ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เพื่อใจสงบ

๒๘ ก.ย. ๒๕๕๖

 

เพื่อใจสงบ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๑๔๑๖. เนาะ

ถาม : ๑๔๑๖.. เรื่อง "กราบเรียนถามข้อขัดข้องในความรู้สึกจากการเข้าสมาธิ"

นมัสการครับ ผมนั่งฟังหลวงตาบัวท่านเทศน์ทางโทรทัศน์ (อัดเทปในช่องฟรีทีวี ในช่องฟรีดาวเทียม) แล้วเกิดความรู้สึกสงบ จึงเข้าสมาธิพร้อมกับฟังเสียงท่านทางทีวีไปด้วย ความรู้สึกเสียงของท่านทำให้ผมสงบได้เร็วขึ้น สักครู่หนึ่งในสมาธินะครับปรากฏเห็นหลวงตาท่านเดินเข้ามาผิวพรรณผ่องใส เหมือนคนจริงๆ เดินเข้ามาหา ในสมาธิความรู้สึกมันพุ่งขึ้นมาเหมือนคนเบรกแตกเลยว่าในทีวีไม่ใช่หลวงตา ความรู้สึกในสมาธิมันพุ่งรู้สึกอย่างนั้น แต่ความรู้สึกอันหนึ่งเหมือนมันสะดุด เกิดความละอาย คือในทีวีที่เราดู ฟังเป็นเทปบันทึก ผมเข้าใจอย่างนั้นจึงต้องบันทึกจากภาพและเสียงของหลวงตาท่านขณะมีชีวิต

ผมยอมรับว่าละอายจริงๆ ที่ห้ามความรู้สึกนั้นไม่ได้ สักพักผมก็เห็นหลวงตาท่านยิ้ม ท่านหยิบกระดาษและดินสอวาดรูปท่านขึ้นมา แล้วก็หายไป ผมจึงออกจากสมาธิก็มองในทีวี มานั่งคิด ก็ในทีวีเป็นท่านอัดเทป บันทึกเทป ทำไมจะไม่ใช่ท่าน คิดอย่างไรก็ไม่เข้าใจ ทำไมในสมาธิจึงปรากฏความรู้สึกเช่นนั้น และผมได้นึกย้อนกราบขอขมาลาโทษพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หลังจากออกสมาธิผมจึงเกิดข้อสงสัย เพราะเหตุใดในสมาธิความรู้สึกจึงพุ่งปรากฏอย่างนั้น ซึ่งสวนทางกับความจริงที่ตาหูเราได้ยินเราเข้าใจ

ตอบ : นี่คำถามนะ คำถาม เวลาเราทำความสงบของใจ เราทำความสงบกันเราทำเพื่อใจสงบ นี้เวลาทำเพื่อใจสงบ สิ่งที่เวลาเราฟัง เห็นไหม นี่เขาบอกว่าเขาดูทางช่องฟรีทีวี ฟรีดาวเทียม แล้วเกิดความรู้สึกสงบเข้าสมาธิพร้อมกับฟังเสียงท่านไป รู้สึกว่ามันดีมาก มันสงบได้ไวดี นี่สิ่งนี้มันเป็นประโยชน์ไง มันเป็นประโยชน์ที่ว่าเราอยากทำความสงบของใจ เพราะเราเห็นคุณค่าของหัวใจ ถ้าเราเห็นคุณค่าของหัวใจ เราทำสมาธิกัน เราต้องการพิสูจน์

๑. พิสูจน์ว่ามันเป็นจริงไหม? พิสูจน์ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๒. พิสูจน์บารมีของเรา แล้วถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต

ที่เราทำกันอยู่นี้เราทำเพื่อความสงบของใจ ทำเพื่อใจสงบ ทำเพื่อใจสงบ ถ้าใจมันสงบ อย่างนั้นถูกต้อง นี่เห็นไหม เวลาเราฟังเทศน์ของท่าน ฟังเทศน์ของท่านทางทีวีแล้วจิตมันสงบ สงบได้เร็วด้วย สงบแล้วดีด้วย ทีนี้พอสงบไปแล้วมันไปเห็นนิมิต พอไปเห็นนิมิตขึ้นมา เห็นไหม เห็นว่าสิ่งที่เห็นนั้นท่านเดินเข้ามาว่าไม่ใช่ท่าน

พอคำว่าไม่ใช่ท่าน ในหัวใจของคนที่เป็นธรรมมันคิดว่าอันนี้คือการสบประมาท ถ้าเป็นการสบประมาทปั๊บ เขาถึงบอกว่าเขาออกจากสมาธิปั๊บเขาไปขอขมาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าเราไปขอขมาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือขอขมารัตนตรัย อันนี้ก็เป็นความคิดที่ดี แต่ แต่กิเลสมันสวมรอยไง กิเลสมันสวมรอยให้เราเสียใจ ให้เราตกใจ อย่างเช่นเราตกใจ พอเราตกใจเราจะมีอารมณ์วูบวาบมากเลย

นี่ก็เหมือนกัน พอเราคิดผิด พอเราคิดว่าสิ่งนี้ไม่ใช่หลวงตาใช่ไหม? พอไม่ใช่หลวงตามันก็เกิดนิมิต นิมิตมันซ้อนนิมิตเลย พอนิมิตขึ้นมาบอกอันนี้ไม่ใช่หลวงตา ความรู้สึกเราคิดขึ้นมาอย่างนั้น พอความรู้สึกคิดอย่างนั้นนิมิตก็เกิดขึ้น เกิดขึ้นว่าหลวงตาเดินมาเลยนะ เอากระดาษมาแล้ววาดภาพท่านให้ดูอีกต่างหาก นี่ใช่เราหรือไม่ใช่เรา นี่หลวงตาเดินเข้ามา มีกระดาษแผ่นหนึ่ง แล้วก็มีดินสอวาดภาพของท่านด้วย แล้วก็ยิ้มๆ อ้าว ก็เป็นเรา อันนี้ว่าเป็นเรา

สิ่งที่เป็นเรา สิ่งที่เรารู้เราเห็นเราทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบเพราะอะไร? เพราะนี่เราดูทีวีเราก็เห็นภาพหลวงตาอยู่แล้ว แล้วฟังธรรมท่าน แล้วจิตมันสงบเข้ามา แต่กิเลสไง กิเลสคือว่ากิเลสในใจของคน พันธุกรรมของจิตมันไม่เหมือนกัน ถ้าพันธุกรรมของจิตไม่เหมือนกัน เวลาเรานั่งสมาธิเรานั่งเพื่อความสงบ จิตของใครถ้ามันไม่มีสิ่งใดโต้แย้ง คือไม่มีมาร ไม่มีมาร ไม่มีหมู่คณะของมาร ไม่มีมาร ไม่มีบ่วงของมารที่มันเข้ามาหลอกมาล่อ มันก็สงบไป แต่ถ้ามันมีมาร มีมาร มีกิเลสตัณหาความทะยานอยากมันมายุ มาแหย่ มันก็จะมีอุปสรรคไปอย่างนี้

