มีภูมิไม่อวด
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “เทศน์หลวงปู่เจี๊ยะ”
กราบนมัสการหลวงพ่อครับ ไม่ใช่ปัญหาครับ ผมได้ฟังเทศน์ของหลวงปู่เจี๊ยะแล้วซาบซึ้งใจในคุณธรรมของท่านครับ หลวงปู่สอนพิจารณากายและกล่าวถึงการรายงานผลต่อหลวงปู่มั่น โดยไม่ได้ยกตัวอย่างท่านเลยครับ ท่านใช้คำว่า “มีภิกษุหนุ่มองค์หนึ่งได้ค้นคว้าพิจารณากายจนได้ลงถึงความจริง แล้วภิกษุหนุ่มองค์นั้นก็ได้นำเรื่องการปฏิบัติไปเล่าถวายต่อองค์หลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นไม่ได้คัดค้านเลย” หลวงปู่ท่านยังว่า “เราบังเอิญแอบได้ยินเข้า จึงได้นำมาเล่าสู่กันฟัง”
ผมเทียบเคียงกับเทศน์หลวงพ่อที่เล่าว่า พรรษา ๒ หลวงปู่ท่านได้ ๒ ขั้น แล้วท่านนำเรื่องการภาวนาไปกราบเรียนหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นไม่คัดค้านสักคำ ทั้งที่ภิกษุหนุ่มองค์นั้นก็คือท่านเอง แต่ท่านก็เก็บเงียบไว้ ไม่ได้เปิดออกมา ได้รับรู้แล้วมันซาบซึ้งใจครับ
ตอบ : นี่เขาว่าได้รับรู้นะ กรณีนี้มันเป็นกรณีสัจจะความจริง ถ้ากรณีสัจจะความจริง สิ่งที่เป็นความจริง ความจริงเป็นความจริงไง แต่ความจริง ผู้มีภูมิเขาไม่ตื่น เขาไม่ตื่น เขาไม่อวด เขาไม่แสดงตน คำว่า “แสดงตน” เขาแสดงตน แล้วถ้าไม่แสดงตน เราเอาคำพูดที่หลวงปู่เจี๊ยะเล่าให้ฟัง ไม่แสดงตน ทำไมเรารู้ล่ะ
ท่านเล่าให้เราฟัง ท่านเล่าให้เราฟังเพราะอะไรล่ะ เล่าให้เราฟังเพราะว่าตอนที่เราไปอยู่กับท่าน แล้วเวลาคุยเรื่องภาวนากัน เวลาคุยเรื่องภาวนากันระหว่าง ๒ คน ๒ คนระหว่างท่านกับเราเวลาคุยเรื่องภาวนากัน ฉะนั้น เวลามีปัญหาขึ้นมา ๒ คน ๒ คนอ้างใครล่ะ อ้างหลวงปู่มั่น ท่านก็พูดถึงหลวงปู่มั่น
แล้วเวลาปกติเราขึ้นไปอุปัฏฐากท่าน ท่านจะเล่าให้ฟังเรื่องต่างๆ เยอะมาก เยอะมาก หมายถึงว่า ประสบการณ์ของท่าน ฉะนั้น ประสบการณ์ของท่านก็ย้อนกลับไปไง ย้อนกลับไปถึงตอนที่ท่านอยู่วัดทรายงาม ตอนอยู่วัดทรายงามอยู่กับหลวงปู่กงมา ท่านปฏิบัติอย่างไร ท่านเล่าให้ฟังหมด ท่านปฏิบัติอย่างไร ท่านรู้อย่างไร ท่านรู้เห็นอย่างใด แต่นี้ความรู้เห็น อำนาจวาสนาของคนไง อำนาจวาสนาของคน หมายถึงว่า นิสัยกิริยาของท่านเป็นแบบนั้น ถ้านิสัยกิริยาของท่านเป็นแบบนั้น
เวลาคนที่มีภูมินะ คนที่มีภูมิ โดยธรรมชาติของชาวพุทธก็บอกว่า ผู้ที่มีภูมิ ผู้ที่มีอริยภูมิต้องเป็นผู้ที่ละกิเลส เป็นผู้ที่สงบเสงี่ยม เป็นผู้ที่มีมารยาทสังคม เป็นผู้ที่ดีงามไปทั้งหมดเลย
แต่กิริยาของท่านเป็นแบบนั้น แต่ท่านมีภูมิ ท่านมีภูมิ ท่านไม่แสดงออกมาเลย แต่ภูมิในใจของท่านเต็มหัวใจ ถ้าเต็มหัวใจ ท่านพูดให้ฟังเอง ท่านพูดให้เราฟังประจำ บอกว่า สิ่งที่ท่านรู้ท่านเห็นไม่พูดให้ใครฟัง จะพูดองค์เดียวเท่านั้นคือหลวงปู่มั่น ท่านถึงขึ้นไปหาหลวงปู่มั่นไง
ทีนี้ตอนขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น พี่สาวกับแม่ของท่าน ด้วยพ่อแม่เลี้ยงลูกมาก็รู้ว่าลูกนิสัยเป็นอย่างใด แล้วความเป็นอยู่ของลูกเป็นอย่างใด ก็เลยละล้าละลังๆ พยายามจะดึงท่านไว้ ก็คิดว่าไม่ให้ท่านไปทุกข์ไปยากไปลำบาก นี่พูดประสาโลก พ่อแม่ก็ปรารถนาดีอยากให้ลูกอยู่วัดข้างบ้าน แล้วท่านจะเป็นอุปัฏฐากเอง ท่านจะดูแลเอง การอยู่การกินท่านจะดูแลอุปัฏฐาก แล้วถ้าลูกออกไปไกลตา แล้วรู้ว่าลูกนิสัยเป็นแบบนี้ จะอยู่ได้อย่างใด
แต่หลวงปู่เจี๊ยะท่านไม่พูดออกมา ท่านไม่พูดออกมา ท่านไม่พูดให้ใครฟัง ท่านไม่พูดให้ใครฟังเลยว่าในใจของท่านมันมีภูมิ มันมีความรู้จริงขนาดไหน แล้วความรู้จริงของท่าน หลวงปู่กงมาท่านก็เป็นความจริง แต่ทำไมท่านไม่ปรึกษาหลวงปู่กงมาล่ะ
ปรึกษาหลวงปู่กงมา ก็หลวงปู่กงมาเป็นคนเทศน์ เป็นคนสอน แล้วท่านเป็นคนประพฤติปฏิบัติ ทีนี้ปฏิบัติขึ้นมาแล้วมันอยากก้าวหน้าๆ อยากคนที่พูดแล้วมันถึงใจ ถ้ามันถึงใจขึ้นไป ท่านถึงปฏิญาณ ท่านพูดกับเราเอง ท่านบอกว่าต้องหลวงปู่มั่นองค์เดียว จะเล่าก็ต่อเมื่อหลวงปู่มั่นเท่านั้น ไม่พูดให้ใครฟัง จะเล่าก็ต้องหลวงปู่มั่นเท่านั้น ท่านถึงขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น
พอขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น เวลาเข้าไปหาหลวงปู่มั่นครั้งแรก ท่านรอเวลาให้สงบสงัดแล้วท่านขึ้นไปกราบการภาวนาของท่าน พอกราบการภาวนาของท่านนะ แล้วท่านก็ถามหลวงปู่มั่นเลย บอกว่า “แล้วให้ผมทำอย่างไรต่อไป แล้วให้ผมทำอย่างไรต่อ ที่ปฏิบัติมาแล้วจะให้ผมทำอย่างไรต่อ”
