ธรรมาธิษฐาน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ข้อ ๑๔๓๐. เนาะ เรื่อง "ส่งสภาวะที่ปฏิบัติมาเจ้าค่ะ" แล้วมันยาวมาก ๓-๔ หน้า สภาวะปฏิบัติ อ้าว คนถามรู้ เขาบอกว่าเขาปฏิบัติไปแล้วรู้เห็นต่างๆ ๓ หน้า ๔ หน้า แล้วคำถาม
ถาม : ๑. ลูกปอกเปลือกส้มได้แล้วใช่ไหมคะ (เพื่อความมั่นใจ)
๒. ที่ปฏิบัติแล้วเห็นสภาวะแบบนี้ลูกควรทำเช่นไร หรือต้องแก้ไขเช่นไร ลูกรู้ว่าลูกเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เวลานั่งสมาธิใจกระเพื่อมมากกว่าปกติ แต่พอไปเป็นผู้รู้ในสมาธิมันสงบเจ้าค่ะ
๓. วันนี้ลูกได้ฟัง (นี่เขาพูดถึงพระสารีบุตรเรื่องพ่อแม่)
๔. การสั่นสะเทือนภายในกายของลูกปัจจุบันมันเร็วรัวหนักเบาไม่เท่ากัน แทบจะเป็นผืนเดียวกัน ช่องว่างระหว่างความสั่นสะเทือนน้อยมากไม่เหมือนเก่า เหมือนเก่าคือเหมือนแผ่นกระดานเท่ากันเสมอ หนักเบาเท่ากัน ลูกใช้พุทโธในบางครั้ง (นี่คำถามนะ)
ตอบ : ฉะนั้น สิ่งที่เขาอารัมภบทมาคือประสบการณ์ ประสบการณ์ที่เขาปฏิบัติแล้ว จิตของเขาใหม่ๆ ล้มลุกคลุกคลาน สุดท้ายแล้วพอเขาไปเห็นไง เห็นความคิดของเขา ความคิดกับผู้รู้ นี่เขาก็บอกว่าเขาเห็นว่ามันเป็นเปลือกส้ม สิ่งที่เขาเห็นนะเขาบอกนี่คือเนื้อส้มแน่
ถาม : ความเห็นส่วนหนึ่ง จิตส่วนหนึ่ง แต่ไม่ห่างกัน แต่เกิดหลังจากความคิดเกิดไปแล้ว พอจิตมันตั้งมั่นมันจะดูเฉยๆ ถ้าไม่ตั้งมั่นมันจะโจนเข้าใส่แล้วสืบต่อ ลูกคิดว่านี่คือเนื้อส้ม แต่ก็ตามดู พอตั้งใจจิตนั้นก็หาย มันเครียด มันเพ่งก็ไปสร้างด้วยสัญญาเก่าๆ ของจิตนั้นอีก กว่าจะเห็นว่าลูกถูกหลอกแทบแย่ว่ามันหลงซ้อนหลง โง่กว่าเดิมอีก
ตอบ : นี่เวลาปฏิบัตินะ เวลาปฏิบัติไปเขาบอกสิ่งที่ว่าส้ม เปลือกส้มมันเป็นธรรมาธิษฐาน ธรรมาธิษฐานให้เห็นว่าเวลาเราพูดกันถึงเรื่องธรรมะเหมือนทางวิทยาศาสตร์ โดยวิทยาศาสตร์ เราคุยกันเรื่องสิ่งใดมันต้องมีสูตรทฤษฎีเพื่อเราจะเข้ามาพูดถึงสิ่งนั้น ฉะนั้น ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเราเรียนธรรมวินัยมันก็เป็นธรรมวินัย เป็นปริยัติ คือสัจธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เทศนาสั่งสอนไว้ แล้วเราก็จำสืบต่อกันมา แล้วจนมาจารึกเป็นธรรมและวินัย ฉะนั้น สิ่งนี้เป็นสูตรที่ว่าเราจะต้องเอาสิ่งนี้เป็นตัวตั้ง แต่เวลาปฏิบัติไป เราปฏิบัติไปล้มลุกคลุกคลานร้อยแปดพันเก้า
ฉะนั้น สิ่งที่เวลาบอกว่าส้ม เปลือกส้มเป็นธรรมาธิษฐาน ธรรมาธิษฐานว่าถ้าจิตของคนที่ปฏิบัติไปแล้วมันจะเข้าใจได้ แต่คนที่จิตยังไม่ปฏิบัติไปมันจะเข้าใจสิ่งนี้ไม่ได้ พอบอกส้ม มันก็ไปมองส้มที่ข้างนอก ฉะนั้น ส้ม เปลือกส้ม เราจะเปรียบเทียบจิตเหมือนมะพร้าว ยิ่งมะพร้าวยิ่งชัดเจนมากนะ เป็นธรรมาธิษฐาน มะพร้าวมันจะมีเปลือกมะพร้าว เราปอกมะพร้าวออกแล้วมันจะมีกะลามะพร้าว เวลากะลามะพร้าวเราปอกไว้แล้วมันจะมีเนื้อมะพร้าว เวลาเนื้อมะพร้าวปอกไว้แล้วมันมีน้ำมะพร้าวหรือใจมะพร้าว
จิตเวลามันปอกเป็นชั้นๆ เข้าไป คนที่ภาวนาเป็นเรื่องนี้มันจะซาบซึ้งมาก มันจะรู้จะเห็นของมัน แต่เวลาคนถ้าภาวนายังไม่เป็นนะเราก็คิดกัน คิดแล้วจินตนาการไป พอจินตนาการไปมันเป็นธรรมาธิษฐานใช่ไหม? ถ้าจิตที่เป็นนามธรรมถ้าเป็นแบบนั้น พอพูดเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไปมันจะรู้ได้ มันจะเห็นได้ นี้เป็นธรรมาธิษฐาน แต่ถ้าเราภาวนาไม่ได้ เราจับข้อเท็จจริงไม่ได้ พอบอกส้มเราก็ไปมองส้มที่สวนเลย หรือมองส้มที่แผงค้าส้มเลย พอมะพร้าวๆ ก็ดูที่ลูกมะพร้าวเลย
นี่สิ่งนั้นเป็นธรรมาธิษฐานเปรียบเทียบ เปรียบเทียบให้เห็นว่าถ้าเวลาปฏิบัติไปมันเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป มันเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป มันเป็นชั้นเป็นตอนต่อเมื่อจิตอย่างหยาบ จิตอย่างกลาง จิตอย่างละเอียด มันจะรู้จะเห็นเข้าไป แล้วมันจะซาบซึ้งมาก อย่างนี้มันเป็นสูตร เป็นสูตรที่ว่าเราเปรียบเทียบกันได้ เปรียบเทียบกันได้แม้แต่ครูบาอาจารย์องค์ใด มันชำนาญสิ่งใด ท่านจะเอาความจริงของท่าน อย่างเช่นหลวงปู่ดูลย์ท่านก็มีโศลกของท่าน อย่างเช่นหลวงตาท่านก็มีความชำนาญของท่าน ใครมีความชำนาญอย่างใด เราพิจารณาไป
