ผู้รับเหมา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๘ กันยายน ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “ความเห็นจากการภาวนา”
กราบนมัสการหลวงพ่อ ผมมีเรื่องเรียนถามอีกครั้ง
๑. จิตคือผู้รู้หรือตัวรู้ใช่ไหมครับ อาการคือรู้อยู่เฉยๆ หรือเหมือนสักแต่ว่ารู้ ส่วนการรับรู้นั้นจะต้องอาศัยสิ่งมากระทบคืออายตนะ ๖ ใช่ไหมครับ
๒. ถ้าความเห็นข้อที่ ๑. ของผมเป็นความจริง ในลำดับต่อไปเราต้องรู้จักอาการของจิตเพื่อจับแยกแล้วพิจารณาใช่ไหมครับ
ตอบ : นี่คำถามเนาะ สั้นๆ “ข้อ ๑. จิตคือผู้รู้และตัวรู้ใช่ไหมครับ อาการคือรู้อยู่เฉยๆ หรือเหมือนสักแต่ว่ารู้ ส่วนการรับรู้นั้นจะต้องอาศัยสิ่งมากระทบคืออายตนะ ๖ ใช่ไหมครับ”
นี่พยายามภาวนานะ ผู้ถามถามเรื่องภาวนา ตอนนี้ถามภาวนามาต่อเนื่อง ที่ตอบๆ มาส่วนใหญ่คนนี้เป็นคนถาม แล้วถามมาก็พิจารณามาเรื่อยๆ จนแบบว่ามันก็เข้มงวดขึ้น ทีนี้มันก็กระชับเลย
“จิตคือผู้รู้หรือตัวรู้ใช่ไหมครับ”
คือพยายามจะค้นคว้าหาความจริงไง ถ้าค้นคว้าหาความจริงนะ จิตคือผู้รู้หรือตัวรู้ จิตก็คือจิต ธรรมชาติของจิตคือมันรู้ตัวมันเอง ถ้ารู้ตัวมันเองแล้วมันเสวยอารมณ์ เสวยอารมณ์คือว่า จิต อาการของจิต คือเงาไง ถ้าจิต อาการของจิต เวลาสิ่งที่เรารู้เราเห็นกันที่ว่าเขาดูจิตๆ ดูจิต เขาว่าดูจิต เขาว่าไง ก็เขาว่าก็คือความเข้าใจของเขาไง ว่าถ้าเข้าไปสู่ความรู้สึกนั่นคือตัวจิต แต่คนมันหยาบๆ ใช่ไหม พอคนหยาบๆ ความคิดมันคือจิต ความคิดคือสิ่งที่เราคิด อารมณ์ความรู้สึกคือจิต
แต่ถ้ามันพิจารณาไปแล้วมันปล่อยอารมณ์ความรู้สึกเข้าไปแล้ว มันสักแต่ว่ารู้ ถ้ารู้อย่างนี้ สักแต่ว่ารู้คืออัปปนาสมาธิ แต่เวลามันออกมา อุปจาระมันออกมา ถ้าออกมา เห็นไหม
ฉะนั้น สิ่งที่บอกเขาดูจิตๆ เขาบอกว่าสิ่งนั้นคือการวิปัสสนา สิ่งนั้นคือการภาวนา นี่คือความเข้าใจของเขาไง ถ้าความเข้าใจของเขาเป็นแบบนั้น แต่ถ้าครูบาอาจารย์ของเราปฏิบัติมาแล้ว โดยสามัญสำนึก เวลาเราคุยธรรมะกัน เราก็คุยธรรมะกัน เราเข้าใจได้ ฉะนั้นบอกว่าใครมีความสงบไง คือใครมีสมาธิไง
โดยธรรมชาติเด็กสมาธิสั้น สมาธิยาว โดยคนทั่วไปคนที่มีสมาธิดีเขาก็มั่นคงของเขา ถ้าคนสมาธิเขาสั้น สมาธิเขาควบคุมไม่ได้ เขาเป็นคนที่พลั้งเผลอได้ง่าย คนที่ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ นี่พูดถึงโดยทางโลก ทางการแพทย์เขายังเข้าใจได้เลยว่าเด็กสมาธิสั้น เด็กปกติ เด็กที่มีสมาธิดี ทำไมเขาเรียกว่าสมาธิล่ะ เด็กๆ เด็กๆ ทำไมสมาธิสั้น สมาธิปกติล่ะ นี่เพราะความเข้าใจของโลก คำว่า “สมาธิ” ไง
แต่เวลาพระปฏิบัติขึ้นมา คำว่า “จิตสงบเป็นสมาธิ” มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้ามันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง โดยสามัญสำนึกเรามีสติปัญญาเราก็ว่าสมาธิเราดีนะ เราเคลื่อนไหวตลอด แต่เวลาเราทำความสงบของใจล่ะ ถ้าใจมันสงบเข้าไปนะ หลวงตาท่านบอกว่าท่านฟังหลวงปู่มั่นเทศน์ที่หนองผือ เวลาฟังหลวงปู่มั่นเทศน์ที่หนองผือ จิตดับไป ๓ วัน
นี่มันก็เป็นปัญหาขึ้นมาแล้ว “จิตมันดับได้หรือ ถ้าจิตมันดับไม่ใช่ตายหรือ” นี่คนไม่ภาวนามันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งใช่ไหม พอคนภาวนา คำว่า “จิตดับ” ดับจากอารมณ์ความรู้สึก แต่ตัวมันมีของมันอยู่ แล้วเบาไปหมด
พอบอกว่า “ฟังเทศน์หลวงปู่มั่นนะ ถ้าวันไหนหลวงปู่มั่นเทศน์นะ แล้วมันซาบซึ้งใจมาก จิตผมดับไป ๓ วัน”
จิตผมดับไป ๓ วัน หมายความว่า ท่านจะเดินไปไหนก็แล้วแต่ อายตนะส่วนอายตนะ จิตมันส่วนจิต มันไม่ออกรับรู้ พอไม่ออกรับรู้มันก็ทรงตัวมันอยู่ในหัวใจ ทรงตัวอยู่กลางหัวอก แต่การเคลื่อนไหวมันก็เหมือน ใครเดินจงกรมนะ ทุกคนจะมาถามว่า เวลาเดินจงกรมไป ไปถึงหัวทางจงกรมแล้วทำอย่างไร ต้องหักพวงมาลัยเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา แล้วมันจะกลับมาอย่างใด คนฝึกใหม่ๆ มันจะวิตกกังวลอย่างนี้ แล้วเวลาเดินจงกรมไปถึงหัวทางจงกรมแล้วจะทำอย่างไรให้มันกลับมา พอกลับมาแล้วจะเดินอย่างไรต่อไป
มันก็เหมือนคนหัดขับรถ คนหัดขับรถ พอจะขับรถ โอ้โฮ! มันเก้ๆ กังๆ ไปหมดเลย ไอ้คนที่ขับรถเป็นนะ เขาใช้นิ้วเดียวควงได้หมดเลย จะไปไหนก็ได้ นี่ก็เหมือนกัน พอคนชำนาญแล้วนะ ไม่กลับมาถามเลยว่าไปถึงหัวทางจงกรมแล้วจะเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา จะหักพวงมาลัยอย่างไร ไม่ถามแล้ว เพราะมันชำนาญแล้ว นี่คือสัญชาตญาณ พอสัญชาตญาณขึ้นมา มันทำจนคล่อง มันชำนาญไง