หลวงปู่มั่นบอกว่า “ให้ทำแบบเดิม”
คำว่า “ทำแบบเดิม” เพราะว่ามีความถนัดทางนี้ใช่ไหม คนทำแล้วได้ประโยชน์มาทางนี้ คนทำแบบนี้ได้ประโยชน์มา จริตนิสัยมันตรงกับแบบนี้แล้วให้ทำแบบเดิม แล้วแบบเดิมแบบใดล่ะ
ถ้าแบบเดิม คนภาวนาไม่เป็น แบบเดิม แบบเดิมก็จับต้นชนปลายไม่ถูก แต่แบบเดิมของผู้มีภูมิ ตั้งแต่บุคคลคู่ที่ ๑ บุคคลคู่ที่ ๒ แล้วคู่ที่ ๒ แล้วต่อไปอย่างไรล่ะ จะเห็นกายอย่างไร จะต่อสู้เห็นกายอย่างไร ก็ต้องให้ทำความสงบให้มากขึ้นไป
ฉะนั้น คนที่มีภูมิเขาไม่ตื่น เขาไม่อวด ถ้าเขาตื่น เขาตื่นก็คือตื่นในความเห็นของตัว ถ้าไม่มีภูมิไปจำสัญญาของใครมาแล้วตื่น ตื่นมากเพราะว่ากลัวว่าภูมิของตัวจะไม่เป็นจริง จะเทียบจะเคียง จะให้คนนั้นยอมรับ จะพูดให้คนนับหน้าถือตา จะให้คนนั้นเขายอมรับความเป็นจริง
มันเป็นภูมิของเราเอง มันเป็นความรู้จริงในหัวใจของเราเอง ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อมันเรื่องของเขา แต่ถ้าเป็นความจริงของเรามันไม่ตื่น ถ้ามันไม่อวดล่ะ มันจะไปอวดกันทำไมล่ะ เพราะคนที่ปฏิบัติมาระดับนี้เขาจะหาที่สงบสงัด หาครูบาอาจารย์คอยชี้นำ เขาจะหาที่ปฏิบัติของเขา เขาไม่ไปคลุกคลีกับใครหรอก เขาพยายามจะแสวงหา จะทำของตัวเองให้ได้ เว้นไว้แต่กิเลสมันละเอียด กิเลสมันหลอกเอาหัวปั่นเลย ถ้ากิเลสมันหลอกหัวปั่น มันไม่มีทางไป ถ้าไม่มีทางไปมันก็ต้องพึ่งครูบาอาจารย์
อยู่กับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านก็คอยให้อุบาย คอยส่งเสริม แล้วท่านก็ปฏิบัติต่อเนื่องมาๆ นี้มันเป็นความจริง ความจริงของท่าน ถ้าเป็นความจริงของท่าน
ถึงบอกว่าซาบซึ้งใจมาก ซาบซึ้งใจมาก มันซาบซึ้งเพราะว่า หลวงปู่เจี๊ยะท่านพูดเอง พูดในเทศน์ท่านพูดบ่อย “มีภิกษุหนุ่มองค์หนึ่งได้ค้นคว้าพิจารณากายลงถึงความจริง แล้วภิกษุหนุ่มองค์นั้นก็ได้นำเรื่องไปกราบ ไปถวายหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นไม่คัดค้านเลย แล้วบังเอิญเราไปได้ยินมา”
ใครได้ยินมา ก็ตัวท่านเอง ก็ตัวท่านเองพูดกับหลวงปู่มั่น ใครจะได้ยิน ก็ตัวท่านน่ะได้ยินเอง ตัวท่านได้ยินเอง ตัวท่านรู้เอง ตัวท่านรู้แก่ใจ แต่เวลาท่านมาเทศน์อย่างนี้ บอกไม่พูดให้ใครฟังเลย แล้วเวลาเทศน์ออกมา “มีภิกษุหนุ่มองค์หนึ่งได้การพิจารณากายจนลงถึงความจริง” อันนี้มันเป็นอุบาย
เวลาพูด หลวงตาท่านจะบอกว่าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมา เวลาเทศนาว่าการก็เทศนาว่าการมาจากประสบการณ์ของตัวเอง ประสบการณ์อันนั้นสำคัญมาก ประสบการณ์เป็นความจริง นี่คือหลักใจ หลักใจหลักความจริงที่มีอยู่กับใจ จะเทศน์สิ่งใดเทศนาว่าการ หลวงตาท่านบอกว่าใจของท่านเป็นน้ำอมตธรรม ตักตวงไม่หมด ธรรมในหัวใจของหลวงตา ให้ตักให้ตวง ให้ขนไปเท่าไรก็ไม่หมด เพราะมันเป็นความจริงในใจดวงนั้น
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าภิกษุหนุ่มองค์หนึ่งท่านได้พิจารณาค้นคว้า พิจารณากายจนลงสู่ความจริง มันก็เป็นความจริงในใจของท่าน ถ้าในใจของท่าน ท่านแสดงออกมา แต่ไม่บอกว่าเป็นใครเลย ท่านแสดงออกมาให้ยืนยัน ยืนยันว่าความจริงของท่านมี ถ้าความจริงของท่านมี จะพูดเมื่อไหร่ก็ได้ จะเอามาใช้ประโยชน์เมื่อไหร่ได้ตลอดเวลา นี่ของที่มีอยู่จริง ถ้าของที่มีอยู่จริงมันก็ไม่ตื่นไปกับเขา ไม่อวดไม่อ้างไปกับเขา
ถ้ามันอวดมันอ้าง มันกลัวเขาจะไม่รู้ กลัวเขาจะไม่เป็นความจริง ถ้าข้างในไม่มีมันเป็นแบบนั้น เพราะข้างในไม่มี ถ้าข้างในไม่มี ส่วนใหญ่แล้วโดยภาคปริยัติเขาถึงบอกว่าเวลาเทศนาว่าการก็บอกพุทธพจน์ๆ...มันก็ถูกต้อง ถูกต้องเพราะว่า ถ้าเราเป็นบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เราก็มีศาสดา มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง เราก็ต้องอ้างอิงตามนั้น แต่อ้างอิง อ้างอิงมันภาคปริยัติไง ทีนี้ภาคปริยัติ เราศึกษาแล้วภาคปริยัติ ถ้าคนที่ปฏิบัติ คนที่เป็นภาคปริยัติปฏิบัติไม่เป็น ยังไม่เคยปฏิบัติ เวลาอ้างอิงก็พยายามจะบอกว่าอยู่กับพุทธพจน์ๆ
แต่ถ้าคนที่ปฏิบัติเป็นนะ ก็อ้างอิงพุทธพจน์เหมือนกัน แต่อ้างอิงโดยที่มีความจริงของตัวเปรียบเทียบ มีความจริงของตัว แล้วผู้ที่มีความรู้จริงพูดพุทธพจน์ๆ คนที่เขามีความจริงเขารู้ เพราะปริยัติ ปฏิบัติ พอปฏิบัติแล้วความจริงในใจอันนั้น เห็นไหม ใบไม้ในป่า ใบไม้ในป่า คนที่รู้จริงขึ้นมามันมีข้อเท็จจริง มีวิธีการ มีผลของการที่ปฏิบัติ มันมีมหาศาลอยู่ในใจดวงนั้น