นี่เวลาฟังมันจะรู้ รู้เพราะว่าอะไร? เพราะเวลาผู้ที่มาถามปัญหาจิตเขาเป็นแบบนั้น เราเคยผ่านมาไง เราเคยผ่านมาเราจะรู้ได้เลยว่าจิตนี่มันอยู่ระดับไหน ขั้นไหน มันควรจะทำอย่างไร มันจะพัฒนาขึ้นไปอย่างไร คนที่เป็นแล้วเขาจะมีตรงนี้ แต่คนที่ไม่เป็นตรงนี้มันไม่มี พอตรงนี้มันไม่มีปั๊บมันก็เอาสูตรทฤษฎีคือว่ายกเข้าไปสู่ธรรมวินัย สู่อริยสัจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราฟังเทศน์พระบ่อย บางคนนะลูกศิษย์ของเขาพยายามจะเอาเทปของครูบาอาจารย์ของเขามาให้เราฟัง บอกว่าองค์นี้ได้ขั้นนั้น องค์นั้นได้ขั้นนี้ เราก็ฟัง เราพยายามฟังนะ ฟังว่าเวลาเขาสอนเขาปฏิบัติ เขาปฏิบัติไปอย่างใด
เวลาเขาอธิบาย อธิบายวิธีการ อธิบายมากมายมหาศาลเลย แต่พอจะสรุป พอจะสรุปเขาโยนเข้าไปในอริยสัจเลย โยนเข้าไปอริยสัจคือโยนไปในพระไตรปิฎก เขาไม่กล้าตัดสิน เขาไม่กล้าบอกว่าตรงนี้เป็นอะไร ตรงนี้เป็นอะไร เขาไม่บอก ถ้าเขาบอกนะกรุงเทพฯ มันอยู่ที่เชียงใหม่ เชียงใหม่มันอยู่ที่หาดใหญ่ หาดใหญ่ จังหวัดหาดใหญ่ไง คือมันพูดผิด พูดถูกไปมันจะรู้เลยว่าคนนั้นรู้จริงหรือไม่รู้จริง ฉะนั้นคนถ้ารู้จริงเขาต้องบอกมาสิ
ฉะนั้น คนถ้าเขามีของเขา เขาจะบอกของเขาเลยว่าเวลาปฏิบัติไปแล้วมันจะเป็นตทังคปหาน มันจะสมุจเฉทตรงนี้ มันจะเริ่มต้นตรงนี้ ท่ามกลางนี้ แล้วที่สุดมันจะเป็นแบบนี้ ถ้าที่สุดเป็นแบบนี้ ยืนยันได้เลยว่าอาจารย์องค์นั้นภาวนาถูกหรือภาวนาผิด ถ้ายืนยันเลยนะว่าเริ่มต้นเป็นอย่างนี้ ท่ามกลางอย่างนี้ แล้วที่สุดเป็นแบบนี้ ถ้าคนเป็นจริงอันเดียวกัน อริยสัจอันเดียวกันนะใช่ ถูกต้องดีงาม ถูกต้อง แต่ถ้าเราบอกท่ามกลางอย่างนี้ ที่สุดอยู่ตรงนี้ เริ่มต้นที่นี่ ท่ามกลางที่นี่ แล้วที่สุดตรงนี้มันไม่ขยับไปไหนนะ อันนี้ไม่ใช่ อันนี้แสดงว่าอาจารย์ไม่รู้จริง แต่อ้างอิงพระไตรปิฎก อ้างอิงธรรมของพระพุทธเจ้า นี่อันนี้ก็เหมือนกันที่ว่าคำว่าเปลือกส้มๆ
อันนี้คำถามเขาถามว่า
ถาม : ที่ทำมานี่มันใช่ปอกเปลือกส้มไหมเจ้าคะ เพื่อความมั่นใจ
ตอบ : คำว่าเพื่อความมั่นใจ เวลาเราไปรู้ไปเห็นเราเห็นอารมณ์ของเรา เราเปรียบเทียบว่าอารมณ์นี่เป็นเปลือก จิตเป็นเนื้อ อารมณ์เป็นเปลือก ฉะนั้น อารมณ์มันอยู่กับเรา นี้เวลาปฏิบัติไป พวกเราที่ว่าดูจิตๆ มันดูกันตรงนี้ มันดูกันที่อารมณ์ไง มันเข้าไม่ถึงจิตหรอก มันดูกันที่อารมณ์ ฉะนั้น พอดูที่อารมณ์ อารมณ์นะ เปลือกส้มมันขมนะ เนื้อส้มถ้าส้มหวานก็หวาน ส้มเปรี้ยวก็เปรี้ยว เนื้อส้มมันจะมีรสมีชาติ แต่เปลือกนี่ขมทั้งนั้นแหละ เปลือกนี่ขม ฉะนั้น อารมณ์ความรู้สึกนี่เปลือก ฉะนั้น อารมณ์ความรู้สึกนี่มันขมขื่นนะ ชีวิตเรานี่ขมขื่น แล้วชีวิตเราขมขื่นเราจะทำอย่างไรให้ชีวิตเราร่มเย็น ให้ชีวิตเรามั่นคง
ถ้าชีวิตเรามั่นคง ชีวิตเรามั่นคงนะถ้ามันขมขื่นใช่ไหม? อารมณ์ความรู้สึกเรานี่มันมีเวร มีกรรม เพราะอะไร? เพราะว่าชอบ ไม่ชอบไง สิ่งที่กระทบนี่ชอบ ไม่ชอบ หรือเฉยๆ อยู่ แล้วถ้ามันชอบหรือไม่ชอบ มันมาขัดแย้งกันนี่ขมขื่นแล้ว ชอบ เราชอบอย่างนี้แต่กระทบอารมณ์อย่างนี้สิ่งที่ไม่ชอบ เราไม่ชอบอย่างนี้ แต่มันกระทบสิ่งนี้ นี่ขมขื่นทั้งนั้นแหละ นี่เปลือก ถ้าเราพุทโธ พุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เห็นไหม ความที่ขมขื่นเราไม่ไปรับรู้รสอันนั้น แต่เปลือกส้มมันต้องมีนะ อย่างเช่นเราไปซื้อส้ม เราไปซื้อส้มจากตลาดมันต้องมีเปลือกมาทั้งนั้นแหละ แล้วกลับมาเราก็ปอกเปลือกทิ้ง เว้นไว้แต่อุตสาหกรรมที่เขาใช้เปลือกส้ม หรือเปลือกส้มเขาเอาไปทำยาของเขา เขาก็ใช้ได้หมด แต่คนที่ไม่ได้ใช้เขาปอกเปลือกส้มทิ้งทั้งนั้นแหละ
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราพุทโธ พุทโธ เห็นไหม นี่เปลือกส้ม เราเปรียบว่าเป็นเปลือกส้ม ฉะนั้น เวลาคนที่ว่าดูจิตๆ เอ็งจะกินส้มทั้งเปลือกหรือ? ได้ส้มมานี่ปอกก็ไม่ปอก ส้มเอาเข้าปากแล้วเคี้ยวเลย แล้วมันเป็นจริงไปได้ไหม? มันเป็นจริงไปไม่ได้ ทางโลกเขาก็ไม่ทำกันแบบนั้น ถ้าเขาไม่ทำกันแบบนั้นแล้วเขาทำกันอย่างไร? ไม่ทำอย่างนั้นเขาก็ต้องทำความสงบของใจ พุทโธก็ได้ ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ สิ่งที่เขาทำกันนั่นล่ะคือปัญญาอบรมสมาธิ เพราะอะไร? เพราะเขาพิจารณาอารมณ์ความรู้สึกไง ถ้าพิจารณาอารมณ์ความรู้สึก อารมณ์ความรู้สึกมันเกิดดับ ถ้ามันดับแล้ว ดับแล้วมันไปไหนล่ะ? ปอกเปลือกส้มแล้วทิ้งหมดเลยหรือ?
