ชิงมรรค
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “อยากให้หลวงพ่อชี้แนะครับ”
ส้มหล่น มีเปลือก มีเนื้อ ถ้ามองผลส้มทั้งหมดดูเหมือนเป็นหนึ่ง แต่จริงๆ มีเปลือก มีเนื้อประกอบกัน และทั้งสองก็คนละส่วนกัน แล้วถ้าอยากเห็นเนื้อโดยไม่ปอกเปลือกจะทำได้อย่างไรครับ ขอความเมตตาด้วย
ตอบ : เวลาคิด เราศึกษาไป เวลาศึกษา เมื่อวานมาเขาก็พูดอย่างนี้เหมือนกัน เขาบอกว่าฟังเว็บไซต์เรามา ๒ ปีแล้ว ที่มาเมื่อวาน แล้วเขาก็ไปทั่วมาเหมือนกัน แต่เขาบอกว่าเอาเว็บไซต์นี้เป็นตัวหลัก ตัวหลัก หมายความว่า เขาก็ยังได้มีจุดยืนไง ไม่ให้พระองค์ไหนชักนำไปทางที่ผิด
ทีนี้พอเขาศึกษา เขาศึกษาแล้ว แต่เขาไม่มีโอกาสได้คุยกับเรา เมื่อวานมาคุยแล้วนะ คุยแล้วมันเหมือนหญ้าปากคอก มันของพื้นๆ ของที่เราคาดไม่ถึง ถ้าของที่เราคาดไม่ถึง เราต้องทำความสงบของใจ ถ้าใจเราสงบแล้ว มันเห็นตามความเป็นจริงแล้ว คนที่เห็นตามความเป็นจริงมันไม่ถามใครหรอก คนที่ไม่เห็นตามความเป็นจริง ยิ่งเห็นยิ่งงง ถามแล้วถามอีกเลย แล้วยิ่งถามก็ยิ่งงง
นี่ก็งงเหมือนกัน ไอ้ที่ว่าส้ม เปลือกส้ม เวลาเราพยายามอธิบาย อย่างเช่นเปลือกส้มหรือมะพร้าวนี่เป็นบุคลาธิษฐาน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการเป็นบุคลาธิษฐาน ธรรมาธิษฐาน บุคลาธิษฐานคือพยายามจะสร้างรูปแบบมาให้พวกเราเห็นภาพได้ ธรรมาธิษฐานคือธรรมที่มันละเอียดลึกซึ้ง ฉะนั้น มันเป็นความจริง ความจริงของผู้รู้จริง นี่ไง ที่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกรู้จำเพาะตนๆ เอาออกมาให้ใครรู้ใครเห็นไม่ได้
แต่ถ้ารู้เห็นไม่ได้ เพราะว่ารู้จำเพาะตน แล้วรู้เห็นไม่ได้ก็พูดให้มันเหมือนกับครูบาอาจารย์ที่พูด ก็นึกว่าเรามีธรรมๆ แต่เป็นไปไม่ได้ เจ้าคุณจูม ธรรมเจดีย์ ท่านเป็นอุปัชฌาย์ เป็นเจ้าคณะภาค ฉะนั้น ท่านจบ ๓ หรือ ๖ ประโยคจำไม่ได้ ท่านเป็นนักวิชาการนะ แล้วท่านเป็นผู้ปกครองด้วย ฉะนั้น เวลาท่านต้องการให้ศาสนามั่นคง ท่านพูดเอง เจ้าคุณจูม หลวงตาเล่าบอกว่า ท่านพูดเอง บอกว่า “จริงๆ เราไม่อยากได้ตำแหน่งอะไรหรอก เราไม่อยากเป็นเจ้าคณะภาคหรอก แต่ที่เป็นอยู่นี้ก็เป็นเพื่อจะคุ้มครองกรรมฐานไม่ให้เขามารังแก ไม่ให้เขามารังแก”
คำว่า “รังแก” เห็นไหม รังแก หมายถึงว่า ถ้าใครไม่เห็นด้วย ใครไม่ชอบใจด้วยก็พยายามจะกีดกัน แต่ท่านอยู่เพื่อคุ้มครองดูแล คุ้มครองดูแลเพราะจิตใจท่านเป็นอย่างนั้น เวลาลูกศิษย์ลูกหา เพราะท่านเป็นอุปัชฌาย์ ท่านบวชให้ทั้งหมด ท่านถึงเอาลูกศิษย์ลูกหาของท่านมาคุยธรรมะกัน อย่างเช่นให้หลวงปู่ขาวมาคุยกับหลวงตา ให้หลวงปู่ฝั้นมาคุย ท่านเป็นคนจับให้คุยกันๆ
คำว่า “คุยกัน” ธมฺมสากจฺฉา คือตรวจสอบกันไง ตรวจสอบกันให้เป็นความจริงๆ ขึ้นมาไง ถ้ามันตรวจสอบกันมันเป็นความจริงขึ้นมามันก็เป็นความจริงขึ้นมา ถ้ามันตรวจสอบอย่างนั้น
บอกว่ารู้จำเพาะตนแล้วพูดไม่ได้ รู้จำเพาะตนแล้วคนอื่นรู้ไม่ได้ รู้จำเพาะตน ฉันจะรู้ของฉันคนเดียว ใครมาถามอะไรก็แถไปเรื่อย รู้จำเพาะตนๆ...ไอ้นั่นรู้จำเพาะตนอย่างนั้นมันมารน่ะ มันกิเลส
รู้จำเพาะตนแต่มันพูดได้ แล้วต้องพูดกับคนที่รู้ ถ้าไปพูดกับคนไม่รู้ มันก็รู้จำเพาะตน มันก็โม้นั่นน่ะ เพราะเขาไม่รู้กับเรา ใครไม่มีอาชีพอย่างใด ในวงการวิชาชีพเดียวกันเขาคุยกันเขาจะรู้ว่าวิชาชีพเขาใครมีกึ๋นและใครไม่มีกึ๋น ในทุกวิชาชีพ ถ้าวิชาชีพ ทุกคนมาคุยกันเองในวิชาชีพเดียวกันเขาจะรู้เลยว่าที่มาที่ไปเป็นอย่างไร นักปฏิบัติด้วยกันเขาจะรู้กัน ถ้าเขารู้กัน เขามีความเห็นเหมือนกัน อริยสัจมีหนึ่งเดียวๆ ไม่มีสองหรอก จะมีทางไหนก็แล้วแต่ วิชาชีพใดก็แล้วแต่ สุดท้ายเงินเดือน ใครเซ็นชื่อรับเงินเดือนหมดแหละ
นี่ก็เหมือนกัน สุดท้ายวิชาชีพใดก็แล้วแต่ ผลของมันคือ มรรคผลนิพพานไง ผลของมันเป็นความจริงไง ถ้าเป็นความจริงมันก็เป็นความจริง ทีนี้เป็นความจริง เรารู้ความจริงนั้นไม่ได้ แล้วพยายามจะรู้ให้ได้ นี่ชิงมรรคชิงผลไง อยากจะได้มรรคอยากจะได้ผล แต่มันไม่เป็นความจริง ถ้าไม่เป็นความจริงขึ้นมา
คำว่า “เปลือกส้ม” เปลือกส้มเราอธิบาย เวลาอธิบาย เวลาเป็นบุคลาธิษฐาน เราอธิบายถึงเปลือกส้ม เปลือกส้ม ถ้าเราปอกเปลือกส้มแล้ว ปอกเปลือกส้มจนสมุจเฉทปหานเป็นพระโสดาบัน ใยส้ม ใยส้มอยู่ข้างใน แล้วก็เปลือกชั้นใน แล้วก็เนื้อส้ม เราจะให้เห็นว่ามรรค ๔ ผล ๔
มะพร้าวก็เหมือนกัน เวลามะพร้าวเราบอกว่าเปลือกมะพร้าว กะลามะพร้าว เนื้อมะพร้าว น้ำมะพร้าว เพราะมันลงกันได้กับมรรค ๔ ผล ๔ ถ้ามรรค ๔ ผล ๔ ไอ้นี่มันอยู่ที่ว่าใครมีกึ๋น ใครมีกึ๋นแล้วเขาจะเอาบุคลาธิษฐาน เอาตัวอย่างขึ้นมาอ้าง เอาตัวอย่างขึ้นมาให้เป็นแบบอย่าง แล้วให้คนเห็นได้ว่าจิตของเราเป็นอย่างไร แต่จิตมันก็เป็นนามธรรมทั้งหมด นามธรรม โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล เห็นไหม มันสังโยชน์ ๓ มันขาดไปอย่างไร มันปอกเปลือกอย่างไร มันเข้ากันได้กับคนที่เขารู้เขาเห็นแล้วเขาอุปมาอุปไมยให้เราเข้าใจ ถ้าให้เราเข้าใจ เราก็อุปมาอุปไมยเพื่อให้เห็น แล้วถ้าการอุปมาอุปไมย อุปมาอุปไมยให้ใครฟัง
