รู้เท่า
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “พระพาหิยะ”
เรียนถามหลวงพ่อ พระพาหิยะรู้สักแต่ว่ารู้ เห็นสักแต่ว่าเห็น คือการลืมตาแล้วมีตัวรู้และตัวคิด แต่ดับไปเร็วเพราะไม่มีอุปาทาน เวลาหลับตามีตัวรู้ แต่ไม่มีตัวคิด
ตอบ : อันนี้คือคนเขียนมันงง คนเขียนงงมากนะ แต่พยายามจะทำความเข้าใจว่าตัวเองรู้ธรรมะ แล้วก็เขียนถามมา ฉะนั้น คนที่เขียนถามมา พอเห็นลายเซ็นมันจำได้ไง คือถามมาบ่อย พวกนี้ก็แบบว่ารู้ทางกันน่ะ คนถามก็รู้ทางคนตอบ คนตอบก็รู้ทางคนถาม มันรู้ทางกัน
ฉะนั้น เวลาถามมาว่า “หลวงพ่อ พระพาหิยะรู้สักแต่ว่ารู้ เห็นสักแต่ว่าเห็น คือลืมตาและมีตัวรู้และตัวคิด แต่ดับไปเร็วเพราะไม่มีอุปาทาน เวลาหลับตามีตัวรู้ แต่ไม่มีตัวคิด” นี่เป็นความเข้าใจของเราเองไง
พระพาหิยะนะ เวลารู้สักแต่ว่ารู้ พาหิยะเป็นผู้ที่มีวาสนามาก มีวาสนาเพราะเวลาพระพาหิยะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ รู้สักแต่ว่ารู้ แล้วพอพาหิยะฟังเทศน์ธรรมบทนี้ พระพาหิยะเป็นพระอรหันต์ พอเป็นพระอรหันต์แล้วจะขอบวช องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “เธอจะบวชได้อย่างไร ไม่มีบริขาร” ไปหาบริขารอยู่ แล้วควายแม่โคอ่อนขวิดตายไง
พอขวิดตาย เขาไปถามพระพุทธเจ้า มันจะเข้าตรงนี้ไง เขาถามพระพุทธเจ้าว่าทำไมเป็นแบบนั้นน่ะ เวลาฟังเทศน์พระพุทธเจ้าทีเดียวเป็นพระอรหันต์ แต่ทำไมไปให้ควายขวิดตาย พระอรหันต์ไปให้ควายขวิดตายได้อย่างไร
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงพูดถึงอดีตชาติของเขาให้ฟังไงว่า พระพาหิยะเขาสร้างบุญกุศลมาเยอะมาก เยอะมาก แล้วชาติที่จะมาเกิดเป็นพาหิยะ เป็นพระในสมัยก่อนหน้านั้น ชวนกันขึ้นไปบนภูเขาตัด ทำพะองขึ้นไป แล้วถีบพะองทิ้งเลย แล้วบอกว่า ถ้าใครภาวนาสำเร็จให้เหาะลงมา ถ้าใครภาวนาไม่เป็น ให้ตายบนนั้น
มีเหาะลงมา ๒ หรือ ๓ องค์จำไม่ได้ เป็นพระอรหันต์หรือพระอนาคามี ลงมาจากภูเขาตัดนั้นได้ แต่พระพาหิยะกับพระอีกองค์หนึ่งตายบนนั้น คือบำเพ็ญเพียรจนตาย สละชีวิตมา
ทีนี้พอสละชีวิตมา ด้วยบุญกุศลอันนั้น พอเกิดมาเป็นพระพาหิยะเป็นพ่อค้าไปทางเรือ แล้วเรือโดนพายุพัดเรือแตก พอเรือแตกก็ขึ้นมาชายฝั่ง ทีนี้พอขึ้นมามันอยู่ในทะเลหลายวัน ขึ้นมาก็ห่มด้วยใบไม้ พอขึ้นมาชาวบ้านเขาเห็นมาจากทะเล อู้ฮู! เขาศรัทธา เขากราบ เขาไหว้ ตัวเองก็หลงว่าเป็นพระอรหันต์เพราะลาภสักการะมันเยอะ
ฉะนั้น พระที่เคยภาวนาด้วยกันไปเกิดบนพรหม มายับยั้งกลางอากาศเลย “ท่านไม่ใช่พระอรหันต์ ท่านไม่ใช่พระอรหันต์ บัดนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดแล้ว ให้ไปฟังเทศน์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ถึงได้ไปฟังเทศน์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง
พอไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบิณฑบาตอยู่ ก็จะไปขอฟังเทศน์ พอไปขอฟังเทศน์ บอก “นี่บิณฑบาตอยู่”
พระพาหิยะเป็นคนพูดเองว่า “ชีวิตมันสั้นนัก ขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมเถิด”
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เลยแสดงธรรม พอแสดงธรรมปั๊บ ด้วยปัญญาของพระพาหิยะแทงทะลุในธรรมะนั้นจึงสำเร็จเป็นพระอรหันต์ พอสำเร็จเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา ขอบวชไง พอขอบวชขึ้นมา “เธอไม่มีบริขาร” ก็ไปหาบริขารอยู่ อันนี้ก็เป็นกรรมอีกล่ะ นี่เวลากรรมเป็นอจินไตย พอกรรมเป็นอจินไตย แต่สิ่งที่ว่า นี่พูดถึงว่าผู้ที่มีปัญญาฟังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทีเดียวแล้วเป็นพระอรหันต์
ฉะนั้น เวลาที่เขาจะฟังแล้วเป็นพระอรหันต์ได้เพราะเขามีพื้นฐานของเขา เขาสร้างบุญกุศลของเขา พันธุกรรมของเขาพร้อมมาเลยล่ะ ก็เขาสละชีวิต เขาภาวนาตายมา เขาภาวนาของเขามาเต็มที่ ฉะนั้น เวลาภาวนาเต็มที่ พอพูดสิ่งใด พื้นฐานเขามี เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงสิ่งใดไปเขาจะรู้ได้ พอเขาจะรู้ได้เพราะพื้นฐานของเขา
ทีนี้เวลาย้อนกลับมาที่คนถามแล้ว เออ! คนถาม คำถามมันตลก จริงๆ นะ มันตลกมาก ตลกสำหรับคนที่ภาวนาเป็นนะ แต่ถ้าคนภาวนาไม่เป็นก็ “อืม! ก็เขาถามถูก หลวงพ่อตลกอะไรเขาล่ะ”
มันตลกตรงที่ว่า “รู้สักแต่ว่ารู้ เห็นสักแต่ว่าเห็น คือ”
“คือ” ตรงนี้มันตลก “คือถ้าลืมตาแล้วมีตัวรู้ ตัวคิด มันดับไปเร็วและไม่มีอุปาทาน แต่ถ้าเวลาหลับตามันมีตัวรู้ ไม่มีตัวคิด”
ลืมตากับหลับตามันคนละเรื่องเลยเนาะ มันตลกตรงนี้ไง ตรงถ้าลืมตา รู้สักแต่ว่ารู้นั่นก็เป็นอีกอารมณ์หนึ่ง แต่ถ้าหลับตาแล้วมันก็เป็นอีกอารมณ์หนึ่ง เห็นไหม มันไม่เกี่ยวกับลืมตากับหลับตา
