เทศน์บนศาลา

ธรรมเป็นอกาลิโก

๕ มี.ค. ๒๕๔๗

 

ธรรมเป็นอกาลิโก
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๔๗
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

นั่งภาวนา วันนี้วันมาฆบูชา วันมาฆบูชา เห็นไหม ธรรมที่เวลาสถิตในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กับธรรมที่สถิตอยู่ในใจของพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ ความบริสุทธิ์เสมอกัน ธรรมเป็นอกาลิโก ธรรมนี่เป็นอกาลิโก ไม่มีกาล ไม่มีเวลา

อย่าเอากาล เอาเวลามาปิดกั้น ว่ากึ่งพุทธกาลแล้ว มรรคผลจะไม่มี ๕,๐๐๐ ปีแล้ว มรรคผลจะไม่มี มันจะไม่มีไปได้อย่างไร ถ้าไม่มี พระศรีอริยเมตไตรยจะมาตรัสรู้อะไร พระศรีอริยเมตไตรยมารอจะตรัสรู้ธรรมอันนี้ไง ธรรมอันนี้มีอยู่เป็นอกาลิโก สิ่งที่ไม่เป็นอกาลิโกคือกิเลสต่างหาก กิเลสมันอยู่ในหัวใจของสัตว์โลก เพราะมีกิเลสถึงพาให้ใจเกิดตายๆ แต่มีใจ เพราะมีใจเป็นภวาสวะ เป็นพื้นฐานให้กิเลสมันอยู่อาศัย

กิเลสอยู่อาศัยบนหัวใจของสัตว์โลก แล้วบีบบี้สีไฟหัวใจของสัตว์โลกให้มีแต่ความทุกข์ไง เป็นความทุกข์คืองานของกิเลส กิเลส งานของเขาเป็นฝ่ายมาร มารนี้ชำระสัตว์โลก ควบคุมสัตว์โลกให้สัตว์โลกอยู่ในอำนาจของพญามาร พญามารนี้หลงตัวเองมากว่าใหญ่โตมาก แล้วจะให้หมู่สัตว์ตายเกลื่อนในอำนาจของกิเลส แล้วมันก็สลบอยู่บนหัวใจของสัตว์โลก

แล้วหัวใจของเรา ธรรมเป็นอกาลิโก จิตก็เป็นสิ่งที่ไม่เคยตาย

คนเราเกิดมาเป็นมนุษย์ ๑๐๐ ปี หรือมากกว่านี้นิดหน่อยก็ตายไป เป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม ก็อยู่ในวาระของเขา อยู่ในกาลของเขา เขาเกิดมาเขาก็ต้องตายไป แต่จิตนี้ไม่เคยตาย จิตนี้ไม่เคยตาย เกิดเป็นอินทร์ เป็นพรหม ก็ต้องย้อนกลับมา เกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นสัตว์ วนอยู่ในวัฏฏะนี้ จิตนี้ไม่เคยตาย ถึงเข้ากันได้กับธรรมที่เป็นอกาลิโกไง

สิ่งที่ธรรมนี้เป็นอกาลิโก มันมียุคเจริญรุ่งเรือง ยุคที่เสื่อมสภาพ นี้เป็นยุคเป็นกาล สิ่งที่เป็นยุคเป็นกาล เราถึงว่าถ้าเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา นี้ถึงเป็นบุญกุศลอย่างยิ่ง เกิดในประเทศอันสมควร สมควรเพราะประเทศอันสมควร ชาวฝรั่งเขาอยู่ในยุโรป เขาอ่านหนังสือนะ ค้นคว้าแล้วเขาอยากประพฤติปฏิบัติ เขาก็ต้องดั้นด้นค้นคว้ามาหาเรา มาหาสิ่งที่ว่าอยู่ที่ไหน เหมือนกับเราหิวกระหายน่ะ น้ำอยู่ที่ไหน เราก็ต้องวิ่งแสวงหาน้ำ เพื่อให้ใจนี้ได้ดื่มกินน้ำนั้น

มรรคผลนิพพานอยู่ในหัวใจของครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ผ่านสิ่งนี้มา จึงเห็นโทษของกิเลสไง กิเลสในใจ ใจนี้ไม่มีอายุ ไม่มีเวลา ใจนี้เป็นอกาลิโกเหมือนกัน เกิดตายๆ ตามอำนาจของกรรม ถ้าเราสร้างคุณงามความดีก็เกิดดี เกิดเป็นมหากษัตริย์ เกิดเป็นจักรพรรดิ เกิดเป็นยาจกเข็ญใจ

ในสมัยพุทธกาลเวลาออกมา ออกมาจากสถานะเดิมของตัว จากสถานะใดก็แล้วแต่ พอบวชแล้วเป็นภิกษุเสมอกันไง ศีลเสมอกัน ๒๒๗ เห็นไหม ศีลในพระปาฏิโมกข์ ๒๒๗ แต่ศีลนี้นะ เวลาพระวินัย ๒๑,๐๐๐ ข้อ มหาศาลเลย แล้วถ้าเราศึกษามา สิ่งนี้จะต้องพยายาม เราศึกษาให้เข้าใจให้หมด สิ่งที่เข้าใจให้หมด มันย้อนกลับมาที่ใจไง

ถ้ามีเจตนา สิ่งที่เจตนานี่ทำความผิดน่ะเป็นอาบัติ ถ้าไม่มีเจตนานะ มีกรรมไหม? กรรมมี เพราะกรรมของสัตว์ กรรมของเขาก็มี กรรมของเราก็มี สิ่งที่กระทบกระเทือนกัน มันมีสภาวกรรมทำให้ต้องกระทบกระเทือนกันไป ในเมื่อกรรมมันมีน่ะ แต่เราไม่มีเจตนา ไม่มีเจตนามันก็ไม่เป็นอาบัติ

แต่ถ้าเราเข้าใจสิ่งนี้ เวลาพระอรหันต์ที่สิ้นกิเลสไปแล้ว สติวินัย พ้นนะ พระจักขุบาลภาวนาจนสิ้นกิเลส เวลาก่อนจะสิ้นกิเลสนะ ตาเจ็บ เป็นโรคเจ็บตา หมอมาตรวจนะ บอกว่า “ต้องพักนะ ถ้าไม่พักนี่ตาบอด” พระจักขุบาลกำลังวิปัสสนาอยู่ กำลังจะได้เสีย ตาบอดนี่ไม่สนใจ ต้องการให้ใจนี้สว่าง เวลาถึงที่สุดแล้ว วันปวารณา ตาบอดพร้อมกับใจสว่างโพล่งขึ้นมา เสร็จแล้วให้หลานมาเอากลับมาไง กลับไปแล้วไปเดินจงกรมอยู่ เพราะอะไร เพราะพระอรหันต์ พระอรหันต์ต้องมีวิหารธรรมเป็นเครื่องอยู่ เดินจงกรมอยู่ เหยียบสัตว์ตายไง

พระสมัยพุทธกาลบอกว่า “พระจักขุบาลเวลาตาปกติ ก็ไม่ภาวนา เวลาตาบอด มานะมาภาวนาอยู่ แล้วเหยียบสัตว์ตาย เป็นอาบัติปาจิตตีย์ไง” ไปฟ้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ไม่เป็นอาบัติหรอก เพราะพระจักขุบาลเป็นพระอรหันต์ ไม่มีเจตนา” เพราะท่านเดินจงกรมของท่านนะ ท่านทำราวไว้ เดินจับราวเลียบราวไปตามราวนั้น เพราะว่าภาวนาเพื่อเป็นวิหารธรรม เหมือนกับรถยนต์เรา เวลาเช้าขึ้นมาเราต้องอุ่นเครื่อง ถ้าเราอุ่นเครื่อง เรารักษาไว้ รถเราจะคงทน ถ้าเราไม่ได้อุ่นเครื่องเลย รถนั้นมันก็จะเก่าคร่ำคร่าไป

นี่ก็เหมือนกัน ขันธ์ไง ขันธ์อาการของใจกับตัวใจไง ใจเป็นสิ่งที่ว่าเป็นพลังงานเฉยๆ สิ่งที่เป็นอาการของใจ เห็นไหม เป็นขันธ์ ๕ สิ่งที่ขันธ์ ๕ เกิดดับ เหมือนแขก แขกจรมา เวลาเราอยู่บ้าน มีแขกมาหาเรา ถ้าเรารับแขกเข้ามา แขก เรารับแขก เราก็สนทนากับแขก นี้ก็เหมือนกัน เวลาเราเกิดขึ้นมา เราไม่เคยเห็นแขก เราไม่เคยเห็นใครมา เราเห็นแต่ว่าเป็นเราทั้งหมดเลย อะไรเกิดขึ้นก็เป็นเรา ความทุกข์เกิดขึ้นก็เป็นเรา สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นก็เป็นเรา ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เรานะ

เวลาเกิดดับๆ เขาเกิดดับสภาวะ ถ้าเป็นเรามันต้องอยู่กับเราตลอดไปสิ ทำไมมันไม่อยู่กับเราล่ะ ความคิดที่เรามีความสุข เรามีความพอใจ เราอยากจะมีอย่างนี้ อยู่อย่างนี้กับเราตลอดไป มันก็อยู่ไม่ได้ เวลามีความทุกข์ความเร่าร้อน ทุกข์ขนาดไหนก็แล้วแต่ เดี๋ยวมันก็ดับไป สิ่งที่เหตุที่ดับไปมันเป็นธรรมดาของมัน สิ่งนี้เป็นการเกิดดับ มันถึงไม่ใช่ใจไง สิ่งที่ไม่ใช่ใจ แต่ทำให้ใจนี้ฟุ้งซ่านมาก นี่กิเลสอาศัยสิ่งนี้เป็นเครื่องออกหาเหยื่อ

สิ่งที่ออกหาเหยื่อ เพราะความคิดของเรารวบยอดเป็นเราทั้งหมด สิ่งที่ทุกอย่างก็เป็นเรา ถ้าเป็นเรานะ พลังงานตัวนี้ไง “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส” เห็นไหม ปฏิสนธิจิตไง เวลาจิตเวลาตายไป คนเราตาย มันจะหดย่นเข้ามาๆ จนเข้าไปถึงจิตเดิมแท้ไง แล้วจิตเดิมแท้นี้ก็หาสถานะใหม่ สิ่งสถานะใหม่ก็ไปเกิดใหม่ มันถึงจำภพชาติของตัวเองไม่ได้

ขันธ์ ๕ เวลาส่วนหยาบ ขันธ์ ๕ สัญญาความจำได้หมายรู้ เรามาจากชนชั้นไหน เรามาจากอำเภอไหน เรามาจากจังหวัดไหน เวลาเราไปเจอกันน่ะ เราถึงย้อนอดีตของเราได้ เราไปต่างประเทศนะ ถ้าเราเป็นคนไทยไปเจอคนไทยด้วยกัน เราจะมีคุยกันถึงเมืองไทย นี่สัญญา สัญญาความจำได้หมายรู้ สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง สิ่งนี้มันเกิดขึ้นมา มันเป็นอาการของใจ

แต่เวลามันย่อยสลาย มันย่อยสลายลงเข้าไป อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ มันไม่ใช่กองของขันธ์ มันเป็นปัจจยาการ มันเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนมาก จิตปฏิสนธิตัวนี้พาเกิดพาตาย แต่เราไม่เห็นตัวนี้ไง เพราะเราไม่เคยเห็นตัวนี้ เพราะเราภาวนาไม่เป็นไง ถ้าเราภาวนาเป็นขึ้นไป เราจะเห็นความสงบของใจ ใจจะเริ่มสงบขึ้นมา

เราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “เป็นผู้ชี้ทาง” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชี้ทางให้เรา แล้วเราก็จะต้องพยายามเดินตามทางนั้น ถ้าเราเดินตามทางนั้น เรามีความมุมานะ เรามีความอุตสาหะ เราต้องเดินถึงทางนั้น แต่เพราะเราไม่เดินตามทางนั้นไง เราคิด เราคาด เราหมายของเราไป ถ้าเราคิด เราคาด เราหมายนะ มันเป็นวิปัสสนูปกิเลส เราคิดว่าเราภาวนาไง เราภาวนา

