกันมา พระสงฆ์บวชมาตั้งแต่ ๒,๕๐๐ ปีจนปัจจุบันนี้ ก็ยังบวชต่อๆ กันมา เป็นสังฆกรรมไง
สังฆะคือความเป็นอยู่ของหมู่สงฆ์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเริ่มตั้งแต่เปลือก สิ่งนี้วางไว้ให้จรรโลงศาสนามา แต่ผู้ที่พยายามจะประพฤติปฏิบัติ สิ่งนี้สิเริ่มต้นที่ว่า เราก็เอาตำรามากางกัน เพราะเราต้องยึดว่า สิ่งนี้เป็นสากล แล้วกิเลสมันก็เป็นสากลพร้อมกับสิ่งที่อยู่ในหัวใจ แล้วก็ศึกษากันไป กำหนดตามไป ถ้าคนที่มีอำนาจวาสนาเจอครู เจออาจารย์แล้วเชื่อศรัทธาในครูบาอาจารย์ที่ถูกต้อง เราก็จะเป็นการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้อง ให้กำหนดไง ให้ทำศีล ผู้เป็นพระสงฆ์นี้มีศีลอยู่แล้ว เพราะตั้งแต่บวชขึ้นมา ปฏิญาณตนว่าเราเป็นพระสงฆ์ มีศีล ๒๒๗ ศีล สมาธิ ปัญญา
สิ่งที่เป็นศีล มันมีความเป็นรั้วกั้นของใจอยู่แล้ว ถ้ามีรั้วกั้นของใจ เราพยายามรักษาของเรา ให้ใจมันสงบเข้ามา ให้ใจสงบเพราะเราต้องการสมาธิ ถ้าเกิดสมาธิขึ้นมา จะกำหนดวิธีการไหนก็ได้ ทำความสงบของใจ มีศีล มีสมาธิแล้วจะเกิดปัญญา ปัญญาที่เวลามันก้าวเดิน มันหมุนออกไปนั้น ปัญญาญาณอันนี้มันเป็นความเกิดขึ้นจากภาวนามยปัญญา ถ้าเรากำหนดเจอครูบาอาจารย์ที่เราถูกต้อง
แต่ถ้าเราคิดของเราเอง เราเห็นกระแสโลกเขาเป็นไป กิเลสมันชอบไง ชอบสิ่งที่ว่าเป็นทางลัด ชอบสิ่งที่เป็นทางสะดวกสบาย สิ่งที่ทางลัด ทางสะดวกสบายก็คิดกันไปว่า มันจะคิดเป็นสากลไง ถ้าผิดจากนี้ไปจะเป็นความผิด มันจะเป็นความผิด ผิดจากกิเลสกับผิดกับธรรม คนละเรื่องกัน ผิดจากกิเลสไง กิเลสว่า เราทำสิ่งนี้ เราพิจารณาสิ่งนี้ สิ่งนี้เป็นวิปัสสนา ถ้าเราไปทำความสงบของใจ มันจะเป็นการเนินช้า
สิ่งที่ทำไปให้เนินช้า มันเสียเวลา เราก็อยากจะเป็นทางลัดไง เราก็ว่าสิ่งนี้เป็นวิปัสสนา มันเป็นเรื่องของโลกนะ การประพฤติปฏิบัติเรา มันเหมือนกับการฝึกนิสัย เราประพฤติปฏิบัติมา กาลเวลาผ่านไปเท่าไร แล้วความเป็นไปของใจเรามันพัฒนาขึ้นมาไหม? มันมีความสงบของใจไหม? มันตั้งมั่นไหม? แล้วปัญญามันเกิดขึ้นไหม?
ในเมื่อมันไม่เกิดขึ้น เราก็น้อยเนื้อต่ำใจ แล้วถ้ามีสิ่งใดให้ทางเลือก เราก็จะเลือกไปตามนั้น กิเลสมันออกอย่างนี้ เวลาประพฤติปฏิบัติไป ถึงที่สุดแล้ว ทางใดหนอเราจะเป็นไปได้.. เราจะเป็นไปได้.. เราก็เชื่อต่างๆ กันไป นี่คนโง่มาก หรือคนฉลาดมาก คนตาบอดนะ เวลาจูงกันไป ตาบอดเหมือนกันจูงกันไป เราก็เชื่อคนตาบอดนะ ดูของโลกสิ โลกเป็นไปอย่างนั้นจริงๆ ถ้ามีอะไรตื่นขึ้นมา เหมือนคนตาบอด เพราะใจมันบอด ใจไม่เข้าใจสิ่งนี้ไง ไม่เข้าใจ ไม่มีหลักการ ไม่มีสิ่งที่ยืนยัน เขาพูดอย่างไรก็เชื่อเขาไป แล้วเทียบเคียงไปกับพระไตรปิฎก กับตำราที่มันเป็นความจริง
มันเป็นความจริงเพราะเราตีความ เรายึดมั่นตีความว่าสิ่งนี้จะเป็นความจริง แล้วธรรมมันจะเกิดขึ้น นี่ธรรมมันจะเกิดขึ้นถ้าเราศึกษานะ ธรรมะของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสมบูรณ์ สมบูรณ์ถูกต้องทุกอย่างที่เป็นตามความเป็นจริง แต่เพราะเราคาด เราหมายของเรา กิเลสในใจเราคาด เราหมาย ขณะนี้เราศึกษาธรรมนะ ผู้ที่ไปศึกษาธรรมในพระไตรปิฎก ทุกคนจะทึ่งมากเลยว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าใจโลกทั้งหมด แล้ววางเรื่องของโลกทั้งหมด
แล้วเราศึกษา เรามีความซึ้งใจ มีความสุขใจนะ เหมือนกับว่าเรามีทางออกแล้ว ถ้าเราประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ เราจะมีทางออก แล้วเราก็ประพฤติปฏิบัติตามนั้นไป นี่เรื่องของโลก เรื่องของความรู้สึกของใจ มันจะประพฤติปฏิบัติไปขนาดไหน มันก็ปล่อยวางไง ปัญญาอบรมสมาธิ เวลาเราใช้ปัญญาใคร่ครวญของเรา สภาวธรรมนะ แม้แต่ในพระไตรปิฎกไม่มี แต่ความเข้าใจของเรา สภาวะสิ่งนี้เกิดขึ้น สภาวธรรม
สิ่งที่สภาวธรรม มันไม่มีกิเลสเจือปน ถ้ามีสภาวธรรม สิ่งนี้เป็นสภาวะอันที่มันเกิดดับ แล้วเราเข้าใจสภาวะสิ่งนี้ มันก็ปล่อยวางสิ่งนี้เข้ามา ปล่อยวาง.. ปล่อยวาง.. มันเป็นไปได้อย่างนั้นไง มันปล่อยวางเข้ามา มันก็จะเป็นกัลยาณปุถุชน สิ่งที่เป็นกัลยาณปุถุชนเพราะมันปล่อยรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสธรรมารมณ์ สิ่งนี้เกิดขึ้นจากการกระทบ โลกเราเกิดขึ้นมาโดยธรรมชาติสภาวะแบบนั้น
สภาวะของเรามันเหมือนเปลือกไง เปลือกสิ่งต่างๆ ผลไม้ต้องมีเปลือก เปลือกนี้รักษาผลไม้ไว้ นี้ก็เหมือนกัน ใจมันต้องมีขันธ์หุ้มห่ออยู่ ขันธ์ความรู้สึกของใจ นี่ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันนี้ส่วนหนึ่ง แล้วออกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ออกไปเอารูป รส กลิ่น เสียง จากภายนอก แล้วเราก็สังเกตของเรา เวลาคนเราหนาว.. เราก็หาเครื่องนุ่งห่มเพื่อให้อบอุ่น เวลาคนเราร้อน เราก็เข้าหาที่ร่มเพื่อหลบความร้อน เพื่อจะหาความเย็นของเรา เพื่อความอบอุ่นของร่างกายเหมือนกัน
อันนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อสิ่งที่มันกระทบ มันเป็นไป เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บอกแล้วว่าสิ่งนี้มันเกิดดับ เราก็เข้าใจ สิ่งนี้เกิดดับ เราดูตามความเกิดดับเข้าไป ถ้าเรามีสติ มีสัมปชัญญะ การปล่อยวางขนาดไหน มันก็ปล่อยวางรูป รส กลิ่น เสียง จิตมันปล่อยวางเข้ามา มันก็ปล่อยวางเข้ามา ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ เราดูสิ่งนี้ทัน มันจะปล่อยวางเข้ามา บ่อยครั้งเข้า.. บ่อยครั้งเข้า.. จนถึงที่สุดเห็นไหม
ถึงที่สุด รูป รส กลิ่น เสียง ขาดออกไปจากใจ มันจะขาดออกไปจากใจเพราะเรารู้ทันตามความเป็นจริงทั้งหมด แล้วมันก็ว่างอยู่อย่างนั้น แล้วจะทำอย่างไรต่อไปล่ะ เราจะทำอย่างไรต่อไป เพราะปัญญาอย่างนี้มันเป็นสากล เวลาสิ่งที่เป็นสากลนะ อ้างนะ อ้างว่าสิ่งนี้เป็นสากล รับรู้ทางสากล โลกเขารับรู้กัน
แต่สิ่งที่เป็นอริยทรัพย์สิ ใจที่จะเกิดขึ้นจากการประพฤติปฏิบัติ ปัญญาอันที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ปรารถนา ปัญญาที่เราคิดตามสากลนั้นนะ ถ้าปัญญาคิดตามสากลนั้น มันอ้างอิงกันได้เพราะมันเป็นโลกทั้งหมด โลกเกาะเกี่ยวกันไป เราว่าเราเป็นโลก เราศึกษาทางโลกมาก เรายึดทางโลกมาก เรายึดมากขนาดไหน ปัญญาเรามากขนาดไหน สิ่งนี้มันทำให้เราฟุ้งซ่าน