นี่เวลาอุปสรรคนะเราภาวนาเพื่อความสงบของใจ ถ้าใจสงบระงับเข้ามามันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นความสุข มันเป็นความสุข มันเป็นความจริง เหมือนเรานี่เราหิวกระหายมา เราได้ดื่มน้ำ เราได้พักผ่อนมันจะมีความร่มเย็นเป็นสุข จิตใจที่มันแห้งแล้ง จิตใจที่มันทุกข์มันยากมา จิตใจที่มันไม่มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ มันมีแต่กิเลส มันมีตัณหาความทะยานอยากเป็นเครื่องอยู่ มันก็มีความทุกข์ความยากมา เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา เราฟังเทศน์หลวงตามา แล้วเราเอาธรรมนี้เป็นที่เกาะ เป็นที่เกาะขึ้นมา พอจิตมันสงบระงับขึ้นมา ถ้าคนสงบไปเฉยๆ มันก็มี เราทำเพื่อใจสงบ ถ้าจิตใจสงบนั่นคือเป้าหมาย เป้าหมายของเราคือทำความสงบของใจ

ทีนี้เป้าหมายคือทำความสงบของใจ ทีนี้บอกว่ามันรู้มันเห็นอะไรนี่มันเป็นคราว คำว่าเป็นคราวเขาเรียกกรรม กรรมของคนนะมันเป็นวาระที่มันมา วาระที่จรมา วาระที่เป็นแบบนั้น มันก็จะรู้จะเห็นอย่างนั้น แล้วพอถ้ามันรู้มันเห็นอย่างนั้น เรามีสติปัญญาเราก็เสียใจ นี่ออกจากสมาธิมันก็ขอขมาลาโทษ แต่ถ้าเราฝึกหัดไปบ่อยครั้งเข้า สิ่งนี้ถ้ามันเกิดขึ้นมาเราแก้ไขได้ เราแก้ไขได้ บางทีมันก็เป็นอย่างนี้ บางทีมันก็ไม่เป็น บางทีมันก็สงบไปเฉยๆ บางทีมันสงบแล้วมันมีกิเลสต่อต้าน มันมีสิ่งใดทำให้เราเคลือบแคลงสงสัย นิวรณธรรมปิดกั้นสมาธิ นิวรณธรรมปิดกั้นมรรค ผล

นิวรณธรรม เห็นไหม ความลังเลสงสัย ความลังเลสงสัย ความวิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ความลูบ ความคลำ นี่นิวรณธรรมมันจะปิดกั้น ถ้าปิดกั้นนี่มันเกิด ทั้งๆ ที่ฟังทีวี ฟังเทศน์หลวงตา นี่พอฟังเทศน์หลวงตาแล้วทำให้ผมสงบได้เร็ว ทำให้ความสงบได้เร็ว สงบได้ดี นี่คือผลของมัน นี่คุณงามความดีผลของมัน แต่พอมันสงบขึ้นมาแล้ว จิตนี่พันธุกรรมของมัน พันธุกรรมพอมันไปรู้ไปเห็นมันมีความโต้แย้ง นี่มันเห็นว่าหลวงตาเดินเข้ามาหา แล้วมันเหมือนกับเราคิดเลยว่าไม่ใช่ๆ ไม่ใช่นี่เราต่อต้านๆ ไง พอเราต่อต้านขึ้นมา สิ่งที่นิมิตมันซ้อนขึ้นมาให้เห็นเป็นอย่างนั้นๆ

มันเป็นหรือไม่เป็นมันเป็นนิมิต มันเป็นนิมิต นิมิตนี่เป็นได้หลากหลาย ดูสิเวลาวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ เวลาเกิดปีติ ปีติมันหลากหลายมาก เวลาจิตมันจะสงบมันเกิดปีติ มันเกิดรู้เกิดเห็นต่างๆ มันมหาศาล จนรู้วาระจิตของคนได้ มันรู้เสียงได้ มันอยู่ที่คนที่มีกำลังมาก กำลังน้อยแค่ไหน แต่ส่วนใหญ่แล้ว ส่วนใหญ่แล้ว ดูสิ ดูชนชั้นปกครอง นี่ผู้นำจะหาได้ยาก แต่ผู้ตามหาได้ง่าย

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราจิตสงบเฉยๆ ส่วนใหญ่มันมีเยอะมาก แต่ถ้ามันมีอะไรที่มันมหัศจรรย์ มันพลิกแพลงมันมีน้อย พอมีน้อยขึ้นมา เวลามันเกิดขึ้นมาเราจะแก้ไขอย่างไร? คำว่าแก้ไข คือกำหนดพุทโธต่อเนื่องไป ถ้าจิตมันสงบท่านบอกว่านี่ใช่หลวงตา ไม่ใช่หลวงตา มันเกิดอุปสรรคแล้ว เห็นไหม เหมือนคนเรานั่ง พอนั่งขึ้นมาไม่เคยกลืนน้ำลายเลยก็ปกติ พอจิตสงบกลืนน้ำลายไปทีหนึ่ง เดี๋ยวจะกลืนเรื่อยๆ กลืนเรื่อยๆ เลย นี่มันแผ่นเสียงตกร่องแล้ว คือจิตมันยึดแล้ว พอจิตมันยึดแล้วเวลาแก้ล่ะ? แก้ก็ต้องพุทโธ พุทโธจนมันจะเริ่มบางลงๆ จนกลับมาพุทโธอีก ไอ้การกลืนน้ำลายนั้นก็หายไป

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราสงสัยว่าสิ่งที่เราเห็น พอจิตสงบแล้วเห็นหลวงตาเดินเข้ามาหา นี่มันเบรกแตกเลยว่าอันนี้ไม่ใช่หลวงตา มันพุ่งขึ้นมาเลย ใช่หรือไม่ใช่มันอยู่ที่ว่าข้อมูล สัญญาในหัวใจของเรามันจะเชื่อสิ่งใด แล้วกิเลสกับธรรมมันจะเอาสิ่งนี้ใช้ พอใช้ออกมามันก็โต้แย้ง พอโต้แย้งขึ้นมามันก็นิมิตซ้อนใช่ไหม