ฉะนั้นว่า จิตดับ ๓ วัน จิตมันดับ มันดับจากความรู้สึก มันเป็นศัพท์ของฝ่ายปฏิบัติไง ดับจากที่มันเสวยอารมณ์ ดับจากที่มันไปกว้านเอาสิ่งที่ไปยึดมั่นถือมั่นผ่านอายตนะไปไง ดับ ไม่ออกไปรับรู้ แต่ตัวมันทรงไว้เพราะด้วยสติของมัน ทรงไว้ดีมากเลย นี่จิตดับถึง ๓ วัน การดับอย่างนี้ เพราะหลวงตาท่านพูดเองว่าท่านติดสมาธิถึง ๕ ปี ฉะนั้น ถ้าจิตดับเข้ามา มันปล่อยวางเข้ามามันก็เป็นสมาธิ ถ้ามีสติปัญญา มีสติมีสัมปชัญญะมันก็เป็นสมาธิ สมาธิแก้กิเลสไม่ได้
สมาธิแก้กิเลสไม่ได้ แต่สมาธิเป็นที่พัก ที่วาง ที่ผ่อนคลายได้ เวลาจิตมันฟุ้งซ่าน มันทุกข์ยากมาก เวลามันสงบตัวเข้ามา มันหดตัวเข้ามาเป็นตัวของมันเอง เป็นตัวของตัวเอง มันได้พักอารมณ์ มันได้พัก ได้พักจากสิ่งที่มันไปกว้านมาเป็นสมบัติบ้า เดี๋ยวกูจะไม่รู้ไง จะไม่รู้ไอ้นั่น จะไม่รู้ไอ้นี่ อยาก โอ๋ย! ปัญญาเยอะมาก รับรู้แบกโลกเลย แบก ๓ โลกธาตุเลย โอ้โฮ! คนมีปัญญามากเลยนะ นี่ไอ้พวกบ้า บ้าแบกหามไง
เวลามันปล่อยวางเข้ามามันปล่อยวางหมดเลย เป็นอิสระ เห็นไหม มันหายจากความเป็นบ้า มันไม่บ้าอารมณ์ของมันเอง มันสงบเข้ามา ถ้าเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ
ทีนี้ถามว่า “จิตคือผู้รู้หรือตัวรู้” เออ! จิตเป็นผู้รู้หรือตัวรู้
มันเป็นโวหารน่ะ จิตเป็นผู้รู้ก็ได้ จิตเป็นตัวรู้ก็ได้ คำว่า “ก็ได้ๆ” หมายความว่า ใครทำแล้วคนนั้นรู้เห็นตามความเป็นจริง เขาจะใช้ศัพท์อย่างไรมันก็ใช้ได้ แต่ถ้าเราเอาตามคัมภีร์นี่มีปัญหาแล้ว ที่เราเถียงกัน เถียงกัน สาธุนะ พุทธพจน์เราก็สาธุ ธรรมวินัยนี่เคารพมาก แต่มันธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง ทีนี้เวลาเราอ้าง อ้างพุทธพจน์ ตัวอักษรว่าอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนี้ บัญญัติอย่างนี้ เถียงกันปากเปียกปากแฉะเลย
หลวงตาท่านสอนไว้ ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เราสนทนาธรรมกัน เราแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันเพื่อประสบการณ์ ทั้งชีวิตนะ เราปฏิบัติกัน แล้วเราแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน นี่เป็นมงคลชีวิต มงคล ๓๘ ประการ ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ
แต่ถ้าเราเถียงเอาแพ้เอาชนะกันนะ หลวงตาท่านบอกว่าหมากัดกัน หมามันกัดกันนะ เวลามันกัดกันน้ำลายแตกฟองเลยนะ มันกัดกัน ร็อตไวเลอร์เวลากัดแล้วกรามมันล็อกเลย มันไม่ปล่อยเลยล่ะ ไอ้นี่พอมันกัดติด โอ้โฮ! มันกัด มันสะบัด คือเถียงเอาแพ้เอาชนะกันน่ะ ธรรมะหมากัดกันไม่มีประโยชน์เลย เราเอาเหตุเอาผลสิ เราต้องมีปัญญาสิ ใครมีเหตุผลที่หักล้างได้ เราต้องยอมรับการหักล้างด้วยเหตุผลนั้นสิ
ถ้าธรรมะ ธรรมะเป็นเรื่องของปัญญา ถ้าปัญญาที่เขามีเหตุมีผล เหตุผลของเราด้อยกว่า เหตุผลของเราสู้ไม่ได้ เราต้องยอมรับสิ ถ้าเรายอมรับด้วยเหตุด้วยผล นี่มงคลชีวิต เพราะการปฏิบัติมา จะเป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ก็แล้วแต่ แล้วถ้าจิตใจมันเข้าไปสัมผัส จิตใจเข้าไปรู้ขึ้นมามันแปลกประหลาด มันลึกลับมหัศจรรย์ มันอยู่ที่วัยวุฒิไหม มันอยู่ที่อายุมากอายุน้อยไหม มันอยู่ที่คนปฏิบัติเก่า คนปฏิบัติใหม่ไหม ไม่เกี่ยวเลย มันเกี่ยวกับเข้าไปรู้จริงเห็นจริง แล้วรู้จริงเห็นจริงอันนั้นมาสนทนาธรรมกัน นั่นมันเป็นประโยชน์
ฉะนั้นถึงบอกว่า “จิตเป็นผู้รู้หรือตัวรู้”
จะพูดให้มันทะเลาะกันใช่ไหม อย่างนี้มันเหมือนผู้รับเหมา ผมมีอาชีพรับเหมา รับเหมาได้หมดล่ะ ถ้าผู้รับเหมา มาเถอะ ทุกอย่างทำได้หมด มันจะลดอุปกรณ์ก็ได้ จะลดคุณภาพของงานก็ได้ ผู้รับเหมามันทำได้หมด ทีนี้ถ้าจิตมันรับเหมาล่ะ ฉะนั้น จิตเป็นผู้รู้หรือเป็นตัวรู้ ถ้าจิตเป็นผู้รู้ก็ได้ ถ้าเป็นตัวรู้มันละเอียดเข้าไป
ที่ว่า อาการที่อยู่เฉยๆ เหมือนสักแต่ว่ารู้ ส่วนการรับรู้ต่างๆ นี่ความเห็นของเขา ความเห็นนะ ขั้นของสมาธิมันก็ขั้นของสมาธิ คือสมาธิมันมีความอิ่มเต็มของมัน แต่ถ้าขั้นของปัญญา ปัญญาใครหยาบใครละเอียด หยาบละเอียดมันไปได้กว้างขวาง ฉะนั้น ขั้นของปัญญาไม่มีขอบเขต
เรดาร์เวลามันหาความถี่ของมัน มันจะหาวัสดุเข้ามาในรัศมีของมัน เรดาร์มันหมุนของมัน นี่ปัญญาเวลามันแพร่กระจายออกไปมันต้องค้นคว้า มันต้องหาของมัน นี่ขั้นของปัญญาไม่มีขอบเขต เต็มที่เลย
แต่ขั้นของสมาธิมันเป็นหนึ่ง เอกัคคตารมณ์ จิตตั้งมั่น คำว่า “เป็นหนึ่งเดียว” ต้องสงบเข้ามาเป็นหลักตั้งมั่นเลย ถ้าตั้งมั่นแล้ว ถ้ามันออกใช้งานแล้ว ขั้นของปัญญาแล้วไปได้เต็มที่ อย่าได้ยั้งไว้ เต็มที่ไปเลย จนกว่าทำจนไปไม่รอดแล้วกลับมาทำความสงบของใจใหม่ นี่พูดถึงว่าการปฏิบัตินะ นี่ข้อที่ ๑.
