ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

มงคลตื่นข่าว

๒๕ ส.ค. ๒๕๕๖

มงคลตื่นข่าว

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๖

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่องการใช้ปัญญาให้ถูกเวลา

กราบนมัสการท่านอาจารย์ กระผมเพิ่งปฏิบัติ ได้ฟังเทศน์ท่านอาจารย์หลายเรื่อง แต่ไม่เจอเรื่องที่เกี่ยวกับการใช้ปัญญาที่ถูกต้อง กระผมหมายถึงการภาวนาพุทโธไปเรื่อยๆ จนถึงจุดไหนเราจึงจะสามารถใช้ปัญญาพิจารณาได้ครับ กระผมมีคำถามปลีกย่อยดังนี้ครับ

. เมื่อถึงเวลานั้นจะมีสิ่งที่ทำให้ต้องใช้ปัญญาพิจารณาเกิดขึ้นมาเองใช่ไหมครับ

. การระงับความโกรธ ความลุ่มหลง หรือสิ่งกระทบในขณะที่ไม่ได้ภาวนา ถือว่าเป็นการใช้ปัญญาหรือเปล่าครับ

. เวลาผมเจอผู้หญิงสวย รูปร่างดี มันจะมีการจดจำ แล้วผมใช้วิธีจินตนาการถลกหนังหญิงนั้น พอจะเป็นแนวทางที่ถูกต้องหรือเปล่าครับ

. ทุกวันนี้เวลาเจอเรื่องอะไรมักจะมองเห็นภาพในใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น เช่น หากทำไม่ดีก็จะเกิดเรื่องราวอย่างไร ถ้าทำดีจะเกิดเรื่องราวอย่างไร อย่างนี้เรียกว่าสติใช่ไหมครับ ต้องรบกวนให้พระอาจารย์ช่วยอธิบายให้กระจ่างด้วยครับ

ตอบ : อันนี้เขาว่าเขาเพิ่งภาวนาใหม่กราบนมัสการหลวงพ่อ กระผมเพิ่งเริ่มปฏิบัติ ได้ฟังเทศน์ท่านอาจารย์หลายเรื่อง แต่ไม่เจอเรื่องใดที่ใช้กับปัญญาที่ถูกต้องเลยเห็นไหม ฟังเทศน์ตั้งหลายเรื่องเลย แต่เรื่องไหนก็แล้วแต่ จับประโยชน์ไม่ได้สักเรื่อง

เวลาฟังเทศน์ ฟังเทศน์เพื่อกล่อมใจ แล้วถ้ามันจะเกิดประโยชน์ขึ้นมามันจะเกิดคำเดียว คำที่กระเทือนใจมาก แต่ถ้าเราไปฟังเทศน์โดยความคาดหมายสูงมาก ถ้ามันสูงมากว่าถ้าฟังเทศน์แล้วจะเป็นพระอรหันต์เลย เพราะฟังเทศน์แล้วมันเข้าใจได้จะเป็นพระอรหันต์เลย แล้วมันไม่เป็น นี่ก็เหมือนกัน เวลาฟังเทศน์ไปแล้วไม่มีเรื่องอะไรที่ตรงกับความคิดผมเลย

ไม่ตรงหรอก เพราะอะไร เพราะเวลาไปหาหมอเขาถามเลย หายไหมๆ หมอก็รักษาตามอาการ เทศน์ของครูบาอาจารย์ถ้าเป็นจริงนะ มันจะเป็นสเต็ป ตั้งแต่เริ่มทำความสงบของใจ ปุถุชน กัลยาณปุถุชน โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล ท่านจะเทศน์ตามสัจจะ ตามความเป็นจริง มันเป็นสเต็ปมันขึ้นไปเลย แต่ท่านไม่ได้ระบุ ท่านไม่ได้บอกว่าตรงไหนเป็นโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล ท่านไม่พูดหรอก ยิ่งหลวงตาท่านไม่พูดเลย ยิ่งถ้าเป็นข้างบนถ้าละเอียดขึ้นไปท่านบอกว่าข้าม ท่านกลัวมันหมาย กลัวคนฟังไปหมายแล้วเอาไปเป็นโทษ เป็นโทษคือเอาไปสร้างภาพ จิตนี้มันร้ายอยู่แล้ว แล้วพอไปเจออะไรที่มันรู้โจทย์อยู่แล้ว โอ๋ย! มันสร้างเลย ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นจริงนะ ท่านไม่บอกหรอกอะไรเป็นอะไร แต่คนฟังเป็นรู้

การเทศน์ของหลวงปู่มั่น การเทศน์ของครูบาอาจารย์เริ่มต้นตั้งแต่เหมือนเครื่องบินเลย มันตั้งแต่แท็กซี่เข้าจอด แล้วเครื่องบินจะขึ้น เหินฟ้าขึ้นไปจนถึงที่สุด เป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป คนฟังรู้เลยล่ะ พอถึงตรงนี้แล้ว ถึงตรงนี้แล้ว ถึงตรงนี้แล้ว ไปเรื่อย นั่นล่ะเป็นจริงของท่าน แล้วเราก็ฟังเทศน์นั้น จิตที่สูงกว่าจะดึงจิตเราขึ้นไป ถ้าดึงขึ้นไป ถ้าเราทำแล้วเราได้ประโยชน์

ถ้าจิตของเรา เราหาหลักหาเกณฑ์ไม่ได้ เราก็ฟังไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจก็เอาสิ่งนั้นกล่อมใจ เพราะฟังแล้วมีศรัทธามีความเชื่อ ฟังแล้วมันดูดดื่ม อ้าว! ก็ฟังสิ่งนี้ไป

ฉะนั้น บอกว่าฟังเทศน์ท่านอาจารย์มาหลายเรื่อง ไม่เจอสิ่งใดที่ใช้ปัญญาที่ถูกต้องเลย

ไม่มีทางถูกต้องได้ ไม่มีทาง แต่ถ้ามันถูกต้องได้นะ เราทำของเราไป เวลาฟังเทศน์ไปมันเจอ เพี๊ยะ! เลย ถ้าเราทำของเราแล้วเราเข้าใจเลย เราเข้าใจเลย แต่เราทำของเราไม่เข้าใจเลย

เวลาพูด ทหารเรือ ทหารเรือเขาก็อยู่ในเรือของเขา ดูสิ ออกเรือไปทีหนึ่ง ๓ เดือน ๔ เดือนอยู่แต่ในเรือ ทหารบกเขาก็อยู่บนบกของเขา นี่ก็เหมือนกัน จริตนิสัยของคนมันไม่เหมือนกัน ถ้าไม่เหมือนกัน เพียงแต่เราฟังเทศน์ครูบาอาจารย์เอาสิ่งใด

ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลารื้อสัตว์ขนสัตว์ เล็งญาณเลย เล็งญาณนะ รื้อสัตว์ขนสัตว์นะ เขาไม่รื้อสัตว์ขนสัตว์ว่าไปต้อนคนมา...ไม่ใช่ เขามองไปในใจของสัตว์โลก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเล็งญาณไปที่สัตว์โลก เล็งญาณไปในความรู้สึกนั้น ว่าความรู้สึกนั้น จิตนั้นมีอำนาจวาสนาไหม จิตนั้นได้สร้างบารมีมาพอหรือเปล่า ถ้าจิตนั้นสร้างบารมีมาพอ แล้วอายุเขาสั้น หรือว่าเขามีโอกาสที่จะเป็นอันตรายไป ต้องไปเอาจิตดวงนั้นก่อน

อยู่ในพระไตรปิฎกนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปบิณฑบาตในเมืองอะไร จำไม่ได้เมืองอะไร มีผู้เฒ่า ๒ คนตายายนั่งขอทานอยู่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายิ้ม พอยิ้ม พระอานนท์เห็นแล้ว เห็นว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายิ้ม ต้องมีปัญหาแล้ว เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากลับจากบิณฑบาต ทำภัตกิจแล้วนะ พอถึงตอนเทศน์ญาติโยมแล้ว ตอนเย็น พอตอนหัวค่ำจะเทศน์พระ พระอานนท์ถึงได้โอกาสถามเมื่อตอนเช้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายิ้มทำไม ตอนยิ้มที่ไปเจอ ๒ คนตายาย

เห็น ๒ คนตายายนั้นไหมที่เป็นขอทานที่นั่งอยู่ข้างทาง

เห็น

นั่นล่ะแต่ก่อนเขาเป็นเศรษฐี เขาเป็นเศรษฐีแล้วมีอำนาจวาสนามาก ถ้าตอนนั้นเขาได้เจอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างน้อยต้องได้เป็นพระอนาคามีคู่นี้แต่ตอนนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้างานล้นมือไง แล้วพอชีวิตของเขา ไม่ได้มาเอา ๒ คนนี้ก่อน พอไม่เอา ๒ คนนี้ก่อน เขาก็ใช้ชีวิตของเขาไป เขาเล่นการพนัน เขาโดนโกง เขาเล่นการพนันเสียหาย แล้วคนใช้ในบ้านฉ้อโกง ฉ้อโกงจนหมดตัว จากมหาเศรษฐี ไม่มีที่อยู่ที่อาศัย มาเป็นคนขอทาน คนเข็ญใจ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเดินผ่านไปบิณฑบาต เขาก็นั่งอยู่นั่น