คำว่านิมิต เราจะบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นเราจะบอกว่ามันไม่มี เห็นไหม นี่เราเห็นจริงไหม? จริง แต่ความเห็นนั้นไม่จริง สิ่งที่เราเห็นมันเป็นอาการทั้งหมด มันเป็นประสบการณ์ของใจทั้งหมด ถ้าใจของใครมีประสบการณ์อย่างใด ใจของใครมีเวร มีกรรมอย่างใด มันจะมีประสบการณ์อย่างนั้นเกิดขึ้น แล้วประสบการณ์อย่างนี้ถ้าจิตมันซับ มันยึด พอมันยึดมันก็โต้แย้งแล้ว พอมันยึดปั๊บมันจะมีปัญหาเลย มีปัญหาอะไร? มีปัญหากับการภาวนาของเราไง แต่ถ้ามันเกิดขึ้น สิ่งที่เห็นจริงไหม? จริง แต่ความเห็นนั้นไม่จริงก็วางมันซะ เห็นจริงไหม? มันรู้ มันเห็นนี่มันรู้ มันเห็นได้ ถ้ารู้เห็นได้เราก็วางได้

พอเราวางได้ เหมือนเราจะไปบนถนนหนทาง มันมีสวนดอกไม้ มันมีสวนหย่อม มันมีสิ่งใดที่น่ารื่นรมย์ให้เรานอนใจจะพักผ่อนที่นั่นเยอะแยะไปหมดเลย แต่ถ้าเรามีความตั้งมั่นของเรานะ เราผ่านสิ่งนั้นไป เราวางแล้วเราเดินบนถนนต่อเนื่องไปๆ จนถึงเป้าหมาย จนถึงเข้าสู่ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิเข้าไปสู่ความสงบของเรา สู่เป้าหมายของเรา เราต้องเดินไปข้างหน้า ถ้าเดินไปข้างหน้าเราวางสิ่งนี้หมด ทีนี้พอวางไปมันสงสัยไง นี่เขาเรียกติด พอติดแล้วมันจะวิเคราะห์ตรงนั้น จิตมันติดอยู่ตรงนั้นแกะยากมากเลย มันไม่ยอมไป

นี่เวลานั่งไปนะ ทำไมมันตัวเอียงๆ ทำไมนั่งไปแล้วมันจะล้ม นี่มันเป็นความฝังใจไง แต่ถ้าจิตมันไม่กังวลนะ เดี๋ยวมันกลับมาปกติ ถ้ากลับมาปกติแล้วมันก็ต่อเนื่องไป ฉะนั้น สิ่งที่มันเป็นไปมันเป็นไปแล้ว นี่มันเป็นความจริง อย่างเช่นที่ว่าเวลามันต่อต้าน แล้วสักพักหนึ่ง เขาว่า

ถาม : สักพักหนึ่งเห็นภาพหลวงตาท่านยิ้มมา ท่านหยิบกระดาษและดินสอขึ้นมา วาดรูปขึ้นมาแล้วก็หายไป

ตอบ : สักพักหนึ่ง นี่มันก็เกิดขึ้นมาแล้วก็หายไป สิ่งที่หายไปมันเป็นข้อมูลตรงข้าม ข้อมูลตรงข้ามที่ใจของเรามันยึดติด พอยึดติด สิ่งที่ว่ามันมีนิมิตขึ้นมาเพื่อจะมาล้างความยึดติดของเรา นี่ล้างความยึดติดของเรา สิ่งที่เกิดขึ้น นิมิตมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป มันก็เป็นอย่างนี้ มันก็หายไปเป็นธรรมดา แต่สิ่งที่ตกค้างในใจมันได้หายไปด้วยไหม?

สิ่งที่ตกค้างในใจเรา จิตใจที่เราเป็น ทีนี้ใจที่เราเป็น สิ่งที่ใจเรากังวล ถ้ามันไม่ตกค้างไป มันไม่หายไปเราก็ต้องค่อยๆ ตั้งสตินะ แล้วกำหนดพุทโธของเราจนกว่าสิ่งนี้พอจิตใจเราเข้มแข็งขึ้น จิตใจเรามีประสบการณ์ขึ้น เราจะย้อนกลับมาเข้าใจได้ว่า อ๋อ เราเคยเห็นแบบนี้ เราเคยเห็นแบบนี้เราก็วางแบบนี้มา ถ้าแบบนี้มาแล้วเราจะไม่ไปยึดติดไง นี่เหมือนกับคนมีประสบการณ์ ประสบการณ์ของใจ คนที่ทำงานมีประสบการณ์มา เห็นไหม เรามีประสบการณ์ก็สิ่งที่เราผ่านมาใช่ไหม? อย่างนั้นเราอยู่ที่จุดนั้นไหม? เรามีประสบการณ์เราผ่านมาแล้วก็เป็นประสบการณ์ของเรา

จิตก็เหมือนกัน ถ้ามันรู้ มันเห็นเป็นประสบการณ์แล้วมันก็วางไว้ เราไปข้างหน้าของเรา เราต่อไปข้างหน้า นี้คำถามว่า

ถาม : เพราะเหตุใดในสมาธิความรู้สึกถึงพุ่งปรากฏอย่างนั้น และจึงสวนทางกับความรู้จริง

ตอบ : นี่เวลาปฏิบัติไป ถ้าครูบาอาจารย์เราเป็นนะ เวลาคนที่จิตสงบแล้วมันผุดขึ้นมา คำว่าผุดขึ้นมาเป็นธรรมะเป็นข้อๆ เช่นหลวงปู่มั่น เวลาท่านขึ้นของท่านเป็นบาลี นี่ท่านเก็บไว้ เอาไว้ฝากหลวงตา หลวงตามานี่มหา ใครเป็นมหาตอบปัญหานี้ ถ้าท่านบาลีขึ้นมาเลย หลวงตาท่านเข้าใจอยู่แล้วว่าอันนี้ท่านเก็บเอาไว้ฝาก เก็บไว้ฝากคือว่ามันเป็นธรรมผุดขึ้นมาในใจของท่าน ท่านได้รับรสของท่านแล้ว ท่านก็เก็บเอาไว้ เก็บไว้เวลามีลูกศิษย์ท่านตั้งเป็นบาลีมาให้เราแปล ถ้าแปลแล้วนี่ธรรมมันผุดขึ้นมาท่านจะแปลออกมาเป็นปริยัติก็เป็นตามตัวอักษร เป็นความหมาย แต่ท่านแปลตามธรรม โอ๋ย มันซาบซึ้งกว่านั้น

พอมันซาบซึ้งกว่านั้น นี่หลวงตาท่านฟังแล้วท่านซาบซึ้งมาก ท่านบอกว่าการเรียนมามันเรียนตามตัวอักษร ตามทฤษฎีมันก็ต้องแปลตามนั้น เพราะกลัวมันจะผิดสิ่งที่เราศึกษามา แต่ธรรมะมันกว้างขวางกว่านั้น ถ้ากว้างขวางกว่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้น เวลาธรรมมันเกิดๆ มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง นี่เวลาภาวนาไปมันไม่ราบรื่นแบบที่เราศึกษากันมาหรอก ที่เราศึกษามาเป็นทฤษฎีมันเป็นวิธีการ อย่างนี้ถูกต้อง แต่เวลาทำไปแล้วมันร้อยแปด เหมือนคนเรียนทางวิชาการใดมา เวลาเราไปทำงาน ทำงานแล้วมันยังมีเทคนิคการทำ ยังมีเพื่อน มีฝูง มีผู้บังคับบัญชา โอ๋ย มันยังอีกเยอะ นี่ประสบการณ์ของคนทำงานมันเป็นอีกเรื่องหนึ่งถ้ามีประสบการณ์

นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตภาวนาไปแล้วมันมีอีกเยอะมาก นี่เริ่มต้นนะ ฉะนั้น เริ่มต้นบอกว่าเราปฏิบัตินี่เราทำเพื่อใจสงบ เราทำของเราเพื่อใจสงบ แต่ว่าถ้ามันรู้มันเห็นอะไร ถ้ามันเป็นประโยชน์ สิ่งที่ว่าถ้ามันเป็นนิมิต เป็นต่างๆ มันเป็นการมาส่งเสริมนะ นิมิตมันเกิดขึ้นถ้าเราภาวนาไปบอกว่านี่ถ้านั่งไปแล้วเดี๋ยวจะเกิดศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าทำความถูกต้องไปแล้วเราจะได้มรรค ได้ผล

ถ้าอย่างนี้มันส่งเสริมเราก็พอใจ แต่ถ้าบอกพอนิมิตมา ปฏิบัติไปแล้วเราจะมีเวรมีกรรม เราจะลำบากลำบนไป โอ๋ย มันก็ท้อแท้ นี่มันเกิดขึ้นมามันไม่สะอาดบริสุทธิ์ แต่ถ้าเป็นของครูบาอาจารย์ที่ท่านสิ้นกิเลสไปแล้วนะ อันนั้นสะอาดบริสุทธิ์ พอสะอาดบริสุทธิ์มันไม่มีสิ่งใดเข้าไปเจือปน อันนั้นแหละของจริง แต่ของเรานี่เรายังมีการคาดหมายไง มันยังมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันยังมีคาดหมายอยู่ เวลาสิ่งใดเกิดขึ้นมาความคาดหมายนั้นมันมีส่วนปนเข้ามา เขาเรียกสมุทัยๆ

ทีนี้สมุทัยขึ้นมา เวลาเราเกิดขึ้นมา สิ่งที่เกิดขึ้นมากับเรา เราเป็นผู้รู้เห็นจริงใช่ไหม? เรามีความเข้าใจเองใช่ไหม? ฉะนั้น พอเข้าใจเอง มันสะดุด เวลามันพุ่งออกมาเหมือนคนเบรกแตกที่ว่ามันเกิดขึ้นมา นี่ธรรมมันเกิดมันพุ่งออกมาเลย แต่ถ้าพอมันมีสติปัญญามันสะดุดเลย พอสะดุดแล้วมันมีความละอาย มันมีความละอาย นี่ถ้ามีสติปัญญา ระหว่างกิเลสกับธรรมในใจของคนมันจะขัดแย้งกันไป มันจะต่อสู้กัน มันจะขัดแย้งกัน มันจะมีปัญหาต่อกัน แล้วอะไรชนะล่ะ? ถ้ากิเลสชนะนะเราก็คอตก แต่ถ้าธรรมะชนะนะเราจะรื่นเริงอาจหาญมาก

รื่นเริงอาจหาญ เห็นไหม นี่คนที่เขามีคุณธรรม เขาวางตำแหน่งหน้าที่การงาน เขาวางทุกอย่างได้หมดในโลกนี้ เขาวางได้หมดเลย แต่ของเรานี่เราไม่ต้องถึงกับขนาดนั้น เราแค่วางทิฐิมานะ วางความยึดมั่นถือมั่นของใจ แล้วเราปฏิบัติต่อเนื่องไป เดี๋ยวจะผ่านประสบการณ์อันนี้ไป อันนี้ประสบการณ์ครั้งแรก ประสบการณ์ครั้งแรกปั๊บ เวลาปฏิบัติไป พอรู้เห็นสิ่งใดไปแล้วเราก็ว่าสิ่งนั้นจะอยู่กับเราตลอดไป นี้ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่ามรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด คนถามบ่อยมาก เราจะพูดเรื่องนี้มาก พูดว่ามรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด

มรรคหยาบๆ คือความเห็นเริ่มต้นนี่ไง ความเห็นแบบพื้นฐาน แต่สิ่งที่มันละเอียดลึกซึ้งมันจะมีมากกว่านี้ แล้วเราไม่ยอมปล่อยให้จิตเราละเอียดเข้าไปไง เราไม่สามารถทำให้จิตเราละเอียดเข้าไป มรรคที่ละเอียดมันถึงไม่เกิดไง เราจะเอาแบบโลก เอาแบบวิทยาศาสตร์ต้องพิสูจน์ได้ ตรวจสอบได้ แต่การตรวจสอบโดยธรรม เห็นไหม บุคคล ๔ คู่ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล มันละเอียดเป็นชั้นๆๆ เข้าไป ถ้าจิตใจเราไม่ละเอียดเข้ามามันจะเข้าไปถึงฐีติจิต เข้าไปแก้กิเลสไม่ได้

ถ้ามีมรรคหยาบ มรรคไม่เคยเกิด พอมรรคมันเกิดขึ้นมาเราก็กลัวว่ามรรคเราจะหลุดจากมือไป กอดมรรคไว้เลย มันก็เหมือนกับของที่เป็นวัตถุ เป็นวัตถุมันคงที่ของมัน แต่ของที่เป็นอาหาร ของที่เป็นวัตถุเหมือนกัน แต่มันเป็นอาหาร มันเน่า มันบูดของมัน มันหมัก มันดองของมัน มันเปลี่ยนแปลงของมัน จิตใจของคนมันมีชีวิต มันละเอียดลึกซึ้งเข้าไป มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด ถ้าของเราคงที่มันเหมือนกับกระดาษ พลาสติกมันก็อยู่ของมันคงที่อย่างนั้นแหละ แต่ถ้าเป็นอาหาร มันเก็บไว้มันเสีย มันหาย มันเน่า มันบูดนะ

จิตใจของเราถ้ามันละเอียด ละเอียดเข้าไปอย่างนั้น ถ้าเป็นกระดาษมันไม่เน่า ไม่บูดอยู่อย่างนั้นแหละ เป็นพลาสติกอยู่อย่างนั้นแหละ นี่ไงมรรคหยาบๆ อยู่อย่างนั้นแหละไม่มีการละเอียดลึกซึ้งเข้ามา อยู่อย่างนั้นแหละ เว้นไว้แต่เผาไฟทิ้ง แต่ถ้ามันเป็นอาหาร มันเป็นสิ่งที่มัน ดูอย่างน้ำมันก็ระเหยของมันไป สิ่งนี้มันเปลี่ยนแปลงไง มรรคหยาบ มรรคละเอียด ถ้ามรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด ถ้ามรรคหยาบคือว่ารู้เห็นอย่างนี้ปั๊บ ต้องเป็นอย่างนี้ตลอดไป ไม่ใช่หรอก ถ้าเดี๋ยวมันละเอียดขึ้นมามันจะละเอียดลึกซึ้งเข้าไป มันจะปล่อยวางของมัน นี่ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ เวลาพิจารณาไปตทังคปหาน พิจารณาบ่อยครั้งเข้า ชำนาญการขึ้นมาจนสมุจเฉทปหานละเอียดลึกซึ้งเข้าไป