“ธรรมเป็นอกาลิโก” มันมีอยู่แน่นอนถ้าเข้าถึงได้ แต่เราถึงว่า กิเลสมันเกิดดับ ทั้งๆ ที่มันเกิดดับนะ ถ้ามันเกิด เราชอบสิ่งใด เราพอใจสิ่งใด เราจะยึดมั่นสิ่งนั้น อยากแสวงหาสิ่งนั้น ต้องการสิ่งนั้น เห็นไหม สิ่งที่เกิดดับทำไมมันเหนียวแน่นนักล่ะ มันเหนียวแน่นไปกับใจ สิ่งที่เป็นสภาวธรรม ทำไมเราไม่เจอสภาวธรรมนั้นล่ะ เพราะอะไร เพราะเราทำตามกิเลสของเราไง เราคาดเราหมายตามการกิเลสของเราไง

กิเลสนี้ร้ายกาจมาก กิเลสนี้เป็นภัยกับสัตว์โลกทั้งหมด

เวลาคนหลงนะ คนหลงไป เราเคยมีลูกมีหลาน เวลามันเกเรเกตุง มันก็ว่ามันถูก มันพอใจของมัน มันลุ่มหลงในความคิดของมัน สิ่งนั้นเป็นความลุ่มหลง เราเป็นผู้ใหญ่เราก็เห็นอยู่ เห็นว่าสิ่งนี้มันเป็นความลุ่มหลง มันไม่ประพฤติปฏิบัติตัวเป็นคนดี แล้วสังคมจะยอมรับเขาได้อย่างไร เราก็เป็นห่วงเป็นใย สิ่งนี้เรามองเห็นกันด้วยตา แต่เวลาใจมันหลงนะ ใครไปรู้ละ เราว่าสิ่งนี้มันเป็นความเวิ้งว้าง เราทำของเราเข้าไป ทำจิตของเราเป็นความเวิ้งว้าง ความเวิ้งว้าง เวิ้งว้างขนาดไหนนี้เป็นเรื่องอจินไตยนะ

อจินไตย พุทธวิสัย พุทธวิสัย วิสัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้กว้างขวางมาก พวกเราสาวกะจะคาดหยั่งไม่ถึงเลย เห็นไหม เรื่องของโลก โลกมันหมุนเวียนไปตามธรรมชาติของมัน มันเป็นอจินไตย เราจะให้มันคงที่เป็นตามสภาวะแบบนี้ เป็นไปไม่ได้ ก็เรื่องของกรรม เรื่องของกรรมเป็นอจินไตย มันลึกลับซับซ้อนมาก เพราะคนเกิดคนตาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนจะตรัสรู้ ย้อนกลับไปในอดีตชาติไง บุพเพนิวาสานุสติญาณย้อนไปขนาดไหน ไม่มีวันที่สิ้นสุด ยาวไกลมาก ยาวไกล สาวไปขนาดไหนก็ไม่มีสิ้นสุด

ปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นอจินไตย กว้างขวางมาก ยังย้อนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีต้นไม่มีปลาย แล้วชีวิตของเราล่ะ การเกิดการตายของเรามันจะขนาดไหน เราเป็นสาวกเป็นสาวกะเวียนตายเวียนเกิดมาสภาวะแบบนั้น กรรมมันถึงฝังมาในหัวใจไง ในหัวใจของเรามันลึกลับซับซ้อนมาขนาดไหน มันจะให้ผลได้เมื่อไหร่ เวลามันให้ผลขึ้นมานี่ เราผิดพลาด เราเพลี่ยงพล้ำตลอด แต่เวลามันให้ผลเป็นบุญกุศล นั้นก็กรรมดีไง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกให้ทำคุณงามความดี สิ่งที่เป็นคุณงามความดีเป็นที่อาศัยของจิต จิตนี้จะอาศัยคุณงามความดีนี้เพื่อจรรโลงชีวิตนี้ตลอดไป นี้เรื่องของกรรม แล้วก็เรื่องของฌานเป็นเรื่องอจินไตย เวลามันว่าง ว่างขนาดที่ว่าว่างขนาดไหนก็แล้วแต่ มันไม่มีเหตุมีผลกับใจของเราหรอก ว่างขนาดไหนเป็นวิปัสสนูปกิเลส มันว่างขนาดไหน มันก็เสื่อมสภาวะของมันโดยธรรมชาติ

สิ่งนี้ต้องเสื่อมไปโดยธรรมชาติ เพราะสิ่งนี้เป็นอนิจจัง สรรพสิ่งเป็นอนิจจัง แล้วในบัญญัติ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวธรรมนี้เป็นอนัตตาทั้งหมด แล้วสมาธิธรรมก็เป็นอนัตตา ในสติธรรมก็เป็นอนัตตา สิ่งนี้เกิดดับทั้งหมด จนถึงที่สุดนะ ถ้าเราภาวนาไปถึงที่สุด มันจะไม่เป็นอนัตตาหรอก มันเป็น เอโก ธัมโม

อนัตตานี้ระหว่างเราก้าวเดิน สิ่งที่เราก้าวเดิน เราขับรถออกจากบ้านของเรา ระหว่างล้อมันหมุนไป นี่มันเป็นอนัตตา ล้อนี้หมุนไปตลอดเวลา แต่เป้าหมายเราถึงที่ไหนล่ะ ถ้าเราถึงเป้าหมายของเรา รถจอดถึงเป้าหมายแล้ว ล้อนิ่งแล้วมันไม่หมุนอีก เห็นไหม เอโก ธัมโมไง ธรรมนี้ไม่เป็นอนัตตาต่อเมื่อผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเข้าไปถึงที่สิ้นสุดของธรรมนั้น ถึงจะเป็นอกุปปธรรมไง ใจถึงไม่เคยตายไง สิ่งที่ไม่เคยตายแล้วกิเลสปกคลุมอยู่ ปกคลุมแล้วบีบบี้สีไฟ บีบบี้สีไฟนี้ให้ใจนี้ทุกข์ยากมาก ทุกข์ยากแล้วประพฤติปฏิบัติ เวลาประพฤติปฏิบัติก็หลงไปตามกิเลส สิ่งนี้เราไม่ต้องไปทุกข์ร้อนนะ เพราะว่าคนเรามีกิเลส ความผิดพลาดมันต้องมีโดยธรรมชาติ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เจ้าชายสิทธัตถะ ๖ ปีนะ ค้นคว้าขนาดไหน ๖ ปี ค้นคว้าเพราะอยากหาที่พึ่ง อยากหาครูบาอาจารย์ อยากหาสิ่งที่มีในโลกไง แต่ว่าพุทธวิสัยต้องตรัสรู้เองโดยชอบ ไม่มีใครหยั่งรู้สิ่งนี้ได้ ถึงย้อนกลับมาไง ย้อนกลับเข้ามาถึงใจดวงนั้น พอใจดวงนั้นถึงอาสวักขยญาณทำลายกิเลสออกไปจากใจ กิเลสนี้ออกไปจากใจ ใจนี้พ้นออกไปจากกิเลส

เหมือนกับไก่กะเทาะฟองไข่ออกมา ออกมาเป็นไก่ตัวแรกไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์ ไปสอนปัญจวัคคีย์นะ ปัญจวัคคีย์ตั้งแต่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอดอาหาร ๔๙ วัน แล้วย้อนกลับมาไง ย้อนกลับว่า “ทางนี้ไม่ใช่” เราเร่งความเพียรขนาดไหน เพราะอดอาหารด้วยการคิดว่าการอดอาหารนี้มันจะชำระกิเลสได้ เพราะธรรมยังไม่เกิด

ในเมื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่เกิด เพราะเจ้าชายสิทธัตถะกำลังทรมานตนเองอยู่ ธรรมยังไม่เกิด มรรคมันก็ไม่สมดุล มรรคก็ไม่สามัคคีด้วยการอดอาหารเฉยๆ คิดว่าการอดอาหารนี้มันเป็นการบั่นทอนกิเลสไง แต่ในเมื่อประพฤติปฏิบัติย้อนกลับมาฉันอาหาร ปัญจวัคคีย์เห็นว่ากลับมามักมาก ถึงฝังใจอันนี้ ไม่ยอมฟังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนกลับมาฉันอาหาร ฉันอาหารอันนั้นให้มีพลังงานกลับมา แล้วย้อนกลับ จนอาสวักขยญาณมันเป็นเรื่องของใจไง การอดอาหาร อาหารกับร่างกาย เวลาร่างกายเป็นเรื่องของกาย แต่หัวใจก็อดเฉยๆ ด้วยการกดไว้ไง ทุกข์ขนาดไหนก็ทนเอา แต่เวลาย้อนกลับเข้ามา ย้อนกลับเข้ามาด้วยอำนาจอาสวักขยญาณด้วยอำนาจของมรรค มรรคที่เกิดขึ้นมาจากภาวนามยปัญญาจากภายใน ทำลายกิเลสอันนี้ขาดออกไป

ถึงปฏิญาณตนกับปัญจวัคคีย์ว่า “เราสิ้นจากกิเลสแล้ว สิ้นจากกิเลสนะ พ้นออกจากกิเลส จะฟังธรรมไหม” พระปัญจวัคคีย์ไม่สนใจไง จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเตือนแล้วเตือนอีก ถึงว่ามีอำนาจวาสนา เพราะพระปัญจวัคคีย์ เวลาอุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ก็ประพฤติปฏิบัติธรรมไปด้วย ศีล สมาธิพร้อมไง แล้วปัญญา เทศน์ธัมมจักฯ ขึ้นมาพระอัญญาโกณฑัญญะรู้ได้

เทวเม ภิกฺขเว ทางสองส่วนไม่ควรเสพ กามสุขัลลิกานุโยค คิดว่าเราอยากจะปฏิบัติง่ายปฏิบัติให้รู้ตามความเป็นจริง เราก็คิดของเรา กามสุขัลลิกานุโยค เพราะอะไร เพราะใจมันปรารถนาใจมันชุ่มด้วยกาม มันจะเป็นไปไม่ได้หรอก อัตตกิลมถานุโยค ถ้าเราทำของเราโดยไม่สมดุล อดอาหารเฉยๆ การอดอาหารทุกข์เปล่าๆ แต่การอดอาหารเพื่อให้ร่างกาย ให้ธาตุขันธ์ไม่ทับจิต จิตนี้ผ่อนคลายออกมา

เวลาอดอาหาร ธาตุขันธ์นะ ถ้าใครไม่เคยปฏิบัติจะไม่เข้าใจหรอกว่าเวลาพลังงานของธาตุ พลังงานของร่างกาย ธาตุ ๔ มันมีพลังงานขนาดไหน มันมีพลังงานมาก ดูอย่างนักเพาะกายสิ เขาใช้ เขาเพาะกายขึ้นมาจนกล้ามเนื้อเขาขึ้นมามหาศาลเลย เพราะอะไร เพราะเขาสะสมของเขาใช่ไหม เขาต้องกินอาหารของเขา เขาต้องออกกำลังกายของเขา

อันนี้ก็เหมือนกัน เราก็กินอาหารปกตินี้แหละ อาหารปกตินี้มันเกี่ยวกับเรื่องโลกไง เราใช้ชีวิตทางโลก เราต้องทำงาน เราต้องสิ่งต่างๆ มันก็ใช้ชีวิตตามอย่างนี้ สมดุล แต่ในการประพฤติปฏิบัติ เราต้องการความสงบ ต้องการความอ่อน ต้องการความนิ่มนวลของจิต สิ่งนี้มันมีพลังงาน มันทับ แล้วพอไปนั่งกำหนดพุทโธๆ เพื่อทำศีล สมาธิ ให้เกิดปัญญา มันจะทำให้ร่างกาย สิ่งนี้ทับแล้วจะนั่งแล้วตกภวังค์

เวลาเรานั่ง หายไปเลยนะ เวลากำหนดพุทโธๆ ขึ้นมาแล้วหายวับไปเลย นี่จิตตกภวังค์ แล้วเวลามันออกมานะ เหมือนกับคนตื่นนอน รู้สึกตัวขึ้นมา มันตื่นขึ้นมา มันตกภวังค์ไปแล้ว เราจะแก้ไขอย่างไร? มันถึงต้องผ่อนไง การผ่อนอาหารนี้เพื่อจะให้ธาตุขันธ์นี้ไม่ทับจิต ถ้าจิตนี้มันออกก้าวเดินได้ เกิดสมาธิ เกิดศีล เกิดสมาธิ ถ้าเกิดสมาธิขึ้นมา เราจะมีโอกาสไง ถ้าเรามีโอกาส เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ให้เราก้าวเดินนะ ศีล สมาธิ ปัญญา

