ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ปลาเป็น

๑๔ ก.ย. ๒๕๕๖

ปลาเป็น

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๖

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) .หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่องสงสัยในขั้นตอนภาวนา

กราบนมัสการหลวงพ่อ ผมมีความสงสัยอีกครับ รบกวนหลวงพ่อเมตตาตอบด้วยครับ เพราะความสงสัยมีมาเรื่อยๆ ครับ ผมมีคำถามดังนี้ คือว่าเมื่อผมทำความสงบเข้าไปแล้วเราจะพิจารณาในขั้นตอนดังต่อไปนี้คือ

. จิตสงบแล้วปรากฏภาพกายก็ให้พิจารณากายใช่ไหมครับ

. สุขที่เกิดหลังปีติกับสุขที่เกิดจากการจิตสงบแล้วนิ่ง เราควรพิจารณาตัวไหนครับ

. ผมมีความเห็นว่า ความคิดที่ผุดขึ้นมาจากจิตน่าจะมีตัวเชื่อมระหว่างจิตกับความคิด ซึ่งเป็นท่อเลี้ยงจากจิตสู่ความคิดให้ความคิดพัฒนาขึ้นจนจบกระบวนการความคิด ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำก็คือต้องเข้าไปดูกระบวนการทำงาน หรือลักษณะการทำงานในขั้นตอนต่างๆ ทั้งหมด ทั้งของกาย เวทนา และจิต ใช่ไหมครับ

. ในการพิจารณาถ้าจับตัวไหนได้ก่อนให้พิจารณาตัวนั้นก่อนใช่ไหมครับ

ขอบพระคุณ

ตอบ : ฉะนั้น สิ่งที่ว่า. จิตสงบแล้วปรากฏภาพกายก็ให้พิจารณากายใช่หรือไม่ครับ

สิ่งถ้ามันจิตสงบแล้วพิจารณาเห็นกายก็ต้องพิจารณากายเป็นธรรมดา แต่จิตถ้ามันไม่สงบมันเห็นกาย เรานึกภาพกายขึ้นมา มันก็ใช้ภาพกายเพื่อพิจารณาเพื่อความสงบระงับเข้ามา แต่โดยสรุปข้อ ๑. จิตสงบแล้วพิจารณากายใช่ไหมครับ

ใช่ จิตสงบแล้วให้พิจารณากาย ฉะนั้น พอจิตสงบแล้วพิจารณากาย เวลาคำว่าใช่มีการยอมรับกันว่าใช่ ถ้ายอมรับกันว่าใช่ แล้วถ้าพิจารณากายไปแล้ว เวลามันเข้าใจแล้วทำไมมันไม่ได้มรรคได้ผล

การพิจารณากาย พิจารณากายโดยการทำความสงบของใจก็มี พิจารณากายโดยเป็นวิปัสสนาก็มี จะบอกว่าการพิจารณากายเป็นสมถะ การพิจารณากายเป็นสมถะคือว่า ในเมื่อเรากำหนดพุทโธหรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราอานาปานสติ มันก็เป็นคำบริกรรม เป็นการส่งจิตไปเกาะที่ลมหายใจเพื่อความสงบระงับเข้ามา

การใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็พิจารณากายๆ มันก็พิจารณากายเหมือนกัน แต่พิจารณากายในสมถะ พิจารณากายโดยความสงบระงับ พิจารณากายเห็นตามความเป็นจริงแล้วสงบเข้ามา

แล้วถ้าจิตสงบแล้ว จิตสงบแล้วปรากฏภาพกาย ถ้าจิตสงบแล้วมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง อันนั้นจะเป็นวิปัสสนา ฉะนั้น การพิจารณากาย พิจารณากายโดยเป็นสมถะก็มี พิจารณากายโดยเป็นวิปัสสนาก็มี

ฉะนั้นที่ว่า จิตสงบแล้วพิจารณากายใช่ไหม

ใช่ ถ้าใช่แล้วทำไมเวลาพิจารณาไปแล้วผลที่ได้รับทำไมมันไม่เหมือนกัน ผลที่ได้รับทำไมมันแตกต่างกัน อันนั้นมันเป็นอำนาจวาสนาของคน หนึ่ง แล้วการพิจารณากายโดยการทำความสงบระงับนี่ก็หนึ่ง แล้วพอพิจารณากายสงบระงับแล้ว ความอ่อนด้อยของจิต ถ้าจิตวุฒิภาวะมันอ่อนด้อยมันก็บอกพิจารณากายแล้ว เข้าใจกายตามความเป็นจริงแล้ว กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กายแล้ว...อย่างนี้มันเป็นวิปัสสนึก มันนึกกันไป จินตนาการกันไป

แต่โดยพื้นฐานการปฏิบัติทำอย่างนี้ถูกต้องไหม ถูก คำว่าถูกพอใครถามว่าหลวงพ่อ ถูกไหมถูกถ้าถูกแล้วพอถามคำถามต่อเนื่องกันมาทำไมหลวงพ่อบอกว่าผิด

เพราะคำว่าถูกถูกระดับไหนล่ะ ถูกในทางสมถะมันก็ถูก ถ้าทางสมถะมันถูกแล้ว จิตสงบแล้วจะยกขึ้นวิปัสสนา ตอนยกขึ้นนี่สำคัญมากเลย เราเคยใช้คำว่าเข้าซอยถ้าบ้านใครอยู่ในซอยใดก็แล้วแต่ ถ้าเราเข้าซอยใดถูก เราก็จะเข้าถึงบ้านของเรา ถ้าบ้านเราอยู่ในซอยใช่ไหม เราเข้าซอยผิด เราไปหาถนนผิด เราไม่เจอซอยเข้าบ้านเรา หาบ้านไม่เจอหรอก คือถ้าจิตมันยกขึ้นวิปัสสนาไม่ได้ จิตเราสงบแล้วเราทำสมถะมาแล้ว แต่ถ้าเรายกขึ้นวิปัสสนาไม่ได้คือเราเข้าซอยผิด

ถ้าเราเข้าซอยผิด เราเข้าซอยผิด เราจะเข้าบ้านเราได้อย่างไรล่ะ เพราะซอยมันผิด พอซอยมันผิด เราจะหาบ้านเราไม่เจอหรอก เราก็จะวนเวียนอยู่อย่างนั้นน่ะ เราจะหาบ้านเรา เราจะเข้าบ้านเราไม่ได้ เพราะเราเข้าซอยมาผิด

ถ้าเราเข้าซอยมาถูกก็เหมือนกับวิปัสสนามันถูก ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามาก่อน ถ้ามีเราก่อน ถ้ามีเรา เราจะหาบ้านเรา เรามีบ้านอยู่ แล้วเราออกจากบ้านเราไปธุระ เราจะกลับบ้านกลับไม่ถูก ถ้ากลับไม่ถูก ถ้าไม่มีเรา กลับไม่ถูก คนบอกไม่มีเรา ถ้าบ้านเราก็ไม่มี เราก็ไม่มี ก็ทำลายหมดเลย สมถะก็ไม่มี วิปัสสนาก็ไม่มี การภาวนาก็เป็นจินตนาการกันไป ไอ้นั่นยิ่งเร่ร่อนไปใหญ่

แต่เราทำสมถะก่อน ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน พอใจสงบแล้วมีตัวตนของเรา มีสัมมาสมาธิของเรา มีเรา เห็นไหม มีเรา เราจะหาบ้านของเรา ถ้าหาบ้านของเรา บ้านเราอยู่ที่ไหน ปากซอย ถนนเส้นหนึ่งซอกซอยมหาศาลเลย เราจะเข้าซอยอย่างไร ถ้าเข้าซอยอย่างไรมันจะเข้าถูก