แต่ถ้ามันรู้ มันรู้จากจักขุญาณ รู้จากภายใน โอ้โฮ! เดินจงกรมอยู่ เวลาครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติ บรรลุธรรมขณะเดินจงกรม เดินจงกรมลืมตาใช่ไหม เดินจงกรม ผู้ที่เดินจงกรมอยู่ เวลาปัญญามันหมุนแล้วมันเดินไม่ได้ มันต้องยืนรำพึงแล้ว
เวลาเดินจงกรม ปัญญามันจะไปเรื่อย ปัญญาจะไปเรื่อย แต่ถ้ามันเต็มที่ เวลาถ้าเรายิ่งทำสมาธิ เรากำหนดอานาปานสติหรือกำหนดพุทโธ เดินจงกรมไปๆ มันละเอียดเข้ามาๆ ละเอียดเข้ามาจนต้องยืน ครูบาอาจารย์ของเราท่านไปยืนรำพึงธรรมบนหัวทางจงกรม กลางทางจงกรม แล้วเวลายืนรำพึงธรรมแล้ว ถ้าธรรมมันละเอียดขึ้นไป ยืนนี่มันจะล้มนะ ต้องนั่งลง นั่งลงที่ทางเดินจงกรมนั้นเลย นี่เวลามันเป็นจริง มันเป็นจริงจากภายใน แต่เวลามันพิจารณาไป มันพิจารณาลืมตานี่แหละ
ทีนี้มันเป็นที่หัวใจ มันเป็นที่จักขุญาณ มันเป็นที่ฐีติจิต ญาณํ อุทปาทิ ปญฺญา อุทปาทิ วิชฺชา อุทปาทิ อาโลโก อุทปาทิ เวลาปัญญามันกระจ่างแจ้ง ปัญญาญาณมันเกิด มันเกิดอย่างไร นี่ไง ภาวนามยปัญญาไง ถ้าคนภาวนาเป็นมันจะเข้าใจอย่างนี้ได้เลย
แต่ถ้าคนภาวนาไม่เป็น เออ! ถ้ามันรู้สักแต่ว่ารู้ ถ้าลืมตามันก็รู้เท่า ถ้าหลับตามันก็งงๆ นี่มันตลกไง มันตลก คำว่า “ตลก” ทีนี้พูดไปอย่างนี้ปั๊บ เวลาครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นธรรมนะ ท่านต้องวางขรึมๆ ทำให้ดูจริงจัง เวลาตอบปัญหามันจะได้ฟังแล้วมันดูน่าเชื่อถือ ฉะนั้น ต้องบอกว่าไม่ตลก ทำนิ่งๆ แล้วก็ตอบปัญหา
แต่ถ้าในความจริงในใจ ธรรมที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้ว “จะสอนใครได้หนอ จะสอนใครได้หนอ” เพราะมันลึกลับมหัศจรรย์แต่ละชั้นแต่ละตอน ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ฐานของสมาธิถ้าเป็นอัปปนาแล้ว ได้พักได้ผ่อนแล้ว มันวิปัสสนาไม่ได้ มันต้องคลายมาที่อุปจาระ
แต่ถ้าเวลามันรู้มันเห็นขึ้นไป ถ้ามันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง นี่สติปัฏฐาน ๔ เพราะมีจิตตามความเป็นจริง จิตจริงรู้จริงตามความเป็นจริง
จิตปลอม จิตปลอมเพราะมันมีอวิชชา มีความไม่รู้นี้ครอบงำ มีอวิชชาครอบงำมันก็หลงใหลไปของมัน หลงใหลก็จินตนาการสร้างภาพไปตามหัวใจนั้น เวลาครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติมา ทุกดวงใจจะผ่านเหตุการณ์อย่างนี้มา เพราะทุกดวงใจมันเป็นปุถุชน ปุถุชน กัลยาณปุถุชน
ปุถุชนคนหนา กัลยาณปุถุชนคือคนที่มีสติมีปัญญารักษาหัวใจมั่นคงได้ กัลยาณปุถุชน จากกัลยาณปุถุชน เพราะจิตใจรักษาใจด้วยสติด้วยปัญญา มันมีโอกาสของมัน มันยกขึ้นสู่โสดาปัตติมรรค จากโสดาปัตติมรรคถ้าจับพลัดจับผลูขึ้นมามันก็คลาย มันก็เสื่อมลงมา มันก็เป็นกัลยาณปุถุชนหรือปุถุชน
แต่ถ้าโสดาปัตติมรรคมีความรักษา มีการดูแล พิจารณาของมันละเอียดอ่อนเข้าไป พอจิตมันพิจารณาของมันบ่อยครั้งเข้าจนมรรคสามัคคี มรรคสามัคคีคือมรรคญาณ มรรคญาณคือปัญญาภาวนามยปัญญา เวลามันสมุจเฉทปหานขึ้นมามันก็เป็นโสดาปัตติผล
บุคคล ๔ คู่ คู่ที่ ๑ พอคู่ที่ ๑ เข้าไปแล้ว ถ้าดำเนินการต่อไป ดำเนินการสูงขึ้นไปมันก็จะเป็นสกิทาคามิมรรค ถ้าพิจารณาต่อเนื่องซ้ำไปด้วยความเป็นจริง จิตจริง สมาธิมันจะจริง สมาธิจริงคือเกิดปัญญาที่แท้จริง ปัญญาที่แท้จริง ถ้าพิจารณาจนต่อเนื่องขึ้นไปมันก็เป็นสกิทาคามิผล สกิทาคามิผล บุคคลคู่ที่ ๒ แล้วเริ่มต้นต่อไปทำความสงบระงับเข้าไป ถ้าสมาธิเป็นมหาสติ มหาปัญญา มันไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิตตามความจริง มันก็จะเป็นอนาคามิมรรค ถ้าอนาคามิมรรคพิจารณาซ้ำๆ พิจารณาด้วยความชำนาญของมันจะเป็นอนาคามิผล ถ้าอนาคามิผลนี่บุคคลคู่ที่ ๓ แล้วยกขึ้นไปถ้าเป็นอรหัตตมรรค อรหัตตผล บุคคลคู่ที่ ๔ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑
ระหว่างความลึกลับมหัศจรรย์ของจิตที่มันก้าวเดินแต่ละชั้นแต่ละตอนขึ้นไป ครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติมาแล้วท่านรู้เห็นตามความเป็นจริง ท่านสังเวชไง ทีนี้พอสังเวชขึ้นมา เหมือนกับนักกีฬา นักกีฬาที่เขาเป็นนักกีฬาอาชีพที่มีชื่อเสียงมาก แล้วพวกเราเป็นเด็กฝึกหัดใหม่ นักกีฬาอาชีพที่เขามีความชำนาญ เขาเห็นเด็กฝึกหัดใหม่ เขาเห็นแล้วมันน่าสังเวชไหม
มันน่าสังเวช สังเวชเพราะอะไร มันล้มลุกคลุกคลาน มันทำอะไรเก้ๆ กังๆ ทำอะไรไม่ประสบความสำเร็จ จะเดินจะเหินไปมันไม่เข้าเลย ไม่เข้าทางเทคนิคในการเล่นกีฬาชนิดนั้นเลย เห็นแล้วมันอย่างนั้น แต่นั่นมันก็เป็นธรรมดา เพราะนักกีฬาที่จะเป็นนักกีฬาอาชีพเขาก็ฝึกหัดอย่างนั้นมาเหมือนกัน ก็ฝึกหัดมาอย่างนั้น