ทีนี้เวลาอ้างอิงออกมา พระปัจเจกพุทธเจ้ากับพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้ารู้จริง แต่ไม่ได้สร้างทฤษฎีอันนี้ไว้ ไม่ได้สร้างอริยสัจ ไม่ได้สร้างสัจจะ ไม่ได้สร้างศาสนธรรมที่ส่งต่อกันมา นี่พระปัจเจกพุทธเจ้า ก็รู้จริง
เขาบอกพระปัจเจกพุทธเจ้าสอนไม่ได้ พระปัจเจกพุทธเจ้าสอนไม่ได้
พระปัจเจกพุทธเจ้าสอนได้ สอนได้ทั้งที่มีชีวิตของท่านอยู่ แต่ท่านไม่ได้วางทฤษฎีต่อเนื่องมา แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวาง เพราะอะไร เพราะเรื่องอริยสัจ เรื่องสัจจะ เรื่องธรรมและวินัยที่วางไว้ให้พระอานนท์ทรงจำมา แล้วจดจารึกกันมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติศัพท์มา ฉะนั้น เวลาที่บัญญัติศัพท์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่ามันเป็นใบไม้ในกำมือ พระไตรปิฎกตู้หนึ่งก็ใบไม้ในกำมือ แต่ความรู้จริง ความจริงใบไม้ในป่าอีกมหาศาลเลย แต่ต้องเป็นความจริงนะ คนที่รู้จริงเขาไม่อวด ไม่ตื่น ไม่อวด เขาเอามาเพื่อประโยชน์
แต่คนที่ไม่รู้จริงอ้างไง อ้างบอกว่าใบไม้ในป่า ใบไม้ในป่าตามกิเลสไง ถ้ากิเลส ถ้าความเห็นของตัวมันจะแถมันก็บอกว่านี่ใบไม้ในป่า ถ้าพอใจนี่ใบไม้ในป่า ถ้ามันขัดกิเลสบอกนี่ไม่ชอบใจ
เวลาบอกใบไม้ในป่า ท่านเปิดไว้ ท่านเปิดไว้กับผู้ที่รู้จริง ผู้ที่มีอำนาจวาสนา ปฏิบัติไปตามข้อเท็จจริงอันนั้น มันเกิดมามันมหัศจรรย์มาก แล้วเวลาอธิบาย เวลาสื่อก็สื่อโดยอ้างอิงพุทธพจน์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วขยายความ ขยายความตามความเป็นจริงอันนั้นไป ถ้ามีความจริงในใจมันเป็นแบบนี้มันถึงเรียกว่าปฏิบัติ
พอปฏิบัติขึ้นมา ปฏิบัติถ้ามีภูมิมันไม่อวดหรอก เพราะอวดไปทำไม อวดไปแล้ว คือประสาเราว่าเขาไม่รู้กับเรา ไก่ได้พลอย มันไม่มีประโยชน์หรอก เพราะพลอยมันกินไม่ได้ ไก่มันเห็นพลอย มันกินไม่ได้ แต่คน พลอยมันมีคุณค่ากว่าข้าวสารแน่นอน ถ้าไก่ได้พลอย มันขอข้าวสารเม็ดหนึ่ง พลอยเม็ดหนึ่งมันแลกข้าวสารเม็ดหนึ่ง มันขอข้าวสารดีกว่า ไก่ได้พลอยไม่มีประโยชน์อะไรเลย ไก่ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย
แล้วเวลาครูบาอาจารย์ท่านจะสอนไก่ให้ไก่มันรู้คุณค่าของพลอยกับของข้าวสารมันยากขนาดไหน แล้วจะอวดไปทำไม มนุษย์จะไปคุยกับไก่ให้ไก่เข้าใจความเป็นมนุษย์ มันเป็นไปได้ไหม แต่ก็ต้องฝืนสอนกันไป นี่ไง เวลาผู้รู้จริงมันมีความจริงมันก็เหมือนมนุษย์คุยกับไก่ ถ้ามนุษย์คุยกับไก่ แล้วมนุษย์ถ้ามีภูมิจะบอกให้ไก่มีความรู้แบบมนุษย์มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้ แล้วถ้าเป็นไปไม่ได้ เวลาปฏิบัติทำไมมันปฏิบัติได้
ถ้าปฏิบัติได้ คนคนนั้นปฏิบัติได้ คนคนนั้นก็มีความจริงขึ้นมา ถ้ามีความจริงขึ้นมามันก็เป็นประโยชน์กับใจดวงนั้น ถ้าใจดวงนั้นมันเป็นความจริงนะ
ฉะนั้น สิ่งที่เขาซาบซึ้งมันก็ซาบซึ้ง ทีนี้เขาบอก บังเอิญเวลาหลวงพ่อเทศน์ว่าหลวงปู่เจี๊ยะท่านเป็นแบบนั้นๆ
เพราะเอามายืนยันไง ยืนยันว่าเวลาหลวงตาท่านพูดถึงหลวงปู่เจี๊ยะ เรามองกันกิริยาภายนอกของหลวงปู่เจี๊ยะ แต่หลวงตาท่านบอกว่า หลวงปู่มั่นนิสัยท่านเรียบร้อยขนาดไหน หลวงปู่มั่นที่ท่านสร้างอำนาจวาสนาเป็นพระโพธิสัตว์มา ท่านปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปข้างหน้า แล้วท่านลาพระโพธิสัตว์ของท่าน แล้วท่านปฏิบัติมา อำนาจที่สร้างมามาก ท่านถึงเป็นแบบอย่าง ท่านถึงเรียบร้อย ท่านถึงเป็นหลักให้พวกเราเอาเป็นตัวอย่างได้
แล้วคิดดูว่า ท่านบอกว่า แล้วหลวงปู่เจี๊ยะไปอุปัฏฐากผ้าหลวงปู่มั่น ไปอุปัฏฐากอยู่กับหลวงปู่มั่น ไปใกล้ชิดอย่างนั้นน่ะ ถ้าไม่มีสติปัญญามันเข้าถึงไม่ได้หรอก ฉะนั้น เวลาท่านอยู่กับหลวงปู่มั่นท่านก็ใช้สติปัญญาของท่านเต็มที่ แต่เวลาท่านออกจากหลวงปู่มั่นมา ท่านก็ใช้นิสัยใจคอตามปกติของท่าน ตามความเห็นของท่าน
ทีนี้ความเห็นของท่าน แต่เวลาท่านเข้าไปหาหลวงปู่มั่น ท่านใช้ธรรมในใจของท่านกับหลวงปู่มั่น มันถึงเข้ากันได้ไง มันเข้ากันได้เวลาถ้าท่านใช้สติปัญญาเต็มที่ ท่านก็รับช่วงจากหลวงปู่มั่นได้ รับสิ่งอุปัฏฐากหลวงปู่มั่นได้ เข้าใจสิ่งที่หลวงปู่มั่นต้องการได้ แต่เวลาท่านออกมาเป็นเอกเทศของท่าน ท่านก็ใช้นิสัยใจคอของท่านตามปกติของท่าน ฉะนั้น สิ่งนี้มันเป็นเปลือก