อุปมาให้ผู้ใหญ่ฟัง ผู้ใหญ่ก็เข้าใจได้ ทั้งเปลือกส้ม ทั้งส้ม หรือมะพร้าวมันก็รู้ได้ ไปอุปมาให้เด็กๆ มันฟังสิ บอกว่านี่เปลือกส้ม นี่ส้ม มันไปเอารูปพลาสติกมาบอกของหนูก็ส้ม มันมีพลาสติก เห็นไหม ปั้นรูปส้ม ของหนูก็ส้ม อ้าว! ลูกมะพร้าว ของหนูก็มะพร้าว มะพร้าวหนูกับมะพร้าวลุงไม่เหมือนกัน ของลุงมันหนักๆ ของหนูมันเบาๆ
นี่ก็เหมือนกัน จินตนาการ เรื่องเวลาอธิบายนี่นะ อธิบายจำเพาะไง ฉะนั้นบอกว่าเวลาเทศนาว่าการใครฟังเข้าใจได้ แต่พอลงบันไดไปแล้วลืม ลงบันไดไปจับต้นชนปลายไม่ถูกแล้ว แต่ถ้ายังอยู่กับผู้รู้จริง ผู้รู้จริงเขาประคองไว้อยู่ มันก็ได้ ถ้ามันได้มันก็เป็นความจริงขึ้นมา ถ้ามันไม่เป็นความจริงก็ไม่เป็นความจริง
ฉะนั้น เปลือกส้ม เนื้อส้ม มันอยู่ที่มุมมอง ชิงมรรคชิงผลไม่ได้หรอก มันต้องฝึกหัดให้เป็นความจริงขึ้นมา ถ้ามันฝึกหัดตามความเป็นจริงขึ้นมามันก็จะเป็นจริงขึ้นมา เห็นไหม นี่เขาบอกในเมื่อมันเป็นส้มกับเปลือกส้มมันก็เป็นอันเดียวกัน แล้วจะมองทะลุเข้าไปได้อย่างไร
ต้องไปหาที่เขาสร้าง พวกผู้กำกับที่เขาได้เหรียญทอง ต้องหาผู้กำกับนั่นน่ะ แล้วเขียนเรื่องเลย เขียนเรื่องเสร็จแล้วให้เขาสร้างหนัง พอสร้างหนังแล้วมันก็จะใช่ เนื้อส้ม เปลือกส้ม ยิ่งตอนนี้หนังการ์ตูนมันวาดเนาะ ให้เป็นอย่างนั้นเลย มันจะเอาทางวิชาการ เอาทางโลกมาเปรียบเทียบ พอเปรียบเทียบ ฉะนั้น คำว่า “เปรียบเทียบ” เวลาทำสมาธิ นี่ผลของสมาธิ ใครทำสมาธินะ ทำความสงบของใจ ๔๐ วิธีการ เขาทำอย่างนั้น ผลของสมาธิ สมาธิก็แค่นั้นน่ะ แค่สมาธิ
แต่เวลาขั้นของปัญญานะ หลวงตาท่านพูดประจำว่าขั้นของปัญญาไม่มีขอบเขต ปัญญาก็คือเรดาร์ เรดาร์มันจับ ดูสิ ดาวเทียมมันครอบคลุม มันจับได้หมดเลย มันดู ส่งเข้าไปในราชการลับ มันรู้ไปหมด มันต้องรู้ไง เพราะว่าคุณสมบัติของเขามันอยู่ที่ตรงนั้น นี่ขั้นของปัญญาต้องเป็นอย่างนั้น ไอ้นี่ขั้นของปัญญาจะให้คนติดโปรแกรมให้ หลวงพ่อยัดโปรแกรมใส่หัวให้ที เดี๋ยวจะเป็นพระอรหันต์ ยัดโปรแกรมเข้ามาเลย โปรแกรมเป็นอย่างไร มันไม่มีหรอก อย่าชิงมรรค ชิงมรรคชิงผลมันไม่มี
แต่ถ้ามันเป็นความจริง เวลาเราถามปัญหามา ปัญหาที่มันเป็นข้อความสงสัย เราก็ถามสิ่งนั้นมา ถ้าขั้นของปัญญานะ ก็อธิบายไป ฉะนั้น เวลาคนที่มีปัญญา เวลาพระสารีบุตร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนนะ สอนยาก เวลาพระโมคคัลลานะเป็นพระโสดาบันเพราะมาจากพระอัสสชิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนพระโมคคัลลานะ ๗ วันเป็นพระอรหันต์ไปเลย แต่พระสารีบุตรมีปัญญามาก แล้วมีปัญญามาก เวลาเทศนาว่าการ คนมีปัญญามันจะแบบว่าต่อต้าน คนมีปัญญาไม่ยอมเสียเชิง ไม่ยอมรับอะไรทั้งสิ้น ไม่ยอมรับอะไรทั้งสิ้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ เทศน์หลานของพระสารีบุตรแท้ๆ
“ไม่พอใจนั่น ไม่พอใจนี่”
“ถ้าเธอไม่พอใจสิ่งใดๆ เธอต้องไม่พอใจอารมณ์ความรู้สึกของเธอด้วย เพราะอารมณ์ความรู้สึกของเธอก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง”
อารมณ์ ถ้าคนมีปัญญาเขาจับได้ เขาจับอารมณ์ความรู้สึกอันนั้นได้เลย เขาจับมาพิจารณาได้ ถ้าเราไม่มีปัญญาใช่ไหม อารมณ์เรามันก็เป็นของเราใช่ไหม โกรธเราก็โกรธ เราก็ไปหมดใช่ไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนกลับเลย พอย้อนกลับ พระสารีบุตรอยู่ข้างหลัง ปิ๊ง! นั่นไง คนที่เขามีปัญญา คนที่เขามีปัญญานะ เวลาหลวงตาขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น ท่านบอกไปถามปัญหาหลวงปู่มั่นนะ หลวงปู่มั่นท่านล้มโต๊ะเลย ไปหาเอาเอง ไปหาเอาเอง
ยิ่งบอกไปมันยิ่งจินตนาการมากขึ้น ยิ่งบอกไปยิ่งยากขึ้น ยิ่งบอกไปยิ่งมีปัญหามากขึ้น ฉะนั้น สิ่งที่ว่าตอบปัญหาๆ ตอบไม่หมดหรอก ตอบหมดแล้วเดี๋ยวมันมีปัญหา
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าพูดจะบอกว่า แล้วจะทำอย่างไรล่ะ เปลือกส้มกับส้มจะมองทะลุไป
ก็แสงเลเซอร์ไง เอาแสงเลเซอร์ยิงเลย เดี๋ยวเอาส้มไปโรงพยาบาล เข้าอุโมงค์เลย ฉีดสีด้วย เอาส้มฉีดสีเลย แล้วเข้าอุโมงค์ อุโมงค์มันฉายเลย เดี๋ยวเอาฟิล์มมาดูว่ามันทะลุไปไหม มันคิดไปนู่นไง ถ้ามันคิดไปนู่นมันก็ออกไปนู่นน่ะ ถ้าคิดไปนู่นมันก็เป็นวิทยาศาสตร์ไง ในส้มมันก็มีเนื้อส้ม มีเปลือกส้ม แล้วมีเปลือก เราจะทะลุเปลือกเข้าไปได้อย่างไร ถ้าทะลุเปลือกเข้าไปได้ นี่ชิงมรรคชิงผล ชิงสุกก่อนห่าม ไม่มีพื้นฐานแล้วมันก็จะเอามรรคเอาผล เอามรรคเอาผลมันก็ไม่มีมรรคผลให้ตามความเป็นจริง
สิ่งที่ว่าเวลาเรียนมาเป็นปริยัติ ปริยัติเป็นทางวิชาการ วิชาการ หลวงตาท่านพูดบ่อย ต้องมีปริยัติถึงต้องมีปฏิบัติ แล้วต้องมีปฏิเวธ ปริยัติการศึกษามันก็ไม่เสียหายอะไรเพราะถ้าศึกษามาเพื่อปฏิบัติ ทีนี้ศึกษามาแล้วก็วางไง ที่หลวงตาไปหาหลวงปู่มั่น “มหา มหาก็เรียนถึงมหานะ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ประเสริฐมาก เคารพบูชายกไว้ ความรู้ที่เรียนมาใส่ลิ้นชักไว้ สมองที่มันเรียนมาใส่ลิ้นชักไว้แล้วลั่นกุญแจมันไว้อย่าให้มันออกมา”