ครูบาอาจารย์ที่ท่านฝึกหัดมาแล้วท่านรู้ท่านเห็นขึ้นมาท่านจะสังเวช สังเวช แต่มันก็ต้องดูแลขึ้นไป พยายามทำให้ขรึมๆ ไว้ อย่าให้ผู้ฝึกหัดใหม่มันอาย เพราะผู้ฝึกหัดใหม่มันเก้ๆ กังๆ ครูบาอาจารย์บอกแล้วมันก็จะไม่ภาวนาต่อไป ภาวนาไปแล้วมันก็ต้องวางท่าขรึม ขรึมนะ ใช่ๆๆ ให้พัฒนาขึ้นมา พอพัฒนาขึ้นมา ก็บอก “หลวงพ่อว่าใช่ ทำไมมันไม่ใช่ล่ะ”
ที่ใช่ มันก็เหมือนกับอุปมาอุปมัย ใช่ ก็บอกให้กำลังใจไง ใช่ ก็เพราะยุยงส่งเสริมไง
หลวงตาท่านพูดนะ ขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น พิจารณาเวทนาจนสว่าง ขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น พอหลวงปู่มั่นฟังเสร็จแล้วนะ “เออ! มันต้องอย่างนี้สิ จิตนี้ไม่ตาย ๕ อัตภาพเว้ย มันก็ตายหนเดียวเท่านั้นน่ะ สู้มัน”
ท่านลงมาท่านบอกว่าอย่างไรรู้ไหม ท่านบอกว่าเหมือนหมาน่ะ หมามันดีใจ มันคึกของมัน มันจะเห่ามันจะหอน
นี่ไง ครูบาอาจารย์ท่านเป็นนะ ท่านยุท่านยง ท่านส่งท่านเสริม ท่านพยายามจะให้เรามีกำลังใจไง ให้เรามีกำลังใจ ให้เรามั่นคง ให้เราเวลาทำไปแล้วให้สมความเป็นจริง ถ้าสมความเป็นจริงแล้ว ถ้าเป็นจริงขึ้นมาแล้ว เวลาพูดออกมาแล้วมันเป็นคำเดียวกันเลย ไม่มีความแตกต่างเลย แต่ขณะที่เรายังไม่เข้าใจมันก็เป็นอย่างนี้
รู้สักแต่ว่ารู้ คำว่า “รู้สักแต่ว่ารู้” สักแต่ว่า สักแต่ว่านี่อัปปนาสมาธิมันก็สักแต่ว่า ไอ้ที่ว่ารู้ๆ รู้ๆ นี่สมาธิทั้งนั้นน่ะ รู้สักแต่ว่ารู้ เห็นสักแต่ว่าเห็น
“โมฆราช เธอจงมองโลกนี้เป็นความว่าง”
เราก็มองเป็นความว่าง เป็นความว่าง เราก็ว่างหมดแล้ว แต่คนไม่เป็นจะไม่รู้เลยว่าเธอจงมองโลกนี้เป็นความว่างคือเราปล่อยวางทั้งหมด แต่เธอจงกลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิ ไอ้คนที่ไปรู้เขา ถ้าเอ็งรู้ว่าว่างแล้วก็ว่าง ดูสิ แร่ธาตุมันไม่เคยเบียดเบียนใครเลย แล้วตัวแร่ธาตุมันเป็นอะไร
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราปล่อยวางหมดเลย ธาตุรู้มันก็เป็นธาตุเฉยๆ ธาตุรู้เป็นธาตุเฉยๆ แล้วธาตุรู้ เอาอะไรเข้าไปแยกแยะมัน แล้วธาตุรู้ เอาอะไรไปจับมัน สิ่งที่จะไปจับธาตุรู้ นี่ไง ตัวธาตุรู้มันเป็นความมหัศจรรย์มาก ถ้าคนภาวนานะ มันจะเป็นความมหัศจรรย์ นี่รู้สักแต่ว่ารู้ ไอ้คนที่มันมีวุฒิภาวะ คนที่มันเป็นมันก็เข้าใจได้
แต่ไอ้พวกเรา รู้สักแต่ว่ารู้ รู้สักแต่ว่ารู้ พอรู้สักแต่ว่ารู้ เรารีบๆ ภาวนา เดี๋ยวจะรีบไปรายงานอาจารย์ว่ารู้สักแต่ว่ารู้เป็นอย่างนี้ เดี๋ยวกลัวไม่รู้ว่ารู้สักแต่ว่ารู้ เราจะจำอารมณ์รู้สักแต่ว่ารู้ไม่ได้ รู้สักแต่ว่ารู้มันเป็นอย่างนี้นะ มันรู้ๆๆ อ๋อ! แล้วลืมตา แล้วก็จำไว้นะ จำ...นี่มันยึดนะ
รู้เท่ารู้ทัน ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นธรรมนะ ท่านรู้แล้ววาง ท่านรู้แล้วไม่มีอารมณ์ไง รู้แล้วไม่กระตุ้น ไม่กระตุ้นให้เรา อย่างเรานะ หลวงตาท่านพูดบ่อย ท่านบอกท่านเปรียบเหมือนพระอรหันต์ เวลาพระอรหันต์นะ เข้าใจ เห็นรากไม้เข้าใจว่างู โดดหนีเลยนะ เพราะสัญชาตญาณมันเป็นแบบนั้น แต่มันไม่มีเลือดสูบฉีด มันไม่ตกใจไง
แต่พวกเรานะ พอไปเจอนึกว่างู พอมันตกใจนะ โฮ้! มันหวั่นไหวไปหมดเลย มันต่างกันตรงนี้ไง นี่มันไม่สักแต่ว่า เพราะเรากลัว กลัวจนมือไม้สั่น กลัวจนแบบว่าเลือดมันสูบฉีดไปเต็มที่เลย แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติแล้วนะ ท่านเห็น สัญชาตญาณมันก็ป้องกันตัว แต่ เออ! รู้ก็สักแต่ว่ารู้ งูก็สักแต่ว่างู ไม่เห็นเป็นอะไรเลย งูก็อยู่ส่วนงู เราก็อยู่ส่วนเรา
แต่พอเรา งู โอ้โฮ! งู งูนะ งู อย่างนี้ไม่สักแต่ว่ารู้ เห็นไหม สักแต่ว่ารู้ มันต่างกันตรงนี้ รู้สักแต่ว่ารู้ ทีนี้กรณีอย่างนี้เอาตรงนี้เป็นบรรทัดฐานไหม มันก็อยู่ที่คน ถ้ารู้สักแต่ว่ารู้ อย่างนี้ไอ้พวกมายากลมันเป่าเอางูขึ้นมาเล่นเลย อย่างนี้มันสักแต่ว่ารู้ มันไม่กลัวเลย เวลาเขาเล่นมายากล เขาฝึกมา เขาเอาปากเขาไปจ่อกับปากงู เขาไม่กลัวเลย สักแต่ว่ารู้ไหม ไม่สัก เพราะเขาระวังตัวของเขา เขาฝึกมาด้วยความชำนาญของเขา ไม่ใช่สักแต่ว่ารู้ ไม่ใช่ว่าเขาไม่กลัวนะ เขากลัว แล้วหมองูตายเพราะงู นักมายากลตายเพราะงูมาเยอะ นี่ไง ไม่สักแต่ว่าไง แต่เราดูพฤติกรรมนี้บอกว่าเอาเป็นบรรทัดฐานได้ไหม มันก็อยู่ที่จริตนิสัย อยู่ที่ความละเอียดรอบคอบ
ฉะนั้น รู้สักแต่ว่ารู้มันลึกซึ้งมากนะ ฉะนั้น เพียงแต่ว่าเราจะเอาอารมณ์ดิบๆ เอาความรู้สึกของเราเป็นตัวตั้ง แล้วพอเราขาดสติ เรามีอะไรกระทบ เราก็มีความโกรธ ความโลภ ความหลงด้วยความรุนแรง เราว่าอันนี้เป็นกิเลส
แต่พอเรามีสติปัญญา เราควบคุมสติ เราควบคุมจิตของเรา จิตของเรามันก็ปล่อยวางมา พอรู้สิ่งใดเราก็ไม่รับรู้มัน บอกว่า เออ! นี่สักแต่ว่ารู้ อย่างนี้เป็นรู้สักแต่ว่ารู้ เพราะเราไม่มีอารมณ์กับมัน เรารู้เราก็วางได้ เพราะอะไร เพราะเรามีสติปัญญา อย่างนี้แก้กิเลสหรือยัง ยัง ยังเลย จริงๆ นะ ยังเลย ยังเพราะอะไร ยังเพราะเรามีสติปัญญาแบบโลกียะไง เรามีสติปัญญาแบบสามัญสำนึกไง