“๒. ถ้าความเห็นข้อที่ ๑. ของผมเป็นความจริง”
เห็นไหม เป็นความจริงหรือความปลอม นี่ผู้รับเหมา มันจะเหมาหมดเลย ธรรมะเขาต้องทำเป็นความจริง ไม่ใช่ผู้รับเหมา มันจะเหมารวมเอาหมดเลย
“ถ้าความเห็นข้อที่ ๑. ของผมเป็นความจริง ลำดับต่อไปเราต้องรู้จักอาการของจิตเพื่อจับแยกและพิจารณาใช่ไหม”
ผู้รับเหมามันจะเหมาไง พอเหมาว่านั่นเป็นตัวรู้ นั่นเป็นผู้รู้ นี่เป็นกิเลส นี่เป็นธรรม แล้วมันก็แยก แยกมาชั่งกิโลไง ชั่งกิโล น้ำหนักของกิเลสมันมีน้ำหนักเท่าไร น้ำหนักของธรรมมีน้ำหนักเท่าไร มันไปเลยนะ อันนี้คือจินตนาการทั้งนั้นน่ะ
ถ้ามันเป็นความจริงนะ สิ่งที่ครูบาอาจารย์ท่านแสดงธรรม นั้นคือแสดงจากประสบการณ์ของท่าน เป็นความจริงของท่าน แล้วเราจับของเรา เราพิจารณาของเรา
ฉะนั้นว่า ถ้าข้อที่ ๑. มันเป็นแบบนั้น ผู้รู้กับตัวรู้มันคนละอันกัน พอคนละอันกัน ลำดับต่อไป เราต้องรู้จักอาการของจิต เราก็จับจิตแยกและพิจารณาใช่ไหมครับ
จิตปลอม จิตปลอม จิตยังแบกสัญญาอารมณ์อยู่ ไปรู้สิ่งใดเป็นของปลอมหมดเลย เขาบอกว่า “การปฏิบัติในพระพุทธศาสนาเป็นการปฏิบัติโดยแนวทางสติปัฏฐาน ๔ มันต้องรู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม เป็นสติปัฏฐาน ๔” นี่ปลอมหมดเลย ปลอมหมดเลยเพราะอะไร เพราะสัญญามันจำมา เพราะสัญญานะ เพราะโลกียปัญญา ปัญญาของโลก ปัญญาของมาร แล้วมาศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วบอกต้องปฏิบัติในแนวทางสติปัฏฐาน ๔
แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเราบอกว่า กรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน ทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจสงบเข้ามาเป็นตามความเป็นจริงนะ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ มันชัดเจนของมัน ถ้ามันชัดเจนของมัน สิ่งนั้นจิตมันจริง จิตมันจริงแล้ว ถ้ามันจิตจริง สมาธิแก้กิเลสไม่ได้ แต่ถ้าเป็นสมาธิแล้วจิตมันออกค้นคว้า ออกเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริงของมัน นั่นน่ะเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง นี่ไง สติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรมไง
ถ้าจิตมันจริง เห็นกาย เวทนา จิต ธรรมตามความเป็นจริง นี่สติปัฏฐาน ๔ จริง สติปัฏฐาน ๔ จริงเพราะมันมีจิตจริงๆ จิตที่มันสัมมาสมาธิมันเป็นจริงขึ้นมาแล้วมันค้นคว้าของมัน มันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง มันจะตื่นเต้น มันจะหวั่นไหว อย่างเช่น อย่างเราปกติเราไม่ตรวจร่างกายเราก็ไม่เป็นไร พอไปตรวจร่างกาย หมอบอกว่า อู๋ย! โรคภัยไข้เจ็บเต็มตัวเลยนะ บอกพรุ่งนี้ต้องตายแล้ว อยู่ไม่ได้หรอกพรุ่งนี้ ใจนี่ฝ่อหมดเลย นี่ก็เหมือนกัน จิตเวลามันไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง มันเห็นโทษของมัน พอมันเห็นมันสะเทือนใจมาก
แต่นี้เราไม่สะเทือนใจเลย เราไม่รู้ว่าเราเป็นโรคภัยไข้เจ็บอะไรเลย เราบอกเราจะอยู่อีก ๕ ล้านปี หมอบอกตายพรุ่งนี้ นี่มันสะเทือนใจ ถ้ามันเห็นจริง นี่ไง ว่าจิตจริง สติปัฏฐาน ๔ จริง มันเป็นแบบนี้ จิตมันจริง สติปัฏฐาน ๔ มันจริง พอมันเห็นแล้วมันสะเทือนหัวใจ มันสะเทือนกิเลส มันทุกข์มากนะ มันเห็นแล้วมันสำรอกมันจะคาย เหมือนหลวงตาท่านบอกว่า เวลาเราจับงูมา นึกว่าปลา เดี๋ยวจะไปทำอาหาร เรานึกว่าปลา มันดีใจว่าจะได้อาหารมื้อหนึ่ง พอพ้นจากน้ำมามันเห็นว่าเป็นงูเห่า มันจะกัดตาย รีบสลัดทิ้งเลย
นี่ก็เหมือนกัน พอจิตมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง มันทุกข์มันยากของมัน มันเห็นของมัน มันจะสลัด แล้วสลัดได้ไหมล่ะ ถ้ามันมีกำลังของสมาธิ มันจับได้จริง มันสลัดจริง เพราะอะไร เพราะมันมีมือกับมีงูเห่า
ไอ้นี่บอกว่า ถ้ามันเป็นแบบนั้น ถ้ามันเป็นแบบนั้นก็คิดเลยนะ อ๋อ! ถ้าเราจับงูเห่า เราจับงูเห่า เรารู้ เราต้องรีบสลัดทิ้งเลยนะ มันก็คิดไปใช่ไหม แต่มันไม่มีงูเห่าไง มันไม่เห็นงูเห่าจริงไง มันคิด บอกอาจารย์ก็สอน ถ้าจับปลามา คิดว่าปลา ก็ยังดีใจ ถ้าเป็นงูเห่า เรารู้ เราต้องสลัดทิ้งเลยนะ ถ้าสลัดทิ้ง นี่ผู้รับเหมา รับเหมาเพราะอะไร เพราะมันรู้มาหมดไง รู้มาหมดเลยนะ แล้วมันจะเหมาเอาหมดเลย เหมามามันไม่เป็นความจริง ทำให้เป็นความจริงเสีย
ฉะนั้นบอกว่า “ถ้าข้อที่ ๑. ของผมเป็นความจริง ลำดับต่อไปก็ต้องจับอาการของจิตเพื่อแยกกายกับจิตออกมาจริงไหม”
โดยการกระทำ สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน วิปัสสนาญาณ เกิดญาณหยั่งรู้ มันพิจารณาของมันไป มันรู้ของมัน มันสำรอกมันคายของมัน แต่นี้เราพยายามจะสร้างกันไง จะสร้างกันทำกันขึ้นมาให้เป็นจริง นี่พูดถึงว่าเป็นปริยัตินะ ถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บ “หลวงพ่อ ถามปัญหาหลวงพ่อมาให้หลวงพ่อตอบนะ ไม่ใช่ถามให้หลวงพ่อด่า”
นี่ไม่ได้ด่า ไม่ได้ด่านะ นี่พยายามจะแยกแยะให้เห็นว่าอะไรเป็นจริงอะไรไม่เป็นจริงนะ เวลาถามมันเป็นอย่างนั้นน่ะ ถ้าเป็นจริงมันก็เป็นจริงของมัน ถ้าไม่เป็นจริงก็อีกเรื่องหนึ่ง นี่พูดถึงความเห็นในการภาวนา
หลวงพ่อ : อันนี้มันจะเป็นปัญหาให้ปล่อยไก่
ถาม : เรื่อง “เจโตวิมุตติกับปัญญาวิมุตติ”
กราบเรียนท่านอาจารย์ที่เคารพ อันนี้คำถามน้องนะครับ ผมไม่รู้ กลัวมันเพี้ยน เพราะกลัวอยู่ ๒ อย่างคือกลัวเพี้ยนกับกลัวไม่รู้ธรรม