มันจะฟุ้งซ่าน มันจะไม่เป็นไป ถ้าศีล สมาธิ ถ้าเราเกิดสมาธิ เราต้องทำความสงบของใจเข้ามาให้ได้ก่อน ขณะที่ว่าเขาพิจารณานามรูปเข้ามา เขาปล่อยวางขนาดไหนเข้ามานี่ มันจะมาถึงจุดนี้เท่านั้น ถึงจุดนี้เพราะมันเป็นเหตุผลของโลกเขา โลกเขาพิจารณาขนาดไหน จะเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เข้าใจตามความเป็นจริงขนาดไหน แล้วจะปล่อยมา เป็นกัลยาณปุถุชนเท่านั้น
สิ่งที่เป็นกัลยาณปุถุชน เพราะมันปล่อยวาง ปล่อยวางจากเปลือกเข้ามา แล้วถ้าเป็นเนื้อของใจล่ะ กิเลสมันอยู่ที่ไหน กิเลสมันอยู่ที่ใจ มันถึงต้องเริ่มจากใจขึ้นมา ตำราบอกว่ากายกับใจ ใจนี้เป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรมนี้ไม่มีตัวตน
สิ่งที่ไม่มีตัวตน เราก็ปล่อยวางเข้ามา แล้วเราก็จับสิ่งใดไม่ได้ นี่สัมมาสมาธิถึงไม่เกิดไง สิ่งที่เกิดสัมมาสมาธิไม่ได้ เพราะปล่อยวางแล้ว แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป เราก็เดินหน้าต่อไป พิจารณาต่อไป นามรูปต่อไป มันก็ปล่อยวางมาอย่างนั้น แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป ต่อไปจนถึงที่สุดว่าจะเพิกกิเลสนะ เพิกจิตออกมา เพิกไม่เป็น เพราะมันไม่เห็นตามความเป็นจริง
ถ้าจิตมันสงบ เราพยายามตั้งหลักของเราขึ้นมา มีสติแล้วพยายามทำความสงบเข้ามา สงบเข้ามาขนาดไหนก็แล้วแต่ สัมมาสมาธิมันตั้งมั่น มันจะรู้สึกตัวไปตลอด มันจะมีสติกำหนดจิตเข้ามาตลอด จิตนี้จะเข้ามาเป็นเอกัคคตารมณ์ เราพิจารณา หรือเรากำหนดสัมมาสมาธิ กำหนดพุทโธ เรากำหนดหรือใช้ปัญญาก็แล้วแต่ เรากำหนดขึ้นมา เวลามันปล่อยเข้ามา เราจะมีสติตลอด แล้วเราตั้งสติของเราไว้ แล้วออกมานะ เวลามันเสื่อม สรรพสิ่งนี้มันต้องแปรสภาพตลอด
เวลาจิตมันเสื่อม มันออกมาข้างนอก เพราะเวลาเสื่อม ธรรมชาติของจิตมันส่งออก มันรับรู้ พอรับรู้สิ่งใด มันจะรับรู้สิ่งอื่นไป เรากำหนดพุทโธก่อน ให้กำหนดพุทโธตลอดไป ให้มันมีกำลังขึ้นมา สิ่งที่มีกำลังขึ้นมา มันสงบบ่อยครั้ง มันตั้งมั่นขึ้นมา สิ่งที่มันตั้งมั่นขึ้นมา เรารับรู้ไง ทำไมจะควบคุมไม่ได้ ถ้าเราไม่ควบคุม ควบคุมจิต ของเราไม่ได้ เราไม่มีสัมมาสมาธิ สติเราไม่มี เราจะทำงานอย่างไรล่ะ?
ถ้าคนเรานะ ไม่มีพื้นฐาน ไม่มีสิ่งใดที่เป็นที่ทำงาน เราจะทำสิ่งใด เราจะไม่มีสิ่งที่จับต้องได้เลยเหรอ? นี่กัลยาณปุถุชนแล้วทำงานไม่เป็น ก็จะวนอยู่ตรงนี้ ที่สุดของโลกเขา นี่มรรคหยาบๆ มรรคอย่างนี้มันก็เป็นมรรค โลกเขาสัมมาอาชีวะ เราก็เทียบเคียงเป็นสัมมาอาชีวะ แต่เราไม่เทียบเคียงเลยว่าเวลาความหิวโหยของใจ ใจมันเกาะเกี่ยว มันกินอาหารไปทุกอย่าง เวลามันทุกข์ มันยากขึ้นมา มันก็กินของมันนะ เวลาสุขขึ้นมา มันก็อยากให้เราอยู่นานๆ มันก็ไม่อยู่กับเราหรอก มันจะเป็นสภาวะแบบนั้น เพราะพลังงานของเรามีเท่านี้ไง
เราพิจารณาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยมรรคหยาบ มันหยาบเกินไป เราถึงจะไม่รู้เรื่องความละเอียดของมัน เวลาคุยธรรมะกัน เวลาธรรมสากัจฉาจะพูดได้เรื่องของโลกเท่านั้น จะพูดได้ด้วยสัญญาไง นี่ดูตำรา จำตำรา ท่องตามตำรา แล้วก็ยึดมั่นถือมั่นนะ ว่าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจะก้าวออกนอกตำราจะเป็นความผิด ไม่ยอมรับสิ่งนี้ เพราะเรายึดความเห็นในตำรานั้น มันเป็นสัญญา
สิ่งที่เป็นสัญญา มันเป็นสิ่งที่เราก๊อบปี้มา มันจะเป็นสภาวะแบบนั้น แล้วถ้าคิดอย่างนั้น มันจะปล่อยวาง ปล่อยวางก็เป็นกัลยาณปุถุชนเท่านั้น ใคร่ครวญกันอยู่สภาวะแบบนั้น ปัญญาแบบนี้เป็นปัญญาแบบกิเลสมันพาใช้ไง เราประพฤติปฏิบัติ เราจะชำระกิเลส เราทำไมประพฤติปฏิบัติแล้วให้กิเลสบังเงา บังเงาในความเห็นของเรา แล้วบอกว่าเราเป็นคนชำระกิเลส ว่าสิ่งที่เราศึกษา สิ่งที่เราเทียบเคียงนี้เป็นสากล
เวลากิเลสนี้มันเป็นสากล สัตว์โลกเป็นอย่างนี้ทั้งหมดเลย กิเลสก็เป็นสากลเหมือนกันทุกดวงจิต ทุกดวงจิตจะมีความเห็นแอบอิงอยู่ในหัวใจของเรา มันแอบอาศัยสิ่งนี้ หลบเหลี่ยมแล้วหากินว่าเราเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าเราออกนอกจากสัญญาที่เราจำขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแล้วมันจะเป็นความผิดไง มันจะไม่เป็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง มันจะไม่เป็นสากล สิ่งที่เป็นสากลคือการท่องบ่น ท่องจำกันได้เท่านั้น
สิ่งที่มันจะเกิดขึ้นมาจากใจของเรา มันจะเกิดขึ้นมาตามความเป็นจริงนั้น การวิปัสสนา ครูบาอาจารย์ เวลาพิจารณากายเหมือนกัน ก็ยังคนละแง่ คนละมุม สิ่งที่แง่มุม ถ้าเอาสิ่งนี้มาโต้แย้งกัน มันจะเป็นไปไม่ได้เลย ว่าทำไมมันเป็นไปไม่ได้ จะขัดแย้งกันไปตลอดไป
แต่ในเมื่อสิ่งที่เกิดขึ้น การเกิดขึ้น การกระทำสิ่งต่างๆ นั้น ไม่เป็นสิ่งที่ควรโต้แย้ง สิ่งที่พิจารณาแล้ว มันปล่อยวาง สิ่งที่ปล่อยวางใจมันปล่อยวางออกมาไหม? ใจมันเห็นตามสภาวะตามความเป็นจริงไหม? คนเรานะ ไม่เคยกินอาหาร เห็นแต่ตามตำรา อาหารตำราเขียนว่าทำอย่างนั้น เราก็นึกปรุงแต่งไป แล้วเราไม่เคยลิ้มรสของมันเลย ว่ามันจะเอร็ดอร่อยขนาดไหน มันจะไม่รู้รสหรอก แต่ถ้าเราจะหาอาหารของเรา เราจะทำอาหารของเราขึ้นมา เราต้องหาเครื่องประกอบ
สิ่งที่จะเป็นเครื่องประกอบ พื้นฐานคือวัตถุดิบ กาย เวทนา จิต ธรรม กาย เวทนา จิต ธรรมนี้เป็นสติปัฏฐาน ๔ แล้วเครื่องมือ อุปกรณ์ที่จะปรุงแต่ง อุปกรณ์ที่จะใช้คืออะไร คือมรรคไง ความดำริชอบ ความเห็นชอบ ความเพียรชอบ สิ่งที่จะเป็นความเพียรชอบ จะเข้ามาจับตรงนี้ ถ้าจับตรงนี้ได้ คือจับตรงนี้ตั้งได้ นี่กัลยาณปุถุชน
สิ่งที่เป็นกัลยาณปุถุชน ควรจะเดินอริยมรรค สิ่งที่เดินอริยมรรค มรรคมันจะละเอียดขึ้นไป ถ้าเดินโสดาปัตติมรรค เป็นบุคคล ๘ จำพวก สังฆะไง เราเวลาสวดมนต์ว่าบุคคล ๘ จำพวก ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตน พระสงฆ์.. เราเป็นสาวกสาวกะ เราเป็นพระสงฆ์ วันพระมันเป็นในปฏิทิน แต่ถ้าใจเป็นพระ ถ้าวิปัสสนาตรงนี้ขึ้นมาได้ ใจของเราจะเป็นพระ นี่เป็นพระโสดาบัน
