เทศน์บนศาลา

ธรรมรส

๒๒ ธ.ค. ๒๕๔๖

 

ธรรมรส
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๖
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจนะ ฟังธรรม ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสามารถชำระกิเลสได้ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถ้าใช้ตามธรรมนะ ถ้าเราปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมะชำระกิเลสได้ กิเลสนี้เป็นภัยของสัตว์โลก เราเกิดมา เกิดมาปรารถนาความสุข อยากจะพ้นทุกข์

เพราะเราเป็นชาวพุทธ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมไว้ สูงสุดคือการสิ้นกิเลส อันนี้คนเกิดมา เกิดมาจากกิเลส มีใจอยู่ ใจดวงนี้พาเกิดพาตาย ใจดวงนี้เป็นหลัก หลักเกณฑ์ของใจคือเวียนไปตามวัฏฏะ แล้วต้องเกิดไปตามที่เฉพาะมีกิเลส

แต่ถ้าใจที่ไม่มีกิเลส มีใจเหมือนกัน ใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมไปแล้ว มีใจเหมือนพวกเรานี่แหละ แต่ไม่มีกิเลสเพราะกิเลสมันตายจากใจดวงนั้น แล้ววางธรรมไว้ให้พวกเราก้าวเดินตาม มันเป็นปัญหาเพราะเรามีกิเลสในหัวใจ แล้วเราก็ประพฤติปฏิบัติ เราก็ศึกษาธรรม เราก็จะพยายามทำให้มันเข้าหลักเข้าเกณฑ์ แต่เกณฑ์ของกิเลสเกือบทั้งนั้นนะ

เพราะใจเรามีกิเลส กิเลสในหัวใจมันต้องเป็นใหญ่ มันเป็นเจ้าวัฏจักร มันมีอำนาจเหนือใจทุกดวงใจ ทุกดวงใจประพฤติปฏิบัติ ถึงวนไปในอำนาจของกิเลส ทั้งๆ ที่มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีธรรม ก่อนที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ไม่มีธรรมเลย แสวงหาขนาดไหนก็แสวงหานะ มันจะมีความสงบขนาดไหน ไปเรียนกับอาฬารดาบส สงบมาก เพราะเป็นสมาบัติ มีความว่างมาก ก็ไม่เห็นติดไง ติดทำไมเพราะมันมีกิเลสในหัวใจ กิเลสในหัวใจไม่ได้ชำระออกไป จะว่าก็ได้ว่าเพราะบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงไม่ติด

แต่เพราะเราสาวกะ สาวกไง ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ พอจิตว่าง ว่างขนาดไหนมันไม่เท่ากับว่างสมาบัติหรอก ตั้งแต่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุถฌาน แล้วขึ้นอากาสานัญจายตนะ มันละเอียดขนาดไหน มันจะมีความว่างขนาดไหน ความว่างของเราที่เรากำหนดเข้าไปแล้วว่าง มันเป็นความว่างเล็กน้อยเท่านั้นล่ะ ถ้าเทียบถึงสมาบัติ สมาบัติยังว่างขนาดนั้น แล้วเจ้าชายสิทธัตถะได้สมาบัติ ๖ สมาบัติ ๘ จากอาฬารดาบส เป็นผู้ค้ำประกันนะ ก็ยังไม่ติดสภาวะแบบนั้นเลย

แต่การประพฤติปฏิบัติทำไมติดสภาวะแบบนั้นล่ะ สภาวะแบบนั้นเพราะเราเอากิเลสเข้าไปตัดสินไง เราเอาความเห็นของเราเข้าไปตัดสิน ว่าสิ่งนี้มันเป็นความลึกลับมหัศจรรย์ เพราะมันว่างหมด ว่างเพราะอะไร? เพราะเราพิจารณาธรรม เราประพฤติปฏิบัติ ก็เป็นสภาวะแบบนั้น

มันปล่อยวางได้ เพราะสภาวะใจเป็นแบบนั้น ทุกข์มาก.. เวลาทุกข์ แล้วเวลาทุกข์คลายไป มันก็คลายไป แล้วมันไปไหนล่ะ? เวลาสุขก็เหมือนกัน ถ้าเรามีความสุข เราต้องการความสุขอยู่กับเรานานๆ ไป อยากจะมีความสุขไปตลอดไป มันก็เป็นไปไม่ได้ สรรพสิ่งโลกนี้เป็นอนิจจังทั้งหมดเลย

สิ่งนี้เป็นอนิจจังโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว แล้วเราศึกษาธรรม มันก็จะเป็นสภาวะแบบนั้น แล้วเราประพฤติปฏิบัติ ถ้าครูบาอาจารย์เราในฝ่ายปฏิบัติ จะพยายามทำความสงบของใจเข้ามา มันก็เป็นความสงบใจเข้ามาสภาวะแบบนั้นเหมือนกัน แต่สงบเข้ามาขนาดไหน มันมีหัวใจ มันมีผู้รับรู้ แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ ความคิดของกิเลสมันไม่มีผู้รับรู้ เหมือนกับทัพพี ทัพพีอยู่ในแกง อยู่ในหม้อแกง มันไม่รู้รสชาติของแกงหรอก เพราะมันไม่รู้รสชาติของแกง มันอยู่กับแกงมันก็ไม่รู้รสชาติของแกง เพราะมันมีกิเลสควบคุม

ทัพพีนี้ไม่มีชีวิตนะ ทัพพีมันไม่รู้รส แต่ใจเรามีชีวิตนะ ใจเรามีความรู้สึก สิ่งที่ความรู้สึก แต่โดนกิเลสปิดไว้ มันยิ่งกว่าทัพพีอีกเพราะอะไร เพราะมันเห็นผิดไง มันเห็นผิดไปจากความเป็นจริง เราชำระกิเลส เราประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะเราไม่ต้องการเกิดอีก เราไม่ต้องการมีความทุกข์อย่างนี้อีกแล้ว เราต้องการพ้นไปจากกิเลส

แต่ทำไมเราประพฤติปฏิบัติธรรม แล้วกิเลสมันถึงทำให้เราหลงใหลล่ะ เราหลงใหลนะ หลงไปว่าสิ่งนี้มันเป็นสภาวธรรม แล้วหลงแล้วยึดมั่นว่าเราทำถูก ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเดินตามแนวพระไตรปิฎก ธรรมะนี้ต้องอยู่ในพระไตรปิฎก ธรรมะนี้ต้องอยู่ในหลักการนั้น นอกจากหลักการไปใช้ไม่ได้ ถ้ามีหลักการนะ ในหลักการมันประพฤติไปแล้วมันปล่อยวาง

มันปล่อยวางขนาดไหนล่ะ? มันปล่อยวาง มันมีเหตุมีผลไหมล่ะ? ถ้ามันไม่มีเหตุมีผล นั่นกิเลสมันหลอก หลอกอยู่ในหัวใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินั้น ประพฤติปฏิบัติด้วย ว่างด้วย ว่างขนาดไหนก็เป็นความว่าง มันมีเหตุผลไหม? นี่ว่าเป็นรสของธรรม “ธรรมรส” ผู้ที่ได้ปฏิบัติสมควรแก่ธรรม จะได้ลิ้มรสของธรรมตลอดไป

กิเลสมันก็ว่าอันนี้เป็นธรรม อันนี้เป็นความว่าง มันเป็นความว่าง แต่กิเลสเห็นไหม มันมีกระดูก เวลาเรากินปลากัน ก้างเห็นไหม เรากินเนื้อปลา เราไม่กินก้างปลา นี่ก้างปลาคือกิเลสไง กิเลสอันนั้นมันฝังอยู่ในหัวใจ แต่เรามองไม่เห็น มันว่างขนาดไหน อันนั้นมันก็ขวางคออยู่ตลอดไป นี่รสของธรรมไง

รสของธรรม มันจะมีเหตุมีผล สิ่งที่มีเหตุมีผลคือก้าวเดินไปตามความเป็นจริง แต่รสของกิเลสมันบอกว่าสิ่งนี้เป็นธรรม.. สิ่งนี้เป็นธรรม.. แล้วมันก็ไม่มีเหตุมีผล เสร็จแล้วกิเลสมันยังหลอกตัวเองอีก หลอกให้เรายึดมั่นถือมั่นนะ ถ้าเราชำระกิเลส มันจะมีความอ่อนน้อมถ่อมตนไง ใจนี้จะเบา ใจนี้จะว่าง แล้วเห็นสภาวธรรมตามเป็นจริง มันจะเข้าใจสภาวะแบบนั้น ใจนี้เป็นธรรม ใจนี้เข้ากับสรรพสิ่งได้ทั้งหมดเลย

แต่ใจที่เป็นกิเลส ประพฤติปฏิบัติธรรม แล้วถ้าเราหลงไป มันจะยึดมั่นถือมั่นว่าเราเหนือมนุษย์ไง เราเหนือผู้อื่นต่างๆ มันจะฆ่ากิเลส ทำไมให้กิเลสมันมีอำนาจเหนือกว่าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติล่ะ? ประพฤติปฏิบัติแล้วต้องการยศถาบรรดาศักดิ์ เราสละมา เราเกิดเป็นมนุษย์นี่สมบัติมหาศาล สมบัติของโลกมีมหาศาลเลย ถ้าเราแสวงหาขนาดไหน เราทำของเราเป็นธรรม สมบัตินั้นเป็นของเรา

สมบัติของโลกนี่เป็นสมบัติกลาง แต่ถ้าเราหาได้ ก็เป็นสมบัติของเรา เราสละออก เราไม่ต้องการสิ่งนั้นเลย เรามาประพฤติปฏิบัติกัน เรามาออกบวชเป็นพระ เป็นเณร สิ่งสมบัติสาธารณะวางไว้ เราสละทิ้งเพื่อเราจะเอาสมบัติที่เป็นธรรมในหัวใจ

สิ่งนี้เราสละมาแล้ว แล้วเรามาประพฤติปฏิบัติ แต่ทำไมเวลาประพฤติปฏิบัติไปแล้ว ทำไมเราคิด กิเลสมันยึดมั่นถือมั่นต้องการยศถาบรรดาศักดิ์ สิ่งใดที่ต้องการขึ้นมา มันปรารถนาอะไรล่ะ? มันก็ปรารถนาออกไปเพื่อลาภสักการะไง

สิ่งที่เป็นลาภสักการะ ลาภสักการะฆ่าบุรุษผู้โง่เขลา สิ่งนั้นโง่เขลา เราสละมาตั้งแต่เริ่มต้น เราออกบวช ออกประพฤติปฏิบัติ สิ่งนั้นเราละ เราวางมันแล้วว่าแล้วสิ่งนั้นมันเป็นสมบัติของโลก มันเป็นอนิจจัง มันไม่ใช่สมบัติของใคร มันจะเป็นอำนาจเหนือเราไม่ได้ เราจะต้องตกเป็นเหยื่อของเขา ตกเป็นผู้ที่อยู่ในอำนาจของปัจจัย ๔ แล้วบังคับบัญชาให้เราแสวงหาสิ่งนั้น เราก็สละออกมาแล้ว สละสิ่งนั้นออกมาเพื่อจะหาโมกขธรรม หาความสุขในใจ หาสิ่งที่เกิดขึ้นจากในใจ

แล้วเราประพฤติปฏิบัติตามอำนาจของกิเลส ยึดมั่นถือมั่นสิ่งที่เป็นความรู้ ว่าสิ่งนั้นรู้ต้องตามกฎ ตามพระไตรปิฎก ต้องว่าไว้ทุกบททุกบาท ต้องก้าวเดินไปตามนั้น ในการปฏิบัติงาน คนเราเคยทำงาน ถ้าเราทำงานเถรตรงขึ้นไป งานมันจะเป็นผลงานไหม? มันจะกระทบกระทั่งกับทุกๆ คนเลย

ถ้างานของเรา เรารู้จักทำให้มันเป็นไปนะ ด้วยความถูกต้อง แต่รู้จักหลบ รู้จักหลีก ให้งานมันสำเร็จไป มันก็เป็นไปได้ อันนี้ก็เหมือนกัน กิเลสในหัวใจมันขวางไปทุกอย่าง แล้วเราว่าเราประพฤติปฏิบัติ เราทำตามว่า “วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์” แล้วเราจะได้อะไร มันเป็นการนึกเอาทั้งหมดเลย