ปอกเปลือกส้ม เปลือกส้มก็ทิ้ง แล้วเนื้อส้มก็โยนทิ้งหรือ? ปอกเปลือกส้มก็ปอกเปลือกส้มแต่เขาเก็บส้มไว้ เนื้อส้มเขาเอาไว้ใช้ เอาไว้กิน เอาไว้ทำประโยชน์ ถ้าเราปัญญาอบรมสมาธิ อารมณ์ความรู้สึกมันขมขื่น เวลามันปล่อยวางไปแล้วแล้วมันเหลืออะไร? นี่คนภาวนาเป็น ภาวนาไม่เป็นมันดูตรงนี้ พุทโธ พุทโธ พุทโธจนพุทโธไม่ได้ แล้วมันมีอะไร? ทีนี้ถ้าคนมันมิจฉานะ พุทโธ พุทโธปฏิเสธหมดเลย ปฏิเสธทุกอย่าง ไม่เอาอะไรสักอย่างเลย มันว่าง มันเวิ้งว้างหมดเลย โยนทิ้งหมดเลย มิจฉาสมาธิ มันเป็นมิจฉานะ ถ้าเป็นสัมมาล่ะ?
พุทโธ พุทโธ พุทโธ มันชัดขึ้นเรื่อยๆ มันละเอียดขึ้นเรื่อยๆ โอ้โฮ โอ้โฮ พอมาถึงตัวมันนะพุทโธแจ่มแจ้งมากจนพุทโธไม่ได้เลย นั่นล่ะเนื้อส้ม เราปอกเปลือกส้ม แล้วเราเก็บเนื้อส้มไว้ ปัญญาอบรมสมาธิก็เหมือนกัน เราพิจารณาความรู้สึกนึกคิดไปนะ เราจับได้ อารมณ์นี่เขาบอกว่าเขาเห็นอารมณ์ของมัน เห็นอารมณ์ เห็นจิต เห็นสิ่งอารมณ์อยู่ห่างกัน อยู่ใกล้กัน อย่างนี้เป็นส้มกับเปลือกส้มหรือเปล่าคะ
เป็น เราไม่พิจารณาอยู่มันก็เป็นอยู่แล้ว ของนี่มันเป็นอยู่แล้วนะเพราะมันเกิดดับอยู่แล้ว อารมณ์ความรู้สึกเรามันมีอยู่แล้ว ปฏิสนธิจิต จิตเกิดเป็นมนุษย์ เกิดในวัฏฏะ เกิดในกำเนิด ๔ มันมีอยู่แล้ว ถ้าไม่มีจิตมันจะมีชีวิตได้อย่างไรล่ะ? มันมีของมันอยู่แล้ว แล้วทฤษฎี สัจจะความจริง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้คิดค้น เป็นผู้บุกเบิก เป็นเจ้าของสัจธรรมอันนี้ แล้วมาสั่งสอนพวกเรา เราก็ได้แต่ทฤษฎีมาไง เราได้ทฤษฎีมา ทีนี้พอเราศึกษาเราก็จินตนาการของเราไปใช่ไหม?
ถ้าจินตนาการของเราไป มันเป็นภาคปริยัติ แต่ถ้ามันเป็นความจริง สิ่งที่เราเห็น สิ่งที่เห็นมันใช่เปลือกส้มไหม? เราจะบอกว่ามันใช่ มันมีของมันอยู่แล้ว เพียงแต่เราจะรู้ จะเห็นไหม? สิ่งที่ว่าสัจธรรมมันมีของมันอยู่ ที่ว่าธรรมะมีอยู่โดยดั้งเดิม ธรรมะมีอยู่โดยดั้งเดิม ว่าธรรมะมันมีอยู่แล้ว มีอยู่แล้ว ไม่ใช่มันมีอยู่โดยดั้งเดิมคือมันมีข้อเท็จจริงอยู่ แต่เรารู้จริงหรือเปล่าล่ะ? ถ้าเราไม่รู้จริงเราก็ไม่มั่นคงนะ ถ้าเรารู้จริงล่ะ? รู้จริงนะ นี่โลกธาตุจะหวั่นไหวขนาดไหน เราไม่หวั่นไหวไปกับเขาหรอกเพราะเรารู้จริง
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าส้ม เปลือกส้มเรารู้ เราเห็นแล้ว นี่มันจริงไหม? จริง แต่จริงนี่จริงของใคร? จริงของขั้นสมถะ จริงของขั้นวิปัสสนา ความจริง เห็นไหม ความจริงที่ดีกว่านี้ ยังพัฒนากว่านี้มันมีของมันอยู่ ถ้ามันมีของมันอยู่ อย่างนี้เป็นเปลือกส้มไหม? คำถามว่าสิ่งที่เห็นมันเป็นเปลือกส้มไหม? แล้วสิ่งที่มันเป็นเปลือกส้ม เวลาเขารู้เท่า จิตใจมันสบาย นี่มันใช่นิโรธไหม? ถ้ามันใช่นิโรธไหม? ไม่ใช่
เพราะหลวงตานะ กรณีนี้หลวงตาท่านบอกท่านจบมหา แล้วท่านไปอยู่ที่บ้านผือ จิตมันเสวยอารมณ์แล้วมันปล่อย จิตมันเสวยแล้วมันปล่อย พอมันปล่อยมันก็ว่างหมดเพราะมันละเอียดมาก เพราะตอนนั้นท่านอยู่ขั้นสูงมากแล้ว พออย่างนี้ อย่างนี้ไม่ใช่นิพพานหรือ? พอบอกว่าอย่างนี้ไม่ใช่นิพพาน บอกไม่เอา เพราะคำว่าอย่างนี้คือสงสัย ถ้าอย่างนี้ อย่างนี้ มันมีเรากับเขาแล้ว อย่างนี้ชื่อนายแดงไหม? อย่างนี้ใช่นายดำไหม? อย่างนี้ ไม่ใช่ เพราะอย่างนี้เรายังไม่แน่ใจ ถ้าเราจับนายดำ นายแดงได้ชัดเจน เออใช่ นี่ดำ นี่แดง ไม่ใช่อย่างนี้
นี่ก็เหมือนกัน อย่างนี้ใช่นิโรธไหม? เห็นไหม อย่างนี้ใช่นิโรธไหม? ใช่ ใช่ในความเข้าใจไง ถ้าเราเข้าใจ ความสงสัยมันก็ปล่อยวาง นิโรธได้โดยเราทำความเข้าใจกัน นี่ธรรมาธิษฐาน แต่ถ้าเป็นความจริงนะมันยังไม่ใช่ มันยังไม่ใช่ นิโรธคือการดับ ดับหมดเลย ดับอะไร? ที่ว่านิโรธของหลวงปู่มั่น นิโรธสมาบัตินะ นิโรธคือวางเฉย นิโรธคือมันเกิดจากมรรค มรรคนี่มันเข้าไปแยกแยะชำระล้างจนเข้าใจปล่อยวางหมดแล้วมันถึงเป็นนิโรธ นิโรธคือการดับทุกข์ นี่ถ้าดับทุกข์นิโรธอย่างนั้น แล้วนี่ถ้ามันเป็นนิโรธ ไม่มีคำถาม ๑ ๒ ๓ นี้หรอก ถ้ามีคำถาม ๑ ๒ ๓ แสดงว่ายังไม่นิโรธ เพราะยังถามมา ยังสงสัย