แต่ถ้าเราทำสมาธิขึ้นมาจนจิตมันเป็นสมาธิเข้ามา จิตจริงไง สมาธิคือว่า ปุถุชน กัลยาณปุถุชน ปุถุชนคือคนหนา คือว่าเราควบคุมไม่ได้ อารมณ์กระทบก็ไปกับเขาๆ แต่ถ้าเรามีสติปัญญา เรากำหนดพุทโธแล้ว สติ มันมีสมาธิแล้ว อะไรกระทบมันก็นู่น อยู่ไกลๆ กระทบนู่น อู๋ย! อยู่นู่น ไม่เข้ามาเลย จิตเป็นสมาธิ จิตมันจริง เห็นไหม จิตมันจริงคือมันปล่อย
รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร บ่วงของมารคือมันล่อ เสียงมาล่อ รูปมาล่อ ทุกอย่างมาล่อหมดเลย ล่อให้เราไปกับมัน รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร มันล่อมันลวง ไม่ไปกับมัน เป็นพวงดอกไม้นี่มันเยินมันยอ มีใครมายกย่อง โอ๋ย! ไปเลย ใครมาชมหน่อยเดียว โอ๋ย! เก่ง โอ๋ย! ดี ไปเลย นี่พวงดอกไม้ของมาร แล้วจะพิจารณาอะไรล่ะ หวั่นไหวไปอย่างนี้ ลมปากฟู่เดียว กลิ้งไปแล้ว แล้วไปภาวนาอะไร แค่ลมปากของคนมึงยังทนไม่ได้เลย มันเหมือนกับใบไม้เลย เวลาลมพัดมานี่ปลิวไปหมดเลย แล้วก็วิ่งเก็บกันใหญ่เลย จ้าละหวั่นไปเลย แล้วบอกว่ารู้สักแต่ว่ารู้ วิ่งเก็บอยู่นั่นน่ะ สักแต่ว่ารู้
นี่ไง แต่ถ้าเรากำหนดของเรา เรามีสติมีปัญญา มันสงบเข้ามา สงบเข้ามา ถ้าสงบเข้ามานะ เวลามันเห็นเองไง จิตเห็นอาการของจิต คำนี้สำคัญมาก “จิตเห็นอาการของจิต” จิตเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง เดี๋ยวจะว่าสักแต่ว่ารู้หรือไม่สักแต่ว่ารู้
กรณีนี้เราพูดบ่อยมาก เรื่องน้ำใสแล้วเห็นตัวปลา เพราะมันสังเวช เราไปเจอพระมาก เราไปเจอพระในวงการของเราบอกว่า จิตสงบ นั่งตลอดรุ่งก็มีนะ บางองค์นั่งสว่างๆ เลย แล้วไม่ใช้ปัญญา เราเคยไปคุยด้วยนะ “อู๋ย! มันจะได้อย่างไรล่ะ มันก็ต้องรอให้ผลไม้มันออกเอง น้ำใสแล้วจะเห็นตัวปลา ปลามันจะมาเอง”
เราฟังมาเยอะ เพราะกรณีเช่นนี้เป็นกรณีตื้นๆ กรณีนี้เป็นผิวเผินมากเลย แต่ทำไมนักปฏิบัติไม่เข้าใจเรื่องอย่างนี้ ไม่เข้าใจเรื่องอย่างนี้เพราะใจเขาไม่เคยเห็นจริง เพราะใจเขาไม่เห็นจริง เขาอ่านธรรมะ ศึกษาธรรมของพระพุทธเจ้ามาอ้างอิง มาเป็นโจทย์ แล้วตัวเองจะอธิบายโจทย์นั้น ตีโจทย์นั้นมหาศาลเลย เป็นคุ้งเป็นแควนะ อธิบายธรรมะเป็นคุ้งเป็นแควเลย แต่ไม่มีข้อเท็จจริง ไม่มีเนื้อหาสาระเลย
แต่ถ้ามันมีเนื้อหาสาระนะ ถ้าจิตสงบเข้ามา ทำไมมันถึงสงบ แล้วพอสงบเข้ามาแล้ว จิตเห็นอาการของจิตมันจะตื่นเต้นมาก เพราะอะไร มันตื่นเต้นมาก นี่ปากซอย ปากซอยยกขึ้นวิปัสสนา ปากซอยที่จะเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง ถ้าเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง แล้วพิจารณาไปมันปล่อยวางๆๆ นี่ตทังคปหาน นี่โสดาปัตติมรรค กัลยาณปุถุชนคือคนควบคุมจิตใจไว้ได้ โสดาปัตติมรรคคือต้องจิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม นี่โสดาปัตติมรรค
ถ้าจิตสงบเข้ามาแล้วเห็นกาย เห็นกายเป็นสมถะ นั่นไม่ใช่โสดาปัตติมรรค ไม่เป็นโสดาปัตติมรรคเพราะอะไร เพราะมันไม่เข้าสู่มรรค ไม่เข้าสู่มรรคเพราะมันงานไม่ชอบ มันเลี้ยงชีพไม่ชอบ งานไม่ชอบ สติไม่ชอบ ความรู้สึกนึกคิดไม่ชอบ ไม่ชอบเพราะอะไร เพราะมันมีสมุทัยเข้ามาเจือปน ไม่ชอบเพราะมีความเห็นของเราเข้ามาเจือปน ไม่ชอบเพราะเรามีความรู้ความเห็นเราบวกเข้ามา มันไม่ถูกต้องไง
แต่ถ้ามันชอบธรรม จิตสงบเข้ามามันก็สงบ เพราะจิตมันจริง จิตมันจริง มันเป็นเอกัคคตารมณ์ มันก็ตั้งมั่นของมัน มันเป็นความจริงของมัน เวลามันเห็นกาย เห็นเวทนา งานมันชอบธรรม ชอบธรรมเพราะอะไร เพราะจิตมันจริง จิตมันจริง มันเห็นตามความเป็นจริงมันก็เป็นจริงของมันขึ้นมา วิปัสสนาไป มันหมุนของมันไป
เวลาจักรมันหมุนนะ เวลาธรรมมันหมุน ที่ว่าหลวงตาท่านบอก เวลาปัญญามันหมุน ธรรมจักรมันหมุน โอ้โฮ! มันหมุนรุนแรง รุนแรง ดูสิ โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรคมันก็เป็นสติเป็นปัญญา มันก็หมุนของมันด้วยความรุนแรง รุนแรงของมัน แต่ขึ้นเป็นมหาสติ มหาปัญญา ท่านบอก ไม่ได้เลย มันเป็นน้ำป่า น้ำป่าที่มันรุนแรงเพราะมันจะทำลายกามราคะ มันจะทำลายภพ ทำลายชาติ มันจะทำลายกามราคะ ทำลายกามภพ มันทำลาย โอ๋ย! มันไปอีกไกลเลย เลยไม่ใช่รู้สักแต่ว่ารู้เลย
คือว่ารู้ในขั้นของสมาธิมันก็ต้องชัดเจนในขั้นของสมาธิ พอเวลายกขึ้นวิปัสสนามันเห็นความแตกต่างว่าความรู้ระดับสมาธิ สมถะกับวิปัสสนามันแตกต่างกันอย่างใด แต่ถ้าภาวนาไปแล้วมันส่งเสริมกัน แต่มันต้องเห็นชัดเจนอย่างนี้สิ เช่น เราขับรถกัน รถเราเติมน้ำมันโซลากับรถที่เติมน้ำมันเบนซิน เอ็งเติมน้ำมันผิดนะ รถเอ็งพังเลยล่ะ