นี่ก็เหมือนกัน เอาแต่ทางวิชาการมา เอาแต่สิ่งที่ศึกษามา แล้วก็เอามาถาม อย่าให้มันเอามา ใส่ลิ้นชักไว้ แล้วลั่นกุญแจมันไว้ด้วย แล้วมหาปฏิบัติไป ปฏิบัติไป ถ้าเป็นความจริงปั๊บ ถ้ามันถึงความจริงนะ ความจริงภาคปริยัติกับภาคปฏิบัติมันจะมาอันเดียวกันเลย ภาคปริยัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ภาคปริยัติทางวิชาการที่จริงนะ ปฏิบัติไปแล้วเป็นอย่างนั้นจริงๆ จริงๆ เลย อันเดียวกันเลย
แต่ถ้าเวลาภาคปริยัติมา เราศึกษามาทางวิชาการแล้วจะให้เป็นอย่างนั้น จะให้เป็นอย่างนั้นน่ะ นี่ไง ก็เอาส้มเข้าไปอุโมงค์เลย เอาเข้าอุโมงค์ เดี๋ยวพอเข้าอุโมงค์เสร็จ จบแล้วเดี๋ยวดูฟิล์ม ดูฟิล์มว่ามันจะเข้าได้ไหม ปริยัติเขาบอกไว้อย่างนั้นใช่ไหม ปริยัติต้องทำอย่างนั้นๆ เราก็จินตนาการไปเลย แล้วเป็นจริงเป็นอย่างไร
ศีล สมาธิ ปัญญา เราต้องทำเองขึ้นมา สติก็เป็นสติของเรา สมาธิก็เป็นสมาธิของเรา ปัญญาก็เป็นปัญญาของเรา เราเป็นคนทำเอง เราเป็นคนพิจารณาเอง แล้วเรารู้ของเราเอง มันจะสงสัยไปไหน ไอ้นี่ความจริงมันไม่มี แต่ชิงมรรค ก็อยากได้ก่อนไง “หลวงพ่อยัดโปรแกรมเข้ามาเลยในหัว หลวงพ่อยัดเข้ามาเลย”
ก็เอ็งก็เรียนมาแล้วกูจะไปยัดอะไรอีกล่ะ เรียนมาของพระพุทธเจ้าสุดยอดแล้ว เราจะมีอะไรไปยัดอีก ของพระพุทธเจ้ามันยอดอยู่แล้ว ยอดเยี่ยมอยู่แล้ว แต่ภาคปฏิบัติเอ็งยังไม่มีไง ถ้าเอ็งยังปฏิบัติขึ้นมาไม่ได้ มึงจะเอาอะไรขึ้นมาล่ะ แล้วจะเอาอย่างไร ในเมื่อส้มกับเปลือกส้มมันก็เป็นอันเดียวกัน เราจะทะลุเปลือกส้มเข้าไปได้อย่างไรล่ะ
ไอ้นั่นมันเป็นอุปมาอุปไมยของเราเอง คำว่า “อุปมาอุปไมย” มรรคผลมันอยู่ที่ใจ มรรคผลมันไม่ได้อยู่ที่ส้มหรอก มรรคผลมันก็ไม่ได้อยู่ที่ส้ม มันก็ไม่ได้อยู่ที่มะพร้าว มะพร้าวเป็นมรรคเป็นผลหรือ ส้มเป็นมรรคเป็นผลหรือ กินทุกวันน่ะ ไปดูตลาดส้มสิ ส้มนี่ปอกกินหมดแหละ มรรคผลกินเข้าท้องเลย ส้มเอามาคั้น แล้วพอคั้นเสร็จแล้วมันเหลืออะไรล่ะ ก็เหลือกากก็ทำอีเอ็มนั่นล่ะ แล้วเนื้อล่ะ น้ำก็ดื่มเข้าไปแล้วไง แล้วส้มไปไหนล่ะ
ที่พูดไปนั้นมันเป็นบุคลาธิษฐาน แล้วเราก็พิจารณาของเรา ถ้ามันเป็นความจริงได้มันก็เป็นความจริง ไอ้นี่ถามมาเลยนะ ในเมื่อเนื้อส้มกับเปลือกส้มมันก็ประกอบกัน มันเป็นคนละส่วนกัน แล้วเนื้อส้มกับเปลือกส้ม ทำอย่างไรมันถึงจะทะลุเข้าไป
ทะลุเข้าไปคือหวังมรรคหวังผลไง ทะลุเข้าไปมันก็ปอกทิ้งไง ถ้าปอกทิ้งมันปอกไม่ได้ ถ้าปอกไม่ได้มันก็คือไม่ได้
ครูบาอาจารย์ที่ฉลาด หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น หลวงตา หลวงปู่ฝั้น ครูบาอาจารย์ที่ฉลาดนะ มาถึงปั๊บ ท่านจะบอกเลยว่าวางให้หมดนะ แล้วพยายามทำความสงบ ถ้าจิตสงบแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา แล้วถ้าปัญญามันเกิดขึ้นมาจากจิตของใครนะ จิตดวงนั้นมันจะชำระล้าง ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นจริงท่านสอนตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงแล้วก็ฝึกหัดขึ้นมาตามความเป็นจริง แล้วมันก็อยู่ที่ความสามารถของจิตดวงนั้น ครูบาอาจารย์ที่ท่านทำความเป็นจริงมา ท่านรู้ว่าจริงมันทำมาอย่างใด แล้วควรจะเป็นอย่างใด
แต่ส่วนใหญ่แล้วในปัจจุบันนี้ไอ้พวกชิงสุกก่อนห่าม ชิงมรรคชิงผล มันคาดมันหมาย แล้วสังคมก็คุยกันเรื่องคาดเรื่องหมาย หมายมั่นกันไปว่าจะเป็นมรรคเป็นผลอย่างนั้น แล้วก็คุยกัน คุยกันเข้าใจกัน เข้าใจกันเพราะอะไร เพราะเป็นสมมุติ เป็นจริงของครูบาอาจารย์ เป็นจริงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นจริงของครูบาอาจารย์ของเรา แต่ในเมื่อครูบาอาจารย์ท่านเทศนาว่าการมาเพื่อหวังจะดึงพวกเราขึ้นไป แล้วเราก็ไปจำสิ่งนั้นมา แล้วก็มาคาดมาหมาย มาจินตนาการเป็นกลุ่มชนหนึ่ง แล้วก็ว่ากันไปอย่างนั้นน่ะ แล้วก็เชื่อกันไป แล้วก็ว่างๆ ว่างๆ
ว่างๆ อากาศมันก็ว่าง อากาศมันไม่ทุกข์ไม่ร้อนไปกับใครเลย จิตใจของเรามันทุกข์มันยาก พอมันตรึกในธรรมขึ้นมามันรู้เท่าแล้วมันปล่อยวาง ก็เท่านั้น ก็เท่านั้นจริงๆ นะ ก็เท่านั้นจริงๆ มันเป็นมิจฉา มิจฉาที่ไหนรู้ไหม มิจฉาที่ว่าเรือไม่มีหางเสือ เครื่องบินขึ้นไปแล้วควบคุมไม่ได้ มันไปไหน เครื่องบินน่ะ เครื่องบินขึ้นไปอวกาศแล้วควบคุมไม่ได้ มันโหม่งโลกนะ ตายหมดทั้งลำ
นี่ก็เหมือนกัน ปฏิบัติไปแล้วว่างๆ ว่างๆ เราฟังแล้ว โอ๋ย! น่าเบื่อ เบื่อมาก ฉะนั้น ว่างๆ ว่างๆ เอ็งเป็นคนไหม เอ็งเป็นคนหรือเปล่า เอ็งรู้จักตัวมึงไหม เอ็งรู้จักจิตเอ็งไหม เอ็งเป็นคน เอ็งยังไม่รู้จักความเป็นคนของเอ็งเลย แล้วเอ็งจะปฏิบัติอะไรกัน ว่างๆ ว่างๆ ว่างๆ อะไรของเอ็ง
แต่ถ้ามีสตินะ โอ้โฮ! หลวงพ่อ โอ้โฮ! โอ้โฮ! นั่นแหละของจริง คนเขาเป็นจริงนะ โอ้โฮ! โอ้โฮ!