ถ้าพระโสดาบันเกิดขึ้นจากตรงนี้ มันจะต้องเป็นผลงานจากใจดวงนั้น นี่ศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญามันจะเกิดขึ้น สิ่งที่เป็นปัญญาเกิดขึ้น ถ้าพิจารณากายจะเห็นสภาวะของพิจารณากาย นี่ภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นมามันจะแยกแยะ
ความแยกแยะของมัน แยกว่าสิ่งนี้จะเป็นสภาวะ ดูความเป็นจริงของเขาขึ้นไป พิจารณาจิต ถ้าเป็นจิต นี่สิ่งที่เป็นจิตมันเป็นความรู้สึก โลกบอกว่าความรู้สึก สิ่งที่เป็นความรู้สึกนี้เป็นสากล ว่าเป็นความรู้สึกสุขหรือทุกข์ ชอบหรือไม่ชอบ นี้เป็นสากลของเขา
สิ่งที่เป็นสากล พูดได้เท่านี้ไง แต่ถ้าเป็นบัญญัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นธรรมนะ สิ่งนี้มันประกอบไปด้วยสิ่งใด นี่สภาวธรรมที่จะเกิดขึ้นเป็นภาวนามยปัญญา ต้องจับความรู้สึกนี้ตั้งให้ได้ เวลาเป็นความสงบเข้ามา เวลาเราทุกข์ยากขึ้นไปก่อน มันยึดไปทุกอย่าง พอมันปล่อยรูป รส กลิ่น เสียงเข้ามา มันเป็นความสงบเข้ามา มันจะมีความสุขส่วนหนึ่ง ความสุขส่วนหนึ่งนะ
แล้วเราพยายามชำนาญในการวิปัสสนาของเรา ในการใคร่ครวญของเราเข้ามา มันจะปล่อยวางเข้ามาบ่อยครั้งเข้า จนถึงที่สุดตั้งมั่น แล้วเราค้นคว้าไง ค้นคว้าจิตที่มันสงบ แล้วออกมารับรู้สิ่งต่างๆ จากความรู้สึกอันนี้ ความรู้สึกนี้มันแยกออกเป็นส่วนๆ ได้
สิ่งที่เป็นส่วน สิ่งนี้ความรู้สึกชอบ ความรู้สึกชัง สิ่งนี้มันเกิดขึ้นมา มันให้อาการทุกข์กับใจเกิดขึ้นตลอดเวลา แล้วเราจับสิ่งนี้ตั้งไว้แล้วแยกออก รูปคือความรู้สึกอันนี้มันประกอบไปด้วยสิ่งใด ประกอบด้วยสัญญา สิ่งที่เทียบเคียงสัญญาต่างๆ มันเกิดขึ้นมา สิ่งที่เกิดขึ้นมาก็เทียบเคียงออกมา สังขารจะปรุงไป สิ่งที่ปรุงไป วิญญาณรับรู้ รับรู้เป็นรูปของจิต เป็นเวทนา หมุนออกไปเป็นความรู้สึก นี้มันเป็นความรู้สึกอย่างนั้น นี้คือธรรมชาติของเขา
แต่ถ้าปัญญามันเกิดขึ้นนะ แล้วปัญญามันย้อนกลับเข้ามา สภาวะสิ่งนี้เราแยกออก แยกสิ่งต่างๆ ออกไป สัญญาตัวไหนเป็นสัญญา อะไรเกิดก่อนสิ่งที่เป็นสัญญา ความกระทบรับรู้สิ่งใดเกิดก่อน จับตัวนี้ สัญญาตัวนี้เกิดก่อนเห็นไหม ถ้าเราทำตรงสัญญามันก็หยุด
สิ่งที่หยุดมันก็ปล่อยวาง ความปล่อยวางนี้เกิดขึ้น นี่คือปัญญาญาณ ความปล่อยวางเห็นไหม ถึงเราทันสัญญา เราทันสังขาร เราทันรูปของจิต ความรู้สึกที่เป็นรูปของจิต เราต้องแยกแยะสิ่งนี้ เพราะสิ่งนี้มีกำลังมาก เวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วย เราไปหาหมอ หมอถามอาการของเรา เราตอบอาการของเราขึ้นมา ถ้าหมอเขามีความรู้ของเขา เขาจะรู้ว่าอาการแบบนี้มันจะเป็นโรคสิ่งใด มันเหมือนกัน ความรู้สึกมันมีความทุกข์ในหัวใจ สิ่งนี้เราแยกออก พยายามใคร่ครวญออกไป แยกออกไป เราเป็นหมอรักษาเราเอง เราจะเป็นหมอนะ ปัญญาอันนี้จะใคร่ครวญแล้วจะรักษาเรา
ถ้าเราใคร่ครวญสิ่งนี้ เรารักษาสิ่งนี้ เราแยกออก เห็นอาการการแยกออกมา อารมณ์มันไม่เกิดขึ้น สิ่งนี้มันเกิด สิ่งนี้มันจะเป็นพยานกับใจ ปัญญาเราใคร่ครวญทันความรู้สึกของเรา นี้เป็นสังขารปรุงแต่ง สติเข้าไปยับยั้ง มันก็ปล่อย ถ้ามันปล่อยขึ้นมา ประจักษ์พยาน ปัญญาอย่างนี้มันซับเข้าไปที่ใจ ใจนี้มันเห็น วิปัสสนาอย่างนี้มันถึงจะเป็นมรรคไง มรรคอริยสัจจังเกิดขึ้นจากปัญญาญาณ เกิดขึ้นจากสัมมาสมาธิที่จิตตั้งมั่น แล้วเดินมรรคขึ้นไปมันถึงจะเป็นมรรคละเอียด
ถ้ามรรคละเอียดขึ้นมา มันเป็นมรรคของส่วนบุคคล ความรู้สึกของใจดวงใดก็แล้วแต่ ถ้าปัญญาได้หมุนออกไป จะเห็นมรรคเกิดขึ้นจากใจของเรา สิ่งที่ว่าพิจารณาความรู้สึกอันนั้น มันเป็นความรู้สึกอ่อน เป็นความรู้สึกร้อนเย็นจากภายนอก จากรูป รส กลิ่น เสียงภายนอก นี่มรรคหยาบๆ แล้วทำเข้ามามันจะมีความสงบ ความสงบเท่านั้น แล้วมันจะก้าวเดินไปไม่ได้ แต่ถ้าเรามีครู มีอาจารย์ชี้นำ เราพยายามทำสิ่งนี้บ่อยครั้งเข้า มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ
สิ่งที่เป็นปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาญาณของเราใคร่ครวญเข้ามา มันจะเป็นมรรคหยาบ ว่ามันจะไม่เป็นประโยชน์ มันก็เป็น มันเป็นที่ว่าเราเป็นมนุษย์ เป็นปุถุชน สิ่งที่เป็นมนุษย์ เป็นปุถุชน มันก้าวออกมาจากจิต สภาวะของจิตมันเป็นแบบนี้ สภาวะของความรู้สึกของใจของเรา มันเป็นแบบนี้โดยธรรมชาติของมัน เราจะไปฝืนธรรมชาติว่า เราจะรู้แล้วปล่อยวางตัณหาความทะยานอยาก แล้วเราค่อยประพฤติปฏิบัติ มันเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะกิเลสมันอยู่ในหัวใจของเรา เราเป็นปุถุชน เราก็ใคร่ครวญสิ่งนี้ สิ่งนี้มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิไง
ครูบาอาจารย์ที่รู้ถึงว่า ถ้าปัญญาอบรมสมาธิคือมันสงบ ความรู้สึกของโลก มันสงบความรู้สึกที่เป็นสากลนั้น สิ่งที่เป็นสากลนั้นก็ยึด ยึดสิ่งนี้เป็นสากล สิ่งที่เป็นสากลก็เทียบเคียงได้ มันต้องเป็นผล ให้ผลกับเรา แล้วก็เรียกร้องผลนะ เวลาเราเข้าใจสภาวธรรมความเป็นจริง เราท่องพระไตรปิฎกได้เต็มตู้เลย ตู้นี้เราท่องได้หมด
พระสมัยพุทธกาลท่องจำกันมา ท่องจำได้หมด โปฐิละ โปฐิละ ที่ว่าใบลานเปล่า ใบลานเปล่า นี่สอนได้ทั้งหมด แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาได้หรอก ถ้าเราท่องจำมา มันเป็นการท่องจำมานี้ มันเป็นปัญญาโลกเพราะมันเป็นสากล สิ่งที่เป็นสากล ถ้าเราปล่อยวางเป็นสากล ใครเป็นผู้ที่ไปรู้ความเป็นสากลนั้น ใจดวงนี้เป็นผู้ที่ไปรู้สากลนั้น พอปล่อยอย่างนี้ขึ้นมา ตรงนี้ต่างหากถึงบอกว่า เราเป็นมนุษย์ เราเป็นปุถุชน ถึงเป็นพระสงฆ์ก็เป็นปุถุชน เป็นสมมุติสงฆ์
ถ้าเราใช้ปัญญาเข้ามา มันถูกในปัญญาอย่างนั้น แล้วเราปล่อยวางเข้ามา เราพยายามตั้งสติไว้ มันจะเกิดเป็นกัลยาณปุถุชน ถึงที่สุดของการใคร่ครวญอย่างนั้นจะเป็นกัลยาณปุถุชน ถ้าเรายกกาย เวทนา จิต ธรรม ขึ้นมาจากภายใน จากสิ่งที่เห็นภายใน เราแยกแยะจากภายใน นี้คือปัญญาไง ศีล สมาธิ ปัญญา คือปัญญาอันนี้!