นี่ก็เหมือนกัน โซลากับเบนซิน มันก็เหมือนกับโลกียปัญญากับโลกุตตรปัญญา เหมือนสมาธิกับวิปัสสนา อันหนึ่งมันเป็นโซลา โซลาเขาใช้เครื่องยนต์โซลา ถ้ามันเป็นเบนซินเขาใช้เครื่องยนต์เบนซิน เครื่องยนต์เบนซินจะมาเติมน้ำมันโซลาไม่ได้ ถ้าเติมน้ำมันโซลา เอ็งต้องไปถ่ายน้ำมัน ต้องไปล้างเครื่อง ไม่อย่างนั้นเครื่องเอ็งพัง นี่ไง แต่ถ้าเวลาเขาดัดแปลงแล้ว เขาบอกว่าเขาจะใช้แก๊ส เออ! เขาจะใช้แก๊สแล้ว ไม่ใช้เบนซิน แล้วถ้าโซลาล่ะ โซลาเขาก็ต้องแก้ไขของเขา เขาใช้ไบโอดีเซล เขาเปลี่ยนของเขาไป นี้มันเป็นทางวิทยาศาสตร์ แต่จิตของคนมันพัฒนาของมันได้ มันจะเข้าใจ มันจะเห็นไง ฉะนั้น มันจะเห็นความสำคัญ
ถ้าใครนะ อย่างเช่นใครมีอาชีพเป็นอู่ซ่อมรถ เขาจะรู้เลยว่าเครื่องยนต์ดีเซลเขาจะบำรุงรักษาอย่างไร เขามีความชำนาญของเขา เครื่องยนต์เบนซินเขามีความชำนาญอย่างไร เขาจะซ่อมรักษาบำรุงของเขา นี่ก็เหมือนกัน ถ้าสักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่ารู้ ภาวนาไปมันจะรู้ มันจะชัดมันจะเจน มันจะชัดมาก แล้วมันจะภาวนาของมันมาก
ฉะนั้น สิ่งที่ว่า เวลามันลืมตาหลับตา ยกไว้ ลืมตานะ เพราะเราลืมตาหลับตา เขาบอกว่าอย่างนี้ “เห็นสักแต่ว่าเห็น คือลืมตาแล้วมีตัวรู้กับตัวคิด” เขาไปแยกตัวรู้กับตัวคิดไง “แต่ดับไปเร็วเพราะไม่มีอุปาทาน เวลาหลับตามีตัวรู้ แต่ไม่มีตัวคิด”
มีตัวรู้ แต่ไม่มีตัวคิด คือว่าสติมันทัน จะว่ามันตลกๆ เวลามันหลับตามีตัวรู้ เพราะหลับตามีสติ มันไม่มีอารมณ์กระทบ มันก็มีแต่ตัวรู้ มันไม่ได้คิดไง มันไม่ส่งออก มันไม่คิด มันก็มีแต่ตัวรู้ ถ้าตัวรู้นะ กำหนดอะไรชัดๆ ก็ชัดๆ เข้าไป เดี๋ยวมันละเอียดเข้าไป
ทีนี้ถ้าลืมตาล่ะ ลืมตาเขาบอกว่ามันมีตัวรู้และตัวคิด มันมีตัวรู้ด้วย แล้วมันกระทบ มันก็มีตัวคิดด้วย นี้เราจะบอกว่ากำปั้นทุบดิน ความคิดดิบๆ คือจิตเรายังไม่เป็นสมาธิ อย่างนี้เป็นกรณีของโลก เป็นกรณีของนักวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์เขาก็วิเคราะห์วิจัยตามความรู้ความเห็นของเขา ทีนี้ตามความรู้ความเห็นของเขา เพราะจิตของเขายังไม่สงบเข้ามา
ถ้าจิตเขาสงบแล้ว เวลาเขาเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง ตามศัพท์ของพระป่าเขาเรียกว่าภาวนาเป็น คนภาวนาเป็นเขามีสมาธิ พอมีสมาธินะ เขายกขึ้นวิปัสสนาได้ มีสมาธิเขายกขึ้นสู่กาย ยกขึ้นสู่เวทนา ยกขึ้นสู่จิต ยกขึ้นสู่ธรรม ถ้ายกขึ้น ยกจิตให้เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง นั่นล่ะเขาจะเริ่มฝึกหัดใช้ปัญญา เขาเรียกว่าภาวนาเป็น ถ้าคนภาวนาเป็นนะ เขาจะเริ่มต้นจากจุดสตาร์ตตรงนี้ ตรงที่ทำความสงบของใจของตัวถูกต้อง แล้วยกใจของตัวขึ้นสู่วิปัสสนา เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิตตามความเป็นจริง แล้ววิปัสสนาก้าวเดินของเขาไป นี่เขาเรียกว่าคนภาวนาเป็น
ภาวนาเป็นนะ คือคนคนนี้ฝึกหัดขับรถจนจะได้ใบขับขี่แล้ว จะขับรถออกรถได้แล้ว ขับเข้าสู่ถนนหนทางได้ เขาจะสู่เป้าหมายของเขาได้ นี่คนภาวนาเป็น คนภาวนาเป็นเขาจะมีพื้นฐานของเขา แต่พวกเรานี่นะ เรายังไม่เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิตตามความเป็นจริง เราเป็นคนอาศัยนั่งรถ ไปไหนก็นั่งรถเมล์ ตอนนี้จะนั่งรถไฟความเร็วสูง ไปไหนก็มีคนขับให้เพราะเราขับรถไม่เป็น นี่เขาเรียกภาวนาไม่เป็น อาศัยครูบาอาจารย์ อาศัยหมู่คณะ อาศัยกันไป แล้วฝึกหัดให้ตัวเองเป็น ถ้าเป็นก็คือเป็น นี่พูดถึงว่า รู้สักแต่ว่ารู้
เพราะกรณีอย่างนี้ วันนี้พูดพยายามให้เห็นชัดเจนว่า รู้สักแต่ว่ารู้ในความหมายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านหมายว่าอะไร รู้สักแต่ว่ารู้ของพวกเรานักวิทยาศาสตร์โลกๆ รู้สักแต่ว่ารู้ก็กำปั้นทุบดินในความรู้ความเห็นของตัวว่ารู้ เหมือนเช่นลมพัดมากระทบผิวหนังเราก็รู้ว่าเย็น รู้ว่าเย็น เราบอกเย็นก็เป็นแบบนี้ ก็สักแต่ว่ารู้ๆ แต่นักวิทยาศาสตร์เขาจะรู้ว่าลมมันพัดมาเพราะเหตุใด อากาศอุณหภูมิขนาดใดมันถึงมีลมขึ้นมาได้อย่างไร เขารู้ของเขาไปอีกเรื่องหนึ่ง นี่พูดถึงการภาวนานะ
ถ้ารู้เท่า รู้เท่าต่างๆ มันก็ไม่มีปัญหา ไอ้นี่พยายามรู้สักแต่ว่ารู้ แต่ต้องจำไว้ให้ดีเลย เดี๋ยวจะเขียนไปถามหลวงพ่อไม่ถูก เดี๋ยวเขียนไปหลวงพ่อจะพลิกแพลงอีก ต้องเอาให้ทันเลย
นี่พูดถึงว่า เราไม่เคยคิดอย่างนั้นหรอก เวลาเราตอบปัญหาหรือเราแสดงธรรม เราแสดงธรรม เรายืนยันสัจจะในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มรรคผลมันมีจริง เรายืนยันสัจจะ แล้วเวลาใครได้ยินได้ฟังแล้ว เขาได้ยินสัจจะอันนี้ ถ้าเขามีปัญญา เขามีโอกาสของเขา เขาได้เอาเหตุเอาผลอันนี้ไปวิเคราะห์วิจัยเพื่อประโยชน์ของเขา มันจะเป็นประโยชน์ของเขา ถ้าใครได้ยินได้ฟังสิ่งที่เราพูดแล้วบอกว่า “สิ่งนี้เป็นคนบ้องตื้น แล้วอวดรู้มาพูด” อันนั้นมันก็กรรมของสัตว์ มันก็เรื่องของเขา