เวลาโอกาสไง โอกาสถ้าจิตใจเขาดี จิตใจเขามีความสุข เพราะเขาเป็นเศรษฐีใช่ไหม เขามีความศรัทธาเขามีความเชื่อ เขาได้ทำบุญกุศลของเขา เขาได้ฟังเทศน์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จิตใจเขาเบิกบาน เขาจะได้เป็นพระอนาคามี

แต่เพราะไม่มีเวลา แต่ตอนเขาไปโดนโกง เล่นการพนันจนหมดตัว โดนคดโดนโกงจนหมดตัวเลย เป็นทุคตะเข็ญใจ คนเป็นเศรษฐีนะ แล้วเรามานั่งขอทานอยู่ข้างถนน จิตใจเราเป็นอย่างไร เศร้าหมองไหม จิตใจเราขุ่นมัวไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เดินผ่านไป ถ้าจิตใจเขาเบิกบาน นี่เล็งญาณรื้อสัตว์ขนสัตว์ นี่ไง เวลาจะเทศนาว่าการมันมีตรงนี้เข้ามาบวก

ฉะนั้นบอกว่า ฟังเทศน์หลวงพ่อหลายเรื่องแล้ว แต่ไม่มีอันไหนเลยใช้ปัญญาที่ถูกต้อง ก็ไม่เข้าใจก็ไม่ถูกต้อง ก็ไม่มีอะไรถูกเลย ก็หลวงพ่อเทศน์ผิด โยมเป็นคนเก่ง

เวลาพูดมันเข้าใจเรื่องอย่างนี้ได้ไง มันขำ มันขำว่าถ้าฟังเทศน์แล้วเป็นประโยชน์ก็เป็นประโยชน์แล้วล่ะ เพียงแต่วุฒิภาวะเรามากน้อยแค่ไหน ถ้าวุฒิภาวะเรามาก เราจะได้ผลประโยชน์มาก วุฒิภาวะเราน้อย เราก็ได้แค่ฟังเสียง หลวงตาบอกว่าเวลาครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรมเวลาแสดงออกมา เสียงนั้นมีคุณธรรมมาด้วย แต่ถ้าครูบาอาจารย์ที่ไม่มีคุณธรรม อะไรก็เสียงเหมือนกัน แต่ไม่มีคุณธรรม ไม่มีเนื้อหาสาระ มันแตกต่างกัน ฉะนั้น เวลาฟังเทศน์ครูบาอาจารย์แตกต่างกันนะ แตกต่างกันที่ว่ามันมีรสมีชาติ มันมีความหนักความเบา

อันนี้พูดถึงว่าฟังเทศน์แล้วไม่มีปัญญาที่ถูกต้อง

มี แต่ให้ถึงเวลา ถึงโอกาส หลวงตาท่านยืนยันกับพระ เวลาอยู่กับท่านนะ ท่านบอกว่าเวลาท่านเทศน์ที่ว่าเข้มข้น แล้วท่านก็พูดกับพระไว้ บอกว่า จำคำพูดของผมไว้นะ ถ้าผมตายไปแล้ว ถ้าใครภาวนามาถึงจุดนี้แล้วจะมากราบศพ

เพราะอะไร เพราะตอนที่ท่านเทศน์เราก็ฟังอยู่ แต่เราปีนบันไดฟังไม่ถึง เราไม่เข้าใจหรอก แต่ถ้าวันไหนเราปฏิบัติไปถึงจุดนั้นปั๊บ โอ้โฮ! จะไปกราบแล้วกราบเล่าๆ แบบที่หลวงตากราบหลวงปู่มั่นนั่นน่ะ ถ้าคนปฏิบัติไปถึงจุดนั้นแล้วมันจะเป็นอันเดียวกัน จะกราบแล้วกราบเล่าๆ มันซาบซึ้งมากเลย แต่ตอนฟังอยู่นะ ก็พูดอยู่นี่ ด่าอยู่นี่ อู้ฮู! จนหูจะแตกอยู่นี่ ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ ไม่เข้าใจ หลวงตาว่าอะไรน่ะ โอ้โฮ! ดุมาก ว่าอะไรก็ไม่รู้ แต่พอมันภาวนาไปถึงจุดนั้นนะ มันจะไปกราบแล้วกราบเล่าๆ นี่ครูบาอาจารย์ท่านเป็นมาอย่างนั้น นี่พูดถึงว่าธรรม เวลาภาคปฏิบัติมันเป็นแบบนี้ กรรมฐานเขาติดกัน ติดกันอย่างนี้

ฉะนั้น สิ่งที่เราบอกว่าเราฟังเทศน์มาตั้งหลายเรื่องแล้ว ไม่มีอันใดเป็นปัญญาที่ถูกต้องเลย

มี แต่เราค่อยๆ ทำไป เราค่อยๆ เข้าใจไป

เขาว่า จุดไหนถึงจะใช้ปัญญาล่ะ

เดี๋ยวจะอธิบายต่อเนื่องกันไปเนาะ เขาบอกแล้วจุดไหนที่ใช้ปัญญา ปัญญาจะเกิดขึ้นได้อย่างไรล่ะ นี่เขาบอกว่า การใช้ปัญญาที่ถูกเวลา . เมื่อถึงเวลานั้นเราจะมีสิ่งที่ทำให้ต้องใช้ปัญญาพิจารณาเกิดขึ้นมาเองใช่หรือไม่

ไม่ใช่ เพราะความเข้าใจผิดของโลกไง ความเข้าใจผิดของวิทยาศาสตร์ไง เอาต้นไม้ไปปักไว้แล้วต้นไม้มันจะโตเอง ถ้าต้นไม้ไปปักไว้ที่ดินชุ่มน้ำ ต้นไม้ก็จะโตเอง ต้นไม้ไปปักบนหิน ต้นไม้มันจะโตเองได้ไหม ต้นไม้มันจะโตเอง ต้นไม้มันก็ตาย เพราะมันไปปักไว้ไม่มีใครไปดูแลมันไง แต่ถ้าไปปักไว้ที่ดินงอกงามมันก็โตเองได้ นี่พูดถึงต้นไม้

แต่ว่าปัญญาถึงเวลาแล้วมันจะเกิดเองใช่ไหม นี่ความเข้าใจผิดของโลกไง บอกว่าศีล สมาธิ ปัญญา เวลาภาวนาไปแล้ว ทำสมาธิแล้วปัญญามันจะเกิดเอง”...อีก ๕๐๐ ชาติ ถ้าปัญญามันเกิดเองก็ปัญญาโลก ปัญญากิเลส ถ้าปัญญาโลกๆ ก็เหมือนกับดูสิ ความคิดเราเกิดเองใช่ไหม ความคิดเรากระทบเองก็เกิด ไม่ต้องทำอะไรมันก็เกิดปัญญานี้ แต่ปัญญานี้เป็นปัญญาโลกไง ปัญญาโลกมันก็อยู่ในโลก เพราะปัญญาอย่างนี้มันอยู่ในอำนาจของมารไง อยู่ในอำนาจของอวิชชาไง

แต่ถ้าปัญญาธรรมมันจะเกิดเองไหม ถ้าเกิดเอง เกิดเองที่เป็นอำนาจวาสนาบางครั้งก็ส้มหล่นนั่นล่ะ ส้มหล่นคือมันเกิดเอง ส้มหล่น ถ้าส้มหล่น คำว่าส้มหล่นส้มมันหล่นนะ มันปลิดจากขั้วมา มันตกดินปั๊บ แล้วมันไปไหนต่อ มันไปไหนต่อ ก็ส้มมันส้มหล่น แต่ถ้าเรานะ เราเป็นเจ้าของสวนใช่ไหม เราจะเก็บส้มใช่ไหม เราก็มีตะกร้าใช่ไหม เราก็สอยมาใช่ไหม เราก็ดึงลงมาใช่ไหม แล้วเราก็เอาส้มจากตะกร้ามาเป็นของเราใช่ไหม

นี่เหมือนกัน เวลาปัญญาที่มันจะเกิดมันมีสติ มีสมาธิ แล้วมันใช้ปัญญาไป เราเป็นคนใช้ปัญญา ปัญญาต้องฝึกฝน ถ้าปัญญามันจะเกิดเอง หลวงตาท่านพูดประจำ ถ้าปัญญามันจะเกิดเอง เราไม่ติดสมาธิ ๕ ปี เพราะสมาธินี้แน่นปึ๋ง สมาธิพร้อมทุกอย่างเลย รอปัญญามาเกิดไง นี่ไง คนที่ปฏิบัติ คนที่ความเข้าใจเอง