ฉะนั้น คำถามที่ถามมามันเป็นเรื่องอนุบาล มันเป็นเรื่องแค่นิมิต เป็นเรื่องแค่รู้เห็น ทีนี้พอเป็นนิมิตมันก็ตื่นเต้น คนไม่เคยมี พอมีขึ้นมา แล้วพอมีแบบเป็นวิทยาศาสตร์นะ มีแล้วต้องเป็นอย่างนี้ตลอดไป ไม่ใช่ ไม่ใช่เป็นอย่างนี้ตลอดไปนะ นี่ถ้าจิตเราสงบแล้วมันวางมา มันเหมือนกับเรา พอจิตใจเราพัฒนาขึ้นไปแล้วนะ เราจะละเอียดอ่อนขึ้นไป เราจะไม่ติดอารมณ์หยาบๆ อย่างนี้ นี่อารมณ์หยาบๆ อย่างนี้ แต่นี่คนที่ปฏิบัติใหม่มันไม่หยาบสิ มันเป็นของมหัศจรรย์ พอมหัศจรรย์จนตื่นเต้น ตื่นเต้นแล้วมันจะผ่านไป นี่พูดถึงว่าการแก้นิมิต ความรู้สึกไง เขาบอกว่าข้อขัดข้องในความรู้สึก

ฉะนั้น ถ้าเราทำความเข้าใจ สิ่งที่ประสบการณ์ขัดข้องมันรู้แล้ววางไว้ ไม่ต้องไปขัดแย้งกับมัน ขัดข้องกับมัน เราต้องการอาหารสดๆ ปัจจุบันธรรม อาหารใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับเรา กำหนดพุทโธต่อเนื่อง แล้วปฏิบัติต่อเนื่องไป อันนี้วางไว้เป็นประสบการณ์ที่ผ่านมาแล้ว เป็นอดีตไปแล้ว ไม่เอามาเป็นอารมณ์กับเรา เราจะทำของเราให้ดีขึ้น ให้ดีไปกว่านี้ ถ้าดีไปกว่านี้ นี่ทำเพื่อใจสงบ ถ้าใจเราสงบแล้ว ทำเพื่อความสงบของใจ อันนี้เป็นเป้าหมายของเรา ไอ้นิมิต ไอ้ที่รู้ที่เห็นมันเป็นเครื่องเคียง เป็นของแถม ถ้ามันปฏิบัติได้ มันปฏิบัติตนถึงที่สุดได้ ย้อนกลับมาอันนี้มันจะเป็นสมบัติของเรา อันนี้พูดถึงว่าความขัดข้องของใจเนาะ

ถาม : ข้อ ๑๔๑๗. เรื่อง "การเดินจงกรมและการสวดมนต์"

เรียนหลวงพ่อที่เคารพ อยากสอบถามเรื่องเดินจงกรมและการสวดมนต์

๑. เราสามารถเดินจงกรมแบบเร็วๆ แล้วภาวนาพุทโธเร็วๆ ได้ไหมครับ หรือว่าต้องเดินช้าๆ และภาวนาพุทโธตามลมหายใจหรือตามการก้าวเดินครับ

๒. การสวดมนต์จำเป็นต้องสวดช้าๆ ไหมครับ หรือว่าสวดเร็วๆ ก็ได้ครับ สวดช้าๆ แล้วบางทีจิตมันวอกแวกไปคิดเรื่องอื่นระหว่างการสวดมนต์ ผมจำได้ว่าหลวงตาท่านบอกว่าสวดมนต์ก็เหมือนการภาวนาใช่ไหม จิตจดจ่อกับคำสวดมนต์ แต่ว่าพอสวดมนต์ช้าๆ แล้วจิตมันคิดไปเรื่องอื่นตลอดเลยครับ ผมเลยมาลองคิดและไตร่ตรองว่าเราสวดมนต์เร็วๆ เหมือนภาวนาพุทโธเร็วๆ เราจะวอกแวกน้อยกว่าครับ ไม่ทราบว่าสมควรจะทำแบบไหนครับ กราบนมัสการเนาะ

ตอบ : นี่การสวดมนต์ สวดมนต์หลวงตาท่านพูดไว้แล้ว การสวดมนต์ การสวดมนต์มันก็เหมือนการพุทโธ พุทโธ พุทโธนี่พุทธานุสติ สวดมนต์คือเจริญพุทธมนต์ เจริญพุทธมนต์ การสวดมนต์ก็คือคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธัมมจักฯ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ธัมมจักฯ เราสวดธัมมจักฯ กัน เห็นไหม อาทิตต์ฯ อนัตฯ นี่สอน สอนชฎิล ๓ พี่น้อง อนัตตลักขณสูตรสอนปัญจวัคคีย์

นี่เวลาสอน เจริญพุทธมนต์คือคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธานุสติเราระลึกถึงพุทโธ พุทโธ สิ่งนี้มันก็เป็นการภาวนา การภาวนาเริ่มต้น ถ้าใครสวดมนต์ อยู่กับสวดมนต์เรื่อยๆ จิตมันก็เกาะสิ่งนั้นไป ถ้าสวดมนต์จนมันลงสงบได้มันก็ดี ถ้าสวดมนต์ลงสงบไม่ได้ ถ้าเราภาวนาพุทโธ พุทโธ พุทโธแล้วเราหลับตาเพื่อให้จิตมันระงับเข้ามา อันนี้มันก็เป็นการภาวนาอันหนึ่ง ถูกต้อง ใช่

ถาม : ๑. เราสามารถเดินจงกรมเร็วๆ หรือภาวนาพุทโธเร็วๆ ได้ไหมครับ หรือว่าต้องเดินช้าๆ ภาวนาพุทโธตามลมหายใจ

ตอบ : ตามลมหายใจมันเป็นแบบว่าการภาวนานี่นะมันเป็นเรื่องนามธรรม เป็นเรื่องนามธรรมคือความรู้สึก ความรู้สึกนี้เป็นนามธรรม พอนามธรรมเราพยายามจะเอาความรู้สึกไว้ในอำนาจของเรามันไม่มีสิ่งใดทำแล้วมันชัดเจน ฉะนั้น เวลาลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธมันเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุด เห็นไหม พุทธานุสติ พุทโธ พุทโธคือพุทธานุสติ กำหนดลมหายใจเป็นอานาปานสติ ฉะนั้น สิ่งที่ว่าครูบาอาจารย์เราท่านฝึกหัดใหม่ ท่านพยายามจะทำให้เราเป็นรูปธรรม สิ่งที่นามธรรมทำให้เป็นรูปธรรมขึ้นมาจะได้จับต้อง จะได้ให้มันชัดเจนขึ้นมา