รู้สักแต่ว่ารู้เป็นแบบนี้ รู้สักแต่ว่ารู้ ใครจะติก็ได้ ใครจะชมก็ได้ ใครจะจุดระเบิดใส่ก็ได้ รู้สักแต่ว่ารู้ ถ้ามันไม่สักแต่ว่ารู้ มันจะต้องโลกธรรม ๘ มันต้องมีการกระทบแน่นอน อันนี้รู้สักแต่ว่ารู้ จบ
ถาม : เรื่อง “กราบขอบพระคุณที่เมตตาตอบ”
กราบนมัสการหลวงพ่อ ผมไม่มีคำถามครับ เพราะรบกวนมาหลายครั้งแล้ว เพียงแต่ต้องการกราบขอบพระคุณหลวงพ่ออย่างสูงที่เมตตาช่วยชี้แนะครับ ตอนนี้ผมเข้าใจแล้วครับว่าผมต้องทำเหตุให้ถึงพร้อมก่อนจึงจะเป็นปัจจัตตังได้ และหากผมมีเหตุติดขัดในการภาวนาก็ขอให้หลวงพ่อเมตตาช่วยชี้แนะด้วยครับ ขอบพระคุณอย่างสูง
ตอบ : นี่คือคำถามที่ว่าเหมือนกับว่าประดาบกันมาเต็มที่แล้วไง ประดาบกันมาถึงดาบสุดท้ายแล้ว วางดาบแล้ว ถ้าประดาบกันยังไม่ถึงที่สุดนะ ยังจะต้องประดาบกันต่อไป เขาถามมาเยอะมาก ก็ตอบมาเรื่อย ฉะนั้น ถึงว่า “ตอนนี้ผมเข้าใจแล้วครับ ผมต้องทำเหตุให้ถึงพร้อมก่อนจึงจะเป็นปัจจัตตัง”
เห็นไหม ปริยัติ ปฏิบัติ เรามีการศึกษา ปัญญาชน เราว่าปัญญาชน เรามองไปสิ สังเกตได้ เรามองไปที่ชนบท บอกคนพวกนี้ไม่มีปัญญา คนพวกนี้ไม่พัฒนา พวกเรานี่พวกพัฒนา
ไอ้พวกพัฒนามันหลุดไปแล้ว พวกพัฒนาเขาเรียกว่าพุทธในทุนนิยมไง ถ้าพุทธในทุนนิยมเอาแต่วัตถุเป็นตัวตั้ง เอาแต่วัฒนธรรมประเพณีเป็นตัวตั้ง แต่บ้านนอกคอกนา บ้านนอกคอกนาเขาเอาหัวใจเป็นตัวตั้ง เขามีน้ำใจของเขา วัฒนธรรมของเขา ดูสิ เวลาวันสำคัญทางศาสนาเขากลับบ้านกลับช่องของเขาไป ถ้าบ้านนอกคอกนาเขาจะกลับไปหาพ่อหาแม่ เขาจะพาพ่อพาแม่เขาไปทำบุญกุศลกัน อันนั้นเรามองว่าเป็นการด้อยพัฒนาใช่ไหม
ไอ้อย่างของเรานี่นะ ตอนนี้มันจะมีพร้อมหมดเลย ต่อไปมันจะมีบริษัทรับจ้างทำบุญ จะทำบุญ ส่งเงินมาได้ รับจ้างทำให้หมดเลย จะมีบริษัทรับจ้างทำบุญ เดี๋ยวเราจะเปิดบริษัทรับจ้างภาวนา ใครอยากเป็นพระอรหันต์มาได้เลย ภาวนาให้ แล้วส่งเงินมา เดี๋ยวจะส่งอาหารตามไปรษณีย์ไปให้ ส่งไปถึงหัวใจเลย...ทุนนิยม ปฏิบัติแบบทุนนิยมไง ปฏิบัติแบบทุนนิยมก็เหมือนพวกเรานี่ไง
ถ้าพวกเรา เราศึกษาธรรมๆ เราว่าเรามีปัญญา เราศึกษาแล้วเราเข้าใจของเราได้ ถ้าเราเข้าใจของเราได้ ธรรมะก็เหมือนกันไง ก็นี่ปัญญาไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดอย่างนี้เราก็เข้าใจได้ไง พอเข้าใจได้ นั่นเป็นปริยัติ
การศึกษาธรรมะประเสริฐมาก แต่การศึกษามาแล้ว กรณีเช่นนี้เป็นกรณีของที่หลวงตา หลวงตาท่านปฏิญาณในใจของท่านว่าท่านต้องมีทางวิชาการก่อน ท่านจะเรียนให้จบมหา ถ้าจบมหาแล้วจะไม่เรียนต่อ จะออกปฏิบัติทันที แล้วเวลาถึงมหาแล้ว ถ้าคนที่มันมีอำนาจวาสนาบารมี ผู้ใหญ่เขาก็อยากส่งเสริมทุกคน ทีนี้พอไปเรียนเข้า ท่านเรียน ปัญญาของท่านดีไง เพราะว่าขณะเรียนไปด้วยท่านก็จะสอนผู้เรียนใหม่ไปด้วย แล้วสมเด็จมหาวีรวงศ์ท่านบอกว่าให้หลวงตาเป็นอาจารย์สอน คืออาจารย์สอนบาลีต่อไป เพราะว่าท่านเรียนมาแล้ว
ทีนี้คนที่มันตั้งปฏิญาณไว้ในใจว่าถ้าได้ ๓ ประโยคแล้วจะออกปฏิบัติทันที ทีนี้ไปอยู่ในสำนักเรียนใช่ไหม สำนักเรียนเขาอยากได้บุคลากร เขาก็อยากจะดึงไว้ เขาก็อยากจะดึงบุคคลอย่างนี้เอาไว้ศึกษาในทางวิชาการ แล้วจะให้เป็นอาจารย์สอนต่อเนื่องไป ให้วงวิชาการมันแตกแขนงไป ให้วงวิชาการมั่นคง ต่างคนต่างปรารถนาดีทั้งนั้นน่ะ แต่ในเมื่อหลวงตาท่านคิดของท่านแล้วว่าถ้าท่านเรียนทางวิชาการมาพอเป็นแนวทางแล้ว ท่านจะออกปฏิบัติอย่างเดียว แล้วท่านก็พยายามจะออกทางปฏิบัติให้ได้ เวลาท่านไปแล้ว เวลาจะออกไปนะ สมเด็จมหาวีรวงศ์ท่านก็รั้งไว้ เอารถไฟตามไปดึงกลับ นี่คนที่มีอำนาจวาสนา
เวลาจะออกปฏิบัติก็ไปหาหลวงปู่มั่น เวลาออกจากปริยัติมา ปริยัติไม่ให้ไปนะ ปริยัติจะดึงไว้ให้ได้ โอ้โฮ! พวกที่มีปัญญาจะต้องส่งเสริมให้ ๙ ประโยค แล้วจะส่งเสริมไปเรียนจนเป็นอาจารย์ใหญ่ จนเป็นอาจารย์ เป็นนักปราชญ์ที่มีปัญญา แต่ตัวหลวงตาท่านอยากปฏิบัติ เวลาออกไปหาหลวงปู่มั่นนี่ภาคปฏิบัติ นี่ปริยัติเป็นอย่างนี้
พอไปปฏิบัติ ไปหาหลวงปู่มั่น “มหา มหามาหาอะไร มาหามรรคผลนิพพานใช่ไหม มรรคผลนิพพานมันไม่อยู่ในวัตถุทั้งหมดเลย มหา มหาเรียนมาถึงเป็นมหานะ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทิดใส่ศีรษะไว้ ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา เทิดใส่ศีรษะไว้ แต่มหาฟังไว้ให้ดีนะ ความรู้ที่เรียนมาเก็บใส่ลิ้นชักไว้นะ แล้วลั่นกุญแจมันไว้ ลั่นกุญแจมันไว้นะ อย่าให้มันออกมา