เราไปเจอพระมาก พระเขาบอกว่าเขาทำสมาธินะ เขานั่งสมาธิ นั่งภาวนาทั้งคืนๆ เลย เราก็แปลกใจ ทำไมเขาไม่ฝึกหัดใช้ปัญญา เราก็ไปพยายามคุยกับเขาให้ฝึกหัดใช้ปัญญา

อ้าว! ท่านนี่ภาวนาไม่เป็น อู๋ย! ปัญญามันจะเกิดเอง เหมือนกับผลมะม่วง มะม่วงมันก็ต้องเกิดเป็นเกสร เป็นดอก แล้วมันก็จะเกิดเป็นลูกมะม่วงเขาจะรอลูกมะม่วงไง ก็รอปัญญามันเกิดเอง โอ้โฮ! ถ้าความเข้าใจผิดของโลกของกิเลสมันครอบงำคิดกันอย่างนั้น

ไอ้นั่นมันมะม่วง เวลาบุคลาธิษฐานเขาเอามาเปรียบเทียบ ฉะนั้น เวลาคนคิด เวลาในพระไตรปิฎก มีพระหลายองค์ เราไปคุยมาด้วย เขาบอกว่าเดี๋ยวปัญญามันจะเกิดเอง ทำให้น้ำใสแล้วจะเห็นตัวปลามันก็มีจริงๆ ในพระไตรปิฎก น้ำใสเป็นภาษาบาลี มีบาลี น้ำใสแล้วจะเห็นตัวปลา

อ้าว! พอจิตเป็นสมาธิ พอจิตมันใสใช่ไหม ด้วยจินตนาการ พอจิตสงบลงแล้วมันสว่างมันไสว มันใสไปหมดเลย แล้วก็นั่งรอกิเลสมาชน จะจับปลา รอไปเถอะ รอไป เพราะพอมันสว่างแล้วเดี๋ยวมันก็เศร้าหมอง มันผ่องใสแล้วเดี๋ยวมันก็เสื่อม รอไปเถอะ เอ็งรอไป เดี๋ยวกิเลสมันจะวิ่งมาให้เอ็งจับ ไม่มีทาง ไม่มี ปัญญาจะเกิดเองไม่มี ปัญญาต้องฝึกฝน หลวงตาท่านบอกต้องฝึกหัดใช้ปัญญาๆ เราฝึกหัดใช้กัน เราฝึกหัดใช้

อย่างเช่นปัญญาอบรมสมาธิมันเป็นปัญญาโลก ที่โลกเขาใช้กันในปัจจุบัน ในสังคมที่ปฏิบัติ ปฏิบัติตอนนี้กำลังมีคนสนใจมาก เขามีพวกคฤหัสถ์เขาสอนปฏิบัติกัน เขาบอกว่าใช้ปัญญาของเขา ฝึกหัดใช้ปัญญากันเป็นวิปัสสนา นั่นล่ะมันของเทียมทั้งนั้นน่ะ ของเทียมคือมันเป็นสติปัฏฐาน ๔ ปลอม สติปัฏฐาน ๔ ปลอมเพราะอะไร สติปัฏฐาน ๔ เพราะเราคิดเรานึกกันขึ้นมาเอาเอง เราคิดเรานึกกันขึ้นมา เราคิดถึงเรื่องกาย เราคิดเรื่องเวทนา เราคิดเรื่องจิต เราคิดเรื่องธรรม เราคิดกันเองมันก็เป็นสติปัฏฐาน ๔ ปลอม

แต่เวลาหลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเราท่านบอกว่าทำความสงบของใจเข้ามา พุทโธๆ เข้ามา จิตมันสงบไง พอจิตสงบ จิตสงบจิตจริง จิตมีสมาธิจริงๆ จิตมีสติมีปัญญาจริงๆ แล้วพอไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง อย่างนี้ถึงเรียกว่าสติปัฏฐาน ๔ จริง วิปัสสนาจริง วิปัสสนาจริง จิตสงบแล้วเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันถึงจะเป็นวิปัสสนา

สมถกรรมฐาน เขาว่าพุทโธๆ เป็นสมถะ พุทโธไม่มีปัญญา

ทำทานยังต้องมีปัญญาเลย โยมมาทำทานกันอยู่นี่โยมไม่มีปัญญาหรือ โยมไม่เลือกหรือ ทำทานยังต้องมีปัญญาเลย รักษาศีลก็ต้องมีปัญญา ทำสมถะไม่มีปัญญามันจะสงบได้อย่างไร ทำสมถะไม่มีปัญญา ทำอีลุ่ยฉุยแฉกมันจะสงบไหม มันเป็นไปไม่ได้หรอก ทำสมถะก็ต้องใช้ปัญญา แล้วมันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ

ที่เขาใช้ปัญญากันว่าสิ่งนั้นเป็นปัญญา ปัญญาในพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาตรึกในธรรม ปัญญาตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัญญาตรึกในอริยสัจ

ตรึกในอริยสัจ ใครเป็นคนตรึกล่ะ ใครเป็นคนตรึก ก็ภพไง เพราะจิตมันตรึกไง เพราะตรึกแล้วมันหดเข้ามาๆ นั่นน่ะถ้ามันทำความเป็นจริงมันจะเป็นสมถะ เป็นสมาธิ แล้วถ้าทำจริงมันจะเป็นสัมมาสมาธิ แต่ด้วยความเข้าใจผิด เข้าใจผิดคือสมุทัย เข้าใจผิดคือมาร คือกิเลสมันหลอก พอกิเลสมันหลอกก็บอกว่านี่เป็นธรรม นี่ใช้ปัญญา นี่วิปัสสนาอันนั้นก็เลยกลายเป็นมิจฉา เป็นโลกียปัญญา

บอกว่าถ้าปัญญาจะเกิดเอง มันไม่มีหรอก ทีนี้ปัญญาที่เกิด แล้วทำอย่างไรต่อไปล่ะ

ปัญญาที่เราเกิดกันอยู่นี้มันเป็นกำปั้นทุบดิน กำปั้นทุบดินหมายถึงเป็นข้อเท็จจริง ในเมื่อเรามีสติมีปัญญา เรามีความคิด เวลาเราพุทโธๆ เราเอาความคิดทั้งหมดไปบริกรรมให้มันอยู่กับพุทโธ เรารวบรวมความคิดทั้งหมดเป็นเอกภาพไปอยู่ที่พุทโธ พุทโธๆๆ จนมันคลายตัวของมันออกมา มันคลายสิ่งที่มันเสวยออกมา มันก็เป็นธาตุรู้ ธาตุรู้มันก็เข้าไปสู่สมาธิ นี่พูดถึงพุทธานุสติ

ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ใช้ปัญญาๆ ปัญญาที่ใคร่ครวญอยู่นั่น แยกแยะอยู่นั่น นั่นเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิ หมายถึงว่า ปัญญาที่มันคิดทางโลกๆ ปัญญาที่มันคิดไปโดยกิเลส เรามีสติปัญญาแล้วน้อมมันมา คิดให้มีสติ เห็นไหม รอบรู้ในกองสังขาร สังขารคือความคิด แต่มีสติปัญญาเท่าทันมัน พอเท่าทันมัน คิดไปๆๆ คิดจนเห็นว่า เออ! มึงบ้า มึงไม่เหนื่อยบ้างเลยหรือ มึงคิดทำไม เออ! โง่ตายห่าเลย มันก็ปล่อย นี่ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้ามีสติปัญญามันเป็นอย่างนี้

นี่พูดถึงว่า ถึงเวลาที่ปัญญามันจะเกิดขึ้นเอง

เพราะคำถามมันทำให้แบบว่า โลก บอกมันเป็นวิทยาศาสตร์ มันเป็นโลกก็คิดกันตามวิทยาศาสตร์อย่างนั้น เวลาปฏิบัติ ปฏิบัติมันเป็นธรรม ปริยัติ สมมุติบัญญัติ สมมุติก็คือโลกๆ บัญญัติก็ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วปฏิบัติขึ้นไปมันเป็นความจริงขึ้นมามันอีกอย่างหนึ่ง

ฉะนั้นปัญญาจะเกิดเองใช่ไหม

ไม่ใช่ ปัญญา เวลาพุทโธ พุทธานุสติหรือปัญญาอบรมสมาธิจบลงที่สมาธิ สมาธินี่น้ำล้นแก้ว น้ำล้นฝั่ง เวลาสมาธิก็คือสมาธิ สูงส่งขนาดไหนก็สมาธิ มันก็ล้นไปของมัน ถ้าไม่มีสติปัญญาเดี๋ยวก็เสื่อม มันต้องเสื่อมของมันแน่นอน แต่เราจะฝึกหัดใช้ปัญญา ฝึกหัดใช้ปัญญา เราใช้ปัญญาของเราไป ฝึกหัดใช้ปัญญา ใช้ไปเลย ไม่ใช่บอกว่าจิตสงบแล้วค่อยใช้ปัญญา