เป็นการนึก เป็นการคาดหมายว่าเราจะต้องทำสภาวะแบบนั้น จะเป็นสภาวะแบบนั้น แล้วจะก้าวเดินตามไปอย่างนั้น แล้วเราได้อะไรขึ้นมา มันก็รู้อยู่ในหัวใจ เราได้อะไรขึ้นมา เพราะเราก็ไม่รู้เราได้อะไรขึ้นมา แบบนี้มันไม่มีเหตุ แล้วมันก็ไม่มีผล เราทำตามนี้หมดแล้ว เรารู้สภาวะแบบนี้แล้ว แล้วเราก็ทำได้ นกแก้วนกขุนทองไง ปลวกแทะกระดาษ ต้องตามปลวกแทะกระดาษ มันกินกระดาษเข้าไป มันยังไม่รู้เลย พระไตรปิฎกมันแทะได้ มันกินได้ มันกินเข้าไปแต่มันก็ไม่รู้ธรรม มันไม่รู้ธรรมหรอก

แล้วเราประพฤติปฏิบัติจะต้องก้าวเดินสภาวะแบบนั้น มันต้องวางไว้ก่อน นี่ครูบาอาจารย์ หลวงตาไปหาหลวงปู่มั่น นี่ต้องวางไว้ก่อน ปริยัติวางไว้ก่อน แล้วประพฤติปฏิบัติไป ถ้าประพฤติปฏิบัติไปตามความเป็นจริงขึ้นมา แล้วธรรมฝ่ายปฏิบัติกับฝ่ายปริยัติ มันจะประสานหากัน

สิ่งที่ประสานหากัน มันจะซึ้งใจมาก เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ ไม่มีผิดพลาดเลย สิ่งนี้ถูกต้องหมด ต่อเมื่อหัวใจที่มันมีธรรมในหัวใจมันจะประสานกัน แล้วจะเข้าใจตามความเป็นจริง มันไม่มีกิเลสเข้าไปเจือจาง ไม่มีกิเลสเข้าไปแย่ง

แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติโดยสัญญา โดยความยึดมั่นถือมั่น โดยความเป็นจริงว่าเราเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า เราต้องเดินตามพระไตรปิฎกทั้งหมด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ให้เราก้าวเดินนะ รถ แม้แต่เราซื้อรถมา แล้วรถของเรา เรายังต้องจอดไว้ในที่จอดรถเลย เราไม่สามารถจะกอดนอนไปกับเราตลอดไปหรอก เราจะไปที่ไหน เราจะเอารถของเราไปกับเราด้วย มันเป็นไปไม่ได้หรอก นี้ก็เหมือนกัน มรรคาเครื่องดำเนิน

รถรามันเป็นพาหนะที่จะให้ใจนี้เข้าถึงธรรม ถ้าเข้าถึงธรรมแล้ว สิ่งนั้นวางไว้ ใจต่างหากเป็นธรรม ใจต่างหากรู้สภาวะนั้น แล้วมันจะปล่อยวางสภาวะแบบนั้นด้วยความเป็นจริง แต่ถ้าเรายึดมั่นถือมั่น มันเป็นการยึดไง เป็นทัพพีขวางหม้อนั้น ขวางตัวเอง ขวางของเราตลอดไป รสของธรรมก็ไม่รู้ แต่ไพล่ไปว่าสิ่งที่เป็นความว่างนั้นเป็นรสของธรรม มันเป็นเรื่องของกิเลสซ้อนอยู่ในนั้นทั้งหมดเลย

ถ้ากิเลสซ้อนอยู่ในนั้น เราสละเรื่องของโลกมาทั้งหมด ปัจจัยเครื่องอาศัย เราสละมาทั้งหมด แต่ในเมื่อเราประพฤติปฏิบัติ ทิฏฐิมานะมันจะมีสูงมาก ว่าเราเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เรามีคุณธรรมในหัวใจ แล้วกิเลสมันก็เสี้ยมนะ ต้องการสิ่งต่างๆ สิ่งที่เราสละมา ปัจจัยเราสละมาทั้งนั้นเลย มันก็ไพล่ไปหาสิ่งนั้น

พระเทวทัต เวลาเหาะเหินเดินฟ้าได้ เหาะได้ด้วย ทำสิ่งต่างๆได้ด้วย แต่เวลานางวิสาขา หรืออุบาสก อุบาสิกามาเยี่ยมพระ ก็มีสิ่งต่างๆ เข้ามาถวาย แต่พระเทวทัตไม่ได้สิ่งนั้น “ทำไมเราไม่ได้สิ่งนั้น เราก็เป็นพระเหมือนกัน” นี่สิ่งนี้เราสละออกมาแล้ว เราโกนผม เรานุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ เราไม่ต้องการสิ่งนั้น มันเป็นปัจจัยเครื่องอาศัยให้ดำรงชีวิตเพื่อจะประพฤติปฏิบัติ เรามาเอาตรงนี้

แต่ทำไมเราประพฤติปฏิบัติแล้ว มันถึงกลับไปติดสภาวะแบบนั้นล่ะ ทำไมต้องการสิ่งนั้น มันเข้ากับกิเลสไง กิเลสมันต้องการสภาวะแบบนั้น กิเลสมันต้องการความนับหน้าถือตาของเขา เขานับหน้าถือตาเพราะว่าตัวเองเป็นผู้วิเศษ เขานับหน้าถือตาแล้วมันแก้กิเลสได้ไหม? เราสละโลกออกมาแล้วเพื่อจะแก้กิเลสของเรา

สิ่งนี้เราแก้กิเลสของเรา มันไม่ใช่ธรรมเลย แสวงหาสิ่งนั้นก็เท่ากับแสวงหาสิ่งที่ว่ามันเป็นเรื่องของโลก แสวงหาสิ่งที่เป็นลาภสักการะ สิ่งที่ว่ามันเป็นเครื่องเผาใจ แล้วกิเลสมันก็จะพองตัวขึ้นไปเรื่อยๆ มันจะพองตัว มันจะยึดมันถือมั่นในตัวมันเอง สิ่งนี้ไม่เป็นประโยชน์เลย

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่ในป่า พอสิ้นกิเลสแล้วถึงออกมาเผยแผ่ธรรม ใจที่สะอาด มันไม่ติดสิ่งใดหรอก สิ่งนั้นเป็นประโยชน์ ถ้าใจของผู้สะอาดนั้น สิ่งที่เข้ามาเป็นโลก มันจะเป็นประโยชน์หมดเลย แต่ใจของคนสกปรก สิ่งนี้มันออกมา มันยึดมั่นถือมั่น แล้วมันใช้ไปในทางลบ ทางอำนาจความบาทใหญ่ของใจดวงนั้น ใจดวงนั้นจะใช้สิ่งนี้เป็นเครื่องส่งเสริมกิเลสให้มันเพิ่มพูนทวีขึ้น มันจะมากขึ้นกับหัวใจดวงนั้น หัวใจดวงนั้นต้องเป็นข้าของกิเลส

ทั้งๆ ที่ประพฤติปฏิบัติ เราว่าเราประพฤติปฏิบัติ นี่รสของกิเลสมันจะปล่อยวาง มันจะว่างขนาดไหน มันเป็นไปเพราะจิตนี้มันก็ว่างได้ เราทุกข์มากขนาดไหน มันก็ว่าง เวลามันปล่อยวาง มันก็ว่าง สิ่งที่เป็นความว่าง มันไม่ชำระกิเลสเลย เราถึงต้องมีศีล มีทาน “ทาน ศีล ภาวนา” เรามีทานขึ้นมาเพื่อจะหัวใจให้มันเป็นหลัก ชีวิตนี้ จิตดวงนี้ เราต้องรักษาไว้

ครั้งสมัยพุทธกาล พระบวชใหม่ แล้วมีศีล สิ่งนี้บังคับใจทุกอย่าง ทำแล้วทำไมมันมีสิ่งที่บังคับตลอด จนเบื่อหน่าย ไปบอกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าขอลาสิกขา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามว่า “เพราะเหตุใด?”

“เพราะว่าข้อบังคับมันมาก มากมายนัก”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ไม่ต้องรักษาสิ่งใดเลย รักษาใจของตัวเองได้ไหม? รักษาใจของตัวเองตัวเดียว รักษาได้ไหม?”

“รักษาได้”

นี่เจตนาไง ถ้าเราไม่มีเจตนา เราไม่มีความคิด ความคิดจะทำความผิดพลาด สิ่งนี้ศีลมันบริสุทธิ์อยู่แล้ว รักษาใจขึ้นมาเพื่อสภาวะแบบนั้น เราต้องหาใจดวงนี้ เราต้องทำความสงบของใจ ถ้าจิตของเราสงบเข้ามา มันก็เหมือนที่เขาพิจารณาที่ว่า เขาปฏิบัติธรรมกันแล้วปล่อยวาง

ปล่อยวางแบบนั้น ปล่อยวางแบบไม่มีหลัก ไม่มีเกณฑ์ ปล่อยวางแล้วก็ไม่รู้จะทำสิ่งใดต่อไป พิจารณาธรรม การปล่อยวาง นี่ว่าสอนนะ ยึดมั่นเหมือนกับรถกับรา ยึดอย่างนั้น แล้วติดพันไปตลอด แล้วไม่เป็นสภาวะตามความเป็นจริง เราต้องปล่อยไง เราปล่อยสิ่งนั้นก่อน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนผู้มีกิเลสนะ

พวกเราผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมีกิเลสในหัวใจนั้น สิ่งที่มีกิเลสในหัวใจ ความคิดของเรามันจะเป็นโลกียะ โลกียะเป็นความคิดของกิเลส มันบวกเข้าไปตลอดไป เพราะเราเอากิเลสคิด เราเอากิเลสบวก แล้วถ้าเรายึดมั่นกับพระไตรปิฎกตลอดไป เราก็จะตีความสภาวะแบบนั้น แล้วมันก็จะว่างเหมือนกัน ซึ้งมาก มีความสุขมาก มีความสุขนะ แล้วก็งงไง งงสภาวะแบบนั้น

แต่กิเลสมันอยู่ในใจนะ เวลามันตีกลับขึ้นมา มันจะยึด ยึดอย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ ยึดอย่างนั้นแล้วก็ต้องหาผลประโยชน์ให้กิเลส กิเลสนี้ย่ำยีหัวใจดวงนี้ เพราะมันสร้างผลแต่บาปอกุศลให้กับใจดวงนี้ แล้วกิเลสมันเกิด เวลามันตายไป ใจดวงนี้ต้องรับสภาวกรรมตามนั้น กิเลสมันรับด้วยไหมล่ะ? กิเลสมันยุแหย่ใจ ให้ใจทำตามอำนาจของมัน แล้วผลนี้ใจก็เป็นผู้รับ สภาวะแบบนั้นมันจะติดพันออกไป

แต่ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามา เรามีสติ สติสัมมาสมาธิ ทำความสงบของใจเข้ามา แล้วเราควบคุมมันไง สิ่งที่เป็นสัมมาสมาธิต้องควบคุมใจขึ้นมาก่อน สิ่งที่เป็นโลกียะ ถ้าเป็นที่ว่าพิจารณาของเขาขึ้นมา พิจารณาเป็นสิ่งกระทบต่างๆ แล้วรับรู้ทันตามสภาวธรรมของเขา มันก็จะปล่อยวางเข้ามา

ถ้าปล่อยวางเข้ามา มีสติเข้ามา เราควบคุมใจของเราเข้ามา นี่โลกียะเป็นสภาวะแบบนั้น มันเป็นเรื่องของโลกไง โลกเป็นแบบนั้น เราจะปฏิบัติธรรมด้วยโลกได้อย่างไร โลกก็คือโลก ธรรมก็คือธรรม สิ่งนี้อยู่ด้วยกัน สิ่งที่เป็นเรื่องของโลก คนจะมีปัญญามากขนาดไหน คนจะมีความเข้าใจสภาวธรรมขนาดไหน นั้นเป็นเรื่องความเข้าใจของเขา เขาจะเข้าใจสภาวะแบบไหน เขาก็ต้องวนเวียนอยู่ในโลกนี้ เพราะสิ่งนี้มันมีการสืบต่อกันมาตลอดไป

แต่ถ้ามันจะชำระกิเลส มันต้องเป็นโลกุตระ สภาวธรรม สภาวธรรมที่ว่าสัมมาสมาธิ ความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบเข้ามาบ่อยครั้งเข้า.. บ่อยครั้งเข้า.. เราก็พยายามทำใจของเราสงบเข้ามา มีสติตลอด ถ้ามีสติจะควบคุมใจของเราเข้ามา นี่มันจะตั้งมั่นได้

สิ่งที่มันตั้งมั่นได้ แล้วเราก็พยายามทำให้มันเป็นประโยชน์ของเราขึ้นมา ทัพพีในหมอแกง มันก็แช่อยู่อย่างนั้น แล้วจิตนี่มันไม่ใช่ทัพพี มันถึงมีสภาวะเรียนรู้อย่างไร มันก็ปล่อยวางสภาวะแบบนั้น มันไม่เข้าใจ มันไม่เป็นงาน โลกุตระ งานที่โลกุตระ เราจะกินไก่ทั้งตัวได้อย่างไร? เราจะกินไก่ ไก่ยังมีชีวิตอยู่ เราต้องฆ่าไก่ แล้วเราต้องทำไก่ให้มันสุกอย่างนั้นใช่ไหม?