ฉะนั้น
ถาม : ๑. ลูกปอกเปลือกส้มได้แล้วใช่ไหมเจ้าคะ เพื่อความมั่นใจ
ตอบ : ใช่ เพื่อความมั่นใจ เพื่อการปฏิบัตินี่ใช่ แต่การใช่เราต้องบอกว่า เห็นไหม เรานี่หิวกระหายมาก เราไม่มีอาหารเลย เราหาสิ่งใดมาประทังชีวิตนี่ใช่ไหม? ใช่ แล้วเราจะดำเนินชีวิตอย่างไรต่อไป นี่ก็เหมือนกัน ในภาคปฏิบัติมันมีพัฒนาการของมันขึ้นไปมากกว่านี้ ถ้ามันเป็นเปลือกส้ม มันมีสติปัญญามันก็เป็นเปลือกส้ม
มันเป็นส้ม เปลือกส้มใช่ไหม? ใช่ แต่ถ้าขาดสติ ขาดปัญญาปั๊บ เดี๋ยวเปลือกส้มกับส้มมันก็สมานเป็นเนื้อเดียวกัน เพราะส้ม เปลือกส้มนะเก็บไว้มันจะเน่า ส้ม มะพร้าวเก็บไว้มันจะเสียหายเพราะมันเป็นผลไม้ แต่อารมณ์ความรู้สึกของคน จะแก่เฒ่าขนาดไหนนะมันก็ไม่เสียหาย ไอ้ส้ม เปลือกส้มมีสติปัญญามันก็แยกให้เราเห็นได้ว่าอันนี้เป็นเปลือก อันนี้เป็นเนื้อ แต่พอสติเราฟั่นเฝือน การกระทำของเราอ่อนแอ เดี๋ยวมันก็ไปรวมกัน แล้วมันก็ฉุดเราไปอีก ทุกข์อีก เห็นไหม
ฉะนั้น บอกว่าใช่ ใช่ในปัจจุบันที่มันทำได้ แต่ขณะที่ไม่ปฏิบัติมันเป็นกิเลส มันเป็นสิ่งที่หมักหมมในใจ ฉะนั้น เราปฏิบัติของเราขึ้นไปใหม่ สิ่งที่เรารู้เราเห็นมาใช่ไหม? ใช่ แล้วทำอย่างไรต่อไป? ปฏิบัติให้มากขึ้น ตั้งสติปัญญาให้มากขึ้น แยกแยะให้มากขึ้น แล้วจับ แล้วจับนะจิตเห็นอาการของจิต เห็นความรู้สึก จิตคือตัวเรา เนื้อนี่ เนื้อคือจิต จิตมันเวียนว่ายตายเกิด จิตนี้มันยังปอกเข้าไปเป็นชั้นๆ เข้าไป ฉะนั้น จับแล้วนี่จิต อาการของจิต ดูสิเราเปรียบเทียบถึงความรู้สึก ในความรู้สึกเรา นี่เรามีผลกระทบ ผิวหนังเรามีผลกระทบใช่ไหม?
จิตของเรา จิตของเรา ความรู้สึกของเรากระทบกับความคิด กระทบกับเปลือก มันก็มีความรู้สึกเหมือนกัน ถ้ากระทบนั่นล่ะ กระทบนั่นล่ะคือมันรับรู้ จิตเห็นอาการของจิตคือมันจับได้ไง พอมันจับได้ เห็นไหม นี่เราพิจารณาของเรา เราแยกแยะของเรา นี่คือวิปัสสนา วิปัสสนาคือมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง พอจับได้เราวิปัสสนาของเราไป แยกแยะของเราไป อันนี้คือการฝึกหัดใช้ปัญญาเพื่อประโยชน์กับเรา
ใช่ แล้วทำต่อไปเพื่อความมั่นใจ กลัวบอกว่าไม่ใช่ ถ้าไม่ใช่แล้วตกใจเลย แล้วทำอย่างไรต่อ? ใช่ พูดถึงว่าที่ทำมาลูกปอกเปลือกส้มได้แล้วใช่ไหมคะ? ใช่ แต่ให้ขยันไป ทำไปมันจะชัดเจนขึ้นไป เพราะส้มของใครส้มของมัน จิตใจของใครจิตใจของคนนั้น ใครปฏิบัติได้มาก ได้น้อยจะเป็นผลประโยชน์กับเรา
ถาม : ๒. ที่ปฏิบัติแล้วเห็นสภาวะแบบนี้ลูกควรทำอย่างไรต่อไป หรือต้องแก้ไขอย่างไร? ลูกรู้ว่าลูกเป็นปัญญาอบรมสมาธิ
ตอบ : ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธินี่ถูก ใช้ปัญญาของเราไปเรื่อยๆ แล้วถ้าจิตมันจับได้มันพิจารณาของมัน แล้วเวลามันพิจารณาไปแล้วมันเหนื่อย พอพิจารณาไปแล้วมันจะเหนื่อยมาก เราพิจารณาไปแล้วเราวางไว้ คำว่าใช้ปัญญาอบรมสมาธิคือใช้ปัญญาชำระล้างให้มันปล่อยวาง แต่ถ้าปัญญาอบรมสมาธิมันจับสิ่งนั้นแล้วแยกแยะ นี่ถ้ามันเหนื่อยก็กลับมาปัญญาอบรมสมาธิคือปล่อยวาง กลับมาเพื่อฟื้นฟู กลับมาเพื่อให้ใจมันมีกำลัง แล้วกลับไปพิจารณาใหม่ ทำอยู่อย่างนี้ ทำอยู่อย่างนี้ตลอดไป แต่ทำอยู่อย่างนี้แล้วเดี๋ยวมันก็เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ
คนเราปฏิบัติแล้วมีเจริญแล้วเสื่อมแน่นอน ถ้าเสื่อมแน่นอนเราก็ใช้อุบายของเรา หาวิธีการของเรา การปฏิบัตินะ เพราะโดยแร่ธาตุต่างๆ มันเป็นแร่ธาตุ แต่ธาตุรู้มันสำคัญ ธาตุรู้มันมีพญามาร แร่ธาตุที่มีชีวิต แล้วมันเล่ห์เหลี่ยม มันมีเล่ห์มีกล มีชั้นมีเชิง มียอกมีย้อน มีนอกมีใน นี่ถ้าอย่างนี้เราจะเอาชนะคะคานกับกิเลสเรามันยากตรงนี้ไง ถ้าสสารมันแค่เป็นสสารที่มันเป็นโดยแร่ธาตุ แต่ธาตุรู้มันมีเล่ห์มีกลของมันโดยพญามาร ฉะนั้น พอทำสิ่งใด ถ้ากิเลสมันยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมา มันยังไม่ตื่นมา เราจะปฏิบัติอย่างไรก็พอได้ แต่พอกิเลสมันตื่นมานะ ให้มันละเอียดขนาดไหน กิเลสอย่างละเอียดมันก็ยิ่งพลิกแพลงเข้าไปใหญ่