ถ้าปัญญาอันนี้เกิดขึ้นมาแล้ว ถึงจะเกิดเป็นบุคคลที่ ๑ ในสังฆะ ในบุคคลที่เราจะยกขึ้น เราจะพิจารณาไป ถ้าสงฆ์ที่เกิดขึ้นมามีเหตุ มีผล ถ้าวิปัสสนาไป กิเลส.. กิเลสอย่างหยาบในหัวใจมันก็เสี้ยมสอน วิปัสสนาไปรอบหนึ่ง ความเข้าใจไปรอบหนึ่ง มีความเข้าใจสิ่งนั้นว่า สิ่งนี้เป็นธรรม แล้วก็มีความนอนใจ สุขเอาเผากิน เข้าใจว่าอันนี้เป็นผล
ความสุขเอาเผากิน มันเป็นเรื่องของกิเลส ในเมื่อมันปล่อยวางหนหนึ่ง ความปล่อยวางมันก็ไปเห็นสภาวะ มันเป็นความสุขมากนะ เวลาพิจารณากายขึ้นมา เวลามันปล่อยวางจะเวิ้งว้าง ว่างมากเลย สิ่งที่ว่างมาก ว่างขนาดไหนก็แล้วแต่ กิเลสมันเริ่มสงบตัวลงเท่านั้น กิเลสที่มันบังเงามันเห็นสภาวะอย่างนั้น ปัญญาเกิดขึ้นมามันกลัวธรรมไง กลัวความจริงของเรา กลัวความตั้งใจจริงของเรา กลัวสัจจะที่เราตั้งขึ้นมา แล้วมันปล่อยวาง แล้วถ้ากิเลสมันสวมมาว่าสิ่งนี้เป็นธรรมขึ้นมา แล้วเราไม่ทำต่อไป นี่มันจะเสื่อมสภาวะไป นี่เป็นบุคคลที่ ๑
แต่ถ้าเป็นบุคคลที่ ๒ ถึงจะเป็นผลไง เหตุแล้วไปผล เหตุของโสดาปัตติมรรคกับโสดาปัตติผลนี้คือปัญญา ถ้าปัญญาญาณเกิดขึ้นมา นี้จะเป็นวิปัสสนา ถ้าวิปัสสนาอย่างนี้ถึงเป็นวิปัสสนาในความมุ่งหมายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะต้องการสร้างพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาถึงมีพร้อมแล้ว พระพุทธและพระธรรม
พระอัญญาโกณฑัญญะมีพื้นฐานของใจที่เป็นสัมมาสมาธิอยู่แล้ว เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ญาณํ อุทปาทิ ปญฺญา อุทปาทิ วิชฺชา อุทปาทิ อาโลโก อุทปาทิ นี่ความเห็นของใจ วิชชาเกิดขึ้น ปัญญาญาณเกิดขึ้น สิ่งนี้เกิดขึ้น เห็นความเกิดดับ ขันธ์ ๕ มันมีส่งต่อกันแล้วมันเกิดดับ
วิปัสสนากายก็เหมือนกัน ยิ่งถ้าเวทนา.. เวทนายิ่งเห็นภาพชัดเลย เพราะเวทนานี้มันเกิดขึ้นมา มันเป็นความยึดของใจทั้งหมด ธาตุ ๔ มันไม่มีรู้สิ่งใดไปกับเราหรอก มันจะเป็นสภาวะแบบนั้นโดยธรรมชาติของมัน เขาไม่ใช่มีชีวิตจิตใจ เขาเป็นธาตุเฉยๆ แต่เพราะเรามีหัวใจเกิดขึ้นมาแล้วรับรู้สิ่งนี้ขึ้นมา แล้วเราประคองขึ้นมา กายกับใจอยู่ด้วยกัน แต่เป็นเรื่องของโลกๆ ไง เวลาโลกๆ ว่า กระทบสิ่งใดก็รับรู้สิ่งนั้น รับรู้สิ่งนั้น เวลาลมพัดมาก็มีความเย็นขึ้นมา เรื่องของโลกๆ เป็นสภาวะแบบนั้น
โลกคือหมู่สัตว์ เราเกิดมาในโลก ใจนี้ก็เป็นโลก โลกก็เพราะยึดกับร่างกาย เพราะไม่มีศึกษาธรรมะ เวลาเราศึกษาธรรมะกันมา เราศึกษาธรรมเราว่าเราเข้าใจธรรม กายกับใจไม่ใช่เรา นี่กายเป็นเรา ใจเป็นเรา กายไม่ใช่เราก็ว่า.. นี่พูดแต่ปากไง นกแก้วนกขุนทองก็ท่องบ่นกันไป สภาวะแบบนั้น แล้วท่องบ่นท่องจนซึ้งใจมันก็ปล่อยวางได้เป็นบางครั้งบางคราว ปล่อยวางเข้ามาเป็นกัลยาณปุถุชน
แต่ถ้าเราวิปัสสนาเข้าไป เวทนาเพราะใจมันยึด ถ้าใจมันยึด วิปัสสนาไป ธาตุเป็นธาตุ ขันธ์เป็นขันธ์ แม้แต่ขันธ์ก็ไม่ใช่ใจ ใจยึดออกไปอย่างไรถึงไปจับต้องสิ่งนั้น พิจารณาธาตุ พิจารณากาย เวทนาก็ได้ กายก็ได้ มันจะปล่อย ปล่อยแล้วเราต้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่ตรงนี้ไง ปัญญาจะเกิดขึ้นขนาดไหน เราก็ซ้ำเข้าไป
เราจะให้เป็นไตรลักษณ์ สิ่งที่เป็นไตรลักษณะเราจะเห็น สิ่งใดเป็นอนิจจัง สรรพสิ่งนี้เป็นอนิจจัง สิ่งใดอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์.. ทุกขสัจ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งนี้เป็นอนัตตาเพราะใจมันยึด ถ้ามันปล่อยมันก็เป็นอนัตตา
แต่ในตัวสภาวะของมัน มันก็เกิดดับโดยธรรมชาติของมันเหมือนกัน สิ่งที่มันเป็นธรรมชาติ เราถึงต้องทรงไง เราถึงต้องสร้างเหตุไง เราถึงต้องพยายามสร้างเหตุ ถ้าวิปัสสนาไปแล้วปัญญาไม่ก้าวเดิน เราต้องกลับมาสัมมาสมาธิ ถ้าเรากำหนดพุทโธนะ มันจะมีพลังงานมาก
เราดูจิตเฉยๆ เราพิจารณาเฉยๆ เราพิจารณา มันก็ปล่อยวาง วางประสาเพราะเรามีสติ มันจะวางอย่างนั้น มันจะไม่มีกำลังมาก นี่ถึงว่า ปัญญาวิมุตติ ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิมันจะปล่อยวางมาอย่างนี้ ถ้าปล่อยวางมาอย่างนี้ เราก็พิจารณาโดยปัญญาออกไป ปัญญาวิมุตติ เห็นไหม
ถ้าเจโตวิมุตติ ถ้าเรากำหนด พุทโธๆ พุทโธนี่จะมีกำลังมาก ถ้ามีกำลังมากมันจะมีความลึกล้ำของใจลึกกว่ามาก สิ่งนี้ถ้าเรากำหนดพุทโธเพื่อสร้างพลังงาน ถ้าพลังงานตัวนี้เกิดขึ้นมา เราพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ข่ายของปัญญามันจะกางออกไป แล้วจะแยกแยะสิ่งนี้ตลอดไป แยกเห็นไหม แยกว่าเป็นงานไง
งานของเราวิปัสสนา ถึงว่าวิปัสสนาเกิดแล้ว เราต้องทำให้สมกับวิปัสสนาสิ สมถกรรมฐาน เราสร้างความสงบของใจให้เป็นพื้นฐาน เราอยากวิปัสสนามาก ถ้าเราไม่เจอสิ่งใด เวทนาเกิดขึ้นแน่นอนถ้าเรานั่งนาน จับสิ่งนี้ใคร่ครวญ ถ้าไม่ไหว เราก็กลับมาที่พุทโธ จับสิ่งนี้ วิปัสสนามันจะเกิดตรงนี้ ถ้าวิปัสสนาเกิดขึ้นมา ปัญญาของเราต้องใคร่ครวญไปตลอด ใคร่ครวญไป
ถ้าเวลามันถอย เวลางานของเรา ถ้ามันไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าสินค้าของเรา เราส่งไปไม่ถึงลูกค้า ลูกค้าไม่ได้รับสินค้า เขาจะยอมชำระค่าสินค้านั้นไหม ?
นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราไม่สามารถชำระกิเลสให้มันถึงที่สิ้นสุด เราไม่สามารถต้อนกิเลสให้จนมุม แล้วชำระมันด้วยสมุจเฉทปหาน การปล่อยวางเป็นการชั่วครั้งชั่วคราวนั้น ตทังคปหาน การประหารชั่วคราวมันฟื้นได้ เวลาวิปัสสนาไปมันปล่อยวางชั่วคราว.. ชั่วคราวเพราะมันไม่มีเหตุมีผล มันฟื้นนะ กิเลสมันฟื้นได้ ฟื้นแล้วมันจะมีความเข้มแข็งเพราะอะไร?