ยืนยันว่าจิตสงบแล้วใช้ปัญญา หมายถึงว่า เป็นสมาธิจริง มันจะเป็นวิปัสสนา แต่ถ้ามันยังไม่วิปัสสนาก็ใช้ปัญญาได้ ถ้าปัญญาได้ก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ ก็ใช้ปัญญาไป ทำอย่างนี้

เขาว่าเมื่อไหร่ต้องใช้ปัญญา แล้วปัญญาจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

ปัญญาที่เกิดขึ้น ใช้ปัญญาไปได้เลย ใช้ไปเลย แต่มีสติรับผิดชอบเข้ามา แล้วมันปล่อยเข้ามา ยังมีต่อเนื่องเข้าไป ละเอียดเข้าไป

ทีนี้ถ้าเป็นโลก ใช้ปัญญาไปแล้ว พอปัญญารอบหนึ่งจบก็โสดาบัน นี่ไง ที่เขาบอกใช้ปัญญาๆ ไป เขาคิดกันอย่างนี้ พอมีปมในใจ มีประเด็นในใจ คิดให้มันจบ พอจบก็โสดาบัน พอมีประเด็นที่ ๒ คิดจบ สกิทาคามี พอคิดจบเป็นอนาคามี คิดจบเป็นพระอรหันต์ โฮ้! เวียนหัว เวลาเจออย่างนี้แล้วเวียนหัว แต่มีพระหลายกลุ่มเชื่อกันแบบนี้ แล้วปฏิบัติกันแบบนี้ แล้วก็ให้ขั้นให้ตอนกันแบบนี้

แล้วพวกเรา เราอยู่กับครูบาอาจารย์ที่ท่านบอกว่าเป็นโสดาบันอย่างนี้ สกิทาคามี อนาคามีอย่างนี้ แล้วเราพูด เขาขบปัญหาแตกแล้วเขาเป็นโสดาบัน คำว่าโสดาบันของเขา กับคำว่าโสดาบันของครูบาอาจารย์เราเป็นอันเดียวกัน คำพูดเดียวกัน เราก็เชื่อไงว่าเขาได้โสดาบัน

แต่ความจริงโสดาบันของเขานะ โสดาบันของเขาคือขบปัญหาแตกเป็นโสดาบัน อย่างนี้ถ้าเรามีอะไรในใจ เราขุ่นมัว เรามีความโกรธ เราพิจารณาความโกรธ เราปล่อย เราเป็นโสดาบันไหม ไม่เป็น เพราะอารมณ์ แค่อารมณ์ อารมณ์มันปล่อยอารมณ์เท่านั้นน่ะ มันไม่เป็นอะไรเลย แต่ของเขาว่าเป็นกัน มีหลายกลุ่มมากที่คิดกันแบบนั้น ถ้าคิดกันแบบนั้น พอเอามาพิจารณามันก็รู้ได้ ถ้าคนภาวนาเป็นมันแยกได้หมดเลย มันเข้าใจได้หมดเลย แต่คนไม่ภาวนาเข้าใจไม่ได้ เข้าใจวิธีการไม่ได้ก็ไปสรุปเอาที่คำพูดไง สรุปเอาที่ตำแหน่งไง โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี แล้วโสดาบันของใครก็ไม่รู้ โสดาบันอย่างไรก็ไม่รู้ เอ๊ะ! เป็นโสดาบันได้อย่างไรวะ เอ๊ะ! เป็นโสดาบันตอบอะไรไม่ได้ อ้าว! เป็นโสดาบันก็ตอบมาสิ

อ้าว! โยมนั่งรถมา มาจากกรุงเทพฯ มาจากสระบุรี มาจากระยอง มาจากจันท์ฯ อ้าว! มาจากไหนล่ะ มาถนนอะไรล่ะ ตอบได้สิ

ไอ้นี่มานั่งอยู่นี่บอกว่ามาจากระยอง

มาอย่างไร

ไม่รู้ ไม่รู้

อ้าว! มาจากสระบุรีมาอย่างไร

ไม่รู้

นี่ปัญญาจะเกิดเอง

แต่ถ้าปัญญามันจะเกิดนะ เรามีสติมีปัญญา เราเข้าใจของเราได้ เราพิจารณาของเราได้ นี่พูดถึงปัญญาที่มันเกิดเองไม่มี แต่นี้ปัญญาที่เกิดเองไม่มี แล้วที่บอกให้ใช้ปัญญา ปัญญาอย่างไรล่ะ

มันก็บอกว่าเริ่มต้นเด็กอนุบาล เริ่มต้นจากทารก เด็กทารก ดูสิ ผู้ใหญ่คนไหนบ้างที่ไปเอาจริงเอาจังกับเด็กทารก จะเอาเป็นเอาตายกับเด็กทารก เด็กทารกไร้เดียงสา เขาก็รู้เห็นจินตนาการของเขา เราก็เลี้ยงดูเขามา ฝึกหัดใหม่ก็เหมือนเด็กทารก จะใช้ปัญญาอย่างไรก็ไม่เป็น มาเถอะ ขึ้นมาก่อน แต่พอเราโตขึ้นมา อายุบรรลุนิติภาวะ ทำสิ่งใดผิดกฎหมายหมดนะ เด็กต่ำกว่าอายุ ๑๘ ปี กฎหมายยกเว้น ต่ำกว่า ๑๐ ปีลงไปทำความผิดถือว่าไม่ผิด กฎหมายเขายังไม่บังคับใช้กับเด็กทารกเลย เด็กทารกทำอะไรผิด กฎหมายยกเว้นนะ แต่เขาก็ต้องควบคุมดูแล แต่กฎหมายยกเว้นในการลงโทษ

แล้วนี่เราฝึกหัดใหม่ เราปฏิบัติใหม่ จะฆ่ากันเลยหรือ จะฆ่าทิ้งเลยหรือ ทำผิดก็ไม่ได้เลยหรือ ผิดก็ไม่เป็นไร เริ่มต้นฝึกหัด ปฏิบัติเถอะ ทำให้จิตมันสงบ พยายามขวนขวายกัน ทำกันให้มันจริงขึ้นมา แต่ถ้าจะเอามรรคเอาผลนั่นแหละกฎหมายบังคับแล้ว จะเข้าสู่อริยสัจแล้ว ถ้าเข้าสู่อริยสัจอันนั้นน่ะความจริง อ้าว! บรรลุนิติภาวะ ปฏิเสธกฎหมายไม่ได้ ทำผิดก็ต้องคือผิด นี่เหมือนกัน ถ้าลองยกขึ้นวิปัสสนา ถูกผิดมันตามหลักแล้ว

เวลาบอกที่ว่าปัญญามันเป็นโลกียะๆ ทุกคนจะเบื่อมากนะ หลวงพ่อพูดซ้ำๆ ซากๆ น่าเบื่อหน่ายมาก แต่คำถามก็ถามทุกวัน ถามมาทุกวัน

ฉะนั้นว่าปัญญาจะเกิดเอง ถ้าปัญญาเกิดเองไม่มี ถ้าปัญญาเกิดเองมันเป็นปัญญาโลกๆ โดยสามัญสำนึกของเรามันมีปัญญา ถ้าปัญญาอย่างนี้ปัญญาโลก โลกียปัญญา ถ้าทำที่สุดของมันสงบเข้ามา แล้วถ้าสงบแล้วจะใช้ปัญญา นั้นจะเป็นโลกุตตรปัญญา ภาวนามยปัญญา

โลกุตตรปัญญา ภาวนามยปัญญาเป็นปัญญาที่ฆ่ากิเลส โลกียปัญญาเป็นปัญญาของกิเลส โลกียปัญญา ปัญญากิเลสพาใช้

แล้วกิเลสพาใช้แล้วให้คิดทำไม

กิเลสพาใช้ เพราะกิเลสพาใช้จะถากถางตัวมัน จะเข้าสู่ความสงบ เพราะมันก็ต้องใช้ปัญญา จะโค่นต้นไผ่ ต้องใช้ไม้ที่ทำจากด้ามไม้ไผ่ จะโค่นต้นไผ่ต้องใช้มีดที่ด้ามมันทำจากด้ามไม้ไผ่ จะทำให้จิตสงบก็ต้องอาศัยจิตทำให้ตัวมันสงบเข้ามา นี่ไง จะให้จิตสงบก็ต้องเอาความรู้สึกนึกคิดในจิตทำให้มันสงบเข้ามา แล้วทำอย่างไรต่อล่ะ