ฉะนั้น เวลาเราไปอยู่กับท่าน ท่านพูดให้ฟัง ท่านพูดให้ฟัง เราถึงยืนยันอันนี้ ยืนยันอันนี้ให้เห็นว่า ใจดวงหนึ่ง ใจของหลวงปู่เจี๊ยะท่านได้ปฏิบัติของท่านมา ท่านมีคุณธรรมจริงในใจของท่าน แต่ท่านไม่อวดภูมิของท่าน
แต่ในปัจจุบันนี้ในสังคมโลกพยายามจะแสดงตัวตนว่ามีคุณธรรมๆ ดูกิริยามารยาทเรียบร้อย กิริยามารยาทต่อหน้านะ เรียบร้อยต่อหน้าบริษัท แต่เวลาลับหลังล่ะ ลับหลัง หมายถึงว่า ลับหลังในใจของท่าน ลับหลังคือในใจของตัวเองมันมีความจริงหรือเปล่า ถ้าไม่มีความจริงมันรู้สิ่งนี้ไม่ได้ มันรู้สิ่งนี้ไม่ได้ ถ้ารู้สิ่งนี้ไม่ได้ก็โดยภาคปริยัติ เวลาอ้าง อ้างพุทธพจน์ๆ นี่ก็เหมือนกัน เวลาอ้างครูบาอาจารย์ อ้างไปหมดล่ะ
ถ้าไม่มีภูมิ ไม่มีภูมิมันเป็นปัญหา เป็นปัญหากับตัวเอง พูดสิ่งใดก็ไม่กล้ายืนยันคำพูดของตัว จะทำสิ่งใดก็ไม่กล้ายืนยันความจริงอันนั้น แต่ถ้าคนที่มีอยู่แล้วมันยืนยันตั้งแต่เริ่มต้น มันยืนยันตั้งแต่ในใจ ในใจมันยืนยันของมันอยู่แล้ว ถ้ายืนยันอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามันควรพูดหรือไม่ควรพูด ถ้ามันควรพูด ท่านก็พูดเพื่อประโยชน์กับผู้ฟัง แต่ผู้ที่มีภูมิเขาไม่ตื่นเต้นไปกับเรื่องอย่างนี้หรอก เพราะว่าท่านทำของท่านได้แล้วมันเป็นประโยชน์กับใจของท่านโดยสมบูรณ์
นี่พูดถึงว่าเขาดีใจ เขาดีใจเพราะว่า ถ้าพูดถึงนะ พูดถึงถ้าไม่มีคนมาพูดเปิดทางไว้ ฟังแล้วก็ไม่รู้หรอก ฟังอย่างไรก็ไม่รู้ เพียงแต่ท่านพูดออกมาเป็นอุบายของท่าน แต่นี้เพียงแต่ว่าตอนอยู่กับท่าน ท่านเปิดกับเราเยอะมาก แล้วเปิดเยอะ เพียงแต่ว่าผู้รับนะ ผู้รับมันรับได้ มันก็เลยเป็นประโยชน์ ถ้าผู้รับไม่ได้ก็ยังงงอยู่นั่นน่ะ ท่านพูดมาหมายความว่าอย่างไรๆ ก็ยังงงอยู่นั่นน่ะ แต่รับมาเพื่อมันเป็นจริงด้วยกัน
ถาม : เรื่อง “เรียนถามข้อสงสัยในการปฏิบัติครับ”
กราบนมัสการ กระผมขอเรียนถามข้อสงสัยในการปฏิบัติดังนี้
๑. อริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เพราะอะไรนิโรธจึงอยู่ก่อนมรรคครับ ถ้าอ่านตามลำดับ ทุกข์ให้รู้ เหตุให้ทุกข์ควรละ นิโรธควรทำให้แจ้ง และมรรคควรทำให้เจริญ ถ้าอ่านเผินๆ นิโรธคือความดับทุกข์ น่าจะอยู่หลังจากมรรคเกิดแล้ว เพราะอะไรถึงมาก่อนมรรคครับ
ความเห็นส่วนตัว เพราะนิโรธเป็นชื่อของขณะจิตที่พบกับความจริงของการดับทุกข์ เมื่อพบขณะจิตนี้แล้วจึงทำมรรคให้เจริญต่อเนื่อง นั่นคือเจริญสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญานั่นเอง ดังนั้นนิโรธจึงมาก่อนมรรค
๒. สติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรมเป็นฐานที่ตั้งของการสังเกตอุปาทานในขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ คำถามก็คือตัวผมเองผมเข้าใจว่า ปกติผมมักจะใช้ฐานจิตในการพิจารณาให้เห็นความเป็นไตรลักษณ์ของขันธ์ ๕ ผมเห็นอนัตตาเป็นหลักครับ คำถามคือผมจำเป็นต้องทราบไหมครับว่าผมใช้ฐานอะไรเป็นหลัก คือถ้าแยกแยะระหว่างฐานจิตและฐานธรรม มันค่อนข้างก้ำกึ่งมากครับ หรือผมอาจจะแยกไม่เป็นเอง หรือบางทีผมก็ไปดูกายแล้วมันเป็นอารมณ์ แต่ผมก็เพิ่งทราบมาไม่นานนี้ว่าส่วนใหญ่ผมแทบไม่สนใจเลยด้วยซ้ำว่ามันเป็นฐานอะไรครับ ผมไม่แน่ใจว่ามันเป็นไปได้ไหมครับที่เราจะไม่ทราบว่าเราใช้สติปัฏฐานฐานไหนในการพิจารณาแยกแยะ ขอบพระคุณครับ
ตอบ : นี่พูดถึงเรื่องอริยสัจก่อน ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค โดยความเป็นจริง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ ทุกข์ ทุกข์มันเป็นสัจจะความจริงอันหนึ่ง แต่มันจะทุกข์มากทุกข์น้อยมันอยู่ที่สมุทัย นิโรธคือการดับทุกข์ ดับด้วยมรรค ทีนี้ดับด้วยมรรค พระโพธิสัตว์ พุทธวิสัย เวลาพูด ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ถ้ามรรค มรรคคือเครื่องดำเนิน ฉะนั้น มรรคคือเครื่องดำเนินมันถึงเกิดนิโรธ แล้วทำไมนิโรธก่อนมรรคล่ะ