๑. ทำไมพระพุทธเจ้าตรัสเจโตวิมุตติก่อนปัญญาวิมุตติ
๒. สาวกองค์ใดบ้างที่บรรลุปัญญาวิมุตติก่อนเจโตวิมุตติครับ
๓. เจโตวิมุตติเป็นคุณธรรมของพระอนาคามีหรือไม่ครับ
๔. คุณธรรมขั้นอนาคามีจะรู้เห็นมหาสติปัฏฐานตามความเป็นจริงใช่หรือไม่ครับ
๕. ปุถุชนถึงสกิทาคามีจะรู้เห็นมหาสติปัฏฐานตามความจริงได้ไหมครับ
๖. อินทรีย์ภาวนาชั้นเลิศดับไปเร็วเหมือนกระพริบตาที่ต้องหลอดไฟไหมครับ
๗. จะหามันเจอแบบไหนครับ
ตอบ : นี่เขาถามมานะ มันเป็นปัญหาให้ปล่อยไก่ไง ฉะนั้น กลับมาที่ว่า “๑. ทำไมพระพุทธเจ้าตรัสเจโตวิมุตติก่อนปัญญาวิมุตติ”
แล้วใครบอกล่ะ ใครบอกว่าพระพุทธเจ้าตรัสเจโตวิมุตติก่อนปัญญาวิมุตติ ใครบอก มันอยู่ที่ไหนล่ะ มันไปเอาปัญหานี้มาจากไหน ปัญหานี้เอามาจากไหน
นี่ไง เขาบอกว่า “คำถามนี้ไม่ใช่ของผมนะครับ ของน้อง ผมกลัวมันเพี้ยน” ก็เลยถามอาจารย์เพี้ยน อาจารย์ก็จะตอบเพี้ยนๆ
มันเป็นเรื่องไม่เป็นเรื่อง มันเป็นเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง เราทำความสงบของใจได้หรือยัง เราจะปฏิบัติจริงหรือเปล่า เรามั่นใจหรือไม่ว่าเราเป็นชาวพุทธ ถ้าเราเป็นชาวพุทธ เราต้องถือรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระพุทธเจ้า ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอริยสาวก
ถ้าเราถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นแก้วสารพัดนึก เรามีครูบาอาจารย์ เราศึกษาของเรา เราปฏิบัติของเรา เราถือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา เป็นครูเอกของโลก เป็นของเรา แล้วเรารู้ได้อย่างไรล่ะ เรารู้ได้อย่างไรว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้เจโตวิมุตติก่อนปัญญาวิมุตติ
“ทำไมพระพุทธเจ้าตรัสรู้เจโตวิมุตติก่อนปัญญาวิมุตติ”
มันเป็นพุทธวิสัย พุทธวิสัยนะ พุทธวิสัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สาวกสาวกะวิสัย พวกเราพวกที่ได้ยินได้ฟัง พวกเราพวกฝึกหัดมาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะไปรู้ได้อย่างไรว่าพระพุทธเจ้าตรัสเจโตวิมุตติก่อนปัญญาวิมุตติ ใครจะไปรู้ได้ มันไม่มี
เราเป็นสาวกสาวกะ เราเป็นลูก เราจะบอกว่า อู๋ย! เก่งกว่าพ่อแม่ พ่อแม่เขาทำมาอย่างนี้ เราเป็นลูกนะ แต่เรารู้ว่าพ่อแม่ทำมาหากินมาอย่างไร เราเข้าใจ ไอ้นี่เรามาสืบประวัติศาสตร์นั่นอีกเรื่องหนึ่งนะ
ฉะนั้นบอกว่า “ทำไมพระพุทธเจ้าตรัสรู้เจโตวิมุตติก่อน”
ไม่มีหรอก ไม่เกี่ยว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้โดยวิชชา ๓ บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ นี้คือวิชชา ๓ เขาเรียกว่าพระอรหันต์ประเภทเตวิชโช นี่ไง มีวิชชา ๓ พระอรหันต์ตรัสรู้โดยทางวิชชา ๓ มันเกี่ยวอะไรกับเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติล่ะ เกี่ยวอะไรด้วย เกี่ยวอะไรด้วย แล้วอะไรเป็นเจโตวิมุตติ อะไรเป็นปัญญาวิมุตติ
เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ มันเป็นแนวทางที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสั่งสอนมา สั่งสอนมามันเกี่ยวกับจริตนิสัย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปิดทางไว้หมด กรรมฐาน ๔๐ ห้อง เรื่องของวิปัสสนาไม่มีหลักตายตัวโดยหลัก มันเป็นเพราะจริตนิสัย เป็นเพราะกิเลสใครหยาบ กิเลสใครหนา ใครมีอำนาจวาสนามากอำนาจวาสนาน้อย แต่เอาตัวหลักๆ ไง เอาสิ่งที่เป็นหลักๆ ชัดๆ ในพระพุทธศาสนา
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เวลาสั่งสอนขึ้นมา เอตทัคคะมีอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวา ถ้าอัครสาวกเบื้องซ้าย พระโมคคัลลานะชำนาญโดยฤทธิ์ ชำนาญโดยเจโตวิมุตติ ถ้าเป็นพระสารีบุตร พระสารีบุตรใช้ทางปัญญา ใช้ปัญญานำเป็นปัญญาวิมุตติ ถ้าปัญญาวิมุตติ ปัญญามันก็ชัดเจนของมัน
เพราะชัดเจนมา เพราะเวลาพระโมคคัลลานะเวลาทำสมาธิง่วงเหงาหาวนอน เป็นพระโสดาบันแล้วนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปแก้ไปสอนจนพระโมคคัลลานะเป็นพระอรหันต์ไป นี่เวลาสอนพระโมคคัลลานะไปอย่างหนึ่ง
เวลาสอนพระสารีบุตร พระสารีบุตรเป็นผู้ที่มีปัญญามาก สอนขนาดไหนพระสารีบุตรก็เทียบเคียงด้วยปัญญาของพระสารีบุตร พระสารีบุตรเลยตรัสรู้ช้ากว่าพระโมคคัลลานะเพราะมีปัญญามาก นี่คือปัญญาวิมุตติ
นี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้สั่งสอนสาวกสาวกะเอง แต่ว่าตัวองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อะไรเจโตวิมุตติ อะไรปัญญาวิมุตติ ไม่เกี่ยวเลย ไม่เกี่ยว พุทธวิสัยนะ วิสัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ
ผู้รับเหมามันรับเหมา ผู้รับเหมาที่ดีเขาเป็นสัมมาอาชีวะ เขาทำสิ่งที่เป็นตึกรามบ้านช่องที่มั่นคงแข็งแรงเพื่อความเจริญของโลก แต่ผู้รับเหมาที่เขารับเหมาแล้วเขาตุกติก เขาหาแต่ผลประโยชน์ของเขา เขาทำให้ตึกรามบ้านช่องนั้นเสียหายไป
นี่ก็เหมือนกัน เราจะเหมากิเลสหมดเลย แล้วก็จะไปจาบจ้วงถึงว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้เจโตวิมุตติก่อนหรือปัญญาวิมุตติ อ้าว! แล้วไอ้พระขี้ครอกก็จะไปพยากรณ์พระพุทธเจ้าว่าพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนั้น ไอ้พวกขี้ครอกไง นี่อาจารย์มันจะเพี้ยนไง