สงบนี่เป็นเรื่องโลกๆ ไง จะโค่นต้นไผ่ก็ต้องใช้มีดที่ด้ามทำจากไม้ไผ่ อ้าว! ความคิดเรามันทำให้เราทุกข์เรายาก ฉะนั้น เราทำของเราขึ้นมา

. การระงับความโกรธ ความลุ่มหลง หรือสิ่งกระทบในขณะที่ไม่ได้ภาวนาถือว่าเป็นการใช้ปัญญาหรือเปล่าครับ

เออ! อันนี้นะการระงับความโกรธ ความลุ่มหลงที่การกระทบในขณะที่ไม่ได้ภาวนา ถือว่าเป็นปัญญาหรือเปล่าครับอย่างนี้ถ้าบอกไม่ใช่ปัญญามันก็เป็นปัญญา ก็เรามีความโกรธ เรามีความลุ่มหลงอยู่ แล้วเรามีสติเท่าทันเรา มันเป็นปัญญาหรือเปล่าครับ ก็เป็นน่ะ เป็น เป็นปัญญา เป็น แต่ก็เป็นปัญญาปุถุชนไง นี่ไง โลกียปัญญา

มันเป็นปัญญาหรือเปล่า เป็น แล้วปัญญาอย่างนี้ฆ่ากิเลสหรือเปล่า ถ้าฆ่าแล้วทำไมผมคิดแล้วเดี๋ยวมันก็คิดอีกล่ะครับ พอผมคิดแล้วมันก็หยุดครับ เดี๋ยวผมก็คิดอีกครับ แล้วมันคิดไปๆๆ เพราะคิดไม่ทันล่ะครับ เดี๋ยวมันก็ลากผมไปครับ เพราะบางคนก็คิดได้พักหนึ่ง พอเดี๋ยวก็เหลวไหลอีกแล้ว อ้าว! นี่ไง โลกียปัญญาเป็นอย่างนี้ ปัญญาที่เกิดกับเรา ปัญญาที่เชาวน์ปัญญา เราคิดเท่าทันตัวเราไหม เท่าทัน แต่ถ้าสติมันดีก็ทัน แต่ถ้ากระทบ หรือว่าจิตใจเราอ่อนแอ พอมันกระทบมันไม่ทันหรอก แต่คิดได้ก็ดีแล้ว คิดได้ก็ดีแล้ว

ขณะที่ระงับความโกรธ ความลุ่มหลง สิ่งกระทบในขณะที่ไม่ได้ภาวนา

คือชีวิตปกติ ชีวิตปกติถ้ามีสติปัญญา เราก็ต้องฝึกหัด การฝึกหัดนะ การฝึกหัดการปฏิบัติของเรา เวลามันกระทบสิ่งใดมันจะมีสติยับยั้งไว้อย่างนี้ มันดีกว่าการไม่ฝึกหัด เวลาการไม่ฝึกหัดเลย เวลากระทบไม่รู้ตัว ทำเสร็จแล้วค่อยเสียใจ คนที่ไม่มีสติปัญญาทำเสร็จแล้ว แล้วเสียใจทุกทีเลย ไม่น่าเลย ไม่น่าเลย แต่ทำไปแล้ว

แต่ถ้าคนมีสตินะ มันรู้ตัว มันใช้ปัญญา เวลาโกรธ เวลาลุ่มหลง มีอะไรกระทบ ใช้ปัญญา ใช้ปัญญามันก็เป็นประโยชน์กับเรา มันทันน่ะ พอมันทันขึ้นมามันก็ยับยั้งได้ ถ้ามีสติปัญญามันยับยั้งได้ นี่มันเป็นปัญญา เหมือนกับมารยาทสังคม ใครมีมารยาท ใครฝึกหัดได้ เขามีมารยาทผู้ดี เขาไม่ระรานใคร ไอ้นักเลงหัวไม้ก็เที่ยวระรานเขาไปทั่ว ถ้ามีสติปัญญามันก็ไม่ระรานใคร ก็เป็นคนดีคนหนึ่ง ฉะนั้น เป็นคนดีไหม ดี แต่ฆ่ากิเลสไหม ยังไม่ได้ทำอะไรเลย แต่ถ้าทำอะไรก็ทำให้สงบเข้ามา นี่พูดถึงการภาวนาไง

มันเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นมา มันมีภาคปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ปริยัติคือการศึกษาเป็นสังคม มารยาทสังคมกัน ถ้าปฏิบัติ พอปฏิบัติขึ้นมาจะแรงก็ไม่ได้นะ เวลาจะอดอาหารบอกไม่ได้นะ มันอัตตกิลมถานุโยค เวลาปฏิบัติแล้วมันร้อยแปดเลยที่เราจะใช้วิธีการที่เอาชนะตัวเอง ถ้าปฏิบัติแล้ว ถ้ามันสมบูรณ์ของมัน เต็มตัวของมัน มันก็เป็นปฏิเวธ มันเข้าใจของมันตามความเป็นจริง

. เวลาผมเจอผู้หญิงสวย รูปร่างดี มันก็จะจดจำ แล้วผมใช้วิธีจินตนาการลอกหนังนั้น พอเป็นแนวทางที่ถูกต้องหรือเปล่าครับ

เป็น ถ้าลอกได้ ถ้าลอกได้ขึ้นมา เป็น ถ้ามีสติปัญญามันลอกได้ มันลอกหนังได้นะ แต่ถ้าสติมันอ่อนนะ มันลอกไม่ออก ยิ่งลอกยิ่งสวย ยิ่งลอกยิ่งอยากไปหาเขา นี่จิตมีขึ้นมีลง ถ้าจิตมันมีกำลัง โอ้โฮ! มันลอกได้นะ โอ้โฮ! ฉันทำได้ ฉันดี ฉันยอด แต่เวลาจิตมันเสื่อมนะ เอ๊ะ! ลอกไปลอกมา เราลอกมันไม่ดีเนาะ สวยๆ อย่างนั้นดีกว่า โธ่! กิเลสมันออกลูกอย่างนี้ อย่างนั้นดีกว่า ยิ่งเขาสวยๆ ยิ่งชอบใหญ่เลย มันเข้ากันไง

เราจะบอกว่าโดยสามัญสำนึกคนเป็นแบบนี้ แล้วเราเอาสามัญสำนึกมาแบ่งกันเองว่าอันนี้เป็นกิเลส อันนี้เป็นธรรม ถ้าคิดดีก็เป็นธรรม คิดไม่ดีก็เป็นกิเลส มันก็ใช่ มันก็ใช่เพราะอะไร เพราะว่าทารก ใช่เพราะเด็กนี้กฎหมายยังไม่บังคับใช้มัน ถ้ากฎหมายบังคับใช้ ยกขึ้นวิปัสสนาถึงบังคับใช้ เข้าสู่บุคคล ๔ คู่ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล แต่ถ้ายังไม่ยกเข้าบุคคล ๔ คู่ ต่ำกว่าสังฆะ ต่ำกว่าสาวกสาวกะ ถ้าต่ำไปมันก็เป็นแบบนี้

ฉะนั้นว่าทำอย่างนี้ถูกต้องไหม ถูก วิธีการเริ่มต้นเขาทำกันมาแบบนี้ แต่ทำไปแล้วมันเจริญขึ้นไปมากน้อยแค่ไหน ทำไปแล้วเรารักษา วุฒิภาวะ รักษาใจเราได้มั่นคงแค่ไหน ถ้ามันมั่นคงขึ้นไปนะ แล้วทำต่อไป ส่วนใหญ่แล้ว ดูสิ เวลาน้ำมา ยกของหนีน้ำกัน เราขนของหนีน้ำกันหมดเลย เวลาน้ำลง ขนลง เบื่อเลย

นี่ก็เหมือนกัน จิตเวลาขึ้นมา ดีขึ้นมา อู๋ย! ดีไปหมดเลย เห็นผู้หญิงสวยๆ มา ผมลอกได้หมดเลย เวลาน้ำลงนะ มันไปคาอยู่นั่นน่ะ พอจิตมันเสื่อมไง นี่มันมีเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ แต่ถ้าเราเป็นเรือนแพล่ะ น้ำมาก็ขึ้นตามน้ำ น้ำลงก็ลงตามน้ำ มันชำนาญกว่ากัน

เราจะบอกว่า อย่างนี้ถูกไหม ถูก แล้วถูกแล้วก็เลยตีแปลงเลยอ้าว! หลวงพ่อว่าถูกแล้ว อย่างนี้ถูกต้อง