นี่พูดถึงว่าจิตสงบแล้วปรากฏภาพกายให้พิจารณาใช่หรือไม่

ใช่ ทีนี้พอใช่ไปแล้วมันพิจารณากายโดยเป็นสมถะหรือพิจารณากายโดยเป็นวิปัสสนาล่ะ ถ้ามันพิจารณากายโดยสมถะ มันพิจารณากายไปแล้วก็ปล่อยวางเข้ามา ก็มีเรากับความรู้สึกอยู่ ถ้าความรู้สึกมันสงบแล้วมันเห็นกายต่อเนื่องกันไป เห็นกายต่อเนื่องกันไป ถ้ามันเห็นกายต่อเนื่องกันไป ถ้าจิตมันมีเรา เราเข้าปากซอยของเรา พิจารณากายของเรา พิจารณากายแล้วมันเห็นตามความเป็นจริง มันสำรอกมันคายออก สังโยชน์มันขาด มันมีขั้นมีตอนของมัน

จะบอกว่าหลวงพ่อ ถูกไหมถูก ถูกในขั้นของสมถะ แต่ถ้าวิปัสสนา ถ้าวิปัสสนาเข้าซอยผิด เราก็บอกว่าผิด ฉะนั้น คนที่ฟังแล้วบางทีไม่เข้าใจเอ๊ะ! เดี๋ยวก็ว่าถูก เดี๋ยวก็ว่าผิด อะไรมันถูก อะไรมันผิด

ถูกก็หมายความว่ามันทำแล้วมันถูกต้อง ถูก แต่ความถูก ความดีที่ยิ่งขึ้นไปกว่านี้มันยังมีอยู่ ความดีที่ยิ่งขึ้นไปกว่านี้ เราก็พยายามทำของเรา ถ้ามันดีขึ้นไป ความถูกต้องมันก็เป็นสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานเกี่ยวเนื่องกันไป

นี่พูดถึงว่าถ้าจิตสงบแล้วปรากฏกายแล้วให้พิจารณากายใช่หรือไม่

ใช่ ใช่แล้วพิจารณาแล้วเราจะได้มากได้น้อยแค่ไหนก็อยู่ที่วุฒิภาวะของเรา

. สุขที่เกิดหลังปีติกับสุขที่เกิดจากการจิตสงบแล้วนิ่ง เราควรพิจารณาอย่างใด

ไม่ต้องพิจารณา ถ้าสุขเกิดขึ้น เราพุทโธๆ จนจิตสงบแล้วอยู่กับความสงบนั้น มีสติอยู่กับความสงบนั้นคือความสุข มันคลายตัวออกมา มันคลายตัวออกมาเราก็กำหนดพุทโธต่อเนื่อง ถ้าจิตมันสงบแล้ว สงบแล้วพิจารณาอย่างไรต่อ

สงบก็อยู่ในความสงบไง เวลาคนทำงานมาเหนื่อยล้ามากเลย บอกจะพักผ่อน จะนอน เวลาจะนอนก็ห่วงงาน เวลานอนหลับแล้วก็อยากจะทำงาน มันเป็นไปไม่ได้หรอก เวลาทำงานเราก็ทำงานของเราเต็มที่เลย เวลาเราจะพักผ่อนเราก็พักผ่อนของเราเต็มที่เลย เวลาคนเขาจะพักผ่อน เขาจะนอนหลับ เขาจะหลับให้ลึกๆ หลับให้มันสดชื่น ตื่นมาแล้วจะได้สดชื่นไง

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าสุขที่เกิดจากปีติมันก็อยู่กับปีติ สุขที่เกิดจากจิตสงบมันก็นิ่งอยู่ ถ้านิ่งอยู่ แต่นี้มันขณิกสมาธิ หมายถึงนิ่งก็นิ่งเล็กน้อย ถ้ามันยังพุทโธได้ เราก็พุทโธต่อเนื่องของเราไป

เราควรพิจารณาตัวไหน

ถ้ามันสงบเข้ามา ถ้าเรากำหนดพุทโธ จิตสงบเข้ามา เรากำหนดอานาปานสติ จิตสงบเข้ามา เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ จิตสงบเข้ามา แต่ความสงบนั้นมันยังเล็กน้อย ความสงบนั้นมันเป็นความสงบแบบขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ ถ้าเราอยากให้สงบมากขึ้นกว่านั้น เราก็ต้องอยู่กับตรงนั้นก่อน อยู่กับพุทโธชัดๆ ไปเรื่อยๆ อยู่กับอานาปานสติไปเรื่อยๆ อยู่กับปัญญาอบรมสมาธิไปเรื่อยๆ

คำว่าไปเรื่อยๆหมายถึงว่า มันสงบมาแล้วมันไม่ดิ้นรนแล้ว เหมือนกับสัตว์ร้ายที่มันดิ้นรนรุนแรง เราจับมันไม่ได้ พอเราจับมันได้ มันชักเชื่องลง มันชักอ่อนตัวลง เราก็ต้องเอาสัตว์ร้ายนั้นเข้าคอก เอาสัตว์ร้ายเข้าไปสู่ที่เก็บที่กรงขังของมัน นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันสงบแล้วสงบมากน้อยแค่ไหน ถ้าสุขเกิดจากปีติ ปีติก็ปีติ ปีติพอมันคลายตัว มันก็พุทโธต่อ ถ้าจิตมันสงบนิ่ง นิ่งแล้วมันอยู่ไหม

ทีนี้คนว่านิ่ง พอจิตสงบแล้วทำอย่างไรต่อ ถ้าจิตสงบแล้วถ้ามันรำพึงไปเห็นกายมันก็เห็นกายได้ ถ้ามันรำพึงไม่เห็นกาย กำลังมันไม่พอ กำลังไม่พอก็ต้องกำหนดพุทโธต่อเนื่อง กำหนดอานาปานสติต่อเนื่อง ปัญญาอบรมสมาธิต่อเนื่องๆ จนกว่ามันจะสงบ จนกว่ามันมีกำลังพอ กำลังพอแล้วรำพึงไป รำพึงคือนึก นึกในสมาธิ เรานึกไปที่กาย นึกไปที่เวทนา นึกไปที่จิต นึกไปที่ธรรม มันก็รู้ก็เห็นของมัน ก็ดำเนินต่อขึ้นไป

เขาว่าควรพิจารณาอย่างใด

ไม่ต้องพิจารณา ถ้าจิตสงบแล้ว ความสงบมันจะพิจารณาอะไร ความสงบแล้ว สงบแล้วมันคลายตัวออกมาไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริงถึงพิจารณา เว้นไว้แต่ถ้าจิตมันสงบแล้ว ความสงบนี้เรารู้ว่าสงบเริ่มต้น เราต้องการให้มีความสงบแน่นขึ้นไปกว่านี้ ถ้าจะต้องการมีความสงบแน่นขึ้นไปกว่านี้จะต้องพุทโธต่อเนื่องกันไป ต้องกำหนดอานาปานสติ ต้องกำหนดสิ่งที่เราทำให้มันสงบ ทำไมมันถึงสงบนิ่งล่ะ

เราใช้วิธีการอย่างใดอยู่ วิธีการนั้นต้องทำตรงนั้นต่อเนื่องไป จิตมันจะทำต่อเนื่องไปมันก็จะสงบมากขึ้น เพราะธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ถ้าเหตุมันมีมาก เหตุมันสมควรแก่ธรรม ความสงบมันก็อยู่ต่อเนื่องไป

เวลาจิตเสื่อมๆ จิตเสื่อมจากสมาธิ แล้วเราก็วิ่งหาสมาธิกัน แต่เป็นสมาธิเพราะมีคำบริกรรม เป็นสมาธิเพราะมีอานาปานสติ เป็นสมาธิเพราะมีปัญญาอบรมสมาธิ นี่เหตุให้เกิดธรรม เราต้องมาอยู่ที่เหตุนั้น ทำเหตุนั้นมันก็สงบมากขึ้น แนบแน่นมากขึ้น มันก็ถูกต้องมากขึ้น