นิโรธก่อนมรรค เพราะในวงอริยสัจเราไปแบ่งว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แยกออกเป็นส่วนๆ แต่ในอริยสัจ ในสติปัฏฐาน ๔ สิ่งที่ว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค สิ่งที่เป็นอริยสัจ เวลามันปฏิบัติไปมันเหมือนกับสันตติ มันเกี่ยวเนื่องกันไปๆ ถ้ามันเกี่ยวเนื่องกันไป เพราะมีมรรคอันนั้น เวลามรรคอันนั้นมันพิจารณาไปมันถึงนิโรธ มันถึงดับ พอมันดับ มันเข้าพร้อมกันออกพร้อมกัน ว่าอย่างนั้นน่ะ มันเร็วมาก ถ้าเร็วมาก แต่เรามาแยกส่วนเป็นกอง เป็นทุกข์ เป็นสมุทัย เป็นนิโรธ มรรค แล้วก็แยกพิจารณากันไป แต่เวลาเป็นความจริงมันเหมือนกับแกงไง เหมือนอาหารที่สำเร็จแล้วเราแยกส่วนใดออกไปอยู่ข้างนอกได้ไหม มันก็ไม่ได้ แต่เวลาส่วนผสม เรายังไม่ได้แกง มันแยกได้
นี่ก็เหมือนกัน เวลาส่วนผสม แยกทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เราก็บอกทำไมมันก่อนมันหลังล่ะ มันก่อนมันหลังเพราะมันต่อเนื่อง มันเป็นคราวๆ ไป ฉะนั้น สิ่งที่ปฏิบัติไปแล้ว พอเข้าใจแล้วมันจะเข้าใจ มันจะเข้าใจทีหลังถ้าเราปฏิบัติได้
ถ้าปฏิบัติไม่ได้ก็อย่างนี้ เราก็ว่ามันต้องมรรคก่อนแล้วค่อยนิโรธ เพราะเราไปแยกส่วนกันไป แต่ถ้ามันเป็นทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรคหยาบ มรรคละเอียด บุคคล ๔ คู่ มรรคมันจะเริ่มต่อเนื่องกันไป มันก็เกิดนิโรธอันละเอียดขึ้นไป สติ มหาสติ ปัญญา มหาปัญญา ปัญญามันเกิดขึ้นไป อันนี้เป็นสัจจะเป็นความจริง เป็นพุทธวิสัย เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่วางไว้
ไอ้พวกเราหางอึ่ง หางอึ่งพอยิ่งศึกษาแล้วยิ่งงง ยิ่งงงแล้วก็ยิ่งมาวิพากษ์ว่ามันควรจะเป็นอย่างนั้นๆ เพราะมันควรเป็นอย่างนั้น นี่สัญญาอารมณ์คาดหมาย พอคาดหมายแล้ว แล้วธรรมะควรเป็นอย่างนั้น นิพพานก็ควรเป็นอย่างนั้น ทุกอย่างควรเป็นอย่างนั้น มันก็เลยไม่มีฐานอะไรเป็นความจริงเลย
ฉะนั้น ถ้าความเห็นส่วนตัวล่ะ ความเห็นส่วนตัวเพราะว่ามันเกิดนิโรธก่อน มันเป็นขณะจิตที่รู้แล้ว มันเป็นการดับทุกข์แล้ว...อันนี้มันเป็นความเห็น ความเห็นก็ส่วนความเห็น ความเห็นอันหนึ่งนะ เพราะความเห็นอันนี้มันจะเข้ากับข้อต่อไป เพราะข้อต่อไปมันจะอธิบายตรงนี้
อธิบายว่า สติปัฏฐาน ๔ ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม การสังเกตในขันธ์ ๕ แล้วในการปฏิบัติเขาบอกว่า โดยปกติเขาใช้ฐานจิตในการพิจารณาให้เห็นไตรลักษณ์ เห็นไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์เป็นอย่างไรล่ะ เพราะเห็นไตรลักษณ์มันก็เหมือนการละสังโยชน์ๆ ก็จะไปละสังโยชน์ สังโยชน์เป็นอย่างไรล่ะ ก็ไปจับตัวสังโยชน์จะมาละ แล้วสังโยชน์ข้างนอกกับสังโยชน์ในหัวใจมันเป็นอย่างไรล่ะ
นี่ก็ว่าเห็นไตรลักษณ์ๆ เห็นอย่างไรล่ะ เราเห็นไตรลักษณ์มากกว่ามันเป็นอนัตตา มันเป็นอนัตตา แล้วอะไรเป็นอนัตตา อารมณ์เป็นอนัตตา จับสิ่งใดเป็นประโยชน์ไม่ได้เลย มันเป็นอนัตตาไปหมดเลย มันจับต้นชนปลายไม่ได้มันก็ไม่มีประโยชน์เลย นี่เวลาปฏิบัติเราปฏิบัติของเราไปเองไง
แต่ถ้าเราจะทำให้จริงของเรา เราทำความสงบของใจเข้ามาก่อนสิ ถ้าใจมันสงบเข้ามา ถ้าใจสงบเข้ามา พอจิตมันสงบแล้วเราก็รู้ว่าจิตสงบ พอจิตสงบ จิตสงบกับเวลาจิตที่มันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง
เห็นกาย เห็นกายมันก็เห็นรูปนั่นแหละ เห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ถ้ารูป เวทนา รูปนอก รูปใน ถ้ารูปกายก็เป็นรูปอันหนึ่ง แต่ถ้าเป็นรูปอารมณ์ความรู้สึก ขันธ์ ๕ ถ้าขันธ์ ๕ มันเป็นนามธรรม แต่ถ้าไปเห็นกาย เห็นกายมันเห็นตามความเป็นจริง แล้วเห็นอย่างไรล่ะถ้าเห็นกาย
มันเป็นเรื่องที่น่าสังเวชนะ คนที่เขาส่งเสริม คนที่เขาอยากจะช่วยเหลือ คนที่อยากได้บุญ เขาก็ไปพิมพ์รูปอสุภะกัน
มันเหมือนกับเราคัดค้าน เหมือนกับเราขวางโลกนะ ไอ้รูปอย่างนั้น ไอ้รูปอสุภะๆ ไอ้รูปที่เขาไปถ่ายซากศพอะไรกันมา เขาพิมพ์หนังสือแล้วแจกกันว่าเป็นรูปอสุภะ แล้วตามวัดปฏิบัติเขาจะมีโครงกระดูกต่างๆ แขวนไว้ให้คนพิจารณา แล้วทำอย่างไรต่อไปล่ะ ไอ้นี่มันรูปข้างนอก อย่างนี้มันก็เหมือนกับวงการแพทย์ วงการแพทย์เขาผ่าตัด ยิ่งพิสูจน์หลักฐานเขาไปผ่าซากศพ พิสูจน์จากศพ ไปผ่าซากศพที่เน่าที่พุที่พอง เขาผ่ามาเพื่อพิสูจน์ว่าตายเพราะอะไร ตายอย่างไร เขาชำนาญกว่าอีก อันนั้นมันเป็นวิทยาศาสตร์ แล้วถ้าเราเห็นอย่างนั้นล่ะ
นี่ก็เห็นอย่างนั้น พิจารณาเป็นไตรลักษณ์ มันจะเป็นไตรลักษณ์ มันเป็นอะไร มันเป็นเพราะว่าเราเข้าใจแบบนั้นมันเป็นวิทยาศาสตร์ แต่ถ้าเราทำจิตให้สงบนะ จิตมันสงบเข้ามาก่อน พอจิตมันสงบ จิตสงบเราก็รู้ว่าจิตสงบ