ฉะนั้น หายใจเข้าให้นึกพุท หายใจออกให้นึกโธ สิ่งถ้าเริ่มต้นทำอย่างนี้ก่อน ทีนี้ทำแล้วถ้ามันทำไม่ได้ หรือมันยังจับจดอยู่เราภาวนาไม่เป็น เราบอกเราสามารถเดินจงกรมเร็วๆ ถ้าเดินจงกรมเร็วๆ เราเดินจงกรมส่วนเดินจงกรมไป เดินจงกรมเร็วๆ นี่ดี ทีนี้เดินจงกรมก็เดินไปสิ นี่เดินจงกรมเร็วๆ ก็ได้ พุทโธเร็วๆ ก็ได้ เพราะว่าเดินจงกรมนี่เท้ามันเดินไป แต่เวลาพุทโธมันพุทโธที่ความรู้สึก พุทโธที่หัวใจ

ฉะนั้น สิ่งนี้เราทำได้ เดินจงกรมเร็วๆ ก็ได้ ถ้าจิตใจมันดีเดินช้าก็ได้ เดินปานกลางก็ได้ พุทโธเร็วๆ ก็ได้ แต่เวลาเรานั่งสมาธิ ภาวนา เห็นไหม ถ้าเรากำหนดลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธ สิ่งนี้เพื่อให้เป็นรูปธรรม แต่เวลารูปธรรมแล้วมันก็แบบว่ามันรับผิดชอบทั้งอานาปานสติ พุทธานุสติ เวลาลมหายใจเข้ามันหน่วงกัน เราวางสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ได้ ถ้าวางพุทโธเราก็ไปที่ลมชัดๆ ถ้าเราวางลมหายใจ เราอยู่ที่พุทโธท่องไวๆ พุทโธ พุทโธ พุทโธก็ได้

สิ่งนี้มันเป็นอุบาย มันเป็นอุบาย เป็นเทคนิค เทคนิคที่ว่าจิตใจถ้ามันกระทบรุนแรง จิตใจที่มันสะเทือนใจมารุนแรง นี่วันนี้อารมณ์เราเสียหายมากเลย แล้วเราจะมาพุทโธ พุทโธมันไม่อยู่ พุทโธไวๆ เลย แต่ถ้าวันนี้อารมณ์เราปกติ อารมณ์เรานุ่มนวล เราพุทโธพอประมาณก็ได้ เราไม่ต้องทำให้มันแบบว่ากระเพื่อมมากเกินไป นี่มันเป็นอุบาย มันเป็นอุบาย มันเป็นเทคนิคในการเอาชนะใจเรา เอาชนะใจเราด้วยการใช้คำบริกรรม เอาชนะใจเราด้วยอานาปานสติ เอาชนะใจเราด้วยปัญญาอบรมสมาธิ ได้ ได้ทั้งนั้น คำว่าได้ทั้งนั้นเพียงแต่ว่าเป็นอุบายแล้ว ถ้าคนดูสิเขาบอกว่าถ้าเรามีเบสิกพื้นฐานเราดีแล้ว เราจะแก้ไขเหตุการณ์ที่มากระทบกับใจเราได้ เราพยายามจะเอาใจของเราสงบได้ นั่นเป็นวิธีการ

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าได้ไหม? ได้ เดินจงกรมไวๆ ก็ได้ พุทโธไวๆ ก็ได้ หรือเดินปานกลางก็ได้ เดินช้าก็ได้ มันไม่ใช่ว่าถ้าเดินจงกรมไวๆ ต้องเดินไวๆ ตลอดไป เดินจงกรมไวๆ หมายถึงว่าถ้าจิตใจเรากระทบรุนแรงเราก็เดินจงกรมไวๆ แต่ถ้าจิตใจของเรามันไม่กระทบรุนแรง เราเดินตามปกติก็ได้เพราะเราต้องเดินนิ่มนวลให้จิตใจเราละเอียดเข้ามา เราภาวนาก็เพื่อใจสงบ ใจสงบเท่านั้นแหละ เราไม่ใช่เดินไวๆ จะไปแข่งกับใคร เราไม่ใช่ไปเดินทน ไม่ใช่ไปเดินแข่งโอลิมปิก เราจะต้องเดินให้ชนะใคร เราเดินเพื่อจิตสงบ นี่มันเป็นอิริยาบถ ๔ ยืน เดิน นั่ง นอน

การว่าอิริยาบถ ๔ ยืน เดิน นั่ง นอนเพราะเราต้องยืน เดิน นั่ง นอนเพื่อภาวนาให้ใจเราสงบขึ้นมา มันเป็นอิริยาบถ ๔ นี่เดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนา ยืนรำพึง มันเป็นอิริยาบถเพื่อการเปลี่ยนแปลง การบริหารจัดการร่างกายของเราเพื่อภาวนา เพื่อเอาความสงบของใจ ถ้าใจสงบแล้วก็จบ นี่สิ่งใดก็ได้มันเป็นอุบายเท่านั้น

ถาม : ๒. การสวดมนต์จำเป็นต้องสวดช้าๆ ไหมครับ หรือว่าต้องสวดเร็วๆ

ตอบ : การสวดมนต์มันก็อยู่ที่ความชอบ แม้แต่ความชอบคนชอบบทใด ใครชอบบทใด ใครถนัดบทใด เพราะมันกินใจไง ถ้าใครกินใจกับบทนั้น เพราะสวดมนต์เวลาแปลมาแล้วมันกินใจก็ชอบบทนั้น แต่ถ้าคนที่ภาวนาแล้วบทใดที่มันสะเทือนใจ อย่างหลวงปู่มั่นท่านชอบสวดมหาสมัย เพราะมันยาวมาก สวดมหาสมัยนะ พูดถึงเรื่องภพ เรื่องชาติ เรื่องความเป็นไปของจักรวาล ของภพ ของชาติ ของวัฏฏะ ท่านชอบสวดบทนั้นมาก มหาสมัยของหลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์เราท่านชอบสวดบทไหน ท่านชอบอย่างไรก็ชอบของท่าน อันนี้มันเป็นความผูกพัน แปลความหมายแล้วมันพอใจ