เราจะกินไก่ เราก็กินแต่เนื้อไก่ เราไม่กินกระดูกหรอก ทุกคนไม่กินกระดูก เพราะกระดูกมันเหมือนกิเลส กิเลสในหัวใจของเรา ใจของเราเหมือนไก่ มันมีทั้งเนื้อด้วย มีทั้งกระดูกด้วย สิ่งที่เป็นเนื้อ เราทำโลกุตรธรรมขึ้นมา มันจะเป็นเนื้อ เนื้อคือมรรคาเครื่องดำเนิน สัมมาสมาธิเป็นเนื้อ

สิ่งที่เป็นเนื้อ เราทำใจของเราสงบขึ้นมา ถ้ามันได้กินบ่อยครั้งเข้า เหมือนกับเราได้กินอาหาร ถ้าเราได้กินอาหาร ร่างกายมันก็อุดมสมบูรณ์ มันสมบูรณ์ มันก็แข็งแรงขึ้นมา ใจก็เหมือนกัน ถ้าทำความสงบของใจบ่อยครั้งเข้า.. บ่อยครั้งเข้า.. มันจะมีสัมมาสมาธิ มันจะมีความสงบ

สิ่งที่มันเป็นความสงบของใจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้มา ผ่านตรงนี้มาก่อนแล้ว แล้วไม่ติดไง แต่ถ้าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติไม่มีหลักเกณฑ์ มันจะไปติดอย่างนั้นไง สิ่งที่ไปติดความว่างของใจ ความว่างมันมีมหาศาลมาก ถึงขนาดที่ว่าเรื่องของฌาน เป็นเรื่องอจินไตยเลยนะ มันละเอียดอ่อนมาก แล้วจิตของแต่ละดวงมันจะทำสภาวะแบบนั้นได้

ถ้าเรามีสติควบคุมสิ่งนี้ ต้องเป็นสัมมา แล้วสัมมากับจิตดวงนั้นนะ จิตดวงไหนก็ได้ ให้มันสงบเข้ามา แล้วถ้ามันยกขึ้นวิปัสสนาได้ เราจะเห็นว่าสิ่งใดเป็นเนื้อไก่ สิ่งใดเป็นกระดูกไก่ ถ้ากระดูกเราทำสิ่งนั้นออกไป นี่ความก้าวเดินออกไปอย่างนี้ มันไม่เหมือนทัพพีหรอก ทัพพีมันพยายามกดไว้ ทัพพีในหม้อแกงมันกดไว้เฉยๆ รสของธรรมที่ไหน มันเป็นรสของกิเลส!

รสของกิเลส เพราะมันทำให้ติดสมาธิไง ติดความว่างนั้น แล้วควบคุมความว่างนั้นไม่ได้ ความว่างนั้น ผลของการประพฤติปฏิบัติมันเป็นวิบาก สิ่งที่เป็นวิบากเป็นผล อันนั้นควบคุมไม่ได้ แต่สัมมาสมาธิ เราตั้งสติของเราขึ้นมา เรากำหนดพุทโธ เรากำหนดตามครูบาอาจารย์นะ ครูบาอาจารย์เราสอนมา สอนการประพฤติปฏิบัติ นี่ผิดจากพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกต้องใช้ปัญญาฆ่ากิเลส

แล้วเรากำหนดพุทโธ.. พุทโธ.. เพื่ออะไร? มันถูกพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกบอกไว้ เห็นไหม “กรรมฐาน ๔๐ ห้อง” การทำสมถะ การทำวิปัสสนา สิ่งที่ทำสมถะวิปัสสนาเพื่ออะไร? เพื่อก้าวเดินไปไง ไม่ใช่แช่จมอยู่นี้

เวลากิเลสมันเกิดนะ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติไม่ได้ผลขึ้นมา เวลากิเลสมันเกิด มรรคผลไม่มี หมดกาลหมดเวลาไง หมดกาลหมดเวลาแล้ว ๒,๕๐๐ ปีกึ่งพุทธกาลพระอรหันต์ไม่มี เป็นไปไม่ได้ หมดกาลหมดเวลา ประพฤติปฏิบัติไปก็เป็นการประพฤติไปเสียเวลาเปล่า แล้วสอนธรรมะเพื่อประพฤติปฏิบัติเพื่ออะไรล่ะ? ก็เพื่อกิเลสอันนั้น เพราะตัวเองว่ามรรคผลไม่มี

ถ้ามรรคผลไม่มี ๕,๐๐๐ ปีผ่านไปแล้ว พระศรีอริยเมตไตรยก็ต้องมาตรัสรู้ธรรมต่อไป แล้วพระปัจเจกพุทธเจ้าก็ต้องมาตรัสรู้ตลอดไป นี่แล้วถ้ามรรคผล ถ้าธรรมไม่มีอยู่ พระปัจเจกพุทธเจ้าก็มาตรัสรู้ได้ ถ้าสิ่งที่ว่า ๒,๕๐๐ ปีมรรคผลไม่มีแล้ว แล้วไม่ต้องประพฤติปฏิบัติ นี่ทำไปตามสภาวะแบบนั้น เวลายึดไง ยึดสภาวะแบบนั้น

แต่ถ้าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติถึงความจริง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ พระอานนท์ถามเลยว่า “จะหมดกาล หมดมรรคผลเมื่อไหร่”

“อานนท์ ไม่ต้องถามให้มากไปเลย ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ถ้าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม มรรคผลนี้จะไม่ว่างจากโลกเลย”

เพียงแต่เราประพฤติปฏิบัติไม่สมควรแก่ธรรม เป็นทัพพีขวางหม้อไง เป็นทัพพีขวางอยู่ในธรรมไง พระไตรปิฎกเหมือนหม้อเลย แล้วเราก็ขวางไปตลอด เราไม่เข้าใจสิ่งต่างๆ เราจะเหมือนปลวกที่มันแทะกินอย่างนั้น ยึดสิ่งสภาวะแบบนั้น “ต้องเป็นไปสภาวะให้มันเป็นธรรม.. เป็นธรรม..” มันจะเป็นธรรมได้อย่างไร ในเมื่อเป็นการคาดเดา เป็นการคาดหมาย มันจะปล่อยวางถ้ามันถึงสภาวะจุดหนึ่ง มันปล่อยวาง มันก็จะเป็นสภาวะแบบนั้น

แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติตามโอกาสของเรา เหมือนกับเราทำครัว ครัวของเรา ถ้าเรามีอาหาร เราประกอบของเราขึ้นมา มันเสร็จแล้ว อาหารของเราก็สุกเหมือนกัน สิ่งนี้ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ หลวงปู่มั่นพยายามประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ไม่มีครู ไม่มีอาจารย์ มันก็ต้องพยายามแสวงหานะ ทุกข์ยากขนาดไหนก็แสวงหา แล้วเทียบพระไตรปิฎก เทียบเพื่อเทียบเคียงมา ไม่ใช่พยายามให้เหมือนกับพระไตรปิฎก ต้องทำสภาวะแบบนั้น ทำสภาวะสิ่งนี้มา เราเกิดมาพบครูบาอาจารย์

ครูบาอาจารย์ถึงว่า “รสของธรรม” รสของครูบาอาจารย์ที่เข้าถึงธรรม ถึงวางสิ่งนี้ไว้ แล้วเปรียบไว้อยู่ในมุตโตทัยเห็นไหม “ธรรมนี้เหมือนทอง” ทองคำถ้าอยู่ในเหมืองมันก็ยังต้องเจือปนด้วยสิ่งต่างๆ ถ้าทองคำนี้อยู่ในร้านที่เขาทำมาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ธรรมนี้ก็เหมือนกัน ธรรมในพระไตรปิฎกนี้เป็นทองคำแน่นอน แต่แน่นอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใจดวงนั้นแน่นอน เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ ถึงได้ประกาศตน แล้ววางธรรมไว้แน่นอน

แต่ใจของเรา ธรรมของเรา ที่ว่าเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กิเลสของเราในหัวใจมันเจือปนไปตลอด แล้วเจือปนเกิดทิฏฐิมานะ เกิดความเห็นผิด แล้วก็ยึดมั่นถือมั่นไป แล้วทำไมไม่แก้ไข นี่การประพฤติปฏิบัติถ้าหลงนะ ถ้าเราหลงไปเราก็ยึดมั่นไปตามกิเลส กิเลสจะพาไปไกลจนกลับไม่ได้ บางทีจนกลับไม่ได้นะ ใจดวงนั้นก็ต้องเสียไป ผู้ที่ปฏิบัตินั้นเสียไป

แต่ถ้าใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ มันจะไปขนาดไหน มันมีเหตุมีผลของเราขึ้นมา ถามตัวเองว่าสิ่งนี้เป็นความจริงไหม? จิตมันปล่อยวางไหม จิตมันรู้สิ่งต่างๆ ว่าออกไปจากใจไหม? ใจนี้ได้ชำระสิ่งใดบ้าง ใจได้สละอะไรออกไปบ้าง มันไม่ได้สละอะไรออกไปเลย มันว่างเฉยๆ มันว่างเฉยๆ

คนเราทางโลก ถ้าเขาเป็นคนดี เขาก็เป็นคนมีจริตนิสัยดี เขาก็สงบเสงี่ยมของเขา คนไหนเป็นคนที่ว่าประทุษร้ายเขาอยู่ตลอดมา มันก็แสดงออกตามสภาวะแบบนั้น นี่ใจปกติมันก็เป็นอย่างนั้นได้ มันก็สงบเสงี่ยมได้ มันก็เป็นความจริงได้ เพราะมันเป็นเรื่องของนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรมไง แล้วกิเลสมันอยู่ในนามธรรมนั้น เรายังมองไม่เห็นมันเลย แล้วเราจะทำอย่างไรให้มันสมกับการประพฤติปฏิบัติล่ะ นี่ฝ่ายปฏิบัติต้องการตรงนี้ไง

ต้องการประพฤติปฏิบัติขึ้นมาให้เห็นจริงจากใจดวงนั้น ถ้าให้เห็นจากใจดวงนั้น ธรรมะนอกคัมภีร์เกิดขึ้นได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้แล้ว “พระไตรปิฎกเหมือนไม้ในกำมือ ไม้ในป่ามีอีกมหาศาล” แล้วผู้ที่จะประพฤติปฏิบัติมีสิ่งต่างๆกระทบกระเทือนขึ้นมา สิ่งนั้นมันจะเป็นคุณทั้งหมดเลย เวลาเราอยู่กับครูบาอาจารย์นะ ถ้าเราผิดพลาดสิ่งใด ปัจจุบันนั้นท่านจะสอนเราตลอด เตือนเราตลอด เราจะผิดพลาดขนาดไหน ตั้งแต่การขบฉัน ตั้งแต่สิ่งต่างๆ การมีสติ

สิ่งที่มีสติ ความผิดพลาดอันนั้น ท่านจะเตือนมาได้ตลอด แล้วที่มันเกิดในปัจจุบันนี้ มันเป็นเรื่องของกิเลสมันเกาะเกี่ยว อย่างเช่น ในสมัยพุทธกาลไม่มีเครื่องยนต์กลไก กิเลสมันก็ไม่ติดเครื่องยนต์กลไก มันก็ไม่ต้องเอาแบบอย่างนั้นมาเพื่อสอน