ไอ้ว่างๆ ว่างๆ แจกขนมเมื่อกี้ เด็กๆ มันก็ว่างๆ เด็กๆ มันรับขนมเมื่อกี้ เออ! หลวงพ่อว่าง หลวงพ่อว่าง มันได้ยาคูลท์ไปคนละขวด มันว่าว่างหมดเลย
ถ้าเรามีวุฒิภาวะ ฟังเขาคุยกัน ฟังสังคมที่เขาเชื่อกัน เราก็สังเวชกันแล้ว แต่สังเวชแล้วจะพูดหรือไม่พูดเท่านั้นน่ะ ถ้าพูดไปมันก็เหมือนชนชั้น พูดไปก็เหยียบย่ำกัน เราดี เขาชั่ว เราถูก เขาผิด ถ้าพูดไปมันก็จะเป็นรูปลักษณะนั้น
แต่ถ้าเราปฏิบัติของเราไป เราทำความจริงของเราขึ้นมา แล้วเรารู้จริงขึ้นมาแล้ว เรารู้จริงเลย แล้วเราจะสังเวชมาก สังเวชมาก ทีนี้กรณีอย่างนี้มันก็เป็นพรหมวิหาร ๔ มันเป็นธรรมของผู้บริหาร ผู้ปกครอง ในเมื่อเราบอกเขาแล้ว เราชักนำเขาแล้ว ถ้าเขาไม่เชื่อก็ต้องอุเบกขา ถ้าอุเบกขาแล้วก็สบาย กรรมของสัตว์ วัวใครก็เข้าคอกมัน สัตว์ตัวใดมันก็เข้าคอกเข้ากลุ่มเขานั่นแหละ ก็กรรมของสัตว์ อุเบกขา จบ
ถ้าไม่อุเบกขานะ ครูบาอาจารย์เราทุกข์ตายเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยากรื้อสัตว์ขนสัตว์นะ อยากจะเอาไปให้หมดเลย แล้วเอาไปได้ไหม มันเอาไปไม่ได้หรอก เพราะคุณสมบัติของเขามันไม่มี ความเป็นไปในใจของเขามันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไม่ได้ แล้วใครจะไปรื้อไปขนมันล่ะ มันขนไม่ได้ มันขนไม่ได้ก็ต้องวางไว้อย่างนั้น นี่ไง อุเบกขาเสีย ถ้ามันจบแล้ว ถ้าถึงที่สุด เราก็ช่วยเขาเต็มที่นี่แหละ ถ้าช่วยเขาถึงที่สุดแล้วก็อุเบกขา ก็กรรมของสัตว์ ก็กรรมของเอ็ง เอ็งเชื่อเอ็งก็ทำไป ก็เรื่องของเอ็ง
แต่ถ้ามันทำถูก ทำถูกขึ้นมา ดูสิ ตั้งแต่หลวงตามา พอถึงพลิกขั้วของขั้วมะพร้าวแล้ว กราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบแล้วกราบเล่าๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพานไป ๒,๐๐๐ กว่าปี มีตัวตนไหม แล้วเรากราบอะไรน่ะ เวลามันซาบซึ้งมันกราบแล้วกราบเล่า ใครจะรู้ใครจะไม่รู้ช่างหัวมัน ไม่เกี่ยว ไม่เกี่ยว กราบแล้วกราบเล่า กราบในหัวใจไง หัวใจเป็นพุทธะไง มันกราบกันที่นี่ไง แล้วมันไปที่ไหนล่ะ
ไอ้ที่พูดไปนั่นน่ะ ไอ้เปลือกส้ม ส้มอะไร ไอ้มะพร้าว มันเป็นบุคลาธิษฐาน เป็นธรรมาธิษฐาน แต่เวลาเราทำขึ้นมา ถ้าเราเป็นอย่างนั้น เราทำอย่างนั้น เป็นอย่างนั้นเราก็พยายามฝึกฝนของเรา ถ้าเรารู้ขึ้นมามันก็จบ ถ้าเราไม่รู้ขึ้นมามันจะเทียบอย่างอื่นก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเอามาผูกมัดเลย หลวงพ่อพูดเรื่องมะพร้าว เรื่องส้ม เราก็ต้องเป็นมะพร้าว เป็นส้มด้วย
ส้มเขาเอาไว้คั้น ไปดูสิ ตามร้านอาหารเขาคั้นส้มกินกัน เปลือกส้มเต็มไปหมดนู่นน่ะ ไอ้นั่นมันเป็นธุรกิจอาหาร ไอ้ของเรา ในเมื่อสิ่งนี้มันเป็นผลไม้ที่ใครๆ ก็เห็นได้ ใครๆ ก็คุ้นชินกับมัน เราก็เอามาเปรียบเทียบขึ้นมา เปรียบเทียบให้หัวใจเรามีขั้นมีตอนอย่างนั้น แล้วเราเปรียบเทียบแล้วเราจะได้เข้าใจ จับมาเหมือนกัน แต่เราไม่ได้จับส้ม เราจับหัวใจของเรา แต่หัวใจมันปอกเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป มันปอกอย่างไร มันทำอย่างไร มันก็ได้มรรคได้ผลอย่างนั้น
นี่พูดถึงว่า “ทำอย่างใดถึงจะส่องทะลุไปได้”
แสงเลเซอร์
ถาม : เรื่อง “ขนลุก ตัวสั่น”
กราบนมัสการหลวงพ่ออย่างสูง กระผมเกิดอาการตัวสั่น ขนลุกเมื่อเห็นภาพภายนอก เช่น เห็นสุนัขนอนตายข้างถนน คนทุบหัวปลา คนที่เกี่ยวข้องพบปะที่แสดงความรู้ถึงการวนเกิดหรือตาย หรือสภาวธรรมที่พบในชีวิตประจำวัน แล้วจิตกระผมจะนำเหตุการณ์นั้นมาพิจารณาธรรม น้อมกลับมาสอนที่จิตตนเองเกี่ยวกับเรื่องความตาย การวนเกิดตายให้เห็นโทษเห็นภัยในภพชาติแบบเป็นปัจจุบันทันทีในขณะที่เห็น ที่ใจมันสัมผัสแล้วจะเกิดอาการขนลุก ตัวสั่นไหว ดูที่ใจก็ไม่ได้สั่นไหวหรือสงสารสิ่งที่เห็น สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ครับ
กระผมเข้าใจว่าเกิดปีติ เพราะจิตที่จับสิ่งภายนอกมาพิจารณาย้อนมาสอนตนเอง แล้วรู้มันมั่นคงในธรรมขึ้น มั่นคงในคำสอนของครูบาอาจารย์ขึ้นว่ามีจริง สัมผัสได้จริง และพอจะเข้าใจคำสอนที่ว่า “ธรรมะมีอยู่ทั่วไป” ขึ้นมาบ้างครับ กระผมมีคำถามดังนี้
๑. อาการขนลุก ตัวสั่นนี้ ที่กระผมเข้าใจมาแต่เดิมว่าเกิดปีติได้เฉพาะตอนนั่งสมาธิ อันนี้ก็เป็นปีติหรือไม่ ควรทำอย่างไรต่อไปครับ
๒. ถ้ากระผมเกิดพิจารณาแบบน้อมเข้ามาสอนจิตตนเองในทันทีทันใดตามสภาวธรรมนั้นๆ ซึ่งการพิจารณาก็ไม่อาจคาดหมายได้ก่อน ในขณะขับรถแล้ว หากจิตกลับเข้ามานิ่งขนลุก ตัวสั่น มีโอกาสจะเกิดอุบัติเหตุหรือไม่ครับ แต่เคยเป็นขณะขับรถ แต่ก็เป็นแค่วูบเดียวสั้นๆ ก็หายไป และยังสามารถขับรถได้ต่อไป กราบนมัสการหลวงพ่อด้วยความเคารพ
ตอบ : อันนี้ เห็นไหม อันนี้ว่าขนลุก ตัวสั่น เขาบอกว่า ถ้าปีติ เวลาเราปฏิบัติ ปีติก็จะเกิดต่อเมื่อเรานั่ง ปีติก็จะเกิดต่อเมื่อเราปฏิบัติ ปีติ สุข เวลาคนเดินจงกรมมันก็เกิดปีติได้ ปีติมันเกิดได้ ปีติ ถ้าจิตมันสงบนิ่ง จิตมันเข้ามาสงบแล้วมันได้รับผลของปีติ มันจะมีของมัน ที่ไหนก็มีของมัน เพราะว่าเวลาเดินจงกรมเราก็ลืมตาเดินจงกรม แต่มันเกิดได้ เกิดอย่างไรก็แล้วแต่มันก็วางไว้ มันผ่านไป เพราะปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ ปีติเป็นทางผ่าน