เวลาเราพิจารณา หลวงปู่เจี๊ยะท่านสอนอีกแหละ หลวงปู่เจี๊ยะบอกว่า ให้เอาจิตอยู่ในร่างกายเป็นชั่วโมงๆ มันเป็นสมถะ มันเป็นสมถะ มันกำหนดพุทโธๆ นี่เป็นสมถะ นี่ก็เหมือนกัน เราพิจารณากายๆ กายนอก กายที่นึกภาพขึ้นมา เวลามันปล่อยขึ้นมา สมถะทั้งนั้นน่ะ นี่สมถะ พิจารณากายเป็นสมถะ
เขาบอก “ถ้ากำหนดพุทโธเป็นสมถะ แล้วเห็นนิมิต”...ให้มันเห็นจริงเถอะน่า ถ้าจิตมันสงบแล้ว ถ้ามันเห็นจริงมันเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย แต่จิตมันยังไม่สงบใช่ไหม เราก็สร้างภาพว่านี่พิจารณากาย
ดูกายที่เขาสอนกันว่า เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ท่องเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนังก็ได้ พิจารณากาย พุทโธๆ มันก็เหมือนกันนั่นล่ะ พุทโธๆ เวลาอยู่กับพุทโธ ถ้าพุทโธถ้ามันสงบเข้ามา ถ้าสงบเข้ามามันจะเข้ามาตรงนี้ไงว่าฐานจิตหรือฐานธรรม เขาบอกเลย นี่สร้างภาพทั้งนั้นน่ะ อะไรเป็นฐานจิต อะไรเป็นฐานธรรม อะไรเป็นจิต อะไรเป็นธรรม มันมีกิเลสกับธรรมๆ เท่านั้นน่ะ ถ้าคิดเป็นโลกก็เป็นกิเลส ถ้าคิดเป็นธรรมมันก็เป็นธรรม แล้วฐานจิต ฐานธรรม เข้าใจไปเอง
ภาวนามาเยอะนะ เวลาภาวนาถามคำถามมาพอสมควร แต่พอมาตรงนี้ เราจะบอกว่านี่เป็นวิทยาศาสตร์ ที่เขาบอกว่าพระพุทธเจ้ารู้ ไอน์สไตน์เห็น เขาว่ากันไป พยายามจะสร้างภาพ พยายามจะจินตนาการ จินตนาการเอาโลกกับธรรมมาผสมปนเปกัน แล้วพอผสมปนเปมันก็เป็นสัญญา มันก็เป็นสัญญาอารมณ์ไปหมดเลย
แต่ถ้าจะเอาตามจริง เอาตามกรรมฐาน เอาแบบที่หลวงปู่มั่นสอน คนที่มีภูมิๆ มีภูมิเขาสอนนะ เวลาหลวงตาท่านไปหาหลวงปู่มั่น “มหา มหามาหามรรคผลนิพพานใช่ไหม”
เรียนมาจนจบเป็นมหา มันก็เรียนเรื่องพระไตรปิฎกมาหมดแล้วแหละ รู้ไปหมดทุกอย่างเลย รู้ทุกอย่าง เพราะเป็นถึงมหา มีปัญญาที่จะแยกแยะธรรมะได้ชัดเจนแล้ว แล้วทำไมสงสัยเรื่องนิพพานล่ะ นิพพานมันอยู่ที่ไหนล่ะ
นิพพานมันไม่อยู่ในอากาศ นิพพานไม่อยู่บนภูเขา นิพพานไม่อยู่บนก้อนเมฆ นิพพานไม่อยู่ที่ไหนเลย นิพพานมันอยู่ในหัวใจ ถ้าจะหานิพพานต้องหาที่หัวใจนั้น ถ้าหาที่หัวใจนั้น หัวใจอยู่ไหน หัวใจอยู่ไหน ที่เราเข้าไปมันก็เป็นอารมณ์ เป็นความคิด แล้วหัวใจอยู่ไหนล่ะ หัวใจอยู่ไหน
ถ้าพุทโธๆ พุทโธมันปล่อยอารมณ์หมด ปล่อยความคิดหมดเลย นั่นล่ะตัวใจ ถ้าใจคือสัมมาสมาธิ ถ้าสัมมาสมาธิ ถ้าคนอำนาจวาสนาน้อย พอสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิคือนิพพาน เพราะมันว่าง พอเวลามันเครียด มันคิด มันทุกข์ยาก อู้ฮู! ทุกข์ไปหมดเลย เวลาใช้ปัญญาพิจารณากาย เห็นฐานจิต ฐานธรรม พอมันปล่อยเข้ามา อ๋อ! นี่นิพพาน
เพราะเราปล่อยเข้ามาแล้ว เราพิจารณามาแล้ว แต่ความจริงไอ้นี่สมถะ เพราะมันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาตรึกในธรรม พอตรึกในธรรม มันเข้าใจแล้วมันปล่อยวางธรรมเข้ามา
ธรรมคืออะไร ธรรมก็จิตมันไปเกาะ จิตมันไปเกาะที่อารมณ์ จิตคือธาตุรู้ มันไปเกาะที่อารมณ์มันถึงแสดงตัว พอแสดงตัว พออารมณ์นั้นมันแยกแยะเป็นความมั่นหมาย พอความมั่นหมาย สิ่งที่มั่นหมายมันสู่อารมณ์ ถ้ามันสู่อารมณ์ เราพิจารณาไปมันปล่อยอารมณ์เข้ามา พอปล่อยอารมณ์เข้ามามันก็เป็นสัมมาสมาธิ ถ้าสัมมาสมาธิ นี่พูดถึงถ้าทำสัมมาสมาธิ
ถ้าสัมมาสมาธิ ถ้าออก ที่ว่าขุดคุ้ย ขุดคุ้ยหากิเลส ถ้าขุดคุ้ยมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม อันนั้นมันถึงเป็นวิปัสสนา อันนั้นเป็นวิปัสสนามันถึงจะว่าไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์จะเกิดตรงนู้น
นี่พิจารณาไตรลักษณ์ อะไรเป็นไตรลักษณ์ พิจารณาให้เป็นไตรลักษณ์เลย พอพิจารณาเป็นไตรลักษณ์เลย พอพิจารณาไปยังไม่รู้ว่าตัวเองใช้ฐานจิตหรือฐานธรรมพิจารณา เพราะอะไร เพราะถ้ามันฐานจิต ฐานจิตคือสมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน ถ้าจิตมันสงบแล้วมันมีฐาน มันเป็นเอกัคคตารมณ์ จิตมันตั้งมั่น พอจิตมันตั้งมั่น จิตมันออกทำงานมันก็รู้
อ้าว! มือ มือเรามันสกปรกนี่เหม็นไหม เหม็น ถ้าเราล้างมือสะอาดแล้ว มือหายเหม็นไหม หายเหม็น มือสะอาดไหม สะอาด แล้วมือคืออะไร มือก็คือมือไง ถ้ามือสกปรก สกปรกมันก็สกปรกอะไรล่ะ มันก็เหม็น พอไปล้าง ล้างมันก็สะอาดแล้ว แล้วมันก็คือมืออันเดิมนั่นน่ะ เป็นนิพพานตรงไหนล่ะ แล้วมือสะอาดแล้วทำอย่างไรต่อไป มือสะอาดแล้วทำอย่างไรต่อไป