แต่ในปัจจุบันนี้ เครื่องยนต์กลไกมีมหาศาลเลย มันเป็นประโยชน์กับโลก ถ้าโลกมีสิ่งนี้ โลกจะเจริญขึ้นมา นั้นโลกเขาเจริญขึ้นไป แต่หัวใจเร่าร้อน สิ่งที่เป็นประโยชน์ทำให้เรารีบเร่ง เราต้องเร่งรัดทุกอย่างเพื่อจะให้ทันกับสภาวะแบบนั้น

มนุษย์ต้องวิ่งให้ทันเทคโนโลยี เขาว่ากันแบบนั้น แล้วเราจะเอาประโยชน์ตรงนั้นหรือ ประโยชน์ตรงนั้นมันเป็นประโยชน์ของโลกเขา แต่ในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าใจมันติดสิ่งนั้น นั่นล่ะกิเลสมันติด สิ่งที่มันติดเพราะกิเลสไปยึดมั่น แล้วมันก็เป็นทุกข์ ถ้าเราปล่อยวางไว้ตามเรื่องของโลกเขา ใครประกอบธุรกิจ ใครประกอบการงานต่างๆ เขาต้องประกอบสิ่งนั้น นั้นเป็นหน้าที่ของเขา

แต่ถ้าเรื่องของเรา เราต้องแก้ไขเรื่องของหัวใจของเรา ในการประพฤติปฏิบัติมันต้องแก้ไขหัวใจของเรา ถ้าเราไปติด นั่นโทษเกิดแล้ว แล้วครูบาอาจารย์ชี้มาตรงนี้ นี่มันนอกตำราไปตรงไหน มันนอกธรรมะไปตรงไหน มันเป็นธรรมะปัจจุบันธรรม มันเป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ในปัจจุบันธรรม แล้วครูบาอาจารย์มีหัวใจสะอาดเห็นคุณ เห็นโทษของมัน

นี่หมอเห็นเชื้อโรค ถ้าพูดถึงคนไข้กินอาหารที่เป็นพิษ กินอาหารที่มันแสลงกับโรคนั้น มันจะทำให้โรคนั้นลุกลามขึ้นมา อันนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อหัวใจของเรามีกิเลส แล้วกิเลสของเรามันจะยึดสิ่งเหล่านั้น มันจะเห็นตามกระแสโลก เพราะถ้ากิเลสมันใช้ มันจะบอก “สิ่งนั้นเป็นประโยชน์ สิ่งนี้มันเป็นประโยชน์ มันจะเป็นโทษไปได้อย่างไร?” แม้แต่อาหารนะ พระปฏิบัติเรานี่บอกเลยว่าอาหารเป็นคุณกับร่างกาย แล้วเราไปอดอาหารเพื่ออะไร?

ผู้ที่ปฏิบัติมันไม่ได้แง่ประโยชน์ไง สิ่งที่เป็นประโยชน์สิ่งนี้มันจะเป็นประโยชน์ต่อการประพฤติปฏิบัติเพื่อให้กิเลสมันเบาตัวลง ถ้าเรากินอิ่ม นอนอุ่นตามกระแสของเรานะ ดูอย่างสัตว์สิ มันก็กินได้ มันก็นอนได้ แล้วมันก็สืบพันธุ์ของมัน มันก็ดำรงเผ่าพันธุ์ของมันมาตลอดไป แล้วเราเป็นมนุษย์ผู้มีปัญญาขึ้นมา แม้แต่ถือศีล ศีล ๘ ก็ต้องอดข้าวเย็นแล้ว เพื่ออะไร? เพื่อให้ในระหว่างการประพฤติปฏิบัติไม่มีอาหารอยู่ในท้อง มันไม่ทำให้เราง่วงเหงาหาวนอน

ในการอดนอนผ่อนอาหาร มันก็เป็นอุบายวิธีการอย่างหนึ่ง ที่เราจะใช้ต่อสู้กับกิเลสของเรา แต่กิเลสมันก็ปัดทิ้ง ว่าสิ่งนี้ไม่เป็นประโยชน์ เราเห็นว่าการอดอาหารนี้มันเป็นโทษขึ้นมา นี่อาหารเป็นคุณประโยชน์กับร่างกาย เราเห็นเป็นโทษขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าเราเห็นเป็นโทษขึ้นมา มันไม่เป็นความเห็นผิดหรือ? แต่ในเมื่อวงของครูบาอาจารย์เรา สิ่งนี้มันเป็นประโยชน์มาก

ถ้าเรานั่งสมาธิ มันจะง่วงเหงาหาวนอน ๑ มันจะตกภวังค์ ๑ สิ่งนี้มันเป็นไป เราต้องอดนอนผ่อนอาหาร อดนอน การนอนนี้มันเป็นอาหารของใจนะ ใจนี่ถ้าคนนอน ลองนอนดูสิ คนนอนนี่นอนตลอดไป ไม่เคยอิ่มหรอก ยิ่งนอนมาก ยิ่งอยากนอนมากขึ้น ยิ่งต้องเสพให้มากขึ้นเพราะใจมันเคยกินอาหารอย่างนั้น แล้วมันติด พอมันติด มันจะเป็นสภาวะแบบนั้นไป ถึงต้องอดนอนไง

อดนอนผ่อนอาหารเพื่อจะฝืนกับมันไง เราจะฝืนกับกิเลสได้ขนาดไหน ทัพพีอยู่ในหม้อแกง มันไม่รู้รสชาติของธรรมเลย แต่มันจำขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาว่ามันรู้ มันเก่ง ถึงมีอำนาจเหนือใจของเรา เราจะอดนอนผ่อนอาหาร อดขึ้นมาเพื่อทำให้มันเบาตัวลงเท่านั้น จิตสงบนี้คือกิเลสเบาตัวลง ไม่ได้ชำระกิเลสเลย

สิ่งที่ไม่ได้ชำระกิเลส แล้วเกิดทิฏฐิมานะที่เหนือขึ้นไป มันจะเป็นโทษกับใจดวงนั้น เวลาสอนผิดนะ เราหลงแล้วเราก็เสียเวลาของเราไป ถ้าเราหลงแล้ว เราไปสอนให้ผู้อื่นหลงด้วย บาปอกุศลมันจะเกิดตรงนี้มหาศาลเลย สิ่งที่เราสอนให้เขาหลงไปกับเรา สิ่งที่ให้เสียเวลาเปล่าไปกับเรา แล้วสิ่งที่ความเห็นผิด ความเห็นผิดๆ เหมือนกับทางวิชาการ ถ้าสอนสิ่งที่ปฏิบัติแล้วไม่ได้ผล มันจะเป็นประโยชน์อะไรกับการประพฤติปฏิบัตินั้นล่ะ อันนี้ก็เหมือนกัน

ถ้าเราประพฤติปฏิบัติมันจะไม่เป็นผลของเราขึ้นมาว่าอันนี้สอนผิด สอนผิดหรือสอนถูกมันเป็นปัจจัตตัง เราพยายามประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา ถ้าเรากำหนดพุทโธ.. พุทโธ.. สงบขึ้นมาไหม? ถ้ามันสงบเข้ามา มันจะเป็นความรู้สึกของเราขึ้นมาเลย รสของธรรมเห็นไหม

สมาธิธรรมคือจิตมันสงบขึ้นมา อันนี้เป็นผลงานของเรา มันจะมีความสุข ความสุขอันนี้เราก็รู้อยู่แล้วว่าสัมมาสมาธิ แล้ววิปัสสนาอยู่ที่ไหนล่ะ? นี่สัมมาสมาธิมันเป็นสมถะ สิ่งที่เป็นความสงบของใจ ใจสงบขึ้นมา แล้วควบคุมได้ไหม? มีสติ ตั้งสติแล้วควบคุมเข้ามา นี่มีสติ จิตสงบก็บ่อยครั้งเข้า.. บ่อยครั้งเข้า.. จนตั้งมั่น

ถ้าตั้งมั่นขึ้นมา แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไปล่ะ ครูบาอาจารย์ถึงบอกว่าให้จิตนี้สงบแล้วยกขึ้นวิปัสสนา ถ้าวิปัสสนา อันนี้ต่างหากถึงเป็นวิปัสสนาของฝ่ายปฏิบัติ ถ้าฝ่ายปฏิบัติ วิปัสสนาจะเกิดขึ้นต่อเมื่อจิตนี้สงบ พอจิตนี้สงบขึ้นมา มันสงบ มันเป็นฐานขึ้นมา การงานคือใจดวงนี้รับ ใครเป็นคนรู้ว่าเนื้อไก่ เนื้อไก่คือมรรคไง มรรคคือเครื่องดำเนินต่อไป ใครรู้ว่าอันนี้เป็นกระดูกไก่ สิ่งที่เป็นกระดูกไก่ เราป้อนออก เราทิ้งสิ่งนี้ไป

ถ้าสังโยชน์ขาดออกไปจากใจ มันจะเห็นสภาวะแบบนี้ขึ้นมา วิปัสสนาคือเป็นอาหารของใจ อาหารของใจพยายามใช้ขั้นของปัญญา ปัญญาจะใคร่ครวญสิ่งนี้ จะเห็นสิ่งต่างๆ ว่าสิ่งนี้กิเลสมันอยู่ที่ไหน

การชำระกิเลส เราไม่เห็นกิเลส เราจะเอาอะไรไปชำระกิเลสล่ะ? เราไม่เคยเห็นกิเลสเลย มีแต่กิเลสอยู่ในภาคปฏิบัติของเรา อยู่ในท่ามกลางหัวใจของเรา แล้วเราก็ประพฤติปฏิบัติ เราว่าเราจะชำระกิเลส เราไม่รู้เนื้อรู้ตัวเลยว่ากิเลสมันกำลังหลอกเราอยู่ หลอกเราให้เนิ่นช้า หลอกเราให้เสียเวลา ให้เราอยู่ไปกับสิ่งนั้น แล้วถ้าจิตนี้เสื่อมไป มันจะหมดกำลังใจเลยว่า นี่ก้าวเดินก็ไม่ไหว จะทำต่อไปก็ทำไม่ไหว เพราะเราได้ประพฤติปฏิบัติมาแล้ว

แต่ถ้ามันไม่รู้นะ มันปล่อยวาง.. ปล่อยวางสภาวะแบบนี้ไปนะ แล้วก็ว่าสิ่งนี้เป็นธรรม เพราะมันปล่อยวางขึ้นมาแล้ว มันก็อุ่นกินสภาวะแบบนั้นตลอดไป มันจะเป็นธรรมไปจากไหน ในเมื่อฌานนี้เป็นเรื่องของอจินไตย มันมีความละเอียดอ่อนขนาดไหน มันก็ละเอียดอ่อนของมัน สภาวะแบบนั้นได้ ถ้ามันยกขึ้นวิปัสสนาต่างหากล่ะ กิเลสมันสะสมมากับกายกับใจ

ใจกับกายนี้เป็นที่อยู่ของกิเลส กิเลสนี้อยู่กับใจของเรา แล้วก็พาใจนี้เกิดตาย เกิดตาย กุศลทำให้เราเกิดบนสวรรค์ บนพรหม บนมนุษย์นี้ อกุศลทำให้เราเกิดในอบาย เกิดในสัตว์เดรัจฉาน เกิดมาต่างๆ เราจะรู้ ไม่รู้ นี่มันอยู่ที่ใจของเรา มันซับอยู่ที่ใจของเรา เราประพฤติปฏิบัติเข้ามา เราจะเห็นสภาวะ เราจะย้อนกลับเข้ามาดูสภาวะแบบนั้น

>สิ่งที่ติด กิเลสติดสภาวะแบบนั้น มันติดตรงนี้ต่างหาก แล้วมันถึงออกไปติดต่างๆข้างนอกหมดเลย เราถึงต้องยกกาย เวทนา จิต ธรรมมาเป็นฐาน เป็นฐานที่ควรแก่การงาน เป็นฐานที่ควรแก่การวินิจฉัย เราจะวินิจฉัยสิ่งนี้ เราจะแยกแยะสิ่งนี้ ให้เห็นขึ้นมาจากใจดวงนั้นไง

ถ้าจากใจดวงนั้น เห็นสภาวะแบบนั้น ใจมันจะเริ่มรู้รสของธรรม ธรรมรสจะเกิดขึ้นมาจากใจ ถ้าธรรมรสเกิดขึ้นมาจากใจ รสของทัพพีที่อยู่ในแกง นั้นจะเห็นโทษของมันเลย จะเห็นโทษของความที่ไม่รู้รสของธรรม