ถ้าเราใช้ปัญญาของเรา เราว่าเราใช้ปัญญาเป็นวิปัสสนา การวิปัสสนาของเรา เราคิด เรานึก เพราะอะไร เพราะเราไม่เคยประสบการณ์สิ่งนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นมาตามความเป็นจริง เราไม่เคยเห็น ถ้าเราคิดของเราไป ความมหัศจรรย์ของใจ ใจนี้มหัศจรรย์มาก เราทำความเพียรขนาดไหน เราตั้งใจขนาดไหน มันจะเป็นสภาวะแบบนั้นขึ้นมาได้

วิปัสสนูปกิเลส เป็นวิปัสสนู แต่เราก็เข้าใจว่าเป็นวิปัสสนา

การวิปัสสนา จิตนี้ต้องมีความสงบเป็นพื้นฐาน ถ้าไม่มีศีล เวลาเกิดสมาธิขึ้นมา ทำไมสัมมาสมาธิก็มี มิจฉาสมาธิก็มี เราเข้าใจว่า เราทำสมาธิมันจะเป็นสัมมาสมาธิตลอดไปหรือ เวลาคนเขาทำคุณไสยกัน เขาทำสิ่งต่างๆ เขาต้องใช้สมาธินะ ดูสิดูอย่างพวกหมอดู เขาก็ใช้สมาธิของเขาเหมือนกัน เราอยู่ในทางโลกก็เหมือนกัน ถ้าเราทำงาน เรามีสมาธิ งานของเราจะเรียบร้อยมาก ถ้าเราเผลอขึ้นมา งานของเราก็จะตกบกพร่องไป

สมาธิของปุถุชนโดยมนุษย์เรานี่ก็มีโดยธรรมชาติ แต่เป็นสมาธิสั้นๆ ไง แต่ถ้าเป็นสมาธิที่ว่าเรามีศีลขึ้นมา จะควบคุมสิ่งนี้เข้ามาให้เป็นสัมมาสมาธิ ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ เพราะศีลปกคลุมอยู่ ศีลครอบคลุมอยู่ เพราะศีล ปาณาติปาตา เราไม่ทำลายสัตว์โลกเราไม่เบียดเบียนกัน จิตมันก็อยู่นะ ไม่คิดออกไปส่งออก แต่ถ้าเราทำสมาธิของเราโดยปกติ ไม่มีศีลควบคุมอยู่ มันเป็นมิจฉาได้ไงมันทำลายเขาได้นะ ทำคุณไสย ถึงกับทำให้ครอบครัวเขาแตกแยก สิ่งนี้เป็นไปเพราะเป็นไสยศาสตร์ ไสยศาสตร์กับพุทธศาสน์

พุทธศาสน์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ต้องอาศัยใจ เพราะใจไม่เคยตาย ใจไม่เคยตายแล้วมีกิเลสปกคลุมอยู่ ในการประพฤติปฏิบัติเราถึงต้องตั้งใจมีสติ กำหนดพุทโธๆๆ เพื่อให้กิเลสมันยุบยอบตัวลง ถ้าสติเราควบคุมอยู่จะเป็นความเพียรตลอดไป ถ้าสติเราพลั้งเผลอ ความเผลอของเราเพราะกิเลสมันมีอำนาจเหนือใจ งานของกิเลสคือทำให้เราขาดตกบกพร่อง ถ้าเราทำขาดตกบกพร่องมันก็สมกับกิเลสต้องการขัดขวางเรา

กิเลสมันจะขัดขวาง เพราะที่อยู่ของกิเลสคือหัวใจของสัตว์โลก แล้วถ้าสัตว์โลกนี้จะพ้นออกไปจากกิเลส มันก็ต้องทำลายกิเลส ฆ่ากิเลส กิเลสจะต้องตายต่อหน้าเรา เราจะเห็นกิเลสขาดออกไป ออกจากใจเป็นชั้นเป็นตอนไป มันเป็นปัจจัตตัง รู้จากใจดวงนั้นขึ้นมานะ ใจดวงนั้นต้องรู้ขึ้นมา

เวลาเราประพฤติปฏิบัติ เราต้องการให้ครูบาอาจารย์รับประกันว่าเราจะมีภูมิธรรมในหัวใจ...ไม่ต้องรับประกัน สิ่งที่คุยกันให้ครูบาอาจารย์ฟังนี้ เพียงแต่คุยเพื่อเป็นความรื่นเริง ความอาจหาญไง ความอาจหาญความรื่นเริงในธรรม ในธรรมนะ ธมฺมสฺสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เวลาเราสนทนาธรรมกัน ครูบาอาจารย์ที่มีธรรมเหนือกว่าจะให้กลให้อุบายวิธีการ อุบาย อุบายวิธีการที่จะให้เราพลิกจิตขึ้นไปให้สูงขึ้นไปๆ สูงขึ้นไปเพื่อชำระกิเลสที่มันละเอียดอ่อนในหัวใจ

กิเลสมีหยาบๆ นะ มีลูกมีหลานมีเหลน นี่มันเป็นสิ่งที่หยาบๆ แต่เรายังไม่เห็นเลย ถ้าเราทำความสงบของใจ เราจะเห็นว่าความคิดมันเร็วมาก มันเป็นความมหัศจรรย์มาก ทำไมจิตนี้มหัศจรรย์นัก ทำไมจิตนี้สว่างไสวนัก มันมีความมหัศจรรย์ แล้วเวลามันฆ่ากิเลสเป็นชั้นขึ้นไป ความที่ละเอียดอ่อนกว่านี้ สิ่งที่เราจะฆ่าลูกหลานของกิเลส มันก็เป็นความคิดที่ต่อสู้กัน พอทำลายกันได้มันก็จะทำลายกัน แล้วเป็นพ่อแม่เป็นปู่ย่าตายายของกิเลส มันก็ต้องใช้ความรู้ความละเอียดอ่อนยิ่งเข้าไปกว่านั้น

เราว่ามันละเอียดอ่อน มันลึกลับ มันถึงจะเป็นความมหัศจรรย์ของใจดวงนั้น ถ้าใจดวงนั้นเห็นสภาวธรรมแบบนี้ ใจดวงนั้นถึงเป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

ธรรมนี้เป็นอกาลิโก พร้อมให้ใจดวงนี้เข้าถึงตลอด ใจดวงนี้ ใจดวงที่ทุกข์ๆ ยากๆ อยู่นี่ ใจดวงที่นั่งอยู่นี่ แต่มีอำนาจวาสนา เพราะเชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเชื่อไง เพราะเชื่อถึงมีความศรัทธา ถ้ามีศรัทธา ทุกอย่างจะเปิดกว้างออกจากใจดวงนี้เลย แต่ถ้าเราไม่เชื่อนะ “มรรคผลไม่มี หมดกาลหมดเวลา” หมดกาลหมดเวลา คิดด้วยกิเลสไง แล้วหมดกาลหมดเวลาเราปฏิบัติเพื่ออะไรล่ะ? เราประพฤติปฏิบัติเพื่อสร้างสมคุณงามความดี

สัตว์โลก สัตว์เดรัจฉาน มันเลี้ยงลูกเลี้ยงเต้า นั้นก็เป็นทานนะ เราเลี้ยงลูกเลี้ยงเต้าก็เหมือนกัน มันเป็นทาน เป็นการให้อันหนึ่ง สิ่งที่ให้อันหนึ่งให้ตามกระแสของโลก เพราะมันมีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นมาเราก็ให้กัน สิ่งที่ให้กันมันก็เป็นคุณงามความดีของเขา นี่ประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่ออย่างนั้นหรือ

ในการประพฤติปฏิบัติธรรม เวลาว่า ในครั้งสมัยพุทธกาลมีพวกคฤหัสถ์ไม่เชื่อเรื่องสวรรค์ ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “พระอินทร์มีไหม พระอินทร์พวกเทวดานี่มีไหม” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “เธออย่างถามอย่างนั้นเลย เหตุว่ามีหรือไม่มี ที่ว่ามีหรือไม่มี เหตุจะสร้างพระอินทร์นี่ยังรู้เลย” ท่านบอกว่า “ในการสร้างสาธารณประโยชน์ ในการสร้างถนนหนทาง ในการสร้างแหล่งน้ำ ในการสร้างศาลาพักริมทาง ผู้ที่สร้างอย่างจะเกิดเป็นพระอินทร์” สิ่งที่เกิดเป็นพระอินทร์เพราะอะไร เพราะเราให้คุณประโยชน์เขา

สัตว์โลกเวลาเลี้ยงลูกเลี้ยงเต้าถึงเป็นแบบนั้นไง สิ่งนี้ทำมาเป็นศีลธรรมเป็นจริยธรรม ศีลธรรมจริยธรรมมันก็แปรปรวนไปเพราะกาลเวลา สิ่งที่ครั้งโบราณ การสื่อสารมันจะไปได้ช้ามาก สิ่งนี้จะไปได้ช้า โอกาสของเขา การประพฤติปฏิบัติก็มีมาก แต่ปัจจุบันนี้การสื่อสารจะเร็วมาก สิ่งที่เร็วมาก แล้วเราก็มีปัญญาของเราขึ้นมา เราเรียนของเราขึ้นมา เรามีปัญญา เราก็บอก “ถ้าเรามีปัญญา ปัญญาอย่างนี้มันก็คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปัญญาชำระกิเลส เราก็มีปัญญามาก ทำไมชำระกิเลสไม่ได้”

ปัญญาของเราเป็นโลกียปัญญา เป็นโลกียะไงคิดขนาดไหนมันก็ฟุ้ง ฟุ้งออกไปตามความคิดของเรา มันถึงต้องมีสติไง ถ้าเราเป็นปัญญาชน เรากำหนดพุทโธๆ จิตมันไม่สงบ มันมีแต่ความคิด เพราะเราใช้ปัญญามาก เราศึกษามาก เรามีข้อมูลมาก สิ่งที่มีข้อมูลมาก เราก็ใช้สติควบคุมสิ ใช้สติควบคุมความคิด จะคิดขนาดไหนให้คิดไป แล้วมีสติ สิ่งที่มีสตินี่ควบคุมไป พอมันสงบลงถึงที่สุดสติเราพร้อม ความคิดนี้มันหยุดโดยธรรมชาติของมัน ถ้าจิตนี้หยุดโดยธรรมชาติของจิต เพราะสติควบคุมอยู่ สิ่งนี้มันเป็นสมถะ

แต่เวลาเราคิดด้วยปัญญา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าชำระกิเลสด้วยปัญญาๆ เราก็ใช้ปัญญา เราก็ใช้ความคิดของเราแล้ว เราก็ชำระกิเลสของเราแล้ว เราจะฆ่ากิเลส ทุกคนคิดว่าจะฆ่ากิเลส แล้วว่าตัวตนนะ ความรู้สึกของเรา เราจะฆ่ามัน สิ่งนี้ เวลาสิ่งใดเกิดขึ้นมา อยากอะไรเราก็ยับยั้งสิ่งนั้น เราพยายามกดไม่ให้ไปพอใจสิ่งนั้น เราพยายามให้เห็นโทษสิ่งนั้น นี่เราคิดว่าเราฆ่ากิเลสแล้ว

การฆ่ากิเลสไม่เป็นแบบนั้น การฆ่ากิเลสขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องทำให้จิตสงบ สิ่งที่เรากดถ่วงไว้ เราครอบงำไว้ มันเป็นการทำความสงบเท่านั้น มันเป็นโลกียปัญญา ปัญญาที่เราใคร่ครวญไป เราตามทัน ตามความคิดของเราทัน เช่น เราต้องการอยากกินอะไรที่มันเป็นอาหารที่อร่อย เราก็คิดไปสิ อาหารสิ่งนั้นมันก็มีคุณค่าอาหารเหมือนกัน เรากินอะไรก็ได้ที่มันไม่ต้องแสวงหาให้ทุกข์ขนาดนั้นก็กินได้ นี่ปัญญามันก็เกิด มันก็ทำให้เราไม่ต้องการแสวงหาสิ่งที่มันอยาก อะไรก็ได้แทนการดำรงชีวิตนี้ เราแทนสิ่งนั้นได้มันก็ดำรงชีวิตของเราได้แล้ว เราจะไปทำไม นี่ปัญญาอย่างเราคิดว่าเป็นการฆ่ากิเลสไง มันเป็นการฝึกใจ ให้ใจสงบตัวลง ให้ใจไม่มีอำนาจ

อย่างที่ว่า การอดอาหาร การตัดทอนไง ตัดทอนกิเลสไม่ให้มันมีอำนาจมากเกินไป นี่ก็เหมือนกัน ตัดทอนความคิดไง ความคิดที่มันต้องการ แล้วถ้าเรามีสิ่งใดที่สนองมันได้ เราก็จะเคยตัว เราทำสิ่งนั้น กิเลสนี้มันก็แข็งขึ้นไปเรื่อยๆ กิเลสนี้มันก็ข่มเหงใจนั้นไปเรื่อยๆ