พุทธวิสัย พุทธวิสัยมันเป็นอจินไตยไง อจินไตย ๔ พุทธวิสัย เรื่องโลก เรื่องกรรม เรื่องฌาน มันเป็นเรื่องอจินไตย แล้วเป็นเรื่องอจินไตย ไอ้นี่ก็กลัวน้องจะเพี้ยน ตัวเองก็เพี้ยนไปก่อน แล้วถามมา ถ้าอาจารย์เพี้ยนมันก็พากันเพี้ยนไปหมดเลย
ฉะนั้นบอกว่า มันไม่เป็นประเด็น ไม่เป็นปัญหาเลย “ทำไมพระพุทธเจ้าตรัสเจโตวิมุตติก่อนปัญญาวิมุตติ”
ไม่มี แล้วเจโตวิมุตติก็เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติก็ปัญญาวิมุตติ ไม่เกี่ยวกัน ไม่เกี่ยวกันเลย แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ได้ตรัสอันนี้ด้วย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ทางวิชชา ๓ วิชชา ๓ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชัดๆ ในพระไตรปิฎก ในพระไตรปิฎก เพราะอะไร เพราะพระพุทธเจ้าเป็นคนบอกเอง เป็นคนบอกเอง บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมา นี่ไง ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามความเป็นจริงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการไป เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้นะ ธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้มันเหมือนกับใบไม้ในป่า มันกว้างขวาง มันเต็มไปหมดล่ะ มันเป็นความจริง แต่ไม่เป็นประโยชน์กับใคร ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสมาในพระไตรปิฎกเป็นประโยชน์กับพระสารีบุตร เป็นประโยชน์กับพระโมคคัลลานะ เป็นประโยชน์กับพระกัสสปะ เป็นประโยชน์กับใคร ตรัสรู้ สอนคนนั้นเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา มันเป็นประโยชน์กับคนคนนั้นไง มันเป็นประโยชน์กับผู้ปฏิบัติไง อะไรที่ไม่เป็นประโยชน์ท่านไม่พูด
แต่นี่เราภาวนากันยังไม่เป็นเลย เราภาวนายังล้มลุกคลุกคลานเลย เรายังกลัวเพี้ยนอยู่เลย บอกพระพุทธเจ้าเป็นเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ จบ
“๒. สาวกบางองค์บรรลุปัญญาวิมุตติก่อนเจโตวิมุตติครับ”
นี่มันเหมือนกันไง สาวกบางองค์ ปัญญาวิมุตติก็คือปัญญาวิมุตติ บางองค์ก็บรรลุเจโตวิมุตติไป
ถ้าเจโตวิมุตติก็พิจารณากายโดยสมาธิ มีสมาธิเป็นหลักกันไป แต่บางองค์พิจารณากาย เวลามาพิจารณาจิต อย่างเช่นหลวงตา หลวงตาท่านพิจารณาครั้งแรกท่านผ่านเวทนา เวทนาเป็นธรรมเหมือนกัน แล้วพอผ่านเวทนาเข้าไปท่านก็ไปพิจารณาธาตุ ๔ พิจารณาเห็นกาย ท่านไปเห็นกายที่หนองผือ นั่นล่ะพิจารณากายนี่เจโต พอพิจารณาเจโตไปแล้ว ท่านพิจารณาอสุภะ อสุภะก็เจโต แล้วพอจุดและต่อมนั่นคือจิต จิตก็คือปัญญา
หลวงตาท่านเป็นพระที่มหัศจรรย์มาก เพราะท่านเป็นพระที่มหัศจรรย์มาก ท่านถึงแสดงธรรมได้ฉะฉานมาก บางองค์ท่านพิจารณาของท่าน อย่างเช่นหลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่คำดี หลวงปู่ชอบท่านพิจารณากาย เป็นโสดาบันก็พิจารณากาย สกิทาคามีก็กาย อนาคามีก็กาย พระอรหันต์ก็กาย พิจารณากายๆๆ นี่เจโตวิมุตติ เพราะเจโต จิตสงบแล้วมันพิจารณาเห็นกายต่อเนื่องกันไป ฉะนั้น มันชำนาญโดยกำลัง ชำนาญด้วยกำลัง ด้วยสัมมาสมาธิ
ฉะนั้น เวลาหลวงปู่เจี๊ยะท่านพูดบ่อย ท่านพูดกับเรานะ “เฮ้ย! ทำไมเราเทศน์มันไม่เหมือนกับท่านอาจารย์เลย” ท่านอาจารย์คือหลวงตามหาบัวไง “ท่านอาจารย์เทศน์น้ำไหลไฟดับเลยเนาะ ของเราเวลาเทศน์มันไม่ค่อยไปเลย” แต่ถ้าใครถามปัญหาดีนะ ถ้าใครถามปัญหา เพราะท่านรู้จริงอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามันไม่มีประเด็นไง ถ้าใครถามปัญหามาท่านตอบชับๆๆ เลย แต่ถ้าไม่มีใครถามนะ ท่านต้องเทศน์เองนะ “เอ๊ะ! เฮ้ย! ทำไมเราเทศน์ไม่ได้เหมือนท่านอาจารย์วะ” นี่ท่านพูดกับเราเอง ท่านพูดกับเราเอง ครูบาอาจารย์ มันเป็นความถนัด นี่พันธุกรรมของจิตไง มันอยู่ที่วาสนานะ วาสนาใครสร้างมาอย่างไรมันก็เป็นแบบนั้น
ฉะนั้น สาวกองค์ใดเป็นปัญญาวิมุตติ เจโตวิมุตติ
ไม่ต้องสาวกองค์ใดหรอก เรา ไอ้คนภาวนานี่ ไอ้คนภาวนา เอ็งจะเป็นเจโตวิมุตติหรือปัญญาวิมุตติล่ะ เอ็งจะเอาอะไรล่ะ ไอ้นั่นมันสมบัติของครูบาอาจารย์ท่าน องค์ใดก็แล้วแต่มันเรื่องของท่าน เพียงแต่เราฟังธรรมจากท่านนะ ถ้าครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรมท่านแสดงประสบการณ์ให้เราฟัง เหมือนใครทำวิทยานิพนธ์ ถ้าวิทยานิพนธ์ที่มีคุณภาพ เราก็อยากดูว่ามันจะมาปฏิบัติได้จริงหรือเปล่า มันจะเป็นความจริงหรือเปล่า
ครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติมาก็วิทยานิพนธ์ของท่าน ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นจริงนะ แต่ละองค์ท่านจะมีวิทยานิพนธ์คือประสบการณ์ตามความเป็นจริงของท่าน แล้วถ้าเราศึกษาแล้วเราเอาอันนั้นเป็นแนวทาง เราปฏิบัติให้เป็นประโยชน์กับเรา ไอ้นี่จะไปตรวจสอบ มันไร้สาระมาก
“๓. เจโตวิมุตติเป็นคุณธรรมของพระอนาคามีหรือไม่ครับ”
เจโตวิมุตติมันเป็นการรู้เห็นโดยสมาธิเป็นตัวนำ ปัญญาวิมุตติมันจะเป็นความเห็นธรรมโดยปัญญาเป็นตัวนำ ปัญญาเหมือนพระสารีบุตร มีปัญญานำ พอปัญญาพิจารณาไปแล้วมันเป็นสมาธิ มันพร้อม เวลามันสมุจเฉทปหานมันต้องเป็นมรรค ๘ เหมือนกัน มรรค ๘ ไม่ใช่มรรค ๗ มรรค ๗ คือถ้าเป็นปัญญาก็ไม่ต้องมีสมาธิ ถ้าเป็นสมาธิก็ไม่ต้องมีปัญญา ก็แค่มรรค ๗ ตัว หน่วยกิตไม่ครบเขาไม่ให้ผ่านหรอก การสอบมันต้องส่งหน่วยกิตครบ ทุกอย่างครบ มันถึงผ่าน