เพราะเขาใช้คำว่า “ฐานจิต ฐานธรรม แล้วเอาฐานธรรม มันก้ำกึ่ง” เราจะบอกว่า จะต้องกลับมาทำความสงบกันใหม่แล้วล่ะมั้ง ต้องกลับมาทำความสงบของใจใหม่ แล้วใจถ้ามันสงบมีสติมีปัญญาแล้ว ถ้าออกไปใช้สติปัญญาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม แล้วใช้ปัญญาแยกแยะไปแล้วมันถึงจะก้าวหน้าไปมั้ง
แต่ถ้าอย่างนี้ในเรื่องอริยสัจก็เป็นเรื่องหนึ่ง เรื่องอริยสัจมันตรึกในธรรม อันนี้พอเข้าใจได้ อันนี้วางไว้ได้ เพราะถ้าเรากำลังประพฤติปฏิบัติ เราไม่เข้าใจธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรอก ถ้าเรายังไม่เข้าใจตามความเป็นจริง เพราะมันไม่เป็นปัจจัตตัง ไม่เป็นสันทิฏฐิโก ไม่รู้จริง
ปฏิบัติจริง รู้จริงเห็นจริงตามความเป็นจริง ถ้าเราไม่ได้ปฏิบัติจริง รู้จริงเห็นจริงตามความเป็นจริง เราต้องเกิดความสงสัยแน่นอน ไม่เป็นไร ถ้ากรณีข้อที่ ๑. นี่ไม่เป็นไร เพราะว่าในเมื่อเราปฏิบัติยังไม่รู้จริงเห็นจริงตามความเป็นจริง ทีนี้เราปฏิบัติไปแล้วเรามีความรู้ความเห็นของเรา แล้วธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันก็เลยมีความเห็นขัดแย้งอย่างนี้ ไม่เป็นไร
แต่ข้อที่ ๒. ถ้าบอกว่า ถ้ามันเป็นฐานของจิตหรือมันเป็นการพิจารณา อันนี้แปลก อันนี้แปลกเพราะถ้าเขาได้แยกแยะแล้วเขายังไม่รู้ว่าใช้ฐานจิตหรือฐานธรรมแยกแยะ มันยังก้ำกึ่ง มันยังค่อนข้างก้ำกึ่ง มันยังแยกได้หรือแยกไม่ได้
อันนี้มันจะเป็นประโยชน์กับเรา ไอ้เรื่องอริยสัจ เดี๋ยวถ้าเรารู้จริงตามความเป็นจริง หายสงสัยหมด แต่ถ้าเรายังไม่รู้จริงตามความเป็นจริง มันก็มีความสงสัยเป็นธรรมดา เพราะอะไร เพราะว่า สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส มันเกิดการลูบการคลำ สีลัพพตปรามาส วิจิกิจฉา มันมีของมันอยู่แล้ว
ฉะนั้น เราปฏิบัติไป ปฏิบัติจริง รู้จริงเห็นจริงตามความเป็นจริง เราปฏิบัติตามความเป็นจริงเข้าไป พอมันปล่อยไป ปล่อยเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป เดี๋ยวพอมันเห็นจริง เห็นจริง เวลาสังโยชน์มันขาดไป ถ้าขาดไป วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เห็นไหม มันไม่มีการลูบคลำแล้ว เพราะสักกายทิฏฐิมันขาดไป วิจิกิจฉามันก็ต้องไม่มีเป็นธรรมดา ถ้าถึงตรงนั้นมันเป็นธรรมดา แต่นี่ถ้ามันจะเป็นธรรมดา
แต่ตอนปฏิบัติ ถ้าฐานจิต ฐานธรรม คำว่า “ฐานจิต ฐานธรรม” ก้ำกึ่งๆ เพราะคำว่า “ฐานจิต ฐานธรรม” มันก็อันเดียวกัน ฐานก็คือตัวจิต ฐานคือภวาสวะ ฐีติจิตนี่ฐาน แล้วออกจากนี่หมด มันเป็นกิเลสหรือเป็นธรรมเท่านั้นเอง ถ้ามันเป็นกิเลสหรือเป็นธรรม ถ้ามันมีสติปัญญา มันมีสมาธิใช่ไหม มันก็เป็นธรรม ถ้าสมาธิมันครอบงำมันก็เป็นกิเลส ถ้าเป็นกิเลสแล้วมันก็ต้องปล่อย ปล่อยก็กลับมาทำความสงบของใจให้มั่นคงขึ้นมา แล้วค่อยไปพิจารณาใหม่
ทีนี้เขาบอกว่า “หรือบางทีผมก็ไปดูกายแล้วมันเป็นอารมณ์ แล้วผมก็เริ่มทราบมาว่าส่วนใหญ่ผมแทบไม่สนใจเลย ผมแทบไม่สนใจเลยด้วยซ้ำไปว่ามันเป็นฐานอะไร”
มันเป็นฐานอะไร ถ้าจิตสงบ คนที่ไม่เคยทำความสงบของใจไม่รู้จักความสงบ ถ้าคนที่ไม่รู้จักความสงบ เวลาจะมาถามปัญหาว่า “หลวงพ่อ ผมพิจารณาไปแล้วมันปล่อย มันว่างๆ ว่างๆ มันคืออะไร” เห็นไหม นั่นแหละแสดงว่าเขาแทบไม่สนใจเลย เขาไม่สนใจว่ามันมีที่มาที่ไปอย่างใด
แต่ถ้าคนที่ทำความสงบของใจ ใจมันสงบเข้ามาตามความเป็นจริงนะ พุทโธๆ จนมันละเอียดเข้ามา มันปล่อยพุทโธจนเป็นตัวของมันนะ มันจะบอกเลยว่ามันมีผู้รู้ มันมีสติ มันมีผู้รู้ชัดเจน นี่คือสัมมาสมาธิ มันไม่ใช่ว่ามันไม่สนใจอะไรเลย ไม่รู้อะไรเลย
ถ้าไม่รู้อะไรเลย คำพูดอย่างนี้มันสื่อบอกว่าจิตไม่เคยสงบตามความเป็นจริง ถ้าจิตมันสงบตามความเป็นจริง นี่สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน ถ้ามันสงบตามความเป็นจริง มันจะรู้จริงเห็นจริงโดยตัวของมัน
คนเรามันเข้าไปหาตัวเอง แล้วไม่รู้จักตัวเอง มีไหม นี่ก็เหมือนกัน จิตถ้ามันเข้าไปเห็นตัวจิต เห็นตัวมันเอง ตัวมันเป็นจริง มันจะบอกว่าไม่สนใจตัวมันได้อย่างไร
จะสนใจไม่สนใจมันชัดเจนมาก สติมันชัดเจน สติปัญญามันชัดเจนมาก ถ้าชัดเจนมาก ถ้ามันน้อมไป ถ้าน้อมไปนะ น้อมไปก็สู่สติปัฏฐาน ๔ แล้ว ไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง มันจะไม่สงสัยอย่างนี้ไง ถ้ามันเห็นจริงนะ เพราะความเห็นจริงกับเห็นปลอมมันจะไปตรวจสอบกัน