เราตัดรอนสิ่งนี้เราก็ว่าเราฆ่ากิเลสแล้ว แต่ก่อนนี้เป็นคนอารมณ์ฉุนเฉียวมาก สิ่งใดกระทบอะไรขึ้นมามันจะมีอารมณ์ไปมาก เดี๋ยวนี้เรามีสติ เรายับยั้งได้ สิ่งนี้เราตัดความโกรธได้ นี่ว่าชำระกิเลส...เป็นไปไม่ได้หรอก

คนจะตัดความโกรธนะ กามราคะ นี่พระอนาคามี พระอนาคามีต้องวิปัสสนากาย เวทนา จิต ธรรม แยกแยะเข้าไปเป็นชั้นเป็นตอน เพราะกิเลสมันอาศัยสิ่งนี้ แล้วมันออกมายึดเป็นอารมณ์ แล้วเราก็ว่าเราทำลายกิเลสโดยปรมัตถธรรม สิ่งที่กำหนดกาย กำหนดสิ่งนี้มันเป็นสมมุติเป็นบัญญัติ นี้ไม่ใช่วิปัสสนา วิปัสสนาต้องเป็นปรมัตถ์ เป็นความจริง ปรมัตถ์จนไม่มีที่เกาะเกี่ยวไง ปรมัตถ์ สิ่งนั้นก็เป็นปรมัตถ์ แล้วฐานอยู่ที่ไหนน่ะ

ในการประพฤติปฏิบัติเอาอะไรวิปัสสนา? เอาจิต

จิตคืออะไร? จิตคือความสงบของใจ ใจมันสงบเข้ามาๆ สิ่งนี้เป็นวิปัสสนา

ถ้าเราไม่มีจิตไปวิปัสสนา เรากำหนดปรมัตถ์ อะไรกำหนด เพราะเราก็เป็นจิต จิตก็เป็นเรา ความปรมัตถ์ก็เป็นเรา อะไรก็เป็นเรา แล้วทำลายความปรมัตถ์ แล้วมันอยู่ตรงไหนล่ะ สติอยู่ตรงไหน ความรู้สึกอยู่ตรงไหน ความว่าง ว่างตรงไหน? มันเป็นวิปัสสนูปกิเลสไง

วิปัสสนูปกิเลสว่าเป็นการวิปัสสนูไป มันไม่เป็นวิปัสสนา

ถ้าวิปัสสนาจิตสงบเข้ามามีพื้นฐาน จิตตั้งมั่น เอกัคคตารมณ์มีความสุขนะ

จิตเวลาฟุ้งซ่าน เวลาเราทุกข์ยาก เราเหมือนกับเราแบกสัมภาระเต็มหัวใจเลย แล้วเราใช้สติควบคุมเข้ามา แล้วเราจะปลดวางสิ่งที่เป็นสัมภาระ วางลงทีละชิ้นๆ เริ่มจากขณิกสมาธิ ถ้าเราชำนาญ เราใช้สติควบคุมอยู่ มันจะเป็นอุปจารสมาธิ ถ้าอุปจารสมาธิ คนมีอำนาจวาสนา อุปจาระ คือวงรอบของจิต มันจะออกรู้ มันจะเห็นกาย เห็นกาย เห็นกะโหลก เห็นสิ่งต่างๆ เห็นเนื้อหนังมังสา อะไรก็ได้ถ้าเห็นกาย เห็นสิ่งนี้เห็นใหม่ๆ เกิดขึ้นใหม่ๆ มันจะสะเทือนหัวใจมาก นี่อุปจารสมาธิ ถ้าเราจะสร้างฐานเข้ามา เราทำความสงบมากเข้าไปกว่านั้น มันเป็นอัปปนาสมาธิ

สิ่งที่เป็นอัปปนา มันละเอียดอ่อนมากจนมันไม่สามารถจะวิปัสสนาได้ เวลาเข้าไปสงบแล้วถอนออกมาจนเป็นอุปจารสมาธิ ใจออกรู้ ออกวิปัสสนา มันเป็นสิ่งนี้ วิปัสสนาเกิดจากใจ ใจวิปัสสนากาย จิต...กาย เวทนา จิต ธรรม สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากใจ ใจนี้ถึงออกวิปัสสนาไง มีผู้ทำงาน มีผู้รับผลงาน มีสิ่งที่ขณะทำงาน สติพร้อมสมบูรณ์มาก พร้อมสมบูรณ์เพราะเราวนออกมาวิปัสสนา

การชำระกิเลส กิเลสอาศัยขันธ์ อาศัยกาย แล้วออกไปรับรู้สิ่งต่างๆ เราถึงต้องจิตสงบ แล้วยกวิปัสสนา กายนี้เป็นของใคร กายนี้เป็นของใคร? กายนี้มันเป็นสมบัติสาธารณะ เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เพราะอะไร เพราะเราสร้างคุณงามความดีมา เรามีคุณสมบัติที่จะเกิดเป็นมนุษย์ได้ เราถึงเกิดมาเป็นมนุษย์ สิ่งที่เป็นมนุษย์ออกมาจากไหน? ออกมาจากครรภ์ของมารดา ไข่ของมารดานะ ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ธาตุ ๔ สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เริ่มต้นเข้ามา จิตเข้าไปปฏิสนธิ มันเป็นความมหัศจรรย์มาก

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าใจสิ่งนี้หมดเลย แล้วอธิบายไว้ในพระไตรปิฎก เห็นไหม เริ่มจากปฏิสนธิจิตเกิดเป็นน้ำไขมัน เกิดเป็นต่อมเป็นตัวขึ้นมา เจริญพัฒนาขึ้นมาจนเกิดมาเป็นเรา สิ่งนี้เป็นเรื่องของโลก เป็นเรื่องของสาธารณะ สิ่งที่เป็นสาธารณะมันเป็นไปตามสถานะ เพียงแต่จิตมีอำนาจวาสนา มาเกิดเป็นมนุษย์ชาติหนึ่ง แล้วไปยึดได้อย่างไรว่าเป็นของเราล่ะ

มันไม่ใช่ของเราหรอก ถ้ามันไม่ใช่ของเรา แล้วมันจะปลดเปลื้องความที่ว่าไม่ใช่ของเราได้อย่างไร มันจะปลดเปลื้องความไม่ใช่ของเรา มันถึงต้องมีความสงบของใจไง สิ่งที่เป็นความสงบของใจ เพราะจิตนี้เป็นผู้วิปัสสนา วิปัสสนาในกาย ถ้าเห็นกายนะ มีกำลัง มีพลังงานอยู่ กำหนดให้เป็นวิภาคะ เป็นอุคคหนิมิต วิภาคนิมิต สิ่งนี้ต้องแยกชำระออกไปจากใจ ถ้าพลังงานเรามี มันจะเป็นไปตามอำนาจของจิต จิตนี้น้อมไปนะ ให้เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ มันจะเป็นสภาวะแบบนั้น ให้มันเน่าเปื่อยไป มันจะเห็น

สิ่งที่เห็น เห็นไหม เกิดขึ้นมาจากครูบาอาจารย์ผู้ชี้นำนะ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติไม่เข้าใจ พอเห็นจิต เห็นกาย จะวิปัสสนา จะให้มันเป็นไป ขณะที่วิปัสสนาไปถ้ากำลังไม่พอ มันก็มีการล้มลุกคลุกคลาน มีการต่อสู้กันอย่างนั้น มันจะไม่ไป เราต้องปล่อย ถ้าเราวิปัสสนา เราต้องน้อมนำให้เป็นสภาวะแบบนั้น มันไม่เป็นไปไง มันไม่เป็นไป เราวาง กลับมาที่พุทโธ กลับมาที่จิต ปล่อยให้จิต ไม่ให้จิตนี้ไปทำงาน

จิตนี้ไปทำงาน จิตนี้ไปวิปัสสนา แล้วทำงานใช้พลังงานไปมาก พลังงานเหนื่อยอ่อนมาก ทำไปก็ล้มลุกคลุกคลาน ปล่อยสิ่งนั้นเลย ปล่อยด้วยกำหนดพุทโธๆ จิตจะย้อนกลับมาสร้างฐานให้เข้ากับอัปปนาสมาธิ ให้เข้ามาเพื่อสร้างพลังงานขึ้นมา ถ้าไม่มีพลังงาน ไม่มีสิ่งต่างๆ คนไม่มีแรงจะทำงานได้อย่างไร การทำงาน วิปัสสนาเกิดจากนี้ ไม่ใช่ว่าเราว่า เราคิดเป็นโลกียะ ฌานโลกีย์ วิปัสสนูปกิเลสก็ว่าเป็นวิปัสสนา

เป็นวิปัสสนามันเวิ้งว้างมันปล่อยวาง สิ่งที่เวิ้งว้างปล่อยวางนี่มันเป็นอกุปปธรรมไหม? มันไม่เป็นอกุปปธรรม เพราะมันไม่มีผู้รับรู้ มันไม่มีผู้ที่รับรู้ ไม่มีผู้ที่จับต้องสิ่งนี้ มันไม่ได้ทำลายฐานไง ภวาสวะ ฐานของใจ ความคิดต่างๆ เกิดมาจากใจ คนตายไม่มีหัวใจนะ คิดได้ไหม? ไม่ได้หรอก มีคนมีชีวิตอยู่นี่ ความคิดนี้เกิดขึ้นมาจากใจ กิเลสมันอยู่ตรงนั้น แล้วมันก็ส่งออกมาเป็นสายยาวยืดออกมา ยึดกายกับจิต ยึดกายกับขันธ์ แล้วก็เกาะเกี่ยว

ถ้าเราทำความสงบของเรานะ มันจะเห็นว่าปุถุชนคนหนาไปด้วยกิเลสมันจะติดสิ่งนี้ บ่วงของมาร รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ นี้คือบ่วงของมาร จิตจะเกาะเกี่ยวสิ่งนี้ กิเลสมันอาศัยสิ่งนี้ออกไปยึดสิ่งต่างๆ แล้วเราพยายามทำความสงบของใจ ถ้ามันสงบเข้ามา เราควบคุมไม่ได้ เราจะไม่เห็นว่าระหว่างปุถุชนกับกัลยาณปุถุชนมันต่างกันอย่างไร

ปุถุชนคนหนาไปด้วยกิเลส คือคนควบคุมใจของตัวเองไม่ได้ เวลาใจของตัวเองมีความต้องการ มีความทุกข์ มันเดือดร้อนขึ้นมา เราก็เป็นบ่าวของมัน คือว่ามันก็ใช้อำนาจของมัน เราก็เออออนะ คล้อยตามจิตนี้ไปตลอด จิตของปุถุชน คือไม่สามารถเอาดวงจิตของตัวเองเอาไว้ได้ เราใช้สติควบคุมด้วย ใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้ามาอย่าง เราเห็นเข้ามา ปล่อยเข้ามาบ่อยครั้ง หรือเรากำหนดพุทโธๆ ด้วยศรัทธาจริต กำหนดพุทโธ พอจิตมันสงบ การชำนาญในวสี เห็นไหม มันชำนาญตรงนี้ไง

ชำนาญในวสี วสีคือกำหนดพุทโธๆๆ นี่เหตุ ถ้าจิตนี้มันสงบขึ้นมา เราเห็นความสงบของจิต แล้วเราสร้างเหตุขึ้นมา มันสงบครั้งแรกมันก็มีความสงบขนาดนี้ ๕ นาที ๑๐ นาที ชั่วโมงหนึ่ง กำหนดสงบเป็น ๕ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมง จะกำหนดความสงบขนาดไหนก็ได้ นี่มันปล่อยจากบ่วงของมารเข้ามา เราควบคุมได้

ถ้าเราควบคุมสิ่งนี้ เราจะเห็นความตัดของมันนะ ตัดจากบ่วงของมาร บ่วงของมาร สิ่งนี้มันไปเกาะเกี่ยวอยู่ แล้วสติเราไม่ทัน พอมันเกาะเกี่ยวมันก็ฟุ้งซ่านออกไป วสี การชำนาญของเราในการกำหนดพุทโธ ตั้งสติของเราย้อนกลับเข้ามา พอเห็นความย้อนกลับเข้ามา นี่มันขาดนะ