นี่ก็เหมือนกัน เวลามันจะสรุปลงที่เป็นสมุจเฉทปหาน มรรคมันต้องรวมตัวลงเป็นมรรค ๘ มรรค ๘ คือมันมีสัมมาสมาธิ คือมีสัมมาปัญญา มันมีความเห็นชอบทุกๆ อย่าง ทุกอย่างมันก็คือมรรค ๘ แต่เวลาปฏิบัติไป ด้วยความถนัด พระสารีบุตรก็ปัญญานำ คือว่าเอาปัญญาถากถาง เอาปัญญาเป็นตัวนำ เอาปัญญาเป็นผู้แยกแยะไป แต่ถ้าเป็นเจโตวิมุตติมันมีสมาธินำ สมาธิคือมีกำลัง กำลังมันผ่องแผ้ว แล้วกำลังพิจารณาไปมันจะเห็นตามกำลังอันนั้น
ฉะนั้น มันเป็นที่ว่ามันมีสมาธินำหรือมีปัญญานำ ถ้ามีปัญญานำก็เป็นปัญญาวิมุตติ ถ้ามีสมาธินำก็เป็นเจโตวิมุตติ มันก็เป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี มันไม่ใช่ว่าเจโตวิมุตติเป็นของอนาคามี พระอนาคามีก็เลยบอกว่าอย่างนี้ต้องเป็นอนาคามี อนาคามีมันก็แบบว่าโรงเชือดโคไง ไปดูโรงเชือดสิ เขาจับโคผูกกับต้นเสา แล้วเขาก็เอามีดเชือดไง อนาคามีมันก็คาอยู่อย่างนั้นน่ะสิ มันไม่มีหรอก มันไม่มีหรอกคุณธรรมของพระอนาคามี มันไม่มีหรอก มันเป็นไปได้โดยจริตโดยนิสัยของคน โดยความเป็นจริงอันนั้น
“เจโตวิมุตติเป็นคุณธรรมของพระอนาคามี”
เออ! แล้วคนอื่นไม่มีสิทธิ์เลยเนาะ เอ็งจะเหมาผูกขาดไว้คนเดียวเลย ผูกขาดเจโตวิมุตติไว้กับอนาคามี แล้วโสดาบันก็ทำไม่ได้ แล้วไม่มีใครทำอะไรได้เลย โอ๋ย! ผู้รับเหมาด้วย แล้วผูกขาดอีกต่างหาก
“๔. คุณธรรมขั้นอนาคามีมีความรู้มหาสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริงหรือไม่ครับ”
มหาสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง ถ้าจิตจริงเป็นสัมมาสมาธิ เพราะมันโสดาปัตติมรรคแล้ว นั่นล่ะสติปัฏฐาน ๔ จริง สติปัฏฐาน ๔ จริงต้องตามความเป็นจริง มันยกบุรุษ ๔ คู่ บุคคล ๘ บุรุษ ๔ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล ถ้ายกขึ้นสู่โสดาปัตติมรรค นั่นล่ะสติปัฏฐาน ๔ จริง ถ้ามันเป็นจริงมันถึงเป็นมรรคจริง ถ้ามรรคจริง ถ้ามันพิจารณาตามความเป็นจริงมันก็เป็นผลจริง ถ้ามันมรรคไม่จริง มรรคมันปลอมมาตั้งแต่ต้น แล้วมันจะเอาผลจริงมาจากไหน
ถ้ามรรคมันจะจริงได้ก็ต้องสมาธิจริงก่อน ต้องสัมมาสมาธิ มิจฉาสมาธิ สมาธิเหมือนกันแต่เป็นมิจฉาขึ้นมา มรรคมันก็ไม่จริง ถ้ามรรคไม่จริง มรรคไม่จริงมันจะเป็นผลได้อย่างไร
นี่ไง ฉะนั้นบอกว่า “ถ้าคุณธรรมของพระอนาคามีต้องรู้เห็นสติปัฏฐานตามความเป็นจริง”
มันจริงตั้งแต่เริ่มต้น มันจริงตั้งแต่ปุถุชน กัลยาณปุถุชน พอถ้ามันเห็นตามความเป็นจริงแล้วมันก็เป็นโสดาปัตติมรรคแล้ว นี่ไง เวลาปฏิบัติ ปฏิบัติไปมันจะเป็นอย่างนั้นไป แล้วนี่บอกว่า โอ๋ย! ไม่รู้ว่าไปศึกษามากับใครเนาะ แล้วมันก็บอกว่าถ้าอย่างนี้จะเป็นอนาคามีๆ เพราะมันอนาคามีหลายทีแล้ว
อนาคามีมันแบบว่าเอาวัวไปผูกไว้ที่เสาแล้วก็เชือดคาเสาเลย ถ้าคาอย่างนั้นน่ะใช่ แต่ถ้ามันเป็นความจริง ไม่หรอก ให้ปฏิบัติตามความเป็นจริงไปเถอะ แล้วมันจะรู้จริงตามความเป็นจริง
“๕. ปุถุชนถึงสกิทาคามีจะรู้เห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริงได้หรือไม่ครับ”
ปุถุชนเลย ปุถุชนถ้าจิตมันสงบแล้วเป็นกัลยาณปุถุชน นั่นล่ะถ้ามันเห็นก็ยกขึ้นสู่โสดาปัตติมรรค นั่นล่ะสติปัฏฐาน ๔ จริง ไม่ใช่ปุถุชน สกิทาคามีจะรู้เห็นจริงไม่ได้ งงไปหมดเลย จะรู้เห็นต้องเป็นอนาคามีอย่างเดียว
คำถามแปลกๆ มันเหมือนกับว่าใครไปผูกไว้ว่าถ้าเห็นสติปัฏฐาน ๔ ต้องเป็นอนาคามี ถ้าไม่เป็นอนาคามีเห็นสติปัฏฐาน ๔ ไม่ได้ มันคงไปฟังใครมาแล้วใครผูกไว้ไง เห็นไหม โคนำฝูง แล้วไอ้ฝูงโคมันก็เชื่ออย่างนี้ แล้วมันเชื่ออย่างนี้แล้วมันก็ถามมาอาจารย์เพี้ยน อาจารย์เพี้ยนก็ต้องตอบ แล้วมึงก็ไปเชื่อกันมา แล้วก็มาถามคนเพี้ยน ผู้รับเหมาเหมารวมมาหมดเลย
“อินทรีย์ภาวนาชั้นเลิศดับเร็ว” อันนี้ที่ว่า “พอจิตมันเห็นไฟแว็บๆๆ”
คนเขานั่งสมาธิเขาเห็นเป็นดวงไฟเข้ามาชนตัวเราเลย เพราะเขาเห็นไฟ อย่างนี้คนเราจะเป็นลมมันก็เห็นดาว เวลาคนจะเป็นลมมันเห็นดาววิบวับๆ สงสัยอินทรีย์เขาแก่กล้า ไอ้พวกอินทรีย์แก่กล้ามันกำลังจะเป็นลม กำลังจะเป็นลมแดดไง พอแดดมา มันเผามา โอ๋ย! ดาวพร่าเลย แล้วก็นอนหลับเลย นี่อินทรีย์ภาวนา
อินทรีย์แก่กล้ามันรู้ทัน มันรู้เท่ารู้ทันของมันไป มันไม่เป็นอย่างนี้หรอก ไอ้นี่พูดถึง มันต้องทำให้เป็นความจริงสิ มันเหมือนกับว่ามันจะเป็นจินตนาการเยอะ โอ๋ย! ผู้รับเหมาเนาะ มันจะเหมารวมเอาธรรมะเป็นความพอใจของตัวเลยล่ะ ถ้ามันไม่พอใจของตัวมันก็ไม่ใช่เป็นธรรม ถ้ามันพอใจมันถึงจะเป็นธรรมใช่ไหม ถ้ามันไม่เหมารวมมันก็ไม่เป็นธรรมของเราเลยหรือ มันไม่ใช่อย่างนี้นะ มันไม่ใช่อย่างนี้
อินทรีย์ อินทรีย์คือพละ คือกำลัง ถ้ากำลังของคนดี กำลังของผู้ที่ปฏิบัติดี กำลังมันเข้าใจ กำลังนี้ พละ อินทรีย์แก่กล้า อินทรีย์แก่กล้ามันแยกเลยนะ ถ้าอินทรีย์แก่กล้าแยกว่าถ้าอาจารย์สอนผิดมันปัดทิ้งเลย
อาจารย์สอนผิดเยอะมาก ถ้าอาจารย์สอนผิดสอนถูกมันอยู่ที่เราปฏิบัติ ถ้าจิตเราสงบ จิตเรามีหลักปั๊บ เราไปถามได้เลย แม้แต่ไม่ต้องถามหรอก นั่งฟังท่านพูด ถ้าสมาธิ ท่านยังพูดสมาธิผิด เอ๊! เอ๊! ถ้าเอ๊! นี่ไม่ใช่แล้ว