ฉะนั้น สิ่งที่ทำไปแล้วถ้ามันมีอุปสรรค คืออุปสรรคเพราะกิเลสมันมากีดมาขวาง เราอย่าไปเสียใจน้อยใจว่าปฏิบัติแล้วมันทุกข์มันยาก มันทุกข์มันยาก ทำหน้าที่การงานทางโลกเขาก็ยังต้องใช้สติปัญญาเลย ถ้าเราจะปฏิบัติของเรา เราต้องมีสติปัญญาของเรา ฉะนั้น ถ้ามันเหนื่อย มันล้า มันมีความทุกข์ความยากก็ปล่อยวางแล้วมาทำความสงบของใจก่อน พักผ่อน พักเสร็จแล้วถ้าทำได้เราก็ทำของเราไป ปฏิบัติของเราไปแบบนี้
ถาม : ๓. วันนี้ลูกได้ฟังเทศน์ที่พระสารีบุตรโปรดมารดา เช่นกันค่ะ เขาเคยพาพ่อแม่มากราบอาจารย์ ท่านก็ยังเป็นมิจฉาอยู่
ตอบ : อันนั้นพ่อแม่ของเราเนาะ พ่อแม่ก็คือพ่อแม่ การดูแลพ่อแม่เรื่องความรู้สึกนี่ยาก เพราะคำว่าพ่อแม่ ลูกนี่เลี้ยงดูมา มันถือสิทธิ์ ถ้าถือสิทธิ์แล้วเราทำตัวเราดีๆ เราทำตัวดีๆ นะ บางอย่างเราต้องอดกลั้นไว้ เพราะว่าเวลาสิ่งที่คนอื่นแสดงออก บางทีเราก็จะพิสูจน์หัวใจของเรา เราพยายามอดกลั้นของเราไว้ แล้วทำของเราไป เพราะ เพราะนี่คือผลของวัฏฏะ เพราะอย่างไรๆ เราก็เกิดมาเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นลูกกัน พระสารีบุตรก็วิตกกังวลว่าเรื่องนี้เรื่องพ่อเรื่องแม่ แต่เสร็จแล้วพระสารีบุตรก็ไปเอาแม่ได้ ทีนี้การเอาแม่ได้ เอาพ่อแม่ได้แสนยาก
ฉะนั้น คนต้องมีอำนาจวาสนาเท่านั้น ถ้าไม่มีอำนาจวาสนาเราก็พยายามดูแล ทำคุณงามความดีของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา เพื่อผลประโยชน์นี้ ฉะนั้น คำว่าข้อที่ ๔ จิตมันสั่นสะเทือน สิ่งที่มันเร็ว มันหนัก สิ่งสั่นสะเทือนคือผลกระทบ เวลามันปล่อย มันตทังคปหานมันก็ปล่อย เวลาสมุจเฉทปหานมันแตกต่างกับตทังปคหานตรงไหน? ถ้าตทังปคหานมันปล่อยเราก็ว่าปล่อยๆ แต่สมุจเฉทปหานนะเวลาหลวงตาท่านพิจารณากาย กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ แล้วจิตมันรวมลง
เวลามันปล่อยนะท่านบอกเลยมันแยกเป็น ๓ ทวีปเลย กายแยกเป็นส่วนหนึ่ง จิตแยกเป็นส่วนหนึ่ง ทุกข์แยกเป็นส่วนหนึ่ง แล้วจิตมันรวมลง ยถา ภูตัง เกิดญาณทัศนะ ยถา ภูตังคือมันแยกหมด ปล่อยหมด หยั่งรู้ หยั่งรู้หมดเลย ชัดเจนของมันมาก นี่เวลามันเป็นของมัน ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วเราเอาสิ่งนั้นมาเป็นประโยชน์กับเรา แต่ตอนนี้เราปฏิบัติของเราไปก่อน ไม่ต้องวิตกกังวล พยายามทำต่อเนื่องไป พยายามทำต่อเนื่องไป สิ่งที่ทำมานี่ถูกต้อง ถูกต้อง แต่ แต่อย่างว่าเริ่มต้นมันมีหยาบ มีกลาง มีละเอียดมันต้องพัฒนาขึ้นไป ถ้าบอกว่าไม่ถูกเลยจะเริ่มต้นที่ไหน? เราเริ่มต้นอย่างนี้
นี่เวลาเริ่มต้นขึ้นมาก็เริ่มต้นจากสมมุติของเรานี่แหละ เริ่มต้นจากกิเลสหนาๆ เรานี่แหละ แต่พิจารณาไปแล้วกิเลสมันจะบางไปๆ คือมันเข้าใจ มันเข้าใจของมันไป แต่ถ้ากิเลสมันซ้อนกิเลสนะมันจะบอก เห็นไหม นิโรธใช่ไหมคะ? โง่ซ้อนโง่ใช่ไหมคะ? ถ้าโง่ซ้อนโง่แสดงว่าเรารู้ตัวแล้ว ถ้าเรารู้ตัวนี่เราแก้ไขได้ แต่ถ้าไม่รู้ตัวเลยเราจะทำสิ่งใด แล้วก็หลงไปอย่างนั้นแหละ ถ้ารู้ตัวได้นี่เป็นประโยชน์กับเรานะ
นี่พูดถึงว่าให้ปฏิบัติไป เป็นธรรมาธิษฐานเรื่องส้มกับมะพร้าวเราจะเอามาชัดเจน ส้มกับเปลือกส้มมันชัด ส้มกับเปลือกส้ม เพราะเรารู้เราเห็นของเราอยู่ มันเป็นจิตกับสัญญาอารมณ์กระทบกัน แต่ถ้าเป็นมะพร้าวนะเราจะแบ่งแยกเป็นชั้นๆ เลย มรรค ๔ ผล ๔ เลย ถ้ามรรค ๔ ผล ๔ คนปฏิบัติไปจะเข้าใจได้ ถ้าคนปฏิบัติไป คนไม่ปฏิบัติก็งงเนาะ มนุษย์มันมีค่ากว่ามะพร้าวเยอะแยะ อารมณ์ความรู้สึกมาเอาไปเทียบกับมะพร้าวได้อย่างไร? มะพร้าวเขาเอามาแกง เขาเอามาทำขนม เอาไปเทียบมะพร้าวได้อย่างไร? ธรรมาธิษฐานหมายความว่าเป็นชั้นเป็นตอนอย่างนั้น ถ้าเป็นชั้นเป็นตอนอย่างนั้นมันก็จะเข้ามาเรื่องนี้ ข้อ ๑๔๓๑.