ฉะนั้น คำว่า “ปีติ” ปีติมันมีหลากหลาย บางคนเกิดปีติแล้วมันจะรู้อะไรแปลกๆ บางคนปีติเล็กน้อย แล้วปีติถ้ามันเกิดซ้ำเกิดซาก ปีตินั้นมันก็มีอยู่ แต่รสชาติมันไม่ชัดเจน มันไม่ดูดดื่ม มันไม่ดูดดื่ม มันไม่ให้รสชาติที่มันเห็นชัดเจน แต่มันก็มีของมัน อันนี้มันเป็นเรื่องธรรมดา เรื่องธรรมดานะ ถ้าคนภาวนาแล้วมันเป็นเรื่องธรรมดา แต่พวกเรา เวลาบอกว่าภาวนาเป็นชีวิตประจำวัน ต้องภาวนาเป็นชีวิตประจำวัน เพราะเรามีชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ต้องเอาการภาวนาเป็นชีวิตประจำวัน ก็เลยเป็นประจำวันจนมันคุ้นชิน ประจำวันก็เลยทำแบบคุ้นเคย คุ้นเคยไปแล้ว อะไรเกิดมาก็เลยไม่รู้เหนือรู้ใต้เลย เลยคุ้นชินจนไม่มีอะไรเกิดขึ้นมา
แต่ถ้ามันเกิดขึ้นมาแล้วเรามีสติปัญญา มันผ่านขึ้นไปแล้ว ถ้าละเอียดขึ้นไปมันจะพัฒนาขึ้นไป นี้ถ้าปฏิบัติเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นไปนะ แต่ถ้าปฏิบัติแล้ว ปฏิบัติไปแล้วเพื่อสร้างสมบารมี ปฏิบัติเพื่อทำคุณงามความดี ปฏิบัติเพื่อให้จิตใจเกิดอำนาจวาสนา อย่างนี้เราก็ปฏิบัติของเราสร้างสมบุญญาธิการของเราไป นี่พูดถึงปีติ
ฉะนั้น ถ้าเกิดว่า ข้อที่ ๒. เกิดถ้าเวลาเราเกิดปีติ เวลาเราเกิดการพิจารณาแบบน้อมเข้ามาสอนจิตตัวเองในทันทีทันใดในสภาวธรรมนั้น
นี่ไง ในทันทีทันใด ในการจะเอา เวลาเราคิดเราคิดได้หมดแหละ แต่เวลาทำจริงๆ ได้ไหมล่ะ เวลามาเรายังไม่รู้ตัวเลย เวลาถ้ารู้ตัว ไม่มา ถ้ารู้ตัวนะ ตั้งใจ ไม่มาหรอก เพราะตั้งใจมันรู้แล้ว เดี๋ยวถ้าเป็นสมาธินะ จะใช้ปัญญานะ เดี๋ยวถ้าปัญญาเกิดขึ้นมันจะพิจารณาแยกแยะเลยนะ นั่งไป ๕ ปีไม่มีมา เพราะมันเกร็ง มันเกร็ง กลัวสมาธิจะมา กลัวไม่ทัน ต้องรีบตั้งท่าไว้เลย เดี๋ยวสมาธิมานะ พอสมาธิมาแล้วจะพิจารณานะ ไม่ได้กินหรอก
แต่ถ้าพอสมาธิมันจะมา เอ๊ะ! งง มาอย่างไร ไปแล้ว ไปแล้ว ไม่ทัน มันไม่ทัน ไม่ทันเพราะอะไร ต้องฝึกฝนจนมีความชำนาญ ชำนาญในวสี ครูบาอาจารย์ท่านบอกชำนาญในวสี ในการเข้าในการออก ในการเข้า แม้แต่สมาธิเข้า เราก็เข้าไปกับสมาธิ ไปอยู่ในสมาธินั้น เวลาคลายออกมาเราก็คลายออกมาพร้อมกับสมาธิ พอคลายออกมาแล้วเราก็พิจารณาของเราไป นี่ไง ที่ว่าเป็นสมาธิๆ มันเป็นอย่างนี้ คือมันมีสติ มันมีเจ้าของไง ไม่ใช่ว่างๆ ว่างๆ ไม่รู้ว่าใครว่าง ไม่รู้มันบ้าหรือเปล่า แต่ถ้าเป็นสมาธินะ อืม! เป็นสมาธิ รู้ว่าเป็นสมาธิเลย เป็นสมาธิเพราะอะไรล่ะ เป็นสมาธิเพราะจิตใจมันปลอดโปร่งโล่งโถง มันไม่ยึดอะไรเลย แล้วมันรู้ตัวด้วย
ทีนี้บางคนเวลาปฏิบัตินะ เวลาบอกว่าเป็นสมาธิ ไปเจอเพื่อน เพื่อนก็แหย่ “สมาธิเป็นอย่างไร สมาธิเป็นอย่างไร” ไปบอกเขาทำไม ไปบอกสมาธิ สมาธิเอาไฟจี้เลย สมาธิเป็นอย่างนี้หรือเปล่า จี้ก็กระโดดน่ะสิ
สมาธิก็เป็นของเรา มันอยู่ข้างใน ถ้าสมาธิมันก็เป็นสมาธิ เวลาเข้าสมาธิชำนาญในวสี เข้าสมาธิ แล้วมีความสุขมาก เวลาออกมากำหนดพุทโธต่อเนื่องไป ถ้าใช้กำหนดลม ถ้าจิตยังพิจารณาได้ กำหนดลมต่อเนื่องไปให้มันมั่นคงขึ้นมาเรื่อยๆ แล้วถ้ามันออกมา ออกมาถ้ามันใช้ปัญญาได้ก็ใช้ปัญญาของมันไป นี่เป็นมรรค มันไม่ใช่ชิงมรรค ชิงมรรคไง ชิงมรรคชิงผลไง
“แล้วถ้าจิตมันสอน สอนจิตเข้าไปในทันทีทันใดได้ไหม”
นี่มันจะไปชิง คือมันไม่เป็นอย่างที่เราคิดหรอก มันเป็นไปไม่ได้หรอก มรรคผลมันจะเกิดขึ้นจากตามความเป็นจริง ไม่ใช่ไปตัดหน้ามัน ไปตัดหน้าเดี๋ยวก็ยิงกันไง ขับรถตัดหน้ากันเดี๋ยวก็ได้เสีย นี่ก็เหมือนกัน พอมรรคมันจะมา เราก็เบียดมรรคไว้ก่อนเลย กันไว้ไม่ให้มรรคมันแซง แล้วพยายามควบคุมมรรคจะได้ปฏิบัติ ชิงมรรคชิงผล
อันนี้มันคิดว่าเราเป็นปัญญาชน เราอยู่ในโลกของสมมุติ สมมุติบัญญัติ สิ่งนี้สมมุติบัญญัติคือชื่อของมัน เราให้ชื่อให้นามมันก็เลยเป็นสมมุติบัญญัติขึ้นมา อารมณ์ของเรา เราให้ชื่อให้นาม เราไปให้ชื่อให้นามว่าเป็นอย่างนั้นๆ แล้วมันเป็นจริงหรือไม่เป็นจริง
ถ้าเป็นจริง สิ่งที่เป็นจริงก็คุณสมบัติ คุณค่าของมันก็เป็นจริงตามนั้น ถ้ามีสติมันก็สติจริงๆ แต่ถ้าสติมันมิจฉา ว่าเป็นสติๆ แต่มันเผลอไผลไปไหนก็ไม่รู้ บอกสมาธิๆ สมาธิก็คือการปฏิเสธ สมาธิคือการปฏิเสธอารมณ์ สมาธิคือการปฏิเสธสิ่งที่มีอยู่ แล้วบอกว่างๆ ว่างๆ มันปฏิเสธสิ่งที่มีอยู่ ปฏิเสธสิ่งที่รับรู้ ไม่ยอมรับรู้สิ่งใด แล้วมันบอกว่าเป็นสมาธิ แล้วมันเป็นสมาธิขึ้นมาได้อย่างไร เห็นไหม มันไม่มีคุณสมบัติในตัวมันเอง แต่เราก็สมมุติกันขึ้นมา สมมุติบัญญัติ สมมุติว่าเป็นสมาธิ ว่างๆ ว่างๆ เป็นสมาธิ มันสมมุติว่าเป็นสมาธิ แต่มันไม่มีคุณสมบัติของความเป็นสมาธิ เวลามันจะเกิดปัญญาขึ้นมามันก็เป็นโลกียปัญญา เป็นจินตนาการ เป็นจินตมยปัญญา มันก็บอกว่าสิ่งนั้นเป็นปัญญา