สิ่งที่ไม่รู้รสของธรรม แช่อยู่ในธรรม แช่อยู่ในพระไตรปิฎก แล้วก็ไม่รู้รสชาติ ถ้ารู้รสชาติมันต้องชำระกิเลส มันต้องกำจัดกิเลสได้ มันไม่พอกพูนกิเลสหรอก เพียงแต่กิเลสบอกว่า “มรรคผลนิพพานไม่มี”

เราประพฤติปฏิบัตินี้ เราเป็นคนที่มีศักยภาพ เราเป็นคนที่ว่าเป็นลูกศิษย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ที่จะดำรงศาสนา จะดำรงศาสนาไว้เป็นแค่เปลือก เปลือกของมัน เพราะว่าเปลือก แก่น เปลือกของต้นไม้ กระพี้ของต้นไม้ แก่นของต้นไม้ ผู้ที่จะดำรงศาสนา ผู้ที่พยายามชำระหัวใจต่างหาก ถ้าหัวใจนั้นชำระกิเลสออกไป จะดำรงศาสนานั้น จะเป็นครูของหมู่สัตว์ จะเป็นครูของเทวดา อินทร์ พรหมต่างๆ จะเข้าใจธรรมตามความเป็นจริงตามสภาวะแบบนั้น จะเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นมา

สิ่งนี้เกิดขึ้นมา ถึงต้องยกขึ้นวิปัสสนาไง ถ้าจิตสงบ ยกวิปัสสนาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ถ้าจิตสงบจะทำได้ ยกเห็นกาย จะเห็นสภาวะของกาย แล้วให้มันเป็นไปตามความเป็นจริงของเขา มันจะแปรสภาพขนาดไหน ให้มันแปรสภาพสิ่งนั้นไป

>ถ้ามันแปรสภาพสิ่งนั้นไป นั้นมันจะเห็นจริงขึ้นมา แล้วมันจะตื่นเต้นนะ จะติเตียนตัวเองว่า “ทำไมเมื่อก่อนไม่เห็นสภาวะแบบนั้น ทำไมไปนอนจมอยู่กับความว่างกันเฉยๆ เวลามันว่างขึ้นมา มันปล่อยอยู่กับความว่างเพื่อเหตุใดล่ะ?” สิ่งนั้นมันทำให้เราติดพัน มันจะไปเห็นโทษตรงนั้น จะเห็นโทษมันก็เป็นอดีต

สิ่งที่เป็นอดีต วางไว้.. เราพยายามขึ้นมาให้จิตสงบ แล้วย้อนกลับเข้ามาเพื่อพิจารณาของเรา นี่เราพยายามแยกแยะออกไป บ่อยครั้งเข้า.. บ่อยครั้งเข้า.. ให้เห็นสภาวะแบบนั้น มันจะเป็นจริงของมัน ถ้าจิตมันมีพื้นฐานนะ ถ้าจิตมันไม่มีพื้นฐาน กิเลสมันหลอกได้ขนาดที่ว่า มันปล่อยวาง.. ปล่อยวาง.. แล้วเข้าใจว่าอันนี้เป็นผล เห็นว่าอันนี้เป็นกระดูก อันนี้เป็นเนื้อ เป็นกระดูกก็เป็นกระดูก

สิ่งที่เป็นกระดูก เราก็ต้องทำของเราบ่อยครั้ง.. บ่อยครั้ง.. ทางโลกเขา เขากินอาหารมื้อหนึ่ง เขาก็อิ่มของเขา แล้วเขาก็ต้องกินมื้อต่อๆไปเหมือนกัน อันนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราแยกแยะออกไปขนาดไหน เราก็แยกออกไป.. แยกออกไป.. ทำสภาวะแบบนั้น แยกซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่า จนถึงที่สุดมันจะปล่อยออกไป กระดูกทิ้งออกไป เห็นสังโยชน์ขาดออกไปจากใจ

สิ่งที่สังโยชน์ขาดออกไปจากใจ เราไม่ต้องประพฤติปฏิบัติมาเพื่อให้โลกเขาสรรเสริญเยินยอ เพื่อต้องการลาภสักการะไง ต้องการยศถาบรรดาศักดิ์ เพื่อให้เขาแต่งตั้งไง โลกเขาแต่งตั้งได้ เขาก็ปลดได้นะ แต่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติให้เห็นสภาวะตามความเป็นจริง ธรรมะแต่งตั้งนะ ธรรมะแต่งตั้งให้ใจดวงนั้นเป็นพระโสดาบัน

สิ่งที่เป็นพระโสดาบันจะไม่มีใครสามารถปลดได้ ไม่มีใครสามารถปลดออกจากนั้น ไม่มีใครสามารถทำให้จิตดวงนี้เสื่อมจากสภาวะแบบนี้ไปอีกได้เลย จิตดวงนี้จะเข้ากระแสของธรรม ถ้าเข้ากระแสของธรรมเพราะจิตดวงนี้ ถ้าจะเกิดตายอีกก็ ๗ ชาติเท่านั้นอย่างมาก ถ้าอย่างน้อย ๓ ชาติหรือประพฤติปฏิบัติถึงที่สุดไป นี่รสของธรรม

รสของธรรมมีอำนาจเหนือสิ่งที่สุด เพราะธรรมะแต่งตั้งใจดวงนี้ ใจดวงนี้เป็นธรรมส่วนหนึ่ง รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง ไม่เหมือนกับให้กิเลสมันหลอกนะ การประพฤติปฏิบัติธรรมด้วยกิเลส ด้วยกิเลสก็จะบอกว่า “มรรคผลนิพพานมันไม่มี” แล้วมันไม่มี ผลที่เกิดขึ้นมาจากใจดวงนี้ อะไรเป็นเครื่องยืนยันกับเราล่ะ เรารู้ของเรา นี่ธรรมอยู่ในหัวใจของสัตว์โลก แต่ไม่สามารถเอาออกมาเปิดเผยกับผู้อื่นได้ไง ถึงว่าเป็นปัจจัตตังเฉพาะใจดวงนั้น

มันถึงว่าให้กาล ให้เวลา ให้กับผู้ที่ว่าไม่เข้าใจให้เข้ามาถึงตรงนี้ จะรู้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่ส่วนนั้นผิดพลาดไปตลอด ผิดพลาดแล้วยึดนะ ยึดสังคมหมู่ใหญ่ สังคมหมู่ใหญ่ก็ต้องติดไปตามสังคมหมู่ใหญ่ เห็นไหมอำนาจของหมู่ใหญ่ อำนาจของประชาธิปไตย เสียงข้างมาก ถ้าเสียงของกิเลสมาก มันก็ดึงให้เป็นไปตามสภาวะของกิเลสนั้นล่ะ เพราะเสียงของเขามาก เขายกขึ้นมาเขาก็ชนะทั้งหมดเลย

แต่ธรรมาธิปไตย มันเป็นเฉพาะในหัวใจ ธรรมในหัวใจเท่านั้น ใจผู้เป็นธรรม มันก็เป็นธรรมตลอดไป จะเป็นธรรมเพราะว่า สิ่งต่างๆ นั้นมันเป็นภัยทั้งหมด มันเป็นเรื่องของโลก เรื่องของเราคือเรื่องของหัวใจของเรา ถ้าธรรมะแต่งตั้งใจดวงนี้ ธรรมรสเกิดขึ้นมาจากใจ เราก็ต้องรีบขวนขวาย เห็นโทษนะ อยากพ้นทุกข์

เวลาเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประพฤติปฏิบัติไป มรรค ๔ ผล ๔ ถึงที่สุดแล้วจะเป็นวิมุตติสุข จะพ้นออกไปจากกิเลส มันจะมีความสุขมากขนาดไหน นี่ความละเอียดของใจดวงนั้น ตั้งแต่สมาบัติมันก็ละเอียดมาเป็นชั้นๆ เข้ามา แต่มันไม่ชำระกิเลส

แต่เวลาวิปัสสนาเข้าไปถึงจุดของมัน มรรคสามัคคี เห็นจักรมันหมุนออกไป จักรนี้จะหมุน ปัญญามันจะหมุนออกไป มันไม่เป็นงานของการจำมาหรอก การจำมามันเป็นการก๊อบปี้มา ก๊อบปี้เลยนะ สิ่งนั้นเป็นของเรา สิ่งนี้เกิดขึ้นมาจากเรา มันไม่ใช่ มันไม่เหมือนเราปลูกต้นไม้ เราปลูกต้นไม้ มันเจริญงอกงาม เรารดน้ำ เราจะเห็นต้นไม้นั้น เจริญงอกงามขึ้นมา แตกใบอ่อน มันจะมีความสุขมาก ผู้ที่รักต้นไม้ เห็นต้นไม้ มันจะมีความสุข มันจะมีความพอใจกับต้นไม้นั้นมาก แล้วพยายามจะประคบประหงมนะ นี่รดน้ำพรวนดินกับต้นไม้นั้นให้เจริญงอกงาม

เวลาภาวนามยปัญญามันเกิดขึ้นมาจากใจ มันก็มีสภาวะแบบนั้น มันจะเกิดขึ้นมาจากใจของเรา ปัญญามันใคร่ครวญออกไป ถ้าพิจารณากาย กายมันจะแยกออกไป ปล่อยวางออกไป แล้วมันจะเกิดความสุข มันปล่อยวางขึ้นมา เหมือนกับมันเจริญงอกงาม แล้วเราก็รดน้ำพรวนดิน วิปัสสนาซ้ำไป.. ซ้ำไป.. มันก็จะเริ่มเจริญขึ้นมา จนต้นไม้นั้นแก่ เข้มแข็งขึ้นมา เจริญงอกงามขึ้นมา สิ่งที่สุดแล้วมันมรรคสามัคคี

เห็นความเจริญของมัน เห็นความรวมตัวของมัน มันเป็นธรรมจักร ชำระกิเลสขาดออกไปจากใจ นี้ไงเกิดขึ้นมา เห็นความเป็นไปของปัญญาที่ก้าวเดิน เห็นปัญญาของมรรคไง นี่ภาวนามยปัญญาผู้เห็นจริง ถึงว่าอย่างน้อยต้องเป็นพระโสดาบัน

ถ้าพระโสดาบันจะเห็นภาวนามยปัญญาตามความเป็นจริง แล้วยกขึ้นวิปัสสนาย้อนกลับเข้าไป เพื่อทำลายกาย เวทนา จิต ธรรมที่มันอยู่ลึกลับเข้าไปในหัวใจ สิ่งนี้มันลึกลับมาก กิเลสอย่างหยาบๆ เรายังต่อสู้มา เราต้องล้มลุกคลุกคลานมาขนาดไหน แล้วกิเลสอย่างละเอียดในหัวใจของเรา เราจะทำอย่างไรต่อไป แต่มันมีฐาน ฐานกิเลสอยู่ที่ใจ

เรามีใจกับมีกาย เราก็จะยกขึ้นวิปัสสนาที่กาย ที่ใจนี้เท่านั้น เพราะกิเลสมันอยู่ที่ใจ เราก็ยกขึ้นวิปัสสนา แล้วย้อนกลับตามเข้าไป ถ้ามันจับสิ่งนี้ได้ ย้อนกลับไปนะ เป็นความยึดมั่นถือมั่นของกิเลส มันยึดมั่นถือมั่นโดยสัญชาตญาณของกิเลส

กิเลสนี้มันต้องทำหน้าที่ของมัน ทำให้เราไขว้เขว ทำให้เราหลงไปกับการประพฤติปฏิบัติ คือหน้าที่ของกิเลส งานของกิเลสมันมีเท่านั้น งานของธรรมเราต้องพยายามปลูกเหมือนกับต้นไม้อ่อนๆ พยายามปลูกขึ้นมา ปลูกต้นไม้นะ

เงิน.. เงินเดือนเราออกมา เราใช้เดือนหนึ่งมันก็หมดไป เราก็ต้องทำเงินเดือน เดือนต่อไป แล้วก็เบิกเงินเดือนต่อไปใช่ไหม? นี้ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าเป็นต้นไม้ที่เจริญงอกงามขึ้นมา มันเป็นโสดาปัตติมรรค แล้วเวลามันชำระไป เราใช้จ่ายออกไป เราได้โสดาปัตติผลมา สิ่งนี้มันหมดไปแล้ว เราต้องทำของเราขึ้นมาอีก ทำสกิทาคามรรคไง