ถ้ามันออกมานะ เวลาปฏิบัติมันจะขัดแย้งกัน มันจะสร้างภาพ มันจะสร้างภาพ มันจะทำให้การปฏิบัติล้มลุกคลุกคลาน มันจะทำให้การปฏิบัตินี้ยากมาก ยากเพราะอะไร ยากเพราะมันรู้ก่อนไง เห็นไหม เวลาไปเรียนหนังสือ รู้โจทย์ก่อน เวลาสอบนะ เขาออกข้อสอบใหม่ก็ไม่ถูก ตอบข้อสอบผิดทุกที แต่รู้นะ รู้ข้อสอบ แต่พอรู้ข้อสอบ อาจารย์ออกข้อสอบเขาก็ออกใหม่ ออกใหม่มันก็ผิด มันไม่ได้หรอก
นี่ก็เหมือนกัน เรารู้หมดแล้ว หลวงปู่มั่นท่านบอกว่า “มันจะเตะ มันจะถีบกัน” คือมันจะขัดมันจะแย้งกัน มันจะทำให้เราละล้าละลัง มันปฏิบัติยาก แล้วมันทำให้เราประสบความสำเร็จยาก ฉะนั้น เอาทางวิชาการใส่ลิ้นชักไว้ แล้วลั่นกุญแจมันไว้ก่อนนะ แล้วมหาปฏิบัติไป พอปฏิบัติไป ถ้าถึงที่สุดนะ ทางวิชาการกับภาคปฏิบัติมันเป็นอันเดียวกัน
ความจริงธรรมวินัยมันเหมือนกัน อันเดียวกันเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดถูกหมดเลย แต่เพราะทางการศึกษาของเรา เรามีกิเลสมีตัณหาความทะยานอยาก เราจะบอกเลยนะ ทุกคนจะบอกว่า พวกที่ออกข้อสอบมานี่ออกข้อสอบผิด ไอ้พวกเขียนตำรามามันหมดยุคหมดสมัยแล้ว ตำรานี้ต้องให้เราเขียน
มันยังเรียนหนังสืออยู่เลยนะ มันบอกว่าตำรานี้ต้องให้เราเขียน เรารู้ดีกว่าอาจารย์อีก นี่คืออะไร นี่คือตัณหาความทะยานอยากไง นี่คือกิเลสไง นี่คืออวิชชาที่มันไม่รู้ไง สิ่งที่มันไม่รู้มันถือตัวถือตนว่ามันรู้ มันไม่รู้ แต่มันอวดว่ารู้ แล้วศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแล้วมันก็มาจินตนาการ มาสร้างภาพ มันทำไมจะไม่รู้
ฉะนั้น เรียนมา เรียนมาปากกัดตีนถีบเกือบเป็นเกือบตาย เรียนมา เรียนมาเอาตัวรอดไหม ไม่รอด เวลาปฏิบัติขึ้นมาต้องเอาใส่ลิ้นชักไว้ก่อน แล้วปฏิบัติให้มันจริงขึ้นมา ถ้ามันจริงขึ้นมามันก็เข้าสู่คำถามนี่ไง ถ้าเข้าสู่คำถาม
เรียนมานี่เสียหายไหม ไม่ หลวงตาท่านพูดบ่อย ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เพราะทางวงการวิชาการเขาบอกว่า ศาสนาต่อไปนี้จะเจริญมาก เจริญที่ไหน เจริญที่ในวงการวิชาการเข้มแข็ง ฝ่ายการศึกษาเขาบอกว่าต่อไปนี้ศาสนาพุทธจะเจริญมากเลย เจริญที่ไหน เจริญเพราะว่าทางนี้ทางวิชาการเข้มแข็ง ถ้าทางวิชาการเข้มแข็งแล้ว เดี๋ยวภาคปฏิบัติก็จะเข้มแข็ง เพราะภาคปฏิบัติก็ต้องไปจากภาควิชาการ ถ้าภาควิชาการเข้มแข็ง เดี๋ยวภาคปฏิบัติจะเข้มแข็ง เขาก็ดีใจของเขา
เรานะ เราย้อนกลับไปดูหลวงปู่มั่น เรา เวลาเราศึกษา เราชอบศึกษา เราชอบประวัติศาสตร์มาก เราชอบศึกษาว่าหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านเริ่มต้นอย่างใด ไปอ่านประวัติตั้งแต่เริ่มเด็กๆ นะ หลวงปู่เสาร์ท่านบวชมาแล้วท่านเป็นมหานิกายมา ๑๐ ปี แล้วท่านมีเรืออยู่ลำหนึ่งที่ผูกอยู่ที่แม่น้ำมูล ท่านมองเรือตลอดว่าถ้าท่านสึกไปท่านจะเอาเรือนี้ไปทำการค้าอย่างไรๆ มันยังสองจิตสองใจอยู่ไง แต่ถึงที่สุดแล้วท่านตัดสินใจได้ ท่านปล่อยเรือนั้นไป ตัดเชือกเรือนั้นให้ไปตามน้ำ แล้วท่านก็มาญัตติเป็นธรรมยุต
ท่านเป็นพระผู้ใหญ่แล้วนะ ท่านมาญัตติเป็นธรรมยุตเพื่อจะเอาจริงเอาจัง แล้วพอท่านมีหลักมีเกณฑ์แล้วท่านก็ไปเอาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นมาบวชเป็นสามเณรแล้วสึกไป หลวงปู่เสาร์ท่านก็ไปเลียบไปเคียงมาจนหลวงปู่มั่นมาบวชอีก บวชเสร็จแล้วหลวงปู่มั่นกับหลวงปู่เสาร์ออกธุดงค์กัน
อ่านหนังสือประวัติว่า เวลาหลวงปู่มั่นพรรษาแรกออกไปธุดงค์แล้วกลับมาเยี่ยมบ้านเยี่ยมเรือน เพื่อนฝูงของหลวงปู่มั่นท่านมาคุยมาเยี่ยมเยียนหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ท่านเห็นว่ามันชักไม่ปกติแล้ว มันชักผิดปกติแล้ว ท่านออกอุบายพาหลวงปู่มั่นเข้าป่าเข้าเขาไป ท่านออกอุบายพาหลวงปู่มั่นไปธุดงค์ ไปค้นหาตัวตนของท่าน ทุกข์ยากมาก
หลวงตาท่านฟังเรื่องหลวงปู่มั่นนะ บอกว่าหลวงปู่มั่นเวลาอะไรไปสัมผัสใจของท่าน ท่านจะเล่าว่าท่านเคยทุกข์เคยยาก เคยเป็นอะไรมา หลวงปู่มั่นท่านเล่าประสบการณ์ของท่าน แต่หลวงตาบอกว่าท่านหันหน้าเข้าข้างฝาแล้วร้องไห้ สงสารหลวงปู่มั่นไง
หลวงปู่มั่นท่านเล่าของท่านไป เวลาท่านเล่าถึงทำความลำบากของท่าน คนเล่าก็เล่าเรื่องปกติเพราะท่านประสบมาใช่ไหม ท่านเล่าเรื่องประสบการณ์ของท่าน แต่หลวงตาท่านบอกว่าท่านหันหน้าเข้าข้างฝา หันหน้าเข้าข้างกุฏิแล้วน้ำตาไหล คือสงสารแทนคนเล่า คนเล่าท่านเล่าปกติ แต่คนฟังมันสะเทือนใจ นี่ภาคปฏิบัติ กว่าจะได้มานะ กว่าจะได้มา ถ้าเราเห็นว่าครูบาอาจารย์ถ้าเป็นความจริงนะ
แต่ถ้ามันไม่จริงมันก็สำมะเลเทเมากันไป เดี๋ยวนี้เข้าป่าไป ออกจากป่ามา “นี่พระป่า ออกจากป่าแล้วจะสร้างวัด” มันเดินเข้าป่าแล้วออกมามันบอกมันจะสร้างวัด แล้วดูนายพรานสิ เขาเข้าป่าออกป่าทุกวัน ทำไมเขาไม่เห็นสร้างวัด ถ้าภาวนาไม่จริงมันอีกเรื่องหนึ่งเลยนะ