หลวงตาท่านพูดบ่อย เวลาท่านถ้าลองได้มีครูบาอาจารย์เทศนาว่าการ ตอนท่านปฏิบัติใหม่ๆ ไง ลองถ้าเอ๊ะ! เอ๊ะ! ท่านไม่เอาแล้ว แต่ถ้าเป็นหลวงปู่มั่นนะ หลวงปู่มั่นท่านเทศน์มาไม่มีอะไรกีดขวางได้เลย มันจะไหลไปเลย แล้วมันจะลงสู่สัจจะความจริงเลย เออ! ถ้าอย่างนี้ใช่ แต่ถ้ายังลูบๆ คลำๆ อยู่ ยังงูๆ ปลาๆ อยู่นี่ แล้วพอคนฟังก็เอ๊ะ! ถ้าเอ๊ะ! ไม่เอาแล้ว ถ้าเอ๊ะ! ประสาเราเขาเรียกลงใจ ถ้าใจมันไม่ลงนะ ถ้าใจไม่ลงมาฟังธรรมๆ มันไม่ยอมรับ ถ้าใจไม่ยอมรับ ฟังไปมันไม่ยอมรับ พอไม่ยอมรับแล้วมันรับไม่ได้
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าพูดถึงถ้าอินทรีย์ไง พูดถึงคำว่า “อินทรีย์ภาวนาชั้นเลิศ” อินทรีย์ภาวนาชั้นเลิศ ดูพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ อุปติสสะ อุปติสสะมหามานพอยู่กับสัญชัย สัญชัยสอนจนหมดไส้หมดพุงนะ พอสอนขนาดไหน พอสอนไป นี่อินทรีย์แก่กล้า เอ๊ะ! ไปถามอาจารย์ว่ามีอะไรอีกไหม จะทำอย่างไรต่อไป
อาจารย์บอกว่าหมดแล้ว สอนหมดเลย มีความรู้เท่าเรา พอมีความรู้เท่าเรา พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ อู้ฮู! กิเลสมันยังเต็มตัวอยู่เลย สองคนมาคุยกันนะ “อาจารย์เราไม่ใช่ของจริงแล้วล่ะ ถ้าอาจารย์เป็นของจริง ท่านหมดความรู้แล้ว เราเรียนจนจบแล้ว แล้วทำไมกิเลสเรายังเต็มหัวใจอยู่เลย”
สัญญากันไว้ ๒ คน สัญญากับพระโมคคัลลานะ “ถ้าเราเจอครูบาอาจารย์ที่ท่านสอนถูกแล้วอย่าทิ้งกันนะ อย่าทิ้งนะ ต้องบอกนะ สัญญานะ ถ้าใครไปเจอก่อนอย่าทิ้งกันนะ”
ห่วงไงว่าใครไปเจอแล้วมันจะหนีไปเลย จะไปอยู่กับอาจารย์เลย ทิ้งไว้อยู่กับทางนี้ไง ๒ คนสัญญากันไว้ว่าเรา ๒ คนนะ ถ้าไปเจอครูบาอาจารย์ที่สอนถูกต้องนะ เราต้องมาบอกกันนะ เราอย่าทิ้งกัน
แล้วพระสารีบุตรก็ไปเจอพระอัสสชิที่กำลังบิณฑบาตอยู่ไง เอ๊! กิริยานี้มันนุ่มนวลมาก กิริยามันแสดงออกมีสติพร้อมขนาดนี้ เดินตามไปๆ บิณฑบาตจนจบนะ จนฉันเสร็จแล้วเข้าไปถาม ไปถามว่า “พระอัสสชิบวชมาจากใคร ใครเป็นอาจารย์ ใครเป็นอาจารย์พระอัสสชิ”
พระอัสสชิบอกว่า “อาจารย์ของเราคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”
“แล้วบัดนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ที่ไหนล่ะ”
“องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ที่ราชคฤห์”
แล้วท่านก็ถาม “แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนอย่างไรล่ะ”
“อู๋ย! เราเป็นคนเพิ่งบวชมา เราเป็นผู้ปฏิบัติใหม่” พระอรหันต์นะ พระอรหันต์จริงๆ ท่านไม่เว่อร์ ท่านไม่เว่อร์หรอก ไอ้ที่เว่อร์ๆ นั่นล่ะมันไม่รู้ พระอะไรก็ไม่รู้
ไปถามพระอัสสชิ
“อู๋ย! เราเพิ่งบวช เราไม่รู้อะไรหรอก”
“เออ! เพิ่งบวชก็เอาสิ่งที่พอรู้ สิ่งที่จะแทงด้วยปัญญามันเป็นหน้าที่ของข้าพเจ้าเอง” คือถ้าจะแทงด้วยปัญญาคือหน้าที่ของพระสารีบุตรเอง ขอให้พระอัสสชิแสดงธรรมมาเถอะ ขอให้แสดงธรรมนะ
“องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เย ธมฺมาฯ ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เข้าไประงับที่เหตุนั้น”
มันไม่เหมือนกับสัญชัยสอนไง สัญชัยสอนบอกว่าไม่ใช่ อันนี้ก็ไม่ใช่ แล้วในไม่ใช่ ไม่ใช่ก็คือไม่ใช่ ก็เหมือนประสาเรา ไม่มี ว่างหมด ว่างหมด ไม่มี นิพพานๆ สัญชัยดีๆ นี่แหละ ใครๆ ก็นิพพานแล้ว ว่างหมดเลย แล้วว่างอย่างไรล่ะ ก็มันว่าง แล้วมันว่างอย่างไรล่ะ ก็มันว่าง แล้วทำไมมันถึงว่างล่ะ ก็มันว่าง นี่สัญชัย ถ้าใครเชื่ออย่างนี้อินทรีย์อ่อน
ถ้าอินทรีย์แก่กล้าเขาไม่เชื่อ เฮ้ย! มันว่าง มันว่างอย่างไร เอ็งทำอย่างไรมันถึงว่างล่ะ ก็บอกมาสิทำอย่างไร ก็มันว่าง แล้วทำอย่างไร ก็มันว่าง...นี่พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะปฏิเสธ แล้วสัญญากัน
พอพระอัสสชิแสดงธรรม พอแสดงธรรม พระสารีบุตรแทงตลอดเป็นพระโสดาบันเลย เพราะอะไร เพราะมันรอมานาน ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ มันมีเหตุมีผล ไอ้ที่เราทุกข์ๆ อยู่นี่มันต้องมีที่มา แล้วไอ้ที่เราสงสัยอยู่นี่มันมาจากไหนล่ะ อ้าว! มันก็ทวนกระแสกลับไง ไอ้ที่มามันมาจากภวาสวะ มันมาจากจิต แล้วมันย้อนกลับเข้าไป มันสงสัย สงสัยที่ไหนล่ะ มันแทงกลับเข้าไปเลย พอแทงกลับเข้าไป สักกายทิฏฐิมันขาด พอขาด ไปบอกพระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะก็ขาด อย่างนี้เขาถึงเรียกว่าอินทรีย์แก่กล้า อินทรีย์ภาวนา
ไอ้ที่ว่าเห็นกระพริบตา เห็นแว็บๆ แว็บๆ ไอ้นี่มันแบบว่ากำลังจะเป็นลม กำลังจะเป็นลม เวลาเห็นดาว ลมมา ดาวพร่าเลย แล้วก็ฟุบไปเลย ตื่นมาอีกทีหนึ่ง แอมโมเนีย อินทรีย์แก่กล้ากลิ่นแอมโมเนียหอมฉุยเลย อินทรีย์แก่กล้า
ฉะนั้น สิ่งที่มันเป็น มันเป็นมาแล้ว เขาถามมาไง เขาถามว่ามันเป็นอย่างนี้ มันกระพริบขึ้นมาแล้วจะทำอย่างไรต่อไป มันจ้า มันอะไร
จิตนี้มหัศจรรย์นัก หลวงตาท่านพูดบ่อยว่าหลวงปู่มั่นท่านบอกว่าจิตนี้มหัศจรรย์นัก เที่ยวเกิด เที่ยวตาย เที่ยวจับ เที่ยวจอง เที่ยวยึด เที่ยวมั่น เที่ยวยึดอารมณ์ เที่ยวยึดความทุกข์ จิตนี้ไปยึดมาหมด ยึดทุกข์ก็ทุกข์หนักหนา เวลามันปล่อย เวลาเห็นแสง เห็นความสว่างก็ไปยึดเขาอีก มันยึดทั้งดี ยึดทั้งชั่ว ยึดไปหมด จิตนี้มันมหัศจรรย์นัก
แล้วพอเราไปเห็น มันปล่อยจากโลกๆ มา พอมันไปเห็นแสง เห็นต่างๆ เราก็ไปตื่นเต้นกับมัน จิตเห็นอาการของจิต จิตสงบมันถึงเห็น ถ้าจิตไม่สงบมันเห็นอย่างนั้นไม่ได้ แต่เวลาคนที่จิตเขาคึกคะนองนะ ถ้าเห็นสิ่งนั้นไม่มีครูบาอาจารย์นะ ให้กำหนดลงที่จิตแล้วถามว่าอันนั้นคืออะไร จิตจะตอบได้เลย แต่นี่เราไม่ถาม เราไปเก็บเอาสิ่งที่จิตมันไปเห็น ผู้รู้ สิ่งที่ถูกรู้ แสงนั้นคือจิตออกไปรู้ ถ้าแสงนั้นจิตออกไปรู้ แล้วเราไปบอกว่าแสงนั้นคืออะไร แต่เราไม่ถามว่าจิตคืออะไร