สิ่งที่เป็นสกิทาคามรรคคือต้นไม้ต้นใหม่ เราต้องปลูกให้มันเจริญงอกงามขึ้นมา เราก็ต้องพยายามประคบประหงมใจของเรา ใจของเราเราประคบประหงมเข้ามา เพื่อจะให้มันออกมาชำระกิเลส สิ่งที่ชำระกิเลส กิเลสเห็นไหม มันเหมือนเปลือก เปลือกของใจ มันติดอยู่กับใจ ปอกเปลือกสิ่งนี้ แยกแยะสิ่งนี้ เปลือกสิ่งนี้กิเลสอาศัยอยู่ตรงนี้ กิเลสเป็นนามธรรมนะ

เวลาบอกกิเลสอยู่ไหน? จะฆ่ากิเลส จับกิเลสมาฆ่า เพื่อจะให้เราพ้นจากทุกข์ แต่เราไม่เห็นหน้ากิเลส เราก็ฆ่าไม่ได้ ผู้ที่เป็นหนี้ ใครเป็นหนี้ล่ะ? ใจนี้เป็นหนี้ เพราะกรรมนี้เราเคยสร้างสมมา เราเกิดมาแต่ชาติใด แล้วแต่เราสะสม ความเกิดความตายของใจนี่สะสมมาตลอด แล้วเราก็สร้างกุศลก็เป็นบุญกุศล เป็นคุณงามความดีของใจดวงนั้น เราสร้างบาปอกุศล ในความมีกิเลสของคน มันต้องทำความผิดพลาดตามธรรมชาติของใจดวงนั้น หนี้.. สิ่งนี้เราเคยสร้างสมมา เราเคยทำมา แล้วก็เวียนตายเวียนเกิดมากับใจ มันสะสมอยู่ที่ใจ ใจนี้เป็นหนี้กรรม

แล้วปัจจุบันนี้เราพยายามทำคุณงามความดี กรรมดีไง เราทำกรรมดีเพื่อจะไปชำระล้างกิเลสนั้น กรรมชั่ว การประพฤติปฏิบัติสิ่งต่างๆ เราไปชำระไม่ได้ สิ่งนั้นมันเป็นอดีต กรรมแต่ละส่วนไม่คลุกเคล้ากัน มันแยกออกไป กรรมดีคือกรรมดี กรรมชั่วคือกรรมชั่ว

แต่ในการประพฤติปฏิบัติ มันเป็นปัจจุบันธรรม กรรมดี กรรมชั่ว อดีต อนาคตแก้กิเลสไม่ได้ แต่ถ้าเป็นปัจจุบันธรรม เพราะกิเลสมันอยู่ที่ใจ เหมือนสิ่งมีชีวิต แล้วมันก็มีชีวิตจริงๆ มันอยู่กับใจ เพราะใจเป็นธาตุรู้ เป็นสิ่งที่มีชีวิต แล้วมันอยู่กับสิ่งนั้น แล้วปลดเปลื้องสิ่งนี้ให้สะอาดออกมา ชำระกิเลสสิ่งนี้ นี่วิปัสสนาตรงนี้เข้าไป มันจะแยกแยะเข้าไปนะ ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรมเหมือนกัน

ถ้าเป็นจิต วิปัสสนามัน จับต้องแล้วแยกออกไป พิจารณากายมาแล้ว พิจารณาจิตก็ได้ แยกออกไปว่า สภาวะแบบนี้มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร สิ่งต่างๆ ในโลกนี้ ไม่มีเหตุผลไม่มีเหตุ ไม่มีผล เป็นไปไม่ได้ สรรพสิ่งต่างๆ ต้องมีเหตุมีผล มันมาจากไหน? ผลอันนี้ วิบากกรรมของเรา มนุษย์เนี่ย ที่เรานั่งกันอยู่นี่ เราประพฤติปฏิบัติมาจากไหน? มาจากวิบากกรรมไง กรรม การกระทำต่างๆ มันมา เพราะมันมีตัวใจปฏิสนธิ มันถึงทำให้เราเกิดเป็นมนุษย์ขึ้นมา สิ่งนี้มามันมาสภาวะแบบนี้

นี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราจะย้อนกลับเข้ามาชำระกิเลส ปัจจุบันธรรมเราสร้างสมขึ้นมา ถ้าเราสร้างสมขึ้นมาเดี๋ยวนี้ ปัญญามันเกิดเดี๋ยวนี้ มันก็แยกแยะเดี๋ยวนี้ ปัจจุบันธรรมเดี๋ยวนี้ มันจะชำระกิเลส มันก็ปล่อย เข้าใจตามความเป็นจริง เห็นปัญญามันก้าวเดินออกไป มันจะปล่อย มันจะปล่อยขนาดไหน มันจะว่างมาก มีความสุขมาก ความสุขอันนี้เห็นไหม “ทุกข์ควรกำหนด” สุขเราก็ต้องเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงใจ

ใจนี้จะมีความสุข เวลาถ้ามันปล่อยวางไม่ได้ มันทุกข์ยากนะ เวลาเราไปทำงาน เวลาทำงานหนัก เหนื่อยแสนเหนื่อย หนักมาก.. ทำไมเราต้องทำต่อไปล่ะ? อันนี้ก็เหมือนกัน ในการวิปัสสนา ถ้ากำลังมันไม่พอ มันแยกไปไม่ได้ มันปล่อยไม่ได้ เราก็ต่อสู้ไป มันเป็นงานหนักของใจดวงนั้นมาก งานของใจ งานของโลกเขานะ เขาทำของเขา ถ้ามันทำไม่เสร็จ วางไว้ มาทำต่อก็ได้

แต่งานของใจ ถ้ามันเข้าด้ายเข้าเข็ม เราต้องพยายามแยกแยะต่อไป แยกแยะด้วยปัญญา ปัญญามีสัมมาสมาธิหนุนหลังถึงจะเป็นปัญญา ถ้าปัญญาสัมมาสมาธิมันอ่อนลงไป มันจะเป็นสัญญา สัญญาก็คือว่าเหมือนกับที่ว่าทัพพีในหมอนั้น มันเป็นสัญญา มันจะไม่รู้รสชาติของมัน แต่ถ้ามันเป็นปัญญา มันจะมีรสชาติ รสชาติของอาหาร ละเอียดเข้าไปเป็นชั้นเป็นตอน

สิ่งที่เป็นสารพิษในหัวใจ สิ่งที่เป็นสารพิษของอาหารนั้นมันต้องมี เป็นคุณก็มี เป็นสารพิษก็มี เราต้องแยกออกไป นี่ความคิดของเรา คิดถูกก็ได้ คิดผิดก็ได้ ความเห็นผิดของเรา วิปัสสนาไปอย่างนี้ผิดพลาด พิจารณาไปแล้วมันไม่เป็นผล ปล่อย กลับมาตั้งตัวใหม่ แล้วเริ่มต้นวิปัสสนา แยกออกถ้ามันเป็นนามธรรม แยกสิ่งนี้ แยกเห็นสภาวะแบบนี้ เห็นโทษของมันนะ มันหยุดได้ มันปล่อยได้ ปล่อยเป็นครั้งเป็นคราว

ถ้ามันปล่อยเป็นครั้งเป็นคราว นี่ภาวนามยปัญญามันเกิด มรรคมันเริ่มเดินตัว ต้นไม้ หน่อของต้นไม้ หน่อของปัญญาเราเกิดอีก หมุนไป.. หมุนไป.. เรามีความรอบคอบ มีการพิจารณา ทำแล้วทำเล่า อย่ามักมาก อย่ามักง่าย ถ้ามักง่าย สิ่งนี้มันจะไม่เป็นไปตามความเป็นจริง

หน้าที่ของเรา รดน้ำพรวนดิน ต้นไม้เจริญงอกงาม เป็นเรื่องของเขานะ ต้นไม้มันเจริญงอกงามต่อเมื่อมันได้น้ำ ได้ปุ๋ยสมควรแก่มัน นี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราวิปัสสนา เราตั้งใจของเรา ทำความสงบของใจ ใจสงบแล้ว ถ้ายกขึ้นวิปัสสนาได้ มันเหมือนรดน้ำพรวนดิน เราก็ทำของเราไป ถ้าจิตไม่สงบ รดน้ำพรวนดินมาก นี่ต้นไม้มันเฉา วิปัสสนาไปแล้วมันไม่ปล่อย เราก็ปล่อย เรากลับมา กลับมาดูแลรดน้ำพรวนดินใหม่ ให้มันสมบูรณ์ขึ้นมา แล้วพอมันสมบูรณ์ขึ้นมา เราทำใหม่ มันจะเป็นสภาวะแบบนี้ ย้อนกลับไป นี้คือวิปัสสนาไง

วิปัสสนาจะเกิดขึ้นมา ชัดเจนมาก.. ชัดเจนกับใจดวงนั้น ใจดวงนั้นจะไม่มีความลังเลสงสัยในอาการที่เป็นไปของใจ ไม่ใช่ในการประพฤติปฏิบัติแล้วจะต้องมีความลังเลสงสัยคาดหมายไปตลอด คาดหมายไปนั้นมันไม่เป็นไปตามความเป็นจริง แต่ถ้าเราวิปัสสนาไป มันเห็นอาการปล่อย เห็นอาการเป็นไปนะ เวลาจิตมันปล่อยนะ มันจะปล่อยออกมาแล้วมีความสุข เวิ้งว้างมาก กับผลของการที่ว่าเพราะเวลาปล่อยทีหนึ่งมันก็จะรวมเป็นสัมมาสมาธิด้วย

แล้วกิเลสมันเบาตัวลงด้วยเพราะอะไร? เพราะปัญญามันฟาดฟันบ่อยครั้งเข้า.. บ่อยครั้งเข้า.. ถึงจุดหนึ่งมันจะขาดออกไป นี่กามราคะ ปฏิฆะอ่อนตัวลง กายกับจิตจะปล่อยวางออกจากกัน โลกนี้จะราบเป็นหน้ากลองเลย ผลอันนี้มันเกิดขึ้นมาจากไหน? มันเกิดขึ้นมาจากใจดวงที่ประพฤติปฏิบัตินะ มันเกิดขึ้นมาจากใจของเรานะ นี่ธรรมรส รสของธรรมจากใจดวงนี้ แล้วมันจะผิดพลาดไปไหนล่ะ ความผิดพลาดคือการคาดหมายมันก็ผิดพลาด คาดหมายผลที่ผิด มันก็จะเป็นความผิดไป

สิ่งที่คาดหมาย มันจะเป็นความผิดไปตลอดไปเลย การคาดหมาย เราจำพระไตรปิฎกมาทั้งตู้ สิ่งนี้มันเป็นการคาดหมายทั้งนั้นล่ะ เพราะหัวใจมันไม่เป็นธรรมตามความเป็นจริงไง แต่ชำระกิเลสขาดออกไป นี่ธรรมะแต่งตั้งนะ แต่งตั้งให้ใจดวงนั้นเป็นกามราคะ ปฏิฆะอ่อนตัวลง แล้วจะไม่เกิดอีก ไม่ต่อเนื่องกันอีกนะ ไม่กลับมาต่อเนื่องอีกเลย ภพชาติสั้นเข้า ถึงจะเกิดอีกเพราะอะไร? เพราะใจดวงนั้นมันยังมีอวิชชาขวางอยู่ นั้นเป็นธรรมชาติของใจดวงนั้น

แต่ในการประพฤติปฏิบัติของเรา เราก้าวเดินของเราเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป จะมีความสุขนะ แล้วกิเลสถ้ามันมีอำนาจเหนือกว่า นี่บอกว่าตรงนี้เป็นผลของการประพฤติปฏิบัติแล้ว สิ่งที่ประพฤติปฏิบัติแล้ว กิเลสมันจะมีอำนาจขนาดนั้น เราจะประพฤติปฏิบัติเพื่อชำระกิเลส เราไม่ใช่ประพฤติปฏิบัติเพื่อจะไปยอมจำนนกับกิเลส

แต่กิเลสมันมีความฉลาด มันมีความแหลมคม มันเบี่ยงเบนความคิดของเราให้เชื่อผลอันนี้ไง สิ่งนี้เวลาเราว่ากิเลสนี้เป็นสิ่งที่น่ากลัว เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ แต่เวลามันเกิดกับเรา มันเหมือนกับเชื้อโรค เชื้อโรคที่อยู่ข้างนอก เราเห็นสิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่น่ากลัว ถ้าเข้าไปในร่างกายของผู้ใด ผู้นั้นจะต้องมีโรคภัยไข้เจ็บตามเชื้อโรคนั้น แต่อันนี้เชื้อโรคมันฝังอยู่ในหัวใจของเรา เราไม่เห็นเชื้อโรคอันนี้ เชื้อโรคอันนี้คือกิเลส กิเลสเกิดมาจากใจ

กิเลสกับใจ มีตัณหาความทะยานอยากอยู่ในใจนี้ ใจนี้จะพาเกิดพาตาย สิ่งนี้มันเป็นเชื้อไขอยู่ในหัวใจของเรา มันถึงปกคลุม เราถึงมองไม่เห็นมันไง แล้วเวลามันแสดงผลงานของมันขึ้นมา มันก็สามารถเบี่ยงเบนความคิดเราว่าสิ่งนี้เป็นธรรม.. สิ่งนี้เป็นธรรม..