มันเป็นปัญญา ปัญญามันก็หมดไปรอบหนึ่งแล้ว มันก็วางแล้ว วางแล้วเพราะอะไร เพราะว่าถ้ากิเลสมันหลอก สมุทัยมันร่วมมาด้วยมันก็สร้างภาพ สร้างภาพให้เป็นดั่งที่เราว่า นี่กิเลสมันบังเงา กิเลสมันบังเงา กิเลสมันชักนำไปก่อน กิเลสมันสร้างภาพ เราก็บอก เออ! อย่างนี้เป็นธรรมๆ...มันเป็นเรื่องกิเลสหลอกทั้งนั้นเลย แล้วเราปฏิบัติไป “ก็ผมปฏิบัติธรรม แล้วมันเป็นกิเลสได้อย่างไรล่ะ ก็ผมปฏิบัติธรรม”
ก็ปฏิบัติธรรมไปพร้อมกับกิเลสไง ปฏิบัติธรรม เพราะกิเลสมันอยู่กับเรา ก็ปฏิบัติไปกับกิเลสไง กิเลสมันก็หลอกเราไง
เวลาครูบาอาจารย์ท่านทำความสงบของใจเข้ามาๆ ทำความสงบของใจ ถ้ากิเลสมันสงบตัว ใจมันถึงสงบได้ ถ้ากิเลสไม่สงบตัวลง มันสงบไม่ได้ มันก็ฟุ้งซ่านอยู่อย่างนั้นน่ะ มันก็จินตนาการ ทุกข์มันอยู่อย่างนั้นน่ะ นั่นมันถึงเป็นกิเลสไง ฉะนั้น ถ้าเราปฏิบัติของเรา เราก็พยายามทำของเราให้มันเป็นจริงขึ้นมา ถ้าเป็นจริงขึ้นมา มันเป็นไปตามขั้นตามตอน ถ้าทำความสงบของใจ ใจสงบแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา ใช้ได้หรือไม่ได้
ใจสงบแล้วนะ ออกฝึกหัดใช้ปัญญา คนไม่มีอำนาจวาสนา ยกขึ้นวิปัสสนาไม่เป็น ยกขึ้นวิปัสสนาไม่ได้ คือใช้ปัญญาไม่เป็น ว่าอย่างนั้นเลย ใช้ปัญญาไม่ได้ ภาวนามยปัญญามันใช้ไม่เป็นหรอก ไอ้พระที่โม้ๆ กันอยู่นี่ไม่มีสักตัวหนึ่ง ไม่มี ฟังทีเดียวก็รู้ พูดไม่พูดเท่านั้นน่ะ ที่โม้ๆ กันอยู่นี่ไม่จริง ถ้ามันจริง บอกมา จริงอย่างไร
แมลงวันไม่ตอมแมลงวันนะ ไม่อยากขุดคุ้ย อย่ามาโม้ ไม่มีอยู่หรอก ถ้าเป็นจริง โธ่! มันเป็นจริงมันจะรู้ได้ ถ้ามันเป็นอย่างนั้น ฟังทีเดียวก็รู้ เพียงแต่ว่าเราเห็นน้ำใจของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นกับครูบาอาจารย์ของเราที่ท่านเป็นธรรม ท่านเป็นธรรม หลวงปู่มั่นท่านพยายามจะวางรากฐานของกรรมฐาน แล้วพอพูดถึงหลวงตา หลวงตารับช่วงมา ท่านพยายามวางให้รากฐานกรรมฐานเราให้เข้มแข็งให้แข็งแรง พอให้แข็งแรง จะวางรากฐาน จะวางข้อวัตร วางต่างๆ แต่พวกที่ปฏิบัติ ถ้าใครมีหลักมีเกณฑ์ อย่างเช่นหมอ หมอเขามองถึงสุขภาพ เขามองถึงพฤติกรรมของคนไข้นะ เขามองพฤติกรรมของความเป็นอยู่ของคนไข้ว่าคนไข้เจ็บไข้ได้ป่วยมาเพราะอะไร
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่มีธรรมท่านจะวางของท่านให้ลูกศิษย์ลูกหาอยู่ในข้อวัตรปฏิบัติ ให้อยู่ในหลักในเกณฑ์ เพราะสิ่งนั้นมันเป็นสิ่งที่กิเลสมันจะสอดแทรกเข้ามา ถ้าครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรมเหมือนหมอ หมอที่เป็นหมอ เรื่องพฤติกรรมการอยู่การกินของเด็ก หมอเขาจะเป็นห่วงมาก ถ้าพฤติกรรมการกินการอยู่ของเด็กมันถูกสุขลักษณะ ร่างกายจะแข็งแรง โรคภัยไข้เจ็บเขาจะน้อย ครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรม ข้อวัตรปฏิบัติ ความเป็นอยู่ของพระ ท่านจะดูแลรักษาอย่างดี
แต่ถ้าครูบาอาจารย์ที่ไม่เป็นธรรมอีลุ่ยฉุยแฉก ไม่ใช่อีลุ่ยฉุยแฉกนะ ตัวเองพาไปเอง ครูบาอาจารย์พาลูกศิษย์ไปเอง พาไปที่ไหนมีไวรัสไข้หวัดนก “ไหนๆ กินหน่อยๆ อันไหนไข้หวัดนก ไก่ไหน ขอชิมหน่อยๆ น่าลอง” พาไปเอง เศร้า เศร้าใจมาก นี่พูดไปก็อย่างที่ว่า แมลงวันไม่ตอมแมลงวัน จบ จบแล้ว
ถาม : หลวงตาปรารภว่า “นิสัยของขันธ์แก้ยากอยู่เหมือนกัน” นิสัยขันธ์ได้แก่อะไร และขออุบายวิธีการขัดเกลา
ตอบ : นิสัยของขันธ์ นิสัยของขันธ์เราจะบอกว่าก็คือสันดาน เวลาพระอรหันต์นะ พระอรหันต์แก้กิเลสได้ แต่แก้สันดานไม่ได้ สันดานไง ดูสิ อย่างเช่นพระสารีบุตร พระสารีบุตรเป็นพระอรหันต์ เป็นอัครสาวกเบื้องขวานะ แล้วเวลาเขานิมนต์ไปฉัน เป็นร่องสวน สมัยโบราณเป็นร่องสวน ไปโดดข้าม ไอ้คนนิมนต์มางงเลย นี่พระอรหันต์นะ พระอรหันต์ที่เป็นอัครสาวกเบื้องขวาด้วย ทำไมเล่นกระโดดอย่างนั้นเลย ก็นึกว่าพระอรหันต์นี่แหม! จะต้องนิ่มนวล ต้องลอยไปเลย ไอ้นี่เล่นกระโดดข้ามร่องสวนเลย
ก็ไปฉัน พาไปฉัน ทีนี้พอกลับมา พอกลับมาก็ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าทำไมพระสารีบุตรทำอย่างนั้น
โอ้โฮ! เธอว่าอย่างนั้นไม่ได้นะ เพราะพระสารีบุตรท่านสร้างสมบุญญาธิการมาเยอะมาก ฉะนั้น บางชาติท่านเคยเกิดเป็นลิง นิสัยของลิงมันมีมา นิสัย นิสัยของลิงมันมีมา แต่ท่านก็สร้างสมบุญญาธิการมาเยอะมาก เพราะการสร้างสมบุญญาธิการ สร้างสมบุญญาธิการมาเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวา เอตทัคคะต้องสร้างบุญญาธิการมา เพราะพระอรหันต์มีมากมายเลย แต่การได้รับพยากรณ์เป็นเอตทัคคะคือความชำนาญการ ความชำนาญการของพระกัสสปะเลิศในทางธุดงควัตร ความชำนาญการของพระอานนท์ ความชำนาญการ เขาสร้างสมบุญญาธิการของเขามา
ทีนี้พระสารีบุตรสร้างมาเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวา เขาต้องสร้างของเขามามาก ขนาดสร้างมามากขนาดนั้น เวลาไปฟังเทศน์พระอัสสชิเป็นพระโสดาบัน เดินเข้ามาจะมาบวชกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลย “อัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวาของเรามาแล้ว” ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์นะ “อัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวาของเรามาแล้ว” เวลามาฝึกสอนจนเป็นพระอรหันต์แล้ว แล้วพอจะเผยแผ่ธรรมขึ้นมา ตั้งพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวา
พระเขาโจมตีกันมาก บอกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าลำเอียง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เป็นธรรม ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นธรรม อัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวาต้องตั้งพระอัญญาโกณฑัญญะ จะตั้งปัญจวัคคีย์ เพราะปัญจวัคคีย์เป็นสงฆ์องค์แรกของโลก ไอ้นี่ไปตั้งคนอื่นได้อย่างไร เพิ่งมา เพิ่งมาเมื่อกี้นี้ ตั้งเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายเบื้องขวาเลย โอ๋ย! พระพุทธเจ้าลำเอียง
พระพุทธเจ้าบอกว่าไม่ใช่ เราไม่ได้ลำเอียง เราพูดตามความเป็นจริง ก็สมบัติของเขา ก็พระสารีบุตรเขาสร้างของเขามา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ตบแต่งอะไรเลย มันเป็นสมบัติของพระสารีบุตรเขา เขาได้สร้างอำนาจวาสนา อดีตชาติเขาสร้างของเขามาเต็มเปี่ยมของเขา แล้วเขาก็จะมาเสวยสมบัติของเขา เพียงแต่เรามา เราก็ตั้งเขาขึ้นมา เพราะมันเป็นศาสนาเดียวกัน เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา มันก็มีอัครสาวกเบื้องซ้ายเบื้องขวา ทุกองค์มันมีอย่างนั้น แล้วพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตรเขาก็สร้างของเขามา แล้วเวลาเขามาก็บอกว่าเจ้าของทรัพย์สมบัติเขามา เขาเอาของเขาคืน ก็เขามาเอาตำแหน่งของเขา แล้วพระพุทธเจ้าไปลำเอียงตรงไหน
แต่ไอ้พวกเรามันไม่ชอบไง เราคิดแบบปัญญาชน ปัญญาชนก็เห็นเฉพาะปัจจุบันไง ก็เห็นว่าพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นสงฆ์องค์แรกของโลก อัครสาวกเบื้องขวาก็ต้องเป็นพระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นองค์อื่นไปไม่ได้
แต่พระพุทธเจ้าบอกมันไม่ใช่ เขาสร้างของเขามาตั้งแต่นานไกล แล้วเวลาเขามาก็ตั้งขึ้นมาเป็น พอตั้งขึ้นมา พระติเตียนกันมาก แต่พระพุทธเจ้าไม่พูดอย่างนั้น สมบัติของเขา เอตทัคคะทุกองค์เป็นสมบัติของเขา นี่คือนิสัยของขันธ์ นิสัยของเขา นิสัยมันติดมากับจิต
ขันธ์นะ ขันธ์ก็คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง คือจริตนิสัย คือความเคยชินของใจ ความคิดไง ความคิดกับจิต สังขาร สังขารมีร่างกายกับสังขารความคิด ถ้าสังขารความคิดมันอยู่กับจิตมาตลอดใช่ไหม เวลาสันดาน ลอกสันดรนี่ง่าย ลอกสันดานนี่ยาก
ทีนี้พระอรหันต์ พระอรหันต์เวลาสิ้นกิเลสแล้ว พระสีวลีมหาศาลเลย พระเรวัตตะอยู่ป่าตลอด พระเรวัตตะเป็นพระอรหันต์แล้วก็อยู่ป่าตลอด ไม่ออกมาเลย พระอัญญาโกณฑัญญะพอสำเร็จแล้วเอาพระปุณณมันตานีบุตร หลานมาบวชองค์เดียว อยู่ป่าเลย ไม่ออกมายุ่งกับใครเลย แต่พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ โอ้โฮ! พระโมคคัลลานะไปนรกไปสวรรค์ มาบอกพระพุทธเจ้า คนนั้นตายแล้วไปนี่ คนนี้ตายแล้วไปนั่น พระพุทธเจ้าบอก เออ! ใช่ เออ! ใช่
สุดท้ายพอเขาจะทำลายศาสนาพุทธ ทำลายใครก่อน ทำลายมือซ้ายมือขวาก่อน ก็เลยจ้างคนมาฆ่าพระโมคคัลลานะ แล้วพระโมคคัลลานะก็มีกรรมเก่าที่ทำกับแม่ไว้นมนานกาเลแล้ว ต้องพูดอย่างนี้เลยนะ เพราะเขาจะถามว่าฆ่าแม่แล้วมาเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายได้อย่างไร โอ้โฮ! เขาถามปัญหามาบอกว่า ฆ่าแม่เป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายได้อย่างไร
เคยฆ่าแม่มาแต่อดีตชาตินานไกล ฆ่าแม่เสร็จแล้วก็ตกนรกอเวจี พ้นจากนรกอเวจีขึ้นมา แล้วมาสร้างบุญกุศลต่อเนื่องกันมาจนมาเป็นพระโมคคัลลานะ เศษกรรมอันนั้นยังตามมาตอนเป็นพระโมคคัลลานะ
แต่พูดถึงว่า นิสัยของขันธ์ๆ คือความเคยชิน นิสัยของขันธ์ ขันธ์มันยังมีนิสัย ขันธ์ ๕ ฉะนั้น เวลาพระอรหันต์ เป็นพระโสดาบัน ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ เป็นพระอรหันต์ ขันธ์อันบริสุทธิ์ ถ้าทำลายจนสิ้นเป็นขันธ์อันบริสุทธิ์ ถ้าขันธ์อันบริสุทธิ์มันก็มีนิสัยของมัน นิสัยของขันธ์ ดูสิ ดูครูบาอาจารย์ของเรา หลวงตาท่านพูดบ่อย ท่านจะพูดถึงหลวงปู่ฝั้น ท่านบอกหลวงปู่ฝั้นนุ่มนวลมาก ท่านเองนุ่มนวลไม่ได้อย่างหลวงปู่ฝั้น นี่นิสัย นิสัยของขันธ์
หลวงตาจะชมหลวงปู่ฝั้นประจำว่าหลวงปู่ฝั้นท่านจะนิ่มนวล พูดจา โอ๋ย! ร่มเย็นมาก นี่นิสัยของขันธ์ พระอรหันต์เหมือนกัน แต่นิสัยไม่เหมือนกัน นิสัยของขันธ์ แต่ธรรมพระอรหันต์อันเดียวกัน แต่นิสัยของขันธ์ นิสัยของหลวงตาไปอีกอย่างหนึ่ง นิสัยของครูบาอาจารย์เราเป็นอีกอย่างหนึ่ง นี่นิสัยของขันธ์แก้ยาก แก้ยาก ถ้าแก้ยาก
เราจะพูดถึงหลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่เจี๊ยะท่านพูดนะ ท่านบอกว่าแม่มาขอท่าน บอกว่า “ลูกเอ๋ย!...” ประวัติหลวงปู่เจี๊ยะนะ ไปดูสิ “คำว่าไอ้ควายๆ ลูกอย่าพูดได้ไหม ขอร้องเถอะ” แม่ท่านเองมาขอร้องหลวงปู่เจี๊ยะ ในประวัติหลวงปู่เจี๊ยะ ไปอ่านสิ “ลูกเอ๋ย! แม่ขอคำเดียวแหละ คำว่าไอ้ควายๆ แม่ขอได้ไหม”
“แม่ ก็มันเป็นอย่างนี้เอง”