เราไปถามว่าแสงนั้นคืออะไร แต่เราไม่ถามว่าคนเห็นแสงมันคือใคร ใครเห็นแสงนั้น แต่เราไปถามว่าแสงนั้นคืออะไร พอมันสว่างมา มันกระพริบมา โอ้โฮ! มหัศจรรย์ไปหมดเลย แล้วใครไปเห็นล่ะ
ไปดูงานแฟร์สิ อู้ฮู! ไฟเขาติดกันพะเนินเทินทึก มันไม่เห็นมีอะไรมหัศจรรย์เลย ไอ้นี่พอเราไปรู้ไปเห็นเข้ามันมหัศจรรย์มาก เห็นไหม อินทรีย์ไม่แก่กล้าหรอก เพราะแสงสว่างแค่นี้มันก็หลอกแล้ว ไอ้แสงกระพริบมันก็หลอกแล้ว อินทรีย์อ่อนตามมันไปแล้ว
ถ้าอินทรีย์แก่มันจะรู้เลยว่า อืม! ไม่ใช่ ส่งออก ถ้าส่งออก ถ้าเป็นกำหนดลมก็กำหนดลม ถ้ากำหนดพุทโธก็พุทโธ ถ้าใช้ปัญญาเข้ามาให้มันสงบเข้ามา ถ้าสงบเข้ามาถึงตัวมัน แล้วถ้าจิตสงบแล้วเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง เห็นเดี๋ยวจะรู้ เพราะอะไร ถ้าพูดอย่างนี้แสดงว่ายังไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น เพราะไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นมันถึงตื่นเต้นไปกับแสงนั้น แต่คนรู้คนเห็นเขาเห็นแสงนั้นเป็นของไม่มีค่าเลย
ถ้าคนรู้คนเห็นนะ เสื้อผ้าของเรากับตัวเราแตกต่างกัน ถ้าเรามีคุณค่านะ เสื้อผ้าเราแขวนไว้เต็มตู้เลย หยิบตัวไหนมาใส่ก็ได้ เห็นแสงมันออกไปเสวยอารมณ์ อาภรณ์ของใจ ศีลคืออาภรณ์ของใจ ใจออกไปรับที่อาภรณ์ อาภรณ์ก็คือเครื่องประดับตัวมัน ไม่ใช่ตัวมัน ถ้าเข้าไปถึงตัวมัน ตัวจิต เรื่องแสง เรื่องอะไร มันไม่ใช่มหัศจรรย์เลย
ไอ้นี่ไปเจอแบรนด์เนมเข้าตัวหนึ่งตื่นเต้น ตัวนี้ราคาแพง โอ้โฮ! แสงจ้าเชียว นี่มันส่งออก ถ้ามันย้อนกลับเข้ามาถึงตัวมันนะ สิ่งที่เกิดขึ้นนะ ก็เสื้อผ้า ก็เอาไว้ใส่กันความอบอุ่น เขาเอาไว้ใส่ไว้กันความละอาย ก็แค่เสื้อผ้า จะไปตื่นเต้นอะไรกับมัน ไอ้นี่ไปตื่นเต้นหมดเลย ทิ้งตัวเอง ทิ้งจิต ทิ้งผู้รับรู้เลย ไปอยู่กับสิ่งข้างนอกหมดเลย แล้วก็บอกว่าอินทรีย์แก่กล้า มันไม่แก่หรอก ถ้ามันแก่มันต้องรู้ทันตรงนี้
ข้อ ๗. เขาบอกว่าเขาเห็นแสงแล้วมันเป็นของมัน แล้วข้อ ๗. ถามว่า “จะหามันเจอได้แบบไหน”
นี่ยังติดใจ ยังติดใจไอ้แสงนี้อยู่ แสงนะ ถ้าเห็นจิต จิตผ่องใส จิตแวววาว ถ้าเห็นจิต จิตเห็นกาย จิตเห็นเวทนา จิตเห็นจิต จิตเห็นธรรม ถ้าเห็นจิตไง จิตผ่องใส จิตเศร้าหมอง ถ้าเห็นจิตนะ ถ้าเห็นจิตมันจะรู้ แต่นี้เห็นแสง แสงเป็นจิตหรือ ถ้าเห็นจิตไง ถ้าเห็นจิต จิตสงบแล้วมันจะกลับมาเห็นตัวมัน สติปัฏฐาน ๔ ไง ถ้าเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม นั่นล่ะถ้าเราจับต้องได้ แล้วจะเจอมันได้อย่างไร
จิตสงบแล้วเห็นแสงนี้มันของธรรมดา ของธรรมดามากเลย จิตเห็นแสง จิตเห็นความกระพริบต่างๆ มันเป็นเรื่องปกติ ถ้าเรื่องปกติเรื่องธรรมดาของมันแล้ว จบแล้ว ปล่อยวาง กลับมาทำความสงบของใจให้มากขึ้น แล้วเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ถ้ามันเห็น ถ้ามันเห็น รำพึงไป
ไอ้นี่มันถามมาโดยคำบอกเล่า นั่งคุยกับน้อง แล้วเถียงกับน้อง แล้วก็เอาของน้องด้วย ของตัวเองด้วย ถามหลวงพ่อมาเนาะ กลัวน้องมันจะเพี้ยน ไปเถียงกันเรื่องอนาคามี ไปเถียงกันเรื่องเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ เสร็จแล้วก็มาลำบากคนตอบ ๒ คนไปเถียงกัน แล้วก็เอามาตอบนะ
“การปฏิบัติก่อนหน้านั้นภาวนาโดยวิธีสมถะ (ทำความสงบ) สลับกับวิปัสสนาคือคิดพิจารณาตัดกระแสปฏิจจสมุปบาทอยู่เท่าที่ทำงานได้ ถ้าจิตไหลมากๆ เชิงปรุงสัญญาตามคิริมานนทสูตรเข้าไป”
คือก่อนนั้นมาก็ทำความสงบของใจเข้ามา วิปัสสนาเข้ามาเพื่อตัดกระแสปฏิจจสมุปบาท ตัดกระแสปฏิจจสมุปบาท อิทปฺปจฺจยตา อวิชชา ปฏิจจสมุปบาท เวลาไปถึงตรงนั้นน่ะ ถ้าคนภาวนาเป็นนะ เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านพูด กว่าจะเป็นปัจจยาการไม่ใช่ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นกองๆ ถ้าเป็นกองๆ ถ้าตัดมา ตัดมาจากถ้าขันธ์อย่างหยาบเป็นโสดาบัน ขันธ์อย่างกลางเป็นสกิทาคามี ขันธ์อย่างละเอียด เพราะพระอนาคามี คำว่า “พระอนาคามี” ยังมีกามราคะ กามราคะก็คือสัญญานั้น ถ้ามันตัดตรงนั้น เป็นกองๆ กองรูป กองเวทนา กองสัญญา กองสังขาร กองวิญญาณ อย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ถ้าตัดหมดนะ มันจะเข้าไปสู่ตัวจิต ตัวจิตเป็น อิทปฺปจฺจยตา มันจะเป็นปฏิจจสมุปบาท มันจะเป็นปัจจยาการ
คำว่า “เป็นปัจจยาการ” ละเอียดกว่าความเป็นรูปเป็นกองที่จะจับได้ นี่พูดถึงว่าเวลาเราพูดถึงทางธรรมนะ ทางธรรมมันจะเห็นความหยาบความละเอียดแตกต่างกันเยอะแยะไปหมดเลย แต่เวลามันมาทางวิชาการ เราไปอ่านตำรับตำรามาแล้วเราก็ไปเทียบเคียงให้เหมือนกันๆ หมดเลย ถึงบอกว่า พอทำสมถะหรือทำวิปัสสนาแล้วจะไปตัดกระแสปฏิจจสมุปบาท ถ้าคิดเป็นทางวิชาการ คิดมาเป็นปัญญาก็ใช้ได้ แต่ถ้าไปเห็นตัวจริงนะ เป็นไปไม่ได้ ถ้าเห็นตัวจริงนะ ยังอีกนานแสนนาน ยังอีกนานเนกาเลนัก นี่พูดถึงปฏิบัตินะ
ฉะนั้น ถ้าเป็นความเข้าใจอย่างนี้ก็ให้กลับไปเถียงกับน้องก่อนเนาะ กลับไปเถียงกันให้จบก่อนแล้วค่อยมาถามกันใหม่ดีกว่า เพราะมันเป็นเรื่องการถกเถียงกัน ๒ คน เพราะเราดูแล้วมันเป็นเรื่องปริยัติ เรื่องโลกๆ กลับไปเถียงกัน ๒ คน เถียงให้จบแล้วเราค่อยกลับมาคุยกันใหม่ เอวัง