ฉะนั้น การสวดมนต์ช้าหรือเร็วมันก็อยู่ที่จังหวะเหมือนกัน นี่อย่างนี้ถ้าเราไปทำบุญตามวัดนะ บางวัดเขาสวดมนต์แปล บางวัดเขาสวดมนต์ต้อง ๗ ตำรา ๑๒ ตำราทุกวัน แต่บางวัดให้สวดเป็นส่วนบุคคล อย่างเช่นหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น หลวงตาส่วนใหญ่ท่านจะให้สวดเป็นบุคคล ของใครของมัน อยู่ที่กุฏิเพื่อจริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน เพื่อคนที่บวชใหม่เขาก็อยากจะมีคนที่พึ่งอาศัย นี่เวลาสวดมนต์ ทำวัตรที่ศาลามันได้ประโยชน์กับพระใหม่ พระใหม่ที่สวดมนต์คล้อยตามไปด้วย แล้วพระใหม่ก็ได้จริตนิสัยตามกันไป แต่พระเก่า พระเก่าที่เขาสวดแล้วเขาอยากภาวนาต่อเนื่องกันไป

อย่างเช่นบางคนนั่งสมาธิภาวนาตลอดรุ่ง ถ้าภาวนาตลอดรุ่ง เรานั่งสมาธิกัน บางวัดสวดมนต์เสร็จแล้วก็นั่งสมาธิ ๑๐ นาที ๕๐ นาที ๑๐ นาที ครึ่งชั่วโมง ชั่วโมงหนึ่งแล้วแต่บางวัด บางวัด ๗-๘ ชั่วโมง เห็นไหม แต่ถ้าหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านบอกให้ทำส่วนตัว เพราะเวลาเข้า เวลาเข้าสมาธิ ออกสมาธิมันแตกต่างกัน ถ้ามันแตกต่างกัน ใครจะได้มากได้น้อยแค่ไหนให้ทำแบบนั้น

ฉะนั้น เวลาเราอยู่กับครูบาอาจารย์มา ครูบาอาจารย์ท่านให้ทำส่วนตัว ให้อิสระไง ให้อิสระ ให้ทุกคนทำได้เต็มที่ เต็มเม็ดเต็มหน่วยของบุคคล แต่ถ้ามันสวดมนต์พร้อมกันบนศาลา เวลานั่งสมาธิไป คนที่นั่งสมาธิแล้วจิตมันลงนานๆ เขาต้องกำหนดจิตของเขาว่าไม่ให้ลงลึกเกินไป เพราะ เพราะเดี๋ยวหัวหน้าเขาจะ อะแฮ่ม เลิกไง เลิกพร้อมกันจะได้พร้อมกัน ถ้าเขา อะแฮ่ม คือหัวหน้าจะบอกให้เลิก จิตเรามันไม่ได้ยิน มันลงดิ่งไปเลย เขาลุกไปหมดแล้วยังนั่งเป็นหัวตออยู่นั่น มันก็ไม่สามัคคีกัน

นี่เพราะในคารวะ ๖ ต้องหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ ประชุมพร้อมกัน เลิกประชุมพร้อมกัน นี่คือการคารวะ ๖ นะ ครูบาอาจารย์ท่านจะเคารพตรงนี้มาก ฉะนั้น สิ่งนี้มันก็เลยเป็นการแบบว่าเป็นจริตนิสัย เป็นการที่คอยดูแลกัน ฉะนั้น ครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติจนเป็นนักปฏิบัติท่านจะปล่อยอิสระเลย ใครต้องการนั่งเท่าไรก็ได้ ใครจะต้องการนั่งทั้งวัน ทั้งคืน ๒๔ ชั่วโมงก็ตามสบาย ถ้าใครยังไม่ได้ก็นั่งพอประมาณ พยายามดึงกันไป นี่เพราะอะไร? นั่ง ๒๔ ชั่วโมงเพราะอดอาหารนะ เพราะหลวงปู่ตื้อ ๗ วัน ๗ คืน

หลวงปู่ตื้อนี่หลวงปู่มั่นท่านยอมรับมาก เพราะว่าท่านทำจริงจังมาก แล้วใครทำสิ่งใดก็แล้วแต่ ทำไม่จริงแล้วจะไปหลอกหลวงปู่มั่นเป็นไปไม่ได้ เพราะหลวงปู่มั่นท่านกำหนดจิตดู แล้วท่านเห็น ท่านรู้ของท่านหมดว่าใครทำจริง ใครทำไม่จริง ถ้าทำจริงท่านจะใช้พิสูจน์สิ่งใดท่านใช้หลวงปู่ตื้อๆ เพราะหลวงปู่ตื้อท่านทำได้จริง เห็นไหม นี่สิ่งที่อย่างนั้น ถ้าคนทำอย่างนั้นเขานั่งทีหนึ่ง ๗ วัน ๗ คืนแล้วทำอย่างไร? แล้วไอ้คนที่นั่งไม่ได้ทำอย่างไร? ท่านถึงปล่อยอิสระ ปล่อยไปอย่างนั้น นี่พูดถึงว่าครูบาอาจารย์ท่านทำมาแบบนั้นนะ ทีนี้พอเราไป เพราะเราเป็นทางโลกใช่ไหม? วัดนี้ทำอะไรไม่พร้อมเพรียงกัน วัดนี้ทำอะไร

ไอ้นั่นมันค่ายทหาร ค่ายทหารเวลาตื่นนอนก็ปี๊ดๆๆ ปี๊ดๆๆ กินข้าว ปี๊ดๆ ไอ้นั่นมันค่ายทหาร มันไม่ใช่นักรบ นักรบเขาก็รบของเขาไป นี่พูดถึงเวลาเราไปตามวัดเราจะไปเห็นอย่างนั้นไง เราฟังบ่อย เวลาใครมา ทำไมไม่ทำอย่างนั้น ทำไมไม่ทำอย่างนี้ ไอ้ทำอย่างนั้นมันค่ายทหาร ค่ายทหารยังไม่พอนะไปเจอคุกก็ไปอีกอย่างหนึ่งนะ แต่นี่ไม่ใช่นี่กรรมฐาน กรรมฐานอยู่ป่าอยู่เขา อยู่ด้วยอิสระชน อิสระชนมีเสรีภาพ อิสระชนจะเคารพธรรมวินัย จะเคารพตัวเอง จะตั้งสัจจะ ตั้งสัจจะจะทำสิ่งใดต้องทำสิ่งนั้นให้สมกับสัจจะที่ตัวเองตั้งไว้ นี่ท่านทำแบบนั้น อยู่ที่ไหนมันถึงเอาตัวรอดได้ไง พอเอาตัวรอดได้มันก็เป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาได้ ถ้าเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาได้ การปฏิบัติมันก็เห็นมรรค เห็นผลจริงไหม?