ถูก หมายถึงว่า เรามีสติมีปัญญาอย่างนี้ เรามีสามัญสำนึกอย่างนี้ เราเอามาใช้ฝึกหัดใจอย่างนี้ มันเป็นการริเริ่มที่ดี แต่เวลาปฏิบัติไปนะ มันละเอียดกว่านี้ขึ้นไปไง มันจะผิดต่อเมื่อถ้ามันเป็นมรรคละเอียด ถ้าหยาบๆ มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด คือความคิดหยาบๆ ว่าดีๆ มันละเอียดไปไม่ได้ แต่ถ้าพอมันละเอียดไป อ้าว! มรรคหยาบนั่นไม่ใช่แล้ว มันอยู่ที่ละเอียดกว่าแล้ว แล้วไหนว่าที่หยาบๆ มันถูกล่ะ

อ้าว! ก็ถูกตอนนั้นไง ถูกตอนที่เราฝึกหัดไง ดูนักกีฬาสิ เวลาลงซ้อมถูกไหม ก็ถูก มันซ้อมอยู่ เวลาลงแข่ง เฮ้ย! ลงแข่งมึงเหยาะแหยะอย่างนี้ไม่ได้นะ เวลาแข่งต้องเอาจริงนะ มันถูกตอนไหนล่ะ มันถูกตอนไหน

แต่เวลาถ้ามันละเอียดขึ้นไป ไอ้สิ่งที่ทำมามันเป็นอุบาย เราคิดได้อย่างนี้เราก็มีอุบายเพื่อจะเอาชนะใจเรา ไม่ให้ใจเราหลงใหลไปสิ่งที่เรารู้เราเห็น อย่างนี้มันก็เป็นอุบายวิธีการที่เราจะเอามาต่อรองชนะใจเรา ถูก ถูกตอนนั้น แต่ถ้าจิตมันสงบแล้วนะ เดี๋ยวมันรู้ ไปเห็นกายไม่เป็นอย่างนี้หรอก โอ้โฮ! เวลาจิตเห็นกายก็ต้องไปเห็นผู้หญิงก่อนแล้วค่อยเห็นกายใช่ไหม ต้องเห็นรูปสวยๆ มานะ แล้วจะไปเห็น...ไม่ใช่

เวลาจิตมันเห็นกายขึ้นมามันเห็นจากภายใน สติปัฏฐาน ๔ ไง สติปัฏฐาน ๔ จริง สติปัฏฐาน ๔ ปลอม สติปัฏฐาน ๔ ปลอมนึกภาพเอา สติปัฏฐาน ๔ จริง จิตมันรู้เห็นจริงๆ จิตมันจริง เหมือนกับผู้ต้องหา เอาขึ้นศาลแล้วศาลนั่งบัลลังก์ อยู่ในคอก มันเป็นจริง มันจะติดคุกหรือมันจะพ้นจากคุก มันเป็นจริง ถ้าจิตมันมีจริง มันเห็นจริง เห็นกายมันจะเห็นอย่างนั้น ไม่ใช่เห็นผู้หญิงสวยๆ โอ้โฮ! อย่างนั้นเดี๋ยวให้ช่างภาพมันเขียนให้สวยกว่านี้อีก แล้วก็ว่าฉันมีเลย นี่ไง อสุภะไง หนังสืออสุภะนั่นน่ะ แต่มันเป็นอสุภะจริงหรือเปล่าล่ะ

อันนี้บอกว่าถูก แต่ถูกแบบทารก ถูกแบบเด็กๆ เนาะ แล้วเราค่อยทำไป เพราะเขาติมากเลยว่าหลวงพ่อสับสน เดี๋ยวก็ถูก เดี๋ยวก็ผิด

ก็คนถามวุฒิภาวะเหมือนเด็กน้อย กับผู้ใหญ่ กับผู้ที่เขานักวิชาการมันแตกต่างกัน นักวิชาการเขาพูดกันคำเดียว พระปฏิบัติเขาพูดคำเดียว คำเดียวพอ แต่นี้มันมีแต่นักปราชญ์ทั้งนั้นเลย จะต้องอธิบายกันยืดเยื้อ

. ทุกวันนี้เวลาเจอเรื่องอะไรมักจะมองเห็นภาพในใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น เช่น หากทำไม่ดีก็จะเกิดเรื่องราวเป็นอย่างไร ถ้าทำดีจะเกิดเรื่องราวเป็นอย่างไร อย่างนี้เรียกว่าสติใช่ไหมครับ

ใช่ มีสติ มีสัมปชัญญะ มีสติคือรู้ สัมปชัญญะคือรอบรู้ รู้เท่าทันอารมณ์ ถ้ามีสติมันยับยั้ง สัมปชัญญะมันรู้อย่างนี้ ถ้าไม่ดีทำไปจะเกิดอย่างนี้ ถ้าดีทำไปจะเกิดอย่างนี้ ฝึกหัดไป

ถ้าพูดถึงผลของการฝึกหัดภาวนา การชนะคนนะ ชนะกองทัพ ชนะใครก็แล้วแต่ ออกรบทัพจับศึกชนะคูณด้วยร้อยด้วยพัน สร้างเวรสร้างกรรม แต่ชนะใจตัวเอง ชนะใจตัวเองว่าถ้าคิดไม่ดี ทำไปแล้วมันจะเกิดเรื่องราวสิ่งใด ถ้าคิดดีทำดีไปมันจะเกิดเรื่องราวสิ่งใด เห็นไหม ชนะตนเองประเสริฐที่สุด ชนะคนอื่นคูณด้วยล้าน สร้างเวรสร้างกรรม ไม่มีประโยชน์สิ่งใดเลย ชนะใจตัวเองประเสริฐที่สุด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนที่นี่ สอนให้ชนะใจตัวเอง ฉะนั้น ถ้ามีสติสัมปชัญญะอย่างนี้ รู้เท่ารู้ทันจิตของตัวเอง มันก็เป็นคนดีขึ้นมาแล้ว ดีขึ้นมา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัยนี้ไว้ แล้วชาวพุทธ พระพุทธศาสนาในประเทศไทยเรามีพระสงฆ์ นักปฏิบัติเยอะมาก ฉะนั้น ถ้านักปฏิบัติเยอะมาก ใครที่ปฏิบัติได้ผลอย่างนี้แสดงว่าคุณสมบัติไง คุณสมบัติของธรรมยังมีคุณสมบัติ ยังให้ผลอยู่ ถ้าให้ผลอยู่ เราปฏิบัติของเรา ถ้าเห็นผลอย่างนี้ ได้ประโยชน์อย่างนี้

ฉะนั้น สิ่งที่ทำไป ตอบ ตอบอันแรกบอกว่าการใช้ปัญญาให้ถูกเวลา ถูกอย่างใด

การใช้ปัญญาให้ถูกคือว่าเราใช้ของเราเอง เราใช้ของเราเองเป็นประโยชน์ในปัจจุบันของเราเองจะเกิดประโยชน์กับเรา แต่เราจะใช้ปัญญา ใช้ปัญญาแต่เราไปเทียบเคียงเอาปัญญาคนนู้น เอาปัญญาคนนี้ มันไปยืมมา ไปกู้มา ไปทำอะไรมามันชักช้า ฉะนั้น มันเลยไม่ถูกจังหวะ ไม่ถูกเวลา เราก็เลยไม่ได้ผล ค่อยๆ ฝึกหัดไป ค่อยๆ ใช้ไป พอเดี๋ยวมันเกิดกับเราปัจจุบันเราจะเข้าใจเลย อ๋อ! อ๋อ! เลย ถึงหนองอ้อ อ๋อ! จบ

ถ้ายังไม่อ๋อ! หลวงพ่อ หลวงพ่อเลยนะ แต่ถ้าอ๋อ! แล้วนะ หลวงพ่ออย่ายุ่งนะ หลวงพ่อยุ่งมากเลย อยากจะอยู่คนเดียว อยากปฏิบัติ ถ้าถึงอ๋อ! ถ้าไม่อ๋อ! ก็เป็นอย่างนี้ เดี๋ยวเขียนมาอีก อันนี้จบนะ

หลวงพ่อ : คำถามเรื่องสับสนคำว่าสับสนของเขา อธิบายเขียนมาเป็นเรื่องส่วนตัว

ถาม : คำถามที่ถามนั้นดิฉันรู้คำตอบอยู่แล้ว แต่ด้วยกิเลสในใจทำให้ทำใจยอมรับไม่ได้ จึงอยากให้หลวงพ่อแนะนำคำสั่งสอนให้หายรุ่มร้อนด้วย เพราะดิฉันยังปฏิบัติไม่ถึงไหนเลย และเคยถามผู้หยั่งรู้ผู้หนึ่งว่า ดิฉันจะสำเร็จมรรคผลตามที่ต้องการหรือไม่

เขาตอบว่า ดิฉันกับสามีเป็นได้เพียงแค่หมาสองตัววิ่งเล่นกันอยู่เท่านั้น

คำถามคือกรรมใดๆ ที่บิดามารดาทำกับเรา แม้ว่าจะไม่ยุติธรรมกับเรา ทำให้เราต้องปวดใจจนวันตาย ทุกข์ทรมาน จนส่งผลถึงลูกเรานั้น เราก็ต้องยอมรับใช่หรือไม่ เราจะหลุดพ้นจากความรู้สึกที่คิดไม่ดีต่อพ่อแม่ได้อย่างไร