ถาม : ข้อ ๑๔๓๑. เรื่อง "ความสงสัยในปริศนา"
นมัสการหลวงพ่อค่ะ หนูมีคำถามอยากถามหลวงพ่อ ให้หลวงพ่อช่วยชี้ความหมายว่าข้าวเปลือกหนักกว่าทองคำหมายความว่าอย่างใด
ตอบ : นี่ข้าวเปลือกหนักกว่าทองคำ ฉะนั้น ข้าวเปลือกหนักกว่าทองคำโยมไปเอามาจากไหนล่ะ? ถ้าโยมเอามาจากเว็บไซต์ ในเว็บไซต์พระสงบเนาะ อันนี้มันก็เป็นเพราะเราพูดเอง ถ้าเราพูดเอง ถ้าเราพูดเองถ้าเรื่องข้าวเปลือก เรื่องทองคำ ความหมายเรา เราไม่ได้พูดเรื่องตรงนี้หรอก
ถ้าข้าวเปลือกกับทองคำ ส่วนใหญ่คำนี้เราจำขี้ปาก เราเอาขี้ปากหลวงตามาพูด เอาขี้ปากหลวงตามาพูด เพราะเวลาหลวงตาท่านพูดบ่อย พูดบอกว่าเวลาเราออกช่วยโลก ทุกคนจะเห็นเรื่องทองคำ เห็นเรื่องโรงพยาบาล เห็นเรื่องสิ่งที่ว่าท่านออกมาช่วยโลก สิ่งนี้เป็นวัตถุที่จับต้องได้ แต่ท่านจะพูดบ่อยมากเลยว่าสิ่งที่ท่านช่วยโลกๆ ทุกคนก็มองได้แต่ทองคำ มองได้แต่พวกสิ่งวัตถุที่ท่านสร้างไว้ให้กับโลก แต่ไม่มีใครเห็นธรรมๆ ไง ท่านถึงบอกว่าธรรมะมันสำคัญกว่า
เวลาจะออกมาช่วยโลกท่านจะบอกว่าท่านที่ออกมาช่วยโลกท่านดีใจ ดีใจว่าหนึ่งจะได้ช่วยโลก สองธรรมะของท่านจะได้กระจายออกไปให้กับชาวโลกที่เขาไม่เคยเห็นประโยชน์กับมัน ชาวโลกเป็นสายตาที่หยาบ ชาวโลกจะได้สิ่งที่เป็นวัตถุ เป็นปัจจัยเครื่องอาศัย ชาวโลกจะเห็นว่าการช่วยเหลือเจือจานกันอย่างนั้นเป็นการช่วยเหลือเจือจานกัน แต่ชาวโลกจะไม่เห็นว่าธรรมะๆ ธรรมะสัจธรรม สิ่งที่ทำให้สังคมร่มเย็นเป็นสุข สิ่งนั้นทำให้มีคุณค่ามากกว่า ชาวโลกมองไม่เห็น ฉะนั้น ชาวโลกมองไม่เห็น ชาวโลกมองไม่เห็นว่าสิ่งที่ท่านช่วยโลกคือทองคำ ๑๑ ตัน กับสร้างโรงพยาบาล สร้างเรือนจำ รถพยาบาล เครื่องมือแพทย์ ทางโลกจะเห็นอย่างนั้น
ท่านบอกว่าคราวนี้ท่านจะออกช่วยโลกท่านดีใจ ดีใจว่าธรรมะนี่จะได้เผยแผ่ไป คนที่หวังพึ่งจากวัตถุ ถ้าเขาได้คิด เขาจะได้คิดถึงคุณธรรมในใจของท่าน จะได้คิดถึงน้ำใจ คิดถึงความดีงามของธรรม พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สัจธรรมๆ สัจธรรมคือสัจจะความจริง มันเป็นสัจจะความจริงที่จะให้โลกได้พึ่งพาอาศัย เวลาโลกมันทุกข์ร้อน โลกมันตึงเครียด โลกมันมีการเบียดเบียนกันจะเอาอะไรมาพึ่งพาอาศัย ก็สัจธรรมๆ อันนี้ ถ้าสัจธรรมอันนี้ ถ้าคนเข้าใจได้ ทุกคนซาบซึ้งในสัจธรรมนี้ ทุกคนจะไม่ประพฤติตนเบียดเบียนผู้อื่น ทุกคนจะประพฤติตนเป็นคนที่ดีเพราะมีสัจธรรมอันนั้นไง ท่านบอกว่าธรรมอันนี้มันจะได้ออก ธรรมมันจะได้ออก
ฉะนั้น เวลาเราพูดถึงว่าข้าวเปลือก ทองคำ เราไม่ได้พูดว่ามีอะไรน้ำหนักมากกว่ากันหรอก น้ำหนักมันเท่ากัน น้ำหนัก น้ำหนักของข้าวเปลือก น้ำหนักชั่งตวงวัดมันเท่ากัน แต่มันแตกต่างกันที่มูลค่า มูลค่าทองคำกับมูลค่าของข้าวมันแตกต่างกัน มูลค่าหลวงตาท่านพูดถึงว่าหินกับทองคำ ท่านเปรียบถึงหินกับทองคำว่าน้ำหนักเท่ากัน ถ้าคนมีสัจธรรมแล้วมูลค่า มูลค่ามันคือแร่ธาตุเหมือนกัน มันไม่แตกต่างกันหรอก มันมีน้ำหนักเท่ากัน
ฉะนั้น
ถาม : ให้หลวงพ่อช่วยอธิบายความหมายว่าข้าวเปลือกกับทองคำน้ำหนักแตกต่างกันอย่างไร
ตอบ : เออ ถ้าเป็นอันนี้นะ ถ้าเป็นในเว็บไซต์พระสงบนี่ก็แสดงว่าพระสงบพูดลิ้นพันกัน ลิ้นมันพันกัน มันพูดไปแล้วก็จับเป้าหมายเอาเฉพาะที่ลิ้นพันกัน ไม่อ่านตั้งแต่ต้นนี่นา เรื่องข้าวเปลือก เรื่องทองคำ เรื่องธรรมะ อ่านตั้งแต่ต้นสิ ถ้าอ่านตั้งแต่ต้นก็ไม่ต้องมาถามว่าหลวงพ่อช่วยอธิบายที หลวงพ่อนี่พูดผิด เวลาเราพูดถึง เวลาหลวงตาท่านเทศน์นะท่านจะบอกว่าอะไรที่มันไปสัมผัส สัมผัสใจท่านท่านก็จะออกมา สิ่งที่เราพูดถึงธรรมะ พูดถึงทองคำ พูดถึงวัตถุที่ท่านพูดเราจะให้เห็นว่า ให้เห็นว่าถ้าเรื่องของโลกก็เรื่องของวัตถุ เรื่องสสาร เรื่องธาตุ แต่เรื่องธรรมๆ ธรรมในใจนั้นสำคัญมากนะ