ไม่ต้องพิจารณา ต้องทำความสงบให้มากขึ้น แล้วมากขึ้นไปมันจะเข้าไปสู่ความจริงของมัน

. ผมมีความเห็นว่า ความคิดที่ผุดขึ้นมาเกิดจากจิตน่าจะมีตัวเชื่อมระหว่างจิตกับความคิด ซึ่งเป็นท่อน้ำเลี้ยงไปสู่ความคิดให้ความคิดพัฒนาจนจบกระบวนการความคิด ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำก็คือต้องเข้าไปดูกระบวนการทำงานหรือลักษณะการทำงาน

อันนี้มันเป็นจินตนาการมากเกินไป ถ้ามันเป็นจินตนาการผมเห็นว่าความคิดที่ผุดขึ้นน่าจะเห็นไหมน่าจะ

ความคิดที่ผุดขึ้น เราไม่ทันหรอก ความคิดที่ผุดขึ้นมันเป็นรูปแล้ว รูปคืออารมณ์ความรู้สึก ถ้ารูปเป็นอารมณ์ความรู้สึก ถ้าสิ่งนั้นเกิดขึ้นมาเราก็มีสติปัญญาไล่ต้อนมันไป ถ้าจับได้จริงนะ ถ้าจับไม่จริงมันก็เป็นจินตนาการ ความเป็นจินตนาการ เราศึกษาธรรมมาเราก็ว่าเป็นอย่างนั้นไง มันเป็นจินตนาการของมันไปเรื่อย ถ้าเป็นจินตนาการ เป็นโลกไง

. ในการพิจารณาจะจับตัวไหนได้ก่อน ให้พิจารณาตัวนั้นใช่ไหมครับ

ในการพิจารณา ถ้าในการพิจารณา เราพิจารณาโดยสมถะ เราพิจารณาโดยปัญญาอบรมสมาธิ สิ่งที่ทำกันอยู่นี่เป็นปัญญาอบรมสมาธิ เราจะพิจารณาอะไรก็ได้ที่จิตเกี่ยวเนื่อง รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร คนเวลามันทุกข์มันยาก บ่วงของมารมันรัดคอเอา มีความไม่พอใจ ขัดข้องขัดเคืองใจไปหมดเลย บ่วงของมาร พวงดอกไม้แห่งมาร มันล่อไง นู่นก็ดี นี่ก็ดี คนนั้นก็ชมเชย คนนู้นก็สรรเสริญ นี่พวงดอกไม้ มันล่อให้เราหลงผิดไง

ถ้าบ่วงของมารขัดข้องหมองใจไปหมดล่ะ นู่นก็ไม่ถูกต้อง นี่ก็ไม่ดีงาม นั่นน่ะบ่วงมันรัดคอ แล้วมันจะดึงเราไป

ถ้าพวงดอกไม้แห่งมารมันล่อมันลวงไป พิจารณาตรงนั้น รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร ถ้าเราพิจารณาปั๊บก็เป็นสมถะเข้ามา เพราะสิ่งนี้ทำให้จิตใจฟุ้งซ่าน ทำให้จิตใจนี้เกี่ยวข้อง จิตใจไปยึดมั่นถือมั่น ถ้าเราพิจารณาอย่างนั้นเป็นสมถะ ถ้าเป็นสมถะ จิตมันสงบเข้ามาแล้วไง ถ้าจิตสงบเข้ามาแล้วมันจะเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม

ธรรมารมณ์กว้างขวางมากนะ ที่ว่า รูป รส กลิ่น เสียง เวลาสัจธรรม โอ๋ย! เขาว่าธรรมะเป็นธรรมชาติๆ ความเคลื่อนไหวทั้งหมดเลยล่ะ ในโลกนี้สิ่งที่มันแปรปรวนทั้งหมดเลยล่ะ ถ้าเป็นธรรมารมณ์ ถ้าจิตเราเป็นธรรมนะ มันจะเห็นแล้วมันจะสังเวชทั้งนั้นน่ะ มันจะหดเข้ามา นี่ความเปลี่ยนแปลงของโลกธาตุ ๓ โลกธาตุเลย ธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์เพราะอะไร เพราะจิตมันสงบ จิตมีหลักมีเกณฑ์แล้วมันจะเป็นธรรม

ถ้าจิตไม่สงบนะ มันตีโพยตีพาย มันเดือดร้อนไปทุกเรื่อง ถ้ามันเดือดร้อนไปทุกเรื่อง มันไม่ใช่ธรรมแล้ว นั่นน่ะบ่วงของมารมันรัดคอเอา ถ้ารัดคอ

นี่พูดถึงว่าในการพิจารณาจะจับตัวไหนก่อนครับ

อะไรที่เห็นก่อน อะไรที่จับต้องได้ก่อน อันนั้นจะเป็นการเป็นงานของเรา ถ้าเป็นการเป็นงาน อันนั้นจะเป็นประโยชน์กับเรา

อันนี้พูดถึงคำถามเรื่องความสงสัยในขั้นตอนปฏิบัติ

ถาม : เรื่องสงสัยในขั้นตอนภาวนา

หลวงพ่อ : ไอ้นั่นสงสัยในขั้นตอนภาวนา นี่สงสัยในขั้นตอนภาวนาเหมือนกัน แล้วคนถามคนเดียวกันนะ อันนี้มันตอบมาเป็นคิว

ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อ ผมมีความสงสัยขอกราบเรียนถามดังนี้ครับ

. จิตมีหนึ่งเดียว แล้วความคิดเกิดได้ทีละหนึ่งใช่ไหมครับ

. เมื่อสัญญาผุดขึ้นมาแล้ว และพัฒนาต่อจนจบกระบวนการเรียกว่าอารมณ์เกิด ดังนั้นเมื่อความคิดหยุด ผมคิดว่าในการหยุดนั้น กระบวนการความคิดน่าจะเป็นกระบวนการย้อนกลับหรือทวนกระแส แต่มีข้อมูลใหม่ติดมาด้วย จนหดลงมาถึงตัวแรกคือตัวสัญญา

และตัวสัญญาที่บรรจุไปด้วยอารมณ์นี่เองที่จะกระทบเข้ากับตัวจิตใช่ไหมครับ ดังนั้นยิ่งอารมณ์รุนแรงหรือมีขนาดใหญ่มากขึ้นเท่าใด ก็มีผลกระทบเข้ากับตัวจิตมากขึ้นเท่านั้นใช่ไหมครับ

. ถ้าหากข้อที่ ๒. ถูกต้อง หลวงพ่อเมตตาอธิบายขั้นตอนสุดท้ายที่อารมณ์ดับ และเริ่มทวนกระแสกลับได้ไหมครับ

. อุปาทานจะเกิดขึ้นในกระบวนการพัฒนาความคิด หรือตอนที่จิตรับรู้อารมณ์แล้วครับ

. เมื่อเรากำหนดพุทโธ สัญญาจะผุดขึ้น แล้ววิญญาณในตัวสัญญานั่นเองที่เข้าไปรับรู้ แล้วก็พัฒนาเป็นวิญญาณอย่างเต็มตัว และจบกระบวนการลงเพียงเท่านี้ ทำให้พุทโธมีลักษณะเป็นกลางๆ ใช่ไหมครับ

. ในขั้นตอนแรกของการพิจารณา เราจะพิจารณาตั้งแต่สัญญาเริ่มผุดขึ้นจนเกิดรูปเพียงเท่านี้ แล้วเราทำซ้ำไปเรื่อยๆ ใช่ไหมครับ

. สติคือตัวรู้ หรือว่าเป็นความคิดใหม่ที่ผุดขึ้นเพื่อดับความคิดเก่าครับ

. ผมมีความเห็นว่า กระบวนการของจิตกับกายจะมีลักษณะเหมือนกันอย่างหนึ่งคืออาศัยปัจจัยภายนอกแล้วพัฒนาและดำรงอยู่คืออาหารกับอารมณ์ ด้วยความเห็นเช่นนี้พอจะไปไหวไหมครับ ขอบพระคุณอย่างสูง