สิ่งที่ขาด รูป รส กลิ่น เสียง บ่วงของมารขาดออกไปจากใจ นี้เป็นกัลยาณปุถุชนไง สิ่งนี้ควบคุมใจตัวเองได้ง่าย พอมันกระเพื่อมขึ้นมา มันจะรับรู้สิ่งต่างๆ ออกไปรับรู้รูป รูป รส กลิ่น เสียง เราจะว่านี่ออกแล้ว สติมันจะพร้อมไป ถ้าอย่างนี้เราควบคุมใจเข้ามาจนเป็นพื้นฐาน แล้วเราควบคุมสิ่งนี้ย้อนกลับไง ย้อนกลับเข้ามาขุดคุ้ยหากิเลสนะ

ทุกคนจะหากาย ว่าอยากเห็นกาย กายอยู่ที่ไหน เวทนาอยู่ที่ไหน จิตอยู่ที่ไหน ไม่เคยเห็น พอจิตมันตั้งมั่นตลอด จิตนี้เป็นผู้วิปัสสนา มันจะเห็นสิ่งนี้แล้วจับสิ่งนี้ตั้งอย่างที่ว่า เห็นกายก็สภาวะของกาย มันเป็นสมบัติสาธารณะ มันเป็นสมมุติ สิ่งที่สมมุติ พระพุทธเจ้าก็บัญญัติขึ้นมาให้เป็นธาตุ ๔ สิ่งนี้เป็นธาตุ ๔ เท่านั้น สิ่งที่เป็นธาตุ ๔ เพราะมีหัวใจครอง คนเราถึงเดินไป ถึงหัวเราะ ถึงทุกข์ ถึงยากได้ ถ้าใจทิ้งออกไปแล้ว ธาตุ ๔ นี้มันก็เหมือนกับท่อนซุงไง

เหมือนกับท่อนซุงนะ พอคนตายแล้วมันจะแข็ง แล้วมันจะเน่า มันจะเสื่อมสภาพไป กลับไปเป็นธรรมชาติของธาตุ ๔ สิ่งนี้เป็นธาตุ ๔ แต่ขณะที่มีชีวิตอยู่ เราต้องให้เห็นว่าการเป็นสภาวะของมัน ที่จิตมันเกาะเกี่ยวกับสิ่งนี้ สิ่งที่อยู่กับเรานี่ มันยึดโดยจิตใต้สำนึก

เราเป็นชาวพุทธเราศึกษาธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประเพณีวัฒนธรรมของเรา เวลาจัดงานประเพณีงานศพ เผาเวียน ๓ รอบ วัฏวน กามภพ รูปภพ อรูปภพ ตราสังก็เหมือนกัน ห่วงบุตร ห่วงภรรยา ห่วงสมบัติ สิ่งนี้เกาะเกี่ยวกับชีวิตตลอดไป ให้เตือนใจไง เราก็ว่าไม่ใช่ของเรา มันไม่ใช่ของเราเพราะเราศึกษา เราไม่ใช่ของเราเพราะมันด้วยสัญญา แต่จิตใต้สำนึกมันว่าเป็นของเราไหม ถ้ามันว่าไม่เป็นของเรา ทำไมมันหลงล่ะ ทำไมมันยึดล่ะ

ถ้ามันยึด มันชำระกิเลสนะ เวลาชำระกิเลส เวลาวิปัสสนาเข้าไปมันจะปล่อยนะ จิตนี้วิปัสสนากาย เห็นสภาวะของกาย พอพิจารณาไปมันปล่อย ปล่อยเสร็จแล้วเราก็ดูใจของเรา ปล่อยขนาดไหนเราก็ตั้งสติไว้มันจะมีความสุข มีความเวิ้งว้าง วิปัสสนามันเป็นผลของงาน งานที่เรากำหนดสมาธิด้วยสติ ด้วยพุทโธ หรือด้วยปัญญาอบรมสมาธิ มันเป็นความเวิ้งว้างอย่างหนึ่ง

แต่ขณะที่จิตวิปัสสนา นี่เราชำระกิเลสไง กิเลสมันเริ่มสะเทือนนะ เราวิปัสสนาบ่อยครั้งเข้า กิเลสมันสะเทือน สะเทือนแล้วมันก็จางลงๆ เราจะซ้ำอย่างนี้ตลอดไป ถึงที่สุดจนกิเลสขาด เราจะเห็นความขาดของมันนะ สังโยชน์ขาดออกไป ๓ ตัว สังโยชน์คือเครื่องรัดร้อยของจิตไง สักกายทิฏฐิ ความเห็นนะ ทิฏฐิความเห็นว่ากายนี้เป็นเรา เรานี้เป็นกาย จากจิตใต้สำนึกนะ ไม่ใช่จากสัญญา

จากจิตใต้สำนึก เห็นสภาวะ กายนี้ไม่ใช่เรา เรานี้ไม่ใช่กาย จิตนี้ไม่ใช่เรา เรานี้ไม่ใช่จิต สภาวะอย่างนี้มันปล่อยวาง จิตนี้ไม่ใช่เรา แล้วตัวจิตมันคืออะไรล่ะ? คือตัวมันวิปัสสนาไง วิปัสสนาสิ่งนั้นน่ะ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ทุกข์ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ทุกข์ มันจะปล่อยออกไปนะ เวลาสภาวะขาดออกไปอย่างนี้ มันจะมีความสุขมหาศาลเลย เพราะอะไร เพราะมันเป็นความจริง มันเป็นอกุปปธรรม มันมีหัวใจผู้รองรับ จิตดวงนี้รองรับผลงานอันนี้

นางวิสาขาเป็นเด็ก ๗ ขวบ ยังทำความเข้าใจสิ่งนี้ได้ แล้วเราอายุเท่าไร ปัญญาของเราเท่าไร แล้วเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระไตรปิฎกค้นคว้าศึกษามาเท่าไร แล้วทำไมเราไม่เร่งความเพียรเอาสิ่งนี้ขึ้นมาในหัวใจของเราล่ะ ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นมาจากในหัวใจของเรา ทุกข์ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ทุกข์ จิตนี้ปล่อยวาง เวิ้งว้างมาก ความสุขอันนี้เกิดขึ้นมาจากใจ เป็นอกุปปธรรม สิ่งนี้จะไม่เสื่อมจากใจดวงนี้

นางวิสาขาไม่ได้เจริญรุ่งเรืองไปกว่านี้ แต่นางวิสาขาก็จะเกิดตายอีก ๗ ชาติเท่านั้น พระอานนท์เป็นพระโสดาบัน แต่พระอานนท์ต้องค้นคว้าต่อไปจนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว พระอานนท์วิปัสสนาจนถึงที่สุด ถึงว่าพระโสดาบันมันก็มีขั้นมีตอน จะอยู่พระโสดาบันก็แค่นั้น แต่ถ้าวิปัสสนาขึ้นไปล่ะ? วิปัสสนาขึ้นไปก็ต้องทำจิตให้สงบลึกเข้าไป

ทีแรกเราว่า เวลาจิตมันสงบ มันเวิ้งว้าง มันละเอียดอ่อนมาก เวลาวิปัสสนาขึ้นไป ครูบาอาจารย์บอกว่าสิ่งนี้มันเป็นสิ่งหยาบๆ ไง เพราะอะไร เพราะสัมมาสมาธิกับสติ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ เฉพาะ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ เห็นไหม เวลาสูงขึ้นไป ๕๐ เปอร์เซ็นต์ หรือมหาสติ มหาปัญญา จากสติปัญญานะ ถ้าเรามีสติ ความเพียรของเราจะเป็นความเพียร ถ้าเราขาดสติ ความเพียรของเราก็ล้มลุกคลุกคลาน

เราว่าเราทำความเพียร เราพยายามต่อสู้กับความเพียร เราเบื่อหน่ายมาก เบื่อหน่ายในความเกิดความตาย เราจะต้องดับสิ้นความเกิดและความตาย เวลากิเลสมันขาดออกไปจากใจทีละชั้นทีละตอน เราจะเห็นนะ สิ่งนี้ขาดออกไป สิ่งนี้ขาดออกไป แล้วเราจะไม่เกิดไม่ตาย เราก็รู้ขึ้นมาจากหัวใจ หัวใจนี้จะรู้เลย แล้วจะเข้าใจว่าการเกิดและการตายมันเป็นเรื่องการหลอกกัน

สิ่งที่หลอกกันนะ สมบัติสาธารณะมันแปรสภาพไปตามธรรมชาติของมัน น้ำ เวลาโดนแดดเผามันก็ระเหยขึ้นไปโดยธรรมชาติของมัน พอมันรวมตัวขึ้นมามันก็ตกลงมาโดยธรรมชาติของมัน มันเป็นสิ่งไม่มีชีวิต แต่หัวใจที่วิปัสสนานี่ ธาตุรู้ไง ความมหัศจรรย์ของธาตุรู้ สิ่งที่ว่ามีชีวิตๆ เพราะมีธาตุรู้ตัวนี้ไง ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศธาตุคือความว่างในโพรงกระดูกไง ในอวกาศในสิ่งที่เป็นความว่าง แต่ตัวธาตุรู้ถ้าตัวธาตุรู้นี้ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา หลงตัวเอง มันก็ยึดมั่นถือมั่นออกมาเป็นชั้นเป็นตอน แต่วิปัสสนาเข้าไปจนเป็นวิชชา ดับสิ่งนี้หมดขึ้นไป นี่ธาตุรู้สะอาด ธาตุรู้นี้บริสุทธิ์

ความเกิดความตายมาจากไหน ทั้งๆ ที่มีชีวิตอยู่นะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ตั้งแต่วันวิสาขบูชา ไม่ตื่นเต้นกับเรื่องของโลกเลย ไม่ตื่นเต้นเรื่องของความเกิดความตายเลย เวลาจะปรินิพพาน พระอานนท์ขอร้องแล้วขอร้องอีกไง เพราะอะไร เพราะต้องการที่พึ่งที่อาศัย

“อานนท์เราบอกเธอไว้แล้วไม่ใช่หรือ ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับไปเป็นธรรมดา แม้แต่ตถาคตก็ต้องปรินิพพานในคืนนี้”

เห็นไหม ไม่ตื่นเต้นกับสิ่งใดๆ เลย เพราะกิเลสมันไม่มีไง สิ่งนี้เป็นสภาวธรรม นี่ถึงเป็นอกาลิโก เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มีธาตุ ๔ เหมือนเรา มีหัวใจเหมือนเรา แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติจนถึงที่สุด พ้นออกไป แต่ของเรานี่กิเลสในหัวใจ

เพราะกิเลสตัวบิดเบือน ตัวบิดเบือนนะ ทั้งๆ ที่ว่าเรามีหลักมีเกณฑ์ในหัวใจ แต่กิเลสที่ละเอียดอ่อนกว่า พญามารมันแพ้มาขั้นตอนหนึ่ง เหมือนกลศึก กลศึกที่มันแพ้ขั้นตอนมาขั้นตอนหนึ่งของกลศึกนั้น มันก็มีกลศึกอันละเอียดอ่อนที่มันจะพลิกแพลง กลศึกที่ทำให้หัวใจหลงเข้าไปในอำนาจของพญามาร เราถึงต้องทำความสงบของใจ เพราะใจ ถ้าทำความสงบของใจ มันจะเป็นเอกัคคตารมณ์ ใจมันจะตั้งมั่น แล้วมันจะย้อนกลับ เพราะครูบาอาจารย์คอยชี้นำไง

มันติดได้หมด คำว่า “ติดสมาธิๆ” สมาธิขั้นละเอียดก็ติดได้ สมาธิขั้นหยาบก็ติดได้ สมาธิที่มีฐานพื้นรองของใจขึ้นมามันก็ติดได้ สิ่งนี้ติด เพราะเราเข้าใจว่านี้คือการประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะกิเลสมันละเอียด กลศึกนี้มันละเอียดอ่อนมาก จะทำให้เราล้มลุกคลุกคลาน

แล้วถ้าเราสุกเอาเผากิน อยากได้ผลมาก “เวลามันเวิ้งว้างขนาดนี้มันก็เป็นผลแล้ว” นี่กิเลสมันหลอกไง หลอกในการประพฤติปฏิบัติ การประพฤติปฏิบัติมันต้องได้ผลของความจริง แต่การประพฤติปฏิบัติของเราได้ผลจากอุปกิเลส สิ่งที่กิเลสสร้างภาพ สร้างความว่าง สร้างความอะไร กิเลสมันหลบไง หลบอยู่ในความว่างนั้นน่ะ