ตอบ : นี่พูดถึงคำถามเนาะ คำถาม เห็นไหม คำว่าพ่อแม่พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูกมันก็จบแล้ว มันก็จบแล้ว สิ่งที่ทำมาๆ เราคิดของเราเองทั้งนั้นน่ะ ที่ว่ามีความเจ็บปวดต่างๆ อันนี้มันเป็นความคิดของเรา เราจะย้อนกลับไปที่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ให้ถือมงคลตื่นข่าว

ไอ้นี่มันถือมงคลตื่นข่าว ถ้ามงคลตื่นข่าว เรื่องเวรเรื่องกรรมใครจะไม่มี เวลาพระเจ้าพิมพิสารกับอชาตศัตรู พระเจ้าพิมพิสารเป็นพ่อนะ เวลาเกิดอชาตศัตรูขึ้นมาเขาสั่งให้ฆ่าทิ้งทั้งนั้นน่ะ บอกว่าเอาไว้จะฆ่าพ่อๆ พระเจ้าพิมพิสารก็พยายามดัดแปลง พยายามแก้เคล็ดมาตลอด สุดท้ายแล้วอชาตศัตรูก็ฆ่าพ่อวันยังค่ำ ดูสิ พ่อเขาให้มาอย่างนั้น แล้วเวลาพ่อฆ่าลูกล่ะ ดูสิ พ่อแม่ในสมัยปัจจุบันนี้เวลาลูกเกิดขึ้นมาก็เอาไปทิ้งกัน ไอ้นั่นเป็นเรื่องของเขา ฉะนั้น คำว่ามงคลตื่นข่าวไอ้นั่นมันเป็นเรื่องเวรเรื่องกรรมไง แต่ถ้าเรื่องของเรานะ เรารักษาใจของเรา

ย้อนกลับไปว่าดิฉันเคยไปหาผู้หยั่งรู้ผู้หนึ่ง

เพราะเราไปคิดกันอย่างนี้ เราไปหาผู้หยั่งรู้ ผู้หยั่งรู้ว่าเราจะสำเร็จมรรคผลหรือไม่ เขาบอกสามีภรรยาเป็นแค่หมาสองตัววิ่งเล่นกันอยู่

ถ้าพูดอย่างนี้แล้วเราก็มาพิสูจน์ความจริงกันสิว่าเราสองคนกับสามีเป็นหมาวิ่งเล่นกันอยู่หรือเปล่าล่ะ ถ้าเราไม่เป็นหมาวิ่งเล่นกันอยู่ เรามีสติมีปัญญา เราตั้งใจของเรา เราจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร ถ้าเรามีความเพียร เรามีความวิริยะ ความอุตสาหะ เราไม่ไปตื่นกระแสโลก

นี่ไปตื่นกระแสโลกไง รอบข้างคนนั้นก็ว่าไม่ดี คนนี้ก็ว่าไม่ดี จะเอาใจคนอื่นน่ะ โยมต้องหาเงินไว้แสนล้าน แล้วไปแจกมันคนละล้าน แล้วให้มันชมว่าเป็นคนดี ลองแจกมันสิ บอกคนละล้านแล้วมึงชมกูนะว่าดี มันชมตอนให้เงินมันน่ะ เวลาให้เงินไปแล้วมันชมอีกไหม

เราไปวิตกกังวลกันว่าสังคมเขาจะเชื่อเราไม่เชื่อเรา สังคมจะดีหรือไม่ดี สังคม เราไปเชื่อสังคม มงคลตื่นข่าว สังคมจะมีความสุขความทุกข์กับโยมไหมล่ะ สังคมมันเกิดขึ้นจากใคร เกิดขึ้นจากมนุษย์รวมกันขึ้นมา ถ้ามนุษย์รวมกันขึ้นมา สังคมก็คือสังคม โลกธรรม ๘ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ สรรเสริญนินทา มันมีสรรเสริญนินทาอยู่แล้ว จะไม่ให้คนติไม่ให้คนเตียน ไม่ให้คนมองหน้าเลย ไปถึง เดินมาปั๊บ ทุกคนต้องเหลียวหน้า ก้มหน้าหมดเลย ให้เราเดินไปคนเดียว โลกนี้มีที่ไหน โลกนี้มันไม่มีอยู่แล้ว เราต้องกลับมาแก้ที่เรา

ไปดูสิ ไปเดินตามห้างสรรพสินค้าสิ เขาเบียดกัน อู้ฮู! เบียดกันจนไม่มีทางไป นี่ก็เหมือนกัน ชีวิตของเรา เราอยู่กับสังคม ในเมื่อสังคมที่คนมันแน่นหนาอย่างนั้น เดินไปมันมีการอึดอัดอย่างนั้น เราก็อยู่อย่างนั้น เราก็แยกออกไปสิ ไปอยู่ตามไร่ตามนาไม่มีคนสิ เวลาเราจะปลอดโปร่งเราก็ทำอย่างนั้น คือเราบังคับใจเราได้หมดแหละ

ดูสิ ถ้าพูดถึงว่าเราชนะใจเราได้ ทุกอย่างจบหมด ทีนี้เราชนะใจเราไม่ได้เราก็ไปเที่ยวโทษคนนู้นคนนี้ โทษเขาไปหมดเลย โทษเขาไปหมด เราก็ย้อนกลับมา ย้อนกลับมาจิตวิทยาแล้ว จิตวิทยา คำถามคือว่าเมื่อบิดามารดาเคยไม่มีความยุติธรรมกับเราไว้

อ้าว! มันเป็นจิตวิทยา จิตวิทยาว่าคนถ้ามีความรู้สึกอย่างนี้เพราะเกิดจากการเลี้ยงดูมา เด็ก ดูสิ ถ้าเด็กที่มีปัญหาพ่อแม่เลี้ยงดูมา อันนี้ทางจิตวิทยานะ แต่ย้อนกลับไปว่าเวรกรรมที่ข้ามภพข้ามชาติมาล่ะ ใครทำใครมา ใครทำใครมา มันมาชาตินี้ปัจจุบันนี้ใช่ไหมว่าเราเกิดเป็นลูกเป็นหลานกันก็แค่ชาตินี้ เราเกิดมา แม่เราก็ไม่จริงจังกับเรา แค่นี้ แล้วก่อนหน้านั้นล่ะ แล้วก่อนหน้านั้นล่ะ

นี่ไง คิดแบบโลก คิดแบบวิทยาศาสตร์ ก็มีเท่านี้ ก็เห็นกันเท่านี้ไง เราพ่อแม่ลูกกัน ทีนี้ทางจิตวิทยาเขาจะแก้ไข ธรรมดาอำนาจรัฐ การปกครองของรัฐ ถ้าอำนาจรัฐเขาก็พยายามพัฒนาของเขาใช่ไหม เขาทำวิจัยกัน เขาวิจัยกันได้แค่นี้ไง วิจัยกันได้ว่า เด็กถ้าเราเลี้ยงดูมาดีต่างๆ เด็กมันจะไม่เป็นปัญหาสังคม เด็กถ้าเราเลี้ยงมาโดยมีปมของมัน มันจะประชดสังคม มันจะทำลายสังคม อันนั้นก็มีส่วนทางวิทยาศาสตร์ แต่ถ้าทางธรรมล่ะ ทางธรรมมันมีเวรมีกรรมต่อเนื่องกันมา ถ้ามีเวรกรรมต่อเนื่องกันมา ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกว่า เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร

นี่ก็เหมือนกัน พ่อแม่เราทำกับเรามาแล้ว ตอนนี้เรามีลูกแล้ว เราจะดูแลลูกของเรา สิ่งที่ชีวิตของเรามันมีปัญหามา พ่อแม่ทำกับเรามา แล้วตอนนี้ก็มาอยู่กับเรา แล้วเราก็จะถ่ายทอดไปถึงลูก แล้วลูกเราก็จะมีปัญหาอะไรกับเรา

โอ้โฮ! พ่อแม่ทำมากับเรานะ เราไปถ่ายให้ลูกอีกหรือ พ่อแม่ทำมากับเราก็จบ เวรกรรมระหว่างเรากับพ่อแม่ แล้วเวรกรรมระหว่างเรากับลูก ถ้าเวรกรรมระหว่างเรากับลูก เราทำดีกับเขา ถึงเขาจะทำให้เราเจ็บช้ำน้ำใจขนาดไหน ทำดีกับเขาไปเรื่อยๆ ทำดีเท่าที่เราจะทำดีได้ เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร เรามีเวรมีกรรมต่อกันก็เอาไป เอาไปให้หมด ยอมเสียสละต่อกัน