ตอบ :พอจะไปไหวไหมครับนี่แสดงว่าที่เขียนมานี่เป็นความรู้สึกหมดเลยเนาะ นี่เอ็งจะทำวิทยานิพนธ์หรือ เอ็งถามนี่เอ็งจะกลับไปทำวิทยานิพนธ์ใช่ไหม ถ้ากลับไปทำวิทยานิพนธ์ก็ไปมหามกุฏ มหาจุฬาก็จบ มันเป็นปริยัติไง มันเป็นตรรกะเท่านั้นน่ะ มันเป็นตรรกะ เป็นความคิด

ฉะนั้น สิ่งที่ถามมาๆ เพราะถามมา เราเห็นว่านักปฏิบัตินะ อย่างเช่นครูบาอาจารย์ หรือครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านไม่มีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ของเราเวลาปฏิบัตินะ หลวงตาท่านบอกว่า ถ้าเราไปหาครูบาอาจารย์องค์ใดก็แล้วแต่ เวลาท่านตอบเรามา ถ้ามันผิดไปจากความจริงจิตอย่างนี้หรือจะมาสอนเรา จิตอย่างนี้หรือจะมาสอนเราคือคนที่ปฏิบัติจริงมันหายาก แล้วครูบาอาจารย์ที่จริงก็หายาก

ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นจริงนะ ท่านจะพยายามสั่งสอน ท่านพยายามจะคอยชี้แนะ ฉะนั้น คอยชี้แนะ ชี้แนะคนที่อยากประพฤติปฏิบัติ คนที่กลัวความผิดพลาด ไม่ใช่ว่าชี้แนะโดยพร่ำเพรื่อ ชี้แนะโดยที่ไม่มีเหตุมีผล เป็นจินตนาการก็ว่ากันไป ฉะนั้น พอจินตนาการว่ากันไปก็จะหาความถูกต้องไง ถ้าหาความถูกต้อง ถ้าจะเอาเป็นตรรกะ เอาเป็นทางวิชาการก็ไปค้นตามตำรามันก็มีทั้งนั้นน่ะ

ฉะนั้น สิ่งที่ถามมามันกึ่งๆ มันกึ่งๆ ไง จะบอกว่ามันไม่ใช่ภาวนาหรือก็สงสัย ไอ้ว่าจะเป็นภาวนาหรือ ความรู้สึกนี้มันจะพอไปไหวไหม ความเห็นที่เขียนมานี่พอไปไหวไหม

พอไปไหวแสดงว่าไม่แน่ใจเลย ถ้าเราทำแล้วเราไม่แน่ใจอะไรเลยหรือ เราไม่มั่นใจในการกระทำของเราเลยหรือ ถ้าเรามั่นใจ สันทิฏฐิโก ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโกสำคัญมาก เรารู้จริงเห็นจริง ความจริงขึ้นมา เราจะรู้ของเรา

แต่นี่เราปฏิบัติไปแล้ว พอเรารู้อะไรขึ้นมางงๆ ไปหมด งงๆ ไปหมดเพราะอะไรล่ะ งงๆ ไปหมดเพราะเราไม่จริงจังไง เราไม่จริงจังของเรา

เราจริงจังของเรา ทำจริงๆ สิ ผิดให้มันผิดไปเลย ถ้ามันถูกเดี๋ยวมันก็เข้ามาเอง คนทำภาวนาแล้วไม่ผิด จะถูกต้องตลอด มันไม่มีผิดเลย ไม่มี ทีนี้มันผิดก็คือผิด ฉะนั้น ผิดไปแล้วเราปฏิบัติไป เพียงแต่นี่พอมีเว็บไซต์ให้ถาม โอ้โฮ! มันง่ายๆ ไง มันจะถามเรื่อยเฉื่อยไปเลย

ฉะนั้นที่ว่าถามมา. จิตมีหนึ่งเดียว แล้วความคิดที่เกิดขึ้นทีละหนึ่งใช่ไหมครับ

จิตนี้มีหนึ่งเดียว สันตติมันจะเร็วมาก ทีนี้คนภาวนาไปแล้วจะรู้จะเห็น ถ้าคนภาวนาไป ที่เขาถามมาครั้งที่แล้วว่าเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ ถ้าเป็นเจโตวิมุตติมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง ถ้าปัญญาวิมุตติจะรู้เรื่องอย่างนี้มาก พระสารีบุตรจะมีปัญญามาก เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการต้องไตร่ตรอง ต้องใคร่ครวญตลอด ต้องให้เห็นตามความเป็นจริง

จิตมีหนึ่งเดียวใช่ไหม

จิตมีหนึ่งเดียว

แล้วความคิดที่เกิดขึ้นทีละหนึ่งใช่ไหม

เพราะว่าเวลาพระสารีบุตรไปพูดกับนางภิกษุณีไง ที่ถามปัญหาธรรม ถามทุกอย่างแล้วตอบได้หมดเลย เวลาให้พระสารีบุตรถามบ้าง หนึ่งคืออะไรพระสารีบุตรถามว่าหนึ่งคืออะไรหนึ่ง โลกนี้เป็นของคู่หมด หนึ่งคืออะไร

ตอบไม่ได้

หนึ่ง หนึ่งคือตัวพลังงาน คือตัวจิต พลังงานนี้ ไออุ่นตั้งอยู่บนกาลเวลา ไออุ่นตั้งอยู่บนอายุกาล มันก็มีชีวิตขึ้นมา นี่ไงหนึ่งมันคืออะไรในพระไตรปิฎกมันมีอยู่แล้ว ในพระไตรปิฎก ถ้าเราจะรู้หนึ่งได้อย่างไร แล้วเราจะพูดถึงความเป็นหนึ่งอย่างไร นี่พูดถึงความเป็นหนึ่งที่พระสารีบุตรถามนางภิกษุณี นางภิกษุณีตอบไม่ได้ ตอบไม่ได้หรอกอยากรู้ไหม อยากรู้ให้บวชมาพอบวชมาแล้วพระสารีบุตรสอนเป็นพระอรหันต์เลย

นี่ก็เหมือนกันจิตมีหนึ่งเดียว แล้วหนึ่งเดียวเป็นอย่างไร แล้วเกิดทีละหนึ่งใช่ไหม

ใช่หรือไม่ใช่ อันนี้ให้พิสูจน์กัน ให้ปฏิบัติตามความเป็นจริงขึ้นมา ถ้าผู้เขียน คนถามถ้ารู้เองนะ จบเลย ถ้ายังไม่รู้ ถามไปแล้วถามเอาง่ายๆ ไง ถามเอาง่ายๆ

. เมื่อสัญญาผุดขึ้น แล้วพัฒนาต่อจนจบกระบวนการเรียกว่าอารมณ์เกิด ดังนั้นเมื่อความคิดหยุด ผมคิดว่าในการหยุดนั้นกระบวนการความคิดน่าจะเป็นกระบวนการย้อนกลับหรือทวนกระแส แต่มีข้อมูลติดมาใหม่จนหดลงมาเป็นตัวแรกคือตัวสัญญา

เป็นความคิดของตัวเอง นี่คิดแบบวิทยาศาสตร์ คิดแบบโลก คิดแบบโลกว่าถ้ามันหดแล้ว ถ้ามันหยุดแล้วมันก็ต้องทวนกระแสกลับ

เหมือนไฟเลย ไฟฟ้าเวลาไฟดับแล้ว มันดับแล้วไฟมันไม่มา ไฟมันย้อนกลับ ไฟฟ้ามันไหลไปตามกระแสสายส่ง