เวลาเราประพฤติปฏิบัติแล้วเราอ่านธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “น้ำใสแล้วจะเห็นตัวปลา” นี่พระปฏิบัติเข้าใจนะ ทำจิตให้สงบแล้วจะเห็นกิเลส กิเลสมันจะมาให้เราเชือด กิเลสมันจะให้เรามาทำลาย รอนะ น้ำใสแล้วเดี๋ยวปลามันจะว่ายเข้ามาให้เราทำลายมัน

มันจะเป็นไปได้อย่างไร เพราะในครูบาอาจารย์ประพฤติปฏิบัติจะเข้าใจเรื่องนี้มาก เพราะอะไร เพราะเรื่องกิเลสมันร้อยสันพันคมไง เวลาจิตเราสงบ มันก็ซุกอยู่ในความสงบนั้น เพราะจิตเป็นเรา เราเป็นจิต กิเลสก็อยู่กับเรา สิ่งต่างๆ ก็อยู่กับเรา เราจะคิด เราจะใช้ปัญญาขนาดไหน กิเลสมันรู้ตัวทันตลอดไป แล้วมันก็หลบเลี่ยง หลบซ่อนอยู่ในหัวใจของเรา เราถึงต้องทำความสงบของใจแล้วขุดค้นไง ขุดค้นหามัน หากาย หาเวทนา หาจิต หาธรรม เพราะสิ่งนี้ กิเลสอาศัยสิ่งนี้ สิ่งที่อาศัยสิ่งนี้มันถึงว่ากิเลสมันบิดเบือน ถึงไม่เป็นอกาลิโก

อกาลิโกคือว่า มันจะเป็นตามความเป็นจริง แล้วร้องเรียกสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม ให้มาดูธรรมในหัวใจ แต่ขณะที่กิเลสมันอยู่ในหัวใจนะ มันจะร้องเรียกให้มาดูธรรม โดยมันบิดเบือนไง ธรรมถึงไม่เป็นอกาลิโก ธรรมถึงเป็นเรื่องของกิเลสบิดเบือน สิ่งที่บิดเบือนขึ้นไปเราถึงต้องพยายามตั้งสติ

ความผิดพลาด มันปล่อย มันว่างขนาดไหน เราก็ต้องพยายามค้นคว้าหา หาสิ่งที่ละเอียดเข้ามา กายนอก กายใน กายในกาย เวทนานอก เวทนาใน เวทนาในเวทนา จิตนอก จิตใน จิตในจิต เห็นไหม มันลึกลับอย่างนี้ แล้วถ้าเราไม่มีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ เราจะรู้ได้อย่างไร เราจะรู้ได้อย่างไร

เวลาครูบาอาจารย์ประพฤติปฏิบัติถึงซึ้งในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง ไม่มีครูไม่มีอาจารย์ แล้วธรรมก็ไม่มี ทำไมค้นคว้ามาได้?

ได้ เพราะว่าท่านปรารถนาสร้างเป็นพระโพธิสัตว์มา แต่เราสาวก สาวกะ เราพร้อมอยู่แล้ว สิ่งที่ว่าเป็นยาไง ยาอยู่ในตู้ อยู่ในตู้เราก็เก็บไว้ในตู้ เราไม่กินนะ เราจะอยู่ในตู้ พระไตรปิฎกอยู่ในตู้ เราก็ต้องเปิดพระไตรปิฎก เปิดตู้ก่อน มีศรัทธาความเชื่อ เคลื่อนไหว ยกกายเราเข้าไปหาตู้พระไตรปิฎก แล้วก็เปิดตู้พระไตรปิฎก ยกเล่มพระไตรปิฎกออกมาเปิดค้นคว้าไง นี่ธรรมมีอยู่

แล้วเปิดมาแล้ว อ่านแล้วเข้าใจไหม เหมือนกับฉลากของยา แล้วเรายังไม่ได้ดื่มกินรสของยาเลย เพราะคำว่า “สมาธิ” มันก็เป็นตัวอักษร “ปัญญา” ก็เป็นตัวอักษร เป็นหนังสือ เป็นตำรับตำรา เวลาเราเกิดสมาธิมันเกิดที่ใจ ใจเราเป็นสมาธิ นี่ตัวยา สมาธิธรรมเราได้ดื่มกินแล้ว ปัญญาที่เกิดขึ้นที่มันค้นคว้า นี่ปัญญาก็เกิดจากใจเราแล้ว มันไม่ใช่เป็นอยู่ในพระไตรปิฎก ในพระไตรปิฎกเป็นแผนที่เครื่องดำเนิน แล้วเราก็ตีความนะ ตีความเพื่อจะเข้าข้างกิเลส

เห็นไหม กิเลสมันบิดเบือนอย่างนั้นนะ บิดเบือนว่ามันจะเป็นสภาวะแบบนั้น แล้วก็พอใจตามที่กิเลสบิดเบือน แล้วก็เดินตาม เพราะกิเลสเป็นเรา ใครมันจะสงวนตนรักตนเท่าเรา เรานี้สงวนตนมาก รักตนมาก แล้วเราก็คาดหมายตามความเห็นของเรา มันจะคาดหมาย มันไม่เป็นตามความด้นเดาของเราหรอก เราด้นเดาธรรมจะเป็นอย่างนั้นๆ นะ ใครก็คิดว่านิพพานจะเป็นอย่างนี้ๆ จะมีความสุข จะมีความเวิ้งว้าง...เวิ้งว้างขนาดไหน

สุขเวทนา ทุกขเวทนา เวลาเราเกิดความทุกข์ ทุกข์ของใจ ทุกข์ของกาย เจ็บไข้ได้ป่วย ทุกข์ของกาย เวลาเจ็บปวด เจ็บปวดใจ ทุกข์ของใจ เห็นไหม สุข โสมนัส โทมนัส ทุกข์ของกาย ทุกข์ของใจ ความเป็นทุกข์อยู่ในนี้ ความทุกข์อันนี้มันบีบบี้สีไฟอยู่อย่างนี้มาตลอด แล้วสุขอย่างนี้มันจะเป็นสุขนิพพานได้อย่างไร เพราะเรามีขันธ์น่ะ คิดขนาดไหนมันก็อยู่ใต้อำนาจของขันธ์ เพราะขันธ์อย่างหยาบ ขันธ์อย่างกลาง ขันธ์อย่างละเอียด เดี๋ยวถ้าล้มลุกคลุกคลานขึ้นไป ต่อสู้ขึ้นไปจะไปเห็นขันธ์ในหัวใจนะ เห็นขันธ์ละเอียดในหัวใจ กามราคะอยู่ในขันธ์ นี้มันเพียงวิปัสสนาเข้ามาเพื่อจะทำลายให้ใจกับจิตนี้ปล่อยวางกันนะ

วิปัสสนาเข้าไป กายจากภายใน วิปัสสนาเข้าไป ถ้าจับตรงนี้ได้ วิปัสสนา การคราด การไถ การพยายามทำวิปัสสนาให้มรรคมันสมดุล ให้มรรคมันเป็นไปตามธรรมชาติ ตามธรรมไง ตามธรรม ไม่ใช่ตามการจงใจของเรา ตามคาดหมายของเรา ตัวตนของเรามีอยู่ ตัวตนของเราพยายามทำอย่างนั้นอยู่

นี่มันละเอียดขนาดไหน กิเลสก็ละเอียด สิ่งที่กิเลสละเอียด เข้าไปบิดเบือนอย่างนี้ มันก็ไม่สัมปยุต สิ่งที่ไม่สัมปยุต ไม่รวมตัว ไม่สามัคคี สิ่งที่สามัคคี เราถึงต้องหมั่นคราดหมั่นไถ วันนี้มันปล่อยวางอย่างนี้ เราก็ซ้ำอีก วันนี้ปล่อยวางอย่างนี้ ปล่อยวางแล้วก็เรื่องของการปล่อยวาง เพราะปล่อยวางมันก็เป็นอดีตไปแล้ว

ในปัจจุบันมีอะไร สิ่งที่เป็นสิ่งที่กวนใจอยู่นี้ พิจารณาสิ่งนี้ เห็นกาย พิจารณากาย เห็นจิตมันเป็นขันธ์อย่างกลาง ธรรมารมณ์ก็เพราะจิตเกาะเกี่ยวกับขันธ์ เกาะเกี่ยวกับความรู้สึก แล้วเป็นอารมณ์ขึ้นมา เป็นธรรมารมณ์ เวทนาก็ความทุกข์ความสุขของใจ หมั่นตรวจสอบหมั่นค้นคว้า มันอยู่กับเรานะ

เวลาที่ว่ามนุษย์ มนุสสเปโต มนุษย์เป็นเปรตเป็นผี นี่มันก็เกิดจากใจ ความคิดที่มันหมักหมมอย่างนั้น มนุสสเทโว มนุษย์ที่เป็นเทวดา จิตมันสร้างคุณงามความดี มันช่วยเหลือสังคม มันก็เป็นมนุษย์เทวดา สิ่งนี้มันก็เป็นอยู่ในใต้วัฏฏะ แต่เราวิปัสสนานะมันละเอียดกว่านั้นอีก ละเอียดกว่าความคิดนี้ เพราะมันจะทำลายความคิดนี้ ความคิดนี้มันเป็นขันธ์ มันเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรม

สิ่งที่เป็นนามธรรม ว่าไม่มีๆ จิตมันอยู่ไหน ถ้าสมาธิตั้งตัวไม่ได้ ไม่มี แล้วมันสงบได้อย่างไร ไม่มี ทำไมมีความสุข แล้วคนที่มีความสุขเป็นใคร...ถามตัวเองสิ ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา จิตมันตั้งมั่น มันมีความรู้สึกอันนี้ แล้วมันไม่มีไปไหน? จิตมันมี จิตความรู้สึกนี้มันมี แต่มันเป็นจริงโดยนามธรรม

สิ่งที่เป็นนามธรรม ความคิดเกิดขึ้นมา เห็นแขกจรมา สิ่งนี้แยกแยะได้ เอาความคิดนี้ใคร่ครวญแยกแยะออกมา สัญญากระทบสิ่งที่ความไม่ชอบใจ สิ่งนี้เกิดเป็นความโกรธ กระทบสิ่งที่ชอบใจ อันนี้เป็นความพอใจ อยากให้มันอยู่กับเรา นี่สัญญา สังขารมันปรุงมันแต่งขนาดไหน แยกกันได้ สติมันพอ นี่แยกได้

วิปัสสนากาย เห็นกายสภาวะอย่างนี้ ให้ออกให้ธรรมะอำนาจของสมาธิ เจโตวิมุตติ เจโตวิมุตติด้วยอำนาจของสมาธิพิจารณาให้มันแปรสภาพ เห็นไหม เหมือนกำปั้นทุบดิน เหมือนการทำง่ายๆ ไง เหมือนกับเราเอากำปั้นทุบดินนี่ถึงอยู่แล้ว จิตเหมือนกัน เห็นกายแล้วแยกให้เป็นวิภาคะ ให้แปรสภาพ บ่อยครั้งเข้าๆ ถึงที่สุด สิ่งนี้จะแยกออกจากกัน กายกับจิตจะแยกกันโดยธรรมชาติ โลกนี้ราบเป็นหน้ากลอง สิ่งนี้ โลกนี้ราบหมดเลย เพราะจิตมันถอนออกมา กามราคะปฏิฆะอ่อนตัวลง โดยปัจจุบันในหัวใจ โดยปัจจัตตัง จิตต้องมีสภาวะแบบนี้ แล้วจิตดวงนั้นเป็นผู้รู้ดวงนั้น ไม่ต้องให้ใครรับรอง ไม่ต้องให้ใครชี้แนะ มันเป็นความเห็น

ชี้แนะแต่ทางดำเนิน ครูบาอาจารย์จะชี้แนะทางดำเนิน ผลของแต่ละดวงใจนี้มันจะเป็นผลของใจนั้น เพราะอำนาจวาสนา เพราะจริตนิสัย ความแก่อ่อนของการกระทำ ความหนักหน่วงหรือความเบาของการกระทำ เน้นแต่ว่าไม่สุกเอาเผากิน เราต้องหมั่นคราดหมั่นไถ หมั่นคราดกับจิตของเรา ใช้ปัญญาใคร่ครวญอยู่ตลอดเวลา เราใคร่ครวญน่ะ ความผิดพลาดมันจะไม่มี

แต่ถ้าเราเป็นวิปัสสนูนะ มันเวิ้งว้างมันจะมีเหตุผลรองรับ เหตุผลของเรา ถ้าเหตุผลของเรา เราสงสัยไหม? เราสงสัย “ทำไมเป็นอย่างนั้นน่ะ ทำไมมันว่างแล้วเดี๋ยวทำไมคิดเรื่องนั้นล่ะ ทำไมอันนี้มันกระทบใจเราล่ะ สิ่งที่กระทบใจมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร”