ถ้าสำคัญมาก เพราะธรรมในใจสำคัญมาก เพราะถ้ามันมีคุณธรรมในใจแล้วมันเชื่อมั่นได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ไง ไม่มีสิ่งใดเข้าไปเจือปน ไม่มีสิ่งใดเข้าไปเป็นโทษเป็นภัย มีแต่ประโยชน์ มีแต่คุณทั้งนั้นเลย ถ้ามีคุณทั้งนั้นเลย สิ่งนั้นเพื่อเป็นครูบาอาจารย์ของเรา ท่านทำประโยชน์เพื่อเรา นี่ถ้าครูบาอาจารย์ยังอยู่นะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีชีวิตอยู่ เวลาเทวทัตปล่อยช้างนาฬาคีรี จะให้ไสเข้าไปชนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอานนท์ออกขวางเลย สละชีพแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไม่ต้อง ผลักออกเลย อานนท์ ไม่ใช่หน้าที่ของเธอ เป็นหน้าที่ของเราเอง ท่านแผ่เมตตานะ ช้างตกมันนะ ก้มลงเลย
อันนี้ก็เหมือนกัน หลวงตาท่านบอกว่าถ้าหลวงปู่มั่นท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านจะไม่พรากจากหลวงปู่มั่นไป แล้วถ้าหลวงปู่มั่นนะ ถ้าหลวงปู่มั่นจะนิพพานไป ท่านบอกว่าถ้าท่านตายแทนหลวงปู่มั่นได้ท่านจะตายแทนทันทีเลย เพื่อให้หลวงปู่มั่นอยู่ต่อไป ถ้าหลวงปู่มั่นอยู่ต่อไป ประโยชน์กับโลกจะได้มหาศาลเลย เพราะหลวงปู่มั่นท่านมีอนาคตังสญาณ จิตใจของท่านมหาศาล ท่านรู้อะไรเยอะแยะไปหมดเลย แล้วท่านจะสามารถสร้างประโยชน์ได้มากเลย ท่านบอกว่าถ้าเป็นไปได้นะ ถ้าท่านสละชีวิตได้เพื่อให้หลวงปู่มั่นอยู่ต่อ ท่านสละชีวิตให้หลวงปู่มั่นทันทีเลย แต่ แต่นี้มันเป็นไปไม่ได้
ท่านพูดอย่างนี้เลยนะ ถ้าเราพูดคำนี้คำเดียวบอกว่าเราสละได้ๆ ๑๘ มงกุฎมันก็พูดได้ ๑๘ มงกุฎคนไหนมันก็พูดได้ว่าเราสละชีพคนนั้นก็ได้ เราสละชีพ เพราะมันเป็นไปไม่ได้นี่ เพราะมันคนละชีวิตมันสละแทนอะไรได้ล่ะ? มันคนละชีวิตมันสละแทนกันไม่ได้หรอก แต่เวลาท่านพูดท่านพูดถึงความเคารพ ท่านพูดถึงหัวใจของท่าน ว่าถ้าท่านเสียสละชีวิตของท่านได้เพื่อให้หลวงปู่มั่นอยู่ต่อไป ท่านจะสละชีวิตของท่านทันที แต่นี้มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้มันก็ต้องเป็นไปตามสัจจะอย่างนั้นแหละ
นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าเวลาท่านพูดถึงสัจธรรมของท่าน นี่เวลาท่านอยู่ใช่ไหม สิ่งนี้เราเคารพบูชา จะทำสิ่งใดเราไว้ใจได้ เรามั่นใจได้ จะว่าเหมือนพ่อกับลูก พ่อแม่กับลูกนะ ลูกไว้ใจพ่อแม่ได้เลย อย่างไรๆ พ่อแม่ก็ไม่ทำร้ายลูก อย่างไรๆ พ่อแม่ไม่ทำร้ายลูก เว้นไว้แต่เดี๋ยวนี้ฆ่าก็มี แต่ความจริงความผูกพันอันนั้นมันไว้ใจได้เลยล่ะ ฉะนั้น สิ่งที่บอกว่าให้อธิบาย คำว่าให้อธิบาย เพราะเขาพูดมาอย่างนี้เขาจะหาว่าเราพูดผิดไง ถ้าเราพูดผิดเราก็จะบอกว่ามันลิ้นพันกัน เพราะเวลาเราพูดเรื่องนี้ ถ้าจะพูดเรื่องทองคำ เรื่องวัตถุธาตุกับธรรม เราจะพูดให้เห็นว่าน้ำใจของหลวงตาท่านประเสริฐนัก คุณธรรมในหัวใจอันนั้นมันล้ำค่า แล้วไอ้สิ่งที่ว่าทองคำ สิ่งต่างๆ ที่เราแสวงหากันอยู่นี้ ตอนนี้ท่านล่วงไปแล้วเราก็ยังแสวงหากันได้
ทองคำ ข้าวเปลือก ข้าวเปลือกเรายังทำกันทุกปี ปีหนึ่ง ๓ หนนะ นาข้าวเขาทำปีละ ๓ ครั้ง ทองคำ เหมืองมันยังขุดอยู่ ยังไม่มีวันจบ แต่ครูบาอาจารย์เราล่วงไปแล้ว เรียกกลับมาไม่ได้ ไม่มีหรอก ฉะนั้น เวลาพูดมันสัมผัส เราไม่ใช่อวดดี แล้วเราไม่ใช่ว่าเราคนเดียวเท่านั้นที่จะพูดถึงหลวงตาได้ หลวงตาท่านเป็นบุคคลสาธารณะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเป็นอาจารย์ของสามโลกธาตุ ทุกคนก็เป็นลูกศิษย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เหมือนกัน อันนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อหลวงตาท่านเป็นบุคคลสาธารณะ แม้แต่ฆราวาสเขายังเคารพหลวงตาได้ เราเป็นพระทำไมเราจะเคารพหลวงตาเราไม่ได้