นี่ก็เหมือนกัน คิดว่าตัวเองความคิดมันออกไปแล้ว ถ้ามันหยุดแล้วมันก็ต้องทวนกระแสกลับ ทวนกระแสกลับ เอาที่ไหนมากลับล่ะ ที่ว่าข้อที่ ๑. จิตเป็นหนึ่งใช่ไหม แล้วความรู้ที่เกิดขึ้นทีละหนึ่งใช่ไหม แล้วเกิดขึ้น แล้วดับไปแล้วเอาอะไรเกิดขึ้นต่อ แล้วถ้ามันเกิดขึ้น มันดับไปแล้วมันก็ต้องจบสิ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ดับไปแล้วก็เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเลยสิ แล้วมันเป็นไหมล่ะ มันก็ไม่เป็น

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าความคิดมันเป็นกระบวนการความคิด ถ้ามันหยุดแล้วมันต้องทวนกระแสกลับ ก็รอไปอีกร้อยชาติไง รอไปอีกร้อยชาติมันจะทวนกระแสกลับ มันเป็นความคิดของตัว มันไม่มีหรอก ถ้าไม่ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน

ไอ้นี่คิดแบบโลกๆ ไง คิดแบบโลกๆ คิดแบบวิทยาศาสตร์ แล้ววิทยาศาสตร์ก็เป็นแบบนี้ ในเมื่อสสารมันมีอยู่ สสาร ดูสิ สสารมันมีอยู่ มันแปรสภาพของมันไป ทางเคมีทุกอย่างมันเป็นไป แล้วทำอย่างไรต่อไป

นี่ก็เหมือนกัน จิตก็ต้องเป็นอย่างนั้น เพราะจิตมันไม่เคยสงบไง จิตไม่เคยสงบมันไม่รู้ว่าจิตสงบเป็นอย่างไร แล้วถ้าจิตสงบแล้วถ้าใช้ปัญญา ปัญญาอย่างไร ถ้าปัญญาอย่างไร อย่างนี้ถึงจะเป็นการปฏิบัติ อย่างนี้ถึงเป็นธรรมะ

ไอ้นี่มันเป็นโลก เป็นวิทยาศาสตร์ ตัวเองเป็นจินตนาการตรรกะของตัวเองขึ้นมา แล้วก็ถามขึ้นมาแล้วถ้าตัวสัญญาที่มันบรรจุเป็นอารมณ์นี่เองที่จะกระทบกับตัวจิตใช่ไหมครับ ดังนั้นยิ่งอารมณ์รุนแรงที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นเท่าไร ก็จะกระทบกับตัวจิตมากขึ้นเท่านั้น

อันนี้พูดถึงว่า เวลาอารมณ์รุนแรง เวลาความโกรธมันก็โกรธขนาดไหน อารมณ์มันกระทบขนาดไหนมันก็กระทบขนาดนั้น แต่ถ้ามันมีสติมีปัญญามันหยุดได้ มันระงับได้ ถ้ามันระงับก็เข้าสู่สมาธิ ถ้าเข้าสู่สมาธิ แล้วถ้ามันจับได้มันถึงจะจับได้ ถ้าจับไม่ได้มันจับไม่ได้หรอก มันจับไม่ได้ ถ้าจับไม่ได้แล้วมันก็เหมือนกับเราเป็นตัวปัญหาไปด้วย แต่ถ้ามันจับได้นะ เราเป็นคนเห็นปัญหา ถ้าเราเป็นคนเห็นปัญหา จิตเห็นอาการของจิต

แต่ถ้าเราเป็นตัวปัญหาไปด้วย อารมณ์รุนแรง อารมณ์จะเบาบางขนาดไหนมันก็เป็นตัวเราไปด้วยทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้าจิตสงบแล้วจิตมันไปเห็น จิตไปจับได้ เห็นไหม เราไม่ใช่ตัวปัญหา แต่เราเห็นปัญหา ปัญหาเกิดจากกิเลส ปัญหาเกิดจากอวิชชา เกิดจากความไม่รู้เท่า แล้วพิจารณาไป ถ้ามันรู้เท่ามันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง นี่เรื่องรูป

. ถ้าหากข้อ ๒. ถูกต้อง หลวงพ่อเมตตาอธิบายถึงขั้นสุดท้าย อารมณ์ดับและทวนกระแสกลับอย่างไรครับ

ไอ้นี่มันจะลักไก่ ถ้าข้อที่ ๒. มันถูก ถูกอย่างไร ถ้าข้อที่ ๒. มันถูก นี่ตัวเองคิดกันไปเอง เราจะบอกว่าสิ่งนี้มันไม่เห็นตามความเป็นจริง ถ้าเห็นตามความเป็นจริงนะ จิตของใครสงบแล้ว จิตคนนั้นก็จะเห็นตามความเป็นจริงของเขา ถ้าเห็นตามความเป็นจริงของเขาแล้วมันจะรู้จริงตามความเป็นจริงของเขา นี่จิตมันไม่รู้ตามความเป็นจริงของเขา นี่ข้อที่ ๒.

ข้อที่ ๓. ถ้ามันเป็นจริง เป็นจริง ข้อที่ ๓. เขียนว่า แล้วมันเกิดดับอย่างไร หลวงพ่ออธิบายความเกิดดับตามความเป็นจริงได้ไหม ที่มันทวนกระแสกลับ มันได้ไหม

ถ้าคนมันเห็นจริงมันก็รู้จริงแล้ว ทีนี้คนมันเห็นแล้วมันไม่รู้ไง มันถึงถามข้อที่ ๓. มาต่อเนื่องไง ข้อที่ ๒. อาการที่มันเป็น แล้วข้อที่ ๓. เขาถามว่าอาการที่เป็นถูกไหม ถ้าถูกแล้วอธิบายมาด้วย ก็เหมือนส่งข้อสอบกับครูแล้ว ถ้าถูกแล้วก็ให้คะแนนมาด้วย ถ้าผมส่งข้อสอบมาถูกนะ ก็ให้คะแนนผมมาด้วย มันเป็นปัจจัตตังไหม มันเป็นสันทิฏฐิโกหรือเปล่า นี่มันเป็นการศึกษาไง

เวลาเราทำข้อสอบส่งอาจารย์แล้ว จะให้เกรดเท่าไร เดี๋ยวอาจารย์มันจะทุจริตนะ เอ็งจะให้ข้าเท่าไรข้าถึงจะให้เกรดเอ็ง เอ็งจะให้ข้าเท่าไรล่ะ ถ้าเอ็งให้มา เกรดเอ็งก็ได้ ถ้าเอ็งไม่ให้ผลประโยชน์มาเลย เกรดเอ็งก็อด นี่เรื่องโลกๆ ไง

แต่ถ้าเป็นความจริงนะ ความจริง ปัจจัตตัง ธรรมะจัดสรร มันเป็นไปตามธรรม อริยสัจสัจจะความจริง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาที่โคนต้นโพธิ์ ใครเป็นคนการันตี ใครเป็นคนยืนยันว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครเป็นคนยืนยันว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ้นกิเลส ใครเป็นคนยืนยัน ก็ใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคนยืนยันเอง

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันเป็นจริงมันเป็นจริงไปแล้ว ไอ้นี่มันไม่เป็นความจริง ไม่เป็นความจริงแล้วก็บอกว่า ถ้าข้อที่ ๒. ถูกต้อง หลวงพ่อต้องอธิบายมาว่ามันถูกต้องอย่างไร มันทวนกระแสกลับอย่างไร หลวงพ่ออธิบายได้ไหม

เออ! เมื่อกี้กินข้าวแล้วอร่อย ใครกินคนนั้นก็รู้รสเอง ใครกินข้าวอิ่มแล้วก็จบ แล้วจะไปการันตีคนอื่นอร่อยไม่อร่อย เรื่องของเขา นี่ข้อที่ ๓.