ถ้ามันกระทบใจ สิ่งนั้นมี ถ้าสิ่งนั้นมี ตรงนั้นคือตัววิปัสสนา จับตรงนั้นแล้วใคร่ครวญด้วยปัญญา ปัญญาจะใคร่ครวญสิ่งนี้บ่อยครั้งๆ ถึงที่สุด ปล่อยหมด ไม่มี ว่างหมด รื้อค้นขนาดไหนก็ไม่มี ไม่มีในขั้นตรงนี้นะ จะมีความสุข นี่เป็นปัจจัตตังกับใจดวงนั้น โลกนี้ราบเป็นหน้ากลอง กามราคะ ปฏิฆะอ่อนลง จิตนี้ทำสมาธิได้ง่ายมาก เพราะมันชำนาญมาก สิ่งนี้ชำนาญมาก เพราะขณะใคร่ครวญกันไปจนเป็นอกุปปะในหัวใจ ๒ ขั้นขึ้นมาแล้ว นี่เป็นผลรองรับไง สิ่งนี้ยกขึ้น

ถ้าเราไม่ไตร่ตรอง นี่มันติดได้ไง “นี้คือนิพพาน นี้คือเป้าหมายของจิต” ทั้งๆ ที่ว่าสิ่งที่ว่าเป็นพญามารในหัวใจมหาศาลเลย เพราะอะไร เพราะสิ่งที่เป็นกามราคะไง สิ่งที่กามราคะทำให้ใจดวงนี้ดูดดื่ม ดูดดื่มพอใจในวัฏวน ดูดดื่มพอใจในกามภพ สิ่งนี้ถ้าตายไป ถ้าผู้ปฏิบัติติดอยู่ตรงนี้ตายไป เกิดบนเทวดา เทวดาเพราะอะไร เพราะทำสิ่งนี้อ่อนลงเท่านั้น

แต่ถ้าเราย้อนกลับเข้ามาสิ ย้อนกลับเข้ามา มันเป็นความกามราคะไง สิ่งที่เป็นกามราคะเพราะมันดูดดื่ม มันพอใจ แล้วค้นหาไม่เจอ มันละเอียดอ่อนมาก

“น้ำใสแล้วเห็นตัวปลา” สิ่งนี้มันจะเป็นเครื่องยืนยันกับจิตที่เคยวิปัสสนา ถ้าจิตวิปัสสนา ถ้าน้ำใสแล้วเห็นตัวปลา เราจะต้องเห็นสิ่งนี้สิ ถ้าเกิดเราทำสมาธิแล้วจะเกิดปัญญาโดยธรรมชาติ ปัญญามันต้องเกิดขึ้นมาโดยธรรมชาติสิ ปัญญาที่เกิดโดยธรรมชาตินั้นคือปัญญากิเลสมันสร้างขึ้นมา กิเลสมันสร้างขึ้นมาให้เราหลง กิเลสสร้างขึ้นมาให้เราติด กิเลสสร้างขึ้นมาว่า “เราใช้ปัญญาแล้ว ปัญญาของเราใคร่ครวญแล้ว เราปล่อยวางแล้ว” แล้วมันก็ทำให้นอนจมไง ว่าเราทำงานจบกระบวนการแล้ว เรานอนจมอยู่นี้ นี่กิเลสละเอียดไหม กิเลสทำให้ใจดวงติดอยู่ตรงนี้ แล้วก็เกิดบนเทวดา เกิดเป็นเทวดาก็เป็นเทวดาพระอริยเจ้า ไม่ใช่เทวดาปุถุชน

แต่ถ้าเราพยายามค้นคว้าของเราเข้ามา ย้อนกลับเข้าไป ทำความสงบให้มากขึ้น แล้วพยายามค้นคว้าว่าสิ่งที่มันมีอยู่ในหัวใจมันคืออะไร ถ้ามันเห็น มันจับต้องได้นะ นี่ค้นคว้าสิ่งนี้ ถ้าเราเจอกาย สิ่งนี้จะเป็นอสุภะ คำว่า “เราพิจารณาอสุภะ อสุภัง” อสุภะนี่ตรงนี้ต่างหาก เพราะอะไร เพราะเราติดในความสวยความงาม เราติดในสิ่งที่ว่าเป็นคุณประโยชน์เท่านั้น แต่เป็นโทษ สมบัติเราไม่สนใจเลย

อสุภะคือจะมีสภาวธรรม สิ่งที่จิตนี้มีความสงบแล้วเป็นสภาวธรรมอันนี้ มันจะเห็นสภาวะสิ่งที่เป็นภัยอันนี้เป็นอสุภะ มันเป็นอสุภะโดยธรรมชาติ เราพิจารณากายจนทิ้งกายเราชั้นหนึ่ง ว่าสักกายทิฏฐิเราทิ้งมาแล้ว กายมันต้องไม่มี สิ่งที่เราทิ้งสักกายทิฏฐิคือความเห็นผิด สิ่งที่เราพิจารณากายขึ้นมา จนกายกับจิตแยกออกจากกัน มันเป็นอุปาทานของจิตที่มันยึดกาย แต่ถ้าเราไปเห็นตรงนี้ มันเป็นอสุภะ

สิ่งที่มันเป็นอสุภะ เพราะว่าธรรมชาติอย่างนี้ จิตละเอียดอย่างนี้ เห็นความสกปรกโสโครกของธาตุ ๔ ไง ถ้าธาตุ ๔ ไม่มีไออุ่นนะ ไม่มีจิตอยู่ ที่ว่าเผาผลาญในร่างกายนี้อยู่ ตายลงเมื่อไหร่ก็แล้วแต่ จิตนี้ ร่างกายนี้ต้องเน่า ต้องแปรสภาพไป แต่ขณะที่จิตมีสมาธิอยู่นี่ มันเห็นโดยธรรมไง สิ่งที่สภาวธรรม ทั้งๆ ที่ร่างกายนี้โดยธรรมชาติไม่ได้เน่าไม่ได้เปื่อย แต่สภาวะของธรรมมันเห็นความเป็นอสุภะ เห็นความสกปรกโสโครกของร่างกายนี้ เพราะสภาวธรรมที่เห็นขึ้นมาไง

สิ่งที่เป็นสภาวธรรมที่เห็นนี้คือปัญญา สิ่งที่เห็นปัญญานี้คือพิจารณาเป็นอสุภะ พอเห็นเป็นอสุภะ มันก็เริ่มรังเกียจ เริ่มเห็นสิ่งนี้ รังเกียจสิ่งนี้ ถ้ารังเกียจกาย นี่จิตมันจะปล่อยวาง ปล่อยวางสิ่งนี้เข้ามา มันจะปล่อยวางบ่อยครั้งเข้า จนกิเลสมันเสี้ยมได้นะว่า “นี่เราปล่อยวางแล้ว จิตเราปล่อยจากอสุภะแล้ว ถึงว่าเราจึงสิ้นสุดของการประพฤติปฏิบัติ ถึงนิพพาน” นี่มันสร้างได้อย่างนั้นน่ะ

ถ้ามันสร้างได้อย่างนั้นต้องจับจิตนะ เราตั้งสมาธิให้ได้ แล้วเอาความสวยงาม เอาความพอใจของจิตมาแนบไว้กับจิต ให้จิตมีความสวยงาม มีความพอใจ ถ้ามันมีความพอใจ มันก็มีอารมณ์ มีความต้องการ มีความรู้สึก ถ้ามีความรู้สึก นี่ไง กิเลสมันอยู่นี่ แล้วไหนว่ากิเลสมันขาดไปแล้วไง

เห็นไหม วิปัสสนูปกิเลสมีอยู่ทุกขั้นตอน วิปัสสนูปกิเลสอย่างหยาบๆ มันก็หลอกได้หยาบๆ วิปัสสนูอย่างกลางก็หลอกได้อย่างกลาง วิปัสสนูอย่างละเอียด เห็นไหม มันหลอกจิตได้ขนาดนี้น่ะ วิปัสสนูปกิเลสนะ

แล้วถ้าวิปัสสนาล่ะ วิปัสสนาคือการใคร่ครวญไง ทำจิตนี้ แล้วตั้งจิตนี้ให้ได้ เอาความสวยงามเข้ามาแนบกับจิตก็ได้ ดูความสวยงาม เพราะมันมีความสวยงาม...เพราะจิต เพราะธรรมชาติของมัน มันต้องออก ความรับรู้ อารมณ์ สิ่งที่รู้อารมณ์ อารมณ์ของกามราคะมันมีความพอใจ นี่ไง อ๋อ! ใจมันยังมีกามราคะ มีกามราคะ เห็นไหม ในพระไตรปิฎกในเทวดา ในอินทร์ ในพรหม เขาก็มีคู่ของเขา เขาก็เสพกามของเขา เขามีความเสพกาม แต่กามของเขาเป็นทิพย์ไง แต่กามของมนุษย์ปุถุชนคือกามราคะไง

แต่เวลาวิปัสสนาเข้ามา นี่กามของใจไง กามของใจคือความพอใจของมัน ความจมอยู่ในกามของมัน สิ่งที่เราวิปัสสนา สิ่งที่ว่าอยู่ในกาม วิปัสสนาสิ่งนี้ ใคร่ครวญสิ่งนี้ออกมา ใคร่ครวญคือว่าให้มีพลังงาน ทำความสงบของใจ ถ้าจิตมันต้องการงานนะ มันเห็นผลของการวิปัสสนา มันจะวิ่งเข้าทำงานตลอดเวลา เราต้องตั้งสติแล้วกำหนดพุทโธๆ ต้องรั้งเอาไว้นะ รั้งให้จิตเข้ามาเพิ่มพลังงาน พอเพิ่มพลังงานนี้ออกไป มันจะเห็น ที่ว่าเป็นสุภะ เพราะเราตั้งขึ้นมาเป็นอุบายวิธีการให้จิตมันค้นคว้าหาสิ่งที่มันเป็นความฝังใจ หาสิ่งที่ว่าสังโยชน์ที่มันรัดร้อยกามราคะกับจิตนี้

พอเห็นสิ่งนี้เป็นสุภะ มันเกิดความพอใจ เกิดความพอใจนี้คือตัวกิเลส เราก็มั่นใจ แล้วเราจับแปรกลับมาเป็นอสุภะ สิ่งที่เป็นอสุภะ พอวิปัสสนาไป มันหลุดผลัวะ! ว่าง หลุดผลัวะ! ว่าง วิปัสสนาซ้ำแล้วซ้ำเล่า สิ่งนี้มันจะขยับเคลื่อนเข้ามาๆ จนเข้าไปถึงในหัวใจ มันจะทำลายกันที่หัวใจนั้นนะ ทำลายหัวใจจนครืน! หัวใจนี้สนั่นหวั่นไหว ขันธ์อันละเอียดจากหัวใจหลุดออกไปจากใจนะ กามราคะขาดออกไปจากใจ ถ้าสิ่งนี้เกิดเป็นพรหม จะไม่เกิดในกามภพอีกแล้ว ภพ วัฏวน รูปภพ อรูปภพ มันจะเห็นชัดเจนว่าการเกิดของจิตปฏิสนธิเป็นอย่างไร จิตเกิดในขั้นนี้เกิดอย่างไร

แล้วเราวิปัสสนา เรามีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ เราจะวิปัสสนาย้อนกลับเข้ามา ฝึกฝน เห็นไหม ในขั้นของกามราคะ เศษส่วนของใจ วิปัสสนาซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันจะปล่อยวางเป็นชั้นเป็นตอน นี่เราจะติดได้ไง ติดที่ว่ากามราคะปล่อยวางแล้ว แล้ววิปัสสนามันก็ปล่อยวางอีก นี่มรรค ๔ ผล ๔...มันจะอ้างอิงไง

วิปัสสนูปกิเลสอย่างละเอียดสุด มันจะว่าสิ่งนี้ปล่อยวาง แล้วเวิ้งว้างเข้ามาในตัวมันเอง จิตที่รับรู้ต่างๆ ที่ว่า ใครเป็นผู้วิปัสสนา คือจิตที่วิปัสสนาเขามา วิปัสสนาสิ่งต่างๆ แล้วผลรองรับจิต คือตรงนี้มันจะปล่อยวางเข้ามา รับรู้สิ่งต่างๆ เข้ามา นี่เป็นฐาน สิ่งที่เป็นฐานยวบเข้ามาๆ จนถึงตัวมันเอง มันวิปัสสนาซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันจะซ้ำแล้วปล่อยวางสิ่งนี้ อันนี้ละเอียดเข้าไปเป็นชั้นเป็นตอนไง เป็นอนาคา ๕ ชั้น พ้นจากนี้ไปเวิ้งว้างหมด ว่างหมดเลย