เพราะมันเคยแพ้เราไง ถ้ามันเคยแพ้เรา มันมีความผูกใจเจ็บนะ เวลามันเจ็บ มันมีกำลังขึ้นมา มันจะมีเล่ห์เหลี่ยมให้เราใคร่ครวญมันไม่ทัน สิ่งที่ไม่ทัน นี่ตรงนี้จะทำให้เราทุกข์ยาก เราถึงปล่อยวาง เพราะขณะนี้เราเดินโสดาปัตติมรรค สิ่งที่เดินโสดาปัตติมรรคมันมีพื้นฐาน ถ้าเราออกไปทำงานมันก็จะเป็นงาน เพราะเรายึดว่าใจขณะนี้เรายกขึ้นมาจากกัลยาณปุถุชน จนยกขึ้นเป็นโสดาปัตติมรรคเพราะมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม สิ่งนี้เป็นงาน
เหมือนกับเราเอาศัตรูมาวางไว้บนเขียง ถ้าเราสับเมื่อไรมันก็ตาย นี่ก็เหมือนกัน สิ่งนี้มันนอนอยู่บนเขียงแล้ว เราถึงกลับมาทำความสงบของใจ ใจเย็นๆ กลับมาทำความสงบของใจแล้วออกวิปัสสนาใหม่ พอวิปัสสนาไปมันก็อยู่บนเขียงนั้น เพราะอะไร เพราะเราจับของเรา เราได้แล้ว เราขุดคุ้ยหากิเลสเจอ เราวิปัสสนาไปขนาดไหน มันก็เป็นการใคร่ครวญกัน
ใคร่ครวญถึงที่สุด กาย เวทนา จิต ธรรม แยกแยะบ่อยครั้งเข้ามันจะปล่อย.. ปล่อยขนาดไหน มันจะว่างขนาดไหนก็ซ้ำ ซ้ำจนถึงที่สุดไง เวลามันขาดนะ สมุจเฉทปหาน กายแยกออกไป จิตแยกออกไป ทุกข์แยกออกไป รวมลงเป็นความสุขมาก รวมลงจิตสงบมาก เวิ้งว้างไปหมดเลย มันรู้ขึ้นมาไง ถึงว่าจิตนี้เป็นนามธรรมแล้วจับต้องไม่ได้ แล้วใครเป็นคนรับรู้ผลอันนี้
จิตนี้พ้นออกมาจากอริยสัจ จิตเรานี่กลั่นออกมาจากอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เวลาเกิดขึ้น เกิดขึ้นพร้อมกัน พรึ่บเดียว กลั่นออกมาจากอริยสัจ.. ปล่อยวางออกมา นี่มรรคอันละเอียด
ถ้าเรามีมรรคอันละเอียด มรรคสิ่งนี้มันถึงจะทำให้เราขึ้นมาพ้นจาก.. เราปอกเปลือก เปลือกของขันธ์ออกไปจากใจ กิเลสสมมุติอย่างหยาบตายไป กิเลสอย่างหยาบตายไป เรื่องของโลกนะ สมมุติเห็นไหม สิ่งที่ว่าเป็นสากลๆ มันเป็นเรื่องหยาบๆ เพราะมันเป็นเรื่องของโลก
สิ่งที่เป็นอริยทรัพย์จากภายในนี่เกิดจากธรรม เกิดจากมรรคอันละเอียด ถ้ามรรคอันละเอียดมันฝึกฟอกซักฟอกจิต จนจิตเข้าใจตามความเป็นจริง เกิดความสมุจเฉทปหานออกไปจากใจ สิ่งนี้พ้นออกไป แล้วก้าวเดินไป สมมุติอันละเอียดมันก็จะหลอกลวงเรา ถ้ามันหลอกลวงเรา การทำของเรา มรรคมันจะละเอียดขึ้นไป มรรคจะละเอียดเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไปนะ
สิ่งนี้ที่ว่าเวลาเราไปหาหมอ เราบอกอาการของโรคนี่หมอจะวินิจฉัยได้ แต่ถ้าลึกเข้าไปล่ะ เวลาลึกขึ้นไป เราบอกอาการของหมอ หมอก็วินิจฉัยไม่ได้เพราะอะไร เพราะมันเป็นเรื่องของโลกที่ว่ามันเป็นเชื้อโรค จะวิเคราะห์เชื้อโรคอย่างไร ?
นี้ก็เหมือนกัน เราทำความสงบของใจ ถ้าจิตมันละเอียดขึ้นไป มันจะเข้าไปกระทบ สิ่งนี้เป็นกายอันละเอียด เป็นขันธ์อันละเอียด พิจารณาสิ่งนี้ ถ้าพิจารณาสิ่งนี้ แยกแยะออกไป ปัญญามีขนาดไหน เราต้องพยายามค้นคว้า เราจะค้นคว้าสิ่งนี้เข้าไป จับต้องสิ่งนี้แล้วแยกออกไป สิ่งที่มันเป็นงานอันละเอียดมันจะลึกลับซับซ้อนมาก ความลึกลับซับซ้อนของกิเลสในหัวใจนะ เรื่องของความทิฏฐิมานะ ความยึดมั่นถือมั่น.. เราเห็นนะ
เวลาพูดถึงเรื่องทางโลก เด็ก.. เวลามันเข้าใจผิดสิ่งใด มันจะยึดมั่นของมัน ถ้ามันไม่พอใจสิ่งใด มันมีความฝังใจสิ่งใดขึ้นมา สิ่งนั้นจะฝังใจเข้าไปตลอดเลย แล้วเราจะแก้สิ่งนั้น มันจะแก้ได้ขนาดไหน ความรู้สึกของใจที่มันฝังใจ สิ่งที่ว่าฝังใจยังเป็นขนาดนั้น แล้วกิเลสมันฝังใจมากี่ภพกี่ชาติ ความลึกลับของมัน มันกี่ภพกี่ชาติมันฝังมาขนาดนั้น แล้วเราจะทำลูบๆ คลำๆ แล้วจะให้มันสำเร็จ ให้มันปล่อยวางๆ ไป เราจะเอาผลมาจากไหน..
นั้นเป็นความคิดไง เป็นความคิด เป็นความยึดมั่นถือมั่น เป็นความมั่นหมาย ใจนี้มั่นหมายว่าเราทำต่อไปขนาดนั้นจะเป็นอย่างนั้น.. แต่ถ้าเราตั้งสัจจะ ! เราตั้งสัจจะว่าเราจะต้องประพฤติปฏิบัติ เราจะต้องใคร่ครวญของเราขึ้นมา เพราะเรามีพื้นฐานของใจ เพราะมันสมุจเฉทปหาน ปอกเปลือกของใจออกไปแล้ว มันจะเห็นสิ่งที่เป็นความละเอียดเข้าไปในหัวใจ พยายามค้นคว้าสิ่งนั้น ความสงบของใจทำขึ้นไปตลอด
บุคคลที่ ๓ สกิทาคามิมรรค มรรคอันละเอียดขึ้นไป มันจะละเอียดขึ้นไป เราจะต้องทำความสงบของใจเข้ามา สร้างสิ่งนี้ให้มันสงบเข้ามา ให้มันมีพื้นฐานขึ้นมา แล้วจะย้อนกลับเข้ามาจับ กาย เวทนา จิต ธรรม นี้วิปัสสนา วิปัสสนาแยกมันออกให้ได้ สิ่งนี้ถ้าแยกออกได้ กิเลสมันปิดบังนะว่า เราปล่อยวางมาแล้ว อันนั้นมันไม่มี มันไม่มี มันชนเราซึ่งๆ หน้านะ
ถ้าเราจับสิ่งนี้ สิ่งที่เป็นกิเลสอาศัยอยู่ กิเลสอาศัยธาตุขันธ์เป็นที่อยู่อาศัย สิ่งนี้ยังเป็นขันธ์อันละเอียด มันอาศัยสิ่งนี้อยู่ แล้วออกมายึดมันก็ยึด เพราะถ้ากิเลสมันละเอียด มรรคเราละเอียดขึ้นมามันก็ทันกัน ถ้ากิเลสมันละเอียด มรรคเราไม่ละเอียดขึ้นมา เราจะแพ้ !