. อุปาทานที่เกิดขึ้นในกระบวนการของความคิด หรือตอนที่จิตรับรู้อารมณ์แล้วอุปาทานเกิดขึ้น

อุปาทานมันเกิดขึ้นแล้วล่ะ

อุปาทานมันเกิดขึ้นขั้นตอนของความคิดหรือที่รู้อารมณ์แล้ว

มันเป็นโจทย์ แต่โจทย์นี้จะต้องให้ผู้ที่ปฏิบัติรู้เอง ถ้าผู้ที่ปฏิบัติรู้เอง ถ้าผู้ที่ปฏิบัติไม่รู้ ดูสิ พ่อแม่หาเงินมาเป็นเศรษฐีโลก พ่อแม่มีเงินเป็นแสนๆ ล้านเลย แต่ลูกไม่มีปัญญาเลย แสนๆ ล้านให้ลูกไปรักษานะ เดี๋ยวมันก็โดนเพื่อนหลอกหมด เดี๋ยวมันก็เล่นการพนันสูญหมด ไอ้เงินแสนๆ ล้านก็อยู่ไม่ได้

ถ้าลูกคนใดพ่อแม่เขามีเงินเป็นแสนๆ ล้าน เขาหาของเขามาได้ถูกต้องของเขา แล้วเขาทำประโยชน์ของเขา นี่มันเงินของพ่อแม่ของเขา ถ้าเขาเลี้ยงลูกของเขา ลูกของเขาฉลาดขึ้นมา ลูกของเขารู้จักหาเงินหาทอง ลูกรู้จักเก็บรักษา ไอ้เงินแสนล้านนั้นมันจะเพิ่มพูนมากขึ้น

นี่ก็เหมือนกัน ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันตีมูลค่าไม่ได้เลย แล้วถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริง เห็นตามความเป็นจริงนั้นมันจะกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยความเป็นจริงเลย มันจะไม่บอกว่าอุปาทานที่เกิดขึ้น...”

มันเหมือนกับว่าธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตีมูลค่าไม่ได้เลย

ทีนี้อุปาทานมันเป็นอย่างไร อุปาทานมันเกิดก่อนหรือมันเกิดหลัง มันเกิดอะไร

นี่แสดงว่าเราไม่มีวุฒิภาวะอะไรเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้กับบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เราเป็นอุบาสก พระพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้กับเราไม่ได้เลย พ่อแม่ให้มรดกเราไม่ได้เลย เรารักษามรดกไม่ได้เลย รักษาไว้ไม่ได้แล้วก็ว่า อุปาทานมันเกิดก่อนหรือเกิดหลัง แล้วมันเกิดก่อนอารมณ์หรือหลังอารมณ์...เออ! งง

อันนี้อุปาทานมันก็คือุปาทาน มันตายตัวของมันอยู่แล้ว อุปาทานมันตายตัวของมันอยู่แล้ว จิตใต้สำนึกมันมีทั้งนั้นน่ะ มันมีการคาดการหมาย มีอุปาทานหมดล่ะ แล้วทำอย่างไรล่ะ แล้วมันเกิดก่อนเกิดหลังล่ะ แล้วมันเกิดเป็นอารมณ์ไปแล้วมันเป็นอะไรล่ะ เกิดเป็นอารมณ์แล้วมันก็ให้ผลกับจิตไง เกิดเป็นอารมณ์แล้วมันก็ทำให้เราทุกข์ไง ถ้าเราทุกข์แล้ว มันก็เป็นเรื่องสัจธรรมไง

พระกรรมฐานเขาตอบนะ หลวงปู่มั่นเวลาท่านตอบสิ่งใดท่านไม่ตอบให้เป็นโทษกับคนฟังหรอก ยิ่งหลวงตาถ้ามีปัญหานะ ท่านล้มโต๊ะเลย เอ็งไปหาเอง ถ้าเก่งมานะ เอ็งไปเปิดพระไตรปิฎกนู่น ถ้าเก่ง เอ็งไปหาของเอ็งเอง เอ็งไม่ต้องถามมา ถ้าถามมา เอ็งไม่ต้องว่าเกิดก่อนหรือเกิดหลัง แล้วมันเกิดอย่างไร มันเกิดกับใจดวงใด ใจดวงนั้นก็รู้เอง

. เมื่อเรากำหนดพุทโธ สัญญาจะผุดขึ้น แล้ววิญญาณในตัวสัญญานั่นเองที่เข้าไปรับรู้แล้วก็พัฒนาเป็นวิญญาณอย่างเต็มตัว และจบกระบวนการลงเพียงเท่านั้น ทำให้พุทโธมีลักษณะเป็นกลางใช่ไหมครับ

พุทโธก็พุทโธ พุทโธคือพุทธานุสติ พุทโธคือว่าจิตมันเกาะเต็มๆ แล้วมันไม่คิดแส่ส่าย ไม่คิดไปนอกเรื่อง ฉะนั้น ถึงให้กำหนดพุทโธ แต่พวกเราไปพุทโธๆ พุทโธสักแต่ว่า ใจมีความยึดมั่นถือมั่นในใจ ใจมีอุปาทานเต็มใจ แต่พุทโธเพียงผิวๆ พุทโธพอเป็นพิธี แล้วก็มาบ่นกัน มาโอดมาครวญกันพุทโธก็ลำบาก พุทโธก็เครียด พุทโธก็ไม่ได้อะไรเลย พุทโธแล้วไม่เห็นได้ผลเลยก็ไม่จริงกันเอง เพราะตัวเองไม่จริง คนไม่จริงมันก็ได้ผลไม่จริงไง ถ้าคนจริงนะ คนจริงทำจริงมันต้องได้ผลตามความเป็นจริง ถ้าไม่ได้ผลตามความเป็นจริงมันก็ไม่เป็นจริง

นี่พุทโธเป็นตัวกลางๆ พุทโธมันไม่เห็นผลใช่ไหม พุทโธมันเป็นวิญญาณในขันธ์ พุทโธก็พุทโธ พุทโธก็พุทธานุสติ อยู่กับพุทโธก็จบ ถ้าบอกว่าจะเป็นวิญญาณ ก็เป็นวิญญาณในขันธ์กับเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าเราบอกว่าจิตมันคิดอย่างไร มันทำอย่างไร เราพิจารณาของเรา อันนั้นมันปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าพุทโธก็คือพุทโธ ก็จบ

พุทโธเป็นพุทธานุสติ เป็นอนุสติ ๑๐ อนุสติ ๑๐ คือวิธีการ เราจะมาเถียงกันด้วยวิธีการทำไม วิธีการเขาต้องปฏิบัติเพื่อไปสู่เป้าหมาย พุทโธ ปัญญาอบรมสมาธิ อนุสติ ๑๐ เพื่อความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบแล้ว วิธีการเขาทำเพื่อความสงบคือทำสมาธิ พอทำสมาธิแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา นั่นเป็นวิปัสสนา มันเป็นวิธีการ เราเอาวิธีการมาตอกย้ำ มาเถียงกันนั่นคือผล มันไม่ใช่

ถ้าวิธีการก็วิธีการ ก็การกระทำ แล้วผลล่ะ จิตสงบไหมล่ะ จิตเป็นความจริงไหม ถ้าจิตเป็นความจริงออกพิจารณาอย่างไร อันนี้ปฏิบัติ ปฏิบัติเขาทำกันแบบนี้ แล้วปฏิบัติเขาไม่เถียงอย่างนี้ เขาถึงว่าไม่เอามาเป็นประเด็นจะต้องให้มาต่อล้อต่อเถียงกัน เขาเอามาเป็นอุบายวิธีการทำให้จิตสงบ ถ้าจิตสงบแล้ว ความสงบนั้นออกฝึกหัดใช้ปัญญา เราจะได้ใช้ภาวนามยปัญญา

แล้วปัญญาก็เป็นวิธีการอีกแหละ เพราะเวลามันสัมปยุตเข้าไป วิปปยุตคลายออก โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล มันยังมีขั้นตอนของมันไปอีกมหาศาลเลย