เราธุดงค์อยู่ในป่านะ เวลามันไปเจอสัตว์ร้าย ถ้าเป็นธรรมดา เพราะเราศึกษามาก่อนกับครูบาอาจารย์ ท่านบอกอยู่ในป่าถ้าเจอสัตว์ร้ายอย่าวิ่งหนีนะ ถ้าวิ่งหนีไปจะมีอันตรายมาก ถ้าคนตกใจแล้ววิ่งหนี มันอาจจะไปตกเหวตกบ่อได้ในป่า ฉะนั้น ถ้าอยู่ในป่า ถ้าเจอ เราเคยปรึกษาครูบาอาจารย์มา

ฉะนั้น เวลาไปอยู่ในป่านะ เราไปเจอเสือเจอสาง เจอมาเยอะแยะ ไม่ใช่เจอที่เราไปคนเดียวนะ เราไปมีพระเป็นพรรคพวกเข้าไปเห็นด้วยกัน เวลาเสืออย่างนี้ เรานั่งเฉยเลย ถ้ามีเวรมีกรรมต่อกัน เชิญ ตามสบายเลย แต่ถ้าไม่มีเวรกรรมต่อกันนะ ให้คลาดแคล้วกัน

ไม่มี เสือไม่เข้ามา เฉียดไปเฉียดมา ไม่เข้ามาใกล้

ช้างอย่างนี้ นั่งขวางเลย ถ้ามีเวรกรรมต่อกัน เชิญ ยอมตาย แต่ถ้าไม่มีเวรกรรมต่อกันนะ ให้คลาดแคล้วกันไป

มาขี้อยู่ข้างๆ มาขี้อย่างนี้แล้วก็ออกไป แต่เราไม่เห็นนะ เราหลับตาอยู่ กลัว ลืมตาแล้วถึงเห็น ลืมตาถึงเห็นกองขี้อยู่ แต่ตอนมันเข้ามาไม่เห็นหรอก

เราก็เชื่อมั่นของเราอย่างนี้ เพราะเราศึกษาจากครูบาอาจารย์มา เราเชื่อมั่นในศีลของเรา เราเชื่อมั่นในคุณงามความดีของเรา แล้วอย่างนี้ประชดชีวิตไหม ไปให้มันเหยียบตายในป่าเสียไปเปล่าๆ เลย ชีวิตนี้ให้ช้างเหยียบตายไปเลย

เราไม่ตีโพยตีพายไปกับใครไง เราไม่เอาชีวิตเราชีวิตหนึ่งแล้วไปเหนี่ยวรั้งสังคมทั้งหมดเลย แล้วก็ต้องทำอย่างฉัน ต้องทำอย่างฉัน ต้องทำอย่างฉัน”...จะบ้าหรือ เอ็งมีอำนาจอะไรเหนือเขา เขาก็เป็นเขา เราก็เป็นเรา เราก็มีเวรมีกรรมอยู่ ก็ทุกข์อยู่นี่ ก็จะมาแก้อยู่นี่

นี่ก็เหมือนกัน พ่อแม่ทำกับฉัน พ่อแม่ทำกับเรามันถึงมีวันนี้ ทุกข์ทรมาน แล้วตอนนี้เราส่งไปถึงลูก เราจะทำอย่างไร

ถ้าพูดอย่างนี้แล้ว เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ถ้าพ่อแม่ยังอยู่ พ่อแม่ก็ยังอยู่กับเรา ถ้าพ่อแม่เสียไปแล้วเราก็ทำบุญกุศลอุทิศให้ท่านไป พ่อแม่ก็คือพ่อแม่ เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ถ้าเอาชนะใจตนได้ ชนะคนทั้ง ๓ โลกธาตุ

แพ้ใจตัวเองยังไปโกรธแค้นพ่อแม่อีก แพ้ใจตัวเองยังไปคิดถึงพ่อแม่ คิดถึงลูก ถ้าชนะใจตัวเอง พ่อแม่ให้ชีวิตนี้มามีคุณค่า ลูกของเรา สายเลือดของเรา เรารักปรารถนาของเรา ถ้าใจคิดบวก ใจคิดดีจะมีความสุขในใจ แล้วคนรอบข้างก็อบอุ่น

คิดลบ เผาลนใจตัวเอง คิดลบ เผาใจตัวเอง พ่อแม่ก็เดือดร้อนเพราะพ่อแม่อยากให้ลูกคิดดี อยากให้ลูกมีความสุข ลูกของเราเอง แม่ แม่มีแต่ความทุกข์ แม่มีแต่หน้าเศร้า แม่มีแต่ความบีบคั้นใจ ลูกมันเห็นแม่ ลูกมันก็ไม่สบายใจ แล้วเราบอกเราจะไปถ่ายให้ลูกอีก

สิ่งใดที่เกิดขึ้นมา เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร หลวงตาท่านสอนว่าให้ดูใจเรา ให้ดูใจเรา ใจของเขา เราจะไปบริหารจัดการไม่ได้ ใจของเรา เรามีสติ เรามีโอกาสบริหารใจของเราได้ ใจของเรา เราบริหารได้ด้วยสติ ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ฉะนั้น เพราะใจของเราบริหารได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงสอนให้เราบริหารใจของเรา เราดูแลใจของเรา อย่าไปถือมงคลตื่นข่าว

อย่างนี้เขาเรียกว่ามงคลตื่นข่าว คือไม่เชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือถือมงคลตื่นข่าว ถือมงคลตื่นข่าว ต้องให้สังคม ให้คนอื่นยอมรับนับถือเรา นั้นไปถือมงคลตื่นข่าวแบบนักการเมือง ทำการเมืองใช้เงินมาก ทำการเมืองต้องใช้เงินแจก ทำการเมืองต้องใช้เงินไปสร้างสาธารณูปโภคให้คนยอมรับว่าเราดี การทำการเมือง เขาเรียกทำการเมืองต้องใช้ทุนมาก แล้วพยายามทำเป็นคนดีๆ ให้เขายอมรับ จะทำการเมืองไง แต่ถ้าจะทำธรรม ไม่ต้องทำสิ่งใด ปฏิบัติตัวเราดี ทำตัวเราให้ดี รักษาใจเราให้ดี

ฉะนั้น เวลาถือมงคลตื่นข่าวนี่ไปทำการเมืองกันแล้วก็ไปหวังผลที่นั่น ทำไมไม่ย้อนกลับมาดูใจของตัวล่ะ ทุกข์หรือสุขล่ะ ถ้าทุกข์หรือสุข สิ่งที่เราเกิดมาเราต้องลำบากลำบน เราต้องทำงาน ไปถามผู้หยั่งรู้ หยั่งรู้ที่ไหน ถ้าหยั่งรู้มันไม่พูดอย่างนี้หรอก เออ! ถามผู้หยั่งรู้ ผู้หยั่งรู้เขาต้องรู้ใจเขา ผู้หยั่งรู้เขาต้องรู้ใจของตัวเอง ไม่ต้องรู้ใจเรา ใจเราทุกข์ขนาดนี้

แล้วผู้หยั่งรู้ ที่ในหลวงบอกว่า เวลาเศรษฐกิจมันตกต่ำแล้ว เหมือนเศรษฐกิจกำลังเจริญ เขาก็สงสัย ขนาดตอนต้มยำกุ้งเศรษฐกิจตกต่ำมากเลย ในหลวงบอกว่าเศรษฐกิจกำลังเจริญ

ทีนี้พวกประชาชนก็ถามในหลวงว่า มันเจริญตรงไหนล่ะ

เจริญตรงหมอดูไง หมอดูเจริญมาก เศรษฐกิจตกต่ำ คนวิ่งไปหาหมอดูหมดเลย หมอดูมันทายใหญ่เลย มึงจะรวยๆ

ใครรวย หมอดูรวย หมอดูมันรวย นี่ไง ไปถามผู้หยั่งรู้ๆ เอาเงินไปให้เท่าไรล่ะ ขึ้นค่าครูเท่าไร ๑๕ บาทหรือ นึกว่า ๑๕ บาท ๑๖ บาทจะไม่มากนะ ๑๐๐ คนเท่าไร ถือมงคลตื่นข่าวน่ะ

พระพุทธเจ้าให้พึ่งตัวเอง ให้ถือตัวเอง อย่าไปถือมงคลตื่นข่าว นี่พูดถึงมงคลตื่นข่าวนะ ให้กลับมาที่เรา รักษาที่เรา

แล้วเรื่องพ่อ เรื่องแม่ เรื่องลูก เรื่องในครอบครัว โยมมีสามี มีลูก เราไม่มีใครเลย แล้วมาถาม ถามคนไม่รู้ อ้าว! คนมีครอบครัวมาถามคนไม่มีครอบครัว แล้วจะตอบอย่างไรล่ะ อ้าว! คนมีครอบครัวแล้วมาถามเรา เราตอบไม่ได้หรอก เราไม่รู้ เอวัง