นี่ก็เหมือนกัน สวดมนต์ช้า สวดมนต์เร็วมันเป็นอุบายทั้งนั้นแหละ นี่พูดถึงว่าผู้ที่ปฏิบัติใหม่ เดินจงกรมก็ทำอย่างไรดี ตอนนี้เขามีพิมพ์หนังสือแจก ถึงว่าเนาะเวลาพิมพ์หนังสือแจกมันก็แจกเฉพาะในกลุ่มที่เขาเรียกว่าคอ คอคือว่ามีความชอบเหมือนกัน สังคมจะอยู่ในสังคมๆ นั้น ไอ้นี่ปฏิบัติใหม่มันหันรีหันขวางเลย หนังสืออย่างนี้เขาไว้แจก สำหรับเรานี่นะวิธีการเดินจงกรม วิธีการนั่งสมาธิ วิธีสวดมนต์ อู๋ย คนมาให้เยอะมากเลย จะทับตาย แต่นี่เขาบอกว่าเดินจงกรมอย่างไร นั่งสมาธิอย่างไร แสดงว่าไม่ได้อยู่ในชุมชนนักปฏิบัติ ถ้าอยู่ในชุมชนนักปฏิบัติเขาจะเข้าใจสิ่งนี้ แล้วสิ่งนี้มันเป็นแค่อุบายเฉยๆ

ฉะนั้น สวดมนต์ช้าก็ได้ สวดมนต์เร็ว ถ้าสวดมนต์ช้า สวดมนต์เร็ว ถ้าสวดมนต์ส่วนรวมมันต้องไปพร้อมกัน ถ้าไปพร้อมกันมันก็เป็นสามัคคีต่อกัน ถ้าเราสวดของเรา เราจะช้า เราจะเร็วมันก็อยู่ที่เรา ถ้าสวด เห็นไหม เขาบอกถ้ามันสวดช้าแล้วมันจะวอกแวก ถ้ามันสวดเร็วมันจะดีกว่า ถ้าสวดเร็วดีกว่า เราเร็วแต่คนอื่นไม่เร็ว แล้วสวดมนต์ส่วนรวมนะมันเอาอย่างนี้ไม่ได้ สวดมนต์ในส่วนรวมมันก็ต้องไปตามจังหวะจะโคน เขาสวดสังโยค สวดมคธ นี่เวลาเขาสวดกันนะเขาสวดมนต์แปล แต่ครูบาอาจารย์ของเรา เวลาท่านสวดท่านสวดส่วนบุคคลของท่าน พอสวดส่วนบุคคลของท่าน

เราจะพูดอย่างนี้เลย หลวงปู่มั่นเวลาท่านสวดขึ้นมาท่านสวดมนต์ด้วย จิตใจท่านรู้ท่านเห็นตามนั้นเป็นจริงไปด้วย เวลาสวดไปแล้วมันซาบซึ้ง มันซาบซึ้งนะ มันซาบซึ้งธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ท่านเทศนาว่าการท่านก็บอกความจริงให้เราเข้าใจนั่นแหละ

ฉะนั้น เวลาเรามาสวดเราก็สวดความจริงนั่นแหละ แต่เราได้แค่ตัวอักษรไง เราได้แค่เสียงไง แต่จิตใจเราไม่ซาบซึ้ง ดูสิเขาบอกว่าเวลาสวดมนต์แปลเราเข้าใจได้มันจะดีมากๆ เลย แต่เราว่าเป็นบาลีอย่างนั้นดีกว่า เป็นบาลีนั่นแหละมันเป็นภาษากลาง ถ้าสวดมนต์แล้ว ถ้าแปลมาแล้วเดี๋ยวเราแปลให้ดีกว่า พอแปลให้ดีกว่ามันก็จะไปกันใหญ่ใช่ไหม นั้นพูดถึงว่าความเห็นของเรา ถ้าความเห็นของเรา เราปฏิบัติของเรา เพื่อประโยชน์กับเรานะ ถ้าประโยชน์กับเรา ถ้าเขาว่า

ถาม : เลยลองมาคิดไตร่ตรองว่าการสวดมนต์เร็วๆ เหมือนการภาวนาพุทโธเร็วๆ เราจะวอกแวกน้อยกว่า

ตอบ : ถ้าสิ่งใดถ้าเราทำแล้วมันน้อยกว่า มันเป็นประโยชน์กับเรา เอาสิ่งนั้น สิ่งใดที่ทำแล้วเป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเป็นประโยชน์กับเรา เพราะว่าการปฏิบัติ เห็นไหม เริ่มต้นการปฏิบัติหมู่ มันจะดึงคนที่ปฏิบัติใหม่เข้ามา แต่คนที่ปฏิบัติที่จะเอาจริงเอาจัง อย่างเช่นหลวงตาท่านพูดบ่อย เวลาจิตใจมันได้หลักได้เกณฑ์แล้วมันอยู่กับหมู่คณะไม่ได้ มันอยากอยู่คนเดียว คือ ๒๔ ชั่วโมง ทุกวินาที จิตใจทุกวินาทีมันจะตามควบคุมตลอดเวลาเลย แล้วควบคุมแล้วมันจะรื้อค้นของมัน มันจะไตร่ตรองของมัน มันยิ่งกว่ากล้องจุลทรรศน์ พยายามส่องหากิเลสในใจของตัว มันทำอย่างนั้น เวลาคนที่เข้าด้ายเข้าเข็มนะมันจะทำอย่างนั้น

ฉะนั้น สิ่งที่เราปฏิบัติ ถ้ามันเป็นที่ปฏิบัติใหม่ สิ่งใดเราวางพื้นฐานของเรา แล้วปฏิบัติไปเรื่อยๆ ความดีที่ดียิ่งกว่านี้ยังมีอยู่ เราต้องเตือนตัวเองตลอดว่าความดียิ่งกว่านี้ยังมีอยู่ ความดีที่เรายังไม่รู้ ความดีที่เรายังไม่เข้าใจมันยังมียิ่งไปกว่านี้ นี่เรามาจากโลกไง เราอยู่ทางโลก เราสำมะเรเทเมาไปกับโลก พอเราเข้ามาศาสนาปั๊บเราจับต้องสิ่งใด อู๋ย มันมีค่าไปหมดเลย สวดมนต์ก็จำเป็น เดินจงกรมก็จำเป็น นั่งสมาธิก็จำเป็น พอมันคุ้นเคยแล้ว อืม ทำเสร็จหมดแล้วไม่เห็นได้อะไรเลย เลิกดีกว่า (หัวเราะ) เวลาจะเข้าไปใหม่ๆ ก็ชอบนัก เวลาถึงที่สุดแล้วเลิกดีกว่า จบเลย

เราทำของเราให้จริงจังนะ นี่พูดถึงว่าถ้าเป็นนิมิตก็เป็นเรื่องหนึ่ง นิมิตเวลาไปแล้ว ภาวนาไปแล้ว นิมิตจะไปเกิดอย่างนี้ แต่เราจะบอกว่าเพื่อใจสงบๆ เราทำเพื่อความสงบของใจ ทำศีล สมาธิ ปัญญา แล้วถ้าเกิดปัญญาขึ้นมาได้มันจะเป็นประโยชน์กับเรา แล้วเป็นประโยชน์แล้วมันจะเป็นความจริงของเรา อันนี้เป็นการปฏิบัติเริ่มต้น เอวัง