ไอ้นี่หญ้าปากคอกก็มาเถียงกันแล้ว หญ้าอ่อนหรือหญ้าแก่ หญ้านี้รสชาติเป็นอย่างไร ยังไม่ได้กินเลย หญ้าปากคอก นี่ไง ที่หลวงตาท่านบอก ยากขั้นต้นกับขั้นปลาย ขั้นหญ้าปากคอก

นี่หญ้าอ่อนหรือหญ้าแก่ ทุ่งฝั่งนี้เราจะต้องข้ามแม่น้ำไปกินหญ้าทุ่งฝั่งนู้นดีกว่า หญ้าทุ่งฝั่งนี้มันไม่อร่อยเหมือนหญ้าทุ่งฝั่งนู้น เราจะต้องลงแม่น้ำ ข้ามแม่น้ำไปกินหญ้าทุ่งฝั่งนู้นดีกว่าหญ้าปากคอกน่ะ

. ในขั้นตอนแรกของการพิจารณา เราจะพิจารณาตั้งแต่สัญญาเริ่มผุดขึ้นจนเกิดรูปเพียงเท่านี้หรือควรทำซ้ำๆ ไป

ถ้าปัญญามันเกิดขึ้น เราจะบอกว่าถ้าเป็นสมถะนะ ปัญญาอบรมสมาธิ อะไรก็ได้ จับของมันไป ถ้าจิตสงบแล้วถ้าเห็นมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย ถ้าอีกเรื่องหนึ่งคือถ้ามันทำได้จริงมันก็จะเป็นความจริงของมัน ถ้ามันทำไม่ได้จริง สิ่งที่มันเกิดขึ้น

ในขั้นตอนแรกของการพิจารณา เราจะพิจารณาตั้งแต่สัญญาที่ผุดขึ้นจนเกิดรูปเพียงเท่านี้

จนเกิดรูปนะ เวลาพิจารณา ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ พิจารณาซ้ำพิจารณาซากจนมันปล่อยหมดแล้ว ปล่อยแล้วก็ปล่อย พอมันปล่อยแล้ว มันปล่อยมันก็เป็นตทังคปหาน แต่มันไม่จบไง ถ้ามันไม่จบนะ ในรูปมันก็มีขันธ์ ๕ ในรูปก็มีเวทนา มีสัญญา มีสังขาร มีวิญญาณ ในเวทนาก็มีรูป มีเวทนา มีสัญญา มีสังขาร มีวิญญาณ เห็นไหม ขันธ์ในขันธ์ ถ้าขันธ์ในขันธ์ ในสัญญา ถ้าสัญญาตัวรับรู้นั่นน่ะ สัญญามันก็มีรูปเหมือนกัน สัญญามันรูปอันละเอียด ขันธ์ในขันธ์ นี่พิจารณา มันมีขันธ์นอกขันธ์ใน มีนอกมีใน มีหยาบมีละเอียด ปัญญาเวลามันพิจารณาไปนะ เพราะอะไร เพราะมันเป็นนามธรรม กิเลสมันจะหลบมันจะหลีกตลอดไป การพิจารณามันต้องพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันขั้นของปัญญา ปัญญาใครจะแยกแยะ ใครจะตีแผ่ได้มากน้อยขนาดไหน

ไอ้นี่บอกว่าพิจารณาพอเป็นสัญญา แล้วมันผุดเป็นรูป

เพราะสัญญา เพราะมีสัญญา มันมีเปรียบเทียบ มันถึงเป็นอารมณ์ มันถึงเป็นรูปขึ้นมา ในรูปมันมีอะไรล่ะ มันมีเวทนา มันมีทุกอย่างพร้อม

แล้วพิจารณาซ้ำๆ ไปใช่ไหมครับ

เวลาไม่ภาวนาเลยก็ไม่สนใจเนาะ เวลาจะภาวนาขึ้นมานี่งงไปหมด งงไปหมดเลย ทีนี้ไปซ้ายก็ไม่ได้ ไปขวาก็ไม่ได้ อะไรก็งงไปหมดเลย พิจารณาอย่างไรล่ะ

ถ้าพิจารณาขั้นของปัญญามันไม่มีขอบเขต ทำไปเลย ถ้าทำไปเลย พอมันจบกระบวนการ มันปล่อย มันปล่อยหรือไม่ปล่อย ถ้าไม่ปล่อย ไม่ปล่อยต้องกลับมาทำความสงบของใจ ถ้าปล่อย ปล่อยแล้วพอเดี๋ยวมันคลายตัวออกมามันก็จับอีก พิจารณาซ้ำๆๆ เข้าไป

แล้วถ้ากิเลสคนหนา กิเลสเรา นี่เขาคิดแบบโลก คิดแบบโลกบอกว่า ถ้าเรียนจบแล้วได้ใบประกาศมาใบหนึ่งก็จบ การพิจารณาพอปล่อยวางแล้วจบหรือ ไม่จบหรอก กิเลสไม่ขาด ไม่จบหรอก

พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ มันซ้ำมากน้อยแค่ไหน ขิปปาภิญญาหนเดียวเขาไปแล้ว ไอ้เวไนยสัตว์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยังทุกข์ยากอยู่นี่ แล้วทุกข์ยาก ทุกข์ยากถ้ากรรมฐานม้วนเสื่อ คือทุกข์ยากแล้วเบื่อ เลิก เลิกก็จบ แต่ถ้าปริยัติ ถ้าเอ็งท่องได้ เอ็งตอบโจทย์ได้ เอ็งได้ใบประกาศ จบ นี่ไง การศึกษา ยกชั้นไง แต่การปฏิบัติไม่มี

การปฏิบัติ ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ถ้าสมควรแก่ธรรม ธรรมถึงจะเป็นประโยชน์ ถ้าไม่สมควรแก่ธรรม อด

. สติคือตัวรู้หรือว่าเป็นความคิดที่ผุดขึ้นมาใหม่ในระดับความคิดเก่า

อันนี้ต้องสร้างหนังแล้ว เราเขียนเรื่องส่งบริษัทสร้างหนังดีกว่าเนาะ ยังดีนะ สติกับตัวรู้ ไม่ใช่สติตัวแรก สติตัวสอง บอกสติตัวแรกเป็นเหมือนเสือ สติตัวที่สองเป็นเหมือนสิงโต สติตัวสามมันจะเป็นก็อดซิลล่า โอ๋ย! มันไปนู่นเลยนะ เพราะจินตนาการของคนมันเป็นไปหมด

สติคือความระลึกรู้ สติก็คือสติ ตัวรู้ก็คือตัวรู้ ถ้ามันทำไปชัดๆ มันจะรู้ของมันนะ ถ้ารู้มันจะเป็นความจริงของมัน

สติคือตัวรู้ หรือว่าเป็นความคิดที่ผุดขึ้นมาใหม่

เวลามันเร็วไง พอมีสติ พอความคิดเกิดขึ้นมาแล้ว พอมีสติตามรู้ทัน พอสติมันรู้ มันเหมือนกับความคิดตัวที่ผุดขึ้นมาใหม่

มันคงมีอาการกระทบ จิตมีอาการกระทบแล้วสงสัย สงสัย เราเอาประสบการณ์เรามาใคร่ครวญ เดี๋ยวมันจะรู้ของมันตามความเป็นจริง

. ผมมีความเห็นว่ากระบวนการของจิตกับกายจะมีลักษณะเหมือนกันอย่างหนึ่งคืออาศัยปัจจัยภายนอกหรือพัฒนาและดำรงอยู่คืออาหารกับอารมณ์ ด้วยความเห็นเช่นนี้พอจะไปไหวไหมครับ