ถ้าสิ่งนี้เป็นธรรม มันก็ติดตรงนั้นไปก่อน นี่ครูบาอาจารย์เคาะออกไง ให้สิ่งที่เป็นธรรม สิ่งนี้ ไก่กับกระดูกไก่ ไก่ไม่มีใครกินมันทั้งตัวหรอก มันต้องแยกแยะออกมา สิ่งที่มันเป็นความว่าง มันมีสิ่งใดฝังอยู่ในหัวใจ สิ่งที่ฝังอยู่ในหัวใจ มันละเอียดอ่อนลึกซึ้งขนาดไหน มันจะละเอียดอ่อนอยู่ เพราะว่าจิตมันละเอียดเข้าไป การที่มันจะเป็นความสงบของจิต มันก็ต้องลึกเข้าไป เวลาสัมมาสมาธิมันจะลึกเข้าไป พอลึกเข้าไป เราทำความสงบของเราเข้าไป นี่มหาสติ มหาปัญญา

สิ่งที่เป็นมหาสติ มหาปัญญา มันจะเกิดขึ้นจากตรงนี้ ตรงนี้จะเริ่มเป็นมหาสติ มหาปัญญา มหาสติเห็นไหม สติจะพร้อมตลอดเลย มันจะใคร่ครวญ อายตนะจะเร็วมาก คนที่ประพฤติปฏิบัติแล้วมีอำนาจวาสนา มีเรื่องหูทิพย์ ตาทิพย์ สิ่งนี้มันสะเทือนได้ มันรับรู้เสียงต่างๆได้ แม้แต่ถ้าไม่มีนะ ในการประพฤติปฏิบัติ เสียงเรื่องของชวนะมันจะเร็วมาก มันจะรับรู้เสียง มันจะเข้าใจสิ่งนั้น แล้วยังเอามาเผาลนใจ

สิ่งที่เผาลนใจ มันจะเห็นสิ่งนี้ มันจะไปสะเทือนใจ แล้วมันไม่ต้องการสิ่งนี้ สิ่งนี้มันเลยกลายเป็นแง่ลบกับใจดวงนั้น ถ้าเราเกิดสภาวะแบบนั้นเราต้องคุมด้วยสติของเรา แล้วเห็นสิ่งนี้มันสะเทือนใจ ถ้ามันสะเทือนใจ อะไรไปรับรู้? สิ่งที่รับรู้นั้นเป็นสิ่งใดรับรู้? ถ้ามันเป็นความว่าง มันเป็นผลงาน มันต้องไม่มีสิ่งใดขัดใจสิ สิ่งที่ขัดใจนี้ นี้ไงคือตัวกามราคะ

ถ้าจิตมันออกมาเป็นขันธ์ละเอียดนี้ มันเป็นกามราคะ แต่ตัวของจิตนั้นคือตัวอวิชชา เพราะมีอวิชชาอยู่ภายใน เพราะมีความไม่รู้อยู่ภายใน สิ่งที่ไม่รู้ออกมาเป็นกามราคะ มันก็ไม่รู้ซ้ำสอง ซ้ำสองมันถึงออกมาเป็นตัวของมัน สิ่งที่เป็นตัวของมัน มันถึงขัดใจ ขัดกับสิ่งต่างๆ มันถึงเป็นปฏิฆะ

สิ่งที่เป็นปฏิฆะ มันไม่พอใจตัวของมัน สิ่งนี้มันถึงขัดใจไปตลอด นี้ไงกระดูกกับไก่ ไก่ทั้งกระดูกที่เป็นๆ มันก้าวเดินไปตามธรรมชาติของมัน ไก่ทั้งตัวมันต้องมีกระดูกด้วย มีทั้งชีวิตของมัน กิเลสมันดิบๆ มันเป็นอย่างนั้น มันมีของมัน แล้วมันก็ก้าวเดินของมัน มันถึงมีอำนาจเหนือใจดวงนั้น เราถึงต้องย้อนกลับเข้ามา เห็นความขัดใจนั้น

เห็นความขัดใจ ก็คือเห็นผลงาน การประพฤติปฏิบัติ วิปัสสนา ถ้าไม่จับกาย เวทนา จิต ธรรมได้ ผู้นั้นจะไม่ได้เป็นวิปัสสนา เวลาเราใคร่ครวญด้วยปัญญาปล่อยวางเข้ามานั้น มันเป็นสมาธิเท่านั้น มันเป็นการปล่อยวางเข้ามา ถ้าไม่เห็นโจทก์ ถ้าไม่เห็นจำเลย เราจะจับขึ้นมาไต่สวนไม่ได้ ถ้าเราไม่เห็นกาย เวทนา จิต ธรรม คือเราไม่เห็นกิเลสตัวนั้น เพราะเราไม่เห็นกิเลส

สมถกรรมฐาน คือการใช้ความสงบของใจเข้ามา มันจะปล่อยวาง มันจะว่างเข้ามา ว่างขนาดไหน มันไม่เป็นงาน มันไม่มีฐาน จับฐานไม่ได้ จับกาย เวทนา จิต ธรรมไม่ได้ มันจะไม่เป็นวิปัสสนา ถ้าจับกาย เวทนา จิต ธรรมได้ มันถึงเป็นวิปัสสนาไง

เรามีกายมีใจอยู่นี่ กายกับใจสงบเข้ามา จิตสงบเข้ามา อันนี้เป็นฐานใช่ไหม? จิตนี้เป็นผู้ที่ยกขึ้นวิปัสสนา ถ้าเราไม่มีสัมมาสมาธิ เราจะเอาอะไรไปวิปัสสนา สิ่งนี้มันจะเป็นวิปัสสนา ถ้าวิปัสสนา เราทำความสงบของเราเข้ามา มันถึงต้องหาไง จิตค้นคว้าหาจิต จิตค้นคว้าหาขันธ์อันละเอียด จิตค้นคว้าหากาย ถ้าเจอกาย สิ่งนั้นจะเป็นอสุภะ ถ้าเจอจิตนั้นจะเป็นกามราคะ

สิ่งที่เป็นกามราคะ มันก็ต้องเริ่มแยกแยะ สิ่งนี้เราจับตรงนี้ได้ เราก็ย้อนขึ้นมาวิปัสสนา ถ้าเราวิปัสสนา เรากางสิ่งนี้ออกวิปัสสนา ปัญญาอันละเอียด มหาสติ มหาปัญญา มันละเอียดอ่อนมาก มันจะเริ่มแยกแยะ แยกแยะให้เห็นโทษ เพราะสิ่งนี้มันเป็นความละเอียด มันถึงให้ผลอันละเอียดในหัวใจนั้น มันถึงไม่เห็นผล ไม่เห็นโทษของมัน

พอไม่เห็นโทษของมัน เวลามันก้าวเดินออกไป สิ่งที่เป็นกามราคะ กามโอฆะ โลกทั้งโลก สิ่งที่เขาแสวงหากันก็เพื่อตรงนี้เป็นจุดใหญ่ เพราะสิ่งนี้เป็นจุดใหญ่ เป็นสิ่งที่ยึดติดของโลก เรื่องของโลก เรื่องของกามราคะนี้มันเป็นเรื่องของการรบฆ่า ถ้าผิดข้องใจกัน ถึงกับทำร้ายทำลายกันได้

เรื่องของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ถ้าทำลายตรงนี้ได้ ชีวิตพรหมจรรย์มันจะอยู่มีความสุขมาก ชีวิตพรหมจรรย์ติดขัดกันอยู่ตรงนี้ไง สิ่งนี้จะให้โทษกับชีวิตพรหมจรรย์ เพราะเราบวชมา เราประพฤติปฏิบัติมา จากภายนอก จากเรื่องของร่างกาย แล้วก็เรื่องของจิตใจภายใน

แต่กามราคะ มันอยู่ลึกขนาดที่ว่า มันเข้าไปถึงมหาสติ มหาปัญญาภายใน มันเผาลนใจไง มันทำใจนี้ให้มีการใคร่ครวญ มันเหมือนกับมีไฟสุมขอน เผาใจดวงนี้ให้อยู่สภาวะแบบนั้น ถ้าประพฤติปฏิบัติขึ้นมาถึงตรงนี้ ตายไปมันก็เกิดบนเทวดา

สิ่งที่เกิดเป็นเทวดา กาม เสพกาม กามของเทวดาก็เสพกาม กามของมนุษย์ก็เสพกาม สิ่งที่เสพ ใจมันเสพอยู่ ประพฤติปฏิบัติ มันก็เสพในตัวมันเองของมันอยู่ แต่เราต้องแยกออกมาให้เห็นความเป็นไปของมัน มันถึงไม่เป็นพรหมจรรย์ ถ้าเราแยกแยะสิ่งนี้ออก กามราคะที่มันเสพตัวมันเอง ถ้าทำลายตรงนี้ได้ ตรงนี้จะขาดออกไปจากใจ

ไก่กับกระดูก เนื้อของไก่จะเป็นเรื่องของพรหมจรรย์ เรื่องของมรรค เนื้อของมันคือเรื่องของพรหมจรรย์ เรื่องของมรรค เรื่องของมหาสติ มหาปัญญา เรื่องความเพียรชอบ การงานชอบ งานในการใคร่ครวญ งานในการใช้ปัญญา งานในการของผู้ที่ควบคุมภพชาติ สิ่งนี้จะทำลายภพชาตินั้น

โลกเขาแสวงหากัน แสวงหากันว่าเป็นสมบัติกลาง เป็นสมบัติของโลก แต่ในการพิจารณานี้ ถ้าเราทำลายกามภพ ใจดวงนี้จะไม่เกิดในกามภพอีกเลย ใจดวงนี้จะเกิดบนพรหมอย่างเดียว สิ่งที่เกิดบนพรหมเพราะมันทำลายสิ่งที่ว่าเป็นกาม สิ่งที่การเสพกามเห็นไหม นี่พรหมจรรย์เกิดตรงนี้

ถ้าพรหมจรรย์เกิดตรงนี้ วิปัสสนาเข้าไป แยกออกไปเรื่อยๆ การงาน งานอย่างไรมันก็ต้องใช้พลังงานทั้งนั้น พลังงานใช้ไปแล้วมันก็ต้องหมดไป เงินใช้หมดไปแล้วเราต้องแสวงหา คนใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายจะหาไม่พออยู่พอกินนะ การประพฤติปฏิบัติถ้าเราใช้ปัญญาโดยที่เราไม่ย้อนกลับมาทำความสงบของใจ เราใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย งานของเราจะเป็นงานของเราไหม? ถ้างานของเรามันต้องสมดุล ในการสมดุลคือมรรคสามัคคี คือมัชฌิมาปฏิปทา

มัชฌิมาปฏิปทาคือความสมดุลของปัญญา ความสมดุลของสมาธิ ความสมดุลของงาน งานเราใคร่ครวญ มันเป็นอสุภะ เราก็ตั้งอสุภะขึ้นมา พิจารณาอสุภะให้มันแปรสภาพ ให้มันเป็นไปตามแต่กำลังของใจ ใจมีกำลังมาก วิปัสสนามันจะเร็วมาก จากเริ่มต้นวิปัสสนา มันจะไปได้ช้า เพราะงานใหม่ เราต้องคิดพิจารณาใช้กำลังมาก มันจะไปได้ช้า ภาพอสุภะนั้นมันจะทำลายตัวมันเองช้ามาก

แต่ถ้าเราฝึกฝนบ่อยครั้งเข้า มันจะคล่องชำนาญเข้า จนเร็วมาก พิจารณาปั๊บ ปล่อย.. ปล่อย ปล่อยขนาดไหน พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วต้องกลับมาสร้างพลังงานตัวนี้ ให้มรรคสามัคคี ให้มัชฌิมาปฏิปทาสมดุลทุกอย่าง