แม้แต่ฆราวาสเขายังปฏิญาณตนว่าเขาเป็นลูกศิษย์หลวงตา เขายังปฏิญาณตนกันได้ว่าเขาเป็นลูกศิษย์หลวงตา เราเป็นพระทำไมเราจะเคารพหลวงตาไม่ได้ ถ้าเราจะเคารพหลวงตาได้เราก็พูดสัจจะ พูดความจริง อย่างที่เวลาหลวงตาท่านสะเทือนใจ ท่านสะท้อนออกมาเรื่องว่าธรรมะมันจะได้ออก ท่านห่วงตรงนี้ ห่วงเรื่องธรรมๆ เรื่องธรรมคือความเสมอภาค เรื่องธรรมคือเรื่องความจริง เรื่องธรรมคือความเกื้อกูลกัน เรื่องธรรมคือเรื่องการเสียสละ เรื่องธรรมไม่มีการเอารัดเอาเปรียบ เรื่องธรรมไม่มีการซ่อนเร้น เรื่องธรรมไม่มีการฉ้อฉล เรื่องธรรมไม่มีเล่ห์กล ไม่มี เรื่องเล่ห์ เรื่องกล เรื่องธรรมะไม่มีเล่ห์กล ถ้าเป็นมีเล่ห์มีกลนั่นเรื่องกิเลสทั้งนั้น มันไม่ใช่เรื่องของธรรมหรอก
ฉะนั้น คำพูดที่ว่าให้อธิบายว่าข้าวเปลือกกับทองคำมีน้ำหนักแตกต่างกันอย่างไร? โยมจบอะไรมาล่ะ? น้ำหนักโยมไม่เข้าใจหรือ? กิโลหนึ่งมันก็เท่ากับหนึ่งกิโล มันจะแตกต่างกันตรงไหนล่ะ? เพราะเขาใช้คำตีความไง ให้ช่วยตีความหมายว่าข้าวเปลือกหนักกว่าทองคำ ไม่ได้พูดอย่างนั้น ไม่ได้พูดอย่างนั้น ถ้าคำว่าหนักกว่า น้ำหนักคือเท่ากัน น้ำหนักเท่ากัน แต่มูลค่าแตกต่าง มูลค่าแตกต่าง มูลค่าแตกต่างกันมาก แต่น้ำหนักมันเท่ากัน เพียงแต่ว่าหลวงตาเราจำขี้ปากท่านมา ท่านจะบอกว่าทุกคนเห็นแต่วัตถุ เห็นแต่เราทำประโยชน์วัตถุ ทุกคนไม่เห็นธรรม
ฉะนั้น เวลาท่านเทศนาว่าการ ธรรมของท่านจะได้ออกมา เพราะท่านปฏิบัติมา ๙ ปี เรียนมา ๗ ปี ปฏิบัติ ๙ ปีเพื่อสัจธรรมอันนี้ แล้วถ้าสัจธรรมในใจของท่าน ท่านเพื่อประโยชน์ จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง สู่ใจดวงหนึ่ง สู่ใจดวงหนึ่งของท่านแผ่กระจายมาถึงพวกเรา นี่คือคุณธรรม ฉะนั้น ความหมายมันอยู่ตรงนี้ มันเป็นธรรมาธิษฐาน เป็นธรรมไงให้เห็นคุณงามความดี ให้เห็นน้ำใจของท่านให้มากกว่าเห็นแก่วัตถุ ถ้าอย่างนี้แล้วมันเหมือนกับโลกธรรม ๘ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ ถ้าเห็นแก่ลาภสักการะก็ไม่เห็นคุณงามความดีของท่าน เห็นแก่ลาภสักการะ เห็นแก่ชื่อเสียง มันก็ลืมคำสั่งคำสอนของท่าน ถ้าเห็นแก่ท่าน อยู่กับคำสั่งคำสอนของท่าน เราก็จะไม่มาว่าข้าวเปลือกกับทองคำ
ไอ้ข้าวเปลือก ทองคำเราพูดเอง ถ้าผิด พระสงบผิดเอง ไม่มีใครผิด ถ้าผิดว่าน้ำหนักข้าวเปลือกกับน้ำหนักทองคำให้เราอธิบาย อืม ถ้าเป็นคำพูดของเราเองคือลิ้นพันกัน เราไม่มีเจตนา ไม่มีเจตนาพูดให้มันฟั่นเฝือน แต่เราจะพูดเพื่อความจริง เราจะพูดเพื่อประโยชน์ ถ้าเพื่อประโยชน์ นี้คือประโยชน์นั้น ฉะนั้น ข้าวเปลือกกับทองคำน้ำหนักเท่ากัน มูลค่าแตกต่างกัน แล้วมูลค่าของธรรมะ มูลค่าของความรู้จริง มูลค่าของหัวใจของครูบาอาจารย์เราประเสริฐกว่านี้หลายร้อยหลายพันเท่า ถ้ามันประเสริฐกว่านี้หลายร้อยหลายพันเท่า อย่าเอาวัตถุสิ่งใดมาเทียบ ยศถาบรรดาศักดิ์ก็เทียบไม่ได้ ของในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดมีมูลค่ามาเทียบกับคุณธรรมในหัวใจของครูบาอาจารย์ของเรา
ฉะนั้น คำว่าข้าวเปลือก ทองคำ คำถามนี่มันถามแบบถามแสลง ถามแสลงเฉยๆ ถามมาเพื่อให้เราพูดเฉยๆ บอกว่าหลวงพ่อ หลวงพ่ออย่าพูดเรื่องหลวงตามากนะ อะไรๆ ก็เอาหลวงตามาขายกินนะ เขาจะเตือนมาไงว่าหลวงพ่ออย่าขายหลวงตากินนะ ไม่ต้องมาเตือนหรอก เราไม่เคยขายใครกิน เรามีความสามารถพอ แต่นี้เพราะเราเคารพต่างหาก ถ้าเราไม่เคารพนะ ฮึ ไม่ได้ทำอย่างนี้หรอก ไอ้คนที่ถาม ไอ้คนที่ดูแลเคารพจริงหรือเปล่า มือของหลวงตากับมือของลูกศิษย์ มือของลูกศิษย์สะอาดพอหรือเปล่า? มือของอาจารย์สะอาดจริงๆ มือของลูกศิษย์สะอาดจริงหรือเปล่า? เอวัง