ตัวใจไง ผู้ที่มีเรือนว่าง เราเป็นผู้ที่มีเรือนว่าง เราเวิ้งว้าง เราเป็นคนที่บ้านร้าง โลกทั่วไปเขาดำรงชีวิตของเขา เขามีคู่ครองของเขา เขาใช้ชีวิตของเขา เขาเกิดลูกเกิดหลาน เกิดสิ่งต่างๆ ในการดำรงชีวิตของเขา แต่วิปัสสนาเข้ามาจนถึงนี่ เหมือนกับเราอยู่ในบ้าน โดยเราถือเนกขัมมะ เราเป็นผู้ที่เรือนว่าง ไม่มีสิ่งต่างๆ จะไม่มีลูกมีหลานเกิดขึ้นมาจากบ้านหลังนั้น แต่ใครอยู่ในนั้นน่ะ เราไม่มีลูกไม่มีหลาน เราก็เหมือนบ้านของเราสะอาดแล้ว นี่วิปัสสนูปกิเลสมันจะทำให้ติดอย่างนั้น แล้วเราก็พอใจ ว่าง เวิ้งว้าง สิ่งที่ว่าง สิ่งที่เวิ้งว้าง มันเป็นธรรมชาตินะ พลังงานอะไรก็แล้วแต่ ถ้ามันเกิดขึ้นมามันต้องย่อยสลายตัวมันเอง

นี่ไงจิตนี้ผ่องใส จิตนี้เศร้าหมอง มันละเอียดยิบแยบๆ อยู่ในหัวใจ ยิบแยบๆ อยู่ในหัวใจนะ แต่ถ้าไม่มีอรหัตตมรรคเข้ามา มันจะไม่เห็นหรอก มันจะว่านี่ว่าง กิเลสทุกอย่าง กิเลสทุกตัวละเอียดมาก แล้วเข้าข้างตัวเอง จะเข้าข้างตัวเองตลอดไปว่าสิ่งนี้คือธรรมๆ สิ่งนี้คือเป้าหมาย ทั้งๆ ที่คือตัวอวิชชานะ ทั้งๆ ที่คือพญามารนะ พญามารละเอียดอ่อนกว่านั้น ตรงนี้คืออนุสัยไง จิตอนุสัยอยู่ตรงนี้ อนุสัยของจิต ภวาสวะ กิเลสสวะ อวิชชาสวะ นี่สิ่งนี้อนุสัยอยู่ในหัวใจ มันปล่อยสิ่งต่างๆ เข้ามา

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส” มันจะทำให้ตรงนี้ย้อนกลับไป จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส แล้วจิตเดิมแท้นี้พยายามย้อนกลับ จิตเดิมแท้นี้จะเป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส

นี่ถึงต้องย้อนกลับ ถ้าย้อนกลับตัวนี้ มันเป็นความมหัศจรรย์มาก ตรงนี้เป็นจุดที่ว่าจุดเป็นจุดตาย ถ้าเราจับตรงนี้ไม่ได้ สิ่งนี้จะเกิดบนพรหม แล้วสุกไปข้างหน้า แต่เวลายาวไกล แต่ถ้าเราย้อนกลับเข้ามาตรงนี้ได้ เราย้อนกลับเข้ามาจับสิ่งนี้ได้ เราใช้วิปัสสนาเข้าไป ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์นะ เราจะใช้ปัญญาด้วยความคิดของเราว่าเราเคยใช้ปัญญา ปัญญาอย่างนี้ฆ่ากิเลสมาตั้งแต่ต้น เราเห็นมาแล้ว เราจะใช้ปัญญาแบบรุนแรง

อุทธัจจะ สิ่งที่เป็นอุทธัจจะคือทำให้จิตนี้มันเคลือบมันไหว ปัญญาอันละเอียดมันจะใช้ปัญญาอย่างเราไม่ได้ ปัญญาอย่างที่เราคิดขึ้นมา ปัญญาอย่างเราคือว่าโลกียปัญญา ปัญญาอย่างโลกนะ มันเป็นเรื่องของโลก แต่ภาวนามยปัญญาอย่างละเอียด ถึงจะเป็นภาวนามยปัญญามันก็เป็นสังขาร สิ่งที่เป็นสังขารคือขันธ์กับจิตมากระทบกัน แต่ถ้ามันเป็นขั้นละเอียดสุด มันจะเป็นปัญญาญาณนะ มันถึงว่าเป็นอุทธัจจะ มันกระเพื่อม จิตนี้กระเพื่อมออกไป จิตนี้เสวยอารมณ์ เสวยสิ่งต่างๆ มันก็ออกไป มันหยาบ มันทำไม่ได้ มันจะล้มลุกคลุกคลาน นี่วิปัสสนูปกิเลสอย่างละเอียดสุดจะทำให้ล้มลุกคลุกคลาน

เราจะต้องพยายามฝึก หมั่นฝึกซ้อม หมั่นพยายามย้อนเข้ามาจนกว่ามันจะละเอียดเข้าไป เหมือนปัญญาญาณนะ การซับการซึมเข้าไปถึงตรงนั้น มันจะกลืนตัวมันเอง แล้วมันทำลายตัวมันเองนะ อวิชชานี้เป็นวิชชา พลิกคว่ำตรงนี้ออกไป

ธรรมนี้เป็นอกาลิโก สิ่งที่ว่าจิตนี้เป็นอกาลิโก จิตนี้ไม่เคยตาย จิตนี้ไม่มีเวลา จิตนี้ไม่มีอายุนะ คนเกิด ๘๐-๑๐๐ ปี มันก็มีตัณหาความทะยานอยากเหมือนกัน เพียงแต่เด็กๆ นี่มันเป็นความไร้เดียงสา ทำสิ่งใดมันก็ดูสวยงาม เพราะมันไร้เดียงสา แต่ไร้เดียงสาเพราะพ่อแม่ดูแล มันเป็นธรรมชาติ แต่เวลาเรามีอายุขัยขึ้นมา มันเป็นไร้เดียงสาไหมล่ะ? มันเป็นกิเลสน่ะ มันทำลายใจ มันทำลายให้หัวใจทุกข์ร้อนน่ะ

สิ่งนี้มันไม่มีเวลาไง ขณะเกิดอยู่ในชาติหนึ่งมันยังแปรสภาพอย่างนั้น แล้วมันเกิดในวัฏฏะ มันไม่มีเวลา อกาลิโก ธรรมก็ไม่มีเวลา อย่าไปเชื่อตามข่าว อย่าไปเชื่อตามกิเลส ว่ากึ่งพุทธกาล ๕,๐๐๐ ปี ไปแล้วว่าต่อไปพระสงฆ์จะมีเฉพาะผ้าผูกคอ ถ้าผ้าผูกคอขนาดไหนมันก็เรื่องของอดีตนะ เรื่องของอนาคตข้างหน้า สิ่งนี้เป็นข้างหน้า

แต่ปัจจุบันนี้เราทำได้เพราะอะไร เพราะเรามีความรู้สึก เราสามารถพยายามควบคุมใจของเราไม่ให้ฟุ้งซ่านได้ ถ้าเราฟุ้งซ่าน เวลาใจเราคิดออกไป มันก็เหมือนเราสาดน้ำออกไปบนดิน มันจะระเหยไปหมดเลย เราพยายามทำเข้ามา เราพยายามใช้ภาชนะ ศีล ใช้ศีลนี้กลั่นกรองเข้ามา มันก็ทำให้น้ำนั้นอยู่ในโอ่งในไห จิตตั้งมั่น สัมมาสมาธิ ในเมื่อมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา ปัญญาอย่างนี้เกิดขึ้นมา มันถึงทำลายกิเลสไง กิเลสที่สิ่งที่ละเอียด สิ่งที่ลึกลับซับซ้อนในหัวใจนะ มันมีอำนาจมาก แล้วมันทำลายใจของสัตว์โลก

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงเย้ยพญามารไง “มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา เราเห็นตัวเจ้าแล้ว แล้วทำลายแล้ว เธอจะเกิดจากใจของเราอีกไม่ได้เลย” แต่เวลาเราคิด เราว่าเราดำริไหม เราคิดของเราเป็นอย่างไรล่ะ เราไม่ได้คิดว่าเราดำริหรอก มันเป็นเราไปทั้งหมด

สิ่งนี้ กิเลสมันอยู่ตรงนี้ไง มันสมานสิ่งนี้ ความคิดกับใจนี้อันเดียวกัน แล้วมันก็บีบบี้สีไฟให้เราทุกข์ร้อนอยู่ในวัฏฏะ ในวังวน แล้วธรรมมีอยู่ เราเห็นแต่ฉลากของยา เราเห็นตู้พระไตรปิฎก เพราะตู้พระไตรปิฎกบังธรรม บังธรรมเพราะอะไร เพราะตู้พระไตรปิฎกบอกไว้ ย้อนกลับเข้าไปที่ใจ ย้อนกลับ แต่เราก็อ่านพระไตรปิฎก แล้วเราก็ยึดพระไตรปิฎก เอาจุดพระไตรปิฎกเป็นเป้าหมาย แต่เราไม่คิดว่าพระไตรปิฎกชี้ไปที่ใจนะ ไม่ได้ชี้ไปที่เล่มหนังสือพระไตรปิฎกนะ พระไตรปิฎกชี้เข้าไปที่ใจของผู้ที่ปฏิบัติ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ เราชี้เข้ามาที่ใจของเรา

พระไตรปิฎกเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสะอาดบริสุทธิ์ แล้วถึงออกมา มันเป็นกิริยาของใจดวงนั้น ถึงชี้เข้าไปที่ใจดวงนั้น เห็นไหม ตู้พระไตรปิฎกบังธรรม ธรรมถึงไม่เป็นอกาลิโก มันถึงให้กิเลสเหยียบย่ำทำลาย การประพฤติปฏิบัติมันก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส ว่าเป็นวิปัสสนู แต่กิเลสในหัวใจเต็มหัวใจ แล้วก็วิปัสสนูไป จะเวิ้งว้าง จะว่างขนาดไหน เป็นอจินไตย เรื่องของฌาน เพราะไม่มีเหตุไม่มีผล

ถ้ามีเหตุมีผลนะ วิปัสสนาเข้าไป สังโยชน์ขาดออกไปทุกชั้นตอน ในพระไตรปิฎกว่าไว้นะ “เวลากิเลสขาดดั่งแขนขาด” เห็นความขาดออกไปชัดเจน จะเป็นความชัดเจน ถึงครูบาอาจารย์ เวลาสนทนาธรรม ธมฺมสากจฺฉา พูดถูกพูดผิดนี่จะรู้เลย ถ้าพูดถูกคือสิ่งนี้เคยผ่าน ถ้าพูดผิด สิ่งนี้ไม่เคยผ่าน นี่วิปัสสนูปกิเลส

ถึงสิ่งนั้น ตู้พระไตรปิฎกเรากราบไหว้นะ กราบพระพุทธรูป กราบถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมตตาธรรม เมตตาคุณ ปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธรูปนี้เป็นตัวแทนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระไตรปิฎกเป็นตัวแทนของธรรม ธรรมนี้ เราเอาพระไตรปิฎกเป็นบรรทัดฐาน แต่ถ้าใจของเราถึงธรรม ตู้พระไตรปิฎกหรือพระพุทธรูป นี่เรากราบถึงหัวใจเลย

เพราะหัวใจ ตู้พระไตรปิฎกก็ชี้เข้ามาที่ใจ พระพุทธรูปก็เพราะปัญญาคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีอยู่ แล้วเราประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราไม่มีอาสวักขยญาณ เราจะไม่สามารถชำระกิเลสของเราได้ ถ้าเราไม่มีอรหัตตมรรค เราไม่มีปัญญาอันละเอียดสุด เราจะไม่สามารถชำระกิเลสได้

ถ้าเราสามารถชำระกิเลสของเราได้ วันนี้วันมาฆบูชา เราปฏิบัติบูชาพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ แล้วทั้งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์สอนพระอรหันต์ด้วย ความผิดพลาดสิ่งต่างๆ ไม่ควรทำเลย ควรทำจิตใจให้ผ่องใส ควรทำจิตเราให้ถึงพร้อม ควรทำจิตเราให้ถึงที่สุด เอวัง