เพราะหลวงปู่เจี๊ยะท่านก็อยากได้แม่ท่านมาอุปัฏฐากเหมือนกัน ท่านก็อยากได้แม่ท่านมา แม่ท่านก็ไม่ยอมมาเพราะว่านิสัย นี่ขนาดว่าลูกกับแม่นะ แม่ก็อยากให้ลูกเป็นพระแล้วก็อยากจะให้อยู่เรียบร้อย ไอ้ลูกก็ อ้าว! กิเลสก็ฆ่ามันแล้ว เรียบร้อยไม่เรียบร้อย ใครจะรู้อะไรกับในธรรมของพระอรหันต์ เวลาพูดอะไรก็พูดตามนิสัย นิสัย แก้นะ ใครก็แก้ยาก ขนาดแม่ขอ ไอ้นี่พูดถึงว่าแก้ยาก ก็คือสันดานของเรา
แต่ถ้าเรายังมีกิเลสอยู่นะ เราจะอ้างอย่างนี้ไม่ได้ คนเราถ้าปฏิบัติจะบอกว่านิสัยเราเป็นอย่างนี้ไม่ได้ ถ้าคนปฏิบัติ นิสัยอย่างไรก็ต้องข่มกันหมด เพราะเวลาสงบแล้วก็คือสงบ อันนี้เวลาพูด ที่ว่าหลวงตาท่านปรารภอยู่เหมือนกันว่านิสัย
นิสัยขันธ์ แก้อะไร ขออุบาย
แก้ได้ยากใช่ไหม ฉะนั้น แก้ได้ยากนั่นของพระอรหันต์ แต่ถ้าของเราอ้างตรงนี้ไม่ได้ นิสัยเราไม่ชอบอะไร ฝืนมัน เพราะหลวงตาใช้คำว่าถ้าฝืนความรู้สึกเราก็เท่ากับฝืนกิเลส ถ้าฝืนเราก็เท่ากับฝืนกิเลส
ทีนี้พอพูดอย่างนี้ปั๊บ เดี๋ยวกลับไปเลย นอนตีแปลงเลย ก็นิสัยเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวพอกลับไปนะ ทุกคนต่างคนต่างนอนหมดเลย ไปเปิดดู “ทำไมทำอย่างนี้ล่ะ”
“ก็นิสัยเป็นอย่างนี้” เสร็จเลย นี่กิเลสเวลามันจะพลิก เห็นไหม กิเลสมันพลิกแล้วมันเอามากินหมด
ฉะนั้น เวลาท่านจบแล้ว ท่านจบแล้วท่านให้เห็น ทำให้ดู แล้วให้ดู ทำให้เข้าใจ ฉะนั้น เวลาอย่างนี้ย้อนกลับมาที่หลวงตาอีกแหละ เวลาท่านปฏิบัติใหม่ๆ ที่เวลาท่านฝึกนอน นอนนะ นอนแบบในพระไตรปิฎก ตั้งแต่ ๔ ทุ่มถึงตี ๒ แล้วถ้าตี ๒ ลุกแล้วห้ามนอน ฉะนั้น คนเรามันจะต้องง่วงนอน คนเรามันเพลียก็อยากนอนเป็นธรรมดา ก็ฝึก ฝึกว่าถ้าลุกแล้วดีดตัวขึ้นมาเลย ฝึกอย่างนั้น นี่ฝึกขันธ์ จนพรรษา ๑๖ ไปแล้ว พอปฏิบัติจนเข้าใจว่าตัวเองสำเร็จแล้วค่อยมาฝึกนอนใหม่ นี่ฝึกขันธ์ พอเวลาตื่นแล้วนะ ห้ามลุกเลย นอนๆ ไม่ให้ดีด นอนๆ ไว้ก่อน นอนไว้ จนพอมัน อ้าว! ลุกได้แล้วก็ค่อยลุก ท่านฝึกขนาดนั้นนะ
ฉะนั้น ถ้าจะบอกว่าฝึกขันธ์ฝึกยาก แต่ถ้าเรายังมีกิเลสอยู่ เราต้องฝึกง่าย เพราะเราจะเอากิเลสให้ออกก่อน ถ้าเราชำระกิเลสแล้วนะ เออ! ขันธ์ปล่อยๆ ได้ ทีนี้แก้ยาก ไม่เป็นไร แต่ถ้าตอนใหม่ๆ อ้างตรงนี้ไม่ได้ คำนี้มันอ้างสำหรับว่าผู้ที่เขาสำเร็จงานลุล่วงแล้วเอามาพูดให้เราฟัง เราก็ฟังกันไว้เป็นคติ เอามาฟังไว้ว่า อ๋อ! ข้อมูลมันเป็นอย่างนี้ วิธีการความจริงมันเป็นแบบนี้ แต่ของเรายังมีกิเลสอยู่ เราจะทำตามนี้ไม่ได้
เราจะเอาคนที่สิ้นกิเลสมาเป็นแบบอย่าง ถ้าเป็นแบบอย่าง ต้องเอาหลวงปู่ขาวมาเป็นแบบอย่าง หลวงปู่ขาวเดินจงกรม ๓ เส้น ถวายพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขนาดเป็นพระอรหันต์แล้วก็ยังเดินจงกรมอยู่อย่างนั้น ถ้าเอามาเป็นแบบอย่างจะต้องเอาแบบอย่างนี้ เอาแบบอย่างความเพียรของครูบาอาจารย์ของเรา
แต่นี้เวลาท่านพูดถึงผู้ที่สำเร็จแล้ว ผู้ที่ทรงธาตุทรงขันธ์ที่ท่านมาพูดให้เราฟังเพราะแก้ไขไง เพราะว่าบางคนไปเห็นพฤติกรรมแล้วจะงงไง เอ๊! ทำไมเป็นแบบนี้ ทำไมเป็นแบบนี้ ท่านถึงเอาเรื่องนี้มาอธิบายให้เราฟัง แล้วอธิบายแล้วมาถามเราอีก เราก็จำขี้ปากท่านมาอธิบายต่อ
ต้องอธิบาย อธิบายให้เข้าใจ อธิบายให้เข้าใจ มันมีอยู่ ๒ ประเด็น ประเด็นหนึ่ง คนที่เขาทำงานเสร็จแล้วนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไอ้อย่างเรายังทำงานไม่เสร็จ ทำงานไม่เสร็จ เราจะมาอ้างหรือเราจะมาแบบอย่างคนที่ทำงานเสร็จแล้วมันไม่ได้ มันไม่ได้ หมายความว่า เราชะล่าใจเกินไป
แต่ถ้าคนที่ทำงานเสร็จแล้วท่านเป็นแบบอย่าง อย่างเช่นพระกัสสปะ เห็นไหม พระกัสสปะ พระจักขุบาลอย่างนี้ ภาวนาจนตาบอด เวลาหลวงตาท่านพูดท่านก็ยกตรงนี้ ยกพระจักขุบาล ยกพระโสณะเดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตก เวลาท่านยก ท่านยกแต่คนที่เร่งความเพียรทั้งนั้นเลย ท่านไม่ยกไอ้ที่ง่ายๆ ไอ้ที่ให้เรานอนสบายๆ ท่านไม่ยกมาเป็นตัวอย่างหรอก เพราะกลัวเราเข้าทางกิเลสหมด
ฉะนั้น เวลาสิ่งที่ท่านยกมาเป็นตัวอย่าง แต่นี้ไปเอาสิ่งที่ท่านเปรียบเทียบ แล้วเอามาเป็นประเด็นไง ฉะนั้น เราก็ต้องตอบไว้เป็น ๒ ประเด็น ประเด็นหนึ่งคือว่าถ้ากรณีอย่างนั้นก็เป็นอย่างที่ท่านพูดจริง มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ
แต่กรณีอย่างเรา พวกเรายังขี้ครอก เห็นเศรษฐีแล้วก็อยากจะเป็นเศรษฐี แต่ไม่ทำงาน เราจะเป็นเศรษฐีไม่ได้ เห็นเศรษฐีเป็นเศรษฐี แล้วอยากเป็นเศรษฐีต้องขยันหมั่นเพียร ทำความเพียรของเรา ถ้าความเพียรของเรา เราเป็นไปได้นะ พอเราเป็นเศรษฐีแล้วไม่ถามเลย เพราะอะไร เพราะกูเป็นเศรษฐีต้องถามทำไม เป็นเอง แล้วถ้าทำอย่างนั้นแล้วมันก็ใช้ได้
ฉะนั้น ตอบอย่างนี้ตอบเป็น ๒ อย่าง อย่างหนึ่งคือว่าถ้าสิ้นกิเลสไปแล้ว ถ้าเสร็จงานแล้วก็อีกเรื่องหนึ่ง ถ้ายังไม่เสร็จงาน เราจะต้องเอาทุกด้าน เอาทุกทาง เอาทั้งนั้น อะไรที่มันเป็นงานเป็นการของเรา เราต้องสู้ เข้มแข็งของเรา ทำประโยชน์กับเราเพื่อประโยชน์กับเราเนาะ เอวัง