เราจะแพ้โดนกิเลสหลอก แล้วเราจะหัวหมุนนะ หมุนออกมานะ สิ่งนี้คืออะไร ? เปรียบเทียบออกมา ความรู้สึกอันนี้มันเป็นอย่างนี้ มันเป็นผลดีหรือผลเสียกับเรา นี่มันจะหมุนงงไง ทำผิดทำถูก การพิสูจน์ของเรา นี่ปัจจัตตัง การที่เราจะค้นคว้าเรื่องของหัวใจ
สัตว์ถ้าเราปล่อย.. สัตว์น้ำอยู่ในแม่น้ำ เราจะค้นคว้าหามันยาก ถ้าสัตว์ที่มันเลี้ยงในกระชัง ปลาเลี้ยงในกระชัง เราจะจับมันง่าย นี้ก็เหมือนกัน สิ่งที่อยู่ในหัวใจ เพียงแต่เราไม่เข้าใจ เราว่ามันเป็นนามธรรม เรามองมันไม่เห็น แล้วเราจับต้องไม่ได้ ถ้าเราจับต้องสิ่งนี้ได้ แล้วเราแยกออกไป มันจะแยกสิ่งนี้ แยกออกไปว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกระทบกับใจ มันเกิดขึ้นมาแล้วมันให้ผลอย่างไร
ถ้าปัญญาเราทัน เราจับสิ่งนี้ เราก็แยกออก ถ้าพิจารณาไปมันจะปล่อยบ่อยครั้ง ถ้าพิจารณากายนะ บ่อยครั้งๆ จนถึงเห็นสภาวะมันคืนตัวนะ ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ มันคืนของมันแล้วมันสลายไป มันไม่มีอะไร สิ่งนี้ไม่มีอะไร ถ้าจิตเห็นบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า
เหมือนกัน เราเจอสภาวะแบบไหน เราตั้งกายสภาวะแบบไหนก็ได้ จะเป็นกาย เป็นกะโหลก เป็นสิ่งต่างๆ เป็นเนื้อเป็นหนัง เราพิจารณาได้ทั้งหมด เพราะมันต้องเป็นดินเหมือนกันทั้งหมด สิ่งนี้มันเป็นธรรมชาติของมัน พิจารณาสิ่งนี้เข้าไปมันถึงมันปล่อยๆ
มันก็ปล่อย ! ปล่อยก็ซ้ำ! เพราะความเคยผิดพลาดมันมีซ้ำ ซ้ำมันก็สร้างอาการนะ ถ้ากิเลสบังเงานี่ ว่างแล้ว รู้แล้วตามความเป็นจริง มันจะคิดสภาวะแบบนั้น อุปาทานในกายนั้นยังมีอยู่ พิจารณาเข้าไปจนถึงที่สุดมันจะขาดนะ! สิ่งที่ขาด กายกับจิตแยกโดยธรรมชาติของมัน เวิ้งว้างมาก สิ่งที่เวิ้งว้าง มันปล่อยออกไปเลย เป็นเรื่องของสภาวธรรม ติดได้ในความสุขอันนี้ สิ่งนี้ติดได้
แต่ในเมื่อธรรมและวินัยนี้เป็นสิ่งที่เป็นสากล สิ่งที่เป็นสากลให้เราศึกษาอยู่แล้ว เราก็ศึกษา มรรค ๔ ผล ๔ ถ้าเหตุผลมันไม่มีสิ่งใด เราก็จะก้าวเดินได้ เราพยายามค้นคว้าไง นี่ยกขึ้นนะ มันจะมืดตื้อเลย เพราะอะไร เพราะสิ่งที่ว่ามันเป็นโลกภายในไง มันต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ใช่ไหม เวลาเชื้อโรคขึ้นมาในหัวใจ เราต้องเพาะเชื้อ เราต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องเราถึงเห็น
มรรคละเอียดก็เหมือนกัน สิ่งที่มันจะเป็นอนาคามิมรรค เข้าไปจับสิ่งที่เป็นกามราคะ มันต้องมีความละเอียดอ่อน ความลึกลับความละเอียดอ่อนของมัน ถึงบอกว่ามันเป็นสภาวธรรมไง มรรค ๔ ผล ๔ นี้เกิดขึ้นมาจากหัวใจของเรา สิ่งนี้เกิดขึ้นจากในวงปฏิบัติเรา
ถ้าครูบาอาจารย์ประพฤติปฏิบัติมาแล้วสิ่งนี้ยืนได้ เราประพฤติปฏิบัติตามขึ้นไป เราจะมีครูบาอาจารย์คอยชี้นำไง ถ้าคอยชี้นำอย่างนี้ เราก็มีกำลังใจ กำลังใจเกิดขึ้นมา ถ้าไม่มีกำลังใจ ท้อถอยอ่อนแอนะ ท้อแท้อ่อนแอ ท้อถอยตลอดไป มันจะก้าวเดินไปไม่ได้ ทำงานก็สักแต่ว่างาน ผู้ที่ออก เห็นไหม นักกีฬา เวลาเขาออกแข่งขัน ถ้าใจไม่สู้ แพ้ตั้งแต่เริ่มต้นเลย
นี้ก็เหมือนกัน ถ้าใจเราไม่สู้ ใจเราไม่มีกำลังใจ เราจะไปอะไร ? เดินจงกรมก็สักแต่ว่า สติก็ไม่มีเลย เดินจงกรมนะ เราเป็นพระ เราเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เราจะต้องเดินจงกรม เราก็เดินจงกรมของเราขึ้นไปให้มันหมดเวลาไปถึงว่าเราทำแล้วๆ แต่สติสัมปชัญญะไปอยู่ที่ไหน ? กำลังใจเราต้องเกิดขึ้น เราต้องสร้างกำลังใจของเราขึ้นมา ปัญญามันจะหมุนออกหลอก
โลกนี้เขามีอยู่กันความสุข คนเกิดมาแล้วเสวยมีความสุขของเขาเป็นโลกเขา เขาก็อยู่ได้ ทำไมเราต้องทุกข์ต้องยาก
ต้องทุกข์ต้องยาก! ทุกข์ยากเพื่อจะชำระกิเลส! เพราะกิเลสมันอยู่กับใจของเรา ถ้าเรามีความสุขแบบโลกเขา เราจะเพลิดเพลินไปกับโลกเขา ความเพลินนั้นเป็นเรื่องของกิเลสนะ ผัดวันประกันพรุ่ง เพลินกับชีวิตไป.. นี่ชีวิตนี้ไร้ค่า
เรามองแล้วเปรียบเทียบขึ้นมาสิ เหมือนสัตว์ตัวหนึ่ง สัตว์เกิดขึ้นมา มันก็อยู่ไปวันๆ หนึ่งของมัน เพราะมันจะทำคุณงามความดีได้ก็ขนาดนั้นล่ะ แล้วเราเกิดเป็นมนุษย์ เราพบพระพุทธศาสนา เราเป็นคนที่ประพฤติปฏิบัติ
ปัญญามันต้องมีอย่างนี้สิ! ถ้าปัญญาอย่างนี้เกิดขึ้นมา มันจะเกิดกำลังใจไง ถ้าเกิดกำลังใจ มันก็มีมุมานะ ความมุมานะจะเกิดขึ้น มรรคละเอียดเกิดขึ้น
เราต้องสร้างกล้องขึ้นมา มีกล้องขึ้นมาคือมีสัมมาสมาธิ มีสัมมาสมาธิแล้วพยายามส่องดูไงถ้าเราจับได้ วิปัสสนาที่ว่าวิปัสสนาที่เขาทำกัน ที่เขาว่าวิปัสสนาสภาวะของโลกเป็นสภาวะแบบนี้ แต่วิปัสสนามันเป็นสิ่งที่ว่าหยาบ กลาง ละเอียด ละเอียดสุด มันเป็นวิปัสสนาที่ลึกลับมาก การจะชำระกามราคะ มรรคอันละเอียดจะเกิดขึ้นมา เราต้องสร้างสม สิ่งนี้ถ้าเราสร้างส่วนประกอบขึ้นมา ส่วนอุปกรณ์สิ่งต่างๆ ขึ้นมาไม่ได้ เราจะเอาอะไรไปทำงาน ?
สิ่งที่เป็นสัมมาสมาธิที่ลึกมาก เป็นมหาสติ-มหาปัญญา สติ สมาธิ ปัญญา เรายังสร้างไม่ได้เลย แล้วมันเป็นมหาสติ-มหาปัญญาได้อย่างไร ? สิ่งที่จะเป็นมหาสติ-มหาปัญญามันก็เกิดขึ้นมา คนจะมั่งมี คนเศรษฐี เขาจะเกิดมาจากไหน ? เขาจะเป็นเศรษฐีโดยเขาเป็นเศรษฐีโดยโอปปาติกะหรือ ?
โอปปาติกะคือเกิดแล้วเป็นเดี๋ยวนั้นไง โอปปาติกะเกิดขึ้นพร้อมเดี๋ยวนั้นไง เขาต้องสร้างสมของเขาขึ้นมา เขานับจากหนึ่งขึ้นมา ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาจนเป็นเศรษฐีไง
นี้ก็เหมือนกัน เราสร้างใจของเราเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา จากสิ่งที่ว่าเป็นกัลยาณปุถุชนขึ้นมา เป็นจากเดินมรรคอันละเอียดเข้าไปเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป นี่มันสร้างสถานะขึ้นมาจนถึงที่สุดมันก็เป็นมหาสติ-มหาปัญญา เพราะใจมันเป็นแบบนั้น ใจเราสร้างสมขึ้นไป มันจะเป็นแบบนั้น สูงขึ้นไปๆ สูงขึ้นไปจนสามารถเป็นที่พึ่งของผู้ที่ต่ำกว่าได้นะ คนที่สูงกว่าสามารถจูงคนที่ต่ำกว่าขึ้นมาให้สูงได้ เราก็ต้องจูงใจเราขึ้นไปสิ
ขณะนี้กิเลสมันปิดบังใจ กิเลสมันไม่ให้ใจเห็นสภาวะความเป็นจริงของมัน เราถึงยกขึ้นวิปัสสนาไม่ได้ไง คำว่าวิปัสสนา เรากำหนดว่านาม-รูปเป็นวิปัสสนาตลอดไป มันเป็นไปได้อย่างไร! ถ้าเราไม่เห็น กาย เวทนา จิต ธรรม อันละเอียดมันยังไม่เป็นงานเลย เพราะงานไม่ชอบ
ถ้าเราทำความสงบของใจ.. มหาสติ มหาปัญญาเกิดขึ้น มันก็เป็นสิ่งที่ว่าสร้างกล้องขึ้นมา ถ้าเราสร้างกล้องขึ้นมาแล้วเราจับ เราค้นคว้าหาเชื้อโรค เชื้อโรคเราส่องกล้องเห็นเชื้อโรค เห็นเชื้อโรคมันก็เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมอันละเอียด สิ่งที่เป็นละเอียด มันจะเป็นอสุภะไง สิ่งที่เป็นอสุภะ มันเป็นสภาวธรรม มี.. ถึงเป็นอสุภะ
ถ้าสภาวธรรมมันไม่มี สัมมาสมาธิมันไม่มี มันเป็นสุภะแน่นอน มันเป็นความพอใจของใจ ใจมันพอใจสิ่งนี้ ใครจะเกลียดตนเอง ? ไม่มีใครเกลียดตนเองเลย ตนเองนี่ทุกคนต้องรักตนเอง สงวนตนเองทั้งหมดเลย สิ่งที่รักสงวนขึ้นมา มันเกิดขึ้นเมื่อไร ? ถ้าเรารักเราสงวนเรา เราก็รักเราสงวนเราเพื่อกระทบกับสิ่งภายนอก
นี่ถ้ามันมีกามราคะ กามรา คะมันก็อยากเห็นไหม มีมานะ มีทิฏฐิอันใหญ่โตมาก อยากจะอยู่บนหัวคน อยากจะให้คนยอมรับนับถือ
ตัวเองยังยอมรับนับถือตัวเองไม่ได้! ตัวเองยังไม่เห็นสภาวะตามความเป็นจริงของตัวเอง! แล้วจะให้ใครไปนับถือ!