แต่ถ้าภาวนาจริง นี่พูดถึงปริยัติ ปฏิบัติไง ถ้าปฏิบัตินะ เอาจริงเอาจังนะ เราต้องเอาตัวของเราไว้ในอำนาจของเรา เอาให้อยู่ให้ได้ ถ้าเอาอยู่ให้ได้นะ สิ่งที่เรียนมา ปริยัติ ทางวิชาการจะเข้มแข็งจริงไหม จริง แล้วดีไหม ดี แต่เวลาปฏิบัติแล้วอันนั้นมันจะหลอกมันจะหลอน มันจะหลอกมันจะหลอน มันจะเต็มที่ ต้องวางให้ได้
แต่นี่เขาบอกว่าไม่ได้ ยิ่งอภิธรรมนะ ยิ่งจำแม่นๆ เลย พอจำแม่นๆ นะ ทุกกิริยาการเคลื่อนไหวรู้เท่าหมดเลย มันก็สตัฟฟ์จิตไว้หมดเลย สตัฟฟ์ไว้เลย แล้วมันจะรู้อะไร
พอมันสตัฟฟ์ไว้เลยนะ มันก็ลงสมาธิไม่ได้ แล้วบอกว่า “ถ้าสมาธินะ มันเป็นสมถะ ถ้าลงสมถะมันจะเกิดนิมิต สมถะไม่ใช่วิปัสสนา”
แล้วถ้ามันไม่มีสมถะ จิตมันเจือไปด้วยสมุทัย เจือด้วยอวิชชา มันเจือ “ถ้าเจือที่ไหนก็รู้เท่าหมด มันปล่อยหมดเลย มันว่างหมดเลย”...นั่นมันสตัฟฟ์ไว้ มันสตัฟฟ์ไว้ แล้วมันจะไปไหนต่อ นี่ความไม่รู้ ความไม่รู้ของมัน เห็นไหม
แต่ถ้าเรามีครูบาอาจารย์นะ พุทโธๆ กว่าจะลงสมถะเกือบเป็นเกือบตาย เกือบเป็นเกือบตายเพราะอะไร เพราะมันเป็น จิตมันปรากฏการณ์ของมัน ปรากฏการณ์ของจิต จิตถ้ามันมีปรากฏการณ์ของมัน อยู่ที่จริตนิสัยของมัน
จิตที่มีปรากฏการณ์ที่มหัศจรรย์ เวลาจิตสงบลงแล้วมันจะเห็นตัวเองลอยขึ้นบนอากาศ ไปนั่งบนก้อนเมฆ ไปเดินจงกรมบนอากาศ จิตอย่างนี้ก็มี จิตที่มันสงบ มันลงไปสู่บาดาลก็มี ไอ้นี่มันส่วนน้อยไง แต่จิตมันสงบโดยปกติของมันล่ะ เพราะจิตมันสงบ มันปรากฏการณ์ของจิต แล้วจิตมันเป็นตามความจริงของมัน มันไม่มีอะไรไปเกี่ยวเนื่องกับมัน มันผุดออกมาจากอำนาจวาสนาบารมีของใครของมันไง อย่างที่ว่าพาหิยะทีเดียวก็เป็นพระอรหันต์
ไอ้เราพระไตรปิฎกอ่านจนทะลุ อ่านจนทะลุมันไม่เห็นเป็นอะไรเลย พาหิยะฟังพระพุทธเจ้าหนเดียว ไอ้เราก็เอาที่สอนพาหิยะมานั่งอ่าน วิเคราะห์ทั้งปีเลย ไม่เห็นได้อะไร
จิตคนไม่เหมือนกัน ปรากฏการณ์ของจิตไม่เหมือนกัน
นี่พูดถึงว่า ผู้ที่บอกว่า “ตอนนี้ผมเข้าใจแล้วครับ ผมต้องทำเหตุให้ถึงพร้อมก่อนถึงจะเป็นปัจจัตตังได้”
ภาคปฏิบัติมันเป็นแบบนี้ แล้วถ้าภาคปฏิบัติเป็นแบบนี้แล้ว ภาคปฏิบัติเขาจะรู้กัน ครูบาอาจารย์เราถึงสำคัญมากนะ ครูบาอาจารย์ฟังทีเดียวก็รู้ใครพูดจริงพูดเท็จ คำพูดมันฟ้องเอง อย่างเช่นเราไม่เคยไปกรุงเทพฯ เลย แต่อยากจะวิเคราะห์สนามหลวงให้โยมฟัง จะบอกว่าสนามหลวงมันเป็นอย่างนั้น สนามหลวงเป็นอย่างนี้ ตอนนี้ถ้าเราวิเคราะห์สนามหลวงก็ผิดแล้วล่ะ เพราะสมัยเรามันมีต้นมะขาม สมัยเรามันยังไม่ได้ล้อมรั้ว เดี๋ยวนี้เขาล้อมรั้ว เขาปูตัวหนอนอะไรกันหมด เดี๋ยวนี้ให้เราพูดถึงสนามหลวง พูดผิดหมดนะ เพราะมันเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าคนไม่เคยเห็นสนามหลวง พูดอย่างไรก็ผิด คนไม่เคยปฏิบัติ เทศน์ขนาดไหนก็ผิด คนปฏิบัติไม่เป็นพูดออกมามันก็เปิดไส้เปิดพุงของมันออกมา
แต่ถ้าคนเป็นความจริงนะ แกล้งให้ผิดมันก็ถูก หลวงตาท่านบอกว่าคนที่มีคุณธรรมนะ พูดให้ผิดมันก็ถูก เพราะมันพูดอย่างอื่นไปไม่ได้หรอก มันพยายามจะพูดให้ผิดไง พูดให้คนไม่รู้เท่าทันเรา แต่ธรรมอันนั้นมันจะออกมา อันนี้เขาจะรู้จริงได้ ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเป็นปฏิบัติต้องเป็นแบบนี้
ฉะนั้น สิ่งที่ถามมานะ ประดาบกันมาจนเต็มที่แล้ว นี่ดีนะ ดีที่ว่าประดาบกับคนที่มีวิทยายุทธ ถ้าไปประดาบกับพวกลิเกนะ เสร็จ ถ้าไปประดาบกับพวกลิเก ลิเกมันจะฟันกัน มันก็เอาดาบวิ่งสวนกันไปสวนกันมา ไม่ได้รบกันสักที เอาดาบมาแล้วก็วิ่งสวนกันไปสวนกันมา
ถ้าไปประดาบกับพวกอย่างนั้นมันทำให้เราสงสัยในธรรม สงสัยว่ามรรคผลจะมีจริงหรือเปล่า ในวงการปฏิบัติมันจะมีพระรู้จริงหรือเปล่า นี่ดี มันประดาบกับผู้ที่มีวิทยายุทธ ถ้าไปประดาบกับพวกลิเกนะ จะสงสัยในธรรมเลย สงสัยว่ามันจะเป็นจริงหรือ มันจะมีอยู่จริงหรือ
ถ้ามันมีอยู่จริง ถ้ามันมีอยู่จริง เข้าใจได้จริง ปฏิบัติขึ้นมา เวลาพูดถึงสมาธิตัวเดียว คนปฏิบัติเป็นปีเป็นหลายปียังทำสมาธิไม่ได้ คนที่ทำสมาธิได้แล้วถ้ามันไม่ยกขึ้นวิปัสสนา ไม่เห็นกายตามความเป็นจริง ไม่มีสติปัฏฐาน ๔ มันยังก้าวเดิน จิตมันไม่ก้าวเดินไปในสติปัฏฐาน ๔ แล้วจะทำอย่างไร
นี้คืออำนาจวาสนา นี้คือการที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยนี้ไว้ให้พวกเราได้สร้างบุญสร้างกุศล สร้างอำนาจวาสนา สร้างบารมีเพื่อให้จิตใจของเรา ถ้าจิตของเรามีอำนาจวาสนา มีบารมี ฟังธรรมมันก็เข้าใจธรรม
คนดีทำดีง่าย ทำชั่วยาก คนชั่วทำความชั่วง่าย ทำความดียาก เราสร้างจิตสร้างใจของเราให้มันดิบให้มันดีขึ้นมา มันฟังธรรมมันรู้ว่าเป็นฟังธรรม ถ้าฟังอธรรมรู้ว่าเป็นอธรรม เราก็อย่าไปยุ่งกับเขา เราไม่สร้างบาปสร้างเวรสร้างกรรม เราจะสร้างคุณงามความดีของเรา สร้างประโยชน์กับเรา ทำเพื่อหัวใจของเรา เอวัง