ถ้าเห็นปลอม เห็นปลอม อารมณ์เป็นอย่างหนึ่ง เห็นปลอม มันไม่มีตัวตน ไม่มีสิ่งใด มันเห็นไปตามภาคปริยัติ เห็นไปตามการศึกษา แต่ถ้าเห็นจริง เราเห็นจริง เห็นจริงเพราะอะไร เห็นจริงมันทำไม เห็นจริงมันสะเทือนหัวใจไง สะเทือนหัวใจ มันโยกเลย มันคลอนหัวใจเลย ถ้าหัวใจมันคลอน มันคลอน เรารับรู้ มันสะเทือน สะเทือนกิเลส แต่มันพิจารณายังไม่ได้ พิจารณายังไม่เป็น พอเห็นแล้ว พอสะเทือนแล้วเดี๋ยวก็หลุด เดี๋ยวมันก็ปล่อย เดี๋ยวมันก็คลายออกมา มันทำอะไรไม่ได้
พอทำไม่ได้ก็ต้องบากบั่น บากบั่นทำความสงบให้มากขึ้นแล้วกลับเข้าไปใหม่ กลับเข้าไปใหม่ พอจับ ฝึกหัดจนมันชำนาญ พอชำนาญ มันจับต้องได้ มันพิจารณาได้นี่ไปแล้ว ไปแล้วคือภาวนาเป็น พอพิจารณาไปมันก็ปล่อย ปล่อยมันก็ซ้ำเข้าไปๆ ซ้ำเข้าไปบ่อยครั้งเข้าๆ
ไม่ใช่ว่า อันแรก ฐานจิต ฐานธรรม ก็ก้ำกึ่ง เวลาบอกบางทีไปเห็นกายก็บอกว่าผมไม่ได้สนใจอะไรมันเลย
อืม! มันภาวนามานี่ ที่พูดมานี่คือประสบการณ์ของจิต คือเขาทำอย่างนี้ เขาเห็นอย่างนี้ แล้วเขาพูดมาอย่างนี้ ถ้าพูดมาอย่างนี้ปั๊บ มันเหมือนกับคนมักง่าย คนทำสิ่งใดแล้วมันไม่เป็นความจริง
ฉะนั้น เขาบอกว่า “ผมไม่แน่ใจ มันเป็นไปได้ไหมครับที่เราจะไม่ทราบว่าเราใช้สติปัฏฐานไหน” เขาบอกว่า “ที่เราไม่ทราบว่าเราใช้สติปัฏฐานไหนในการพิจารณาแยกแยะ”
ถ้าเราไม่ทราบว่า อันนี้รับไม่ได้เลยนะ ถ้าเราไม่ทราบ ไม่ทราบว่ากินข้าวแล้ว ไม่ทราบว่าได้ใช้หนี้แล้ว ไม่ทราบว่าไม่ได้ มันต้องชัดเจนนะ ฉะนั้น ถ้าชัดเจนต้องชัดเจนตั้งแต่สติ สมาธิ ปัญญา นี่ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก
หลวงตาท่านพูดบ่อยว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายกไว้ให้กับสันทิฏฐิโก รู้เองเห็นเองตามความเป็นจริง รู้จริงเห็นจริงตามความเป็นจริงในใจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดที่นั่น เวลากาลามสูตร ไม่ให้เชื่อแม้แต่อาจารย์สอน ไม่ให้เชื่อใดๆ ทั้งสิ้น ให้เชื่อความจริง ให้เชื่อประสบการณ์ของใจ
ฉะนั้น มีครูบาอาจารย์ที่สอนเรา เราฟังไว้ นั่นคือวิทยานิพนธ์ของท่าน ชีวิตของท่านทั้งชีวิตเลย ท่านปฏิบัติของท่านมา แล้วเราใช้สติปัญญาเราแยกแยะ จริงหรือไม่จริง มีภูมิหรือไม่มีภูมิ ถ้ามีภูมิแบบหลวงปู่เจี๊ยะ มีภูมิแบบครูบาอาจารย์เรา ท่านไม่สนใจพวกเราเลย
หลวงตาท่านพูดขนาดนี้เวลาพูดกับพระ “หมู่คณะจำไว้นะ” เวลาท่านเทศน์ท่านพูดอย่างนี้ ท่านบอกว่า “หมู่คณะจำคำพูดผมไว้นะ แล้วปฏิบัติไป แล้วถ้าใครปฏิบัติไปถึงจุดนั้นจะมากราบศพผม”
คือถ้าเราปฏิบัติไปแล้วเราจะไปสันทิฏฐิโก มันไปถึงจุดนั้นเลย ถ้ามันถึงจุดนั้นนะ ดูสิ เวลาหลวงตาท่านบรรลุธรรมที่วัดดอยธรรมเจดีย์ พอท่านไปถึงจุดนั้นน่ะ จุดที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ้นกิเลส ท่านลุกขึ้นกราบแล้วกราบเล่าๆ มันไปถึงจุดนั้นน่ะ ถ้าไปถึงจุดเดียวกันจุดนั้นแล้ว เห็นไหม กาลามสูตร ไม่ให้เชื่อ ไม่ให้เชื่อใครเลย ไม่ให้เชื่อใครทั้งสิ้น ไม่ให้เชื่อแม้แต่อาจารย์เรา ไม่ให้เชื่ออะไรทั้งสิ้น แล้วปฏิบัติไป พิสูจน์ไป ถ้าพิสูจน์ไป นี่กาลามสูตร ถ้าถึงกาลามสูตร ถึงจุดนั้นแล้ว หลวงตาท่านบอกว่าพระหนุ่มๆ องค์หนึ่ง
อันนี้เขาถาม “หลวงปู่เจี๊ยะว่ามีพระหนุ่มองค์หนึ่งปฏิบัติถึงจนค้นคว้าจิตจนลงถึงความจริง ภิกษุหนุ่มองค์นั้นได้นำไปถวายหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นไม่เห็นคัดค้านเลย” นี่ภิกษุหนุ่มองค์หนึ่ง
แต่เวลาหลวงตาท่านปฏิบัติถึงสิ้นสุดแห่งทุกข์ มีภิกษุหนุ่มองค์หนึ่งกราบแล้วกราบเล่าๆ กราบถึงพุทธคุณ กราบถึงเมตตาคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะท่านปฏิบัติอย่างนั้น ท่านรู้จริงอย่างนั้น เวลาท่านเทศนาว่าการสอนพระท่านถึงได้บอกไง ท่านเทศน์สิ่งใดไว้อย่าเชื่อ กาลามสูตร ห้ามเชื่อ แล้วปฏิบัติไป ท่านยืนยันเลย ท่านท้าด้วย “ถ้าใครปฏิบัติไปถึงจุดนั้นจะมากราบศพผม จะมากราบศพผม” จุดนั้นมันอันเดียวกัน
นี่ก็เหมือนกัน ฉะนั้นบอกว่า ถ้าเราไม่ทราบว่าเราใช้สติปัฏฐานไหน พิจารณาแยกแยะอย่างใด
ไม่ทราบว่านี่มันไม่ชัดเจนนะ เราถึงอยาก ถ้าพูดถึงเป็นความจริง กลับมาพุทโธ กลับมาทำความสงบของใจ แล้วใจมีหลักมีเกณฑ์แล้วเราค่อยไปพิจารณาต่อ ไอ้นี่ถามมา ถามมาคิดว่าหลวงพ่อเป็นตรายาง ถ้าหลวงพ่อสแตมป์ตราก็ใช้ได้ ถ้าหลวงพ่อไม่สแตมป์ก็ใช้ไม่ได้
กาลามสูตร เราปฏิบัติเองรู้จริงของเรา ถ้าปฏิบัติไม่ได้มันก็ไม่ได้ ถ้าปฏิบัติได้มันก็ได้ของมัน นี่จบเนาะ เอวัง