ในเมื่อเราเห็นโทษไง ถ้าเราเห็นโทษ เราเห็นความผิดของเรา เราจับได้ นี้คือวิปัสสนาไง ถ้าเกิดการวิปัสสนา เราเห็นโทษ เห็นความผิดพลาดของเรา เราต้องแก้ไขเราก่อน เราเท่านั้นนะ สิ่งที่เป็นปัจจัตตังในหัวใจ เราปัจจัตตัง เราเห็นความผิดพลาด เราต้องแก้ไข ปัจจัตตังในทางความผิดนี้คือกิเลส กิเลสมันเกิดขึ้นมา เราต้องชำระมัน
สิ่งที่เกิดมีพื้นฐาน มันจะเห็นเป็นอสุภะ เราก็พิจาณาเป็นอสุภะ เพราะมันติดเรา มีความผิดพลาดอันนี้ มันถึงไปเกาะเกี่ยวกับสังคมโลก เกาะเกี่ยวกับวัฏฏะ เกาะเกี่ยวกับความเป็นไป สิ่งนี้เป็นภวาสวะที่ภพของใจที่มารับรู้สิ่งนี้ แล้วมันก็สืบต่อออกไป ยึดมั่นถือมั่น เข้ากันได้กับความเป็นสมมุติทั้งหมด
สมมุติอันละเอียดมันยังเป็นสมมุติอยู่ มันก็เข้ากันได้ สิ่งที่เข้ากันได้ มันก็หมุนไปตามวัฏฏะ ทั้งนอกทั้งใน ไปกันโดยสภาวะกิเลส จูงกันไปทั้งภายนอกภายในจะเป็นสภาวะแบบนั้น แล้วเราย้อนกลับเข้ามาเห็นสภาวะภายในด้วยมรรคอันละเอียด แล้วเราส่องกล้องวิเคราะห์วิจัยของเรา นี้คือปัญญา
สิ่งที่เป็นอสุภะ เราเป็นธรรม มันก็เป็นอสุภะ สิ่งที่เป็นอสุภะ เพราะสภาวธรรมที่มันเกิดขึ้น เห็นอสุภะเป็นสิ่งที่ว่าน่ารังเกียจ สิ่งที่เป็นสิ่งสกปรกโสมมโสโครก เพราะมันเป็นสิ่งโสโครกโดยธรรมชาติของมัน มันโสโครกทั้งกายกับใจ ใจนี้เป็นกามราคะ กายนี้เป็นอสุภะ สิ่งนี้มันเป็นธรรมชาติของมัน เพราะสภาวธรรม
เรามีกล้อง เรามีปัญญา ปัญญาอันละเอียดใคร่ครวญออกไป เห็นสภาวะแยกออก สิ่งนี้แยกออก มันแปรสภาพไป มันแปรสภาพของมันจนเห็นความอสุภะเป็นน่ารังเกียจสิ่งต่างๆ มันก็ต้องปล่อย ปล่อยเพราะกำลังเรามีไง กำลังเรามี มันจะปล่อยสภาวะแบบนี้ ถ้ากำลังเราไม่มี มันปล่อยไม่ได้ มันติดพันไป
กำลังไม่พอ.. ทิ้ง ! วางเลย แล้วกลับมาพุทโธ กลับมาใช้พุทโธๆๆ พุทโธตลอด สร้างกำลังขึ้นมา มันต้องสมดุลไง
ความดำริชอบ ความเพียรชอบ การงานชอบ สัมมาสติ เห็นไหม สัมมาสติเป็นมหาสติด้วย นี่สัมมาสมาธิ กำลังมันต้องเหนือกว่า เป็นบุคคลที่ ๗ นะ จะพยายามผ่านเป็นบุคคลที่ ๘ ออกไปนะ เป็นสิ่งต่างๆ เป็นบุคคลที่ ๕ ที่ ๖ นี่สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่เราพิจารณาไป
วิปัสสนา.. สิ่งที่เป็นวิปัสสนา มันยังเป็นขั้นเป็นตอน สิ่งที่เป็นความละเอียด ละเอียดมากแล้วใคร่ครวญมาก ทำไป พิจารณาไป มีกำลังใจของเรา แล้วก้าวเดินสิ่งต่างๆ พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันจะปล่อยวางขนาดไหน ก็ซ้ำอยู่อย่างนั้น ถึงที่สุด มันสะเทือนหัวใจนะ
ถ้าเป็นอสุภะ มันจะกลืนเข้ามาที่จิต แล้วปล่อยวางกัน ถ้าเป็นขันธ์นะ ขันธ์กับจิต ที่ว่าขันธ์ๆ เราคิดว่าสักกายทิฏฐิ ความเห็นขันธ์ ๕ ปล่อยขันธ์ ๕ แล้วจะหมดกันไป ขันธ์อันหยาบ ขันธ์อันกลาง ขันธ์อันละเอียด ขันธ์อันละเอียดมาก สัญญาอันซับอยู่ในหัวใจ
ปฏิฆะ เพราะความสัญญาฝังใจ สิ่งใดที่ผูกเจ็บ สิ่งใดที่เป็นกิเลส กิเลสอันละเอียดนี้มันเกิดกับใจ สิ่งนี้มันเป็นปฏิฆะ มันขัดข้องใจตลอดไป สิ่งที่เป็นปฏิฆะ พอใจและไม่พอใจ มันถึงเป็นกามราคะ สิ่งที่เป็นกามราคะ ถ้าเราตัดตรงนี้ออก สังโยชน์มันขาด นี่ปฏิฆะ กามราคะ ขาด ! ขาดตรงนี้ไง
สิ่งนี้ถ้ามันเป็นปฏิฆะ ความผูก สัญญาอันละเอียดของใจมันขาด พอขาด ขันธ์กับจิตขาดออกจากกัน สิ่งนี้เวิ้งว้างออกไป นี่สภาวะอันละเอียด สิ่งนี้ละเอียดมาก แล้วเราก็พยายามต่อสู้ พยายามค้นคว้าขึ้นไปเพื่อจะวิปัสสนาอันละเอียดเข้าไปอีก มันจะปล่อยวางๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนปล่อยวางจนเวิ้งว้างจนรวมหมดเลย จิตนี้เวิ้งว้างเป็นอำนาจของความรู้สึก รู้สึกเฉยๆ ความรู้สึกของใจว่างมาก สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ละเอียดสุด สิ่งที่ละเอียดสุดอยู่ที่หัวใจ
ถ้าเป็นสภาวธรรมนะ มันเป็นธรรมโดยวิมุตติ เป็นธรรมเป็นความสุขมาก
แต่สิ่งนี้มันมีการกวนใจ จะเป็นความว่างขนาดไหน มันก็มีภวาสวะ ตัวนี้คือตัวตอของจิต สิ่งที่เป็นตัวตอของจิตเพราะอะไร เพราะเรามีครูบาอาจารย์ไง ครูบาอาจารย์จะผ่าน รูปสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ เวทนายปิ นิพฺพินฺทติ ขันธ์ต่างๆ นี้มันเป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่าย ขันธ์ ๕ เป็นที่น่าเบื่อหน่าย ทิ้งขันธ์ ๕ ไง ใครเป็นคนทิ้งขันธ์ ๕ ใครเป็นคนทิ้ง ?
รูปสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ เวทนายปิ นิพฺพินฺทติ สญฺญายปิ นิพฺพินฺทติ สงฺขาเรสฺปิ นิพฺพินฺทติ วิญฺญาณสฺมึปิ นิพฺพินฺทติ ปล่อยวางขันธ์ ๕ มาทั้งหมด แล้วคนที่ปล่อยวางขันธ์ ๕ เข้ามาแล้ว มันเป็นเจ้าวัฏจักรไง เป็นเจ้าวัฏจักร
มโนวิญฺ?าเณปิ นิพฺพินฺทติ สิ่งที่เป็นมโน สิ่งที่เป็นความรู้สึก จะวิปัสสนาตัวนี้ตัววิปัสสนาเข้ามาตลอดเลย นี่ตัวของจิตที่ว่าควบคุมไม่ได้ มันวิปัสสนาเข้ามาตลอดจนมันละเอียด มันละเอียดมากมันปล่อยวางเขาหมด ปล่อยวางจากฝึกซ้อมมาปล่อยวางจนถึงที่สุดแล้ว มันจะเข้าไปเป็นตัวของมัน ถ้าเราเพลินอยู่นะ ถ้าเราไม่มีครู ไม่มีอาจารย์ ขนาดไหนก็แล้วแต่ มันต้องเข้าข้างตัวเอง
คำว่าสากลนะ อวิชชามันก็เป็นสากล เพราะทุกดวงใจมีอยู่ มันก็ต้องเข้าข้างตัวเอง สิ่งที่เป็นสากลนี้เป็นเรื่องของโลก โลกทั้งหมด ถึงสมมุติอันละเอียดสุดนี้มันก็เป็นเรื่องของโลก เพราะมันยังเกิดยังตาย สิ่งที่เรื่องของโลกคือวัฏฏะ คือพาเกิดพาตายนะ สิ่งนี้ถ้าเกิดถ้าตายไป ตายในชาติปัจจุบัน มันก็จะไปเกิดบนพรหมไง สิ่งที่จะเกิดบนพรหมเพราะอะไร เพราะมันมีตัวนี้
ถ้าเราทำลายตัวนี้ วิปัสสนาอันละเอียด มรรคอันละเอียด ละเอียดสุดตัวนี้มันจะเข้าจับตรงนี้ ถ้าย้อนกลับเข้าไป เรามีอำนาจวาสนา เราพยายามคิด พยายามดูใจของเรา พยายามดูความเศร้าหมอง ดูความผ่องใส สิ่งนี้จะกวนใจ ความอาลัยอาวรณ์ในหัวใจ เราจับสิ่งนี้แล้วพยายาม เราขุดคุ้ยค้นคว้าไง.. นี่บุคคลที่ ๗ แน่นอน
ถ้าบุคคลที่ ๗ สติสมบูรณ์มาก มรรคอันละเอียดจะสมบูรณ์มาก สิ่งที่สมบูรณ์ ถ้าเราใช้ปัญญา มันเป็นขันธ์ นี่ถึงเป็นอุทธัจจะไง.. อุทธัจจะคือการเคลื่อนไป กระเพื่อมไง ถ้าเราเคลื่อนไหว เห็นไหม
สิ่งที่ว่าเป็นเครื่องมือแพทย์ ที่ว่าวิเคราะห์โลกเข้ามา มันก็ยังเป็นเรื่องของโลกๆ สิ่งที่ว่ามันเป็นตัวมันเอง มันเป็นดีเอ็นเอ สิ่งนี้เป็นตัวภพชาติของใจนะ ไม่ใช่ดีเอ็นเอของเม็ดเลือดของร่างกายนะ มันเป็นเรื่องของใจที่มันเป็นสิ่งนี้สะสมมาไง พาเกิดพาตายมานี่กี่ภพกี่ชาติ เข้าไปเห็นอวิชชา ตัวจิตตัวพาเกิดพาตาย แล้วเราเข้าไปจับสิ่งที่ละเอียดหมด.. นี่เครื่องมืออันละเอียด ย้อนกลับเข้าไปจับสิ่งนี้ได้ จะเป็นการตื่นเต้นมากนะ
การขุดคุ้ยการค้นคว้า จากการเริ่มต้นวิปัสสนา กาย เวทนา จิต ธรรม ถ้าจับสิ่งใดได้ มันจะสะเทือนหัวใจไปตลอดๆ มันจะสะเทือนมาก เห็นกายครั้งแรกๆ จะขนพองสยองเกล้าเลย เพราะอะไร
เพราะถ้าเห็นสติปัฏฐาน ๔ ก็เท่ากับเห็นกิเลสด้วย เพราะกิเลสมันอยู่ในนั้น แล้วนี่ตัวเป็นเจ้าวัฏจักร สิ่งนี้ถ้าจับได้นะ มันจะเกิดความลึกลับ มันจะเกิดความแปลกประหลาดมหัศจรรย์ สูงสุดของการประพฤติปฏิบัติ แล้วใช้ปัญญาอันละเอียดไง ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติ ไม่เจอครูบาอาจารย์ เราก็ใช้ปัญญาของเรา
มันเป็นกุกกุจจะ กุกกุจจะคือสิ่งที่เครื่องมือหยาบ เครื่องมือเราไม่ใช่เครื่องมือการตรวจดีเอ็นเอ เราจะไม่สามารถทำสิ่งนั้นได้ น้ำยาของเราสิ่งต่างๆ จะทำสิ่งนั้นไม่ได้
ถ้าเรามีวัตถุสิ่งนั้น เราถึงจับตรงนั้นได้ไง แล้วความละเอียดของมันเป็นปัญญาญาณ ญาณอันละเอียดเข้าไป ย้อนกลับเข้าไปทำลายสิ่งนั้นพลิกคว่ำไง นี้คือวิปัสสนาสูงสุดแล้วปล่อยวางสิ่งนี้ตามความเป็นจริง มันถึงเป็นสมบัติของใจดวงนั้นไง มันถึงเห็นความละเอียด
สิ่งที่เป็นละเอียดว่าจะต้องเป็นสิ่งที่เป็นสากล สิ่งที่เป็นสากล.. สากลของวัฏฏะ สากลของโลก แม้แต่เทวดา อินทร์ พรหมยังไม่รู้สิ่งนี้เลย เพราะสิ่งที่ว่าเขาเป็นขันธ์ เป็นความรู้สึกอันนั้น นี่สากลของวัฏฏะจะเป็นแบบนั้น
แต่ถ้าเป็นสภาวธรรมของใจนะ ใจจะรู้ตามความเป็นจริงอันนี้นะ เป็นสากลของอริยทรัพย์อริยภูมิแต่ละชั้นแต่ละตอนขึ้นไป แต่วิธีการจะต่างกัน จะต่างกันเพราะอำนาจวาสนาอย่างหนึ่ง ต่างกันเพราะจริตนิสัย จริตนิสัยความตรง.. ตรงต่อการประพฤติปฏิบัติ กาย เวทนา จิต ธรรม แม้แต่ตรงต่อสายทางเดียวกันก็ยังสูงต่ำต่างกัน
เพราะอำนาจวาสนาต่างกัน ถึงต้องเป็นปัจจุบันไง สิ่งที่เป็นปัจจุบัน อกาลิโก ไม่มีกาลไม่มีเวลา กาลเวลาจะไม่สามารถปิดบังสิ่งนี้ได้เลย เพราะธรรมชาติของจิต ธรรมชาติของทุกข์ ธรรมชาติของอริยสัจจะมีอยู่ตลอดไป ความละเอียดอ่อนของใจดวงนี้มันถึงจะมีอยู่ไง
พูดถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอายุ ๘๐ ปี ท่านก็ต้องผ่านไป นิพพานไป นี่ถ้าเรามีครูมีอาจารย์อยู่ มันผ่านวัย ผ่านกาล ผ่านเวลามา สิ่งที่ผ่านกาลผ่านเวลามา ถึงที่สุด ๒,๐๐๐ กว่าปีนะ แต่ชีวิตของเรา ๑๐๐ ปี แล้วเราเกิดมาเจอครูบาอาจารย์นะ ถ้าครูบาอาจารย์ยังชี้นำได้.. ธรรมที่มี ธรรมที่สื่อความหมายได้กับธรรมในตู้พระไตรปิฎก ธรรมที่ไม่มีชีวิตไง เป็นสภาวะตามความเป็นจริง แล้วเราเอาสิ่งที่มีชีวิตด้วย มีกิเลสด้วยไปยึดสิ่งนั้น แล้วก็ตีค่าเป็นสากล เพราะเรามีกิเลสในใจแล้วเราก็ตีค่าเป็นสากลๆ อยู่
แต่ถ้าเรามีธรรมในหัวใจนะ.. กิเลสมันไม่มี เพราะเราทำลายอวิชชาทั้งหมดด้วยมรรคอย่างละเอียดสุดออกไปแล้ว สิ่งนี้ต่างหากถึงแสดงความละเอียดของใจ ถึงจะเห็นแง่มุมของกิเลสที่มันซับซ้อนไง มันต่างกันตรงที่ว่าเราเห็นแล้วเราตีความไปกับสิ่งที่ว่าธรรมะ
ธรรมและวินัยคือองค์ศาสดาของเรา ครูบาอาจารย์ที่มีธรรมในหัวใจนั้นก็เป็นครูบาอาจารย์ของเราที่สามารถจะชี้นำตรงนี้ได้ไง ชี้นำตามความเป็นที่มันมีเล่ห์เหลี่ยมของมัน แล้วมันจะต้องวิเคราะห์ไป
เหมือนกับเรามีหมอนะ กับเรามีตำราหมอให้เราค้นคว้ารักษาโรคเราเอง เราจะเป็นอย่างไร คนที่ศึกษาเป็นหมอ จบหมอมา เราบอกอาการของเรา เขาจะวิเคราะห์โรคได้ แล้วเขาจะรักษาได้ แต่ถ้าเราไม่ใช่หมอ เรามีตำราหมอ แล้วเราจะศึกษาวิชาการอย่างนั้น แล้วเพื่อจะรักษาโรคของเราเอง เราต้องใช้เวลาขนาดไหน ถึงต้องวางสิ่งนั้นไว้
เราเกิดมาเจอครูเจออาจารย์ ครูบาอาจารย์นี้เป็นหมอของเรา เป็นธรรมะที่มีชีวิตที่ยังเคลื่อนไหว ที่ยังสื่อความหมายกับเราได้ ธรรมเหมือนกัน เกิดขึ้นจากใจดวงหนึ่ง ใจดวงหนึ่งที่มีกิเลสปกคลุมอยู่นะ จะขนาดไหน กิเลสจะต้องทำให้สิ่งนี้คลาดเคลื่อนไปตลอด
แต่ถ้าครูบาอาจารย์ของเรามีธรรมในหัวใจสมบูรณ์ ธรรมในหัวใจนั้นจะเป็นคนเป็นผู้ชี้นำเรา เป็นคนชี้บอกในเรื่องของเล่ห์เหลี่ยมของกิเลสในหัวใจเรา เราถึงควรจะมีกำลังใจ การประพฤติปฏิบัติมากี่เดือน กี่วัน กี่ปีก็แล้วแต่ สิ่งนี้เป็นหน้าที่ของเรา หน้าที่การงานไง งานอันประเสริฐนะ งานเห็นไหม เวลาเขาไปทำงานกันที่อื่น ทำงานกันต่างประเทศ เขาได้ค่าตอบแทนมาก นั่นว่าสิ่งนั้นเป็นงานของเขา นั้นมันเป็นเรื่องของโลกๆ นะ
แต่งานของเรา เราสละออกไปจากโลกมาเป็นผู้นักปฏิบัติ เป็นพระ เป็นเณร เป็นผู้ปฏิบัติ นี่เราสละออกมา นี้เป็นงานอันละเอียดที่ไม่มีใครมองเห็น แล้วเราเห็นของเรา นี่จิตใจเราสูงส่ง จิตใจเราจะเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ แล้วจิตใจเราจะพ้นจากกิเลส เอวัง