สิ่งที่สมดุลทุกอย่าง มันจะทำลายกัน ครืนออกไปจาก หัวใจ ย้อนกลับมาถึงใจนะ ภาพนั้นจะเข้าถึงใจ ทำลายกันที่ใจดวงนั้น ขันธ์อันละเอียดในหัวใจต้องทำลายไป วิปัสสนามันเกิดอย่างนี้.. วิปัสสนามันให้ผลอย่างนี้.. ไม่ใช่วิปัสสนาแบบนึกคิดเอาแบบของเขา

วิปัสสนานึกของเขา นึกคิดเอา แล้วไม่มีเหตุ ไม่มีผล เหตุผลนี่กระดูกของไก่เห็นไหม เราสลัดทิ้งออกไป สังโยชน์ขาดนะ ปฏิฆะ กามราคะขาดออกไปจากใจ ขาดออกไป ใจนี้ไม่มีสัญญา สัญญาความจำได้หมายรู้ต่างๆ เกิดเป็นปฏิฆะ สิ่งที่ขัดข้องหมองใจเกิดจากความรับรู้ ไม่พอใจสิ่งใดๆ จะเล็กน้อยขนาดไหนก็แล้วแต่ที่เราไม่พอใจ นั้นคือตัวเริ่มต้นของปฏิฆะ

กามราคะคือความไม่สมใจของมัน คือเป็นกามราคะ มันขาดออกไปจากใจ เวิ้งว้างหมดเลย ใจนี้ว่างมาก.. ปล่อยวางสิ่งต่างๆ เข้ามา นี่เกิดขึ้นมาจากปฏิบัตินะ เกิดขึ้นมาจากเราทำถูกทาง เราเชื่อครูบาอาจารย์

ครูบาอาจารย์ของเราพยายามค้นคว้าสิ่งนี้ขึ้นมา ด้วยการประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริง ไม่ใช่เดินตามแผนที่ แล้วไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ เดินตามแผนที่เพื่อจะได้ให้สมกับเราศึกษามา เราเดินตามแผนที่ไป แผนที่กางบนโต๊ะ แล้วเราจินตนาการไปขนาดไหนก็ได้ เราลงไปพื้นที่ นี่แผนที่โลกมีแผ่นเดียว แต่โลกกว้างขวางขนาดไหน แต่ละประเทศ แต่ละพื้นที่

ในการประพฤติปฏิบัติ แต่ละขั้นตอน ตั้งแต่ทิ้งกายอย่างหยาบๆ ทิ้งอุปาทานในกายเข้ามา ทิ้งกามราคะเข้ามา มันลึกลับเหมือนกับภพชาติ เหมือนกับประเทศแต่ละประเทศที่เราเข้าไปสำรวจนะ เราสำรวจใจของเรา เห็นโทษของมัน เห็นโทษของการยึดมั่น เห็นโทษของมันแล้วปล่อยวางเข้ามา ก็เข้าใจว่าจิตนี้ปล่อยวางหมดแล้ว นี่ติด ปล่อยวางแล้วก็ติดสภาวะนั้น ฝึกซ้อมขนาดไหน ยิ่งฝึกซ้อม ยิ่งพยายามใคร่ครวญ มันจะปล่อยเข้ามาอีก ปล่อยเข้ามาเรื่อย เป็นชั้นเข้ามา จนรวมใหญ่ปล่อยเข้ามาหมดเลย รวมใหญ่ขาดหมด! สิ่งที่ขาดหมดเห็นไหม

นี่ติดได้... สิ่งที่เกิดติดหมด ถึงสะสมสิ่งนี้ไว้ เข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นธรรม เรื่องของกิเลสมันจะให้ผลเป็นแง่ลบไปตลอด สิ่งนี้ถ้าติดไว้ก็เกิดบนพรหม กิเลสนี้มันยังสงวนตัวของมันเพื่อจะให้มีอำนาจกับใจดวงนั้น เราถึงต้องตามสังเกต พยายามดู ว่างขนาดไหน มีความสุขขนาดไหน ก็ดูความสุขของเรา มันเศร้าหมอง มันผ่องใส มันมีสิ่งใดอยู่ในสิ่งนั้น นี่กิเลสอันละเอียดนะ อวิชชา ปัจจยา สังขารา เราเห็นว่านี่สิ่งนี้เป็นสิ่งที่มีโทษมากเลย เพราะอวิชชาพาเกิดพาตาย แต่ความเป็นจริงของมันคือมันละเอียดอ่อนมาก

กิเลสอันละเอียดอ่อนคือตัวเชื้อ เชื้อโรคที่มันละเอียดอยู่ในหัวใจ เชื้อโรคมันเหมือนกับไวรัสอย่างหนึ่ง มันไม่มีตัว ไม่มีตนนะ แต่เวลามันเกิดกับร่างกายอันใด ทำไมมันให้ผลกับร่างกายนั้นถึงตายได้ล่ะ นี้ก็เหมือนกัน มันเป็นเชื้ออยู่กับใจ วิชชากับอวิชชาเท่านั้น มันถึงละเอียดอ่อนเข้าไป ถึงต้องพยายามย้อนกลับ สังเกตตรงนี้ได้

การขุดคุ้ย การค้นคว้า ถ้าเจอสิ่งนี้เป็นงานอันมหาศาล ถ้าค้นคว้าไม่เจอ ก็จะต้องคร่อมตออย่างนั้น ก็ว่าสิ่งนี้เป็นการประพฤติปฏิบัติ สุดวิสัยก็ต้องเกิดบนพรหม ถ้าไม่สุดวิสัย ย้อนกลับเข้ามาจับสิ่งนี้ได้ ใคร่ครวญสิ่งนี้ แล้วพลิกสิ่งนี้ไง สิ่งนี้จะพลิกออกด้วยปัญญาญาณ ปัญญาอันละเอียดมาก.. การประพฤติปฏิบัตินี่

วิปัสสนาสิ่งที่ละเอียด ละเอียดสุดๆ วิปัสสนาแต่ละขั้นตอน ปัญญาที่หยาบมันก็ใช้ผลหยาบๆ นะ ปัญญาอย่างกลางก็ใช้อย่างกลาง ปัญญาอย่างละเอียดก็ต้องใช้ปัญญาอย่างละเอียด ปัญญาอย่างละเอียดสุดมันเหมือนกับสิ่งที่ว่า มันเป็นปัญญาญาณอันละเอียดลึกซึ้งมาก.. วิปัสสนามันก็เป็นชั้นเป็นตอน

การทำความสงบของใจ ใจก็สงบมาเป็นชั้นเป็นตอน เรื่องของสมาบัติยังเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา แล้วเรื่องของการชำระกิเลสมันจะลึกซึ้งเข้าไปอีก เป็นชั้นๆ เข้าไปเลย วิปัสสนาโดยการประพฤติปฏิบัติไง

ในภาคปฏิบัติของครูบาอาจารย์เรานะ หลวงปู่มั่นเป็นผู้บุกเบิก หลวงปู่มั่นพยายามค้นคว้าสิ่งนี้มา แล้วหลวงปู่มั่นวางไว้ให้พวกเราเดิน ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ พวกเราจะต้องค้นคว้าด้วยตัวเอง ต้องพยายามค้นคว้าตำรามีอยู่ พระไตรปิฎกมีอยู่ แต่กิเลสเราก็มีอยู่ กิเลสของเรามันเหมือนกับคน คนทุกข์คนยาก เขาได้พออยู่พอกิน เขาก็พอใจของเขาแล้ว แต่คนที่มั่งมีศรีสุข จะให้เขามากขนาดไหน เขาก็ไม่พอใจ เขาต้องการให้มากไปกว่านั้นไง

อันนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อหัวใจมีกิเลสอยู่ ศึกษาขนาดไหน กิเลสมันก็เทียบเคียงไปตลอด กิเลสอย่างหยาบมันก็ศึกษาเทียบเคียงแบบหยาบๆ ฉันรู้แล้ว.. กิเลสอย่างกลางๆเทียบเคียง ก็ฉันรู้แล้ว ฉันรู้แล้ว.. ฉันรู้แล้วทั้งนั้นเลย ฉันรู้แล้ว แต่ฉันชำระกิเลสไหม? ฉันรู้แล้ว ฉันได้ฆ่ากิเลสไหม? ถ้าฉันรู้แล้ว แต่ฉันไม่ได้ฆ่ากิเลสเลย ฉันก็พอกพูนกิเลสในหัวใจของฉันไง

ในหัวใจของฉันคือคนติดดี ว่าตัวเองเป็นคนดี แต่ไม่รู้เลยว่าสิ่งที่ว่าเป็นความดีนั้นมันฆ่าใจตัวเองไง มันทำลายหัวใจดวงนั้นให้สร้างเป็นกิเลส ให้หัวใจดวงนั้นทำลายสิ่งต่างๆ ทั้งหมดเลย ทำลายนะ ทำลายโอกาสของตัวเอง ถ้าตัวเองไม่ติดสิ่งนี้ ตัวเองวางสิ่งนี้ไง วางกิเลส แล้วใคร่ครวญของเรา มันมีสิ่งใดที่เกิดขึ้นจากใจ จับกิเลสได้ เห็นหน้าของกิเลส แล้วได้ชำระกิเลสตามความเป็นจริง มันไม่ได้ชำระกิเลสเลย แต่กิเลสมันก็ไพล่บอก

กึ่งพุทธกาล มรรคผลไม่มี นี่กิเลสไปเอาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พลิกออกมาเป็นโทษกับตัวเอง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้มากมายในพระไตรปิฎกว่า “ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” เวลาสิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับเรา มันไม่สามารถเอามาเป็นประโยชน์กับเราไง

สิ่งที่เป็นยา เป็นคุณประโยชน์กับร่างกาย.. ไม่กิน ไปกินสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยกับหัวใจของกิเลส เพราะกิเลสมันอยู่ในหัวใจ มันถึงเอาสิ่งนั้นมาเสริมอำนาจของมัน แต่ในการประพฤติปฏิบัติของเรา การวิปัสสนาของเรา เราจะฆ่ากิเลสเห็นไหม เราถึงต้องข่มกิเลสของเราไง เราถึงต้องตั้งสติ เราถึงต้องใช้ความเพียรของเรา เราถึงจะต้องทำด้วยความจริงจังของเราไง

เริ่มต้นของกิเลสก็ว่าอย่างนี้เป็นสีลัพพตปรามาส อย่างนี้เป็นอัตตกิลมถานุโยค ผู้ที่วงปฏิบัติ ปฏิบัติด้วยความโง่เขลา ด้วยความเอาแต่ทุกข์มาใส่ตัว แต่ถ้าปฏิบัติด้วยความสะดวกสบายของเขาอย่างนั้น นี่กิเลสมันเอาแต่สิ่งนี้มาพอกพูนใจ แล้วมันก็หมุนอยู่ในวงของกิเลส เหมือนกับพวกเรามั่งมีศรีสุข แล้วก็อยากได้เงินทองนี้มากกว่า อยู่ในศีลธรรม จริยธรรม มีความอ่อนโยน มีความเป็นธรรม ไอ้พวกเรา ไอ้พวกประพฤติปฏิบัตินี้ ไอ้พวกออกธุดงค์นี้ ไอ้พวกประพฤติปฏิบัตินี้ เป็นผู้ที่หยาบ ทำอะไรเอาแต่ความทุกข์มาใส่ตัว

นี้ต่างหาก ครูบาอาจารย์เราเป็นผู้ที่ผ่านสิ่งนี้มา ประพฤติปฏิบัติมาจนชำระกิเลสออกมาเป็นชั้นเป็นตอน ถึงเป็นประโยชน์กับใจดวงนั้น แล้วเราประพฤติปฏิบัติเพื่อสิ่งใด? ถ้าเราจะฆ่ากิเลส เราจะต้องประพฤติปฏิบัติด้วยความจริงจังของเรา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางพระไตรปิฎกไว้ สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ สิ่งนั้นเป็นของจริงทั้งหมด แต่วางไว้ แล้วเราปฏิบัติของเราไป พอใจของเราเป็นธรรมขึ้นมา มันจะประสานกัน แล้วมันจะเป็นจริงโดยความเป็นจริง ไม่ใช่เป็นจริงโดยกิเลสของเราอ้างอิง เอวัง