กายกับจิตเกี่ยวเนื่องกัน คนตายมีแต่ร่างกาย ไม่มีจิตใจ มันไม่มีความรู้สึกนึกคิดแล้ว เวลาของเรา ถ้าเรายังมีชีวิตอยู่ เรามีจิตใจ จิตใจของเรา เราก็มีร่างกาย เพราะจิตใจเรามีร่างกาย เพราะเราเป็นมนุษย์ เรามีร่างกาย จิตนี้อาศัยปฏิสนธิในไข่ ในน้ำครำ ในครรภ์ ในโอปปาติกะ กำเนิด ๔ พอเรากำเนิดเป็นมนุษย์มันก็มีกายกับใจ นี่มันเกี่ยวเนื่องกันไง

พอมันเกี่ยวเนื่องกัน บางคนที่ทุกข์ที่ยากเขาขาดปัจจัยเครื่องอาศัย เขาก็ทุกข์เพราะอาหาร เพราะปัจจัย ๔ แต่คนที่ปัจจัยเขาสมบูรณ์เขาก็ยังทุกข์อยู่ เขาทุกข์ใจของเขา นี่มันเกี่ยวเนื่องกัน มันอาศัยกัน กายกับจิตมันเกี่ยวเนื่องกัน มันถึงเป็นประโยชน์กับมนุษย์ไง เพราะมนุษย์มีกายบีบคั้นตลอดเวลา เทวดาเขามีกายทิพย์ เขาไม่มีกาย เขาถึงไม่มีความทุกข์อย่างนี้คอยบีบคั้นใจเขา สิ่งที่เกิดเป็นมนุษย์มันมีโชคลาภตรงนี้ไง โชคลาภที่ว่าความทุกข์ยากมันบีบคั้นให้จิตใจมันตื่นตัว ให้จิตใจมันพยายามหาทางออกอยู่

แต่พอเราคิดของเราอย่างนี้ใช่ไหม เราบอกว่า เวลาเป็นเทวดา อินทร์ พรหม เขาไม่มีกายของเขา ความบีบคั้นของทุกข์ของกายเขามีน้อย มีน้อยเขาก็เพลิดเพลินในชีวิตของเขา เขาเลยไม่ตื่นตัวไง

ที่ว่าเวลาคนตายไป ยมบาลถามว่าเห็นธรรมไหม

ธรรมคืออะไร ไม่เคยเห็น

ยมบาลถามกลับว่าเคยเห็นคนเกิดไหม เห็นคนแก่ไหม เห็นคนเจ็บไหม เห็นคนตายไหม

เห็น

นั่นแหละธรรม

เห็นเกิด แก่ เจ็บ ตายนี่เป็นธรรม เตือนเราๆ ไง แต่ของเรามันเพราะมีร่างกาย เวลาเกิด แก่ เจ็บ ตายมันเห็นไง แต่เทวดาเขาไม่เป็นอย่างนั้น แสงเขาผ่องแผ้วมาก เวลาเขาจะตาย แสงมันเฉามาๆ ปั๊บ ตายเลย เขาก็หมดอายุขัยของเขาอย่างนั้น

แต่ของเรา เรามีร่างกาย เสื่อมสภาพมาตลอด เตือนมาตลอด เรามีวาสนาตรงนี้ไง คำว่าเกิดเป็นมนุษย์ถ้าคนปฏิบัติธรรมแล้วนะ ถ้าเข้าใจ มันมีคุณประโยชน์มาก มันเป็นการกระตุ้นเตือนหัวใจเราให้หัวใจเราได้สนใจในธรรมะ แล้วพิจารณา นี้คือธรรมโอสถมาแก้ไขเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย

แต่ถ้าเป็นทางวิทยาศาสตร์ เป็นทางโลกนะ โอ๋ย! คนเกิดมาแล้วลำบากเนาะ ต้องหาอยู่หากิน มันเป็นเรื่องความทุกข์ไปหมดเลย เป็นความทุกข์ทางวิทยาศาสตร์ เป็นความทุกข์ทางโลกไง

แต่ถ้าเรื่องศาสนา ความทุกข์นี้ ทุกข์คืออริยสัจ ทุกข์คือความจริง ทุกข์คือมันเตือนเราไง ทุกข์คือมาเตือนหัวใจไง ทุกข์คือมาเตือนหัวใจให้หัวใจมันพองโต ให้หัวใจมันรู้สึกตัวมัน แล้วให้หัวใจหาทางออกไง นี่ถ้าธรรมะ ทุกข์อันนี้มันมาเตือนหัวใจให้หัวใจพยายามค้นคว้าหาทางออกให้ใจมันพ้นจากการครอบงำของกิเลสไป

แต่ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์ ทุกข์อย่างนี้มันทุกข์เพื่อหาอยู่หากิน ทุกข์เพื่อมาปรนเปรอมันไง ทุกข์เพื่อจะให้ร่างกายนี้มันสุขให้จริงขึ้นมาได้ไง มันไม่มีไง นี่พูดถึงว่าการเกี่ยวเนื่องระหว่างกายกับใจ

เราจะบอกว่า ถ้าปลาเป็นนะ ปลาเป็นมันจะพยายามจะทวน ทวนกระแสน้ำขึ้นไปวางไข่ นี่ก็เหมือนกัน เราชาวพุทธทวนกระแสเข้าไปสู่ใจนี่ปลาเป็น ไม่ใช่ปลาตาย ปลาตายมันจะปล่อยให้ตัวมันลอยไปตามน้ำ เพราะมันตายแล้ว มันไม่มีชีวิต มันไม่สามารถว่ายน้ำได้ ไม่สามารถจะทวนกระแสได้

นี่ก็เหมือนกันระหว่างลักษณะกายกับใจไง ถ้าจิตกระบวนการมันเป็นแบบนั้นระหว่างกายกับใจ ถ้ามีความคิดอย่างนี้จะไปไหวไหม

น่าจะไปไหวอยู่ เขาบอกจะไปไหวไหม คือว่าจะภาวนาได้ไหม ถ้าภาวนาส่วนภาวนา แต่ทีนี้ว่าภาวนาจะให้มันเป็นชิ้นเป็นอัน แล้วถามมาเป็นชิ้นเป็นอัน ไอ้นี่เอาอารมณ์ความคิด ๑๐ ข้อ ๒๐ ข้อ เขียนหมดเลย ยังไม่บอกว่าหลวงพ่อ ผมหายใจอย่างนี้จะถูกหรือผิดหรือเปล่าครับถ้าถามมาอย่างนี้งงเลยนะหลวงพ่อ ผมหายใจเข้าแล้วหายใจออกผิดหรือเปล่าครับ

ปลามันใกล้ตายแล้ว ถ้าปลาเป็นมันจะทวนกระแสนะ เอาเป็นกิจจะลักษณะสิ ทำให้มันทำจริงๆ แล้วมีอะไรที่สงสัยแล้วถามมาเป็นข้อเท็จจริงมา อย่ามักง่ายไง

ไอ้นี่เราไม่ใช้ปัญญาเราเลย เราไม่ได้ไตร่ตรองอะไรเลย อะไรก็จะถามเอาทั้งหมดเลย ถามเอาเป็นพระอรหันต์ไม่ได้นะ เดี๋ยวแย่งพระอรหันต์มาเป็นของเราคนเดียวนะ เพราะถามเอาไง ถามเอาเป็นพระอรหันต์ ถามเป็นพระอรหันต์ไม่มีนะ ต้องปฏิบัติให้เป็น ถ้าถามให้เป็นพระอรหันต์ เราไม่ตอบ เราจะเก็บไว้คนเดียว ไม่ให้ใครเลย

จะถามให้เป็นพระอรหันต์ไม่ได้ ปฏิบัติให้เป็นความจริงขึ้นมา ปฏิบัติของเราให้เป็นความจริงขึ้นมาแล้วมันจะเป็นไปได้ ปลาเป็นทวนกระแส ปลาเป็นมันจะว่ายขึ้นไปสู่ต้นน้ำ มันจะว่ายไปวางไข่มัน ปลาเป็นมันยังมีโอกาส ไม่ใช่ปลาตาย เอวัง